วันเวลาปัจจุบัน 25 เม.ย. 2024, 12:52  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 12 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ก.ค. 2016, 16:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ


พจน, พจน์ ๑ (พตจะนะ,พต) น. คำพูด, ถ้อยคำ (ป วจน)

พจนา (พตจะ) น. การเปล่งวาจา, การพูด, คำพูด (ป)

พจนานุกรม (-กฺรม) น. หนังสือสำหรับค้นความหมายของคำที่เรียงลำดับตามตัวอักษร

พจน์ ๒ (คณิต) น. สัญลักษณ์ที่แทนจำนวนจริงหรือจำนวนเชิงซ้อน ซึ่งจะเป็นจำนวนเดียวหรือหลายจำนวนคูณ หรือหารกันก็ได้ (อ. Term)


ญ,ฌ,ฐ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แก้ไขล่าสุดโดย กรัชกาย เมื่อ 15 ม.ค. 2017, 16:42, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ก.ค. 2016, 16:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


พระพุทธเจ้าเรียกศาสนาของพระองค์ว่า “ธรรมวินัย” คือมีทั้งธรรมและวินัย มิใช่มีแต่ธรรมอย่างเดียว หมายความว่า พระองค์ตรัสรู้ธรรมแล้วนำธรรมมาสั่งสอนประชาชน และบัญญัติวินัยขึ้นเพื่อบริหารหมู่คณะ


ญัตติ คำเผดียงสงฆ์, การประกาศให้สงฆ์ทราบเพื่อทำกิจร่วมกัน, วาจานัด


เผดียง บอกแจ้งให้รู้, บอกนิมนต์, บอกกล่าวหรือประกาศเชื้อเชิญเพื่อให้ร่วมทำกิจโดยพร้อมเพรียงกัน, ประเดียง ก็ว่า


ญัตติกรรม กรรมอันกระทำด้วยตั้งญัตติ ไม่ต้องสวดอนุสาวนา คือประกาศให้สงฆ์ทราบ เพื่อทำกิจร่วมกัน เรียกว่าเผดียงสงฆ์อย่างเดียว ไม่ต้องขอมติ เช่น อุโบสถ และปวารณา เป็นต้น


ญัตติจตุตถกรรม กรรมมีญัตติเป็นที่สี่ ได้แก่ สังฆกรรมที่สำคัญ มีการอุปสมบท เป็นต้น ซึ่งเมื่อตั้งญัตติแล้ว ต้องสวดอนุสาวนา คำประกาศขอมติ ถึง ๓ หน เพื่อสงฆ์คือที่ชุมนุมนั้นจะได้มีเวลาพิจารณาหลายเที่ยว ว่าจะอนุมัติหรือไม่


ญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทา การอุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรม ได้แก่ วิธีอุปสมบทที่พระสงฆ์เป็นผู้กระทำอย่างที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยภิกษุประชุมครบองค์กำหนด ในเขตชุมนุม ซึ่งเรียกว่าสีมา กล่าววาจาประกาศเรื่องความที่จะรับคนนั้นเข้าหมู่ และได้รับความยินยอมของภิกษุทั้งปวงผู้เข้าประชุมเป็นสงฆ์นั้น พระราธะเป็นบุคคลแรกที่ได้รับอุปสมบทอย่างนี้


ญัตติทุติยกรรม กรรมมีญัตติเป็นที่สอง หรือกรรมมีวาจาครบ ๒ ทั้งญัตติ, กรรมอันทำด้วยตั้งญัตติแล้วสวดอนุสาวนาหนเดียว เช่น การสมมติสีมา การสังคายนา และการมอบให้ผ้ากฐิน เป็นต้น

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ก.ค. 2016, 17:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ราธะ พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เดิมเป็นพราหมณ์ในเมืองราชคฤห์ เมื่อชราลงถูกบุตรทอดทิ้ง อยากจะบวชก็ไม่มีภิกษุรับบวชให้ เพราะเห็นว่าเป็นคนแก่เฒ่า ราธะเสียใจ ร่างกายซูบซีด
พระศาสดาทราบ จึงตรัสถามว่า มีใครระลึกถึงอุปการะของราธะได้บ้าง

พระสารีบุตรระลึกถึงภิกษาทัพพีหนึ่งที่ราธะถวาย จึงรับเป็นอุปัชฌาย์ และราธะเป็นบุคคลแรกที่อุปสมบทด้วยญัตติจะตุตถกรรมวาจา ท่านบวชแล้วไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัต

พระราธะเป็นผู้ว่าง่าย ตั้งใจรับฟังคำสั่งสอน มีความสุภาพอ่อนโยน เป็นตัวอย่างของภิกษุผู้บวชเมื่อแก่ ทั้งพระพุทธเจ้า และพระสารีบุตรก็ชมท่าน

ท่านเคยได้ใกล้ชิดพระพุทธเจ้า เคยทำหน้าที่เป็นพุทธอุปัฏฐาก ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในทางก่อให้เกิดปฏิภาณ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ก.ค. 2016, 17:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ญาณ ๑๖ ญาณที่เกิดแก่ผู้บำเพ็ญวิปัสสนาโดยลำดับ ตั้งแต่ต้นจนถึงจุดหมาย คือ มรรค ผล นิพพาน ๑๖ อย่าง,

ญาณ ๑๖ นี้ มิใช่เป็นหมวดธรรมที่มาครบชุดในพระบาลีเดิมโดยตรง แต่พระอาจารย์ปางก่อนได้ประมวลจากคัมภีร์ปฏิสัมภิทามัคค์ และวิทสุทธิมัคค์ แล้วสอนสืบกันมา

บางทีเรียกให้เป็นชื่อชุดเลียนคำบาลีว่า "โสฬสญาณ" หรือเรียกกึ่งไทยว่า "ญาณโสฬส"

ทั้งนี้ ท่านตั้ง วิปัสสนาญาณ ๙ เป็นหลักอยู่ตรงกลาง แล้วเติมญาณขั้นต่างๆ ที่ยังไม่จัดเป็นวิปัสสนาญาณ เพิ่มเข้าก่อนข้างหน้า และเติมญาณขั้นสูงที่เลยวิปัสสนาญาณไปแล้ว เข้ามาต่อท้ายด้วย ให้เห็นกระบวนการปฏิบัติตลอดแต่ต้นจนจบ จึงเป็นความปรารถนาดีที่เกื้อกูลแก่การศึกษาไม่น้อย

ญาณ ๑๖ นั้น ดังนี้ (ในที่นี้ จัดแยกให้เห็นเป็น ๓ ช่วง เพื่อความสะดวกในการศึกษา) คือ

ก) ก่อนวิปัสสนาญาณ: ๑. นามรูปปริจเฉทญาณ - ญาณกำหนดแยกนามรูป (นามรูปปริคคหญาณ หรือสังขารปริจเฉทญาณ ก็เรียก)

๒. (นามรูป) ปัจจัยปริคคหญาณ - ญาณกำหนดจับปัจจัยแห่งนามรูป (บางทีเรียก กังขารวิตรณญาณ หรือ ธัมมัฏฐิติญาณ)

๓. สัมมสนญาณ - ญาณพิจารณานามรูปโดยไตรลักษณ์

ข) วิปัสสนาญาณ ๙ : ๔. อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ - ญาณตามเห็นความเกิดและดับแห่งนามรูป

๕. ภังคานุปัสสนาญาณ - ญาณตามเห็นเฉพาะความดับเด่นชัดขึ้นมา

๖. ภยตูปัฏฐานญาณ - ญาณอันมองเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว

๗. อาทีนวานุปัสสนาญาณ - ญาณคำนึงเห็นโทษ

๘. นิพพิทานุปัสสนาญาณ - ญาณคำนึงเห็นด้วยความหน่าย

๙. มุญจิตุกัมยตาญาณ - ญาณอันหยั่งรู้อันให้ใคร่จะพ้นไปเสีย

๑๐. ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ - ญาณอันพิจารณาทบทวนเพื่อจะหาทาง

๑๑. สังขารุเปกขาญาณ - ญาณอันเป็นไปโดยความเป็นกลางต่อสังขาร

๑๒. สัจจานุโลมิกญาณ - ญาณเป็นไปโดยควรแก่การหยั่งรู้อริยสัจจ์

ค) เหนือวิปัสสนาญาณ: ๑๓. โคตรภูญาณ - ญาณครอบโคตร คือ หัวต่อที่ข้ามพ้นภาวะปุถุชน
๑๔. มัคคญาณ - ญาณในอริยมรรค

๑๕. ผลญาณ - ญาณในอริยผล

๑๖. ปัจจเวกขณญาณ - ญาณที่พิจารณาทบทวน


อนึ่ง คัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ ถือต่างจากที่กล่าวมานี้บ้าง โดยจัดญาณที่ ๓ (สัมมสนญาณ) เป็นวิปัสสนาญาณด้วย จึงเป็นวิปัสสนาญาณ ๑๐ อีก ทั้งเรียกชื่อญาณหลายข้อให้สั้นลง เป็น ๔. อุทยัพพยญาณ ๕. ภังคญาณ ๖ ภยญาณ ๗. อาทีนวญาณ ๘. นิพพิทาญาณ ๑๐. ปฏิสังขาญาณ ๑๒. อนุโลมญาณ (นอกนั้นเหมือนกัน) ทั้งนี้ พึงทราบเพื่อไม่สับสน


มีข้อควรทราบพิเศษว่า เมื่อผู้ปฏิบัติก้าวหน้ามาจนเกิดวิปัสสนาญาณข้อแรก คือ อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ ชื่อ ว่าได้ตรุณวิปัสสนา (วิปัสสนาอ่อนๆ) และในตอนนี้ วิปัสสนูปกิเลสจะเกิดขึ้น ชวนให้สำคัญผิดว่าถึงจุดหมาย
แต่
เมื่อรู้เท่าทัน กำหนดแยกได้ว่าอะไรเป็นทางอะไรมิใช่ทาง ก็จะผ่านพ้นไปได้ อุทยัพพยานุปัสสนาญาณนั้น ก็จะพัฒนาเป็นมัคคามัคคญาณ เข้าถึงวิสุทธิ คือ ความบริสุทธิ์ที่สำคัญขั้นหนึ่ง เรียกว่า มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ์ (วิสุทธิข้อที่ ๕)
อุทยัพพยญาณ ที่ก้าวมาถึงตอนนี้ คือ เป็นวิปัสสนาญาณที่เดินถูกทาง ผ่านพ้นวิปัสสนูปกิเลสมาได้แล้ว ได้ชื่อว่าเป็นพลววิปัสสนา (วิปัสสนาที่มีกำลัง หรือแข็งกล้า) ซึ่งจะเดินหน้าเป็นวิปัสสนาญาณที่สูงขึ้นต่อๆไป


บางที ท่านกล่าวถึงตรุณวิปัสสนา และพลววิปัสสนา โดยแยกเป็นช่วง ซึ่งกำหนดด้วยญาณต่างๆ คือ ระบุว่า (ช่วงของ) ญาณ ๔ คือ สังขารปริจเฉทญาณ กังขารวิตรณญาณ สัมมสนญาณ มัคคามัคคญาณ เป็นตรุณวิปัสสนา
และ
(ช่วงของ) ญาณ ๔ คือ ภยตูปัฏฐานญาณ อาทีนวานุปัสสนาญาณ มุญจิตุกัมยตาญาณ และสังขารุเปกขาญาณ เป็นพลววิปัสสนา

ในญาณ ๑๖ นี้ ข้อ ๑๔ และ ๑๕ (มัคคญาณ และผลญาณ) เท่านั้น เป็นโลกุตรญาณ อีก ๑๔ อย่างนอกนั้น เป็นโลกียญาณ


วิปัสสนูปกิเลส ไม่เกิดขึ้นแก่ท่านที่บรรลุมรรคผลแล้ว ๑

ไม่เกิดขึ้นแก่บุคคลที่ปฏิบัติผิดทาง ๑ และ

ไม่เกิดขึ้นแก่คนขี้เกียจทอดทิ้งกรรมฐาน ๑

แต่เกิดขึ้นเฉพาะแก่ผู้ที่เจริญวิปัสสนามาอย่างถูกต้อง เท่านั้น

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ก.ค. 2016, 20:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 ต.ค. 2009, 15:06
โพสต์: 7502

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss
ขึ้นชื่อว่าผู้มีปัญญา
รู้จักคำแล้ววางคำ
เพื่อรู้ธรรมที่จิตมี
เป็นการรักษาใจ
:b27:
ขออนุโมทนาสาธุค่ะ
:b8:
onion onion onion


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ก.ค. 2016, 21:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ญาณจริต คนที่มีพื้นนิสัยหนักในความรู้ มักใช้ความคิด พึงส่งเสริมด้วย แนะนำให้ใช้ความคิดในทางที่ชอบ (เป็นอีกชื่อหนึ่งของพุทธิจริต)


ญาณทัศนะ, ญาณทัสนะ การเห็น กล่าวคือการหยั่งรู้, การเห็นที่เป็นญาณหรือเห็นด้วยญาณ
อย่างต่ำสุด หมายถึงวิปัสสนาญาณ
นอกนั้น ในที่หลายแห่ง หมายถึง ทิพพจักขุญาณ บ้าง มรรคญาณ บ้าง และในบางกรณี หมายถึงผลญาณ บ้าง ก็มี ทั้งนี้ สุดแต่ข้อความแวดล้อมในที่นั้นๆ


ญาณทัสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณทัศนะ ได้แก่ ญาณในอริยมรรค ๔


ญาณวิปปยุต ปราศจากญาณ ไม่ประกอบด้วยปัญญา, ปราศจากปรีชาหยั่งรู้, ขาความรู้


ญาณสังวร สำรวมด้วยญาณ (ข้อ ๓ ในสังวร ๕)


ญาณปริญญา กำหนดรู้ขั้นรู้จัก คือ กำหนดรู้สิ่งนั้นๆ ตามลักษณะที่เป็นสภาวะของมันเอง พอให้แยกออกจากสิ่งอื่นๆ ได้ เช่น รู้ว่า นี้คือเวทนา เวทนามีลักษณะเสวยอารมณ์ ดังนั้นเป็นต้น (ข้อ ๑ ในปริญญา ๓)


ญาตัตถจริยา พระพุทธจริยาเพื่อประโยชน์แก่พระญาติ, ทรงประพฤติประโยชน์แก่พระประยูรญาติ เช่น ทรงอนุญาตให้พระญาติทีเป็นเดียรถีย์เข้ามาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา ไม่ต้องอยู่ติตถิยปริวาส ๔ เดือนก่อน เหมือนเดียรถีย์อื่น และเสด็จไปห้ามพระญาติที่วิวาทกันด้วยเรื่องน้ำ เป็นต้น


ญาติ พี่น้องที่ยังนับรู้กันได้, ผู้ร่วมสายโลหิตกันทางบิดาหรือมารดา,
ในฎีกาวินัย ท่านนับ ๗ ขั้น ทั้งข้างบนและข้างล่าง แต่ตามปกติจะไม่พบมากหลายขั้นอย่างนั้น ปัจจุบันท่านให้นับญาติ ๗ ขั้น หรือ ๗ ชั่วคน คือ นับ ทางมารดาก็ดี ทางบิดาก็ดี ขั้นตนเองเป็นต้น ๑ ข้างบน ๓ (ถึงทวด) ข้างล่าง ๓ (ถึงเหลน) เขย และสะใภ้ ไม่นับเป็นญาติ


ญาติพลี สงเคราะห์ญาติ, ช่วยเหลือเกื้อกูลญาติ, การจัดสรรและรายได้หรือทรัพย์ส่วนหนึ่งเป็นทุนสำหรับการช่วยเหลือเกื้อกูลญาติพี่น้อง, การใช้รายได้หรือหรือทรัพย์ส่วนหนึ่ง เพื่อเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันในด้านการสงเคราะห์ญาติ (ข้อ ๑ ในพลี ๕ อย่างแห่งโภคอาทิยะ๕)


ญาติสาโลหิต พี่น้องร่วมสายโลหิต (ญาติ = พี่น้องที่ยังนับรู้กันได้ สาโลหิต = ผู้ร่วมสายเลือดคือญาติที่สืบสกุลมาโดยตรง)


ญายะ, ญายธรรม ความถูกต้องชอบธรรม, ความยุติธรรม, สิ่งที่สมเหตุผล, ทางที่ถูก, วิธีการที่ถูกต้อง, ข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง หมายถึง อริยอัฏฐังคิกมรรค, ภาวะอันจะลุกถึงได้ด้วยข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง ได้แก่ นิพพาน


ญายปฏิปนฺโน (พระสงฆ์) เป็นผู้ปฏิบัติถูกทาง หรือปฏิบัติเป็นธรรม คือ ปฏิบัติปฏิปทาที่จะให้เกิดความรู้ หรือปฏิบัติเพื่อได้รู้ธรรม ปฏิบัติเพื่อออกจากทุกข์
อีกนัยหนึ่งว่า ปฏิบัติมุ่งธรรมเป็นใหญ่ ถือความถูกต้องเป็นประมาณ (ข้อ ๓ ในสังฆคุณ ๙)


ไญยธรรม ธรรมอันควรรู้, สิ่งที่ควรรู้ ควรเข้าใจ เญยธรรมก็เขียน

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ก.ค. 2016, 21:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ฎีกา ๑ ปกรณ์ที่พระอาจารย์ทั้งหลายในภายหลัง แต่งแก้ หรืออธิบายเพิ่มเติมอรรถกถา ๒. หนังสือนิมนต์พระสงฆ์ ๓. ใบบอกบุญเรี่ยไร


ฐานะ เหตุ, อย่าง, ประการ, ที่ตั้ง, ตำแหน่ง, โอกาส, ความเป็นไปได้


ฐานาฐานญาณ ปรีชากำหนดรู้ฐานะ คือ สิ่งที่เป็นไปได้ เช่น ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น และอฐานะ คือ สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เช่น ทำดีได้ชั่ว ทำชั่วได้ดี เป็นต้น (ข้อ ๑ ในทสพลญาณ ๑๐)


ฐานานุกรม ลำดับตำแหน่งยศที่พระภิกษุผู้ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์แล้ว มีอำนาจให้แก่พระภิกษุชั้นผู้น้อยตามทำเนียบ เช่น พระปลัด พระสมุห์ พระใบฎีกา เป็นต้น


ฐานานุรูป สมควรแก่ตำแหน่ง, สมควรแก่เหตุที่จะเป็นได้

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ก.ค. 2016, 09:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


วิปัสสนูปกิเลส อุปกิเลสของวิปัสสนา, สภาวะที่ทำให้วิปัสสนามัวหมองข้องขัด,

สภาพน่าชื่นชม ซึ่งเกิดแก่ผู้เจริญวิปัสสนาในขั้นที่เป็นวิปัสสนาอย่างอ่อน (ตรุณวิปัสสนา)
แต่กลายเป็นโทษเครื่องเศร้าหมองแห่งวิปัสสนา โดยทำให้เข้าใจผิดว่าตนบรรลุมรรคผลแล้ว จึงชะงักหยุดเสีย ไม่ดำเนินก้าวหน้าต่อไปในวิปัสสนา

มี ๑๐ อย่าง คือ

๑. โอภาส - แสงสว่าง ซึ่งรู้สึกงามเจิดจ้าแผ่ซ่านไปสว่างไสวอย่างไม่เคยมีมาก่อน

๒. ปีติ - ความเอิบอิ่มใจ รู้สึกเต็มเปี่ยมไปทั่วทั้งตัว

๓. ญาณ - ความหยั่งรู้ที่เฉียบแหลมคมกล้า รู้สึกเหมือนว่าจะพิจารณาอะไรเป็นไปไม่มีติดขัด

๔. ปัสสัทธิ - ความสงบเย็น เกิดความรู้สึกว่าทั้งกายและใจสงบสนิท เบา นุ่มนวล คล่องแคล่ว แจ่มใสเหลือเกิน ไม่มีความกระวนกระวาย ความกระด้าง หนัก ความไม่สบาย หรือความรำคาญขัดขืนใดๆเลย

๕. สุข - มีความสุขที่ประณีตละเอียดอ่อนลึกซึ้งอย่างยิ่งแผ่ไปทั่วทั้งตัว

๖. อธิโมกข์ - เกิดศรัทธาอย่างแรงกล้าประกอบเข้ากับวิปัสสนา ทำให้จิตใจมีความผ่องใสอย่างเหลือเกิน

๗. ปัคคาหะ - ความเพียรที่ประกอบกับวิปัสสนา ซึ่งพอเหมาะพอดี เดินเรียบ ไม่หย่อนไม่ตึง

๘. อุปัฏฐาน - สติที่กำกับชัด มั่นคง ไม่สั่นไหว จะนึกถึงอะไร ก็รู้สึกว่าระลึกได้คล่องแคล่วชัดเจน เหมือนดังแล่นไหลไปถึงหมด

๙. อุเบกขา - ภาวะจิตที่ราบเรียบ เที่ยง เป็นกลางในสังขารทั้งปวง

๑๐. นิกันติ - ความพอใจติดใจที่สร้างความอาลัยในวิปัสสนา มีอาการสงบ สุขุม ซึ่งความจริงเป็นตัณหาที่ละเอียด แต่ผู้ปฏิบัติไม่สามารถกำหนดจับได้ว่าเป็นกิเลส


ธรรมทั้งหมดนี้ (เว้นแต่นิกันติ ซึ่งเป็นตัณหาอย่างสุขุม) โดยตัวมันเอง มิใช่เป็นสิ่งเสียหาย มิใช่เป็นอกุศล แต่เพราะเป็นประสบการณ์ประณีตล้ำเลิศที่ไม่เคยเกิดมีแก่ตนมาก่อน จึงเกิดโทษเนื่องจากผู้ปฏิบัติไปหลงสำคัญผิดเสียเอง ว่าเป็นการบรรลุมรรคผล


วิปัสสนูปกิเลสนี้ ไม่เกิดขึ้นแก่ท่านที่บรรลุมรรคผลแล้ว ไม่ เกิดขึ้นแก่บุคคลที่ปฏิบัติผิดทาง และ ไม่เกิดขึ้นแก่คนขี้เกียจผู้ทอดทิ้งกรรมฐาน แต่เกิดขึ้นเฉพาะแก่ผู้ที่เจริญวิปัสสนามาอย่างถูกต้อง เท่านั้น


ในพระไตรปิฎก เรียกอาการฟุ้งซ่านที่เกิดจากความสำคัญผิด เอาโอภาส เป็นต้น นั้นเป็นมรรคผลนิพพาน ว่า "ธัมมุทธัจจะ" (ธรรมุธัจจ์ก็เขียน) แต่ท่านระบุชื่อโอภาส เป็นต้น นั้นทีละอย่าง โดยไม่มีชื่อเรียกรวม, "วิปัสสนูปกิเลส" เป็นคำที่ใช้ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถาลงมา

(พูดสั้นๆ ธรรมุธัจจ์ ก็ คือ ความฟุ้งซ่านที่เกิดจากความสำคัญผิดต่อวิปัสสนูปกิเลส)


เมื่อ วิปัสสนูปกิเลสเกิดขึ้น ผู้ปฏิบัติที่มีปัญญาน้อย จะฟุ้งซ่านเขวไป และเกิดกิเลสอื่นๆ ตามมาด้วย, ผู้ปฏิบัติที่มีปัญญาปานกลาง ก็ฟุ้งซ่านไป แม้จะไม่เกิดกิเลสอื่นๆ แต่จะสำคัญผิด, ผู้ปฏิบัติที่มีปัญญาคมกล้า ถึงจะฟุ้งซ่านเขวไป แต่จะละความสำคัญผิดได้ และเจริญวิปัสสนาต่อไป, ส่วนผู้ปฏิบัติที่มีปัญญาคมกล้ามาก จะฟุ้งไม่ซ่านเขวไปเลย แต่จะเจริญวิปัสสนาก้าวต่อไป


วิธีปฏิบัติต่อเรื่องนี้ คือ เมื่อวิปัสสนูปกิเลสเกิดขึ้นแล้ว พึงรู้เท่าทันด้วยปัญญาตามเป็นจริงว่า
สภาวะนี้ (เช่นว่า โอภาส) เกิดขึ้นแล้วแก่เรา มันเป็นของไม่เที่ยง เกิดมีขึ้นตามเหตุปัจจัย แล้วก็จะต้องดับสิ้นไป ฯลฯ เมื่อรู้เท่าทัน ก็ไม่หวั่นไหว ไม่ฟุ้งไปตามมัน คือกำหนดได้ว่ามันไม่ใช่มรรคไม่ใช่ทาง แต่วิปัสสนาที่พ้นจากวิปัสสนูปกิเลสเหล่านี้ ซึ่งดำเนินไปตามวิถีนั่นแหละเป็นมรรคเป็นทางที่ถูกต้อง


นี่คือเป็นญาณที่รู้แยกได้ว่ามรรค และมิใช่มรรค นับเป็นวิสุทธิข้อที่ ๕ คือ มัคคามัคคญาณทัสสนาวิสุทธิ


วิปัสสนา ตั้งแต่ญาณเริ่มแรก (คือ นามรูปปริจเฉทญาณ) จนถึงมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธินี้ ท่านจัดเป็นวิปัสสนาอย่างอ่อน (ตรุณวิปัสสนา)


ส่วนวิปัสสนา ตั้งแต่พ้นจากวิปัสสนูปกิเลสเหล่านี้ไปแล้ว (จนถึงสังขารุเปกขาญาณ) จัดเป็นวิปัสสนาที่มีกำลัง ที่แรงกล้า หรืออย่างเข้ม (พลววิปัสสนา)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ก.ค. 2016, 12:24 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ฤกษ์ คราวหรือเวลา ซึ่งถือว่าเหมาะเป็นชัยมงคล

ฤคเวท ชื่อคัมภีร์ที่หนึ่งในไตรเพท ประกอบด้วยบทมนตร์สรรเสริญเทพเจ้าทั้งหลาย

ฤดู คราว, สมัย, ส่วนของปีซึ่งแบ่งเป็น ๓ คราวขึ้นไป เช่น ฤดูฝน ฤดูหนาว ฤดูร้อน

ฤทธิ์ อำนาจศักดิ์สิทธิ์, ความเจริญ, ความสำเร็จ, ความงอกงาม, เป็นรูปสันสกฤตของ อิทธิ, ฤทธิ์ หรืออิทธิ คือ ความสำเร็จ ความรุ่งเรือง มี ๒ คือ

๑. อามิสฤทธิ์ อามิสเป็นฤทธิ์, ความสำเร็จหรือความรุ่งเรืองทางวัตถุ

๒. ธรรมฤทธิ์ ธรรมเป็นฤทธิ์, ความสำเร็จหรือความรุ่งเรืองทางธรรม


ฤษี ผู้แสดงธรรม ได้แก่ นักบวชนอกพระศาสนาซึ่งอยู่ในป่า, ชีไพร,ผู้แต่งคัมภีร์พระเวท

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ม.ค. 2017, 16:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ชีวิต ความเป็นอยู่


ชีพ ชีวิต, ความเป็นอยู่


ชีวิตสมสีสี ผู้สิ้นกิเลสพร้อมกับสิ้นชีวิต


ชีวิตินทรีย์ อินทรีย์คือชีวิต, สภาวะที่เป็นใหญ่ในการตามรักษาสหชาตธรรม (ธรรมที่เกิดร่วมกัน) ดุจน้ำหล่อเลี้ยงดอกบัว เป็นต้น มี ๒ ฝ่ายคือ

๑. อินทรีย์ที่เป็นชีวิตรูป เป็นอุปาทายรูป อย่างหนึ่ง เป็นเจ้าการในการรักษาหล่อเลี้ยงเหล่ากรรมชรูป (รูปที่เกิดแต่กรรม) บางทีเรียก รูปชีวิตินทรีย์

๒. ชีวิตินทรีย์ที่เป็นเจตสิก เป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก (เจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวง) อย่างหนึ่ง เป็นเจ้าการในการรักษาหล่อเลี้ยงนามธรรม คือ จิตและเจตสิกทั้งหลาย บางทีเรียก อรูปชีวิตินทรีย์ หรือนามรูปชีวิตินทรีย์


ชนกกรรม กรรมที่นำให้เกิด, กรรมที่เป็นกุศลหรืออกุศลก็ตามที่เป็นตัวแต่งสัตว์ให้เกิด คือชักนำให้ถือปฏิสนธิในภพใหม่ เมื่อสิ้นชีวิตจากภพนี้

ชราธรรม มีความแก่เป็นธรรมดา, มีความแก่เป็นของแน่นอน, ธรรมคือความแก่

ชราพุชะ, ชรามพุชะ สัตว์เกิดในครรภ์ ได้แก่ มนุษย์ และสัตว์เดียรัจฉานที่ออกลูกเป็นตัว

ชัยมงคล มงคลคือชัยชนะ, ความชนะทีเป็นมงคล

ชาคริยานุโยค การประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่ คือ ความเพียรพยายามปฏิบัติธรรม ไม่เห็นแก่นอน, ตื่นตัวอยู่เป็นนิตย์ ชำระจิตไม่ให้มีนิวรณ์

เชาวน์ ความนึกคิดที่แล่นไป, ความเร็วของปัญญาหรือความคิด, ไหวพริบ

เชื่อดายไป เชื่อเรื่อยไป, เชื่อดะไปโดยไม่นึกถึงเหตุผล

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ม.ค. 2017, 16:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ชวนะ “การแล่นไป” “การไปเร็ว” “การสว่างวาบ” ความเร็ว, ความไว, จิต ขณะที่แล่นไปในวิถี ทำหน้าที่รับรู้เสพอารมณ์ ทางทวารทั้งหลาย (ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือใจ) เป็นวิถีจิตในช่วงหรือขั้นตอนที่ทำกรรม (เป็นกุศลชวนะหรืออกุศลชวนะ แต่ถ้าเป็นจิตของพระอรหันต์ ก็ไม่ทำกรรม เป็นกิริยาชวนะ) จึงถือว่าอยู่ในช่วงที่สำคัญ

โดยทั่วไป และอย่างมากที่สุด ปุถุชนในกามภูมิ มีชวนจิตเกิดขึ้น ๗ ขณะ แล้วเกิดตทารมณ์ (ตทาลัมพณะ หรือตทาลัมพนะ ก็เรียก) เป็นวิปากจิตขึ้นมา ๒ ขณะ แล้วก็เกิดเป็นภวังคจิต เรียกกันว่าตกภวังค์ เป็นอันสิ้นสุดวิถีจิต คือ สิ้นสุดการรับอารมณ์ไปวิถีหนึ่ง

ที่ว่ามานี้ เป็นกรณีที่รับอารมณ์ ที่มีกำลังแรงหรือเด่นชัดมาก (ถ้าเป็นอารมณ์ใหญ่มากทางปัญจทวาร คือทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เรียกว่า อติมหันตารมณ์ ถ้าเป็นอารมณ์เด่นชัดทางมโนทวาร เรียกว่า วิภูตารมณ์)

แต่อารมณ์ที่รับนั้นมีกำลังไม่มากนัก หรือไม่เด่นนัก (คือเป็นมหันตารมณ์ทางปัญจทวาร หรือเป็นอวิภูตารมณ์ทางมโนทวาร) พอชวนจิตขณะที่ ๗ ดับไป ก็เกิดเป็นภวังคจิตต่อเลย (เรียกว่า ตกภวังค์) ไม่มีตทารมณ์เกิดขึ้น,

ยิ่งกว่านั้น ในทางปัญจทวาร ถ้าอารมณ์ที่กระทบ มีกำลังน้อย (เป็นปริตตารมณ์) หรืออ่อนกำลังอย่างยิ่ง (เป็นอติปริตตารมณ์) วิถีจิตจะเกิดขึ้นน้อยขณะ แล้วเกิดเป็นภวังคจิต (ตกภวังค์) โดยไม่มีชวนจิตเกิดขึ้นเลย

ที่ว่ามานั้น เป็นการพูดทั่วไป ยังมีข้อพิเศษหลายอย่าง เช่น ในกามภูมินี้แหละ ในกรณีที่อารมณ์อ่อนกำลัง ชวนจิตเกิดแค่ ๖ ขณะก็มี ในเวลาจะสิ้นชีวิต ชวนจิตเกิดเพียง ๕ ขณะ

ในเวลาเป็นลม สลบ ง่วงจัด เมาสุรา เป็นต้น หรือกรณีมีปสาทวัตถุอ่อนกำลัง ยิ่งอย่างทารกในครรภ์หรือเพิ่งเกิด ชวนจิตเกิดขึ้นเพียง ๒-๕ ขณะ

ส่วนในภูมิที่สูงขึ้นไป เช่น ในการบรรลุฌานแต่ละขั้นครั้งแรก ในการทำกิจแห่งอภิญญา ในการสำเร็จกิจแห่งมรรค และในเวลาออกจากนิโรธสมาบัติ ชวนจิตเกิดขึ้นขณะเดียว (แต่ในเวลาเข้านิโรธสมาบัติ ชวนจิตเกิดขึ้น ๒ ขณะ)

สำหรับผู้ชำนาญในฌาน ชวนจิต (อัปปนาชวนะ) จะเกิดดับต่อเนื่องไปตลอดเวลาที่อยู่ในฌานนั้น อาจจะตลอดทั้งวัน ไม่มีกำหนดจำนวนขณะ (เป็นอัปปนาวิถีตลอดเวลาที่ฌานจิตยังสืบต่อติดเนื่องกันไป) จนกว่าจะเกิดเป็นภวังคจิตขึ้นมา สันตติของฌานจิตก็ขาดตอน เรียกว่าตกภวังค์ คือออกจากฌาน

คำว่า “ชวนะ” นี้ ใช้หมายถึงจิตซึ่งทำหน้าที่รับอารมณ์ในวิถี ก็ได้ หมายถึงการทำหน้าที่ของจิตในการรับอารมณ์นั้น ก็ได้

ถ้าต้องการความหมายให้จำเพาะชัดลงไป ก็เติมคำกำกับลงไปว่า “ชวนจิต” หรือ “ชวนกิจ” ตามลำดับ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ก.พ. 2017, 09:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ตันติ ๑. แบบแผน เช่น ตันติธรรม (ธรรมที่เป็นแบบแผน) ตันติประเพณี (แนวทางที่ยึดถือปฏิบัติสืบกันมาเป็นแบบแผน) เช่น ภิกษุทั้งหลายควรสืบต่อตันติประเพณีแห่งการเล่าเรียนพระธรรมวินัย และเที่ยวจาริกไปแสดงธรรม โดยดำรงอิริยาบถอันน่าเลื่อมใส ๒. เส้น, สาย เช่น สายพิณ

ตันติภาษา ภาษาที่มีแบบแผน คือมีหลักภาษา มีไวยากรณ์ เป็นระเบียบ เป็นมาตรฐาน, เมื่อพระพุทธโฆษาจารย์แปลอรรถกถาจากภาษาสิงหล ท่านกล่าวว่า ยกขึ้นสู่ตันติภาษา คำว่า “ตันติภาษา” ในที่นี้หมายถึง ภาษาบาลี (บาลี ตนฺติภาสา)

บาลี ๑. “ภาษาอันรักษาไว้ซึ่งพุทธพจน์” ภาษาที่ใช้ทรงจำและจารึกรักษาพุทธพจน์แต่เดิมมา อันเป็นหลักในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ถือกันว่าได้แก่ ภาษามคธ ๒. พระพุทธวจนะ ซึ่งพระสังคีติกาจารย์รวบรวมไว้ คือ พระธรรมวินัยที่พระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ประชุมกันรวบรวมจัดสรรให้เป็นหมวดหมู่ในคราวปฐมสังคายนา และรักษาไว้ด้วยภาษาบาลี สืบต่อกันมาในรูปที่เรียกว่า พระไตรปิฎก อันเป็นคัมภีร์พระพุทธศาสนาต้นเดิม ที่เป็นหลักของพระพุทธศาสนาเถรวาท, พุทธพจน์, ข้อความที่มาในพระไตรปิฎก,

ในการศึกษาพระพุทธศาสนา มีประเพณีที่ปฏิบัติกันมาในเมืองไทย ให้แยกคำว่า “บาลี”


ในความหมาย ๒ อย่างนี้ ด้วยการเรียกให้ต่างกัน คือ ถ้าหมายถึงบาลีในความหมายที่ ๑. ให้ใช้คำว่า ภาษาบาลี (หรือ ศัพท์บาลี คำบาลีหรือบาลี) แต่ถ้าหมายถึงบาลีในความหมายที่ ๒. ให้ใช้คำว่า พระบาลี

มคธภาษา ภาษาของชนชาวมคธ, ภาษาของชนผู้อยู่ในแคว้นมคธ

มคธ ๑. ชื่อแคว้นหนึ่งในบรรดา ๑๖ แคว้นใหญ่แห่งชมพูทวีปครั้งพุทธกาล ตั้งอยู่ฝั่งใต้ของแม่น้ำคงคาตอนกลาง เป็นแคว้นที่มีอำนาจมากแข่งกันกับแคว้นโกศล และเป็นที่พระพุทธเจ้าทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนาในสมัยพุทธกาล มคธมีนครหลวงชื่อ ราชคฤห์ ราชาผู้ปกครองพระนามว่า พิมพิสาร


ตอนปลายพุทธกาล พระเจ้าพิมพิสารถูกพระโอรสชื่อ อชาตศัตรู ปลงพระชนม์ และขึ้นครองราชย์สืบแทน

ต่อมาในสมัยพระเจ้ากาลาโศก หรือก่อนนั้น เมืองหลวงของมคธ ย้ายไปตั้งที่เมืองปาฏลีบุตร บนฝั่งแม่น้ำคงคา เหนือเมืองราชคฤห์ขึ้นไป มคธรุ่งเรืองถึงที่สุดในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งแคว้นใหญ่อื่นทั้งหมดได้รวมเข้าอยู่ภายในมหาอาณาจักรของพระองค์ทั้งหมดแล้ว

บัดนี้ บริเวณที่เคยเป็นแคว้นมคธในสมัยพุทธกาล เรียกว่า แคว้นพิหาร ๒. เรียกภาษาที่ใช้พูดในแคว้นมคธ หรือภาษาของชาวแคว้นมคธว่า ภาษามคธ และถือกันว่าภาษาบาลีที่ใช้รักษาพระพุทธพจน์สืบมาจนบัดนี้ คือ ภาษามคธ


รูปภาพ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 12 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 141 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร