วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 09:14  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 9 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 พ.ย. 2016, 05:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


สีลมัย:บุญที่เกิดจากการรักษาศีล


ความหมายของศีล

ศีล (สีลํ) แปลได้หลายนัย เช่น แปลว่า ปกติ ธรรมชาติ นิสัย ความเคยชิน เยือกเย็น ยอด เกษม สุข

ในที่นี้ เน้นแปลว่า ปกติ การทำให้เป็นปกติ ธรรมชาติ ความประพฤติดี ความตั้งใจงดเว้น ความสำรวมระวัง ความไม่ล่วงละเมิด หมายถึงบัญญัติอันชอบธรรม คือการรักษากาย วาจา ให้เรียบร้อย ความประพฤติชอบ ความประพฤติดีทั้งทางกาย และวาจา ข้อปฏิบัติสำหรับควบคุมกาย และวาจาให้ตั้งอยู่ในความดีงาม การรักษาปกติตามระเบียบวินัย ปกติมารยาทที่ปราศจากโทษ
ข้อปฏิบัติในการเว้นจากความชั่ว ข้อปฏิบัติในการฝึกหัดกาย วาจาให้ดียิ่งขึ้น ความสุจริตทางกาย วาจา และอาชีพ
ข้อปฏิบัติในการควบคุมตนให้ตั้งอยู่ในความไม่เบียดเบียน หรือการควบคุมพฤติกรรมส่วนตัวของคนเรา

แท้ที่จริงแล้ว การรักษาศีล ก็คือ การตั้งใจรักษาปกติของคนเรา นั่นเอง ตัวอย่าง

สิ่งเป็นปกติและไม่ปกติ เช่น การฆ่ากัน กับ การไม่ฆ่า การขโมย กับ การไม่ขโมย การประพฤติผิดในคู่ครองผู้อื่น กับ ความยินดีในคู่ครองของตน การพูดเท็จ กับ การพูดจริง การดื่มสุรา กับ การไม่ดื่มสุรา

จะเห็นได้ว่า การฆ่า เป็นต้น เป็นสิ่งไม่ปกติ ส่วนที่เป็นปกติของคน คือ การไม่ฆ่า การไม่ขโมย การยินดีเฉพาะคู่ครองของตน การพูดจริง การไม่ดื่มสุรา (สิ่งเสพติดทุกชนิด) ฉะนั้น การรักษาศีลจึงชื่อว่าการรักษาปกติของคนเรานั่นเอง


เมื่อกล่าวโดยสาระ หรือความมุ่งหมายในเชิงปฏิบัติ ศีล คือ ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมในด้านความประพฤติ ระเบียบวินัย ให้มีสุจริตทางกาย วาจา และอาชีวะ การประกอบสัมมาชีพ มีการดำรงตนอยู่ด้วยดี มีชีวิตที่เกื้อกูลท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ตนมีส่วนช่วยสร้างสรรค์รักษาให้เอื้ออำนวยแก่การมีชีวิตที่ดีงามร่วมกัน ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ดีสำหรับการพัฒนาคุณภาพจิต และการเจริญปัญญา


โดยนัยนี้ ศีลจึงกินความกว้างถึงการสร้างสภาพแวดล้อม ทั้งทางวัตถุและทางสังคมที่ปิดกั้นโอกาสในการทำชั่ว และส่งเสริมโอกาสในการทำความดี เฉพาะอย่างยิ่งการจัดระเบียบชีวิต และระบบสังคม โดยรวมหลักเกณฑ์กฎข้อบังคับ บทบัญญัติต่างๆ เพื่อควบคุมความประพฤติของบุคคลให้มีสภาพชีวิต และการอยู่ร่วมกันในสังคมที่จัดระเบียบไว้เป็นอย่างดี ไม่สับสนวุ่นวายด้วยอาการหวาดระแวงเวรภัย และการไร้ข้อกำหนดกฎเกณฑ์

เริ่มตั้งแต่การไม่เบียดเบียนทำร้ายต่อชีวิตร่างกาย และทรัพย์สินของกันและกัน เป็นต้น ตามหลักศีล ๕ ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ความสัมพันธ์พื้นฐานในสังคม ตลอดจนข้อปฏิบัติต่างๆ ในการฝึกหัดขัดเกลาพฤติกรรมของบุคคล เพื่อสร้างเสริมสภาพชีวิตความเป็นอยู่และการอยู่ร่วมกันในสังคมให้สอดคล้อง และเอื้อโอกาสแก่การที่จะปฏิบัติให้เข้าถึงภาวะสูงสุดที่เป็นจุดหมายร่วมกัน ของบุคคลหรือสังคมนั้นๆ

ดังนั้น ศีลจึงจัดเป็นคุณธรรมเบื้องต้นที่สำคัญในการฝึกฝนอบรมตนให้เกิดสมาธิ ปัญญา โดยเรียกว่า สิกขาบท บทที่ต้องศึกษา ซึ่งหมายถึงข้อปฏิบัติฝึกอบรมตนเพื่อเป็นฐานให้เกิดสมาธิ และปัญญา

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 พ.ย. 2016, 05:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ประเภทของศีลในพระพุทธศาสนา

ศีล มีหลายขั้น หลายระดับ และจัดแบ่งได้หลายประเภท ทั้งนี้เพื่อให้เหมาะกับวิถีชีวิตของบุคคลในสังคมนั้นๆ ในการที่จะประพฤติเพื่อเข้าถึงจุดหมายที่ต้องการ แต่เมื่อจัดตามประเภทแห่งบุคคลที่รักษาหรือผู้มีศีล ท่านจัดไว้ ๕ ประเภท ดังนี้

๑) ศีล ๕ หรือ เบญจศีล เป็นศีลขั้นพื้นฐานของศีลทั้งปวง กล่าวคือ ศีลทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นศีลของอุบาสกอุบาสกา ของสาเณร ของพระภิกษุ ตลอดจนศีลของพระภิกษุณี ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งศีล ๕ ข้อนี้ ซึ่งกำหนดเป็นศีลสำหรับผู้ครองเรือนทั่วไปควรรักษา มีข้อเรียกหลายอย่างเช่นเรียกว่า นิจศีล ศีลที่ควรรักษาเป็นนิตย์ บ้าง ปกติศีล ศีลที่ควรรักษาให้เป็นปกติ บ้าง และเรียกว่า มนุสสธรรม หรือมนุษยธรรม ธรรมของมนุษย์หรือคุณธรรมที่ทำให้เป็นมนุษย์ บ้าง

๒) ศีล ๘ (อัฏฐศีล) หรืออุโบสถศีล เป็นศีลที่มีพื้นฐานมาจากศีล ๕ เน้นความไม่เสพกาม การไม่รับประทานอาหารในเวลาวิกาล การฝึกหัดลดละการหาความสุขจากสิ่งบันเทิงหรือเครื่องปรนเปรอความสุขทางประสาทสัมผัส และการงดใช้เครื่องนั่งนอนฟูกฟูหรูหรา ซึ่งเป็นการฝึกฝนตนเองให้รู้จัก ที่จะมีชีวิตที่เป็นอิสระได้มากขึ้น สามารถอยู่ดีมีสุขได้โดยไม่ต้องพึ่งพาหรือขึ้นต่อวัตถุภายนอกมากเกินไป

ศีล ๘ นี้ เป็นเครื่องเสริม และเอื้อโอกาสยิ่งขึ้นไปทั้งด้านเวลา และแรงงานในการที่จะพัฒนาชีวิตทางด้านจิตใจ และปัญญา หรือเป็นเครื่องส่งเสริม และเอื้อโอกาสในการบำเพ็ญสมาธิและปัญญา จัดเป็นศีลสำหรับฝึกตนให้พัฒนายิ่งขึ้นไปสำหรับคฤหัสถ์ที่เป็นอุบาสกอุบาสิกา ที่มีศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนาโดยประกาศถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ซึ่งจะตั้งใจสมาทานรักษาเป็นบางโอกาส ในวันอุโบสถหรือวันธรรมสวนะ (วันพระ คือ วันขึ้น หรือวันแรม ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ หรือวันแรม ๑๔ ค่ำในเดือนขาด) หรือมีศรัทธาจะรักษาประจำก็ได้ เช่น อุบาสิกา ผู้นุ่งขาวห่มขาว ซึ่งเรียกว่า แม่ชี ที่รักษาศีล ๘ นี้ประจำ

ถ้าสมาทานรักษาประจำ เรียกว่า อัฏฐศีล ศีล ๘ ถ้าสมาทานรักษาในวันธรรมสวนะ เรียกว่า อุโบสถศีล หรือการเข้าจำศีลอุโบสถ

เบญจศีล และอุโบสถศีลนี้ มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า คิหิศีล หรือ คหัฏฐศีล ศีลของคฤหัสถ์ หมายถึงศีลสำหรับบุคคลผู้เป็นคฤหัสถ์หรือฆราวาสที่อยู่ครองเรือนควรรักษาทั้งประจำและบางโอกาส

๓) ศีล ๑๐ (ทสศีล) หรือ สิกขาบท ๑๐ เป็นศีลที่มีพื้นฐานมาจากศีล ๕ และศีล ๘ โดยเพิ่มการไม่รับทองและเงินเข้าไปเป็นข้อที่ ๑๐ กำหนดเป็นศีลสำหรับเด็ก และเยาวชนที่บวชเป็นสามเณรพึ่งรักษาเป็นประจำ

คำว่า สามเณร แปลว่า เหล่ากอของสมณะ หมายถึงเด็ก และเยาวชน ผู้ศึกษาอบรมตามหลักไตรสิกขาเพื่อเตรียมเป็นพระภิกษุ เมื่อมีอายุครบอุปสมบทตามพระวินัยกำหนด รวมถึง สามเณรี คือ เด็กหญิงผู้บวชเตรียมความพร้อมเป็นพระภิกษุณี ในสมัยพุทธกาล

ศีล ๑๐ มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อนุปสัมปันนศีล ศีลของผู้เป็นอนุปสัมบัน คือ ผู้ยังมิได้รับการอุปสมบท (คือยังเป็นสามเณร สามเณรี) ควรรักษา

๔) ศีล ๒๒๗ หรือ สิกขาบท ๒๒๗ เรียกว่า ภิกขุศีล ศีลของพระภิกษุ จัดเป็นพระวินัยพุทธบัญญัติในส่วนที่เป็นกฎเกณฑ์ข้อห้ามสำหรับบุรุษผู้อปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ที่มีพื้นฐานมาจากศีล ๕

๕) ศีล ๓๑๑ หรือ สิกขาบท ๓๑๑ เรียกว่า ภิกขุนีศีล ศีลของพระภิกษุณี เป็นพระวินัยพุทธบัญญัติในส่วนที่เป็นข้อห้ามสำหรับสตรีผู้อุปสมบทเป็นพระภิกษุณีที่ต้องรักษาโดยเคร่งครัดเพื่อดำรงความเป็นภิกษุณีเช่นเดียวกับพระภิกษุ


ในหนังสือคู่มือพุทธศาสนิกชนนี้ จะกล่าวรายละเอียดเฉพาะศีลของคฤหัสถ์ คือ เบญจศีล ศีล ๕ และอัฐศีล ศีล ๘ หรือ อุโบสถศีล เพื่อให้พุทธศาสนิกชนฝ่ายคฤหัสถ์เห็นคุณค่า และความสำคัญของการสมาทานรักษาศีลตามหลักบุญสิกขา

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 พ.ย. 2016, 08:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รู้จักศีล ๕

๑) ปาณาติปาตา เวรมณี เว้นจากการทำลายชีวิตให้ตกล่วงไป
๒) อทินนาทานา เวรมณี เว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้
๓) กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี เว้นจากการประพฤติผิดในกาม
๔) มุสาวาทา เวรมณี เว้นจากการพูดเท็จ
๕) สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี เว้นจากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท


ศีล ๕ หรือ เบญจศีล ซึ่งแผลงมาจากคำว่า ปญฺจ สีลานิ นี้ ในคัมภีร์พระไตรปิฎกส่วนมากเรียก สิกขาบท ๕ คือองค์แห่งศีลอย่างหนึ่งๆ ซึ่งเป็นข้อห้ามเพื่อการฝึกฝนตน หรือบทฝึกฝนอบรมตนของพุทธศาสนิกชนฝ่ายคฤหัสถ์ ๕ ข้อ

ศีล ๕ หรือ เบญจศีล นี้เป็นมาตรฐานอย่างต่ำสำหรับการจัดระเบียบชีวิต และสังคมของมนุษย์ให้อยู่ในสภาพที่เอื้อโอกาสขั้นพื้นฐานในการที่จะสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม หรือทำการพัฒนาตนให้สูงขึ้นไป จัดเป็นศีลขั้นพื้นฐานของศีลทั้งปวง

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 พ.ย. 2016, 08:26 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ลักษณะข้อห้ามในศีล ๕

ศีลข้อที่ ๑: เว้นจากการทำลายสิ่งมีชีวิตให้ตกล่วงไป หมายถึงการห้ามฆ่าสัตว์ที่มีชีวิตลมหายใจอยู่ทุกเพศทุกชนิด โดยมีหลักวินิจฉัยในความขาดแห่งศีลที่เรียกว่า องค์ ๕ ข้อ คือ

๑) ปาโณ - สัตว์มีชีวิต
๒) ปาณสัญญิตา - รู้ว่าสัตว์มีชีวิต
๓) วธกจิตตัง - มีจิตคิดจะฆ่า
๔) อุปักกโม - ทำความพยายามฆ่า
๕) เตนะ มรณัง - สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น

การฆ่าสิ่งมีชีวิตที่พร้อมด้วยองค์ ๕ ข้อนี้ ศีลจึงขาด ถ้าไม่ครบองค์ประกอบ ทั้ง ๕ ข้อ แม้องค์ใดองค์หนึ่ง เช่น ไม่มีจิตคิดจะฆ่า เป็นต้น เช่นนี้ ศีลไม่ขาด


ศีลข้อที่ ๒: เว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ด้วยอาการแห่งขโมย หมายถึง การห้ามลักทรัพย์ทุกชนิดที่เจ้าของไม่ได้ยกให้เป็นสิทธิ์ขาดหรือห้ามถือเอา สิ่งของที่ไม่มีผู้ให้ด้วยวิธีโจรกรรม คือ การกระทำอย่างโจรทุกอย่าง ได้แก่ การลัก ฉก ชิง วิ่งราว และ/หรือปล้นชิงทรัพย์ เป็นต้น โดยมีหลักวินิจฉัย ในความขาดแห่งศีลข้อนี้ ที่เรียกว่า องค์ ๕ ข้อ คือ

๑) ปรปริคคหิตัง - ของนั้นมีเจ้าของหวงแหน
๒) ปรปริคคหิตสัญญิตา - รู้ว่ามีเจ้าของหวงแหน
๓) เถยยจิตตัง - มีจิตคิดจะลัก
๔) อุปกกโม - ทำความพยายามลัก
๕) เตนะ หรณัง - นำของมาได้ด้วยความพยายามนั้น


ศีลข้อที่ ๓: เว้นจากการประพฤติผิดในกาม หมายถึง การห้ามประพฤติผิดในกามทั้งหลาย คือ ห้ามประพฤติผิดทางเพศ ห้ามประพฤติผิดประเวณีในบุตรหลานของผู้อื่น ห้ามประพฤติเป็นชู้ในคู่ครอง คือ สามีภรรยาของผู้อื่น รวมถึงการห้ามสำส่วนทางเพศ มีหลักวินิจฉัยในความขาดแห่งศีลที่เรียกว่า องค์ ๔ ข้อ คือ

๑) อคมนียวัตถุ - วัตถุที่ไม่ควรล่วงละเมิด
๒) ตัสมิง เสวนจิตตัง - มีจิตคิดจะเสพ
๓) เสวนัปปโยโค - ทำความพยายามเสพ
๔) มคเคนะ มัคคัปปฏิปัตติ กระทำการให้มรรคต่อมรรคจรดกัน
-

ศีลข้อที่ ๔: เว้นจากการพูดเท็จ หมายถึงการสำรวมระวังในการใช้คำพูดที่เว้นจากการพูดเท็จ พูดโกหกหลอกกลวงผู้อื่นให้เสียประโยชน์ ซึ่งเป็นการแสดงออกด้วยเจตนาบิดเบือนความจริงให้คนอื่นหลงเชื่อ โดยแสดงออกได้ทั้งทางวาจา คือ พูดโกหกชัดๆ พูดปดตรงๆ (เช่นเป็นพยานเท็จในศาล)
และ
ทางกาย คือ ทำเท็จทางกาย เช่น การเขียนจดหมายลวง การทำรายงานเท็จ การสร้างหลักฐานปลอม การโฆษณาชวนเชื่อเกินความจริง หรือเมื่อมีใครถามข้อความที่ควรรับ ก็สั่นศีรษะปฏิเสธ โดยมีหลักวินิจฉัยในความขาดแห่งศีลที่เรียกว่า องค์ ๔ ข้อ คือ

๑) อตถัง - เรื่องไม่จริง
๒) วิสังวาหนจิตตัง - จิตคิดจะพูดให้ผิด
๓) ตัชโช วายาโม - พยายามพูดออกไปตามที่จิตคิดนั้น
๔) ปรัสสะ ตัตถะ วิชานนัง - ผู้ฟังพูดออกไปตามที่จิตคิดนั้น

ถ้าไม่ครบองค์ทั้ง ๔ นี้ ศีลไม่ขาด เช่น ทราบเรื่องที่เป็นเท็จมาโดยคนคิดว่าเป็นเรื่องจริง จึงพูดไปโดยไม่มีเจตนาจะหลอกลวงหรือพูดเท็จออกไป หรือผู้ฟังนั้นไม่เข้าใจ เพราะไม่รู้ภาษากัน เช่นนี้ ศีลไม่ขาด

ศีลข้อ ๕: เว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย อ้นเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท หมายถึง การงดเว้นไม่ดื่มน้ำเมา ที่เรียกตามศัพท์บาลีว่า มัชชะ แปลว่า น้ำที่ยังผู้ดื่มให้มึนเมา ซึ่งจำแนกเป็น ๒ ชนิด คือ สุราและเมรัย โดยสุรา ได้แก่ น้ำเมาที่เรียกว่าเหล้า เมรัย ได้แก่ น้ำเมาประเภทเบียร์ เป็นต้น กล่าวง่ายๆ ศีลข้อนี้ ห้ามดื่มเหล่าและเบียร์ รวมถึงการห้ามเสพยาหรือสารเสพติดให้โทษทุกชนิดโดยอนุโลม ซึ่งมีหลักวินิจฉัยในความขาดแห่งศีลที่เรียกว่า องค์ ๔ ข้อ คือ

๑) มทนียัง - สิ่งเป็นเหตุให้มึนเมา
๒) ปาตุกัมมยตาจิตตัง - จิตคิดจะดื่มหรือเสพ
๓) ตัชโช วายาโม - พยายามดื่มหรือเสพตามที่จิตคิดนั้น
๔) ปิตัปปเสวนัง - ดื่มน้ำเมาหรือเสพสารเสพติดนั้นเข้าไป

………..

เบญจศีล (ศีล ๕) ข้อ ๑ เดิมพระพุทธเจ้าหมายถึงมนุษย์

ครั้นถึงยุคอรรถกถา ท่านหมายรวมชีวิตสัตว์อื่นๆด้วย (ปาณ) ได้แก่ สิ่งมีชีวิต ซึ่งสัตว์อื่นก็รักชีวิต รักตัวกลัวตายเหมือนกัน

พึงสังเกต ในบาลีคำว่า "สัตว์" รวมทั้งมนุษย์และดิรัจฉาน แม้แต่ผู้ที่จะมาตรัสรู้ ก็เรียก โพธิสัตว์ ไม่เป็นคำหยาบอะไร แต่ภาษาไทยแยกเป็นมนุษย์ กับ สัตว์ดิรัจฉาน คำว่า "สัตว์" เป็นคำหยาบไป

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 พ.ย. 2016, 15:24 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


จุดมุ่งหมายของการรักษาศีล ๕

ในการดำเนินชีวิตของคนเรานั้น นักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาได้ชี้จุดสำคัญที่คนเราจะต้องสร้างพื้นฐานไว้ให้ มั่นคงเป็นพิเศษ ๕ จุด ซึ่งเป็นการปิดช่องทางที่จะทำให้ตนเองเสียหาย ๕ ทางด้วยกัน โดยวิธีสร้างพื้นฐานให้มั่นคงที่ว่านี้ ก็คือ การรักษาศีล ๕ นั่นเอง กล่าวคือ

ศีลข้อที่ ๑ เว้นจากการฆ่าสัตว์มีชีวิต เพื่อปิดช่องทางที่ตนจะเสียหายเพราะความเป็นคนโหดร้าย ไร้ความเมตตาปรานี

ศีลข้อที่ ๒ เว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ด้วยอาการเป็นโจรขโมย เพื่อปิดช่องทางที่ตนจะเสียหาย เพราะการหาเลี้ยงชีพในทางทุจริต มีพฤติกรรมลักเล็กขโมยน้อย

ศีลข้อที่ ๓ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม เพื่อป้องกันช่องทางที่ตนจะเสียหาย เพราะความเป็นคนใจอ่อนไหวง่าย เจ้าชู้ สำส่อนทางเพศ

ศีลข้อที่ ๔ เว้นจากการกล่าวคำเท็จ เพื่อปิดช่องทางที่ตนจะเสียหาย เพราะการใช้คำพูดโกหกหลอกลวง หรือเป็นคนกะล่อนปลิ้นปล้อน

ศีลข้อที่ ๕ เว้นจากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย เพื่อปิดช่องทางที่ตนจะเสียหาย เพราะความเป็นคนชอบดื่มชอบเสพลิ้มลองรสสุราจนมึนเมาประมาทขาดสติไม่สามารถ ยับยั้งชั่งใจในการทำชั่วได้

อีกนัยหนึ่ง ชีวิตของคนเรามักจะพังวิบัติล่มจมประสบความพินาศไป เพราะเหตุ ๕ อย่างนี้ คือ

(๑) ความโหดร้ายในจิตสันดาน
(๒) ความละโมบอยากได้ทรัพย์ของคนอื่นในทางที่ผิด
(๓) ความร่านรนในทางกามารมณ์กับเพศตรงข้าม
(๔) ความไม่มีสัจจะประจำใจ
(๕) ความประมาทขาดสติสัมปชัญญะ

วิธีแก้ ก็คือ การหันเข้ามาปรับพื้นฐานจิตสันดานของตนโดยวิธีรักษาเบญจศีล เพราะการรักษาเบญจศีล หรือศีล ๕ นอกจากจะมีความมุ่งหมายเพื่อป้องกันรักษาตนไม่ให้เสียหายดังกล่าวแล้ว ยังส่งผลทำให้ครอบครัว สังคม ประเทศชาติ ตลอดถึงสังคมโลกดำรงอยู่อย่างปกติสุข และเป็นพื้นฐานให้บำเพ็ญหลักไตรสิกขาขั้นสูงคือสมาธิ และปัญญาได้บริบูรณ์ ซึ่งเมื่อบำเพ็ญให้บริบูรณ์แล้ว ย่อมบรรลุมรรคผลได้ในที่สุด

ดังนั้น ศีล ๕ จึงเป็นพื้นฐานแห่งความประพฤติของคนเรา จัดเป็นกุศลธรรมสำคัญที่คนเราควรประพฤติ หากจะเปรียบศีล ๕ กับส่วนประกอบของบ้าน ก็เปรียบได้กับเสาของบ้านนั่นเอง


นอกจากนี้ ศีล ๕ ยังจัดเป็นมนุษยธรรมที่จำเป็นในสังคมมนุษย์อีกด้วย เพราะคนเราต้องอยู่ร่วมกันเป็นสังคม แต่ละคนจึงต้องปฏิบัติตนอยู่ในหลักการที่ช่วยตน และคนอื่นดำเนินชีวิตอยู่ได้อย่างสงบสุข คือ ไม่เบียดเบียนกันไม่ว่าเรื่องใดๆ

ดังนั้น ศีล ๕ หรือเบญจศีลนี้จึงเป็นหลักการที่ประเสริฐที่จะทำให้คนในสังคมอยู่ร่วมกัน อย่างปกติสุข

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 พ.ย. 2016, 15:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


คุณค่าของเบญจศีล


เบญจศีล เป็นหลักสำหรับควบคุมความประพฤติเบื้องต้นของมนุษย์ เป็นหลักเบื้องต้นสำหรับให้มนุษย์ตั้งอยู่ในคุณธรรม เพื่อให้ประพฤติความดียิ่งๆขึ้น เหมือนคนเราจะเขียนหนังสือได้ดี และตรงสวยงาม เริ่มแรกจำต้องอาศัยเส้นบรรทัดเป็นหลัก เขียนไปตามเส้นนั้นก่อน ตัวอักษรที่ปรากฏจะตรงดีและเรียบร้อย หาไม่ก็จะคดเคี้ยวขาดความสวยงาม ต่อเมื่อชำนาญดีแล้ว ก็สามารถเขียนให้ตรงโดยไม่อาศัยเส้นบรรทัดได้บ้าง แม้การประพฤติธรรม ประพฤติความดี ก็ฉันนั้น

เริ่มแรกจำต้องอาศัยอะไรสักอย่างเป็นหลัก เพื่อให้เกิดความมั่นคงและเป็นพื้นฐาน เบญจศีลสามารถเป็นหลักเช่นนั้นได้ หาไม่แล้วใจอาจไม่มั่นคง และคอยแต่จะเอนเอียงเข้าหาทุจริตได้ ต่อเมื่อประพฤติเบญจศีลจนเป็นปกติวิสัยแล้ว ก็อาจประพฤติธรรมความดีอื่นๆ ได้ดี และยั่งยืน ไม่ผันแปร

เบญจศีล เป็นข้อกำหนดความประพฤติอย่างต่ำที่สุดในหมู่มนุษย์ เป็นข้อกำหนดเท่าที่จำเป็นพอที่จะให้สังคมมนุษย์อยู่กันได้โดยปกติสุข มีชีวิตและทรัพย์สินปลอดภัยตามสมควร สังคมที่ปราศจากเบญจศีล จะมากไปด้วยทุกข์และเวรภัย มากไปด้วยการก่อคดีอาญา การสังหารผลาญชีวิต การเอารัดเอาเปรียบกัน การปล้นกัน การแย่งที่กันทำกิน แย่งถิ่นกันอยู่ แย่งคู่กันพิศวาส การประพฤติผิดทางเพศ การข่มขืน การหลอกลวง การเป็นคนหน้าไหว้หลังหลอก การติดสุราสิ่งเสพติดมึนเมา การเป็นทาสของอบายมุขต่างๆ นอกจากนั้น

ยังมีปัญหาสังคมสืบเนื่องมาอีก คือ อุบัติเหตุต่างๆ อันเนื่องมาจากของมึนเมา สิ่งเสพติดเหล่านั้น ความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินจะหมดไป จะอยู่หรือไปที่ใด จะเต็มไปด้วยความหวาดระแวงวิตกกังวล เพราะไม่แน่ใจความปลอดภัย มีความหวาดระแวงตลอดเวลา ท้ายที่สุดก็จะอยู่กันอย่างไม่อบอุ่น คืออยู่อย่างมีสุขภาพจิตเสีย เมื่อเป็นดังนี้ ก็ยากที่จะพัฒนาคุณภาพจิต และสมรรถนะของจิตใจให้ดีขึ้นได้ และ

สังคมนั้นๆ ก็จะกลายเป็นสังคมที่มีสิ่งแวดล้อม ไม่เกื้อกุลสำหรับการสร้างสรรค์ความดีงามให้สูงขึ้นไป สติปัญญาก็ดี วัตถุปัจจัยต่างๆที่พอจะหาได้ในสังคมก็ดี กำลังผู้คนที่ปรารถนาดีต่อสังคมก็ดี จะถูกใช้จ่ายให้หมดไปเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้เป็นส่วนมาก โอกาสที่จะช่วยสร้างสังคมให้ก้าวหน้าน้อยลง สังคมก็มีแต่ทรงกับทรุดเท่านั้น

ปัญหาดังกล่าวมานี้ เราสามารถแก้ได้ด้วยการพัฒนาบุคคลให้ประพฤติอยู่ในหลักเบญจศีลโดยทั่วกันเท่านั้น มิใช่ทางอื่นเลย

เบญจศีล เป็นบทบัญญัติทางสังคมที่มนุษย์ยุคก่อน ได้วางไว้เป็นหลักปฏิบัติสำหรับปกครองหมู่คณะ เพื่อให้หมู่คณะ ดำรงชีวิตและเป็นอยู่ร่วมกันด้วยสันติสุข ไม่เบียดเบียนกันและกัน ไม่เอารัดเอาเปรียบกันและกัน

ต่อมา ได้กำหนดกันว่าเบญจศีลนี้เป็นเครื่องมือสำหรับวัดความเป็นมนุษย์ เป็นเครื่องบ่งชี้ว่า ผู้นั้น มีความเป็นมนุษย์สมบูรณ์หรือไม่ โดยเรียกว่าเป็น มนุษยธรรม หมายถึง ธรรมที่เป็นเครื่องกำหนดความประพฤติของมนุษย์ หรือธรรมสำหรับวัดความเป็นมนุษย์ของคนเรา

ทั้งนี้ เพราะศีลแต่ละข้อนั้น ท่านวางจุดประสงค์หรือความมุ่งหมายไว้ก็เพื่อประโยชน์แก่มนุษย์ในแต่ละทาง

กล่าวคือ

เบญจศีลข้อที่ ๑ ท่านวางจุดประสงค์ไว้ เพื่อให้มนุษย์มีเมตตาธรรมต่อกัน ไม่เบียดเบียนกัน สามารถมีชีวิตอยู่ด้วยความปลอดภัย ไม่ต้องหวาดระแวงกันและกัน สามารถประพฤติธรรม ประกอบกิจการงาน และช่วยเหลือเกื้อกุลกันได้ตลอดไป โดยอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข และกำจัดเวรภัยทั้งปัจจุบันและอนาคตต่อกันลงได้

เบญจศีลข้อที่ ๒ ท่านวางจุดประสงค์ไว้ เพื่อให้มนุษย์ประกอบอาชีพโดยซื่อสัตย์สุจริต รักและเคารพเกียรติของตนเอง มีความเคารพกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้อื่น มีความมั่นใจในทรัพย์สินอันเป็นสมบัติของตนเอง ไม่ต้องวิตกกังวล โดยอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข และกำจัดเวรภัยทั้งปัจจุบันและอนาคตต่อกันลงได้

เบญจศีลข้อที่ ๓ ท่านวางจุดประสงค์ไว้ เพื่อให้มนุษย์มีความซื่อสัตย์ จริงใจต่อกัน ไว้วางใจกันได้ตลอดที่ตลอดเวลา ให้มีความเคารพในสิทธิความเป็นสามีเป็นภรรยาของกันและกัน สามารถประพฤติธรรม ประกอบกิจการงาน และช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้ตลอดเวลา โดยอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข และกำจัดเวรภัยทั้งปัจจุบันและอนาคตต่อกันลงได้

เบญจศีลข้อที่ ๔ ท่านวางจุดประสงค์ไว้ เพื่อให้มนุษย์มีความซื่อสัตย์ จริงใจและไว้วางใจกันได้ สร้างความรักความสามัคคีในหมู่คณะ ป้องกันผลประโยชน์ของกันและกันไว้ สามารถใช้วาจาประสานประโยชน์ของกันและกัน ไม่ทำลายกันด้วยคำพูด โดยอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข และกำจัดเวรภัยทั้งปัจจุบันและอนาคตต่อกันลงได้

เบญจศีลข้อที่ ๕ ท่านวางจุดประสงค์ไว้ เพื่อสนับสนุนการรักษาศีล ๔ ข้อ ข้างต้นให้เกิดมีขึ้นและรักษาไว้ด้วยดี และเพื่อให้มนุษย์มีสติมั่นคง สามารถควบคุมจิตใจตัวเองได้ ป้องกันมิให้เกิดการทะเลาะวิวาทและทำร้ายกัน ป้องกันสุขภาพทางกายและสุขภาพจิตมิให้เสื่อม ป้องกันอาชญากรรม มิจฉาชีพ หรือการทำทุจริตต่างๆ และกำจัดเวรภัยทั้งปัจจุบันและอนาคตต่อกันลงได้

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 พ.ย. 2016, 17:01 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


วิรัติ: เครื่องบ่งชี้ว่ามีศีล

การรักษาศีล นั้นกล่าวอีกนัยหนึ่ง ก็คือ เจตนางดเว้นจากการประพฤติกายทุจริตและวจีทุจริต หรือการตั้งใจไม่ทำความชั่วไม่ทำความผิดทั้งกาย และวาจานั่นเอง เป็นเรื่องที่เกิดจากมโนกรรม คือ เจตนาที่มีความตั้งใจงดเว้น ตั้งใจเว้น ตั้งใจไม่ทำชั่วอันเป็นข้อห้ามแต่ละข้อ
ดังนั้น
การรักษาศีลที่เป็นกุศลกรรมอย่างแท้จริงจึงต้องมีเจตนาความตั้งใจกำกับไว้ เสมอ ไม่ใช่เพราะมีเหตุอื่นมาบังคับตนไม่ให้ทำความชั่วความผิดนั้น หากแต่ที่ไม่ทำนั้น ก็เพราะตนเองได้ตั้งใจไว้ว่าจะงดเว้น

เจตนาดังกล่าวนี้ เป็นเจตสิกธรรมที่เกิดในจิต และมีอิทธิพลส่งผลสนับสนุนการรักษาศีลของคนเรา ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ โดยมิให้ขาด มิให้ทะลุด่างพร้อย ซึ่งมีศัพท์บัญญัติเรียกในภาษาบาลีว่า วิรติ (วิระติ) หรือ เรียกในภาษาไทยว่า วิรัติ (วิ-รัด) แปลว่า ความงดเว้น หมายถึง เจตนาความตั้งใจในการที่จะงดเว้นจากข้อห้ามนั้นๆ หรือเจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากพฤติกรรมที่ทุจริตหรือความประพฤติชั่วทางกาย และวาจา

มี ๓ ลักษณะ คือ

๑) สัมปัตตวิรัติ - ความงดเว้นสิ่งที่ประจวบเฉพาะหน้า
๒) สมาทานวิรัติ - ความงดเว้นด้วยการสมาทาน
๓) สมุจเฉทวิรัติ - ความงดเว้นด้วยตัดขาด

แต่ละลักษณะมีอธิบายเสริมความ ดังนี้

๑) สัมปัตตวิรัติ ความงดเว้นสิ่งที่ประจวบเฉพาะหน้า หมายถึงการงดเว้นไม่ทำ ไม่ล่วงละเมิดโดยมีมิได้ตั้งใจไว้ก่อน การงดเว้นเมื่อประสบอารมณ์ที่จะทำให้ล่วงละเมิดศีล ซึ่งซึ่งหน้า หรือการงดเว้นไม่ทำได้ทั้งที่ประจวบโอกาสหรือมีโอกาสทำ คือ ไม่ได้ตั้งเจตนาไว้ก่อน ไม่ได้สมาทานศีลหรือสิกขาบทไว้เลย แต่เมื่อ

ประสบเหตุที่จะทำชั่ว นึกคิดพิจารณาขึ้นได้ในขณะนั้นว่าตนมีชาติตระกูล วัย หรือคุณวุฒิอย่างนี้ๆ ไม่สมควรกระทำกรรมชั่วเช่นนั้นแล้วงดเว้นเสียได้ ไม่ทำผิด คือ ไม่ล่วงละเมิดศีล หรือกล่าวเป็นรูปธรรมให้เห็นชัดเจน
เช่น
คนเราเมื่อเดินไปพบสัตว์ที่เป็นอาหาร ซึ่งตนสามารถจะฆ่าได้ง่ายๆ แต่ไม่ฆ่า หรือพบทรัพย์สินของผู้อื่นตกอยู่ในที่ที่ตนอาจหยิบฉวยเอาได้ แต่ก็ไม่หยิบเอา หรือมีโอกาสอยู่ใกล้ชิดสองต่อสอง กับ คู่ครองสามีภรรยาของผู้อื่น ที่หล่อสวย ยั่วยวนชวนให้เกิดอารมณ์เพศ แต่ก็ยับยั้งชั่งใจได้ ไม่ทำตามอารมณ์ปรารถนาทางเพศนั้น เป็นต้น เช่นนี้
แม้ว่าตนจะไม่ได้ปฏิญาณสมาทานไว้ก่อน ว่าจะไม่ทำอย่างนั้น แต่ก็งดเว้นได้ด้วยมีสติสัมปชัญญะและหิริโอตตัปปะ ความสำนึกผิดชอบชั่วดีของตนและความละอายใจเกิดความเกรงกลัวต่อผลของบาป ทุจริตนั้นๆ เช่นนี้ เรียกว่า มีสัมปัตตวิรัติ จัดเป็นวิรัติที่เกิดขึ้นได้แก่สาธุชนคนดีทั่วไป


๒) สมาทานวิรัติ ความงดเว้นด้วยการสมาทาน หมายถึงการงดเว้นโดยการตั้งใจ และปฏิญาณไว้ก่อน คือ
ตนได้ตั้งเจตนาไว้ก่อน โดยได้เข้าพิธีรับศีลสมาทานสิกขาบทไว้แล้วก็งดเว้นตามที่ได้สมาทานนั้น เช่น
ไม่พูดเท็จ พูดโกหก เพราะได้รับศีลข้อมุสาวาทาเวรมณีไว้ก่อนแล้ว เป็นต้น จัดเป็นวิรัติของภิกษุ-สามเณร-สามเณรี และอุบาสกอุบาสิกา ซึ่งสมาทานรักษาศีลอยู่เสมอ โดย

ในคำสมาทานศีลนั้นจะมีคำว่า เวรมณี ที่แปลว่า เจตนางดเว้น ปรากฏอยู่ทุกสิกขาบท ดังเช่นคำสมาทานสิกขาบทข้อที่ ๑ ว่า ปาณาติปาตา เวรมณีสิกขาปทํ สมาทิยามิ แปลว่า ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือ
เจตนางดเว้นจากการฆ่าสัตว์ เป็นต้น ซึ่งคำว่า เวรมณี ในคำสมาทานศีลนี้ ก็คือวิรัติที่เรียกว่า สมาทานวิรัติ นี้นั่นเอง


๓) สมุจเฉทวิรัติ ความงดเว้นด้วยตัดได้ขาด หรือ เสตุฆาตวิรัติ การงดเว้นดุจชักสะพานตัดตอนเสียทีเดียว หมายถึงความงดเว้นได้แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
คือ
เป็นผู้มีจิตใจสูงเกินกว่าจะคิดทำความชั่วนั้นๆ หรือมีสภาพจิตที่งดเว้นโดยอัตโนมัติ โดยงดเว้นได้อย่างหมดสิ้น เพราะเห็นโทษอย่างประจักษ์ชัด
ได้แก่
การงดเว้นความชั่วทั้งปวงของพระอริยบุคคลทั้งหลาย อันประกอบด้วยอริยมรรค ซึ่งมีคุณภาพและประสิทธิภาพที่สามารถขจัดกิเลสที่เป็นเหตุแห่งความชั่ว นั้นๆ ได้หมดสิ้นเด็ดขาดแล้ว โดยไม่เกิดมีแม้แต่ความคิดที่จะประกอบกรรมชั่วนั้นอีกต่อไป

ในกรณีคนที่ชอบเสพสุราเป็นอาจิณ แต่ต่อมาถูกแพทย์สั่งให้งดเสพเพราะจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกาย ถึงอาจเสียชีวิต จึงงดเว้นไม่เสพสุราอีกต่อไปด้วยความจำเป็น ลักษณะอย่างนี้ไม่จัดเป็นจัดเป็นสมุจเฉทวิรัติ เพราะจิตใจของเขายังมีความปรารถนาอยากจะเสพอยู่

แต่ผู้ที่เว้นถึงขั้นสมุจเฉทวิรัตินั้น จะไม่มีความรู้สึกปรารถนาอยากเสพเช่นนั้นเหลืออยู่เลย เพราะละเลิกได้เด็ดขาดแล้ว

ดังนั้น ในการรักษาเบญจศีล วิรัติ ๒ ลักษณะแรกยังไม่อาจวางใจได้แน่นอน อาจกำเริบเสิบสานขึ้นมาอีกเมื่อไรก็ได้

ส่วนวิรัติข้อที่ ๓ นับเป็นอันวางใจได้แน่นอน ไม่มีวันที่จะกำเริบขึ้นได้ จัดเป็นวิรัติของพระอริยบุคคลทั้งหมดในพระพุทธศาสนา

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 พ.ย. 2016, 17:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เน้นความหมายศัพท์ที่ผ่านๆมาอีกที

สมาทาน การถือเอารับเอาเป็นข้อปฏิบัติ, การถือปฏิบัติ เช่น สมาทานศีล คือ รับเอาศีลมาปฏิบัติ

วิรัติ ความเว้น, งดเว้น, เจตนาที่งดเว้นจากความชั่ว

วิรัติ ๓ คือ

๑. สัมปัตตวิรัติ ความเว้นจากวัตถุอันถึงเข้า, การเว้นเมื่อประสบซึ่งหน้าคือไม่ได้สมาทานศีล หรือตั้งใจละเว้นมาก่อน แต่เมื่อประสบเหตุอันจะทำให้ความชั่วหรือละเมิดศีลเข้าเฉพาะหน้า ก็ละเว้นได้ในขณะนั้นเอง ไม่ล่วงละเมิดศีล

๒. สมาทานวิรัติ การเว้นจากการสมาทาน คือ ได้สมาทานศีลไว้ก่อนแล้ว เมื่อประสบเหตุที่จะให้ทำความชั่ว ก็งดเว้นได้ตามที่สมาทานนั้น

๓. สมุจเฉทวิรัติ เว้นได้โดยเด็ดขาด

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 พ.ย. 2016, 17:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เพืื่อไม่ให้ กท.ยาวจนยากต่อการถือเอาสาระ จึงเสริมหัวข้อ "จะรักษาเบญจศีลได้ดี ต้องมีเบญจธรรมประจำใจ"

ที่

viewtopic.php?f=1&t=53343&p=401216#p401216

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 9 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 23 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร