วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 05:54  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=25



กลับไปยังกระทู้  [ 12 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ธ.ค. 2008, 14:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

พระราชปุจฉาธรรม ในรัชกาลที่ ๙

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ เมื่อครั้งเสด็จขึ้นครองราชย์ในปีพุทธศักราช ๒๔๘๙ ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ในปีพุทธศักราช ๒๕๕๙ กว่า ๗๐ ปีแล้ว ที่ทรงตั้งมั่นอยู่ในทศพิธราชธรรมอย่างมิเสื่อมคลาย ภาพเมื่อคราเสด็จออกผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๔๙๙ นั้น ยังตราตรึงอยู่ในความทรงจำของพสกนิกรทั่วประเทศ อันแสดงให้เห็นว่าทรงมีพระราชศรัทธาตั้งมั่นในบวรพระพุทธศาสนา ที่สำคัญคือยังทรงใฝ่พระทัยในการศึกษาธรรมจนแตกฉาน ทั้งจากตำรับตำรา และจากการสนทนาธรรมกับพระเถรานุเถระอยู่เนืองๆ

ในวาระโอกาสนี้ ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตนำส่วนหนึ่งของพระราชปุจฉาธรรมที่ทรงมีกับพระเถระฝ่ายวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือและรู้จักกันดีในหมู่พุทธศาสนิกชน อันได้แก่ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร, หลวงปู่ดูลย์ อตุโล, หลวงพ่อเกษม เขมโก, หลวงพ่อสมชาย ฐิตวิริโย และหลวงพ่อพุธ ฐานิโย มาเสนอ ณ ที่นี้ ด้วยเห็นว่าจักเป็นประโยชน์สูงสุดแก่พุทธศาสนิกชนชาวไทย ในการน้อมนำไปประพฤติปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ธ.ค. 2008, 14:52 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

พระราชปุจฉาธรรม กับ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
ณ วัดป่าอุดมสมพร
ต.พรรณา อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร

:b47: :b44: :b47:

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙
เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานผ้าพระกฐิน
เป็นการส่วนพระองค์ครั้งแรก
ณ วัดป่าอุดมสมพร บ้านนาหัวช้าง-บ้านบะทอง
ต.พรรณา อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร
เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๑๕


ซึ่งการเสด็จพระราชดำเนินในคราวนั้น
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ทรงมีพระราชปุจฉาธรรมตรัสถามหลวงปู่ฝั้น
มีใจความสำคัญดังนี้

พระราชปุจฉา : ทำอย่างไรประเทศชาติ ประชาชน จะอยู่ดีกินดี มีความสามัคคีปรองดองกัน

หลวงปู่ฝั้น : ให้เข้าหาพระศาสนา เพราะศาสนาสอนให้ละชั่ว กระทำความดี ทำใจให้ผ่องใส

พระราชปุจฉา : คนส่วนมากทำดี คนส่วนน้อยทำชั่ว จะทำให้คนส่วนมากเดือดร้อนไหม ทำอย่างไรจึงจะแก้ไขได้

หลวงปู่ฝั้น : ขอถวายพระพร ทุกวันนี้คนไม่รู้ศาสนาจึงเบียดเบียนกัน ถ้าคนเรานึกถึงศาสนาแล้วก็ไม่เบียดเบียนกัน เพราะต้องการความสุขความเจริญ คนอื่นก็เช่นกัน คนทุกวันนี้เข้าใจว่า ศาสนาอยู่กับวัด อยู่ในตู้ ในหีบ ในใบลาน อยู่กับพระพุทธเจ้าประเทศอินเดียโน่น จึงไม่สนใจ บ้านเมืองจึงเดือดร้อนวุ่นวาย มองหน้ากันไม่ได้ ถ้าคนเราถือกันเป็นบิดามารดา เป็นพี่เป็นน้องกันแล้วก็สบาย ไปมาหาสู่กันได้ เพราะใจเราไม่มีเวร เวรก็ไม่มี ใจเราไม่มีกรรม กรรมก็ไม่มี ฉะนั้น ให้มีพรหมวิหารธรรม อย่างมหาบพิตรเสด็จมานี้ ทุกอย่างเรียบร้อยหมด


⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱

:b8: จาก...หนังสือ ภาพ ชีวประวัติ และปฏิปทาของพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
วัดป่าอุดมสมพร ตำบลพรรณา อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร
หนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=42819

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ธ.ค. 2008, 14:54 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

พระราชปุจฉาธรรม กับ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
ณ วัดบูรพาราม ต.ในเมือง อ.เมือง จ.สุรินทร์
:b47: :b44: :b47:

พระราชปุจฉา : หลวงปู่ การละกิเลสนั้น ควรละกิเลสอะไรก่อน

หลวงปู่ดูลย์ : กิเลสทั้งหมดเกิดรวมอยู่ที่จิต ให้เพ่งมองดูที่จิต อันไหนเกิดก่อน ให้ละอันนั้นก่อน

พระราชปุจฉา : ขออาราธนาหลวงปู่ให้ดำรงขันธ์อยู่เกินร้อยปี เพื่อเป็นที่เคารพนับถือของปวงชน หลวงปู่รับได้ไหม

หลวงปู่ดูลย์ : อาตมภาพรับไม่ได้หรอก แล้วแต่สังขารเขาจะเป็นไปของเขาเอง


⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱

:b8: จาก...หนังสือ หลวงปู่ฝากไว้
บันทึกคติธรรมและธรรมเทศนาของพระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล)
รวบรวมบันทึกไว้โดย พระโพธินันทมุนี
หรือพระราชวรคุณ (หลวงปู่สมศักดิ์ ปณฺฑิโต) ในปัจจุบัน

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=6&t=20364

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ธ.ค. 2008, 14:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

พระราชปุจฉาธรรม กับ หลวงพ่อเกษม เขมโก
ณ วัดคะตึกเชียงมั่น ต.หัวเวียง อ.เมือง จ.ลำปาง
:b47: :b44: :b47:

พระราชปุจฉา : หลวงพ่อประจำอยู่ที่วัดนี้หรือ

หลวงพ่อเกษม : ขอถวายพระพร อาตมาประจำอยู่ที่สุสานไตรลักษณ์

พระราชปุจฉา : อยากไปหาหลวงพ่อเหมือนกัน แต่หาเวลาไม่ค่อยได้ ได้ทราบว่าเข้าพบหลวงพ่อยาก

หลวงพ่อเกษม : พระราชาเสด็จไปป่าช้าเป็นการไม่สะดวก เพราะสถานที่ไม่เรียบร้อย อาตมาภาพจึงมารอเสด็จที่นี่ ขอถวายพระพร มหาบพิตรสบายดีหรือ

พระราชปุจฉา : สบายดี

หลวงพ่อเกษม : ขอถวายพระพร มหาบพิตรพระชนมายุเท่าไร

พระราชปุจฉา : ได้ ๕๐ ปี

หลวงพ่อเกษม : อาตมาภาพได้ ๖๗ ปี

พระราชปุจฉา : หลวงพ่ออยู่ตามป่ามีความสงบ ย่อมจะมีโอกาสปฏิบัติธรรมได้มากกว่าพระที่วัดในเมือง ซึ่งมีภารกิจเกี่ยวกับการปกครองและงานอื่นๆ จะเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า

หลวงพ่อเกษม : ขอถวายพระพร อาจจะเป็นอย่างนั้นก็ได้ เพราะอยู่ป่าไม่มีภารกิจอย่างอื่น แต่ก็ขึ้นอยู่กับศีลบริสุทธิ์ด้วย เพราะเมื่อศีลบริสุทธิ์จิตใจไม่ฟุ้งซ่าน นิวรณ์ไม่ครอบงำก็ปฏิบัติได้

พระราชปุจฉา : การปฏิบัติอย่างพระมีเวลามากย่อมจะได้ผลเร็ว ส่วนผู้ที่มีเวลาน้อยมีภารกิจมาก จะปฏิบัติอย่างหลวงพ่อก็ไม่อาจทำได้ แล้วจะมีวิธีปฏิบัติอย่างไร เราจะหั่นแลกช่วงเวลาช่วงเช้าให้สั้นเข้าจะได้ไหม คือ ซอยเวลาออกจากหนึ่งชั่วโมงเป็นครึ่งชั่วโมง จากครึ่งชั่วโมงเป็นสิบนาที หรือห้านาที แต่ให้ได้ผล คือ ได้รับความสุขเท่ากัน ยกตัวอย่างเช่น นั่งรถยนต์จากเชียงใหม่มาลำปางก็สามารถปฏิบัติได้ หรือระหว่างที่มาอยู่ในพิธีนี้มีช่วงที่ว่างอยู่ ก็ปฏิบัติเป็นระยะไป อย่างนี้จะถูกหรือเปล่าก็ไม่ทราบ อยากจะเรียนถาม

หลวงพ่อเกษม : ขอถวายพระพร จะปฏิบัติอย่างนั้นก็ได้ ถ้าแบ่งเวลาได้

พระราชปุจฉา : ไม่ถึงแบ่งเวลาต่างหากออกมาทีเดียว ก็อาศัยเวลาขณะที่ออกมาทำงานอย่างอื่นอยู่นั้นแหละ ได้หรือไม่ คือ ใช้สติอยู่ทุกขณะจิตที่เกิดดับ ทำงานด้วยความรอบคอบให้สติตั้งอยู่ตลอดเวลา

หลวงพ่อเกษม : ขอถวายพระพร มหาบพิตรทรงปฏิบัติอย่างนั้นถูกแล้ว การที่มหาบพิตรเสด็จพระราชดำเนินมาปฏิบัติงานอย่างนี้ ก็เรียกว่าได้ทรงเจริญเมตตาในพรหมวิหารอยู่

พระราชปุจฉา : ก็คิดว่าเป็นอย่างนั้น เช่นว่ามาตัดลูกนิมิตนี้ ก็ถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรม ด้วยขี้เกียจมาจึงมีกำลังใจมา และเมื่อได้โอกาสได้เรียนถามพระสงฆ์ว่า การปฏิบัติธรรมเป็นระยะเวลาสั้นๆ เป็นตอนๆ อย่างนี้จะได้ผลไหม อุปมาเหมือนช่างทาสีผนังโบสถ์ เขาทาทางนี้ดีแล้วพัก ทาทางโน้นดีแล้วพัก ทำอยู่อย่างนี้ก็เสร็จได้ แต่ต้องใช้เวลาหน่อย จึงอยากเรียนถามว่าปฏิบัติอย่างนี้ จะมีผลสำเร็จไหม

หลวงพ่อเกษม : ปฏิบัติอย่างนั้นก็ได้โดยอาศัยหลัก ๓ อย่าง คือ มีศีลบริสุทธิ์ ทำบุญในชาติปางก่อนไว้มาก มีบาปน้อย ขอถวายพระพร


⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱

:b8: จาก...หนังสือ หลวงพ่อเกษม เขมโก ฉบับสมบูรณ์

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ธ.ค. 2008, 14:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

พระราชปุจฉาธรรม กับ หลวงพ่อสมชาย ฐิตวิริโย
ณ วัดเขาสุกิม ต.เขาบายศรี อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี
:b47: :b44: :b47:

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระราชปุจฉาว่า...พระคุณเจ้าโยมขอถามปัญหาธรรมบางประการ ?

หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย วิสัชนาว่า...ขอถวายพระพร พระมหาบพิตรราชสมภารเจ้า สิ่งใดที่ไม่เหลือสติปัญญาของอาตมาภาพแล้ว ขอพระองค์ทรงพระราชปุจฉาได้ ขอถวายพระพร

พระราชปุจฉา : ผู้คนเขามาวัดทำไมกัน ?

หลวงปู่สมชาย : ผู้มาวัดด้วยเหตุต่างๆ กัน บางคนเป็นคนดีอยู่แล้ว มาวัดด้วยมุ่งทำความดีให้มากขึ้น ด้วยการถือศีลภาวนา บางคนมาด้วยความอยากรู้ อยากเห็นว่าทางวัดเขาทำอะไรกันบ้าง บางคนก็มาด้วยความตั้งใจจริงๆ ที่จะมาช่วยงานวัด เพราะเห็นว่าอยู่บ้านไม่มีธุระที่จะทำ บางคนก็มาด้วยเหตุที่เห็นว่าอยู่บ้านมีแต่ปัญหา ล้วนแต่น่าเบื่อหน่าย สู้มาวัดหาความสงบดีกว่า อย่างนี้ก็มี เรียกว่ามาวัดทำให้สบายใจ ขอถวายพระพร

พระราชปุจฉา : ที่พระคุณเจ้าว่าชาวบ้านเขาเบื่อหน่ายนั้น เขาเบื่ออะไรกัน ?

หลวงปู่สมชาย : การเบื่อหน่ายของชาวบ้านมีด้วยกันสองอย่าง บางคนเบื่อหน่ายต่อการงานที่ต้องทำอย่างจำเจ ก็หาเวลามาวัดเพื่อพักผ่อนเป็นการเบื่ออย่างไม่จริงจัง บางคนมีความเบื่อจริงๆ โดยเห็นว่าการเป็นอยู่ทางโลกนั้น ถึงจะมั่งมีสามารถหาความสุขได้ทุกอย่างก็จริง ล้วนแต่เป็นความสุขชั่วคราว ไม่เป็นความสุขที่แท้จริงเหมือนอย่างความสุขทางธรรม บางคนเห็นไปว่าเกิดมาแล้วก็หนีความตายไม่พ้น ก่อนจะตายก็ควรจะได้ทำอะไรๆ ให้เป็นเหตุให้ตายดี มีความสุข อย่างนี้ก็มี ขอถวายพระพร

พระราชปุจฉา : การที่พระคุณเจ้าสอนคนให้นึกถึงความตายนั้น ถ้าหากสอนไม่ดีแล้ว ก็จะเป็นเหตุให้คนเกิดความเกียจคร้านในการแสวงหาเลี้ยงชีพ ทำให้เป็นคนจนเป็นภาระของสังคมก็เป็นได้ เพราะฉะนั้นต้องระวังในการสอน อย่าให้เกิดผลร้าย ?

หลวงปู่สมชาย : โดยปกติ พระจะสอนให้เห็นโทษของความมัวเมา ซึ่งเป็นต้นเหตุให้เกิดความเห็นผิดเป็นชอบ มักจะสอนให้คิด ให้รู้เห็นในทางถูกก่อน เช่น

ก. อย่ามัวเมาในวัยว่ายังเป็นหนุ่มเป็นสาวอยู่
ข. อย่ามัวเมาในความไม่มีโรคมาเบียดเบียน
ค. อย่ามัวเมาในชีวิตว่าเวลาของเรายังมีอยู่

ด้วยเหตุดังถวายพระพรมาแล้ว ทางพระจึงสอนให้ทุกคนนึกถึงความตาย ถ้าไม่สอนให้เขาเข้าใจในทางถูกก่อนแล้ว กลับจะเป็นผลร้ายดังพระราชปุจฉาโดยแท้ การเจริญมรณสตินั้น ชั้นต้นเพื่อให้รู้ว่าทุกคนหนีความตายไม่พ้น ไม่ว่าจะเป็นคนมี คนจน มีความตายเหมือนกันเท่ากันทั้งนั้น สำหรับผู้ทำการภาวนา การเจริญกรรมฐาน เพื่อให้นิวรณ์สงบ ก็จำเป็นต้องพิจารณากำหนดเป็นอย่างๆ ไป ความตาย คือ นายเพชฌฆาต ความตาย คือ ต้องพลัดพรากจากสมบัติทุกอย่าง เขาตาย-เราก็ต้องตายเหมือนเขา ชีวิตเป็นของที่กำหนดเอาเองไม่ได้ หรือจะกำหนดเอาว่าอายุเท่านั้นเท่านี้จะตายก็กำหนดไม่ได้ ทั้งนี้ เมื่อรู้ตามความเป็นจริงว่าชีวิตเป็นของน้อย จะตายเมื่อไรไม่มีใครรู้ได้ ขอถวายพระพร


พระราชปุจฉา : โยมขอถามพระคุณเจ้าอีกสักข้อว่า “ปุถุชนคนธรรมดาบางคน ที่มีลักษณะเหมือนพระอรหันต์บางอย่างนั้นในโลกนี้จะมีบ้างไหม ?” โยมอยากเทียบเพื่อวิเคราะห์ถึงคุณสมบัติของพระอรหันต์ที่แท้จริง ?

หลวงปู่สมชาย : ตามที่มหาบพิตรอยากทราบว่าปุถุชนคนธรรมดาที่ลักษณะคล้ายพระอรหันต์บางอย่างในโลกนี้มีแน่นอน แต่ในด้านคุณธรรมนั้นจะไม่เหมือนกัน ปุถุชนคนธรรมดายังละสังโยชน์ไม่ได้ สังโยชน์คือเครื่องผูกมัดใจสัตว์ พระอริยบุคคลชั้นต้นคือ พระโสดาบันบุคคล ชั้นกลางคือ พระสกทาคามีบุคคล และพระอนาคามีบุคคล ชั้นสูงคือ พระอรหันตบุคคล พระอริยบุคคลระดับพระโสดาบันบุคคลอย่างน้อยก็ต้องละสังโยชน์ ๓ ได้ คือ สักกายทิฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส นั่นเอง ขอถวายพระพร

ในด้านคุณธรรมนั้นทราบแล้วย่อมแตกต่างไม่เหมือนกันแน่ ขอทราบลักษณะอาการบางอย่างที่ว่าเหมือนกันนั้นจะมีบ้างไหม ?

หลวงปู่สมชาย : พอมีอยู่บ้าง ขอถวายพระพร

พระราชปุจฉา : ที่พระคุณเจ้าว่าพอมีนั้น ปุถุชนคนนั้นคือใคร ? ลักษณะที่เหมือนนั้นเหมือนอย่างไร ?

หลวงปู่สมชาย : ปุถุชนคนนั้น คือ นักโทษที่รอการประหารชีวิต ลักษณะที่เหมือนนั้นคือ จะนึกถึงความตายตลอดเวลา ขอถวายพระพร

พระราชปุจฉา : มีตัวอย่างบ้างไหม ?

หลวงปู่สมชาย : ขอถวายพระพร อาตมาภาพขอยกตัวอย่างเช่น นาย ก. ถูกพิพากษาความว่าอีก ๗ วันข้างหน้านี้ นาย ก. จะถูกประหารชีวิต ขณะนั้นนาย ก. ย่อมมีความรู้สึกบางอย่างเหมือนพระอริยบุคคลคือ รู้สึกว่าตัวเองจะต้องตายแน่ภายใน ๗ วัน ขอถวายพระพร

พระราชปุจฉา : เหมือนอย่างไร ? ขอพระคุณเจ้าอธิบายด้วย ?

หลวงปู่สมชาย : ขอถวายพระพร คืออย่างนี้ นาย ก. เมื่อรู้ว่าตัวเองจะต้องตายภายในอีก ๗ วันข้างหน้า นาย ก. จะมีความตายขึ้นสมอง คือ จะนึกถึงความตายอยู่ตลอดเวลา จะทำอะไรก็สักแต่ว่าทำไปอย่างนั้น เดี๋ยวก็จะต้องตายแล้วอย่างนี้ เป็นต้น ใครจะเอาวัตถุสิ่งของ เงินทองหรือของมีค่าใดๆ มาให้ก็แล้วแต่ นาย ก. จะมีความรู้สึกว่าเราจะต้องตายจากในอีก ๗ วัน คำว่า “ตาย” จะมาตัดบทภายในดวงจิตของนาย ก. ทันที กิเลสตัวนี้จะไม่มีความยินดีในข้าวของเงินทองสิ่งต่างๆ ที่คนนำมาให้นั้นไม่มีอีกแล้ว เพราะไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไร อีก ๗ วันก็จะตายอยู่แล้ว พระอริยเจ้าท่านก็นึกถึงความตายอยู่ตลอดเวลา ใครจะเอาปัจจัยสี่อย่างดีแค่ไหนมาถวายท่านก็สักแต่ว่าเป็นของนั้นของนี้ ไม่ใยดี ปล่อยวาง เดี๋ยวก็จะต้องตายจากวัตถุเหล่านี้ไปแล้ว ขอถวายพระพร

อีกตัวอย่างหนึ่ง อาตมาภาพในเวลานี้เช่นกัน อาตมาภาพเคยสลบไปถึงสิบห้าชั่วโมง พอฟื้นขึ้นมาแล้ว ก็ยังนึกถึงอยู่เสมอว่าเทพเจ้าชาวโลกทิพย์ที่เขาอนุญาตให้อาตมาภาพกลับมายังโลกมนุษย์ได้เพียงชั่วคราวนั้น เมื่อไร เวลาไหนเขาจะมาเอาอาตมาภาพกลับไปอีก เขาไม่ได้บอกอาตมาภาพเลยว่า อีก ๗ วัน หรือ ๗ เดือน หรือ ๗ ปี ท่านจะต้องตาย ไม่บอกเลย นักโทษเสียยังดีกว่าเพราะรู้แน่ๆ ว่าจะต้องตายภายในวันนั้น วันนี้ เขารู้ว่าชีวิตของเขาเหลือน้อยแล้ว จะมีชีวิตอยู่ได้แค่ ๗ วันเท่านั้น จะทำอะไรให้รีบทำเสีย ! ส่วนของอาตมาภาพนี้ไม่มีกำหนดอะไรเลย แต่อาตมาภาพก็ไม่ประมาท พยายามนึกถึงความตายอยู่เสมอ รีบทำความดีตลอดเวลา กลัวว่าความตายจะมาถึงเดี๋ยวนี้ นับตั้งแต่อาตมาภาพฟื้นขึ้นมาแล้ว ใครจะเอาอะไรมาถวาย ไม่ว่าจะดีประณีตสักแค่ไหน ไม่ว่าปัจจัยสี่ชนิดใดก็แล้วแต่อาตมาภาพรับแล้วก็ทำให้นึกถึงว่า “เราจะต้องตายจากปัจจัยสี่เหล่านี้” นักโทษที่ถูกตัดสินประหารชีวิตก็เช่นกัน มหาบพิตร ลองให้ใครไปถามดูก็ได้ว่า “คุณกินอาหารมื้อนี้อร่อยไหม ? เขาจะตอบทันทีว่า...อร่อย แต่ไม่ใยดีเลย เพราะพรุ่งนี้ก็จะต้องตายแล้ว !...พระอริยบุคคลก็เช่นกัน จะนำของบริโภคชั้นดีขนาดไหนมาให้ ท่านก็สักแต่ว่า เดี๋ยวก็จะต้องตายจาก...คำว่า...ตาย...ตาย...จะมีอยู่ทุกลมหายใจเข้า-ออกของพระอริยบุคคล...ท่านจะไม่มีความใยดีต่อสมบัติของชาวโลกที่สมมุติกันว่า สิ่งนั้นดี สิ่งนี้ดี ทั้งสิ้น ! ท่านมีแต่สักว่าสิ่งนั้น สักว่าสิ่งนี้ แล้วก็จะต้องตายจาก...

ยังมีชาดกอยู่เรื่องหนึ่ง ขอเล่าถวายมหาบพิตร เพื่อเปรียบเทียบว่าลักษณะของปุถุชนกับ

พระอริยบุคคลที่มีอะไรเหมือนกัน..สมัยพุทธกาลนั้น ยังมีพระราชาเมืองหนึ่ง องค์พี่เป็นพระราชา องค์น้องเป็นมหาอุปราช วันหนึ่งพระราชาเสด็จประพาสนอกเมือง มหาอุปราชผู้น้องอยู่ในพระนคร นึกขึ้นมาว่าเสด็จพี่ของเราเป็นพระราชามีความสุขอย่างไรหนอ ? กว่าเราจะได้เป็นพระราชาก็ไม่รู้ว่าเมื่อไร ?...อยากลองสวมชุดของพระราชาดูสักหน่อยว่าจะมีความสุขขนาดไหน ? ว่าแล้วก็แอบเข้าไปในห้องทรงของเสด็จพี่ ถือวิสาสะเอาชุดกษัตริย์ของเสด็จพี่มาลองสวมดู เอาพระขันธ์มากำไว้ในมือ แต่งองค์เสร็จแล้วก็ลองออกมาประทับบนพระแท่นที่ว่าราชการของกษัตริย์.เหล่าเสนาอำมาตย์มาพบเข้าก็พากันจับกุมส่งพระราชา ตั้งข้อหาว่าอุปราชก่อการกบฏแอบเอาเครื่องทรงของพระมหากษัตริย์มาใส่ พระราชาเสด็จกลับจากประพาสนอกเมืองจึงสอบถามอุปราชผู้น้อง...อุปราชผู้น้องรับสารภาพว่า มิได้คิดคดกบฏต่อเสด็จพี่แต่อย่างไร เพียงแค่อยากลองทรงเครื่องของกษัตริย์ดูแค่นั้นว่า มีความสุขอย่างไร ?...แต่กฎมณเฑียรบาล ถือว่ามีความผิดต้องโทษถึงประหารชีวิตทันที...แต่ด้วยมีความสงสารน้องชายจึงยืดเวลาให้น้องอยู่ต่อไปอีก ๗ วัน ก่อนประหารชีวิต ก็ต้องการให้น้องได้มีความสุขจึงสละราชสมบัติให้น้องได้สำเร็จราชการแทน ๗ วัน น้องจะทำอะไร ต้องการอะไร อย่างพระราชาให้ทำได้ทั้งหมดเพื่อความสุขของน้องก่อนตาย วันเวลาผ่านไป แต่และวันพระราชาตัวจริงก็ถามน้องชายอยู่ทุกวันว่า น้องเป็นอย่างไรบ้าง ที่เป็นพระราชาอยู่นี้มีความสุขบ้างไหม ? เสวยอย่างพระราชา บรรทมอย่างพระราชา ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นพระราชาทุกอย่างมีความสุขบ้างไหม ?...น้องชายตอบทันทีว่า “หาความสุขมิได้เลย เพราะวันหนึ่งๆ ก็นึกเพียงว่าเหลือเวลาอีก ๓ วันก็จะตาย เหลือเวลาอีก ๒ วัน เหลือเวลาเพียงพรุ่งนี้ก็ต้องตาย นึกแต่เพียงว่าความตายใกล้เข้ามาทุกขณะ ใกล้เข้ามาทุกวัน จนเหลือเพียงพระอาทิตย์ขึ้นพรุ่งนี้ก็จะต้องตายแล้ว...เครื่องทรงและสิ่งทั้งหลายที่เสด็จพี่ประทานมาให้นั้นก็เพียงสักแต่ทรง เท่านั้นไม่ได้คิดเลยว่านี่คือเครื่องทรงของพระราชา..สักแต่ว่าปกปิดอวัยวะไม่ให้ละอายเท่านั้น...พระกระยาหารรสเลิศของเมืองนี้ที่เสด็จพี่ประทานให้เสวยแต่ละวัน ก็เพียงแค่กินรอวันตายเท่านั้น ไม่ได้ยินดีว่าอันนี้รสเลิศอร่อย ไม่มีโปรดอะไรเลย เพราะพรุ่งนี้ก็จะต้องตายอยู่แล้ว..จะนึกอยู่อย่างเดียวว่า ตาย...ตาย...ตาย ตลอดเวลา...

มหาบพิตร พระอริยบุคคลก็เช่นกันย่อมมีลักษณะที่เหมือนกับปุถุชนก็คืออย่างนี้ คือจะมีมรณานุสสติขึ้นสมองทุกขณะจิต สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเคยตรัสถามพระอานนท์ ว่า “อานนท์ เธอนึกถึงความตายวันละกี่หน” พระอานนท์กราบทูลว่า “๑๐๐ หนพระเจ้าข้า” พระพุทธองค์ทรงเตือนว่า “เธอทำไมประมาทนักเล่า ! อานนท์” “เราตถาคต ระลึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก” มหาบพิตร ลักษณะของปุถุชน คนสามัญธรรมดา ส่วนที่เหมือนพระอริยบุคคลนั้นก็คือ นักโทษที่รู้ว่าจะต้องถูกประหารชีวิตในวันนั้นๆ คนๆ นั้นเมื่อรู้ว่าจะต้องตายในวันนั้นๆ จะต้องพลัดพรากจากพ่อ แม่ ลูก เมีย อันเป็นที่รักของตน ย่อมไม่มีความยินดีในเครื่องนุ่งห่มดีๆ อาหารดีๆ แม้แต่แก้วแหวนเงินทอง ใครจะเอาอะไรมาสวมใส่ให้แม้แต่เครื่องทรงของพระราชาก็ตาม เขาจะไม่มีความยินดีในสิ่งนั้นๆ เลย เพราะรู้ตัวอยู่แล้วว่า จะต้องตาย.ความตายจะขึ้นสมอง หรือมีมรณสติทุกลมหายใจเข้า-ออกนั่นเอง...

ปุถุชนกับพระอริยบุคคลย่อมไม่เหมือนกันเพราะพระอริยบุคคลท่านมีมหาสติอยู่ตลอดเวลา มีอาการสำรวมอินทรีย์อยู่ตลอดเวลา ส่วนปุถุชนคนธรรมดาเป็นผู้ขาดสติ ขาดการสำรวมอินทรีย์ จึงทำให้ลักษณะของปุถุชนกับพระอริยบุคคลแตกต่างไม่เหมือนกัน แต่บางอย่างที่คล้ายกันนั้นก็คือพระอริยบุคคลท่านจะมีมรณสติอยู่ทุกลมหายใจเข้า-ออก.ปุถุชนทั่วไปที่จะนึกถึงความตายอยู่ตลอดเวลานั้นน้อยนัก ตลอดทั้งปีบางคนถามได้เลยว่า เคยนึกถึงความตายบ้างไหม? ไม่มีใครนึกถึงเลย จึงถือว่าประมาท แต่ยังมีปุถุชนอีกประเภทหนึ่ง “...ได้แก่นักโทษประหารชีวิตที่รู้ว่าตนเองจะต้องตายในวันนั้นๆ นั่นเอง ถึงแม้ว่าจะนึกถึงความตายไม่ได้ทุกลมหายใจเข้า-ออก แต่ก็บ่อยครั้งมากกว่าคนธรรมดา นักโทษนั้นเขาจะนึกถึงความตายอยู่บ่อยๆ ว่า..ตาย..ๆ..ๆ ...เราจะต้องตาย เราจะต้องพลัดพรากจากบุตรภรรยา ทรัพย์สมบัติพัสถาน เราจะต้องตายในอีกเท่านั้นวัน เท่านี้วัน คำว่าตายจะมีอยู่เกือบทุกลมหายใจทีเดียว”... นี่แหละที่มหาบพิตรอยากทราบว่าปุถุชนมีส่วนที่เหมือนกับพระอริยบุคลนั้นมีส่วนไหนบ้าง อาตมาภาพเห็นว่าระดับจิตของบุคคลทั้งสองย่อมแตกต่างในด้านคุณธรรม สูงต่ำต่างกันในด้านคุณธรรม จึงเหมือนกันไม่ได้เลย แต่ลักษณะบางอย่างที่เหมือนกันนั้นก็คือการคิดถึงหรือนึกถึงความตายอยู่ตลอดเวลา ปุถุชนคนธรรมดาที่จะนึกถึงความตายได้ขนาดนั้นก็เห็นมีแต่นักโทษที่ถูกตัดสินประหารชีวิตเท่านั้นที่รู้ว่าตัวเองจะต้องตายภายในวันนั้นๆ ก็จะคิดถึงหรือนึกถึงความตายของตัวเองอยู่เสมอๆ ลักษณะตรงนี้จึงเรียกว่าคล้ายกันกับพระอริยบุคคล เพราะว่าพระอริยบุคคลท่านจะมีมรณสติอยู่ทุกลมหายใจเข้า-ออก...” ขอถวายพระพร....

ภายหลังจากล้นเกล้าฯ ทั้งสามพระองค์เสด็จพระราชดำเนินวัดเขาสุกิมได้ ๕ เดือน หมายกำหนดการจากสำนักพระราชวังก็ตามมาอีก ๑ ฉบับ ความว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร ทรงพระกรุณาโปรดจะเสด็จวัดเขาสุกิม พร้อมด้วยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรชายา ในวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๒๐ เพื่อทรงทอดผ้าป่า

จึงทำให้เหตุการณ์การเมืองต่างๆ เพลาลงไปได้มาก แต่ยังไม่หมดไปเสียทีเดียว ยังมีข่าวโคมลอยสร้างกระแสทำลายชื่อเสียงเกิดขึ้นอีกเป็นครั้งคราว ในสมัยนั้นสถานการณ์ด้านชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านด้านจังหวัดจันทบุรี ตราด และปราจีนบุรี จะมีภัยสงครามล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้น ทำให้ข้าราชการทหารตำรวจตามชายแดนต้องทำหน้าที่ปกป้องผืนปฐพีของไทยเอาไว้สุดกำลังทั้งสามจังหวัด ต้องอาศัยกำลังใจจากแนวหลัง ทุกวันธรรมสวนะหลวงปู่ก็จะนำประชาชนชาวบ้านจัดหาข้าวสารอาหารแห้ง และวัตถุมงคล ออกเยี่ยมบำรุงขวัญเป็นประจำมิได้ขาด ผู้ไม่ประสงค์ดีก็ออกข่าวโจมตีว่าเป็น “...ไส้ศึก ชักนำภัยสงครามเข้าประเทศไทยบ้าง... ว่านำอาวุธสงครามไปส่งให้กับฝ่ายตรงข้ามบ้าง...” สารพัดที่จะกล่าวโจมตี แต่หลวงปู่ไม่เคยที่จะหยุดเฉยแต่อย่างใด ยังคงทำความดีเรื่อยไป ไม่ย่อท้อต่อเสียงกล่าวร้ายโจมตีที่มีเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่ขาดระยะ หลวงปู่นิ่งเฉยไม่สนใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น มุ่งหน้าบำเพ็ญสาธารณประโยชน์สงเคราะห์เพื่อนร่วมโลกต่อไป

ดังเช่นสมัยหนึ่ง เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๒ ด้านชายแดนจังหวัดตราดได้มีประชากรชาวเขมรทะลักหนีตายจากแผ่นดินเกิดของเขาเองเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทางด้านเขาล้าน จังหวัดตราด จำนวนนับแสนคน หลวงปู่ได้ชักชวนศิษยานุศิษย์ร่วมกันจัดหาอาหารแห้งจำนวนมากแล้วรีบเดินทางไปจังหวัดตราดทันที โดยไม่ได้คำนึงว่าเป็นคนไทยหรือเขมรแต่อย่างไร หลวงปู่บอกว่าเขาเป็นเพื่อนมนุษย์เหมือนกัน หลวงปู่ได้เดินทางไปพบเห็นภาพอันน่าเวทนาของเพื่อนร่วมโลกเดียวกัน ที่อดยากหิวโหยผอมโซ บางคนบาดเจ็บเพราะถูกอาวุธระหว่างทาง บ้างก็ติดไข้ป่าต้องหามกันลงมาจากภูเขาอย่างทุลักทุเล สมัยนั้นหลวงปู่จะนำสิ่งของไปช่วยเหลือชาวเขมรวันเว้นวัน สวดมนต์ได้เท่าไร ใครถวายจตุปัจจัยมาเท่าไร หลวงปู่ให้ซื้อข้าวสารอาหารแห้งทั้งหมด เพื่อนำไปช่วยเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก

ต่อมาสภากาชาดไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เข้ามาทำหน้าที่เปิดศูนย์สงเคราะห์ผู้อพยพ ขึ้นที่บ้านเขาล้าน จังหวัดตราด ในครั้งนั้นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมศูนย์ผู้อพยพพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงมีพระราชดำริว่า “ชาวเขมรอพยพเหล่านี้ล้วนแต่นับถือศาสนาพุทธ น่าจะมีพระพุทธรูปไว้เป็นที่สักการบูชาเพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวและเป็นที่พึ่งทางจิตใจ” เมื่อหลวงปู่ทราบดังนั้นจึงรับสนองพระราชดำริ จัดสร้างพระพุทธรูปสุโขทัย ปางมารวิชัย น้อมเกล้าฯ ถวาย พระองค์ทรงพระราชทานให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่ศูนย์ฯเขมร โปรดให้หันหน้าไปด้านชายแดนไทย-กัมพูชา และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้อพยพทุกคนทำพิธีสวดมนต์บูชาพระรัตนตรัย โดยมีแม่ชีซึ่งช่วยดูแลเด็กกำพร้าในศูนย์ เป็นผู้นำสวดมนต์ประจำทุกวัน พระพุทธรูปดังกล่าวได้รับการขนานนามว่า “หลวงพ่อแดง” วันเวลาผ่านไปศาลาประดิษฐานหลวงพ่อแดงก็ชำรุดไปตามกาลเวลา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๗ สภากาชาดไทยได้จัดการบูรณะเนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาสภากาชาดไทย ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๔๐ พรรษา หลวงปู่พร้อมด้วยศิษยานุศิษย์จึงร่วมกันเป็นเจ้าภาพสร้างศาลาประดิษฐานหลวงพ่อแดงหลังใหม่ เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๓๘

เห็นได้ว่าหลวงปู่มีเมตตาโดยไม่เลือกชนชาติใดๆ ทั้งสิ้น ผู้ใดตกทุกข์ได้ยากหลวงปู่จะช่วยเหลือทันทีโดยมองว่าเป็นเพื่อนมนุษยชาติคนหนึ่ง โดยไม่เกรงกลัวภัย

หรือข้อครหาใดๆ จึงนับว่าเป็นพระสงฆ์รูปเดียวในยุคสมัยนั้นที่กล้าออกเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจแก่เหล่าทหารๆ แนวหน้า ในสมัยนั้นพระสงฆ์ส่วนใหญ่ต่างก็เกรงกลัวคำกล่าวหาต่างๆ นาๆ หรือกลัวผิดวินัย อะไรทำนองนั้น จึงไม่ปรากฏว่ามีพระสงฆ์รูปใดออกสงเคราะห์ในลักษณะนี้เลย ต่อมาในระยะหลังๆ เมื่อบ้านเมืองสงบลงแล้วจึงได้พบเห็นสังคมของพระสงฆ์ออกสงเคราะห์ชาวบ้าน ในด้านสาธารณะ หรือสังคมสงเคราะห์ กันบ้าง หลวงปู่ปรารภอยู่เสมอว่า พระสงฆ์เรานี้ควรที่จะเสียสละให้เป็นตัวอย่างแก่ชาวบ้านบ้าง ไม่ใช่เทศน์สอนให้ชาวบ้านเสียสละ สอนให้ชาวบ้านทำบุญ แต่ตัวของพระเองกับสะสมเต็มไปด้วยกองกิเลสที่ยึดติด เมื่อชาวบ้านเขาให้มาแล้วก็รู้จักทำบุญต่อ ไม่ใช่มีแต่รับของชาวบ้านอย่างเดียว...” ในช่วงปี พ.ศ.๒๕๑๔-๒๕๒๔ หลวงปู่จะบำเพ็ญศาสนูประการอย่างมาก ทั้งภายในวัดนอกวัด หลวงปู่ ปรารภอยู่เสมอๆ ว่า “ธรรม และวัตถุ” ต้องควบคู่กันไป จึงจะเจริญ ในระหว่างเหตุการณ์ในวัดก็ยุ่งๆ แต่หลวงปู่ก็ไม่สนใจใยดี อะไรมันจะเกิดก็ต้องเกิด หลวงปู่ก็ดำเนินภารกิจหน้าที่ที่ดีของสงฆ์ไม่ได้หยุดยั้งแต่อย่างใด เหตุการณ์บ้านเมืองก็วุ่น ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือตอนล่างก็มี ผ.ก.ค.ชายแดนปราจีนบุรี-จันทบุรี และตราดก็มีภัยจากเพื่อนบ้านสู้รบกัน ระหว่างเขมรแดง และเขมรเสรี ทหารตำรวจ และชาวบ้านตามชายแดนเดือดร้อนกันไปทั่ว หลวงปู่ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ชักชวนประชาชนนำสิ่งของออกเยี่ยมบำรุงขวัญทุกวันธรรมสวนะ ศิษย์รุ่นเก่าๆ คงทราบกันเป็นอย่างดี

นอกจากนี้หลวงปู่ก็ยังได้นำคณะศิษย์ ก่อสร้างโรงเรียนหลายแห่งด้วยกัน เช่น โรงเรียนชำนาญสามัคคีวิทยา ที่ตำบลคลองปูน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง โรงเรียนมัธยมวัดเขาสุกิม จังหวัดจันทบุรี โรงพยาบาลวัดเขาสุกิม จังหวัดจันทบุรี และโรงเรียนจังหารฐิตวิริยาประชาสรรค์ จังหวัดร้อยเอ็ด อีกทั้งยังซื้อที่ดินหน้าวัดเพื่อขุดสระเก็บน้ำ ไว้ช่วยเหลือชาวบ้านชาวสวน ในช่วงดำเนินการขุดสระน้ำนั้น หลวงปู่จะลงมานั่งควบคุมงานด้วยตัวเองตั้งแต่วินาทีแรก จนถึงวินาทีสุดท้าย หลวงปู่ลงมานั่งให้กำลังใจแก่ เจ้าหน้าที่ที่มาช่วยงานทุกวันทุกคืน เมื่อเวลาว่างจากกิจสงฆ์แล้ว การนั่งคุมงานของหลวงปู่ก็หาได้นั่งเฉยๆ ไม่หลวงปู่จะภาวนาไปด้วยตลอด เมื่อมีโอกาสหรือมีเหตุอะไร หลวงปู่ก็จะนำเหตุนั้นๆ มาเทศนาอบรมพระภิกษุสามเณรที่นั่งอยู่ใกล้ๆ นั้นทันที พระเณรที่นั่งใกล้หลวงปู่จึงได้กำไร จากการได้ยินได้ฟังมากกว่าคนอื่น ทุกวันจะมีเรื่องใหม่ๆ แปลกๆ แล้วแต่ใครจะมีปัญญารับเอา ดังเช่นเรื่องนี้


⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱

:b8: จาก...หนังสือ ชีวประวัติพระวิสุทธิญาณเถร (หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย)
วัดเขาสุกิม ตำบลเขาบายศรี อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=58572

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ธ.ค. 2008, 14:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

พระราชปุจฉาธรรม กับ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
ณ วัดป่าสาลวัน ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา
:b47: :b44: :b47:

พระราชปุจฉา : คำว่า ภาวนา และบริกรรม ต่างกันอย่างไรขอรับ คือเคยฟังพระเถระผู้ใหญ่บอกว่า การภาวนานี้ ไม่ว่าอยู่ที่ไหน แม้ไม่อยู่ในสมาธิ แม้ทำอะไร ก็สามารถทำได้อยู่ได้ตลอดเวลาใช่ไหมขอรับ

หลวงพ่อพุธ : ใช่แล้ว คำว่า ภาวนากับบริกรรม มีต่างกัน ภาวนา หมายถึง การอบรมคุณงามความดีให้เกิดขึ้น เป็นสมบัติของผู้อบรม เช่น อบรมใจให้มีความเลื่อมใสในการบำเพ็ญภาวนา ก็ได้ชื่อว่า ภาวนา แต่บริกรรมนั้น หมายถึง จิตของผู้ปฏิบัตินึกอยู่ในคำใดคำหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น พุทโธ เป็นต้น ซ้ำๆ อยู่ในคำเดียวเรียกว่า “บริกรรม” บริกรรมก็คือส่วนของภาวนานั่นเอง

หลวงพ่อพุธ : เมื่อตะกี้ได้ถามอะไรอาตมาอีก

พระราชปุจฉา : ภาวนาทำได้ตลอดเวลาทุกสถานที่หรือไม่

หลวงพ่อพุธ : การภาวนานี้ทำได้ตลอดเวลา ทุกที่ ทุกสถานที่ ไม่เลือกกาล ไม่เลือกเวลา เช่นอย่างภาวนาในขั้นบริกรรมภาวนา เช่น ภาวนา พุทโธ พุทโธ พุทโธ ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ตลอดทุกอิริยาบถ บริกรรมภาวนาพุทโธ พุทโธ ได้ ทีนี้ถ้าหากว่าไม่นึกบริกรรมภาวนา พุทโธ การกำหนดรู้ทุกอิริยาบถ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ทำ พูด คิด รู้อยู่ตลอดเวลา อันนี้เป็นการภาวนา จุดมุ่งหมายของการภาวนา หรือบริกรรมภาวนา ก็อยู่ที่ความต้องการความมีสติสัมปชัญญะ

มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ดีแล้ว จิตก็มีสมรรถภาพในการคุ้มครองตัวเอง ให้ยืนยันอยู่ในความเป็นอิสรภาพ ถึงแม้ว่าจะไม่เป็นอิสรภาพโดยเด็ดขาดทุกอย่างก็ตาม ตราบใดที่จิตยังตกอยู่ในอำนาจของอารมณ์กิเลสและสิ่งแวดล้อม จิตก็รู้ตัวว่ายังหย่อนสมรรถภาพ อยู่ในอำนาจของสิ่งแวดล้อม จิตก็ย่อมรู้ การบริกรรมภาวนา บางท่านเมื่อจิตไม่ตรงกับนิสัย บริกรรมภาวนาเป็นปีๆ จิตไม่สงบก็มีอุบายที่จะปฏิบัติได้ คือ ต้องกำหนดรู้ดูความคิดของตนเองตลอดเวลา ว่าเราคิดอะไรก็รู้ สิ่งที่คิดมันหายไปก็รู้ อันใหม่เกิดขึ้นมาก็รู้ กำหนดรู้ตามไปเรื่อยๆ เมื่อจิตมีสติกำหนดตามรู้ความคิด กำหนดทันความคิดของจิตเมื่อใด เมื่อนั้นจิตจะสงบเป็นสมาธิได้

พระราชปุจฉา : คำว่า วิญญาณ หมายความว่า “ธาตุรู้” ใช่ไหมขอรับ

หลวงพ่อพุธ : คำว่า วิญญาณ คือ “ธาตุรู้” วิญญาณในเบญจขันธ์หมายถึง วิญญาณรู้จากของ ๒ อย่างกระทบกัน เช่น

ตากับรูปกระทับกัน เกิดภูมิรู้ขึ้น เรียกว่า จักขุวิญญาณ
เสียงกับหูกระทบกัน เกิดภูมิรู้ขึ้น เรียกว่า โสตวิญญาณ
กลิ่นกับจมูกกระทบกัน เกิดภูมิรู้ขึ้น เรียกว่า ฆานวิญญาณ
ลิ้นกับรสกระทบกัน เกิดภูมิรู้ขึ้น เรียกว่า ชิวหาวิญญาณ
กายกับสิ่งสัมผัสกระทบกัน เกิดภูมิรู้ขึ้น เรียกว่า กายวิญญาณ
จิตนึกคิดอารมณ์ เกิดภูมิรู้ขึ้น เรียกว่า มโนวิญญาณ

อันเป็นวิญญาณในขันธ์ ๕ ทีนี้วิญญาณในปฏิจจสมุปบาท หมายถึง ปฏิสมาธิวิญญาณ คือ วิญญาณรู้ผุด รู้เกิด

พระราชปุจฉา : พอจิตนิ่ง ลมหายใจจะหายไป และคำภาวนาก็หายไปพร้อมกัน แต่รู้สึกเช่นนี้เพียงเดี๋ยวเดียวก็หายไป ควรจะทำอย่างไรต่อไป

หลวงพ่อพุธ : เมื่อจิตสงบนิ่งลงไปแล้ว จิตจะสงบละเอียดไปถึงจุดที่เรียกว่า “อัปปนาสมาธิ” ลมหายใจก็ทำท่าจะหายขาดไป คำภาวนาก็หายไป พอรู้สึกว่ามีอาการเป็นอย่างนี้เกิดขึ้น ก็เกิดอาการตกใจ แล้วจิตก็ถอนจากสมาธิ เมื่อจิตถอนออกจากสมาธิแล้ว เกิดความรู้สึกตัวขึ้นมา ถ้ายังเสียดายความเป็นของจิตในขณะนั้น ให้กำหนดจิตพิจารณาใหม่ จนกว่าจิตจะสงบลงไป จนกว่าลมหายใจจะหายขาดไปคำภาวนาจะหายไป ถ้าตอนนี้เราไม่เกิดเอะใจ หรือเปลี่ยนใจขึ้นมาก่อน จิตจะสงบนิ่งละเอียดลงไปกว่านั้น ในที่สุดจิตก็จะเข้าสู่อัปปนาสมาธิอยู่ในขั้นตัวก็หายไปหมด ยังเหลือแต่จิตรู้สงบสว่างอยู่อย่างเดียว ร่างกายตัวตนไม่ปรากฏ

แต่ถ้าไม่ทำอย่างนั้น เมื่อลมหายใจหายไป คำภาวนาก็จะหายไป แล้วก็จะรู้สึกตัวขึ้นมา เลื่อนให้จิตมาพิจารณา พิจารณาโดยเพ่งกำหนดลงที่ใดลงหนึ่ง จะบริเวณร่างกายลงที่ใดที่หนึ่ง จะบริเวณร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่น กระดูก พิจารณาจนจิตเห็นกระดูกแต่ตายังไม่เห็นก่อน ให้พิจารณาจนจิตสงบเห็นกระดูกชัดเจน ในทำนองนี้จะทำให้จิตเป็นสมถกรรมฐานเร็วขึ้น ซึ่งเคยมีตัวอย่างครูบาอาจารย์ให้คำแนะนำกันมา คือ

ท่านอาจารย์องค์หนึ่งภาวนาพุทโธมาถึง ๖ ปี จิตสงบลงไป แต่ทำท่าว่าลมหายใจจะหายไป คำภาวนาก็หายไป แล้วสมาธิก็ถอนออก จิตไม่ถึงความสงบสักที อาจารย์องค์นี้จึงไปถามอาจารย์อีกองค์หนึ่ง ซึ่งอาจารย์องค์นี้เป็นชีผ้าขาวไม่ได้บวชเป็นเณรว่า

“ทำอย่างไรจิตมันจะสงบดีๆ สักที”

อาจารย์องค์นั้นก็ให้คำแนะนำว่า

“ให้เพ่งลงที่หน้าอก พิจารณาให้เห็นกระดูก โดยพิจารณาลอกหนังออก แล้วจึงจ้องจิตบริกรรมภาวนาลงไปว่า อัฐิ อัฐิ อัฐิ”

อาจารย์ที่ถามจึงนำวิธีการนี้ไปปฏิบัติ ก็เกิดจิตสงบเป็นสมาธิ ในครั้งแรกก็มองเห็นเศษกระดูกตรงนั้น จิตมันก็นิ่งจ้องอยู่ตรงนั้น และผลสุดท้ายก็มองเห็นโครงกระดูกทั่วตัวไปหมด ในเมื่อมองเห็นโครงกระดูกอยู่ชั่วขณะหนึ่ง โครงกระดูกก็พังลงไป และสลายตัวไป สลายไปหมด ยังเหลือแต่จิตสงบนิ่ง สว่างอยู่อย่างเดียว และในอันดับต่อไปนั้น จิตจะสงบนิ่ง สว่างอยู่เฉยๆ ภายหลังเมื่อจิตสงบสว่างอยู่พอสมควรแล้ว ก็เกิดความรู้อันละเอียดขึ้นมาภายในจิต แต่ไม่ทราบว่าอะไร มันมีลักษณะรู้ขึ้นมาแล้วก็ผ่านไป มันเหมือนกับกลุ่มเมฆที่มันผ่านสายตาเราไปนั่นแหละ จิตก็นิ่งเฉย สงบนิ่ง สว่างอยู่ตลอดเวลา ที่มีให้รู้ให้เห็นก็ผ่านไปเรื่อยๆ

เราลองนึกภาพดูว่า ที่เกิดขึ้นเช่นนี้เรียกว่าอะไร อาการเป็นเช่นนี้เป็นภูมิรู้ภูมิปัญญาอย่างละเอียดของจิตเกิดขึ้น ซึ่งเป็นความจริงที่อยู่เหนือสมมติบัญญัติ สภาวธรรมส่วนที่เป็นสัจธรรมเกิดขึ้นในจิตของผู้ปฏิบัติ มีแต่สิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่ ซึ่งท่านอาจารย์มั่นเรียกว่า “ฐีติภูตัง” ซึ่งมีความหมายว่า “ฐีติ” คือ ความตั้งเด่นของจิต อยู่ในสภาพที่สงบนิ่งเป็นกิริยาประชุมพร้อมของอริยมรรค ยังจิตให้บรรลุถึงความสุคติภาพโดยสมบูรณ์

เมื่อจิตประชุมพร้อม ภายในจิตมีลักษณะ สงบ นิ่ง สว่าง อำนาจของอริยมรรคสามารถปฏิบัติจิตให้เกิดภูมิรู้ ภูมิธรรมอย่างละเอียด ภูมิรู้ ภูมิธรรมซึ่งเกิดขึ้นอย่างละเอียด ไม่มีสมมติบัญญัติ เรียกว่า “ภูตัง” หมายถึงสิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่โดยธรรมชาติของมันอย่างนั้น แต่ไม่ทราบว่าจะเรียกว่าอะไร สงสัยต่อไปในเมื่อเราไม่สามารถจะเรียกว่าอะไร ทำอย่างไรเราจึงจะรู้สิ่งนั้น พระพุทธเจ้าไม่ได้บอกไว้ แม้แต่ท่านแสดงธรรมจักรฯ ให้ภิกษุปัญจวัคคีย์ฟัง เมื่อท่านอัญญาโกณฑัญญะรู้ธรรม เห็นธรรม ก็รู้แต่ว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา”

พระราชปุจฉา : การเจริญภาวนาที่ท่านอาจารย์เสาร์แนะนำไว้ คือ ๑. ให้เจริญสมาธิ ๒. พิจารณาอสุภกรรมฐาน ๓. ให้พิจารณาธาตุกรรมฐาน

หลวงพ่อพุธ : อันนี้เป็นหลักวิชา เมื่อจะพูดกันให้จบ ต้องพูดกันตามลำดับขั้น ในปัญหา ๓ ข้อ คือ ๑. ให้เจริญสมาธิ ๒. ให้พิจารณาอสุภกรรมฐาน ๓. ให้พิจารณาธาตุกรรมฐาน

ในข้อ ๓ ข้อนี้ใครจะเริ่มวิธีใดวิธีหนึ่งได้ ไม่ต้องไปบริกรรมพิจารณาใดๆ ก็ได้ เช่น พอใจอยากพิจารณาอสุภกรรมฐาน ก็พิจารณาเรื่องอสุภกรรมฐานไปเลย ถ้าจะพิจารณาเรื่องธาตุก็พิจารณาเรื่องธาตุไปเลย ทั้ง ๓ อย่างถ้าเจริญแล้ว การเจริญสมาธิด้วยบริกรรมภาวนาจะทำให้ผู้เจริญกรรมฐานนั้นได้รับผลช้า คือ บางทีเมื่อบริกรรมภาวนาแล้ว จิตจะติดอยู่ในความสงบ ภายหลังจะต้องพิจารณาอสุภหรือธาตุกรรมฐานต่อไป จึงจะเกิดมีภูมิความรู้ขึ้นได้ แต่ถ้าพิจารณาอสุภกรรมฐานเลยทีเดียว หรือพิจารณาธาตุกรรมฐานเลยทีเดียว การพิจารณาก็เป็นอุบายให้จิตสงบเป็นสมาธิได้เหมือนในข้อต้น ในเมื่อจิตสงบเป็นสมาธิเพราะการพิจารณาข้อ ๒ และข้อ ๓ เมื่อจิตสงบลงไปแล้ว จิตจะเกิดภูมิปัญญาขึ้นง่ายกว่าข้อหนึ่ง

พระราชปุจฉา : เมื่อปฏิบัติต่อไปแล้วจะรู้สึกเหมือนมีอะไรวนกลับเข้ามาในตัว สิ่งนั้นคืออะไร

หลวงพ่อพุธ : อันนี้เป็นลักษณะของความหดสั้นเข้ามาของกระแสจิต เมื่อส่งกระแสออกไปไกลๆ เมื่อเราภาวนาแล้วเมื่อจิตเริ่มสงบ จิตเริ่มหดสั้นเข้ามาๆ จนกระทั่งถึงตัวแล้ว ก็ถึงจิตแห่งความสงบ บางครั้งมันอาจเกิดความรู้สึกว่า ทุกสิ่งมันรวมเข้ามา บางครั้งอาจเกิดแสงสว่างอยู่ไกลๆ มองสุดสายตาในจิตสมาธิ เมื่อบริกรรมภาวนามากเข้าแสงนั่นจะเข้ามาหาตัวทุกทีๆ เมื่อจิตสงบเข้ามาจริงๆ แล้ว แสงจะวิ่งเข้ามาในตัว เกิดความสงบสว่างขึ้น อันนี้เป็นการรวมของจิตเข้าสู่สมาธิ ซึ่งจะเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ

เมื่อต้องการจะหยุดทำสมาธิ คล้ายกับมีร่างอีกร่างหนึ่งมาซ้อนอยู่ และเหมือนกับมีจิตแยกกันอยู่ เหตุการณ์ดังที่ว่าจะเกิดขึ้นบางครั้งบางขณะ บางทีเราทำจิตสงบลงไป เราอาจจะมองเห็นตัวของเราอีกร่างหนึ่งแฝงขึ้นมา มีความรู้สึกขึ้นมา มีร่างสองร่าง มีจิตสองจิต เพราะในขณะนั้นเรารู้สึกว่า กายของเราแยกออกไปเป็นสองส่วน และจิตแยกออกเป็นสองส่วนด้วย

ในเมื่อเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น ควรปฏิบัติอย่างไร อะไรจะเกิดขึ้นก็แล้วแต่ จะเป็นสองร่าง สามร่าง สิบร่างก็แล้วแต่ สิ่งที่เป็นปรากฏการณ์เกิดขึ้นนั้นเป็นผลของสมาธิ กระแสจิตส่งออกไปข้างนอก ถ้าไม่เห็นภาพอื่นๆ ก็จิตสงบเข้าจริงจัง แล้วจิตที่สองหรือร่างที่สองจะหายไป มารวมอยู่ที่จุดๆ เดียว เป็นเรื่องธรรมดา เป็นทางผ่านของการทำสมาธิ ปัญหาสำคัญอย่าไปเอะใจหรืออย่าไปสำคัญกับเหตุการณ์เหล่านั้น ให้กำหนดรู้ลงที่จิตอย่างเดียวเท่านั้น ถ้าไปเอะใจกับสิ่งเหล่านั้น จิตจะถอนออกจากสมาธิ นิมิตเหล่านั้นจะหายไป

พระราชปุจฉา : ขั้นของสมาธิที่เราปฏิบัติได้ จะสังเกตด้วยปรากฏการณ์ หรือระยะเวลาที่ปรากฏการณ์นั้น

หลวงพ่อพุธ : ขั้นของสมาธิที่ปรากฏการณ์เกิดขึ้น การเกิดขึ้นของสมาธิมี ๒ ลักษณะ เมื่อเราบริกรรมภาวนา หรือกำหนดพิจารณาอะไรอยู่ก็ตาม เมื่อจิตสงบเคลิ้มๆ ลงไปเหมือนจะนอนหลับ เมื่อจิตสงบวูบลงไปตั้งมั่นเป็นสมาธิ สว่างไสวขึ้น อันนี้เป็นลักษณะความสงบอย่างหนึ่ง ความสงบอย่างนี้เรียกว่า ผู้นั้นยังไม่ชำนาญในการเดินจิต เราจะรู้เฉพาะเวลาเราบริกรรมภาวนา หรือพิจารณาอารมณ์ กับเมื่อตอนที่จิตสงบนิ่งแล้ว ในช่วงระหว่างกลางนี้ เรากำหนดไม่ได้ สมาธิจึงยังไม่พร้อมด้วยองค์สมาธิที่ถึงพร้อมด้วยองค์นั้น ผู้ภาวนาจะต้องกำหนดรู้ไปตั้งแต่ วิตก วิจาร เกิดปีติ เกิดสุข ยังเหลือแต่เอกัคคตากับอุเบกขา ซึ่งเป็นสมาธิขั้นอัปปนาสมาธิที่เดินตามแนวขององค์ฌาน เป็นสมาธิของผู้ที่ดำเนินจิตให้เป็นสมาธิได้พอสมควร

ถ้าชำนาญจริงๆ แล้ว สามารถที่จะยับยั้งจิตของตนให้อยู่ในองค์ฌานนั้นๆ ตามต้องการได้ เว้นเสียแต่ว่าจิตลงไปถึงขั้นฌานขั้นที่ ๓ ที่ ๔ แล้วนั่นแหละ จิตจะเป็นไปโดยอัตโนมัติ เราจะทำอะไรไม่ได้

ถ้าจิตอยู่ในระหว่างฌานขั้นที่ ๑ และขั้นที่ ๒ ตอนนี้เราสามารถกำหนดเอาให้อยู่ในองค์ฌานนั้นๆ ได้ ถ้าใช้ความตั้งใจอ่อนๆ เรานึกประคองจิตให้อยู่ในระดับของปีติ ระดับของสุข ระดับของความสงบก็ได้ แต่เมื่อจิตสงบถึงฌานขั้นที่ ๓ ที่ ๔ แล้ว จิตจะดำเนินไปเองโดยอัตโนมัติ

พระราชปุจฉา : สมาธิต่อเนื่องวิปัสสนาทำอย่างไร

หลวงพ่อพุธ : สมาธิต่อเนื่องวิปัสสนา คำว่า วิปัสสนานี่มีอยู่ ๒ ขั้นตอน

ขั้นต้น คือ วิปัสสนาที่ใช้สติปัญญากำหนดพิจารณาเอาเองด้วยความตั้งใจ เช่น เราจะพิจารณาร่างกายให้เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือพิจารณา รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ น้อมไปสู่ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ใช้ความรู้สึกนึกคิดที่เราเรียนรู้มานั้นมานึกเอา เรียกว่า การเจริญวิปัสสนาแบบใช้สติปัญญาแบบธรรมดาๆ โดยการพิจารณาเอารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ให้เห็นเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง, ทุกขัง เป็นทุกข์, อนัตตา ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง

โดยความรู้สึกนึกคิดเอาเองนี่แหละ เป็นการตกแต่งปฏิปทาเพื่อให้จิตสงบลงเป็นสมาธิ แล้วจะเกิดวิปัสสนาขึ้นมาโดยอัตโนมัติ จะปฏิวัติไปสู่ภูมิรู้ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จงทำความเข้าใจว่า ถ้าสมาธิหรือสมถะไม่เกิดขึ้น ท่านจะเจริญวิปัสสนาอย่างไร ท่านจะไม่ได้วิปัสสนา เพราะวิปัสสนามีมูลฐานเกิดมาจากสมถะ คือ สมาธิ ถ้าสมถะคือสมาธิไม่เกิดขึ้น ท่านจะได้แต่วิปัสสนาแบบนึกคิดเอาเอง เป็นวิปัสสนาภาคปฏิบัติเท่านั้น ยังไม่ใช่วิปัสสนาที่แท้จริง

พระราชปุจฉา : คำภาวนา พุทโธ เป็นสมาธิ จะทำวิปัสสนาต่อไปจะทำอย่างไร

หลวงพ่อพุธ : คำภาวนา พุทโธ ทำจิตให้เป็นสมาธิ พูดได้ว่า ภาวนาพุทโธ ทำจิตให้สงบลงเป็นสมาธิเพียงแค่ขั้นอุปจารสมาธิ ถ้าต้องการทำจิตให้เป็นวิปัสสนาสืบเนื่องมาจากการภาวนาพุทโธ เมื่อทำจิตให้สงบลงไป รู้สึกว่าสงบสว่างขึ้นมาแล้ว น้อมจิตไปพิจารณารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ น้อมไปสู่ความเป็นอนิจจังไม่เที่ยง ทุกขังเป็นทุกข์ อนัตตาไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง ซึ่งเป็นพระไตรลักษณ์ หรือมิฉะนั้นก็กำหนดรู้ที่จิตของตนเอง เมื่ออารมณ์อันใดเกิดขึ้นในความคิด ก็กำหนดตามความคิดนั้นเรื่อยไป เมื่อความคิดอันใดเกิดขึ้นดับไป เกิดขึ้นดับไป เกิดขึ้นดับไป เราเอาพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ควบคุมความคิดว่า ความคิดนี้มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เจริญวิปัสสนาในสมาธิอ่อนๆ

บางครั้งเมื่อเจริญสมาธิแล้ว จิตจะถอนออกมาสู่จิตปกติธรรมดา ก็อย่าเลิกการพิจารณาเป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ เป็นเครื่องหมายแห่งความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ในที่สุดจิตจะสงบลงสู่ความเป็นสมาธิ และเกิดวิปัสสนากรรมฐานขึ้นมาโดยอัตโนมัติ

การบริกรรมภาวนานี้ บางทีบางท่านเพียงแต่บริกรรมภาวนา พอจิตสงบลงเป็นอุปจารสมาธิ จิตท่านผู้นั้นจะปฏิวัติไปสู่ภูมิวิปัสสนาโดยไม่ได้ตั้งใจ อันนี้แสดงว่าผู้นั้นได้เคยเจริญวิปัสสนาแล้วตั้งแต่ชาติก่อน เมื่อจิตสงบลงไปแล้ว วิปัสสนาก็ไม่เกิด เห็นแต่เพียงสงบนิ่ง สว่างอยู่เฉยๆ หากเป็นทำนองนี้ ต้องค้นคิดฝึกหัดวิปัสสนากรรมฐาน ยกเอาอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งมาพิจารณา จะเป็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ได้ ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จนกว่าจะเกิดสมาธิขึ้นมาแล้วจึงจะรู้ภูมิแท้แห่งวิปัสสนาไปเอง

พระราชปุจฉา : ที่กล่าวว่าองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระองค์เดียวเท่านั้นที่ทราบว่า เหตุใดจึงเกิดเป็นคน

หลวงพ่อพุธ : การรู้ว่าเหตุใดจึงเกิดเป็นคน อันนี้ไม่เฉพาะแต่พระพุทธเจ้า พวกฤาษีในสมัยโบราณก็รู้ว่าเหตุใดจึงเกิดเป็นคน เช่น พวกฤาษีชีไพร ที่บำเพ็ญตบะอยู่ในภูเขา เมื่อเขาทำสมาธิจนได้ฌาน ก็สามารถรู้ได้เหมือนกันว่า ชาติก่อนท่านเกิดเป็นอะไร แต่ท่านเหล่านั้นมิได้บำเพ็ญมาเพื่อเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่สามารถทำลายกิเลสได้ อันนี้เป็นการระลึกชาติภพหลังได้ ไม่ใช่แต่พระพุทธเจ้าองค์เดียว แต่ในฐานะที่เราเรียนแต่ศาสนาของพระพุทธเจ้า เราจึงมักจะพูดว่า พระพุทธเจ้าองค์เดียวเท่านั้นที่รู้ว่าเหตุใดคนจึงเกิดมาเป็นคนได้ ที่จริงฤาษีเขารู้ก่อนพระพุทธเจ้า อันนี้เป็นความรู้พิเศษ ไม่จำเป็นแต่พระพุทธเจ้าองค์เดียวจะรู้ ผู้ใดทำสมาธิถึงขั้นสมถะ หรือสำเร็จฌาน สามารถรู้ยิ่งเห็นจริงว่าชาติก่อนเราเกิดมาเป็นอะไรมาแล้ว สามารถที่จะรู้ได้

พระราชปุจฉา : เวลานำของไปถวายพระ แต่พระไม่ได้ฉันอาหารนั้น ผู้ถวายจะได้บุญเต็มที่ไหม

หลวงพ่อพุธ : ผู้ถวายจะได้บุญเต็มที่หรือไม่นั้น อยู่ที่ความตั้งใจอันบริสุทธิ์ของเรา แม้แต่ว่าถ้าเรานำของไปถวายพระแล้ว ยังระแวงสงสัยในพระว่า พระองค์นั้นจะบริสุทธิ์หรือไม่ บุญที่เราทำลงไปก็ไม่ได้อย่างเต็มที่ การจะทำบุญจะได้บุญมากหรือน้อยก็อยู่ที่เจตนาของเราบริสุทธิ์สะอาด ถ้าเราให้แต่คนยากจน มุ่งเพื่อความสงเคราะห์ ให้ผู้ทรงศีลทรงธรรม มุ่งเพื่อความบูชา ให้แก่พระสงฆ์ มุ่งเพื่อให้ผู้ที่ทำกิจเพื่อพระศาสนา เจตนาของเราบริสุทธิ์ เมื่อทำบุญลงไปแล้ว ถึงแม้ว่าพระไม่ได้ฉัน ท่านเพียงแต่รับ เราก็ได้บุญอย่างเต็มที่แล้ว

พระราชปุจฉา : รูปขันธ์เมื่อแยกออกจากขันธ์ทั้ง ๔ คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณแล้ว ตัวรูปขันธ์จะเคลื่อนไหวได้หรือไม่

หลวงพ่อพุธ : อันตัวรูปขันธ์จะเคลื่อนไหวได้หรือไม่นั้น จิตของผู้ภาวนาถ้ารู้สึกว่ารูปมันหายไปแล้ว ก็ไม่รู้ว่ารูปมันเคลื่อนไหวหรือไม่ประการใด ลักษณะของการพิจารณารูปขันธ์ หรือพิจารณาขันธ์ ๕ นี้ ในเมื่อเราจะกำหนดลงไปว่า เราจะพิจารณารูป เราก็พิจารณาเวทนา สัญญา สังขาร ไปพร้อมกัน ในเมื่อเราพิจารณารูปในแง่อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ยกกายขึ้นมาพิจารณาเป็นกายคตาสติกรรมฐาน ในเมื่อจิตสงบละเอียดลงไปแล้ว มันอาจจะเกิดนิมิตเห็นอสุภกรรมฐานหรือเห็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม หรือเห็นอาการของร่างกายมันตายไป เน่าเปื่อยผุพังสลายไป จนกระทั่งไม่มีอะไรเหลือ ก็แสดงว่า รูปมันหายไป ในเมื่อรูปมันหายไปแล้ว เวทนา สัญญา มันก็หายไปด้วย

เวทนา สัญญา นี้ มันอาศัยรูปเป็นที่พึ่ง ถ้าหากรูปหายไปแล้ว เวทนา สัญญา จะไม่ปรากฏ คือ เวทนา สุข ทุกข์ ไม่มี มีแต่อุเบกขา เวทนา สัญญา ความทรงจำต่างๆ ก็ไม่มีในเมื่อรูปหายไปแล้ว จิตเกิดความรู้อะไรขึ้นมาไม่ได้อาศัยสัญญา แต่หากภูมิรู้จะเกิดขึ้นมาในส่วนละเอียด ส่วนละเอียดที่จิตมีภูมิรู้ขึ้นมานั้น คือ ตัวสังขาร เมื่อรูป เวทนา สัญญา หายไปแล้ว ผู้ภาวนาจะมีความรู้สึกว่า สังขารยังเหลืออยู่ วิญญาณก็ยังเหลืออยู่ แต่วิญญาณที่ยังเหลืออยู่ในลักษณะรู้ยิ่งเห็นจริงนั้น เป็นในลักษณะวิญญาณเหลืออยู่เฉพาะตัวผู้รู้ แต่ตัวกระทบไม่มี ถ้าหากในขณะนั้นจะมีสิ่งใดมากระทบให้จิตรู้ จิตก็ไม่มีอาการรู้ทางวิญญาณ เป็นแต่เพียงว่าตัวผู้รู้สามารถที่จะแกว่งกระแสไปรู้สิ่งที่ผ่านเข้ามา สิ่งที่ผ่านเข้ามาให้รู้ เปรียบเหมือนกับว่าอยู่เอกเทศส่วนหนึ่ง จิตตัวผู้รู้ก็อยู่ในลักษณะเอกเทศส่วนหนึ่ง คล้ายๆ กับมันแยกออกไปคนละส่วน ไม่มีความสัมพันธ์กัน

ทำไมมันจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะเหตุว่าความรู้หรือสิ่งที่รู้ที่ปรากฏการณ์ขึ้นมานั้น คือ เป็นตัวสังขารจิต หรือเรียกว่า สังขารธรรม เป็นการปรุงของจิตส่วนละเอียด เป็นการปรุงขึ้นมาด้วยความไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนั้น คือ รู้สึกเสมือนหนึ่งว่าสิ่งที่ตัวปรุงขึ้นมานั้น ไม่ใช่เรื่องของตนเอง เป็นเรื่องอื่นมาปรากฏการณ์ให้รู้ให้เห็น อันนี้เป็นลักษณะของภูมิจิตพิเศษ เป็นภูมิรู้อย่างละเอียด เป็นสิ่งที่มีอยู่เหมือนกับที่กล่าวแล้วในเบื้องต้น คือ “ฐีติภูตัง” ของท่านอาจารย์มั่นนั่นเอง อันนี้คำถามว่าตัวรูปขันธ์นั้นจะเคลื่อนไหวได้ไหม ขอให้พิจารณาดูภูมิจิตของตนเอง แล้วจะรู้จริงเห็นจริงไปเอง

พระราชปุจฉา : จิตตอนที่รู้สมมติบัญญัติเข้าปรมัตถ์นี้มีสภาพเป็นอย่างไร

หลวงพ่อพุธ : ลักษณะของจิตที่จะเกิดภูมิรู้ ที่มันจะเข้าไปสู่ภูมิแห่งปรมัตถ์ เราพึงสังเกตอย่างนี้ เช่น เราทำสมาธิด้วยการพิจารณาอะไรก็ตาม ในขณะที่เราน้อมนึกโดยเจตนา โดยความตั้งใจ โดยอาศัยภูมิความรู้ที่ได้จากตำรับตำรา หรือได้เรียน เช่น เราอาจนึกว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง แล้วนำเป็นอุบายนำจิตสงบลงไปสู่สมาธิขั้นอุปจารสมาธิ

ในเมื่อจิตสงบลงไปสู่ภูมิขั้นนี้ อำนาจจิตจะปฏิวัติเป็นภูมิรู้ขึ้นมา รู้ในเรื่องที่เราได้พิจารณามาแต่เบื้องต้นว่า รูปไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ความรู้อันนี้เกิดขึ้นมาเองโดยไม่ได้ตั้งใจ เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว จิตกับความรู้ที่เกิดขึ้นนั้น จิตรู้รูปก็อยู่ที่รูป จิตรู้เวทนาก็อยู่ที่เวทนา ความรู้อันนี้ยังอยู่ในสมมติบัญญัติ คือ รู้อะไรก็เรียกว่าอันนั้น เช่น รู้รูปเห็นรูปก็เรียกว่า “รูป” รู้เวทนาเห็นเวทนาก็เรียกว่า “เวทนา” เห็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ก็รู้อยู่เรื่อยๆ ไปอย่างนี้

ในเมื่อจิตตามรู้ความรู้ที่เกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับจิต จนกว่าจิตจะรู้ซึ้งเห็นจริงลงไปแล้ว ยอมรับสภาพความเป็นจริง เมื่อจิตยอมรับสภาพความเป็นจริงแล้ว จิตจะตัดกระแสแห่งความรู้อันเป็นสมมติบัญญัตินั้นให้ขาดตอนลงไปสู่ความว่าง เมื่อจิตเกิดความว่างขึ้นมาแล้ว ในอันดับต่อไป จิตจะก้าวหน้าไปสู่ภูมิปรมัตถธรรม เมื่อภูมิความรู้อันใด เกิดขึ้นมาในขณะนี้ เกิดขึ้นมาเองโดยอัตโนมัติ เกิดขึ้นมาแล้ว จะไม่มีสมมติบัญญัติ ถ้ามองเห็นด้วยสมมติว่าอาจจะเห็นนิมิตเกิดขึ้นมาเป็นรูปเป็นร่าง ซึ่งเห็นร่างกายนอนตาย เน่าเปื่อยผุพัง จิตจะอยู่เฉยๆ ไม่มีสมมติบัญญัติว่าอะไร

เมื่อเห็นรูปของตัวเอง จิตก็ไม่ว่ารูปของตัวเอง เมื่อรูปเน่าเปื่อยผุพังสลายตัวไปในที่สุด จิตก็จะไม่มีสมมติบัญญัติ เรียกอาการที่เป็นไปตามขั้นตอน เห็นเนื้อไม่ว่าเนื้อ เห็นหนังไม่ว่าหนัง เห็นกระดูกไม่ว่ากระดูก เห็นการสลายเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าการสลายเปลี่ยนแปลง จิตจะเห็นอยู่เฉยๆ ไม่มีสมมติบัญญัติใดๆ ทั้งสิ้น อันนี้คืออาการที่จิตเดินเข้าสู่ภูมิแห่งปรมัตถธรรมโดยไม่มีสมมติบัญญัติ ไม่มีตัวตน ไม่มีตัว ไม่มีผู้หญิง ไม่มีผู้ชาย ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ไม่มีจิต ไม่มีสภาวธรรมอะไรทั้งนั้น แต่ว่าจิตผู้รู้ปรากฏเด่นชัด สิ่งที่รู้ก็ปรากฏให้รู้ให้เห็นอยู่ตลอดเวลา อันนี้คือลักษณะของจิตที่ก้าวขึ้นไปสู่ภูมิปรมัตถ์

พระราชปุจฉา : ทำไม มรรค ๘ จึงมีปัญญาอยู่ ๒ อย่าง

หลวงพ่อพุธ : มรรค ๘ เห็นชอบ ดำริชอบ วาจาชอบ กระทำชอบ เลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ จิตตั้งมั่นชอบ

ในเมื่อภูมิจิตของผู้ดำเนินนั้นยังไม่ประชุมพร้อมลงไปเป็นหนึ่ง ทุกสิ่งทุกอย่างจะปรากฏที่อาการ เช่น สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ) ก็มีอยู่ สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ) ก็มีอยู่ ทั้งสองอย่างนี้เป็นเรื่องของปัญญา ปัญญาในมรรค ๘ ยังไม่มาประชุมพร้อมลงเป็นหนึ่งที่ดวงจิต ยังมีสอง ในขณะที่มรรค ๘ ยังไม่ประชุมพร้อมลงเป็นหนึ่งที่ดวงจิต ยังมีอาการอยู่ ๘ นั้น เป็นอาการของมรรคเมื่อประชุมพร้อมเป็นหนึ่ง คือ สมาธิ ความประชุมพร้อมเป็นหนึ่งนั้นอยู่ที่สมาธิ ในเมื่อสัมมาสมาธิเป็นหนึ่งแล้วทุกสิ่งทุกอย่างก็จะเกิดขึ้น ทีนี้อาการเกิดขึ้นของมรรค ๘ ในเมื่อประชุมพร้อมลงแล้ว เราจะนับอาการไม่ถูก เพราะถ้าหากมรรค ๘ ยังแยกกันอยู่ตราบใด เราไม่สามารถปฏิบัติจิตไปสู่ภูมิรู้ ภูมิธรรมได้เลย เพียงแต่ว่าเราทำให้จิตสงบเพียงนิดหน่อยเท่านั้น เพราะฉะนั้น ผู้บำเพ็ญมักจะหนักใจว่า ทั้ง ๘ ข้อนี้จะทำอย่างไร กว่าจะรวมลงมาเป็นหนึ่ง มิต้องเสียเวลามากมายหรือ ?

การรวมธรรมะคือมรรค ๘ นี้ เราจะต้องเริ่มด้วยการรักษาศีลให้บริสุทธิ์ เป็นประการแรกก่อน ประการที่สอง พยายามทำใจ ฝึกหัดใจให้เป็นสมาธิ ประการที่สาม ทำสัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นชอบในการปฏิบัติว่าเพื่ออะไร เมื่อมุ่งผลแห่งความสงบ รู้ยิ่งเห็นจริงตามสภาวธรรม ตามความเป็นจริง ในเมื่อศีลก็บริสุทธิ์ เป็นอุบายที่ทำให้จิตสงบลงเป็นหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า “สมาธิจิต” สมาธิ เมื่อจิตสงบลงเป็นหนึ่ง คือจิต ไปนิ่งอยู่เฉยๆ อันนี้เป็นแต่เพียงมีสมาธิองค์เดียวเท่านั้น ถ้าสติสัมปชัญญะยังไม่มีกำลังเพียงพอ ศรัทธาพละยังไม่เก่ง วิริยะพละยังไม่มี สติพละยังไม่พร้อม สมาธิพละยังไม่เข้มแข็ง ปัญญาพละยังไม่มีกำลังที่จะรอบรู้ถึงที่สุด จิตก็ยังไม่ประชุมพร้อมอริยมรรครวมเป็นหนึ่งได้ ต้องพยายามที่จะฝึกหัดสมาธิให้ยิ่งขึ้น

ในเมื่อทั้งมรรค ๘ รวมกันเป็นหนึ่งแล้ว มีแต่หนึ่งไม่มีสอง ในเมื่อยังไม่ประชุมพร้อม มันก็ยังมีแยกกันเป็นสอง คำถามที่ว่าทำไมปัญญาในมรรค ๘ จึงมี ๒ ก็เพราะเราไปพูดตามอาการ ในเมื่อเราทำจิตเป็นสมาธิ ประชุมพร้อมด้วยอริยมรรคแล้ว สัมมาทิฏฐิกับสัมมาสังกัปปะรวมเป็นหนึ่ง สัมมาอันอื่นๆ ก็จะรวมเข้ามาจนรวมเป็นหนึ่งเท่านั้น เมื่ออริยมรรครวมกันเป็นหนึ่งแล้ว ก็สามารถปฏิวัติจิตไปสู่ภูมิรู้ภูมิธรรมได้


⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱

:b8: จาก...หนังสือ ฐานิยตฺเถรวตฺถุ
เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพพระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย)
ณ วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๓

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=50583

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ก.พ. 2009, 21:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 2
สมาชิก ระดับ 2
ลงทะเบียนเมื่อ: 16 ต.ค. 2008, 14:05
โพสต์: 54


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8: อนุโมทนาสาธุครับ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ก.พ. 2009, 13:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกใหม่
สมาชิกใหม่
ลงทะเบียนเมื่อ: 12 ก.พ. 2009, 12:57
โพสต์: 1


 ข้อมูลส่วนตัว


ธรรมะดุจแสงสว่าง ขอบคุณผู้ที่ให้ธรรมเป็นทาน ขออนุโมทนาทานในครั้งนี้ :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ก.ค. 2011, 10:27 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 7
สมาชิก ระดับ 7
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ต.ค. 2010, 09:11
โพสต์: 597


 ข้อมูลส่วนตัว


อนุโมทนาสาธุค่ะ ขอบพระคุณมากค่ะ :b8: :b8: :b8:
:b41: :b41: :b41: :b41:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ต.ค. 2015, 05:52 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 21 มิ.ย. 2011, 14:07
โพสต์: 278


 ข้อมูลส่วนตัว


ขอพระองค์ทรงพระเจริญ Kiss


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ก.ค. 2016, 13:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 มิ.ย. 2007, 13:49
โพสต์: 1012


 ข้อมูลส่วนตัว


กราบสาธุๆๆ
:b8: :b8: :b8:

.....................................................
ทำความดีทุกๆ วัน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ก.ย. 2018, 09:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss
:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 12 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 3 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร