วันเวลาปัจจุบัน 25 เม.ย. 2024, 12:03  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 19 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.ค. 2016, 16:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


พุทธการกธรรม ธรรมที่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้า ตามปกติหมายถึง บารมี ๑๐ นั่นเอง (ในถาคาบางทีเรียกสั้นๆว่า พุทธธรรม)


บารมี คุณความดีที่บำเพ็ญอย่างยิ่งยวด เพื่อบรรลุจุดหมายอันสูงยิ่ง, บารมีที่พระโพธิสัตว์ต้องบำเพ็ญให้ครบบริบูรณ์ จึงจะบรรลุโพธิญาณ เป็นพระพุทธเจ้า มี ๑๐ คือ

๑. ทาน การให้ การเสียสละเพื่อช่วยเหลือมวลมนุษย์สรรพสัตว์
๒. ศีล ความประพฤติถูกต้อง สุจริต
๓. เนกขัมมะ ความปลีกออกจากกามได้ ไม่เห็นแก่การเสพบำเรอ, การออกบวช
๔. ปัญญา ความรอบรู้ เข้าถึงความจริง รู้จักคิดพิจารณาแก้ไขปัญหา และดำเนินการจัดการต่างๆ ให้สำเร็จ
๕. วิริยะ ความเพียรแกล้วกล้า บากบั่นทำการ ไม่ทอดทิ้งธุระหน้าที่
๖. ขันติ ความอดทน ควบคุมตนอยู่ได้ในธรรม ในเหตุผล และในแนวทางเพื่อจุดหมายอันชอบ ไม่ยอมลุอำนาจกิเลส
๗. สัจจะ ความจริง ซื่อสัตย์ จริงใจ จริงจัง
๘. อธิษฐาน ความตั้งใจมั่น ตั้งจุดหมายไว้ดีงามชัดเจนและมุ่งไปเด็ดเดี่ยวแน่วแน่
๙. เมตตา ความรัก ความปรารถนาดี คิดเกื้อกูลหวังให้สรรพสัตว์อยู่ดีมีความสุข
๑๐. อุเบกขา ความวางใจเป็นกลาง อยู่ในธรรม เรียบสงบสม่ำเสมอ ไม่เอนเอียง ไม่หวั่นไหวไปด้วยความยินดียินร้ายชอบชังหรือแรงเย้ายวนยั่วยุใดๆ

บารมี ๑๐ นั้น จะบริบูรณ์ต่อเมื่อพระโพธิสัตว์บำเพ็ญแต่ละบารมีครบสามขั้นหรือสามระดับ จึงแบ่งบารมีเป็น ๓ ระดับ คือ

๑. บารมี คือ คุณความดีที่บำเพ็ญอย่างยิ่งยวด ขั้นต้น
๒. อุปบารมี คือ คุณความดีที่บำเพ็ญอย่างยิ่งยวด ขั้นจวนสูงสุด
๓. ปรมัตถบารมี คือ คุณความดีที่บำเพ็ญอย่างยิ่งยวด ขั้นสูงสุด

เกณฑ์ในการแบ่งระดับของบารมีนั้น มีหลายแง่หลายด้าน ขอยกเกณฑ์อย่างง่ายมาให้รู้พอเข้าใจ เช่น ในข้อทาน สละทรัพย์ภายนอกทุกอย่างได้ เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น เป็นทานบารมี สละอวัยวะ เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น เป็นทานอุปบารมี สละชีวิต เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น เป็นทานปรมัตถบารมี

บารมีในแต่ ละชั้นมี ๑๐ จึงแยกเป็น บารมี ๑๐ (ทศบารมี) อุปบารมี ๑๐ (ทศอุปบารมี) และปรมัตถบารมี ๑๐ (ทศปรมัตถบารมี) รวมทั้งสิ้น เป็นบารมี ๓๐ เรียกเป็นคำศัพท์ว่า สมดึงสบารมี (หรือ สมติงสบารมี) แปลว่า บารมีสามสิบถ้วน หรือบารมีครบเต็มสามสิบ

แต่ในภาษาไทย บางทีเรียกสืบๆ กันมาว่า "บารมี ๓๐ ทัศ"

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.ค. 2016, 17:03 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ก่อนศึกษาพระพุทธศาสนา ศึกษาต้นกำเนิดสภาพแวดล้อมของผู้คนครั้งพุทธกาลสักหน่อย อย่างน้อยๆก็พอปลงใจได้ว่า พระพุทธเจ้าเป็นคน หลังจากตรัสรู้แล้วท่านสอนคน เรื่องของคน :b1: :b13:

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.ค. 2016, 17:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


พุทธธรรม หรือกฎธรรมชาติ และคุณค่าสำหรับชีวิต

สิ่งที่ควรเข้าใจก่อน

พระพุทธศาสนานั้น เมื่อมองในทัศนะของคนสมัยใหม่ มักเกิดปัญหาขึ้นบ่อยๆ ว่า เป็นศาสนา (religion) หรือเป็นปรัชญา (philosophy) หรือเป็นเพียงวิธีครองชีวิต แบบหนึ่ง (a way of life) เมื่อปัญหาเช่นนี้เกิดขึ้นแล้ว ก็เป็นเหตุให้ต้องถกเถียงหรือแสดง เหตุผล ทำให้เรื่องยึดยาวออกไป อีกทั้งมติในเรื่องนี้ ก็แตกต่างไม่ลง เป็นแบบเดียวกัน ทำให้เป็นเรื่องฟั่นเฝือ ไม่มีที่สิ้นสุด


ในที่นี้…จะไม่พิจารณาปัญหานี้เลย มุ่งแสดงแต่ในขอบเขตว่า พุทธธรรมสอนว่าอย่างไร มีเนื้อหาอย่างไรเท่านั้น ส่วนที่ว่าพุทธธรรมจะเป็นปรัชญาหรือไม่ ให้เป็นเรื่องของปรัชญาเองที่จะมีขอบเขตครอบคลุมหรือสามารถตีความให้ครอบ คลุมถึงพุทธธรรมได้หรือไม่ โดยที่ว่าพุทธธรรมก็คือ พุทธธรรม และยังคงเป็นพุทธธรรมอยู่นั่นเอง
มีข้อจำกัดเพียงอย่างเดียวว่า หลักการหรือคำสอนใดก็ตาม ที่เป็นเพียงการคิดค้นหาเหตุผลในเรื่องความจริงเพื่อสนองความต้องการทางปัญญา โดยมิได้มุ่งหมายและมิได้แสดงแนวทางสำหรับประพฤติปฏิบัติในชีวิตจริง อันนั้น ให้ถือว่า ไม่ใช่พระพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างที่ถือว่า เป็นคำสอนเดิมแท้ของพระพุทธเจ้า ซึ่งในที่นี้เรียกว่า พุทธธรรม


การประมวลคำสอนในพุทธศาสนามาวางเป็นข้อสรุปลงว่า พุทธธรรมที่พระ พุทธเจ้าทรงสอนและทรงมุ่งหมายแท้จริง เป็นอย่างไรนั้น เป็นเรื่องยาก แม้จะยกข้อความในคัมภีร์ ซึ่งถือกันว่าเป็นพุทธพจน์มาอ้าง เพราะคำสอนใน คัมภีร์มีปริมาณมากมาย มีแง่ ด้าน ระดับ ความลึกซึ้งต่างๆ กัน และขึ้นต่อการตีความของบุคคลโดยใช้สติปัญญาและความสุจริตใจหรือไม่ เพียงไรด้วย
ในบางกรณี ผู้ถือความเห็นต่างกันสองฝ่าย อาจยกข้อความในคัมภีร์มาสนับสนุนความคิด เห็นของตนได้ด้วยกันทั้งคู่ การวินิจฉัยความจริง ขึ้นต่อความแม่นยำในการจับสาระสำคัญและความกลม กลืนสอดคล้องแห่งหลักการและหลักฐานที่แสดงทั้งหมดโดยหน่วยรวมเป็นข้อ สำคัญ
แม้กระนั้น เรื่องที่แสดงและหลักฐานต่างๆ ก็มักไม่กว้างขวางครอบคลุมพอ จึงหนีไม่พ้นจากอิทธิพลความเห็น และความเข้าใจพื้นฐานต่อพุทธธรรมของบุคคลผู้แสดงนั้น


ในเรื่องนี้ เห็นว่า ยังมีองค์ประกอบอีกอย่างหนึ่ง ที่ควรนำมาเป็น เครื่องวินิจฉัยด้วย คือ ความเป็นไปในพระชนม์ ชีพ และพระปฏิปทาขององค์สมเด็จพระบรมศาสดา ผู้เป็นแหล่งหรือที่มาของคำสอนเอง

พระพุทธจริยา รวมทั้งบรรดาพุทธกิจ คือ สิ่งที่พระองค์ผู้สอนได้กระทำ ในบางกรณีอาจแสดงพุทธประสงค์ได้ดี หรือชัดกว่าคำสอนที่ปรากฏในคัมภีร์ อย่างน้อยก็เป็นเครื่องประกอบความเข้าใจให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ถึงหากจะมีผู้ติงว่า องค์ประกอบข้อนี้ ก็ได้จากคัมภีร์ต่างๆ เช่นเดียวกับคำสอนและขึ้นต่อการตีความได้เหมือนกัน แม้กระนั้น ก็ยังต้องยอมรับอยู่นั่นเองว่า เป็นเครื่องประกอบการพิจารณาที่มีประโยชน์มาก

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.ค. 2016, 17:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


จากหลักฐานต่างๆทางฝ่ายคัมภีร์และประวัติศาสตร์ พอจะวาดภาพเหตุการณ์ และสภาพสังคมครั้งพุทธกาลได้คร่าวๆ ดังนี้


พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติในชมพูทวีป เมื่อประมาณ 2,600 ปีล่วงแล้ว ทรงประสูติในวรรณะกษัตริย์ พระนามเดิมว่า เจ้าชายสิทธัตถะ เป็นโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ ผู้ครองแคว้นศากยะ ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านตะวันออก เฉียงเหนือของชมพูทวีป ติดเชิงเขาหิมาลัย ในฐานะโอรสกษัตริย์และเป็น ความหวังของราชตระกูล พระองค์จึงได้รับการ ปรนปรือด้วยโลกียะสุขต่างๆ อย่างเพียบพร้อม และได้ทรงเสวยความสุขอยู่เช่นนี้เป็นเวลานานถึง 29 ปีทรงมีทั้งพระชายา และพระโอรส

รูปภาพ


ครั้งนั้น ในทางการเมือง รัฐบางรัฐที่ปกครองแบบราชาธิปไตย กำลังเรืองอำนาจขึ้น และกำลังพยายามทำสงครามแผ่ขยายอำนาจและอาณาเขตออกไป รัฐหลายรัฐโดยเฉพาะที่ปกครองแบบสามัคคีธรรม (หรือ แบบสาธารณรัฐ) กำลังเสื่อมอำนาจลงไปเรื่อยๆ บางรัฐ ก็ถูกปราบรวมเข้า ในรัฐอื่นแล้ว บางรัฐ ที่ยังเข้มแข็งก็อยู่ในสภาพตึงเครียด สงครามอาจ เกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ แม้รัฐใหญ่ที่เรืองอำนาจ ก็มีการขัดแย้งรบพุ่งกันบ่อยๆ

ในทางเศรษฐกิจ การค้าขายกำลังขยายตัวกว้างขวางขึ้น เกิด มีคนประเภทหนึ่งมีอิทธิพลมากขึ้นในสังคม คือ พวกเศรษฐีซึ่งมีสิทธิมีเกียรติยศ และอิทธิพลมากขึ้นแม้ในราชสำนัก

ในทางสังคม คนแบ่งออกเป็น 4 วรรณะ ตามหลักคำสอนของพราหมณ์ มีสิทธิเกียรติฐานะทางสังคม และ อาชีพการงานแตกต่างกันไปตามวรรณะของตนๆ แม้นักประวัติศาสตร์ฝ่ายฮินดูจะว่า การถือวรรณะในยุคนั้น ยังไม่เคร่งครัดนัก แต่อย่างน้อยคนวรรณะศูทร ก็ไม่มีสิทธิที่จะฟังหรือกล่าวความในพระเวทอันเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของพราหมณ์ได้ ทั้งมีกำหนดโทษไว้อย่างรุนแรงถึงผ่าร่างกายเป็น 2 ซีก และคนจัณฑาล หรือ พวกนอกวรรณะก็ไม่มีสิทธิได้รับการศึกษาเลย การกำหนดวรรณะก็ใช้ชาติกำเนิด เป็นเครื่องแบ่งแยก โดยเฉพาะพวกพราหมณ์ ได้พยายามยกตนขึ้น ถือตนว่า เป็นวรรณะสูงสุด

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.ค. 2016, 17:19 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ส่วนในทางศาสนา พวกพราหมณ์เหล่านั้น ซึ่งเป็นผู้รักษาศาสนาพราหมณ์สืบต่อกันมา ก็ ได้พัฒนาคำสอนในด้านลัทธิพิธีกรรมต่างๆ ให้ลึกลับซับซ้อนใหญ่โตโอ่อ่า ขึ้น พร้อมกับที่ไร้เหตุผลลงโดยลำดับ การที่ทำดังนี้ มิใช่เพียงเพื่อ วัตถุประสงค์ทางศาสนาเท่านั้น แต่มุ่งสนองความต้องการของ ผู้มีอำนาจที่จะแสดงเกียรติยศ ความยิ่งใหญ่ของตนประการหนึ่งและ ด้วยมุ่งหวังผลประโยชน์ตอบแทน ที่จะได้จากผู้มีอำนาจเหล่านั้นอย่างหนึ่ง


พิธีกรรมเหล่านี้ ล้วนชักจูงให้คนเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวเองมากขึ้น เพราะหวังผลตอบแทนเป็นทรัพย์สมบัติและกามสุขต่างๆ พร้อมกันนี้ ก็ก่อความเดือดร้อนแก่คนชั้นต่ำ พวกทาสกรรมกรที่ต้องทำงาน หนัก และการทารุณต่อสัตว์ด้วยการฆ่าบูชายัญครั้งละเป็นจำนวนมากๆ


ในเวลาเดียวกัน พราหมณ์จำนวนหนึ่ง ได้คิดว่าพิธีกรรม ต่างๆ ไม่สามารถให้ตนประสบชีวิตนิรันดรได้ จึงได้เริ่มคิดเอาจริงเอาจัง กับปัญหาเรื่องชีวิตนิรันดร และหนทางที่จะนำไปสู่ภาวะเช่นนั้น ถึง กับยอมปลีกตัวออกจากสังคม ไปคิดค้นแสวงคำตอบอาศัยความวิเวกอยู่ในป่า


คำสอนของศาสนาพราหมณ์ในยุคนี้ ซึ่งเรียกว่า ยุคอุปนิษัท ก็ มีความขัดแย้งกันเองมาก บางส่วนอธิบายเพิ่มเติมเรื่องพิธีกรรมต่างๆ บางส่วนกลับประณามพิธีกรรม เหล่านั้น และในเรื่องชีวิตนิรันดรก็มีความเห็นต่างๆ กัน มีคำสอนเรื่องอาตมัน (= อัตตาในภาษาบาลี) แบบต่างๆ ที่ขัดกัน จนถึงขั้นสุดท้ายที่ว่า อาตมัน คือ พรหมัน ที่ เป็นมาและแทรกซึมอยู่ในทุกสิ่งทุกอย่างมีภาวะที่อธิบายไม่ได้อย่างที่เรียก ว่า “เนติ เนติ” (ไม่ใช่นั่น ไม่ใช่นั่น) เป็นจุดหมายสูงสุดของการบำเพ็ญเพียรทางศาสนา และพยายามแสดง ความหมายโต้ตอบปัญหาเกี่ยวกับเรื่องสภาพของภาวะเช่นนี้ พร้อมกับที่หวงแหน ความรู้เหล่านี้ไว้ ในหมู่ของพวกตน


พร้อมกันนั้น นักบวชอีกพวกหนึ่ง ซึ่งเบื่อหน่ายต่อความ ไร้สาระแห่งชีวิตในโลกนี้ ก็ได้ไปบำเพ็ญเพียรแบบ ต่างๆ ตามวิธีการของพวกตนๆ ด้วยหวังว่าจะได้พบชีวิตอมตะ หรือผลสำเร็จอันวิเศษอัศจรรย์ต่างๆ ที่ตน หวังบ้างก็บำเพ็ญตบะทรมานตนด้วยประการต่างๆ ตั้งต้นแต่อดอาหาร ไปจนถึง การทรมานร่างกายแบบแปลกๆ ที่คนธรรมดาคิดไม่ถึงว่า จะเป็นไปได้ บ้างก็บำเพ็ญสมาธิได้ฌานจนถึงรูป สมาบัติอรูปสมาบัติ บ้างก็บำเพ็ญฌานจนจนเชียวชาญชำนาญถึงขั้นที่กล่าวว่า ทำปาฏิหาริย์ได้ต่างๆ


อีกด้านหนึ่ง นักบวชประเภทที่เรียกว่า สมณะอีกหลาย หมู่หลายพวก ซึ่งได้สละเหย้าเรือนออกบวชแสวงหาจุดหมายชีวิตเช่นเดียวกัน ก็ได้เร่ร่อน ท่องเที่ยวไปในบ้านเมืองต่างๆ ถกเถียงถามปัญหา กัน บ้างตั้งตนเป็นศาสดาแสดงทัศนะของตนต่างๆ กัน หลายแบบหลายอย่าง

การเพียรแสวงหาจุดหมายและเผยแพร่แสดงแข่งลัทธิกันนี้ ได้ ดำเนินไปอย่างแข็งขันเข้มข้นจนปรากฏว่า เกิดมีลัทธิต่างๆขึ้น เป็นอันมาก เฉพาะที่เด่นๆ ซึ่งปรากฏในคัมภีร์พุทธศาสนา ถึง 6 ลัทธิ *

สภาพเช่นนี้ สรุปสั้นๆ คงได้ความว่ายุคนั้น คนพวกหนึ่ง กำลังรุ่งเรืองขึ้นด้วยอำนาจวาสนา และ กำลังเพลิดเพลินมัวเมา แสวงหาทรัพย์สมบัติ และ ความสุขทางวัตถุต่างๆ พร้อมกับที่คนหลายพวกกำลังมีฐานะ และความเป็นอยู่ด้อยลงๆ ทุกที ไม่ค่อยได้รับความเหลียวแลส่วนคนอีกพวกหนึ่ง ก็ปลีกตัวออกไปเสียจากสังคมทีเดียว ไปมุ่งมั่นค้นหาความจริงในทางปรัชญา โดยมิได้ใส่ใจสภาพสังคมเช่นเดียวกัน

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.ค. 2016, 17:28 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เจ้าชายสิทธัตถะ ทรงได้รับความปรนปรือด้วยโลกิยะสุขอยู่เป็นเวลานานถึง 29 ปี และ มิใช่เพียงปรนปรือเอาใจเท่านั้น ยังได้ทรงถูกปิดกั้นไม่ให้พบเห็นสภาพความ เป็นอยู่ที่ระคนด้วยความ ทุกข์ ของสามัญชนทั้งหลายด้วย แต่สภาพเช่นนี้ไม่สามารถถูกปิดบังจากพระองค์ได้ เรื่อยไป ปัญหาเรื่องความทุกข์ความเดือดร้อนต่างๆ ของมนุษย์อันรวมเด่นอยู่ที่ความ แก่ เจ็บ และตาย เป็นสิ่งที่ทำให้พระองค์ต้องครุ่นคิดแก้ไข


ปัญหานี้ คิดสะท้อนออกไปในวงกว้าง ให้เห็นสภาพสังคมที่คนพวกหนึ่ง ได้เปรียบกว่า ก็ แสวงหาแต่โอกาสที่จะหาความสมบูรณ์พูนสุขใส่ตน แข่งขันแย่งชิงเบียดเบียนกัน หมกมุ่นมัวเมาอยู่ในความสุข เหล่านั้น ไม่ต้องคิดถึงความทุกข์ยากเดือดร้อนของใคร ดำรงชีวิตอยู่อย่างทาสของวัตถุ
ยามสุขก็ระเริงมัวเมาอยู่ในความคับแคบของจิตใจ
ถึงคราวถูกความทุกข์ครอบงำก็ลุ่มหลงไร้สติ เหี่ยวแห้ง คับแค้นตัวเอง แล้วก็แก่เจ็บตายไปอย่างไร้แก่นสาร
ฝ่ายคนที่เสียเปรียบ ไม่มีโอกาส ถูกบีบคั้นกดขี่อยู่ อย่างคับแค้น แล้วก็แก่เจ็บตายไปอย่างไร้ความหมาย


เจ้าชายสิทธัตถะทรงมองเห็นสภาพเช่นนี้แล้ว ทรงเบื่อหน่ายในสภาพความเป็นอยู่ของพระองค์ มองเห็นความสุขความปรนปรือเหล่านั้น เป็นของไร้สาระ ทรงคิดหาทางแก้ไขจะให้มีความสุขที่มั่นคง เป็นแก่น สาร ทรงคิดแก้ปัญหานี้ไม่ตก และสภาพความเป็นอยู่ของพระองค์ท่ามกลาง ความเย้ายวน สับสน วุ่นวายเช่นนั้น ไม่อำนายแก่การใช้ความคิดที่ได้ผล
ในที่สุดทรง มองเห็นภาพพวกสมณะ ซึ่งเป็นผู้ได้ปลีกตัวจากสังคมไปค้นคว้าหาความจริง ต่างๆ โดยมีความเป็นอยู่ง่ายๆ ปราศจากกังวล และสะดวกในการแสวงหาความรู้ และคิดหาเหตุผลสภาพความเป็นอยู่แบบนี้ น่าจะช่วยพระองค์ให้แก้ปัญหานี้ได้ และบางทีสมณะพวกนั้น ที่ไปคิดค้นหาความจริงกันต่างๆ บางคนอาจมีอะไรบางอย่าง ที่พระองค์จะเรียนรู้ได้บ้าง


เมื่อถึงขั้นนี้ เจ้าชายสิทธัตถะจึงเสด็จออกบรรพชาอย่างพวกสมณะที่มีอยู่แล้วในสมัยนั้น พระองค์ ได้เสด็จไปศึกษาหาความรู้เท่าที่พวกนักบวชสมัยนั้น จะรู้และปฏิบัติกัน ทรงศึกษาทั้งวิธีการแบบโยคะ ทรงบำเพ็ญสมาธิจนได้ฌานสมาบัติ ถึงอรูปสมาบัติชั้นสูงสุด กับทั้งอิทธิปาฏิหาริย์อย่างเชียวชาญ ทรงบำเพ็ญตบะทรมานพระองค์

รูปภาพ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.ค. 2016, 17:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ในที่สุด ก็ทรงตัดสินได้ว่า วิธีการของพวกนักบวชเหล่านี้ทั้งหมด ไม่สามารถแก้ปัญหาดังที่พระองค์ทรงประสงค์ได้ เมื่อเทียบกับชีวิตของพระองค์ ก่อนเสด็จออกบรรพชาแล้ว ก็นับว่าเป็นการดำรงชีวิตอย่างเอียงสุดทั้งสองฝ่าย

พระองค์จึงทรงหันมาดำเนินการคิดค้นของพระองค์เองต่อมา จนในที่สุดได้ตรัสรู้

ธรรมที่พระองค์ทรงค้นพบนี้ ต่อมาเมื่อทรงนำไปแสดงให้ผู้อื่นฟัง ทรงเรียกว่า “มัชเฌนธรรม” (เรียกเต็มว่า มัชเฌนธรรมเทศนา) หรือหลักธรรมสายกลาง และทรงเรียกข้อปฏิบัติ อันเป็นระบบที่พระองค์ทรงบัญญัติขึ้นว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” หรือทางสายกลาง

จากความท่อนนี้ จะมองเห็นทัศนะตามแนวพุทธธรรมว่า การดำรงชีวิตอยู่ในสังคม อย่างลุ่มหลงหมกมุ่น ปล่อยตัวไปเป็นทาสตามกระแสกิเลส ก็ดี
การหลีกหนีออกไปโดยสิ้นเชิง ไม่เกี่ยวข้องรับผิดชอบอย่างใดต่อสังคม อยู่อย่างทรมานตนก็ดี นับว่า เป็นข้อปฏิบัติที่ผิด เอียงสุดด้วยกันทั้งสองอย่าง ไม่สามารถให้มนุษย์ดำรงชีวิตอย่างมีความหมาย แท้จริงได้

เมื่อตรัสรู้แล้วเช่นนี้ พระองค์จึงเสด็จกลับคืนมาทรงเริ่มต้นงานสั่งสอนพุทธธรรม เพื่อประโยชน์แก่สังคมของชาวโลกอย่างหนักแน่น จริงจัง และทรงดำเนินงานนี้จนตลอด 45 ปี แห่งพระชนม์ชีพระยะหลัง

รูปภาพ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.ค. 2016, 17:43 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


แม้ไม่พิจาณาเหตุผลด้านอื่น มองเฉพาะในแง่สังคมอย่างเดียว ก็จะเห็นว่า พุทธกิจที่พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญ เพื่อประโยชน์สุขแก่สังคมสมัยนั้น จะสำเร็จผลดีที่สุด ก็ด้วยการทำงานในบรรพชิตเพศเท่านั้น

พระองค์ จึงได้ทรงชักจูงคนชั้นสูงจำนวนมากให้ละความมั่งมีศรีสุข ออกบวชศึกษา เข้าถึงธรรมของพระองค์แล้ว ร่วมทำงานอย่างเสียสละอุทิศตน เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ด้วยการจาริกไป เข้าถึงคนทุกชั้นวรรณะ และทุกถิ่นที่จะไปถึงได้ ทำให้บำเพ็ญประโยชน์ได้กว้างขวาง

อีกประการหนึ่ง คณะสงฆ์ก็เป็นแหล่งแก้ปัญหาสังคมได้อย่างสำคัญ เช่น ในข้อว่า ทุกคนไม่ว่าจะเกิดในวรรณะใด เข้าบวชแล้วก็มีสิทธิเสมอกันทั้งสิ้น

ส่วนเศรษฐี คฤหบดี ผู้ยังไม่พร้อมที่จะเสียสละได้เต็มที่ ก็ให้คงครองเรือนอยู่เป็น อุบาสกคอยช่วยให้กำลังแก่คณะสงฆ์ ในการบำเพ็ญกรณียกิจของท่าน และนำทรัพย์สมบัติของตน ออกบำเพ็ญประโยชน์สงเคราะห์ประชาชนไปด้วยพร้อมกัน

การบำเพ็ญกรณียกิจ ทั้งของพระพุทธเจ้า และของพระสาวก มีวัตถุประสงค์และขอบเขตกว้างขวางเพียงใด จะเห็นได้จากพุทธพจน์ ตั้งแต่ครั้งแรก ที่ส่งสาวกออกประกาศพระศาสนาว่า

ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงจาริกไป เพื่อประโยชน์และความสุขของชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูล และความสุขแก่ทวยเทพ และมนุษย์ทั้งหลาย


รูปภาพ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.ค. 2016, 17:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


พุทธธรรมนั้น มีขอบเขตในทางสังคมที่จะให้ใช้ได้ และเป็นประโยชน์แก่บุคคลประเภทใดบ้าง พึงเห็นได้จากพุทธพจน์ในปาสาทิกสูตร ซึ่งสรุปความได้ว่า พรหมจรรย์ (คือพระศาสนา) จะชื่อ ว่าสำเร็จผลแพร่หลายกว้างขวาง เป็นประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก เป็นปึกแผ่น ถึงขั้นที่ว่า เทวดาและ มนุษย์ประกาศไว้ดีแล้ว ต่อเมื่อมีองค์ประกอบต่อไปนี้ครบถ้วน คือ



1. องค์พระศาสดา เป็นเถระ รัตตัญญู ล่วงกาล ผ่านวัยมาโดยลำดับ

2. มีภิกษุสาวกที่เป็นเถระ มีความรู้เชียวชาญ ได้รับการฝึกฝนอบรมอย่างดี แกล้วกล้า อาจหาญ บรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะ สามารถแสดงธรรมให้เห็นผลจริงจัง กำราบปรัปวาท (ลัทธิที่ขัดแย้ง หรือวาทะฝ่ายตรงข้าม) ที่เกิดขึ้นให้สำเร็จเรียบร้อย โดยถูกต้องตามหลักธรรม และมีภิกษุสาวกชั้นกลาง และชั้นนวกะ ที่มีความสามารถเช่นเดียวกันนั้น

3. มีภิกษุณีสาวิกา ชั้นเถรี ชั้นปูนกลาง และชั้นนวกะ ที่มีความสามารถเช่นเดียวกันนั้น

4. มีอุบาสกทั้งประเภทพรหมจารี และประเภทครองเรือนเสวยกามสุข ซึ่งมีความสามารถเช่นเดียวกันนั้น

5. มีอุบาสิกา ทั้งประเภทพรหมจาริณี และประเภทครองเรือนเสวยกามสุข ซึ่งมีความสามารถเช่นเดียวกันนั้น เพียงแต่ขาดอุบาสิกาประเภทครองเรือน เสียอย่างเดียว พรหมจรรย์ ก็ยังไม่ชื่อว่าเจริญบริบูรณ์เป็นปึกแผ่นดี

ความตอนนี้แสดงว่า พุทธธรรมเป็นคำสอนที่มุ่งสำหรับคนทุกประเภท ทั้งบรรพชิต และคฤหัสถ์ คือ ครอบคลุมสังคมทั้งหมด


รูปภาพ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.ค. 2016, 18:03 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ลักษณะทั่วไปของพุทธธรรม

ลักษณะทั่วไปของพุทธธรรมนั้น สรุปได้ 2 อย่าง คือ

1. แสดงหลักความจริงสายกลาง ที่เรียกว่า "มัชเฌนธรรม” หรือ เรียกเต็มว่า “มัชเฌนธรรมเทศนา” ว่าด้วยความจริงตามแนวของเหตุผลบริสุทธิ์ ตามกระบวนการของธรรมชาติ นำมาแสดงเพื่อประโยชน์ในทางปฏิบัติในชีวิตจริงเท่านั้น ไม่ส่งเสริมความพยายามที่จะเข้าถึงสัจธรรม ด้วยวิธีถกเถียงสร้าง ทฤษฎีต่างๆ ขึ้น แล้วยึดมั่นปกป้องทฤษฎีนั้น ๆ ด้วยการเก็งความจริงทางปรัชญา


2. แสดงข้อปฏิบัติสายกลาง ที่เรียกว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” อันเป็นหลักการครองชีวิตของผู้ฝึกอบรมตน ผู้รู้เท่าทันชีวิต ไม่หลงงมงาย มุ่งผลสำเร็จ คือ ความสุข สะอาด สว่าง สงบ เป็นอิสระ ที่สามารถมองเห็นได้ในชีวิตนี้ ในทางปฏิบัติ ความเป็นสายกลางนี้ เป็นไปโดยสัมพันธ์กับองค์ประกอบอื่นๆ เช่น สภาพชีวิตของบรรพชิต หรือ คฤหัสถ์ เป็นต้น


พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาแห่งการกระทำ (กรรมวาท และกิริยวาท) เป็นศาสนาแห่งความเพียรพยายาม (วิริยวาท) ไม่ใช่ศาสนาแห่งการอ้อนวอนปรารถนา หรือ ศาสนาแห่งความห่วงหวังกังวล


การสั่งสอนธรรมของพระพุทธเจ้า ทรงมุ่งผลในทางปฏิบัติ ให้ทุกคนจัดการกับชีวิตที่เป็นอยู่จริงๆในโลกนี้ และเริ่มแต่บัดนี้
ความรู้ในหลักที่ว่า มัชเฌนธรรมเทศนา ก็ดี การประพฤติตามมรรคา ที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ก็ดี เป็นสิ่งที่ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในสภาพและระดับชีวิตอย่างใด สามารถเข้าใจและนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ตามสมควร แก่สภาพและระดับชีวิตนั้นๆ
ถ้าความห่วงใย ในเรื่องชีวิตหลังจากโลกนี้มีอยู่ ก็จงทำชีวิตดีงามอย่างที่ต้องการนั้น ให้เกิดมีเป็นจริง เป็นจังขึ้นมา ด้วยการประพฤติปฏิบัติแต่บัดนี้ จนมั่นใจตนเองว่าจะไปดี โดยไม่ต้องกังวลหรือหวาดหวั่น ต่อโลกหน้านั้นเลย


ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันโดยธรรมชาติ ที่จะเข้าถึงผลสำเร็จเหล่านี้ แม้ว่าความสามารถจะต่างกัน ทุกคนจึงควรได้รับโอกาสเท่าเทียมกัน ที่จะสร้างผลสำเร็จนั้น ตามความสามารถของตน และความสามารถนั้น ก็เป็นสิ่งดัดแปลงเพิ่มพูนได้ จึงควรให้ทุกคนมีโอกาสที่จะพัฒนาความสามารถ ของตนอย่างดีที่สุด และแม้ว่า ผลสำเร็จที่แท้จริง ทุกคนจะต้องทำด้วยตนเอง โดยตระหนักในความรับผิดชอบของตนอย่างเต็มที่ แต่ทุกคนก็เป็นอุปกรณ์ในการ ช่วยตนเองของคนอื่นได้
ดังนั้น หลักอัปปมาทธรรม และหลักความมีกัลยาณมิตร จึงเป็นหลักธรรมที่เด่น และเป็นข้อที่เน้นหนัก ทั้งสองอย่าง ในฐานะความรับผิดชอบต่อตนเอง ฝ่ายหนึ่ง กับปัจจัยภายนอก ที่จะช่วยเสริม อีกฝ่ายหนึ่ง


หากจะยกเอาผลงาน และพระจริยาของพระพุทธเจ้าขึ้นมาเป็นหลักพิจารณา จะมองเห็นแนวทางการบำเพ็ญพุทธกิจ ที่สำคัญหลายอย่างเช่น ทรงพยายามล้มล้างความเชื่อถืองมงายในเรื่องพิธีกรรมอันเหลวไหลต่างๆ โดย เฉพาะการบูชายัญ ด้วยการสอนย้ำถึงผลเสียหาย และความไร้ผลของพิธีกรรมเหล่านั้น


การที่ทรงสอนเน้นนักให้ละเลิกการบูชายัญ ก็เพราะยัญพิธีเหล่านั้น ทำให้คนมัวแต่คิดหวังพึ่งเหตุปัจจัยในภายนอก อย่างหนึ่ง ทำให้คนกระหายทะยาน และ คิดหมกมุ่นในผลประโยชน์ทางวัตถุเพิ่มพูนความเห็นแก่ตน ไม่คำนึ่งถึงความทุกข์ยากเดือดร้อนของเพื่อนมนุษย์และสัตว์ อย่างหนึ่ง ทำให้คนคิดหวังแต่เรื่องอนาคต จนไม่คิดปรับปรุงปัจจุบัน อย่างหนึ่ง แล้วกลับทรงสอนย้ำหลักการให้ทาน ให้เสียสละแบ่งปัน และสงเคราะห์กันในสังคม


รูปภาพ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.ค. 2016, 18:17 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


สิ่งต่อไปที่ทรงพยามสอนหักล้าง คือ ระบบความเชื่อเรื่องวรรณะ ที่นำเอาชาติกำเนิดเป็นขีดขั้นจำกัดสิทธิ และโอกาสทั้งในทางสังคม และทางจิตใจของมนุษย์

ทรงตั้งคณะสงฆ์ที่เปิดรับคนจากทุกวรรณะ ให้เข้าสู่ความเสมอภาคกัน เหมือนทะเลที่รับน้ำจากแม่น้ำทุกสาย กลมกลืนเข้าเป็นอันเดียวกัน ทำให้เกิดสถาบันวัด ซึ่งต่อมาได้ กลายเป็นศูนย์กลางเผยแพร่วัฒนธรรม และการศึกษาที่สำคัญยิ่ง จนศาสนาฮินดูต้องนำไปจัดตั้งขึ้นบ้าง ในศาสนาของตน เมื่อหลังพุทธกาลราว 1,400 หรือ 1,700 ปี


ตามหลักแห่งพุทธธรรม ทั้งสตรี และบุรุษสามารถเข้าถึงจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนาได้ เช่นเดียวกัน
เมื่อได้ทรงตั้งภิกขุสังฆะขึ้นแล้ว หลังจากเวลาผ่านไประยะหนึ่ง แม้ว่าสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมไม่เอื้อ ก็ได้ทรงตั้ง ภิกขุนีสังฆะขึ้น โดยทรงกระทำด้วยความหนักพระทัยถึงความยากลำบาก และด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง ที่จะเตรียมการวางรูปให้สภาพชีวิตของนักบวชสตรีนี้ ดำรงอยู่ด้วยดีในสังคมสมัยนั้น ในขณะที่โอกาสของของสตรีในการศึกษา ทางจิตใจ ได้ถูกศาสนาพระเวทจำกัดแคบเข้ามาจนปิดตายไปแล้ว


ประการต่อไป ทรงสั่งสอนพุทธธรรมด้วยภาษาสามัญ ที่ประชาชนใช้ เพื่อให้คนทุกชั้น ทุกระดับการศึกษาได้รับประโยชน์จากธรรมนี้ทั่วถึง ตรงข้ามกับศาสนาพราหมณ์ ที่ยึดความศักดิ์สิทธิ์ของคัมภีร์พระเวท และ จำกัดความรู้ชั้นสูงไว้ในวงแคบของพวกตนด้วยวิธีการต่างๆ โดยเฉพาะ คือ ด้วยการใช้ภาษาเดิมของสันสกฤต ซึ่งรู้จำกัดในหมู่พวกตนเป็นสื่อถ่ายทอด และรักษาคัมภีร์
แม้ต่อมา จะมีผู้ขออนุญาตพระพุทธเจ้า ให้ยกพุทธพจน์ขึ้นสู่ภาษาพระเวท พระองค์ก็ไม่ทรงอนุญาต ทรง ยืนยันให้ใช้ภาษาของประชาชนตามเดิม


ประการต่อไป ทรงปฏิเสธโดยสิ้นเชิง ที่จะทำเวลาให้สูญเสียไปกับการถกเถียงปัญหา ที่เกี่ยวกับการ เก็งความจริงทางปรัชญา ซึ่งไม่อาจนำมาพิสูจน์ให้เห็นได้ด้วยวิธีแสดงเหตุผล ทางคำพูด ถ้าใครถามปัญหาเช่นนี้ พระองค์จะทรงยับยั้งเสีย แล้วดึงผู้นั้นกลับมาสู่ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องที่เขาจะต้องเกี่ยวข้อง และปฏิบัติได้ในชีวิตจริงโดยทันที สิ่งที่จะพึงรู้ได้ด้วยคำพูด ทรงแนะนำด้วยคำพูด สิ่งที่จะพึงรู้ด้วยการเห็น ทรงให้เขาดู มิใช่ให้ดูสิ่งที่จะต้องเห็นด้วยคำพูด


ทั้งนี้ ทรงสอนพุทธธรรม โดยปริยายต่างๆ เป็นอันมาก มีคำสอนหลายระดับ ทั้งสำหรับผู้ครองเรือน ผู้ดำรงชีวิตอยู่ในสังคม ผู้สละเรือนแล้ว ทั้งคำสอน เพื่อประโยชน์ทางวัตถุ และ เพื่อประโยชน์ลึกซึ้งทางจิตใจ เพื่อให้ทุกคนได้รับประโยชน์จากพุทธธรรมทั่วถึงกัน

พุทธกิจที่กล่าวมานี้ เป็นเครื่องยืนยันข้อสรุปความเข้าใจ เกี่ยวกับพุทธธรรมที่พูดมาแล้วข้างต้น

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.ค. 2016, 18:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ประกาศศาสนาท่ามกลางกระแสวัฒนธรรมที่ต่างกัน การที่ต้องทรงสอนพุทธธรรม ท่ามกลางวัฒนธรรมแบบพราหมณ์ และ ความเชื่อ ถือตามลัทธิต่างๆ ของพวกสมณะสมัยนั้น ทำให้พระพุทธเจ้า ต้องทรงเกี่ยวข้องกับถ้อยคำทางศาสนาในลัทธิความเชื่อถือ เหล่านั้น ทั้งโดยการได้รับฟัง และการพูดพาดพิงถึง และโดยที่พระองค์ มีพระประสงค์ให้พุทธธรรมเผยแพร่ไป เป็นที่เข้าใจ และเป็นประโยชน์แก่ประชาชนอย่างกว้างขวางในเวลาอันรวดเร็ว
จึงปรากฏว่า พระองค์มีวิธี การปฏิบัติ ต่อถ้อยคำทางศาสนาเหล่านี้ เป็นที่น่าสังเกตอย่างหนึ่ง คือ ไม่ทรงนิยมหักล้างความเชื่อถือเดิมในรูปถ้อยคำที่ใช้ ทรงหักล้างเฉพาะแต่ ตัวความเชื่อถือ ที่แฝงอยู่เป็นความหมายของถ้อยคำเหล่านั้นเท่านั้น กล่าวคือ ไม่ทรงวิธีรุนแรง แต่นิยมการเปลี่ยนแปลงเป็นไปเองโดยรู้เข้าใจใช้ปัญญา ด้วยการศึกษาพัฒนาคน ขึ้นไป


โดยนัยนี้ พระองค์จึงทรงนำคำบัญญัติ ที่ใช้กันอยู่ในศาสนาเดิมมาใช้ในความหมายใหม่ ตาม แนวของพุทธธรรมบ้าง ทรงสร้างคุณค่าใหม่ให้แก่ถ้อยคำที่ใช้อยู่เดิม บ้าง เช่น ใช้ “พรหม” เป็นชื่อของสัตว์โลก ที่เกิดตายประเภทหนึ่ง บ้าง หมายถึงบิดามารดาบ้าง
ทรงเปลี่ยนความเชื่อถือ เรื่องกราบไหว้ทิศ 6 ในธรรมชาติ มาเป็นการปฏิบัติหน้าที่ และรักษาความสัมพันธ์รูปต่างๆในสังคม
เปลี่ยนความหมายของการบูชาไฟศักดิ์สิทธิ์ สำหรับ ยัญพิธี 3 อย่างของพราหมณ์ มาเป็นความรับผิดชอบทางสังคม ต่อบุคคล 3 ประเภท
เปลี่ยนการตัดสินความเป็นพราหมณ์ และอารยะโดยชาติกำเนิด มาเป็นตัดสินด้วยการประพฤติปฏิบัติ

บางครั้ง ทรงสอนให้ดึงความหมายบางส่วน ในคำสอนของศาสนาเดิมมาใช้แต่ในทางที่ดีงาม และเป็นประโยชน์ คำใดในศาสนา เดิม ถูกต้อง ดีงาม ก็ทรงรับรอง โดยถือความถูกต้อง ดีงามเป็นของสากล โดยธรรมชาติ
ในกรณี ที่หลักความประพฤติปฏิบัติในศาสนาเดิม มีความหมาย หลายอย่าง ทรงชี้แจงว่าแง่ใดถูก แง่ใดผิด ทรงยอมรับ และให้ประพฤติ ปฏิบัติ แต่ในแง่ที่ดีงาม ถูกต้อง

บางครั้ง ทรงสอนว่า ความประพฤติปฏิบัติที่ผิดพลาด เสียหาย บางอย่างของศาสนา เดิมในสมัยนั้น เป็นความเสื่อมโทรมที่เกิดขึ้นในศาสนานั้นเอง ซึ่งในครั้งดั้งเดิมทีเดียว คำสอนของศาสนานั้น ก็ดีงาม ถูกต้อง และทรงสอนให้รู้ว่า คำสอนเดิมที่ดีของศาสนานั้นเป็นอย่างไร
ตัวอย่างในข้อนี้ มีเรื่อง ตบะ การบูชายัญ หลักการสงเคราะห์ประชาชนของนักปกครอง และเรื่องพราหมณธรรม เป็นต้น

ข้อความที่กล่าวมานี้ นอกจากจะแสดงให้เห็นความใจกว้างของพุทธธรรม และการที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งพระทัยสอนแต่ความจริง และความดีงามถูกต้องที่เป็นกลางๆ แล้วยังเป็นเรื่องสำหรับเตือนให้รู้จักแยกความหมายคำบัญญัติทางศาสนาที่ใช้ในพุทธธรรมกับที่ใช้ในศาสนาอื่นๆ ด้วย

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.ค. 2016, 18:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ


อนึ่ง เมื่อสิ้นยุคขององค์พระศาสดาแล้ว เวลาล่วงไป และคำสอนแผ่ไปในถิ่นต่างๆ ความเข้าใจในพุทธธรรมก็แปรไปจากเดิม และแตกต่างกันไปได้หลายอย่าง เพราะผู้ถ่ายทอดสืบต่อ มีพื้นความรู้ การศึกษาอบรม สติปัญญาแตกต่างกัน ตีความหมายพุทธธรรมแผกกันไปบ้าง
นำเอาความรู้ ความเชื่อถือเดิมจากลัทธิศาสนาอื่น เข้ามาผสมแทรกแซงบ้าง
อิทธิพลศาสนา และวัฒนธรรม ในท้องถิ่นเข้าผสมผสานบ้าง
คำสอนบางแง่เด่นขึ้น บางแง่เลือนลง เพราะการย้ำ และ เลี่ยงความสนใจ ตามความโน้มเอียง และความถนัดของผู้รักษาคำสอนบ้าง ทำให้เกิดความแตกแยกออกเป็นนิกายต่างๆ เช่น ที่แยกเป็นมหายาน กับเถรวาท ตลอดจนนิกายย่อยๆ ในสองนิกายใหญ่นั้น


สำหรับเถรวาทนั้น แม้จะได้ชื่อว่า เป็นนิกาย ที่รักษาแบบแผนและคำสอน ดั้งเดิมไว้ได้แม่นยำ ก็มิใช่จะพ้นไปจากความแปรเปลี่ยนได้โดยสิ้นเชิง คำสอนบางส่วน แม้ที่อยู่ในคัมภีร์เอง ก็ยังเป็นปัญหาที่คนรุ่นปัจจุบัน ต้องนำมาถกเถียง คิดค้นหาหลักฐานยืนยัน หรือปฏิเสธความเป็นของแท้แต่ดั้งเดิม ยิ่งความรู้ความเข้าใจที่ประชาชน เชื่อถือ และปฏิบัติอยู่ด้วยแล้ว ความคลาดเคลื่อนก็ยิ่งมีได้มาก และชัดเจนยิ่งขึ้น
บางกรณีกับเสมือนเป็นของตรงข้าม กับคำสอนเดิม หรือ เกือบจะกลายไปเป็นลัทธิอื่น ที่คำสอนเดิมคัดค้านแล้วก็มี


ยกตัวอย่างในประเทศไทยนี้ เมื่อพูดถึงคำว่า “กรรม” ความ เข้าใจของคนทั่วไป ก็จะเพ่งไปยังกาละส่วนอดีต เจาะจงเอาการกระทำในชาติที่ล่วงแล้ว หรือชาติก่อนๆบ้าง
เพ่งไปยังปรากฏการณ์ส่วนผล คือนึกถึงผลที่ปรากฏในปัจจุบันของการกระทำในอดีตบ้าง
เพ่งไปยังแง่ที่เสียหายเลวร้าย คือการกระทำชั่วฝ่ายเดียวบ้าง
เพ่งไปยังอำนาจแสดงผลร้ายของการกระทำความชั่วในชาติก่อนบ้าง และโดยมาก เป็นความเข้าใจตามแง่ต่างๆ เหล่านี้รวมๆกันไปทั้งหมด ซึ่งเมื่อพิจารณาตัดสิน ตามหลักกรรมที่แท้จริงในพุทธธรรม แล้ว จะเห็นได้ชัดว่า เป็นความเข้าใจที่ห่างไกลจากความหมายที่แท้จริงเป็นอันมาก


แม้ข้อธรรมอื่นๆ ตลอดจนคำบัญญัติทางธรรมแต่ละคำๆ เช่น อารมณ์ วิญญาณ บารมี สันโดษ อุเบกขา อธิษฐาน บริกรรม ภาวนา สมถะ สมาธิ วิปัสสนา กาม โลกีย์ โลกุตระ บุญ อิจฉา ฯลฯ ก็ล้วนมีความหมายพิเศษ ในความเข้าใจของประชาชน ซึ่งผิดแปลกไปจากความหมายดั้งเดิมในพุทธธรรม โดยตัวความหมายเองบ้าง
โดยขอบเขตความหมายบ้าง มากน้อยต่างกันไปในแต่ละคำนั้นๆ
ในการศึกษาพุทธธรรม จำเป็นต้องแยกความหมาย ในความเข้าใจของประชาชน ส่วนที่คลาดเคลื่อนนี้ออกไปต่างหาก จึงจะสามารถเข้าใจความหมายที่แท้จริงได้

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.ค. 2016, 07:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 ต.ค. 2009, 15:06
โพสต์: 7502

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss
อนุโมทนาค่ะ
มีคอมเม้นต์
รูปห้อยต้นไม้
ไม่โอเคเท่าไหร่ค่ะ
ขอรูปเด็กน่ารักๆจะดูดีค่ะ
:b13:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.ค. 2016, 07:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


Rosarin เขียน:
Kiss
อนุโมทนาค่ะ
มีคอมเม้นต์
รูปห้อยต้นไม้
ไม่โอเคเท่าไหร่ค่ะ
ขอรูปเด็กน่ารักๆจะดูดีค่ะ
:b13:



เรื่องไม่เข้ากับเด็กน่ารัก เข้ากับการทรมานตนของลัทธิอื่นๆอ่ะ

ยังมีอีกที่นักบวชสมัยโน้นฝึกกัน ปัจจุบันก็ยังมี

อ้อไม่เชื่อ ถ้างั้นดู (อย่าแจ้ง @ มินลบอีกล่ะ :b32: ศึกษาธัมมะนะ)

http://f.ptcdn.info/261/009/000/1378249986-o.jpg

https://www.google.co.th/search?q=%E0%B ... 3YlviwM%3A

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 19 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 129 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร