วันเวลาปัจจุบัน 18 เม.ย. 2024, 13:33  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 11 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 พ.ค. 2016, 07:43 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ทรัพย์และอำนาจนั้น มีความหมายสำหรับปุถุชนจำนวนมาก คือเป็นเครื่องบำรุงบำเรอความสุขของตนและแสดงความยิ่งใหญ่

แต่พระเจ้าอโศกได้เปลี่ยนความหมายของทรัพย์ และอำนาจใหม่เป็นว่า ทรัพย์ และอำนาจนั้น สามารถใช้เป็นเครื่องมือของธรรมได้ คือ ใช้เป็นเครื่องในการสร้างสรรค์ ทำความดีงาม และประโยชน์สุขให้แก่ประชาชน

ดูหัวข้อนี้

viewtopic.php?f=1&t=52412&p=392139#p392139

ก่อน

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แก้ไขล่าสุดโดย กรัชกาย เมื่อ 25 พ.ค. 2016, 18:29, แก้ไขแล้ว 2 ครั้ง.

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 พ.ค. 2016, 07:52 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ทรัพย์และอำนาจ สู่ความหมาย และคุณค่าใหม่

ในที่นี้มีข้อสังเกตอย่างหนึ่ง คือ คติเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อทรัพย์สินเงินทอง ดังต่อไปนี้

ตามปกติพระเจ้าอโศกนี้ ก็เช่นเดียวกับกษัตริย์สมัยโบราณจำนวนมาก ที่มุ่งจะแสวงหาความยิ่งใหญ่ให้แก่ตนเอง และต้องการบำรุงบำเรอความสุขส่วนตน อย่างที่เรียกว่า แสวงหาโภคะ และอำนาจหรือแสวหาทรัพย์และอำนาจ เพื่อบำรุงบำเรอตัวเอง และเพื่อแสดวงความยิ่งใหญ่ของตน

ทรัพย์และอำนาจ โดยทั่วไปมักจะมีความหมายอย่างนี้

ทีนี้ เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชหันมานับถือพระพุทธศาสนาแล้ว ทางธรรมสอนว่า ทรัพย์สินเงินทอง และความยิ่งใหญ่ ทุกอย่างล้วนเป็นอนิจจัง เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ไม่มีสาระที่แท้จริง ไม่ควรจะเอาชีวิตไปฝากไว้กับสิ่งเหล่านี้ ไม่ควรหวังความสุข หรือความประเสริฐจากทรัพย์สินเงินทอง และอำนาจ

ฉะนั้น ทรัพย์สินเงินทอง ไม่มีความหมายแล้ว มองในแง่หนึ่ง ก็จะทำให้เกิดความเบื่อหน่าย เพราะว่าเมื่อมองเห็นทรัพย์สินเงินทองเป็นเพียงของนอกกาย เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เป็นอนิจจัง ไม่มีคุณค่าที่แท้จริง ถ้าเป็นอย่างนี้ เราก็ไม่ควรเอาใจใส่ นี่คือท่าทีอย่างหนึ่งต่อทรัพย์สมบัติ

ถ้าพระเจ้าอโศกทรงมองเห็นอย่างนั้น พระองค์ก็คงจะไม่เอาใจใส่กับทรัพย์และอำนาจต่อไป ซึ่งก็จะต้องตั้งคำถามว่า จะเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องหรือไม่

ปรากฏว่า พระเจ้าอโศกได้ทำสิ่งหนึ่ง ที่ถือได้ว่าเป็นแบบอย่างแก่ชาวพุทธที่สำคัญคือ พระเจ้าอโศกนั้น ไม่ได้ทิ้งทรัพย์ และอำนาจ แต่ได้เปลี่ยนความหมายของทรัพย์ และอำนาจเสียใหม่

อย่างที่ได้กล่าวไว้เมื่อกี้ว่า ทรัพย์ และอำนาจนั้น มีความหมายสำหรับปุถุชนจำนวนมาก คือเป็นเครื่องบำรุงบำเรอความสุขของตนและแสดงความยิ่งใหญ่

แต่พระเจ้าอโศกได้ ได้เปลี่ยนความหมายของทรัพย์ และอำนาจใหม่เป็นว่า ทรัพย์ และอำนาจนั้น สามารถใช้เป็นเครื่องมือของธรรมได้ คือ ใช้เป็นเครื่องในการสร้างสรรค์ ทำความดีงาม และประโยชน์สุขให้แก่ประชาชน

ด้วยความคิดเช่นนี้ พระเจ้าอโศกก็นำเอาทรัพย์ และอำนาจที่พระองค์เคยมีนั่นแหลาใช้ แต่เปลี่ยนใหม่ คือ ทนที่จะเอามาบำรุงบำเรอตนเอง ก็เอามาใช้สร้างสรรค์ความดีงามและประโยชน์สุขอย่างที่ว่า

จึงได้สร้างโรงพยาบาลคน โรงพยาบาลสัตว์ ทั่วพระราชอาณาจักร สร้างถนนหนทางเชื่อมต่อให้กว้างขวางทั่วถึง ปลูกต้นไม้ ขุดบ่อน้ำ สร้างทีพักคนเดินทาง และสร้างอ่างเก็บน้ำ ให้การศึกษาแก่ประชาชน ทำศิลาจารึกประกาศธรรม แถลงเรื่องที่เป็นนโยบายของรัฐในทางธรรม ที่จะให้ผู้ปกครองท้องถิ่นนำไปสั่งสอนประชาชน ตลอดจนอุปถัมภ์พระศาสนาอย่างมากมาย

พระเจ้าอโศกมหาราชรู้ว่า พระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้ามีทั้งหมด ๘,๔๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ก็ได้สร้างวัดขึ้นทั้งหมด เรียกว่า มหาวิหาร จำนวน ๘,๔๐๐๐ ทั่วมหาอาณาจักรของตน คือ แคว้นมคธนี่แหละ แคว้นมคธเป็นศูนย์กลางของมหาอาณาจักรของพระเจ้าอโศก

ในแคว้นมคธนี้ มีวัดจำนวนมากมาย วัด ภาษาบาลีเรียกว่า วิหาร มหาวิหารก็คือ วัดใหญ่

คำว่า วิหาร นี้ ถ้าแผลง ว. เป็น พ. ก็จะเป็น พิหาร เหมือนอย่างในประเทศไทยเรานิยมแปลง ว. เป็น พ. เยอะแยะไป ในอินเดีย ว. เป็น พ. ก็แผลงกันได้ วิหารก็กลายเป็นพิหาร แปลว่า วัด

ต่อมา เมื่ออาณาจักรของพระเจ้าอโศกมหาราชได้เสื่อมสลายลงไป ก็มีซากวัดวาอารามเหลืออยู่มากมาย เนื่องจากแคว้นมคธนี้เป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยซากของวัด คือ วิหาร หรือพิหาร

ต่อมา ก็เลยเรียกชื่อดินแดนแถบนี้ ตั้งชื่อเป็นแคว้นหรือรัฐว่า แคว้นพิหาร หรือรัฐวิหาร อย่างที่เรารู้จักกัน เป็นชื่อทางการในปัจจุบัน ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะมีวัดมากมายเหลือเกิน ซึ่งพระเจ้าอโศกสร้างไว้ ยังมีซากเหลืออยู่

พระเจ้าอโศกสร้างวัดทั้งหมด ๘,๔๐๐๐ แห่ง ทั่วราชอาณาจักร และวัดเหล่านั้นก็ได้เป็นศูนย์กลางทางการศึกษา

บางแห่งได้เจริญเติบโตจนเป็นมหาวิทยาลัย คือ นาลันทา ซึ่งเดิมก็เป็นวิหารหนึ่ง แล้วได้ขยายเป็นมหาวิหาร คือ วัดใหญ่ โดยเกิดจากการรวมกันของวัดเล็กวัดน้อยที่เป็นศูนย์การศึกษาแล้วพัฒนาขึ้นมาจนเป็น มหาวิทยาลัยนาลันทา

ชื่อในภาษาบาลี เรียก นาลันทามหาวิหาร ก็คือวัดใหญ่นั่นเอง

นี่คือความเป็นมาในอดีต ซึ่งเกี่ยวข้องกับเมืองที่เรียกว่าปาตลีบุตร


พระเจ้าอโศกมหาราช ได้ให้ความหมายแก่ทรัพย์ และอำนาจ แล้วก็จารึกไว้ในศิลาจารึกของพระองค์

ศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกแห่งหนึ่ง มีข้อความจารึกไว้ว่า ยศ คือ ความยิ่งใหญ่ของพระองค์นั้น จะไม่มีความหมายเลย ถ้าไม่เป็นไปเพื่อช่วยให้ประชาชนไประพฤติธรรม

หมายความว่า พระเจ้าอโศกได้ใช้ทรัพย์ และอำนาจ เป็นเครื่องแห่งธรรม เพื่อเผยแพร่ธรรมหรือสร้างสรรค์ธรรม ทำให้ความดีงาม หรือธรรมนี้ แผ่ขยายไปในหมู่มนุษย์ เพื่อสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์สุขอันแท้จริง อันนี้เป็นคติที่สำคัญมาก

รูปภาพ

ขอยกข้อความในศิลาจารึก คือ ธรรมโองการ ในจารึกศิลา ฉบับที่ ๑๐ มาให้ดู ดังนี้

“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปิยทัสสี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ไม่ทรงถือว่า ยศ หรือเกียรติจะเป็นสิ่งมีประโยชน์มาก เว้นแต่จะทรงปรารถนายศ หรือเกียรติเพื่อความมุ่งหมายนี้นี้ ทั้งในบัดนี้ และเบื้องหน้า ขอประชาชนทั้งหลายจงตั้งใจสดับฟังคำสอนธรรมของข้า ฯ และจงปฏิบัติตามหลักความประพฤติทางธรรม”

คำว่า “ยศ” ในภาษาบาลีนั้น แปลง่ายๆ ว่า ความยิ่งใหญ่ มี ๓ อย่าง คือ

๑. เกียรติยศ ยศ คือ เกียรติ ได้แก่ ความมีชื่อเสียง มีเกียรติคุณ

๒. อิสสริยยศ ยศ คือ ความเป็นใหญ่

๓. บริวารยศ ยศ คือ บริวาร

คนที่มีความคิดดีๆ มีเจตนาดี มีสติปัญญาดี แต่ถ้าไม่มีทรัพย์ ไม่มีอำนาจ ไม่มียศ ก็ไม่สามารถสร้างสรรค์ความดีงามหรือประโยชน์สุขได้มาก เราคิดขึ้นมาว่าจะทำการทีดีเป็นประโยชน์สักอย่าง แต่ไม่มีเงิน ไม่มีบริวาร ไม่มีอำนาจ จะทำได้แค่ไหน ทำได้นิดเดียวก็จบ แต่ถ้ามีทรัพย์มีอำนาจ มีบริหาร มีความคิดดี มีสติปัญญาดี ก็สามารถออกผล กระจายขยายออกไปได้กว้างขวาง เหมือนดังพระเจ้าอโศกมหาราช

เรื่องพระเจ้าอโศกมหาราชนี้ จึงเป็นคติเป็นแบบอย่างที่ดี ที่ให้หลักแก่เราในด้านการปฏิบัติต่อทรัพย์และอำนาจอย่างที่กล่าวมานี้

ชาวพุทธมีคติว่า เมื่อเราได้เรียนรู้ธรรมแล้วว่า ทรัพย์สินเงินทองและอำนาจนี้ เป็นของนอกกาย จึงไม่ควรยึดถือเป็นจุดหมายของชีวิต

ข้อนี้ หมายความว่า เราไม่ได้เห็นความหมายของทรัพย์และอำนาจในแง่ที่เป็นเรื่องของความเห็นแก่ตัว หรือเป็นประโยชน์ส่วนตน และไม่ยึดติด ตกเป็นทาสของมัน ให้เกิดก่อทุกข์ทั้งแก่ตนและผู้อื่น แต่เรามองอย่างพระเจ้าอโศก คือ คิดที่จะใช้เป็นเครื่องมือของธรรม

ไม่ใช่หมายความว่า ทรัพย์และอำนาจเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วก็เลยไม่เอาใจใส่ ไม่บริหาร ไม่ใช่อย่างนั้น เราต้องรู้จักเอามันมาใช้เป็นเครื่องมือสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม และประโยชน์สุข อันนี้ ถือว่า เป็นวิธีปฏิบัติอย่างถูกต้องของชาวพุทธที่เป็นคฤหัสถ์

แต่ถ้า ไม่อยากเกี่ยวข้องกับทรัพย์และอำนาจ ก็ออกบวชไปเลย จะได้ไปทำหน้าที่ทางธรรมอีกแบบหนึ่ง คือ นำธรรมที่เป็นตัวนามธรรม ได้แก่ สติ ปัญญา ไปแจกจ่ายแก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนทั่วไปดำเนินชีวิตให้ถูกต้องเป็นประโยชน์แก่ชีวิต และสังคมของเขา

ฉะนั้น จึงมีคติ ๒ อย่าง คือ

- ถ้าอยู่เป็นคฤหัสถ์ ก็ให้ได้ทรัพย์และอำนาจเป็นเครื่องมือของธรรม ให้เป็นประโยชน์ในการสร้างสรรค์ความดีงาม

หรือ

- ถ้าเบื่อหน่ายไม่อยากเกี่ยวข้องกับทรัพย์และอำนาจ ก็ออกบวชไปเผยแพร่ธรรมให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชน

ถ้ามิฉะนั้น จะกลายเป็นคนครึ่งๆกลางๆ มีทรัพย์และอำนาจแล้ว บอกว่าเบื่อหน่าย ไม่เอาเรื่องเอาราว จะทำอย่างไรก็ไม่เอา ไม่รับผิดชอบทรัพย์และอำนาจนั้น เมื่อไม่ได้รับการบริหาร ไม่มีคนรับผิดชอบ ก็เสียหายหมด ไม่เกิดประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและสังคม และชีวิตของคนผู้นั้นเอง ก็ไม่ได้เจริญงอกงามอะไรขึ้นมา

เรื่องของพระเจ้าอโศก อย่างน้อยก็ให้คติแก่เราอย่างนี้

นอกจากนั้น ยังมีคติที่สำคัญอีก คือ วัดอโศการาม ซึ่งเป็นที่ทำสังคายนาครั้งที่ ๓

เรื่องของการทำสังคายนานั้น คือ

- สังคายนาอะไร ทางพระท่านเรียกว่า สังคายนาพระธรรมวินัย

- ธรรมวินัยคืออะไร ก็คือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

- สังคายนาเพื่ออะไร ก็เพื่อให้คำสอนของพระพุทธเจ้า ได้คงอยู่เป็นหมวดเป็นหมู่ เป็นหลักเป็นฐาน คนรุ่นหลังจะได้รู้ว่าหลักคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าคืออะไร และจะได้ประพฤติปฏิบัติถูกต้อง เมื่อหลักธรรมวินัยเรียบร้อย บริสุทธิ์บริบูรณ์แล้ว พระศาสนาก็จะเจริญมั่นคงและแพร่หลายต่อไป

มีข้อน่าสังเกตว่า วัตถุประสงค์ของการสังคายนานั้น ท่านแสดงไว้ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย แปลว่า เพื่อประโยชน์แก่คนจำนวนมากเพื่อเกื้อกูลแก่ชาวโลก

หมายความว่า ที่ทำสังคายนาอะไรต่างๆ เหล่านี้ และที่ให้พระศาสนาเจริญมั่นคงนั้น วัตถุประสงค์ไม่ได้อยู่ที่ตัวพระศาสนาเอง พระศาสนาไม่ได้อยู่เพื่อตัวเอง พระศาสนามีอยู่เพื่อประโยชน์สุขแก่ชนจำนวนมากและชาวโลก อันนี้เป็นจุดหมายของพระพุทธศาสนา

เป็นอันว่า ในการปฏิบัติของพุทธศาสนานิกชน การที่เราทำนุบำรุงพระพุทธศาสนานี้ ก็เพื่อให้พระพุทธศาสนาอยู่ยั่งยืน จะได้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชนจำนวนมาก และแก่ชาวโลก สืบต่อไปตลอดกาลนาน

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 พ.ค. 2016, 21:42 
 
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 เม.ย. 2009, 02:43
โพสต์: 12232


 ข้อมูลส่วนตัว


:b17: :b17: :b17:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 พ.ค. 2016, 07:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ศิลาจารึกอโศก เป็นของพระเจ้าอโศกแน่หรือ


รูปภาพ

ถาม: ขอมนัสการเรียนถามหลวงพ่อ คือวัตถุประสงค์ที่พระเจ้าอโศกมหาราชสร้างศิลาจารึก นอกจากแสดงพระราชอำนาจแล้วยังเป็นการสอนประชาชนทั่วไปให้เข้าใจถึงว่า ทรัพย์ และอำนาจหรือยศนั้น เป็นสิ่งที่อนิจจังแล้ว มีหลักฐานอีกไหมที่แสดงว่า อันนี้เป็นศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราช นอกจากคำที่จารึกไว้ เช่น อาจจะเป็นรูปธรรมจักร พระเจ้าอโศกเป็นวงศ์โมริยะ ซึ่งแปลว่า นกยูง มีอะไรเป็นหลักฐานไหมที่ว่า ศิลาจารึกนี้พระเจ้าอโศกสร้างไว้

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 พ.ค. 2016, 07:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


พระธรรมปิฎก: (พระราชทินนามขณะนั้น) เจริญพร ศิลาจารึกพระเจ้าอโศกนี้ มีข้อความเขียนไว้สั่งสอนแนะนำ แสดงนโยบายของ พระเจ้าอโศกแก่ประชาชน เช่น ขอให้คนที่เป็นเจ้าหน้าที่ คล้ายๆ กำนันอะไรพวกนี้ นำเอาข้อความต่อไปนี้ไปบอกแก่ประชาชนของตนๆ แสดงว่า พระองค์ใช้ศิลาจารึกเป็นเครื่องมือในการสั่งสอน และบริหารราชการแผ่นดิน เพราะในสมัยนั้น ไม่มีการใช้กระดาษแบบทุกวันนี้ ก็เลยใช้ศิลา ให้เจ้าหน้าที่เขียนไว้ตามที่ต่างๆ เช่น โขดหิน เขา ภูผา เป็นต้น แล้วก็ให้มาอ่านไปบอกกัน

เรื่องนี้เป็นเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ประชาชนนั้นมีการศึกษา ใน Encyclopaedia Britannica เคยบอกว่า อินเดีย ในสมัยพระเจ้าอโศกนี้ ประชาชนรู้หนังสือมากกว่ายุคปัจจุบัน จะจริงหรือไม่จริง แต่ฝรั่งเขาว่าไว้อย่างนั้น แสดงว่าในสมัยนั้นมีการศึกษาดี และวัดก็เป็นศูนย์กลางการศึกษาอยู่แล้ว

และที่...ถามอีกอย่างหนึ่ง คือ มีเครื่องหมายอะไร ที่แสดงว่าพระเจ้าอโศกสร้างไว้

ศิลาจารึกพระเจ้าอโศกนี้ มีคำขึ้นต้นบอกไว้ชัดทุกครั้งไป “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปิยทัสสีผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ตรัสไว้ว่า” หรือทำนองนี้ และข้อความที่เล่าไว้ในจารึกหลายแห่งก็บอกเหตุการณ์ที่ทำให้นักประวัติศาสตร์มั่นใจว่า เป็นพระเจ้าอโศก เช่น เล่าถึงการสงคราม กับ แคว้นกลิงคะ

นอกจากข้อความในศิลาจารึกทั่วไปอย่างนี้แล้ว ก็ยังมีศิลาจารึกบางแห่งที่ทำเป็นหลักหรือเป็นเสาไว้ประกาศ เช่น ที่สถานทีที่พระพุทธเจ้าประสูติ ก็จะบอกว่า ณ สถานที่นี้ (คือ ลุมพินีวัน) พระพุทธศากยมุนีได้ประสูติ เป็นต้น และบนยอดเสาก็มีเครื่องหมายของพระองค์ เช่น หัวสิงห์ และที่เป็นรูปธรรมจักรก็มี

ยอดเสาที่สมบูรณ์จริงๆ เราจะไปเห็นในพิพิธภัณฑ์ข้างหน้า และจะได้เห็นศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกเป็นตัวอย่างด้วย

อย่างไรก็ตาม ศิลาจารึกเหล่านี้ เมื่อเวลาผ่านไป ก็ถูกทำลายบ้าง ถูกภัยธรรมชาติบ้าง ได้หักโค่น แตกกร่อน กระจัดกระจายไป คนยุคหลังๆ ก็เอามาจัดตั้งเพื่อแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างของอดีต

การพิสูจน์ว่า รู้ได้อย่างไรว่าศิลาจารึกนี้เป็นของพระเจ้าอโศกมหาราช คือพระเจ้าอโศกมหาราชสร้างไว้นั้น ที่จริงเป็นเรื่องของนักประวัติศาสตร์ โบราณคดี ที่เขาได้ศึกษาและวินิจฉัยกันไว้ ซึ่งเราคงต้องไปฟังไปอ่านเรื่องที่เขารวบรวมเขียนไว้

แต่ถ้าจะพูดรวบรัดเฉพาะหน้า ว่าตามที่นึกเห็นได้ มีจุดสำคัญหนึ่ง ที่ศิลาจารึกมาบรรจบกับหลักฐานในคัมภีร์ ซึ่งทำให้เห็นว่าองค์ “เทวานัมปิยะ ปิยทัสสี ราชา” หรือ “เทวานามปริยะ ปริยทรรศีราชา” ในศิลาจารึกนั้น เป็นองค์เดียวกับพระเจ้าอโศกมหาราชในคัมภีร์

ขอยกข้อความตอนหนึ่งในศิลาจารึกมาให้ดูกัน

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ได้มีพระบรมราชโองการให้ประกาศแก่มหาอำมาตย์ทั้งหลาย ณ พระนครปาฏลีบุตร และ ณ นครอื่นๆว่า

สงฆ์ (อันข้าฯ) ได้ทำให้สามัคคีเป็นอันเดียวกันแล้ว (สํเฆ สมเค กเฏ) บุคคลใดๆ จะเป็นภิกษุ หรือภิกษุณีก็ตาม ไม่อาจทำลายสงฆ์ได้

ก็แล หากบุคคลผู้ใด จะเป็นภิกษุ หรือภิกษุณีก็ตาม จักทำสงฆ์ให้แตกแยก บุคคลผู้นั้น จักต้องถูกบังคับให้นุ่งห่มผ้าขาว และไปอาศัยอยู่ ณ สถานที่อื่น (นอกวัด)

พึงแจ้งสาสน์พระบรมราชโองการนี้ให้ทราบทั่วกัน ทั้งในภิกษุสงฆ์ และในภิกษุณีสงฆ์

ด้วยประการฉะนี้ พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพได้ตรัสไว้ดังนี้ ก็ประกาศพระบรมราชโองการเช่นนี้ ท่านทั้งหลายพึงนำไปติดไว้ ณ ทางสัญจรภายในเขตใกล้เคียงของท่านทั้งหลายฉบับหนึ่ง และจงเก็บรักษาประกาศพระบรมราชโอการอันเดียวกันนี้แล ไว้ในเขตใกล้เคียงของอุบาสกทั้งหลายอีกฉบับหนึ่ง

ทุกๆ วันอุโบสถ บรรดาอุบาสกเหล่านั้น พึงทำตนให้มีความรู้ความเข้าใจแนบแน่นในประกาศพระบรมราชโองการนี้ และทุกๆ วันอุโบสถ มหาอำมาตย์ทุกๆ คนพึงไปร่วมในการรักษาอุโบสถด้วยประจำ เพื่อจักได้เกิดความคุ้นเคยแนบสนิท และรู้เข้าใจทั่วถึง ซึ่งประกาศพระบรมราชโองการนั่นแล

ทั่วทุกหนทุกแห่งที่อำนาจบริหารราชการของท่านทั้งหลายแผ่ไปถึง ท่านทั้งหลายพึงขับไล่ (บุคคลผู้ทำลายสงฆ์) ออกไปเสีย และในทำนองเดียวกันนั้น ท่านทั้งหลายพึงขับไล่ (บุคคลที่ทำลายสงฆ์) ในเมืองด่าน และในท้องถิ่นทั้งหลายออกไปเสีย โดยให้เป็นไปตามข้อความในประกาศนี้

ธรรมโองการนี้ ในศิลาจารึกเองก็บอกไว้ว่าได้โปรดให้ติดประกาศทั่วไปทุกหนทุกแห่ง แต่เฉพาะที่นักโบราณคดีขุดค้นพบแล้ว ๓ แห่ง (จารึกหลักศิลา ฉบับย่อยที่ ๑-๒-๓) มีข้อความยาวสั้นกว่ากันบ้าง แต่ทุกแห่งมีตอนสำคัญ คือ ย่อหน้า ๒-๓ ที่มีความเริ่มต้นว่า “สงฆ์ (อันข้าฯ) ได้ทำให้สามัคคี”

สามแห่งที่พบจารึกนี้ คือ ที่สารนาถ ที่โกสัมพี และที่สาญจี การที่ในจารึกต่างแห่งบอกเหมือนกันว่า “ข้าฯ ได้ทำให้สงฆ์สามัคคีกันแล้ว” แสดงว่าเป็นเหตุการณ์ใหญ่ของส่วนรวมทั่วทั้งแว่นแคว้น ไม่ใช่เรื่องเฉพาะของที่นั้นๆ (สารนาท วัดระยะทางผ่านโกสัมพี ไปถึงสาญจี = ๖๐๐ กม. ) และข้อความตอนท้ายๆ ของจารึกเอง ก็บอกให้มหาอำมาตย์ดำเนินการรักษาสามัคคีนี้ทั่วทุกหนแห่ง

การทำให้สงฆ์สามัคคี ก็แสดงว่าได้มีการแตกแยก และได้แก้ปัญหาความแตกแยกนั้นเสร็จแล้ว นี่ก็คือการสังคายนาครั้งที่ ๓ ที่เมืองปาฏลีบุตร ที่พระเจ้าอโศกอุปถัมภ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕ ซึ่งคัมภีร์สมันตปาสาทิกาได้เล่าไว้ และบอกด้วยว่า พระที่ก่อปัญหา (ท่านว่าปลอมบวชเข้ามา) ได้ถูกบังคับให้นุ่งผ้าขาว (= ให้สึกออกไป) ดังความตอนหนึ่งในสมันตปาสาทิกานั้น (วินย.อ.๖๐) ว่า

ในวันที่ ๗ พระราชา (อโศก) โปรดให้ประชุมภิกษุสงฆ์ที่อโศกราม...ทรงทราบว่า พวกนี้มิใช่ภิกษุ พวกนี้เป็นอัญเดียรถีย์ พระราชทานผ้าขาวแก่บุคคลเหล่านั้นให้สึกเสีย ... ลำดับนั้น พระราชาตรัสว่า “พระคุณเจ้าผู้เจริญ บัดนี้ พระศาสนาบริสุทธิ์แล้ว ขอภิกษุสงฆ์จงทำอุโบสถเถิด” พระราชทานอารักขาแล้ว เสด็จคืนสู่พระนคร สงฆ์ซึ่งสามัคคีกันแล้ว ได้กระทำอุโบสถ

ตามศิลาจารึกแสดงว่า แม้สงฆ์จะสามัคคีกันได้แล้ว มาตรการที่จะรักษาความสามัคคีนั้นให้หนักแน่นมั่นคง พร้อมทั้งป้องกันปัญหาอันอาจจะมีขึ้นอีก ก็ยังดำเนินต่อไป โดยให้มหาอำมาตย์ดูแลรับผิดชอบตามความในจารึกนั้น

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 พ.ค. 2016, 08:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อโศกมหาราช – อโศกธรรม

เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจมาก เกี่ยวกับศิลาจารึกของพระเจ้าอโศก คือ นักปราชญ์เมืองฝรั่ง และในอินเดียส่วนมาก อ่านหรือศึกษาศิลาจารึกนั้นแล้ว มักลงความเห็นว่า พระเจ้าอโศกมหาราช แม้จะเป็นพุทธมามกะ ที่มีศรัทธาแรงกล้า และเอาใจใส่ในการดูแลรักษาพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง แต่ในเวลาที่เผยแผ่สั่งสอนธรรมใน ศิลาจารึก ได้พยายามวางตัวเป็นกลางๆ ไม่กล่าวถึงหลักธรรมในพระพุทธศาสนาเลย แต่สอนธรรมที่เป็นหลักความประพฤติทั่วไปอันมีหรือเป็นที่ยอมรับในทุกๆศาสนา

ยกตัวอย่าง T.W. Rhys Davids กล่าวว่า (ในศิลาจารึก) “ไม่มีสักคำที่พูดถึงพระพุทธเจ้า หรือพุทธศาสนา...อริยสัจ ๔ ปฏิจจสมุปบาท นิพพาน และหลักธรรมสำคัญข้ออื่นๆ ของพุทธศาสนา ไม่ปรากฏในศิลาจารึกเลย”

แต่ถ้าพูดถึงจารึกที่กล่าวถึงพุทธศาสนาอย่างชัดเจน เช่น ศิลาจารึกแห่งไพรัตว่า

“...โยมมีความเคารพและเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ มากเพียงใด ... สิ่งใดก็ตามที่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าตรัสไว้แล้ว สิ่งนั้นๆ ทั้งปวงล้วนเป็นสุภาษิต

หนังสือ The Cambridge History of India เขียนว่า “เราไม่ได้ฟังพระเจ้าอโศกตรัสถึงธรรมที่ลึกซึ้งหรือหลักพื้นฐานของพุทธศาสนาเลย ไม่มีการกล่าวถึง อริยสัจ ๔ มรรคมีองค์ ๘ ปฏิจจสมุปบาท พระอัจฉริยคุณของพระพุทธเจ้า อีกทั้ง ไม่มีคำกล่าวถึง หรือแสดงหลักแห่งนิพพานเลย”

R.K. Mookerjee กล่าวไว้ในหนังสือ Asoka ว่า “ธรรมที่นำเสนออย่างนั้น ในธรรมองการเหล่านี้ เป็นเพียงอีกชื่อหนึ่งสำหรับเรียกชีวิตที่ดีงาม มีศีลธรรม และตั้งอยู่บนฐานร่วมของทุกศาสนา ... สามารถนำไปใช้ได้ และยอมรับได้ทั่วกันว่าเป็นสาระของทุกศาสนา... ดังนั้น พระเจ้าอโศกจึงนับว่าได้ทรงวางฐานแห่งศาสนาสากล (universal religion) และน่าจะเป็นบุคคลแรกที่ทำการนี้ในประวัติศาสตร์”

คำที่ปราชญ์ และท่านผู้รู้เหล่านี้ว่ามาก็น่าฟัง และดูคล้ายจะน่าเชื่อ แต่พอพิเคราะห์ให้ชัดลงไป กลายเป็นต้องแยกว่า

ในส่วนของข้อมูลด้านศิลาจารึกเอง ต้องชื่นชมท่าน และเราได้อาศัยท่านเหล่านี้มาก

แต่ในขั้นลงมติที่โยงมาสู่พระพุทธศาสนา ท่านเหล่านี้จับจุดจับหลังไม่ถูก ได้แต่มองดูหลักธรรมสำคัญๆ ที่ได้ยินได้พูดกันมาก พอไม่พบ ก็สรุปลงไปอย่างนั้น แต่ถ้าจับจุดได้ ทัศนะของท่านเหล่านี้ ที่ว่าจะเป็นพุทธต้องพูดถึงอริยสัจ สมาธิ นิพพาน เป็นต้น นั้น กลายเป็นทัศนะที่น่าขำขันไป

ฯลฯ

ทีนี้ มาดูว่า จุดและหลักที่ต้องจับและแยกแยะให้ได้ เพื่อเข้าใจธรรมในศิลาจารึกนั้น คือ อะไร

เริ่มแรก ควรมองภาพทั่วไปก่อนว่า

๑) พระเจ้าอโศกมหาราช เป็นพุทธศาสนิก แต่ดำรงสถานะเป็นราชา คือเป็นผู้ปกครองบ้านเมือง และเป็นราชาที่ยิ่งใหญ่มากด้วย

๒) มีข้อพิเศษเฉพาะตัว คือ หันมาทรงธรรมโดยมีความสลดใจจากการทำสงคราม เป็นจุดเปลี่ยนอย่างแรง

๓) การใช้ธรรมระดับกว้างใหญ่นี้ จะต้องมองที่หลักการทั่วไป ซึ่งจะให้เห็นบรรยากาศทั้งหมด ไม่มัวมองหัวข้อย่อยหรือรายละเอียด

จากข้อ ๑) ในฐานะมหาราชผู้เป็นชาวพุทธ ผู้มีสถานะสูงสุดในฝ่ายบ้านเมือง หรือในสังคมของชาวโลก เมื่อปกครองมหาอาณาจักร จะใช้หลักการปกครองอย่างไรจะสมกับความเป็นชาวพุทธ หรือพระพุทธศาสนาวางหลักการอะไรไว้ให้

โดยเฉพาะประสานกับข้อ ๒) ที่ละเลิกสงครามแล้ว จะดำรงความเป็นมหาราชไว้ให้เหมาะสมและเป็นคุณแก่การปกครองนั้นได้อย่างไร

ถึงตอนนี้ หลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่เป็นคติใหญ่ ก็มาได้ทันที เริ่มด้วยพุทธพจน์ว่า

ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๒ นี้ เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อเกื้อกุลแก่พหูชน เพื่อความสุขของพหูชน เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล แก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่เทวะ และมนุษย์ทั้งหลาย บุคคล ๒ เป็นไฉน คือ

พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑

พระราชา ผู้จักรพรรดิ ๑

(องฺ.ทุก.20/297)

นี่คือได้บุคคลที่มีสถานะสูงสุดในโลก เทียบคู่กับองค์พระศาสดา โดยมาเป็นผู้สนองธรรมฝ่ายคฤหัสถ์ หรือฝ่ายบ้านเมือง เรียกง่ายๆว่า คติ จักกวัตติราชา จักรวรรติราชาหรือคติพระเจ้าจักรพรรดิราช

พอจับจุดได้แล้ว หลักคำสอนในคตินี้ก็ตามมา ซึ่งหาได้มากมาย เฉพาะอย่างยิ่งหลักการที่เป็นความหมาย หรือเป็นคำจำกัดความของการเป็นจักรวรรดิราชานั้น ซึ่งปรากฏในพระไตรปิฎกมากมายหลายแห่ง คือ เป็นธรรมราชา ผู้มีชัยชนะด้วยธรรม (ธมฺเมน อภิวิชิย = ธรรมวิชัย) โดยไม่ต้องใช้ศาสตรา ยกบาลีมาเป็นตัวอย่าง

มา ภิกฺขเว ปุญญานํ ภายิตฺถ สุขสฺสตํ ภิกฺขเว อธิวจนํ ... ยทิทํ ปุญญานิ...

ราชา อโหสึ จกฺกวตฺตึ ธมฺมิโก ธมฺมราชา จาตุรนฺโต วิชิตาวี ชนปทตฺถาวริยปฺปตฺโต สตฺตรตนสมนฺนาคตโต... โส อิมํ ปฐวึ สาครปริยนฺตํ อทญฺเฑน อสตฺเถน ธมฺเมน อภิวิชิย อชฺฌาวสินฺติ

ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย อย่ากลัวบุญเลย คำว่า บุญนี้ เป็นชื่อของความสุข

เราได้เป็นจักรพรรดิราช ผู้ทรงธรรม เป็นธรรมราชา ครองแผ่นดิน มีมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขต ผู้มีชัยชำนะ มีถิ่นแคว้นถึงความมั่นคงสถาพร พร้อมด้วยรัตนะ ๗ ประการ

...เรามีชัยโดยธรรม ไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศาสตรา ครอบครองปฐพีมณฑลนี้ อันมีสาครเป็นขอบเขต ฯ
(องฺ.สตฺตก.23/59/90)

พุทธพจน์ที่มีข้อความอย่างนี้ คือที่มาแห่งหลักการ หรือ นโยบายการปกครองอย่างใหม่ ที่เรียกว่า “ธรรมวิชัย” ของพระเจ้าอโศกมหาราช

ข้อความสำคัญที่ว่าเป็นดังคำจำกัดความของ “ธรรมวิชัย” คือ ตอนที่ว่า “มีชัยโดยธรรม” ไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศาสตรา”

อย่างที่กล่าวแล้ว พุทธพจน์ส่วนนี้ตรัสในโอกาสต่างๆ เป็นอันมาก แต่ที่ยกมาให้ดูข้างบนนี้ ตรัสโยงกับเรื่องบุญ ซึ่งเป็นหลักสำคัญในศิลาจารึกอโศกนั้นด้วย

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 พ.ค. 2016, 17:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ธรรมวิชัย: หลักการใหญ่ที่นำเข้าสู่พุทธธรรม

ทีนี้ ก็มาดูข้อความแสดงนโยบายธรรมวิชัย ที่พระเจ้าอโศกมหาราช ทรงนำออกมาสู่ปฏิบัติการจริง ดังที่พระองค์ประกาศไว้ในจารึกศิลา ฉบับที่ ๑๓ ซึ่งคัดตัดมาพอเป็นตัวอย่าง

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ เมื่ออภิเษกแล้วได้ ๘ พรรษา ทรงมีชัยปราบแคว้นกลิงคะลงได้ จากแคว้นกลิงคะนั้น ประชาชนจำนวนหนึ่งแสนห้าหมื่นคนได้ถูกจับไปเป็นเชลย จำนวนประมาณหนึ่งแสนคนถูกฆ่า และอีกหลายเท่าของจำนวนนั้นได้ล้มตายไป

นับแต่กาลนั้นมาจนบัดนี้ อันเป็นเวลาที่แคว้นกลิงคะได้ถูกยึดครองแล้ว การทรงประพฤติปฏิบัติธรรม ความมีพระทัยใฝ่ธรรม และการอบรมสั่งสอนธรรม ก็ได้เกิดมีขึ้นแล้วแก่พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ

การที่ได้ปราบปรามแคว้นกลิงคะลงได้นั้น ทำให้พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ทรงมีความสำนึกสลดใจ ...ในคราวยึดครองแคว้นกลิงคะนี้ จะมีประชาชนที่ถูกฆ่าล้มตายลง และถูกจับเป็นเชลยเป็นจำนวนเท่าใดก็ตาม แม้เพียงหนึ่งในร้อยส่วน หรือหนึ่งในพันส่วน (ของจำนวนที่กล่าวนั้น) พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ย่อมสำนึกว่าเป็นกรรมอันร้ายแรงยิ่ง...

สำหรับพระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ชัยชนะที่ถือว่ายิ่งใหญ่ที่สุด ได้แก่ ธรรมวิชัย (ชัยชนะโดยธรรม) และธรรมวิชัยนั้น พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ได้กระทำสำเร็จแล้ว ทั้ง ณ ที่นี้ (ในพระราชอาณาเขตของพระองค์เอง) และในดินแดนข้างเคียงทั้งปวง ไกลออกไป ๖๐๐ โยชน์ (= ๙๖๐๐ กม.)...

ทุกหนทุกแห่ง (ประชาชนเหล่านี้) พากันประพฤติปฏิบัติตามคำสั่งสอนธรรมของพระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ

ด้วยเหตุเพียงนี้ ชัยชนะนี้เป็นอันได้กระทำสำเร็จแล้วในที่ทุกสถาน เป็นชัยชนะอันมีปีติเป็นรส พรั่งพร้อมด้วยความเอิบอิ่มใจ เป็นปีติที่ได้มาด้วยธรรมวิชัย...

ชัยชนะอันแท้จริงนั้น จะต้องเป็นธรรมวิชัยเท่านั้น ด้วยว่าธรรมวิชัยนั้นเป็นไปได้ทั้งในโลกนี้ และโลกเบื้องหน้า

ขอปวงความยินดีแห่งสัตว์ทั้งหลาย จงเป็นความยินดีในความพากเพียรปฏิบัติธรรม เพราะว่าความยินดีนั้น ย่อมอำนวยผลทั้งในโลกบัดนี้ และในโลกเบื้องหน้า

แม้ว่าธรรมวิชัยอย่างนี้ จะเป็นหลักการและนโยบายใหม่ แต่คำว่า “ธรรมวิชัย” มิใช่เป็นคำใหม่ และมิใช่มีในพระไตรปิฎกเท่านั้น แต่มีในหลักรัฐศาสตร์โบราณของชมพูทวีปด้วย จึงควรเข้าใจความต่างให้ชัด

ในตำราอรรถศาสตร์ ของพราหมณ์จาณักยะ (เรียกว่า เกาฎิลยะบ้าง วิษณุคุปตะบ้าง) ผู้เป็นที่ปรึกษาและมหาเสนาบดีของพระเจ้าจันทรคุปต์ (พระอัยกาของพระเจ้าอโศกเอง พ.ศ. ๑๖๑) จัดแบ่งผู้ชนะสงคราม คือ ผู้พิชิตหรือผู้มีชัย เป็น ๓ ประเภท ดังนี้

๑. ธรรมวิชยี ผู้มีธรรมวิชัย คือ ผู้ชนะที่พอใจเพียงให้ผู้แพ้ยอมจงรักภักดี โดยไม่ข่มเหงทำร้ายราชวงศ์ และราษฎรของฝ่ายที่แพ้

๒. โลภวิชยี ผู้มีโลภวิชัย คือ ผู้ชนะที่มุ่งแย่งชิงเอาดินแดนและทรัพย์สินของผู้แพ้

๓. อสุรวิชยี ผู้มีอสูรวิชัย คือ ผู้ชนะที่โหดร้าย ยึดเอาทุกอย่างทั้งทรัพย์สิน ดินแดน บุตรภรรยา และแม้แต่ชีวิตของผู้แพ้

จะเห็นชัดว่า ธรรมวิชัยของพราหมณ์จาณักยะ ก็คือการชนะด้วยลงครามนั่นเอง เพียงแต่ปฏิบัติต่อผู้แพ้อย่างไม่โหดร้าย ดังนั้น ชัยชนะทั้ง ๓ อย่างนี้ ยังไม่เป็นธรรมวิชัยในพระพุทธศาสนาเลย

พระเจ้าอโศกได้ละเลิกชัยชนะที่สอนกันมาแต่เดิมในประเพณีการปกครองของสังคมพราหมณ์ โดยหันมารับหลักการธรรมวิชัย อันเป็นชัยในทางสันติ ที่ชนะใจด้วยความดี ซึ่งไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศาสตรา ตามคติ จักกวัตติราชาของพระพุทธศาสนา

คติจักกวัตติราชานี้ แม้จะมาหลายแห่งในพระไตรปิฎก แต่มีพระสูตรที่ว่าด้วยเรื่องนี้โดยตรง คือจักกวัตติสูตร ซึ่งมีชื่อซ้ำกัน ๓ สูตร

เฉพาะอย่างยิ่งที่ยาวที่สุด รู้จักกันมากที่สุด และใช้เป็นหลัก คือ สูตรที่มาในทีฆนิกาย (ที.ปา.11/33-50) อันเป็นที่มาของหลักจักรวรรดิวัตร ๑๒ ประการ

ณ ที่นี้ จะไม่เข้าไปในเนื้อหาของพระสูตรนั้นโดยตรง แต่จะพูดให้...ได้ข้อสังเกตทั่วๆไป อย่างกว้างๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ทั้งหมด

หลักธรรมวิชัยตามคติจักกวัตติราชานี้ เป็นตัวอย่างคำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำไว้สำหรับผู้นำของสังคมคฤหัสถ์ ที่พระองค์ไม่จัดดำเนินการ ซึ่งเป็นส่วนที่ชาวบ้านจะต้องรับผิดชอบกันเอง อันต่างจากสังฆะที่พระองค์จัดตั้งบริหารตามหลักการแห่งธรรมวินัย

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 พ.ค. 2016, 19:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เทียบผู้ปกครองประเทศระหว่างพระเจ้าอโศก กับ ผู้ปกครองประเทศไทย ทั้งปัจจุบัน อดีต และอนาคต

รูปภาพ

https://www.facebook.com/photo.php?fbid ... =3&theater

สังเกตๆดู :b1:

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 พ.ค. 2016, 21:05 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อโศกธรรม หรือคหัฐวินัย

หลักธรรมที่ตรัสสอน หรือแสดงสำหรับสังคมคฤหัสถ์ ไม่ว่าจะเป็นองค์จักรพรรดิราช หัวหน้าหมู่ชน หรือหัวหน้าครอบครัวทั่วไป รวมทั้งพระโพธิสัตว์ มีระดับและลักษณะที่พึงสังเกต ดังนี้

ก) โดยทั่วไป กล่าวถึงประเภทของบุคคลที่พึงช่วยเหลือเกื้อกูลหรือปฏิบัติในการสัมพันธ์ต่อกันให้ถูกต้อง เช่น มารดาบิดา คนงาน ฯลฯ ไม่ค่อยกล่าวถึงหัวข้อธรรม หรือหลักที่เป็นนามธรรม

ข) หลักการทางธรรม วิธีปฏิบัติ และจุดหมายของการปฏิบัติ อยู่ในขอบเขตแห่งบุญ ทาน และการลุถึงสวรรค์

ขอยกคำสอนระดับนี้มาให้ดูเป็นตัวอย่าง เช่น ครั้งหนึ่ง ตรัสแก่พระเจ้าปเสนทิโกศล เกี่ยวกับการเป็นอยู่ครอบครองทรัพย์สมบัติของคฤหบดีว่า

ดูกรมหาบพิตร ในถิ่นของอมนุษย์ มีสระโบกขรณี ซึ่งมีน้ำใส เย็น จืดสนิท สะอาด มีท่าที่ขึ้นลงเรียบร้อย น่ารื่นรมย์ แต่น้ำนั้น คนจะตักเอาไปก็ไม่ได้ จะดื่มก็ไม่ได้ จะอาบก็ไม่ได้ หรือจะทำการใดตามต้องการก็ไม่ได้ มหาบพิตร เมื่อเป็นเช่นนี้ น้ำที่มิได้กินใช้โดยชอบนั้น พึงถึงความหมดสิ้นไปเปล่า โดยไม่ถึงการบริโภค แม้ฉันใด

ดูกรมหาบพิตร อสัตบุรุษได้โภคะอันโอฬารแล้ว ไม่ทำตนให้เป็นสุข ฯลฯ โภคะเหล่านั้นของเขา อันมิได้กินใช้โดยชอบ ย่อมถึงความสิ้นไปเปล่า โดยไม่ถึงการบริโภคฉันนั้นเหมือนกัน

ดูกรมหาบพิตร ส่วนสัตบุรุษ ได้โภคะอันโอฬารแล้ว ย่อมทำตนให้เป็นสุข ให้เอิบอิ่ม ย่อมทำมารดาบิดา...บุตร ภรรยา...คนรับใช้กรรมกรและคนสนองงาน...มิตรสหายเพื่อนร่วมกิจการ ให้เป็นสุข ให้เอิบอิ่ม ย่อมประดิษฐานไว้ในสมณพราหมณ์ทั้งหลาย ซึ่งทักษิณอันมีผลสูงขึ้นไป มีจุที่คำนึงหมายอันดี มีวิบากเป็นสุข เป็นไปเพื่อสวรรค์

โภคะเหล่านั้นของเขา ที่บริโภคอยู่โดยขอบเขตอย่างนี้ ราชาทั้งหลายก็มิได้ริบเอาไป โจรทั้งหลายก็มิได้ลักไป ไฟก็มิได้ไหม้หมดไป น้ำก็มิได้พัดพาไป อัปรีย์ทายาททั้งหลาย ก็มิได้ขนเอาไป เมื่อเป็นเช่นนี้ โภคะเหล่านั้นของเขา ที่กินใช้อยู่โดยชอบ ย่อมถึงการบริโภค ไม่ถึงความหมดสิ้นไปเปล่า

ดูกรมหาบพิตร เหมือนดังว่า ในที่ไม่ไกลคามหรือนิคม มีสระโบกขรณี ซึ่งมีน้ำใส เย็น จืดสนิท สะอาด มีท่าที่ขึ้นลงเรียบร้อย น่ารื่นรมย์ น้ำนั้นคนจะตักเอาไปก็ได้ จะดื่มก็ได้ จะอาบก็ได้ หรือจะทำการใดตามต้องการก็ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ น้ำที่กินใช้อยู่โดยชอบนั้น พึงถึงการบริโภค ไม่ถึงความหมดสิ้นไปเปล่า แม้ฉันใด สัตบุรุษได้โภคะอันโอฬารแล้ว ย่อมทำตนให้เป็นสุข ฯลฯ ฉันนั้นเหมือนกัน

พระผู้มีพระภาคองค์พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้จบแล้ว ได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

น้ำมีในถิ่นที่ของอมนุษย์ คนย่อมอดน้ำนั้น อันจะดื่มมิได้ คนทรามได้ทรัพย์แล้ว ตนเองก็ไม่บริโภค ทั้งก็ไม่ได้ปันแก่ใคร ฉันใดก็ฉันนั้น ส่วนวิญญูชน มีปัญญา ได้โภคะแล้ว ย่อมบริโภค และใช้ทำกิจการ เลี้ยงดูหมู่ญาติ เป็นคนอาจหาญ ใครก็ไม่ติเตียน ย่อมเข้าถึงแดนสวรรค์ ฯ
(สํ.ส.15/387)

พระโพธิสัตว์ก็มีจริยาแห่งการประพฤติธรรมทำนองเดียวกันนี้ ดังมีพุทธดำรัสว่า

ภิกษุทั้งหลาย ตถาคต ในปุริมชาติ ในปุริมภพ ในถิ่นกำเนิดก่อน เมื่อเป็นมนุษย์ในบุพสมัย เป็นผู้มีสมาทานมั่น ในกุศลธรรมทั้งหลาย ถือปฏิบัติไม่ถอยหลัง ในกายสุจริต ในวิจีสุจริต ในมโนสุจริต ในการแจกจ่ายบำเพ็ญทาน ในการสมาทานศีล ในการรักษาอุโบสถ ในการปฏิบัติชอบต่อมารดา ในการปฏิบัติชอบต่อบิดา ในการปฏิบัติชอบต่อสมณะ ในการปฏิบัติชอบต่อพราหมณ์ ในความเป็นผู้เคารพต่อผู้ใหญ่ในสกุล และในธรรมอันเป็นอธิกุศลอย่างอื่นๆ เพราะกรรมนั้น อันได้ทำ ได้สั่งสม ได้พอกพูน เป็นกรรมอันไพบูลย์ เบื้องหน้าแต่กายแตกทำลายตายไป ตถาคตก็เข้าถึงสุขติโลกสวรรค์...

ความเป็นคนดี ที่มีคำเรียกว่า “สัตบุรุษ” มีความหมายสัมพันธ์กับความดีงาม และประโยชน์สุขของตระกูลวงศ์ และชุมชนหรือหมู่ชน ดังพุทธพจน์ว่า

ภิกษุทั้งหลาย คนดี (สัตบุรุษ) เกิดมาในหมู่ชน ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่ชนจำนวนมาก คือ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่มารดาบิดา...แก่บุตร ภรรยา...แก่คนรับใช้กรรมกรและคนสนองงาน...แก่มิตรสหายเพื่อนร่วมกิจการ แก่สมณพราหมณ์ เปรียบเหมือนมหาเมฆ ช่วยให้ข้าวกล้าเจริญงอกงาม เป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่ชนจำนวนมาก
(อง.ปญฺจ.11/42)

ฯลฯ

พระสูตรที่แสดงธรรมสำหรับสังคมคฤหัสถ์อย่างนี้ มีมากพอสมควร แต่ยกมาเป็นตัวอย่างเท่านี้ คิดว่าเพียงพอแล้ว เพราะสาระก็ทำนองเดียวกัน

สาระนั้นก็คือ การอยู่ร่วมกันด้วยดี ในครอบครัว ในชุมชน ในสังคม โดยเอาใจใส่ดูแลคนอื่นที่ตนเกี่ยวข้อง ประพฤติปฏิบัติดีทำหน้าที่ต่อกัน ทำประโยชน์แก่กัน ไม่หวงแหนทรัพย์สมบัติ แต่นำออกมาใช้ประโยชน์ด้วยทาน คือเผื่อแผ่ให้ปัน ในการบำรุงเลี้ยงช่วยเหลือกันตามวิธีปฏิบัติข้างต้นนั้น นำชีวิตไปในทางแห่งสวรรค์


รวมทั้งข้อเน้นที่จะให้ผลดีเกิดขึ้นเป็นประโยชน์ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ตามคติอิธโลก ปรโลก ซึ่งพบได้ทั่วในพระไตรปิฎก

หลักธรรมสำหรับสังคมคฤหัสถ์ตามคำสอนในพระไตรปิฎกที่ว่ามานี้ คือแหล่งแห่งธรรมที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสอนในศิลาจารึกของพระองค์ ที่บางท่านเรียกว่าอโศกธรรม

พระสูตรใหญ่ ที่เหมือนกับประมวลธรรมสำหรับชีวิต และสังคมคฤหัสถ์ไว้ ก็คือสิงคาลกสูตร (บางทีเรียกว่า สิคาโลวาทสูตร (ที.ปา.11/172) ที่ท่านให้ถือเป็นวินัยของคฤหัสถ์ (คิหิวินัย)

แม้จะตรัสธรรมที่เป็นข้อปฏิบัติไว้หลายด้าน แต่หลักใหญ่ที่เป็นเป้าหมายของพระสูตรนั้น ก็คือหลักทิศ ๖ ที่รู้จักกันดี อันแสดงธรรมหน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อกัน ระหว่าง มารดาบิดา – บุตรธิดา อาจารย์ – ศิษย์ สามี –ภรรยา มิตร- มิตร นายงาน-คนงาน สมณพราหมณ์ - กุลบุตร (พระสงฆ์-ชาวบ้าน)

ในสิงคาลกสูตร นี้ ตลอดทั้งหมด ก็เช่นเดียวกับพระสูตรทั้งหลายที่ยกมาเป็นตัวอย่างข้างบนนั้น ไม่กล่าวถึงหลักธรรมสำคัญอย่างอริยสัจ ปฏิจจสมุปบาท ฌาน นิพพาน ใดๆ ที่พวกนักปราชญ์ฝรั่งและอินเดียหลายท่านนั้นคาดหวังเลย แม้แต่ศีล ๕ ก็ยังไม่ปรากฏชื่อออกมาในสิงคาลกสูตร นี่คือเรื่องธรรมดาที่พึงเข้าใจ

ชื่อสำหรับเรียกนั้น เป็นสื่อสำหรับลัดความเข้าใจ คนที่รู้เรื่องนั้นอยู่แล้ว พอออกชื่อมา เขาก็มองเห็นเนื้อหาทะลุตลอดหมด ไม่ต้องมาแจกแจงกันอีก ชื่อเรียกหลักธรรมต่างๆ จึงมีไว้ใช้ให้สะดวกสำหรับการสอน และการศึกษายิ่งขึ้นไป จุดสำคัญอยู่ที่เอ่ยชื่อให้ตรงกับสภาวะที่จะสื่อ ไม่ใช่เรื่องสำหรับมายึดว่าเป็นของใครๆ

ด้วยเหตุนี้แหละ เมื่อพระพุทธเจ้าสอนคฤหัสถ์ หรือคนนอก ที่ชื่อเรียกจะไม่ช่วยในการสื่อแก่เขา พระองค์ก็ตรัสเนื้อหาของธรรมนั้นๆไป แม้จะต้องใช้เวลามากหน่อย การที่คนผู้มาอ่านทีหลังไม่พบชื่อของธรรมนั้นๆ ก็เป็นเรื่องธรรมดาอย่างที่ว่าแล้ว

แม้แต่ในจักกวัตติสูตร ที่เป็นแหล่งหลักของธรรมวิชัย และจักกวัตติราชานี้เอง ในตอนเดินเรื่อง ถึงจะกล่าวเนื้อหาของศีล ๕ แต่ก็ไม่ออกชื่อ (ชื่อ กุสลกรรมบถ – อกุสลกรรมบถ ก็เอ่ยเฉพาะตอนที่ตรัสแบบสรุปความแก่พระสงฆ์)

ในข้อปฏิบัติขององค์พระเจ้าพรรดิธรรมราชา ก็เน้นที่การคุ้มครองประชาราษฎร์ คือเน้นที่คน โดยจำแนกเป็นหมู่เหล่าต่างๆ ๘ พวก

ถึงตรงนี้ ก็เลยขอแทรกข้อควรทราบจากจักกวัตติสูตร ที่ว่าชื่อซ้ำกับอีกสูตรหนึ่ง (อง.ติก.20/543) ว่า พระพุทธเจ้า และพระเจ้าจักรพรรดิ มีคำเรียกพระนามที่ตรงกันว่าทรงเป็น “ธรรมราชา” ซึ่งมีความหมายตามที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงไว้ ๒ ชั้น คือ เป็น “ราชาผู้ทรงธรรม” และ “ผู้มีธรรมเป็นราชา”

สำหรับความหมายแรกนั้นชัดอยู่แล้ว แต่ความหมายที่ ๒ พระพุทธเจ้าทรงอธิบายว่า “ธรรม” เป็นราชาของพระองค์ และของพระเจ้าจักรพรรดิ คือ พระพุทธเจ้า และพระเจ้าจักรพรรดิ ทรงเคารพธรรม ยึดธรรมเป็นหลักนำ ถือธรรมเป็นใหญ่ เป็นธรรมาธิปไตย

แต่พร้อมนั้นก็ตรัสแสดง แง่ที่ต่าง ระหว่างพระพุทธเจ้า กับ พระเจ้าจักรพรรดิด้วย ซึ่งก็เป็นจุดสังเกตที่สำคัญ กล่าวคือ


พระเจ้าจักรพรรดิ จัดสรรการดูแลรักษาคุ้มครองที่เป็นธรรมแก่ประชาชนหมู่เหล่าต่างๆ (ทรงจำแนกไว้ ๘ ประเภท คือ อันโตชน ขัตติยะ อนุยนต์ พลกาย พราหมณ์คหบดี ชาวนิคมชนบท สมณพราหมณ์ มิคปักษี) ยังจักรให้หมุนไปโดยธรรม ซึ่งคนสัตว์ที่มุ่งร้ายใดๆ ไม่อาจทำให้หมุนกลับได้ แต่

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จัดสรรการดูแลรักษาคุ้มครองที่เป็นธรรม ให้แก่ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม โดยให้รู้ว่ากายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อย่างไหนควรเสพ อย่างไหนไม่ควรเสพ ยังธรรมจักรให้หมุนไปโดยธรรม ซึ่งสมณะ พราหมณ์ เทพ มาร พรหม หรือใครก็ตามในโลก ไม่อาจทำให้หมุนกลับได้

แม้ในการบรรยายความเลื่อมของสังคมมนุษย์ ซึ่งเป็นเนื้อหาส่วนที่ยึดยาวของจักกวัตติสูตรแรก ท่านก็แสดงภาวะเสื่อมโทรมนั้นโดยชี้ถึงการที่มนุษย์ไม่ดูแลรับผิดชองทำหน้าที่ต่อกัน ขอให้ดูตัวอย่างสักตอน

ภิกษุทั้งหลาย จักมีสมัยที่มนุษย์เหล่านี้มีบุตรอายุ ๑๐ ปี เมื่อมนุษย์มีอายุ ๑๐ ปี เด็กหญิงมีอายุ ๕ ขวบ จักอาจมีสามี...

ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมนุษย์มีอายุ ๑๐ ปี คนทั้งหลาย จักเป็นผู้ไม่ปฏิบัติชอบต่อมารดา จักเป็นผู้ไม่ปฏิบัติชอบต่อบิดา จักเป็นผู้ไม่ปฏิบัติชอบต่อสมณะ จักเป็นผู้ไม่ปฏิบัติชอบต่อพราหมณ์ จักไม่ประพฤติอ่อนน้อมต่อท่านผู้ใหญ่ในตระกูล

อีกทั้งเขาเหล่านั้น ก็จักได้รับการยกย่องเชิดชู และได้รับการสรรเสริญ เหมือนดังที่คนผู้ปฏิบัติชอบต่อมารดา ปฏิบัติชอบต่อบิดา ปฏิบัติชอบต่อสมณะ ปฏิบัติชอบต่อพราหมณ์ ประพฤติอ่อนน้อมต่อท่านผู้ใหญ่ในตระกูล ได้รับการยกย่องเชิดชู และได้รับการสรรเสริญ ในบัดนี้

ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมนุษย์มีอายุ ๑๐ ปี เขาจักไม่มีจิตคิดเคารพยำเกรงว่า นี่แม่ นี่น้า นี่พ่อ นี่อา นี่ป้า นี่ภรรยาของอาจารย์ หรือว่านี่ภรรยาของท่านที่เคารพทั้งหลาย สัตว์โลกจักถึงความสมสู่ปะปนกัน เหมือนดังแพะ ไก่ สุนัขบ้าน สุนัขจิ้งจอก ฉะนั้น

ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมนุษย์มีอายุ ๑๐ ปี สัตว์เหล่านั้น ต่างก็จักผูกความอาฆาต ความพยายาม ความคิดร้าย ความคิดจะฆ่าอย่างแรงกล้าในกันและกัน

มารดากับบุตรก็ดี บุตรกับมารดาก็ดี บิดากับบุตรก็ดี บุตรกับบิดาก็ดี พี่ชายกับน้องหญิงก็ดี น้องหญิงกับพี่ชายก็ดี จักมีความแค้นเคืองพลุ่งขึ้นมา มีความพยายาม ความคิดร้าย ความคิดจะฆ่ากันอย่างแรงกล้า เสมือนนายพรานเนื้อ เห็นเนื้อเข้าแล้ว เกิดความอาฆาตพลุ่งขึ้น มีความพยาบาท ความคิดร้าย ความคิดจะฆ่าอย่างแรงกล้า ฉะนั้น
(ที.ปา.11/46)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 พ.ค. 2016, 07:19 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อ

ยาวหน่อย แต่จะแลเห็นหลักธรรมที่พระเจ้าอโศกสอนประชาชนในปกครองของพระองค์ ซึ่งเป็นพุทธธรรมซึ่งแลเห็นได้ในชีวิตปรจำวัน

.............


ดูพจน์แล้ว อ่านธรรมโองการเทียบ

เห็นได้ชัดว่า ธรรมในศิลาจารึกอโศก ส่วนใหญ่ และที่กล่าวถึงบ่อย เป็นเรื่องการปฏิบัติชอบต่อกัน หรือต่อบุคคลประเภทต่างๆ แต่ละคนควรดูแลรับผิดชอบหรือช่วยเหลือกัน ซึ่งใกล้เคียงกันมากกับพระสูตรที่ยกมาให้ดูแล้ว จึงขอยกข้อความในศิลาจารึกนั้นมาให้ดูบ้าง

ขอเริ่มด้วยจารึกศิลา ฉบับที่ ๗ ซึ่งเล่าความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของการทำศิลาจารึกประกาศธรรมไว้ด้วย อันเป็นเรื่องที่น่ารู้

๑. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ตรัสไว้ดังนี้

ตลอดกาลยาวนานล่วงมาแล้ว ได้มีพระราชาหลายองค์ปรารถนาว่า ทำไฉน ประชาชนทั้งหลายจะพึงเจริญก้าวหน้าด้วยความด้วยความเจริญทางธรรม แต่ประชาชนก็หาได้เจริญก้าวหน้าขึ้นด้วยความเจริญทางธรรมตามสมควรไม่...ก็แลด้วยอุบายวิธีอันใดหนอ ประชาชนทั้งหลายจะพึงประพฤติปฏิบัติตาม...

๓. ในเรื่องนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ตรัสไว้ดังนี้

ข้าฯ ได้เกิดความคิดขึ้นว่า ข้าฯ จักจัดให้มีการประกาศธรรม ข้าฯ จักจัดให้มีการอบรมสั่งสอนธรรม ประชาชนทั้งหลาย ครั้นได้สดับธรรมแล้ว ก็จักพากันประพฤติปฏิบัติตาม จักยกระดับตนเองสูงขึ้น และจักมีความเจริญก้าวหน้าขึ้นด้วยความเจริญทางธรรม อย่างมั่นคง

เพื่อประโยชน์นี้ ข้า ฯ จึงจัดให้มีการประกาศธรรม และสั่งให้มีการอบรมสั่งสอนธรรมขึ้นเป็นหลายแบบหลายอย่าง เพื่อให้ข้าราชการทั้งหลาย ที่ข้าฯ ได้แต่งตั้งไว้ดูแลประชาชนจำนวนมาก จักได้ช่วยกันแนะนำสั่งสอนบ้าง ช่วยอธิบายขยายความให้แจ่มแจ้งออกไปบ้าง แม้เจ้าหน้าที่รัชชูกะ ข้าฯ ก็ได้แต่งตั้งไว้ดูแลชีวิตหลายแสนชีวิต เจ้าหน้าที่รัชชูกะเหล่านั้น ก็ได้รับคำสั่งจากข้าฯ ว่าท่านทั้งหลาย จงอบรมสั่งสอนประชาชนให้เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมอย่างนี้ๆ

๔. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ตรัสไว้ดังนี้

เมื่อได้พิจารณาใคร่ครวญในเรื่องนี้ โดยถ่องแท้แล้วนั่นแล ข้า ฯ จึงได้ประดิษฐานหลักศิลาจารึกธรรมขึ้นไว้ แต่งตั้งธรรมมหาอำมาตย์ขึ้นไว้ และจัดให้มีการประกาศธรรม

๕. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ตรัสไว้ดังนี้

แม้ตามถนนหนทาง ข้าฯ ก็ได้ให้ปลูกต้นไทรขึ้นไว้ เพื่อจัดให้เป็นร่มเงาให้แก่สัตว์และมนุษย์ทั้งหลาย ให้ปลูกสวนมะม่วง ให้ขุดบ่อน้ำไว้ทุกระยะกึ่งโกรศะ ให้สร้างที่พักคนเดินทางขึ้นไว้ และให้สร้างอ่างเก็บน้ำจำนวนมากมายขึ้นไว้ในที่ต่างๆ เพื่อการใช้สอยแห่งสัตว์และมนุษย์ทั้งหลาย

แต่การใช้ประโยชน์เช่นนี้ ยังจัดว่าเป็นสิ่งเล็กน้อย พระราชาทั้งหลายในกาลก่อนก็ดี ตัวข้า ฯ ก็ดี ต่างก็ได้บำรุงประชาชนทั้งหลายให้มีความสุขด้วยวิธีการบำรุงประการต่างๆ แต่ที่ข้าฯ ได้กระทำการเช่นนี้ ก็ด้วยความมุ่งหมายข้อนี้ คือ เพื่อให้ประชาชนทั้งหลายประพฤติปฏิบัติตามธรรม....

๘. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ตรัสไว้ดังนี้

กรรมดีใดๆก็ตาม ที่ข้า ฯ ได้กระทำแล้ว ประชาชนทั้งหลาย ได้พากันประพฤติปฏิบัติกรรมดีนั้น ตามอย่างแล้ว และยังคงดำเนินตามกรรมดีนั้นๆอยู่ต่อไป ด้วยการกระทำเช่นนั้น ประชาชนทั้งหลาย ก็ได้มีความเจริญงอกงามขึ้นแล้ว และยังจักเจริญงอกงามยิ่งๆขึ้นไปอีก ด้วย

- การเชื่อฟังมารดาบิดา

- การเชื่อฟังครูทั้งหลาย

- การปฏิบัติชอบต่อท่านผู้เฒ่าชรา

- การปฏิบัติชอบต่อพราหมณ์และสมณะ

- (การปฏิบัติชอบ) ต่อคนยาก และคนตกทุกข์

- ตลอดถึงคนรับใช้ และคนงานทั้งหลาย

จารึกศิลา ฉบับที่ ๓ ระบุธรรมที่พึงเผยแพร่ ดังนี้

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ตรัสไว้ดังนี้

ข้า ฯ เมื่ออภิเษกแล้วได้ ๑๒ ปี ได้สั่งประกาศความข้อนี้ไว้ว่า ทุกหนทุกแหง่ในแว่นแคว้นของข้า ฯ เจ้าหน้าที่ยุกตะ เจ้าหน้าที่รัชชูกะ และเจ้าหน้าที่ปราเทศิกะ จงออกเดินทาง (ตรวจตรา) ทุกๆ ๕ ปี เพื่อประโยชน์อันนี้ คือเพื่อการสั่งสอนธรรมนี้ พร้อมไปกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการอย่างอื่น

(เจ้าหน้าที่เหล่านั้น พึงสั่งสอน) ว่า

- การเชื่อฟังมารดาบิดา เป็นความดี

- การให้ปันแก่มิตรสหาย ญาติ แก่พราหมณ์และสมณะ เป็นความดี

- การไม่ฆ่าสัตว์ เป็นความดี

- การประหยัดใช้จ่ายแต่น้อย การสะสมแต่น้อย (เลี้ยงชีพแต่พอดี) เป็นความดี

จารึกศิลา ฉบับที่ ๙ กล่าวถึงธรรมที่พึงปฏิบัติ ดังนี้

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ตรัสว่า ประชาชนทั้งหลาย ย่อมประกอบพิธีมงคลต่างๆ เป็นอันมาก...อันเป็นเรื่องหยุมหยิมไร้สาระ และไม่ประกอบด้วยประโยชน์.. .โดยนัยตรงข้าม ยังมีพิธีกรรมที่เรียกว่าธรรมมงคล ซึ่งเป็นพิธีกรรมมีผลมาก ในธรรมมงคลนั้น ย่อมมีกิจต่อไปนี้ คือ

- การปฏิบัติชอบต่อคนรับใช้ และคนงาน

- การแสดงความเคารพนับถือต่อครูอาจารย์

- การสำรวมตนต่อสัตว์ทั้งหลาย

- การถวายทานแก่สมณพราหมณ์

ในจารึกศิลา ฉบับที่ ๑๑ นอกจากธรรมปฏิบัติที่คล้ายกับในจารึกอื่นแล้ว มีข้อพึงสังเกตพิเศษ คือเรื่องธรรมทาน และการบูชายัญที่จะพูดถึงเพิ่มเติมอีกข้างหน้า ดังนี้

ไม่มีการใดเสมอด้วยการให้ธรรม (ธรรมทาน) การแจกจ่ายธรรม (ธรรมสังวิภาค) และความสัมพันธ์กันโดยธรรม (ธรรมสัมพันธ์) อาศัยธรรม (ธรรมทานเป็นต้น) นี้ ย่อมบังเกิดมีสิ่งต่อไปนี้ คือ

- การปฏิบัติชอบต่อคนรับใช้ และคนงาน

- การเชื่อฟังมารดาบิดา

- การเผื่อแผ่แบ่งปันแก่มิตร คนคุ้นเคย ญาติ และแก่พราหมณ์และสมณะ

- การไม่ฆ่าเพื่อบูชายัญ

บิดาก็ดี บุตรก็ดี พี่น้องชายก็ดี นาย (หรือสามี) ก็ดี มิตร และคนคุ้นเคย ตลอดถึงเพื่อนบ้าน พึงกล่าวคำนี้แก่กันว่า “นี่เป็นสิ่งดีงามแท้ นี่เป็นกิจควรทำ”

บุคคลผู้ปฏิบัติเช่นนี้ ย่อมทำความสุขในโลกนี้ให้สำเร็จด้วย และในโลกเบื้องหน้า ย่อมประสบบุญหาที่สุดมิได้เพราะอาศัยธรรมทานนั้นด้วย

ธรรมแบบที่เป็นหัวข้อนามธรรม คือเป็นตัวคุณธรรม พบในจารึกเพียง ๒ แห่ง คือ จารึกหลักศิลา ฉบับที่ ๒ ดังนี้

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ตรัสไว้ดังนี้

ธรรมเป็นสิ่งดีงาม ก็สิ่งใดเล่าชื่อว่าธรรม ธรรมนั้น ได้แก่สิ่งต่อไปนี้ คือ

- การมีความเสียหายน้อย (อัปปาทีนวะ)

- การมีความดีมาก (พหุกัลยาณะ)

- ความเมตตากรุณา (ทยา)

- การเผื่อแผ่แบ่งปัน (ทาน)

- ความสะอาด (โสไจย)

อีกแห่งหนึ่ง ที่พบธรรมแบบที่เป็นหัวข้อนามธรรม คือเป็นตัวคุณธรรม ได้แก่ จารึกหลักศิลา ฉบับที่ ๗ ดังนี้

๗. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ตรัสไว้ดังนี้

เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่เหล่านี้ และพวกอื่นๆ อีกจำนวนมาก ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่ทำการจำแนกทาน ทั้งในนามของข้า ฯ เอง และในนามแหงพระราชเทวีทั้งหลาย ทั่วทุกฝ่ายในของข้า ฯ เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่เหล่านี้ สามารถจัดดำเนินการในกิจต่างๆ ที่มุ่งหมาย จนเป็นที่น่าพอใจได้ ด้วยวิธีการมากหลาย ทั้งใน (พระนครหลวง) นี้ และในส่วนต่างๆ (ของประเทศ)


อนึ่ง ในส่วนแห่งโอรสของข้า ฯ และเจ้าชายอื่นๆ ซึ่งประสูติแต่พระราชเทวีทั้งหลาย ข้าฯ ก็ได้สั่งให้กระทำการ (จำแนกแจกทาน) เช่นนี้ โอรสของข้า ฯ เหล่านี้ จักเป็นผู้ฝักใฝ่ในการจำแนกแจกทาน อันจะเป็นการช่วยส่งเสริมหลักการทางธรรม และการประพฤติปฏิบัติตามธรรม หลักการทางธรรมและการประพฤติปฏิบัติตามธรรมเหล่านี้ กล่าวคือ

- ความเมตตากรุณา (ทยา)

- การเผื่อแผ่แบ่งปัน (ทาน)

- ความสัตย์ (สัจจะ)

- ความสะอาด (โสไจย)

- ความสุภาพอ่อนโยน (มัททวะ)

- ความเป็นสาธุชน( (สาธวะ)

จะพึงเจริญเพิ่มพูนขึ้นในหมู่ชน

ส่วนอีกแห่งหนึ่ง ไม่ใช่เป็นหัวข้อธรรมหรือคุณธรรมที่จะสอนโดยตรง แต่กระตุ้นเตือนให้ตระหนักว่า การที่จะทำให้สำเร็จตามจุดหมายที่ตั้งไว้นั่น จะต้องทำตัวหรือปฏิบัติตนอย่างไร ได้แก่ จารึกหลักศิลา ฉบับที่ ๑ ซึ่งมีข้อความ ดังนี้

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ตรัสไว้ดังนี้

ธรรมโองการนี้ ข้า ฯ ได้ให้จารึกขึ้นไว้ เมื่ออภิเษกแล้วได้ ๒๐ พรรษา ประโยชน์ในโลกนี้ และโลกหน้า เป็นสิ่งที่จะพึงปฏิบัติให้สำเร็จได้โดยยาก หากปราศจาก

- ความเป็นผู้ใคร่ธรรมอย่างยิ่งยวด (อัคค-ธัมมกามตา)

- การใช้ปัญญาใคร่ตรองอย่างยิ่งยวด (อัคค-ปริกขา)

- การตั้งใจฟังคำสั่งสอนอย่างยิ่งยวด (อัคค-สุสสูสา)

- ความเกรงตัว (ต่อบาป) อย่างยิ่งยวด (อัคค-ภยะ)

- ความอุตสาหะอย่างยิ่งยวด (อัคค-อุตสาหะ)

บัดนี้ ด้วยอาศัยคำสอนของข้าฯ ความมุ่งหวังทางธรรมและความฝักใฝ่ใคร่ธรรม ได้เจริญงอกงามขึ้นทุกๆวัน และจักเจริญงอกงามยิ่งขึ้นเรื่อยไป
.

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 พ.ค. 2016, 18:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เทียบกันแล้ว ควรสรุปได้

จากหลักฐานและเรื่องราวที่ยกมาดูกันนี้ จะเห็นว่า โดยทั่วไป พระเจ้าอโศกทรงสอนธรรม แบบไม่ออกชื่อของหลักธรรมหรือของหัวข้อธรรม (ถ้าทรงเรียกชื่อหัวข้อธรรมออกมา ราษฎรก็อยู่กระจายห่างกันไปทั่ว ส่วนใหญ่ก็คงไม่รู้เรื่องหรือสื่อกันยาก)

พระองค์ตรัสออกชื่อธรรมเพียงไม่กี่อย่าง เมื่อจะเน้นออกมาเฉพาะที่เป็นคำที่รู้ๆกัน หรือง่ายๆ แต่ที่สอนเอาจริงเอาจังและตรัสอยู่เสมอ ก็คือธรรมที่เป็นการปฏิบัติต่อกันระหว่างคนในหมู่ชน ทำนองเดียวกับพระสูตรในพระไตรปิฎก ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนคฤหัสถ์

กลายเป็นว่า พระเจ้าอโศกนั่นแหละแม่นยำว่า ในฐานะพุทธมามกะ เมื่อเป็นราชาปกครองบ้านเมือง จะสอนธรรมส่วนไหนอย่างไร และคนที่ไม่เข้าใจเพราะจับจุดจับหลักไม่ได้ ก็คือท่านผู้รู้ทั้งชาวอินเดีย และฝรั่งนั่นเอง

คงต้องพูดว่า พระเจ้าอโศกมิใช่จะทรงริเริ่มจัดตั้งหลักธรรมสากลหรือศาสนาสากล ที่ใช้ภาษาอังกฤษว่า universal religion แต่อย่างใด ที่แท้นั้น พระองค์ทรงตั้งใจไว้ในความเป็น universal ruler หรือ universal monarch ตามคติจักกวัตติ/จักรวรรดิราชา (Cakkavatti/Cakravartin) ดังที่ได้ประกาศหลักธรรมวิชัย ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ความเป็นจักรพรรดิราชตามความในพระสูตรทั้งหลายนั้น

ความจริง พระพุทธศาสนาถือว่าธรรมเป็นสากลในตัวของมันเองอยู่แล้ว ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ตถาคตจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม ธรรมก็มีก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น ตถาคตเพียงมาค้นพบธรรมนั้น แล้วนำมาบอกเล่าประกาศให้รู้กัน จึงไม่มีปัญหาที่ต้องมาพูดในเรื่องนี้

เวลามีคนมาซักถามพระพุทธเจ้า บางทีเขาทูลว่า อาจารย์คนโน้นเก่งอย่างนั้น คนนั้นเก่งอย่างนี้ คนนี้สอนว่าอย่างนั้น คนนั้นสอนว่าอย่างนี้ เขาเถียงกันนัก แล้วพระองค์ว่าใครผิดใครถูก พระพุทธเจ้าจะตรัสทำนองนี้ว่า เอาละ ท่านพราหมณ์ เรื่องที่คน ๒ ฝ่ายนี้พูดอ้างความรู้กัน มีวาทะขัดแย้งกัน ใครจริง ใครเท็จนั้น พักไว้เถิด เราจักแสดงธรรมแก่ท่าน (องฺ.นวก.23/242) แล้วตรัสไปตามหลักสภาวะให้เขาพิจารณาเอาเอง

ทีนี้ ก็มาถึงคำถามว่า ทำไมในพระสูตร ที่แสดงแก่คฤหัสถ์ทั่วๆไป พระพุทธเจ้าจึงไม่ตรัสออกชื่อหลักธรรมหรือชื่อหัวข้อธรรมสำคัญๆ เช่น อริยสัจ และปฏิจจสมุปบาท เป็นต้น

แล้วก็เช่นเดียวกัน ทำไม พระจักรพรรดิธรรมราชา เมื่อสอนธรรมแก่ประชาชนทั่วไป จึงไม่ตรัสออกชื่อหลักธรรมสำคัญเหล่านั้น

คำถามนี้ (ส่วนหนึ่งได้ตอบไปบ้างแล้ว) ในแง่ที่ว่า ชื่อนั้น เขาใช้สื่อกับคนที่รู้อยู่บ้างแล้ว เป็นต้น ตอนนี้ จะตอบเน้นในแง่การทำหน้าที่ของพระจักรพรรดิราช

พระราชาทรงปกครองคนทั้งแผ่นดิน คนเหล่านั้น มีระดับการพัฒนาต่างๆหัน แต่คนส่วนใหญ่ต้องถือว่าเป็นระดับพื้นฐาน คนเหล่านั้น ยังไม่ได้คิดมุ่งคิดหมายที่จะเดินหน้าไปในธรรม (คือในการที่จะศึกษาพัฒนาตนหรือแสวงหาคุณค่าที่สูงขึ้นไปแก่ชีวิต) มิใช่เป็นอย่างคนที่จะมาบวช ซึ่งมีเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะเดินหน้ามาแล้ว

งานของผู้ปกครองที่มองอย่างครอบคลุมก่อน ก็คือ จะทำให้คนทั่วไปที่เป็นมวลรวมนี้ อยู่กันดี มีสุขสงบเรียบร้อยในความหมายเทียงระดับพื้นฐาน ที่จะไม่เบียดเบียนกนหรือเขวออกไปนอกลู่นอกทาง ให้เป็นความพร้อมขั้นต้นของสังคม แล้วพร้อมกันนั้น ท่านผู้ปกครองก็จัดสรรสภาพและระบบการต่างๆ ที่จะเอื้ออำนวยบริการ เป็นต้น เพื่อสนองความต้องการของคนที่จะพัฒนาสูงขึ้นไป



ถึงขั้นตอนนี้แหละ อย่างในมหาอาณาจักรของพระเจ้าอโศกมหาราช วิหารคือวัดมากมาย พระองค์ก็ได้สร้างไว้ และทรงอุปถัมภ์บำรุงพระสงฆ์ทั้งหลาย แถมยังทรงเกื้อหนุนไปถึงนักบวชในลัทธิอื่นๆด้วย วัดและพระสงฆ์ เป็นต้น นี้ มองในแง่นี้ ก็เหมือนเป็นบริการของระบบแห่งสังคมที่ดี ที่จะมากระตุ้นและมาสนองความต้องการของคนหลากหลาย ที่จะก้าวขึ้นไปสู่การพัฒนาชีวิตในระดังที่ประณีตสูงต่อๆกันตามลำดับไป


พูดง่ายๆว่า รัฐจัดสภาพเอื้อพื้นฐานไว้ให้แล้ว วัดก็มาพบมาดู และรับปรึกษาสิ ว่าใครจะรับธรรมขั้นไหนอย่างใดได้ ตอนนี้ ก็พระนี่แหละ ที่จะดูในแต่ละกรณีหรือสถานการณ์ว่าจะพูดจะเอ่ยถึงธรรมชื่อใดๆ ตามี่เขาต้องการ หรือที่จะเหมาะสมเป็นประโยชน์แก่เขา เหมือนกับแบ่งหน้าที่และขั้นตอนการทำงานกันระหว่างรัฐกับวัด

ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า แม้แต่ในพุทธกาล ถึงพระพุทธเจ้าเอง และพระสาวกทั้งหลาย ตามปกติจะไม่ได้สอนข้อธรรมลึกๆ แก่คฤหัสถ์ทั่วไป เหมือนอย่างที่สอนแก่พระสงฆ์ที่มุ่งเข้ามาศึกษาโดยตรง แต่ในหมู่มหาชนนอกภิกขุสังฆะนั้น ก็มีบางคนบางส่วนที่สนใจ และก้าวไปมากในการศึกษาอย่างเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่มที่จะแสวงหา


ดังที่บางท่าน อย่างจิตรคฤหบดีผู้เป็นอนาคามี ก็มีภูมิธรรมสูง ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะด้านเป็นอุบาสกธรรมกถึก สามารถอธิบายช่วยแก้ความติดขัดในธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายแม้แต่ที่เป็นเถระได้ (องฺ.เอก.20/151) หรืออย่างอุบาสิกาขุชชุตตรา พระพุทธเจ้าก็ทรงยกย่องเป็นเอตทัคคะด้านเป็นพหูสูต (องฺ.เอก.20/152)

แต่เมื่อพูดกว้างๆ ทั่วๆไป ในสังคมคฤหัสถ์โดยรวม ธรรมที่สอนเป็นปกติก็เป็นเช่นที่พูดมาแล้ว

หลักฐานยืนยันที่ชัดเจนมาก ไม่ต้องหาที่ไหนไกล ขนาดอนาถบิณฑิกเศรษฐีที่ใกล้ชิดพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ ได้อุปถัมภ์พระพุทธศาสนา กล่าวได้ว่ามากที่สุด และเป็นโสดาบัน กว่าจะได้ฟังธรรมหลักใหญ่อย่างที่ออกชื่อมานั้น ก็ตอนเจ็บหนักนอนอยู่บนเตียงจวนจะสิ้นชีพ


เรื่องมีว่า คราวนั้น พระสารีบุตร พร้อมด้วยพระอานนท์ติดตาม ได้ไปเยี่ยมอนาถบิณฑิกเศรษฐี และได้ให้โอวาทแก่ท่านเศรษฐี โดยมีสาระสำคัญว่า ไม่ควรเอาอุปาทานไปยึดถือมั่นต่อสิ่งทั้งหลาย ดังคำสรุป ท้ายโอวาทว่า

ดูกรคฤหบดี เพราะฉะนั้นแล ท่านพึงศึกษาอย่างนี้ว่า อารมณ์ใดก็ตาม ที่เราได้เห็น ได้ยิน ได้ทราบ ได้แจ้งแก่ใจ ได้แสวงหา ได้คุ้นใจ เราจักไม่ยึดติดถือมั่นอารมณ์นั้น และวิญญาณที่อาศัยอารมณ์นั้น จักไม่มีแก่เรา ดูกรคฤหบดี ท่านพึงศึกษาอย่างนี้เถิด

อนาถบิณฑิกเศรษฐี ฟังโอวาทจบแล้ว ถึงกับร่ำไห้ และได้กล่าวว่า

...กระผมได้เข้ามาใกล้ชิดองค์พระศาสดา และพระภิกษุทั้งหลาย ผู้เป็นที่เจริญใจมาเป็นเวลายาวนาน แต่กระนั้นก็ไม่เคยได้สดับธรรมีกถาอย่างนี้เลย

พระอานนท์ตอบชี้แจงว่า

ดูกรคฤหบดี ธรรมีกถาอย่างนี้ ไม่สำแดงแก่คนนุ่งขาวชาวคฤหัสถ์ จะสำแดงแก่บรรพชิต

อนาถบิณฑิกเศรษฐี ทราบอย่างนั้นแล้ว ได้กล่าวขอร้องว่า

ข้าแต่พระสารีบุตรผู้เจริญ ถ้าอย่างนั้น ขอธรรมีกถาอย่างนี้ จงสำแดงแก่คนนุ่งขาวชาวคฤหัสถ์บ้างเถิด เพราะว่า กุลบุตรจำพวกมีกิเลสธุลีในดวงตาน้อยก็มีอยู่ แต่เพราะมิได้สดับธรรม ก็จะเสื่อมไป คนที่จะรู้เข้าใจธรรม จักมี
(ม.อุ.14/720-740)

หลังจากพระสารีบุตรและพระอานนท์กลับออกมาไม่นาน ท่านเศรษฐีก็ถึงแก่กรรม และเข้าถึงดุสิตภพ



หันกลับมาพูดถึงบทบาทของรัฐกับบทบาทของวัด ในการสอนธรรมให้การศึกษาแก่ประชาชน อย่างที่ว่าแล้ว รัฐจะเน้นการทำหน้าที่ขั้นพื้นฐาน เพื่อให้คนทั่วไปในสังคมมีความพร้อมที่จะก้าวสู่การพัฒนาชีวิตของตน พร้อมทั้งจัดสรรโอกาสและจัดการให้คนเข้าถึงโอกาสนั้นด้วยการ ประสานเสรีภาพ เข้ากับระบบแห่งบริการ

ในสังคมแห่งยุคชมพูทวีป เท่าที่พอทราบกัน คนถึงจะนับถือต่างกัน แต่การเป็นอยู่ก็ไม่ค่อยได้แบ่งแยกกัน มีประเพณีทางปัญญาที่จะรับฟังคำสอนของลัทธิศาสนาต่างๆนับได้ว่าเสรี

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 11 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 52 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร