วันเวลาปัจจุบัน 18 เม.ย. 2024, 20:44  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 มี.ค. 2015, 09:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
หลวงปู่หล้า เขมปัตโต
วัดบรรพตคีรี (วัดภูจ้อก้อ) อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร


รูปภาพ
หลวงพ่ออินทร์ถวาย สันตุสสโก
วัดป่านาคำน้อย (วัดอุดมมงคลวนาราม) อ.นายูง จ.อุดรธานี


:b44:

พระอาจารย์อินทร์ถวาย สันตุสสโก
วัดป่านาคำน้อย (วัดอุดมมงคลวนาราม)
บ้านนาคำน้อย ต.บ้านก้อง
อ.นายูง จ.อุดรธานี


ส่วนหนึ่งจากพระธรรมเทศนาแสดงในงานครบรอบวันละสังขาร
หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ณ วัดบรรพตคีรี (วัดภูจ้อก้อ) จ.มุกดาหาร
เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๘


:b45: :b45:

แต่ก่อนหลวงพ่อเองก็เป็นเณรน้อยขององค์หลวงปู่ อยู่ที่ภูจ้อก้อ เป็นรุ่นแรกที่มาสร้างภูจ้อก้อ เป็นรุ่นแรกก็นับว่าเป็น ก.ไก่ เลยล่ะ หรือว่าหนึ่ง ที่ภูจ้อก้อ ปีสองพันห้าร้อย (พ.ศ. ๒๕๐๐) ที่หลวงปู่มาอยู่ แล้วหลวงพ่อเองก็เป็นเด็กเข้ามาอยู่กับองค์หลวงปู่ อายุเพียงจบ ป.สี่ อายุสิบเอ็ดสิบสองปี ก็มาอยู่ที่ภูจ้อก้อ ปีสองพันห้า..หลวงพ่อน่ะเป็นเณรปีสองพันห้านะลูกหลานนะ
เป็นเณรกึ่งพุทธกาล จากนั้นก็ได้บวชเป็นสามเณรปีนั้นน่ะ ปีกึ่งพุทธกาล ปีสองพันห้าร้อย จนถึงสองพันห้าร้อยแปด (พ.ศ. ๒๕๐๘) เป็นสามเณรอยู่ ๘ ปี จากนั้นก็ได้บวชเป็นพระเมื่อครบบวช

ปีบวชปี ๐๘ แล้วก็จำพรรษาอยู่กับหลวงปู่ปีนั้น ๒ องค์ ไม่มีสามเณร อยู่ด้วยกันสองที่เป็นพระ เวลาจะประเคนอันไหนโอ้..ลำบากมาก จะต้องถึงตอนเช้าเสียก่อน มีโยมเข้ามาจึงรับประเคนได้ บางปีก็จำพรรษาสามองค์บ้าง สององค์บ้างที่หลวงปู่หล้าอยู่ที่นี่ อันนี้ก็คือประวัติ จากนั้นก็บวชปี ๐๘ ปีนี้ก็ปี ๒๕๕๘ ชีวิตของหลวงพ่อน่ะ ที่เป็นพระ ๕๐ พรรษานะคณะศรัทธาญาติโยมลูกหลาน ไม่ใช่พระน้อยพระหนุ่มแล้วทีนี้

สมัยเป็นเณรของหลวงปู่หล้า เป็นเณร แต่เดี๋ยวนี้พรรษา..เฉพาะพรรษาพระ ๕๐ พรรษา เพราะฉะนั้นหลวงพ่อจึงได้นั่งหัวแถว อายุพรรษามากกว่าทุกองค์ที่นั่งอยู่ที่นี่ แล้วก็อายุเณรอีก ๘ ปี บวชเณรอีก ๘ พรรษา รวมแล้วชีวิตทั้งชีวิตหลวงพ่อฝากฝังไว้ในพระพุทธศาสนาเป็นเวลา ๕๘ ปี แล้วปีนี้หลวงพ่ออายุ ๗๐ นะคณะศรัทธาญาติโยมลูกหลาน มิใช่พระน้อยพระหนุ่ม เพราะฉะนั้นการจะปีนเขาขึ้นมาภูจ้อก้อนี่ ปีนขึ้นมาทีไรก็เหนื่อย เกือบต่อไปก็คงจะได้หามล่ะคณะศรัทธาญาติโยม

ยังถามเจ้าอาวาสอยู่เมื่อกี้นี้บอกว่า เอ๊ะ..หลวงปู่ของเราเนี่ย ตอนที่ท่านอยู่ภูจ้อก้อนี่อายุเท่าไรวะที่ท่านหามขึ้นเขานี่ เพราะหลวงพ่ออยากจะให้คนอื่นหามแล้วนะทีนี้นะ (หัวเราะ) เพราะหลวงพ่อปีนชักจะไม่ไหวแล้ว หลวงพ่อก็เลยถาม ถ้าหลวงปู่..โอ้ย..หลวงปู่ท่านอายุแปดสิบอย่าได้หาม หลวงพ่อก็คงอุตส่าห์เข้าไป เดินถึงแปดสิบนะจึงจะหาม ถ้าหลวงปู่..ถามพระอายุหกสิบกว่าๆ ก็หามขึ้นแล้ว หลวงพ่อก็คิดว่า ต่อไปนี่ก็คงจะให้พระลูกพระหลานหามแล้วนะทีนี้นะเพราะอายุ ๗๐ แล้วเนี่ย

แต่หลวงปู่ท่านมีโรคสองโรคนะในตัวของท่าน คือ โรคไส้เลื่อนอันหนึ่ง และก็โรคหัวใจ
เพราะฉะนั้นทั้งสองโรคนี้จะปีนเขา..ไม่สะดวก แต่หลวงพ่อก็นับว่าโชคดีทั้งสองโรคนี้ยังไม่เข้ามาเยือนขณะนี้น่ะ แต่มีแต่โรคแก่..โรคแก่โรคเหนื่อย มันไม่เหมือนแต่ก่อนนะคณะศรัทธาญาติโยมลูกหลานปีนเขาขึ้นมานี่รู้สึกอย่างมากๆเลย แต่ก็พยายามเดินขึ้นมาแบบช้าๆ นะ..ก็มาถึงได้

อันนี้ก็คือ ความตั้งใจที่อยากจะมาให้ถึงสถานที่..ที่องค์หลวงปู่ของพวกเรา แต่ก็มาเห็นคณะศรัทธาญาติโยมลูกหลานมาพร้อมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านท่านอาจารย์พระครู เจ้าคณะอำเภอคำชะอี ครูจำรัสน่ะ ท่านเป็นผู้แต่งตำรากาพย์คารวะองค์หลวงปู่หล้า ฟังแล้วก็เสนาะเพราะพริ้ง กล่าวยาวเพื่อเป็นศาสนพิธี พวกเราท่านทั้งหลายได้กล่าวรำลึกถึงบรรยายพระคุณขององค์หลวงปู่ หลวงปู่เป็นพระอุชุฯ ญายะฯ สามีจิปะฏิฯ คล้ายๆ ว่าเป็นพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าที่ท่านปฏิบัติดีปฏิบัติชอบองค์หนึ่ง ที่ท่านอาจารย์พระครูกล่าวไปนี่ หลวงพ่อฟังไปแล้วก็ไม่ถึงกับเว่อร์ หรือว่าพูดเพ้อเจ้อ ลักษณะอย่างนั้นไม่ใช่ ฟังแล้วก็กลมกล่อม สมกับที่พวกเราได้กราบ เพราะองค์หลวงปู่เป็นพระมักน้อย สันโดษ ปฏิปทาของหลวงปู่ เป็นผู้อ่อนน้อมถ่อมตน แล้วก็เป็นผู้เคร่งในหลักพระธรรมวินัยแล้วก็สัมมาปฏิบัติทุกอย่าง..องค์หลวงปู่พร้อม และในเมื่อยังทรงธาตุทรงขันธ์อยู่ การอ่อนน้อมถ่อมตนหรือว่า มีพระสงฆ์สามเณรอุบาสกอุบาสิกามาจากจตุรทิศ ท่านก็ให้ความต้อนรับขับสู้ ถึงจะเหน็ดเหนื่อยองค์หลวงปู่ก็ยังออกมา ต้อนรับคณะศิษยานุศิษย์ลูกหลานทุกคนโดยสม่ำเสมอ แล้วก็แนะนำสั่งสอน แนะนำการเป็นอยู่ แนะนำภายในวัด ควรปฏิบัติตนอย่างไรเมื่อเข้ามาสู่สถานที่แห่งนี้ ตลอดถึงที่พักพาอาศัย หลวงปู่เป็นผู้มีจิตใจ เรียกว่า เมตตาต่อลูกหลานอย่างสุดซึ้ง

ในเรื่องเหล่านี้..หลวงพ่อเองถึงจะไปอยู่ ณ สถานที่ใด หลวงพ่อก็ยังรำลึกถึงพระคุณขององค์หลวงปู่จุดนี้ เพราะองค์หลวงปู่ท่านแนะนำสั่งสอนบอกกล่าว ให้ฝังไว้ในจิตในใจของหลวงพ่อเหมือนกัน หลวงพ่อก็พยายามสอนศิษย์ พระที่เป็นลูกน้องของหลวงพ่อเหมือนกัน ให้แขกทางอื่นทางไกลมาอันนี้ถือว่าเป็นญาติธรรม เป็นญาติของพวกเรา ถ้าหากว่าพวกเราไม่มีญาติธรรมเหล่านี้ ต่อไปภายภาคหน้า พวกเราจะอยู่กันอย่างไร เพราะฉะนั้นผู้ที่เข้ามาสู่วัดวาศาสนา ให้พวกเราถือว่า นี้คือญาติของเรา ที่เป็นทายาทของเราต่อไปในอนาคต เพราะฉะนั้นให้พวกเราดูการเป็นอยู่ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ให้ดูการเป็นอยู่ การกิน การไปมาหาสู่ ที่พักพาอาศัย สิ่งเหล่านี้ให้ดูๆ นะ

อันนี้คือ เรื่องเหล่านี้ที่หลวงพ่อพูดไปนี้น่ะ พวกน้องๆ ทั้งหลายที่ไปอยู่กับองค์หลวงปู่หล้า คงจะไม่ได้ตำหนิหลวงพ่อว่า โอ้ย หลวงพ่ออินทร์พูดเกินไป คงไม่ว่าอย่างนั้น เพราะว่าจะพูดน้อยเกินไป พูดคล้ายกับว่าไม่เหมาะสม ควรจะพูดมากกว่านี้อีกต่างหาก เพราะอะไร..เพราะหลวงปู่หล้าท่านมีน้ำจิตน้ำใจจริงๆ ต่อคณะศรัทธาญาติโยมลูกหลาน เพราะฉะนั้นขอให้พวกเราทุกๆ ท่านนะ พระน้องพระนุ่งทั้งหลาย คณะศรัทธาญาติโยม ผู้ได้มาเห็นหลวงปู่แล้วก็นำธรรมคำสอน หรือว่าน้ำจิตน้ำใจขององค์หลวงปู่มีต่อศิษยานุศิษย์นั้น เป็นตัวอย่างที่ดี เพราะฉะนั้นหลวงปู่ที่ท่านพาลูกศิษย์ลูกหาพาดำเนินน่ะ อันนี้ก็คือด้านเป็นอยู่ ส่วนด้านจิตใจที่หลวงปู่แนะนำสั่งสอน จะเป็นใคร มาจากที่ไหนๆ หลวงปู่จะแสดงธรรมแล้วเทศน์ให้ฟัง เป็นที่พอใจ จับใจ ชี้แจงให้ฟัง

แต่สมัยหลวงพ่อเป็นเด็กเป็นเณรนะ ท่านไม่มีใคร ไม่มีใครมานะ ไม่มีใครมาท่านก็สอนให้เณร หลวงพ่อนี่เป็นเณร เวลาท่านจะเทศน์ท่านจะสอน ท่านจะให้เดินตามหลังนะ..เดินตามหลังท่าน พอเราเดินๆบางทีเราก็ฟังไปฟังมาบางทีเราก็เบื่อๆ เหมือนกันนะ ในใจนะ เราก็จะเดินก่อนเพื่อให้ทางไป ท่านก็จับลากแขนมา เอ้า เดินตามหลัง ! เราก็เดินตามหลังท่านก็พูดๆ อะไรให้ฟังน่ะ เพราะเณรหัวมันจำใช่ไหม พอพูดแล้วก็จำได้แล้วไม่รู้จะพูดอะไรมากมายนักหนา แต่หลวงปู่ท่านเป็นลักษณะ.."ปู่สอนหลาน" ท่านก็พูดๆ เรื่องนี้ให้ฟัง แต่ตามเป็นจริงก็มีชั้นเชิง เล่ห์เหลี่ยมอยู่ในนั้น ไม่ใช่คำพูดแบบเดียวกันทั้งหมดคราวนี้อธิบายเล่ห์เหลี่ยมอย่างนี้ให้ฟัง คราวนี้อธิบายอีกชั้นเชิงเลห์เหลี่ยมอย่างนี้ให้ฟัง โดยมากหลวงปู่ท่านจะมีวิธีการ บอกสอนสำหรับลูกน้องของท่าน

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 มี.ค. 2015, 13:19 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


นี่แหละ..ทีนี้สมัยนั้นหลวงพ่อฟังๆ แล้วก็เกิดความเบื่อเหมือนกัน เพราะว่า ท่านสอนแบบซ้ำซาก แบบปู่สอนหลานน่ะ แต่พอหลวงพ่อไปอยู่..เดี๋ยวนี้น่ะที่เป็นหัวหน้าขึ้นมาน่ะ รำลึกถึงหลวงปู่เมื่อไร ยกมือท่วมหัวเลยว่างั้นเถอะ ยกมือไหว้หลวงปู่ เพราะ..โอ้..หลวงปู่..ถ้าหากว่า หลวงปู่ไม่สอนเราขนาดนี้ ไม่กรอกเช้ากรอกเย็นถึงขนาดนี้ เราก็คงจะไม่เป็นอย่างนี้

แต่ทุกวันนี้เราได้นำคำพูดของหลวงปู่ ธรรมเทศนาของหลวงปู่ มาแนะนำสั่งสอน มาอยู่ในจิตในใจของพวกเรา เราก็นำธรรมคำสอนของหลวงปู่เนี่ยน่ะ ไปบอกกล่าวลูกหลานต่ออีกทอดหนึ่ง แล้วก็ได้ผสมผสานแนวความคิดขององค์หลวงตา (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน) หรือองค์หลวงปู่เนี่ยถ้าจะว่าไปแล้วเป็นธรรมะเป็นแนวพื้นฐานสอนเด็ก

อย่างหลวงพ่อเนี่ย..วิธีการทำอย่างไรปฏิบัติตนอย่างไร หลวงพ่อเอาจากหลวงปู่หล้าทั้งหมด แต่องค์หลวงตาเนี่ยเป็นต่อยอด ท่านแสดงให้เรื่องสติ เรื่องปัญญา เรื่องสมาธิปัญญา วิธีปฏิบัติ วิธีเดินมรรคเดินผล..ทำอย่างไร อันนั้นฟังจากหลวงตา แต่วิธีเริ่มต้นอย่างวิธีปฏิบัติตนอย่างไร..หลวงปู่หล้าท่านสอน

อย่างเดินจงกรมอย่างนี้ เข้ามาทีแรกเราจะรู้ยังไงเดินจงกรมน่ะ หลวงปู่หล้าท่านก็ว่า นี่นะ..ปรับสถานที่ให้ตรง ให้ราบให้เรียบ ทางเดินจงกรมของหลวงปู่นี่นะ เวลาท่านทำเสร็จแล้วนี่ ท่านจะเอาขี้โคลนน่ะผสมน้ำแล้วก็มาราด เอามือลูบ ไม่ใช่ธรรมดานะคณะศรัทธาญาติโยมลูกหลานนะ เอามือลูบทางจงกรมของท่าน ลูบทางจงกรมเสร็จแล้วก็ให้มันแห้ง พอมันแห้งเสร็จแล้วท่านก็ขึ้นไปเดินจงกรม ทำพูนสูงนะ หลวงพ่อน่ะเป็นคนขุดดิน เพราะว่าท่าน..พระขุดดินไม่ได้ มีแต่หลวงพ่อเป็นเณรก็ขุด ท่านก็ใส่บุ้งกี๋ของท่าน..พูนดินขึ้นมา ถ้าฝนตกขึ้นมาแล้วก็เอาดินมาอีก กองดินเอาไว้

ท่านทนุถนอมทางเดินจงกรมจริงๆ นะหลวงปู่หล้านะ ท่านรักในทางเดินจงกรมของท่าน ท่านทนุถนอม ท่านดูจริงๆ ทางเดินจงกรมของท่านเหมือนกับถ้าจะว่าไป ก็เหมือนกับวิชาอาชีพ หรือว่าเป็นทางมรรคทางผลของท่านจริงๆ ท่านใส่ใจจริงๆ ในทางเดินจงกรม เมื่อเสร็จแล้ว ท่านทำเป็นร่องตรงกลางนะ ทำเป็นร่องขอบๆ ไว้สักหน่อย แต่ไม่มาก ถ้าหากว่าเป็นหลังนูนเกินไปมันจะลื่น พอท่านทุบให้มันแน่น พอแน่นมันจะลื่น ท่านก็ทำให้เป็นแอ่งๆ สักหน่อย ให้น่าเดินดีล่ะ จากนั้นก็ใส่ทรายเข้าไปสักหน่อย โปรยเข้าไป จากนั้นถ้าฝนตกท่านก็ลูบทาง ว่าฝนไม่ตกไม่เป็นไรท่านก็เดินจงกรม เดินสูงนะประมาณสัก..ทางจงกรมของหลวงปู่สูงเกือบเมตรนะ แต่ใหญ่ ตีนใหญ่ ท่านใส่ใจในทางเดินของท่าน

เวลาท่านจะเดินจงกรม ท่านจะยืนสุดทางจงกรมข้างใดข้างหนึ่ง เสร็จแล้วท่านก็ประนมมือ ประนมมือขึ้นระหว่างอกของท่านนะ ท่านบอกว่า เวลาจะเดินจงกรมต้องไหว้พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ซะก่อน ไหว้ครูซะก่อน ท่านก็ยืนสุดทางจงกรมข้างใดข้างหนึ่งท่านก็ประนมมือ ท่านก็ว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ, พุทโธ ธัมโม สังโฆ, พุทโธ ธัมโม สังโฆ ๓ จบ จากนั้นเอามือลง หรือเราจะแผ่เมตตาอีกก็ยังได้

"ข้าพเจ้าจงเป็นสุข ผู้อื่นจงเป็นสุข ข้าพเจ้าต้องการความสุขอย่างไร ผู้อื่น สัตว์อื่น วิญญาณอื่นทั่วไตรโลกธาตุ ขอให้มีความสุขอย่างที่ข้าพเจ้าต้องการ อย่างที่ข้าพเจ้าปรารถนา..ทุกๆ ดวงวิญญาณด้วยเถิด" แผ่เมตตาซะก่อน จากนั้นก็ขาขวา "พุท" ขาซ้าย "โธ" ขาขวาพุท ซ้ายโธ พุท-โธ, พุท-โธ, พุท-โธ ถ้าไปถึงสุดทางจงกรม ก็เลี้ยวเอี้ยวขวา ลักษณะประทักษิณ เลี้ยวขวาจากนั้นก็พุทโธ หรือจะเลี้ยวซ้ายก็ได้ สุดแท้แต่ความถนัดของใครเรา แต่ควรจะเลี้ยวขวาดีกว่า เพื่อเป็นการประทักษิณ จากนั้นก็ พุท-โธ, พุท-โธ ขาขวาพุท ขาซ้ายโธ อันนี้ก็คือ วิธีการเดินจงกรม

เดินนานไหม? บางทีท่านเดินตั้งสามสี่ห้าทุ่มนู่นน่ะ มีกะโป๊ะ..มีต้นไม้มีท่อนไม้ขึ้นมาแล้วก็ตีไม้กระดานไว้ข้างบน แล้วก็มีเทียนแล้วก็น้ำมันก๊าด สมัยนั้นหาเทียนยากนะ มีแต่น้ำมันก๊าดมันไม่เปลือง ใส่เทียนเข้าในกระป๋องเข้าไป แล้วท่านก็มีโป๊ะ ตะเกียงโป๊ะเล็กๆ เพื่อไม่ให้แมลงมันบินชนไฟ ไฟไหม้ปีกของมัน ท่านก็มีนั่นล่ะโป๊ะเล็กๆ ครอบ จากนั้นท่านก็เดินจงกรม บางทีสามสี่ห้าทุ่ม ท่านยังเดินจงกรมของท่านนะหลวงปู่ ท่านขยันถึงขนาดนั้น เพราะฉะนั้นท่านจึงพิถีพิถันมากทางเดินจงกรมของท่านเวลาท่านจะออกจากทางเดินจงกรม ท่านก็ประนมมือซะก่อน ไหว้พุทโธ ธัมโม สังโฆ ซะก่อน จากนั้นท่านก็ลงจากทางเดินจงกรม ขึ้นมาท่านก็ไหว้พระ

แต่การสวดมนต์ขององค์หลวงปู่ของเรานี้นะท่านสวด บางทีท่านสวด "มหาสมัยสูตร" ท่านสวดได้นะ (ชื่อบทหนึ่งไม่ชัด) ธัมจักฯ อนัตตลักขณสูตร อาทิตตปริยายสูตร หลวงปู่สวดได้ทั้งหมด มหาสมัยสูตรนี่หลวงปู่สวดได้ทั้งหมด หลวงปู่นี่สวดมนต์เก่งนะ จากนั้นท่านก็สวดเป็นบางครั้ง ไม่ได้สวดทุกวัน พอเสร็จแล้วท่านก็มานั่งภาวนาของท่าน อันนี้แหละคือวิธีการ ชีวิตขององค์หลวงปู่ พอถึงตอนเช้า เราก็เป็นเณรน้อยเราก็อยู่ข้างล่างน่ะอยู่ในถ้ำ ในถ้ำที่หอฉันพระนี่มีตะแคร่ต้นหนึ่งติดกับพระพุทธรูปใหญ่นั่นน่ะ เป็นพื้นไม้ไผ่ ฝาไม้ไผ่ ที่อยู่ข้างๆ พระติดกับแท่นพระนั่นน่ะ หลวงพ่อเองเป็นเณรน้อยไปนอนอยู่ที่นั่นน่ะ นอนกับพระพุทธรูปว่างั้นเถอะ พอตื่นเช้าขึ้นมา พอสว่างขึ้นมา พอเห็นถนนหนทาง พอดูพอไม่เห็นถ้าบอกกลัวที่สุดคือกลัวงู แล้วก็ขึ้นมาพอสังเกต เพราะหลวงปู่ท่านก็สอนนะ ให้ระวังนะ จะไปเหยียบที่ไหนให้ระวัง เพราะฉะนั้นหลวงพ่อเองตั้งแต่บวชเข้ามาอยู่ในดงพงไพร อยู่ในภูจ้อก้อเนี่ย หลวงพ่อได้รับแนวความคิดจากองค์หลวงปู่หล้านี่ล่ะ งูไม่เคยกัดหลวงพ่อเลยนะ แต่นี้ถอยหลังนะ ไปทางหน้านี่ไม่รับรองว่างั้นเถอะ

แต่ทั้งนี้ "ถอยหลัง" ไม่เคยมีงูกัด ตะขาบกัดก็ไม่เคยไม่มี แต่แมลงป่องนี่มีนะ เพราะเหตุไร เพราะการสังเกต เพราะหลวงปู่ที่ท่านให้สังเกตมากๆ สมัยที่อยู่กับท่านที่ภูจ้อก้อนี่งูเยอะ สมัยนั้นน่ะ งูเล็กงูน้อยงูกะป่งงูกะปะ บางทีมันอยู่ในผ้า เอาผ้าไปพาดไว้หลังบาตร มันยังขึ้นไปอยู่ในระหว่างฝาบาตรกับผ้าอาบน้ำอีกต่างหาก เพราะฉะนั้นหลวงปู่จะไม่ให้พาดตรงที่สายบาตร ต้องเอามาพับไว้กับพื้นให้เรียบร้อย ท่านจะไม่ให้วางอยู่นั่น มันงูเข้าไปหลบอยู่ที่นั่น มันไปหากินจิ้งจกกลางคืนน่ะ จิ้งจก จิ้งเหลนนั่นน่ะ มันไปหลบไปซ่อนอยู่ นี่ก็คือวิธีการที่หลวงปู่แนะนำสั่งสอน

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ก.พ. 2016, 14:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


จากนั้นพอเราขึ้นมาตอนเช้า พอสว่างเราขึ้นมา หลวงปู่ลงเดินจงกรมแล้วนะ บางทีลงมาตื่นสักตีสามตีสี่ ตีสี่บางทีก็จุดไฟแล้วก็เดินจงกรม พอเราขึ้นมาก็สว่างละ ท่านก็ดับเทียนละ ดับไฟละ ท่านก็เดิน แต่บาตรของท่านน่ะท่านเอาไปไว้ ทางอีกทางหนึ่ง แต่ผ้าสังฆาฏิมันอยู่กับท่านน่ะ เอาบาตรของท่านเอาไปวางไว้ก้อนหินหน้ากุฏิ ท่านก็มัดสายนะ มัดสายทบไปทบมาท่านมัด เราเป็นเณรน้อย ขึ้นมาแล้วก็เอาสายมาแล้วก็..ใครก็ตามนะไปจับบาตรหลวงปู่ ไปยืนโก้งโค้งแล้วจับไม่ได้นะ ท่านบอกว่า "บริขารของพระพุทธเจ้า" ไม่ใช่ "บริขารของเรา" เข้าใจไหม? ต้องให้นั่งซะก่อน นั่งคุกเข่าซะก่อนจึงเอาสายบาตรคล้องที่คอ อย่าไปยืนโก้งโค้งแล้วเอาสายบาตรขึ้นมา..ไม่ได้ ต้องนั่งซะก่อน อันนี้ถ้าหากว่า ครูบาทั้งหลาย น้องนุ่งทั้งหลายที่หลวงพ่อพูด เราท่านทั้งหลายคงจำได้ เวลาจะเอาสายบาตรคล้องคอนี่ต้องนั่งซะก่อน นั่งยองๆซะก่อน จากนั้นเอาสายบาตรคล้องคอตัวเองจึงค่อยลุกขึ้น ท่านจะไม่ให้ยืนโก้งโค้งแล้วหยิบฉวยเอาบาตรไป ถ้าทำอย่างนั้นไม่ได้ ถ้าหลวงปู่เห็นล่ะก็เอ้อ เป็นเรื่องราวแล้วนั่น ด่าปั้งเลย ทำไงไม่เคารพใน "อัฐบริขาร..บริขารของพระพุทธเจ้า"

อันนี้ก็คือ เวลาเราขึ้นมารับบาตรหลวงปู่ พอเสร็จแล้วเราเป็นเณรน้อย พอเห็นบาตรแล้วเราก็ยกมือไหว้บาตรหลวงปู่ซะก่อนนะ ยกมือไหว้เสร็จแล้วก็เอาสายบาตรคล้องเข้า คล้องเพราะหลวงปู่มัดสายไว้แล้ว เพราะจะเอาสายยาวหลวงปู่พุ่นนู่น สายไปถึงหัวเข่านั่นน่ะถ้าว่าหลวงปู่ไม่ทบสายไว้ให้น่ะ หลวงปู่ก็ทบมัดสายไว้แล้วเราก็ประนมมือเสร็จแล้วก็คล้องคอ บาตรก็อยู่ในระหว่างเอวนี่ล่ะ เราก็พยายามประคองลงไป แต่ที่จำได้ว่า ไม่เคย ไม่เคยทำให้บาตรหลวงปู่หกล้มน่ะ ไม่เคยพาบาตรหลวงปู่แตกว่างั้น ไม่เคยหกล้ม รักษาถึงขนาดนั้นแหละ

ท่านบอกแล้วบอกอีก เพราะบาตรสมัยนั้นไม่ใช่บาตรสแตนเลสอย่างนี้น่ะ เป็นบาตรเผา เผาถ่าน มีสะเก็ด เวลาหก ถ้ามันแตกล่ะก็ โอ่ เป็นเรื่องใหญ่ทีเดียวละทีนี้ เพราะฉะนั้นเราต้องระมัดระวังอย่างมากที่ดูแลบาตรองค์หลวงปู่ พอลงไปถึงข้างล่าง เป็นเณรน้อยน่ะก็มีหลวงตา หลวงตาเทกับโยม หลวงพ่อ หลวงพ่อของหลวงพ่อหลวงตา หลวงตาแดง ที่เป็นหลวงพ่อของหลวงพ่อเนี่ย ท่านก็อยู่ข้างล่าง จากนั้นท่านก็ไปมัดบาตรของหลวงปู่ให้ มัดให้เรียบร้อย เสร็จเรียบร้อยก็หลวงปู่ก็ได้เวลา ไม่มีนาฬิกานะ บางทีท่านก็เดินจงกรมจนเพลินเหมือนกันแหละ บางทีเราก็ไปคอยอยู่หน้าบ้าน โอ้ บางทีรอนานลงมาเหลือเกิน เพราะท่านเดินจงกรมท่านก็เพลินของท่านแฮะ


(มีต่อค่ะ)

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 21 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร