วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 18:39  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


“อภิธรรม (สันสกฤต: abhidharma) หรืออภิธัมมะ (บาลี: abhidhamma) เป็นชื่อปิฎกศาสนาพุทธฉบับหนึ่งในปิฎกทั้งสามฉบับที่รวมเรียก "พระไตรปิฎก" อภิธรรมแปลว่าธรรมอันยิ่ง ปิฎกฉบับอภิธรรมนั้นเรียก "พระอภิธรรมปิฎก" ซึ่งว่าด้วยประมวลหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคลเลย”



กลับไปยังกระทู้  [ 27 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ม.ค. 2016, 07:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว




cats.jpg
cats.jpg [ 83.68 KiB | เปิดดู 7241 ครั้ง ]
ปรมัตถธรรม คือ สภาพธรรมที่มีจริง เป็นอภิธรรม (อภิธรรม คือ ธรรมที่ยิ่งใหญ่ เพราะเป็นอนัตตา
ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของผู้ใด) เป็นสภาพธรรมที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
จะไม่ประสูติและตรัสรู้ สภาพธรรมทั้งหลายก็ย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัยอยู่แล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เป็นพระบรมศาสดา เพราะพระองค์ทรงตรัสรู้ธรรมทั้งปวงด้วยพระองค์เองว่า ธรรมทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน
ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล และธรรมทั้งปวงไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของผู้ใดทั้งสิ้น ปรมัตถธรรมหรือ
อภิธรรมนั้น มิใช่ธรรมที่เหลือวิสัยที่จะเข้าใจได้ เพราะปรมัตถธรรมเป็นธรรมที่มีจริง ฉะนั้น ความเห็นถูก
ความเข้าใจถูก จึงเป็นการรู้ความจริงของปรมัตถธรรม ตามลักษณะของปรมัตถธรรมนั้นๆ


ปรมัตถธรรม มี ๒ ประเภท คือ รูปธรรม และ นามธรรม (หรือ รูป และ นาม หรือ รูปธาตุ และ นามธาตุ)
๑. รูปธรรม เป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อารมณ์
๒. นามธรรม เป็นสภาพธรรมที่รู้อารมณ์ (อารมณ์ คือ สิ่งที่ปรากฏ และรู้ได้ เป็นได้ทั้ง รูปธรรม
และนามธรรม เมื่อจิตเกิดขึ้นรู้สิ่งใด สิ่งที่จิตรู้นั้น ภาษาบาลีเรียกว่า อารมฺมณ หรือ อาลมฺพน)

ปรมัตถธรรม มี ๔ ประเภท คือ จิด เจตสิก รูป และนิพพาน

๑. จิต เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้สิ่งที่ปรากฏ เช่น เห็น ได้ยิน เป็นต้น
จิต (วิญญาณ) เป็นสภาพรู้ เป็นนามธรรม มีลักษณะไตรลักษณ์ (อนิจจัง - ไม่เที่ยง ทุกขัง - ทนอยู่
ไม่ได้ เกิดขึ้นแล้วต้องดับไป อนัตตา - บังคับบัญชาไม่ได้ ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน)

๒. เจตสิก เป็นสภาพธรรมอีกประเภทหนึ่งที่เกิดร่วมกับจิต รู้สิ่งเดียวกับจิต ดับพร้อมกับจิต
และเกิดที่เดียวกับจิต เจตสิกแต่ละเจตสิกมีลักษณะและกิจต่างกันตามประเภทของเจตสิกนั้นๆ
เจตสิกเป็นสภาพรู้อื่นๆ ที่ไม่ใช่จิต (ได้แก่ เวทนา - ความรู้สึกสุข ทุกข์หรือเฉยๆ ที่เกิดทางกายหรือใจ สัญญา - ความจำได้ รู้ชื่อ รู้จัก สังขาร - ความนึกคิดปรุงแต่งอื่นๆ เช่น รัก โกรธ เมตตา ปัญญา เป็นต้น)
เป็นนามธรรม มีลักษณะไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา)

๓. รูป รูปเป็นสภาพไม่รู้ เช่น สี เสียง กลิ่น รส เป็นต้น เป็นรูปธรรม มีลักษณะไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา)

๔. นิพพาน เป็นธรรมที่ดับกิเลส ดับทุกข์ นิพพานไม่มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้น นิพพานจึงไม่เกิดดับ นิพพานเป็นขันธวิมุตติ คือพ้นจากขันธ์ นิพพานเป็นสภาพรู้ เป็นนามธรรม เป็นอนัตตา

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ม.ค. 2016, 05:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


จิต ๘๙ หรือ ๑๒๑ ดวง โดยแบ่งเป็นตามประเภทที่เกิดขึ้น (ได้อธิบายไว้แล้วในปริเฉทที่ ๑)
จิตเป็นปรมัตถธรรมที่มีจริงเกิดขึ้นเพื่อรู้ สี เสียง กลิ่น รส สัมผัส นึกคิดเรื่องราวต่างๆ เหล่านี้
แหละสิ่งเหล่านี้เองซึ่งถูกเรียกว่าจิต ที่ทำให้เกิดเป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง และไม่ใช่กุศลและอกุศลบ้าง
จิตจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยอารมณ์ต่างๆ ที่มากระทบทางช่องทวาร ๖ จิตเกิดขึ้นขณะใดจะต้องรู้อารมณ์
ในขณะนั้น หรือขณะที่จิตเกิดจะไม่ให้รู้อารมณ์นั้นก็ไม่ได้ หรือจะมีแต่จิตเกิดขึ้นปราศจากอารมณ์ก็ไม่ได้
ฉะนั้นจิตจึงเป็นสภาพธรรมที่รู้อารมณ์ และอารมณ์เป็นสภาพธรรมที่ถูกจิตรู้

จิตเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ก็ใช่ว่าจะมีแต่ในพระพุทธศาสนาเท่านั้น หรือมีแต่ในมนุษย์เท่านั้น
แม้สัตว์เหล่าอื่นก็มีจิตเช่นก่นกัน รวมกระทั้งเทวดา มาร พรหม แม้ว่าจิตที่เกิดขึ้นนั้นจะต้องอาศัย
ปัจจัยต่างๆด้วยจึงจะได้รู้ได้เห็นได้ยินสิ่งนั้นๆด้วย ถ้าว่าจิตที่เห็นเกิดขึ้นนั้นก็ต้องอาศัยปัจจัย
คือ ตา ๑ สี ๑ จิต ๑ มากระทบกันที่เรียกว่าอารมณ์กับจิต หรือที่เราเรียกกันว่าผัสสะเกิดขึ้น
และแม้ว่ามีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วจะเห็นได้เลยก็ไม่ใช่ จะต้องอาศัยปัจจัยอื่นอีกมากมาย เช่น แสงสว่าง
และความตั้งใจที่จะดู(โยนิโสมนสิการ) และยังมีปัจจัยที่มาสนับสนุนให้การเห็นเกิดได้ ซึ่งจะมีแสดง
ไว้ในปัจจัย ๒๔ ในคัมภีร์มหาปัฏฐาน

เมื่อการเห็นเกิดขึ้นเหล่านี้และเข้าใจสิ่งเหล่านี้ที่เกิดขึ้น ย่อมเห็นตามความเป็นจริงของสภาพธรรม
ที่มีจริง แม้ว่าเรายังไม่เห็นของจริงโดยปัญญาแต่เราก็ต้องยอมรับว่าเห็นตามสภาพด้วยศึกษาโดยปริยัติ
ตามที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติขึ้นตามในพระไตรปิฏก หรือในอรรถกถาจารย์ได้รจนาขึ้นไว้ในคัมภีร์ต่างๆ

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ม.ค. 2016, 07:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว




cats.jpg
cats.jpg [ 7.27 KiB | เปิดดู 7460 ครั้ง ]
เรามาเรียนรู้หน้าที่และกิจหน้าของเจตสิก ๕๒ เริ่มตั้งแต่ผัสสะเจตสิก
ในคัมภีร์พระอภิธรรม มีการกล่าวถึงผัสสะ ในลักษณะที่เป็นเจตสิก[คือ ธรรมชาติที่อาศัยจิตเกิด]
เรียกว่า ผัสสเจตสิก เป็นธรรมชาติที่กระทบถูกต้องอารมณ์

ลักษณะเฉพาะตัวของ ผัสสเจตสิก มีอยู่สี่ประการคือ
มีการกระทบ เป็นลักษณะ
มีการประสาน [อารมณ์+วัตถุ+วิญญาณ] เป็นกิจ
มีการประชุมพร้อมกัน เป็นผลปรากฏ
มีอารมณ์ที่ปรากฏเฉพาะหน้า เป็นเหตุใกล้

ผัสสะเป็นสิ่งประสานจิตกับอารมณ์ เกิดการประชุมพร้อมกันแห่ง สภาวะธรรมสามประการ คือ
อารมณ์+วัตถุ+วิญญาณ ในปัญจโวการภูมิ และในจตุโวการภูมิ มีการประชุมพร้อมกันระหว่าง
[วัตถุ+อารมณ์+วิญญาณ] เป็นเครื่องปรากฏ มีอารมณ์เฉพาะหน้าเป็นเหตุใกล้
เมื่อกล่าวโดยพิสดารว่า ผัสสะแม้เป็นนามธรรมก็เป็นไปโดยการกระทบอารมณ์ ฉะนั้น
จึงมีสภาพกระทบอารมณ์

อนึ่งแม้ไม่ติดกันเป็นบางส่วนก็ประสานจิตกับอารมณ์เหมอนรูปกับจักขุ และเสียงกับโสตะ ดังนั้น
จึงชื่อว่าประสาน[วัตถุ+อารมณ์+ จิต]

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ม.ค. 2016, 07:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว




imagesCAQ1KPGY.jpg
imagesCAQ1KPGY.jpg [ 6.12 KiB | เปิดดู 7441 ครั้ง ]
สัมผัส หรือ ผัสสะจึง มี ๖ อย่าง คือ ที่เกิดขึ้นตามทวาร
๑. จักขุสัมผัส หมายถึง ความกระทบทางตา คือ ตา+รูป+จักขุวิญญาณ
๒. โสตสัมผัส หมายถึง ความกระทบทางหู คือ หู+เสียง+โสตวิญญาณ
๓. ฆานสัมผัส หมายถึง ความกระทบทางจมูก คือ จมูก+กลิ่น+ฆานวิญญาณ
๔. ชิวหาสัมผัส หมายถึง ความกระทบทางลิ้น คือ ลิ้น+รส+ชิวหาวิญญาณ
๕. กายสัมผัส หมายถึง ความกระทบทางกาย คือ กาย+โผฏฐัพพะ(เช่น ร้อน เย็น อ่อน แข็ง)+กายวิญญาณ
๖. มโนสัมผัส หมายถึง ความกระทบทางใจ คือ ใจ+ธรรมารมณ์(สิ่งที่ใจนึกคิด)+มโนวิญญาณ

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ม.ค. 2016, 18:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว




cats.jpg
cats.jpg [ 32.39 KiB | เปิดดู 7441 ครั้ง ]
อนึ่ง บุคคลที่ถูกต้องอารมณ์ด้วยผัสสะแล้ว จึงเสวยอารมณ์ด้วยเวทนา
หมายรู้อารมณ์ด้วยสัญญา ตั้งใจทำด้วยเจตนา สมจริงดังพุทธดำรัสตรัสว่า
ผุฏฺโฐ ภิกฺขเว เวเทติ. ผุฏฺโฐ สัญฺชานาติ. ผุฏฺโฐ เจเตติ.
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลถูกต้องด้วยอารมณ์แล้วจึงเสวยอารมณ์ ถูกต้องด้วยอารมณ์
แล้วจึงหมายรู้อารมณ์ ถูกต้องอารมณ์แล้วจึงตั้งใจทำ"
อีกอย่างหนึ่งผัสสะเป็นปัจจัยที่มีกำลังของสัมปยุตตธรรมที่เกิดร่วมกัน
เหมือนเสาปราสาทเป็นปัจจัยสำคัญของวัตถุสิ่งของที่เหลือ คือ ขื่อ แป ไม้ระแนง
เชิงฝา ยอด จั่ว กลอน เป็นสิ่งที่เนื่องด้วยเสา ตั้งอยู่บนเสาที่จริงผัสสะนี้เป็นเช่นกับเสา
สัมปยุตตธรรมอื่นที่เกิดร่วมกันเป็นเช่นวัตถุสิ่งของ ดังนั้นพระองค์จึงตรัสผัสสะก่อน

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ม.ค. 2016, 07:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว




cats.jpg
cats.jpg [ 33.12 KiB | เปิดดู 7431 ครั้ง ]
หรืออีกอย่างหนึ่ง อธิบาย ผัสสะ คำว่า ผัสสะ มีวจนัตถะว่า ผุสฺตีติ ผสฺโส แปลว่า สภาวธรรมอย่างหนึ่ง
ชื่อว่าผัสสะ เพราะมีความหมายว่า กระทบดังนี้.

ก็ผัสสะนั้น มีการกระทบอารมณ์เป็นลักษณะ เป็นความจริงว่าผัสสะนี้ แม้ว่าเป็นนามธรรม
ก็เป็นไปโดยการกระทบอารมณ์นั่นเอง พึงเห็นว่า เป็นดุจการที่อีกคนหนึ่งเห็นอีกคนหนึ่งเคี้ยวของเปรี้ยว
แล้วเกิดน้ำลายสอขึ้น ฉะนั้น ทั้งๆที่ของเปรี้ยวนั้นมิได้มากระทบ คือจรดถึงลิ้นของตนเลยก็ตาม

ก็ผัสสะนี้ มีการประสานวัตถุมีจักขุวัตถุเป็นต้น และอารมณ์มีรูปารมณ์เป็นต้นเข้าด้วยกัน
เหมือนอย่างที่พระนาคเสน กระทำอุปมาไว้ใน มิลินทปัญหา ว่า "ขอถวายพระพร มหาบพิตร
เปรียบเหมือนแพะ ๒ ตัว ที่ชนกัน พึงเห็นจักษุเหมือนแพะตัวที่ ๑ พึงเห็นรูปเหมือนแพะตัวที่ ๒
พึงเห็นผัสสะเหมือนการชนกันแห่งแพะ ๒ ตัวนั้น ผัสสะมีการกระทบอารมณ์ลักษณะ

และมีการประสานกันไว้เป็นกิจ ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง เหมือนอย่างฝ่ามือ ๒ ข้าง ที่ประสานกัน
พึงเห็นจักษุเหมือนฝ่ามือข้างที่ ๑ พึงเห็นรูปเหมือนฝ่ามือข้างที่ ๒ พึงเห็นผัสสะเหมือนการประสานฝ่ามือ
ทั้ง ๒ ข้างนั้น ผัสสะมีการกระทบอารมณ์เป็นลักษณะ และมีการประสานกันไว้เป็นกิจ" ดังนี้ คำว่า "การ
กระทบอารมณ์เป็นลักษณะ" มีความหมายว่า ผัสสะ ดังนี้

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่าดังนี้ "จกฺขุญฺจ ปฏิจฺจ รูเป จ อุปปชฺชติ จกฺขุวิญฺญาณํ ติณฺณํ สงฺคติ ผสฺโส"
แปลว่า "อาศัยจักษุและรูป จักขุวิญญาณจึงเกิดขึ้น ชื่อว่ามีผัสสะ เพราะมีความพร้อมเพรียงกันแห่งธรรม
๓ อย่าง" ดังนี้ อธิบายว่าความพร้อมเพรียงกันคือ ความประชุมกันแห่งธรรม ๓ อย่าง คือ จักษุ รูป
จักขุวิญญาณ

ในคราวที่มีรูปมาถึงคลองจักษุแล้วเกิดจักขุวิญญาณขึ้นนั้นเอง แสดงว่ามีผัสสะ (ท่เรียกว่า
จักขุสัมผัสสะ) เกิดขึ้นแล้ว ถ้าหากว่ารูปมาถึงคลองจักษุแล้ว แต่จักขุวิญญาณก็ยังไม่เกิดขึ้น ก็ชื่อว่ายัง
ไม่มีผัสสะ (ที่เรียกว่าจักขุสัมผัสสะ) เกิดขึ้น จักขุวิญญาณที่เกิดขึ้น จึงนับว่า เป็นธรรมชาติที่รับรองว่า
มีผัสสะเกิดขึ้น ผัสสะที่เกิดขึ้นกับจักขุวิญญาณ ชื่อว่า ทำหน้าที่ประสานจักษุและรูปารมณ์ เข้าด้วยกันคือ
ทำให้ประจวบกัน เผชิญหน้ากัน แม้ทางทวารที่เหลือ มีโสตทวาร เป็นต้น ก็ทำนองนี้

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ม.ค. 2016, 15:43 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


เมื่อเราได้ศึกษาเรื่องผัสสะมาโดยพอเป็นสังเขป และจะมาว่ามาอธิบายเจตสิกดวงต่อไป
นั่นก็คือเวทนาเจตสิก ซึ่งต่อจากผัสสะเจตสิก

๒. เวทนาเจตสิก คือการเสวยอารมณ์ คือความรู้สึก รู้สึกสบายหรือไม่สบาย
แยกตามประเภทแห่งความเป็นใหญ่ในการรู้สึกเป็น ๕ อย่าง ได้แก่

ก. สุขเวทนาเจตสิก คือความสุขความสบายทางกาย มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้
อิฏฺฐโผฏฺฐพฺพานุภวนลกฺขณา มีการสัมผัสถูกต้องกับอารมณ์ที่ดีเป็นลักษณะ
สมฺปยุตฺตานํ พยูหนรสา มีการทำให้สัมปยุตตธรรมเจริญ เป็นกิจ
กายิกอสฺสาทปจฺจุปฏฺฐานา มีความชื่นชมยินดีทางกายเป็นผล
กายินฺทฺริยปทฏฺฐานา มีกายประสาท เป็นเหตุใกล้

ข. ทุกขเวทนาเจตสิก คือความทุกข์ยากลำบากกายมีลักขณาทิจตุกะดังนี้
อนิฏฺฐโผฏฺฐพฺพานุภวนลกฺขณา มีการสัมผัสถูกต้องกับอารมณ์ที่ไม่ดี เป็น ลักษณะ
สมฺปยุตฺตานํ มิลาปนรสา มีการทำให้สัมปยุตตธรรม เศร้าหมอง เป็นกิจ
กายิกาพาธปจฺจุปฏฺฐานา มีการอาพาธทางกาย เป็นผล
กายินฺทฺริยปทฏฺฐานา มีกายปสาท เป็นเหตุใกล้


ค. โสมนัสเวทนาเจตสิก คือความสุขความสบายใจมีลักขณาทิจตุกะดังนี้
อิฏฺฐารมฺมณานุภวนลกฺขณา มีการเสวยอารมณ์ที่ดี เป็นลักษณะ
อิฏฺฐาการสมฺโภครสา มีการทำจิตให้อยู่ร่วมกับอารมณ์ที่ดี เป็นกิจ
เจตสิกอสฺสาทปจฺจุปฏฺฐานา มีความชื่นชมยินดีทางใจ เป็นผล
ปสฺสทฺธิปทฏฺฐานา มีความสงบกายสงบใจ เป็นเหตุใกล้

ง. โทมนัสเวทนาเจตสิก คือ ความทุกข์ใจ มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้
อนิฏฺฐารมฺมณานุภวนลกฺขณา มีการเสวยอารมณ์ที่ไม่ดี เป็นลักษณะ
อนิฏฺฐาการสมฺโภครสา มีการตามเสวยอารมณ์ด้วยอาการที่ไม่พอใจ เป็นกิจ
เจตสิกาพาธปจฺจุปฏฺฐานา มีความอาพาธทางใจ เป็นผล
หทยวตฺถุปทฏฺฐานา มีหทัยวัตถุ เป็นเหตุใกล้

จ. อุเบกขาเวทนาเจตสิก คือความรู้สึกเฉย ๆ
ไม่ทุกข์ไม่สุข มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้
มชฺฌตฺตเวทยิตลกฺขณา มีการเสวยอารมณ์ปานกลาง เป็นลักษณะ
สมฺปยุตฺตานํ นาติอุปพยูหน มิลาปนรสา
มีการรักษาสัมปยุตตธรรมไม่ให้เจริญไม่ให้เศร้าหมอง เป็นกิจ
สนฺตภาวปจฺจุปฏฺฐานา มีความเฉย ๆ เป็นผล
นิปฺปิติกจิตฺตปทฏฺฐานา มีจิตที่ไม่ยินดี เป็นเหตุใกล้

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ม.ค. 2016, 16:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว




cats.jpg
cats.jpg [ 50.46 KiB | เปิดดู 7414 ครั้ง ]
เวทนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง แบ่งตามเวทนา ๕ แล้วได้ดังที่ในภาพที่ยกมาแสดงไว้
จิตโดยย่อ ๘๙ ดวง จำแนกโดยประเภทแห่งเวทนาแล้ว ได้ดังนี้

สุขเวทนา มี ๑ คือ สุขกาย
ทุกขเวทนา มี ๑ คือ ทุกข์กาย
โสมนัสเวทนา มี ๓๐ คือ กามโสมนัส ๑๘ ฌานโสมนัส ๑๒
(กามโสมนัส ๑๘ ได้แก่ โสมนัสโลภมูลจิต ๔, โสมนัส สันตีรณะ ๑, โสมนัส หสิตุปปาทะ ๑ ,
โสมนัส มหากุสล ๔ ,โสมนัสมหาวิบาก ๔ ,โสมนัสมหากิริยา ๔ ส่วนฌานโสมนัส ๑๒ นั้นได้แก่
รูปาวจรปฐมฌาน ๓ , รูปาวจรทุติยฌาน ๓ รูปาวจรตติยฌาน ๓, และรูปาวจรจตุตถฌาน ๓)

โทมนัสเวทนา มี ๒ คือ โทสมูลจิตทั้ง ๒ ดวง
อุเบกขาเวทนามี ๕๕ คือ อุเบกขาโลภมูลจิต ๔, อุเบกขาโมห มูลจิต ๒,
อุเบกขาอเหตุกจิต ๑๔ ,อุเบกขามหากุสล ๔, อุเบกขามหาวิบาก ๔,อุเบกขามหากิริยา ๔,

รูปาวจรปัญจมฌาน ๓,อรูปาวจรจิต ๑๒ และโลกุตตร จิต ๘
เฉพาะโลกุตตรจิตนั้น ถ้ามหากุสลญาณสัมปยุตตจิตที่เจริญวิปัสสนาภาวนานั้น
เกิดพร้อมกับโสมนัสเวทนาจนเกิดโลกุตตรจิต โลกุตตรจิตที่เกิดขึ้นนั้นก็เป็นโสมนัสเวทนา
หากว่ามหากุสลญาณสัมปยุตตจิตที่เจริญวิปัสสนาภาวนานั้นเกิดพร้อมกับอุเบกขาเวทนา
จนเกิดโลกุตตรจิตแล้ว โลกุตตรจิตที่เกิดขึ้นนั้นก็เป็นอุเบกขาเวทนาแต่ตามปกติ
ที่จำแนกจิตโดยเวทนาแล้วส่วนมากมักจัดโลกุตตรจิต๘ดวงไว้ในอุเบกขาเวทนา
ดังนั้นในที่นี้จึงจัดโลกุตตรจิต ๘ ดวง อยู่ในอุเบกขาเวทนาเช่นเดียวกัน

อนึ่ง ถ้าจำแนกจิตอย่างพิสดาร ๑๒๑ ดวงโดยประเภทแห่งเวทนาแล้ว ก็ได้ดังนี้
สุขเวทนา มี ๑ คือ สุขกาย
ทุกขเวทนา มี ๑ คือ ทุกข์กาย
โสมนัสเวทนามี ๖๒ คือ กามโสมนัส ๑๘, รูปฌานโสมนัส ๑๒ และโลกุตตรที่ประกอบด้วย
ปฐมฌาน ๘,โลกุตตรที่ประกอบด้วยทุติยฌาน ๘, โลกุตตรที่ประกอบด้วยตติยฌาน ๘ ,
โลกุตตรที่ประกอบด้วยจตุตถฌาน ๘

โทมนัสเวทนา มี ๒ คือ โทสมูลจิต ๒ ดวง

อุเบกขาเวทนามี ๕๕ คือ กามอุเบกขา ๓๒, รูปาวจรปัญจมฌาน ๓, อรูปาวจรจิต ๑๒
และโลกุตตรจิตที่ประกอบด้วยปัญจมฌาน ๘ (กามอุเบกขา ๓๒ ได้แก่
อุเบกขาในอกุสลจิต ๖ , อุเบกขาในอเหตุกจิต ๑๔ และ อุเบกขาในกามาวจรโสภณจิต ๑๒)

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ม.ค. 2016, 06:43 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


เวทนา ๓ บ้าง เวทนา ๕ บ้าง เป็นผู้เสวยอารมณ์ที่ผัสสะนำมาให้
สุขบ้างทุกข์บ้างเฉยๆบ้างเหล่านี้ หรือแม้ว่าผัสสะที่เกิดทางลิ้น เวทนาจะได้เสวยรสของอาหาร
เป็นสิ่งที่ชอบใจบ้างไม่ชอบใจบ้าง ที่เกิดขึ้นจากผัสสะ เราก็ต้องเข้าใจและรู้หน้าของเวทนาด้วย

เพราะเวทนาเหล่านี้นั้นยังอยู่ในหมวด ของสติปัฎฐาน ๔ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม ซึ่ง
จะเป็นเครื่องมือให้แก่นักปฏิบัติธรรม บรรลุธรรมได้อีกด้วย

และในปฏิจจสมุปบาทท่านได้กล่าวไว้ซึ่งเป็นช่วงรอยเชื่อมต่อของวงล้อปฏิจจสมุปบาท
คือ ผัสสะ กับ เวทนา หรืออาจเรียกวงล้อนี้ว่าวงล้อแห่งสังสารวัฏฏ์ที่หารอยต่อได้ยาก

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ม.ค. 2016, 10:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


เวทนา คือ สภาวะเสวย
เวทนานั้น :-
- มีสภาพการเสวยอารมณ์ [น่าปรารถนาซึ่งเป็นสภาวอิฏฐารมณ์ หรือปริกัปปอิฏฐารมณ์]
- มีหน้าที่เสวย[อารมณ์] หรือมีหน้าที่เสวยอาการที่น่าพอใจ[ของอารมณ์]
- มีความยินดีทางใจเป็นเครื่องปรากฏ
- มีความสงบ[กายและใจ] เป็นเหตุใกล้

กล่าวโดยพิสดารว่า [ในคัมภีร์มหาอรรถกถา]กล่าวว่า"เวทนามี ๔ ภูมิ ชื่อว่าไม่มีสภาพเสวยอารมณ์
ก็หามิได้ แต่ความมีหน้าที่เสวยอารมณ์ย่อมเป็นสุขเวทนาเท่านั้น" แล้วกลับปฏิเสธวาทะนั้นอีก
ได้กล่าวว่า "สุขเวทนาก็ตาม ทุกขเวทนาก็ตาม อุเบกขาเวทนาก็ตาม ทั้งหมดนั้นมีหน้าที่เสวยอารมณ์"
แล้วแสดงเนื้อความนี้ว่า ครั้นถึงฐานะการเสวยรสแห่งอารมณ์แล้ว สัมปยุตตธรรมที่เหลือย่อมเสวยอารมณ์
ได้บ้างเป็นบางส่วน กล่าวคือ ผัสสะก็กระทบอารมณ์เป็นบางส่วน สัญญามีจำอารมณ์ เจตนามีความตั้งใจ
วิญญาณมีเพียงการรู้อารมณ์ แต่เวทนาเท่านั้นย่อมเสวยรสแห่งอารมณ์โดยแท้ด้วยความเป็นใหญ่
เป็นผู้สมควรเป็นเจ้าของ

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ก.พ. 2016, 06:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว




cats.jpg
cats.jpg [ 37.15 KiB | เปิดดู 7276 ครั้ง ]
“สัญญาเจตสิก”

สัญญาเจตสิก :- มีสภาพรู้ มีหน้าที่กระทำความรู้ต่อกันมาอีก
และ“สัญญาเจตสิก” เป็นธรรมชาติที่จำอารมณ์ เช่น จำอารมณ์นี้ว่า เป็นสีเขียว สีแดง
ยาว กลม แบน เหลี่ยม เป็นต้น มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้คือ

๑. มีความจำ เป็นลักษณะ
๒. มีการทำเครื่องหมายให้รู้ต่อไป เป็นกิจ
๓. มีการทำเครื่องหมายให้ไว้ เป็นผล
๔. มีอารมณ์ที่ปรากฏ เป็นเหตุใกล้

ข้อสังเกต

- สัญญา นอกจากได้จำอารมณ์แล้ว ยังกระทำเครื่องหมายไว้เพื่อเป็นปัจจัยแก่การจำได้อีกในภายหลัง
และถือว่าเป็นหน้าที่หรือกิจของสัญญาโดยเฉพาะ คนที่มีความจำดีนั้นเป็นเพราะเขาเป็นคนช่างสังเกต
ไม่ละเว้นแม้แต่ในสิ่งเล็กๆ น้อยๆ การช่างสังเกตจะทำให้พบสิ่งที่แตกต่างกันของอารมณ์แต่ละอย่าง
ซึ่งสัญญาจะหมายรู้เอาไว้เพื่อจำได้ในภายหลังอีก

- สัญญา คือ ความจำได้ ที่ว่า นานๆไปแล้วลืม เป็นเพราะสัญญานั้นไม่เที่ยง คือ เกิดแล้วดับไปเป็น
ธรรมดา ถ้าสัญญาเกิดขึ้นเราก็จำได้ ถ้าสัญญาดับเราก็ลืม อันนี้ผิดนะครับ

- ที่ถูกต้อง คือ สัญญาทำกิจไม่ชัดเจน คือ สัญญาไม่ได้หมายรู้ในอาการที่แตกต่างกันของอารมณ์นั้นๆ
จึงทำให้ไม่เป็นปัจจัยแก่การจำได้ในภายหลัง เมื่อได้พบเห็นอารมณ์นั้นๆอีก เราจึงจำไม่ได้ อีกประการคือ
เราไม่ได้ทำความเสพคุ้นเคยกับอารมณ์นั้นบ่อยๆ แต่นานๆทีจึงจะได้พบได้เห็นอารมณ์นั้นสักครั้ง
ทำให้จำไม่ได้

- สัญญาเจตสิก มีความจำได้เพียง ๒ กาลมีความจำได้ในปัจจุบัน และใน อดีด มีการทำเครื่องหมาย
ในปัจจุบัน ระลึกนึกถึงอดีต

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 ก.พ. 2016, 08:24 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว




cats.jpg
cats.jpg [ 27.97 KiB | เปิดดู 7327 ครั้ง ]
เจตนาเจตสิก แปลความว่า มีความตั้งใจ การแสวงหาหรือขวนขวายที่จะให้เป็นไปในอารมณ์
หรือความตั้งใจ หรือความสำเร็จ และยังมีความหมายว่า เจตนานี้เป็นตัวกรรม เกิดกับจิตทุกดวง
เกิดกับอกุศลจิตก็เป็นอกุศลกรรม เกิดกับจิตทีเป็นกุศลก็เป็นกุศลกรรม
เจตนาเจตสิกมีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้

เจตนาภาวลกฺขณา มีการชักชวน เป็นลักษณะ
อายูหนรสา มีการขวนขวาย เป็นกิจ
สํวิธาน ปจฺจุปฏฺฐานา มีการจัดแจง เป็นผล
เสสขนฺธตฺตยปทฺฐานา มีนามขันธ์ทั้ง ๓ ที่เหลือ ( คือ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ วิญญานขันธ์ )
เป็นเหตุใกล้

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 ก.พ. 2016, 08:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


สำหรับเจตสิก ๕๒ ดวง มีเจตสิก ๗ ดวง ซึ่งเป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก
หมายความเป็นเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกับจิตทุกดวง จึงชื่อว่า สัพพจิตตสาธารณเจตสิก

เจตนาเจตสิกเป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก คือ เกิดกับจิตทุกดวง ไม่ว่าจิตนั้นจะเป็นกุศล
หรืออกุศล หรือวิบาก หรือกิริยา

เพราะฉะนั้นโดยชาติของเจตนา ซึ่งท่านผู้ฟังเคยเข้าใจในลักษณะที่ว่า เป็นกุศลเจตนา
หรือเป็นอกุศลเจตนา แต่ตามความจริงแล้วเพราะเหตุว่า เจตนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง
เพราะฉะนั้นลักษณะสภาพของเจตนาเจตสิกโดยชาติมีทั้ง ๔ ชาติ คือ เจตนาที่เป็นอกุศล ก็มี
เจตนาที่เป็นกุศลก็มี เจตนาที่เป็นวิบากก็มี เจตนาที่เป็นกิริยา คือ ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล
และไม่ใช่วิบาก ก็มี

ถูกต้องไหมคะตามเหตุผล ในเมื่อเจตนาเจตสิกเป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก
เกิดกับจิตทุกดวง เพราะฉะนั้นเจตนาเจตสิกก็ต้องมีครบทั้ง ๔ ชาติ คือ ที่เป็นกุศลก็มี
ที่เป็นอกุศลก็มี ที่เป็นวิบากก็มี ที่เป็นกิริยาก็มี

เพราะฉะนั้นเจตนาไม่ใช่มีแต่กุศลเจตนาหรืออกุศลเจตนาเท่านั้น ไม่ว่าจิตใดจะเกิดที่ไหน
ภูมิไหน ทำกิจอะไร เมื่อเป็นจิตเกิดขึ้น ในที่นั้นจะต้องมีเจตนาเจตสิกเป็น สัพพจิตตสาธารณเจตสิก
เกิดร่วมด้วยทุกครั้ง

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ก.พ. 2016, 17:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว




cats.jpg
cats.jpg [ 24.61 KiB | เปิดดู 7307 ครั้ง ]
เอกัคคตาเจตสิก เป็นธรรมชาติที่ทำจิตใจ ให้ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว เพ่งอยู่ในอารมณ์เดียว
ทำให้จิตใจเกิดความสงบเยือกเย็น ไม่ฟุ้งซ่านไปในเรื่องราวต่างๆ ที่เราเรียกว่า สมาธิ เช่น
ในขณะที่อ่านหนังสือก็ดี ถ้ามีจิตแน่วแน่หรือมีสมาธิในการอ่าน จิตใจไม่ซัดส่ายไปคิดเรื่องอื่น
จะทำให้เข้าใจ ในเนื้อหาสาระในหนังสือโดยตลอด เด็กหรือนักศึกษา ถ้าได้รู้จักการฝึกสมาธิแล้ว
จะทำให้เรียนหนังสือได้เก่ง หรือแม้แต่นักกิฬาก็ยังต้องใช้สมาธิเพื่อเอาชนะคู่เเข่งขัน

เอกัคคตาเจตสิกซึ่งเป็นองค์ธรรม ของสมาธิ และเป็นองค์ขององคมรรค ๘ คือสัมมาสมาธิ
และการจะฝึกจิตให้สงบเกิดสมาธินี้ชื่อว่า เป็นกรรมฐานอย่างหนึ่งที่เรียกว่า
สมถกรรมฐาน ซึ่งมีการฝึกถึง ๔๐ วิธี ด้วยกัน รายละเอียดจะได้ศึกษากันต่อไป

เอกัคคตาเจตสิก คือการตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้
อวิกฺเขปลกฺขณา มีการไม่ฟุ้งซ่าน เป็นลักษณะ
สหชาตานํ สมฺปิณฺฑนรสา มีการรวบรวมสหชาตธรรม เป็นกิจ
อุปสมปจฺจุปฏฺฐานา มีความสงบ เป็นผล
สุขปทฏฺฐานา มีสุขเวทนา เป็นเหตุใกล้

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.พ. 2016, 06:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


สมถภาวนา ไม่ใช่การทำสมาธิ สมาธิเป็นสภาพธรรมที่ตั้งมั่นในอารมณ์เดียว
ซึ่งได้แก่เอกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวง เมื่อจิตฝักใฝ่มีอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งนานๆ
ลักษณะของเอกัคคตาเจตสิกก็ปรากฏเป็นสมาธิ คือ ตั้งมั่นแน่วแน่อยู่ที่อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง
เพียงอารมณ์เดียว เอกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิตเป็น มิจฉาสมาธิ
เอกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับกุศลจิตเป็น สัมมาสมาธิ

การทำสมาธิให้จิตจดจ่อที่อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งนานๆนั้น เมื่อไม่ประกอบด้วยปัญญา
ก็เป็นมิจฉาสมาธิ เพราะขณะนั้นเป็นความพอใจที่จะให้จิตตั้งมั่นแน่วแน่อยู่ที่อารมณ์เดียว
เมื่อปราศจากปัญญาก็ไม่สามารถรู้ความต่างกันของโลภมูลจิตและกุศลจิต

ส่วนใหญ่ผู้ที่ทำสมาธิไม่ต้องการให้จิตวุ่นวายเดือดร้อนกังวลไปกับเรื่องราวต่างๆ
พอใจที่จะให้จิตตั้งมั่นอยู่ที่อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง โดยไม่รู้ว่าขณะที่กำลังต้องการให้จิตจดจ่อ
ที่อารมณ์ที่ต้องการนั้น ไม่ใช่มหากุศลญาณสัมปยุตต์

การเจริญสมถภาวนาเป็นการเจริญมหากุศลญาณสัมปยุตต์ ผู้ที่จะเจริญสมถภาวนาต้องเป็น
ผู้มีปัญญาเห็นโทษของอกุศลทั้งโลภะและโทสะ ไม่ใช่เห็นแต่โทษของโทสมูลจิต
ซึ่งเป็นความกังวลใจ เดือดร้อนใจต่างๆเท่านั้น ผู้ที่ไม่รู้จักกิเลสและไม่เห็นโทษของโลภะ
ย่อมไม่เจริญสมถภาวนา

ฉะนั้น ผู้ที่เจริญสมถภาวนาจึงเป็นผู้ตรง มีปัญญาเห็นโทษของโลภะ
และมีสติสัมปชัญญะ รู้ขณะที่ต่างกันของโลภมูลจิตและมหากุศลญาณสัมปยุตตจิต
จึงจะเจริญมหากุศลญาณสัมปยุตต์เพิ่มขึ้นๆ จนอกุศลจิตไม่เกิดแทรกคั่นได้
จนกว่าจะเป็นอุปจารสมาธิ แล้วบรรลุ อัปปนาสมาธิ คือ ปฐมฌานกุศลจิต
ประกอบด้วยองค์ฌาน ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา

การเจริญสมถภาวนาที่จะให้มหากุศลญาณสัมปยุตตจิตเจริญขึ้นๆ จนเป็นบาทให้เกิดปฐมฌานกุศลจิต
ซึ่งเป็นรูปาวจรกุศลนั้น เป็นสิ่งที่กระทำได้ยาก เพราะจะต้องไม่เป็นอภัพพบุคคล คือ
ผู้ที่แม้เจริญสมถะหรือวิปัสสนาก็ไม่อาจบรรลุฌานจิตหรือโลกุตตรจิตได้ ผู้ที่เป็นภัพพบุคคล คือ
ผู้ที่เมื่อเจริญสมถภาวนาหรือวิปัสสนาภาวนาก็อาจจะบรรลุฌานจิตหรือโลกุตตรจิตได้

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 27 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 21 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร