วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 15:57  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 9 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 เม.ย. 2015, 06:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 ก.พ. 2009, 20:49
โพสต์: 3979

แนวปฏิบัติ: พอง-ยุบ
งานอดิเรก: อ่านหนังสือ
ชื่อเล่น: นนท์
อายุ: 42
ที่อยู่: นครสวรรค์

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

:b8: :b8: :b8:

ปฏิปทาวันตรัสรู้


พระธรรมเทศนาโดย...หลวงปู่จวน กุลเชฏฺโฐ
วัดเจติยาคิรีวิหาร (ภูทอก) อ.ศรีวิไล จ.บึงกาฬ


วันนี้จะแสดงพระประวัติของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ของเราเป็นบางตอน
จะขอย้อนแสดงตอนเมื่อวันพระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้น คือในวันเพ็ญเดือน ๖
ตอนเช้าพระองค์ได้รับข้าวมธุปายาสของนางสุชาดา
พระองค์เสวยเสร็จแล้ว ตอนกลางวันได้เสด็จข้ามฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา
มุ่งพระพักตร์คือหน้า เข้าสู้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งอยู่ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา
เมื่อถึงต้นพระศรีมหาโพธิ์*แล้ว
เวลากลางวัน พระองค์ก็ปรารภความพากความเพียร ตามสมณวิสัย
วิเวก สงัด อยู่พระองค์เดียว มีการเดินจงกรมบ้าง นั่งภาวนาบ้าง
ในอิริยาบถทั้งสี่ ตามสมควรแก่สมณวิสัย

พอเวลาใกล้ค่ำ มีโสตถิยะพราหมณ์สองคนพี่น้องได้เกี่ยวหญ้าคา เดินผ่านมาที่นั้น
เห็นพระองค์แล้วเกิดความเชื่อความเลื่อมใส
จึงน้อมเอาหญ้าคานั้นเข้าไปถวายพระองค์
พระองค์รับหญ้าคาของโสตถิยะพราหมณ์ แล้วก็ม้วนเป็นบัลลังก์สำหรับรองประทับที่นั่ง
ครั้นเวลาพลบค่ำ พระองค์เสด็จเข้าสู่ต้นพระศรีมหาโพธิ์
แล้วก็ประทับนั่งที่บัลลังก์หญ้าคา
ผินพระพักตร์คือหน้าสู่บูรพาทิศคือทิศตะวันออก
ผินพระปฤษฎางค์คือหลังเข้าสู่ต้นพระศรีมหาโพธิ์
นั่งขัดบัลลังก์สมาธิ คือเอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย
ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้าคือใจ

ในขณะนั้นพระองค์ได้อธิษฐานจิต น้อมลงไปว่า
การนั่งครั้งนี้ของเรา เป็นการนั่งครั้งสุดท้ายแห่งชีวิตปัจจุบัน
ถ้าหากเราไม่ได้ตรัสรู้เป็นพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
คือเป็นพระพุทธเจ้าแล้วในครั้งนี้
แม้เนื้อ หนัง เอ็น กระดูก จะหลุดลุ่ยเปื่อยผุพังไปจากกันก็ตามที
เลือดจะเหือดแห้งไปก็ตามเถิด
หากเราไม่ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ในการนั่งครั้งนี้แล้ว
จะไม่ลุกจากที่นั่งนี้เลยเป็นอันขาด

แพ้แล้วตายดีกว่า เป็นอยู่ไม่ดีเลย ดังนี้
พระองค์ได้ตั้งพระหฤทัยหนักแน่นเหมือนแผ่นดิน ไม่หวั่นไหวต่อทุกขเวทนา
หรือต่อมรณภัยคือความตาย ตั้งจิตให้กล้าหาญ

แล้วพระองค์ได้ย้อนระลึกถึงเรื่องอดีต
ที่ครั้งเมื่อพระองค์ยังทรงพระเยาว์คือเป็นเด็กอยู่
สมัยนั้นพระบิดาและพระญาติทั้งหลายพาพระองค์ไปแรกนาขวัญคือแรกนาใหม่
เล่นนักขัตฤกษ์ที่ทุ่งนา แล้ววางพระองค์ไว้ผู้เดียวที่ร่มหว้าสีชมพู**
พระบิดาและพระญาติทั้งหลายได้พากันไปเล่นนักขัตฤกษ์ที่ทุ่งนาอย่างสนุกสนาน
จนลืมพระองค์ ลืมเวลา ปล่อยให้พระองค์อยู่ผู้เดียวที่ร่มหว้าสีชมพู
ในขณะนั้นพระองค์ได้นั่งขัดบังลังก์สมาธิ ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้าคือใจ
แล้วพระองค์มีสติมากำหนดลมหายใจเข้าออก
คือมีสติให้รู้ จิตของท่านอยู่กับลมหายใจเข้าออกทุกประโยค

ข้อนี้ขอเปรียบเทียบเพื่อให้เข้าใจง่าย จิตมนุษย์เหมือนกับสัตว์คือลิง
สติเปรียบเหมือนเชือก ลมเปรียบเหมือนหลักหรือตอไม้
อันลิงเป็นสัตว์ที่คะนอง ไม่อยู่สงบได้
ต้องการอยากจะให้ลิงอยู่กับที่หรือยู่สงบ
ต้องเอาเชือกผูกคอลิง แล้วผูกใส่หลักใส่ตอไว้
แม้ลิงนั้นจะดิ้นรนกระเสือกกระสนไปสักเท่าไรๆ
ถ้าเชือกไม่ขาด หลักไม่ถอน ลิงนั้นก็ไปไม่ได้
อันนี้แหละ ฉันใด ลมหายใจเข้าออกเปรียบเหมือนหลักที่ปักไว้
สติเหมือนเชือกผูกอยู่ จิตที่ซุกซนคึกคะนองก็ไปไหนไม่ได้
เหมือนลิงที่ถูกเชือกผูกอยู่กับหลัก ฉันนั้น

พระองค์เอาสติควบคุมจิตมิให้ฟุ้งซ่านเตร็ดเตร่ไปจากลมหายใจ
เอาสติควบคุมจิต ประคับประคองจิตให้อยู่กับลมหายใจ
ลมหายใจเข้าออก ยาวสั้น หยาบละเอียด ก็มีสติรู้
จิตอยู่กับลมหายใจทุกประโยค
ในสมัยนั้น จิตของท่านก็ค่อยสงบไปตามลำดับ ลำดับ
เพราะสติมีกำลังกว่าจิต ควบคุมจิต ประคับประคองจิตอยู่ มิได้พลั้งเผลอ
ผลที่สุดจิตของท่านก็ลงถึงอัปปนาจิต หรืออัปปนาสมาธิ หรือฐีติจิต คือจิตดั้งเดิม
ลงไปพักอยู่เฉพาะจิตล้วนๆ ไม่มีอารมณ์อะไรเจือปน
แม้ทุกขเวทนา ความเจ็บปวดรวดร้าว ไม่มีเข้าไปเสียดแทงในจิตประเภทนั้น
เพราะจิตประเภทนั้นเป็นจิตที่ละเอียด สุขุมมาก
เลยเวทนาไปแล้ว ละเอียดกว่าเวทนา ละเอียดกว่าอารมณ์ทั้งหมด
พระองค์เสวยความสุขในฐีติจิตขณะนั้นอย่างสบายๆ เลย
ไม่มีเวทนา ความเจ็บปวด เสียดแทงเข้าไปรบกวนจิตประเภทนั้น

นี้พระองค์ระลึกถึงเรื่องอดีตที่พระองค์ยังทรงพระเยาว์อยู่
ได้เข้าฌานหรือเข้าสมาธิในสมัยนั้น พระองค์ระลึกได้ว่าเป็นสิ่งที่สบายยิ่งนัก
แล้วพระองค์จึงมาพิจารณาเรื่องนั้น ว่าวิธีนั้นชะรอยจะเป็นทางตรัสรู้กระมัง
ดังนี้แล้ว พระองค์จึงเอาวิธีนั้นมาประพฤติปฏิบัติทดสอบดูในคืนวันนั้น
โดยได้อธิษฐานจิตให้มั่น

พระองค์ได้ตั้งอิทธิบาททั้งสี่ไว้เป็นประธานของสังขารทั้งหลาย
คือเป็นใหญ่กว่าสังขารทั้งหลาย ไม่มีจิตหวั่นไหวต่อสังขารธรรม
คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ
ตั้งอิทธิบาททั้งสี่ไว้เป็นประธานของสังขารทั้งหลาย
คือ ฉันทิทธิบาท มีความพอใจด้วยความมีสติปัญญา

รู้จิตของท่านอยู่กับลมหายใจทุกประโยค
แม้ลมจะออกยาวเข้ายาว ออกสั้นเข้าสั้น อย่างไหนๆ ก็ตาม
พระองค์ไม่ได้บังคับลม
เป็นแต่มีสติปัญญารู้จิตของท่านอยู่กับลมหายใจทุกประโยคเท่านั้น
วิริยิทธิบาท มีความเพียรด้วยความมีสติปัญญา
รู้จิตของท่านอยู่กับลมหายใจทุกประโยค
จิตติทธิบาท เอาใจฝักใฝ่ด้วยความมีสติปัญญา
ให้รู้ใจของท่านอยู่กับลมหายใจทุกประโยค
วิมังสิทธิบาท มีสติปัญญารู้จิตของท่านอยู่กับลมหายใจทุกประโยค ดังนี้

เมื่อสติมีกำลังกว่าจิต ควบคุมจิตได้แล้ว ควบคุมจิตให้อยู่
จิตนั้นเมื่อมีสติควบคุมอยู่ มีกำลังมากกว่า ไม่สามารถที่จะเล็ดลอดไปจากสติได้
ต่อแต่นั้นจิตของท่านก็ค่อยสงบไปตามลำดับๆ
ความสุขก็ปรากฏเกิดขึ้นตามลำดับๆ แห่งความสงบของจิต
ลมก็ละเอียดเข้าไปตามลำดับๆ แห่งความสงบของจิต
ผลที่สุดจิตของท่านก็รวมใหญ่ ลงถึงฐีติจิต หรืออัปปนาจิต หรืออัปปนาสมาธิ
เข้าไปรวมเฉพาะจิตล้วนๆ ไม่มีนิมิตอารมณ์อะไรเจือปน
เวทนา ความเจ็บปวดรวดร้าว ไม่มีเข้าไปเสียดแทงในจิตประเภทนั้น
เพราะจิตประเภทนั้นเป็นจิตที่ละเอียดสุขุมมาก
เลยเวทนาไปแล้ว ไม่มีเวทนาเข้าไปรบกวนจิตประเภทนั้น
แม้แต่ภายในอารมณ์ของจิตก็ไม่มี จิตเข้าไปรวมเลื่อมประภัสสรอยู่อย่างนั้น

ตอนนี้พระองค์ก็มีสติทุกระยะ ไม่ขาดสติปัญญา
รอบรู้อยู่ว่าจิตของเรามารวมมาพักอยู่อย่างนี้
และพระองค์ก็พิจารณาตรวจตราดูในจิตประเภทนี้
ว่า จิตของเราที่มารวมอยู่นี้ เป็นแต่มาพักอยู่
ไม่ใช่ทางตรัสรู้ ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์

พระองค์ทำความรอบรู้ในจิตที่รวมอยู่ ไม่รบกวนจิต ไม่ถอนจิต
เป็นแต่มีสติรอบรู้อยู่เท่านั้น เมื่อจิตของท่านรวมพอประมาณ
จิตของท่านก็พลิกขณะจากการรวม พลิกขณะขึ้นมาบ้างนิดหน่อย
จะว่ามาอยู่ในขั้นอุปจารสมาธิก็ว่า
เมื่อจิตของท่านพลิกจากการรวมขึ้นมานิดหน่อยเท่านั้นก็ตาม
แต่สติปัญญาของท่านบริบูรณ์ ไม่บกพร่อง
รอบรู้อยู่กับจิต กำกับอยู่กับจิต ควบคุมอยู่กับจิต

ตอนนี้เมื่อจิตของท่านถอนขึ้นมาจากฐีติจิตบ้างเล็กน้อยแล้ว
ท่านก็ได้ญาณที่หนึ่ง เรียกว่า ปุพเพนิวาสานุสติญาณ
คือ รู้จักการระลึกถึงชาติหนหลังได้ ตั้งแต่หนึ่งชาติจนถึงเอนกชาติ หาประมาณมิได้
ในการท่องเที่ยวเกิดแก่เจ็บตายของพระองค์และสัตว์อื่นไม่มีประมาณ
นี้เป็นตอนปฐมยาม ยามต้น ยามแรก
ความรู้ ระลึกชาติได้นี้ หาประมาณมิได้ในชาติของพระองค์และสัตว์อื่น
ที่ท่องเที่ยวเกิดแก่เจ็บตายในกำเนิด ๔ ในคติ ๕ ในภพทั้ง ๓ คือกามภพ รูปภพ อรูปภพ
ในวิญญาณฐีติจิต ๗ ในสัตตาวาส ๙ ให้เป็นทุกข์อยู่ร่ำไป
แม้จะเกิดในนรก เป็นเปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน และมนุษย์
พวกเทพเจ้า เหล่าอทิสสมานกายก็ตาม พระองค์ก็รู้ ในญาณชนิดนี้
เรื่องอดีตชาติหนหลังที่ท่องเที่ยว เกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่มีที่สิ้นสุด หาประมาณมิได้
นี้แสดงว่าพระองค์รู้หมดทั้งนรกและสวรรค์
ที่พระองค์ได้ท่องเที่ยว เกิด แก่ เจ็บ ตาย ได้ผ่านมา

และพระองค์ก็ตรวจตราดูญาณประเภทนี้ ที่ระลึกชาติหนหลังได้นี้
ว่าไม่ใช่ความรู้หรือญาณความรู้เป็นเหตุให้ตรัสรู้เพื่อความพ้นทุกข์ไปได้
เป็นแต่รู้ตามอาการของสังขารที่เทียวเกิด แก่ เจ็บ ตาย ในเรื่องอดีตเท่านั้น หาต้นหาปลายมิได้
ญาณความรู้ประเภทนี้ ไม่ใช่ความรู้เพื่อเป็นเหตุให้ตรัสรู้พ้นไปจากทุกข์ได้

เมื่อพระองค์ได้ญาณระลึกชาติหนหลังได้ ของพระองค์และของสัตว์อื่น
ที่ท่องเที่ยว เกิด แก่ เจ็บ ตาย ให้เป็นทุกข์อยู่ร่ำไป ไม่มีที่สิ้นสุด
เรื่องอดีตชาติหนหลัง เป็นเหตุให้พระองค์ได้เกิดความสลดรันทด ทอดใจใหญ่
เกิดความสังเวชใจ จนเป็นเหตุให้น้ำพระเนตรคือน้ำตาของท่านไหลออกทีเดียว
เพราะเกิดความสลดสังเวช สงสารชาติของตนและของสัตว์อื่น
ที่ท่องเที่ยว เกิด แก่ เจ็บ ตาย ให้เป็นทุกข์อยู่ร่ำไป
ในเรื่องอดีตชาติหลังๆ ไม่มีที่สิ้นสุด
และเกิดความกลัวสยดสยองขนพองสยองเกล้า ในการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ในเรื่องอดีต
เท่ากับว่าพระองค์ได้เห็นขุมนรกที่พระองค์ได้ตกหมกไหม้มาแล้ว ผ่านมาแล้ว
เกิดความเกรง ความกลัว เกิดความเบื่อหน่ายในชาติ คือความเกิด
ในกำเนิด ๔ ในคติ ๕ ในภพทั้ง ๓ ในวิญญาณฐีติ ๗ ในสัตตาวาส ๙
ให้เป็นทุกข์อยู่ร่ำไป ในเรื่องอดีตหนหลังชาติหลัง พิจารณาไปก็ไม่มีที่สิ้นสุด

แล้วพระองค์ก็ตรวจตราดูว่าความรู้คือญาณประเภทนี้ ก็ไม่ใช่ทางตรัสรู้ให้พ้นทุกข์ได้
ต่อจากนั้นพระองค์จึงน้อมเข้ามา
โอปนยิโก น้อมเข้ามาพิจารณาสาวหาเหตุและปัจจัยของธรรมทั้งหลาย
ว่าสัตว์ทั้งหลายที่ท่องเที่ยว เกิด แก่ เจ็บ ตาย
ในเรื่องอดีตก็ดี อนาคตและปัจจุบันนี้ก็ดี ให้เป็นทุกข์อยู่ร่ำไปนั้น
ต้องมีเหตุมีปัจจัย ถ้าไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย
สัตว์ทั้งหลายจะท่องเที่ยว เกิด แก่ เจ็บ ตาย
ให้เป็นทุกข์อยู่ร่ำไปนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้
พระองค์ค้นหาตัวเหตุ ตัวปัจจัยที่ให้สัตว์ทั้งหลายท่องเที่ยว เกิด แก่ เจ็บ ตาย
เมื่อพระองค์พิจารณาค้นคว้าดูก็รู้
ตัวเหตุตัวปัจจัยนี้คือกัมมวัฏฏ กิเลสวัฏฏ
ได้แก่ตัวสมุทัย คือตัณหา ความอยากนี้นี่เอง
เป็นตัวเหตุตัวปัจจัยให้สัตว์ทั้งหลายท่องเที่ยว
เกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่มีที่สิ้นสุด


แท้จริงสัตว์ทั้งหลายท่องเที่ยว เกิด แก่ เจ็บ ตาย
ในกำเนิด๔ ในคติ ๕ ในภพทั้ง ๓ ในวิญญาณฐีติ ๗ ในสัตตาวาส ๙
ให้เป็นทุกข์อยู่ร่ำไปนั้น ก็ได้แก่ขันธ์ ๕
คือรูปนามนี้นี่เอง ท่องเที่ยว เกิดแล้วเกิดเล่า
แม้จะไปตกนรก เป็นเปรต เป็นผี เป็นอสุรกาย เป็นมนุษย์ เป็นพวกเทวบุตร เทวดา
เป็นพระอินทร์ พระพรหม เป็นพระอิศวร พระนารายณ์ ท้าวมหาพรหมก็ดี
ก็รูปนามนี้เอง มิใช่อื่น คือรูปนามขันธ์ ๕ นี้เองเป็นสัตว์ทั้งหลาย
แต่รูปนามคือขันธ์ ๕ นี้ที่จะท่องเที่ยวเกิดแล้วเกิดเล่า ในคติในภพในกำเนิดต่างๆ นั้น
ก็เพราะอาศัยตัวเหตุตัวปัจจัยนี้คือกัมมวัฏฏ กิเลสวัฏฏ
ได้แก่ตัวสมุทัยคือตัณหานี้

ตัวสมุทัยคือตัณหาความอยากนี้นี่แหละ เป็นตัวเหตุให้เกิดภพอีก
ท่านจึงชี้หน้าตาตัวตัณหา และจี้ตัวตัณหาว่า
ยายงฺตณฺหา ตัณหาคือความอยากนี้ใด
โปโนพฺวิกา เป็นเหตุให้ก่อภพอีก คือให้เกิดในกำเนิด ๔ ในคติ ๕
ในภพทั้ง ๓ ในวิญญาณฐีติ ๗ ในสัตตาวาส ๙
เพราะเหตุแห่งตัณหา คือความอยากนี้
นนฺทิ คือความยินดี ราค คือความกำหนัด
ตตฺตรตตฺตรา ภินนฺทินี คือความเพลิดเพลิน ลุ่มหลง ฟุ้งเฟ้อ เห่อเหิม
ตามความรักความกำหนัด ตามความยินดีที่มีอยู่
กล่าวคือความอยากในกามารมณ์
ความรัก ความใคร่ ความพอใจ ในกามารมณ์
ที่มากระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายและทางใจ
ความทะเยอทะยาน อยากเป็นโน่นเป็นนี่ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป
สุดแท้แต่ตนมีความอยากอย่างไหน
ก็มีความทะเยอทะยาน ไปตามความอยากของตนที่มีอยู่
วิภวตณฺหา คือความไม่อยากมี ไม่อยากเป็นในสิ่งที่ตนไม่ชอบ ไม่พอใจ
เช่น มีลาภ ไม่อยากให้เสื่อมลาภ มียศ ไม่อยากให้เสื่อมยศ
มีสรรเสริญ ไม่อยากให้มีนินทา มีสุข ไม่อยากให้มีทุกข์
มีความเกิดมาแล้วไม่อยากให้มีแก่ มีเจ็บ มีตาย เหล่านี้เป็นต้น

ตัณหาคือความอยากนี้แล เป็นตัวเหตุตัวปัจจัย
ให้สัตว์ทั้งหลายท่องเที่ยว เกิด แก่ เจ็บ ตาย ให้เป็นทุกข์อยู่ร่ำไปไม่มีที่สิ้นสุด
ความไม่รู้ตัวนี้ คือความไม่รู้ตัวเหตุตัวปัจจัยนี้ ท่านก็เรียกว่าอวิชชา
เมื่อเป็นผู้หลงไม่รู้ตัวเหตุตัวปัจจัย มันจึงเป็นปัจจยาการ
เป็นอาการที่สืบเนื่องแห่งวัฏฏะ
เป็นอาการสืบเนื่องแห่งทุกข์ทั้งหลาย
เป็นอาการที่ประมวลมาซึ่งทุกข์ทั้งหลาย
เป็นอาการที่ประมวลมาสืบเนื่อง ให้เทียวเกิด แก่ เจ็บ ตาย

ในกำเนิด๔ ในคติ ๕ ในภพทั้ง ๓ ในวิญญาณฐีติ ๗ ในสัตตาวาส ๙
ให้เป็นทุกข์อยู่ร่ำไปไม่มีที่สิ้นสุด
นี้พระองค์รู้ด้วยพระปรีชาปัญญาอันละเอียดอย่างนี้ ในปฐมยาม

ตกลงว่าในปฐมยามนั้นพระองค์รู้อริยสัจ ๔
คือ รู้ทุกข์ รู้เหตุให้เกิดทุกข์
รู้ธรรมเป็นที่ดับทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมเป็นที่ดับทุกข์

และพิจารณาเหตุปัจจัยอันเป็นตัวเหตุ เป็นธรรมเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ก็ไม่มีที่สิ้นสุด
เป็นของที่น่าพิลึกพึงกลัวยิ่งนัก นี้ในปฐมยาม



:b44: หมายเหตุ : * “ต้นพระศรีมหาโพธิ์” อ่านเพิ่มเติมได้จากบทความ
ประวัติ “ต้นพระศรีมหาโพธิ์” ทั้ง ๔ ต้น ณ พุทธคยา แดนตรัสรู้

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=39333

** “ต้นหว้า” มีชื่อในภาษาบาลี-สันสกฤตว่า “ชมฺพุ” หรือต้นชมพู
อ่านเพิ่มเติมได้จากบทความ “หว้า ต้นไม้แห่งปฐมฌานของเจ้าชายสิทธัตถะ”

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=17&t=19580

tongue tongue tongue

.....................................................
แม้มิได้เป็นสุระแสงอันแรงกล้า ส่องนภาให้สกาวพราวสดใส
ขอเป็นเพียงแสงแห่งดวงไฟ ส่องทางให้มวลชนบนแผ่นดิน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 เม.ย. 2015, 06:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 ก.พ. 2009, 20:49
โพสต์: 3979

แนวปฏิบัติ: พอง-ยุบ
งานอดิเรก: อ่านหนังสือ
ชื่อเล่น: นนท์
อายุ: 42
ที่อยู่: นครสวรรค์

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:

ย่างเข้าสู่มัชฌิมยามคือยามกลาง พระองค์ก็มีสติควบคุมจิต
น้อมเข้ามาพิจารณาลมหายใจเหมือนเดิม ไม่ทิ้งหลักเดิม
ได้ตั้งอิทธิบาททั้ง ๔ ไว้เป็นประธานของสังขารทั้งหลาย
คือ ฉันทิทธิบาท มีความพอใจด้วยความมีสติปัญญา
รู้ใจของท่านอยู่กับลมหายใจทุกประโยค
วิริยิทธิบาท มีความเพียรด้วยความมีสติปัญญา
รู้ใจของท่านอยู่กับลมหายใจทุกประโยค
จิตติทธิบาท เอาใจฝักใฝ่ด้วยความมีสติปัญญา
รู้จิตของท่านอยู่กับลมหายใจทุกประโยค
วิมังสิทธิบาท มีสติปัญญาหมั่นค้นคว้าพินิจพิจารณา
ให้รู้ทุกข์ รู้เหตุให้เกิดทุกข์ รู้ธรรมเป็นที่ดับทุกข์
รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์ อยู่กับลมหายใจทุกประโยค


เมื่อสติทันจิต ควบคุมจิตให้อยู่ มีกำลังกว่าจิต
จิตของท่านก็ค่อยสงบไปตามลำดับๆ
ความสุขก็ปรากฏขึ้นตามลำดับๆ แห่งความสงบ
ผลที่สุดจิตของท่านลงถึงฐีติจิตเหมือนเดิม ที่เคยรวมรู้รวมมา
เข้าไปพักอยู่เฉพาะจิตล้วนๆ ไม่มีอารมณ์อะไรเจือปน
และไม่มีเวทนา ความเจ็บปวด เสียดแทงเข้าไปรบกวนจิตประเภทนั้น
เพราะจิตประเภทนั้นเป็นจิตที่ว่าละเอียด สุขุม วางธาตุวางขันธ์ได้

ความสุขในฐีติจิตนั้นประมาณมิได้
เป็นความสุขที่หาประมาณไม่ได้ เป็นความสุขที่ว่าละเอียดยิ่งนัก
ผู้เข้าถึงฐีติจิตแล้ว จึงจะรู้รสความสุขแห่งฐีติจิตนั้นว่าเป็นอย่างไร
แต่ผู้ไม่เข้าถึงแล้วหารู้ได้ไม่

เมื่อจิตของท่านรวมลงถึงฐีติจิต จิตดั้งเดิมแล้ว
ซึ่งเข้าไปพักอยู่เฉพาะจิตล้วนๆ ท่านก็มีสติปัญญารอบรู้จิตของท่านอยู่
ว่าจิตของเรามารวมพักเอากำลังเท่านั้น ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ให้พ้นทุกข์
พระองค์ไม่รบกวนจิต เป็นแต่มีสติปัญญารอบรู้จิตที่รวมอยู่และไม่ถอนจิต
ปล่อยให้จิตถอนเอง ตามที่เป็นมา

เมื่อจิตของท่านรวมพอประมาณแล้ว
ต่อแต่นั้นในมัชฌิมยามคือยามกลางนี้ จิตของท่านก็พลิกขณะ
คือถอนจากการรวม แต่สติปัญญาของท่านบริบูรณ์ไม่บกพร่อง
เมื่อจิตของท่านถอนจากการรวมขึ้นมาบ้างเล็กน้อย
ตอนนี้พระองค์ได้ญาณที่สอง เรียกว่า จุตูปปาตญาณ
คือรู้จักการจุติแปรผันของสัตว์อื่นได้ไม่มีประมาณ
ว่าสัตว์นี้ตายจากที่นี้ไปเกิดที่นั้น และไปเกิดเป็นอย่างนั้น มีสุขมีทุกข์อย่างนั้น
จะไปตกนรก หรือเป็นเปรตเป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน หรือเป็นมนุษย์
เป็นพวกเทวบุตรเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม เป็นยมยักษ์ เป็นครุฑเป็นนาค
พระองค์ก็รู้ได้ มีฐานะอย่างนั้น ดีชั่วอย่างนั้น
มีรูปพรรณสัณฐานอย่างนั้น อาการอย่างนั้น อายุอย่างนั้น

นี่จุตูปปาตญาณ พระองค์รู้จักการจุติแปรผันของสัตว์
ว่าสัตว์ทั้งหลายตายแล้วก็ต้องเกิดอีก
และการจุติแปรผันตายๆ เกิดๆ ของสัตว์ก็ไม่มีที่สิ้นสุด
หาที่หยุดที่ยั้งไม่ได้ หาต้นหาปลายไม่ได้
และพระองค์ก็มาพิจารณาว่า อะไรเป็นตัวเหตุตัวปัจจัย
ให้สัตว์ทั้งหลายเทียวจุติ แปรผัน เกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่แล้วไม่เล่า
การที่สัตว์ทั้งหลายจะท่องเที่ยว เกิด แก่ เจ็บ ตาย ให้เป็นทุกข์อยู่ร่ำไป
ก็ต้องมีเหตุมีปัจจัยทีเดียว จะเกิดโดยลำพังหรือลอยๆ โดยลำพังด้วยตนเองย่อมเป็นไม่ได้
ต้องมีเหตุมีปัจจัย ให้เกิด ให้แก่ ให้เจ็บ ให้ตาย
คือให้ท่องเที่ยว เกิด แก่ เจ็บ ตาย ในเรื่องอนาคตข้างหน้าต่อไป
ในกำเนิด ๔ ในคติ ๕ ในภพทั้ง ๓ ในวิญญาณฐีติจิต ๗ ในสัตตาวาส ๙
ให้เป็นทุกข์อยู่ร่ำไปไม่แล้วไม่รอด ต้องมีเหตุมีปัจจัย
พระองค์ก็มาพิจารณาค้นหาตัวเหตุตัวปัจจัยอีกเหมือนเดิม รู้ตัวเหตุตัวปัจจัย

เช่นปฐมยาม พระองค์ได้ตั้งอิทธิบาททั้ง ๔ ไว้เป็นประธานของสังขาร
คือ ฉันทิทธิบาท มีความพอใจด้วยความมีสติปัญญา
กำหนดรู้ดูเหตุและปัจจัยของธรรมทั้งหลาย
คือให้รู้เหตุและปัจจัยของธรรมทั้งหลาย อยู่กับลมหายใจทุกประโยค
มี วิริยิทธิบาท มีความเพียรด้วยความมีสติปัญญา
กำหนดให้รู้ดูเหตุและปัจจัยของธรรมทั้งหลาย สาวหาเหตุและปัจจัยของธรรมทั้งหลาย
ให้รู้เหตุและปัจจัยของธรรมทั้งหลาย อยู่กับลมหายใจทุกประโยค
จิตติทธิบาท เอาใจฝักใฝ่ด้วยความมีสติปัญญา
กำหนดให้รู้เหตุและปัจจัยของธรรมทั้งหลาย อยู่กับลมหายใจทุกประโยค
วิมังสิทธิบาท หมั่นค้นคว้าพินิจพิจารณาด้วยความมีสติปัญญา
ให้รู้เหตุและปัจจัยของธรรมทั้งหลาย อยู่กับลมหายใจทุกประโยค
หมั่นค้นคว้าพินิจพิจารณาด้วยความมีสติปัญญา
ให้รู้ในสัจธรรมทั้ง ๔ คือให้รู้ว่านี่ทุกข์ คือความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นทุกข์ เป็นต้น
ให้รู้ว่านี่เหตุให้เกิดทุกข์ คือตัวเหตุตัวปัจจัย ได้แก่ตัวสมุทัย
คือตัณหาซึ่งเป็นตัวเหตุตัวปัจจัย ให้เกิดทุกข์ร่ำไปไม่มีที่สิ้นสุด
ค้นหาพินิจพิจารณาด้วยความมีสติปัญญา ว่าอันนี้คือธรรมเป็นที่ดับทุกข์
ค้นคว้าพินิจพิจารณาให้รู้ให้เห็นว่า นี้คือข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์ ดังนี้

ตกลงว่าในคืนวันนั้นตั้งแต่ปฐมยามคือยามต้น
จนตลอดถึงมัชฌิมยามคือยามกลาง
พระองค์ได้ค้นดูให้รู้อริยสัจสี่ คือ ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์
ธรรมเป็นที่ดับทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมเป็นที่ดับทุกข์
อย่างเต็มภูมิอย่างเต็มที่ และพระองค์พิจารณากำหนดรู้ว่า
อันสัตว์ทั้งหลายที่ท่องเที่ยว เกิด แก่ เจ็บ ตาย
ไม่รู้ไม่แล้ว ไม่สิ้นไม่สุด ให้เป็นทุกข์อยู่ร่ำไปนั้น
ก็เพราะเหตุและปัจจัย คือตัวกัมมวัฏฏ กิเลสวัฏฏ
ได้แก่ตัวสมุทัย คือตัณหา ความอยากนี้นี่เอง เป็นตัวเหตุตัวปัจจัย
เป็นตัวกระแสพัดสัตว์ทั้งหลาย ให้เที่ยว เกิด แก่ เจ็บ ตาย

ตัวสมุทัยคือตัณหานี้ เป็นกระแสของภวังค์คือภพ
พัดสัตว์ทั้งหลายให้เกิดอยู่ใน กามภพ รูปภพ อรูปภพ
ให้เป็นทุกข์อยู่ร่ำไปไม่มีที่สิ้นสุด

นี่ถ้าหากไม่ตัดเสียซึ่งกระแสของภวังค์คือภพ
ถ้าไม่ทำกระแสของภวังค์คือภพตัณหานี้ ให้สิ้นไป
ถ้าไม่ดับตัณหานี้โดยไม่ให้เหลือนั้นนั่นเทียว
ถ้าไม่ละไม่วางไม่ปล่อย ไม่สละสลัดตัดขาดจากตัณหานี้
แล้วเมื่อไหร่ทุกข์ทั้งหลาย คือ ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย
ในกำเนิด ๔ ในคติ ๕ ในภพทั้ง ๓ ในวิญญาณฐีติจิต ๗ ในสัตตาวาส ๙
ก็ไม่หยุดไม่ยั้ง เพราะเหตุแห่งกระแสตัวนี้
ซึ่งเป็นตัวเหตุตัวปัจจัย ให้สัตว์ทั้งหลายท่องเที่ยว เกิด แก่ เจ็บ ตาย
ได้แก่ตัณหาคือความอยากนี้ เป็นกระแสพัดสัตว์ทั้งหลาย
ให้เกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่ในโลก ไม่มีที่สิ้นสุด ให้เป็นทุกข์อยู่ร่ำไป

นี่พระองค์รู้ในยามกลาง ถ้าหากยังมีเหตุมีปัจจัยอยู่ตราบใด
การที่ท่องเที่ยว เกิด แก่ เจ็บ ตาย
ในกำเนิด ๔ ในคติ ๕ ในภพทั้ง ๓ ในวิญญาณฐีติ ๗ ในสัตตาวาส ๙
ให้เป็นทุกข์อยู่ร่ำไป ของสัตว์ทั้งหลาย ก็ต้องมีอยู่ตราบนั้น ไม่มีที่สิ้นสุด
เป็น ปัจจยาการ เป็นอาการสืบเนื่องแห่งภพแห่งชาติไม่มีที่สิ้นสุด
หมุนกันอยู่อย่างนี้อยู่ในรอบเก่า
จึงเรียกว่าโลกกลม เป็นวัฏวน เป็นวัฏจักร หรือเป็นสังสารจักร
สังสารจักรก็คือตัวเหตุตัวปัจจัย ตัวสมุทัยคือตัณหานี้แล
ความไม่รู้ ตัวนี้ว่าเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ท่านก็เรียกว่า อวิชชา
เป็นผู้หลงจึงเป็นปัจจยาการ เป็นอาการสืบเนื่องต่อๆ ไป


ดังท่านแสดงว่า อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร
สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ

คือปฏิสนธิวิญญาณที่จะต้องถือเอากำเนิด ๔ ในคติ ๕
ในภพทั้ง ๓ ในวิญญาณฐีติ ๗ ในสัตตาวาส ๙ นั้นเอง
วิญญาณเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป คือ ขันธ์ ๕
นามรูปเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดอายตนะภายในและภายนอก
ภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
ภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส คือสิ่งที่มาถูกต้อง
อายตนะเป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ คือ สิ่งที่มาถูกต้อง
ผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา คือ ความเสวย ได้แก่ สุข ทุกข์ ไม่สุข ไม่ทุกข์
เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา คือ ความอยาก ความดิ้นรน
ตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน คือ ความยึดมั่นถือมั่น
ว่านั่นเป็นเรา ว่าเราเป็นนั่นเป็นนี่ ว่านั้นเป็นตนของเรา
อุปาทานเป็นปัจจัยให้เกิดภพ คือ ความหยั่งลงถือเอา
คือ ถือเอาในคติต่างๆ ในกำเนิดต่างๆ ในภพต่างๆ นั้นนั่นเอง
ภพเป็นปัจจัยให้เกิดชาติ คือ ความปรากฏขึ้นซึ่งรูปและนาม คือ ขันธ์ ๕
ชาติเป็นปัจจัยให้เกิดชรา ความแก่ พยาธิ ความเจ็บ มรณะ ความตาย
ความโศกความเศร้า ความทุกข์กายทุกข์ใจ ความเสียใจ ความคับแค้นใจ

ทุกข์ทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นด้วยประการอย่างนี้
ซึ่งมีอวิชชาเป็นต้นเหตุที่ไม่รู้จริง จึงเป็นปัจจยาการ
ประมวลมาซึ่งทุกข์ทั้งหลาย กำเนิดและภพทั้งหลาย
เป็นอาการที่สืบเนื่องกันไม่มีที่สิ้นสุดเหมือนลูกโซ่นี้ ถ้าไม่รู้
แต่ถ้ารู้ตัวเหตุตัวปัจจัย คือตัวสมุทัย ตัณหา
คือความอยากนี้ว่าเป็นตัวเหตุตัวปัจจัยแล้ว
ก็เป็น วิชชา ความรู้แจ้งเห็นจริงแล้ว ก็ตัดอวิชชาความมืดออกได้เท่านั้น
แสงสว่าง คือ ปัญญา ก็เกิดขึ้นเท่านั้นเอง นั่นดับเสียได้ซึ่งตัวเหตุตัวปัจจัย
เพราะวิชชาเกิดขึ้นแล้ว อวิชชาก็ดับไป ดังนี้
นี้เป็นมัชฌิมยามคือยามกลาง ค้นคว้าใน ปฏิจจสมุปบาท คือ ปัจจยาการ
มิฉะนั้นก็ไม่มีที่สิ้นสุด นอกจากจะดับ จะละ จะวางเท่านั้น
ซึ่งตัวเหตุตัวปัจจัย อันเป็นธรรมให้หมุนติ้วอยู่ในวัฏสงสาร นี้เป็นยามกลาง


smiley smiley smiley

.....................................................
แม้มิได้เป็นสุระแสงอันแรงกล้า ส่องนภาให้สกาวพราวสดใส
ขอเป็นเพียงแสงแห่งดวงไฟ ส่องทางให้มวลชนบนแผ่นดิน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 เม.ย. 2015, 06:28 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 ก.พ. 2009, 20:49
โพสต์: 3979

แนวปฏิบัติ: พอง-ยุบ
งานอดิเรก: อ่านหนังสือ
ชื่อเล่น: นนท์
อายุ: 42
ที่อยู่: นครสวรรค์

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:

เมื่อย่างเข้าปัจฉิมยาม คือยามสุดท้าย
พระองค์ก็มีสติน้อมเข้ามาพิจารณาลมหายใจเข้าออกเช่นเดิม
ได้ตั้งอิทธิบาททั้ง ๔ ไว้เป็นประธานของสังขาร

คือ ฉันทิทธิบาท มีความพอใจด้วยความมีสติปัญญา
หยั่งรู้หยั่งเห็นอริยสัจธรรมทั้งสี่ คือ ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์
ธรรมเป็นที่ดับทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมเป็นที่ดับทุกข์ อยู่กับลมหายใจทุกประโยค
วิริยิทธิบาท มีความเพียรด้วยความมีสติปัญญา
หยั่งรู้หยั่งเห็นทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ธรรมเป็นที่ดับทุกข์
ข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมเป็นที่ดับทุกข์ อยู่กับลมหายใจทุกประโยค
จิตติทธิบาท เอาใจฝักใฝ่ด้วยความมีสติปัญญา
หยั่งรู้หยั่งเห็นทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ธรรมเป็นที่ดับทุกข์
ข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมเป็นที่ดับทุกข์ อยู่กับลมหายใจทุกประโยค
วิมังสิทธิบาท มีสติปัญญาหมั่นค้นคว้าพินิจพิจารณา
ให้รู้ทุกข์ รู้เหตุให้เกิดทุกข์ รู้ธรรมเป็นที่ดับทุกข์
รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมเป็นที่ดับทุกข์
อยู่กับลมหายใจทุกประโยค มิให้พลั้งเผลอ

สติปัญญาของพระองค์บริบูรณ์เต็มที่ไม่บกพร่องตลอดเวลา เป็น อกาลิโก
มีสติควบคุม มีปัญญารอบรู้จิต อยู่กับลมหายใจทุกประโยค มิให้พลั้งเผลอ
แม้ยามสุดท้ายนี้จิตของท่านก็รวมลงสู่ฐีติจิตเหมือนเก่าที่เคยรวมมา
พระองค์ก็มีสติปัญญารอบรู้ว่าจิตของเราพักอยู่ ไม่รบกวนจิต
เมื่อจิตรวมพอประมาณ จิตนั้นก็พลิกขณะ คือถอนจากฐีติจิตขึ้นมาบ้างเล็กน้อย
ตอนนี้ท่านว่ารวมทวนกระแสของภวังค์คือ ตัดภพ ตัดกระแสของภพ ตัดกระแสของภวังค์
เพราะญาณต่างๆ พระองค์ได้ผ่านมาแล้ว
และทดสอบตรวจดูแล้วว่าไม่ใช่ทางตรัสรู้ให้พ้นทุกข์ไปได้

จึงว่ายามสุดท้ายนี้เมื่อจิตของพระองค์รวมลงแล้วถอนขึ้นมานี้
พระองค์ทวนกระแสตัดกระแสของภวังค์คือภพ
ได้แก่ ตัวเหตุตัวปัจจัยนี้เอง เป็นตัวกระแสของภวังค์คือภพ
คือตัวสมุทัย ตัณหา ความอยากนี้นี่แล
ความไม่รู้ ตัวนี้ ท่านก็เรียกว่าเป็นอวิชชา
ท่านจึงมาทำตัวเหตุตัวปัจจัย ซึ่งเป็นตัวกระแสของภวังค์ คือภพ ให้สิ้นไป
ดับตัวเหตุตัวปัจจัยนี้ให้หมดไปโดยไม่ให้เหลือนั่นเชียว
ละวางปล่อยสละสลัดตัดขาด จากตัวเหตุตัวปัจจัย
ซึ่งเป็นตัวกระแสของภวังค์ คือภพนี้ โดยไม่ให้เหลือนั้นนั่นเทียว ไปจากใจของท่าน

เมื่อท่านได้ตัดกระแสของภวังค์คือภพขาดแล้ว
ต่อแต่นั้นจึงว่าปัญญาอันรู้เห็นตามความเป็นจริงแล้วอย่างไร
ในอริยสัจธรรมทั้งสี่ของเรา
ซึ่งมีรอบสาม มีอาการสิบสองอย่างนี้ หมดจดดีแล้วเพียงนั้น
เมื่อนั้นเราจึงได้ยืนยันตนว่าเป็นผู้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะซึ่งปัญญา เครื่องตรัสรู้ชอบ
ไม่มีความตรัสรู้อื่นที่ยิ่งไปกว่าปัญญา
ในโลกสาม เป็นไปกับด้วยเทพดา มาร พรหม ทั้งหมู่มนุษย์
สมณพราหมณ์ เทพดา มนุษย์ เพียงนั้น
ก็แลปัญญาอันรู้เห็นตามเป็นจริงแล้วอย่างนี้ ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ว่าความพ้นพิเศษของเราไม่กลับกำเริบ
ชาตินี้เป็นที่สุดแล้ว บัดนี้เราไม่มีภพอีก
เพราะเราได้ตัดกระแสของภวังค์คือภพ ขาดแล้ว ตัวเหตุตัวปัจจัยไม่มีแล้ว
ดังนี้จึงได้บัญญัติว่า อาสวักขยญาณ คือพระองค์รู้จักทำความสิ้นไปจากอาสวะ
และรู้จักว่าอาสวะของเราได้สิ้นไปแล้ว เราได้สิ้นไปแล้วจากอาสวะทั้งหลาย
คือกามาสวะ ภาสวะ อวิชชาสวะ ทิฏฐิสวะ เหล่านี้เป็นต้น

ไม่มีแล้ว กามาสวะ พระองค์ไม่มีความหลงใหลใฝ่ฝัน
ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมไปตามกามารมณ์ทั้งหลาย
ภวาสวะ คือภพ ได้แก่ กำเนิด ๔ คติ ๕ ภพทั้ง ๓ วิญญาณฐีติจิต ๗ สัตตาวาส ๙
อวิชชาสวะ ได้แก่ อวิชชาคือความรู้ไม่แจ้ง ความรู้ไม่จริง
ทิฏฐิสวะ ความรู้ ความเห็นผิด นี้เรียกว่าอาสวะ เป็นส่วนที่ละเอียดลึกมาก
นี้พระองค์รู้จักทำความสิ้นไปจากอาสวะ
และรู้จักความสิ้นไปจากอาสวะแล้วจากใจของท่าน

เมื่อพระองค์ทำอาสวะ ซึ่งเป็นตัวเหตุตัวปัจจัยส่วนละเอียดนี้
ให้สิ้นไป ให้ดับไป โดยไม่ให้เหลือนั้นนั่นเทียว
นั่นแหละ พระองค์จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้สิ้นไปแล้วจากอาสวะทั้งหลาย
ไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทาน เป็นผู้เสร็จกิจ จบพรหมจรรย์
ไม่มีกิจที่จะต้องทำต่อไปอีก
ดังนี้
คือเป็นผู้เสร็จกิจในการละการวาง ในการประหารกิเลส
ไม่มีกิเลสอาสวะที่ต้องประหารหรือละวางอีก จึงเป็นผู้เสร็จกิจ ดังนี้
ที่เหลืออยู่ก็ยังแต่กริยากิจหรือปฏิปทากิจ
ทางดำเนินตามปฏิปทาอริยมรรค เพื่อความเหมาะสมและดีงามเท่านั้น
เหมือนกับว่าบุคคลผู้สร้างทางสำเร็จแล้ว ก็ไม่ได้สร้างอีก ไม่ได้ทำอีก
มีแต่การเดินตามหนทางที่ตนสร้างแล้วเท่านั้น
นี้เมื่อยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน
แต่ส่วนการละการวาง การถอนกิเลส การประหารกิเลส การดับกิเลสนั้น ไม่มีอีกแล้ว
เพราะท่านได้ถอน ละวาง และดับหมดแล้ว
จึงว่าเป็นผู้เสร็จกิจ ไม่มีกิจที่ต้องทำ
ที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน ที่มีชีวิตก็มีแต่กริยากิจ ปฏิปทากิจ
ที่จะต้องดำเนินเพื่อความเหมาะสมในปฏิปทา ในอริยมรรคเท่านั้นนั่นเอง


ลำดับต่อไปพระองค์ก็ตรวจตราทวนกระแสดูใน ปฏิจฺจสมุปบาท ปัจจยาการ ว่า
เมื่ออวิชชาดับ สังขารก็ดับ สังขารดับ วิญญาณก็ดับ
วิญญาณดับ นามรูปก็ดับ นามรูปดับ อายตนะก็ดับ
อายตนะดับ ผัสสะก็ดับ ผัสสะดับ เวทนาก็ดับ
เวทนาดับ ตัณหาก็ดับ ตัณหาดับ อุปาทานก็ดับ
อุปาทานดับ ภพก็ดับ ภพดับ ชาติก็ดับ
ชาติดับ ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความโศกความเศร้า
ความร้องไห้ รำพึงรำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ
ความเสียใจ ความคับแค้นใจ ก็ดับไปตามๆ กัน
ดังนี้

และพระองค์ก็ทวนหวนกลับอีกว่า
ชาติดับ ความแก่ ความเจ็บ ความตายก็ดับ
เพราะชาติดับ ภพก็ดับ ภพดับ อุปาทานก็ดับ
อุปาทานดับ ตัณหาก็ดับ ตัณหาดับ เวทนาก็ดับ
เวทนาดับ ผัสสะก็ดับ ผัสสะดับ อายตนะก็ดับ
อายตนะดับ นามรูปก็ดับ นามรูปดับ วิญญาณก็ดับ
วิญญาณดับ สังขารก็ดับ สังขารดับ อวิชชาก็ดับ
อวิชชาดับ แล้วสิ่งทั้งหมดก็ดับไปตามๆ กัน
เท่านั้น

ค้นดูในปัจจยาการ ปฏิจฺจสมุปบาท อย่างละเอียดลออ
เต็มภูมิสติปัญญาของพระองค์ ไม่มีความสงสัยเลย
นี่แหละพระองค์ได้ทำตัณหานี้แลให้สิ้นไป
จึงได้อาสวักขยญาณ รู้ความสิ้นไปจากอาสวะทั้งหลาย
ได้ตรัสรู้เป็นพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
คือเป็นพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลก
ในวันเพ็ญเดือนหก ดังนี้แหละ


หลังจากการตรัสรู้ใหม่ๆ พระองค์ได้เยาะเย้ยตัณหาในพระหฤทัย
คือในใจของพระองค์เองว่า ดูกร นายช่างเรือนคือตัณหา
เมื่อก่อนเรายังค้นตัวของท่านไม่พบ จับตัวของท่านไม่ได้
ไม่รู้ ไม่เห็นตัวของท่าน เพราะตัวของท่านมีมายามาก
และมีอวิชชาปกปิดไว้ มิให้เห็น
ท่านก็พาเราเที่ยวเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไปในภพน้อยภพใหญ่ ให้เป็นทุกข์อยู่ร่ำไป
บัดนี้เราได้จับตัวของท่านได้แล้ว ได้รู้เห็นตัวของท่านแล้ว
เราจะฟาดฟันท่านด้วยดาบเพชร คือพระวิปัสสนา ปัญญาของเรา
ท่านจะไม่ได้ก่อเรือนรังคือภพชาติอีกต่อไป
ปราสาทของท่านเราก็ได้ทำลายแล้ว
ยอดปราสาทของท่าน เราก็ได้ทำลายแล้ว
ปราสาทนั้นคือ จักษุประสาท ได้แก่ ตา โสตประสาท ได้แก่ หู
ฆนประสาท ได้แก่ จมูก ชิวหาประสาท ได้แก่ ลิ้น
กายประสาท ได้แก่ กาย มนะประสาท ได้แก่ ใจ เราได้ทำลายแล้ว
คือเราได้ยกขึ้นพิจารณา ให้เห็นเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
คือเป็นของมิใช่ตน มิใช่ของตน มิใช่ของแห่งตนแล้ว


ยอดปราสาทคือตัวเหตุตัวปัจจัย ซึ่งตัวสมุทัยคือตัณหาความอยากนี้
ซึ่งมีอวิชชาปกปิดไว้ ไม่ให้รู้ให้เห็น
ให้เราหลงงมงาย เกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่
ยอดปราสาทของท่านคืออวิชชาตัณหานี้
นี้เราได้ทำลายด้วยดาบเพชร คือพระวิปัสสนาของเราแล้ว คือปัญญาของเราแล้ว
ขาดสะบั้นลงไปแล้ว ไม่มีสะพานเชื่อมต่อ
ไม่เป็นปัจจยาการ อาการสืบเนื่องแห่งทุกข์ ทั้งหมดแห่งภพทั้งหลายอีกแล้ว ดังนี้
ท่านจะไม่ได้พาเราเที่ยวกระเซอะกระเซิง
เกิด แก่ เจ็บ ตาย ในภพน้อย ภพใหญ่ ให้เป็นทุกข์อยู่ร่ำไปอีกแล้ว ดังนี้

และลำดับต่อไปพระองค์ก็ได้เปล่งพุทธอุทานขึ้นด้วยพระโอษฐ์ของพระองค์เองว่า
พราหมณ์ผู้มีเพียรเพ่งอยู่ ด้วยความมีสติปัญญา
ได้ตั้งอิทธิบาททั้ง ๔ ไว้เป็นประธานของสังขาร
คือ ฉันทิทธิบาท มีความพอใจด้วยความมีสติปัญญา
กำหนดดูรู้เหตุและปัจจัยของธรรมทั้งหลายอย่างนี้อยู่
เมื่อพรามหมณ์นั้น วิริยิทธิบาท มีความเพียรด้วยความมีสติปัญญา
รู้เหตุและปัจจัยของธรรมทั้งหลายอยู่กับลมหายใจทุกประโยค
จิตติทธิบาท เอาใจฝักใฝ่ด้วยความมีสติปัญญา
ให้รู้เหตุและปัจจัยของธรรมทั้งหลายอยู่กับลมหายใจทุกประโยค
วิมังสิทธิบาท หมั่นค้นคว้าพินิจพิจารณาด้วยความมีสติปัญญา
รู้เหตุและปัจจัยของธรรมทั้งหลายอยู่กับลมหายใจทุกประโยค ดังนี้

เมื่อพราหมณ์นั้นเป็นผู้รู้เหตุและปัจจัยของธรรมทั้งหลายแจ้งชัดแล้วดังนี้
พราหมณ์นั้นย่อมทำเหตุและปัจจัยทั้งหลายนั้นให้สิ้นไป
ดับเหตุและปัจจัยของธรรมทั้งหลายโดยไม่ให้เหลือนั้นนั่นเทียว
ละวางปล่อยสละสลัดตัดขาดจากเหตุและปัจจัยของธรรมทั้งหลาย
ไปจากใจของตนโดยไม่ให้เหลือนั้นนั่นเทียว
เมื่อพราหมณ์นั้นทำเหตุและปัจจัยของธรรมทั้งหลาย
ดับเหตุและปัจจัยของธรรมทั้งหลายโดยไม่ให้เหลือนั้นนั่นเทียว
ไปจากใจของท่านแล้ว
พราหมณ์นั้นย่อมเป็นผู้ชนะมารและเสนามาร
มารและเสนามารย่อมรังควานพราหมณ์นั้นไม่ได้
เหมือนลมรังควานภูเขาที่แท่งทึบไปด้วยหินศิลาใหญ่ๆ ไม่ได้
พราหมณ์ย่อมเป็นผู้รุ่งเรืองส่องสว่างอยู่ ไม่มีกาล ไม่มีเวลา เป็นอกาลิโก
ดุจพระอาทิตย์ที่อุทัยกำจัดอากาศที่มืดให้สว่างฉะนั้น
นี่พระองค์ได้เปล่งอุทาน ในยามสุดท้ายหลังจากการตรัสรู้ใหม่ๆ นั้น

นี่แหละที่ได้แสดงพระประวัติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตอนที่พระองค์ตรัสรู้นั้น
เมื่อพวกเราได้ฟังแล้วพึงน้อมเข้าไปพิจารณาเอาเอง
สำหรับปฏิปทาทางภาวนา ในคืนวันที่พระองค์ตรัสรู้นั้น
นี่ท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นท่านเคยยกแสดงให้ศิษยานุศิษย์ฟังบ่อยๆ
เพื่อให้เป็นคติแก่ศิษยานุศิษย์ต่อไป

อนึ่งการปฏิบัติทั้งหลาย นิสัยแต่ละท่านๆ แต่ละคนๆ
วาสนาแต่ละท่าน แต่ละคน ย่อมไม่เหมือนกัน
บางท่านบางคนจิตก็รวมง่าย บางท่านบางคนจิตก็รวมยาก
บางท่านบางคนจิตไม่รวมก็มี
เรื่องนี้ย่อมเป็นไปตามวาสนาบารมีของแต่ละท่านๆ
เมื่อผู้ใดหรือท่านใดภาวนาไป จิตไม่รวม
เดี๋ยวจะเข้าใจว่าตนภาวนาเป็นไปไม่ได้ อย่างนี้
อย่างนี้อย่าเพิ่งเสียใจ
เพราะพระอริยสาวก แต่ก่อนบางองค์จิตท่านก็รวม บางองค์จิตท่านก็ไม่รวม
พอจิตสงบเข้าอยู่ในขั้นอุปจารสมาธิ
ท่านพิจารณารู้เห็นตามเป็นจริงในสัจธรรมแล้ว
ท่านก็หลุดพ้นไปจากอาสวกิเลสได้ พ้นทุกข์ไปได้ ไม่มีความสงสัยเลย
ขอยุติการแสดงธรรมแต่เพียงนี้



:b8: คัดมาจาก...หนังสือกุลเชฏฐาภิวาท ฉบับสมบูรณ์
ชีวประวัติ ปฏิปทา และธรรมเทศนา ของท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ
วัดเจติยาคิรีวิหาร ภูทอก อำเภอศรีวิไล จังหวัดบึงกาฬ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๖
หน้า ๒๔๗-๒๕๗ คุณหญิงสุรีพันธุ์ มณีวัต ผู้เขียนและเรียบเรียง


onion onion onion

• ประวัติและปฏิปทา “หลวงปู่จวน กุลเชฏฺโฐ”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=23167

• รวมคำสอนและรูปภาพ “หลวงปู่จวน กุลเชฏฺโฐ”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=42684

.....................................................
แม้มิได้เป็นสุระแสงอันแรงกล้า ส่องนภาให้สกาวพราวสดใส
ขอเป็นเพียงแสงแห่งดวงไฟ ส่องทางให้มวลชนบนแผ่นดิน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 เม.ย. 2015, 19:57 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 21 มิ.ย. 2011, 14:07
โพสต์: 278


 ข้อมูลส่วนตัว


บอร์ดพระพุทธเจ้า ทุกกระทู้ มีประโยชน์และน่าสนใจมากเลยค่ะ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 มี.ค. 2018, 07:33 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2863


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ส.ค. 2020, 08:14 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 9
สมาชิก ระดับ 9
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 เม.ย. 2015, 09:43
โพสต์: 702

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ขออนุโมทนาสาธุนะครับ
:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 พ.ค. 2021, 10:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 พ.ค. 2021, 22:46 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b39: :b44: อัศจรรย์แห่งธรรมดีแท้
ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ

:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 มี.ค. 2023, 12:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 มิ.ย. 2007, 13:49
โพสต์: 1012


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:

.....................................................
ทำความดีทุกๆ วัน


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 9 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 4 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร