วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 17:05  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 พ.ค. 2013, 04:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ประวัติและปฏิปทา
พระครูวิมลภาวนาคุณ (หลวงพ่อคูณ สุเมโธ)

พระอริยสงฆ์ผู้เปี่ยมล้นด้วยเมตตาธรรม
วัดป่าภูทอง บ้านภูทอง ต.บ้านผือ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี

๏ ชาติกำเนิด และบุพกรรม

หลวงพ่อคูณ สุเมโธ ท่านถือกำเนิดเมื่อวันศุกร์ที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๖ ตรงกับวันแรม ๑๐ ค่ำ เดือนอ้าย ปีมะแม ในสกุล “ชูรัตน์” เป็นบุตรของพ่อบุญธรรม ชูรัตน์ และแม่จันทร์ ชูรัตน์ ณ บ้านหนองแสง ต.สิงห์ อ.เมือง จ.ยโสธร (หมู่บ้านเดียวกับวัดป่าหนองแสงของหลวงปู่สอ พันธุโล) ครอบครัวของท่านมีอาชีพทำไร่ทำนา เมื่อท่านอายุได้ขวบเศษๆ ญาติของท่านได้อุ้มไปเดินเล่นบริเวณทุ่งนา และได้ร้องเรียกลูกวัวเล่นๆ ว่า “แบ๊ แบ๊ แบ๊ แบ๊” เป็นเชิงล้อเล่นกับวัว ทันใดนั้นลูกวัวก็กระโจนพุ่งเข้ามาชนญาติซึ่งขณะนั้นกำลังอุ้มท่านอยู่ ลูกวัวได้ขวิดเด็กชายคูณบริเวณศีรษะเหวอะหวะจนเป็นแผลเป็นด้านข้างศีรษะด้านขวามาจนถึงปัจจุบัน

หลวงพ่อคูณท่านเล่าว่า ท่านได้กำหนดสมาธิดูถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้น จึงทราบว่าเป็นเรื่องของกฎแห่งกรรมหรือบุพกรรม ครั้งอดีตชาติท่านเองเคยเกิดเป็นผู้ใหญ่บ้าน วันหนึ่งมีโจรมาขโมยวัว ท่านจับโจรคนนั้นได้ แต่โจรดื้อดึง พยายามจะหนี ท่านจึงเอาด้ามปืนทุบไปที่หัวของโจรจนหัวแตก ด้วยวิบากแห่งกรรม โจรนั้นได้มาเกิดเป็นลูกวัวในชาติปัจจุบัน ได้ผูกอาฆาตท่านไว้ ด้วยแรงพยาบาตเมื่อเห็นท่านด้วยสัญญาหมายรู้ แม้เป็นเด็กน้อยก็จำได้ จึงต้องมาชดใช้กันในชาตินี้

ท่านเองมีน้องชายอีกคนชื่อ อุดม ชูรัตน์ เมื่ออายุได้ ๖ ขวบ นางจันทร์ ชูรัตน์ มารดาของท่านก็ได้เสียชีวิตลง ฉะนั้น ชีวิตในวัยเด็ก ๒ พี่น้องได้ช่วยบิดาทำไร่ไถนา ท่านจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ซึ่งเป็นการศึกษาสูงสุดในขณะนั้น ณ โรงเรียนบ้านหนองแสง ครั้นเมื่อเติบใหญ่ท่านก็ลงไปปักษ์ใต้ รับจ้างขนหินขึ้นรถบรรทุกไปโรงโม่หิน ทำงานได้ ๓ ปีจึงเดินทางกลับมายังบ้านเกิด ญาติพี่น้องได้ขอร้องให้ท่านบวช

๏ การอุปสมบท

เมื่ออายุได้ ๒๓ ปี ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พระอุโบสถ วัดศรีธรรมาราม ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ยโสธร ตรงกับเดือนมกราคม พ.ศ.๒๕๐๙ โดยมี พระครูทัศนประกาศ (หลวงปู่คำบุ จันทสิริ) เจ้าอาวาสวัดป่าสำราญนิเวศ จ.อำนาจเจริญ เป็นพระอุปัชฌาย์, ท่านพระอาจารย์จำปี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และท่านพระมหาวิสุทธิ์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “สุเมโธ” แปลว่า ผู้มีปัญญาดี, ผู้มีความรู้ดี

จากนั้นจึงไปศึกษาข้อวัตรปฏิบัติธรรมอยู่ ณ วัดป่าหนองแสง ต.สิงห์ อ.เมือง จ.ยโสธร ได้ ๖ เดือน ช่วงนั้นหลวงปู่สอ พันธุโล ได้แวะมาที่บ้านเกิด คือบ้านหนองแสง และได้ชักชวนให้พระอาจารย์คูณ ออกเที่ยววิเวกด้วยกัน ในครั้งนั้นมีพระติดตามด้วยกัน ๗ รูป ออกวิเวกพำนักอยู่วัดป่าอรัญญิกาวาส อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี มีหลวงปู่สอ พันธุโล เป็นผู้นำอบรมสั่งสอนการภาวนา และได้พาท่านไปฟังธรรมะภาคปฏิบัติกับหลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล อยู่ ๑ อาทิตย์ หลวงปู่ขาวท่านเน้นสอบอบรมด้านจิตใจ

รูปภาพ
หลวงปู่ขาว อนาลโย

รูปภาพ
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

รูปภาพ
หลวงปู่สอ พันธุโล


๏ นิมิตหลวงตามหาบัวมาสั่งสอนให้เร่งความเพียร

หลังจากได้ฟังธรรมกับหลวงปู่ขาว อนาลโย แล้ว หลวงปู่สอได้พาพระอาจารย์คูณไปกราบรับฟังโอวาทธรรมจากหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ที่วัดป่าบ้านตาด หลวงตามหาบัวท่านเน้นหนักในการภาวนารักษาจิตรักษาใจ เพียรฝึกจิตฝึกใจในทุกอริยบท ให้เร่งทำความเพียรให้เต็มที่ ทั้งเดินจงกรม นั่งภาวนา ขนาดพระคูณ จะล้มตัวเอนกายลงนอน ซักพักก็ได้ปรากฏนิมิตเห็นหลวงตามหาบัว เปิดประตูเข้ามาดุ “มันจะมานอนเฝ้าอะไร” พระอาจารย์คูณได้ฟังดังนั้น จึงตอบในนิมิตไปว่า “เอ้า ไม่นอนก็ไม่นอน” หลวงตามหาบัว ย้ำเตือนไปว่า “ไม่ให้นอน ตายเป็นตาย” ในระยะนั้นพระอาจารย์คูณ ได้เห็นนิมิตหลวงตามหาบัว มาตักเตือนอยู่ทุกๆ คืน ท่านว่า ท่านเกรงกลัวหลวงตามหาบัวมาก “กลัวหลวงตามหาบัว เหมือนยังกับกลัวเสือ” จึงได้เร่งความเพียรตั้งสัจจาธิษฐานถือเนสัชชิก อยู่ในอริยบท ๓ ยืน เดิน นั่ง โดยไม่เอนกายลงนอนเลยตลอดไตรมาส ในช่วงเข้าพรรษาแรกนั้น

ตลอดพรรษาพระอาจารย์คูณได้อุบายธรรมจากหลวงปู่สอ พันธุโล มาคอยอบรมสั่งสอนย้ำเตือนว่า “ท่านคูณต้องพิจารณาทุกข์ให้มันเห็นทุกข์ ให้มันเบื่อทุกข์” เมื่อจะเดินจงกรม พระอาจารย์คูณก็ตั้งจิตอธิษฐานว่า “ข้าพเจ้าจะเดินจงกรม ทำความเพียรไปจนกว่าเดือนจะตก จึงจะหยุดเดินจงกรม” กิเลสที่ฝังตัวอยู่ในจิตก็คอยมาหลอกว่า “หยุดเถอะ พอเถอะ ไม่ไหว” พระอาจารย์คูณท่านก็ใช้สติกับจิตข่มกิเลสไว้ โดยรำลึกถึงคำสอนครูบาอาจารย์ หลวงปู่ขาว อนาลโย และหลวงปู่สอ พันธุโล ซึ่งท่านจะเน้นกำชับพระอาจารย์คูณให้เป็นผู้ประพฤติให้มีสัจจะ ตั้งใจจริงจัง ถ้าทำอะไรก็ต้องให้ได้อย่างนั้น ถ้าได้พูดลั่นวาจาไปแล้วก็ต้องให้ได้อย่างนั้น พูดจริง ปฏิบัติจริง จริงจึงจะเห็นผลจริง

ในการทำความพากเพียรในพรรษาแรกนั้น สำหรับการอยู่ร่วมปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่สอ พันธุโล ที่วัดป่าอรัญญิกาวาส อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี พระอาจารย์คูณกลางคืนก็อดนอน พากเพียร ฝึกสติอย่างหนัก กลางวันก็ปฏิบัติด้านกิจของสงฆ์ บิณฑบาต ทำความสะอาดกวาดลานวัด อุปัฏฐากครูบาอาจารย์ พอตกกลางคืนก็เร่งความเพียรต่อ ท่านว่า “ความทุกข์ทรมานนั้น สาหัสสากรรจ์มาก เจ็บปวดทรมานที่สุด ทรมานอย่างยิ่ง มันอยากจะนอน อยากให้มันหลับก็ไม่กล้าหลับ กลัวเสียสัจจะ เอ้า...ไม่นอนหล่ะ ถ้ามันจะล้มตัวนอน ก็พามันลุกหนีจากที่นอน” ท่านทำความเพียรอย่างอุกฤษ์นี้จนครบสัจจะ ๓ เดือน

ในพรรษาที่ ๒ พ.ศ.๒๕๑๐ พระอาจารย์คูณ สุเมโธ ท่านได้พบเพื่อนสหธรรมิก คือ หลวงปู่พงษ์ ธัมมาภิรโต (แห่งวัดป่าถ้ำหีบ ต.จำปาโมง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ท่านละสังขารไปแล้วเมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งอัฐิได้กลายสภาพเป็นพระธาตุเป็นที่เรียบร้อยแล้ว) หลวงปู่พงษ์ท่านมาบวชเมื่อตอนอายุมากแล้ว ตอนอายุ ๔๗ ปี ในพรรษาที่ ๒ นี้ ท่านทั้ง ๒ ได้ร่วมกันตั้งสัจจะถือเนสัชชิก อยู่ในอริยบท ๓ ยืน เดิน นั่ง โดยไม่เอนกายลงนอนเลยตลอด ๓ เดือนเต็ม ทั้งกลางวันทั้งกลางคืนก็เดินจงกรมภาวนาตั้งแต่หัวค่ำ เดินจงกรมภาวนาไปจนสว่าง เพียรในลักษณะนี้ตลอดพรรษาติดต่อกันเป็นระยะเวลาถึง ๓ พรรษา

รูปภาพ
หลวงปู่ฝั้น อาจาโร


๏ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร แนะนำให้ไปภาวนาที่ถ้ำขาม

ปี พ.ศ.๒๕๑๒ ท่านพระอาจารย์ทองดี วรธัมโม ซึ่งเป็นศิษย์หลวงปู่ฝั้น อาจาโร มาเที่ยววิเวกอยู่แถวเขตอำเภอบ้านผือ พระอาจารย์คูณได้สังเกตกิริยามารยาท วัตรปฏิปทา การเทศน์อบรมของท่านพระอาจารย์ทองดีแล้วเกิดศรัทธาเลื่อมใส จึงขอโอกาสหลวงปู่สอ พันธุโล ออกธุดงค์ติดตามท่านพระอาจารย์ทองดี หลวงปู่สอ เพิ่นว่า “ไปวิเวก ไม่ห้ามหรอก” จากนั้นท่านทั้ง ๒ รูป ก็เก็บอัฐบริขารเดินธุดงค์เข้าสู่ป่าลึก ผ่านขุนเขา หุบเหว หน้าผา ถ้ำน้อยใหญ่ไปทาง อ.น้ำโสม อ.นายูง ค่ำไหนก็พำนักที่นั่น แล้วจึงย้อนกลับมาวัดป่าอรัญญิกาวาส เพื่อกราบลาหลวงปู่สอ พันธุโล อีกครั้ง โดยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเข้าสู่วัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร เพื่อไปกราบขอฟังธรรมหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ในพรรษานี้เดิมที พระอาจารย์คูณ ตั้งใจจะขออยู่ปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่ฝั้น อาจาโร แต่เนื่องจากมีพระมาขอว่าที่ถ้ำขามนี้ มีพระอยู่เพียงรูปเดียว หลวงปู่ฝั้น จึงถามพระเณรว่า มีใครจะขึ้นไปอยู่ที่ถ้ำขามนี้ไหม ท่านพระอาจารย์ทองดี วรธัมโม จึงตอบ “ผมขอโอกาสขึ้นถ้ำขาม” พระอาจารย์คูณ จึงได้กราบเรียนหลวงปู่ฝั้นว่า “ผมก็จะขอขึ้นไปด้วยกับพระอาจารย์ทองดี” หลวงปู่ฝั้น เพิ่นว่า “ขึ้นก็ขึ้น”

เข้าพรรษาที่ ๔ ณ ถ้ำขาม ต.ไร่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ในสมัยนั้นเป็นไปด้วยความยากลำบาก เส้นทางขึ้น-ลงเขาก็ลำบากมาก ทั้งเส้นทางบิณฑบาตก็ไกล ไป-กลับระยะทางเป็น ๑๐ กิโลเมตร เว้นแต่ว่าวันไหนไม่ฉัน ก็ไปต้องลงมาบิณฑบาต ส่วนช่วงหน้าฝนนี้หินยิ่งลื่น พระอาจารย์คูณต้องใช้มือหนึ่งประคองบาตร อีกมือหนึ่งกางร่ม หากมีทีท่าว่าจะหกล้ม ก็ต้องปล่อยมือที่ถือร่มออก แล้วใช้สองมือประคองบาตรไม่ให้ตกกระแทกพื้น พระอาจารย์คูณ สุเมโธ สู้ทนทุกข์ต่อความยากลำบากต่างๆ นานาบนถ้ำขามทุกรูปแบบ อีกทั้งการอยู่ในป่าในเขา การบำเพ็ญเพียรรักษาสติในศีลวัตรก็มิขาดตกบกพร่อง

รูปภาพ
หลวงปู่กู่ ธัมมทินโน แห่งวัดป่ากลางโนนภู่

รูปภาพ
หลวงตาพวง สุขินทริโย (พระพี่ชายหลวงตาสรวง สิริปุญโญ)

รูปภาพ
หลวงพ่อเมือง พลวัฑโฒ สหธรรมิกที่สนิทกันมากกับหลวงพ่อคูณ


๏ รับกรรมในอดีต ณ ถ้ำขาม

การบำเพ็ญเพียรภาวนาของพระอาจารย์คูณ สุเมโธ ท่านได้ฝึกขันติอดอาหาร ๗ วัน ปรากฏว่าระบบขับถ่ายในร่างกายของท่านทำงานไม่เป็นปกติ คือไม่ถ่ายอุจจาระเลย ท่านจึงกลับมาฉันอาหารตามเดิม แต่ก็ไม่ถ่ายอีก รวมระยะเวลาเข้า ๑๔ วันแล้ว ต่อมาท่านได้ลองฉันผลลูกสมอ เพื่อช่วยขับถ่าย แต่กับเกิดอาการปั่นป่วนภายในร่างกายท่าน ต้องทนทุกขเวทนา ทำให้ท่านรำลึกถึงการคลอดลูกว่า มันทรมานขนาดนี้หรือป่าวหนอ ต้องค่อยๆ แก้ไขอาการปั่นป่วนไปทีละขั้น จนอาการปวดนั้นทุเลาลง ทำให้พระอาจารย์คูณ รำลึกถึงเหตุแห่งกรรมในอดีตว่า “สมัยเป็นเด็กน้อย ท่านเคยเลี้ยงไก่ไว้ แต่แม่ไก่ออกไข่ไม่ทันใจ จึงใช้มือล้วงดึงไข่ไก่ออกมาเพื่อผิงไฟกิน แม่ไก่ก็ทุกข์ทรมาน นี้เองที่ท่านพระอาจารย์คูณพิจารณาถึงกรรมที่เคยทำไว้ตั่งแต่ยังเด็ก”

พระอาจารย์คูณอยู่ปฏิบัติธรรมที่ถ้ำขาม จนจิตสงบ พิจารณาอุบายธรรมต่างๆ ด้วยปัญญา เกิดเป็นผลดีโดยลำดับ จนถึงกาลออกพรรษา พระอาจารย์คูณจึงออกไปวิเวกที่ถ้ำเจ้าผู้ข้า (สถานที่ที่หลวงปู่กู่ ธัมมทินโน แห่งวัดป่ากลางโนนภู่ จ.สกลนคร มรณภาพในท่านั่งสมาธิอย่างสงบ) ณ ถ้ำแห่งนี้ มีวิญญาณเป็นจำนวนมาก ขณะท่านไปภาวนาก็ได้ยินเสียงดังคล้ายคนสนทนาพูดคุยกันตลอด ท่านพิจารณาว่า หากเราอยู่ที่นี่ แล้วมาขี้เกียจขี้คร้าน คงถูกวิญญาณเล่นงานเอาแน่ พระอาจารย์คูณท่านมาสวดพระปาติโมกข์ได้ที่ถ้ำเจ้าผู้ข้าแห่งนี้ เพราะกลางคืนเมื่อท่านหัดสวด ก็จะมีเสียงสวดตามคล้ายมาทบทวนให้ท่านฟังซ้ำ จนเกิดเป็นความรู้แจ่มชัดขึ้น

ภายหลังต่อมาพระอาจารย์คูณจึงได้ออกไปพำนักอยู่ที่วัดป่าบ้านหนองผือนาใน เข้าไปกราบสักการะกุฏิอันเป็นธรรมสถานของหลวงปู่ใหญ่มั่น ภูริทัตโต แล้วจึงกลับไปหาหลวงปู่ฝั้น อาจาโร หลวงปู่ฝั้นท่านก็ชวนมาพักวิเวกอยู่ที่วัดป่าบ้านหนองผือนาในอีกครั้งนึง จากนั้นพระอาจารย์คูณจึงกราบลาหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ไปวิเวกต่อ ท่านธุดงค์ไป อ.สุวรรณคูหา รอนแรมผ่านป่าเขาไปถึง อ.นาด้วง จ.เลย เมื่อย่างใกล้เข้าพรรษา ท่านจึงเดินทางกลับมาปฏิบัติธรรมอยู่ร่วมกับหลวงปู่สอ พันธุโล และได้ถือการปฏิบัติเช่นเคย คือถืออริยบท ๓ ยืน เดิน นั่ง ตลอดพรรษา ๓ เดือน หาได้เอนกายนอนไม่ ในพรรษานี้ท่านพระอาจารย์คูณพิจารณากาย เพ่งดูอสุภะจนเกิดความเบื่อหน่าย ท่านว่า “สมัยนั้นเห็นชัดจนเบื่อหน่าย เห็นผู้หญิงก็มิได้มีจิตใจกำหนัด แต่สมาธิในขณะนั้นเป็นสมาธิเพียงด้านเดียว ยังไม่มีปัญญาพิจารณาตัดให้ขาดในจิตใจ”

๏ จิตเสื่อม จิตตก ณ บ้านหนองยาง

พอดีปี พ.ศ.๒๕๑๗ หลวงตาพวง สุขินทริโย (พระพี่ชายหลวงตาสรวง สิริปุญโญ) ได้สร้างวัดใหม่ขึ้นมาชื่อว่า วัดพระพุทธบาทยโสธร บ้านหนองยาง ต.หัวเมือง อ.มหาชนะชัย จ.ยโสธร หลวงตาพวงท่านจึงขอให้พระอาจารย์คูณไปอยู่พำนักภาวนาในพรรษา เพิ่นว่าที่นั่นสงบ เหมาะสำหรับผู้ชอบภาวนา ในพรรษานี้พระอาจารย์คูณได้เพื่อนสหธรรมิก คือ หลวงพ่อเมือง พลวัฑโฒ (แห่งวัดป่ามัชฌิมาวาส ต.ลำพาน อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์) อยู่ร่วมปฏิบัติธรรมด้วย ซึ่งท่านทั้งสองได้กลายเป็นสหธรรมิกที่สนิทกันมากในเวลาต่อมา โดยมีจำนวนพรรษาเท่ากัน เห็นท่านทั้งสองกล่าวว่า เคยเกิดเป็นหมู่ (เพื่อน) กันมาหลายชาติแล้ว

ณ วัดพระพุทธบาทยโสธร บ้านหนองยางแห่งนี้ พระอาจารย์คูณ เล่าว่า ได้มีหญิงสาวนางหนึ่งมาชอบเฮา ในช่วงที่เฮาจิตตก ก็เกิดมีความรู้สึกว่าตัวเองก็ชอบ เห็นผู้สาวนางนั้นงดงาม จิตเกิดอาการร้อนขึ้นมาเป็นอันมาก แต่ก็ไม่อยากสึก ท่านได้พิจารณาตามครูบาอาจารย์ที่เคยสั่งสอนมาว่า การเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารมันทำให้เกิดทุกข์ พอออกพรรษา จึงออกไปวิเวกอยู่ที่อื่น หญิงสาวนางนั้นก็เสียใจร้องห่มร้องไห้ตามท่านใหญ่ มานิมนต์อ้อนวอนอยู่อย่างนั้น พระอาจารย์คูณ เล่าว่า “ไม่ได้ กูไม่ห่วงมึงหรอก กูตัดใจกู”

จากนั้นท่านก็กลับไปหาหลวงปู่สอ พันธุโล ที่วัดป่าหนองแสง หลวงปู่สอได้อบรมสั่งสอนอยู่ แต่อาการเร่าร้อนในจิตของท่านก็ยังไม่จืดจางไป จากนั้นพระอาจารย์คูณจึงได้ติดตามท่านพระอาจารย์ทองดี วรธัมโม ได้อยู่อบรมซักระยะหนึ่ง พระอาจารย์คูณท่านกราบเรียนท่านพระอาจารย์ทองดี ให้พาไปกราบครูบาอาจารย์ว่า “ไม่ไหวหรอกหากเป็นอย่างนี้ ผมจะลาเข้าไปหาครูบาอาจารย์ จะเข้าไปหาหลวงพ่อสิงห์ทอง ธัมมวโร หากหลวงปู่สิงห์ทองแก้ให้ไม่ได้ก็จะกลับไปหาหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ช่วยแก้จิตให้” ท่านพระอาจารย์ทองดีท่านว่า “ป๊ะ ถ้ามันจะตายจริงๆ ก็จะพาไป”

รูปภาพ
หลวงพ่อสิงห์ทอง ธัมมวโร แห่งวัดป่าแก้วชุมพล


๏ หลวงพ่อสิงห์ทอง ธัมมวโร หยั่งรู้วาระจิต

เมื่อท่านพระอาจารย์ทองดีพาพระอาจารย์คูณมาถึงวัดป่าแก้วชุมพล ต.บ้านชุม อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร ช่วงเวลานั้น หลวงพ่อสิงห์ทอง ธัมมวโร กำลังกวาดใบไม้อยู่ เพิ่นบอกกับพระอาจารย์คูณให้ไปสรงน้ำเสียก่อน เวลา ๒ ทุ่ม พระอาจารย์คูณไปรอกระทั่งหลวงพ่อสิงห์ทองเดินจงกรมเสร็จ จึงเข้าไปกราบถวายตัวให้พ่อแม่ครูอาจารย์ช่วยอบรมสั่งสอน หลวงพ่อสิงห์ทองก็เริ่มเทศน์สั่งสอนเรื่องภายในที่พระอาจารย์คูณติดขัดอยู่ในขณะนั้นทันทีว่า “เขาบวช เขาก็มาบวชหามรรคผลนิพพาน จะมาบวชหาเมียอย่างไร” หลวงพ่อสิงห์ทองท่านเทศน์ดุดัน กล่าวทักวาระจิตที่รุ่มร้อน ชี้ชัดโดนใจอย่างยิ่ง เสมือนมีนายพรานผู้มีฝีมือฉมังยิงธนู ลูกศรได้พุ่งมาสู่กลางใจของเป้าหมายอย่างไม่ผิดพลาด

ครั้นถึงฤดูเข้าพรรษา พระอาจารย์คูณจึงได้อธิษฐานจำพรรษาร่วมกับหลวงพ่อสิงห์ทอง ณ วัดป่าแก้วชุมพล ครั้นได้รับฟังธรรมอุบายแก้กิเลสจากหลวงพ่อสิงห์ทองแล้ว พระอาจารย์คูณก็เร่งความเพียรอย่างหนักหน่วง เนื่องจากพรรษาที่ผ่านมาที่บ้านหนองยาง การทำความพากความเพียรของท่านเองได้ลดหย่อนลงไปมาก

๏ ปฏิปทาหลวงพ่อสิงห์ทอง ธัมมวโร ด้านข้อวัตรปฏิบัติ

ปฏิปทาด้านข้อวัตรปฏิบัติของหลวงพ่อสิงห์ทองนั้น จะปฏิบัติตนให้ลูกศิษย์ดูเป็นตัวอย่างเสมอ อาทิเช่น การรักษาศีลโดยเคร่งครัด ท่านจะเทศนาอบรมและควบคุมปฏิปทาด้านการรักษาศีลของลูกศิษย์ของท่านอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งดุด่าว่ากล่าวเมื่อลูกศิษย์ผิดพลาดด้านศีล เพราะการที่ลูกศิษย์จะก้าวหน้าทางด้านสมาธิภาวนานั้น ต้องมีพื้นฐานทางด้านศีลเป็นที่รองรับ ส่วนการทำความพากเพียรเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนานั้น หลวงพ่อสิงห์ทอท่านจะปฏิบัติให้ลูกศิษย์ได้เห็นอย่างสม่ำเสมอทุกวัน

คือตอนเช้า ท่านจะเดินจงกรมก่อนออกบิณฑบาต ฉันจังหันเสร็จท่านจะพักประมาณเที่ยง แล้วจะลงเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิภาวนาต่อ ครั้นถึงเวลาปัดกวาดลานวัด ท่านจะไม่ยอมขาดถ้าไม่มีธุระจำเป็นจริงๆ ตอนพลบค่ำเวลา ๕-๖ โมงเย็น หลวงพ่อสิงห์ทองท่านจะเดินจงกรมเป็นประจำทุกวัน โดยจะขึ้นจากทางเดินจงกรมประมาณ ๒ ทุ่มของทุกวัน บางครั้งท่านไปธุระทางไกลมา พระเณรไปจับเส้นถวาย พอจับเส้นเสร็จแล้วแทนที่ท่านจะพักผ่อน ท่านกลับลงเดินจงกรมอีก นอกจากนั้น หลวงพ่อสิงห์ทองท่านจะเดินสำรวจดูการปฏิบัติ การทำความพากเพียรของพระเณร โดยบางครั้งท่านเดินไปมืดๆ ไม่ใช้ไฟฉาย และออกตรวจไม่เป็นเวลาที่แน่นอน ท่านพยายามขนาบพระเณรให้เร่งทำความเพียร พร้อมกับเทศนาอบรมสั่งสอนอยู่เสมอๆ

หลวงพ่อสิงห์ทองท่านจะคอยตรวจตราดูแลข้อบกพร่องต่างๆ ของพระเณร และตักเตือนว่ากล่าวอยู่เสมอ ท่านห้ามพระเณรไปคุยกันตามกุฏิ เวลาฉันน้ำร้อนห้ามคุยกันเสียงดังหรือใช้เวลานานเกินควร รู้จักใช้ของอย่างประหยัด เช่น สบู่ ใช้สบู่แล้วให้เก็บไว้ในกล่องให้เรียบร้อย จะทิ้งตากแดดตากฝนไว้ไม่ได้ ถ้าใครทำความพากเพียรดี ท่านมักจะชมเชยให้กำลังใจในด้านปฏิบัติแก่ผู้นั้น

รูปภาพ
หลวงปู่หล้า เขมปัตโต

รูปภาพ
พระอาจารย์สอน ชีวสุทโธ


๏ การปฏิบัติเร่งความเพียรอย่างอุกฤษฏ์

พระอาจารย์คูณเมื่อท่านพำนักปฏิบัติธรรมอยู่กับหลวงพ่อสิงห์ทองแล้ว ท่านก็อธิษฐานจิตถือเนสันชิกอยู่ในอริยบท ๓ คือ ยืน เดิน นั่ง ไม่ยอมนอนตลอดพรรษา ๓ เดือน เร่งความเพียรบำเพ็ญภาวนาโดยการนั่งสมาธิสลับเดินจงกรม โดยอธิษฐานจิตไม่ยอมนอนทั้งกลางวันกลางคืน อดนอนผ่อนอาหาร เพื่อให้มีสติทำความเพียรอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าเวลาจะเป็นกลางวันหรือกลางคืนท่านก็ไม่ยอมลดละให้ขาดวรรคขาดตอน บางครั้งก็ไปทำความเพียรภาวนา ทรมานจิตด้วยการไปเดินจงกรมในป่าช้าจนถึงรุ่งสว่างก็มี

วันเวลาผ่านไป วันแล้ววันเล่า เข้าสู่พรรษาที่ ๒ และ ๓ ที่ท่านพำนักอยู่ปฏิบัติธรรมในสำนักของหลวงพ่อสิงห์ทอง พระอาจารย์คูณท่านก็ยังปฏิบัติเร่งความเพียรอย่างอุกฤษฏ์ตลอด ท่านได้เล่าถึงการบำเพ็ญเพียรทางจิตว่า “นั่งภาวนาต่อสู้กับเวทนาอยู่อย่างนั้น มันเป็นอย่างไรถึงจะไม่เห็นทุกข์ ทุกข์มันปรากฏให้เห็นอยู่นี่ ดูซิ พิจารณาดูซิ นั่งสมาธิท่าเดียวตลอด ทำวัตรเดินจงกรมได้นิดหน่อย แล้วจึงเข้านั่งสมาธิ บำเพ็ญนั่งสมาธิภาวนาอยู่อย่างนั้น ตั้งแต่หัวค่ำจนสว่าง เราผ่านเวทนาได้ในครั้งนี้เอง”

ในความรู้สึกก่อนที่จะผ่านเวทนาได้เหมือนรู้สึกว่าขามันจะขาดออกจากกัน “มึงขาดก็ขาดออกไปว่ะ มันไม่ใช่ขาของเจ้าของหรอก พิจารณาทั้งกาย จนจิตมีความรู้สึกว่าตัวเองตายไปแล้ว จะผ่านเวทนาจนมาได้พระธรรมผุดขึ้นในใจ ยังกิญจิ สะมุทะยะธัมมัง สัพพันตัง นิโรธะธัมมันติ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา เราได้ปัญญาในใจตนเองว่า ไม่ว่าสุขก็ดี ไม่ว่าทุกข์ก็ดี หากมันเกิดขึ้น มีทุกข์ก็ต้องมีดับ เวทนาก็เช่นกัน ความทุกข์มากๆ มันมีเกิดขึ้น มันก็มีดับของมันเอง”

ในช่วงที่อยู่ร่วมสำนักกับหลวงพ่อสิงห์ทอง ในพรรษาที่ ๓ อาการจิตตกไม่กำเริบอีกต่อไป อารมณ์ต่างๆ เข้ามาก็พิจารณา นิมิตต่างๆ เกิดขึ้นก็ไม่สนใจ จิตสงบปลอดโปร่งโล่งสบาย ทำให้พระอาจารย์คูณท่านก้าวหน้า พิจารณาได้หมดจด พิจารณาจิตขาดจากกายจนได้พระธรรมขึ้มมาจากใจ ไม่หวั่นเกรงใดๆ ตลอดสามโลกธาตุ ไม่มีความสงสัย ขาดสะบั้นจากจิต หายจากอาการเร่าร้อนได้ดับสนิทลงเหมือนถ่านไฟมอดลงและสลายหายไป ณ วัดป่าแก้วชุมพล จ.สกลนคร ในพรรษาที่ ๑๒ ตรงกับปี พ.ศ.๒๕๒๐ พระอาจารย์คูณจึงมักพูดเสมอว่า

“เรามาได้ธรรมกับท่านอาจารย์สิงห์ทอง”

หลังจากนั้นพระอาจารย์คูณได้อยู่ร่วมสำนักวัดป่าแก้วชุมพลต่อไปอีก ๒ พรรษา รวมระยะนานถึง ๕ พรรษา จากนั้นพระอาจารย์คูณจึงกราบลาขอหลวงพ่อสิงห์ทอง ออกไปธุดงค์โดยมีคณะผู้ร่วมเดินทางคือ พระอาจารย์สอน ชีวสุทโธ และพระอาจารย์จวน โชติธัมโม จุดหมายปลายทางต่อไปคือเดินทางไป จ.มุกดาหาร ได้เข้าไปกราบฟังธรรมอยู่กับหลวงปู่หล้า เขมปัตโต เมื่อพำนักอยู่ที่ภูจ้อก้อ (วัดบรรพตคีรี) ได้พอสมควรแล้ว จึงกราบลาหลวงปู่หล้า เนื่องจากพระอาจารย์จวนท่านมีอายุมากแล้ว และชอบในธรรมคำสอนของหลวงปู่หล้า จึงได้ขออยู่ปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่หล้าต่อ หลวงปู่หล้าท่านว่า “ผู้จะไปก็ไป ผู้จะอยู่ก็อยู่” พระอาจารย์คูณ และพระอาจารย์สอน เมื่อลงจากภูจ้อก้อแล้ว จึงออกวิเวกต่อไปทางภูเขาแผงม้า-ภูผักกูด อันเป็นสถานที่ที่หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล และหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เคยมาบำเพ็ญสมณธรรม พระอาจารย์คูณจึงใช้สถานที่แห่งนี้นั่งภาวนา ทำความพากเพียรอย่างดูดดื่มในธรรม แต่ทว่าอากาศในช่วงฤดูนั้นร้อนเอามากๆ ท่านทั้งสองจึงชวนกันธุดงค์ขึ้นไปทางภาคเหนือ พอท่านทั้งสองเดินลงจากภูเขาแผงม้า-ภูผักกูด ก็มีศรัทธาญาติโยมถวายปัจจัยเป็นตั๋วแลกเงินจ่ายค่ารถ ท่านทั้งสองจึงเดินทางจาก อ.คำชะอี-อ.หนองสูง ไปยัง จ.กาฬสินธุ์ และ จ.ขอนแก่น ตามลำดับ

รูปภาพ
หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ

รูปภาพ
หลวงปู่หลวง กตปุญโญ

รูปภาพ
พระอาจารย์ขาน ฐานวโร

รูปภาพ
หลวงปู่พรหม จิรปุญโญ


๏ ออกเที่ยวธุดงค์ภาคเหนือ

พอรุ่งเช้าพระอาจารย์คูณ สุเมโธ และพระอาจารย์สอน ชีวสุทโธ ท่านทั้งสองก็นั่งรถโดยสารจาก จ.ขอนแก่น ไป จ.ลำปาง ซึ่งตรงกับช่วงปี พ.ศ.๒๕๒๒ ท่านเล่าว่า “ช่วงที่เดินทางด้วยรถโดยสาร ท่านทั้งสองต้องยืนกันตลอด ไม่มีที่ว่างให้นั่ง ใครมาก่อนก็ได้นั่งก่อน ไม่มีโยมลุกให้ท่านนั่งเลย แต่พอช่วงรถจอดให้ผู้โดยสารพักกินข้าวเย็น ท่านทั้งสองก็ไม่ได้ลงไปจึงได้นั่งยาวตลอดทางเลย” เมื่อพระอาจารย์คูณท่านเล่าถึงอดีตมาถึงตรงนี้ ท่านก็หัวเราะเสียง “ฮึ ฮึ” พร้อมกับรอยยิ้มอย่างเมตตา และเมื่อมาถึง จ.ลำปาง ท่านทั้งสองก็เข้าไปกราบนมัสการหลวงปู่หลวง กตปุญโญ ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของพระอาจารย์สอน ชีวสุทโธ ได้อยู่ปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่หลวงเป็นเวลาครึ่งเดือน จึงกราบลาเพื่อธุดงค์ขึ้นไปทาง จ.เชียงราย ต่อ

เมื่อมาถึง จ.เชียงราย จึงได้เดินทางไปกราบนมัสการท่านพระอาจารย์ขาน ฐานวโร และอยู่ร่วมปฏิบัติธรรมที่วัดวชิรทรงธรรมพัฒนา (วัดป่าบ้านเหล่า) ต.ทุ่งก่อ กิ่ง อ.เวียงเชียงรุ้ง จ.เชียงราย เป็นเวลาอีกหนึ่งเดือน จึงได้กราบนมัสการลาเพื่อธุดงค์ต่อไปทาง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ เพื่อมุ่งหน้าไปกราบฟังข้ออรรถข้อธรรมกับหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ ที่วัดดอยแม่ปั๋ง แต่ช่วงที่ธุดงค์ไปก่อนจะมาถึงวัดดอยแม่ปั๋ง ท่านทั้งสองก็แวะพักภาวนาที่สำนักสงฆ์ป่าเมี่ยงแม่สาย บ้านแม่สาย อันเป็นธรรมสถานที่วิเวกของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต, หลวงปู่ขาว อนาลโย, หลวงปู่พรหม จิรปุญโญ และหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ เป็นต้น

เมื่อถึงอาณาบริเวณป่าเมี่ยงแม่สาย ถึงแม้จะอยู่ในช่วงเดือนเมษายน แต่อากาศช่วงนั้นกลับเย็นสบายทั้งกลางวันกลางคืน เหมาะแก่การภาวนายิ่งนัก ป่าเมี่ยงแม่สายเป็นหมู่บ้านตั้งอยู่กลางหุบเขา มีลำธารน้ำไหลผ่านตลอดปี ชาวบ้านชาวเขาที่นี่มีอาชีพทำสวนเมี่ยงเป็นอาชีพหลัก (ต้นเมี่ยงเป็นชาชนิดหนึ่ง ชาวบ้านเก็บเอาใบมาหมักเป็นเมี่ยงของชาวเหนือ) ท่านทั้งสองจึงพักภาวนาอยู่ที่หมู่บ้านนี้ การภาวนาก็เป็นไปด้วยดี สะดวกราบรื่น ชาวบ้านชาวเขาก็คุ้นเคยกับพระกัมมัฏฐานมาตั้งแต่สมัยหลวงปู่มั่นโน้น จึงได้พากันมากราบอาราธนาให้ท่านพระอาจารย์ทั้งสองอยู่จำพรรษาที่นี่ เดิมทีพระอาจารย์คูณตั้งใจจะกลับไปจำพรรษากับหลวงพ่อสิงห์ทอง จึงได้เขียนจดหมายไปกราบเรียนเล่าเหตุการณ์ที่ผ่านมา หลวงพ่อสิงห์ทองก็เมตตาตอบจดหมายอนุญาตกลับมา จึงเป็นอันว่าพรรษานี้พระอาจารย์คูณ และพระอาจารย์สอนได้อยู่จำพรรษาฉลองศรัทธาญาติโยมที่ป่าเมี่ยงแม่สาย

ครั้นพอออกพรรษา ได้มีภิกษุฝรั่งศิษย์หลวงพ่อชา สุภัทโท ชื่อว่า กิตติญาโณ ภิกขุ ได้ธุดงค์วิเวกมาจาก อ.แม่สรวย มาถึงป่าเมี่ยงแม่สาย ได้เล่าให้พระอาจารย์คูณ ว่าผ่านมาทางชาวเขาเผ่ามูเซอ แล้วได้พบพระอาจารย์เย็น ท่านเป็นคน จ.ยโสธร ซึ่งพำนักอยู่กับชาวเขาเผ่ามูเซอ เมื่อพระอาจารย์คูณได้ยินดังนั้น ก็สงสัยว่าจะใช่พระอาจารย์เย็น ที่เคยอยู่ร่วมกันที่วัดพระพุทธบาทยโสธร บ้านหนองยาง ต.หัวเมือง อ.มหาชนะชัย จ.ยโสธร หรือป่าว จึงได้ชวนพระอาจารย์สอนติดตามขึ้นเขาไปหาท่านพระอาจารย์เย็น แต่ช่วงนั้นใกล้เข้าสู่ฤดูหนาว อากาศเริ่มเย็นลงเรื่อยๆ พระอาจารย์สอนก็ได้ทักท้วงว่า “ท่านอาจารย์ มันหนาวนะอยู่หลบพักหนาวเสียก่อนเถอะ” พระอาจารย์คูณท่านย้ำว่า “ไม่ ต้องเดี๋ยวนี้หล่ะ” จากนั้นท่านพระอาจารย์ทั้งสองจึงเก็บอัฐบริขาร แบกกลดสะพายบาตรออกธุดงค์ไปยังภูเขาที่ชาวมูเซออาศัยอยู่

เมื่อไปถึงก็ปรากฏว่า ใช่ ท่านพระอาจารย์เย็นที่เคยจำพรรษาอยู่ร่วมกันที่วัดพระพุทธบาทยโสธร บ้านหนองยาง จริงๆ ด้วย พระอาจารย์ทั้งสองท่านจึงอยู่ร่วมบำเพ็ญสมณธรรมอยู่กับชาวเขาเผ่ามูเซอนั้น ชาวบ้านได้มาทำแคร่เล็กๆ ให้พระอาจารย์คูณพำนักอาศัย อากาศก็ค่อยๆ เย็นลงจนหนาวเหน็บไปถึงกระดูก พระอาจารย์คูณอยู่ใต้กลดมีเพียงมุ้งกลดบางๆ เท่านั้นที่คอยบังกระแสลมที่พัดมา ผ้าห่มก็ไม่มี มีเพียงจีวร สังฆาฏิ และอังสะเท่านั้น ท่านจึงตัดสินใจนั่งภาวนาสู้กับความหนาวเย็นยะเยือกนี้ ท่านว่า “เอ้า !! ตายมึงตาย มึงจะมาสู้กับความหนาว มึงก็สู้ซิ”

พอรุ่งเช้าน้ำค้างร่วงหล่นบนใบกล้วย เสียงดัง ตุ๊บ ตั๊บ ตุ๊บ ตั๊บ คล้ายอย่างกะเสียงฝนตก ชาวบ้านเผ่ามูเซอก็พากันมาใส่บาตร โดยเขาเอาใบตองมาห่อข้าว ส่วนกับข้าวเขาก็ใส่ในกระบอกไม้ไผ่ไว้ ชาวเผ่ามูเซอนี้ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านเคยมาปลูกศรัทธาไว้ ทำให้คณะสงฆ์ที่มาภายหลังอยู่อย่างไม่ลำบากนัก ครั้นพอเวลาตกเย็น ท่านพระอาจารย์เย็นได้พาหมู่สงฆ์สวดมนต์ทุกๆ คืน ท่านบอกว่า “พวกเทพชอบมาฟังสวดมนต์ มีเทพชั้นสูงพร้อมเหล่าบริวารมาฟังสวดมนต์กันมากมายทุกๆ คืน”

รูปภาพ
หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม

รูปภาพ
หลวงปู่ชอบ ฐานสโม

รูปภาพ
พระอาจารย์ผจญ อสโม แห่งวัดป่าสิริปุญญาราม

รูปภาพ
พระอาจารย์สำราญ เตชปัญโญ แห่งวัดป่าสิริปุญญาราม

รูปภาพ
พระอาจารย์นิพนธ์ อภิปสันโน แห่งวัดป่าศาลาน้อย


๏ บุรุษลึกลับ แขกยามวิกาลมาเยือน

พระอาจารย์คูณพำนักปฏิบัติธรรมอยู่ ณ สถานที่แห่งนั้น ปรากฏคืนหนึ่งเมื่อท่านเดินจงกรมเสร็จ ก็นั่งสมาธิภาวนาต่อ เมื่อถึงเวลาพอสมควรท่านจึงเอนกายลงเพื่อจะหลับนอน พอลำตัวกระทบพื้นเท่านั้นเอง ก็ได้มีสิ่งแปลกประหลาดมาแสดงปรากฏให้พระอาจารย์คูณทราบ เป็นบุรุษลึกลับร่างกายสูงใหญ่แล้วแกว่งดาบเสียงดังวิ้วๆ ไปรอบๆ บุรุษนั้นค่อยๆ เดินเข้ามาหาท่านอย่างไม่เป็นมิตร พระอาจารย์คูณก็ถามออกไปว่า “ป๊าดโธ่...คนอีหยังคือมาสูงใหญ่แท้ จะมาเอาอะไรกะกูอีกละคราวนี้” พอดีมีเสียงสตรีเพศนางหนึ่ง ได้เข้ามาบอกบุรุษลึกลับร่างดำทมิฬผู้นั้นว่า ไม่ให้เข้ามาทำร้ายหลวงพ่อ ด้วยเหตุที่เขาคิดว่าพระภิกษุรูปนี้จะมานอนเฉยๆ ไม่มาภาวนา สตรีนางนั้นจึงตอบไปว่า “ท่านภาวนาแล้วนะ ท่านก็เพิ่งล้มตัวลงนอนนี่เอง” บุรุษลึกลับผู้นั้นจึงหยุดเดินเข้ามาหาพระอาจารย์คูณ แต่มือก็ยังแกว่งดาบไม่หยุด ดังวิ๊วๆ วิ๊วๆ พระอาจารย์คูณจึงได้หลับไป

พอรุ่งเช้า พระอาจารย์คูณได้ตื่นขึ้นมาได้ยินเสียงวิ๊วๆ วิ๊วๆ จึงนึกเอ๊ะใจว่าใครหนอ จึงได้ใคร่ครวญพิจารณาดู และลุกออกจากกลด ก็ได้พบเห็นเสียงลมพัดใบสนดังวิ๊วๆ วิ๊วๆ ท่านจึงนึกในใจว่า หรือว่าจะเป็นเจ้านี่ที่มาแกว่งดาบทั้งคืน หลวงพ่อคูณท่านเล่าถึงอดีตมาถึงตรงนี้แล้วก็หัวเราะด้วยความขบขัน จากนั้นพระอาจารย์คูณ และพระอาจารย์สอนได้แยกออกไปภาวนาอยู่วัดในหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่ง เมื่อฝนตกลงมาอากาศก็หนาวเหน็บจนเข้ากระดูก ท่านพระอาจารย์ทั้งสองต้องทนหนาวอยู่ถึง ๑๐ วัน ชาวบ้านเผ่ามูเซอเองก็ขาดแคลนไม่ค่อยมีผ้าห่มใช้ เวลาเขาหนาวก็จะผิงไฟแก้หนาว

พอดีมีโยมจากพื้นราบขึ้นมาค้าขายกับชาวมูเซอ เมื่อเห็นพระสงฆ์จึงถามชาวบ้านว่า “ตุ๊เจ้า มีผ้าห่มใช้กันไหม” เมื่อทราบว่าท่านทั้งสองไม่มีผ้าห่มใช้ จึงได้สละปัจจัยร่วมกับชาวบ้านไปหาซื้อผ้าห่มมาถวาย อีกหมู่บ้านหนึ่งมีพระกัมมัฏฐานมาบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ ชื่อว่า พระอาจารย์ผจญ อสโม ท่านเป็นศิษย์หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม และหลวงปู่ชอบ ฐานสโม พระอาจารย์ผจญท่านทราบข่าวว่าที่หมู่บ้านใกล้ๆ มีพระสองรูปไม่มีผ้าห่มใช้ จึงสั่งโยมให้ไปหาผ้าห่มนำไปถวายพระอาจารย์คูณ และพระอาจารย์สอน

:b44: หมายเหตุ โดยสาวิกาน้อย : พระอาจารย์ผจญ อสโม อดีตประธานสงฆ์วัดป่าสิริปุญญาราม บ้านหมากแข้ง ต.หนองงิ้ว อ.วังสะพุง จ.เลย ได้ละสังขารอย่างสงบด้วยโรคมะเร็ง เมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๖ สิริอายุรวมได้ ๗๐ ปี ๖ เดือน พรรษา ๕๐ ด้วยความเป็นพระกัมมัฏฐานที่มักน้อยสันโดษ เรียบง่าย ก่อนที่ท่านจะละสังขาร พระอาจารย์ผจญท่านได้สั่งเสียกับพระอาจารย์สำราญ เตชปัญโญ เจ้าอาวาสวัดป่าสิริปุญญาราม ไว้ว่า

“...อย่าเก็บผมไว้นานนะถ้าผมตาย ให้เผาภายใน ๗ วัน อย่าทำอะไรใหญ่โตนะ วัดเราจน ให้ทำเมรุเล็กๆ พอ ทำง่ายๆ ให้ท่านนิพนธ์ (พระอาจารย์นิพนธ์ อภิปสันโน แห่งวัดป่าศาลาน้อย จ.เลย) เป็นธุระจัดการให้ที”


พระอาจารย์คูณจึงรำพึงถึงบุพกรรมใดหนอที่ทำให้เรามาทนหนาวทรมานอยู่อย่างนี้ จึงระลึกขึ้นได้ว่า สมัยเป็นเด็กเลี้ยงควาย พาไปเลี้ยงกลางทุ่ง พอตากฝนกลับมาบ้านควายนอนหนาวสั่น เราเองก็ไม่ได้ก่อไฟให้ควายผิง จึงทำให้ควายมันหนาวสั่น “โอ้...กูนี่ไม่ได้ก่อไฟสุมไฟให้ควาย กูเลยต้องมานอนหนาวเหมือนควายเลยเน้อ” ท่านกล่าวว่า ถ้าพูดเรื่องกรรมนี่ ได้มาชดใช้กรรมทุกอย่าง

พระอาจารย์คูณพำนักอยู่ที่หมู่บ้านชาวมูเซอเป็นเวลาพอสมควรแล้ว จึงได้พร้อมหมู่คณะเดินทางกันไปกราบนมัสการหลวงปู่แหวน สุจิณโณ ณ วัดดอยแม่ปั๋ง ได้มาพบกันกับพระอาจารย์ผจญ จึงได้ร่วมกับหมู่คณะด้วยกัน ๕ รูป มีพระอาจารย์คูณ, พระอาจารย์ผจญ, พระอาจารย์สอน, พระอาจารย์ชูศักดิ์, พระอาจารย์มาณพ ออกเที่ยววิเวกแบกกลดรอนแรมอยู่ตามป่าเขา จาก ต.แม่ปั๋ง อ.พร้าว จนมาถึง อ.แม่แตง ด้วยความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า (ถ้าใครเคยใช้เส้นทางรถเส้นนี้จะรู้ว่าเป็นเส้นทางที่หฤโหดมาก เป็นเส้นทางที่คดเคี้ยวผ่านหุบเขาต่างๆ นานา แต่นี่ครูบาอาจารย์ท่านตรากตรำเดินกันด้วยเท้า) จากนั้นจึงธุดงค์ต่อจนมาถึงที่โป่งเดือดป่าแป๋ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ พอดีมีรถบรรทุกหินลิกไนซ์มาจอดถามคณะพระธุดงค์ ว่าจะเดินทางไปไหน จึงได้อาสาไปส่ง

๏ โปรดชาวเขา ชาวกะเหรี่ยง ชาวมูเซอ

คณะพระธุดงค์ได้ตอบไปว่า จะขึ้นไปที่บ้านชาวกะเหรี่ยง บ้านแม่เมืองหลวง ซึ่งอยู่ในหุบเขาเขต อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน เมื่อโชเฟอร์ทราบวัตถุประสงค์ของคณะพระธุดงค์แล้ว จึงปวารณาไปส่งให้ แต่ว่าโชเฟอร์เองก็ไม่รู้ทางจึงขับเลยไป คณะพระธุดงค์จึงต้องแยกลงระหว่างทาง เพราะรถบรรทุกจะเข้าไปที่เหมืองลิกไนซ์ต่อ คณะพระธุดงค์ก็แบกกลด สะพายบาตร เดินกันต่อไปจนมาถึงบ้านเวียงหลวง ในเขต อ.ปาย ได้พักอาศัยกระท่อมของชาวบ้าน ตื่นเช้ามาบิณฑบาต พอฉันเสร็จสรรพ เตรียมธุดงค์กันต่อ ก็พอดีมีปลัดผู้หนึ่งทราบข่าวว่ามีคณะพระสงฆ์ธุดงค์ผ่านมา จึงได้มาอาราธนาให้ไปโปรดชาวบ้านศาลาเมืองน้อย ซึ่งเป็นชาวกะเหรี่ยง เพราะที่นั่นเองมีแต่พวกคริสต์ได้ไปเผยแผ่ศาสนา แต่ชาวบ้านอยากได้พระพุทธศาสนาไปเผยแผ่บ้าง คณะสงฆ์จึงรับอาราธนา ได้มีลูกหาบมาช่วยกันหาบของให้โดยมีปลัดเป็นผู้นำทางไป

เมื่อมาถึงคณะสงฆ์จึงจัดแจงหาที่พักพำนัก อากาศที่นี่สบายนัก ปลอดโปร่งแวดล้อมไปด้วยขุนเขาน้อยใหญ่ บริเวณอาณาเขตบ้านศาลาเมืองน้อยนี้เป็นเมืองเก่าแก่ซึ่งถูกพวกพม่ามาเผาเสียเรียบ พบเห็นซากปรักหักพังของเจดีย์เก่าแก่ ซากโบสถ์ คูเมืองเก่าก็ยังพอเห็นร่องรอยความเจริญในอดีต เมื่อคณะสงฆ์ทั้ง ๕ รูป ได้เดินตรวจดูเรียบร้อยแล้ว จึงได้แยกย้ายกันไปพำนักในแต่ละหมู่บ้าน พระอาจารย์คูณ อยู่บ้านศาลาเมืองน้อยแห่งนี้, พระอาจารย์ผจญ พำนักอยู่บ้านกิ่งเหนาะ, พระอาจารย์มาณพ อยู่บ้านห้วยเหี้ย และพระอาจารย์ชูศักดิ์ กับพระอาจารย์สอน พักร่วมกันสองรูป อยู่ที่บ้านห้วยหก ซึ่งแต่ละหมู่บ้านอยู่ห่างกันนับ ๑๐ กิโลเมตร ต้องใช้เวลาเดินทางหากันเป็นชั่วโมง การเดินทางไปมาหาสู่จึงไม่สะดวกนัก ต่างคนต่างก็พากเพียรบำเพ็ญภาวนาเพื่อละกิเลสของตน

ที่หมู่บ้านศาลาเมืองน้อยแห่งนี้ เป็นชาวบ้านเผ่ามูเซอ มีตำรวจตะเวนชายแดนมาสร้างโรงเรียนสมเด็จย่าไว้ ตกตอนเย็นพวกนักเรียน ก็มาอบรมอยู่กับท่าน พอตอนเย็นพระอาจารย์คูณจึงได้พาพวกนักเรียนไหว้พระสวดมนต์

๏ เขียนจดหมายกราบเรียนหลวงพ่อสิงห์ทอง

ก่อนฤดูเข้าพรรษาในปีนั้น พระอาจารย์คูณได้เขียนจดหมายกราบเรียนหลวงพ่อสิงห์ทอง ธัมมวโร ให้ทราบว่าปีนี้จะจำพรรษารูปเดียว หลวงพ่อสิงห์ทองจึงแนะนำการปฏิบัติตนในการอยู่จำพรรษารูปเดียวอย่างละเอียด ถึงฤดูวันเข้าพรรษาพระอาจารย์คูณจึงได้อธิษฐานพรรษา ณ บ้านศาลาเมืองน้อย พักจำพรรษาอยู่กับพวกชาวมูเซอ ท่านอยู่กับพวกชาวเขาเป็นเวลาหนึ่งปี ก็ตั้งใจจะกลับมาหาหลวงพ่อสิงห์ทอง ก็พอดีทราบข่าวจากหมู่คณะเขียนจดหมายมาบอกให้ทราบข่าวอันสลดสังเวชว่า “หลวงพ่อสิงห์ทองเครื่องบินตก ท่านมรณภาพแล้ว” คณะสงฆ์นำโดยพระอาจารย์คูณ สุเมโธ จึงรีบพากันกลับมายังวัดป่าแก้วชุมพล

หลวงพ่อสิงห์ทองท่านประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตกได้ถึงแก่มรณภาพ ณ ท้องนาทุ่งรังสิต เขตหมู่ที่ ๔ ต.คลองสี่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ.๒๕๒๓ เวลาประมาณ ๑๔.๐๐ น. พร้อมกับครูบาอาจารย์พระป่ากัมมัฏฐานสายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต อีก ๔ รูปด้วยกัน คือ หลวงปู่บุญมา ฐิตเปโม, ท่านพระอาจารย์วัน อุตฺตโม, ท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ และท่านพระอาจารย์สุพัฒน์ สุขกาโม หลวงพ่อสิงห์ทองท่านอยู่จำพรรษาที่วัดป่าแก้วชุมพลมาจนถึงปี พ.ศ.๒๕๒๓ สิริอายุรวมได้ ๕๖ ปี พรรษา ๓๖ พระอาจารย์คูณได้อยู่ช่วยงานประชุมเพลิงสรีระสังขารของหลวงพ่อสิงห์ทองจนเสร็จงาน

:b44: อ่านเพิ่มเติมที่กระทู้ข้างล่างนี้...
การสูญเสียพระป่ากัมมัฏฐานสายหลวงปู่มั่นครั้งใหญ่
พร้อมกันถึง ๕ รูป ด้วยเหตุเครื่องบินตกครั้งประวัติศาสตร์ !!!

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=25698


๏ กลับคืนสู่ภาคเหนืออีกครั้ง

หลังจากหลวงพ่อสิงห์ทองมรณภาพแล้ว พระอาจารย์คูณก็ธุดงค์ขึ้นไปทางภาคเหนืออีกรอบ ซึ่งครั้งนี้ไปจำพรรษาร่วมกับพระอาจารย์เย็นที่หมู่บ้านชาวเขาบนดอย แต่อยู่ห่างกันคนละสำนัก ส่วนพระอาจารย์สอนไม่ได้ขึ้นมาด้วย ยังอยู่ที่วัดป่าแก้วชุมพลต่อ ในพรรษานี้พระอาจารย์คูณได้มาอยู่ร่วมกับชาวบ้านชาวกะเหรี่ยงและบ้านมูเซอ ซึ่งมีบ้านละ ๒ หลังคาเรือนเท่านั้น โดยมีธารน้ำไหลผ่านอยู่ตรงกลางไม่ได้อาศัยร่วมกัน การบิณฑบาตท่านก็รับบาตรทั้งชาวกระเหรี่ยงและชาวมูเซอ หากวันไหนฝนตก ท่านก็บิณฑบาตเฉพาะบ้านกะเหรี่ยงเท่านั้น

พระอาจารย์คูณท่านพำนักอยู่เพียงรูปเดียว ด้านการปฏิบัติธรรมภาวนาเป็นไปสะดวกราบรื่น เพราะไม่ต้องมีภาระมาก พวกชาวเขามูเซอ และชาวกะเหรี่ยงก็จะพาลูกหลานมาให้ท่านช่วยสอนหนังสือภาษาไทยให้ ในเรื่องการทำความเพียร ท่านก็อดนอนผ่อนอาหาร ทำความเพียรถือเนสัชชิกตลอดทั้งพรรษา บ้างก็อดอาหารนาน ๑๕ วัน การพิจารณาธรรมเป็นไปตามลำดับ พรรษานี้ท่านรู้สึกดูดดื่มในรสพระธรรม เร่งปฏิบัติตามมรรค พระอาจารย์คูณท่านว่า “ปฏิบัติตนในหลักมรรคสามัคคี แล้วก็รวมได้จึงได้พ้นทุกข์”

รูปภาพ
พระอาจารย์อุ่นหล้า ฐิตธัมโม

รูปภาพ
หลวงปู่บุญมี ปริปุณโณ

รูปภาพ
หลวงปู่บัวคำ มหาวีโร

รูปภาพ
หลวงปู่มหาบุญมี สิริธโร

รูปภาพ
พระสุทธิธรรมโสภณ (หลวงพ่อสุทธิพงศ์ ชนุตฺตโม)


๏ คืนสู่ภาคอีสาน อยู่เป็นหลักใจ

หลังจากออกพรรษาในปี พ.ศ.๒๕๒๓ แล้ว พระอาจารย์คูณจึงได้กลับมาทางภาคอีสาน และได้เข้าไปอยู่ร่วมเป็นกำลังหลักให้กับท่านพระอาจารย์อุ่นหล้า ฐิตธัมโม ที่วัดป่าแก้วชุมพลต่ออีก ๕ พรรษา คือ ปี พ.ศ.๒๕๒๔-๒๕๒๘ ก่อนจะไปวิเวกอยู่กับหลวงปู่บุญมี ปริปุณโณ ที่วัดถ้ำยา (ภูลังกา) บ้านนาโพธิ์ อ.บ้านแพง จ.นครพนม อีก ๔ พรรษา หลังจากนั้นหลวงปู่บุญมีได้พาคณะศิษย์ออกจากวัดถ้ำยา (ภูลังกา) แล้วมาจำพรรษายังวัดป่าบ้านใหม่ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ร่วมกันอีก ๑ พรรษา จากนั้นหลวงปู่บุญมีได้ไปอยู่วัดป่านาคูณ ต.บ้านค้อ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ส่วนพระอาจารย์คูณก็มาพำนักจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าภูทอง บ้านภูทอง จ.อุดรธานี

พระอาจารย์คูณเคยกล่าวถึงหลวงปู่บุญมี ปริปุณโณ ไว้ว่า “หลวงปู่บุญมีท่านเป็นแรงบันดาลใจให้เราออกบวช เราเห็นท่านแล้วเกิดเลื่อมใส ถ้าบวชแล้วก็จะออกธุดงค์แบบท่าน”

วัดป่าภูทอง เป็นวัดป่าสายปฏิบัติ สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย สร้างขึ้นตามปฏิปทาของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน เพื่อเป็นสถานที่ปฏิบัติอบรมจิตตภาวนาแก่พุทธศาสนิกชน มีพื้นที่ประมาณ ๘๕ ไร่ ๓ งาน ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๑ วัดแห่งนี้ในอดีตเคยเป็นที่พำนักปฏิบัติธรรมของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ และหลวงปู่ขาว อนาลโย เป็นต้น

สำหรับวัดป่าภูทองนั้นตั้งชื่อตาม “พระธาตุภูทอง” เจดีย์เก่าแก่ โดยเป็นวัดเก่าแก่ที่มีมานานแล้ว เริ่มต้นจากหลวงปู่บัวคำ มหาวีโร ศิษย์ทายาทธรรมของหลวงปู่ชอบ ฐานสโม ได้เข้ามาบุกเบิก (หลวงปู่บัวคำท่านเป็นชาวหนองบัวบาน อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี อุปสมบทพร้อมกันกับหลวงปู่ลี กุสลธโร ในงานประชุมเพลิงสรีระสังขารท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เมื่อวันจันทร์ที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ.๒๔๙๓) จากนั้น หลวงปู่บัวทอง กันตปทุโม ซึ่งเป็นญาติผู้น้องของหลวงปู่บัวคำ ได้เข้ามาสร้างเสนาสนะเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม ต่อมาหลวงปู่มหาบุญมี สิริธโร ได้เข้ามาอยู่จำพรรษาที่นี่เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๙ สืบต่อมาด้วยหลวงพ่อคูณ สุเมโธ ตามลำดับ

พระสุทธิธรรมโสภณ (หลวงพ่อสุทธิพงศ์ ชนุตฺตโม) เจ้าอาวาสวัดป่าวังเลิง จ.มหาสารคาม รูปปัจจุบัน เมตตาเล่าให้ลูกศิษย์ลูกหาฟังว่า สมัยที่หลวงปู่มหาบุญมี สิริธโร อยู่จำพรรษาที่วัดป่าภูทองนั้น หลวงพ่อสุทธิพงศ์ ได้กราบเรียนถามหลวงปู่มหาบุญมีท่านว่า “วัดตั้งอยู่บ้านภูดิน ทำไมตั้งชื่อว่า วัดป่าภูทอง”

หลวงปู่มหาบุญมีท่านจึงให้สร้างเจดีย์เล็กๆ ไม่สูงมากนัก โดยก่อด้วยอิฐขึ้นมา จะว่าเป็นเจดีย์ก็ไม่เชิง ท่านทำในลักษณะเหมือนภูเขามากกว่า แล้วส่วนยอดของเจดีย์ ท่านให้ทาสีทอง พอสร้างเสร็จท่านจึงเรียกหลวงพ่อสุทธิพงศ์ ไปดู แล้วหลวงปู่มหาบุญมีท่านก็ชี้ไปที่เจดีย์ดังกล่าว ที่มีลักษณะเหมือนภูเขาเล็กๆ ว่า “นี่ไง (ล่ะ) ภู (เขา)” แล้วก็ชี้ไปที่ยอดเจดีย์ “นี่ไง (ล่ะ) ทอง...นี่ล่ะ ภูทอง” เจดีย์ที่หลวงปู่มหาบุญมีให้สร้างขึ้นนั้น ตั้งอยู่ใกล้ๆ กับอุโบสถของวัด ปัจจุบันเรียกขานกันโดยทั่วไปว่า “พระธาตุภูทอง”

หมายเหตุ : แต่เดิมวัดป่าภูทองตั้งอยู่ที่บ้านภูดิน ต่อมามีการเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านใหม่จากบ้านภูดิน เป็น บ้านภูทอง จนถึงปัจจุบันนี้

๏ หลวงพ่อคูณ สุเมโธ พระอริยสงฆ์ผู้เปี่ยมล้นด้วยเมตตาธรรม

หลวงพ่อคูณ สุเมโธ ท่านเป็นที่รักใคร่ของชาวบ้านและศิษยานุศิษย์ ความที่หลวงพ่อคูณเป็นผู้มีเมตตาสูงมาก อารมณ์ดี ใจเย็น เรียบง่าย ไม่ชอบพิธี ไม่สะสมปัจจัย มีมาใช้ไป แต่ใช้ในสิ่งเป็นประโยชน์ เช่น ช่วยเหลือวัด และโรงเรียนที่ขาดแคลน ท่านได้สร้างสาธารณะประโยชน์มากมาย ดำเนินตามรอยธรรมตามปฏิปทาของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน อีกทั้งท่านได้เห็นคุณประโยชน์ในการศึกษาได้ช่วยอุปถัมภ์โรงเรียนในเขตบ้านภูทอง และบ้านภูดิน และอุปการะให้ทุนการศึกษาแก่เด็กนักเรียนกว่า ๒๐ คน คนไหนตั้งใจเรียน ท่านก็ส่งเสียให้เรียนเท่าที่เขาจะเรียนได้ ใครมาขออะไร หน่วยงานไหนเขาจำเป็นเดือดร้อนก็มาขอ ท่านก็เมตตาไม่ปฏิเสธ บางที่ไม่มีปัจจัยเลย เห็นเขาจำเป็นก็รับคำให้เลย ส่วนการก่อสร้างในวัดท่านก็บอกว่าชาวบ้านได้งานทำด้วย

รูปภาพ
:b49: แถวหน้า จากซ้าย : หลวงพ่อประสิทธิ์ ปุญญมากโร, หลวงปู่บัวทอง กันตปทุโม
ซึ่งท่านเป็นญาติผู้น้องของหลวงปู่บัวคำ มหาวีโร
,
พระอาจารย์สมัย ธัมมโฆสโก และพระอาจารย์ผจญ อสโม

:b49: แถวหลัง จากซ้าย : หลวงพ่อบุญรอด อธิปุญโญ, หลวงพ่อสมศรี อัตตสิริ,
หลวงปู่รินทร์ (กองมี) ปิยสีโล และพระอาจารย์นิสสัย กันตวีโร
ในงานถวายกฐินแด่วัดป่าเวฬุวนาราม (วัดป่าผาน้อย) อ.วังสะพุง จ.เลย
เมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๔๔
(ขอขอบพระคุณที่มาของรูปภาพ : คุณภิเนษกรมณ์ - Pakorn Kengpol)


รูปภาพ
ป้ายชื่อ “วัดป่าภูทอง” ต.บ้านผือ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี

(มีต่อ)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 พ.ค. 2013, 05:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
ในพิธีสรงน้ำและขอขมาสรีระสังขารหลวงพ่อคูณ สุเมโธ
:b49: จากซ้าย องค์แรก : พระโพธิญาณมุนี (หลวงพ่อเมือง พลวัฑโฒ)
วัดป่ามัชฌิมาวาส บ้านดงเมือง ต.ลำพาน อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์
สหธรรมิกที่สนิทกันมากกับหลวงพ่อคูณ สุเมโธ

องค์ที่ ๓ : พระอาจารย์สมเกียรติ (เต๋อ) ชิตมาโร วัดป่าถ้ำพระเทพนิมิต
บ้านทุ่งตาลเลียน ต.ตาลเลียน อ.กุดจับ จ.อุดรธานี
ซึ่งมติที่ประชุมสงฆ์เห็นชอบให้เป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดป่าภูทอง

พระอาจารย์สมเกียรติ (เต๋อ) ชิตมาโร เคยอยู่จำพรรษาและอุปัฏฐาก
หลวงพ่อคูณ สุเมโธ ณ วัดป่าภูทอง เป็นเวลาถึง ๒๐ พรรษา


-----------------------------------------

๏ พินัยวาจา...พินัยธรรม
จาก “พระครูวิมลภาวนาคุณ (หลวงพ่อคูณ สุเมโธ)”
ก่อนละสังขาร เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๖


ได้รับทราบข้อมูลจาก พระอาจารย์สมเกียรติ (เต๋อ) ชิตมาโร เจ้าอาวาสวัดป่าถ้ำพระเทพนิมิต ต.ตาลเลียน อ.กุดจับ จ.อุดรธานี ซึ่งเคยอยู่จำพรรษาและอุปัฏฐากหลวงพ่อคูณ สุเมโธ ณ วัดป่าภูทอง เป็นเวลาถึง ๒๐ พรรษา ระยะหลังไปจำพรรษาช่วยงานและอุปัฏฐากหลวงปู่บุญมี ปริปุณโณ วัดป่าบ้านนาคูณ ต.บ้านผือ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี เล่าว่า...ความที่หลวงพ่อคูณเป็นผู้มีเมตตาสูงมาก อารมณ์ดี ใจเย็น เรียบง่าย ไม่ชอบพิธี ไม่สะสมปัจจัย มีมาใช้ไป แต่ใช้ในสิ่งเป็นประโยนช์ เช่น ช่วยเหลือวัด โรงเรียน สาธารณประโยนช์ต่างๆ ใครมาขออะไร หน่วยงานไหนเขาจำเป็นเดือดร้อนก็มาขอ ท่านก็เมตตาไม่ปฏิเสธ บางที่ไม่มีปัจจัยเลย เห็นเขาจำเป็นก็รับคำให้เลย ส่วนการก่อสร้างในวัดท่านก็บอกว่าชาวบ้านได้งานทำด้วย แต่ว่าสิ่งที่จะเล่าต่อไปนี้เหมือนหลวงพ่อคูณพูดให้เป็นพินัยกรรมเอาไว้ ท่านได้เตรียมการหรือมอบหมายไว้แล้ว แต่ลูกศิษย์ไม่ได้เฉลียวใจเพราะท่านสุขภาพก็แข็งแรงอยู่ เคยมีอาการเกี่ยวกับโรคหัวใจอยู่ครั้งหรือสองครั้งนี้แหละ อาตมาจำวันไม่ได้หรอก

เมื่อประมาณกลางพรรษาปี ๒๕๕๕ หลวงพ่อคูณได้สั่งไห้พระลูกศิษย์ถมที่หน้าวัดให้สูงสัก ๓ เมตร โดยให้เสร็จก่อนเข้าพรรษาปี ๒๕๕๖ (เป็นสถานที่ที่กำลังจะถมและทำเป็นเมรุชั่วคราวให้ทันงานถวายเพลิงองค์ท่าน ในวันอาทิตย์ที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๖ นี้) ด้วยความไม่ได้เอะใจว่าท่านจะด่วนจากลูกศิษย์ลูกหาไปเร็วขนาดนี้ และอีกอย่างด้วยเพราะต้องใช้ปัจจัยจำนวนมาก หลังออกพรรษาเมื่อปลายปี ๒๕๕๕ นี้เอง ในระหว่างนั่งรถแต๊กๆ (รถพ่วง หัวจักรรถไถเดินตาม) กับลูกศิษย์ แล้วท่านก็ปรารภขึ้นว่า “...อย่างนี้สมฐานะเรา เราชอบ หากเราตายอย่าเอาอะไรๆ ที่่มันยุ่งยากๆ มานะ...เอาอะไรก็ได้มาห่อร่างเราแล้วเอาไปเลย...”

อีกคำพูดท่านจะพูดอยู่เป็นประจำว่า “เรานี่ตายง่ายนะ...เราตายนี่ ไม่ต้องได้เข้าโรงพยาบาลเลยนะ...”

นอกจากนี้แล้ว ท่านยังเคยปรารภเป็นนัยยะเกี่ยวกับเรื่องการมรณภาพของท่านไว้ล่วงหน้าในหลายวาระด้วยกัน เช่น เมื่อต้นเดือนมกราคม ๒๕๕๖ ในคราวที่พระครูวิทิตศาสนกิจ (หลวงพ่อไพโรจน์ วิโรจโน) สำนักสงฆ์ดอยปุย ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ได้มรณภาพลง หลวงพ่อคูณท่านได้พูดให้พระและโยมกรุงเทพฯ ฟังว่า

“เราก็จะไปเหมือนหลวงพ่อไพโรจน์นี่แหละ ไปสบาย ง่ายดี”

“เวลาเราไปน่ะ เราจะไปในวัด ไปสบายๆ ไม่ให้ลำบากใครหรอก ไม่ให้ยุ่งใครหรอก”

อีกทั้งท่านยังเคยปรารภไว้อีกด้วยว่า “อย่าเก็บไว้นาน อย่าสวดอะไรให้เราเลย เพราะเราพอแล้ว ถ้าจะจัดงานให้เราก็ให้ทำแบบเรียบง่าย ทำแบบงานหลวงพ่อสิงห์ทองได้ยิ่งดี ทำแบบกรรมฐานนั่นแหละ”

และล่าสุดเมื่อวันเสาร์ที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๖ นี้เอง หลวงพ่อคูณท่านได้ปรารภกับพระลูกศิษย์ที่กรุงเทพฯ และอยู่บนเครื่องบินด้วยว่า “เราไปที่วัดเหมือนมีโลงศพหรืองานศพ คนเต็มวัดเลย...”

วันอาทิตย์ที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๖ หลวงพ่อคูณ สุเมโธ ก็ได้จากลูกศิษย์ไปจริงๆ อาตมาเหมือนร่างกายมันช็อคไป ใจเตรียมงานได้ ทำงานได้ แต่กายกลับหลับไม่ลง ฉันไม่ได้ ไม่เคยเป็น คิดดู !

รูปภาพ
พระอาจารย์สมเกียรติ (เต๋อ) ชิตมาโร

รูปภาพ
หลวงพ่อสนอง ชินวังโส วัดป่าดอนบ้านเทือน จ.อุดรธานี

รูปภาพ
พระอาจารย์ภานุพงค์ ปัญญาวุโธ (ครูบาอ้วน) พระอุปัฏฐากหลวงพ่อคูณ
ปัจจุบันท่านอยู่จำพรรษา ณ วัดป่าโนนทองอินทร์ วัดที่สร้างขึ้นใหม่
บ้านผาซ่อน ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู



๏ เมตตาแม้วาระสุดท้าย

หลวงพ่อคูณ สุเมโธ ท่านเมตตาพระลูกศิษย์ชาวมาเลเซีย ที่มาฝากตัวเป็นลูกศิษย์อยู่ศึกษาข้อวัตรเป็นผ้าขาว และบวชอยู่ปฏิบัติธรรมกับท่านมาถึง ๕ พรรษาแล้ว พระลูกศิษย์ท่านนี้ขอโอกาสกลับไปเยี่ยมบ้านเกิด กลับไปเยี่ยมโยมบิดา-มารดาที่ประเทศมาเลเซีย จึงมากราบขออนุญาตหลวงพ่อคูณ เมื่อหลวงพ่อคูณท่านทราบ ท่านก็บอกว่าจะนำพากลับไปเยี่ยมบ้านเกิดด้วยองค์เอง เพราะครอบครัวของครูบาพระลูกศิษย์ชาวมาเลเซียท่านนี้มีศรัทธาที่ดี หลวงพ่อคูณท่านจึงตั้งใจจะไปโปรดด้วยตนเอง โดยได้ร่วมเดินทางกันไปประเทศมาเลเซีย ปกติถ้าเดินทางไปต่างประเทศ หลวงพ่อคูณท่านจะให้ หลวงพ่อสนอง ชินวังโส แห่งวัดป่าดอนบ้านเทือน ต.บ้านผือ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี หรือพระอาจารย์ภานุพงค์ ปัญญาวุโธ (ครูบาอ้วน) พระอุปัฏฐาก ไปด้วย แต่คราวนี้ท่านไม่ให้ทั้งหลวงพ่อสนอง ชินวังโส และพระอาจารย์ภานุพงค์ ปัญญาวุโธ (ครูบาอ้วน) พระอุปัฏฐาก ไปด้วย สำหรับการเดินทางเครื่องบินออกจาก จ.อุดรธานี หลวงพ่อคูณท่านได้กล่าวกับพระลูกศิษย์ที่ติดตามไปด้วย ทั้งที่กรุงเทพมหานคร และอยู่บนเครื่องบินว่า

“เรามองกลับไปที่วัดป่าภูทอง เหมือนเห็นโลงศพตั้งอยู่ที่่วัด หรือมีงานศพ คนเต็มวัดเลย...”


ครั้นเมื่อท่านไปถึงหาดใหญ่ก็เข้าไปกราบ หลวงปู่มหาจิต จิตฺตวโร แห่งวัดภูเขาล้อม (วัดควนจง) ต.นาหม่อม อ.นาหม่อม จ.สงขลา หลวงปู่จิตก็ถามว่า จิตจ้าบ้อ (จิตสว่างรึเปล่า) หลวงพ่อคูณตอบว่า จ้าครับผม

ในเช้าวันอาทิตย์ที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๖ หลวงพ่อคูณ และพระติดตาม ๒ รูป ได้เมตตาไปฉันเช้าที่บ้านลูกศิษย์ที่หาดใหญ่ มีญาติโยม ๑๐๐ กว่าคนมาถวายจังหัน หลวงพ่อคูณท่านพูดว่า “วันนี้คนหาดใหญ่จะได้บุญใหญ่ นอกจากสังฆทานแล้ว ยังได้ทัศนามัย บุญวันนี้เรามาโปรดลูกหลานทางนี้ให้ได้เชื้อธรรมไว้ เพราะที่่ใต้มีพระมาน้อย วันนี้ให้ทุกคนได้บุญใหญ่” จากนั้นหลวงพ่อคูณท่านยังเมตตาอบรมกรรมฐานให้อีกด้วย

ครั้นตอนบ่ายโมง หลวงพ่อคูณท่านเจ็บที่หัวใจ จึงให้พระลูกศิษย์นวดและกดที่ฝ่าเท้าถวาย ท่านว่าเกี่ยวกับหัวใจ ซักพักท่านก็ให้กดที่เส้นท้อง ปรากฏว่าลมตีขึ้น ท่านเรออย่างมาก ทั้งมีเศษอาหารออกมาด้วย ต่อมาตาท่านก็ค้าง พระลูกศิษย์พยายามปั้มหัวใจ ผายปอด ก็ไม่คืน จึงนำส่งโรงพยาบาล ซึ่งทางโรงพยาบาลได้พยายามปั้มหัวใจถึง ๔๕ นาที ช็อตไฟฟ้ากระตุ้นหัวใจอีกหลายครั้ง รวมถึงฉีดยากระตุ้นหัวใจอีกหลายเข็ม เมื่อไม่สามารถนำหลวงพ่อกลับคืนมาได้ จึงหยุดการรักษา แล้วนำหลวงพ่อคูณท่านกลับมาพักที่วัดเขารูปช้าง บ้านเขารูปช้าง ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา กระทั่งในที่สุดหลวงพ่อคูณจึงได้ละสังขารลงด้วยอาการสงบ เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๖ เวลาประมาณ ๑๔.๓๐ น. ณ วัดเขารูปช้าง สิริอายุรวมได้ ๗๐ ปี ๔ เดือน ๑๒ วัน พรรษา ๔๗

หลังจากนั้นได้เคลื่อนสรีระสังขารของหลวงพ่อคูณ กลับมาทำพิธีทางศาสนายังวัดป่าภูทอง โดยรถยนต์ (รถตู้) จากหาดใหญ่ กระทั่งมาถึงวัดเมื่อเวลา ๑๔.๕๐ น. ของวันจันทร์ที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๖ โดยมีรถหลวงพ่อเมือง พลวัฑโฒ มานำขบวนจาก จ.อุดรธานี จนกระทั่งถึงวัดป่าภูทอง ทั้งนี้ ได้มีครูบาอาจารย์และคณะศิษยานุศิษย์มารอรับสรีระสังขาร และร่วมพิธีสรงน้ำ-ขอขมาสรีระสังขารหลวงพ่อเป็นจำนวนมาก

๏ เกร็ดธรรมคำสอน

พระธรรมคำสอนที่หลวงพ่อคูณ สุเมโธ ท่านเคยให้ไว้และพูดอยู่เสมอ คือ “ครูบาอาจารย์บ่อยู่ ก็บ่เป็นหยัง คำสอนของเพิ่นยังมีอยู่ ให้พากันปฏิบัติตามคำสอนของเพิ่น ก็เหมือนกันกับเพิ่นอยู่นำเฮานั่นหล่ะ”

.............................................................

๑. หนังสือธรรมค้ำคูณ พระครูวิมลภาวนาคุณ (หลวงพ่อคูณ สุเมโธ)
วัดป่าภูทอง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ปีพุทธศักราช ๒๕๕๖
หนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงสรีระสังขารหลวงพ่อคูณ สุเมโธ
๒. คำบอกเล่าของพระอาจารย์สมเกียรติ (เต๋อ) ชิตมาโร
(จาก facebook พุทธบูชาคลินิก วัดป่ามัชฌิมาวาส)
๓. คำบอกเล่าของพระลูกศิษย์ที่ติดตามหลวงพ่อคูณ สุเมโธ
ไปประเทศมาเลเซีย ก่อนที่องค์ท่านจะละสังขาร
(จาก facebook คุณ Prapon Imsawatgul)
:b8: :b8: :b8:

:b47: รวมคำสอน “หลวงพ่อคูณ สุเมโธ”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=51549

:b47: ประมวลภาพ “หลวงพ่อคูณ สุเมโธ” วัดป่าภูทอง
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=22886

:b47: หลวงพ่อคูณ สุเมโธ วัดป่าภูทอง ละสังขารแล้ว
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=45371

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ก.พ. 2015, 11:06 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 พ.ค. 2013, 10:07
โพสต์: 406

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


onion ขออนุโมทนา สาธุ :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 6 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร