วันเวลาปัจจุบัน 25 เม.ย. 2024, 14:58  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 พ.ย. 2014, 11:39 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


สฬายตนวิภังคสูตร (๑)
�����
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรม
ในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ
ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระ
ผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ตั้งใจ
ถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จะแสดงอธิบายสฬายตนวิภังคสูตร
คือพระสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสจำแนกอายตนะ ๖
ในพระสูตรนี้พระองค์ได้ตรัสบทอุเทศคือแม่บท
เป็นหัวข้อกระทู้ที่จะทรงอธิบาย ตั้งต้นแต่อายตนะภาย
ใน ๖ อายตนะภายนอก ๖ ประชุม
หรือหมวดหมู่แห่งวิญญาณ ๖ ประชุม
หรือหมวดหมู่ของผัสสะ ๖ มโนปวิจาร ๑๘ คือ
ความเที่ยวไปนึกคิดของใจ สัตตบถ (สตฺตปทา ๓๖)
คือทางดำเนินของสัตว์คือผู้ข้องเกี่ยวอยู่ ๓๖ และ
ยังมีต่อไปอีก อันเป็นส่วนทางปฏิบัติสูงสุด ซึ่ง
จะกล่าวเมื่อถึง จะ
ได้แสดงอธิบายไปตามข้อกระทู้บทอุเทศ ที่ตรัสยก
ไว้นี้ไปโดยลำดับ
อายตนะภายใน ๖ ก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น
กาย และมโนหรือมนะคือใจ อายตนะภายนอก ๖ ก็คือ
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ สิ่งที่กายถูกต้อง
และธรรมะคือเรื่องราว
ประชุมหรือหมวดหมู่แห่งวิญญาณ ๖
ก็คือจักขุวิญญาณ รู้รูปคือเห็นรูปทางตา โสตวิญญาณ
รู้คือได้ยินเสียงทางหู ฆานวิญญาณ
รู้คือทราบกลิ่นทางจมูก ชิวหาวิญญาณ
รู้คือทราบรสทางลิ้น กายวิญญาณ
รู้คือทราบโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้องทางกาย มโนวิญญาณ
รู้ก็คือรู้คิดเรื่องทางมโนคือใจ
หมวดหมู่แห่งผัสสะ ๖ ก็คือ จักขุสัมผัส
สัมผัสทางตา โสตสัมผัส สัมผัสทางหู ฆานสัมผัส
สัมผัสทางจมูก ชิวหาสัมผัส สัมผัสทางลิ้น กายสัมผัส
สัมผัสทางกาย มโนสัมผัส สัมผัสทางมโนคือใจ
มโนปวิจาร ความเที่ยวไปคิดนึกของใจ
๑๘ ก็คือ
เห็นรูปทางตา (เริ่ม ๑๗๑/๑)
ก็เที่ยวไปคิดนึกถึงรูป อันเป็นที่ตั้งของโสมนัสคือ
ความยินดีบ้าง เป็นที่ตั้งของโทมนัสความยินร้ายบ้าง
เป็นที่ตั้งของอุเบกขาคือความที่มีใจเป็นกลางไม่ยินดี
ไม่ยินร้ายบ้าง
ได้ยินเสียงทางหู ใจก็ท่องเที่ยวคิดนึก
ถึงเสียง อันเป็นที่ตั้งของโสมนัสยินดีบ้าง
เป็นที่ตั้งของโทมนัสยินร้ายบ้าง เป็นที่ตั้งของอุเบกขา
เป็นกลางๆ ไม่ยินดีไม่ยินร้ายบ้าง
สูดกลิ่นทางจมูก ใจก็ท่องเที่ยวคิดนึก
ถึงกลิ่น อันเป็นที่ตั้งของโสมนัสยินดีบ้าง
เป็นที่ตั้งของโทมนัสยินร้ายบ้าง เป็นที่ตั้งของอุเบกขา
เป็นกลางๆ ไม่ยินดีไม่ยินร้ายบ้าง
ลิ้มรสทางลิ้น ใจก็ท่องเที่ยวคิดนึกไป
ถึงรส อันเป็นที่ตั้งของโสมนัสยินดีบ้าง
เป็นที่ตั้งของโทมนัสยินร้ายบ้าง เป็นที่ตั้งของอุเบกขา
เป็นกลางๆ ไม่ยินดีไม่ยินร้ายบ้าง
ถูกต้องโผฏฐัพพะคือสิ่งถูกต้องทางกาย
ใจก็ท่องเที่ยวคิดนึกไปถึงสิ่งถูกต้อง อัน
เป็นที่ตั้งของโสมนัสยินดีบ้าง
เป็นที่ตั้งของโทมนัสยินร้ายบ้าง
เป็นที่ตั้งของอุเบกขาคือเป็นกลางๆ ไม่ยินดี
ไม่ยินร้ายบ้าง
รู้หรือคิดเรื่องทางมโนคือใจ
ใจก็ท่องเที่ยวคิดนึกไปถึงเรื่อง อัน
เป็นที่ตั้งของโสมนัสยินดีบ้าง
เป็นที่ตั้งของโทมนัสยินร้ายบ้าง
เป็นที่ตั้งของอุเบกขาคือเป็นกลางๆ ไม่ยินดี
ไม่ยินร้ายบ้าง
นับรวมกัน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
และธรรมะคือเรื่องราว อัน
เป็นที่ท่องเที่ยวคิดนึกไปของใจ ทั้ง ๖ นี้
เป็นที่ตั้งของโสมนัสยินดี ๖
เป็นที่ที่ตั้งของโทมนัสยินร้าย ๖ เป็นที่ตั้งของอุเบกขา
เป็นกลางๆ ไม่ยินดีไม่ยินร้าย ๖ รวมเข้าก็เป็น ๑๘
สัตตบถ ๓๖
สัตตบถ ทางดำเนินไปของสัตว์คือ
ผู้ข้องเกี่ยว ๓๖ ก็คือ ยกเอาโสมนัสยินดี
โทมนัสยินร้าย และอุเบกขาความรู้สึกเป็นกลางๆ
ไม่ยินดีไม่ยินร้าย ซึ่งเป็นไป
ในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะและธรรมะคือเรื่องราวทั้ง
๖ นั้น นั่นแหละ โดยมาจำแนกว่าเป็น
โสมนัสยินดีที่อาศัยเรือน อันเรียกว่า
เคหสิตโสมนัส ๖
เป็นโสมนัสที่อาศัยเนกขัมมะคือการออกจากเรือน
เรียกว่า เนกขัมมสิตโสมนัส ๖
โทมนัสยินร้ายที่อาศัยเรือน อันเรียกว่า
เคหสิตโทมนัส ๖ โทมนัสที่อาศัยเนกขัมมะคือการออก
จากเรือน อันเรียกว่า เนกขัมมสิตโทมนัส ๖
อุเบกขาที่อาศัยเรือนอันเรียกว่า
เคหสิตอุเบกขา ๖ อุเบกขาที่อาศัยเนกขัมมะการออก
จากเรือน อันเรียกว่า เนกขัมมสิตอุเบกขา ๖
ฉะนั้น เมื่อรวมกันเข้าเป็น
เคหสิตโสมนัส ที่เป็นไปใน รูป เสียง กลิ่น รส
โผฏฐัพพะและธรรมะคือเรื่องราว ๖
เนกขัมมสิตโสมนัสที่เป็นไปในอายตนะภายนอกทั้ง ๖
นั้น นั่นแหละ ๖ เคหสิตโทมนัสที่เป็นไป
ในอายตนะภายนอก ๖ เหล่านั้น เนกขัมมสิตโทมนัสที่
เป็นไปในอายตนะภายนอก ๖ เหล่านั้น
เคหสิตอุเบกขาที่เป็นไปในอายตนะภายนอก ๖ เหล่า
นั้น เนกขัมมสิตอุเบกขาที่เป็นไปในอายตนะภายนอก
๖ เหล่านั้น หกหกก็เป็นสามสิบหก จึงมี ๓๖
เคหสิตโสมนัส เนกขัมมสิตโสมนัส
ครั้นทรงจำแนกดั่งนี้แล้ว ก็ตรัสอธิบาย
เป็นข้อๆ ไปว่า เคหสิตโสมนัสยินดีที่อาศัยเรือนนั้น
เป็นอย่างไร คือว่าเมื่อนึกดูถึง รูป เสียง กลิ่น รส
โผฏฐัพพะ และเรื่องราว ซึ่งจะพึงรู้ได้ ทางตา ทางหู
ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางมนะ คือใจ แต่ละข้อ
อันน่าใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ เป็นที่รื่นรมย์ใจ
ประกอบด้วยโลกามิส คือเหยื่อซึ่ง
เป็นเครื่องล่อของโลก ก็เกิดโสมนัส คือความยินดี
มีอาการเป็นความติดใจความเพลิดเพลิน ดั่งนี้ เรียกว่า
เคหสิตโสมนัส
เมื่อนึกดูถึง รูป เสียง กลิ่น รส
โผฏฐัพพะ และเรื่องราวที่รู้ คือเห็นทางตา ได้ยินทางหู
ทราบทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย รู้คิดทางมโนคือใจ
อันเป็นรูปที่เคยเห็นมาก่อนแล้ว หรือในปัจจุบันก็ดี
เป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นรส เป็นโผฏฐัพพะ
เป็นธรรมะคือเรื่องราว ที่ได้ยิน ได้ทราบ ได้รู้มา
ในก่อนแล้ว หรือในบัดนั้นก็ดี มีความรู้ว่ารูป เสียง
กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมะคือเรื่องราว ทั้งปวงนั้น
ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา
อันนำให้เกิดความสำรอกใจจากความติดใจยินดี นำ
ให้เกิดความดับความเพลิดเพลิน ก็เกิดโสมนัสขึ้น
จึงเรียกว่า เนกขัมมสิตโสมนัส
โสมนัสยินดีที่อาศัยเนกขัมมะคือการออกจากเรือน
เคหสิตโทมนัส เนกขัมมสิตโทมนัส
ส่วนโทมนัสนั้นยินร้าย
ที่อาศัยเรือนอันเรียกว่า เคหสิตโทมนัส ย่อมมีเมื่อนึกดู
ถึงการไม่ได้ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
ธรรมะคือเรื่องราว ดังกล่าวในข้อแรก หรือนึกถึง รูป
เสียงเป็นต้นเหล่านั้นที่เคยไม่ได้มาก่อน
ก็เกิดโทมนัสขึ้น ยินร้ายขึ้น เสียใจขึ้น ดั่งนี้เรียกว่า
เคหสิตโทมนัส
แต่ว่าเมื่อนึกดูถึง รูป เสียง กลิ่น รส
โผฏฐัพพะ ธรรมะคือเรื่องราวเหล่านั้น ว่าเป็นสิ่งที่
ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา
นึกกระหยิ่มใจใคร่จะได้วิโมกข์ คือความหลุดพ้น
หรือวิมุติ คือความหลุดพ้นอย่างยอดเยี่ยมที่พระอริยะ
ทั้งหลายได้ แต่ว่ายังไม่สามารถจะได้ ก็เกิด
ความเสียใจคือโทมนัสขึ้น ดั่งนี้เรียกว่า
เนกขัมมสิตโทมนัส
โทมนัสที่อาศัยเนกขัมมะคือการออกจากเรือน
เคหสิตอุเบกขา เนกขัมมสิตอุเบกขา
ส่วนอุเบกขานั้นเล่า
ที่อาศัยเรือนอันเรียกว่าเคหสิตอุเบกขา ก็ได้แก่เมื่อนึก
ถึง หรือนึกดูถึง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
ธรรมะคือเรื่องราวเหล่านั้น แต่ว่าใจก็เฉยๆ เป็นกลาง
ไม่ยินดีไม่ยินร้ายอะไร เหมือนอย่างบุถุชนทั่วไป
บางคราวเมื่อเห็นอะไรได้ยินอะไรเป็นต้น ก็เฉยๆ
จะชอบก็ไม่ใช่ จะชังก็ไม่ใช่ คือความชอบก็ไม่เกิด
ความชังก็ไม่เกิด อาจจะเป็นเพราะยังไม่พอที่จะ
ให้ชอบ ยังไม่พอที่จะให้ชัง ใจก็เฉยๆ เฉยๆ โดยที่ไม่
ต้องปฏิบัติทางจิตทางใจอะไร ไม่ต้องทำความรู้อะไร
มันเฉยเพราะเหตุที่รูปเสียงเป็นต้นนั้นๆ ยังไม่พอจะทำ
ให้ชอบ หรือให้ชังเท่านั้น เฉยๆ โดยที่
ไม่รู้อะไรดั่งนี้เรียกว่า เคหสิตอุเบกขา คนสามัญ
ทั่วไปก็มีอยู่เป็นอันมากเหมือนกัน เพราะว่าไม่
ใช่ว่าเห็นอะไรได้ยินอะไรเป็นต้น แล้วจะต้องชอบ
หรือชัง ยินดีหรือยินร้ายไปทั้งหมด มี
เป็นอันมากเหมือนกันที่ไม่มาสัมผัสใจให้ชอบหรือให้ชัง
ก็ดูผ่านไปก็ผ่านมา ฟังผ่านไปก็ผ่านมา ใจก็เฉยๆ
คนสามัญมีเป็นอันมาก เป็นอุเบกขาของคนสามัญ
ทั่วไป ดั่งนี้ เป็น เคหสิตอุเบกขา
ส่วนความวางเฉย ความมีใจเป็นกลาง
ชนิดที่ใช้ปัญญาพิจารณา คือเมื่อนึกดูถึง รูป เสียง
กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมะคือเรื่องราวอะไร
ก็นึกรู้ว่าสิ่งทั้งปวงเหล่านี้ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มี
ความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ก็วางใจเป็นกลางได้
ไม่เกิดความติดใจยินดี อุเบกขาดั่งนี้
เป็นอุเบกขาที่เรียกว่าเนกขัมมสิตอุเบกขา
อุเบกขาที่อาศัยเนกขัมมะคือการออกจากเรือน
เพราะฉะนั้น อาการที่เป็นโสมนัส
ยินดีชอบใจ โทมนัส ยินร้ายไม่ชอบใจ และอุเบกขา
เป็นกลางๆ ของชาวโลกทั้งหลายที่เรียกว่าสัตว์โลก
โลกคือหมู่สัตว์ คือหมู่แห่งชนที่ยังมีความข้องเกี่ยวอยู่
ติดอยู่ในโลก จึงเรียกว่าสัตตะ หรือสัตวะ
ดังที่เรียกว่าสัตว์โลก ย่อมเป็นไปอยู่ดั่งนี้ แต่ว่า แม้จะ
เป็นเนกขัมมสิตอุเบกขา
อุเบกขาที่อาศัยเนกขัมมะคือการออกจากกาม
ด้วยรู้จักพิจารณาให้เห็นว่าไม่เที่ยง มีทุกข์ มี
ความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดาก็จริง แต่ยัง
เป็นขั้นที่ต้องอาศัย อาศัยเนกขัมมะอยู่
ท่านจึงแสดงว่า ยังไม่ล่วงอำนาจของรูป
เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ คือธรรมะคือเรื่องราว คือว่า
ยังกลับไปกลับมา แม้จะได้ความรู้เห็นในอนิจจตา
ความไม่เที่ยง ทุกขตา ความเป็นทุกข์ และ
ความแปรปรวนเปลี่ยนแปลง แต่ก็เป็นความรู้
ความเห็นขั้นต้นของชาวโลก ในขณะที่พิจารณา
ก็เกิดอุเบกขา แต่เมื่อหยุดพิจารณาก็เปลี่ยนเป็นอย่าง
อื่น แล้วก็อาจจะเปลี่ยนเป็นโสมนัสยินดีในคราวอื่นก็
ได้ เปลี่ยนเป็นโทมนัสยินร้ายก็ได้ เพราะฉะนั้น จึงยัง
ไม่ล่วงอำนาจของ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
ธรรมะคือเรื่องราว รูปเสียงเป็นต้นนั้น
ยังอาจครอบงำจิตใจได้ ยังไม่เป็นความหลุดพ้น
เพราะฉะนั้น ทั้งหมดนี้จึงจัดว่าเป็น สัตตบถ คือ
เป็นทางดำเนินแห่งความยินดี ความยินร้าย และความ
เป็นกลางๆ ของจิต
อนึ่ง ก็พึงพิจารณาเห็นได้ว่า โสมนัส
โทมนัส อุเบกขา ที่ตรัสแสดงไว้นี้ เทียบได้กับเวทนา
(เริ่ม ๑๗๑/๒) คือเป็นขั้นเวทนา คือเวทนานั้นมีจำแนก
เป็น สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา
สุขเวทนานั้นเองเป็นโสมนัส ทุกขเวทนา
นั้นเองคือโทมนัส เวทนาที่ไม่ทุกข์ไม่สุขนั้นเองก็
เป็นอุเบกขา เพราะว่าเวทนาที่เป็นสุข
นั้นย่อมมีอาการที่ทำให้ยินดี ประกอบอยู่
ทุกขเวทนาก็มีอาการที่ทำให้มีความยินร้ายเสียใจ
ไม่ชอบใจ ประกอบอยู่ เวทนาที่ไม่ทุกข์
ไม่สุขก็มีอาการที่เป็นอุเบกขา นั้นเอง
เพราะฉะนั้น จึงจัดเป็นระดับจิตที่
ในขั้นเวทนา แต่ว่าแสดงในทางที่เจือด้วยยินดียินร้าย
และอุเบกขา อันเป็นอาการของความติดใจที่เป็นราคะ
เป็นอาการของความไม่ชอบ ความระทม หรือ
ความทุกข์ อันอยู่ในลักษณะของโทสะ และ
เป็นอาการของโมหะคือความหลง ไม่รู้ และแม้ว่าจะรู้
ใน อนิจตา ทุกขตา อนัตตา ในลักษณะที่
เป็นเนกขัมมสิตโสมนัส เนกขัมมสิตอุเบกขา ก็ตาม ก็
ยังไม่แน่นอน จึงนับว่าอยู่ในขั้นเวทนา แต่คาบเกี่ยวไป
ถึงเวทนาที่กลายเป็นจิตตสังขารเครื่องปรุงจิต ให้ยินดี
ให้ยินร้าย
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด
และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 พ.ย. 2014, 11:53 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


สฬายตนะวิภังคสูตร (๒)
�����
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์
นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรม
และพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้
เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญา
ในธรรม
จะแสดงสฬายตนวิภังคสูตร
พระสูตรที่ยกแสดงการจำแนกอายตนะ ๖ ต่อ
พระพุทธเจ้าได้ตรัสบทอุเทศ
คือบทกระทู้แห่งพระสูตรนี้ จำแนกออก
เป็นหมวดละ ๖ ตั้งต้นแต่อายตนะภายใน ๖
อายตนะภายนอก ๖ หมู่หมวดแห่งวิญญาณ ๖
หมู่หมวดแห่งผัสสะ ๖
มโนปวิจารการเที่ยวคิดนึกไปของใจ ๑๘ ก็คือ
ในอายตนะภายนอกที่เป็นที่ตั้งของโสมนัสยินดี ๖
โทมนัสยินร้าย ๖ อุเบกขา ๖ หกสามก็เป็น ๑๘
และสัตตบถ
การดำเนินไปของสัตว์โลก ๓๖ โดยยกเอาโสมนัส
ยินดี โทมนัส ยินร้าย และอุเบกขาขึ้นเป็นที่ตั้งเป็นไป
ในอายตนะภายนอกทั้ง ๖ นั้น โดยจำแนกออก
เป็นเคหสิตโสมนัส ๖ เนกขัมมสิตโสมนัส ๖
เคหสิตโทมนัส ๖ เนกขัมมสิตโทมนัส ๖ เคหสิตอุเบกขา
๖ เนกขัมมสิตอุเบกขา ๖
ซึ่งสัตตบถ
การดำเนินไปของหมู่สัตว์โลกทางจิตใจนี้ ก็เทียบได้
กับขั้นเวทนาผสมกับกิเลส คือเวทนาก็ปรุงจิต
สุขเวทนาก็ปรุงจิตให้โสมนัส ทุกขเวทนาก็ปรุงจิต
ให้โทมนัส และอุเบกขาเวทนาก็ปรุงจิตให้สยบติดอยู่
หรือไม่รู้ จึงเป็นการดำเนินไปแห่งจิตของสัตว์โลก
โดยธรรมดา คือ
ความดำเนินไปแห่งจิตของสัตว์โลกก็ย่อมเป็นดั่งนี้
แต่ว่าก็มีเจือการปฏิบัติทางปัญญาอยู่ด้วย
ในข้อที่เกี่ยวแก่อุเบกขา กล่าวคือเนกขัมมสิตโสมนัส
ก็เกี่ยวแก่ความรู้ความเห็นในอนิจจตาความไม่เที่ยง
แม้เนกขัมมสิตโทมนัสก็เช่นเดียวกัน
เนกขัมมสิตอุเบกขาก็เช่นเดียวกัน แต่ว่าก็เจือปัญญา
ในอนิจตาในขั้นไม่สูงมาก หรือในขั้นปฏิบัติของบุคคล
ผู้ได้ความรู้ความเห็นจากการปฏิบัติในเบื้องต้น ก็
ได้เนกขัมมสิตโสมนัสได้ และเมื่อเจือด้วยความคิดจะ
ได้อย่างยอดเยี่ยมที่เรียกว่า อนุตริยวิโมกข์ และเมื่อ
ไม่ได้ ก็โทมนัส ก็เป็นเนกขัมมสิตโทมนัส แต่ผู้ปฏิบัติได้
ความรู้ความเห็นในอนิจจตาดังกล่าว ก็อาจได้อุเบกขา
อันเป็น ชลังคุเบกขา อุเบกขาในอารมณ์ทั้งหลาย
คือในอารมณ์อันได้แก่รูป อันได้แก่เสียง อัน
ได้แก่กลิ่น อันได้แก่รส อันได้แก่โผฏฐัพพะ และอัน
ได้แก่ธรรมะคือเรื่องราว เพราะฉะนั้น จึงยังจัด
อยู่ในขั้นการได้การถึงของสามัญชน
ครั้นพระพุทธเจ้าได้ตรัส สัตตบถ
คือทางดำเนินของสัตว์โลกรวมเป็น ๓๖ ข้อนี้แล้ว จึง
ได้ตรัสต่อไปถึงว่าจะอาศัยอะไร ละอะไร
เป็นทางปฏิบัติ คือเมื่อได้ตรัสจำแนก สัตตบถ
ทางดำเนินไปของสัตว์โลกทางจิตใจ อันเกี่ยวแก่เวทนา
และเกี่ยวแก่เวทนาที่ปรุงจิตให้โสมนัส ให้โทมนัส
และให้อุเบกขาแล้ว จึงได้ตรัสสอนวิธี คือ
ถึงวิธีปฏิบัติว่าจะปฏิบัติอย่างไร จึง
จะละการที่เวทนาปรุงจิตให้เป็นดั่งนี้ได้
จึงเรียกว่า ตรัสสอน
ให้ปฏิบัติทำสติปัฏฐานนี่แหละ อันเกี่ยวแก่ข้อเวทนา
และข้อที่เกี่ยวแก่จิต และสัมปยุตคือประกอบ
กับธรรมะในจิตด้วย โดยที่ตรัสชี้ให้ปฏิบัติ
ด้วยวิธีอาศัยข้อหนึ่งละข้อหนึ่งไปโดยลำดับ
ตั้งต้นแต่การให้อาศัยเนกขัมมสิตโสมนัส
ละเคหสิตโสมนัส คือเคหสิตโสมนัส
ความยินดีที่อาศัยเรือน ก็คืออาศัยกามคุณทั้ง ๕ รูป
เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
ที่น่าใคร่น่าปรารถนาน่าพอใจ อันประกอบ
ด้วยโลกามิสเรื่องล่อของโลก
เคหสิตโสมนัส
เมื่อจิตใจนี้ได้มองดู
ถึงกามคุณเหล่านี้ที่กำลังได้ หรือแม้ที่เคยได้มา
แล้ว ก็เกิดโสมนัสคือความยินดี คือว่าได้สุขเวทนา
ความสุขใจ เป็นสุขเวทนา สุขเวทนานี้ก็ปรุงจิตนี้
ให้ยินดีเป็นโสมนัส ก็เป็นเคหสิตโสมนัส เมื่อ
เป็นเคหสิตโสมนัสขึ้นดั่งนี้ ก็ตรัสสอนให้ปฏิบัติ
ด้วยวิธีพิจารณาว่า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
แม้ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจเหล่านี้ ล้วน
เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง มีความเกิดขึ้นแล้วดับไป
เป็นธรรมดา จึงเป็นทุกข์ คือเป็นสิ่งที่ตั้งอยู่คงที่ไม่ได้
ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป
เนกขัมมสิตโสมนัส
ให้พิจารณาดั่งนี้
และเมื่อพิจารณาไปจนเห็นได้ เห็นอนิจจตา คือความ
ไม่เที่ยงได้ ก็ย่อมจะได้โสมนัสขึ้นมาอีกอย่างหนึ่ง
คือโสมนัสอันเป็นความสุขใจ เพราะปัญญาที่เห็นจริง
ในอนิจจตา ใจก็เบิกบานขึ้นเพราะเห็นจริงในอนิจจตา
ก็ย่อมจะละเคหสิตโสมนัส โสมนัสที่อาศัยกาย
และที่อาศัยกาม ที่เปรียบเหมือนอย่างเรือน
การตรัสว่าอาศัยเรือนหมายถึงว่าอาศัยกาม เสียได้
มาเป็นได้เนกขัมมสิตโสมนัส โสมนัสที่อาศัยการออก
จากกาม
เพราะว่าได้ปัญญารู้เห็นในอนิจจตา
ความไม่เที่ยง เห็นเกิดเห็นดับของกามทั้งหลาย
เกิดโสมนัสขึ้นด้วยปัญญาที่รู้เห็นนี้ เพราะฉะนั้น
จึงตรัสให้ปฏิบัติให้ได้เนกขัมมสิตโสมนัส ก็
จะละเคหสิตโสมนัสได้ ดั่งนี้เป็นประการที่ ๑
เคหสิตโทมนัส
ต่อจากนั้นก็ตรัสสอน
ให้อาศัยเนกขัมมสิตโทมนัส ละเคหสิตโทมนัส
คือเคหสิตโทมนัสความยินร้ายหรือ
ความเสียใจที่เกิดขึ้น เพราะเหตุที่ได้นึกเห็นการไม่
ได้กาม
คือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะที่รักใคร่ปรารถนา
ต้องการอยู่ในปัจจุบัน หรือที่เคยไม่ได้มาแล้ว
ก็เกิดเสียใจ ดั่งนี้เรียกว่าเป็นเคหสิตโทมนัส คือเกิด
เป็นทุกขเวทนาขึ้นก่อน ในเมื่อนึกเห็นถึงการไม่
ได้กามที่ต้องการจะได้อยู่ในปัจจุบัน หรือที่แล้วมา
ก็เป็นทุกขเวทนา ทุกขเวทนานี้ก็ปรุงจิตนี้ให้โทมนัส คือ
ให้เสียใจ ดั่งนี้ ก็เป็นเคหสิตโทมนัส
เนกขัมมสิตโทมนัส
เมื่อความดำเนินไปของจิตเป็นดั่งนี้ ก็ให้มา
ใช้วิธีปฏิบัติให้เกิด เนกขัมมสิตโทมนัส ได้แก่
ให้พิจารณาให้มองเห็นอนิจจตาคือความไม่เที่ยง
ของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็นสิ่งที่ไม่ได้
อยู่ หรือที่ไม่ได้มาแล้วนั่นแหละ ว่าทั้งหมด
นั้นก็ล้วนเป็นอนิจจะ คือไม่เที่ยง เป็นสิ่งที่เกิดดับ
เป็นทุกข์ คือตั้งอยู่คงที่ไม่ได้
ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป แต่เพราะเหตุที่
ยังปฏิบัติให้รู้ให้เห็นไม่ได้ จึงยังได้ไม่ประสบ
อนุตรวิมุติ หรือ วิโมกข์ คือ
ความหลุดพ้นอย่างยอดเหมือนอย่างพระอรหันต์
ทั้งหลาย เมื่อไม่ได้ดั่งนี้จึงยังต้องเป็นทุกข์อยู่ เป็นทุกข์
อยู่เพราะเหตุที่ยังไม่เห็นอนิจจตา จึงต้องการจะได้
และเมื่อไม่ได้ก็ต้องเป็นทุกข์ อันเป็นเคหสิตโทมนัสนั้น
ฉะนั้น ก็เมื่อสิ่งเหล่านี้เป็นอนิจจะคือ
ไม่เที่ยง ต้องเกิดต้องดับ ไม่ตั้งอยู่คงที่
ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป ทำไมเราจึงจะ
ต้องมาเป็นทุกข์ ในเมื่อไม่ได้สิ่งที่ไม่เที่ยงเหล่านั้น
เพราะว่าถึงแม้จะได้สิ่งที่ไม่เที่ยงเหล่านั้นมา
สิ่งเหล่านั้นก็ต้องเกิดต้องดับ ไม่เป็นของเรา
อยู่ตลอดไป ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป
อยู่นั่นเอง
พิจารณาเตือนใจตัวเองให้รู้ดั่งนี้
แล้วก็กลับมาให้ใจตัวเองนี้กระหยิ่ม เพื่อที่จะ
ได้อนุตรวิโมกข์หรือวิมุติ (เริ่ม ๑๗๒/๑)
อย่างพระอรหันต์ทั้งหลาย จะได้พ้นทุกข์
กันเสียทีหนึ่ง ดีกว่า ดีกว่าจะไปอยากได้ของที่
ไม่เที่ยงคือกามทั้งหลาย อยากได้ อนุตรวิมุติ วิโมกข์
หรืออยากเป็นพระอรหันต์ดีกว่า
ให้ใจกลับมาอยากดั่งนี้ แต่ว่าในการที่
จะบรรลุอนุตรวิโมกข์วิมุติ หรือที่จะ
เป็นพระอรหันต์นั้น หาสำเร็จได้ด้วยความอยากไม่
ต้องสำเร็จด้วยการปฏิบัติให้ได้ให้ถึง คือต้อง
ให้เห็นอนิจจตา ความไม่เที่ยง ทุกขตา ความเป็นทุกข์
อนัตตา ความเป็นอนัตตาของสังขารทั้งหลาย
และปล่อยความยึดถือเสียได้ทั้งหมด
คราวนี้เมื่อคิดดั่งนี้แล้ว ก็รู้สึกว่าตัวเอง
ยังมีบุญน้อย ยังปฏิบัติมาน้อย ยังไปได้ไม่ถึง แต่ก็อยาก
จะได้อยากจะถึง แต่ก็ไม่สามารถที่จะถึงได้เพราะ
ยังมีบุญน้อย คือยังมีวาสนาบารมีน้อย ก็เกิด
ความเสียใจ เพราะเหตุที่ไม่ได้ไม่ถึงอนุตรวิโมกข์วิมุติ
ไม่ได้เป็นพระอรหันต์ เสียใจขึ้นดั่งนี้แหละเรียกว่า
เป็นเนกขัมมะสิตะโทมนัส
และเมื่อปฏิบัติให้เกิดความเสียใจขึ้นมา
ได้ดั่งนี้ ก็จะละเคหสิตโทมนัสได้ นับว่า
เป็นการปฏิบัติก้าวขึ้นไปอีกขึ้นหนึ่ง ที่พระพุทธเจ้า
ได้ทรงสั่งสอนไว้ อันเกี่ยวแก่วิธีปฏิบัติ
เกี่ยวแก่เวทนาที่ปรุงจิตของตน
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด และตั้งใจทำ
ความสงบสืบต่อไป


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 พ.ย. 2014, 12:12 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


สฬายตนวิภังคสูตร (๓)
�����
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจ
ถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ได้แสดงสฬายตนวิภังคสูตร
พระสูตรที่แสดงการจำแนกอายตนะ ๖ มาจน
ถึงสัตตบถทางปฏิบัติดำเนินของสัตว์โลก
ในข้ออาศัยเนกขัมมสิตโสมนัส คือความยินดี
อาศัยเนกขัมมะ คือการออก ละเคหสิตโสมนัส คือ
ความยินดีที่อาศัยเรือน คือกาม และข้อที่ว่า
ให้อาศัยเนกขัมมสิตโทมนัส ความยินร้าย ความ
ไม่ยินดีที่อาศัยเนกขัมมะ ละเคหสิตโทมนัส คือ
ความยินร้ายไม่ยินดีที่อาศัยเรือน ซึ่งได้อธิบายมาแล้วทั้ง
๒ ข้อ
เคหสิตอุเบกขา
วันนี้จะอธิบายในข้อ ๓ ต่อไป ตรัสสอน
ให้อาศัยเนกขัมมสิตอุเบกขา ความวางใจเป็นกลาง
ไม่ยินดีไม่ยินร้าย อาศัยเนกขัมมะ คือการออกจากกาม
ละเคหสิตอุเบกขาความวางใจเป็นกลาง อาศัยเรือน
คือกาม แต่ก็พึงเข้าใจความแห่งเคหสิตอุเบกขาก่อน
แม้ในข้อนี้จะได้อธิบายมาแล้ว แต่ก็จะต้อง
ซ้ำความทบทวนความ ก่อน อันอุเบกขา คือความที่มีใจ
เป็นกลางไม่ยินดีไม่ยินร้ายนั้น ของสามัญชน
หรือของบุถุชน หรือว่าของชาวโลกทั้งหลาย ในอารมณ์
ทั้งหลาย ย่อมมีอยู่มากเหมือนกัน
คือเมื่อประสบอารมณ์มีรูปเสียงเป็นต้น ทางตาหูเป็นต้น
ก็รู้สึกเป็นกลางๆ ไม่เป็นสุข ไม่เป็นทุกข์ ไม่ชอบไม่ชัง
โดยปล่อยให้ผ่านไปๆ ปราศจากการจับขึ้นมาพิจารณา
เป็นความเฉยเมยอย่างเผลอๆ
อัญญาณุเบกขา
วันหนึ่งๆ อาการของจิตดั่งนี้ในเรื่อง
ทั้งหลาย หรือในอารมณ์ทั้งหลายที่ประสบพบผ่าน ก็มี
อยู่มาก จะพึงเห็นได้ง่ายว่าช่วงระยะเวลาอันหนึ่งๆ
เช่นช่วงเวลาที่เดินจากจุดนี้ไปสู่จุดโน้น ก็ต้องลืมตา
ในการเดิน ก็มองเห็นอะไรต่ออะไรเป็นอันมาก
หลายสิบหลายร้อยอย่าง แต่ว่าสิ่งที่เห็นเหล่านั้น ที่ทำ
ให้จิตใจชอบหรือให้จิตใจชังนั้น ก็มีอยู่ไม่ทั้งหมด
หรือว่าจะมีอยู่น้อยก็ได้ ส่วนที่มองผ่านไปเฉยๆ นั้นมีมาก
ไม่ติดใจอะไร ไม่ใช่ว่าไม่เห็น เห็นแล้วก็รู้ด้วยว่าอะไร
แต่ก็ไม่ได้ใส่ใจ เว้นไว้แต่เมื่อเป็นสิ่งที่ชอบหรือชัง
เกิดโสมนัสยินดี หรือโทมนัสยินร้าย จึงจะติดใจ
เป็นชอบหรือเป็นชัง เป็นยินดีหรือเป็นยินร้าย
ส่วนที่ผ่านไปเฉยๆ เพราะไม่ให้เกิดสุขหรือทุกข์ ยินดี
หรือยินร้ายนั้นมีมาก แม้เสียงที่ได้ยินทางหูก็เช่นเดียวกัน
กลิ่นรสโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้อง แม้เรื่องราวที่ผุดขึ้น
ในใจก็เช่นเดียวกัน ผ่านๆ ไปๆ มีอยู่มาก ฉะนั้น
อุเบกขาเช่นนี้จึงเป็นปรกติของบุถุชน สามัญชน
หรือชาวโลก ไม่ต้องปฏิบัติธรรมะอะไรเพื่อให้จิตเป็นเช่น
นั้น จิตเป็นไปเอง ในเมื่อเป็นสิ่งที่ไม่ชอบไม่ชัง ไม่ยินดี
ไม่ยินร้าย
แต่อุเบกขาเช่นนี้ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า
อัญญาณอุเบกขา
อุเบกขาที่ประกอบด้วยความไม่รู้ คือ
ไม่รู้สัจจะความจริงของสิ่งที่ประสบพบผ่านเหล่านั้น
และอุเบกขาที่เป็นอัญญาณอุเบกขาดังนี้แหละ
เรียกว่าเคหสิตอุเบกขา อุเบกขาที่อาศัยเรือน อันนับ
เนื่องอยู่ในกาม เป็นปรกติวิสัยของบุถุชน ของชาวโลก
หรือสามัญชน
เนกขัมมสิตอุเบกขา
ส่วนเนกขัมมสิตอุเบกขานั้นหมาย
ถึงอุเบกขา คือความมีใจมัธยัสถ์เป็นกลาง ด้วยการที่
ใส่ใจพิจารณาว่าสิ่งที่ประสบพบผ่านเหล่านั้นไม่เที่ยง
เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา
จึงเป็นสิ่งที่เกิดดับทุกอย่าง เรียกว่ามีความใส่ใจ
ในอารมณ์ที่ประสบผ่าน และก็มีความรู้พิจารณาขึ้น ดั่ง
นั้น ซึ่งอาจจะเห็นว่า จะเป็นการช้ากว่าปรกติธรรมดา
เพราะจะหยุดพิจารณาไปทุกสิ่งทุกอย่างนั้น น่าจะทำไม่
ได้ จะเดินไปไหนสักทีหนึ่งก็ต้องหยุดชงักๆ ๆ
ไปทุกคราว ไม่ใช่มีความหมายอย่างนั้น แต่มี
ความหมายว่าสนใจพิจารณาทุกสิ่งทุกอย่างที่ประสบพบผ่านรวม
กันไป จะนั่งก็ตาม จะนอนก็ตาม จะเดินก็ตาม
จะยืนก็ตาม หรือจะวิ่งก็ตาม ก็ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถได้ทั้ง
นั้น โดยปรกตินั่นแหละ
แต่ให้มีความรู้ประจำใจ
อยู่เสมอว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ประสบพบผ่านนั้นๆ ตา
จะเห็นอะไร สักกี่สิบอย่าง กี่ร้อยอย่าง กี่พันอย่าง ก็ตาม
หูจะได้ยินอะไร มากน้อยเท่าไรก็ตาม เป็นต้น ทั้งหมด
นั้นล้วนเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์
ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป มีเกิดมีดับ
เป็นธรรมดาเหมือนกันทั้งหมด
ให้มีความรู้ครอบอยู่ดั่งนี้ทุกสิ่งทุกอย่าง
จึงรวมเอาสิ่งที่เป็นอุเบกขา อัน
เป็นอัญญาณุเบกขาดังกล่าวมาแล้วนั้นด้วย ซึ่งเป็นอันว่า
แม้จะให้เกิดชอบเกิดชัง เกิดโสมนัสโทมนัส หรือว่า
ไม่เกิดโสมนัสโทมนัส ไม่เกิดชอบเกิดชังก็ตาม
ก็ล้วนเป็นของที่ไม่เที่ยง ต้องเกิด
ต้องดับดังกล่าวเหมือนกันหมด อุเบกขาที่บังเกิดขึ้นด้วย
ความรู้ดั่งนี้เป็นเนกขัมมสิตอุเบกขา
อุเบขาที่อาศัยเนกขัมมะ คือการออก
เพราะฉะนั้น จึงให้มาปฏิบัติดั่งนี้ ในเมื่อ
ได้ประสบพบผ่านทุกสิ่งทุกอย่าง ว่าสิ่งที่ประสบพบผ่าน
นั้นๆ ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงต้องเกิดต้องดับเหมือนกันหมด
และวางเฉยได้เพราะรู้เพราะเห็นดั่งนี้ ดั่งนี้
เป็นเนกขัมมสิตอุเบกขา ก็
ให้อาศัยเนกขัมมสิตอุเบกขาดั่งนี้แหละ
ละเคหสิตอุเบกขาเสีย อันหมายความว่า อย่า
ให้เฉยเมยไปเฉยๆ โดยไม่รู้อะไร แต่ให้รู้อยู่ทุกขณะ
ทุกสิ่งทุกอย่าง แม้ที่เป็นอุเบกขานั้น ว่าสิ่งทั้งปวงนั้น ล้วน
ไม่เที่ยง ต้องเกิดดับ เคหสิตอุเบกขา
อุเบกขาที่อาศัยเรือนก็จะหายไป มาเป็นเนกขัมมสิต
อุเบกขาที่อาศัยเนกขัมมะ อันนับว่า
เป็นข้อปฏิบัติอีกขั้นหนึ่ง
เนกขัมมสิตโสมนัส
และต่อจากก็ตรัสสอนให้ปฏิบัติต่อไป
เป็นข้อที่ ๔ คือให้อาศัยเนกขัมมสิตโสมนัส
ละเนกขัมมสิตโทมนัส อันเนกขัมมสิตโสมนัสนั้น
เป็นโสมนัส คือความยินดีที่อาศัยเนกขัมมะ คือการออก
ซึ่งได้อธิบายแล้วเหมือนกัน แต่จะซ้ำความสั้นๆ ว่า
คือเมื่อประสบอารมณ์มีรูปเสียงเป็นต้น
ก็พิจารณาว่าอารมณ์ที่ประสบทั้งปวงนี้ ล้วนเป็นอนิจจะ
คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป จึง
เป็นสิ่งที่เกิดดับ ก็เกิดโสมนัสขึ้นมา เป็นความยินดี
เพราะรู้เห็นในอนิจจตาความไม่เที่ยง ของสิ่ง
ทั้งหลายที่ประสบพบผ่าน ก็เป็นเนกขัมมสิตโสมนัส
แต่ว่าสำหรับผู้ปฏิบัติธรรมะดังกล่าวนั้น
ในบางคราวเมื่อประสบอารมณ์ต่างๆ
ก็พิจารณามองเห็นอนิจจตา
แต่ว่าเกิดมีความกระหยิ่มใจใคร่จะ
ได้อนุตรวิโมกข์ คือความหลุดพ้นอย่างยิ่ง
ของพระอรหันต์ทั้งหลาย จะได้สิ้นทุกข์ แต่ว่ายังไม่
สามารถที่จะได้อนุตริยวิมุติ จึงมีความเสียใจว่าตนเป็น
ผู้ที่มีบุญน้อย มีวาสนาน้อย ไม่ได้ไม่ถึงธรรมะอย่างยอด
ความเสียใจดั่งนี้เป็นเนกขัมมสิตโทมนัส
ความโทมนัสที่บังเกิดขึ้นที่อาศัยเนกขัมมะ คือการออก
จากกาม อยากจะออก อยากจะได้ อยากจะบรรลุ
ถึงสูงสุดทีเดียว ไม่ได้ก็เสียใจ เพราะฉะนั้น หาก
เป็นเช่นนี้ผู้ปฏิบัติธรรมก็พึงเตือนตนเองว่าให้ปฏิบัติไป
อย่ามีตัณหาในผล เพราะความกระหยิ่มใจใคร่จะได้นั้น
เป็นตัณหาในผล เมื่อยังมีตัณหาอยู่ย่อมจะไม่ได้
เหมือนอย่างการขึ้นบันได พึงมีหลายขั้น
เมื่อขึ้นบันไดมาถึงขั้นที่หนึ่งขั้นที่สอง ยัง
อยู่ข้างหน้าอีกสิบกว่าขั้น หรือยี่สิบสามสิบขั้น
ก็เกิดใคร่ที่จะได้ขึ้นถึงขั้นที่สุดทีเดียว ดั่งนี้ย่อมเป็นไป
ไม่ได้ ต้องขึ้นไปทีละขั้นสองขั้นโดยลำดับ แล้วก็จะ
ถึงขั้นที่สุดเอง ให้เตือนใจของตนดั่งนี้
จนเห็นโทษของตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก ส่วน
ความกระหยิ่มซึ่งเป็นตัณหานั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เมื่อ
เป็นดั่งนี้ก็จะสามารถระงับความกระหยิ่มใจใคร่จะได้
หรือระงับตัณหาได้ และเมื่อระงับตัณหาได้ดั่งนี้
ปฏิบัติพิจารณาในอนิจจตาเรื่อยไป ได้ความรู้
ความเห็นอนิจจตาชัดขึ้นมา ก็จะเกิดโสมนัส
จากการรู้การเห็นนั้น เป็นเนกขัมมสิตโสมนัส จึง
ให้อาศัยปฏิบัติดั่งนี้ คืออาศัยเนกขัมมสิตโสมนัส
ละเนกขัมมสิตโทมนัสเสีย ก็นับว่าเป็นขั้นที่ ๔
เนกขัมมสิตอุเบกขา
และอีกขั้นหนึ่งอันเป็นขั้นที่ ๕ นั้น
ตรัสสอนให้อาศัยเนกขัมมสิตอุเบกขา
ละเนกขัมมสิตโสมนัส คือว่าเนกขัมมสิตอุเบกขานั้น ก็
เป็นนักปฏิบัติเป็นผู้ปฏิบัตินั่นแหละ เมื่อประสบอารมณ์
ทั้งหลาย ก็พิจารณาให้รู้ให้เห็นในอนิจจตา
คือความไม่เที่ยงของอารมณ์เหล่านั้น (
เริ่ม ๑๗๒/๒) อันเป็นความรู้ความเห็นที่ชัดเจนกว่า ซึ่งทำ
ให้จิตใจนี้สงบเป็นอุเบกขา คือวางเฉยๆ ได้โดย
ไม่มีโสมนัส คือความยินดี ก็เป็นเนกขัมมสิตอุเบกขา
ส่วนที่เป็นเนกขัมมสิตโสมนัสนั้น ก็เป็น
ผู้ปฏิบัตินั่นแหละ รู้เห็นในอนิจจตาความไม่เที่ยง อาจจะ
เป็นว่าเพิ่งรู้เห็นขึ้นใหม่ก็ปลื้มใจ ว่าเรารู้เราเห็นอนิจจตา
ความไม่เที่ยง ก็เป็นเนกขัมมสิตโสมนัส เมื่อเป็นโสมนัส
ความยินดี จึงเรียกว่ายังเจือความยินดีอยู่ ความรู้
ความเห็นก็ยังไม่ละเอียด จึงไม่สนใจในความยินดี คือ
ไม่มัวแต่ยินดีว่าเรารู้เราเห็น เพียงแค่นี้
แต่ว่าจับพิจารณาต่อไปในอนิจจตา คือความ
ไม่เที่ยงของอารมณ์ทั้งหลาย มุ่งให้รู้ให้เห็นในสัจจะ คือ
ความจริงนั้นชัดเจน ปล่อยวาง จิตก็สงบ ด้วยปราศจาก
ความยินดี วางความยินดีได้ มีความสงบเฉยอยู่
เป็นปรกติ ประกอบด้วยความรู้ความเห็นในอนิจจตา คือ
ความไม่เที่ยง ก็เลื่อนขึ้นเป็นเนกขัมมสิตอุเบกขา อัน
เป็นภูมิชั้นของการปฏิบัติที่สูงขึ้น
ดั่งนี้เรียกว่าอาศัยเนกขัมมสิตอุเบกขา
ละเนกขัมมสิตโสมนัสอีกขั้นหนึ่ง
เพราะฉะนั้น ในขั้นที่ ๕ นี้จึง
เป็นภูมิปฏิบัติที่สูงยิ่งขึ้น และก็เป็นปฏิบัติที่สูงยิ่งขึ้นมา
โดยลำดับ ตั้งแต่ขั้นที่ ๑ จนถึงขั้นที่ ๕ นี้
วันนี้ยุติเท่านี้


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 พ.ย. 2014, 12:24 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


สฬายตนวิภังคสูตร (๔)
�����
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรม
ในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ
ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระ
ผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจ
ถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ได้แสดงสัตบถ
คือทางดำเนินของสัตว์โลก ๓๖ ประการมาแล้ว และ
ได้แสดงถึงการละสัตบถเหล่านั้น
ซึ่งอาศัยสัตบถที่ละเอียดกว่า ละสัตบถที่หยาบกว่า
อันเป็นทางปฏิบัติธรรมทางจิตใจใน
สฬายตนวิภังคสูตร มาโดยลำดับ
คืออาศัยเนกขัมมสิตโสมนัส ละเคหสิตโสมนัส
อาศัยเนกขัมมสิตโทมนัส ละเคหสิตโทมนัส
อาศัยเนกขัมมสิตอุเบกขา ละเคหสิตอุเบกขา
อาศัยเนกขัมมสิตโสมนัส ละเนกขัมมสิตโทมนัส
อาศัยเนกขัมมสิตอุเบกขา ละเนกขัมมสิตโสมนัส
สำหรับใน ๒ หมวดหลังนี้ จะ
ได้อธิบายทบทวนในที่นี้ อัน เนกขัมมสิตโสมนัส
ที่แปลว่าความยินดี อาศัยเนกขัมมะ คือการออก ได้แก่
เมื่อประสบอารมณ์ทั้งหลาย มีรูปารมณ์เป็นต้น ทั้ง ๖
ก็พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง
ความเสื่อมคลาย ความแปรปรวนเปลี่ยนแปลง
ความดับ ก็เกิดโสมนัสขึ้น แต่ว่าบางทีมีความใคร่จะ
ได้วิโมกข์ คือความหลุดพ้นอย่างยอดเยี่ยม
ที่พระอริยเจ้าทั้งหลายได้กัน ใคร่ที่จะได้ แต่ว่าไม่ได้
ก็เกิดโทมนัสขึ้นมา เมื่อเป็นดั่งนี้ ก็ให้พิจารณาว่า
ไม่ควรจะมีความปรารถนาต้องการ ซึ่งเป็นตัณหา
เมื่อมีความปรารถนาต้องการเป็นตัณหาก็เกิดทุกข์
เป็นโทมนัส
ฉะนั้น ให้ตั้งหน้าปฏิบัติพิจารณาให้เห็น
ความไม่เที่ยง ความต้องเสื่อมคลาย
ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงต่อไปให้เห็นชัดขึ้น
และเมื่อการปฏิบัติเข้าถึงขั้นแล้ว ก็ย่อมจะได้
ความหลุดพ้นขึ้นเองตามขั้นตอนที่ปฏิบัติถึง ไม่จำ
เป็นที่จะต้องตั้งความปรารถนาอย่างแรง อัน
เป็นตัวตัณหา และตัวตัณหานี้เองก็เป็นเครื่องกั้นเอาไว้
ไม่ให้ประสบความหลุดพ้นได้ จะประสบความหลุดพ้น
ได้ ก็ต้องวางความกระหยิ่ม ความใคร่จะได้ อัน
เป็นตัณหาเสีย
เมื่อพิจารณาดั่งนี้ ความโทมนัสก็
จะหายไป เพราะจะดับความกระหยิ่มใคร่จะได้ อัน
เป็นตัณหาเสียได้ ก็จะเกิดโสมนัสขึ้นแทน อันเรียกว่า
เป็น เนกขัมมสิตโสมนัส คือ เป็น
ความโสมนัสที่อาศัยเนกขัมมะ คือการออก
จึงชื่อว่าอาศัย เนกขัมมสิตโสมนัส ละ
เนกขัมมสิตโทมนัส อันนับว่าเป็นขั้นที่ ๔
และต่อไปขั้นที่ ๕ ก็ให้อาศัย
เนกขัมมสิตอุเบกขา ละ เนกขัมมสิตโสมนัส เสีย
เนกขัมมสิตอุเบกขานั้น ก็ คือเมื่อประสบอารมณ์
ทั้งหลาย ก็พิจารณาให้เห็นความไม่เที่ยง ความดับ
ความต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลง
ต้องเสื่อมสลายดังกล่าว ก็เกิดอุเบกขา คือ
ความปล่อยวาง อันมีลักษณะที่เป็นความวางจิตใจ
เป็นกลาง อันเรียกว่าวางเฉย คือไม่ปรากฏ
ความยินดียินร้าย มีใจเป็นกลาง
กำหนดอยู่ด้วยจิตใจที่เป็นกลาง
อันเรียกว่าอุเบกขา ดั่งนี้เรียกว่า เนกขัมมสิตอุเบกขา
อุเบกขาที่อาศัยเนกขัมม
แต่ว่าในบางคราวจิตไม่เป็นอุเบกขา
ในเมื่อได้เห็นความไม่เที่ยงเป็นต้นของอารมณ์
ทั้งหลาย แต่ว่าจิตเกิดโสมนัส คือความยินดีพอใจ
อิ่มเอิบใจ ว่าเรารู้เราเห็น ก็อิ่มเอิบใจ ซึ่งเรียกว่าเป็น
เนกขัมมสิตโสมนัส ฉะนั้น เมื่อได้โสมนัสดั่งนี้ก็
ให้พิจารณาว่า จิตใจที่ยังยินดี พอใจ
อิ่มใจว่าเรารู้เราเห็น ยังเป็นจิตใจที่มีอาการขึ้นลงอยู่
เพราะว่าอันความยินดีที่เป็นความโสมนัสนั้น
เป็นอาการของจิตที่เรียกว่าขึ้น อิ่มเอิบ และเมื่อจิตขึ้น
ได้ ก็ลงได้
ฉะนั้น จึงควรที่จะสงบ
ความยินดีอิ่มเอมใจ อันเป็นอาการของจิตที่ขึ้น
มาทำจิตใจให้เป็นกลางไม่ยินดีไม่ยินร้าย
อันเรียกว่าอุเบกขา เป็นความเข้าไปเพ่งเฉยอยู่
พิจารณาให้เห็นประโยชน์เห็นคุณของอุเบกขาดั่งนี้
จิตก็จะสงบอาการที่อิ่มเอมใจ ดีใจ พอใจนั้นเสียได้ มา
เป็นอุเบกขา อันเรียกว่า เนกขัมมสิตอุเบกขา
อุเบกขาที่อาศัยเนกขัมมะ คือการออก ออกจากกาม
ดั่งนี้เรียกว่าอาศัยเนกขัมมสิตอุเบกขา
ละเนกขัมมสิตโสมนัส อันเป็นขั้นที่ ๕
อุเบกขา ๒
ต่อจากนี้พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอน
ให้รู้จักอุเบกขาว่ามี ๒ อย่าง คือ เอกัตตา
เอกัตตสิตาอุเบกขา อุเบกขาที่มีความเป็นหนึ่ง ที่อาศัย
ความเป็นหนึ่งอย่างหนึ่ง นานัตตา นานัตตสิตาอุเบกขา
อุเบกขาที่มีความเป็นต่างๆ อาศัยความเป็นต่างๆ
อีกอย่างหนึ่ง และได้ตรัสอธิบายว่า นานัตตา
นานัตตสิตาอุเบกขา ที่เป็นอุเบกขาที่มีต่างๆ อาศัย
ความมีต่างๆ กันนั้น ก็ได้แก่อุเบกขาในรูปทั้งหลาย
อุเบกขาในเสียงทั้งหลาย
อุเบกขาในกลิ่นทั้งหลาย อุเบกขาในรส
ทั้งหลาย อุเบกขาในโผฏฐัพพะ คือสิ่งที่กายถูกต้อง
ทั้งหลาย อุเบกขาในธรรมะ คือในเรื่องราวทั้งหลาย
เพราะเป็นไปในอารมณ์ทั้ง ๖ หลักดั่งนี้ จึงเรียกว่า
นานัตตา นานัตตสิตาอุเบกขา อุเบกขาที่มีต่างๆ อาศัย
ความมีต่างๆ
ส่วน เอกัตตา เอกัตตสิตาอุเบกขา นั้น
ได้แก่อุเบกขาที่มีอย่างเดียว อาศัยความมีอย่างเดียว
ได้แก่อุเบกขาในอรูปสมาบัติ หรือในอรูปฌาน
ทั้งหลาย อันเรียกว่า อากาสานัญจายตนะ
วิญญานัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะบ้าง
เนวสัญญานาสัญญายตนะบ้าง อุเบกขา
ในอรูปสมาบัติที้ง ๔ นี้ เรียกว่า เอกัตตา
เอกัตตสิตาอุเบกขา
ตรัสสอนให้อาศัย เอกัตตา
เอกัตตสิตาอุเบกขา ละ นานัตตา นานัตตสิตาอุเบกขา
เสีย โดยที่เมื่อได้อุเบกขาในอารมณ์ทั้ง ๖ อันเป็น
นานัตตา นานัตตสิตาอุเบกขา อุเบกขาที่มีต่างๆ อาศัย
ความมีต่างๆ คือเป็นไปในอารมณ์ทั้ง ๖ เหล่านั้น อัน
จะพึงเรียกว่าเป็นอุเบกขาในรูปสมาบัติ หรือ
ในรูปฌานก็ได้
หากได้ ก็พิจารณาว่า
อุเบกขาอย่างนี้อย่างหยาบ ยังมีอุเบกขาที่ละเอียด
เป็นหนึ่ง ก็ คืออุเบกขาในอรูปสมาบัติ
ให้หัดปฏิบัติทำอรูปสมาบัติ หรืออรูปฌานให้บังเกิดขึ้น
และหากบังเกิดขึ้นได้ ก็ชื่อว่าได้บรรลุ เอกัตตา
เอกัตตสิตาอุเบกขา อุเบกขาที่มีเป็นหนึ่ง อาศัยความมี
เป็นหนึ่ง ปฏิบัติดั่งนี้เรียกว่าอาศัย เอกัตตา
เอกัตตสิตาอุเบกขา ละ นานัตตา นานัตตสิตาอุเบกขา
อันนับว่าเป็นขั้นที่ ๖
ตัมมยตา อตัมมยตา
เมื่อถึงขั้นนี้ ก็ยังไม่ถึงที่สุด จึง
ได้ตรัสสอนต่อไปว่า
ให้อาศัย อตัมมยตา ละ เอกัตตา
เอกัตตสิตาอุเบกขา ได้มีอธิบายในอรรถกถาว่า
ตัณหานั้นเรียกว่า ตัมมยตา (เริ่ม ๑๗๓/๑) ฉะนั้น
จึงทำให้เข้าใจว่า อตัมมยตา นั้นได้แก่ความที่
ไม่มีตัณหา คำว่าอตัมมยตา คือความไม่มีตัณหา
กับตัมมยตาอันเป็นชื่อของตัณหานี้ เพ่งดูถึงศัพท์แสง
แล้ว ก็ยากที่จะหาคำแปลได้ ค้นดูในตำราศัพท์ต่างๆ ก็
ยังไม่พบคำแปลที่แปลไว้
หากว่าจะใช้
ความคาดคะเนดูหน้าตาของคำ
คำว่าตัมมยตาก็ดูมีเค้าที่อาจจะแปลได้ว่า คือ
ความเห็นยึดถือว่านั้นเป็นของเรา ความเห็นยึดถือว่า
นั้นเป็นของเราเป็นลักษณะของตัณหา ของมานะ
ของทิฏฐิ ซึ่งเป็นกิเลสชั้นเดียวกัน ใช้ควบกันไป
อย่างที่มีแสดงว่าความเห็นยึดถือว่านี้ของเรา
เรียกว่าตัณหาความเห็นยึดถือว่าเราเป็นนี่ เป็นมานะ
ความเห็นยึดถือว่านี่เป็นอัตตาตัวตนของเรา เป็นทิฏฐิ
และความเห็นยึดถือที่มีลักษณะทั้ง ๓ นี้ ใช้เรียกไป
ด้วยกันทั้ง ๓ อย่าง ทั้ง
ในด้านยึดถือก็เห็นยึดถือว่านี่ของเรา ว่าเราเป็นนี่ ว่านี่
เป็นตัวตนของเรา หรือในด้านไม่ยึดถือก็แสดงว่า
ไม่เห็นยึดถือว่านี่ของเรา เราเป็นนี่ นี่
เป็นอัตตาตัวตนของเรา
เพราะฉะนั้น ดูหน้าตาของคำว่าตัมมยตา
ก็มีเค้าที่อาจจะแปลตามศัพท์หรือตามตัวว่า
ความเห็นยึดว่านั้นเป็นของเรา จึงเป็นตัณหา และเมื่อ
เป็นอตัมมยตา ก็เป็นปฏิเสธ คือเป็นความที่
ไม่เห็นยึดถือว่านั้นเป็นของเรา เพราะฉะนั้น
จึงมีแสดงว่าตัมมยตา คือตัณหา ซึ่งส่อง
ความว่าอตัมมยตา ก็ คือความไม่มีตัณหา
วุฏฐานคามินีปฏิปทา วุฏฐานคามินีวิปัสสนา
และพระอรรถกถาจารย์
ได้อธิบายอตัมมยตานี้ว่าได้แก่ วุฏฐานคามินีปฏิปทา
วุฏฐานคามินีวิปัสสนา วิปัสสนา คือความเห็นแจ้ง ที่
เป็นเหตุให้ออกจากความครอบงำของตัณหา
และย่อมละอุเบกขาที่เกิด
จากอรูปสมาบัติทั้ง ๔ และวิปัสสนูเบกขา คืออุเบกขาที่
ได้จากวิปัสสนา ได้ด้วยวุฏฐานคามินีวิปัสสนา
คือวิปัสสนาที่ให้ถึงการออกนี้ ก็ คืออตัมมยตานั้นเอง
เป็นตัววิปัสสนาในขั้นสูง อันเป็นเหตุให้ออกจาก
ความครอบงำของตัณหาได้ จึงเรียกว่าอตัมมยตา
ตรัสสอนให้ปฏิบัติอาศัยอตัมมยตานี้ละ เอกัตตา
เอกัตตสิตาอุเบกขา คืออุเบกขาที่มี ๑ ที่อาศัยความมี
๑ คืออุเบกขาในอรูปสมาบัติ
ความเพลินในอรูปสมาบัติ
ตามที่ตรัสไว้นี้เป็นเครื่องแสดงว่า
แม้ปฏิบัติธรรมะจนได้ถึงอรูปสมาบัติ คืออรูปฌานแล้ว
อันได้ชื่อว่าได้เอกัตตา เอกัตตสิตาอุเบกขา แต่ก็ยังไม่
ถึงที่สุด เพราะว่าในขั้นนี้ได้มีตรัสไว้ในโสฬสปัญหาว่า
ยังมีนันทิ คือความเพลินเป็นเครื่องผูกไว้ อันทำให้ติด
อยู่ในอรูปสมาบัติ นันทิ คือความเพลินนี้ ก็
เป็นคำที่หมายถึงตัณหานั้นเอง ฉะนั้น แม้
ได้อรูปสมาบัติแล้ว เพียงเท่านั้น ก็ยังละตัณหาไม่ได้
ยังออกจากตัณหาไม่ได้ ตัณหายังครอบงำ
อยู่ตลอดเวลาที่ยังติดอยู่ในอรูปสมาบัติ อัน
เป็นเอกัตตา เอกัตตสิตาอุเบกขา
จึงต้องพิจารณาให้รู้จักความจริงอันนี้
และละนันทิ คือความเพลินติดอยู่เสีย
ด้วยการที่มาปฏิบัติทางวิปัสสนา มองให้เห็น
ความเกิดขึ้นและความดับไป อันเป็นอนิจตา ประกอบ
ทั้งความแปรปรวนเปลี่ยนแปลง ความสิ้นความเสื่อม
แม้ของอรูปสมาบัติ คือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วเสื่อมไปได้
จึงไม่เที่ยงต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลง
ให้เกิดปัญญามองเห็นไตรลักษณ์แม้ในอรูปสมาบัตินั้น
จนจิตสละความเพลิดเพลิน อันเป็นนันทิ
ในอรูปสมาบัติเสียได้ ตัณหาในอรูปสมาบัติ
นั้นครอบงำจิตไม่ได้ จึงเป็นอตัมมยตา คือวิปัสสนา
อันเป็นเหตุให้ออกจากความครอบงำของตัณหาได้
อันเรียกว่าวุฏฐานคามินีวิปัสสนา ดังกล่าว
และเมื่อถึงอตัมมยตาดั่งนี้แล้ว จึง
เป็นอันปฏิบัติเข้าถึงมรรคผล อันนับว่า
เป็นที่สุดของการปฏิบัติ นำให้ได้อนุตรวิโมกข์ คือ
ความหลุดพ้นอย่างยอดเยี่ยม
ฉะนั้น อตัมมยตานี้จึง
เป็นที่สุดของวิปัสสนาปัญญา เชื่อมต่อมรรคผล
ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสชี้แจงไว้ ว่า
ให้อาศัยอตัมมยตาละ เอกัตตา เอกัตตสิตาอุเบกขา
อุเบกขาที่มีเป็น ๑ อาศัยความมีเป็น ๑ คืออุเบกขา
ในอรูปสมาบัติ กับทั้งแม้อุเบกขาในวิปัสสนาเอง ที่
ยังต่ำกว่าวุฏฐานคามินีวิปัสสนา
วุฏฐานคามินีวิปัสสนานี้ จึงเป็นวิปัสสนาขั้นยอด
ก็คืออตัมมยตานี้เอง เป็นอันว่าพระพุทธเจ้า
ได้ทรงแสดงธรรมสำหรับเป็นทางปฏิบัติ
เกี่ยวแก่การปฏิบัติทางจิตใจ
กับอารมณ์ของจิตใจตั้งแต่เบื้องต้นในสัตบถทั้ง ๓๖
ประการนี้ อาศัยขั้นแรก และขึ้นไปสู่ขั้นที่ ๒ ให้ขั้นที่ ๒
ละขั้นแรก ขึ้นไปถึงขั้นที่ ๓ และให้ละกันไป
โดยลำดับดั่งนี้ เป็น ๗ ขั้น ถึงอตัมมยตานี้
เป็นที่สุดของการปฏิบัติ
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 72 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร