วันเวลาปัจจุบัน 18 เม.ย. 2024, 09:31  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 6 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ต.ค. 2014, 23:15 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ


สัพพาสวสังวรสูตร

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ



:b46: :b46:


(ตอนที่ ๑)


บัดนี้จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุก ๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

จะแสดงพระพุทธเจ้าสอนกรรมฐาน
ตามสัพพาสวสังวรสูตรพระสูตรที่ว่าด้วยสังวร
คือ ระวังป้องกันอาสวะทั้งปวงนำสติปัฏฐาน
ในพระสูตรนี้พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้เริ่มว่า
พระองค์ตรัสความสิ้นแห่งอาสวะทั้งหลายแก่ผู้ที่รู้อยู่เห็นอยู่
พระองค์ไม่ตรัสความสิ้นอาสวะทั้งหลายแก่ผู้ที่ไม่รู้ไม่เห็น


พระพุทธภาษิตเริ่มต้นนี้
เมื่อพิจารณาก็ย่อมจะได้ความเข้าใจว่า
พระองค์ตรัสว่าผู้รู้อยู่เห็นอยู่จึงจะสิ้นอาสวะทั้งหลายได้
แต่ผู้ที่ไม่รู้ไม่เห็นจะสิ้นอาสวะหาได้ไม่
ดั่งนี้เมื่อตรัสเริ่มไว้ดั่งนี้ก็ได้ตรัสขยายความต่อไปว่า
ข้อที่ว่ารู้อยู่เห็นอยู่นั้น ก็คือรู้อยู่เห็นอยู่ซึ่งอะไร
ได้ตรัสว่าก็คือรู้อยู่เห็นอยู่ซึ่งธรรมทั้งหลายที่ควรใส่ไว้ในใจ
และซึ่งธรรมทั้งหลายที่ไม่ควรใส่ไว้ในใจ

และได้ตรัสอธิบายต่อไปโดยความว่า

ธรรมะหรือธรรมที่ควรใส่ไว้ในใจนั้น
ก็คือเมื่อใส่ไว้ในใจแล้ว
อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิดก็ไม่เกิดขึ้น
ที่เกิดขึ้นแล้วก็ละดับไปได้
ส่วนธรรมะที่ไม่ควรใส่ไว้ในใจนั้น
ก็คือ ที่ใส่ไว้ในใจแล้ว อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น
ที่เกิดขึ้นแล้วก็เจริญงอกงามมากขึ้น ดั่งนี้


และได้ตรัสไว้ว่า

อาสวะทั้งหลาย
ย่อมละได้ด้วยทัศนะ คือ เห็น
ย่อมละได้ด้วยสังวร คือ สำรวมป้องกันระวัง
ย่อมละได้ด้วยการส้องเสพ
ย่อมละได้ด้วยการยับยั้งเอาไว้อยู่
ย่อมละได้ด้วยการเว้น
ย่อมละได้ด้วยการบันเทา
ย่อมละได้ด้วยการอบรม ดั่งนี้



:b41: อาสวะ ๓


ก่อนที่จะได้แสดงต่อไป ก็ควรจะทราบว่า
อาสวะนั้น แปลว่า เครื่องดอง หรือของดอง
ที่เป็นสิ่งภายนอกก็เช่นน้ำเมา น้ำดองของเมา
ส่วนที่เกิดขึ้นแก่จิตใจนั้นก็ได้แก่กิเลสที่ดองจิตสันดาน

อันนับว่าเป็นกิเลสอย่างละเอียด

พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้แบ่งเป็น ๓ คือ
กามาสวะ - อาสวะ คือ กาม
ภวาสวะ - อาสวะ คือ ภพ
อวิชชาสวะ - อาสวะ คือ อวิชชา


อาสวะคือกามนั้น ได้แก่ กิเลสดองสันดาน
คือ ความใคร่ความปรารถนา
ที่มีดองอยู่ในจิตสันดานของบุคคล
ภวาสวะอาสวะ คือ ภพ
ก็ได้แก่กิเลสที่ดองจิตสันดาน คือ ความเป็นนั่นเป็นนี่
ตั้งต้นแต่ความเป็นเรา อันเรียกว่า อัสมิมานะ
ความสำคัญหมายว่าเรามีเราเป็น
อันเป็นต้นกำเนิดของอัตตาตัวเรา
และเมื่อภวาสวะ เป็นตัวเรา
กามาสวะก็เท่ากับเป็นของเรา
คือความรักใคร่ปรารถนาต้องการในสิ่งทั้งหลาย
และสิ่งทั้งหลายที่รักใคร่ปรารถนาต้องการก็รวมเรียกว่า กามทั้งหมด
และก็ต้องการกามนี้มาเป็นของเรา
จะต้องการกามนี้มาเป็นของเรา ก็จะต้องมีตัวเราขึ้นมา
ก็ภวาสวะนี้เองที่เป็นเครื่องสร้างตัวเราขึ้นมา กามาสวะ
เป็นข้อที่ ๑ ภวาสะเป็นข้อที่ ๒


ข้อที่ ๓ ก็คืออวิชชาสวะ อาสวะ คือ อวิชชา
ความไม่รู้ อันได้แก่ความไม่รู้ในสัจจะที่เป็นของจริงของแท้
เป็นต้นว่าความไม่รู้ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔
อันเป็นความไม่รู้ที่ดองจิตสันดานอยู่
ทั้ง ๓ นี้เรียกว่า "อาสวะ"
เป็นกิเลสที่บังเกิดขึ้นดองจิตสันดานของบุคคล
ของสัตวโลกทั้งปวง ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า
เมื่อไม่รู้ไม่เห็นก็ละอาสวะนี้ไม่ได้
ต่อเมื่อรู้ และก็ได้ตรัสว่าข้อที่รู้ที่เห็น
ก็คือ รู้เห็นว่า ธรรมะอะไรควรใส่ไว้ในใจ
ธรรมะอะไรไม่ควรใส่ไว้ในใจ
เมื่อรู้เมื่อเห็นดั่งนี้จึงจะละอาสวะได้
แต่เมื่อไม่รู้ไม่เห็นดั่งนี้ก็ละไม่ได้
อาสวะทั้งหลายละได้ด้วยทัศนะ
จึงได้ตรัสต่อไปถึงอาสวะทั้งหลายละได้ด้วยทัศนะ
คือ เห็น เป็นข้อแรก

และก็ได้ตรัสอธิบายต่อไปว่า
ข้อที่ว่าอาสวะทั้งหลายละได้ด้วยทัศนะคือเห็นนั้นก็คืออย่างไร
จึงได้ตรัสอธิบายไว้โดยความว่า
บุถุชนคือบุคคลที่มีกิเลสหนามิได้สดับ
คือ มิได้สดับคำสั่งสอนของพระอริยเจ้าทั้งหลาย
ของสัตตบุรุษทั้งหลาย
จึงไม่ฉลาดรู้ธรรมะของพระอริยเจ้าทั้งหลาย
ของสัตตบุรุษทั้งหลาย
ไม่เข้าใจธรรมะของพระอริยเจ้าทั้งหลาย
ของสัตตบุรุษทั้งหลาย ทั้งไม่ได้เห็นพระอริยเจ้าทั้งหลายสัตตบุรุษทั้งหลาย
จึงได้ใส่ใจในธรรมะที่ไม่พึงใส่ใจ
แต่ไม่ใส่ใจในธรรมะที่พึงใส่ใจทั้งหลาย

เมื่อเป็นดั่งนี้ อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิดจึงเกิดขึ้น
และที่เกิดขึ้นแล้วก็เจริญงอกงาม
ส่วนอริยสาวกทั้งหลายผู้ได้สดับแล้ว
ได้เห็นพระอริยเจ้าทั้งหลาย ได้เห็นสัตตบุรุษทั้งหลาย
ฉลาดรู้เข้าใจในธรรมะของพระอริยเจ้าทั้งหลายของสัตตบุรุษทั้งหลาย
ย่อมจะใส่ใจในธรรมะที่ควรใส่ใจ
ไม่ใส่ใจในธรรมะที่ไม่ควรใส่ใจ
อาสวะทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้วจึงดับหายไปได้ ละไปได้
ส่วนอาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิด
ก็ไม่เกิดขึ้น ดั่งนี้

เพราะฉะนั้น การตั้งใจพอใจ
ที่จะดูจะเห็นพระอริยเจ้าทั้งหลาย สัตตบุรุษทั้งหลาย
คือที่จะคบหาสมาคม ที่จะเข้านั่งใกล้พระอริยเจ้าทั้งหลายสัตตบุรุษทั้งหลาย
เพื่อที่จะได้สดับตรับฟังคำสั่งสอนจึงเป็นสิ่งที่ควรทำ
และเมื่อฟังคำสั่งสอนก็ตั้งใจฟังให้มีความรู้
ให้มีความเข้าใจ อันจะนำให้รู้จักว่าธรรมะอะไรที่ควรใส่ใจ
ธรรมะอะไรที่ไม่ควรใส่ใจ ธรรมะที่ไม่ควรใส่ใจ

พระพุทธเจ้ายังได้ทรงแสดงถึงธรรมะที่ไม่ควรใส่ใจเอาไว้
ซึ่งบุถุชนทั้งหลายในโลกนี้ยังพากันใส่ใจอยู่เป็นอันมาก

ด้วยทรงยกเอาเรื่องของตัวเรา
หรือเรื่องของอัตตาของทุก ๆ คน
ซึ่งคนทั้งปวงพากันใส่ใจ
และพากันสงสัยในอัตตาคือตัวตนของทุก ๆ คน
ในอดีตบ้าง ในปัจจุบันบ้าง ในอนาคตบ้าง
ทั้งนี้ก็เพราะว่าต่างมีความยึดถืออยู่ซึ่งขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการ
คือนามรูปหรือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนี้
ว่าเป็นตัวเราของเรา เพราะฉะนั้นจึงอดมิได้ที่จะต้องใส่ใจสนใจ
จะต้องคิดคำนึง ต้องสงสัยเคลือบแคลงต่าง ๆ
ในข้อนี้เมื่อพิจารณาดูแล้วทุกคนย่อมจะมี
ความรู้สึกเป็นเช่นนั้น ว่าความคิดคำนึงทั้งปวง
ความสงสัยเคลือบแคลงทั้งปวงนั้น
ย่อมมีกำเนิดมาจากตัวเราของเรานี้ทั้งสิ้น
เนื่องอยู่กับตัวเราของเรานี้ทั้งสิ้น
คือตัวเราของเราที่ยึดถืออยู่นี้เอง
อันทำให้ต้องครุ่นคิด ต้องกังวล ต้องวิตกวิจารต่าง ๆ
เป็นไปในปัจจุบันบ้าง ย้อนไปข้างหลังบ้าง ก้าวไปข้างหน้าบ้าง
เป็นไปอยู่ดั่งนี้โดยมาก เพราะฉะนั้นจึงทำให้เกิดทิฏฐิคือ
ความเห็นอันเกี่ยวกับตัวเราของเราต่าง ๆ
แม้ว่าจะไม่เกี่ยวกับตัวเราของเรา
หรืออย่างที่เรียกว่าอนัตตาก็ตาม
ก็ยังอดมิได้ที่จะต้องมีความพัวพันอยู่กับตัวเราของเรา
ความเห็นอันอิงอยู่กับตัวเรา


เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงได้ทรงยกตัวอย่างของทิฏฐิ
คือความเห็น อันอิงอยู่กับตัวเราของเรานี้
เป็นต้นว่า อัตตาคือตัวตนของเรามีอยู่
อัตตาคือตัวตนของเราไม่มี
ข้อนี้ดูน่าจะไม่ใช่เป็นความเห็นที่ตรัสว่าไม่ควรใส่ใจ
เพราะว่าอัตตาตัวตนของเราไม่มี
ก็คล้าย ๆกับเห็นอนัตตา แต่อันที่จริงนั้นยังมิใช่เห็นอนัตตา
เพราะยังมีคำว่าของเรานี้ยืนเป็นหลักอยู่
คำว่าของเรานี้เองยังเป็นเครื่องยืนยันถึงความยึดถือ
เป็นตัวยืนหลัก แต่ว่าอัตตาตัวตนบางอย่างที่เป็นของเรา
ซึ่งเป็นตัวยืนนี้ไม่มีเท่านั้น แต่ว่าตัวของเรายังมีอยู่
ก็คือตัวเรายังมีอยู่ และแม้ความเห็นอย่างอื่นอีก
เช่นว่ารู้จักอัตตาตัวเรา
ทางตัวเรารู้จักอัตตาคือตัวเราทางอนัตตา
คือในอนัตตานั้นก็ยังมีตัวเรา
รู้จักอนัตตาทางตัวเราก็คือ
แม้ว่าจะพิจารณาว่าอะไรเป็นอนัตตา
ก็ยังพิจารณาทางตัวเรา
คือยังมีตัวเราอยู่ และยังมีความเห็นว่ามีอัตตา
คือตัวเรานี้ที่เสวยเวทนาได้
เสวยวิบากของกรรมดีกรรมชั่วที่ได้ทำไว้แล้วได้
และอัตตาตัวเรานี้เองเป็นสิ่งที่เที่ยง เป็นสิ่งที่ยั่งยืน
ตั้งอยู่ตลอดไป ดั่งนี้


ความเห็นของคนที่ไม่มีมรณะสติ
ก็คล้าย ๆ กับความเห็นของทุก ๆ คนที่ยังไม่มีมรณะสติ
ย่อมดำรงชีวิตอยู่คล้าย ๆ กับว่าไม่ต้องตาย
หรือคล้าย ๆ กับว่าชีวิตนี้ดำรงอยู่เรื่อยไปตลอดไปเหมือนไม่ตาย
จะทำอะไรต่าง ๆก็เหมือนกับไม่ต้องตาย
เรียกว่าอยู่กับความประมาท

มักจะเป็นไปอยู่ดั่งนี้ ก็เพราะว่าได้ใส่ใจในธรรมะที่ไม่พึงใส่ใจ
แต่ว่าไม่ใส่ใจในธรรมะที่พึงใส่ใจ
ธรรมะอันนำให้เกิดทิฏฐิ
ข้อว่าธรรมะในที่นี้ ก็หมายถึงสิ่งทั้งหลาย
เรื่องทั้งหลาย ตลอดไปจนถึงธรรมารมณ์
อารมณ์คือเรื่องราวที่บังเกิดขึ้นในจิตใจ
คือที่ใจคิด ที่ใจดำริ ที่ใจหมกมุ่นถึง
ล้วนเป็นเรื่องที่เกี่ยวแก่กาม เกี่ยวแก่ภพ เกี่ยวแก่โมหะ
คือความหลงอยู่เป็นอันมาก
ดังเช่นเรื่องที่ตรัสยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างเหล่านั้น
อันนำให้เกิดทิฏฐิ คือ ความเห็นอันเกี่ยวแก่กาม
เกี่ยวแก่ภพ ความเป็นนั่น เป็นนี่
ตั้งต้นแต่เป็นตัวเรา ของเราอยู่ตลอด
ในปัจจุบันไม่พอก็ยังนึกย้อนไปข้างหลังคือในอดีต
และก้าวไปข้างหน้าคือในอนาคตอีกด้วย

เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้จึงเป็นมายา
ที่ปกปิดจิตใจมิให้ได้ปัญญา หรือได้ทัศนะที่จะเห็นสัจจะคือความจริง
เพราะฉะนั้นจึงได้ตรัสสอนให้เห็นให้คบหาสมาคม
ให้นั่งใกล้พระอริยเจ้า สัตตบุรุษทั้งหลาย
เพื่อที่จะได้ฟังคำสั่งสอน อันจะนำให้เกิดปัญญา
ตั้งต้นแต่ให้รู้จักว่าข้ออะไรที่ควรใส่ไว้ในใจ
ข้ออะไรที่ไม่ควรใส่ไว้ในใจ แม้ว่าจะต้องมีชีวิต
อยู่ครองเรือนต้องประกอบธุระการงานต่าง ๆ
ก็ประกอบธุระการงานต่าง ๆ ไป
แต่ว่าก็ต้องหาเวลามาที่จะชำระดวงตาคือปัญญาของตน
ด้วยการสดับตรับฟังหรือว่าอ่านคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ซึ่งทรงเป็นพระอริยเจ้าด้วย ทรงเป็นสัตตบุรุษด้วย
ซึ่งได้ทรงชี้ให้เห็นสัจจะที่เป็นตัวความจริง

คือ ตรัสสอนให้รู้จัก
ทุกขสัจจะ สภาพที่จริงคือทุกข์
สมุทัยสัจจะ สภาพที่จริง คือสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์
นิโรธสัจจะ สภาพที่จริงคือ นิโรธ ความดับทุกข์
มรรคสัจจะ สภาพที่จริงคือมรรคทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์


พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงอธิบายอริสัจจ์ทั้ง ๔
ไว้โดยปริยายคือทางเป็นอันมาก
เพื่อให้ผู้ฟังตั้งใจพิจารณาได้เกิดปัญญา รู้เห็นในทุกข์
รู้เห็นในเหตุเกิดทุกข์ รู้เห็นในความดับทุกข์
รู้เห็นในทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
ทัศนะที่ถูกต้องในสัจจะธรรม

เมื่อเป็นดั่งนี้ก็จะได้ชื่อว่าเป็นอริยสาวก คือเป็นผู้ฟัง
เป็นศิษย์ของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นพระอริยะ
ได้ชื่อว่าได้เห็น ได้พบ ได้สมาคมกับพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระอริยะ
ทำให้เป็นผู้ฉลาดรู้ในธรรมะของพระพุทธเจ้าผู้พระอริยะยิ่ง ๆ ขึ้นไป

และเมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็จะทำให้ทิฏฐิ
คือ ความเห็นที่หนาแน่นอยู่ในมายา คือสิ่งที่ไม่จริง ที่ปิดบัง
ความจริง ที่ลวงตาลวงใจต่าง ๆ ให้เบาบางลงไป ทำ
ให้จิตนี้ได้ทัศนะคือความเห็นถูกต้องในสัจจะธรรม
ธรรมะที่เป็นตัวความจริงทั้งหลายมากขึ้นโดยลำดับ
ตั้งต้นแต่ให้รู้จักผิดชอบชั่วดีทางกรรมบถ
คือ ทางของกรรมที่ประกอบกระทำ ทางกาย ทางวาจา ทางใจ

ตลอดจนถึงให้ได้ทัศนะ คือ เห็นในอริยสัจจ์ยิ่งขึ้นไปโดยลำดับ
ทัศนะในอริยสัจจ์ดังกล่าวนี้เอง รวมทั้งทัศนะเห็นในสัจจะ
แม้ในทางกรรมบถ คือ กระแสกรรมทางกรรม
บาปบุญคุณโทษประโยชน์มิใช่ประโยชน์ทั้งหลาย
ย่อมเป็นเครื่องบรรเทา เป็นเครื่องละอาสวะทั้งหลายได้ไปโดยลำดับ

การปฏิบัติในสติปัฏฐานทุกข้อทุกบท
ก็ชื่อว่าเป็นการที่ได้มาสดับคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ผู้พระอริยะ ได้ฉลาดรู้ในธรรมะของพระพุทธเจ้า
ผู้พระอริยะ และเมื่อปฏิบัติก็จะทำให้ได้ทัศนะ คือ เห็นในสัจจะที่เป็นตัวความจริง
อันมีสติที่พิจารณากายเวทนาจิตธรรมเหล่านี้
นำให้ขัดเกลาละอาสวะกิเลสที่ดองจิตสันดานไปโดยลำดับได้
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำ ความสงบสืบต่อไป


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ต.ค. 2014, 23:26 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


สัพพาสวสังวรสูตร

(ตอนที่ ๒)


:b45: :b45:


บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม


จะแสดงพระพุทธเจ้าทรงสอนกรรมฐานตามนัยยะ
สัพพาสวสังวรสูตร พระสูตรที่ว่าด้วย
ความสำรวมคือระวังป้องกันอาสวะ
นำสติปัฏฐานพระบรมศาสดาได้ทรงแสดงวิธีละอาสวะ
ที่จะแสดงในวันนี้นับเป็นข้อที่ ๒
ตรัสสอนให้ละอาสวะด้วยสังวร
คือ ความสำรวมอินทรีย์ทั้ง ๖

อันได้แก่ จักขุ -ตา โสตะ -หู ฆานะ -จมูก
ชิวหา- ลิ้น กายะ - ก็กาย และ มโน คือ ใจ

ตรัสไว้ว่า

เมื่อไม่สำรวมอินทรีย์ทั้ง ๖
อาสวะทั้งหลายที่เป็นเครื่องทำความคับแค้น
ความเดือดร้อนก็บังเกิดขึ้น
แต่เมื่อสำรวมอินทรีย์ทั้ง ๖
อาสวะทั้งหลายที่เป็นเครื่องทำความคับแค้น
ทำความเดือดร้อน ก็ไม่บังเกิดขึ้น

และก็ได้ตรัสแสดงทางของการปฏิบัติ ด้วยทรงชี้ว่า
ก็ให้รู้จักธรรมะที่ไม่ควรใส่ไว้ในใจกับธรรมะที่ควรใส่ไว้ในใจ
เพราะว่าเมื่อไม่รู้จัก ก็ย่อมจะใส่ธรรมะที่ไม่ควรใส่ไว้ในใจ
แต่ว่าธรรมะที่ควรใส่ไว้ในใจกลับไม่ใส่ใจถึง

เมื่อเป็นดั่งนี้อาสวะทั้งหลาย อันได้แก่
อาสวะคือกาม อาสวะคือภพ อาสวะคืออวิชชา
ก็ย่อมบังเกิดขึ้น ส่วนผู้ที่รู้จักธรรมะที่ไม่ควรใส่ไว้ในใจ
รู้จักธรรมะที่ควรใส่ไว้ในใจ และเมื่อรู้จักดั่งนี้
ก็ไม่ใส่ธรรมะที่ไม่ควรใส่ไว้ในใจ
ใส่แต่ธรรมะที่ควรใส่ไว้ในใจเท่านั้น
อาสวะทั้งหลายจึงไม่บังเกิดขึ้น
แต่ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยทิฏฐิ คือ ความเห็น
เมื่อมีความเห็นผิดก็ย่อมจะไม่รู้จัก
ว่าธรรมะอะไรที่ไม่ควรใส่ไว้ในใจ
ธรรมะอะไรที่ควรใส่ไว้ในใจ


ความเห็นผิดนี้จึงเป็นเหมือนลูกศรที่เสียบแทงใจ
เป็นสัญโญชน์คือเครื่องผูกใจ
เพราะฉะนั้น ทางที่จะทำให้เขลาปัญญาก็คือ
ความที่ขาดสติรักษาทวารทั้ง ๖
หรือรักษาอินทรีย์ทั้ง ๖ ดังที่กล่าวมา

จึงทำให้บังเกิดความไม่สำรวมอินทรีย์ทั้ง ๖ นั้น
เมื่อเป็นดั่งนี้เรื่องทั้งหลาย
หรือจะกล่าวว่าธรรมะทั้งหลายที่ไม่ควรใส่ไว้ในใจ จึงไหลเข้าไปสู่ใจ
นำให้บังเกิดกิเลสคือเครื่องเศร้าหมองลงไปสู่จิตใจ
หรือเข้าสู่จิตใจ เป็นอาสวะที่ดองจิตสันดานอยู่
เพราะฉะนั้นสติที่สังวรคือระวังป้องกันอินทรีย์ทั้ง ๖ นี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก จึ
งได้ตรัสสอนให้รู้จักเอาไว้ เมื่อต้องการละอาสวะกิเลสที่ดองสันดาน
ก็ต้องฝึกหัดปฏิบัติในอินทรียสังวร ความสำรวมอินทรีย์ อินทรีย์ ๖

ฉะนั้น จึงจะได้กล่าวถึงเรื่องอินทรีย์แนะนำพอให้รู้จัก
อินทรีย์นั้นแปลว่าเป็นใหญ่โดยที่จักขุคือตาก็เป็นใหญ่ในการเห็นรูป
โสตะคือหูก็เป็นใหญ่ในการฟังเสียง
ฆานะคือจมูกก็เป็นใหญ่ในการทราบกลิ่นหรือสูดกลิ่น
ชิวหาคือลิ้นก็เป็นใหญ่ในการทราบรสหรือลิ้มรส
กายะหรือกายก็เป็นใหญ่ในการถูกต้องโผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้อง
มโนที่แปลกันว่าใจก็เป็นใหญ่ในการรู้ธรรมะคือเรื่องราว
เพราะฉะนั้น ตา หู จมูก ลิ้น กาย และมนะ คือ ใจ ทั้ง ๖ นี้
จึงเรียกว่า อินทรีย์

มโน คือ ใจ

อนึ่งได้มีแสดงอินทรีย์ทั้ง ๖ นี้
ในหน้าที่อันละเอียดยิ่งขึ้นไปกว่านั้นอีกไว้บางแห่ง
ก็คือ อธิบายว่า อินทรีย์ทั้ง ๖ นี้ ๕ ข้างต้นคือ ตา หู
จมูก ลิ้น กาย จะสำเร็จความเป็นใหญ่ในหน้าที่ของตนได้
ต้องอาศัย มโน คือ ใจ อันเป็นข้อที่ ๖ เข้าประกอบด้วย

กล่าวคือ จักขุคือตานั้นจะสำเร็จการเห็นรูปอะไรได้ ต้องมีมโน คือ ใจ
เข้าประกอบด้วยจึงจะสำเร็จการเห็นรูป
ถ้าไม่มีมโนคือใจเข้าประกอบด้วย ก็ไม่สำเร็จการเห็นรูป
อีก ๔ ข้อต่อไปก็เช่นเดียวกัน ต้องมีมโน คือ ใจ
เข้าประกอบด้วยทุกข้อ จึงจะสำเร็จการเห็นรูป
ได้ยินเสียง ทราบกลิ่น ทราบรส ทราบโผฏฐัพพะ
เพราะฉะนั้น มโน คือ ใจ จึงต้องควบคู่อยู่กับ ตาให้สำเร็จการเห็นรูป
หูให้สำเร็จการได้ยินเสียง จมูกให้สำเร็จการได้ทราบกลิ่น
ลิ้นให้สำเร็จการได้ทราบรส และกายให้สำเร็จการได้ทราบโผฏฐัพพะ
ที่ท่านอธิบายไว้ดั่งนี้พิจารณาดูก็จะเห็นได้

ยกตัวอย่าง โสตะคือหู เพื่อให้สำเร็จการ
ได้ยินเสียง จะต้องมีมโนคือใจเข้าประกอบด้วย จึงจะสำเร็จการได้ยินเสียง
ได้ยกตัวอย่างเช่นการฟังอบรมธรรมะในบัดนี้
ท่านทั้งหลายผู้ฟังก็จะต้องเงี่ย โสตะประสาท เพื่อที่จะฟัง
และก็จะต้องตั้งมโนคือใจเพื่อฟังด้วย จึงจะฟังได้ยิน
แต่ขณะใดที่มโนคือใจไม่ตั้งเพื่อที่จะฟัง
เพราะใจถูกส่งไปในที่อื่นในเรื่องอื่น หูจะดับทันที
จะไม่ได้ยินเสียงที่กำลังพูดอบรมอยู่นี้ หูดีไม่ใช่หูหนวก
และเสียงก็กำลังพูดอยู่ ก็ไปกระทบกับโสตะประสาท
อยู่โดยปรกติ เป็นแต่เพียงว่า เมื่อมโนคือใจพรากออกไปเสีย
หูก็ดับทันทีไม่ได้ยินเสียงที่พูดนี้ แต่ว่าไปรู้ในเรื่องที่มโนคือใจส่งไปนั้น
เพราะฉะนั้น มโนคือใจอันเป็นข้อที่ ๖ นี้
จึงต้องประกอบอยู่กับ ๕ ข้อข้างต้นตลอดเวลา


และนอกจากนี้มโนคือใจ ก็ย่อมเป็นใหญ่ในหน้าที่รู้ธรรมะ
คือเรื่องราวของตนโดยเฉพาะอีกด้วย
คือแม้ว่าในขณะที่ มิได้ใช้ตา ใช้หู ใช้จมูก ใช้ลิ้น ใช้กาย
ลำพังมโนคือใจเองก็ย่อมรู้ธรรมะ
คือ เรื่องราวของรูป ของเสียง ของกลิ่น ของรส ของโผฏฐัพพะ
ที่ได้ประสบพบผ่านมาแล้ว เช่นว่า ได้ประสบพบผ่านมาแล้วในอดีต
เช่นบัดนี้เป็นเวลาค่ำ มโน คือ ใจ ก็รู้ธรรมะคือเรื่องราวของรูปเป็นต้น
ที่ได้ประสบพบผ่านมาแล้วในเวลาเช้า ในเวลาบ่าย เป็นต้น
เรื่องเหล่านี้ยังมาผุดขึ้นในความนึกคิด
จะเรียกว่าความนึกคิดของมโนคือใจก็ได้ เป็นความรู้ถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้
ดังที่เรียกกันว่าจินตา ความคิดบ้าง วิตก ความตรึกบ้าง วิจาร ความตรองบ้าง เป็นต้น
เพราะฉะนั้น มโนคือใจอันเป็นอินทรีย์ข้อที่ ๖ นั้น
จึงเป็นข้อสำคัญ ที่ต้องประกอบอยู่ในอินทรีย์ทุกข้อ
และก็มีหน้าที่จำเพาะข้อของตนโดยเฉพาะอีกด้วย


เพราะฉะนั้น จึงควรรู้จักอินทรีย์ดังกล่าวมานี้
ทวาร ๖ อารมณ์ ๖ และก็ควรทราบว่าในภาษาธรรมะนั้น
ยังมีชื่อเรียกอีกด้วยว่า ทวาร และ อารมณ์
ทวาร นั้นแปลว่าประตู หรือ ช่อง ก็หมายถึงอินทรีย์ทั้ง ๖

เหล่านี้นั่นแหละ แต่ได้ชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า ทวาร
แปลว่า ประตู ฉะนั้น ทวารจึงมี ๖ เหมือนกัน
ได้แก่จักขุทวาร ประตูตา โสตะทวาร
ประตูหู ฆานะทวาร ประตูจมูก ชิวหาทวาร
ประตูลิ้น กายะทวาร ประตูกาย และมโนทวาร ประตูใจ

เป็นทวารคือประตูของอะไร

ก็เป็นทวารคือประตูสำหรับเข้าของอารมณ์ทั้ง ๖
อารมณ์นั้นได้แก่เรื่องที่จิตคิด เรื่องที่จิตดำริ
เรื่องที่จิตหมกมุ่นถึง มี ๖ คู่กันกับทวารทั้ง ๖ นั้น
ก็คือ รูปารมณ์ อารมณ์คือรูป สัทธารมณ์ อารมณ์คือเสียง
คันธารมณ์ อารมณ์คือกลิ่น รสารมณ์ อารมณ์คือรส
โผฏฐัพพารมณ์ อารมณ์คือโผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้อง
และ ธรรมารมณ์ อารมณ์คือเรื่องราว
คู่กันกับทวารทั้ง ๖ นั้น


เป็นทวารทั้ง ๖ สำหรับอารมณ์เข้า เข้าสู่อะไร
ในตอนนี้มีคำเรียกอีกคำหนึ่งว่าจิต คือเข้าสู่จิต
คำว่าจิตลึกซึ้งกว่ามโน เพราะฉะนั้น
คำว่าจิตนี้จึงเป็นคำที่ลึกซึ้งไปกว่าคำว่ามโน
แต่ว่าในภาษาไทยนั้น มโนก็ว่ากันว่าใจ จิตก็ว่ากันว่าใจ
เพราะไม่รู้จะหาคำแปลอันไหนมาให้เหมาะ
ให้กะทัดรัดกว่าคำว่าใจ จึงใช้ปนเปกันไป
แต่ในภาษาธรรมะนั้นต่างกัน มโนนั้นเป็นอายตนะภาย
ในข้อที่ ๖ เป็นอินทรีย์ข้อที่ ๖
และเป็นทวารคือ เป็นประตูข้อที่ ๖ สำหรับให้อารมณ์เข้าไปสู่จิต
จิตจึงเป็นธรรมชาติอันหนึ่งที่มีอยู่ในทุกๆ คนนี้
ที่เป็นสิ่งสำคัญ ทางพระพุทธศาสนาได้แสดงจิตเป็นสิ่งสำคัญ
พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ฝึกจิต ให้รักษาจิต ให้อบรมจิต

และจิตนี้เองเป็นธรรมชาติที่วิมุติหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย

จิตนี้เองบรรลุวิสังขาร คือ นิพพาน
ดังที่ได้ตรัสเอาไว้ว่า วิสังขาระ กะตัง จิตตัง จิตบรรลุวิสังขาร
คือ นิพพาน ที่ปราศจากสังขารเครื่องปรุงแต่งทั้งหลาย
ตัณหานัง ชัยยะมัชชะกา บรรลุถึงความสิ้นไปของตัณหาทั้งหลาย
จิตพ้นจากอาสวะทั้งหลาย ดั่งนี้


และก็ได้ตรัสเรียกจิตว่า เป็นวิญญาณธาตุ ธาตุรู้ ตรัสว่าจิต
เป็นธรรมชาติปภัสสร คือผุดผ่อง และก็ตรัสว่า แต่ว่าจิตนี้เศร้าหมองไป
เพราะอุปกิเลสคือเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายที่จรมา
แต่ว่าจิตที่ทำจิตตภาวนา คืออบรมก็ย่อมวิมุติคือหลุดพ้นจากอุปกิเลส
คือเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายได้เพราะฉะนั้นธรรมชาติของจิตนี้
จึงเป็นธาตุรู้ที่เรียกว่าวิญญาณธาตุ และ เป็นธรรมชาติที่ปภัสสร คือผุดผ่อง

มโนคือใจนั้นเป็นทวารอันหนึ่ง สำหรับที่จะรับอารมณ์เข้าสู่จิต
หรือว่าที่จิตจะรับอารมณ์ทางทวารทั้ง ๖ นี้ อันมีมโนเป็นที่ ๖
และก็มีเรียกจิตว่าวิญญาณในที่บางแห่ง เช่นเรียกว่าวิญญาณธาตุคือธาตุรู้
และเรียกในที่อื่นอีกบางแห่ง แต่แม้เช่นนั้นคำว่าวิญญาณนั้น
ก็ยังมีความหมายถึงขันธ์ ๕ ข้อที่ ๕ คือวิญญาณขันธ์
ซึ่งขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั้น
ตรัสว่าเป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน ดังที่ตรัสแสดงไว้ในเทศนาครั้งที่ ๒
จึงเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง ต้องเกิดดับ เป็นสิ่งที่เป็นทุกข์
ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป แต่ว่าจิตนั้นมิใช่อยู่ในลักษณะดังกล่าวนั้น
เพราะฉะนั้น วิญญาณในขันธ์ ๕ จึงมิใช่จิต แต่ว่าจิตนั้นเป็นธรรมชาติที่มีอยู่คู่กับกาย
ซึ่งทุกคนมีอยู่คือจิตและกาย ดังที่มีกันอยู่นี้
และแม้จะเรียกว่าทวาร ๖ มโนซึ่งเป็นทวารข้อที่ ๖ นั้น
ก็ย่อมมีหน้าที่เป็นพิเศษ ควบคู่กับทวาร ๕ ข้อข้างต้น
เช่นเดียวกับที่อธิบายเมื่อเรียกว่าอินทรีย์


เพราะฉะนั้น หากจะกล่าวหรือแสดง
โดยเปรียบเทียบ ว่ากายของเราทุก ๆคนนี้เหมือนอย่างเป็นบ้าน ๆ หนึ่ง
ซึ่งมีประตูเข้าสองชั้นประตูเข้าชั้นนอกนั้นมี ๕ ประตู
ต้องเข้าประตู ๕ ประตูข้างนอกเข้ามาก่อน จึงถึงประตูชั้นในซึ่งมีเพียง ๑ ประตู
และเมื่อเข้าประตู ๑ ประตูชั้นในแล้ว จึงจะถึงจิต
ที่เป็นเจ้าของบ้านซึ่งอยู่ในห้องใน

ประตูนอก ๕ ประตูนั้นก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย
ประตูในหนึ่งประตูนั้นก็คือ มโน ใจ อารมณ์
ต้องผ่านประตูนอกทั้ง ๕ ต้องผ่านประตูในมโน คือใจ จึงถึงจิต
หรือว่าจิตที่จะออกรับอารมณ์ก็จะต้องออกทางประตูมโนคือใจ
จะออกเพียงแค่นั้นก็ได้หากจะออกรับอารมณ์ภายนอกทั้ง ๕
คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ในปัจจุบัน
ก็ต้องผ่านประตูอีก ๕ ประตูข้างนอกนั้นด้วย
ถ้าหากว่าไม่ผ่านประตู ๕ ประตูข้างนอกนั้น ผ่านประตูใจเพียงประตูเดียวก็ได้
คือ จิตที่คิดนึก ที่เรียกว่าจินตา คิด วิตก ตรึก วิจาร ตรอง
ถึงเรื่อง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ต่าง ๆ
ที่ประสบพบผ่านมาแล้วในอดีตดังที่กล่าวมาแล้ว
อีกอย่างหนึ่งท่านเรียกว่า นครสามี
"เจ้าเมือง" นี่เป็นพระบาลีที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกจิตว่า
"นครสามี คือ เจ้าเมือง" ซึ่งนั่งอยู่ในท่ามกลางของธาตุทั้ง ๔
ซึ่งมีประตูสำหรับที่จะเข้าสู่เจ้าเมืองดังกล่าว
และสตินั้นก็เป็นนายทวารบาล สำหรับที่จะตรวจตราดูผู้ที่จะเข้าเมือง
เมื่อเป็นศัตรูผู้มุ่งร้ายก็ไม่ให้เข้า เมื่อเป็นผู้มุ่งดีเป็นมิตรก็ให้เข้า


ฉันใดก็ดี สติที่รักษาทวารทั้ง ๖ อินทรีย์ทั้ง ๖ ดังที่กล่าวมานั้น
เมื่อประจวบอารมณ์หรือว่าเมื่ออายตนะภายในภายนอกประจวบกัน
ที่พูดกันตามปรกติก็ดี หรือจะแสดงว่าเมื่อประจวบอารมณ์
ที่ประสบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย
ทางมนะคือใจ โดยเป็นเรื่องรูปบ้าง เรื่องเสียงบ้าง
เรื่องกลิ่นบ้าง เรื่องรสบ้าง เรื่องโผฏฐัพพะบ้าง เรื่องของเรื่องเหล่านี้บ้าง
สติก็ระลึกรู้ว่าอะไรควรจะใส่เข้าไปในใจ
อะไรไม่ควรจะใส่เข้าไปในใจ อะไรที่ควรมนสิการ
เมื่อเป็นเรื่องที่ไม่ควรจะมนสิการ
ไม่ควรจะใส่ไว้ในใจ คือไม่ควรที่จะรับเป็นอารมณ์เข้าไปในใจ ก็ไม่รับ

ปล่อยให้ตกอยู่แค่ประตู หรือจะเรียกว่าแค่นอกประตูก็ได้
ให้ตกอยู่แค่ตา แค่หู แค่จมูก แค่ลิ้น แค่กาย แค่ใจ ไม่ให้เข้า ไม่ให้เข้าบ้าน
ไม่ให้เข้าเมือง แต่ว่าถ้าเป็นมิตรก็รับเข้า


เพราะฉะนั้น ในเรื่องของศัตรู
และเรื่องของมิตรนี้ ก็ได้มีถ้อยคำที่พระพุทธเจ้า
ได้ตรัสแสดงไว้เป็นปุคคลาธิษฐานอีกเหมือนกัน
คือ ถ้าเป็นศัตรูนั้น ตรัสเรียกว่ามาร
คือผู้มุ่งร้ายที่จะเข้าผ่านทวารเข้าสู่บ้านหรือเมืองของจิตนี้
โดยที่มารคือผู้มุ่งร้ายนี้ได้แสดงตนเป็นผู้มุ่งดี
นำเรื่อง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
และเรื่องของเรื่องเหล่านี้ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจเข้ามา
อันทำให้เผลอสติไปได้ เมื่อเผลอสติก็รับเข้า
มารก็เข้าไปสู่จิตกับอารมณ์เหล่านี้ ก่อกวนอยู่ในจิต
เป็นกิเลส กองกามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ
ดองจิตสันดาน โดยที่เข้าแล้วไม่ยอมออก ยึดอยู่
ดังกิเลสกองอาสวะทั้งหลายที่ยึดอยู่ในจิตของบุคคลทุก ๆ คน
ไม่ยอมออก ยึดอยู่และเมื่อยึดอยู่แล้วก็ยังส่งอำนาจออกไปทำให้เผลอสติ
เผลอปัญญา ย้อมจิตให้มัวเมา
เหมือนอย่างคนที่กินสุรา ดื่มสุรายาเมา

จิตก็เหมือนกัน เมื่อดื่มอาสวะเข้าไปก็เมา
เมาก็เผลอสติเผลอปัญญา จึงรับเอาสมุนของมารเข้าไปสู่จิตอยู่เนือง ๆ
ก่อให้บังเกิดอาสวะขึ้นในจิตเพิ่มเติม
ทำให้เกิดความคับแค้น ให้เกิดความเดือดร้อนอยู่ไม่รู้แล้ว ดังที่ปรากฏ

แต่แม้เช่นนั้นจิตนี้ก็ยังมัวเมา ยังมีความเพลิดเพลิน
อยู่ในสิ่งที่ก่อให้ความเดือดร้อน ความคับแค้นนั้น
เพราะฉะนั้น จึงต้องอาศัยที่ได้มีพระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นในโลก
ก็ได้ตรัสเป็นปุคคลาธิษฐาน ว่าได้ทรงส่งทูตคู่หนึ่ง
เพื่อจะผ่านบ้านผ่านเมืองเข้ามา
ทูตคู่นั้นก็คือว่า "สมถะและวิปัสสนา"


ในเมื่อสติไม่เผลอสติ ไม่เผลอปัญญา
ก็ย่อมจะรับเอาทูตคู่นี้เข้าสู่บ้านสู่เมือง
เมื่อทูตคู่นี้เข้าสู่บ้านสู่เมืองได้ จิตได้รับสมถะได้รับวิปัสสนา
ก็ย่อมจะหายเมาขึ้นโดยลำดับ ทำให้หูตาสว่าง ได้สติ ได้ปัญญายิ่งขึ้น ๆ

เพราะเหตุว่าต้อนรับมิตร คือ ทูตของพระพุทธเจ้า
อันได้แก่สมถะวิปัสสนาเข้าสู่บ้านสู่เมืองของตน

เพราะฉะนั้น ก็จะทำให้ได้อินทรียสังวร
คือความสำรวมอินทรีย์มากขึ้น ระมัดระวังมากขึ้น
มีสติมีปัญญามากขึ้น รู้จักว่าอะไรควรจะรับ
อะไรไม่ควรจะรับ ไม่ควรรับก็ไม่รับ
ให้ตกอยู่แค่ตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจเท่านั้น
เมื่อควรรับเป็นสมถะและวิปัสสนา ก็รับเข้าสู่จิตใจ
และก็เพิ่มพลังของความสำรวมอินทรีย์มากขึ้น
เพราะฉะนั้น อินทรียสังวรความสำรวมอินทรีย์จึงเป็นสิ่งสำคัญ
เป็นเหตุละอาสวะข้อหนึ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนเอาไว้



ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด
และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ต.ค. 2014, 23:32 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


สัพพาสวสังวรสูตร
(ตอนที่ ๓)
�����
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ
]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรม
ในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอ
ให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระ
ผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจ
ถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จะแสดงพระพุทธเจ้าสอนกรรมฐานตาม
สัพพาสังวรสูตร นำสติปัฏฐาน
ในพระสูตรนี้พระพุทธเจ้า
ได้ทรงแสดงวิธีละอาสวะคือกิเลสที่ดองจิตสันดาน
ด้วยวิธีปฏิบัติทำ ทัศนะ คือปัญญาที่รู้เห็น สังวระ
คือสำรวมอินทรีย์ทั้ง ๖ อันได้แก่ตาหูจมูกลิ้นกายใจ ซึ่ง
ได้แสดงอธิบายมาแล้ว จึงจักแสดงอธิบายวิธีต่อไป
ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนไว้ในพระสูตรนี้เป็นข้อที่ ๓
ก็คือละด้วยการเสพบริโภค คือเสพบริโภคปัจจัยทั้ง ๔
สำหรับภิกษุบริษัทก็คือจีวรผ้านุ่งห่ม
บิณฑบาตอาหารที่บริโภค เสนาสนะที่นอนที่นั่ง
และคิลานะปัจจยะเภสัชชะบริขาร คือยาปรุงสำหรับ
ผู้ป่วยไข้ ปัจจัยคือเครื่องอาศัยทั้ง ๔ นี้ เป็นสิ่งที่ชีวิต
ต้องอาศัยจึงดำรงอยู่ได้ เพราะฉะนั้น
จึงเรียกว่าปัจจัยแปลว่าเครื่องอาศัย
และปัจจัยสำหรับชีวิตต้องอาศัยดำรงอยู่ได้นี้ก็มี ๔
ดังที่กล่าวแล้ว สำหรับภิกษุบริษัท พระพุทธเจ้า
ได้ตรัสสอนให้พิจารณาเสพบริโภค ที่เรียกว่าทำไว้ในใจ
โดยแยบคาย พิจารณาโดยแยบคาย
พิจารณาปัจจัย ๔ โดยแยบคาย
และตรัสไว้ในพระสูตรนี้ว่า การพิจารณา
โดยแยบคาย เสพบริโภคปัจจัยทั้ง ๔
เป็นเหตุละอาสวะคือกิเลสที่ดองจิตสันดานได้ข้อหนึ่ง
และก็ได้ตรัสสอนวิธีพิจารณาไว้ว่า ที่เรียกว่าพิจารณา
โดยแยบคายนั้นคือพิจารณาอย่างไร
ในข้อจีวรคือผ้านุ่งห่ม ก็ตรัสสอน
ให้พิจารณาโดยแยบคาย
คือพิจารณาว่าเสพบริโภคจีวรคือผ้านุ่งห่ม
ก็เพื่อบำบัดหนาวเพื่อบำบัดร้อน เพื่อบำบัดสัมผัสคือ
ความกระทบถูกต้อง
แห่งเหลือบยุงลมแดดสัตว์เลื้อยคลานทั้งหลาย
เพื่อปกปิดอวัยวะที่ยั่วความอาย ดั่งนี้
เป็นวิธีพิจารณาที่ตรัสสอนไว้ให้พิจารณา
ในการเสพบริโภคจีวรคือผ้านุ่งห่ม และเมื่อพิจารณาดั่งนี้
ก็ชื่อว่าพิจารณาโดยแยบคาย
ในข้อบิณฑบาตคืออาหารสำหรับบริโภค
ก็ตรัสสอนให้พิจารณาว่า
บริโภคบิณฑบาตคืออาหารสำหรับบริโภค มิใช่เพื่อเล่น
มิใช่เพื่อมัวเมา มิใช่เพื่อสดใส มิใช่เพื่อเปล่งปลั่ง
บริโภคเพื่อความดำรงอยู่ได้ตั้งอยู่ได้แห่งกาย เพื่อ
ยังชีวิตให้เป็นไป เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์คือ
ความประพฤติอันประเสริฐ คือ
ความประพฤติปฏิบัติพุทธศาสนาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ด้วยคิดว่าเราจักระงับเวทนาเก่า จักไม่ยังเวทนาใหม่
ให้บังเกิดขึ้น ความไป ความที่ระงับความลำบาก ความที่
ไม่มีโทษ ความอยู่ผาสุกจักมีแก่เราด้วยเพราะอย่างนี้
เมื่อพิจารณาดั่งนี้ก็ชื่อว่าพิจารณาโดยแยบคาย
บริโภคบิณฑบาตคืออาหารที่บริโภค
ในการเสพบริโภคเสนาสนะที่
อยู่อาศัยที่นั่งที่นอน ก็ตรัสสอนให้พิจารณาว่า
เสพบริโภคเสนาสนะที่นั่งที่นอนที่อยู่อาศัย
ก็เพื่อกำจัดหนาวเพื่อกำจัดร้อน
เพื่อกำจัดสัมผัสแห่งเหลือบยุงลมแดดสัตว์เสือกคลาน
ทั้งหลาย เพื่อบันเทาอันตรายแต่ฤดูกาล เพื่อชอบใน
ความหลีกเร้น เมื่อพิจารณาดั่งนี้ก็ชื่อว่าพิจารณา
โดยแยบคาย เสพบริโภคเสนาสนะ คือที่นอนที่นั่งที่
อยู่อาศัย
ในการบริโภคยาปรุงสำหรับผู้ป่วยไข้
ก็ตรัสสอนให้พิจารณาว่า เสพบริโภคยาปรุงสำหรับ
ผู้ป่วยไข้ก็เพื่อกำจัดเวทนาทั้งหลาย ที่มีอาพาธต่าง ๆ
ความเจ็บป่วยต่าง ๆ เป็นมูล เพื่อที่จะได้หายป่วยไข้
เมื่อพิจารณาดั่งนี้ เสพบริโภคยาปรุงสำหรับผู้ป่วยไข้
ก็ชื่อว่าพิจารณาโดยแยบคายเสพบริโภคยาปรุงสำหรับ
ผู้ป่วยไข้
เมื่อมิได้พิจารณา
โดยแยบคายบริโภคปัจจัยทั้ง ๔ นี้
อาสวะคือกิเลสที่ดองจิตสันดานทั้งหลาย อัน
เป็นเครื่องทำความคับแค้น สร้างความทุกข์ร้อนเหล่า
ใดย่อมเกิดขึ้น แต่ว่าเมื่อพิจารณาโดยแยบคายอย่างนี้
แล้ว อาสวะเหล่านั้นก็ย่อมไม่มีไม่เกิดขึ้น ดั่งนี้
ข้อพึงปฏิบัติสำหรับผู้ปฏิบัติธรรม
การพิจารณาบริโภคเสพปัจจัยทั้ง ๔
โดยแยบคายตามที่ตรัสสอนไว้นี้ ก็เป็นข้อที่พึงปฏิบัติ
แม้สำหรับผู้มุ่งปฏิบัติธรรมทั้งหลายในฝ่ายคฤหัสถ์ด้วย
ก็เพราะว่าไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตคือผู้บวช ไม่ว่าจะ
เป็นคฤหัสถ์ ก็ต้องอาศัยปัจจัยทั้ง ๔ นี้ในการดำรงชีวิต
อยู่ ต้องเสพบริโภคปัจจัยทั้ง ๔ นี้ สำหรับบำรุงเลี้ยงชีวิต
อยู่เป็นประจำ และเมื่อมิได้พิจารณาโดยแยบคาย ก็ย่อม
เป็นเหตุให้บริโภคด้วยตัณหา คือ
ความดิ้นรนทะยานอยาก ติดอยู่
ในรสของการเสพบริโภค เช่นติดอยู่ในรสของอาหาร
หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่าติดอยู่ในสุขเวทนาที่ได้
จากการเสพบริโภคปัจจัยทั้ง ๔นี้ ซึ่งเมื่อมิ
ได้พิจารณาสุขเวทนานี้ ก็เป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา
และเมื่อตัณหาที่บังเกิดนี้ บังเกิดขึ้น ก็
จะนอนจมดองจิตสันดานต่อไป แม้ว่าตัณหาที่ปรากฏ
จะรู้สึกว่าบังเกิดขึ้น และหายไปเป็นคราวๆ
แต่ที่ว่าหายไปนั้น ก็คือความรู้สึกหายไป
ส่วนตะกอนของตัณหานั้นก็ยังตกจมนอนจมอยู่ในจิต
อันนี้แหละที่เรียกว่าอาสวะ
ตัณหาเกิดขึ้นจากปัจจัย ๔
และในข้อนี้หากทุก ๆ คนพิจารณาดู
โดยตรงก็ดี โดยเทียบเคียงก็ดี ก็ย่อมจะเห็นได้ ว่า
ความติดนี้ซึ่งเป็นตัวอาสวะนั้น บังเกิดขึ้นได้
จากการเสพบริโภคปัจจัยทั้ง ๔ นี้
ยกตัวอย่าง
อาหารที่ทุกคนบริโภคมาตั้งแต่เกิด ความติดในรส
ในประเภทของอาหารนั้นย่อมมีอยู่ และทำให้ต้องการที่
จะบริโภคอาหารเช่นนั้น มีรสเช่นนั้น เพราะฉะนั้น
คนทุกชาติทุกจำพวกจึงมีความติดอยู่ในอาหาร ที่ตน
ได้บริโภคมาตั้งแต่เกิดอยู่ด้วยกัน จึงทำให้คนไทยก็จะ
ต้องชอบบริโภคอาหารไทย คนประเทศนั้นประเทศนี้ก็จะ
ต้องชอบบริโภคอาหารของประเทศนั้นประเทศนี้ ซึ่ง
ความติดนี้ก็ค่อย ๆ มีขึ้นทีละน้อย จนถึงเป็น
ความติดที่นอนจมอยู่ แม้ในทางร่างกาย และตนเองก็
ไม่รู้สึกว่าความต้องการอาหารดังกล่าวนั้นตกอยู่ที่ไหน
ตั้งอยู่ที่ไหน แต่ว่าในเมื่อพบอาหารเข้าแล้วจึง
จะรู้สึกขึ้นเอง ถ้าเป็นอาหารที่ผิดจากที่ตน
ได้เคยบริโภคมาจนติดฝังอยู่ดังกล่าวแล้ว ถ้าไม่
ได้อาหารเช่นนั้นก็บริโภคไม่ได้ จะต้องได้อาหารอย่าง
นั้นจึงจะบริโภคได้
และแม้ความติดอย่าง
อื่นเกี่ยวแก่ยาเสพติดต่าง ๆ ก็เช่นเดียวกัน เช่นติดสุรา
ติดฝิ่น ทุกคนผู้ติดสุรา ติดฝิ่น นั้นทีแรกก็ไม่ได้ติด แต่
เพราะเหตุที่ได้เสพสุราได้สูบฝิ่นบ่อย ๆ ความติดก็
จะค่อย ๆบังเกิดขึ้น ฝังลึกลงไป ก็
เป็นไปทางร่างกายนี้เอง แล้วก็ทำให้ต้องการที่จะดื่มสุรา
ต้องการที่จะสูบฝิ่น
สิ่งที่ติดอยู่ดั่งนี้แหละ ทางกายก็มี
ทางใจก็มี ซึ่งทางใจนั้นเรียกว่าอาสวะ หรือเรียกว่าอนุสัย
อาสวะก็แปลดองจิตสันดาน อนุสัยก็แปลว่านอนจม
ก็คือนอนจมอยู่ในจิตสันดาน คือติดอยู่นั่นเอง ติดอยู่
ในจิตใจ เหมือนอย่างที่ติดยาเสพติดให้โทษดังที่กล่าวมา
แล้วนั้นแหละทางร่างกาย สิ่งที่ติดอยู่นี้แหละคือตัวอาสวะ
หรือตัวอนุสัย ติดฝิ่นติดสุราก็เป็นอาสวะอนุสัย ซึ่ง
เป็นไปทางกาย สิ่งอันใดที่ได้เสพคุ้นคือได้ส้องเสพบ่อยๆ
ได้ทำบ่อยๆ ก็ย่อมให้บังเกิดภาวะดังกล่าวมานี้ และทุก ๆ
คนก็ย่อมจะมีภาวะดังกล่าวอยู่นี้แม้ทางร่างกาย ซึ่งน่าจะ
เป็นร่างกายโดยเฉพาะ เช่นว่ามือขวาของทุก ๆ คน หัด
ให้เขียนหนังสือมาตั้งแต่เล็ก ๆ ให้หยิบจับทำอะไร
ทำงานด้วยมือขวาเป็นส่วนใหญ่มาตั้งแต่เล็ก ๆ จึง
ใช้มือขวาเขียนหนังสือได้สะดวก ทำงานได้สะดวก
แต่มือขวาซ้ายเขียนหนังสือไม่
ได้สะดวกเหมือนอย่างมือขวา
อาสวะ บารมี
นี่แปลว่าถ้าเทียบอย่างอาสวะอนุสัยแล้ว
ก็แปลว่ามือขวานั้นมีอาสวะอนุสัยในทางเขียนหนังสือมา
อันเกิดจากเสวนะคือการส้องเสพ หรือการเสพคุ้นนี่แหละ
แต่ว่าในทางพุทธศาสนานั้นแสดงทางจิตใจ
สิ่งที่สั่งสมเก็บอยู่ในจิตใจ ถ้าเป็นฝ่ายชั่วก็เรียกว่าอาสวะ
เรียกว่าอนุสัย จะเรียกว่าเป็นการเก็บชั่วก็ได้ แต่ถ้าเป็น
ส่วนดีก็เก็บไว้เหมือนกัน สั่งสมไว้เหมือนกัน แต่
ไม่เรียกว่าอาสวะอนุสัย เรียกว่าบารมี ก็คือเก็บดี
เพราะฉะนั้น เพื่อที่จะเข้าใจง่าย
และจำง่าย จะแปล อาสวะ ว่า เก็บชั่วก็ได้ จะแปล บารมี
ว่าเก็บดีก็ได้ ซึ่งเก็บไว้ได้จริง ๆ ดังตัวอย่างที่กล่าวมานี้
และแม้แต่ทางร่างกายก็ยังเก็บเอาไว้ได้
เหมือนอย่างมือซ้ายมือขวาที่ยกตัวอย่างมานั้น แม้อย่าง
อื่นก็เหมือนกัน ทั้งทางร่างกายทั้งทางจิตใจ
สิ่งอะไรที่มีการเสพคือการทำ การส้องเสพ การปฏิบัติ
การกระทำอยู่บ่อย ๆ แล้ว ทั้งทางกายทั้งทางใจย่อมทำ
ให้ติดได้ทั้งนั้น ทำให้เกิดความคุ้นเคยในสิ่งที่เสพบ่อย ๆ
ที่ทำบ่อย ๆนั้น เพราะฉะนั้นการส้องเสพนี่จึง
เป็นเรื่องสำคัญ
ตามที่กล่าวมานี้ก็
เป็นการแสดงขยายออกไป ว่ามีสัจจะคือความจริง
อยู่เช่นนี้ ว่า ปฏิเสวนะ การส้องเสพ หรือเสวนะ
การส้องเสพ นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก และ
โดยเฉพาะสำหรับปัจจัย ๔ นี้เป็นสิ่งที่ทุก ๆ คน
ต้องส้องเสพกันอยู่ ต้องบริโภคกันอยู่เป็นประจำทุกวัน
ฉะนั้นหากไม่พิจารณาโดยแยบคายแล้ว การส้องเสพก็
จะทำให้เกิดตัณหา อันสืบเนื่องมาจากความสุขนี่แหละ
ที่ได้จากการส้องเสพ คือทำให้ติด
ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าเพราะเวทนา
เป็นปัจจัยเกิดตัณหา แล้วก็ลงไปเป็นอาสวะติดอยู่
ในจิตสันดาน โดยลำดับ เพราะฉะนั้น เมื่อไม่พิจารณา
ในการส้องเสพ ซึ่งส้องเสพอยู่เป็นประจำนี้โดยแยบคาย
แล้ว การส้องเสพปัจจัยทั้ง ๔ นี้ จึงเป็นปัจจัย
ให้เกิดตัณหา ซึ่งเป็นปัจจัยให้ไปเก็บชั่ว
เป็นอาสวะดองจิตสันดาน อันเนื่องมาจากปัจจัยทั้ง ๔
นี้ต่อไป
การบริโภคนั้นเพื่ออะไร
เพราะฉะนั้นจึงได้ตรัสสอนให้พิจารณา
โดยแยบคาย โดยความก็คือว่า เพื่อที่จะไม่
ให้การบริโภคปัจจัยทั้ง ๔ นี้
ก่อตัณหาก่ออาสวะคือเก็บชั่วนี้ให้บังเกิดขึ้น และ
ในการพิจารณานี้ ก็ได้ตรัสสอนวิธีพิจารณาไว้โดย
ความก็คือว่า การที่บริโภคนั้น อันที่จริงไม่
ใช่บริโภคเพื่ออะไร แต่ว่าบริโภคเพื่ออะไร เพื่อให้รู้ตาม
ความเป็นจริง เมื่อเป็นดั่งนี้ก็จะเป็นประโยชน์มาก จะทำ
ให้บุคคลได้มองเห็นว่าอะไร
เป็นประโยชน์ของการบริโภคปัจจัยทั้ง ๔ และจะทำ
ให้มุ่งประโยชน์ที่บริโภคเป็นสำคัญ และนอกจากว่า
จะบริโภคเพื่อดำรงชีวิตอยู่แล้ว ยังสืบไปถึงว่าดำรงชีวิต
อยู่เพื่ออะไรอีกด้วย คือบริโภคเพื่อดำรงชีวิตอยู่
และดำรงชีวิตอยู่เพื่ออะไร
ดังที่ตรัสสอนว่าเพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์
คือเพื่อที่จะ
ใช้ชีวิตนี้ประพฤติพุทธศาสนาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
อันเป็นความประพฤติที่ประเสริฐ คือเป็น
ความประพฤติที่ดี เป็นความประพฤติที่
เป็นประโยชน์ทางกายทางวาจาทางใจ จึงทำให้มุ่งที่
จะบริโภคในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ร่างกาย
แก่การดำรงชีวิต และดำรงชีวิตอยู่ก็เพื่อที่
จะบำเพ็ญประโยชน์ เพื่อจะประกอบคุณงามความดีต่าง
ๆ เมื่อเป็นดั่งนี้แล้ว สติและปัญญาที่มีความระลึกได้
และมีความรู้ถึงประโยชน์ดั่งนี้ ก็จะทำให้เป็นการป้อง
กันตัณหา เป็นการป้องกันอาสวะมิให้เพิ่มเติมต่อไป
และทำให้อาสวะเก่านั้นถอยกำลังลงด้วย เพราะฉะนั้น
การที่พิจารณาโดยแยบคายบริโภค จึง
เป็นเหตุละอาสวะกิเลสที่ดองสันดานได้ข้อหนึ่ง และก็
เป็นข้อสำคัญ ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำ
ความสงบสืบต่อไป


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ต.ค. 2014, 23:53 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


สัพพาสวสังวรสูตร
(ตอนที่ ๔)
�����
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ
]
บัดนี้ จักแสดงธรรมกถาในการอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์
เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิ
ในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จะแสดงพระพุทธเจ้าทรงสอนกรรมฐาน
ตามสัพพาสังวรสูตร นำสติปัฏฐาน
ตรัสสอนวิธีละอาสวะกิเลสดองสันดาน ได้แสดงมา
แล้วคือวิธีละด้วยทัศนะปัญญาที่รู้เห็น ด้วยวิธีสังวระ
สังวร คือสำรวมอินทรีย์ และด้วยวิธีเสพบริโภคปัจจัย
ทั้ง ๔ โดยพิจารณาโดยแยบคายเสพบริโภค
จะแสดงวิธีที่ตรัสสอนไว้ต่อไปเป็นข้อที่
๔ ตรัสสอนให้ละอาสวะด้วยความยับยั้งไว้อยู่
หรือรับเอาไว้อยู่ หมายถึงใช้ขันติคือความอดทน หรือ
ความอดกลั้น ต่อหนาวร้อน หิวระหาย
สัมผัสเหลือบยุงลมแดด สัตว์เสือกคลานทั้งหลาย
ต่อถ้อยคำที่กล่าวมาไม่ดี ที่เสียดแทงกระทบกระทั่ง
ต่อเวทนาทั้งหลายที่เกิดขึ้นในตน อัน
เป็นทุกขเวทนาที่แรงกล้าเจ็บปวดรวดร้าว ไม่
เป็นที่พอใจต้องการ อย่างหนักถึงขนาดที่จะนำชีวิตไป
ได้ เมื่อไม่ยับยั้งไว้อยู่ ไม่รับเอาไว้อยู่ คือ
ไม่มีขันติอดทนอดกลั้น อาสวะทั้งหลายเหล่าใดที่ทำ
ให้คับแค้น ทำให้เดือดร้อนย่อมเกิดมีขึ้น
แต่เมื่อยับยั้งเอาไว้อยู่ รับเอาไว้ได้ รับไว้อยู่
คือมีขันติอดทนอดกลั้นได้ อาสวะเหล่านั้นก็ย่อมไม่มี
ไม่เกิดขึ้น
อธิวาสนะขันติ ๓
ในพระพุทธโอวาทนี้ตรัสสอนให้
ใช้วิธีที่เรียกว่า อธิวาสนะ ที่แปลว่ายับยั้งเอาไว้อยู่
หรือแปลว่ารับไว้ได้ อัน
เป็นลักษณะของขันติอย่างหนึ่ง เรียกรวมกันก็ได้ว่า
อธิวาสนะขันติ แปลว่าขันติคืออธิวาสนะ ยับยั้งเอาไว้
อยู่ รับไว้ได้
ขันติที่มีลักษณะดังกล่าวนี้แปลกันว่า
อดทน หรือว่าอดกลั้น และก็มีสอนกันไว้จำแนกเป็น ๓
คือ
อดทนต่อความตรากตรำ
อดทนต่อความเจ็บใจ
อดทนต่อความลำบาก
อดทนต่อความตรากตรำ นั้นก็ตรง
กับที่ตรัสเอาไว้ ว่ารับไว้อยู่ ซึ่งหนาวร้อนหิวระหาย
สัมผัสเหลือบยุงลมแดด สัตว์เสือกคลานทั้งหลาย
อดทนต่อความเจ็บใจ ก็ตรง
กับที่ตรัสสอนว่ารับไว้ได้ ซึ่งถ้อยคำที่กล่าวไม่ดี
ที่เสียดแทงจาบจ้วงล่วงเกิน
อดทนต่อความลำบาก ก็ตรง
กับที่ตรัสสอนไว้ว่ารับไว้ได้ ซึ่งเวทนา
ทั้งหลายที่เกิดขึ้นในตน ที่เป็นทุกขเวทนา
อันแรงเจ็บปวดรวดร้าวดังกล่าวแล้ว
ทำไมจึงว่ารับไว้อยู่ หรือยับยั้งเอาไว้อยู่
รับเอาไว้ได้ ก็เพราะว่า
ความตรากตรำก็จำที่จะต้องพบ คือจะต้องพบ
กับหนาวร้อนหิวระหายเป็นต้น สิ่งเหล่านี้มีอยู่ จะห้ามมิ
ให้หนาว มิให้ร้อน มิให้หิว มิให้ระหาย มิได้
เป็นสิ่งที่มีอยู่ แม้ว่า
จะมีปัจจัยเครื่องอาศัยสำหรับบำบัด คือปัจจัย ๔
ดังกล่าวมาแล้วในข้อ ๓ ก็ตาม แม้เช่นนั้น ก็ยังจะ
ต้องพบกับความตรากตรำเหล่านี้ เพราะว่าจะ
ต้องประกอบการงาน จะต้องอยู่ในที่ซึ่งต้องมีหนาว
มีร้อน อันเกิดจากดินฟ้าอากาศฤดูกาล ทั้งยังอาจพบ
กับหนาวร้อนซึ่งบังเกิดขึ้นจากการกระทำของบุคคล
ด้วยมุ่งดีก็ตามมุ่งร้ายก็ตาม ทั้งยังจะต้องมี
ความหิวระหาย แม้จะบริโภคอาหารสำหรับบำบัด
ก็บริโภคตามกาลเวลาที่พึงบริโภค เมื่อยังไม่
ถึงกาลเวลาที่บริโภค ความหิวระหายก็เกิดขึ้นได้
หรืออาจมีความขัดข้องด้วยอาหาร ด้วยน้ำดื่ม
ในกาลบางครั้งบางคราว
หรือแม้มาปฏิบัติธรรมะรักษาศีลที่เว้นวิกาลโภชนะ ก็
ต้องอดทนต่อหิวระหายในเวลาวิกาล ที่งดเว้น
ไม่บริโภค ทั้งเมื่อมาปฏิบัติธรรมะก็จะต้องงดเว้น
จากเครื่องบำรุงความสุขต่าง ๆ จึงต้องพบกับข้อที่จะ
ต้องตรากตรำหลายอย่างหลายประการ เหล่านี้เป็นต้น
เพราะฉะนั้น หากไม่มีความอดทน
หรืออดกลั้น ที่จะรับภาวะหนาวร้อนเป็นต้นได้ อาสวะ
ทั้งหลายก็ย่อมจะบังเกิดขึ้น เป็นความเดือดร้อนคับแ
ค้นต่าง ๆ แต่ถ้าสามารถรับไว้ได้ คือรับต่อภาวะเหล่า
นั้นได้ อาสวะดังกล่าวก็ไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น
อาการที่รับไว้ได้นั้นจึงเรียกว่าขันติอดทนอดกลั้น
อันหมายความว่าต้องทน ต้องอด ต้องกลั้น
ไม่พ่ายแพ้ต่อภาวะเหล่านั้น
ก็ได้มีคำที่พูดกันว่ามีน้ำอดน้ำทน ก็คือมี
ความอดทนนั้นเอง ต้องอดต้องกลั้น ต้องอดต้องทน
อันคำว่าอดนั้นก็เช่นเกิดหิว แต่เมื่อไม่ถึงเวลาที่
จะบริโภคก็ต้องอด คือว่ายอมอด และก็ต้องทนต่อ
ความทุกข์ที่เกิดจากความหิว อดกลั้นก็เช่นเดียวกัน
ต้องกลั้นเอาความหิวเอาไว้ คือยอมอดนั้นเอง
เพราะฉะนั้นจึงเป็นขันติ และเมื่อมีขันติดั่งนี้
อดทนต่อความเจ็บใจก็เช่นเดียวกัน ก็จะ
ต้องมีความอดทนต่อถ้อยคำที่กล่าวมาไม่ดี
ที่ทิ่มแทงเสียดแทงจาบจ้วงล่วงเกิน อันเป็นชนวน
ให้เกิดโทสะ ถ้าเกิดโทสะขึ้นมาก็แปลว่าอดทนอดกลั้น
ไว้ไม่ได้ รับไว้ไม่ได้ นั่นแหละก็คืออาสวะก็เกิดขึ้นมา
และถ้าหากว่ารับเอาไว้ได้ อันหมายความว่า
ไม่พ่ายแพ้ต่อถ้อยคำเช่นนั้น
แม้ว่าจะบังเกิดปฏิฆะคือ
ความกระทบกระทั่งใจ หงุดหงิด หรือความเครียด
ความขึ้งเคียดขึ้นมาในใจ ก็ต้องอดกลั้นเอาไว้
อดทนเอาไว้ ระบายให้หายไปให้สงบไป อัน
เป็นกิจที่บุคคลผู้ปฏิบัติธรรมะพึงทำได้
และก็มีโอกาสที่จะต้องประสบทุกขเวทนาเกิดในภาย
ใน เช่นเกิดจากอาพาธป่วยไข้
หรือแม้ว่าทุกขเวทนาที่บังเกิดขึ้นเพราะดินฟ้าอากาศ
ที่หนาวร้อนเป็นต้น อันเกินไป ซึ่งเป็นเครื่องเบียดเบียน
ไม่ใช่เป็นเครื่องทะนุบำรุง แต่เป็นเครื่องเบียดเบียน ก็
เป็นทุกข์เวทนาขึ้น ถ้าไม่มีความอดทนอดกลั้น ก็จะทำ
ให้เกิดความเดือดร้อน กระสับกระส่ายหงุดหงิด ก็
เป็นอาสวะขึ้นมา แต่ถ้าหากว่ามี
ความอดทนอดกลั้นรับเอาไว้ได้ยับยั้งเอาไว้ได้
อาการที่หงุดหงิดกระสับกระส่ายต่างๆก็ไม่บังเกิดขึ้น
เพราะฉะนั้น ความฝึกหัดให้เป็นผู้
สามารถรับเอาไว้ได้ ยับยั้งเอาไว้ได้ หรือรับเอาไว้อยู่
ยับยั้งเอาไว้อยู่ รับเอาไว้อยู่ อันเรียกว่าอดทน
หรืออดกลั้นนี้ เป็นหน้าที่ของผู้ปฏิบัติธรรมพึงปฏิบัติได้
แต่ว่าเรื่องของเหตุปัจจัยที่จะทำ
ให้บังเกิดความตรากตรำ หรืออาจจะให้เจ็บใจ
ให้ลำบากทั้งปวงดังกล่าวมา เป็นสิ่งที่มีอยู่เป็นไปอยู่
เช่นว่าหนาวร้อนเป็นต้นก็เป็นสิ่งที่มีอยู่เป็นไปอยู่
ถ้อยคำที่กล่าวมาไม่ดี ที่จาบจ้วงล่วงเกิน ก็
เป็นเรื่องของคนอื่นเขา ซึ่งเขาอาจจะพูดเมื่อไหร่ก็ได้
เขาอาจจะว่ามาเมื่อไหร่ก็ได้ ทุกขเวทนาต่าง ๆ อันเกิด
จากอาพาธป่วยไข้เป็นต้น หรือแม้เกิด
จากเครื่องเบียดเบียนต่าง ๆ ก็เป็นสิ่งที่มีอยู่เป็นไปอยู่
จะห้ามไม่ให้มีนั้นไม่ได้ บางทีก็เป็นเรื่องของธรรมชาติ
บางทีก็เป็นเรื่องของคนอื่น บางทีก็
เป็นเรื่องของธรรมดา
เพราะฉะนั้น ก็เป็นสิ่งที่จำต้องรับ
เมื่อเกิดมาในโลกนี้ก็จำ
ต้องรับสภาพของดินฟ้าอากาศหนาวร้อนเป็นต้น เมื่อ
อยู่ร่วมกันเป็นหมู่ก็จำต้องรับถ้อยคำที่คนโน้นคนนี้พูด
ดีบ้างไม่ดีบ้าง และเมื่อมีชีวิตสังขารก็จะ
ต้องมีทุกขเวทนาที่เกิดจากอาพาธต่าง ๆ เป็นต้น
แปลว่าจะต้องพบกับภาวะเหล่านี้ จะ
ต้องรับภาวะเหล่านี้ โดยหลีกเลี่ยงมิได้
เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ต้องหัดว่า ต้องรู้จักรับ
คือรับยับยั้งเอาไว้ รับไว้อยู่ รับไว้ได้ นี่แหละคือขันติ
ที่ได้แก่ความอดทนหรือความอดกลั้นดังกล่าวนั้น
ซึ่งทุกคนจำเป็นจะต้องมี ถ้าหากว่าขาดขันติข้อนี้แล้ว
อาสวะทั้งหลายก็บังเกิดขึ้น ทำให้เกิดความคับแค้น ทำ
ให้เกิดความเดือดร้อนมาก ดั่งคนที่อ่อนแอ หนักไม่เอา
เบาไม่สู้ หนาวไม่สู้ ร้อนไม่สู้ เหล่านี้เป็นต้น ก็ไม่
สามารถจะประกอบการงานอะไรให้สำเร็จได้
หรือคนที่ได้รับถ้อยคำอะไรเข้านิดหน่อยก็โกรธ
ใจน้อย ไม่มีความอดทน เรื่องเล็กก็เป็นเรื่องใหญ่
เรื่องที่ไม่ควรจะเป็นเรื่องก็เป็นเรื่อง
ความทะเลาะวิวาทจนถึงทำร้ายซึ่งกันและกัน
บังเกิดขึ้นเพราะเหตุนี้เป็นอันมาก ขาด
ความอดทนเพียงนิดเดียวเท่านั้นในเบื้องต้น ก็ไปกัน
ใหญ่
ทุกขเวทนาทั้งหลายที่เกิดจากอาพาธ
เป็นต้นก็เช่นเดียวกัน เจ็บนิดก็ไม่ได้ เจ็บหน่อยก็ไม่ได้
ขาดความอดทน ไข้เล็กก็เลยเป็นไข้ใหญ่
แถมใจเสาะอีกด้วยแล้ว ก็เลยเพิ่มไข้ที่มีอยู่แม้
ไม่มากนัก ให้มากขึ้นไปอีกได้ แต่ถ้าหากว่าฝึกหัดให้
สามารถรับเอาไว้อยู่ รับเอาไว้ได้ ยับยั้งเอาไว้อยู่
ยับยั้งเอาไว้ได้แล้ว จะสามารถที่
จะเอาชนะต่อเหตุปัจจัยแห่งความทุกข์ทั้งปวงเหล่านี้ได้
และความอดทนอดกลั้นนั้น ก็เป็นสิ่งที่ฝึกหัดปฏิบัติได้
ทั้งทางร่างกาย และทั้งทางจิตใจ ร่างกาย
และจิตใจนี้จำเป็นที่จะต้องสร้างความอดทน
ให้บังเกิดขึ้น ให้ร่างกายมีความแข็งแกร่ง มี
ความทนทาน ต่อภาวะดังกล่าวทั้งหลาย ดัง
จะเรียกว่าภาวะแวดล้อมดังที่กล่าวกัน
จิตใจก็เหมือนกัน ก็จำเป็นที่จะ
ต้องฝึกหัด ให้มีความอดทนอดกลั้น ให้มี
ความแข็งแกร่ง ต่อภาวะแวดล้อมทั้งหลายดังกล่าว
และเมื่อได้ฝึกหัดปฏิบัติให้มี
ความอดทนอดกลั้นดังกล่าวนี้ ก็ทำให้เกิด
ความแข็งแกร่งทั้งทางกายทั้งทางใจ เมื่อเกิด
ความแข็งแกร่งขึ้นได้เพียงใด เมื่อกระทบ
กับภาวะแวดล้อมทั้งหลาย ก็จะทำให้สามารถที่
จะต้านทางได้มากเท่านั้น ร่างกายที่ต้านทานได้มาก ก็
จะทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บได้ยาก จิตใจที่ต้านทาน
ได้มาก ก็จะทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บทางจิตใจ
ก็คืออาสวะทั้งหลายนี่แหละได้ ได้ยากขึ้น
ก็เหมือนอย่างสิ่งทั้งหลายที่ดำรงอยู่ได้ ก็จะต้องมี
ความแข็งแกร่ง มีความมั่นคงอยู่ในตัว
ต้นไม้ที่ยืนต้นอยู่ได้ ก็ต้องมี
ความแข็งแกร่ง ต้องมีความมั่นคงอยู่ในต้นไม้นั้น
เมื่อลมพัดมาต้นไม้ที่มีความแข็งแกร่ง
ย่อมทานกำลังของลมไหว ไม่หักโค่น แต่ว่าต้นไม้ที่มี
ความแข็งแกร่งน้อย ถูกลมพายุพัดมาก็หักโค่นได้ง่าย
แต่ถ้ามีความแข็งแกร่งมากก็หักโค่นยาก ถ้า
เป็นพายุธรรมดาก็ไม่หักไม่โค่น ดำรงอยู่ได้
บุคคลเราก็เหมือนกัน กาย
และจิตใจดำรงอยู่ได้ก็ด้วยอำนาจของความแข็งแกร่ง
อันเกิดจากความอดทนอดกลั้นเหล่านี้เอง
ต่อภาวะแวดล้อมทั้งหลาย และก็เหมือนอย่างต้นไม้
ต้องพบกับลมที่พัดมาอยู่เป็นต้น เป็นประจำ ร่างกาย
และจิตใจของบุคคลเราก็ต้องพบกับเครื่องแวดล้อม ที่
เป็นเครื่องเบียดเบียนทั้งหลาย อยู่ทุกวันเหมือนกัน
ร่างกายดำรงอยู่ไม่เจ็บป่วย ไม่ใช่ว่า
ไม่มีปัจจัยเครื่องเบียดเบียน แต่มีอยู่โดยรอบ แต่
เพราะมีความแข็งแกร่งจึงอดทนอยู่ได้ ไม่ล้มเจ็บป่วย
จิตใจที่ดำรงอยู่ได้ก็เพราะมีความอดทนอดกลั้น เป็น
ความแข็งแกร่งที่ไม่ล้มไป ตามเครื่องแวดล้อม ก็คือ
ไม่เกิดอาสวะทั้งหลาย ซึ่งเป็นเครื่องทำให้เดือดร้อน
ทุกข์ร้อนต่าง ๆ นั้นเอง
เพราะฉะนั้น ขันตินี้เอง คือ
ความอดทนอดกลั้นต่อภาวะแวดล้อมทั้งหลาย ที่ทุกคน
ต้องรับ แต่ว่ารับไว้ได้รับไว้อยู่ ด้วย
ความอดทนอดกลั้น และในการปฏิบัติทำขันติคือ
ความอดทนอดกลั้นนี้ ก็
ด้วยการหัดปฏิบัติอดทนอดกลั้น
ในเหตุการณ์แวดล้อมธรรมดา ที่ทุกคน
สามารถอดทนอดกลั้นได้ ซึ่งก็ไม่ใช่หมาย
ความว่าอดทนต่อหนาวร้อนนั้น จะไม่ต้อง
ใช้ปัจจัยเครื่องอาศัย คือผ้านุ่งห่ม หรือผ้าห่ม
สำหรับป้องกัน ตากแดดกรำฝนกันอยู่ตลอดวัน โดย
ไม่ต้องมีการหลบ ไม่ใช่หมายความอย่างนั้น จำเป็นจะ
ต้องใช้ปัจจัยเครื่องอาศัย ที่ตรัสสอนไว้ให้พิจารณา
ในข้อที่ ๓ นั้น ต้องใช้ เป็นแต่เพียงว่าต้องมี
ความอดทนเข้าช่วยด้วย ดั่งที่ได้กล่าวมาแล้ว
ว่าบริโภคก็บริโภคตามเวลา แต่ว่าเมื่อไม่ใช่เวลา
หิวขึ้นมาก็ต้องอดทนเอาบ้าง
หรือว่าขาดตกบกพร่องไป ก็
ต้องอดทนเอาบ้างตามที่ควรจะอดทนได้ หนาวร้อนก็
ต้องใช้ผ้าหรือเครื่องป้องกันต่าง ๆ เป็นต้น แต่ก็
ต้องอดทนเอาบ้าง เท่าที่พึงจะอดทนได้ หมาย
ความอย่างนั้น
แต่ว่าถ้อยคำล่วงเกินนั้น ไม่ใช่สิ่งที่จะ
ใช้ผ้ามาป้องกัน แต่ว่าต้องใช้ขันติในใจนี้เองป้องกัน
คือมีความอดทนอดกลั้น และใช้โสรัจจะที่แปลกันว่า
ความเสงี่ยม คือทำใจให้สบาย หมาย
ความว่าระบายออกไปจากใจ ให้ใจสบาย ไม่ใช่ขังเอา
ไว้ แต่ว่าความเจ็บใจนี้ เมื่อเขาว่าก็อาจจะมี แต่ว่า
ถ้าระบายออกไปได้ ไม่เก็บเอาไว้ในใจ หาย
ความเจ็บใจไปใจก็สบาย
ความที่มีใจสบายนี่แหละคือโสรัจจะ
ต้องหัดปฏิบัติรู้จักระบายด้วย ถ้าหากว่าระบายไม่ได้
เก็บความเจ็บใจเอาไว้ ความเจ็บใจอันนี้ก็มากขึ้น ๆ ก็
ต้องระเบิด ก็แปลว่าอดทนไม่ได้ เพราะฉะนั้น
ต้องรู้จักระบาย ระบายความเจ็บใจเป็นต้นนี้
ให้น้อยลงไป ๆ หายไป จนใจสบาย
ต้องใช้ปัญญาใช้สติพิจารณาต่าง ๆ ว่า
เป็นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ล้วนแต่เป็นโทษ ไม่เก็บเอา
ไว้ นี่แหละคือโสรัจจะ คือมีขันติแล้วก็ต้องมีโสรัจจะ
คือไม่เก็บเอาไว้ในใจ ระบายออกไปให้หาย
ให้ใจสบาย ใจสบายก็คือเป็นโสรัจจะ
เพราะฉะนั้น ขันติข้อนี้จึงเป็นข้อสำคัญ
ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนเอาไว้ ซึ่งมีอธิวาสนะ
ความที่ยับยั้งไว้อยู่ รับไว้อยู่ หรือว่ายับยั้งไว้ได้ รับไว้
ได้ ต่อภาวะแวดล้อมทั้งหลาย นี่แหละคือตัวขันติ
และเมื่อหัดบ่อย ๆ จนเป็นความแข็งแกร่งขึ้นได้แล้ว ก็
จะเกิดความทนทาน เป็นขันติอีกอย่างหนึ่งที่แปลว่า
ความทนทาน โดยไม่ต้องทำความอดกลั้น
หรืออดทนแต่อย่างไร เหมือนอย่าง
ผู้ที่ปฏิบัติหัดรับคำว่ากล่าวล่วงเกินติฉินนินทา รับไว้ได้
รับไว้อยู่ ยับยั้งเอาไว้ได้ ยับยั้งเอาไว้อยู่ บ่อย ๆ จน
ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บใจขึ้นแม้แต่น้อย คือฟัง
ได้อย่างสบาย ๆ เรียกว่าฟังได้อย่างฟังลมพัดใบไม้
เป็นต้น คือฟังเสียงคนได้อย่างฟังเสียงลม ฟัง
ได้อย่างสบาย ๆ ไม่ก่อให้เกิดกิเลสอันใดขึ้นมา ใจมี
ความทนทาน ดั่งนี้ไม่เกิดความลำบาก ในการที่จะ
ต้องอดทนอดกลั้นอะไร จึงเป็นขันติอีกอย่างหนึ่งซึ่ง
เป็นขันติสมบูรณ์ เรียกว่า ตีติกขาขันติ
ขันติที่มีลักษณะเป็น ตีติกขาคือ
ความทนทาน เหมือนอย่างภูเขาหินล้วน ลมพัดมาก็
ไม่ไหว คือไม่มีหวั่นไหวอยู่ในใจ แต่ว่าต้นไม้
นั้นลมพัดมายังไหว แต่ถ้ามีความทนทานก็ไม่หัก
ไม่โค่น จิตใจสามัญก็เหมือนกันในขณะที่ปฏิบัติขันติ
นั้น ลมปากพัดมาก็ยังไหว แต่หากว่าถ้ามี
ความอดทนอดกลั้น ก็ดำรงอยู่ได้ไม่หัก
ไม่โค่นไปตามลมปาก แต่ว่ายังไหว ใจที่ยังไหว
อยู่นี้แหละ ที่ต้องใช้ขันติคือความอดทนอดกลั้นที่
เป็นอธิวาสนะ คือรับเอาไว้ได้รับเอาไว้อยู่ คือยัง
ต้องรับอยู่ แต่ว่ารับมาแล้วก็รับเอาไว้ได้รับเอาไว้อยู่
ไม่หักไม่โค่น เหมือนอย่างต้นไม้ที่ลมพัดมาก็ไหว
ก็รับเอาไว้ได้รับเอาไว้อยู่ ต้นไม้ไม่หักไม่โค่น
ขันติชนิดนี้มีอธิวาสนะเป็นลักษณะ แต่ขันติที่มี
ความแข็งแกร่งขึ้นจริง ๆแล้วเหมือนภูเขาหิน ลมพัดมา
ไม่ไหว จิตใจที่มีขันติที่สมบูรณ์ก็เหมือนกัน ลมปาก
เป็นต้นพัดมาก็ไม่ไหว นี่มีตีติกขาคือความทนทาน
เป็นลักษณะ อันเป็นความแข็งแกร่งอย่างสมบูรณ์ ซึ่ง
จะบังเกิดขึ้นได้จากการฝึกหัดปฏิบัติไปโดยลำดับ
พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสรรเสริญขันติไว้เป็นอันมาก
เช่นว่าขันติเป็นกำลังของผู้บำเพ็ญพรต
หรือของนักพรตเป็นต้น ขันติพร้อมทั้งโสรัจจะ
เป็นธรรมะที่ทำให้งาม
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำ
ความสงบสืบต่อไป


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ต.ค. 2014, 00:10 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


สัพพาสวสังวรสูตร
(ตอนที่ ๕)
�����
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ
]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรม
ในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุก ๆ
ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระ
ผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจ
ถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จะแสดงพระพุทธเจ้าทรงสอนกรรมฐานตามสัพพาสังวรสูตร
พระสูตรที่ว่าด้วยการสำรวมระมัดระวังป้องกัน ละอาสวะ
ทั้งหลายทั้งหมด นำสติปัฏฐาน
ในพระสูตรนี้พระบรมศาสดาได้ตรัสสอน
ให้ปฏิบัติละอาสวะ กิเลสที่ดองจิตสันดานทั้งหลาย
ด้วยวิธีทัศนะ คือใช้ปัญญาพิจารณาให้รู้ให้เห็น
ใช้วิธีสังวรสำรวมระวังป้องกันอินทรีย์ ๖
อันเรียกว่าอินทรียสังวร ใช้วิธีบริโภคเสพปัจจัยทั้ง ๔
ใช้วิธียับยั้งไว้อยู่ รับไว้อยู่ คือใช้ขันติความอดทน
อดกลั้น ซึ่งได้แสดงแล้ว
เรื่องที่ควรงดเว้น
ต่อจากนี้ได้ตรัสสอนให้ใช้วิธีงดเว้น ในวิธีนี้
ได้ตรัสสอนให้
ผู้ปฏิบัติธรรมะเพื่อละอาสวะกิเลสที่ดองจิตสันดาน
ทั้งหลาย ละเว้น ช้างร้าย ม้าร้าย โคร้าย โคดุ สุนัขร้าย
สุนัขดุ งดเว้นงู งดเว้นที่ ๆ มีตอเป็นอันตราย ที่ ๆ
มีขวากหนามเป็นอันตราย เว้นบ่อ เว้นเหวลึกอันตราย
เว้นที่น้ำครำ เว้นที่สกปรกทั้งหลาย และสพรหมจารีคือ
ผู้ประพฤติธรรมร่วมกัน ซึ่งเป็นวิญญูคือเป็นผู้รู้
กำหนดลงในที่อันใดว่าเป็นที่ ..(สุดเทป).
และกำหนดว่าผู้ที่นั่งในที่ไม่ควรนั่งเช่นใด
ไปในที่ ๆ ไม่ควรไปเช่นใด คบคนเช่น
ใดอันเรียกว่าปาปมิตรคือมิตรชั่ว ก็ให้งดเว้นอาสนะที่
ไม่ควรนั่งเช่นนั้น ที่ ๆ ไม่ควรไปเช่นนั้น งดเว้นมิตรชั่วที่
ไม่ควรคบเช่นนั้นเสีย พิจารณาดูในข้อนี้ก็จะเห็นได้ชัดว่า
สัตว์บุคคลสถานที่ทั้งปวงที่ตรัสสอนให้งดเว้นเช่น
นั้นควรงดเว้นจริง
เพราะเมื่อไปสู่สถานที่เช่นนั้น คบ
กับบุคคลที่เป็นปาปมิตรเช่นนั้น หรือแม้ว่านั่งในที่ ๆ
ไม่ควรนั่ง เป็นต้นดังที่ตรัสสอนให้งดเว้นนั้น ย่อม
จะเกิดอันตรายได้ ย่อมจะทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่าง
ๆ ได้ ย่อมจะถูกชักนำไปในทางที่ผิดได้ และจะทำ
ให้เกิดความกังวลห่วงใยในอันที่จะป้องกันรักษา หรือถ้า
ต้องต่อสู้ก็จะต้องล่วงศีลเป็นต้น หรือต้องกระทำการที่
ไม่เหมาะสมต่อผู้ปฏิบัติธรรมะอีกด้วย และการไป
ในที่เช่นนั้น ที่มีสัตว์ร้ายต่าง ๆ หรือแม้ว่าไปในสถานที่ ๆ
มีหลักตอขวากหนามบ่อเหว ที่ ๆ สกปรก ย่อมไม่
เป็นสัปปายะในการที่จะปฏิบัติธรรมแต่อย่างไร
จะเกิดอันตราย
และเมื่อไปนั่งในที่ ๆ มีคนนั่ง ก็เป็นความ
ไม่เหมาะสม และจะเกิดความยุ่งยาก ไปในที่
ไม่ควรไปก็เช่นเดียวกัน ยิ่งไปคบปาปมิตร
มิตรที่ชั่วที่ผิด ก็ยิ่งจะถูกชักนำไปในทางที่ชั่วที่ผิด
หรือถูกกล่าวหาว่าคบคนชั่วเป็นมิตร ต้องถูกระแวงสงสัย
เพราะฉะนั้น จึงไม่เป็นสัปปายะแก่
ผู้ปฏิบัติเพื่อละอาสวะทั้งหลาย
เมื่อมุ่งปฏิบัติเพื่อละอาสวะ หรือกล่าวรวม ๆ
ว่ามุ่งปฏิบัติธรรม ก็จำเป็นที่จะต้องละสัตว์บุคคลสถานที่
เป็นต้น อันไม่เหมาะสมเช่นนั้น พระพุทธเจ้าตรัสสอน
ให้ยินดีในเสนาสนะป่า ให้เสพที่นั่งที่นอนอันสงบสงัด
ให้พอใจในวิเวกคือที่อันสงบสงัด ก็จะต้องหมาย
ความว่าสงบสงัดปราศจากสัตว์ร้ายต่าง ๆ ที่
จะทำอันตรายได้ และต้องเป็นที่ ๆ ไม่มีขวากหนาม
หลักตอ ที่จะเป็นอันตราย ไม่มีบ่อมีเหวที่จะเป็นอันตราย
ได้ง่าย และไม่เป็นที่ประกอบด้วยน้ำครำเหม็นคลุ้งไป
หรือไม่เป็นสถานที่สกปรก ต้องเป็นสถานที่ ๆ สะอาด
ประกอบด้วยอากาศที่บริสุทธิ์ ปราศจากกลิ่นที่สกปรก
ทั้งหลาย ทั้งต้องเป็นที่นั่งที่นอนอันควรนั่งควรนอน ไม่
ใช่ว่าไม่ควรนั่งควรนอน และต้องเป็นที่ ๆ ควรจะไปได้
ไม่ใช่เป็นที่ ๆ ไม่ควรจะไป ซึ่งเมื่อไปเข้าแล้วก็ย่อมจะ
ไม่ประสบความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม ทั้ง
จะเกิดอันตราย เช่นดังที่ปรากฏว่ามีพระภิกษุสามเณร
ผู้ปฏิบัติธรรม มุ่งแต่จะไปปฏิบัติในเสนาสนะป่า เมื่อเดิน
เข้าไปในเสนาสนะป่ามีชาวบ้านห้ามว่าเป็นถิ่นอันตราย ก็
ยังเข้าไป และก็ปรากฏว่าต้องเป็นอันตรายจริง ๆ ก็มี
เป็นตัวอย่างอยู่ เพราะฉะนั้น จึงต้องเป็นที่ ๆ ปราศ
จากอันตรายด้วย
กัลยาณมิตร
และนอกจากนี้ก็ต้องเป็นที่ ๆ
มีกัลยาณมิตร คือเพื่อนมิตรที่ดีงาม
เมื่อมุ่งไปปฏิบัติธรรมในที่ไหน ในที่นั้นก็ต้องมีอาจารย์
ซึ่งเป็นผู้ประพฤติธรรม สั่งสอนธรรมได้
และมีเพื่อนมิตรที่ปฏิบัติธรรมร่วมกัน เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วจึง
จะมีสัปปายะ คือมีความผาสุขสบาย ทำให้เกิด
ความก้าวหน้าในการปฏิบัติ เพราะฉะนั้น ข้อนี้จึง
เป็นข้อสำคัญอีกข้อหนึ่ง ซึ่งเมื่อมุ่งที่จะปฏิบัติธรรมะ
หรือกล่าวในที่นี้ว่าปฏิบัติเพื่อละอาสวะ ก็จะ
ต้องปฏิบัติงดเว้นในสัตว์บุคคลสถานที่ ๆ พึงงดเว้น
ดังที่ตรัสสอนเอาไว้
วิธีบันเทาอกุศลวิตก
และต่อจากนี้พระบรมศาสดาได้ตรัสสอน
ให้ละอาสวะ ด้วยวิธีที่เรียกว่าบันเทา ก็คือ
ต้องปฏิบัติบันเทาอกุศลวิตก คือความตรึกนึกคิดที่
เป็นอกุศลทั้งหลายอันบังเกิดขึ้นในจิตใจ โดยที่ไม่รับเอา
ไว้ในจิตใจ หากอกุศลวิตกทั้งหลายบังเกิดขึ้น ก็
ต้องปฏิบัติบันเทา ระงับดับให้หายไป ให้สิ้นไปให้หมดไป
ไม่รับรักษาเอาไว้ในจิต อันอกุศลวิตกคือ
ความตรึกนึกคิดที่เป็นอกุศลทั้งหลายนั้น ก็ได้แก่
กามวิตก ความตรึกนึกคิดไปในกาม
พยาบาทวิตก ความตรึกนึกคิดไป
ในทางพยาบาท
วิหิงสาวิตก ความตรึกนึกคิดไป
ในทางเบียดเบียน
กามวิตกนั้น คำว่ากาม
เป็นชื่อของกิเลสแปลว่าความใคร่ หมายรวมถึงกิเลสที่
เป็นไปในทางเดียวกันนี้ เป็นต้นว่าราคะ
ความติดใจรักใคร่ยินดี ตัณหา
ความดิ้นรนทะยานอยากไปในทางกาม ที่
เป็นชื่อของกิเลสดั่งนี้เรียกว่ากิเลสกาม กิเลสอันเป็นเหตุ
ให้ใคร่ เป็นชื่อของวัตถุก็
ได้แก่วัตถุคือสิ่งที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย
ก็รวมเข้าในรูปที่ตาเห็น เสียงที่หูได้ยิน กลิ่นที่จมูก
ได้ทราบ รสที่ลิ้นได้ทราบ สิ่งถูกต้องที่กายได้ถูกต้อง
ตลอดจนถึงเรื่องของ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
คือสิ่งที่กายถูกต้องเหล่านี้ ที่บังเกิดเป็นอารมณ์ขึ้น
ในจิตใจ ก็รวมเรียกว่าวัตถุกาม
พัสดุที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหมด พัสดุกามนี้
เป็นพัสดุกามขึ้นก็ด้วยอำนาจของกิเลสกาม กิเลสกาม
นั้นเมื่อบังเกิดขึ้นในวัตถุอันใด จะเป็นรูปก็ตาม เสียง
กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็ตาม วัตถุอันนั้นก็
เป็นวัตถุกามขึ้นมา เมื่อกิเลสกามไม่บังเกิดขึ้น วัตถุ
ทั้งปวงก็เป็นวัตถุอยู่เฉย ๆ เป็นรูป เป็นเสียง เป็นกลิ่น
เป็นรส เป็นโผฏฐัพพะอยู่เฉย ๆ ไม่เป็นวัตถุกาม
ยกตัวอย่างดังเช่น สามัญชนหรือบุถุชนทั้งหลาย เมื่อ
ได้เห็นรูป ได้ยินเสียง ได้ทราบกลิ่น ได้ทราบรส
ได้ทราบโผฏฐัพพะ อันใดอันหนึ่ง ก็เกิดกิเลสกามขึ้น
ในสิ่งเหล่านี้ สิ่งเหล่านี้ก็เป็นวัตถุกามขึ้นมา
ส่วนพระอรหันต์ทั้งหลายซึ่งเป็น
ผู้ละอาสวะกิเลสได้สิ้นแล้ว ท่านเห็นอะไร ได้ยินอะไร
ได้ทราบกลิ่น ทราบรส ทราบโผฏฐัพพะ อะไร ก็ไม่เกิด
ความรักใคร่ยินดีปรารถนาต้องการ คือ
ไม่เกิดกิเลสกามขึ้นในสิ่งเหล่านี้ สิ่งเหล่านี้ก็ไม่
เป็นวัตถุกามของท่าน แต่เป็นวัตถุเฉย ๆ คือ เป็นรูป
เป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นรส เป็นโผฏฐัพพะ ที่ท่านได้เห็น
ท่านได้ยิน ท่านได้ทราบ ทางอายตนะ
ผู้ปฏิบัติธรรมที่ปฏิบัติก็ระงับจิตใจของตนได้
ด้วยอำนาจของ ศีล สมาธิ ปัญญา เมื่อเห็นอะไร
ได้ยินอะไร ได้ทราบอะไร ทางอายตนะ ก็
ไม่เกิดกิเลสกามขึ้นในสิ่งเหล่านั้น สิ่งเหล่านั้นก็ไม่
เป็นวัตถุกามของผู้ปฏิบัติธรรมะนั้น
กิเลสกามเกิดขึ้นจากสังกัปปะ
เพราะฉะนั้น วัตถุที่จะเป็นวัตถุกามขึ้น ก็
ด้วยอำนาจของกิเลสกาม และกิเลสกามที่บังเกิดขึ้น
ในจิตใจของบุคคลเป็นกิเลสกองราคะ
กิเลสกองกามตัณหา ก็ตาม การรวมเข้า
ในกิเลสกองกามนี้บังเกิดขึ้นได้ก็ด้วยอำนาจของ
ความดำริ ความตรึกนึกคิดนี้เอง เพราะฉะนั้น จึง
ได้มีพระพุทธภาษิตตรัสเอาไว้ว่า สังกัปปะราโค
ปุริสสัสสะกาโม ที่แปลว่าราคะคือความติดใจยินดี
ที่เกิดขึ้นจากสังกัปปะความดำริ เป็นกามของบุคคล ดั่งนี้
เพราะฉะนั้น สังกัปปะคือความดำริ
หรือวิตกคือความตรึกนึกคิด ซึ่งในที่นี้มีความหมาย
เป็นอย่างเดียวกัน จึงเป็นสิ่งสำคัญ นำให้บังเกิดกามขึ้น
ได้ และเมื่อบังเกิดเป็นกามขึ้นมาแล้ว ก็เรียกว่ากามวิตก
แปลว่าความตรึกนึกคิดไปด้วยอำนาจของกิเลสกาม ก็ได้
ความตรึกนึกคิดไปในวัตถุกาม คือในรูปในเสียงในกลิ่น
ในรสในโผฏฐัพพะ ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย
ก็ได้
ความคิดปรุง
เพราะฉะนั้น ความดำรินี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ
หรือว่าวิตกคือความตรึกนึกคิดนี้เป็นสิ่งสำคัญ
ซึ่งคนเรานี้เองเป็นผู้ปรุงขึ้น เพราะฉะนั้นจึงรวมเข้า
ในขันธ์ ๕ ข้อ ๔ ที่เรียกว่าสังขาร ที่แปลว่าความปรุงคิด
หรือความคิดปรุง ก็คือจิตนี้เองนำเอาสิ่งที่จำได้
อันเรียกว่าสัญญา อันเป็นขันธ์ข้อที่ ๓ มาปรุงคิด
หรือมาคิดปรุง ความคิดปรุง เพราะฉะนั้น
ในคำว่าสังขารที่แปลว่าความปรุงคิดหรือความคิดปรุงนี้
จึงประกอบขึ้นด้วยจิต ประกอบขึ้นด้วยอารมณ์
หรือเรื่องที่จำได้ ซึ่งความจำนั้นก็คือสัญญา เพราะถ้าจำ
ไม่ได้คือไม่มีสัญญาแล้ว ก็เอามาปรุงคิดไม่ได้ จะต้องจำ
ได้ คือจะต้องมีสัญญา ก็เอาสิ่งที่มีสัญญาคือจำได้
นั้นมาปรุงคิด เป็นเรื่องนั้น เป็นเรื่องนี้ เป็นสิ่งนั้น เป็นสิ่งนี้
มาปรุงกันเข้า เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่าสังขารในขันธ์ ๕
ซึ่งเป็นขันธ์ข้อที่ ๔
ความปรุงคิดหรือความคิดปรุง
อันนี้แหละคือวิตกความตรึกนึกคิด หรือสังกัปปะ
ความดำริ ก็คือความคิดปรุงหรือความปรุงคิดนี้เอง
เมื่อปรุงคิดขึ้นให้เป็นอย่างใด ก็เป็นอย่างนั้นได้
เมื่อปรุงคิดขึ้นให้เป็นกาม กามก็บังเกิดขึ้น คือตัวราคะ
ความติดใจยินดี ซึ่งเป็นลักษณะของกาม ที่แปลว่า
ความใคร่ ความปรารถนา และยังเจือด้วย
ความเพลิดเพลินยินดีชุ่มชื่นอยู่ในราคะ หรือ
ในกามเหล่านี้ อันชวนให้จิตใจคิดปรุง หรือปรุงคิดไป
และความคิดปรุง หรือปรุงคิดไปนี้ ก็บังเกิดขึ้นซับซ้อน
กันอยู่เป็นอันมาก
กามคุณ
เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่ากามคุณ คำว่า คุณ
นั้นก็เขียนอย่างเดียวกับคุณงามความดี แต่ว่าคุณ
ในที่นี้หมายถึงลักษณะอาการที่ซับซ้อนกัน
อยู่เหมือนอย่างกลุ่มด้าย เพราะกลุ่มด้ายนี้ที่ม้วนซับซ้อน
กันเป็นกลุ่ม ก็เรียกว่า คุณะ เหมือนกัน
กามคุณก็เช่นเดียวกัน กามที่ซับซ้อนกันอยู่
เป็นกลุ่มเรียกว่ากามคุณ เพราะฉะนั้น เมื่อจิตปรุงคิด
หรือคิดปรุงไปในกาม และมีความเพลิดเพลิน มี
ความยินดีติดใจ ก็คิดเรื่อยไปไม่จบ
เหมือนอย่างกลุ่มด้ายที่เป็นกลุ่ม
เมื่อคลี่ด้ายออกไปก็ยาวออกไป ยาวออกไป ยาวออกไป
สุดแต่ว่าด้ายที่มาม้วนเป็นกลุ่มนั้นจะมีขนาดยาวสัก
เท่าไหร่ กามคุณก็เหมือนกัน ไม่รู้ว่าซับซ้อนกันอยู่นาน
หรือมากเท่าไรในจิตใจของแต่ละบุคคล เพราะฉะนั้น
เมื่อลงปรุงคิด ๆ ไปในกามแล้ว และแถมมี
ความยินดีเพลิดเพลิน ก็ไปกันใหญ่ เพลิดเพลินกันไป
คิดไปไม่รู้จักจบจักสิ้น
อาลัยของจิตที่เป็นกามาพจร
เพราะฉะนั้น กามคุณคือกลุ่มของกาม
เหมือนอย่างกลุ่มด้าย คือกามที่ผูกมัดจิตใจของสัตวโลก
อยู่นี้ จึงมีกำลังมากยิ่งนักหนา จนถึงกับพระพุทธเจ้า
ได้ตรัสเทียบเอาไว้ว่าเป็น อาลัย คือเป็นที่อาศัยของจิตที่
เป็นกามาพจร คือหยั่งลงในกาม ท่องเที่ยวไปในกาม
ทั้งหลาย เหมือนอย่างน้ำเป็นที่อาศัยของปลา ปลาอยู่
ในน้ำ จิตที่เป็นกามาพจรของสัตว์บุคคล
ทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน เหมือนอย่างอาศัยอยู่ในกาม
คือกามคุณอันนี้ และก็เรียกให้เต็มที่ว่า เบ็ญจพิธกามคุณ
กามคุณมีอย่าง ๕ ก็ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส
โผฏฐัพพะคือสิ่งถูกต้อง ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ
ทั้งหลาย เพราะฉะนั้น พื้นของจิตที่เป็นกามาพจร
จึงปรุงคิดหรือคิดปรุงไปในทางกาม ยืดยาว มากมาย
อยู่เป็นปรกติ และเมื่อพูดออกมา ก็พูดออกมาในทางกาม
กันอยู่เป็นอันมาก เพราะว่าวาจาที่พูดออกมานั้น
ก็วิตกวิจารความตรึกนึกคิดนี้เอง เป็นเครื่องปรุงให้พูด
เพราะฉะนั้น วิตกวิจารพระพุทธเจ้าจึงตรัสแสดงว่าเป็น
วจีสังขาร คือเป็นเครื่องปรุงวาจา
เพราะวาจาที่พูดออกมานั้นจะต้องคิดก่อน แล้วจึงพูด
เมื่อคิดอย่างใดก็ย่อมพูดอย่างนั้น เพราะฉะนั้น
การพูดจาของบุคคลจึงเป็นไปในทางกามเป็นอันมาก
ตลอดจนถึงการแสดงต่าง ๆ ก็เป็นไปในทางกาม
เป็นอันมาก เจือไปด้วยราคะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง
กิเลสทั้ง ๓ กองนี้
มหรสพต้องเจือด้วยกิเลส
ดังจะพึงเห็นได้ว่าสิ่งที่เรียกว่ามหรสพ
ทั้งหลาย ก็จะต้องเจือด้วยกิเลส ๓ กองนี้ จึงจะ
เป็นที่สนุกสนาน เป็นที่ชอบดู เมื่อการแสดง
สามารถยั่วเย้าใจของบุคคลดูให้เกิดราคะบ้าง โทสะบ้าง
โมหะบ้าง ได้มากเท่าใด ก็เป็นที่ติดของคนดูมากเท่านั้น
ทำให้ตาตื่นใจตื่น ไม่ง่วงเหงาหาวนอน ดูกันได้
เป็นเวลานาน ๆ เพราะว่ามีเชื้อล่อให้เกิดราคะบ้าง
โทสะบ้าง โมหะบ้าง คอยทำใจให้เพลิดเพลินยินดี ให้ติด
กันอยู่ เป็นอยู่ดั่งนี้
ฟังเทศน์แล้วหลับก็เพราะเหตุนี้
เพราะฉะนั้น จะพึงเห็นได้ว่าเมื่อมาฟังเทศน์
ฟังอบรมธรรมะซึ่งเป็นไปเพื่อสงบราคะโทสะโมหะ เมื่อ
เป็นดั่งนี้แล้วจิตใจของผู้ฟังจึงไม่ได้เชื้อที่จะก่อ
ให้เกิดตาสว่าง ทำให้เกิดความสงบ และเมื่อมีความสงบ
อยู่เฉย ๆ ปราศจากปีติสุขในความสงบนั้น
ก็เลยง่วงเหงาหาวนอน หลับ การที่ฟังเทศน์หลับ
หรือฟังธรรมบรรยายหลับก็เพราะเหตุนี้ เพราะเหตุว่า
ในเทศน์หรือในธรรมบรรยายทั้งปวงนั้น
เป็นไปเพื่อสงบราคะโทสะโมหะ ไม่ใช่เป็นไปเพื่อก่อ เมื่อ
เป็นดั่งนี้จึงไม่สนุก ไม่เพลิดเพลิน และเมื่อสงบเข้า
ความง่วงซึ่งอยู่ใกล้กับความสงบก็เข้ามาทันที เพราะฉะ
นั้น เรื่องของกามนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งพระพุทธเจ้า
ได้ตรัสไว้เป็นข้อแรก ว่าให้คอยระงับสังกัปปะคือ
ความดำริหรือวิตก คือความตรึกนึกคิดไปในทางกาม
ซึ่งสัตวโลกทั้งหลายซึ่งมีจิตอยู่ในชั้นที่เป็นกามาวจรจิต
ย่อมท่องเที่ยว ย่อมตกอยู่เป็นประจำแล้ว จึงมัก
จะคิดปรุงหรือปรุงคิดในเรื่องนี้ขึ้นเนือง ๆ เมื่อ
เป็นดั่งนี้หากปฏิบัติเพื่อละอาสวะกิเลสที่ดองจิตสันดาน ก็
ต้องปฏิบัติระงับเสียไม่รับเอาไว้ ปฏิบัติบันเทาดับเสีย
และเมื่อเป็นดั่งนี้แล้วจึงจะชื่อว่า
เป็นการปฏิบัติเพื่อละอาสวะ และจะได้ศีลได้สมาธิ
ได้ปัญญา
ความปรุงคิดในโทสะพยาบาทเบียดเบียน
อนึ่ง ความดำริ หรือความปรุงคิดคิดปรุง
หรือความตรึกนึกคิดดังกล่าวมานี้ มิใช่ในทางกามเท่านั้น
ยังเป็นไปในทางพยาบาทอีกด้วย อันความพยาบาท
นั้นคือความถึงผิด อันหมาย
ถึงอาการที่จิตคิดร้ายหมายล้างผลาญ นี่เป็น
ความหมายของพยาบาทอย่างเต็มตัว แต่ว่าก็คลุมจน
ถึงปฏิฆะ คือความที่จิตกระทบกระทั่งกับอารมณ์ที่
ไม่ชอบใจไม่พอใจ อันแสดงอาการเป็นความหงุดหงิด
แรงขึ้นมาก็เป็นโกธะ ความโกรธ เป็นความขึ้งเคียด
แรงขึ้นมาอีกก็เป็นโทสะ คือเป็นความขึ้งเคียดที่แรงขึ้น
จนถึงกับเป็นความประทุษร้าย แต่ก็ยัง
ประทุษร้ายใจของตัวเอง คือยัง
ไม่คิดหมายล้างผลาญออกไปข้างนอก
แต่เมื่อโทสะนี้แรงขึ้น จน
ถึงคิดล้างผลาญออกไปข้างนอก คิดที่จะตีเขา
จะทำร้ายชีวิตร่างกายเขาเป็นต้น ให้
เขาฉิบหายวายวอดไป ให้เจ็บช้ำลำบากไป ให้สิ้นชีวิตไป
ดั่งนี้จึงจะเป็นพยาบาทอย่างเต็มตัว
แม้ไม่เป็นพยาบาทอย่างเต็มตัว
เป็นแค่ปฏิฆะหงุดหงิด หรือว่าโกธะ ขึ้งเคียดขึ้นมา หรือ
เป็นโทสะที่เป็นประทุษร้ายใจของตัวเอง โกรธอยู่
ในใจตัวเองก็ตาม ก็รวมเข้าในข้อนี้ เมื่อบังเกิดขึ้นก็
ต้องปฏิบัติบันเทาดับระงับให้สิ้นไป ไม่รักษาไว้ในจิต
วิหิงสาวิตกก็เหมือนกัน ก็เกิดจากความดำริ
ความตรึกนึกคิด ปรุงไปเพื่อวิหิงสาคือความเบียดเบียน
วิหิงสาคือความเบียดเบียนนี้ มีอธิบายต่างจากพยาบาท
ว่าเกิดจากโมหะคือความหลง มีความหลงเป็นมูล
เช่นว่าเบียดเบียนเพื่อมุ่งสนุก เช่นการทำร้ายสัตว์ถือว่า
เป็นการกีฬา เป็นการเบียดเบียนเพื่อความสนุก
หรือว่าเบียดเบียนด้วยอำนาจโลภะ เช่นว่าจ้างคนงานมา
และบังคับใช้คนงานเกินไปทั้งกลางวันกลางคืนเป็นต้น
ดังที่ปรากฏอยู่ในที่บางแห่ง ในบางครั้งบางคราว
เป็นการทรมานผู้อื่น ด้วยอำนาจของโลภะ มุ่งที่จะ
ให้ทำงานให้มาก ๆ ได้ทรัพย์มาก ปราศจาก
ความเมตตากรุณา ก็เป็นการเบียดเบียน
หรือว่าการที่จะกระทำอันใดอันหนึ่งก็ตาม
แม้ว่ามุ่งดี แต่ว่าเป็นการกระทำที่เบียดเบียนผู้อื่น
ให้เดือดร้อน เป็นการกระทำไปแม้ด้วยอำนาจความเขลา
หรือมุ่งดีดังกล่าวนั้น ก็เป็นวิหิงสาเหมือนกัน เพราะฉะนั้น
วิหิงสาคือความเบียดเบียนนี้ จึงเกิดจากโมหะคือ
ความหลง
ฉะนั้น การที่จะคิดปรุงหรือปรุงคิดอะไร ก็
ต้องไม่ให้เป็นไปเพื่อความเบียดเบียนใครให้เดือดร้อน
จะเป็นบุตรหลานของตนเองก็ตาม จะ
เป็นบริวารของตนเองก็ตาม จะเป็นผู้รับ
ใช้ของตนเองก็ตาม ให้คิดปฏิบัติให้พอเหมาะพอสม
ให้มีเมตตากรุณา แม้ในการใช้งานต่าง ๆ ดั่งนี้จึง
จะชื่อว่าถูกต้อง แต่ถ้าได้คิดไปให้เขาทำอย่างนั้น
เขาทำอย่างนี้ หรือเบียดเบียนตรง ๆ
อย่างไปทำร้ายสัตว์เป็นการเล่นกีฬา หรือเป็นการสนุก
รวมเข้าในวิหิงสาวิตกทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ก็
ต้องระมัดระวังวิตกข้อนี้ เมื่อบังเกิดขึ้น ก็
ต้องปฏิบัติบันเทา ระงับดับให้หายไป อย่ารับเอาไว้ในใจ
อกุศลวิตกทั้ง ๓ ประการนี้
เป็นสิ่งที่บังเกิดขึ้นในจิตใจของสัตว์บุคคล จะว่า
เป็นประจำก็ได้ น้อยหรือมาก เพราะฉะ
นั้นการปฏิบัติคอยระวังรักษาจิตของตน
คอยบันเทาระงับดับ จึงเป็นข้อที่ต้องกระทำอยู่เสมอ
และทั้งหมดนี้ก็ต้องอาศัยซึ่งกันและกันทั้ง ๓ ข้อ
บางทีก็มีกามเป็นเหตุ ก็ทำให้มีพยาบาท มีวิหิงสา
หรือมีโมหะเป็นเหตุ ก็ทำให้ได้ ให้บังเกิดขึ้นในข้อวิหิงสา
ด้วย ในข้ออื่นอีกด้วย ในข้อโทสะก็เช่นเดียวกัน
เพราะฉะนั้น จึงต้องคอยระงับจิตใจของตัวเองอยู่เสมอ
ไม่รับเอาความดำริหรือความตรึกนึกคิดเช่นนี้ไว้ สุมไว้
ในใจของตัวเอง ต้องระบายออกไป บันเทาออกไป
ระงับดับให้หายไป เมื่อเป็นดั่งนี้ จึงจะ
เป็นการปฏิบัติเพื่อละอาสวะกิเลสที่ดองสันดาน
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำ
ความสงบสืบต่อไป


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ต.ค. 2014, 00:28 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


สัพพาสวสังวรสูตร
(ตอนที่ ๖)
�����
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ
]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรม
ในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุก ๆ
ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระ
ผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจ
ถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จะแสดงพระพุทธเจ้าทรงสอนกรรมฐานตามสัพพาสวสังวรสูตร
พระสูตรที่ว่าด้วยการสำรวมคือป้องกันระวัง ตลอด
ถึงละอาสวะทั้งปวง นำสติปัฏฐาน พระบรมศาสดา
ได้ตรัสสอนให้ละอาสวะด้วยวิธีต่าง ๆ คือด้วย วิธีทัศนะ
คือปัญญาที่รู้เห็น ด้วย วิธีสำรวมอินทรีย์
อันเรียกว่าอินทรียสังวร ด้วย วิธีเสพบริโภคปัจจัย ๔
ด้วยการพิจารณา ด้วย วิธีรับไว้อยู่ ยับยั้งไว้อยู่ คือ
ใช้ขันติอดทนอดกลั้น ด้วย วิธีเว้น ด้วย วิธีบันเทา
ภาวนา
ตามที่ได้แสดงอธิบายมาโดยลำดับนับได้
๖ วิธี และได้ตรัสอีกวิธีหนึ่ง อันวิธีที่เคารพ ๗ และ
เป็นวิธีที่สุดในพระสูตรนี้ ก็คือ
ด้วยวิธีปฏิบัติอบรมอันเรียกว่าภาวนา คำว่าภาวนานี้มาใช้
ในภาษาไทย คล้ายกับนึกอยู่ในใจ บริกรรมอยู่ในใจ
กำหนดอยู่ในใจ แต่อันที่จริงความหมายของคำนี้
คือการปฏิบัติอบรมนั้นเอง ตามพยัญชนะก็แปลว่าการทำ
ให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น ซึ่งมีความหมายว่าปฏิบัติได้ทำได้
องค์แห่งความตรัสรู้
และในพระสูตรนี้ได้ตรัสยกเอาโพชฌงค์ ๗
ขึ้นมาว่า ให้ปฏิบัติอบรมโพชฌงค์ ๗ โพชฌงค์
นั้นแปลว่าองค์แห่งความตรัสรู้ เรียกว่าสัมโพชฌงค์ก็ได้
ก็แปลว่าองค์แห่งความตรัสรู้พร้อม องค์ก็คือ องคคุณ
หรือ องคสมบัติ แห่งความตรัสรู้ คือนำให้บังเกิด
ความตรัสรู้ มี ๗ องค์ คือ
สติสัมโพชฌงค์ องค์แห่งความตรัสรู้คือสติ
ธัมวิจยสัมโพชฌงค์ องค์แห่ง
ความตรัสรู้คือความเลือกเฟ้นธรรม
วิริยสัมโพชฌงค์ องค์แห่งความรู้คือ
ความเพียร
ปีติสัมโพชฌงค์ องค์แห่งความรู้คือปีติ
ความอิ่มใจ ความดูดดื่มใจ
ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ องค์แห่ง
ความรู้คือปัสสัทธิความสงบ
สมาธิสัมโพชฌงค์ องค์แห่ง
ความรู้คือสมาธิ
อุเบกขาสัมโพชฌงค์ องค์แห่งความรู้ คือ
ความเข้าไปเพ่ง
รวมเป็นโพชฌงค์ ๗ ประการ หรือว่า ๗
องค์
โพชฌงค์ ๗ นี้
เป็นหมวดธรรมะสำคัญทางปฏิบัติหมวดหนึ่ง
ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงเอาไว้ ตรัสแสดงรวมไว้
ในหมวดธรรมสำคัญหลายหมวด เช่น
ในหมวดโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ก็มีโพชฌงค์ ๗
นี้รวมอยู่ด้วยหมวดหนึ่ง ในมหาสติปัญฐานสูตรซึ่งแสดง
เป็นหลักปฏิบัติในที่นี้เป็นประจำมาทุกปี ก็มีโพชฌงค์รวม
อยู่ด้วยหมวดหนึ่ง และที่ตรัสแสดงเนื่องเป็นสายเดียว
กับสติปัฏฐานก็มี คือตรัสแสดงสติปัฏฐาน ๔ โพชฌงค์ ๗
สืบไปถึงวิชชาวิมุติในที่สุด และที่ตรัสแสดง
ไว้จำเพาะโพชฌงค์ ๗ นี้เพียงหมวดเดียว ก็มีเป็นอันมาก
เมื่อตรัสแสดงรวมอยู่ในหมวดใหญ่ ก็มัก
จะต่อสืบเนื่องมาจากสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งบ่งความว่าปฏิบัติ
ในสติปัฏฐานมาก่อน จึงมาถึงโพชฌงค์ แต่แม้ว่า
จะตรัสแสดงไว้หมวดเดียว คือจำเพาะโพชฌงค์เท่านั้น
โพชฌงค์ข้อแรกก็นำด้วยสติ คือสติสัมโพชฌงค์ ฉะนั้น
แม้ในหมวดโพชฌงค์นี้เองก็เริ่มด้วยสติ ในที่ ๆ ตรัสรวม
ไว้ในธรรมะหลายหมวดสืบเนื่องจากสติปัฏฐาน ๔ นี้
ก็บ่งว่าการปฏิบัติในสติปัฏฐานย่อมมาก่อน จึง
ถึงโพชฌงค์ และที่ตรัสแสดงไว้จำเพาะหมวดโพชฌงค์
เท่านั้น ก็เริ่มด้วยสติ แต่ใช้คำว่าสติเป็นคำกลาง ๆ
ก็อาจรวมสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้เข้าด้วยได้ ว่าเริ่ม
ด้วยสติปัฏฐาน ๔ หรือแม้ว่าจะเริ่มด้วยสติที่ไม่นับเป็น ๔
ข้ออย่างสติปัฏฐาน ๔ ก็ได้ ดังที่ได้ตรัสแสดงไว้
ในการที่ทรงอธิบายโพชฌงค์ ๗
ที่ยกขึ้นมาเพียงหมวดเดียว ใช้ในการฟังธรรม
การฟังธรรมโพชฌงค์ ๗
กล่าวคือในการฟังธรรมนั้น ก็
ใช้วิธีปฏิบัติทางโพชฌงค์นี้ได้ด้วย คือตรัสแสดงไว้โดย
ความว่า
ผู้ฟังธรรม เมื่อฟังธรรมก็ระลึก
ถึงธรรมะที่ฟัง ความที่ระลึกถึงธรรมะที่ฟังนี้ ก็
เป็นสติสัมโพชฌงค์องค์แห่งความรู้พร้อม คือสติ
ความระลึกได้ ความกำหนดได้
และก็วิจัยคือเลือกเฟ้นธรรม
วิจัยคือเลือกเฟ้นธรรมที่สติระลึกได้นั้น
จำแนกธรรมะออกเป็นกอง เป็นส่วน ว่านี่เป็นกุศล นี่
เป็นอกุศล นี่มีโทษ นี่ไม่มีโทษ นี่เป็นธรรมดำ นี่
เป็นธรรมขาว วิจัยจำแนกธรรมที่ระลึกได้ด้วยสติออก
เป็นกอง ๆ ดั่งนี้ ก็เป็นธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ องค์แห่ง
ความรู้คือธรรมวิจัย ความเลือกเฟ้นธรรม
และเมื่อได้วิจัย
คือเลือกเฟ้นรู้จักธรรมะดังกล่าว ก็เพียรละอกุศล
ละธรรมะที่มีโทษ ธรรมะที่ดำ เพียรปฏิบัติอบรมกุศล
ธรรมะที่ไม่มีโทษ ที่ขาวสะอาด ก็เป็นวิริยสัมโพชฌงค์
องค์แห่งความรู้ คือวิริยะความเพียร
และเมื่อเพียรละอกุศล
เพียรปฏิบัติอบรมกุศลให้บังเกิดขึ้นดั่งนี้ ก็จะได้ปีติคือ
ความอิ่มใจ ความเอิบอิ่มใจ ความดูดดื่มใจ ในกุศล
ในธรรมะที่ไม่มีโทษ ในธรรมที่ขาวสะอาด ที่
ได้อบรมปฏิบัติให้มีขึ้น ก็เป็นปีติสัมโพชฌงค์ องค์แห่ง
ความรู้คือปีติ
เมื่อได้ปีติก็ย่อมจะได้ความสงบกาย
ความสงบใจ ก็เป็นปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ องค์แห่ง
ความรู้คือปัสสัทธิความสงบกาย ความสงบใจ
และเมื่อกายและใจสงบ มีสุข ก็ย่อม
จะตั้งจิตเป็นสมาธิได้ เมื่อจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ รวมอยู่
ในอารมณ์เป็นอันเดียว สงัดสงบจิตจากกาม
และอกุศลธรรมทั้งหลาย ก็
เป็นสมาธิสัมโพชฌงค์องค์แห่งความรู้คือสมาธิ
เมื่อจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ
ความเพ่งดูสมาธิจิตสงบอยู่ ก็เป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์
องค์แห่งความรู้คืออุเบกขา ความเพ่งจิตที่
เป็นสมาธินี้สงบอยู่
จึงเป็นโพชฌงค์ ๗ ประการ
อันปฏิบัติเริ่มมาจากการฟังธรรม ฉะนั้นแม้
ในการฟังธรรมะที่เป็นเทศนาก็ดี ที่เป็นบรรยายอบรมก็ดี
หรือแม้อ่านหนังสือธรรมะ ก็ใช้โพชฌงค์นี้มาฟังมาอ่าน
ได้ คือว่าฟังหรืออ่านด้วยโพชฌงค์ทั้ง ๗ ประการนี้
ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสอธิบายไว้เริ่มด้วยการฟังธรรม
ก็ฟังด้วยโพชฌงค์ทั้ง ๗ ประการ ดั่งนี้
การใช้โพชฌงค์ในการปฏิบัติกรรมฐานต่าง ๆ
และนอกจากนี้พระบรมศาสดายัง
ได้ทรงแสดง การใช้โพชฌงค์ปฏิบัติในกรรมฐานต่าง ๆ
ดังเช่น เมื่อตั้งจิตแผ่เมตตาออกไปในสัตว์ทั้งหลาย ว่า
สัพเพสัตตา สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง สุขิตาโหนตุ จงบรรลุ
ถึงความสุขเถิด ดั่งนี้ ในทิศเบื้องหน้า ในทิศเบื้องขวา
ในทิศเบื้องหลัง ในทิศเบื้องซ้าย ในทิศเบื้องบน
ในทิศภายล่าง และในทิศเบื้องขวางโดยรอบ
ก็ปฏิบัติทำสติแผ่เมตตา คือสติที่ระลึกไปดั่งนี้ ระลึก
ถึงสัตว์ทั้งปวง และระลึกแผ่จิตออกไปด้วยเมตตาว่าให้มี
ความสุข ระลึกไปถึงทิศทั้งหลายดังที่กล่าวมานั้น
คือแผ่ออกไปในทิศทั้งหลายดังที่กล่าวมานั้น ดั่งนี้เป็นสติ
ทั้งนั้น ก็ต้องใช้สติในการปฏิบัติแผ่เมตตาจิต
และก็ใช้วิจัยคือจำแนกธรรมะ
กล่าวคือเมื่อจิตแผ่ไปมีสัตว์ทั้งหลายเป็นอารมณ์
ก็รู้ว่านี่แผ่ไปมีสัตว์ทั้งหลายเป็นอารมณ์ และเมื่อแผ่ไป
ในทิศใดทิศหนึ่ง ก็รู้ว่าแผ่ไปในทิศนั้นทิศนี้ จำแนกทิศ
ได้ถูกต้องว่าเบื้องหน้า เบื้องขวา เบื้องหลัง เบื้องซ้าย
เบื้องบน เบื้องล่าง และเบื้องขวางโดยรอบ จำแนกทิศ
ได้ถูก ถ้าไม่มีวิจัยคือจำแนกดั่งนี้ ก็แจกทิศไม่ถูก
สับสนหมด แต่ที่แจกได้ดั่งนี้ก็เพราะว่าจำแนกทิศได้ถูก
ต้อง อันหนึ่ง และเมื่อจิตมีเมตตา ก็รู้ว่าจิตมีเมตตา
หากมีปฏิฆะพยาบาทผุดขึ้นมาในขณะที่แผ่เมตตาก็รู้
ว่ามีปฏิฆะพยาบาทผุดขึ้นมาในจิต
หรือเมื่อราคะผุดขึ้นมาก็รู้ว่า ราคะผุดขึ้นในจิต หรือเมื่อ
ความฟุ้งซ่านไปอย่างอื่นถึงเรื่องโน้นเรื่องนี้แทรกเข้ามา
ก็รู้ว่าเรื่องนั้นเรื่องนี้แทรกเข้ามา หรือเมื่อง่วงก็กำหนด
ให้รู้จักว่า นี่ง่วงแทรกเข้ามา
สงสัยเคลือบแคลงอะไรโผล่ขึ้นก็รู้ว่า
นี่สงสัยเคลือบแคลงอะไรโผล่ขึ้นมา ก็กำหนดให้รู้จักว่านี่
เป็นนิวรณ์เครื่องกั้นไม่ให้ได้สมาธิ ก็สงบไปเสีย
เมื่อเมตตาจิตโผล่ขึ้นมา เป็นความเมตตา เป็นความเย็น
เป็นความสงบ ก็รู้ว่านี่เป็นกุศล เป็นสิ่งที่ต้องการ
ก็รักษาเอาไว้ และรักษาเมตตานี้ให้มากขึ้น ดั่งนี้ก็
เป็น ธัมมวิจัย
แล้วก็เป็นวิริยะ คือความเพียร ประกอบ
กันไป คือเมื่อวิจัยออกมาว่าเป็นอกุศลหรือโทษ ก็ละเสีย
วิจัยออกมาว่าเป็นกุศลมีคุณไม่มีโทษ ก็รักษาไว้
และปฏิบัติเพิ่มเติมขึ้น ก็เป็น วิ ริยสัมโพชฌงค์
และเมื่อเป็นดั่งนี้จิตก็จะตั้งมั่นอยู่
ในเมตตามากขึ้น บรรดาอกุศลจิตที่โผล่ขึ้นมาต่าง ๆ
อันประกอบด้วยราคะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ก็
จะสงบลงไป เมื่อเป็นดั่งนี้จิตก็สะอาดบริสุทธิ์ขึ้น เต็มไป
ด้วยกุศลมากขึ้น ปีติก็บังเกิดขึ้น บังเกิดขึ้นเองเป็น
ความอิ่มใจเป็นความอิ่มเอิบในธรรมในกุศล ก็เป็น
ปีติสัมโพชฌงค์
และเมื่อเป็นปีติสัมโพชฌงค์ กายใจก็สงบ
เป็น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ จิตก็ตั้งมั่นเป็นสมาธิมากขึ้น
ในเมตตาที่แผ่ออกไปนั้น เป็นอุปจารสมาธิ สมาธิที่เฉียด
ๆ จนถึงเป็นอัปปนาสมาธิ สมาธิที่แนบแน่น ก็
เป็น สมาธิสัมโพชฌงค์ และก็เข้าไปเพ่งดูจิตที่เป็นสมาธินี้
ให้รู้จักจิตที่เป็นสมาธินี้ สงบอยู่ ความสงบอยู่นี้ก็คือ
ความวางได้ และความเฉยได้ อันเป็นลักษณะที่มัก
จะแปลอุเบกขาว่าความวางเฉย วางได้ก็คือว่าวาง
ความวุ่นวายต่าง ๆ เฉยได้ก็คือว่าสงบไม่ทุรนทุราย เป็น
ความเข้าไปเพ่งสงบอยู่ ก็เป็น อุเบกขาสัมโพชฌงค์
อันสมาธิและอุเบกขานี้มักจะแสดงรวมกัน
ในสมาธิที่เป็นอัปปนาคือแนบแน่น
ดังที่แสดงว่ามีองค์ก็คือเอกัคคตา ความที่มีอารมณ์
เป็นอันเดียว กับอุเบกขาความเข้าไปเพ่งเฉยอยู่ ดั่งนี้
และเมื่อมีทั้งตัวเอกัคคตาที่เป็นสมาธิโดยตรง
กับอุเบกขาดังกล่าวประกอบกันอยู่ ก็เรียกว่า
เป็นสมาธิที่แนบแน่น อันเป็นอัปปนาสมาธิ
ถ้าหากว่าขาดอุเบกขาเสียแล้ว สมาธิก็ตั้งมั่นอยู่นานไม่
ได้ มักจะได้แค่อุปจาร ซึ่งมีอุเบกขาอยู่น้อย
และเมื่อมีอุเบกขาอยู่มากพอเพียงที่รักษาเอกัคคตาจิต
คือจิตที่มีอารมณ์เป็นอันเดียวไว้ได้มาก ก็
เป็นอัปปนาที่แนบแน่นอยู่ได้นาน เพราะฉะนั้นอุเบกขา
จึงมักแสดงรวมอยู่ในข้อสมาธิ แต่
ในที่นี้แยกออกมาเพื่อชี้ให้ชัด ว่าเมื่อได้สมาธิจิตรวม
เข้ามาแล้ว จะต้องได้อุเบกขาคือความเข้าไปเพ่งสงบอยู่
คือรู้จิตที่เป็นสมาธินี้ ดูจิตที่เป็นสมาธินี้ เห็นจิตที่
เป็นสมาธินี้ สงบอยู่ด้วย สมาธิจึงจะ
เป็นอัปปนาคือแนบแน่น แน่วแน่ และแนบแน่นแน่วแน่อยู่
ได้นาน ดังนี้ก็เป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์
เพราะฉะนั้นแม้ในการปฏิบัติธรรม
เมตตาภาวนา อบรมเมตตาจิต ก็จะต้องใช้โพชฌงค์ ๗
มาประกอบ มาช่วย จึงจะได้ผลในการอบรมเมตตา
ในข้ออื่นก็เช่นเดียวกัน
และนอกจากนี้พระพุทธเจ้ายังได้ตรัสสอน
เรียกว่าให้ปฏิบัติกรรมฐานทุกข้อก็ได้ ให้ประกอบ
ด้วยโพชฌงค์ทั้ง ๗ นี้ หรือว่า
กล่าวอีกอย่างหนึ่งตรัสยกเอาโพชฌงค์ทั้ง ๗ นี้เป็นที่ตั้ง
ว่าปฏิบัติอบรมโพชฌงค์ทั้ง ๗ ประการนี้ ให้ประกอบ
ด้วยกรรมฐานได้ทุกข้อ ดังเช่นหมวดพรหมวิหาร ๔
ดังที่กล่าวมา และในหมวดอื่นเช่นในกสิณ ๑๐ ในอสุภะ
๑๐ ในอนุสสติ ๑๐ เหล่านี้ก็ได้ตรัสสอนเอาไว้
ให้อบรมปฏิบัติโพชฌงค์ทั้ง ๗ ให้ประกอบ
ด้วยกรรมฐานเหล่านี้ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า
การปฏิบัติกรรมฐานเหล่านี้ทุกข้อ ก็
ให้ปฏิบัติในทางของโพชฌงค์ทั้ง ๗ ดังที่กล่าวมา และแม้
ในหมวดสติปัฏฐานที่ได้แสดงมาแล้ว
ตามหลักธรรมะที่ตรัสไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตร การที่
จะปฏิบัติทำอานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก
การทำสติในอิริยาบถ หรือสัมปชัญญะในอิริยาบถทั้ง ๔
ในอิริยาบถที่ปลีกย่อยออกไป จำแนกละเอียดออกไป
ในการพิจารณากายนี้ว่าประกอบด้วยอาการทั้งหลาย
๓๑ หรือ ๓๒ ล้วนไม่สะอาด ล้วนเป็นของปฏิกูล
การกำหนดพิจารณาธาตุทั้ง ๔
และการกำหนดพิจารณาป่าช้าทั้ง ๙ คือซากศพที่เขาทิ้ง
ไว้ในป่าช้า ที่ตายวันหนึ่ง ตายสองวัน ตายสามวัน
ขึ้นพองมีสีเขียวน่าเกลียด ซากศพที่ถูกสัตว์
ทั้งหลายกัดกิน เป็นต้นว่าถูกกา ถูกนกตะกรุม
ถูกสุนัขบ้าน ถูกสุนัขจิ้งจอก ถูกสัตว์เล็กน้อย
ทั้งหลายกัดกิน ซากศพที่เป็นโครงร่างกระดูก
ยังเปื้อนเลือดเปื้อนเนื้อ ประกอบด้วยเนื้อเส้นเอ็นรึงรัด
และซากศพที่ไม่มีเนื้อแต่ยังมีเส้นเอ็นรึงรัด และซากศพที่
ไม่มีเส้นเอ็นรึงรัด เป็นโครงร่างกระดูก
จึงกระจุยกระจายไปในทิศทั้งหลาย
กระดูกศีรษะก็ไปทางหนึ่ง กระดูกคอ กระดูกแขน
กระดูกขา ก็ไปทางหนึ่ง เหล่านี้เป็นต้น ซากศพที่
เป็นกระดูกมีสีขาวเหมือนดังสังข์ ซากศพที่เกินปีหนึ่งแยก
กันอยู่เป็นกอง ๆ ตลอดจนถึงซากศพที่ผุเป็นผุยผง
อันแสดงถึงว่ากายอันนี้นั้น เมื่อยังดำรงชีวิตอยู่ ก็
เป็นกายที่หายใจเข้าหายใจออก ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถทั้ง
๔ ได้ ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถเล็กน้อยทั้งหลาย
ที่จำแนกออกไปอย่างละเอียดได้ ประกอบด้วยอาการ
๓๑, ๓๒ ซึ่งต่างก็มีอาการ คือการปฏิบัติหน้าที่ของตน ๆ
รวมเข้าก็เป็นธาตุ ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม
หรือเติมอากาสธาตุเป็นธาตุ ๕ กายที่มีชีวิตอยู่ย่อม
เป็นดั่งนี้ แต่ว่าเมื่อธาตุทั้งหลายแตกสลาย กายนี้ก็กลาย
เป็นศพ และเมื่อเป็นศพแล้วก็เป็นอันว่าหยุดหายใจ
การที่จะผลัดเปลี่ยนอิริยาบถทั้งปวงก็เป็นไม่ได้
และอาการ ๓๑, ๓๒ ก็หยุดการทำงาน การทำหน้าที่ ธาตุ
ทั้ง ๔ นั้นก็กระจัดกระจายไป ในทีแรกก็ยังรวมกันอยู่
เป็นศพ เหมือนอย่างศพที่ตายใหม่ ๆ และเมื่อทิ้งเอาไว้
ไม่จัดไม่ทำ ในป่าช้า ก็จะถูกสัตว์ทั้งหลายกัดกิน
หรือว่าเน่าเปื่อยไปเอง ก็จะเหลือแต่โครงร่างกระดูก
ที่ทีแรกก็ยังมีเลือดมีเนื้อมีเส้นเอ็นรึงรัด ต่อไปเลือดเนื้อก็
จะหมดไปไม่มีเส้นเอ็นรึงรัด ร่างกระดูกก็ยังรวมกันอยู่
แต่ครั้นเส้นเอ็นที่รึงรัดนั้นไม่มีเสียอีกแล้ว กระดูกที่รวม
เป็นร่างอยู่ ก็จะกระจัดกระจายไปคนละทิศคนละทาง ก็
เป็นกระดูกที่เป็นสีขาวเกลื่อนกล่นอยู่ แล้วก็จะเป็นกอง
เล็กกองน้อย จนถึงผุป่นไปในที่สุด เหล่านี้ก็
เป็นอันว่ากายของทุก ๆ คนนี้ทีแรกก็ไม่มี แต่เมื่อขึ้นมา
ด้วยชาติคือความเกิด ก็ต้องประกอบด้วยชราความแก่
มรณะความตาย ในที่สุดแล้วก็กลับไม่มี
เหมือนอย่างที่เคยไม่มีมาก่อน ดั่งนี้ก็เป็นการตรัสสอน
ให้พิจารณา เป็นสติที่เป็นไปในกาย อันเรียกว่า
กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
และ
ในการปฏิบัติกายานุปัสสนาสติปัฏฐานนี้
ก็ปฏิบัติทางโพชฌงค์ได้ ด้วยสติที่ระลึกไปดังกล่าวมานี้
ก็เป็นสติสัมโพชฌงค์ แล้วก็มีธรรมวิจัยสัมโพชฌงค์
วิจัยกายนี้เองตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสั่งสอนไว้
และตามที่เป็นไปจริง เพราะก็ตรัสสั่งสอนไว้ชี้เข้ามา
ถึงสัจจะคือความจริงอันมีอยู่ที่ร่างกายของทุก ๆ
คนนี้เอง แล้วก็ตรวจดูจิตใจเมื่อจิตใจอันนี้มีสติที่ตั้งมั่น
ที่ระลึกอยู่ และมีความรู้รวมอยู่เป็นจิตใจที่สงบ ประกอบ
ด้วยสติด้วยปัญญา สติปัญญานี้ก็เป็นกุศลธรรม
หากมีนิวรณ์ข้อใดโผล่ขึ้นมาก็รู้ว่าเป็นอกุศลธรรม
ต้องวิจัยจิตของตัวเองให้รู้ดั่งนี้ แล้วก็ใช้วิริยะคือ
ความเพียร ละอกุศลธรรมที่บังเกิดขึ้น อันใดที่
เป็นกุศลธรรม เป็นตัวสติเป็นตัวปัญญาก็รักษาไว้ เมื่อ
เป็นดั่งนี้แล้ว ก็จะได้ปีติ ได้ปัสสัทธิ ได้สมาธิ ได้อุเบกขา
ในการปฏิบัติกายานุปัสสนาสติปัฏฐานนี้มากขึ้น ๆ
โดยลำดับ ดั่งนี้ก็เป็นการปฏิบัติสติปัฏฐาน
อาศัยโพชฌงค์ทั้ง ๗ นี้ หรือปฏิบัติในโพชฌงค์ทั้ง ๗
นี้ประกอบด้วยสติปัฏฐานข้อกาย ได้ทุก ๆ
ข้อดังที่กล่าวมานั้น
ดั่งนี้คือการปฏิบัติอบรมโพชฌงค์
ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นวิธีละอาสวะอีกข้อหนึ่ง อัน
เป็นข้อสุดท้าย และก็เป็นข้อคลุมทั้งหมด
ซึ่งปฏิบัติทุกข้อที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ก็ใช้วิธีโพชฌงค์ทั้ง
๗ นี้ปฏิบัติได้ ดังที่ตรัสสอนไว้ เพราะฉะนั้น
วิธีละอาสวะที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสั่งสอนไว้นี้จึงเป็นวิธีที่
เป็นประโยชน์ สำหรับผู้มุ่งปฏิบัติธรรมทั้งปวงซึ่งจะพึงใช้
ได้ ตั้งแต่ในขั้นปฏิบัติเบื้องต้น จนถึงที่สุด
ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่า ก็จะประสบความสำเร็จ
ในการสังวรคือป้องกัน กำจัดละอาสวะทั้งปวงได้
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำ
ความสงบสืบต่อไป


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 6 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 21 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร