วันเวลาปัจจุบัน 24 เม.ย. 2024, 01:30  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 6 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ก.ค. 2014, 16:04 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๒๒


อย่าท้อถอยความพากเพียร

กิเลสสู้เราไม่ได้ กิเลสก็ตาย กิเลสประเภทนี้ต้องใช้มัชฌิมาประเภทนี้โต้ตอบ หรือต้านทาน หรือปราบปรามกัน เราจะมีแต่มัชฌิมาเรื่อย ๆ ไปเฉย ๆ มันไม่ได้เรื่อง คำว่าเหมาะสมนี้ คือกิเลสประเภทใดแสดงขึ้นมา นำธรรมะหรือธรรมาวุธ ได้แก่อาวุธคือธรรมนำมาต่อสู้ หรือปราบปรามกับกิเลสประเภทนั้นให้เหนือกว่ามันอยู่เสมอ ถ้าเสมอกันก็พอทรงตัวแล้วกิเลสก็จะชนะเรา ถ้าให้หนักมือคือมีอำนาจมากกว่ากิเลส กิเลสก็อ่อนตัวลงไป พอเห็นผลและเป็นสักขีพยานในการประกอบความเพียรขั้นนี้ ด้วยมัชฌิมาประเภทนี้ ในกาลต่อไปก็ยึดหลักนี้ไว้เป็นเกณฑ์แล้วปราบปรามกันไปเรื่อย ๆ

กิเลสอ่อนตัวลงไปมากเพียงไรเรื่องมัชฌิมาคือ ความเหมาะสมแห่งธรรมที่จะนำไปปราบกิเลสนั้นเป็นไปเอง เวลากิเลสผาดโผน มัชฌิมาคือเครื่องมือนี้ก็ต้องผาดโผน เอากันถึงเหตุถึงผลถึงพริกถึงขิงถึงเป็นถึงตาย ไม่มีการท้อถอย แต่เรื่องของสติปัญญา ที่เรียกว่าเป็นอาวุธสำคัญซึ่งจะต้องนำหน้าเสมอนี้ ปล่อยวางกันไม่ได้

ขณะที่ทุกขเวทนาเกิดขึ้นภายในร่างกาย เพราะการนั่งมากเจ็บนั้นปวดนี้หนักขึ้นทุกที ๆ เราจะใช้แต่เพียงความอดทนต่อทุกขเวทนานี้ ไม่เกิดประโยชน์อะไร ใช้ความอดทนต่อสู้กับอดทน ใช้การพินิจพิจารณาด้วยสติปัญญา คือปัญญาเป็นผู้คุ้ยเขี่ยขุดค้นหาความจริงของทุกขเวทนาที่เกิดขึ้น ด้วยความมีสติเป็นเครื่องควบคุมปัญญาของตนอยู่เสมอไม่ลดละซึ่งกันและกัน ว่าเวทนานั้นเกิดขึ้นมาจากไหน มันจะต้องหมายในส่วนใดส่วนหนึ่งจนได้ว่าเวทนานี้เกิดขึ้น เช่น ที่เข่าบ้าง ที่เอวบ้าง ที่ก้นบ้าง ที่ตะโพกบ้าง

ที่ใดก็ตามที่เด่น ๆ กว่าเพื่อนนั้นน่ะ เป็นจุดที่เราจะต้องดิ่งสติปัญญาเข้าไปตรงนั้น ว่าในจุดนี้ทุกขเวทนาเกิดขึ้นจากอะไรกัน อะไรเป็นทุกข์ เป็นหนังเป็นทุกข์ หรือ เนื้อเป็นทุกข์ หรือเอ็นเป็นทุกข์ หรือ กระดูกเป็นทุกข์ในจุดนี้ ค้นดูเนื้อ กับเทียบเคียงกับเวทนาเป็นรูปลักษณะอันเดียวกันไหม เข้ากันได้ไหม เนื้อเป็นรูปเป็นลักษณะ มีสีสันวรรณะ ทุกขเวทนาไม่ได้มีรูปมีลักษณะมีสีสันวรรณะ แสดงแต่ความเจ็บปวดแสบร้อนอยู่ ตามหลักธรรมชาติของตนเท่านั้น นี่แยกแยะให้เห็นชัดเจนอย่างนี้

การแยกแยะก็ต้องมีสติคอยจดจ่อต่อเนื่องกันกับปัญญา ที่คุ้ยเขี่ยขุดค้นในทุกขเวทนาหรือในเนื้อนั้น ให้เห็นติดต่อสืบเนื่อง ให้เข้าใจติดต่อสืบเนื่อง รู้ติดต่อสืบเนื่องกันอยู่โดยสม่ำเสมอ ไม่ให้ลดละสติกับปัญญาที่จะต้องไปพร้อม ๆ กันในการพิจารณาสภาวธรรมทั้งหลาย มีเวทนาและเนื้อนั้นเป็นต้น

เอา ถ้าแยกไปกระดูก สมมุติว่าเจ็บกระดูกปวดกระดูก เข้าใจว่ากระดูกเป็นทุกข์ ก็ดูทุกข์ให้รู้อย่างชัดเจน แล้วก็ดูกระดูก กระดูกมีรูปมีลักษณะมีสีสันวรรณะ ส่วนทุกข์นี้ไม่มีเช่นเดียวกันหมด เป็นทุกข์อยู่เฉย ๆ เหมือนอย่างทุกข์ที่เราสำคัญว่าเกิดจากเนื้อ หรือเนื้อเป็นทุกข์ หนังเป็นทุกข์ก็ตาม เอ็นเป็นทุกข์ กระดูกเป็นทุกข์ มันก็มีสภาพอันเดียวกัน แต่หนัง เนื้อ เอ็น กระดูกนี้มีรูปลักษณะต่างกันไปเป็นลำดับ ๆ เหตุใดจึงจะต้องเป็นเวทนานั้น เอ้า สมมุติว่าคนตายแล้ว หนังก็ดี เนื้อก็ดี เอ็นก็ดี กระดูกก็ดียังมีอยู่ทุกข์ไม่มี ถ้าหากว่าเป็นอันเดียวกันแล้ว ทุกข์ทำไมจึงไม่มีในขณะที่ตายแล้วนั้น ทั้ง ๆ ที่เนื้อ หนัง เอ็น กระดูก ยังมีอยู่ เมื่อเป็นเช่นนั้นจะถือว่าเป็นอันเดียวกันได้ยังไง นี่ประการหนึ่ง

ประการที่สอง เรื่องของจิตเป็นสำคัญ แยกเข้ามาดูจิตอีก หรือจิตนี่หรือเป็นทุกข์ ถ้ากายส่วนใดส่วนหนึ่งไม่เป็นทุกข์ หรือจิตนี่หรือเป็นทุกข์ ก็ดูจิตกับดูเวทนา กับดูกายมันมีความแตกต่างกันอย่างไร จิตก็มีแต่ความรู้ รู้เท่านั้น ทุกข์เกิดขึ้น หรือทุกข์ดับไป ทุกข์ตั้งอยู่ความรู้ก็มีอยู่เช่นนั้น ทุกข์ไม่เกิดขึ้นมาไม่ปรากฏเลย ทุกข์ประเภทที่กำลังแสดงอยู่เวลานี้ยังไม่เกิดมาความรู้ก็มีอยู่เช่นนี้ หากว่าจิตเป็นทุกข์ ทุกข์มาเป็นจิต เวลาทุกข์ดับไปแล้วจิตก็ต้องดับไปด้วย แน่ะ จิตไม่ควรจะยังเหลือรู้อยู่ นี่ถ้าเป็นอันเดียวกันต้องเป็นอย่างนั้น แต่นี้ทุกข์ดับไปแล้วจิตก็รู้อยู่ ทุกข์ยังไม่เกิดขึ้นมาจิตรู้อยู่ จะถือว่าเป็นอันเดียวกันได้อย่างไร

แยกหาความสำคัญมั่นหมายของตัวสัญญาที่ไปหมายว่าสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งนี้เป็นทุกข์ แล้วคว้าเข้ามาคละเคล้าซึ่งกันและกัน จนกลายไปว่าหนังเป็นทุกข์ เนื้อ เป็นทุกข์ เอ็นเป็นทุกข์ กระดูกเป็นทุกข์ ใจเป็นทุกข์ รวมแล้วว่าเราเป็นทุกข์ เมื่อมันถึงขั้นเราเป็นทุกข์ยิ่งเจ็บมากทุกข์มาก มันต้องแยกแยะให้เห็นอย่างชัดเจนอย่างนี้ นี่เรียกว่ามัชฌิมาประเภทหนึ่ง ที่จะต่อสู้กับทุกขเวทนา ในขณะที่เกิดขึ้นมากๆ เวลาเรานั่งนานหรือเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย

ยิ่งวาระสุดท้ายขณะที่จะตายด้วยแล้ว ทุกขเวทนาจะต้องมาเต็มภูมิของมัน เต็มตัว จนขนาดที่ว่าเราแบกหามไว้ไม่ไหว รับไว้ไม่ได้ถึงต้องตายไปขณะนั้นเอง ทุกข์มาก ถึงขนาดทนไม่ไหวตายไป กับทุกข์ในขณะที่นั่งภาวนาเพียงเท่านี้อันไหนมากกว่ากัน หากว่าเราไม่สามารถที่จะรู้แจ้งเห็นจริงด้วยการพิจารณาทุกข์ในขณะนี้แล้ว เราจะมีความสามารถรู้แจ้งเห็นจริงในทุกขเวทนาที่จะเกิดขึ้นในวาระสุดท้ายคือ ขณะที่ตายนั้นได้อย่างไร ถ้าเราเหลวตั้งแต่บัดนี้การตายของเราก็ต้องตายด้วยความเหลวไหล ไม่มีสาระอะไรที่เราจะยึดได้เป็นหลักเป็นเกณฑ์

ถ้าเราได้พิจารณารู้แจ้งเห็นจริงในทุกขเวทนาที่เกิดขึ้น รู้แจ้งเห็นจริงในกาย ในอาการของกาย เช่น เนื้อ หนัง เอ็น กระดูกที่มีอยู่ทั่วสรรพางค์ร่างกายนี้อย่างชัดเจนนี้ด้วยปัญญา และรู้ว่าจิตเป็นจิต อาการแต่ละอาการเป็นแต่ละอาการ ซึ่งเป็นความจริงของมันแต่ละอย่าง ทุกขเวทนาก็รู้ตามความเป็นจริงของมันแต่ละอย่าง เมื่อต่างอันต่างจริงด้วยการพิจารณาทางด้านปัญญานี้แล้ว เราก็สามารถแยกแยะกันได้ ความทุกข์แม้จะไม่ดับไปก็ไม่สามารถจะทำความกระทบกระเทือนแก่จิตใจให้ห่อเหี่ยวเดือดร้อนวุ่นวายไปได้ เราอยู่อย่างสบาย อยู่อย่างอาจหาญ อยู่อย่างมีเกราะหุ้มหัวใจเรา ต่างอันก็ต่างจริงไปเสีย เมื่อต่างอันต่างจริงแล้วไม่กระทบกันกายก็สักแต่ว่ากาย เวทนาสักแต่ว่าเวทนา จิตสักแต่ว่าจิต ต่างอันต่างจริง นี่ได้เห็นเหตุเห็นผลด้วยสติปัญญา นี่มัชฌิมาประเภทหนึ่งที่เราจะต้องนำมาใช้

หรือขณะที่กิเลสตัณหาอาสวะราคะตัณหาเป็นต้น มันแสดงขึ้นมาด้วยความรุนแรงเราก็ต้องนำสิ่งที่แก้กันมาอย่างรุนแรงเหมือนกัน ยกข้อเปรียบเทียบหรือว่ายกนิมิตขึ้นมา ยกอสุภะอสุภังขึ้นมา เอาที่สวย ๆ งาม ๆ นั่นน่ะ มาตั้งลงตรงหน้านี้แล้ว ให้ตายต่อหน้าเราให้พุพองขึ้นมาให้เห็นแล้วแตกเน่าเฟะให้เห็นต่อหน้าต่อตา แร้งกาหมากินเต็มไปหมด แล้วมันจะหาความกำหนัดยินดีมาจากไหน นี่เรื่องมัชฌิมาให้พากันเข้าใจเอาไว้อย่างนี้

ต้องหาเครื่องมือให้เหมาะสมกับกิเลสประเภทต่างๆ ที่แสดงตัวขึ้นมา จะเป็นลักษณะผาดโผนขนาดไหน ชนิดหนักเบาขนาดไหนต้องใช้เครื่องมือให้ทันกันไม่เช่นนั้นไม่ได้นะ เรื่องอสุภะอสุภังก็เหมือนกัน เอาให้ทันเหตุทันผลกัน ให้ได้เห็นประจักษ์ในจิตใจของเรา แต่ละประเภท ๆ ของกิเลส แต่ละประเภท ๆ ของมัชฌิมา ซึ่งเป็นความเหมาะสมในการแก้กัน ในการปราบปรามกันแล้ว เราจะอยู่เป็นสุข

นี่ละธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่เรียกว่ามัชฌิมามีหลายขั้นหลายภูมิ จนได้เป็นหลักเป็นเกณฑ์แล้ว มัชฌิมาปฏิปทาที่จะปฏิบัติต่อกิเลสประเภทต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่ อันเป็นส่วนละเอียดยิ่งกว่านี้ ก็เหมาะสมกันไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งว่าไหลรินอยู่ทั้งกลางคืนกลางวันเพราะการพิจารณา เพราะกิเลสละเอียด สติปัญญาก็ละเอียดไปตามกัน ตามกันทันก็คือ เรื่องของสติปัญญา ที่จะตามกิเลสทัน แล้วออกมาในแง่ใด แสดงมาในท่าใด สามารถที่จะตามกันทัน แก้กันหลุดไปได้ให้นำมาใช้ ขอให้พากันพิจารณากันให้ดี

อย่าอยู่เฉย ๆ อย่าให้เป็นความท้อแท้อ่อนแอ อย่าคิดอนาคตว่าจะเป็นความลำบากลำบนในการประกอบความเพียร ถ้าคิดให้คิดว่า กิเลสนี้จะต้องเหยียบย่ำทำลายเราไปทุกภพทุกชาติในอนาคต ตั้งแต่ปัจจุบันนี้เป็นต้นไปหาที่สิ้นสุดไม่ได้ ถ้าเราแก้และถ้าเราปราบมันไม่อยู่แล้วมันจะเป็นตัวเจ้าอำนาจวาสนา บังคับจิตใจของเราให้ไปเกิดในสถานที่ต่าง ๆ ตามแต่ยถากรรมของตัวเอง ที่ไม่เป็นท่าให้กิเลสเหยียบย่ำทำลายเอาอย่างนั้น นี่ถ้าคิดอนาคตให้คิดอย่างนี้ วงปัจจุบันเท่านั้นเป็นสำคัญ เราจะพยายามตั้งเนื้อตั้งตัว ตั้งจิตใจของเราให้ดีไม่ลดละท้อถอย

ธรรมะทั้งหมดที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงมาแล้วนี้ พระองค์ทรงรับรองผลทุกสิ่งทุกอย่างแล้วด้วยพระองค์เอง ทรงบำเพ็ญในเบื้องต้น ก็พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญ จนเห็นเหตุเห็นผลโดยลำดับถึงขั้นบริสุทธิ์พุทโธ เพราะอำนาจแห่งธรรมเหล่านี้พระองค์ก็เห็นผลมาแล้ว เมื่อได้มีการทดสอบด้วยพระองค์เองอย่างประจักษ์แล้ว จึงนำมาสั่งสอนพวกเรา แล้วธรรมะเหล่านี้จะผิดไปที่ตรงไหน กิเลสไม่เหนือธรรมไปได้ กิเลสประเภทใดก็ตาม ธรรมเป็นเครื่องครอบกิเลสไว้แล้วทุกประเภท ถ้าเรานำมาใช้ให้เหมาะสมกับกิเลสประเภทนั้น ๆ จะต้องระงับดับกันได้โดยไม่ต้องสงสัย นี่เป็นหลักใหญ่ที่เราจะต้องนำมาคิดมาดำเนิน ให้มีความอุตส่าห์พยายาม

อย่าเห็นสิ่งใดว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่าน่าเพลิดเพลิน ยิ่งกว่าอรรถกว่าธรรม ยิ่งกว่าความหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ ซึ่งเป็นเครื่องกดถ่วงทรมานจิตใจ นี่เป็นจุดสำคัญ การหลุดพ้นไปจากกิเลสโดย ประการทั้งปวงเท่านั้น เป็นความสุขที่พึงหวังและเป็นความสุขอนันตกาล หมายถึงว่าไม่มีกาลไม่มีเวลาเป็นความสุขตลอดอนันตกาลเลย ให้พากันตั้งใจคิดพิจารณา นี่ไม่ได้ประชุมมานานแล้วผมก็เป็นห่วงหมู่เพื่อน มันก็เรื่องอย่างนั้นแหละ มีนั้นมีนี้มาเรื่อย ๆ นี่วันนี้ก็เลยต้องมาพูด ถึงจะเหนื่อยผมก็ทนเอา กับแขกคนมาเกี่ยวข้องกับเรา แบ่งคนนั้นแบ่งคนนี้มันก็เหน็ดก็เหนื่อย หลังจากนั้นก็มาอบรมพระเณร เราภาระมาก ให้ตั้งหน้าตั้งตา

ผมสั่งสอนหมู่เพื่อนด้วยความบริสุทธิ์ใจ ด้วยความเต็มอกเต็มใจ ไม่มีปิดบังลี้ลับอุบายวิธีการใดๆ ที่จะปราบสิ่งที่เป็นข้าศึกต่อจิตใจของผู้ฟังแล้ว นำมาสั่งสอนด้วยตนเอง ที่ได้ปฏิบัติมาแล้วเป็นผลอย่างไร ถูกต้องดีงามประการใดบ้าง ก็นำมาชี้แจงให้ทราบ พากันตั้งใจประพฤติปฏิบัติอย่าท้อถอยความพากเพียร

สติเป็นสำคัญให้พยายามตั้งเสมอ อย่าเผลอตัว เวลาเข้ามาเกี่ยวข้องกันมักจะเผลอตัว เช่นมาฉันน้ำร้อนหรือเดินไปด้วยกันอะไรเหล่านี้ ทำการทำงานด้วยกัน มักจะเผลอตัวจนกลายเป็นคึกคะนองไปก็มี อย่าให้มีในวงผู้ปฏิบัติซึ่งเห็นภัยในวัฏสงสาร เห็นภัยในกิเลส การอยู่ การเดิน การนั่ง การนอน การขบการฉันให้เห็นภัยกิเลสอยู่เสมอ อย่าฉันด้วยความเพลิดเพลิน อย่ายืน เดิน นั่ง นอน ด้วยความเพลิดเพลิน ด้วยความลืมตัวไม่ใช่ทางของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ทางดำเนินของผู้ที่จะพ้นจากทุกข์ ให้จำไว้ให้ดี อยู่ที่ไหนให้มีสติ อย่าลืมเนื้อลืมตัว ให้มีสติประจำตัวอยู่เสมอ ตั้งให้ดีสติ

เราอย่าให้ไปเสียเวล่ำเวลากับสิ่งใด ซึ่งเราเคยคิดเคยปรุงมาแล้วมากมายก่ายกองหาประมาณไม่ได้ วัฎฎะนี้ของสิ่งที่มีอยู่ในโลกนี้ มันก็มีแต่ความคิดความปรุงที่มาก่อกวนวุ่นวายเราให้ได้รับความเดือนร้อน เพราะความคิดนั้น ๆ เราก็เคยเห็นโทษแล้วไม่ใช่เหรอ เราจะไปเสียดายคิดมันอะไรมากมายนักหนา สิ่งที่ถูกเป็นโทษเป็นกรรม เพราะความคิดประเภทใดมาแล้ว ให้ตั้งความเข็ดหลาบเข้าสำหรับตน ให้พยายามหลบหลีกปลีกความคิดประเภทนั้นอยู่เสมอ และพยายามปราบปรามสิ่งที่มันจะเป็นข้าศึกเพราะความคิดนั้น ๆ ปรุงขึ้นมาใหม่เรื่อย ๆ ให้เปิดทางตั้งแต่ความคิดทางด้านธรรมะขึ้น ธรรมะจะได้ปรากฏขึ้นมา แล้วความคิดทั้งหลายที่เป็นฝ่ายสมุทัยนั้นจะได้สยบตัวลงไป ๆ ความคิดนี้จะได้พุ่งตัวออกมาเป็นอรรถเป็นธรรม แลัวก็แก้กิเลสอาสวะได้

ความที่มีจิตสงบเป็นลำดับไปนั่นแหละ เป็นผลแห่งการปฏิบัติของเรา เราอย่าตำหนิวาสนามากวาสนาน้อย กิเลสมันไม่ได้คำนึงถึงอำนาจวาสนาของใคร มีมากมีน้อยมันแสดงโทษ แสดงพิษภัยให้เห็น ด้วยกันทั้งนั้นแหละ ให้เห็นว่ากิเลสนี้เป็นตัวภัย อย่าไปคิดถึงอำนาจวาสนาอะไรที่ไหน จะมาแก้กิเลสที่เป็นตัวภัยนี้ให้พันไปได้ นอกจากความเพียรมีสติปัญญา เป็นเครื่องมืออันสำคัญเท่านั้น นี่เป็นหลักเกณฑ์อันสำคัญที่จะปราบปรามกิเลส อย่าไปคำนึงถึงอำนาจวาสนามีมากน้อยอะไร จะทำให้ท้อถอยอ่อนแอ ทางด้านจิตใจแล้วก้าวไปไม่รอดนะ เอาให้เข้มแข็งนักปฏิบัติ

ได้ยินตั้งแต่พ่อแม่ครูอาจารย์ท่านเคยแสดงให้ฟังเวลาที่ท่านไปประพฤติปฏิบัติ โอ๊ย เราสลดสังเวช ทั้งสงสารท่าน เอาจริงเอาจัง เอาเป็นเอาตายเข้าว่า มุ่งต่ออรรถต่อธรรมอย่างแท้จริง ทั้ง ๆ ที่ไม่มีผู้ใดเป็นผู้แนะนำสั่งสอนท่าน ท่านพยายามบึกบึนไปตามแบบแผนตำรับตำรา ซึ่งวางไว้กลาง ๆ นั่นแหละ เอาจนทะลุปรุโปร่งไปได้ กลายมาเป็นครูบาอาจารย์ที่อัศจรรย์ในโลกเราสมัยปัจจุบันนี้ ก่อนที่ท่านจะปรากฏองค์ของท่านว่าเป็นเกียรติแก่พระศาสนา หรือเป็นที่เคารพเลื่อมใสของประชาชนทั่ว ๆ ไป ทั้งพระเณรและฆราวาส ก็เพราะท่านเอาจริงเอาจังเอาตายเข้าแลกทีเดียว ท่านจึงได้เป็นผู้วิเศษวิโส แล้วหลุดพ้นจากทุกข์โดยประการทั้งปวง หมดแล้วเรื่องสมมุติทั้งปวงไม่มีที่จะไปเกาะท่านติดแล้ว ตั้งแต่นี้ต่อไปตลอดอนันตกาล นี่ท่านเรียกว่านิพพานเที่ยง

กิเลสเป็นของไม่เที่ยงเพราะเป็นสมมุติ ย่อมมีสุขมีทุกข์ มีได้มีเสีย พาให้คนดีใจเสียใจอยู่อย่างนี้ทำนองนี้เรื่อย ๆ ไป เมื่อแก้สิ่งเหล่านี้แล้ว จิตไม่ต้องบอกว่าเที่ยงหรือไม่เที่ยง นิพพานเที่ยงหรือไม่เที่ยง มีกิเลสเป็นเครื่องแทรกสิงเท่านั้น ทำให้จิตเป็นลุ่ม ๆ ดอน ๆ สูง ๆ ต่ำ ๆ ไม่สม่ำเสมอ เดี๋ยวว่าสุข เดี๋ยวว่าทุกข์ เดี๋ยวว่าผ่องใส เดี๋ยวว่าเศร้าหมอง เดี๋ยวว่ายุ่งนั่นยุ่งนี่ เดี๋ยวว่าสงบ มีแต่เรื่องของกิเลสกวนทั้งนั้น

พอกิเลสสงบตัวลงเพราะความเพียรของเรา ใจก็สงบ ถ้าความเพียรหนักเข้า ๆ กิเลสก็สงบตัวลงไป ๆ ถ้าแก้กิเลสประเภทใดได้แล้วกิเลสประเภทนั้นก็หมดไป ๆ ยังเหลืออันใดก็แก้ลงไป ๆ จนกระทั่งไม่มีกิเลสตัวใดเหลืออยู่ภายในจิตใจแล้ว เราไม่ต้องไปหาความสุขที่ไหนแหละ เราทราบได้ชัด ๆ ว่า อ๋อ เรื่องหาความสุขไม่ได้นี้ก็เพราะกิเลสมันกีดมันกันมันบีบมันคั้น ให้มีตั้งแต่ความทุกข์ได้แบกได้หามอยู่ตลอดเวลาอกาลิโก ภพไหนชาติไหนมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้

พอได้สิ้นจากความบีบคั้นของกิเลส กิเลสได้เสร็จสิ้นไปจากจิตใจแล้ว ไอ้เรื่องความสม่ำเสมอของจิต ไอ้เรื่องอกาลิกจิต อกาลิกธรรม หรือ ธมฺโม ปทีโป ความสว่างกระจ่างแจ้งของธรรมเป็นความสม่ำเสมอ คงเส้นคงวานั้นไม่ต้องถาม มีอยู่กับทุกคน ให้พยายามเอาให้ได้ นี้แหละเป็นสมบัติอันล้นค่ายิ่งกว่าสมบัติอื่นใดในโลกที่รักที่สงวนกัน

โลภก็โลภมาก อยากได้ก็อยากได้มาก อะไร ๆ มีแล้วก็อยากมี เช่นมีหน้ามีตามีแล้วก็อยากมี ความโลภมันเป็นอย่างนั้น ความมักใหญ่ใฝ่สูงก็คือเรื่องของกิเลส ความโลภก็คือเรื่องของกิเลส ความโกรธก็คือเรื่องของกิเลส ความหลงก็คือเรื่องของกิเลส ความทุกข์ลำบากรำคาญทั้งกายทั้งใจ ก็เพราะเรื่องของกิเลสไม่ใช่เรื่องของธรรม เรื่องของธรรม มีความทุกข์ก็ทุกข์เพื่อจะเอาความสุข ทุกข์เป็นต้นทุนสุขก็เป็นกำไรขึ้นมา ไม่ใช่ทุกข์เฉย ๆ ทุกข์อย่างฉิบหายป่นปี้ไม่มีอะไรเป็นเครื่องตอบแทนเลยเหมือนกิเลสทำลายคน ผิดกันอย่างนี้

เวลาประกอบความพากเพียร เอ้า ทุกข์ก็ทุกข์ แต่ผลปรากฏขึ้นมาเรื่อย ๆ จิตใจมีความเกษมสำราญขึ้นจนกระทั่งเต็มเม็ดเต็มหน่วยแล้วที่นี่ นั่นละหมดละที่นี่ภาระของเราที่เคยต่อสู้กับกิเลสมาเป็นเหมือนกงจักร เหมือน ๆ ธรรมจักรหมุนติ้วทั้งวันทั้งคืน ยืน เดิน นั่ง นอน เว้นแต่หลับเท่านั้นต่อสู้กันขนาดนั้น พอข้าศึกดับลงไปแล้วเครื่องมือหรือวิธีการที่เราดำเนิน เป็นเหมือนกงจักรนี้ก็ระงับตัวลงไปทันที เพราะหมดสิ่งที่ต่อสู้ สิ่งที่ทำลาย สิ่งที่รบราซึ่งกันและกันแล้ว

นั้นแหละสงครามธรรมระหว่างกิเลสกับจิตได้ชัยชนะกันลงแล้ว เป็นอันว่า เอกญฺจ เชยฺยมตฺตานํ ส เว สงฺคามชุตฺตโม การชนะตนเพียงคนเดียวเท่านั้น คือชนะกิเลสในหัวใจของตนเพียงคนเดียวเท่านั้น ประเสริฐสุดยิ่งกว่าการชนะในสงคราม และยิ่งกว่าการ ชนะใครๆ ทั้งหมดในโลกนี้กี่ร้อยพันทวี เอาอันนี้ให้ได้


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ก.ค. 2014, 16:16 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เทศน์อบรมพระ
ณ วัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี
เมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๐


จับสติไว้ให้ดี

วันนี้เป็นวันทอดกฐิน เสร็จเรียบร้อยแล้ว พระเณรองค์ใดที่ต้องการจะออกไปเที่ยววิเวกหาความสงัดในการบำเพ็ญเพียรในที่ต่างๆ ตามป่าตามเขาลำเนาไพรก็พากันไปได้ ด้วยความตั้งอกตั้งใจจริงๆ ไม่ใช่สักแต่ว่าไปกรรมฐานเฉยๆ ใช้ไม่ได้นะ การไปเที่ยวกรรมฐานก็คือกรรมฐานภายใน อวัยวะ ๓๒ นี้เป็นที่ท่องเที่ยวกรรมฐาน นับแต่เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ลงไปถึงอาการ ๓๒ ก็เป็นกรรมฐานภายใน เที่ยวกรรมฐานภายนอกไปอยู่ตามป่าตามเขา ก็เพื่อจะพิจารณากรรมฐานภายในของเราให้สะดวกราบรื่นต่อไป เพราะไม่มีอะไรรบกวน

การปฏิบัติธรรมมรรคผลนิพพานอยู่กับผู้ปฏิบัติ ไม่ได้อยู่กับดินฟ้าอากาศ ไม่ได้อยู่กับมืดกับแจ้ง อยู่กับการปฏิบัติของเรา ถ้าเรามีการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ อยู่ที่ไหนก็เป็นการตามเสด็จพระพุทธเจ้าทุกๆ ฝีก้าว ถ้าปราศจากสติเป็นเรื่องควบคุมความเพียรให้ห่างไกลไปแล้วนั้น เรียกว่าห่างเหินจากพระพุทธเจ้าไปแล้ว ผู้ที่มีสติติดแนบอยู่กับความพากเพียร เป็นผู้ตามเสด็จพระพุทธเจ้าทุกอิริยาบถ ให้พากันจำเอาไว้

เรื่องสติเป็นของสำคัญมากทีเดียว สติ สพฺพตฺถ ปตฺถิยา สติจำต้องปรารถนาในที่ทั้งปวง ไม่มีคำว่ายกเว้นที่สติจะไม่ติดแนบกับตัว นี่ละความเพียรอยู่กับสติ ประกอบหน้าที่การงานภายนอกก็ให้มีสัมปชัญญะ มีสติติดตัวอยู่เสมอ การงานทั้งหลายก็ไม่ค่อยผิดพลาด ถ้าสติได้ห่างจากตัวเมื่อไรแล้วภายในก็ผิดพลาด ภายนอกก็ผิดพลาด หาความถูกต้องดีงามไม่ได้ ให้พากันระมัดระวัง เกี่ยวกับเรื่องสติเป็นสำคัญ สตินี้เป็นเครื่องรับรองยืนยันมรรคผลนิพพาน

คำว่าสติๆ นี้ตั้งแต่พื้นๆ ที่ล้มลุกคลุกคลาน ตั้งสติตั้งแล้วล้มๆ ขึ้นไป จนกระทั่งถึงสติติดต่อสืบเนื่องกันเป็นลำดับลำดา จนกลายเป็นสติปัญญาอัตโนมัติ แล้วกลายเป็นมหาสติมหาปัญญา นั่นคือทางก้าวเดินเพื่อมรรคผลนิพพานไม่สงสัย ท่านผู้ปฏิบัติธรรมให้มีสติติดแนบอยู่กับความเพียร อย่าสักแต่ว่าทำ ทำภายนอกก็ดี ภายในก็ดี ถ้าสติไม่ดี ดูงานการภายนอกเหลวไหล ผิดๆ พลาดๆ ไป ไม่ค่อยถูกต้องแม่นยำ ถ้าสติอยู่กับตัว การงานภายนอกก็เรียบร้อยดีงามไม่ค่อยผิดพลาด การงานภายในคือสติกับจิตก็จับกันติดแนบสนิทไม่ผิดพลาด เป็นการตั้งฐานเพื่อความสงบเย็นใจไปได้โดยลำดับ สติเป็นของสำคัญ สตินี่ตั้งได้ไม่สงสัย ขอให้มีสติเถอะ

ผู้มีสตินั่นแหละเป็นผู้จะตั้งรากตั้งฐานแห่งความสงบเย็นใจ ตั้งแต่พื้นๆ คือความสงบเย็นใจ เรียกว่าสมถธรรมคือความสงบใจ จากนั้นก็ขึ้นเป็นสมาธิความแน่นหนามั่นคงของใจ หลังจากนั้นแล้วก็คลี่คลายออกเป็นทางด้านปัญญา สมาธิปัญญา ออกทางด้านปัญญา พิจารณาใคร่ครวญถึงธาตุถึงขันธ์ ป่าช้านอกป่าช้าใน ป่าช้านอกคือสถานที่คนล้มคนตาย เผาหรือฝังกันเกลื่อนอยู่ ดังที่เราเห็นในที่ทั่วไป เฉพาะทุกวันนี้มีที่เมรุ ให้ดูที่เมรุนั่นละ ไม่มีป่าช้าเหมือนอย่างแต่ก่อน ที่เผาศพเผาเมรุนอกบ้านนอกเรือนไม่ค่อยมี เดี๋ยวนี้ใครตายก็ขนเข้าเมรุๆ เผากันในวัดในวาอย่างงั้นละ เดี๋ยวนี้ป่าช้าอยู่ในเมรุไม่อยู่นอกเหมือนแต่ก่อน มีเมรุเป็นป่าช้าเผาศพคน นั่นละเที่ยวป่าช้าให้ดู

การเกิดกับการตายนี้เป็นของคู่กัน ใครจะไม่อยากตายเท่าไรก็ติดอยู่กับตัวแล้ว ไม่อยากก็ได้ตาย เกิดแล้วต้องตายเป็นของคู่ควรกัน แต่การพิจารณาตัวเองให้จิตใจมีทางหลุดพ้นไปจากกองทุกข์ทั้งหลายนี้เป็นเรื่องของธรรม ให้มีสติมีปัญญาใคร่ครวญทางด้านจิตใจของตนอยู่เสมอ จะเป็นความพากความเพียรไปตลอด ถ้าไม่มีสติแล้วไม่มีความเพียร ความเพียรขาด สติขาดเมื่อไรความเพียรขาดเมื่อนั้น เราอย่าเข้าใจว่าเดินจงกรมหย็อกๆ หรือนั่งสมาธิเป็นหัวตออย่างนี้ว่าเป็นผู้มีความเพียร ถ้าไม่มีสติ จะนั่งจนตายก็ไม่เกิดประโยชน์ เดินจงกรมจนขาหักก็ไม่ได้เรื่องได้ราว อยู่กับสติเป็นสำคัญ

ถ้าสติติดแนบอยู่กับความเพียรแล้ว อยู่ที่ไหนก็เป็นความเพียรตลอด สตินี้ตั้งได้ ตั้งแต่สมถธรรมคือความสงบใจ หนีจากสติไม่ได้เลย นี่ได้พิจารณาได้ทำมาแล้ว จึงได้นำมาสอนท่านทั้งหลายด้วยความแม่นยำ ไม่ผิดพลาดไปได้ สตินี้ตั้งให้ดี คำว่าตั้งสติ ไม่ใช่ว่าตั้งแล้วผิดๆ พลาดๆ เผลอๆ เผลๆ ใช้ไม่ได้อย่างงั้น ตั้งสติต้องเอาจริงเอาจัง ลงว่าได้ตั้งสติแล้ว สตินี้ละจะเป็นธรรมคุ้มครองจิตใจของเราให้เป็นความสงบเย็นใจลงไปได้เป็นลำดับลำดา ถ้าขาดสติเมื่อไร กิเลสตัณหาจะเข้าแทรกแซงและทำลาย กลายเป็นความฟุ้งซ่านรำคาญ ทำความพากเพียรก็ไม่ได้หลักได้ฐาน ได้กฎได้เกณฑ์อะไร ถ้าลงสติขาดจากความเพียรแล้ว ความเพียรไม่เป็นท่า

เดินถ้าขาดสติแล้วก็สักแต่ว่าเดิน นั่งถ้าขาดสติแล้วก็สักแต่ว่านั่งไม่เกิดประโยชน์อะไร เพราะฉะนั้นการนั่ง ยืน เดิน นอน ด้วยความมีสตินี้เรียกว่าเป็นผู้มีความเพียรอยู่ตลอดเวลา ความเพียรอยู่ที่สติ ไม่อยู่ที่ไหนนะ ให้จับสติไว้ให้ดี ถ้าสติไม่เผลอจากใจเมื่อไรเป็นความเพียรอยู่ตลอดอิริยาบถ ไม่ว่ายืนว่าเดินว่านั่งว่านอน เว้นแต่ขณะหลับเท่านั้น สติมีอยู่ตลอดเวลา จะตั้งรากฐานของจิตให้เข้าสู่ความสงบเย็นใจได้เป็นลำดับลำดา จากนั้นจิตแน่นหนามั่นคงเข้าไปก็เป็นสมาธิ สมาธิคือความตั้งมั่นแน่นหนามั่นคง สมถะคือความสงบเย็นใจ จากนั้นไปก็เป็นสมาธิความแน่นหนามั่นคงของใจ จากความแน่นหนามั่นคงของใจแล้วก็ใช้ปัญญาพิจารณา

การถอดถอนกิเลสไม่ใช่ถอดถอนด้วยสมาธิความสงบใจเท่านั้น ถอดถอนด้วยปัญญา สมาธินี้เป็นธรรมอิ่มอารมณ์ สมาธิจิตสงบเย็นใจ ไม่หิวโหยในอารมณ์ทั้งหลาย เป็นจิตอิ่มอารมณ์ จิตอารมณ์แล้วจะพาทำการทำงานคือคลี่คลายดูสกลกายทั้งข้างนอกข้างในด้วยปัญญาก็เป็นไปได้สะดวก จิตก็ทำงานให้ถ้ามีสติควบคุม นี่ละท่านว่าเมื่อจิตสงบแล้วให้ใช้ปัญญาพินิจพิจารณาสกลกาย ท่านสอนพระบวชใหม่ว่าเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ท่านสอนเพียงเท่านี้ก่อนตามเวลาที่มีเพียงแค่นั้น จากนั้นเราจะพิจารณาใคร่ครวญเข้าไปถึงอาการ ๓๒ ภายในร่างกายของเรานี้ได้ตลอดทั่วถึงหมด นี่เป็นทางเดินของกรรมฐาน เดินตามเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ

จากนั้นก็เดินในอาการ ๓๒ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก หัวใจ แล้วก็เข้าไปภายในตับ ไต ไส้ พุง ดูไปหมด ทั้งเขาทั้งเรา ทั้งสัตว์ทั้งบุคคล หาความสะอาดไม่ได้ คนเราสกปรกที่สุดสัตว์สกปรกที่สุด อะไรเข้ามาแปดเปื้อนหรือสัมผัสสัมพันธ์กับร่างกายนี้ ผ้าแม้จะทอใหม่ๆ เอามานุ่งห่มสัมผัสสัมพันธ์กับร่างกายนี้ไม่ได้กี่วันแหละ เป็นความสกปรกขึ้นมา ต้องซักต้องฟอก ต้องชะต้องล้าง เพราะร่างกายนี้เป็นตัวสกปรก เมื่อสิ่งใดเข้ามาคละเคล้าย่อมสกปรกไปตามๆ กัน นี่ละเป็นกรรมฐานอันหนึ่ง ที่เราทั้งหลายจะได้พิจารณากรรมฐานเหล่านี้

ตัวสกปรกคือตัวร่างกายของเรา สิ่งเข้ามาเกี่ยวข้องกับร่างกาย ไม่ว่าที่อยู่ที่หลับที่นอนหมอนมุ้งเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ถ้าเข้ามาสัมผัสสัมพันธ์กับร่างกายของมนุษย์แล้วกลายเป็นของสกปรกไปตามๆ กันหมด ต้องเช็ดต้องล้าง ต้องถูต้องซักต้องฟอก ต้องอาบต้องล้างอยู่ตลอดเวลา เพราะร่างกายนี้สกปรก ให้เอาอันนี้เป็นเครื่องพิจารณากรรมฐาน สิ่งใดก็ตามตามปรกติเขาสะอาด เขาไม่ได้สกปรก พอเข้าไปเกี่ยวข้องกับร่างกายของมนุษย์เท่านั้น ต้องเช็ดต้องล้างต้องถู ต้องซักต้องฟอกต้องอาบกันอยู่อย่างนี้แหละ ไม่เช่นนั้นไม่ได้

เพราะร่างกายเป็นตัวสกปรก สกปรกแท้ๆ อยู่ภายใน มันซึมซาบออกมาทางภายนอก ทางผิวหนัง ผิวหนังก็กลายเป็นของสกปรก อะไรเกี่ยวกับผิวหนังก็สกปรก เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เวลาเข้ามาเกี่ยวข้องกับผิวหนังของเรานี้แล้ว จะกลายเป็นของสกปรกด้วยกัน นี่คือการพิจารณากรรมฐาน ให้พิจารณาอย่างนี้ พิจารณาแล้วพิจารณาเล่า ซ้ำๆ ซากๆ ให้เดินกรรมฐานอยู่ในร่างกายของเราจนมีความชำนิชำนาญ คล่องแคล่วแกล้วกล้า แล้วมันจะหมุนเข้าไปสู่ความละเอียดเอง คือร่างกายนี่เป็นฐานที่ตั้งแห่งกรรมฐานในเบื้องต้น พิจารณาตั้งแต่ผมขนเล็บฟันหนังเนื้อเอ็นกระดูก เข้าไปหาตับไตไส้พุง จนกระทั่งมันรู้ชัดทุกสิ่งทุกอย่างในบรรดาด้านวัตถุของร่างกายนี้แล้วมันจะปล่อยวาง มันปล่อยร่างกายนี้หมดแล้ว จะเป็นคุณธรรมหรือความว่างขึ้นมาอย่างหนึ่ง เรียกว่าเป็นนามธรรม

ร่างกายนี้ไม่ใช่จะพิจารณาตลอดไปนะ พิจารณาถึงความอิ่มพอแล้วอิ่ม ร่างกายหมดความพิจารณาเรียบร้อยแล้ว มันจะซึบซาบเข้าสู่นามธรรม คือเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ความคิดความปรุง มันจะออกจากใจ คิดดีก็ตาม คิดชั่วก็ตาม จะเกิดขึ้นจากใจ เมื่อมีสติแล้วก็ทำงานอยู่ที่การเกิดการดับของสังขารคือความคิดความปรุง เกิดแล้วเกิดเล่า ดับแล้วดับเล่า สติจับกันอยู่ที่นั่น มันจะเป็นวงแคบเข้าไปหาความเกิดความดับของสังขารคือความคิดปรุง ในเบื้องต้นพิจารณาร่างกายเสียก่อน เมื่อร่างกายหมดปัญหาแล้ว มันจะไม่พิจารณา มันอิ่มตัว คือพิจารณาร่างกายอิ่มตัวแล้ว มันจะไม่เอาแหละที่นี่ มันจะพิจารณาแต่ทางนามธรรม ให้พากันเข้าใจ

การพิจารณาร่างกายนี้ ถึงความอิ่มพอ อิ่ม พอ ไม่ยอมพิจารณา ขั้นนี้เรียกว่าผู้พิจารณาร่างกายอิ่มพอทุกอย่างแล้ว ก้าวเข้าแล้วในขั้นอนาคามี ไม่บอกก็รู้ ละกามราคะได้จากการพิจารณาร่างกายอิ่มพอเรียบร้อยแล้ว กามราคะก็อิ่มพอไปตามๆ กัน เพราะกามราคะอยู่กับร่างกายนี้ นี่เรือนร่างของกามราคะ ท่านจึงสอนให้พิจารณาอันนี้ให้มาก จนกระทั่งอิ่มพอแล้ว เรื่องกามราคะมันก็อิ่มพอไปตามๆ กัน จากนั้นก็พิจารณาเรื่องความเกิดความดับ

ทั้งๆ ที่ร่างกายนี้พิจารณาพอแล้ว ก็เอาสังขารร่างกายนี้ซักฟอก หรือเอาสังขารร่างกายนี้พิจารณาซ้ำๆ ซากๆ อยู่นั้นแหละ จนกระทั่งสังขารร่างกายนี้ไม่มีให้พิจารณา นี่ท่านว่าพิจารณาร่างกาย ร่างกายเวลามันพอ มันไม่เอา แต่ก็ต้องเอาร่างกายนี้เป็นเครื่องฝึกซ้อมจิตใจให้ชำนาญทางด้านนามธรรม พอจากนี้แล้วก็เข้าสู่ด้านนามธรรม ปรุงขึ้นมานี้ไม่มี อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา อสุภะอสุภัง ไม่มี พอปรุงขึ้นมาดับพร้อมๆ พิจารณาไม่ทัน นี่เรียกว่าผ่านแล้วเรื่องร่างกาย แต่ต้องเอาร่างกายเป็นเครื่องฝึกซ้อมให้จิตชำนาญทางด้านนามธรรม ต่อไปนั้นก็มีแต่ความเกิดความดับภายในจิต สังขารปรุงขึ้นดีก็ดับ ชั่วก็ดับ พิจารณาย้อนไปย้อนมาอยู่ภายในนั้น นี่เป็นขั้นๆ อย่างนี้นะการพิจารณากรรมฐาน

ในเบื้องต้นร่างกายนี้ปล่อยไม่ได้ ต้องถือร่างกายนี้เป็นหินลับปัญญา หรือเป็นเครื่องเกาะเครื่องยึดของกรรมฐานของการพิจารณา ยึดร่างกายนี้เป็นสำคัญ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ต้องยึดไว้เสมอให้เป็นอารมณ์ เมื่ออันนี้พอเข้าไปๆ แล้ว มันจะค่อยปล่อยวางเรื่องสังขารร่างกาย พอปรุงขึ้นพับมันจะดับพร้อม พิจารณาอสุภะก็ไม่ทัน สุภะก็ไม่ทัน อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ก็ไม่ทัน เกิดแล้วดับๆ นี่เรียกว่าจิตผ่านในขั้นนี้แล้วเข้าสู่นามธรรม ความปรุงของจิต พอปรุงขึ้นดีก็ดี ชั่วก็ดี ปรุงขึ้นแล้วดับ ปรุงขึ้นจากใจ ดับลงที่ใจ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา อวิชชาหนุนให้เกิดสังขารคือความคิดปรุง ความคิดปรุงนี้เป็นสมุทัย

เมื่อเราฝึกซ้อมอันนี้อยู่ตลอดๆ แล้วสังขารเกิดจากอวิชชานี้มันจะวิ่งเข้าไปสู่อวิชชา เกิดดับที่อวิชชาๆ ฝึกซ้อม ซ้อมจนชำนิชำนาญแล้วก็เข้าถึงตัวอวิชชา อวิชชานั่นละเป็นรวงรังแห่งสังขาร เพราะอวิชชาเป็นสมุทัย สังขารก็เป็นสมุทัยออกมาจากความผลักดันของอวิชชา เวลาพิจารณาหนักเข้าๆ มันก็เข้าถึงตัวอวิชชา พอถึงตัวอวิชชาแล้วมันหากชำนาญไปเองนะ เกิดปั๊บดับพร้อม เกิดขึ้นมาจากใจ ดับลงไปที่ใจ นั่นละอวิชชาอยู่ที่ใจ เมื่อเวลามันถึงพร้อมของมันแล้ว มันจะดับลงที่ใจนั่นละ พออวิชชาดับเท่านั้น สังขารที่เป็นสมุทัยก็ดับหมด ก็มีแต่สังขารเป็นขันธ์ห้าล้วนๆ เท่านั้น

รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นขันธ์ล้วนๆ เมื่อจิตได้ผ่านนี้ไปแล้ว ขันธ์ห้าก็เป็นขันธ์ล้วนๆ ไม่เป็นกิเลส เหมือนที่ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ยังฝังใจอยู่ เมื่อเข้าถึงตัวนี้ ทำลายอันนี้แล้ว ขันธ์ห้าก็เป็นขันธ์ห้าธรรมดา เป็นขันธ์ล้วนๆ ดังขันธ์พระอรหันต์ท่าน ท่านมีเหมือนกัน ความคิดความปรุง รูปก็มี ทุกข์ก็มีในทางร่างกาย เวทนา สุข ทุกข์ เฉยๆ มี สัญญาความจดจำได้หมายรู้ สังขารมี ความปรุง ความคิด แต่ไม่เป็นกิเลส เป็นขันธ์ล้วนๆ ไป เมื่อจิตเข้าถึงขั้นบริสุทธ์แล้ว ขันธ์ห้าเป็นขันธ์ล้วนๆ ไม่เป็นกิเลสตัณหาแต่อย่างใด เหมือนที่มีอวิชชาอยู่ มีอวิชชาอยู่แล้ว ขันธ์ใดแสดงออกมานี้เป็นสมุทัยด้วยกันทั้งหมด พออวิชชาดับลงไปเท่านั้น ขันธ์ทั้งหมดนี้ก็กลายเป็นขันธ์ล้วนๆ ไป ไม่มีกิเลสตัณหา เหลือตั้งแต่ความบริสุทธิ์ ให้พากันจำเอาไว้

การพิจารณาร่างกายเป็นของสำคัญ เมื่อพิจารณาร่างกายจนชำนิชำนาญหรืออ่อนเพลียลงไปแล้ว เข้าสู่ความสงบคือสมาธิ เมื่อจิตมีกำลังทางด้านสมาธิออกมาแล้วให้พิจารณาทางร่างกาย อสุภะอสุภัง ทุกฺขํ อนิจฺจํ อนตฺตา วิ่งไปตามๆ กันนั่นละ นี่คือการพิจารณาของนักปฏิบัติทั้งหลาย มันหากชำนาญเข้าไปเอง พิจารณาเข้าไป ชำนาญเข้าไปๆ สุดท้ายเรื่องรูปเรื่องนาม ไม่มี หมด ให้พิจารณาว่าอสุภะอสุภังอย่างนี้ไม่มี จิตผ่านไปแล้วนั่น พอผ่านไปแล้วก็มีแต่ความเกิดความดับ เรียกว่า อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ประจำนามธรรม ไม่ใช่ประจำรูป พอปรากฏขึ้นพับดับพร้อมๆ ติดต่อกันไปนี้ มันก็เข้าไปภายในจิต พอเกิดความคิดความปรุงนี้ เกิดขึ้นมาจากจิตดับแล้วลงไปที่จิต ฝึกซ้อมกันอยู่อย่างนี้ตลอดเวลาด้วยสติปัญญา ต่อไปมันก็ปรากฏตั้งแต่ความเกิดความดับของสังขาร สัญญาที่มีอยู่กับใจ ย่นเข้าไปๆ สุดท้ายอวิชชาที่อยู่กับใจดับไปหมดเรียบร้อยแล้ว ขันธ์เหล่านี้ก็เลยกลายเป็นขันธ์ล้วนๆ จิตก็บริสุทธิ์ นี่ละการพิจารณาเมื่อถึงขั้นแล้ว

ทีแรกพิจารณารูปเป็นของสำคัญ แล้วบริกรรม จะบริกรรมคำใดเป็นการเริ่มต้น เอาพิจารณาให้จิตสงบอยู่กับคำบริกรรม ต่อนั้นก็อยู่ตามร่างกาย เอาร่างกายเป็นกรรมฐาน เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ภายนอกภายใน เดินกรรมฐานนี้จนชำนิชำนาญแล้ว มันจะปล่อยตัวเข้าไปๆ ให้พากันจำเอา เมื่อมันปล่อยตัวเข้าไปแล้ว กรรมฐานทางร่างกายนี้จะไม่มี มันจะมีอยู่ในนามธรรมที่เกี่ยวข้องกับจิต นามธรรมเกี่ยวข้องกับจิต เกิดกับจิต ดับกับจิตไปเรื่อยๆ จนก้าวเข้าถึงอวิชชา อวิชชานั่นละผลักสังขารปรุงออกมาๆ เป็นสังขารสมุทัย พอพิจารณาความเกิดความดับด้วยสติ คือเกิดดับของสังขารด้วยสติแล้วมันจะชำนาญเข้าไปๆ สุดท้ายก็มีแต่ยิบแย็บออกจากจิต ดับลงไปหาจิตๆ

ฝึกซ้อมความเกิดความดับของสังขารนี้ก็เพื่อจะเข้าถึงตัวใหญ่คือจิต อวิชชาอยู่ที่จิต เมื่อพิจารณาฝึกซ้อมหนักเข้าๆ อวิชชาที่อยู่ที่จิตมันก็ขาดสะบั้นออกไปๆ แล้วก็นั่นละจิตบริสุทธิ์ที่ตรงนั้นแหละ พอจิตบริสุทธิ์แล้ว ความคิดความปรุงอะไรเหล่านี้ก็ไม่เป็นภัย ไม่เป็นกิเลส ไม่เป็นสมุทัยเหมือนแต่ก่อน เลยกลายเป็นขันธ์ล้วนๆ ไป นั่นละท่านผู้บริสุทธิ์ ท่านมีขันธ์เหมือนกัน

รูปของท่านก็มี เวทนาของท่าน ความสุข ความทุกข์ เฉยๆ ภายในกายของท่านก็มี สัญญาความจำได้หมายรู้ของท่านก็มี สังขารความคิดความปรุงของท่านก็มี วิญญาณความจำได้หมายรู้ของท่านก็มี แต่ท่านไม่ยึด เกิดแล้วมันดับไปพร้อมๆ กัน ไม่ต้องตั้งใจละตั้งใจถอน อะไรเกิดอันนั้นก็ดับไปพร้อมกับความเกิดของตน เพราะไม่มีใครยึด นั่นละเข้าถึงขั้นจิตบริสุทธิ์แล้วเป็นอย่างงั้น ใช้ขันธ์นี้แหละจนกระทั่งวันนิพพาน ขันธ์นี้ก็ใช้สำหรับหน้าที่การงานของโลกของสงสาร ไม่ได้ไปใช้เพื่อแก้กิเลสของท่านเหมือนแต่ก่อน เป็นจิตใจที่บริสุทธิ์ ไม่ต้องใช้อีกแล้วจิตใจที่บริสุทธิ์ ใช้ก็ใช้ตั้งแต่สิ่งภายนอกเท่านั้น ให้พากันตั้งใจปฏิบัติ

พูดนี้พูดย่อๆ เอานะ ไม่ได้พูดยืดยาวเหมือนการปฏิบัติมา การปฏิบัติมานี้มันเหมือนเขายำลาบนะ ยำแล้วยำเล่า เอาจนแหลกอยู่บนเขียง แหลกอยู่บนเขียง การพิจารณาอสุภะอสุภัง ทุกฺขํ อนิจฺจํ อนตฺตา นี้เหมือนเขายำลาบนั่นแหละ เอาจนแหลกแล้วมันก็พอ เมื่อพอแล้วมันก็ขยับขยายไป สิ่งที่ยังมีดูดดื่มยังไม่พอ มันก็หมุนไปๆ จนกระทั่งถึงหมดความหมุนแล้วเข้าถึงใจนั่นละ พอเข้าถึงใจ ใจบริสุทธิ์ปุ๊บแล้วหมดปัญหาโดยประการทั้งปวง ให้พากันจำเอาไว้ นี่พูดแต่เพียงย่อๆ ให้ท่านผู้ฟังทั้งหลาย เฉพาะอย่างยิ่งนักปฏิบัติกรรมฐานจำไว้ให้ดี

สติเป็นสำคัญ อย่าได้เผลอ ถ้าเผลอสติแล้วตั้งฐานไม่อยู่ ตั้งฐานไม่ได้ ใครมีสติดี ชี้นิ้วได้เลยว่าจะเป็นผู้ตั้งฐานคือความสงบเย็นใจได้ อยู่ที่ไหนอย่าให้เผลอสติ ยืนเดินนั่งนอน เว้นแต่หลับ อยู่ที่ไหนสติติดแนบๆ ผู้นี้ละผู้จะตั้งฐานแห่งความสงบได้ในเบื้องต้น จากนั้นจิตก็เข้าสู่สมาธิแน่นหนามั่นคง และก้าวออกทางด้านปัญญาได้ จากสติเป็นสำคัญ สตินี้ปล่อยวางไม่ได้ ต้องเอาสติเป็นฐานสำคัญตลอดไป จนกระทั่งถึงมหาสติมหาปัญญา เมื่อถึงขั้นนั้นแล้ว กิเลสอยู่ที่ไหนพังหมด ตั้งแต่สติปัญญาอัตโนมัตินี้ไป กิเลสนี้พังเรื่อยๆ ลงถึงขั้นมหาสติมหาปัญญานี้ กิเลสแย็บเหมือนฟ้าแลบ ดับแล้วๆ นั่นละความรวดเร็วของสติปัญญา กิเลสจึงดับไปโดยไม่มีอะไรเหลือภายในใจ จิตของพระอรหันต์ท่าน ท่านก้าวอย่างนั้นแหละ ให้พากันจดจำเอาทุกคนๆ

การปฏิบัติธรรมต้องเอาจริงเอาจัง อย่าเหลาะแหละ ทำอะไรให้ทำจริงทำจัง อย่าลูบๆ คลำๆ จับๆ จดๆ ใช้ไม่ได้นะ จับอะไร จับให้จนได้เหตุได้ผลขึ้นมา จับอะไรจับหาเหตุหาผล จนได้เหตุได้ผลขึ้นมา ถ้าควรจะปล่อยก็ปล่อยการพิจารณานั้น เพราะพอแล้วรู้แล้ว ปล่อย ถ้ายังไม่พอ จับเข้าไป ติดเข้าไป พิจารณาเข้าไปเรื่อยๆ จนกระทั่งพอแล้วมันก็ปล่อยของมันเอง ทำอะไรอย่าเหลาะๆ แหละๆ ไม่ถูกไม่ดี เอาให้จริงให้จังทุกอย่าง

นี่นิสัยจริงจัง พูดให้เพื่อนฝูงฟังมาตั้งแต่ต้น แต่ไหนแต่ไร นิสัยเรามันเป็นคนจริงมาตั้งแต่ฆราวาสแล้ว เป็นนิสัยติดตัวมา ทำอะไรถ้าว่าทำจริง ถ้าไม่ทำ ไม่ทำ ถ้าลงลั่นคำว่าทำแล้ว วันนั้นประหนึ่งว่านอนไม่หลับ ถ้าไม่ได้ทำเสียแล้วนอนไม่หลับ เหมือนนอนไม่หลับ เพราะเป็นอารมณ์กับสิ่งที่ลั่นคำว่าจะทำ นี่ละจิตใจมันจริงจังอย่างนั้น ทีนี้การมาประกอบความพากเพียรก็เหมือนกัน จริงจังเหมือนกัน เอาจริงเอาจังทุกอย่างเลย

จิตของเราตั้งได้นี้เพราะสติ จำเอาไว้นะท่านทั้งหลาย สติเป็นสำคัญ จิตเจริญแล้วเสื่อมๆ ผมก็เคยเล่าให้หมู่เพื่อนฟัง จิตเจริญมาจากโคราช สมาธิแน่นปึ๋ง พอมาอยู่บ้านตาดนี้ละมาทำกลดหลังหนึ่งยังไม่เสร็จ จิตเข้าออกได้บ้างไม่ได้บ้าง อ้าว ไม่เป็นท่าแล้วนี่ โดดออกไป พอไปจิตก็เลยเสื่อมเลย ฟาดเสียเสื่อมอยู่ตั้งปีนึงกับห้าเดือนๆ จิตเจริญแล้วเสื่อมๆ มันเป็นเพราะเหตุไร จิตนี้จึงเจริญแล้วเสื่อม จะเป็นเพราะขาดสติ เรากำหนดจิตเอาเฉยๆ ด้วยสติ ไม่อยู่ ต้องมีคำบริกรรมให้สติจับติดอยู่กับคำบริกรรม เอ้า เอาอันนี้ คราวนี้เอาอย่างนี้ ตั้งคำบริกรรมก็แล้ว สติติดกับคำบริกรรม ไม่ยอมให้เผลอๆ สุดท้ายก็ตั้งขึ้นได้ สงบได้ๆ จับติด สติไม่ปล่อยๆ ก็ตั้งฐานขึ้นได้

จึงได้นำมาพูดให้หมู่เพื่อนฟัง สติเป็นสำคัญนะ ถ้าขาดสติแล้วความเพียรจะขาดวรรคขาดตอน จะไม่ได้เป็นชิ้นเป็นอัน ถ้าสติจับติดตลอดนี้ ความสงบจะติดกันแนบไปเลย จากนั้นเข้าสู่สมาธิความแน่นหนามั่นคง แล้วก็ก้าวทางด้านปัญญาๆ สติกับปัญญาจะค่อยเกิดขึ้นด้วยกัน ปัญญาจะเกิดทีหลัง ต่อไปสติกับปัญญากลมกลืนเป็นอันเดียวกัน สตินี้เผลอไม่ได้เลย ต้องหมุนกันตลอดเวลา สติจึงเป็นของสำคัญมากทีเดียว การพิจารณาให้จำเอาไว้ที่สอนนี้นะ นี่ได้ดำเนินมาแล้ว จึงสอนด้วยความถูกต้องแม่นยำ ไม่สงสัย เราดำเนินมาแล้ว

การทดสอบตัวเองนี้ก็ได้ทดสอบมาเต็มกำลังความสามารถ เพราะจิตเจริญแล้วเสื่อมๆ นี้เป็นปัญหาอันใหญ่หลวงอันหนึ่ง ที่เราจะได้นำไปพิจารณา จึงต้องได้หันมาตั้งพุทโธใหม่ ตั้งพุทโธ สติติดอยู่กับคำบริกรรมไม่ให้เผลอ ตั้งแต่ตื่นนอนกระทั่งหลับไม่ให้เผลอเลย เอาอย่างนี้ๆ ได้สัก ๓ วัน จิตก็ค่อยสงบได้ พอสงบได้สติติดแนบตลอด จิตก็แน่นหนามั่นคงขึ้นไปเรื่อยๆ ไปเรื่อยได้ด้วยสตินะ จนก้าวเข้าถึงขั้นปัญญา สตินี้ปล่อยไม่ได้ ให้ท่านทั้งหลายจำเอา วันนี้ก็พูดเพียงเท่านี้ละ พูดมากมันก็เหนื่อย เพราะวันนี้งานทั้งวันๆ ไม่ค่อยได้พักผ่อน เหน็ดเหนื่อยตลอดวัน จึงขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านผู้ปฏิบัติทั้งหลายโดยทั่วกันเทอญ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ก.ค. 2014, 16:27 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เทศน์อบรมพระสงฆ์ ณ วัดป่าบ้านตาด
เนื่องในวันอธิษฐานเข้าพรรษา
เมื่อเย็นวันที่ ๒๗ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๓


พระอรหันต์ว่างในจิต

วันนี้วันเริ่มเข้าพรรษาแล้วนะ พระเณรเราให้ต่างองค์ต่างเข้มงวดกวดขันในข้อวัตรปฏิบัติ กำจัดกิเลสตัวขี้เกียจขี้คร้านออกให้หมด ทำความเพียรตลอดเวลาเว้นแต่หลับเท่านั้น ให้ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติกำจัดกิเลสตัวขี้เกียจขี้คร้านเป็นตัวสำคัญมากทีเดียว ให้พากันกำจัดนี้ออกให้ได้ การประกอบความเพียรตามแต่ความสามารถของผู้ใด อันนี้กำหนดให้ไม่ได้นะ ประกอบความพากความเพียรนี้เอาเสียจน.. คือเอากำลังเจ้าของเป็นประมาณเลยเรื่องความพากความเพียร บางคืนไม่นอนก็มีประกอบความเพียรตลอดเวลา นี่เรียกว่าความเพียร เดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนา เอาธรรมะนั้นละเข้าเป็นหลักเกณฑ์ในหัวใจ ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติ

ไม่ไปไหนด้วยในพรรษานี้ เข้าพรรษาที่นี่ไม่ไปแรมวันแรมคืนที่ไหน อยู่นี้เป็นประจำ ประกอบความพากเพียรประจำอิริยาบถของตนในบริเวณที่เราจำพรรษานี้นะ ให้พากันตั้งอกตั้งใจ การประกอบความพากเพียรเป็นของสำคัญมาก กิเลสตัวใดก็ตามจะไม่หลุดลอยไปจากความเพียรนี้ได้เลย ความเพียรเป็นของสำคัญ กำจัด (กิเลส) ให้หมดจากหัวใจ เมื่อกิเลสหมดไปจากหัวใจแล้วจิตใจว่างเปล่า ท่านทั้งหลายฟังคำนี้ให้ดีนะ

พอจิตใจว่างจากกิเลสไปหมดแล้วทีนี้โลกว่างหมด จิตใจว่างหมดเลย เรียกว่าหมดงานทำ ไม่มีงาน พระอรหันต์หมดงานทำ ไม่มีงานใดมาทำอีกแล้ว กิเลสตัวเป็นข้าศึกต่อความพากความเพียรก็กำจัดมันออกหมด เพราะอันนั้นเป็นกิเลสเอาให้ขาดสะบั้นไปจากจิตใจหมดแล้วว่างเปล่าหมด ท่านผู้สิ้นกิเลสแล้วท่านไม่มีงานล่ะ จิตใจท่านว่างหมด เรียกว่าจิตใจว่าง โล่งหมดเลย อยู่ที่ไหนว่างตลอดเวลา ท่านไม่มีงานทำล่ะ พระอรหันต์สิ้นกิเลสแล้วหมดงาน ไม่มีงานอะไรที่จะทำอีก งานก็คืองานแก้กิเลส กิเลสสิ้นไปหมดแล้วก็ไม่มีอะไรเป็นงานเป็นการให้ยุ่งยากปากหมองเหมือนแต่ก่อน ให้พากันตั้งอกตั้งใจ

พอจิตว่างจากกิเลสนี้แล้วมันว่างหมด จิตนี้ว่างเปล่าไปหมดเลย โล่งหมดเลยจิต ให้มันเป็นในหัวใจล่ะมันชัดเจนเอง ดูในหัวใจใครก็ไม่เหมือนดูในหัวใจเราที่กิเลสสิ้นซากลงไปหมดแล้วจากหัวใจ ใจนี้ว่างหมดเลย ไม่มีงานทำ ว่างตลอดเวลาคือใจพระอรหันต์ที่ท่านสิ้นกิเลสแล้วว่างตลอด ไม่ว่ากลางวันกลางคืนยืนเดินนั่งนอนเป็นเวลาว่างของใจทั้งนั้น ไม่มีอะไรเข้ามาแทรกนะ ให้พากันตั้งอกตั้งใจนะ พูดเท่านี้ละ พูดมากกว่านี้ก็เหนื่อย

พระเท่าไรจำพรรษาที่นี่ (๖๑ ครับ) ๖๑ ไม่มีเณร (เณรหนึ่งครับ) ๖๑ กับเณรหนึ่งเป็น ๖๒ ให้ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติกำจัดกิเลสออกจากใจนะ อย่าพากันขี้เกียจขี้คร้าน ความขี้เกียจขี้คร้านเป็นข้าศึกของการก้าวเดินเพื่อความพ้นทุกข์นะ ตัวนี้ตัวสำคัญ คือจิตนี้ให้มันว่างเถอะน่ะ ให้รู้ในตัวของเราเอง พอว่างจากกิเลสหมดแล้วนี้ว่างหมดเลย ไม่มีงานทำ พระอรหันต์หมดงาน หมดงานที่จะทำ นอกจากนั้นว่าหมดไม่ได้ สำหรับพระอรหันต์สิ้นหมด กิเลสไม่มีแล้วไม่มีงานทำ ว่างตลอดเวลา จิตใจว่างคือจิตของพระอรหันต์สิ้นกิเลสหมดโดยสิ้นเชิง ให้พากันจำเอาไปปฏิบัติ การประกอบความเพียรอย่าถอยหลัง ให้ก้าวหน้าตลอดไป การถอยหลังไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ ต้องก้าวหน้าตลอดถึงเรียกว่าเดินเพื่อความพ้นทุกข์ วันนี้มีเท่านั้นล่ะ

เราก็อยากแข็งแรงแต่มันก็อ่อนลงทุกวันๆ ทำอย่างไร มันไม่แข็งแรงล่ะ เรื่องธาตุขันธ์อ่อนลงๆ ทุกวัน แต่จิตใจไม่มี คือจิตใจไม่มีวัย ไม่มีคำว่าอ่อนหรือแข็ง ส่วนร่างกายนี้อ่อนๆ อ่อนลงทุกวัน จิตใจไม่อ่อน เพราะอย่างนั้นท่านจึงเรียกว่านิพพานเที่ยง เที่ยงที่ใจ ใจหมดกิเลสเรียกว่าใจหมดสมมุติ เมื่อใจหมดสมมุติความแปรก็ไม่มี แปรปรวนอะไรไม่มี เที่ยงตรง ท่านว่านิพพานเที่ยง คือใจท่านผู้สิ้นกิเลสแล้วเที่ยง ถ้ายังไม่สิ้นไม่เที่ยง ใจวอกแวกคลอนแคลน ถ้าสิ้นกิเลสแล้วใจก็เที่ยง นิพพานก็เที่ยง ใจก็เป็นธรรมธาตุเที่ยง เป็นเหมือนกัน

เข้าพรรษาละทีนี้ พระก็ไม่ไปแรมวันแรมคืนที่ไหน มีแต่การประกอบความพากเพียร ให้จิตใจสว่างโล่เลย ใครเคยเห็นไหมจิตใจสิ้นกิเลสว่างหมดเลยจิตใจสิ้นกิเลส จิตใจไม่สิ้นกิเลสมีแต่ขวากแต่หนามทิ่มแทงตลอดสายทางเดินของจิต คิดไปไหนมีเสี้ยนมีหนามติดตามไป หาความสุขความสบายไม่ได้ คิดทางดีก็มีเสี้ยนมีหนามตามไป คิดทางชั่วยิ่งแล้ว มีแต่เสี้ยนแต่หนามตามหัวใจไป พอใจสิ้นกิเลสแล้วคิดอย่างไรโล่งหมดเลย นี่ละให้เห็นอย่างนั้นนะ

พูดนี้ท่านผู้ทรงไว้ซึ่งความบริสุทธิ์ประเภทนี้ก็คือพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ นอกนั้นไม่มี พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ พระอรหันต์ทุกองค์มีเหมือนกันหมด ว่างหมดเลยพระอรหันต์ว่างในจิต ไม่มีอะไรเสียดแทงใจหัวใจ เป็นจิตใจที่ว่าง นั่นละใครจึงอยากไปแต่นิพพาน นิพพานว่างอย่างนั้นละ ไม่มีอะไรเสียดแทงหัวใจเลย เรียกว่าหมดงาน พระอรหันต์สิ้นกิเลสแล้วหมดงานทำ ไม่มีงานอะไรจะทำ คิดอะไรขึ้นมาเป็นเรื่องกิเลสทั้งนั้นๆ เมื่อกิเลสยังมีอยู่ในใจ พอกิเลสสิ้นจากใจแล้วคิดอะไรก็ไม่มีกิเลส จิตเป็นธรรมแล้ว และเป็นธรรมล้วนๆ เลย เรียกว่าจิตเป็นธรรม คิดอะไรก็เป็นธรรมไปหมด ไม่มีกิเลส

เอามันเห็นนะ ที่พูดนี้มีตัวอย่าง พระอรหันต์เป็นอย่างนั้นละ พระพุทธเจ้า-พระอรหันต์ทุกพระองค์เป็นอย่างนั้นเหมือนกันหมด ไม่มีอะไรจะมาข้องใจ ว่างหมดเลย ให้มันเห็นประจักษ์ในใจ คืออันนี้เป็นได้ในหัวใจของผู้บำเพ็ญนะ ไม่ได้เลือกหน้านะ ใครทำเต็มกำลังความสามารถเป็นได้ด้วยกัน จิตนี้ว่างเปล่าหมดเลย ว่างจากกิเลส ไม่มีกิเลสเหลือแล้วก็ว่างไปหมด จิตว่างก็คือจิตพระอรหันต์ จิตว่างเปล่าไม่มีอะไรกีดขวางหัวใจเลย เป็นจิตที่ว่างเปล่าตลอดเวลา นั่นละเรียกว่าจิตว่างว่างอย่างนั้น กิเลสไม่มี คิดเท่าไรก็เป็นความคิดธรรมดา ไม่มีกิเลสแฝงขึ้นมา ทีนี้จะให้พรแล้วนะ

(ลูกลากลับกรุงเทพเจ้าค่ะ) กลับกรุงเทพ นี่มีกุฏิเราก็จะกลับกุฏิ เรามีกุฏิเราก็กลับกุฏิ

วันนี้วันที่ ๒๗ เข้าพรรษากี่พรรษาแล้วเรา (๗๖ ปี) พรรษา ๗๖ ปีนะ เข้าพรรษา ๗๖ พรรษา นานอยู่นะ ๗๖ ปีบวชมาได้ ๗๖ ปี มันก็มีแต่จะไปหน้าเรื่อยละ ที่ว่าจะสึกออกมาไม่มีทาง คือจิตไม่แย็บเลย มีแต่พุ่งข้างหน้ารอวันตาย ข้างหน้าก็รอวันตาย ไม่ได้ว่ารอวันได้สึกนะ รอวันตาย หมดล่ะ อะไรก็หมด หมดห่วงหมดใย หมดทุกสิ่งทุกอย่างในหัวใจหมดเลย เอาให้มันหมดอย่างนั้น ในจิตในใจกิเลสตัวใดไม่เหลือ หมด หายห่วง โล่งหมดเลย

บวชตั้งแต่แรก (๒๔๗๗ ๒๐ ปี ๙ เดือนบวช) จากนั้นมาก็เรื่อยเลย จนป่านนี้ล่ะ ได้เท่าไร ๗๖ ปีเราบวชมา โยมแม่อยากให้บวชมาก เราก็มีข้อผูกมัด บวชนั้นบวช อยากสึกเมื่อไรก็สึกเราว่า บวชแล้วอุปัชฌาย์ยังไม่กลับอยากสึกก็สึก แม่ก็สาธุเลย แม่อยากเห็นแต่ผ้าเหลืองเวลาบวช พอบวชไปอยู่ไปจิตใจมันดูดไปนะ ดูดไปข้างหน้าไม่ถอยหลัง มันดูดไปข้างหน้าเรื่อยๆ คำว่าอยากสึกเลยไม่มีนะ มีแต่ดูดเข้าไปข้างหน้าเรื่อยจนกระทั่งทุกวันนี้ คำว่าสึกเลยไม่มี ทุกวันนี้ไม่มี คำว่าสึกไม่มีเลย มีแต่รอข้างหน้า ไปข้างหน้าเท่านั้นเอง

ดีอยู่น่ะล่ะ จิตมันค่อยดื่มด่ำไปเรื่อยๆ มันไม่ถอย บืนไปเรื่อยเลยจนกระทั่งทุกวันนี้ เรื่องบวชก็ดี จิตมันดูดดื่มไปเรื่อย ไม่ปรากฏว่าอยากสึกนะตั้งแต่วันบวชมา คิดว่าอยากสึกไม่มี มีแต่ดื่มเรื่อยๆ จนกระทั่งทุกวันนี้ ทีนี้คำว่าอยากสึกก็เลยไม่มี ไม่มีเลยคำว่าอยากสึกไม่มี มีแต่คอยที่จะไปข้างหน้า ถึงวันตายว่าอย่างนั้นเถอะ อยากสึกไม่มีถึงวันตายเลย มันไม่อยากสึกจะว่าอย่างไร

ไม่มีอะไรล่ะ เลิกกันเท่านั้นละ ให้พากันภาวนานะ เข้าพรรษาแล้วให้พากันภาวนา ตั้งใจภาวนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ก.ค. 2014, 17:03 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๔๖


วิธีตัดราคะ

พูดก็เสียงไม่ออกไม่ทราบว่าเป็นยังไง อย่างนี้ละเสียงแหบ พูดออกมานี้มันจะได้ยินหรือเปล่า พูดไม่มีเสียงเลยมันค่อยเปลี่ยนของมันไปๆ หมดสภาพไปเรื่อยๆ นั่นแหละ

โอ๊ย ลำบากนะผมอยู่ที่นี่ แขกคนกวนจริงๆ นะ จนเรียกว่าอยู่วัดไม่ได้นะ หาหลบหาซ่อนนอนในรถไป นั่นละระงับขันธ์เวลานอนในรถไป ระงับขันธ์ สงบธาตุขันธ์ไปในนั้น แล้วแต่มันจะหลับจะตื่นเมื่อไร แต่ว่าจิตกับขันธ์ระงับกันอยู่ในนั้นไม่ออกข้างนอก นี่ก็นอนตั้งแต่ไหนไม่รู้แหละ ไปลุกเอาโน้น บ้านพาน จวนจะถึงสกลนครยังอีกไม่ถึง ๔๐๐ เส้น เลยบ้านดงมะไฟไปแล้วจึงลุก อย่างนั้นแล้ว อย่างนั้นเป็นความสบายสำหรับผมเองนะ จากนั้นก็เข้ากราบพ่อแม่ครูจารย์ ไปนั้นคนก็รุมพวกกรุงเทพฯ พวกไหน เราก็อนุโลมผ่อนผันพูดกับเขาเสียบ้างนิดหน่อย จากนั้นมาอยากนอนก็นอนมาเรื่อย สงบอารมณ์ในรถไปสะดวกสบาย อยู่ในนี้ โอ๊ย ไม่ได้นะ แหม

ออกมานี่ลองดูซิน่ะ อยู่ไหนแตกมาหมด รุมตลอดไปเลยนะ เราก็ไม่ใช่ปลาเน่าจะมารุมเราหาอะไร รำคาญ จึงไม่ออกมา ออกมาตะกี้นี้มาดูกุฏิ มันอยู่ตามแถวนั้นก็รุมไปด้วย เข้าดูกุฏิ ออกจากนั้นออกไปโน้นเลย พอไปถึงประตูก็หักเข้าทางนี้ออกเลยขนาดนั้นนะ โห มันเบื่อมันเอือมระอา ไม่อยากเล่นกับอะไร ได้ยินแต่ชื่อแต่เสียงเห็นในทีวี อยากกราบอยากไหว้ เราเห็นใจอันนั้นแต่มันไม่คุ้มค่ากับเรื่องของเราน่ะซิ เพราะฉะนั้นจึงต้องหลบต้องหลีก

เราอยู่คนเดียวเราไม่มีอะไร เรามีค่ามาก ดีไม่ดีมารุมเราอย่างนั้นมีค่าอะไร แน่ะ สร้างความกังวลลำบากลำบนในธาตุขันธ์ของเรา เขาก็ได้เช่นดีใจนิดหน่อยเท่านั้นเอง จึงต้องลำบากมากนะผม ยิ่งลำบากเข้าไปทุกวันๆ ไม่ได้เป็นความสะดวกสบายไปที่ไหน เพราะคนรู้ทั่วโลกว่างั้นเลย ไม่ได้รู้เพียงเมืองไทยนะรู้ทั่วโลก ไปเมืองไทยไปที่ไหนก็ไปซิ ก็เขาเห็นในทีวีหมดแล้ว กวนทั้งนั้นแหละ จึงไปในเวลาที่มีการมีงานมีเหตุมีผลมีหลักมีเกณฑ์ ไปเป็นระยะๆ ทนเอาอย่างนั้นแหละ จะมารุมอย่างนั้นตลอด โอ๋ย ไม่ได้นะ ลำบากรำคาญจริงๆ

การเทศนาว่าการก็ตั้งหน้าตั้งตาเทศน์เสียในขณะนั้น พอจบแล้วก็วางไปเป็นระยะๆ จิตนี้ไม่ได้ยั้วเยี้ยกับใครนะ ใครจะมายั้วเยี้ยกับเราจึงไม่ได้ วางออกมาแนบเข้ามาสู่สมมุติเป็นบางกาลบางเวลาที่เห็นสมควรๆ เท่านั้น เรื่องจิตนี้ โอ้ พิลึกพิลั่นนะ ผมจึงอยากให้เพื่อนฝูงทั้งหลายสนใจกับธรรมของพระพุทธเจ้านะ เลิศขนาดไหนพูดไม่ได้เลย พูดไม่ได้ ฟังไม่มีใครรู้เรื่อง นี่ละที่พระพุทธเจ้าท้อพระทัยจึงได้พูด อย่างเทศน์เมื่อเช้านี้มันผางๆ ออกเห็นไหมนั่น ไม่ได้วัดรอยพระพุทธเจ้าอย่างว่า เมื่อมันเป็นขึ้นเต็มเหนี่ยวแล้วมันพุ่งออกมาเลย กำลังของธรรมของความอัศจรรย์ ใครจะมีเจตนาอะไรไปวัดรอยพระพุทธเจ้า ไปเป็นคู่แข่งขันพระพุทธเจ้า กราบจนสนิทในหัวใจแล้วจะไปมีเจตนาอะไรแม้แย็บหนึ่งก็ไม่มีเลย แต่โลกมันฟังเป็นความสกปรกไปหมดน่ะซิ อันนี้ที่ทุเรศเพราะโลกสกปรก เอาความสะอาดเข้ามาไม่ได้ต้องเอาแต่ความสกปรกกว้านเข้ามาๆ โลกเป็นอย่างนั้น

ธรรมชาตินี้มันไม่ได้เหมือนอะไรเลยจะให้ว่าไง นี่ละผลแห่งการปฏิบัติๆ มานี้แทบล้มแทบตาย เรียกว่าผมหนักที่สุดเรื่องความเพียร พูดให้ใครฟังไม่อยากมีใครเชื่อนะ มันเป็นในเจ้าของเองในนิสัย แล้วเด็ดเสียด้วยนะ ว่าอย่างไรแล้วเด็ดขาดเสียด้วย ว่าให้เจ้าของนี่ยิ่ง ว่าเอานะเท่านั้นละ เคลื่อนไม่ได้เลยเหมือนหินหัก จะเอามาต่อกันมันก็เป็นรอยต่อเสีย มันไม่เป็นหินธรรมชาติ ถ้าลงได้เอาหนาว่างั้นมันขาดไปเลย มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ จิตนี่ รู้สึกว่าจะผิดแปลกทั้งหลายอยู่มากทีเดียว จิตผมนะ พูดอย่างนี้คนก็อาจจะว่าโอ้ว่าอวด เอาความจริงมาพูด ส่วนมากจะไม่มีใครเหมือนนะ อย่างดูหมู่เพื่อนอยู่ในวัดนี้ผมทนดูเอาเฉยๆ นะ เหมือนขอนซุงเก้งๆ ก้างๆ ดูอะไรๆ คนจะแก้กิเลสฆ่ากิเลสกับกิริยาอาการอย่างนั้นมันเข้ากันไม่ได้ คือธรรมะจะเด็ดๆๆ เพื่อมรรคผลนิพพาน แล้วกับสิ่งเหล่านี้มันก็เข้ากันไม่ได้ มันเก้งๆ ก้างๆ

โถ เวลาถึงขั้นอัศจรรย์ แหม ไม่เคยคาดเคยคิดไว้เลยนะ นี่ละหลักธรรมชาติขึ้นแท้ๆ ไม่ถามใครทั้งนั้น เป็นหลักธรรมชาติของตัวเอง เมื่อเหตุผลพร้อมกันแล้วผึงออกมานี้ โถ แต่จิตเรานี้มันมีนิสัยเด็ดอยู่มาตั้งแต่ฆราวาส กับความจริงนี้มี รู้ชัด แต่ก่อนไม่ได้คิดว่าเป็นอรรถเป็นธรรมอะไรแหละ ตามนิสัยตามวาสนาอะไร ตามประสาว่างั้นเถอะ แต่การคบค้าสมาคมนี้มันหากมีอยู่ในจิตนะ ถ้าคนไหนเหลาะๆ แหละๆ ไม่อยากเล่นด้วยนะ แล้วยิ่งเป็นคนเห็นแก่ตัวคนตระหนี่ถี่เหนียวนี้เข้าไม่ได้นะ ตั้งแต่เป็นฆราวาสก็ไม่เข้า เราก็เป็นเราธรรมดานะ แต่มันหากแปลกต่างกันให้เข้าไม่ได้นั่นแหละ เพราะนิสัยเราก็เป็นเหมือนโลกทั่วๆ ไปไม่ตระหนี่ถี่เหนียว

ทำงานที่ไหนนี่หมู่เพื่อนรุมเลยละ เราไปทำงานที่ไหน เพราะเราไม่เห็นแก่ตัว มีมากมีน้อย ได้มากได้น้อยแจกกันทั่วถึงหมด ดีไม่ดีเจ้าของได้น้อยกว่า ที่จะให้ได้เสมอหมู่เพื่อนนี่ แหม มันควรจะเสมอจริงๆ ถึงจะเสมอ ถ้าจะไม่เสมอเราต้องลดของเราลง หากเป็นในจิตเอง เพราะฉะนั้นเพื่อนฝูงจึงมีมาก ไปที่ไหนทำการทำงานอะไรก็ตาม เพราะเราพูดให้มันตรงเลย นิสัยเราไม่ใช่นิสัยคนขี้เกียจ นิสัยเอาจริงเอาจัง ทำเหลาะๆ แหละๆ อ่อนๆ แอๆ ไม่นะ นิสัยเป็นอย่างนั้น ก็เข้ากันได้กับที่โยมพ่อพูดนั่น โยมพ่อโยมแม่นี่ไม่เคยชมเรา แต่ไว้ใจอยู่ในตัว เวลาปล่อยให้เราทำงานอะไรแล้วนี่ โห พวกน้องๆ อยากแตกหนี เหมือนกับว่าจะร้องไห้ตาม ถ้าพ่อแม่ไม่ได้ไปด้วยมันเอาจริงจริงๆ นะ คือเอาแทนพ่อแทนแม่อย่าให้ได้ต้องติ โน่นน่ะเป็นอย่างนั้นนะ ถ้าลงได้ทำอะไรเป็นอย่างนั้น

เพราะฉะนั้นมันถึงมาฟ้องแม่ พวกน้องๆ ก็อย่างเขียนไว้นั่นแหละ มีเขียนไว้หรือเปล่าไม่รู้มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ แม่ไม่ไปด้วยนะ นั่นล่ะสูไม่เป็นตาสะแตก ให้มันดัดเอาอย่างนั้นพอดี เป็นอย่างนั้นละถ้ามีเราเป็นหัวหน้างาน ถ้าไปกับพ่อกับแม่ก็ธรรมดา ขึ้นเมื่อไรก็ขึ้น หยุดเมื่อไรก็หยุด ไม่ว่าเกี่ยวข้าวเกี่ยวน้ำไม่ว่าดำไร่ดำนาอะไร ทำงานอะไรได้เกี่ยวข้องก็เป็นส่วนรวม ให้เราเป็นหัวหน้างานเป็นอย่างนั้นละ พวกน้องๆ โอ๋ย มันจะตายละ ถ้าพ่อแม่ไปด้วยเป็นหัวหน้างานแล้วเราก็เป็นธรรมดาเหมือนกันหมดเลย มันเป็นอย่างนั้นนิสัยอันนี้น่ะ พ่อจึงได้มายกเอาตอนนั้นละ ตอนน้ำตาร่วงมาที่เราไม่บวชให้ เสียใจมาก กำลังรับประทานเป็นวงๆ เราไม่ลืมนะ โอ๋ย ฝังลึกมาก นี่ละที่เหตุจะได้บวช น้ำตาพ่อนะ ถ้าไม่งั้นยังจะไม่บวชนะ พอน้ำตาพ่อร่วง โอ้โห สะดุดปึ๊งเลยทีเดียว ลุกออกจากที่รับประทานไม่อิ่มนะ ลุกหนีเลย สะเทือนใจหนัก พอฟังจบเท่านั้นแหละ

เออ ลูกกูก็มีหลายคน คนเหล่านั้นกูไม่ค่อยหวังพึ่งมันอะไรๆ แหละ แต่ไอ้บัวนี่กูพึ่งได้เลย ถ้าลงมันได้ทำอะไรแล้วการงานอะไรกูสู้มันไม่ได้ นี่อันนี้มันไม่ลืมนะ ถ้าลงมันได้ทำอะไรแล้วกูสู้มันไม่ได้ แต่มาลงจุดนี้ที่มันไม่บวชให้นี้ เวลากูตายแล้วถ้าไอ้นี้มันลากกูขึ้นจากนรกไม่ได้ ไม่มีใครจะลากกูนะลูกทุกคน กูนี้ต้องจมในนรกไม่มีวันฟื้นขึ้นมาได้เลย พอว่างั้นน้ำตาร่วงลง แหม สลดสังเวชปึ๋งเลยทันที กูอาศัยมันคนเดียวเท่านี้ ลูกผู้ชายมีสามสี่คน แล้วมาลงแต่เราคนเดียว เวลาลงนี่ยอๆ เพื่อจะทุ่มลงเราก็รู้ แต่ก่อนไม่ยอแต่หากรู้ว่าไว้ใจอยู่ตลอด ถ้าลงเราได้ลั่นคำอะไรแล้วพ่อนี่เชื่อนะ เพราะพูดจริงทำจริง ตอนเป็นฆราวาสเป็นอย่างนั้น

หากมีอุบายละพ่อพูด เอ้อ กูอยากไปธุระนั้นธุระนี้ แต่ไม่มีใครทำงานให้กูอย่างนั้นอย่างนี้ พอเราฟังแล้ว เอ้อ ไปเสียผมจะทำให้ เท่านั้นแหละ โอ๋ย อยากเตรียมของเดียวนั้นเลย คือมันจริงจริงๆ ถ้าลงได้ลั่นคำแล้ว มานี่เรียบเลยแหละ เพราะฉะนั้นจึงว่ากูสู้มันไม่ได้ ไว้ใจทุกอย่างถ้าลงได้ทำอะไร จะมาชุ่ยๆ ชี่ๆ ให้พ่อแม่ได้ตำหนินี้ไม่มีเลย สำหรับผมเองไม่มี ถ้าลงได้ลงมือทำอะไรแล้ว พ่อจึงได้ว่ากูสู้มันไม่ได้ นี่เวลาบวชมันก็จริงทางบวช จริงทุกอย่างนะ พระวินัยไม่เคยมีเจตนาจะข้ามเกินเลย ระลึกไม่ได้เลย ความหิริโอตัปปะ รักสงวนมากในพระวินัยเป็นอันดับหนึ่ง ส่วนธรรมมันก็ผิดๆ พลาดๆ หากได้ตำหนิตนเองไปเรื่อยๆ อ่านไปดูไป เออ ตรงนี้เราก็เคยเป็นท่านตำหนิว่างั้นเราผิดมาแล้วนี่ แน่ะ ผิดมาแล้วๆๆ ส่วนวินัยไม่มีบอกตรงๆ เลยผมไม่เคยมี เข้มงวดกวดขันมาก ไปที่ไหนอบอุ่นๆ ตลอด เข้าในป่าในเขาเพียงศีลเท่านั้นพอนะ อบอุ่นหมดเลย ไม่เดือดร้อน แทนที่ไปจะกลัวตายกลัวเป็นอะไรนี้ อาศัยศีลเท่านั้นอบอุ่นแล้ว ตายก็ไม่ตกนรก เป็นอย่างนั้นนะ เรื่องศีลนี่รักษา

แล้วจึงมาเห็นที่พระพุทธเจ้าท่านทรงแสดงไว้กับพระอานนท์ ดูก่อน อานนท์ จะมาหวังอะไรกับเราอีก ที่พระอานนท์ทูลอาราธนาให้ท่านทรงพระชนม์อยู่เป็นเวลานาน ไม่อยากให้นิพพานง่ายๆ อานนท์ มาหวังอะไรกับเรา ถ้าพูดภาษาของเรา เราก็ยังเหลือแต่ร่างกระดูกเท่านั้นเอง ธรรมและวินัยอะไรเราสอนไว้หมดแล้ว แล้วจะมาหวังอะไรกับเราอีก ธรรมวินัยนี่นะ จากนั้นท่านจึงย่นเข้ามาอีกว่า พระธรรมและพระวินัยนั่นแลจะเป็นศาสดาของเธอทั้งหลายแทนเราตถาคตเมื่อเราตายไปแล้ว นั่น ดูก่อน อานนท์ เมื่อยังมีผู้ปฏิบัติตามหลักธรรมหลักวินัยอยู่ พระอรหันต์ไม่สูญจากโลกนะอานนท์ มันถึงใจทั้งนั้นนะ นี้เราก็เคยประคองรักสงวนพระวินัย ธรรมเรายังไม่เข้าใจอะไรนักละยกไว้เสีย ทำความเซ่อๆ ซ่าๆ แต่พระวินัยนี้แม่นยำมากทีเดียว

ท่านว่าพระธรรมกับพระวินัยนั้นแล จะเป็นศาสดาของเธอทั้งหลายแทนเราตถาคตเมื่อเราตายไปแล้ว นี่เป็นบทสำคัญมาก ขอให้หมู่เพื่อนยกเอาหลักธรรมหลักวินัยนี้มาติดแนบกับใจ ประคับประคองด้วยความมีสติปัญญาความพากความเพียร ความระมัดระวัง อย่าให้กระทบกระเทือนศาสดาด้วยการข้ามเกินธรรมวินัย ให้มีความประคองศาสดาอยู่ด้วยหิริโอตตัปปะ สะดุ้งกลัวต่อบาปต่อกรรม ตามพระวินัยที่ทรงห้ามไว้แล้วอย่างใด อย่าพากันฝ่าฝืนนะ ไปที่ไหนเราจะมีศาสดาติดตัวเราตลอดเวลาแล้วอบอุ่น ถ้าเรามีความสำรวมระวังรักสงวนศาสดาคือธรรมวินัยไว้ในใจของเราด้วยความมีสติ ระมัดระวังอยู่ตลอดเวลา ปัญญานั้นออกก้าวเดินเป็นระยะๆ แล้วเราจะอบอุ่นเป็นลำดับลำดา นี่สำคัญมาก

ท่านทั้งหลายอย่าไปเข้าใจว่า พระพุทธเจ้านิพพานแล้วกาลโน้นกาลนี้ นั้นเป็นเรื่องมืดกับแจ้งเวล่ำเวลา ไม่ใช่กิเลสไม่ใช่ธรรม ธรรมแท้กิเลสแท้อยู่ที่ใจของเรา กิเลสแท้ก็แสดงออกมาลบล้างธรรมๆ ภายในใจของเรา ธรรมแท้ก็มีสติธรรม ปัญญาธรรม วิริยธรรม กำจัดรักษาตลอดเวลา นี่เรียกว่าธรรมแท้ ให้ตั้งใจปฏิบัติอย่างนี้ อย่าไปคำนึงคำนวณเวล่ำเวลาเกี่ยวกับเรื่องที่จะเอามรรคผลนิพพานกับเวล่ำเวลา ผิดทั้งเพ ให้เอาจากองค์ศาสดาที่ประทานไว้แล้วแทนพระศาสดาของเรา เป็นอาจารย์ของเรา เป็นศาสดาของเรา ด้วยหลักธรรมหลักวินัย อย่าข้ามเกินนะ ข้ามเกินนิดผิดนิดๆ นี่ละศาสดาแท้ ข้ามเกินก็เท่ากับเหยียบหัวพระพุทธเจ้านั่นแหละ ก็เหยียบหัวเราในขณะเดียวกันให้พากันระมัดระวัง

ศีลอย่าให้ด่างพร้อยนะ ให้รักสงวนอย่างยิ่ง อย่าเอากิเลสตัณหามาแทรกเป็นทิฐิมานะเห็นเป็นความสะดวกสบาย ไม่เป็นไร นี่เป็นเรื่องเลวร้ายมากนะ ถ้าลงว่าไม่เป็นไรแล้วเลวร้ายมากนะ ไม่เป็นไรยังไง ก็องค์ศาสดาทั้งองค์คือวินัยคือธรรม อันดับแรกก็คือวินัย นี่ละเป็นรั้วกั้นสองฟากทางให้ก้าวเดินไปตามแถวของธรรม อย่าข้ามอย่าเกินอย่าปลีกอย่าแวะออกนอกลู่นอกทางที่พระวินัยเป็นรั้วกั้นไว้เรียบร้อยแล้ว ให้สำรวมระวังอยู่ในรั้วคือพระวินัย อันนี้สำคัญ เพศของพระ ชีวิตของพระ เต็มองค์ของพระอยู่กับพระวินัยล้วนๆ ธรรมเราก็บำเพ็ญขึ้นไปเรื่อยๆ สำหรับพระวินัยให้คงเส้นคงวาหนาแน่นด้วยความเป็นพระเต็มแบบเต็มฉบับของเรา

พระเต็มแบบเต็มฉบับ คือมีศีลที่ประทานให้แล้วตั้งแต่วันบวช เราเป็นพระสมบูรณ์แบบเพราะรับศีลมาแล้วเพื่อรักษา เมื่อเรารักษาศีลของเราตามแบบตามฉบับของพระผู้ต้องการความสมบูรณ์แบบแห่งความเป็นพระของตนแล้ว จงระมัดระวังตลอดเวลา อย่าให้ด่างพร้อยนะ นี่ละหลักสำคัญมาก ศาสดาแสดงไว้ตรงไหนให้ถือเป็นสำคัญ อย่าเอากาลสถานที่เวล่ำเวลาอะไรเข้ามาบีบบังคับหรือทำลายให้ทำความเลวร้าย ด้วยความเห็นแก่ได้แก่ทำ เอาความสะดวกเข้าว่า นี่ไม่ใช่ศาสดานะ ความสะดวกคือเรื่องมารของธรรม มารของศาสดา แล้วก็มารของเราโดยตรง ให้พากันระมัดระวัง

การระมัดระวังตัวของเรา คือสมบัติอันล้นค่าอยู่ที่นี่นะ อยู่ที่การระมัดระวังตัวกับธรรมกับวินัย มรรคผลนิพพานอยู่ที่นี่นะ อย่าไปหาตามดินฟ้าอากาศ ฟ้าแดดดินลม สถานที่นั่นที่นี่ โดยสำคัญว่าเป็นมรรคเป็นผล ไม่มี อยู่ที่จุดระมัดระวังตัวด้วยความมีสติ พระวินัยก็มีสติรักษาอยู่ไม่ให้คลาดเคลื่อน ธรรมก็มีสติรักษาอยู่ด้วยการจิตตภาวนาของตน เช่น สติจ่ออยู่ตลอดเวลา สัมปชัญญะเคลื่อนไหวไปมาอะไรให้มีความรู้ตัวเสมอ นี่เรียกว่าผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ให้พากันระมัดระวัง อยู่ตรงนี้นะมรรคผลนิพพาน ไม่อยู่ที่ไหน ศาสดาสอนลงตรงไหนนั้นแหละมรรคผลนิพพานอยู่ตรงนั้น นรกอเวจีก็อยู่ตรงนั้น ถ้าสอนให้ละหรือสอนให้ระวัง ข้ามเกินไปเสีย นั่นนรกอเวจีอยู่ตรงนั้น

พระวาจาของพระพุทธเจ้านี้เด็ดขาดมากทีเดียวนะ ไม่มีคลาดเคลื่อนไปเลย ไม่ว่าดีว่าชั่วผิดถูก เป็นผิดโดยตรง เป็นถูกโดยตรง ดีโดยตรง ชั่วโดยตรง นี่ละเชื่อพระพุทธเจ้าให้เชื่อพระธรรมกับพระวินัย อย่าไปเชื่อสิ่งอื่นใดยิ่งกว่าพระธรรมพระวินัยซึ่งเป็นองค์ศาสดาแทนพระองค์ ให้ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติ ระมัดระวังตนด้วยดี โลกเป็นอย่างเราเห็นนี่แหละ เกิดมากี่กัปกี่กัลป์มันก็มีแต่เกิดกับตาย แบกหามกองทุกข์ไปด้วยในภพชาตินั้นๆ ถ้าภพชาติที่พอมีอรรถมีธรรมครองใจบ้าง ก็พอมีความอบอุ่นในบางกาลบางเวลา ผสมผเสกันไปกับความผิดพลาดที่แสดงผลขึ้นมาให้เป็นความทุกข์ที่เรียกว่าเป็นบาปเป็นกรรม นั่นเป็นแยกๆ กันไป

ขอให้มีหลักธรรมหลักวินัยติดเนื้อติดตัว ไปที่ไหนอย่าเลินเล่อเผลอสติ สติสัมปชัญญะให้ติดกับตัว การภาวนาของทุกท่านขอให้ยึดหลักใจไว้ให้ดี ผมดำเนินมาแล้วได้ผลเป็นที่พอใจจึงกล้ามาสอนหมู่เพื่อน สติสำคัญมาก เอานี้เลยนะเป็นพื้นฐาน เราภาวนาธรรมบทใดก็ตาม สติกับคำภาวนาอย่าให้ห่างกัน อย่าไปเสียดายอารมณ์นั้นอารมณ์นี้ กิเลสมันผลักดันออกมาขัดมาแย้งอยู่นั่นแหละ ให้คิดตามเรื่องของกิเลส มันมีกำลังมาก ดีไม่ดีปัดคำบริกรรมของเราออกจากใจ สติปัดทิ้งลงเหวลงบ่อไป มีแต่ความอยากคิดอยากปรุงอยากแต่งตามอารมณ์ของกิเลสที่มันรุนแรง เปิดทางของกิเลสโดยถ่ายเดียว โล่งไปหมด นั่นแหละคือไฟนรกเผาใจในขณะนั้น นี่ละให้สู้กันตรงนี้นะ

มันจะอยากคิดอยากปรุงเรื่องอะไร ความอยากนี้คือภัยให้ว่างั้นเลย การต่อสู้ความอยากคิดอยากปรุงนี้คือการรบกัน จะเอาชัยชนะกัน ไม่ยอมให้คิด ต้องเอากันอย่างนั้น ไม่เสียดายความคิด เราคิดมาตั้งแต่วันเกิด ทีนี้เราจะมาปฏิบัติยังมาเสียดายความคิดอันเป็นเรื่องเลวทรามส้วมถานของกิเลสอยู่แล้ว เราจะเป็นส้วมเป็นถานเรื่อยไป หาอรรถหาธรรมมาครองใจไม่ได้นะ ให้พากันตั้งอกตั้งใจจริงๆ ให้อยู่กับคำบริกรรม ใครชอบคำบริกรรมคำไหนให้ติดแนบกับคำบริกรรมคำนั้น คำบริกรรมนั้นติดแนบกับใจ สติติดแนบกับคำบริกรรม สามพระองค์นี้ให้อยู่ด้วยกัน เราอย่าหวังเอาอะไรเอานี้ก่อน

เบื้องต้น ขอให้จิตได้รับความสงบจากความฟุ้งซ่าน ที่กิเลสลากถูไปไม่มีวันอิ่มพอ จะฟุ้งซ่านตลอดไปถ้าเราไม่หักห้ามด้วยธรรมคือความพากเพียร สติธรรม ปัญญาธรรม วิริยธรรม ขันติธรรม อดทน มันอยากจะคิดขนาดไหนให้ห้าม เพราะรู้แล้วว่ามันเป็นภัย ธรรมเห็นภัยต่อสิ่งเหล่านี้ เรายังจะเห็นสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นคุณ ยังคิดยังอ่านตามมัน อยากคิดอยากอ่านอยู่แล้ว นั่นละเราเป็นข้าศึกต่อธรรมเป็นข้าศึกต่อตัวเอง จะไม่เกิดผลเกิดประโยชน์ ภาวนาวันไหนก็สู้กิเลสความอยากคิดอยากปรุงไม่ได้ ให้มันลากไปห้าทวีปๆ อย่างนี้ตลอดไปใช้ไม่ได้เลยนะ ไม่เข้าท่าเข้าทีกับผู้ตั้งใจมาปฏิบัติเพื่ออรรถเพื่อธรรมเพื่อมรรคผลนิพพาน

เอาให้จริงให้จังนะ เวลาเด็ดให้เด็ดซิ อย่าอ่อนแอท้อแท้ ถึงคราวเด็ดๆ เช่นอย่างเราจะตั้งใจภาวนา ปักจิตลงไปเลยให้สติติดแนบอยู่กับนั้น แล้วกิเลสจะไม่ผลักดันออกมาไปกว้านเอาฟืนเอาไฟมาเผาตัวเอง กิเลสออกจากใจนะ มันผลักดันออกมาให้อยากคิดอยากปรุง คือ อวิชฺชาปจฺจยา นั่นแหละ พาให้อยากคิดอยากปรุงออกมา แต่ก่อนเราไม่รู้นะ มีแต่ความอยากคิดอยากปรุง มันออกมาจากอะไรไม่มีทางทราบ แล้วเวลาจิตมันตะล่อมเข้ามาๆ มันก็เห็นแต่อวิชชา มันคิดออกมาจากนั้น อ๋อ ตรงนี้ตรงป้อนเหยื่อให้สังขารทำงานเป็นสมุทัยขึ้นไปไม่มีสิ้นสุด ออกจากตัวนี้เอง นั่น มันจับได้แล้ว เพราะฉะนั้นจึงปักลงไป เอาธรรมเข้าลบล้างหรือบีบบังคับกันด้วยความมีสติในเวลาภาวนา ผู้ตั้งเบื้องต้นให้เอานี่ละเป็น ก.ไก่ ก.กา ติดแนบกับจิต รู้อะไรไม่รู้อะไรก็ตามขออย่าให้เผลอจากจิตด้วยสติ คำบริกรรมให้ติดไว้เสมอ แล้วต่อไปไม่นานใจนี้จะค่อยสงบจะค่อยเย็นลงไป สงบลงไป ความผลักดันของกิเลสที่พาให้คิดต่างๆ ก็เบาลงๆ นี่ทำมาแล้วนะไม่ใช่ธรรมดา ต้องเอาสละเป็นสละตายจริงๆ ซัดกันเลยไม่ให้เผลอ

คิดดูซิตั้งต้นทีแรก นี่ละคำสัตย์คำจริงเหมือนว่าระฆังดังเป๋งนี่ นักมวยฟัดกันเลย อันนี้ก็ระฆังดังเป๋ง คือสัจจะความจริงของเราลงจุดแล้วนะ พอว่างั้นเอาเลย ก่อนที่จะมาลงจุดนี้ คือเราได้ใคร่ครวญถึงเรื่องจิตเราเจริญแล้วเสื่อมๆ มาเป็นปีกว่า โห มันเสื่อมตั้งแต่เดือนพฤศจิกา ปีนี้ ฟาดเดือนเมษา ปีหน้า นานเท่าไร นี่ละตกนรกทั้งเป็น แหม ทุกข์แสนสาหัสนะ เพราะฉะนั้นจึงเข็ดจึงหลาบ เรื่องจิตเสื่อมนี่ทุกข์มากยิ่งกว่าจิตไม่เป็นอะไร ซึ่งเราไม่เคยได้อบรมมาแต่ก่อน ไม่รู้เรื่องรู้ราวก็ธรรมดามัน แต่จิตได้หลักได้เกณฑ์ มีความสง่าผ่าเผยมีคุณค่าขึ้นมาในใจ สงบร่มเย็น อยู่ไหนเย็นหมดๆ แล้วมาเสื่อม เพราะเราไม่รู้จักวิธีรักษาน่ะซิมันถึงได้เสื่อม

ทำอย่างไรๆ มันเจริญขึ้นมาแทบเป็นแทบตาย ได้สิบสี่สิบห้าวันค่อยเจริญขึ้นไปๆ ไปอยู่นั่นถึงจุดที่มันจะลดตัวมันไปอยู่นั่นแหละ ไปอยู่ได้สองคืนสามคืน ทีนี้พอเคลื่อนที่นี่ลงเลยนะ ทำอย่างไรก็ไม่อยู่ ห้ามอย่างไรก็ไม่อยู่ ลงต่อหน้าต่อตาจนสุดขีด ยังเหลือแต่อีตาบัวหมดค่าหมดราคา พยายามไสขึ้นมาอีกอย่างนี้ๆ เรื่อยมา จนปีกว่ามันก็เกิดความสงสัย เอ มันอาจจะเป็นเพราะเราไม่ได้ใช้คำบริกรรม กำหนดจิตเฉยๆ มันอาจมีทางเผลอไปได้ จิตใจจึงเสื่อมได้อย่างนี้ ทั้งๆ ที่เราตั้งใจ เวลาภาวนาก็ตั้งใจด้วยสติ แต่สติไม่มีคำบริกรรมผูกมัดกันนี้มันเผลอได้จริงๆ นะ

เพราะฉะนั้นจึงมาวินิจฉัย ที่มันเสื่อมนี้คงเป็นเพราะเราขาดคำบริกรรม มาพิจารณาวินิจฉัยตัวเอง ทีนี้เราจะเอาคำบริกรรมให้ติดแนบกับใจเลย มีสติบังคับกับคำบริกรรมไว้ไม่ให้เผลอ เอ้า มันจะเป็นอย่างไรจะทดสอบจะดูกันตรงนี้ว่างั้นนะ อันนี้เรายังไม่เคยทำแบบถึงไหนถึงกัน แบบที่ว่าเอาจริงเอาจัง ให้มีสติติดแนบตลอดเวลาตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งหลับ เราจะทำอย่างนั้นว่างั้น เพราะทำอย่างอื่นมันก็ไม่ได้ผล เอา วินิจฉัยใจลง ลงกันได้ ทีนี้เอาอย่างนี้แน่นอน จึงเทียบเหมือนกับว่าระฆังเป๋งแล้วเอาเลย เอานะที่นี่ นั่นแหละนะ พอว่า เอา สติจะเผลอไปไม่ได้ที่นี่ ตั้งแต่บัดนี้ต่อไปเรียกว่าขึ้นต่อยบนเวทีแล้ว เหมือนหนึ่งว่าระฆังดังเป๋งนักมวยก็ซัดกันเลย อันนี้พอระฆังดังเป๋ง คือสัญญาอารมณ์หยุดแล้วทีนี้สติจับปุ๊บเลย ไม่ให้เผลอ ตั้งแต่ตื่นนอน เอาไม่ให้เผลอจริงๆ จับอยู่ตลอดเวลา นี่เป็นทุกข์มากนะ ทุกข์มากที่สุด ทุกข์ก็ไม่ถอย

ตั้งสติพุทโธๆ อยู่กับนั้นไม่ให้เผลอ ให้ติดกันตลอดๆ เคลื่อนไหวไปมาที่ไหนไม่ถือเป็นงานสำคัญยิ่งกว่าไม่ให้เผลอกับคำบริกรรม ไปบิณฑบาตก็ก้าวไปแต่แข้งแต่ขา เขาเอาอะไรมาใส่ พุทโธไม่ได้ปล่อยเลย เอ้า มีอะไรใส่ก็รับไปๆ แต่พุทโธกับสตินี่ติดแนบๆ ไม่นานนักนะ คือเอาจริงเอาจังไม่ให้เผลอจริงๆ จนกระทั่งหลับเลย นี่จึงว่าทุกข์มากนะการตั้งสติแบบเอาจริงเอาจังถึงขนาดที่ว่าระฆังดังเป๋งนี่ เรียกว่าเป็นคำสัตย์คำจริง ต่อยกันอย่างถึงพริกถึงขิง จิตนี้จะเผลอไปไม่ได้ว่างั้นเลย พอว่าเอานะตั้งแต่นี้ไม่เผลอเลย ใส่กันไม่หลายวันนะ แล้วทีนี้จิตมันก็ค่อยสงบๆ

สิ่งที่ผลักดันคือความคิดปรุงของกิเลสที่มันเคยตัวมันผลักดันออกมา จะคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ เราบังคับเอาอยู่แล้วนี่ ไม่ยอมให้มันออกเลย ความคิดเหล่านั้นไม่ให้ออก ให้มีแต่คำว่าพุทโธออกอย่างเดียว พุทโธเป็นคำบริกรรมเป็นธรรมไม่ใช่กิเลส กับสติติดแนบไปนี้ สุดท้ายความผลักดันอันนั้นก็ค่อยเบาลงๆ พุทโธก็โล่งขึ้นๆ โล่งขึ้นเรื่อย ทีนี้ก็โล่งไปเลย นี้อันหนึ่งนะ เวลาจิตกับพุทโธคำบริกรรมติดแนบกันไม่หยุดไม่ถอย ไม่มีเวลาปล่อยวางกันเลย ไม่มีวรรคมีตอนเข้าไป จิตก็สงบลงๆ ละเอียดเข้าไปๆ จนกระทั่งคำบริกรรมพุทโธ จิตมันลงความละเอียดเต็มเหนี่ยวแล้ว บริกรรมคำว่าพุทโธไม่ได้เลยนะ หมด นี่มันเป็นเอง นึกยังไงก็ไม่มี เหลือแต่ความรู้ที่ละเอียด นึกคำบริกรรมไม่ได้เลย

งงเจ้าของ อ้าว มันเป็นยังไงกันนี่ งงก็ไม่ให้เผลอนะ มันเป็นยังไงที่นี่ แต่ก่อนกำหนดคำบริกรรมได้ บัดนี้ทำไมมันบริกรรมไม่ได้ทั้งๆ ที่ไม่เผลอ แต่นึกเป็นคำบริกรรมไม่มีเลย ตัดสินเจ้าของอีกว่า อ้าว ถึงไม่มีก็ตามคำบริกรรม ความรู้มีอยู่ เอาสติจับกับความรู้เลย อ้าว มันจะเป็นอย่างไรให้รู้กัน สติจับไม่ให้เผลอเช่นเดียวกับเราบริกรรมนั่นแหละ ให้สติจับอันนั้น ทีนี้เวลาสติจับอยู่กับจิตที่มันละเอียดลออนั้นแล้ว พอได้จังหวะ โอ้ นี่มันสงบนะนั่นนะ คือมันสงบบริกรรมไม่ได้เลยทั้งๆ ที่ไม่เผลอไผลไปอย่างอื่นอย่างใด แต่บริกรรมไม่ได้เห็นชัดเจน เอ้า ให้สติอยู่ตรงนั้น มันจะเป็นอย่างไร ทีนี้พอได้จังหวะมันก็ค่อยคลี่คลายออกมา เพราะเราไม่เผลอ มันตามกันได้ทุกระยะ

พอคลี่คลายออกมาเอาบริกรรมทดลองดู พอนึกบริกรรมได้ๆๆ เอาเลยเข้าเลย เอาอีก ทีนี้ก็บริกรรมได้อีกนะ มันถอยออกมาแล้วได้อีก ทีนี้เวลามันได้จังหวะมันก็ลงอีกแบบเก่า ทีนี้รู้จักวิธีปฏิบัติแล้ว เอ้า ลงอย่างนั้นก็ให้มีสติจ่อ ไม่นานจิตก็ค่อยตั้งรากตั้งฐานขึ้นได้ ทีนี้จิตเลื่อนขึ้นไปละเอียดขึ้นไปๆ จนกระทั่งถึงที่มันเคยได้นั้นแล้วมันเสื่อม เอ้า ทีนี้เอามันเสื่อมก็ให้เสื่อมไป คำว่าพุทโธกับใจนี้จะไม่ให้เสื่อมจากกัน สติไม่ให้เสื่อมจากกัน อันนั้นจะเสื่อมไปไหนเสื่อม เพราะเราเคยอิดหนาระอาใจหรือทุกข์ทรมานกับมันมาแล้ว ไม่อยากให้เสื่อมเท่าไรมันก็เสื่อมต่อหน้าต่อตา เอ้า จะเสื่อมก็ให้เสื่อมไป เจริญก็ให้รู้กัน เสื่อมก็ให้รู้กัน แต่พุทโธนี้จะไม่ยอมให้เสื่อม ให้ขาดจากเป็นคำบริกรรมนี้เลย ติดเรื่อยๆๆ เลย

พอไปถึงขั้นที่มันเคยขึ้นแล้วมันจะลงนะ ธรรมดามันเคยถึงแล้วมันต้องลง พอไปถึงนั้นแล้วปล่อยเลย เอ้า ลงก็ลงแต่คำบริกรรมพุทโธนี้จะไม่ยอมปล่อย ติดแนบเลย พอไปถึงนั้นแล้วมันเลยไม่ลงนะ มันหนาแน่นอยู่นั้น เอาอยู่กับนั้นอีกมันจะไปไหนก็ไป พุทโธนี้จะไม่ปล่อย เมื่อบริกรรมได้อยู่แล้วไม่ปล่อย ทีนี้มันก็ค่อยหนาแน่นขึ้นๆ ไม่เสื่อมอีกนะ ที่มันเคยเจริญขึ้นสิบสี่สิบห้าวัน ขึ้นถึงขั้นนั้นแล้วอยู่ได้สองสามวันลงเลยๆ ไม่ลง เอ้าปล่อยมันจะไปไหนก็ไป พุทโธไม่ปล่อย ทีนี้ก็ค่อยหนาแน่นขึ้นๆ จนจับได้ มันไม่ลงที่นี่ มีแต่ขึ้นเรื่อยละเอียดเรื่อย อ๋อ จิตเรานี้เสื่อมเพราะขาดคำบริกรรมจริงๆ นั่นละจับได้ ก็ซัดจนกระทั่งจิตนี้เป็นแท่งแห่งความรู้เด่นอยู่กับนี้

ทีนี้เอาสติจับไว้กับความรู้ บริกรรมมันละเอียดมาก เมื่อมันพอบริกรรมได้อยู่ยังบริกรรมนะ เมื่อมันเข้าถึงขั้นละเอียดไม่รวมมันก็ละเอียด ความรู้นี่มันละเอียด ให้อยู่กับนั้น สติติดอยู่กับนั้น ต่อไปก็ก้าวขึ้นเรื่อยๆๆ ละ นี่ละวิธีตั้งจิต ให้ท่านทั้งหลายจำไว้เอาไว้ ผมทำมาเป็นแบบฉบับแล้วนะหายสงสัย จิตผมตั้งขึ้นได้เพราะอันนี้เอง ไม่เสื่อมอีกเลย จากนั้นก็ไปรับพ่อแม่ครูจารย์มาจากธาตุพนม ท่านไปเผาศพพ่อแม่ครูจารย์เสาร์ กลับมาก็มาด้วยกัน พอมานี้หมดภาระแล้วที่นี่ เอาละที่นี่หมดภาระ ไปอย่างนั้นก็ไม่ได้ถอยนะคำบริกรรม ถอยเมื่อไร พอกลับมาแล้วหมดภาระที่นี่ เอ้า จะเอาให้เต็มเหนี่ยวฟัดกันเลย นั่งหามรุ่งหามค่ำนะที่นี่ พอกลับมายังไม่ได้เข้าพรรษานะนั่งหามรุ่งหามค่ำได้เลยทีเดียว

จิตแสดงความแปลกประหลาดอัศจรรย์ขึ้นมาในเวลานั่งตลอดรุ่งนี่ทุกคืน ไม่มีพลาดเลยนะ เป็นแต่เพียงว่าลงช้าหรือเร็วต่างกัน ถ้าวันไหนปัญญาพิจารณาไม่ค่อยคล่องตัวนัก วันนั้นทรมานร่างกายมาก ถ้าวันไหนปัญญาจับติด สติปัญญาจับติดๆ จิตลงผึงเลยอย่างนั้น พอสว่างแล้วลุกไปได้เลยทั้งๆ ที่เวลาเท่ากัน คือนั่งต้องเอาสว่างเป็นเกณฑ์ ไม่เป็นวันใหม่เสียก่อนจะลุกขึ้นไม่ได้ บังคับเจ้าของก็บังคับแบบนี้ มีข้อยกเว้นข้อเดียวคือนั่งอยู่ในระยะนั้น ก็อยู่กับครูกับอาจารย์กับพระกับเณรบ้านนามนเราไม่ลืม พรรษาที่สิบเป็นพรรษาที่ผมหนักมากที่สุดทั้งทางร่างกายและจิตใจ จิตใจก็ทรมานอย่างหนัก กายก็ทรมานอย่างหนัก ลงได้ทุกคืน นี่ก็คือสละตายนั่นเองมันถึงลงได้

มันจะเจ็บจะปวดขนาดไหน เอ้า ไล่เบี้ยกันลงไปเลย มันเจ็บตรงไหนมาก สมมุติว่ามันเจ็บเข่า มันเจ็บหนังหรือเจ็บเนื้อ ถ้าว่าเจ็บหนังว่าหนังเป็นทุกข์ เวลาคนตายแล้วหนังมีอยู่ไม่เห็นมีอะไร ไม่เห็นเป็นทุกข์ เนื้อเป็นทุกข์ คนตายแล้วเนื้อก็มีอยู่เผาไฟแล้วไม่เห็นเป็นอะไร จนกระทั่งกระดูกตับไตไส้พุงสกลกาย ย้อนหน้าย้อนหลังด้วยสติปัญญาหมุนติ้วๆ นะเวลาทุกข์มากเราอยู่เฉยๆไม่ได้นะ สติปัญญาต้องหมุนติ้วๆ จะไปทนเอาเฉยๆ ไม่ได้นะ มันหนักมากเท่าไรสติปัญญายิ่งหมุนตลอดเวลา เดี๋ยวมันได้จังหวะดีๆ มันก็ลงผึงเลย พอลงนี้มันว่างหมดเลย อัศจรรย์ เหลือแต่ความปรากฏ ความปรากฏนั้นละเอียดสุดขีดเลย นั่นละเด่นแล้วที่นี่ จ้าแล้ว พอได้สักขีพยานวันนี้แล้ววันหลังยิ่งกล้าหาญใหญ่เลย เอ้ามันจะเป็นอะไรก็เป็น สักขีพยานเราได้แล้วมันยิ่งหนักแน่นซัดลงไป นั่งเก้าคืนสิบคืนแต่ไม่ติดกัน เว้นสองคืนบ้างสามคืนบ้าง นั่นละผมตั้งหลักได้จิตใจแน่นหนามั่นคง ปึ๋งๆๆ เลยเทียวนะ

นี่การฝึกหัดตนเองต้องมีความจริงใจต่อตน อย่าทำเหลาะๆ แหละๆ นะ ถึงวันตายก็เหลาะแหละอยู่อย่างนี้ ความเหลาะแหละไม่สร้างสารคุณอะไรให้เราเลย ต้องเป็นความจริงจังเท่านั้นที่จะสร้างสารคุณให้ วันนี้ก็เหลาะแหละ วันหน้าก็แบบเก่าๆ ก็เป็นทางของกิเลสเดินด้วยความเหลาะแหละๆ ในทางความเพียร แต่เข้มแข็งทางกิเลสไปโดยลำดับอย่างนั้นแหละ จะไม่เกิดผลประโยชน์อะไรนะ

ขอให้ท่านทั้งหลายตั้งอกตั้งใจ วิธีการบำเพ็ญก็ได้สอนแล้ว สอนอย่างไม่ผิดไม่พลาดเสียด้วย แม่นยำ เป็นที่แน่ใจ เราได้ผลมาแล้วอย่างนี้จากความจริงใจของเรา แล้วก้าวขึ้นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงขั้นสมาธิ ทีนี้ เอ้า อยู่ที่ไหนอยู่ได้เลย นั่งทั้งวันมันก็ได้ ไม่ได้คิดเรื่องอะไรมีแต่ความรู้ที่แน่ว ความคิดความปรุงมันรำคาญนะ แต่ก่อนมันไม่ได้คิดไม่ได้มันรำคาญ ต้องคิดต้องปรุงเพราะกิเลสไสออกไป ทีนี้เวลาสมาธิธรรมทับหัวความคิดนั้นแล้วมันไม่อยากคิดที่นี่ นั่งอยู่ที่ไหนแน่ว คือความรู้เป็นอันเดียว แน่ว ไม่มีอะไรกวน มันคิดยิบๆ แย็บๆ นี่ โหย รำคาญ แน่ะ มียิบๆ แย็บๆ นี่รำคาญ นี่ถึงขั้นสมาธิเต็มภูมิ ความคิดปรุงต่างๆ รำคาญไม่อยากคิด

เพราะฉะนั้นผู้ที่จิตเป็นสมาธิแล้วจึงติดสมาธิ อยู่นั่นทั้งวันก็อยู่ได้ อยู่ไหนสบายหมดจิตไม่กวนตัวเอง คือไม่ยุ่งเหยิงวุ่นวายคิดนั้นคิดนี้เสียเท่านั้นเอง มีหนึ่งเอกจิตเอกธรรม ทั้งๆ ที่มีกิเลสอยู่ท่านเรียกว่าเอกัคคตารมณ์ มันหากเป็นอยู่อย่างนั้นทั้งวันทั้งคืน จิตดวงที่มีสมาธิเต็มที่แล้วเป็นอย่างนั้น เต็มภูมิ เราไม่สงสัยเรื่องสมาธินี่ไม่ว่าขั้นใด เราเป็นมาหมดแล้ว ใครจึงมาโกหกยากนะ ตั้งแต่เริ่มเป็นสมาธิขึ้นไปเรื่อยๆ มันก็รู้ๆ ชัด จนกระทั่งถึงสมาธิแน่นเหมือนหินนี่มันก็เป็นมาแล้ว จนถึงกับว่าลืมเรื่องปัญญา ถ้าอยู่กับสมาธิทั้งวันก็อยู่ได้ สุดท้ายก็ชี้ลงไปตรงนั้น เอ้อ นี่ละนิพพานอยู่ตรงนี้ๆ อยู่ที่รู้เด่นนั่นแหละ ว่านิพพานอยู่นั่นเสีย ถ้าว่ากินปลาก็หมดทั้งกระดูกหมดทั้งก้างทั้งกระดูกกินหมดเลย ความโง่ยังเต็มอยู่ในสมาธิมันจะเป็นนิพพานได้อย่างไร จนพ่อแม่ครูจารย์มาขนาบทางด้านสมาธิ

นี่ละพอท่านขนาบนี้ออก ออกนี้มันก็ผึงเลยเพราะสมาธิมันพอตัวมานานเท่าไร ตั้งห้าปี พอท่านลากออกทางปัญญาเท่านั้นแหละ นี่ผมพูดย่อๆๆ นะ ทีแรกมันไม่ยอมลงท่าน เถียงกันเหมือนกัน ท่านใส่เอาเปรี้ยงๆๆ จึงยอมลงท่าน พอออกปัญญานี้ โถ ที่นี่นะ ก็เหมือนกับเครื่องครัวเราครบหมดแล้ว เป็นแต่เพียงว่าเราไม่ประกอบอาหารให้เป็นอาหารชนิดนั้นๆ เท่านั้น มันก็เป็นผักเป็นหญ้าเป็นปูเป็นปลาอยู่อย่างนั้นแหละ มันไม่เป็นแกงเป็นอาหารชนิดต่างๆ ให้ซิ พอเอามาปรุงนี้ก็คือปัญญาออกจาระไน ทีนี้ออกแล้วรู้แล้วๆ กระจ่างขึ้นๆ ทีนี้มันก็มาตำหนิสมาธิ โอ้โห มันขึ้น ทีแรกขึ้นชอบกลๆนะ พอปัญญาเริ่มก้าวออก เอ๊ะ ชอบกลๆ ทำให้เพลินให้รู้ให้เห็นเรื่องกิเลสต่างๆ

แต่ก่อนมันมีตั้งแต่ความสงบมันไม่ได้เห็นกิเลส พอออกทางด้านปัญญาเห็นกิเลสด้วยที่นี่ โอ๋ เป็นอย่างนี้ๆ ก็หนักเข้าๆ โอ๋ แก้กิเลสแก้ด้วยปัญญาต่างหากสมาธิไม่ได้แก้กิเลส นอนตายอยู่เฉยๆ ทีนี้เวลาออกทางด้านปัญญามันเลยไม่สนใจกับสมาธิ นี่ก็เลยเถิด เพราะสมาธินี้ไม่ได้แก้กิเลส แต่เป็นที่พักของปัญญาที่ทำงานเต็มที่แล้วมาพักตัวให้ได้กำลัง ออกจากสมาธิแล้วปัญญาเหมือนกับมีดได้ลับหิน เจ้าของก็เหมือนได้พักผ่อนนอนหลับรับประทานอาหารอิ่มแล้วมีกำลัง ฟัดกันเลยที่นี่ มีดเล่มนั้นแหละคนๆ นั้นแหละฟันไม้นี้ขาดสะบั้นไปเลย นี่เมื่อได้ลับมีกำลังแล้ว

ให้จำให้ดีนะคำพูดเหล่านี้ ใครอย่าไปหนักที่ไหนๆ ทิฐิมานะมันจะแทรกนะ ผมมันแทรกมาพอแล้วเถียงจนกระทั่งพ่อแม่ครูจารย์มั่น แต่ท่านกระจ่างแจ้งหมดแล้วใส่เปรี้ยงเดียวมันก็หงาย เพราะเราเถียงเพื่อความรู้ความเห็นความเข้าอกเข้าใจ ไม่ได้เถียงด้วยทิฐิมานะนี่นะ ท่านว่าตรงไหนพอถูกปั๊บหมอบเลยๆ ที่ไหนไม่ลงก็ซัดกันกับท่าน นั่นเป็นอย่างนั้น จากนั้นมาปัญญาจึงได้ออก เริ่มออกละที่นี่ เริ่มออกก็ไม่ไปไหน ให้จำข้อนี้ให้ดีอีกนะ

พอปัญญาเริ่มออก หมุนเข้าสู่สกลกายเรื่องอสุภะอสุภัง นี่ละรังแห่งกิเลสทั้งหลายมีกามกิเลสเป็นสำคัญ อยู่จุดนี้นะ ให้พิจารณาร่างกาย ร่างกายเขาก็ตามร่างกายเราก็ตามให้พิจารณาเป็นอสุภะอสุภัง ดูหนังดูเนื้อเอ็นกระดูก ทั้งหนังเขาหนังเรามันเป็นหนังอันเดียวกันนั่นแหละ คลี่คลายออกดู ดูหนังข้างนอกก็มีผิวหนัง ดูข้างในเป็นอย่างไร พลิกไปพลิกมาด้วยปัญญา แล้วกระดูก เนื้อ เอ็น ไปจนกระทั่งถึงอวัยวะส่วนต่างๆ พิจารณากลับไปกลับมาให้มีความชำนิชำนาญในการพิจารณา ให้คล่องตัวไปเรื่อยๆ แล้วเรื่องอสุภะอสุภังนี้ก็จะรวดเร็วขึ้นๆ ถ้าพูดถึงอสุภะความไม่สวยไม่งามมันหมดทั้งตัว มันเอาความสวยงามมาจากไหน เวลามันรู้มันชัดอย่างนั้นนะ หมดทั้งตัวมีแต่กองอสุภะอสุภัง มีแต่ส้วมแต่ถาน แล้วมันเสกสรรปั้นยอว่าสวยงามมาจากไหน นี่ ถึงขั้นปัญญามันคลี่คลายนะมันจะเห็นไปหมด

ดูใครก็ตามว่าไม่ว่าหญิงว่าชายว่าเฉยๆ มันก็หนังห่อกระดูกกองอสุภะอสุภังเหมือนกันหมดนั่นแหละ นี่ที่มันเหมาไปเลย เราจะพิจารณาภายนอกก็ได้ อสุภะข้างนอกคนอื่นก็ได้ พิจารณาเราก็ได้แล้วแต่ความถนัด เอาให้มันกระจ่างแจ้งไปโดยลำดับแล้วคล่องตัวเรื่อยนะ อสุภะอสุภังเวลาพิจารณาไปมันจะคล่องตัวรวดเร็วขึ้น มองดูอะไรๆ นี้มันจะเห็นอย่างรวดเร็วๆ คำว่าอสุภะ ดูเนื้อนี้มันแดงโร่ไปเลย ดูกระดูกกระจ่างขึ้นมา ดูอะไรมันชัดเจนๆ นี่เรียกว่าปัญญาคล่องแคล่ว ครั้นเวลามันชำนิชำนาญพอแล้วทีนี้เห็นอะไรมันเป็นอย่างนี้หมดนะ ไม่ว่าเห็นหญิงเห็นชายที่ไหนๆ มองดูปั๊บนี่มันเป็นแบบเดียวกับเราที่เคยพิจารณาแล้วนี้ มีแต่หนังห่อกระดูก ถ้าว่ากระดูกมันก็เป็นกระดูกหมดเสีย ถ้าว่าเนื้อก็แดงโร่เสีย ถ้าว่าหนังข้างในก็แดงโร่ข้างนอกก็เป็นผิวหลอก แน่ะ

พอกำหนดอันนี้มันรวดเร็ว กำหนดให้พังเมื่อไรมันก็พัง นี่ละคือปัญญารวดเร็ว พิจารณาเป็นอะไรมันเป็นอย่างนั้นทันทีๆ กำหนดทำลายนี้มันก็ผางหมดเลยๆ เราเดินไปสามก้าวสี่ก้าวนี่มันพิจารณาทางด้านปัญญา มันทำลายอสุภะอสุภังไปได้ถึงห้าเที่ยวฟังซิน่ะ มันเร็วไหม นี่เรื่องการพิจารณาอสุภะอสุภังถึงขั้นปัญญารวดเร็วคล่องตัวแล้วนี้ผางทีเดียว พอกำหนดปั๊บนี่แตกกระจายลงผึง ตั้งขึ้นปุ๊บแตกผึง ตั้งขึ้นปุ๊บกระจายทันทีๆ เดินเพียงสามก้าวสี่ก้าว เราพิจารณาทำลายอสุภะอสุภังได้ถึงสี่เที่ยวห้าเที่ยว มันเป็นเองนะ นั่นล่ะที่นี่เอาให้แหลกนะพิจารณาอสุภะ เอา พิจารณาให้ดีให้มีความคล่องตัว มองดูข้างนอกก็ให้คล่องตัว เรื่องสุภะความสวยความงามไม่มีเลยละถึงปัญญาขั้นนี้แล้ว มันมีแต่มูตรแต่คูถเต็มเนื้อเต็มตัวทั้งเขาทั้งเรา

ตอนนี้ละราคะจะสงบเต็มที่นะจะไม่มีราคะ ปรากฏว่าเหมือนหนึ่งเป็นพระอรหันต์น้อยๆ นั่นแหละ ไม่มีเรื่องราคะ กำหนดหลอกมันให้กำหนัดมันก็ไม่กำหนัดเพราะอันนั้นมาเป็นภูเขากั้นหน้าไว้ คืออสุภะ มีแต่อสุภะจะเอาอะไรมากำหนัดยินดี นี่ละเวลาอสุภะมันแก่กล้าแล้วจะไม่เห็นความสวยความงาม เรื่องหญิงเรื่องชายไม่มีความสวย มีตั้งแต่อสุภะอสุภังเต็มตัวๆ นี่ราคะจะสงบตอนนี้ สงบมากเข้าๆ โดยลำดับ เอ้า ที่นี่เรื่องสุภะอสุภะก็ดีไม่ใช่เป็นสิ่งที่ถอนกิเลสโดยตรงนะ เป็นเครื่องฝึกซ้อมที่จะก้าวเข้าไปหาการตัดราคะต่างหาก ราคะจริงๆ ไม่ได้อยู่ในนั้นนะ เวลาพิจารณาจริงๆ

เอ้า เวลามันชำนาญแล้วจับให้ดีนะคำนี้ เวลามันชำนาญแล้วตั้งกำหนดอสุภะ เช่น เรานั่งเป็นหนังห่อกระดูก หรือเอาหนังออกหมดให้เหลือแต่เนื้อแดงโร่ หรือให้เหลือตั้งแต่กองกระดูก แล้วแต่เราจะพิจารณาแบบไหนคำว่าอสุภะมันก็เข้าใจกัน เอ้า เอามาตั้งไว้ตรงหน้า เอ้า ไม่ทำลาย นี่ละเรื่องทดสอบกันฝึกซ้อมกัน เราพิจารณาทำลายเมื่อไรเร็วที่สุดแหละเรื่องอสุภะนี่ เมื่อสติปัญญาคล่องตัวแล้วพิจารณาเมื่อไรพังเมื่อไรนี้ขาดสะบั้นไปทันทีไม่ยากเลย เพราะความคล่อง ทีนี้ไม่ทำลาย เราจะทดสอบเอาหลักความจริงว่าราคะนี้มันเกิดจากไหน ราคะจะสิ้นไปเมื่อไร เอาตรงนี้ละ ตรงนี้ตรงหัวเลี้ยวหัวต่อนะ

ทีนี้เวลามันชำนิชำนาญในการพิจารณาอสุภะอสุภังแล้ว เอ้า กำหนดไว้ข้างหน้าที่นี่นะ จะกำหนดเรื่องผู้หญิงอสุภะก็ตาม กำหนดผู้ชายเป็นอสุภะก็ตาม แต่ส่วนมากมันจะเอาตัวเองนั่นแหละออกเป็นอสุภะ อสุภะไหนก็เหมือนกันนั่นแหละ เพราะตัวนี้เป็นผู้ไปหมายนี่นะ ตั้งไว้ทีนี้ไม่ทำลาย สมมุติว่ากองกระดูกก็ให้มันเป็นอยู่นั้น เอ้า มันจะเป็นไปไหน เราไม่ตกไม่แต่งคือไม่ไปทำลาย ไม่ไปโยกย้ายมันด้วยเจตนานะ ให้ตั้งไว้ เอ้า มันจะเป็นอย่างไร ทีนี้เพ่งดู เพ่งดูอสุภะอันนี้อันที่เราเคยพิจารณาชำนิชำนาญให้แตกให้ดับเมื่อไรได้ตามต้องการ ทีนี้ไม่ทำลาย เอาตั้งไว้ตรงหน้าแล้วเพ่งดู นี่ละตอนสุดท้ายของอสุภะ เราจะได้เห็นชัดเจน ตั้งตรงนี้

เราไม่มีเจตนานะ ตั้งไว้ในปัจจุบันไม่มีเจตนาทำลาย ไม่มีเจตนาที่จะดึงเข้ามาและที่จะไสออกไป ทางซ้ายทางขวาข้างหน้าข้างหลัง ให้มันอยู่อย่างนั้นก่อน เราอย่าไปตกแต่งนะ นี่จุดสำคัญอยู่ตรงนี้ ตกแต่งเป็นความผิดนะ ให้มันเป็นในหลักธรรมชาติเอง เอ้า เอาตั้งไว้ตรงนั้นแหละ เมื่อตั้งไว้ไม่ทำลาย เอาอยู่อย่างนั้นมันอยู่อย่างนั้น อยู่จนถึงกาลอันควร เมื่อมันยังไม่เคลื่อนไหวไปไหนแล้ว เอา ทำลายเสียก่อนพิจารณาอีกๆ นะ พอสมควรแล้วเอามาตั้งอีก นี่ละที่จะฝึกซ้อมหาต้นตอของราคะตัณหา มันจะเกิดนี้ อันนี้ผมพูดยากนะ ถ้าพูดหมู่เพื่อนจะจับ ให้มันเป็นเอง เพราะฉะนั้นจึงเปิดประตูให้เข้าเอง นี่ละประตูที่จะสังหารราคะตัณหาตรงนี้เอง เอ้า ตั้งไว้ตรงนั้น เราไม่ต้องไปดึงเข้ามา ไม่ต้องไสออกไปข้างนอก ไม่ต้องให้เอียงหน้าเอียงหลัง คือตั้งไว้อย่างนั้นเป็นหลักธรรมชาติ ฟังว่าแต่หลักธรรมชาติ ให้มันเป็นโดยหลักธรรมชาติของมัน แล้วให้เพ่งดู เอ้า ว่ามันจะเคลื่อนย้ายไปไหนอสุภะอันนี้น่ะ

เราพิจารณามาพอแล้ว ให้แตกทำลายก็พอ ทีนี้ไม่ให้ทำลายแล้วจะดูมัน เอ้า ตั้งไว้นั้นแหละ มันจะเป็นอย่างไรให้เป็นเองให้เห็นประจักษ์ โดยไม่ต้องถามใครนะ เป็น สนฺทิฏฺฐิโก จะบอกตัวเอง ถ้าหากว่ามันยังไม่เคลื่อนย้ายไปไหน ให้อยู่มันก็อยู่ แสดงว่ายังไม่พอ การพิจารณาอสุภะของเรายังไม่พอ ฝึกซ้อมใหม่ เอ้า ทีนี้ทำลายเสีย จะทำลายก็ทำลาย แล้วพิจารณาต่อไปอีกอย่างนั้นแหละ ตั้งขึ้นแล้วทำลายในนั้นและเอามาตั้งอีกทดสอบกันอีก เมื่อมันพอแล้วไม่บอกละนะ อันนี้ผมจะไม่บอก ให้ตั้งไว้นั้น อันที่ตั้งนั่นละมันจะมาสอนเราเอง เรื่องราคะตัณหามันจะบอกในตัวเอง เห็นโทษของตัวเองที่ไปหมายมั่นปั้นมือเอาอันไหนๆ มันจะรู้ขึ้นในปัจจุบันโดยไม่ต้องถามใคร

นี่ละหลักถอนราคะ ไม่ใช่ว่าถอนด้วยอสุภะนั้นอสุภะนี้อะไรนะ มันถอนด้วยตรงนี้ เอาตรงนี้มาตั้งจุดสุดท้ายมันจะอยู่จุดนี้ กำหนดให้ดี เอ้า มันจะออกจะเข้าให้มันเป็นเองของมัน นี่ละตอนสำคัญ ผมบอกเพียงจุดเดียวนี้นะ ให้เอาอย่างนี้มาพิจารณา มันจะเข้าสู่หัวใจของเรานี่ละเป็นผู้ตัดสินมันเรื่องราคะ อ๋อ อย่างนี้เอง โห ราคะเป็นอย่างนี้เอง อันนั้นเป็นนั้นอันนี้เป็นนี้เราหลงเงาลืมเงา นี่จับตัวจริงได้แล้ว ทีนี้พอผ่าน เราพูดเอาตอนผ่านเลย ตอนที่ปฏิบัติหน้าที่เรื่องราคะกับอสุภะอันนี้พูดเพียงแค่นี้ก่อน ไม่พูดให้มากไปกว่านี้ ให้ผู้ปฏิบัติกำหนดเอานี้เองนะ เราจะพูดเรื่องทางผ่านต่อไปนะ

ทีนี้พอมันหมดจังหวะ อสุภะนี้หมดจังหวะแล้ว ให้เราตั้งอันนี้แหละตั้งอสุภะขึ้นมา ที่เราเคยได้เหตุได้ผลประจักษ์หัวใจแล้ว ตั้งครั้งนี้ฝึกซ้อม เอ้าฝึกซ้อม เอาอันนี้เป็นหินลับปัญญาเลย ฝึกซ้อมเรื่อย มันจะละเอียดเข้าไปๆ ตั้งขึ้นแล้วกำหนดนี้ปั๊บเข้าปุ๊บๆๆ ต่อไปก็ค่อยเร็วเข้าๆ สุดท้ายหมด นี่แหละเรียกว่าฝึกซ้อม สติปัญญาจากนี้ไปแล้วจะเป็นสติปัญญาอัตโนมัติ ส่วนสติปัญญาพิจารณาทางอสุภะอสุภังนี้ยังไม่เป็นอัตโนมัตินะ มันเป็นชุลมุนวุ่นวาย จะเรียกว่าอัตโนมัติยังไม่ได้ พอผ่านอันนี้ไปแล้วที่นี่ มันอาศัยอันนี้ละเป็นเครื่องฝึกซ้อม แล้วจะเป็นอัตโนมัติหมุนเรื่อยๆๆ

นี่ละพระอนาคามีที่ท่านถึงจุดนี้แล้วท่านจึงว่าไม่กลับมาเกิดอีก จะเกิดได้อย่างไรก็มันรู้ชัดๆ ก็มีแต่ฝึกซ้อมให้มันเลื่อนขึ้นละเอียดเข้าไปๆ นี่ละอวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี คือการฝึกซ้อมจิตอันนี้เอง มันจะละเอียดเข้าไปๆ ควรขั้นไหนๆ มันจะรู้ของมันเองเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงสุดท้ายของมันถึงเรื่องอันนี้หมด เรื่องวิธีฝึกซ้อมอะไรมันหมด นี่ก็จะบอกอีกเหมือนกัน จนกระทั่งอวิชชา ถึงขั้นสุดท้ายแล้วก็ลงในอวิชชา ขาดสะบั้นไปแล้วนี้จ้าไปหมดเลย ถึงขั้นไหนล่ะที่นี่

นี่ละเรื่องวิธีปฏิบัติให้ท่านทั้งหลายจำเอานะ ผมพูดมาตามลำดับลำดาแห่งภาคปฏิบัติที่ตัวเองได้ปฏิบัติมาแล้วหายสงสัยเป็นลำดับลำดา เป็นแบบฉบับแก่การสอนผู้อื่นได้โดยไม่สงสัยเลย เพราะเราปฏิบัติมาอย่างนี้ เป็นผลประจักษ์กับเรามาโดยลำดับลำดาหาสงสัยไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงกล้าที่จะนำมาสั่งสอนหมู่เพื่อนด้วยความแน่ใจไม่สงสัย นี่ละเรื่องอสุภะสำคัญมากนะ ขอให้ท่านทั้งหลายใช้เรื่องอสุภะอสุภังให้มาก กามราคะอยู่จุดนี้นะ ต้องใช้อันนี้ให้มาก กามราคะนี้จะค่อยลดลงๆ พอลืมหูลืมตาได้ ถึงมันยังไม่ขาดก็ลืมหูลืมตาได้ จนกระทั่งถึงจุดมันขาดมันก็รู้เอง ให้เอาอันนี้หนัก จากนั้นไปก็ก้าวเข้าสู่สติปัญญาอัตโนมัติ จากสติปัญญาอัตโนมัติแล้วมหาสติมหาปัญญาเชื่อมโยงถึงกัน อันนี้ไหลไปเลย นี่ละภาคปฏิบัติ

มรรคผลนิพพานอยู่ที่ไหน อยู่ที่ธรรมที่วินัยพระพุทธเจ้าสอน ที่พูดนี้เป็นธรรมล้วนๆ นี่ละอยู่ที่ธรรม นี่ละศาสดาองค์เอกอยู่ที่นี่ละ จำให้ดีนะอยู่ที่วิธีปฏิบัติอย่างนี้ ให้ปฏิบัติตามที่ท่านสอน นี่ละศาสดาองค์เอกคือธรรมละที่นี่ องค์เอกอยู่ที่นี่ อะไรขาดไปๆ ศาสดาองค์เอกจะบอกขึ้นมาๆ เรื่อย วินัยเป็นรั้วกั้นๆ ศาสดาองค์เอกนี้เป็นธรรม ฝึกซ้อมนี่ให้ดีๆ จิตกระจ่างออกมาๆ ส่วนวินัยเรารักษาด้วยดีไม่มีปัญหาอะไรละนั่น เรื่องวินัยไม่ได้ไปใช้อสุภะอสุภังอะไรละ วินัยเป็นวินัย ห้ามไม่ให้ล่วงเกินสิกขาบทข้อนั้นข้อนี้ ไม่ให้ล่วงเกินเราก็รู้กันแล้ว เราไม่ล่วง แต่เรื่องธรรมละเอียดกว่านั้น พิจารณาเรื่องธรรมให้ขาดสะบั้นออกไปจากใจของเรานะ เมื่อจิตถึงขั้นนี้แล้วจะเบิกกว้างแล้วหมุนตัวขึ้นเรื่อยๆ

จิตที่ขาดจากอสุภะอสุภังในฐานเบื้องต้นนี้เรียบร้อยแล้ว มันจะเป็นสำลีหมุนขึ้นเรื่อย ให้ลงไม่มี เพราะฉะนั้นพระอนาคามีท่านจึงไม่กลับมาเกิดอีก มันบอกชัดๆ อยู่ในหัวใจ มีแต่หมุนขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งที่สุดฟาดอวิชชาขาดสะบั้นลงไปนี้โลกจ้าไปเลย นี่ละภาคปฏิบัติ ท่านทั้งหลายอย่าไปหามรรคผลนิพพานที่ไหนนะ ให้จำให้ดี ธรรมและวินัยที่เราปฏิบัติอยู่นี้แลคือศาสดาองค์เอกคอยชี้แนะทางเราอยู่เสมอ อย่าให้ห่างจากนี้นะ เรื่องธรรมของเราที่ไม่ชำนิชำนาญตรงไหน เอาให้ดี เช่นอย่างพิจารณาฝึกซ้อมอสุภะอสุภัง เพราะกิเลสตัณหากามกิเลสนี้หนักหน่วงมากทีเดียวนะ แหม ไม่มีอะไรที่จะกดจะถ่วงมากยิ่งกว่ากามกิเลสราคะตัณหานะ กดถ่วงมากกล่อมมากด้วยนะ สัตว์ทั้งหลายนี้ติดกันงอมไปเลยไม่มีวันฟื้นคือตัวนี้แหละ มันกดมันถ่วง เพลินด้วย ความทุกข์ก็เต็มอยู่ในอันนี้

ทีนี้เวลาพิจารณานี้เบาเข้าๆ เรื่องความทุกข์ความกดถ่วงนี้ค่อยเบาไป ฟาดกามกิเลสขาดสะบั้นลงไปแล้วความกดถ่วงไม่มี มีแต่ดีดขึ้นข้างหน้าเรื่อย ดีดสูงขึ้นไปเรื่อยๆ นี่ที่ว่าไม่กลับมาเกิดอีก ก็คือกิเลสตัวนี้เองพาให้เกิดให้ตาย กดถ่วงให้เกิดภพนั้นภพนี้คือกามกิเลส พอตัวนี้ขาดสะบั้นไปจากใจแล้วจิตนี้เหมือนสำลีขึ้นไปเรื่อยๆ ยิ่งฟาดอวิชชาขาดสะบั้น นั้นแหละจอมแห่งไตรภพอยู่ที่นั่น ขาดสะบั้นแล้วไม่ต้องถามใคร พูดแล้วสาธุทันทีเลย พระพุทธเจ้าประทับอยู่ข้างหน้าก็ไม่ทูลถาม ธรรมอันเดียวกันอย่างเดียวกัน ท่านสอนเพื่อให้รู้อย่างนี้ เมื่อรู้อย่างนี้แล้วจะไปสงสัยที่ไหน สนฺทิฏฺฐิโก ประกาศป้างขึ้นมาแล้ว เป็นพระโอวาทอันเด็ดขาดของพระพุทธเจ้าเสียด้วย นั่นละท่านจึงไม่มีถามกัน พระสาวกองค์ไหนไม่เคยไปทูลถามพระพุทธเจ้าเมื่อบรรลุธรรมถึงที่สุดนี้แล้วเป็น สนฺทิฏฺฐิโก เต็มภูมิๆ

ให้ตั้งใจปฏิบัตินะ เวลานี้ผู้ที่จะทรงมรรคทรงผลมันน้อยลง ก็เพราะผู้ปฏิบัติสนใจปฏิบัติตามหลักธรรมหลักวินัยเพื่อความพ้นทุกข์ มีน้อยลงเป็นลำดับลำดานะ ต่อไปจนจะไม่มีนะ มันจะหมดไปๆ คำว่าศาสนาคือคำสอนของพระพุทธเจ้าคงเส้นคงวาหนาแน่น ในคัมภีร์ก็เต็มไปหมดมันก็เป็นเหมือนแบบแปลนแผนผังนั่นเอง เราไม่หยิบยกออกมากางมาประพฤติปฏิบัติตามธรรมที่ท่านสอนไว้ มันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร มีแต่ความจำเฉยๆ ผู้ใดเรียนก็จำได้ ผู้หญิงผู้ชายเด็กผู้ใหญ่เรียนจำได้ทั้งนั้น ไม่ว่าทางโลกทางธรรมเรียนอะไรจำได้ทั้งนั้น แต่มันมีแต่ความจำ ไม่มีความจริงเพราะไม่ปฏิบัติ ถ้ามีการปฏิบัติแล้วความจริงจะรู้ขึ้นมาเห็นขึ้นมาเรื่อยๆ

เหมือนเขาปลูกบ้านปลูกเรือน เอาแปลนมากางแล้ว เอ้า จะทำอย่างไรเอาตึกหลังไหนขนาดไหน ดูแปลนปั๊บนี้ เอาที่นี่ขุดดินขุดอะไรขึ้นไปเรื่อยจะเอาแบบไหนๆ วางรากวางฐานตามแปลน มันก็ค่อยปรากฏเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาๆ จนเป็นบ้านเป็นเรือนสมบูรณ์แบบตามแปลนนั้นแลเพราะแปลนถูกต้องแล้ว นี้แปลนของพระพุทธเจ้าเป็นสวากขาตธรรมตรัสไว้ชอบแล้วยิ่งกว่าคนมีกิเลส ของเขาเขาก็รับรองของเขาอยู่แล้วตามสมมุตินิยม ทางวิมุตติธรรมนี้ก็สอนตั้งแต่ต้นจนกระทั่งถึงนิพพานถูกต้อง เป็นสวากขาตธรรมตลอดนะ ให้พากันตั้งอกตั้งใจปฏิบัตินะ

ผมยิ่งห่วงยิ่งใยหมู่เพื่อนมาก จะเป็นจะตายเท่าไร ธาตุขันธ์มันอยู่อย่างนี้แหละดูเอานะ เวลาอยู่กับโลกก็ปฏิบัติไปตามโลกตามสงสาร สำหรับจิตนี้ผ่านไปหมดแล้วพูดให้ฟังให้ชัดอย่างนี้นะ ไม่ว่าบาปว่าบุญอาบัติข้อนั้นข้อนี้อย่างนี้เป็นสมมุติทั้งมวล จิตนั้นเลยหมดแล้ว ถ้าจะปฏิบัติตามจิตนั้นก็ต้องหมายถึงว่าธาตุขันธ์ต้องผ่านไปหมดแล้ว แต่เมื่อมีธาตุขันธ์อยู่นี้ โลกก็เรียกว่ามีสมมุติอยู่เต็มตัวของเรา เรามีสมมุติเต็มตัวของเรา การปฏิบัติหลักพระวินัยก็ต้องปฏิบัติให้เต็มตัวของเราที่มีสมมุติ ท่านห้ามข้อไหนๆ อย่าไปข้ามไปเกิน เสริมท่านด้วยความยอมรับความจริงๆ ท่านว่าผิดถูกประการใดเราก็ปฏิบัติตามนั้น

เพราะฉะนั้นพระอรหันต์ท่านถึงไม่เคยข้ามเกินพระธรรมวินัยนะ ท่านปฏิบัติด้วยความสวยงามเวลามีธาตุมีขันธ์อยู่ ถ้าเป็นหลักธรรมชาติแล้วท่านจะเป็นโทษเป็นกรรมที่ไหนจิตของท่าน แต่กิริยานี้มันหากขัดกันอยู่ จิตที่บริสุทธิ์แล้วมาครองขันธ์ แล้วจะพาขันธ์ไปทำสุ่มสี่สุ่มห้านี้จิตอันนั้นไม่ลงนะ เพราะยังรับผิดชอบกับขันธ์ รับผิดชอบต้องทำให้ถูกต้องตามหลักธรรมหลักวินัย การปฏิบัติรักษาสิกขาบทวินัยน้อยใหญ่ ท่านจะเป็นเหมือนพวกเราๆ ท่านๆ เพราะธาตุขันธ์มีโดยสมบูรณ์ การปฏิบัติรักษาให้เป็นความสวยงามตามโลกสมมุติในเวลามีธาตุขันธ์อยู่ ก็ต้องปฏิบัติให้สวยงามสมบูรณ์ ท่านจึงไม่มีองค์ใดที่จะข้ามเกิน นี่เป็นขั้นหนึ่งนะ แต่ส่วนจิตนั้นไม่ต้องพูดแล้ว หมดปัญหาตั้งแต่กิเลสขาดสะบั้นลงไปหมด บาปบุญที่ไหนไม่มีเลยละ เลยไปหมดแล้ว

ขันธ์นี้เป็นเรื่องของสมมุติ ก็จิตของเรามันยังครองขันธ์อยู่นี้ ก็เรียกว่าเรายังอยู่ในวงสมมุติอยู่ ต้องปฏิบัติรักษาสมมุติให้สวยงาม ตามหน้าที่ตามแบบฉบับของพระเราซิ จะมาตำหนิติเตียน จิตเป็นอันหนึ่ง ร่างกายไปทำเหมือนลิงเหมือนค่างเหมือนสัตว์นรกอย่างนั้นไม่ได้ มันเข้ากันไม่ได้กับจิตที่บริสุทธิ์ จิตที่บริสุทธิ์รักษาสิ่งที่จิตบริสุทธ์ ซึ่งยังครองกันอยู่นั้นให้สวยงามเสมอกันไป นี้ละเรื่องราวมันเป็นอย่างนี้นะ ลองไปทำอย่างนั้นดูซี จิตที่ว่าบริสุทธิ์ๆ หากจะมีเครื่องค้านกันอยู่ในนั้นให้รู้จนได้นั่นแหละ นั่นแสดงว่าไม่เหมาะ ทำอย่างไรเหมาะ ก็ปฏิบัติตามสวากขาตธรรม รักษาพระวินัยให้ดีไม่ว่าขั้นใดภูมิใดของจิตของใจถึงขั้นอรหันต์หากรักษาให้ดีเหมือนกันหมด เพราะเคารพพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าทรงทราบไว้หมดแล้ว ถ้าหากว่าควรจะทำลายอะไรๆ พระพุทธเจ้าจะบอกไว้ก่อนแล้ว เอ้า เธอเป็นพระอรหันต์แล้วจะทำอะไรก็ทำได้นะไม่เคยมีพระพุทธเจ้าองค์ใด ใครจะรู้ความสวยงามความเหมาะสมยิ่งกว่าศาสดา ก็เราเป็นสาวกของท่าน เมื่อเป็นขึ้นมาแล้วเป็นลิงเป็นค่างไปในร่างทั้งหลายความเคลื่อนไหวใช้ไม่ได้นะ จิตว่าบริสุทธิ์ใครจะไปเชื่อ แน่ะ มันเป็นอย่างนั้นนะ คือจิตบริสุทธิ์กับธรรมชาติเหล่านี้ความกลมกลืนกันนี้ด้วยความสวยงาม ระหว่างจิตวิมุตติกับขันธ์ที่มีอยู่นี้ ปฏิบัติกันด้วยความถูกต้องดีงามนี่ถูกต้อง เป็นอย่างนั้นนะ

ขอให้พากันตั้งอกตั้งใจปฏิบัตินะ เอาให้ได้ทรงมรรคทรงผล ธรรมพระพุทธเจ้านี่เป็น อกาลิโกๆ ศาสดาให้ติดแนบกับจิตเรา นี่ละเราผู้ที่จะทรงมรรคทรงผล คือผู้มีศาสดาติดแนบ พระธรรมและพระวินัย จากนั้นมีสติธรรม ปัญญาธรรม วิริยธรรม เอาหนุนกันเข้ากลมกลืนกันอยู่ในศาสดาพระธรรมพระวินัยนี่แหละ ผู้นี้แหละจะเป็นผู้ตักตวงเอามรรคผลนิพพาน ไอ้คนที่มันพูดว้อๆ แว้ๆ มันไม่ได้ทำ มันก็เหมือนหมาเห่าถานนั่นแหละ มันกินอะไรอยู่ในถานมันก็เห่าถานไปอย่างนั้น กินก็กินถานนั่นแหละ เห่าก็เห่าถาน พวกสกปรกเป็นอย่างนั้น แล้วท่านผู้ไม่กินถานเป็นอย่างไรมันก็รู้เอง

ใครจะว่าอะไรช่างเขาซิ กิเลสมันเอาของดีมาพูดอะไร มันต้องมีแต่การคัดค้านต้านทานการลบล้างผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบได้ของดิบของดีมาจากการปฏิบัติดีของตัวเอง พูดออกมานี่ไม่ได้นะ กิเลสตัวนรกจกเปรตนี้มันจะคัดจะค้าน หาว่าโอ้ว่าอวดว่าอย่างนั้นอย่างนี้ไปหมด นี้เรื่องของกิเลสทั้งนั้นโจมตีธรรม ตัวมันสร้างความชั่วช้าลามกอยู่มาตั้งกี่กัปกี่กัลป์ทำสัตว์ให้ตกนรกหมกไหม้นี้คือตัวไหนถ้าไม่ใช่ตัวกิเลส มันหยาบโลนขนาดไหน มันโหดร้ายขนาดไหนไม่เห็นได้ตำหนิมัน แต่ธรรมนี้เป็นเครื่องรื้อขนสัตว์โลกให้หลุดพ้นจากทุกข์เป็นลำดับลำดาจนกระทั่งถึงนิพพาน มันเสียหายที่ตรงไหนกิเลสจึงมาเห่าว้อๆ ให้จำเอานะคำนี้

เรื่องความสกปรกมีอยู่ทุกหย่อมหญ้า เวลานี้กิเลสมันยิ่งหนาแน่น กิริยาที่แสดงออกมาคัดค้านต้านทานธรรมและลบล้างธรรม ยิ่งหนาแน่นขึ้นนะ อย่าไปสนใจกับมันพวกส้วมพวกถาน ศาสดาองค์เอกอยู่กับเราพอแล้ว ศาสดาองค์เอกต่างหากที่นำสัตว์ให้พ้นจากทุกข์ พวกส้วมพวกถานคือกิเลสไม่นำใครให้พ้นจากทุกข์ มีแต่พาให้จมอยู่ในทุกข์ จับให้ดีคำนี้น่ะ ใครจะว่าอะไรก็ตามอย่าไปสนใจนะ โลกนี้เป็นโลกสกปรกโสมมสุดยอดแล้ว

พอพูดอย่างนี้มันอดคิดไม่ได้นะ มันเป็นอยู่ในจิตคือมันจ้าอยู่อย่างนั้นทั้งคืนทั้งวันไม่ว่าเวลาไหน ไม่มีอะไรเข้ามาเกี่ยวข้องเลยนะ นี่จึงว่ามันหายสงสัย พอทุกอย่าง ไม่มีอะไรที่จะเข้ามากวนใจเลย ตั้งแต่ขณะที่กิเลสอวิชชาขาดสะบั้นลงไปจากใจ ว่างไปหมดเลย สว่างจ้าไปหมด เป็นแต่เพียงว่าจะนำมาพูดได้เท่าที่โลกสมมุติทั้งหลายยอมรับได้เชื่อได้ขนาดไหน นำออกมาแสดงตามนั้นเท่านั้น เวลาเจ้าของปฏิบัติแล้วรู้มันก็จะรู้เอง ควรไม่ควรขนาดไหนมันจะรู้ด้วยกันทุกคนนั่นแหละ ผู้ท่านรู้ไปแล้วท่านก็นำออกมาสั่งสอนสัตว์โลกเท่าที่สัตว์โลกจะพอยึดได้ในธรรมขั้นใดๆ ก็สอน อย่างที่พูดนี่แล้ว

ผมช่วยโลกมาได้ห้าปีนี้ก็แกงหม้อใหญ่ๆ ฟังซิ มันพอเหมาะพอดีกับแกงหม้อใหญ่นี้เท่านั้นให้เลยกว่านี้ไม่ได้ นอกจากมีผู้ปฏิบัติเพื่ออรรถเพื่อธรรมสูงกว่านี้ขึ้นไปแกงหม้อเล็กจะเริ่มออกรับกันทันทีๆ ถ้าผู้ที่ควรจะไปได้นี้แกงหม้อจิ๋วผึงออกมาเลย อย่างนั้นแหละ มีอยู่ในหัวใจแต่ที่จะออกมาให้เป็นประโยชน์แก่โลก ต้องคำนึงถึงโลกว่ามีกำลังวังชาขนาดไหน พอที่จะเอาได้ ให้มีกฎมีเกณฑ์นะพระเรา ให้ระมัดระวังรักษาตนเองอย่าให้มีการกระทบกระเทือนกันเป็นอันขาดนะ กิเลสตัวกระทบกระเทือนตัวโกรธตัวเคียดแค้นหรือทะเลาะเบาะแว้งกันนี้หยาบโลนที่สุด อย่าให้มีในวัดเรา ซึ่งเป็นวัดปฏิบัติ จะกำจัดหรือฆ่ากิเลสตัวหยาบช้าลามกนี้ให้ขาดสะบั้นในใจ อย่ามาสั่งสมมัน ด้วยความยินดีให้เกิดความทะเลาะเบาะแว้งกันนี้ฟังไม่ได้เลยนะ อันนี้เลวมากทีเดียว

พอมันแย็บออกไปจะคิดไม่ดีกับผู้ใด นี่แหละความคิดอันนี้มันเกิดขึ้นจากเราแล้ว มันเป็นภัยต่อเราแล้ว จะไปเผาคนอื่นอีก ให้รู้มันทันที ดับมันทันที อย่างนั้นจึงเรียกว่าผู้ปฏิบัติธรรม รู้ข้าศึกที่มันเกิดขึ้นจากใจเพราะกิเลสอยู่ที่ใจ อะไรมันคิดขึ้นมาหงุดหงิดขึ้นมากับบุคคลผู้ใดพระองค์ใดก็ตาม พอหงุดหงิดขึ้นมา นี่กิเลสตัวนี้ออกแล้วนะ ถ้าปล่อยมันจะไปใหญ่นะ ตีหัวมันลงทันทีๆ แล้วจะไม่มีเรื่องอะไร ดีไม่ดีฟาดมันขาดสะบั้นไปจากใจแล้วไม่มีอะไรมาหงุดหงิด ท่านผู้สิ้นกิเลสแล้วเรื่องเหล่านี้ไม่มี ท่านจึงบอกว่าสิ้นกิเลส ถ้าลงมันยังมีอยู่จะเรียกว่าสิ้นได้อย่างไร

เสียงนี่จะแผดเผาเหมือนฟ้าดินถล่มก็ตาม ก็มีแต่พลังของอรรถของธรรมที่ออกตามน้ำหนักของธรรม ควรจะออกขนาดไหนเท่านั้นเอง ไอ้เรื่องกิเลสที่จะมาแทรกว่ามีความโมโหโทโสอย่างนี้ ถ้าว่ายังมีอยู่นั้นจะเรียกว่าสิ้นกิเลสได้อย่างไร มันไม่มี มีแต่พลังของธรรมพุ่งๆๆ พลังของธรรมออกหนักเท่าไรกระเทือนถึงร่างกาย เสียงแผดเสียงเผา อย่างผมทุกวันนี้มันเป็นเรื่องโรคหัวใจ ถ้ารุนแรง คือธรรมมันออกแรงมันกระเทือน เวลาธรรมผึงออกมานี่กำลังมันจะแรง ลมก็แรง อะไรก็แรง สะท้อนเข้ามาสู่ใจเหนื่อยนั่น ได้ระวังทุกวันนี้ เพราะขันธ์นี้เป็นเครื่องมือของใจ เมื่อขันธ์เป็นอย่างไรแล้วก็ต้องได้ดูแลคำนึงอยู่เสมอ

ไอ้เรื่องที่ว่ากิเลสตัวไหนมันจะมาแสดงนั้นเรียกว่าไม่มี จะหาเท่าไรให้มีมันไม่มี ก็เรียกว่ามันสิ้นจะว่าไง แล้วท่านก็ไม่สงสัย สงสัยอะไรขาดสะบั้นลงไปในขณะนั้นแล้ว เหมือนฟ้าดินถล่ม อวิชชาขาดสะบั้นลงไป เผาศพมันเรียบร้อยแล้วด้วย กุสลา ธมฺมา ความฉลาดแหลมคมของสติปัญญา แล้วตัวไหนมันจะมาท้าทายอีกได้ล่ะกิเลส หมด นั่นละท่านหมดๆ อย่างนั้นนี่นะ ไม่ใช่ว่าหมดแบบเสกสรรเอาเฉยๆ ให้มันหมดไปจากใจของเจ้าของ สนฺทิฏฺฐิโก จะประกาศขึ้นด้วยกันทั้งนั้นแหละ

ให้พากันตั้งอกตั้งใจทำหน้าที่การงานของพระโดยสมบูรณ์ วัดนี้ผมได้พยายามที่สุดแล้วเรื่องหน้าที่การงานอะไรที่ไม่จำเป็น ไม่ให้เข้ามาเกี่ยวข้องรบกวนพระนะ ผมทำหน้าที่ของโลกช่วยโลกผมก็ช่วยไป นอกจากมันเป็นความจำเป็นก็ขอร้องจากพระให้ไปช่วยเป็นกาลเป็นเวลา ผมรักสงวนพระมากนะ คิดดูซิบริเวณนี้ใครเข้าไปได้เมื่อไร ให้อยู่ในบริเวณศาลา บริเวณข้างในเป็นสถานที่บำเพ็ญของพระไม่ให้เข้าไปกวน นอกจากคนที่รับใช้พระไปมานั้นก็เป็นอีกประเภทหนึ่ง ส่วนคนภายนอกที่จะไปจุ้นจ้านอย่างนั้นไม่ได้ ผมเอาอย่างหนักเลยนะ ดุเลยเทียว เขียนไว้แล้วเห็นไหมนั่น เขียนไว้เพื่อใครอ่านล่ะ นี่ละเป็นอย่างนั้น เรารักสงวนหมู่เพื่อน ผมจะทำงานการเพื่อโลกเพื่อสงสาร ก็เพื่อโลกเพื่อสงสารจริงๆ เรื่องอรรถเรื่องธรรมนี้ต้องคงเส้นคงวาหนาแน่นอยู่กับพระกับเณรนะ ไม่ยอมให้ลดหย่อนผ่อนผัน ให้อ่อนแอเพื่อกิเลสจะเข้าเหยียบหัวใจได้นะ ได้พยายามเต็มกำลังความสามารถ ขอให้พากันตั้งอกตั้งใจด้วยกันทุกองค์ๆ นี่พระก็มีจำนวนมากๆ ขึ้นทุกวัน

โห เรื่องใจนี้อัศจรรย์จนกระทั่งถึงพระพุทธเจ้าท้อพระทัย มันเป็นขึ้นในหัวใจดวงใดก็รู้เอง อย่างที่เมื่อเช้านี่ถึงอุทานออกมาอย่างว่า มันเป็นเองนะ ใครจะไปวัดรอยพระพุทธเจ้า พลังแห่งความผาดโผนของจิตที่แสดงขึ้นมาแปลกประหลาดอัศจรรย์ พุ่งขึ้นมาเลยมันก็ออกของมันได้ เป็นอย่างนั้นละอัศจรรย์ขนาดไหน มันถึงเป็นได้อย่างนั้นล่ะ ให้ตั้งใจปฏิบัติทุกองค์ๆ ไม่ว่าชาติชั้นวรรณะใดให้ชื่อว่าคน ให้ชื่อว่าสัตว์โลกเหมือนกันหมด ไม่มีใครไปสำคัญมั่นหมายว่าชาตินั้นวรรณะนี้ ชาตินั้นชาตินี้ อย่าเอามายุ่งกับมนุษย์เรา สพฺเพ สตฺตา อันว่าสัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันหมดทั้งสิ้น มีเจตนาหวังอรรถหวังธรรมด้วยกัน เอ้า ปฏิบัติเพื่อความเป็นธรรมเหมือนกันหมด

ลูกแม่เดียวยังทะเลาะกัน พระที่มีความตั้งอกตั้งใจด้วยกันแล้วจะไม่มีการทะเลาะกันเลย นิ่มเหมือนอวัยวะเดียวกัน นี่ละอยู่ด้วยกันได้ ถ้ามีธรรมอยู่ด้วยกันได้หมด ถ้ามีกิเลสแล้วแตกได้นะ มีน้อยมีเท่าไรดูถูกเหยียดหยามกัน แล้วดูถูกไปหลายแบบหลายฉบับ กิเลสพิสดารมากอย่าให้มันเอื้อมออกมาได้นะ เอาธรรมตีหัวมันลงไป สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของกิเลสทั้งนั้น อย่าให้เข้ามายุ่งกับวงปฏิบัติธรรมเพื่อสังหารกิเลสนะ

เอาละวันนี้พูดเพียงเท่านี้ละ เห็นสมควร พูดไปพูดมาก็รู้สึกเหนื่อยๆ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ก.ค. 2014, 17:25 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อค่ำวันที่ ๑๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๔๙


ปัญญาขั้นสูงเห็นสมาธิเป็นภัยไปหมด

วันนี้เป็นวันเข้าพรรษาเริ่มแต่วันนี้ไป กรุณาทราบเขตของวัด กำแพงนอกนั้นเป็นเขตของวัดป่าบ้านตาด กำแพงในขยายออกไปเป็นกำแพงนอก เข้าพรรษาไม่มีการงานอะไร มีหน้าที่ประกอบความพากเพียรโดยถ่ายเดียว ในพรรษาเป็นโอกาสที่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับพระเราและผู้มาปฏิบัติในวัด ให้ตั้งหน้าตั้งตาประกอบความพากเพียร เพียรดูใจนั้นละสำคัญมาก ใจเป็นตัวมหาเหตุ กระดิกพลิกแพลงจะออกจากใจทั้งนั้นไม่ออกจากทางอื่น ใจนี่สำคัญมาก ให้พากันดูหัวใจตัวเอง เรียกว่าภาวนา คืออบรมใจ

ใจมีความคึกความคะนองตลอดเวลา ทั้งเด็กผู้ใหญ่เฒ่าแก่ชรา ใจนี้ไม่มีวัย มีความคึกคะนองอยู่ตลอดเวลา ไปตามนิสัยของใจที่มีกิเลสบีบบังคับให้เป็นไป เพราะฉะนั้นเวลาเข้าพรรษาให้พากันตั้งอกตั้งใจ การภาวนาถือสติเป็นสำคัญ อย่างอื่นไม่ได้สำคัญ ถ้าลงขาดสติแล้วจะอิริยาบถใดก็ตาม เดินจงกรมนั่งสมาธิก็ขาดความเพียรไปในขณะที่สติขาดไป สตินี้เป็นของสำคัญมากทีเดียว ถ้าลงขาดสติแล้วความเพียรก็ไม่ก้าวหน้า

การตั้งสตินี้ส่วนที่มาเกี่ยวข้องมีอยู่ประเภทหนึ่ง คือร่างกายถ้ามีความสมบูรณ์พูนผลจริงๆ เช่น การขบการฉันอิ่มหนำเต็มที่แล้ว การภาวนาสติจะไม่ติดต่อกัน ผิดพลาดๆ ถ้าผ่อนอาหารลงไปสติจะดีขึ้นๆ ยิ่งอดอาหารด้วยแล้วสติแน่วเลย อันนี้เป็นเรื่องของผู้ปฏิบัติจะนำไปพิจารณาตัวเอง เช่นอย่างฉันทุกวัน หรือกินทุกวันแต่ไม่ให้มาก ถ้ามากแล้วมันท่วมทับ สติตั้งไม่ค่อยอยู่ ตั้งล้มผล็อยๆ พลังของร่างกายนี้มันเสริมกิเลสได้เป็นอย่างดี จึงต้องระมัดระวัง

ส่วนมากสติจะไม่พ้นจากเรื่องของอาหารนี่ละเป็นข้าศึก นี่ได้พิจารณาปฏิบัติมาแล้ว ได้ผ่อนสั้นผ่อนยาวอดบ้างอิ่มบ้าง อิ่มก็เพียงอิ่มเบาะๆ ไม่ให้อิ่มเต็มที่ คือพอทรงตัวอยู่ได้เท่านั้น จากนั้นก็ผ่อนลงหรืออด สติจะดีโดยลำดับลำดา สตินี้สำคัญอยู่ที่ร่างกาย ถ้าร่างกายมีกำลังมากสติจะตั้งผิดพลาดๆ อยู่เสมอ ถ้าร่างกายมีกำลังน้อยสติค่อยดีขึ้นๆ เพราะฉะนั้นพระนักปฏิบัติจึงชอบผ่อนอาหารอดอาหารกันเป็นจำนวนมาก เพราะอันนี้ช่วยการตั้งสติความเพียรได้ดี

แต่อันนี้เป็นเรื่องของอัธยาศัยของแต่ละราย จะว่าไม่ใช่คำสั่งไม่ใช่คำสอนก็ไม่ผิด เป็นคำบอกเล่าให้ไปพินิจพิจารณาตัวเองเท่านั้น การผ่อนอาหารนี้ดี ร่างกายก็เบา แล้วการประกอบความเพียรตั้งสติดี สตินี้เป็นความจำเป็นทุกขั้นนะ ตั้งแต่ขั้นเริ่มต้นจนกระทั่งมหาสติมหาปัญญา ใครตั้งสติดีผู้นั้นจะตั้งรากตั้งฐานได้เร็ว สติเป็นของสำคัญ ถ้ามีสติติดแนบอยู่กับใจกิเลสจะไม่เกิด มันจะมีมากมีน้อยเท่าไรดันขึ้นมาจนหัวอกจะแตกก็ตาม แต่สติบังคับไว้ สังขารเป็นสังขารของกิเลส สังขารของสมุทัยมันจะขึ้นไม่ได้ อวิชชาละตัวดันให้อยากคิดอยากปรุงอยากรู้อยากเห็น อยากๆ ตลอด เรียกว่าสมุทัย สังขารปรุง พอปรุงพับเป็นกิเลสแล้วกลับมาเผาตัวเอง

ทีนี้เมื่อสังขารปรุงไม่ได้ เพราะสติทับหัวมันไว้นี้กิเลสไม่เกิด มันจะหนาแน่นขนาดไหนก็อยู่ภายในนี้ออกไม่ได้ นี่ได้พิจารณาทุกอย่าง ได้ดำเนินมาแล้วจึงได้มาสอนหมู่เพื่อน เอาจนกระทั่งถึงว่าตั้งสตินี้... คือลงใจแล้วว่าการตั้งสติติดอยู่กับคำบริกรรมในขั้นเริ่มต้นเพื่อรากฐานของใจต้องอาศัยสติ ลงใจแล้วว่าตั้งสติให้ติดแนบอยู่กับคำบริกรรม คำบริกรรมจะบริกรรมคำใดก็ตามตามแต่จริตนิสัย แต่สติให้ติดแนบอยู่นั้นแล้วกิเลสจะไม่เกิด มันจะมีมากขนาดไหนไม่เกิดกิเลส พอเผลอสติแพล็บออกแล้วๆ นั่นละกิเลสเกิด ออกจากสังขารกับสัญญา สัญญาก็ออกไม่ได้ถ้าสังขารออกไม่ได้ ที่นี่พอสังขารออกได้แล้วจะออกทุกอย่างๆ ไปพร้อมๆ กันเลย ให้พากันสังเกตนะ

เรื่องกิเลสมีอยู่ภายในใจ ทางออกของมันคือสังขารเป็นสำคัญ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา นั่นละดันออกมา พอมันปรุงแพล็บนี้เป็นไฟกองหนึ่งขึ้นมาแล้ว ปรุงต่อไปๆ เป็นสร้างกองฟืนกองไฟเผาหัวอกตัวเองหาความสงบไม่ได้ ถ้าสังขารเกิดขึ้นไม่ได้ สติติดแนบอยู่จิตใจจะค่อยสงบเย็นๆ เพราะการปรุงไม่ให้ปรุง ให้ปรุงแต่งานของธรรม เช่นพุทโธ เป็นต้น คำชอบคำใดก็ให้เอาคำนั้นมาเป็นงานของธรรม บังคับจิตให้อยู่กับงานอันนั้น สติให้ดีไม่ให้ละแล้วจิตจะค่อยสงบลงไปๆ จนเย็นไปหมดในจิตใจของเรา เพราะกิเลสเกิดไม่ได้

สติยิ่งแน่นหนามั่นคง ความดันของกิเลสคือสังขาร มันดันขึ้นมาอยากคิดอยากปรุงค่อยเบาลงๆ ความสงบเย็นใจนี้ค่อยเย็นขึ้นๆ มีความแน่นหนามั่นคงมากขึ้นๆ ต่อไปก็ตั้งรากฐานคือความสงบเย็นใจได้ จากนั้นไปก็เป็นสมาธิ สมาธิคือความแน่นหนามั่นคงของใจ เมื่อเป็นสมาธิแล้วความคิดความปรุงก็จางไปๆ จนกระทั่งว่าคิดปรุงขึ้นมารำคาญ มีแต่ความรู้เด่นอยู่อันเดียวด้วยสมาธิเท่านั้น อยู่ที่ไหนอยู่ได้สบายๆ นี่จิตเป็นสมาธิ สังขารปรุงรำคาญไม่อยากปรุง เพราะฉะนั้นจึงติดสมาธิ

ผู้มีจิตแน่นหนามั่นคงในสมาธินี้ติด เพราะมันทำให้เพลิน นั่งอยู่กี่ชั่วโมงก็ตามเหมือนหัวตอ คือจิตมันแน่วอยู่อย่างนั้นตลอดไป คิดปรุงอะไรขึ้นมารำคาญ ไม่อยากคิดอยากปรุง หนักเข้าๆ ก็ติดสมาธิ ไม่ออกทางด้านปัญญา การพิจารณาทางด้านปัญญาเห็นว่าเป็นการรบกวนใจ ปัญญาคือออกทำงาน สมาธิทำให้ขี้เกียจไม่อยากออกทำงานทางด้านปัญญา ทีนี้ปัญญาก็ไม่เกิด ติดอยู่สมาธิ ติดจนวันตายถ้าไม่ลากจิตจากสมาธินี้ออกทางด้านปัญญา ทางด้านปัญญานี้ต้องพาคิด เพราะจิตมีความแน่นหนามั่นคงแล้วไม่อยากคิดอยากปรุงอันเป็นงานว่างั้นเถอะ ขี้เกียจ คิดปรุงเรื่องธาตุเรื่องขันธ์เรื่องอะไรมันขี้เกียจ อยู่เฉยๆ รู้แน่วอยู่ภายในใจมันสบาย นี่ละนักภาวนาสติสมาธิก้าวไม่ออก ถ้าติดสมาธิแล้วไม่มีทางก้าวออก

ต้องดึงออก เมื่อจิตมีสงบในขั้นใดพอเป็นไปแล้วให้ออกทางด้านปัญญา ตามกาลเวลาที่จะควรออกปัญญา ตามกาลเวลาที่จะเข้าสู่สมาธิพักจิตใจ คำว่าปัญญานี้เอากรรมฐานที่พระพุทธเจ้าประทานให้ ขึ้น เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ครอบหมดในสกลกายเรา พิจารณานี้แล้วแต่เราชอบกรรมฐานใด เกสา โลมา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เราชอบอะไรก็พิจารณา มันจะลุกลามเข้าไปหมดนั่นละ ท่านสอนไว้เพียงเท่านั้น พอถึงหนังแล้วท่านหยุด เพราะหนังเป็นสำคัญ หุ้มห่อสัตว์บุคคลไว้ให้ลืมเนื้อลืมตัว ลืมเขาลืมเรา กลายเป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นหญิงเป็นชาย เป็นสิ่งที่มีคุณค่าไปหมดเพราะหนังนี้หุ้มห่อ

พอพิจารณาไปถึงหนัง ถลกหนังออกแล้วเป็นยังไงคนเรา ทั้งหญิงทั้งชายทั้งสัตว์อะไรก็ตาม มีความน่าดูหรือสวยงามที่ตรงไหน ไม่มี นั่นละท่านให้พิจารณาทางด้านปัญญา พิจารณาแยกออกตั้งแต่ผม ขน เล็บ ฟัน ไล่ไป หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ภายในทุกสิ่งทุกอย่างด้วยปัญญา คลี่คลายดูให้ดี นี่เรียกว่าปัญญาพิจารณา ปัญญาออกแล้วจะสว่างไสวกว้างขวางออกไปมาก เพียงสมาธิไม่กว้าง มีแต่ความสงบใจเท่านั้น อยู่ไปๆ วันหนึ่งๆ หาความแยบคายกว่านั้นไม่มี แต่พอออกทางด้านปัญญาแล้วความแยบคายออกเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด

ทีแรกก็พิจารณาร่างกายก่อน พิจารณาร่างกายจนมีความชำนิชำนาญ กำหนดให้เป็นอย่างไรเป็นไปตามต้องการ ให้แตกกระจัดกระจายต่อหน้าต่อตา กำหนดเมื่อไรได้ทั้งนั้นๆ นี่เรียกว่าปัญญามีความคล่องแคล่ว พิจารณาส่วนนี้ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา อสุภะอสุภัง ค้นอยู่ในร่างกายของเขาของเราภายนอกภายในเป็นกรรมฐานด้วยกัน นั่นละปัญญาให้พิจารณาอย่างนั้น เมื่อปัญญาออกแล้วจะเป็นการถอนกิเลส ลำพังสมาธิไม่ได้ถอนกิเลส เพียงตีกิเลสให้สงบตัวเข้ามาเท่านั้น ปัญญาต่างหากที่คลี่คลายออกไปฆ่ากิเลสโดยลำดับลำดา ตั้งแต่ส่วนหยาบจนกระทั่งกิเลสสุดยอด ไม่เหนืออำนาจของปัญญาไปได้เลย จึงต้องพิจารณาทางด้านปัญญา

เมื่อจิตใจเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า เพราะการพิจารณาไม่หยุดไม่ถอยแล้วให้พักในสมาธิ ถึงไม่อยากพักก็ต้องพัก จะเห็นแต่ผลรายได้ๆ เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจะเป็นจะตายไม่คำนึงไม่ได้นะ ถึงได้ก็ได้แต่กำลังวังชาหมดไปสิ้นไปอ่อนเพลียลง ต้องเข้าพักสมาธิ สมาธิเป็นที่พักจิต พักนอนก็ได้ พักสมาธิก็ได้ พักสมาธินี่เรียกว่าพักจิตโดยตรง ไม่ให้คิดให้ปรุงกับเรื่องอะไร เข้าสมาธิแล้วจิตแน่วเหมือนถอดเสี้ยนถอดหนาม ทีนี้พอสมาธิมีกำลังแล้ว ถอยออกทางด้านปัญญามันจะพุ่งๆ ของมันเลย ให้พากันจำเอานะ วันนี้ผมเทศน์ยากมากนะ เดี๋ยวนี้พูดนี้ออกทางหูทั้งสองข้าง ผมฝืนพูดเฉยๆ เหมือนว่าปากจะไม่มี มันดังอยู่ในนี้ ให้พากันพิจารณา

การปฏิบัติพอมีความสงบ เรียกว่าจิตอิ่มอารมณ์ อารมณ์คิดนู้นคิดนี้ เมื่อจิตสงบจิตเป็นสมาธิแล้วจากนั้นให้ออกพิจารณาทางด้านปัญญา เมื่อพิจารณาทางด้านปัญญาพอมันเข้าใจเหตุผลทุกอย่างแล้วมันจะเพลิน เพลินจนลืมเนื้อลืมตัวลืมกลางวันกลางคืน ลืมหลับลืมนอน ปัญญาเพลิน ให้หักเข้ามาเวลามันเพลิน เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าทางหัวอกนี่แหละเหน็ดเหนื่อยมาก แต่จิตมันไม่ถอย มันหมุนติ้วๆ กับการพิจารณาเพื่อฆ่ากิเลส ถึงจะเป็นอย่างนั้นก็ตาม เราเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าให้พักเข้ามาสู่สมาธิเสียก่อน พักไม่ให้คิดให้ปรุงทางด้านปัญญา ให้เข้าสู่สมาธิมีอารมณ์อันเดียว พอสมาธิมีกำลังแล้วถอยออกมาก็พุ่งทางด้านปัญญาเลย

ยิ่งเป็นปัญญาขั้นสูงด้วยแล้วเห็นสมาธิเป็นภัยไปหมดเลย ปัญญาต่างหากฆ่ากิเลส สมาธิไม่แก้ นั่นเอาละนะ สมาธิตีตะล่อมเพื่อเอากำลังทางด้านปัญญา พอถอนออกจากนี้แล้วก็ออกทางด้านปัญญาพิจารณา เอาธาตุเอาขันธ์นี่ละ อสุภะอสุภัง ทุกฺขํ อนิจฺจํ อนตฺตา เหล่านี้เป็นทางเดินพิจารณา ตลบทบทวนไม่รู้กี่ครั้งกี่หน เอาความชำนิชำนาญความคล่องแคล่วเป็นประมาณ ร่างกายนี้เวลาพิจารณาพอตัวแล้วมันก็อิ่มเหมือนกัน ไม่ใช่จะพิจารณาคล่องแคล่วเท่าไรจะพิจารณาไปตลอด ไม่ใช่นะ จิตนอกจากคล่องแคล่วไปแล้วมันพอตัวมันปล่อยทางเรื่องร่างกาย รูปธรรมมันปล่อย อิ่มตัวปล่อย ไม่เอาละที่นี่

จากนั้นมันจะก้าวเข้าสู่นามธรรม พวกเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อาศัยทางรูปธรรมนี้บ้างเพียงเล็กน้อยๆ นี่เรียกว่าจิตปล่อยร่างกาย พอตัวแล้วปล่อยเองหากรู้ทุกคน พอพิจารณาถึงขั้นมันอิ่มแล้วมันก็ปล่อย ปล่อยแล้วก็เดินทางนามธรรม พวกเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จิตคิดปรุงจากใจของเรานี้ละ เกิดดับๆ สัญญาอารมณ์จะเกิดจากใจ ให้พากันพิจารณาอย่างนี้ เมื่อเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าแล้วให้พักจิต พักเข้าสู่สมาธิ สมาธิเป็นเรือนพักของใจ ที่ทำงานทางด้านปัญญาอ่อนเพลียลงแล้วต้องเข้าพักทางสมาธิ อย่าปล่อยนะ อันนี้เป็นงานสม่ำเสมอ ทางด้านปัญญาเวลามันออกมากๆ แล้วจะไม่สนใจพัก มันเพลินทั้งวันทั้งคืน บางคืนนอนไม่หลับ มันเพลินตลอด เพลินในการฆ่ากิเลส เรียกว่าสติปัญญาอัตโนมัติเป็นไปเอง หมุนติ้วๆ ตลอด

ถึงอย่างนั้นก็ตามมันมีความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าได้ ให้ย้อนเข้ามาสู่สมาธิพักเสีย พักในสมาธิ พอพักในสมาธิแล้วจิตจะมีกำลังวังชาสงบเย็นทีเดียว พอมีกำลังแล้วออกทางด้านปัญญานี้คล่องตัวๆ ให้พากันพิจารณาอย่างนี้ วันนี้ผมเทศน์ยากมาก ผมฝืนเอานะ เดี๋ยวนี้ออกทางหูตลอดเวลา ไม่ทราบจะพูดไปอะไร การประชุมพระก็ไม่มีเวลาจะประชุม วันนี้เป็นวันจำเป็นที่สุดแล้วที่จะประชุมและเทศนาว่าการให้ผู้ฟังทั้งหลายเข้าอกเข้าใจ มันก็ไปไม่สะดวกอย่างนี้แหละ หูทำงานเดี๋ยวนี้ ปากไม่ได้ทำงานนะ พอพูดคำใดออกทางหูๆ หูทำงานแทนเสียไม่ทราบมันเข้าอันนี้(ไมค์) หรือเปล่าก็ไม่รู้ ลำบาก เทศน์ยากมาก ให้ท่านทั้งหลายจดจำเอา เทศน์ย่อๆ เพียงเท่านี้แหละ เทศน์มากกว่านี้ไม่ไหวธาตุขันธ์ เวลานี้อ่อนเต็มที่ มีแต่หูทำงานโหวๆ พูดคำไหนออกทางหูๆ หมดหัวมีแต่เสียงกังวานไปด้วยกันหมด เสียงอรรถเสียงธรรมที่จะออกมานี้แทบไม่มี ให้พากันจำเอา เอาละวันนี้เทศน์เพียงเท่านี้

พวกอยู่ข้างในพากันตั้งอกตั้งใจปฏิบัตินะ อย่าอยู่เด้นๆ ด้านๆ อะไรที่ขวางต่อวัดต่อวาต่ออรรถต่อธรรมอย่านำเข้ามา เช่นเก้าอี้เก้าแอ้ใครเอาเข้ามา พระพุทธเจ้าตรัสรู้ด้วยเก้าอี้เหรอ เราอยากถามว่าอย่างนั้นนะ ตรัสรู้ด้วยฟูกด้วยหมอนที่หลับที่นอนสวยๆ งามๆ นอนหลับครอกๆ ตะวันเที่ยงก็ไม่ตื่นนั้นเหรอเป็นของดิบของดี ไปที่ไหนมีแต่เรื่องร่างกายออกหน้า ความสุขเพื่อกายๆ ความสุขเพื่อหัวใจไม่มี ทำอะไรมีแต่เรื่องวัตถุออกหน้าๆ เราสลดสังเวชนะ กีดขวางไว้ขนาดไหนมันก็ไหลเข้ามาๆ ธรรมท่านพอดี ท่านไม่ได้ยุ่งกับสิ่งภายนอก เอามาปรนปรือหาอะไรร่างกาย

ที่นอนหมอนมุ้ง ที่อยู่ที่กินอะไรให้ดีหมดกับร่างกาย แต่ใจจะเป็นยังไงไม่สนใจ นี่ละเสียตรงนี้ผู้ปฏิบัติ ส่วนโลกไม่ต้องพูดแหละเขามีอย่างนั้นเป็นพื้นฐานของเขา ส่วนธรรมผู้ปฏิบัติธรรมไม่ควรจะเอาวัตถุต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องของธาตุของขันธ์ของร่างกายเข้ามาเหยียบธรรม กายนอนหลับสบายละดี อะไรก็ดีๆ เมื่อวานนี้เห็นใครเอาเก้าอี้หวายเก้าอี้เหวยมา เราบอกให้เอาปาเข้าป่ามันยังอยู่นั้น จะเอาไปไหนเอาไปเสีย หรือจะไปเผาไฟก็เผาเสีย พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสรู้กับสิ่งเหล่านี้ เหล่านี้ไม่มีค่านะ เป็นภัยต่อการภาวนาให้ลืมเนื้อลืมตัว การเป็นอยู่หลับนอนสะดวกสบายเท่าไรยิ่งขี้เกียจนักภาวนา วัดนี้จึงไม่ให้มี เก้าอี้เก้าแอ้เอามาหาอะไร

ท่านอยู่ตามสภาพของท่านพอดิบพอดีนี้เหมาะแล้ว เป็นธรรมแล้ว มีค่ามากแล้ว สิ่งเหล่านั้นมีค่าอะไร จะมาเหยียบธรรมต่างหาก อะไรก็สะดวกกายๆ หาเข้ามาปรนปรือล้นวัดล้นวาสิ่งที่ไม่เป็นท่านั่นน่ะ สิ่งส่งเสริมกิเลสมันหากขนเข้ามาๆ มองไม่ทันนะ วัดนี้เหมือนกันมันล้นเข้ามา ตีออกๆ เอามาต่อหน้าให้เอากลับคืนต่อหน้า ไม่เอา เช่นพวกเก้าอี้พวกโต๊ะพวกอะไร ที่นอนหมอนมุ้งพวกฟูกพวกอะไรที่ว่าสวยๆ งามๆ หรือดีๆ ให้ปาเข้าป่าเราบอกอย่างนี้เลย นี่ละพวกข้าศึกของธรรมคือเหล่านี้เองจะเป็นอะไรไป ผู้ปฏิบัติธรรมท่านไม่สนใจ อยู่ที่ไหนนอนที่ไหนหลับที่ไหนได้ กินอะไรกินได้หมด ใช้อะไรใช้ได้หมด นี้คือผู้มุ่งอรรถมุ่งธรรม ท่านถือธรรมเป็นหลักเกณฑ์ สิ่งเหล่านั้นเป็นข้าศึกต่างหาก ถ้าปรนปรือมากๆ เข้ามาแล้วหมด เรื่องทางด้านจิตใจจะไม่มี มันแฝงเข้ามาๆ น่าทุเรศนะ

นี่พยายามกั้นกางเอาไว้ มันก็ล้นเข้ามาๆ ส่วนมากมักจะทำ เช่นการก่อการสร้างยุ่งนั้นยุ่งนี้ จะทำเวลาเราไม่อยู่ เวลาเราอยู่ทำไม่ได้เดี๋ยวหน้าผากมันแตก ตีกบาลเอาละซี อะไรเลิศยิ่งกว่าธรรม ดูหัวใจให้ดีซิ ดูหัวใจตลอดเวลา สติฟาดเข้าไปๆ ตัวยุ่งอยู่ที่หัวใจ พอตัวยุ่งขาดสะบั้นไปหมดแล้ว อยู่ไหนสบายหมด ไม่ได้ยุ่งนะ ได้อะไรกินอะไรสบายหมด นอนอย่างไรสบายหมด ธรรมท่านเป็นอย่างนั้น ไอ้ไม่พอๆ มีแต่กิเลสทั้งนั้น อันนั้นก็ไม่พอ อันนี้ไม่พอ อันนั้นก็ดี อันนี้ก็ดี ดีเรื่องกิเลส เรื่องธรรมไม่เห็นว่าเลย ปรนปรือเหลือเกินเรื่องร่างกาย อยากให้ดิบให้ดีทุกอย่าง ให้อยู่สะดวกสบายร่างกาย หัวใจเป็นไฟ กิเลสเผาอยู่นั้นทำไมไม่ดู นั่นละท่านผู้ปฏิบัติ

เห็นไหมศีล ๘ ท่านแสดงไว้ว่า อุจฺจาสยน มหาสยนา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ ไม่ให้หลับให้นอนที่นอนอันสูงและใหญ่ ภายในยัดด้วยนุ่นและสำลี เห็นไหม นั่นมันหมูนอน นอนอย่างนั้น ถ้าผู้มีศีลมีธรรมนอนไม่นอนอย่างนั้น นอนแบบผู้มีศีลมีธรรมสบายหมด ไอ้พวกหมูนอนหานอนอย่างนั้นละ เห็นไหมพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ มันทำเป็นความเพลิน เห็นการหลับการนอนดีกว่าธรรมไปหมด ธรรมเลยก้าวไม่ออก อะไรก็เพื่อกายๆ อยู่ดีกินดี หลับนอนดี ส่วนไฟเผาหัวใจอยู่นั้น มันไม่สนใจ นี่ละมันน่าทุเรศนะ

นี่ปฏิบัติมาไม่พูดเฉยๆ มันเป็นอยู่ในใจนี่ มันคุ้นกับอะไรโลกอันนี้ ดูอะไรปั๊บๆ มันจับปุ๊บๆ ทะลุไปเลยๆ เป็นเหมือนคนใบ้ เฉย พูดออกไปดีไม่ดีเขาหาว่าบ้า พูดออกไปเป็นบางประโยค เขาจะโกยโทษใส่เขา ทั้งๆ ที่ทางนี้เป็นธรรม เขารับธรรมไม่ได้ รับได้แต่โทษก็เป็นโทษไปหมด จึงหูหนวกตาบอด เป็นเหมือนคนใบ้ ไปที่ไหนดูเอาๆ แม้อยู่ในวงวัดของเรา ควรจะพูดเราก็พูดละซิ ไม่พูดได้อย่างไร เรารับผิดชอบทั่วทั้งวัด เราต้องแนะ อย่าเห็นวัตถุดีกว่าธรรมนะ อยู่อย่างไรอยู่ได้ อย่าหามาปรนปรือนักนะร่างกาย ปรนปรือหาอะไร ไม่มีในธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้ปรนปรือส่วนร่างกาย ที่หลับที่นอน ที่อยู่ที่กิน ที่อะไรให้หรูหราฟู่ฟ่า ไม่มีในธรรม มีแต่กิเลส แฝงขึ้นมาแล้วกลายเป็นใหญ่เวลานี้

อะไรไม่หรูหราไม่ใช่ธรรมแล้วเดี๋ยวนี้ นั่นละกิเลส เวลามันหรูหราขึ้นมามากๆ มันเหยียบหัวธรรม ปฏิเสธธรรมว่าไม่มี ไม่ใช่ธรรม สิ่งที่เป็นธรรมคือกิเลสทั้งกองๆ อะไรจึงปรนปรือกันแต่เรื่องกิเลส ร่างกายนี้แหม ทะนุถนอมเอามากทีเดียว ไม่ให้อะไรแตะได้แหละ การอยู่ก็อันนี้ไม่อร่อย อันนั้นไม่อร่อย หามาให้อร่อย ให้อร่อยลิ้นอร่อยปาก ธรรมเผ็ดร้อนขนาดไหน กิเลสเผาอยู่นั้นมันไม่ดูนะ การอยู่การกิน การหลับการนอน ปรนปรือกันให้พอๆ มีแต่เรื่องกิเลสทั้งนั้น พูดแล้วสลดสังเวช

ผู้ที่ประสงค์ธรรมในใจ ท่านไม่ยุ่งกับสิ่งเหล่านี้ ยิ่งมีธรรมภายในใจ ตั้งแต่ความสงบร่มเย็นขึ้นไปเรื่อยๆ แล้ว ท่านจะปัดหมดสิ่งเหล่านี้ จนกระทั่งถึงขั้นพอดี อะไรขัดกับธรรมรู้หมด เมื่อธรรมเป็นของพอดี พอดีอย่างเลิศเลอนะไม่ใช่พอดีธรรมดา มันมาขัดกับธรรมอะไรๆ ปัดออกๆ ทันทีๆ อันนี้ไอ้สิ่งที่ขวางธรรม โลกชอบ เพราะเป็นโลกกิเลสชอบอย่างนั้น เรื่องธรรมกิเลสไม่ชอบ ผู้ปฏิบัติธรรมก็หลงกลกิเลส กิเลสไม่พาชอบก็ไม่ชอบ จึงปรนปรือแต่เรื่องร่างกาย ปรนปรือเอาเหลือประมาณ จิตใจแห้งผากๆ เรียกร้องหาความช่วยเหลือจากเจ้าของ ด้วยการชำระสะสางกิเลสที่อยู่ในจิตให้เบาบางไปบ้าง แต่เจ้าของไม่สนใจ พากันพิจารณานะ

เทศน์ก็ยากลำบากเดี๋ยวนี้ เห็นไหมล่ะ แก่แล้ว พูดนี้เสียงมันลั่นออกทางหู ก็ทนเอาทนพูด ให้ผู้ฟังทั้งหลายพิจารณา ใจนี้เลิศเลอสุดยอด ขออบรมให้ดี ใจเดี๋ยวนี้ถูกเหยียบย่ำทำลายด้วยอำนาจของกิเลส มีแต่กิเลสเลิศเลอในหัวใจสัตว์ หลงไปตามกิเลส ไม่มีใครระลึกได้รู้เนื้อรู้ตัวนะ ท่านผู้รู้ธรรมเห็นธรรม ถ้าจะพูดภาษาโลก ท่านหัวเราะวันยังค่ำ หัวเราะโลกที่มันเป็นบ้ากันทั่วโลกดินแดน แต่ธรรมท่านจะไปว่าอะไร ธรรมจะไปกระทบกระเทือนใคร รู้เหมือนไม่รู้ เห็นเหมือนไม่เห็น เฉยอยู่อย่างนั้น ถ้าใครเข้ามาเกี่ยวข้อง ควรแนะนำสั่งสอนหนักเบามากน้อยท่านก็สอนไป ถ้าใครไม่มาเกี่ยว ท่านก็ไม่สนใจ เพราะท่านพอแล้วในธรรม พอธรรมในหัวใจแล้ว

พากันตั้งใจปฏิบัติ อย่าปรนปรือนักนะร่างกาย ไปที่ใดปรนปรือเหลือประมาณ อันนั้นไม่ดี อันนี้ไม่ดีไปละ มานี้จะเอาโลกเข้ามาเหยียบหัวธรรม เอาเรื่องวัตถุภายนอกเข้ามาเหยียบหัวธรรมต่อไปนี้ เดี๋ยวนี้มันเป็นแล้ว เห็นอยู่แล้ว จะเอาวัตถุเป็นเรื่องของกิเลสมาเหยียบหัวผู้ปฏิบัติธรรมให้แหลกเหลวไปตามๆ กันหมด ให้พากันจำ

โอ๊ เลอะเทอะมากวัดป่าบ้านตาด เวลานี้เลอะเทอะมากที่สุด สำหรับพระเราก็ไม่ได้ต้องติท่าน ท่านดีตลอดพระน่ะ ส่วนทางด้านในละซี มาจากแบบอะไร โลกไหนต่อโลกไหน ทิศใดทางใดไม่รู้เข้ามาผสมกัน ทั้งตดทั้งขี้ผสมกันแล้วก็เป็นส้วมเป็นถานหมดเลย ไม่มีอะไรเป็นชิ้นดี อยู่อย่างไร บางรายมาอยู่มากินมานอนเฉยๆ ก็มีเยอะอยู่ในนั้นน่ะ มันไม่สนใจในอรรถในธรรมนะ จากนั้นทะเลาะกันก็มี แต่มันไม่ได้แสดงมาถึงเรา เพราะเหตุไร ถ้าแสดงมาถึงเราเรื่องทะเลาะแล้วจะได้ออกทันที เราไม่ชำระ ถ้าลงได้ทะเลาะกันแล้ว ขั้นนี้ขั้นสุดยอดแล้ว เอาไว้ไม่ได้แล้ว ตัดทันที เอาออกทันที เพราะฉะนั้นจึงไม่กล้าแสดงให้เราเห็นละซี เห็นก็เอาจริงเอาจัง เอาละวันนี้พอ พอสมควรแล้ว


:b8: :b8: :b8:

:b44: รวมคำสอน “หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=38517


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.ค. 2015, 19:47 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 9
สมาชิก ระดับ 9
ลงทะเบียนเมื่อ: 12 มิ.ย. 2014, 20:13
โพสต์: 709

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 6 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 17 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร