วันเวลาปัจจุบัน 20 เม.ย. 2024, 03:35  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 6 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ก.ค. 2014, 07:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ทานบดี "เจ้าแห่งทาน" ผู้เป็นใหญ่ในทาน, พึงทราบคำอธิบาย ๒ แง่ คือ ในแง่ที่ ๑ ความแตกต่างระหว่าง ทายก กับ ทานบดี


"ทายก" คือผู้ให้ เป็นคำกลางๆ แม้จะให้ของ ของผู้อื่นตามคำสั่งของเขา โดยไม่มีอำนาจหรือมีความเป็นใหญ่ในของนั้น ก็เป็นทายก (จึงไม่แน่ว่าจะปราศจากความหวงแหน หรือมีใจสละจริงแท้หรือไม่) ส่วน "ทานบดี" คือผู้ให้ที่เป็นเจ้าของหรือมีอำนาจในของที่จะให้ จึงเป็นใหญ่ในทานนั้น (ตามปกติต้องไม่หวงหรือมีใจสละจริง จึงให้ได้)

ในแง่ที่ ๑ นี้ จึงพูดจำแนกว่า บางคนเป็นทั้งทายกและเป็นทานบดี บางคนเป็นทายก แต่ไม่เป็นทานบดี,

ในแง่ที่ ๒ ความแตกต่างระหว่าง ทานทาส ทานสหาย และทานบดี,

บุคคลใด ตนเองบริโภคของดีๆ แต่แก่ผู้อื่นให้ของไม่ดี ทำตัวเป็นทาสของสิ่งของ บุคคลนั้น เรียกว่า ทานทาส,

บุคคลใด ตนเองบริโภคของอย่างใด ก็ให้แก่ผู้อื่นอย่างนั้น บุคคลนั้น เรียกว่า ทานสหาย,

บุคคลใด ตนเองบริโภคหรือใช้ของตามที่พอมีพอเป็นไป แต่แก่ผู้อื่นจัดให้ของดีๆ ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจสิ่งของ แต่เป็นนายเป็นใหญ่ทำให้สิ่งของอยู่ใต้อำนาจของตน บุคคลนั้น เรียกว่า ทานบดี


ทานบารมี คุณความดีที่บำเพ็ญอย่างยิ่งยวดคือทาน, บารมีข้อทาน,

การให้การสละอย่างยิ่งยวดที่เป็นบารมีขั้นปกติ เรียกว่า ทานบารมี ได้แก่ พาหิรภัณฑบริจาค คือสละให้ของนอกกาย,

การให้การสละที่ยิ่งยวดขึ้นไปอีก ซึ่งเป็นบารมีขั้นจวนสูงสุด เรียกว่า ทานอุปบารมี ได้แก่ อังคบริจาค คือสละให้อวัยวะในตัว เช่น บริจาคดวงตา,

การให้การสละที่ยิ่งยวดที่สุด ซึ่งเป็นบารมีในขั้นสูงสุด เรียกว่า ทานปรมัตถบารมี ได้แก่ ชีวิตบริจาค คือสละชีวิต

การสละให้พาหิรภัณฑ์หรือพาหิรวัตถุ เป็นพาหิรทาน คือ ให้สิ่งนอกกาย

ส่วนการสละให้อวัยวะเลือดเนื้อชีวิตตลอดจน ยอมตัวเป็นทาสรับใช้เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น เป็นอัชฌัตติกาทาน คือให้ของภายใน (ข้อ ๑ ในบารมี ๑๐)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ก.ค. 2014, 07:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ทิฏฐิ ความเห็น, ความเข้าใจ, ความเชื่อถือ,

ทั้งนี้ มักมีคำขยายนำหน้า เช่น สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นชอบ) มิจฉาทิฏฐิ (ความเห็นผิด) แต่ถ้า ทิฏฐิ มาคำเดียวโดด มักมีนัยไม่ดี หมายถึง ความยึดถือตามความเห็น, ความถือมั่นที่จะให้เป็นไปตามความเชื่อถือหรือความเห็นของตน, การถือยุติเอาความเห็นเป็นความจริง, ความเห็นผิด, ความยึดติดทฤษฎี ในภาษาไทยมักหมายถึงความดึงดื้อถือรั้นในความเห็น (พจนานุกรมเขียน ทิฐิ) (ข้อ ๔ ในสังโยชน์ ๑๐ ตามนัยพระอภิธรรม ข้อ ๓ ในอนุสัย ๗ ข้อ ๓ ในปปัญจะ ๓)

ทิฏฐิ คือ ความเห็นผิด มี ๒ ได้แก่

๑. สัสสตทิฏฐิ ความเห็นว่าเที่ยง

๒. อุจเฉททิฏฐิ ความเห็นว่าขาดสูญ

อีกหมวดหนึ่ง มี ๓ คือ

๑. อกิริยทิฏฐิ ความเห็นว่าไม่เป็นอันทำ

๒. อเหตุกทิฏฐิ ความเห็นว่าไม่มีเหตุ

๓. นัตถิกทิฏฐิ ความเห็นว่าไม่มี คือ ถืออะไรเป็นหลักไม่ได้ เช่น มารดาบิดาไม่มี เป็นต้น


ทิฏฐิวิบัติ วิบัติแห่งทิฏฐิ, ความผิดพลาดแห่งความคิดเห็น, ความเห็นคลาดเคลื่อนผิดธรรมวินัย ทำให้ประพฤติตนนอกแบบแผน ทำความผิดอยู่เสมอ (ข้อ ๓ ในวิบัติ ๔)


ทิฏฐิวิสุทธิ ความหมดจดแห่งความเห็น คือ เกิดความรู้ความเข้าใจ มองเห็นนามรูปตามสภาวะที่เป็นจริงคลายความหลงผิดว่าเป็นตว์ บุคคล ตัวตน ลงได้ (ข้อ ๓ ในวิสุทธิ ๗)


ทิฏฐุชุกัมม์ การทำความเห็นให้ตรง, การแก้ไขปรับปรุงความคิดเห็นให้ถูกต้อง (ข้อ ๑๐ ในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐)


ทิฏฐุปาทาน ความถือมั่นในทิฏฐิ, ความยึดมั่นฝังใจในลัทธิ ทฤษฎี และหลักความเชื่อต่างๆ (ข้อ ๓ ในอุปาทาน ๔)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ก.ค. 2014, 08:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ทุกข์ ๑. สภาพที่ทนอยู่ได้ยาก, สภาพที่คงทนอยู่ไม่ได้ เพราะถูกบีบคั้นด้วยความเกิดขึ้นและความดับสลาย เนื่องจากต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่ไม่ขึ้นต่อตัวมันเอง (ข้อ ๒ ในไตรลักษณ์)

๒. อาการแห่งทุกข์ที่ปรากฏขึ้นหรืออาจปรากฏขึ้น ได้แก่ คน (ได้ในคำว่า ทุกขสัจจะ หรือ ทุกขอริยสัจจ์ ซึ่งเป็นข้อที่ ่๑ ในอริยสัจจ์ ๔)

๓. สภาพที่ทนได้ยาก, ความรู้สึกไม่สบาย ได้แก่ ทุกขเวทนา, ถ้ามาคู่กับโทมนัส (ในเวทนา ๕) ทุกข์หมายถึงความไม่สบายกายคือทุกข์กาย (โทมนัส คือ ไม่สบายใจ) แต่ถ้ามาลำพัง (ในเวทนา ๓ ) ทุกข์ หมายถึงความไม่สบายกายไม่สบายใจ คือ ทั้งทุกข์กายและทุกข์ใจ


ทุกขสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ หมายถึงตัณหาสาม คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา เรียกสั้นๆว่า สมุทัย (ข้อ ๒ ในอริยสัจจ์ ๔) เรียกเต็มว่า ทุกขสมุทัยอริยสัจจ์


ทุกขนิโรธ ความดับทุกข์ หมายถึง พระนิพพาน เรียกสั้นๆว่า นิโรธ เรียกเต็มว่า ทุกขนิโรธอริยสัจจ์


ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ หมายถึงมรรคมีองค์แปด เรียกสั้นๆว่า มรรค เรียกเต็มว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจจ์


ทุกข์ขันธ์ กองทุกข์


ทุกขตา ความเป็นทุกข์, ภาวะที่คงทนอยู่ไม่ได้


ทุกขลักษณะ เครื่องกำหนดว่าเป็นทุกข์, ลักษณะที่จัดว่าเป็นทุกข์, ลักษณะที่แสดงให้เห็นว่าเป็นทุกข์ คือ

๑. ถูกการเกิดขึ้นและการดับสลายบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา

๒. ทนได้ยากหรือคงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้

๓. เป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์

๔. แย้งต่อสุขหรือเป็นสภาวะที่ปฏิเสธความสุข


ทุกขเวทนา ความรู้สึกลำบาก, ความรู้สึกเจ็บปวด, ความรู้สึกเป็นทุกข์, การเสวยอารมณ์ที่ไม่สบาย (ข้อ ๒ ในเวทนา ๓)


ทุกขสัญญา ความหมายรู้ว่าเป็นทุกข์, การกำหนดหมายให้มองเห็นสังขารว่า เป็นทุกข์


ทุกรกิริยา กิริยาที่ทำได้ยาก, การทำความเพียรอันยากที่ใครๆ จะทำได้ ได้แก่ การบำเพ็ญเพียรเพื่อบรรลุธรรมพิเศษด้วยวิธีการทรมานตนต่างๆ เช่น กลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะและอดอาหาร เป็นต้น ซึงพระพุทธเจ้าได้ทรงปฏิบัติก่อนตรัสรู้ อันเป็นฝ่ายอัตตกิลมถานุโยค และได้ทรงเลิกละเสียเพราะไม่สำเร็จประโยชน์ได้จริง เขียนเต็มเป็น ทุกกรกิริยา


ทุคติ คติไม่ดี, ทางดำเนินที่ไม่ดีมีความเดือดร้อน, ที่ไปเกิดอันชั่ว หรือที่ไปเกิดของผู้ทำกรรมชั่ว, แดนกำเนิดที่ไม่ดีมากไปด้วยความทุกข์ มี ๓ ได้แก่ นรก ดิรัจฉาน เปรต, คติที่ไม่ดี คือ ทุคติ ๓ นี้ ตรงข้ามกับคติที่ดี คือ สุคติ ๒ (มนุษย์ และเทพ) รวมทั้งหมดเป็น คติ ๕

ที่ไปเกิดหรือแดนกำเนิดไม่ดีนี้ บางทีเรียกว่า อบาย หรืออบายภูมิ (แปลว่า แดนซึ่งปราศจากความเจริญ) แต่อบายภูมินั้น มี ๔ คือ นรก เปรต อสุรกาย ดิรัจฉาน, เหตุให้จำนวนไม่เท่ากันนั้น มีคำอธิบาย ดังที่อรรถกถาบางแห่งกล่าวไว้ว่า (อุ.อ.145/ ฯลฯ ) ในกรณีนี้ รวมอสุรกาย เข้าในจำพวกเปรตด้วย จึงเป็นทุคติ ๓, ตรงข้ามกับ สุคติ

อนึ่ง ในความหมายที่ลึกลงไป ถือว่า นรก เปรต จนถึงดิรัจฉาน ที่เป็นทุคติก็โดยเทียบว่ามีทุกข์เดือดร้อนกว่าเทวะและมนุษย์ แต่กำเนิดหรือแดนเกิดทั้งหมดทั้งสิ้น แม้แต่ที่เรียกว่าสุคตินั้น ไม่ว่าจะเป็นเทวดา หรือพรหมชั้นใดๆ ก็เป็นทุคติ ทั้งนั้น (เนตฺติ.61/45; 106/105) เมื่อเทียบกับนิพพาน เพราะคติเหล่านั้น ยังประกอบด้วยทุกข์ หรือเป็นคติของผู้ทียังมีทุกข์

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ก.ค. 2014, 08:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ทมะ การฝึก, การฝึกฝนปรับปรุงตน, การรู้จักข่มจิตข่มใจ บังคับควบคุมตนเองได้ ไม่พูดไม่ทำเพียงตามที่อยาก แต่พูดและทำตามเหตุผลที่พิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่าดีงามสมควรเป็นประโยชน์ รู้จักปรับตัวปรับใจ และแก้ไขปรับปรุงตนด้วยปัญญาไตร่ตรองให้งอกงามดียิ่งขึ้นอยู่เสมอ (ข้อ ๒ ในฆราวาสธรรม ๔)


ทรมาน ข่ม, ฝึก, ปราบ, ทำให้เสื่อมพยศ, ทำให้เสื่อมการถือตัว, ทำให้กลับใจ. บัดนี้มักหมายถึง ทำให้ลำบาก


ทวาร ประตู, ทาง, ช่องตามร่างกาย
(๑) ทางรับรู้อารมณ์ มี ๖ คือ

๑. จักขุทวาร ทางตา

๒. โสตทวาร ทางหู

๓. ฆานทวาร ทางจมูก

๔. ชิวหาทวาร ทางลิ้น

๕. กายทวาร ทางกาย

๖. มโนทวาร ทางใจ

(๒) ทางทำกรรม

๑. กายทวาร ทางกาย

๒. วจีทวาร ทางวาจา

๓. มโนทวาร ทางใจ


เทศนา การแสดงธรรมสั่งสอนในทางศาสนา, การชี้แจงให้รู้จักดีรู้จักชั่ว, คำสอน,

มี ๒ อย่าง คือ

บุคคลาธิษฐาน เทศนา เทศนามีบุคคลเป็นที่ตั้ง

๒. ธรรมาธิษฐาน เทศนา เทศนามีธรรมเป็นที่ตั้ง


ไทยธรรม ของควรให้, ของทำบุญต่างๆ, ของถวายพระ


ทวิช ชื่อหนึ่งสำหรับเรียกพราหมณ์ ในภาษาไทยเป็น ทิชาจารย์ หรือทวิชาจารย์ ก็ มี แปลว่า "เกิดสองหน" หมายถึง เกิดโดยกำเนิดครั้งหนึ่ง เกิดโดยได้รับครอบเป็นพราหมณ์ครั้งหนึ่ง เปรียบเหมือนนก ซึ่งเกิดสองหนเหมือนกัน คือ เกิดจากท้องแม่ออกเป็นไข่หนหนึ่ง เกิดจากไข่เป็นตัวอีกหนหนึ่ง นกจึงมีชื่อ เรียกว่า ทวิช หรือ ทิช ซึ่งแปลว่า "เกิดสองหน"


เทวธรรม ธรรมของเทวดา, ธรรมที่ทำให้เป็นเทวดา หมายถึงธรรม ๒ อย่าง คือ

หิริ ความละอายต่อบาป คือ ละอายต่อความชั่ว และ

โอปตัปปะ ความกลัวบาป คือ เกรงกลัวต่อความชั่ว


ทุศีล "ผู้มีศีลชั่ว" คำนี้เป็นเพียงสำนวนภาษาที่พูดให้แรง อรรถกถาทั้งหลายอธิบายว่า ศีลที่ชั่วย่อมไม่มี แต่ทุศีล หมายความว่า ไม่มีศีล หรือไร้ศีล นั่นเอง, ภิกษุทุศีล คือภิกษุที่ต้องอาบัติปาราชิกขาดจากความเป็นภิกษุแล้ว แต่ไม่ละภิกขุปฏิญญา, คฤหัสถ์ทุศีล คือผู้ที่ละเมิดศีล ๕ ทั้งหมด

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ก.ค. 2014, 09:26 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ทักขิณา, ทักษิณา ทานที่ถวายเพื่อผลอันดีงาม, ของทำบุญ, สิ่งที่สละให้, ปัจจัยสี่ที่เมื่อถวายจะเป็นเหตุให้ประโยชน์สุขเจริญเพิ่มพูน, ของถวายช่วยให้สัตว์ทั้งหลายเจริญด้วยสมบัติดังปรารถนา, สิ่งทีให้โดยเชื่อกรรมและผลแห่งกรรม (หรือโดยเชื่อปรโลก),


"ทักขิณา" เดิมเป็นคำที่ใช้ในศาสนาพราหมณ์ (เขียนอย่างสันสกฤต เป็น ทักษิณา) หมายถึง ของที่มอบให้แก่พราหมณ์ เป็นค่าตอบแทนในการประกอบพิธีบูชายัญ

เมื่อนำมาใช้ในพระพุทธศาสนา นิยมหมายถึงปัจจัย ๔ ที่ถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ หรือให้แก่ทักขิไณยบุคคล ซึ่งในความหมายอย่างสูง ได้แก่ พระอริยสงฆ์ และในความหมายที่กว้างออกไป ได้แก่ ท่านผู้มีศีล ผู้ทรงคุณทรงธรรม แม้เป็นคฤหัสถ์ เช่น มารดาบิดา ตลอดจนในความหมายอย่างที่สุด ของที่ให้เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูล แม้แต่ให้แก่สัตว์ดิรัจฉาน ก็เป็นทักขิณา (ดังที่ตรัสในทักขิณาวิภังคสูตร ม.อุ.14/710/458) แม้มีผลมากน้อยต่างกันตามหลักทักขิณาวิสุทธิ์ ๔ และตรัสไว้อีก แห่งหนึ่งว่า (ทานสูตร องฺ.ฉกฺก. 22/308375)

ทักขิณาที่พร้อมด้วยองค์ ๖ คือ ทายกมีองค์ ๓ (ก่อนให้ ก็ดีใจ, กำลังให้อยู่ ก็ทำจิตให้ผุดผ่องเลื่อมใส, ครั้นให้แล้ว ก็ชื่นชมปลื้มใจ) และปฏิคาหกมี ๓ (เป็นผู้ปราศจากราคะหรือปฏิบัติเพื่อบำราศราคะ, เป็นผู้ปราศจากโทสะหรือปฏิบัติเพื่อบำราศโทสะ, เป็นผู้ปราศจากโมหะหรือปฏิบัติเพื่อบำราศโมหะ) ทักขิณานั้น เป็นบุญยิ่งใหญ่ มีผลมากยากจะประมาณได้


ทักขิณานุปทาน ทำบุญอุทิศผลให้แก่ผู้ตาย


ทักขิณาวัฏฏ์ เวียนขวา, วนไปทางขวา คือ วนเลี้ยวทางขวาอย่างเข็มนาฬิกา เขียน ทักษิณาวัฏ หรือ ทักษิณาวรรต ก็มี ตรงข้ามกับอุตตราวัฏฏ์


ทักขิณาวิสุทธิ์ ความบริสุทธิ์แห่งทักขิณา, ข้อที่เป็นเหตุให้ทักขิณา คือ สิ่งที่ให้ที่ถวาย เป็นของบริสุทธิ์และจึงเกิดมีผลมาก มี ๔ คือ (ม.อุ.14/714/461)

๑. ทิกขิณา บริสุทธิ์ฝ่ายทายก (มีศีล มีกัลยาณธรรม) ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก (ทุศีล มีปาปธรรม)

๒. ทักขิณา บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก

๓. ทักขิณา ไม่บริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายก ไม่บริสุทธิ์ทั้งฝ่ายปฏิคาหก

๔. ทักขิณา บริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายก บริสุทธิ์ทั้งฝ่ายปฏิคาหก


ทำบุญ ทำ ความดี, ทำสิ่งที่ดีงาม, ประกอบกรรมดี ดังที่ท่านแสดงในบุญกิริยาวัตถุ ๓ หรือบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ แต่ที่พูดกันทั่วไป มักเพ่งที่การเลี้ยงพระ ตักบาตร ถวายจตุปัจจัยแก่พระสงฆ์ บริจาคบำรุงวัดและการก่อสร้างในวัด เป็นสำคัญ


ทำคืน แก้ไข


ทักขิเณยยบุคคล บุคคลผู้ควรรับทักษิณา


ทกฺขิเณยฺโย (พระสงฆ์) เป็นผู้ควรแก่ทักขิณา คือ มีคุณความดีสมควรแก่ของทำบุญ มีอาหาร ผ้านุ่งห่ม เป็นต้น ช่วยเอื้ออำนวยให้ของที่เขาถวายมีผลมาก (ข้อ ๗ ในสังฆคุณ ๙)


ทักขิโณทก, ทักษิโณทก น้ำที่หลั่งในเวลาทำทาน, น้ำกรวด, คือเอาน้ำหลั่งเป็นเครื่องหมายของการให้แทนสิ่งของที่ให้ เช่น ที่ดิน ศาลา กุฎี บุญกุศล เป็นต้น ซึ่งใหญ่โตเกินกว่าจะยกไหว หรือไม่มีรูปที่จะยกขึ้นได้


ทัสสนะ การเห็น, การเห็นด้วยปัญญา, ความเห็น, สิ่งที่เห็น


ทิฏฐธรรม, ทิฏฐธัมม์ สิ่งที่มองเห็น, สภาวะหรือเรื่องซึ่งเห็นได้ คือ ปัจจุบันชีวิตนี้, ชาตินี้, ทันเห็น, จำพวกวัตถุด้านรูปกาย


ทิฏฐธัมมิกัตถะ ประโยชน์ ในปัจจุบัน, ประโยชน์สุขสามัญที่มองเห็นกันในชาตินี้ ที่คนทั่วไปปรารถนา มีทรัพย์ ยศ เกียรติ ไมตรี เป็นต้น อันจะสำเร็จด้วยธรรม (เรียกเต็มว่า ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม ธรรมอันเป็นไปเพื่อทิฏฐธัมมิกัตถะ) ๔ ประการ คือ

๑. อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความหมั่น

๒. อารักขสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการรักษา

๓. กัลยาณมิตตตา ความมีเพื่อนเป็นคนดี

๔. สมชีวิตา การเลี้ยงชีวิตตามสมควรแก่กำลังทรัพย์ที่หาได้, มักเรียกคล่องปากว่า ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ต.ค. 2014, 13:58 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2876


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: ขออนุโมทนาคะ :b27:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 6 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 98 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron