วันเวลาปัจจุบัน 25 เม.ย. 2024, 17:35  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 9 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ก.ค. 2014, 18:01 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


วิสุทธิ ความบริสุทธิ์, ความหมดจด, การชำระสัตว์ให้บริสุทธิ์ด้วยการบำเพ็ญไตรสิกขาให้บริบูรณ์เป็นขั้นๆ ไปโดยลำดับ จนบรรลุจุดหมาย คือ พระนิพพาน มี ๗ ขั้น

(ในที่นี้ ได้ระบุธรรมที่มีที่ได้เป็นความหมายของแต่ละขั้น ตามที่แสดงไว้ในอภิธัมมัตถสังคหะ) คือ

๑. สีลวิสุทธิ ความหมดจดแห่งศีล (ได้แก่ ปาริสุทธิศีล ๔)


๒. จิตตวิสุทธิ ความหมดจดแห่งจิตต์ (ได้แก่ สมาธิ ๒ คือ อุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ)


๓. ทิฏฐิวิสุทธิ ความหมดจดแห่งทิฏฐิ (ได้แก่ นามรูปปริคคหญาณ)


๔. กังขาวิตรณวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องข้ามพ้นความสงสัย (ได้แก่ ปัจจัยปริคคหญาณ)


๕. มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องรู้เห็นว่าทางหรือมิใช่ทาง (ได้แก่ ต่อสัมมสนญาณ ขึ้นสู่อุทยัพพยญาณ เป็นตรุณวิปัสสนา เกิดวิปัสสนูปกิเลส แล้วรู้เท่าทันว่า อะไรใช่ทาง อะไรมิใช่ทาง)


๖. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณอันรู้เห็นทางดำเนิน (ได้แก่ วิปัสสนาญาณ ๙ นับแต่อุทยัพพยญาณที่ผ่านพ้นวิปัสสนูปกิเลสแล้ว เกิดเป็นพลววิปัสสนา เป็นต้นไป จนถึงอนุโลมญาณ)


๗. ญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณทัสสนะ (ได้แก่ มรรคญาณ ๔ มีโสดาปัตติมรรค เป็นต้น แต่ละขั้น)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ก.ค. 2014, 18:17 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


วิปัสสนา ความเห็นแจ้ง คือเห็นตรงต่อความเป็นจริงของสภาวธรรม, ปัญญาที่เห็นไตรลักษณ์อันให้ถอนความหลงผิดรู้ผิดในสังขารเสียได้, การฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความเห็นแจ้งรู้ชัดภาวะของสิ่งทั้งหลายตามที่มัน เป็น (ข้อ ๒ ในกัมมัฏฐาน ๒ หรือ ภาวนา ๒)


วิปัสสนากัมมัฏฐาน กรรมฐาน คือ วิปัสสนา, งานเจริญปัญญา


วิปัสสนาญาณ ญาณที่นับเข้าในวิปัสสนา หรือ ญาณที่จัดเป็นวิปัสสนามี ๙ อย่าง (วิปัสสนาญาณ ๙ ที่ http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=2&t=48168)


วิปัสสนาธุระ ธุระฝ่ายวิปัสสนา, ธุระด้านการเจริญวิปัสสนา, กิจพระศาสนาในด้านการสอนการฝึกเจริญกรรมฐาน ซึ่งจบครบที่วิปัสสนา, เป็นคำที่ใช้ในชั้นอรรถกถาลงมา (ไม่มีในพระไตรปิฎก)


วิปัสสนาปัญญา ปัญญาที่ถึงขั้นเป็นวิปัสสนา, ปัญญาที่ใช้ในการเจริญวิปัสสนา คือ ปัญญาที่พิจารณาเข้าใจสังขารตามความเป็นจริง


วิปัสสนาภาวนา การเจริญวิปัสสนา


วิปัสสนายานิก ผู้มีวิปัสสนาเป็นยาน คือ ผู้เจริญวิปัสสนาโดยยังไม่ได้ฌานสมาบัติมาก่อน


วิปัสสนาภูมิ ภูมิแห่งวิปัสสนา, ฐานที่ตั้งอันเป็นพื้นที่ ซึ่งวิปัสสนาเป็นไป, พื้นฐานที่ดำเนินไปของวิปัสสนา

๑. การปฏิบัติอันเป็นพื้นฐานที่วิปัสสนาดำเนินไป คือ การมองดูรู้เข้าใจ (สัมมสนะ, มักแปลกันว่าพิจารณา) หรือรู้เท่าทันสังขารทั้งหลายตามที่มันเป็นอนิจจะ ทุกขะ อนัตตา อันดำเนินไปโดยลำดับ จนเกิดตรุณวิปัสสนา ซึ่งเป็นพื้นของการก้าวสู่วิปัสสนาที่สูงขึ้นไป

๒. ธรรมที่เป็นภูมิของวิปัสสนา คือธรรมทั้งหลายอันเป็นพื้นฐานที่จะมองดูรู้เข้าใจ ให้เกิดปัญญาเห็นแจ้งตามเป็นจริง ตรงกับคำว่า "ปัญญาภูมิ" ได้แก่ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ อริยสัจ ๔ ปฏิจจสมุปบาท และ ปฏิจจสมุปปันนธรรมทั้งหลาย, เฉพาะอย่างยิ่ง ท่านเน้น ปฏิจจสมุปบาท ซึ่งเป็นที่รวมในการทำความเข้าใจธรรมทั้งหมดนั้น, ว่าโดยสาระ ก็คือ ธรรมชาติทั้งปวงที่มีในภูมิ ๓


วิปลาส, วิปัลลาส กิริยาที่ถือโดยอาการวิปริตผิดจากความเป็นจริง, ความเห็นหรือความเข้าใจคลาดเคลื่อนจากสภาพที่เป็นจริง มีดังนี้

ก. วิปลาสด้วยอำนาจจิตต์และเจตสิก ๓ ประการ คือ

๑. วิปลาสด้วยอำนาจความสำคัญผิด เรียกว่า สัญญาวิปลาส

๒. วิปลาสด้วยอำนาจคิดผิด เรียกว่า จิตตวิปลาส

๓. วิปลาสด้วยอำนาจเห็นผิด เรียกว่า ทิฏฐิวิปลาส

ข. วิปลาสด้วยสามารถวัตถุเป็นที่ตั้ง ๔ ประการ คือ

๑. วิปลาสในของที่ไม่เที่ยง ว่าเที่ยง

๒. วิปลาสในของที่เป็นทุกข์ ว่าเป็นสุข

๓. วิปลาสในของทีไม่ใช่ตน ว่าเป็นตน

๔. วิปลาสในของทีไม่งาม ว่างาม

(เขียนว่า พิปลาส ก็มี)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ก.ค. 2014, 18:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


วิภัชชวาที "ผู้กล่าวจำแนก" "ผู้แยกแยะพูด" เป็นคุณบท คือคำแสดงคุณลักษณะอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้า หมายความว่า ทรงแสดงธรรมแยกแยะแจกแจงออกไปให้เห็นว่า สิ่งทั้งหลาย เกิดจากส่วนประกอบย่อยๆ มาประชุมกันเข้าอย่างไร เช่น

แยกแยะกระจายนามรูปออก เป็นขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ เป็นต้น สิ่งทั้งหลาย มีด้านที่เป็นคุณ และด้านที่เป็นโทษอย่างไร เรื่องนั้นๆ มีข้อจริงข้อเท็จอย่างไร การกระทำอย่างนั้นๆ มีแง่ถูกแง่ผิดแง่ที่ดี และแง่ไม่ดีประการใด เป็นต้น ไม่มองอย่างตีคลุม หรือเห็นแต่ด้านเดียวแล้วยึดติดในทิฏฐิต่างๆ อันทำให้ไม่เข้าใจถึงความจริงแท้ตามสภาวะ


วาสนา อาการกายวาจา ที่เป็นลักษณะพิเศษของบุคคล ซึ่งเกิดจากกิเลสบางอย่าง และได้สั่งสมอบรมมาเป็นเวลานานจนเคยชินติดเป็นพื้นประจำตัว แม้จะละกิเลสนั้นได้แล้ว แต่ก็อาจจะละอาการกายวาจาที่เคยชินไม่ได้ เช่น คำพูดติดปาก อาการเดินที่เร็วหรือเดินต้วมเตี้ยม เป็นต้น

ท่านขยายความว่า วาสนา ที่เป็นกุศล ก็มี เป็นอกุศล ก็มี เป็นอัพยากฤต คือ เป็นกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่ว ก็มี ที่เป็นกุศลกับอัพยากฤตนั้น ไม่ต้องละ แต่ที่เป็นอกุศลซึ่งควรจะละนั้น แบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนที่จะเป็นเหตุให้เข้าถึงอบาย กับ ส่วนที่เป็นเหตุให้เกิดอาการแสดงออกทางกายวาจาแปลกๆ ต่างๆ

ส่วนแรก พระอรหันต์ทุกองค์ละได้ แต่ส่วนหลัง พระพุทธเจ้าเท่านั้นละได้ พระอรหันต์อื่นละไม่ได้ จึงมีคำกล่าวว่า พระพุทธเจ้าเท่านั้นละกิเลสทั้งหมดได้พร้อมทั้งวาสนา, ในภาษาไทย คำว่า วาสนา มีความหมายเพี้ยนไป กลายเป็นอำนาจบุญเก่า หรือกุศลที่ทำให้ได้รับลาภยศ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ก.ค. 2014, 08:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


วิญญาณ ความรู้แจ้งอารมณ์, จิต, ความรู้ที่เกิดขึ้น เมื่ออายตนะภายใน และอายตนะภายนอกกระทบกัน เช่น รู้อารมณ์ในเวลาเมื่อรูปมากกระทบตา เป็นต้น ได้แก่ การเห็น การได้ยิน เป็นอาทิ

วิญญาณ ๖ คือ

๑. จักขุวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางตา

๒. โสตวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางหู

๓. ฆานวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางจมูก

๔. ชิวหาวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางลิ้น

๕. กายวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางกาย

๖. มโนวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางใจ (รู้เรื่องในใจ)


ธาตุ สิ่งที่ทรงสภาวะของมันอยู่เองตามธรรมดาของเหตุปัจจัย, ธาตุ ๔ คือ

๑. ปฐวีธาตุ สภาวะที่แผ่ไปหรือกินเนื้อที่ เรียกสามัญว่าธาตุแข้นแข็ง หรือ ธาตุดิน

๒. อาโปธาตุ สภาวะที่เอิบอาบดูดซึม เรียกสามัญว่า ธาตุเหลวหรือธาตุน้ำ

๓. เตโชธาตุ สภาวะที่ทำให้ร้อน เรียกสามัญว่า ธาตุไฟ

๔. วาโยธาตุ สภาวะที่ทำให้เคลื่อนไหว เรียกสามัญว่า ธาตุลม


ธาตุ ๖ คือ เพิ่ม ๕ อากาสธาตุ สภาวะที่ว่าง ๖. วิญญาณธาตุ สภาวะที่รู้แจ้งอารมณ์ หรือ ธาตุรู้


วิญญาณธาตุ ธาตุรู้, ความรู้แจ้ง, ความรู้อะไรได้ (ข้อ ๖ ในธาตุ ๖)


วิญญาณาหาร อาหารคือวิญญาณ, วิญญาณเป็นอาหาร คือ เป็นปัจจัยอุดหนุนหล่อเลี้ยงให้เกิดนามรูป (ข้อ ๔ ในอาหาร ๔)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.ค. 2014, 19:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


วิถีจิต "จิตในวิถี" คือ จิตในวิถีแห่งการรับรู้เสพอารมณ์, จิตซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปในวิถี คือ พ้นจากภวังค์ หรือพ้นจากภาวะที่เป็นภวังคจิต (และมิใช่เป็นปฏิสนธิจิต หรือจุติจิต)

พูดอีกอย่างหนึ่งว่า จิต ๑๑ ชื่อ ซึ่งทำกิจ ๑๑ อย่าง นอกจากปฏิสนธิกิจ ภวังคกิจ และจุติกิจ, "วิถีจิต" เป็นคำรวม เรียกจิตทั้งหลาย ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการรับรู้อารมณ์ ๖ ทางทวารทั้ง ๖ (คำบาลีว่า วิถีจิตฺต) อธิบายอย่างง่าย พอให้เข้าใจเป็นพื้นฐานว่า

สัตว์ทั้งหลาย หลังจากเกิดปฏิสนธิแล้ว จนถึงก่อนตาย คือ จุติ ระหว่างนั้น ชีวิตเป็นอยู่โดยมีจิตที่เป็นพื้่น เรียกว่า ภวังคจิต (จิตที่เป็นองค์แห่งภพ หรือจิตในภาวะที่เป็นองค์แห่งภพ) ซึ่งเกิดดับสืบเนื่องต่อกันไปตลอดเวลา (มักเรียกว่า ภวังคโสต คือ กระแสแห่งภวังค์)

ทีนี้ ถ้าจิตอยู่ในภาวะภวังค์ เป็นภวังคจิต และเกิดดับสืบต่อไปเป็นภวังค์โสตเท่านั้น ก็เพียงแค่ยังมีชีวิตอยู่ เหมือนหลับอยู่ตลอดเวลา แต่ชีวิตนั้น เป็นอยู่ดำเนินไป โดยมีการรับรู้ และทำกรรมทางทวารต่างๆ เช่น เห็น ได้ยิน ดู ฟัง เคลื่อนไหว พูดจา ตลอดจนคิดการต่างๆ จิตจึงมิใช่แค่เป็นองค์แห่งภพไว้เท่านั้น แต่ต้องมีการรับรู้เสพอารมณ์ทำกรรมทางทวารทั้งหลายด้วย ดังนั้น

เมื่อ มีอารมณ์ คือ รูป เสียง ฯลฯ มาปรากฎแก่ทวาร (มาสู่คลองในทวาร) คือ ตา หู ฯลฯ ก็จะมีการรับรู้ โดยภวังคจิตที่กำลังเกิดดับสืบต่อกระแสภพกันอยู่นั้น แทนที่ว่า

ภวังคจิต หนึ่งดับไป จะเกิดเป็นภวังคจิตใหม่ขึ้นมา ก็กลายเป็นว่า ภวังคจิตหนึ่งดับไป แต่เกิดเป็นจิตหนึ่งที่เข้ามาอยู่ในวิถี แห่งการรับรู้เกิดขึ้นมา (ตอนนี้ พูดอย่างภาษาชาวบ้านให้เข้าใจง่ายว่า จิตออกจากภวังค์ หรือจิตขึ้นสู่วิถี) แล้ว ก็จะมีจิตที่เรียกชื่่อต่างๆ เกิดขึ้นมาทำหน้าที่ต่อๆกันไป ในวิถีแห่งการรับรู้เสพอารมณ์นั้น จนครบกระบวนจบวิถีไปรอบหนึ่ง แล้วก็เกิดเป็นภวังคจิตขึ้นมาอีก (พูดอย่างภาษาชาวบ้านว่า ตกภวังค์),

จิต ทั้งหลาย ที่เกิดขึ้นมาทำหน้าที่ แต่ละขณะในวิถีแห่งการรับรู้เสพอารมณ์นั้น จนจบกระบวน เรียกว่า "วิถีจิต" และจิตแต่ละขณะในวิถีนั้น มีชื่อเรียกเฉพาะของมัน ตามกิจ คืองาน หรือหน้าที่มันทำ, เมือตกภวังค์อย่างที่ว่านั้นแล้ว ภวังคจิตเกิดดับต่อกันไป แล้วก็เปลี่ยน (เรียกว่า ตัดกระแสภวังค์) เกิดเป็นวิถีจิตขึ้นมารับรู้เสพอารมณ์อีก แล้วพอจบกระบวน ก็ตกภวังค์ เป็นภวังคจิตขึ้นอีก สลับกันหมุนเวียนไป โดยนัยนี้

ชีวิตที่ดำเนินไป แม้ในกิจกรรมเล็กน้อยหนึ่งๆ จึงเป็นการสลับหมุนเวียนไปของกระแสภวังคจิต (ภวังคโสตะ) กับกระบวนวิถีจิต (วิถีจิตตปวัตติ) ที่เกิดดับสืบต่อไป มากมายไม่อาจนับได้

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.ค. 2014, 19:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ในการรับรู้เสพอารมณ์ทำกรรมครั้งหนึ่งๆ ที่เป็นการเปลี่ยนจากภังคจิต มาเป็นวิถีจิต จนกระทั่งกลับมาเป็นภังคจิตอีกนั้น แยกแยะให้เห็นลำดับขั้นตอนแห่งความเป็นไป พอให้ได้ความเข้าใจคร่าวๆ (ในที่นี้ จะพูดถึงเฉพาะปัญจทวารวิถี คือการรับรู้ทางทวาร ๕ ่ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น และกาย ในกรณีที่รับอารมณ์ที่มีกำลังมาก คืออติมหันตารมณ์ เป็นหลัก) ดังนี้

ก. ช่วงภังคจิต (เนื่องจากเมื่อจบวิถี ก็จะกลับเป็นภวังค์อีก ตามปกติจึงเรียกภวังคจิตที่เอาเป็นจุดเริ่มต้นว่า "อตีตภวังค์" คือภวังค์ที่ล่วงแล้ว หรือภวังค์ ก่อน) มี ๓ ขณะ ได้แก่

๑. อตีตภวังค์ (ภวังคจิตที่สืบต่อมาจากก่อน)

๒. ภวังคจลนะ (ภวังค์ไหวตัวจากอารมณ์ใหม่ที่กระทบ)

๓. ภวังคุปัจเฉท (ภวังค์ขาดจากอารมณ์)


ข. ช่วงวิถีจิต มี ๑๔ ขณะ ได้แก่

๑. ปัญจทวาราวัชชนะ (การคำนึงอารมณ์ใหม่ทางทวารนั้นๆ ในทวารทั้ง ๕)

๒. ปัญจวิญญาณ (การรู้อารมณ์นั้นๆ ในอารมณ์ทั้ง ๕ คือ เป็นจักขุวิญญาณ หรือโสตวิญญาณ หรือฆานวิญญาณ หรือชีวิหาวิญญาณ หรือกายวิญญาณ อย่างใดอย่างหนึ่ง)

๓. สัมปฏิจฉนะ (สัมปฏิจฉันนะ ก็เรียก, การรับอารมณ์จากปัญจวิญญาณ เพื่อเสนอแก่สันตีรณะ)

๔. สันตีรณะ (การพิจารณาไต่สวนอารมณ์)

๕. โวฏฐัพพนะ (ตัดสินอารมณ์)

๖ - ๑๒ ชวนะ (การแล่นไปในอารมณ์ คือ รับรู้เสพทำต่ออารมณ์ เป็นช่วงที่ทำกรรม โดยเป็นกุศลชวนะหรืออกุศลชวนะ หรือไม่ก็กิริยา) ติอต่อกัน ๗ ขณะ

๑๓ - ๑๔ ตทารมณ์ (ตทาลัมพณะ หรือตทาลัมพนะ ก็เรียก, "มีอารมณ์นั้น" คือมีอารมณ์เดียวกับชวนะ ได้แก่ การเกิดเป็นวิปากจิตที่ได้รับอารมณ์ต่อจากชวนะ เหมือนได้รับผลประมวลจากชวนะมาบันทึกเก็บไว้ ก่อนตกภวังค์) ต่อกัน ๒ ขณะ แล้วก็สิ้นสุดวิถี คือ จบกระบวนของวิถีจิต เกิดเป็นภวังคจิตขึ้นใหม่ (ตกภวังค์) เมื่อนับตลอดหมดทั้งสองช่วง คือตั้งแต่อตีตภวังค์จุดเริ่ม มาจนจบวิถี ก็มี ๑๗ ขณะจิต

ในส่วนรายละเอียด วิถีจิตมีความเป็นไปแตกต่างกันหลายแบบ เช่น ในปัญจทวารวิถี ที่พูดมาข้างต้นนั้น เป็นกรณีที่รับอารมณ์ซึ่งมีกำลังเด่นชัดมาก (อติมหันตารมณ์)

แต่ถ้าอารมณ์ที่ปรากฎเข้ามามีกำลังไม่มากนัก (เป็นแค่มหันตารมณ์) ภวังค์จะยังไม่ไหวตัว จนถึงภวังคจิตขณะที่ ๓ หรือขณะที่ ๔ จึงจะไหวตัวเป็นภวังคจลนะ ในกรณีอย่างนี้

ก็จะมีอตีตภวังค์ ๒ หรือ ๓ ขณะ และเมื่อขึ้นสู่วิถี ก็จะไปจบแค่ชวนะที่ ๗ ดับ แล้วก็ตกภวังค์ โดยไม่มีตทารมณ์เกิดขึ้น, ยิ่งกว่านั้น ถ้าอารมณ์ที่ปรากฎมีกำลังน้อย (เป็นปริตตารมณ์) ก็จะผ่านอตีตภวังค์ไปหลายขณะ (ตั้งแต่ ๔ ถึง ๙ ขณะ) จึงเป็นภวังคจลนะ และเมื่อขึ้นสู่วิถีแล้ว วิถีนั้นก็ไปสิ้นสุดลงแค่โวฏฐัพพนะ ไม่ทันเกิดชวนจิต ก็ตกภวังค์ไปเลย, และถ้าอารมณ์ที่ปรากฎนั้นอ่อนกำลังเกินไป (เป็นอติปริตตารมณ์) ก็จะผ่านอตีตภวังค์ไปมากหลายขณะ จนในที่สุดเกิดภวังคจลนะขึ้นมาได้ ๒ ขณะ ก็กลับเป็นภวังค์ตามเดิม คือภวังค์ไม่ขาด (ไม่มีภวังคุปัจเฉท) และไม่มีวิถีจิตเกิดขึ้นเลย จึงเรียกว่าเป็นโมฆวาระ, ส่วนในมโนทวารวิถี

เมื่อภวังค์ไหวตัว (ภวังคจลนะ) และภวังค์ขาด (ภวังคุปัจเฉท) แล้ว ขึ้นสู่วิถี จะมีเพียงมโนทวาราวัชชนะ (การคำนึงอารมณ์ใหม่ทางมโนทวาร) และเกิดเป็นชวนจิต ๗ ขณะต่อไปเลย (ไม่มีสัมปฏิจฉนจิต เป็นต้น) เมื่อชวนะครบ ๗ แล้ว ในกรณีที่อารมณ์ที่ปรากฎเด่นชัด (วิภูตารมณ์) ก็จะเกิดตทารมณ์ ๒ ขณะ แล้วตกภวังค์ แต่ถ้าอารมณ์อ่อนแรงไม่เ่ด่นชัด (อวิภูตารมณ์) พอครบ ๗ ชวนะแล้ว ก็ตกภวังค์ไปเลย โดยไม่มีตทารมณ์เกิดขึ้น, อนึ่ง ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น

เป็นวิถีจิตในกามภูมิทั้งสิ้น ยังมีวิถีจิตในภูมิที่สูงขึ้นไปอีก ในฝ่ายมโนทวารวิถี (จิตในปัญจทวารวิถี อยู่ในกามภูมิอย่างเดียว) ซึ่งเป็นจิตที่เป็นสมาธิขั้นอัปปนา และมีความเป็นไปที่แตกต่างจากวิถีจิตในกามภูมิ เช่น ชวนะไม่จำกัดเพียงแค่ ๗ ขณะ เมื่อเข้าฌานแล้ว ตราบใดยังอยู่ในฌาน ก็มีชวนจิต เกิด ดับ สืบต่อกันไปตลอด นับจำนวนไม่ได้ โดยไม่ตกภวังค์เลย ถ้าเกิดเป็นภวังคจิตขึ้นเมื่อใด ก็คือออกจากฌาน ดังนี้ เป็นต้น รายละเอียดของวิถีจิตระดับนี้ จะไม่กล่าวในที่นี้.

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ก.ค. 2014, 19:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


วิปากวัฏฏ์ วนคือวิบาก, วงจรส่วนวิบาก, หนึ่งในวัฏฏะ ๓ แห่งปฏิจจสมุปบาท ประกอบด้วยวิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา, ชาติ ชรามรณะ


วิปากทุกข์ ทุกข์ทีเป็นผลของกรรมชั่ว เช่น ถูกลงอาชญาได้รับความทุกข์หรือตกอบาย หรือ เกิดวิปฏิสาร คือ เดือดร้อนใจ


วัฏฏะ การวนเวียน, การเวียนเกิดเวียนตาย, การเวียนว่ายตายเกิด, ความเวียนเกิด หรือวนเวียน ด้วยอำนาจกิเลส กรรม และวิบาก เช่น กิเลส เกิดขึ้นแล้วให้ทำกรรม เมือทำกรรมแล้ว ย่อมได้รับผลของกรรม เมื่อได้รับผลของกรรมแล้ว กิเลสก็เกิดอีก แล้วทำกรรม แล้วเสวยผลกรรม หมุนเวียนต่อไป


วิตก ความตรึก, ตริ, การยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ หรือปักจิตลงสู่อารมณ์ (ข้อ ๑ ในองค์ฌาน ๕) การคิด, ความดำริ, ไทยใช้ว่า เป็นห่วงกังวล


วิจาร ความตรอง, การพิจารณาอารมณ์, การตามฟั้นอารมณ์ (ข้อ ๒ ในองค์ฌาน ๕)


วุฑฒิ ธรรมเป็นเครื่องเจริญ, ธรรมเป็นเหตุให้ถึงความเจริญ มี ๔ อย่าง คือ
๑. สัปปุริสสังเสวะ คบหาสัตบุรุษ
๒. สัทธัมมัสสวนะ ฟังสัทธรรม
๓. โยนิโสมนสิการ ทำในใจโดยแยบคาย
๔. ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

เรียกและเขียนเป็น วุฒิ บ้าง วุฑฒิธรรม บ้าง วุฒิธรรม บ้าง ในบาลี เรียกธรรมที่เป็นไปเพื่อปัญญาวุฑฒิ หรือ ปัญญาวุฒิ คือเพื่อความเจริญแห่งปัญญา


วิบาก ผลแห่งกรรม, ผลโดยตรงของกรรม, ผลดีผลร้ายที่เกิดแก่ตน คือเกิดขึ้นในกระแสสืบต่อแห่งชีวิตของตน (ชีวิตสันตติ) อันเป็นไปตามกรรมดี กรรมชั่ว ที่ตนได้ทำไว้, "วิบาก" มีความหมายต่างจากผลที่เรียกชื่ออย่างอื่น ซึ่งเป็นผลพ่วง ผลพลอยได้ ผลข้างเคียง หรือผลสืบเนื่อง เช่น "นิสสันท์" และ "อานิสงส์"

นิสสันท์, นิสสันทะ "สภาวะที่หลั่งไหลออก" สิ่งที่เกิดตามมา, สิ่งที่ออกมาเป็นผล, ผลสืบเนื่อง หรือผลต่อตาม เช่น แสงสว่างและควัน เป็นนิสสันท์ของไฟ, มูตรและคูถ เป็นต้น เป็นนิสสันท์ของสิ่งที่ได้ดื่มกิน, อุปาทายรูปเป็นนิสสันท์ของมหาภูตรูป, โทสะเป็นนิสสันท์ของโลภะ (เพราะโลภะถูกขัด โทสะจึงเกิด) อรูปฌานเป็นนิสสันท์ของกสิณ, นิโรธสมาบัติเป็นนิสสันท์ของสมถะและวิปัสสนา

นิสสันท์ ใช้กับผลดีหรือผลร้ายก็ได้เช่นเดียวกับวิบาก แต่วิบากหมายถึงผลของกรรมที่เกิดขึ้นแก่กระแสสืบต่อแห่งชีวิตของผู้ทำกรรม นั้น (คือแก่ชีวิตสันตติ หรือแก่เบญจขันธ์) ส่วนนิสสันท์นี้ ใช้กับผลของกรรมก็ได้ ใช้กับผลของธรรม และเรื่องราวทั้งหลายได้ทั่วไป ถ้าใช้กับผลของกรรม นิสสันท์หมายถึงผลพ่วงพลอย ผลข้างเคียง หรือผลโดยอ้อม ซึ่งสืบเนื่องต่อออกไปจากวิบาก (คืออิฏฐารมณ์หรืออนิฏฐารมณ์ที่เกิดพ่วงมาข้างนอก อันจะก่อให้เกิดความสุข หรือความทุกข์) เช่นทำดีแล้ว เกิดผลดีต่อชีวิต เป็นวิบาก จากนั้นพลอยมีลาภมีความสะดวกสบายเกิดตามมา เป็นนิสสันท์ หรือทำกรรมชั่วแล้ว ชีวิตสืบต่อแปรเปลี่ยนไปในทางที่ไม่น่าปรารถนา เป็นวิบาก และเกิดความโศกเศร้าเสียใจ เป็นนิสสันท์ และนิสสันท์หมาย ถึงผลที่พลอยเกิดแก่คนอื่นด้วย เช่น บุคคลเสวยวิบากของกรรมชั่ว มีชีวิตไม่ดีแล้ว ครอบครัวญาติพี่น้องของเขาเกิดความเดือดร้อนเป็นอยู่ยากลำบาก เป็นนิสสันท์,

นิสสันท์ หมายถึงผลสืบเนื่องหรือผลพ่วงพลอยที่ดีหรือร้ายก็ได้ ต่างจากอานิสงส์ ซึ่งหมายถึงผลได้พิเศษในฝ่ายดีอย่างเดียว

อานิสงส์ ผลดีหรือผลที่น่าปรารถนา น่าพอใจ อันสืบเนื่องหรือพลอยได้ จากกรรมดี, ผลงอกเงยแห่งบุญกุศล, คุณ, ข้อดี, ผลที่เป็นกำไร, ผลได้พิเศษ

"อานิสงส์" มีความหมายต่างจาก "ผล" ที่เรียกชื่ออย่างอื่น โดยขอบเขตที่กว้างหรือแคบกว่ากัน หรือโดยตรงโดยอ้อม เช่น ทำกรรมดีโดยคิดต่อคนอื่นด้วยเมตตาแล้วเกิดผลดี คือ มีจิตใจแช่มชื่น สบาย ผ่อนคลาย เลือดลมเดินดี มีสุขภาพ ตลอดถึงว่าถ้าตายด้วยจิตอย่างนั้น ก็ไปเกิดดี นี้เป็นวิบาก พร้อมกันนั้นก็มีผลพ่วงอื่นๆ เช่น หน้าตาผ่องใส เป็นที่รักใคร่ชอบใจของคนอื่น อย่างนี้ เป็นอานิสงส์

แต่ถ้าทำกรรมไม่ดีโดยคิดต่อคนอื่นด้วยโทสะแล้ว เกิดผลร้ายต่อตนเองที่ตรงข้ามกับข้างต้น จนถึงไปเกิดในทุคติ ก็เป็นวิบาก และในฝ่ายร้ายนี้ไม่มีอานิสงส์ (วิบาก เป็นผลโดยตรง และเป็นได้ทั้งข้างดีและข้างร้าย ส่วนอานิสงส์ หมายถึงผลพ่วงพลอยหรืองอกเงยในด้านดีอย่างเดียว ถ้าเป็นผลพลอยด้านร้าย ก็อยู่ในคำว่านิสสันท์)

อนึ่ง วิบาก ใช้เฉพาะกับผลของกรรมเท่านั้น แต่อานิสงส์ หมายถึงคุณ ข้อดี หรือผลได้พิเศษในเรื่องราวทั่วไปด้วย เช่น อานิสงส์ของการบริโภคอาหาร อานิสงส์ของธรรมข้อนั้นๆ จีวรเป็นอานิสงส์ของกฐิน, โดยทั่วไป อานิสงส์มีความหมายตรงข้ามกับ อาทีนพ ซึ่งแปลว่า โทษ ข้อเสีย ข้อด้อย จุดอ่อน หรือผลร้าย เช่นในคำว่า กามาทีนพ (โทษของกาม) และเนกขัมมานิสงส์ (คุณหรือผลดีในเนกขัมมะ)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ต.ค. 2014, 07:11 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b16: ขออนุโมทนาค่ะ :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.พ. 2016, 20:24 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2876


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 9 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 101 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร