วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 00:32  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 11 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ก.ค. 2014, 02:33 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

วิปัสสนาภูมิ 6 ภาค

คำนำ
การที่จักได้แต่งหนังสือฉบับนี้ เนื่อง
ด้วยการฉลองโรงเรียนสุ่นวิทยานุกูล ด้วยคุณนายสุ่น
ทังสุภูติ อุบาสิกา บ้านตำบลคลองบางหลวง
โรงสีไฟไทเฮงเสง เป็น
ผู้มีศรัทธาสร้างโรงเรียนนักธรรมขึ้นที่วัดบรมนิวาสนี้ เท
ด้วยเฟโลคอนกรีตตลอดขึ้นไปถึงขื่อและเพดาน
เป็นโรงเรียน ๓ ชั้น โดยยาว ๑๒ วา โดยกว้าง ๖
วา ต่อมุขอีก ๒ วา ตรงมุขกว้าง ๘ วา
สำเร็จบริบูรณ์ด้วยทุนทรัพย์รายเดียว สิ้นทรัพย์
๓๕,๐๐๐ บาทเศษ ขนานนามว่าโรงเรียนสุ่นวิทยานุกูล
สำเร็จแต่ปลายศก ๒๔๖๗ ได้เปิดเล่าเรียน
กันมาตามลำดับ และได้สร้างโต๊ะเก้าอี้สำหรับโรงเรียน
๑๐๐ สำรับ สำรับละ ๑๒ บาท ส่วนที่
เป็นการบอกบุญ เพื่อผู้มีศรัทธาจะได้ช่วยกัน
เป็นการบำรุงสามัคคีร่วมการกุศลด้วยกัน ก็มี
ผู้รับมากบ้างน้อยบ้างตามกำลังทรัพย์กำลังศรัทธาของตน
มีนามจารึกไว้กับโต๊ะเก้าอี้เป็นสำคัญก็สำเร็จตาม
ความประสงค์ ครั้นมาถึงศก ๒๔๖๘
ได้เริ่มการฉลองสวดมนต์วันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ.
๒๔๖๘ ตรงกับวันจันทร์ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๑๑ วันที่
๒๒ ฉันเช้ามีเทศน์ปุจฉาวิสัชนา เวลาบ่ายเสร็จงาน
ทั้งมีฉลองกุฏิที่ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ กับศาลา ๒ หลัง
ในคราวเดียวกันนี้ด้วย การปฏิสังขรณ์กุฏิ คณะกุฏิ
คุณพะยอม บุนนาค อุบาสิกาเป็นหัวหน้า
บริจาคทุนทรัพย์ ๑๓,๐๐๐ บาทเศษ คุณแม่แข
อุบาสิกา ๑,๔๐๐ บาท คุณลม้าย กนิษฐานนท์
อุบาสิกา ๑,๖๐๐ บาท คุณนายลี้ อุบาสิกา ๗๐๐
บาท คุณเจิม อุบาสิกา ๗๐๐ บาท รวมเป็นเงิน
๑๗,๔๐๐ บาท ศาลาหน้าโรงธรรมสวนะ
คุณหญิงบรรหารภัตรกร (โนรี) บริจาคทรัพย์ ๑,๐๐๐
บาท สร้างศาลาริมสระ คุณอิ่ม อุบาสิกา
บริจาคทรัพย์ ๕๐๐ บาทสร้าง รวม ๒ ราย เป็นเงิน
๑,๕๐๐ บาท สำเร็จบริบูรณ์ เมื่อเริ่มการที่จักฉลองนี้
ได้ดำริว่า การที่ได้โรงเรียนและกุฏิศาลาขึ้นนี้
เป็นที่อิ่มใจมาก จะพิมพ์หนังสืออะไรดีให้
เป็นที่พอใจของตน ให้คุณนายสุ่นอุบาสิกาพิมพ์แจก
ในงานฉลองเป็นส่วนธรรมทานอีกแผนกหนึ่ง จึงตกลง
ในใจว่า ตัวของเราที่ได้รับความสำราญบานใจ
อยู่ทุกวันนี้ เพราะวิปัสสนากัมมัฏฐาน
แต่งวิปัสสนาภูมินี้แหละให้คุณนายสุ่นอุบาสิกา พิมพ์แจก
เป็นธรรมทาน เพื่อผู้อื่นได้อ่านได้ฟังเข้าใจแล้ว จะ
ได้รับความสำราญบานใจบ้าง คิดอย่างนี้จึงได้แต่งขึ้น
ขอท่านทั้งหลายผู้หวังต่อสัจธรรม จงตรวจในเวลาที่ว่าง
จากธุระ ค่อยตรึกค่อยตรองตามเพ่งชักเข้าสู่ตัว
อย่าเพ่งไปภายนอก ไม่ช้าก็จักรู้จักเห็นตัวสัจธรรม ตาม
ความเป็นจริงอย่างไรเป็นตัวอานิสงส์
เพราะมรรคผลนิพพาน เป็นตัววิชาไม่ใช่อวิชชา
ต่อนี้ขออัญเชิญคุณพระรัตนตรัย จงอุปถัมภ์อภิบาล
ให้ท่านผู้เป็นทานาธิบดีและพุทธบริษัทผู้ได้อ่านได้ฟัง
ไพบูลย์ไปด้วยสุภวิบุลยผลตามที่ตนต้องประสงค์
จงทุกประการเทอญ.


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ก.ค. 2014, 19:59 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


(หนังสือ) วิปัสสนาภูมิ
(เรียบเรียงเมื่อเป็นพระโพธิวงศาจารย์ พ.ศ. ๒๔๖๘)
..........บัดนี้ จักแสดงวิปัสสนาภูมิ
ตามนัยปาฐะที่สวดมนต์กันอยู่ตามวัดหรือสวดในราชการ
ท่านจัดไว้เป็น ๖ ภาค คือ ขันธ์ ๕ หนึ่ง อายตนะ ๑๒ หนึ่ง
ธาตุ ๑๘ หนึ่ง อินทรีย์ ๒๒ หนึ่ง อริยสัจ ๔ หนึ่ง
ปฏิจจสมุปบาท ๑๒ หนึ่ง
อันนี้นับว่าเป็นหัวใจของวิปัสสนา ถ้าศึกษาเข้าใจดีทั้ง ๖
ภาคนี้ เห็นว่าพอเป็นที่พึ่งได้
ภาค ๑
ปญฺจกฺขนฺธา : ขันธ์ ๕ ทั้งหลาย
..........รูปกฺขนฺโธ รูปขันธ์ ๑ เวทนากฺขนฺโธ เวทนาขันธ์
๑ สญฺญากฺขนฺโธ สัญญาขันธ์ ๑ สงฺขารกฺขนฺโธ
สังขารขันธ์ ๑ วิญฺญาณกฺขนฺโธ วิญญาณขันธ์ ๑
..........บัดนี้จักอธิบายคำที่ว่า “ปญฺจกฺขนฺธา” ขันธ์ทั้ง ๕
ทั้งหลาย แบ่งเป็น ๒ ศัพท์ดังนี้ ปญฺจศัพท์ ๑ แปลว่า ๕
ขนฺธศัพท์ ๑ แปลว่าก้อน, หมวด, กอง ... ผสม ๕ กับขันธ์
เข้ากันจึงเป็นขันธ์ ๕,
คำที่ว่าขันธ์นั้นหมายสกลกายอันนี้
เพราะสกลกายอันนี้มีก้อนเดียวหรือหมวดเดียว
หรือกองเดียวเท่านี้ ไม่มี ๕ ที่จัดขึ้นเป็น ๕ นั้น
เพราะอาการคือรูป ๑ เวทนา ๑ สัญญา ๑ สังขาร ๑
วิญญาณ ๑ อาการทั้ง ๕ นี้มีประจำอยู่ที่ขันธ์นี้ครบทั้ง ๕
เสมอ จึงต้องเรียกว่าขันธ์ ๕
อธิบายว่าขันธ์มีอาการ ๕ คือ ขันธ์อันเดียวนั่นแหละ
แต่มีอาการ ๕ อย่าง
ข้อที่ว่ารูปนั้น ท่านหมายดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศ ชื่อว่า รูป
ในสกลกายนี้มีครบทั้ง ๕ อย่าง ดินนั้นหมายสิ่งที่ข้นแข็ง
ดังผม ขนเป็นต้น น้ำนั้นหมาย
ถึงสิ่งที่เหลวที่อ่อนที่ซึมซาบ ดังน้ำเลือด น้ำลายเป็นต้น
ลมนั้นหมายสิ่งที่พัดขึ้นพัดลงอยู่ในกาย มีลมหายใจ
เป็นต้น ไฟนั้นหมายสิ่งที่อบอุ่นในกายอยู่เสมอ
ถ้ากำเริบทำให้ตัวร้อนจัดขึ้นเป็นต้น อากาศ
นั้นหมายช่องว่างในสกลกายที่ให้เลือดให้ลมเดินได้ ถ้า
ไม่มีอากาศในร่างกาย เลือดลมเดินไม่ได้ พึง
เข้าใจอย่างนี้ ๕ อย่างนี้ เป็นลักษณะอาการของรูป
ในขันธ์อันนี้เต็มไปด้วยอาการของรูปทั้ง ๕ บริบูรณ์ จึง
ได้ชื่อว่ารูปขันธ์,
ข้อที่ว่าเวทนานั้น ท่านหมายสุข ทุกข์ มัธยัสถ์ สุข
นั้นหมายความสบายกายสบายใจ ทุกข์นั้นหมาย
ความเจ็บกายไม่สบายจิต มัธยัสถ์นั้นเฉย ๆ ไม่ปรากฏสุข
หรือทุกข์ อาการของเวทนาทั้ง ๓ นี้ มีอยู่ในขันธ์นี้เสมอ
ไม่สุขก็ทุกข์ ไม่ทุกข์ก็มัธยัสถ์เท่านั้น เพราะเหตุ
นั้นขันธ์อันนี้จึงได้ชื่อว่าเวทนาขันธ์,
ข้อที่ว่าสัญญานั้น ท่านหมายความจำความหมาย
ได้แก่ชื่อต่าง ๆ ในสกลกายนี้ ดังศีรษะ มือ เท้า ดิน น้ำ ไฟ
ลม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นต้น
บรรดาชื่อเครื่องหมายรู้ในสกลกายนี้ทั้งสิ้น
เป็นลักษณะอาการแห่งสัญญา เพราะเหตุนั้นขันธ์อันนี้จึง
ได้ชื่อว่าสัญญาขันธ์,
ข้อที่ว่าสังขารนั้น ท่านหมายความคิดนึกปรุงแต่ง
บรรดาชื่อที่ปรากฏแก่สัญญาเต็มไปในสกลกายนี้ นับ
ในพวกสังขารทั้งสิ้น สัญญาเป็นแต่จำหมายเท่านั้น
แต่สังขารท่านจัดไว้หลายประเภท จัด
เป็นกายสังขารบ้าง วจีสังขารบ้าง มโนสังขารบ้าง
ดังลมหายใจเข้าออก ท่านจัดเป็นกายสังขาร
วิตกวิจารท่านจัดเป็นวจีสังขาร สัญญาเวทนาท่านจัด
เป็นมโนสังขาร ส่วนเจตสิกธรรมท่านจัดอีกแผนกหนึ่ง
ให้ชื่อว่าปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร
อเนญชาภิสังขาร ... ส่วนโสภณเจตสิก ๒๕ ดวง ท่าน
ให้ชื่อว่าปุญญาภิสังขาร, ส่วนอกุศลเจตสิก ๑๔ ดวง ท่าน
ให้ชื่อว่า อปุญญาภิสังขาร, ส่วนอัญญสมานาเจตสิก ๑๓
ดวง ท่านให้ชื่อว่าอเนญชาภิสังขาร ย่นเนื้อความลงให้สั้น
บรรดาสังขารเหล่านั้นทั้งสิ้น มีอยู่ที่สกลกายอันนี้
เพราะเหตุนั้นขันธ์อันนี้จึงได้ชื่อว่าสังขารขันธ์,
ข้อที่ว่าวิญญาณนั้น ท่านหมายความรู้ตามเวทนา สัญญา
สังขารนั้น ชื่อว่าวิญญาณ ดังตัวอย่างจักขุวิญญาณ
โสตวิญญาณเป็นต้น คือความรู้ย่อมมีประจำเต็มไป
ทั่วสกลกายอยู่เสมอ เพราะเหตุนั้นขันธ์อันนี้จึง
ได้ชื่อว่าวิญญาณขันธ์
ต่อนี้ จักอธิบายเบญจขันธ์พอเป็นทางวิปัสสนา
เมื่อเรียนเบญจขันธ์รู้ดีแล้วชื่อว่าเรียนผูก
ส่วนวิปัสสนานี้เรียนแก้ คือเราเรียนเบญจขันธ์เข้า
ไว้เต็มตัวแล้ว กลายเป็นอุปธิกิเลสเสียแล้ว ท่าน
จึงเรียกว่าอุปาทานขันธ์
ให้พิจารณาพรากสังขตธรรมออกเสีย
ให้เหลือแต่วิสังขตธรรม ส่วนใดเป็นสมมติ ส่วนนั้น
เป็นสังขตธรรม ส่วนใดที่เป็นเองพ้นสมมติ ส่วนนั้น
เป็นวิสังขตธรรม เบญจขันธ์คือ รูป เวทนา สัญญา
สังขาร วิญญาณ ที่ตัวสมมติเป็นสัญญานามธรรม
เป็นอนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เป็นสภาวะ เป็นธรรมฐีติ
ธรรมนิยาม ชั้นสังขารธรรมให้เพิกออกเสีย
ส่วนรับสมมติว่ารูป ว่าเวทนา ว่าสัญญา ว่าสังขาร
ว่าวิญญาณ นั้นเป็นวิสังขาร เป็นของจริงยืนตัวอยู่ อย่า
เข้าใจว่า วิสังขารเป็นนิพพาน เป็นสภาวะ เป็นธรรมฐีติ
ธรรมนิยาม ชั้นวิสังขารธรรมเท่านั้น
เมื่อแยกสังขารและวิสังขารได้แล้ว
จะมีประโยชน์คุณอย่างไร ? ข้อนี้พึงเข้าใจว่า
คุณหาที่สุดมิได้ คือพ้นทิฏฐิวิปลาส ๒๐ ประการ ที่จัดว่า
เป็นอัตตานุทิฏฐิ จะยกเรื่องจูฬเวทัลลสูตรมาแสดงแต่
โดยย่อ ให้เห็นประโยชน์คุณในการรู้เท่าเบญจขันธ์
พระนางธรรมทินนาเถรีได้แสดงแก่วิสาขอุบาสก
ท่านชี้เบญจขันธ์ว่าเป็นสักกายสมุทัย
คือเห็นว่าเบญจขันธ์เป็นตัว หรือเห็นว่าตัวเป็นเบญจขันธ์
หรือเห็นว่าเบญจขันธ์อยู่ในตัว หรือเห็นว่าตัวอยู่
ในเบญจขันธ์ เป็นทิฏฐิวิปลาส ๒๐ ประการ
เป็นตัวอัตตานุทิฏฐิ เป็นสักกายสมุทัย ส่วนสักกายนิโรธ
นั้น ท่านหมายเบญจขันธ์ดับ เพราะเบญจขันธ์
เป็นแต่เพียงสังขตธรรมเท่านั้น
เมื่อเห็นอสังขตธรรมชัดขึ้นแล้ว สังขตธรรมก็ดับไปเอง
คือทิฏฐิ ๒๐ นั่นแลดับไป ชื่อว่าเป็นผู้ละสักกายทิฏฐิได้
ส่วนวิจิกิจฉานั้น หมายความสิ้นสงสัย
ในอดีตอนาคตปัจจุบัน คือรู้เท่าเบญจขันธ์
เห็นชัดว่าเบญจขันธ์เป็นสัญญาอดีตไม่มีจริง
ส่วนอนาคตก็เป็นของยังไม่มาถึง ก็เป็นอันไม่มีจริง ที่มีที่
เป็นอนาคตนั้นก็คือสัญญาอดีตนั่นเอง ชื่อว่าเป็น
ผู้สิ้นสงสัยทั้งใน ๓ กาล ชื่อว่าเป็นผู้ละวิจิกิจฉาได้
ส่วนสีลัพพตปรามาสนั้น หมายความว่าเป็นผู้สิ้นสงสัย
ในศีลและวัตร ไม่ต้องลูบคลำว่าอะไรหนอ ๆ
คือเชื่อต่อไตรสิกขาที่ตนได้ประพฤติมาแล้ว ให้สำเร็จ
เป็นผลขึ้นอย่างนี้ คำที่ว่าวัตรนั้นก็คือความประพฤติ
ความทำของตน ให้เป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญาขึ้นนั่นเอง
เชื่อศีลและวัตรในตนของตนเอง ไม่ต้องเชื่อต่อศีล
และวัตรภายนอกตนออกไป ก็เป็นอันสิ้นสงสัย
ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ชื่อว่าเป็น
ผู้ละสีลัพพตปรามาสได้
ผู้ชักลูกศรคือความกังวลทั้ง ๓ ประการนี้ออกจากใจเสีย
ได้แล้ว ชื่อว่าเป็นผู้ตกกระแสโลกุตรธรรม
เป็นสุปฏิปันโนบุคคล
การแสดงมานี้เป็นทางวิปัสสนาลักษณะ พอ
เป็นทางดำเนินของท่านผู้มุ่งหวังต่อสัจธรรมเท่านั้น
ผู้มุ่งหวังต่อสัจธรรมอย่ามีความประมาท จะเห็นตาม
ได้เพียงที่แสดงมานี้ ก็ไม่ใช่เป็นของง่าย ถ้าศีล สมาธิ
ปัญญาไม่บริบูรณ์ จักเห็นไม่ได้เลย.
...........................


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ก.ค. 2014, 20:03 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ภาค ๒
ทฺวาทสายตนานิ : อายตนะ ๑๒ ทั้งหลาย
จกฺขุวายตนํ.............อายตนะคือ........จักษุ ๑
รูปายตนํ.................อายตนะคือ.........รูป ๑
โสตายตนํ...............อายตนะคือ........โสตะ ๑
สทฺทายตนํ..............อายตนะคือ........เสียง ๑
ฆานายตนํ...............อายตนะคือ........ฆานะ จมูก ๑
คนฺธายตนํ...............อายตนะคือ........คันธะ กลิ่น ๑
ชิวฺหายตนํ...............อายตนะคือ.........ลิ้น ๑
รสายตนํ.................อายตนะคือ.........รส ๑
กายายตนํ...............อายตนะคือ.........กาย ๑
โผฏฺฐพฺพายตนํ......อายตนะคือ.........วัตถุที่ถูก
ต้องกาย ๑
มนายตนํ...............อายตนะคือ.........ใจ ๑
ธมฺมายตนํ.............อายตนะคือ..........ธรรมารมณ์ ๑
..........อายตนะท่านแปลว่าที่ต่อบ้าง แปลว่าบ่อเกิดบ้าง
แบ่งเป็นภายใน ๖ คือ จักษุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย มนะ
ภายนอก ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสกาย
ธรรมารมณ์ ถ้าวัตถุภายในคือตา
กับวัตถุภายนอกคือรูปต่อกันเข้าเมื่อใด
ก็เรียกว่าอายตนะเมื่อนั้น เพราะ
เป็นบ่อเกิดแห่งผัสสะวิญญาณ เกิดเวทนาตัณหาอุปาทาน
เกิดรัก เกิดชัง เกิดดี เกิดชั่ว ลามปามไปเต็มโลก ท่านจึง
ให้ชื่อว่าอายตนะ จักษุกับรูป โสตะกับเสียง ฆานะกับกลิ่น
ชิวหากับรส กายกับวัตถุสัมผัส มนะกับธรรมารมณ์ ต่อ
กันเข้าก็เป็นอายตนะแต่ละอย่าง ๆ ให้เกิดอารมณ์ขึ้น
ได้ตามหน้าที่ของตน ๆ ถ้าไม่ต่อกันเข้า ก็เรียกว่า ตา หู
จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
ธรรมารมณ์เฉยๆ ไม่เรียกว่าอายตนะ
อายตนะทั้ง ๖ ที่มีอยู่ในตนของเรานี้
ในคัมภีร์อภิธรรมท่านให้ชื่อว่าวัตถุ ๖ ก็ได้ความดี
คำที่ว่าวัตถุก็คือเป็นของสำหรับใช้นั่นเอง คือตาสำหรับ
ใช้ให้ดูรูป หูสำหรับใช้ให้ฟังเสียงจมูกสำหรับใช้ให้รู้กลิ่น
ลิ้นสำหรับใช้ให้รู้รส กายสำหรับใช้ให้รู้โผฏฐัพพะ คือ
วัตถุที่มาถูกต้องกับกาย ใจสำหรับใช้ให้รู้ธรรมารมณ์
คืออารมณ์ที่เป็นอดีตและปัจจุบัน
..........อายตนะภายในเป็นวัตถุสำหรับบริหารสกลกาย
ถ้าวิการแต่อย่างเดียวก็หาความสุขไม่ได้ คือถ้าตามืดมัว
หูตึงหนวก จมูกไม่รู้กลิ่น ลิ้นไม่รู้รส กายไม่รู้สัมผัส
ใจคลุ้มคลั่ง เสียแต่อย่างเดียว ก็ขาดความสุขในโลก
ส่วนอายตนะภายนอกนั้นไม่สู้เป็นปัญหา เขามีอยู่อย่าง
นั้นเต็มโลก ไม่มีที่สิ้นสุด ทางวิปัสสนาท่าน
ให้รักษาแต่ภายใน เรียกว่าอินทรียสังวร คือให้ดู
ให้รู้ปกติของใจ
ถ้าใจอย่างเดียวไม่มีเครื่องคู่ จะเป็นอย่างไรก็เฉยๆ อยู่
เท่านั้น ส่วนตาถ้าไม่มีรูปมากระทบก็เฉย ส่วนหูถ้า
ไม่มีเสียงมากระทบก็เฉย ส่วนจมูกถ้า
ไม่มีกลิ่นมากระทบก็เฉย ส่วนลิ้นถ้า
ไม่มีรสมากระทบก็เฉย ส่วนกายถ้าไม่มีวัตถุมาถูก
ต้องก็เฉย อาการที่เฉยอยู่ตามธรรมดาของเขา
นั้นแลชื่อว่าปกติ ถึงอายตนะภายนอก ธรรมดาของเขาก็
เป็นปกติอยู่อย่างนั้นเอง ที่จะเสียปกติก็เพราะการผสม
คือใจละปกติของตนเสีย ส่ายออกไปทางตาดูรูป
ส่ายออกไปทางหูฟังเสียง ส่ายออกไปทางจมูกดมกลิ่น
ส่ายออกไปทางลิ้นลิ้มรส ส่ายออกไปทางกายเพ่งสัมผัส
ทีนี้ต่างสิ่งก็ต่างเสียปกติไปหมด ใจเสียปกติอันเดียว ก็พา
กันเสียไปตามกันหมด
ชั้นแต่อายตนะภายนอกก็พลอยเสียไปตามกันด้วย
ทางวิปัสสนาให้ดูปกติของใจและปกติของวัตถุภาย
ในภายนอกเท่านั้น ให้มีทั้งรู้ให้มีทั้งเห็น จึง
เป็นตัวญาณทัสสนะ เมื่อรู้เมื่อเห็นแล้ว ให้รู้ทุกข์ ที่วัตถุ
เป็นปกตินั้น ให้รู้สมุทัย ที่ไม่รู้วัตถุทั้งหลายเป็นปกตินั้น
ให้รู้นิโรธ ที่ความไม่รู้ปกติของวัตถุนั้น ๆ ดับไปนั้น
ให้รู้มรรค ที่รู้ทุกข์ รู้สมุทัย รู้นิโรธนั้น ให้ตรง
กับนิเทศแห่งสัมมาทิฏฐิที่ว่า ทุกฺเข ญาณํ ทุกฺขสมุทเย
ญาณํ ทุกฺขนิโรเธ ญาณํ ทุกฺขนิโรธคามินีปฏิปทาย ญาณํ
อยํ วุจฺจติ สมฺมาทิฏฺฐิ ดังนี้.
........................


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ก.ค. 2014, 20:08 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ภาค ๓
แสดงธาตุ ๑๘
อฏฺฐารส ธาตุโย : ธาตุทั้งหลาย ๑๘
จกฺขุธาตุ จักษุธาตุ ๑ รูปธาตุ รูปธาตุ ๑ จกฺขุวิญฺญาณธาตุ
จักษุวิญญาณธาตุ ๑
โสตธาตุ โสตธาตุ ๑ สทฺทธาตุ สัททธาตุ ๑
โสตวิญฺญาณธาตุ โสตวิญญาณธาตุ ๑
ฆานธาตุ ฆานธาตุ ๑ คนฺธธาตุ คันธธาตุ ๑
ฆานวิญฺญาณธาตุ ฆานวิญญาณธาตุ ๑
ชิวฺหาธาตุ ชิวหาธาตุ ๑ รสธาตุ รสธาตุ ๑
ชิวฺหาวิญฺญาณธาตุ ชิวหาวิญญาณธาตุ ๑
กายธาตุ กายธาตุ ๑ โผฏฺฐพฺพธาตุ โผฏฐัพพธาตุ ๑
กายวิญฺญาณธาตุ กายวิญญาณธาตุ ๑
มโนธาตุ มโนธาตุ ๑ ธมฺมธาตุ ธรรมธาตุ ๑
มโนวิญฺญาณธาตุ มโนวิญญาณธาตุ ๑
การที่ท่านแสดงธาตุ ๑๘ ในที่นี้ เข้าใจว่าท่าน
จะขยายอายตนะ ๑๒ ให้กว้างออกไป สำหรับจะให้
เข้าใจง่าย เพราะอายตนะ ๑๒ ประการนี้เอง
เป็นของสำคัญในทางวิปัสสนา คือเป็นศีลด้วย เป็นสมาธิ
ด้วย เป็นปัญญาด้วย
คำที่ว่าธาตุนั้นเป็นแต่สัญญานามธรรมเท่านั้น จะ
ได้มีเนื้อมีหนังหามิได้ เป็นแต่ชื่อเปล่า ๆ ว่าธาตุ
เอาจักขุมาใส่เข้าก็เรียกตามของใส่เข้าว่าธาตุตา ธาตุรูป
ธาตุวิญญาณตา ธาตุหู ธาตุเสียง ธาตุวิญญาณหู
ธาตุจมูก ธาตุกลิ่น ธาตุวิญญาณจมูก ธาตุลิ้น ธาตุรส
ธาตุวิญญาณลิ้น ธาตุกาย ธาตุเครื่องสัมผัสกาย
ธาตุวิญญาณกาย ธาตุใจ ธาตุธรรมารมณ์
ธาตุวิญญาณใจ เรียกไปตามของใส่ของปรากฏ
เพราะเหตุนั้น คำว่าธาตุจึงไม่มีที่สิ้นสุด ดังที่เราเข้าใจ
กันว่าธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุลม ธาตุไฟ ธาตุอากาศ
ธาตุวิญญาณ ธาตุเงิน ธาตุทอง ธาตุเปรี้ยว ธาตุหวาน
เป็นต้น ตั้ง ๘๔,๐๐๐ ธาตุ เพราะเหตุนั้น จึงสม
กับพุทธภาษิตข้อหนึ่งซึ่งมีความว่า “ธาตุโย สุญฺญโต
ปสฺส” ท่านจงเห็นธาตุทั้งหลาย โดยความ
เป็นของสูญเถิด ดังนี้ ถ้าหมายความตามพุทธภาษิตนี้
ต้องว่าตัวธาตุไม่มี มีอยู่แต่ชื่อเท่านั้น
การแสดงอายตนะ กล่าวแต่ตากับรูป หูกับเสียง จมูก
กับกลิ่น ลิ้นกับรส กายกับเครื่องสัมผัส ใจกับธรรมารมณ์
ครั้นมาถึงวาระแห่งธาตุจึงเพิ่มวิญญาณขึ้นอีกให้เป็น ๓
พึงเห็นความในคำที่ว่า บ่อเกิดคือเกิดวิญญาณขึ้น
อาศัยวิญญาณกับสัมผัสผสมกันเข้าก็เกิดเวทนา ตัณหา
อุปาทาน ต่อ ๆ ไป
การที่ให้พิจารณาโดยฐานะเป็นธาตุนั้น ก็มีความประสงค์
จะให้ค้นหาเหตุหาผล ตามหลักที่ว่า “เย ธมฺมา
เหตุปฺปภวา” ธรรมทั้งหลายมีเหตุเป็นแดนเกิด คือ
เกิดแต่เหตุ ถ้าจะให้ผลดับ ต้องให้รู้เหตุ ให้ดับที่เหตุ
อายตนะ ๑๒ ก็เป็นตัวเหตุ ธาตุ ๑๘ ก็เป็นตัวเหตุ
ส่วนเวทนา ตัณหา อุปาทาน ตัวผล ถ้าจะให้ดับ
ต้องไปดับที่เหตุ แสดงธาตุ ๑๘ พอได้ใจความไว้เพียง
เท่านี้.
ต่อนี้นิทานมาจากมโนสารนิเทศ
..........พูดแต่เรื่องธาตุ ๆ ขันธ์ ๆ เบื่อหูเบื่อตาเต็มทนแล้ว
ถ้าอย่างนั้นจะเล่านิทานสู่
กันฟังสักเรื่องหนึ่งเพื่อแก้รำคาญ
กิร ดังได้สดับมา อิมสฺมึ ปจฺจุปฺปนฺนสมเย ในสมัยอัน
เป็นปัจจุบันกาลอันนี้ เอโก จกฺกวตฺติราชา
ยังมีพระเจ้าจักรพัตราธิราชพระองค์หนึ่ง มโนจิตฺตราชา
นาม ทรงพระนามว่าพระเจ้ามโนเจตตราช พระองค์
เป็นพระราชาที่น่าอัศจรรย์ เป็นบุรุษก็ได้เป็นสตรีก็ได้
อิมสฺมึ กายนคเร รชฺชํ กาเรนฺเต เสวยราชสมบัติอยู่
ในกายนครอันนี้ ซึ่งเป็นพระนครอันสมบูรณ์ไป
ด้วยมนุษยสมบัติและเทวสมบัติสารพัดแล้วแต่
จะเลือกสรร
ส่วนพระเจ้ามโนเจตตราชนั้น มีจักรรัตนะสำหรับพระองค์
๗ ประการ คือจักรแก้ว สำหรับนำเสด็จไปสู่ทิศานุทิศ
ได้ตามพระราชประสงค์ กล่าวคืออิริยาบถทั้ง ๔ หนึ่ง
มีช้างแก้วม้าแก้วคู่หนึ่งสำหรับเป็นพาหนะนำเสด็จไป
ได้ตามพระราชประสงค์ กล่าวคือเท้าทั้งสองหนึ่ง
และมีขุนพลแก้วคู่หนึ่ง สำหรับรู้ข่าวคราวข้าศึกทาง
ใกล้ทางไกลมีกำลังน้อยหรือมีกำลังมาก กล่าวคือหู
ทั้งสองหนึ่ง และมีรัตนมณีคู่หนึ่ง สำหรับส่องที่มืด
ให้สว่าง กล่าวคือจักษุทั้งสองหนึ่ง
และมีปริณายกแก้วคนหนึ่ง
สำหรับว่าราชการแผ่นดินแทนพระองค์
กล่าวคือมุขทวารหนึ่ง และมีนางแก้วอันอุดม
ด้วยรูปสมบัติมาแต่อุดรกุรุทวีป
ทรงพระนามว่านางสกลกายาราชเทวี บำรุงพระราชสามี
ให้เป็นที่พอพระราชหฤทัยทุกประการหนึ่ง
ส่วนพระเจ้ามโนเจตตราชนั้น ทรงสถิตสำราญอยู่
ในมโนวิมานตลอดกาลเป็นนิตย์ ส่วนนี้เป็นมนุษยสมบัติ
ยังได้เสวยเทวสมบัติอีก คือมีนางอัปสรเทพกัลยามา
จากฉกามาพจรสวรรค์ชั้นละนาง นางที่เป็นประถม
เป็นพระมเหสีเอก มาจากชั้นปรนิมมิตวสวัตดี
ทรงพระนามว่านางมโนธรรมารมณ์ราชเทวี สถิตอยู่
ในมโนวิมานร่วมกับพระเจ้ามโนเจตตราช
คอยบำเรอพระราชสามีด้วยเบญจกามารมณ์ตลอด
ทั้งกลางวันและกลางคืนมิได้ขาด
อีก ๕ นางให้อยู่ภายนอก คือให้อยู่ปราสาทองค์ละหลัง
นางที่ ๒ มาจากชั้นนิมมานรดี
ทรงพระนามว่ากายสัมผัสสาราชเทวี ให้สถิตอยู่
ในกายปราสาท นางที่ ๓ มาจากชั้นดุสิตเทวสถาน
ทรงพระนามว่านางชิวหารสาราชเทวี ให้สถิตอยู่
ในชิวหาปราสาท นางที่ ๔ มาจากชั้นยามา
ทรงพระนามว่าฆานคันธาราชเทวี ให้สถิตอยู่
ในฆานปราสาท นางที่ ๕ มาจากชั้นดาวดึงสเทวโลก
ทรงพระนามว่านางโสตสัททาราชเทวี ให้สถิตอยู่
ในโสตปราสาท นางที่ ๖ มาจากชั้นจาตุมมหาราชิกา
ทรงพระนามว่านางจักขุรูปาราชเทวี ให้สถิตอยู่
ในจักขุปราสาท
..........
ส่วนพระบาทสมเด็จพระเจ้ามโนเจตตราชบรมจักรพัตราธิราช
ผู้ครองพระนคร ทรงเสวยมนุษยสมบัติ
และเทวกามารมณ์ทั้ง ๖ ชั้น ทรงลุ่มหลงอยู่กับ
ด้วยนางมโนธรรมารมณ์ราชเทวีเป็นอย่างมาก ถ้าอยาก
จะชมเชยโผฏฐัพพารมณ์
ก็เสด็จออกไปสู่ปราสาทนางกายสัมผัสสาราชเทวี
ชมเชยตามพระราชประสงค์ อยากจะเสวยรสารมณ์
ก็เสด็จออกไปปราสาทนางชิวหารสาราชเทวี
ทรงเสวยตามพระราชอัธยาศัย อยากจะทรงคันธารมณ์
ก็เสด็จออกไปปราสาทนางฆานคันธาราชเทวี
ทรงชมเชยกลิ่นต่าง ๆ ตามพระราชประสงค์ อยาก
จะทรงสดับสัททารมณ์ก็เสด็จออกไปปราสาทนางโสตสัททาราชเทวี
ทรงสดับศัพทสำเนียงเสียงต่าง ๆ ตามพระราชประสงค์
อยากจะเชยชมรูปารมณ์
ก็เสด็จออกไปปราสาทนางจักขุรูปาราชเทวี
ทรงชมเชยสรรพรูปต่างๆ ตามพระราชอัธยาศัย
คือนางเทพกัลยาทั้ง ๕ องค์นั้น
ครั้นสมเด็จพระราชสามีเสด็จมายังปราสาทของตน
ก็ตั้งพระทัยบำเรอบำรุง
ให้เต็มตามพระราชประสงค์ตามหน้าที่ของตน
สมเด็จพระเจ้ามโนเจตตราช ทรงเพลิดเพลินลุ่มหลงอยู่
ด้วยมนุษยสมบัติสวรรค์สมบัติเห็นปานนั้น ก็สมควรอยู่
แล้วที่จักประมาทเป็นธรรมดา เพราะเหตุนั้น
พระเจ้ามโนเจตตราช มิ
ได้ทรงเหลียวแลราชกรณียกิจน้อยใหญ่ ตลอด
ถึงการปกครองพระนคร จึงเป็นโอกาสแก่ราชศัตรู
คือเจ้าพญามฤตยุราช ในที่สุดก็เสียพระนคร
และทรัพย์สมบัติทั้งสิ้นแก่เจ้าพญามฤตยุราช
ถ้าพระเจ้ามโนเจตตราชมิได้เพลิดเพลินเหลือเกิน มิ
ได้เมาเหลือเกิน มิได้ประมาทเหลือเกิน
เมื่อทรงเห็นกำลังของตนว่าคงจะสู้เจ้าพญามฤตยุราช
ไม่ไหว ก็คงจะรวบรวมทรัพย์สมบัติสรรพวัตถุทั้งปวงเสีย
ในที่อันใคร ๆ ไม่สามารถจะนำไปได้ ทิ้งแต่เปลือกเมือง
ไว้แก่เจ้าพญามฤตยุราช จะเป็นการอันสมควรยิ่งนัก
เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้.


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ก.ค. 2014, 20:21 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อนุฎีกา
..........นางมโนธรรมารมณ์ราชเทวี ซึ่งมา
จากชั้นปรนิมมิตวสวัตดี เป็นนางสำคัญนัก
พระโบราณาจารย์ผู้รจนาคัมภีร์พุทธประวัติอย่างเก่า
ในกัณฑ์มารวิชัยได้แสดงไว้ว่า
ในวันที่พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราจะ
ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ในตอนบ่ายวัน
นั้น พญามาราธิราชทรงเห็นว่าพระมหาบุรุษราชเจ้าจักพ้น
จากอำนาจของตนเสียแล้ว จึงใช้ให้พระราชธิดาทั้ง ๓
คือ นางราคา นางตัณหา นางอรดี มา
จากชั้นปรนิมมิตวสวัตดี
ให้มาเล้าโลมพระมหาบุรุษราชเจ้าด้วยทิพยกามารมณ์
แต่หาสมประสงค์ไม่
พระเจ้ามาราธิราชทรงพระพิโรธนัก จึง
ได้ยกพลนิกายลงมาจากชั้นฟ้า
อันมีนามว่าปรนิมมิตวสวัตดี มากระทำยุทธสงคราม
กับพระมหาบุรุษราชเจ้า แต่ก็ถึงอปราชัยไปเอง
ผู้ฟังควรจะเฉลียวใจว่า เอ๊! ชั้นปรนิมมิตวสวัตดีนั้น
ชะรอยจะเป็นชั้นใจนี้ดอกกระมัง ?
ความจริงพระก็อยู่ชั้นนี้ มารก็อยู่ชั้นนี้ จึงเห็นความว่า
ชั้นปรนิมมิตวสวัตดีนี้เป็นเทวโลกขั้นสูง สำคัญกว่าชั้นอื่น
ๆ เพราะในชั้นนี้สมบัติทั้งปวงผู้อื่นนฤมิตให้ทั้งสิ้น
ใครเป็นผู้นฤมิตให้ ? พึงเข้าใจว่า
ธรรมดาของใจรู้เห็นอะไรไม่ได้ ต้องอาศัยตา หู จมูก ลิ้น
กาย เป็นผู้นฤมิตให้ ใจเป็นผู้เสวย สุขทุกข์อยู่ที่ใจ
ถ้าผู้ฟังเข้าใจได้ว่า ตัวของเราเต็มไปด้วยมนุษยสมบัติ
สวรรค์สมบัติ ที่ให้เราติดให้เราเพลินอยู่ตลอดกาล
เป็นนิตย์ กีดขวางต่อสัมมาปฏิบัติอย่างสำคัญ ถ้ารู้
แล้วบางทีจะมีทางแก้ได้ ถึงหากว่าแก้ยังไม่ได้
ก็คงมีทางหวัง คงดีกว่าผู้ไม่รู้แน่นอน
ในที่สุดเมื่อเห็นพระนครของตนจะเสียแก่พญามัจจุราช
ก็คงเก็บรวบรวมทรัพย์สมบัติฝังเสีย ทิ้งเปลือกเมือง
ไว้แก่พญามัจจุราชเท่านั้น
เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้.
..........................


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ก.ค. 2014, 20:48 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ภาค ๔
อินทรีย์ ๒๒
พาวีสตินฺทฺริยานิ : อินทรีย์ทั้งหลาย ๒๒
จกฺขุนฺทฺริยํ อินทรีย์จักษุ ๑ โสตินฺทฺริยํ อินทรีย์โสต ๑
ฆานินฺทฺริยํ อินทรีย์ฆานะ ๑ ชิวฺหินฺทฺริยํ อินทรีย์ชิวหา ๑
กายินฺทฺริยํ อินทรีย์กาย ๑ มนินฺทฺริยํ อนิทรีย์มนะ ๑
อิตฺถินฺทฺริยํ อินทรีย์หญิง ๑ ปุริสินฺทฺริยํ อินทรีย์บุรุษ ๑
ชีวิตินฺทฺริยํ อินทรีย์ชีวิต ๑ สุขินฺทฺริยํ อินทรีย์สุข ๑
ทุกฺขินฺทฺริยํ อินทรีย์ทุกข์ ๑ โสมนสฺสินฺทฺริยํ
อินทรีย์โสมนัส ๑ โทมนสฺสินฺทฺริยํ อินทรีย์โทมนัส ๑
อุเปกฺขินฺทฺริยํ อินทรีย์มัธยัสถ์ ๑ สทฺธินฺทฺริยํ
อินทรีย์ศรัทธา ๑ วิริยินฺทฺริยํ อินทรีย์ความเพียร ๑
สตินฺทฺริยํ อินทรีย์สติ ๑ สมาธินฺทฺริยํ อินทรีย์สมาธิ ๑
ปญฺญินฺทฺริยํ อินทรีย์ปัญญา ๑ อนญฺญตญฺญสฺสามีตินฺทฺริยํ
อินทรีย์พระโสดามรรค ๑ อญฺญินฺทฺริยํ
อินทรีย์พระโสดาผล สกิทาคามรรค สกิทาคาผล
อนาคามรรค อนาคาผล อรหัตมรรค ๑ อญฺญาตาวินฺทฺริยํ
อินทรีย์พระอรหัตผล ๑
..........คำที่ว่าอินทรีย์นี้ อธิบายให้เข้าใจยากเพราะ
เป็นอัพยากตธรรม คืออินทรีย์ ๒๒ นี้ ต้องเข้าใจว่า
เป็นของมีอยู่แล้วในสกลกายของเรา เพราะเรา
ได้สร้างสมมาแล้วแต่อเนกชาติ แก่บ้างอ่อนบ้าง
ตามแต่อุปนิสัยของตน จะเห็นได้ต่อเมื่อ
ได้อารมณ์เครื่องคู่มาล่อให้ตรงกับอินทรีย์นั้น ๆ อินทรีย์
นั้น ๆ ก็ยื่นออกมารับแสดงตัวให้ปรากฏขึ้น
คำที่ว่าอินทรีย์ หมายความว่าเป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน ๆ
เหมือนจักขุนทรีย์ เป็นใหญ่ในการดู ต้องมีรูปมาล่อ,
โสตินทรีย์ เป็นใหญ่ในการฟังเสียง ต้องมีเสียงมาล่อ,
ฆานินทรีย์ เป็นใหญ่ในการดมกลิ่น ต้องมีกลิ่นมาล่อ,
ชิวหินทรีย์ เป็นใหญ่ในการลิ้มรส ต้องมีรสมาล่อ,
กายินทรีย์ เป็นใหญ่ในกายสัมผัส
ต้องมีเครื่องสัมผัสมาล่อ,
มนินทรีย์ เป็นใหญ่ในการรู้ธรรมารมณ์
ต้องมีธรรมารมณ์มาล่อ,
อิตถินทรีย์ ในตัวผู้หญิง ต้องมีทั้งหญิงทั้งบุรุษอยู่ด้วยกัน
เป็นใหญ่ในกิจหญิง กิจบุรุษ ถ้ากิจการงานของหญิงมาล่อ
อินทรีย์หญิงก็ออกรับ ถ้ากิจการงานของบุรุษมาล่อ
อินทรีย์บุรุษ ก็ออกรับ,
ปุริสินทรีย์ ในตัวบุรุษ ต้องมีทั้งบุรุษทั้งหญิงเหมือนกัน
เป็นใหญ่ทั้งในกิจบุรุษกิจหญิง
ถ้ากิจการงานของบุรุษมาล่อ ปุริสินทรีย์ก็ออกรับ
ถ้ากิจการงานของหญิงมาล่อ อิตถินทรีย์ก็ออกรับ,
ชีวิตินทรีย์ เป็นใหญ่ในความสดชื่นเป็นอยู่
ต้องอาศัยอาหารเป็นเครื่องล่อ,
สุขินทรีย์ เป็นใหญ่ในความสุข ต้องมีอิฏฐารมณ์
เป็นเครื่องล่อ,
ทุกขินทรีย์ เป็นใหญ่ในทุกข์ ต้องมีอนิฏฐารมณ์
เป็นเครื่องล่อ,
โสมนัสสินทรีย์ เป็นใหญ่ในโสมนัส ต้องมีอิฏฐารมณ์
เป็นเครื่องล่อ,
โทมนัสสินทรีย์ เป็นใหญ่ในโทมนัส ต้องมีอนิฏฐารมณ์
เป็นเครื่องล่อ,
อุเปกขินทรีย์ เป็นใหญ่ในการมัธยัสถ์
ต้องมีมัชฌัตตารมณ์เป็นเครื่องล่อ,
สัทธินทรีย์ เป็นใหญ่ในความเชื่อ
ต้องมีอารมณ์ควรเชื่อมาล่อ,
วิริยินทรีย์ เป็นใหญ่ในความเพียร ต้องอาศัยสัทธินทรีย์
วิริยินทรีย์จึงกล้าหาญในกิจการงานนั้น ๆ ได้,
สตินทรีย์ เป็นใหญ่ในสติ ต้องอาศัยศรัทธา วิริยะ
ช่วยอุดหนุนด้วย,
สมาธินทรีย์ เป็นใหญ่ในสมาธิ ต้องอาศัย ศรัทธา วิริยะ
สติ ช่วยอุดหนุนด้วย,
ปัญญินทรีย์ เป็นใหญ่ในปัญญา ต้องอาศัยศรัทธา วิริยะ
สติ สมาธิ ช่วยอุดหนุนด้วย,
อนัญญตัญญัสสามีตินทรีย์ เป็นใหญ่ในโสดาปัตติมรรค
ต้องอาศัยศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญาเป็นเครื่องล่อ,
อัญญินทรีย์ เป็นใหญ่ในโสดาผล ถึงอรหัตมรรค ก็
ต้องอาศัยศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา
เป็นเครื่องชักนำเหมือนกัน,
ถึงอัญญาตาวินทรีย์ เป็นใหญ่ในอรหัตผล ก็
ต้องอาศัยพละ ๕ อินทรีย์ ๕ เหมือนกันจึงเกิดขึ้นได้
คำที่ว่าอินทรีย์นั้นก็เป็นแต่สัญญานามธรรมเหมือนกัน
กับธาตุ ถ้าจะชี้หน้าตาจริงจัง อินทรีย์ก็สูญไปเท่านั้น ถ้า
จะถือเอาอาการที่เป็นใหญ่ในหน้าที่อันหนึ่ง ๆ
เรียกว่าอินทรีย์ ตามนัยอินทรีย์ ๒๒ นี้ อินทรีย์ก็
ไม่มีที่สิ้นสุดเหมือนกันกับธาตุ เหมือนอย่างความโลภ
ความโกรธ ความหลง ความรัก ความชัง อิสสา พยาบาท
เป็นต้น ก็จะต้องเรียกว่าอินทรีย์ได้แต่ละอย่างๆ เพราะ
เป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน ตามที่ประสบต่ออารมณ์ซึ่ง
เป็นเครื่องคู่ของตนๆ
ต้องถือเอาเนื้อความว่า อินทรีย์ทั้งหลาย
เป็นสภาวธรรมอันหนึ่ง ๆ เป็นชาติกายสิทธิ์สิ่งหนึ่ง ๆ
ต้องมีเต็มสกลกายอันนี้ หรือจะเห็นว่าเต็มโลกก็ได้ เพราะ
เป็นชาติกายสิทธิ์จึงไม่เบียดกันไม่คับกัน
เป็นอัพยากตธรรมด้วย จะเป็นกุศลอกุศล
แล้วแต่อารมณ์เครื่องล่อ สำเร็จเป็นอินทรีย์นั้น ๆ
ตามอารมณ์
ทางวิปัสสนาต้องตรองตรวจ
เข้าไปจนเห็นแจ้งเห็นจริงตามเป็นจริงอย่างไร อินทรีย์
ใดที่มีโทษควรละเว้นก็เก็บเสียไม่ต้องใช้ อินทรีย์
ใดที่มีคุณควรอบรม ก็รีบอบรมบ่มให้มีกำลังขึ้น จะได้
เป็นพาหนะนำตนให้ถึงสุนทรสถาน สมดัง
ความมุ่งหมายของตน ตามสมควรแก่อุปนิสัยสามารถ
..........แสดงอินทรีย์ไว้พอเป็นทางดำริแก่โยคาวจรเจ้า
ผู้เพ่งต่อทางวิปัสสนาเพียงเท่านี้.
.....................


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ก.ค. 2014, 21:49 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ภาค ๕
อริยสัจ ๔
จตฺตาริ อริยสจฺจานิ : อริยสัจทั้งหลาย ๔
ทุกฺขํ อริยสจฺจํ คือทุกขอริยสัจ ๑
ทุกฺขสมุทโย อริยสจฺจํ ทุกขสมุทัยอริยสัจ ๑
ทุกฺขนิโรโธ อริยสจฺจํ ทุกขนิโรธอริยสัจ ๑
ทุกฺขนิโรธคามินีปฏิปทา อริยสจฺจํ
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ ๑
อริยสัจ ท่านแปลว่า ของจริงของพระอริยเจ้าบ้าง
ของจริงทำปุถุชนให้เป็นพระอริยเจ้าบ้าง
ของจริงหาข้าศึกมิได้บ้าง ถ้าจะถือเอาเนื้อความ
ต้องแปลว่า ของจริงทำผู้รู้ผู้เห็นให้หมดข้าศึกภายใน
เป็นเหมาะ
..........ต่อนี้จักขยายความในสัจจะทั้ง ๔ นั้นให้ชัดขึ้น
ทุกขสัจนั้นท่านหมายชาติ ชรา มรณะ ว่าเป็นตัวทุกข์
สมุทัยนั้น ท่านหมายตัณหา ๓ คือ กามตัณหา ภวตัณหา
วิภวตัณหา นิโรธนั้น ท่านหมายความดับโดย
ไม่เหลือแห่งตัณหานั้น มรรคนั้น
ท่านหมายอัฏฐังคิกมรรค แสดงอย่างนี้เป็นอันสรุปความ
ให้สั้น เป็นธรรมาธิษฐาน
..........ต่อนี้จะแสดงโดยบุคลาธิษฐาน ยกบุคคลขึ้น
เป็นที่ตั้ง ทุกขสัจนั้น ท่านหมายสกลกายของเรานี้เองว่า
เป็นตัวทุกข์ เพราะสกลกายนี้เต็มไปด้วยชาติ ชรา
มรณะเต็มที่ ให้กำหนดชาติอย่างนี้ ชาติ แปลว่า
ความเกิด ความเกิดนี้
หมายตั้งต้นแต่ประถมปฏิสนธิวิญญาณมา ตราบเท่า
ถึงตายสิ้นลมหายใจชื่อว่าชาติ เพราะธรรมดาของสัตว์
ผู้มีภพคือความเป็นความมีแล้ว ต้องมีชาติคือความสืบต่อ
ไม่ให้ภพสลาย ถ้าขาดชาติ ภพก็ตั้งอยู่ไม่ได้
ต้องสลายไป ให้กำหนดชาติด้วยกวฬิงการาหาร มีข้าวน้ำ
เป็นต้นที่เราบริโภคอยู่ทุกวันนี้ ให้เกิดรูปธรรม
ส่วนอาหาร ๓ เบื้องปลายนั้น ให้เกิดนามธรรม พึง
เข้าใจว่า ถ้าอาหารทั้ง ๔ นี้ ยังมีเป็นปัจจัยอยู่ตราบใด
สกลกายนี้ ก็ชื่อว่าเกิดอยู่เสมอตราบนั้น ให้กำหนดชาติ
ความเกิด ตั้งต้นแต่แรกเกิดมา จนถึงวันตายเป็นที่สุด
ชื่อว่าชาติ ดังนี้
และให้กำหนดชราโดยนัยเดียวกัน คือ
ให้กำหนดแต่วันแรกเกิด ชราความแก่ก็ติดตามมาด้วย
แก่ตามวันคืนไปโดยลำดับ แก่เรื่อยไปจน
ถึงวันตายเหมือนกัน สกลกายนี้ จึงชื่อว่าชรา และ
ให้กำหนดมรณะความตายโดยนัยอันเดียวกัน คือ
คำว่าตายนั้นหมายอาการที่สิ้นไป สูญไป ดับไป
แห่งสกลกายนี้ จักชี้ตัวอย่างให้เห็นเหมือนอย่าง กลละ
อัมพุทะ ฆนเปสิ ดับเสียแล้วแต่อยู่
ในครรโภทรของมารดา ส่วนเป็นเด็ก เป็นรุ่น หนุ่มสาว
ก็ดับไปตามหน้าที่ของตน ๆ อาการที่ดับไปสูญไปนั้นแล
เป็นลักษณะอาการของมรณะ พึงเข้าใจว่าสกลกายนี้ตาย
อยู่เสมอ ตั้งแต่วันแรกเกิดมา จนถึงวันตายเป็นที่สุด
สกลกายนี้ จึงชื่อว่ามรณะ ให้บัณฑิตพึงกำหนดทุกข์
ด้วยอาการอย่างนี้ ชื่อว่า ทุกขปริญญา
..........สมุทัยอริยสัจนั้น ก็ต้องยกสกลกายนี้ขึ้น
เป็นที่ตั้ง เพราะสกลกายนี้เต็มไป
ด้วยตัณหาคือกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา
ตัณหานี้อาศัยเหตุภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
อาศัยเหตุภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
ธรรมารมณ์ จึงเกิดขึ้น ถ้าอารมณ์ใด
เป็นที่พึงปรารถนาชื่อว่าอิฏฐารมณ์ ให้เกิดกามตัณหา
อารมณ์ซึ่งเป็นของมีอยู่แล้ว เป็นที่พอใจ ก็อยากให้มี
อยู่ร่ำไป ดังสกลกายของตนที่มีอยู่แล้ว อยากให้มี
อยู่ร่ำไป หรือวัตถุภายนอกก็เหมือนกัน สิ่งใดที่มีอยู่แล้ว
ก็อยากให้มีอยู่ร่ำไป อย่างนี้เป็นลักษณะให้เกิดภวตัณหา
อารมณ์ใดเป็นที่ไม่พึงปรารถนา ชื่อว่าอนิฏฐารมณ์
ให้เกิดวิภวตัณหา
ตัณหา ๓ ประการนี้เป็นของเห็นได้ด้วยยาก เพราะ
เป็นตัวของเราอยู่ทุกเมื่อ การรู้ตัวเห็นตัวย่อม
เป็นของเห็นยากอยู่เป็นธรรมดา ถ้าจะชี้แจงตัณหาที่
เป็นตัวสมุทัยนี้ให้ชัดขึ้นอีกหน่อย ให้ตรงกับที่ท่านแสดง
ไว้ว่า ทุกข์อันใดสมุทัยก็อันนั้นดังนี้ ก็คือความไม่รู้ตัวว่า
เป็นทุกขสัจ คือไม่รู้ว่า ตัวเป็น เกิดเป็น แก่เป็น ตาย
อยู่เสมอ ตัวจึงเป็นสมุทัย เป็นตัวตัณหา ๓ อยู่เสมอ
บัณฑิตพึงพยายามละความไม่รู้ตัวว่าเป็นตัณหา ๓
ออกเสีย จึงจักได้ชื่อว่า สมุทัยปหานา
..........นิโรธสัจนั้น ก็หมายสกลกายนี้เหมือนกัน
แต่หากว่าได้แสดงสมุทยวารมามากแล้ว นิโรธจึงไม่
ต้องแสดงมาก เพราะเป็นผลเผล็ดมาแต่สมุทัยนั้นเอง
คือเกิดวิชชารู้ตัวขึ้น ความไม่รู้ซึ่งเป็นตัณหา ๓ ก็ดับไป
เป็นลักษณะของนิโรธ ให้บัณฑิตพึงทำให้แจ้งให้ใส
จึงจักได้ชื่อว่า นิพพานสัจฉิกิริยา
..........มรรคสัจนั้น ก็หมายสกลกายนี้เหมือนกัน
เพราะสกลกายนี้เป็นตัวมรรค พระอัฏฐังคิกมรรคทั้ง ๘
นั้นเป็นอาการของมรรค คืออาการของสกลกายนี้ วิชชา
ความรู้ตัวว่า เป็นทุกข์ เป็นสมุทัย เป็นนิโรธ เป็นมรรค นี้
เป็นตัวสัมมาทิฏฐิ ที่จัดเป็นสัมมาทิฏฐิ
ได้ก็อาศัยอาการของมรรคทั้ง ๘ นั้นสามัคคีกัน
อาการของมรรคทั้ง ๘ อย่าง มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น
มีสัมมาสมาธิเป็นที่สุด เป็นมรรคภาวนาทำมรรค
ให้เกิดมีขึ้น บัณฑิตพึงทำให้เกิดให้มีขึ้นเสีย จักได้ชื่อว่า
มรรควิภาวนา
..........แสดงอริยสัจนัยนี้เป็นอริยสัจ ๔ ใน ๑ คือ
สกลกายนี้มี ๑ เท่านั้น สมกับที่ท่านแสดงไว้ว่า ทุกข์อัน
ใดสมุทัยก็อันนั้น สมุทัยอันใดนิโรธก็อันนั้น นิโรธอัน
ใดมรรคก็อันนั้น ดังนี้
อริยสัจ ๔ ในธรรมจักกัปปวัตตนสูตร ท่านจัดเป็นปริวัตร
๓ นั้น คือ สัจจญาณ ๑ กิจจญาณ ๑ กตญาณ ๑ จัด
เป็นอาการดังนี้
ทุกข์เป็นของจริงอย่างหนึ่ง สมุทัยเป็นของจริงอย่างหนึ่ง
นิโรธเป็นของจริงอย่างหนึ่ง มรรคเป็นของจริงอย่างหนึ่ง
อันนี้ชื่อว่าสัจจญาณในทุกข์ ในสมุทัย ในนิโรธ ในมรรค
ทุกข์เป็นของควรกำหนดรู้ สมุทัยเป็นของควรละ นิโรธ
เป็นของควรทำให้แจ้ง มรรคเป็นของควรทำให้เกิดให้มี
อันนี้ชื่อว่ากิจจญาณในทุกข์ ในสมุทัย ในนิโรธ ในมรรค
ทุกข์ได้กำหนดแล้ว สมุทัยได้ละเสียแล้ว นิโรธได้ทำ
ให้แจ้งแล้ว มรรคได้ทำให้เกิดให้มีแล้ว อันนี้เป็นกตญาณ
ในทุกข์ ในสมุทัย ในนิโรธ ในมรรค
ในสัจจะทั้ง ๔ นั้นท่านเปรียบความไว้ว่า
ทุกขสัจเปรียบเหมือนหาบอันหนัก
สมุทัยสัจเปรียบเหมือนยกหาบอันหนักใส่บ่าหาบไม่วาง
มรรคสัจเปรียบเหมือนหาอุบายวางหาบอันหนักนั้น
นิโรธสัจเปรียบเหมือนวางหาบอันหนักนั้นเสียแล้ว.
.......................


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ก.ค. 2014, 22:15 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ภาค ๖
อวิชชา
อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สังขารทั้งหลายมีเพราะอวิชชา
เป็นปัจจัย,
สงฺขารปจฺจยา วิญฺญานํ วิญญาณมีเพราะสังขารทั้งหลาย
เป็นปัจจัย,
วิญฺญาณปจฺจยา นามรูปํ นามและรูปมีเพราะวิญญาณ
เป็นปัจจัย,
นามรูปปจฺจยา สฬายตนํ อายตนะ ๖ มีเพราะนามและรูป
เป็นปัจจัย,
สฬายตนปจฺจยา ผสฺโส ผัสสะ ๖ มีเพราะอายตนะ ๖
เป็นปัจจัย,
ผสฺสปจฺจยา เวทนา เวทนามีเพราะผัสสะเป็นปัจจัย,
เวทนาปจฺจยา ตณฺหา ตัณหามีเพราะเวทนาเป็นปัจจัย,
ตณฺหาปจฺจยา อุปาทานํ อุปาทานมีเพราะตัณหา
เป็นปัจจัย,
อุปาทานปจฺจยา ภโว ภพมีเพราะอุปาทานเป็นปัจจัย,
ภวปจฺจยา ชาติ ชาติมีเพราะภพเป็นปัจจัย,
ชาติปจฺจยา ชรา ชรามีเพราะชาติเป็นปัจจัย,
ชราปจฺจยา มรณํ มรณะมีเพราะชราเป็นปัจจัย
ต่อนี้ตัวผล “โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสา สมฺภวนฺติ”
ทุกข์ทั้งหลายคือความแห้งใจเศร้าใจ ความบ่นพิรี้พิไร
ความลำบากเหลือกลั้นเหลือทน ความต่ำใจ น้อยใจ
ความคับแคบใจ ก็มีพร้อม เพราะมีมรณะเป็นปัจจัย
“เอวเมตสฺส เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส สมุทโย โหติ”
เมื่อปัจจยาการยังเป็นกำลังอุดหนนซึ่งกันเป็นไป
อยู่อย่างนี้ กองทุกข์ทั้งสิ้นก็เกิดขึ้นพร้อม
ส่วนนี้เป็นสมุทัยวาร คำที่ว่า “ปัจจัย” นั้น ไม่ใช่เหตุ
เป็นแต่ผู้อุดหนุนเหตุให้เป็นไปเท่านั้น ส่วน อวิชชา
สังขาร วิญญาณ ถึงชรา มรณะนั้นตัวเหตุคือตัวสมุทัย
นั้นเอง คือแสดงเหตุด้วยปัจจัยด้วย
..........ฝ่ายนิโรธวาร แสดงอย่างนี้
“อวิชฺชาจเตฺวว อเสสวิราคนิโรธา สงฺขารนิโรโธ”
สังขารดับโดยไม่เหลือ เพราะความคลายความดับ
โดยหาเศษมิได้แห่งอวิชชานั้นสิ่งเดียว
“สงฺขารนิโรธา วิญฺญาณนิโรโธ”
เพราะสังขารดับวิญญาณก็ดับ
“วิญฺญาณนิโรธา นามรูปนิโรโธ”
เพราะวิญญาณดับนามรูปก็ดับ
“นามรูปนิโรธา สฬายตนนิโรโธ”
เพราะนามรูปดับสฬายตนะก็ดับ
“สฬายตนนิโรธา ผสฺสนิโรโธ” เพราะสฬายตนะดับ
ผัสสะก็ดับ
“ผสฺสนิโรธา เวทนานิโรโธ” เพราะผัสสะดับเวทนาก็ดับ
“เวทนานิโรธา ตณฺหานิโรโธ” เพราะเวทนาดับตัณหาก็ดับ
“ตณฺหานิโรธา อุปาทานนิโรโธ”
เพราะตัณหาดับอุปาทานก็ดับ
“อุปาทานนิโรธา ภวนิโรโธ” เพราะอุปาทานดับภพก็ดับ
“ภวนิโรธา ชาตินิโรโธ” เพราะภพดับชาติก็ดับ
“ชาตินิโรธา ชรานิโรโธ” เพราะชาติดับชราก็ดับ
“ชรานิโรธา มรณํนิโรโธ” เพราะชราดับมรณะก็ดับ
“โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสา นิรุชฺฌนฺติ” ทุกข์ทั้ง ๕
ประการซึ่งเป็นตัวผล คือโศกและร่ำไร
ทุกข์โทมนัสอุปายาสก็ดับตามกันไปหมด
“เอวเมตสฺส เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส นิโรโธ โหติ”
ครั้นเมื่อเหตุและปัจจัยดับไปหมดแล้วด้วยอาการอย่างนี้
กองทุกข์ทั้งสิ้นก็ดับไปโดยไม่เหลือเท่านั้น.
......................


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ก.ค. 2014, 22:24 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา
สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณนฺติ
..........บัดนี้ จักได้วิสัชนาปฏิจจสมุปบาทปัจจยาการ ซึ่ง
เป็นทางวิปัสสนานัย ตามปาฐะที่ได้ยกขึ้นในเบื้องต้น
ตามที่มาว่า อวิชชา ๑ สังขาร ๑ วิญญาณ ๑ นามรูป ๑
อายตนะ ๑ ผัสสะ ๑ เวทนา ๑ ตัณหา ๑ อุปาทาน ๑ ภพ
๑ ชาติ ๑ ชรา ๑ มรณะ ๑ เป็นอาการ ๑๓ แต่ท่านรวมชรา
กับมรณะเป็น ๑ จึงเป็น ๑๒ เพราะท่านนับอวิชชาเข้า
ด้วยว่าเป็นอาการ ถ้ายกอวิชชาออกให้เป็นประธานเสีย
นับแต่สังขารวิญญาณไปให้เป็นอาการ ก็คงได้อาการ ๑๒
ไม่ต้องรวมชรามรณะ เหมือนอย่างกายท่านยกให้
เป็นประธาน เกสา โลมา ถึงมัตถลุงคัง ๓๒
เป็นอาการของกายฉันใด ถ้านับแต่สังขารไปถึงมรณะ
เป็น ๑๒ ให้เป็นอาการของอวิชชา จะเหมาะดีฉัน
นั้นทีเดียว
..........บัดนี้ จักจำแนกอวิชชาและสังขารเป็นต้นต่อไป
อวิชชา ๘ สังขาร ๓ วิญญาณ ๖ นามรูป ๒ อายตนะ ๖
ผัสสะ ๖ เวทนา ๖ ตัณหา ๖ อุปาทาน ๔ ภพ ๒ ชาติ ๒
ชรา ๒ มรณะ ๒
บัดนี้จักจำแนกอวิชชา ๘ ตามที่มาว่า อวิชฺชา อฏฺฐวตฺถุกา
อวิชชามีวัตถุ ๘
ปุพฺพนฺเต อญาณํ ไม่รู้จักเงื่อนเบื้องต้น ๑
อปรนฺเต อญาณํ ไม่รู้จักเงื่อนเบื้องปลาย ๑
ปุพพนฺตาปรนฺเต อญาณํ ไม่รู้จักทั้งเงื่อนเบื้องต้น
และเงื่อนเบื้องปลาย ๑
ทุกฺเข อญาณํ ไม่รู้จักทุกข์ ๑
ทุกฺขสมุทเย อญาณํ ไม่รู้เหตุยังทุกข์ให้เกิดขึ้นพร้อม ๑
ทุกฺขนิโรเธ อญาณํ ไม่รู้จักความดับทุกข์ ๑
ทุกฺขนิโรธคามินีปฏิปทาย อญาณํ ไม่รู้จักทางปฏิบัติให้ถึง
ความดับทุกข์ ๑
ปฏิจฺจสมุปฺปาเท อญาณํ ไม่รู้จักปฏิจจสมุปบาท
คือธรรมอันอาศัยซึ่งกันและกันเกิดขึ้น ๑
อยํ วุจฺจติ อวิชฺชา อันนี้แหละท่านกล่าวว่าอวิชชา
มีลักษณะอาการ ๘ ประการดังนี้
..........บัดนี้ จักอธิบายลักษณะอวิชชาทั้ง ๘ ไว้พอ
เป็นทางดำริแห่งโยคาพจรผู้หวังต่อทางวิปัสสนา ถ้าผู้
ใดตรองได้ความชัดขึ้นแล้ว จักได้รับ
ความสบายใจขึ้นมาก เพราะสิ้นวิจิกิจฉาในทางนี้
ข้อที่ ๑ ซึ่งว่าไม่รู้จักเงื่อนเบื้องต้น คือไม่รู้จักชาติ
ความเกิด คือรู้จักแต่ อปฺปฏิจฺฉนฺนชาติ คือความเกิดที่
ไม่ปกปิด ได้แก่คลอดออกมาจากครรภ์มารดา ชื่อว่า
ไม่รู้จักชาติ เป็นลักษณะของอวิชชาประการหนึ่ง
ส่วน ปฏิจฺฉนฺนชาติ คือความเกิดที่ปกปิด ได้แก่กำเนิด ๔
คือเมื่อขณะยังเป็นกลละอัมพุทะอยู่ ท่าน
ให้ชื่อว่าสังเสทชะกำเนิด เมื่อขณะยังเป็น ฆนเปสิ ท่าน
ให้ชื่อว่าอัณฑชะกำเนิด เมื่อคลอดออกมาแล้ว ท่าน
ให้ชื่อว่า อุปปาติกะกำเนิด (ลอยเกิด) เบื้องหน้าตลอดไป
คงได้ชื่อว่า อุปปาติกะกำเนิดเรื่อยไปจนถึงวันตาย
กำเนิดทั้ง ๔ นี้แหละเป็นเงื่อนเบื้องต้น
เป็นลักษณะของชาติทุกข์ เป็นทุกขสัจ พึงเข้าใจว่า
เป็นปัจจุบันอยู่ทุกเมื่อ ปฏิจฉันนชาตินี้ เป็นวิชชาที่ ๑
..........ข้อที่ ๒ ซึ่งว่าไม่รู้เงื่อนเบื้องปลายนั้น หมาย
ความว่า ไม่รู้จักมรณะความตาย รู้จักแต่
อปฺปฏิจฉนฺนมรณํ คือความตายที่ไม่ปกปิด
ได้แก่สิ้นลมหายใจแล้วต้องเข้าโลงเท่านั้น ตายอาการนี้
เป็นอนาคต เป็นคติของสมุทัย เป็นวิภวตัณหา
รู้แต่อัปปฏิจฉันนมรณะนี้ ชื่อว่าไม่รู้จักตาย คือ
ไม่รู้เงื่อนเบื้องปลายของตน เป็นอวิชชาประการหนึ่ง
ส่วน ปฏิจฉนฺนมรณํ นั้นได้แก่ความตายที่ปกปิด
เป็นปัจจุบันตายอยู่เสมอทุกขณะลมหายใจเข้าออก
คือเกิดขึ้นวันใด ตายก็มีมาแต่วันนั้น ได้แก่ความหายไป
คือเด็กหนุ่มสาวในตัวหายไปนั้นเอง เป็นเครื่องหมาย
ให้รู้ว่า ตนมีมรณะอยู่เสมอ ปฏิจฉันนมรณะนี้
เป็นเบื้องปลายของตน เป็นวิชชาที่ ๒
..........ข้อที่ ๓ ที่ว่าไม่รู้จักทั้งเบื้องต้น
ทั้งเบื้องปลายของตนนั้น หมายความว่า ไม่รู้จักท่ามกลาง
คือไม่รู้จักความแก่ รู้จักแต่ อปฺปฏิจฺฉนฺนชรา ความแก่ที่
ไม่ปกปิด คือผู้ตั้งอยู่ในปัจฉิมวัยมีผมหงอกฟันหักเป็นต้น
ความแก่อาการนี้เป็นอนาคต
เป็นคติแห่งวิภวตัณหาเหมือนกัน เป็นสมุทัย
รู้แต่อัปปฏิฉันนชราเพียงเท่านี้ ชื่อว่าไม่รู้จักชรา
เป็นอวิชชาประการหนึ่ง
ส่วนชราที่เป็นคติของวิชชานั้น หมายเอาความแก่ซึ่ง
เป็นปัจจุบัน เรียกชื่อว่า ปฏิจฺฉนฺนชรา ความแก่ปกปิด
คือแก่อยู่เสมอทุกขณะลมหายใจเข้าออก ได้แก่
ความแปรไปของร่างกาย คือความขยาย
ให้ร่างกายผิดเก่าอยู่เสมอ
ตั้งต้นแต่ประถมปฏิสนธิมาตราบเท่าวันตาย นี่แหละ
เป็นท่ามกลางของเรา เป็นตัวอุปาทขณะ ฐีติขณะ
ภังคขณะ คือความรู้ทั้งเบื้องต้นคือเกิด รู้
ทั้งเบื้องปลายคือตาย รู้ทั้งท่ามกลางคือแก่ รวมอยู่
ในที่อันเดียวกันเป็นตัวปัจจุบันทุกเมื่อ เป็นวิชชาที่ ๓


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ก.ค. 2014, 22:40 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


..........ข้อที่ ๔ ซึ่งว่าไม่รู้จักทุกข์นั้น คือ
ไม่รู้จักชาติชรามรณะซึ่งเป็นปัจจุบัน ชื่อว่าไม่รู้จักทุกข์
เป็นอวิชชาประการหนึ่ง
ถ้ารู้แล้วก็เป็นอันกำหนดทุกข์ได้ จึงเป็นวิชชาที่ ๔
..........ข้อที่คำรบ ๕ ซึ่งว่าไม่รู้จักเหตุยังทุกข์
ให้เกิดขึ้นพร้อมนั้น หมายความว่า ไม่รู้จักชาติชรามรณะ
ซึ่งเป็นอดีตอนาคตซึ่งตนรู้อยู่นั้นว่าเป็นตัวสมุทัย คือ
เป็นกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา คือที่เข้าใจว่า ชาติ
เป็นอดีต ชรามรณะเป็นอนาคต ตัวซึ่งเป็นปัจจุบันนี้ว่าง
จากชาติชรามรณะ กลายเป็นภวตัณหาไปไม่รู้สึกตัว
ชื่อว่าไม่รู้จักสมุทัย เป็นอวิชชาประการหนึ่ง
ความที่มารู้จักชาติชรามรณะที่เป็นอดีตอนาคตนั้นว่า
เป็นสัญญาของโลกชื่อว่ารู้จักสมุทัย เป็นวิชชาที่คำรบ ๕
..........ข้อที่ ๖ ซึ่งว่าไม่รู้จักความดับนั้น คือ
ไม่รู้จักหน้าตาของตัณหา คือชาติชรามรณะที่
เป็นอดีตอนาคต เป็นกามตัณหา วิภวตัณหา ตัวที่ว่าง
จากชาติชรามรณะ กลายเป็นภวตัณหาไปไม่รู้ตัว
แต่หน้าตาของตัณหาผู้จะดับก็ไม่รู้จักเสียแล้ว
เป็นอันชื่อว่าไม่รู้จักทุกขนิโรธ เป็นอวิชชาประการหนึ่ง
เมื่อธรรมซึ่งเป็นปัจจุบัน คือชาติชรามรณะซึ่ง
เป็นของจริง อันพระโยคาพจรเห็นแจ่มแจ้งในตนแล้ว
ชาติชรามรณะซึ่งเป็นอดีตอนาคตซึ่งเป็นคติของสมุทัย
คือกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ก็ดับไป
ชื่อว่าทุกขนิโรธ เป็นอันชื่อว่า รู้จักความดับทุกข์
เป็นวิชชาที่ ๖
..........ข้อที่ ๗ ซึ่งว่าไม่รู้จักปฏิปทาอันจักให้ถึง
ความดับทุกข์นั้น หมายความว่า ไม่รู้จักชาติชรามรณะ
อาการนี้เป็นทุกข์ อาการนี้เป็นสมุทัย อาการนี้เป็นนิโรธ
อาการนี้เป็นมรรค ชื่อว่าผู้ไม่รู้ปฏิปทาให้ถึง
ความดับทุกข์ เป็นอวิชชาประการหนึ่ง
เมื่อมารู้ชัดเจนว่า ชาติชรามรณะซึ่งเป็นปัจจุบัน
เป็นตัวทุกขสัจ ส่วนชาติชรามรณะที่เป็นอดีตเป็นอนาคต
เป็นคติของสมุทัยก็ดับไป ความดับแห่งสมุทัยนั้นแล
ชื่อว่าทุกขนิโรธ ปัญญาที่รู้จักทุกข์ รู้จักสมุทัย รู้จักนิโรธ
นั้นแล เป็นองค์สัมมาทิฏฐิ เป็นมรรค เป็นอันรู้ปฏิปทาไปสู่
ความดับทุกข์ เป็นวิชชาที่ ๗
..........ข้อที่ ๘ ซึ่งว่าไม่รู้จักธรรมเป็นปัจจัยอาศัยซึ่งกัน
และกันเกิดขึ้น คือไม่รู้จักปฏิจจสมุปบาทนั้น หมาย
ความว่า ไม่รู้จักว่าตัวเป็นอวิชชา ตัวจึงต้องกลาย
เป็นสังขารไป อาศัยสังขารนั้นเองจึงต้องมีชื่อมากขึ้น คือ
เป็นวิญญาณ เป็นนามรูป เป็นอายตนะ เป็นผัสสะ
เป็นเวทนา เป็นตัณหา เป็นอุปาทาน เป็นภพ เป็นชาติ
เป็นชรา เป็นมรณะไป
เมื่อตนยังมีความเห็นความรู้ความเข้าใจอยู่ว่า ตัวของตัว
เป็นสังขาร วิญญาณ เป็นชรา เป็นมรณะอยู่ตราบใด
ก็ชื่อว่า อาการแห่งอวิชชายังมีอยู่ในตัวของตัวตราบนั้น
พึงรู้เถิดว่า ตนของเราเป็นอวิชชาแท้เพราะธรรม ๑๒
ประเภทนี้ ท่านแสดงว่าเป็นอาการของอวิชชา
เป็นตัวสัญญาอดีต เป็นชาติสมุทัยทั้งนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
ไม่รู้จักปฏิจจสมุปบาท เป็นอวิชชาประการหนึ่ง
เมื่อพระโยคาพจรเจ้า มากำหนดรู้คติของสังขารทั้งหลาย
คือท่านหมายปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร
อเนญชาภิสังขาร ได้แก่เจตสิกธรรมทั้งหลาย
ปุญญาภิสังขารหมายโสภณเจตสิก
อปุญญาภิสังขารหมายอกุศลเจตสิก อเนญชาภิสังขาร
หมายอัญญสมานาเจตสิก ส่วนวิญญาณ ๖
หมายจักขุวิญญาณเป็นต้น นามรูป ๒ หมายนาม ๑ รูป ๑
อายตนะ ๖ หมายจักขวายตนะเป็นต้น ผัสสะ ๖
หมายจักขุสัมผัสเป็นต้น เวทนา ๖
หมายเวทนาเกิดแต่จักขุสัมผัสเป็นต้น ตัณหา ๖
หมายตัณหาที่อาศัยจักขุสัมผัสเกิดขึ้นเป็นต้น อุปาทาน ๔
มีกามุปาทานเป็นต้น ภพ ๒ หมายกรรมภพ ๑ อุปบัติภพ ๑
ชาติ ๒ หมายปฏิจฉันนชาติ ๑ อัปปฏิจฉันนชาติ ๑ ชรา ๒
หมายปฏิจฉันนชรา ๑ อัปปฏิจฉันนชรา ๑ มรณะ ๒
หมายปฏิจฉันนมรณะ ๑ อัปปฏิจฉันนมรณะ ๑
ความจริงสมุทัยธรรมทั้งหลาย ตั้งต้นแต่อวิชชาถึงชรา
และมรณะ เหล่านี้เป็นสภาพแห่งสังขตธรรมทั้งสิ้น
เป็นแต่เพียงสมมติให้รู้กันเท่านั้น สิ่งที่รับสมมติทั้งปวง
นั้น เป็นสภาพธรรมที่เป็นวิสังขาร คือเป็นธรรมฐีติ
ธรรมนิยาม ชั้นวิสังขาร ส่วนสภาพธรรมที่เป็นสังขาร
ทั้งปวงนั้น เป็นอนัตตาไม่ใช่ตัว ถ้ารู้เท่าแล้วก็ดับไป
คงเหลืออยู่แต่ส่วนที่เป็นสภาพธรรมที่เป็นวิสังขารเท่า
นั้น
ถ้าจะดูของจริงตามทางพระอริยสัจแล้วก็เห็นอยู่แต่ทุกข์
เท่านั้น ถ้าจะดูของจริงทางพระนิพพานแล้ว
ชาติชรามรณะ ที่สมมติว่าทุกข์ก็ไม่มีเสียอีก
เพราะชาติชรามรณะเป็นคติของสังขาร เมื่อรู้
เท่าสังขารชาติชรามรณะก็ดับไป คงเหลือ
อยู่แต่โลกุตรธรรมโดยส่วนเดียว ท่านผู้รู้
ทั้งหลายก็อาศัยใช้บัญญัติพูดไปตามโลกไม่ขัดโลก
ตัวของท่านชื่อว่า วิชชา อาการของอวิชชา
ทั้งหลายมีสังขารวิญญาณเป็นต้นก็ดับไปหมด
เป็นนิโรธธรรม ชื่อว่าวิชชาที่ ๘ ด้วยประการฉะนี้
..........เมื่ออวิชชาสังขารถึงชรามรณะเป็นปัจจัย อาศัย
ซึ่งกันเป็นไปอยู่ ชื่อว่ากระแสสมุทัยยังเป็นอยู่เป็นตัวเหตุ
ผลของสมุทัยคือตัวทุกข์ ได้แก่โสกะ
ความแห้งใจกรอบเกรียมใจ ปริเทวะ ความบ่นเพ้อร่ำไร
โทมนัส ความต่ำใจน้อยใจ อุปายาส ความคับแ
ค้นอัดอั้นตันใจ สมฺภวนฺติ ก็มีพร้อม
เพราะทุกข์เหล่านี้มีสมุทัยเป็นเหตุ
เมื่อกระแสของสมุทัยมีอวิชชาเป็นไปโดยไม่เหลือ
ชื่อว่านิโรธ สภาพที่ยังเหลืออยู่ชื่อว่าวิชชา
เป็นมรรคคือตัวเหตุผลของวิชชา คือความดับทุกข์
ได้แก่โสกะ ปริเทวะ โทมนัส อุปายาส นิรุชฌนฺติ ก็ดับไป
โดยไม่เหลือ เพราะทุกข์เหล่านี้ดับไปโดยไม่เหลือ
มีวิชชาคือมรรคเป็นเหตุ
ได้อธิบายประเภทแห่งปฏิจจสมุปบาททั้งสมุทัยวาร
และนิโรธวาร พอเป็นทางดำริแห่งพุทธบริษัท
ผู้มุ่งต่อทางวิปัสสนานัย พอเป็นนิทัสสนอุทาหรณ์ไว้เพียง
เท่านี้.
.....................


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ก.ค. 2014, 22:52 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


นิทาน
..........บัดนี้จักเล่านิทานของเก่าสู่ฟัง กิร ดังได้สดับมา
ในอดีตกาลยังมีบุรุษเสียจักษุ ๖ คนเป็นสหายกัน
วันหนึ่งปรึกษากันว่าทำอย่างไรเราจะได้ดูช้างสักที
ถึงตาเราไม่เห็น คลำดูก็รู้ได้เหมือนกัน คนหนึ่งพูดขึ้นว่า
เขาบอกว่า ช้างพลายของตากำนันแก้วเป็นช้างใจดี เด็ก
เล็กขี่เล่นสุดหัวสุดหางก็ไม่เป็นอะไร มาไปด้วยกันเถอะ
ว่าแล้วก็ชวนกันไป
ครั้นถึงบอกเจ้าของเขาแล้ว ก็ปันวาระกัน
เข้าไปคลำดูคนละคราว คนที่ ๑ ไปคลำถูกงวง
ก็คลำขึ้นคลำลงจนตลอดงวงแล้วก็ออกมา คนที่ ๒
เข้าไปคลำถูกงา ก็คลำไปคลำมาจนสุดงาแล้วก็ออกมา
คนที่ ๓ เข้าไปคลำถูกใบหู ก็คลำไปคลำมาจนตลอดใบหู
แล้วก็ออกมา คนที่ ๔ เข้าไปคลำถูกหาง
ก็คลำไปคลำมาจนตลอดหางแล้วก็ออกมา คนที่ ๕
เข้าไปคลำถูกขา ก็คลำไปคลำมาจนตลอดขา
แล้วก็ออกมา คนที่ ๖ เข้าไปคลำถูกสีข้าง
ก็คลำไปคลำมาจนตลอดสีข้างแล้วก็ออกมา
..........ครั้นแล้วต่างคนต่างก็ดีใจคุยกันว่า
เป็นบุญของพวกเรา พึ่งได้รู้จักช้างวันนี้เอง แล้วก็พา
กันกลับบ้าน ครั้นมาถึงบ้านแล้วมานั่งสนทนากัน
ถึงเรื่องไปคลำดูช้าง ใครเห็นเป็นอย่างไร ลองเล่าสู่
กันฟังดู จะเหมือนกันหรือไม่
คนที่คลำถูกงวงบอกว่า ตามที่ฉันสังเกต
เข้าใจว่าช้างเหมือนกับตัวปลิงนั้นเอง
เป็นแต่โตมากยาวกว่ามากเท่านั้น คนที่คลำถูกงาบอกว่า
เพื่อนเอาอะไรมาพูด ฉันเข้าใจว่าช้างมันเป็นกลม ๆ
เหมือนไม้กระบอกเป็นแต่มันเรียวมากเท่านั้น
คนที่คลำถูกใบหูบอกว่าเพื่อนสองคนนี้พูดเข้าป่า
เข้ารกไปแล้ว ฉันได้สังเกตแน่นอน ช้างนั้นมันเป็นรูปแบน
ๆ เหมือนพัดด้ามจิ๋วเรานี้เอง เป็นแต่หนามากเท่านั้น
คนที่คลำถูกหางบอกว่า
นายสามคนนี้เอาอะไรมาพูดเหลว ๆ ไหล ๆ ฉัน
ได้สังเกตแน่นอนแล้ว ช้าง
นั้นมันเหมือนไม้กวาดที่เรากวาดเรือนนี้เอง
เป็นแต่ด้ามมันยาวนิดหน่อยเท่านั้น
คนที่คลำถูกขาบอกว่า นายทั้งสี่นี่ก็ยุ่งเสียอีกแล้ว
ไปเอาอะไรมาพูด ฉันคลำขึ้นคลำลงจนถึงดิน สังเกต
ได้แน่นอนว่าช้างนั้นเหมือนสูบที่เขาสูบตีเหล็กเรานี้เอง
เป็นแต่ยาวหน่อยเท่านั้น คนที่คลำถูกสีข้างร้องขึ้นว่า
พุโธ่ ๆ ! เพื่อนห้าคนนี้ไปคลำเอาอะไรเข้าแล้ว
ไม่ถูกตัวช้างเสียแน่ละ กันคลำเสียจนเหน็ดจนเหนื่อย
เกือบจะนับเส้นขนได้ และได้สังเกตไว้แน่นอน ช้างนั้นมัน
เป็นแผ่น ๆ แบน ๆ เหมือนพรมที่เราปูเรือนนี้เองไม่ผิดเลย
บุรุษตาบอดทั้ง ๖ คน คลำช้างตัวเดียวกัน
ความเห็นแตกต่างไม่ลงกัน ยกวาทะของตนขึ้นข่มคนอื่น
ว่าพวกแกมันเหลวไหลทั้งนั้น ส่วนตนคลำถูกอะไรและ
ได้หมายไว้ว่าเหมือนกับอะไร ก็ยกสิ่งนั้นขึ้นว่าช้างมัน
เป็นอย่างนี้ ๆ มันเหมือนสิ่งนี้ ๆ ต่างหาก พวกแก ใช้ไม่ได้
ทั้งนั้น ต่างคนต่างวิวาทกันกับผู้ที่ไม่ลงความเห็นกับ
ด้วยตน

ในเรื่องนี้ก็น่าขัน ความจริงก็ถูกช้างด้วยกัน ทั้งหกคนไม่มีใครผิดเลย เป็นแต่ว่าถูกโดยเอกเทศคือถูกไม่เต็มตัวนั้นเอง จึงเป็นเหตุเกิดมีปากเสียงกันขึ้นจนถึงแก่วิวาทกัน ถ้าถูกเต็มตัวด้วยกันแล้ว ก็ไม่ต้องวิวาทกันเลย ข้อนี้ฉันใด

แม้ในหมู่พุทธบริษัทที่ประพฤติธรรมและสั่งสอนธรรมกันอยู่ทุกวันนี้ ก็คล้ายกับคนตาบอดคลำช้างฉันนั้น เพราะรู้ธรรมไม่เต็มที่ รู้เพียงเอกเทศของธรรม เพราะธรรมเป็นของกลาง ใครเห็นอย่างไรก็ไม่รับ ไม่ปฏิเสธ ผู้เห็นอย่างใดก็ยึดเอาเป็นถูกของตนอย่างนั้น

จะยกตัวอย่างดังพวกที่ถือนามรูปก็ยึดนามรูปเป็นที่พึ่ง พวกถือขันธ์ ๕ ก็ยึดขันธ์ ๕ เข้าไว้เป็นที่พึ่ง พวกนิยมธาตุก็ยึดธาตุเข้าไว้เป็นที่พึ่ง พวกถืออายตนะก็ยึดอายตนะเข้าไว้เป็นที่พึ่ง พวกถือ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ก็ยึดเข้าไว้เป็นที่พึ่ง พวกถือ พุทฺโธ อรหํ ก็ยึดเข้าไว้เป็นที่พึ่ง ตลอดไปถึงพวกเพ่งกสิณต่างก็ยึดเข้าไว้ว่าเป็นที่พึ่งของตนๆ ถ้าใครถือไม่ตรงกับตน ก็เป็นคนเห็นผิดถือผิดไปหมด ถูกแต่ตัวคนเดียวเท่านั้น แล้วสั่งสอนลูกศิษย์ตามลัทธิของตน

ฝ่ายลูกศิษย์นั้นได้ความตามอาจารย์ของตน พลอยไปติพวกอื่นเขาด้วย ยกแต่อาจารย์ของตนว่าเป็นผู้รู้ถูกรู้ดี พวกอื่นผิดหมด จึงต้องวิวาทกับผู้ที่มีความเห็นไม่พ้องกับตน บางพวกที่ยังงมงายมากถึงกับโกรธ หรือเกลียดแก่ผู้ไม่ลงความเห็นกับด้วยตน เพราะความเห็นธรรมของตนเป็นแต่เพียงเอกเทศเท่านั้น

ถ้าหากเห็นพระธรรมเต็มโลกด้วยกันแล้วก็หมดวิวาทเท่านั้น คิดดูก็ขันๆ คนหูดีตาดี กลายเป็นเหมือนคนตาบอดคลำช้างไปได้ น่าสังเวชใจยิ่งนัก

ความจริงผู้ประพฤติธรรมถูกด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีผู้ใดผิดเลย เป็นแต่ถูกโดยส่วนมากหรือถูกโดยส่วนน้อยเท่านั้น เอวํ ก็มีด้วยประการดังนี้.


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 11 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 9 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร