วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 05:37  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 6 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ก.ค. 2014, 17:03 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

มหาโมรชาดก

(ตรวจพิมพ์ใหม่ เมื่อเป็นพระโพธิวงศาจารย์ พ.ศ.
๒๔๖๘)
สเจ หิ ตฺยาหํ ธนเหตุ คหิโตติ อิมํ ธมฺมเทสนํ สตฺถา
เชตวเน วิหรนฺโต เอกํ อุกฺกณฺฐิตภิกฺขํ อารพฺภ กเถสิ.
..........บัดนี้จะได้วิสัชนาเนื้อความในมหาโมรชาดก
ซึ่งมีมาในคัมภีร์สุตตนิบาตชาดก
อันพระธรรมสังคาหกเถรเจ้าทั้งหลาย
ได้ประพันธ์ ร้อยกรองไว้เป็นลำดับ มีเนื้อความ
ในเบื้องต้นว่า
ครั้งหนึ่งสมเด็จพระบรมศาสดาทรงสำราญอิริยาบถ
อยู่ ณ พระเชตวนารามใกล้กรุงสาวัตถี
ได้ทรงพระปรารภภิกษุผู้อยากสึกองค์หนึ่งให้
เป็นเหตุ จึงตรัสเทศนา มีเนื้อความในเบื้องต้นว่า “สเจ
หิ” ดังนี้เป็นอาทิ
เนื้อความพิสดารว่า สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า
ได้ตรัสแก่ภิกษุรูปนั้นว่า ดูกรภิกษุ ได้ยินว่าเธอมี
ความกระสันอยากสึกจริงหรือ ?
พระภิกษุนั้นกราบทูกว่า สจฺจํ ภควา ข้าแต่พระ
ผู้ทรงพระภาค จริงอย่างนั้น
ท่านอยากสึกเพราะเหตุอะไร ?
ข้าพระองค์อยากสึกเพราะทรัพย์สมบัติ
และกามารมณ์เป็นเหตุ
นั้นแหละภิกษุ ธรรมดาปุถุชนคนหนาไปด้วยกิเลส
ยากที่จะกำจัดนันทิราคะ
ความกำหนัดเพลิดเพลินต่ออารมณ์นั้น ๆ
อย่าว่าแต่ตัวของท่านผู้ยังกำหนัดเพลิดเพลินอยู่
ด้วยกามกิเลสเป็นเหตุให้หลงใหลเลย
แต่สัตว์พิเศษ ทำกิเลสให้สงบอยู่ด้วยอำนาจของฌาน
ถึง ๗๐๐ ปี แต่ในกาลก่อน กิเลสยังทำ
ให้เหลวไหลไปได้
เมื่อพระองค์ตรัสฉะนี้แล้วจึงนำอดีตนิทานมาแสดง
มีเนื้อความว่า อตีเต พาราณสิยํ พฺรหฺมทตฺเต รชฺชํ
กาเรนฺเต ฯ ในอดีตกาลสมัยหนึ่ง
พระเจ้าพรหมทัตครองราชย์สมบัติ ณ
เมืองพาราณสี
..........สมัยนั้น พระบรมโพธิสัตว์ ได้เสวยพระชาติ
เป็นพญานกยูงทอง คือสรีระกายคล้ายกับสีทอง
มีเนตรทั้งสอง มีสีอันแดงคล้ายกับสีมะกล่ำ
จะงอยปากคล้ายกับแก้วประพาฬ
มีร่องแดงสามร่องโอบแต่คอตลอดไปถึง
เมื่อเติบโตขึ้นแล้ว มีสรีระกายดุจเรือนแห่งรถ
งดงามยิ่งนักหนา นกยูงทั้งหลายก็เข้าแวดล้อมยกให้
เป็นพระราชา พากันอาศัยอยู่ปัจจันตชนบท อัน
เป็นแว่นแคว้นแห่งเมืองพาราณสีตำบลหนึ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ก.ค. 2014, 17:10 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ครั้นอยู่มาวันหนึ่ง พระโพธิสัตว์มาพิจารณา
ถึงกายของตนก็เห็นมีโทษควรรังเกียจ ๒ ประการ
ประการหนึ่ง เมื่ออยู่
ในระหว่างทางสัญจรของมนุษย์ ตัวของเราก็เป็นที่
ต้องตาพาความโลภของมนุษย์ให้บังเกิดขึ้นอย่างยิ่ง
อีกประการหนึ่ง การที่ระคนอยู่ด้วยหมู่คณะ
เป็นการลำบาก เป็นทางไหลมาแห่ง
ความร้อนใจรอบข้าง ยากที่จะทำความสงบของใจ
ให้เกิดขึ้นได้ แม้ไฉนถ้าเราหลีกหนีจากหมู่คณะอยู่แต่
ผู้เดียว ก็อาจจักทำประโยชน์ส่วนตัวให้บริสุทธิ์ได้
ทรงพระดำริฉะนี้แล้ว อยู่มาวันหนึ่งพอ
ถึงมัชฌิมยาม นกยูงทั้งหลายหลับหมดแล้ว
พระโพธิสัตว์ก็บินหนีไปสู่ป่าหิมพานต์ เลือกดูภูมิสถาน
ได้ที่สำราญบริบูรณ์ด้วยสระน้ำและถ้ำ ณ ภู
เขาตำบลหนึ่งเป็นชั้นที่ ๔ แห่งภูเขาทั้งหลาย เห็นว่า
เป็นที่อุดมปราศจากภยันตรายโดยรอบ ชอบใจอยู่
ในถ้ำตำบลนั้นเป็นที่ผาสุก ห่าง
จากทางสัญจรไปมาของมนุษย์
ครั้นถึงปุพพัณหสมัย เสด็จออกจากถ้ำแล้ว ไปสถิต
อยู่ ณ ยอดบรรพต ผินพักตร์สู่ทิศบูรพา
ทัสนาดวงอาทิตย์ที่แรกอุทัยขึ้นมา มีรัศมีสีสันอันงาม
จึงเพ่งดวงอาทิตย์เพียงดังวงกสิณ เห็น
ความบังเกิดขึ้นของสัตว์ทั่วโลก เหมือนกันกับ
ความอุทัยขึ้นมาแห่งพระอาทิตย์ จึงยังดวงอาทิตย์ให้
เป็นนิมิตหน่วงอารมณ์ข่มนิวรณ์ เมื่อจิต
เป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องใสแล้ว
จึงสังวัธยายคาถาปรารภคุณพระพุทธเจ้าเป็นต้น
เพื่อให้เป็นปริตตมงคลป้องกันภยันตราย
ในกลางวัน
ในโมรคาถานั้นว่า อุเทตยญฺจกฺขุมา เอกราชา เป็นอาทิ
มีเนื้อความว่า พระอาทิตย์มีความแจ่มจ้าผ่องใส
เป็นจักษุของโลก
เป็นเอกคือมีแต่ดวงเดียวเพียงดังพระราชาจักรพรรดิราช
มีรัศมีสีสันพรรณเพียงดังทองคำ
ธรรมชาติเมื่ออุทัยขึ้นมา ได้ยังปฐพีมณฑล
สากลโลกธาตุให้สว่างไสวแลมีฉันใด
แม้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ก็เป็น
ผู้มีญาณจักษุและมีแต่พระองค์เดียว
เพียงดังเอกอัครราชาบรมจักรพรรดิราช
และมีพระรัศมีสีสันพรรณเพียงดังทองคำธรรมชาติ
เมื่อพระองค์อุบัติตรัสรู้ขึ้นในโลก ได้ยังสัตวโลก
ผู้มืดด้วยอวิชชาโมหะให้สว่างไสวด้วยญาณจักษุ
ดังสุริยมณฑลยังโลกธาตุให้สว่างก็ปานกันฉะนั้น
ตํ ตํ นมสฺสามิ หริสฺสวณฺณํ ปฐวิปฺปภาสํ
ข้าพเจ้านอบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้มีวรรณรังสีเพียงดังทอง เมื่ออุบัติตรัสรู้ขึ้น
ในโลกได้ยังสัตวโลกอันมืด
ด้วยอำนาจแห่งอวิชชาครอบงำ ให้สว่างไสวขึ้น
เพียงดังสุริยมณฑล มีวรรณะดังทอง
เมื่ออุทัยขึ้นมาได้ยังปฐพีมณฑลสากลโลกธาตุ
ให้สว่างไสวขึ้นฉะนั้น
ข้าพเจ้าไหว้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
และขอนอบน้อมขีณาสวะพราหมณ์ผู้รู้แจ้ง
ในธรรมทั้งปวง ขอนอบน้อมพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ขอนอบน้อมพระโพธิญาณของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ขอนอบน้อมผู้ถึงวิมุตติและผู้ถึงวิมุตติญาณทัสสนะ
ทั้งหลาย ความนอบน้อม นมัสการแก่ท่านผู้ทรงคุณ
ทั้งหลาย มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธานนั้น ๆ
ขอพระคุณแห่งท่านผู้ทรงคุณทั้งหลาย
จงมาคุ้มครองป้องกันยังข้าพเจ้า
ให้แคล้วคลาดปราศจากภยันตรายอยู่
ได้ตลอดวันในวันนี้เถิด


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ก.ค. 2014, 17:23 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


..........พญานกยูงทองนั้น ครั้นทำปริตรป้อง
กันตนฉะนี้แล้ว
จึงลงสู่ภูมิประเทศแสวงหาอาหารตาม
ความสำราญของตน
ครั้นสายัณห์ตะวันเย็นก็บินขึ้นจับที่ยอดภูเขา
ผินพักตร์สู่ปัจฉิมทิศตะวันตก เพ่งดูดวงอาทิตย์
เป็นอารมณ์ เห็นความสิ้นไปเสื่อมไปดับไปของสัตว์
ทั่วโลก คล้ายกับ
ความอัสดงคตลับไปแห่งพระอาทิตย์
เมื่อหน่วงสุริยมณฑลเป็นนิมิต ทำจิตให้สงบแล้ว
จึงสังวัธยายคาถานมัสการพุทธาทิตรัยว่า
อเปตยญฺจกฺขุมา เอกราชา เป็นอาทิ มีเนื้อ
ความเหมือนนัยที่แสดงมาแล้ว แปลกแต่เบื้องต้น
และเบื้องปลายว่า เมื่อพระอาทิตย์ล่วงลับดับไป
แล้ว ขอพระคุณแห่งผู้ทรงคุณทั้งหลาย
จงคุ้มครองป้องกันยังข้าพเจ้าให้แคล้วคลาดปราศ
จากภยันตรายอยู่ได้ตลอดคืนในคืนวันนี้เถิด
ครั้นพญานกยูงทองนั้นทำปริตรป้อง
กันภยันตรายฉะนี้แล้ว จึงเสด็จ
เข้าสำเร็จการบรรทมในคูหาซึ่งเป็นที่
อยู่ของตนตามผาสุกด้วยประการฉะนี้ พญานกยูงทอง
นั้น แต่อาศัยฌานสุขอยู่ด้วยอุบายอย่างนี้สิ้นกาลนาน
ครั้นอยู่มาวันหนึ่ง พรานป่าตนหนึ่งได้สัญจรไป
ยังอรัญประเทศ ถึงตำบลนั้น
ได้เห็นพญานกยูงทองจับอยู่ที่ยอดภูเขาชั้นที่ ๔
ครั้นกลับบ้านแล้วได้บอกข้อความ
นั้นแก่บุตรของตนไว้โดยชัดเจน
เมื่อพรานผู้บิดาตายไปแล้ว อยู่มา ณ
กาลภายหลังวันหนึ่ง
พระเทวีของพระเจ้าพรหมทัตทรงพระนามว่าเขมา
พระนางทรงพระสุบินว่า
ได้สดับพระธรรมเทศนาของพญานกยูงทอง
ครั้นตื่นจากบรรทมแล้วจึงทรงจินตนาหาอุบายที่
จะค้นหานกยูงทอง เห็น
อยู่แต่กราบทูลพระราชสามีว่า ตน
เป็นโทหฬนีแพ้พระครรภ์ อยากเสวยเนื้อนกยูงทอง
เป็นกำลัง ถ้าไม่ได้เสวยพระชนม์คงจะสืบต่อไปไม่ได้
ทรงดำริแล้วก็กราบทูลให้ทรงทราบตามเนื้อ
ความนั้น
พระเจ้าพาราณสีเมื่อได้ทรงสดับก็ตกพระทัย จึง
ให้ประชุมมุขมนตรีพราหมณ์ปุโรหิตาจารย์ตลอด
ถึงพรานไพร ถามถึงเรื่องนกยูงทอง
บุตรพรานไพรซึ่งบิดาสั่งไว้
จึงกราบบังคมทูลตามที่ตนได้ฟังมาแต่บิดา
เมื่อพระเจ้าพาราณสี
ได้ทรงฟังก็ทรงพระปราโมทย์
โปรดพระราชทานรางวัลแก่บุตรพรานไพรคน
นั้นเป็นอันมาก แล้วทรงบังคับ
ให้บุตรพรานไพรคน
นั้นไปพยายามดักพญานกยูงทองตัวนั้นมาถวายให้จงได้
..........นายพรานรับพระบรมราชโองการแล้ว
ก็ไปตั้งกองพยายามดักพญานกยูงทองอยู่
ในอรัญประเทศ จนสิ้นเขตอายุก็มิได้สมประสงค์
ฝ่ายพระนางเขมาราชเทวี เมื่อมิ
ได้นกยูงทองสมประสงค์ก็สิ้นพระชนม์ไปตามกาลอันควร
ส่วนพระเจ้าพาราณสีผูกอาฆาตแก่พญานกยูงทอง
จึงทรงจารึกพระสุพรรณบัฏ มีใจความว่า
ในตำบลชื่อโน้นมีนกยูงทองตัวหนึ่งมีอานุภาพมาก
ถ้าใครได้บริโภคเนื้อนกยูงทองตัวนั้น จะ
ไม่มีโรคาพาธ แก่ไข้เจ็บตาย แล้วก็เก็บไว้
ในที่อันสำคัญแห่งหนึ่ง
ครั้นพระเจ้าพาราณสีพระองค์
นั้นสวรรคตล่วงไปแล้ว องค์
ใหม่ครองราชย์สมบัติต่อมา เมื่อ
ได้ทรงอ่านพระอักษรนั้นแล้ว ก็แต่ง
ให้พรานป่าไปดักพญานกยูงทองต่อไป แต่ทำอย่างนั้น
เป็นลำดับมา พระเจ้าพาราณสีล่วงไปถึง ๖
พระองค์แล้ว ก็มิได้พญานกยูงทองสมประสงค์


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ก.ค. 2014, 17:37 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ครั้นพระเจ้าแผ่นดินที่คำรบ ๗
ได้จัดหาบุตรนายพราน
ผู้ฉลาดไปคอยดักพญานกยูงทอง นายพรานคนที่ ๗ นี้
เป็นผู้ฉลาด ไปพิจารณาท่วงทีของพญานกยูงทอง
เห็นสำคัญ คือพญานกยูงทองเหยียบบ่วงแล้วก็
ไม่ติดเท้าของพญานกยูงทองได้ จึงเป็น
ความชัดว่าพญานกนี้มีเวทมนต์กลคาถา
หรือฌานสมาบัติอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นแท้ เพราะ
อยู่แต่ตัวเดียว จำเราจะหาอุบายแก้ไขให้ชอบกล
อะไรจะเป็นเครื่องทำฌานทำศีลและเวทมนต์
ให้เสื่อมได้ ตามที่เราได้ยิน
ได้ฟังมาก็มีแต่มาตุคามอย่างเดียว
เป็นเครื่องทำฌานทำศีล
และเวทมนต์ของโยคาวจรเจ้าทั้งหลายให้เสื่อมได้
จำเราจะแสวงหานกตัวเมียมาฝึกหัด
ให้ชำนาญพิธีมายาล่อลวงเสียก่อน ครั้นดำริ
แล้วก็รีบจัดการฝึกหัดนางนกยูงให้ฉลาด บอก
ได้สั่งได้ตามความประสงค์ของตน
เห็นเป็นผลสำเร็จแล้ว วันหนึ่งตื่นขึ้นแต่เช้า
รีบนำนางนกยูงไปสู่ที่โคจรสถานของพญานกยูงทอง
รีบจัดการดักแร้วในที่อันเหมาะแก่ใจของตนก่อนแต่
ยังไม่สว่าง เมื่อเห็นสมควรจวนพญานกยูงทองจะออก
จากถ้ำ ก็ให้สัญญาณแก่นางนกยูง นางนกยูงก็ร้อง
ด้วยสัททสำเนียงเสียงอันไพเราะ ตามวิสัยมายาของตน
เมื่อพระโพธิสัตว์บินออกจากถ้ำ ยังมิทันจะได้จับยอดภู
เขาสังวัธยายคาถาอย่างทุกวัน พอ
ได้สดับสำเนียงแห่งนางนกยูง กามกิเลส ที่ฌานทับ
ให้สงบอยู่ได้ตั้งแต่ ๗๐๐ ปี
ก็กำเริบฟุ้งซ่านเผาผลาญดวงหฤทัยให้เร่าร้อน
อย่างประหนึ่งว่าอสรพิษอันบุคคลตีลงด้วยท่อนไม้
ไม่อาจยังตนให้มีสติได้ บินไถลถลาลงถึงปฐพี
รีบจรลีเข้าหานางนกยูง
พอหย่อนเท้าเข้าสวมบ่วงแร้วของนายพราน
นายพรานเมื่อได้ทัศนาการ
เห็นพระโพธิสัตว์ห้อยศีรษะอยู่ที่ปลายคันแร้ว
ก็เกิดธรรมสังเวชในใจว่า อนิจจาเอ๋ย !
แต่นายพรานพยายามตายไปถึง ๖ คนแล้ว
แม้ตัวเราก็มาพยายามถึง ๗ ปีล่วงไปแล้ว
การจับพญานกยูงได้ในวันนี้ ก็
เพราะพญานกยูงเสียสติลืมอาคมของตน
เพราะลุอำนาจแห่งกามกิเลสเป็นเหตุ
ด้วยนางนกยูงตัวนี้ทีเดียวจึงมิได้เจริญปริตรมนต์
มาบันดาลติดบ่วงห้อยศีรษะอยู่ ณ บัดนี้
ด้วยอำนาจธรรมรักขาของพระบรมโพธิสัตว์
บันดาลจิตของนายพรานให้เกิดความกรุณา
เป็นอย่างยิ่ง จึงคิดว่าผู้มีศีลมีธรรมเห็นปานนี้ เรา
ได้ทำให้ลำบากแล้ว ไม่ควรที่เราจะนำ
ผู้ทรงคุณเห็นปานนี้ไปถวายเพื่อประโยชน์แก่ทรัพย์ที่
จะพระราชทาน จำเรา
จะปล่อยพญานกยูงเสียดีกว่า
แล้วกลับหวนคิดต่อไปอีกว่า ถ้าเราจะเข้าไปจับแก้
ปล่อยบัดนี้ พญานกยูงก็จะตกใจจะดิ้นด้วยกำลังแรง
ปีกและเท้าก็จะขาดจะหัก อย่ากระ
นั้นเลยเราตัดสายแร้วด้วยลูกธนูดีกว่า คิด
แล้วก็ยืนแอบ โก่งลูกธนูหาโอกาสที่จะยิงอยู่
พอพระบรมโพธิสัตว์เหลือบไปเห็นเช่นนั้น
เข้าใจว่าพรานจะยิงตน จึงร้องบอกแก่นายพรานว่า
แน่ะสหาย ท่านจับเอาตัวของเราทั้ง
เป็นไปถวายพระราชา เห็นว่าจะ
ได้รางวัลพระราชทรัพย์มาก ดีกว่า
จะเอาตายไปถวาย เมื่อพรานไพรได้สดับ
จึงตอบไปทันทีว่า เราตั้งใจจะตัดบ่วงที่เท้าของท่าน
ด้วยลูกธนูปล่อยให้ท่านไปโดยสวัสดี มิได้มี
ความหวังที่จะประหารชีวิตของท่านโดย
ความบริสุทธิ์ใจ
พระโพธิสัตว์จึงตรัสตอบไปว่า แน่ะสหาย
ท่านอุตส่าห์พยายามติดตามเรามาด้วย
ความเหนื่อยยากลำบากกายถึง ๗ ปีแล้ว เมื่อ
ให้เราตกอยู่ในอำนาจของตนแล้ว เหตุไฉนจึงคิด
จะปล่อยตัวเราผู้สิ้นอำนาจเสียเล่า วันนี้ท่านเว้นจาก
ปาณาติบาต ให้อภัยชีวิตแก่สัตว์ทั่วไปแล้วหรือ ?
พรานถามว่า การเว้นจาก ปาณาติบาต
ให้อภัยชีวิตแก่สัตว์ทั้งหลายจะมีประโยชน์อย่างไร


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ก.ค. 2014, 18:05 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


พระโพธิสัตว์ตอบว่า ผู้ให้อภัยแก่สัตว์
ไม่เบียดเบียนสัตว์ จะได้รับความสุขและ
ความสรรเสริญในโลกนี้ เมื่อตายจากโลกนี้แล้ว
จะได้เสวยทิพยสมบัติในสวรรค์
พรานตอบว่า เราได้ฟังมาว่า นรกไม่มี สวรรค์ไม่มี
โลกอื่นไม่มี บุญไม่มี บาปไม่มี ทำบุญไม่ได้บุญ ทำบาป
ไม่ได้บาป ตายแล้วก็สูญไปเท่านั้น เหตุไฉนท่าน
จึงกล่าวว่า ผู้ไม่ฆ่าสัตว์ ตายแล้วจะไปบังเกิด
ในสวรรค์เล่า
พระโพธิสัตว์จึงตรัสว่า แน่ะสหาย
ข้อที่ท่านว่าสวรรค์ไม่มีนั้น ข้อนี้เราอย่าพูดกัน
ถึงเบื้องหน้าแต่ตายแล้วไปเลย เพราะขาดพยาน
เราดูหมู่มนุษย์ในปัจจุบันนี้เป็นเครื่องเทียบเคียงแล้ว
วินิจฉัยด้วยปัญญาของตนดีกว่า
มนุษย์บางพวกมีรูปร่างวิกลวิการเลวทราม
น่าพึงเกลียด
ยากจนเข็ญใจไร้ทรัพย์อับปัญญาใบ้บ้าเสียจริต
ได้รับแต่ความติฉินนินทา หาความสุขกายสบายจิตได้
โดยยาก ลำบากจนวันตายอย่างนี้ก็มีอยู่ บางจำพวก
มีรูปร่างสะอาดสดใส มีสติปัญญาวิชาความฉลาด
มั่งคั่งด้วยโภคทรัพย์ และเกียรติยศ บริวารยศ
อิสริยยศปรากฏด้วย
ความสรรเสริญเพลิดเพลิน อยู่
ด้วยกามสุขอย่างนี้ก็มีอยู่มิใช่หรือ เมื่อทุกข์สุข
เป็นของปรากฏอยู่อย่างนี้ ทุกข์ก็
เป็นเครื่องหมายของนรก สุขก็
เป็นเครื่องหมายของสวรรค์ จะเห็นว่านรก
ไม่มีสวรรค์ไม่มีอย่างไรได้
ที่ท่านได้ฟังมาว่าโลกอื่นไม่มีนั้น พระจันทร์
พระอาทิตย์ จะว่าโลกอื่นได้หรือไม่
ถ้าเห็นว่าพระจันทร์ พระอาทิตย์เป็นโลกอื่นแล้ว
จะว่าโลกอื่นไม่มีอย่างไรได้
ที่ท่านได้ฟังมาว่า บุญไม่มีบาปไม่มี ทำบุญไม่ได้บุญ
ทำบาปไม่ได้บาปนั้น
พระราชามหาอำมาตย์เศรษฐีคฤหบดีทั้งหลาย
ท่านงดเว้นจากเวร ๕ คือ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์
ประพฤติมิจฉาจาร กล่าวมุสา เสพสุราได้แล้ว
ตั้งหน้าทำมาหาเลี้ยงชีพโดยสุจริต
เป็นสัมมาอาชีโวสมบูรณ์บริบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์
ตั้งบ้านเรือนถิ่นฐานมั่นคง บันเทิงอยู่ด้วยกามสุข ชั้นแต่
จะไปโน้นมานี้ ก็มีคนแห่ล้อมไปด้วยยวดยานรถเกวียน
เป็นต้น จะว่าเป็นผลของความประพฤติดีได้ดี ได้หรือ
ไม่
ที่ท่านกล่าวว่าได้ฟังมาว่าทำบาปไม่ได้บาปนั้น
ก็ตัวของท่านเองที่ตั้งหน้าเป็นพราน มาตั้งกองพยายาม
จะจับตัวของเรานี้ อยู่ในอรัญประทศนี้ถึง ๗ ปีแล้ว
และมีเจตนาจะฆ่าสัตว์อยู่ทุกเมื่อ ดักแร้วบ้าง
ฟ้าทับเหวบ้าง แทงบ้าง ยิงบ้าง ใจปราศ
จากเมตตากรุณา ในระหว่างกาลเพียง ๗ ปีมานี้ ท่าน
ต้องอดข้าวบ้าง อดน้ำบ้าง อดเปรี้ยว อดหวานบ้าง
อดหลับอดนอนบ้างในระหว่าง
ถ้าจะเทียบความสุขของท่านกับ
ความสุขของเศรษฐีคฤหบดีดังที่กล่าวแล้วนั้น ก็
จะเห็นได้ว่าความสุขของท่านผู้เป็นพรานป่ามีน้อยที่สุด
สู้ความสุขของพวกที่ท่านไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตไม่ได้ไม่ใช่
หรือ ที่ท่านต้องตากแดดทนฝนหิวข้าวกระหายน้ำ
ตรากตรำลำบากอยู่ทุกวันนี้ ก็
ด้วยอำนาจแห่งการทุจริตมีปาณาติบาตเป็นต้นไม่ใช่
หรือ จะเห็นว่าทำบุญไม่ได้บุญ ทำบาปไม่
ได้บาปอย่างไร ?


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ก.ค. 2014, 18:11 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ที่ท่านได้ฟังมาว่า ตายแล้วก็สูญไปนั้น ข้อนี้ต้องคิดดู
ให้ดี ถ้าท่านจะคิดความข้อนี้ ท่านต้องคิดดูตัวที่
เป็นปัจจุบันนี้เป็นพยาน คือที่ตัวของเรานี้
นับแต่เกิดมาจนบัดนี้ ส่วนที่สูญไปก็สูญไปอยู่เสมอ ส่วนที่
ยังอยู่ก็ยังอยู่เสมอ ส่วนที่ไม่ใช่สูญไปไม่ใช่ยังอยู่ คือไม่
เป็นไปตามสมมติของใคร เคยเป็นอยู่อย่างไรก็เป็น
อยู่อย่างนั้นก็มีอยู่เสมอ จะว่าอะไรสูญไป
ก็ดินน้ำลมไฟนั้นเอง จะว่าอะไรยังอยู่ ก็ดินน้ำลมไฟ
นั้นเอง จะว่าอะไรไม่ใช่สูญไปไม่ใช่ยังอยู่
ก็ดินน้ำลมไฟนั้นเอง แต่ไม่ใช่ดินน้ำไฟลม ได้ใจ
ความว่า
สิ่งที่สูญไปก็ดี สิ่งที่ยังอยู่ก็ดี ก็เป็นชาติแห่งสังขาร
บรรดาสังขารแล้วย่อมเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ทั่วไป เมื่อท่านรู้เท่าสังขารชัดใจเมื่อไร
ท่านก็จักเห็นธรรมที่เป็นวิสังขาร ซึ่ง
เป็นธรรมธาตุ ธรรมฐิติ ธรรมนิยาม เมื่อนั้น
ท่านก็จักสิ้นสงสัยในข้อที่ว่าตายแล้วสูญไป
ด้วยอำนาจของสัมมาทิฏฐิญาณทัสสนะโดยแท้
พระบรมโพธิสัตว์ห้อยเศียร
อยู่ที่คันแร้วเทศนาแก่พรานไพร
เมื่อพรานไพรฟังไป ๆ ตรองตามจน
ถึงยกจิตขึ้นสู่พระไตรลักษณะญาณ จิตก็หลุดพ้น
จากอาสวะกิเลสสำเร็จปัจเจกโพธิญาณ
มีอาการดังพระเถระได้ ๖๐ พรรษา ขณะ
นั้นบ่วงก็หลุดจากเท้าแห่งพระบรมโพธิสัตว์ สัตว์
ทั้งหลายที่นายพรานให้ถูกที่ดักที่ขังไว้ในที่นั้น ๆ
ก็หลุดพ้นจากที่ดักที่ขัง ได้ไปยังที่อยู่ของตนตาม
ความสำราญ ส่วนพระปัจเจกโพธิ
นั้นก็สรรเสริญชมเชยแสดง
ความเคารพแก่พระบรมโพธิสัตว์แล้วก็ลาไป
เขาคันธมาทน์ ส่วนพระบรมโพธิสัตว์ก็บินไปคูหาสถาน
ซึ่งเป็นที่อยู่ของตนตามผาสุกภาพ ตราบเท่าสิ้นชีวิต
ด้วยประการฉะนี้
ภิกษุผู้เป็นห่วงทรัพย์เป็นห่วงกามารมณ์ มี
ความกระสันอยากสึกนั้น
นั่งฟังพระธรรมเทศนาตรองตาม
พอจบพระธรรมเทศนาลง ก็
ได้บรรลุพระอรหัตผล เป็นขีณาสวะบุคคล
ในพระบวรพุทธศาสนา เมื่อสมเด็จพระ
ผู้ทรงพระภาคเจ้า ได้ยังพระธรรมเทศนาเรื่องนี้
ให้จบลง มหาชนเป็นอันมาก
ได้บรรลุธรรมาภิสมัย แสดงมาในโมรชาดก
โดยรวบรัดตัดใจความ พอสมควรแก่กาลสมัย
ก็ยุติลงแต่เพียงนี้.
............................


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 6 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ธรรมโฆษ และ บุคคลทั่วไป 26 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร