วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 14:35  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง





กลับไปยังกระทู้  [ 10 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ก.ค. 2014, 04:47 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

สุภาษิตโลกานุวัตติธรรม

(เรียบเรียงเมื่อเป็นพระราชกวี พ.ศ. ๒๔๕๖)

คำนำ
การที่จะได้เรียบเรียงหนังสือเล่มนี้ ข้าพเจ้ามีโอกาสอันดี
ได้ออกไปเที่ยวตากอากาศเพื่อวิเวกด้วย ไปได้ถ้ำที่
เขาพระงาม ตำบลธรณี อำเภอสระโบสถ์
แขวงจังหวัดลพบุรี เป็นที่สำราญ แต่ที่นั้นนับว่า
เป็นเจติยสถานของประชาชนในบริเวณนั้นอยู่เดิม
คือตามถ้ำมีพระพุทธรูปชำรุดหักพังอยู่เป็นอันมาก
ถ้าก่อพระพุทธรูปแทนพระเจดีย์ บรรจุพระพุทธรูปเก่า ๆ
เห็นจะเป็นการเรียบร้อยดี
และประสบสมัยกึ่ง ๕,๐๐๐ แห่งพุทธกาลด้วย เหมาะกับ
ความดำริเดิมดังที่ได้พรรณนาไว้
ในคำนำแห่งหนังสือธรรมรัตนกถานั้น จึง
ได้เริ่มสร้างพระพุทธรูปด้วยคอนกรีตบนไหล่เขาพระงาม
โดยกว้างหน้าตัก ๑๑ วา โดยส่วนสูง ๑๗ วา ๒ ศอก
ดูก็สง่าผึ่งผายดี ได้ลงมือก่อฤกษ์แต่วันที่ ๑๒ ธันวาคม
ร.ศ. ๑๓๑ ตรงกับวัน ๕ เดือนอ้าย ขึ้น ๔ ค่ำ มาถึงเดือน ๔
เพ็ญ เทคอนกรีตถึงพระศอ ได้ทำการฉลองครั้งหนึ่ง
ในเดือน ๕ ร้อนจัดหยุดงานเดือนหนึ่ง ถึงเดือน ๖
เริ่มทำงานต่อมา ถึงเดือน ๑๐ จึงสำเร็จ เป็นอันทำงาน ๙
เดือน สำเร็จบริบูรณ์ สิ้นเงิน ๖๐,๐๐๐ บาทเศษ
ถวายพระนามว่า พระพุทธปฏิภาคมัธยมพุทธกาล หมาย
ความว่า สร้างไว้เป็นที่ระลึกในปีครบ ๒,๕๐๐
กึ่ง ๕,๐๐๐ แห่งพุทธกาล นับแต่ตรัสรู้มา
ในระหว่างการที่สร้างพระอยู่นั้นราษฎรชาวบ้าน
โดยรอบมาช่วยขนศิลา ขนทราย ขนปูน
และเครื่องไม้เครื่องเหล็กต่างๆ โดยเต็มศรัทธา
และกำลังของตน ๆ พร้อมด้วย
ความปีติยินดีน่าดูน่าชมมาก แต่บางพวก
ยังประพฤติทุจริตคิดเบียดเบียนซึ่งกันและกัน
โดยอาการต่าง ๆ มีอยู่โดยมาก
เมื่อกระทบเหตุดีและชั่วทั้ง ๒ ฝ่ายขึ้นเช่นนั้น ได้ดำริ
อยู่เสมอว่า คนเหล่านี้แต่ล้วนเป็นพวกถือพุทธศาสนาทั้ง
นั้น การประพฤติทุจริตนั้น เพราะไม่มี
ผู้แนะนำสั่งสอนทางกตัญญูกตเวที จึงขาดเมตตากรุณา
ในเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ถ้ามีโอกาส ควร
จะแต่งหนังสือแสดงกตัญญูกตเวทีพิมพ์แจกกัน
เห็นจะมีประโยชน์แท้
บัดนี้ได้โอกาส คุณหญิงนิ่มเริ่มจะทำบุญ ๑๐๐ วัน
ท่านพระไกรเพ็ชรฯ ขอ
ให้ข้าพเจ้าเรียบเรียงหนังสือสักเรื่องหนึ่ง พิมพ์ในงานนั้น
เป็นส่วนธรรมทาน ข้าพเจ้าถามว่าจะแต่งเป็นสุภาษิต
แสดงคดีโลกมากๆ หน่อยจะพอใจหรือไม่
ท่านก็รับรองยินดีด้วย จึงได้เรียบเรียง
ส่วนโวหารสูงบ้างต่ำบ้างหยาบบ้างละเอียดบ้างนั้น
ประสงค์จะให้เหมาะกับประเทศและบุคคลผู้จะรับจะอ่าน
จะฟัง เจตนาจะไว้แจกคนชาวบ้านป่า
ในงานฉลองพระพุทธปฏิภาคมัธยมพุทธกาล เดือน ๔
เพ็ญในปี พ.ศ. ๒๔๕๖ นี้
ขอประโยชน์ที่ข้าพเจ้าจำนงนั้น จงเป็นผลสำเร็จแต่ท่าน
ผู้อ่านผู้ฟังตลอดกาลทุกเมื่อ ขออุทิศกุศลที่
ได้เรียบเรียงหนังสือนี้ ด้วยเจตนาอันดี
จงเป็นผลสำเร็จแต่ท่านพระยาไกรเพ็ชร์รัตนสงคราม
ตามกาลอันสมควรเทอญ.


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ก.ค. 2014, 05:02 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


สุภาษิตโลกานุวัตติธรรม
นมตฺถุสฺส ภควโต ทีปํ โลกสฺส ภาสิสฺสํ
อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ กเรยฺย อตฺตทีปกํ
อตฺตานญฺเจ ปิยํ ญตฺวา รกฺเขยฺย นํ สุรกฺขิตนุติ.
..........ความนอบน้อมนมัสการของข้าพเจ้า จงมีแด่พระ
ผู้มีพระภาคองค์อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้
เป็นพระบรมศาสดาอันประเสริฐพระองค์นั้น
ครั้นข้าพเจ้านอบน้อมนมัสการพระรัตนตรัย
มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธานแล้ว จักภาษิต
ซึ่งธรรมเพียงดังเกาะและฝั่งอัน
เป็นที่พึ่งแก่สัตว์โลกตามพระพุทธนิพนธภาษิต
และอัตโนมัตยาธิบาย มีเนื้อความดังจักบรรยายต่อไปนี้
ตามพระพุทธภาษิตว่า “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ” ได้เนื้อ
ความว่า ตัวของเรานี้เอง เป็นที่พึ่งแก่ตนแท้ “กเรยฺย
อตฺตทีปกํ” บุคคลผู้ฉลาดเมื่อเห็นว่าตนเป็นที่พึ่งแก่ตน
ก็พึงทำตนนั่นแล ให้เป็นเพียงดังเกาะหรือฝั่ง ให้
เป็นที่พึ่งพิงแก่ตน “อตฺตานญฺเจ ปิยํ ญตฺวา รกฺเขยฺย นํ
สุรกฺขิตํ” บุคคลผู้เป็นบัณฑิต ถ้าหากพึงรู้ว่าตนนี้เอง
เป็นที่รักของตนไซร้ ก็พึงรักษาซึ่งตนนั้นแหละ ให้
เป็นอันรักษาแล้วด้วยดี ได้เนื้อความ
โดยย่อตามพระพุทธภาษิตดังนี้
..........ต่อนี้จักอธิบายพระพุทธภาษิตนั้นโดยอัตโนมัติ
เพื่อเป็นทางบำรุงสติปัญญาของผู้อ่านผู้ฟัง เพราะคำว่า
ตัวของตัวเป็นที่พึ่งแก่ตัวนี้เป็นข้อสำคัญนัก
ผู้อยากรู้ตัวตนพึงเห็นความดังจะบรรยายต่อไปนี้ เพราะ
ในที่มาต่าง ๆ ท่านแสดงแต่อนัตตาไม่ใช่ตัวตนทั้งสิ้น
แต่มีเงื่อนสะกิดหัวใจที่จะให้เกิดความคิดอยู่หน่อยหนึ่งว่า
ธรรมทั้งสิ้นไม่ใช่ตัวตน
คำที่ว่าธรรมทั้งสิ้น ท่านหมายรูปธรรมนามธรรม คือ ขันธ์
ธาตุ อายตนะ ได้แก่สกลกายนี้เอง ว่าบังคับมันไม่ได้ คือ
ไม่อยู่ใต้บังคับของผู้ใด แม้ใครจะบังคับว่ารูปจง
เป็นอย่างนี้ นามจงเป็นอย่างนี้ ขันธ์จงเป็นอย่างนี้ ธาตุจง
เป็นอย่างนี้ อายตนะจงเป็นอย่างนี้ ข้อนั้นไม่สมประสงค์
คือเราบังคับว่าอย่าสูง อย่าต่ำ อย่าขาว อย่าผอม อย่าพี
อย่าแก่ อย่าไข้ อย่าตาย ดังนี้ ย่อมไม่สำเร็จตามประสงค์
ได้ เพราะเหตุใด เพราะเหตุสิ่งเหล่านั้นเป็นอนัตตาไม่
ใช่ตัวตน คืออาศัยคำที่ว่าบังคับไม่ได้จึงไม่
ใช่ตัวตนนี้แหละ
พึงกำหนดคำนั้นไว้ให้ดี คือว่าสกลกายนี้แหละ
ส่วนที่เราบังคับไม่ได้ ท่านหมายความว่าไม่ใช่ตัวตน
แต่พึงเห็นความตรงกันข้ามอีกวาระหนึ่ง คือว่า
ในสกลกายนี้ ส่วนที่เราบังคับได้มีอยู่ ดังมือเราบังคับ
ให้จับให้ถือสิ่งใดเขาก็ทำตาม หรือเท้าเราบังคับให้เดิน
ให้วิ่งเขาก็ทำตาม ตาเราบังคับให้ดู หูเราบังคับให้ฟัง
จมูกเราบังคับให้ดม ลิ้นเราบังคับให้ลิ้มรส กายเราบังคับ
ให้แบกให้หามให้นั่งนอน ใจเราบังคับให้นึกให้คิด
เขาก็ทำตาม เราใช้ตามหน้าที่ของเขาได้ทุกอย่าง ส่วนที่
ใช้ได้นี้แหละ ควรจะหมายความว่าของของตน
ในเมื่อตนมีอำนาจจะบังคับได้ แต่ไม่ใช่ตน ผู้ที่
ใช้นั่นแหละชื่อว่าตนหรือตัว
ตัวตนนี้แหละเป็นของสำคัญมาก ความดีหรือความชั่ว
จะเกิดขึ้นก็เพราะตัว ผลของความดีหรือความชั่วคือ
ความสุขและความทุกข์ ตัวตนนี้แหละจะต้องเป็นผู้เสวย
เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระบรมศาสดา
จึงตรัสสอนไว้ว่า “กมฺมสฺสโกมฺหิ” เรามีกรรม
เป็นของของตน ดังนี้ อัตตากับอนัตตาติดกันอยู่ คือผู้ใช้
ผู้เห็นอนัตตานั่นแหละชื่อว่าอัตตา
อนัตตาเปรียบเหมือนเรือ อัตตาเปรียบเหมือนคนผู้อาศัย
อยู่ในเรือ เรือนั้นจะทำประโยชน์ให้สำเร็จ ก็เพราะคน
ผู้อาศัยฉลาด ถ้าคนผู้อาศัยเรือเป็นผู้ไม่ฉลาด ก็อาจจัก
เป็นอันตรายได้ในเหตุภัยต่าง ๆ ข้อนี้ฉันใด ส่วนอัตตาถ้า
เป็นผู้ฉลาดแล้ว ก็อาจจักนำอนัตตาให้ถึงที่สุนทรสถาน
ได้ตามประสงค์ ถ้าอัตตาไม่ฉลาด
ก็อาจจักนำอนัตตาไปสู่ทุคติสถานได้ทุกประการ ควร
จะเห็นอัตตาเป็นของสำคัญ เพราะเลือกใช้อนัตตา
ได้ตามกิจที่ควร รวมอัตตากับอนัตตาเข้าด้วยกัน
ชื่อว่าสัตว์ว่าบุคคลว่าตนว่าตัวโดยสมมติ พึงเข้าใจดังนี้
..........ในข้อว่า ตัวเป็นที่พึ่งแก่ตัว หรือคำว่าถ้ารู้ตัว
เป็นที่รักของตัว ก็พึงรักษาตัว แสวงหาที่พึ่งแก่ตัวดังนี้
ก็แต่ที่พึ่งอันบุคคล ๆ หนึ่ง จะพึงได้จะพึงถึงนั้น ท่านจัด
ไว้เป็น ๔ ประเภท คือมารดาบิดา ๑ ครูอาจารย์ ๑
พระเจ้าแผ่นดินและมหาอำมาตย์ ๑ พระพุทธเจ้าผู้
เป็นพระบรมครู ๑ สี่เหล่านี้ชื่อว่าสรณะคือที่พึ่ง
ส่วนมารดาบิดานั้นท่านจัดเป็นบุพการีของบุตรและธิดา
ครูอาจารย์ เป็นบุรพการีของอันเตวาสิกและสัทธิวิหาริก
พระเจ้าแผ่นดินและมหาอำมาตย์เป็นบุรพการีของราษฎร
พระพุทธเจ้าเป็นบุรพการีของพุทธบริษัท บุรพการี
แปลว่า ผู้ทำอุปการกิจก่อน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ก.ค. 2014, 12:43 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


..........จะอธิบายมารดาบิดากับบุตรก่อน ในข้อนี้มักมี
ผู้ถามกันอยู่ว่า มารดากับบิดาใครจะมีคุณมากกว่ากัน
ในบาลีประเทศแทบจะทุกแห่งมีแต่ว่า “มาตาปิตโร”
ยกมารดาไว้หน้า ดูเหมือนจะให้สัญญาว่า
มารดามีอุปการะแก่บุตรมาก ถ้าเรา
จะวินิจฉัยยกพวกมากขึ้นกล่าว
ต้องเห็นว่ามารดามีน้ำหนักมาก เพราะเป็นผู้ได้รับ
ความลำบาก ตั้งแต่บุตรยังอยู่ในอุทรเป็นต้นมา จน
ถึงบุตรทำธุระคืออุจจารกิจปัสสาวกรรมได้เอง นับด้วยปี
ไม่ใช่นับด้วยเดือน มารดาต้องเป็นธุระมาก การหัดพูด
จากิริยาท่าทางทุกสิ่งทุกอย่าง ออกจะ
เป็นหน้าที่ของมารดาโดยมาก
ส่วนบิดานั้นก็ไม่ใช่น้อย คือเป็นผู้หาเหยื่อมาเลี้ยง
เป็นข้อสำคัญ
แต่ชั้นสูงกษัตริย์มหาศาลพราหมณ์มหาศาล
คฤหบดีมหาศาล บิดามักถือเอาเป็นเจ้าของโดยมาก
มารดาเป็นแต่เพียงผู้กก ผู้คลอดให้เท่านั้น ต่อไปมัก
เป็นหน้าที่ของบิดาแทบจะทั่วไป แต่ประเภทนี้มีโดยน้อย
ในโลก ควรจะถือเอาอุปการกิจเป็นประมาณว่า มีคุณมาก
หรือมีคุณน้อย ผู้ใดทำอุปการกิจให้เมื่อเราทำธุระเองไม่
ได้ ดังเมื่อเรายังเป็นทารกหรือป่วยไข้เป็นต้น ก็ควรถือผู้
นั้นว่ามีคุณเสมอมารดาบิดาเหมือนกัน ควรจะเรียกได้ว่า
เป็นบุรพการีโดยแท้
คนทั่วโลกควรรู้สึกตนว่า เป็นบุตรของเขามาแล้วด้วยกัน
และควรรู้สึกว่าเราเป็นคนโตมาเองไม่ได้ ต้องอาศัย
ความประคบประหงมพอกพูนเลี้ยงดูของท่านผู้อื่นมาแล้ว
และควรจะรู้จักธรรมดา คือธรรมดาของมารดาบิดา
คือสามีภรรยาต้องรักกัน ธรรมดาของมารดาบิดา
ต้องรักบุตร ธรรมดาของมารดาบิดาต้องเลี้ยงบุตร
ต้องเกื้อกูลอุดหนุนแก่บุตร
ธรรมดาของบุตรต้องรักมารดาบิดาและ
ต้องเคารพมารดาบิดา และต้องตั้งอยู่ใน
ความประสงค์ของมารดาบิดา และ
ต้องเกื้อกูลอุดหนุนเลี้ยงดูมารดาบิดาตามชั้นตามภูมิตาม
ความสามารถของตน ตอบแทนคุณที่ท่านเลี้ยงเรามา
ถึงแม้ต้องพลัดพรากจากกันไปสู่ประเทศอื่นด้วยความจำ
เป็น เมื่อเราทำมาหาได้ก็ฝากข้าวของเงินทองไปให้
ใช้สอยแทนตัว เว้นแต่ชั้นมารดาบิดามั่งมีบริบูรณ์ ท่านไม่
ต้องการจะให้เราเลี้ยง มีแต่ท่านเกื้อกูลเราโดยส่วนเดียว
ถ้าอย่างนั้นท่านมีประสงค์จะให้เราประกอบกิจอันใด
เราตั้งใจทำกิจอันนั้นให้สำเร็จตามประสงค์ของท่านได้
ก็ชื่อว่าเป็นอันตอบแทนคุณของท่านเหมือนกัน ถ้าเราทำ
ให้เต็มความประสงค์ของท่านไม่ได้ ก็ชื่อว่า
เป็นคนอกตัญญูใหญ่หลวงทีเดียว
..........เมื่อกล่าวมาถึงเพียงนี้ ก็มาระลึกถึงชั้นผู้
เป็นมารดาบิดาของบุตร เราต้อง
เข้าใจว่าธรรมดาของบุรุษสตรี จะต้อง
เป็นมารดาบิดาของบุตรด้วยกันแทบทุกคนก็ว่าได้
ถึงแม้เราไม่ได้คลอดเอง ก็ยังมีทางที่จะมีบุตร
ได้หลายทาง เพราะเหตุนั้น เราควรจะรู้จักธรรมอันดี
สมควรจะเป็นที่ตั้งแห่งความเคารพของบุตรและธิดาไว้
ด้วยกันจึงจะชอบ
มารดาบิดาเปรียบเหมือนต้นไม้ บุตร
และธิดาเปรียบเหมือนเถาวัลย์ ถ้าต้นไม้ใหญ่สูงซื่อตรงดี
เถาวัลย์ก็เลื้อยซื่อตรงสูงยาวขึ้นไปตาม
ถ้าต้นไม้คดงอกูดจังเตี้ยต่ำ
เถาวัลย์ก็คดงอเตี้ยต่ำตามต้นไม้ที่ตนอาศัย
ข้ออุปมานี้ฉันใด บุตรและธิดาก็จะเป็น
ผู้รับนิสัยของมารดาบิดา มีอุปไมยฉันนั้น
ตามแบบของโลก เขานิยมบุรุษเป็นใหญ่ ตามบาลีว่า “
สามิโก” แปลว่าผัวคือผู้เป็นเจ้าของ ฝ่ายสตรีนั้นว่า “
ภริยา” แปลว่าเมีย คือผู้เลี้ยงผัวหรือจะว่าผู้ผัวเลี้ยงก็ตาม
ก็คงได้ความว่าผัวเป็นเจ้าของ ถึงหนังสือที่กล่าว
ถึงชั้นสวรรค์ ก็มีแต่ว่านางเทพธิดา
เป็นบริวารของพระอินทร์ หรือเป็นบริวารของเทพบุตร
ถึงในชั้นมนุษย์ก็มีแต่ว่านางนักสนม มีรัตนนารีมเหสี
เป็นประธานเป็นบริวารของพระเจ้าจักรพรรดิราช
ถึงพระโลกนาถผู้เป็นพระบรมครูอันอุดมเอกในโลก
หรือพระปัจเจกโพธิ ก็ล้วนแต่เป็นบุรุษ จึงเห็น
ความว่าโลกนิยมบุรุษว่าเป็นคนชั้นสูง
ส่วนนี้ว่าตามแบบของโลกที่เป็นอดีตใช้กันมานมนาน
เพราะสตรีแต่ก่อนมีหน้าที่เพียงเลี้ยงบุตรและทำกิจการ
ในบ้านเรือน มีตักน้ำตำข้าวต้มหุงและปั่นด้ายทอไหม
เป็นต้น การเบา ๆ อยู่ร่ม ๆ เท่านั้น เพราะเหตุนั้น สตรี
จึงเลยเป็นชาติอ่อนแอมาจนทุกวันนี้
แต่สมัยนี้บุรุษฉลาดมาก
ถือเอางานของสตรีมาทำจนหมด
เป็นต้นว่าตำข้าวตักน้ำทอด้ายทอไหมทุกสิ่ง ๆ ไป
สตรีรู้สึกตัวว่าไม่มีงานทำ จึงพา
กันเร่งรีบเล่าเรียนศิลปะวิทยาต่าง ๆ
ตามที่ทราบข่าวบางประเทศ ดูเหมือนฝึกหัดเพลงทหาร
กันขึ้นบ้างแล้ว
ถ้าสตรีมีความฉลาดเท่าทันกับบุรุษทั่วโลกในกาลใด
เราก็เห็นความว่าโลกต้องแตกเมื่อนั้น เพราะเหตุไร
เพราะไม่มีผู้เฝ้าบ้าน เมื่อทราบความเช่นนั้นแล้ว
พวกเราอย่าเพ่อปล่อยตัวตามเขาให้เต็มที่เลย เลือก
ใช้แต่ที่เหมาะกับสมัย ส่วนแบบโบราณที่ดีก็ควรรักษาไว้
ดังแบบสามีภรรยา
ภรรยาที่ดีย่อมมีคลองวัตรอันดีแก่สามีของตน สมควรดี
อยู่แล้ว
เพราะเหตุนั้น เมื่อสตรีได้สามีตามชั้นตามภูมิของตน จะดี
หรือชั่วประการใด ก็พึงเข้าใจว่าสามีเป็นใหญ่
อย่าหมิ่นประมาท อย่ากล่าวคำหยาบคาย อย่าล่วงเกิน
ด้วยประการทั้งปวง อย่าวางอำนาจ
ใช้สามีเหมือนอย่างบ่าวเหมือนอย่างทาส ให้มี
ความเคารพยำเกรง ถึงแม้ตนเป็นคนมีชาติสกุลสูง
มีทรัพย์สมบัติมากและฉลาดคล่องแคล่วกว่า
ก็พึงจัดพึงทำไปตามหน้าที่ของภรรยา
ยกย่องเชิดชูสามีของตนไว้เสมอ อย่างนี้จึงจะ
ไม่ผิดแบบอันดีของโลก
ซึ่งภรรยาทำดีต่อสามีนั้น จะเป็นคุณ
เป็นประโยชน์แก่สกุลโดยยืดยาว เพราะสตรีเป็น
ผู้เลี้ยงบุตรมากกว่าบุรุษ ถ้าหากว่าเป็นคนปากกล้าใจแข็ง
ไม่แสดงความเคารพต่อสามี บุตรและธิดาจัก
เป็นคนเลวทรามว่ายากสอนยาก
ดื้อด้านตามนิสัยของมารดา ถ้าบุตรเป็นเสียเช่นนั้น
ก็ชื่อว่าตนทำลายวงศ์สกุลของตนให้เสื่อมทราม
ในข้อนี้ขอให้ท่านแหงนหน้าขึ้นเหลียวแลทิศ
ใต้ทิศเหนือแห่งมนุษยโลก ก็จักจับตัวพยานได้
การที่ตั้งใจรักษาสุจริตธรรมในโลก คือรักษากายกรรม
วจีกรรม มโนกรรม ให้พ้นจากโทษที่โลกเขาติเตียน
นั้นแหละ ชื่อว่า อัตตสัมมาปณิธิ ตั้งตนไว้ในที่ชอบ
การตั้งตนไว้ในที่ชอบก็คือบำรุงบุตรและหลาน
ยังวงศ์สกุลของตนให้เจริญถาวร เพราะว่าเมื่อบุตร
เป็นคนดีได้แล้ว ก็อาจจักตั้งตนอยู่ในกตัญญูกตเวที
เป็นที่พึ่งแก่มารดาบิดาได้ ก็คือตรงกับพุทธภาษิตว่า “
อัตตา หิ อัตตโน นาโถ” ตนของตนเป็นที่พึ่งแก่ตนนั้นเอง
..........ฝ่ายผู้เป็นสามีก็จะต้องรู้จักตนว่า ตนเป็นสามี
เป็นเจ้าของของเขา หน้าที่เจ้าของ
จะปกปักรักษาโภคทรัพย์ของตนให้ตั้งมั่น และ
ให้เจริญยิ่งขึ้น จะต้องประพฤติตนอย่างไร
ข้อ ๑ จะต้องมีอธิษฐาน คือความตั้งใจว่าเรา
จะประพฤติดีอย่างนี้ เราจักเป็นคนซื่อตรงต่อภรรยา
ไม่หมิ่นประมาท ให้เกียรติยศและความยกย่องอย่างนี้ ๆ
เราจักบำรุงบุตรและธิดาให้เจริญด้วยคุณวุฒิอย่างนี้ ๆ
เราจักบำรุงโภคทรัพย์ให้ตั้งมั่นและให้เจริญ
ด้วยวิชาการอย่างนี้ ๆ
ข้อ ๒ จะต้องมีสัจจะ คือรักษาความจริงตามที่ตนตั้งใจนั้น
ให้มั่นทุกประเภท คือกายกรรมก็ให้จริง วจีกรรมก็ให้จริง
มโนกรรมก็ให้จริง คืออย่าเป็นคนเหลาะแหละเหลวไหล
ต่อหน้าฉันใด ลับหลังก็ฉันนั้น อย่าให้
เป็นดังคำโบราณท่านว่า หน้าไหว้หลังหลอก ต่อหน้า
เป็นผลพลับ ลับหลังเป็นผลตะโก อย่าเปิดทาง
ให้ภรรยาหมิ่นประมาทได้
ข้อ ๓ ให้มีวิริยะ คือความเพียรอันกล้าหาญ ในกิจการงาน
ทั้งปวง อย่าเชื่อความสุขสบาย อัน
ความเกียจคร้านมันล่อลวงให้ลุ่มหลง คือกำจัด
ความเกียจคร้านออกจากตนเสีย ความเกียจคร้าน
เป็นข้าศึกไม่ใช่มิตร อย่าคบค้าเข้าไว้ในตน
ข้อ ๔ ให้มีขันติ ความอดทน อย่าเป็นคนหูไวใจด่วน
ให้อดทนต่อความโกรธ อย่าเป็นคนมักโกรธ ได้เห็น
ด้วยตา หรือได้ฟังด้วยหู ก็อย่าด่วนเชื่อ
ให้พิจารณาดูเหตุผลเสียก่อน ควรโกรธจึงโกรธ ควรว่า
จึงว่า ควรด่าจึงด่า ควรชมจึงชม ถ้าสิ่งใดผิดไปแล้ว
ภายหลังแก้ตัวลำบาก โบราณท่านว่า
ให้รักเมียเหมือนรักชู้ สามีคนใดมีคุณสมบัติ ๔ ประการนี้
ในตน ก็คือแต่งภรรยาแต่งบุตรให้ดี ถ้าภรรยาดี บุตรดี ก็
เป็นที่ไว้วางใจพึ่งพิงได้แก่ตน ชื่อว่าตั้งวงศ์สกุลให้เจริญ
ได้ ชื่อว่ารักตัวสงวนตัว ตรงกับพุทธภาษิตว่า “อัตตา หิ
อัตตโน นาโถ” ตัวเป็นที่พึ่งแก่ตัวนั้นเอง
ในข้อที่ว่ามารดาบิดาหรือสามีภรรยาย่อมรักกัน
เป็นธรรมดาด้วยอาการดังนี้


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ก.ค. 2014, 13:00 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


..........ในข้อที่ว่า มารดาบิดาต้องรักบุตรเป็นธรรมดา
นั้น พึงเข้าใจอย่างนี้
อะไรซึ่งเป็นความชั่วที่บัณฑิตผู้ฉลาดในโลกท่านติเตียน
ส่วนกายกรรมนั้น ปาณาติปาตี คือมักเป็นนักเลงหัวไม้
ลอบฆ่าฟันแทงยิงท่านผู้อื่น ให้เจ็บหรือให้ตาย ๑
อทินนาทายี คือมัก
เป็นขโมยเที่ยวฉ้อโกงฉกลักแย่งชิงทรัพย์สมบัติข้าวของของท่าน
ผู้อื่นมาเป็นของตน ๑ กาเมสุมิจฉาจารี คือมัก
เป็นนักเลงเจ้าชู้ พอใจล่วงประเวณีในภรรยาท่านผู้อื่น
หรือเที่ยวเกี้ยวผู้หญิงเพลิดเพลินไป จนเสียการงาน
ในหน้าที่ของตน หรือเล่นการพนันต่างๆ มีเบี้ยหวยถั่วโป
เป็นต้น หรือชอบกินของราคาแพง
และของที่มีพิษมีเมามีสุรายาฝิ่นเป็นต้น ๑
ส่วนวจีกรรมนั้น มุสาวาที คือมัก
เป็นคนชอบพูดปดพูดเท็จ ๑ ผรุสวาที
คือมักชอบกล่าววาจาอันหยาบคาย
เป็นที่รำคาญเดือดร้อนแก่ท่านผู้อื่น ๑ เปสุญญวาที
คือมักชอบกล่าวคำยุยงส่อเสียดติเตียนนินทาท่านผู้อื่น ๑
สัมผัปปลาปวาที คือมักชอบพูดเล่นเฮฮา ๆ
หาประโยชน์ตนประโยชน์ท่านมิได้ ๑
เหล่านี้ชื่อว่าทุจริตธรรม คือความประพฤติชั่วในโลก
นักปราชญ์ท่านเว้นเสียด้วย ท่านติเตียนว่าไม่ควรทำด้วย
ถ้ามารดาบิดาเห็นความชั่วเหล่านี้ ไม่ควรแก่บุตรของตน
เพราะว่าถ้าบุตรประพฤติความชั่วเช่นนั้น บุตรก็ตั้งตัวใน
ความสุขลาภยศไม่ได้ ถ้าบุตรเป็นคนชั่วลงไปเช่นนั้นแล้ว
จะทำคุณทำประโยชน์ตอบแทนแก่มารดาบิดาอย่างไรได้
ก็ชื่อว่าเลี้ยงบุตรเสียโลหิต เสียข้าวป้อนเปล่า ๆ
ไม่มีประโยชน์อะไร ไม่มีบุตรก็ไม่เจ็บกายดีกว่า ที่กล่าวนี้
เป็นความจริง มารดาบิดาจะต้องระวังรักษาบุตรไม่
ให้ประพฤติความชั่วดังที่กล่าวมานั้นทุกประเภท
การระวังบุตรไม่ให้ประพฤติความชั่วนั้นก็ต้องระวังตน
คือเมื่อรู้ตนว่าเป็นมารดาบิดาเขา ก็เท่ากับ
เป็นอาจารย์ของเขา ธรรมดาอาจารย์จะสอนศิษย์
ด้วยวิชาอันใด ด้วยจรรยาอันใดในวิชานั้น ในจรรยานั้น
ตนต้องทำได้ประพฤติได้ทุกประการ จึง
เป็นที่เชื่อถือเคารพของศิษย์ ข้อนี้ฉันใด
ถ้ามารดาบิดาเว้นจากทุจริตดังที่กล่าวมานั้น
ได้ทุกประการแล้ว ก็มีความองอาจสามารถจะชี้โทษแห่ง
ความประพฤติชั่วเหล่านั้นให้แก่บุตรได้ ส่วนบุตรจักมี
ความเคารพนับถือเต็มใจที่จะประพฤติตาม เพราะ
ไม่มีทางที่จะคัดค้านได้ มีอาการเช่นเดียวกัน
กับศิษย์เดินตามครู ฉันนั้น
ที่ว่ามารดาบิดาจะต้องรักบุตรเป็นธรรมดา ก็คือจะ
ต้องหัดตัวให้เป็นแบบแผนแก่บุตร
ด้วยอาการอย่างที่พรรณนามานี้ ก็ตกลงตรงกับที่ว่า “
อัตตา หิ อัตตโน นาโถ” ตัวเป็นที่พึ่งแก่ตัวนั้นเอง
......................
..........ในข้อที่ว่าบุตรจะต้องรักมารดาบิดาเป็นธรรมดา
นั้น คือธรรมดาของบุตรต้องอาศัยมารดาบิดา
เป็นแดนเกิด เมื่อเกิดมาแล้วต้องเป็นทารก
ไม่รู้เดียงสาอะไร ทำธุระแก่ตนด้วยตนเองไม่ได้
การกินการนอนการถ่ายอุจจาระปัสสาวะ การห่มผ้า
หรืออาบน้ำเป็นต้น เหล่านี้ชื่อว่าธุระทำเองไม่ได้
มีแต่ร้องไห้เท่านั้น ท่านจึงให้ชื่อว่า “ทารโก” คนขี้ร้องไห้
คนขี้อ้อน ต้องอาศัยผู้อื่นทำแทนทั้งสิ้น ผู้ทำแทนนั้นถ้า
เป็นมารดาบิดา เราก็ต้องรักมารดาบิดา ถ้าคนอื่นนอก
จากมารดาบิดาเป็นผู้ทำแทน เราก็จะต้องรักท่านเหล่า
นั้นเสมอมารดาบิดาเหมือนกัน
คำที่ว่ารักมารดาบิดานั้น คือเมื่อเราเติบโตเจริญขึ้น
รู้อุปการกิจของท่านเช่นนั้น เราต้องเอาใจของท่าน คือสิ่ง
ใดที่ท่านต้องประสงค์จะให้เราประกอบในกิจอันใด จะ
ให้เราเล่าเรียนวิชาการสิ่งใด จะ
ให้เราประพฤติจรรยาอย่างใด เราจะ
ต้องประคองน้ำใจคืออุตสาหะทำตามทุกประการเต็ม
ความสามารถ เมื่อท่านเห็นว่าการประพฤติชั่ว คือการ
เป็นนักเลงหัวไม้ลักขโมยฉ้อโกงหรือเป็นเจ้าชู้ หรือ
เป็นนักเลงสูบฝิ่นกินเหล้าเล่นการพนันเป็นต้น
เป็นทางเสื่อมเสียแห่งโภคทรัพย์ ท่านไม่เต็มใจจะ
ให้เราประพฤติ เราก็ต้องงดเว้นให้ขาดเสียจากตน
ส่วนธรรมอันดี “อุฏฐานะ” คือความเพียรความหมั่น
ในการทำมาหากินโดยชอบธรรม บำรุงโภคทรัพย์
ให้เจริญ ๑ “อารักขะ” ความฉลาดในการถนอมทรัพย์ไม่
ให้เสียไปในที่อันไม่ควรเสีย ๑ “สมชีวิตา” การจับจ่าย
ใช้สอยทรัพย์ พอเหมาะพอควรแก่ตนที่ทำมาหาได้ ไม่
ให้ฟุ่มเฟือยเหลือเกิน ๑ “กัลยาณมิตตตา” การที่
ไม่คบนักเลงจ่ายทรัพย์มีนักเลงเจ้าชู้ นักเลงขี้เมา
นักเลงเล่นการพนันเป็นต้น คบแต่คน
ผู้ฉลาดแสงหาทรัพย์โดยสุจริต และคนผู้ฉลาด
ในอุบายถนอมทรัพย์ที่หามาได้แล้ว ๑
คุณธรรม ๔ ประการเป็นทางหลั่งไหลมาแห่งโภคทรัพย์
ถ้ามีในบุคคลจำพวกใด บุคคลจำพวก
นั้นก็จักมั่งคั่งบริบูรณ์ทั้งลาภทั้งยศ ชื่อว่าเป็นผู้ตั้งตนให้
เป็นผู้มั่นคงได้ มารดาบิดาท่านอยากให้เราประพฤติ
ให้บริบูรณ์ด้วยคุณธรรมเหล่านั้น ให้ตั้งเนื้อตั้งตัว
ให้บริบูรณ์ด้วยเกียรติยศเกียรติคุณเช่นนั้น เราผู้
เป็นบุตรก็จะต้องถนอมน้ำใจของท่าน คืออุตสาหะทำตาม
ให้สมประสงค์ของท่านโดยเต็มความสามารถ
อย่างนี้แหละชื่อว่าบุตรรักมารดาบิดาแท้
เพราะเราบริบูรณ์แล้วย่อมอาจสามารถ
จะสนองคุณของท่านได้ทุกประการ จึงควรนับได้ว่า
เป็นกตัญญูกตเวทีบุคคลโดยแท้ ก็ลงเนื้อความว่า “อัตตา
หิ อัตตโน นาโถ” ตนนั้นแหละเป็นที่พึ่งแก่ตน
ตามพุทธภาษิตนั้น
.......................


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ก.ค. 2014, 13:15 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


..........บัดนี้จักแสดงอาจารย์กับศิษย์พอเป็นสังเขป
เพราะวิธีเดียวกันกับมารดาบิดากับบุตร ไม่
ต้องแสดงมากก็ได้ความ
เพราะธรรมดาของมนุษย์ทั่วโลก สิ่งใดถ้าไม่ได้เล่าเรียน
ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้ฟัง ย่อมเกิดความรู้ขึ้นไม่ได้
เพราะเหตุนั้นเมื่อตนต้องการความรู้ความฉลาดในวิชาใด
ๆ ต้องแสวงหาผู้รู้ผู้ฉลาดในวิชานั้น ๆ เป็นอาจารย์ เมื่อ
ได้อาจารย์ตามความประสงค์แล้ว ตน
ต้องตั้งใจประพฤติปฏิบัติตามที่ท่านแนะนำสั่งสอน
ให้ถูกใจของท่านทุกสิ่งทุกอย่างไป จนกว่า
จะสำเร็จวิชาการทั้งปวง
วิชาซึ่งตนเรียนรู้แล้วนั้น ย่อมมีอยู่ที่ตัวเสมอไปก็เท่า
กับตนมีอาจารย์ในตน ถึงเราออก
จากสำนักครูอาจารย์ไปแล้ว ความรู้นั้นก็ยังอยู่ที่เรา เท่า
กับครูอาจารย์ตามไปช่วยเราอยู่เสมอ
จึงชื่อว่าคุณของท่านมีที่ตัวเราเสมอไป เราต้องตั้งอยู่
ในคุณความดี ๕ ประการ
๑. คารโว ให้มีความเคารพในครูอาจารย์ทั้งต่อหน้า
และลับหลังเสมอไป
๒. ปสาโท ให้มีความเชื่อความเลื่อมใส
ในครูอาจารย์เสมอไป
๓. เปมํ ให้มีความรักความนับถือในครูอาจารย์เสมอไป
๔. หิริ ให้มีความละอายไม่หมิ่นประมาทในครูเสมอไป
๕. ภาวนา ให้มี
ความหวังต่อทางเจริญแก่ครูอาจารย์เสมอไป
ตามทางพระวินัยท่านสอนไว้อย่างนี้ ผู้ประพฤติได้อย่างนี้
ชื่อว่าเป็นผู้ตั้งอยู่ในกตัญญูกตเวที จะมีแต่ความเจริญ
โดยส่วนเดียว ส่วนผู้จะเป็นครูเป็นอาจารย์ก็จะต้อง
เข้าใจว่า ตนเป็นอาจารย์ของ
เขาดังเส้นบรรทัดศิษย์ดังคลองถากคลองเลื่อย
คลองถากคลองเลื่อยจะตรงก็เพราะเส้นบรรทัดตรง
เพราะเหตุนั้น วิชาที่จะสอนหรือจรรยาที่จะ
ให้ศิษย์ประพฤติ เราผู้เป็นครูต้องทำได้ประพฤติได้ให้
เป็นแบบทุกประการ ... ผู้เป็นครูต้องมีคุณความดี ๔
ประการ
๑. สันทัสสโก ต้องฉลาดชี้แจงให้ศิษย์เห็นคุณประโยชน์
ในวิชานั้นให้ชัดเจน
๒. สมาทปโก ต้องฉลาดชี้แจงให้ศิษย์เต็มใจเรียน
ด้วยอุบายชักนำให้เกิดความอุตสาหะต่าง ๆ
๓. สมุตเตชโก ต้องฉลาดชี้แจงให้ศิษย์องอาจ
ในการเล่าเรียน ตั้งอยู่ในความเพียรด้วยอุบายต่าง ๆ
๔. สัมปหังสโก ต้องฉลาดชี้แจงคุณประโยชน์ของวิชา
และจรรยานั้น ให้ศิษย์เกิดความร่าเริงบันเทิงใจเสมอ
ถ้าครูตั้งอยู่ในคุณวุฒิ ๔ ประการนี้ ศิษย์ของท่านผู้
นั้นก็จักตั้งอยู่ในความเป็นคนดีได้ ถ้า
ได้ศิษย์ดีก็อาจจักทำคุณประโยชน์ให้แก่ศิษย์
ไม่มีที่สิ้นสุดเหมือนกัน ลงเนื้อความย่อว่าครูจะให้ศิษย์ดี
ครูก็ต้องทำตนให้ตั้งอยู่ในคุณความดีเท่านั้น ส่วนศิษย์
จะสนองตอบแทนคุณครูอาจารย์ ก็ต้องทำตนให้ตั้งอยู่
ในคุณความดีเหมือนกัน ก็ลงแบบที่ว่า “อัตตา หิ อัตตโน
นาโถ” ตัวเป็นที่พึ่งแก่ตัวนั่นเอง
....................


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ก.ค. 2014, 13:25 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


..........บัดนี้จักได้แสดงบทว่าพระราชา
และมหาอำมาตย์กับราษฎร ย่อมทำคุณประโยชน์แก่กัน
และกันนั้นต่อไป
..........โส ราชมหามตฺโต อันว่าพระเจ้าแผ่นดิน
และมหาอำมาตย์นั้นเป็นผู้มีบุญใหญ่ เป็นผู้มีเดชานุภาพ
ใหญ่ อันเทพยเจ้าผู้มีทิพยเนตรทิพยโสตรู้แจ้งแล้ว
เชื้อเชิญให้อวตารลงมาอุบัติบังเกิดขึ้นในหมู่มนุษย์ เพื่อ
ให้เป็นที่พึ่งของมนุษย์ในหมู่นั้นประเทศนั้น จึง
เป็นพระเจ้าแผ่นดินได้โดยไม่มีทางขัดข้อง
เพราะราชสมบัติเป็นสิ่งที่ปรารถนาของผู้มีบุญทั่วไป
ก็แต่ไม่ใช่ผู้อันเทพเจ้าได้เชื้อเชิญให้มาอุบัติเพื่อ
เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ถึงจะมีสติปัญญาวิชาการมั่งคั่ง
ด้วยโภคทรัพย์และบริวารยศมากสักเพียงใดก็
เป็นพระเจ้าแผ่นดินไม่ได้ ย่อมจะมีเหตุขัดข้องต่าง ๆ จน
เป็นไม่ได้นั้นแหละเป็นที่สุด
ผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ชื่อว่าเป็นผู้ที่ถูกเขาเลือกมาแล้ว
เพราะเหตุนั้น จึงบริบูรณ์ด้วยคุณสมบัติ อันเรา
จะพึงพรรณนาให้สิ้นสุดไม่ได้ ราชธรรมซึ่งมี
ในพระเจ้าแผ่นดินนั้น เราจะนำมาแสดงแต่เพียงเล็กน้อย
พอควรแก่กำลังของตน ดังผู้ตักน้ำในลำน้ำเจ้าพระยา
ด้วยถังสังกะสีถังเดียวเท่านั้น น้ำที่ยังเหลืออยู่ในแม่น้ำ
นั้น ยังมากมายเหลือเกิน ข้ออุปมานี้ฉันใด ที่เรา
จะพรรณนาคุณพระเจ้าแผ่นดินก็เพียงเล็กน้อย ดังน้ำ
ในถังเท่านั้น ส่วนพระคุณธรรมที่เหลืออยู่ ที่เราไม่
สามารถจะพรรณนาได้นั้นยังมากมายเหลือเกิน
ดังน้ำที่เหลืออยู่ในลำแม่น้ำ มีอุปไมยฉันนั้น
..........พระเจ้าแผ่นดินทรงบำเพ็ญธรรม ๑๐ ประการ
ทานํ การให้ทานทั่วไป ๑ สีลํ การรักษาศีล ๑ ปริจฺจาคํ
การแจกบำเหน็จรางวัล ๑ ตปํ ไม่ทำกรรมที่เป็นบาป ๑
อาชฺชวํ เป็นผู้ประพฤติตรง ๑ มทฺทวํ เป็นผู้อ่อน
ในที่อันควรอ่อน ๑ อวิหึสํ ไม่เบียดเบียนคนและสัตว์
ผู้หาโทษมิได้ ให้ได้ความลำบาก ๑ อกฺโกธํ ไม่ทรงโกรธ
ในที่ไม่ควรโกรธ ๑ ขนฺติ มีความอดทน ๑ อวิโรธนํ
ไม่แสดงอาการไม่พอพระทัยในผู้มีความผิดอัน
ได้รับพระราชอาญาแล้ว ๑
คุณธรรมทั้ง ๑๐ นี้ ชื่อว่าราชธรรม พระเจ้าแผ่นดิน
ต้องทรงบำเพ็ญเต็มที่
..........ยังโพธิสัตวธรรม ๑๐ ประการอีก
พระเจ้าแผ่นดินยังต้องทรงบำเพ็ญ คือ ทานัง ทานการ
ให้สรรพวัตถุมีของอุปโภคบริโภคเป็นต้น แก่ผู้ควรได้รับ
๑ สีลัง การรักษาศีล ๑ เนกขัมมัง คุณคือการสะกดใจ ไม่
ให้หลงไปในเบญจกามคุณเหลือเกิน ไม่ให้มีพยาบาท ไม่
ให้มีวิเหสา การเบียดเบียนผู้อื่น ๑ ปัญญา
ความสอดส่องรอบรู้ทั่วไปในกิจการงานทั้งปวง ๑ วิริยัง
ความเพียรกล้าหาญ ไม่อ่อนแอต่อสรรพกิจทั้งปวง ๑
ขันติ ความอดทนต่อเหตุและผลทั้งปวง ๑ สัจจัง รักษา
ความจริงไว้ทุกประเภท ๑ อธิฎฐาน การตั้งใจ
จะรักษาธุรกิจตามควรทุกหน้าที่ ๑ เมตตา หวังประโยชน์
ความสุขแก่สรรพสัตว์ทั่วไป ๑ อุเบกขา ความตั้งตนให้
เป็นกลางทั่วไป ๑
คุณธรรม ๑๐ ประการนี้ สำหรับพระบรมโพธิสัตว์
ผู้สร้างโพธิสมภาร พระเจ้าแผ่นดินยังต้องทรงบำเพ็ญ
ก็ชื่อว่า พระองค์
เป็นพระบรมโพธิสัตว์พระองค์หนึ่งเหมือนกัน
..........ยังอคติอีก ๔ ประการ ไม่ลุอำนาจแห่งฉันทะคือ
ความรัก ๑ ไม่ลุอำนาจแห่งโทสะคือ
ความโกรธประทุษร้าย ๑ ไม่ลุอำนาจแห่งโมหะคือ
ความหลง ๑ ไม่ลุอำนาจแห่งภยาคือความกลัว ๑
คุณธรรม ๔ ประการนี้ พระเจ้าแผ่นดินยังต้องทรงบำเพ็ญ
อยู่เป็นนิตย์
..........ยังสังคหวัตถุ ๔ ประการ ทานํ การ
ให้สรรพวัตถุเฉลี่ยความสุขตามสมัย ๑ ปิยวาจํ
การโปรยพระวาจาเป็นที่นำมาซึ่งความยินดี ๑ อตฺถจริยา
การประพฤติเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ปริชนทั่วไป ๑
สมานตฺตตา เป็นผู้ประพฤติสม่ำเสมอในกิจทั้งปวง ๑
คุณธรรม ๔ ประการนี้ พระเจ้าแผ่นดินยังต้องทรงบำเพ็ญ
ให้เป็นพระราชสังคหวัตถุขึ้น
..........ยังพรหมวิหารธรรม ๔ ประการ เมตตา
คือแผ่ไมตรีจิต คิดจะให้ประชาชนตลอดถึงสรรพสัตว์ มี
ความสุขสำราญทั่วไป ตลอดกาลเป็นนิตย์ ๑ กรุณา คือ
ความเอ็นดูปรานีแก่ประชาชนตลอดถึงสรรพสัตว์ที่ได้รับ
ความทุกข์ยากลำบากอยู่แล้ว อยากจะให้พ้นจาก
ความทุกข์ยากลำบาก คิดหาอุบายที่จะช่วยเปลื้องปลด
อยู่เสมอเป็นนิตย์ ๑ มุทิตา คือความบันเทิงจิตต่อ
ความสุขสำราญลาภยศ อันประชาชนและสรรพสัตว์ได้
ถึงแล้ว และคิดหาอุบายช่วยป้องกันรักษาอยู่เสมอ
เป็นนิตย์ ๑ อุเบกขา คือความมัธยัสถ์เป็นกลาง
ไม่ลำเอียงไปในฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ด้วยอำนาจฉันทะ โทสะ
ภยา โมหะ คือมีอคติธรรมเป็นบรรทัด
ชื่อว่าอุเบกขาพรหมวิหาร
เพราะมีอุเบกขา ความเป็นกลางนี้เอง เมตตา กรุณา
มุทิตา จึงมีพรักพร้อมอยู่เสมอ
พรหมวิหารนี้ไม่ใช่ให้ความสุขอย่างเดียว คือตั้งอยู่ใน
ความเป็นกลาง เปรียบดังเพลิงมีความร้อนเป็นกลาง
ใครชอบร้อนที่สุด โดดเข้าไปก็เผาให้
ใครชอบอุ่นพอดีก็อุ่นให้ ใครชอบจะให้ช่วยในกิจอันใด ก็
ช่วยให้สำเร็จได้ทุกประการ ด้วยความร้อนนั่นเอง
แม้พระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงบำเพ็ญพรหมวิหาร ก็มีอุเบกขา
ความเป็นกลางเป็นอำนาจ ผู้ชอบสุขคือ
ผู้รักษาสุจริตธรรม ทำมาหาเลี้ยงชีพโดยทางบริสุทธิ์
ก็รับความสุขมั่งมีบริบูรณ์ เป็นต้นว่าลาภยศ
และสรรเสริญไป ผู้ชอบทุกข์
ฝ่าฝืนพระราชกำหนดกฎหมายและพระราชบัญญัติ
ฉกลักเบียดบังข่มเหงท่านผู้อื่น
ก็รับทุกข์นอนคุกนอนตะรางตายตามกันไป
..........ส่วนมหาอำมาตย์ก็เป็นผู้ช่วยพระเจ้าแผ่นดิน
เพราะเหตุนั้นพระเจ้าแผ่นดินและมหาอำมาตย์ จึงชื่อว่า
เป็นบุรพการีของราษฎร คือเป็นเจ้าชีวิตของราษฎร
พึงรู้จักพระเดชพระคุณของพระเจ้าแผ่นดิน
และมหาอำมาตย์ซึ่งมีอยู่ในตนของเราทุกเมื่อ
ด้วยอาการดังกล่าวมานี้
การที่พระเจ้าแผ่นดินทรงบำเพ็ญราชธรรม
รักษาอิสรภาพอยู่ได้นั้น ก็ด้วยอัตตสัมมาปณิธิ ตรง
กับพุทธภาษิตว่า “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ” ตนนั้นแหละ
เป็นที่พึ่งแก่ตนเหมือนกัน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ก.ค. 2014, 14:01 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


..........บัดนี้จักแสดงลักษณะที่ราษฎร
ผู้อาศัยพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระเจ้าแผ่นดิน
ไม่ควรจะถือตนว่า ตนเป็นคนชาติโน้นชาตินี้
บ้านโน้นเมืองนี้ ตนเข้าอาศัยร่มเงาของต้นไม้ต้นใด ได้
ความสุขความเย็น ก็ควรจะนิยมนับถือว่า ต้นไม้ต้นนั้น
เป็นที่พึ่งที่อาศัยของตน ฉันใด ผู้ที่อยู่
ในพระราชอาณาจักรของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใด
ก็ควรจะนิยมรักใคร่เคารพนับถือพระเจ้าแผ่นดินพระองค์
นั้น แต่ฝ่ายสมณะชีพราหมณ์
ผู้ประพฤติอนาคาริยกิจเสียอีก ยัง
ต้องอาศัยพึ่งพระบรมเดชานุภาพ จึงให้กิจสำเร็จได้
การเคารพนับถือพระเจ้าแผ่นดิน ก็คือ
ต้องแสดงกตัญญูกตเวทีตอบแทนให้ปรากฏแก่โลก
คือพระเจ้าแผ่นดินซึ่งตั้งให้มีเจ้าหน้าที่ปกปักเป็นหมวด
เป็นกรมทุกหน้าที่นั้น มีพระราชประสงค์อันใด ก็คือจะให้
ผู้อยู่ในความปกครองได้รับความสุขทั่วกันเป็นข้อสำคัญ
พวกเราควรรู้ให้ทั่วกันว่า ความสุขความเจริญ อยู่
กับพวกมาก ถ้าประเทศใดตำบลใดมีหมู่บ้านมาก
ผู้คนแน่นหนามาก ประเทศนั้นตำบล
นั้นย่อมมีคนฉลาดมากย่อมมีคนมั่งมีมาก
ย่อมมีสินค้ามาแต่ทิศต่าง ๆ มาก
เมื่อข้าวของบริบูรณ์ทุกสิ่งแล้ว ก็เป็นทางให้เกิดความสุข
เพราะความบริบูรณ์นั้นเองเป็นเหตุแต่งความสุข แต่
ความสุขมากมีขึ้นในหมู่ใด ความทุกข์ย่อมมีมาเหมือนกัน
ความสุขเกิดแต่คนดี
คนที่รู้จักกตัญญูกตเวทีต่อเจ้านายของตน คือคนที่รู้ว่าสิ่ง
ใดเป็นของที่ต้องห้ามด้วยพระราชกำหนดกฎหมาย
หรือพระราชบัญญัติ หรือข้ออาณัติสัญญา ไม่ล่วงละเมิด
ด้วยประการทั้งปวง
สิ่งใดที่ต้องพระราชประสงค์จะ
ให้ประกอบกิจทำมาหาเลี้ยงชีพโดยชอบธรรม
คือการค้าขายสิ่งของที่ไม่ต้องห้าม
หรือทำเรือกสวนไร่นาเลื่อยไม้ตัดเสาเป็นต้น
การงานที่ควรจะประกอบตามกำลังความ
สามารถของบุคคลคนหนึ่ง เป็นทางหาเลี้ยงชีพ
และบำรุงโภคทรัพย์ให้เจริญขึ้น มีมากนัก
ในประเทศสยามจนถึงคนชาติอื่นประเทศอื่นภาษาอื่น
แตกตื่นเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร
อาศัยทำมาหาเลี้ยงชีพ ดังพวกแขกพวกจีนเป็นต้น
ผู้ตั้งใจทำมาหากินโดยสุจริต
ไม่คิดเบียดเบียนประทุษร้ายท่านผู้อื่น
คือทำไร่ทำนาทำสวน ก็ตั้งใจทำให้เหลือกินได้แลก
ได้ขาย การค้าขายก็ประมูลทรัพย์ให้เจริญขึ้นจนเหลือใช้
ส่วนประโยชน์ตน ก็คือจะเป็นคนมั่งมีบริบูรณ์และยัง
ได้ทำประโยชน์ช่วยแผ่นดิน คือ
ได้เสียค่าไร่ค่านาค่าสวนภาษีอากร
เป็นกำลังแก่ราชการของพระเจ้าแผ่นดิน
คนจำพวกที่ตั้งใจทำมาหาเลี้ยงชีพโดยชอบธรรม
ดังที่กล่าวมาแล้วนี้แหละชื่อว่าคนดี ชื่อว่าคนตั้งอยู่
ในกตัญญูกตเวทีต่อแผ่นฟ้าแผ่นดิน บ้านเมืองย่อมมี
ความสุขความเจริญด้วยบุคคลที่ประพฤติดี
เช่นที่กล่าวมาแล้วนี้ มีมากขึ้นในประเทศนั้น
ส่วนความทุกข์ความลำบาก ย่อมเกิดขึ้นแก่ฝ่ายบุคคล
ผู้ประพฤติความชั่ว ประทุษร้ายเบียดเบียนชีวิต
และทรัพย์สมบัติของผู้อื่น เป็นคนอกตัญญู
ไม่รู้จักคุณของเจ้านาย
แกล้งละเมิดล่วงเกินพระราชกำหนดกฎหมาย
และพระราชบัญญัติ ทำให้เกิดคดีถ้อยความรกรุงรัง
ในโรงศาล ให้ลำบากขุนศาลตุลาการไม่มีที่สิ้นสุด
พวกเราที่เป็นมนุษย์ด้วยกัน เมื่อทราบว่า
ความทุกข์ยากลำบากย่อมเกิดขึ้นแต่คนผู้ประพฤติชั่ว
เมื่อรู้ว่า ตัวเป็นคนประพฤติชั่ว ก็ควรละเสีย
ด้วยคิดว่าธรรมดาของมนุษย์
ย่อมมีอวัยวะมือเท้าเรี่ยวแรง พอทำมาหาเลี้ยงชีพได้ทั่ว
กันเหมือนกันทุกคน ในหมู่มนุษย์จะได้ความสุขก็
เพราะมีเมตตากรุณา ช่วยเกื้อกูลอุดหนุนซึ่งกันและกัน
ตัวของเราก็มีมือเท้าเหมือนเขา ส่วนเขาทำไม
จึงทำมาหาเลี้ยงชีพบริบูรณ์ได้ ส่วนเราทำไมจึง
ต้องคิดลักคิดขโมยโคกระบือ
และทรัพย์สินเงินทองข้าวของต่าง ๆ ของเขา
และคิดเบียดบังฉ้อโกงเขา
ถ้าว่า คนในหมู่บ้านที่เราอาศัยอยู่นี้ต่างคนก็คิดเป็นขโมย
ลักโคกระบือ ทรัพย์สมบัติแห่งกันและ
กันเหมือนตัวเรานี้หมดด้วยกัน บ้านจะตั้งอยู่ได้หรือ
หมู่บ้านตั้งอยู่มีความสุขได้ก็เพราะทำความดีต่อ
กันต่างหาก ก็เราจะมาคิด
เป็นคนเลวทรามต่ำช้ำเบียดเบียนชีวิตและทรัพย์สินของ
เขาเป็นการไม่สมควรเลย
..........อีกประการหนึ่ง โคกระบือเป็นสัตว์มีคุณ คือ
เป็นพาหนะ มีไถนาลากล้อลากเกวียนเป็นต้น
บำรุงบิดามารดาปู่ย่าตาทวดของเรามา จนถึงพวกเราก็
ได้อาศัยกำลังของเขาเลี้ยงบุตรภรรยาและได้ทำบุญ
ให้ทาน ก็ชื่อว่าเป็นสัตว์อุดหนุนพระพุทธศาสนาเหมือน
กัน พวกคนชาวสยาม ไม่ควรฆ่าและไม่ควรเบียดเบียน
ให้เขาได้ความเดือดร้อนเหลือเกินเลย
ตัวใดที่เราได้ใช้สอยอาศัยกำลังเขาแล้ว แม้จะขายให้
เขาเอาไปฆ่ากินก็ไม่ควร โทษฆ่าโคกระบือกินนั้น
เป็นโทษหนักเหลือเกิน เท่าอนันตริยกรรม ใครขืนทำ
จะลำบากยากจนตลอดชีวิต เพราะโทษอกตัญญู
คือลักของเขานั้นก็เป็นโทษใหญ่ส่วนหนึ่ง โคกระบือ
เป็นสัตว์มีคุณมาก แสดงตัวว่าเป็นคนอกตัญญูเป็นโทษ
ใหญ่อีกส่วนหนึ่ง ธรรมดาว่าคนเป็นขโมย
ย่อมคิดฆ่าเจ้าของเขาด้วย เป็นโทษใหญ่อีกส่วนหนึ่ง
ควรจะเห็นว่า โคกระบือของเขากับของเรา
ก็ทำประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ไม่ควรฆ่าเลย
การสูบฝิ่นกินเหล้านี้ ก็เป็นของไม่สมควรแก่เราเลย
เพราะเงินก็เสียมากและทำให้ตัวเป็นคนเมา
เสียเวลาทำมาหากินด้วย การพนันต่าง ๆ ก็เป็นของ
ไม่ควรที่เราจะนิยมเลย ถ้าเจ้ามือเขาไม่รวยเขาก็ตั้ง
เป็นเจ้าบ่อนไม่ได้ ผู้ที่รวยด้วยการพนัน ก็
ไม่เห็นมั่งมีสักกี่คน ถึงจะมีผู้รวยบ้าง ก็ไม่เห็นยืดยาว
ถึงชั่วลูกชั่วหลาน ควรจะพากันคิดให้เห็นอย่างนี้
ถ้าว่าต่างคนก็ต่างเป็นคนดีซื่อตรงต่อกันหมด
ไม่คิดรังเกียจระแวงซึ่งกันและกัน ก็ย่อมจะพากันได้
ความสุขทั่วกัน
ถ้าหากมีคนโง่คนอกตัญญูพอใจฉ้อโกงลักขโมย มีขึ้น
ในหมู่บ้านของตนเพียงคนหนึ่งสองคน ก็รีบพากัน
ช่วยแนะนำตักเตือนให้กลับใจเป็นคนดี
ตั้งหน้าทำมาหาเลี้ยงชีพโดยสุจริตเสีย
ธรรมดาของหมู่บ้าน ต่างว่าจะมีอยู่สัก ๕๐ หลังคาเรือน
ในคนเหล่านั้นก็คงจะมีคนประพฤติชั่วเป็นขโมย
อย่างมากที่สุดก็เพียง ๑๐ คนเท่านั้น
ถ้าว่าหมู่บ้านหนึ่งมีคนขโมยถึง ๑๐ คน หมู่บ้านอื่น ๆ
เขาย่อมชี้มือมาใส่ว่านั่นหมู่บ้านอ้ายขโมย คนดีอยู่
ในหมู่บ้านนั้น ก็พลอยถูกกะเขาด้วย
เมื่อพร้อมใจกันละความชั่วที่ต้องห้ามเสียหมด พา
กันตั้งหน้าทำไร่นาเรือกสวนค้าขาย
มีเมตตากรุณาเกื้อกูลอุดหนุนแก่กันและกัน
โดยเห็นว่าเราเป็นพวกเกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งนั้น
ควรถนอมน้ำใจรักใคร่ซึ่งกันและกันตลอดชีวิต การที่จะ
ไม่ให้มีผู้ร้ายชายโจร มันจะยากสักปานใด แต่วัดหนึ่ง
มีพระสงฆ์สามเณรตั้งร้อยสองร้อย มีสมภารองค์เดียว
ยังรักษาได้ ก็คือสมภารเป็นคนดีนั้นแหละ บุราณท่าน
จึงว่า สมภารดีหลวงชีสะอาด สมภารไม่ดีหลวงชีสกปรก
ก็ในทุกวันนี้ ๑๐ เรือนหรือ ๑๕ เรือน มีผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่ง
๑๐ ผู้ใหญ่บ้านหรือ ๑๕ ผู้ใหญ่บ้านมีกำนันคนหนึ่ง
สมควรอยู่แล้ว ถ้ากำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นคนดี
ซื่อสัตย์สุจริตต่อราชการของพระเจ้าอยู่หัวจริง ลูกบ้านก็
จะพร้อมใจกันเป็นคนดีหมดเท่านั้น
เมื่อพร้อมใจประพฤติดีทั่วกันแล้ว
การทำมาค้าขายก็จักสะดวก ไม่มีทางเดือดร้อน ก็จักพา
กันมั่งมีบริบูรณ์ขึ้นทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่อบริบูรณ์ขึ้นก็จัก
ได้พาบุตรและหลานทำบุญให้ทาน บำรุงพระพุทธศาสนา
ให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป
เมื่อการทำบุญให้ทานรักษาศีลมีขึ้นเช่นนั้น ก็จะ
ได้อุทิศถวายพระราชกุศลแด่พระเจ้าอยู่หัว
และมหาอำมาตย์ผู้ซึ่งมีพระเดชพระคุณ
อันหาสิ่งเปรียบมิได้ ขอให้ทรงพระเจริญ
ด้วยพระเกียรติยศเกียรติคุณและพระเดชานุภาพ
ทั้งพระชนมายุอันยืนนาน พวกเราจะ
ได้อาศัยพึ่งพระบรมโพธิสมภารตลอดบุตรและหลาน
ไม่มีที่สิ้นสุด และจะได้อุทิศกุศลนั้น
ถึงมารดาบิดาครูอาจารย์ ตลอดถึงสรรพสัตว์ แต่ล้วน
เป็นทางกตัญญูกตเวทีโดยส่วนเดียว
ผู้ที่ตั้งอยู่ในกตัญญูกตเวที ย่อมจะมีแต่
ความสุขสำราญตลอดชีวิตของตน และ
ได้ชื่อว่าบำรุงบุตรและหลานให้เดินทางดี
บำรุงวงศ์สกุลของตนให้เจริญด้วย การที่
จะตั้งกตัญญูกตเวทีตอบแทนพระเจ้าแผ่นดิน
และมหาอำมาตย์ ก็ต้องรักษาตัวให้พ้นจากโทษที่โลก
เขาติเตียน ตั้งใจประพฤติความดีความชอบเท่านั้น ก็ตรง
กับพระพุทธภาษิตว่า “อัตตา หิ อัตตโน นาโถ” ตัว
เป็นที่พึ่งแก่ตัวนั้นเอง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ก.ค. 2014, 14:10 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


..........บัดนี้จักแสดงที่ว่า พระพุทธเจ้าผู้
เป็นพระบรมครูอันอุดมเอกในโลก
เป็นบุรพการีของพุทธบริษัท พอได้ความโดยสังเขป
คือว่าพระพุทธเจ้านั้น พระองค์เป็น
ผู้มีบุญญาภินิหารอันยิ่งใหญ่ เหตุพระมหากรุณาธิคุณฝัง
อยู่ในพระหฤทัยมานมนาน
ทรงสร้างพระโพธิสมภารพระบารมีพุทธการกธรรม นับ
ด้วยอสงไขยแห่งกัลป์เป็นอันมาก จึงได้มาอุบัติบังเกิดขึ้น
ในโลก ในสมัยอันสัตว์โลกมืด
ด้วยกำลังอวิชชาหุ้มห่อปกปิดคล้ายกับบุคคล
ผู้มีจักษุอันบอด ฉะนั้น
พระองค์เป็นสยัมภูสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้ของจริง
โดยชอบด้วยพระองค์เอง ไม่มีครูผู้แนะนำสั่งสอน
ในทางโลกุตระ พระองค์เป็นผู้ประเสริฐด้วยพระคุณ
มีพระสัพพัญญุตญาณคุณเป็นต้น เป็นผู้สว่าง
ด้วยพระญาณปรีชา หาสิ่งเปรียบมิได้ เพียงดัง
เป็นดวงจักษุของสัตวโลก ฉะนั้น อาศัยพระปรีชาญาณ
และพระมหากรุณาอันกว้างใหญ่
เป็นที่อาศัยของพุทธบริษัทเพียงดังห้วงมหาสมุทรสาคร
เป็นที่อาศัยแห่งหมู่มัจฉาชาติเป็นต้น ฉะนั้น
เมื่อพระองค์บริบูรณ์ด้วยพระพุทธคุณเต็มที่ฉะนั้นแล้ว มิ
ได้ทอดธุระเสวยวิมุติสุขแต่พระองค์โดยส่วนเดียว
ตั้งเทศนาธิษฐานประกาศพุทธศาสโนวาททั่วไป
ทั้งคดีโลกคดีธรรม
และทรงบัญญัติแต่งตั้งสิกขาบทวินัยแก่เหล่าสาวก
เพื่อประโยชน์และความสุขไม่มีที่สิ้นสุด
วิธีเทศนาของพระองค์ประกอบไปด้วยอาการ ๓ อย่าง
ปรากฏในโคตมเจติยสูตรว่า
อภิญฺญาย แสดงธรรมเพื่อให้ผู้ฟังรู้ยิ่งเห็นจริง
โดยการเปิดเผยไม่ให้มีภายนอกไม่ให้มีภายใน
เป็นอาการที่ ๑
สนิทานํ ทรงแสดงธรรมมีที่อ้างอิง คือชี้แสดงของที่มี ไม่
ใช่แสดงของไม่มี และสมควรผู้ฟังจะเข้าใจได้ ไม่
ใช่เหลือวิสัยของผู้ฟัง คือมีเหตุมีผล เป็นอาการที่ ๒
สปฺปาฏิหาริยํ ทรงแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์
คือธรรมที่มีอำนาจ อาจจักนำเสีย กำจัดเสียซึ่งธรรมอัน
เป็นปัจจนึกข้าศึก ดังทานธรรม อาจจักกำจัดมัจเฉรธรรม
ผู้ปัจจนึกออกเสียได้ ดังศีลธรรม อาจจักกำจัดทุศีลธรรม
ผู้ปัจจนึกออกเสียได้ ดังสมาธิธรรม
อาจกำจัดนิวรณธรรมผู้ปัจจนึกออกเสียได้
ดังปัญญาธรรม อาจจักกำจัดอนุสัยสังกิเลสธรรม
ผู้ปัจจนึกออกเสียได้ เป็นตัวอย่าง เป็นอาการที่ ๓
การที่ทรงแสดงธรรมและแต่งตั้งสิกขาบทพุทธบัญญัติ
ทั้งปวงนั้น หวังประโยชน์และความสุขแก่ผู้รู้
แล้วประพฤติปฏิบัติตามโดยแท้
ไม่เพ่งหวังต่อลาภสักการโลกามิส ทรงแสดง
โดยญาณไตรมุขคือศีลสมาธิปัญญา จึงควร
เป็นที่ตั้งแห่งปสาทศรัทธาของเหล่าบริษัท


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ก.ค. 2014, 14:19 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


..........การที่ทรงแสดงธรรมที่เกี่ยวข้องด้วยคดีโลกนั้น
เพราะเห็นว่าหมู่สัตวโลกจะพากันอยู่เย็นเป็นสุขได้ ก็
เพราะคุณความดีคือมีไมตรีจิตเกื้อกูลอุดหนุนแก่กันและ
กัน การที่จะมีไมตรีจิตแก่กันและกันได้ก็เพราะตั้งอยู่
ในสุจริตธรรมเป็นข้อสำคัญ เพราะเหตุนั้น พระองค์
ผู้แสวงหาประโยชน์อันใหญ่ของเวไนยสัตว์
จึงทรงแสดงสุจริตธรรมคือธรรมสำหรับเป็นคนดี
หรือชื่อว่ามนุสสธรรม คือว่าผู้ประพฤติดีเช่นนั้น
ควรเรียกว่ามนุษย์แท้ เพราะไม่มีผู้จะด่าหรือผู้
จะว่ากล่าวว่าสัตว์เดรัจฉานเลย
ก็สุจริตธรรมนั้น คือกายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ มโนกรรม ๓
เป็น ๑๐ ชื่อว่ากุศลกรรมบถบ้าง แปลว่า คลองให้ธรรม
เป็นกุศล ชื่อว่าสุจริตธรรมบ้าง แปลว่า ธรรม
เป็นเหตุประพฤติดี ชื่อว่ามนุสสธรรมบ้าง แปลว่า
ธรรมสำหรับแต่งให้เป็นมนุษย์แท้
กายกรรม ๓ นั้นคือให้ประพฤติแต่การงานที่ดี ให้เว้น
จากการงานของกายที่โลกเขาติเตียนว่าชั่ว ๓ อย่างเสีย
(๑) การฆ่าฟันทุบตีเบียดเบียนผู้อื่นสัตว์อื่นให้ได้
ความลำบากด้วยกายของตน
(๒) การลักขโมยฉ้อโกงทรัพย์สมบัติของท่านผู้อื่น
ด้วยกายของตน
(๓) การล่วงกามผิดทั้งหลาย มีล่วงภรรยาท่านผู้อื่น
ด้วยกายของตนเป็นต้น
กายกรรม ๓ ประเภทนี้ ให้ตั้งใจวิรัติงดเว้นให้ขาด
ประพฤติแต่ส่วนที่ดี เป็นไปกับด้วยประโยชน์แก่ตนและผู้
อื่น ชื่อว่า ประพฤติดีด้วยกาย
..........วจีกรรม ๔ คือ
กล่าวแต่ถ้อยคำอันจริง ๑
กล่าวแต่ถ้อยคำอันสมัครสมาน ประสานสามัคคี ๑
กล่าวแต่ถ้อยคำอ่อนหวานไพเราะ ๑
กล่าวแต่ถ้อยคำอันเป็นไปกับ
ด้วยประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน ๑
วจีกรรมที่ผิดคือ
กล่าวคำเท็จไม่จริง ๑
กล่าวคำส่อเสียดยุยงให้ท่านเกลียดกันชังกันโกรธกัน ๑
กล่าวคำหยาบคาย ให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อน ๑
กล่าวคำหาประโยชน์ตนประโยชน์ท่านมิได้ ๑
วจีกรรมส่วนนี้ ให้ตั้งใจวิรัติงดเว้นเสียให้ขาด
กล่าวแต่วจีกรรมส่วนที่ดี ชื่อว่า ประพฤติสุจริตด้วยวาจา
..........มโนกรรม ๓ นั้นคือ
ไม่ละโมบโลภหลงในพัสดุสิ่งของของท่านด้วยไถยจิต ๑
คือมีไมตรีจิตต่อเพื่อนมนุษย์และสัตว์ทั่วไป ๑
คือเห็นชอบตามคลองธรรมอันดี ๑
มโนกรรม คือการงานของใจที่ผิดนั้นคือโลภเจตนา
คิดลักฉ้อโกงพัสดุสิ่งของของท่านผู้อื่น ๑
คือคิดแช่งท่านผู้อื่น เพื่อให้พินาศฉิบหาย ๑
คือเห็นผิดในคลองธรรม ดังเห็นว่าผู้ประพฤติดี
ด้วยกายกรรม ๓ และผู้ประพฤติดีด้วยวจีกรรม ๔ และ
ผู้ประพฤติดีด้วยมโนกรรม ๓ นั้น เป็นความประพฤติไม่ดี
เห็นว่าผู้ประพฤติชั่วด้วยกายวาจาใจนั้นแหละเป็นความดี
ดังนี้เป็นตัวอย่าง ชื่อว่ามิจฉาทิฏฐิ เห็นผิดเป็นชอบ
มิจฉาทิฏฐิในกุศลกรรมบถนี้ หมายความว่า เห็นตัวเอง
คือเห็นอกุศลนั้นเอง ถ้าเห็นตามคลองธรรมที่ท่านจัดไว้ว่า
ส่วนใดเป็นกุศลส่วนใดเป็นอกุศล ก็เห็นตามว่า
เป็นกุศลอกุศลก็เป็นสัมมาทิฏฐิเท่านั้น
..........ผู้ประพฤติกายวาจาใจถูก
ต้องตามคลองธรรมที่ชอบเพียงเท่านี้ ก็นับได้ว่าเป็นคนดี
ในโลก นักปราชญ์ท่านย่อมสรรเสริญ เพราะเหตุนั้น
พระบรมศาสดาจึงเทศนาแนะนำให้สาวกพากันปฏิบัติ จะ
ได้รับความสุขลาภยศสรรเสริญตามนิยมของโลก
จึงชื่อว่าพระองค์ทรงสั่งสอนทางคดีโลก


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ก.ค. 2014, 14:27 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


..........ส่วนทางคดีธรรมนั้น
ดังพระองค์ทรงสอนกุมัคคมิจฉาปฏิปทา ทางผิด ๒ อย่าง
และมัชฌิมาปฏิปทา ทางกลาง ๘ อย่าง แก่เบญจวัคคีย์
เป็นต้น ใจความโดยย่ออย่างนี้ ผู้เห็นโทษ
ในกามาฆรสถาน ออกประพฤติพรหมจรรย์
ให้เว้นทางผิด ๒ อย่าง คือ กามสุขัลลิกานุโยโค
ความประกอบตนให้เกี่ยวเกาะอยู่ด้วยความสุข
คือลุอำนาจแห่งรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ส่วนที่
เป็นอิฏฐารมณ์ ๑ อัตตกิลมถานุโยโค คือ
ความประกอบตนให้ลำบากเหน็ดเหนื่อยหาประโยชน์มิได้
คือลุอำนาจแก่ รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ส่วนที่
เป็นอนิฏฐารมณ์ ๑
เมื่อเว้นทางผิด ๒ อย่างนี้แล้ว ต้องปฏิบัติ
ให้ตรงต่อมัชฌิมาปฏิปทาทางกลางมีองค์อวัยวะ ๘
เป็นทางดำเนินแห่งพระอริยเจ้า คือ สัมมาทิฏฐิ
ความเห็นชอบ ๑ สัมมาสังกัปโป ความดำริชอบ ๑
สัมมาวาจา วิรัติเจตนาเป็นเหตุกล่าวชอบ ๑
สัมมากัมมันโต วิรัติธรรมเป็นเหตุการณ์งานของกายชอบ
๑ สัมมาอาชีโว วิรัติธรรมเป็นเหตุเลี้ยงชีพชอบ ๑
สัมมาวายาโม ความเพียรชอบ ๑ สัมมาสติ ระลึกชอบ ๑
สัมมาสมาธิ ตั้งจิตไว้เสมอชอบ ๑ ผู้ใดมีธรรม ๘
ประการนี้ในตน ผู้นั้นชื่อว่าเดินตามทางแห่งพระอริยเจ้า
..........จักอธิบายมรรคนั้นโดยย่อ ๆ พอได้ใจความ ที่ว่า
สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบนั้น ท่านแสดงว่า
ให้เห็นตัวของเราโดยอาการ ๔ อย่าง คือเห็นว่าเป็นทุกข์
เพราะอยู่ในความปกครองของเกิดแก่ไข้ตาย จึง
เป็นทุกขสัจจะแท้ นี้อาการหนึ่ง เกิดแก่ไข้ตาย
เป็นผลมาแต่เหตุ คืออวิชชาความ
ไม่รู้จักเกิดแก่ไข้ตายที่จริงนั้นแหละ อวิชชานั้น
จึงชื่อว่าสมุทัยเป็นต้นเหตุทำทุกข์ให้บังเกิดขึ้นในตน
สมุทัยนี้ก็จัดเป็นสัจจะของจริงอีกอาการหนึ่ง ปัญญาที่รู้
เท่าเกิดแก่ไข้ตายจริง เกิดแก่ไข้ตายที่
ไม่จริงคือตัวอวิชชาก็ดับ อวิชชาดับนั้นเองท่านให้ชื่อว่า
นิโรโธ นิโรธนี้ก็จัดเป็นสัจจะของจริงอาการหนึ่ง
ปัญญาที่รู้เกิดแก่ไข้ตายนั้นแหละ ชื่อว่ารู้ทุกข์ รู้สมุทัย
รู้นิโรธ ปัญญานั้นจึงเป็นสัมมาทิฏฐิ
คือว่า ทุกข์ก็ตัว สมุทัยก็ตัว นิโรธก็ตัว มรรคคือผู้ปฏิบัติ
ผู้รู้ผู้เห็นก็ตัว จึงชื่อว่า ตัวเห็นตัว ชื่อว่าสัมมาทิฏฐิ หรือ
จะว่ามรรคเห็นมรรคเป็นสัมมาทิฏฐิก็ไม่ผิด
เพราะสัมมาทิฏฐิก็องค์ของมรรค มรรคนั้นแหละเห็นตัว
เป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นสัมมาสังกัปโป เป็นสัมมาวาจา
เป็นสัมมากัมมันโต เป็นสัมมาอาชีโว เป็นสัมมาวายาโม
เป็นสัมมาสติ เป็นสัมมาสมาธิ จึงชื่อว่ามรรคเห็นมรรค
เป็น สัมมาทิฏฐิ เป็นองค์ที่ ๑
..........ที่ว่า สัมมาสังกัปโป ดำริชอบนั้น อธิบายว่า
ความดำริก็คือความตรึกความตรองของใจนี้เอง ดำริไม่
ให้ตกไปในกามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก
คือเลิกอกุศลวิตกเสียให้หมด ให้ความดำริสัมปยุต
ด้วยกุศลธรรมอยู่ทุกเมื่อ นั้นแหละชื่อว่า สัมมาสังกัปโป
เป็นองค์ที่ ๒
..........ที่ว่า สัมมาวาจา วิรัติเจตนาเป็นเหตุกล่าวชอบนั้น
อธิบายว่า ส่วนวิรัตินั้นคือความตั้งใจ
จะเว้นคำเท็จคำส่อเสียดยุยง คำหยาบคาย
คำโปรยประโยชน์ ตั้งใจสมาทานว่า เรา
จะกล่าวแต่คำจริง คำสมัครสมาน คำอ่อนหวาน คำเป็นไป
กับด้วยประโยชน์ ชื่อว่า สัมมาวาจา เป็นองค์ที่ ๓
..........ที่ว่า สัมมากัมมันโต วิรัติธรรม
เป็นเหตุกายกรรมชอบนั้น อธิบายว่า ส่วนวิรัตินั้นคือ
ความตั้งใจว่า เราจักเว้นกายกรรมที่ผิด คือฆ่าสัตว์
ลักทรัพย์ เสพอสัทธรรม ตลอดชีวิต ตั้งใจสมาทานว่า
เราจะทำแต่กายกรรมที่ชอบ คือกายกรรมอันสัมปยุต
ด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ตลอดกาลเป็นนิตย์
ชื่อว่า สัมมากัมมันโต เป็นองค์ที่ ๔
..........ที่ว่า สัมมาอาชีโว วิรัติธรรม
เป็นเหตุเลี้ยงชีพชอบนั้น อธิบายว่า ส่วนวิรัตินั้นก็คือ
ความตั้งใจว่าเราจักเว้นอเนสนกรรม
การแสวงหาโภคทรัพย์มาเลี้ยงตนโดยทางไม่ชอบธรรม
มีการเบียดเบียนชีวิตและทรัพย์สมบัติของท่านเป็นต้น
และตั้งใจสมาทานว่าเราจักยังชีวิตอันนี้ให้เป็นอยู่
ด้วยกายกรรมและวจีกรรมอันชอบธรรม มีกสิกรรม
และพาณิชกรรม หรือด้วยอริยยาจนวิธีเป็นต้น ชื่อว่า
สัมมาอาชีโว เป็นองค์คำรบ ๕
..........ที่ว่า สัมมาวายาโม ความเพียรชอบนั้น อธิบายว่า
ความพยายามเป็นไปในกายเป็นไปในจิต
คือเพียรละมิจฉาวาจา มิจฉากัมมันโต มิจฉาอาชีโว
ที่ตนตั้งวิรัติไว้แล้วนั้น มิให้เกิดมิให้มีได้
เพียรระวังรักษาวาจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ
ที่ตนตั้งสมาทานไว้นั้น ให้มีให้เป็นอยู่เสมอ ชื่อว่า
สัมมาวายาโม เป็นองค์ที่ ๖
..........ที่ว่า สัมมาสติ ระลึกชอบนั้น อธิบายว่า ให้ระลึก
อยู่ที่กายที่ใจนี้เอง ก็คือกายและใจนี้เป็นตัวสติปัฏฐาน
คือเป็นที่ตั้งแห่งสติ เมื่อสติไม่ซัดไปในที่อื่น ระลึกอยู่ ตื่น
อยู่ รู้อยู่ที่กายที่ใจเสมอไป ชื่อว่า สัมมาสติ เป็นองค์ที่ ๗
..........ที่ว่า สัมมาสมาธิ ตั้งจิตไว้เสมอชอบนั้น
อธิบายว่า จิตก็คือความคิดความรู้นั้นเอง คือให้คิดให้รู้
อยู่ที่กายที่ใจของตนเองเสมอไป ชื่อว่า สัมมาสมาธิ
เป็นองค์ที่ ๘
..........ที่ว่า มรรคสามัคคี ก็คือองค์อวัยวะของมรรคทั้ง
๘ มีพรักพร้อมกันที่กายที่ใจนี้เอง ดังเห็นชอบ
ก็เห็นที่กายที่ใจ ความดำริชอบก็ดำริที่กายที่ใจ
วาจาชอบ การงานของกายชอบ เลี้ยงชีพชอบ
ก็คือเจตนาทั้งวิรัติและสมาทาน ตั้งขึ้นที่กายที่ใจนี้เอง
ความเพียรชอบก็เพียรที่กายที่ใจ ระลึกชอบก็ระลึก
อยู่ที่กายที่ใจ ตั้งจิตไว้เสมอชอบ ก็คือตั้งจิตไว้ที่กายที่ใจ
กายและใจเป็นที่ตั้งเป็นที่ประชุมเป็นมรรค
เมื่อมรรคพร้อมกันมีขึ้นในที่อันเดียวกันอย่างนี้ ท่าน
ให้ชื่อว่า มรรคสามัคคี มรรคสามัคคีนี้ชื่อว่า สามัญญผล
ผู้เห็นโทษของวัฏฏะ ออกประพฤติพรหมจรรย์
ต้องเดินทางนี้เป็นทางวิวัฏฏะ จะข้ามภพข้ามชาติได้ ก็
ด้วยอำนาจมัชฌิมาปฏิปทานี้เอง พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้
เป็นพระบรมศาสดา ได้ทรงประกาศพระพุทธศาสโนวาท
ไว้แก่พุทธบริษัท ตามสมควรแก่อุปนิสัยสามารถ
ทั้งฝ่ายคดีโลกคดีธรรม โดยนัยดังที่พรรณนามานี้
..........เมื่อผู้ที่ยังเป็นห่วงโลกอยู่ แต่ต้องการความสุข
ก็พึงปฏิบัติเพียงชั้นสุจริตธรรม ดำรงตน
อยู่เพียงสัมมาทิฏฐิชั้นกุศลกรรมบถ ก็อาจจักได้ประสบ
ความสุขสำราญอยู่ตลอดชาติ ผู้เห็นโทษในโลก เบื่อ
ความเกิดแก่ไข้ตาย เบื่ออิจฉาพยาบาทเบียดเบียนซึ่งกัน
และกันไม่มีที่สิ้นสุด ก็พึงออกประพฤติพรหมจรรย์
ดำรงตนอยู่ในสัมมาทิฏฐิอริยมรรคตัวอุตตริมนุสสธรรม
ก็อาจจะสำเร็จสามัญญผลตามที่ตนประสงค์
..........การที่นำพุทธโอวาทมาแสดงโดยย่อนี้ ก็เพื่อจะ
ให้เห็นความว่า พระพุทธเจ้าผู้เป็นพระบรมครู
เป็นบุรพการีของพุทธบริษัท
ด้วยเหตุที่พระองค์แสวงหาประโยชน์แก่พุทธบริษัท
ได้ทรงบัญญัติแต่งตั้งสิกขาบทน้อยใหญ่
และทรงชี้ทางสุข ทางทุกข์ ทางโลก ทางธรรม
ไว้แก่สาวกทุกประการ พวกเราเป็นปัจฉิมาชนิกชน เกิด
ณ ภายหลัง นับแต่พระองค์ตรัสรู้มาจนบัดนี้ ได้ ๒๔๐๑
ปีล่วงแล้ว พุทธโอวาททั้งปวงนั้น ยังแสดงเหตุแสดงผล
ให้ปรากฏแก่ตาโลกอยู่ทั่วไป พวกเราผู้
เป็นพุทธบริษัทควรจะระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ
แสดงกตัญญูกตเวทีต่อพระองค์ตลอดกาลเป็นนิตย์
..........การที่จะแสดงกตัญญูกตเวทีนั้น ก็คือ
ไม่หมิ่นประมาท มีความเคารพนอบนบนับถือ
แล้วประพฤติตามพุทธโอวาท เมื่อตนยังยินดีอยู่
ในกามสุข ก็ควรรักษาตนให้ตั้งอยู่ในสุจริตธรรม คือ
ความเป็นคนประพฤตดีในโลก
เมื่อตนเห็นโทษของโลกออกประพฤติพรหมจรรย์ก็ควรรักษาตน
ให้ตั้งอยู่อริยธรรมหรืออุตตริมนุสสธรรม ให้ตรง
กับพระพุทธประสงค์เท่านั้น ก็ชื่อว่า เป็นผู้ตั้งอยู่
ในกตัญญูกตเวทีต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ก็ลงเนื้อความว่า “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ” ตัว
เป็นที่พึ่งแก่ตัวนั้นเอง และตรงกับที่ว่า พึงทำตนให้
เป็นเพียงดังเกาะและฝั่ง เป็นที่อาศัยแก่ตน และตรง
กับที่ว่า เมื่อรู้ตนว่าตนเป็นที่รักของตน พึงรักษาตน
นั้นแหละให้เป็นอันรักษาแล้วด้วยดี โดยวิธีดังบรรยายมา
ด้วยประการฉะนี้.
...........................


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 10 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 4 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร