วันเวลาปัจจุบัน 19 เม.ย. 2024, 05:50  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ก.ค. 2014, 10:18 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

จักรแก้ว วิชาน่ารู้

(เรียบเรียง พ.ศ. ๒๔๗๒)
บัดนี้ จักพรรณนารัตนะของพระเจ้าจักรพรรดิ
ให้เข้าใจ เพราะพระเจ้าแผ่นดิน ถ้ามีรัตนะครบทั้ง
๘ ประการนี้ นิยมว่าเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ
เป็นเจ้าโลก ไม่มีกษัตริย์พระองค์ใดในโลก
จะต้านทานกำลังได้ จึงเป็นใหญ่ในโลก เป็นเจ้าโลก
ท่านแสดงไว้ว่ามีขึ้นเป็นครั้งเป็นคราว นาน ๆ
จึงมีขึ้นคราวหนึ่ง รัตนะนั้นแปลว่า ของวิเศษทำ
ความปรารถนาให้สำเร็จได้ แปลอย่างย่อว่าแก้ว
แก้วนั้นเป็นชื่อแห่งของดีวิเศษ ถ้าของสิ่งใดเป็นของดี
โลกสมมติให้ชื่อว่าแก้ว เหมือนอย่างพระพุทธ
พระธรรม พระสงฆ์ ก็สมมติ
ให้ชื่อว่าพระรัตนตรัย ผู้ชายดีก็ว่าขุนแก้ว
ผู้หญิงดีก็ว่านางแก้ว ช้างดี ม้าดี ก็ว่าช้างแก้ว ม้าแก้ว
คำว่าแก้วเป็นเครื่องหมายแห่งของดี
ทีนี้ จักบรรยายแก้วซึ่ง
เป็นของวิเศษสำหรับพระเจ้าจักรพรรดิคือ
นางแก้ว ๑ จักรแก้ว ๑ ขุนคลังแก้ว ๑ ช้างแก้วม้าแก้ว
๑ ปริณายกแก้ว ๑ นายพระทวารแก้ว ๑ ขุนพลแก้ว
๑ แก้วมณีโชติ ๑ เป็นจักรรัตนะ ๘ สิ่ง
ของเหล่านี้พวกเราจะไม่ได้เห็น เพราะมีขึ้นเป็นครั้ง
เป็นคราว ชีวิตของเราจะตายเสียเปล่าจักไม่ได้เห็น
จักแสดงให้เห็นของที่มีอยู่แล้ว ไม่ต่างอะไรกัน
กับจักรรัตนะเหล่านั้น คือสมบัติซึ่งมีอยู่
ในตัวของเรา เมื่อเทียบกันดูก็จักให้เห็นจักรรัตนะ ไม่
ต้องคอยดูให้เสียเวลา พึงเห็นเนื้อความดังนี้ : -
ที่ ๑ นางแก้ว หมายความว่า นางงามพร้อม
ด้วยอิตถีลักษณะ ฉลาดในกิจวัตร
บำเรอพระเจ้าจักรพรรดิ
ให้เบิกบานสำราญพระราชหฤทัย
ท่านพรรณนาคุณไว้
ถึงว่าพระเจ้าจักรพรรดิร้อน เนื้อนางแก้วเย็น
พระเจ้าจักรพรรดิหนาว เนื้อนางแก้วนั้นอุ่น บำเรอ
ให้พระเจ้าจักรพรรดิสำราญพระราชหฤทัย
อยู่ทุกเมื่อ ดังนี้ จึงได้ชื่อว่านางแก้ว
ที่ ๒ จักรแก้วนั้น เป็นจักรอย่างวิเศษ
อาจนำพระเจ้าจักรพรรดิเสด็จไปสู่ทิศานุทิศ
ได้รอบโลก จึงได้ชื่อว่าจักรแก้ว
ที่ ๓ ขุนคลังแก้วนั้น เป็นคนฉลาด
ในการประมูลพระราชทรัพย์
มาบรรจุท้องพระคลังหลวงให้ล้นเหลือ
อยู่เสมอ จึงได้ชื่อว่าขุนคลังแก้ว
ที่ ๔ ช้างแก้วม้าแก้วนั้น เป็นราชพาหนะอันวิเศษ
อาจนำพระเจ้าจักรพรรดิเสด็จไปสู่ประเทศที่
ต้องพระราชประสงค์สำเร็จดังใจนึกใจหมาย
จึงเรียกว่าช้างแก้วม้าแก้ว
ที่ ๕ ปริณายกแก้วนั้น ได้แก่อัครมหาเสนาบดีมีปรีชา
สามารถ
อาจสำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระเจ้าจักรพรรดิ
ได้ จึงชื่อว่าปริณายกแก้ว
ที่ ๖ นายพระทวารแก้วนั้น ได้แก่นายรักษาประตู
เป็นคนฉลาดเลือกบุคคลที่จัก
เข้าเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดิ ถ้าเห็นว่า
ไม่มีคุณประโยชน์ไปรบกวน
ให้ขุ่นเคืองพระราชหฤทัยก็ห้ามเสีย ปล่อยให้เข้าเฝ้า
ได้แต่บุคคลที่นำประโยชน์และความสุขเข้าไป จึง
ได้ชื่อว่านายพระทวารแก้ว
ที่ ๗ ขุนพลแก้วนั้น ได้แก่แม่ทัพผู้ฉลาดในเชิงรบ
รู้กำลังของข้าศึก
ทั้งกล้าหาญอาจเอาชัยชนะแก่ข้าศึกได้เสมอ
จึงชื่อว่าขุนพลแก้ว
ที่ ๘ แก้วมณีโชตินั้น เป็นแก้ววิเศษ อาจส่องในที่มืด
ให้สว่างได้ จึงชื่อว่าแก้วมณีโชติ
แก้วทั้ง ๘ ประการนี้ มีคุณวิเศษต่าง ๆ กัน ล้วนแต่
เป็นสมบัติมีค่าอันจะประมาณมิได้ จึงได้ชื่อว่า อนัคฆา
มีค่าสูงพ้นวิสัยที่จะประมาณว่าเท่าไรได้
พึงเข้าใจจักรรัตนะมีคุณวิเศษไว้ดังนี้


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ก.ค. 2014, 10:29 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


บัดนี้ จักอธิบายวิธีน้อมเอาจักรรัตนะทั้ง ๘ นั้น
เข้ามาสู่ตัวของเราให้ตรงกับพระธรรมคุณ บทว่า
โอปนยิโก ซึ่งแปลว่า พระธรรมที่พระ
ผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้วนั้น อาจที่จักน้อม
เข้ามาสู่ตัวได้ดังนี้
คำที่ว่าพระเจ้าจักรพรรดินั้น หมาย
ความว่าเจ้าโลก ถ้าน้อมเข้ามาสู่ตัวของเรา
ได้แก่ใจของเรานี้เอง เพราะใจเป็นเจ้าเป็น
ใหญ่แก่เครื่องจักร เครื่องยนต์ คือร่างกายอันนี้
ร่างกายอันนี้ก็ชื่อว่าสัตวโลก จึงสมมติใจ
ชื่อว่าพระเจ้าจักรพรรดิ แปลว่า ผู้ยังจักรรัตนะ
ให้เป็นไปในอำนาจ
๑. นางแก้วนั้น ได้แก่ร่างกายของเรานี้เอง
เพราะว่าอะไรจะเป็นของยอดรักยิ่งกว่าร่างกายนี้
ไม่มี ร่างกายเป็นผู้บำรุงให้ใจได้รับความสุข
ไม่มีสิ้นสุด ที่ว่าพระเจ้าจักรพรรดิร้อน
เนื้อนางแก้วเย็น หมายความว่า เป็นธรรมดา
ถ้าเวลาร้อนจัดอย่างเต็มที่ เหงื่อชุ่มทำ
ให้ร่างกายเย็น ถ้าเวลาหนาวจัดร่างกายอุ่น
ร่างกายเป็นของรักแก่ใจ
เป็นอย่างเหลือที่จักพรรณนา จึงเปรียบ
ด้วยนางแก้วของพระเจ้าจักรพรรดิ
๒. จักรแก้วนั้น ได้แก่อิริยาบถทั้ง ๔ คือ ยืน เดิน นั่ง
นอน ถ้าจักรยังมีกำลังหมุนเวียนไปได้อยู่เพียงใด
กิจการงานทั้งสิ้นอาจสำเร็จได้เพียงนั้น
แม้ปรารถนาจะเดินไปให้รอบโลก ก็อาจสำเร็จได้
ถ้าจักรอันใดอันหนึ่งหมุนไม่ได้แล้ว
กิจการงานที่เราปรารถนาจักไม่สำเร็จเลย
เพราะเหตุนั้น อิริยาบถทั้ง ๔ จึงเปรียบ
ด้วยจักรรัตนะของพระเจ้าจักรพรรดิ
๓. ขุนคลังแก้วนั้น ได้แก่มือทั้ง ๒ เพราะมือทั้ง ๒ นี้ ถ้า
ไม่วิการ อาจทำกิจทั้งปวงให้สำเร็จได้ จะทำนาทำสวน
หรือทำการค้าขายแสวงหาโภคทรัพย์ หรือ
จะทำการรับจ้าง ตลอดถึงราชการ
หาลาภหายศก็สำเร็จทั้งสิ้น เพราะเหตุนั้น มือทั้ง ๒
จึงเปรียบด้วยจักรรัตนะของพระเจ้าจักรพรรดิ
๔. ช้างแก้วม้าแก้ว ได้แก่เท้าทั้ง ๒ ถ้าไม่วิการแล้ว
อาจจักนำร่างกายอันนี้ให้เดินไปได้ในทิศานุทิศ สำเร็จ
ได้ตามความประสงค์ ถ้าจะเทียบกับช้างจริงม้าจริง
เท้าทั้ง ๒ จะดีกว่าเสียอีก เพราะว่าช้างจริงม้าจริงนั้น
คงจะพาเดินไปได้แต่ตามทางหรือแผ่นดินราบ ๆ เท่า
นั้น ส่วนเท้าทั้ง ๒ นี้ อาจสามารถ
จะพานำเอาร่างกายอันนี้เดินไปในป่าที่รก ๆ
หรือพาขึ้นต้นไม้ ภูเขา ลงห้วย ลงเหว ก็สำเร็จ
ได้ทุกหน้าที่ เพราะเหตุนั้น จึงเปรียบ
ด้วยช้างแก้วม้าแก้วของพระเจ้าจักรพรรดิ
๕. ปริณายกแก้ว ได้แก่ปากและลิ้นของเรานี้เอง
ถ้าไม่วิการ จะพูดจะสั่งกิจการงานอะไรสำเร็จ
ได้ตามใจประสงค์
จะบริโภครสเปรี้ยวหวานอะไรก็สำเร็จ ปาก
และลิ้นนี้นับว่าเป็นผู้สำเร็จ
ในการงานสำหรับบำรุงร่างกายให้เป็นอยู่ได้
เพราะเหตุนั้น จึงเปรียบด้วยปริณายก
คืออัครมหาเสนาบดี
ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระเจ้าจักรพรรดิ
๖. นายพระทวารแก้วนั้น ได้แก่จมูก เพราะจมูก
เป็นที่ระบายลม บรรดาสัตว์ทั่วโลกมีลม
เป็นอาหารสำคัญ จมูกคอยระบายลมที่ดี
เข้าไปเลี้ยงกาย ระบายลมที่เสียออกจากร่างกาย
อยู่เป็นนิตย์
เปรียบเหมือนนายพระทวารของพระเจ้าจักรพรรดิ
คอยเลือกผู้จะเข้าเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดิ
ถ้าเห็นว่าท่านผู้ใดไม่มีประโยชน์ นำแต่ความรำคาญ
เข้าไปสู่พระเจ้าจักรพรรดิก็ห้ามกันเสีย ปล่อยแต่
ผู้นำประโยชน์และความสุข
เข้าไปสู่พระเจ้าจักรพรรดิ จมูกก็
กันลมที่เสียออกไป ปล่อยแต่ลมที่บริสุทธิ์
เข้าไปบำรุงร่างกายเท่านั้น จึงเปรียบ
ด้วยนายพระทวารแก้วของพระเจ้าจักรพรรดิ
๗. ขุนพลแก้ว คือแม่ทัพนั้น ได้แก่หูทั้ง ๒ นี้เอง
เพราะหูเป็นหน้าที่รู้ข่าวใกล้ไกลได้ทุกประการ
ธรรมดาผู้เป็นแม่ทัพ ย่อมฉลาด
ในวิธีสอดส่องสืบสวนรู้กำลังของข้าศึก รู้การณ์
ใกล้การณ์ไกล อาจเอาชัยชนะได้ หูทั้ง ๒ นี้ ก็เป็น
ผู้รู้ข่าวร้ายและดี ทั้งทางใกล้และทางไกล
นับว่าเป็นผู้ป้องกันร่างกายให้พ้นภยันตราย
ได้ทุกหน้าที่ จึงเปรียบ
ด้วยขุนพลแก้วของพระเจ้าจักรพรรดิ
๘. แก้วมณีโชตินั้น ได้แก่ตาทั้ง ๒ ของเรานี้เอง
เพราะตาเป็นของสำคัญมาก ถ้าไม่วิการ อาจสำเร็จ
ในการดูแลได้ทุกหน้าที่ จะดูของดีของงาม
หรือของชั่วเลวทราม จะดูสิ่งที่มีโทษหรือมีคุณ
ย่อมสำเร็จด้วยตา โดยมากถึงจะเรียนวิชาการ
ทั้งปวง ตลอดถึงการหาทรัพย์ในดินสินในน้ำ
ต้องสำเร็จด้วยตาทั้งสิ้น เพราะเหตุนั้น ตาจึงเปรียบ
ด้วยแก้วมณีโชติของพระเจ้าจักรพรรดิ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ก.ค. 2014, 10:33 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


..........จักอธิบายอีกชั้นหนึ่ง ด้วยเห็นความว่า
ถ้ารู้จักสกลกาย ก็จักทำประโยชน์อะไร
ไม่สำเร็จสมบูรณ์ด้วยจักรรัตนะเพียงเท่านั้นได้
ให้เห็นสกลกายนี้
เป็นของวิเศษยิ่งกว่าจักรรัตนะเสียอีก คือ
ให้เห็นว่าเรามีแก้วสารพัดนึกอยู่ในตัวถึง ๘
ประการ เราไม่ต้องกลัวความยากจน เรา
สามารถที่จักใช้แก้ววิเศษของเราให้สำเร็จกิจ
ทำมาหาเลี้ยงชีพโดยชอบธรรมได้
ร่างกายนี้เป็นแก้วสารพัดนึกของวิเศษดวงหนึ่ง
ถ้าร่างกายไม่วิการคือไม่เจ็บไม่ไข้ไม่เกิดฝีเกิดตุ่ม
เราสามารถใช้ให้ประกอบกิจการงานให้สำเร็จ
ได้ทุกหน้าที่ การใช้ร่างกายก็ไม่ต้องบังคับบัญชา
ด้วยวิธีอื่น เพียงแต่นึกว่าเราจะทำอย่าง
นั้นอย่างนี้ก็สำเร็จได้ ร่างกายจึง
ได้ชื่อว่าแก้วสารพัดนึกดวงหนึ่ง
อิริยาบถทั้ง ๔ ก็จัดเป็นแก้วสารพัดนึกดวงหนึ่ง
เพราะการยืน เดิน นั่ง นอน เป็นจักร
เป็นล้อสำหรับนำร่างกายให้หมุนอยู่เสมอ คือ ยืน
แล้ว เดินแล้ว นั่งแล้ว นอนแล้ว ยืน เดิน นั่ง นอน
ต่อไป หมุนเวียนอยู่อย่างนี้เสมอ ถ้าขัดล้อใดล้อหนึ่ง
ร่างกายนี่ก็หมุนเวียนไปไม่ได้ ถ้าหมุนเวียนไปไม่ได้
ก็ทำกิจการงานอะไรไม่ได้ เหมือนรถมี ๔ ล้อ
ถ้าเกิดขัดข้องเสียล้อใดล้อหนึ่ง รถก็หมดอำนาจ จะ
ใช้ขับขี่บรรทุกลากขนอะไรไม่ได้เหมือนกัน
เพราะว่าอิริยาบถทั้ง ๔ เป็นเครื่องนำร่างกาย
ให้หมุนเวียนทำประโยชน์ให้สำเร็จอย่างนี้
จึงควรนับว่าเป็นจักรแก้วสารพัดนึกซึ่งมีอยู่
ในตัวของเรา
เมื่อรู้ว่าจักรของเรายังดีอยู่
กิจที่เราควรทำรีบทำเสีย จะ
เป็นการทำมาหาเลี้ยงชีพ หรือ
จะเรียนศิลปะวิทยาทั้งปวงก็รีบเรียนให้รู้เสีย
หรือบำเพ็ญบุญกุศลสิ่งใด ก็รีบทำเสีย อย่ามี
ความประมาท ให้เหมือนอย่างเจ้าของรถ
ถ้ารู้ว่าล้อรถของตัวยังดี ก็รีบบรรทุกลากขน
ให้สำเร็จประโยชน์เสียเช่นนั้น การใช้อิริยาบถทั้ง
๔ ก็ไม่ต้องลำบาก นึกจะยืนก็ยืน นึกจะเดินก็เดิน นึก
จะนั่งก็นั่ง นึกจะนอนก็นอน เพียงแต่นึกก็สำเร็จ
อิริยาบถ จึงชื่อว่าแก้วสารพัดนึกดวงหนึ่ง
มือทั้ง ๒ นั้นจัดเป็นแก้วสารพัดนึกดวงหนึ่ง ถ้ามือ
ไม่วิการเจ็บป่วย อาจจักใช้ให้กระทำการงานสำเร็จ
ได้ เราใช้คนอื่นจักให้สะดวกเหมือนมือของเราเอง
เป็นอันไม่ได้ มือนี้เราอาจใช้ได้ทุกเวลา
ไม่เลือกว่ากลางวันกลางคืน สุดแต่เราจะใช้
ไม่แสดงความเกียจคร้านเหน็ดเหนื่อยเลย และใช้
ได้ดังใจนึกใจหมายด้วย การใช้มือนั้นเล่าก็ไม่ต้องใช้
ด้วยวิธีอื่น เพียงแต่นึกว่าให้ทำเท่านี้ พอนึกเท่า
นั้นก็ทำทันที เพราะเหตุนั้น มือทั้ง ๒ นี้ จึง
ได้ชื่อว่าแก้วสารพัดนึกดวงหนึ่ง
เท้าทั้ง ๒ นี้ ก็ได้ชื่อว่าเป็นแก้วสารพัดนึกดวงหนึ่ง
ด้วยเท้าเป็นพาหนะอันสำคัญ พาหนะอื่นๆ
ดังช้างแก้วมาแก้ว รถไฟ รถยนต์ เรือเหาะ เรือบิน
เรือไฟ เรือยนต์ เป็นต้น โลกนิยมกันว่า
เป็นพาหนะอันประเสริฐใช้ได้สะดวกรวดเร็ว
ใช้ขี่ขับไปได้ทันอกทันใจ แต่ความจริงพาหนะเหล่า
นั้นขัด ๆ ข้อง ๆ ไม่ทันใจของมนุษย์เลย
คำโบราณท่านย่อมว่า พาหนะใด ๆ จะ
ให้ทันใจคนเหมือนอย่างม้าก้านกล้วยเป็นอันไม่มีดังนี้
ข้อนี้ก็แสดงให้เห็นว่า เท้าเป็นพาหนะอย่างเอก ขับขี่ไป
ได้ทันอกทันใจ การขับขี่จะไปในทิศใด ก็ไม่
ต้องตระเตรียมให้ลำบาก พอนึกว่าไปเถอะ
ก็ออกเดินทีเดียว หรือจะใช้ให้วิ่ง
พอนึกว่าวิ่งเถอะก็วิ่งทันที สำเร็จได้สมนึกสมหมาย
เพราะเหตุนั้นเท้าทั้ง ๒ นี้ จึงชื่อว่าแก้วสารพัดนึก
ปากและลิ้นของเรานี้ ก็เป็นแก้วสารพัดนึกดวงหนึ่ง
ด้วยว่าร่างกายจิตใจของเรานี้ที่จักสมบูรณ์อยู่ได้
ต้องอาศัยปากและลิ้นเป็นผู้อุปถัมภ์
ถึงการศึกษาเล่าเรียนท่องบ่นจำทรงสรรพวิชา
ทั้งปวง หรือจะสั่งเสียการงานอะไร หรือ
จะบริโภคอาหารบำรุงร่างกาย ก็ต้องใช้ปาก
และลิ้นทั้งสิ้น จึงเปรียบด้วย
ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระเจ้าจักรพรรดิ
การใช้ปากและลิ้นก็ไม่ลำบากเพียงแต่นึกเท่านั้น
ก็สำเร็จกิจนั้น ๆ สมดังความประสงค์ ปากและลิ้น
จึงชื่อว่าแก้วสารพัดนึกดวงหนึ่ง
จมูกของเรานี้ ก็ชื่อว่าแก้วสารพัดนึกดวงหนึ่ง ด้วยจมูก
เป็นผู้ระบายลมเลี้ยงร่างกาย ใช่แต่เท่านั้น ยังใช้
ให้สืบสวนกลิ่นดี กลิ่นชั่ว เหม็น หอม กลิ่นที่มีพิษ
และหาพิษมิได้ บรรดากลิ่นที่มีโทษหรือมีคุณ
ต้องใช้ให้จมูกเป็นผู้พิสูจน์ การใช้ไม่ลำบาก
เพียงแต่นึกเท่านั้นก็พิสูจน์ทันที สำเร็จตาม
ความประสงค์ เพราะเหตุนั้นจมูก
จึงชื่อว่าแก้วสารพัดนึกดวงหนึ่ง
หูทั้ง ๒ ของเรานี้ ก็ชื่อว่าแก้วสารพัดนึกดวงหนึ่ง
ด้วยว่าหูทั้ง ๒ นี้ เป็นผู้รับข่าวทางใกล้ทางไกล
ได้ตามความปรารถนา ถ้าไม่วิการคือไม่หนวก
เราอยากฟังสรรพสำเนียงเสียงสิ่งใด ๆ ก็
ใช้หูนี้แหละให้เป็นผู้ฟัง เป็นต้นว่าเสียงดนตรีต่าง ๆ
หรือเสียงเพลงขับกาพย์กลอน
หรือคำสั่งกิจการงานและคำสั่งสอนเป็นอาทิ ต้องใช้
ให้หูนี้แหละเป็นผู้ฟัง การใช้ก็ไม่ลำบาก เพียงแต่นึก
ให้ฟังก็สำเร็จ คล้ายกับแม่ทัพ
ผู้ฉลาดรู้การรอบคอบ ป้องกันข้าศึกได้รอบทิศ
เพราะเหตุนั้น หูทั้ง ๒ นี้ จึงชื่อว่า
เป็นแก้วสารพัดนึกดวงหนึ่ง
ตาทั้ง ๒ นี้ ก็ชื่อว่าแก้วสารพัดนึกดวงหนึ่ง ด้วยว่าตาเป็น
ผู้ส่องให้เห็นสรรพวัตถุทั้งปวงให้สำเร็จ
ได้ตามปรารถนา เราอยากจะดูสรรพวัตถุสิ่งใดๆ
หยาบ ละเอียด ประณีต เลวทราม ต้องใช้
ให้ตาดูสำเร็จได้ทั่วไป จะดูหนังสือ
หรือรูปเบ็ดเตล็ดสำเร็จได้ทุกหน้าที่
จะทำกิจการงานอะไร ต้องให้ตาเป็นผู้ช่วยทั่วไป
โดยที่สุดเราจะเดินไปในที่ใด หรือจะนั่งจะนอน ต้อง
ใช้ตาให้ดูเสียก่อน เพื่อป้องกันการหลงทาง
หรือป้องกันอันตราย ตา
เป็นของวิเศษสำหรับร่างกาย ถึงแม้เราจะทำบุญ
ให้ทานรักษาศีลเล่าเรียนศิลปวิทยาทั้งปวง ต้อง
ใช้ตาทั่วไป พรรณนาคุณของตาไม่มีที่สิ้นสุด การ
ใช้ก็ง่าย พอนึกว่าให้ดูก็เห็นทีเดียว เพราะเหตุนั้น ตาทั้ง
๒ จึงชื่อว่าแก้วสารพัดนึกดวงหนึ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ก.ค. 2014, 10:38 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


..........เมื่อ
ได้ลิขิตประพันธ์จักรรัตนะแก้วสารพัดนึกให้ลง
เป็นอันเดียวกัน ล้วนเป็นของมีอยู่ในตนเท่ากับ
เป็นกระจกสำหรับส่องดูภาพของตน
ถ้าเห็นว่าตนมีของวิเศษพรักพร้อมอยู่แล้ว จะ
ได้ตรึกตรองใช้ให้ถูกทาง
เพราะว่าธรรมดาของวิเศษ ถ้าใช้ทางดีก็ดีจริงด้วย
ถ้าใช้ในทางชั่วทางผิดก็ชั่วจริงผิดจริงด้วย
บรรดาญาติและมิตรผู้จะสงเคราะห์ให้
ความสุขแก่เรา สู้เราใช้แก้วสารพัดนึก
ให้หาเองทำเองไม่ได้ บรรดาข้าศึกศัตรูภายนอก
ผู้ปองร้ายนำโทษทุกข์ภัยอันตราย นำความผิด
ความเสียหายมาให้แก่เรา สู้เรา
ใช้แก้วสารพัดนึกของเรา ทำอันตรายแก่เราเองไม่
ได้ ขอให้มองดูบรรดาคนที่ได้รับโทษ
ต้องถูกเครื่องจองจำคุมขัง หรือคนที่โลก
เขาติเตียนว่าเป็นคนประพฤติตนเป็นคนเลวทราม
ทั้งสิ้น ตกอยู่ในจำพวกใช้ของวิเศษในตัวให้ทำ
ในทางที่ผิด จึงเกิดเป็นข้าศึกแก่ตนเอง
เกิดมาเป็นคนเมื่อรู้ว่าตนเป็นผู้สามารถจะประพฤติได้
ทั้งทางดีและทางชั่ว ก็พึงตั้งใจงดเว้นทางชั่วเสีย
เพราะความชั่วมีแต่นำโทษทุกข์และภัยอันตราย
มาทับถมตนให้ได้รับความเดือดร้อน
ทั้งชาตินี้ชาติหน้าเท่านั้น ให้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติแต่
ส่วนสุจริต คือให้รักษาศีล ๕ นี้แหละ
เป็นตัวสุจริตธรรม แต่ให้ตั้งใจรักษาให้เต็มทั้ง ๘
ลักษณะ คือให้ตั้งใจงดเว้นกายทุจริต ๔
คือเว้นการฆ่าสัตว์ ๑ เว้นการลักของท่าน ๑
เว้นการล่วงกามที่เขาหวงแหน ๑ เว้นการดื่มน้ำเมา ๑
ให้ตั้งใจรักษาวจีสุจริต ๔ คือ เว้นการพูดคำเท็จ คำ
ไม่จริง ๑ เว้นการพูดคำหยาบกระทบเสียดสีผู้อื่น ๑
เว้นการพูดยุยงให้ท่านแตกร้าวผิดเถียงกัน ๑
เว้นการพูดเล่นหาประโยชน์มิได้ ๑ ผู้
ใช้แก้วสารพัดนึกให้รักษาศีลอย่างนี้
ชื่อว่าประพฤติสุจริตธรรม คือประพฤติดี จะ
ได้รับแต่ความสุข
ความสรรเสริญตลอดกาลทุกเมื่อ
การประพฤติดีชื่อว่าใช้ของดีให้ทำความดี ก็จัก
ได้รับผลอันดี ให้ความสุขทั้งชาตินี้ชาติหน้า
การรู้จักอัตตคุณสมบัติอันมีอยู่ในตน เป็นเหตุ
ให้รักษาตนเป็นพลเมืองดี การรักษาตนให้
เป็นคนดีนั่นแหละ ชื่อว่ารักชาติ รักศาสนา
รักพระมหากษัตริย์ รักถิ่นฐานภูมิลำเนาของตน
บุคคลผู้ฉลาดรักษาตนให้ตั้งอยู่
ในสุจริตธรรมชื่อว่ารักตน และชื่อว่าทำตนให้
เป็นที่พึ่งแก่ตนโดยตรง
จักแสดงตนไว้บ้างเล็กน้อย เพราะตนนั้นบอก
กันตรงๆ ไม่ได้ เหมือนกับความไข้ จะบอกว่าไข้
เป็นอย่างนั้นอย่างนี้บอกไม่ได้ บอกได้แต่อาการมีร้อน
หนาว ปวด เจ็บ เป็นต้น ตนของเราก็บอกไม่ถูกเช่นนั้น
บอกได้แต่อาการ คือ ผู้รับสุขรับทุกข์
ผู้รับร้อนรับหนาว ผู้รับดีรับชั่ว
ผู้รับนินทาสรรเสริญ นั่นแหละชื่อว่าตน คือผู้รู้ผู้
เป็นเจ้าของแห่งจักรรัตนะทั้ง ๘ นั่นแหละชื่อว่าตน
ตนนั้นไม่มีสัณฐาน ไม่มีเล็กไม่มีโต จะว่าโดยส่วน
เล็กก็เล็กกว่าปรมาณู จะว่าโดยส่วนโตก็โตเต็มโลก
เพราะเป็นชาติกายสิทธิ์ ตนนั่นแหละ โบราณพา
กันร้องเรียกว่าผี ที่ให้ชื่อว่าผีนั้นก็เพราะบอกไม่ถึง
จึงให้ชื่อว่าผี ถ้าผีนั้นยังครองร่างอยู่ ก็ให้ชื่อว่าคน
หรือให้ชื่อว่าสัตว์ ถ้าผีทิ้งร่างกายเสียแล้ว
ร่างกายที่ผีทิ้งเสียแล้วนั้น ท่านพากันเรียกว่าซากผี
ที่แปลกันว่าศพทุกวันนี้ แต่คำที่ว่าสัตว์นั้นหนักแผ่นดิน
ดังที่ปรากฏอยู่ในวัตถุนิทานว่า โพธิสตฺโต สัตว์ผู้
จะตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ พึงเข้าใจว่าผีหรือสัตว์
นั้นแหละเป็นตัวเรา
ถ้าแสดงตามปรมัตถ์ เป็นสภาวธรรม จึงว่าไม่ใช่เรา
เป็นชาติกายสิทธิ์ ไม่มีแก่ ไม่มีตาย ที่เกิด แก่ เจ็บ ตาย
นั้นเป็นสังขาร ที่ผีหรือสัตว์
เขาปรุงขึ้นอาศัยชั่วคราวต่างหาก ถ้าผีหรือสัตว์
ยังมีอาสวะอยู่ก็ปรุงอัตตสมบัติอยู่ร่ำไป ถ้า
เขาหมดอาสวะแล้ว เขาก็หมดปรุง
เป็นกายสิทธิ์ไปทีเดียว ชื่อว่าถึงพระนิพพาน พึง
เข้าใจว่าตนนั้น ถ้าถึงพระนิพพานแล้วก็สิ้นเรื่องยุ่ง
กัน จึงชื่อว่าเอกันตบรมสุข ดังนี้แล.
วันที่ ๔ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๒
.........................


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 23 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร