วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 05:11  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 8 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ต.ค. 2011, 19:31 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

พระพุทธรูปศิลา สมัยทวารวดี

พระพุทธรูปศิลาขนาดใหญ่ประทับนั่งห้อยพระบาท ศิลปะแบบทวารวดี
ที่สร้างขึ้นในสมัยทวารวดี ระหว่างปีพุทธศักราช ๑๐๐๐-๑๖๐๐

ปางแสดงธรรม-ปางปฐมเทศนา ปรากฏในโลกเพียง ๖ องค์เท่านั้น
(ตามที่มีหลักฐานเหลืออยู่ในปัจจุบัน) ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนน้อยอย่างยิ่ง
โดยในประเทศไทยพบ ๕ องค์ และในประเทศอินโดนีเซียพบ ๑ องค์ ดังนี้


:b47: องค์ที่ ๑ พระพุทธรูปศิลาขาว
“หลวงพ่อประทานพร” พระประธานในพระอุโบสถ
วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จ.นครปฐม
ปางแสดงธรรม
(วิตรรกมุทรา Vitarka Mudra)


:b47: องค์ที่ ๒ พระพุทธรูปศิลาขาว
พระพุทธนรเชษฐ์ เศวตอัศมมัยมุนี ศรีทวารวดีปูชนียบพิตร
หรือเรียกพระนามสั้นๆ ว่า “พระพุทธนรเชษฐ์ฯ” หรือ “หลวงพ่อขาว”
ประดิษฐาน ณ ลานชั้นลด (กะเปาะ) ด้านทิศใต้ขององค์พระปฐมเจดีย์
วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จ.นครปฐม
ปางแสดงธรรม
(วิตรรกมุทรา Vitarka Mudra)


:b47: องค์ที่ ๓ พระพุทธรูปศิลาขาว
ประดิษฐาน ณ อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร
ปางแสดงธรรม
(วิตรรกมุทรา Vitarka Mudra)


:b47: องค์ที่ ๔ พระพุทธรูปศิลาขาว
ประดิษฐาน ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา
ต.ประตูชัย อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา
ปางแสดงธรรม
(วิตรรกมุทรา Vitarka Mudra)


พระพุทธรูปศิลาขาวทั้ง ๔ องค์ดังกล่าว
เป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะและขนาดอย่างเดียวกัน


:b47: องค์ที่ ๕ พระพุทธรูปศิลาเขียว
“พระคันธารราฐ” พระประธานในพระวิหารสรรเพชญ์ (พระวิหารน้อย)
วัดหน้าพระเมรุราชิการาม หรือวัดหน้าพระเมรุ จ.พระนครศรีอยุธยา
คาดว่าเดิมเป็นพระพุทธรูปปางแสดงธรรม
(วิตรรกมุทรา Vitarka Mudra)


:b47: องค์ที่ ๖ พระพุทธรูปศิลาขาว ประเทศอินโดนีเซีย
ประทับนั่งห้อยพระบาท วางฝ่าพระบาทบนดอกบัว
ปางปฐมเทศนา
(ธรรมจักรมุทรา Dharmachakra Mudra)
ประดิษฐาน ณ พระวิหารเมนดุต จันทิเมนดุต (Candi Mendut)
หรือวัดเมนดุต (Mendut Temple) พุทธสถานขนาดเล็กที่เก่าแก่ที่สุด
ในเมืองยอกยาการ์ตา (Yogyakarta) ประเทศอินโดนีเซีย
ซึ่งเป็นอาคารทรงปราสาทยอดสถูปที่สร้างครอบศาสนสถานเดิมที่ก่อด้วยอิฐ
มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ทำจากหินภูเขาไฟเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓
ตั้งอยู่ห่างจากบุโรพุทโธ (Borobudur) ไปทางทิศตะวันออก ๓ กิโลเมตร
ทั้งนี้ จันทิเมนดุตหรือวัดเมนดุตเป็นวัดในพระพุทธศาสนา นิกายมหายาน

พระพุทธรูปศิลาขาวในประเทศอินโดนีเซียองค์นี้ มีขนาดใหญ่กว่าตัวคนจริง
คือ มีขนาดสูง ๓ เมตร แกะสลักจากหินลาวาภูเขาไฟอายุ ๑,๒๐๐ กว่าปี
หันพระพักตร์
(หันหน้า) ไปทางทิศตะวันตก ซึ่งนับว่าแปลกกว่าองค์พระพุทธรูป
ในจันทิ
(วัด, เจดีย์, ศาสนสถานที่บรรจุเถ้ากระดูกหรืออัฐิของผู้ตาย) อื่นๆ
ที่ล้วนหันพระพักตร์
(หันหน้า) ไปทางทิศตะวันออกทั้งสิ้น

อนึ่ง เมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๐๓
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙
พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙
ได้เสด็จฯ ทรงทอดพระเนตร “พระวิหารบุโรพุทโธ” และ “พระวิหารเมนดุต”
ในการนี้ สมาคมพุทธศาสนาแห่งอินโดนีเซียได้ทูลเกล้าฯ ถวาย
พระพุทธรูปองค์หนึ่ง พร้อมด้วยธงฉัพพรรณรังสี
ซึ่งเป็นธงสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนาแด่ล้นเกล้าทั้ง ๒ พระองค์


ในจำนวนพระพุทธรูปศิลา ๖ องค์นี้ มีเพียงองค์เดียวที่สร้างขึ้นจากศิลาเขียว
อยู่ที่วัดหน้าพระเมรุราชิการาม หรือวัดหน้าพระเมรุ จ.พระนครศรีอยุธยา

ส่วนที่เหลือทั้งหมดสร้างขึ้นจากศิลาขาวทั้งสิ้น ถึงกระนั้นก็ยังเกิดความสับสนกันอยู่เนืองๆ


รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙
พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙
ในคราวเสด็จฯ ทรงทอดพระเนตร
“พระวิหารบุโรพุทโธ” และ “พระวิหารเมนดุต” ประเทศอินโดนีเซีย
เมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๐๓
ในการนี้ สมาคมพุทธศาสนาแห่งอินโดนีเซียได้ทูลเกล้าฯ ถวาย
พระพุทธรูปองค์หนึ่ง พร้อมด้วยธงฉัพพรรณรังสี
ซึ่งเป็นธงสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนาแด่ล้นเกล้าทั้ง ๒ พระองค์


:b47: :b44: :b47:

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 ต.ค. 2011, 10:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


:b44: พระพุทธรูปศิลา สมัยทวารวดี องค์ที่ ๑

พระพุทธรูปศิลาขาว
“หลวงพ่อประทานพร” พระประธานในพระอุโบสถ
วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จ.นครปฐม
ปางแสดงธรรม (วิตรรกมุทรา Vitarka Mudra)


รูปภาพ

พระพุทธรูปศิลาขาว หรือ “หลวงพ่อประทานพร”
พระประธานในพระอุโบสถ วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร
ถนนขวาพระ ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม

รูปภาพ

“พระพุทธรูปศิลาขาว” หรือ “หลวงพ่อประทานพร”
เป็นพระพุทธรูปปางแสดงธรรม
(วิตรรกมุทรา Vitarka Mudra)
ประดิษฐานเป็นองค์พระประธานในพระอุโบสถ
วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม
สร้างขึ้นในสมัยทวารวดี (ระหว่างปีพุทธศักราช ๑๐๐๐-๑๖๐๐)
ชาวบ้านมักจะเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “หลวงพ่อประทานพร”


พระพุทธรูปศิลาขาว ทำจากศิลาสีขาว (White Stone) ขนาดใหญ่
มีพุทธลักษณะทั่วไปเป็นพระพุทธรูปศิลปะทวารวดี
ประทับนั่งบนบัลลังก์ห้อยพระบาททั้งสอง (ปรลัมพปาทาสนะ)
ลงบนฐานทำเป็นกลีบบัวบานรองรับ คือวางฝ่าพระบาทบนดอกบัว
ซึ่งมีศัพท์เฉพาะเรียกว่า “ภัทรอาสน์” หรือ “ภัทราสนะ”
พระหัตถ์ซ้ายของพระพุทธรูปวางหงายอยู่เหนือพระเพลา (ขา, ตัก) ซ้าย
ส่วนพระหัตถ์ขวายกอยู่ในระดับพระอุระ (หน้าอก) หันฝ่าพระหัตถ์ออก
ปลายพระอังคุฐ (นิ้วหัวแม่มือ) กับพระดัชนี (นิ้วชี้)
จีบงอโค้งจรดกันเป็นวงกลม ส่วนอีกสามนิ้วของพระหัตถ์ขวากางออก
องค์พระพุทธรูปในท่าทางของพระหัตถ์แบบนี้ เรียกว่า “ปางแสดงธรรม”
ขนาดความสูงจากยอดพระเกตุถึงปลายพระบาท ๓.๗๖ เมตร หรือ ๑๔๘ นิ้ว


พระพุทธรูปศิลาขาว องค์ที่ประดิษฐานเป็นพระประธาน ณ พระอุโบสถ
เป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะและขนาดเช่นเดียวกันกับ
“พระพุทธนรเชษฐ์ เศวตอัศมมัยมุนี ศรีทวารวดีปูชนียบพิตร”
หรือเรียกพระนามสั้นๆ ว่า “พระพุทธนรเชษฐ์ฯ” หรือ “หลวงพ่อขาว”
ที่ประดิษฐาน ณ ลานชั้นลด (กะเปาะ) ด้านทิศใต้ขององค์พระปฐมเจดีย์


จากบันทึกประวัติสังเขปพระพุทธรูปศิลาปางแสดงธรรม
ที่พระธรรมวโรดม (โชติ ธมฺมปชฺโชติโก)
อดีตเจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จ.นครปฐม
ได้จัดทำขึ้นเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายในคราวที่
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙
เสด็จฯ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินด้วยพระองค์เอง
เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๗
กล่าวเอาไว้มีความตอนหนึ่งดังนี้

“...ท่านพระปลัดทอง พระอธิการวัดกลางบางแก้ว (วัดคงคา)
ได้มาเห็นวัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร ซึ่งเวลานั้นว่างจากเจ้าอาวาส
กุฏิเสนาสนะชำรุดมาก ท่านจึงพร้อมกันกับ “สามเณรบุญ”
(ภายหลังได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระพุทธวิถีนายก
ตำแหน่งพระราชาคณะชั้นสามัญ เจ้าอาวาสวัดกลางบางแก้ว) ผู้เป็นศิษย์
ได้มาช่วยบอกบุญขอแรงพระเณรและชาวบ้าน ต.พระปฐมเจดีย์
ไปช่วยกันขนอิฐจากวัดทุ่งพระเมรุ หรือวัดพระเมรุ ซึ่งขณะนั้นเป็นวัดร้าง
(ครั้นมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
ได้ทรงพระราชทานนามวัดทุ่งพระเมรุ หรือวัดพระเมรุ ใหม่ว่า สวนนันทอุทยาน)
เพื่อนำมาใช้ในการบูรณปฏิสังขรณ์บริเวณวัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร

ปรากฏว่าพบเห็นจอมปลวกขนาดใหญ่ตั้งอยู่ในบริเวณซากโบราณสถานที่นั้น
โดยมีพระเกตุมาลา (ยอดเศียร) ขององค์พระพุทธรูปโผล่พ้นยอดจอมปลวกขึ้นมา
คณะของท่านพระปลัดทองจึงได้ช่วยกันทำลายจอมปลวกนั้นออก
ก็พบพระพุทธรูปศิลาขาวขนาดใหญ่องค์นี้ มีรอยต่อเป็นท่อนๆ
จึงถอดรอยตามรอยต่อนั้นออก แล้วนำมาประดิษฐานเป็นพระประธาน
ในพระอุโบสถ วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร
เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๔
(ในช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔)
ก่อนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
ครองราชสมบัติ ๗ ปี นับถึง พ.ศ. ปัจจุบันได้ ๙๓ ปี...”


สำหรับประวัติความเป็นมาของพระพุทธรูปศิลาขาวทั้ง ๔ องค์
ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะและขนาดอย่างเดียวกันนั้น
นายธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ได้กล่าวไว้ในหนังสือ
“พระพุทธรูปศิลาขาว สมัยทวารวดี” ว่าพระพุทธรูปศิลาเนื้อหินขาว ๔ องค์
แต่เดิมเคยประดิษฐานอยู่ ณ วัดทุ่งพระเมรุ หรือวัดพระเมรุ จ.นครปฐม
โดยพบสถูปโบราณสมัยทวารวดีองค์ใหญ่ มีร่องรอยว่ามีมุขประจำ ๔ ทิศ
และในแต่ละมุขทิศเคยมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่นั่งห้อยพระบาทประจำอยู่นั้น


ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ประมาณในรัชสมัยสมเด็จพระราเมศวร
หรือสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑
รัชกาลที่ ๒-๓ แห่งกรุงศรีอยุธยาตามลำดับ
ได้มีการขนย้ายพระพุทธรูปศิลาขาวมาประดิษฐานไว้ในวัดพระยากง
ต.สำเภาล่ม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา เกือบครบ ๓ องค์
คงทิ้งไว้ที่เดิม (วัดทุ่งพระเมรุ จ.นครปฐม) ๑ องค์ กับชิ้นส่วนขององค์พระบางท่อน

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
ได้นำองค์พระพุทธรูปศิลาขาวที่คงอยู่ ณ ที่เดิม (วัดทุ่งพระเมรุ จ.นครปฐม) นั้น
ไปประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร
กับในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
ได้นำชิ้นส่วนที่เหลือไปจัดตั้งไว้ ณ พระระเบียงคด ด้านนอกองค์พระปฐมเจดีย์

ส่วนที่นำไปไว้ที่วัดพระยากง เกือบครบ ๓ องค์นั้น ต่อมาประมาณกว่า ๒๐ ปีมานี้
ได้มีพุทธบริษัทผู้ศรัทธานำชิ้นส่วนของพระพุทธรูปศิลาขาวที่วัดพระยากงบางส่วน
มาปฏิสังขรณ์ประกอบเป็นองค์พระ แล้วอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่วัดขุนพรหม
ต.สำเภาล่ม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กันกับวัดพระยากง

ส่วนที่ยังคงอยู่ที่วัดพระยากง ก็มีคนใจร้ายทุบทำลายพระเศียร
ของพระพุทธรูปศิลาขาว ๒ พระเศียรให้แตกแยกจากกันเพื่อสะดวกแก่การขนย้าย
แล้วลักลอบนำมาขายไว้ ณ ร้านค้าของเก่า ในเวิ้งนครเกษม (เวิ้งนาครเขษม) ๒ ร้าน
ซึ่งกรมศิลปากรก็ได้ติดตามคืนมาได้จนครบเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๑๐

ครั้นเมื่อนายธนิต อยู่โพธิ์ อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้น ไปสำรวจดูที่วัดพระยากง
ก็พบชิ้นส่วนอื่นๆ ของพระพุทธรูปศิลาขาวอีก จึงลองประกอบกับพระเศียรของพระพุทธรูป
ที่ได้มาจากร้านค้าของเก่าในเวิ้งนครเกษม แต่ก็ไม่สามารถประกอบกันได้อย่างสนิท
และยังพบว่าพระพุทธรูปศิลาขาวที่วัดขุนพรหม ซึ่งปฏิสังขรณ์ด้วยการโบกปูนทับให้เรียบเสมอกัน
ก็ประกอบขึ้นจากชิ้นส่วนของพระพุทธรูปคนละองค์กัน จึงได้แยกส่วนต่างๆ ออกมาประกอบใหม่
แล้วนำชิ้นส่วนของพระพุทธรูปศิลาขาวที่เก็บรักษาไว้ ณ พระระเบียงคด ด้านนอกองค์พระปฐมเจดีย์
วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร มาลองประกอบด้วย ก็พบว่าสามารถประกอบกันได้อย่างสนิท

ฉะนั้น นายธนิต อยู่โพธิ์ และกรมศิลปากรด้วยความร่วมมือของผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
จึงได้นำพระพุทธรูปศิลาขาวองค์ที่อยู่วัดขุนพรหม กับชิ้นส่วนที่มีอยู่ทั้งหมดที่วัดพระยากง
และชิ้นส่วนขององค์พระที่มีอยู่ ณ พระระเบียงคด ด้านนอกองค์พระปฐมเจดีย์
รวมทั้ง พระเศียรองค์พระ ๒ พระเศียร ที่ติดตามคืนมาได้จากร้านค้าของเก่าดังกล่าว
มาประกอบกันขึ้นเต็มองค์อย่างสมบูรณ์และปฏิสังขรณ์เพิ่มเติมโดยลดส่วนสัด ได้ทั้งหมด ๓ องค์
แล้วอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร หนึ่งองค์
ประดิษฐานไว้ใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จ.พระนครศรีอยุธยา หนึ่งองค์
และได้นำมาประดิษฐานไว้เป็นที่บูชาสักการะของพุทธบริษัท ณ ลานชั้นลด (กะเปาะ)
ด้านทิศใต้ขององค์พระปฐมเจดีย์ วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร
อีกหนึ่งองค์
ซึ่งในปีพุทธศักราช ๒๕๑๐ พระพุทธรูปศิลาขาวองค์นี้ได้รับขนานนามโดย
พระสนิทสมณคุณ (พระอาจารย์แก้ว) เจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร ในขณะนั้น
ว่า “พระพุทธนรเชษฐ์ เศวตอัศมมัยมุนี ศรีทวารวดีปูชนียบพิตร”
เมื่อรวมกับพระพุทธรูปศิลาขาวองค์ที่รัชกาลที่ ๔ ได้อัญเชิญมาประดิษฐานเป็น
พระประธานในพระอุโบสถ วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร ด้วยกันก็เป็นอันครบ ๔ องค์

ทั้งนี้ พระพุทธรูปศิลาขาวองค์ที่พบอยู่ในจอมปลวกที่วัดทุ่งพระเมรุ หรือวัดพระเมรุ
แล้วนำมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหารนั้น
เป็นองค์ที่สมบูรณ์ที่สุดในกระบวนพระพุทธรูปศิลาขาวทั้งหมด ๔ องค์


รูปภาพ
พระพุทธรูปศิลาขาว หรือหลวงพ่อประทานพร
พระประธานในพระอุโบสถ
วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จ.นครปฐม

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 ต.ค. 2011, 11:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


:b44: พระพุทธรูปศิลา สมัยทวารวดี องค์ที่ ๒

พระพุทธรูปศิลาขาว
“พระพุทธนรเชษฐ์ เศวตอัศมมัยมุนี ศรีทวารวดีปูชนียบพิตร”
หรือเรียกพระนามสั้นๆ ว่า “พระพุทธนรเชษฐ์ฯ” หรือ “หลวงพ่อขาว”
ประดิษฐาน ณ ลานชั้นลด (กะเปาะ) ด้านทิศใต้ขององค์พระปฐมเจดีย์
วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จ.นครปฐม
ปางแสดงธรรม (วิตรรกมุทรา Vitarka Mudra)


รูปภาพ

รูปภาพ
:b8: ขอขอบพระคุณที่มาของรูปภาพ : คุณสุรีย์ ฉิมรุ่งเรือง

รูปภาพ
:b8: ขอขอบพระคุณที่มาของรูปภาพ : คุณเปรม นครปฐม

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 ต.ค. 2011, 11:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


:b44: พระพุทธรูปศิลา สมัยทวารวดี องค์ที่ ๓

พระพุทธรูปศิลาขาว
ประดิษฐาน ณ อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร
ปางแสดงธรรม (วิตรรกมุทรา Vitarka Mudra)


รูปภาพ

รูปภาพ
:b8: ขอขอบพระคุณที่มาของรูปภาพ : คุณ Sart Prasart

รูปภาพ
:b8: ขอขอบพระคุณที่มาของรูปภาพ : frozenropesrochester.com

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ก.ย. 2013, 11:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


:b44: พระพุทธรูปศิลา สมัยทวารวดี องค์ที่ ๔

พระพุทธรูปศิลาขาว
ประดิษฐาน ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา
ต.ประตูชัย อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา
ปางแสดงธรรม (วิตรรกมุทรา Vitarka Mudra)


รูปภาพ

รูปภาพ
:b8: ขอขอบพระคุณที่มาของรูปภาพ : คุณ Tadtawan Athipilai

รูปภาพ
:b8: ขอขอบพระคุณที่มาของรูปภาพ : คุณสุรางค์รัตน์ แก่นทรัพย์

รูปภาพ

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ก.ค. 2014, 20:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


:b44: พระพุทธรูปศิลา สมัยทวารวดี องค์ที่ ๕

พระพุทธรูปศิลาเขียว “พระคันธารราฐ”
พระประธานในพระวิหารสรรเพชญ์ (พระวิหารน้อย)
วัดหน้าพระเมรุราชิการาม หรือ วัดหน้าพระเมรุ
จ.พระนครศรีอยุธยา
คาดว่าเดิมเป็นพระพุทธรูปปางแสดงธรรม
(วิตรรกมุทรา Vitarka Mudra)


รูปภาพ

พระคันธารราฐ พระพุทธรูปศิลาเขียว
พระประธานในพระวิหารสรรเพชญ์
หรือพระวิหารคันธารราฐ, พระวิหารเขียน, พระวิหารน้อย
วัดหน้าพระเมรุราชิการาม หรือวัดหน้าพระเมรุ (พระอารามหลวง)
ต.ท่าวาสุกรี อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา

:b50: :b49: :b50:

“พระคันธารราฐ” วัดหน้าพระเมรุราชิการาม หรือ วัดหน้าพระเมรุ (พระอารามหลวง) จ.พระนครศรีอยุธยา พุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปศิลาเขียวขนาดใหญ่ ศิลปะแบบทวารวดี ประทับนั่งห้อยพระบาท พระหัตถ์ทั้งสองข้างวางคว่ำอยู่บนพระชานุ (เข่า) เบื้องพระปฤษฎางค์ (เบื้องหลัง) มีพนัก และเหนือขึ้นไปหลังพระเศียรมีประภามณฑลหรือรัศมี สลักลายที่ขอบ คาดว่าเดิมเป็นพระพุทธรูปปางแสดงธรรม (วิตรรกมุทรา Vitarka Mudra) แต่จากการบูรณะเมื่อขุดพบและนำมาประดิษฐานที่วัดหน้าพระเมรุราชิการาม พระหัตถ์ทั้งสองข้างได้เปลี่ยนเป็นวางคว่ำอยู่บนพระชานุ (เข่า) มีขนาดหน้าตักกว้าง ๑.๗๐ เมตร สูง ๕.๒๐ เมตร สร้างขึ้นจากวัสดุหินปูนสีเขียวแก่หรือศิลาเขียว (Bluish Limestone) ปัจจุบันประดิษฐานเป็นองค์พระประธานอยู่ในพระวิหารสรรเพชญ์ (พระวิหารคันธารราฐ, พระวิหารเขียน, พระวิหารน้อย)

พระวิหารสรรเพชญ์ ประชาชนเรียกชื่อว่า “พระวิหารคันธารราฐ” หรือเรียกชื่อว่า “พระวิหารเขียน” เนื่องจากมีลายเขียนภายในพระวิหาร หรือมีชื่อเรียกกันอีกว่า “พระวิหารน้อย” เนื่องจากเป็นพระวิหารขนาดเล็ก มีขนาดกว้างประมาณ ๖ เมตร ยาวประมาณ ๑๖ เมตรเท่านั้น ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระอุโบสถ ห่างจากพระอุโบสถประมาณ ๒ เมตรเศษ หันหน้าออกไปทางทิศใต้หรือไปทางแม่น้ำลพบุรี พระยาไชยวิชิต (เผือก) ข้าหลวงผู้รักษากรุงเก่าคือพระนครศรีอยุธยา ได้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๑ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ พระวิหารมีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง หลังคามุงกระเบื้องดินเผา ประดับช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ ปิดทองประดับกระจกเช่นเดียวกับพระอุโบสถ หน้าบันสลักลายดอกไม้และนก มีประตูเข้าสู่ภายในพระวิหารเฉพาะด้านหน้าประตูเดียว เป็นประตูไม้แกะสลักลายก้านขดเคล้าภาพเป็นภาพเทพนม ครุฑ นาค และนก ตอนล่างแกะลายฐานสิงห์ ตอนบนเป็นวิมานและลายเปลว (ฝีมือช่างสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย อาจเป็นสมัยพระเจ้าปราสาททอง) ซุ้มประตูเป็นลายปูนปั้นปิดทอง ตรงกลางทำเป็นรูปอาคารแบบยุโรป ล้อมด้วยลายดอกไม้มีลายเครือเถาอยู่ที่กรอบ เป็นลายแบบฝรั่งปนจีนฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ ๔ ผนังด้านข้างของพระวิหารมีหน้าต่างด้านละ ๑ บาน ผนังด้านในมีจิตรกรรมฝาผนังเขียนภาพเล่าเรื่องชาดกโดยรอบ ปัจจุบันภาพเขียนจิตรกรรมยังคงอยู่แม้จะลบเลือนไปมากตามกาลเวลา


พระคันธารราฐ สันนิษฐานว่าเคยประดิษฐานอยู่ ณ วัดมหาธาตุ ในเกาะเมือง ข้างวัดราชบูรณะ จ.พระนครศรีอยุธยา มาก่อน ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่มีมาก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยาและเป็นวัดร้างในยุคนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาไชยวิชิต (เผือก) ข้าหลวงผู้รักษากรุงเก่าคือพระนครศรีอยุธยา ในสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นแม่กองบูรณปฏิสังขรณ์วัดมหาธาตุ จึงได้ขุดค้นพบ “พระคันธารราฐ” พระพุทธรูปศิลาเขียวสมัยทวารวดีองค์นี้ แล้วได้มีการเคลื่อนย้ายอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในพระวิหารสรรเพชญ์ (พระวิหารน้อย) ที่พึ่งสร้างขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๑ นี้ ณ วัดหน้าพระเมรุราชิการาม จวบจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ พระยาไชยวิชิต (เผือก) ได้จารึกไว้ในศิลาซึ่งติดตั้งไว้ที่ฝาผนังของพระวิหารสรรเพชญ์ เมื่อปี พ.ศ. ที่สร้างคือ พ.ศ.๒๓๘๑ ความว่า...“พระคันธารราฐนี้ พระอุบาลีมหาเถระซึ่งจำพรรษาอยู่ที่วัดธรรมาราม จ.พระนครศรีอยุธยา นำมาจากประเทศลังกา ในคราวที่ท่านเป็นสมณฑูตพร้อมด้วยพระสงฆ์สยามวงศ์นำพระพุทธศาสนาไปประดิษฐานในประเทศลังกา” ซึ่งก็ไม่ชัดเจนว่าเป็นความเห็นของพระยาไชยวิชิต (เผือก) ถึงที่มาของพระคันธารราฐหรือไม่ หรือได้ข้อมูลมาจากแหล่งใด

แต่ทว่านักโบราณคดีมีความเห็นว่า “พระคันธารราฐ” เป็นพระพุทธรูปสมัยทวารวดี สร้างขึ้นในระหว่างปี พ.ศ.๑๐๐๐-๑๒๐๐ และสันนิษฐานว่าก่อนที่จะนำมาประดิษฐานไว้ ณ วัดมหาธาตุ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่เดิมเคยประดิษฐานอยู่ ณ วัดทุ่งพระเมรุ หรือวัดพระเมรุ จ.นครปฐม เนื่องจากในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทางราชการได้ขุดพบศิลาเรือนแก้วชำรุดอันหนึ่ง ที่วัดทุ่งพระเมรุ หรือวัดพระเมรุ จ.นครปฐม เมื่อนำมาเทียบกับ “พระคันธารราฐ” วัดหน้าพระเมรุราชิการาม ก็ปรับเข้ากันได้สนิท

ในการขุดค้นครั้งปี พ.ศ.๒๔๘๑-๒๔๘๒ ศาสตราจารย์ปิแอร์ ดูปองต์ (Pierre Dupont) นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส ได้ขุดพบท่อนพระเพลา พระกร และนิ้วพระหัตถ์อีกหลายนิ้ว ที่วัดทุ่งพระเมรุ หรือวัดพระเมรุ จ.นครปฐม ซึ่งมีขนาดเดียวกันกับ “พระคันธารราฐ” จึงเชื่อกันว่า “พระคันธารราฐ” อัญเชิญมาจากวัดทุ่งพระเมรุ หรือวัดพระเมรุ จ.นครปฐม


ดังนั้น ความเก่าแก่ของ “พระคันธารราฐ” จึงเก่าแก่กว่าในสมัยกรุงสุโขทัย ไล่เลี่ยกับยุคสมัยของบุโรพุทโธ (Borobudur) บนเกาะชวาในประเทศอินโดนีเซีย


พระคันธารราฐ กล่าวกันว่าเดิมเป็นพระพุทธรูปศิลาสีเขียว (หินเขียว) แต่เนื่องจากผ่านกาลเวลามานานจึงทำให้กลายเป็นสีเข้มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งปัจจุบันดูคล้ายเป็นสีดำ แต่ถ้ามองดูในระยะใกล้ๆ แล้วจะเห็นเม็ดเล็กๆ สีเขียวเพราะทำจากหินทรายแกะสลัก เชื่อกันว่าหากบูชาสักการะแล้วจะอายุยืน มั่นคงดั่งศิลา

วัดหน้าพระเมรุราชิการาม หรือที่ชาวบ้านมักเรียกกันว่า วัดหน้าพระเมรุ ตั้งอยู่ริมคลองสระบัวด้านทิศเหนือของคูเมือง (เดิมเป็นแม่น้ำลพบุรี) ตรงข้ามกับพระราชวังหลวง หมู่ที่ ๕ ต.ท่าวาสุกรี อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา เดิมชื่อว่า “วัดพระเมรุราชิการาม” เป็นเพียงวัดเดียวในกรุงศรีอยุธยา ที่รอดพ้นจากการถูกพม่าเผาทำลายในคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒
อย่างไม่น่าเชื่อ !!! สำหรับสาเหตุนั้นได้มีการบันทึกไว้ที่วัดหน้าพระเมรุราชิการามว่า เนื่องมาจากตั้งอยู่ใกล้พระราชวังหลวง และพม่ายังได้ใช้วัดแห่งนี้เป็นที่ตั้งกองทัพ-กองบัญชาการ ทำให้ยังคงสภาพดีไม่ถูกทำลายด้วยประการทั้งปวง
ด้วยเหตุนี้จึงยังคงมีงานศิลปกรรมของสมัยกรุงศรีอยุธยาแท้ๆ ตกทอดมาให้อนุชนคนรุ่นหลังได้ชมกันจนถึงปัจจุบัน


ตามประวัติกล่าวว่า “พระองค์อินทร์” ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ รัชกาลที่ ๑๐ แห่งกรุงศรีอยุธยา ทรงสร้างวัดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๐๔๖ (สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น) ประทานนามว่า วัดพระเมรุราชิการาม วัดแห่งนี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์คือ “สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ” ได้ใช้เป็นสถานที่เจรจาสงบศึกกับ “พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง” เมื่อปี พ.ศ.๒๑๐๖ และในอีกตอนหนึ่งคือ เมื่อคราว “พระเจ้าอะลองพญา” ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ.๒๓๐๓ พม่าได้ยกเอาปืนใหญ่มาตั้งไว้ระหว่างวัดหน้าพระเมรุราชิการาม กับวัดหัสดาวาส (วัดช้าง) พระเจ้าอะลองพญาทรงบัญชาการและทรงจุดปืนใหญ่เอง แต่ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ พระประธานในพระอุโบสถ เมื่อพระองค์จุดดินระเบิดเกิดระเบิดขึ้น จนทำให้ปากกระบอกปืนแตก สะเก็ดระเบิดลุกเป็นไฟ ต้องพระวรกายบาดเจ็บสาหัสประชวรหนักในวันนั้น พอรุ่งขึ้นพม่าเลิกทัพกลับไปทางเหนือ แต่ยังไม่ทันพ้นเมืองตาก พระเจ้าอะลองพญาก็สิ้นพระชนม์ระหว่างทาง ด้วยบุญญาธิการอันศักดิ์สิทธิ์แห่งพระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ จึงทำให้กรุงศรีอยุธยารอดพ้นจากข้าศึกมาตลอด วัดหน้าพระเมรุราชิการามจึงเป็นวัดเดียวในกรุงศรีอยุธยาที่ไม่ถูกพม่าทำลาย

อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา อดีตราชธานีเก่าแห่งสยามประเทศในยุคที่รุ่งโรจน์นั้น ล้วนเต็มไปด้วยวัดวาอาราม และปราสาทราชวังมากมาย แต่หลังจากที่กรุงศรีอยุธยาต้องมาแตกลงในการเสียกรุงฯ ครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๓๑๐ ก่อนที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จะทรงกอบกู้สยามประเทศได้ในปลายปีเดียวกัน การเสียกรุงฯ ครั้งที่ ๒ ยังความสูญเสียแก่เมืองกรุงศรีอยุธยาอย่างใหญ่หลวงเพราะถูกพม่าเผาทำลายบ้านเรือน วัดวาอาราม และปราสาทราชวัง ฯลฯ เกือบทุกแห่งลงจนย่อยยับ คงหลงเหลือไว้เพียงซากแห่งความรุ่งโรจน์ทิ้งไว้เป็นอุทาหรณ์แด่อนุชนรุ่นหลัง ซึ่งในปัจจุบันสามารถสัมผัสกับซากอดีตอันรุ่งโรจน์เหล่านั้นได้ในพื้นที่รอบเกาะเมืองของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

สถาปัตยกรรมภายในวัดอยู่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น คือ พระอุโบสถไม่มีหน้าต่าง แต่เจาะช่องไว้เป็นลูกกรง องค์พระประธานเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่แบบมหาจักรพรรดิหรือทรงเครื่องกษัตริย์ องค์ใหญ่ที่สุดในกรุงศรีอยุธยา หล่อด้วยโลหะสำริด ลงรักปิดทอง ประดับกระจก ปางมารวิชัย (ปางชนะมาร, ปางสะดุ้งมาร) อันงดงามเป็นอย่างยิ่ง หน้าบันไม้สักลงรักปิดทอง สลักรูปพระนารายณ์ทรงครุฑหยุดเศียรนาคหน้าราหู ล้อมรอบด้วยหมู่เทพนม (เทพชุมนุม) จำนวน ๒๖ องค์ ตรงอาสนสงฆ์มีจารึกเป็นกาพย์ห่อโคลงและกาพย์ยานี ทั้งนี้ วัดหน้าพระเมรุราชิการามได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓

ปัจจุบัน วัดหน้าพระเมรุราชิการาม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย และมี “พระพิศาลวิหารกิจ (สมศักดิ์ ฉนฺทกโร)” ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส


รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

พระคันธารราฐ พระประธานในพระวิหารสรรเพชญ์
หรือพระวิหารน้อย วัดหน้าพระเมรุราชิการาม


รูปภาพ

“พระคันธารราฐ” วัดหน้าพระเมรุราชิการาม
บันทึกภาพโดยช่างภาพชาวสวิตเซอร์แลนด์
Dr. Martin Hurlimann
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๒ (ค.ศ.๑๙๒๙)


รูปภาพ

พระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ
พระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่แบบมหาจักรพรรดิ ปางมารวิชัย
พระประธานในพระอุโบสถ วัดหน้าพระเมรุราชิการาม


รูปภาพ

พระอุโบสถ วัดหน้าพระเมรุราชิการาม

รูปภาพ
:b8: ขอขอบพระคุณที่มาของรูปภาพ : คุณ Kan Niree Saree

รูปภาพ

ใกล้ๆ พระอุโบสถ มีต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ที่ครอบพระเจดีย์
โดยมีเศียรพระพุทธรูปถูกต้นโพธิ์ปกคลุมอยู่ด้วย
Unseen Ayutthaya !! Unseen Thailand !!

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ก.ค. 2014, 20:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


:b44: พระพุทธรูปศิลา สมัยทวารวดี องค์ที่ ๖

พระพุทธรูปศิลาขาว ประเทศอินโดนีเซีย
ประทับนั่งห้อยพระบาท วางฝ่าพระบาทบนดอกบัว
ปางปฐมเทศนา (ธรรมจักรมุทรา Dharmachakra Mudra)
ประดิษฐาน ณ พระวิหารเมนดุต จันทิเมนดุต (Candi Mendut)
หรือวัดเมนดุต (Mendut Temple) พุทธสถานขนาดเล็กที่เก่าแก่ที่สุด
ในเมืองยอกยาการ์ตา (Yogyakarta) ประเทศอินโดนีเซีย


รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

พระพุทธรูปศิลาขาวประทับนั่งห้อยพระบาท วางฝ่าพระบาทบนดอกบัว
ปางปฐมเทศนา (ธรรมจักรมุทรา Dharmachakra Mudra)
ประดิษฐาน ณ พระวิหารเมนดุต จันทิเมนดุต (Candi Mendut)
เมืองยอกยาการ์ตา (Yogyakarta) ประเทศอินโดนีเซีย


รูปภาพ

พระพุทธรูปศิลาขาว พระประธาน ณ พระวิหารเมนดุต
พร้อมทั้งพระพุทธรูปอีกสององค์ ทางด้านซ้าย-ขวา
เปรียบเสมือนเป็นพระมหาโมคคัลลานะ และพระสารีบุตร


รูปภาพ

รูปภาพ

พระวิหารเมนดุต จันทิเมนดุต (Candi Mendut)
เมืองยอกยาการ์ตา (Yogyakarta) ประเทศอินโดนีเซีย


รูปภาพ

ครั้งแรกที่ค้นพบ วัดแห่งนี้เป็นเพียงซากปรักหักพัง
ต่อมาได้มีการบูรณะขึ้นใหม่เมื่อประมาณปี ค.ศ. ๑๘๙๗


รูปภาพ

แผนผัง บุโรพุทโธ (Borobudur), จันทิปะวน (Candi Pawon)
และจันทิเมนดุต (Candi Mendut)
ซึ่งทั้งสามแห่งนี้ตั้งอยู่ในตำแหน่งเป็นเส้นตรงเดียวกัน

ในเทศกาลวันวิสาขบูชา พุทธศาสนิกชนในอินโดนีเซีย
พร้อมใจพากันเดินจาก Candi Mendut ไปยัง Candi Pawon
ก่อนจะมาสิ้นสุดการเดินทาง และทำพิธีเวียนเทียน
เจริญพระพุทธมนต์ ทำสมาธิภาวนาร่วมกันที่ Borobudur


:b45: :b47: :b45:

:b8: :b8: :b8: ที่มาของข้อมูลในบทความนี้
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=39910
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=46471

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 มิ.ย. 2020, 10:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

รูปภาพ

ปางแสดงธรรม
(วิตรรกมุทรา Vitarka Mudra)


รูปภาพ

ปางปฐมเทศนา
(ธรรมจักรมุทรา Dharmachakra Mudra)


:b50: :b47: :b50:

“ปาง” เป็นคำในภาษาไทย
หมายถึง ท่าทางของพระหัตถ์, เรื่องราวในพุทธประวัติ
ส่วน “มุทรา” เป็นคำในภาษาสันสกฤต
หมายถึงเฉพาะท่าทางของพระหัตถ์ เช่น


ปางปฐมเทศนา = ธรรมจักรมุทรา (Dharmachakra Mudra)
ปางแสดงธรรม = วิตรรกมุทรา (Vitarka Mudra)
ปางมารวิชัย = ภูมิสปรรศมุทรา (Bhumisparsa Mudra)
ปางสมาธิ = ธยานมุทรา (Dhyana Mudra)
ปางประทานอภัย = อภยมุทรา (Abhaya Mudra)
ปางประทานพร = วรทมุทรา (Varada Mudra)


:b39:

พระพุทธรูป “ปางแสดงธรรม” (วิตรรกมุทรา Vitarka Mudra)
เป็นปางที่พระพุทธองค์ทรงตรัสแสดงพระธรรมคำสอน
ให้แก่พระสาวก หรือพุทธศาสนิกชนทั่วไป
พระหัตถ์ขวายกอยู่ในระดับพระอุระ (หน้าอก) หันฝ่าพระหัตถ์ออก
ปลายพระอังคุฐ (นิ้วหัวแม่มือ) กับพระดัชนี (นิ้วชี้)
จีบงอโค้งจรดกันเป็นวงกลม ส่วนอีกสามนิ้วของพระหัตถ์ขวากางออก
กล่าวคือ จีบนิ้วพระหัตถ์ขวาเป็นวงกลม
ส่วนพระหัตถ์ซ้ายวางหงายอยู่เหนือพระเพลา (ขา, ตัก) ซ้าย

เป็นสัญลักษณ์ที่ทำให้ทราบถึงการแสดงธรรม

สำหรับพระพุทธรูปที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก
กับปางแสดงธรรมนั้น คือ “ปางปฐมเทศนา”
(ธรรมจักรมุทรา Dharmachakra Mudra)
เมื่อครั้งที่พระพุทธองค์ประกาศพระธรรม
ที่พระองค์ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เองแล้วแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕
คือโกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ
พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนา ชื่อว่า “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร”
ในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ (วันอาสาฬหบูชา)
หัวหน้าปัญจวัคคีย์ คือ ท่านโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมบรรลุเป็นพระโสดาบัน
พระอริยบุคคลชั้นแรกในพระพุทธศาสนาเป็นคนแรก จึงกราบทูลขออุปสมบท
โดยพระพุทธองค์ทรงทำการอุปสมบทให้ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา
(พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ด้วยพระองค์เอง) นับเป็น “ปฐมสาวก”
ดังนั้นในวันนี้จึงเป็นวันที่เกิดสังฆรัตนะขึ้นครั้งแรกในโลก
เป็นวันที่มีพระรัตนตรัยครบองค์ ๓ โดยบริบูรณ์
คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์

ลักษณะของพระพุทธรูปปางปฐมเทศนานี้ ยกพระหัตถ์ขึ้น ๒ ข้าง
ท่าทางของพระหัตถ์ขวา เหมือนปางแสดงธรรม
ส่วนพระหัตถ์ซ้ายอยู่ในลักษณะประคองหมุน
กล่าวคือ จีบนิ้วพระหัตถ์ทั้งสองข้างเป็นวงกลมซ้อนกัน

โดยมีบริบทเป็น “ธรรมจักร” กับ “กวางหมอบ”
ซึ่งมีความหมายถึงการหมุนวงล้อแห่งธรรม
และหากแม้ไม่มีบริบทก็ตีความภาพได้ว่าเป็นปางปฐมเทศนา


:b8: :b8: :b8: ผู้โพสต์ได้ใช้...หนังสือตำนานพุทธเจดีย์สยาม
พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
เป็นแนวทางในการเรียบเรียงเนื้อหาปางแสดงธรรม-ปางปฐมเทศนา


รูปภาพ

:b49: :b49: พระคันธารราฐ พระพุทธรูปศิลาเขียว
วัดหน้าพระเมรุราชิการาม จ.พระนครศรีอยุธยา

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=46471

:b44: พระพุทธรูปศิลาขาว วัดพระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=39910

:b44: พระพุทธรูป “ปางแสดงธรรม” กับ “ปางปฐมเทศนา”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=73&t=59080

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 8 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 4 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร