วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 21:33  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 19 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.ค. 2014, 19:01 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ไตรนิกาย

(เรียบเรียงตั้งแต่ยังเป็นพระญาณรักขิต
ตรวจพิมพ์ใหม่เมื่อเป็นพระโพธิวงศาจารย์ พ.ศ.
๒๔๖๗)

จะกล่าววิธีทางปฏิบัติของพุทธบริษัท ผู้เห็นภัย
ในวัฏฏะ ที่เป็นไปอยู่โดยมากทุกวันนี้ แตกต่างเป็น ๓
นิกาย
นิกายหนึ่งถือว่าการประพฤติกุศลทั้งสิ้น ก็เพื่อให้
เป็นนิสัยปัจจัย เพราะเห็นว่าชาตินี้ตนเป็นผู้อาภัพเกิด
ไม่ทันพุทธกาล สิ้นเขตมรรคผลแล้ว
นิกายหนึ่ง ถือว่าพุทธศาสนายังมีอยู่ ชื่อว่าพระพุทธ
พระธรรม พระสงฆ์ ยังมีอยู่ การประพฤติกุศล
ทั้งสิ้น ก็เพื่อความสิ้นทุกข์ในปัจจุบันอย่างเดียว
อีกนิกายหนึ่ง จะถือว่า
ใช่พุทธกาลสิ้นเขตมรรคผลก็ไม่ว่า
หรือถือว่าพุทธศาสนายังมีอยู่ ถ้าตั้งใจประพฤติตามคง
จะได้จะถึงก็ไม่ว่า ถือว่าทำไปดีกว่าไม่ทำ
ได้เพียงชั้นไหนก็ยินดีเพียงชั้นนั้น สุด
แล้วแต่อุปนิสัยปัจจัยจะบันดาล
จบนิกาย.

ศรัทธา ความเชื่อพระพุทธศาสนา ๑ วิริยะ
ความเพียรตามพุทธศาสนา เป็นไปในกาย
และจิตกล้า ๑ สติ ความระลึก
ในอารมณ์ตามพุทธศาสนา ๑ สมาธิ ความตั้งจิตเสมอ
ในอารมณ์อันเดียวตามพุทธศาสนา ๑ ปัญญา ความรู้
ทั่วตามเป็นจริงตามพุทธศาสนา ๑ ธรรมประเภท
ทั้ง ๕ นี้เรียกว่าอินทรีย์ เพราะเป็นอวัยวะ
ให้สำเร็จกิจตามประสงค์ของผู้ให้บริบูรณ์ในตน
ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา แปลว่า ความเชื่อ,
ความเพียร, ความระลึก, ความตั้งใจ, ความรู้ทั่ว ๕
อย่างนี้อย่าลืมจำให้มั่น

จบอินทรีย์.


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.ค. 2014, 19:19 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ทุกข์ที่ควรจะตรอง คือปัญจุปาทานขันธ์
ความยึดถือขันธ์โดยอาการ ๕ อย่าง นี่รูป นี่เวทนา
นี่สัญญา นี่สังขาร นี่วิญญาณ อุปาทานคือ
ความยึดถือนี้เองเป็นต้นทุกข์
ความยึดถือขันธ์เรียกว่าอุปาทานขันธ์ ถ้า
จะแจกอุปาทานตามอาการที่ยึดถือ แตกต่างออกไปเป็น
๔ ตามพระสูตร คือกามุปาทาน การยึดถือ
ด้วยอำนาจของกาม ๑ สีลัพพตุปาทาน การยึดถือ
ด้วยอำนาจของศีลและวัตร ๑ ทิฏฐุปาทาน
การยึดถือด้วยอำนาจของความเห็น ๑ อัตตวาทุปาทาน
การยึดถือด้วยอำนาจของวาทะของตน ๑ เพราะ
ได้กล่าวในเบื้องต้นว่าอุปาทานเป็นต้นทุกข์ จะ
ต้องอธิบายให้เข้าใจ เพื่อผู้บริบูรณ์ด้วยอินทรีย์
จะเปลื้องทุกข์ได้บ้าง
กามุปาทาน การยึดถือด้วยอำนาจของกาม กาม
แปลว่าความรัก, ใคร่, ปรารถนา, ชอบใจ ถ้า
จะชี้ที่ตั้งของกามต้องแบ่งเป็นภายในภายนอก
ขันธ์ประวัติซึ่งนิยมว่าของตน มีเกศาเป็นต้น ชื่อว่าภาย
ใน เหลือนั้นขันธ์ที่มีวิญญาณก็ตาม ไม่มีวิญญาณก็ตาม
ชื่อว่าภายนอกสิ้น
ความรัก, ใคร่, ปรารถนา, ชอบใจ
ในขันธ์ประเภทเหล่านั้นทั้งสิ้น ด้วยอาการว่า นั่น
เป็นเรา นั่นเป็นของของเรา นั่น
เป็นตัวตนแก่นสารของเรา หรือว่านั่นเป็นคนอื่น นั่น
เป็นของของคนอื่น นั่นเป็นตัวตนแก่นสารของคนอื่น
หรือถือว่านั้นเป็นของอุปโภคบริโภค หรือต้นไม้ภูเขา
เป็นต้น หรือการเกลียดชังไม่ปรารถนาไม่พอใจ
ในวัตถุนั้น ๆ ก็ตาม ความยึดถือเหล่านั้นทั้งสิ้น ตกอยู่
ในกามุปาทาน ถ้าจะกล่าวตามที่เข้าใจกันโดยมาก รูป
เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส เป็นวัตถุที่ตั้งของกาม
ความยินดี ยินร้าย ความชอบใจ ไม่ชอบใจ
ความโสมนัส โทมนัส ก็ชื่อว่ากาม เพราะ
เป็นชาติอุปาทานด้วยกัน ย่นลงให้สั้นคือความยึดถือ
ในวัตถุนั้น ๆ มีขันธ์เป็นต้นด้วยอำนาจของ
ความรักใคร่ปรารถนาชอบใจ หรือไม่รักใคร่
ไม่ปรารถนา ไม่ชอบใจก็ตาม ชื่อกามุปาทานทั้งสิ้น
กามุปาทานนี้เป็นต้นทุกข์เงื่อน ๑
สีลัพพตุปาทาน การยึดถือด้วยอำนาจของศีล
และวัตร ศีล หมายความว่า ปรกติของกาย วาจา
ใจ วัตร หมายความว่า การประพฤติด้วยกาย วาจา ใจ
กิริยามารยาทอันเรียบร้อย
กล่าวถ้อยคำอันอ่อนหวาน คิดการที่มีประโยชน์
ประกอบด้วยเมตตากรุณา เป็นลักษณะของศีล
การประพฤติด้วยกาย คือไหว้พระหรือนั่งสมาธิ
และเดินจงกรม และปัดกวาดบริเวณวิหาร
และเจดีย์ และทำสามีจิกรรม มีกราบไหว้
และทำวัตรปฏิบัติอุปัชฌายะอาจารย์เป็นต้น,
การประพฤติด้วยวาจา คือสวดมนต์
หรือแสดงธรรม หรือบอกอรรถแปลแก้ไข
หรือสวดวิงวอนและสรรเสริญคุณต่าง ๆ
ตามเรื่องที่ตนนับถือ สำเร็จด้วยวาจาทั้งสิ้น เป็นต้น
การประพฤติด้วยใจ คือระลึกถึงสิ่งที่ตนนับถือต่าง ๆ
มีทาน ศีล ภาวนา สมถะ วิปัสสนา เป็นต้น
การประพฤติด้วยกายวาจาใจอย่างที่กล่าวมานี้
เป็นลักษณะของวัตร
การยึดถือศีลและวัตรนั้น ๆ ชื่อว่าสีลัพพตุปาทาน
แบ่งการถือศีลและวัตรออกเป็น ๒ ถือโดยเชื่อต่อผู้
อื่นหรือเชื่อต่อแบบแผนและคาดคะเนเป็นต้น
เป็นลักษณะของศีลและวัตรแท้ เป็นเงื่อน ๑
ถือโดยเชื่อต่อความรู้ความเห็นของตนเอง
ดังเห็นคุณของศีล เห็นโทษของทุศีล
เห็นคุณของวัตร เห็นโทษของผู้ไม่มีวัตร
หรือเห็นตามสภาพว่า มีเกิดต้องมีตาย มีเบญจขันธ์
ต้องมีทุกข์ ทุกข์เกิดเพราะอุปาทาน ความยึด ความถือ
ถ้าละอุปาทานเสียแล้ว ความทุกข์จะมีมาแต่ที่ไหน
ดังนี้เป็นต้น
การที่ยึดถือในศีลและวัตรและสภาวธรรม
ด้วยอำนาจแห่งความรู้ความเห็นของตนเอง
เป็นลักษณะแห่งทิฏฐุปาทาน เป็นเงื่อน ๑
การยึดถือวาทะถ้อยคำโวหารของตนเอง ดัง
ผู้ถือว่าคำที่เรากล่าวมานี้ เป็นถูก เป็นดี เป็นที่สุดทุกข์
หรือถือว่าคำที่เรากล่าวมานี้เป็นผิดไม่ดีไม่
เป็นที่สุดทุกข์ ในถ้อยคำที่เรากล่าวเป็นธรรมก็ดี
เป็นวินัยก็ดี หรือ เป็นข้อกติกาอาณัติสัญญาอัน
ใดอันหนึ่งก็ดี ย่อมจะมีอาการ ๓ ดี ถูกต้อง
ได้เปรียบอย่างหนึ่ง ไม่ดีไม่ถูกเสียเปรียบอย่างหนึ่ง
ไม่ดีไม่ชั่ว ไม่เสียเปรียบไม่ได้เปรียบอย่างหนึ่ง
ก็เมื่อเราระลึกถึงถ้อยคำนั้น ๆ ย่อมอาจที่จะให้เกิด
ความดีใจเสียใจ เกิดสุข เกิดทุกข์
ด้วยการยึดถือวาทะถ้อยคำโวหารของตน
เพราะเหตุนั้น ท่าน
จึงจัดการยึดถือวาทะถ้อยคำโวหารของตนเอง ว่า
เป็นลักษณะแห่งอัตตวาทุปาทานเป็นเงื่อน ๑
อุปาทาน แปลว่า การยึดถือเกาะเกี่ยว เมื่อยังมีอยู่
ในสิ่งใดแก่ผู้ใด ผู้นั้นก็คงไม่พ้นทุกข์ได้เป็นแน่แท้ ไม่
ต้องสงสัย
จบอุปาทานวิภาค.
ทางดับอุปาทานจะมีอื่นจากศีล สมาธิ ปัญญา ไม่มี
เพราะเหตุนั้นจำต้องศึกษากองศีลกองสมาธิ
กองปัญญาให้เข้าใจ ศีลก็มีหลายประเภท คือ ศีล
๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีลพระปาฏิโมกข์ สมาธิ คือ
ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ปัญญาคือ
โลกียปัญญา โลกุตรปัญญา อาการของศีล สมาธิ
ปัญญา ย่อมแตกต่างหลายอย่างหลายประการดังนี

จบไตรสิกขา.


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.ค. 2014, 19:34 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


คำอธิบายโดยปุจฉาและวิสัชนา
สกวาทยาจารย์ กล่าวถามขึ้นว่า สีลพัตของท่าน
อยู่ข้างยุ่งมากแก้ให้ดี
ขอถามในข้อต้นก่อน ในนิกายทั้ง ๓
ที่เห็นว่าสิ้นเขตมรรคผล หรือเห็นว่าคำสอนยังมีอยู่
มรรคผลก็คงมีอยู่ หรือเห็นว่าจะมีอยู่ก็ตาม
ไม่มีก็ตาม ทำไปดีกว่าไม่ทำนั้น ท่านปรวาที
จะถือตามนิกายไหน ?
ปรวาทยาจารย์ ตอบว่า ถือตามทั้ง ๓ นิกาย
ส. (สกวาทยาจารย์) ถามว่า คนเดียวถือทั้ง ๓ นิกาย
จะถืออย่างไร ?
ป. (ปรวาทยาจารย์) ตอบว่า ในนิกายที่ ๑ ซึ่งเห็น
กันว่าตนเป็นผู้อาภัพ เกิดไม่ทันพุทธกาล
สิ้นเขตมรรคผลแล้ว เพราะ
ไม่มีอุปนิสัยปัจจัยก็ชอบใจ เห็นจริงด้วยและเชื่อว่า
ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา
ที่เรียกว่าอินทรีย์นี้แหละ คงจะเป็นตัวอุปนิสัยปัจจัย
ในชาตินี้เราเกิดมาทันพระพุทธศาสนา
ไม่ควรประมาท ควรจะรีบทำอุปนิสัยปัจจัย
ให้แก่กล้าเต็มรอบ ถึงแม้ว่าจะไม่
ได้มรรคผลก็ตาม คิดอย่างนี้จึง
ได้ตั้งใจบำรุงอุปนิสัยปัจจัย ชื่อว่าถือตามนิกายที่ ๑
ในนิกายที่ ๒ ซึ่งเห็นกันว่า พุทธศาสนายังมีอยู่
ก็ชื่อว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
มรรคผลยังมีอยู่ ก็เห็นจริงด้วยเพราะเชื่อว่า ผู้
ได้สำเร็จมรรคผล ถึงในครั้งพุทธกาลก็ดี
หรือต่อ ๆ มาก็ดี
ก็คงประพฤติตามโอวาทคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นเอง
พระพุทธเจ้าคงจะไม่หยิบมรรคผลแจกให้แก่สาวก
ดังเราแจกมังคุดทุเรียนเป็นแท้ เมื่อท่านก่อน ๆ
ได้รับมรรคผลด้วยพุทธโอวาทอันใด โอวาท
นั้นเราประพฤติตามก็คงจะ
ได้บรรลุมรรคผลเหมือนท่านเหล่านั้นเป็นแท้
คิดอย่างนี้เมื่อตั้งใจบำรุงอุปนิสัยปัจจัยคือ ศรัทธา
วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ก็ดี
หรือตั้งใจบำเพ็ญบรรดาสิ่งที่เป็นกุศล มีทาน ศีล
ภาวนา เป็นต้น ก็ไม่ปรารถนามนุษย์สมบัติ
สวรรค์สมบัติ ทั้งในชาตินี้และชาติหน้า จะทำสิ่ง
ใดก็เพื่อประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน และเพื่อ
ความพ้นทุกข์เท่านั้น คิดอย่างนี้ทำอย่างนี้
ชื่อว่าถือตามนิกายที่ ๒
ในนิกายที่ ๓ ซึ่งเห็นกันว่าทำไปดีกว่าไม่ทำ จะได้จะ
ถึงเพียงชั้นไหนก็สุดแต่ธรรมจะให้ผล
ก็ชอบใจเห็นจริงด้วย เชื่อต่อคำที่ว่าการกุศล
ทั้งสิ้นทำไปดีกว่าไม่ทำ ถือเอาเป็นถูก เมื่อบำเพ็ญ
ความเพียร คือทาน ศีล ภาวนา เจริญสมถะ
และวิปัสสนา เกิดโกสัชชะ ความเกียจคร้าน มี
ความเพียรอันท้อถอย ในกิจกุศลอันใด ก็
ได้เตือนใจของตนว่าทำดีกว่าไม่ทำ ทำดีกว่าไม่ทำ
ความอุตสาหะก็มีกำลังขึ้นเพราะเชื่อต่อนิกายนี้
ความคิดความเห็นอย่างนี้ ก็ชื่อว่าถือตามนิกายที่ ๓
ส. รับว่า สาธ ! สาธุ !
ส. ถาม ในปฐมสมโพธิ
ที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดอุรุเวลกัสสปะกับ
ทั้งบริวารพันหนึ่ง ให้
ได้ดื่มอมตธรรมเพียงพระโสดาปัตติผล
แล้วบรรพชาด้วยเอหิภิกขุ แล้วพระองค์พาไป
ยังคยาสีสะประเทศ คอยอินทรีย์ของท่านเหล่านั้น
ให้แก่รอบสมควรจะรับเทศนาก่อน
ต่อเมื่อพระองค์เห็นว่าอินทรีย์ของท่านเหล่า
นั้นแก่รอบแล้ว สมควรจะรับเทศนาแล้ว
พระองค์จึงได้เรียกประชุม
ทรงแสดงอาทิตตปริยายสูตรดังนี้
ในคำที่ว่าคอยอินทรีย์ในที่นั้น จะเป็นอินทรีย์ ๕
มีสัทธินทรีย์ เป็นต้น ดังในภาคที่ ๒ ของหนังสือนี้
หรือ ?
ป. ตอบ เข้าใจว่าคงเป็นอินทรีย์ ๕ นั้นเอง เพราะ
เป็นของบ่มให้แก่ให้งอมได้
ส. ถาม บ่มอินทรีย์ จะบ่มอย่างไร ?
ป. ตอบ ถ้าเราหมั่นดู หมั่นฟัง หมั่นตรอง
ในธรรมประเภทนั้น ๆ เป็นลักษณะของวิริยะ เกิด
ความเชื่อความจริงใจขึ้นในธรรมประเภทนั้น ๆ
เพราะการดูการฟังการตรอง
เป็นลักษณะของศรัทธา เมื่อศรัทธาความเชื่อ
ความจริงใจเกิดขึ้นในธรรมเงื่อนใด
ความเพียรก็กล้าขึ้นในธรรมเงื่อนนั้น
เมื่อศรัทธาวิริยะกล้าขึ้นแล้ว สติก็ตั้งมั่น
เมื่อสติตั้งมั่นแล้ว จิตก็เป็นสมาธิ เมื่อสมาธิมีขึ้นแล้ว ก็
เป็นทางมาของปัญญา เมื่อปัญญาบริบูรณ์แล้วก็
เป็นโอกาสของวิมุตติมรรคผล คำที่ว่าบ่มนั้นก็คือ
ความทำให้มากขึ้นนั้นเอง
ส. สุนฺทรํ ภนฺเต สุนทรํ ภนฺเต


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.ค. 2014, 19:45 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ส. ฟังดูอุปาทานที่ท่านแสดงนั้น อยู่ข้างยุ่งมาก
ส่วนกามุปาทานฟังเข้าใจได้ความดี แต่สีลัพพตุปาทาน
นั้น ยังกระไรอยู่ ท่านตรึกตรองแน่ใจละหรือ ?
ป. ท่านสกวทายาจารย์สงสัยในสีลัพพตะข้อไหน ?
ส. ในข้อที่ว่า ปรกติของกายวาจาใจอันเรียบร้อย
เป็นศีล การประพฤติดีด้วยกายวาจาใจ มีกราบไหว้
และนั่งสมาธิเป็นต้น และสวดมนต์แสดงธรรม
เป็นต้น และระลึกถึงสิ่งที่ตนนับถือมีพระพุทธ
พระธรรม พระสงฆ์ หรืออารมณ์ของสมถะ
และวิปัสสนาเป็นต้น ชื่อว่าวัตร
ถ้าหากว่าสีลัพพตะอย่างที่ท่านกล่าวมานี้
เป็นประเภทของศีลวัตร เป็นที่ตั้งของอุปาทาน
แล้วไซร้ พระโสดาบันบุคคลเห็นจะรักษาศีล
และประพฤติวัตรมีกราบไหว้และนั่งสมาธิ
หรือแสดงธรรมสวดมนต์หรือระลึก
ถึงพุทธาทิคุณและอารมณ์ของสมถะและวิปัสสนา
เป็นต้น เห็นจะไม่ได้นะซิ
ป. ทำไมท่านจะรักษาศีลประพฤติวัตรไม่ได้
ส. ก็ท่านละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส
ขาดจากสันดานแล้ว ท่านจะประพฤติอย่างไรได้
ป. ข้าพเจ้าแสดงสีลัพพตะ ซึ่ง
เป็นประเภทที่ตั้งของอุปาทานต่างหาก
ท่านกลับลงโทษเห็นไปเองว่าข้าพเจ้าแสดงสีลพพตะผิด
ข้าพเจ้าไม่ได้พูดไปถึงพระโสดา สกิทาคา
พูดจำเพาะที่ตั้งของอุปาทานเท่านั้น
หรือท่านสกวาทยาจารย์ เห็นว่าศีล
และวัตรอย่างที่แสดงมานี้ ไม่เป็นที่ตั้งของอุปาทาน
พ้นจากอำนาจอุปาทานก็ว่าไป
ส. การยึดถือจับต้องศีลและวัตรเหล่านั้นมีอยู่
ก็ตกอยู่ในลักษณะอุปาทานนั้นเอง จะพ้นอย่างไรได้
ป. ในข้อนี้ข้าพเจ้าได้แบ่งไว้แล้ว
ในเงื่อนสีลัพพตุปาทาน ว่ายึดถือศีลและวัตรเหล่า
นั้นด้วยเชื่อต่อผู้อื่น หรือเชื่อต่อตำรา
และการคาดคะเนเป็นสีลัพพตุปาทานแท้ หมาย
ความว่าประพฤติโดยอาการโง่
จะพ้นวิสัยอุปทานอย่างไรได้
ส. แบ่งกล่าวแต่อุปาทานอย่างเดียวได้ความละ ก็
ส่วนสีลัพพตะที่พระโสดาละได้นั้น อื่น
จากสีลัพพตะที่กล่าวมานี้ หรือสีลัพพตะอย่างนี้เอง
ป. สีลัพพตะอย่างนี้ก็ได้ อย่างอื่นก็ได้
ไม่เห็นมีทางสงสัยอะไร เป็นแต่
จะถูกตามประสงค์ที่ท่านกล่าวไว้หรือไม่ถูก
รับประกันไม่ได้
แต่ต้องขอถามเป็นปฏิปุจฉาก่อน เพราะพูดอยู่
ในอุปาทานอย่างเดียว ท่านสกวาที
ไพล่ไปหยิบสังโยชนธรรม ซึ่ง
เป็นวิสัยของพระโสดาปัตติมรรคละ
ได้ขาดขึ้นมาคัดค้าน
ก็สักกายทิฏฐิที่พระโสดามรรคละได้นั้น
ท่านสกวาทีเข้าใจว่ากระไร ?
ส. ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ก่อนแต่พระอริยมรรคยัง
ไม่เกิด ท่านยึดถือว่าเบญจขันธ์เป็นตัวตน
ครั้นพระอริยมรรคเกิดขึ้น ประหานอุปาทาน
ขาดลงไปครั้งหนึ่ง ก็รู้เท่าเบญจขันธ์โดยสภาพ
เป็นแต่สักว่าเบญจขันธ์เท่านั้น เบญจขันธ์ไม่ใช่ตัวตนแท้
อย่างนี้ชื่อว่าท่านละสักกายทิฏฐิได้
ป. ก็เมื่อท่านละเบญจขันธ์เสียแล้ว ท่านผู้
เป็นพระโสดาบันนั้นไปอยู่กับอะไร ?
ส. ออ! คำที่ว่าละนั้นก็เป็นแต่สมมติโวหาร พูดเข้าใจ
กันในพวกรู้ด้วยกันเท่านั้น
ถ้าจะให้ได้ความทั่วกัน ก็คือท่านรู้เท่าเบญจขันธ์
โดยสภาวะใช่ตัวตนสัตว์บุคคล ขาด
จากการยึดถือเบญจขันธ์ว่าเป็นตนเป็นของของตนเท่า
นั้น แล้วก็ต้องอาศัยเบญจขันธ์
แต่เรียกว่าสักกายนิโรธเป็นที่อยู่ต่อไป กว่าจะแตก
จะทำลาย


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.ค. 2014, 19:53 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ป. คราวนี้พูดกันถึงสีลัพพตะได้ละ ส่วนสักกายทิฏฐิ
ถือว่าเบญจขันธ์ เป็นตนเป็นของของตน
ครั้นพระอริยมรรคเกิดขึ้นแล้ว ความถืออย่าง
นั้นก็ขาดไปด้วยกำลังพระอริยมรรค เป็นแต่รู้
เท่าเบญจขันธ์แล้วก็ต้องอาศัยเบญขขันธ์อยู่อย่างเดิม
ส่วนสีลัพพตะเล่า ก่อนแต่พระอริยมรรคยัง
ไม่เกิด ก็รักษาศีล
คืออาการปรกติเรียบร้อยของกายวาจาใจ
แล้วก็ประพฤติวัตร ถือการประพฤติดีด้วยกาย
มีกราบไหว้และนั่งสมาธิเดินจงกรมเป็นต้น ด้วยวาจา
มีสวดมนต์และแสดงธรรมเป็นต้น ด้วยใจ มีระลึก
ถึงพุทธาทิคุณ และอารมณ์ของสมถะและวิปัสสนา
เป็นต้น เมื่อยังไม่
ได้บรรลุพระอริยมรรคท่านก็ถือว่าท่านรักษาศีล
ท่านประพฤติวัตร
ท่านระลึกถึงพุทธาทิคุณ ท่านระลึก
ถึงอารมณ์ของสมถะและวิปัสสนา ศีลเป็นของ ๆ
ท่าน วัตรเป็นของ ๆ ท่าน พระพุทธ พระธรรม
พระสงฆ์ สมถะและวิปัสสนาเป็นของ ๆ ท่าน
ครั้นท่านได้บรรลุอริยมรรคแล้ว
ท่านละสักกายทิฏฐิได้แล้ว ศีลและวัตรจะเอาไป
ไว้กับใคร ก็ต้องละศีลและวัตรด้วย คำที่ว่าละ
นั้นก็เป็นแต่ สมมติโวหาร เท่านั้น ลงใจความก็คือรู้
เท่าว่าศีลและวัตร พระพุทธ พระธรรม
พระสงฆ์ สมถะ วิปัสสนา ไม่ใช่ของใครเท่านั้น
ส่วนเบญจขันธ์ละขาดได้ ว่าไม่ใช่ตนไม่ใช่ของของตน
แล้วก็ต้องอาศัยเบญจขันธ์อยู่ ส่วนสีลัพพตะละขาด
ได้แล้ว ก็ต้องอาศัยสีลัพพตะนั่นแลอยู่ ถ้าไม่มีศีล
และวัตรเป็นเครื่องอาศัยอยู่เป็นผิด ถ้ามีศีล
และวัตรเป็นเครื่องอาศัยอยู่เป็นถูก เพราะเหตุนั้น
พระอริยบุคคลจึงไม่มีอาการแปลกจากปุถุชน
ท่านสกวาทีจะเห็นด้วยหรือยังสงสัยอย่างไรก็ว่าไป
ส. ข้อที่ท่านปรวาทีแก้ไขชี้แจงก็สิ้นความสงสัย แต่ข้อที่
ยังไม่แสดงก็ยังสงสัยอยู่ ดังวิจิกิจฉา
ความเคลือบแคลงสงสัย พระโสดาท่านละได้แล้ว
ท่านจะมิต้องอาศัยวิจิกิจฉาอยู่อย่างสักกายะ
และสีลัพพตะนั้นหรือ ?
ป. ความรู้เท่าสิ่งสงสัย จึงชื่อว่าละความสงสัย ธาตุ
ขันธ์ อายตนะ นามรูป ศีลและวัตร ชื่อว่าสิ่งสงสัย
จึงต้องมีปรามาส เมื่อรู้เท่าสักกายะและสีลัพพตะ
แล้ว ก็ชื่อว่าละปรามาสขาดความสงสัยได้แล้ว
ส่วนสักกายะและสีลัพพตะซึ่งเป็นสิ่งสงสัย ยังเป็นไป
อยู่ก็ต้องอาศัย แต่อยู่ด้วยความสิ้นสงสัย
ส. พอฟังได้ ไหนได้พูดกันถึงสังโยชน์แล้ว
ต้องพูดต่อไปอีกสักหน่อย ในสังโยชน์ต่อไปที่ว่า
ละกามราค พยาบาท ขาดจากสันดานนั้น จะมิ
ต้องอาศัยกามราค พยาบาทอยู่ต่อไป อย่างสังโยชน์ ๓
เบื้องต้นหรือ ?
ป. ไม่ต้องอาศัย เพราะกามราคพยาบาท
เป็นแต่สักว่ากิเลส ถึงโดยปรกติละไม่ได้ จะนับว่า
เป็นสิ่งอาศัยก็ไม่ชอบ
เป็นแต่ชาติอนุสัยสังกิเลสเกิดขึ้นเมื่อไรก็ทำจิต
ให้เร่าร้อนขุ่นมัว แล้วก็ดับไปโดยธรรมดาของตน
ครั้นกำลังพระอริยมรรคตัดรากแก้ว
กล่าวคืออนุสัยขาดแล้ว กามราคพยาบาท
ไม่มีที่ตั้งต่อไป จึงมีโวหารว่าละหรือรู้เท่า
คำที่ว่ารู้เท่านั้น คือพ้นจากความเกี่ยวเกาะ
ถ้ากามราคพยาบาทยังมีสิงใจอยู่ ก็ชื่อว่าละไม่ได้
ต้องเกี่ยวเกาะอยู่ เมื่อยังมีการเกี่ยวเกาะอยู่ ก็ชื่อว่าเป็น
ผู้ไม่รู้เท่ากามราคพยาบาท คือละยังไม่ได้
ส. ฟังดูพอเข้าใจได้บ้าง ลงเนื้อความว่าทำความรู้
เท่าสังโยชน์ได้แล้ว ถึงสังโยชน์นั้นจะอยู่จะดับก็ตาม
ไม่เป็นขอสำคัญ เป็นข้อสำคัญอยู่ที่ไม่เกี่ยวเกาะเท่านั้น
อย่างนั้นซิ
ป. ถูกละ
ส. ถ้าอย่างนั้นส่วนสังโยชน์เบื้องบน ก็เห็นจะถือเอาเนื้อ
ความอย่างเดียวกันนะซิ ?
ป. อย่างนั้น แต่สังโยชน์จะเป็นเบื้องต่ำเบื้องบนก็ตาม ไม่
เป็นวิสัยที่เราจะคิดคาดคะเนลงเนื้อเห็นเอาตามใจ
ที่แสดงมานี้ ก็อาศัยพระปริยัติชี้กันพอเป็นเงา ๆ ไว้
เท่านั้น เพราะการละสังโยชน์
เป็นวิสัยของพระอริยมรรค คือ
เป็นอานิสงส์ของพระอริยมรรคโดยส่วนเดียว
ส. สาธุ สาธุ, สุนฺทรํ ภนฺเต, สุนทรํ ภนฺเต.


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ก.ค. 2014, 13:05 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ส. ท่านปรวาทีกล่าวแก้ในประเภทแห่งสีลัพพตะ
และอุปาทานตลอดถึงการละสังโยชน์น่าฟัง
พอแก้สีลัพพตะหลุด ทิฏฐุปาทานลอยขึ้นมาเอง
แต่อย่างไรต้องอธิบายอีกสักหน่อย
เพราะคำที่ว่าเชื่อต่อความรู้ความเห็นของตนเอง จน
ถึงที่สุดเห็นการละอุปาทานได้เป็นพ้นทุกข์ ก็ยัง
เป็นทิฏฐุปาทานอยู่ จะทำอย่างไรจึงจะพ้นอุปาทาน
ได้ ?
ป. ตัวอุปาทานเป็นสภาพอันละเอียด มิ
ใช่วิสัยโลกียปัญญาจะตัดให้ขาดได้
เป็นวิสัยของโลกุตรมรรค โลกุตรปัญญาจะตัด
ให้ขาดได้ ถึงในอัตตวาทุปาทานก็เหมือนกัน ต้อง
เข้าใจสภาพของอุปาทานไม่ใช่บุญไม่ใช่บาป
ถ้ายึดถือสิ่งที่เป็นบาปก็เป็นบาป ถ้ายึดถือสิ่งที่เป็นบุญก็
เป็นบุญ ถ้ายึดถือสิ่งที่ไม่เป็นบุญไม่เป็นบาปก็ไม่เป็นบุญ
ไม่เป็นบาป ในกามุปาทาน มีส่วนกุศลอยู่ข้างจะน้อย
ส่วนสีลัพพตุปาทาน ทิฏฐุปาทาน และอัตตวาทุปาทาน
ถ้าตกไปในสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา
สัมมากัมมันโต เป็นกุศลล้วน ถ้าตกไป
ในฝ่ายมิจฉาทิฏฐิ มิจฉาสังกัปโป มิจฉาวาจา
มิจฉากัมมันโต เป็นอกุศลแท้ จะเกลียดอุปาทานก็
ไม่ชอบ จะรักอุปาทานก็ไม่ชอบ จะไม่เกลียดไม่รักก็
ไม่ชอบ ต้องอาศัยอุปาทานละอุปาทาน การละเล่า
จะละเอาเองก็ไม่ได้ ต้องบำรุงอริยมรรค
ให้เกิดขึ้นอย่างเดียวจึงจะละได้
ส. การบำรุงอริยมรรคจะต้องทำอย่างไร ?
ป. การบำรุงอริยมรรคต้องบำเพ็ญศีล สมาธิ
ปัญญา ศีล คงศีลสมาธิปัญญาเป็นวัตร
ต้องบำรุงศีลและวัตรให้เต็มที่
เข้าใจว่าอริยมรรคคงเกิดเอง
เปรียบดังพวกรองน้ำตาล ต้องการให้เมาไม่
ต้องเอาของเมาทำ เอาแต่เปลือกไม้
หรือผลไม้ที่มีรสฝาด ๆ แช่ลงในกระบอก
เมื่อรสหวาน รสฝาดกินกันเต็มที่แล้ว
ธาตุเมาเกิดขึ้นเอง ข้อนี้ฉันใด ผู้
ต้องการอริยมรรคอริยผล
จะเอาอริยมรรคอริยผลที่ไหนมา
ต้องประกอบศีลและวัตรให้เต็มที่
อริยมรรคอริยผลคงเกิดขึ้นเอง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ก.ค. 2014, 13:22 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ส. คราวนี้เป็นโอกาสอันดี
ขอท่านปรวาทีโปรดแก้ไขศีลสมาธิปัญญา ซึ่ง
เป็นอวัยวะแห่งอริยมรรคพอเป็นทางปฏิบัติ
ป. ศีล สมาธิ ปัญญา ก็เป็นของแพร่หลาย
ในหมู่พุทธบริษัทอยู่แล้ว จะขอชี้แจงแต่พอสังเขป
ศีลก็คือศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีลพระปาฏิโมกข์
ตามที่เคยประพฤติรักษากันมา ไม่เห็นมีข้อที่จะสงสัย
รักษาศีลประเภทใดก็ให้จริงเท่านั้น
ในศีลทุกประเภทมีอาการรักษาเป็น ๓ อย่าง
คือรักษาศีลนอกอย่างหนึ่ง รักษาศีลในอย่างหนึ่ง
รักษาศีลกลางอย่างหนึ่ง
ส. ศีลนอก ศีลใน ศีลกลาง รักษาอย่างไร ?
ป. ศีลนอกคือรักษาศีลโดยเชื่อต่อผู้อื่น
หรือเชื่อต่อแบบแผนตำราตามที่รู้มาว่า
ถ้าใครรักษาศีลหรือบวชได้บุญมาก รักษา
โดยอาการอย่างนี้ บัญญัติโวหารว่ารักษาศีลนอก
ดังคำว่า โลกาธิปไตย
รักษาศีลในนั้นคือไม่เชื่อต่อผู้อื่น
เห็นว่าการรักษาศีล ก็เพื่อกำจัดกิเลส
ความชั่วอย่างที่หยาบ ให้พ้นจากกายวาจาใจ จะเว้นจาก
ความชั่วสิ่งใดก็เพราะเห็นโทษในความชั่วสิ่งนั้น ดังเว้น
จากการฆ่าสัตว์ ก็เพราะรู้ชัดว่าสรรพสัตว์มีชีวิต
เป็นของรัก เราฉันใด เขาฉันนั้น ดังนี้เป็นต้น
และเห็นคุณในการงดเว้นจากโทษนั้น ๆ ดังเห็นคุณ
ในการเว้นจากฆ่าสัตว์ ตนก็ได้รับความเย็นใจ
เพราะจิตคิดฆ่าไม่มี สัตว์อื่นทั้งโลก ก็ชื่อว่าได้รับ
ความสุขเพราะสิ้นความรังเกียจ ว่าท่านผู้นี้ไม่ฆ่าสัตว์
การรักษาด้วยเห็นโทษและคุณเฉพาะตนอย่างนี้
บัญญัติโวหารว่ารักษาศีลใน ดังคำว่า อัตตาธิปไตย
รักษาศีลกลางนั้น คือสิ้นความเห็นนอกและใน
เพราะรู้จักธรรมชาติของศีล อาการที่
เป็นปรกติของกายวาจาใจ เป็นธรรมชาติศีลอยู่เอง
การที่รักษานั้นเป็นอุบายที่จะทำกายวาจาใจไม่
ให้เสียปรกติ ปรกตินั้น หมายความว่า สภาวะ
หรือธรรมดา ดังกองรูปก็เป็นปรกติส่วนรูป
เวทนา ก็เป็นปรกติส่วนเวทนา สัญญาก็เป็นปรกติ
ส่วนสัญญา สังขารก็เป็นปรกติส่วนสังขาร
วิญญาณก็เป็นปรกติส่วนวิญญาณ
เมื่อรู้ส่วนปรกติของเบญจขันธ์อย่างนี้ ก็เข้าใจได้
ในการรักษาให้เป็นปรกติ เพราะเบญจขันธ์ติดเนื่อง
เป็นอันเดียวกัน จึงเกิดมีวิการเสียปรกติได้ จน
ถึงฆ่าสัตว์ลักทรัพย์ เป็นต้น การรักษาก็เพื่อเกียด
กันกายวาจาใจให้ปรกติอยู่ตามสภาพ ไม่ให้วิการไป
ในทางชั่วทางทุจริตเท่านั้น การรักษา
โดยสภาวะปรกติธรรมดาอย่างนี้
บัญญัติโวหารว่ารักษาศีลกลางดังคำว่าธรรมาธิปไตย
รักษาศีลประเภทไหนก็ตาม ถ้ารักษา
ถึงปรกติย่อมมีอานิสงส์สามารถ อาจที่จะ
เป็นบาทของสมถะและวิปัสสนาได้
จบประเภทสีลวิภาค.


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ก.ค. 2014, 13:28 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ส่วนสมาธิก็มีประเภทมาก ดื่นดาษแพร่หลาย
ในเหล่าพุทธบริษัท จะแสดงแต่พอเป็นสังเขป
ผู้มีศรัทธาปรารถนาจะเจริญสมาธิ เมื่อ
ได้พบปะครูอาจารย์ที่ท่านมีสมาธิ
หรือพบแบบแผนชี้วิธีสมาธิ โดยวิธีและประเภทต่าง
ๆ ตามลัทธิของตน ๆ เมื่อต้องการแล้วอย่ารังเกียจ
จะทำลัทธิใดก็ทำไป
บรรดาสมาธิย่อมมีเอกัคคตารมณ์เป็นเขตแดน
เมื่อจิตตกเอกัคคตารมณ์แล้วย่อมเป็นปัจจัตตัง
รู้จำเพาะตน อุตส่าห์ทำให้เป็นวสีคือให้ชำนาญ
เมื่อเอกัคคตารมณ์ชำนาญคล่องแคล่วดีแล้ว ชื่อว่า
ผู้มีแก้วสารพัดนึกอยู่ในเงื้อมมือ แม้
จะปรารถนามนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ
นิพพานสมบัติ ก็คงจะสำเร็จตามอุปนิสัย
แต่สภาพของสมาธิที่เป็นเอกัคคตารมณ์นั้นแบ่งเป็น ๒
ถ้าจิตเป็นหนึ่งในอารมณ์ของสมาธิเป็นครั้งเป็นคราว
นิดหนึ่ง หน่อยหนึ่ง แล้วก็ถอนจากอารมณ์
เรียกว่าขณิกสมาธิ
ถ้าจิตเป็นหนึ่งในอารมณ์ของสมาธิช้า
และชำนาญมากขึ้นสมควรเป็นบาทของปฐมฌาน
และเป็นบาทของวิปัสสนาได้ เรียกว่าอุปจารสมาธิ
ในสมาธิทั้ง ๒ นี้ก็มีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เหมือน
กับปฐมฌาน ต่างกันแต่หยาบและละเอียดเท่านั้น
เพราะขณิกอุปจารยังไม่บริบูรณ์ด้วยวสี จึง
เป็นอัปปนาไม่ได้ ถึงอย่างนั้นอุปจารสมาธิก็อาจ
เป็นบาทของปฐมฌาน
เมื่อพระโยคาวจรน้อมจิตขึ้นสู่องค์ฌาน
ต้องมีบริกรรมอุปจารอนุโลมโคตรภูก่อน ต่อไป
จึงเป็นวิถีขององค์ฌาน
ส่วนอุปจารสมาธิเป็นบาทของวิปัสสนานั้น
คือบำเพ็ญอุปจารสมาธิเกิดขึ้นแล้ว ต้องน้อมจิต
ซึ่งมีอารมณ์ของสมาธินั้น
ขึ้นสู่พระไตรลักษณญาณ
ตามสมควรแก่ปรารถนา เพราะจิตที่เป็นสมาธิ
แล้วนั้นเปรียบดังผ้าที่ฟอกแล้ว
ย่อมควรแก่น้ำย้อมตามประสงค์ ฉันใด
จิตที่สมาธิฟอกแล้ว ก็ย่อมควรแก่น้ำย้อม
กล่าวคือฌานและวิปัสสนาเหมือนกันฉันนั้น
ผู้จะเจริญสมาธิต้องรู้จักสมาธิ อย่าเห็นไปว่าสมาธิ
เป็นของฤาษีปริพาชก หรือเป็นของพระพุทธเจ้า
อย่าเห็นว่าเป็นของภายนอกพุทธศาสนาหรือ
เป็นของภายในพุทธศาสนา ให้เห็นว่าชาติสมาธิ
เป็นสภาวธรรมอยู่อย่างหนึ่ง เป็นของกลางไม่
ใช่ของใครทั้งสิ้น แต่เป็นของประณีตสุขุมละเอียด
มีสัมผัสเป็นสุขน่าอัศจรรย์ ถ้าผู้ใดทำให้เกิดให้มี
ในจิตแล้ว อาจสำเร็จกิจตามที่ตนต้องประสงค์
และไม่ต้องกลัวที่จะไปเกิด
เป็นพรหมลูกฟักลูกแฟง เพราะเป็นของ
ให้สำเร็จตามความประสงค์ของตนเอง
การทำสมาธิถ้ามีครูแนะนำได้เป็นการดี ถ้าไม่มี
จะอาศัยแบบแผนก็ได้ เพียงเข้าใจในสติปัฏฐาน ๔
เป็นพอ ด้วยสติปัฏฐาน ๔ เป็นอารมณ์ของสมาธิแท้
สติปัฏฐาน ๔ นั้นแบ่งออกเป็น ๒ ภาค คือเป็นภาย
ในภายนอก กายเวทนาจิตเป็นภายใน ธรรมารมณ์
เป็นทั้งภายในภายนอก ถ้าหมายกายและเวทนาจิต
เป็นรูปธรรมนามธรรม ธรรมารมณ์ก็เป็นภาย
ใน ถ้าหมายอย่างอื่นมีกสิณอสุภะเป็นต้น
ธรรมารมณ์ก็เป็นภายนอก ถึงจะเป็นภาย
ในภายนอกอย่างไรก็ดี สติปัฏฐาน ๔ คงกลมเกลียว
เป็นอันเดียวกัน จะแตกพรากจากกันแต่สักนิดหน่อย
เป็นอันไม่ได้ เมื่อสติลงเป็นหนึ่งในอารมณ์อันใด
โยคาวจรก็รู้สึกในอารมณ์นั้น ว่าสติปัฏฐาน ๔
ประชุมพร้อมในที่อันเดียวกัน เมื่อเข้าใจอย่างนี้
จะระลึกในลมหายใจเข้าออก
เป็นเครื่องผูกสติแต่อย่างเดียวก็ได้ ทำไปจน
ให้เกิดอุคคหะปฏิภาคหรืออุปจารอัปปนาเพื่อ
เป็นบาทของวิปัสสนา
ผู้ที่จะเจริญสมถะถึงมีสติรู้กาลล่วงหน้า
ไว้สำหรับตัว เพราะจิตลงสู่ความเป็นของละเอียด
แล้ว บางท่านจะมีอารมณ์
เป็นที่พึงกลัวยิ่งนักเกิดขึ้นบ้าง หรืออารมณ์
เป็นที่พึงเกลียดยิ่งนักบังเกิดขึ้นบ้าง หรืออารมณ์
เป็นที่น่ารักยิ่งนักบังเกิดขึ้นบ้าง หรืออารมณ์
เป็นที่น่าชังยิ่งนักบังเกิดขึ้นบ้าง ผู้ทำ
ความเพียรอย่ากล้าเกินส่วนและอย่าขลาดเกินส่วน
พึงมีพระไตรลักษณ์กำกับอยู่เสมอ ว่าอารมณ์นี้
ไม่เที่ยงเกิดขึ้นแล้วจักดับไปเป็นธรรมดา เมื่อดำเนิน
ด้วยสติอยู่อย่างนี้กรรมฐานของท่านจะพึงสำเร็จ
ได้ตามปรารถนา
และพึงเข้าใจสภาพของสมาธิอีกอย่างหนึ่ง
เพราะสมาธิหมายความว่าจิตดื่มอารมณ์อันเดียว
ถ้าจิตดื่มอารมณ์อันเดียวเป็นสมาธิแล้วต้องเข้าใจว่า
สมาธิเป็นกลาง เป็นไปได้ทั้งฝ่ายกุศลอกุศล ถึงวิตก
วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ซึ่งนับว่าเป็นองค์ของฌาน ก็คง
เป็นไปได้ทั้งฝ่ายกุศลอกุศล ในที่มาต่าง ๆ
ซึ่งท่านแสดงประเภทแห่งสมาธิ
ท่านแสดงแต่ประเภทแห่งกุศลสมาธิอย่างเดียว
เพราะจะให้ตรงกับคำว่าสัมมาสมาธิเท่านั้น
เพราะเหตุสมาธิเป็นสภาวธรรมที่เป็นกลางแท้ อาจ
ให้สำเร็จประโยชน์แก่ผู้เจริญให้เกิดให้มี
ได้ตามปรารถนา เหล่าที่ท่านเป็นบัณฑิต
ทั้งหลายมีพุทธบุคคลเป็นต้น ก็ต้องอาศัย
และสรรเสริญมิได้คัดค้าน และต้อง
เข้าใจว่าท่านสรรเสริญแต่ส่วนสัมมาสมาธิเท่านั้น
เหตุนั้นเราเหล่าพุทธบริษัทพึงอุตส่าห์เจริญสมาธิ
ให้เกิดให้มี จะได้เป็นบาทของวิปัสสนาต่อไป
แต่อย่าติดสมาธิเป็นอันขาด
จบสมาธิวิภาค


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ก.ค. 2014, 13:33 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


จะแสดงส่วนปัญญาพอสังเขป เพราะที่มาต่าง ๆ
ซึ่งแสดงทางปัญญามีประเภทเป็น ๒
ปัญญาพิจารณาเห็นความเกิดและ
ความดับของสังขารเป็นปัญญาอย่างต่ำ
ปัญญาพิจารณาเห็นทุกข์สมุทัยนิโรธมรรค
เป็นปัญญาอย่างสูง หรือโลกิยปัญญาเป็นอย่างต่ำ
โลกุตรปัญญาเป็นอย่างสูง ปัญญา ศัพท์แปลว่ารู้
ทั่ว วิญญาณศัพท์แปลว่ารู้วิเศษ
วิชชาศัพท์แปลว่ารู้แจ้ง วิปัสสนาศัพท์แปลว่าเห็นแจ้ง
ศัพท์ที่แปลว่ารู้มีมากดังเมธศัพท์ มติศัพท์ สติศัพท์
บัณฑิตศัพท์ เวทนาศัพท์ สัญญาศัพท์ เป็นต้น ก็ลงใจ
ความว่ารู้ด้วย
ผู้จะบำเพ็ญทางปัญญาพึงเข้าใจว่า สมมตินาม
ทั้งสิ้นเอาแต่ความรู้สึกความเข้าใจ
เป็นประมาณอย่าหลงตามสมมติ ในหนังสือเล่มนี้
จะยกสมมตินามคือปัญญาขึ้นกล่าวพอให้เข้าใจเท่านั้น
ในเบื้องต้นเมื่อบำเพ็ญศีลและสมาธิทั้ง ๒ ให้เกิดให้มี
แล้ว ควรจะตรึกตรองให้เกิดปัญญารู้ทั่ว
ในเบญจขันธ์ คือให้รู้ทั่วไปในรูปในอาการของรูป
ให้รู้ทั่วในนามและอาการของนามรูปนั้น หมาย
ความว่าประชุมแห่งธาตุทั้งสี่เป็นก้อนอันหนึ่ง
ทนแก่ร้อนและหนาวไม่ไหว ชื่อว่ารูป
อาการของรูปนั้น ถ้า
จะบรรยายก็มากนักจักกล่าวแต่สังเขป ส่วนที่
เป็นกลม ๆ ยาวประมาณศอกเศษ สมมติเรียก
กันว่าตัวและแตกปัญจสาขา คือศีรษะและแขน
และขา แต่ละอย่าง ๆ นับเป็นอาการของรูปคง
เป็นรูปหนึ่ง ส่วนนามไม่มีตัว เป็นแต่รู้
ด้วยสัญญามีแต่ชื่อปรากฏอยู่เป็นลักษณะ
ส่วนอาการของนาม คือเวทนา ได้แก่ สุข ทุกข์ อุเบกขา
สัญญา ความจำหมาย สังขารความคิดอ่านตรึกตรอง
วิญญาณความรู้วิเศษต่าง ๆ เหล่านี้
เป็นอาการของนาม รูปและนามทั้ง ๒ อย่างประชุม
เข้าเป็นอันเดียวกัน เรียกว่าตัวตนสัตว์บุคคลเราเขา
โดยสมมติ รูป ๑ นาม ๑ หรือ รูป ๑ นาม ๔
โดยอาการ เรียกว่า เบญจขันธ์ คือขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕
นั้นแหละเมื่อมีอุปาทานอยู่เป็นเรา ความเป็นจริง
ขันธ์ ๕ เป็นธรรมชาติเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป
ส่วนรูปก็ดับตามสภาพของรูป
ส่วนนามก็ดับตามสภาพของนาม ไม่เที่ยงมีเกิดแปรไป
เป็นธรรมดา เป็นทุกข์เพราะอุปาทาน เป็นอนัตตา
ตามสภาพ ความเกิดดับแปรไปเป็นของเที่ยง
ถอนอุปาทานออกได้เป็นสุข รู้ตามสภาพเป็นอนัตตา
ความเป็นจริงนามรูปไม่ใช่เรา เราไม่ใช่นามรูป
เป็นแต่เนื่องด้วยนามรูป ถ้าเห็นว่านามรูปเป็นเรา
ก็ชื่อว่านามรูปซึ่งเป็นปัจจุบันนี้เป็นปัจจัย ตายแล้ว
ต้องเกิดอีกร่ำไป ตกอยู่ในสัสสตทิฏฐิ
ถ้าเห็นว่านามรูปไม่ใช่เรา ตายแล้วต้องสูญ ตกอยู่
ในอุจเฉททิฏฐิ ความเกิดและความตาย
เป็นหน้าที่ของนามรูปต่างหาก ไม่ใช่หน้าที่ของเรา ให้
ค้นดูตัวเราให้พบ ตรึกตรองให้เห็นตามความ
เป็นจริง อย่างไร ชื่อว่าเห็นความเกิด และความดับ
เป็นปัญญาอย่างต่ำ
การพิจารณาเห็นนามรูปมีความเกิดขึ้นและดับไป
เป็นชาติทุกข์อยู่โดยธรรมดา เป็นของจริงด้วย
เป็นของควรกำหนดจริงด้วย และได้กำหนดจริง
ด้วย เป็นสัจจะที่ ๑ และเห็นความยึดถือเกิดแต่ตัณหา
มีนามรูปเป็นมูล เป็นตัวทุกข์จริงด้วย และ
เป็นของควรละเสียจริงด้วย และได้ละเสียจริง
ด้วย เป็นสัจจะที่ ๒ และเห็น
ความยึดถือเกิดแต่ตัณหามีนามรูปเป็นมูลดับจริง
ด้วย และเป็นของควรทำให้แจ้งจริงด้วย และได้ทำ
ให้แจ้งจริงด้วย เป็นสัจจะที่ ๓ ในสัจจะทั้ง ๓
ควรกำหนดนามรูปโดยสภาวทุกข์
และละอุปาทานการยึดถือ เกิดแต่ตัณหามีนามรูป
เป็นมูล คือตัวสมุทัย และทำให้แจ้งซึ่งการละ
หรือการดับสมุทัย คือนิโรธ
เป็นอริยมรรคปฏิบัติจริงด้วย และเป็นของควร
ให้เกิดให้มีจริงด้วย และได้ให้เกิดได้ให้มีจริงด้วย
เป็นสัจจะที่คำรบ ๔ ปัญญาเห็น ๔ สัจจะนี้ ท่านนับ
เป็นปัญญาอย่างสูง
ถ้าจะแบ่งโลกียปัญญา โลกุตรปัญญา
วิปัสสนาปัญญาอันใด เบื้องต้นแต่เห็นนามรูป
เป็นของเกิดดับ ตลอดจนถึงเห็นสัจจะทั้งสี่แจ้งชัด
ขึ้นแก่ตน ตามภูมิเพียงส่วนรู้รอบในปริยัติเท่านั้น
แต่วิราคะอริยมรรคยังไม่ปรากฏ
ชื่อว่าโลกียปัญญาทั้งสิ้น
ต่อแต่วิราคะอริยมรรคเกิดขึ้นแล้วไปจึง
เป็นโลกุตรปัญญา การกล่าวมานี้ยืดยาวก็จริง
คงนับว่าสังเขปอยู่นั่นเอง เพราะไม่ได้แสดงถึงวิถีจิต
ถึงนับว่ากล่าวสังเขปก็ชื่อว่ากล่าวยืดยาวอยู่นั้นเอง
เพราะวิถีจิตมิได้เดินยืดยาวอย่างที่กล่าวมานี้
ในเบื้องต้นได้กล่าวไว้แล้วว่า ศีล สมาธิ ปัญญา
เป็นสิ่งสำคัญ มาตอนปลายดูเหมือน ศีล สมาธิ ปัญญา
หายไป ทุกข์ สมุทัย นิโรธ กับคำที่ว่า ศีล สมาธิ
ปัญญา ไม่ได้ต่างกัน สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นสมุทัย สิ่ง
ใดเป็นสมุทัย สิ่งนั้นเป็นนิโรธ สิ่งใดเป็นนิโรธ สิ่งนั้น
เป็นมรรค สิ่งใดเป็นศีล สิ่งนั้นเป็นสมาธิ สิ่งใด
เป็นสมาธิ สิ่งนั้นเป็นปัญญา สิ่งใดเป็นปัญญา สิ่งนั้น
เป็นมรรค
อุตสาหะคิด อุตสาหะตรอง ให้หนึ่งผุด จึงหยุดคิด
จบปัญญาวิภาค.


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ก.ค. 2014, 13:52 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ส. รับว่า สาธุ ภันเต สาธุ ภันเต ควรฟังควรตรอง
แต่น่าสงสัย ฟังไป ๆ ดูเหมือนมรรคผลเป็นของ
ไม่สู้ลึกลับเหลือเกิน ขอฟังอีกสักหน่อยเถิด
มรรคผลนิพพานเป็นของยังมีจริงหรือ ?
ป. ถ้าเบญจขันธ์เป็นที่ตั้งแห่งทุกข์มีจริง ตัณหาอุปาทาน
ผู้ทุกข์มีจริง ความดับตัณหาอุปาทานมีจริง
มรรคผลก็คงมีจริง ถ้าของเหล่านี้ไม่มี
มรรคผลก็คงไม่มีเป็นแน่
ส. ก็พากันเข้าใจได้ว่าเป็นของมีจริง
เพราะบัญญัติมรรคผลนิพพานที่เบญจขันธ์
ฟังดูก็น่าคิดน่าตรอง แต่ยังเป็นห่วงอยู่นิดหน่อย
ขอถามตื้น ๆ อีกก่อน ถ้านิพพานบัญญัติที่เบญจขันธ์
แล้ว ส่วนสวรรค์ คือเทวดา อินทร์ พรหม จะมิ
ต้องบัญญัติที่เบญจขันธ์หรือ ?
ป. จะบัญญัติที่ไหนอีกเล่า อย่าว่าแต่สวรรค์เลย
ถึงนรกก็ต้องบัญญัติที่เบญจขันธ์ด้วย
ส. ถ้าอย่างนั้นขอฟังสวรรค์นิพพานสักหน่อยเถิด
ป. ต้องฟังแต่เพียงเล็กน้อย รูป เสียง กลิ่น รส
เครื่องสัมผัส อารมณ์ของใจ ส่วนที่เป็นอิฏฐารมณ์
เป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนาทั้งสิ้น ซึ่งเป็นส่วนกามาวจร
หรือกามธาตุ และรูปที่พ้นจากส่วนกามธาตุ
เรียกว่า รูปาวจร และวิญญาณธาตุ ส่วนที่พ้น
จากรูปธาตุ เรียกว่า อรูปาวจร
ที่กล่าวมานี้สมมติเรียกกันว่าสวรรค์ แต่มิ
ได้บัญญัตินอกจากเบญจขันธ์ ตัดใจความให้สั้น
กามโลก รูปโลก อรูปโลก มีพร้อมที่เบญจขันธ์,
ในโลกทั้ง ๓ นั้น ส่วนเป็นอิฏฐารมณ์
เป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนาเป็นสวรรค์ ส่วน
เป็นอนิฏฐารมณ์ เป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนาเป็นนรก
ที่เบญจขันธ์นั่นเอง ส่วนที่พ้นจากโลกทั้ง ๓ นั้น
เป็นอมตโลกหรือนิพพานธาตุ
ส. ฟังดูก็ชอบกล น่าเชื่อ ผิดจากความเข้าใจมาแต่เดิม
ถ้าอย่างนั้น ตามที่เคยได้ยินได้ฟังมาว่า
ชาวสวรรค์ชั้นจาตุม ดาวดึงส์ เป็นต้น ประกอบ
ด้วยรูปสมบัติ ทิพยกามารมณ์ อุดมไปด้วยกามสุข
เป็นที่ปรีด์เปรมเกษมสันต์ทุกวันคืน อายุยืนพ้นพันปี
เป็นเขต จะไม่มีหรือ ถ้ามีก็ออกเป็นห่วงสักหน่อย ที่ยัง
ไม่พอใจนิพพานนักนั้น ก็ด้วยเหตุนี้แหละ
ป. จะมีก็ตามไม่มีก็ตาม หาพยานมิได้
แต่ท่านสกวาทยาจารย์ เคย
ได้ฟังอาทิตตปริยายสูตรพุทธภาษิตหรือไม่ ?
ส. เคยได้ฟัง
ป. คำที่ว่า “ราคคฺคินา โทสคฺคินา โมหคฺคินา อาทิตฺตนฺติ
วทามิ” ดังนี้ เข้าใจความว่ากระไร ?
ส. เข้าใจความว่า ราคะ ความกำหนัด โทสะ
ความขึ้งโกรธ โมหะ ความหลง ชาติ ความเกิด ชรา
ความแก่ มรณะ ความตาย โสกะ ความแห้งใจ ปริเทวะ
ความบ่นเพ้อ ทุกข์ ความทนยาก โทมนัส ความเสียใจ
อุปายาส ความคับแค้นใจ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า
เรากล่าวว่าของเหล่านี้เป็นไฟของร้อน มี
ความรุ่งเรืองแต่ต้น ดังนี้
ป. ความเข้าใจนั้นก็ถูกแล้ว
ในเหล่าเทวดาอินทร์พรหมนั้นพ้นจากไฟเหล่านั้น
แล้วหรือยัง ?
ส. จะพ้นที่ไหนเล่า
ป. เออ ก็เมื่อรู้อยู่ว่าสัตว์ไฟไหม้ไฟลนอยู่ทุกเมื่อเช่น
นั้น ควรจะเป็นห่วงด้วยหรือ ที่มันไหม้มาแล้วก็พอดู
อยู่แล้วมิใช่หรือ และยังไม่พอใจ จะ
ต้องยอมกระโดดเข้าไฟต่อไปอีก เข้าใจว่าตนโง่
หรือฉลาดเล่า พระพุทธเจ้าตรัสว่าของเหล่านั้น
เป็นไฟ เมื่อเรายังเห็นว่าเป็นของดิบของดีอยู่ ก็ชื่อว่า
ไม่เชื่อพระพุทธเจ้าเท่านั้น
ส. ถูกแล้ว ต่อไปจะคิดหาอุบายหนีไฟให้จงได้ แต่
จะหนีทางไหนดี ขอความแนะนำ
ป. ทางอื่นนอกจาก ทาน ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นอันไม่มี
เพราะทาน ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นตัวบุญ บุญ
นั้นแหละเป็นผู้กำจัดบาป เมื่อบาปทานกำลังบุญไม่
ได้ก็สิ้นไปหมดไป เมื่อบาปสิ้นสูญไปแล้ว เพลิงราคะ
เพลิงโทสะ เพลิงโมหะ ก็ดับไปเอง คง
อยู่แต่เพลิงชาติ เพลิงชรา เพลิงมรณะ
เป็นเพลิงสำหรับชาติ เมื่อชาติไม่มีแล้ว
เพลิงเหล่านั้นก็ดับไปเอง
ส. บุญอย่างอื่นนอกจากทาน ศีล สมาธิ ปัญญา จะไม่มี
หรือ ?
ป. มีถมไป บุญเกิดทางกาย ทางวาจา ทางใจ ที่สัมปยุต
ด้วยเมตตา กรุณา มีสร้างศาลาขุดบ่อน้ำเป็นต้น
เป็นแต่กามาวจรกุศล ถึงทานการบริจาค เฉลี่ย
ความสุขแก่ผู้อื่นก็ดี ก็เป็นแต่เพียงเป็นเหตุเป็นปัจจัยเพื่อ
ความดับทุกข์ และได้รับผลแห่งความสุข
ในชาตินี้ชาติหน้าเท่านั้น และมักตกไปใน
ส่วนกามาวจรกุศล วนเวียนอยู่ในระหว่างกองเพลิง
โดยมาก บุญเกิดแต่ศีล สมาธิ ปัญญา มักตกไป
ในฝ่ายรูปาวจรกุศล อรูปาวจรกุศล
โลกุตรกุศล โดยมาก ใกล้ต่อทางดับเพลิงกิเลส
เพลิงทุกข์ได้ จึงนับว่าเป็นบุญ ควรแก่ผู้จะหนีเพลิง
จะพึงบำเพ็ญให้มีให้เกิดขึ้นโดยแท้


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ก.ค. 2014, 14:07 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ส. วิภาค ศีล สมาธิ ปัญญา ก็ได้ฟังพอเข้าใจได้แล้ว
แต่มีความหนักใจอยู่ที่ท่านแสดงย่ออริยสัจทั้ง ๔
ว่าทุกข์อันใด สมุทัยอันนั้น, สมุทัยอันใด นิโรธอันนั้น,
นิโรธอันใด มรรคอันนั้น หรือคำที่ว่า ศีลอันใด
สมาธิอันนั้น, สมาธิอันใด ปัญญาก็อันนั้น, ปัญญาอันใด
มรรคก็อันนั้น ดังนี้ ตรองดูยังไม่ได้ความชัด ขอท่าน
ได้แก้ไขพอได้ใจความสักหน่อย ?
ป. จะแก้ไขพอเข้าใจเพียงชั้นมรรคปฏิปทานั้นได้
จะแก้ไปให้ถึงอริยมรรคนั้นไม่ได้ แต่ถึงอย่างนั้นก็
ต้องอ้างที่มา ดังในธัมมจักกัปปวัตตนสูตรว่า สงฺขิตฺเตน
ปญฺจุปาทานกฺขนฺธา ทุกฺขา ความว่า ย่นกองทุกข์ที่ขันธ์ ๕
มีอุปาทาน ดังนี้ ถ้ามีแต่ขันธ์ ๕ เปล่า ไม่มีอุปาทาน
หรือมีแต่อุปาทานเปล่า ไม่มีขันธ์ ๕ ก็ไม่เป็นทุกข์ ไม่
เป็นสมุทัย จำเพาะขันธ์ ๕ กับอุปาทานคุมกันอยู่ ขันธ์ ๕
จึงเป็นตัวทุกข์ อุปาทานจึงเป็นตัวสมุทัย ปัญญา
เป็นเครื่องทำอุปาทานให้ซีดให้จืด คือปัญญาเห็นชัดว่า
นี่ทุกข์ นี่สมุทัย นี่ความซีด ความจืดของอุปาทาน
เป็นตัวมรรคปัญญา ความซีดความจืดของอุปาทาน
เป็นตัวนิโรธ ซึ่งกล่าวว่าสัจจะ ๔ นั้น กล่าว
โดยอาการความเป็นจริง ทุกข์ สมุทัย นิโรธ
มรรค คงรวมลงในขันธ์ ๕ อันเดียวเท่านั้น
แก้ไขอย่างนี้พอจะเข้าใจได้หรือยัง
ส. พอเข้าใจได้บ้าง จะต้องเอาไว้ตรองสอบดูอีกก่อน
ในข้อที่ว่าศีลอันใด สมาธิอันนั้น, สมาธิอันใด
ปัญญาก็อันนั้น, ปัญญาอันใด มรรคก็อันนั้น ดังนี้นั้น
จะมีอธิบายอย่างไร ขอฟังต่อไป ?
ป. ศีล หมายความว่าปกติ ชาติของขันธ์ ๕ แท้ย่อมปกติ
ไม่เป็นบุญไม่เป็นบาป มีแต่เกิดขึ้นและดับไป
โดยธรรมดาของตน จึงนับว่าเป็นชาติศีล,
ในคำที่ว่าสมาธินั้น ต้องเข้าใจสมมติโวหาร
ซึ่งพูดตามอาการและมีชาติเป็นอันเดียวกัน
ดังคำที่ว่าทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน กามฉันท์ สมาธิ
เป็นต้นเหล่านี้ ต่างกันแต่อาการ เนื้อหนังเป็นอันเดียว
กัน เป็นชาติกลาง ๆ เมื่อตรองเห็นชัดอย่างนี้
คำที่ว่าสมาธิก็ต้องเข้าใจว่า เป็นชาติยึดถืออยู่
เป็นธรรมดา ยึดถือบุญเป็นบุญ ยึดถือบาปเป็นบาป
ถ้ามีแต่สีลขันธ์เปล่าไม่มีสมาธิ หรือมีแต่สมาธิเปล่า
ไม่มีสีลขันธ์ ก็ไม่เป็นทุกข์ไม่เป็นสมุทัย
จำเพาะสีลขันธ์กับสมาธิคุมกันอยู่ สีลขันธ์จึงเป็นทุกข์
สมาธิจึงเป็นสมุทัย ปัญญาเป็นเครื่องทำสมาธิให้ซีด
ให้จืด คือปัญญาที่เห็นชัดว่า นี่ศีล นี่สมาธิ นี่ความซีด
ความจืดของสมาธิ จึงเป็นมรรคปัญญา ความซีด
ความจืดของสมาธิเป็นนิโรธ ซึ่งว่าศีลสมาธิปัญญา
และมรรคเกาะเกี่ยวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีขันธ์ ๕
เป็นที่ตั้งดังอธิบายมานี้
ส. พอฟังได้ แต่ตรองตามเห็นความได้ด้วยยาก
ถ้าอย่างนั้นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง
อนัตตา จะมิตรงกันกับทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
ด้วยหรือ ?
ป. ถ้าตรองให้ละเอียด เข้าใจว่าลงกันไม่ต่างอะไร
กัน เพราะอนิจจัง หมายเบญจขันธ์
ด้วยเบญจขันธ์ย่อมมีความเกิดขึ้นและความดับไป
เป็นธรรมดาจึงเป็นทุกขสัจ
ส่วนทุกขสัจปรากฏที่เบญจขันธ์ก็เพราะมีอุปาทาน ถ้า
ไม่มีอุปาทาน ทุกขสัจก็ไม่ปรากฏขึ้นได้ เพราะเหตุนั้น
จึงหมายอุปาทานว่า ทุกขัง ทนยาก ตรงกับคำว่าสมุทัย
ส่วนอนัตตา ก็คือปัญญารู้จักชาติทุกข์ คือเบญจขันธ์
และรู้จักชาติสมุทัย คืออุปาทาน
เป็นสภาวธรรมอันหนึ่ง ๆ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่
ใช่ตัว ไม่ใช่ตน เป็นแต่รูปธรรมนามธรรม
อาศัยเหตุและปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเท่านั้น
เมื่อปัญญาแก่กล้า สัมปยุต
ด้วยวิราคะอริยมรรคเกิดขึ้นเมื่อใด
กำลังอำนาจของอุปาทานก็เสื่อมทรุดร่อยหรอลงไปตามลำดับเมื่อ
นั้น ปัญญาซึ่งกำจัดอำนาจของอุปาทาน
ให้เสื่อมทรุดร่อยหรอลงไปนั้นเป็นอนัตตา คือ
มรรคปฏิปทา
ความเสื่อมทรุดร่อยหรอลงไปแห่งอุปาทาน
เป็นตัวนิโรธ ตรงกับคำว่า ยทนิจจัง ตัง ทุกขัง, ยัง
ทุกขัง ตัง อนัตตา ดังนี้
การที่แสดงมานี้ไม่ได้ลงเนื้อเห็นว่า อุปาทาน
เป็นตัวกิเลสลามกธรรมโดยส่วนเดียว
อุปาทานย่อมทั่วกันไปตลอดถึงอเสขบุคคล แต่ครั้น
ถึงภูมิอเสขะแล้วท่านเปลี่ยนชื่อใหม่ว่าความบริสุทธิ์
อริยมรรคเป็นแต่ฟอกโอชะเปรี้ยวขม หรือยางที่มี
อยู่ในอุปาทานให้ซีดให้จืดไปเท่านั้น ไม่ได้ละ
ไม่ถอนอุปาทานออกทิ้งเสียได้
ถ้าอรหัตมรรคเกิดขึ้นเมื่อใด อุปาทานก็จืดสนิทเมื่อ
นั้น ตรงกับคำว่า วิสุทธขันธสันตาโน ขันธะ
คือเบญจขันธ์ก็บริสุทธิ์ สันดาน คืออุปาทานก็บริสุทธิ์
เพราะขันธสันดานจืดไม่มีโอชะหรือยาง คือ กิเลส
ขันธ์ ๕ คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็คงมี
อยู่ อุปาทานก็คงมีอยู่ แต่ไม่มีวิสัยที่จะเกาะเกี่ยว
ให้ก่อภพก่อชาติไปอีก คงเป็นแต่กิริยา หรืออัพยากฤต
เท่านั้น จึงชื่อว่าบริสุทธิ์


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ก.ค. 2014, 14:40 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ส. การที่ท่านแสดงอริยสัจมานี้ คงเป็นอัน ได้แสดงแต่สัมมาทิฏฐิอย่างเดียวเท่านั้น องค์มรรคทั้ง ๘ นอกจากสัมมาทิฏฐิ มีสัมมาสังกัปโป เป็นต้นนั้น เห็นจะ ไม่ต้องรู้ไม่ต้องเข้าใจไม่ต้องบำเพ็ญให้เกิดให้มี ศีลสมาธิจะมีประโยชน์อะไร ไม่ต้องพูดถึงอย่างนั้น หรือ ? ป. อีกละ พูดกันมาสด ๆ ทำลืมเสียแล้ว ในคำที่กล่าวว่าทุกข์หรือศีล หรืออนิจจัง ต้อง เข้าใจว่าสัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว ได้กล่าวเสร็จแล้ว ในคำที่ว่าสมุทัยหรือสมาธิ หรือทุกข์ ต้องเข้าใจว่า สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ได้กล่าวเสร็จแล้ว ในคำที่ว่านิโรธ หรือปัญญาหรืออนัตตา ต้องเข้าใจว่าสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป ได้กล่าวเสร็จแล้ว ส. ได้กล่าวเสร็จแล้วอย่างไร ประเภทศีล สมาธิ ปัญญา ท่านก็จัดไว้เป็นหมวดเป็นกอง พูดสั้น ๆ จะให้ ผู้ฟังเข้าใจอย่างไร ? ป. อ้อ ! ที่แสดงอย่างนี้ เพื่อจะให้เข้าใจ ในคำที่ว่ามัคคสมังคี ซึ่งเป็นส่วนโลกุตรมรรคเท่า นั้น เพราะผู้ตรึกตรองมักมีความสงสัยกันอยู่ โดยมาก ว่าศีลสมาธิปัญญา จะประชุม ในชวนจิตอันเดียวด้วยอาการอย่างไรดังนี้ ถ้าแสดงอย่างนี้คงจะรู้สึกได้ว่าอาจที่จะเป็นได้จริง และจะให้ตรงตามที่มาซึ่งท่านแสดงไว้ ในวิถีอริยมรรคยกปัญญาขึ้นก่อน ต้องเข้าใจว่า แสดงโลกุตรมรรคโดยส่วนเดียว เมื่อโลกุตรมรรคเกิดขึ้นแล้ว สีลขันธ์ก็ เป็นสมุจเฉทวิรัติ สมาธิขันธ์ก็เป็นโลกุตรสมาธิ ปัญญาขันธ์ก็เป็นโลกุตรปัญญา ท่านต้องเข้าใจดังนี้ ส. ถ้าอย่างนั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมก็ไม่ เป็นอย่างเดียวกันได้ ดัง ในอัฏฐังคิกมรรคแสดงปัญญาสัมมาทิฏฐิก่อน ดัง ในโอวาทปาฏิโมกข์แสดงเหฏฐิมศีลก่อน ทำไมจึงมิ ได้เหมือนกัน ? ป. อ้อ ! ที่ไม่เหมือนกันเพราะบุคคล ผู้รับเทศนามีอัธยาศัยไม่เหมือนกัน ถ้าบริษัทพวกไหนมีบุรพภาคปฏิบัติมาแล้ว ดังเบญจวัคคีย์หรืออุรุเวลกัสสปะเป็นต้น พระองค์ก็แสดงทางปัญญาทีเดียว เพราะศีลสมาธิของท่านพวกนั้นเป็นภาคพื้นมาแล้ว ถ้าพวกใดมีอินทรีย์ยังอ่อนดังภัททวัคคีย์ ๓๐ คน หรือยสกุลบุตรเป็นต้น พระองค์ ต้องแสดงอนุปุพพิกถา คือทาน ศีล สวรรค์ โทษของกาม และคุณของบรรพชา หรือพวกที่พ้นเคหสถานมาแล้ว ดังภิกษุบางเหล่า พระองค์ทรงแสดงแต่ ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่ง เป็นบุรพภาคปฏิบัติ ดังที่มาในโอวาทปาฏิโมกข์เป็นต้น เพราะพระองค์เป็นผู้ฉลาดในอุบาย จึงมีวิธีเทศนาให้ ต้องตามอัธยาศัยของบริษัท หยาบบ้าง ละเอียดบ้าง ตามสมควร แต่อย่างไร ธรรมคำสั่งสอนนั้นคง จะรวมลงทางเดียว คือสอนให้ละบาปบำเพ็ญบุญเท่า นั้น เมื่อสัตว์เต็มอยู่ด้วยบุญแล้ว พระองค์ก็ชี้ทางดับทุกข์คือดับสมุทัย เพื่ออาสวักขัยเท่า นั้น พวกเราเหล่าพุทธบริษัทอย่าพึงเห็นตามกิเลสหยาบของตนว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้ทำบุญ สอนแต่ ให้ละอย่างเดียว ดังอนัตตลักขณสูตรเป็นต้น การที่พระพุทธเจ้าสอนให้ละนั้น เห็นมีแต่กิเลสอย่างหยาบ คือ โลภ โกรธ หลง ที่เผล็ดออกมาทางกายทางวาจา แต่ถึงอย่างนั้นก็ ต้องสอนให้ทำกุศล คือบำเพ็ญศีล สมาธิ ให้เกิด ให้มีขึ้น เมื่อศีล สมาธิมีขึ้นแล้ว จะเรียกว่าละก็ตาม ถอนก็ตาม กิเลสหยาบเหล่านั้นก็ตั้งอยู่ไม่ได้เอง ส่วนกิเลสอย่างละเอียดที่เรียกว่าอนุสัย พระองค์ จะได้สอนให้ละให้ปล่อยตรง ๆ อย่างนั้นที่ไหนมี ถึง ในอนัตตลักขณสูตร พระองค์ก็ทรงสอนให้ทำ ความเห็นในเบญจขันธ์ให้ตรง ให้เกิดยถาภูตญาณทัสสนะ คือความรู้ความเห็น เกิดขึ้นตามเป็นจริงอย่างไร เมื่อ ความรู้จริงเห็นจริงตามเป็นจริงอย่างไรเกิดขึ้น แล้ว นิพพิทาความเหนื่อยหน่ายก็มีขึ้นเอง เมื่อนิพพิทา เกิดขึ้นแล้ว วิราคะอริยมรรคก็มีขึ้นเอง เมื่อวิราคะอริยมรรคมีขึ้นแล้ว วิมุตติคืออริยผลก็มีขึ้นเอง เมื่อวิมุตติมีขึ้นแล้ว ปัจจเวกขณญาณ ปัญญาเครื่องวินิจฉัยว่ากิเลสเพียงชั้นนี้ ๆ ไม่มีแก่เรา แล้วดังนี้ก็เกิดขึ้นเอง แสดงแต่ความเป็นเองเท่านั้น เมื่อ เป็นเองบังเกิดขึ้นเช่นนั้นแล้ว จะสมมติว่าเราละกิเลส หรือกิเลสละเรา หรือจิตพ้นจากกิเลส หรือกิเลสพ้นจากจิต ก็ไม่จำ เป็นจะคัดค้านว่า พูดอย่างนี้ถูก พูดอย่างนี้ผิด คำที่ว่าถูก หรือผิดอยู่ที่ความเห็นของบุคคลผู้พูดกันเท่านั้น ส่วนธรรมไม่มีถูกไม่มีผิดเป็นสภาวะอยู่อย่างนั้น ส. ถ้าแสดงแต่ความเป็นเองเช่นนั้น เราไม่ ต้องทำอะไร นอนคอยความเป็นเองอยู่ก็แล้วกัน ? ป. ไม่อย่างนั้น ได้พูดกันแล้วว่า พระพุทธเจ้าพระองค์สอนให้ทำ ความรู้จริงเห็นจริงของเบญจขันธ์ สำเร็จ ด้วยอำนาจ ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งเป็นบุรพภาคปฏิบัติ ต้องทำตามคำสอนเงื่อนนี้ให้เต็มที่ จึงจะได้พบได้เห็น ความเป็นเอง จะนอนคอยอยู่เปล่า ๆ เป็นอันไม่ได้ สกวาทยาจารย์ถามว่า ที่ท่านปรวาทีแสดงมานี้ แสดงตามแบบแผนมีที่มาที่ไป หรือแสดงตามความรู้ ความเห็นของตนเอง ปรวาทยาจารย์ตอบว่า การซึ่งแสดงมานี้ จะแสดงตามแบบแผนมีที่มามีที่ไป หรือแสดงตาม ความรู้ความเห็นของตนเอง ข้อนั้น เป็นหน้าที่ของท่านสกวาทยาจารย์และท่านผู้ฟัง ทั้งหลาย จะวินิจฉัยตัดสินเอาเอง เอาความจริง เป็นประมาณ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ก.ค. 2014, 14:49 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ส. ถ้าอย่าง
นั้นขอฟังอนุปุพพิกถาตามลำดับอีกเงื่อนหนึ่ง เพื่อจะ
ได้ปฏิบัติตามสติกำลังต่อไป
ป. ถ้าอย่างนั้นท่านจงตั้งใจฟังแล้วตรองตาม
ในทานกถา พระองค์ตรัสโดยปริยายมากมิ
ใช่อันเดียว แต่จะย่นลงกล่าวเพียง ๒ อย่าง คือ
ให้เพื่อเฉลี่ยความสุขแก่ผู้รับ สำเร็จ
ด้วยเมตตากรุณาจิต ๑ คือให้เพื่อบูชาในท่าน
ผู้ทรงคุณควรบูชา ๑
ในการให้ทานที่จะมีอานิสงส์มากนั้น ด้วยเหตุ ๓
ประการ วัตถุทานเป็นของบริสุทธิ์ได้มา
โดยยุติธรรม ๑ เจตนาของผู้ให้ไม่ติดด้วยโลภ
โกรธ หลง เป็นเจตนาอันบริสุทธิ์ ๑ ผู้รับทานก็เป็น
ผู้บริสุทธิ์ตั้งอยู่ตามลักษณะของผู้รับทาน ๑ ถ้า
ได้อย่างที่แสดงมานี้เป็นดีที่หนึ่ง แต่ผู้จะให้ทาน
นั้นพึงรู้จักตัวบุญ ถ้าไม่รู้จักตัวบุญก็จะเห็นไปว่า
ให้ทานไม่เห็นได้อะไรมีแต่เสียไปอย่างเดียว
คำที่ว่าเสียไปนั้นได้แก่ไฟไหม้ ปลวกกัด
พลัดตกน้ำหายไป การให้ทานไม่มีเสียมีแต่ได้
คือเราผู้ให้ก็ได้ให้ ท่านผู้รับก็ได้รับ คำที่ว่าเสียไป
นั้นจะมีอยู่ที่ไหน ในการให้ทาน การได้ให้และ
ได้รับมีขึ้นในวัตถุใด วัตถุอันนั้นเป็นตัวบุญ เพราะ
เป็นเครื่องชำระมลทินคือความตระหนี่ มีโลภะ
เป็นมูลให้เบาบางร่อยหรอลงไป จึงเป็นบุญ
ใหญ่บุญโตหนักหนา อาจที่จะแต่งสุขสมบัติ
ให้ไพบูลย์ขึ้นทั้งในชาตินี้ชาติหน้า และ
เป็นทรัพย์ของผู้เห็นภัยในโทษ พึงสงวนสร้างสมทั้ง
ในอดีตอนาคตปัจจุบัน เรียก จาคธนํ ดังนี้
จบทานกถา.
ในสีลกถา พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงแสดง
โดยอเนกปริยาย ย่นลงเป็นสอง คือเป็นคฤหัสถศีล ๑
บรรพชิตศีล ๑
คฤหัสถศีลแปลว่า ศีลของผู้ครองเรือน ได้แก่ศีล
๕ คือเว้นฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ล่วงกามผิด
กล่าวคำเท็จ ดื่มน้ำเมา เรียกว่าปัญจเวรวิรัติ
นี้อย่างหนึ่ง ได้แก่กุศลกรรมบถ ๑๐ คือ เว้น
ความประพฤติชั่ว เกิดทางกาย ๓ คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ๑
ไม่ลักทรัพย์ ๑ ไม่ล่วงกามผิด ๑ เกิดทางวาจา ๔ คือ
ไม่กล่าวคำเท็จ ๑
ไม่กล่าวคำส่อเสียดยุยงติเตียนนินทาท่านผู้อื่น ๑
ไม่กล่าวคำชั่วหยาบด่าทอเสียดสีท่านผู้อื่น ๑
ไม่กล่าวคำที่หาประโยชน์มิได้ ๑ เกิดทางใจ ๓ คือ
ไม่เพ่งกิเลสกาม พัสดุกามของท่านผู้อื่น
ด้วยโลภเจตนาของตน ๑ ไม่มีพยาบาทคิดแช่งสัตว์อื่น
ให้พินาศ ๑ ไม่เป็นมิจฉาทิฏฐิเห็นทางผิดเป็นชอบ ๑
กุศลกรรมบถ ๑๐ นี่อย่างหนึ่ง ได้แก่ศีล ๘
ที่เรียกว่าอุโบสถศีล กาลยุตตพรหมจรรย์
เป็นศีลอย่างสูงของคฤหัสถ์ ผู้เห็นโทษ
ในเมถุนธรรมว่าเป็นเครื่องติดอย่างยิ่ง ถ้าเว้นได้
เป็นเครื่องเบาอย่างยิ่ง จะเว้นตลอดชีวิตไม่ไหว
เพราะตนยังลุอำนาจของอสัทธรรมอยู่ จึง
ต้องงดคิดเว้นชั่วกาลชั่วคราว คือวันพระ ๘ ค่ำ ๑๔
ค่ำ ๑๕ ค่ำ แห่งปักษ์ กำหนดการรักษาเพียงวันหนึ่ง
กับคืนหนึ่งเรียกว่า รักษาอุโบสถ ได้ความว่า
เข้าไปรักษาความสงบกาย วาจา ใจ จากกรรมที่
เป็นบาป หรืออารมณ์ที่ทำจิตให้ฟุ้งซ่าน
คือตั้งเจตนางดเว้นการฆ่าสัตว์ ๑ เว้นการลักทรัพย์
๑ เว้นอสัทธรรมดังพรหมประพฤติ ๑
เว้นการกล่าวคำเท็จ ๑ เว้นการดื่มน้ำเมา ๑
เว้นบริโภคโภชนาหารในวิกาล คือตั้งแต่เที่ยง
แล้วไป ๑ เว้นการฟ้อนรำขับร้องดูการเล่นต่าง ๆ
และประดับร่างกายด้วยดอกไม้ของหอม เครื่องทา
เครื่องย้อม ต่าง ๆ ๑ เว้นการนอนในที่นอนอันสูงอัน
ใหญ่เกินประมาณ ๑ ศีล ๘ อุโบสถนี้อย่างหนึ่ง
เป็นประเภทของคฤหัสถศีล
ส่วนบรรพชิตศีล ศีลนักบวช
ผู้ประพฤติพรตพรหมจรรย์ เว้นอสัทธรรม
เป็นเบื้องหน้า ได้แก่ศีล ๑๐ ที่สามเณร
หรือชีดาบสบางพวกรักษา ๑
ศีลพระปาฏิโมกข์ที่ภิกษุบริษัทรักษา ๑
เป็นประเภทของบรรพชิตศีล
กล่าวโดยสังเขปพอได้ใจความเพียงเท่านี้
ส. การรักษาศีล ๕ กับรักษาศีล ๘
มีคุณอานิสงส์ต่างกันอย่างไร
ป. มีคุณต่างกันมาก เพราะวิรัติต่างกัน ส่วนศีล ๕
เป็นศีลเจือไปด้วยโลกานุวัตรและกามานุวัตร
เป็นศีลแห่งผู้เลื่อมใสในอสัทธรรมโดยแท้ จึง
เป็นศีลมีอานิสงส์ผลน้อย เพราะอสัทธรรม
เป็นเหตุที่ตั้งแห่งโทษทุกข์ภัยอยู่โดยธรรมดา
ส่วนศีล ๘ เป็นศีลมีคุณมาก มีอานิสงส์ผลมาก
เพราะวิรัติประณีต เป็นศีลเจือไป
ด้วยพรหมจริยานุวัตร เป็นศีลของผู้เห็นโทษ
ในอสัทธรรมว่า เป็นที่ตั้งแห่งโทษทุกข์ภัยต่าง ๆ
ถึงละขาดไม่ได้ เว้นได้ชั่ววันพระวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง ก็
ได้รับความเย็นใจชั่วคราวชั่วสมัย และอาจแลเห็น
ผู้ที่ท่านเว้นขาดได้ จะมีความเย็นใจสักเพียงใด
ส่วนที่ว่าโลกานุวัตรนั้น ถึงศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ก็
ยังไม่พ้น แต่ประณีตกว่ากันโดยลำดับ เพราะที่มา
ยังยกปาณาติบาตขึ้นก่อน ศีลปาฏิโมกข์
เป็นพรหมจริยานุวัตรหรือธรรมานุวัตรแท้
เพราะยกเมถุนวิรัตขึ้นก่อน
อาศัยเหตุเหล่านี้พออนุมานพุทธประสงค์ว่า
ผู้บริบูรณ์ด้วยเมถุนวิรัติได้ เป็นถูก
ต้องตามพุทธประสงค์แท้
อีกอย่างหนึ่ง ถ้า
จะว่าตามชั้นสมุจเฉทวิรัติของพระเสขบุคคลตามแบบแผนก็วินิจฉัย
ได้ คือ พระโสดาบันบุคคล ท่านมีกายกรรม ๓
วจีกรรม ๔ สัมมาอาชีโว ๑ เรียกว่า อาชีวัฏฐมกศีล
ศีลมีสัมมาอาชีโวเป็นองค์ที่ ๘ ลงใจความก็คือศีล ๕
นั่นเอง เป็นสมุจเฉทวิรัติ
ส่วนพระอนาคามีพระอรหันต์ท่านมีศีล ๘
คืออุโบสถศีล เป็นสมุจเฉทวิรัติ
เป็นศีลสำหรับชั้นสำหรับภูมิของท่าน จึงวินิจฉัย
ได้ว่าท่านที่ได้สมุจเฉทวิรัติ ๒ จำพวกนั้น ใครจะมี
ความเย็นใจกว่ากันก็เข้าใจได้
ซึ่งวินิจฉัยมาอย่างนี้ อย่าเข้าใจว่า ศีล ๕ ศีล ๘
เป็นศีลของพระอริยบุคคล และอย่าเห็นว่า
เป็นศีลของปุถุชน ถ้าเป็นศีลของพระอริยบุคคล
พวกเราเป็นปุถุชนก็รักษาไม่ได้ ถ้าเป็นศีลของปุถุชน
พระอริยบุคคลก็รักษาไม่ได้ ศีลเป็นกลางแท้
เป็นสภาวธรรมส่วนหนึ่งแท้ เป็นสาธารณธรรม
ทั่วไปแก่สัตวโลก ถ้าใครรักษาจริงในชั้นใดได้
ก็อาจเห็นผลเห็นประโยชน์ด้วยตนในชั้นนั้น ไม่
ต้องถามใคร
จบศีลกถา.


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ก.ค. 2014, 15:00 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ในสัคคกถา พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงแสดง
โดยอเนกปริยายมิใช่อันเดียว จะยกมาแสดงไว้
ในที่นี้แต่พอเป็นสังเขปได้ใจความ
คำที่ว่า สัคโค แปลว่า สวรรค์
แปลสวรรค์อีกทีหนึ่ง ว่าโลกมีอารมณ์อันเลิศ
หรือโลกเลิศด้วยอารมณ์ ได้ความตามที่มาว่า
รุกขเทวดา ภุมเทวดา อากาศเทวดา
จาตุมหาราชิกาเทวดา ถึงชั้นปรนิมมิตวสวัตดี
เหล่านี้ชื่อว่าสวรรค์ ถึงชั้นพรหมก็ชื่อว่าสวรรค์
เพราะมีอารมณ์อันเลิศ ตามที่มาว่าเทวนิกาย
ทั้งหลายเหล่านั้น แต่ละองค์ ๆ ทรงรูปโฉมผึ่งผาย
เพริศเพราพรายแสงแวววับ
ทรงเครื่องประดับสร้อยสังวาล
มีทิพย์พิมานสำราญอาสน์ ทอง เงิน นาก ส่องฉายา
มีนางเทพธิดาพันหมื่นแสน นั่งเฝ้าแหงนคอยบำเรอ
ให้ท้าวเธอเทวราช อยู่บนอาสน์ลุ่มหลงกาม
ประพฤติตามต้องอัธยาศัย ทิพยโภไคยโภชนาหาร
ล้วนตระการโอชารส ไม่ต้องอดไม่ต้องหิว ไม่
ต้องซื้อไม่ต้องหา ไม่ต้องทำนาไม่ต้องทำสวน
ล้วนของทิพย์เกิดด้วยบุญ เพราะต้นทุน คือ ทาน ศีล
ภาวนา ที่ตนทำด้วยศรัทธา เกิดเป็นเทวดาน่าพิศวง
ทั้งอายุเล่าก็ยืนหมื่นพันปี
ของเทวโลกกล่าวแต่พอสังเขป
จะพรรณนาทิพย์สมบัติโสตไม่พอฟัง
น่าเพลิดเพลินจริง ๆ อย่าว่าแต่เทวโลกเลย
แต่สุขสมบัติในมนุษยโลกยังไม่อาจที่จะพรรณนาให้
ทั่วถึงได้ สำเร็จด้วยบุญญาภินิหาร
ดังบรมราชาเสวกามาตย์เศรษฐีคฤหบดี
ในสากลโลกทุกวันนี้ก็ย่อมมีอารมณ์อันเลิศ คือ
รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส
สารพัดล้วนอุดม ตึกร้านบ้านเรือนโรง
ดูระหงดังวิมาน ไฟฟ้าไฟสวรรค์
ใช้ส่องแสงโบกพัดวีไปมา
ตามวิถีรถม้าเทศอัดแอมอเตอร์คาร์เดินด้วยไอ
ได้ดังใจสมประสงค์
กัลยาณอนงค์นวลขึ้นเทียมคู่บนรถา รถเจ๊ก
และรถไอทั้งรถไฟทั่วทิศา ชลมารคล้วนนาวา
ใช้ไฟฟ้าไฟถ่านฟืน กลางวันและกลางคืน
ดูครึกครื้นทั่วนครา แก้วแหวนและเงินตรา
นับไป่ถ้วนควรปรีดิ์เปรม สมบัติ มนุสสา ฉกามาทำไม
กัน
เพลิดเพลินทุกคืนวัน มฤตยุราชที่ไหนมี
ถ้าจะเล็งรูปศัพท์เป็นประมาณ
มนุษย์สมบัติก็ควรกล่าวว่า สัคโคหรือสวรรค์ได้
ไม่ต้องมีความสงสัย ความเป็นจริง
มนุษย์สมบัติดังที่พรรณนามานี้ ก็ย่อมสำเร็จ
ด้วยบุญญานุภาพ คือ ทาน ศีล ภาวนา
ที่ตนสร้างสมมาด้วยอำนาจศรัทธาแต่บุรพชาติ
เป็นเที่ยงแท้
ถ้าผู้ใดต้องการความสุขในมนุษยโลกและเทวโลก
ไม่ควรประมาทในทาน ศีล ภาวนา เมื่อยังไม่
ถึงพระนิพพานจะได้เป็นที่อาศัยเป็นสุขไปทุกชาติ ๆ
จบสัคคกถา.


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ก.ค. 2014, 15:13 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ในกามาทีนวกถา พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง
โดยปริยายมิใช่อันเดียว จะยกมาแสดง
ในที่นี้แต่สังเขปพอได้ใจความ กาม แปลว่า ความใคร่
ความติดใจ ท่านแบ่งเป็นสอง คือกิเลสกามอย่างหนึ่ง
วัตถุกามอย่างหนึ่ง ความกำหนัด รักใคร่ ยินร้าย
ยินดี โลภ โกรธ หลง เป็นต้น
เป็นลักษณะของกิเลส รูป เสียง กลิ่น รส
เครื่องสัมผัส สวิญญาณกทรัพย์ อวิญญาณกทรัพย์
เป็นลักษณะของวัตถุ
ถ้าจะย่นลงคงเป็นหนึ่ง เพราะวัตถุก็
เป็นที่ตั้งของกิเลส ถ้าไม่มีวัตถุเป็นที่ตั้ง กิเลสก็ไม่
สามารถจะเกิดขึ้นได้ ตกลง วัตถุ ๑ กาม ๑ กิเลส ๑
ประชุมกันเข้าเป็นกามกิเลส ย่นกามกิเลสลงเป็น ๑
คงเหลืออยู่แต่กาม ถ้ากล่าวว่ากามคำเดียวเท่านั้น
ผู้ฟังต้องเข้าใจว่า ได้กล่าวพร้อมทั้ง ๓ ประการ
บรรดากามทั้งหลายจะเป็นของมนุษย์หรือ
เป็นของทิพย์ก็ตาม ความเป็นจริง ย่อมมีความยินดีน้อย
ประกอบด้วยโทษทุกข์ภัย ความคับแค้นมาก ลำบาก
ใน ๓ กาล คือกาลแสวงหา ๑ กาลบริหารรักษา
๑ กาลวิโยคพลัดพราก ๑
ความเป็นจริงสัตวโลกที่ได้รับโทษทุกข์ภัย
ความคับแค้นต่าง ๆ ซึ่งเป็นไปอยู่ทุกวันนี้ ย่อมมีกาม
เป็นต้นเหตุ ผู้ที่ติดคุกติดตะรางจองโซ่จำตรวนซึ่ง
เป็นไปอยู่ทุกวันนี้ ก็มีกามนั้นเองเป็นต้นเหตุ
ผู้ที่ป็นคดีร้องฟ้องต้องฎีกาตามโรงศาล
ตามชั้นตามภูมิ เป็นต้นว่าพระราชาต่อพระราชา
ยกพยุหยาตราเข้าประชิดชิงชัยซึ่งกันและกัน
หรือพ่อค้าเศรษฐีกุฎุมพีแพศย์ศูทรเป็นต้น
จะเกิดวิวาทขึ้นเจ้าขึ้นข้าท้าทาย จับท่อนไม้ก้อนดิน
ประหัตประหารซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นอยู่ทุกวันนี้
ก็ย่อมมีกามเป็นต้นเหตุ
ธรรมชาติของกามมีความยินดีน้อย มีโทษทุกข์ภัยมาก
ลำบากแก่ผู้ปกครอง กามทั้งหลายท่านเปรียบ
ไว้ว่าเหมือนหลุมถ่านเพลิง อาจที่จะทำบุคคล
ผู้ตกลงไปให้ถึงความตาย หรือ
ได้รับทุกข์แทบปางตาย, อีกอย่างหนึ่งท่านเปรียบ
ไว้เหมือนก้อนมังสะ ถ้าสัตว์ตัวใดคาบไว้ ย่อมจะได้รับ
สับ ตอด ขบกัดแต่หมู่ของตน, อีกอย่างหนึ่ง ท่านเปรียบ
ไว้ว่าเหมือนคบเพลิง ถ้าผู้ใดถือไว้ไม่วาง เมื่อ
ต้องลมย่อมจะคุร่วงเผาผลาญร่างกายให้ได้
ความลำบาก, อีกอย่างหนึ่ง ท่านเปรียบไว้ว่า
เหมือนผลไม้ เมื่อมีขึ้นในต้นใด ย่อมทำกิ่งก้านสาขา
ให้ยับเยินป่นปี้เกิดแต่ผู้ต้องการผล, อีกอย่างหนึ่ง
ท่านเปรียบไว้ว่า เหมือนคมดาบและคมหลาว ผู้
ใดเผลอไม่ระวังไปกระทบเข้า ย่อมจะได้รับ
ความเจ็บปวดทุกขเวทนา, อีกอย่างหนึ่ง ท่านเปรียบ
ไว้ว่า เหมือนศีรษะงูอสรพิษ ผู้ไม่พินิจไปเหยียบ
เข้าย่อมจะได้รับทุกข์ เกิดแต่พิษถึงแก่ตาย
หรือแทบปางตาย, อีกอย่างหนึ่ง ท่านเปรียบไว้ว่า
เหมือนเขียงสับเนื้อ เขาต้องการสับแต่เนื้อ
โดนเขียงกร่อนลงทุกที, อีกอย่างหนึ่ง กาม
ทั้งหลายท่านเปรียบไว้ดังของยืมท่านมาใช้ เสร็จกิจ
แล้วต้องส่งคืนเจ้าของไป, อีกอย่างหนึ่งท่านเปรียบ
ไว้ว่า เหมือนของฝันเห็น ตื่นแล้วก็สูญไปเท่านั้น
อาศัยส่วนเปรียบของกาม ตามที่ท่านกล่าวไว้นั้น
ได้ใจความว่า มีความสุขความยินดีน้อย ประกอบ
ด้วยโทษทุกข์ภัยความคับแค้นมาก เพราะเหตุนั้น
นักปราชญ์ในโลกก่อนพุทธกาล
หรือครั้งพุทธกาลหรือในทุกวันนี้
ก็มักเห็นโทษของกาม จึงพา
กันออกบรรพชาประพฤติพรต เว้นกามาฆรสถาน
เป็นฤาษีปริพาชกนับไม่ถ้วน หวังเพื่อจะหนีกาม
เป็นต้นเหตุ ถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระองค์ก็เห็นโทษของกาม จึง
ได้ออกภิเนษกรมณ์ทรงผนวช
ครั้นพระองค์ได้ตรัสรู้อมตธรรมของจริงแล้ว
ก็ยกโทษของกามขึ้น แสดงว่าเป็นทางผิด
ดังแสดงกามสุขัลลิกานุโยค
ในเบื้องต้นแห่งธัมมจักกัปปวัตตนสูตรเป็นตัวอย่าง พอ
เป็นทางให้เราทั้งหลายตรองตามว่า กามทั้งหลาย
เป็นของมีโทษจริงด้วย เมื่อเห็นโทษของกามซึ่งเป็น
ส่วนของมนุษย์ ประกอบด้วยโทษอย่างนี้ ๆ แม้
ถึงกามารมณ์ซึ่งเป็นของทิพย์ของสวรรค์
ก็คงมีโทษมากคุณน้อยเหมือนกัน เพราะ
ไม่พ้นลักษณะทั้ง ๓ คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แปรไป
เป็นธรรมดา
ถึงจะเป็นเทวดาอินทร์พรหมก็ยังตกอยู่ในระหว่าง
ไม่เที่ยง สิ่งที่ไม่เที่ยงแล้วจะไปหมายเอา
ความสุขมาแต่ที่ไหน หรือจะเห็นว่าอายุยืน มีความสุข
ในข้อนี้ตรองดูให้ดี อายุยืนอายุสั้นก็เท่ากัน เพราะ
ความสุข ความทุกข์มีจำเพาะปัจจุบันเท่านั้น ถึง
จะมีอายุยืนเท่าไร สุขทุกข์ที่เป็นอดีตแต่เช้าวันนี้
ถอยหลังคืนไปจนถึงวันเกิด จะเอามาเป็นสุขเป็นทุกข์
ในกลางวัน ๆ นี้ก็ไม่ได้ ความสุขความทุกข์ที่เป็น
ส่วนอนาคตยังไม่มาถึง นับแต่เย็นวันนี้ไปจนถึงวันตาย
จะเอามาใช้ เป็นสุขเป็นทุกข์ในกลางวัน ๆ นี้ ก็เป็นอันไม่
ได้ จำเพาะใช้ได้แต่สุขทุกข์ ซึ่งเป็น
ส่วนปัจจุบันอย่างเดียวเท่านั้น ถ้าใช้แต่สุขและทุกข์
ส่วนปัจจุบันเท่านั้น ถึงอายุยืนอายุสั้นก็เท่ากัน มีปัจจุบัน
ด้วยกัน
ถ้าตรึกตรองให้เห็นโทษและคุณปรากฏขึ้น
ด้วยตนเช่นนี้ ก็คงจะมีความเบื่อหน่ายในกามารมณ์
เพราะเห็นความไม่เที่ยงแปรไป เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ทั่วไป คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นกองรูปภายในก็
ไม่เที่ยง รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส
เป็นกองรูปภายนอกคู่กับรูปภายในก็ไม่เที่ยง ใจ
เป็นนามธรรมภายในก็ไม่เที่ยง ธัมมารมณ์
เป็นธรรมภายนอกคู่กับนามธรรมภายในก็ไม่เที่ยง
เมื่อสิ่งทั้งหลายซึ่งเป็นของไม่เที่ยงบีบคั้นอยู่ จะสุข
จะทุกข์อย่างไรก็ดี จะควรเลื่อมใสยินดี
ด้วยเรื่องอะไร รูปนามนั้นเอง เป็นชาติกาม
ก็รูปนามเป็นของไม่เที่ยงอยู่โดยธรรมดา กาม
ทั้งหลายถึงจะเป็นของทิพย์ของสวรรค์ชื่อว่า
เป็นของไม่เที่ยงทั้งสิ้น ใช่จะไม่เที่ยงอย่างเดียวเมื่อไร
ยังมีเพลิงเผาอยู่ด้วย คือ ราคะ โทสะ โมหะ ชาติ
ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส
แต่ละอย่าง ๆ ท่านกล่าวว่า
เป็นเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์บีบคั้นอยู่ทุกเมื่อด้วย คิดดู
ให้ดีน่าสมเพชเวทนานี้หนักหนา
จบกามาทีนวกถา.


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 19 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 16 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร