วันเวลาปัจจุบัน 17 เม.ย. 2024, 02:18  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ก.ค. 2013, 07:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


:b39: ไหว้พระประธาน ๗๗ จังหวัด

รูปภาพ

หลวงพ่อพระชีว์
พระประธานในพระวิหารจตุรมุข
วัดบูรพาราม
(พระอารามหลวง)
ต.ในเมือง อ.เมือง จ.สุรินทร์


:b47: :b45: :b47:

:b44: ประวัติหลวงพ่อพระชีว์

หลวงพ่อพระชีว์ ประดิษฐานเป็นพระประธานในพระวิหารจตุรมุข วัดบูรพาราม (พระอารามหลวง) ถ.กรุงศรีใน ต.ในเมือง อ.เมือง จ.สุรินทร์ มีขนาดหน้าตักกว้าง 2 เมตร 9 เซนติเมตรโดยประมาณ เป็นพระพุทธรูปสมัยโบราณที่ไม่มีท่านผู้ใดสืบประวัติให้เป็นที่แน่ชัดได้ว่า สร้างเมื่อปี พ.ศ. ใดแน่นอน ทั้งนี้เพราะไม่มีการจารึกเป็นลายลักษณ์อักษรให้ปรากฏไว้ในที่ใดเลย เป็นพระปางสดุ้งมาร เนื้อดินเผาอัดแน่น โดยไม่อาจทราบว่าด้านในนั้นเป็นอะไรบ้าง และมีพุทธลักษณะละม้ายไปทางศิลปะแบบขอมในยุคขอมเรืองอำนาจโดยเหตุที่ไม่มีใครทราบประวัติความเป็นมาที่แน่นอนดังกล่าวนั่นเอง จึงมีการสืบสานเล่าต่อกันมา ที่ไม่ค่อยจะตรงกันมากนัก ทั้งนี้ก็แล้วแต่ท่านผู้ใดจะสืบทราบกันมาอย่างไร แต่พอสันนิษฐานได้จากการบอกเล่าที่ไม่ค่อยตรงกันเท่าใดนัก

อนึ่ง ในสมัยนั้นตามอุโบสถของวัดต่างๆ ที่จะมีพระพุทธรูปหรือพระประธาน ที่หล่อด้วยโลหะ มีพุทธลักษณะถูกต้องและสวยงามเหมือนทุกวันนี้ หาได้ยากยิ่งนัก กล่าวได้ว่ายังไม่มีเลยนั่นเอง มีเพียงช่างตามหมู่บ้านที่พอจะแกสลักไม้ หรือปั้นด้วยดินทำเป็นรูปพระ พอเป็นที่กราบไหว้บูชาในที่นั้นเท่านั้นเอง ข้อสังเกตอีกประการหนึ่ง คือ พระวิหารหลวงพ่อพระชีว์ที่สร้างในยุคนั้น ทำไมจึงยกพื้นสูงมาก คือ พูนดินเป็นพื้นสูงกว่าทุกแห่งที่เห็นในปัจจุบัน นับจากพื้นราบขึ้นไปเป็นขั้นบันไดถึง 13 ขั้น คงมีความหมายแสดงความนับถืออย่างสูงสุดนั่นเอง กาลต่อมาท่านเจ้าเมืองพิจารณาเห็นว่า พระประธานยังมีขนาดเล็กอยู่ ไม่เหมาะสมกับพระวิหารซึ่งมีขนาดสูงใหญ่ จึงระดมหาช่างผู้ชำนาญมาขยายให้ใหญ่ขึ้น ด้วยวิธีนำเอาดินเหนียวจากแม่น้ำลำชีมาผสมกับมูลเถ้าซึ่งเผาจากต้นไม้ชนิดหนึ่ง ชาวพื้นเมืองเรียกว่า “ต้นจลีก” แล้วใช้น้ำมันจากต้นยางบดผสมกันอย่างละเอียดอ่อน ปั้นอัดเป็นองค์ขนาดใหญ่ดังปรากฏอยู่ในปัจจุบัน เป็นอันว่าหลวงพ่อพระชีว์ เป็นพระพุทธรูปเนื้อดินปั้นอัดแน่นอย่างดี มีนามว่า “หลวงพ่อพระชีว์” (ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “หลวงตาประจี”) ทั้งนี้เพราะมีสิ่งที่เกี่ยวเนื่องมาจากแม่น้ำลำชีนั่นเอง ถือว่าเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองหรือพระประธานเมืองคู่กับหลักเมือง

ข้อสังเกตและความจริงประวัติศาสตร์ของการสร้างเมืองแต่ละเมืองนั้น คือชัยภูมิสำหรับตั้งเมือง เพราะหลักของเมืองนั้นคือองค์ประธานที่เป็นหลัก ซึ่งจะต้องนำสิ่งที่เป็นวัตถุให้มองเห็นรูปธรรมด้วยความหมายที่เป็นมงคล โดยอาจจะสร้างขึ้นด้วยศิลาหรือไม้ที่เป็นมงคล เช่น ไม้ชัยพฤกษ์ หรือไม้คูณ ไม้สัก ก็แท้แต่เลือก หลักเมืองกรุงรัตนโกสินทร์ ครั้งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 นั้น ตามเอกสารโบราณกล่าวว่าเป็นเสาไม้ชัยพฤกษ์ มีไม้แก่นจันทร์ประกบนอก ความสูง 187 นิ้ว ลงรักปิดทอง ยอดเสาเป็นรูปบัวตูม เท่าที่ยกตัวอย่างมาเพียงเท่านี้ก็เป็นการยืนยันได้แล้วว่า ในการสร้างเมืองทุกเมืองจะต้องตั้งหลักเมืองเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นเพราะเป็นที่รวมของศิริมงคล และมิ่งขวัญของเมืองอันเป็นที่เคารพบูชาของชาวเมืองนั้นๆ ในขณะเดียวกันก็จะต้องมีสิ่งที่เคารพบูชาสูงสุดควบคู่กันไปด้วย สิ่งนั้นคือ พระพุทธรูปหรือองค์พระประธานที่สำคัญ และมีความหมายสำหรับชาวเมืองนั้นๆ ที่เขาเหล่านั้นถวายความยกย่องว่าเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของเขา ซึ่งต้องมีอยู่ด้วยกันทุกเมือง ดังนั้น ในยุคของการสร้างเมืองสุรินทร์ หลวงพ่อพระชีว์ พระพุทธรูปองค์ใหญ่มีพุทธลักษณะแบบภูมิฐาน ทั้งให้เกิดความเคารพและความยำเกรง ด้วยความนับถือในความศักดิ์สิทธิ์ ชาวเมืองแต่โบราณถึงปัจจุบันจึงถวายความเคารพนับถือว่าเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของเขาได้อย่างสนิทใจ

:b44: ความเชื่อถือในความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อพระชีว์

ความจริงและความเป็นไปได้มีอยู่ในโลกนี้อย่างสมบูรณ์แล้วว่า ไม่ว่าสิ่งใด หรือวัตถุใด และบุคคลใด จะเป็นพระพุทธรูป หรือองค์พระประธาน ศาลเจ้าหลักเมือง หรือศาลเทวรูปบูชาใดก็ตาม เมื่อสิ่งเหล่านั้น เป็นที่ยอมรับนับถือ เป็นแดนแห่งความเคารพนับถือ ยำเกรง ทำให้เกิดศรัทธาปสาธะของชนหมู่มากในถิ่นนั้นๆ ได้แล้ว วัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งมหามงคลเหล่านั้นย่อมเกิดความศักดิ์สิทธิ์ และฤทธานุภาพได้อย่างน่ามหัศจรรย์ พร้อมทั้งเป็นเหตุอำนวยประโยชน์สุข ให้เกิดพลังใจ สุขใจ และปลื้มปีติใจ แก่ผู้ที่เข้าไปกราบไหว้ บูชาสักการะ ให้ดำรงตนอยู่ได้ด้วยความหวัง และมีที่พึ่งทางใจ มีพลานุภาพให้เกิดความอบอุ่นทางใจอย่างมั่นคง

หลวงพ่อพระชีว์ ซึ่งเป็นปูชนียวัตถุตั้งแต่ยุคโบราณกาล ที่ชาวเมืองทั้งหลายได้มอบพลังจิตรามไว้ด้วยความนับถือบูชาสักการะตลอดมา ความศักดิ์สิทธ์ ฤทธานุภาพ ย่อมตั้งอยู่ที่องค์ท่านทุกอย่าง แล้วสิ่งนั้นแหละ ที่รวมเป็นพลังพุทธานุภาพ ธรรมานุภาพ สังฆานุภาพ อำนวยประโยชน์สุขให้ตลอดกาล เมื่อความเจริญมีอยู่ไม่ว่าในยุคนั้น ชาวเมืองทั้งหลาย ยังขาดการศึกษา ขาดที่พึ่งอย่างหลากหลายเช่นปัจจุบัน เขาเหล่านั้นในขณะนั้นมองเห็นเพียงองค์หลวงพ่อพระชีว์เท่านั้นเป็นเครื่อง ยึดเหนี่ยวทางใจ เช่น เมื่อมีภัยพิบัติเกิดขึ้นในยุคก่อนๆ มีอหิวาตกโรค หรือโรคฝีดาษระบาด ตลอดถึงข่าวลือว่าภูตผีปีศาจ จะมาเบียดเบียนให้ได้รับความพินาศ ให้ได้รับอันตรายต่างๆ ก็เป็นเหตุให้ชาวเมืองขวัญเสีย เขาเหล่านั้นก็จะมีจุดรวมใจอยู่ที่หลวงพ่อพระชีว์ พากันมากราบกรานบนบานศาลกล่าว ขอพึ่งพระบารมีให้เหตุการณ์เหล่านั้นผ่านพ้นไปด้วยความสวัสดี

สิ่งที่ชาวเมืองทรงจำอยู่และอัศจรรย์อย่างยิ่ง คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคใกล้ปัจจุบันนี่เอง ระหว่างปี พ.ศ. 2484-2488 ในครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังเกิดขึ้น โดยที่จังหวัดสุรินทร์ก็ตั้งอยู่ติดกับประเทศเขมร เมืองสุรินทร์จึงเป็นเป้าหมายในการโจมตีทิ้งระเบิด เครื่องบินในยุคนั้นยังใช้วิธีลอบโจมตีทิ้งระเบิดเวลากลางคืน ทางการได้ออกคำสั่งห้ามชาวเมืองไม่ให้จุดไฟเวลากลางคืน วัดวาหรือบ้านที่มุงสังกะสีสีขาวถูกสั่งให้เอาหญ้าคาหรือทางมะพร้าวปิดหลังคาไว้ให้มิดชิด ไม่ให้เครื่องบินมองเห็นเป็นบ้านเมือง ทุกหมู่บ้านมีการขุดหลุมหลบภัยไว้พร้อม เมื่อได้ยินเสียงไซเรน หรือเสียงกลองสัญญาณหลบภัย พร้อมทั้งได้ยินเสียงเครื่องบิน บินมาทีไร ชาวเมืองก็ตกใจหวาดกลัวขวัญหนีดีฝ่อกันทั่วหน้าไปหมด ชีวิตทุกชีวิต ดวงจิตทุกดวงจึงไปรวมอยู่ที่หลวงพ่อพระชีว์ ตั้งจิตอธิษฐานบนบานศาลกล่าวให้หลวงพ่อช่วยปกปิดบ้านเมือง อย่าให้ศัตรูมองเห็นเป็นบ้านเป็นเมืองเลยลูกหลานจะได้ปลอดภัยทุกครั้ง

ด้วยเดชแห่งบุญและพุทธานุภาพอันเกิดแต่พลังดวงจิตของชาวเมือง ที่อธิษฐานขอพระบารมีหลวงพ่อพระชีว์ให้คุ้มครองรักษา ครั้นศัตรูเหล่านั้นถึงเมืองสุรินทร์ เห็นเป็นทะเลสาป ทะเลทราย และเห็นเป็นป่าดงเสียหมด จึงหย่อนลูกระเบิดไม่เคยตรงเป้าหมายเลย ชาวบ้านชาวเมืองจึงรอดพ้นจากภัยพิบัติตลอดมาอย่างน่าอัศจรรย์

กาลต่อมาอีก เมื่อปี พ.ศ. 2516 เกิดไฟไหม้จังหวัดสุรินทร์ครั้งใหญ่ที่สุด คือ เริ่มไหม้ตั้งแต่เวลาตี 4 รุ่งเช้าอีกเกือบตลอดทั้งวัน เหตุการณ์ครั้งนั้นรายแรงมาก เพราะเกิดไหม้ตรงจุดกลางเมืองที่มีหมู่บ้านร้านค้าแออัดที่สุด แล้วไฟก็ลามไปเป็นวงกลม 10 ทิศ จึงเหลือกำลังของรถดับเพลิง เท่ากับปล่อยให้ไหม้ไปตามธรรมชาติเลยทีเดียว ความโกลาหล อลหม่านวุ่นวายของชาวบ้านร้านตลาด ที่ต่างคนก็ขนย้ายข้าวของหลบหนีไปวางไว้เต็มลานวัดไปหมด ไฟเจ้าพยาบาทก็ไม่ยอมหยุดยั้ง ลามปามจะถึงวัดอยู่แล้วพระเณรตกใจหนัก วิ่งขึ้นกุฏิหลวงปู่ฯ ขออนุญาตขนของหนีไฟ เห็นหลวงปู่นั่งเฉยเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น พร้อมทั้งบอกพระเณรว่าไม่จำเป็น เมื่อพระเณรลงมาแล้วยิ่งตกใจใหญ่เพราะไฟใกล้เข้ามา และไหม้วัดใกล้เคียงคนละข้างรั้วเกือบหมดแล้ว จึงพากันรีบวิ่งขึ้นกุฏิหลวงปู่อีก ท่านก็พูดเหมือนเดิมว่าไม่จำเป็น คำว่าไม่จำเป็นของท่าน คือไม่จำเป็นต้องขนของหนีไปไหน

สักครู่หนึ่งเห็นหลวงปู่เดินลงมาจากกุฏิ เดินตามธรรมดา มองดูเปลวไฟแวบเดียว แล้วเห็นองค์ท่านเดินอ้อมพระวิหารหลวงพ่อพระชีว์ แบบเดินจงกรมสองสามรอบ ก็กลับขึ้นกุฏิไปตามเดิม เดชะบุญที่สักครู่หนึ่งลมก็เปลี่ยนทิศกลับกระพือพัดไปทางทิศที่ไหม้หมดแล้ว จึงเป็นเหตุให้ไฟสงบหยุดอยู่เพียงแค่นั้น บ้านเรือนข้างเคียงและวัดบูรพารามจึงปลอดภัยในกาลครั้งนั้นไปได้อย่างน่าอัศจรรย์ เสียงโจษขานของชาวบ้านชาวเมืองทั้งหลายว่า คงเป็นบารมีของหลวงปู่และอานุภาพแห่งความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อพระชีว์นั่นเอง

:b44: หลวงพ่อพระชีว์มีส่วนช่วยทางราชการศาล

เนื่องจากชาวบ้านได้ถวายความเคารพนับถือยำเกรงดังกล่าว หลวงพ่อพระชีว์จึงเป็นเหมือนหนึ่งผู้พิพากษาในเรื่องคดีแพ่ง ช่วยราชการศาลได้อย่างมากตลอดมา กล่าวคือ กรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง กล่าวว่า ถ้าท่านกล้าสาบานหรือกล้าดื่มน้ำสาบานต่อหน้าหลวงพ่อพระชีว์ ข้าพเจ้าจะยกโทษให้ หรือเลิกดำเนินคดีกับท่าน แล้วปรากฏว่ามีทนายโจทก์ หรือจำเลยพาลูกความ มาดื่นน้ำสาบานเป็นประจำ แล้วก็เลิก หรือจบคดีความกันที่โบสถ์หลวงพ่อพระชีว์ นอกจากนี้บางเรื่องบางคู่กรณีก็ไม่จำเป็นต้องขึ้นโรงขึ้นศาล ตกลงพากันมาดื่มน้ำสาบานกันเอง ก็จบลงแค่นั้นเลิกกินแหนงแคลงใจกันแต่โดยดี

บางครั้งมีท่านหัวหน้าศาลมาสนทนาธรรมกับหลวงปู่ แล้วกล่าวปรารภถึงหลวงพ่อพระชีว์ว่า เท่ากับได้ช่วยเหลือศาลได้มากเหลือเกิน คดีความแพ่งบางอย่างก็มาจบที่หลวงพ่อพระชีว์นี่เอง เนื่องจากชาวบ้านยังถวายความเคารพนับถืออยู่มาก ยิ่งกว่านั้นได้ฟังมาว่าในอดีตเคยเป็นสถานที่ดื่มน้ำสัตยาบันเพื่อปฏิญาณตนปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตต่อหน้าที่ของส่วนราชการ ยิ่งกว่านั้นแม้บุคคลทั่วไปก็นิยมมาปฏิญาณตนเองเพื่อละเลิกอบายมุข มีเลิกเหล้า เลิกยาเสพติด เลิกการพนัน และบางคู่ก็มาสัญญาต่อความรักเพื่อซื่อสัตย์ซึ่งกันและกัน บางคู่ก็แต่งงานกันมาเป็นเวลานานแล้ว ไม่มีบุตรด้วยกันก็มาอธิษฐานขอบุตร ได้รับคามสำเร็จก็มีอยู่ทั่วไป ตลอดถึงนักธุรกิจน้อยใหญ่ แม้นักการเมืองก็นิยมมาอธิษฐานใจขอพลังแห่งความสำเร็จก็มีอยู่เป็นประจำตลอดมา

รวมแล้วคือ หลวงพ่อพระชีว์ ยิ่งแต่จะคงเป็นที่พึ่งทางใจให้แก่ประชาชนชาวเมืองได้ตลอดไป อนึ่ง บางท่านอาจจะเคยนึกสงสัยว่า พระชีว์ ซึ่งเกี่ยวกับลำน้ำชีดังกล่าวแล้วนั้น ทำไมจึงมีตัว “ว การันต์” อยู่ด้วย เรื่องนี้เคยได้ฟัง ท่านเจ้าคุณพระธรรมฐิติญาณ (หลวงปู่โชติ อาภัคโค) ท่านสันนิษฐานให้ฟังว่า ด้วยความเคารพนับถืออย่างสูงสุดของชาวเมืองจึงถวายชื่อว่า “หลวงพ่อชีวิต” หมายถึง ยามมีภัยพิบัติ ไม่ว่าสงครามหรือภัยโรคระบาด ชีวิตเราพ้นภัยมาได้ทุกครั้ง ซึ่งเท่ากับว่าท่านประทานชีวิตให้แก่เรา จึงได้นามว่าหลวงพ่อชีวิตหรือชีวะ เหลือไว้แค่ ว การันต์ ตัวท้ายไว้ก็มีความหมายถึงชีวิตได้เหมือนกัน ด้วยเหตุองค์ท่านเป็นพระคู่บ้านคู่เมือง หรือเป็นพระประธานของบ้านเมืองนั่นเอง ทางบ้านเมืองรวมกับทางวัดจึงได้จัดให้มีงานประจำปี เรียกว่า งานเทศกาลประจำปีปิดทองหลวงพ่อพระชีว์ทุกปีตลอดมา ซึ่งถือเป็นประเพณีมานานแล้วโดยตรงกับงานวันมาฆะบูชาเพ็ญเดือน 3 ของทุกปี

:b44: ประวัติการสร้างพระวิหารหลวงพ่อพระชีว์

ครั้นเมื่อ พระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล) มาปกครองและเริ่มพัฒนาวัดบูรพารามตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2477 นั้น พระวิหารหลวงพ่อประชีว์ซึ่งเป็นไม้ชำรุดทรุดโทรมมาก หลวงปู่ดูลย์ร่วมกับตระกูล ศรีสุรินทร์ ได้สร้างขึ้นใหม่แต่ก็ยังเป็นไม้เหมือนเดิม ต่อมาปี พ.ศ. 2508 หลวงปู่ดูลย์ได้ให้รื้อแบบไม้ออก แล้วสร้างขึ้นด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กทรงแบบจตุรมุขอย่างถาวร เจ้าอาวาสองค์ต่อมาคือ พระรัตนากรวิสุทธิ์ (เสถียร สถิโร) ได้สร้างเพิ่มเติมให้ยอดตรงกลางสูงแบบทรงเจดีย์ มีช่อฟ้าใบระกา ประดับด้วยกระจก และลวดลายทาด้วยทอง แต่ท่านได้มรณภาพก่อนที่การบูรณะจะแล้วเสร็จ ต่อมา พระราชวรคุณ (หลวงปู่สมศักดิ์ ปณฺฑิโต) เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน ได้ดำเนินการปฏิสังขรณ์ต่อจนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2539 จัดให้มีการเจริญพระพุทธมนต์สมโภชน์เป็นการภายในตลอด 7 เดือน 7 วัน คือตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2540 ถึงวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2540

ขณะเดียวกันได้จัดหล่อรูปเหมือนหลวงพ่อพระชีว์ มีขนาดหน้าตักกว้าง 49 นิ้ว เป็นรูปเหมือนองค์จำลอง หล่อด้วยสัมฤทธิ์ สำเร็จเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2540 พร้อมทั้งมีกำหนดงานฉลองสมโภชน์พระวิหาร และพุทธาภิเษกรูปเหมือนองค์จำลองหลวงพ่อชีว์ ซึ่งเป็นงานครั้งยิ่งใหญ่ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2541 โดยได้อาราธนาพระมหาเถระ พระเถระองค์สำคัญจำนวน 108 รูปมาเจริญพระพุทธมนต์ และนั่งปรกพุทธาภิเษกเป็นกรณีพิเศษด้วย สำหรับหลวงพ่อพระชีว์องค์จำลองนี้ ประดิษฐานอยู่หน้าองค์ใหญ่ให้สาธุชนทั่วไปทำบุญปิดทองได้ง่ายและสะดวก ครั้นถึงเทศกาลสงกรานต์ก็อัญเชิญเข้าขบวนแห่ไปรอบเมืองเพื่อให้ประชาชนได้ถวายน้ำสรงโดยทั่วกัน เป็นอันว่าพระวิหารที่ปฏิสังขรณ์ใหม่ประดิษฐานหลวงพ่อพระชีว์อยู่นี้ เป็นปูชนียวัตถุที่สวยงามประดับวัดบูรพาราม พระอารามหลวงแห่งแรกของจังหวัดสุรินทร์ และเป็นสง่าราศรีของบ้านเมืองต่อไปตลอดกาลนาน

หลวงปู่ดุลย์ อตุโล พระมหาเถระสายพระป่ากัมมัฏฐานที่มีชื่อเสียงโด่งดัง และมีวัตรปฏิปทาอันน่าเลื่อมใส ซึ่งทั้งพระภิกษุและฆราวาสต่างยกย่องว่าท่านคือผู้ที่มีความรู้ลึกซึ่งในเรื่องของจิตและการบำเพ็ญภาวนาอย่างแท้จริง จนกระทั่งได้รับสมญาว่าเป็นบิดาแห่งการภาวนาจิต และท่านได้จำพรรษาที่วัดแห่งนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2477 จนกระทั่งมรณภาพในปี พ.ศ. 2526 รวมทั้งสิ้นกว่า 50 ปี

รูปภาพ


:b8: :b8: :b8: ขอขอบพระคุณที่มาของข้อมูลและรูปภาพ
http://www.srndhammayut.com/index.php/2 ... 0-07-55-50
https://plus.google.com/photos/10154226 ... 7946645617

:b50: :b49: :b50: รวมคำสอน “หลวงปู่ดูลย์ อตุโล”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=38522

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ต.ค. 2013, 16:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


จากประวัติและความศักดิ์สิทธิ์อันน่าอัศจรรย์ของหลวงพ่อพระชีว์ วัดบูรพาราม (พระอารามหลวง) จ.สุรินทร์ นับได้ว่าเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองหรือพระประธานเมืองคู่กับหลักเมืองอันศักดิ์สิทธิ์อย่างแท้จริงค่ะ ได้ไปกราบสักการะหลวงพ่อพระชีว์มาแล้วค่ะ เมื่อครั้งไปทำบุญ-ทอดผ้าป่าสามัคคีที่วัดบูรพาราม


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 มิ.ย. 2014, 09:45 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


กราบๆ หลวงพ่อพระชีว์ วัดบูรพาราม จ.สุรินทร์ เมืองหลวงปู่ดูลย์ค่ะ


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 6 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron