วันเวลาปัจจุบัน 23 เม.ย. 2024, 17:20  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 10 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 พ.ค. 2014, 05:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อจากหัวข้อ ภาวิตกาย http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=47804


รอแรงจูงใจ ก็เพลาๆไม่คึกคักเหมือนก่อน ดังนัั้น จึงต้องสร้างแรงจูงใจปลุกใจตนเอง :b32: จึงลง ภาวิตศีล ต่อ


คำแปลของภาวนา และภาวิตว่า “พัฒนา” นั้น จะใช้คำว่า เจริญ หรือ อบรม แทนก็ได้ แต่ในที่นี้ใช้คำว่า พัฒนา เพราะเป็นคำที่ทั้งในภาษาไทยก็ใช้กันคุ้น และเป็นคำที่มาจากภาษาบาลีเช่นเดียว กับ ภาวนา/ภาวิต อีกทั้งเป็นคำที่ในคัมภีร์ใช้เป็นคำแปลของภาวนา และภาวิตนั้นด้วย เช่น “ภาวิตกาโยติ วฑฺฒิตกาโย” นิทฺ.อ.267 “ภาวิตสีโลติ วฑฺฒิตสีลโล”

องฺ.อ.2/253

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แก้ไขล่าสุดโดย กรัชกาย เมื่อ 29 พ.ค. 2014, 07:39, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 พ.ค. 2014, 05:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ภาวิตศีล : มีศีลที่ได้พัฒนาแล้ว


ในด้านความประพฤติทั่วไปที่เรียกว่า "ศีล" มีคำกล่าวแสดงลักษณะของผู้บรรลุนิพพานแล้ว ไม่สู้บ่อยครั้งนักทั้งนี้เพราะตามหลักศีลเป็นสิกขาหรือการศึกษาขั้นต้น พระอริยบุคคล ย่อมเป็นผู้มีศีลสมบูรณ์แล้วตั้งแต่ชั้นโสดาบัน และเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติ ที่ผู้เข้าถึงนิพพานบรรลุก็เป็นภาวะที่ทำให้ความทุศีลหรือความประพฤติเสียหายไม่มีเหลือต่อไป


โดยนัยดังกล่าวมา ข้อที่ควรพิจารณา ณ ที่นี้ จึงเหลือจำกัดเพียงข้อที่ว่า พระอรหันต์ดำเนินชีวิตอย่างไร ทำกิจกรรมหรือประกอบกิจการงานอะไร ในรูปลักษณะอย่างไร


ประการแรก พระอรหันต์เป็นผู้ดับกรรม หรือสิ้นกรรม การกระทำของท่านไม่เป็นกรรมอีกต่อไป ในคัมภีร์ฝ่ายอภิธรรม มีคำเรียกการกระทำของท่านว่า เป็น "กิริยา"


ที่ว่า "ดับกรรม" นั้น หมายถึงไม่กระทำการต่างๆ โดยมีอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ครอบงำ หรือชักจูงใจ แต่ทำด้วยจิตใจที่เป็นอิสระ มีปัญญารู้แจ้งชัดตามเหตุผล เลิกทำการอย่างปุถุชน เปลี่ยนเป็นทำอย่างอริยชน คือ ไม่ทำการด้วยความยึดมั่นในความดีความชั่วที่เกี่ยวกับตัวฉันของฉัน ผลประโยชน์ของฉัน ที่จะให้ฉันได้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่มีความปรารถนาเพื่อตัวตนเคลือบแฝงอยู่ ไม่ว่าในรูปที่หยาบหรือละเอียด แม้แต่ความภูมิพองอยู่ภายในว่านั่นเป็นความดีของฉัน หรือว่าฉันได้ทำความดี เป็นต้น ทำไปตามวัตถุประสงค์ของกิจนั้นๆ ตามเหตุผลของเรื่องนั้นๆ ตามที่มันควรจะเป็นของมันล้วนๆ จึงเป็นการกระทำขั้นที่ลอยพ้นเหนือกรรมดีขึ้นไปอีก ส่วนกรรมชั่วเป็นอันไม่ต้องพูดถึง เพราะหมดโลภะ โทสะ โมหะ ที่จะเป็นเหตุปัจจัยให้ทำความชั่วเสียแล้ว


อย่างไรก็ดี บางคราวมีผู้ตั้งข้อสงสัยว่า ตามปกติ คนเราจะทำอะไรได้ จะต้องมีแรงจูงใจในการกระทำและแกนนำคัญของแรงจูงใจทั้งหลายก็คือ ความปรารถนา ความต้องการ ซึ่งควรจะรวมอยู่ในคำว่า "ตัณหา" เมื่อผู้บรรลุนิพพานละตัณหาเสียแล้ว ก็หมดแรงจูงใจ จะทำการต่างๆ ได้อย่างไร คงจะกลายเป็นคนอยู่นิ่งเฉย ไม่ทำอะไรเลย แม้จะไม่ทำความชั่วก็จริง แต่ก็ไม่ทำความดีอะไรด้วย ก็คงไม่มีประโยชน์อะไร


ในที่นี้ คำตอบขั้นต้นอย่างง่ายๆ มีว่า มิใช่แต่ความอยากความปรารถนาเท่านั้น ที่เป็นแรงจูงใจ แม้ความคำนึงเหตุผลก็เป็นแรงจูงใจได้เช่นกัน ดังจะเห็นได้ในปุถุชน เมื่อจะทำการบางอย่าง บางคราวมีการต่อสู้กันภายในจิตใจระหว่างพลังสองฝ่าย คือ ระหว่างความปรารถนาผลประโยชน์ส่วนตัว กับความรู้เหตุรู้ผลรู้ดีรู้ชั่ว บางคราวเขาก็ทำตามความอยากได้ บางคราวเขาก็ทำตามเหตุผล

(ตัดชื่อคัมภีร์อ้างอิงออกทั้งหมด)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แก้ไขล่าสุดโดย กรัชกาย เมื่อ 28 พ.ค. 2014, 05:35, แก้ไขแล้ว 2 ครั้ง.

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 พ.ค. 2014, 05:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


พิจารณาลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง ชีวิตเป็นอยู่ได้ด้วยอาศัยพลังที่ทำให้มันเป็นชีวิต คือ มีความเคลื่อนไหวขยับขยายตัว ถ้าไม่มีองค์ประกอบอย่างอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง ชีวิตจะเคลื่อนไหวไปตามทางที่ความรู้บอกให้ แต่เพราะขาดความรู้ หรือความรู้ไม่เพียงพอ ตัณหาจะได้โอกาสเข้ามาบิดเบือนหรือบงการความเคลื่อนไหวของชีวิต ไม่เฉพาะบงการให้ทำเท่านั้น บางครั้งเมื่อความรู้บอกให้แล้วว่า ควรกระทำ แต่ตัณหาในรูปของความเกียจคร้าน เป็นต้น เข้าครอบงำเสีย กลับเหนี่ยวรั้งไว้ไม่ให้กระทำก็มี ในภาวะเช่นนี้ จึงกล่าวได้ว่า ตัณหาหรือความอยาก ไม่เป็นแต่เพียงแรงจูงใจให้กระทำเท่านั้น แต่เป็นแรงจูงใจไม่ให้กระทำด้วย แต่ถ้าจะพูดให้ถูกทีเดียว การไม่กระทำในกรณีนี้ ก็เป็นการกระทำอย่างหนึ่งเหมือนกัน คือ กระทำการไม่กระทำ เพราะมีกิจกรรมที่เรียกว่าการไม่กระทำนี้เกิดขึ้นในรูปของการหน่วงรั้งไว้ ดังนั้น หน้าที่ของตัณหาในที่นี้ คือ เป็นแรงจูงใจ ทั้งในการกระทำการกระทำ และในการกระทำการไม่กระทำ



เป็นอันว่า เพราะมีตัณหาคอยขัดขวาง บีบ และบงการ จึงทำให้การเคลื่อนไหวโดยพลังของชีวิต ไม่เป็นอิสระตามทางที่ความรู้บอกให้ เมื่อใด พ้นจากอำนาจครอบงำหรือแรงเร้าแฝงกระซิบของตัณหา เมื่อนั้น ก็จะมีการเคลื่อนไหวที่เป็นอิสระตามทางของปัญญา นี่คือภาวะที่ชีวิตเป็นอยู่และดำเนินไปด้วยปัญญา



อย่างไรก็ดี ถ้ามองลึกลงไปอีก โดยแยกแยะวิเคราะห์ให้ละเอียด จะเห็นซ้อนขึ้นมาอีกว่า เมื่อปัญญารู้เข้าใจมองเห็นว่าควรจะทำหรือไม่ทำอะไรตามเหตุผลที่ควรจะเป็นนั้น พอปัญญาบอกขึ้นมาอย่างนั้น ก็จะมีแรงขึ้นมาอย่างหนึ่งในจิตใจ ที่ช่วยขับดันพาไปสู่การกระทำหรือไม่กระทำนั้น อันเรียกได้ว่าเป็นความอยากอีกแบบหนึ่ง หรือเรียกได้ว่า เป็นแรงจูงใจซึ่งเกิดจากปัญญา ดังจะพูดต่อไป

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 พ.ค. 2014, 08:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ก่อนจะดูต่อไป ควรแยกความคิด ความอยาก ความปรารถนา ที่เป็นตัณหา กับ ฉันทะให้ขาด จึงจะไปต่อได้ นอกจากนี้ ยังจะไปติดไปตันที่การปฏิบัติธรรมอีก แค่อยากเดินจงกรมก็ว่าเป็นความอยาก เป็นตัณหา


ต่อ


ย้ำไว้อีกว่า เมื่อมีการไม่กระทำสิ่งที่ควรทำ เช่น นักเรียนไม่สนใจบทเรียน หรือคนไม่ช่วยเหลือกัน เป็นต้น ไม่พึงคำนึงถึงแต่เพียงการขาดแรงจูงใจที่จะให้กระทำเท่านั้น แต่ควรพิจารณาถึงแรงจูงใจให้ไม่กระทำด้วย คือ พิจารณาถึงตัณหาที่ มาในรูปของความขี้เกียจ ความไม่ชอบใจ ความเพลิดเพลินกับอารมณ์ อื่น เป็นต้น ซึ่งมีกำลังมากกว่า ฉุดดึงไว้ การใช้แรงจูงใจแบบตัณหา จึงมักเป็นการเพิ่มหรือเร่งเร้าพลังแข่งขัน ต้านทานระหว่างแรงจูงใจให้กระทำ กับ แรงจูงใจไม่ให้ทำ ฝ่ายไหนแรงกว่าก็ชนะไป ข้อนี้เป็นลักษณะอย่าง หนึ่งที่แตกต่างจากกรณีมีแรงจูงใจซึ่งเกิดจากปัญญา



คือ เมื่อกี้ได้พูดถึง "แรงจูงใจแบบตัณหา" แล้วก็พูดถึง "แรงจูงใจซึ่งเกิดจากปัญญา" ตามที่พูดนั้น จะเห็นทำนองว่า สองอย่างนั้นเป็นแรงจูงใจที่ตรงข้าม กัน



ถ้าพูดอย่างง่ายๆในที่นี้ เรามีแรงจูงใจ ๒ อย่าง คือ แรงจูงใจแบบตัณหา ซึ่ง เป็นแรงจูงใจที่เกิดจากความรู้สึก ได้แก่ ความอยาก ความ ปรารถนา ความต้องการ ที่เป็นไปตามความรู้สึก เช่น รู้สึกชอบใจ ก็ อยากได้ รู้สึกว่าอร่อย ก็อยากลิ้มรส เป็นความอยากหรือความต้องการโดย ไม่ต้องมีความรู้ว่า ถูกต้องไหม มีคุณหรือมีโทษ เป็นประโยชน์หรือ ไม่ นี้เป็นแรงจูงใจอย่างที่ ๑



ส่วนแรงจูงใจอย่างที่ ๒ ที่ว่าแรงจูงใจซึ่งเกิดจากปัญญา พูด ง่ายๆก็คือ แรงจูงใจที่เกิดจากความรู้ ได้แก่ ความอยาก ความปรารถนา ความต้องการ ที่เป็นไปตามความรู้เข้าใจเหตุผลและความถูกต้องเป็น จริง เช่น เห็นพื้นถนนขยักเขยิน สกปรก รก มีสิ่งกีดขวางเกะกะหรือ จะทำให้ลื่นไถล เรารู้เข้าใจว่า ถนนเป็นทางสัญจร ซึ่งที่ถูกต้องดีตรงตามเหตุผลและความจริงนั้น พึงสะอาดเรียบร้อย ปลอดภัย เมื่อเห็นถนนเสียหายอย่างนั้น ก็อยากทำให้สะอาดเรียบโล่งคล่อง ไร้ของแปลกปลอม ความอยากหรือความต้องการอย่างนี้ เป็นแรงจูงใจอย่าง ที่ ๒ มีชื่อเรียกให้เป็นคู่ตรงข้ามกับอย่างแรกคือแรงจูงใจแบบตัณหา นั้นว่าเป็น "แรงจูงใจแบบฉันทะ"


ฉันทะ คือ ความอยาก ความปรารถนา ความต้องการที่ตรงไปตรงมาตาม สภาวะ คือ อยากให้สิ่งนั้นๆ ดี งาม สมบูรณ์ ตรงหรือเต็มตามสภาวะที่จะพึงเป็นไปของมัน ซึ่งไม่ เกี่ยวกับความชอบใจ หรือไม่ชอบใจ และการที่จะได้จะเอาหรือจะให้สลาย ไป เพื่อสนองความรู้สึกแห่งตัวตนของเรา แต่ความอยาก ความปรารถนา ความต้องการที่เป็นแรงจูงใจแบบฉันทะนั้น พัฒนาขึ้นไปตามพัฒนาการของปัญญา


ทีนี้ ฉันทะ ที่ปรารถนา ที่ต้องการให้สิ่งทั้ง หลาย ดี งาม สมบูรณ์ ตรงหรือเต็มตามสภาวะที่จะพึงเป็นไปของมัน นั้น เมื่อมาเกี่ยวข้องกับคน ก็แสดงออกเป็นความอยากความต้องการให้บุคคล นั้นๆ ดีงาม สมบูรณ์ แข็งแรง สดใส น่าชื่นชม มีความสุข ตลอด จนอยากให้เขาดำรงอยู่ในภาวะแห่งความถูกต้อง สมควร เป็นธรรม ไม่มีความ บกพร่องผิดพลาด


ยิ่งกว่านั้น เนื่องจากท่านให้ความสำคัญแก่ คนเป็นพิเศษ "ฉันทะ" ต่อคน ก็แยกขยายออกไปตาม สถานการณ์ เป็น "เมตตา" ที่ปรารถนาดีอยากให้เขามีความสุขในยาม ปกติ เป็น "กรุณา" ที่ว่าในคราวเขาตกต่ำเดือดร้อน ก็อยากช่วยให้เขา พ้นทุกข์ภัยพ้นปัญหา เป็น "มุทิตา" ที่ปรารถนาดีอยากส่งเสริมให้เขามี ความดีงามมีความสุข ความสำเร็จยิ่งขึ้นไป และเป็น "อุเบกขา" ที่ ปรารถนาให้เขาดำรงอยู่ในความถูกต้อง ในธรรม ในความไม่ผิดพลาดเสียหาย


โดยเฉพาะ สำหรับท่านผู้ถึงนิพพานนั้น มีลักษณะเด่นเห็นชัดในแง่ที่ ว่า เป็นผู้ปลดโปร่ง ไร้ทุกข์ มีความสุข หลุดพ้นเป็นอิสระอย่าง สมบูรณ์แล้ว การเคลื่อนไหวที่เป็นอิสระตามทางของปัญญา หรือภาวะที่มีแรง จูงใจอันเกิดจากปัญญานั้น จึงซับดันให้แรงแห่งฉันทะในข้อกรุณาและออกมา เต็มที่ ดังที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายมีกรุณาเป็นพระคุณข้อ สำคัญ


อธิบายได้ง่ายๆว่า เทียบจากคนที่มีมนุษยธรรม ทั่วๆไป กรุณานี้เกิดขึ้นมาเอง เมื่อเราประสบพบเห็นคนอื่นที่กำลังมี ปัญหา ถูกความทุกข์บีบคั้น ขาดอิสรภาพอยู่ ถ้าในขณะนั้น ตัวเราเอง ปลอดภัยเป็นอิสระ อยู่ในภาวะที่มองสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น และมีจิต ใจเป็นอิสระอยู่ คือ ไม่ถูกอวิชชา ตัณหา อุปาทาน เข้าครอบงำชัก จูง เช่น มิใช่กำลังคำนึงถึงผลได้เพื่อตัว ไม่มีความห่วงกังวลเกี่ยว กับตนเอง ไม่มีตัวตนที่กำลังถูกกระทบกระแทกบีบคั้นอยู่ ไม่เกิดความชอบ ใจจากการได้เห็นคนอื่นประสบทุกข์อันเป็นการสนองความอยากแฝง เร้นภายในของอัตตาที่จะได้ขยายตัวใหญ่โตขึ้นไปบ้าง


พูดง่ายๆว่า ถ้าตัวเองไม่มีปัญหาบีบคั้นทำให้ติดข้องคับแคบ ถ้าเรายังเป็นอิสระอยู่ ในขณะนั้นจิตใจของเราจะเปิดกว้างออก แผ่ไปรับรู้สุขและปัญหาของผู้อื่นที่กำลังประสบอยู่นั้นได้เต็มที่ เราจะเกิดความเข้าใจ รู้สึกเห็นอกเห็นใจ เกิดความคิดที่จะช่วยเหลือปลอดเปลื้องเขาจากปัญหา ทำให้เขาหลุดพ้นเป็นอิสระด้วย


เมื่อเกิดความคิดช่วยเหลือขึ้นมาแล้วเช่นนี้ ถ้าไม่เกิดตัณหาแทรกเข้ามาอีก ในรูปของความห่วงใย ความสุขของตน กลัวสูญประโยชน์ส่วนตัว และความเกียจคร้าน เป็นต้น พลังเคลื่อนไหวของชีวิตก็จะดำเนินไปอย่างอิสระ สุดแต่ปัญญาจะคิดรู้ และบอกทางให้ คือทำให้มีการช่วยเหลือเกื้อกูลเกิดขึ้น


ฉันทะ คือ แรงจูงใจใฝ่ปรารถนาของบุคคลผู้มีจิตใจปลอดโปร่ง เป็นอิสระ ที่มีปัญญา เปิดกว้างออกไปพร้อมที่จะรับรู้เรื่องราวของชีวิตอื่นๆ โดยเคลื่อนไหวตาม รู้ตามเห็นปัญหาข้อติดขัดบีบคั้น คือความทุกข์ของเขาแล้วขยายความคิดเผื่อ แผ่เกื้อกูลต้องการให้เขาหลุดพ้น เป็นอิสระจากปัญหาหรือความทุกข์นั้น พร้อมที่จะทำการเพื่อแก้ไขข้อคับข้อง ติดขัดให้เขา


ความปรารถนาที่แผ่ออกไปหาทางช่วยเหลือเกื้อกุล หนุนปลดเปลื้องทุกข์ให้ ซึ่งเรียกว่ากรุณาอย่างนี้ เป็นพลังขับเคลื่อน สำคัญแห่งชีวิตของท่านผู้ถึงนิพพานแล้ว ซึ่งไม่มีตัวตนใดๆของตัวเองเหลือ ไว้ในความยึดถือที่จะต้องสนองอีกต่อไป

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 พ.ค. 2014, 08:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เท่าที่กล่าวมา เป็นอันสรุปได้ว่า กรุณาเป็นผลสืบเนื่องจากปัญญา และความมีจิตใจเป็นอิสระ ปัญญาในที่นี้ มีคำเรียกจำเพาะว่า วิชชา และความมีจิตใจเป็นอิสระ ก็มีคำเรียกจำเพาะว่า วิมุตติ จัดลำดับเข้าชุดเป็น

วิชชา (ความรู้เท่าทันสภาวะ ซึ่งทำให้อัตตาไม่มีที่ตั้งอาศัย)
วิมุตติ (ความหลุดพ้นปลอดโปร่งโล่งเป็นอิสระ) และ
กรุณา (ความรู้สึกแผ่ออกของจิตใจที่ไวต่อและไหวตามทุกข์ของสัตว์ ต้องการช่วยเหลือปลดเปลื้องให้ผู้อื่นหลุดพ้นเป็นอิสระ)


สามอย่างที่กล่าวมานั้น เป็นคู่ปรับตรงข้ามกับ

อวิชชา ((ความไม่รู้เท่าทันตามสภาวะ ที่ทำให้เกิดมีอัตตาขึ้นมาเป็นที่ข้องขัด)
ตัณหา (ความอยากที่จะให้อัตตาเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสิ่งหรือภาวะอยางใดอย่างหนึ่ง โดยอาการที่จะสนองความขาดพร่องของอัตตา หรือหล่อเลี้ยงเสริมขยายอัตตานั้น) และ
อุปาทาน (ความยึดติดเกาะเกี่ยวเหนี่ยวแน่น กับสิ่งหรือภาวะอยางใดอย่างหนึ่งในเมื่อเห็นไปว่าสิ่งหรือภาวะนั้นมีความหมายสำคัญต่อการสนองอัตตา หรือความยิ่งใหญ่เข้มแข็งมั่นคงของอัตตา)


ผู้บรรลุนิพพาน ละอวิชชา ตัณหา อุปาทานแล้ว จึงมีปัญญาเป็นเครื่องนำทางบอกทาง และมีกรุณาเป็นแรงจูงใจในการกระทำกิจสืบต่อไป


โดยนัยนี้ จะเห็นได้ว่า ถ้าจะต้องใช้ตัณหาเป็นแรงจูงใจในการกระทำทุกอย่างแล้ว การทำความดีต่อกันหรือการช่วยเหลือกัน จะเป็นการช่วยเหลือทีแท้จริง หรือเป็นการช่วยเหลือที่บริสุทธิ์ไม่ได้เลย และในทำนองเดียวกัน ตราบใดที่ยังมีตัณหา หรือใช้ตัณหาเป็นแรงจูงใจในการช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น การช่วยเหลือนั้นย่อมมิใช่เป็นกรุณาที่แท้จริง



ความจริงตัณหา (คลุมถึงอวิชชาและอุปาทานด้วย) ไม่เพียงเป็นแรงจูงใจที่มีอันตรายเท่านั้น แต่ยังทำให้มองข้าม หรือมองไม่เห็นประโยชน์ตน ประโยชน์ท่านอื่นด้วย หรือแม้เห็น ก็เห็นผิดพลาดบิดเบือนไปเสีย ไม่รู้จักว่าอะไรประโยชน์ อะไรไม่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง สิ่งที่เป็นประโยชน์ กลับเห็นไปว่าไม่เป็นประโยชน์ สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ กลับเห็นไปว่าเป็นประโยชน์ โดยปรากฏออกมาในรูปของราคะ โทสะ โมหะ ที่ครอบงำใจเสียบ้าง ในรูปของนิวรณ์ ๕ ที่กำบังขวางกั้นการทำงานของจิตใจเสียบ้าง ต่อเมื่อปราศจากกิเลสเหล่านั้นแล้ว จิตใจจึงจะราบเรียบผ่องใส มองเห็นและรู้จักตัวประโยชน์ที่แท้จริง

เหตุผลขั้นสุดท้าย ที่ทำให้ผู้ถึงนิพพานแล้ว ไม่ต้องคำนึงประโยชน์ของตนเอง หรือห่วงใยเรื่องของตนเอง สามารถทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น หรือบำเพ็ญกิจแห่งกรุณาได้เต็มที่ ก็เพราะเป็นผู้ทำประโยชน์ตนเสร็จแล้ว


พระอรหันต์มีคุณบท (คำแสดงคูณลักษณะ) ว่า อนุปปัตตสทัตถะ แปลว่า ผู้บรรลุประโยชน์ตนแล้ว และ กตกรณียะ แปลว่า ผู้มีกิจที่จะต้องทำ อันได้กระทำแล้ว คือทำเรื่องของตัวเองเสร็จแล้ว เมื่อทำอัตตัตถะ (ประโยชน์ของตน เรื่องของตน) เสร็จแล้ว เป็นผู้มีอัตตหิตสมบัติ (พรั่งพร้อมสมบูรณ์ ด้วยประโยชน์ของตน) มีตนคือคุณสมบัติข้างในตัวที่พร้อมดีแล้ว ก็ไม่ต้องห่วงใยเรื่องของตัว สามารถทำปริตถะ (ประโยชน์ของผู้อื่น เรื่องของผู้อื่น) ได้เต็มที่ จึงดำเนินชีวิตที่เหลืออยู่ด้วยปรหิตปฏิบัติ (การปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น) สืบไป (วินย. 4/32/3.9...)


เมื่อ มีความพร้อมอยู่อย่างนี้ พระอรหันต์จึงสามารถมีคุณลักษณะเป็นสรรพมิตร (เป็นมิตรกับทุกคน) สรรพสขะ (เป็นเพื่อนกับทุกคน) และสัพพภูตานุกัมปกะ (หวังดีต่อสรรพสัตว์) ได้อย่างแท้จริง

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 พ.ค. 2014, 09:15 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อนึ่ง พึงทำความเข้าใจว่า คำว่า อัตถะ อรรถ หรือประโยชน์ ในที่นี้ มิได้หมายถึงผลประโยชน์อย่างที่มักเข้าใจกัน แต่หมายถึง ประโยชน์ที่เป็นแก่นสารของชีวิต หรือเรื่องที่เป็นสาระของชีวิต เป็นประโยชน์ของชีวิตเอง (ไม่ใช่ประโยชน์ที่ตัวตนหรือตัวตนต้องการ แต่ที่แท้บ่อยครั้งเป็นโทษแก่ชีวิต เช่น คนบอกว่า ตนได้กินอร่อย แต่ชีวิตแทบย่อยยับดับไป) โดยเฉพาะคุณสมบัติต่างๆซึ่งทำให้ชีวิตเจริญงอกงาม ทำให้เป็นคนที่เติบโตแล้วในความหมายที่แท้จริง เป็นผู้มีความพร้อมที่จะแก้ไขปัญหา เป็นคนที่พึงตนได้ โดยสาระมุ่งเอาความเติบโตทางปัญญา พร้อมกับคุณธรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และความเป็นอิสระหลุดพ้นจากอำนาจครอบงำของอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ที่กล่าวมาแล้วนั้นเอง


ถึงตอนนี้ อาจพิจารณาภาวะด้านการดำเนินชีวิตของผู้บรรลุนิพพานแล้ว โดยแยกเป็น ๒ อย่าง คือ การทำกิจหรือการงานอย่างหนึ่ง และกิจกรรมเนื่องด้วยชีวิตส่วนตัวอย่างหนึ่ง


ในด้านการงาน หรือการทำกิจนั้น พระอรหันต์ซึ่งเป็นผู้หลุดแล้วจากบ่วง ไม่มีอะไรจะหน่วงรั้งให้พะวง ย่อมอยู่ในฐานะเป็นสาวกชั้นนำ ซึ่งจะทำหน้าที่ของพุทธสาวกได้ดีที่สุด บริบูรณ์ที่สุด



ลักษณะ การทำกิจการงานของพุทธสาวกนั้น ก็มีบ่งชัดอยู่แล้วในคำสอนที่พระพุทธเจ้าตรัสย้ำ เริ่มตั้งแต่ทรงส่งสาวกออกประกาศพระศาสนาในพรรษาแรกแห่งพุทธกิจ คือทำเพื่อประโยชน์สุขของพหูชน (พหุชนหิตาย พหุชนสุ ขาย) เพื่อเกื้อการุณย์แก่ชาวโลก (โลกานุกัมปายะ) เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุข แก่เทวะและมนุษย์ทั้งหลาย (อัตถายะ หิตายะ สุขายะ เทวมนุสสานัง) ความข้อนี้ถือเป็นวัตถุประสงค์สำคัญของพรหมจรรย์ คือพระศาสนานี้ เป็นหลักวัดความประพฤติปฏิบัติของภิกษุสาวก และเป็นคุณประโยชน์ที่พึงเกิดมีจากบุคคลทีถือว่าเลิศหรือประเสริฐตามคำสอนของพระพุทธศาสนา ดังนั้น จึงเป็นข้อคำนึงประจำในการบำเพ็ญกิจและทำการงานของพุทธสาวก


เนื่องด้วยประโยชน์หรืออรรถ มีความหมายดังได้กล่าวแล้วข้างต้น ดังนั้น กิจหรืองานหลักของผู้บรรลุนิพพานแล้ว จึงได้แก่ การแนะนำสั่งสอน การให้ความรู้ การส่งเสริมสติปัญญาและคุณธรรมต่างๆ ตลอดจนการดำเนินชีวิตและประพฤติตัวเป็นแบบอย่าง ในทางที่มีความสุข มีคุณธรรม และเป็นชีวิตที่ดีงาม ซึ่งคนภายหลังจะถือเป็นทิฏฐานุคติ คือเดินตามแบบอย่างที่ได้เห็น โดยเฉพาะการแนะนำสั่งสอนให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้อื่นนั้นแทบจะเรียกได้ ว่าเป็นหน้าที่หรือสิ่งที่พึงต้องทำสำหรับผู้บรรลุนิพพานแล้ว



ใน ด้านการดำเนินชีวิตส่วนตัว ก็มีหลักคล้ายกับการทำกิจการงาน คือมุ่งประโยชน์แก่พหูชน แม้ว่าพระอรหันต์จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำกิจเสร็จแล้ว ข้อปฏิบัติต่างๆ ที่เคยต้องปฏิบัติเพื่อบรรลุนิพพาน เมื่อท่านบรรลุนิพพานแล้ว จะเลิกเสีย ไม่ปฏิบัติต่อไปก็ย่อมได้ แต่ก็ปรากฏว่า เมื่อเป็นการสมเหตุสมผล ท่านก็ปฏิบัติต่อไปอย่างเดิม ทั้งนี้ ในด้านส่วนตัว เพื่อความอยู่สบายในปัจจุบัน ที่เรียกว่าทิฏฐธรรมสุขวิหาร และในด้านที่เกี่ยวกับผู้อื่น เพื่ออนุเคราะห์ชุมชนที่จะเกิดตามมาภายหลัง (ปัจฉิมาชนตานุกัมปา) เพื่อเป็นแบบอย่างอันดีที่ชนภายหลังจะได้ถือปฏิบัติตาม (ทิฏฐานุคติ) เช่น ในกรณีที่พระพุทธเจ้าทรงเสพแสนาสนะในราวป่า และพระมหากัสสปเถระถือธุดงค์ เป็นต้น



แม้แต่บุคคลที่เป็น ผู้ใหญ่ในหมู่ ซึ่งอาจจะยังมิได้บรรลุนิพพาน ก็ยังมีคำย้ำอยู่เสมอ ให้คำนึงถึงการประพฤติตัวเป็นแบบอย่างสำหรับชุมชนรุ่นหลัง ดังนั้น สำหรับพระอรหันต์ ซึ่งเป็นบุคคลตัวอย่างสูงสุดอยู่แล้ว ความคำนึงหรือความรับผิดชอบในเรื่องนี้ จึงควรจะต้องมีเป็นพิเศษ และพึงสังเกตว่า สิกขาบท คือ กฎข้อบังคับทางพระวินัยบางข้อ ซึ่งมิใช่เป็นเรื่องความผิดชั่วร้าย แต่บัญญัติขึ้นเพราะถือเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมโดยคำนึงถึงชุมชนรุ่นหลังก็มี


รวมความว่า การดำเนินชีวิตของพระอรหันต์ ทั้งด้านกิจการงาน และความประพฤติส่วนตัว มุ่งเพื่อประโยชน์สุขของพหูชน และคำนึงถึงความเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับชุมชนรุ่นหลัง ซึ่งเป็นเรื่องของการบำเพ็ญปรัตถะ หรือปรหิตปฏิบัติ สอดคล้องกับคุณธรรม คือความกรุณาที่เป็นแรงจูงใจ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 พ.ค. 2014, 09:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อย่างไรก็ตาม ถ้าจะให้แจกแจงรายละเอียดชัดเจนลงไปว่าพระอรหันต์ได้ทำงานอะไร หรืองานชนิดใดบ้าง ด้วยตัวอย่างจากชีวประวัติของพุทธสาวกครั้งพุทธกาล เพื่อจะใช้เป็นเครื่องศึกษาว่าผู้บรรลุนิพพานแล้วมีขอบเขตกิจกรรมแค่ไหน เพียงใด มีลักษณะการงานที่ทำต่างจากคนสามัญอย่างไร รายละเอียดถึงขั้นนี้ยากที่จะหาได้ครบถ้วน จะต้องเก็บรวบรวมเอาจากเรื่องราวที่กระจายแทรกอยู่กับคำสอนบ้าง บทบัญญัติทาง พระวินัยบ้าง เรื่องเล่าในคัมภีร์ชั้นหลังๆบ้าง ถึงอย่างนี้ก็ไม่บริบูรณ์ เพราะคัมภีร์ทั้งหลายเน้นคำสอนหรือคำอธิบายเนื้อหาธรรมวินัย แม้เรื่องเล่าต่างๆ ก็มุ่งที่เกี่ยวกับธรรมวินัยโดยตรง หรือมุ่งสอนธรรม



แม้ แต่เรื่องเอตทัคคะ ที่พระอรรถกถาจารย์ถือเป็นการแต่งตั้ง หรือสถาปนาฐานันดร ซึ่งมีรายละชื่อพระอรหันต์รวมอยู่มาก ก็เป็นแต่เพียงการประกาศยกย่องความสามารถพิเศษเฉพาะตัวของสาวกบางท่านบ้าง จุดเด่นหรือข้อแตกต่างพิเศษอันเป็นที่เลื่องลือรู้กันทั่วไปเกี่ยวกับพระ สาวกบางท่าน ซึ่งพระพุทธเจ้าเพียงแต่ทรงยกขึ้นมาตรัสในที่ประชุมบ้าง หรือถ้าเป็นการปฏิบัติหน้าที่การงาน ก็มีเฉพาะกรณีที่ทำหน้าที่นั้นได้ดีเด่นยอดเยี่ยม เช่น พระทัพพมัลลบุตร เป็นเอตทัคคะในบรรดาเสนาสนปัญญาปกะ (ผู้จัดเสนาสนะ) เป็นต้น แต่ไม่มีผู้เป็นเอตทัคคะในบรรดาภัตตุเทศก์ (ผู้แจกกิจนิมนต์ฉัน) จีวรภาชกะ (ผู้แจกจีวร) นวกัมมิกะ (ผู้อำนวยการก่อสร้าง) เป็นต้น ซึ่งก็เป็นเจ้าหน้าที่ทีสงฆ์แต่งตั้งตามพระวินัยเช่นเดียวกัน


พระ อรหันต์ที่ได้รับยกย่องมีคุณสมบัติเป็นเอตทัคคะในรายชื่อนั้น อาจมีกิจที่ท่านกระทำเป็นประจำของท่านอีกต่างหาก ซึ่งคุณสมบัติที่ได้รับยกย่อง เป็นเพียงเครื่องเสริมการทำกิจนั้นก็ได้


นอกจากนั้น ยังมีปัญหาเกี่ยวกับความหมายของคำยกย่องเป็นเอตทัคคะนั้นเองบางคำ ซึ่งเข้าใจกันไม่ชัดเจนเพียงพออีกด้วย


ดัง นั้น รายนามเอตทัคคะ จึงยังไม่ตรงเรื่องพอที่จะแสดงประเภทและขอบเขตงานของพระอรหันต์ได้ แต่กระนั้นก็ตาม ในรายนามเอตทัคคะเท่าท่อยู่นั้นเอง ก็จะเห็นได้ว่า คุณสมบัติที่เป็นเอตทัคคะ เป็นเรื่องเกี่ยวกับงานเทศนาสั่งสอนเสียหลายส่วน อาจกล่าวได้ว่า งานเทศนาสั่งสอนแนะนำ ฝึกอบรม เพื่อการศึกษาของผู้อื่น เป็นกิจสำหรับผู้บรรลุนิพพานแล้วทุกท่าน ซึ่งจะพึงทำตามความสามารถ ส่วนกิจการและกิจกรรมอย่างอื่น แตกต่างกันไปตามพื้นเพการศึกษาอบรม และตามธาตุคือความถนัดและอัธยาศัยของแต่ละท่าน

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 พ.ค. 2014, 09:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


สำหรับท่านที่สามารถในการอบรมสั่งสอน และได้รับความเคารพนับถือ มีผู้ศรัทธาเลื่อมใสมาก เป็นอุปัชฌาย์อาจารย์ มีศิษย์มาก นอกจากมีงานเทศนาสั่งสอนทั่วไปแล้ว ยังมีภาระต้องให้หมู่ศิษย์จำนวนมากศึกษาอีกด้วย ดังจะเห็นได้ว่า พระมหาสาวกหลายท่าน เวลาเดินทางคราวหนึ่งๆ มีภิกษุสงฆ์ติดตามเป็นหมู่ใหญ่



การให้การศึกษาแก่ศิษย์เช่นนี้ รวมไปถึงการให้ศึกษาแก่สามเณรด้วย ดังเช่นพระสารีบุตร ซึ่งมีเรื่องราวหลายแห่งแสดงให้เห็นว่า ท่านคงจะมีความสามารถมากในการอบรมเด็ก และคงมีสามเณรอยู่ในความดูแลมิใช่น้อย เมื่อพระราหุลจะบวชเป็นสามเณร พระพุทธเจ้าก็ทรงมอบให้พระสารีบุตรเป็นอุปัชฌาย์ สามเณรเล็กอายุน้อยๆ ที่เป็นศิษย์พระสารีบุตร มีชื่อเสียงเก่งกล้าสามารถหลายรูป


พระ สารีบุตรเคยเดินบิณฑบาตไปพบเด็กกำพร้าอดโซเที่ยวเร่ร่อนหาเศษอาหารเก็บกิน อย่างอนาถา ก็สงสาร ชวนมาบวชเณร และให้ศึกษาธรรมวินัย เป็นตัวอย่างของการให้ทั้งการศึกษา และการสงเคราะห์แก่เด็กๆ

แม้พระพุทธเจ้าเอง ก็ตรัสเตือนให้ใส่ใจความเป็นอยู่ของเด็กๆ ที่มาบวช ไม่ให้ทอดทิ้ง

ในเมื่อมีผู้มาอยู่ในความดูแลให้ศึกษาเป็นหมู่ใหญ่ ก็ย่อมเกิดมีกิจอีกอย่างหนึ่ง คือ การปกครอง งานบริหารหรือ งานปกครองนี้ ท่านถือเป็นกิจสำคัญอย่างหนึ่ง เรียกอย่างสามัญก็คือ ท่านสอนให้มีความรู้สึกรับผิดชอบในงานปกครอง

(ดู ม.ม.13/189/197)


อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่า การปกครองสงฆ์นี้ เป็นงานที่สืบเนื่องมาจากการศึกษา ดังนั้น การปกครองสงฆ์ จึงมีความหมายเป็นการให้ศึกษานั่นเอง แต่เป็นการให้ศึกษาในขอบเขตที่กว้างขวาง เพื่อฝึกคนพร้อมกันจำนวนมาก และเพื่อทำสมาชิกทั้งหลายของหมู่ให้มีชีวิตเกื้อกูลแก่กัน ในการดำเนินก้าวหน้าไปสู่จุดหมายที่ดีงาม

นอกจากความรับผิดชอบในงานเทศนาสั่งสอน การให้ศึกษา และการปกครองแล้ว หลักฐานและเรื่องราวต่างๆ เท่าที่ปรากฏในคัมภีร์ แสดงให้เห็นว่า พระอรหันต์ได้ประพฤติเป็นตัวอย่างในการแสดงความเอาใจใส่รับผิดชอบต่อกิจการ ของส่วนรวม และความเคารพสงฆ์ ซึ่งเป็นความสำนึกที่สำคัญในฐานะที่ระบบชุมชนของพระพุทธศาสนาถือสงฆ์คือส่วน รวมเป็นใหญ่ และพระพุทธเจ้าก็ทรงย้ำอยู่เสมอเกี่ยวกับความพร้อมเพรียงของหมู่ ทั้งโดยคำสอนทางธรรม เช่น หลักอปริหานิยธรรม การถือธรรมเป็นใหญ่ และบทบัญญัติทางพระวินัย โดยเฉพาะเกี่ยวกับสังฆกรรมต่างๆ



เรื่อง ราวที่แสดงว่าพระอรหันต์เอาใจใส่ และพึงเอาใจใส่รับผิดชอบต่อกิจการของส่วนรวม และเคารพสงฆ์นั้น มีมากมาย เช่น เมื่อพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้สงฆ์ทำอุโบสถสวดปาติโมกข์สอบทานความบริสุทธิ์ ของภิกษุสงฆ์ทุกกึ่งเดือน พระมหากัปปินเถระได้เกิดความคิดขึ้นว่า ท่านควรจะไปทำอุโบสถสังฆกรรมหรือไม่ เพราะท่านเองเป็นพระอรหันต์ มีความบริสุทธิ์อย่างยอดยิ่งอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าทรงทราบความคิดของท่าน และได้เสด็จมาตรัสเตือนว่า "ถ้าท่านผู้เป็นพราหมณ์ (พระอรหันต์) ไม่เคารพอุโบสถแล้ว ใครเล่าจักเคารพอุโบสถ จงไปทำอุโบสถสังฆกรรมเถิด"

(วินย.4/153/208)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 พ.ค. 2014, 09:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


พระทัพพมัลลบุตร สำเร็จพระอรหัตผลตั้งแต่อายุยังน้อย ท่านจึงมาคิดว่า "เรานี้เกิดมาอายุ ๗ ปี ก็ได้สำเร็จอรหัตผลแล้ว สิ่งใดๆ ที่สาวกจะพึงบรรลุถึง เราก็ได้บรรลุหมดสิ้นแล้ว กรณียะที่เราจะต้องทำยิ่งไปกว่านี้ ก็ไม่มี หรือกรณียะที่เราทำเสร็จแล้ว ก็ไม่ต้องกลับมาสั่งสมอีก เราควรจะช่วยขวนขวายงานอะไรของสงฆ์ดีหนอ" ต่อมาท่านเกิดความคิดว่า "เราควรจัดแจงบเสนาสนะของสงฆ์ และจัดแจงอาหารแก่สงฆ์" ครั้นแล้วท่านจึงไปกราบทูลความสมัครใจของท่านแก่พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ทรงประทานสาธุการ แล้วให้สงฆ์ประชุมพิจารณาตกลงกัน (สมมติ) แต่งตั้งท่านเป็นพระเสนาสนปัญญาปกะ (พระผู้จัดแจงที่พักอาศัย) และพระภัตตุเทศก์ (พระผู้จักแจกอาหาร)"

(วินย. 6/589-593/304-7)


เมื่อมีเรื่องราวที่อาจกระทบกระเทือนต่อความสงบเรียบร้อยของการพระศาสนา พระอรหันตเถระจะขวนขวายดำเนินการอย่างเอาจริงเอาจัง เพื่อระงับเรื่องราวหรือจัดกิจการให้เสร็จเรียบร้อย ทั้งที่ตามปกติท่านเหล่านั้นชอบอยู่สงบในที่วิเวก ดังเช่น พระมหากัสสปเถระริเริ่มดำเนินการสังคายนาครั้งที่ ๑ พระยสกากัณฑบุตร พระสัมภูตสารวาวี และพระเรวัต ริเริ่มการสังคายนาครั้งที่ ๒ เป็นต้น

ในการสังคายนาครั้งที่ ๑ ภายหลังจบการประชุมเสร็จสังฆกรรมในการสังคายนาแล้ว พระเถระที่มาร่วมสังคายนาได้กล่าวว่าตำหนิพระอานนท์ เกี่ยวกับความบกพร่องบางอย่างของท่านปฏิบัติหน้าที่โดยไม่บกพร่อง แต่ท่านก็ยอมรับคำตำหนิของเหล่าพระเถระ โดยได้ชี้แจงเหตุผลเหล่านั้นแก่สงฆ์อย่างชัดเจนเสียก่อน


เมื่อพระสงฆ์ประชุมพิจารณาระงังอธิกรณ์ในคราวสังคายนาครั้งที่ ๒ พระอรหันต์ ๒ รูป มาไม่ทันประชุม พระเถระที่ประชุมก็ลงโทษ ทำทัณฑกรรมแก่ทั้งสองท่าน โดยมอบภารกิจบางอย่างให้ทำ


เมื่อครั้งพระเจ้ามิลินท์ กษัตริย์เชื้อสายกรีกในอินเดียภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ผู้ทรงปรีชาในหลักศาสนา และปรัชญา ทรงท้าโต้วาทะกับลัทธิศาสนาต่างๆ ทำให้วงการพระศาสนาสั่นสะเทือนมาก พระอรหันต์เถระประชุมกันพิจารณาหาทางแก้ไขสถานการณ์ มีพระอรหันต์องค์หนึ่งชื่อโรหณะ ไปเข้านิโรธสมาบัติเสียที่ภูเขาหิมาลัย ยังไม่ทันทราบเรื่อง จึงไม่ได้ไปร่วมประชุม ที่ประชุมก็ส่งทูตไปนิมนต์ท่านมา และลงโทษทำทัณฑกรรมแก่ท่าน โดยให้ท่านรับมอบภาระในการเอาตัวเด็กชายนาคเสนมาบวช


ในคัมภีร์ สมัยหลังต่อมาอีก ก็มีเรื่องเล่าคล้ายกัน เช่น เมื่อคราวที่คณะสงฆ์กำลังช่วยอุดหนุนพระเจ้าอโศกมหาราชในการทำนุบำรุงพระ ศาสนา พระอรหันต์ชื่ออุปคุตต์ ปลีกตัวไปทำที่สงัดเสวยสุขจากฌานสมาบัติเสีย ไม่ทราบเรื่อง ที่ประชุมสงฆ์ก็ส่งพระภิกษุไปตามท่านมา แล้วทำทัณฑกรรมลงโทษท่าน ในข้อที่ท่านไปหาวามสบายผู้เดียว ไม่อยู่ในสามัคคีสงฆ์ และไม่เคารพสงฆ์ โดยให้รับภาระดู๔แลคุ้มกันงานสมโภชมหาสถูปของพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งพระอุปคุตต์ก็รับภาระนั้นด้วยความเคารพต่อสงฆ์


เรื่องราว เหล่านี้ โดยเฉพาะเรื่องหลังๆ จะมีรายละเอียดถ่องแท้แค่ไหนก็ตาม แต่ก็เป็นเครื่องแสดงอย่างชัดเจนว่า คติทีถือว่าพระอรหันต์เป็นตัวอย่างความพระพฤติเกี่ยวกับการเคารพสงฆ์ และเอาใจใส่ต่อกิจการของส่วนรวม เป็นประเพณีปฏิบัติที่สืบเนื่องกันมาในพระพุทธศาสนา


เหตุผลที่ เป็นข้อปรารภ (จะเรียกว่าเป็นแรงจูงใจก็ได้) สำหรับการะทำเหล่านี้ ก็อย่างเดียวกับที่กล่าวมาแล้วแต่ต้น คือ เพื่อให้การครองชีวิตประเสริฐ (พรหมจรรย์คือพระศาสนา) นี้ ยั่งยืน ดำรงอยู่ชั่วกาลนาน เพื่อประโยชน์สุขแก่เทวะและมนุษย์ทั้งหลาย

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 พ.ค. 2014, 09:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


จบ "ภาวิตศีล" กลางคืนระยะนี้ ถ.โล่งจังไฟเขียวตลอด :b32:

ยังเหลือภาวิตจิต กับ ภาวิตปัญญา

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 10 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 61 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร