วันเวลาปัจจุบัน 20 เม.ย. 2024, 06:50  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 11 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 พ.ค. 2014, 22:03 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อจากหัวข้อนี้ http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=47750

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 พ.ค. 2014, 22:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เครื่องช่วยในการปฏิบัติธรรม


ตอนนี้เราจะเข้าสู่มรรคแล้ว แต่ท่านว่าก่อนที่มรรคจะเกิดขึ้น หรือจะเข้าถึงทางนั้น จะมีบุพนิมิต บุพนิมิต แปลคล้ายๆคำว่า ลาง แต่คำว่า ลาง ก็ไม่เหมาะ เป็นความเชื่อถือโชคลาง ก็ไม่ค่อยดี เอาเป็นว่า หมายถึงสิ่งที่ส่อแสดง หรือเครื่องหมายนำหน้า คือ เครื่องหมายที่แสดงก่อนหน้าที่เหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งจะเกิดขึ้น กล่าวคือ เมื่ออะไรบางอย่างจะเกิดขึ้น จะมีบุพนิมิต หรือเครื่องหมายที่ส่อแสดงก่อน


พระพุทธเจ้าตรัสว่า เปรียบเหมือนว่า เมื่อพระอาทิตย์จะขึ้นมาจะมีแสงอรุณขึ้นมาก่อน เป็นบุพนิมิต ฉันใด ก่อนที่เราจะเข้าสู่มรรคก็จะมีบุพนิมิตของมรรคขึ้นมาก่อน ฉันนั้น


บุพนิมิต ที่ท่านกล่าวไว้นี้มีถึง ๗ ประการด้วยกัน ซึ่งเป็นเรื่องของการศึกษาทั้งหมด


ดังที่ได้บอกแล้วว่า การปฏิบัตินั้นคือการศึกษา ปริยัติ และปฏิบัติรวมกันคือการศึกษา มรรคของเรานั้น รวมลงในอะไร มรรคมีองค์ ๘ ตั้งแต่สัมมาทิฏฐิ จนถึงสัมมาสมาธิ จัดรวมเข้าเหลือ ๓ หมวด คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เรียกว่า อะไร เรียกชื่อว่า ไตรสิกขา


ตกลงว่า มรรค กับ สิกขา มาชนกันแล้ว มรรคนั้นแยกออกไป พอสรุปอีกก็คือกลาย เป็น สิกขา


สิกขา ก็คือ การทำตัวให้เดินตามมรรค หมายความว่า มรรคเป็นตัวทางเดิน มันยังอยู่นิ่งๆ พอสิกขาขึ้นมา ก็คือเราทำตัวให้เดินไปตามมรรค เมื่อเราทำตัวให้เดินไป ทางที่เดินไปนั่นก็เป็นมรรค เพราะฉะนั้น มรรคก็คือสิกขา สิกขาก็คือมรรค แต่ไม่ใช่อันเดียวกันนะ ต้องแยกให้ถูก


สิกขานั้น คือการที่เราทำตัวให้เดินไปตามมรรค ส่วนมรรคก็คือการที่เราจะเดินด้วยสิกขา


ตกลงว่า มรรมคือการดำเนินชีวิตนี้เป็นเรื่องของการศึกษาทั้งหมด เพราะฉะนั้น สิ่งที่เป็นบุพนิมิตของมรรค ก็เป็นบุพนิมิตของการศึกษาด้วย


ในวงการศึกษานั้น ถ้าถือตามหลักพระพุทธศาสนาจะมองเห็นตรงนี้เป็นจุดสำคัญ เราะจะเห็นว่า พระพุทธศาสนาแสดงหลักการอะไรบ้าง ประการที่หนึ่ง ต้องมีตถาคตโพธิสัทธา เชื่อในปัญญาตรัสรู้ของมนุษย์ ที่ว่ามนุษย์สามารถพัฒนาตนเป็นพุทธะได้ เชื่อในศักยภาพของมนุษย์ก่อน ในการศึกษาก็เหมือนกัน ต้องมีความเชื่อนี้ แล้วก็ต้องมีบุพนิมิต ๗ ประการเหมือนกัน ถ้าจะดูว่าตรงกันไหมอย่างน้อยต้องดูว่าพระพุทธศาสนาเสนออะไร ที่จะมานำมรรค และการศึกษา โดยดูที่บุพนิมิต ๗ ประการนี้


บุพนิมิตนั้น ไม่ใช่เฉพาะว่าเป็นลางหรือเป็นเครื่องหมายที่ส่อแสดงว่า เราจะเข้าถึงมรรคเท่านั้น แต่เป็นปัจจัยสำคัญซึ่งท่านบอกว่า จะทำให้มรรคที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น มรรคที่เกิดขึ้นแล้วก็จะเจริญเต็มบริบูรณ์ด้วย หมายความว่า มันเป็นเครื่องช่วยให้ระหว่างเดินทางด้วย กล่าวคือ ตอนแรกมันเป็นเครื่องช่วยนำเข้าสู่มรรค แล้วต่อไประหว่างเดินทาง มันก็เป็นเครื่องช่วยให้เราเดินทางได้ผลดีจนกระทั่งบรรลุจุดมุ่งหมายด้วย เพราะฉะนั้น จึงเป็นทั้งตัวนำ และตัวช่วย

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 พ.ค. 2014, 22:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ตัวนำและตัวช่วยที่เรียกว่า บุพนิมิตของมรรคาหรือบุพภาคของการศึกษา ๗ ประการ คืออะไรบ้าง


๑. กัลยาณมิตตตา ความมีกัลยาณมิตร ข้อนี้ พูดกันบ่อยๆอยู่แล้ว ท่านเอามายกเป็นข้อที่หนึ่งเลย


ความมีกัลยาณมิตร ถ้าพูดอย่างภาษาง่ายๆ ก็คือมีสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ดี ซึ่งถ้าจำกัดแคบเข้ามาก็เป็นตัวบุคคล เช่น พ่อแม่ ครูอาจารย์ โดยเฉพาะครูอาจารย์ ซึ่งทำหน้าที่สำคัญที่สุดของกัลยาณมิตร คือการช่วยแนะนำชี้แจงชักนำเด็กเข้าสู่ทางที่ถูกต้อง ชักนำเข้าสู่การศึกษา ครูมีหน้าที่ในแง่นี้ จึงเป็นบุพนิมิตของการศึกษา


เพราะฉะนั้น พูดในความหมายหนึ่ง ครูทำหน้าที่เป็นบุพนิมิตของการศึกษา ไม่ใช่เป็นตัวการศึกษา ครูไม่สามารถให้การศึกษาแก่เด็กได้ แต่ครูเป็นผู้สามารถชักนำเด็กเข้าสู่กระบวนการของการศึกษา เพราะทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตร ตลอดไปจนกระทั่งถึงสื่อมวลชนที่ดี


สื่อมวลชนปัจจุบันทำหน้าที่สำคัญในทางการศึกษามาก รวมทั้งทำลายการศึกษาด้วย ถ้าเป็นสื่อมวลชนที่ไม่ดีก็ทำลายการศึกษา ถ้าเป็นสื่อมวลชนที่ดีให้การศึกษา ปัจจุบันนี้ดูเหมือนว่าสื่อมวลจะทำบทบาททางการศึกษามากยิ่งกว่าครูอาจารย์ในโรงเรียนด้วยซ้ำไป อันนี้ เป็นเรื่องสำคัญประการแรก คือ จะต้องมีกัลยาณมิตร


อย่าง่ไรก็ตาม การมีกัลยาณมิตรนั้น ไม่ใช่ว่าคนอื่นจะมาเป็นกัลยาณมิตรให้อย่างเดียว ตัวเองก็ต้องรู้จักเลือกคบหากัลยาณมิตรด้วย


จริงอยู่ เป็นหน้าที่ของสังคม โดยเฉพาะหัวหน้าที่รับผิดชอบ เช่น พ่อแม่ ครูอาจารย์ ผู้ปกครองจะต้องทำตัวเป็นกัลยาณมิตร สรรหา และสรรค์สร้างกัลยาณมิตรให้แก่คนในความรับผิดชอบของตน เช่น สรรหาและสรรค์สร้างรายการทางสื่อมวลชนทีดีๆ เป็นต้น แก่เด็กและประชาชน แต่ตัวเด็ก และตัวคนนั้นๆ เองก็ต้องรู้จักเลือกคบหากัลยาณมิตรเองด้วย เช่น รู้จักเลือกคบคนที่จะนิยมเป็นแบบอย่างในความประพฤติหรือในการครองชีวิต เป็นต้น


การศึกษาจะเริ่มต้นจริงเมื่อคนนั้นเองเริ่มรู้จักหากัลยาณมิตร พูดง่ายๆว่า ถ้าเด็กเริ่มรู้จักเลือกดูรายการโทรทัศน์ รู้จักเลือกอ่านหนังสือที่มีประโยชน์ รู้จักคบหาหรือเลือกปรึกษาคน นั่นคือการศึกษาเริ่มต้นแล้ว ช่องทางแห่งชีวิตที่ดีงามหรือมรรคได้เปิดขึ้นแล้ว


ถ้าเป็นผู้ปฏิบัติธรรมลงลึกในด้านจิตตภาวนา เช่น จะไปทำกรรมฐาน ถ้าได้อาจารย์ที่เป็นกัลยาณมิตร หรือรู้จักเลือกกัลยาณมิตร รู้จักสอบถามปรึกษา แม้แต่รู้จักเลือกอ่าน ค้นคว้าหนังสือคู่มือคำอธิบาย ก็เป็นเครื่องหมายส่อแสดงถึงความหวัง ในการที่จะก้าวหน้าต่อไปสู่ความสำเร็จในการปฏิบัติธรรมนั้น

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 พ.ค. 2014, 22:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


๒. สีลสัมปทา การทำศีลให้ถึงพร้อม ศีลคืออะไร ศีลคือความเป็นระเบียบเรียบร้อยราบรื่นในการดำเนินชีวิต และการอยู่ร่วมในสังคม เริ่มต้นแต่ความมีวินัย และข้อปฏิบัติในการอยู่ร่วมกันด้วยดีในสังคม ความสัมพันธ์ในสังคมที่ดี


เมื่อกี้ในข้อ ๑ เรามีสิ่งแวดล้อมที่ดีในสังคม เป็นเรื่องที่ว่าเราได้จากสังคมมาให้กับตัว แต่มาถึงข้อที่ ๒ นี้ เรามีส่วนร่วมที่จะต้องให้แก่สังคมบ้าง และเป็นการเริ่มฝึกตนเองแล้วด้วย คือ ฝึกตนเองให้มีวินัยที่จะไม่ให้ตัวเองไปเป็นเครื่องก่อกวนให้เสียความเรียบร้อยของสังคม แต่ให้เป็นส่วนร่วมที่ช่วยสร้างความเรียบร้อยราบรื่น

สีลสัมปทามีความหมายว่าทำศีลให้สมบูรณ์ ทำศีลให้เต็มขึ้นมา การทำให้มีศีลขึ้นมานี้ก็หมายถึงว่า ต้องสร้างสรรค์ความมีศีล สัมปทาในที่นี้คือการสร้างสรรค์หรือทำให้สมบูรณ์ ทำให้มีขึ้นมาเต็มที่ สีลสัมปทา คือ สร้างสรรค์ความสัมพันธ์ที่ดีในสังคม

ตัวเองจะต้องมีความสัมพันธ์กับผู้อื่นดีด้วยต้องเกื้อกูลแก่สังคมด้วย ไม่ใช่เป็นฝ่ายรับจากกัลยาณมิตรอย่างเดียว ตัวเองจะต้องแสดงออกต่อผู้อื่นในทางที่ไม่เบียดเบียน ไม่ทำความเดือดร้อนแก่สังคม จะต้องมีความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลต่อสังคม ต่อเพื่อนมนุษย์ แล้วก็จัดระเบียบการดำเนินชีวิตของตนให้ดี

ทำไมจะต้องมีศีล ถ้าอุปมาจะเข้าใจง่าย ในบ้านหรือที่ทำงาน หรือในห้องที่อยู่ของเรา ถ้าข้าวของเครื่องใช้วางสุมเกะกะสับสนไปหมด จะเคลื่อนไหวจะทำอะไรจะหยิบอะไรใช้ก็ติดขัดไม่สะดวก ไม่มีช่องที่จะลง หาของที่จะใช้ก็ไม่เจอ จะต้องจัดวางสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆให้เป็นระเบียบเป็นที่เป็นทางจึงจะอยู่สบายและทำอะไรๆ ได้คล่องสะดวก


ชีวิตของเรา และสังคมก็เหมือนกัน ถ้าสับสนวุ่นวายไม่เป็นระเบียบ เช่น วันหนึ่งๆ ไม่รู้เลยว่าจะทำอะไรเวลาไหน อยู่ด้วยกันมีแต่การเบียดเบียน ต้องหวาดกลัวคอยระแวงระวังอันตราย ก็ไม่เป็นอันทำอะไร ไม่มีทางจะทำอะไรให้ชีวิตและสังคมเจริญงอกงามขึ้นไปได้ จะทำอะไรก็ไม่มีช่องที่จะลง จึงต้องมีการจัดระเบียบชีวิต และจัดระเบียบสังคม อย่างน้อยไม่ให้เป็นอยู่อย่างสับสนวุ่นวาย ไม่ให้สังคมเต็มไปด้วยการเบียดเบียนละเมิดต่อกัน

เมื่อจัดระเบียบชีวิต และการอยู่ร่วมสังคมให้เรียบร้อยดีแล้ว สภาพชีวิต และความสัมพันธ์ทางสังคมนั้น ก็เอื้อโอกาสแก่การที่จะทำความดีงาม ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ หรือทำกิจกรรมอย่าง่อื่นๆ ในทางที่จะพัฒนาชีวิตและพัฒนาสังคมนั้นให้มากและให้ได้ผลดีต่อไป


ความมีชีวิต และการอยู่ร่วมกันที่เป็นระเบียบเรียบร้อย เรียกว่า ศีล การจัดระเบียบชีวิต และการอยู่ร่วมกันให้เรียบร้อยราบรื่น เรียกว่า วินัย


พูดอีกอย่างหนึ่ง ในทางกลับกันว่า วินัย คือ การจัดระเบียบชีวิต และความสัมพันธ์ในสังคมให้เรียบร้อย เพื่อเอื้อโอกาสต่อการสร้างสรรค์พัฒนายิ่งๆขึ้นไป และ ศีล ก็คือ ความมีวินัย หรือ ความเป็นผู้ตั้งอยู่ในวินัยนั้น


พูดให้สั้นอีกสำนวนหนึ่งว่า วินัย คือการจัดระเบียบให้เอื้อโอกาสต่อการพัฒนาของชีวิตและสังคม และ ศีล คือความเป็นผู้ตั้งอยู่ในวินัยนั้น


การที่จะฝึกให้มีศีล ข้อสำคัญก็คือการมีวินัย โดยเฉพาะสำหรับพระจะเห็นว่า การที่จะมีศีลนั้น หลักสำคัญก็คือการฝึกในเรื่องวินัย วินัยก็คือระเบียบการดำเนินชีวิต และการอยู่ร่วมในสังคม


เพราะฉะนั้น หลักข้อนี้ก็คือการที่จะต้องสร้างสรรค์ความสัมพันธ์ที่ดีในทางสังคม การรู้จักอยู่ร่วมกับผู้อื่นด้วยดี โดยไม่เบียดเบียนกัน โดยเกื้อกูลกัน และมีระเบียบในการดำเนินชีวิต อันนี้ ก็เป็นบุพนิมิตของการศึกษา

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 พ.ค. 2014, 22:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


๓. ฉันทสัมปทา การทำฉันทะให้สมบูรณ์ ก็คือ การสร้างสรรค์แรงจูงใจที่เรียกว่าฉันทะ ที่พูดไปแล้ว

แรงจูงใจเป็นสิ่งสำคัญมากในการศึกษา ถ้าไม่มีแรงจูงใจ เราจะก้าวเดินไปได้ยาก เราจะเดินไม่ออกหรือไม่ยอมออกเดิน เพราะฉะนั้น จะต้องมีแรงจูงใจ แต่ต้องเป็นแรงจูงใจที่ถูกต้อง คือ ฉันทะ คือความใฝ่รู้ และใฝ่ทำหรืออยากรู้อยากทำ ที่ได้พูดมาแล้ว ไม่ใช่เอาแต่อยากได้ อยากมี อยากเสพ สำหรับปัจจุบันอย่างน้อยต้องให้เกิดค่านิยมในการผลิต โดยเลือกผลิตแต่สิ่งที่ดีงาม มีคุณค่าส่งเสริมคุณภาพชีวิต

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 พ.ค. 2014, 22:19 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


๔. อัตตสัมปทา การทำตนให้สมบูรณ์ หรือพัฒนาตนให้เต็มที่

อัตตสัมปทานี้ ขอใช้ภาษาอังกฤษหน่อย คือพอดีมีคำภาษาอังกฤษที่เขาใช้มาตรงกันเข้า เรียกว่า self-actualization ในจิตวิทยาการศึกษาปัจจุบัน หลักการนี้มีความสำคัญอยู่พอสมควร self-actualization ที่จริงอยู่ในอัตตสัมปทานี้เอง


เรามีความเชื่อในศักยภาพของมนุษย์อยู่แล้วตามหลักโพธิสัทธา มาถึงตอนนี้ การสร้างสรรค์ตนเองให้สมบูรณ์ ก็คือการพัฒนาศักยภาพนั้นให้เต็มที่


อัตตสัมปทานี้ เป็นศัพท์ธรรมที่เรามองข้ามไป แปลกเหมือนกันว่าทำไมเราจึงข้ามหลักนี้ไป พระพุทธเจ้าตรัสไวกับข้ออื่นๆ ในชุดเดียวกันรวมเป็น ๗ ข้อ และเรียงลำดับไว้อย่างนี้ แต่ธรรมชุดนี้ถูกมองข้ามไป ไม่มีใครสนใจพูดถึง ข้อไหนบังเอิญปรากฏในที่อื่นด้วยก็มีคนรู้จัก แต่หลายข้อในชุดนี้ เป็นหลักธรรมที่คนไม่คุ้นเลย จึงต้องเอามาทบทวนกัน


พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า บุพนิมิตของมรรคข้อที่ ๔ คือ อัตตสัมปทา การสร้างสรรค์ตนเองให้สมบูรณ์ หรือพัฒนาศักยภาพของตนเองให้เต็มที่ หมายความว่า ต้องทำศักยภาพของตนให้เต็มบริบูรณ์ ผู้ที่เป็นปุถุชนก็ต้องพัฒนาตนให้เป็นอารยชน หรืออริยบุคคล ผู้ที่เป็นอริยบุคคลอยู่แล้ว ก็ต้องพัฒนาให้สูงขึ้นไป ถ้าเป็นโสดาบันก็ก้าวต่อไปให้เป็นพระสกทาคามี และพระอนาคามี ตามลำดับ จนกว่าจะสำเร็จเป็นพระอรหันต์ถึงความเป็นพระอเสขะ หลุดพ้นเป็นอิสระโดยสมบูรณ์ จบกระบวนการของการศึกษา

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 พ.ค. 2014, 22:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


๕. ทิฏฐิสัมปทา การทำทิฏฐิให้ถึงพร้อม หรือการสร้างสรรค์ทิฏฐิให้สมบูรณ์

ทิฏฐิ คืออะไร ทิฏฐิ คือ ทัศนคติ ค่านิยม ความคิดเห็น ท่าทีของบุคคลต่อสิ่งต่างๆ เจตคติ หรือ ทัศนคติ และค่านิยมมีความสำคัญมากในการศึกษา พระพุทธเจ้าสอนว่า จะต้องมีทิฏฐิ มีทัศนคติมีค่านิยมที่ถูกต้อง ในการศึกษานั้น สิ่งหนึ่งที่จะต้องทำ ก็คือ การพัฒนาในเรื่องทัศนคติ และค่านิยม ซึ่งเรียกว่า ทิฏฐิสัมปทา


ทัศนคติ และค่านิยมที่สำคัญ ซึ่งพระพุทธศาสนาย้ำก่อนอื่น ถือว่า เป็นสัมมาทิฏฐิเบื้องต้น ก็คือ การมองสิ่งทั้งหลายตามความเป็นไปแห่งเหตุปัจจัย อันนี้เป็นทัศนคติสำคัญในการมองโลกเพื่อจะให้เห็นสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง เด็กของเราได้ฝึกการมองโลกและชีวิตแบบนี้บ้างไหม


หลักการต่างๆ ในชุดนี้ ว่าที่จริงก็สัมพันธ์กันหมด แม้แต่แรงจูงใจในการสร้างสรรค์และในการใฝ่รู้ ถ้าเรามีทัศนคติในการมองสิ่งทั้งหลายตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย ก็จะสนับสนุนให้เราอยากรู้อยากเข้าถึงความจริง ทำให้เราสืบค้นเหตุปัจจัยของสิ่งทั้งหลาย เพราะการที่จะเข้าถึงความจริงของสิ่งทั้งหลายได้นั้นจะต้องค้นหาเหตุปัจจัยของมัน


หลักความจริงประการสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ ความเป็นไปตามเหตุปัจจัย พระพุทธศาสนาประกาศหลักการแห่งความเป็นไปตาเหตุปัจจัย ทัศนคติหรือท่าทีของมนุษย์ต่อโลก ที่ควรจะต้องมีเป็นประการแรก ก็คือการมองสิ่งทั้งหลายตามความสัมพันธ์ หรือตามความเป็นไปแห่งเหตุปัจจัย จะต้องพยายามฝึกกันให้มีทัศนคตินี้ ส่วนท่าทีหรือทัศนคติ และค่านิยมที่พึงประสงค์อย่างอื่น จะตามมาทีหลัง เช่น ค่านิยมในการผลิต เป็นต้น


ถ้าเรารู้จักมองสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง มองเห็นความเป็นไปตามเหตุปัจจัยแล้ว มันก็ส่งเสริมการสร้างสรรค์เพราะการมองเห็นเหตุปัจจัย ก็คือการมองเห็นกระบวนการเกิดมีขึ้นของสิ่งต่างๆ และความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งทั้งหลาย


การมองในแนวทางที่จะสืบค้นเหตุปัจจัย ย่อมส่งเสริมการอยากรู้ความจริง และการสร้างสรรค์สิ่งดีงามให้เกิดขึ้น เพราะในการเรียนรู้กระบวนการแห่งเหตุปัจจัยนั้นจะทำให้มองเห็นอาการที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดมีขึ้น และการที่สิ่งที่เกิดมีขึ้นแล้วนั้นเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดผลดีหรือผลร้ายสืบทอดต่อไปอีกอย่างไรๆ ทำให้อยากเห็นการเกิดขึ้นของสิ่งที่ดีงาม และอยากรู้ความจริงในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยนั้น


ในทางกลับกัน ความใฝ่รู้และใฝ่สร้างสร้างสรรค์ ก็ส่งเสริมการมองหาเหตุปัจจัยด้วย เพราะเมื่อเด็กอยากจะทำอะไร อยากจะสร้างสรรค์อะไร แกจะต้องเรียนรู้เหตุปัจจัยว่า สิ่งนี้ทำขึ้นมาได้อย่างไร มีเหตุปัจจัย มีองค์ประกอบอะไรบ้างที่เขาจะต้องทำเพื่อสร้างสรรค์มันขึ้นมา


อย่างน้อย ผู้ที่ดำเนินชีวิตอยู่ในโลกอยู่ในสังคม ทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือปฏิบัติธรรมอะไรก็ตาม เมื่อมองดูความสำเร็จหรือความล้มเหลว ความเจริญหรือความเสื่อมของตนเอง ก็ตาม ของผู้อื่นก็ตาม ถ้ามีทัศนคติที่มองตามเหตุปัจจัย ก็จะได้พิจารณาสืบค้นหาเพื่อจะได้แก้ไขป้องกันหรือส่งเสริมตามเหตุปัจจัยอย่างถูกต้อง ไม่ใช่เอาแต่โทษคนโน้นคนนี้ สิ่งโน้นสิ่งนี้ เรื่อยไปอย่างเลื่อนลอย


นอกจากนั้น ท่าทีของการมองตามเหตุปัจจัย ยังไปสนับสนุนตัวท้ายที่จะพูดต่อไปด้วย คือทำให้รู้จักคิดพิจารณาสืบสาวหาเหตุปัจจัย ตามหลักโยนิโสมนสิการ เพราะฉะนั้น จึงให้มีการสร้างเสริมหรือสร้างสรรค์ทัศนคติ และค่านิยมที่ถูกต้อง คือ ให้มีทิฏฐิสัมปทา เป็นประการที่ ๕

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 พ.ค. 2014, 22:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


๖. อัปปมาทสัมปทา การสร้างสรรค์ความไม่ประมาทให้สมบูรณ์

ความไม่ประมาทนั้น คือ การมี่จิตสำนึกในเรื่องกาลเวลา และความเปลี่ยนแปลง

คนที่จะมีความไม่ประมาท ก็เพราะสำนึกในเรื่องกาลเวลาว่า เวลาเคลื่อนไปผ่านไปตลอดเวลา เดี่ยววันๆ เดี๋ยววันหมดไป เดี๋ยวคืนเวียนมา เดี๋ยวเดือนหนึ่ง เดี๋ยวปีหนึ่ง กาลเวลาและวารีไม่รอใคร จะทำอะไรต้องรีบทำ เพราะฉะนั้น จะต้องมีความกระตือรือร้น เร่งขวนขวายทำสิ่งต่างๆ อันนี้คือจิตสำนึกในกาลเวลา


ทีนี้ความสำนึกในกาลเวลาเกิดขึ้นเพราะอะไร ก็เพราะมองเห็นการเปลี่ยนแปลง กาลเวลาเกิดขึ้นเพราะอะไร กาลเวลากำหนดด้านการเปลี่ยนแปลง ที่มีวันมีคืนก็เกิดจากโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ โลกหมุนรอบตัวเองรอบหนึ่ง ่ ก็เป็นวันหนึ่ง หมุนรอบดวงอาทิตย์ไปได้รอบหนึ่งเต็มบริบูรณ์ก็เป็นปีหนึ่ง


กาลเวลาผ่านไป พร้อมด้วยการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของสิ่งทั้งหลาย รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงในชีวิตของเราที่ไม่อยู่นิ่งตลอดเวลา ทุกส่วนในชีวิตของเราทั้งรูปธรรมนามธรรม มีการเกิดดับอยู่ตลอดเวลา ชีวิตของเราจะต้องแตกดับอย่างแน่นอน และชีวิตจะเป็นอย่างไรต่อไปก็ไม่แน่นอน แล้วแต่เหตุปัจจัยทั้งภายในและภายนอก จึงต้องขวนขวายเรียนรู้และกรทำเหตุปัจจัยเท่าที่เราทำได้ให้ดีสุดด้วยความไม่ประมาท


พระพุทธศาสนาสอนนักสอนหนาในเรื่องความเปลี่ยนแปลง สอนหลักอนิจจังว่ามีการเกิดขึ้นและการดับสลาย ก็ด้วยต้องการให้เรามีความไม่ประมาท พระพุทธเจ้าตรัสปัจฉิมวาจา วาจาสุดท้ายที่ตรัสก่อนปรินิพพาน เหมือนกับวาจาสั่งเสียของพระองค์ คือ คำว่า

วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ

แปลว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม หรือแปลว่า จงทำกิจให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาท หรือที่นิยมแปลกันให้ได้ความเต็มที่ว่า จงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท


พุทธพจน์นี้แสดงถึงการที่พระองค์นำเอาหลักอนิจจังหรือหลักความไม่เที่ยงนี้มาสัมพันธ์กับความไม่ประมาท คือ ตรัสเรื่องความเปลี่ยนแปลง ความไม่เที่ยง เพื่อกระตุ้นเร้าให้ไม่ประมาท แต่เรามองข้ามพระพุทธพจน์สำคัญที่เป็นปัจฉิมวาจา หรือวาจาสุดท้ายนี้ไป


การที่พระพุทธเจ้าสั่งเสียสิ่งใด ก็แสดงว่าพระองค์ต้องถือว่าสิ่งนั้นสำคัญมาก แต่ชาวพุทธไม่ค่อยเอาใจใส่คำสั่งเสียของพระศาสดา


พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ไม่ประมาท เพราะสิ่งทั้งหลาย ไม่เที่ยง เราจึงควรมีจิตสำนึกในกาลเวลา และจิตสำนึกในความเปลี่ยนแปลง และให้จิตสำนึกในความเปลี่ยนแปลงนั้น เป็นตัวกระตุ้นเร้าให้มีความไม่ประมาท


เพราะฉะนั้น สิ่งหนึ่งที่เป็นบุพนิมิตของการศึกษา หรือเป็นเครื่องนำเข้าสู่การเดินตามมรรคหรือการปฏิบัติธรรม ก็คือความกระตือรือร้น ความเร่งขวนขวายไม่ประมาท


หลักพระพุทธศาสนาย้ำเตือนเราไม่ให้เป็นคนเฉื่อยชาไม่ให้เป็นคนอยู่นิ่งเฉย ให้มีสติ ระลึกระวัง ตื่นตัวอยู่เสมอ ไม่ปล่อยเวลาให้ผ่านไปเปล่า มีอะไรเกิดขึ้น จะเป็นเหตุของความเสื่อม ก็เร่งหลีกละแก้ไขป้องกัน อะไรจะเป็นเหตุของความเจริญ ก็เร่งปฏิบัติจัดทำ


อัปปมาทธรรมนี้ พระพุทธเจ้าตรัสย้ำไว้ไม่รู้กี่ครั้ง ย้ำในฐานะบุพนิมิตของการศึกษา ย้ำในฐานะปัจฉิมวาจา ย้ำในฐานะที่เป็นธรรมที่ครอบคลุมการปฏิบัติทั้งหมดเหมือนกับรอยเท้าข้าง


หลายท่านคงเคยได้ยิน พระพุทธเจ้าตรัสว่า รอยเท้าของสัตว์ทั้งหลาย ย่อมรวมลงได้ในรอยเท้าช้าง ฉันใด ธรรมทั้งหลายก็รวมลงได้ในความไม่ประมาท ฉันนั้น ถ้ามีความไม่ประมาทแล้ว ก็สามารถปฏิบัติธรรมทุกข้อ แต่ถ้าประมาทเสียอย่างเดียว ธรรมทั้งหลายที่เรียนมาก็ไร้ประโยชน์ เพราะไม่เอามาปฏิบัติ ไม่เอามาใช้ เพราะฉะนั้น จึงให้มีความไม่ประมาท


ตกลงว่า อัปปมาทสัมปทา การสร้างสรรค์ความกระตือรือร้น ความเร่งขวนขวาย หรือการมีจิตสำนึกในเรื่องกาลเวลาและความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้กระตือรือร้นอยู่เสมอนี้ เป็นหลักสำคัญที่เรียกว่า เป็นบุพนิมิตประการที่ ๖ ของการศึกษา

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 พ.ค. 2014, 22:24 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


๗. โยนิโสมนสิการสัมปทา การทำโยนิโสมนสิการให้ถึงพร้อม หรือสร้างสรรค์ โยนิโสมนสิการให้สมบูรณ์

โยนิโสมนสิการ แปลว่า การทำในใจโดยแยบคาย คือการรู้จักพิจารณาโดยแยบคาย แปลแบบภาษาสมัยใหม่ว่า รู้จักคิดหรือคิดเป็น โดยเฉพาะการพิจารณาสิ่งทั้งหลายตามแนวทางของเหตุปัจจัย

ถ้าเรามีทิฏฐิสัมปทา มีท่าทีแห่งการมองสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัยแล้ว ก็หวังได้ว่าเราจะใช้ โยนิโสมนสิการ และถ้าเราใช้ โยนิโสมนสิการ เราก็จะเจริญยิ่งขึ้นในทิฏฐิสัมปทา

ความจริง หลักเหล่านี้สัมพันธ์กันหมด เมื่อตัวใดตัวหนึ่ง เกิดขึ้นแล้วก็โน้มเอียงที่จะพาตัวอื่นๆ เกิดตามมาด้วย ดังนั้น เมื่อมีแรงจูงใจที่ถูกต้องตามหลักฉันทสัมปทา ซึ่งเป็นข้อที่ ่ ๓ ก็จะเร้าใจให้คิดพิจารณาสืบค้นเหตุปัจจัยเป็นต้น โยงมาถึงข้อสุดท้าย คือ โยนิโสมนสิการด้วยเช่นกัน


แม้แต่ข้อที่ ๑ คือ ความมีกัลยาณมิตร ก็สัมพันธ์กับโยนิโสมนสิการนี้อย่างใกล้ชิด ตัวอย่างเช่น การรู้จักเลือกหากัลยาณมิตร ทำให้เด็กรู้จักเลือกดูรายการทีวี และเลือกอ่านหนังสือที่มีประโยชน์ จากนั้น โยนิโสมนสิการนี้ก็พาลึกลงไปอีก คือ ทำให้เด็กรู้จักดู รู้จักอ่าน รู้จักพิจารณาให้ได้สารประโยชน์จากรายการที่ดู และจากหนังสือที่อ่านนั้นอย่างแท้จริง เพราะถ้าเรามี โยนิโสมนสิการ เราก็จะมองสิ่งทั้งหลายโดยพิจารณาว่า เหตุปัจจัยของมันเป็นอย่างไร แยกแยะให้เห็นว่าองค์ประกอบของมันเป็นอย่างไร มองสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริงว่ามีคุณมีโทษอย่างไร มีทางแก้ไขอย่างไร จะเอาอะไรไปใช้ประโยชน์ได้บ้างอย่างไร


ผู้ที่ดำเนินชีวิตอยู่ใน โลกในสังคม หรืออยู่กับตนเอง หรือจะปฏิบัติธรรมอะไรก็ตาม ก็ต้องรู้จักคิดพิจารณา รู้จักทำใจต่อสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้อง รู้จักพิจารณาประสบการณ์ที่เข้ามาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และสถานการณ์ที่เผชิญ ในทางที่จะให้เกิดกุศลธรรม เกิดความรู้สึกที่ดีงาม ไม่เกิดโทษแก่ชีวิต และเกิดปัญญาที่จะแก้ไขโดยวิธีที่ถูกต้อง ตลอดจนรู้เข้าใจเท่าทันโลก และชีวิตหรือสังขารทั้งหลายตามเป็นจริงว่า มีอาการแห่งไตรลักษณ์อย่างไร จนถึงขั้นมีจิตใจเป็นอิสระหลุดพ้นปลอดโปร่ง เบิกบานผ่องใสด้วยความรู้แจ้งได้ ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องของโยนิโสมนสิการทั้งสิ้น

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 พ.ค. 2014, 22:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ตกลงว่า บุพนิมิตของการปฏิบัติธรรม หรือรุ่งอรุณของการศึกษา มี ๗ ประการด้วยกัน ในการให้การศึกษา จะต้องเน้นองค์ ๗ ประการนี้

เมื่อองค์ ๗ ประการนี้เกิดขึ้นแล้ว ตัวการศึกษาก็จะเกิดขึ้นตามมาแน่นอน เหมือนสีทั้งเจ็ดที่เป็นองค์ประกอบของรุ้งเจ็ดสี กลมกลืนกันเข้าเป็นแสงตะวันส่องโลกให้สว่างหายมืดมนพ้นอันธการ

ตัวการศึกษานั้นเริ่มที่สัมมาทิฏฐิ ซึ่งเป็นแสงสว่างเริ่มต้นของดวงปัญญา คือ ย่างเข้าสู่มรรคาหรือตัวมรรค นั่นเอง

เมื่อเราทำตัวให้เดินตามมรรค ก็คือศึกษา ศึกษาก็มีองค์ประกอบ ๓ ส่วน ศีล สมาธิ ปัญญา แล้วแยกออกไปเป็นสัมมาทิฏฐิจนถึงสัมมาสมาธิแต่บุพนิมิตของมรรคและของการศึกษานั้น คืออะไร เราอย่าลืม


ถึงตอนนี้ บางท่านอาจจะสงสัย ก็เลยขอแทรกคำถามเข้ามาว่า หลักธรรมที่เป็นบุพนิมิต ๗ ข้อนี้ ไม่ได้อยู่ในมรรคหรือเช่นอย่างศีลนี้ ไม่ได้อยู่ในมรรคหรือ

ตอบว่า ใช่ หลัก ๗ ข้อนี้ ที่จริงก็อยู่ในมรรคแล้ว แต่ก็มีเหตุผลที่ต้องยกมาตั้งไว้ต่างหากอีก

จะขออุปมาให้ฟัง เหมือนกับเราพูดว่า แพทย์ พระภิกษุ ครูอาจารย์ นี้เป็นผู้อุปการคุณ เป็นบุคคลที่มีประโยชน์แก่สังคม หรือแก่ประชาชน ก็ต้องถามว่า แล้วแพทย์ พระภิกษุ ครูอาจารย์ นั้น ไม่ได้เป็นประชาชนหรือ ก็เป็นใช่ไหม แต่เป็นการแยกพูดเพื่อความประสงค์พิเศษ


เรื่องนี้ก็เหมือนกัน หลัก ๗ ข้อนี้ ก็รวมอยู่ในมรรคนั่นแหละ แต่แยกออกมาตั้งไว้สำหรับทำหน้าที่พิเศษอีกอย่างหนึ่ง ในความหมายแบบเดียวกับที่ว่า แพทย์ พระภิกษุ ครูอาจารย์ แม้จะเป็นประชาชนเหมือนกัน แต่ในบางกรณีเราพูดแยกออกมาจากประชาชนว่าเป็นบุคคลต่างๆ ที่บำเพ็ญประโยชน์แก่ประชาชน


คำว่า ตำรวจ ทหาร ข้าราชการ และประชาชน ก็เหมือนกัน อาจมีคนสงสัยได้ว่า ทำไมไปแยกอย่างนั้น ตำรวจ ทหาร ข้าราชการไม่ได้เป็นประชาชนหรือ ก็เป็นเหมือนกัน แต่พูดแยกเพื่อความหมาย หรือเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง นี่ก็เหมือนกัน


ตกลงว่า ตอนนี้เราพูดถึงบุพนิมิตของการศึกษาได้ครบแล้วทั้ง ๗ ประการ


ผู้ที่ปฏิบัติธรรม ไม่ว่าจะเป็นเด็กอยู่กับพ่อแม่ที่บ้าน หรือไปเป็นนักเรียนอยู่กับครูอาจารย์ในโรงเรียน คนที่ทำงานอยู่ในองค์กรและหน่วยราชการต่างๆ ตลอดจนถึงผู้ที่ไปบำเพ็ญจิตตภาวนา เจริญสมถกัมมัฏฐานอยู่ในป่า อยู่ในที่สงัดหลีกเร้น หรือบำเพ็ญวิปัสสนาอยู่ในที่ใดก็ตาม ก็ควรจะต้องสร้างสรรค์หลักบุพนิมิต ๗ ประการนี้ ให้มีประจำตัว จะได้เป็นหลักประกันในการที่จะก้าวหน้าต่อไปในการปฏิบัติธรรมนั้นๆ จนกว่าจะบรรลุความเจริญงอกงามเต็มบริบูรณ์แห่งศักยภาพของความเป็นมนุษย์ที่มีในตน

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 พ.ค. 2014, 09:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อที่ viewtopic.php?f=1&t=47759&p=352178#p352178

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 11 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 106 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร