วันเวลาปัจจุบัน 17 เม.ย. 2024, 04:32  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ต.ค. 2008, 18:03 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ

พระธรรมเทศนา
โดย
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)

ตีพิมพ์ในวารสารธรรมจักษุ
ปีที่ ๘๓ ฉบับที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๑

พุทธบริษัทได้มาสันนิบาต ประชุมกันในสถานที่นี้
เพื่อฟังพระธรรมเทศนาและรักษาอุโบสถศีล และเบญจวิรัติ
เมื่อพร้อมด้วยสันนิบาตประชุม และได้ทำบุพพกิจในเบื้องต้น
คือไหว้พระสวดมนต์ และสมาทานศีล ๕ ศีล ๘
สำเร็จบริบูรณ์แล้วเช่นนี้ เบื้องหน้าแต่นี้
เป็นโอกาสที่จะฟังโอวาทานุศาสน์คำสั่งสอนของ
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้สำเร็จประโยชน์ของตน ๆ


ด้วยว่าการฟังธรรมเทศนา ย่อมเป็นเหตุให้เกิดปัญญา
ปัญญาจะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องอาศัยการได้สดับ ได้รู้ ได้เห็น
ถ้าไม่ได้ฟัง ไม่ได้เห็นมาก่อน ถึงจะตรึกตรองไปอย่างไร ๆ
ก็ไม่ค่อยจะสำเร็จเรียบร้อยบริบูรณ์ได้

:b39: เหตุนั้นท่านจึงแสดงอานิสงส์ในการฟังไว้หลายประการ
ดังในคัมภีร์สารสังคหะท่านแสดงไว้ว่า มีถึง ๕ ประการ คือ

อสุตํ สุณาติ
ผู้สดับตรับฟัง ย่อมจะได้ยินได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยได้ยินได้ฟัง

สุตํ ปริโยทปติ
สิ่งใดที่เคยได้ยินได้ฟังแล้ว แต่ยังไม่คล่องแคล่วชำนิชำนาญ
ก็จะคล่องแคล่วชำนิชำนาญยิ่งขึ้น

กงฺขํ วิตรติ
จะตัดความสงสัย ทำสิ่งที่ตนยังสงสัยให้หมดไปเสียได้

ทิฏฺฐึ อุชุกํ กโรติ
ทำความเห็นของตนให้ตรงได้

จิตฺตํ อสฺส ปสีทติ
ทำใจของตนให้เลื่อมใสยิ่ง ๆ ขึ้นไป



อานิสงส์ทั้ง ๕ ประการนี้จะสำเร็จแก่ผู้ที่หมั่นสดับตรับฟัง
พระธรรมเทศนาธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นของลึกซึ้ง คัมภีรภาพยิ่งนัก
ผู้ที่เข้าใจลึกซึ้งก็มี เข้าใจเพียงเอกเทศเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้นก็มี
ผู้ฟังจะฟังให้เข้าใจเสมอกันไปหมด ข้อนี้ย่อมเป็นไปไม่ได้เป็นธรรมดา
แต่อาศัยความตั้งใจฟัง ก็คงไม่เสียทีที่มาฟัง ถึงไม่ได้มากก็น้อย



การฟังธรรมหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ก็เพื่อให้เข้าใจ ให้รู้จักตัวนี่แหละ
ถึงผู้สอนก็ชี้ที่ตัวนี่แหละ โอวาทของพระพุทธเจ้าทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
ไม่ได้ชี้ที่อื่นนอกไปจากกาย วาจา ใจ ของเรา
ชี้ที่กายที่ใจนี้แหละ ต้องตรวจดูจึงจะเห็นว่า
ธรรมของพระพุทธองค์ทุกประเภทย่อมสำเร็จมาจากใจหมดทั้งนั้น
ถ้าใจคิดทางชั่วก็ไปทางชั่ว ถ้าใจคิดทางดีก็ไปทางดี เพราะเหตุนี้ท่านจึงแสดงว่า


มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า
มโนเสฏฺฐา มีใจเป็นใหญ่
มโนมยา สำเร็จแล้วด้วยใจ

ถ้าใจชั่วจะทำจะพูดก็ชั่ว ถ้าใจดี จะทำจะพูดก็ดี
ธรรมคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหมด
ย่อมสำเร็จมาจากใจด้วยอาการอย่างนี้



แต่การพรรณนาพระธรรมคุณอย่างที่ได้พรรณนามาแล้วในปีนี้
ก็เพื่อจะขยายพระธรรมคุณให้มากกว่าอย่างอื่น
และการแสดงใช่ว่าจะแสดงเพียงแต่พระธรรมคุณอย่างเดียวเท่านั้นก็หาไม่
ย่อมแสดงทั้งพระพุทธคุณและพระสังฆคุณด้วย ให้พากันตรองเสียให้เข้าใจ
และพระธรรมคุณที่ได้แสดงมาแล้ว แสดงพระสูตร พระวินัย พระปรมัตถ์
และได้แสดงพระปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ในประเภทของปฏิเวธ
เนื่องกันกับปฏิบัติก็ได้แสดงมาแล้ว ถ้าปฏิบัติสูง ปฏิเวธก็สูงขึ้นโดยลำดับ
ถ้าปฏิบัติอ่อน ปฏิเวธก็ทรามไปตามกัน
และปฏิบัติจะสูงขึ้นได้ ก็ต้องอาศัยปริยัติ คือมีปฏิบัติเป็นภาคพื้นมาก่อน
เพราะฉะนั้นพระปริยัติซึ่งเป็นภาคพื้นของปฏิบัตินี้
จึงเป็นกิจที่พุทธบริษัทควรศึกษาเสียให้ขึ้นใจด้วยส่วนหนึ่งโดยแท้
เพราะพระปริยัติธรรมทั้งปวงเป็น สวากขาตธรรม
คือเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว


สวากขาตธรรมนั้น เป็น สนฺทิฏฺฐิโก อาจเห็นได้ด้วยตนเอง เป็น อกาลิโก
ไม่อ้างกาล อ้างเวลา ทำเมื่อใด ได้เมื่อนั้น
และเป็น เอหิปสฺสิโก อาจอวดเขาได้ กล้าท้าทายเขาได้
ว่าเราได้รู้ ได้เห็นอย่างนี้ ๆ ไม่เหลวไหล
และเป็น โอปนยิโก คือบรรดาธรรมทุกประเภทที่ตนศึกษาเล่าเรียนจำทรงไว้ได้นั้น
เป็นอันน้อมเข้ามาสู่ตนได้ทั้งสิ้น และเป็น ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ
เป็นของที่ผู้รู้ทั้งหลายจะพึงรู้แจ้งเฉพาะตน


ลักษณะทั้ง ๕ ประการนี้เป็นเครื่องตัดสินว่า พระปริยัติที่ศึกษาอยู่นี้
เป็นส่วนที่ถูกหรือผิด เพราะลักษณะทั้ง ๕ นี้เป็นพยานให้รู้ว่า
เป็นธรรมคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า
คือพระปริยัติที่ศึกษาเล่าเรียนกันอยู่นี้ เช่นอย่าง อิติปิ โส ภควา
อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ เป็นต้น ที่เราท่องบ่นเข้าไว้นี้เป็นปริยัติ


ปริยัตินี้ ถ้าเราท่องได้ก็เป็น สนฺทิฏฺฐิโก จะเห็นได้ด้วยตนเองว่า
เราได้ตอนนั้นได้ตอนนี้แล้ว และเป็น อกาลิโก อาจท่องสวดได้ทุกเวลา
จะท่องจะสวดเมื่อใดก็ได้เมื่อนั้น และเป็น เอ หิปสฺสิโก อวดเขาได้
และเป็น โอปนยิโก สามารถน้อมเข้ามาสูตน
ทำให้มีขึ้นที่ตนก็ได้ไม่ติดขัด
และเป็น ปจฺจตฺตํ คือเป็นของที่ผู้รู้จะรู้ได้เฉพาะที่ตนนี้
ถ้าได้ลักษณะทั้ง ๕ ประการนี้ ก็ชื่อว่าเป็นสวากขาตธรรมแท้


เหมือนภิกษุสามเณรท่อง สวดมนต์
เมื่อท่องจนขึ้นปากขึ้นใจแล้ว ก็เป็น สนฺทิฏฺฐิโก เห็นได้ด้วยตนเอง
เห็น อกาลิโก อาจท่องได้สวดได้ทุกเวลา
และเป็น เอหิปสฺสิโก อาจท้าทายให้เขามาดูได้ว่า ตนท่องได้ สวดได้จริง
และอาจสวดให้เขาฟังได้ด้วย
และเป็น โอปนยิโก อาจน้อมสิ่งที่ตนท่องนั้นเข้ามาไว้ในตนได้
คืออาจทำให้เกิดให้มีขึ้นที่ตนได้
และเป็น ปจฺจตฺตํ เป็นของที่จะพึงรู้ได้โดยเฉพาะตน
ผู้ใดท่องได้ สวดได้มากน้อยเท่าไรก็อาจรู้ได้ด้วยตนเอง



ในส่วนพระปริยัตินี้ ถ้าทำทรงไว้ได้มากเท่าไร ก็มีคุณมากเท่านั้น
คืออาจทำความอุ่นในให้แก่ตน และทำใจของตนให้ยินดีได้
เป็นเหตุนำความปฏิบัติให้เรียบร้อยดีขึ้น


ปฏิบัติ คือ ทานก็ดี ศีลก็ดี ต้องอาศัยปริยัติเป็นภาคพื้นมาก่อนทั้งนั้น
ปริยัติเป็นทางนำให้กระทำ แต่ยังไม่ได้กระทำลงไป
ครั้นลงมือกระทำลงไป อย่างให้ทาน รักษาศีลเป็นต้น
ก็เป็นตัวปฏิบัติขึ้นเท่านั้นเอง ขึ้นชื่อว่าการปฏิบัติ
แม้จะเป็นชั้นทานและชั้นศีล เพียงเท่านี้จะว่าเป็นของตื้นไม่ได้
เพราะทานกับศีล มีเจตนาร่วมกัน
ทานก็ใช้จาคเจตนา ศีลก็ใช้จาคเจตนา
ทานก็ใช้เมตตาเจตนา ศีลก็ใช้เมตตาเจตนา
และผลของทานและศีลก็ให้เกิดความยินดีว่า
เราได้ทรัพย์อย่างดีไว้ เพื่อจะได้เอาไว้ใช้สอยในภายภาคหน้า
เพราะว่าทานก็ดี ศีลก็ดี ท่านจัดเป็นอริยทรัพย์ เป็นทรัพย์ภายใน
เป็นทรัพย์ที่พระอริยเจ้าพึงสงวน
ควรที่พุทธบริษัทจะพึงทำให้เกิดให้มีขึ้นในตน
เมื่อตนทำให้เกิดให้มีขึ้นในตนได้ ก็เป็น สนฺทิฏฺฐิโก
เห็นได้ด้วยตนเองว่า สิ่งที่ตนทำไม่ใช่หมดไป
กลับได้ทรัพย์ภายในเพิ่มขึ้นอีกด้วย


ถ้าจะเทียบทรัพย์สมบัติ ที่มีในตน ก็จะเห็นได้ว่า
ทรัพย์ภายนอกสู้ทรัพย์ภายในไม่ได้ เช่นตนมีเงินอยู่ ๒๐ ชั่ง
แล้วบริจาคสร้างกุฏิวิหารหรืออะไรก็ตามเสีย ๑๐ ชั่ง
ยังเหลืออยู่ ๑๐ ชั่ง เงินที่เหลืออยู่ ๑๐ ชั่งกับเงินที่บริจาคไปนั้น
ส่วนที่บริจาคไปแน่นหนากว่าและเบากว่าที่ยังเหลืออยู่
อันนี้เป็นเครื่องตัดสินได้ด้วยตนเอง
ทานเป็นเครื่องอุ่นใจของผู้ให้อย่างนี้
จึงเป็น สนฺทิฏฺฐิโก และเป็น อกาลิโก
ไม่ต้องผัดเพี้ยนว่าจะต้องให้เมื่อนั้นเมื่อนี้ ให้เมื่อใดก็ได้ทั้งนั้น
และเป็น เอหิปสฺสิโก อวดเขาได้ว่า
ทานของข้าพเจ้าเป็นของประเสริฐจริง มีผลคือความสุข
ความเย็นอย่างนี้ ๆ และเป็น โอปนยิโก อาจน้อมทานนั้นเข้ามาสู่ตนได้
แต่ก่อนทานอยู่ตามหนังสือ เมื่อทำ ก็น้อมเข้ามาสู่ตนได้ว่า
ทานเราได้ทำให้เกิดให้มีขึ้นในตนของเราแล้ว
และเป็น ปจฺจตฺตํ เห็นได้เฉพาะตน
นี่เป็นประโยชน์แก่ตัวเราอย่างนี้ ๆ เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นอย่างนี้ ๆ


ในศีลก็มีนัยอย่างเดียว กัน คือถ้าเราเว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์
ประพฤติผิดในกาม พูดมุสา เสพสุรา ได้แล้ว ศีล ๕ ของเราก็บริบูรณ์
เพียงเท่านี้ก็ทำความอุ่นใจให้แก่เราได้แล้ว
เพราะเป็นอริยทรัพย์ และเป็น สนฺทิฏฺฐิโก
เป็นของเห็นได้ด้วยตนเอง และเป็น อกาลิโก ไม่ต้องอ้างกาลอ้างเวลา
เพราะตนของเรามีอยู่เสมอ ศีลก็คือตน
ตนก็คือศีล และเป็น เอหิปสฺสิโก อาจชักชวนให้เขามาดูได้ว่า
ท่านจงมาดูเถิด ศีลที่ข้าพเจ้ารักษา ให้ผลคือความสุขความเย็นอย่างนี้ ๆ
และเป็น โอปนยิ โก อาจน้อมมาสู่ตนได้
แต่ก่อนศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ หรือศีลพระปาฏิโมกข์อยู่ภายนอก
ครั้นมารักษา ก็น้อมเอาศีลนั้นมาเป็นตน
มาสู่ตนได้ด้วยอาการอย่างนี้ และเป็น ปจฺจตฺตํ เป็นของที่พึงรู้ได้เฉพาะตน
ผู้ใดทำให้เกิดให้มีขึ้นในตนเพียงใด
ก็อาจรู้ได้ว่า ตนได้ทำให้เกิดให้มีขึ้นแล้วเพียงนั้น



ศีลมีนัยฉันใด แม้สมาธิและปัญญาก็มีนัยฉันนั้นเหมือนกัน
เมื่อตนทำสมาธิจะเป็นขณิกสมาธิหรืออุปจารสมาธิ
หรืออัปปนาสมาธิก็ตามให้เกิดขึ้น ก็รู้ได้ด้วยตนเองว่า
ได้ทำใจของตนให้เยือกเย็น เป็น สนฺทิฏฺฐิโก อกาลิโก ฯลฯ
ปัญญาก็เหมือนกัน เมื่อรู้เท่าสังขารแล้ว ใจคอก็เบิกบาน
เป็น สนฺทิ ฏฺฐิโก ฯลฯ ด้วยกันทั้งนั้น


อันนี้เป็นเครื่องตัดสิน ให้พุทธบริษัทพากันมนสิการไว้
จะได้พากันเทียบเคียงดู เมื่อ ทาน ศีล สมาธิ ปัญญา
ได้ลักษณะ ๕ อย่างนี้ ก็จะรู้ได้เห็นได้ด้วยตนเองทีเดียว
ที่เห็นไม่ได้เพราะความรู้ผิดและความรู้ถูก
ความเห็นผิดและความเห็นถูกนี่เอง
เมื่อเห็นผิดก็ต้องผิด จะแก้ไขไม่ได้ เมื่อเห็นถูก ก็ต้องถูกไปทีเดียว
ความเห็นเป็นของที่แก้ไขได้ด้วยยาก
ถ้าเห็นผิด ความรู้ก็ผิด ถ้าเห็นถูก ความรู้ก็ถูก
เหตุนั้น ต้องไต่สวนอย่างสำคัญทีเดียว
อย่าพากันสิ้นสงสัยง่าย ๆ ต้องตรองให้ได้ความ



:b48: สำหรับฝ่ายที่ถูก ท่านพรรณนาไว้ ๑๐ อย่างคือ

สมฺมาทิฏฺฐิ ความเห็นชอบประการหนึ่ง

สมฺมาสงฺกปฺโป ความดำริชอบประการหนึ่ง

สมฺมาวาจา เจรจาชอบประการหนึ่ง

สมฺมากมฺมนฺโต การงานชอบประการหนึ่ง

สมฺมาอาชีโว เลี้ยงชีวิตชอบประการหนึ่ง

สมฺมาวายาโม เพียรชอบประการหนึ่ง

สมฺมาสติ ระลึกชอบประการหนึ่ง

สมฺมาสมาธิ ตั้งใจไว้เสมอชอบประการหนึ่ง

สมฺมาญาณ ญาณความรู้ชอบประการหนึ่ง

สมฺมาวิมุตฺติ ความพ้นพิเศษชอบประการหนึ่ง

ธรรมทั้ง ๑๐ ประการนี้ เป็นองคคุณแห่งความเป็นพระอรหันต์



:b48: แต่ความรู้ที่ผิดก็ยังมีอยู่อีกตรงกันข้ามคือ

มิจฺฉาทิฏฺฐิ ความเห็นผิด ๑

มิจฺฉาสงฺกปฺโป ความดำริผิด ๑

มิจฺฉาวาจา กล่าววาจาผิด ๑

มิจฺฉากมฺมนฺโต ทำการงานผิด ๑

มิจฺฉาอาชีโว เลี้ยงชีวิตผิด ๑

มิจฺฉาวายาโม ความเพียรผิด ๑

มิจฺฉาสติ ตั้งสติผิด ๑

มิจฺฉาสมาธิ ตั้งใจไว้เสมอผิด ๑

มิจฺฉาญาณ ญาณความรู้ผิด ๑

มิจฺฉาวิมุตฺติ ความพ้นพิเศษผิด ๑



เพราะเหตุมีทางถูกทางผิดอยู่อย่างนี้ จึงต้องใช้วิจารณญาณ
อาศัยพุทธภาษิตเป็นหลักเพราะความผิดมีทั้งปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ
หยาบและละเอียดไปตามบุคคล เหมือนอย่างผู้ที่เห็นว่า
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นขันธ์ ๕
และเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นความเห็นถูก
แต่ที่เห็นว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
เป็นขันธ์นั้นยังไม่ตรง ยังผิดในที่ถูก
เพราะตามที่มาต่าง ๆ ท่านไม่เรียกว่าขันธ์ เหมือนในปฏิจจสมุปบาท
ท่านแสดงแต่ว่า สังขาร วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา
ดังในอนัตตลักขณสูตรก็แสดงแต่เพียงว่า
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เท่านั้น
หาได้แสดงว่าขันธ์ไม่ ส่วนที่มาในพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ว่า
“ปญฺจุปาทานกฺขนฺธา” อุปาทานในขันธ์ ๕ ในวิปัสสนาภูมิ
ท่านก็แสดงขันธ์ ๕ ว่า รูปขันธ์ เวทนาขันธ์
สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ดังนี้


ถ้าพิเคราะห์ลงให้ ละเอียดคงได้ความว่า ขนฺโธ แปลว่า ก้อน
ว่า แท่ง ว่า หมวด ว่า กอง เป็นไวพจน์กัน ได้แก่สกลกายนี้เอง
ส่วนรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นั้นเป็นแต่อาการ
ได้ความว่า ขันธ์มีอันเดียว แต่มีอาการเป็น ๕ จึงเรียกว่า ขันธ์ ๕
ไม่ใช่ ๕ ขันธ์ ขันธ์ก็สมมติ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็สมมติ
ตัวสมมติเป็นสังขารทั้งนั้น ธรรมดาสมมติต้องมีของรับ
สิ่งที่รับสมมตินั้นเป็นธรรม เป็นวิสังขาร
เมื่อพิจารณารู้เท่าสังขารชัดเมื่อใด สังขารก็ดับเมื่อนั้น
ก็คือสมมติดับ คือดับความไม่รู้เท่านั้นเอง
เหมือนอย่าง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ผู้เป็นโจทก์ก็สังขาร
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ผู้ถูกโจทก์คือตัวจำเลยก็สังขาร
เมื่อวิชชาเกิด อวิชชาดับแล้ว บรรดาสังขารโลกก็ดับหมด
แม้ตัว อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เองก็ต้องดับ เพราะเป็นคติของสังขาร
เมื่อสังขารดับก็เห็นหน้าตาของนิโรธ
เมื่อ อนิ จฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ดับ ก็เห็นหน้าตาของวิโมกข์
คือ อนิมิตตวิโมกข์ อัป ปณิหิตวิโมกข์ และสุญญตวิโมกข์
อาการที่ดับแห่งสังขาร พึงกำหนดตามปฏิจจสมุปบาทในนิโรธวาร
คือ อวิชชาดับ สังขาร วิญญาณ นามรูป ตลอดถึงชรา มรณะดับตามกันไปหมด


อันนี้เป็นญาณทัสสนะของ พระผู้มีพระภาคเจ้า
พระองค์ได้บรรลุในปัจฉิมยามที่สุดแห่งราตรี วันสิสาขปุณณมี
เป็น วิสุทฺธธมฺมสนฺตาโน ทรงพระนามว่า พุทฺโธ อรหํ ขึ้นในโลก
ก็สังขาร วิญญาณ นามรูป ถึงชรามรณะของพระองค์ดับหมดแล้ว
อะไรของพระองค์ยังอยู่ พระองค์ยังทรงดำรงพระชนม์ชีพอยู่
โปรดเวไนยสัตว์ถึง ๔๕ พรรษา จึงเสด็จปรินิพพาน
ควรที่ท่านผู้เป็นบัณฑิต ประกอบด้วยปรีชาพึงมนสิการโดยแท้
น่าคิดน่าตรอง สังขารเป็นตัวทุกข์
ถ้าสังขารดับ ทุกข์ก็ดับ ทุกข์ในที่นี้หมาย
โสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาสเท่านี้ ไม่เกิดขึ้นเพราะเหตุภายใน
ไม่เกิดขึ้นเพราะเหตุภายนอก ชื่อว่าผู้สิ้นทุกข์
ทุกข์จะสิ้นจะดับก็เพราะปัญญาความรู้ของจริง
ตามความเป็นจริงโดยนัยดังบรรยายมานี้



แต่ความรู้ความเห็นนี้ เป็นของยากที่จะสันนิษฐานออกจะเป็นทางวิวาท
ถึงแม้ตามแบบแผนก็บอกอยู่แล้วว่า เป็นทางวิวาทเหมือนอย่างโสดาฯ
สกิทาคาฯ อนาคาฯ อรหันต์ ความเห็นไม่เหมือนกัน
ชั้นต่ำต้องชวนวิวาทต่อชั้นสูงเป็นธรรมดา เพราะไม่เห็นด้วย
แต่ชั้นสูงคงจะไม่วิวาท เพราะเป็นทางที่ท่านผ่านไปแล้ว
ในหมู่พุทธบริษัททุกวันนี้ก็ควรจะยินดีรักใคร่กัน
โดยเป็นสพรหมจารีเพียงชั้นศีล
คือมี ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีลพระปาฏิโมกข์เสมอกัน
ก็ควรนิยมนับถือว่าเป็นมิตร ร่วมข้อปฏิบัติ เป็นพุทธบริษัทด้วยกัน
ถ้าจะเกณฑ์เอาความรู้ความเห็นให้ลงกันจึงจักเป็นมิตรกันได้
น่าจะเป็นฝืนธรรมดา ให้พึงทำความในใจของตนไว้อย่างนี้
ถ้าเราเห็นว่าเขาเป็นคนเห็นผิด เป็นคนรู้ผิด
พึงเข้าใจว่า เราเป็นคนเห็นผิดเอง รู้ผิดเอง
ให้คอยลงโทษตัวไว้เสมอ จะไม่ต้องวิวาทกับใคร สบายดีด้วย
ในพระธรรมคุณที่แสดงมานี้ รวมทั้งปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ
พอเป็นทางสังเกตปฏิบัติตาม
แต่ล้วนเป็น สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม
เป็นพระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเทศนาดีแล้ว
และเป็น สนฺทิฏฺฐิโก ฯลฯ ปจฺจตฺตํ โดยนัยหนหลัง


เมื่อพุทธบริษัทได้สดับ แล้วพึงกำหนด ตั้งใจประพฤติปฏิบัติตาม
ก็จักได้ผลคือความสุข ความสำราญงอกงามในพระพุทธศาสนา
โดยนัยดังวิสัชนามา ด้วยประการฉะนี้



:b44: รวมคำสอน “พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=47595

:b44: ประวัติและปฏิปทา “พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=26908


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 มี.ค. 2014, 16:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 เม.ย. 2014, 10:14 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: ขออนุโมทนาสาธุค่ะ :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 เม.ย. 2014, 23:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 เม.ย. 2010, 08:10
โพสต์: 2830

แนวปฏิบัติ: ขันธ์5ด้วยการสังเกตุ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ และอินทรีย์22
สิ่งที่ชื่นชอบ: พระสุตตันตปิฎก
อายุ: 0
ที่อยู่: ระยอง อุบลราชธานี

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:

.....................................................
อย่าท้อถอยต่อการปฏิบัติ อย่าปล่อยให้ความขุ่นเคืองเข้าแทรก สร้างพลังด้วยคำสอนของพระพุทธเจ้า รำลึกและตอบแทนพระคุณมารดา และบิดา มองโลกด้วยใจเป็นกลาง ระลึกเสมอว่าเรายังด้อยปัญญาหากยังไม่ได้ปัญญา


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 10 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร