วันเวลาปัจจุบัน 17 เม.ย. 2024, 05:55  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 พ.ค. 2009, 10:43 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 12 พ.ค. 2009, 11:03
โพสต์: 37

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ไหว้พระประธาน ๗๗ จังหวัด

พระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี
พระประธานในหอพระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี
วัดคุ้งตะเภา บ้านคุ้งตะเภา ต.คุ้งตะเภา อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์


พระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี หรือ "หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์" วัดคุ้งตะเภา บ้านคุ้งตะเภา ต.คุ้งตะเภา อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ เป็น ๑ ใน ๙ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สำคัญคู่บ้านคู่เมืองอุตรดิตถ์ มีพุทธลักษณะปางมารวิชัย หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์บริสุทธิ์ หน้าตักกว้าง ๒ ศอกเศษ มีพุทธลักษณะงดงามตามแบบอย่างสกุลช่างสุโขทัย-เชียงแสน ซึ่งเป็นแบบที่พบได้น้อยมากและหายากที่สุด โดยเป็นพระพุทธรูปสำคัญเพียงองค์เดียวในจังหวัดอุตรดิตถ์ที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ทรงยกย่องเป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองอุตรดิตถ์ และทรงมีพระเมตตาธิคุณทรงตั้งพระนามขึ้นใหม่ถวายเป็นพุทธบูชาเป็นกรณีพิเศษ

หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์ เดิมนั้นทางวัดไม่เปิดเผยสถานที่ประดิษฐาน และไม่ให้บุคคลทั่วไปเข้าสักการะได้ถึงองค์พระเนื่องด้วยปัญหาด้านการรักษาความปลอดภัย โดยจะอัญเชิญหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีออกให้ประชาชนทั่วไป นมัสการได้ถึงตัวองค์พระเพียงในช่วงเทศกาลสงกรานต์เท่านั้น แต่ในปัจจุบัน วัดคุ้งตะเภา ได้สร้างห้องตู้กระจกนิรภัย พร้อมทั้งติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยอิเล็กทรอนิกส์แล้ว จึงทำให้สามารถเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าสักการะได้ทุกวัน โดยปัจจุบันหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีประดิษฐานอยู่ที่ หอพระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี วัดคุ้งตะเภา

:b39: พระพุทธลักษณะวินิจฉัย​​

หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์ เดิมองค์พระถูกพอกปูนลงรักปิดทองอารักขาภัยไว้ ตัวองค์พระสำริดดังปรากฏในปัจจุบันนั้นสันนิษฐานว่าสร้างในสมัยแรกก่อตั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ สกุลช่างเชียงแสนยุคปลายผสมสกุลช่างสุโขทัยยุคต้น หรือในช่วงยุครอยต่อการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัย เป็นรัชสมัยระหว่างพ่อขุนศรีอินทราทิตย์กับพญาลิไท มีอายุประมาณ ๘๐๐ ปี มีประวัติความเป็นมาและอภินิหารที่น่าสนใจยิ่ง

หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์นั้นจัดเป็นพระพุทธรูปเนื้อโลหะสัมฤทธิ์ ปางมารวิชัย ศิลปะสกุลสุโขทัย-เชียงแสน แปลงแบบท่านมหาสวน ปัจจุบันปรากฏเพียงไม่กี่องค์ในประเทศไทย ผู้ช่วยศาสตราจารย์เขียน ยิ้มศิริ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยศิลปากร ศิลปินชั้นเยี่ยมสาขาจิตรกรรม ได้กล่าวยกย่องคุณค่าทางศิลปะของพระพุทธรูปแบบหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์ไว้ในหนังสือ "พุทธานุสรณ์" ของท่านว่า พระพุทธรูปแบบหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์เช่นนี้ "เป็นศิลปะชั้นครู (Masterpiece)" ซึ่งนับว่าหายากมาก ทั้งหมดมีขนาดเท่ากันคือขนาดเท่าคน มีจุดเด่นที่พระพักตร์อันสงบงามยิ่ง

...อารมณ์การแสดงออกของท่านมีความสงบเป็นสำคัญ
ยิ่งดูท่านนานเพียงไร ก็ยิ่งจับใจในความสง่างามของท่านยิ่งขึ้นเพียงนั้น...


ผศ.เขียน ยิ้มศิริ


ผู้ช่วยศาสตราจารย์เขียน ยิ้มศิริ กล่าวอีกว่าพระพุทธสิหิงค์ องค์ที่ประดิษฐานในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบความงดงามสู้กับพระพุทธรูปแบบหลวงพ่อพระพุทธสุโข สัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีได้เลย เพราะพระพุทธรูปแบบหลวงพ่อพระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีนับว่ามีจิต วิญญาณภายในมากกว่า ดังนั้นจึงนับได้ว่าในด้านความมีวิญญาณผุดผ่องภายในเชิงศิลปะของหลวงพ่อพระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีนั้นนับได้ว่าเป็นเลิศ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ช่วยศาสตราจารย์เขียน ยิ้มศิริ ได้สรุปสันนิษฐานไว้เป็นแนวคิดของท่านว่า พระพุทธรูปแบบหลวงพ่อพระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีนั้น สร้างขึ้นโดย "ผู้มีภูมิสง่าราวกับกษัตริย์" หรือสร้างขึ้นโดยผู้มีบุญบารมีหรือโดยพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์ เพื่อประดิษฐานเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองนั่นเอง

​อาศัยข้อสันนิษฐาน​​​จาก​​​พระพุทธลักษณะขององค์หลวงพ่อสุ​​​โขทัยสัมฤทธิ์ ประกอบ​​ ​กับ​​​เกณฑ์การแบ่งยุคพระพุทธรูปสมัยสุ​​​โขทัยข้างต้นนี้​​ ​​จึง​​​สันนิษฐานว่าหลวงพ่อสุ​​​โขทัยสัมฤทธิ์ของวัดคุ้งตะ​​​เภาองค์นี้​​ ​ได้​​​สร้างขึ้นก่อน​​​​​สมัยสุ​​​โขทัยยุคที่​​ ๑ ​​หรือ​​​ร่วมสมัยยุคแรก​​ ​​ใน​​​ราว​​พุทธศตวรรษที่​​ ๑๗ ​​ถึง​​ ​​พุทธศตวรรษที่​​ ๑๘ ​​คำ​​​นวนอายุที่สร้างองค์หลวงพ่อก็นับว่า​​​ไม่​​​น้อยกว่า​​ ๘๐๐ ​​ปีมา​​​แล้ว

:b39: ตำนานความเป็นมาและอภินิหารโดยสังเขป

พระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี ได้สถาปนาขึ้นโดยพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์ เมื่อ ๘๐๐ ปีก่อน ​​​​ใน​​​ช่วงราวพุทธศตวรรษที่​​ ๑๗-๑๘ เพื่อประดิษฐานเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองภายในพระวิหารหลวง ​​​เป็นมิ่งขวัญ​​​ที่เคารพสักการะของชาวอาณาจักรโบราณที่รุ่งเรือง​​​และ​​​รุ่มรวย​​​ด้วย​​​อารยธรรมมานานหลายร้อยปี ​​ต่อมาเมื่อมีการสงครามรบทัพจับศึกโกลาหลจน​​​ถึง​​​ขั้นเสียเมือง​​ ​​ชาวบ้านที่มี​​​ใจศรัทธา​​​ไม่​​​ต้อง​​​การ​​​ให้​​​พระพุทธรูปอัน​​​เป็น​​​ที่​​​เคารพรัก​​​และ​​​หวงแหนยิ่ง ต้อง​​​ตกไป​​​อยู่​​​ใน​​​มือของข้าศึก​​ ​​จึง​​​ได้​​​ร่วมใจ​​​กัน​​​พอกปูนลงรัก​​​ไว้​​​เพื่ออำ​​​พรางปิดบังข้าศึก และด้วยพระพุทธบารมีองค์​​​หลวงพ่อพระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี​​​จึง​​​รอดพ้นภยันตรายจากข้าศึกมา​​​ได้​​ ​​แต่องค์หลวงพ่อพระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีก็​​​ต้อง​​​ถูกปิดบัง​​​พระพุทธลักษณะเอา​​​ไว้​​​เพื่อ​​​ความ​​​ปลอดภัยมานาน​​นับร้อย​​​​ๆ​​ ​​ปี​​ ​​นับแต่บัด​​​นั้น​​ ​​

รูปภาพ

:b39: สมัยกรุงรัตนโกสินทร์​

จวบจนยุคสมัยก้าวล่วง​​​เข้า​​​สู่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์​​ ​​ภายหลังยุคจลาจลเมื่อคราวสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ ไม่นาน องค์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬา​​​โลกมหาราช รัช​​​​กาลที่​​ ๑ ​​ได้ทอดพระ​​​เนตรเห็นพระพุทธรูป​​​ซึ่ง​​​อยู่​​​ตามหัวเมืองต่าง​​​​ๆ​​ ​​ทั้ง​​​ที่​​​เป็น​​​พระปูน​​ ​​พระ​​​โลหะ​​ ​​ซึ่ง​​​ถูกทอดทิ้ง​​​ไว้​​​อย่างน่า​​​เวทนา​​ภายในหัวเมืองโบราณต่างๆ ทั้งหัวเมืองเหนือและหัวเมืองล้านนา ทรงมีพระราชศรัทธาเปี่ยมล้นในอันที่จะฟื้นฟูพระพุทธศาสนาให้กลับคืนมารุ่งเรืองเหมือนเมื่อครั้งบ้านเมืองยังดี จึงมีพระบรมราชโองการให้​​​อัญเชิญเคลื่อยย้ายพระพุทธรูป​​​ซึ่ง​​​ถูกทอดทิ้งตามพระอารามร้างวิหารหลวงโบราณและ​​​จากวัดต่าง​​ ​​ๆ​​ ​​ทั่ว​​​พระราชอาณา​​​เขต​​ ​​​​​มารวบรวม​​​ไว้​​​ใน​​​พระนครเพื่อรอการอัญเชิญไป​​​ประดิษฐาน​​​ไว้​​​ยังพระอารามอันสมควรแก่การสักการบูชา​​ ​​โดย​​​ในครั้งนี้มีการอัญเชิญพระพุทธรูป​​​จาก​​​หัวเมืองต่าง​​​​ๆ​​ ​​มา​​​ยัง​​​กรุงเทพมหานคร​​ ​​มากกว่า​​ ๑,๒๔๘ ​​องค์​​ (หนึ่งพันสองร้อยสี่สิบแปดองค์) ​​ซึ่ง​​​พระพุทธรูปปูนปั้นหุ้มหลวงพ่อพระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีก็ได้​​​ถูกอัญเชิญมา​ใน​​​คราวเดียว​​​กัน​​นี้​​ ​​ใน​​​การ​​​นั้น​​ ​​ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ​​โปรดเกล้าฯ​​ ​​ให้​​​ประดิษฐานองค์หลวงพ่อพระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี และพระพุทธรูป​​​จาก​​​หัวเมืองต่าง​​​​ๆ​​ ​​ที่​​​ได้​​​รวบรวมมาประดิษฐาน​​​ไว้​​ ​​ณ​​ ​​พระระ​​​เบียง วัดพระ​​​เชตุพนวิมลมังคลาราม​​ ​​ที่ทรงบูรณปฏิสังขรณ์​​​เสร็จสิ้น​​​ใน​​​ปี​​ ​​พ​​.​​ศ​​. ๒๓๔๔

:b39: ประดิษฐานยังวัดราชบุรณะ (วัดเลียบ)

ต่อมาในปี​​ ​​พ​​.​​ศ​​. ๒๓๓๖ ​​พระสัมพันธวงศ์​​​เธอ​​ ​​เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์​​ ​​พระ​​​โอรส​​​ใน​​​สมเด็จพระ​​​เจ้าบรมวงศ์​​​เธอ​​ ​​เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ พระ​​พี่นางเธอ​​​ใน​​​รัชกาลที่​​ ๑ ​​ทรงทำ​​​การบูรณปฏิสังขรณ์วัดเลียบเสร็จ​​​แล้ว​​​ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬา​​​โลก​​มหาราช​​ ​​รัชกาลที่​​ ๑ ​​แห่งกรุงรัตนโกสินทร์​​ ​​ได้พระราชทานนามวัดว่า​​ "วัดราชบุรณราชวรวิหาร" ​​ตามนามวัดราชบุรณะ​​​ซึ่ง​​​เป็น​​​วัดคู่​​​เมืองราชธานีตลอดมาตั้งแต่สมัยสุ​​​โขทัย​​ ​​และ​​​ได้​​​มีพระบรมราชูปถัมภ์​​​ใน​​​การบูรณปฏิสังขรณ์​​​ด้วย กาลเวลาผ่านมาจน​​ ​​ในสมัย​​​รัชกาลที่​​ ๒ ​​พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย​​ ​​ทรงพระกรุณา​​​โปรดเกล้าฯ​​ ​​ให้​​​ถอนสีมาวัดราชบุรณราชวรวิหาร (วัดเลียบ) เก่า​​ ​​แล้ว​​​สร้างพระอุ​​​โบสถ​​​และ​​​พระวิหาร​​​ใหม่​​ ​​พร้อม​​​กับ​​​ทำ​​​การสร้างพระระ​​​เบียงล้อมรอบพระอุ​​​โบสถ​​ ​ภาย​​​ใน​​​อัญเชิญพระพุทธรูป​​​ซึ่ง​​​​พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬา​​​โลก​​ ​​ทรงพระกรุณา​​​โปรดเกล้าฯ​​ ​​ให้​​​นำ​​​มา​​​จาก​​​หัวเมืองรวม​​ ๑๖๒ ​​องค์​​ ​​มาประดิษฐาน​​​ไว้​​ ​​ซึ่ง​​​หนึ่ง​​​ใน​​​นั้น​​​ก็คือ องค์หลวงพ่อพระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี​​​ ด้วย

รูปภาพ
บรรยากาศหน้าสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ฝั่งพระนคร ปี พ.ศ. ๒๔๗๕
ด้านซ้ายคือตึกโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กลางภาพเห็นวัดราชบุรณราชวรวิหาร
(ก่อนถูกทำลายหมดทั้งวัดจากเครื่องบินทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรในปี พ.ศ. ๒๔๘๘)
เห็นภาพโรงไฟฟ้าวัดเลียบอยู่ด้านหลังวัด (ถูกทำลายในคราวสงครามโลกครั้งที่สองเช่นเดียวกัน)
และด้านขวามือสุดคือ พระปรางค์ วัดราชบุรณราชวรวิหาร
ศาสนสถานแห่งเดียวที่รอดจากการถูกทำลายจากระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตร


​​ :b39: รอดจากระเบิดสัมพันธมิตร

​กาลล่วงเลยมาจน​​​ถึง​​ปี ​​พ​​.​​ศ​​. ๒๔๘๘ ​​ใน​​​ระหว่างสงครามโลกครั้งที่​​ ๒ ​​วัดราชบุรณราชวรวิหารถูกระ​​​เบิดของฝ่ายสัมพันธมิตร​​ ​​ทำ​​​ให้​​​พระอุ​​​โบสถ​​ ​​พระวิหาร​​ ​​และ​​​​กุฏิ​​​เสนาสนะ​​​​เสียหายมาก​​ ​​คณะสังฆมนตรี​​​​ และ​​​คณะรัฐมนตรีในขณะ​​​นั้น​​​ มีมติว่า​​​​สมควรยุบเลิกวัดเสีย​​ ​​จึง​​​นำ​​​ความ​​​กราบบังคมทูล​​ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ ​​และ​​​ได้รับพระบรมราชานุญาตให้​​​ยุบเลิกวัดได้ ทางราชการจึงออกประกาศกระทรวงศึกษาธิการ​​ ​​ลงวันที่​​ ๓๐ ​​กรกฎาคม​​ ​​พ​​.​​ศ​​. ๒๔๘๘ ​​เมื่อถูกยุบเลิก​​ ​​ทางวัดได้​​​อนุญาต​​​ให้​​​วัดต่าง​​​​ๆ​​ ​​ใน​​​หัวเมือง​​​​อัญเชิญพระพุทธรูปที่พระระ​​​เบียงที่รอด​​​จาก​​​การถูกทำ​​​ลาย​​ ​​ไปประดิษฐาน​​​ยัง​​วัดของตน​​​ได้​​​ตามแต่ประสงค์​​ ​​หลัง​​​จาก​​​สงครามสงบลง​​​ใน​​​ปี​​​เดียว​​​กัน​​พระพุทธรูปเหล่า​​​นั้น​​​จึง​​​กระจายไป​​​อยู่​​​ตามวัดต่าง​​​ๆ

รูปภาพ
สถานที่แม่น้ำน่านเต็มตลิ่งถึงหน้าวัดเป็นอัศจรรย์
เป็นเหตุให้สามารถอัญเชิญหลวงพ่อพระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี
ขึ้นแพยังฝั่งแม่น้ำหน้าวัดคุ้งตะเภาเดิมได้
(แม่น้ำน่านในสมัยนั้นอยู่ห่างจากตลิ่งวัดไปกว่า ๑ กิโลเมตร)


​​ :b39: อัญเชิญขึ้นมายังอุตรดิตถ์

วัดคุ้งตะเภา ซึ่งในสมัยนั้นกำลังทำการก่อสร้างอุโบสถ และยังไม่มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่สำหรับเป็นพระประธานเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ จึงได้แจ้งความจำนงขอรับพระพุทธรูปเก่าจากวัดราชบุรณราชวรวิหารมาองค์หนึ่ง กรมการศาสนาจึงได้ส่งพระพุทธรูปโบราณทั้งที่เป็นพระปูนพระสัมฤทธิ์ รวมทั้งองค์หลวงพ่อพระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีที่เคยประดิษฐานที่พระระเบียงคต รวมจำนวน ๘ องค์ คู่กับรูปหล่อสัมฤทธิ์พระอัครสาวกที่เคยประดิษฐานเป็นพระอสีติมหาสาวก ๘๐ องค์ ภายในวิหารซึ่งเป็นพระที่รอดจากการทำลายจากระเบิดสัมพันธมิตรในครั้งนั้นมาด้วย

การเคลื่อนย้ายนั้น กรมการศาสนาได้อัญเชิญหลวงพ่อพระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีและพระพุทธ รูปอื่นๆ ขึ้นมายังจังหวัดอุตรดิตถ์โดยทางรถไฟมาลงที่สถานีรถไฟศิลาอาสน์ และอัญเชิญมาประดิษฐานเป็นการชั่วคราวที่วัดธรรมาธิปไตย ซึ่งเป็นวัดของพระเดชพระคุณพระสุธรรมเมธี (บันลือ ธมฺมธโช ป.ธ.๘) เจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์ในขณะนั้น โดยท่านได้ทำการจัดแบ่งถวายยังวัดต่างๆ ที่แจ้งความประสงค์มาโดยการเลือกบ้างจับสลากบ้าง พระปลัดป่วน ซึ่งยังเป็นเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภาในครั้งนั้นจึงได้ส่งมัคนายกวัดคุ้งตะเภา ๒ ท่าน คือทายกบุตร ดีจันทร์ และทายกอินทร์ รัตนมาโต มาที่วัดธรรมาธิปไตยเพื่อคัดเลือกและรับอัญเชิญพระพุทธรูปหลวงพ่อพระพุทธสุ โขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีมายังวัดคุ้งตะเภา โดยได้รับถวายรูปหล่อพระอัครสาวกมาจำนวน ๒ องค์เพื่อประดิษฐานคู่กับหลวงพ่อพระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีด้วย (ปัจจุบันรูปพระอัครสาวกทั้งสองได้สูญหายไปนานแล้ว)

การเคลื่อนย้ายหลวงพ่อพระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีมายังวัดคุ้งตะเภาในครั้งนั้น ทายกทั้งสองได้ชวนคนวัดและชาวบ้านร่วมกันอัญเชิญมาลงที่ท่าอิฐไม่ไกลจากวัดธรรมาธิปไตย และทวนแพมาขึ้นฝั่งหน้าวัดคุ้งตะเภาโดยทางแม่น้ำน่านในช่วงสงกรานต์ปี พ.ศ. ๒๔๘๙ ในครั้งนั้นเล่ากันมาว่ามีน้ำหลากสูงเต็มตลิ่งผิดปกติ ทำให้ชาวบ้านสามารถอัญเชิญหลวงพ่อพระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีขึ้นฝั่ง ตรงหน้าวัดบริเวณ ต้นโพธิ์หน้าศาลาการเปรียญได้เป็นอัศจรรย์

ในช่วงแรก ชาวบ้านคุ้งตะเภาได้ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นหลวงพ่อพระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี ไว้เป็นพระประธานบนบนศาลาการเปรียญเปิดโล่งสี่ทิศ หรืออาคารศาลาการเปรียญหลังเก่าที่สร้างมาแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๒ ซึ่งเป็นศาสนสถานหลักของวัดในสมัยนั้นก่อนจะมีการสร้างอุโบสถเพื่อประดิษฐาน ในช่วงหลัง โดยผู้เฒ่าผู้แก่เล่าสืบมาว่าหลังอัญเชิญหลวงพ่อพระพุทธสุโขสัมฤทธิ์ อุตรดิตถ์มุนีมาประดิษฐาน เป็นหลักชัยของวัดในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ ได้มีฝนตกต้องตามฤดูกาลเสมอมา ชาวบ้านคุ้งตะเภาในช่วงนั้นหากินได้อุดมสมบูรณ์มากกว่าปกติ และต่างเชื่อกันว่าเป็นเพราะความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธรูปที่นำมาจากวัดราชบุรณะ ในภายหลังจึงได้การขนานพระนามถวายองค์พระว่า "หลวงพ่อสัมฤทธิ์" ที่แปลว่า พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่บันดาลความสุขอุดมสมบูรณ์และความสำเร็จดังปรารถนา มาให้ จนในช่วงหลังพระสงฆ์ในวัดเรียกกันคุ้นปากว่า "หลวงพ่อสุโขทัยสัมฤทธิ์" ที่มีความหมายถึงความสุขเช่นเดียวกัน

ต่อมาในช่วงหน้าพรรษาปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้มีลมพายุพัดรุนแรงมากจนทำให้กิ่งไม้หักถูกศาลาการเปรียญต้ององค์พระปูนปั้นหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์ชำรุดจนเห็นเนื้อภายใน ทำให้พระสงฆ์วัดคุ้งตะเภาได้ทราบว่าพระพุทธรูปที่อัญเชิญมาแต่วัดราชบุรณะนั้นเป็นพระพุทธรูปเนื้อสัมฤทธิ์โบราณ จึงได้อัญเชิญไปประดิษฐานในอุโบสถของวัดคู่กับหลวงพ่อสุวรรณเภตรา พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สำคัญประจำวัดคุ้งตะเภา ปะปนกับพระพุทธรูปองค์อื่นๆ โดยไม่ได้เปิดเผยว่าเป็นพระเนื้อสัมฤทธิ์โบราณ และมีพระสงฆ์วัดคุ้งตะเภาเข้าจำพรรษาเฝ้าระวังหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์ทุกพรรษาในอุโบสถ ทำให้ในช่วงหลังนามหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์ได้ลืมเลือนไปจากชาวบ้านรุ่นที่ทันเห็นในคราวที่ยังเป็นพระพุทธรูปปูน จนถึงกลางปี พ.ศ. ๒๕๓๗ มีการบูรณะอุโบสถวัดคุ้งตะเภา พระสงฆ์จึงได้อัญเชิญองค์หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์เข้าประดิษฐานยังห้องลับของวัดจนถึงปี พ.ศ. ๒๕๕๒ จึงได้อัญเชิญองค์หลวงพ่อออกประดิษฐานให้ประชาชนสักการะเป็นการชั่วคราวในเทศกาลสงกรานต์ และในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ วัดคุ้งตะเภาได้สร้างตู้กระจกนิรภัยพร้อมกับติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยอิเล็กทรอนิกส์บนอาคารศาลาการเปรียญวัดคุ้งตะเภา และได้อัญเชิญองค์หลวงพ่อขึ้นประดิษฐานในหอพระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีประสิทธิมงคล เปิดโอกาสให้ประชาชนสักการะเป็นการถาวรจนถึงปัจจุบัน

:b39: งานนมัสการหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี

หลังจากที่วัดคุ้งตะเภาได้อัญเชิญหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี กลับมาสู่แดนมาตุภูมิ (แถบนี้เคยเป็นหัวเมืองของกรุงสุโขทัยในอดีต) ก็มิได้มีการเปิดให้สักการบูชาและเปิดเผยองค์หลวงพ่ออย่างเป็นทางการเช่นในอดีต เนื่องจากปัญหาด้านการรักษาความปลอดภัย เพราะองค์หลวงพ่อเป็นโบราณวัตถุที่ประเมินค่ามิได้ และเป็นที่ปรารถนาสำหรับพ่อค้าวัตถุโบราณ ทำให้ทางวัดจำเป็นต้องเก็บงำปูชนียวัตถุโบราณสำคัญยิ่งของชาติชิ้นนี้ไว้ในสถานที่ต่างๆ ภายในวัดโดยไม่ได้เปิดเผยให้ประชาชนทั่วไปทราบมานานกว่า ๖๐ ปี

ในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ วัดคุ้งตะเภาจึงได้ทำการเปิดเผยองค์หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี และเปิดโอกาสให้ทุกคนได้สักการะปิดทองสรงน้ำได้ถึงองค์พระ โดยจะอัญเชิญหลวงพ่อมาประดิษฐานให้ประชาชนทำการสักการบูชาได้เฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์เท่านั้น

จนในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ วัดคุ้งตะเภาได้สร้างตู้กระจกนิรภัยพร้อมกับติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัย อิเล็กทรอนิกส์บนอาคารศาลาการเปรียญวัดคุ้งตะเภา และได้อัญเชิญองค์หลวงพ่อขึ้นประดิษฐานในหอพระพุทธสุโขสัมฤทธิ์ประสิทธิมงคล เปิดโอกาสให้ประชาชนสักการะเป็นการถาวรจนถึงปัจจุบัน

รูปภาพ

:b39: พระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองอุตรดิตถ์

ด้วยฤทธานุภาพความศักดิ์สิทธิ์ขององค์หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี และพระพุทธศิลปะแบบสุโขทัย-เชียงแสนที่หาชมได้ยากยิ่ง ทำให้ในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอุตรดิตถ์ จึงได้ยกย่ององค์หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีเป็นพระพุทธรูปโบราณศักดิ์สิทธิ์สำคัญคู่บ้านคู่เมือง ๑ ใน ๙ องค์ ของจังหวัดอุตรดิตถ์ และวัดคุ้งตะเภาถูกบรรจุให้เป็นหนึ่งในเส้นทางทำบุญไหว้พระ ๙ วัด ของจังหวัดอุตรดิตถ์อีกด้วย และเนื่องในมหาศุภวาระมงคลดิถีสัมพุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปี (การฉลอง ๒๖ พุทธศตวรรษแห่งการตรัสรู้) ในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก องค์พระสังฆบิดรแห่งคณะสงฆ์ไทย จึงได้มีพระเมตตาธิคุณเปลี่ยนถวายพระนามองค์หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีใหม่ให้สอดคล้องกับชื่อจังหวัดอุตรดิตถ์ จากพระนามเดิม หลวงพ่อสุโขทัยสัมฤทธิ์ เป็น พระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี

โดยปรากฏข้อความทรงยกย่องในหนังสือตอบการประทานพระนามจากสำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ว่า

...เป็นพระพุทธรูปโบราณสำคัญของจังหวัดอุตรดิตถ์
ปางมารวิชัย ศิลปะเชียงแสน-สุโขทัย
เป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดอุตรดิตถ์...


การที่ทรงมีพระเมตตาธิคุณประทานเปลี่ยนพระนามใหม่ให้เป็น พระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี นั้น เพื่อให้คล้องกับพระนามเดิมที่รู้จักกันทั่วไป และต่อสร้อยให้คล้องกับนามจังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นนามพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ องค์หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์จึงมีพระนามใหม่ตั้งแต่นั้นมา

พระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี นับเป็นพระพุทธรูปโบราณทรงพลานุภาพความศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจให้ตั้งมั่นในพระพุทธศาสนามาช้านานนับ ๘๐๐ ปี และโดยเฉพาะอย่างยิ่งยังนับเป็นพระพุทธรูปศิลปะผสมเชียงแสน-สุโขทัย ศิลปะชั้นครู แบบที่หาพบได้น้อยมากและหายากที่สุดในประเทศไทย และในโลก จึงนับเป็นนิมิตหมายและสิริมงคลยิ่งของชาวจังหวัดอุตรดิตถ์ อันเป็นจังหวัดที่ประกอบด้วยกลุ่มชนพหุวัฒนธรรม ทั้งไทยกลางและไทยล้านนา ดุจเดียวกับพุทธศิลป์แห่งพระพุทธรูป บารมีแห่งพระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีได้ประดิษฐานเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง เป็นมิ่งขวัญสิริมงคล และเป็นหลักชัยแห่งชนชาวอุตรดิตถ์มาช้านาน

​​ :b39: ซุ้มประตูวัดคุ้งตะเภา

ซุ้มประตูวัดคุ้งตะเภา ตั้งอยู่บริเวณหน้าวัดริมทางแยกคุ้งตะเภา (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑๑ หรือ ถนนสายเอเชีย) ลักษณะซุ้มเป็นซุ้มประตูทรงไทยประยุกต์ศิลปะล้านนาขนาดใหญ่ ประยุกต์จากรูปแบบเจดีย์ผสมรูปแบบซุ้มประตูโขงแบบล้านนา บรรจุพระบรมสารีริกธาตุจำนวน ๓ องค์ บนองค์เจดีย์บนยอดซุ้ม ประดิษฐานพระพุทธรูปที่ซุ้มจรนัมทั้ง ๔ ด้าน ประดับเสาและตัวซุ้มด้วยลวดลายปูนปั้นสัตว์หิมพานต์และลายเครือเถา โครงซุ้มประตูทำด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กทั้งซุ้ม ฐานเสาเข็มเทปูนแท่งเสริมเหล็กลึก ๕ เมตร ขนาดกว้าง ๕ เมตร สูง ๑๙ เมตร ซุ้มประตูนี้สร้างแล้วเสร็จบริบูรณ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕


:b8: ขอขอบคุณที่มาของเนื้อหาและรูปภาพ
https://sites.google.com/site/watkungta ... thaisamrit
https://www.facebook.com/Watkungtaphao


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 พ.ค. 2009, 10:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 ก.พ. 2009, 04:12
โพสต์: 1067


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: สาธุค่ะ คุณคนไทเลย :b8:

.....................................................
...นฺตถิตัณหา สมานที...
ห้วงน้ำใหญ่โต เสมอด้วยตัณหาไม่มี


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.ย. 2013, 16:43 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2876


 ข้อมูลส่วนตัว


ขออนุโมทนาค่ะ :b8: ประวัติความเป็นมาของพระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี น่าสนใจมากเลยค่ะ ถือเป็นองค์พระพุทธรูปทรงคุณค่าอย่างแท้จริง ยังไม่เคยไปนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่วัดแห่งนี้มาก่อนเลย จะหาโอกาสไปที่วัดแห่งนี้ในเร็ววันนี้ค่ะ :b16:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ส.ค. 2015, 17:41 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b39: ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ
:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 3 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร