วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 23:33  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 110 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3, 4, 5, 6, 7, 8  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 มิ.ย. 2013, 15:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

• ณ คราหนึ่ง ธ เสด็จ ….ไปที่แคว้น
"กุรุ" แดน พารา…. มารศรี
หวังไปโรย โปรยธรรม…. นำชีวี
ต่อเศรษฐี บิดา…. "มาคันทิยา"

• ครั้นเศรษฐี พบพักตร์…. ประจักษ์แจ้ง
ราศรีแสง แห่งองค์…. พระยอดฟ้า
จึงหมายมั่น พันผูก…. ให้ลูกยา
ปรารถนา เกี่ยวดอง…. สองหัวใจ

• จึงคาดคั้น ร้องขอ…. รอตรงนี้
รีบจรลี บอกความ…. ที่หวามไหว
พ่อพบคน จำเพาะ…. เหมาะกว่าใคร
หวังเจ้าได้ ในสามี…. ที่สมกัน

• ทั้งสามคน รีบกลับ…. มารับเจ้า
แต่ได้เฝ้า เงาบาท…. พระทรงขวัญ
ข้างมารดา เพ่งมอง…. ร้องไห้พลัน
ตัวเริ่มสั่น หวั่นไหว…. ในฤดี

• โอ้บาทนี้ มีจักร…. สลักไว้
บาทยิ่งใหญ่ ในองค์…. พระชินสีห์
ล้วนเหลียวแล ชะแง้หา…. พระภูมี
ต่างเล็งชี้ นั่นไง…. ใต้ไม้เงา

• พรางโอ้อวด บุตรี…. นี้งามยิ่ง
สมเป็นหญิง มิ่งแม่…. แก้ความเหงา
ธ ทรงแย้ง แจ้งคำ…. ย้ำเบาเบา
อาตมาเผา เงามายา…. มาช้านาน

• สามธิดา งามโฉม…. ประโลมหล้า
มาไขว่ขว้า พาหลง…. พะวงหวาน
เรายังเมิน ไม่มอง…. ปองสราญ
แค่เถ้าถ่าน ปาน"มูตรกรีส"…. หรือติดใจ

ก่อนที่ “พระนางมาคันทิยา” จะได้รับการอภิเษกเป็นมเหสีของพระเจ้าอุเทนนั้น เดิมทีนางเป็นธิดาของเศรษฐีในแคว้นกุรุ เนื่องจากนางมีรูปงามดุจนางเทพอัปสร จึงมีเศรษฐี คฤหบดี ตลอดจนพระราชา จากเมืองต่างๆ ส่งสารมาสู่ขอมากมาย แต่บิดามารดาของนางก็ปฏิเสธทั้งหมดด้วยคำว่า “พวกท่านไม่คู่ควรแก่ธิดาของเรา” นางจึงครองความเป็นโสดเรื่อยมา

พระบรมศาสดาทรงพิจารณาเห็นอุปนิสัย แห่งพระอรหันต์ของสองสามีภรรยา จึงเสด็จมายังแคว้นกุรุ ฝ่ายพราหมณ์ผู้เป็นบิดา ของนางออกไปธุระนอกบ้าน พบพระศาสดาในที่ไม่ไกลจากบ้านของตนนัก เห็นพระลักษณะถูกตาต้องใจและคิดว่า “บุรุษผู้นี้แหละคู่ควรกับลูกสาวของเรา” พราหมณ์จึงเข้าไปกราบทูลพระบรมศาสดา ให้คอยอยู่ตรงนี้ก่อนตนจะกลับไปบอกนางพราหมณีภรรยาและนำลูกสาวมายกให้ จากนั้นรีบกลับไปบ้านแจ้งแก่ภรรยาว่าพบชายผู้คู่ควรกับลูกสาวแล้ว ขอให้รีบแต่ตัวลูกสาวแล้วพาออกไปโดยด่วน

ฝ่ายพระบรมศาสดามิได้ประทับอยู่ตรงที่เดิม แต่ได้อธิษฐานประทับรอยพระบาทไว้ แล้วเสด็จไปประทับในที่ไม่ไกลจากที่นั้น สองสามีภรรยาพร้อมด้วยลูกสาวมาคันทิยา มาถึงที่นั้น ไม่เห็นพระพุทธองค์ในที่นั้นก็มองหาจนพบรอยพระบาท พราหมณ์ผู้สามีจึงกล่าวว่า “นี่แหละคือรอยเท้าของชายคนนั้น”

เนื่องจากนางพราหมณีผู้ภรรยามีความเชียวชาญเรื่องมนต์ทำนายลักษณะฝ่าเท้า จึงบอกแก่สามีว่า “รอยเท้านี้มิใช่รอยเท้าของคนเสพกามคุณ เพราะธรรมดารอยเท้าของคนที่มีราคะ จะมีรอยเท้ากระหย่งคือเว้าตรงกลาง คนที่มีโทสะ รอยเท้าจะหนักส้น คนที่มีโมหะ รอยเท้าจะหนักที่ส่วนปลาย แต่รอยเท้านี้เป็นรอยเท้า ของคนไม่มีกิเลส ดังนั้น เจ้าของรอยเท้านี้จะไม่มีความยินดีในกามคุณ”

ฝ่ายพราหมณ์ผู้สามีไม่เชื่อคำนำนายของภรรยา พยายามมองหาจนพบพระบรมศาสดาแล้วกล่าวว่า

“ชายคนนี้แหละเป็นเจ้าของรอยเท้านั้นเป็นผู้ที่คู่ควรกับลูกสาวของเรา”

แล้วเข้าไปกราบทูลว่า “ท่านสมณะ ข้าพเจ้าจะยกธิดาให้เป็นคู่ชีวิตแก่ท่าน”

พระผู้มีพระภาค ตรัสห้ามแล้วตรัสต่อไปว่า “ดูก่อนท่านพราหมณ์ เมื่อตถาคตตรัสรู้ใหม่ๆ ธิดามาร ๓ คน ซึ่งมีร่างกายเป็นทิพย์สวยงามกว่าลูกสาวของท่านหลายเท่านัก มาประเล้าประโลมเราที่โคนต้นอชปาลนิโครธ เรายังไม่สนใจไม่พอใจ เหตุไฉนจะมาพอใจยินดี ในลูกสาวของท่านที่ร่างกายเต็มไปด้วยมูตรและกรีส (ปัสสาวะและอุจจาระ) ถ้าเท้าของเราเปื้อนฝุ่นธุลีมา และลูกสาวของท่านเป็นผ้าเช็ดเท้า เรายังไม่ปรารถนาจะถูกต้องลูกสาวของท่านแม้ด้วยเท้าเลย”

เมื่อตรัสดังนี้แล้ว ทรงแสดงธรรมโปรดสองสามีภรรยาจนได้บรรลุเป็นพระอนาคามี แล้วกราบทูลขออุปสมบทปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานนักก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ทั้งสองท่าน

ฝ่ายนางมาคันทิยาได้ยินพระดำรัสของพระศาสดาโดยตลอด รู้สึกโกรธที่พระพุทธองค์ ตำหนิประณามว่าร่างกายของนางเต็มไปด้วยอุจจาระปัสสาวะไม่ปรารถนาจะสัมผัสถูกต้องแม้ด้วยเท้า จึงผูกอาฆาตจองเวรต่อพระศาสดา เมื่อบิดามารดาออกบวชหมดแล้ว นางจึงได้ไปอยู่อาศัยกับน้องชายของบิดาผู้เป็นอา ต่อมาอาของนางคิดว่าหลานสาว ผู้มีความงามเป็นเลิศอย่างนี้ ย่อมคู่ควรแก่พระราชาเท่านั้น จึงนำไปถวายเป็นพระมเหสีของพระเจ้าอุเทน


ร้อยกรอง “ภาพพุทธประวัติ” โดย นก พลัดถิ่น

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 มิ.ย. 2013, 15:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

• มาคันทิยา คั่งแค้น…. แสนสาหัส
แค่บอกชัด ปัดมั่น…. ก็หวั่นไหว
มิต้องเทียบ เปรียบจับ…. กับสิ่งใด
น้ำตาไหล ฝังแค้น…. แน่นอุรา

• ธ สอนธรรม ฉ่ำชื่น…. ระรื่นศรี
สองเศรษฐี มีจิต…. คิดหรรษา
ต่างคิดตาม งามจิต…. ชิดธรรมา
ปรารถนา อรหันต์ …. พลันได้จริง

• ครั้นกาลผ่าน นางเด่น…. เป็นมเหสี
ความแค้นที่ มีเงา…. ยังเฝ้าสิง
ครั้นพุทธา มาแคว้น…. แค้นช่วงชิง
นางเริ่มวิ่ง วุ่นวาย…. หมายล้างองค์

• จ้างสถุล สกุลต่ำ…. มาย่ำด่า
ทุกเวลา คราประสบ…. พบพระสงฆ์
ด้วยคำด่า รุนแรง…. แช่งตรงตรง
อานนท์หลง ปลงไม่ได้…. อยากย้ายไป

• ธ ทรงแย้ง แจ้งคำ…. อย่าย่ำหนี
“อธิกรณ์มีเกิดดับ”…. จับหวั่นไหว
จะเลี่ยงเล้น เผ่นโผน…. กระโจนใย
เจ็ดวันไซร้ ไฟจบ…. สยบเอง


สมัยหนึ่ง พระบรมศาสดาเสด็จมายังเมืองโกสัมพี มีพระอานนท์เถระตามเสด็จมาด้วย พระนางมาคันทิยา ได้โอกาส จึงว่าจ้างทาส กรรรมกร และนักเลงพวกมิจฉาทิฏฐิ ผู้ไม่เลื่อมใสในพระรัตนตรัย ให้ติดตามด่าพระพุทธองค์ไปในทุกหน ทุกแห่งทั่วทั้งเมืองด้วยคำด่า ๑๐ ประการ คือ เจ้าเป็นโจร เป็นคนพาล เป็นคนบ้า เป็นอูฐ เป็นลา เป็นวัว เป็นสัตว์นรก เป็นสัตว์ดิรัจฉาน สุคติของเจ้าไม่มี เจ้ามีแต่ทุคติอย่างเดียว

พระอานนท์เถระได้ฟังแล้วสุดที่จะทนไหว จึงกราบทูลให้พระพุทธองค์ เสด็จไปยังเมืองอื่น

พระพุทธองค์จึงตรัสถามว่า “อานนท์ ถ้าคนที่เมืองนั้นด่าเราอีก เราจะทำอย่างไร ?”

“ก็เสด็จไปที่เมืองอื่นต่อไปอีก พระเจ้าข้า”

“ถ้าคนที่เมืองนั้นด่าเราอีก เราจะทำอย่างไร ?”

“ก็เสด็จไปที่เมืองอื่นต่อไปอีก พระเจ้าข้า”


“ดูก่อนอานนท์ ถ้าทำอย่างนั้นเราก็จะหนีกันไม่สิ้นสุด ทางที่ถูกนั้นอธิกรณ์เกิดขึ้นในที่ใด ก็ควรให้อธิกรณ์สงบระงับในที่นั้นก่อนแล้วจึงไป”

พระพุทธองค์ตรัสต่อไปอีกว่า “ดูก่อนอานนท์ ธรรมดาอธิกรณ์เกิดขึ้นแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลายแล้ว ย่อมไม่เกิน ๗ วัน ก็จะสงบระงับไปเอง”



ร้อยกรอง “ภาพพุทธประวัติ” ประพันธ์โดย นก พลัดถิ่น

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 มิ.ย. 2013, 15:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 มิ.ย. 2013, 15:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

• ฝ่าย “จิญจมาณวิกา”…. มารศรี
เห็นมุนี ที่สง่า…. พาไหวหวาน
ด้วยฤทธิ์รัก สลักท้น…. ล้นดวงมาน
นางเอ่ยขาน ผ่านคำ…. อยู่ร่ำไป

• พระชินสีห์ หนีห่าง…. นางยิ่งรั้น
ก้าวกระชั้น หมั่นเวียน…. เพียรหลงใหล
พระพุทธเจ้า อิดหนา… ระอาใจ
ทรงขับไล่ ด้วยคำ…. ย้ำรุนแรง

• นางเคียดแค้น ชิงชัง…. ประดังแน่น
ประจวบแผน เดียร์ถี…. ที่กำแหง
จึงเกลาไม้ ผูกท้อง…. ย่องแสดง
ให้คนแหนง แคลงใจ…. ในภควัน

• ประกาศให้ ได้รู้…. ชู้คือท่าน
ยามรักหวาน พยานเลิศ…. เกิดท้องฉัน
ยามแหนงหน่าย คลายรัก…. ไม่ทักกัน
ทำหุนหัน พลันเผย…. เย้ยไยไพ

• พระสัมมา ว่าเตือน…. ฟั่นเฟือนแล้ว
หยุดเถอะแ้ก้ว กานดา…. อย่าเหลวไหล
มาทำพูด ปูดความ…. ตามแต่ใจ
บาปรู้ไหม ให้ร้าย…. ไม่ตายดี

• องค์อัมรินทร์ ยินความ…. ล้วนหยามหยัน
สุดจะกลั้น หมั่นไส้…. มารศรี
จึงจำแลง แปลงกาย…. ด้วยฤทธี
เป็นหนูผี กัดเชือกผูก…. ลูกไม้กลม

• นางหวีดร้อง ก้องไห้…. ไปทั้งโบสถ์
ผู้คนโกรธ โทษนาง…. ต่างผสม
ฉวยไม้ได้ ไล่ตี…. ถี่ระบม
แม้นางล้ม ขย่มฟาด…. เลือดสาดนอง

• นางวิ่งหนี คนไล่…. ไปท้ายสวน
ธรณีป่วน ด่วนกระชาก…. ลากสยอง
อยู่ต่ำใต้ นรกานต์…. ล้านจำจอง
โทษกล่าวร้อง ท้องปลอม…. พร้อมระราน

“จิญจมาณวิกา” เป็นสตรีที่เชื่อว่ามีชีวิตอยู่ในพุทธกาล มีการกล่าวไว้ สองเรื่องไม่ตรงกัน บ้างว่าพวกเดียรถีย์ที่เสื่อมลาภหลังผ่ายแพ้การแสดงยมกปาฎิหารย์ ได้ว่าจ้างนางให้ใส่ร้ายพระพุทธเจ้า บ้างก็ว่านางหลงรักพระพุทธเจ้า ตามเกี้ยวพาราสี แต่พระุพุทธเจ้าตรัสปฏิเสธรุนแรงหลายครั้ง จนนางเกิดความเคียดแค้น จึงสร้างเรื่องมีครรภ์กับพระพุทธเจ้า (ส่วนตัวข้าพเจ้า นก พลัดถิ่น ขอร้อยกรองบนพื้นฐาน ว่านางหลงรักพระพุทธเจ้าจริง เมื่อสบช่องที่พวกเดียร์ถีว่าจ้าง จึงรับทำงานอย่างเต็มใจ)

ในขณะที่พระบรมศาสดาเสด็จประทับ ณ เชตุวันมหาวิหาร นครสาวัตถี พระภิกษุสงฆ์ อุบาสก อุบาสิกา เป็นอันมากได้สำเร็จมรรคผล ทำให้เกิดลาภสักการะในพระพุทธศาสนามากมาย ฝ่ายพวกเดียรถีย์นักบวชนอกศาสนา หลังจากผ่ายแพ้ ในคราวแสดงยมกปาฎิหารย์ ก็เสื่อมลาภ หมดอำนาจ ผู้คนนับถือน้อยลงพากันอิจฉา คิดจะกำจัดพระพุทธองค์เสีย จึงได้ว่าจ้างนางจิญจมานวิกา ให้กล่าวโทษใส่ร้ายพระศาสดา วันหนึ่งขณะที่ฝูงชนกำลังฟังธรรมเทศนาอยู่ นางได้เอาท่อนไม้รองในมีผ้าเก่าพันท้องให้โตขึ้นเหมือนกับว่าตั้งครรภ์แก่ แล้วให้พวกเดียรถีย์เอาไม้ทุบหลังมือหลังเท้า ให้บวมคล้ายหญิงมีคครภ์จวนคลอด เข้าไปยืนอยู่ข้างหน้าฝูงชนแล้วกล่าว หาว่าพระพุทธเจ้ากระทำให้นางตั้งครรภ์ แล้วไม่รับผิดชอบ

โดยในพระไตรปิฎกกล่าว ว่านางได้ให้ร้ายพระโคตมพุทธเจ้า ในธารกำนัลว่าทำให้นางตั้งครรภ์ ดังมีในพุทธชัยมงคลบทที่ ๒๕ ความว่า

"กัต ตวานะ กัฏฐะมุทะรัง อิวะ คัพภินียา จิญจายะ ทุฏฐะวะจะนัง ชะนะกายะมัชเฌ สันเตนะ โสมะวิธินา ชิตะวา มุนินโทตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ" = "นางจิญจมาณวิกาใช้ไม้มีสัณฐานกลมใส่ที่ท้อง ทำอาการประหนึ่งว่ามีครรภ์ เพื่อกล่าวร้ายพระพุทธเจ้า พระจอมมุนีก็เอาชนะได้ ด้วยวิธีสงบระงับพระทัย ในท่ามกลางหมู่คน ด้วยเดชะอันนี้ ขอชัยมงคลจงมีแก่เรา"

อดีตชาตินางนางจิญจมาณวิกา เคยเกิดเป็นนางอมิตดาภรรยาของเฒ่าชูชก ในสมัยพระเวสสันดรโพธิสัตว์ (ต่อมาชูชกเกิดเป็นพระเทวทัต) แต่ชาตินี้นางได้เกิดเป็นธิดาเศรษฐี มีความสวยเป็นเลิศ วันหนึ่งนางเห็น พระพุทธเจ้ากำลังบิณฑบาตผ่านมาเกิดความหลงรัก จึงออกไปยืนขวางทาง แล้วกล่าววาจาเกี้ยวพาราสี ชวนให้พระศาสดามาแต่งงานด้วย พระพุธเจ้า ได้ตรัสปฏิเสธ และบอกให้นางหลีกทางไปเสีย แต่นางก็ไม่ฟังยังยืนขวางทาง และพูดเกี้ยวพาราสีพระองค์อยู่อย่างนั้น เมื่อทรงเห็นว่านางจิญจมาณวิกา ไม่ยอมหลีกทางแน่ๆ พระศาสดาจึงตรัสออกไปว่าพระองค์ไม่เคยคิด ต้องการจะแต่งงานหรืแตะต้องผู้หญิงอย่างนาง แม้แต่ปลายพระบาทของพระองค์ ก็ยังไม่ต้องการจะให้ถูกกับตัวนางอีกด้วย

เมื่อนางจิญจมาณวิกาได้ฟังพุทธวาจาเช่นนั้น ก็โกธรแค้น และผูกใจเจ็บเป็นกำลัง ตั้งแต่นั้นมานางก็คอยหาโอกาสกลั่นแกล้งพระพุทธเจ้าให้เสื่อมเสีย วันหนึ่งนางจิญจมาณวิกาได้ร่วมกับพวกเดียรถีย์ สร้างเรื่องใส่ร้ายพระพุทธเจ้า โดยเอาไม้มาเหลาให้เป็นรูปทรงชามอ่าง แล้วร้อยเชือกผูกติดกับหน้าท้องของนาง แล้วเอาผ้าปิดทับไว้ให้ดูเหมือนคนท้อง แล้วเข้าไปในที่ประชุมในพระวิหาร ขณะที่ที่พระศาสดากำลังแสดงพระธรรมเทศนาอยู่ นางกล่าวหาพระพุทธองค์ ว่าเป็นคนทำให้นางท้องแล้วไม่รับผิดชอบ

พระพุทธเจ้าทรงตรัสห้ามไม่ให้นางกระทำเช่นนั้น เพราะจะเป็นกรรมหนัก แต่นางก็ยังไม่ยอมเลิกรา ยังคงยืนด่าว่า พระศาสดาอยู่อย่างนั้น ท้าวสักกะทนฟังไม่ไหวจึงแปลงร่างเป็นหนู เข้าไปกัดเชือกที่ผูกไม้ติดกับหน้าท้อง ทำให้ไม้ทรงชามอ่างหล่นลง ถูกนิ้วเท้านางจิญจมาณวิกาถึงแตกเลือดไหลโทรม นางจิญจมาณวิกากรีดร้อง ด้วยความเจ็บปวด อีกทั้งอับอายที่ความแตก หมู่ชนที่ฟังเทศน์ของพระบรมศาสดา เห็นขอเท็จจริงเช่นนั้น ก็เคียดแค้นพากันไล่ตีนางจิญจมาณวิกา นางจึงรีบวิ่งหนี ออกไปนอกพระวิหาร ทันทีที่เท้าเตะพื้นแผ่นพระธรณี พื้นปฐพีก็แยกสูบเอานางลง สู่นรกอเวจีในทีนที สถานที่ที่นางถูกธรณีสูบอยู่สระโบกขรณี ที่ติดกับสถานที่ที่ “พระเทวทัต” ถูกธรณีสูบ


ร้อยกรอง “ภาพพุทธประวัติ” โดย นก พลัดถิ่น

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 มิ.ย. 2013, 15:17 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 มิ.ย. 2013, 15:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 มิ.ย. 2013, 15:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

• พรรษายี่สิบ ณ แดน ….แคว้นโกศล
ฤกษ์ดาวดล คนเกิด ….ตามเลขผา
“องคุลีมาล” กำเนิด ….เกิดเวลา
ฤกษ์มหา ดาวโจร ….โดนทำนาย

• จะเป็นโจร ยิ่งใหญ่ ….ใครก็หวั่น
จะฆ่าฟัน บั่นเศียร ….จนเหี่ยนหาย
มากประชา ข้าราษฎร์ ….อาจต้องตาย
จึงถวาย ราชา ….ให้ฆ่าฟัน

• พระเจ้าปเสนทิโกศล
คิดแยบยล ใยฆ่า ….ให้อาสัญ
ควรเลี้ยงดู ชูคิด ….จิตสำคัญ
ไม่ควรหวั่น พลั่นจิต ….ติดนาที

• ปุโรหิต ผู้พ่อ ….ขอกำหนด
ชื่องามงด “อหิงสกะ” ….ละหลีกหนี
"ไม่เบียดเบียน" เวียนฆ่า ….ประชาชี
เสริมราศรี ส่งเพียรเรียน ….ตักศิลา

• “อหิงสกะ” ใฝ่เรียน ….เพียรขยัน
เพื่อนเกิดหวั่น โกรธขึ้ง ….จึงอิจฉา
เที่ยวเป่าหู จนครูร้อน ….ถอนปัญญา
ลืมคิดหน้า คิดหลัง ….เพราะพลั้งตรอง

• อุบายออก บอกให้ ….ไปฆ่าคน
หนึ่งพันพ้น ตนได้ ….ในสิ่งของ
จะสำเร็จ เสร็จเรียน ….ที่เพียรปอง
ศิษย์สนอง ย่องฆ่า ….เป็นบ้าบอ

• ฝ่ายมารดา รู้ความ ….ตามมาหา
ปรารถนา ให้หยุด ….จึงรุดขอ
เก้าร้อยเก้า สิบเก้านิ้ว ….เขาห้อยคอ
จนเกือบก่อ มาตุฆาต ….เพราะพลาดตรอง

• ธ เสด็จ ทรงโปรด ….ลดโทษนี้
จรลี ผ่านหน้า ….คล้ายหาของ
อหิงสกะ ละแม่ ….แน่สมปอง
นัยน์ตาจ้อง มองแล ….แค่ภควัน

• ยิ่งวิ่งไล่ ไขว่คว้า ….ยิ่งพาหลง
เริ่มงุนงง สงสัย ….ใฝ่ถลัน
เพราะเหตุใด ความห่าง ….มิต่างกัน
แค่กระชั้น ชิดใกล้ ….ก็ไม่มี

• โปรดเถอะนะ พระหยุด ….ณ จุดนั้น
ตอบหม่อมฉัน ได้ไหม ….ใยทรงหนี
ใยมิหยุด พูดจา ….กล่าวพาที
พระชินสีห์ คลี่ความ ….ที่ถามมา

• เราหยุดแล้ว แก้วเกิด ….ประเสริฐใส
แล้วเหตุใด ตัวเจ้า ….มิหยุดหา
เที่ยววิ่งไล่ ฆ่าคน ….เป็นผักปลา
กลับมีหน้า ว่าเรา ….ไม่หยุดที

• อหิงสะกะ ละดาบ ….กราบบาทเจ้า
ขอยึดเงา เฝ้าบวช ….กวดชินสีห์
ธ แย้มยิ้ม เมตตา ….ด้วยอารีย์
เชตวัน สาวัตถี ….นี้รอองค์

พรรษาที่ 20 ประทับจำพรรษาที่วัดเวฬุวัน นครราชคฤห์ พระชนมายุ 54 พรรษา โปรดมหาโจรองคุลิมาล พระอานนท์ได้รับหน้าที่เป็นพุทธอุปัฏฐากประจำ

ในแคว้นโกศล มีพราหมณ์ปุโรหิตผู้หนึ่งได้บุตรชาย ทราบด้วยฤกษ์ยามว่า บุตรชายของตนเกิดมาในฤกษ์ดาวโจร จึงกราบทูลให้พระเจ้าปเสนทิโกศลสังหารเสีย แต่พระเจ้าปเสนทิโกศลเห็นว่าเด็กไม่มีความผิดจึงไม่ฆ่า พราหมณ์จึงตั้งชื่อบุตรของตนว่า “อหิงสกะ” แปลว่า ผู้ไม่เบียดเบียน

เมื่ออหิงสกะโตขึ้นเป็นหนุ่มรูปงามร่างใหญ่ ได้ไปเรียนวิชาที่สำนักทิศาปาโมกข์ แห่งนครตักศิลาซึ่งเป็นสำนักที่มีชื่อ เสียงมากโดยเฉพาะวิชาอาถรรพเวท อหิงสกะเป็นผู้เรียนดี ความประพฤติอ่อนน้อมและมีความสามารถมาก เป็นที่รักใคร่ของอาจารย์มากกว่าศิษย์คนอื่น จึงทำให้เพื่อนศิษย์ด้วยกันเกิดความอิจฉาริษยา ประจบเอาใจอาจารย์ และหาเรื่องใส่ร้ายเป่าหูอาจารย์ว่าอหิงสกะอาจจะสำเร็จเป็นพรหมก่อนอาจารย์ และจะตั้งตนเป็นใหญ่แทน อาจารย์หลงชื่อคำยุยง จึงสร้างเรื่องและพร่ำบอกให้ สังหารคน จำนวน 1000 คน เพื่อบรรลุธรรม “อหิงสกะ” หลงชื่ออาจารย์ และสังหารคนมาแล้ว 999 คน

พระพุทธเจ้าทราบด้วยญาณว่า อหิงสกะผู้นี้สามารถสั่งสอนให้บรรลุธรรมเป็นอรหันต์ได้ แต่หากทำ มาตุฆาต จะทำให้ท่านไม่สามารถบรรลุอรหันต์ได้ ไม่ว่าจะทำความเพียรอย่างไร เพราะเป็น อนันตริยกรรม จึงเสด็จไปช่วย ในขณะที่ อหิงสกะ กำลังไล่ล่าจะฆามารดาอยู่ พระพุทธเจ้าได้เสด็จดำเนินไปใกล้ให้เห็น เมื่อ “อหิงสกะ” เห็นพระพุทธเจ้า ก็เปลี่ยนใจไม่อยากฆ่าแม่ตัวเอง จึงไล่ตามพระุพุทธเจ้า แต่ยิ่งตาม ยิ่งวิ่งเท่าใด ระยะห่างก็ยังคนเท่าเดิม จน “อหิงสกะ” เหนื่อยหอบ จึงร้องตะโกนให้พระูพุทธเจ้าหยุดดำเนิน

“หยุดก่อนสมณะ” โจรองคุลิมาลตะโกนเรียก

“เราหยุดแล้ว ท่านสิยังไม่หยุด”

พระพุทธองค์ตอบ

“อะไรกัน ก็ยังดำเนินอยู่หน้าเราทำไมถึงบอกว่าหยุดแล้ว” องคุลิมาลตะโกน

“หยุดก่อนสมณะ สมณะหยุดก่อน”

พระพุทธองค์ยังคงอยู่ตรงหน้าจึงตะโกนอีกครั้ง

“เราหยุดแล้ว แต่ท่านนั่นแหละที่ยังไม่หยุด” ทรงดำเนินไปตามปกติ และตรัสตอบเหมือนเดิม

“ดูกร สมณะ ท่านเป็นบรรพชิตชอบที่จะมีคำสัตย์ให้สมกับเพศ ยังเดินอยู่หน้าเรา แต่กลับบอกว่าหยุดแล้ว ส่วนเราหยุดแล้วท่านกลับบอกว่าไม่หยุด เหตุไฉนจึงพูด ไม่เป็นความจริงอย่างนี้เล่า”

องคุลิมาลได้ฟังบังเกิดความขัดใจ พูดตำหนิไปว่า

“อหิงสกะ ตถาคตกล่าวแต่ความจริงปกติ” พระพุทธองค์หยุดประทับยืนรับสั่งว่า

“เราไม่เชื่อ” อหิงสกะกล่าวตอบ

“ดูกร อหิงสกะ ที่ตถาคตกล่าวว่าเราหยุดแล้ว คือหยุดฆ่าหยุดเบียดเบียน หยุดแสวงหาในทางที่ผิด หยุดดำเนินไปในทางทุจริตสิ้นหมดทุกประการ แต่เธอนั้นมีสันดานพาลแรงกล้าไม่ยอมหยุด มือนั้นยังถืออาวุธหมายจะเข่นฆ่า แต่ปากกลับบอกว่าหยุดแล้ว น่าละอายนัก ท่านสิกล่าวคำเท็จ เหตุใดจึงมาว่าเราอีก”

เมื่อได้ฟังดำรัสของพระผู้มีพระภาค อหิงสกะก็เกิดดวงตาเห็นธรรม เข้าใจความหมายของพระพุทธองค์ที่ทรงเทศนาสั่งสอนได้ในเวลานั้น องคุลิมาลทิ้งดาบแล้วก้มลงกราบแทบพระบาทของพระพุทธองค์ แล้วทูลขอบวชตามเสด็จพระบรมศาสดากลับไปยังวัดเชตวันในกรุงสาวัตถี ต่อมาองคุลิมาลก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์


ร้อยกรอง “ภาพพุทธประวัติ” โดย นก พลัดถิ่น

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 มิ.ย. 2013, 15:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 มิ.ย. 2013, 15:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 มิ.ย. 2013, 15:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

• อีกอัคร สาวิกา ….ผู้กล้าหาญ
เป็นลูกหลาน พารา…. สาวัตถี
ชื่อ “อุบลวรรณา”.… เพราะผิวดี
ลูกเศรษฐี ที่งาม…. สามโลกา

• เพราะงามเงื้อน เหมือนเดือน…. ที่แจ่มใส
คนหลงใหล ใฝ่ปอง…. มองฝันหา
ต่างเร่งเร้า อยากเรียง…. เคียงวิวาห์
แต่กานดา ไม่ประสงค์…. ร่วมวงศ์วาร

• ครั้นบวชเพียร เรียนธรรม…. ก็ช้ำหมอง
เพราะคนปอง ย่องหา…. มาพล่าผลาญ
"นันทมาณพ" แอบดู…. รู้นงคราญ
ภิกษาหาร ผ่านทาง…. ที่ร้างคน

• จึงแอบซ่อน นอนอยู่…. ในกุฎี
ทำบัดสี ย่ำยี…. มีฉ้อฉล
ครั้นสำเร็จ เสร็จกาม…. ย่ามกมล
พอเท้าพ้น แตะดิน…. ก็สิ้นบุญ

• พระธรณี ถี่กระชาก…. ลากไม่ยั้ง
ดินกลบฝัง ทั้งเป็น…. เข่นสถุล
เจ้าคนบาป หยาบช้า…. ไร้การุณ
เพราะหมกมุ่น ตัณหา…. ต้องฆ่าตาย

• พวกพระสงฆ์ ส่งเสียง…. เถียงกันลั่น
ความสำคัญ เรื่องกาม…. นิยามหมาย
ธ ทรงแจ้ง ใหคิด…. เรื่องติดกาย
อย่าขวนขวาย หมายรู้…. ดูนอกตน

• ธ ดำริ เถรี…. ที่อยู่ป่า
ควรเข้ามา อยู่เมือง…. ให้เฟื่องผล
"ปเสนทิ" รับสนอง…. มองผู้คน
ช่วยกันขน ก่อสร้าง…. วางกุฎี

• มีคราหนึ่ง เช็ดถู…. อุโบสถ
นางกำหนด เพ่งมอง…. จ้องไฟสี
เห็นแสงไฟ ไหววูบ…. รูปร่างมี
เกิดความถี่ เปลี่ยนแปลง…. เหมือนแสร้งลวง

• มีบางครั้ง โชตนา…. จ้าแสงใส
เหมือนคนได้ ไปดี…. อยู่ที่สรวง
บ้างเกือบดับ คลับคล้าย…. ไร้เงินยวง
ก็คือช่วง ตกถลำ…. ต่ำอบาย

• นางพิศเพ่ง เล็งมอง…. ส่องกสิณ
เตโชดิ้น ให้ดู…. รู้ความหมาย
ทั้งที่มี ไส้น้ำมัน…. นั่นคือกาย
แตกสลาย พ่ายดับ…. เหมือนกับคน

• นางรู้ดับ จับคิด…. จิตผ่องใส
แสงไสว ในปัญญา…. พาเกิดผล
อรหันต์ นั้นกระจ่าง…. สร้างตัวตน
จึงหลุดพ้น ค้นพบ…. จบนิพพาน

• พระเถรี เรืองฤทธิ์…. ทุกทิศา
เหมือนโมคคัลลา กล้าเลิศ…. เกิดห้าวหาญ
ธ ให้เป็น เอตทัคคะ…. พระเชี่ยวชาญ
อัครซ้าย ชำนาญ…. ชาญฤทธี

“พระอุบลวรรณาเถรี” พระพุทธเจ้ายกย่องให้เป็นอัครสาวิกาเบื้องซ้าย เป็นเอตทัคคะในฝ่ายผู้มีฤทธิ์ เทียบเท่าพระโมคคัลลานะ “เอตทัคคะในฝ่ายผู้มีฤทธิ์”

ในอดีตชาติ คือ กัณหาชินาราชกุมารี พระธิดาของพระเวสสันดร

“พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนามหาเวสสันดรชาดก ซึ่งประดับด้วยคาถา ๑,๐๐๐ คาถานี้มาแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ในกาลก่อนมหาเมฆก็ยังฝนโบกขรพรรษให้ตก ในที่ประชุมแห่งพระประยูรญาติของเราอย่างนี้เหมือนกัน”
ตรัสดังนี้แล้ว ทรงประชุมชาดกว่า

….พราหมณ์ชูชกในกาลนั้น คือ ภิกษุเทวทัต.
….นางอมิตตตาปนา คือ นางจิญจมาณวิกา.
….พรานเจตบุตร คือ ภิกษุฉันนะ.
….อัจจุตดาบส คือ ภิกษุสารีบุตร.
….ท้าวสักกเทวราช คือ ภิกษุอนุรุทธะ.
….พระเจ้าสญชัยนรินทรราช คือ พระเจ้าสุทโธทนมหาราช.
….พระนางผุสดีเทวี คือ พระนางสิริมหามายา.
….พระนางมัทรีเทวี คือ ยโสธราพิมพา มารดาราหุล.
….ชาลีราชกุมาร คือ ราหุล.
….กัณหาชินาราชกุมารี คือ ภิกษุณีอุบลวรรณา.
….ราชบริษัทนอกนี้ คือ พุทธบริษัท.
….พระเวสสันดรราช คือ เราเองผู้สัมมาสัมพุทธเจ้า แล.

พระอุบลวรรณาเถรี เกิดในตระกูลเศรษฐี ในกรุงสาวัตถี บิดามารดาได้ตั้งชื่อให้นางว่า “อุบลวรรณา” ตามนิมิตลักษณะที่นางมีผิวพรรณเหมือน กับดอกอุบลเขียว เพราะสวยบาดใจจึงต้องให้บวช เนื่องด้วยพระเถรีงดงามเป็นอย่างยิ่ง จึงมีกษัตริย์และมหาเศรษฐี มาสู่ขอพระนาง แต่บิดานางมิอาจยกให้ใครได้ เพราะเกรงจะกระทบใจคนที่ไม่ได้แต่งงานกับพระเถรี จึงถามความสมัครใจพระเถรี ว่าอยากบวชหรือไม่ ซึ่งพระนางก็คิดเช่นนั้นเหมือนกัน จึงเข้าไปขอบวช กับพระพุทธเจ้าที่พระวิหารเชตวัน ทรงรับนางอุบลวรรณาไว้ให้บรรพชา ในสำนักภิกษุณีตามประสงค์ เมื่อนางอุบลวรรณาบวชแล้ว ไม่นานนัก นางก็เข้าช่วยทำความสะอาดอุโบสถ โดยผลัดเปลี่ยนกับเพื่อนพรหมจรรย์เป็นวันๆ ต้องปัดกวาดปูอาสนะและตามประทีปในเวลากลางคืน

ค่ำวันหนึ่ง ขณะที่นางอุบลวรรณาตามประทีปแล้ว ก็ปัดกวาดอุโบสถอยู่ มองเห็นเปลวประทีปต้องลมพัด มีลักษณะอาการต่างๆ ปรากฏแก่สายตาของนาง คือลุกโพลงขึ้น ริบหรี่ลงบ้าง บางดวงดับต้องจุดใหม่ บางดวงอยู่ในตำแหน่งที่ไม่โดนลม ไฟก็ลุกโพลงอยู่สม่ำเสมอดี นางอุบลวรรณาได้กำหนดเอาเปลวไฟนั้นมาเพ่งพินิจ ทำให้เห็นชีวิตของสัตว์ทั้ง หลายคล้ายดวงประทีปที่ลุกโพลงอยู่ด้วยอำนาจ ของไส้และน้ำมันชีวิตของสัตว์ก็ เช่นกัน อาศัยธาตุทั้ง ๔ และข้าวน้ำหล่อเลี้ยงชีวิตให้ดำรงอยู่

นอกจากนั้นยังถูกกรรมนำให้ประสบเหตุการณ์ต่างๆ ทำให้เป็นสุขบ้าง ทำให้ เป็นทุกข์บ้าง ทำให้เจริญขึ้นบ้าง ทำให้เสื่อมลงบ้าง เหมือนดวงประทีปต้องลมฉันใดก็ฉันนั้น บางครั้งแม้ไส้น้ำมันยังบริบูรณ์อยู่แต่เมื่อต้องลมกระโชกแรงก็พลันดับวูบลง เหมือนชีวิตสัตว์ แม้จะมีร่างกายสมบูรณ์ด้วยอาหารบางครั้งก็ต้องพลันแตกดับโดยอุปัทวเหตุอย่าง น่าสลดใจก็ดี ปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยๆ ทั้งไม่สามารถจะกำหนดรู้ได้ว่า ต่อไปภายหน้าจะสุขจะทุกข์จะเจริญหรือจะเสื่อมถอยมากน้อยอย่างไรและชีวิตจะ ดับลงเมื่อไหร่ ด้วยอาการอย่างไร เมื่อไรรู้ไม่ได้ทั้งนั้น เหมือนดวงประทีป ที่ปรากฏแก่สายตาเบื้องหน้าเช่นนั้น สัตว์ทั้งหลายเป็นทุกข์เดือดร้อนด้วยการ ป้องกันรักษาชีวิตด้วยวิธีต่างๆ แต่ในที่สุดก็ไม่อยู่ในวิสัยที่จะรักษาไว้ได้

พระภิกษุณีได้ยืนพิจารณา ดวงประทีปเจริญฌานทำเตโชกสิณ (เป็นชื่อของกัมมัฏฐานที่ใช้วัตถุสำหรับเพ่งเพื่อ จูงจิตให้เป็นสมาธิ ในที่นี้ใช้ เตโช ซึ่งหมายถึง ไฟ สำหรับการเพ่งเพื่อจูงจิตให้เป็นสมาธิ) ให้เป็นอารมณ์บรรลุฌานโดยลำดับ ทำฌานที่ได้รับบรรลุนั้นให้เป็นบาท ก้าวขึ้นสู่อริยมรรคเบื้องบน ในที่สุดก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์พร้อมด้วย ปฏิสัมภิทาและอภิญญาทุกประการ ซึ่งปฏิสัมภิทา หมายถึง ปัญญาแตกฉาน ความรู้แตกฉานมี ๔ ลักษณะ คือ

๑. อัตถปฏิสัมภิทา คือ ปัญญาแตกฉานใน อรรถรู้แจ้งในความหมาย เป็นข้อธรรมหรือความย่อก็ สามารถแยกแยะอธิบายขยายออกไปได้โดยพิสดาร เห็นเหตุอย่างหนึ่งก็สามารถคิดจำแนกกระจายเชื่อมโยงต่อ ออกไปได้

๒. ธัมมปฏิสัมภิทา คือ ปัญญาแตกฉานใน ธรรมรู้แจ้งในหลักการ เห็นอรรถาธิบายพิสดารก็สามารถ จับใจความมาตั้งเป็นกระทู้หรือหัวข้อได้ เห็นผลอย่างหนึ่งก็สามารถสืบสาวกลับไปหาเหตุได้

๓. นุรุตติปฏิสัมภิทา คือ ปัญญาแตกฉานในนิรุตติ รู้แจ้งในภาษา รู้ศัพท์และคำต่างๆ ตลอดจนภาษาต่างๆ เข้าใจใช้คำพูดชี้แจงให้ผู้อื่นเข้าใจและเห็นตามได้

๔. ปฏิภาณปฏิสัมภิทา คือ ปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ รู้แจ้งในความคิดทันการ มีไหวพริบ ซึมซาบในความรู้ที่มีอยู่ สามารถเอามาเชื่อมโยงเข้า สร้างความคิดและเหตุผลขึ้นใหม่ได้ ใช้ประโยชน์ได้เหมาะสมเข้ากับกรณีหรือเหตุการณ์

ส่วนการบรรลุอภิญญานั้น หมายถึง การบรรลุความรู้ขั้นสุดยอดซึ่งเรียกกันว่า “อภิญญา ๖” มีดังนี้

๑. อิทธิวิชา หรือ อิทธิวิธี หมายถึง ความรู้ที่ทำให้แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้
๒. ทิพโสต หมายถึง ญาณหรือความรู้ที่ทำให้มีหูทิพย์
๓. เจโตปริยญาณ หมายถึง ญาณ หรือความรู้ที่ทำให้รู้ใจผู้อื่นได้
๔. ปุพเพนิวาสานุสติ หมายถึง ญาณ หรือความรู้ที่ทำให้ระลึกชาติได้
๕. ทิพยจักขุ หมายถึง ญาณหรือความรู้ที่ทำให้มีตาทิพย์
๖. อาสวักขยญาณ หมายถึง ญาณหรือความรู้ที่ทำให้อาสวะสิ้นไป
สำหรับ ๑-๕ นับเป็นโลกียะ (โลกียอภิญญา) สำหรับข้อ ๖ เป็นโลกุตตระ

คราวหนึ่งนางอุบลวรรณาภิกษุณี (ก่อนสำเร็จอรหันต์) ท่องจาริกไปตามชนบทต่างๆ เมื่อกลับมาแล้วจึงไปพักผ่อนอยู่ที่ป่าอันธวันสมัยนั้นพระบรมศาสดายังไม่ได้ ทรงห้ามภิกษุณีพักผ่อนอยู่ในป่า มีคนใจบุญได้สร้างกุฏีเล็กๆ ไว้ในป่าอันธวันสำหรับนางภิกษุณี เพื่ออาศัยพักผ่อนได้หลังละ ๑ รูป

นันทมานพ ผู้หลงรักพระเถรี ได้แอบเข้าไปซ่อนตัวในกุฎีนั้น รอจนกระทั่งพระเถรีกลับมาจากบิณฑบาตร ได้ข่มเหง ย่ำยีนาง แม้นางจะร้องห้ามก็ไม่ฟัง เมื่อกระทำการเสร็จได้ออกจากเรือนไป พอพ้นสายตาพระเถรี ก็ถูกธรณีสูบ พระเถรีแจ้งความที่เกิดขึ้นกับคณะภิกษุณี และความได้ทราบถึงพระพุทธเจ้า

เมื่อกาลเวลาล่วงไปภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมเกี่ยวกับเหตุการณ์ของพระอุบลวรรณาเถรีนั้นว่า “ท่านทั้งหลาย เห็นทีพระขีณาสพทั้งหลาย คงจะยังมีความยินดีในกามสุข คงจะยังจะพอใจในการเสพกาม ก็ทำไมจะไม่เสพเล่า เพราะท่านเหล่านั้นมิใช่ไม้ผุ มิใช่จอมปลวก อีกทั้งเนื้อหนังร่างกายทั่วทั้งสรีระก็ยังสดอยู่ ดังนั้น แม้จะเป็นพระขีณาสพก็ชื่อว่า ยังยินดีในการเสพกาม”

พระบรมศาสดาเสด็จมาแล้ว ตรัสถามทรงทราบเนื้อความที่พวกภิกษุเหล่านั้นสนทนากันแล้วจึงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย พระขีณาสพทั้งหลายนั้นไม่ยินดีในกามสุข ไม่เสพกามเปรียบเสมือนหยาดน้ำตกลงในใบบัวแล้วไม่ติดอยู่ ย่อมกลิ้งตกลงไป และเหมือนกับเมล็ดพันธุ์ผักกาด ย่อมไม่ติดตั้งอยู่บนปลายเหล็กแหลม ฉันใด ขึ้นชื่อว่ากามก็ย่อมไม่ซึมซาบ ไม่ติดอยู่ในจิตของพระขีณาสพ ฉันนั้น”

พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนให้ใส่ใจในธุระปัจจุบัน ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะหน้าที่ต้องจัดต้องทำ ควรทำแต่งานที่เป็นกุศล ไม่มีโทษ ไม่ต้องคิดไปตามแก้ภายหลัง ทั้งสบายใจ ไม่เดือดร้อนอะไร เพราะเหตุที่พระภิกษุณีถูกคนใจบาปคนลามกเบียดเบียน อย่างกรณีของพระอุบลวรรณาเป็นอุทาหรณ์ ทำให้พระพุทธองค์ทรงคำนึงหาวิธีการป้องกันภัยเช่นนี้ซึ่งอาจจะมีอีกในอนาคต ทรงตระหนักว่า ภิกษุณีควรมีเสนาสนะอยู่ภายในพระนคร ควรได้รับการอารักขาพอสมควรเพื่อให้ปลอดภัยจากเรื่องดังกล่าว พระเจ้าปเสนทิ (พระเจ้าปเสนทิโกศล มีพระนามเดิมว่า ปเสนทิ เป็นพระราชโอรสในพระเจ้ามหาโกศล กรุงสาวัตถี) ทรงเห็นชอบตามพระพุทธดำรัสแล้วทรงทูลรับพระกระแสรับสั่งว่า จะทรงสร้างถวายตามพระพุทธประสงค์ จึงได้โปรดให้สร้างที่อยู่สำหรับพระภิกษุณีสงฆ์ขึ้นเป็นการเฉพาะในที่แห่งหนึ่งในพระนครเป็นเอกเทศแยกอยู่ต่างหาก แต่นั้นมาพวกภิกษุณีเลิกอยู่ป่าเข้ามาอยู่ในบ้านในเมือง


ร้อยกรอง “ภาพพุทธประวัติ” โดย นก พลัดถิ่น

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 มิ.ย. 2013, 17:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

• ณ เมืองเวรัญชา…. พรรษาสิบสอง
พราหมณ์คนอง จ้องตาม…. ถามไขขาน
"เวรัญช" กะเผย…. เย้ยชื่นบาน
หาก ธ สาน ผ่านคำ…. มิหนำใจ

• เหตุอย่างนี้ มีหรือ…. ถือยศศักดิ์
มิเอ่ยทัก ซักถาม…. ความเคลื่อนไหว
มิลุกรับ คำนับ…. กับผู้ใด
วานขานไข ให้แจ้ง…. แห่งที่มา

• ธ เอ่ยเน้น เช่นนั้น…. ท่านพราหมณ์เอย
เราเพิกเฉย ไม่ลุก…. บุกไปหา
ไม่ยืนรับ กับใคร…. ไม่วันทา
เพรารู้ว่า เขาต้องตาย…. เพราะพ่ายบุญ

• พราหมณ์กล่าวว่า ธ…. "มีรูปไม่มีรส"
เราหมดจด สดใส…. ในบุญหนุน
ไม่ยินดี ใน “เสียง”…. เพียงละมุน
ไม่เคยวุ่น คุ้น “กลิ่น”…. ว่ายินดี

• พราหมณ์ว่า ธ คือ …."อกริยวาทะ"
เราชนะ ไม่ทำ “กาย”…. ให้หมองศรี
ไม่โป้ปด มดเ้ท็จ…. เกล็ด “วจี”
“มโน” นี้ มีกุศล…. ผลบุญครอง

• พราหมณ์ว่า ธ เป็น… "อุจเฉทวาทะ"
ทั้ง "โทสะ" "โมหะ"…. ละทั้งสอง
แม้น “ราคะ” ผละทิ้ง…. มินิ่งมอง
หทัยคล้อง จองผล….กุศลทาน

• พราหมณ์ว่า ธ ขจัด…. "ตปัสสี"
ตัวเรานี้ ที่รู้…. ชูเผาผลาญ
เราขจัด ปัดเศษ…. กิเลสมาร
เราเผาถ่าน อกุศล…. ให้พ้นใจ

• ฟังเราเถิด เปิดจิต….คิดเท่าทัน
อย่าหุนหัน รั้นถาม…. ความไหนไหน
ธรรมเรานี้ ที่สว่าง…. พร่างอำไพ
เหมือนกับไต้ ใช้จุด…. เพื่อหยุดกรรม

พรรษาที่ ๑๒ จำพรรษาที่ควงไม้สะเดา เมืองเวรัญชา พระชนมายุ ๔๖ พรรษา

เวรัญชพราหมณ์นิมนต์ให้ประทับที่เมืองเวรัญชา ขณะนั้นเมืองเวรัญชาเกิดทุพภิกขภัย ข้าวยากหมากแพง มารดลใจไม่ให้เวรัญชพราหมณ์ถวายอาหารพระสงฆ์ พวกพ่อค้าเกวียนหุงข้าวแดงให้พระสงฆ์ฉันตลอดพรรษา ออกพรรษาเสด็จเมืองเวสาลีโดยไม่แวะพักที่ใด เพราะทรงเห็นว่าพระสงฆ์ล้าจากการฉันข้าวแดง ตลอดพรรษา ขณะผ่านเมืองพาราณสีข้ามแม่น้ำคงคาที่ท่าน้ำปยาคะ เกิดเรื่องเอรกปัตตนาคราช ซึ่งเคยเกิดเป็นพระภิกษุ ไม่แสดงคืนอาบัติในชาติก่อน

พระนางปชาบดีเถรี ทูลลานิพพาน

พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ที่โคนต้นสะเดาของนเฬรุยักษ์ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ รูป “เวรัญชพราหมณ์” ได้สดับข่าว จึงไปเฝ้า ทูลว่าเขาได้ยินว่า พระสมณโคดมไม่ไหว้ ไม่ลุกรับผู้ใด เพราะเหตุไรจึงเป็นเช่นนั้น ไม่เป็นการสมควรมิใช่หรือ ?

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า หากพระองค์ไหว้หรือลุกรับ หรือแสดงเคารพต่อผู้ใด ศรีษะของผู้นั้นจะต้องแตก

๑. เวรัญชพราหมณ์ พระสมณโคดมเป็นผู้มีรูปไม่มีรส (คือไม่น่ายินดี)
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ข้อที่ท่านกล่าวนั้นถูกเหมือนกัน แต่หมายความว่า “รส” คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเราละได้แล้ว

๒. เวรัญชพราหมณ์ พระสมณโคดมเป็นผู้ไม่มีโภคะ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ข้อที่ท่านกล่าวนั้นเป็นความจริง แต่ตถาคตหมายความว่า โภคะ คือ รูป เสียง เป็นต้น อันเราละได้แล้ว

๓. เวรัญชพราหมณ์ พระสมณโคดมเป็นอกริยวาทะ (กล่าวการไม่ทำ)
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ข้อที่ท่านกล่าวนั้นเป็นความจริง แต่เราหมายความว่าเขากล่าวการ ไม่ทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต และไม่ทำบาปอกุศลต่างๆ

๔. เวรัญชพราหมณ์ พระสมณโคดมเป็นอุจเฉทวาทะ (กล่าวความขาดสูญ)
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ข้อที่ท่านกล่าวนั้นถูกเหมือนกัน แต่เราหมายความว่า เรากล่าวความขาดสูญแห่งราคะ โทสะ โมหะ และความขาดสูญแห่งบาปอกุศลต่างๆ

๕. เวรัญชพราหมณ์: พระสมณโคดมเป็นผู้มักรังเกียจ (เชคุจฉี)
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ข้อที่ท่านกล่าวนั้นถูกเหมือนกัน แต่เราหมายความว่าเราเป็น ผู้รังเกียจกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต และบาปอกุศลต่างๆ

๖. เวรัญชพราหมณ์ พระสมณโคดมเป็นผู้ช่างกำจัด (เวนยิโก)
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ข้อที่ท่านกล่าวนั้นถูกเหมือนกัน แต่เราหมายความว่า เราแสดงธรรมเพื่อกำจัดราคะ โทสะ โมหะ และเพื่อกำจัดบาปอกุศลต่างๆ

๗. เวรัญชพราหมณ์ พระสมณโคดมเป็นผู้เผาผลาญ (ตปัสสี)
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ข้อที่ท่านกล่าวนั้นถูกเหมือนกัน แต่เราหมายความว่า เรากล่าวการเผาผลาญบาปอกุศลและทุจริตต่างๆ

๘. เวรัญชพราหมณ์ พระสมณโคดมเป็นผู้ไม่ผุดไม่เกิด (อปคัพโภ)
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ข้อที่ท่านกล่าวนั้นถูกเหมือนกัน แต่เราหมายความว่า การนอนในครรภ์ การเกิดใหม่เราได้ละเสียแล้ว เราไม่มีการเกิดใหม่อีกต่อไป ต่อจากนั้นพระผู้มีพระภาคทรงอุปมาให้พราหมณ์ฟังว่า พระองค์เป็นเหมือนลูกไก่ตัวแรกของโลก ที่เจาะกระเปาะฟองไข่ (คืออวิชชา) ออกมาแล้วทรงเล่าประวัติของพระองค์ว่าได้ตรัสรู้มาอย่างไร จนเวรัญชพราหมณ์เลื่อมใสแสดงตนเป็นอุบาสกนับถือพระพุทธศาสนา


ร้อยกรอง “ภาพพุทธประวัติ” โดย นก พลัดถิ่น

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 มิ.ย. 2013, 17:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

• ครั้นพระองค์ ทรงเฉย…….. ละเลยสิ้น
พระนางดิ้น กินทุกข์…. บุกข่มเหง
แกล้งเพ็ดทูล ใส่ความ…. ตามบทเพลง
สามาวดีเก่ง ไก่แกง…. แสร้งให้ทำ

• คราหนึ่งส่ง ไก่เป็น…. เน้นกลั่นแกล้ง
สามาวดีแย้ง ไม่กล้า…. ข้าไม่ขำ
นางแกล้งกล่าว เย้าแหย่…. แค่ตำตำ
ยุแหย่ซ้ำ ทำให้…. พระสัมมา

• แล้วสับเปลี่ยน เวียนไก่…. ที่ตายแล้ว
พระนางแก้ว ไม่รู้…. คู่ริษยา
จึงรีบทำ นำอังคาส…. ศาสดา
มาคันทิยา สบช่อง …. ฟ้องใส่ความ

• ยามพระองค์ ทรงให้ไก่…. เพื่อไปแกง
กลับแสแสร้ง เยื้องยัก…. มิซักถาม
ครั้นอังคาส ศาสดา…. ลือชานาม
คนล้นหลาม ตามช่วย…. กลิ่นรวยริน

• ครั้นอุเทน ราชัน ….มิหวั่นไหว
นางกลับใส่ งูร้าย ….คล้ายกับหิน
ถอนเขี้ยวพิษ ฤทธิ์ร้อน ….ซ่อนใส่พิณ
ขจัดสิ้น เสี้ยนหนาม ….ที่ตำใจ

• เจ้าอุเทน ราชัญ…. ขวัญผวา
เผชิญหน้า งูพิษ…. จิตหวั่นไหว
น้าวธนู พร้อมเพ่ง…. เล่งออกไป
ประหารให้ สามาวดี…. เป็นผีพลัน

• สามาวดี มิโกรธ ….โทษมหันต์
ยังตั้งมั่น วันทา…. เมตตาขวัญ
ส่งสายธาร หวานล้ำ…. มากำนัล
ลูกศรนั้น ผันทิศ…. ดูผิดไป

• เจ้าอุเทน เอนองค์ ….ก้มลงกราบ
แทบเบื้องบาท สามาวดี ….ศรีไสว
ขอยึดเจ้า เข้าแนบ…. แถบหัวใจ
สามาวดีให้ ใฝ่ถาม …. ตามภควา

พระนางมาคันทิยา เมื่อไม่สามารถจะทำให้พระพุทธองค์อับอายจนหนีไปยังเมืองอื่นได้ ก็ยิ่งโกรธแค้นมากขึ้น จึงคิดอุบายใส่ความแก่พระนางสามาวดี และบริวารผู้มีศรัทธา ในพระพุทธองค์ โดยส่งข่าวไปบอกแก่อาของตนขอให้ส่งไก่เป็น ที่ยังมีชีวิตมาให้ ๘ ตัว และไก่ตายอีก ๘ ตัว เมื่อได้ไก่มาตามต้องการแล้วจึงเข้ากราบทูลพระเจ้าอุเทนว่า

“ข้าแต่สมมติเทพ ท่านปุโรหิตส่งไก่มาเป็นบรรณาการแด่พระองค์ เพคะ”

แล้วเพ็ททูลให้พระองค์ ส่งไก่เป็นไปให้พระนางสามาวดีแกงถวาย แต่เพราะพระนางสมาทานศีล จึงส่งไก่เป็นกลับคืนมา มิได้แกงถวาย พระนางมาคันติมายะ จึงเพ็ดทูลต่อไปว่า เมื่อพระนางไม่ยอมแกงถวาย พระองค์เจ้าชีวิต ก็ให้แกงถวายพระศาสดาที่พระนางสามาวดีเคารพนบบูชาก็แล้วกัน แล้วสับเปลี่ยนเอาไก่ตายส่งไปให้ พระนางสามาวดีเห็นไก่ตายแล้ว และเป็นการทำถวายพระพุทธเจ้า จึงแกงไก่ถวายพระศาสดา

พระนางมาคันทิยา รู้สึกดีใจที่เหตุการณ์เป็นไปตามแผน จึงกราบทูลยุยงว่า การกระทำของพระนางสามาวดีไม่น่าไว้วางใจดูประหนึ่งว่าเอาใจออกห่างพระองค์ปันใจให้พระสมณโคดม เวลาใช้ให้แกงมาถวายพระองค์ก็ไม่ทำ แต่พอบอกให้แกงไปถวาย พระสมณโคดมกลับทำให้อย่างรับด่วน พระเจ้าอุเทนได้สดับคำของพระนาง มาคันทิยา แล้วทรงอดกลั้นนิ่งเฉยไว้อยู่ พระนางมาคันทิยา ต้องคิดหาอุบายร้ายด้วยวิธีอื่นต่อไป

ตามปกติ พระเจ้าอุเทนจะเสด็จไปประทับที่ปราสาทของพระมเหสีทั้ง ๓ คือ พระนางสามาวดี พระนางวาสุลทัตตา และพระนางมาคันทิยา ตามวาระแห่งละ ๗ วัน ครั้นอีก ๒-๓ วัน จะถึงวาระเสด็จไปประทับที่ปราสาทของพระนางสามาวดี พระนางมาคันทิยา ได้วางแผนส่งข่าวไปถึงอา ให้ส่งงูพิษที่ถอนเขี้ยวพิษออกแล้ว มาให้นางโดยด่วน เมื่อได้มาแล้วจึงใส่งูเข้าไปในช่องพิณซึ่งพระเจ้าอุเทนทรงเล่น และนำติดพระองค์เป็นประจำแล้วนำช่อดอกไม้ปิดช่องพิณไว้ก่อนที่พระเจ้าอุเทนจะเสด็จ ไปยังปราสาทของพระนางสามาวดีนั้น พระนางมาคันทิยา ได้ทำทีเป็นกราบทูลทัดทานว่า “ขอพระองค์ อย่าเสด็จไปเลย เพราะว่าเมื่อคืนนี้ หม่อมฉันฝันไม่เป็นมงคล เกรงว่าพระองค์จะได้รับอันตราย” เมื่อพระราชาไม่เชื่อคำทัดทานจึงขอติดตามเสด็จไปด้วย

ขณะที่พระนางสามาวดีและหญิงบริวารปรนนิบัติพระเจ้าอุเทนอยู่ และทรงวางพิณไว้บนพระแท่นบรรทมนั้น พระนางมาคันทิยา ก็ทำเป็นเดินไปเดินมาใกล้ๆ บริเวณนั้น เมื่อไม่มีใครสังเกตเห็นจึงดึงช่อดอกไม้ที่ปิดช่องพิณออก และงูที่อดอาหารมาหลายวันได้เลื้อย ออกมาพ่นพิษแผ่พังพาน พระราชาทอดพระเนตรเห็นงูก็ตกพระทัยกลัวมรณภัยจะมาถึง จึงด่าตวาดพระนางสามาวดีที่คิดปลงพระชนม์ และตำหนิพระองค์เอง ที่ไม่เชื่อคำทัดทานของพระนางมาคันทิยา

ด้วยเพลิงแห่งความโกรธจึงตัดสินพระทัยประหารชีวิต พระนางสามาวดี และหญิงบริวารด้วยพระองค์เอง พระเจ้าอุเทนทรงยกคันธนูประจำพระองค์ ขึ้นสายแล้วพาดลูกศรอาบยาพิษโก่งคันธนูเล็งเป้าไปที่พระอุระของพระนางสามาวดี ซึ่งประทับอยู่ข้างหน้าแห่งหญิงบริวาร ก่อนที่ลูกศรจะแล่นออกจากคันธนูนั้น พระนางสามาวดีได้ให้โอวาทแก่หญิงบริวารว่า

“แม่หญิงสหายทั้งหลาย ที่พึ่งอื่นของเราไม่มี เธอทั้งหลายจงเจริญเมตตาจิตให้สม่ำเสมอส่งไปให้แก่พระราชา แก่พระเทวีมาคันทิยา และแก่ตนเอง อย่าถือโทษโกรธต่อใครๆ เลย”

ครั้นให้โอวาทจบลง หญิงเหล่านั้นก็ปฏิบัติตาม เมื่อพระราชาปล่อยลูกศรออกไป แทนที่ลูกศรจะพุ่งเข้าสู่พระอุระพระนางสามาวดี แต่หวนกลับพุ่งเข้าหาพระอุระ ของพระองค์เสียอง จึงสะดุ้งตกพระทัยพลางดำริว่า

“ธรรมดาลูกศรนี้ย่อมแทงทะลุแม้กระทั่งแผ่นหิน บัดนี้ สิ่งที่เป็นวัตถุที่จะกระทบในอากาศก็ไม่มี เหตุใดลูกศรจึงหวนกลับเข้าหาเรา ลูกศรนี้แม้จะไม่มีชีวิตจิตใจ แต่ก็ยังรู้จักคุณของพระนางสามาวดี เราเสียอีกแม้เป็นมนุษย์กลับไม่รู้คุณของพระนาง”

ทันใดนั้น ท้าวเธอทิ้งคันธนูแล้วประนมหัตถ์ประคองอัญชลี กราบที่พระบาทของพระนางสามาวดี อ้อนวอนให้พระนางยกโทษให้ และขอถึงพระนางเป็นที่พึ่งตลอดไป พระนางสามาวดีกราบทูลให้พระราชาทรงถึงพระบรมศาสดาเป็นสรณที่พึ่งเหมือนอย่าง ที่นางกระทำอยู่ ตั้งแต่นั้นมาพระเจ้าอุเทนทรงมีศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนา ทรงรักษาศีลฟังธรรมร่วมกับพระนางสามาวดีตามกาลเวลาและโอกาสอันสมควร


ร้อยกรอง “ภาพพุทธประวัติ” โดย นก พลัดถิ่น

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 มิ.ย. 2013, 17:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

• มีคราหนึ่ง ธ เสด็จ…. “เอกนาลา”
“ทักขิณาคีรี”…. ศรีผยอง
ชนบทแดน แคว้นมคธ…. เพื่อทดลอง
หว่านพืชคล้อง จองใจ…. ใช้ธรรมมา

• ให้ธรรมธาร “กสิภารทวาชพราหมณ์”
บรรลุข้าม ความตะหนี่…. ที่กังขา
ธ เสด็จ ไปยืน…. ที่พื้นนา
รอพราหมณ์กล้า เอ่ยคำ…. ที่ช้ำใจ

• ครั้นพราหมณ์เห็น มุนี…. ที่สง่า
จึงปากกล้า ว่าหยัน…. ฉันหว่านไถ
เพื่อมีข้าว ซาวหุง…. ปรุงด้วยไฟ
แล้วไฉน ใยท่าน…. มิหว่านเอง

• ธ จึงกล่าว เรานี้…. ก็หว่านไถ
เพื่อให้ได้ ในผล…. พ้นข่มเหง
แล้วหุงหมัก ภักษา…. อย่าได้เกรง
มิอวดเก่ง ข่มขอ…. ต่อตัวเธอ

• เออแน่ะ มากล่าว…. ราวโกหก
ไหน "ไถ" ยก อก "แอก"…. แบกเสนอ
"ผาล""ปฏัก" หลักชัย…. ใช้บำเรอ
เรามิเผลอ เอออวย…. ช่วยใดใด

• “ความศรัทธา” มาเป็น…. เช่น “พืชผล”
ส่วน “น้ำฝน” “คือเพียร”…. เปลี่ยนหลงไหล
“ปฏักพาล” งาน "สติ"…. ผลิยองใย
“แอกกับไถ” ใช้ปัญญา…. มาควบคุม

• "ใจเป็นเชือก" เลือกผูก…. ปลูกความหวัง
"หิริ" ดัง “งอนไถ”…. ใช่ตีขลุม
ทั้งกายใจ ใฝ่ดี…. ทุกที่มุม
หญ้าทุกกลุ่ม ปุ่มเท็จ…. เราเด็ดวาง

• "โสรัจจะ" ผละร้อน…. ข่มซ่อนไว้
เพื่อนำให้ ได้สุข ….ทุกข์ถากถาง
เราทำนา เช่นนี้…. มิอำพราง
ธรรมเราสร้าง วางทุกข์…. สุขกว่าใคร

• หากแม้นเป็น เช่นดัง…. ที่สั่งสอน
ขอออดอ้อน วอนเสวย…. อมฤตใส
อย่าคิดมา แกะกะ…. ระรานใจ
หลีกทางให้ ไปประเสริฐ…. เลิศให้พอ

• ธ จึงแจง แฝงคำ…. ใช้นำคิด
ถูกหรือผิด พิศให้ดี…. มิร้องขอ
อันโภชนา อาหาร…. อย่ารั้งรอ
ให้มอบต่อ "ขีณาสพ"…. เพื่อพบบุญ

• ส่วนตัวเรา ผู้รู้แจ้ง…. แทงตลอด
มิขบกอด สอดลิ้น…. กินเมถุน
เราผู้ให้ ใช้ปัญญา…. กล้าลงทุน
มิใช่หุ่น ทุ่นลอย…. เพื่อคอยกิน

• “กสิภารทวาชพราหมณ์”… ตามทิพย์แสง
บรรลุแจ้ง แห่งจิต…. ปลิดถวิล
เมื่อรู้วาง สร้างทิพย์…. หยิบเพชรนิล
พราหมณ์รู้สิ้น รู้วาง…. สร้างนิพพาน

พรรษาที่ ๑๑ พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับ ณ พราหมณคาม ชื่อว่า “เอกนาลา” ในทักขิณาคีรีชนบท แคว้นมคธ “กสิภารทวาชพราหมณ์” เทียมไถ ๕๐๐ ในฤดูกาล หว่านข้าว พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไปยังที่ทำงานของกสิภารทวาชพราหมณ์ในเวลาเช้า ซึ่งกำลังเลี้ยงอาหารเช้า

กสิภารทวาชพราหมณ์ ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับยืนบิณฑบาตอยู่ ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระสมณะ ข้าพเจ้าไถและหว่าน ครั้นไถและหว่านแล้ว ย่อมบริโภค แม้พระองค์ก็จงไถและหว่าน แล้วจงบริโภคเถิด

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ดูก่อนพราหมณ์ แม้เราก็ไถและหว่าน ครั้นไถและหว่านแล้วก็บริโภค

กสิภารทวาชพราหมณ์กราบทูลว่า ไม่เห็นแอก ไถ ผาลปฏัก หรือโคทั้งหลาย ของท่านเลย เมื่อเช่นนี้ท่านยังกล่าว พระองค์เป็นชาวนา แต่ข้าพเจ้าไม่เห็นการไถ ของพระองค์ ไฉน ข้าพเจ้าจะรู้ การทำนาของพระองค์นั้นได้

พระผู้มีพระภาคเจ้าตอบว่า ศรัทธาเป็นพืช ความเพียรเป็นฝน ปัญญาของเราเป็นแอกและไถ หิริเป็นงอนไถ ใจเป็นเชือก สติของเราเป็นผาลและปฏัก เรามีกายคุ้มครองแล้ว มีวาจาคุ้มครองแล้ว เป็นผู้สำรวมแล้วในการบริโภคอาหาร เราทำการดายหญ้าคือวาจาสับปรับ ด้วยคำสัตย์ โสรัจจะของเราเป็นเครื่องให้แล้วเสร็จงาน ความเพียรของเราเป็นเครื่องนำธุระไปให้สมหวัง นำไปถึงความเกษมจากโยคะ ไปไม่ถอยหลัง ยังที่ซึ่งบุคคลไปแล้วไม่เศร้าโศก เราทำนาอย่างนี้ นาที่เราทำนั้นย่อมมีผลเป็นอมตะ บุคคลทำนาอย่างนี้แล้ว ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้

กสิภารทวาชพราหมณ์กราบทูลว่า ท่านพระโคดมผู้เป็นชาวนา ขอจงบริโภค อมฤตผลที่ท่านพระโคดมไถนั้นเถิด

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เราไม่พึงบริโภคโภชนะ ซึ่งได้เพราะความขับกล่อม ดูก่อนพราหมณ์ นี่เป็นธรรมของบุคคลผู้เห็นอรรถและธรรมอยู่ ท่านผู้รู้ทั้งหลาย ย่อมรังเกียจโภชนะที่ได้เพราะการขับกล่อม ดูก่อน พราหมณ์ เมื่อธรรมมีอยู่ ความเป็นไปอาชีวะ นี้ก็ยังมีอยู่ แต่ท่านจงบำรุงซึ่งพระขีณาสพทั้งสิ้น ผู้แสวงหาคุณใหญ่ มีความคะนองระงับแล้ว ด้วยข้าวน้ำอันอื่น ด้วยว่าการบำรุงนั้นเป็นนาบุญของผู้มุ่งบุญ
กสิภารทวาชพราหมณ์บรรลุพระอรหันต์

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเช่นนี้แล้ว กสิภารทวาชพราหมณ์ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย “ดุจหงายภาชนะที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง ส่องประทีปในที่มืด” ด้วยหวังว่า คนมีจักษุจักมองเห็นได้ ข้าแต่พระโคดม ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้ากับพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็น สรณะ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะจนตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป


ร้อยกรอง “ภาพพุทธประวัติ” โดย นก พลัดถิ่น

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 มิ.ย. 2013, 17:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 มิ.ย. 2013, 17:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 110 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3, 4, 5, 6, 7, 8  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 6 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร