วันเวลาปัจจุบัน 24 เม.ย. 2024, 02:51  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ธ.ค. 2012, 09:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

:b42: รูปฌาณ ๔ :b42:

พระครูภาวนาภิรมย์
พระอาจารย์สรวง ปริสุทฺโธ

วัดถ้ำขวัญเมือง อ.สวี จ.ชุมพร

:b48: อ่านกระทู้รวมคำสอนหลวงปู่สรวง ปริสุทฺโธ :b48:
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=44188


ในการปฏิบัติธรรมตามแบบสมถวิปัสสนานั้น ขอให้ศิษย์ทุกๆ คน
พึงทำความเห็นและทำความเข้าใจให้ถูกต้องเสียก่อน
คือ ก่อนที่ปฎิบัติกรรมฐาน จำเป็นจะต้องรักษาศีลห้าให้ได้
เมื่อมีศีลห้าแล้วก็เริ่มปฏิบัติได้
ในการปฏิบัติเบื้องต้นจะต้องฝึกหัดทำฌาน (ชาน)
ซึ่งเป็นการทำสมาธิแบบหนึ่ง และมีขั้นตอนวิธีการปฏิบัติเป็นขั้นๆ ไป


ฌาน นั้นมี ๘ องค์ แบ่งเป็น รูปฌาน ๔ และอรูปฌาน ๔
ในที่นี้เราทำแค่รูปฌาน ๔ ก็นับว่าเพียงพอแล้ว รูปฌาน ๔ มี ๔ องค์ ได้แก่

ฌานที่ ๑. วิตก วิจาร
ฌานที่ ๒. ปิติ
ฌานที่ ๓. สุข
ฌานที่ ๔. เอกัคคตา อุเบกขา


ทำไมเราจึงต้องทำฌาน ทั้งนี้ก็เพราะเหตุว่าตามที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ว่า
การที่เรามุ่งหวังไปพระนิพพานนั้น ต้องปฏิบัติตามมรรค มีองค์ ๘ ได้แก่

มรรคองค์ที่ ๑ คือ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ
มรรคองค์ที่ ๒ คือ สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ
มรรคองค์ที่ ๓ คือ สัมมาวาจา เจรจาชอบ
มรรคองค์ที่ ๔ คือ สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ
มรรคองค์ที่ ๕ คือ สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ
มรรคองค์ที่ ๖ คือ สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ
มรรคองค์ที่ ๗ คือ สัมมาสติ ระลึกชอบ
มรรคองค์ที่ ๘ คือ สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ


มรรคองค์ที่ ๑ สัมมาทิฏฐิหรือความเห็นชอบนั้นจะต้องเห็นชอบในอริยสัจ ๔
อันมี ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค ส่วนมรรคองค์ที่ ๘ สัมมาสมาธิ ท่านกล่าวว่าให้มีรูปฌาน ๔
ถ้าเราไม่รู้จักรูปฌาน ๔ เราก็ทำสัมมาสมาธิไม่ครบองค์และก็ทำวิปัสสนาไม่ได้ผล
ฌานจึงมีความจำเป็นมาก การทำฌานเป็นการทำสมาธิในระดับลึก
ซึ่งสมาธิมีอยู่ ๓ ระดับ คือสมาธิขั้นต้นเรียกว่าขณิกสมาธิ สมาธิขั้นกลางเรียกว่าอุปจารสมาธิ
และสมาธิขั้นสูงเรียกว่าอัปปนาสมาธิ สมาธิทั้ง ๓ ขั้นนี้ ยากที่เราจะรู้จักได้
เพราะแต่ละขั้นของสมาธินับตั้งแต่ขณิกสมาธิไปถึงอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธินั้น
จิตจะละเอียดมากขึ้นเป็นลำดับ จนถึงอัปปนาสมาธิ จิตก็จะยิ่งละเอียดเป็นที่สุด
ดังนั้น เมื่อมาทำเป็นฌานแล้วจึงกำหนดเป็นขั้นตอน ๔ ขั้น
มีฌาน ๑ ฌาน ๒ ฌาน ๓ และฌาน ๔

ความจริงฌานนั้นมีอยู่ ๕ ตามแบบบัญญัติตามแผน ๕ เรียก ปัญจฌาน
แต่ที่นิยมในตำราในพระสูตรกล่าวไว้ว่ามี ๕ ในพระอภิธรรมที่บัญญัติไว้ในธรรมวิภาค
รูปฌาน ๔ เรียก ฌาน ๔ ไม่ได้เรียกฌาน ๕
คือ รูปฌานที่ ๑ นั้นแยกวิตกเป็นฌานหนึ่ง วิจารเป็นฌานหนึ่ง
“วิตกคือความนึกคิดนั่นเอง วิจารคือการหยุดความนึกคิดได้”
เมื่อเราหยุดความนึกคิดได้ ฌาน ๑ ก็เกิดแก่จิตเรา

ในการนั่งกรรมฐาน ก่อนที่เราจะนั่งต้องกราบ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สามครั้ง
กราบด้วยศรัทธา เชื่อมั่นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นของมีจริง
เป็นที่เคารพศรัทธาอย่างสูง ไม่มีสิ่งใดที่จะเคารพยิ่งกว่าพระรัตนตรัย
แล้วกราบบิดามารดาอีกครั้งหนึ่ง กราบครูบาอาจารย์ผู้ที่สั่งสอนธรรมเราอีกครั้งหนึ่ง
รวมแล้ว ๕ ครั้ง เรียกว่า ปัญจเคารพ
เมื่อเราออกจากนั่งสมาธิก็กราบอีก ๕ ครั้ง เช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ก็เพื่อให้เรามีศรัทธาและมีความเคารพใน พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
บิดามารดา ครูบาอาจารย์ บิดามารดาของเราก็เป็นพระอรหันต์ของลูก
พระพุทธองค์ตรัสไว้อย่างนั้นเป็นความจริงเราจึงจำเป็นที่จะต้องกราบไหว้บูชา
เป็นการระลึกถึงพระคุณของท่านครูบาอาจารย์ก็เช่นเดียวกัน
การที่เรามีความรู้ในปัจจุบันนี้ได้ ต้องอาศัยครูบาอาจารย์ทั้งสิ้น แม้จะทางโลกก็ตาม
ยิ่งทางธรรมด้วยแล้ว ยิ่งสำคัญมาก เพราะการที่ครูบาอาจารย์ไม่รู้หรือรู้ผิดๆ
แล้วมาสอนเราผู้เป็นศิษย์ เราก็ต้องรู้ผิดตามไปด้วย ต้องหลงผิดตามไปด้วย
เมื่อครูบาอาจารย์ยังไม่รู้แจ้งเห็นจริง จะไปสอนศิษย์ให้รู้แจ้งเห็นจริงได้อย่างไร
นี่ให้ทำความเห็นอย่างนี้ให้ถูกต้อง
ฉะนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องระลึกถึงพระคุณของครูบาอาจารย์ด้วย

เหมือนกับตัวอาจารย์นี้ ไม่เคยคิดว่าให้พวกศิษย์หรือใครๆ กราบไหว้อาจารย์นักหนา
เพราะในความคิดความนึกในใจของอาจารย์ ไม่มีสิ่งเหล่านี้เพราะไม่ได้ยึดถือโลกธรรม ๘
อันมี ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ไม่ต้องการอะไรทั้งสิ้น
เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา และทุกข์ก็เช่นเดียวกัน
อาจารย์ก็ไม่เดือดร้อนอะไรทั้งสิ้น
เพราะเป็นโลกธรรม ๘ ซึ่งมีฝ่ายที่ดี ๔ และฝ่ายไม่ดี ๔ ฝ่าย
ในการสั่งสอนของอาจารย์ ก็เพื่อเป็นแบบแผนให้ศิษย์มีปัญญา
ถ้าศิษย์ไม่เคารพ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
บิดามารดา และครูบาอาจารย์แล้วจะไปเคารพอะไร
เมื่อมีศรัทธาในการเคารพกราบไหว้บูชาอันเป็นการแสดงออกซึ่งความกตัญญูกตเวทีรู้คุณ
แล้วก็จะช่วยให้จิตใจของเราผ่องใสเป็นสิริมงคล ก่อนที่เราจะปฏิบัติกรรมฐานต่อไป


การนั่งก็เช่นเดียวกัน เวลานั่งกรรมฐานถ้าเป็นฝ่ายอุบาสิกาจะนั่งพับเพียบก็ได้ จะนั่งขัดสมาธิก็ได้
ฝ่ายอุบาสกหรือผู้ชายก็นิยมนั่งขัดสมาธิ คือนั่งเอาเท้าขวาทับเท้าซ้าย
มือขวาวางทับมือซ้ายบนตักของเรา และตั้งตัวให้ตรงอย่าให้ตัวงอหน้าตรงอย่าก้ม
ถ้าหลังงอแล้วนั่งได้ไม่ทน มันจะปวดเอวปวดหลัง
ทำให้เรานั่งนานเป็นชั่วโมงหรือ ๔๐, ๕๐ นาทีไม่ได้ ฉะนั้นกายให้นั่งตัวตรง
เมื่อเสร็จแล้วก็เริ่มบริกรรมภาวนา คือใช้ เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ
เรียงกันไปเรียกว่าเป็นอนุโลม เมื่อครบแล้วก็ท่องถอยหลัง
ว่า ตโจ ทันตา นขา โลมา เกศา เรียกว่าปฏิโลม

ระหว่างที่ภาวนาอยู่นั้นหากมีความคิดใดๆขึ้นมาที่จิต
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตามก็ให้พยายามมีสติรู้ว่า
กำลังคิดเรื่องนั้นๆ แล้วละความคิดนั้นเสีย

หันมาภาวนา เกศา โลมา...ใหม่ โดยมากจิตเรานั้นชอบนึกชอบคิดเสมอ
ดังนั้นพระพุทธองค์จึงมีอุบายให้ภาวนา
เพื่อให้จิตไปยึดกรรมฐาน ๕ (เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ)
นอกจากกรรมฐาน ๕ แล้วยังมีกรรมฐานอื่นๆ อีกทั้งหมด ตั้ง ๔๐ อย่าง
แต่จะไม่สอนเพราะถือว่ากรรมฐาน ๕ เป็นสิ่งสำคัญ
ที่ว่าเป็นสิ่งสำคัญก็เพราะว่าตามบัญญัติเรียกว่า เป็นโกฏฐาส
คือเป็นสิ่งของที่หยาบมีอยู่ในตัวเราทั้งสิ้น สามารถเห็นด้วยตาเนื้อได้

เมื่อว่าไปๆ แล้วจิตก็ยึดกรรมฐานได้ การที่จิตยึดกรรมฐานได้ก็ด้วยไม่หลง
ถ้าหลงอย่าไปเที่ยวค้นหา เช่นว่า เกศา โลมา แล้ว มันก็ลืมเสียไม่รู้ อะไรจำไม่ได้ อย่าเที่ยวนึก
ถ้านึกแล้วเดี๋ยวสังขารขันธ์หรือการปรุงแต่งของจิตของเรา มันจะเอาตัวอื่นมาใส่ให้
ซึ่งจะทำให้จิตคิดไปถึงเรื่องอื่น ฉะนั้นอย่าให้นึกขึ้น
ให้ตั้งต้นว่า เกศา โลมา ใหม่ไม่นึกอะไร ถ้ามันนึกคิดอะไรก็ละเสีย
เพราะธรรมชาติของจิตมันชอบนึกคิดอยู่นิ่งไม่ได้
เมื่อเราภาวนาไปจนจิตตั้งมั่นไว้ได้ดีแล้ว
ฌาน ๑ ก็จะเกิดขึ้น ไม่มีความนึกคิดอื่นมาปะปน
เมื่อจิตยึดกรรมฐานได้มั่นคงแล้ว ก็จะเกิดปีติขึ้นมาโดยมีความรู้สึกต่างๆ
เช่น รู้สึกว่าขนลุกขนพองหรือซาบซ่านที่ผิวกาย ขนลุกซู่ๆ ซ่าๆ อะไรอย่างนี้
บางทีก็รู้สึกตัวพองออกไป หรือตัวยาวขึ้น บางทีก็รู้สึกว่าตัวเตี้ยลง
แล้วมาตัวเล็กตัวเบา บางทีก็มีการกระตุกที่มือ อาการเหล่านี้แสดงว่า ฌาน ๒ เริ่มเกิดขึ้น

ขณะที่จิตเข้าสู่ ฌาน ๒ อาจจะมีอาการกระตุกเกิดขึ้นก็อย่ากักอย่ากดไว้
คืออย่าเกร็งข้อมือไว้ปล่อยให้มันเกิดขึ้น ถึงตอนนี้กายอาจจะโยกคลอน
หรือสั่นอย่างแรงดังสนั่นหวั่นไหว ก็อย่าไปตกใจ นั่นแหละเป็นปีติของฌาน ๒
ชื่อของปีติอันนี้ชื่อว่า "อุพเพงคาปีติ" ส่วนที่รู้สึกซาบซ่านตามผิวกาย เรียกว่า ผรณาปีติ
ผู้ปฏิบัติจะต้องพยายามทำให้มีอุพเพงคาปีติจึงจะสมบูรณ์
เพราะเหตุว่าฌาน ๒ นี้ อุพเพงคาปีติ นี้เป็นฤทธิ์เป็นกำลัง

ที่เราต้องทำฌานก็เนื่องจากว่าเมื่อได้ฌาน ๔ แล้วมันก็สู้กับทุกขเวทนาได้
คือความรู้สึกเจ็บปวดต่างๆ หรือง่วงเหงาหาวนอนจะหายไป
แต่ถ้าไม่มีฌานแล้วมันสู้ไม่ได้ นอกจากนี้เมื่อปฏิบัติสูงแล้ว
การเหาะเหินเดินอากาศด้วยกายภายในกายของเรา หรือเรียกว่า กายทิพย์
ก็อาศัยฌานนี้แหละเหาะเหินเดินอากาศได้
การรู้การเห็นต่างๆ การได้ยินเสียง การได้กลิ่น การได้รสโผฏฐัพพะกระทบกายต่างๆ
ก็รู้ด้วยฌานทั้งสิ้น หูทิพย์ ตาทิพย์ หยั่งรู้ใจคน มีอิทธิฤทธิ์ ระลึกชาติได้
แล้วก็มีฤทธิ์ทางใจที่เรียกว่า ‘มโนมยิทธิ’

ส่วนการทำกิเลสให้หมดไปจากจิต โดยการฟอกจิตใจให้สะอาด
ก็อาศัยฌานนี้แหละเป็นพื้นฐาน จึงจำเป็นที่จะต้องทำฌาน
ถ้าขาดฌานเสียมรรคองค์ที่ ๘ ก็ไม่สมบูรณ์
ฉะนั้นใครจะไปพระนิพพานกับมรรค ๗, ๖ หรือ ๕ องค์
หรือมรรคองค์เดียวไม่ได้ทั้งสิ้น มรรคต้องครบทั้ง ๘ องค์ จึงจะไปพระนิพพานได้


ส่วนการเข้าฌานที่ ๓ นั้น จะเข้าได้ต่อเมื่อฌาน ๒ เกิดขึ้นแล้ว
คือเมื่อมีอุพเพงคาปีติขึ้นโครมๆ ดีแล้ว หรือกายสั่นท่าต่างๆ หรือโยกหน้าโยกหลังแล้ว
ซึ่งอาการของปีติเหล่านี้จะต้องมีสติเข้ากำกับอย่าให้ล้มหงายไป
เมื่อมีสติอยู่รักษาจิตมันก็มีสัมปชัญญะสำหรับคุมกายไว้เอง เพราะสัมปชัญญะคู่สติ
สตินี้เป็นสิ่งสำคัญคอยคุมจิต สัมปชัญญะคอยคุมกาย
ธรรม ๒ ประการนี้เป็นธรรมที่มีอุปการะมาก คือส่งให้เราไปถึงพระนิพพานได้ทีเดียว


เมื่อเราเข้าได้ฌาน ๒ ดีแล้ว เราก็กระตุกกายขึ้นไปให้ลำตัวตั้งตรง และให้คิดว่าฌาน ๓
อย่านึกถึงฌาน ๒ อีก ถ้านึกถึง จิตจะถอยลงมาตัวก็จะสั่นเพราะปีติ
ดังนั้นเมื่อไปถึงฌาน ๓ แล้ว จิตของเราก็จะเข้าไปสู่ความสงบ
บางครั้งก็พบกับความสุข นั่นคือรู้ว่าสุขกาย สุขใจ ฌานที่ ๓ จึงได้ชื่อว่า ฌานสุข

เมื่อเราไปอยู่ในฌาน ๓ พอสมควรแล้ว เราก็มีสติกำหนดที่จิตว่า ๔
กระตุกตัวขึ้นไปอีกให้กายตั้งตรง อย่าลดตัวลงมาให้อยู่นิ่งเฉย
แล้วก็ผ่อนลมหายใจให้อ่อนลง ภาวนากรรมฐานโดยท่องเกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ ไปเรื่อยๆ
จิตก็จะแนบขึ้นๆ แนบเข้าๆ เมื่อจิตสงบมากขึ้นแล้วบางคนก็พบว่า
เท้าจะเริ่มชามือจะเริ่มชาขึ้นมา คือชาทั้งปลายนิ้วมือ นิ้วเท้า แม้ที่ก้นของเราก็เริ่มชาขึ้นมา
(ไม่ใช่เหน็บชา) ริมฝีปากก็ชา หากฌาน ๔ จับดีจะชาเข้าไปถึงลิ้นแม้ข้อมือ
ตลอดถึงลำแขนและหัวไหล่ก็ชา ตัวจะเกร็ง เสียงที่มากระทบหูได้ยินแต่ก็วางเฉย
แม้แต่ฟ้าผ่าลงมาดังเปรี้ยงก็ไม่สะดุ้งเลย เพราะจิตเป็นเอกัคคตา-อุเบกขา คือวางเฉย

ตรงนี้ที่ฝ่ายที่ปฏิบัติทางวิปัสสนา เขาตำหนิติเตียนว่าทำทางสมถะ
คือทำฌานนั้นไปพระนิพพานไม่ได้เพราะว่าไปติดฌานเสียนั่น
การที่กล่าวเช่นนี้นั้นเป็นความหลงหรือเป็นโมหะของผู้กล่าว
เพราะผู้กล่าวไม่รู้ถึงวิธีของการทำฌาน
นอกจากนี้ยังไม่รู้ว่าเมื่อทำฌานแล้วจะไม่ให้ติดฌานได้อย่างไร
โดยมากส่วนใหญ่ที่เห็นพวกปฏิบัติทางวิปัสสนานั้น
เมื่อนั่งสมาธิแล้วถึงเวลาออกก็ลืมตาออกมาเฉยๆ
ซึ่งถ้าขณะปฏิบัติอยู่ในสมาธิระดับลึก
เช่น อุปจารสมาธิ หรือฌาน ๒, ๓, ๔ เวลาออกถ้าลืมตาเฉยๆ
สมาธิก็จะค้างอยู่ ทางที่ถูกแล้วจะต้องถอยสมาธิออกมาเป็นขั้นๆ
เช่น จากฌาน ๔ ลงมา ๓, ๒, ๑
แล้วสลัดกายพร้อมกับสติที่คิดในใจคิดว่าออก ฌานก็จะไม่ค้าง
พระพุทธองค์สอนไว้ดีแล้วสมบูรณ์ทุกอย่าง ทรงให้เข้าฌานออกฌานให้ชำนิชำนาญเป็นวสี

การเข้าฌานนั้นเราเข้าไปตั้งแต่ฌาน ๑ ขึ้นฌาน ๒ จากฌาน ๒
ขึ้นฌาน ๓ จากฌาน ๓ ขึ้นฌาน ๔ เรียกว่า ‘เข้าฌาน’
เวลาออกก็จะต้องรู้จักวิธีออกฌานด้วย การออกฌานนั้นให้กำหนดที่จิตว่าถอย ๓
โดยถอยจากฌาน ๔ ลงมาฌาน ๓ คือ ลดตัวลงมาหน่อยฌานก็จะถอยแล้ว
เมื่อจิตคิดถอย ฌานมันก็จะลอยลงมา อุเบกขาจะค่อยหมดไป
มาอยู่ที่ฌาน ๓ ซึ่งเป็นฌานสุข แล้วก็ถอยจากฌาน ๓ มาฌาน ๒
พอถอยมาถึงฌาน ๒ อุพเพงคาปิติ ก็ขึ้นโครมๆ กายโยกกายสั่นอีก
ตรงนี้พวกที่ได้ฌานใหม่ๆ ติดมาก ที่มันติดเพราะมันสนุกชวนให้เพลินมาก รู้สึกมีกำลังวังชาด้วย
แล้วก็รู้สึกกายมันเบาอยากกระโดดโลดเต้นไปด้วยซ้ำ ซึ่งถ้าจะกระโดดโลดเต้นก็จะออกอึกทึกไป
เอาเพียงให้มันสั่น กายโยกกายสั่น กายคลอน บางทีหมุนติ้ว
บางทีก็เอาแขนสองแขนตีปีกดังเหมือนไก่ก็มี บางทีก็ตบมือสองมือเลย มีลักษณะต่างๆ
ปีติทั้งหมดมี ๕ ชนิดแต่ละชนิดมี ๘, ๙ อย่าง อาการของปีติทั้งหมดมีถึง ๓๘-๓๙ อย่าง
เมื่อออกจากฌาน ๒ แล้วก็ให้ถอยมาฌาน ๑ แล้วออกจากฌาน ๑
โดยการสลัดหัวพร้อมกับคิดว่า “ออก” จากนั้นก็ลืมตาขึ้นเป็นการออกจากฌาน

การเข้าฌานตามขั้นเหมือนกับเราขึ้นบันไดเรือนขั้น ๑ ขั้น ๒ ขั้น ๓ ขั้น ๔
เวลาออกฌานก็เหมือนกับถอยหลังเดินลงมา
จากขั้น ๔ มาขั้น ๓, ๒ และ ๑ และก็ลงถึงพื้นเป็นแบบนี้
ถ้าใครอวดดีไม่ลงตามขั้นฌาน คือไม่ถอยลงมาจะไปติดฌาน ๔ มันถอยไม่ออก
จิตยังติดอยู่ในสมาธิระดับลึก เที่ยวเดินซึมอยู่นั่นแหละ เป็นคนไม่พูด
แม้บางครั้งเขาถามอะไรก็ไม่ได้ยิน บางทีพูดอะไรคำหนึ่ง แล้วก็ไม่พูดต่อ
มันหยุดเสียเพราะฌานยังค้างอยู่

ผู้ได้ฌานแล้วตั้งแต่ ฌาน ๒, ๓, ๔ อาจมีฤทธิ์มีอำนาจ วาจาสิทธิ์ได้
เพราะวาจามีสัจจะ เราจะว่าใครให้ฉิบหายเข้า ให้ป่นปี้อย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้
ถ้าว่าไปแล้วอาจเป็นจริงๆ ขึ้นมา เพราะตอนที่เรามีฌานอยู่ทุกวันนั้นจิตเราเป็นพรหม
แม้กายเรายังเป็นมนุษย์อยู่ก็จริง แต่จิตเป็นพรหมจึงมีวาจาศักดิ์สิทธิ์ได้
อย่าได้พูดปรักปรำใคร อย่าได้กล่าวตำหนิใครในทางที่เสีย เขาอาจเสียจริงๆ ได้
เช่น สมมติว่าเห็นคนขึ้นต้นไม้ เราพูดเชิงเล่นว่า ‘เออ...ระวังนะ..มันจะตกลงมา’
อย่าพูดเข้า ถ้าพูดมันจะตกลงมาจริงๆ นี่สำคัญมาก
ฉะนั้น เราต้องระวังความคิดระวังวาจา

การทำฌานมีอานิสงส์มากมาย เช่น นอนก็หลับสบายไม่ฝันเลอะเทอะ
ตื่นขึ้นมาก็สบาย จิตใจผ่องใส ไม่เศร้าหมองหน้าตามีสง่าราศีอิ่มเอิบด้วยเลือดฝาด
ศาสตราวุธไม่กินกาย ไฟก็ไม่ไหม้บ้าน แม้ยาพิษก็ทำอันตรายไม่ได้
เป็นที่รักใคร่ของมนุษย์และอมนุษย์ทั้งหลาย เทวดาคุ้มครองรักษา
เป็นผู้ที่มีโชคลาภ โรคภัยไม่ค่อยเบียดเบียน
ถ้าใครเกิดตายลงขณะที่มีฌานก็จะไม่เกิดในอบายภูมิ
(อันมี นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดียรัจฉาน)
แต่จะไปเกิดในพรหมโลก ซึ่งมีอยู่ ๒๐ ชั้น
เป็นชั้นของรูปพรหม ๑๖ ชั้น และอรูปพรหม ๔ ชั้น
แล้วแต่กำลังที่เรามีฌานอยู่ ถ้าอยู่ในฌานที่ ๔ เต็มที่
ต้องไปเกิดในพรหมโลก ในชั้นที่ไม่เกิน ๑๑
คือ วิสัญญีภพมีอายุยืนถึง ๕๐๐ กัป (๑ กัปเท่ากับ ๖,๔๒๐ ล้านปี)

ทุกสิ่งทุกอย่างที่อาจารย์แสดงธรรมในเรื่องการปฏิบัติฌาน
ที่ว่า ตาทิพย์ หูทิพย์ อาจารย์ได้รู้ได้พบ
ได้เห็นมาแล้วทั้งสิ้น เป็นของมีจริงเป็นจริง
จึงยืนยันให้ศิษย์ทุกๆ คนจงเชื่อมั่นในคำสั่งสอนที่ให้ไว้นี้
ขอให้ตั้งใจปฏิบัติ เมื่อเราได้ฌานแล้ว
เราก็จะรู้ทันทีว่าคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นของมีจริง
ทำให้เราศรัทธาอันแรงกล้าขึ้นทีเดียว

แล้วที่เมื่อก่อนเคยดูหมิ่นว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่มีจริงอะไรเหล่านี้
เมื่อเราทำฌานได้เราจะรู้คุณค่าของพระธรรม ว่าพระธรรมเป็นของมีจริง
เมื่อมีพระธรรมก็ต้องมีพระพุทธเจ้าจริง
พระสงฆ์ก็อาศัยพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
เป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติตามจนหมาอาสวะ
(กิเลสที่ละเอียด) ตามเยี่ยงอย่างพระพุทธเจ้า


ผู้ปฏิบัติมั่นคงอยู่ในศีลในธรรมทำฌานให้ได้ เมื่อทำฌาน ๔ ได้แล้ว จึงจะเริ่มวิปัสสนา
การขึ้นวิปัสสนาคือการขึ้นไปหาธรรมปัญญา ปัญญารู้จักละกิเลส
ขอเตือนสติไว้อย่างหนึ่งว่าในขณะที่เรานั่งฌานจิตอย่าคิดอยากได้
หากมีตัณหาคือมีความอยากมันก็มีกิเลส เมื่อมีกิเลสมันก็ก้าวหน้าไปไม่ได้
เราต้องรู้จักทำใจของเราเฉยๆ อย่าไปคิดอยากได้นั่นอยากได้นี่
ถึงจะนานแสนนานที่นั่งอยู่ก็ต้องอดทน ขั้นต้นต้องมีความอดทน

มันจะเจ็บปวดอะไรก็ตามอย่าคิดอย่าเกา เช่นสมมติมันคันขณะนั่งก็อย่าไปเกา
ถึงแม้ยุงกัดหรืออะไรก็ตามก็ต้องมีความอดทน ถ้าจิตคิดให้มือไปเกา
หรือเคลื่อนไหวกายอะไรเข้าแล้ว จิตมันจะถอยทันทีเพราะจิตต้องไปสั่งงานให้กายเคลื่อนไหว
จิตก็เริ่มถอย ไม่ยึดกรรมฐานเสียแล้ว นี่เป็นสิ่งสำคัญ
ฉะนั้น ทุกๆ คนเมื่อมีความมุ่งหมายต้องการที่จะไปพระนิพพาน หรือรู้จักพระนิพพาน
เราต้องปฏิบัติตามคำสั่งสอนนี้อย่างเคร่งครัด

พระเครื่องรางต่างๆ ที่มีความศักดิ์สิทธิ์นั้นอาศัยฌานนี้ทั้งสิ้นในการปลุกเสก ไม่ใช่อาศัยอื่น
ตัวคาถาที่เขียนเป็นอักษรขอมไว้นั้น มันไม่ได้เป็นอะไรขึ้นมาหรอกมันตัวหนังสือ
ถ้าขลังจริงที่ตัวหนังสือก็ไม่จำเป็นต้องเอามานั่งนั่งเสกนั่งปรกตามที่เขาทำๆกัน
แต่อาจารย์นี้ไม่สอนตามนั้น พระพุทธเจ้าห้ามไว้ การเล่นเครื่องรางของขลังเล่นไสยศาสตร์ต่างๆ ผิดศีล
ผิดวินัยพระ เป็นอาบัติทีเดียวแหละ ผู้ที่มีความมุ่งหมายที่จะไปพระนิพพาน หรือพบพระนิพพาน
จงเลิกสิ่งเหล่านั้นเสีย อย่าไปเล่น อย่าริเล่น เราตั้งใจให้มันรู้ให้มันเห็นแล้วก็ละกิเลส
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ มันเกิดขึ้นที่ตัวเราขณะที่เรานั่งฌานนั่นแหละทุกอย่าง
ไม่ใช่ไปเพ่งหาจากข้างนอก มันเกิดขึ้นให้เราพบให้เราเห็นให้เรารู้
เมื่อเราได้ยินเสียงเราก็ทำการละมันเสีย มีสิ่งใดที่เกิดขึ้นกับกายกับจิต ก็ให้รู้แล้วละมันเรื่อยไป
จึงเรียกว่าทำวิปัสสนา ส่วนของวิปัสสนานั้นได้สอนไว้
ได้แสดงธรรมไว้ในเรื่องอิทธิบาท ๔ กับพละ ๕ ซึ่งต่อจากรูปฌาน ๔ นี้ไว้แล้ว

ที่แสดงมานี่เราทุกคนจงปลูกศรัทธาให้มั่นคง มีความอดทนเป็นสิ่งสำคัญ
มีสัจจะคือความจริงใจในการที่จะกระทำที่จะปฏิบัติ
อย่าเป็นคนเหลวไหลหละหลวม ผัดวันประกันพรุ่ง
อย่าเป็นคนเกียจคร้านและรักษาศีลให้ดีให้เรียบร้อย คือ ขัดเกลากิเลสหยาบ
ธรรมะ คือ สมาธิขัดเกลากิเลสอย่างกลาง
เมื่อเรารักษาศีลดีเราก็จะนั่งสมาธิได้เร็ว
คือ ศีลวิสุทธิ จิตก็จะวิสุทธิไปด้วย จิตคือสมาธินั่นเอง
เมื่อจิตเราวิสุทธิ ทิฏฐิก็วิสุทธิ ทิฏฐิก็คือปัญญานั่นเอง
กล่าวโดยสรุป ศีล สมาธิ กับ ปัญญา เป็นองค์ของมรรค ๘ ซึ่งย่อลงมา
ถ้าเราปฏิบัติตรงแล้วทุกอย่าง เช่น รักษาศีลไว้ให้มั่นแล้ว
มีสมาธิฌานเกิดขึ้นแล้ว ก็จะเกิดปัญญานำไปสู่การละกิเลส
จึงขอเน้นว่าจงทำตามที่สั่งสอนนี้ขึ้นไปตามขั้นตอน ทำให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ
ตรงตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า


ที่อาจารย์ปฏิบัติอยู่นี้รู้แน่ชัด ขอยืนยันไว้กับศิษย์ทุกคนว่าไม่มีคำสั่งสอนใดที่อาจารย์คิดขึ้นเอง
อาจารย์ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ครบถ้วนทั้งสิ้น จึงสามารถสอนพวกเราได้
ถ้าไม่รู้จริงอาจารย์ไม่กล้าสอนพวกเรา เพราะนรกเป็นของมีจริง
การสอนให้ศิษย์ทำผิด ครูบาอาจารย์เป็นผู้ลงนรก ศิษย์ไม่เท่าไหร่หรอก นี่เป็นหลักสำคัญ
จะอวดดีอวดเก่งไม่ได้ในการที่ปฏิบัติธรรมของพระพุทธเจ้า

พระพุทธองค์ก่อนที่จะสอนศิษย์ของพระองค์ พระองค์ก็ได้ตรัสรู้แล้วเป็นพระอรหันต์แล้ว
และพระอรหันต์ต่างๆ เช่น พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ พระกัสสปะเถระ
ล้วนเป็นพระอรหันต์ระดับอัครสาวก มีอภิญญา ๖* ปฏิสัมภิทาญาณ ๔* ทั้งสิ้น
การเขียนตำราใดๆ ขึ้นใหม่โดยอัตโนมัติ
เพื่อสั่งสอนผู้อื่นที่คิดว่าดี วิเศษยิ่งกว่าคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ที่มีอยู่ในอภิธรรมนั้น
เป็นสิ่งที่ไม่สมควรกระทำ รู้ที่ใจไม่ใช่จากการพูด

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


แก้ไขล่าสุดโดย Hanako เมื่อ 30 ธ.ค. 2012, 14:03, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ธ.ค. 2012, 09:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว



รูปภาพ
พระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และพระสาวกธาตุ
เรียกว่า เจดีย์วัดถ้ำขวัญเมือง


รูปฌาน ๔

เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ
ตโจ ทันตา นขา โลมา เกศา

อิทธิบาท ๔

ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา

พละ ๕

ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา

โพชฌงค์ ๗

สติ ธัมมวิจยะ วิริยะ ปีติ
ปัสสัทธิ สมาธิ อุเบกขา

มรรค ๘

สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา
สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม
สัมมาสติ สัมมาสมาธิ

อเนญชธรรม

หรืออเนญชาภิสังขาร หมายถึง สภาพที่ปรุงแต่งภพอันมั่นคง ไม่หวั่นไหว
ได้แก่ ภาวะจิตมั่นคงแน่วแน่ ด้วยสมาธิแห่งจตุตถฌาน (ฌาน ๔)

โคตรภู

หมายถึง ผู้ที่ตั้งอยู่ในฌานซึ่งเป็นลำดับที่จะถึงอริยมรรค
หรือผู้อยู่ในหัวต่อระหว่างความเป็นปุถุชนกับความเป็นอริยบุคคล
(พระอริยบุคคลมี ๔ ขั้น คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์)

เพียร ๔ (สัมมัปธาน ๔)

หรือสัมมาวายาโม ได้แก่ปรารภความเพียรประคองจิตไว้เพื่อ
๑. ยังอกุศลธรรมอันเป็นบาปที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น (สังวรปธาน)
๒. ละอกุศลธรรมอันเป็นบาปที่เกิดขึ้นแล้ว (ปหานปธาน)
๓. ยังกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น (ภาวนาปธาน)
๔. พัฒนากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้งอกงามไพบูลย์ยิ่งขึ้น (อนุรักขนาปธาน)

สติปัฏฐาน ๔

หรือสัมมาสติ ได้แก่ ความระลึกชอบ

โดยเป็นผู้พิจารณาเห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ (กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน)
(มีสติกำกับดูรู้เท่าทันกายและเรื่องของกาย)
พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่เป็นประจำ (เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน)
(มีสติกำกับดูรู้เท่าทันเวทนา)
พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่เป็นประจำ (จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน)
(มีสติกำกับดูรู้เท่าทันจิตหรือสภาพและอาการของจิต)
พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่เป็นประจำ (ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน)
(มีสติกำกับดูรู้เท่าทันธรรม)

องค์ธรรมทั้ง ๔ หมวดนี้เรียกสติปัฏฐาน ๔ มี กาย เวทนา จิต ธรรม

ปิติ ๕

๑.) ขุททกาปีติ มีลักษณะ คือ
๑. เกิดอาการคล้ายหนังหัวพองและขนลุก เป็นดังอาบน้ำในเวลาหนาว
๒. เกิดปรากฏเป็นดังเส้นผมตำแลคายเพียงเล็กน้อย
๓. เกิดในหทัยวัตถุให้สั่นระรัวเป็นดั่งปั่นผลหมาก
๔. เกิดในกายให้เนื้อตัวหนักมึนตึงและเวียนอยู่

๒.) ขณิกาปีติ มีลักษณะ คือ
๑. ให้ปรากฏในจักขุทวารเป็นดังฟ้าแลบและเป็นประกายดังตีเหล็กไฟ
๒. เกิดในกายทวารเป็นดังปลาซิวตอดในเวลาอาบน้ำ
๓. เกิดเนื้อเต้นและเอ็นกระตุก
๔. เกิดในกายให้ตัวร้อนทั่วไป
๕. เกิดแสบทั่วกาย ให้กายแข็งอยู่
๖. เกิดเป็นดังแมลงเม่าไต่ตอมตามตัว
๗. เกิดในอกให้หัวใจและท้องร้อน
๘. เกิดในใจสั่นหวั่นไหว
๙. เกิดในกายให้เห็นเป็นสีเหลือง สีขาว เป็นไฟไหม้น้ำมันยางลามไปในน้ำ

๓.) โอกกันติกาปีติ มีลักษณะ คือ
๑. กายไหวดังคลื่นกระทบฝั่ง
๒. เป็นดั่งน้ำกระเพื่อมเกิดเป็นฟองน้ำ
๓. เกิดเป็นดังขี่เรือข้ามน้ำมีระลอก
๔. กายและใจเป็นดังไม้ปักไว้กลางสายน้ำไหล สั่นระรัวอยู่
๕. เป็นดังน้ำวน
๖. เป็นดังหัว อก ไหล่ และท้องน้อยหนักผัดผันอยู่
๗. เกิดวาบขึ้นเป็นดังไฟลุก
๘ .เกิดเป็นดังลมพัดขึ้นทั่วกาย

๔.) อุพเพงคาปีติ มีลักษณะ ๘ คือ
๑. เกิดพองกายเนื้อตัวทั้งมวลหวั่นไหวอยู่
๒. เกิดเต้นเหยงๆ ขึ้น และลุกแล่นไป
๓. เกิดร้อนทั่วตัวและทั่วสันหลัง ศีรษะ สะเอว และท้องน้อย
๔. เกิดแสบร้อนเป็นไอขึ้นทั้งตัว เป็นดังไอข้าวสุกร้อน
๕. เกิดปวดท้อง และปวดน่องเป็นดังลงท้องเป็นบิด
๖. กายและเนื้อตัวเบาและสูงขึ้น
๗. หนักแข้งขา บั้นเอว ศีรษะ เป็นดังไข้จับ
๘. เกิดเป็นสมาธิหนัก และเย็นอยู่

๕.) ผรณาปีติ มีลักษณะ ๘ คือ
๑. เกิดในจักขุทวาร ดูกายเนื้อตัวนั้นแผ่ไป ดูใหญ่ และสูงขึ้น
๒. เกิดแผ่ไปทั่วกาย ให้ตัวเย็นเป็นดังลงแช่น้ำ
๓. กายยิบๆ แยบๆ เป็นดังไรไต่
๔. เป็นดังประกายไฟพุ่งออกจากกระบอก
๕. กายเบาเป็นดังนั่งและนอนอยู่เหนือสำลี
๖. กายหนาวสั่นตัวงอ และหนักหางตาเป็นดังอาบน้ำในฤดูหนาว
๗. กายอุ่น และเป็นไอขึ้น
๘. กายเย็นซาบซ่านทั่วตัว

*อภิญญา ๖
เป็นความรู้ชั้นสูงอันเกิดจากการปฏิบัติสมถวิปัสสนา ประกอบด้วย

๑. อิทธิวิธี - แสดงฤทธิ์ได้
๒. ทิพโสต - มีหูทิพย์
๓. เจโตปริยญาณ - สามารถทายใจคนอื่นได้
๔. ปุพเพนิวาสานุสติญาณ - ระลึกชาติได้
๕. ทิพจักขุ (จุตูปปาตญาณ) - มีตาทิพย์
๖. อาสวักขยญาณ - คือทำให้อาสวะกิเลส (กิเลสละเอียด) หมดสิ้นไป

๕ อย่างแรก เป็นโลกียอภิญญา เสื่อมได้ยังไม่ถึงพระนิพพาน
อย่างที่ ๖ คือ อาสวักขยญาณ เป็นโลกุตตรอภิญญา
ทำให้กิเลสหมดสิ้น บรรลุถึงมรรคผลนิพพานได้

*ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ คือปัญญาแตกฉานมี ๔ อย่างด้วยกันคือ

๑. อัตถปฏิสัมภิทา - แตกฉานในทางอรรถ
๒. ธัมมปฏิสัมภิทา - แตกฉานในทางธรรม
๓. นิรุตติปฏิสัมภิทา - แตกฉานในทางนิรุกติหรือภาษา
๔. ปฏิภาณปฏิสัมภิทา - แตกฉานในทางปฏิภาณ



ที่มา เวบไซต์วัดถ้ำขวัญเมือง
http://www.wattham.org/wattham_chan4.php

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ธ.ค. 2012, 22:12 
 
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 ต.ค. 2010, 12:11
โพสต์: 5013


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 12 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron