วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 19:21  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 15 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ต.ค. 2012, 17:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


สมเด็จพระนางพิมพาภิกษุณี
หรือพระภัททากัจจานาเถรี

พระเถรีผู้เลิศกว่าภิกษุณีสาวิกาทั้งหลาย ในฝ่ายผู้ทรงอภิญญา

เกี่ยวกับ พระภัททากัจจานาเถรี
ซึ่งเป็นพระชาติสุดท้ายของพระนางพิมพา อ่านได้ลิ้งค์นี้
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=26815
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=6958

รูปภาพ

:b48: :b48: :b48:

ข้อมูลจาก หนังสือวิมุตติรัตนมาลี
รจนาโดย พระพรหมโมลี วัดยานนาวา กรุงเทพฯ
http://www.palapanyo.com/Pimpa/index.html
ขอบพระคุณภาพประกอบจากอินเตอร์เนต


:b48: :b48: :b48:

วาระนี้เพื่อเป็นการสดุดีคุณแห่งพระอรหันต์อันวิเศษยิ่งใหญ่
และเพื่อให้ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลายได้ศึกษาพิจารณา
ประวัติความเป็นไปของพระอรหันต์ตั้งแต่ต้นจนถึงกาลดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพาน
อันเป็นนิสสรณวิมุตติในกาลสุดท้ายสิ้นทั้งผอง

จึงจักขอรวบรวมเอาประวัติของภิกษุณีอรหันต์รูปหนึ่ง
ทรงพระนามว่าสมเด็จพระนางพิมพาภิกษุณีเถรี
ตามความอันปรากฏมีในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาที่เป็นอาคตสถานหลายแห่ง
โดยจะพยายามนำมาพรรณนาไว้ในที่นี่ตามลำดับ ดังต่อไปนี้

:b46: :b41: :b46:

อดีตกาลล่วงมาแล้ว นับถอยหลังจาก “ภัทรากัป” นี้ไป
เป็นเวลานานถึง ๔ อสงไขยกับอีก ๑๐๐,๐๐๐ มหากัป
กาลครั้งนั้นเป็นศุภมงคลกาลที่เรียกว่า “สารมัณฑกัป”
เพราะเป็นกัปที่มี สมเด็จพระส้มมาสัมพุทธเจ้า
เสด็จมาอุบัติตรัสในโลก ๔ พระองค์ คือ

๑. สมเด็จพระมิ่งมงกุฎตัณหังกรพุทธเจ้า
๒. สมเด็จพระมิ่งมงกุฎเมธังกรพุทธเจ้า
๓. สมเด็จพระมิ่งมงกุฎสรณังกรพุทธเจ้า
๔. สมเด็จพระมิ่งมงกุฎทีปังกรพุทธเจ้า


จะกล่าวกลับจับความ จำเดิมแต่ศาสนาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ที่ ๓
คือสมเด็จพระมิ่งมงกุฎสรณังกรพุทธเจัา ค่อยเสื่อมสลายสูญสิ้นไปหมดแล้ว
โลกเรานี้ก็ว่างจากพระพุทธศาสนา ชั่วกาลพุทธันดรหนึ่ง
แล้วจึงปรากฏมีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติ
ก็สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เสด็จมาอุบัติใหม่นี้
ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมิ่งมงกุฎทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า

เมื่อพระองค์ทรงอุบัติตรัสในโลกแล้วก็ทรงบำเพ็ญพุทธกิจ
ประกาศพระพุทธศาสนา ยังศาสนธรรมให้ขยายแผ่กว้างออกไป
เหล่าสัตว์ทั้งในไตรโลก ครั้นได้สดับรับรสพระสัทธรรมเทศนา
ต่างก็พากันประพฤติปฏิบัติตามคำสั่งสอนของสมเด็จพระทศพล
จนได้บรรลุพระอริยมรรคอริยผล ตามสมควรแก่วาสนาบารมีแห่งตนเป็นอันมากแล้ว

กาลครั้งนั้น ยังมีพราหมณ์มาณพหนุ่มผู้หนึ่ง ปรากฏนามว่า สุเมธพราหมณ์
เขาเกิดในตระกูลมั่งคั่ง มีทรัพย์สมบัติมหาศาลนับได้มากมายหลายโกฏิทีเดียว
นอกจากนั้นยังเป็นผู้เชี่ยวชาญในเชิงมนต์เฟื่องฟุ้ง
เรียนจบแจ้งในไตรเพทางคศาสตร์ ฉลาดในศิลป์สิ้นทุกประการ
วันหนึ่งสุเมธพราหมณ์มาณพหนุ่มผู้นั้น
นั่งอยู่ในห้องรโหฐานอันเป็นที่สงัดแล้วจินตนาการด้วยปัญญาว่า


“ธิ ! ดังเราจะติเตียน...อันว่าการก่อภพกำเนิดเป็นรูปกายขึ้นใหม่นี้
ย่อมมีกองทุกข์ท่วมท้นหฤทัยเที่ยงแท้
อนึ่ง แม้เมื่อชนมชีพแตกพรากจากกาย ทำลายร่างสรีราพยพนั้นเล่า
ก็เป็นกองทุกข์ถึงที่สุดใหญ่ยิ่งกว่าทุกข์ทั้งปวง
การก่อภพชาติใหม่นี้เป็นทุกข์ใหญ่หลวง
เพราะว่าชาติภพก่อให้เกิดชรา แล้วชราก็ก่อให้เกิดพยาธิ
มรณะอันเป็นทุกข์ต่อไปไม่สิ้นสุดก็ในเมื่อชาติ ชรา พยาธิ มรณะ
ซึ่งได้แก่ความเกิด ความแก่ความเจ็บไข้และความตายปรากฏมีขึ้นได้แล้ว
ความไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ก็คงจักมีเป็นแม่นมั่น อย่ากระนั้นเลย
ควรที่เราจะประสงค์เจาะจงแสวงหาความพ้นชาติ ชรา พยาธิ
และมรณะนั้นให้จงได้ จะเป็นการประเสริฐแท้

อนึ่ง ตัวเราคงต้องตายในวันหนึ่งข้างหน้า
ต้องทอดทิ้งสรีระ อันมีสภาวะเน่าเปื่อยปฏิกูลนี้
แล้วไปเกิดใหม่ให้ได้ทุกข์อีก อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ไฉนจึงจะยังหนักหน่วงห่วงใยอยู่ด้วยร่างกายปฏิกูลนี้อยู่เล่า
ควรที่เราจะพึงหาทางออกไป เพื่อไม่มีการเกิดเสียเลยดีกว่า
ก็แต่หนทางอันประเสริฐนี้ เห็นทีฝูงสัตว์จะพึงพบได้โดยยาก
จำเราจะพึงทำความเพียรพยายามให้จงมาก
อุตส่าห์เสาะแสวงหาให้ได้พบจงได้

ความทุกข์ภัยพยาธิมีแล้วฉันใด ความสุขไร้ทุกข์ภัยพยาธิก็คงจักมี เช่นเดียวกัน
เมื่อภพกำเนิดคือความก่อเกิดปรากฏมีแล้วฉันใด
วิภวะ คือ ความไม่ก่อให้เกิดเป็นร่างกายก็คงจักมีเช่นเดียวกัน
เปรียบเหมือนเมื่อความร้อนคือ เตโชธาตุไฟมีอยู่มากแล้ว
ความเย็นคืออาโปธาตุน้ำก็มีไว้สำหรับดับความร้อนแก้กันฉันใดก็ดี
เมื่อมีไฟคือความเกิด แก่ เจ็บ ตาย สิ่งที่จะระงับทุกข์ร้ายเหล่านี้
ก็คงมีเป็นแม่นมั่นเสมือนหนึ่งว่าการบาปมีแล้ว ย่อมมีการบุญแก้
ความเกิดมีแน่ ความไม่เกิดอีกเป็นเที่ยงแท้ก็คงจักมี

เปรียบเหมือนบุรุษทรงพลังรักความสวยสะอาด
เมื่อเห็นว่าสรีระร่างแห่งตนแปดเปื้อนคูถเน่าเหม็นร้ายกาจหนักหนา
แล้วมาพบสระน้ำซึ่งมีอุทกวารีเย็นใส
ควรหรือที่เขาจะไม่กระวีกระวาดลงไปในสระ เพื่อชำระล้างเนื้อตัวให้หมดมลทิน
ก็เรานี้ในเมื่อมลทิน คือกิเลสที่ควรล้างกำลังแปดเปื้อนติดตัวมีอยู่แล้ว
ดังฤาจะไม่แสวงหาสระน้ำที่มีอมตธรรมเป็นอุทกวารี
แล้วรีบล้างเสียซึ่งมลทินคือสรรพกิเลสนั้น

อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือนขุนพลจอมโยธีผู้ชำนาญศึกในรณภูมิ
ที่ถูกข้าศึกศัตรูหมู่ปัจจามิตรมาล้อมไว้
เมื่อเห็นหนทางที่พอจะประลาตหลีกลี้หนีไปได้ยังมีอยู่
ควรหรือที่เขาจะหลงมุมานะสู้จนเสียชีวิตไม่คิดหนี
ก็ตัวเรานี้ ในเมื่อมีข้าศึกศัตรูคือ หมู่กิเลสมารมารวมรุมหุ้มห้อมล้อมไว้อยู่ทุกทิวาราตรี
และหนทางเป็นที่เกษมเปรมใจคือพระนิพพานอันเป็นที่หลีกหนีย่อมมีอยู่โดยแท้
เมื่อเป็นเช่นนี้จะไม่คิดแก้ไขหลีกหนีเอาตัวรอดไปหรือไฉน

อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือนชายผู้มีโรคร้ายเข้าเกาะกุมสรีรกาย
ให้ได้รับทุกขเวทนาแสนสาหัส เมื่อได้พบแพทย์วิเศษที่จะสามารถรักษา
ควรแลหรือที่บุรุษนั้นจะไม่คิดอ่านเยียวยารักษาพยาธิแห่งตนให้หายเป็นปรกติดี
ก็ตัวเรานี้ ในเมื่อถูกโรคาพยาธิ คือกิเลสาสวะมาย่ำยีบีฑา
จะไม่เร่งเสาะแสวงหาแพทย์พิทยาจารย์ให้พยาบาลขจัดเสียซึ่งโรคาพยาธินั้นหรือไฉน

อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือนชายผู้มีน้ำใจรักความสะอาด
และมีซากศพอันแรงร้ายกาจด้วยกลิ่นเหม็นเป็นปฏิกูล มาผูกพันกระสันติดอยู่กับคอตน
ควรหรือที่ชายคนนั้นจะทนสู้กลิ่นเหม็นแห่งซากศพอยู่ได้
โดยที่แท้ เขาย่อมจะร้อนรนขวนขวายปลดเปลื้องซากศพให้พ้นไปจากคอตนเสียโดยพลันฉันใด
ก็ตัวเรานี้ จะมีใจเอื้อเฟื้ออาลัยอาวรณ์ในร่างกายอันเน่าเปื่อยปฏิกูล
มากมูลไปด้วยซากสางต่างๆนี้ทำไมกัน
ทางที่ดีนั้นจะต้องรีบหาทางปลดเปลื้องทอดทิ้งเสีย
ไม่ต้องห่วงใยเฝ้าอาลัยรัก ปลดเปลื้องทอดทิ้งไปโดยพลัน
ให้เหมือนกับบุรุษ ทอดทิ้งซากศพที่ผูกอยู่ที่คอนั่นเถิด

อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือนบุรุษถูกหมู่โจรร้ายใจฉกาจ
มันอาจหาญพากันมาปล้น กลุ้มรุมชิงฉวยเอาห่อทรัพย์สมบัติได้แล้ว
และบุรุษนั้นเห็นว่าตนไม่สามารถจะชิงเอาห่อทรัพย์สินกลับคืนมาได้
เขาย่อมจะสิ้นอาลัยในทรัพย์ไม่เสียดายหมายแต่จะเอาชีวิตรอดรีบวิ่งหนีไปโดยพลันฉันใด
ตัวเรานี้เล่า ก็มีสรีระร่างอันเปรียบดังหมู่มหาโจรใจฉกาจ
สามารถที่จะปล้นผลาญจิตใจให้ขาดจากกุศลธรรมทั้งปวง
จำเราจะตัดห่วงเสน่หาในกายทอดทิ้งเสียอย่าให้มีอาลัยได้
รีบหนีไปในที่ปลอดภัยเหมือนบุรุษที่ถูกโจรปล้นแล้ว
ไม่อาลัยในทรัพย์สมบัติรีบหนีไปฉับพลันฉะนั้นเถิด”


สุเมธมาณพผู้มีปรีชา จินตนาการเป็นอุปมาทบทวนย้อนหน้าย้อนหลัง
วิจิตรพิสดารมากมายหลายครั้งดั่งนี้แล้ว
ในที่สุดก็ตัดสินใจสั่งให้เปิดคลังทรัพย์สมบัติของตนมากมายหลายโกฏิสุดประมาณ
ออกบริจาคเป็นทานแจกจ่ายแก่ยาจกวณิพกคนอนาถา
และคนที่อยากได้ทั้งปวงจนหมดสิ้นไม่มีเหลือแล้ว
ก็มีใจผ่องแผ้วออกเดินทางแต่ตัวเปล่าเข้าไปสู่อรัญประเทศเขตป่าใหญ่

เมื่อมาถึงที่ใกล้เชิงเขาธรรมิกบรรพต จึงจัดแจงสร้างบรรณศาลาอาศรมบท
เป็นที่อาศัยให้สำเร็จสมอารมณ์หมายภายในไม่ช้า
แล้วก็เปลื้องผ้าสาฎกเนื้อดีที่ตนครองนุ่งผ้าเปลือกป่านและคากรองบวชเป็นดาบส
สร้างพรตพรหมจรรย์ จำเริญสมถกรรมฐาน

ภายหลังต่อมาไม่นานก็ละทิ้งเสียซึ่งบรรณศาลาที่อยู่นั้น
เพราะเห็นว่าทำให้เกิดห่วงใยไม่วิเวกเพียงพอ
แล้วเดินทางต่อไปจนถึงเขตอรัญอันไกลลึกเป็นป่าใหญ่
อาศัยร่มไม้รุกขมูลเป็นที่อยู่ เลือกดูผลไม้ที่หล่นลงมาเอง
เป็นประมาณบริโภคเป็นอาหารยาปนมัตเครื่องยังชีพให้ทรงไว้เท่านั้น
มีจิตบากบั่นอุตส่าห์บำเพ็ญเป็นกสิณานุโยค พยายามอยู่ในอรัญสถาน
ไม่นานเท่าใด ก็สามารถได้บรรลุฝั่งแห่งฌานสมาบัติและอภิญญา

เบื้องว่า สุเมธดาบสผู้ยิ่งด้วยพรตพรหมจรรย์
ท่านได้สำเร็จอภิญญาฌานสมาบัติบริบูรณ์ดี
มีวสีภาพเชี่ยวชาญชำนาญยิ่งนักแล้วก็ได้แต่เพลิดเพลินเจริญฌานเป็นสุขอยู่หนักหนา
หารู้ไม่เลยว่า บัดนี้สมเด็จพระชินสีหทีปังกร
สัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เสด็จอุบัติตรัสเป็นพระบรมโลกนาถแล้ว

ความจริงนั้นควรที่ท่านดาบสจะรู้ เพราะธรรมดาวิสัยผู้ได้อภิญญาฌานสมาบัติ
ย่อมจักมีโอกาสรู้เห็นนิมิตในกาลทั้ง ๔ ก่อน คือ

=> กาลเมื่อท่านผู้จะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จมาถือปฏิสนธิในโลกนี้

=> กาลเมื่อท่านผู้จะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประสูติจากพระครรโภทร

=> กาลเมื่อได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณอันประเสริฐ

=> กาลเมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงมีพระมหากรุณา
แสดงพระธรรมจักรเทศนา


กาลสำคัญทั้ง ๔ ซึ่งสุเมธดาบสมิได้รู้เห็นนี้
ก็เพราะเหตุที่ท่านเป็นผู้เพลิดเพลินเจริญฌานอันเป็นส่วนตนหนักยิ่งนักอยู่ในจิต
ด้วยมิได้ใฝ่ใจคิดดูซึ่งเหตุอื่นเลย จึงมิได้เห็น
มิได้รู้ว่าสมเด็จพระสัพพัญญูเจ้าทีปังกรทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลก
ต่อเมื่อหมู่มหาชนเป็นอันมาก พากันอาราธนาสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทีปังกร
ซึ่งทรงมีพระคุณบวรวิเศษให้ทรงพระมหากรุณาเสด็จมายังปัจจันตประเทศ
จึงเกิดเหตุมหาโกลาหลเป็นการใหญ่ด้วยว่าฝูงชนทั้งหลาย
ซึ่งมีความเลื่อมใสชื่นชมโสมนัสต่างก็พากันจัดแจงแต่งหนทางแผ้วถางเกลี่ยมูลพูนถม
ระดมกันกระทำทางเป็นที่เสด็จพระพุทธดำเนินอยู่

ในขณะนั้น สุเมธดาบสผู้มีตบะอันสูง เพราะบรรลุถึง ฝั่งแห่งอภิญญาฌานสมาบัติ
เที่ยวจาริกมาทางอากาศกลางเวหา มองลงมายังพื้นพสุธา
ได้เห็นประชาชนประชุมกันอยู่เป็นหมู่มาก แลดูหลากประหลาดรื่นเริงบันเทิงจิตน่าพิศวง
ดาบสผู้มีฤทธิ์จึงเหาะลงมาจาก คัคนัมพรห้องเวหาหาว
แล้วมีพจนะประภาษถามข่าวคราวชาวมนุษย์หมู่นั้นว่า

“ดูกรท่านทั้งปวง มหาชนชวนรื่นเริงบันเทิงจิต ชวนกันประกอบกิจ
แผ้วถางปฐพีโสภโณภาส เพื่อบุคคลผู้ใดจะจรมา”

มหาชนทั้งปวงได้ฟังท่านดาบสถาม จึงแจ้งความว่า

“ข้าแต่ท่านฤๅษี สมเด็จพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้อนุตรโลกนาถ
ยอดบุคคลเสด็จอุบัติขึ้นในโลกแล้ว กาลบัดนี้ ข้าพเจ้าทั้งหลาย
มีใจเลื่อมใสในพระองค์เป็นยิ่งนัก จึงชักชวนกันแผ้วถางทาง
เพื่อให้เป็นที่เสด็จพระพุทธดำเนิน ณ สถลมารควิถี
เพื่อที่จะได้เสด็จมาแสดงพระธรรมเทศนาโปรดพวกเราชาวเมืองนี้”


สุเมธาฤๅษีผู้มีฤทธิ์ เมื่อสดับพระพุทธนามแต่เพียงคำว่า
สมเด็จพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงบังเกิดขึ้นแล้วในโลกเท่านั้น
ก็พลันเกิดปีติเป็นล้นพ้นสุดประมาณจึงมาจินตนาการว่า
กาลนี้ควรที่ตัวเราจักหว่านพืชเพื่อผล
ขณะนี้ก็เป็นมงคลสมัยอุบัติมี หาควรที่เราจะมาทำละเมินเสียไม่
ครั้นคำนึงจินตนาในใจด้วยอำนาจศรัทธากอบด้วยญาณโสมนัสฉะนี้แล้ว
จึงกล่าวขออนุญาตชนเหล่านั้นว่า

“แม้นท่านทั้งหลายถางทางถวายพระพุทธเจ้าละก็
ขอจงอนุญาตให้โอกาสแก่เราสักแห่งหนึ่งเถิด
เรานี้เกิดศรัทธาปรารถนาจะทำทางถวายพระพุทธเจ้าบ้าง”


ครั้งนั้น ชนทั้งหลายเห็นว่าท่านฤๅษีเป็นผู้มีฤทธิ์เดช
เพราะสามารถเหาะเหินเดินมาโดยทางนภากาศได้
ก็เลยพากันชี้มือไปตรงบริเวณที่ซึ่งถากถางยากลำบากเพราะมีเปือกตมโคลนเลน
เป็นบริเวณที่ต้องถมต้องหามูลดินมาเกลี่ยให้เสมอเป็นอันดี
แล้วบอกอนุญาตแก่สุเมธฤๅษีว่า

“แม้นท่านปรารถนาจะทำทางถวายแก่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าร่วม
กับพวกเราในกาลครั้งนี้แล้วไซร้
ท่านก็จงทำบริเวณที่ตรงนั้นให้สำเร็จด้วยดีเถิด ท่านฤๅษี”

สุเมธดาบสผู้มีใจเลื่อมใสในองค์สมเด็จพระจอมไตรโลกนาถ
ครั้นเขายกอนุญาตให้ทำทาง ณ สถานที่นั้นแล้ว ก็มิได้รอช้า

อุตสาหะตั้งหน้าประกอบการโดยมีจิตวารรำพึงถึงพระพุทธ
นามว่าพุทโธ...พุทโธ...พุทโธ...อยู่เป็นนิตยกาล

แผ้วถางสถานที่ให้เตียนโล่งเป็นอันดีแล้วก็เปลื้องหนังเสือที่รองนั่ง
ออกผูกทำเป็นถุงกระทอห่อหิ้วมูลดินเอามาเทถมระดมสาด
ในที่ซึ่งเป็นที่ลาดลุ่มลึกเป็นเลนเหลวอยู่นั้นยังมิทันที่จะทำได้สำเร็จตลอด
เหลืออยู่ยาวประมาณชั่วตัวบุรุษ ก็มีเสียงอุโฆษณาการกึกก้องป่าวร้องให้เป็นที่รู้กันว่า
ได้เวลาที่สมเด็จพระมิ่งมงกุฎพุทธทีปังกรศาสดา
เสด็จพาพระขีณาสพสงฆ์มากมายมาใกล้จะถึง


เสียงศัพท์บรรเลงอื้ออึงด้วยสำเนียงทวยเทพสุภสุรคณานิกร
เป็นถ่องแถวแนวสลอนด้วยมหาชนอเนกแน่น
ทำปัจจุคมนาการทั้งนำเสด็จพระพุทธดำเนินมา
บางหมู่ก็ประโคมดุริยดนตรีแตรสังข์กังสดาลฆ้องกลองก้องสนั่นศัพท์
แซ่ซ้องสาธุการเอิกเกริก โสมนัสหนักหนา
ทั้งเทพยดาและมนุษย์ต่างก็มีกรประณมมิได้คลายเคลื่อ
นและละลานเลื่อนตามเสด็จพระพุทธดำเนินมา ฝูงเทพยดาก็ประโคมทิพยดนตรี
หมู่มนุษย์ก็ประโคมดีดสีตีเป่าตามประสามนุษย์ดำเนิน
นำและตามเสด็จพระพุทธลีลาเทพยดาบางพวกก็โปรยปรายทิพยบุปผา
มีดวงดอกทิพยมณฑารพโกสุมเป็นประธานลอยเลื่อนเคลื่อนทั่วทั้งทิศานุทิศ
ณ เบื้องบนนภากาศมนุษยชาติบางพวกก็ยกขึ้นซึ่งเครื่องสักการบูชาล้วนแต่
เครี่องหอม แห่ห้อมล้อมจรลีตามเสด็จพระพุทธทีปังกรมาด้วยความเลื่อมใสศรัทธา

กาลครั้งนั้น สุเมธดาบสผู้มีศรัทธาจิต
ก็อธิษฐานอุทิศชีวิตถวายแก่พระพุทธองค์จึงปลดเปลื้องชฎาสยายเกสา
ลาดปูผ้าเปลือกไม้กับหนังเสือรองนั่งบนเปือกตม
แล้วก็ทอดกายนอนคว่ำหน้าลงต่อถนนที่ขาดลาดลุ่มเป็นเลนเหลว
ซึ่งเป็นบริเวณที่ตนยังทำไม่แล้วเสร็จนั้น พลันตั้งจิตอุทิศถวายว่า

“ขออาราธนาสมเด็จพระพุทธองค์ จงทรงพระมหากรุณาพาพระมหา
ขีณาสพสงฆ์ทั้งหลาย เสด็จเหยียบย่างพระบาทดำเนินไปบนกายแห่งข้าพระองค์
อันทอดเป็นสะพานนี้เถิด เพื่อจะได้เกิดประโยชน์โสตถิผลอันยิ่งใหญ่แก่ข้า
พระองค์ขอสมเด็จพระทรงสิริสวัสดิ์จงอย่า
ได้ทรงย่างพระบาทหลีกลงเลียบลุยเลนเหลวนี้เลย”


แล้วก็หมอบคว่ำหน้านิ่งเฉย เพื่อรอให้สมเด็จพระทีปังกรพุทธเจ้า
พาพระมหาขีณาสพสงฆ์ เสด็จพระพุทธดำเนินเหยียบไปบนเบื้องหลังกายตน
ซึ่งทอดเป็นสะพานอยู่อย่างนั้น ด้วยน้ำจิตมั่นไปด้วยศรัทธาเลื่อมใสยิ่งหนักหนา


มีกรณีที่ท่านผู้มีปัญญาควรจักทราบไว้ในตอนนี้ ก็คือว่า ในขณะนี้
หากสุเมธฤๅษีผู้มีฤทธิ์ ซึ่งนอนทอดกายเป็นสะพาน
ให้สมเด็จพระทีปังกรบรมศาสดาจารย์ทรงเหยียบเสด็จพระพุทธดำเนินไป
เพื่อไม่ให้พระยุคลบาทแปดเปื้อนโคลนตมแลเลนเหลวนี้
เธอจักมีความปรารถนาหน่วงเอาอมตธรรม
กำจัดกิเลสเสียให้ขาดจากขันธสันดานในเวลาวันนั้น
ก็จักได้สำเร็จเป็นพระอรหันตมหาขีณาสพเจ้าอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ก็เพราะว่าอุปนิสัยแห่งพระอรหัตคุณรุ่งเรืองแก่กล้าเต็มอยู่ในขันธสันดานแล้ว

เพียงแต่ได้สดับพระธรรมเทศนากึ่งบาทพระคาถา
ก็จักได้สำเร็จเป็นพระอรหันตมหาขีณาสพเจ้าทันที
แต่สุเมธฤๅษีผู้นี้ มิใช่คนธรรมดาสามัญ
โดยที่แท้ เธอเป็นพระโพธิสัตว์สร้างบารมี
เพื่อพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ

ปรารถนาการได้ตรัสรู้เป็น
องค์สมเด็จพระสัพพัญญูพุทธเจ้ามานานนับได้ ๒ กาลแล้ว


คือ ๑. กาลอันเป็นส่วน มโนปณิธาน โดยดำริในใจว่า
เราจักเป็นพระพุทธเจ้าสักพระองค์หนึ่งให้จงได้ในอนาคต
ได้แต่เพียงกำหนดนึก ในใจอยู่เช่นนี้อย่างเดียว
มิได้ออกโอษฐ์ออกวาจาแต่ประการใด ก็นับเป็นเวลานานได้ถึง ๗ อสงไขย

๒. กาลอันเป็นส่วน วจีปณิธาน โดยออกโอษฐ์ปรารถนาว่า
เราจักตรัสเป็นพระพุทธเจ้าสักองค์หนึ่ง ในอนาคตกาลเบื้องหน้าให้จงได้
แล้วก็สร้างพระบารมีเพื่อพระสัมโพธิญาณ
พร้อมกับออกโอษฐ์ตั้งความปรารถนาอยู่อย่างนั้นตลอดมานับเป็นเวลานานได้ ๙ อสงไขย

โดยเหตุที่ท่านสุเมธฤๅษี เธอมีอุปนิสัยควรแก่การที่จะได้ตรัสเป็นองค์
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตกาล เพราะอุตสาหะสั่งสมอบรมบารมี
เพื่อพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณมานานถึงกาล ๒ ส่วน คำนวนได้ ๑๖ อสงไขย
เช่นนี้จึงทำให้ท่านฤๅษีเกิดความคิดอันบรรเจิดจ้าขึ้นในเวลานั้นว่า

“จะมีประโยชน์โสตถิผลอันใหญ่หลวงอย่างไร
หากว่าเราจะได้อมตธรรมแต่เพียงลำพังตนคนเดียว
จะมีประโยชน์โสตถิผลใหญ่หลวงอย่างไร
ด้วยการได้ข้ามโอฆสงสารแต่เพียงลำพังตนคนเดียว
ต่อเมื่อใดตัวเราได้บรรลุถึงความเป็นพระสัพพัญญูข้ามโอฆสงสารแล้ว
เมื่อนั้น เราจักยังสัตว์ทั้งปวง ทั้งมนุษยโลกแลเทวโลกให้ข้ามได้ด้วย
เราจักยังสัตว์ทั้งหลายให้ขึ้นสถิตสำเภาธรรม
ช่วยส่งให้ลุล่วงข้ามถึงฝั่งแห่งพระนฤพาน
เช่นกับองค์สมเด็จพระบรมโลกุตมาจารย์ทีปังกรนี้ให้จงได้”


จินตนาการไปโดยเห็นแก่ประโยชน์อันยิ่งใหญ่ในอนาคตเสียเช่นนี้
สุเมธฤๅษีจึงไม่ปรารถนาเป็นสาวกเพื่อสดับรสพระธรรมเทศนา
ให้ได้สำเร็จเป็นอรหันต์ในกาลครั้งนั้นแต่อย่างใด

รูปภาพ

ฝ่ายสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า
ครั้นเสด็จมาถึงทอดพระเนตรเห็นซึ่งดาบสมีลักษณาการแปลกประหลาดพิกล
นอนทอดตนให้เป็นสะพาน ท่ามกลางมรรคาอันมีเปลือกตมเป็นเลนเหลวเช่นนั้น
จึงเสด็จเข้ามาใกล้สถิตอยู่ ณ เบื้องเศียรเกล้า แห่งสุเมธฤๅษี
ทรงพิจารณาดูด้วยสัพพัญญุตญาณแล้ว
ก็พลันมีพระพุทธฎีกาตรัสประกาศแก่ประชาชนพุทธบริษัททั้งหลายในที่นั่นว่า

“ดูกรท่านทั้งปวงเอ๋ย ! ถ้าท่านทั้งหลายแคล้วคลาดจากอมตธรรม
ไม่ได้บรรลุธรรมวิเศษในศาสนาแห่งเราตถาคตนี้แล้ว
และยังจะต้องท่องเที่ยวอยู่ในภพสงสารนานไปในอนาคตกาลเบื้องหน้าแล้วไซร้
ขอท่านทั้งหลายจงปรารถนาให้ได้บรรลุธรรมวิเศษคือมรรคผลนิพพาน
ในศาสนาของดาบสผู้นี้เถิด ด้วยว่าต่อไปภายหน้าดาบสผู้นี้
จักได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งเหมือนกัน

เปรียบปานบุรุษทั้งหลายที่ว่ายข้ามมหานที
แม้มาตรว่าจะคลาดเคลื่อนจากท่าเหนือข้ามขึ้นไม่ได้แล้ว
ก็คงจะข้ามขึ้นจากท้องนทีได้ ณ ท่าน้ำตอนใต้ต่ำลงไปอีก เป็นอันแน่แท้ฉันใด
แม้ท่านทั้งหลายเมื่อคลาดเคลื่อนไม่ได้มรรคผลนิพพาน
อันเป็นธรรมวิเศษในศาสนาแห่งเรานี้
หากมีวาสนาบารมีก็คงจะได้สำเร็จในศาสนาของดาบสนี้เป็นแม่นมั่น
เพราะดาบสนี้เธอสั่งสมบรมโพธิสมภารเ
ป็นพุทธังกูรหน่อพระชินสีห์โพธิสัตว์มานานสืบไปเบื้องหน้า
ในอนาคตกำหนดได้๔ อสงไขยแสนมหากัป
เธอจักได้ตรัสเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่ง
ซึ่งทรงพระนามว่าสมเด็จพระศรีศากยมุนีโคดมบรมครู”


เมื่อองค์สมเด็จพระสัพพัญญูทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทรงมีพระพุทธฎีกาตรัสพยากรณ์ฉะนี้แล้ว
ก็ทรงสงเคราะห์ยกทักขิณบาทเบื้องขวาขึ้นจดกายดาบสก่อน
แล้วก็เสด็จบทจรพาพระมหาขีณาสพสงฆ์เหยียบกายสะพานนั้นไป
พอเป็นการฉลองศรัทธา ฝ่ายว่าเทพนิกรนาค ครุฑ มนุษย์ คนธรรพ์
เมื่อได้สดับพระพุทธฎีกาดั่งนั้นต่างก็น้อมหัตถ์ขึ้นนมัสการมหาดาบสสุเมธมุนี
ด้วยความชื่นชมโสมนัสยินดีทุกถ้วนหน้า


:b40: :b40:

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


แก้ไขล่าสุดโดย Hanako เมื่อ 18 ต.ค. 2012, 17:45, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ต.ค. 2012, 17:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

เมื่อเสวยพระชาติเป็น “สุมิตตากุมารี”
พระชาติที่ตั้งสัจจะถวายชีวิตแด่พระโพธิสัตว์

จะกล่าวถึงกุมารีนางหนึ่ง ซึ่งเป็นสาวแรกรุ่นโสภาอายุได้ ๑๖ ปี
เป็นบุตรีของคฤหบดีชาวปัจจันตคาม
วันนั้นเมื่อมีการประกาศว่า ให้มหาชนช่วยกันแผ้วถางทาง
เพื่อรับเสด็จสมเด็จพระทีปังกรบรมโลกนาถเจ้า ก็มีศรัทธา
มาร่วมถากถางทางกับชาวบ้านปัจจันตคามทั้งหลายด้วย

ครั้นได้ทอดทัศนาเห็นสุเมธฤๅษีผู้มีฤทธิ์เหาะมาจากป่าใหญ่
ก็ให้มีความแปลกประหลาดใจเป็นอันมาก
กาลต่อมา เมื่อเห็นมหาชนพากันแกล้งชี้มือบอกฤๅษีผู้ขออนุญาต
ให้ไปทำทาง ณ บริเวณที่เต็มไปด้วยโคลนเลน
ซึ่งเป็นสถานที่จะทำให้สำเร็จได้ยากลำบาก
หากฤๅษีผู้มีฤทธิ์ก็รับทำจำยอมแต่โดยดี

เจ้าสุมิตตากุมารีก็มีความเห็นใจแลสงสารท่านฤๅษี
จึงช่วยแผ้วถางและขนดินจากที่อื่นเทถมในที่นั่นด้วยใจภักดี
แล้วก็ลอบชำเลืองดูร่างฤๅษีผู้ศักดิ์สิทธิ์มีฤทธิ์เหาะเหินเดินอากาศได้อยู่ไปมา

แต่พอได้เสวนาการพระพุทธฏีกา
ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทีปังกรบรมศาสดา ทรงประกาศแก่ปวงมหาชน
ว่าสุเมธฤๅษีจักได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง
ในอนาคตกาลอีกนานหนักหนา

สุมิตตากุมารีเจ้าก็บังเกิดความยินดีปรีดา
รีบวิ่งไปแสวงหาดอกไม้ ได้ดอกอุบลสดใหม่มา ๘ ดอก
แล้วจึงซบกายถวายบังคมลงตรงเบื้องพระพักตร์ กระทำการสักการบูชา
สมเด็จพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า
ออกโอษฐ์ตั้งปณิธานความตามประสาใจของนางในขณะนั้นว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐเป็นพระบรมโลกุตมาจารย์
ด้วยเดชะอานิสงส์ที่ข้าพระบาทน้อยได้กระทำการบูชาแก่สมเด็จพระพุทธองค์เจ้าในกาลบัดนี้
ขอให้สุเมธฤๅษี จงเป็นสามีของข้าพระบาทสมใจปรารถนาในภายภาคหน้าด้วยเถิด
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐบุญกุศลใดๆ
อันเกิดจากพลีกำลังกายถากถางทางเพื่อเสด็จพระพุทธดำเนินในครั้งนี้ก็ดี
และบุญกุศลที่ได้ถวายสักการบูชาสมเด็จพระทศพลด้วยดอกอุบลอันงามนี้ก็ดี
ขอให้สุเมธฤๅษีนี้ จงได้เป็นสามีร่วมรักแห่งข้าพระบาทผู้มีวาสนาน้อยในอนาคตกาลด้วยเถิด”


สุเมธฤๅษีโพธิสัตว์ผู้ซึ่งได้รับลัทธยาเทศคำพยากรณ์จากพระโอษฐ์
แห่งองค์สมเด็จพระชินสีห์ทีปังกรเจ้าว่า จักได้สำเร็จซึ่งพระพุทธภูมิในอนาคตภายภาคหน้า
ครั้นได้เสวนาการกุมารีงามโศภาชาวปัจจันตคาม
เจ้ามาตั้งความปรารถนาจะได้ตนเป็นสามี เฉพาะพระพักตร์สมเด็จพระทีปังกรพุทธเจ้า
อย่างตรงแท้ตามประสาใจนางเช่นนั้น ก็ให้พลันสะดุ้งตกใจเป็นล้นพ้น
ทั้งนี้ก็เพราะว่า ในขณะนั้น ตนเป็นผู้ได้บรรลุถึงฝั่งแห่งฌานสมาบัติอันจัดเป็นวิกขัมภนวิมุตติ
กิเลสราคะสงบซบอยู่ด้วยอำนาจแห่งกำลังฌาน
จะได้มีตัณหาความอยากได้ใคร่ดีในนางกุมารีน้อย แม้แต่สักนิดหนึ่งก็หามิได้
ดังนั้น ท่านสุเมธฤๅษีผู้มีฤทธิ์จึงมีวาจากล่าวห้ามปรามความปรารถนาแห่งเจ้าสุมิตตากุมารีขึ้นว่า

“ดูกรเจ้าซึ่งมีพักตร์อันเจริญ อันความปรารถนาแห่งเจ้า
ที่จะได้เราเป็นสามีนี้ แม้จะเป็นความปรารถนาที่ดี แต่เราจะได้ชอบใจด้วยแม้แต่สักนิดหนึ่งก็หามิได้
ขอเจ้าจงถอนความปรารถนาเช่นนั้นเสียในกาลบัดนี้
ขอเจ้าอย่าพึงกระทำความปรารถนาอย่างนั้นเลย จงปรารถนาอย่างอื่นเถิด”


สุมิตตากุมารีสาวงามแห่งปัจจันตคาม ซึ่งมีความปรารถนาในใจอันมั่นคงแรงกล้า
แม้จะถูกฤๅษีออกวาจากล่าวห้ามปราม ฉะนี้เป็นหลายหนหลายครั้ง
นางก็ยังยึดมั่นอยู่ในความปรารถนาดั้งเดิม หาแปรไปเป็นอื่นไม่

สมเด็จพระจอมไตรโลกนาถทีปังกรบรมศาสดาจารย์
พระองค์ผู้ทรงมีพระญาณอันไม่ขัดข้องในทุกกรณี
เมื่อทรงอาวัชนาการดูเหตุอันจักพึงมีในอนาคตกาลแจ้งประจักษ์ ในพระญาณ
จึงทรงมีพระมหากรุณาตรัสแก่สุเมธดาบสว่า

“ดูกรสุเมธดาบสเอ๋ย ตัวท่านอย่าได้ห้ามซึ่งความปรารถนาแห่งกุมารีน้อยนี้เลย
ด้วยว่า ในอนาคตกาลภายหน้า เมื่อตัวท่านบำเพ็ญพุทธบารมีธรรม
เพื่อบ่มพระบรมโพธิญาณให้เต็มเปี่ยมบริบูรณ์นั้น
กุมารีมีจิตมั่นคงนี้จักเป็นที่พึ่งอาศัยของท่าน
และท่านจักได้บำเพ็ญบารมีเป็นภริยาทานบริจาคในกาลภายหน้าได้
ก็โดยอาศัยกุมารีนี้แลเป็นปัจจัยสำคัญ
ดูกรสุเมธดาบสเอ๋ย ถึงเราตถาคตนี้ เมื่อยังสร้างพระบารมีท่องเที่ยวอยู่ในกระแสวัฏสงสาร
ได้อาศัยสตรีภาพจึงมีโอกาสบำเพ็ญภริยาทานเหมือนกัน
เพราะฉะนั้น ขอท่านจงอย่าห้ามความปรารถนาแห่งนาง
จงปล่อยให้เป็นไปตามประสาแห่งใจนาง ในกาลบัดนี้เถิด”


สุเมธฤๅษีได้เสวนาการพระพุทธฎีกาแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้ทรงสวัสดิภาคฉะนี้ ก็มีความเลื่อมใสเชื่อฟังด้วยดี
น้อมเศียรศิโรตม์อันทรงไว้ซึ่งชฎา
รับพระพุทธฎีกาว่า สาธุ ! สาธุ ! ดังนี้แล้ว ก็ค่อยคลานออกมา
เพื่อเปิดโอกาสให้สมเด็จพระพุทธองค์ทรงพาพระภิกษุสงฆ์
เสด็จพระพุทธดำเนินไปยังปัจจันตคาม ตามคำอาราธนาของชาวประชาต่อไป

ครั้นล่วงทัศนวิสัยสมเด็จพระพุทธองค์และสงฆ์บริษัทแล้ว
สุเมธฤๅษีมหาบุรุษ ก็อุฏฐาการลุกขึ้นจากลักษณาการที่ หมอบคลาน
หากแต่ยังมีดวงมานเต็มไปด้วยความปรีดาปราโมทย์
จึงมิได้เคลื่อนกายไปไหน กลับทำบัลลังก์นั่งสมาธิคำนึงด้วยปีติว่า

“เราเป็นผู้มีฌานชำนาญเป็นอันดี หมู่ฤาษีทั้งหลายในหมื่นโลกธาตุ
จะได้มีอิทธิวิธีธรรม และความสามารถเสมอด้วยตัวเรานั้นหามิได้
เพราะว่าเราได้อาศัยสมาบัติธรรมมากมั่นอยู่ในสันดาน
จึงได้เสวยความสุขสิ้นเสื่อมกายวิการเห็นปานดั่งนี้”

กาลเมื่อสุเมธฤๅษีนั่งบัลลังก์สมาธิอยู่นั้น
บรรดาเทพเจ้าทุกถิ่นสถานในโลกจักรวาล
ต่างก็พากันมาประสานศัพท์นฤนาทก้องแซ่ซ้องสาธุการถวายพระพรว่า

“ข้าแต่ท่านฤๅษี ตัวท่านนี้จักได้ตรัสแก่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ
สำเร็จเป็นองค์พระบรมโลกุตมาจารย์เป็นที่เที่ยงแท้ มิได้แปรปรวนวิปริต
ขอท่านจงตั้งจิตถือมั่นผูกพันความพยายาม อย่าให้ความเพียรนั้นกลับถอยน้อยลงไป
จงทำวิริยบารมีให้ยิ่งใหญ่ เพื่อได้ตรัสเป็นองค์สมเด็จพระชินสีห์ตรีโลกนาถเจ้าต่อไป
ให้สมกับพระพุทธฎีกาพยากรณ์ในวันนี้เถิดเจ้าข้า”

สุเมธฤๅษีมหาโพธิสัตว์ เมื่อได้สดับคำอำนวยพรของทวยเทพเจ้าดั่งนั้น
ก็ยิ่งมีกมลมั่นคำนึงวินิจฉัยถึงพุทธฎีกาพยากรณ์ว่า

“ธรรมดาพระพุทธพากยกถา คือ
พระพุทธฎีกาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายนี้
ย่อมเป็นสุภาษิต จะได้วิปริตผิดพจนะกระแสแปรไปสอง
หรือเป็นสภาวะสูญเปล่ามิได้เป็นจริงนั้นย่อมเป็นไปมิได้
พระองค์ดำรัสอรรถคดีสิ่งไร สิ่งนั้นย่อมเป็นไปแน่แท้ดั่งกระแสพระพุทธบรรหาร
พระโพธิญาณแห่งเราคงจักสำเร็จสมประสงค์เป็นแม่นมั่น
เรานั้นคงจะได้ตรัสเป็นพระสัพพัญญูเจ้าอย่างเที่ยงแท้ในอนาคต
กำหนดกาลอีก ๔ อสงไขยแสนกัปเท่านั้น”


ครั้นคำนึงถึงวินิจฉัยฉะนี้แล้ว สุเมธฤๅษีจึงพิจารณาทศบารมีธรรมทั้งปวงสืบไป
ด้วยอำนาจอภิญญาฌานสมาบัติที่ตนชำนาญแล้วด้วยดีเป็นวสีภาพ
แล้วก็ทราบชัดว่า โพธิปริปาจนธรรมสำหรับบ่มพระพุทธภูมินั้น
ตนได้สั่งสมมามากมายชั่วระยะเวลานานหลายอสงไขยทีเดียว
เป็นด้วยเดชะมหานุภาพที่พระดาบสนั่งพิจารณาบารมีที่เคยสร้างไว้ในขณะนั้น
พอการพิจารณาพุทธบารมีธรรมอันยิ่งใหญ่จบลงก็พลันบันดาล
ให้บังเกิดโกลาหลทั่วพิภพจบสกล พสุธาดล
พื้นปฐพีก็มีอันก้องกึกพิลึกสนั่นหวั่นไหวประหนึ่งว่าจะแตกทำลายลง

คราทีนั้น ปวงมหาชนในปัจจันตคามต่างก็พากันล้มสยบหวาดเสียวอยู่
มิได้ล่วงรู้เหตุร้ายดีประการใด ล้วนแต่ตกใจกลัวแก่เหตุการณ์ข้างที่ร้ายนั่นแลเป็นกำลัง
จึงรีบพากันเข้าเฝ้าสมเด็จพระทีปังกรพุทธเจ้าแล้วกราบทูลถามว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มหาโกลาหลนี้
ปรากฏมีขึ้นด้วยมหาศักดานุภาพของทวยเทพ อินทร์ พรหม ยม ยักษ์
หรือ ฤๅษีสิทธิ์ศักดิ์ อสูร นาค ครุฑ ตนใด
ข้าพระบาททั้งหลายจะได้ทราบก็หาไม่
จักเป็นมหาวินาศภัยมาบีฑาโลกธาตุ
หรือจักเป็นด้วยอำนาจอุปัทวการบาปกรรมสิ่งใดประดามี
หรือว่าจะเป็นสวัสดิมงคลประการใด
ขอสมเด็จพระจอมไตรโลกนาถจงทรงแสดงเหตุ
ให้ข้าพระบาททั้งปวงได้ทราบด้วยเถิด พระเจ้าข้า”

สมเด็จพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า
จึงทรงมีพระพุทธดำรัส สำแดงเหตุมหาโกลาหลแก่มหาชนในที่นั่นว่า

“ดูราท่านทั้งหลาย ขอท่านทั้งปวงจงอย่ามีความสะดุ้งหวาดเสียวต่อภัยสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย
การที่เมทนีคือแผ่นดินเกิดกึกก้องโกลาหลกำเริบขึ้นนี้
ก็เพราะเหตุที่เราตถาคตได้พยากรณ์สุเมธดาบสว่า
เธอจักได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคตกาล
บัดนี้สุเมธดาบสนั้นเธอคำนึงวินิจฉัยถึงบารมีธรรมของตน
มหาโกลาหลจึงบังเกิดมีขึ้น ด้วยเดชะอำนาจคุณบารมี
ของพระโพธิสัตว์สุเมธดาบสนั้นเป็นสำคัญ”


หมู่มหาชนครั้นได้สดับพระพุทธฎีกาดังนั้น
ต่างก็มีกมลโสมนัสปสันนาการในสุเมธฤๅษียิ่งหนักหนา
รีบพากันจัดประทีปธูปเทียนบุปผาสุมาลัย ออกไปประชุมกันสักการบูชา
ต่างคนต่างก็ออกโอษฐ์ ออกวาจาเป็นมธุรอรรถวาที
ด้วยคำอันเป็นมงคลเป็นต้นว่า

“ข้าแต่ท่านดาบส ขอให้ท่านได้ตรัสเป็นองค์สมเด็จพระทศพลสัมมาสัมพุทธเจ้า
ในอนาคตกาลภายภาคหน้าให้สมจริงตามพระพุทธฎีกาพยากรณ์นั่นเถิด เจ้าข้า”


แม้ปวงเทพยดาในสกลเทวสถานทั่วโลกธาตุ ก็พากันมากระทำสักการบูชา
ด้วยทิพยสุคนธมาลัยงามเลิศต่างๆทิ้งโปรยปรายลงมาจากนภากาศมากมาย
ราวกับว่าห่าฝนยังปฐพีดลบริเวณนั้น ให้เต็มไปด้วยทิพยบุปผานานาพรรณ
แล้วก็พากันบันลือศัพท์สาธุการเพรียกพร้องร้องถวายเทพพรมงคลว่า

“ข้าแต่สุเมธดาบสผู้เจริญ วันนี้ตัวท่านมีมหาลาภและประสบกองบุญอันยิ่งใหญ่
ได้แล้วซึ่งคำพยากรณ์จากสำนักสมเด็จพระทีปังกรทศพลญาณ
ขอความปรารถนาของท่านจงสำเร็จสมตามมโนปณิธาน
ขอท่านจงได้ตรัสแก่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ
สำเร็จเป็นพระตรีโลกนาถศาสดาจารย์สมตามพระพุทธทำนาย
อนึ่ง สมเด็จพระไตรโลกนาถศาสดาจารย์ พระองค์ที่ล่วงแล้วมาทุกพระองค์
ล้วนแต่ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีถึงที่สุด แล้วก็ได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
สถิตเหนืออปราชิตบัลลังก์และได้ทรงแสดงพระธรรมจักรเทศนา
อันเป็นพระพุทธประเพณีสืบมาฉันใด
ขอท่านดาบสจงบำเพ็ญพระบารมีให้ถึงที่สุดแล้วสถิตเหนืออปราชิตบัลลังก์
แสดงพระธรรมจักรเทศนา เหมือนกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ล่วงมาแล้วนั้นเถิด
อนึ่ง นทีแม่ น้ำน้อยใหญ่ใดๆย่อมมีกระแสชลอันไหลหลั่งมาสู่มหาสมุทรทั้งหมดฉันใด
ขอท่านดาบสจงได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
สำเร็จเป็นองค์อัครมหามกุฎอาจารย์จอมโลก
เป็นที่ไหลมาแห่งบรรดาประชาสัตว์ทั่วโลกธาตุทั้งหลาย
ดังมหาสมุทรทะเลใหญ่เป็นที่รวมแห่งกระแสชลฉะนั้น”


เมื่อท่านสุเมธฤๅษีผู้มีฤทธิ์เป็นมหัศจรรย์ ได้ทัศนาการเห็นหมู่เทพยดาและมนุษยนิกร
มาสโมสรประชุมกันกระทำสักการบูชาและอำนวยศุภพรให้กับตนดั่งนี้
ก็มีความปรีดาโสมนัสว่า

“กาลอนาคตกำหนดยังอีก ๔ อสงไขยกับเศษอีก ๑๐๐,๐๐๐ มหากัปเท่านั้น
เราก็จักได้ตรัสพระสัพพัญญุตญาณเป็นสมเด็จพระตรีโลกาจารย์พุทธเจ้าอย่างเที่ยงแท้”


ครั้นคำนึงนึกแน่แก่ใจตนฉะนี้ สุเมธฤๅษี ซึ่งเป็นดาบสผู้มีฤทธิ์นั้น
จึงอธิษฐานมั่นด้วยวิริยบารมี หน่วงเอาพระพุทธคุณมาเป็นอารมณ์
น้อมกายบ่ายพักตร์บังคมเฉพาะทิศอันเป็นที่สถิตอยู่
แห่งสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทีปังกรสัมมาสัมพุทธอรหันต์แล้ว
ก็มีใจผ่องแผ้วอธิษฐานให้บังเกิดฌานอภิญญา
เหาะทะยานว่ายฟ้าบ่ายหน้าไปยังมหาอรัญอันเป็นที่อยู่แห่งตน
ครั้นสิ้นชนมายุแล้วก็ได้ไปอุบัติเป็นพระพรหมผู้วิเศษ
สถิตเสวยพรหมสมบัติเป็นสุขอยู่ ณ รูปภพพรหมภูมิ
โดยอำนาจฌานสมาบัติอันจัดเป็นวิกขัมภนวิมุตติที่ตนได้บรรลุแล้วนั้น


:b48: :b48:

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ต.ค. 2012, 19:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


พระชาติสุดท้าย “พิมพายโสธราเทวี”

รูปภาพ

สุเมธมหาพรหมโพธิสัตว์ผู้มีพระพุทธบารมี
เสวยพรหมสมบัติเป็นสุขอยู่ ณ รูปภพพรหมภูมิ
โดยควรแก่กาลแห่งพรหมายุขัยแล้ว ก็เคลื่อนแคล้วมาอุบัติเกิดในกามาวจรภูมิอีก
เป็นเวลานานหลายแสนหลายล้านชาติหนักหนา
โดยที่บางชาติก็อุบัติเกิดเป็นเทวดา ณ สวรรคเทวโลก
บางชาติก็บังเกิดเป็นมนุษย์ในมนุษยโลกเรานี้
และบางทีก็ไปเกิดเป็นสัตว์เดียรฉานด้วยอำนาจแห่งวัฏสงสารบันดาลให้เป็นไป
จนกาลเวลาล่วงไปได้ถึง ๔ อสงไขยกับเศษอีก ๑๐๐,๐๐๐ มหากัป
ตลอดเวลาอันแสนจะยาวนานนี้

อดีตสุเมธฤๅษีผู้ได้รับลัทธยาเทศ
จากสำนักสมเด็จพระมิ่งมงกุฎทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า
ก็เฝ้าสั่งสมอบรมพระบารมีซึ่งเป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณเรื่อยมาไม่หยุดยั้ง
ทั้งนี้ก็เพราะ เหตุที่มีหฤทัยผูกพันมุ่งมั่น ปรารถนาแต่พระสัมโพธิญาณพุทธบารมีเป็นสำคัญ

มีอรรถวรรณนาที่พระโบราณาจารย์พรรณนาถึงการสร้างพระพุทธบารมีไว้ว่า
นับแต่ชาติที่เป็นสุเมธฤๅษีนั้น พระนิยโตโพธิสัตว์ซึ่งจะได้มาตรัส
เป็นพระสมณโคดมบรมครูเจ้าแห่งเรานี้
ได้เคยสร้างพระพุทธบารมีมาเป็นอเนกอนันต์ คือ

เพียงแต่บริจาคโลหิตในวรกายให้เป็นทาน
ถ้าจะประมาณกำหนดหมาย ก็มากกว่ากระแสน้ำในมหานที

เพียงแต่บริจาคมังสะ คือ เนื้อในวรกายให้เป็นทาน
ถ้าจะประมาณกำหนดหมายก็มากกว่าพื้นแผ่นมหาปฐพี

เพียงแต่ตัดเศียรเกล้าเกสโมลีให้เป็นทาน
ถ้าจะประมาณกำหนดหมายเอามารวมกองไว้ ก็จะได้กองใหญ่สูงกว่ามหาสิเนรุราชบรรพต

เพียงแต่ควักนัยน์ตาทั้งสองซ้ายขวาให้เป็นทาน
ถ้าจะประมาณกำหนดหมาย ก็จะได้มากกว่าดวงดารากรในนภากาศ


ปรากฏว่าเป็นเวลามากมายหลายชาติทีเดียว
ในกาลครั้งยังต้องท่องเที่ยวเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร
เพื่ออบรมบ่มพระสัมโพธิญาณพุทธบารมีอยู่นี้
ที่อดีตสุเมธฤๅษีได้เป็นสามีร่วมรักกับเจ้าสุมิตตากุมารีตามแรงอธิษฐานของนาง
เมื่อครั้งถวายดอกอุบล ๘ ดอกแด่สมเด็จพระมิ่งมงกุฎทีปังกรพุทธเจ้า
บางคราวเกิดเป็นมนุษย์บุรุษสตรี ทั้งสองก็ต้องเป็นคู่สามีภริยากัน
แม้บางคราวจะเกิดในกำเนิดสัตว์เดียรฉาน ก็ได้เป็นคู่สู่สมภิรมย์รักไม่พรากจากกันไปได้
ตลอดกาลอัน แสนจะยาวนานถึง ๔ อสงไขยกับเศษอีก ๑๐๐,๐๐๐ มหากัปนี้


ในชาติอันเป็นที่ปัจฉิมสุดท้าย สุเมธฤๅษีและสุมิตตากุมารีบุรุษสตรี
ซึ่งเป็นสามีภรรยาคู่สร้างกันมาแต่ปางบรรพ์ สุดที่จะนับประมาณชาติที่เกิดได้นั้น
ต่างก็พากันมาบังเกิดในมนุษย์โลกเรานี้

โดยสุเมธฤๅษีได้มาอุบัติในขัตติยตระกูล ณ กรุงกบิลพัสดุ์บุรี
ทรงพระนามว่า เจ้าฟ้าชายอังคีรสราชกุมาร

หรืออีกพระนามหนึ่งว่า เจ้าชายสิทธัตถราชกุมาร
ส่วนสุมิตตากุมารีสาวโศภาแห่งปัจจันตคามคู่สร้าง
ได้มาบังเกิดในขัตติยตระกูล ณ กรุงเทวทหนคร
เป็นเจ้าฟ้าหญิงทรงโฉมวิไลลักษณ์ เมื่อทรงจำเริญวัฒนาแล้ว
ก็ได้เป็นเอกอัครมเหสีของเจ้าฟ้าชายสิทธัตถราชกุมารแห่งกรุงกบิลพัสดุ์บุรี
ทรงพระนามว่า สมเด็จพระพิมพายโสธราเทวี


ราตรีกาลวันหนึ่ง เจ้าฟ้าชายสิทธัตถราชกุมาร
ผู้มีพระพุทธบารมีเต็มเปี่ยมในขันธสันดานอยู่แล้ว
ทรงฟื้นจากนิทรารมณ์สถิตนั่งบนบัลลังก์อาสน์
อันมีความวิเศษประหนึ่งทิพยบัลลังก์แห่งสมเด็จพระอมรินทราธิราช
ได้ทอดทัศนาเห็นอาการวิปลาสของคณานางบริจาริกราชนารีทั้งหลาย
ให้มีพระทัยสังเวชยิ่งนัก พิจารณาเห็นสังสารโทษเป็นอันมาก

รูปภาพ

ทรงปรารถนาจะออกสู่มหาภิเนษกรมณ์ในราตรีนั้น
จึงตรัสสั่งฉันนะอำมาตย์ให้ไปผูกพญาม้ากัณฐกัศวราช
ซึ่งเป็นม้าพระที่นั่งเตรียมไว้แล้ว
ทรงมีพระประสงค์จะไปทอดพระเนตรเจ้าราหุลโอรส
ซึ่งประสูติแต่พระพิมพายโสธราเทวีเมื่อไม่นาน
จึงอุฏฐาการเสด็จบทจรสู่ห้องสิริคัพภไสยาสน์แห่งพระอัครมเหสีพิมพายโสธรา
เผยทวารห้องเห็นแสงประทีปชวาลาส่องสว่าง
ทอดทัศนาเห็นเจ้าพิมพาราชเทวีบรรทมหลับสนิทเหนือพระแท่นที่สิริไสยาสน์
อันดาษไปด้วยสุคนธมาลาประมาณอัมพณะหนึ่ง คือ ๑๒๗ ทะนาน
และพระพิมพาราชเทวีนั้นทอดพระกรประดิษฐานเหนือพระเศียรพระราชโอรส
บ่มิได้รู้สึกพระองค์ ทรงหยุดยืนเหยียบพระบาทบนธรณีพระทวาร
เล็งแลพระราชบุตรและพระราชเทวี


แล้วทรงรำพึงว่า

“หากอาตมะจะยกหัตถ์เจ้าพิมพายอดเสน่หา
เพื่อจักอุ้มอำลาเจ้าราหุลโอรสรักก็น่าที่เจ้าพิมพาจักตื่นฟื้นจากนิทรารมณ์
เมื่อเป็นเช่นนี้ อันตรายแห่งมหาภิเนษกรมณ์ก็จะพึงมี
อย่ากระนั้นเลย อาตมะจักอดใจไว้ก่อน
ต่อเมื่อได้สำเร็จแก่พระสรรเพชุดาญาณอันบวรแล้ว
จึงจะกลับมาทัศนาพระลูกแก้วและเจ้าพิมพาเมื่อภายหลัง”


เมื่อเจ้าชายสิทธัตถราชกุมารบรมโพธิสัตว์
ผู้มีพระอรหัตคุณพุทธบารมีญาณแก่กล้า
กำหนดพิจารณาระงับเสียซึ่งความเสน่หาในโอรสและเจ้าพิมพาคู่สร้างบารมีฉะนี้แล้ว
ก็ตัดสินพระทัยยกย่างพระบาทจากธรณีพระทวาร
เสด็จคมนาการโดยด่วนออกสู่มหาภิเนษกรมณ์

ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา เพื่อแสวงหาซึ่งวิมุตติธรรมความหลุดพ้นเป็นเวลาช้านานถึง ๖ พรรษา
ก็ได้บรรลุพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ สำเร็จเป็นเอกองค์บรมศาสดาจารย์
ทรงพระนามว่าสมเด็จพระมิ่งมงกุฎศรีศากยมุนีโคดม
สมจริงตามพระพุทธฎีกาที่สมเด็จพระมิ่งมงกุฎทีปังกรพุทธเจ้า
ทรงพยากรณ์ทำนายไว้แต่ปางบรรพ์

:b44: :b44:

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ต.ค. 2012, 20:01 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


พระกาฬุทายีผู้กราบบังคมทูลเชิญพระพุทธองค์
ให้เสด็จโปรดชาวกรุงกบิลพัสดุ์


รูปภาพ

จะกล่าวถึง สมเด็จพระเจ้าสิริสุทโธทนราชาธิบดี
ซึ่งทรงเป็นพระพุทธบิดาตั้งแต่เจ้าชายบวรดนัยเสด็จออกสู่มหาภิเนษกรมณ์
ก็ทรงโศกเศร้าและคอยสดับข่าวอยู่เนืองๆ

ครั้นทรงทราบว่าเจ้าฟ้าราชโอรสได้ตรัสแก่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ
สำเร็จเป็นเอกองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบรมศาสดาจารย์แล้ว
ก็ทรงมีพระทัยผ่องแผ้วปรารถนาจักได้ทอดทัศนาองค์ปิโยรสแห่งตน
ทรงใช้อำมาตย์ผู้ใหญ่ถึง ๙ คนพร้อมกับบริวาร
ให้ไปอาราธนาเพื่อเสด็จกลับมายังกรุงกบิลพัสดุ์ถึง ๙ ครั้ง
ก็เงียบหายไปไม่ได้ผล เพราะชนเหล่านั้นพากันออกบวช
ในสำนักแห่งองค์พระสัพพัญญูเจ้าเสียสิ้น


ในที่สุด ทรงพิจารณาเห็นแต่อำมาตย์ผู้หนึ่ง ซึ่งมีนามว่า กาฬุทายีอำมาตย์
ว่าเจ้ากาฬุทายีผู้นี้เป็นสัพพัตถสาธกามาตย์ สำเร็จในสรรพราชกิจ
แล้วก็เป็นผู้ที่ไว้ใจใช้ชิดสนิทเสน่หา เกิดร่วมวันทันเวลาประสูติแห่งปิโยรส
ได้เป็นสหายเพื่อนเล่นฝุ่นทรายมาด้วยกันแต่ยังทรงพระเยาว์
เข้าใจว่าเจ้ากาฬุทายีผู้นี้เห็นทีจะใช้ได้เป็นมั่นคง
จึงทรงให้เรียกมาสู่ที่เฝ้าแล้วตรัสว่า

“ดูกรพ่อกาฬุทายี เรานี้มีความปรารถนาจะได้เห็นปิโยรสแห่งเราผู้จากไปนาน
เฝ้าใช้อำมาตย์ผู้ใหญ่ไปหลายคนแล้วก็ยังไม่ได้การและตัวเรานี้ก็แก่เฒ่าแล้ว
จะมีชีวิตอันตรายเมื่อใดก็มิรู้ได้ เมื่อมีชีวิตอยู่ก็ใคร่ที่จะได้เห็นพักตร์โอรสรัก
เจ้าจักอาสาไปทูลอาราธนาสมเด็จพระบรมศาสดาผู้เป็นปิโยรสแห่งเรา
ให้เข้ามายังกรุงกบิลพัสดุ์นี้ เพื่อให้เราทัศนาสมประสงค์ จะได้หรือมิได้ประการใด”


กาฬุทายีอำมาตย์ผู้มีปรีชา ก็กราบบังคมทูลรับอาสาว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นนฤบดี ข้าพระบาทนี้จักไปทูลเชิญ
เสด็จพระบรมสรรเพชญบวรดนัยของพระองค์ ให้มาสู่พระนครจงได้ดั่งพระราชประสงค์
แต่ขอจงทรงพระกรุณาโปรดอนุญาติให้ข้าพระบาทได้บรรพชาด้วยเถิด พระเจ้าข้า”


“เจ้าปรารถนาจะบรรพชาหรือไม่ประการใด ก็ตามแต่ชอบใจของเจ้าเถิด
เรานี้มิได้ขัด แต่ขอให้ได้ทัศนาการพระปิยบุตรสมดุจกมลปรารถนาในคราวนี้
ก็เป็นที่ยินดีแห่งเรายิ่งนักแล้ว”


กาฬุทายีอำมาตย์ได้สดับพระราชดำรัสฉะนี้
ก็จำทูลพระราชสาส์นไปกับบุรุษบริวารพันหนึ่ง
ถึงกรุงราชคฤห์แล้วเข้าสู่พระเวฬุวัน
ทัศนาการเห็นพระพุทธองค์ตรัสพระสัทธรรมเทศนา
จึงหยุดอยู่ ณ ที่สุดแห่งหมู่บริษัท ตั้งใจสวนาการพระสัทธรรมเทศนา
ในไม่ช้าก็สามารถส่งกระแสใจไปตามพระพุทธฎีกา
ยังวิปัสสนาญาณให้จำเริญวัฒนาการขึ้นตามลำดับจนได้บรรลุพระอรหัตผลญาณ
อันเป็นปฏิปัสสัทธิวิมุตติ จึงขอบรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา
ก็ทรงมีพระพุทธฎีกาโปรด ประทานอุปสมบทให้ด้วยเอหิภิกขุบรรพชาแต่เพลาวันนั้น

ท่านพระกาฬุทายีอรหันต์ใหม่ พักอยู่ที่เวฬุวันเมืองราชคฤห์ได้ ๗ วัน
พิจารณาเห็นว่า กาลบัดนี้ เพิ่งจะย่างถึงฤดูร้อน มนุษยนิกรทั้งหลายก็เก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว
และมรรคาที่จะเสด็จไปกรุงกบิลพัสดุ์ก็ชุ่มชื่นดื่นดาษด้วยติณชาตินานาพรรณ
พื้นพนสัณฑ์นั้นก็เรี่ยรายไปด้วยบุปผชาติอันหล่นลงเกลื่อนกลาดพสุธา
สมควรที่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาจักเสด็จพระพุทธดำเนิน
ไปโปรดพระพุทธบิดร ณ มหานครกบิลพัสดุ์ และสงเคราะห์พระขัตติยวงศ์ศากยราชยิ่งนัก
แล้วพระผู้เป็นเจ้าก็มีจิตผ่องแผ้วเข้าไปสู่สำนักสมเด็จพระชินสีหเจ้าในวันเพ็ญผคุณมาส
ถวายอภิวาทแล้ว ก็กล่าวสรรเสริญสถลวิถีสดุดีคุณแห่งมรรคา
เพื่อประโยชน์จะให้เสด็จพระพุทธลีลาไปสู่นครแห่งพระพุทธบิดา โดยนัยอันวิจิตรพิศดารว่า

“ข้าแต่สมเด็จพระสัพพัญญูเจ้าผู้ทรงศุภสวัสดิเจริญด้วยสิริโสภาคย์
กาลบัดนี้อรัญรุกขชาติทั้งหลายล้วนทรงไว้ซึ่งเรือนพุ่มอันงาม
ผลัดเสียซึ่งใบแก่ออกใบอ่อนกอบด้วยช่ออรชร ผลิซึ่งผลโสภณไพโรจน์ไปทั้งป่า

ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงมหาพิริยภาพ ในสมัยนี้สมควรที่องค์สมเด็จพระ
ชินสีหเจ้า พระองค์ผู้มีพระฉวีพรรณโอภาสแผ่ออกจากพระสรีรกาย
จะเสด็จพระพุทธลีลาไปโดยสถลพนัสนั้น

อนึ่ง รุกขชาติทั้งหลายวิจิตรไปด้วยยอดแดงออกใหม่
มีพรรณอันแดงประดับไปด้วยใบระบัดอ่อนทุกกิ่งก้าน
ปานประหนึ่งว่ารัตนมณฑปปกป้อง ณ เบื้องบน
สถลมารคทั้งสองข้างอรัญวิถี ก็มีพฤกษชาติหลายหลากล้วนทรงกุสุมชาติ
เบ่งบานหอมระรื่นรสสุคนธาควรเจริญใจ บ้างก็ทรงผลดิบห่ามสุกไสวอเนกประการ
ล้วนเป็นผลาหารอันกอบด้วยโอชารสควรจะบริโภค
บรรเทาเสียซึ่งความอยากระงับความกระวนกระวาย

ในพฤกษชาติทั้งหลายล้วนมีโอภาสอันเขียวครุวนาดุจกำหางแห่งนกยูง
มีสาขารื่นรมณียสถาน ปานประหนึ่งว่าจะชักชวนชนที่เดินทางทั้งหลาย
ให้หยุดพักพำนักให้เหือดหายกายที่เหน็ดเหนื่อยมา
มีทั้งสุมทุมพุ่มลดาประดับด้วยบุษยมาลี และประหนึ่งมณฑปดูชัฏชื่นช่ออรชรอุดม
ฟุ้งขจรเกสรกุสุมเสาวรสตลบละเวงไพร สรรพคณาวิหคน้อยใหญ่วิจิตรด้วยนานาพรรณ
มีนิลวรรณเป็นต้นยลตระการตาต่างไขขานศัพท์โดยภาษา
ดุจประโลมด้วยมธุรสำเนียงเสนาะควรจะเปรมปรีดิ์
อีกทั้งสัตว์จตุบาทมฤคชาติก็มีพรรณพิไลต่างๆบ้างก็เชิดชูหาง
เหลือบเล็งเพ่งพิศดวงเนตรงามเจริญตา บ้างก็แล่นถลาไปสู่ทิศานุทิศโดยรอบ

พื้นภูมิภาคทั้งปวงก็กอบด้วยหญ้าแพรกพรรณเขียวขจี
ทั้งกุสุมมาลีก็หล่นลงเรี่ยราย อาเกียรณ์ไปด้วยทรายสะอาดสะอ้าน
ปานประหนึ่งดาษด้วยแก้วมุกดา ดูผลพฤกษาก็สุกเหลืองรุ่งเรืองดุจสีทองไปทั่วทิศ
ทั้งสกลแนวทางก็ราบรื่นดุจแสร้งสร้างประดิษฐ์ตกแต่งเสมอเป็นอันดี
บริเวณพนาลีก็แสนสุขสนุกสำราญ ดุจทิพยนันทวันอุทยานสวนสวรรค์อันวิจิตร
ด้วยวิวิธนานาทุมชาติ ล้วนทรงกุสุมเสาวคนธ์สะอาดควรจะอภิรมย์
มีทั้งสระโบกขรณีอันอุดมเดียรดาษด้วยรุกขชาติปุณฑริกปทุมชุ่มช่อชูไสว
กระแสสินธุ์ก็เย็นใสบริสุทธิ์เต็มเปี่ยมบริบูรณ์มิได้บกพร่อง

ละอองเกสรสุคนธขจรขจายมิหายหอม เป็นที่หรรษาปราโมทย์
แก่หมู่มนุษยนิกรอมรบริษัทที่ได้ทอดทัศนา
ฝูงสกุณปักษาก็ถลาร่อนลงจับอาศัย
ในอุบลบุปผชาติอันเบิกบานต่างไขขานศัพท์สารภิรมย์
ชมเชยคู่อยู่สะพรั่งเพรียกพร้องจำนรรจาอย่างเบิกบาน
บ้างก็คาบเอาเกสรปทุมมาลย์แล้วบินโผไปโดยทิศต่างๆ
พลางร้องแซ่สุนทรถ้อยแก่กันกลิ่นโกสุมบุปผชาตินั้นก็หอมเฟื่องฟุ้งไปในทศทิศาดล

อนึ่ง ในเถื่อนสถลทุรสถาน ก็มีทั้งคชสารซับมันสัญจรเที่ยวท่องข้ามท้องนที
คีรีห้วยละหานแลรกชัฏ เปล่งศัพท์โกญจนาทก้องสำเนียงเสียงพิลึก
จะได้สดับทั้งเสียงสินธุธาราอันไหลหลั่งดังครั่นครึกอุโฆษควรจะพิศวง
แล้วจะได้เห็นหมู่โมรคณามีแวววงอลงกตในกําหางอย่างแสร้งวาดดูวิจิตรโศภา
มีโลมาเวียนวะวับประดับสอดสีขนเขียวขจีคืออินทนิล

และมีบางหมู่มยุราบ้างก็ย่างย้ายรำแพนแผ่ฟ้อน
พร้อมด้วยนิกรคณายูงยุรยาตรอยู่บนยอดมณีบรรพตอันสูง
เปล่งมธุรสำเนียงแข่งขานกันต่างๆบางเหล่าคณานกอเนกนานาชาติ
ก็พิลาสด้วยสีขนโสภณไพจิตร สถิตบนคีรีรายเรียงเปล่งศัพท์ซ้องเสียงเซ็งแซ่
สดับโสตเสนาะมโนภิรมย์ บนเนินสิงขรพนมก็อาเกียรณ์เดียรดาษด้วยบุปผชาติเบ่งบาน
ล้วนทรงสุคนธหอมหวานเฟื่องฟุ้งรุ่งเจริญจิต
พื้นภูมิภาคภูผาก็โสภาพรรณไพโรจน์รุ่งเรืองไปโดยรอบ
กอบด้วยเหวละหานธารเซาะชำเราะรินสินธุฟองฝอยย้อยหยาดกระเซ็นซ่าน
ปานประหนึ่งวัสโสทกตกแต่ทิฆัมพรากาศ
เยือกเย็นเช่นหยาดทิพย์อุทกธาราสวรรค์
ในนันทโบกขรณีแห่งท้าวเทพโกสียสักกเทวราชก็ปานกัน

อนึ่ง ทั้งสองข้างอรัญมรรคา ก็เรียงรายระดับด้วยบึงบ่อท่อธาร
ควรจะเบิกบานบันเทิงจิตแห่งพระโยคาวจรบรรพชิตที่บำเพ็ญเพียรเล่าเรียน
เจริญธรรมคันถธุระสมถวิปัสสนา ตามระยะมรรคาก็มีคามนิคมอุดมด้วยอาหารภัตนานัปการ
มิได้กันดารด้วยบิณฑบาต บรรดา อเนกนรชาติก็กอบด้วยศรัทธา
ปรารถนาจะใคร่พบเห็นพระทศพล ล้วนแต่ขวนขวายในการกุศลสรรพสิ่งสุจริต

อนึ่ง พื้นพนสัณฑ์ก็วิจิตรไปด้วยโกสุมเรณูอันตกต้อง
หมู่ภมรผึ้งภู่และหมู่แมลงทับทองลงดื่นดาษ คลึงเคล้าเอารสเรณูบุปผชาตินานา
มีทั้งดงอ้อแฝกคาสองข้างทางทุรพนัส ร่มแสงสุริยาครุวนาดุจกางกั้นด้วยฉัตรไปตลอดหนทาง
ในที่ระหว่างทางระยะละโยชน์ ก็มีบ้านตำบลหนึ่งไปโดยลำดับมรรคาวิถี
เป็นหนทางที่หยุดพักสำนักมิได้ลำบาก มีทั้งศาลาและโรงใหญ่กว้างดีมาก
อีกบึงบ่อพออาศัยเป็นสุขไปทุกถิ่นสถาน ทั้งสระสวนสนุกสำราญอารมณ์รำงับร้อน
วายุรำเพยพัดอ่อนพาเย็นสบาย กาลนี้พื้นนภากาศก็กระจ่างขจายขจัดจากเมฆ
พลาหกมิได้ปกปิดกำบัง ทั้งทิพากรรังสีก็อ่อนแสงมิได้จำรัสแรงร้อนกล้า
เป็นสมัยที่สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าสมควรจะเสด็จพระพุทธดำเนินไป
โดยอรัญมรรคาในกาลครั้งนี้เถิด พระเจ้าข้า

อนึ่ง อันว่าราชธานีซึ่งมีนามบัญญติว่ากรุงกบิลพัสดุ์มหานคร
ก็อลังกรณ์ด้วยอเนกนานาบริโภคภิรมย์สำราญปานประดุจเทพธานี
มิฉะนั้นเปรียบประดุจบุรีในอุตรกุรุทวีปวิจิตรไปด้วยเชิงเทินและปราการซุ้มทวารป้อมค่าย
ภายนอกก็มีคูแวดล้อมโดยรอบ กอบด้วยห้องแห่งสินธุธารา
ดาดาษล้วนเบญจโกมลกุมุทชาตินานา
ทั้งถ่องแถวสถลมรรคาอันพิจิตรพิศเพียงสุทัศนเทพนคร
เป็นที่สโมสรสถิตสำนักแห่งอัครบรมขัตติยศากยโอรสราชกุมาร
ผู้ทรงซึ่งโสภณวิภูษนอลังการ ปานประหนึ่งเทพบุตรบริสุทธิ์สุภาภรณ์ในอมรเทวโลก
ทั้งองค์สมเด็จพระสิริสุทโธทนมหาราชาธิบดี
ก็มีพระกมลอาโภคเพื่อจะทัศนาการซึ่งพระบรมศาสดาจารย์อัครปิยบุตรเป็นหนักหนา

แม้ว่ามิได้เห็นองค์พระพุทธชินวงศ์แลมิได้ทรงสดับพระพุทธฎีกา
ก็คงจะมีพระกมลอุราแสนโศกาครอบงำ ซ้ำทวีเทวษบ่มิวายพระหฤทัยโทมนัส
ข้าพระบาทปรารถนาจะให้พระพุทธองค์เสด็จไปเล้าโลมพระทัยบรมกษัตริย์
ให้เสื่อมสร่างโศกาดูรเทวษ

เมื่อสมเด็จบรมนรินทร์ผู้เป็นปิ่นประชาได้ทอดทัศนาพระพุทธศาสดา
ก็จะมีพระกมลปรีดาปราโมทย์มโนภิรมย์
คงจะบรรเทาเสียซึ่งความเกรียมตรมทุกข์บำราศอันมีมานาน

ข้าแต่องค์พระบรมศาสดาจารย์ปิ่นปราชญ์ประเสริฐด้วยญาณวิมุตติ
กาลบัดนี้สมควรที่พระองค์ผู้ทรงเป็นมกุฎเกสนิกรประชาเทพามนุษย์
จักเสด็จพระพุทธดำเนินไปสู่สำนักพระเจ้าสิริสุทโธทนาพระราชบิดา
ประชาชนที่มีประโยชน์ด้วยการกระทำนาก็ไถหว่านซึ่งพืชพันธุ์ธัญญาหารได้ผลดีเป็นที่ปรีดา
ชนชาวพาณิชทั้งหลายที่มิได้กระทำนาก็มาซื้อหาไปสีตำกระทำเป็นตัณฑุลชาติ
และการไร่นาแห่งนิกรประชาราษฎร์ก็เก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ
สมควรที่จะเสด็จโดยภูมิภาคมรรคา

ด้วยว่า เมื่อทรงพระกรุณาเสด็จเป็นพระพุทธลีลา
พระฉัพพิธประภาก็จะแผ่ซ่านออกจากพระพุทธสรีรกาย
พรรณรายรุจิโรภาสทั่วท้องพื้นนภากาศทั้งปฐพี
บรรดาคนธรรพ์พิทยาธรกินนรกินรีที่สัญจรในพนาเวศ
ก็จะขับร้องซ้องศัพท์มธุรสสรรเสริญพระเดชาคุณานุภาพเพรียกพร้องไพเราะ
สำเนียงเสนาะสนั่นไปในไพรสณฑ์สถลอรัญมรรคา
ทั้งมหาขีณาสวสงฆ์องค์สาวกทั้งปวงก็เป็นผู้มัธยัสถ์
ปราศจากความปรารถนาขวนขวายในการเล่นเว้นจากความยินดีในสัททารมณ์
ในพนัสพนมก็เป็นที่รโหฐานสงบสงัด
สมควรที่พระสาวกผู้ทรงอรหัตคุณ จักควรเสพให้สำราญด้วยวิเวกจิต
ดุจสถิตในอารามอรัญวิหาริเสนาสน์อาจให้สำเร็จบรรพชิตสมณธรรมเป็นอันดี
ควรจะเป็นสุขมโนภิรมย์เจริญซึ่งปีติแห่งพระโยคาวจรเจ้า

อนึ่งเล่า ขอพระองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าทรงพระกรุณาเสด็จไปเถิดพระเจ้าข้า
จะได้เสด็จจาริกผ่านไปสถิตในคามนิคมชนบทน้อยใหญ่
ซึ่งเป็นประเทศที่อาศัยแห่งมหาชนทั้งที่มีวาสนาและไม่มีทั้งหลาย
ได้โปรดเวไนยสัตว์ให้สำเร็จกิจมรรคผลพระอมตมหานิพพาน
ชนทั้งหลายจะได้บำเพ็ญทานต่างๆทั้งอันนปันนาหาร
เสนาสนะสุคันธวิเลปนามาลาชาติสรรพอามิสทานสำเร็จการกุศลโกฏฐาสในที่นั้นๆ

อีกประการหนึ่ง สรรพนรชาติที่มีอิสริยยศและบริวารยิ่งกว่าชน
ด้วยเดชผลกุศลวิบากหากบำเพ็ญมาแต่ปุเรชาติ
จะได้กอบด้วยประสาทศรัทธาประพฤติบุญกิริยาวัตถุต่างๆ
เพิ่มเติมเป็นปัจจัยในปัจจุบันและอนาคตกาล

อนึ่ง หนทางทุรสถานก็โอภาสด้วยแสงนิสากรเทวราชในราตรี
บุปผชาติทั้งหลายได้สัมผัสรัชนีกรรังสีก็เบิกบาน
และเสาวคนธเรณูประการกำจรกระจายจบจังหวัดวนัสเมทนีดลสถลวิถี
และรัสมีแห่งกายศศิธรเทพบุตรบริบูรณ์ดุจใด
ขอสมเด็จพระจอมไตรโลกนาถจงยังมโนรถประสงค์
แห่งข้าพระบาทให้สำเร็จบริบูรณ์ดุจนั้น
แลอันว่าเทศกาลนี้ ก็มิได้ร้อนนักมิได้เย็นนัก
พอที่จักอำนวยสุข สำราญให้ทั้งกายแลจิต
เป็นสมัยที่พระสุคตบพิตรจะเสด็จพระพุทธลีลาจาริก
ไปสู่กรุงกบิลพัสดุ์บุรี ในกาลครั้งนี้แล้ว พระเจ้าข้า”

ได้ทรงสดับมธุรสกถาที่พระกาฬุทายีพรรณนา
สรรเสริญคุณแห่งมรรคาลัยโดยนัยวิจิตรพิสดารฉะนี้
สมเด็จพระตรีโลกนาถบรมศาสดา จึงมีพระพุทธฎีกาตรัสสั่ง
ให้พระสงฆ์ทั้งปวงตระเตรียมการที่จะเดินทางไปกรุงกบิลพัสดุ์
แล้วก็เสด็จพระพุทธดำเนินแวดล้อมด้วย พระมหาขีณาสวเจ้าองค์อรหันต์
เป็นบริวารจำนวน ๒๐,๐๐๐ องค์ คือ พระอรหันตมหาขีณาสวเจ้า
ที่เคยเป็นกุลบุตรชาวอังครัฐและมคธรัฐรวมรัฐอื่นๆเสีย ๑๐,๐๐๐ องค์
พระอรหันตมหาขีณาสวเจ้าที่เคยเป็น กุลบุตรชาวกบิลพัสดุ์นั้นเองอีก ๑๐,๐๐๐ องค์
ออกจากกรุงราชคฤห์ดำเนินมาตามสบายมิได้ด่วนเร่งร้อนแต่ประการใด


เมื่อข่าวการเสด็จพระพุทธดำเนินล่วงรู้มาถึงทางกรุงกบิลพัสดุ์นั้น
บรรดาศักยวงศานุวงศ์ทั้งหลายจึงสโมสรสันนิบาตปรึกษากันว่า
พวกเราจะได้เห็นพระญาติผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐในกาลครั้งนี้
ก็สถานที่ใดเล่า จึงจะเป็นที่สมควรเข้าอาศัยสำนักแห่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พร้อมกับเหล่าพระอริยสงฆ์สาวกทั้งหลาย
ในที่สุดก็เห็นพร้อมกันว่าที่อุทยานแห่งพระนิโครธศักยราชกุมารนั้น
เป็นรมณียสถานสมควรที่พระตรีโลกนาถจักสถิตพร้อมกับพระอริยสงฆ์ทั้งหลาย
จึงให้จัดแจงปลูกสร้างพระคันธกุฎีและที่สังฆเสนาสนวิหาร
ให้พอแก่พระสงฆ์อรหันต์บริวาร ๒๐,๐๐๐ นั้น
พร้อมกับเตรียมการต้อนรับสมเด็จพระสัพพัญญ
ผู้ทรงเป็นพระญาติซึ่งกอบด้วยคุณประเสริฐเลิศล้นแห่งตนเป็นอันดี

ครั้นสมเด็จพระชินสีหตรีโลกนาถเสด็จมาถึงกรุงกบิลพัสดุ์
ทรงทอดทัศนาเห็นเหล่าพระญาติจัดการต้อนรับเป็นอันดีเช่นนั้น
พระองค์จึงทรงจินตนาว่า สมควรที่เราตถาคตจักทำความเลื่อมใส
ให้บังเกิดขึ้นในดวงใจแห่งหมู่พระญาติ แลจักยังหมู่พระญาติทั้งปวง
ให้ได้ถวายนมัสการเพื่อประโยชน์โสตถิผลในกาลบัดนี้

แล้วจึงทรงเข้าจตุตถฌานอธิษฐานอภิญญาเสด็จเหาะขึ้นไปบนอากาศแสดงอิทธิฤทธิ์
เนรมิตรัตนจงกรมสถานในคัคนัมพระประเทศเสด็จจงกรมในที่นั่น
ซึ่งเป็นจงกรมสถานอันมีอยู่เบื้องบนเหนือศิโรตม์แห่งพระประยูรญาติทั้งปวง
แล้วทรงกระทำปฏิหาริย์วิธีมีประการต่างๆเป็นมหัศจรรย์


สมเด็จพระเจ้าสิริสุทโธทนะพุทธบิดา
ซึ่งทรงเป็นประธานอยู่ในสถานที่นั่น
ครั้นได้ทรงทัศนาเห็นปฏิหาริย์มหัศจรรย์
จึงทรงถวายอภิวันทนาการด้วยความเลื่อมใสและปรีดา
เมื่อพระบรมนราธิบดินทร์ปิ่นกษัตริย์ทรงถวายอภิวาท

บรรดาศักยราชองค์ใดองค์หนึ่งซึ่งจะมีอาการแข็งกระด้าง
มิได้กระทำวันทนานั้นก็หาบ่มิได้
ต่างองค์ต่างก็ถวายอัญชลีพร้อมกันทั้งสิ้น
ครั้นทรงแสดงปาฏิหาริย์และแสดงพระสัทธรรมเทศนาเสร็จสิ้นแล้ว
สมเด็จพระประทีปแก้วมุนินทรศาสดาจึงเสด็จลงมาจากนภากาศ
สถิตนิสัชนาการเหนือบวรปัญญัตตาอาสน์

อันว่าพระญาติสมาคมในขณะนั้น
ต่างก็มีกมลฉันท์ชื่นชมพร้อมเพรียงกันเป็นอันดีในที่สุด
ต่างก็ถวายนมัสการแล้วกลับไปสู่เวียงวังปราสาทสถานแห่งตน
แต่จะได้ยินยลชนชาวศักยราชผู้ใดผู้หนึ่ง ซึ่งจะกราบทูลอาราธนาว่า
เพลาพรุ่งนี้ ขออาราธนาสมเด็จพระตรีโลกนาถจอมมุนี
จงทรงพระกรุณาโปรดจรลีไปรับภัตตาหารในคฤหฐาน
แห่งข้าพเจ้านั้น มิได้มีเลยแม้แต่สักเสียงเดียว

โดยเหตุนี้ พอสิ้นสมัยราตรีรุ่งเช้า สมเด็จพระสัพพัญญูเจ้า
จึงทรงพระอนุสรณ์พิจารณาถึงบุรพจารีตว่า
แต่ปางก่อนครั้งอดีตกาล เบื้องว่าสมเด็จพระบรมโลกุตมาจารย์
เสด็จมาสู่กรุงอันเป็นชาติภูมิ และเสด็จโคจรบิณฑบาตเป็นประเดิมเริ่มแรกนั้น
พระองค์ท่านเสด็จตามลำดับนิวาสฐานแห่งอิสรชน
หรือเสด็จจรดลโดยลำดับตรอกแห่งบ้านเป็นประการใด
แล้วก็ทรงเห็นแจ้งในพระญาณอันไม่ติดขัดว่า

พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่อดีตทุกพระองค์
จะได้ทรงโคจรบิณฑบาตไป ณ คฤหฐานแห่งอิสรชนนั้นหามิได้
โดยที่แท้ แต่ละพระองค์ย่อมเสด็จโคจรบิณฑบาตโดยสถลวิถี
ตามลำดับตรอกเรือนแห่งชาวประชาทั้งปวง
อันนี้เป็นวงศ์ประเวณีแห่งตถาคต
สืบไปเบื้องหน้า สาวกในศาสนาจะได้ศึกษาบำเพ็ญบิณฑบาตจาริกวัตร
ตามเยี่ยงอย่างปฏิบัติแห่งตถาคต


เมื่อทรงกำหนดแน่ในวงศ์ประเวณีแต่เดิมฉะนี้
สมเด็จพระชินสีหเจ้าจึงพาเหล่าพระขีณาสวสงฆ์จำนวน ๒๐,๐๐๐ องค์
ซึ่งเป็นบริวารเสด็จเข้าสู่กรุงกบิลพัสดุ์แห่งสมเด็จพระเจ้าสิริสุทโธทนะราชบิดา
แล้วโคจรบิณฑบาตโดยสปทานจาริก ตั้งแต่ตรอกเรือนที่ถึงก่อนเป็นต้นไปตามอนุกรม


บรรดามหาชนชาวเมืองแจ้งข่าวว่า สมเด็จพระลูกเจ้าสิทธัตถราชกุมาร
เสด็จมาเที่ยวภิกขาจารบิณฑบาตถึงที่นั่นต่างก็พากันเปิดประตูหน้าต่างแห่งเรือน
สองชั้นและสามชั้น แต่ล้วนขวนขวายในกิจ
ที่จะเล็งแลดูพระสัพพัญญูพร้อมทั้งหมู่สงฆ์บริวาร
เสด็จเที่ยวภิกขาจารบิณฑบาตอยู่อย่างโกลาหลวุ่นวายหนักหนา

:b51: :b51:

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


แก้ไขล่าสุดโดย Hanako เมื่อ 20 ต.ค. 2012, 08:42, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 ต.ค. 2012, 08:41 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


สมเด็จพระพิมพารำพัน
ในวโรกาสที่พระพุทธองค์ทรงเสด็จมาโปรดชาวกรุงกบิลพัสดุ์


รูปภาพ

กาลครั้งนั้น ฝ่ายเจ้าสุมิตตากุมารีสาวโศภาแห่งปัจจันตคาม
คู่สร้างบารมีแห่งองค์สมเด็จพระชินวร แต่ครั้งศาสนาพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า
ซึ่งกลับชาติมาเกิดเป็นเจ้าหญิงพิมพาราชเทวี
ชนนีแห่งพระราหุลขัตติยราชกุมาร เมื่อได้เสาวนาการเสียงโกลาหล
สำเนียงนฤโฆษสนั่นถึงพระโสตดั่งนั้น
พระนางเจ้าจึงมีเสาวนีย์ตรัสถาม นางกำนัลนิกรเปสกาว่า

“ดูกรเจ้าทั้งหลาย อันว่าเสียงโกลาหลวุ่นวายนั้น เกิดขึ้นด้วย เหตุปรากฏมีเป็นไฉน?”

นางกำนัลทั้งหลาย ออกไปสืบได้ความมาแล้วจึงทูลว่า

“ข้าแต่พระแม่เจ้า กาลบัดนี้ พระราชสวามีของพระแม่เจ้า
เสด็จมาถึงกรุงกบิลพัสดุ์ด้วยเพศสมณะครองผ้ากาสาวพัสตร์
พระหัตถ์ทรงซึ่งบาตรบทจรลีลาศเที่ยวภิกขาจาร
ชนทั้งหลายซึ่งเป็นชาวเมืองได้ทอดทัศนาการเห็นแปลกประหลาด
จึงเกิดเอิกเกริกโกลาหลขึ้น เหตุเป็นดั่งนี้แล พระแม่เจ้า”


เมื่อเจ้าพิมพาราชเทวีได้สดับเหตุดั่งนี้
ความที่ไม่เคยคิดฝันและไม่เคยฟังมาแต่กาลก่อน
ก็ให้เร่าร้อนรันทดพระหฤทัยโทมนัสตรัสว่า

“พระลูกเจ้าสถิตในพระนครนี้ จะเสด็จไปในสถานที่ใด
ก็เคยทรงกุญชรชาติพาชีสีวิกากาญจน์ยานราชรถ
อันปรากฏด้วยดิเรกราชานุภาพมหึมา
ก็บัดนี้ มาปลงพระโลมามัสสุและเกศา ทรงนุ่งห่มผ้าย้อมน้ำฝาด
พระหัตถ์ทรงซึ่งบาตรเสื่อมสูญพระยศศักดาเดชดุจเพศคนจัณฑาล
เที่ยวภิกขาจารทรมานพระองค์ ไม่มีพระภูษาทรงแลอาภรณ์หรือไฉน
พระสิริวิลาสจะแปลกประหลาดเป็นประการใดในคราวนี้ น่าสงสารนัก

อนึ่ง ชะรอยพิมพานี้จะเป็นหญิงกาลกิณีอาภัพอัปลักษณ์ทุรพล
ไม่มีกุศลแต่กาลก่อนหรือไฉน จึงเผอิญบันดาลให้พระลูกเจ้าบำราศร้างห่างเสน่หา
ทั้งนี้น่าจะเป็นด้วยอกุศลกรรมกระทำไว้แต่ปุเรชาติ
พระภัสดาจึงเสด็จนิราศจากไปด้วยหมดอาลัยไยดี
แต่พิมพานี้ครองชีวิตกินแต่อัสสุชลธารามาก็ช้านาน
ช่างกระไร พระลูกเจ้าไม่มีพระหฤทัยโปรดปรานกรุณาบ้าง
มาตัดขาดเด็ดเดี่ยวบำราศร้างอย่างประหนึ่งว่าเป็นอื่นไป
อนิจจา ! น่าอนาถใจถึงไม่มีพระอาลัยไยดีในพิมพา
ก็น่าที่จะทรงจินตนาการมาถึงเจ้าราหุลราชกุมารหน่อน้อยบ้างก็มิได้มี”


ตรัสพลางเจ้าพิมพาราชเทวี ก็ทรงพระโศกีกำสรดพิลาป
พระพักตราอาบไปด้วยนัยนามพุธารา พระหัตถ์มุ่นพระเกศา
พลางเสด็จอุฏฐาการโดยด่วน ชวนพระราหุลราชโอรสบทจรสู่สีหบัญชรปราสาท
ด้วยพระทัยปรารถนาจะทอดทัศนาพระภัสดา
ซึ่งมีข่าวว่าได้ตรัสเป็นองค์สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์
จึงเผยพระแกลเล็งแลดูพระสัพพัญญู

ก็ได้ทัศนาเห็นองค์สมเด็จพระบรมครูภควันต์
ซึ่งในขณะนั้นพระองค์กำลังทรงรุ่งเรืองไปด้วยถ่องแถวพระฉัพพิธพรรณรังสี
ครบบริบูรณ์ด้วยพระทวัตติงสมหาปุริสลักขณะ
และพระอสีตยานุพยัญชนะวิจิตรตั้งแต่พระอุณหิสลงมาจนตราบเท่าถึงพื้นฝ่าพระยุคลบาท
ไพโรจน์ด้วยพระสิริวิลาสหาที่จะเปรียบมิได้


จึงยกพระหัตถ์ชี้ให้เจ้าราหุลได้ทอดทัศนา
แล้วก็มีพระเสาวนีย์พรรณนาพระบวรรูปแห่งพระภัสดา โดยใจ ความว่า

“ดูกรพ่อราหุลลูกรัก พระมหาสมณะผู้มีศักดิ์ใหญ่
ซึ่งกำลังเสด็จเที่ยวโคจรบิณฑบาตไปด้วยพระพุทธลีลาอันงามนี้
พระองค์ทรงมีเส้นพระเกศาละเอียดอ่อน และวนเวียนเป็นทักษิณาวัฏ มีสีดำสนิททุกเส้น
และทรงมีพื้นพระนลาฏงามยิ่ง ดุจสุริยมณฑลอันปราศจาก มลทิน
นอกจากนั้น พระองค์ท่านยังทรงมีพระนาสิกสัณฐานยาวและสูงดุจขอแก้ววิเชียร
รุ่งเรืองไปด้วยข่ายพระรัศมีมีพรรณโอภาส เป็นนรสีหราชบุรุษมนุษย์ประเสริฐศุภมงคล
พื้นพระยุคลบาทมีพรรณแดง ประดับด้วยพระลายลักษณะวงกงจักร
และรอบรูปอัฏฐุตตรสตมหามงคล ๑๐๘ ประการเป็นบริวาร

ดูกรพ่อราหุลกุมาร พระนรสีหบุรุษผู้เป็นมหาสมณะทรงศักดาใหญ่นี้
มิใช่ผู้อื่นไกลใครที่ไหน โดยที่แท้พระองค์คือพระราชบิดาของเจ้า
อนึ่งเล่า พระองค์ก็ทรงเป็นศักยราชกุมารผู้ประเสริฐสุขุมาลชาติ
มีพระสรีรกายวิจิตรงามวิลาสบริบูรณ์
เสด็จมาเพื่อจะกระทำกิจให้เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลกทั้งปวง
อนึ่ง พระองค์มีพรรณพระพักตร์ผ่องเพียงศศิธรมณฑล อันบริบูรณ์ในวันปุณณมี
ทรงเป็นที่รักเลื่อมใสแห่งเทพยดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เมื่อทรงพระดำเนินไปก็งดงามประดุจลีลาแห่งพญาไกรสรสีหราชมฤคินทร์
ควรจะบังเกิดโสมนัสแก่ผู้ที่ได้ทัศนาการ
ทั้งพระสุรเสียงของพระองค์ก็เสนาะสนิทวิจิตรคัมภีรภาพนฤโฆษ
พระชิวหาแลพระโอษฐ์ก็มีพรรณแดงเข้มวิสุทธิโสภณ
พระทนต์ก็ขาวสีสะอาดพิลาสดังสีสังข์
พระองค์ทรงบังเกิดในขัตติยอัครตระกูลอดุลยชาติ
สมควรที่นรเทพยดาจักอภิวาทพระบวรบาทยุคล
ทั้งพระกมลก็กอบด้วยศีลสมาธิปัญญาคุณอันอุดม
ลำพระศอนั้นเล่าก็กลมดุจกลึงกล่อม พร้อมทั้งพระหนุก็งดงามดุจคางแห่งสีหราช
พระสรีรกายก็ไพบูลย์พิลาสประดุจดังกายท่อนหน้าแห่งพญาราชสีห์
ทั้งพระฉวีวรรณก็งามไพโรจน์วิลาสประดุจสีแห่งสุวรรโณภาส
พระองค์เสด็จยุรยาตรไปในท่ามกลางพระอริยสงฆ์สาวก
ครุวนาดุจดวงจันทร์อันแวดล้อมด้วยคณะดารากำลังลีลาไปในอัมพรประเทศ
พระนรสีหบุรุษองค์นี้หรือคือองค์พระปิตุเรศของเจ้านะ
พ่อราหุล ขอพ่อจงรู้จักและจดจำไว้ให้จงดีเถิด”


สมเด็จพระพิมพาราชเทวี มีพระเสาวนีย์สดุดีสมเด็จพระบรมศาสดา
ให้เจ้าราหุลขัตติยกุมารน้อยได้สดับดั่งนี้แล้ว
ก็เสด็จไปสู่พระตำหนักแห่งพระเจ้าสิริสุทโธทนะพระพุทธชนก
ยกพระกรอัญชุลีแล้วกราบทูลความว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นสมมติเทวราชทรงพระคุณอันประเสริฐ
บัดนี้ พระราชบุตรแห่งพระองค์มาเสด็จโคจรบิณฑบาตโดยวิถีในพระนครนี้
ด้วยพระพุทธลีลาศอันงามดุจเทพยดา
ปวงประชาต่างพากันชื่นชมโสมนัสยินดีอยู่ทุกถ้วนหน้าแล้ว
พระองค์จักไม่เสด็จไปทอด พระเนตรพระลูกเจ้านั้นบ้างหรือไฉน”


เมื่อสมเด็จบรมขัตติยธิราชได้สดับว่า
สมเด็จพระลูกยาเสด็จเที่ยวภิกขาจารโคจรบิณฑบาตเช่นนี้
ความที่ไม่ทรงทราบอะไร ก็ทรงมีพระหฤทัยกอบไปด้วยความสังเวชอดสูอยู่หนักหนา
ทรงรีบอุฏฐาการลุกจากพระแท่นที่ พระหัตถ์ทรงผ้าสาฎกสะพัก
พระองค์เสด็จลงจาก ราชนิเวศน์บทจรโดยด่วน
ไปหยุดยืนอยู่ในที่เฉพาะพระพักตร์สมเด็จพระบรมศาสดา
แล้วทรงตัดพ้อต่อว่าด้วยความน้อยพระราชหฤทัย

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า
ไฉนพระองค์จึงมาทรงกระทำให้บิดาได้รับความอายขายหน้าเป็นอัปยศ
มาเที่ยวบทจรบิณฑบาตอันเป็นการมิสมควรแก่ราชสกุลเช่นนี้เล่า
หรือสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงเข้าพระทัยว่า
บิดานี้ มิอาจที่จะยังพระภิกษุสงฆ์องค์บริวารประมาณ ๒๐,๐๐๐ องค์
ให้ได้ขบฉันภัตตาหารเป็นการเพียงพอหรือไร
ขอพระองค์จงอย่าได้ทรงกระทำอย่างนี้เลย พระเจ้าข้า”


สมเด็จพระมหากรุณาสัมมาสัมพุทธเจ้า
จึงทรงมีพระราชดำรัสตรัสตอบพระพุทธบิดาว่า

“ดูกรบพิตรพระราชสมภาร
อันว่ามหาสมมติวงศ์ศักยราชนี้ หาใช่วงศ์ประเวณีแห่งตถาคตไม่
วงศ์ประเวณีแห่งตถาคตเป็นอีกวงศ์หนึ่งต่างหาก
จริงอยู่ สมเด็จพระสัพพัญญูพุทธเจ้าทั้งปวง จำเดิมแต่พระพุทธทีปังกรเป็นต้น
ลงมาจนตราบถึงพระพุทธกัสสปะ
ย่อม สำเร็จกิจเลี้ยงชีวิตด้วยสปทานจาริกภิกขาจาริกวัตรทั้งสิ้น
อันนี้เป็นวงศ์ประเวณีแห่งอาตมาตถาคต

ดูกรบพิตรพระราชสมภาร กาลเมื่อตถาคตประสูติ
ณ ภายใต้มงคลสาลพฤกษ์ในป่าลุมพินีวัน
บังเกิดบุรพนิมิตเป็นมหัศจรรย์ ๓๒ ประการ
ขณะนั้น ก็ยังชื่อว่าประดิษฐานอยู่ในมหาสมมติวงศ์ศักยราช
และกาลเมื่อออกสู่มหาภิเนษกรมณ์กระทำทุกกรกิริยาจนนิสัชนาการเหนือวชิรบัลลังก์
ยังพญามารและพลมารให้อัปราชัย จวบจนได้รู้แจ้ง
ในปุพเพนิวาสานุสติญาณตอนปฐมยาม
ครั้นล่วงเข้ามัชฌิมยามได้บรรลุทิพยจักษุแลทิพยโสตญาณตอนนั้น
ก็ยังชื่อว่าประดิษฐานอยู่ในมหาสมมติวงศ์ศักยราช ยังมิได้ขาดจากวงศ์เดิมนั้น

กาลเมื่อพิจารณาพระปฏิจจสมุปบาทปัจจยาการ
ตอนปัจฉิมยามเพลาตามอรุณสมัยไขแสงทองสว่างอร่ามฟ้า
ได้ตรัสแก่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ
สำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสัพพัญญุตญาณ
กาลนั้นเป็นอันว่ามหาสมมติวงศ์ศักยราชก็ขาดสูญ
ประดิษฐานอยู่ในพระพุทธวงศ์อันประเสริฐจำเดิมแต่นั้นมา”


เมื่อมีพระพุทธฎีกาตรัสบอกฉะนี้แล้ว
จึงตรัสพระธรรมเทศนาโปรดพระพุทธบิดาด้วยสารพระคาถาว่า

อุตฺติฏเฐ นปฺปมชุเชยฺย เป็นอาทิ
ซึ่งแปลเป็นใจความว่า บุคคลผู้ใดมิได้ประมาทในความเพียร
อุตสาหะประพฤติในสุจริตธรรม
และบุคคลผู้นั้นก็จะนิปัชชนาการเป็นสุขสำราญในอิธโลกและปรโลกเบื้องหน้า


พอจบพระคาถาลง องค์บรมกษัตริย์สิริสุทโธทนะพระพุทธบิดา
ก็ได้บรรลุพระโสดาปัตติญาณ อันเป็นปฏิปัสสัทธิวิมุตติที่ ๑ ในพระพุทธศาสนา
สำเร็จเป็นพระโสดาบัน อริยบุคคลแล้ว
จึงทรงรับเอาบาตรและอาราธนาสมเด็จพระสัพพัญญู
พร้อมทั้งหมู่อริยสงฆ์บริษัทให้ขึ้นสู่ปราสาท
แล้วทรงอังคาสด้วยขาทนียโภชนียาหาร
เมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาจารย์และพระอริยสงฆ์เสร็จภัตกิจแล้ว
จึงหมู่นางพระสนมทั้งปวงมีพระมหาปชาบดีเป็นประธาน
ก็พากันมาถวายนมัสการด้วยความเลื่อมใสศรัทธา
เว้นแต่สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงพิมพาราชเทวี
มิได้เข้ามาเฝ้ากับเขาทั้งหลายในขณะนี้เพียงแต่มีเสาวนีย์สั่งมาว่า

“อันตัวพิมพานี้ ถ้ามีความชอบอยู่บ้าง แม้นว่าสมเด็จพระสัพพัญญูเสด็จมาสู่สำนัก
จึงจักได้ถวายวันทนาการพระยุคลบาทต่อภายหลัง”
ดังนี้


ครั้นรุ่งขึ้นเป็นวันที่คำรบสอง สมเด็จพระพุทธองค์
ก็ทรงพาพระอริยสงฆ์เสด็จพระพุทธดำเนินไปรับภัตตาหารบิณฑบาตในพระราชนิเวศน์อีก
ตามคำอาราธนาของพระพุทธบิดา เมื่อเสร็จภัตกิจแล้ว
ทรงพระมหากรุณาตรัสเทศนาโปรดพระมหาปชาบดี
ให้ได้สำเร็จ พระโสดาปัตติผลญาณ เป็นพระโสดาบันอริยบุคคล
ส่วนสมเด็จพระเจ้าสิริสุทโธทนมหาราชพุทธบิดาผู้มีญาณูปนิสัย
ก็ได้สำเร็จธรรมวิเศษสูงขึ้นอีกชั้นหนึ่งในวันนี้
คือ พระองค์ได้บรรลุพระสกิทาคามิผลญาณ อันเป็นปฏิปัสสัทธิวิมุตติที่ ๒
สำเร็จเป็นพระสกิทาคามีอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา


ครั้นรุ่งขึ้น เป็นตติยวารสมัย พอพระสุริยาไขแสงส่องอร่ามฟ้า
สมเด็จพระบรมศาสดาก็พาพระอริยสงฆ์เสด็จไปสู่พระราชนิเวศน์
ตามคำอาราธนาของสมเด็จพระพุทธบิดาอีกเล่า
สมเด็จพระปิตุเรศเจ้าซึ่งทรงเป็นพระสกิทาคามีอริยบุคคลแล้ว
ก็มีจิตผ่องแผ้วกอบด้วยพระราชศรัทธาถวายยาคูภัตตาหารอันประณีต
แด่สมเด็จพระทศพลและพระอริยสงฆ์องค์บริวารจำนวน ๒๐,๐๐๐ นั้น

ครั้นเสร็จภัตกิจแล้ว องค์พระประทีปแก้วสัมมาสัมพุทธเจ้า
ก็ทรงมีพระพุทธฎีกาตรัสเทศนา มหาธรรมปาลชาดกฉลองพระราชศรัทธา
พอจบพระสัทธรรมเทศนาลง องค์บรมกษัตริย์ผู้มีพระบารมีแก่กล้า
ก็ได้ทรงบรรลุพระอนาคามิผลญาณ อันเป็นปฏิปัสสัทธิวิมุตติที่ ๓ ในพระพุทธศาสนา
สำเร็จเป็นพระอนาคามีอริยบุคคลฉับพลันเป็นอัศจรรย์


แล้วจึงหันพระพักตร์เหลียวแลไปดูหมู่สนมนางในทั้งปวง
เมื่อมิได้ทอดพระเนตรเห็นเจ้าพิมพาราชสุณิสาในระหว่างหมู่คณานางทั้งสิ้น
สมเด็จพระบรมนรินทร์ปิ่นกษัตริย์สิริสุทโธทนะพระอนาคามีอริยบุคคลผู้ได้สำเร็จใหม่
จึงมีพระราชดำรัสตรัสถามไปในขณะนั้นว่า

“แม่พิมพาเทวีราชสุณิสาแห่งเรา เจ้าสถิตอยู่ ณ ที่ไหน
เหตุไรจึงไม่มาเฝ้าสมเด็จพระบรมศาสดา เพื่อสดับพระธรรมเทศนาอันประเสริฐในวันนี้ด้วยเล่า?”


ทรงมีพระราชดำรัสถามด้วยความที่ทรงห่วงใยในพระราชสุณิสาฉะนี้แล้ว
ก็ดำรัสใช้เปสกาบริจาริกานางหนึ่ง ให้ไปทูลพระราชสุณิสามาในที่ประชุมนั้นโดยไว
แล้วก็ทรงกราบทูลพระบรมไตรโลกนาถเจ้าว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นบรมไตรโลกนาถ
เจ้าพิมพาราชเทวีศรีสะใภ้แห่งบิดานี้เจ้ามีแต่ทุกข์แต่โศกมาเป็นเวลานาน
วันนี้ขอพระองค์จงทรงพระกรุณาอนุเคราะห์ระงับเสียซึ่งหฤทัยเจ้าศรีสะใภ้
อันหม่นไหม้ไปด้วยวิปโยคโศกีมาประมาณเจ็ดแปดปีด้วยเถิดพระเจ้าข้า
บิดานี้เข้าใจว่า เจ้าพิมพาราชเทวีคงจักสิ้นอาดูรเทวษอันรุ่มร้อนหฤทัยในวันนี้เป็นแน่แท้”


ดังนี้ ฝ่ายนางเปสกานารีซึ่งมีศักดิ์ใหญ่กว่าหญิงทั้งหลายในพระราชนิเวศน์
ครั้นรับพระราชโองการสมเด็จพระนฤบดีแล้ว ก็รีบจรลีไปสู่ปราสาทแห่งพระราชสุณิสา
ได้ทอดทัศนาเห็นเจ้าพิมพาราชเทวีในขณะนั้นก็ให้บังเกิดความสงสารสุดใจ
ด้วยว่า ในขณะนั้นสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงพิมพาราชเทวีมีพระกรัชกายซูบซีดเศร้าหมองมิผ่องใส
มีครุวนาดุจจันทเรขาในวันกาฬปักษ์จาตุทสีราตรีกาล
มิฉะนั้นดุจศศิรังสีในฤดูฝนระคนไปด้วยราตรีแห่งเมฆพลาหก
มิฉะนั้นดุจใบไม้อันเหลืองหล่นตกลงจากขั้ว
มิฉะนั้นดุจอุทกวารีใสไหลลงในราสีกองถ่านเพลิงอันร้อนก็แห้งเหือด
พระฉวีวรรณที่เคยผุดผ่องของเจ้า ก็เศร้าหมองวิปริตผิดเผือดเหี่ยวแห้งอับราศรี
ด้วยเจ้าทรงกำสรวลโศกปิยวิปโยคทุกราตรีพระอินทรีย์ถูกไหม้ไปด้วยเพลิง
กล่าวคือความโศกเป็นนิรันดรกาล กระแสพระอัสสุชลธารนองพระนัยน์เนตรมิรู้วาย
ตรัสโทษหมู่นางกำนัลทั้งหลายด้วยความฟุ้งซ่านพระหฤทัย
ผิดกว่าแต่กาลก่อนอย่างน่าสงสาร ดังนั้น นางเปสกานารีที่ถือรับสั่ง
เมื่อเห็นว่ายังมิได้โอกาสที่จะกราบทูลพระนางซึ่งกำลังตกอยู่ในความวุ่นวายพระหฤทัย
จึงค่อยแอบไปนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

จวบจนถึงกาลที่พระนางพิมพาราชเทวี ซึ่งมีความทุกข์โศกเข้าครอบงำดวงจิตเป็นยิ่งนัก
หันพระพักตร์มาทอดพระเนตรเห็นนางทรงศักดิ์ใหญ่ในราชสำนัก
จึงกวักพระหัตถ์ตรัสเรียกให้เข้ามานั่งใกล้ๆแล้วก็ทรงรำพันปรับทุกข์ให้ฟังว่า

“ดูกรเจ้าซึ่งเป็นเพื่อนสตรี กาลบัดนี้ เจ้าควรจะสังเวชสงสารเรา
ด้วยว่าสมเด็จพระลูกเจ้าผู้เป็นภัสดาแห่งเรานี้
พระองค์ช่างมีกมลฤทัยเหี้ยมเกรียมห้าวหาญยิ่งนัก
เห็นประหนึ่งว่าจะสิ้นเสียแล้วซึ่งความรักและความกรุณา
เป็นไฉนเช่นพิมพานี้ไม่ควรจะรองละอองธุลีพระบาทเจียวหรือประการใด
จึงทรงสลัดตัดพระอาลัยไร้ร้างเสน่หาให้โศกาดูรเดือดร้อน
ถึงไม่ทรงมีอาวรณ์ในพิมพานี้ก็พอทำเนามิได้ว่า
แต่พ่อราหุลราชกุมารหน่อน้อยน่าสงสาร เพิ่งเกิดวันเดียวมีพักตร์
ดั่งพิมพ์ทองเทียมหฤทัยนัยน์เนตรนั้น
เจ้าพลอยมีความผิดสิ่งใดด้วยเล่า
สมเด็จพระลูกเจ้าจึงทรงสละเสียได้
ดุจหยากเยื่อเชื้อชานดอกไม้อันเหี่ยวแห้ง
แกล้งบำราศร้างออกไปสู่ภิเนษกรมณ์
ด้วยพระอารมณ์เด็ดขาดปราศจากเมตตาการุณยภาพไม่ทราบว่าโทษทัณฑ์ฉันใด
เมื่อพระลูกเจ้าผู้เป็นพระราชสามีที่รัก มาร้างไร้เสน่หาออกบรรพชาฉะนี้
อกเราเป็นสตรีนี้จะเป็นเช่นใด จะไว้พักตร์แลจิตสถิตสถานใดดีเล่า
มีก็แต่จะเฝ้าเสวยทุกข์เทวษเหตุเป็นม่ายมัวหมองกมล ทนต่อความชอกช้ำระกำใจหนักหนา

อันธรรมดาว่าสตรีเมื่อเป็นม่าย ก็ย่อมจะได้แต่ความยากอัปยศ
หมดสิ้นสง่าหาศักดิ์และอำนาจบ่มิได้ ไม่มีใครจะยำเกรงเหมือนแต่กาลก่อน
มีแต่จะยอกย้อนให้อัปยศอดสูด้วยหมิ่นประมาท
ครุวนาดุจราชรถอันมีงอนปราศจากธงชัย มิฉะนั้นดุจกองไฟปราศจากควัน
ถ้ามิดั่งนั้นดุจราชธานีที่ไม่มีบรมกษัตริย์ ซึ่งจักดำรงไอศวริยสมบัติครอบครอง
ก็มีแต่จะต้องถูกผองชนติฉินยินร้ายอยู่ตลอดนิรันดร์

จะมีประโยชน์อันใดกับชีวิตพิมพานี้ซึ่งไม่มีแก่นสาร
ด้วยมีแต่ทุกข์เทวษทุกวารวันเสวยแต่ทุกข์โทมนัสบำราศร้าง
ว่างเว้นจากพระลูกเจ้าภัสดา เช่นนี้แล้วพิมพานี้ก็ควรที่จะกล้ำกลืนยาพิษเสีย
ให้มรณาก็จะประเสริฐกว่าที่จะดำรงชนม์
มิฉะนั้นก็จะอุตส่าห์ขึ้นไปบนภูผาสูงสุดแล้วก็โดดลงมาให้ม้วยมุดวายชีวาตม์
มิฉะนั้นก็จะโจนเข้าในกองเพลิงให้ชีวิตพินาศก็จะดีกว่าอยู่เป็นคนทนเป็นม่าย
หรือจะเอาเชือกผูกคอให้สิ้นสุดทุกข์ที่เจ็บอายอัปภาคย์มากเหลือล้นพ้นที่จะประมาณ
แม้นว่าพิมพานี้ดับสูญสิ้นสังขาร ก็จะขาดความทุกข์ขุกเข็ญที่ขุ่นข้องชอกช้ำระกำหฤทัย
หรือจะว่าอย่างไรนะ เปสกานารีเจ้า”

นางเปสกานารีสดับวาทีปรับทุกข์รำพันของพระนางด้วยความสงสารจับใจ
แล้วพอขาดพระเสาวนีย์ได้โอกาส จึงอภิวาทบังคมทูลว่า

“ข้าแต่พระแม่เจ้า บัดนี้ สมเด็จพระปิ่นเกล้ามงกุฎประชาสัสสุราธิบดี
มีพระราชโองการตรัสสั่งให้มาเชิญเสด็จว่า
วันนี้ สมเด็จพระสรรเพชญ์พระองค์ผู้เคยทรงเป็นพระภัสดา
เสด็จมากระทำภัตกิจสถิตอยู่ในพระราชนิเวศน์สถาน
จะโปรดประทานพระสัทธรรมเทศนา เพื่อระงับโศกาพระแม่เจ้าให้บรรเทาที่โทมนัสมานานวัน
ขอเชิญเสด็จพระแม่เจ้าจงไปกับเกล้ากระหม่อมฉัน ในกาลบัดนี้เถิด อย่าชักช้า”


สมเด็จพระนางเจ้าพิมพาราชเทวี ได้ทรงสดับสารฉะนี้
ก็ยิ่งแสนช้ำกำสรดเศร้า สองพระกรค่อนพระทรวงเข้าถึงปริเวทนาการพิลาป
พระเนตรนองอาบไปด้วยอัสสุชลวารีมีพระเสาวนีย์ตรัสแก่นางเปสกานารีนั้นว่า

“เมื่อสักครู่นี้ เจ้ากล่าวว่าอย่างไรนะ ดูเหมือนเจ้าว่าสมเด็จพระอิสราเจ้า
รับสั่งให้เราขึ้นไปดูองค์พระภัสดา จริงดั่งนี้หรือประการใด”

“ข้าแต่พระแม่เจ้าซี่งเป็นใหญ่กว่าทุกนารีในกรุงกบิลพัสดุ์บุรี
สมเด็จพระอิสราเจ้ารับสั่งให้เชิญเสด็จจริงเหมือนดั่งกราบทูลเป็นแน่แท้
เกล้ากระหม่อมฉันจะได้แสร้งเสกสรรเอาเท็จมาเจรจาก็หามิได้”

ทรงครุ่นคำนึงถึงเหตุการณ์อยู่ชั่วครู่แล้วสมเด็จพระนาง
ซึ่งกำลังตกลงอยู่ในความทุกขโทมนัส
จึงมีพระเสาวนีย์ตรัสสั่งด้วยความน้อยพระทัยว่า

“ดูกรเจ้าเปสกานารีเอ๋ย อันตัวพิมพา ครานี้ไม่เหมือนก่อน
ด้วยกลายเป็นคนกาลกิณี มีจักขุนทรีย์วิกลวิการไปทุกสิ่ง เป็นความจริงนะเจ้า
ครั้นพิมพาจะขึ้นไปเฝ้าก็น่าจะทำให้เสื่อมเสียพระสิริอัปภาคย์ไป
ขอเจ้าจงใคร่ครวญดูให้ดีเถิดว่า
แต่ปางก่อนยามเมื่อยังอยู่ในพระราชนิเวศน์ คือ ยังไม่เสด็จออกบรรพชา
สมเด็จพระลูกเจ้าก็เคยเสด็จไปเสด็จมาเข้าออกในนิเวศน์แห่งพิมพานี้เป็นนิตยนิรันดร์ทุกวันทุกราตรี
ไม่ต้องมีเปสกานารีหรือนางกำนัลคนใดไปทูลเชิญเสด็จไปเสด็จมา
ทรงปรารถนาจักเสด็จมา ก็ย่อมเสด็จมาด้วยพระองค์เอง
สถิตเหนือพิจิตรอลังการอาสน์ ตรัสประภาสแย้มสรวลเล่นตามสบายพระทัย
บางเวลาพิมพานี้ยังไม่ทันที่จะมารับเสด็จ พระองค์ก็เสด็จไปสู่ที่สรง
ทรงตักอุทกวารีด้วยสุวรรณภาชนะขันทองล้างพระบาทด้วยพระหัตถ์เอง
แล้วเสวยโภชนาอันพิมพาประจงตกแต่งไว้ถวาย
แล้วเสด็จไปนิสัชนาการสำราญพระวรกาย บนพระแท่นที่สิริไสยาสน์ที่พิมพานี้ตกแต่งปูลาดไว้
บัดนี้ ไฉนจะให้พิมพาไปเฝ้าพระภัสดาในที่อื่นเล่า
เจ้าจงไปกราบทูลตามคำของพิมพาในกาลบัดนี้เถิดว่า
พิมพานี้เป็นหญิงกาลกิณีไม่อาจที่จะใช้นัยนาจ้องมองสมเด็จพระลูกเจ้าผู้ภัสดา
ให้ทรงเสื่อมเสียพระสิริไปโดยใช่เหตุ
มิฉะนั้นแล้ว สมเด็จพระลูกเจ้าคงจะไม่เสด็จหนีออกบรรพชา

ดูกรเจ้าเปสกานารี เจ้าจงกลับไปกราบทูลสมเด็จพระอิสราธิบดี
เจ้าผู้เป็นใหญ่ในกบิลพัสดุ์เถิดว่า พิมพานี้ขอถวายอภิวันท์ให้ทราบเหตุ
คือ ตั้งแต่วันสมเด็จพระลูกเจ้าเสด็จออกบรรพชา
พิมพาหญิงกาลกิณีนี้ ก็มีแต่โศกาดูรเดือดร้อนเร่ารุมสุมในทรวงเสมอ
เหมือนมีภูเขาหลวงเข้ามาทุ่มทับทุกวารวัน
คงเป็นเพราะโบราณกรรมอันตนกระทำไว้มีกำลังกล้า
พิมพาปลงใจเสียเช่นนี้ ก็มิได้มีความขัดหฤทัยต่อผู้ใด
สู้อดกลั้นหักห้ามจิตมิให้คิดถึงความละอายว่าเป็นม่าย
จึงอุตส่าห์ดำรงชนม์ยืนนานมาจนป่านฉะนี้
บรรดาพระประยูรญาติที่กรุงเทวทหบุรีได้สดับข่าวที่พิมพาชอกช้ำระกำใจ
ก็ให้พลอยเศร้าสลดซบเซาไปด้วยโศกาปิ้มประหนึ่งว่าจะพากันจมลงในกลางมหาสมุทร
กล่าวคือ ความโศก อันเกิดจากพิมพาได้เสวยวิปโยคทุกขเวทนาไร้ร้างบำราศภัสดา
ก็แลคราวนี้ สมเด็จพระลูกเจ้าผู้ภัสดาเสด็จมาถึงกรุงกบิลพัสดุ์ได้ถึง ๓ วันกับทั้งวันนี้
คงจะเป็นพราะพิมพาเป็นหญิงกาลกิณีไม่สร่างซา
จึงมิได้ทรงกรุณาปรานีเสด็จลีลาศมาสู่นิวาสสถานของพิมพา
เสด็จออกจากพาราไปเสียทุกวัน


แม้นว่า กาลวันนี้พระองค์มิได้ทรงมีพระกมลหมายมั่น
เอื้อเฟื้อในพิมพาเสด็จออกจากพาราไปในขณะใด
ชีวิตของพิมพาก็จะบำราศจากสรีรกายไปในขณะนั้น
แต่รักษาชีวันรอท่าพระราชสวามีมาก็ช้านาน
เห็นจะขาดสูญสังขารสุดสิ้นเป็นแม่นมั่นในวันนี้
หากว่ากุศลแห่งพิมพายังรักษาบำรุงอยู่
ก็คงจะบันดาลให้สมเด็จพระลูกเจ้าผู้ภัสดา
เสด็จมาหาพิมพาอันจะเป็นเหตุให้มีชนมายุยืนยาวสืบไป
แม้นว่าพระลูกเจ้ามิได้ทรงพระกรุณาเสด็จมา
จะให้พิมพาไปหาเองนั้นย่อมเป็นการไม่สมควร
และพิมพาก็จะถวายบังคมลาในวันนี้
จะกระทำให้สิ้นสุดโศกีที่ทนทุกขเทวษมานานวัน
มิให้ทุกข์นั้นปวัตตนาการทรมานหฤทัยสืบไปเบื้องหน้า
ขอเปสกานารีเจ้าจงไปกราบทูลพระกรุณา ตามถ้อยคำพิมพารำพันสั่งดั่งนี้เถิด”


นางเปสกานารี ได้สดับคำรำพันฉะนี้ ก็ให้แสนสุดที่จะสงสาร
รีบอัญชลีคมนาการไปกราบทูลตามคำพระราชสุณิสานั้นทุกประการ
ในที่เฉพาะพระพักตร์สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์
ซึ่งเสด็จอยู่ ณ ที่นั่นเป็นมหาสันนิบาตมากมาย
ทั้งพระอริยสงฆ์และอำมาตย์ราชบริพารทั้งหลาย
เมื่อได้ทรงเสวนาการข่าวสารแห่งพระพิมพาราชเทวีศรีสะใภ้ยอดสงสาร
สมเด็จจอมนราภิบาลบรมกษัตริย์ ก็ทรงมีพระราชดำริ
จะให้สมเด็จพระสัพพัญญูผู้บวรดนัยได้ทรงทราบถึงความเป็นไปแห่งเจ้าพิมพา
ขณะที่พระองค์เสด็จออกบรรพชาเพื่อแสวงหาโมกขธรรม
จึงกราบทูลด้วยพระวาจาพรรณนาถึงคุณเจ้าพิมพาเทวีเป็นอันมาก แล้วในที่สุดก็กราบทูลขึ้นอีกว่า

“ข้าแต่พระสัพพัญญูผู้มีเพียรพยายามชำนะแก่สงคราม
และกอบด้วยพระมหากรุณา ขออาราธนาเสด็จพระพุทธลีลา
สู่นิวาสสถานแห่งเจ้าพิมพาราชเทวีในกาลบัดนี้เถิดพระเจ้าข้า
แม้นว่าพระชินสีหเจ้าไม่ทรงอาศัยพระมหากรุณา
เสด็จไปสู่นิเวศน์ของเจ้าพิมพาด้วยพระองค์เองแล้วไซร้
ก็น่าที่เจ้าจะเสียใจโศกาดูรเดือดร้อน
ด้วยความรักเป็นกำลังคับคั่งอยู่ในกมลสันดาน
เห็นเที่ยงที่จะดับสูญสิ้นสังขารภายในสิริไสยาสน์นั้นเป็นมั่นคง
ผิว์เจ้าพิมพาปลดปลงชีวาตม์แล้ว
เห็นว่าพระหลานแก้วราหุลกุมารก็จะทำลายล้างชีวาตม์ไปตามพระชนนี
เมื่อเป็นเช่นนี้ อันว่าประเวณีที่จะสืบขัตติยวงศ์ก็จะพินาศ
บ่มิอาจวัฒนาถาวรสืบไป อนึ่ง ในกาลก่อนแต่เสด็จออกบรรพชา
เจ้าพิมพากับ พระองค์ก็เคยสนิทเสน่หา
จะได้เคลื่อนคลาดธุลีพระบาทบทมาลย์ แม้แต่สักเพลาหนึ่งก็หามิได้
ดังนั้น ในกาลบัดนี้ จึงใคร่ที่จะขอรับพระราชทานชีวาเจ้าพิมพาไว้
อย่าให้ถึงชีวิตอันตรายในครั้งนี้เลย พระเจ้าข้า”


สมเด็จพระบรมโลกุตมาจารย์ เมื่อได้ทรงสดับอาราธนากถา
แห่งพระพุทธบิดากราบทูลฉะนี้ จึงทรงมีพระพุทธฎีกาตรัสว่า

“ดูกรมหาบพิตรพระราชสมภาร อันคำอาราธนาที่พระองค์ดำรัสนี้
เป็นการชอบสมควรยิ่งนัก ผิว์วันนี้ ตถาคตมิได้ไปเยี่ยมเยือนถึงนิเวศนสถานแล้วไซร้
ก็น่าที่เจ้าพิมพาจะมีดวงหฤทัยภินทนาการเป็นแม่นมั่น

และเจ้าพิมพาราหุลมารดานี้ เป็นผู้ที่มีคุณแก่ตถาคตเป็นอันมาก
มาแต่อดีตกาลประมาณกว่าแสนชาติ
ในชาตินั้นๆ เมื่อตถาคตบำเพ็ญบารมีทาน มีบุตรทานเป็นต้นในชาติใด
เจ้าพิมพาก็เต็มใจยินยอมพร้อมร่วมศรัทธาในมหาบริจาคด้วยดี
จะได้มีจิตคิดขัดแย้งกำเริบพิโรธ และมิได้เกิดความปราโมทย์ยินดีด้วยแม้แต่สักครั้งก็หามิได้
ตั้งแต่บำเพ็ญพระบรมโพธิญาณบารมี คุณความดีของพิมพาเจ้าก็ล้ำเลิศประเสริฐโดยยิ่ง
จะหาสิ่งใดที่จะเปรียบปานนั้นมิได้
จนตราบเท่าชาตินี้ถึงปรมาภิเษกสมัย ได้สำเร็จแก่พระสรรเพชญโพธิญาณเห็นปานฉะนี้
จะหาสตรีใดดุจพิมพาซึ่งมีกมลเจตนาช่วยบำรุงพระกฤษฎาภินิหาร
ให้ได้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณนั้น มิได้มีเลย
ผิว์ตถาคตจักเมินเฉยไม่กระทำปัจจูปการสนองคุณความดีของเจ้าในครั้งนี้
เจ้าพิมพาราชเทวีก็จะคลาดจากประโยชน์ยิ่งใหญ่ไปอย่างน่าเสียดายนัก”


เมื่อสมเด็จพระพุทธบิดา ได้เสาวนาการพระพุทธบรรหารเช่นนั้น
ก็ทรงชื่นชมโสมนัสเหลือประมาณ กราบทูลอาราธนาสมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ขึ้นอีกว่า

“ข้าแต่พระอนันตญาณมุนี กาลบัดนี้ สมควรแล้วที่องค์พระประทีปแก้ว
จะเสด็จพระพุทธลีลาศสู่ปรางค์ปราสาทแห่งเจ้าพิมพา
ขออาราธนาเสด็จเถิด พระเจ้าข้า”

กาลครั้งนั้น สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์อันกตัญญูกตเวทีเข้าตักเตือนพระหฤทัย
จึงเขยื้อนพระวรกายอุฏฐาการจากบวรบัญญัตตาอาสน์
ประทานบาตรทรงให้พระพุทธบิดาเสด็จบทจรตามไป
โดยให้พระมหาขีณาสพทั้งหลายยังคงรออยู่ในที่นั่น
มีพระพุทธบัญชาให้ตามเสด็จแต่เพียงคู่อัครสาวกทั้งสอง
คือ พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลาน์ทำหน้าที่เป็นปัจฉาสมณะ
แล้วเสด็จพระพุทธดำเนินไปสู่ปราสาทแห่งสมเด็จพระพิมพาราชเทวี
พลางมีพระพุทธฎีกาตรัส แก่สองอัครสาวกว่า

ดูกรสารีบุตรและโมคคัลลาน์ เจ้าพิมพาราหุลมารดานี้
เป็นสตรีมีคุณแก่ตถาคตเป็นอันมาก
ในกาลบัดนี้ ผิว์นางจักจับบาทตถาคตลูบคลำสัมผัสและโศกาดูรพิลาปด้วยกำลังเสน่หา
เธอทั้งสองจงอย่าได้ห้ามปราม จงปล่อยให้นางทำไปตามอัธยาศัย

ให้นางพิไรรำพันปริ เวทนาการไปจนกว่าจะสิ้นโศก
หากว่าจักห้ามนางในขณะนี้แล้วไซร้ นางก็จะวางวายม้วยมุดมรณาอาสัญ
มิได้ทันเป็นสุพรรณภาชนะทองรองรับสดับพระธรรมเทศนา
และตถาคตนี้ก็ยังประกอบไปด้วยเป็นหนี้แห่งเจ้าพิมพา ยังมิได้ปลดเปลื้องไปให้พ้น
จะได้โอกาสเลิศล้นทดแทนใช้หนี้แก่เจ้าพิมพาก็แต่ในกาลครั้งนี้


อนึ่ง ตถาคตนี้ก็เป็นผู้มีราคะ โทสะ โมหะ ปราศจากขันธสันดาน
เป็นสมุจเฉทปหานสิ้นสูญมูลรากเด็ดขาด มิอาจบังเกิดเจริญอีกสืบไปในเบื้องหน้า
ครุวนาดุจยอดตาลที่ถูกตัดขาดมิอาจวัฒนาการสืบไป
จะได้หวั่นไหวด้วยราคาทิกิเลสนั้น ย่อมเป็นอันมิได้มีอีกดังนั้น
หากเจ้าพิมพาราชเทวีที่ไม่ได้พบเห็นตถาคตมานาน
เจ้าจักเข้ามาลูบคลำสัมผัสด้วยความเสน่หาตามประสาสตรี
ขอเธอทั้งสองจงอย่าห้ามปรามในครั้งนี้เลย”


ตรัสบอกแก่คู่อัครสาวกผู้ทำหน้าที่เป็นปัจฉาสมณะฉะนี้แล้ว
องค์สมเด็จพระประทีปแก้วสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เปล่งพระพุทธรังสีให้โอกาส
เพียงดังภาณุมาสสักแสนดวงที่บังเกิดปรากฏเหนือยอดไกรลาสบรรพตมหาหิมวัตคีรี
ถ่องแถวพระรัศมีทั้ง ๖ ก็ไพโรจน์โชตนาการ
ส่องสว่างเข้าไปภายในปราสาทสิริไสยาสน์แห่งพระนางพิมพาราชเทวี
มีประมาณเท่าลำต้นตาล พุ่งเข้าไปโดยช่องสีหบัญชรทวารกาญจนปราสาท
โอภาสไปทั่วบริเวณพระราชมณเฑียรทั้งสิ้น
เพื่อจะให้บังเกิดความเลื่อมใสโสมนัสแก่พระนางพิมพา
แล้วก็เสด็จพระพุทธลีลาเข้าไป ด้วยพระพุทธสิริวิลาสอันงามสุดที่จะหาอะไรมาเปรียบได้
สถิตบนรัตนบัลลังก์อาสน์มณฑล ดุจดวงทินกรสถิตเหนือยอดยุคนธรสิขรินทร์

ฝ่ายว่าอเนกนางสนมทั้งสิ้น ได้ทอดทัศนาเห็นสมเด็จพระสัพพัญญูพร้อมกับคู่อัครสาวก เสด็จเข้าสู่พระมณเฑียรสถาน ทรงนิสัชนาการเหนือรัตนบัลลังก์อาสน์ ด้วยพระพุทธลีลาอันงามสุดประมาณเช่นนั้น ต่างก็พากันเข้าไปทูลพระพิมพาราชเทวีซึ่งกำลังทรงพระโศกีหมองไหม้ด้วยหทัยทุกข์ว่า

“ข้าแต่พระแม่เจ้า บัดนี้ สมเด็จพระปิ่นเกล้ากษัตริย์ภัสดา
เสด็จมาสถิตบนรัตนบัลลังก์อาสน์ดังแต่กาลก่อนแล้วนะ พระแม่เจ้า”


รูปภาพ

เมื่อสมเด็จพระนางพิมพาราชเทวี ได้ทรงสดับนางสนมพากันมาทูลความฉะนี้
ก็ให้ดีพระหฤทัยค่อยเคลื่อนคลายระบายพระอัสสาสะปัสสาสะอันร้อนผ่อนยาวออกได้
จึงอุฏฐาการลุกขึ้นฉับพลันทันใด พระกรจูงหัตถ์พระราหุลบวรดนัย
มิได้ทันทรงประดับสรรพาภรณ์ รีบด่วนบทจรมาสถิตยังธรณีพระทวาร
ปรารถนาจะทอดทัศนาการพระบรมราชสามี
พระอัสสุชลวารีก็ให้มีเป็นอันหลั่งไหลนองพระนัยนากว่าร้อยพันหยาด
พอเหลือบเห็นองค์พระมุนีนาถ น้ำพระอัสสุชลนัยน์ก็ไหลหลั่งดั่งกระแสสายสินธุ์นทีธาร
ทำให้พระนางมิอาจจะได้ทอดทัศนาการสมเด็จพระบรมศาสดาจารย์
โดยสะดวกเป็นปรกติสุขได้ จึงตรัสพิไรรำพันพ้อต่อน้ำพระเนตรว่า

“อนิจจา น้ำตาเอ๋ย ! กระไรเลยเจ้าช่างไม่เวทนาต่อพิมพา
ช่างไม่มีความเมตตาปรานีต่อพิมพานี้บ้างเลยหรือไร
จะขอโอกาสเจ้าแต่พอเพ่งพักตร์พระราชสวามีให้เต็มเนตรก็มิใคร่จะได้
แกล้งไหลหลั่งพรั่งไปไม่หยุดยั้ง กำบังเสียซึ่งทัศนวิสัยมิให้ได้เชยชมพระอุดมรูป สิริวิลาสถนัดตา
แลพิมพานี้ก็ให้โอกาสแก่เจ้าให้ไหลออกมาสิ้นกาลช้านาน
คณนาได้ถึงเจ็ดแปดปีเศษ ยังไม่พอแก่โศกาดูรเทวษหรือประการใด
นี่น้ำตาเจ้าจะก่อกรรมทำเวรแก่เรานี้ไปถึงไหนหนอ
ไฉนจึงไม่รู้จักเพียงพอเสียทีเล่า เฝ้าหลั่งไหลมิรู้ขาดสายวางวาย
ฉะนี้แล้วพิมพาจะได้มีโอกาสได้ทอดทัศนาพระราชสามีที่จากไปนานได้อย่างไร
ขอน้ำตาเจ้าจงให้โอกาสแก่เราในกาลนี้สักหน่อยเป็นไรหนอ”

สมเด็จพระนางเจ้ามีพระเสาวนีย์ตัดพ้อบริภาษอัสสุธาราดั่งนี้
แล้วก็ค่อยมีสติอดกลั้นเสียซึ่งความโศก ค่อยคลานเข้าไปเฝ้าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า
พระกรกอดเอาข้อพระยุคลบาทซบพระเศียรลง ถวายนมัสการ
พลางทรงพระพิลาปกราบทูลด้วยเนื้อความว่า

“ข้าแต่พระลูกเจ้าบรมราชสวามี โทษของกระหม่อมฉันพิมพานี้
คงจะมีมากถึงขั้นเป็นหญิงกาลกิณีหรือไร
สมเด็จพระลูกเจ้าบรมราชสวามีจึงเสด็จหลีกหนีออกไปบรรพชา
ปล่อยให้พิมพานี้ต้องอาดูรด้วยเสน่หาแต่กาลยังดรุณภาพ
พระองค์มิได้ตรัสบอกให้ทราบแสร้งทรงสละข้าพระบาทไว้ไม่มีพระอาลัย
ดุจก้อนเขฬะในปากพระชิวหาอันถ่มออกจากพระโอษฐ์มิได้โปรดปราน
เสด็จบำราศร้างจากนิวาสสถาน ในยามรัตติกาลออกไปทรงบรรพชา
เบื้องว่าข้าพระบาทพิมพานี้มีโทษหนักแล้วก็แล้วไปเถิด
แต่พระลูกแก้วราหุลราชบวรดนัยเพิ่งประสูติจากพระครรภ์ในวันนั้น
ยังมิได้รู้ผิดชอบประการใด นั่นจะมีโทษสิ่งไรไปด้วยเล่า
พระผ่านเกล้าจึงแกล้งทอดทิ้งไว้ให้ร้างพระปิตุรงค์

อนึ่ง อันตัวพิมพาข้าพระบาทบงกชนี้
เหล่าเนมิตตกาจารย์ผู้ชำนาญรอบรู้ดูลักษณะก็ได้ทำนายทายทักไว้แต่ยังเยาวทาริกาว่า
จะมีบุญญาธิการอภินิหารใหญ่ยิ่งสมควรเป็นมิ่งมเหสีอดุลกษัตริย์จักรพัตราธิราช
แลคำทำนายทายทักนั้นก็เคลื่อนคลาดเพี้ยนผิด
กลับแปรพิปริตไปสิ้นใช้ไม่ได้ อันที่จริงควรจักทำนายว่า
พิมพานี้จะเป็นม่ายได้อัปยศความชอกช้ำระกำใจแต่ยังสาวคราวมีลูก
นั่นแลจึงจะถูกจะต้องเป็นที่สุด ประการหนึ่ง
ศากยราชนารีมีศักดิ์ใหญ่ทรงพระนามว่า กีสาโคตมี
ได้เคยสดุดีสรรเสริญไว้ว่า สตรีใดได้พระลูกเจ้าเป็นพระราชสวามี
สตรีนั้นนับว่ามีบุญกุศลมหาศาล ดับเสียได้ซึ่งหทัยทุกข์เป็นสุขนิตยนิรันดร์
คำสรรเสริญสดุดีนั้นก็ให้มีอันเป็นวิปลาสคลาดเคลื่อนไปอีก
ด้วยว่าพิมพาข้าพระบาทนี้ได้พระลูกเจ้าเป็นพระราชสวามี
บัดนี้ ไม่เห็นจะมีสุขแต่อย่างใด กลับได้แต่ทุกข์อาดูรเทวษบ่มิเว้นวาย”


สมเด็จพระพิมพาเทวีเจ้าบรรยายปริเทวนากถา
โดยนัยดังพรรณนาฉะนี้ แล้วก็กลิ้งเกลือกพระอุตตมางคโมลี
เหนือหลังพระบาทสมเด็จพระจอมมุนี โศกีพิลาปรำพันอยู่หนักหนา

:b45: :b45:

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ต.ค. 2012, 08:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


สมเด็จพระพิมพาสำเร็จมรรคผล

สมเด็จพระเจ้าสิริสุทโธทนะจอมชนแห่งกบิลพัสดุ์บุรี
ทรงเห็นเป็นโอกาสดีเลิศประเสริฐแล้ว
จึงกราบทูลแถลงคุณสมบัติแห่งนางกษัตริย์ศรีสุณิสาแด่สมเด็จพระสัพพัญญูเจ้าว่า

“ข้าแต่พระบรมครูแห่งนิกรสัตวโลก อันเจ้าพิมพาศรีสุณิสาแห่งบิดานี้
จำเดิมแต่วิปโยคพลัดพรากจากพระองค์ ตั้งแต่วันที่เสด็จออก
เพื่อทรงบรรพชากระทำทุกกรกิริยาแสวงหาวิมุตติธรรม
เจ้าจะนั่งนอนเดินยืนอยู่ในที่ใดๆ ก็ไม่มีอารมณ์เป็นสุข
มีแต่ทุกข์เศร้าโศกทุก เพลาเช้าเย็นแลราตรีมิได้ขาด
ยามเมื่อเข้าห้องสิริไสยาสน์เห็นเศวตฉัตรอันกางกั้นรัตนบัลลังก์
ก็ตั้งหน้าแต่ร้องร่ำกำสรดโศกถึงพระองค์มิเว้นวาย
เมื่อได้สดับข่าวว่าทรงนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ก็ปฏิบัตินุ่งห่มผ้า ย้อมน้ำฝาดบ้าง
ทั้งนี้เมื่อแจ้งว่าทรงเว้นจากสุคันธวิเลปนมาลาก็มิได้ลูบไล้กายาด้วยจุณสุคนธ์
มิได้ประดับตนทัดทรงบุปผชาติ เมื่อขัตติยประยูรญาติส่งข่าวสารมาว่า
จะรับไปบำรุงเลี้ยงรักษาปฏิบัติ ก็มิได้เล็งแลดูหมู่กษัตริย์ราชวงศ์องค์ใด
ตั้งใจจงรักภักดีมีสัตย์ซื่อเสน่หาเฉพาะพระองค์ดำรงหฤทัยสุจริต
จะได้คิดแปรปรวนไปแต่ในสิ่งใดอื่นมิได้มีเป็นแท้
แลพิมพาศรีสุณิสาแห่งบิดานี้ เจ้าเป็นหญิงกอบด้วยคุณอดุลประเสริฐเลิศกว่าอเนกนิกรกัญญา
ควรที่จักกล่าวพรรณนาอีกมากมายสุดประมาณ”

เมื่อสมเด็จพระชินสีหเจ้า ได้ทรงเสาวนาการคุณแห่งเจ้าหญิงพิมพา
ที่พระพุทธบิดาพรรณนามาฉะนี้ จึงทรงมีพระพุทธฎีกาดำรัสว่า

“ดูกรมหาบพิตรพระราชสมภาร การที่ว่าเจ้าพิมพาราชเทวี
มีจิตสนิทเสน่หาสวามิภักดิ์ในตถาคต ซึ่งปรากฏมีในกาลบัดนี้นั้น มิสู้จะอัศจรรย์
ในอดีตกาลเมื่อบังเกิดในกำเนิดแห่งสัตว์เดียรฉาน
เจ้าพิมพานี้ก็มีจิตสุจริตเสน่หาในตถาคตมั่นคงบ่มิได้กัมปนาท
ประหนึ่งสิเนรุราชบรรพตปรากฏในสกลโลกธาตุ
บริจาคชีวิตให้เป็นทานแก่ตถาคตเป็นมหัศจรรย์”


สมเด็จพระบรมศาสดาสัพพัญญูเจ้า ดำรัสดั่งนี้แล้ว
ก็ทรงมีพระมหากรุณาเผยพระโอษฐ์โปรดประทานพระสัทธรรม
เทศนาจันทกินรีชาดกโดยพิสดาร เพื่อประหารเสียซึ่งโศกาดูรเทวษแห่งพระพิมพาราชเทวี
ให้ระงับด้วยสิโตทกวารีคือมธุรธรรมกถา

ส่วนว่าสมเด็จพระนางพิมพาราชกัญญาเจ้า
เฝ้าทอดทัศนาการพระพักตร์มณฑลแห่งสมเด็จพระทศพล
พลางสดับอมฤตรสบทพระธรรมอันวิจิตรไพเราะลึกซึ้งเป็นนิรันดร์
ดุจกระแสสายสินธุ์คงคาที่หลั่งไหลมามิรู้ขาด
แล้วพระนางก็ยังประสาทปีติให้บังเกิดในพระกมลสันดาน
ด้วยจินตนาการว่าเคยได้สร้างบารมีมากับพระองค์แต่อดีตภพ
ก็รำงับเสียซึ่งความโศกให้สงบด้วยปีติปราโมทย์

ในไม่ช้า พระนางก็สามารถยังวิปัสสนาญาณให้บังเกิดขึ้นในขันธสันดานโดยลำดับ
จนได้บรรลุพระโสดาปัตติมรรคญาณ ประหารเสียซึ่งกองกิเลสโทษสังโยชน์ทั้ง ๓
คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาสให้อันตรธาน
ประดิษฐานอยู่ในพระโสดาปัตติผลญาณ อันเป็นปฏิปัสสัทธิวิมุตติที่ ๑ ในพระพุทธศาสนา
สำเร็จ เป็นพระโสดาบันอริยบุคคลแต่เวลานั้น


สมเด็จพระสรรเพชญภควันตมุนีนาถ ครั้นทรงทราบอย่างแจ่มชัดว่า
เจ้าพิมพาราชเทวีได้ดื่มอมตธรรมสำเร็จเป็นพระอริยบุคคล
มีจิตไม่จลาจลหวั่นไหวในคุณแห่งพระศรีรัตนตรัยแล้ว
องค์พระประทีปแก้วก็เสด็จพระพุทธลีลา
พร้อมกับคู่พระอัครสาวกคืนสู่พระนิโครธาราม
เพื่อทรงบำเพ็ญพุทธกิจโปรดพระยูรญาติศากยวงศ์ในกรุงกบิลพัสดุ์ต่อไป

ในขณะที่สมเด็จพระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญพุทธกิจ
เป็นญาตัตถจริยาโปรดพระญาติอยู่นั้น
กาลวันหนึ่ง จึงเจ้าพิมพาราชเทวี ประดับตกแต่งองค์พระราหุลราชกุมาร
ให้ทรงเครื่องปิลันธนาการแล้ว ส่งไปสู่สำนักสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า
โดยพระเสาวนีย์ว่า

“ดูกรพ่อราหุลบวรดนัย หากพ่อต้องการเป็นใหญ่ในกาลภายหน้า
พ่อจงเข้าไปหาพระมหาสมณะผู้มีศักดิ์ใหญ่
ทรงไว้ซึ่งพระฉวีวรรณอันรุ่งเรืองและพระสิริรูป งดงามดุจท้าวมหาพรหม
ซึ่งแวดล้อมด้วยพระอริยสงฆ์สองหมื่นเป็นบริวาร พระมหาสมณศาสดาจารย์
พระองค์นั้นคือสมเด็จพระปิตุเรศของพ่อ
พระองค์ทรงมีพระสุวรรณนิธิเป็นอันมาก ตั้งแต่เสด็จออกจากพระนครไปบรรพชา
มารดานี้มิได้ทัศนาการเห็นสุวรรณนิธิขุมทองนั้นอีกเลย
พ่อจงรีบไปทูลขอขุมทองอันเป็นของพระราชทรัพย์สำหรับบุญแห่งพระบิดา
จงทูลว่าถ้าข้าพระบาทได้ราชาภิเษกเสวยมไหศวริยสมบัติ จะได้เป็นบรมจักรพัตราธิราช
ข้าพระบาทมีความต้องการด้วยทรัพย์สำหรับขัตติยตระกูลวงศ์
ธรรมดาว่าสมบัติของพระปิตุรงค์ก็คงเป็นสมบัติของโอรสตามโบราณราชประเพณีสืบมา
ขอพระองค์จงทรงพระกรุณาโปรดประทานสุวรรณนิธินั้นด้วยเถิด” ดังนี้

สมเด็จเจ้าฟ้าราหุลราชกุมาร รับพระเสาวณีย์แห่งพระมารดาแล้ว
ก็เข้าไปเฝ้าสมเด็จพระบรมศาสดา ถวายวันทนาการพลางเล็งแลดูองค์พระสัพพัญญูผู้เป็นปิตุรงค์
โดยเหตุที่องค์พระกุมารเคยทรงสร้างพระสาวกบารมีญาณมานาน
จนพระอรหัตคุณแก่กล้ารุ่งเรืองอยู่ในขันธสันดาน
ดังนั้น จึงทรงมีพระทัยผูกพันบังเกิดความรักในพระบิดา ทรงพระปราโมทย์โสมนัส
ตรัสตามประสากุมารว่า สมณฉายานี้ เป็นที่สถาพรสุขสำราญอย่างยิ่ง
แล้วก็ตรัสสิ่งอื่นๆและทูลขอสุวรรณนิธิตามที่พระราชชนนีสอนไว้

รูปภาพ

สมเด็จพระจอมไตรโลกนาถ ทรงอาวัชนาการ
เห็นแจ้งประจักษ์เหตุทั้งหลายด้วยพระสัพพัญญุตญาณ แล้ว
จึงทรงมีพระพุทธจินตนาการว่า เจ้าราหุลราชโอรสปรารถนาทายัชทรัพย์
อันเป็นของเราตถาคตผู้บิดา
กาลบัดนี้ หากว่าตถาคตจะให้สุวรรณนิธิขุมทอง
ก็จะเป็นเหตุให้เจ้าราหุลต้องเวียนว่ายไปในกระแสสังสารวัฏไม่มีวันสิ้นสุดได้

ถ้ากระไรตถาคตควรจักให้ทายัชทรัพย์อันประเสริฐ
กล่าวคืออริยทรัพย์ในพระศาสนาเถิด จึงจะเกิดประโยชน์โสตถิผลมหาศาล
ควรที่ตถาคตจะทำเจ้าราหุลกุมารบวรดนัยนี้
ให้สถิตที่ตำแหน่งใหญ่ได้เป็นเจ้าของโลกุตรทายาท
สืบสกุลพระพุทธวงศ์ประเวณี ย่อมจักเป็นการดีประเสริฐกว่าทายาทโลกิยสมบัติ
อันเป็นเครื่องติดขัดอยู่ในสังสารวัฏ

แล้วจึงตรัสเรียก พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรมา
ดำรัสสั่งให้จัดการบรรพชาเจ้าราหุลกุมารนั้นให้สำเร็จเพศเป็นสามเณร
ทรงศีลสิกขาเสียแต่เวลานั้น กาลต่อมาก็ปรากฏว่า
พระราหุลพุทธปิโยรสนี้ ท่านได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
ที่ทรงคุณวิเศษสำคัญรูปหนึ่งในพระบวรพุทธศาสนา


:b48: :b48:

หลังจากทรงบำเพ็ญพุทธกิจ โปรดพระยูรญาติกรุงกบิลพัสดุ์
ให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน อันเป็นธรรมวิเศษตามสมควรแก่วาสนาบารมีแล้ว
สมเด็จพระประทีปแก้วก็เสด็จจาริกไปยังคามนิคมชนบทราชธานีน้อยใหญ่
เพื่อแสดงพระสัทธรรมเทศนาโปรดเวไนยสัตว์
ประกาศพระพุทธศาสนาให้สถิตสถาพรในมนุษยโลกนี้
จนมาถึงสาวัตถีมหานคร สถิตอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร
พร้อมกับพระอริยสงฆ์องค์บริวารทั้งหลาย

ฝ่ายข้างกรุงกบิลพัสดุ์ราชธานี กาลเมื่อสมเด็จพระนฤบดีสิริสุทโธทนะผู้พุทธบิดา
ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์มหาขีณาสวเจ้าดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพาน
อันเป็นนิสสรณวิมุตติไปทั้งที่ยังทรงเพศเป็นคฤหัสถ์แล้ว
และกาลเมื่อนางแก้วพระมหาประชาบดีเสด็จออกบรรพชาเป็นภิกษุณีในพระพุทธศาสนา
โดยพระบรมพุทธานุญาตแล้ว บรรดาอำมาตย์ราชปุโรหิตาจารย์ประจำเมือง
จึงประชุมปรึกษากันว่า ธรรมดาพระนครขาดกษัตริย์ ราชสมบัติก็จะตั้งมั่นอยู่มิได้
แล้วจึงเห็นพ้องต้องกันให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษก
ยกเจ้ามหานามศากยราช ซึ่งเป็นเชฏฐโอรสแห่งสมเด็จพระอมิโตทนราชอนุชา
แห่งสมเด็จพระสิริสุทโธทนะพุทธบิดาขึ้นเสวยมไหศวริยสมบัติสืบสันตติวงศ์
ดำรงพิภพกรุงกบิลพัสดุ์บุรี โดยโบราณขัตติยราชประเพณีสืบไป

กลับมากล่าวถึงสมเด็จพระนางพิมพาราชเทวี
ซึ่งทรงคุณวิเศษในพระพุทธศาสนาเป็นพระโสดาบันอริยบุคคล
และทรงเป็นพระราชชนนี ของพระราหุลอรหันต์
วันหนึ่งพระนางเจ้าทรงจินตนาการรำพึงว่า

“ธรรมดาราชสมบัติขัตติยสุขในสกลปฐพี
ย่อมมีแต่จะถึงซึ่งความหวั่นไหวแปรปรวนไป มิได้เที่ยงว่าผู้ใดจะเป็นเจ้าของ
ครุวนาดุจยางขมิ้นย่อมจะพลันสิ้นสีมิได้ติดอยู่นาน
อันราชสมบัติกรุงกบิลพัสดุ์นี้เป็นของพระราชสวามีที่รักแห่งพิมพา
ในระยะเวลาที่ยังดำรงชีวา เห็นๆอยู่ ก็ยังตกเป็นของท่านผู้อื่นได้

ด้วยว่าสมเด็จพระภัสดาแห่งพิมพานี้ มิได้ทรงมีความอาลัยเอื้อเฟื้อ
ทรงสละเสียดุจก้อนเขฬะ เสด็จออกบรรพชาเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พึ่งแห่งเหล่าประชาสัตว์
ทั้งทรงชักนำให้เจ้าราหุลบวรดนัยได้บรรพชาสำเร็จเป็นพระอรหันต์ทรงคุณใหญ่
เมื่อเป็นเช่นนี้ จะมีประโยชน์อะไรแก่พิมพาต่อการที่จะอยู่ในฆราวาสวิสัย
ควรที่พิมพานี้จะสละสมบัติออกบรรพชาเป็นพระภิกษุณี
ตามเสด็จพระภัสดาแลเจ้าราหุลอรหันต์ จึงจะเป็นการดีเลิศประเสริฐนัก”


ทรงจินตนาการเห็นคุณแห่งบรรพชาฉะนี้
สมเด็จพระนางเจ้าพิมพาราชเทวีจึงเสด็จบทจรลีลา
ไปสู่ที่เฝ้าแห่งพระราชาธิบดีกรุงกบิลพัสดุ์บุรีพระองค์ใหม่
ถวายบังคมลาสมเด็จพระเจ้ามหานามราชาธิบดี
แล้วก็พานางศักยราชนารี กับทั้งอเนกสุรางคนิกรบริวาร
เสด็จคมนาการออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ไปสู่เมืองสาวัตถี
ครั้นถึงจึงถวายอัญชลีสมเด็จพระชินสีหสัมมาสัมพุทธเจ้าทูลขอบรรพชา
ก็ทรงพระกรุณาโปรดประทานภิกษุณีอุปสมบทกรรมด้วยอัฏฐครุธรรมแปดประการ
พร้อม กับนารีที่เป็นบริวารสมตามความปรารถนา

รูปภาพ

กาลต่อมาปรากฏว่า
สมเด็จพระนางเจ้าพิมพาภิกษุณีเธอตั้งใจเจริญวิปัสสนากรรมฐาน
ยังพระวิปัสสนาญาณให้วัฒนาการจำเริญขึ้นโดยลำดับ
จนกระทั่งได้บรรลุพระอรหัตผลญาณ
อันเป็นปฏิปัสสัทธิวิมุตติชั้นสูงสุดในพระพุทธศาสนา
สำเร็จเป็นพระอรหันตมหาขีณาสวเจ้า
ทรงไว้ซึ่งคุณวิเศษคือ ฌานอภิญญาและพระปฏิสัมภิทาญาณ

:b39: :b39:

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ต.ค. 2012, 08:28 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


สมเด็จพระพิมพาทูลลานิพพาน

รูปภาพ

ครั้นสมเด็จพระพิมพาภิกษุณี ได้สำเร็จเป็นพระอรหันตมหาขีณาสวเจ้า
ทรงคุณวิเศษในพระพุทธศาสนาขั้นสูงสุด เสวยวิมุตติธรรมอยู่พอควรแก่กาลแล้ว
วันหนึ่ง พระเถรีมีจิตผ่องแผ้วอธิษฐานเข้าฌานสมาบัติเป็นผาสุกวิหาร
ออกจากฌานแล้วจึงอาวัชนาการพิจารณาดูอายุสังขารแห่งตน
ก็เห็นแจ้งประจักษ์ชัดด้วยอำนาจญาณวิเศษว่า
อายุสังขารนั้นจะพลันสิ้นเสียแล้ว จึงอุฏฐาการลุกขึ้นโดยพลัน
ชวนพระภิกษุณีที่เป็นบริวาร คมนาการไปสู่สำนักสมเด็จพระจอมจักรสัมมาสัมพุทธเจ้า
ประณตน้อมถวายวันทาด้วยเบญจางคประดิษฐ์
สถิตนั่งอยู่ ณ ที่อันควรส่วนข้างหนึ่ง
แล้วทอดพระเนตรเล็งแลดูพระพักตร์มณฑลแห่งองค์สมเด็จพระบรมทศพล
ซึ่งงามพร้อมด้วยพระพุทธลักษณา ปานประหนึ่งว่าปริมณฑลแห่งพระจันทร์อันงามยิ่ง
เฝ้าเล็งแลดูนิ่งนานเป็นที่ผิดสังเกตไม่เหมือนทุกวันแต่กาลก่อน

สมเด็จพระชินวรสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ผู้ทรงไว้ซึ่งสัพพัญญุตญาณ
ทรงทัศนาเห็นพระพิมพาภิกษุณีอรหันต์มีอาการผิดแปลกเช่นนั้น
ก็ทรงพิจารณาเห็นอย่างแจ่มแจ้งในญาณแห่งพระสัพพัญญูว่า
พระพิมพาภิกษุณีนี้ ถึงกาลสิ้นชนมายุสังขาร
จะมาลาตถาคตดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพานในกาลวันนี้


ควรที่ตถาคตจักสำแดงปฏิหาริย์ให้ปรากฏแก่เจ้าพิมพาในวาระสุดท้ายนี้โดยยิ่ง
สมเด็จพระมิ่งมงกุฎบรมศาสดาทรงอาวัชนาการฉะนี้แล้ว
ก็ทรงเปล่งพระรัศมีแห่งพระวรกายให้เป็นไปโดยงดงามหลายสิ่งหลายอย่าง
อาทิ บางรัศมีที่ปรากฏออกจากพระวรกายในขณะนั้น ปรากฏดุจรัศมีแห่งพระอาทิตย์เมื่อแรกอุทัย
บางรัศมีปรากฏดุจสายรุ้งและดอกอุบลแดง มีพรรณรายเลื่อมระยับแสง
แล่นวนเวียนห้อมล้อมพระองค์แลดูรุ่งเรืองโอภาสงดงามสุดประมาณ

สมเด็จพระพิมพาเถรีอรหันต์ ทอดทัศนาพระวรกายแห่งสมเด็จพระไตรโลกนาถ
ซึ่งโอภาสรุ่งเรืองไปด้วยพระรัศมีงามต่างๆ ดั่งนั้น ก็พลันบังเกิดธรรมสังเวชในพระทัย
แล้วจึงตัดสินใจกราบทูลพระกรุณาขึ้นว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระภาคอันงามและประดับไปด้วยพระรัศมี
พระองค์ได้ทรงพระอุตสาหะสั่งสมอบรมพระพุทธบารมี
มาแต่อดีตชาติหลายอสงไขยโน้นก็ดี
พระองค์ก็ได้ทรงเป็นสวามีแห่งพิมพาข้าพระบาทนี้นับพระชาติไม่ถ้วนตลอดมา
ตราบเท่าได้ตรัสแก่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณในกาลบัดนี้ก็ดี

ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระพุทธบารมี จำเดิมแต่นี้ไป
อันตัวพิมพาข้าพระบาทนี้ จักมีโอกาสได้ทอดทัศนาพระองค์
ผู้เคยทรงเป็นพระภัสดาก็หามิได้อีกแล้ว
จะได้วิสาสะคุ้นเคยร่วมทุกข์ร่วมสุขกับพระองค์อีกเหมือนกาลก่อนนั้นก็หามิได้อีกแล้ว
ขอพระองค์จงทรงพระกรุณารับทราบไว้เถิดว่า
พิมพาข้าพระบาทนี้ จะมีโอกาสได้เห็นพระรูปโฉมพระสิริวิลาสเสาวภาคลักษณะของพระองค์
ก็คงครั้งนี้เป็นปัจฉิมที่สุดแล้ว
จะได้ถวายนมัสการยินดีต่อองค์พระประทีปแก้ว ก็คงครั้งนี้เป็นปัจฉิมที่สุดอยู่แล้ว
จะได้ กระทำสัจจะคารวะพระองค์ผู้เคยทรงเป็นสวามีสุดที่รัก ก็คงจักครั้งนี้เป็นปัจฉิมที่สุด
ด้วยว่าข้าพระบาทพิมพามีวาสนาสิ้นสุด
จักขอพระบรมพุทธานุญาตทูลลาดับขันธ์เข้าสู่นิพพาน
เพราะสิ้นชนมายุสังขารในวันนี้แล้ว พระเจ้าข้า”


ได้ทรงสดับคำกราบบังคมลาเข้าสู่นิพพานของสมเด็จพระนางพิมพาภิกษุณี
ซึ่งเคยเป็นคู่สร้างพระบารมีฉะนี้ สมเด็จพระชินสีหพุทธเจ้าก็ทรงบังเกิดธรรมสังเวช
ในความเป็นไปแห่งอายุสังขาร จึงได้ประทานอนุญาตด้วยพระพุทธฎีกาว่า

“ดูกรเจ้าพิมพาที่เคยมีคุณแก่ตถาคตเอ๋ย หากเจ้ากำหนดกาลอันควรแล้ว
ก็จงเคลื่อนแคล้วดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพานอันเป็นอมตสุขไป
ตามอัธยาศัยของเจ้าเถิด เราตถาคตอนุญาต”


เมื่อได้รับพระบรมพุทธานุญาตด้วยพระพุทธฎีกาดั่งนี้
พระพิมพาภิกษุณีเถรีเจ้าที่จะเข้าสู่นิพพาน
ก็นิสัชนาการนิ่งนึกตรึกตรองอยู่ครู่หนึ่ง แล้วกราบบังคมทูลขึ้นว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระภาคอันงาม กาลเมื่อพระองค์ทรงสร้างพระพุทธบารมีเพื่อพระโพธิญาณ
ท่องเที่ยวอยู่ในกระแสวัฏสงสารกับพิมพาข้าพระบาทนี้ด้วยกันมา
ตั้งแต่ครั้งศาสนาสมเด็จทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า จนตราบเท่าจวบถึงกาลปัจฉิมชาตินี้
จะได้ขาดไมตรีจิตวิสาสะคุ้นเคยกันนั้นก็หาไม่
พระองค์เสวยพระชาติเป็นอะไร พิมพาข้าพระบาทนี้ก็เสวยชาติเป็นเช่นนั้นด้วย
เป็นอย่างนี้เกือบทุกชาติมา ในกาลครั้งนี้แล
พิมพาข้าพระบาทจักขาดจากไมตรีวิสาสะคุ้นเคยกันกับสมเด็จพระองค์เจ้า
ด้วยว่า วันนี้เข้าถึงวันอุโบสถเพ็ญเดือน ๔ ข้าพระบาทที่ชื่อว่าพิมพาเถรีภิกษุณี
จะขอถวายนมัสการฝ่าพระบาทยุคลทั้งคู่ของ
สมเด็จพระสรรเพชญพุทธสัพพัญญูเจ้าเข้าสู่ปรินิพพานแล้ว

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเป็นการสมควรที่พิมพาข้าพระบาท
จักขอถือโอกาสขมาโทษานุโทษต่อพระองค์เสียในครั้งนี้
เพราะสืบไปเบื้องหน้าจะได้มีโอกาสกราบทูลพระกรุณาขอขมาโทษานุโทษก็หาไม่อีกแล้ว
ขอองค์สมเด็จพระประทีปแก้ว จงทรงพระกรุณารับขอขมาโทษ
อันพิมพาข้าพระบาทนี้ ได้เคยมีความผิดต่อพระองค์มาแต่ปุพพชาติที่แล้วมาด้วยเถิด พระเจ้าข้า”


กราบบังคมทูลเพื่อให้ทรงรับคำขอขมาโทษฉะนี้แล้ว
สมเด็จพระพิมพาภิกษุณีอรหันต์ทรงฌานอภิญญาแก่กล้า
ก็รำลึกถึงชาติหนหลังด้วยพระปุพเพนิวาสานุสติญาณ
นำมากราบทูลพระกรุณาองค์สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์
ประมาณได้หลายภพหลายชาติหนักหนาโดยมีใจความเป็นตัวอย่างบางภพบางชาติ
ซึ่งเป็นอดีตประวัติที่ออกมาจากพระโอษฐ์องค์สมเด็จพระพิมพาเถรี ดังต่อไปนี้


รูปภาพ

อติทุกขกุมารี

ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐเป็นพระบรมโลกนายก
ในอดีตชาติล่วงมาแต่หนหลัง ครั้งศาสนาพระพรหมเทวสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น
พระองค์ผู้ทรงเป็นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเกิดในตระกูลทุคตะเข็ญใจ
มีนามว่า อติทุกขมาณพ ข้าพระบาทที่ชื่อว่าพิมพานี้ ก็ได้เกิดเป็นนางกุมารี
ผูกสมัครรักใคร่เป็นสามีภรรยากัน อาศัยอยู่ในชนบทแห่งหนึ่งตามประสายาก

กาลวันหนึ่ง อติทุกขมาณพเข้าไปสู่ป่า ปรารถนาเพื่อจะตัดฟืนมาขาย
ได้ไปพบพระอัครสาวกแห่งพระพรหมเทวสัมมาสัมพุทธเจ้า
กำลังนั่งเข้านิโรธสมาบัติอยู่ ณ ภายใต้ต้นไม้แห่งหนึ่ง
จึงบังเกิดโสมนัสยินดียิ่งหนักหนา รีบกลับบ้านร้องเรียกข้าพระบาทซึ่งเป็นภรรยามา
ปรึกษาพร้อมใจกันแล้ว ก็นำพิมพาข้าพระบาทไปขายฝากไว้
ได้ทรัพย์มาแล้วจึงซื้อไม้และเสาทั้งอุปกรณ์อื่นๆไปปลูกสร้างเป็นกุฎี
ถวายแก่พระอัครสาวกอรหันต์ผู้ทรงคุณวิเศษนั้น
นิมนต์ให้ขึ้นครองกุฎีที่สร้างใหม่ ด้วยน้ำใจเลื่อมใสศรัทธา

เดชะผลานิสงส์แห่งการถวายกุฎีทาน
แด่พระอัครสาวกทรงคุณวิเศษของสมเด็จพระพุทธเจ้าในกาลครั้งนั้น
อันเป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรมฝ่ายกุศลแรงกล้า
จึงบันดาลให้อติทุกขมาณพประสบโชคร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐีขึ้น

ต่อกาลไม่นานช้า ฝ่ายข้าพระบาทพิมพาซึ่งเป็นภรรยา
ก็ดีอกดีใจตั้งตนเป็นใหญ่ในสมบัติเศรษฐีนั้น
คราใดเกิดโมหันธ์ไม่พอใจท่านเศรษฐีใหม่ขึ้นมาก็กล่าวคำหยาบช้าว่า
ปราสาทเศรษฐีก็ดี ทรัพย์สมบัติอื่นใดก็ดี จะบังเกิดมีขึ้นได้ก็เพราะบุญของข้า
เหตุว่านำข้าไปขายจึงได้ทรัพย์มาทำกุฎีถวายแก่พระอัครสาวกจนได้เป็นเศรษฐี

ข้าแต่พระองค์ผู้เคยทรงเป็นสวามี โทษผิดแห่งพิมพาข้าพระบาทนี้
หากจักพึงมีในชาตินั้น โดยการกระทำตัวเป็นใหญ่
ทำมายากล่าวถ้อยคำหยาบช้าอันมิควรแล้วไซร้
ขอองค์สมเด็จพระจอมไตรโลกนาถ
จงทรงพระกรุณาอดโทษทั้งปวงให้แก่ข้าพระบาทชื่อว่า พิมพา
ซึ่งจะดับขันธ์เข้าสู่นิพพานในกาลวันนี้เสียเถิด พระเจ้าข้า

:b43: :b43:

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ต.ค. 2012, 08:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


พระนางนันทาเทวี

รูปภาพ

ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นที่พึ่งแห่งสัตวโลกทั้งหลาย ในอดีตชาติล่วงแล้วแต่หนหลัง
ครั้งศาสนาพระพรหมเทวสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกเช่นนั้น
กาลครั้งนั้นพระองค์ผู้ทรงเป็นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นสมเด็จพระราชาธิบดี
ทรงพระนามว่าพระเจ้านันทราช ส่วนตัวพิมพาข้าพระบาทนี้
ได้เป็นอัครมเหสีแห่งพระเจ้านันทราชนั้นโดยมีนามปรากฏว่า พระนางนันทาเทวี

กาลวันหนึ่ง สมเด็จพระเจ้านันทราชบรมกษัตริย์ทรงว่างราชกิจ
จึงเสด็จพระราชดำเนินไปชมสวนอุทยาน
พร้อมทั้งพระอัครมเหสีแลเสนีรี้พลพหลโยธาเป็นอันมาก
ครั้งนั้นพระนางนันทาเทวีอัครมเหสี
ได้ทอดพระเนตรเห็นดอกรังงามตระการเป็นที่เจริญตาเจริญใจ
น้ำพระทัยนางปรารถนาจะใคร่ได้ดอกรังมาเชยชม

ขณะนั้นหมู่อำมาตย์ราชเสนาซึ่งตามเสด็จไปก็มีอยู่เป็นอันมาก
แต่นางพระยาเจ้าจะได้มีเสาวนีย์รับสั่งใช้ผู้ใดผู้หนึ่งก็หามิได้
กลับมีพระทัยเจาะจงกราบทูลพระราชสวามีขึ้นว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐขอพระองค์จงได้ทรงพระกรุณาเถิด
คือ ขอพระองค์จงเสด็จขึ้นไปสู่ต้นรัง เลือกเก็บเอาดอกรังเฉพาะที่งามๆ
ลงมาพระราชทานให้แก่กระหม่อมฉันได้ชมเล่นในกาลบัดนี้

โดยเหตุที่สมเด็จพระราชาธิบดีทรงมีความเสน่หารักใคร่ในพระอัครมเหสีนั้นหนักหนา
เมื่อได้ทรงเสาวนาการนางพระยาเจ้าใช้ให้เสด็จขึ้นไปเอาดอกรังมาด้วยพระองค์เองดังนั้น
ก็มิได้รอช้า ทรงรีบป่ายปีนขึ้นไปบนต้นรังเลือกเก็บดอกเฉพาะที่งามๆ ได้เป็นอันมากแล้ว
ก็เสด็จลงมาพระราชทานให้แก่พระอัครมเหสีตามความปรารถนา
นางพระยานันทาเทวีเจ้า เมื่อได้ดอกรังที่พระราชสวามีประทานให้ก็ดีพระทัยยิ่งหนักหนา
นางจึงร้อยเป็นมาลาแล้วปักที่พระเกศาและประดับประดาพระวรกาย
ด้วยโสมนัสยินดีตามวิสัยสตรี

ข้าแต่พระองค์ผู้เคยทรงเป็นสวามีโทษผิดแห่งพิมพาข้าพระบาทนี้
หากจักพึงมีในชาตินั้น โดยใช้ให้เสด็จขึ้นไปนำเอาดอกรังมาประทาน
ซึ่งเป็นการลำบากแก่พระองค์แล้วไซร้
ขอองค์สมเด็จพระจอมไตรโลกนาถ จงทรงพระกรุณาอดโทษให้แก่ข้าพระบาทชื่อว่าพิมพา
ซึ่งจักขอถวายบังคมลาเข้าสู่นิพพานในวันนี้เสียเถิด พระเจ้าข้า


:b48: :b48:

นาคีกุมารี

รูปภาพ

ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นที่พึ่งแห่งสัตวโลกทั้งหลาย ในอดีตชาติล่วงแล้วแต่หนหลัง
ครั้งศาสนาพระสยัมภูสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น
พระองค์ผู้ทรงเป็นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นดาบสฤๅษีทรงมีฌานอภิญญา
ส่วนตัวพิมพาข้าพระบาทนี้ เกิดเป็นหญิงสาวชาวบ้านใกล้ป่านามว่า นาคีกุมารี

กาลวันหนึ่ง พระองค์ผู้ทรงเป็นฤๅษีนั้น
มีความประสงค์จะอบรมฌานให้แก่กล้า จึงเข้าฌานอธิษฐานอภิญญา
แล้วเหาะมาโดยนภาดลเวหา ส่วนนางนาคีกุมารีออกจากบ้านเที่ยวเก็บผักหักฟืนอยู่ในป่า
พลาง และร้องรำทำเพลงไปพลางตามประสาของนาง ซึ่งยังเป็นสาวแรกรุ่นดรุณี

เมื่อพระฤๅษีเหาะมาตรงสถานที่นั้น ได้สดับเสียงแห่งนางกุมารีร้องเพลง
กำหนดว่าเป็นเสียงไพเราะจับใจ ให้บังเกิดความรักใคร่ยินดีในเสียงสตรี
ฌานที่ได้ก็พลันเสื่อมทันที ทำให้พระฤๅษีตกลงมายังพื้นพสุธา
จำเพาะต่อหน้านางนาคีกุมารีเจ้าของคีตลีลา
ครั้นได้ทอดทัศนารูปโฉมนางดรุณีจนทั่วสรรพางคกาย
หฤทัยของพระฤๅษีก็ยิ่งกำเริบรักนางขึ้นอีกเป็นทับทวี
ดำริว่าเพราะเหตุด้วยสตรีคนนี้ อาตมาจึงเสื่อมจากฌานที่ได้โดยยาก
ถ้ากระไร อาตมาจะผูกสมัครรักใคร่เป็น สามีภรรยากันกับสตรีนี้เถิด
ดำริฉะนี้แล้วก็เอ่ยวจีขอผูกพันเป็นกามสันถวะจนได้เป็นสามีภรรยากันในชาตินั้น

ข้าแต่พระองค์ผู้เคยทรงเป็นสวามี โทษผิดแห่งพิมพาข้าพระบาทนี้
หากจักพึงมีในชาตินั้น โดยการทำลายพระองค์ผู้ทรงเป็นฤๅษีให้เสื่อมจากฌานสมาบัติแล้วไซร้
ขอองค์สมเด็จพระจอมไตรโลกนาถ
จงทรงพระกรุณาอดโทษให้แก่ข้าพระบาทชื่อว่า พิมพา
ซึ่งจักขอถวายบังคมลาเข้าสู่นิพพานในวันนี้เสียเถิด พระเจ้าข้า

:b53: :b53:

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ต.ค. 2012, 08:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


นางพญาปลาดุก

รูปภาพ

ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นที่พึ่งแห่งสัตวโลกทั้งหลาย ในอดีตชาติล่วงแล้วแต่หนหลัง
ครั้งศาสนาสมเด็จพระสุมนสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น
พระองค์ผู้ทรงเป็นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญาปลาดุก
ฝ่ายตัวพิมพาข้าพระบาทนี้เกิดเป็นปลาดุกตัวเมีย
ได้สมัครรักใคร่ผูกพันเป็นสามีภรรยากัน อาศัยอยู่ในท้องนทีแห่งหนึ่ง
เป็นสุขอยู่ตามประสาสัตว์เดียรฉาน

กาลวันหนึ่ง เป็นเทศกาลวสันตฤดู เมื่อฝนตกใหญ่ท้องนทีเอ่อนองท่วมท้นไปด้วยอุทกวารี
นางพญาปลาดุกก็ถึงคราวมีครรภ์ ให้มีอันเป็นอยากจะกินซึ่งหญ้าอ่อนเขียวขจีเพิ่งระบัดใหม่ๆ
พญาปลาดุกผู้เป็นสามีรู้อัธยาศัย ด้วยความรักใคร่ในภรรยา
ก็อุตส่าห์ไปเที่ยว แสวงหาพยายามแหวกว่ายอุทกวารีไปในที่ต่างๆ
เพื่อจะนำเอาหญ้าอ่อนมาให้นางพญาปลาดุกที่ทรงครรภ์ดั้นด้นมาจนถึงแดนมนุษย์

พวกเด็กโคบาลทั้งหลายเห็นปลาดุกตัวใหญ่ก็ดีใจใคร่จะได้เป็นอาหาร
จึงชวนกันไล่ตีด้วยไม้ปะฏัก ตีถูกหางพญาปลาดุกนั้นจนขาดเป็นบาดแผล
โลหิตไหลได้รับทุกขเวทนาแสนสาหัส ถึงกระนั้น ก็สู้อดกลั้นคาบหญ้าอ่อน
รีบแหวกว่ายอุทกวารีหนีมาส่งให้ภรรยาจนได้

นางพญาปลาดุกกินหญ้าอ่อนสมความปรารถนาก็ดีเนื้อดีใจ
ส่วนพญาปลาดุกเมื่อส่งหญ้า อ่อนให้แก่ภรรยา
แล้วก็เฝ้าแลดูหน้านางปลาด้วยนัยนาที่เศร้าโศกา
เต็มไปด้วยทุกขเวทนาเจ็บปวดเพราะบาดแผลที่หางนั้นเป็นที่ยิ่ง

เมื่อเห็นนางปลากินหญ้าอ่อนเสร็จสิ้นสมปรารถนาแล้ว
จึงหันหางไปไว้ตรงหน้านางปลา ประดุจดังจะชี้ให้ภรรยาดูบาดแผลที่หาง
แล้วก็ถึงแก่วิสัญญีภาพ นางพญาปลาดุกเห็นสามีต้องอันตราย
โลหิตไหลออกมาจากหางมิได้ขาดสาย จนถึงแก่วิสัญญีภาพไปเพราะตนเป็นเหตุเช่นนั้น
ก็พลันบังเกิดความเสียใจ ร่ำไห้รำพันอยู่ด้วยความสงสารสามีนั้นยิ่งนักหนา

ข้าแต่พระองค์ผู้เคยทรงเป็นสวามีโทษผิดแห่งพิมพาข้าพระบาทนี้
หากจักพึงมีในชาตินั้น โดยทำความลำบากยากเย็นเป็นสาหัสให้เกิดขึ้นกับพระองค์
เพียงประสงค์จะได้กินซึ่งหญ้าอ่อนระบัดใบ ในขณะทรงครรภ์แล้วไซร้
ขอองค์สมเด็จพระจอมไตรโลกนาถจงทรงพระกรุณาอดโทษให้แก่ข้าพระบาทชื่อว่าพิมพา
ซึ่งจักขอถวายบังคมลาเข้าสู่นิพพานในวันนี้เสียเถิด พระเจ้าข้า


:b48: :b48:

อนิมิตตาเศรษฐีนี

รูปภาพ

ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นที่พึ่งแห่งสัตวโลกทั้งหลาย ในอดีตชาติล่วงแล้วแต่หนหลัง
ครั้งศาสนาสมเด็จพระนารทสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น
พระองค์ผู้ทรงเป็นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นชฎิลเศรษฐีมีทรัพย์สมบัติมหาศาล
แม้พิมพาข้าพระบาทนี้ก็ได้เป็นภรรยาของเศรษฐีนั้นนามว่า อนิมิตตาเศรษฐีนี
ครองฆราวาสสมบัติเป็นสุขอยู่ทุกทิวาราตรี

กาลวันหนึ่ง ชฎิลเศรษฐีสามีเกิดปัญญาพิจารณาเห็นว่าความสุขในฆราวาสวิสัย
เป็นความสุขไม่เที่ยงแท้แน่นอน ปรารถนาความสุขชั่วนิรันดร์
จึงออกไปบวชเป็นดาบสประพฤติพรตพรหมจรรย์
บำเพ็ญสมถกรรมฐานอยู่ในอรัญ

นางอนิมิตตาภรรยาอุตส่าห์เดินทางติดตามไป ครั้นได้เห็นสามีบวชเป็นดาบสแล้ว
ก็มีจิตผ่องแผ้วโสมนัสอนุโมทนา ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ก็อุตส่าห์ปฏิบัติรับใช้
นำเอาอาหารทูนเหนือศีรษะออกไปถวายแก่พระดาบสผู้สามี
มิให้ต้องลำบากด้วยปัจจัย ๔ แต่ประการใด
โดยตั้งใจจะสนับสนุนเกื้อกูลให้ท่านดาบส รีบเร่งบำเพ็ญให้สำเร็จโดยไว

สมัยนั้น ยังมีนางกินรีตนหนึ่ง เกิดความเลื่อมใสในองค์ดาบส
จึงมาสู่อาศรมเพื่อประสงค์จะถวายนมัสการซึ่งบาทแห่งดาบสผู้ทรงพรตพรหมจรรย์
ก็บังเอิญเป็นเวลาที่นางอนิมิตตาเศรษฐีนีซึ่งเป็นโยมอุปัฏฐาก
นำเอาอาหารทูนเหนือศีรษะมา เห็นนางกินรีนั่งอยู่ในกุฎี
จึงเกิดความเข้าใจผิดกล่าวต่อว่าดาบสด้วยความโกรธและน้อยใจว่า

“ข้าแต่ท่านดาบส แต่เดิมทีสิ ท่านเห็นโทษในฆราวาสวิสัย
จึงได้หนีออกจากเคหา ทิ้งข้ามาบวชอยู่ในป่า
ข้านี่หรือก็มาสำคัญว่า ท่านบวชจริง จึงอุตส่าห์นำอาหารออกมาถวาย
ต้องเดินทางไกลด้วยความลำบากหนักหนา
เออ บัดนี้ท่านมาผูกปฏิพัทธ์เสน่หากับด้วยนางกินรีรูปงามอยู่ในป่านี้อย่างมีความสุขในโลกีย์
โอหนอ ! ไม่ควรเลยที่ท่านจะมาล่อลวงเราให้เป็นบาปช้าลามก”

อนิมิตตาเจ้ากล่าวด้วยความเข้าใจผิดฉะนี้แล้ว ก็รีบออกมาจากป่า
แม้ท่านดาบสจะพยายามชี้แจงแสดงความจริงอย่างใด
ก็ไม่เชื่อฟังทั้งสิ้น ตั้งแต่วันนั้นมา นางก็ละเลยมิได้นำพาว่าจักเป็นเช่นไร
ปล่อยให้ดาบสผู้สามีอดๆอยากๆด้วยขาดปัจจัยสี่

ข้าแต่พระองค์ผู้เคยทรงเป็นสวามีโทษผิดแห่งพิมพาข้าพระบาทนี้
หากจักพึงมีในชาตินั้น โดยความเข้าใจผิดตัดพ้อต่อว่าแล้วปล่อยให้อดอยาก
ซึ่งเป็นการแกล้งให้พระองค์ลำบากแล้วไซร้ ขอองค์สมเด็จพระจอมไตรโลกนาถ
จงทรงพระกรุณาอดโทษให้แก่ข้าพระบาทชื่อว่า พิมพา
ซึ่งจักขอถวายบังคมลาเข้าสู่นิพพานในวันนี้เสียเถิด พระเจ้าข้า


:b48: :b48:

ปทุมากุมารี

รูปภาพ

ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นที่พึ่งแห่งสัตวโลกทั้งหลาย ในอดีตชาติล่วงแล้วแต่หนหลัง
ครั้งศาสนาพระปทุมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น
พระองค์ผู้ทรงเป็นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นมาณพหนุ่มรูปงาม นามว่าอังคุตรมาณพ
ฝ่ายว่าตัวพิมพาข้าพระบาทนี้เกิดเป็นกุมารี นักเต้นรำนามว่า ปทุมากุมารี
ครั้นจำเริญวัยวัฒนาการแล้ว ก็ได้ผูกสมัครรักใคร่เป็นสามีภรรยากัน

กาลวันหนึ่ง สมเด็จพระมหากษัตริย์เจ้า ซึ่งทรงพระนามว่า พระเจ้าสังคราชบพิตร
ทรงมีพระราชดำรัสสั่งให้มีการเล่นมหรสพขึ้น ในท่ามกลางพระมหานคร
เจ้าปทุมากุมารีซึ่งเป็นนาฏศิลปินถนัดในการเล่นเต้นรำ
ก็สมัครเข้าไปเล่นเต้นรำตามอัธยาศัย ท่ามกลางสายตาของฝูงชนทั้งหลาย
ครั้นอังคุตรมาณพผู้เป็นสามีตามฝูงชนเข้าไปดู
คนทั้งหลายซี่งอยู่ในที่นั้นต่างก็พากันล้อเลียนเยาะเย้ยว่า

“ท่านเจ้าข้าเอ๋ย ! บุรุษผู้นี้เป็นสามีของนางบำเรอคนนั้น
บุรุษคนนี้เป็นสามีของนางรำคนนั้น
บุรุษคนนี้เป็นสามีของนางรำที่ปราศจากความละอายคนนั้น”

ร้องบอกกันต่อๆ ไปฉะนี้ ซึ่งทำให้อังคุตรมาณพผู้เป็นสามีได้รับความอับอายเป็นอันมาก
ถึงกับต้องแหวกฝูงชนกลับมาเคหา ด้วยความอับอายและด้วยความเสียใจหนักหนา

ข้าแต่พระองค์ผู้เคยทรงเป็นสวามี โทษผิดแห่งพิมพาข้าพระบาทนี้
หากจักพึงมีในชาตินั้น โดยทำให้พระองค์ได้รับความอับอายต่อหน้ามหาชน
จนเกิดเป็นความโทมนัสอึดอัดใจแล้วไซร้
ขอองค์สมเด็จพระจอมไตรโลกนาถ
จงทรงพระกรุณาอดโทษให้แก่ข้าพระบาทชื่อว่า พิมพา
ซึ่งจักขอถวายบังคมลาเข้าสู่นิพพานในวันนี้เสียเถิด พระเจ้าข้า

:b39: :b39:

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ต.ค. 2012, 09:19 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


มกฏนารี

รูปภาพ

ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นที่พึ่งแห่งสัตวโลกทั้งหลาย ในอดีตชาติล่วงแล้วแต่หนหลัง
ครั้งศาสนาพระตัณหังกรสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น
พระองค์ผู้ทรงเป็นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญาวานร อาศัยอยู่ในป่าใหญ่แห่งหนึ่ง
ฝ่ายว่าพิมพาข้าพระบาทนี้ก็เกิดเป็นมกฏนารี
และได้สมัครสังวาสเป็นสามีภรรยากันกับพญาวานรนั้น

กาลวันหนึ่ง นางพญาวานรซึ่งเป็นภรรยาอยากจะ บริโภคผลมะเดื่อสุกยิ่งหนักหนา
พญาวานรรู้อัธยาศัยแห่งภรรยาในขณะนั้น ด้วยความผูกพันรักใคร่เสน่หาในภรรยาเป็นอันมาก
ก็อุตสาหะไปเที่ยวเสาะแสวงหาผลมะเดื่อสุก เพื่อจะนำเอามาให้ภรรยาเคี้ยวกินให้สมอยาก
ในที่สุดได้ไปพบต้นมะเดื่อต้นหนึ่ง ซึ่งทรงผลงามสุกอร่ามสมความปรารถนา

พญาวานรก็ดีเนื้อดีใจ โลดโผนปีนป่ายขึ้นไปบนต้นมะเดื่อทันที
ครั้งนั้น ยังมีเสือโคร่งตัวหนึ่งเห็นพญาวานรซึ่งอยู่บนต้นมะเดื่อนั้น
ก็รีบหมอบแอบอยู่ที่สุมทุมพุ่มป่าชัฏ
เพ่งมองมุ่งหมายเขม้นตาปรารถนาจะกินเนื้อพญาวานรเป็นอาหาร

ครั้นพญาวานรเลือกเก็บลูกมะเดื่อสุกได้ตามความต้องการแล้ว ก็ค่อยขยับกายลงมา
จะได้รู้ว่าเสือร้ายหมอบมองเขม้นหมายอยู่ก็หามิได้
เมื่อไต่ลงมาเกือบใกล้จะถึงปฐพี เสือร้ายซึ่งคอยทีอยู่เห็นเป็นโอกาสแล้ว
ก็กระโดดโลดโผนขึ้นไปจับเอาพญาวานรนั้นตะปบให้ถึงตาย
ถลกหนังปกศีรษะแล้วก็ดูดดื่มซึ่งโลหิต
และบริโภคซึ่งเนื้อเป็นอาหารจนอิ่มหนำสำราญแล้วก็จากไป

ฝ่ายนางพญาวานรที่เป็นภรรยาอยู่ข้างหลัง จะได้รู้ว่าพญาวานร
ผู้เป็นสามีเกิดอันตรายถึงกับเสียชีวิตไปแล้วก็หามิได้
จึงเฝ้าแต่คอยหายๆด้วยความห่วงใย ตกถึงสายัณหสมัยตะวันเย็นลงรอนๆ
นางพญาวานรตั้งใจคอยสามีมิได้เห็นกลับมา ก็ให้สังหรณ์ใจว่าจะเกิดอันตราย

จึงร้องไห้รำพันหาสามีไปทุกแห่งหนตำบล เที่ยวค้นเที่ยวเสาะหาอยู่จนสิ้นยามราตรี
แต่จะได้พบเห็นหน้าสามีสุดที่รักก็หามิได้ เห็นฝูงเนื้อฝูงนกที่สัญจรไปมาในป่าใหญ่
ก็ร้องไห้รำพันถามหาถึงสามีแห่งตน แต่ก็ได้รับคำบอกเล่าว่ามิได้รู้มิได้เห็นทุกรายไป
เจ้าก็ให้ระทมทุกข์ปานประหนึ่งว่าจะขาดใจตาย ร้องกรีดกริ่งตะโกนก้องตระเวนหาด้วยคำรำพันว่า

“โอ้พญาวานรผู้เป็นสามีของน้องนี่เอ๋ย! ช่างกระไรเลยมาลับกายหายหน้าไปเสียเฉยๆ
ไปอยู่ในสถานที่ใด ได้สุขทุกข์ภัยประการใด ไฉนจึงไม่ขานตอบน้องเสียเลยแต่สักทีเล่า”

เจ้าเฝ้ารำพันเดินร้องไห้ไปในอรัญมิได้หยุดยั้ง จนเหนื่อยอ่อนสิ้นกําลังล้มพับลงไปกับพื้นปฐพี
แต่จะได้พบเห็นพญาวานรสามี หรือจะได้ยินเสียงร้องรับกู่ขานนั้นก็หามิได้
ในที่สุดนางจึงมาหวนจิตคิดระแวงแล้วรำพันว่า

“โอ้ พญาวานรผู้เป็นสามีของน้องนี่เอ๋ย! กระไรเลยช่างมาตัดอาลัยทิ้งน้องไปได้
ชะรอยจะไปพานพบคบหากับด้วยนางวานรอื่นๆเป็นที่ชอบเนื้อเจริญใจ
แล้วก็พากันไปสู่ที่สำราญสบายแล้ว ปล่อยให้น้องแก้วเฝ้าคอยหา
ประกอบด้วยทุกขเวทนาชอกช้ำระกำใจปานฉะนี้”

มกฏนารีเจ้าร้องไห้ร่ำไรคร่ำครวญไปมา นัยนาทั้งสองนองด้วยน้ำตา
กอบด้วยโศกาลัยสะอื้นไห้ปริเวทนาการอยู่จนขาดใจตายไป ณ สถานที่กลางอรัญนั้น

ข้าแต่พระองค์ผู้เคยทรงเป็นสวามีโทษผิดแห่งพิมพาข้าพระบาทนี้ หากจักพึงมีในชาตินั้น
โดยเหตุทำให้พระองค์ต้องถึงแก่ความตายเพราะเสือร้าย แล้วมิได้รู้แจ้งความจริง
กลับเกิดวิหิงสาคิดระแวงไปตามประสาสตรีแล้วไซร้
ขอองค์สมเด็จพระจอมไตรโลกนาถจงทรงพระกรุณาอดโทษให้แก่ข้าพระบาทชื่อว่าพิมพา
ซึ่งจักขอถวายบังคมลาเข้าสู่นิพพานในวันนี้เสียเถิด พระเจ้าข้า


:b48: :b48:

ปัญญากุมารี

รูปภาพ

ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นที่พึ่งแห่งสัตวโลกทั้งหลาย ในอดีตชาติล่วงแล้วแต่หนหลัง
ครั้งศาสนาพระตัณหังกรสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น
พระองค์ผู้ทรงเป็นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นกุมารหนุ่มน้อย
ได้บรรพชาเป็นสามเณรในพระบวรพุทธศาสนา นามว่าเจ้าธรรมรักขิตสามเณร
ฝ่ายว่าตัวพิมพาข้าพระบาทนี้ เกิดเป็นกุมารีที่หมู่บ้านใกล้อารามมีนามว่า ปัญญากุมารี

กาลวันหนึ่ง ที่อารามนั้นมีการบำเพ็ญกุศลเนื่องในเทศกาลสงกรานต์
ชาวบ้านทั้งปวงล้วนแต่เป็นพุทธศาสนิกชน จึงชวนกันไปบำเพ็ญกองการกุศล
คือ สรงน้ำพระพุทธปฏิมาและพระเจดีย์พระศรีมหาโพธิ์
ตลอดจนสรงน้ำพระสงฆ์สามเณรด้วยเลื่อมใสศรัทธา

เจ้าปัญญากุมารีมีความรักใคร่ในธรรมรักขิตสามเณรมานาน
เห็นเป็นโอกาสดี ก็กระทำอิตถีมายาให้สามเณรรู้ว่าตนมีความเสน่หา
สรงน้ำพระสงฆ์แต่พอเป็นกิริยาแล้ว เจ้าก็ถือขันน้ำเจาะจงไปจะสรงน้ำสามเณรผู้เป็นที่รัก
เจ้าธรรมรักขิตสามเณรก็ยกหัตถ์ขึ้นจับมือนางด้วยความยินดีรักใคร่
เป็นเหตุให้มีโทษถึงกับต้องถูกสึกในวันนั้น
แล้วก็มาอยู่กินเป็นสามีภรรยากันได้ ๗ วัน กลับเข้าไปบวชเป็นพระภิกษุได้ ๑ พรรษา
ครั้นปวารณาแล้วก็รีบสึกออกมาครองเรือนเป็นสามีภรรยากันกับปัญญากุมารี
ด้วยอานุภาพแห่งความรักใคร่เสน่หา

ข้าแต่พระองค์ผู้เคยทรงเป็นสวามี โทษผิดแห่งพิมพาข้าพระบาทนี้ หากจักพึงมีในชาตินั้น
โดยทำลายพระองค์ให้ขาดจากบรรพชิตภาวะ ไม่มีโอกาสได้ประพฤติพรหมจรรย์ตลอดไปแล้วไซร้
ขอองค์สมเด็จ พระจอมไตรโลกนาถ จงทรงพระกรุณาอดโทษให้แก่ข้าพระบาทชื่อว่าพิมพา
ซึ่งจักขอถวายบังคมลาเข้าสู่นิพพานในวันนี้เสียเถิด พระเจ้าข้า


:b48: :b48:

โกกิลนารี

รูปภาพ

ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นที่พึ่งแห่งสัตวโลกทั้งหลาย ในอดีตชาติล่วงแล้วแต่หนหลัง
ครั้งศาสนาพระโกณฑัญญสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น
พระองค์ผู้ทรงเป็นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญานกดุเหว่า
ฝ่ายว่าพิมพาข้าพระบาทนี้เล่า ก็ได้เกิดเป็นนางนกดุเหว่า
มีความสมัครรักใคร่ได้เป็นสามีภรรยากัน อาศัยอยู่ที่รังมีอยู่บนยอดไม้ในป่าใหญ่
เป็นสุขสำราญตามวิสัยเดียรฉาน

กาลวันหนึ่ง พญานกดุเหว่าผู้ภัสดาไปเที่ยวแสวงหาอาหาร
ได้ไปพบผลมะม่วงสุกเหลือเดนกากินอยู่ครึ่งลูก
ก็อุตส่าห์คาบสู่รังเพื่อให้นางนกที่เป็นภรรยา ด้วยความเสน่หารักใคร่ในนางหนักหนา

ฝ่ายว่านางนกที่เป็นภรรยาเมื่อเห็นสามีคาบเอาผลมะม่วงสุกมาให้ดั่งนั้น
แทนที่จะดีเนื้อดีใจเห็นในความดี กลับมีจิตคิดโกรธโดยความเข้าใจผิดว่า
พญานกดุเหว่าสามีนั้นนำเอาผลมะม่วงสุก ซึ่งเป็นเดนอันตนกินเหลืออยู่ครึ่งหนึ่งมาให้
มิทันได้ไต่ถามให้แจ้งในความเป็นไป ด้วยอารมณ์ที่น้อยใจและโกรธเคือง
ก็จิกเอาศีรษะสามีด้วยจะงอยปากตนโดยพลัน

เท่านั้นยังมิหนำซ้ำเอาเท้าตีที่อกแห่งพญานกดุเหว่าสามีอีกสองสามที
แต่ว่าพญานกนั้นมีความรักใคร่ในภรรยาตนเป็นอันมาก
แม้จะถูกนางนกกระทำร้ายเอาถึงเพียงนี้
ก็หามีความโกรธเคืองภรรยาแม้แต่สักนิดหนึ่งไม่

ข้าแต่พระองค์ผู้เคยทรงเป็นสวามี โทษผิดแห่งพิมพาข้าพระบาทนี้
หากจักพึงมีในชาตินั้น โดยลุแก่อำนาจโมหันธ์
กระทำร้ายแก่พระองค์ซึ่งทรงพระมหากรุณา และหาความผิดมิได้แล้วไซร้
ขอองค์สมเด็จพระจอมไตรโลกนาถ
จงทรงพระกรุณาอดโทษให้แก่ข้าพระบาทชื่อว่า พิมพา
ซึ่งจักขอถวายบังคมลาเข้าสู่นิพพานในวันนี้เสียเถิด พระเจ้าข้า


:b48: :b48:

นางกินรี

รูปภาพ

ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นที่พึ่งแห่งสัตวโลกทั้งหลาย ในอดีตชาติล่วงแล้วแต่หนหลัง
ครั้งศาสนาพระธรมทัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น
พระองค์ผู้ทรงเป็นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระบรมกษัตริย์
เสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครกุมภวดี ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าวังคราช
ฝ่ายว่าพิมพาข้าพระบาทนี้ ถือกำเนิดเป็นนางกินรี
อยู่ที่สุวรรณคูหาถ้ำทองอันประเสริฐ ณ หิมวันตประเทศ

กาลวันหนึ่ง เจ้ากินรีสาวโศภา ออกจากสุวรรณคูหาไปเที่ยวเก็บบุปผชาติเกสรดอกไม้
ซึ่งมีอยู่มากมายหลายหลากสีเป็นที่รื่นรมย์ใจ ในหิมวันตประเทศ
แล้วก็บังเอิญให้เกิดเหตุร้ายหลงไปติดอยู่ในข่ายที่นายพรานใจฉกาจดักไว้

วันนั้น สมเด็จพระเจ้าวังคราชผู้เป็นใหญ่ ในกุมภวดีนคร
เสด็จบทจรประพาสป่าและหลงทิศหาทางออกไม่ได้
เที่ยววนเวียนไปมาทางโน้นทางนี้ จนมาพบนางกินรีสาวโศภา
ซึ่งปริเวทนาการด้วยติดอยู่ในข่ายไปไม่ได้ พระองค์จึงทรงเข้าช่วยทำลายข่ายนั้น
นำเอานางกินรีออกมาได้สำเร็จ แล้วทั้งสองก็ผูกสมัครรักใคร่ด้วยอำนาจแห่งบุพเพสันนิวาส

สมเด็จพระเจ้าวังคราชจึงทรงพยายามพานางกินรีดั้นด้นมาจนถึงพระนคร
แล้วก็ทรงแต่งตั้งไว้ในตำแหน่งที่เอกอัครมเหสี
สร้างพระตำหนักให้ประทับอยู่ที่พระราชอุทยานอันเต็มไปด้วยพฤกษาที่มีดอกและใบ
ด้วยทรงดำริในพระทัยของพระองค์ว่า ธรรมดาวิสัยของนางกินรี
ย่อมมีใจชื่นชมยินดีพอใจในบุปผชาติทั้งหลายอยู่เป็นนิตยนิรันดร์
ครั้นว่าจะรับเข้าไปอยู่ในพระบรมราชวังเล่า ก็ให้เกรงไปว่านางจะเศร้าโศกหงอยเหงา
เพราะไม่มีบุปผามาลัยเป็นที่เจริญใจ

มีพระบรมราชโองการแห่งพระเจ้าวังคราชผู้เป็นใหญ่
ให้เจ้าพนักงานนำบุปผชาติและเกสรดอกไม้ ไปถวายพระอัครมเหสี
ซึ่งมีชาติเป็นกินรีจากป่าหิมพานต์จงทุกวัน อย่าให้ขาดได้
ในไม่ช้า ก็ปรากฏว่าดอกไม้และเกสรดอกไม้ในพระนครนั้นถึงความหมดสิ้น
พระอัครมเหสีกินรีเจ้าเมื่อขาดดอกไม้ก็มีแต่ความโศกเศร้าหงอยเหงาอยู่ทุกวารวัน
ปราศจากความสุขชื่นบาน

ด้วยความสงสารและเสน่หาอาลัยในองค์อัครมเหสี
สมเด็จพระเจ้าวังคราชาธิบดีจึงทรงตัดสินพระทัยสละราชสมบัติ
พาเอานางกินรีอัครมเหสีกลับไปสู่หิมวันตประเทศเสด็จยับยั้งรั้งแรมอยู่ในป่าไพร
กับด้วยนางซึ่งเป็นที่รักยิ่งกว่าดวงหฤทัย ตราบเท่าถึงกาลสิ้นชนมายุสังขาร
ก็เสด็จสวรรคตที่กลางป่าหิมพานต์นั้น

ข้าแต่พระองค์ผู้เคยทรงเป็นสวามีโทษผิดแห่งพิมพาข้าพระบาทนี้
หากจักพึงมีในชาตินั้น โดยเป็นเหตุให้พระองค์ต้องทรงลำบาก
ถึงกับสละราชสมบัติอันเป็นยอดปรารถนาของมนุษย์ทั้งหลาย
จนดับขันธ์สวรรคตในกลางป่าหิมพานต์แล้วไซร้
ขอองค์สมเด็จพระจอมไตรโลกนาถ
จงทรงพระกรุณาอดโทษให้แก่ข้าพระบาทชื่อว่า พิมพา
ซึ่งจักขอถวายบังคมลาเข้าสู่นิพพานในวันนี้เสียเถิด พระเจ้าข้า

:b47: :b47:

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ต.ค. 2012, 09:41 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


วิมลาเทวี

รูปภาพ

ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นที่พึ่งแห่งสัตวโลกทั้งหลาย ในอดีตชาติล่วงแล้วแต่หนหลัง
ครั้งศาสนาพระสุมนพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น
พระองค์ผู้ทรงเป็นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นนาคาธิบดี มีนามว่าพญาอดุลนาคราช
ฝ่ายว่าพิมพาข้าพระบาทนี้ได้เกิดเป็นมเหสีสุดที่รักของพญานาคาธิบดี มีนามว่า วิมลาเทวี
เสวยนาคสมบัติเป็นสุขอยู่ในนาคพิภพเป็นเวลาช้านาน

กาลวันหนึ่ง สมเด็จพระมิ่งมงกุฎสุมนสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทรงมีพระมหากรุณาแสดงพระสัทธรรมเทศนากึกก้องกังวานแผ่ไปไกล
ได้ยินตลอดไปจนถึงนาคพิภพ

พญาอดุลนาคราชผู้เป็นใหญ่ในภพแห่งนาค ได้สดับพระสุรเสียงแสดงธรรม
แห่งองค์พระสุมนสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงเลื่อมใสศรัทธายินดี
จึงชวนเจ้าวิมลาเทวีพร้อมด้วยนาคบริวารทั้งหลาย ถือเอาข้าวตอกดอกไม้ทิพย์
รีบด่วนจรจากนาคพิภพชำแรกปฐพีขึ้นมายังมนุษยโลก
เข้าไปสู่สำนักสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ถวายนมัสการแล้วกระทำสักการบูชาด้วยข้าวตอกดอกไม้ และสรรพาภรณ์อันเป็นทิพย์ทั้งหลาย
พร้อมทั้งตั้งใจที่จะสมาทานเบญจศีลไปจนตราบเท่าชั่วอายุขัย

สมเด็จพระจอมไตรโลกนาถสุมนบรมศาสดา
ทรงอาวัชนาการด้วยพระสัพพัญญุตญาณอันวิเศษแล้ว
ก็ทรงมีพระพุทธฎีกาพยากรณ์ว่า พระอดุลนาคราชนี้
จักได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคตกาลเป็นเที่ยงแท้
แต่พอได้สดับพระพุทธฎีกาว่าดั่งนี้ พระอดุลนาคาธิบดีก็มีพระทัยโสมนัสยินดี
ถึงกับน้ำพระเนตรหลั่งไหลไม่ขาดสาย
ถวายอภิวันทนาการสมเด็จพระบรมศาสดาจารย์อยู่หนักหนาหลายครั้งหลายครา

ฝ่ายว่าเจ้าวิมลาเทวีอัครมเหสี ก็เกิดปีติยินดีในพระพุทธฎีกา
ถึงกับคายพิษแห่งนางนาคาออกมาจนหมดสิ้น
แล้วก็กรายกรฟ้อนรำเพื่อกระทำสักการบูชาองค์สมเด็จพระบรมศาสดาตามวิสัยแห่งนาคี
ในขณะที่กรายกรฟ้อนรำถวายสมเด็จพระจอมไตรโลกนาถสุมนสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่นั้น
บังเอิญนิ้วพระหัตถ์ของพระนางกรายไปต้องพระเศียรเกล้าแห่งพญาอดุลนาคราชเจ้า
ผู้เป็นพระสวามีเข้าหน่อยหนึ่ง ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ พระนางจะได้มีเจตนาร้ายอันใดก็หามิได้

ข้าแต่พระองค์ผู้เคยทรงเป็นสวามี! โทษผิดแห่งพิมพาข้าพระบาทนี้
หากจักพึงมีในชาตินั้น โดยมีความประมาทพลาดพลั้งในขณะฟ้อนรำตามครรลอง
กรายกรไปต้องพระเศียรเกล้าแล้วไซร้
ขอองค์สมเด็จพระจอมไตรโลกนาถ
จงทรงพระกรุณาอดโทษให้แก่ข้าพระบาทชื่อว่า พิมพา
ซึ่งจักขอถวายบังคมลาเข้าสู่นิพพานในวันนี้เสียเถิด พระเจ้าข้า


:b48: :b48:

กัลยาณีกุมารี

รูปภาพ

ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นที่พึ่งแห่งสัตวโลกทั้งหลาย ! ในอดีตชาติล่วงแล้วแต่หนหลัง
ครั้งศาสนาพระพุทธรังสีสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระองค์ผู้ทรงเป็นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นมาณพหนุ่ม เห็นโทษในฆราวาสวิสัย
และปรารถนาจักประพฤติพรหมจรรย์บำเพ็ญเนกขัมมบารมี
จึงกล่าวคำขออนุญาตภรรยาซึ่งชื่อว่า กัลยาณีกุมารี
ออกบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์สาวกในพระศาสนาแห่งองค์สมเด็จพระพุทธรังสีสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น
มีนามปรากฏว่า พระอัญญาโกณฑัญญภิกขุ

ส่วนว่าพิมพาข้าพระบาทที่เกิดเป็นหญิงนามว่ากัลยาณีกุมารี
เมื่อ อนุญาตให้สามีบวชด้วยความจำเป็นจำใจอนุญาตแล้ว
ก็ให้นึกโทมนัสขัดเคืองระคนน้อยใจในสามีนั้นหนักหนา
โดยคิดว่าสามีเป็นคนเห็นแก่ความสบาย ไม่นึกถึงความรักความใคร่
ปล่อยให้ภรรยาว้าเหว่เอกาอยู่ในโลกฆราวาส
นึกโทมนัสน้อยใจอยู่อย่างนี้จนถึงแก่ชีพิตักษัยขาดใจตายด้วยอารมณ์ไม่ผ่องใสนั้น

กาลวันหนึ่ง เป็นยามราตรีมีฝนพรำเงียบสงัดกำดัดดึก
ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะภิกษุหนุ่ม สาวกแห่งองค์พระพุทธรังสีสัมมาสัมพุทธเจ้า
ได้สดับเสียงร้องครวญครางแปลกประหลาด
ประดุจคนได้ทุกขเวทนาแทบจะขาดใจตายในที่ใกล้กุฎี ก็ให้มีความอัศจรรย์ใจยิ่งหนักหนา
ด้วยว่าแต่ก่อนร่อนชะไรจะเคยได้ยินเสียงร้องไห้ครวญครางดั่งนี้ก็หามิได้

พระผู้เป็นเจ้าจึงร้องถามไปว่า ใครมาร้องไห้ครวญครางอยู่ที่นี่
แล้วก็เปิดกุฎีออกมาดูเพื่อให้รู้แน่ ก็ได้แลเห็นเปรตมีลักษณาการแสนทุเรศปรากฏแก่คลองจักษุ
ก็ถามย้ำซ้ำอีกว่า นั่น...ท่าน เป็นใคร? และเหุตใด
จึงมาร้องไห้ครวญครางอยู่ใกล้กุฎีของเราอยู่อย่างนี้

เปรตเพศหญิงเมื่อได้ยินพระอัญญาโกณฑัญญะภิกษุถามดั่งนั้น
ก็หยุดร้องไห้ฉับพลันด้วยความดีอกดีใจ
แล้วกราบเรียนขึ้นในความมืดแห่งราตรีนั้นว่า

“ข้าแต่ท่านผู้ทรงศีล ! อันว่าตัวดิฉันนี้ หาใช่คนอื่นไกลที่ใดไม่
โดยที่แท้ก็คือนางกัลยาณีกุมารีรูปสวยโสภา
ซึ่งเคยเป็นภรรยาของพระผู้เป็นเจ้านั่นเอง
เหตุที่มาอุบัติบังเกิดเป็นเปรตแสนทุเรศเช่นนี้ ก็คือว่า
เมื่อพระผู้เป็นเจ้าออกมาบวชในศาสนา
ข้าพเจ้านี้ถึงแม้จะแสดง ความชื่นชมยินดีต่อหน้าคนทั้งหลาย
แต่ภายในใจนั่นสิ เต็มไปด้วยความโทมนัสขัดเคืองคิดน้อยอกน้อยใจอยู่ตลอดเวลา
ว่าสามีของข้าเป็นคนด้อยปัญญา ไม่รู้ซึ่งถึงคุณค่าแห่งความรักที่ภรรยามีต่อตน
และเป็นคนเห็นแก่ตัวปลีกมาหาความสบายในศาสนา
ทอดทิ้งให้ภรรยา ว้าเหว่เอกาในโลกฆราวาสแต่ลำพัง
ทั้งเป็นคนมีใจดำเหี้ยมเกรียมหนักหนา ไม่เห็นอกเห็นใจภรรยาเลยว่าจะเป็นเช่นใด
เฝ้านึกน้อยใจอยู่อย่างนี้ จนถึงแก่ชีพิตักษัย ด้วยอารมณ์ตรอมตรมไม่ผ่องใส
จึงได้ไปเกิดในกำเนิดแห่งเปรตมีแต่ความทุกข์ทรมานและอุตส่าห์เดินโซซังมา
ยังสถานที่อยู่แห่งพระผู้เป็นเจ้าที่เคยเป็นสามี ด้วยอานุภาพแห่งใจรักชักพาให้มา ในกาลบัดนี้”

อัญญาโกณฑัญญะภิกษุหนุ่มได้สดับวาจาแห่งนางเปรตกัลยาณีกุมารีฉะนี้
ก็มีความสงสารนางที่เคยเป็นภรรยาจับใจ
ปรารถนาที่จะช่วยสงเคราะห์ให้นางพ้นจากความเป็นเปรต
จึงบอกให้นางคุกเข่าและก้มศีรษะเข้ามาใกล้ๆ
แล้วพระผู้เป็นเจ้าก็ยื่นไม้เท้าจรดที่กลางกระหม่อมแห่งนางเปรตนั้น พร้อมกับกล่าวว่า

“ดูกรกัลยาณีกุมารีที่เคยเป็นโยมอุปัฏฐากของอาตมาเอ๋ย
ตั้งแต่อาตมาได้บวชเป็นพระภิกษุในศาสนาของพระพุทธองค์เจ้ามา
เจ้าก็สู้อุตส่าห์นำมาซึ่งอาหารบิณฑบาต จีวรและสิ่งอื่นๆอันควรแก่สมณบริโภค
ทูนเหนือศีรษะมาถวายเป็นอันมาก ทั้งยังได้สมาทานรักษาศีลตามคำแนะนำของอาตมาทุกวัน
บัดนี้ขอเจ้าจงตั้งใจให้ดีแล้วระลึกถึงผลทานผลศีลที่เจ้าเคยบำเพ็ญมานั่นเถิด
อนึ่ง บุญกุศลใดที่อาตมาพระอัญญาโกณฑัญญะได้บำเพ็ญมาในพระศาสนาทั้งหมด
อาตมาขออุทิศส่วนกุศลให้แก่เจ้า ขอให้เจ้าซึ่งเคยเป็นโยมอุปัฏฐาก
จงรับและจงอนุโมทนาส่วนกุศลนั้นในกาลบัดนี้”

กัลยาณีกุมารีเปตร ได้สดับโอวาทและคำอุทิศส่วนกุศลในที่เฉพาะหน้าตน ดั่งนี้
ก็มีจิตยินดีรำลึกถึงผลทานผลศีลที่ตนได้เคยบำเพ็ญมา
และยกหัตถ์ขึ้นอนุโมทนาส่วนกุศลแห่งพระอัญญาโกณฑัญญะ ผู้เคยเป็นสามีสุดที่รัก
ในขณะนั้น ก็เกิดเป็นมหากุศลดล บันดาลให้นางจุติจากอัตภาพแห่งเปรตไปอุบัติเกิดเป็นเทพนารี
สถิตเสวยทิพยสมบัติเป็นสุขอยู่ ณ ดาวดึงสเทวโลกฉับพลันทันใด

ข้าแต่พระองค์ผู้เคยทรงเป็นสวามี โทษผิดแห่งพิมพาข้าพระบาทนี้
หากจักพึงมีในชาตินั้น โดยความสำคัญผิดคิดว่าพระองค์เป็นคนด้อยปัญญา
เห็นแต่ความสุขสบายแห่งตนเป็นที่ตั้ง ทอดทิ้งภรรยาตน
ทั้งที่นางยังมีใจรักภักดี ออกไปบวชในศาสนาของพระชินสีห์เจ้าแล้วไซร้
ขอองค์สมเด็จพระจอมไตรโลกนาถ
จงทรงพระกรุณาอดโทษให้แก่ข้าพระบาทชื่อว่า พิมพา
ซึ่งจักขอถวายบังคมลาเข้าสู่นิพพานในวันนี้เสียเถิด พระเจ้าข้า

:b48: :b48:

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ต.ค. 2012, 09:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


จันทมาลากุมารี

รูปภาพ

ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นที่พึ่งแห่งสัตวโลกทั้งหลาย ในอดีตชาติล่วงแล้วแต่หนหลัง
ครั้งศาสนาพระโสภิตสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระองค์ผู้ทรงเป็นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นมาณพหนุ่มรูปงามนามว่า อทุฏฐมาณพ
ฝ่ายว่าพิมพาข้าพระบาทนี้ เกิดเป็นบุตรีของชาวชนบทปลายแดนนามว่าจันทมาลากุมารี
มีชีวิตเป็นสุขอยู่ตามประสาสาวชาวป่า ซึ่งห่างไกลจากพระมหานคร

กาลวันหนึ่ง มีข้าศึกยกจาตุรงคเสนาโยธามาห้อมล้อมพระมหานครไว้ด้วยกำลังใหญ่
เที่ยวไล่ฆ่าฟันผู้คนชาวพระนครเป็นอันมาก
เจ้าอทุฏฐมาณพซึ่งเป็นชาวพระนครเห็นว่าเหลือกำลังที่จะสู้ข้าศึกศัตรูได้แล้ว
จึงลอบหนีออกมาจากเมือง เดินทางมาจนถึงปัจจันตชนบทชายแดน
อันเป็นถิ่นกำเนิดของจันทมาลากุมารี

ด้วยอำนาจแห่งบุพเพสันนิวาสคนทั้งสองผูกสมัครรักใคร่เป็นสามีภรรยากัน
เดิมทีที่หนีออกมาจากพระนครนั้นเจ้าอทุฏฐมาณพตั้งจิตปรารถนาไว้ว่า
จักอาศัยหลบ หนีอยู่ในชนบทชายแดนเพียงชั่วคราว
เมื่อมีกำลังพลเพียงพอแล้ว จักรวบรวมเป็นกองทัพกลับเข้าไปยังพระนครอีก
แต่เมื่อได้จันทมาลากุมารีเป็นภรรยา ก็เกิดเสน่หารักใคร่ในนางเป็นอันมาก
เลิกล้มความคิดที่จะจากไปและมีชีวิตอยู่ในปัจจันตชนบทนั้น จนตราบเท่าถึงวันตาย

ข้าแต่พระองค์ผู้เคยทรงเป็นสวามี โทษผิดแห่งพิมพาข้าพระบาทนี้
หากจักพึงมีในชาตินั้น โดยเหตุที่ทำให้พระองค์ต้องหลงใหล
อยู่ปัจจันตคามชนบทชายแดนจนสิ้นอายุขัย
กระทำกาลกิริยาตายในที่อันมิใช่ถิ่นที่เกิดของพระองค์แล้วไซร้
ขอองค์สมเด็จพระจอมไตรโลกนาถ
จงทรงพระกรุณาอดโทษให้แก่ข้าพระบาทชื่อว่า พิมพา
ซึ่งจักขอถวายบังคมลาเข้าสู่นิพพานในวันนี้เสียเถิด พระเจ้าข้า

:b48: :b48:


มังคลีกุมารี

ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นที่พึ่งแห่งสัตวโลกทั้งหลาย ในอดีตชาติล่วงแล้วแต่หนหลัง
ครั้งศาสนาพระพรหมชาลสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระองค์ผู้ทรงเป็นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นกุมาร
ภายหลังได้บรรพชาเป็น สามเณรในพระพุทธศาสนา นามว่าเจ้านิโครธสามเณร
ฝ่ายว่าพิมพาข้าพระบาทนี้ เกิดเป็นกุมารีบุตรีชาวบ้านตระกูลมั่งคั่งแห่งหนึ่งซึ่งเป็นตระกูลใหญ่
สืบเชื้อสายมาหลายชั่วอายุคน โดยมีนามปรากฏว่ามังคลีกุมารี

กาลวันหนึ่ง เป็นยามราตรีเงียบสงัดกำดัดดึก มังคลีกุมารีสาวโสภาซึ่งมีอายุได้ ๑๖ พรรษา
เจ้าเข้าสู่นิทราหลับไหล แล้วให้บังเกิดนิมิตฝันอันเป็นมงคลว่าตนได้บุตรชายสุดที่รัก
ครั้นตื่นขึ้นมาเพลารุ่งเช้า จึงจัดแจงข้าวตอกดอกไม้เข้าไปสู่สำนักแห่งท่านผู้เป็นปราชญ์ราชบัณฑิต
ซึ่งเป็นเนมิตกาจารย์ทำนายฝัน แล้วก็เล่า นิมิตนั้นให้ท่านฟัง
ส่วนว่าท่านที่เป็นปราชญ์ราชบัณฑิตผู้รู้นิมิตชั่วดี
เมื่อได้ฟังเจ้ามังคลีกุมารีเล่าซึ่งสุบินฉะนี้ จึงทำนายว่า

“ดูกรเจ้ามังคลีกุมารี ! อันนิมิตฝันของเจ้านี้ดีนักหนา
จะเป็นอันตรายอย่างใดอย่างหนึ่งก็หามิได้ ตั้งแต่วันนี้ไป
เจ้าจะได้ซึ่งบุตรสุดที่รักสมตามความฝันนั้นแล”

กาลครั้งนั้น เจ้ามังคลีกุมารีเมื่อได้ฟังคำทำนายแล้วก็ให้นึกขำขันอยู่แต่ในใจว่า
“เออ ! อาตมานี้ก็ยังเป็นสาวโสภาหาสามีบ่มิได้ แล้วจะได้บุตรสุดที่รักตามทำนายได้อย่างไร”
คิดไม่เชื่อในคำทำนายของราชบัณฑิตนั้นแล้ว ก็กราบไหว้ท่านลากลับเดินทางไปบ้าน

วันนั้น เจ้านิโครธสามเณรในศาสนาแห่งสมเด็จพระพรหมชาลสัมมาสัมพุทธเจ้า
เข้าไปบิณฑบาตในบ้านแล้วเดินทางจะกลับไปยังวิหาร
สวนทางกับมังคลีสาวน้อยที่ชายป่าแห่งหนึ่ง เมื่อประสบพบกันเข้าแล้ว
ทั้งสองต่างก็มีจิตคิดรักใคร่ในกันและกันหนักหนาด้วยอำนาจแห่งบุพเพสันนิวาส
แต่มิอาจจะประพฤติการอันใดให้เป็นที่เสียหาย
เพราะเจ้าสามเณรนั้นเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งเพศพรหมจรรย์และมั่นในศีลสิกขาบท
ได้แต่สนทนาปราศรัยกันไปมา แล้วมังคลีกุมารีสาวน้อยเจ้าจึงแกล้งว่า

“อันตัวเรานี้ เป็นผู้ใหญ่แล้ว และมีจิตรักใคร่ในตัวพ่อสามเณร
ประหนึ่งว่ามารดารักใคร่ในบุตรดอก
มิใช่ว่าเรานี้จะรักใคร่สามเณรเหมือนหญิงสาวรักชายหนุ่มก็หามิได้
ว่าอย่างไรเล่า เจ้าสามเณรจะยอมให้เราเป็นมารดาหรือไม่”

“จะเป็นไรไปเล่า เรานี้ก็มีความรักใคร่ในตัวท่าน ประหนึ่งว่าเป็นมารดา
ซึ่งให้อาหารบิณฑบาตเลี้ยงชีพพอกันตายไปทุกวันนี้
ขอให้ท่านเป็นมารดาของเราเถิด เรานี้จะได้ตั้งใจรักมารดาของเราแต่เพียงผู้เดียวในชาตินี้”

เจ้านิโครธสามเณรแกล้งตอบไปตามกล แล้วคนทั้งสองก็จำใจต้องจากกัน
ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ทั้งเจ้ามังคลีสาวน้อยและเจ้านิโครธสามเณรในศาสนาแห่งพระพุทธองค์เจ้า
ต่างก็เฝ้ารำพึงคะนึงหาถึงกันและกันด้วยความทุกข์ทรมานใจ

ในไม่ช้า สาวโสภามังคลีกุมารีก็มีอาการเจ็บป่วยด้วยความทรมานใจนั้น
อาการแห่งโรคกำเริบขึ้นเรื่อยๆ แล้วมังคลีสาวที่น่าสงสารก็สลบหลับนิ่ง
นอนอยู่บนเตียงที่ตายเห็นนิมิตร้ายเป็นไฟนรกรุ่งโรจน์ขึ้นมา
แล้วลามเลียมาเรื่อยๆ เกือบจะเผากายแห่งนาง
ด้วยอำนาจแห่งอกุศลกรรมที่ทำไว้แต่ชาติก่อนๆตามมาทัน
เพื่อจะบันดาลให้นางไปบังเกิดในนรกอันเป็นอบายภูมิ

แต่ทว่าด้วยเสน่หานุภาพอันฝังลึกในดวงจิตที่เจ้านึกคิดถึงนิโครธสามเณรอยู่ตลอดเวลา
จึงในขณะที่เห็นเปลวไฟนรกนิมิตร้าย ซึ่งมีสีเหลืองคล้ายสีชายจีวรทรงของสามเณรที่รักปานดวงใจ
เจ้าจึงยึดเอาชายจีวรนั้นเป็นนิมิตครั้งสุดท้าย แล้วก็หลับตาตายอย่างสุขใจ
จุติไปอุบัติเกิดเป็นเทพนารีงามโสภา เสวยทิพยสมบัติอยู่ ณ สรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ข้าแต่พระองค์ผู้เคยทรงเป็นสวามี ! โทษผิดแห่งพิมพาข้าพระบาทนี้
หากจักพึงมีในชาตินั้น โดยแกล้งกล่าวเป็นกลอุบายตามวิสัยหญิงสาวว่า
รักใคร่พระองค์ประหนึ่งมารดารักใคร่บุตร
ซึ่งเป็นการล่วงเกิน พระองค์อยู่หนักหนาแล้วไซร้
ขอองค์สมเด็จพระจอมไตรโลกนาถ
จงทรงพระกรุณาอดโทษให้แก่ข้าพระบาทชื่อว่า พิมพา
ซึ่งจักขอถวายบังคมลาเข้าสู่นิพพานในวันนี้เสียเถิด พระเจ้าข้า

:b48: :b48:


มงคลเทวี

รูปภาพ

ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นที่พึ่งแห่งสัตว์โลกทั้งหลาย ในอดีตชาติล่วงแล้วแต่หนหลัง
ครั้งศาสนาพระธรรมปาลสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น
พระองค์ทรงเป็นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระมหากษัตริย์ปกครองแผ่นดิน
ณ คิรีบูรณมหานคร ทรงพระนามว่า สมเด็จพระอภินันทรัฐราชาธิบดี
ฝ่ายว่าพิมพาข้าพระบาทนี้ เกิดเป็นสตรีแล้วต่อมาได้เป็นพระอัครมเหสี
ของพระเจ้าอภินันทรัฐนั้น มีนามว่า นางพระยามงคลเทวี

กาลวันหนึ่งสมเด็จพระชินสีห์พุทธธรรมปาลสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทรงพระมหากรุณาเสด็จพระพุทธดำเนินมาโปรดเวไนยสัตว์จนถึงเมืองคิรีบูรณมหานคร
ครั้นทรงพักผ่อนพอสมควรแล้ว ก็ทรงแสดงพระสัทธรรมเทศนาอันวิจิตรพิศดารยิ่งหนักหนา
สมเด็จพระอภินันทรัฐราชาธิบดีทรงสดับแล้ว
ก็ทรงพระโสมนัสยินดีในรสพระสัทธรรมเทศนานั้นสุดประมาณ
จูงพระกรพระอัครมเหสีมงคลเทวีไปหมอบเฝ้าอยู่เบื้องพระพักตร์สมเด็จพระชินสีห์เจ้าแล้ว
ก็ทรงบริจาคพระอัครมเหสีนั้น ให้เป็นไทยทานเครื่องสักการบูชาพระสัทธรรมเทศนา
แล้วทรงออกพระวาจาตั้งความปรารถนาว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นที่พึ่งแห่งสัตว์โลก! ข้าพระบาทขอยกพระอัครมเหสีที่รักปานดวงใจ
ให้เป็นทานในกาลบัดนี้ อันเป็นทานบารมีที่บุคคลทำได้โดยยาก
ด้วยอานุภาพแห่งทานบารมีที่บุคคลทำได้โดยยากนี้
ขอให้ข้าพระบาทได้มีโอกาสตรัสเป็นพระพุทธเจ้าสักพระองค์หนึ่ง
ในอนาคตกาลเบื้องหน้าโน้นด้วยเถิด

อนึ่ง เมื่อข้าพระบาทจะเกิดอีกในชาติต่อไปแล้วไซร้ ขอให้นางพระยามงคลเทวีที่เป็นอัครมเหสี
จงมีโอกาสเกิดเป็นอัครมเหสีของข้าพระบาทด้วยเถิด พระเจ้าข้า”

สมเด็จพระเจ้าอภินันทรัฐราชาธิบดี ทรงกระทำพระวจีปณิธานฉะนี้แล้ว
ก็ทรงมีพระทัยผ่องแผ้วโสมนัสศรัทธา ใคร่จะได้เป็นญาติในพระบวรพุทธศาสนา
จึงทรงสละราชสมบัติเป็นการชั่วคราว แล้วเข้าไปขอบรรพชาอุปสมบท
ในพระธรรมวินัยแห่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ทรงเพศเป็นพระภิกษุแล้ว พระนางก็ทรงเลื่อมใสศรัทธาอุตสาหะนำเอาจตุปัจจัย
คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานเภสัช มาถวายแก่พระภิกษุบุราณสวามีทุกวันมิได้ขาดเลย

ในขณะที่สมเด็จพระเจ้าอภินันทรัฐ ทรงสละราชสมบัติผนวชเป็นพระภิกษุทรงสิกขาอยู่นั้น
กาลวันหนึ่ง เกิดมีเหตุอาเพศอันไม่ควรจะเป็น กล่าวคือ ได้มีนางทาสีของคฤหบดีคนหนึ่ง
ซึ่งมีความผิดเกรงว่านายจักฆ่าตี จึงหลบหนีมาในยามราตรี
แล้วแอบไปซ่อนตัวอยู่ใต้กุฎีที่พระภิกษุราชาธิบดีประทับอยู่นั้น

ครั้นถึงเพลาเช้าตรู่ ได้เวลาที่เจ้ามงคลเทวีจะออกไปสู่อารามแล้ว
นางแก้วซึ่งมีพระทัยห่วงใยในพระภิกษุบุราณราชสวามี
ก็มิได้รอช้านำเอาภัตตาหารซึ่งเตรียมไว้เสด็จออกไปสู่อาราม
ก็ได้ทอดทัศนาเห็นนางทาสเจ้ากรรมนอนหลับเพลินอยู่ใต้กุฎี

นางพระยาก็ให้บังเกิดความหึงหวงและโกรธเคืองพระชีต้นคือ พระภิกษุราชาธิบดี
ว่าคงจะทรงล่วงสิกขาบทลอบรักสมัครสังวาส
กับนางหญิงที่นอนอยู่ใต้ถุนกุฎีนี้ในยามราตรีที่ปลอดผู้คนเป็นแม่นมั่น
เจ้าเกิดความสำคัญผิดคิดหวาดระแวงไปตามวิสัยสตรีที่รักสามีฉะนี้
แล้วก็บังเกิดความโกรธนักหนา โยนทิ้งภัตตาหารที่นำมาให้ตกลงกับพื้นพสุธาหน้ากุฎี
แล้วก็ขึ้นไปชั้นบนเห็นพระชีต้นเธอกำลังนั่งสมาธิอยู่ตามสมณวิสัย
ก็เข้าใจว่าเป็นการกระทำเพื่อเป็นเล่ห์กลลวงตน

นางพระยาจึงตรงเข้าไปดึงเอาจีวรออกจากวรกายแห่งพระชีต้นแล้วก็ฉีกสลัดให้ขาดจนหาชิ้นดีมิได้
แม้พระภิกษุอภินันทรัฐบุราณราชสวามีซึ่งไม่ทราบเรื่องอันใด
จะได้เฝ้าไต่ถามถึงเหตุว่า ไฉนนางพระยาจึงมีอาการดุร้ายเช่นนี้ เจ้ามงคลเทวีก็หาตอบไม่

เมื่อฉีกจีวรและร้องไห้ จนหนำใจแล้ว ก็กลับไปสู่พระบรมมหาราชวังด้วยความคั่งแค้นในพระหฤทัย
ไม่เสวยพระกระยาหารแต่อย่างใดเลย ในไม่ช้านางพระยามงคลเทวีก็ถึงแก่ชีพิตักษัยไป
ด้วยเหตุที่ขาดอาหารนั้น แล้วพลันไปอุบัติเกิดในนิรยภูมิ
เพราะเหตุที่เจ้าทำกาลกิริยาไปในขณะที่จิตกอบด้วยโทสะ
เป็นสัตว์นรกร่างร้ายได้เสวยทุกขเวทนาอย่างแสนสาหัสอยู่ ในนิรยภูมิสิ้นกาลช้านาน

ข้าแต่พระองค์ผู้เคยทรงเป็นสวามี! โทษผิดแห่งพิมพาข้าพระบาทนี้
หากจะพึงมีในชาตินั้น โดยเกิดความสำคัญผิด
แล้วยื้อยุดดึงจีวรออกจากพระวรกายและฉีกทิ้งให้ย่อยยับเสียหายแล้วไซร้
ขอองค์สมเด็จพระจอมไตรโลกนาถ
จงทรงพระกรุณาอดโทษให้แก่ข้าพระบาทชื่อว่า พิมพา
ซึ่งจักขอถวายบังคมลาเข้าสู่นิพพานในวันนี้เสียเถิด พระเจ้าข้า

:b48: :b48:

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ต.ค. 2012, 10:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


นางพญาหงส์ทอง

รูปภาพ

ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นที่พึ่งแห่งสัตวโลกทั้งหลาย ! ในอดีตชาติล่วงมาแต่หนหลัง
ครั้งศาสนาพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น
พระองค์ทรงเป็นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญาหงส์ทอง
ฝ่ายว่าพิมพาข้าพระบาทนี้ ก็ได้เกิดเป็นนางหงส์ซึ่งเป็นภรรยาของพญาหงส์ทองนั้น
เฝ้าผูกพันรักใคร่กันอยู่พร้อมกับหมู่หงส์ที่เป็นบริวารในป่าใหญ่แห่งหนึ่ง

สมัยนั้น สมเด็จพระราชินีเขมเทวีเจ้าซึ่งเป็นนางกษัตริย์ในมหานครนั้น
ทรงมีพระอัธยาศัยใคร่เสด็จประพาสป่าอยู่เนืองๆ ได้ทรงพบสระน้ำใหญ่ชายป่าเข้า
พระนางเจ้าจึงรับสั่งให้ปลูกบุปผชาติบัวหลวงไว้ในสระนั้น
จนออกดอกใบวิจิตรรจนา งามตระการตาแลดูน่า รื่นรมย์แห่งใจ
แล้วทรงตั้งนายพรานผู้หนึ่งไว้ ให้มีหน้าที่บำรุงรักษาสระ
คอยระวังซึ่งหมู่สิงห์สัตว์นกเนื้อทั้งหลาย
มิให้มากล้ำกรายกระทำอันตรายสระวิเศษนั้นได้เป็นอันขาด

เจ้าพรานไพรเมื่อได้รับการแต่งตั้ง ให้มีหน้าที่เช่นนั้น ก็มิได้มีความประมาท
ตั้งใจทะนุบำรุงและระวังรักษาสระด้วยดี
ครั้นเห็นเหล่าปักษีชาติทั้งหลายพากันร่อนลงเล่นในสระบ่อยๆ
แม้จะตะโกนไล่อย่างไร ก็ไม่หมดสิ้นไปสักที
เจ็บใจขึ้นมาจึงคิดกระทำบ่วงดักเรี่ยรายไว้ในสระน้ำเป็นอันมาก

ฝ่ายว่าพญาหงส์ทอง ซึ่งอาศัยอยู่ในป่าใหญ่
ได้ยินกิตติศัพท์แห่งสระงามวิจิตรตระการตา
ที่เหล่านกทั้งหลายพากันเล่าบอกสืบๆมาว่า
สระโบกขรณีชายป่าของนางพระยาเขมเทวีเป็นสระที่งามตระการตา
น่ารื่นรมย์แห่งใจ และน่าลงเล่นให้เป็นที่สนุกสบายหนักหนา

ก็พานางพญาหงส์ทองที่เป็นภรรยากับฝูงหงส์บริวารเป็นอันมาก
ออกจากที่อยู่อาศัยว่ายฟ้าบินมาโดยนภากาศเป็นหมู่ใหญ่
ครั้นถึงแล้วพญาหงส์ทองจึงบินลงสู่สระน้ำนั้นก่อน
ก็ต้องบ่วงที่พรานไพรดักไว้นั้นทันใด เมื่อรู้ว่าตนเคราะห์ร้ายต้องบ่วงหนีไปไม่ได้แล้ว
ด้วยความกรุณาและเป็นห่วงนางพญาหงส์ทองภรรยาและบรรดาบริวารแห่งตน
พญาหงส์ทองจึงร้องบอกให้หงส์ทั้งหลายรีบหนีไปโดยเร็ว เพราะภัยปรากฏขึ้นแล้ว อย่ารอช้า
นางพญาหงส์และบริวาร ได้ยินเสียงร้องบอกดั่งนั้นด้วยความตกใจ
ไม่ทันพิจารณาว่าพญาหงส์จะเป็นอย่างไร ต่างก็พากันรีบบินหนีไปโดยเร็ว
ปล่อยให้พญาหงส์ทองต้องทนทุกข์ทรมานในบ่วงแห่งพรานไพรนั้นแต่ลำพัง

ข้าแต่พระองค์ผู้เคยทรงเป็นสวามี ! โทษผิดแห่งพิมพาข้าพระบาทนี้
หากจะพึงมีในชาตินั้น โดยการบินหนีไปพร้อมกับหงส์ที่เป็นบริวารด้วยความตกอกตกใจ
จนลืมนึกถึงพระองค์ผู้ทรงเป็นประธานาธิบดี ปล่อยให้ติดอยู่บ่วงอันพรานไพรดักไว้ตามลำพังแล้วไซร้
ขอองค์สมเด็จพระจอมไตรโลกนาถ จงทรงพระกรุณาอดโทษให้แก่ข้าพระบาทชื่อว่า พิมพา
ซึ่งจักขอถวายบังคมลาเข้าสู่นิพพานในวันนี้เสียเถิด พระเจ้าข้า


:b48: :b48:

ธรรมิกราชธิดา

รูปภาพ

ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นที่พึ่งแห่งสัตว์โลกทั้งหลาย ในอดีตชาติล่วงแล้วแต่หนหลัง
ครั้งศาสนาพระธรรมทัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น
พระองค์ทรงเป็นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นกุมารรูปงาม
ภายหลังได้บรรพชาเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนามีนามว่านันทสามเณร
ฝ่ายว่าพิมพาข้าพระบาทนี้อุบัติเกิดในพระราชตระกูลทรงพระนามว่า เจ้าฟ้าธรรมิกราชธิดา

กาลวันหนึ่งเป็นเทศกาลถวายผ้าพระกฐิน เจ้าฟ้าธรรมิกราชธิดามีจิตศรัทธา
นำพระกฐินไปถวาย ณ อารามที่นันทสามเณรจำพรรษาอยู่
ขณะที่เข้าสู่กุศลพิธี เจ้าฟ้าหญิงธรรมิกราชกุมารีนั่งอยู่ในท่ามกลางแห่งคนทั้งหลาย
ทอดสายตาแลไปที่อาสน์สงฆ์ เห็นนันทสามเณรนั่งอยู่เป็นรูปสุดท้าย
ก็ให้มีจิตคิดปฏิพัทธ์รักใคร่หนักหนา ด้วยอำนาจแห่งบุพเพสันนิวาส

แม้นันทสามเณรก็มีจิตคิดพิศวาสรักใคร่ในพระราชกุมารีสูงศักดิ์เช่นกัน
ดังนั้นเมื่อถึงคราวถวายไทยทาน เจ้าฟ้าหญิงธรรมิกราชธิดาเจ้าภาพสาว
ก็ถวายตั้งแต่พระสงฆ์เถระเป็นลำดับไปจนถึงรูปสุดท้าย คือนันทสามเณรแล้ว
ก็ถือเครื่องไทยทานชะงักยืนเพ่งพักตร์อยู่เพื่อเป็นเครื่องหมายให้รู้ว่าตนมีใจรัก
แล้วยื่นเครื่องไทยทานน้อมเข้าไปถวาย นันทสามเณรก็สุดที่จะหักใจได้ ให้หลงลืมสติไปในขณะนั้น

พลันยกหัตถ์ขึ้นจับข้อพระกรแห่งพระราชธิดาไว้มั่นเป็นสัญญาให้รู้ว่าตนก็มีใจรัก
แล้วจึงรับเครื่องไทยทานต่อภายหลัง เหตุการณ์อันไม่งามนี้ปรากฏขึ้นในที่ชุมนุมชน
จะได้รอดพ้นไปจากสายตาของคนทั้งหลายก็หามิได้
ชนที่เป็นผู้ใหญ่มั่นคงในศาสนา ต่างก็นินทาว่ากล่าวทั้งเจ้านันทสามเณร
และเจ้าฟ้าหญิงธรรมิกราชธิดาไปต่างๆ นานา
แล้วว่าจะนำเรื่องขึ้นกราบทูลสมเด็จพระราชบิดาให้ทรงจัดการลงโทษ
ในกรณีที่ประพฤติการอันเป็นบาปหยาบช้าผิดพระราชประเพณี

เจ้าฟ้าหญิงธรรมิกราชกุมารี ได้เสาวนาการผู้คนทั้งหลายกล่าวด้วยความเคืองใจฉะนี้
ก็ให้ตกพระทัยครั้นจะกลับไปสู่ปรางค์ปราสาท
ก็ให้มีจิตคิดเกรงกลัวพระราชอาญาแห่งสมเด็จพระราชบิดา
นางจึงตัดสินพระทัยหนีออกจากเขตพระนครนั้น
ไปอาศัยอยู่ที่ปัจจันตชนบทชายแดนแห่งหนึ่ง

เจ้านันทสามเณรซึ่งมีความผิดเช่นกัน ครั้นได้ทราบว่าเจ้าฟ้าหญิงธรรมิกราชกุมารีสุดที่รัก
เสด็จหนีจากพระนคร ก็ให้ร้อนอกร้อนใจจึงสึกออกเป็นฆราวาส
แล้วรีบเดินทางติดตามไปด้วยอำนาจแห่งความรัก
ในที่สุด ก็ได้อยู่ร่วมรักสมัครสังวาสกับนางที่ปัจจันตชนบทนั้นสมความปรารถนา

ข้าแต่พระองค์ผู้เคยทรงเป็นสวามี ! โทษผิดแห่งพิมพาข้าพระบาทนี้
หากจะพึงมีในชาตินั้น โดยเป็นเหตุสำคัญให้พระองค์ต้องสึกจากสามเณรในพระพุทธศาสนา
ทำให้เสียเวลาประพฤติพรหมจรรย์แล้วไซร้ ขอองค์สมเด็จพระจอมไตรโลกนาถ
จงทรงพระกรุณาอดโทษให้แก่ข้าพระบาทชื่อว่า พิมพา
ซึ่งจักขอถวายบังคมลาเข้าสู่นิพพานในวันนี้ เสียเถิดพระเจ้าข้า


:b48: :b48:

นางพญาสกุณี

รูปภาพ

ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นที่พึ่งแห่งสัตวโลกทั้งหลาย ในอดีตชาติล่วงแล้วแต่หนหลัง
ครั้งศาสนาพระเรวัตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น
พระองค์ทรงเป็นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญาสกุณา
มีอำนาจยิ่งใหญ่กว่า บรรดานกทั้งหลาย
ฝ่ายว่าพิมพาข้าพระบาทนี้ได้เกิดเป็นนางพญาสกุณีอาศัยอยู่ที่หิมวันตประเทศ

กาลวันหนึ่ง เกิดอาเพศบันดาลให้นางพญาสกุณี
มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะได้ดื่มน้ำในสระอโนดาต
ที่นำมาโดยจะงอยปากของพญานกผู้ภัสดา หาไม่แล้วตนจะต้องวายชีวาลงเป็นแน่แท้
จึงบอกความข้อนั้นแก่พญานกให้รู้ความเป็นไป

พญานกผู้สามีก็มิได้รอช้า รีบผกโผบินจากรวงรังที่อาศัยทะยานขึ้นไปสู่ท้องฟ้า
โดยบ่ายโฉมหน้าไปสู่อโนดาตสระศรี ประสงค์ที่จะนำเอาน้ำในสระอโนดาตมาให้นางสุดที่รัก
ครั้นถึงจึงเอาจะงอยปากดูดเอาน้ำอมไว้ ได้น้ำสมความปรารถนาก็บินกลับมา

แต่เพราะเหตุที่เป็นระยะไกลหนักหนาบินมายังไม่ถึงรวงรังที่อาศัย
น้ำในปากที่อมมานั้น ก็พลันแห้งหายเข้าไปในคอของพญานกเสียสิ้น
พญานกจึงบินกลับไปสู่อโนดาตสระศรีนั้นอีก
อมน้ำจนเห็นว่ามากพอแก่ความต้องการ ก็บินกลับมา

แต่เหตุการณ์ก็เป็นดั่งเช่นเดิมคือบินมายังไม่ถึงรังที่อาศัย
น้ำในปากที่อมมาก็ปราศนาการหายแห้งเข้าไปในคอของพญานกนั้นอีกเล่า
พญานกเฝ้าบินกลับไปกลับมาอยู่อย่างนี้ถึง ๗ ครั้ง
แต่จะได้น้ำมาจนถึงภรรยาก็หามิได้

พยายามจนอ่อนอกอ่อนใจแล้วก็กลับมาแจ้งความจำเป็นแก่นางพญาสกุณีที่รวงรัง
พอนางได้ฟังแทนที่จักเห็นใจในความจำเป็นอันเหลือวิสัยกลับบังเกิดโทสะร้ายว่า
พญานกสามีไปหลงใหลในนางสกุณีอื่นแล้วจะแกล้งให้ตนถึงซึ่งความตาย
เจ็บใจขึ้นมาก็เข้าทำร้ายพญานก จิกด้วยปากบ้าง ตีด้วยเท้าและปีกบ้าง เป็นพัลวัน

พญานกผู้สามีนั้นแม้จะถูกนางพญาสกุณีที่เป็นภรรยากระทำเอาถึงเพียงนี้
แต่จะได้มีความโกรธแก่นางมาตรว่าสักนิดหนึ่งก็หามิได้
ทั้งนี้ก็อาศัยด้วยเหตุที่มีความเสน่หารักใคร่ในภรรยาของตนยิ่งหนักหนา

ข้าแต่พระองค์ผู้เคยทรงเป็นสวามี ! โทษผิดแห่งพิมพาข้าพระบาทนี้
หากจะพึงมีในชาตินั้น โดยที่กอปรด้วยโมหันธ์ไม่ฟังเหตุผลประการใด
แล้วเข้าทำร้ายพระองค์ด้วยเท้าและด้วยปีก
ทั้งจิกด้วยปากให้ได้ความเจ็บปวดทุกข์ทรมานแล้วไซร้
ขอองค์สมเด็จพระจอมไตรโลกนาถ
จงทรงพระกรุณาอดโทษให้แก่ข้าพระบาทชื่อว่า พิมพา
ซึ่งจักขอถวายบังคมลาเข้าสู่นิพพานในวันนี้เสียเถิด พระเจ้าข้า

:b48: :b48:

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ต.ค. 2012, 10:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


พระนางมัทรี

รูปภาพ

ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นที่พึ่งแห่งสัตวโลกทั้งหลาย ! ในอดีตชาติล่วงแล้วแต่หนหลัง
ครั้งสุดท้ายเมื่อไม่นานมานี้ ขณะที่พระองค์ทรงเป็นพระโพธิสัตว์
บำเพ็ญพระพุทธบารมีใกล้จักสมบูรณ์เต็มที่
เสวยพระชาติเป็นหน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์ทรงพระนามว่าพระเวสสันดรทรงบุญราสี
ฝ่ายพิมพาข้าพระบาทนี้ก็ได้เป็นพระอัครมเหสีนามว่า พระนางมัทรียอดเยาวมาลย์
กาลนั้น เราทั้งสองได้ครองกรุงอดุลยเดชในเชตุดรธานีบุรีเมศร์
มีพระปิโยรสอัครเรศสองพระองค์ ทรงนามว่า เจ้าชาลีและกัณหา

กาลครั้งนั้น พระองค์ซึ่งทรงเป็นพระเวสสันดร ทรงพระราชศรัทธาใคร่บริจาคทาน
จึงทรงพระราชทานกุญชรชาติเผือกผู้เป็นทานแก่พราหมณ์เมืองกลิงครัฐ
ชาวพระนครพากันยกขึ้นเป็นอธิกรณ์แล้วขับให้ออกไปจากเมือง
พระองค์จึงทรงพาพระนางมัทรีและเจ้าชาลีกัณหาออกไปทรงพรต ณ เขาวงกตแห่งห้องหิมเวศ

แล้วยังมีพราหมณ์ธชีเชษฐ์ชื่อว่าชูชก ตามออกไปทูลขอสองดรุณทารก
เพื่อเอามาเป็นทาสีทาสา พระองค์ก็ทรงพระราชศรัทธาบริจาค
พรากพระลูกรักทั้งสองให้เป็นทานหวังจักแลกเอาพระโพธิญาณในอนาคตกาลเบื้องหน้า
ธชีชราก็พาสองโอรสเร่งรีบหนีกลัวนางพระยามัทรีจะมาทันแลขัดขวางไม่ให้สมปรารถนา

เพลาวันนั้นพระนางมัทรีเข้าไปสู่หิมวันต์ไพรสณฑ์เพื่อแสวงหาผลาผล
ครั้นย่ำค่ำสิ้นแสงพระสุริยน ก็จรดลกลับมายังบรรณศาลา
มิได้ทัศนาเห็นสองปิโยรสก็ให้ระทดพระทัยจะทูลถามพระราชสวามี สักเท่าใด
พระองค์ก็มิได้ตรัสให้แจ้งคดี นางพระยามัทรีก็ยิ่งมีความโศกเศร้าโศกา
อุตส่าห์เที่ยวตามหาสองกุมารพร้อมกับทรงพระกรรแสงสะอึกสะอื้นในคืนนั้นเหลือกำลัง
ตั้งตาสอดส่ายลัดเลี้ยวเที่ยวหาสิ้นมรรคาถึง๑๕ โยชน์
จนพระสุริยารุ่งโรจน์รวิวรรณ ก็กลับมาถึงบรรณศาลา
และสิ้นกำลังจึงถึงซึ่งวิสัญญีภาพสลบไป ณ ใกล้พระคันธกุฎี

พระเวสสันดรราชฤๅษีทอดพระเนตรเห็นเหตุร้ายนั้น
ก็ให้ทรงตะลึงงันมิอาจที่จะกำหนดว่าตนเป็นดาบสบรรพชิต
วิ่งเข้ามาด้วยกำลังพระกุรณาสงสาร ยกพระเศียรเกล้าของเจ้ามัทรีขึ้นวางเหนือพระเพลา
แล้วทรงเอาอุทกวารีมาสรงพระพักตร์ให้เย็นชื่น

เมื่อเจ้ามัทรีฟื้นคืนสมปฤดีรู้สึกกายละอายแก่บาป
จึงค่อยถอยถดลดพระองค์ลงมาถวายบังคม
แล้วก็ทูลถามถึงความเป็นไปของเจ้าชาลีกัณหา
พระดาบสราชสวามีก็แจ้งว่าทรงบริจาคให้เป็นทานแก่ธชีชูชกพราหมณ์ชรา
เพื่อผลพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณในอนาคตกาลภายภาคหน้า
นางพระยามัทรีทรงทราบเหตุผลฉะนี้ ก็ทรงมีพระทัยเกษมศรีภิรมย์
กระทำอนุโมทนาชื่นชมซึ่งปิยปุตตทานบารมียิ่งหนักหนา

ข้าแต่พระองค์ผู้เคยทรงเป็นสวามี ! โทษผิดแห่งพิมพาข้าพระบาทนี้
หากจักพึงมีในชาตินั้น โดยเป็นเหตุให้พระองค์ทรงพระกรุณาสงสาร
จนตะลึงงันมิอาจที่จะกำหนดว่าเป็นดาบสบรรพชิต
รีบวิ่งเข้ามายกเศียรเกล้าของข้าพระบาทซึ่งเป็นสตรีวางไว้เหนือพระเพลา
ทำให้พรหมจรรย์ของพระองค์เศร้าหมองไปชั่วขณะหนึ่งแล้วไซร้
ขอองค์สมเด็จพระจอมไตรโลกนาถ
จงทรงพระกรุณาอดโทษให้แก่ข้าพระบาทชื่อว่า พิมพา
ซึ่งจักขอถวายบังคมลาเข้าสู่นิพพานในวันนี้เสียเถิด พระเจ้าข้า

:b48: :b48:


ปฏิหาริย์พระราหุลอรหันต์

รูปภาพ

สมเด็จพระพิมพาภิกษุณีรำลึกอดีตชาติหนหลัง เฉพาะชาติที่ตนเคยพลั้งพลาด
อาจมีโทษผิด ต่อองค์สมเด็จพระพิชิตมาร ด้วยอำนาจแห่งบุพเพนิวาสานุสติญาณ
แล้วนำเอามากราบทูลพระกรุณาเพื่อให้องค์สมเด็จพระบรมศาสดา
ทรงอดโทษเป็นขมาปนกรรมฉะนี้แล้ว
จึงผินพักตร์มาเพ่งเล็งแลดูหน้าพระราหุลผู้ยอดปิโยรส แล้วเอ่ยวจีอำลาว่า

“พ่อราหุลเอ๋ย ! มารดานี้จะได้มีโอกาสเห็นหน้าของพ่อก็เป็นปัจฉิมที่สุดในวันนี้
โทษานุโทษอันใด ที่มารดานี้ได้เคยกระทำการโบยตีพ่อด้วยความขึ้งโกรธ
ตลอดเวลาที่ท่องเที่ยวในวัฏสงสารมานานแล้วหลายภพหลายชาติ
ขอพ่อจงอดโทษนั้นให้แก่มารดา ซึ่งจะขออำลาพ่อเข้าสู่นิพพานในวันนี้เสียเถิด”


องค์อรหันต์ท่านพระราหุลผู้ทรงญาณ ครั้นได้เสาวนาการวจีแห่งสมเด็จพระชนนีพิมพาเถรีเจ้า
ซึ่งจะเข้าสู่นิพพานดับขันธ์ไป ก็ให้บังเกิดความสังเวชในพระทัย
จึงน้อมกายถวายนมัสการสมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ซึ่งทรงเป็นพระชนก
แล้วกราบทูลขอพระบรมพุทธานุญาตว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระภาคพระเจ้าข้า
บัดนี้ สมเด็จพระมารดาของข้าพระบาทจักเสด็จลีลาศดับขันธ์เข้าสู่พระอมตมหานฤพานแล้ว
ข้าพระบาทจึงขอประทานพระบรมพุทธานุญาต
จะกระทำสักการบูชาเป็นปฏิการสนองพระคุณแห่งสมเด็จพระชนนีเป็นครั้งสุดท้าย
ขอองค์สมเด็จพระจอมไตรโลกนาถ จงทรงพระกรุณาประทานอนุญาต
ให้แก่ข้าพระบาทตามความประสงค์ด้วยเถิด พระเจ้าข้า”

ครั้นสมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ทรงประทานพระบรมพุทธานุญาตแล้ว
พระผู้เป็นเจ้าราหุลองค์อรหันต์ ก็มีจิตผ่องแผ้วกล่าวแก่พระมารดาว่า

“ข้าแต่สมเด็จพระชนนีที่มีคุณเป็นอันมาก!
แต่ปางก่อนเมื่อเราทั้งสองยังต้องท่องเที่ยวเวียนอยู่ในกระแสสังสารวัฏ
ได้เป็นแม่ลูกกันมาจะนับจะประมาณชาติก็นับไม่ถ้วนเลย
พระเดชพระคุณของมารดาที่มีอยู่แก่ลูกที่ชื่อว่าราหุลนี้มากมายหนักหนา
จะชั่งด้วยแผ่นพสุธาและน้ำในมหาสมุทร เขาพระสิเนรุและแผ่นฟ้าอากาศ ธรรมชาติทั้ง ๔ สิ่งนี้
เมื่อประมวลกันเข้ามาเป็นคู่ชั่งกับคุณของพระมารดา ก็เห็นว่าจะมีน้ำหนักน้อยกว่าเป็นไหนๆ

โอ้พระชนนีของลูกนี้เอ๋ย กระไรเลย จะพลัดพรากจากลูกเสียลับแล้วจริงหรือไฉน
พระคุณได้เคย อุ้มท้องประคองเลี้ยงรักษาตั้งแต่อยู่ในครรภ์มา
จนกระทั่งได้อุตส่าห์อาบน้ำป้อนข้าวเฝ้าถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดู
สู้อดตาหลับขับตานอนเมื่อยามลูกนี้ร่ำไห้ ฉะอ้อนแล้วก็รับขวัญ
ครั้นลูกพอรู้เจรจาตามประสาทารกยังมิทันรู้จักบาปบุญคุณแลโทษ
เมื่อพระชนนีอุ้มประคับประคองก็คะนองมือคะนองเท้าไปตามประสามิรู้จบ
บางทีก็ตบศีรษะและตีปากแห่งมารดา บางทีก็ปริภาสนาด่าว่าให้โดยวิสัยทารกน้อยไร้เดียงสา
พระมารดาก็มิได้โกรธขึ้งเพราะถึงแล้วซึ่งการุญจิต
หากว่าโทษผิดอันนี้ จะพึงบังเกิดมีแก่ลูกยาผู้ชื่อว่าราหุลนี้แล้วไซร้
ขอพระมารดาที่มีคุณใหญ่ไม่มีอะไรเปรียบปาน
จุ่งได้มีพระทัยกรุณาโปรดปรานประทานให้ซึ่งอภัยโทษ

อนึ่งโสด พระมารดากับราหุลนี้ ตั้งแต่เป็นพระชนนีและเป็นบุตรกันมา
พระมารดาก็ยังมิได้ทอดทัศนา
เห็นฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์แห่งลูกยาถนัดนัยนา แม้แต่สักครั้งหนื่งคราวเดียวเลย
วันนี้ลูกยาผู้ชื่อว่า ราหุล จักขอสนองพระคุณมารดา
ด้วยอิทธิปาฏิหาริย์เป็นอัศจรรย์ ดังนั้น ขอเชิญพระมารดาจงกรุณาทอดพระเนตร
และชมฤทธิ์เดชแห่งราหุลลูกยาในกาลบัดนี้เถิด พระเจ้าข้า”


พระภิกษุเจ้าชายราหุลองค์อรหันต์ผู้ทรงฌานแกล้วกล้า
รุ่งเรืองด้วยอภิญญาสมาบัติกล่าวฉะนี้แล้ว
ก็ผินพักตร์มาถวายนมัสการ องค์สมเด็จพระประทีปแก้วสมเด็จพระชนกธรรมราชาธิบดี
แล้วก็เหาะขึ้นไปบนนภากาศ กระทำปาฏิหาริย์ท่ามกลางสงฆ์สองฝ่าย
คือ พระภิกษุสงฆ์และพระภิกษุณีสงฆ์ ซึ่งมีองค์สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์เป็นประธาน
ให้ได้ทอดทัศนาการเห็นเป็นอัศจรรย์

โดยอธิษฐานองค์จำแลงแปลงกายเป็นท้าวมหาพรหมที่มีรูปกายใหญ่ล้ำมหึมา
ทรงรัศมีรุ่งเรืองประภัสสรเลื่อมพรรณรายสุดพรรณนา
พระหัตถ์เบื้องซ้ายนั้นจับเอาดวงพระสุริยา พระหัตถ์เบื้องขวาคว้าเอาดวงนิสากร
เอารูปพญาเขาอันบวรนามว่าสิเนรุราชมาทำเป็นคันฉัตร
เอารูปฉกามาพจรสวรรค์มาทำเป็นช่อชั้นเบื้องบนคันฉัตร
เด็ดเอาดวงนักขัตฤกษ์ทั้งหลายมา กระทำเป็นข้าวตอกโปรยปราย
แล้วน้อมเอาสมบัติในสัตตบริภัณฑ์คีรีทั้ง ๗ แต่ล้วนแล้วไปด้วยแก้วและทอง
มาประกับเข้าเป็นสายสร้อยสังวาลย์ประดับวรกาย
แล้วเหยียดยื่นเท้าลงไปหนีบคีบเอามัจฉาทั้ง ๗ ในท้องมหาสมุทร
แต่ละตัวใหญ่ยาวได้หลายร้อยโยชน์ สำแดงฤทธิ์ให้ปรากฏเห็นเป็นอัศจรรย์ฉะนี้
แล้วก็ร้องทูลพระชนนีพิมพามาแต่เบื้องบนนภากาศว่า

“ข้าแต่พระชนนีของลูกยา ! ขอเชิญพระมารดาจงชมปาฏิหาริย์ให้ถนัดนัยนา
ข้าแต่พระมารดาบังเกิดเกล้า ! ขอเชิญพระแม่เจ้าจงชมเชยฤทธาศักดาเดช คุณวิเศษ
อันลูกยาผู้ชื่อว่าราหุลกระทำเพื่อสนองคุณพระมารดา ในกาลบัดนี้เถิดพระเจ้าข้า”

พระภิกษุณีพิมพาเถรี ซึ่งจะถึงแก่ชีพิตักษัยล่วงลับดับขันธ์เข้าสู่นิพพานไป
ครั้นได้ทอดทัศนาการเห็นปาฏิหาริย์เป็นมหัศจรรย์ดั่งนั้น
พระนางก็ประณมหัตถ์ทั้งสองขึ้นซ้องสาธุการ ชมเชยพระฤทธิ์พระเดชของพระลูกยาอยู่ไม่ขาดปาก พอควรแก่กาลแล้วก็เชิญให้เสด็จลงมาจากนภากาศ
รูปเนรมิตปาฏิหาริย์นั้นก็อันตรธานหายกลายเป็นพระภิกษุหนุ่มราหุลองค์อรหันต์ดั่งเก่า

แล้วพระนางเจ้าก็กล่าวสรรเสริญคุณพระราหุลปิโยรส
ให้ปรากฏแก่หมู่ภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์อีกเป็นอันมาก
ในที่สุดพระนางก็รำลึกถึงอดีตชาติหนหลัง
ครั้งเจ้าราหุลอรหันต์อุบัติเกิดเป็นสุวรรณทีปกุมาร
ด้วยอำนาจแห่งบุพเพนิวาสานุสติญาณ
แล้วนำเอามาพรรณนาในท่ามกลางบริษัทสองฝ่าย
ซึ่งมีสมเด็จพระจอมไตรโลกนาถเจ้าเป็นประธาน
เพื่อสรรเสริญคุณของพระราหุลอรหันต์ซ้ำอีกว่าดังนี้


สุวรรณทีปกุมาร

ดูกร พ่อเอ๋ย พ่อราหุล ! พ่อนี้จะได้มีน้ำจิตคิดสนองคุณแก่มารดา แต่เพียงในกาลบัดนี้ก็หามิได้
ตั้งแต่เป็นแม่ลูกกันมาในวัฏสงสาร มารดานี้ได้เห็นน้ำใจพ่อ
ที่มีความห่วงใยรักใคร่ในมารดามามากกว่ามากนัก
จักยกมากล่าวแต่เพียงคราวครั้งเดียว เพราะเวลาของมารดาที่เหลืออยู่นี้มีน้อยหนักหนา
ก็ในกาลปางก่อนอันเป็นอดีตชาติหนหลัง

ครั้งศาสนาสมเด็จพระพุทธองค์ทรงพระนามว่า พระพรหมชาลสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น
มารดานี้บังเกิดเป็นราชกุมารี ภายหลังได้เป็นเอกอัครมเหสีของพระเจ้าพรหมทัตต์ราชาธิบดี
พระองค์ทรงเป็นใหญ่ครองราชสมบัติในพระนครพาราณสี
ในขณะที่มารดาทรงครรภ์ วันหนึ่งเกิดวิบัติอาเพศเหตุว่าห่าฝนใหญ่ได้ตกถึง ๗ ทิวา ๗ ราตรี
น้ำท่วมเมืองพาราณสีสุดที่มนุษย์จักอาศัยอยู่ได้ ก็พากันพินาศจมน้ำตายเป็นอันมากกว่ามาก

ครั้งวิกฤตการณ์นั้น มารดานี้ได้เกาะขอนไม้ลอยไปตามกระแสน้ำ
พอขึ้นบกได้ที่เกาะใหญ่ซึ่งมีอยู่ที่กลางมหาสมุทร ก็ประสูติพระโอรสงามโสภา
มารดาจึงตั้งนามตามเหตุโดยให้ชื่อว่าเจ้าสุวรรณทีปกุมาร
ค่อยอภิบาลรักษาเลี้ยงบำรุงเจ้าไปตามประสายาก
อยู่กันสองคนแม่ลูกที่เกาะกลางมหาสมุทรนั้น
จนเจ้าสุวรรณทีปกุมารมีชนมพรรษาได้ ๘ ขวบ

กาลวันหนึ่ง มารดานี้เข้าไปสู่ป่าเพื่อแสวงหาผลาผลมาเลี้ยงดูกัน
ได้ไปประจันหน้ากับยักษาตนหนึ่งซึ่งมีนามว่าอาฬวกาสูรผู้ดุร้าย
มันก็จับเอามารดาไปยังที่อยู่อาศัย เพื่อประสงค์จะกินเป็นภักษาหาร
เมื่อได้เพลาสายัณห์ตะวันรอน เจ้าสุวรรณทีปกุมารบวรดนัยไม่เห็นพระมารดากลับมาเหมือนทุกวัน
ก็ถลันแล่นเข้าไปสู่ป่า เฝ้าตะโกนกู่ก้องร้องเรียกหาไปตามวิสัยทารกที่เกิดมาเห็นแต่เพียงมารดา
จนล่วงเข้ายามราตรีดึกดื่นค่อนคืนอย่างไร เจ้าก็ไม่ละความพยายาม
เฝ้าติดตามกู่ก้องร้องเรียกเพรียกหามารดาไป จนพระอาทิตย์อุทัยไขแสงทองส่องอร่ามฟ้า
จึงได้มาถึงแดนยักษาที่จับมารดาไว้ มารดาจำเสียงได้ก็ให้ตระหนกตกใจหนักหนา
จึงร้องห้ามด้วยความรักแลห่วงใยสุดใจว่า

“ดูกรพ่อสุวรรณทีปเอ๋ย ! พ่ออย่าล่วงเลยเข้ามาที่นี่
ด้วยว่าที่นี่เป็นแดนยักษามันจับเอามารดาไว้แล้ว
ขอลูกแก้วจงรีบหนีเอาตัวรอดเถิด กลับไป !
ขอลูกจงรีบกลับไปเถิดอย่าชักช้า จงฟังมารดาว่า แล้วรีบกลับไปเดี๋ยวนี้”


เจ้าสุวรรณทีปกุมารอายุ ๘ พรรษา เมื่อได้ฟังมารดาร้องห้ามดั่งนั้น
จะได้มีความพรั่นพรึงแก่ความตายก็หามิได้
กลับวิ่งเข้าไปจนถึงสำนักของเจ้าอาฬวกายักษ์ผู้ดุร้ายแล้วกล่าวคำวิงวอนขึ้นว่า

“ดูกรยักษาเอ๋ย ! มารดาแห่งเราที่ท่านจับเอามาขังไว้นี้
ท่านมีอายุมากทั้งเนื้อหนังมังสาก็เหี่ยวแห้งไม่มีมันแล้ว
การที่ว่าท่านจะบริโภคมารดาของเรานี้ไซร้ ย่อมหาความเอร็ดอร่อยอันใดมิได้
ตัวเรานี้สิ ยังหนุ่มแน่นจะขอตายแทนมารดา
ทั้งเนื้อหนังมังสาของเราก็เต่งตึงแน่นแฟ้นและมากไปด้วยมัน
ควรแก่การที่จะบริโภคให้เป็นที่สำราญยิ่งนัก หากท่านจักรักษาสัตย์แล้วไซร้
เราจักให้บริโภคตัวเราแทน แล้วจงปล่อยมารดาของเราให้มีชีวิตยืนยาวต่อไปเถิด”

อาฬวกาสูรผู้มีเนื้อเป็นภักษาหาร ได้เสาวนาการดั่งนั้น
ก็เห็นชอบด้วยเหตุผลที่เจ้าสุวรรณทีปกุมารว่า จึงปล่อยนางกษัตริย์ที่เป็นมารดานั้น
และจับเอาตัวสุวรรณทีปกุมารแสดงอาการจะหักคอบริโภคเป็นภักษาหาร
กุมารผู้มีกตัญญูจึงร้องประกาศแก่หมู่เทพยดาและอธิษฐานว่า

“ครั้งนี้ ข้าพเจ้าขอสละชีพแทนพระมารดา หากว่าข้าพเจ้าเกิดในภายหน้า
ขอให้พระมารดาและข้าทั้งสองเราได้เป็นแม่ลูกพบกันทุกๆชาติ
ตราบเท่าจนถึงชาติที่ได้สำเร็จพระนิพพาน”


อธิษฐานได้เพียงเท่านี้ จอมอสุรีอาฬวกายักษ์ก็หักคอสุวรรณทีปกุมาร
บริโภคเป็นภักษาหารเสียต่อหน้าพระชนนี

“พ่อเอ๋ย พ่อราหุลของชนนี! มารดาแห่งพ่อชื่อว่าพิมพานี้
จะได้เห็นน้ำใจดีของพ่อที่มีกตัญญูรู้คุณแต่เพียงในชาตินี้ ก็หามิได้
แม้ในชาติก่อน ถึงจะเป็นเพียงกุมารไร้เดียงสา พ่อก็ยังมีน้ำใจกตัญญูสนองคุณมารดา
จะได้เป็นผู้ชั่วช้าแต่อย่างใด ก็หามิได้เลย พ่อเอ๋ย พ่อราหุลของชนนี !
ขอพ่อจงค่อยอยู่ดีเป็นผาสุกเถิด มารดานี้จะไม่ได้เกิดเป็นแม่ลูกกับพ่ออีกแล้ว
จะขอลาลูกแก้วเข้าสู่นิพพานในวันนี้ขอพ่อจงมองหน้าชนนีไว้ให้เต็มนัยตา”

ขณะที่สมเด็จพระนางพิมพาภิกษุณี และพระอรหันต์ราหุลบวรดนัย
ต่างก็ร่ำลาขอขมาและอภัยโทษกันอยู่นี้ ธรรมสังเวชได้บังเกิดมีในมหาสมาคมสุดประมาณ
กาลครั้งนั้นสมเด็จพระสรรเพชญ์บรมศาสดาจารย์
ซึ่งทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแห่งเราชาวพุทธบริษัททั้งหลาย
พระองค์ทรงได้โอกาสที่จักให้พระพิมพาภิกษุณีอดโทษบ้าง
จึงทรงมีพระพุทธฎีกาตรัสขึ้นในท่ามกลางพุทธบริษัทว่า

“ดูกรเธอผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย ! ตั้งแต่เราตถาคตสร้างพระพุทธบารมี
เพื่อพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ เกิดร่วมกันมากับเจ้าพิมพาภิกษุณีในวัฏสงสารมานาน
เป็นอเนกอนันต์นับชาติมิได้นั้น
ก็ย่อมมีการก้ำเกินประมาทพลาดพลั้งแก่กันแลกันบ้างเป็นธรรมดา
ด้วยว่า เป็นผู้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาช้านาน
กาลบัดนี้ถึงคราวที่เจ้าจักดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพานเสียแล้ว
และคุณของเจ้าก็มีอยู่แก่เราตถาคตเป็นอันมาก
ดังนั้น เราตถาคตจะยังเจ้าพิมพาให้อดโทษที่เคยมีมาในกาลบัดนี้เสียก่อนจึงจะควร”


สมเด็จพระสัพพัญญูเจ้า ครั้นตรัสแก่เหล่าพุทธบริษัททั้งหลายในมหาสันนิบาตฉะนี้แล้ว
ก็ทรงผินพระพักตร์มาตรัสกับสมเด็จพระนางพิมพาภิกษุณี
โดยพระพุทธฎีกาขมาปนกถาให้พระนางทรงอดโทษแต่อดีตโดยประการทั้งปวงแล้ว
และเพื่อที่จะทรงแสดงคุณแห่ง พระนางให้ปรากฏ
สมเด็จพระตถาคตเจ้าผู้มีพระญาณอันไม่ข้องขัด
จึงนำเอาเรื่องในอดีตชาติมาตรัสขึ้นในท่ามกลางพุทธบริษัททั้งหลาย ดังต่อไปนี้


ภัททิยเศรษฐี

อดีตชาติล่วงแล้วหนหลัง ครั้งศาสนาแห่งสมเด็จพระปทุมุตรสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น
เราตถาคตได้เกิดเป็นเศรษฐีมีนามว่าภัททิยเศรษฐีมีอาชีพเป็นนายพาณิชพ่อค้าสำเภา
ส่วนเจ้าพิมพานี้เกิดเป็นกุมารีงามโสภา นามว่า ปติครุกา
ภายหลังต่อมาได้เป็นบาทบริจาริกาแห่งภัททิยเศรษฐีนั้น

กาลวันหนึ่ง ภัททิยเศรษฐีมีกิจจะต้องเดินทางโดยสำเภาไปค้าขายยังเมืองสุวรรณภูมิ
เป็นเวลาช้านานจะประมาณวันเดือนปีมิได้ดังนั้น
ก่อนที่จะออกเดินทางจึงสั่งนางปติครุกาไว้ว่า เจ้าอยู่ข้างหลังจงตั้งใจอย่าได้ประมาท
เร่งระวังรักษาตัวเจ้าและทรัพย์สมบัติไว้ให้ดี
ครั้นสามีออกเดินทางไปแล้ว นางปติครุกาก็กระทำตามคำสั่งสามีทุกสิ่งทุกประการ

สมัยนั้น สมเด็จพระปทุมุตรสัมมาสัมพุทธเจ้า
เสด็จพุทธดำเนินโปรดสัตว์มาจนถึงเมืองพาราณสี อันเป็นเมืองของภัททิยเศรษฐี
นางปติครุกาภริยาแห่งภัททิยเศรษฐีเจ้ามีศรัทธา
ทูลอาราธนาสมเด็จพระพุทธเจ้าพร้อมกับพระอริยสงฆ์องค์บริวาร
ให้เข้าไปรับอาหารบิณฑบาตที่คฤหาสน์ของนาง

ครั้นเสร็จภัตกิจแล้ว สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ก็ทรงประทานพระธรรมเทศนาภัตตานุโมทนา
แสดงผลานิสงส์แห่งบิณฑบาตทาน นางปติครุกาได้สดับพระธรรมเทศนาจบลงแล้ว
ก็มีจิตผ่องแผ้วกอปรด้วยศรัทธากล้าหาญปสันนาการเลื่อมใส
จึงกราบทูลอาราธนาพระองค์ไว้มิให้เสด็จไปสู่นครอื่น
แล้วได้บริจาคทรัพย์สมบัติมากมายออกจำหน่ายจ่ายสร้างพระวิหาร
วันฉลองพระวิหารก็ได้ถวายไตรจีวรเย็บย้อมเป็นอันดี
ในขณะที่สมเด็จพระพุทธองค์กับทั้งพระสงฆ์สาวกบริวาร
เสด็จมารับมหาทานในพิธีการฉลองพระวิหารนั้น นางก็หลั่งทักษิโณทก
ให้ตกลงเหนือฝ่าพระหัตถ์แห่งสมเด็จพระพุทธองค์เจ้าแล้ว จึงตั้งปณิธานความปรารถนาว่า

“ข้าพเจ้าขออุทิศส่วนผลานิสงส์นี้ ส่งไปให้สามีของข้าพเจ้าผู้ชื่อภัททิยเศรษฐี
เดชะผลทานนี้ ขอให้สามีของข้าพเจ้าประกอบไปด้วยสิริสวัสดี
นิราศปราศจากภัยอันตรายในมหาสมุทร”

สมเด็จพระพุทธองค์เจ้าจึงทรงอนุโมทนาว่า
ขอความปรารถนาของเจ้าจงสำเร็จดั่งมโนรถเถิด
แล้วก็ประทับอยู่ในพระวิหารตามคำอาราธนาของนาง
ข้างทางภัททิยเศรษฐีหลังจากที่ฟันฝ่าอุปสรรคอันตรายในท่ามกลางมหาสมุทรใหญ่
เดินทางไปค้าขายยังสุวรรณภูมินคร ครบกำหนดนานถึง ๓ ปี
แล้วจึงได้กลับมาถึงคฤหาสน์แห่งตนที่เมืองพาราณสีโดยปลอดภัย

แต่พอมาถึงและนั่งลงแล้ว นางปติครุกาภริยาก็แจ้งความตามที่นางได้บำเพ็ญกองการกุศลต่างๆ
แล้วพาสามีไปสู่พระวิหารที่ตนสร้างไว้ในพระบวรพุทธศาสนา
เพื่อให้สามีได้ชื่นชมโสมนัสในมหากุศล
ชวนกันเข้าไปถวายอภิวาทแทบพระยุคลแห่งองค์สมเด็จพระทศพลปทุมุตรสัมมาสัมพุทธเจ้า
ซึ่งยังประทับอยู่ที่พระวิหารนั้น

ครั้นภัททิยเศรษฐีเพ่งพิศพินิจดูสมเด็จพระสัพพัญญูเจ้า
ก็ยิ่งบังเกิดความศรัทธาออกวาจาสรรเสริญสดุดีว่า
สมเด็จพระบรมศาสดาเป็นผู้ทรงพระเดชพระคุณอันล้ำเลิศประเสริฐกว่าสรรพสัตว์ในไตรภพ
ทรงรบชนะซึ่งปัญจวิธมารได้อย่างจริงแท้แน่นอนโดยมิต้องสงสัย
สดุดีฉะนี้แล้ว ก็มีสกลกายและดวงหฤทัยเต็มตื้นไปด้วยกำลังปีติโสมนัสยิ่ง
แล้วจึงมีสุนทรวาจากล่าวกับภริยาว่า

“ดูกรเจ้าซึ่งมีพักตร์อันเจริญ! เจ้านี่เป็นคนดีหนักหนา
มีจิตศรัทธากอปรด้วยปัญญาสร้างมหากุศลไว้ในพระบวรพุทธศาสนาเห็นปานฉะนี้
คราวนี้ นับว่าเป็นบุญลาภของเราทั้งสองแล้ว
ด้วยว่าเราจักได้สำเร็จพระโพธิญาณก็เพราะการกุศลนี้”

ภัททิยเศรษฐีผู้มีศรัทธา ปลงปัญญาให้เห็นตามความเป็นจริงดั่งนี้แล้ว
ก็มีจิตผ่องแผ้วน้อมกายถวายนมัสการสมเด็จพระปทุมุตรสัมมาสัมพุทธเจ้าครั้งแล้วครั้งเล่า
แล้วจึงออกโอษฐ์ตั้งความปรารถนาเอาพระพุทธภูมิโพธิญาณ
เฉพาะพระพักตร์สมเด็จพระปทุมุตรบรมศาสดาจารย์ ด้วยประการฉะนี้

สมเด็จพระชินสีห์สัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อทรงนำเอาเรื่องในอดีตชาติมาตรัสเล่า
ณ ท่ามกลางมหาสังฆสันนิบาตจบลงแล้ว
จึงทรงมีพระพุทธฎีกาตรัสแก่สมเด็จพระพิมพาภิกษุณีอีกว่า

“ดูกรเจ้าพิมพา อันตัวเจ้านี้มีคุณแก่เราตถาคตมาแต่กาลก่อน
เราตถาคตจักได้สำเร็จแก่พระบวรสัมโพธิญาณ ก็เพราะอาศัยเจ้าเป็นส่วนสำคัญ
ตลอดเวลาที่ยังต้องท่องเที่ยวอยู่ในวัฏสงสาร
เราทั้งสองนี้เคยร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา
เราเคยกระทำบุญให้ทานการกุศล ร่วมกันมา

ตั้งแต่นี้ต่อไปเบื้องหน้า เราทั้งสองนี้จะขาดจากวิสาสะกันแล้ว
การที่ว่าจะได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันอีกต่อไปก็หามิได้
ด้วยว่าเจ้าจะดับขันธ์เข้าสู่อมตมหานฤพานไป

นับวันแต่จะไกลกันแล้ว จะได้มีโอกาสช่วยเราตถาคตเพิ่มบารมีอีกก็หามิได้
โทษผิดอันใดที่เจ้าเคยมีต่อเราตถาคตแต่ปางก่อน
วันนี้เป็นวันที่เราตถาคตอดโทษให้แก่เจ้าจนหมดสิ้น
อนึ่ง โทษานุโทษอันใด ที่เราตถาคตได้เคยประมาทล่วงเกินเจ้า
ด้วยความพลาดพลั้งทั้งลับหลังและต่อหน้าตลอดเวลา
ที่ยังต้องท่องเที่ยวเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร
ขอเจ้าจงอดโทษานุโทษนั้น ให้แก่เราตถาคตเสียให้สิ้น
แล้วจงดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพานอันเป็นเอกันตบรมสุขไปก่อนเถิดนะ เจ้าพิมพา”


สมเด็จพระบรมศาสดาทรงมีพระพุทธฎีกาตรัสฉะนี้แล้ว
ก็ทรงนิ่งเฉยมิได้ตรัสประการใดอีก ด้วยทรงเห็นว่าเวลายังเหลือน้อยแล้วขณะนั้น
สมเด็จพระนางพิมพาภิกษุณีจึงมีวาจาทูลลาเป็นครั้งสุดท้ายว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระสวัสดิภาคเป็นอันงาม
พระองค์ทรงเป็นที่พึ่งแห่งปวงประชาสัตว์ในโลก พระเจ้าข้า
ในอเนกบุรพชาติแต่ก่อนมา ข้าพระบาทพิมพานี้
ได้เคยร่วมสร้างบารมีกับด้วยพระองค์เป็นอันมากกว่ามาก

ตั้งแต่นี้ไปพิมพาข้าพระบาทนี้ก็จะไม่ได้ร่วมบารมี กับด้วยพระองค์อีกแล้ว
อนึ่ง แต่บุรพชาติล่วงแล้วมา เมื่อยังต้องท่องเที่ยวอยู่ในวัฏสงสาร
พิมพาข้าพระบาทจะได้ขาดวิสาสะคุ้นเคยกับพระองค์ก็หามิได้
ด้วยเป็นที่สบอัธยาศัยพอใจร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา
พิมพาได้ทุกข์พระองค์ก็พลอยทุกข์ด้วย พิมพาได้สุขพระองค์ก็พลอยสุขด้วย
เหมือนกันดั่งเช่นในกาลที่เกิดเป็นกินนร
สมัยสมเด็จพระชินวรโลกนาถอภินันทสัมมาสัมพุทธบพิตร

จริงอยู่ สมัยที่สมเด็จพระอภินันทสัมมาสัมพุทธบพิตรผู้ประเสริฐทรงอุบัติเกิดในโลกนั้น
พระองค์ทรงเสวยพระชาติเป็นพญากินนร แม้พิมพาข้าพระบาทนี้ก็ได้เกิดเป็นนางกินรีเทวี
และได้สมัครรักใคร่เป็นสามีภรรยากันด้วยเสน่หา พญากินนรและนางกินรีทั้งสองนั้น
พากันไปเที่ยวเล่นเป็นที่เริงสราญใจ ที่จอมเขาประดับด้วยไม้นานาพรรณบ้าง
พากันไปเที่ยวเล่นที่ป่าใหญ่ประดับด้วยบุปผาสุมาลัยหลากสีเป็นที่น่ารื่นรมย์แห่งใจ
บ้างพากันเที่ยวที่ริมฝั่งน้ำมีหาดทรายขาวสะอาดตาน่าทัศนา
ทั้งสองสามีภรรยาพากันเที่ยวเล่นเป็นที่สำราญสนุกทุกวัน

อยู่มาวันหนึ่ง พญากินนรและนางกินรีเทวีสองสามีภรรยาพากันไปเที่ยวเล่นที่ริมฝั่งน้ำ
เที่ยวเก็บเอาดอกไม้บุปผชาติหลากสีมีกลิ่นหอมมาปูลาดเหนือหาดทรายให้มาก
แล้วก็ชวนกันนอนเล่นเหนือดอกไม้นั้นเป็นที่สุขสำราญรื่นรมย์แห่งใจ
เมื่อบังเกิดความสุขสบายจึง พากันหลับไหลอยู่ในสถานที่นั้นนานเท่านาน
จนน้ำในมหาสมุทรไหลท่วมขึ้นมาเป็นอันมากด้วยว่าเป็นเวลาน้ำขึ้น
ท่วมขึ้นมาจนถึงที่ซึ่งกินนรทั้งสองนอนอยู่

เมื่อรู้สึกตัวได้สมปฤดีสองกินนรก็ให้มีความตกอกตกใจกลัวอุทกภัย
จึงพากันว่ายน้ำหลงไปแต่ละทิศละทาง เมื่อต่างก็หนีน้ำไปจนขึ้นเขาได้แล้วจึงเที่ยวตามหากัน
แต่มิได้พบมิได้เห็นกัน จึงต่างก็ร้องไห้ปรารภถึงกัน อาลัยรักรำพันถึงกัน
เป็นทุกข์เป็นร้อนถึงกันและกันหนักหนา เที่ยวตามหากันอยู่ตลอดราตรี
พอสุรีย์ไขแสงทองส่องโลกรุ่งเช้า ครั้นมาพบกันเข้าแล้ว
ต่างก็โผเข้ากอดกันและกันร้องไห้รำพันไปต่างๆนานา
ด้วยความเสน่หาอาลัยในกันและกันยิ่งหนักหนา
มาตรว่าจะจากกันเพียงราตรีหนึ่งไม่ถึงทิวา
ก็มีครุวนาดุจว่าจะจากกันได้ถึง ๗ ปี ก็ปานกันนะ พระเจ้าข้า

ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ !
แต่ปางก่อนที่ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร
พระองค์กับพิมพาข้าพระบาทจะได้ขาดวิสาสะคุ้นเคยกันก็หามิได้
ด้วยเป็นที่สบอัธยาศัยพอใจและมีความเสน่หาอาลัยรักใคร่กันมานานช้า
ตั้งแต่นี้ไปจะสิ้นวิสาสะกันความสัมพันธ์อันเคยมีแต่ปางก่อนก็จะขาดสะบั้นลงเสียแล้ว
ด้วยว่า ข้าพระบาทที่ชื่อว่าพิมพานี้จะขอกราบถวายนมัสการ
ลาฝ่าพระบาทยุคลทั้งคู่ของสมเด็จพระสัพพัญญูเจ้า ดับขันธ์เข้าสู่เมืองแก้ว
กล่าวคือ พระอมตมหานฤพาน

ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระสัพพัญญุตญาณ!
กาลนี้ก็เป็นกาลอันควรที่จะไปสถานที่ดับขันธ์เข้าสู่อมตมหานฤพานแล้ว
พิมพาข้าพระบาทขอฝาก พระลูกแก้วราหุลด้วย
ขอพระองค์จงทรงช่วยอภิบาลบำรุงรักษา
พิมพาข้าพระบาทนี้ขอกราบทูลลาพระองค์แล้ว...”


เมื่อสมเด็จพระนางพิมพาภิกษุณีเถรี ถวายบังคมลาเป็นครั้งสุดท้ายฉะนี้
สมเด็จพระชินสีห์เจ้าจึงทรงมีพระมหากรุณาตรัสถามว่า

“ดูกรเจ้าพิมพาเอ๋ย ! เจ้าจะไปดับขันธ์นิพพาน ณ สถานที่ใดเล่า?”

“พิมพาข้าพระบาทนี้ จะไปดับขันธ์เข้าสู่นิพพานที่อารามพระภิกษุณี
ซึ่งมีอยู่ข้างทิศอุดรแห่งนครสาวัตถี พระเจ้าข้า”


สมเด็จพระนางพิมพาภิกษุณีเถรี กราบทูลดั่งนี้แล้ว
ก็เฝ้าถวายบังคมที่แทบพระยุคลบาทแห่งองค์สมเด็จพระประทีปแก้วอยู่หลายครั้งหลายหนหนักหนา
แล้วจึงค่อยถดถอยออกมา พาพระภิกษุณีสงฆ์ที่เป็นบริวารออกจากที่เฝ้าแต่กาลนั้น
ซึ่งเป็นเพลาปัจจุสมัยใกล้จะรุ่งสางสว่างแล้ว

:b55: :b55:

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ต.ค. 2012, 10:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


สมเด็จพระพิมพาดับขันธนิพพาน

สมเด็จพระเจ้าปเสนทิโกศลมหาราช ได้ทรงเสาวนาการว่า
พระนางพิมพาภิกษุณีจักดับขันธ์เข้าสู่นิพพาน
ก็เสด็จออกจากพระบรมมหาราชวังมาเฝ้าคอยอยู่ที่บริเวณพระมหาวิหารเป็นเวลานาน
ครั้นทอดพระเนตรเห็นพระนางออกมาจากที่เฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พร้อมกับภิกษุณีสงฆ์บริวาร จึงทรงกรากเข้าไปถวายนมัสการแล้วอาราธนาว่า

“ข้าแต่สมเด็จพระแม่เจ้า! ปราสาทยอดของโยมนี้สร้างไว้ที่ริมพระเชตวันมหาวิหาร
อันมีชื่อว่ากูฏาคาร ที่นั่นเป็นสถานที่สบายนัก
ขออาราธนาสมเด็จพระแม่เจ้าจงไปเข้าสู่นิพพาน ณ ที่นั่นเถิด”


“ดูกรมหาบพิตรพระองค์ผู้ทรงคุณอันประเสริฐ!
กูฏาคารนั้น มิใช่สถานที่อันควรแก่การที่ภิกษุณีสงฆ์จักเข้าสู่พระปรินิพพาน
ด้วยว่ากูฏาคารนั้นเป็นพุทธสถานที่สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์เคยประทับ
ไม่ควรแก่อาตมภาพซึ่งเป็นสตรี ขอถวายพระพร”

สมเด็จพระนางพิมพาภิกษุณีทูลตอบพระบรมกษัตริย์ปเสนทิโกศลมหาราชว่าดังนี้

ลำดับนั้น บรรดามหาเศรษฐีและคฤหบดีทั้งหลาย ซึ่งมีความเคารพเลื่อมใสในพระนาง
ทั้งล้วนเป็นอุปัฏฐากใหญ่ในพระพุทธศาสนา เป็นต้นว่า ท่านอนาถบิณฑิกมหาเศรษฐี
จุลอนาถบิณฑิกเศรษฐี นางวิสาขามหาอุบาสิกา นางสุปวาสามหาอุบาสิกา
แม้ว่าแพทย์หลวง หมอชีวกโกมารภัจจ์
ซึ่งมีศรัทธาปรารถนาจักให้สมเด็จพระนางพิมพาเถรีภิกษุณีเจ้าไปเข้าสู่นิพพานในอารามที่ตนสร้างไว้
จึงต่างคนต่างก็เข้าไปถวายนมัสการที่พระบาทแล้วทูลอาราธนา
แต่ก็ถูกสมเด็จพระนางปฏิเสธเสียสิ้น โดยอ้างว่าเป็นพุทธสถาน
ไม่ควรแก่การที่พระภิกษุณีจักเข้าไปใช้ร่วม แม้จะเป็นการดับขันธ์เข้าสู่พระนิพพานก็ตามที

แล้วพระนางก็ค่อยจรลีโดยบ่ายพระพักตร์ไปยังอารามของนางภิกษุณี
ซึ่งเป็นสถานที่อันตั้งพระหฤทัยว่าจักดับขันธ์เข้าสู่นิพพานที่นั่น

สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์สัพพัญญูเจ้า จึงทรงมีพระมหากรุณา
ดำรัสสั่งพระเจ้าปเสนทิโกศลมหาราชในขณะนั้นว่า

“ดูกรมหาบพิตรพระราชสมภาร ! ขอพระองค์พร้อมกับอำมาตย์ราชบริพาร
จงรีบเสด็จไปก่อนเจ้าพิมพา จงไปจัดการตกแต่งประดับประดา ณ สถานที่
ซึ่งเจ้าพิมพาจะดับขันธ์เข้าสู่นิพพานที่อารามของนางภิกษุณีให้เป็นที่เรียบร้อย
ก่อนที่เจ้าพิมพาไปถึงจึงจะควรนะมหาบพิตร แล้วเราตถาคตจะติดตามไปในภายหลัง”


ได้ทรงสดับพระพุทธดำรัสสั่งดั่งนั้น สมเด็จพระบรมกษัตริย์ปเสนทิโกศลมหาราช
ก็ทรงน้อมพระองค์ลงถวายนมัสการที่พระยุคลบาทของสมเด็จพระชินวร
แล้วก็รีบเสด็จพาอำมาตย์ราชบริพารด่วนจรไปยังอารามนางภิกษุณี
โดยมีบรรดามหาเศรษฐีคฤหบดี และพราหมณ์ มหาศาลตามเสด็จไปด้วย

ครั้นถึงแล้ว ต่างคนก็เร่งรัดจัดการตกแต่งเครื่องสักการบูชา
เป็นต้นว่าประทีปธูป เทียนธงฉัตรและดอกไม้ให้เป็นสถานที่อันวิจิตรอลังการ
ควรแก่เป็นสถานดับขันธปรินิพพานแห่งสมเด็จพระนางพิมพาภิกษุณีซึ่งมีบุญอันยิ่งใหญ่
แล้วสมเด็จพระเจ้าปเสนทิโกศลผู้มีความเคารพเลื่อมใสในพระแม่เจ้าเป็นอันมาก

จึงมีพระบรมราชโองการ ตรัสสั่งให้ปูลาดด้วยสุจหนี่ยี่ภู่พระเขนยทอง
เบื้องบนให้ดาดเพดานห้อยย้อยไปด้วยบุปผาชาติอันมีกลิ่นหอมสุมาลัย
แล้วให้วงด้วยพระวิสูตรสุวรรณรัตนะ ตามด้วยอัจกลับประทีปแก้วแล้วรายราชวัตรฉัตรธง
ประดับเครื่องสูงสำหรับขัตติยมหาศาล แล้วให้ตั้งพานพนมแก้วพนมทอง
และพนมบุปผาชาติต่างๆ มีทั้งธูปเทียนชวาลา ไว้คอยท่ารับเสด็จจนเสร็จเรียบร้อยเป็นอันดี

ก็เป็นเวลาที่สมเด็จพระนางพิมพาเถรี
ซึ่งมีพระภิกษุณีสงฆ์พันหนึ่งแวดล้อมเดินทางมาถึงพอดี
สมเด็จพระเจ้าปเสนทิโกศลบรมกษัตริย์จึงสั่งให้มหาอุบาสก ๒ คน
คือ อนาถบิณฑิกมหาเศรษฐี และจุลอนาถบิณฑิกมหาเศรษฐี
กับมหาอุบาสิกา ๒ คน คือ นางวิสาขามหาอุบาสิกา และนางสุปวาสามหาอุบาสิกา
ให้ออกไปเชิญเสด็จสมเด็จพระนางพิมพาเถรีภิกษุณีเจ้าเข้าไปภายใน

ครั้นเสด็จเข้าไปถึงแล้ว สมเด็จพระเจ้าปเสนทิโกศลก็อาราธนาให้เสด็จขึ้นไปสู่พระแท่นที่บรรทม
สมเด็จพระนางพิมพาเถรีภิกษุณีเจ้าได้เสาวนาการคำอาราธนาของพระราชาธิบดีแล้ว
จึงเสด็จขึ้นสู่พระแท่นที่บรรทม เอนพระองค์ลงไสยาสน์เหนืออาสนะอันวิจิตรอลังการ์นั้น
มหัศจรรย์ก็ดลบันดาลบังเกิดมีเป็นประการต่างๆไปจนกระทั่งถึงพรหมโลก

ฝูงเทพเจ้าในฉกามาพจรสวรรค์ และบรรดามหาพรหมทั้งหลาย
ครั้นได้ทราบความว่าสมเด็จพระนางพิมพาเถรีภิกษุณีเจ้า
จะดับขันธ์เข้าสู่นิพพานในกาลวันนั้น ต่างองค์ต่างก็จัดแจงซึ่งเครื่องสักการบูชา
รีบออกจากเทพยวิมานเมืองสวรรค์ชั้นฟ้าลงมาสู่อารามภิกษุณี เมืองสาวัตถีมหานคร

ใช่แต่เทวดาอินทร์พรหมเท่านั้นก็หามิได้ แม้แต่เหล่าทิพยกายผู้วิเศษทั้งหลาย
คือ ยักษ์ นาค สุบรรณ และคนธรรพ์ ฤาษีสิทธิ์วิทยาธรทั้งหลาย
บรรดาที่มีใจเลื่อมใสในพระบวรพุทธศาสนา
เมื่อได้ทราบความต่างก็พากันมาจนเต็มไปทั้งห้องนภาดล

ขณะนั้น สมเด็จพระนางพิมพาเถรี จึงทูลถามพระราชาธิบดีปเสนทิโกศลขึ้นว่า

“ดูกรมหาบพิตรพระราชสมภาร ! ขณะนี้เป็นเวลาประมาณสักเท่าใด?”

“ข้าแต่สมเด็จพระแม่เจ้า ! ขณะนี้เป็นเวลาสายัณห์ พระอาทิตย์จวนจะอัศดงคตแล้ว เจ้าข้า”

“ขอถวายพระพร มหาบพิตรพระราชสมภาร !
บัดนี้ สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์พระองค์ผู้ทรงมีพระมหากรุณาเสด็จมาถึงหรือยังเล่า”

“ข้าแต่สมเด็จพระแม่เจ้า ! สมเด็จพระมหากรุณาสัพพัญญูเจ้ายังหาเสด็จมาถึงไม่
แม้สมเด็จพระราหุลบวรดนัย ก็ยังไม่เสด็จมาเจ้าข้า”

“ดูกรมหาบพิตรพระราชสมภาร !
ถ้าเช่นนั้น พิมพานี้จะดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพานต่อเพลาปัจจุสมัยใกล้รุ่ง”

สมเด็จพระนางพิมพาเถรีภิกษุณีเจ้าตรัสฉะนี้
ก็ฝืนพระทัยพยุงกายลุกขึ้นแล้วก็แสดงพระธรรมเทศนา
ให้โอวาทแก่มนุษย์และเทวดาทั้งหลายไปจนสิ้นปฐมยาม

เสร็จแล้วจึงให้เรียกภิกษุณีสงฆ์มาประชุมกัน
ประทานโอวาทโดยนัยอันวิจิตรพิศดารจนสิ้นมัชฌิมยาม
ครั้นล่วงเข้าปัจฉิมยามจวนถึงปัจจุสมัย
สมเด็จพระจอมไตรโลกนาถบรมศาสดา
กับพระราหุลอรหันต์ก็พาพระภิกษุสงฆ์บริวารเสด็จมาถึงพอดี

สมเด็จพระนางพิมพาเถรีถวายนมัสการพระชินสีห์เจ้าเป็นครั้งสุดท้าย
แล้วก็อธิษฐานเข้าฌานสมาบัติเป็นลำดับไป
ตั้งต้นแต่ปฐมฌานจนจึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน
เป็นอนุโลมปฏิโลมกลับไปกลับมา พอถึงเพลาปัจจุสมัยใกล้อรุณรุ่ง
จึงอธิษฐานเข้าและออกจากจตุถฌานสมาบัติ
แล้วสมเด็จพระนางแก้วพิมพาเถรีภิกษุณีเจ้า
ก็ดับขันธ์เข้าสู่อมตมหานฤพานทันใด


สมัยนั้น มนุษย์และเทวดาแต่บรรดาที่ยังเป็นปุถุชน
ตัดความรักอาลัยไม่ขาดไปจากขันธสันดาน
เมื่อได้ทราบว่าสมเด็จพระนางเจ้าดับขันธ์เข้าสู่อมตมหานฤพานแล้ว
ต่างก็พากันโศกาดูรร่ำไห้เสียงเซ็งแซ่ควรจะสงสาร

ส่วนท่านที่เป็นอรหันตอริยบุคคลมีองค์สมเด็จพระทศพลสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้น
ก็บังเกิดธรรมสังเวชในหฤทัยทุกถ้วนหน้า
คราทีนั้นสมเด็จพระอมรินทราธิราชเจ้าจอมสวรรค์ชั้นไตรตรึงษ์
จึงทรงมีเทวโองการให้อัญเชิญพระศพมาชำระสระสรงด้วยอุทกวารี
แล้วสมเด็จพระเจ้าปเสนทิโกศลผู้เป็นใหญ่
จึงถวายผ้าเนื้อละเอียดให้หุ้มห่อบรมศพแห่งพระเถรี
เหล่าเทวดาและมนุษย์ที่มีศรัทธาเลื่อมใสก็ปลดเปลื้องเครื่องประดับออกจากกาย
ถวายให้เป็นเครื่องประดับพระศพกันมากมายหนักหนา
มีคำที่พระโบราณาจารย์พรรณนาไว้ว่า
พระบรมศพของสมเด็จพระนางพิมพาเถรีภิกษุณีเจ้าในวันนั้น
ทรงไว้ซึ่งความงามโสภายิ่งกว่าเทพอัปสรสวรรค์ทุกชั้นฟ้าเสียอีก

ลำดับนั้น ท่านท้าวสุทธาวาสมหาพรหมผู้วิเศษ
ซึ่งด่วนจรมาแต่สุทธาวาสพรหมโลกด้วยศรัทธาเลื่อมใส
ก็อธิษฐานใจเนรมิตด้วยพรหมฤทธิ์
ให้เป็นหีบทองเข้ารองรับพระศพใส่ไว้เป็นอันดี

ฝ่ายสมเด็จท้าวโกสีย์อมรินทราธิราช ก็เนรมิตด้วยเทพฤทธิ์
ให้บังเกิดเป็นเมรุทองมียอดได้ ๕๐๐ ยอด
มีสัณฐานงดงามรุ่งเรืองเลื่อม พรรณรายกอปรไปด้วยเครื่องประดับอันวิจิตร
นอกจากพรหมและเทวดาจักเนรมิตด้วยฤทธิ์แห่งตนแล้ว
บรรดามนุษย์ทั้งหลายต่างก็พากันตกแต่งประดับประดาด้วยฉัตรธงเป็นอาทิ
แล้วก็อัญเชิญพระบรมศพขื้นสู่พระเมรุทองประโคมด้วยดุริยดนตรีเสียงพิลึกกึกก้องโกลาหล

สมเด็จพระทศพลสัมมาสัมพุทธเจ้า
จึงทรงมีพระพุทธฎีกาตรัสแก่องค์อมรินทราธิราช
ซึ่งประทับยืนอยู่ในขณะนั้นว่า

เราตถาคตจะประทานเพลิงศพเจ้าพิมพาก่อนผู้อื่นใดในกาลบัดนี้
สมเด็จท้าวโกสีย์ผู้ใหญ่ในไตรตรึงษ์สรวงสวรรค์
ได้สดับพระพุทธฎีกาดั่งนั้น ก็มิได้ทรงรอช้าให้เสียเวลา
น้อมนำเอาเพลิงอันเกิดแต่แว่นแก้วมณีเข้าทูลถวายทันที
สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับเอาเพลิงมาแต่หัตถ์ท้าวโกสีย์
แล้วก็ทรงประทานเพลิงต่อจากนั้น

จึงพระพรหมเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ต่างก็เข้าถวายเพลิงเป็นลำดับไปในภายหลัง
เพลิงที่มนุษย์และเทวดาถวายก็ดี เตโชธาตุที่บังเกิดขึ้นเองก็ดี
ทั้งสองสิ่งนี้ได้รวมกัน เผาผลาญบรมศพสมเด็จพระนางพิมพาภิกษุณีเจ้า
ให้เป็นเถ้าถ่านละเอียดจุณวิจุณ แต่มาตรว่าพระอังคารก็มิได้เหลือหลง
ยังคงมีแต่พระธาตุซึ่งมีพรรณอันงามดุจดอกมณฑาเท่านั้น

ครั้นการถวายพระเพลิงบรมศพพระนางซึ่งมีคุณใหญ่
เสร็จสิ้นลงเรียบร้อยแล้ว
สมเด็จพระเจ้าปเสนทิโกศลมหาราช จึงทรงกราบทูล
องค์พระจอมไตรโลกนาถขึ้นในขณะนั้นว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สมเด็จพระนางพิมพาเถรีภิกษุณีเจ้า
ท่านดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพานครั้งนี้
ปรากฏว่ามีมนุษย์และเทวดาอินทร์พรหมยมยักษ์
พากันมาสักการบูชาและถวายพระเพลิงมากมายยิ่งหนักหนา
ควรจะเห็นว่ามากกว่าพระอรหันต์สาวกที่ดับขันธ์เข้าสู่นิพพานไปแล้วทั้งปวง
เมื่อเป็นเช่นนี้บรมธาตุอันมีพรรณงามดุจดังดอกมณฑา
แห่งสมเด็จพระนางพิมพาเถรีที่เหลือปรากฏอยู่นี้
ควรจักนำไปประดิษฐานไว้ ณ ที่ใด พระเจ้าข้า”

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงเสาวนาการพระราชปุจฉาดังนั้น
จึงทรงมีพระพุทธฎีกาดำรัสสั่งองค์ราชาธิบดีปเสนทิโกศล
ให้ทรงสร้างพระสถูปเจดีย์ ณ สถานที่อันควรแห่งหนึ่งในกรุงสาวัตถี
เพื่อเป็นที่บรรจุพระบรมธาตุสีดอกมณฑาแห่งองค์พระพิมพาเถรีภิกษุณีเจ้า
เพื่อให้เหล่าเทวดาอินทร์พรหมและมนุษย์
ที่มีน้ำใจเคารพเลื่อมใสในพระบวรพุทธศาสนา
ได้กระทำคารวะสักการบูชาสืบต่อไปชั่วกาลนาน ด้วยประการฉะนี้

:b41: :b48: :b48: :b41:


จบ

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 15 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร