วันเวลาปัจจุบัน 23 เม.ย. 2024, 19:14  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ต.ค. 2012, 13:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 5
สมาชิก ระดับ 5
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 ก.พ. 2012, 12:01
โพสต์: 376


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

รู้สิ่งใหม่ทันสมัยอยู่เสมอ

พระครูเกษมธรรมทัต (สุรศักดิ์ เขมรังสี)

สำนักปฏิบัติกรรมฐาน วัดมเหยงคณ์
ต.หันตรา อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา


รูปภาพ

นมตฺถุ รตนตฺตยสฺส ขอถวายความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ขอความผาสุกความเจริญในธรรมจงมีแก่ญาติสัมมาปฏิบัติทั้งหลาย


ต่อไปนี้ก็พึงตั้งใจฟังธรรม ก็ขอให้ได้นั่งเจริญภาวนาไปด้วย นั่งเจริญสติทำความระลึกพิจารณาสังเกตเข้าสู่สภาวะ ก็จะได้รับประโยชน์คือทั้งความรู้จากการฟัง ความรู้จากการปฏิบัติ บางทีเราฟังไปแล้วไปปฏิบัติก็ลืมไป แต่ถ้าเราฟังพร้อมการปฏิบัติ ความรู้จากการฟังก็จะเป็นปัจจัยให้ได้ความรู้จากการปฏิบัติ เหมือนกับว่าเราเดินทางเรามีไกด์นำทางไปด้วยเราก็ไม่ต้องไปจดไปจำเส้นทางเดินอะไรมากมาย มีผู้คอยบอกผู้แนะในขณะที่เดินทางอยู่ แต่ถ้าเราไม่มีไกด์ ก็คือเราต้องศึกษาแล้วก็จดจำไว้ให้ได้ทั้งหมด แล้วก็ไปเดินทางตามลำพัง

อันนี้อุปมาให้ฟังว่าการปฏิบัติพร้อมการฟัง ก็เหมือนกับเรากำลังเดินทางแล้วก็มีผู้แนะผู้คอยบอกคอยเตือน ก็จะทำให้การปฏิบัติของเรานั้นได้เข้าร่องเข้ารอยหรือไม่ออกนอกทาง เพราะฉะนั้นจึงมีภาคนำปฏิบัติ เช่นช่วงเช้า ช่วงเย็น สำหรับผู้มาเข้ากรรมฐานจะมีการนำปฏิบัติ ที่นำปฏิบัตินั้นคือให้เราปฏิบัติไปนั่นแน่ะ เป็นเพียงแต่คอยบอกทางแนะทางให้แต่ถ้าเราฟังไปอย่างเดียวเอาแต่จดจำ แต่เราไม่ได้ปฏิบัติเราก็เสียโอกาสในขณะที่ผู้กำลังนำปฏิบัติแต่เราไม่ได้ทำก็เสียไป เสียโอกาสไป

แต่อย่างในช่วงนี้เป็นช่วงฟังธรรม เป็นช่วงของการฟังธรรมไม่ได้เป็นช่วงของการนำปฏิบัติ เพราะฉะนั้นธรรมะที่เราฟังก็อาจจะไม่เข้า ไม่เหมาะกับการผูกจิตผูกใจในขณะปฏิบัติ เพราะว่าธรรมะซึ่งจะต้องใช้ภาษาใช้สมมุติสื่ออกไป เราฟังเราก็อาจจะต้องตีความหมายเรื่องที่ฟังเหล่านั้น จิตของเราก็จะส่งไปสู่สมมุติบัญญัติ ครั้นเรามุ่งการปฏิบัติก็จะฟังไม่รู้เรื่อง ไม่เหมือนธรรมะที่นำปฏิบัติ ธรรมะที่นำปฏิบัติจะพูดใกล้ชิดต่อสภาวะ หรือแนวทางการเจริญสติอยู่ หรือว่าพูดมีจังหวะไม่เร็ว หรือว่าทอดระยะธรรมะที่นำเสนอก็จะเป็นเรื่องที่ใกล้ชิดต่ออารมณ์ของการปฏิบัติ แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะน้อมรู้สู่สภาวะการปฏิบัติหรือน้อมรู้ไปสู่เรื่องที่ฟัง ก็ลองทำลองสังเกตลองพิจารณาดู

เนื่องจากสติสัมปชัญญะหรือจิตใจมันมีความไวในการจะรับรู้อารมณ์ เมื่อรับอารมณ์ทางหนึ่งมันก็มารู้อารมณ์อีกทางหนึ่งได้อย่างรวดเร็วเช่น เวลามันไปรับรู้ทางหู ได้ยินเสียง มันก็แป๊บมารู้ทางใจได้ ขณะที่สติระลึกถึงสภาพได้ยินเสียงหรือเสียงที่ปรากฏ ขณะเดียวกันก็สามารถจะระลึกถึงจิตที่กำลังปรุงแต่ง กำลังตรึกนึก ได้กระชั้นชิดนั้นไป แล้วจิตก็ทำหน้าที่ที่จะตีความหมายถึงเสียงที่ได้ยิน จึงรู้ความหมายขึ้น พอรู้ความหมายจิตก็จะมีอารมณ์เป็นบัญญัติ ขณะเดียวกันนั้นในกระชั้นชิดนั้น สติก็ระลึกถึงความนึกความคิดความตรึกความจำนั้น ก็เรียกว่า กลับมาเข้าสู่สภาวะปรมัตถ์ นี่เรียกว่าเป็นข้อตัวอย่าง แต่ความเป็นจริงแล้วมันเร็วกว่านี้ หรือมันมีสลับซับซ้อนกันมากมายขึ้น แต่ว่ายกตัวอย่างให้ฟัง ขณะที่ฟังนี่มันก็มีตัวตั้งใจในการฟัง สติก็ระลึกถึงความตั้งใจที่เกิดขึ้น เวลาที่ไปได้ยินเสียงก็จะพบว่าสภาพของการรับรู้ที่จิต ที่กำลังตั้งใจหรือกำลังตรึกนึกนั้นหมดลงแล้ว การรับรู้ได้ยินเสียงเกิดขึ้น สภาพธรรมอื่น ๆ จะไม่ปรากฏ

นั้นก็หมายถึงว่าจิตนั้นจะรับรู้อารมณ์ได้ทีละอารมณ์ได้ทีละอารมณ์ทีละอย่าง ขณะจิตไปรู้ได้ยินเสียงการรับรู้อย่างอื่นจะขาดช่วงลงทันทีเมื่อสติไปรู้ความนึกคิด การได้ยินเสียงหรือการรู้สภาพได้ยินเสียงก็จะต้องขาดช่วงไปทันที นี่เราสังเกตดู สังเกตดูว่าถ้าดูเผิน ๆ ก็เหมือนว่าพร้อมกันกับเห็นก็เห็น ได้ยินก็ได้ยิน คิดนึกก็คิดนึก รู้สึกเย็นร้อนก็เย็นร้อนอยู่ แต่เมื่อสังเกตลงไปจริง ๆ ก็จะพบว่ามันต่างขณะกัน สิ่งนี้เกิดสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น สิ่งอื่น ๆ ก็ไม่ปรากฏในกระแสจิตในอารมณ์ของจิต สิ่งหนึ่งจะเกิดขึ้นสิ่งแรกก็ต้องดับไป ดับไปแล้ว เมื่อจิตรับรู้อารมณ์อื่นขึ้นมามันก็ต้องหลุดจากอารมณ์เก่าไปรับอารมณ์ใหม่ หลุดจากอารมณ์หนึ่งไปสู่อีกอารมณ์หนึ่ง มันจะรับทีเดียวหลาย ๆ อารมณ์ไม่ได้ รับเสียงไปรับกลิ่นไป รับเย็นไปรับร้อนไป รับคิดนึกไปรับเรื่องราวไป ก็เป็นคนละขณะกัน

นี่ถ้าสังเกตให้ดีก็จะพบว่าสิ่งนี้เกิดสิ่งนี้หมดไป สิ่งนี้เกิดขึ้นสิ่งนี้หมดไป สิ่งนี้เกิดขึ้น จะเห็นกระแสของจิตที่ส่องไปฉายไปน้อมไป ไปรับรู้อารมณ์ต่าง ๆ จิตใจนี่มันมีกระแสในการที่จะรับรู้อารมณ์ รับรู้อารมณ์ ถ้าสติระลึกขึ้นมาที่กระแสของจิตก็จะพบว่ามันมีความหมดไป กระแสของจิตนี่มีความขาดมีความหมด กระแสของจิตก็คือสภาพที่รู้ รับรู้อารมณ์ ก็จะสังเกตว่ามันหมดไปอย่างรวดเร็ว ที่พูดไปเมื่อคืนนี้ว่าผู้รู้ ผู้รู้นี่มีความหมดไป

การประพฤติปฏิบัติจะต้องดำเนินเข้าสู่จิตใจ ต้องเข้าไปรู้ถึงจิตใจซึ่งมันมีแง่ให้รู้ดังที่เคยกล่าวไปแล้วว่า แง่ของอาการในจิตกับแง่ของการรับรู้หรือจะเรียกว่าเป็นกิริยาของมันก็ได้ คุณสมบัติกับกิริยา อาการในจิตหรือว่าปฏิกิริยาที่เกิดในจิตจะเรียกว่าเป็นคุณสมบัติของมัน หรือว่าสิ่งปรุงแต่งในจิตใจ ส่วนกิริยาของจิตก็เหมือนกับจิตมันทำหน้าที่ในการรับรู้อารมณ์มันเปลี่ยนแปลงมันไหวในการรู้อารมณ์หนึ่ง ทิ้งจากอารมณ์หนึ่ง รับอีกอารมณ์หนึ่ง มันไม่ได้คงที่ มีการรับ มีการรับ มีการรับหมดไป รับหมดไป

ฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมก็เป็นเรื่องราวของการดูธรรมชาติ ธรรมดาปรกติของสิ่งที่ประกอบเป็นชีวิต ของสิ่งที่มีสัมผัสต่อชีวิตนี้ สิ่งที่ทั้งหลายมาสัมผัสสัมพันธ์ต่อชีวิตนี้ก็เพียงแค่ที่ตาที่หู ผ่านทางตา ผ่านทางหู ผ่านทางจมูก ผ่านทางลิ้น ผ่านทางกาย ผ่านทางใจ โดยตรงก็มี โลกทั้งโลกหรือว่าในจักรวาลนี้จะเท่าไรก็ตาม ทั้งหมดมันก็มาสื่อสัมผัสกันได้อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ การพิสูจน์จึงไม่ต้องไปพิสูจน์ที่ไหน พิสูจน์การที่มีปรากฏการณ์ การผัสสะ การสัมผัส การกระทบที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ท่านจึงเรียกว่าเป็นโลกเหมือนกัน ชีวิตนี้สัตว์ทั้งหลายสิ่งที่ประกอบเป็นชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ถ้าเป็นโลกเรียกว่าสังขารโลก โลกคือสังขาร สังขารก็สิ่งที่ปรุงแต่ง การเห็นการได้ยินรู้กลิ่นรู้รสรู้สัมผัสเป็นสังขารธรรม เป็นธรรมที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมา มันจึงมีความไม่คงที่ มีความเปลี่ยนแปลง มีความเกิดดับเป็นของมันไป นั่นเป็นสังขารธรรม เป็นธรรมที่เกิดเพราะมีเหตุมีปัจจัย เหตุปัจจัยก็เป็นสังขารธรรมเหมือนกัน เหตุปัจจัยก็ไม่คงที่ มันจึงมีการเปลี่ยนแปลง มีความเกิดดับ

ปฏิบัติก็เพื่อให้รู้แจ้งความจริงธรรมชาติของชีวิตว่าเป็นเพียงสักแต่ว่าสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดที่ดับที่หมดไป หาใช่ตัวตนของความเป็นเราเป็นเขาไม่แต่การรู้อย่างนี้ต้องรู้ประจักษ์ชัดเจน รู้เฉพาะสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นปัจจุบันชั่วขณะหนึ่ง ๆ ถ้าปัญญามันแจ่มแจ้งก็แจ่มแจ้งกันชั่วขณะหนึ่ง ๆ ที่ชัดเจนชั่วแว๊บเดียว เหมือนฟ้าที่มันฝ่าเปรี้ยงลงมามันก็สว่างแป๊บเดียว ปัญญาก็เหมือนกัน ถ้าเหตุปัจจัยมันพร้อมสติมั่นคงมีกำลังเหมาะสม เหตุปัจจัยที่ประกอบกันกับสติสัมปชัญญะทำงานสม่ำเสมอพร้อมมูลมีกำลัง มันก็เกิดความรู้แจ้งขึ้นโดยฉับพลันนั้น เรียกว่าภาวนามยปัญญา ส่วนการนึกคิดเอาการใช้ตรรกะใช้ความคิดด้วยเหตุด้วยข้อมูลด้วยอะไรต่าง ๆ อันนั้นไม่ใช่เป็นปัญญาที่เป็นวิปัสสนา ถึงเราจะคิดเก่ง ถึงเราจะเข้าใจมันได้มากมายแต่มันเป็นไปด้วยความคิด มันยังล้าหลังอยู่

การรู้ความจริงเฉพาะหน้ามันเป็นเรื่องของใหม่ ของปัจจุบันของสิ่งที่เกิดมาใหม่ รู้วิปัสสนาจึงเป็นเรื่องทันสมัยเป็นเรื่องของการเป็นปัญญาที่รู้สิ่งใหม่ทันสมัยอยู่เสมอ ถ้าล้วงไปเอาอดีตอนาคตมันก็ล้าหลัง สภาพธรรมทั้งหลายนี่มันปรากฏเป็นของใหม่อยู่ตลอดเวลา อย่างขณะนี้ขณะที่ล่าสุดชีวิตที่เป็นมาเป็นไป เปลี่ยนอปลงเกิดดับ หรือว่าโดยสัตว์ บุคคล ที่เวียนว่ายตายเกิดมามากมาย ในขณะนี้เดี๋ยวนี้คือสิ่งที่ปรากฏขึ้นมาใหม่ กำลังเห็นอันใหม่ กำลังได้ยินอันใหม่ กำลังรู้กลิ่นรู้รสสัมผัส กำลังรับรู้นึกคิดอันใหม่ที่สุด พิสูจน์ก็รู้กันที่อันใหม่กำลังปรากฏแล้วก็ผ่านไป คล้อยผ่านไปเป็นอดีต ทุกเสี้ยวของวินาทีจะมีสิ่งใหม่เกิดขึ้น สิ่งใหม่เกิดขึ้นก็พิจารณาระลึกรู้รุดหน้ากันเรื่อย ๆ ไป ไม่พะวง ไม่หลงในอดีต ในอนาคต

นี่คือแนวทางของการจะรู้แจ้งเห็นจริง ต้องพิสูจน์กันสิ่งที่เป็นของใหม่ ที่เป็นปัจจุบัน มันผ่านกันไปทุกขณะ มันไหลไปทุกขณะ แม้แต่สิ่งที่ประกอบมาเป็นสรีระคือเป็นร่างกาย แม้ทางวิทยาศาสตร์เขาก็พิสูจน์ได้ว่ามันมีการแตกสลายอยู่ ทุกวินาทีนี้มีการตาย เซลล์ต่าง ๆ มันตายมากมาย ในส่วนที่เล็กมาก มันก็ตรงกับที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ พระพุทธเจ้าไม่ได้ใช้เครื่องไม้เครื่องมือทางกล้องส่องอะไร แต่ใช้ญาณ ใช้ใจ ใช้ปัญญาแล้วก็แสดงไว้นานนักหนาแล้วว่า สิ่งที่ประกอบมาเป็นชีวิต เป็นร่างกายนี้ เฉพาะที่เป็นรูปธรรม ก็มีกลุ่มธรรมชาติที่เกาะกลุ่มกันอยู่เล็กที่สุด ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เป็นกลุ่มที่มันเล็กที่สุดแล้ว ในความเล็กที่สุดนั้นมันก็ยังประกอบด้วยธาตุ ๘ ชนิดด้วยคือ มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม มีสี มีกลิ่น มีอาหารอยู่ในนั้น อย่างที่ทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์ถึงสิ่งที่เป็นอะตอมที่เป็นประจุไฟฟ้า อิเล็กตรอน โปรตอน นิวตรอน ในสมัยนี้ก็พิสูจน์ได้ละเอียดไปกว่านั้นก็ตาม ที่มันเกาะแยกออกจากกันไม่ได้ แต่พระพุทธเจ้าได้พิสูจน์ไว้แล้วว่า มันมีถึง ๘ ชนิดที่มันแยกจากกันไม่ได้ คือมีทั้งธาตุดิน คือธาตุของความแข็งอยู่ในนั้น แล้วก็ธาตุไฟไม่ใช่มีแต่ไฟ มันมีดินอยู่ด้วย มีไฟอยู่ด้วย มีลมอยู่ด้วย มีน้ำอยู่ในนั้นด้วย มีสีสันอยู่ มีกลิ่นอยู่ มีรสอยู่ ตลอดทั้งมีอาหารอยู่ในนั้น นี่คือสิ่งที่มองไม่เห็นแล้ว

จากสิ่งที่มองไม่เห็นมาเกาะ มาเกาะ ๆ ๆ ๆ กันจึงใหญ่เป็นเซลล์มองเห็นได้ด้วยตาขึ้น ที่พูดถึงในส่วนที่มันย่อยที่สุดนี้มันก็แตกดับอยู่ตลอดฉะนั้นในอณู ในปรมาณูมันแตก ต่างคนต่างแตกดับหมดแต่มันก็เกิดชดเชยที่ดับก็ดับไป ที่เกิดใหม่ก็ชดเชยกันอยู่อย่างนั้น เพราะว่ามันยังมีเหตุปัจจัยส่งเรากินอาหารเข้าไปนี่ อาหารมันก็ไปเสริมต่อให้มันสร้างขึ้นมาใหม่ ไอ้ที่แตกตายดับไป ดับไปก็หมดไป เกิดจากอาหาร เกิดจากอุตอ เกิดจากจิต เกิดจากกรรมที่มันปรุงแต่งสร้างให้เป็นไปอยู่อย่างนี้ นี่คือความรู้จากการที่เราฟังคำสั่งสอนจากพระพุทธเจ้า แต่ความรู้ที่เราจะไปพิสูจน์ได้ เราคงจะไม่สามารถเห็นอย่างนั้น ไม่สามารถไปเห็นโดยละเอียดอย่างที่พระพุทธเจ้าเห็นได้ ในรูปที่เล็กที่สุดที่มันแตกดับ มองไม่เห็นรับรู้ไม่ได้ถึงขนาดนั้น เพราะปัญญาของเราน้อย พระพุทธเจ้ามีปัญญารู้ทุก ๆ ขณะ จิตทุกดวงทุกระยะขณะที่เป็นจิตเกิดขึ้นมา มาเกิดยังไง ๆ ๆ แสดงระยะทั้ง ๆ ที่จิตชั่วลัดนิ้วมือหนึ่งแสนโกฏิขณะ แต่เราก็ไม่สามารถจะไปรู้ได้ถึงขนาดนั้น

แต่การที่เราหยั่งรู้เข้าไปเพียงนิดเดียว ถ้าเปรียบเทียบกับความรู้ที่พระพุทธองค์แสดงไว้ เราก็ยังรู้สึกว่ามันเร็วมาก ยังสัมผัสว่าจิตนี้เร็วมากทั้ง ๆ ที่จับได้เพียงคร่าว ๆยังรู้สึกว่าจิตเร็ว รูปที่ประกอบเป็นสรีระร่างกายจะรู้สึกว่ามันมีความสลายแตกสลาย ฉะนั้นใครที่มีปัญญาญาณเกิดขึ้นมันก็จะเริ่มไปสัมผัสที่กายว่า มันเหมือนมีความพริ้วอยู่ทั่วกาย ที่เรารู้สึกมันพริ้ว ๆ ๆ ๆ อยู่ไหว ๆ พลิ้ว ๆ พลิ้ว ๆ เล็ก ๆ ละเอียด ๆ ก็จะเริ่มสัมผัสถึงความไม่ได้คงที่ของมัน มีความสลายอยู่ตลอดเวลา

นี้คือญาณปัญญาที่เราฝึกซ้อมมาจากการที่พยายามฝึกสติคอยตามรู้ตามระลึก เอาสติระลึกสัมผัสอยู่ที่กาย อยู่ตั้งแต่กายวงนอกที่ดูกายยืน เดิน นั่ง นอน แล้วจนเข้าไปสัมผัสถึงปรมัตถ์ สัมผัสสัมพันธ์ถึงความรู้สึกในเนื้อในหนังในอวัยวะ ทางผิวนอกภายใน ค่อยมีสติสัมผัสแก่กล้าขึ้น ญาณมันก็เกิด ปัญญามันจะเกิดจากการที่ไม่เคยรับรู้อะไรไม่ได้ มันมีแต่เฉย ๆ ไม่มีอะไร ก็เริ่มจะไปสัมผัสสัมพันธ์กับความไหว หรือมันกระเพื่อม เราจะใช้ภาษาอย่างไรก็แล้วแต่ แต่มันมีสิ่งที่ไม่คงที่อยู่ตลอดทุกจุดทุกส่วนของร่างกาย

ที่เรามีสติสัมปชัญญะแทรกซึมเข้าไปทุกส่วนของร่างกาย สติสัมปชัญญะที่มันมีกำลัง มันก็มีความรู้พร้อมสัมผัสสัมพันธ์แทรกซึมไปทุกส่วนของร่างกาย ในเนื้อในหนังในทุกจุด ในสมองก็ดี ในสมองก็ยังแยก ที่ศรีษะ ที่ตา ที่ปาก ที่คอ ที่แก้ม ในสมองละเอียดที่มันมีความรู้สึก รู้สึกไหว ๆ พลิ้ว ตึง ๆ หย่อน ๆ จุดย่อย ๆ ต่าง ๆ นี่แสดงถึงว่ารูปก็มีความแตกดับสลายต่าง ๆ ฉะนั้นผู้ปฏิบัติเท่านั้นที่จะได้พบได้สัมผัสได้ด้วยใจด้วยญาณด้วยสติปัญญา ฉะนั้นจะเห็นว่ามันต้องมีสติมีสมาธิบากกันตามสมควรแล้วก็มีการกำหนดได้ตรง กำหนดตรงต่อสภาพธรรมด้วย คือดูได้ตรงลักษณะของสภาวะปรมัตถ์ดูไม่ตรงมันก็ไปดูแบบสมมุติ ไปดูเป็นรูปร่าง ไปดูเป็นความหมาย อย่างนี้มันดูไม่ตรง มันก็ไม่เห็น ไม่มีโอกาสเห็นได้

เหมือนกับการที่เราจะเห็นลวดลายของแจกันก็ดี ลวดลายของโต๊ะหมู่นี่ เราจะเห็นได้เราก็ต้องดูให้ตรงที่โต๊ะหมู่ ดูให้ตรงที่แจกัน ดูไปให้ตรง ๆ ๆ มันก็จะเห็นลวดลายเองโดยธรรมชาติของมัน โดยเหตุผลของมันแล้ว ตานี้เราอยากจะเห็น ต้องการจะเห็นลวดลายของแจกันของโต๊ะหมู่แต่เราดูไม่ตรง เราดูไปทางอื่น เราจะดูที่โต๊ะหมู่แต่มันดูไม่เป็น ไปดูที่อื่นไปดูที่อากาศ ดูที่เสา ไปดูอย่างอื่น มันก็ไม่เห็น ไม่มีโอกาสที่จะเห็นลวดลายของโต๊ะหมู่ มันก็ได้แต่นึก ถึงเราดูที่อื่นเรานึกเอาได้ อ๋อ โต๊ะหมู่ต้องลวดลายแบบนั้น อาศัยข้อมูลอย่างนั้น อย่างนี้ไม่ใช่การเห็นแบบวิปัสสนา วิปัสสนานี้มันต้องดูให้ตรงสิ่งเหล่านั้น แล้วก็เห็นความจริงของสิ่งเหล่านั้น โต๊ะหมู่หรือแจกันอุปมาคือ รูป นาม ส่วนลวดลายของโต๊ะหมู่หรือแจกันอุปมาเหมือนกับไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ลวดลายของมัน ลวดลายของรูป นาม หรือลักษณะของรูป นาม ก็คือ ไม่เที่ยง เกิดดับอยู่ตลอดเวลา เมื่อเห็นเกิดดับมันก็เห็น ก็จะรู้สึกไม่เที่ยง บังคับไม่ได้ เป็นทุกข์ เป็นธรรมดาที่ต้องเห็น ทีนี้ถ้าไม่ดูให้ตรงรูป นาม มันก็เห็นไม่ได้ รู้ไม่ได้ว่ามันเกิดดับ ไปดูอย่างอื่นไปดูสมมุติดูความว่าง ไปดูความหมาย ไปดูรูปร่าง ไปดูชื่อภาษา ถ้าจะรู้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ต้องนึกเอาคิดเอาว่ามันเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ นี่ไม่ใช่ความรู้เป็นวิปัสสนา

ไม่ตึงไม่หย่อน ถ้าสังเกตให้ดีที่มันไหวก็คือมันตึงมันหย่อนนั่นแหละ เพราะฉะนั้นต้องระลึกจรดสภาวะ เราก็จะเห็นความเกิดดับเห็นธรรมชาติของมัน ก็ต้องเข้าใจสภาวะปรมัตถ์

ที่กายก็ยังมีความแตกดับมากมายรวดเร็ว สัมผัสสัมพันธ์แล้วก็จะรู้สึกว่ามันไหวมันกระเพื่อมพริ้วอยู่ทั่วกาย สั่นสะเทือนยิบยับทั่วไปหมด บางคนก็เห็นหยาบ ๆ ขึ้นมา เห็นเหมือนกับเป็นคลื่นกระทบฝั่งที่กระทบแล้วก็สลาย กระทบแล้วก็สลาย บางคนเห็นมากขึ้นมันก็จะดูยิบยับไปหมดแล้วก็รวดเร็วเหมือนกับเราเห็นข้าวตอกที่เขาคั่วมันแตกเปรี้ยะปร๊ะ ๆ หรือเหมือนกับหว่านเมล็ดทรายออกไปมันได้มากน้อยขนาดไหน นี้เพียงทางกายก็ยังรู้สึกว่ามันเร็วมันมาก ยิ่งทางจิตใจยิ่งเร็วกว่านั้นมากไปอีก รูปนี้ยังดับช้ากว่าจิต ท่านเปรียบเทียบกันดูแล้วตามหลักปริยัติว่า จิตเกิดดับไป ๑๗ ขณะ รูปจึงดับไปขณะหนึ่ง มันเร็วกว่ากันตั้ง ๑๗ เท่า เสียงที่มันกระทบหูนี่กว่าเรายังสังเกตว่า แหมเสียงดับเร็ว ได้ยินเสียงดับทันที แต่จิตน่ะดับไปเยอะแล้ว ๑๗ ครั้ง

ที่เราฟังเสียงมันตั้งนานแสดงถึงว่าไม่ใช่อันเดียว เสียงไม่ใช่มาอันเดียว มันต่อกันมาหลายมันดัง ๆ ๆ ๆ แต่มันถี่ มันถี่มากก็ดูว่ามันเป็นเสียงเดียวกัน การไปได้ยินเสียงนั้นมันก็ได้ยินทีละอัน ดับลง ได้ยินดับลง ๆ แต่ความได้ยิน ๆ ๆ ต่อเนื่องกันดูว่ามันยาว แท้ที่จริงมันดับเร็ว จิตได้ยินเราจะพบว่าเวลาได้ยินปุ๊บ ทำไมรู้เรื่องความหมาย การที่เราไปรู้เรื่องความหมาย ไม่ใช่ว่าจิตดวงเดียวจะไปรู้เรื่องได้ จิตเกิดที่หูที่ทำหน้าที่ได้ยินนี่มันยังไม่รู้เรื่องอะไรเลย ได้ยินไปอย่างนั้นแหละ แต่ที่จะรู้เรื่องว่าเสียงนี้คืออะไรอย่างไร ต้องมีจิตเกิดขึ้นทำงานหลายดวงหลายอย่าง เปลี่ยนวิถีมาแล้วด้วยวิถีทางหูจบลงไป วิถีทางใจทางมโนทวารเกิดขึ้นมาทำหน้าที่รับมา แล้วก็มาแปล วิจารณ์ ตัดสินได้ ถึงจะบอกได้ว่าอะไรเป็นอะไร แล้วมันก็เกิดขึ้นหลายรอบหลายเที่ยว จึงจะแปลได้ จึงจะบอกได้อะไรเป็นอะไร แล้วแต่ว่าสิ่งที่รับนั้นน่ะมันมีประสบการณ์มากน้อยขนาดไหน ถ้ามันมีประสบการณ์มามากแล้วมันก็ไม่ต้องแปลมาก รับรู้มันก็ง่ายต่อการแปล ถ้าเป็นภาษาที่เราไม่ค่อยถนัดก็ต้องใช้เวลาในการที่มันจะตี วิถีจิตจะต้องเกิดวนเวียนอยู่มากขึ้นไปอีกจึงจะแปลออกมาได้ ฉะนั้นจิตนี่มันเร็วมากได้ยินปุ๊บรู้ความหมายปั๊บนี่ จิตผ่านไปมากมาย ซึ่งเราผู้มีปัญญาน้อยคงไม่ได้เห็นทุกดวงทุกขณะ

แต่แม้ว่าเราจะไม่ได้เห็นทุกดวงทุกขณะก็สามารถจะเห็นเกิดดับมากมาย ในความรู้สึกที่เราว่ามากมายนั้น เร็วมากนั้น ก็ยังเป็นเสี้ยวหนึ่งของความเร็วจริง ๆ หรือว่ามากมายของจิตที่เกิดขึ้น มันก็ยังเพียงพอต่อการที่จะถอนความยึดถือเป็นตัวเราของเราได้ คือไม่ต้องไปรู้ถึงทุกดวงทุกระยะมันก็มีการที่จะถอนความรู้สึกว่านี่คือตัวเราของเราได้ สามารถจะให้เกิดปัญญาว่าสิ่งเหล่านี้ทั้งหลายที่ปรากฏนี้คือ ธรรมชาติ คือสักแต่ว่าเป็นสิ่งธรรมชาติที่เกิดขึ้น ปรากฏทำหน้าที่ของมันตามเหตุตามปัจจัยของมัน ดับไปตามเหตุตามปัจจัยของมัน ไม่ใช่ตัวเราของเรา ก็เรียกว่ามันก็เป็นความจริงเป็นหลักฐานเป็นข้อมูลที่ป้อนให้เกิดการถ่ายถอนความเห็นผิด ความยึดผิดซึ่งเป็นเป้าหมาย ที่ปฏิบัติกันนี่ก็ต้องการที่จะถอนความเห็นผิด ทำลายความเห็นผิด ถอนความยึดมั่นถือมั่น ถอนกิเลสต่าง ๆ ที่มันห่อหุ้มจิตใจ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ก่อกรรมทำเข็ญ เกิดวิบาก ให้เกิดทุกข์อยู่ไม่จบสิ้น

เมื่อไปประจักษ์ความจริงแล้วก็จะได้ค่อยถ่ายถอน จากการเป็นขณะเป็นระยะ จนกระทั่งไปถอนโดยเด็ดขาด การละกิเลสนี่มันละทีแรกมันก็ละเป็นขณะ ๆ อย่างที่เราปฏิบัติอยู่เจริญสติระลึกรู้ รูป นาม เห็นรูป นาม เกิดดับเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันก็เป็นการละกิเลส จะเห็นว่าขณะที่สติระลึกรู้ตรงต่อปรมัตถ์ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ไม่ปรากฏ นั่นมันถูกละออกไป หรือบางทีมันกำลังปรากฏเข้าไปรู้มันก็หายไป โลภโกรธ สลายหายไป มันก็ละไปได้เป็นขณะแต่มันไม่เด็ดขาด ขณะใดที่มีสติสัมปชัญญะปรากฏรับรู้สภาวะธรรมที่ปรากฏกิเลสก็จะถูกละ ๆ ๆ กุศลธรรมเกิดขึ้น ในขณะเดียวกันก็ละอกุศลธรรม ที่เจริญกุศล เจริญสติ เจริญปัญญา นี่เป็นฝ่ายกุศลเป็นฝ่ายบุญ สติก็เป็นกุศล ปัญญาก็เป็นกุศล เมื่อสติเกิดขึ้นเจริญขึ้น อกุศลก็ถูกละไปในตัวนั่นแหละ สติกับโมหะมันเป็นคนละฝ่ายกัน ถ้าสติเกิดโมหะก็เกิดไม่ได้ สติไม่เกิดโมหะก็เกิดได้ เหมือนกับคนที่จะเล่นแย่งเก้าอี้กัน เก้าอี้มันตัวเดียว นั่งได้คนเดียว คน ๒ คนแย่งกันอยู่คนใดคนหนึ่งนั่งอีกคนก็นั่งไม่ได้ สติกับโมหะมันก็แย่งกันอยู่ ขณะที่ปฏิบัติผู้ทำความเพียร ถ้าผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติเลยก็เรียกว่าโมหะเข้าครองเก้าอี้ตลอดเลย แต่ถ้าขณะปฏิบัติยังมีการช่วงชิงเก้าอี้ได้บ้าง สติเข้าไปแย่ง สติเกิดเมื่อไรโมหะก็ตกไป ถ้าสติไม่เกิดความหลงความเผลอเข้ามา แค่หลงแค่เผลอนี่เรียกว่าโมหะแล้ว เผลอสติ สภาวะธรรมปรากฏแล้วก็ไม่รู้ล่องลอยเผลอเรอ โมหะเกิดแล้ว เดี๋ยวก็มีโลภะแทรกมาด้วย มีโลภะ มีโทสะถ้าเผลอสติบ่อย ๆ กิเลสก็เข้าครอบครองจิตใจ สภาพจิตใจก็มืดมนอนธกาลเป็นทุกข์เพราะว่าปล่อยให้อธรรมมาครอบครอง

ถ้าหากว่าร่างกายชีวิตจิตใจเราเหมือนกับเป็นประเทศชาติ ถ้าเราปล่อยให้คนไม่ดีขึ้นมาครอบครองมาบริหารประเทศชาติ ถ้าเราปล่อยให้คนไม่ดีขึ้นมาครอบครองมาบริหารประเทศ คนในชาติก็เดือดร้อนไปหมด ร่างกายชีวิตของเรานี่ถ้าปล่อยให้กิเลสอกุศลต่าง ๆ มาครอบครอง นับตั้งแต่โมหะความหลง โลภะ โทสะ อิจฉา มานะ ฟุ้งซ่าน หงุดหงิด มาครอบครองจิตใจ สภาพชีวิตจิตใจเราก็เดือดร้อนไปหมด มืดมนทุกข์ทรมาน แล้วก็พาชีวิตนี้เดินไปสู่ความทุกข์ สร้างเหตุแต่ความทุกข์ ฆ่าเห็นว่าดี ลักทรัพย์เห็นว่าดี โกงเขาเห็นว่าดี โกหก ประพฤติผิดในกามมันหลงว่าดีไปหมด ถ้าอกุศลมาครอบครองมันก็ให้เหตุผลไปในทางผิดไปหมด ชีวิตนี้ก็หลงไปทำแต่ความผิด แล้วใครทุกข์ ชีวิตนี้แน่ะต้องเสวยความทุกข์ไม่มีใครเขามาทุกข์ด้วย ชีวิตหรือธรรมชาติที่ประกอบกันนี้มันสร้างเหตุความทุกข์ให้ตัวเองด้วย มันหลง มันไม่รู้ มันก็ต้องทำชั่วไปตามกิเลส

แต่ถ้าหากว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรมเจริญกุศลเจริญสติสมาธิปัญญา สติเกิดมากขึ้นกุศลธรรมต่าง ๆ ก็จะเกิดครอบครองชีวิตจิตใจนี้ ก็จะพบ ว่าสภาพชีวิตจิตใจเริ่มดีงามขึ้น เริ่มปลอดโปร่ง สบาย ปลอดโปร่งเย็นอกเย็นใจ ผ่องใส เบิกบาน แช่มชื่น นี่ถ้าฝ่ายกุศลมันเกิดมันมาครอบครองจิตใจ จิตใจก็มีแต่คิดในทางที่ดี คิดให้อภัย คิดเสียสละ คิดในทางที่จะมุ่งไปสู่ประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น เพราะกุศลธรรมเขาก็จะให้แต่เหตุผลในทางที่ดี สภาพจิตใจก็ดีงามไป

ฉะนั้นการประพฤติปฏิบัตินี่ก็ต้องช่วงชิงกันเหมือนกับคนที่ต้องช่วงชิงเก้าอี้กัน ตัวเดียวน่ะ ถ้าสติไม่เกิดโมหะก็ครอง ช่วงชิงกัน อะไรเป็นเก้าอี้ ก็คือ รูป นาม ที่เป็นอยู่ปัจจุบัน แย่งกันที่ปัจจุบันเป็นอารมณ์ ถ้าขณะที่สภาวะเกิดขึ้น เช่น ขณะเห็นเกิดขึ้นไม่มีสติ อ้าว โมหะก็ครองแล้ว ขณะได้ยินไม่มีสติโมหะก็ครอง ขณะรู้กลิ่นไม่มีสติโมหะก็ครอง ขณะรู้รสขณะรู้สัมผัสเย็นร้อน อ่อนแข็ง หย่อนตึง สติไม่เกิดโมหะก็มาครอง ขณะคิดนึกไม่มีสติโมหะก็มาครอง ยืน เดิน นั่ง นอน ไม่มีสติไม่รู้เนื้อตัว ความหลงมาครอบครองหมด เมื่อหลงมาครอบครอง เดี๋ยวก็โลภ เดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็ฟุ้ง เดี๋ยวก็หงุดหงิด แต่ถ้าสติเข้าครองบ่อยมากขึ้น เห็นก็รู้ ได้ยินก็รู้ ยืน เดิน นั่ง นอน หายใจเข้าหายใจออก รู้สึกสัมผัสกายใจ สติเกิดมากขึ้น ๆ ๆ มันก็เริ่มปลอดโปร่งโล่งใจ เกิดความสว่างไสว เบิกบาน ปัญญาก็ค่อยเห็นชัดเจนขึ้น เหมือนกับเมฆหมอกมันได้คลี่คลายไป ความมืดได้จางคลายไปก็เริ่มเห็นความจริง

ฉะนั้นคนที่ปฏิบัติธรรมนี่ จะมีทัศนะ มีศรัทธา มีแนวทางที่ดีงามมั่นคง เพราะว่าเข้าไปสู่ความละเอียดความลึกซึ้ง ของหยาบ ๆ นี่ก็ไปตั้งใจเลิกมันก็เลิกได้ เพราะมันไปละไอ้ส่วนละเอียด เพราะสิ่งทั้งหลายมันไหลออกมาจากจิตใจ คนเรานี่บางทีเขาขอร้องบังคับให้เลิกในสิ่งที่ไม่ดีประพฤติทางกาย เช่น ไปติดยาเสพย์ติด ไปเล่นการพนัน เป็นชู้สู่สามีภรรยาเหล่านี้ คนที่ติดอยู่เลิกยาก แต่ถ้าปฏิบัติธรรมเข้าไปสู่ความลึกซึ้งแล้ว สิ่งเหล่านั้นกลายเป็นของไม่ต้องไปพยายามเลิก มันก็ละได้เอง เพราะสิ่งภายในที่ยากกว่าละเอียดกว่ามันยังทำได้ละได้ สิ่งภายนอกมันจึงหมดปัญหาไป

ฉะนั้นคนในยุคนี้ ถ้าหากว่าได้มีโอกาสได้ปฏิบัติได้เข้าถึงแก่นของพระพุทธศาสนาด้วยชีวิต ใจตัวเองก็ไม่ต้องมีกฎหมาย ไม่ต้องมีอะไรมาควบคุม ไม่ต้องมาว่ากล่าวอบรมอะไรกันมาก เพราะคนฉลาด ซะแล้วมันก็ไม่เอาสิ่งชั่วร้ายเข้ามาสู่จิตใจสู่ตัวเอง เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติในส่วนของวิปัสสนากรรมฐานเป็นเรื่องประเสริฐสูงสุด ให้รู้ว่านี้คือหน้าที่ที่เราจะต้องกระทำ ที่เป็นหน้าที่เป็นการงานที่ค้างอยู่ ที่จะต้องทำให้สำเร็จให้เสร็จสิ้น เป็นการงานภาคบังคับ เป็นงานของชีวิต ถ้าเราไม่ทำงานชิ้นนี้เราก็มีแต่จับจุดไม่ตรงในการแก้ปัญหา การงานอื่น ๆ มันแก้ปัญหาแบบยังอยู่ในวังวนอยู่ แก้ไปแล้วก็ยังไม่หลุดพ้นอะไรได้ เรามีปัญหาเรื่องโน้นเรื่องนี้ เรื่องลูก เรื่องสามี เรื่องภรรยา เรื่องการงาน เรื่องพลัดพราก เรื่องเจ็บป่วย เร่องอะไรคชต่าง ๆ มันแก้ได้ก็ยังอยู่ในวังวนนั่นแหละ แก้ได้ก็ยังไม่พ้นจริง เพราะความทุกข์มันหนีไม่พ้นถ้าตราบใดที่เรายังมีกิเลสอยู่ กิเลสก็จะสร้างขันธ์ ๕ ขึ้นมา แล้วขันธ์ ๕ ก็เป็นที่ตั้งของกองทุกข์ ทุกข์กายส่วนหนึ่งทุกข์ใจส่วนหนึ่ง ทุกข์ใจถ้ามีกิเลสมากก็ทุกข์มาก ถ้ากิเลสน้อยก็ทุกข์น้อย กิเลสหมดก็ไม่ทุกข์เลย มีสิทะที่จะทำให้จิตใจไม่ทุกข์ได้เลยด้วยการทำให้สิ้นกิเลสโดยสิ้นเชิง แต่ทุกข์กายนั้นยังต้องมีเสวยไปตามสภาพของที่ยังมีสังขารอยู่ จนกว่ามันจะสิ้นสุดของการจะก่อตัวขึ้นอีก ก็เป็นอันว่าจบ

ฉะนั้นที่ผู้ประพฤติปฏิบัติเจริญสตินั่นก็ละกันเป็นขณะ ๆ เขาเรียกว่า ตทังคปหาน การประหารกิเลสเป็นขณะ ๆ ปฏิบัติไปแล้วเดี๋ยวมันก็ยังเกิดได้อีก ยังโกรธอีก ยังหลงอีก ยังเผลออีก ยังง่วงอีก ยังท้อถอยอีก ยังฟุ้งอีก ก็ให้เข้าใจว่ามันยังไม่ได้เด็ดขาด มันก็ต้องเกิดขึ้น ขณะใดสติสัมปชัญญะอ่อน ความเพียรอ่อน ไม่พยายาม กิเลสก็มีกำลังเข้ามาแทรกแซงสลับ เมื่อรู้ทันละได้ รู้ทันละได้ก็เบาบาง แต่มันก็ยังเกิดอีกเพราะมันยังไม่เด็ดขาด แต่การละเป็นขณะ ๆ ด้วยปัญญาที่รู้เป็นขณะ รู้รูป รู้นาม รู้สภาวะ เห็นความเกิดดับหมดสิ้นไปทุกขณะ ๆ อันนี้แหละคือเหตุปัจจัยที่จะส่งไปสู่การละโดยเด็ดขาด การละโดยเด็ดขาดไม่ใช่เกิดขึ้นมาเองโดยที่ไม่ได้พยายามฝึกหัดขัดเกลาทีละเล็กละน้อยอย่างนี้ ไม่ใช่มันอยู่ดี ๆ มันจะทำแล้วก็เด็ดขาดไปเลย มันไม่ได้ มันต้องอาศัยการละเป็นขณะ ๆ สะสมกำลังของสติเรื่อย ๆ เรื่อยไป เพราะฉะนั้นจึงต้องพากเพียรพยายามไม่ท้อถอย ซึ่งการลงทุนลงแรงด้วยความพากเพียรด้วยความอดทนนี่มันคุ้มค่า เพราะสิ่งที่จะได้รับมันประเสริฐสูงสุด มันดับทุกข์ให้เราได้ มันเป็นสิ่งที่ควรเพียร ควรพยายาม ควรทำ เรียกว่ามันมีสาระ มันเป็นสาระที่สุด

แล้วคนมาประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างนี้ อย่างอื่นมันก็จะดูว่าไม่สำคัญเท่าไร ความสำคัญมันเรื่องของการปฏิบัติวิปัสสนา อันนี้สำคัญ เรื่องการมีเงินไม่มีเงิน มียศไม่มียศ มีลาภไม่มีลาภ จะมีก็มีไม่มีก็ไม่ค่อยสำคัญเท่าไรถ้าเรามีปัญญามีความเห็นถูกต้องแล้ว สิ่งภายนอกมันก็เป็นการไม่จบสิ้น มียศมีอำนาจ มีเงินมีทอง มันก็ยังอยู่ในวังวน เพราะฉะนั้นมีก็มีให้มันเป็น มีก็พออาศัยพอมาเป็นปัจจัย ผู้ฉลาดเขามีแล้วให้มันเป็นปัจจัยต่อการปฏิบัติทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามี เราได้ เราเป็น ในยศ ในลาภ ในสักการะทรัพย์สินเงินทองเอามาเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติให้หมด เอามาเป็นกำลังเป็นปัจจัยมุ่งไปสู่ประพฤติปฏิบัติตนเองให้มันหลุดพ้น ถ้าเราไม่วางทัศนะวางความเห็นให้ถูกต้องแล้ว เราก็จะเดินเสียเวลา เดินไปในทางที่ไม่ถูกต้อง ดำเนินชีวิตของเราไม่ตรงทาง ลืมมันก็ไปมุ่งต่อสิ่งที่ไม่ได้ดับทุกข์ให้ตนจริง ๆ มุ่งในยศ มุ่งในลาภ มุ่งในชื่อเสียง มุ่งในอะไรต่าง ๆ ที่เป็นโลกียะ เป็นความสุขที่มีความทุกข์แฝงอยู่

แต่ว่าเมื่อเราเข้าใจ เรามีอย่างนั้น มีทรัพย์อย่างนั้น เราก็มีให้มันเป็นพออาศัยพอเยียวยา พอให้เป็นประโยชน์ เหมือนเรามีชีวิตนี้เราก็อย่าไปคิดรักษามันชนิดว่าจะต้องให้อยู่ให้คงที่ มันไม่ได้อยู่แล้ว ชีวิตเรานี้ก็ให้เราเข้าใจว่าเราพออาศัยมันไปเพียงชั่วคราว สังขารร่างกายนี้มันจะไม่ตั้งอยู่ตลอดเวลา แต่เราก็ต้องมีมันไว้ถนุถนอมมันไว้ ไม่ใช่ว่า เออ มันไม่ใช่ตัวเราของเราก็ปล่อยไปตามเรื่องตามราว ก็ไม่ใช่ มันไม่ใช่ตัวเราของเราก็จริง แต่มันก็ต้องอาศัยสิ่งเหล่านี้เพื่อพัฒนา เพื่อถอน เพื่อละ เพื่อข้ามฝั่ง เราว่ายน้ำข้ามฝั่งไปนี่มันไกลน่ะ มันต้องอาศัยแม้ว่าซากศพลอยมาเราก็ต้องอาศัยเกาะมัน แม้ว่ามันจะเหม็น มันจะน่ารังเกียจ มันจะอึดอัดขัดเคือง แต่มันก็ยังเป็นประโยชน์ เกาะมันไปว่ายไปจวบจนถึงอีกฝั่งหนึ่ง ถ้าถึงอีกฝั่งหนึ่งคงไม่ต้องหอบหิ้วไปแล้ว

เหมือนกับสังขารร่างกายนี้เป็นทุกข์เป็นของน่าเบื่อหน่ายเป็นของไม่สะอาดทุกสิ่งทุกอย่างแม้ว่าเราจะเบื่ออย่างไร อย่างที่ผู้ที่ปฏิบัติไป บางทีบางคราวมันเบื่อในสังขาร เบื่อหน่าย ก็อย่าไปทำลายตัวเองเสียก่อน เพราะว่าเราก็เหมือนกับทำลายเรือข้ามฟาก เรือมันรั่วเรือมันจะพังหรือมันจะเป็นท่อนซากศพขึ้นอืดหรือว่ามันน่าเกลียดก็ต้องอาศัยพยุงพยังไป ร่างกายนี้ต้องอาศัยไป เพราะฉะนั้นเบื่อก็ต้องรู้ ต้องดู ต้องพิจารณา จนกว่าเราจะข้ามพ้นถึงฝั่ง

วันนี้คงจะให้ธรรมะเป็นข้อคิดมาพอสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ขอความสุขความเจริญในธรรมจงมีแก่ทุกท่านเทอญ

ความทุกข์ คือข้อสอบ คำตอบต้องรู้ทุกข์

รูปภาพ


ขอบคุณ : dharma-gateway.com


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 ต.ค. 2012, 11:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 ต.ค. 2010, 10:42
โพสต์: 249

แนวปฏิบัติ: ไม่เอา ไม่เป็น ไม่ยึด
สิ่งที่ชื่นชอบ: ทุกเล่มของท่านพุทธทาส
อายุ: 32
ที่อยู่: สงขลา

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8:

.....................................................
วงว่างยงอยู่ยั้ง อนันตกาล
ในถิ่นที่ทุกสถาน แหล่งหล้า
ยึดมั่นไป่พบพาน ประจักษ์
ยามปล่อยหยุดไขว่คว้า ถึงได้โดยพลัน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ต.ค. 2012, 01:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 5
สมาชิก ระดับ 5
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 เม.ย. 2011, 01:57
โพสต์: 324

แนวปฏิบัติ: อริยสัจ4
อายุ: 27
ที่อยู่: USA

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8:

.....................................................
ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นคือความจริง การฝืนความจริงทำให้เกิดทุกข์ การเห็นและยอมตามความจริงทำให้หายทุกข์

คนที่รู้ธรรมะ มักจะชอบเอาชนะผู้อื่น แต่คนเข้าใจธรรมะ มักจะเอาชนะใจตนเอง

สัพเพ ธัมมา อะนัตตาติ ยะทา ปัญญายะ ปัสสะติ
เมื่อใดบุคคลเห็นด้วยปัญญาว่า, ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา

อะถะ นิพพินทะติ ทุกเข เอสะ มัคโค วิสุทธิยา
เมื่อนั้น ย่อมเหนื่อยหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ ที่ตนหลง,
นั่นแหละเป็นทางแห่งพระนิพพานอันเป็นธรรมหมดจด

.....ติลักขณาทิคาถา.....


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 9 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร