วันเวลาปัจจุบัน 24 เม.ย. 2024, 22:53  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ก.ย. 2012, 12:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

นิวรณ์ข้อกามฉันท์

สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก


บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

การปฏิบัติทางจิตตภาวนา คืออบรมจิต เพื่อสมาธิ และเพื่อปัญญา ในเบื้องต้นก็อบรมจิตเพื่อสมาธิ คือเพื่อให้ใจตั้งมั่นอยู่ในกรรมฐาน หรือเรียกจำเพาะว่าสมถกรรมฐาน กรรมฐานที่เป็นเครื่องสงบใจ และเมื่อใจสงบตั้งมั่น จึงจะเป็นสมาธิ สงบจากอะไร ก็คือสงบจากอกุศลวิตก ความตรึกนึกคิดอันเป็นอกุศลทั้งหลาย หรือเรียกว่าสงบจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย หรือเรียกว่าสงบจากนิวรณ์ทั้งหลาย



๏ อารมณ์เป็นที่ตั้งของกิเลส ๖

เพราะจิตนี้ผูกพันอยู่กับกิเลส และอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของกิเลส กิเลสนั้น ก็มีกามทั้งหลาย และอกุศลธรรมทั้งหลาย อารมณ์อันเป็นที่ตั้งของกิเลสนั้น ก็ได้แก่อารมณ์ทั้ง ๖ คือ

รูปารมณ์ อารมณ์คือรูปที่ตาได้เห็น สัททารมณ์ อารมณ์คือเสียงที่หูได้ยิน คันธารมณ์ อารมณ์คือกลิ่นที่จมูกได้ทราบ รสารมณ์ อารมณ์คือรสที่ลิ้นได้ทราบ โผฏฐัพพารมณ์ อารมณ์คือโผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้อง ที่กายนี้ถูกต้องได้ทราบ และ ธรรมารมณ์ อารมณ์คือเรื่อง มีเรื่องของรูป เรื่องของเสียงเป็นต้น ที่มโนคือใจได้คิดได้รู้ นี้คืออารมณ์



๏ กิเลสกาม วัตถุกาม

เมื่อเป็นอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของกาม คือความใคร่ความปรารถนา กามคือความใคร่ความปรารถนาก็บังเกิดขึ้น ผูกอยู่กับจิตใจ หรือเรียกว่าเป็นที่ตั้งของราคะคือความติดใจยินดี ราคะก็บังเกิดขึ้นผูกอยู่กับจิตใจ ทำให้จิตใจวิตกคือตรึกนึกคิดไปในกาม หรือในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของกาม หรืออารมณ์อันเป็นที่ตั้งของราคะความติดใจยินดีดังกล่าวนั้น

อันกามนั้นมี ๒ คือ กิเลสกาม กามที่เป็นกิเลสอย่างหนึ่ง วัตถุกาม กามที่เป็นวัตถุ คือเป็นที่ตั้งของกิเลสกามนั้นอย่างหนึ่ง กามที่เป็นตัวกิเลสนั้น ก็ได้แก่กามที่เป็นความใคร่ ความปรารถนา ความอยากได้ ความต้องการ หรือ ราคะ ความติดใจยินดี นันทิ ความเพลิดเพลินติดอยู่ นั้นเองเป็นตัวกิเลสกาม

และเมื่อกิเลสกามนี้ตั้งอยู่ในรูปที่ตาเห็นก็ตาม ในเสียงที่หูได้ยินก็ตาม ในกลิ่นที่จมูกได้ทราบก็ตาม ในรสที่ลิ้นได้ทราบก็ตาม ในโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้องที่กายได้ถูกต้องได้ทราบก็ตาม ในธรรมะคือเรื่องราวของรูปเสียงเป็นต้น ที่ใจได้คิดได้รู้ก็ตาม รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะและธรรมะคือเรื่องราวนั้น ก็ชื่อว่าเป็นวัตถุกาม คือเป็นวัตถุที่ใคร่ หรือวัตถุคือสิ่งอันเป็นที่ตั้งของความใคร่



๏ เบญจพิธกามคุณ ๕

แต่โดยมากวัตถุกามนั้น มักจะพูดหมายเอา ๕ ข้อ คือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ แต่อันที่จริงธรรมะคือเรื่องราวที่รักใคร่ปรารถนาพอใจก็ชื่อว่ากามด้วย แต่เมื่อเรียกเอาข้างต้น ๕ ข้อ ที่เป็นวัตถุคือเป็นรูปเท่านั้นก็เป็น ๕ ข้อ ซึ่งมีคำเรียกว่า เบญจพิธกามคุณ กามคุณมีอย่าง ๕ ส่วนข้อ ๖ คือธรรมะคือเรื่องราวนั้น ก็รวมอยู่ใน ๕ ข้อนี่ นั้นเอง เพราะว่าก็เป็นเรื่องของรูปเสียงเป็นต้นเหล่านั้น นั่นแหละ จิตใจเมื่อถูกกามดังกล่าวผูกไว้ จึงมีปรกติวิตกคือตรึกนึกคิดไปในกามทั้งหลาย เป็นกามาวจรจิต คือจิตที่เป็นกามาวจรเที่ยวไปในกาม อันเป็นจิตของสามัญชนทั่วไป และกิเลสกามดั่งที่กล่าวมานี้ ก็เรียกได้ว่าเป็นตัวกามฉันท์ คือความพอใจรักใคร่อยู่ในกาม คือจิตนี้เองมีฉันทะคือความพอใจรักใคร่ติดอยู่ในกาม จึงวิตกตรึกนึกคิดไปในกามอยู่เป็นอาจินต์



๏ สุภนิมิต

ความที่เป็นดั่งนี้ ก็เพราะจิตนี้เองไปยึดถือ และกำหนดไปในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ อันเป็นเบญจพิธกามคุณนั้นว่าเป็นสุภะ คืองดงาม น่ารักใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ เรียกว่า สุภนิมิต คือเครื่องกำหนดว่างาม ดั่งเมื่อได้เห็นรูป จิตก็กำหนดเป็นสุภะนิมิตในรูป ว่ารูปที่เห็นนั้นงามอย่างนั้นงามอย่างนี้ เมื่อได้ยินเสียง จิตก็กำหนดลงไปในเสียงนั้น ว่าไพเราะอย่างนั้นไพเราะอย่างนี้ ในกลิ่นก็กำหนดลงไปว่ากลิ่นดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ ในรสก็กำหนดลงไปว่าอร่อยอย่างนั้นอร่อยอย่างนี้ ในสิ่งถูกต้องทางกายที่เรียกว่าโผฏฐัพพะ จิตก็กำหนดลงไปว่า ดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ ดั่งนี้คือสุภะนิมิต กำหนดลงไปว่างาม



๏ อโยนิโสมนสิการ

เมื่อกำหนดลงไปว่างาม ก็ใส่ใจว่างาม ความใส่ใจว่างามนี้ก็ดึงใจให้วิตกคือตรึกนึกคิดลงไปว่างาม เพราะว่าได้นำมาใส่เข้าในใจแล้ว ใจจึงติด และวิตกตรึกนึกคิดไปดั่งนั้น เพราะฉะนั้น ความใส่ใจอันเรียกว่า มนสิการ จึงสำคัญมาก ก็มาจากจิตนี้เองที่นำเอาสุภะนิมิตนั้นมาใส่ไว้ในใจ ซึ่งเป็นไปในรูปเป็นต้นดังกล่าว และก็ใส่ใจไว้เสมอ อันความใส่ใจไว้เสมอดั่งนี้ สำหรับนักปฏิบัติธรรมะ หรือผู้ปฏิบัติธรรมะ หรือว่าทางพระพุทธศาสนา ซึ่งสอนให้ปฏิบัติทำจิตตภาวนา กล่าวว่าเป็น อโยนิโสมนสิการ คือเป็นการพิจารณาไปโดยไม่แยบคาย จึงเห็นว่างาม และนำมาใส่ใจ



๏ อาหารของกามฉันท์

เพราะฉะนั้น อาการที่จิตกำหนดว่างามอันเรียกว่า สุภนิมิต และการที่มาใส่ใจว่างาม ซึ่งเรียกตามภาษาธรรมะว่า โดยไม่แยบคาย และก็นำมาใส่ใจไว้โดยมากดั่งนั้น นี้เองเป็นตัวอาหารของกามฉันท์ ความพอใจรักใคร่ในกาม หรือว่าของราคะ หรือของกิเลสกาม กามฉันท์ได้สุภนิมิต และการที่ใส่ใจไว้โดยมากว่างาม เพราะมิได้พิจารณาโดยแยบคายดั่งนี้ จึงเป็นอาหารของกามฉันท์ หรือของราคะ เป็นเหตุให้กามฉันท์บังเกิดขึ้น บังเกิดเป็นเหตุให้กามบังเกิดขึ้น หรือกิเลสกามบังเกิดขึ้นในจิตใจ



๏ อสุภะ

พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนผู้ปฏิบัติธรรมะ ให้มาใส่ใจโดยแยบคาย อันหมายความว่า ให้ใส่ใจพิจารณาตามสัจจะคือความจริง

ว่าอันที่จริงนั้น รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะเป็น อสุภะ คือเป็นสิ่งที่ไม่งดงาม ดังที่ตรัสสอนไว้ในหมวดกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ข้อให้พิจารณากาย ว่ากายนี้เป็นไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ มีอยู่ในกายนี้ คือ เกสา ผม โลมา ขน นขา เล็บ ทันตา ฟัน ตะโจ หนัง มังสัง เนื้อ นหารู เอ็น อัฏฐิ กระดูก อัฏฐิมิญชัง เยื่อในกระดูก วักกัง ไต หทยัง หัวใจ ยกนัง ตับ กิโลมกัง พังผืด ปิหกัง ม้าม ปับผาสัง ปอด อันตัง ไส้ใหญ่ อันตคุณัง สายรัดไส้ อุทริยัง อาหารใหม่ กรีสัง อาหารเก่า ปิตตัง น้ำดี เสมหัง น้ำเสลด ปุพโพ น้ำหนอง โลหิตัง น้ำเลือด เสโท น้ำเหงื่อ เมโท มันข้น อัสสุ น้ำตา วสา มันเหลว เขโฬ น้ำลาย สิงฆาณิกา น้ำมูก ลสิกา ไขข้อ มุตตัง มูตร ดั่งนี้



๏ อสุภนิมิต โยนิโสมนสิการ

ให้พิจารณาค้นคว้าตรวจสอบดูในกายอันนี้ ว่าเต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ ดั่งนี้ และสิ่งทั้งปวงเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่ไม่งดงาม คือเป็นอสุภะไม่งดงาม เป็นของไม่สะอาดด้วย เป็นของไม่งดงามด้วย จำเพาะที่ตามองเห็นก็ได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ซึ่งก็ต้องมีการชำระคืออาบน้ำกันอยู่ทุกวัน และต้องตบแต่งกันอยู่ทุกวัน เพราะว่าเป็นที่ไหลออกจากสิ่งปฏิกูลทั้งหลาย ไปทั่วกายทุกขุมขน ต้องพิจารณาตรวจค้นลงไปดั่งนี้ ให้เห็นว่าไม่งาม ให้เห็นว่าไม่สะอาด เรียกว่าเป็น อสุภนิมิต กำหนดหมายว่าไม่งาม

ว่าการพิจารณาให้เห็นว่าเป็นอสุภะนิมิตนี้ เรียกว่าเป็นโยนิโสมนสิการ ความใส่ใจโดยแยบคาย คือพิจารณาให้เห็นว่าเป็นของที่ไม่สะอาด ไม่งดงาม ให้ทำให้มาก เมื่อ อสุภสัญญา ความสำคัญหมายว่าไม่งดงาม ความไม่สะอาดปรากฏขึ้น จิตก็ได้อสุภนิมิตคือเครื่องกำหนดหมายว่าไม่งดงาม และการที่ใส่ใจพิจารณานั้นก็เป็นโยนิโสมนสิการ การพิจารณาโดยแยบคาย เมื่อเป็นดั่งนี้ กามฉันท์ก็สงบ

กามฉันท์นั้นย่อมเกิดขึ้นเพราะสุภนิมิต และการที่มาใส่ใจถึงโดยไม่แยบคายโดยมาก อันเรียกว่ากระทำให้มากในอโยนิโสมนสิการ ส่วนกามฉันท์นี้ย่อมละเสียได้ด้วย อสุภนิมิต อสุภสัญญา กำหนดหมายว่าไม่งดงาม สำคัญหมายว่าไม่งดงาม และใส่ใจถึงให้มาก ดั่งนี้ ก็ชื่อว่าทำให้มากด้วยโยนิโสมนสิการ กามฉันท์ก็จะละไปได้ นี้เป็นทางปฏิบัติ



๏ เพราะอะไรจึงไม่ได้สมาธิ

เพราะฉะนั้น ผู้ที่ปฏิบัติธรรม ทำจิตตภาวนา จึงให้ตรวจดูจิตของตน ถ้ามีกามฉันท์อยู่ก็ให้รู้ว่ามี ถ้าไม่มีกามฉันท์อยู่ก็ให้รู้ว่าไม่มี แล้วก็ต้องให้รู้ว่ากามฉันท์นั้นบังเกิดขึ้นอย่างไร คือบังเกิดขึ้นเพราะ สุภนิมิต สุภสัญญา และด้วยใส่ใจถึงโดยมาก โดยไม่แยบคาย คือไปเห็นว่างดงามน่ารักน่าชม และก็ให้รู้ว่ากามฉันท์นั้นจะละได้อย่างไร ก็ต้องละได้ด้วยอสุภนิมิตสำคัญหมายว่าไม่งดงาม อสุภสัญญากำหนดหมายว่าไม่งดงาม สำคัญหมายว่าไม่งดงาม และด้วยการทำความใส่ใจถึงให้มากโดยแยบคายอย่างนั้น ก็จะละได้ ก็จะละกามฉันท์ได้ เมื่อเป็นดั่งนี้ การทำจิตตภาวนาก็เป็นไปได้ จะสงบจากกามทั้งหลาย

เพราะฉะนั้น ผู้ที่ปฏิบัติธรรมะทำจิตตภาวนา จะยกเอากรรมฐานข้อไหนขึ้นปฏิบัติก็ตาม เช่น ยกข้ออานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออกขึ้นมาพิจารณา ถ้าหากว่าจิตยังไม่ได้สมาธิ ก็ให้ตรวจดูจิตว่าเพราะอะไรจึงไม่ได้สมาธิ การทำอานาปานสติจึงไม่บังเกิดผล ก็ย่อมจะพบนิวรณ์ข้อใดข้อหนึ่งในจิต เช่นว่าพบข้อกามฉันท์ ผู้ปฏิบัติก็ต้องมาจัดการกับกามฉันท์ในจิตเสียก่อน เพราะถ้ากามฉันท์มีอยู่ในจิต จิตก็จะถูกกามฉันท์ดึงไป แม้จะนำมาตั้งไว้ในอานาปานะลมหายใจเข้าออก จิตก็จะต้องดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายไปหากามฉันท์ คือไปหากามทั้งหลาย จึงต้องจัดการกับจิตในเรื่องนี้เสียก่อน

ด้วยการค้นหาเหตุว่าทำไมจิตจึงมาพัวพันอยู่กับกามฉันท์ข้อนี้ๆ ก็ย่อมจะพบว่าเพราะ สุภนิมิต สุภสัญญา และเพราะความมาใส่ใจถึงโดยไม่แยบคาย เพราะไปใส่ใจถึงว่างดงามน่ารักน่าชมนั้นเอง

จึงต้องปฏิบัติใส่ใจถึงคือพิจารณาให้เห็น อสุภนิมิต อสุภสัญญา ให้ได้อสุภสัญญา โดยใส่ใจถึงโดยแยบคาย ด้วยพิจารณาดั่งที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้พิจารณาในข้อกาย ดั่งที่กล่าวแล้ว ว่ากายนี้เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ มีผมขนเล็บฟันหนังเป็นต้น พิจารณาใส่ใจค้นคว้าลงไปว่า ไม่สะอาดอย่างนี้ๆ ไม่งดงามอย่างนี้ๆ ความจริงย่อมจะปรากฏแก่จิต ในเมื่อใส่ใจถึงโดยแยบคายอยู่บ่อยๆ เมื่อเป็นดั่งนี้กามทั้งหลายก็สงบลงได้ จึงกลับมาทำอานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก ก็ย่อมจะทำได้สะดวกขึ้น และสำเร็จเป็นอานาปานสติได้ ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป



คัดลอกมาจาก
เทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ

http://www.mahayana.in.th/tsavok/tsavok.html


:b48:

กระทู้บอร์ดเก่าโพสโดยคุณลูกโป่ง
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=2743

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ก.ย. 2012, 12:54 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


นิวรณ์ข้อพยาบาท

สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก


บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

อันตรายแห่งการปฏิบัติสมาธิก็คือนิวรณ์ ที่แปลว่ากิเลสเป็นเครื่องกั้นจิตไว้ ทำไม่ให้ได้สมาธิ ไม่ให้ได้ปัญญา และนิวรณ์ข้อที่ ๑ คือกามฉันท์ความพอใจรักใคร่ในกามได้แสดงแล้ว ในวันนี้จะแสดงข้อที่ ๒ คือพยาบาท

คำว่าพยาบาทนั้นในที่นี้มีความหมายถึง ทั้งปฏิฆะความกระทบกระทั่งใจ ความขัดใจ โกธะความโกรธ โทสะความประทุษร้ายใจ และพยาบาทคือความปองร้ายความมุ่งร้ายหมายล้างผลาญ คือหมายรวมถึงกิเลสกองโทสะทั้งหมด

แต่ว่าชื่อของกิเลสกองโทสะดังที่กล่าวมานี้มีลักษณะที่ต่างกัน ตั้งแต่อย่างอ่อน จนถึงอย่างหยาบช้ากล้าแข็ง ที่เป็นอย่างอ่อนเป็นเบื้องต้น ก็ได้แก่ปฏิฆะคือความกระทบกระทั่งใจ ความขัดใจ อันเนื่องมาจากความประสบกับอนิษฐารมณ์ อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนาทั้งหลาย เช่นว่า ทราบว่าคนนั้นคนนี้นินทาว่าร้าย ได้ยินคนนั้นคนนี้ด่าว่า ได้ถูกคนนั้นคนนี้ประหัตประหาร ประทุษร้ายร่างกาย ได้ถูกคนนั้นคนนี้เอาชนะ ได้ถูกคนนั้นคนนี้ลักขโมยสิ่งของ ดั่งนี้เป็นต้น



๏ โทสะแปลว่าประทุษร้าย

อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนาเหล่านี้ก็มากระทบใจเป็นปฏิฆะขึ้น และปฏิฆะนี้เองเมื่อแรงขึ้นก็เป็นโกธะความโกรธ ความขัดเคือง และโกธะความโกรธความขัดเคืองนี้เมื่อแรงขึ้นก็เป็นโทสะ ซึ่งบังเกิดขึ้นภายในจิต ก็ทำจิตให้เร่าร้อน

โทสะจึงแปลว่าประทุษร้าย ก็คือประทุษร้ายจิตนี้เอง จิตของตน ให้รุ่มร้อน เป็นการประทุษร้ายภายในคือจิตใจของตนเองก่อน และเมื่อแรงขึ้นอีกก็เป็นพยาบาทคือความปองร้ายมุ่งร้ายหมายล้างผลาญ อันกระทำให้ เขาด่าก็ด่าตอบ เขาประทุษร้ายก็ประทุษร้ายตอบ เขาเอาชนะก็เอาชนะตอบและพยาบาทนี้ก็เป็นเหตุให้ประทุษร้ายผู้อื่น ที่มาเป็นเหตุทำให้เกิดความขัดเคืองโกรธแค้น อย่างเบา อย่างปานกลาง หรืออย่างแรง ก็สุดแต่กำลังของพยาบาทที่บังเกิดขึ้น

ถ้าจะเทียบกับกองไฟ ก็เทียบได้ว่า อันปฏิฆะทีแรกคือความกระทบกระทั่งนั้น ก็เทียบได้กับอันไม้ขีด หยิบเอามาขีดข้างกล่องไม้ขีด ก็เกิดไฟขึ้นที่ปลายก้านไม้ขีด เป็นไฟนิดเดียว และเมื่อเอาไฟก้านไม้ขีดที่ติดไฟนิดเดียวนี้มาต่อเข้ากับเชื้อไฟ ไฟก็จะติดเชื้อไฟ เช่นถ่านหรือฟืนสำหรับหุงต้ม และไฟที่ติดเชื้อแล้วนี้ จะเป็นกองเล็กหรือกองโต ก็สุด แต่ว่าเชื้อที่มาติดเข้ากับไฟ

ถ้าเป็นไฟในเตาสำหรับหุงหาอาหาร ก็เป็นไฟที่อยู่ในขอบเขตอันจำกัด เป็นประโยชน์สำหรับใช้สอย แต่เมื่อไฟนั้นได้เชื้อเช่นน้ำมัน และไม้ที่เป็นบ้านเป็นเรือนจนถึงติดลุกไหม้ บ้านไหม้เรือนให้เป็นไฟกองโต เป็นไฟไหม้บ้านไหม้เรือนดังที่ปรากฏ

ดั่งนี้ก็เป็นขั้นที่แรงขึ้นมาโดยลำดับ จากปฏิฆะก็มาเป็นโกธะโกรธ จากโกธะก็มาเป็นโทสะ จากโทสะก็มาเป็นพยาบาท ไหม้เชื้อ ก็คือประทุษร้ายเชื้อไฟนั้นเองให้ไหม้ น้อยหรือมาก ก็สุดแต่กำลังของพยาบาทที่น้อยหรือมาก

เทียบกันได้กับบุคคล หรือหมู่ชน ก็อาจเทียบได้ อย่างเช่นทีแรก ก็กระทบกระทั่งกันเป็นปฏิฆะ แรงขึ้นก็เป็นโกธะคือโกรธกัน แรงขึ้นก็เป็นโทสะประทุษร้ายใจของตัวเองของแต่ละคนที่โกรธกัน แล้วก็มาเป็นพยาบาท ถึงกับทำร้ายกัน มุ่งปองร้ายกัน ก็ทำให้เกิดกรรมคือการกระทำ คือการกระทำที่ทำร้ายกัน ระหว่างคนสองคน ระหว่างคนสองหมู่ ตั้งแต่หมู่เล็กจนถึงหมู่ใหญ่ จนถึงเป็นสงครามขึ้นมา เป็นระหว่างชาติหรือหลายชาติ นี้ก็เนื่องมาจากกิเลสกองโทสะดั่งที่กล่าวมาแล้วทั้งนั้น

ลำพังพยาบาทนั้น เป็นความมุ่งร้ายปองร้ายในจิตใจ อันเป็นเหตุก่อเจตนาคือความจงใจประกอบกรรม คือการงานที่กระทำ ทางกายทางวาจาทางจิตใจ เป็นการประทุษร้ายกัน ทำร้ายกัน ล้างผลาญกัน เพราะฉะนั้น กิเลสกองโทสะนี้จึงเป็นกิเลสตัวทำลายดังเช่นตัวอย่างที่กล่าวมา ลำพังกิเลสกองโทสะเกิดขึ้นในจิตใจของบุคคลก่อน และเป็นเหตุก่อกรรมคือการงานที่กระทำเบียดเบียนทำลายล้างกันดังกล่าว และเมื่อจิตใจมีกิเลสกองโทสะอยู่ ก็เป็นอันตรายของสมาธิ เป็นเหตุให้ทำสมาธิไม่ได้



๏ อาหารของโทสะ

พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงไว้ว่า อันร่างกายนี้ต้องอาศัยอาหาร ร่างกายจึงเป็นไปได้ จึงดำรงได้ กิเลสกองพยาบาทหรือกองโทสะดังกล่าวก็เช่นเดียวกัน ต้องอาศัยอาหาร เมื่อได้อาหารพยาบาทที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็เติบโตมากขึ้น

อันอาหารของพยาบาท หรือของกิเลสกองโทสะ ก็ได้แก่

๑. ปฏิฆะนิมิต นิมิตคือจิตกำหนดหมายในปฏิฆะคือความกระทบกระทั่ง และ
๒. การกระทำให้มากด้วยอโยนิโสมนสิการ คือการกระทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย

ข้อที่ ๑ ปฏิฆะนิมิตนั้น ก็ได้แก่จิตนี้เองกำหนดหมาย จดจำ รำลึกถึง อยู่ที่ปฏิฆะคือการกระทบกระทั่งที่ตนได้รับ ดังเมื่อเขาด่ามา ก็มีตัวเราออกรับการด่าของเขาตัวเราก็ไปกระทบกับการด่าของเขา ก็บังเกิดเป็นการกระทบกระทั่งกันขึ้น



๏ ปฏิฆะนิมิต

แต่ถ้าเขาด่ามา ถ้าไม่มีตัวเราออกรับ การกระทบกระทั่งก็ไม่มี การด่าของเขาก็เป็นลมๆ แล้งๆ คือเป็นลมปากที่ผ่านมากระทบหูแล้วก็ผ่านไปเท่านั้นไม่ข้องติด แต่เพราะมีตัวเราออกรับ รับว่าเขาด่าเรา จึงเกิดสังโญชน์คือความผูกใจ ผูกใจอยู่ในคำด่านั้น ก็เป็นปฏิฆะนิมิต คือจิตใจก็กำหนดอยู่ ระลึกถึงอยู่ถึงการกระทบกระทั่งนั้น ดั่งนี้คือปฏิฆะนิมิต และเมื่อมีปฏิฆะนิมิตดั่งนี้ จิตใจก็คิดปรุงหรือปรุงคิด ส่งเสริมความกระทบกระทั่งนั้น จึงกลายเป็นความโกรธ กลายเป็นโทสะ กลายเป็นพยาบาทขึ้นโดยลำดับ เพราะจิตนี้เองคิดปรุงหรือปรุงคิดไปในทางส่งเสริม

เหมือนอย่างเมื่อขีดไม้ขีด ติดไฟขึ้นมาที่ปลายก้านไม้ขีด แทนที่จะให้ไม้ขีดดับลงแค่นั้น ก็เอาก้านไม้ขีดไปจ่อเชื้อเข้า เกิดไฟลุกขึ้นมากองโต แล้วก็คอยเติมเชื้อให้แก่กองไฟนั้น เมื่อเติมเชื้อให้มากไฟก็กองโตมาก และเมื่อไฟได้เชื้อก็คงติดเป็นไฟ เป็นกองไฟอยู่ตลอดเวลาที่ยังมีเชื้อ

ฉะนั้นตราบใดที่จิตใจนี้คิดปรุงหรือปรุงคิดไปในทางโกรธ ไม่คิดปรุงหรือปรุงคิดไปในทางดับ ดั่งนี้แหละเรียกว่ากระทำให้มากด้วยอโยนิโสมนสิการ คือด้วยการกระทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย ทั้งปฏิฆะนิมิต และทั้งการกระทำให้มากโดยอโยนิโสมนสิการ

การกระทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายดังกล่าวนี้ เป็นอาหารของกิเลสกองโทสะ หรือกองพยาบาทอันทำให้กิเลสกองนี้ที่ยังไม่เกิด ก็เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็เติบโตมากขึ้น

เพราะฉะนั้น ในทางปฏิบัติจึงต้องไม่ให้อาหารแก่กิเลสกองนี้ กล่าวคือ ไม่ทำปฏิฆะนิมิตความกำหนดหมายผูกความกระทบกระทั่งไว้ในใจ โดยที่หัดดับใจ คือดับโทสะเสีย ดับกระทบกระทั่งเสีย หรือว่าหัดที่จะไม่เอาตัวออกรับ การหัดดับกระทบกระทั่งเสีย ก็เช่นเมื่อติดก้านไม้ขีดขึ้นมาแล้ว ก็ให้ไฟดับอยู่แค่ก้านไม้ขีดเท่านั้น ไม่เอาไปจ่อเชื้อให้ไฟกองโตขึ้น

หัดปฏิบัติในขั้นนี้อาจจะดับได้ง่าย เพราะการกระทบกระทั่งทีแรกนั้น ยังไม่ทันก่อกิเลสกองโทสะนี้ให้ใหญ่โตเป็นความกระทบกระทั่งทีแรกเท่านั้น ก็ให้ดับไปแค่นั้น เหมือนอย่างก้านไม้ขีดที่จุดเป็นไฟขึ้นมา แล้วก็ให้ดับเพียงแค่ก้านไม้ขีด ก็ไฟนิดเดียวเท่านั้น หัดดับก็ไม่ยากในเมื่อตั้งใจจะดับ

อีกประการหนึ่งก็คือว่าหัดที่จะไม่เอาตัวออกรับ ที่เรียกว่าไม่ร่วมบริโภคอาหารด้วย ดังเช่นพระพุทธเจ้าที่ได้ทรงถูกพราหมณ์ผู้หนึ่งว่ากล่าวค่อนแคะต่างๆ ว่าทรงออกบวชเป็นการทำลายตระกูลดั่งนี้เป็นต้น พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสกับพราหมณ์ผู้นั้นว่า เมื่อแขกมาหาพราหมณ์ผู้นั้นต้อนรับอย่างไร พราหมณ์นั้นก็กราบทูลว่า ก็ต้อนรับด้วยน้ำด้วยข้าวเป็นต้น พระพุทธเจ้าก็ตรัสถามว่า ถ้าแขกที่มานั้นเขาไม่บริโภคข้าวบริโภคน้ำ ที่พราหมณ์นั้นจัดต้อนรับ ข้าวน้ำนั้นตกเป็นของใคร พราหมณ์ก็ตอบว่า ก็ตกเป็นของพราหมณ์นั้นนั่นเอง ก็ตกแก่เจ้าของบ้าน พระพุทธองค์จึงตรัสว่าถ้อยคำที่ท่านว่าต่างๆ นั้นเราก็ไม่รับ ไม่บริโภคร่วมด้วยเช่นเดียวกัน โดยนัยนี้ก็หมายความว่าเมื่อพระองค์ไม่ทรงรับ ถ้อยคำที่พราหมณ์ว่ากล่าวค่อนแคะต่างๆ ก็ตกเป็นของผู้พูดเอง ก็ตกเป็นของผู้ที่ว่ากล่าวค่อนแคะนั้นเอง ดั่งนี้

เพราะฉะนั้น การหัดที่จะไม่เอาตัวเองออกรับดั่งนี้ ก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง สำหรับการที่จะทำปฏิฆะนิมิตนี้ไม่ให้บังเกิดขึ้น หรือการที่จะดับปฏิฆะนิมิตที่แม้บังเกิดขึ้นเล็กน้อย



๏ การพิจารณาโดยแยบคาย

อีกประการหนึ่งก็หัดกระทำให้มากโดยโยนิโสมนสิการ คือการพิจารณาโดยแยบคาย คือการหัดคิดดับโกรธ ไม่คิดส่งเสริมโกรธ แต่คิดดับโกรธ คือพิจารณาว่า ความโกรธก็คือกิเลสกองโทสะหรือพยาบาทนี้ทั้งหมดนั้น เป็นโทษอย่างนั้นๆ เช่นก่อให้เกิดความวู่วาม เร่าร้อน ไม่ผาสุข เป็นเหตุก่อกรรมคือการงานที่กระทำทางกายทางวาจาทางใจเป็นอกุศลต่างๆ ล้วนแต่มีโทษ ไม่มีคุณ

ส่วนความดับโกรธนั้นเรียกว่าเป็นการที่ดับไฟตั้งแต่ต้น ไม่ลุกลามใหญ่โต ไหม้ตัวเองและไหม้ผู้อื่นให้เดือดร้อน เพราะฉะนั้น ดับโกรธเสียจึงดีกว่า และมีคุณ ทำให้เกิดความผาสุขสบาย ไม่ก่อกรรมเบียดเบียนทำลายล้างซึ่งกันและกัน เป็นการหัดคิดพิจารณานี้เองที่จิตใจ สร้างสติความระลึกได้ความสำนึกตัว สร้างปัญญาให้แก่จิตใจ เมื่อจิตใจได้สติได้ปัญญา ก็ย่อมจะดับโทสะได้ และการใช้ความคิดวิตกตรึกตรองไปก็จะเป็นไปในทางดับโทสะดับพยาบาท ไม่เป็นไปในทางก่อให้ลุกลาม

เพราะฉะนั้น การปฏิบัติดั่งนี้จึงเป็นการปฏิบัติที่ไม่ให้อาหารแก่กิเลสกองนี้ กิเลสกองนี้ที่ยังไม่เกิดก็จะไม่เกิด ที่เกิดขึ้นแล้วก็จะดับไป และเมื่อเป็นดั่งนี้ก็สามารถที่จะปฏิบัติในสมาธิได้ ทำจิตให้เป็นสมาธิได้ ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป



๏ มานะ ความสำคัญตน

และก็จะอธิบายเพิ่มเติมว่า อันมานะคือความสำคัญตน ตั้งต้นแต่อัสมิมานะ ความสำคัญว่าเรามีเราเป็น หรือว่าเป็นเรา หรือเป็นของเรา เป็นตัวเรา เป็นของๆ เรา ย่อมเป็นที่ตั้งแห่งปฏิฆะคือการกระทบกระทั่ง เพราะมานะคือความสำคัญหมายนี้เมื่อสำคัญหมายว่าเป็นตัวเราขึ้นแล้ว ก็ย่อมมีตัวเขา และย่อมจะมีการเทียบเคียงกัน

ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงถึงมานะ คือความสำคัญหมายที่เทียบเคียงตัวเราตัวเขา ไว้ว่า

เป็นผู้เลิศกว่าเขา มีความสำคัญหมายว่าเป็นผู้เลิศกว่าเขาบ้าง มีความสำคัญหมายว่าเป็นผู้เสมอเขาบ้าง มีความสำคัญหมายว่าเป็นผู้เลวกว่าเขาบ้าง

เป็นผู้เสมอเขา มีความสำคัญหมายว่าเป็นผู้เลิศกว่าเขาบ้าง มีความสำคัญหมายว่าเป็นผู้เสมอเขาบ้าง มีความสำคัญหมายว่าเป็นผู้เลวกว่าเขาบ้าง

เป็นผู้เลวกว่าเขา มีความสำคัญหมายว่าเป็นผู้เลิศกว่าเขาบ้าง มีความสำคัญหมายว่าเป็นผู้เสมอเขาบ้าง มีความสำคัญหมายว่าเป็นผู้เลวกว่าเขาบ้าง

เมื่อมีมานะคือความสำคัญหมายเทียบเคียงระหว่างตัวเรากับตัวเขาดั่งนี้แล้ว ก็ทำให้เกิดความหมายมั่นต่อไป คือความหมายมั่นว่า เราจะทำอย่างไรแก่เขา หรือว่าเขาจะทำอะไรแก่เรา มีความสำคัญหมายว่าเราทำอะไร เขาทำอะไร จึงทำให้เกิดการแยกพรรคแยกพวก เป็นพวกเราพวกเขา และถ้าเพียงเท่านี้ก็เป็นเหตุให้แยกพวกเราพวกเขา แต่ถ้าแรงกว่านี้ เมื่อมีการกระทบกระทั่งกันขึ้นเป็นปฏิฆะ ก็สืบต่อให้เป็นโทสะ ให้เป็นพยาบาทปองร้ายหมายล้างผลาญซึ่งกันและกัน จึงเป็นเหตุให้มีการปฏิบัติการต่อกัน สุดแต่อำนาจของปฏิฆะโทสะพยาบาทที่บังเกิดขึ้น ดั่งนี้ ล้วนรวมอยู่ในข้อว่ากระทำให้มาก ด้วยการกระทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายทั้งนั้น เพราะเป็นการคิดปรุงหรือปรุงคิดให้บังเกิดการกระทบกระทั่งกันขึ้นดังที่กล่าว

เพราะฉะนั้น ต้องลดความคิดสำคัญหมายในตัวเราตัวเขา ลดความหมายมั่นในกันและกัน จึงจะทำให้เกิดความปรองดองสามัคคีกัน อันนี้ก็สืบมาจากการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย คือคิดปรุงหรือปรุงคิด ในทางลดความหมายมั่นในกันและกัน และจะลดความหมายมั่นได้ ก็ต้องลดมานะคือความสำคัญหมายที่เป็นการเทียบเคียง ดังที่กล่าวมาแล้วและจะลดการเทียบเคียงดังที่กล่าวมาแล้วได้ ก็ต้องควบคุมอัสมิมานะที่เป็นตัวเดิม

คือความสำคัญหมายว่าเรามีเราเป็น อันเป็นความสำคัญหมายที่สร้างตัวเราขึ้นมา คอยควบคุมตัวเราด้วยสติ ด้วยปัญญา ตริตรองในทางลดละการส่งเสริมตัวเราของเราให้ใหญ่โต และเทียบเคียงตัวเขาของเขา อันตัวเรานี้ ต้องมีสติต้องปัญญาควบคุมให้ดี จึงจะเป็นไปในทางที่ดี อันเป็นการลดละตัวเราของเรา ไม่เอาตัวเราของเราออกไปรับเรื่อง ราวทั้งหลายในโลก ที่มีอยู่เป็นอันมาก ทั้งที่เป็นส่วนอิฏฐารมณ์อารมณ์ที่น่าปรารถนา ทั้งที่เป็นอนิฏฐารมณ์อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา



๏ ข้อพิจารณาโดยแยบคาย

และพิจารณาโดยแยบคายว่า อันเรื่องราวทั้งหลายในโลกเป็นอันมากดังที่กล่าวนั้น ล้วนเป็นอนิจจะคือไม่เที่ยง ต้องมีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้ว ก็ย่อมดับไป เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่สิ่งที่จะเอาตัวเราของเราออกไปรับเรื่องทั้งหลายในโลกดังที่กล่าวนั้น แต่เก็บตัวเราของเราไว้ในภายใน ทำตัวเราของเราให้สงบ ทั้งนี้ต้องอาศัยการทำไว้ในใจโดยแยบคาย อาศัยสติปัญญานั้นเอง

และอีกประการหนึ่ง คุณธรรมสำหรับเป็นเครื่องป้องกัน และเป็นเครื่องดับปฏิฆะโทสะพยาบาท ก็ได้แก่เมตตาคือความที่มีจิตรักใคร่ปรารถนาให้เป็นสุข ดังที่เราสวดกันอยู่ว่า

สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง อเวรา โหนตุ จงเป็นผู้ไม่มีเวรเถิด
อัพยา ปัชฌา โหนตุ จงเป็นผู้ไม่เบียดเบียนกันเถิด
อนีฆา โหนตุ จงเป็นผู้ไม่มีทุกข์กายทุกข์ใจเถิด
สุขี อัตตานัง ปริหรันตุ จงเป็นผู้มีสุขรักษาตนเถิด ดั่งนี้


คิดแผ่เมตตาดังที่กล่าวนี้ โดยเจาะจง และโดยไม่เจาะจงคือทั่วไป

แผ่โดยเจาะจงนั้นเรียกว่า โอทิศะพรรณา แผ่เมตตาจิตไปโดยเจาะจง เช่นที่ได้มีแสดงเป็นแนวปฏิบัติไว้ว่า แผ่เมตตาจิตไปว่า

สัพพา อิตถิโย สตรีทั้งปวง สัพเพ ปุริสา บุรุษทั้งปวง
สัพเพ อริยา อริยะบุคคลทั้งปวง สัพเพ อนริยา ผู้ที่ไม่ใช่พระอริยะทั้งปวง
สัพเพ เทวา เทพทั้งปวง สัพเพ มนุสสา มนุษย์ทั้งปวง
สัพเพ วินิปาติกา สัตว์ที่บังเกิดในภพชาติที่ตกต่ำ อันเป็นอบายภูมิทั้งปวง
สุขิตา โหนตุ จงเป็นผู้มีสุขเถิด


กับแผ่ไปโดยไม่เจาะจงอันเรียกว่า อโนทิศะพรรณา การแผ่ไปโดยไม่เจาะจงว่า

สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง สัพเพ ปาณา สัตว์มีปราณคือมีชีวิตทั้งปวง
สัพเพ ภูตา ภูตะคือสัตว์ที่เป็นแล้วทั้งปวง สัพเพ ปุคคลา บุคคลทั้งปวง
สัพเพ อัตตภาวะ ปริยาปันนา สัตว์ที่นับเนื่องในอัตตภาพทั้งปวง
สุขิตา โหนตุ จงเป็นผู้มีสุขเถิด


และการแผ่จิตไปด้วยเมตตาดั่งนี้ ท่านก็สอนให้คิดแผ่ไปในทิศทั้ง ๑๐ คือให้คิดแผ่จิตไปด้วยเมตตา ทั้งโดยเจาะจง ทั้งโดยไม่เจาะจง ดังกล่าว ในทิศตะวันออก ในทิศตะวันตก ในทิศเหนือ ในทิศใต้ ในทิศตะวันออกเฉียงใต้ ในทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ในทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ในทิศตะวันตกเฉียงใต้ เป็น ๘ ทิศ และในทิศเบื้องบน ในทิศเบื้องล่าง โดยคิดแผ่ไปว่า โดยคิดแผ่ไปทุกๆ ทิศ ทีละทิศว่า

สัพพา อิตถิโย สตรีทั้งปวง สัพเพ ปุริสา บุรุษทั้งปวง เป็นต้น โดยเจาะจง และโดยไม่เจาะจงว่า

สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงเป็นต้น
สุขิตา โหนตุ จงเป็นผู้มีสุขเถิด

ดั่งนี้ ชื่อว่าแผ่ไปทั้ง ๑๐ ทิศ

การฝึกหัดปฏิบัติแผ่เมตตาจิตไปทั้ง ๑๐ ทิศดั่งนี้ ย่อมเป็นเครื่องปลูกเมตตาภาวนา

การอบรมเมตตาให้บังเกิดขึ้นในจิตใจ และเมื่อจิตใจเป็นจิตใจที่มีเมตตาแล้ว ก็ย่อมจะป้องกันไม่ให้เกิดปฏิฆะ เกิดโทสะพยาบาทได้ง่าย และหากว่าเกิดปฏิฆะเกิดโทสะพยาบาทขึ้นแล้ว เมื่อแผ่เมตตาออกไปก็จะดับได้ง่าย การปฏิบัติดั่งนี้ ชื่อว่าเป็นการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย อันเป็นข้อปฏิบัติที่ทุกคนควรฝึกหัดปฏิบัติแผ่เมตตาดัง กล่าวนี้ให้มีเป็นประจำทุกวันย่อมจะทำให้จิตใจของตนปลอดโปร่ง ไม่มีเวร ไม่มีภัย

อนึ่ง แม้พรหมวิหารอีก ๓ ข้อ ก็ควรหัดคิดแผ่ออกไปเช่นเดียวกัน คือข้อกรุณา ก็หัดคิดแผ่ออกไปว่า ขอให้สตรีทั้งปวงบุรุษทั้งปวงเป็นต้น หรือขอให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงเป็นต้น ทุกขา ปมุติ ชันตุ จงพ้นจากทุกข์เถิด นี้เป็นการแผ่กรุณา และกรุณานี้เองย่อมเป็นเครื่องดับวิหิงสา คือความคิดเบียดเบียนใครให้เป็นทุกข์ต่างๆ และก็ควรหัดคิดแผ่มุทิตาความพลอยยินดี ในเมื่อผู้อื่นได้ดีมีสุข ด้วยหัดคิดแผ่ว่า

สัพพา อิตถิโย สตรีทั้งปวง สัพเพ ปุริสา บุรุษทั้งปวง เป็นต้น
หรือ สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งปวงเป็นต้น
มาลัพพะ สัมปัตติโต วิรัติชันตุ จงเป็นผู้อย่าไปปราศจากสมบัติที่ได้แล้วเถิด

เป็นการแผ่มุทิตา และด้วยอำนาจมุทิตานี้ก็เป็นเครื่องดับอิสสาความริษยา อรติความไม่ยินดีด้วย



๏ การแผ่อุเบกขา

และก็ควรหัดแผ่อุเบกขาอีกข้อหนึ่ง คือความวางใจมัธยัสถ์เป็นกลาง ด้วยการพิจารณาปลงลงไปในกรรม และผลของกรรม ด้วยคิดว่า

สัพพา อิตถิโย สตรีทั้งปวง สัพเพ ปุริสา บุรุษทั้งปวง เป็นต้น
หรือ สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งปวงเป็นต้น กัมมัสสกา เป็นผู้มีกรรมเป็นของๆ ตน
กรรมทายาทา เป็นทายาทคือเป็นผู้รับผลของกรรม กรรมโยนี เป็นผู้มีกรรมเป็นกำเนิด
กรรมพันธู เป็นผู้มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ กรรมะปฏิสรณา เป็นผู้มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย

ยังกัมมัง กริสสันติ จักกระทำกรรมใดไว้ กัลยาณัง วา ปาปกัง วา ดีหรือชั่ว
ตัสสะ ทายาทา ปวิสสันติ ก็จะต้องเป็นทายาทรับผลของกรรมนั้น

นี้เป็นการแผ่อุเบกขา และด้วยการแผ่อุเบกขาไปนี้ อุเบกขาก็เป็นเครื่องดับราคะความติดใจยินดี ปฏิฆะความกระทบกระทั่งยินร้าย ในจิตใจได้ ทำจิตใจให้มัธยัสถ์เป็นกลาง ด้วยการพิจารณาปลงลงในกรรม ดั่งนี้

เพราะฉะนั้นทั้ง ๔ ข้อนี้ เรียกว่าพรหมวิหารธรรม ธรรมะเป็นเครื่องอยู่ของพรหม ซึ่งโดยตรงเป็นเทพผู้ใหญ่ ซึ่งท่านแสดงว่า เพราะอำนาจของการเจริญคุณธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ จนจิตใจได้อัปปนาสมาธิ สมาธิที่แนบแน่น จึงนำให้บังเกิดในพรหมโลก แต่เมื่อแสดงเทียบลงมาถึงมนุษย์ ก็หมายถึงมนุษย์ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ มีจิตใจอันสงบดีงาม ซึ่งมีความหมายว่า มนุษย์ผู้ใหญ่ดังกล่าวนี้ ไม่เลือกว่าจะเป็นสตรีบุรุษ ไม่เลือกว่าจะเป็นผู้มีอายุเท่าไหร่ จะมีอายุน้อยเป็นเด็ก หรือมีอายุมากที่เรียกว่าเป็นผู้ใหญ่ก็ตาม เมื่อจิตใจประกอบด้วยพรหมวิหารธรรมดั่งนี้แล้ว ก็ชื่อว่าเป็นพรหมได้ คือเป็นผู้ใหญ่ซึ่งมีจิตใจเป็นพรหม มีจิตใจที่สงบและงดงาม

เพราะฉะนั้น พรหมวิหารแต่ละข้อล้วนเป็นเครื่องดับรำงับกิเลสได้ทั้งนั้น เมตตาก็เป็นเครื่องดับพยาบาท กรุณาก็เป็นเครื่องดับวิหิงสา มุทิตาก็เป็นเครื่องดับอิสสาคือความริษยา อรติความไม่ยินดีด้วย และอุเบกขาก็เป็นเครื่องดับราคะความยินดี ปฏิฆะความยินร้าย หรือความติดใจชอบใจ ความไม่ชอบใจ อันทำจิตใจให้ลำเอียงไป เช่น ฉันทาคติบ้าง โทสาคติบ้าง เป็นต้น แต่เมื่อมีอุเบกขาแล้ว จิตใจจะไม่เป็นอคติ คือไม่ลำเอียงไปเพราะชอบหรือเพราะชังเป็นต้น จะมัธยัสถ์เป็นกลาง ด้วยมุ่งพิจารณาถึงกรรมเป็นใหญ่ ทำกรรมดีได้รับผลดี ทำกรรมชั่วได้รับผลชั่ว ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและทำความสงบสืบต่อไป



คัดลอกมาจาก
เทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ

http://www.mahayana.in.th/tsavok/tsavok.html

:b48:

กระทู้บอร์ดเก่าโพสโดยคุณลูกโป่ง
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=3402

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ก.ย. 2012, 13:01 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

นิวรณ์ข้อถีนมิทธะ

สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก


บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

อันตรายของสมาธินั้นก็คือนิวรณ์ ซึ่งได้แก่กิเลสในใจ เครื่องเศร้าหมองในใจ ซึ่งเป็นเครื่องกั้น ไม่ให้จิตได้สมาธิ และปัญญา เพราะฉะนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติเพื่อดับนิวรณ์ที่บังเกิดขึ้นในใจให้ได้ จิตจึงจะได้สมาธิ ฉะนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องรู้จักนิวรณ์ โดยตรงก็คือรู้จักนิวรณ์ที่บังเกิดขึ้นในจิตของตนในปัจจุบัน หรือในขณะปฏิบัติ และเมื่อพบว่าจิตของตนนั้นกำลังมีนิวรณ์ข้อใดข้อหนึ่งครอบงำอยู่ ก็ต้องมาปฏิบัติดับนิวรณ์ข้อนั้นเสียก่อน



๏ การปฏิบัติดับนิวรณ์

และในการปฏิบัติเพื่อดับนิวรณ์นั้นก็ควรที่จะรู้จัก อาหาร ของนิวรณ์ และรู้จัก อนาหาร คือการปฏิบัติที่ไม่ใช่เป็นอาหารของนิวรณ์ อันทำนิวรณ์ที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น ดับนิวรณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว ด้วยการพิจารณาที่ใจของตนเอง ให้รู้จักอาหารของนิวรณ์ที่ใจของตนเอง และให้รู้จักธรรมะที่ไม่เป็นอาหารของนิวรณ์ อันเรียกว่าอนาหารที่ใจของตนเองเช่นเดียวกัน

จะได้อธิบายในนิวรณ์ข้อที่ ๓ อันได้แก่ถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม อันความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มนี้ ผู้ปฏิบัติสมาธิย่อมจะได้เคยประสบ หรือว่าในขณะที่ฟังเทศน์ฟังธรรม ก็มักจะมีความง่วง เคลิบเคลิ้ม เพราะจิตนี้ที่เป็นจิตสามัญ เป็นกามาพจรคือหยั่งลงในกาม โดยปรกติก็ย่อมจะเกิดกามฉันท์ คือความพอใจรักใคร่ในกาม จิตปรุงไปในความพอใจในกาม หรือไม่เช่นนั้นก็เป็นพยาบาท ความหงุดหงิดขัดเคืองโกรธแค้นต่างๆ หรือไม่เช่นนั้นจิตก็ฟุ้งซ่าน คิดเรื่องโน้นบ้างคิดเรื่องนี้บ้าง หรือว่าคิดสงสัยเคลือบแคลงไปต่างๆ



๏ อาหารของความง่วง

ถ้าหากว่าสงบจากความฟุ้งซ่าน ความง่วงก็มักจะมา เช่นในขณะที่รวมใจเข้ามาฟังเทศน์หรือธรรม ฟังธรรมะบรรยาย จิตก็สงบจากความฟุ้งซ่านต่างๆ แต่ความง่วงมักจะเข้ามา เป็นความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม ในขณะที่จิตสงบมักจะเป็นดั่งนั้น และความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มนี้ พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงอาหารของความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม ใช้คำว่า อาหาร ก็โดยเทียบกับอาหารของร่างกาย ร่างกายดำรงอยู่ได้ก็ด้วยอาศัยอาหารฉันใด นิวรณ์ข้อความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มนี้บังเกิดขึ้นตั้งอยู่ ก็เพราะมีอาหาร คืออาการของจิตที่เป็นเหตุให้เกิดความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม อันได้แก่ความไม่ยินดี อันหมายความว่าไม่เกิดความยินดีพอใจในกิจที่ทำ เช่นในขณะที่ฟังเทศน์หรือฟังธรรม ตั้งใจฟัง จิตก็สงบจากเรื่องอื่น แต่ว่าไม่มีความยินดีพอใจในธรรมที่ฟัง

บางทีก็เฉยๆ สักแต่ว่าฟัง ขาดความยินดีพอใจ ก็เกิดความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มได้ ความเกียจคร้านขาดความเพียร ก็ทำให้เกิดความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มได้ เพราะว่า ถ้าไม่มีความเพียรคือมีจิตใจที่กล้าในอันที่จะฟังก็ดี จะทำอันใดอันหนึ่งก็ดี เกิดความเกียจคร้านเบื่อหน่าย ก็เป็นเหตุให้เกิดความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มได้ ความบิดกาย อันหมายถึงอาการที่ยังติดใจอยู่ในความเคลิบเคลิ้ม เช่น ถึงกำหนดเวลาที่จะตื่นนอน เมื่อตื่นขึ้นมาก็บิดกายไปบิดกายมา ทำนองว่าอยากจะนอนต่อ ไม่ลุกขึ้นมาทำสมาธิ หรือประกอบการงาน อาการที่แชเชือนดั่งนี้ ก็เป็นอาหารของความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม คือเป็นเหตุให้เกิดความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม

ความเมาอาหาร คือเมื่อบริโภคอาหารอิ่ม ก็มักจะเกิดความง่วง ถ้าง่วงก็นอน ก็เป็นอันว่ากินแล้วนอน เพราะฉะนั้น หากไม่ปฏิบัติลุกขึ้นเดิน หรือนั่ง หรือทำอะไรที่ควรจะทำ นั่งซึมอยู่เพราะเมาอาหาร ก็จะทำให้นอน ความเมาอาหาร จึงเป็นอาหารของความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม

อีกข้อหนึ่ง คือความที่มีจิตใจย่อหย่อน ความที่มีจิตใจย่อหย่อนนี้ ทำให้รู้สึกท้อแท้อ่อนแอ ไม่เกิดความขมีขมันลุกขึ้นประกอบการงาน เพราะฉะนั้น ถ้าปล่อยให้ใจอ่อนแอท้อแท้ ก็ย่อมเป็นเหตุที่เป็นอาหาร ของความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม



๏ ความไม่พิจารณาโดยแยบคาย

กับอีกประการหนึ่งก็คือว่าการกระทำให้มาก ด้วยการที่ไม่ทำไว้ในใจโดยแยบคาย คือใจไม่คิดพิจารณาโดยแยบคาย ปล่อยให้ใจเป็นไปตามอาหาร ที่เป็นเหตุของความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มเหล่านี้ ดังเช่น เมื่อไม่มีความยินดีในกิจที่ควรทำ เช่น ในการฟังธรรมหรือการฟังธรรมบรรยาย เมื่อนั่งฟังอยู่ก็ปล่อยใจให้ไม่ยินดีพอใจ ไม่คิดพิจารณา ดูให้รู้จักใจว่าใจกำลังเป็นอย่างนี้ และความไม่ยินดีพอใจนั้นเป็นโทษ ไม่ใช่เป็นคุณ จึงต้องพิจารณาให้ใจเกิดความยินดีขึ้น แต่ก็ไม่พิจารณาดั่งนี้ แต่ปล่อยใจให้คิดไม่ยินดีไป ไม่พอใจไปตามเรื่องของใจที่เป็นอย่างนั้น

ในความเกียจคร้านก็เช่นเดียวกัน ไม่จับดูใจว่าเกียจคร้าน และความเกียจคร้านมีโทษอย่างนี้ๆ ส่วนความพากเพียรมีคุณอย่างนี้ๆ ควรจะคิดปลุกใจให้เกิดความพากเพียรขึ้น แต่ก็ไม่พิจารณาดั่งนั้น ปล่อยใจให้คิดเกียจคร้านไป ตามเรื่องของใจที่เกียจคร้าน ในข้อบิดกายก็เช่นเดียวกัน นอนบิดกายไปบิดกายมา พลิกกายไปพลิกกายมา หรือว่านั่งพิงบิดกายไปบิดกายมา ด้วยความแชเชือน สลึมสลือ เคลิบเคลิ้ม ถ้าหากว่าคิดพิจารณาเห็นโทษ และก็รีบละความแชเชือนดังกล่าวนี้เสีย รีบละความสลึมสลือดังกล่าวนี้เสีย ก็จะแก้ได้ แต่ว่าไม่พิจารณาแก้ดั่งนั้น ปล่อยใจให้สลึมสลือไปตามเรื่องของใจที่เป็นอย่างนั้น

ในข้อเมาอาหารก็เช่นเดียวกัน ไม่พิจารณาเห็นโทษของความเมาอาหาร และกำจัดความเมาด้วยวิธีปฏิบัติต่างๆ แต่ปล่อยใจให้เมาสลึมสลือเคลิบเคลิ้มไป และแม้ในข้อใจท้อแท้ ท้อถอย อ่อนแอ ก็เช่นเดียวกัน ไม่คิดปลุกใจให้หายท้อแท้ท้อถอย แต่ปล่อยใจให้ท้อถอยท้อแท้ไปตามใจที่เป็นอย่างนั้น อย่างนี้เรียกว่ากระทำให้มากโดยไม่แยบคาย

เพราะฉะนั้น เหตุทั้งปวงดังที่กล่าวมานี้ คือมีข้อไม่ยินดีพอใจเป็นต้น และข้อกระทำให้มาก ด้วยความที่ทำใจไว้โดยไม่แยบคาย คือไม่พิจารณาจับเหตุจับผลตามเป็นจริง ให้เกิดปัญญารู้คุณรู้โทษ เป็นอาหารคือเป็นเหตุของข้อความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มนี้

เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติธรรมจึงควรรู้จักอาหารของความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม เมื่อความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มเกิดขึ้น ก็ให้พิจารณาว่าเกิดขึ้นเพราะเหตุอะไร ก็จะจับเหตุได้ว่าเพราะมีอาหารของความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มดังกล่าวนั้น จึงต้องปฏิบัติแก้ ที่จะไม่ให้อาหารแก่ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม ด้วยการที่ทำความยินดีพอใจให้บังเกิดขึ้นในกิจที่พึงทำทั้งหลาย เช่นในการฟังธรรม หรือการฟังธรรมบรรยายเช่นในบัดนี้ แก้ความเกียจคร้านที่บังเกิดขึ้น ให้เกิดความขยันหมั่นเพียร แก้ความแชเชือนนอนบิดกายไปมา หรือนั่งบิดกายไปมา ขมีขมันลุกขึ้นประกอบการงาน และแก้โดยวิธีที่ทำให้หายเมาอาหาร เช่น ลุกขึ้นเดิน หรือนั่งทำงานต่างๆ และต้องแก้ใจที่ท้อถอยท้อแท้ ให้กลับขมีขมัน

อาศัยการกระทำให้มากด้วยการพิจารณาโดยแยบคาย จับเหตุจับผล รู้คุณรู้โทษ ของอาหารของความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม และการที่แก้อาหารของความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม ให้รู้ว่าปล่อยใจให้ง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม ด้วยความไม่ยินดีเป็นต้น เป็นโทษ แต่การที่มาปฏิบัติแก้ให้ความไม่ยินดีเป็นความยินดีเป็นต้น เป็นคุณ อันจะทำให้ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มที่ยังไม่เกิด ไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็ให้ดับไป ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป



:b44: อาหารของถีนมิทธะ


บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ได้แสดงเรื่องนิวรณ์ข้อกามฉันท์ความพอใจรักใคร่ในกาม ข้อพยาบาทความโกรธแค้นขัดเคืองมุ่งร้าย มาถึงข้อถีนมิทธะความง่วงงุงนเคลิบเคลิ้ม ซึ่งได้อธิบายถึงอาหารของข้อนี้มาแล้ว วันนี้จะได้แสดงในข้อนี้ต่อไปถึงเรื่องอนาหาร คือสิ่งที่มิใช่อาหารของความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม ที่พระบรมศาสดาได้ทรงแสดงเอาไว้ว่า คือ ธาตุ หรือธาตุทั้ง ๓ อันได้แก่ อารัมภธาตุ ธาตุความทรงไว้ คือริเริ่ม นิกกมธาตุ ธาตุความทรงไว้ คือดำเนินไป ปรักกมธาตุ ธาตุความทรงไว้ คือความก้าวหน้าไปจนกระทั่งประสบความสำเร็จ


๏ ธาตุของความเพียร

ธาตุคือความทรงไว้ทั้ง ๓ นี้ เป็นธาตุของความเพียร ซึ่งมีลักษณะตรงกันข้ามกับถีนมิทธะ ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม เพราะถีนมิทธะนั้นมีลักษณะปรากฏเป็นความไม่ยินดี ความเกียจคร้าน ความบิดกายด้วยความเกียจคร้าน ความเมาภัตตาหาร และความที่มีใจย่อหย่อน เพราะฉะนั้น ใจที่มีความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม จึงเป็นใจที่ย่อหย่อน ไม่มีเรี่ยวแรงที่จะกระทำกิจที่พึงกระทำ ตกเข้าในลักษณะความเกียจคร้าน



๏ อารัมภธาตุ

ฉะนั้น จึงต้องแก้ด้วยธาตุทั้ง ๓ ของความเพียรนี้ คือต้องมีความเริ่มต้นขึ้นทันทีโดยที่ไม่ผลัดเวลา หรือไม่ผัดวันประกันพรุ่ง เช่นว่างานที่ควรทำในวันนี้ ก็ผลัดไปพรุ่งนี้มะรืนนี้ ดั่งนี้เป็นต้น หรือว่างานที่ควรทำเดี๋ยวนี้ ก็ผลัดไปว่าอีกสักครู่หนึ่ง ดั่งนี้เป็นต้น ต้องมีความริเริ่มขึ้น จับกระทำให้ทันกาลทันเวลาตามที่ควรทำทันที นี้เป็นอารัมภธาตุ ธาตุคือความจับเริ่มต้นขึ้น



๏ นิกกมธาตุ ปรักกมธาตุ

และเมื่อจับเริ่มต้นขึ้นแล้ว ก็ไม่ปล่อยไว้เพียงเริ่มต้นเท่านั้น คือว่าหยุดเสียอีก แต่ว่าจับกระทำต่อไป ไม่หยุด ก็เป็น นิกกมธาตุ ธาตุคือความดำเนินไป ดำเนินไปดั่งนี้ งานก็ก้าวหน้า ความเพียรก็ก้าวหน้า ก็ให้ก้าวหน้าเรื่อยไป เรียกว่าไม่หยุดไม่ถอยหลัง แต่ดำเนินให้ก้าวไปเบื้องหน้าเรื่อยไป จนกระทั่งบรรลุถึงความสำเร็จ ก็เป็น ปรักกมธาตุ ธาตุคือความก้าวหน้า จับทำให้ก้าวหน้าเรื่อยไปจนสำเร็จ

เพราะฉะนั้น ธาตุทั้ง ๓ นี้จึงไม่เป็นอาหาร เรียกว่าเป็น อนาหาร ของความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม เมื่อปฏิบัติดั่งนี้ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มไม่ได้อาหาร ที่บังเกิดขึ้นก็จะหายไป ที่ยังไม่บังเกิดก็จะไม่เกิดขึ้น



๏ อนาหารข้อที่ ๒ โยนิโสมนสิการ

และอนาหารการปฏิบัติที่ไม่ใช่เป็นอาหารของข้อนี้ คือข้อความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มนี้ที่เป็นข้อที่ ๒ ก็คือการกระทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการ การกระทำไว้โดยแยบคายในข้อนั้น คือในข้อที่ปฏิบัติในธาตุทั้ง ๓ นั้น อันหมายความว่าจะต้องใช้สติใช้ปัญญาพิจารณาจับเหตุจับผล ให้รู้จักว่าความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มนั้น เป็นตัวเหตุของผล คือความเสื่อมต่างๆ ความไม่สำเร็จต่างๆ

แต่ว่าการที่มาปฏิบัติทำให้หายไปได้ และป้องกันไม่ให้บังเกิดขึ้นอีกนั้น เป็นตัวเหตุที่อำนวยให้เกิดคุณประโยชน์ อันเป็นการทำให้จับการงานได้ และให้ประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ก็สุดแต่จะพิจารณาและปฏิบัติ ในทางแก้ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มให้หายไป และป้องกันไม่ให้บังเกิดขึ้น ด้วยวิธีจับเหตุจับผลดั่งเช่นที่กล่าวมา จนจิตใจนี้รับฟังเหตุผล ก็จะทำให้จับปฏิบัติ

อุทาหรณ์ตัวอย่างในการกระทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการ การกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ก็ดั่งที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนพระโมคคัลลานะ ที่เมื่อท่านได้เข้ามาอุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนาแล้ว ท่านจับทำความเพียร นั่งโงกง่วงอยู่ด้วยความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปทรงโปรด ด้วยทรงแสดงข้อแนะนำวิธีละความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มแก่ท่าน โดยใจความที่ท่านแสดงไว้ว่า ได้ตรัสสอนท่านว่า

ทำใจในสัญญาคือข้อกำหนดหมายข้อใด ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มบังเกิดขึ้น ก็ให้ตั้งใจทำสัญญาข้อกำหนดหมายนั้นให้มาก ถ้าหากว่าเมื่อทำแล้วยังไม่หายโงกง่วง ก็ให้พิจารณาตรึกตรองถึงธรรมะที่ได้ฟังแล้วได้เรียนแล้วให้มาก

ถ้าหากว่ายังไม่หายโงกง่วงก็ให้สาธยาย คือสวดบทธรรมะที่ฟังแล้วที่เรียนแล้วโดยพิสดาร ถ้ายังไม่หายก็ให้ยอนหูทั้งสองข้าง เอาฝ่ามือลูบที่ตัวที่กาย ถ้ายังไม่หายโงกง่วงก็ให้ยืนขึ้น เอาน้ำลูบตา เหลียวดูทิศทั้งหลาย แหงนหน้าดูดาวนักขัตฤกษ์ ถ้ายังไม่หายโงกง่วง ก็ให้ทำอาโลกะสัญญา ความสำคัญหมายว่าแสงสว่าง ทำใจให้มีแสงสว่างเหมือนกลางวัน ให้เหมือนกันทั้งกลางวันและกลางคืน ใจก็จะเปิดเผย ปราศจากเครื่องรึงรัด และจิตใจก็จะมีแสงสว่าง ถ้ายังไม่หายโงกง่วงอีก ก็ให้อธิษฐานจงกรม คือตั้งใจทำการเดินกลับไปกลับมา สำรวมอินทรีย์ ไม่ส่งจิตไปในภายนอก แต่ถ้ายังไม่หายโงกง่วงอีก ก็ให้สำเร็จสีหไสยา คือนอนตะแคงเบื้องขวา ทำสติสัมปชัญญะในอันตื่นลุกขึ้น เมื่อตื่นแล้วก็รีบลุกขึ้น ไม่ประกอบความสุขในการนอน ไม่ประกอบความสุขในการเอนข้างหรือเอนหลัง ไม่ประกอบความสุขในการเคลิ้มหลับ

ซึ่งพระบรมศาสดาได้ตรัสสอนท่านดั่งนี้ และก็ได้ตรัสประทานพระโอวาทในทางปฏิบัติอย่างอื่นอีก ท่านปฏิบัติตามก็ประสบความสำเร็จ คือแก้ง่วงได้ ประกอบความเพียรได้ ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในวันที่ ๗ จากวันที่ท่านเข้ามาบวชในสำนักพระพุทธเจ้า



๏ ข้อปฏิบัติให้เกิดความเพียร

นี้ก็เป็นวิธีปฏิบัติให้เกิดความเพียรขึ้นนั้นเอง โดยอาศัยกระทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการ คือการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย จับเหตุจับผล หาทางที่จะปฏิบัติ เพื่อรำงับความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มให้ได้ และเมื่อระงับได้แล้ว ก็จะจับความเพียรได้ จะมี อารัมภธาตุ ธาตุคือความเริ่มจับปฏิบัติทำความเพียร นิกกมธาตุ ธาตุคือความดำเนินไปของความเพียร ไม่ให้หยุดชะงัก ปรักกมธาตุ ธาตุคือทำความเพียรให้ก้าวหน้า ไม่ให้ถอยหลัง ไม่ให้หยุด ให้ก้าวหน้าเรื่อยไป จนประสบความสำเร็จ

ฉะนั้น ทุกข้อที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนไว้เหล่านี้ จึงเป็นข้อที่ผู้มุ่งความสำเร็จในการกระทำความเพียรของตนพึงปฏิบัติ ก็จะละความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มได้ สามารถปฏิบัติจับกระทำความเพียรได้ตลอดไป ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป



:b44: กรรมฐานป้องกันถีนมิทธะ


บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็พึงตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ได้แสดงข้อถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม ซึ่งเป็นนิวรณ์ข้อที่ ๓ ได้แสดงอาหารของถีนมิทธะ และอนาหารสิ่งที่ไม่ใช่อาหารของถีนมิทธะ ก็คือข้อปฏิบัติเพื่อกำจัดถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม และได้แสดงข้อปฏิบัติมาแล้ว แต่ยังมีอีกข้อหนึ่ง ที่พระอาจารย์ได้แสดงไว้ว่าเป็นข้อปฏิบัติ หรือจะว่าเป็นกรรมฐานก็ได้ เป็นเครื่องละถีนมิทธะที่บังเกิดขึ้น ทั้งป้องกันถีนมิทธะที่ยังไม่เกิดมิให้เกิด ก็คือ พุทธานุสสติ ความระลึกถึงพระพุทธเจ้า ข้อนี้ก็หมายถึงความระลึกถึงพระพุทธเจ้าโดยพระคุณ หรือจะกล่าวว่าระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าก็ได้



๏ นวหรคุณ

อันพระคุณของพระพุทธเจ้านั้นไม่มีประมาณ ดังบทที่แสดงว่า อัปปมาโณ พุทโธ พระพุทธเจ้าไม่มีประมาณ คือมีคุณไม่มีประมาณ และการที่ได้มีบทพระพุทธคุณ ดังที่เราทั้งหลายได้สวดกัน ก็เป็นบทพระพุทธคุณที่เป็นกิติศัพท์ คือเสียงที่กล่าวสรรเสริญพระเกียรติ์ของพระพุทธเจ้า ดังพระคุณ ๙ ประการที่เราสวดกัน อันเรียกว่า นวรหคุณ หรือ นวหรคุณ ว่า อิติปิโส ภควา อรหังสัมมา สัมพุทโธ เป็นต้น จะน้อมระลึกถึงพระคุณทั้ง ๙ นี้ในข้อใดข้อหนึ่ง หรือโดยลำดับทีละข้อก็ได้

หรือว่าจะระลึกถึงโดยสรุป ดั่งที่พระอาจารย์ได้แสดงว่า พระคุณโดยสรุปนั้น พระวิสุทธิคุณ คุณคือความบริสุทธิ์จริง พระกรุณาคุณ คุณคือพระกรุณาจริง ดังบทสวดต่อทำวัตรเช้าว่า พุทโธ สุสุทโธ กรุณา มหัณณโว พุทโธ พระผู้ตรัสรู้แล้ว ก็แสดงถึงพระปัญญาคุณ พระองค์ตรัสรู้อะไร เราทั้งหลายก็ทราบได้ จากปฐมเทศนาของพระองค์เป็นต้น ที่ตรัสถึงความตรัสรู้ของพระองค์ ว่าพระองค์ได้ตรัสรู้อริยสัจจ์ทั้ง ๔ อันได้แก่ ทุกข์ ทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ ทุกขนิโรธความดับทุกข์ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ หรือว่ามรรคมีองค์ ๘

พระองค์ได้ตรัสรู้ ด้วยพระญาณที่ตรัสรู้ โดยเป็น สัจจญาณ คือตรัสรู้ว่า นี้ทุกข์จริง นี้สมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์จริง นี้นิโรธดับทุกข์จริง นี้มรรคทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์จริง พระองค์ตรัสรู้โดยเป็น กิจจญาณ ญาณคือความหยั่งรู้ในกิจที่พึงทำในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้ ว่ากิจที่พึงทำ คือพึงปฏิบัติในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้ ก็คือ ทุกข์ควรกำหนดรู้ คือควรกำหนดรู้หรือให้รู้รอบคอบว่าเป็นทุกข์ สมุทัยควรละ นิโรธควรกระทำให้แจ่มแจ้งขึ้นในใจ และมรรคมีองค์ ๘ ก็ควรปฏิบัติทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น

พระองค์ได้ตรัสรู้โดยเป็น กตญาณ คือความหยั่งรู้ว่าได้กระทำเสร็จแล้วในกิจที่พึงทำเหล่านั้น คือทุกข์ได้ทรงกำหนดรู้แล้ว สมุทัยทรงละได้แล้ว นิโรธทรงกระทำให้แจ้งได้แล้ว มรรคทรงปฏิบัติได้บริบูรณ์แล้ว ดั่งนี้

ญาณทัสสนะความรู้ความเห็นดังกล่าวนี้ หากยังไม่บริสุทธิ์บริบูรณ์แก่พระองค์ พระองค์ก็ยังไม่ปฏิญญาว่าได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว แต่เมื่อญาณทัสสนะความรู้ความเห็นดังกล่าวในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ สมบูรณ์แล้ว จึงได้ทรงปฏิญญาว่าพระองค์ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ดั่งนี้



๏ การระลึกในพระพุทธคุณ

ในการระลึกไปในพระพุทธคุณดังที่กล่าวมานี้ ก็ต้องอาศัยความจำ คือต้องจำให้ได้ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแล้ว ว่าทรงอธิบายทุกข์ไว้ว่าอย่างไร ทรงอธิบาย สมุทัย นิโรธ และมรรคไว้ว่าอย่างไร ก็ระลึกไปตามนั้น และระลึกไปให้เข้าใจ โดยที่ตรัสถึงความตรัสรู้ของพระองค์ ว่าประกอบด้วยสัจจญาณ รู้ว่าจริง กิจจญาณ รู้กิจที่พึงปฏิบัติกระทำ และ กตญาณ รู้ว่าได้กระทำกิจนั้นแล้วเสร็จ ดั่งนี้ จึงทรงปฏิญญาพระองค์ว่าได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้า ดั่งนี้ นี้เป็นการระลึกไปในพระปัญญาคุณ คุณของพระพุทธเจ้า

ระลึกไปในพระวิสุทธิคุณ พระคุณคือความบริสุทธิ์นั้น ก็คือระลึกว่า เพราะพระองค์ได้ตรัสรู้อริยสัจจ์ทั้ง ๔ ด้วยปัญญาอันชอบ ประกอบด้วยสมาธิอันชอบ และศีลอันชอบ หรือว่าประกอบด้วยมรรคมีองค์ ๘ จึงทรงสิ้นอาสวะกิเลส กิเลสที่ดองจิตสันดานทั้งหมด และเมื่อสิ้นอาสวะกิเลส ก็สิ้นกิเลสอื่นๆ ทุกข้อ ทุกบท ทุกอย่าง ที่บังเกิดสืบเนื่องมาจากอาสวะกิเลสนั้นเอง

เพราะฉะนั้น จิตของพระองค์จึงทรงพ้นแล้วจากอาสวะทั้ง ๓ คือ กามาสวะ อาสวะคือกาม ภวาสวะ อาสวะคือภพ อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชา ทรงทราบว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่พึงกระทำได้กระทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นที่จะพึงกระทำ ยิ่งหรือนอกไปกว่านี้

เพราะฉะนั้น เมื่อทรงสิ้นกิเลสและกองทุกข์ทั้งสิ้น พระองค์จึงบรรลุถึงความบริสุทธิ์กาย บริสุทธิ์วาจา บริสุทธิ์ใจสิ้นเชิง เพราะเหตุว่า กายวาจาใจของพระองค์ปราศจากบาปอกุศลทุจริตทุกอย่าง เพราะเหตุว่าสิ้นอาสวะกิเลสทั้งปวงแล้ว จึงเป็นกายวาจาใจที่บริสุทธิ์สิ้นเชิง การระลึกถึงพระวิสุทธิคุณดั่งนี้ ก็ต้องอาศัยความกำหนดจดจำ คำอธิบายของพระพุทธเจ้าเอง และของพระอาจารย์ และมีความเข้าใจ เพ่งพินิจพิจารณาให้เข้าใจชัดในพระวิสุทธิคุณ



๏ ข้อว่ากรุณามหัณณโว

อีกข้อหนึ่งก็คือพระกรุณาคุณ คุณคือพระกรุณาจริง ดังบทสวดที่ว่า กรุณา มหัณณโว มีกรุณาดังห้วงมหรรณพ คือห้วงทะเลหลวง อันหมายถึงว่ามีพระกรุณาที่แผ่ไปไพศาล ยิ่งใหญ่ กว้างขวาง มาก เพราะด้วยทรงมีพระมหากรุณาในสัตว์โลกทั้งหลาย ที่ยังต้องตกอยู่ในกองทุกข์ หรือหากจะเปรียบอาสวะกิเลสว่าเป็นห้วงน้ำใหญ่ อันเรียกว่าอรรณพ หรือเรียกว่า โอฆะ สัตว์โลกทั้งสิ้นก็ยังเหมือนอย่างตกอยู่ในห้วงน้ำใหญ่ คือห้วงน้ำคือกิเลส แหวกว่ายอยู่ในห้วงน้ำใหญ่ ที่จมลงไปก็มี ที่กำลังแหวกว่ายอยู่ก็มี เพราะฉะนั้น จึงมีพระกรุณามุ่งที่จะช่วยให้สัตว์ทั้งหลายพ้นจากทุกข์ดังกล่าว และความบังเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้านั้นหาได้ยาก นานๆ พระพุทธเจ้าจึงทรงอุบัติขึ้นในโลกครั้งหนึ่ง

และเมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่ทรงอุบัติขึ้น ก็ไม่มีศาสดาองค์ไหนจะปฏิบัติสิ้นอาสวะกิเลส พ้นจากทุกข์ทั้งปวง เป็นต้นว่า พ้นจากชาติทุกข์ ชราทุกข์ มรณะทุกข์ สำหรับสัตว์โลกที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่นั้น ก็มีอยู่ทั่วไป ในอบายภูมิเป็นต้นว่า สัตว์เดรัจฉาน นรก เปรต อสุรกาย ก็มีทั่วไป หนีขึ้นมาเป็นมนุษย์ก็มีทั่วไปเป็นอันมาก และสูงขึ้นเป็นสวรรค์ ตลอดจนถึงเป็นพรหม ก็มีอยู่เป็นอันมาก ทุกกาลสมัย



๏ ทางปฏิบัติเพื่อชั้นภูมิต่างๆ

พิจารณาดูแล้วก็กล่าวได้ว่า ศาสดาทั้งปวง เว้นจากพระพุทธเจ้าแล้ว ก็สอนทางปฏิบัติเพื่อให้ไปได้แค่สวรรค์ หรือว่าแค่เป็นพรหมเป็นเทพ ไม่มีที่จะสอนให้ดับทุกข์ดับกิเลส เป็นผู้สิ้นอาสวะได้ พระพุทธะที่ปฏิบัติดับกิเลสและกองทุกข์ได้ ก็มีแต่พระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระปัจเจกพุทธเจ้าเท่านั้น

เพราะฉะนั้น พระองค์เมื่อทรงพิจารณาดูสัตว์โลกที่เกิดอยู่ในภูมิภพต่างๆ ก็ทรงแจ้งประจักษ์ว่าทุกภูมิภพนั้น ก็ล้วนต้องมีแก่เจ็บตาย แม้จะเป็นพรหมเป็นเทพ ก็มีอุปบัติคือบังเกิดขึ้น และจุติคือเคลื่อนไป ล้วนชื่อว่ายังไม่พ้นจากเกิดดับ ยังไม่พ้นจากเกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งนั้น เพราะฉะนั้น จึงทรงมีพระกรุณาแผ่ไปในสรรพสัตว์ทุกถ้วนหน้า จึงได้เสด็จทรงเทศนาสั่งสอนโปรดเวไนยนิกร คือหมู่ชนที่จะพึงแนะนำได้ ให้รู้เห็นธรรมตามภูมิตามชั้น ให้ได้ศรัทธาความเชื่อ ให้ได้วิริยะความเพียร ให้ได้สติความระลึกได้ ให้ได้สมาธิความตั้งใจมั่น ให้ได้ปัญญาความรู้เข้าถึงธรรม อันเป็นพละหรือเป็นอินทรีย์ตามภูมิตามชั้น นำให้เวไนยนิกรได้ประสบประโยชน์สุขปัจจุบันบ้าง ประโยชน์สุขภายหน้าบ้าง ประโยชน์สุขอย่างยอดบ้าง ตามภูมิชั้นของการปฏิบัติ นี้ก็คือพระกรุณาคุณของพระองค์



๏ ประโยชน์สุข ๓ ประการ

พระพุทธศาสนาบังเกิดขึ้นตั้งอยู่มาจนบัดนี้ ก็ด้วยพระกรุณาคุณของพระพุทธเจ้า และก็ประกอบด้วยพระปัญญาคุณ และพระวิสุทธิคุณรวมกัน เพราะฉะนั้น เราทั้งหลายจึงชื่อว่าได้รับประโยชน์สุข ปัจจุบันบ้าง ภายหน้าบ้าง หรืออย่างสูงก็เป็นประโยชน์อย่างยอด เนื่องมาจากพระคุณทั้ง ๓ ของพระพุทธเจ้านี้เอง

เพราะฉะนั้น เมื่อระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าดั่งนี้แล้ว เมื่อพระคุณมาปรากฏชัดแก่ใจตนเอง และได้ประจักษ์ว่าพระคุณของพระองค์ได้เนื่องมาถึงตน คือเนื่องมาถึงเราเองทุกๆ คน เราเองได้รับสุขประโยชน์ ก็ชื่อว่าได้รับพระคุณของพระพุทธเจ้ามาโปรดนั้นเอง ก็จะทำให้เกิดศรัทธาความเชื่อ ปสาทะความเลื่อมใส ทำจิตใจให้สว่างให้แจ่มใส และน้อมนำให้เกิดอุตสาหะพยายาม ในอันที่จะตั้งใจฟัง ตั้งใจเรียน ธรรมะที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้แล้ว ตั้งใจปฏิบัติตามที่ฟัง ตามที่เรียนรู้ เพื่อให้ได้ผลเป็นความเข้าใจ เป็นความรู้แจ้งแทงตลอด เป็นเครื่องดับรำงับกิเลสในตนเองไปโดยลำดับ ตั้งแต่ดับกิเลสอย่างหยาบด้วยศีล ดับกิเลสอย่างกลางด้วยสมาธิ และดับกิเลสอย่างละเอียดด้วยปัญญา ก็ชื่อว่าได้ทำตนให้เป็น เนยยะ คือเป็นบุคคลที่พระพุทธเจ้าโปรดได้ พระพุทธเจ้าแนะนำได้

แม้ว่าพระองค์จะได้เสด็จดับขันธปรินิพพานนานมาแล้ว แต่ก็ได้ทรงตั้งพระธรรมที่ได้ทรงแสดงแล้ว พระวินัยที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว เป็นศาสดาแทนพระองค์ ก็คือพระพุทธศาสนานั้นเอง เพราะฉะนั้น เราทั้งหลายจึงชื่อว่ายังมีพระศาสดาของตนตั้งอยู่ดำรงอยู่ ยังไม่สิ้นพระศาสดาของตน ทั้งพระองค์ก็ยังได้ตรัสไว้อีกว่า ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรม ดั่งนี้ เป็นการประกาศว่าเมื่อเห็นธรรมเมื่อใด คือเมื่อปฏิบัติในศีลในสมาธิในปัญญาเมื่อใด ก็อาจจะทำให้ได้ธรรมจักขุดวงตาเห็นธรรมเมื่อนั้น

และเมื่อเห็นธรรม อันเป็นสัจจะธรรม ธรรมะที่เป็นสัจจะความจริงขึ้นแล้ว ก็เป็นอันว่าได้เห็นพระองค์ คือพระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดา และเห็นว่าท่านผู้ที่ได้ตรัสรู้และแสดงธรรมนี้ไว้นั้น เป็นพุทโธจริง ตรัสรู้จริง ดั่งนี้

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงยังคงประทับอยู่ทุกกาลสมัย ตลอดเวลาที่พระพุทธศาสนายังดำรงอยู่ และยังมีผู้ปฏิบัติให้เห็นธรรมได้ ก็จะเห็นพระพุทธเจ้าได้ แม้ว่าจะไม่มีพระพุทธศาสนาที่สอนกัน แต่สัจจะคือความจริง ก็ย่อมดำรงอยู่ย่อมตั้งอยู่ ไม่ดับหายไปไหน เมื่อมีผู้ปฏิบัติค้นคว้าจับทางที่ถูกต้องบังเกิดขึ้นเมื่อใด ก็ย่อมจะได้ตรัสรู้เมื่อนั้น และท่านนั้น ซึ่งเป็นผู้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองก็เป็นพระพุทธเจ้า

เพราะฉะนั้นเมื่อเราทั้งหลายระลึกถึงพระพุทธคุณ ก็ย่อมจะทำให้เกิดศรัทธาปสาทะความเชื่อความเลื่อมใส จิตใจสว่างแจ่มใส บังเกิดอุตสาหะพยายามในอันที่จะปฏิบัติในศีลในสมาธิในปัญญายิ่งขึ้น ก็จะทำให้ทั้งถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม และนิวรณ์ข้ออื่นสงบระงับไปตาม ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป


คัดลอกมาจาก
เทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ

http://www.mahayana.in.th/tsavok/tsavok.html

:b48:

กระทู้บอร์ดเก่าโพสโดยคุณ ลูกโป่ง
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=3248

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ก.ย. 2012, 13:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


นิวรณ์ข้ออุทธัจจะกุกกุจจะ

สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก


บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ได้แสดงนิวรณ์ ๕ พร้อมทั้งธรรมะที่เป็นอาหารของนิวรณ์ และธรรมะที่มิใช่อาหารของนิวรณ์มาโดยลำดับ วันนี้ถึงข้ออุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญใจ นิวรณ์ข้อนี้ตรงกันข้ามกับถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม คือไม่ง่วงแต่ว่าไม่สงบ ใจฟุ้งซ่าน และใจรำคาญ

อันความฟุ้งซ่านนั้น คืออาการที่ใจคิดพล่านไปในอารมณ์คือเรื่องต่างๆ ไม่สามารถจะทำให้สงบได้โดยง่าย โดยปรกติทุกๆ คนก็จะไม่ค่อยรู้สึกว่าใจนี้คิดพล่านไปเพียงไร ต่อเมื่ออ่านหนังสือ หรือว่าฟังสอน ฟังคำบรรยายธรรมเป็นต้น หรือในขณะที่กำลังสวดมนต์ จึงจะรู้ว่าใจนี้คิดพล่านไปมาก เช่นในขณะที่กำลังอ่านหนังสือ ตาก็อยู่ที่หนังสือ แต่ว่าใจไม่อยู่

คิดพล่านไปเรื่องนั้นบ้างเรื่องนี้บ้าง ตาที่อยู่กับหนังสือนั้นก็เป็นตาที่ดับ เหมือนอย่างมองไม่เห็นหนังสือ ไม่รู้เรื่องในหนังสือที่กำลังอ่านนั้น

ในขณะที่กำลังฟังธรรมบรรยาย หรือฟังธรรมเทศนา หูก็ตั้งใจฟัง เสียงก็เข้ามากระทบกับโสตะประสาท คือประสาทหู แต่ว่าใจนั้นไม่ฟัง คิดพล่านไปในเรื่องต่างๆ โสตะประสาทคือประสาทหูก็เหมือนดับ ฟังไม่ได้ยิน ไม่รู้เรื่องในธรรมะที่ฟัง หรือในเรื่องที่กำลังฟังนั้น

แม้ในขณะที่กำลังสวดมนต์ ปากก็สวดมนต์ หรือว่าสวดมนต์อยู่ในใจ แต่ว่าใจก็ยังคิดพล่านไปในเรื่องต่างๆ ใจไม่ได้สวดมนต์ด้วย เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นก็เหมือนอย่างใจดับในเรื่องสวดมนต์ ไม่รู้ว่ากำลังสวดไปถึงไหน อย่างไร แต่ว่าสวดไปได้ก็เพราะความคล่องปาก หรือสวดในใจ ก็คล่องใจไปตามบทสวดเท่านั้น ดั่งนี้ จะเห็นว่าใจนี้คิดพล่านมาก สงบยาก อาการที่ใจคิดพล่านดั่งนี้เป็นอุทธัจจะความฟุ้งซ่าน มีอาการคิดพล่านไปในเรื่องต่างๆ และเมื่อจับพิจารณาดูแล้ว ก็จะจับได้ว่าในชั่วแว๊บเดียวก็คิดพล่านไปหลายเรื่องหลายราว ใจจึงวิ่งไปเร็วมาก ในอารมณ์คือเรื่องนั้นๆ

กุกกุจจะความรำคาญใจ มีลักษณะที่จิตใจเบื่อหน่ายระอา ไม่เพลิดเพลินในกิจที่พึงทำ เช่น กำหนดนั่งทำสมาธิภาวนา คืออบรมสมาธิ ใจก็รำคาญ ไม่อยากจะนั่ง อยากจะเลิก นั่งชั่ว ๕ นาที ๑๐ นาที ก็ดูนานมาก ขาดความเพลิดเพลิน ขาดความพอใจ หรือจะเรียกว่าขาดปีติสุขในสมาธิภาวนา อันเป็นกิจที่พึงทำนั้นก็ได้ เพราะฉะนั้น ความรำคาญใจนี้ คือกุกกุจจะ จึงมีปรกติที่ทำให้จับจด ทิ้งการปฏิบัติได้ง่าย ไม่ติดต่อ เพราะมีความรำคาญ ไม่พอใจ ไม่มีปีติสุขในสมาธิภาวนา แต่ว่าไปชอบใจในอารมณ์ต่างๆ ที่ใจคิดพล่านไปนั้น

เพราะฉะนั้น อุทธัจจะกุกกุจจะ ท่านจึงแสดงไว้เป็นคู่กัน และบางอาจารย์ท่านมีแสดงต่างกันอยู่ คืออุทธัจจะความคิดพล่านหรือความฟุ้งซ่านจัดเข้าในโมหะ คือกิเลสกองหลง แต่ว่ากุกกุจจะความรำคาญใจจัดเข้าในกิเลสกองโทสะ แต่ว่าบางอาจารย์ท่านก็จัดทั้งอุทธัจจะความฟุ้งซ่าน กุกกุจจะความรำคาญใจ เข้าในกองโมหะด้วยกัน

เพราะฉะนั้น นิวรณ์ข้อนี้จึงครอบงำจิตอยู่เป็นอันมาก ทำให้ไม่สามารถทำจิตให้เป็นสมาธิได้ง่าย เพียงแต่คุมใจในขณะที่สวดมนต์ ในขณะที่ฟังเทศน์หรือฟังธรรมบรรยาย หรือในขณะที่อ่านหนังสือ ไม่ให้คิดพล่านไป ก็เป็นการทำยากแล้ว เมื่อมานั่งทำสมาธิ ก็ยิ่งเป็นการรวมใจได้ยาก ใจไม่ยอมรวม คอยคิดพล่านไป ทั้งมีความรำคาญไม่เพลิดเพลินไม่พอใจ ไม่เป็นสุขใจในการนั่งสมาธิ อันเป็นกิจที่พึงทำดังกล่าว

พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงเอาไว้ว่า ความไม่สงบแห่งใจ และการกระทำไว้ให้มากด้วยอโยนิโสมนสิการ คือการไม่กระทำไว้ในใจโดยแยบคาย จับเหตุจับผล เป็นอาหารของความฟุ้งซ่านรำคาญใจข้อนี้ อันความไม่สงบแห่งใจนั้นก็คือ อาการที่ใจคิดพล่านไปนั้นเอง ไม่สงบ และเมื่อปล่อยใจให้ไม่สงบดั่งนั้น ไม่คิดสำรวมใจเข้ามา และปฏิบัติสำรวมใจเข้ามา ทั้งนี้ก็ประกอบด้วยการที่ไม่ทำไว้ในใจโดยแยบคาย คือไม่คอยพิจารณาจับเหตุจับผล ปล่อยใจไปตามเรื่องโดยมาก ก็เป็นการไม่มีเครื่องหยุดยั้งความไม่สงบของใจ

อันการไม่พิจารณาจับเหตุจับผล อันเรียกว่าอโยนิโสมนสิการนั้น ก็คือไม่มาปฏิบัติจับพิจารณาจิตใจอันนี้ที่คิดพล่าน

เช่นไม่พิจารณาว่า ความคิดพล่านบังเกิดจากอะไร เช่นในขณะที่กำลังสวดมนต์ ต้องการให้ใจสวดไปด้วยพร้อมกับปาก หรือพร้อมกับใจที่สวด เมื่อตั้งใจให้ใจสวดไปด้วยดั่งนี้ ก็สามารถทำได้บ้าง แต่ว่าใจก็คิดพล่านออกไปได้ง่าย เช่นบางทีใจกำลังรวมอยู่ ได้ยินเสียงคนพูดกัน ใจก็ละการสวดมนต์ วิ่งไปที่เสียงคนพูดกันนั้น แล้วก็ไปเรื่องโน้นเรื่องนี้อะไรต่อๆ ไปอีก เริ่มมีสติก็นำใจมากลับตั้งไว้ใหม่ในบทสวด

ในตอนนี้ก็ให้หัดจับพิจารณาสอบสวนใจเอง ว่าใจนี้วิ่งออกไปแล่นออกไป คิดพล่านไป เพราะอะไรเป็นเหตุ เมื่อจับพิจารณาดั่งนี้ก็อาจจับเหตุได้ว่า เนื่องมาจากเสียงคนพูดกันดังที่ยกมาเป็นตัวอย่างนั้นก่อน และเมื่อออกไปที่เสียงนั้นแล้ว ใจก็พล่านไปที่ไหนอีก ก็อาจจับได้ว่าใจพล่านไปจากเสียง ก็ถึงเรื่องนั้น ถึงเรื่องโน้น ดั่งนี้เป็นต้น กว่าจะได้สตินำกลับเข้ามาใหม่ ก็หลายเรื่อง อาจจะสอบสวนได้ ก็จับใจนี้มาตั้งไว้ใหม่ ให้ใจสวดมนต์ไปใหม่ หรือตั้งไว้ในสมาธิที่กำลังปฏิบัติ ให้ใจปฏิบัติในสมาธิต่อไป หรือมาตั้งฟังเทศน์ หรือฟังธรรมบรรยายต่อไป

แต่ว่าใจนี้ก็แล่นพล่านออกไปอีก ได้สติก็กลับมาตั้งไว้ใหม่ ก็จับสอบสวนใหม่อีกว่า มีอะไรเป็นเหตุให้ใจพล่านออกไป ก็อาจจับได้ แล้วก็จับสอบสวนว่า จากเรื่องนั้นแล้วไปไหนอีก ไปไหนอีก ไปไหนอีก ก็อาจจับได้ จนถึงได้สติก็กลับมาตั้งไว้ใหม่

หัดคิดสอบสวนใจดั่งนี้ บางทีอาจจะต้องใช้เวลากว่า ๕ นาที ๑๐ นาที ใจจึงจะยอมสยบอยู่กับสวดมนต์ อยู่กับฟังเทศน์ อ่านหนังสือ หรืออยู่กับการทำสมาธิ แต่ว่าให้สังเกตว่า การจับสอบสวนดั่งนี้ แม้ว่าจะต้องสอบสวนกันหลายหน

แต่น่าสังเกตว่า เมื่อใจถูกสอบสวนคราวหนึ่ง หากว่าใจแล่นออกไปอีก ใจจะไม่คิดพล่านไปในเรื่องที่เคยถูกสอบสวนแล้ว จะคิดพล่านไปในเรื่องอื่นๆ นอกจากที่ถูกสอบสวน เพราะฉะนั้น เมื่อถูกสอบสวนหลายๆ ครั้งเข้า เรื่องที่ใจจะแล่นพล่านไปก็น้อยเข้าๆ จนถึงใจกลับมาตั้งสงบอยู่

ดั่งนี้ เป็นวิธีที่เรียกว่าทำไว้ในใจโดยแยบคายประการหนึ่ง ให้ปฏิบัติทำให้มาก ถ้าหากว่าไม่ทำให้มากซึ่งการพิจารณาโดยแยบคายดั่งนี้ ใจนี้ก็จะต้องคิดพล่านไปบ่อยๆ เป็นความไม่สงบของใจ เพราะฉะนั้น ความไม่สงบของใจดังกล่าว และความที่ไม่กระทำให้มากซึ่งการพิจารณาโดยแยบคาย หรือการกระทำให้มากด้วยการพิจารณาโดยไม่แยบคายดังที่กล่าวมา จึงเป็นอาหารของความฟุ้งซ่านรำคาญใจ

และแม้ตัวความรำคาญใจเองก็เหมือนกัน เมื่อเกิดขึ้นก็ต้องจับพิจารณาว่า เมื่อสมควรจะปฏิบัติอย่างนี้ คือในขณะที่อ่านหนังสือก็ดี ฟังเทศน์ฟังธรรมก็ดี สวดมนต์ก็ดี ควรจะมีความพอใจ ควรจะมีความสุข ควรจะมีความตั้งใจ ไม่ควรที่จะรำคาญเบื่อหน่าย ซึ่งเป็นตัวความรำคาญใจหรือกุกกุจจะดังที่กล่าว พิจารณาส่งเสริมใจที่จะให้หมดความรำคาญ ด้วยมีความพอใจและมีความสุขอยู่ในการปฏิบัติกิจที่ควรปฏิบัติดังกล่าว

แต่หากว่าถ้าไม่พิจารณาดั่งนั้น ก็ชื่อว่าเป็นการกระทำไว้ให้มาก ด้วยการพิจารณาโดยไม่แยบคาย เพราะฉะนั้น จึงเป็นอาหารที่ส่งเสริมความรำคาญใจ ที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ที่เกิดแล้วให้มากขึ้นไปอีก

เพราะฉะนั้น เป็นอันว่าความไม่สงบของใจ และการกระทำให้มากโดยไม่แยบคาย เป็นอาหารที่บำรุงเลี้ยง อุทธัจจะความฟุ้งซ่าน กุกกุจจะความรำคาญใจ ที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ที่เกิดแล้วให้มากขึ้น

ส่วนธรรมะที่เป็น อนาหาร คือธรรมะที่ไม่เป็นอาหารของนิวรณ์คู่นี้ ก็ได้แก่ความสงบของใจ และการกระทำไว้ให้มากด้วยการพิจารณาโดยแยบคาย ความสงบของใจนั้น ก็ต้องอยู่ที่การมาปฏิบัติในกรรมฐานที่ทำให้ใจสงบ และอยู่ที่สร้างฉันทะคือความพอใจ ความสุขความเพียรในการปฏิบัติทำใจให้สงบ อาศัยการพิจารณาโดยแยบคาย จับเหตุจับผล ดังที่กล่าวมาแล้วในเบื้องต้น

เมื่อเป็นดั่งนี้ ก็ชื่อว่าได้ปฏิบัติในธรรมที่ไม่เป็นอาหาร ของอุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญใจ อันทำให้ความฟุ้งซ่านรำคาญใจที่ยังไม่เกิด ไม่เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้ว ให้สงบลงไปได้ ต่อจากนี้ก็ให้ตั้งใจฟังสวด และทำความสงบสืบต่อไป



อนาหารของอุทธัจจะกุกกุจจะ


บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

จะแสดงนิวรณ์ข้ออุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญใจสืบต่อไป นิวรณ์นี้เป็นเครื่องเศร้าหมองใจ อันเรียกว่ากิเลส ซึ่งมีประจำอยู่ในจิตใจของสามัญชนทั่วไป ซึ่งยังมีจิตใจตกอยู่ในกามาวจรภูมิ คือภูมิจิตที่ยังท่องเที่ยวไปในกาม จึงมีจิตที่ประกอบไปด้วยกามฉันท์ ความพอใจรักใคร่ในกาม พยาบาท ความกระทบกระทั่งหงุดหงิดโกรธแค้นขัดเคือง จนถึงมุ่งร้าย ถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม และอุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญใจ กับวิจิกิจฉาความเคลือบแคลงสงสัย



๏ เหตุที่จิตเป็นสมาธิได้ยาก

ฉะนั้น เมื่อมาปฏิบัติในสมาธิจึงยากที่จะทำจิตให้เป็นสมาธิได้ เพราะจิตใจไม่ยอมที่จะตั้งอยู่ในกรรมฐาน อันเป็นที่ตั้งของสมาธิ

แต่จะออกไปท่องเที่ยวอยู่ในกาม เป็นกามฉันท์เป็นต้น ต่อเมื่อสามารถสงบรำงับนิวรณ์ได้ จิตจึงจะเป็นสมาธิได้ ฉะนั้น ในสติปัฏฐานทั้ง ๔ ข้อธรรมานุปัสสนา ตั้งสติพิจารณาธรรม จึ่งได้แสดง นิวรณปัพพะ คือข้อนิวรณ์นี้ไว้เป็นข้อแรก เพื่อให้ผู้ปฏิบัติได้ปฏิบัติสงบรำงับนิวรณ์ทั้งหลาย

และก็ได้แสดงมาโดยลำดับถึงอาหารของนิวรณ์เหล่านี้ และอนาหารคือข้อปฏิบัติที่ไม่เป็นอาหาร หรือลักษณะอาการที่ไม่เป็นอาหารของนิวรณ์เหล่านี้ เพราะนิวรณ์เหล่านี้เมื่อได้สิ่งที่เป็นอาหาร นิวรณ์ที่ยังไม่เกิดก็จะเกิดขึ้น นิวรณ์ที่เกิดขึ้นแล้วก็จะเจริญมากขึ้น แต่เมื่อมาได้ข้อปฏิบัติ หรือภาวะของจิตที่เป็นอนาหาร คือไม่ใช่อาหารของนิวรณ์เหล่านี้ นิวรณ์เหล่านี้ที่ยังไม่เกิดก็จะไม่เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วก็จะสงบระงับลงไป

และโดยเฉพาะในข้ออุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ได้แสดงข้อที่เป็นอาหารมาแล้ว ก็คือความไม่สงบของใจ และการกระทำให้มากซึ่งอโยนิโสมนสิการ คือการกระทำโดยไม่แยบคาย ในการปฏิบัติเพื่อสงบรำงับ ส่วนอนาหารคือข้อที่ไม่เป็นอาหารของความฟุ้งซ่านรำคาญใจนั้น ก็ตรงกันข้าม ได้แก่ความสงบของใจ และการกระทำให้มากในโยนิโสมนสิการ คือการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ในการปฏิบัติละ ก็คือการใช้ปัญญาพิจารณา จับเหตุจับผล และปฏิบัติไปในเหตุที่ทำให้ความฟุ้งซ่านรำคาญใจนี้ดับ



๏ กสิณ ๑๐ เครื่องจูงใจให้สงบ

พระอาจารย์ได้แสดงกรรมฐานไว้ข้อหนึ่ง สำหรับปฏิบัติเพื่อละความฟุ้งซ่านรำคาญใจ คือกสิณที่แปลว่าวัตถุเป็นเครื่องจูงใจให้สงบ

โดยใช้สิ่งต่างๆ สำหรับกำหนดจิตใจให้เป็นหนึ่งอยู่ในสิ่งเหล่านั้น เป็นกสิณ ๑๐ ประการ อันได้แก่ดินที่เรียกว่าปฐวี น้ำที่เรียกว่าอาโป ไฟที่เรียกว่าเตโช ลมที่เรียกว่าวาโย ก็คือธาตุทั้ง ๔ นั้นเองในโลก ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ หรือว่าที่จัดไว้สำหรับ ทั้ง ๔ นี้ เรียกว่า ภูตกสิณ

กับอีก ๔ ก็คือ สีขาว สีเหลือง สีแดง สีเขียว หรือสีขาบ อันเรียกว่า วรรณกสิณ กสิณเกี่ยวกับสีที่จัดเตรียมไว้สำหรับ และแสงสว่างเช่นแสงไฟ ที่ลอดเข้ามาตามช่องเป็นต้น อันเรียกว่า อาโลกกสิณ กับอากาศหรือแสงอากาศ อันหมายถึงว่าความสว่างของอากาศ อันเรียกว่า อากาสกสิณ รวมเป็นกสิณ ๑๐ ประการ

จะกำหนดข้อใดข้อหนึ่งก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น กสิณสีขาว ซึ่งมีการจัดเตรียมไว้สำหรับ คือใช้ไม้มาขดเป็นวงกลม ศูนย์ไส้ขนาด ๑๖ นิ้ว และเอาผ้าขาวมาขึง และตั้งไว้ให้ห่างจากตนประมาณสักสองศอกคืบ นั่งเพ่งดูผ้าขาวในวงกลม อันเรียกว่ากสิณสีขาวนี้ บริกรรมว่า โอทาตัง โอทาตัง หรือ สีขาวๆ



๏ บริกรรมสมาธิ

กิริยาที่ทำนี้เรียกว่าบริกรรม กสิณสีขาวที่ทำขึ้นเรียกว่าบริกรรมนิมิต คือนิมิตสำหรับบริกรรม และการที่นั่งลืมตาดูกำหนดให้ปรากฏในจิตใจ พร้อมกับกำหนดใจว่าสีขาวๆ ดังที่กล่าวนั้น เรียกว่าบริกรรมภาวนา และเมื่อนั่งเพ่งดูอยู่ดั่งนี้ ลืมตาดู กำหนดไว้ แล้วก็หลับตาลง เพื่อให้สีขาวมาปรากฏในจิตใจ จนหลับตามมองเห็น ก็เรียกว่าอุคหนิมิต คือนิมิตติดตา สมาธิในขณะที่ได้นิมิตติดตานี้ก็เป็นบริกรรมสมาธิ สมาธิในบริกรรม

และเมื่อได้อุคหนิมิต นิมิตติดตาแล้ว ก็หลับตาเห็นนิมิตที่ติดตานั้น ตั้งใจให้ใหญ่ขึ้น ก็ใหญ่ได้ ตั้งใจให้เล็กลง ก็เล็กลงได้ โดยมีส่วนสัดตามเป็นจริงของภาพอุคหนิมิตนั้น เหมือนอย่างภาพถ่ายของบุคคล ภาพเล็ก ทุกๆ อย่างก็เล็กลง เมื่อขยายภาพให้โตขึ้น ทุกๆ อย่างก็โตขึ้นตามส่วนสัดของร่างกาย ตามความเป็นจริง



๏ ขั้นที่จิตเริ่มเป็นสมาธิ

ดั่งนี้ เมื่อทำได้ก็เป็นปฏิภาคนิมิต คือนิมิตเทียบเคียง และการภาวนาก็เป็นอุปจารภาวนา คือเป็นภาวนาที่เริ่มได้สมาธิ เฉียดใกล้อัปปนาสมาธิ สมาธิแนบแน่น จึงเป็นอุปจารสมาธิ สมาธิที่ใกล้จะแนบแน่น และเมื่อปฏิบัติต่อขึ้นไปก็ย่อมจะได้อัปปนาสมาธิ เมื่อเข้าลักษณะขององค์ปฐมฌาน ก็จะได้ขั้นปฐมฌาน และจะได้ต่อขึ้นไปเป็นทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน

กสิณดังที่กล่าวมานี้เป็นกรรมฐาน สำหรับสงบรำงับอุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญใจ แม้กสิณข้ออื่นจากนี้ ข้อใดข้อหนึ่งก็ใช้ได้เหมือนกัน

เพราะฉะนั้น หากปฏิบัติทางสมาธิโดยใช้กรรมฐานข้ออื่น แต่ไม่สามารถจะสงบรำงับอุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญใจได้ ก็ให้พักกรรมฐานนั้นไว้ มาใช้กสิณข้อใดข้อหนึ่ง เพ่งกสิณกำหนดใจให้รวมอยู่ที่กสิณ จนให้กสิณติดตาติดใจ ตั้งต้นเป็นบริกรรมภาวนาเรื่อยขึ้นมา จนได้อุคหนิมิต อันเริ่มแต่บริกรรมนิมิต แล้วมาอุคหนิมิต แล้วมาปฏิภาคนิมิต จนถึงยิ่งขึ้นไป ก็จะสามารถสงบรำงับอุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญใจได้

การปฏิบัติดั่งนี้ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติทำจิตให้สงบระงับ ทำใจให้สงบระงับ และทำให้มากในโยนิโสมนสิการ คือการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ในกสิณภาวนานี้ ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจสวด และทำความสงบสืบต่อไป



คัดลอกมาจาก
เทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ

http://www.mahayana.in.th/tsavok/tsavok.html

:b48:

กระทู้บอร์ดเก่าโพสโดยคุณลูกโป่ง
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=2719

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ก.ย. 2012, 13:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

นิวรณ์ข้อวิจิกิจฉา

สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก


บัดนี้ จักแสดงธรรมเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ได้แสดงเรื่องนิวรณ์มาโดยลำดับ จนถึงข้อคำรบ ๕ ที่จะแสดงในวันนี้ คือวิจิกิจฉาความเคลือบแคลงสงสัย แต่ในเบื้องต้นนี้ก็จะขอย้ำถึงเรื่องนิวรณ์อีกครั้งหนึ่งว่า ผู้ปฏิบัติทำสมาธิไม่ได้สำเร็จ หรือสำเร็จได้ยาก ก็เพราะนิวรณ์เหล่านี้เอง ซึ่งบังเกิดขึ้นในจิตใจ ตั้งต้นแต่ข้อกามฉันท์ ความคิดพอใจในกาม พยาบาทความคิดกระทบกระทั่งโกรธแค้นขัดเคืองมุ่งร้ายหมายทำลาย ถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม อุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญใจ และข้อครบ ๕ คือวิจิกิจฉาความเคลือบแคลงสงสัย



๏ อาหารของวิจิกิจฉา

อันความเคลือบแคลงสงสัยนี้ ย่อมบังเกิดขึ้นได้ในเรื่องต่างๆ เป็นอันมาก ในข้อที่ตรัสสอนถึงเรื่องอาหารของวิจิกิจฉา ก็ตรัสไว้เป็นกลางๆ ว่าคือธรรมะอันเป็นที่ตั้งของความเคลือบแคลงสงสัย และการกระทำให้มาก ด้วยการทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย ในธรรมะอันเป็นที่ตั้งแห่งความเคลือบแคลงสงสัยทั้งหลายนั้น

อันความเคลือบแคลงสงสัยในเรื่องต่างๆ เป็นอันมากนั้น ก็เป็นต้นว่าในเรื่องที่ใจรับเข้ามาคิด เกิดเป็นปัญหาขึ้นในใจ ก็สงสัยว่าอะไรเป็นอะไร เกี่ยวแก่บุคคลบ้าง เกี่ยวแก่การงานบ้าง เกี่ยวแก่การศึกษาเล่าเรียนบ้าง แม้ในการเล่าเรียนธรรมะหรือฟังธรรมะ เมื่อไม่เข้าใจก็ย่อมจะสงสัยในข้อที่ไม่เข้าใจนั้น ว่ามีความหมายอย่างไร ตลอดจนถึงในการปฏิบัติธรรม ก็อาจมีความสงสัยในข้อปฏิบัติ เช่นว่าจะปฏิบัติอย่างไร จึงจะได้ผลแห่งการปฏิบัติโดยสะดวก



๏ อนาหารของวิจิกิจฉา

ส่วนในข้อที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงอนาหาร คือสิ่งที่ไม่เป็นอาหารของวิจิกิจฉา อันหมายความว่า ข้อปฏิบัติที่เป็นเครื่องป้องกันมิให้วิจิกิจฉาบังเกิดขึ้น หรือเป็นเครื่องละวิจิกิจฉาที่บังเกิดขึ้นแล้ว ไว้ว่า คือธรรมะที่เป็นกุศล และเป็นอกุศล ธรรมะที่มีโทษและไม่มีโทษ ธรรมะที่หยาบ เลว และประณีตคือละเอียด ดี ธรรมะที่มีส่วนเปรียบเทียบด้วยดำและขาว และการกระทำให้มากด้วยการหมั่นพิจารณาจับเหตุจับผล ที่เรียกว่าโดยแยบคาย ในธรรมะที่เป็นกุศล อกุศล เหล่านั้น

ตามที่ตรัสไว้นี้ก็นำให้เข้าใจว่า อันความเคลือบแคลงสงสัยที่เป็นข้อสำคัญๆ นั้น ก็คือความเคลือบแคลงสงสัย ว่าอะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศลเป็นต้น ดังที่กล่าวนั้น เพราะฉะนั้น จึงต้องปฏิบัติจับพิจารณาให้เข้าใจ ว่าอะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล ตามเหตุตามผล

เพราะว่าถ้าไม่เข้าใจในหลักดังกล่าวนี้ ย่อมทำให้มีความเคลือบแคลงสงสัยอยู่ร่ำไป และทำให้การปฏิบัติอาจไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นจึงต้องพินิจพิจารณาให้เข้าใจ ว่าอะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล ตามเหตุและผล



๏ กุศล อกุศล

กุศลนั้นแปลว่ากิจของคนฉลาด อกุศลนั้นแปลว่ากิจของคนไม่ฉลาด ตามความหมาย เมื่อยกเอาอกุศลขึ้นแสดงก่อน ก็แสดงได้ว่า คือความชั่วร้ายต่างๆ ดั่งที่เรียกว่าบาป และก็เรียกกันว่าบาปอกุศล ส่วนกุศลนั้นก็ตรงกันข้าม ได้แก่ความดีต่างๆ ดังเช่นที่เรียกว่าบุญ ดังพูดคู่กันว่าบุญกุศล พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงชี้ ว่าอะไรเป็นอกุศล อะไรเป็นกุศล ดั่งที่ตรัสถึง อกุศลกรรมบถ คือทางกรรมที่เป็นอกุศล คู่กับ กุศลกรรมบถ คือทางกรรมที่เป็นกุศล

อกุศลกรรมบถนี้ก็ได้แก่ทางกรรมที่เป็นอกุศลคือที่เป็นบาป อันพึงกระทำทางกาย ก็เป็นกายกรรมฝ่ายอกุศล ทางวาจาก็เป็นวจีกรรมฝ่ายอกุศล ทางใจก็เป็นมโนกรรมฝ่ายอกุศล และก็ตรัสจำแนกเอาไว้ว่าทางกายนั้นก็ได้แก่ การฆ่า ๑ การลักทรัพย์ ๑ การประพฤติในกาม ๑ ทางวาจานั้นก็ได้แก่พูดเท็จ ๑ พูดส่อเสียด ๑ พูดคำหยาบ ๑ พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล ๑ ทางใจนั้นก็ได้แก่โลภเพ่งเล็งสมบัติของผู้อื่น น้อมมาเป็นของตน ๑ พยาบาทคิดปองร้ายหมายทำลายเขา ๑ และมิจฉาทิฏฐิความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม นี้เป็นฝ่ายอกุศล หรือฝ่ายบาป

ส่วนฝ่ายกุศลนั้น ก็แบ่งออกเป็นทางกาย ทางวาจา ทางใจ คือเป็น กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม เช่นเดียวกัน มีอธิบายตรงกันข้าม

ทางกายก็คือว่า ไม่ฆ่า ไม่ลัก ไม่ประพฤติผิดในกาม ทางวาจาก็คือไม่พูดเท็จ ไม่พูดคำส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล ทางใจก็คือไม่โลภเพ่งเล็งทรัพย์สมบัติของผู้อื่นมาเป็นของตน ไม่พยาบาทปองร้าย และสัมมาทิฏฐิเห็นชอบตามทำนองคลองธรรม นี้เป็นฝ่ายกุศล



๏ โยนิโสมนสิการ

ให้ผู้ปฏิบัติธรรมพิจารณาให้มีความเข้าใจ ว่ากระทำอย่างนี้ๆ ตามที่ตรัสแสดงไว้ เป็นอกุศลเป็นบาป ความเว้นเสียไม่กระทำอย่างนี้ๆ หรือภาวะความเป็นอย่างนี้ๆ เป็นฝ่ายกุศล ด้วยโยนิโสมนสิการ คือพิจารณาจับเหตุจับผลให้เข้าใจ โดยไม่เกิดความลังสงสัย ว่าทำอย่างนั้นจะเป็นอกุศลจริงหรือ หรือทำอย่างนี้จะเป็นกุศลจริงหรือ ให้หมั่นพิจารณาทำความเข้าใจ ว่าอะไรเป็นอกุศล อะไรเป็นบาป อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นบุญ ดั่งที่ตรัสสอนไว้ ดังที่ยกมาเป็นตัวอย่าง



๏ อกุศลวิตก ๓

อนึ่ง พิจารณาดูความตรึกในจิตใจของตัวเอง คือความคิดนึกในจิตใจของตัวเอง อันเรียกว่าวิตก ซึ่งความตรึกนึกคิดบางอย่างก็เป็นอกุศลวิตก คือความตรึกนึกคิดไปในกาม คือวัตถุที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ หรือด้วยกิเลสกาม กิเลสที่เป็นเหตุรักใคร่ปรารถนาพอใจ เรียกว่ากามวิตก ความตรึกนึกคิดไปในทางเบียดเบียนมุ่งร้าย ความตรึกนึกคิดไปในทางมุ่งร้ายหมายทำลาย เป็นพยาบาทวิตก ความตรึกนึกคิดไปในทางเบียดเบียนใครๆ เป็นวิหิงสาวิตก ก็ให้รู้ว่าความคิดเช่นนี้เป็นอกุศลวิตก ให้ละเสีย



๏ กุศลวิตก ๓

ส่วนความตรึกนึกคิดในทางตรงกันข้าม คือความตรึกนึกคิดไปในทางออกจากกาม อันเรียกว่า เนกขัมมวิตก ความตรึกนึกคิดไปในทางไม่ปองร้ายหมายทำลาย เป็น อัพยาปาทวิตก ความตรึกนึกคิดไปในทางไม่เบียดเบียน เป็น อวิหิงสาวิตก ความตรึกนึกคิดดั่งนี้ เป็นกุศลวิตก

ก็ให้ปฏิบัติตนเอง ละอกุศลวิตกที่บังเกิดขึ้น แต่ตรึกนึกคิดไปในทางกุศล ให้เป็นกุศลวิตก แต่ว่าแม้จะตรึกนึกคิดไปในทางกุศล ถ้ามากเกินไป หรือนานเกินไป ก็ทำให้เกิดความลำบากทางกาย และทำให้จิตฟุ้งซ่านได้ เพราะฉะนั้น แม้เป็นกุศลวิตก ก็ต้องตรึกนึกคิดแต่พอประมาณ ตามสมควร และก็ต้องสงบแม้กุศลวิตกนั้นด้วยสมาธิ คือตั้งจิตไว้ในอารมณ์เป็นอันเดียว ทำจิตให้เป็นสมาธิ ดั่งนี้ ให้ทำโยนิโสมนสิการ คือความพิจารณาจับเหตุจับผลโดยแยบคายดั่งนี้ให้มากๆ คอยละอกุศลวิตก ให้ตรึกนึกคิดไปในทางกุศลเป็นกุศลวิตก แต่ก็ให้พอสมควร และก็ให้ทำสมาธิ ตั้งจิตมั่นอยู่ในอารมณ์เป็นอันเดียว

ความที่มาปฏิบัติทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการ ว่าอะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล ให้รู้จักโดยชัดเจนดั่งนี้ เป็นเครื่องแก้วิจิกิจฉานิวรณ์ได้ เป็นเครื่องป้องกันวิจิกิจฉานิวรณ์ไม่ให้เกิดขึ้น และธรรมะที่เป็นอกุศลดังกล่าวมานี้เอง เรียกว่าเป็นธรรมะที่มีโทษ คือให้เกิดความโศก ให้เกิดความเดือดร้อน ให้เกิดความทุกข์ เป็นข้อที่เลว เป็นข้อที่หยาบ และเป็นข้อที่ไม่บริสุทธิ์ เป็นข้อที่เศร้าหมอง อันเทียบด้วยสีดำ

ส่วนธรรมะที่เป็นกุศลอันตรงกันข้ามนั้น ก็เป็นธรรมะที่ไม่มีโทษ แต่มีคุณ นำให้เกิดความบันเทิงรื่นเริงเป็นสุข เป็นธรรมะที่ประณีต ละเอียด ดี และเป็นธรรมะที่บริสุทธิ์ อันเทียบด้วยสีขาว

ก็ให้หมั่นพินิจพิจารณา ให้รู้จักว่าอกุศลเป็นอย่างนี้ มีโทษอย่างนี้ หยาบอย่างนี้ และเป็นสีดำอย่างนี้ ส่วนกุศลนั้นไม่มีโทษ คือมีคุณอย่างนี้ ละเอียด ประณีต ดี อย่างนี้ บริสุทธิ์เหมือนอย่างสีขาวอย่างนี้ ความที่มาปฏิบัติให้มากด้วยโยนิโสมนสิการ คือการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย จับเหตุจับผลใน กุศล อกุศล คือให้รู้จัก กุศล อกุศล หรือ อกุศล กุศล ดังที่กล่าวมานี้ตามเป็นจริง และแจ่มแจ้ง ก็จะทำให้ไม่สงสัยในกุศลในอกุศลดังกล่าว เพราะฉะนั้น การปฏิบัติดั่งนี้จึงเรียกว่าเป็นการปฏิบัติที่ไม่เป็นอาหารที่จะเลี้ยงนิวรณ์เอาไว้ ป้องกันไม่ให้นิวรณ์บังเกิดขึ้น ละนิวรณ์ที่บังเกิดขึ้นแล้ว ต่อจากนี้ก็ให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป



คัดลอกมาจาก
เทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ

http://www.mahayana.in.th/tsavok/tsavok.html

:b48:

กระทู้บอร์ดเก่าโพสโดยคุณลูกโป่ง
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=2742

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 32 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร