วันเวลาปัจจุบัน 25 เม.ย. 2024, 17:37  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.ย. 2012, 13:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ธรรมโอวาท
ของ
พระโพธิญาณเถร
(หลวงพ่อชา สุภทฺโท)

วัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี

:b50: :b50:

:b42: เรื่อง สัมมาปฏิปทา :b42:

การทำสมาธิจักสำเร็จขึ้นอยู่กับตัวเรา

อารัมภกถา

วันนี้พวกท่านทั้งหลายได้ตั้งใจมาอบรมที่วัดวนโพธิญาณ (เขื่อนสิรินธร) สถานที่ก็สงบระงับเป็นอย่างดี แต่ว่าสถานที่สงบนั้นถ้าเราไม่สงบมันก็ไม่มีความหมาย ทุกๆ แห่งสถานที่มันสงบทั้งนั้นแหละ ที่มันไม่สงบก็เพราะคนเรา แต่คนที่ไม่สงบไปอยู่ที่สงบก็เกิดความสงบได้ สถานที่มันก็อย่างเก่าของมันนั่นแหละ แต่ว่าเราต้องปฏิบัติให้ถึงความสงบนั้น

ฝึกยากลำบากจริงหนอใจมนุษย์

ให้พวกท่านทั้งหลายเข้าใจว่า การปฏิบัตินี้เป็นของยาก ฝึกอะไรอย่างอื่นๆ ทุกอย่างมันก็ไม่ยาก มันก็สบาย แต่ใจของมนุษย์ทั้งหลายนี้ฝึกได้ยาก ฝึกได้ลำบาก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราท่านก็ฝึกจิต จิตนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก อะไรทั้งหมดในรูปธรรมนามธรรมนี้ มันรวมอยู่ที่จิต เช่นว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย เหล่านี้ ส่งไปให้จิตอันเดียวเป็นผู้บริหารการงาน รับรู้รับฟังผิดชอบจากอายตนะทั้งหลายเหล่านั้น ฉะนั้นการอบรมจิตนี้จึงเป็นของสำคัญ ถ้าใครอบรมจิตของตนให้สมบูรณ์แล้ว ปัญหาอะไรทุกอย่างมันก็หมดไป ที่มันมีปัญหาอยู่ก็เพราะจิตของเรานี้เองยังมีความสงสัย ไม่มีความรู้ตามความเป็นจริง จึงเป็นเหตุให้มีปัญหาอยู่

ธรรมะเป็นของบริบูรณ์และสมบูรณ์

ฉะนั้นให้เข้าใจว่า อาการทั้งหลายที่จะต้องปฏิบัตินั้น พวกท่านทั้งหลายก็ได้เตรียมมาพร้อมแล้วทุกคน จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอนที่ไหน อุปกรณ์ที่ท่านทั้งหลายจะนำไปปฏิบัตินั้น...พร้อม ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็ตาม พร้อมอยู่ มีอยู่ เป็นของพร้อมอยู่ เหมือนกันกับธรรมะ ธรรมะนี้เป็นของพร้อมอยู่ทุกสถานที่ อยู่ที่นี้ก็พร้อม อยู่ในส้วมก็พร้อม บนบกก็พร้อม ในน้ำก็พร้อม อยู่ที่ไหนมันพร้อมอยู่ทั้งนั้นแหละ ธรรมะเป็นของสมบูรณ์บริบูรณ์ แต่ว่าการประพฤติปฏิบัติของเรานี้ยังไม่พร้อม


องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราท่านมีรากฐานให้เราทั้งหลายปฏิบัติให้รู้ธรรมะ ไม่เป็นของมาก มันเป็นของน้อย แต่เป็นของที่ถูกต้อง เช่นว่าจะเปรียบเทียบให้ฟังเรื่องขน ถ้าเรารู้จักว่าอันนี้มันเป็นขน รู้จักขนเส้นเดียวเท่านั้น ขนในร่างกายเรานี้ทุกเส้น แม้ในร่างกายคนอื่นทุกเส้น ก็รู้กันหมดทั้งนั้นแหละ รู้ว่าเป็นขนทั้งนั้น หรือเส้นผม รู้จักผมเส้นเดียวเท่านั้น ผมบนศีรษะของเรา บนศีรษะของคนอื่นก็รู้หมดทุกเส้นเหมือนกัน ที่รู้กเพราะว่ามันเป็นเส้นผมเหมือนกัน เรารู้ผมเส้นเดียว แต่ก็รู้ทุกเส้นผม หรือจะเปรียบประหนึ่งว่าเรารู้จักกับคน ลักษณะของคนเหมือนตัวเรานี้ จะพิจารณาสกลกายทุกประการนั้นเห็นแจ่มแจ้งในคนๆ เดียว คือตัวเรา พบเห็นสภาวะทั้งหลายในตัวเราคนเดียวเท่านี้ คนในสกลโลกสกลจักรวาลนี้เราก็รู้กันหมดทุกๆ คน เพราะว่าคนมันก็เหมือนกันทั้งนั้น ธรรมะนี้ก็เป็นอย่างนี้ เป็นของน้อย แต่ว่ามันเป็นของมาก คือความจริงพบสิ่งเดียวแล้วมันก็พร้อมกันไปหมด เมื่อเรารู้ความจริงตามเป็นจริงแล้ว ปัญหามันก็หมดไป

อย่าปฏิบัติเพราะความอยาก

แต่ว่าการปฏิบัตินี้มันยาก มันยากเพราะอะไร มันยากเพราะตัณหาความอยาก ถ้าไม่อยากก็ไม่ได้ปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติเพราะความอยากก็ไม่พบธรรมะ อันนี้มันเป็นปัญหาอยู่อย่างนี้ ฉะนั้นในการประพฤติปฏิบัตินี้มันมีความยุ่งยาก มีความลำบาก ถ้าไม่มีความอยากก็ไม่มีกำลังที่จะปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติเพราะความอยากก็วุ่นวาย ไม่มีความสงบ ทั้งสองอย่างนี้เป็นเหตุอยู่เสมอ ดังนั้นท่านทั้งหลายลองคิดดูซิว่าจะทำอะไรๆ ถ้าไม่อยากทำมันก็ทำไม่ได้ มันต้องอยากทำมันถึงทำได้ ถ้าไม่อยากจะทำก็ไม่ได้ทำ ก้าวไปข้างหน้ามันเป็นตัณหา ถอยกลับมามันก็เป็นตัณหาทั้งนั้น ดังนั้นพระโยคาวจรเจ้าผู้ประพฤติปฏิบัตินี้จึงว่าเป็นของยุ่งยาก เป็นของลำบากที่สุดอยู่เหมือนกัน


ธรรมะไม่ใช่ใจเรา ใจเราไม่ใช่ธรรมะ

ที่เราไม่เห็นธรรมะก็เพราะตัณหา บางทีมันอยากอย่างรุนแรงคืออยากจะเห็นเดี๋ยวนี้ ธรรมะนี้ไม่ใช่ใจเรา ใจเราไม่ใช่ธรรมะ ธรรมะมันเป็นอย่างหนึ่ง ใจเรามันเป็นอย่างหนึ่ง มันคนละอย่างกัน ฉะนั้นแม้เราจะคิดอย่างไรก็ตาม อันนี้เราชอบเหลือเกิน แต่มันไม่ใช่ธรรมะ อันนี้เราไม่ชอบมันก็ไม่ใช่ธรรมะ ไม่ใช่ว่าเราคิดชอบใจอะไรอันนั้นเป็นธรรมะ เราคิดไม่ชอบใจอะไรอันนั้นไม่ใช่ธรรมะ..... ไม่ใช่อย่างนั้น แท้จริงใจของเรานี้เป็นธรรมชาติอันหนึ่งเท่านั้น อย่างต้นไม้ตามป่านั่นแหละ ถ้ามันจะเป็นขื่อเป็นแปเป็นกระดาน มันก็มาจากต้นไม้ แต่ว่ามันเป็นต้นไม้อยู่ไม่ใช่ขื่อไม่ใช่แป มันเป็นต้นไม้อยู่ มันเป็นธรรมชาติเท่านั้น ก่อนที่จะทำประโยชน์ได้ ก็ต้องเอาต้นไม้มาแปรรูปออกไปเป็นขื่อ เป็นแป เป็นกระดาน เป็นโน่นเป็นนี่ เป็นต้นไม้ต้นเดียวกัน แต่มันแปรรูปมาเป็นหลายอย่าง เมื่อรวมกันมันก็เป็นต้นไม้อันเดียวกันเป็นธรรมชาติ ถ้าหากว่ามันเป็นธรรมชาติอยู่อย่างนั้น มันก็ไม่เกิดประโยชน์ขึ้น เฉพาะกับบุคคลที่ต้องการ จิตใจของเราก็เหมือนกันฉันนั้น มันเป็นธรรมชาติอันหนึ่งอยู่อย่างนั้น มันรู้จักการนึกคิด รู้จักสวยไม่สวยตามธรรมชาติของมัน

ฝึกจิตให้รู้ว่าเป็นธรรมชาติ

ฉะนั้นจิตใจเรานั้นจะต้องถูกฝึกอีกครั้งหนึ่งก่อน ถ้าไม่ฝึกมันก็ไม่ได้ มันเป็นธรรมชาติ ฝึกให้รู้ว่ามันเป็นธรรมชาติ เราก็มาปรับปรุงธรรมชาตินั้น ให้ถูกต้องตามความต้องการของมนุษย์ คือธรรมะ ธรรมะนี้จึงเป็นของที่พวกเราทั้งหลายจงปฏิบัติเอาเข้ามาในใจ เอาไว้ในใจของเรา ถ้าไม่ปฏิบัติก็ไม่รู้ พูดกันตรงๆ ง่ายๆ อ่านหนังสือเฉยๆ ก็ไม่รู้ เรียนเฉยๆ ก็ไม่รู้ มันรู้อยู่ แต่มันไม่รู้ตามที่เป็นจริง คือมันรู้ไม่ถึง อย่างกระโถนใบนี้ ใครๆ ก็รู้ว่าเป็นกระโถน แต่ไม่รู้ถึงกระโถน ทำไมไม่รู้ถึงกระโถน ถ้าผมจะเรียกกระโถนว่าหม้อท่านจะว่าอย่างไร ทุกทีที่ผมใช้ท่านว่า “เอาหม้อมาให้ผมด้วยเถอะ” มันก็ต้องขัดใจท่านทุกที ทำไมล่ะ ก็เพราะว่าท่านไม่รู้กระโถนถึงกระโถน ผมจะใช้ให้ท่านเอากระโถนมาแต่บอกให้เอาหม้อมาให้ผมหน่อย ท่านก็ไม่พบ “หม้ออยู่ที่ไหนหลวงพ่อ” ก็ชี้ไปที่กระโถนนั่นแหละ มันก็ไม่เข้าใจ ขัดใจกันเท่านั้น ปัญหามันก็เกิดขึ้นมา ทำไมมันจึงเป็นอย่างนั้น เพราะท่านไม่รู้กระโถนถึงกระโถน ถ้าท่านรู้กระโถนถึงกระโถนแล้วมันก็ไม่มีปัญหาอะไร ท่านก็จะหยิบวัตถุอันนั้นมาให้ผมเลย ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น คือกระโถนใบนี้นะมันไม่มี เข้าใจไหม มันมีขึ้นมาเพราะเราสมมุติขึ้นว่านี่คือกระโถน มันก็เลยเป็นกระโถน สมมุติอันนี้มันรู้กันทั่วประเทศแล้ว ว่ามันเป็นกระโถนอย่างนี้ แต่กระโถนจริงน่ะมันไม่มี หรือใครจะเรียกให้มันเป็นหม้อมันก็เป็นให้เราอย่างนั้น จะเรียกให้เป็นอะไรมันก็เป็นอย่างนั้น นี่เรียกว่า “สิ่งสมมติ” ถ้าเรารู้ถึงกระโถนแล้วเขาจะเรียกว่าหม้อก็ไม่มีปัญหา จะเรียกอะไรมันก็หมดปัญหาแล้ว เพราะเรารู้ไม่มีอะไรปิดบังไว้ นั่นคือคนรู้จักธรรมะ



ทีนี้ย้อนเข้ามาถึงตัวเรา เช่นเขาจะพูดว่า “ท่านนี้เหมือนกับคนบ้านะ” “ท่านนี้เหมือนคนไม่พอคนนะ” อย่างนี้เป็นต้น ก็ไม่สบายใจเหมือนกัน ทั้งๆ ที่ตัวเราไม่เป็นจริง อะไรมันก็ยากอยู่นะ อยากได้อยากเป็น เพราะความอยากได้อยากเป็นมันไม่รู้จักพอ เพราะไม่รู้ตามความจริงนั่นเอง ฉะนั้นธรรมะถ้าเรารู้จักตรัสรู้ธรรมตามความเป็นจริงแล้ว โลภ โกรธ หลง มันจึงหมดไป เพราะมันไม่มีอะไรทั้งนั้น อันนี้ควรปฏิบัติ


สงบจิตด้วยการนั่งสมาธิ


ปฏิบัติทำไมมันถึงยากถึงลำบาก เพราะว่ามันอยาก พอไปนั่งสมาธิปุ๊บก็ตั้งใจว่าอยากจะให้มันสงบ ถ้าไม่มีความอยากให้สงบก็ไม่นั่งไม่ทำอะไร พอเราไปนั่งก็อยากให้มันสงบ เมื่ออยากให้มันสงบ ตัววุ่นวายก็เกิดขึ้นมาอีก ก็เห็นสิ่งที่ไม่ต้องการเกิดขึ้นมาอีก มันก็ไม่สบายใจอีกแล้ว นี่มันเป็นอย่างนี้

ฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านสอนว่า อย่าพูดให้เป็นตัณหา อย่ายืนให้เป็นตัณหา อย่านั่งให้เป็นตัณหา อย่านอนให้เป็นตัณหา อย่าเดินให้เป็นตัณหา ทุกประการนั้นอย่าให้เป็นตัณหา ตัณหาแปลว่าความอยาก ถ้าไม่อยากจะทำอะไรเราก็ไม่ได้ทำ อันนั้นปัญญาของเราไม่ถึง ทีนี้มันก็เลยอู้เสีย ปฏิบัติไปไม่รู้จะทำอย่างไร พอไปนั่งสมาธิปุ๊บ ก็ตั้งความอยากไว้แล้ว อย่างพวกเราที่มาปฏิบัติอยู่ในป่านี้ ทุกคนต้องอยากมาใช่ไหม นี่จึงได้มาอยากมาปฏิบติที่นี้ มาปฏิบัตินี่ก็อยากให้มันสงบ อยากให้มันสงบก็เรียกว่าปฏิบัติเพราะความอยาก มาก็มาด้วยความอยาก ปฏิบัติก็ปฏิบัติด้วยความอยาก เมื่อมาปฏิบัติแล้วมันจึงขวางกัน ถ้าไม่อยากก็ไม่ได้ทำ จึงเป็นอยู่อย่างนี้ จะทำอย่างไรกับมันล่ะ

สังขารไม่ใช่ของตัวของตน

รูปนามหรือสกลกายเรานี้มันจึงดูได้ยาก ถ้าหากไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่ใช่ของตนแล้วมันเป็นตัวของใคร อันนี้มันถึงแยกยาก มันถึงลำบากเราจะต้องอาศัยปัญญา ดังนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าท่านจึงสอนว่าการกระทำก็กระทำด้วยการปล่อยวาง การกระทำด้วยการปล่อยวางอันนี้ก็ฟังยากเหมือนกัน ถ้าจะปล่อยวางก็ไม่ทำเท่านั้น เพราะทำด้วยการปล่อยวางเปรียบง่ายๆ ให้ฟัง เราไปซื้อกล้วยหรือซื้อมะพร้าวใบหนึ่งจากตลาดแล้วก็เดินหิ้วมา อีกคนหนึ่งก็ถาม

“ท่านซื้อกล้วยมาทำไม”

“ซื้อไปรับประทาน”

“เปลือกมันต้องรับประทานด้วยหรือ”

“เปล่า”

“ไม่เชื่อหรอก ไม่รับประทานแล้วเอาไปทำไมเปลือกมัน”

หรือเอามะพร้าวใบหนึ่งมาก็เหมือนกัน

“เอามะพร้าวไปทำไม”

“จะเอาไปแกง”

“เปลือกมันแกงด้วยหรือ”

“เปล่า”

“เอาไปทำไมล่ะ”

เอ้า จะว่าอย่างไรล่ะ เราจะตอบปัญหาเขาอย่างไร ทำด้วยความอยาก ถ้าไม่อยากเราก็ไม่ได้ทำ ทำด้วยความอยากมันก็เป็นตัณหา นี่ถึงให้มันมีปัญญานะ อย่างกล้วยใบนั้นหวีนั้นเปลือกมันจะเอาทานด้วยหรือเปล่า ไม่ ท่านเอาไปทำไมเปลือกมัน ก็เพราะว่ายังไม่ถึงเวลาเอามันทิ้ง มันก็ห่อเนื้อในมันไปอยู่อย่างนั้น ถ้าหากว่าเราเอากล้วยข้างในมันทานแล้ว เอาเปลือกมันโยนทิ้งไปก็ไม่มีปัญหาอะไร นี่ก็เหมือนกัน

อย่าให้ตัณหาเข้าครอบงำในการปฏิบัติ

การกระทำความเพียรก็เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าว่า อย่าทำให้เป็นตัณหา อย่าพูดให้เป็นตัณหา อย่าฉันให้เป็นตัณหา ยืนอยู่ เดินอยู่ นั่งอยู่ นอนอยู่ ทุกประการท่านไม่ให้เป็นตัณหา คือทำด้วยการปล่อยวาง เหมือนกับซื้อมะพร้าว ซื้อกล้วยมาจากตลาดนั่นแหละ เราไม่ได้เอาเปลือกมันมาทานหรอก แต่เวลานั้นยังไม่ถึงเวลาจะทิ้งมัน เราก็ถือมันไว้ก่อน การประพฤติปฏิบัตินี้ก็เหมือนกันฉันนั้น สมมุติวิมุติมันก็ต้องปนอยู่อย่างนั้น เหมือนกับมะพร้าว มันจะปนอยู่ทั้งเปลือกทั้งกะลาทั้งเนื้อมัน เมื่อเราเอามาก็เอามาทั้งหมดนั่นแหละ เขาจะหาว่าเราทานเปลือกมะพร้าวอย่างไรก็ช่างเขาปะไร เรารู้จักของเราอยู่เช่นนี้เป็นต้น อันความรู้ในใจของตัวเองอย่างนี้ เป็นปัญญาที่เราจะต้องตัดสินเอาเอง นี้เรียกว่าตัวปัญญา ดังนั้นการปฏิบัติเพื่อจะเห็นสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ไม่เอาเร็วและไม่เอาช้า ช้าก็ไม่ได้ เร็วก็ไม่ได้ จะทำอย่างไรดี ไม่มีช้า ไม่มีเร็ว เร็วก็ไม่ได้ มันไม่ใช่ทาง ช้าก็ไม่ได้ มันไม่ใช่ทาง มันก็ไปในแบบเดียวกัน

ตั้งใจทำสมาธิมากเกินไป ก็กลายเป็นความอยาก

แต่ว่าพวกเราทุกๆ คนมันร้อนเหมือนกันนะ มันร้อน พอทำปุ๊บก็อยากให้มันไปไวๆ ไม่อยากจะอยู่ช้า อยากจะไปหน้า การกำหนดตั้งใจหาสมาธินี้ บางคนตั้งใจเกินไป บางคนถึงกับอธิษฐานเลย จุดธูปปักลงไป กราบลงไป “ถ้าธูปดอกนี้ไม่หมด ข้าพเจ้าจะไม่ลุกจากที่นั่งเป็นอันขาด มันจะล้ม มันจะตาย มันจะเป็นอย่างไรก็ช่างมัน จะตายอยู่ที่นี้แหละ” พออธิษฐานตั้งใจปุ๊บก็นั่ง มันก็เข้ามารุมเลย พญามาร นั่งแพล็บเดียวเท่านั้นแหละ ก็นึกว่าธูปมันคงจะหมดแล้วเลยลืมตามขึ้นมาดูสักหน่อย โอ้โฮยังเหลือเยอะ กัดฟันเข้าไปอีก มันร้อนมันรนมันวุ่นมันวาย ไม่รู้ว่าอะไรอีก เต็มทีแล้ว นึกว่ามันจะหมด ลืมตาดูอีก โอ้โฮยังไม่ถึงครึ่งเลย สองทอดสามทอดก็ไม่หมด เลยเลิกเสีย เลิก ไม่ทำ นั่งคิดอาภัพอับจน แหม ตัวเองมันโง่เหลือเกิน มันอาภัพ มันอย่างโน้นอย่างนี้ นั่งเป็นทุกข์ว่าตัวเองเป็นคนไม่จริง คนอัปรีย์ คนจัญไร คนอะไรต่อมิอะไรวุ่นวาย ก็เลยเกิดเป็นนิวรณ์ นี่ก็เรียกว่าความพยาบาทเกิด ไม่พยาบาทคนอื่น ก็พยาบาทตัวเอง อันนี้ก็เพราะอะไร เพราะความอยาก

ทำสมาธิด้วยการปล่อยวาง อย่าทำด้วยความอยาก

ความเป็นจริงนั้นนะ ไม่ต้องไปทำถึงขนาดนั้นหรอก ความตั้งใจนะคือตั้งใจในการปล่อยวาง ไม่ต้องตั้งใจในการผูกมัดอย่างนั้น อันนี้เราไปอ่านตำราเห็นประวัติพระพุทธเจ้าว่า ท่านนั่งลงที่ใต้ต้นโพธิ์นั้น ท่านอธิษฐานจิตลงไปว่า “ไม่ตรัสรู้ตรงนี้จะไม่ลุกหนีเสียแล้ว แม้ว่าเลือดมันจะไหลออกมาอะไรก็ตามทีเถอะ” ได้ยินคำนี้เพราะไปอ่านดู แหม เราก็จะเอาอย่างนั้นเหมือนกัน จะเอาอย่างพระพุทธเจ้าเหมือนกันนี่ ไม่รู้เรื่องว่ารถของเรามันเป็นรถเล็กๆ รถของท่านมันเป็นรถใหญ่ ท่านบรรทุกทีเดียวก็หมด เราเอารถเล็กไปบรรทุกทีเดียวมันจะหมดเมื่อไหร่ มันคนละอย่างกัน เพราะอะไรมันถึงเป็นอย่างนั้น มันเกินไป บางทีมันก็ต่ำเกินไป บางทีมันก็สูงเกินไป ที่พอดีๆ มันหายาก

การปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอเป็นทางที่ถูกต้อง

อันนี้ผมก็พูดไปตามความรู้สึกของผมหรอก ผมปฏิบัติมาเป็นอย่างนี้ ก็ปฏิบัติให้ละความอยาก ถ้าไม่อยากมันจะทำได้หรือ มันก็ติดแต่ทำด้วยความอยาก มันก็เป็นทุกข์อีก ไม่รู้จะทำอย่างไร ยังงงเหมือนกันนะ ทีนี้ผมจึงเข้าใจว่า การปฏิบัติที่ปฏิบัติต่อเนื่องกันไปเป็นของสำคัญมาก ต้องทำสม่ำเสมอ ท่านเรียกว่าอิริยาบถสม่ำเสมอ คือสม่ำเสมอในการปฏิบัติ ทำให้มันดียิ่งๆ ขึ้นไป ไม่ใช่ให้มันวิบัติกัน ปฏิบัติมันเป็นอย่างหนึ่ง วิบัติมันเป็นอย่างหนึ่ง โดยมากพวกเราทั้งหลายมาทำแต่เรื่องมันเป็นวิบัติกัน ขี้เกียจไม่ทำ ขยันจึงทำ นี่ผมก็ชอบเป็นอย่างนี้ ขี้เกียจไม่ทำ ขยันจึงทำ พวกท่านทั้งหลายคิดดูซิว่าถูกหรือเปล่า ขยันจึงทำ ขี้เกียจไม่ทำ มันถูกธรรมะไหม มันตรงไหม มันเหมือนกับคำสอนไหม อันนี้ปฏิปทาของเรายังไม่สม่ำเสมอแล้ว ขี้เกียจหรือขยันต้องทำอยู่เรื่อย พระพุทธเจ้าท่านสอนอย่างนั้น โดยมากคนธรรมดาเรานั้นขยันจึงค่อยทำ ขี้เกียจไม่ทำ นี่มันเป็นเสียอย่างนี้ มันปฏิบัติอยู่แค่นี้ก็เรียกว่ามันวิบัติเสียแล้ว มันไม่ใช่ปฏิบัติ การปฏิบัติจริงๆ แล้ว มันสุขก็ปฏิบัติ มันทุกข์ก็ปฏิบัติ มันง่ายก็ปฏิบัติ มันยากก็ปฏิบัติ มันร้อนก็ปฏิบัติ มันเย็นก็ปฏิบัติ นี่เรียกว่าตรงไปตรงมาอย่างนี้ ปฏิปทาที่เราต้องยืน หรือเดิน หรือนั่ง หรือนอน การมีความรู้สึกนึกคิดที่เราจะต้องปฏิบัติในหน้าที่การงานของเรานั้น ต้องสม่ำเสมอ ทำสติให้สม่ำเสมอในอิริยาบถ การยืน การเดิน การนั่ง การนอน

มีสติกำหนดอยู่ในทุกอิริยาบถ

นี่เมื่อพิจารณาดูแล้ว ก็เหมือนอิริยาบถยืนให้เท่ากับเดิน เดินก็เท่ากับยืน ยืนก็เท่ากับนั่ง นั่งก็เท่ากับนอนนะ อันนี้ผมทำแล้ว ทำไม่ได้ ถ้าว่านักปฏิบัตินี้ต้องทำการยืน การเดิน การนั่ง การนอนให้ได้เสมอกัน จะทำได้สักกี่วันล่ะ จะยืนให้เสมอกับนั่ง ยืน 5 นาที นั่ง 5 นาที นอน 5 นาที อะไรทั้งหลายนี้ ผมทำไม่นาน ก็มานั่งคิดพิจารณาใหม่ อะไรกันหนอ อย่างนี้คนในโลกนี้ทำไม่ได้หรอก ผมพยายามทำไปค้นคิดไป “อ้อ มันไม่ถูกนี่ มันไม่ถูก” ดูแล้วมันไม่ถูก ทำไม่ได้ นอนกับนั่งกับเดินกับยืน ทำให้มันเท่ากัน จะเรียกว่าอิริยาบถสม่ำเสมอกันแบบท่าน บอกไว้ว่าทำอิริยาบถให้สม่ำเสมออย่างนั้นไม่ได้

แต่ว่าเราทำอย่างนี้ได้ จิต...พูดถึงส่วนจิตของเรา ให้มีสติความระลึกอยู่ สัมปชัญญะความรู้ตัวอยู่ ปัญญาความรอบรู้อยู่ อันนี้ทำได้ อันนี้น่าจะเอาไปปฏิบัติ คือเรียกว่า ถ้าเราปฏิบัติ เราจะยืนอยู่ก็มีสติ เราจะนั่งอยู่ก็มีสติ เราจะเดินอยู่ก็มีสติ เราจะนอนก็มีสติอยู่สม่ำเสมออย่างนี้ อันนี้ไปได้ จะเอาตัวรู้ไปเดิน ไปยืน ไปนั่ง ไปนอนให้เสมอกันทุกอิริยาบถไปได้ ดังนั้นเมื่อเราฝึกจิตของเรา จิตจะมีความรู้สม่ำเสมอในการปฏิบัติกับทุกอิริยาบถว่า พุทโธ พุทโธ พุทโธ คือความรู้ รู้จักอะไร รู้จักภาวะที่ถูกต้อง รู้จักลักษณะที่ถูกต้องอยู่เสมอนั้น จะยืนก็มีจิตอยู่อย่างนั้น จะเดินก็มีจิตเป็นอยู่อย่างนั้น เออ อันนี้ได้ใกล้เข้าไปเหลือเกิน เฉียดๆ เข้าไปมากเหลือเกิน เรียกว่าจะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน อยู่นี้ มันมีสติอยู่เสมอทีเดียว

ธรรมที่ควรละ ธรรมที่ควรปฏิบัติ

อันนี้รู้จักธรรมที่ควรละ รู้ธรรมที่ควรปฏิบัติ สุขก็รู้ ทุกข์ก็รู้ เมื่อมันรู้สุข รู้ทุกข์ จิตใจเราจะวางตรงที่ว่ามันไม่สุขไม่ทุกข์ เพราะว่าสุขนั้นมันก็เป็นทางหย่อน กามสุขัลลิกานุโยโค ทุกข์มันก็เป็นทางตึงคืออัตตกิลมถานุโยโค ถ้าเรารู้สุขรู้ทุกข์อยู่ เรารู้จักสิ่งทั้งสองนี้ ถึงแม้ว่าจิตใจเรามันจะเอนไปเอนมา เราก็ชักมันไว้ เรารู้อยู่ว่ามันจะเอนไปทางสุขก็ชักมันไว้ มันจะเอนไปทางทุกข์ก็ชักมันไว้ ไม่ให้เอนไป รู้อยู่อย่างนี้ น้อมเขามาเส้นทางเดียว เอโก ธัมโม นี้ น้อมเข้ามาในทางที่รู้ ไม่ใช่ว่าเราปล่อยไปตามเรื่องของมัน

แต่ว่าเราปฏิบัติกันนี้มันก็อยากจะเป็นอย่างนั้นนะ มันปล่อยตามใจ ถ้าเราปล่อยตามใจ มันสบายนะ แต่ว่ามันสบายก็เพื่อไม่สบาย อย่างมันขี้เกียจทำงานนี่ มันก็สบาย แต่ว่าเมื่อถึงเวลาจะกินไม่มีอะไรจะกิน มันเป็นอย่างนั้น ดังนั้นผมก็ไปเถียงคำสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งมีอยู่หลายบทหลายเหล่าเหมือนกัน สู้ท่านไม่ได้ ทุกวันนี้ผมก็ยอมรับท่านแล้ว ยอมรับว่าธรรมะทั้งหลายของท่านถูกต้องทีเดียว ฉะนั้นจึงเอาคำสอนของท่านนี้มาอบรมตัวเองและศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย นี่พูดตามความรู้สึกที่มันเกิดขึ้นมา

ปฏิปทา (การกระทำของเรา) เป็นสิ่งสำคัญ

การปฏิบัติที่สำคัญที่สุดคือปฎิปทา ปฏิปทาคืออะไร คือการกระทำของตัวเรานั้นแหละ การยืน การเดิน การนั่ง การนอน ทุกประการ ปฏิปทาทางกาย ปฏิปทาทางจิตของเรานั่นนะ วันนี้มันมีจิตใจเศร้าหมองในการทำงานกี่ครั้งไหม มีใจสบายไหม มีอะไรเป็นอะไรไหม อันนี้เราต้องรู้มัน รู้จักตัวเองอย่างนี้ รู้แล้วมันวางได้ไหม อันที่มันยังวางไม่ได้ก็พยายยามปฏิบัติมัน เมื่อมันรู้ว่าวางไม่ได้ก็ถือไว้ เพื่อเอาไปพิจารณาด้วยปัญญาเราอีก ให้มีเหตุผล ค่อยๆ ทำไปอย่างนี้เรียกว่าการปฏิบัติ อย่างเช่นวันนี้มันขยันก็ทำ ขี้เกียจก็พยายามทำไม่ได้ทำมากก็ให้ได้สักครึ่งหนึ่งก็เอา อย่าไปปล่อยวันนี้ขี้เกียจไม่ทำ อย่างนี้ไม่ได้หรอก เสียหายเลย ไม่ใช่นักปฏิบัติแล้ว

ที่นี้ผมเคยได้ยิน

“แหม ปีนี้ผมแย่เหลือเกิน”

“ทำไม”

“ผมป่วยทั้งปี ไม่ได้ปฏิบัติเลย”

โอ้โฮ มันจวนจะตายแล้วก็ยังไม่ปฏิบัติอีก จะไปปฏิบัติเมื่อไหร่ล่ะ ถ้าหากว่ามันสุขจะปฏิบัติไหม มันสุขก็ไม่ปฏิบัติอีก มันติดสุขเท่านั้นแหละ แต่ทุกข์มันไม่ปฏิบัติก็ติดทุกข์อยู่นั่นแหละ ไม่รู้จะไปปฏิบัติกันเมื่อไหร่ ได้แต่รู้ว่ามันป่วย มันเจ็บ มันไข้จวนจะตายนั่นแหละ ให้มันหนักๆ เถอะที่เราจะต้องปฏิบัติเอา เมื่อเราสบายเกิดขึ้นมามันก็ต้องชูใจของเรา ยกหูชูหางไปสูงๆ อีก มันก็ต้องปฏิบัติมันอีก สองอย่างนี้หมายความว่า จะเป็นสุขก็ต้องปฏิบัติ จะเป็นทุกข์ก็ต้องปฏิบัติ จะอยู่สบายๆ อย่างนี้ก็ต้องปฏิบัติ จะเป็นไข้อยู่ก็ต้องปฏิบัติ มันถึงจะถูกแบบ ถ้าเราคิดอย่างนี้ ....

“ปีนี้ผมไม่ปฏิบัติ”

“ทำไมไม่ปฏิบัติ”

“ผมเป็นไข้ไม่สบายครับ”

...เออ เมื่อมันสบายมันก็ร้องเพลงไปเท่านั้นแหละ อย่างนี้มันเป็นความคิดผิดนะ ไม่ใช่ว่ามันไม่ผิด ดังนั้น พระโยคาวจรเจ้าท่านจึงมีปฏิปทาสม่ำเสมอในเรื่องจิต เป็นก็ให้เป็นแต่เรื่องกาย

ประสบการณ์ของหลวงพ่อในการปฏิบัติ

มีระยะหนึ่งที่อาตมาพยายามปฏิบัติ ตอนนั้นปฏิบัติได้ประมาณห้าพรรษาแล้ว ก็อยู่กับเพื่อนมากๆ แหม มันรำคาญเพื่อน คนนี้ก็พูดอย่างนั้น คนนั้นก็พูดอย่างนี้ เรานั่งอยู่กุฏิจะปฏิบัติกรรมฐานก็มีเพื่อนขึ้นไปคุยด้วย วุ่นวาย หนี หนีไปคนเดียว ว่าเพื่อนกวนเรา ไม่ได้ปฏิบัติ เบื่อ...ไปอยู่ในป่ารกวัดป่าวัดเล็กๆ ร้างๆ ไปแล้วละ มีหมู่บ้านน้อยๆ ไปนั่งคนเดียวไม่ได้พูด เพราะอยู่คนเดียวนี่ อยู่ได้สักประมาณ 15 วัน ก็เกิดความคิดมาอีกแล้ว

“แหม อยากได้เณรเล็กๆ สักรูปหนึ่งก็ดีนะ อยากได้ปะขาวมาสักคนก็ดีนะ เพื่อจะได้มาใช้อะไรเล็กๆ น้อยๆ ” นี่เราก็รู้อยู่ว่ามันจะออกมาท่าไหน ออกมาทั้งนั้นละ

“เอ! แกนี่ตัวสำคัญนะ เบื่อเพื่อน เบื่อภิกษุสามเณรมาแล้ว ยังอยากเอาเพื่อนมาอีกทำไมเล่า”

“เปล่า” มันว่า “เอาเพื่อนที่ดี”

แน่ะ! “คนดีมีที่ไหนล่ะ” เห็นไหม หาคนดีเห็นไหม คนทั้งวัดมีแต่คนไม่ดีทั้งนั้นแหละ ดีเราคนเดียวละมั้ง เราจึงหนีเขามานี่ ต้องตามมันอย่างนี้ สะกดรอยมันไป มันรู้สึกขึ้นมา เออ อันนี้มันก็สำคัญเหมือนกันนะ แล้วคนดีอยู่ที่ไหนละ ไม่มีคนดีทั้งนั้นแหละ คนดีอยู่ที่ตัวเรา ทุกวันนี้อาตมาก็ยังมาสั่งสอนลูกศิษย์อยู่เสมอว่า คนดีไม่มีที่อื่น อยู่ที่ตัวเรา ถ้าเราดีเราไปไหนมันก็ดี เขาจะนินทา เขาจะสรรเสริญ เราก็ยังดีอยู่ เขาจะว่าอะไรทำอะไร เราก็ยังดีอยู่ ถ้าเรายังไม่ดี เขานินทาเรา เราก็จะโกรธ ถ้าเขาสรรเสริญเรา เราก็ชอบอย่างเก่าเท่านั้นแหละ

วันนั้นอาตมาภาวนาได้อย่างนั้น มีความรู้สึกอย่างนั้น ก็รู้สึกตั้งแต่วันนั้นมา รู้ได้ตามเป็นจริง มีความจริงอยู่เท่าทุกวันนี้ อันความดีมันอยู่กับตัวเอง พอได้เห็นปุ๊บความรู้สึกมันลดลง มันจำตั้งแต่วันนั้นเลย ต่อมามีขึ้นมามันก็ปล่อยไป มีขึ้นมามันก็รู้ มีขึ้นมามันก็รู้เรื่อยไป อันนี้เป็นรากฐาน เราจะไปอยู่ที่ไหน คนเขาจะรังเกียจ หรือคนเขาจะว่าอะไร ก็คือว่าไม่ใช่เขาดีหรือเขาชั่ว ถ้ามันดีมันชั่วคือตัวเรานี้ คนอื่นมันเรื่องของคนอื่นเขา มันเป็นอยู่อย่างนั้น อย่าไปเข้าใจว่า แหม วันนี้มันร้อน วันนี้มันเย็น วันนี้มันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้นะ วันมันจะเป็นอย่างไรมันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น ความจริงตัวเรามันเสือกไสไปให้โทษเขาเท่านั้น ท่านว่าเห็นธรรมะเกิดกับตัวเองนี่แหละมันแน่นอน และได้ความสงบระงับด้วย

ขอให้พึงตามดูจิตอย่างสม่ำเสมอ

ฉะนั้นพวกเราท่านทั้งหลายที่ได้มาอบรมในวันนี้ แม้ไม่กี่วันอาตมานึกว่าคงจะมีอะไรขึ้นมาหลายอย่าง มีขึ้นมาก็ยังไม่รู้ มันมีเยอะแยะนะ ไม่ใช่ว่าเรารู้มันนะ ที่ไม่รู้มันก็เยอะแยะ คิดถูกก็มีคิดผิดก็มีอะไรหลายๆ อย่างที่มันเป็นมา ฉะนั้นการปฏิบัติจึงว่ามันยาก ถึงแม้พวกท่านทั้งหลายจะนั่งมันสงบไปบ้างก็อย่าคิดสรรเสริญมัน มันจะมีความวุ่นวายไปบ้างก็อย่าไปให้โทษมัน ถ้ามันดีก็อย่าพึงไปชอบมัน ถ้ามันไม่ดีก็อย่าไปพึงไปรังเกียจมัน พากันดูไปเถอะ ให้ท่านดูของท่านไป ดูไป อย่าพึงไปว่ามัน ถ้ามันดีก็อย่าพึงไปจับมัน ชั่วก็อย่าพึงไปจับมัน เดี๋ยวมันจะกัดนะ ดีมันก็กัด ชั่วมันก็กัด อย่าพึงไปจับมัน ฉะนั้นการปฏิบัตินี้จึงว่านั่ง นั่นแหละปฏิบัตินั่ง ดูไปมันมีอารมณ์ดีอารมณ์ชั่วสลับซับซ้อนกันไปเป็นธรรมดาของมัน อย่าไปสรรเสริญจิตของเราอย่างเดียว อย่าไปให้โทษมันอย่างเดียว ให้รู้จักกาลรู้จักเวลามัน เมื่อถึงคราวสรรเสริญก็สรรเสริญมันหน่อย สรรเสริญให้พอดีอย่าให้หลงเหมือนกับสอนเด็กนั่นแหละ บางทีก็เฆี่ยนมันบ้าง เอาไม้เรียวเล็กๆ เฆี่ยนมัน ไม่เฆี่ยนไม่ได้ วันนี้บางทีก็ให้โทษมันบ้าง อย่าให้โทษมันเรื่อยไป ให้โทษมันเรื่อยไป มันก็ออกจากทางเท่านั้นแหละ ถ้าให้สุขมันให้คุณมันเรื่อยๆ มันไปไม่ได้ การประพฤติการปฏิบัติไม่ใช่อย่างนั้น เราปฏิบัติไปตามสายกลาง สายกลางคืออะไร สายกลางนี้มันยาก จะเอาจิตของเราเป็นประมาณ จะเอาตัณหาของเราเป็นประมาณไม่ได้

ขอให้เห็นว่าทุกอิริยาบถเป็นการปฏิบัติ

ฉะนั้นการปฏิบัติของท่านทั้งหลายนี้ อย่าพึงถือว่าการนั่งหลับตาอย่างเดียวเป็นการปฏิบัติ เมื่อออกจากนั่งแล้วก็ออกจากการปฏิบัติ อย่าเข้าใจอย่างนั้น ถ้าเข้าใจอย่างนั้นก็รีบกลับมาเสีย ที่เรียกว่าการปฏิบัติสม่ำเสมอคือเราจะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน ให้มีความรู้สึกอยู่อย่างนั้น เมื่อเราจะออกจากสมาธิก็อย่าเข้าใจว่าออกจากสมาธิเพียงแต่เปลี่ยนอิริยาบถเท่านั้น ถ้าท่านทั้งหลายคิดอย่างนี้ก็จะสุขใจ เมื่อท่านไปทำงานอยู่ที่ไหน ไปทำอะไรอยู่ก็ดี ท่านจะมีการภาวนาอยู่เสมอ มีเรื่องติดใจ มีความรู้สึกอยู่เสมอ

ถ้าหากท่านองค์ใดตอนเย็นๆ ก็มานั่ง เมื่อออกจากสมาธิแล้วก็เรียกได้ว่าออกแล้วไม่มีเยื่อใย ออกไปเลย ส่งอารมณ์ไปเลย ตลอดทั้งวันก็ปล่อยอารมณ์ ตามอารมณ์ไปไม่มีสติ เย็นต่อไปนึกอยากจะนั่ง พอไปนั่งปุ๊บก็มีแต่เรื่องใหม่ทั้งนั้นเข้ามาสุมมัน ปัจจัยเรื่องเก่าที่มันสงบไม่มี เพราะทิ้งมันไว้ตั้งแต่เช้า มันก็เย็นนะซิ ทำอย่างนี้เรื่อย มันก็ยิ่งห่างไปทุกปีๆ

อาตมาเห็นลูกศิษย์บางองค์ ก็ถามว่า “เป็นยังไงภาวนา” เขาตอบ “เดี๋ยวนี้หมดแล้วครับ” นี่ เอาสักเดือนสองเดือนยังอยู่ พอสักปีสองปีมันหมดแล้ว ทำไมมันหมด ก็มันไม่ยึดหลักอันนี้ไว้ เมื่อนั่งแล้วก็ออกจากสมาธิ ทำไปๆ นั่งน้อยไปทุกทีๆ นั่งเดี๋ยวเดียวก็อยากออกนั่งประเดี๋ยวก็อยากออก นานๆ เข้าก็ไม่อยากจะนั่งเลยเหมือนกับการกราบพระ เมื่อเวลาจะนอนก็อุตส่าห์กราบ กราบไปเรื่อยๆ บ่อยๆ นานๆ ใจมันห่างแล้ว ต่อไปไม่ต้องกราบ ดูเอาก็ได้ นานๆ ก็เลยไม่กราบ ดูเอาเท่านั้นแหละ มันจะส่งเราออกนอกคอกไม่รู้เรื่องอะไรนี่ ให้เราทั้งหลายรู้ว่ามีสติ มีไว้ทำไม ให้เป็นศึกษาสม่ำเสมออย่างนั้น


การปฏิบัตินี้จึงเป็นการปฏิบัติสม่ำเสมอ จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอนมันเป็นของมันเสียจริงๆ คือการทำเพียร การภาวนา มันเป็นที่จิตไม่ใช่เป็นที่กายของเรา จิตของเรามันเลื่อมใสอยู่ จิตของเรามันตรงอยู่ มันมีกำลังอยู่ มันรู้อยู่ที่จิตนั้น จิตนั้นมันเป็นสิ่งสำคัญมาก การยืน การเดิน การนั่ง การนอน อิริยาบถทั้งหลายนั้นมารวมที่จิต จิตเป็นตัวรับภาระการงานมากเหลือเกิน เกือบทุกสิ่งทุกส่วน

เมื่อมีสติ จิตใจจักสงบได้ง่าย

ฉะนั้นเมื่อเราเข้าใจถูกมันก็ทำถูก เมื่อทำถูกแล้วมันก็ไม่ผิด ถึงทำแต่น้อยมันถูกน้อย เช่นว่าเมื่อเราออกจากสมาธิแล้วก็รู้สึกว่าวันนี้เรายังไม่ออก เราเปลี่ยนอิริยาบถมันตั้งอยู่อย่างเก่านั่นแหละ จะยืน จะเดิน จะเหินไปมามันก็มีสติอยู่สม่ำเสมอ ถ้าเรามีความรู้อย่างนั้น กิจธุระภายในใจของเราก็ยังมีอยู่ ถ้าเรานั่งตอนเย็นวันใหม่มา นั่งลงไป มันก็เชื่อมกันได้ มันก็มีกำลังมิได้ขาด มันเป็นอย่างนั้น มันก็ต้องสงบ ติดต่อกันอยู่อย่างนั้น อันนี้เรียกว่าปฏิปทาสม่ำเสมอ ในจิตนั้น ถ้าจิตใจของเรามีสติสัมปชัญญะอยู่เสมอแล้ว สิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันเป็นไปเอง มันค่อยๆ เป็นไปเอง จิตใจมันจะสงบก็เพราะจิตใจมันรู้จักผิดถูก มันรู้จักเหตุการณ์ของมัน มันถึงจะสงบได้


เช่นว่าศีลก็ดี สมาธิก็ดี จะดำเนินอยู่ได้มันก็ต้องมีปัญญา บางคนเข้าใจว่าปีนี้ผมจะตั้งใจรักษาศีล ปีหน้าจะทำสมาธิ ปีต่อไปจะทำปัญญาให้เกิด อย่างนี้เป็นต้น เพราะเข้าใจว่ามันคนละอย่างกัน ปีนี้จะทำศีล ใจไม่มั่นจะทำได้อย่างไร ปัญญาไม่เกิดจะทำได้อย่างไร มันก็เหลวทั้งนั้นแหละ ความเป็นจริงนั้นมันก็อยู่ในจุดเดียวกัน ศีลก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี เมื่อเรามีศีลขึ้นมา สมาธิก็เกิดขึ้นเท่านั้น สมาธิเราเกิดขึ้นมา ปัญญามันก็เกิดเท่านั้น มันเป็นวงกลมครอบกันอยู่อย่างนี้ มันเป็นอันเดียวกัน เหมือนมะม่วงใบเดียวกัน เมื่อมันเล็กมันก็เป็นมะม่วงใบนั้น เมื่อมันโตมามันก็เป็นมะม่วงใบนั้น เมื่อมันสุกมามันก็เป็นมะม่วงใบนั้น ถ้าเราคิดกันง่ายๆ อย่างนี้ มันก็เป็นธรรมะที่เราต้องปฏิบัติ ไม่ต้องเรียนอะไรมากมาย ให้เรารู้มันเถิด รู้ตัวจริงสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ รู้ข้อปฏิบัติของตัวเอง


การทำสมาธิ จะสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับตัวเรา

ฉะนั้นการทำสมาธินี้ บางคนไม่ได้ตามปรารถนาแล้วก็เลิกก็หยุด หาวาตนไม่มีบุญวาสนา แต่ว่าไปทำชั่วได้ บารมีชั่วทำได้ บารมีดีๆ ทำไม่ค่อยได้ เลิกเลย ปัจจัยมันน้อย มันเป็นกันเสียอย่างนี้แหละ พวกเราไปเข้าข้างแต่อย่างนั้นล่ะ ดังนั้นเมื่อท่านมีโอกาสมาประพฤติปฏิบัติแล้ว ถึงแม้ว่าสมาธิมันทำยาก หรือมันทำง่าย หรือไม่ค่อยเป็นสมาธิ มันก็เป็นเพราะเรา ไม่ใช่เป็นเพราะสมาธิ มันเป็นเพราะเราทำไม่ถูกมัน ฉะนั้นการทำเพียรนี้ท่านจึงได้ว่าเป็นสัมมาทิฎฐิ รู้มันเสียก่อนว่าเป็นสัมมาทิฎฐิ ความเห็นชอบ เมื่อความเห็นชอบอะไรมันก็ชอบไปหมด สัมมาทิฎฐิ สัมมาสังกับโป สัมมากัมมันโต สัมมาทุกอย่าง ทั้ง 8 ประการนั้น มีสัมมาทิฎฐิเกิดขึ้นอันเดียวเท่านั้น มันก็เชื่อมกันไปเลย สม่ำเสมอกันไปเรื่อยๆ มันเป็นอย่างนั้น

อ่านใจตนเองสำคัญกว่าการอ่านหนังสือ

อย่างไรก็ตามเถอะ อย่าไปไล่มันออกไปข้างนอกเลย ให้มันดุข้างในอย่างนี้ดีกว่า มันเห็นชัด อย่าพึงไปอ่านข้างนอก ทางที่ดีที่สุดนั้นตามความเข้าใจผมนะ ไม่อยากจะให้อ่านหนังสือเลย เอาหนังสือใส่หีบปิดให้มันดีเสีย อ่านใจของตนเท่านั้น ที่เราดูหนังสือมานี้ก็ตั้งแต่วันขึ้นโรงเรียน มาเรียนกันทั้งนั้น ดูแต่หนังสือกันจะเป็นจะตาย ผมว่ามันมีโอกาส ที่เวลามากเหลือเกิน เวลาเช่นนี้เอาหนังสือใส่หีบปิดให้มันดีเสียเลย อ่านใจเท่านั้นแหละ เมื่อมันเกิดอะไรขึ้นมาในใจของเรานี่ มันเกิดเป็นอารมณ์ขึ้นมา ที่เราชอบใจไม่ชอบใจก็ตาม เราเห็นว่ามันผิดมันถูกก็ตามเถอะ ให้เราตัดมันไปเลยว่าอันนี้มันไม่แน่ จะเกิดอะไรขึ้นมาก็ช่างมันเถอะ สับมันลงไป ไม่แน่ๆ อย่างเดียว ขวานเล่มเดียวสับมันลงไป “ไม่แน่” ทั้งนั้นแหละ

มองให้เห็นว่า “มันเป็นอย่างนั้นเอง”

ตลอดในเดือนหนึ่งที่มาพักอยู่ในวัดป่านี้ อาตมาว่ามันมีกำไรมากเหลือเกิน จะได้เห็นของจริง ตัวไม่แน่คือตัวสำคัญนะ ตัวให้เกิดปัญญานะ ยิ่งตามมันไม่แน่ ตัวไม่แน่ที่สับมันไป มันจะเวียนไปเวียนไปแล้วมาพบอีก เออ ไม่แน่จริงๆ มันโผล่มาเมื่อไรเอาป้ายปิดหน้ามันไว้ มันไม่แน่ ติดป้ายมันไว้ปุ๊บ มันไม่แน่ ดูไปๆ เดี๋ยวมันก็เวียนมาอีก เวียนมาครบรอบ เออ...อันนี้ไม่แน่ ขุดเอาตรงนั้นมันก็ไม่แน่ เห็นคนๆ เดียวกันที่มาหลอกเราอยู่กระทั่งเดือน กระทั่งปี กระทั่งเกิด กระทั่งตาย คนๆ เดียวมาหลอกเราอยู่เท่านั้น เราจะเห็นชัดอย่างนี้ มันจะเห็นว่า อ้อ มันเป็นอย่างนั้นเอง

เมื่อเราไม่หลงอารมณ์ เราก็ไม่หลงโลก

ทีนี้เมื่อมันเป็นอย่างนั้น เราก็ไม่ไปยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ทั้งหลาย เพราะว่ามันไม่แน่ เคยเห็นไหมดุซิ นาฬิกาเรือนนี้ แหมสวยเหลือเกิน ซื้อมาเถอะ ไม่กี่วันก็เบื่อมันแล้ว ไม่กี่เดือนก็เบื่อมันแล้ว เสื้อตัวนี้ซื้อมา ชอบมันเหลือเกิน ก็เอามาใส่ไม่กี่วัน ทิ้งมันเสียแล้ว มันเป็นอยู่อย่างนี้ มันแน่ที่ตรงไหนล่ะ นี่ถ้าเห็นมันไม่แน่ทุกสิ่งทุกอย่างราคามันก็น้อยลง อารมณ์ทั้งหลายนั้นเป็นอารมณ์ที่ไม่มีราคาแล้ว ของที่ไม่มีราคาแล้วเราจะเอาไปทำไม เก็บมันไว้ก็เหมือนผ้าเราขาดก็เอามาเช็ดหม้อข้าว เอามาเช็ดเท้าเท่านั้น เห็นอารมณ์ทั้งหลายมันก็สม่ำเสมอกันอย่างนั้น เมื่อเราเห็นอารมณ์ทุกอย่างเป็นเช่นนั้น เราก็เห็นโลก โลกนั้นคืออารมณ์ อารมณ์นั้นก็คือโลก เราไม่หลงอารมณ์ก็ไม่หลงโลก ไม่หลงโลกเราก็ไม่หลงอารมณ์ เมื่อจิตเป็นเช่นนี้ จิตก็มีที่อาศัย จิตก็มีรากฐาน จิตก็มีปัญญาหนาแน่น จิตอันนี้จะมีปัญญาน้อย แก้ปัญหาได้ทุกประการ เมื่อปัญหามันหมดไป ความสงสัยมันก็หมดไป อย่างนี้ความสงบมันก็ขึ้นมาแทน อันนี้เรียกว่าการปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติกันจริงๆ ก็ต้องเป็นอย่างนั้น


:b48: :b41: :b41: :b48:


คัดลอกมาจาก http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/lp_cha/lp-cha_34.htm

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ก.ย. 2012, 06:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 2
สมาชิก ระดับ 2
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ธ.ค. 2010, 11:11
โพสต์: 94


 ข้อมูลส่วนตัว


สาธุ :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 59 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร