วันเวลาปัจจุบัน 17 เม.ย. 2024, 05:47  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง





กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ก.ย. 2012, 02:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 21 ส.ค. 2012, 21:53
โพสต์: 235

สิ่งที่ชื่นชอบ: ใจต่อใจในการฝึกตน
ชื่อเล่น: เมฆ
อายุ: 43

 ข้อมูลส่วนตัว


คำนำ

ธรรมะในหนังสือ “ใจต่อใจในการฝึกตน” นี้ เป็นเนื้อหาธรรมที่ตรงตามแบบแผนแห่งคำสอนนิกายเซนในประเทศจีนและญี่ปุ่น ซึ่งทางครูสอนเซนทั้งหลายในรุ่นก่อนๆได้สืบทอดคำสอนเหล่านี้มาโดยตรงจากองค์พระศาสดา เพื่อนำไปชี้ทางหลุดพ้นให้แก่บรรดาลูกศิษย์ของตนเองมาหลายต่อหลายรุ่นแล้ว เป็นการสอนโดยมุ่งเน้นที่จะคุ้ยเขี่ยธรรมะให้ลูกศิษย์ได้ตระหนักชัดและซึมทราบกลายเป็นเนื้อหาเดียวกันกับธรรมชาติดั้งเดิมแท้ ซึ่งคือ ตถตา ความเป็นเช่นนั้นของมันเองอยู่อย่างนั้น มันเป็นธรรมชาติแห่งธรรมที่อยู่นอกเหนือภาวะความหลุดพ้นและความไม่หลุดพ้น ธรรมะในหนังสือเล่มนี้จึงถูกเขียนขึ้นตามแบบแผนแห่งคำสอนเซนอย่าง-แท้จริง โดยแบ่งเป็น 2 ภาคใหญ่ คือ ภาค 1 สังขตธาตุ และ ภาค 2 อสังขตธาตุ

ในส่วนของ ภาค 1 สังขตธาตุนั้น บรรดาครูสอนเซนทั้งหลายได้หยิบยกเรื่องธรรม คือ สังขตธาตุ อันคือคุณลักษณะแห่งการที่ยังเข้าใจผิดโดยยังเห็นว่า มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น และตั้งอยู่ได้ไม่นาน ย่อมมีความแปรปรวนดับไปเป็นธรรมดานั้น มาสอนลูกศิษย์ของตนเพื่อชี้ให้เห็นว่า ธรรมอันคือคุณลักษณะแห่งสังขตธาตุนั้นยังไม่ใช่ธรรมะอันแท้จริง ซึ่งคือ ธรรมชาติดั้งเดิมแท้ หากใครได้หลงผิดหยิบยกธรรมเหล่านี้ขึ้นมาพิจารณาและปฏิบัติก็จะมีแต่ทำให้เข้าไปติดในการปรุงแต่งในวิธีปฏิบัติและติดปรุงแต่งในการหวังผลแห่งการปฏิบัติอยู่เนืองๆ ด้วยเหตุผลเหล่านี้ ผู้เขียนจึงได้เขียนธรรมะในส่วนของสังขตธาตุขึ้น เพื่อให้นักศึกษาทางฝั่งโน้นทุกท่านได้อ่านและพิจารณาในรายละเอียดแห่งสังขตธรรมนั้นอย่างถี่ถ้วน เพื่อที่จะได้สลัดออกซึ่งธรรมเหล่านี้ทิ้งไปเสีย ผู้เขียนจึงขอเตือนนักศึกษาฝั่งทางโน้นทั้งหลายว่า หากได้หยิบหนังสือใจต่อใจในการฝึกตนขึ้นมาอ่านเพื่อศึกษาธรรมะในหนังสือเล่มนี้แล้ว ก็ขอให้นักศึกษาฝั่งทางโน้นทั้งหลายพึงเฝ้าระวังเตือนตนเองให้มากๆว่า การอ่านเพื่อศึกษาธรรมอันคือ สังขตธาตุ ในภาค 1 นั้น เป็นการอ่านเพียงเพื่อทำความเข้าใจว่าธรรมในลักษณะนี้ยังไม่ใช่ธรรมอันแท้จริงที่จะทำให้นักศึกษาฝั่งทางโน้นทั้งหลายหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้ จึงเป็นเพียงการอ่านเพื่อให้เกิดความเข้าใจเพื่อที่จะได้สลัดออกซึ่งธรรมเหล่านี้อันว่าด้วยการปฏิบัติและการรอคอยผลแห่งการปฏิบัติทิ้งไปสีย มิใช่เป็นการอ่านเพื่อน้อมนำมาปฏิบัติแต่อย่างใด
ในส่วนของภาค 2 อสังขตธาตุนั้น บรรดาครูสอนเซนทั้งหลาย ได้หยิบยกเรื่องธรรมคือ อสังขตธาตุ อันคือคุณลักษณะแห่งความว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ซึ่งคือ ตถตา ความเป็นเช่นนั้นของมันเองอยู่อย่างนั้น มาสอนลูกศิษย์ของตนเพื่อชี้ให้เห็นว่า ธรรมอันคือคุณลักษณะแห่งอสังขตธาตุนั้น เป็นธรรมะอันแท้จริง คือ ธรรมชาติดั้งเดิมแท้ ซึ่งเป็นธรรมะที่จะต้องใช้ความตั้งใจเข้าไปเพื่อศึกษาให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ เพื่อที่จะได้ตระหนักชัดและซึมทราบกลายเป็นเนื้อหาเดียวกันกับธรรมนั้นได้ ผู้เขียนจึงได้พยายามเขียนธรรมะในส่วนของอสังตธาตุขึ้นให้ครบทุกประเด็นเท่าที่ผู้เขียนจะรำลึกได้ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ที่ตั้งใจศึกษา
และท้ายที่สุดนี้ ผู้เขียนก็มีความมุ่งหวังอย่างมากที่ต้องการให้นักศึกษาฝั่งทางโน้นทั้งหลาย ได้ตระหนักชัดถึงความหมายที่แท้จริงในเนื้อหาแห่งธรรมอันคือธรรมชาติดั้งเดิมแท้ และสามารถซึมทราบกลายเป็นเนื้อหาเดียวกันกับธรรมชาติดั้งเดิมแท้นั้นได้ ทั้งนี้ เป็นความมุ่งหวังเพื่อให้นักศึกษาทุกคน มีชีวิตที่เต็มอิ่มและเพียงพอใจ เปี่ยมไปด้วยสันติภาพตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต

23 พฤษภาคม 2555
ครูสอนเซน
พระอาจารย์ราเชนทร์ อานนฺโท


ความรู้สึกยึดมั่นที่ว่าตนจะต้องรู้ทุกอย่าง
และไม่ยอมให้สิ่งใดมาหลอกลวง
เป็นการตกลงไปสู่หลุมที่ลึก
แห่งมายาที่ชื่อ "การเรียนรู้"








บทที่ 1 คุณลักษณะ
ทุกสรรพสิ่งบนโลกใบนี้ล้วนแต่คือเนื้อหาแห่งความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน คือเนื้อหาแห่งธรรมชาติที่มันเป็นเช่นนั้นของมันเองแบบนี้อยู่แล้ว แต่ด้วยความที่มีหลายดวงจิตที่ยังถูกอวิชชาความไม่รู้ถูกห่อหุ้มเอาไว้ดวงจิตเหล่านี้จึงมองสิ่งรอบข้างว่า “ มีสิ่งนั้นอยู่ ” เป็นตัวเป็นตนอยู่ มีเรามีเขาอยู่ มีเราและมีสิ่งนั้นอยู่
ครั้งเมื่อสันดุสิตบรมหาโพธิสัตว์ได้มาจุติบนโลกใบนี้ และได้ตรัสรู้ถึงธรรมซึ่งคือธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ ในนาม “พุทธโคดมพระพุทธเจ้า” พระพุทธองค์จึงได้ทรงแจกแจงธาตุอันเป็นธรรมไว้ตามความเป็นจริงและโดยแท้จริงแล้ว “ ธรรมธาตุ ” ตามความเป็นจริงซึ่งตรงต่อสัจจธรรมมีอยู่ประการเดียว คือ อสังขตธาตุอันเป็นธาตุหรือคุณลักษณะที่ไม่ใช่เป็นการปรุงแต่ง คือ ธาตุที่ “แสดงเนื้อหาลักษณะแห่งความว่างเปล่าจากความหมายแห่งความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่แล้วโดยเนื้อหามันเอง” คือความว่างเปล่าโดยตัวมันเองอยู่แล้ว คือกฎธรรมชาติข้อเดียวที่มันแสดงตัวของมันปรากฎคุณลักษณะของมันอยู่แบบนั้น แต่ด้วยความเมตตาที่พระพุทธองค์มีต่อบรรดาสรรพสัตว์น้อยใหญ่ที่ยังเวียนว่ายตายเกิดและรอบบารมีไม่เท่ากัน พระพุทธองค์จึงทรงแจกแจงธรรมเพื่อเอื้อต่อบรรดาสรรพสัตว์ที่รอบบารมียังไม่ถึงขั้น “ ที่จะเรียนรู้ศึกษาเพื่อทำความเข้าใจและตระหนักชัดถึงภาวะธรรมชาติล้วนๆ และเป็นเนื้อหาเดียวกันกับธรรมอันคือธรรมชาติซึ่งเป็นอสังขตธาตุได้” พระองค์จึงทรงแจกแจงธรรมซึ่งยังไม่ตรงต่อธรรมชาติที่แท้จริงไว้ด้วย ธรรมธาตุดังกล่าวคือ สังขตธาตุ ซึ่งเป็นธาตุปรุงแต่งนั่นเอง เพราะโดยหลักแล้วทุกสรรพสิ่งย่อมไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนโดยเนื้อหามันเองอยู่แล้ว แต่เนื่องด้วยอวิชชาความไม่รู้พาเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ทั้งห้า คือ รูป วิญญาณ สัญญา สังขาร เวทนา ซึ่งก่อให้เกิด ตัณหา อุปาทาน ความอยากจนกลายเป็นความเป็นตัวเป็นตนเป็นอัตตาขึ้นมา มันจึงผิดหลักธรรมชาติ เมื่อยังไม่เข้าใจว่าทุกสรรพสิ่งย่อมไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่แล้วและยังเข้าใจผิดอีกว่าทุกสรรพสิ่งนั้นคือตัวตน คือเราคือเขา คือทุกๆสิ่งขึ้นมา พระพุทธองค์จึงทรงตรัสว่า “ สิ่งๆนั้นย่อมอนิจจัง ไม่เที่ยงแท้แน่นอนอยู่แล้วโดยตัวมันเองเช่นกัน มันย่อมตั้งอยู่ได้ไม่นานมีความแปรปรวนไปดับไปเป็นธรรมดา ตามสภาพธรรมชาติของมันอยู่แล้ว”
พระพุทธองค์จึงทรงแจกแจงธรรมธาตุอันคือคุณลักษณะไว้ สองประการคือ
สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา สังขาร (ขันธ์ 5) ทั้งหลายไม่เที่ยง
สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา สังขาร (ขันธ์ 5) ทั้งหลายเป็นทุกข์
สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายทั้งปวงล้วนไม่ใช่ตัวไม่ใช่
ตน

1.อสังขตธาตุ คือ คุณลักษณะอันว่างเปล่าจากความหมายแห่งความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนโดยตัวมันเองอยู่แล้ว ด้วยธรรมชาติที่มันแสดงเนื้อหาคุณลักษณะไว้แบบนี้โดยเนื้อหามันเองอยู่เช่นนี้ มันจึงไม่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเลย ไม่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งตั้งอยู่ได้และจึงไม่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งดับไปเลยเช่นกัน อสังขตธาตุ จึงเป็น “ กฎธรรมชาติอันแท้จริง ” ข้อเดียวเท่านั้น (สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา)

2.สังขตธาตุ คือ คุณลักษณะอันเป็นการปรุงแต่งซึ่งทำให้เกิดเป็นตัวเป็นตนเป็นทุกข์ขึ้นมา และโดยธรรมดาในเนื้อหาแห่งการปรุงแต่งนั้น เมื่อมันเกิดขึ้นมันก็ย่อมตั้งอยู่ได้ไม่นานและมีความแปรปรวนไม่เที่ยงดับไปเป็นธรรมดาอยู่แล้วโดยสภาพมันเอง (สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา , สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา)









ภาค 1


สังขตธาตุ




บทที่ 2 ปุพเพนิวาสนุสติญาณ
ครั้งเมื่อ “สิทธัตถะ”ได้กลับใจเลิกทรมาณตนด้วยความเข้าใจผิดว่าการกระทำประพฤติข้อวัตรดังกล่าวจะเป็นหนทางทำให้พ้นทุกข์ แต่แท้ที่จริงเป็นเพียงศีลพรตปรามาสคือข้อวัตรที่เต็มไปด้วยความงมงายในมิจฉาทิฐิ ณ ปฐมยามแห่งราตรีในวันตรัสรู้ “สิทธัตถะ” จึงหันมาทำจิตให้สงบนิ่งปราศจากความปรุ่งแต่งวุ่นวายในเรื่องต่างๆ ด้วยการเจริญอานาปานสติเข้าถึงภาวะอัตตาละเอียดปราณีตในองค์ฌาณ 4 และด้วยเหตุปัจจัยที่ว่า “เพราะมีสิ่งนี้จึงทำให้เกิดสิ่งนี้” ของ “สิทธัตถะ” ที่จะทำให้ท่านได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า จึงทำให้เกิดภาวะการลากจูงให้ท่านเข้าไปรับรู้ถึงเรื่องราวในอดีตชาติของตนเองที่ตนเคยเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ทั้ง 5 คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ที่ประกอบขึ้นเป็นตัวตนของท่านที่ทำให้ “ท่านสิทธัตถะ” ต้องเวียนว่ายตายเกิดในอดีตชาตินับครั้งไม่ถ้วน ตรงนี้เรียกว่า “ปุพเพนิวาสนุสติญาณ” เป็นการเข้าไปรับรู้การระลึกชาติซึ่งเป็นความรู้อันคือเหตุให้ระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในอดีต













บัวที่บานทุกดอกมัน ล้วนมาจากโคลนตม อันแปดเปื้อนโสมม แห่งความมีความเป็นทั้งสิ้น อย่าเอาดีชั่วในอดีตของตนเอง มาปิดกั้นบารมีในเส้นทางหลุดพ้น ที่ตนมุ่งหวังในเวลานี้วินาทีนี้ คนเราต่างก็ทำดีทำชั่วมา ในรูปแบบที่แตกต่างกันไปเพียงเท่านั้น ดีๆชั่วๆ ดีมาก ชั่วมาก ก็เสมอกันด้วย ความเป็นอัตตาตัวหนึ่ง ที่มันย่อมแปรปรวนดับไปเป็นธรรมดา อย่าไปใส่ใจถึงการกระทำ ในอดีตของตนที่ผ่านมาเลย




บทที่ 3 จุตูปปาตญาณ
ครั้งล่วงเข้าเวลามัชฌิมยามในราตรีแห่งการตรัสรู้ ด้วยเหตุปัจจัยที่ว่า “เพราะมีสิ่งนี้จึงทำให้เกิดสิ่งนี้” ของ “สิทธัตถะ” ที่จะทำให้ท่านได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าอีกเช่นกัน จึงทำให้เกิดภาวะการลากจูงให้ “สิทธัตถะ” เข้าไปรับรู้ถึงเรื่องราวการจุติและเกิดของสัตว์ทั้งหลาย ทำให้ท่านเห็นสัตว์ทั้งหลายกำลังตายและเกิดในภพภูมิต่างๆตามผลแห่งกรรม
ซึ่งเป็นการรับรู้ว่าบรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลายต่างได้ยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ทั้ง 5 ของตน แล้วต่างก็ได้กระทำกรรมในแต่ละภพแต่ละชาติ และกรรมนั้นได้ส่งผลให้สัตว์ทั้งหลายต้องตายและไปเกิดในภพภูมิต่างๆไม่ว่าจะเป็น สวรรค์ โลกมนุษย์ และภูมิสัตว์นรก อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
การเข้าไปรับรู้ตรงนี้ทำให้ “สิทธัตถะ” ได้มีความรู้เกี่ยวกับระบบกรรมวิสัยของมวลหมู่สรรพสัตว์ที่มีความเกี่ยวโยงกันเป็นกลุ่มๆต่อกันในแต่ละส่วน ซึ่งมีรายละเอียดเนื้อหาทางกรรมแตกต่างกันไปและมันยุ่งเหยิงซับซ้อนเหมือนหญ้าปล้องที่พันกัน














ถ้าจะอ่อนอ่อนให้เห็นเป็นเส้นไหม
ผูกพยัคฆ์เอาไว้โขยกเฆี่ยน
ถ้าจะแข็งแข็งให้เป็นเช่นวิเชียร
จะได้เจียรแก้วกระจกดูเพลินตา
พวกเจ้า คือ เพชรที่ต้องเจียรไน
เหลี่ยมตัวเองให้ได้ดั่งแวววาว






บทที่ 4 หลุดพ้นจากความเห็นผิดต่างๆ
ในชมพูทวีปสมัยนั้นได้มีเจ้าลัทธิต่างๆเผยแพร่ทิฏฐิความเห็นของตนซึ่งเป็นความเข้าใจผิดของเจ้าลัทธินั้นเอง ความเห็นผิดต่างๆในยุคนั้นแบ่งออกเป็นลักษณะสองกลุ่มใหญ่ดังนี้ คือ
สัสสตทิฏฐิ คือ ความเห็นว่าทุกสรรพสิ่งนั้นยั่งยืน หากเคยยึดมั่นถือมั่นในขันธ์อย่างไรตายไปก็ต้องไปเกิดในสภาพขันธ์เช่นนั้นอีกเสมอ เช่น “คน” เมื่อตายไปแล้วก็ต้องไปเกิดเป็น “คน” อีก ไม่มีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น
อุจเฉททิฏฐิ คือ ความเห็นว่าทุกสรรพสิ่งนั้นขาดสูญตายแล้วต้องสูญ ไม่ต้องไปเกิดใหม่ ถึงเกิดใหม่ก็ไม่ใช่ความเป็นเราอีก
ความเห็นผิดในทิฏฐิทั้งสองนี้ ไม่เชื่อเรื่องผลแห่งกรรมว่าทำกรรมเช่นไรแล้วต้องได้รับผลแห่งกรรมเช่นนั้น ไม่เชื่อเรื่องภพภูมิที่ต้องสลับสับเปลี่ยนไปเกิดตามเนื้อหาแห่งกรรมการกระทำนั้นๆ
แต่ความรู้ของ “สิทธัตถะ” ในเรื่อง ปุพเพนิวาสนุสติญาณและจุตูปปาตญาณในห้วงเวลาแห่งปฐมยามและมัชฌิมยามราตรีที่ผ่านมา ทำให้ท่านเข้าใจในเรื่องการเข้าไปยึดมั่นถือมั่นของขันธ์ทั้งหลาย ที่ว่าเมื่อได้กระทำกรรมในลักษณะต่างๆ กรรมนั้นก็จะส่งผลทำให้ตายแล้วต้องไปเกิดใหม่เพื่อชดใช้กรรมที่เคยได้ประกอบทำมาในอดีตชาติและต้องไปเวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จักจบสิ้นเพราะเหตุที่ได้กระทำกรรมอยู่ตลอดเวลาทุกภพชาติไป
ความรู้ของ “ สิทธัตถะ ” ตรงนี้ทำให้ท่านเข้าใจในเรื่อง การเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในขันธ์และผลแห่งการกระทำกรรมนั้นส่งผลทำให้ตายแล้วต้องไปเกิดตามภพภูมิต่างๆ เป็นการรู้เห็นตามความเป็นจริงในเส้นทางการเวียนว่ายตายเกิดของสรรพสัตว์ทั้งหลายทำให้ “ สิทธัตถะ ” หลุดพ้นจากความเห็นผิดต่างๆในยุคนั้นและไม่เดินหลงทางในเส้นทางตรัสรู้ของท่านอีก



























ก่อนจะมี
มันก็ไม่เคยมีมาก่อน







บทที่ 5 ทุกข์
ในปัจฉิมยามแห่งราตรีตรัสรู้ “สิทธัตถะ” ได้ไล่เรียงวิเคราะห์ถึงเหตุและผลที่ทำให้ท่านและสรรพสัตว์ทั้งหลายต้องไปเวียนว่ายตายเกิดตามภพภูมิต่างๆ เพราะการเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ทั้ง 5 “ท่านสิทธัตถะ” ก็ได้สรุปข้อเท็จจริงต่างๆที่ท่านได้วิเคราะห์และกรองออกมาดังนี้ว่า แท้จริงแล้วมันคือการเกิดขึ้นพร้อมแห่งธรรมทั้งหลายเพราะอาศัยกัน ซึ่งเรียกว่า ปฏิจสมุปบาท มันก็คือตัวทุกข์หรือการปรุงแต่งเป็นจิตนั่นเอง
การที่ “ทุกข์” หรือ “จิต” หนึ่งชุดจะเกิดขึ้นได้นั้นเพราะอาศัยเหตุปัจจัยต่อเนื่องกัน “ท่านสิทธัตถะ” ได้แจกแจงไว้ดังนี้
• เพราะอวิชชา (ความไม่รู้) เป็นปัจจัยสังขาร(การปรุงแต่ง) จึงมี
• เพราะสังขาร(การปรุงแต่ง) เป็นปัจจัยวิญญาณ (การรับรู้ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) จึงมี
• เพราะวิญญาณ(การรับรู้ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) เป็นปัจจัย นามรูป(ขันธ์ทั้ง 5) จึงมี
• เพราะนามรูป(ขันธ์ทั้ง 5)เป็นปัจจัย สฬายตนะ (ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ) จึงมี
• เพราะสฬายตนะ (ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ) เป็นปัจจัย ผัสสะ(การสัมผัสกระทบ) จึงมี
• เพราะผัสสะ(การสัมผัสกระทบ) เป็นปัจจัย เวทนา(ความรู้สึกต่างๆ) จึงมี
• เพราะเวทนา(ความรู้สึกต่างๆ)ป็นปัจจัย ตัณหา(ความอยาก) จึงมี
• เพราะตัณหา(ความอยาก) เป็นปัจจัย อุปทาน(ความยึดมั่นถือมั่น) จึงมี
• เพราะอุปทาน(ความยึดมั่นถือมั่น) เป็นปัจจัย ภพ(การมีภาวะ) จึงมี

• เพราะภพ(การมีภาวะ) เป็นปัจจัย ชาติ (การเกิดอัตตา"ตัวตน") จึงมี
• เพราะชาติ(การเกิดอัตตา"ตัวตน") เป็นปัจจัย ชรามรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาส ฯ(ความทุกข์) จึงมี

“ ปฏิจสมุปบาท” หนึ่งชุด ก็คือ ทุกข์หรือการปรุงแต่งเป็นจิตหนึ่งครั้งนี่เองที่ทำให้ “ท่านสิทธัตถะ” และสรรพสัตว์ทั้งหลาย ต้องไปเวียนว่ายตายเกิดแบบไม่จบไม่สิ้น เพราะเหตุแห่งอวิชชาความไม่รู้พาเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ทั้ง 5 และปรุงแต่งจนก่อให้เกิดอัตตาตัวตน เป็นเรา เป็นเขา กลายเป็นจิตต่างๆขึ้นมา ซึ่งก็คือการปรุงแต่งกลายเป็น “ความคิด” ขึ้นมานั่นเอง

ความคิดทั้งปวง คือ ปฏิจสมุปบาท
ความคิดทั้งปวง คือ สังขตะธรรม (ธรรมอันปรุงแต่ง)
ความคิดทั้งปวง คือ จิตที่ปรุงแต่ง
ความคิดทั้งปวง คือ ทุกข์ นั่นเอง












ถ้าพวกเธอยังคงยึดเหนี่ยวอยู่
ในความสังเกตเห็นว่า ยังมีอะไรบางอย่าง...
แม้จะเล็กเท่าเศษหนึ่งส่วนร้อยของธุลีเม็ดหนึ่งก็ตาม
อาจตั้งอยู่ได้โดยความเป็นตัวเป็นตนอยู่ดังนี้แล้ว
ต่อให้มีความเชี่ยวชาญแตกฉานอย่างสมบูรณ์
ในทุกๆคัมภีร์ทั้งหมดเท่าที่เธอจะรื้อค้นศึกษาได้
มันก็ยังล้มเหลวต่อการที่จะช่วยเธอ
ให้ซึมทราบต่อธรรมชาติแห่งพุทธะนั้นได้
แต่เมื่อส่วนที่ละเอียดที่สุดของทุก ๆ ส่วน
ถูกเห็นเป็นความไม่มีตัวตนไปแล้วทั้งหมดเท่านั้น
ก็ถือว่าเธอได้ซึมทราบต่อธรรมชาติแห่งพุทธะแล้ว





บทที่ 6 เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์
หลังจากที่ “สิทธัตถะ” ได้วิเคราะห์ถึงเนื้อหาแห่ง ปฏิจสมุปบาท คือ การเกิดขึ้นพร้อมเพรียงแห่งธรรมทั้งหลายเพราะอาศัยกันซึ่งก็คือตัวทุกข์นั่นเอง ก็ทำให้ “ท่านสิทธัตถะ” ทราบถึงสาเหตุแห่งการเกิดทุกข์ด้วย
ก็เพราะ “ความไม่รู้” นั่นเองที่พาสรรพสัตว์ทั้งหลายเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ทั้ง 5 เป็น “ความไม่รู้” ในเรื่องกฎธรรมชาติที่ว่า แท้จริงแล้วไม่มีทุกสรรพสิ่งอยู่เลยไม่มีเรา ไม่มีเขา มันคือความว่างเปล่าไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่แล้ว ความไม่รู้ (อวิชชา)ในเรื่องกฎธรรมชาตินี้เองทำให้เกิดความเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ทั้ง 5 โดยเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในขันธ์แห่งเวทนา คือ ความรู้สึกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สุขเวทนา (ความรู้สึกที่เป็นสุข) ทุกขเวทนา(ความรู้สึกที่เป็นทุกข์) หรือ อทุกขมสุขเวทนา(ความรู้สึกเฉยๆที่ไม่สุขไม่ทุกข์) จนก่อให้เกิด ตัณหา อุปทาน ภพ ชาติ ชรา มรณะ กลายเป็นอัตตาตัวตนขึ้นมา กลายเป็นเราเป็นเขาขึ้นมา
นี่คือ เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ หรือ สมุทัย นั่นเอง














ไม่ใช่ว่า “ ต้อง ” ว่างเปล่า
เพราะมันจะเป็นการทำความว่างเปล่า
ให้มีตัวตนขึ้นมา
แต่มันคือ ธรรมชาติแห่งความว่างเปล่าอยู่แล้ว
มันเป็นเช่นนั้นของมันเองอยู่อย่างนั้น
ความว่างเปล่าที่ว่า






บทที่ 7 ความดับไปแห่งทุกข์
การที่รู้ว่า ”ทุกข์” เกิดขึ้นเพราะ ความไม่รู้คืออวิชชาพาเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ทั้ง 5 ทำให้ “สิทธัตถะ” ไตร่ตรองและพิจารณาไคร่ครวญถึงเหตุและผล จนในห้วงเวลาปัจฉิมยามแห่งคืนตรัสรู้นั่นเองทำให้ “ท่านสิทธัตถะ” ได้ตระหนักชัดว่าการออกจากกองทุกข์ได้นั้น ก็คือ “ความที่ไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ทั้ง 5 เพื่อก่อให้เกิด ตัณหา อุปาทาน เป็นตัวเป็นตนเป็นอัตตาขึ้นมา” นั่นเอง
“ท่านสิทธัตถะ” รู้ว่า เพราะเหตุที่ทุกข์นั้นมันเกิดมาเพราะความไม่รู้คืออวิชชาก็จริงอยู่ แต่โดยสภาพความทุกข์นั้น “ ก็โดยตัวมันเอง โดยคุณสมบัติมันเอง โดยคุณลักษณะมันเอง ” นั้น มันตั้งอยู่ได้ไม่นาน และทุกข์นั้นมันก็ดับไปโดยตัวมันเองเป็นธรรมดาอยู่แล้ว “ท่านสิทธัตถะ” จึงตระหนักชัดว่า

ความทุกข์ ดับไปโดยตัวมันเองทำให้ ชาติ ดับ
ชาติ ดับไปทำให้ ภพ ดับ
ภพ ดับไปทำให้ อุปาทาน ดับ
อุปาทาน ดับไปทำให้ ตัณหา ดับ
ตัณหา ดับไปทำให้ เวทนา ดับ
เวทนา ดับไปทำให้ ผัสสะ ดับ
ผัสสะ ดับไปทำให้ สฬายตนะ ดับ

สฬายตนะ ดับไปทำให้ นามรูป ดับ
นามรูป ดับไปทำให้ วิญญาณ ดับ
วิญญาณ ดับไปทำให้ สังขาร ดับ
สังขาร ดับไปทำให้ อวิชชา ดับ

เมื่ออวิชชาความไม่รู้จะดับไปได้ ก็ด้วย “ ความรู้ ” ที่ว่า เพราะแท้ที่จริงแล้วทุกสรรพสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมาเป็นทุกข์นั้น โดยสภาพมันเองนั้นมันตั้งอยู่ได้ไม่นานแล้วมันก็ล้วนดับไปโดยตัวมันเองอยู่แล้วเป็นธรรมดา เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ไม่ควรเข้าไปเนื่อง ไม่ควรเข้าไปเนิ่นช้า ไม่ควรเข้าไปสาละวน ในความคิดนั้นในอาการจิตที่ปรุงแต่งนั้นให้มันยืดยาวออกไป
เมื่อไม่เข้าไปเนื่อง ไม่เข้าไปเนิ่นช้า ก็ทำให้ “ท่านสิทธัตถะ” กลายเป็นเนื้อหาเดียวกันกับความดับไปเป็นธรรมดาของทุกข์
และ “สิทธัตถะ” ยังได้ตระหนักชัดด้วยความเข้าใจอีกว่า แท้จริงแล้วทุกสรรพสิ่งมันไม่ใช่ตัวใช่ตนอยู่แล้ว
โดยธรรมชาติ ไม่มีเราอยู่แล้ว
โดยธรรมชาติ เป็นเพียงแต่ กายกับจิต
โดยธรรมชาติ เป็นเพียงแต่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
รูป คือ รูปกาย เช่น ตา หู จมูก ลิ้น ผิวกาย ใจ
วิญญาณ คือการรับรู้ถึงสิ่งที่เข้ามาทางรูป ( ตา หู จมูก ลิ้น ผิวกาย ใจ )
โดยธรรมชาติ เมื่อมีเหตุปัจจัย เข้ามาทางรูป เช่น
ภาพ ที่เข้ามาทาง ตา
เสียง ที่เข้ามาทาง หู
กลิ่น ที่เข้ามาทาง จมูก
รสชาติ ที่เข้ามาทาง ลิ้น
การสัมผัสสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาทาง ผิวกาย
สิ่งที่ผุดขึ้นในความรู้สึก ที่เข้ามาทาง ใจ

วิญญาณคือ การรับรู้ถึงการเข้ามาของสิ่งต่างๆเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น ภาพ เสียง กลิ่น รสชาติ การสัมผัสสิ่งต่างๆหรือสิ่งที่ผุดขึ้นในความรู้สึก ที่เข้ามาทางทวารทั้งหก คือ ตา หู จมูก ลิ้น ผิวกาย หรือใจ

สรุป
เหตุปัจจัย ที่เข้ามาทาง รูป และ มีการรับรู้การเข้ามา(วิญญาณ)
สามสิ่งสิ่งนี้ เป็นการกระทบกัน เรียกว่า ผัสสะ
สัญญา คือ ความจำได้หมายรู้ว่า สิ่งที่เข้ามาทางรูปนั้นคืออะไร
สังขาร คือ การปรุงแต่งในรายละเอียดทั่วๆไปแบบเสร็จสรรพ ของเหตุปัจจัยที่เข้ามาทางรูปและมีการรับรู้ถึงการเข้ามาและก่อให้เกิดการกระทบกัน
เวทนา คือ ความรู้สึก ที่มีต่อเหตุปัจจัยที่เข้ามาทางรูป
โดยหลักใหญ่ มี 3 เวทนาคือ
สุขเวทนา คือ ความรู้สึกที่เป็นสุขต่อเหตุปัจจัยที่เข้ามาทางรูป
ทุกขเวทนา คือ ความรู้สึกที่เป็นทุกข์ต่อเหตุปัจจัยที่เข้ามาทางรูป
อทุกขมสุขเวทนา คือค วามรู้สึกที่เป็นกลางๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ต่อเหตุปัจจัยที่เข้ามาทางรูป


“ท่านสิทธัตถะ” ยังได้ตระหนักชัดในความจริงที่ว่า
เป็นธรรมดาที่ เวทนาย่อมดับไปเอง
เป็นธรรมดาที่ เวทนาย่อมดับไปอยู่แล้วโดยตัวมันเอง
และเมื่อ เวทนาดับ สังขารย่อมดับ สัญญาย่อมดับ วิญญาณย่อมดับ รูปย่อมดับ
ทำให้ “ท่านสิทธัตถะ” ได้กลายเป็นเนื้อหาเดียวกันกับความดับไปเป็นธรรมดาแห่งขันธ์ทั้ง 5
ตรงนี้เรียกว่า ความดับไปแห่งทุกข์ หรือ นิโรธ นั่นเอง










เพราะด้วยวิธีคิดแบบเซน
จะไม่มีวันพูดว่า "มีหนทางไปสู่สัจธรรม"
เนื่องจากการพูดเช่นนี้
แสดงว่าตัวผู้พูดยังมีระยะห่างจากสัจธรรมอยู่
ซึ่ง “เซน” ไม่เห็นเช่นนั้น
เพราะจากมุมมองแบบเซนจะไม่อาจคาดคิดได้ว่า
คนเรามีระยะห่างจากสัจธรรม แม้ชั่วขณะจิต
เนื่องเพราะ"คนเราคือ สัจธรรม”
ที่เผยตัวออกมาต่างหาก






บทที่ 8 อัคคิเวสสนะสูตร
อัคคิเวสสนะ
เวทนาสามอย่างนี้ คือ สุขเวทนา ๑ ทุกขเวทนา ๑ อทุกขม
สุขเวทนา ๑. อัคคิเวสสนะ สมัยใดได้เสวยสุขเวทนา ในสมัยนั้นไม่ได้เสวยทุกขเวทนา ไม่
ได้เสวยอทุกขมสุขเวทนา ได้เสวยแต่สุขเวทนาเท่านั้น. ในสมัยใดได้เสวยทุกขเวทนา ใน
สมัยนั้นไม่ได้เสวยสุขเวทนา ไม่ได้เสวยอทุกขมสุขเวทนา ได้เสวยแต่ทุกขเวทนาเท่านั้น. ใน
สมัยใดได้เสวยอทุกขมสุขเวทนา ในสมัยนั้นไม่ได้เสวยสุขเวทนา ไม่ได้เสวยทุกขเวทนา ได้
เสวยแต่อทุกขมสุขเวทนาเท่านั้น

อัคคิเวสสนะ
สุขเวทนาไม่เที่ยง
อันปัจจัยปรุงแต่งขึ้น
อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น มีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไปเป็นธรรมดา

แม้ทุกขเวทนาก็
ไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่งขึ้น
อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น มีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไปเป็นธรรมดา

แม้อทุกขมสุขเวทนาก็ไม่เที่ยง
อันปัจจัยปรุงแต่งขึ้น
อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น มีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไปเป็นธรรมดา

อัคคิเวสสนะ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เมื่อ
เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่ายทั้งในสุขเวทนา ทั้งในทุกขเวทนา ทั้งในอทุกขมสุขเวทนา เมื่อหน่าย
ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้น
แล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำสำเร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี












บุญและปัญญาชนิดใหนๆก็ตาม
ก็รังแต่จะปิดคลุมธรรมชาติดั้งเดิมของพุทธภาวะเสีย
และทำให้มันกลายเป็นสิ่งที่เห็นไม่ได้ไปเสียเท่านั้น








บทที่ 9 หนทางหลุดพ้น
ในบั้นปลายปัจฉิมยามแห่งราตรีคืนตรัสรู้ หลังจากที่ “ สิทธัตถะ ” ได้ตระหนักชัดและกลายเป็นเนื้อหาเดีวยกันกับความดับไปเป็นธรรมดาแห่งทุกข์นั้น ทำให้ท่านได้รู้และตระหนักชัดว่านี่คือทางสายกลางอันแท้จริงที่ทำให้ท่านพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวงได้ ทำให้ “ ท่านสิทธัตถะ ” งดเว้นอย่างเด็ดขาดที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการประพฤติข้อวัตรอันสุดโต่งอีกต่อไป คือ
1.การบำเพ็ญทุกกรกิริยา คือ การแสวงหาความหลุดพ้นด้วยการทรมาณตนด้วยวิธีต่างๆซึ่งเป็นที่นิยมและเข้าใจผิดในยุคนั้น
2.การแสวงหาความสุขด้วยการหมกหมุ่นในกามคุณ อันเป็นข้อวัตรประพฤติแบบที่สามัญชนทั่วไปนิยมกระทำกัน ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ธรรมดาไม่เป็นประโยชน์และเป็นสิ่งที่ต่ำทราม
เมื่อ “ ท่านสิทธัตถะ ” ได้ตระหนักชัดและกลายเป็นเนื้อหาเดียวกันกับความดับไปเป็นธรรมดาแห่งทุกข์และความดับไปเป็นธรรมดาแห่งขันธ์ทั้ง 5 ทำให้ท่านรู้ว่ามันก็คือ หนทางที่ดำเนินออกมาจากกองทุกข์ไปในตัวมันเองอยู่แล้ว ( โดยนัยยะแห่งความหมาย )
ซี่งมันประกอบขึ้นแบบพร้อมเพรียงกันด้วยคุณลักษณะมันเอง ประกอบไปด้วยอินทรีย์แห่งธรรม 8 ประการ คือ
1.สัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นชอบ
2.สัมมาสังกัปปะ คือ ความดำริชอบ
3.สัมมาวาจา คือ การเจรจาชอบ
4.สัมมากัมมันตะ คือ การกระทำชอบ
5.สัมมาอาชีวะ คือ การเลี้ยงชีพชอบ
6.สัมมาวายามะ คือ ความเพียรชอบ
7.สัมมาสติ คือ ความระลึกชอบ
8.สัมมาสมาธิ คือ ความตั้งใจมั่นชอบ
มรรคมีองค์แปดนี้เป็นเพียงธรรมที่ “ท่านสิทธัตถะ” ได้แจกแจงเพื่อให้เกิดความเข้าใจเท่านั้นว่า การที่ท่านได้ตระหนักชัดและกลายเป็นเนื้อหาเดียวกันกับความดับไปเป็นธรรมดาแห่งทุกข์ทั้งหลายและความดับไปเป็นธรรมดาแห่งขันธ์ทั้ง 5 ตามสภาพธรรมชาติของมันเองอยู่แล้วนั้น มันคือเส้นทางแห่งมรรคหรือหนทางที่ออกมาจากกองทุกข์ “ไปในตัวอยู่แล้ว” นั่นเอง
เมื่อปล่อยให้ทุกข์หรือขันธ์ทั้ง 5 มันดับไปเองตามธรรมดาตามธรรมชาติของมัน มันก็เป็นหนทางออกจากทุกข์อยู่แล้วโดยเนื้อหามัน ซึ่งหมายถึงความเป็นปกติแห่ง “การดำเนินไปบนมรรคมีองค์แปด” อยู่แล้ว
นี่คือ มรรค อันคือหนทางหลุดพ้น















การกระทำเพียงแค่
รวมจิตเป็นหนึ่ง
และบังคับมันให้สงบลง
เป็นลัทธินิยมความนิ่งเฉย
และเป็นเซนที่ผิด






บทที่ 10 เอกะมหาบุรุษ
สิ่งที่ “ สิทธัตถะ ” ได้ตระหนักชัดถึงความหมายแห่งทุกข์และเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์(สมุทัย) และท่านก็ได้กลายเป็นเนื้อหาเดียวกันกับความดับไปแห่งทุกข์(นิโรธ) ซึ่งมันคือ หนทางหลุดพ้น(มรรค) จากกองทุกข์ทั้งปวงได้นั้น ถือได้ว่า “ท่านสิทธัตถะ” เป็นเอกะมหาบุรุษคนแรกในห้วงเวลาแห่งกัปป์นี้ ที่ได้เข้าไปรู้และกลายเป็นเนื้อหาเดียวกันกับ “ กฎธรรมชาติ ” อันยิ่งใหญ่ ซึ่งยังไม่มีบุคคลใดรู้มาก่อนในห้วงเวลากัปป์นี้ที่ผ่านมา จึงทำให้ท่านถูกขนานนามเรียกว่า “ พระพุทธเจ้า ” เมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้ในธรรมอริยสัจจ์ทั้ง 4 คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค แล้ว ก็ได้ทำให้ความเป็นตัวตนแห่ง “ สิทธัตถะ ” นั้นสลายหายไป เหลือเพียงแต่เนื้อหาที่แสดงถึงความเป็น “ พุทธะ ” อันยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นเนื้อหาธรรมชาติล้วนๆแห่งความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่อย่างนั้น
และหลังจากที่ “ พระพุทธองค์ ” ได้ทรงทวนญาณแห่งการตรัสรู้อยู่ถึง 49 วัน “ พระพุทธองค์ ” ท่านก็ได้ทรงลุกจากโคนต้นศรีมหาโพธิ์เพื่อออกประกาศสัจจะธรรมไปทั่วทุกที่ทุกหนแห่งภายในดินแดนแห่งชมพูทวีป จนได้ก่อรูปแบบขึ้นมาเป็น“ พระพุทธศาสนา ” อันประกอบไปด้วย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อุบาสกอุบาสิกาและ พุทธศาสนิกชน ผู้ที่เข้าถึงพระรัตนไตรเป็นที่พึ่ง ท่านได้ประกาศและแสดงธรรมบนเส้นทางกรรมตามหน้าที่แห่ง “ พุทธวิสัย ” ของท่านตราบจนวาระสุดท้าย “ พระพุทธองค์ ” จึงได้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานใต้ต้นนางรังคู่นั้น
ณ กาลบัดนี้ เวลาก็ได้ผ่านล่วงเลยมา 2555 ปีแล้ว






เธอต้องเป็นพุทธะตามความประสงค์แห่งพระพุทธองค์
ใครมีเหลือจงเผื่อแผ่เพราะพวกเขาลำบากกว่า
เมตตาต่อบรรดาสรรพสัตว์ให้มากๆ
คนพาลก็ควรหลีกหนีไปอย่าเข้าไกล้เพื่อคบหา
บัณฑิตก็ควรช่วยเขาตามฐานะ
แห่งกรรมที่เกี่ยวพันกันมา
ธรรมเหล่าใดที่จักจะช่วยให้
ความเป็นกัลยาณมิตรเกิดขึ้น
ธรรมเหล่านั้นทุกๆเหล่า
เธอจงดำเนินไปเพื่อหยิบยื่น
ให้แก่คนอื่นผู้ที่ด้วยกว่าด้วยความเมตตาเขาเหล่านั้น
นี่คือ ความไกล้ชิด ที่อาจารย์สอนลูกศิษย์
ที่ "ไดชูอิน"



บทที่ 11 ใจต่อใจในการฝึกตน

ท่ามกลางอากาศร้อนอบอ้าวแห่งฤดูร้อนในเดือนกรกฎาคม วัดเรียวอันจิร่มรื่นด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ ให้ร่มเงาแก่ผู้มาเยือนชมหิน ๑๕ ก้อนอันลือนาม ที่ดึงดูดผู้คนจากทั่วทุกมุมโลก ปีนั้นเกียวโตอายุครบ ๑,๒๐๐ ปี มูลนิธิญี่ปุ่นร่วมฉลองงานโดยให้ทุนอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไปทัศนศึกษา เพื่อเป็นการเตรียมงานฉลองเชียงใหม่ ๗๐๐ ปี ในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ เมื่อมีโอกาสแวะวัดเรียวอันจิคราวนี้ เราได้รับอนุญาตพิเศษเข้าไปในบริเวณด้านใน หลบลี้หนีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเข้าไปนมัสการพระพุทธรูปที่ประดิษฐานข้างใน หลังจากนั้น อาจารย์ศิริชัย นฤมิตรเรขการ ขอเข้าพบเจ้าอาวาสวัดที่เคยพบเมื่อหลายปีก่อนเพื่อถวายของฝากให้ท่าน ครั้นไปพบแล้วก็ปรากฏว่าไม่ใช่รูปนี้ที่เคยพบแต่ก็ถวายของที่นำมาให้กับท่าน แล้วบอกท่านว่า พวกเรามาจากที่ที่วุ่นวายมาก ท่านจะมีอะไรจะสอนเพื่อให้เราได้มีความสงบใจบ้าง ยังจำหน้าตายิ้มแย้มและเสียงหัวเราะอันกังวานของท่านได้ เมื่อท่านตอบผ่านล่ามว่า “อาตมาอยู่ที่นี่ก็วุ่นวายมากแล้วเห็นจะไม่มีอะไรจะบอกกล่าว” ทำให้เรานึกภาพวัดเรียวอันจิที่พลุกพล่าน ขนมหวานที่ท่านกรุณานำมาต้อนรับ รสกลมกล่อม ชาเขียวเล่าก็ปลุกเราให้ตื่น ลิ้มรสหมดเกลี้ยง แล้วจึงได้กราบลาท่าน พอเราเดินพ้นประตูกุฏิท่านได้เพียงไม่กี่ก้าว ก็มีคนวิ่งออกมาบอกว่าพระที่เราอยากจะพบตัวจริงนั้นอยู่ที่ไดชูอิน พร้อมนำเราเดินไปอีกมุมหนึ่งของวัดเรียวอันจิ และมอบของที่ระลึกคืนเพื่อถวายให้กับท่านอาจารย์ ที่อาจารย์ศิริชัยต้องการมาเยี่ยมคารวะตรงประตูเล็ก ๆ หน้าบริเวณไดชูอิน ชาวตะวันตกชายหญิง ๑ คู่ ในเสื้อญี่ปุ่นสีดำ ละมือจากการตัดเล็มพุ่มไม้มาต้อนรับคณะเรา แล้วนำเราไปนั่งรออาจารย์ที่เรือนไม้หลังเล็กอันเป็นกุฏิของท่าน
ท่านโซโก โมรินากะ โรชิ ดูสูงสง่าด้วยผ้าสีน้ำตาลอ่อนค่อนไปทางสีชมพู ที่เป็นเสื้อคลุมตัวนอก หรือ (okesa) กลมกลืนกับจีวรที่คล้องคอ ในวัย ๗๐ ปีต้น ๆ ท่าทางท่านยังคล่องแคล่วแข็งแรง เราเริ่มสนทนากับท่านโดยผ่านล่ามคือ คุณโอชิ ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ ทานาเบ้ ผู้ซึ่งยอมรับในภายหลังว่า ได้รับประโยชน์อย่างมากจากการเป็นล่ามครั้งนี้เพราะเขารู้เรื่องพุทธศาสนานิกายเซนน้อยมาก แม้เป็นชาวญี่ปุ่นโดยกำเนิด ท่านโซโก โรชิ พูดถึงการฝึกปฏิบัติแบบซาเซนว่าสำหรับบางคนต้องใช้เวลายาวนาน พลางชะโงกหน้าไปข้างนอกดูลูกศิษย์ชาวเยอรมัน ๒ คน ที่ต้อนรับเราเมื่อครู่ก่อน ก่อนจะบอกเราว่า “คู่นี้อยู่ฝึกมาแล้ว ๑๕ ปี แล้วยังไม่ละลายเลย”
ท่าน โซโก โรชิ เกิดในเมืองเล็ก ๆ ชื่อ อูโอทซู จังหวัดโตยามะ ที่ตั้งริมฝั่งทะเลญี่ปุ่น และเติบโตมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ กำลังเข้มข้นแผ่ขยาย และญี่ปุ่นถลำลึกลงในเวทีประยุทธ์พร้อมชูความรักชาติเป็นธงชัยให้ประชาชนเห็นดีงามด้วย ช่วงนี้ท่านโซโก โรชิ ยังเป็นนักเรียนอยู่ชั้นมัธยมสายศิลปะซึ่งถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารสู้รบศัตรู ในขณะที่นักเรียนสายวิทยาศาสตร์ที่ถูกเก็บไว้ให้ทำงานด้านเทคนิควิทยาการ และการแพทย์ ท่านเล่าไว้ใน Pointers to Insight หนังสือเล่มเล็ก ๆ ที่เป็นอัตชีวประวัติว่า ที่เป็นดังนั้นก็เพราะรัฐบาลเห็นว่า นักเรียนสายวิทยาศาสตร์จะทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติได้มาก นักเรียนสายศิลปะซึ่งมักจะมีปรัชญา และความเห็น ขัดแย้งกับรัฐบาลเสมอ ในที่สุดเด็กหนุ่มทั้งหลายในสายศิลปะก็ต้องไปทำสงครามในนามของความรักชาติ เพื่อนร่วมชั้น และ ร่วมโรงเรียนของท่านหลายคน ได้ทิ้งชีวิตไว้ในสนามรบ ทำให้ท่านและเพื่อนร่วมวัยต้องตกอยู่ในภาวะครุ่นคำนึงถึงความตาย และในกรณีของท่านเองนั้นเองนั้น ก่อนที่ท่านจะต้องออกไปเป็นซามูไรสมัยใหม่นั้น ทั้งโยมพ่อ และโยมแม่เสียชีวิตในเวลาไร่เรี่ยกันเพียงไม่กี่วัน การรอดชีวิตจากสงคราม ยามเมื่อสงบลงแล้วนั้น จะเรียกว่าเป็นโชคดีเสียทั้งหมดเลยก็มิได้ เพราะประเทศผู้แพ้นั้นตกอยู่ในสภาพที่ย่อยยับดับสลาย โดยเฉพาะเรื่องของมาตรฐานศีลธรรมจรรยา รวมทั้งความเชื่อซึ่งสั่นคลอนทั้งสังคมก็ว่าได้ ถูก–ผิด ดี–ชั่ว นั้นแทบแยกกันไม่ออกตัดสินกันไม่ได้เลยทีเดียว ยากนักที่จะดำเนินชีวิตต่อไปด้วยสิ้นไร้รากฐานความเชื่อในชีวิต การศึกษาก็ดูไร้ค่าไปหมด และมีการปฏิรูปที่ดินครั้งใหญ่หลังสงคราม ท่านโซโก โรชิ พบว่าที่ดินที่บรรพบุรุษได้สั่งสมไว้ถูกยึดคืนไปหมด เคว้งคว้างหาที่พึ่งอยู่ได้ไม่นาน โชคชะตา ก็นำพาให้ไปยืนเคาะประตูไดชูอิน สาขาเล็ก ๆของวัดเซนในเกียวโต

ที่นี่เอง ท่านได้เรียนรู้ที่จะวางใจในครู หลังจากที่สูญสิ้นความวางใจในทุกสิ่งทุกอย่างไปแล้ว วันแรกที่ไปถึงพระอาจารย์คือท่าน ซูอิกัน โรชิ ขณะนั้นอยู่ในวัย ๗๐ ปีแล้ว ได้ตั้งคำถาม หลังที่ได้ฟังเรื่องราวของหนุ่มน้อย ผู้แจ้งความประสงค์จะบวชอยู่ที่วัด ว่า “ดูเหมือนว่าเธอจะสิ้นศรัทธาต่อทุกสิ่งทุกอย่างรวมทั้งผู้คนด้วย แต่ที่นี้การฝึกปฏิบัตินั้น จะเป็นไปไม่ได้เลยถ้าหากเธอไม่วางใจในครู เธอจะไว้เนื้อเชื่อใจฉันได้ไหมล่ะ ถ้าได้ฉันจะรับเธอไว้ที่นี่ แต่ถ้าไม่ ก็เป็นการสูญเปล่า เธอก็กลับบ้านเสียดีกว่า” แม้จะไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริงของความวางใจ แต่ด้วยความกลัวจะถูกปฏิเสธท่าน โชโก โรชิ จึงตอบแข็งขันว่า ท่านวางใจในท่านอาจารย์ บทเรียนในวันแรกที่ไดชูอิน อาจารย์ซูอิกัน ไม่ได้สอนด้วยการนั่งเทศนา พรรณนาด้วยคำพูดอันมากมาย แต่ด้วยวิธีการชี้นำที่ล้ำลึกควรแก่การเอ่ยถึง นั่นคือท่านบอกให้ท่าน โซโก โรชิ ไปกวาดบริเวณรอบ ๆ ไดชูอิน ในวัดเซนทุกวัดนั้นพระท่านตั้งใจปลูกต้นไม้หลากหลายพันธุ์ เพื่อที่จะให้มีใบไม้ร่วงให้พระได้กวาดเป็นการฝึกปฏิบัติตลอดทุก ๆ ฤดูกาล เพื่อจะเป็นที่ยอมรับของอาจารย์ ท่าน โซโก โรชิ จับไม้กวาดลงมือปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายอย่างแข็งขัน ไม่นานก็ได้ใบไม้กองใหญ่เท่าภูเขา แล้วจึงไปถามอาจารย์ท่านว่าจะให้เอาขยะกองนี้ไปไว้ที่ไหน อาจารย์ซูอิกัน ส่งเสียงดังทันใด “ใบไม้ไม่ใช่ขยะนะ นี่เธอไม่เชื่อใจใช่ไหม” พอท่านเปลี่ยนคำถามว่า จะให้กำจัดใบไม้เหล่านี้อย่างไร อาจารย์ก็แผดเสียงอีกว่า “เราไม่กำจัดมันหรอก” และบอกให้ท่านไปเอาถุงมาใส่ใบไม้ที่กวาดได้นำไปเก็บไว้เป็นเชื้อเพลิง ส่วนที่เหลือเป็นก้อนกรวดก้อนหินที่หลังเก็บไปแล้วท่านให้นำไปไว้ตรงชายหลังคา เป็นทั้งที่รองรับน้ำฝน และเพิ่มความงามให้กับสถานที่ และท้ายสุดท่านอาจารย์ก้มลงเก็บเศษของกรวดหินชิ้นเล็ก ๆ นำไปฝังไว้ในดินจนบริเวณนั้นเกลี้ยงเรียบหมดจด แล้วจึงพูดขึ้นว่า “เธอเข้าใจบ้างแล้วหรือยังว่า สภาพที่แท้และดั้งเดิมของมนุษย์และสรรพสิ่งนั้นปราศจากขยะ” นี่เป็นบทเรียนแรกในชีวิตสมณะของท่าน โซโก โรชิ อีกนานกว่าท่านจะค่อย ๆ เข้าใจว่า นี่คือถ้อยคำที่เป็นสัจธรรมในพุทธศาสนา และเป็นสาระเดียวกันกับที่ศากยมุนีได้เปล่งเป็นวาจาในคืนวันตรัสรู้ ดังที่บันทึกไว้ในพระสูตรมหายานของจีนว่า “ตถาคต บรรลุถึงซึ่งมรรควิถีพร้อมโลกทั้งโลก และสรรพชีวิต สรรพสิ่งทั้งหลาย ภูผาป่าดง แม่น้ำลำธาร ไม้ใหญ่ และหย่อมหญ้าล้วนตรัสรู้ด้วยกันหมดทั้งสิ้น”
เช้าจรดค่ำในวัดเซน จะเป็นช่วงเวลาของการฝึกตนในวิถีชีวิตที่ดำเนินไปแต่ละวัน ตื่นนอนตอนเช้า ฉันอาหาร ตามด้วยพิธีชงชาอย่างสั้น ๆ อันเป็นโอกาสที่จะได้พบปะสนทนากับครูที่ไดชูอิน ช่วงนั้นมีเพียงท่านอาจารย์ซูอิกัน ลูกศิษย์ชื่อ โซโก โมรินากะ และสตรีผู้สูงวัย อีกท่านหนึ่ง ชื่อ โอกาโมโต ผู้ซึ่งเคยมีส่วนพัฒนาการการศึกษาของผู้หญิงในญี่ปุ่น แต่บัดนี้ดูแลเอาใจใส่ท่านอาจารย์ ชูอิกัน ไม่ใช่เรื่องแปลกที่พระเซนจะอยู่ร่วมกับสตรี แม้ก่อนหน้าจะมีการอนุญาตให้พระแต่งงานมีครอบครัวได้อย่างเป็นทางการ (เชื่อกันว่าเป็นการลดอำนาจของพระสงฆ์ที่มีสูงมากในช่วง โชกุนเป็นใหญ่) ก็มีผู้หญิงพำนักพักพิงอยู่ในวัดอย่างไม่เปิดเผย ดังที่มีคำใช้เรียกเธอว่า ไดโกกุ–ซามะ (Daikoku–sama) ซึ่งเป็นชื่อเทพารักษ์แห่งโชค องค์หนึ่งในเจ็ด ชาวญี่ปุ่นมักจะเอาเทวรูปของ ไดโกกุ–ซามะ ไว้ในครัวหรือตามทางเดินเข้าบ้าน สุภาพสตรีของท่านซูอิกันท่านนี้นอกจากจะดูแลเรื่องส่วนตัวของท่านอาจารย์แล้ว ยังเป็นคู่สนทนาธรรมที่มีสติปัญญาเฉียบแหลม เป็นประโยชน์ต่อศิษย์ที่นั่งฟังอยู่ เมื่อแรกที่ได้อยู่ในไดชูอินนั้น ท่านอาจารย์ไม่เคยสนทนากับลูกศิษย์เลย แม้เมื่อคุณโอกาโมโต จะบอกให้เสนอ
ความเห็น ท่านอาจารย์ก็ตัดบทไม่ให้กล่าวอะไรด้วยเหตุผลที่ว่า “เขายังไม่พร้อมที่จะพูดต่อหน้าผู้คน” ช่วงนั้นท่านโซโก โรชิ ยังโต้เถียงอาจารย์ อึงอลอยู่ในใจ แล้วจึงเข้าใจในเวลาต่อมาว่า การฝึกตนที่จะไว้วางใจครูนั้น จะต้องฝึกที่จะตอบรับทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ใช่เฉพาะแค่วาจาท่าทางเท่านั้นแต่ด้วยใจทั้งหมดทั้งสิ้นด้วย เมื่อมองย้อนไปในอดีต ท่านโซโก โรชิ รู้สึกซาบซึ้งในวิธีการอันเข้มงวดที่อาจารย์ของท่านปฏิบัติต่อท่าน เพราะทำให้ท่านได้สำรวจตรวจสอบความตั้งมั่นในสายสัมพันธ์ ครู–ศิษย์ และความตั้งใจในการปฏิบัติ และท่านภูมิใจยิ่งที่ครูจัดให้เป็นศิษย์แถวหน้าไม่เคยอ่อนด้อยถอยถด
จนกระทั่งวันหนึ่งซึ่งท่านได้ประจักษ์ในน้ำใจครู คือวันที่ท่านจากลาเพื่อไปเรียนรู้ในวัดที่ใหญ่ขึ้น ท่านอาจารย์ซูอิกันเรียกท่านเข้าไปพบแล้วมอบเงินจำนวนหนึ่งให้ พลางบอกว่า “นี่เป็นเงินเพื่อไปสู่นิพพาน” “การฝึกปฏิบัติในวัดนั้นหนักหนาสากรรจ์อาจถึงตายได้ถ้าหากเธอประคองตนไปไม่ถึงฝั่ง เงินจำนวนนี้คือเงินทำศพของเธอ จะได้ไม่ต้องให้ใครเดือดร้อน” แม้จะรู้สึกสะทกสะท้านบ้างกับคำพูดของครู แต่ท่านก็น้อมรับอย่างเต็มใจ พอพร้อมที่จะก้าวเดินจากประตูไดชูอิน ครูผู้ปกติมีบุคลิกน่าเกรงขาม เดินตามหลัง และได้กระทำในสิ่งที่ศิษย์ไม่คาดคิดมาก่อน คือ ก้มลงผูกสายรองเท้าให้เสร็จแล้วเอามือตบเบา ๆ บนปมเชือกที่ผูกรัดกัน และเอ่ยคำที่ต้องจำให้มั่น “อย่าแกะมันออกนะ” คำที่ย้ำเตือนถึงคำมั่นสัญญาที่ศิษย์ได้ให้ในการฝึกปฏิบัติ ซึ่งเสมือนเสริมสร้างให้ความมุ่งหมายนั้นมั่นคงขึ้น โดยที่ไม่คาดคิดมาก่อนว่า ประสบการณ์ที่จะได้รับ ที่ประตูวัดไดโตกูจิ จะสร้างความสั่นคลอนให้กับความมุ่งมั่นตั้งใจนั้น แม้จะเตรียมใจมาก่อนว่า “นิวาซูเม” (Niwazume) ซึ่งคือการทดสอบความตั้งใจ ที่ต้องพิสูจน์ด้วยความอดทนรอคอยหน้าประตูวัดเซนก่อนการยอมรับเข้าวัดนั้น เป็นกระบวนการตรวจสอบที่ทรหดตามประเพณีที่ถือปฏิบัติมา เมื่อครั้งท่าน เอกะ หรือจีนเรียกว่า หุยค่อ ผู้เป็นพระสังฆปริณายกรูปที่สองได้ตัดแขนซ้ายถวายแด่ท่านอาจารย์ คือพระโพธิธรรม เพื่อให้เห็นถึงความมั่นคงในทางธรรม แต่เมื่อต้องยืนหนาวเหน็บหน้าประตูไดโตกูจิเข้าจริงก็แทบจะหมดสิ้นความมุ่งมั่น ในวันที่ ๓ ของการรอคอยท่ามกลางอากาศที่เย็นยะเยือกเข้าไปในทุกอณูของร่างกาย และในขณะที่ความตั้งใจหมายมั่นทั้งหมดกำลังจะถึงจุดพังทลาย ท่านโซโกโรชิ ก็ได้ประจักษ์ในความหมายที่แท้จริงของประเพณีนิวาซูเม และแล้วประตูสู่ความสำเร็จทางใจก็เปิดอ้ารับ
บรรยากาศของพุทธศาสนาแบบเถรวาททำให้เราคุ้นชินกับเสียงสวดมนต์ คำเทศนาและวาทะถ้อยต่าง ๆ แต่นิกานเซนนั้นดูจะเบื่อลัทธิถ้อยไปเลย เราพบว่าสื่อจากใจถึงใจจะไปอยู่ในสวนญี่ปุ่น การชงชา ลีลาในละครโนะ ศิลปะการวาดรูปแบบตวัดพู่กันครั้งเดียวจบ หรือแม้กระทั่งการยิงธนู เมื่อจะใช้คำพูดก็น้อยมาก พระเซนที่มีชื่อ เช่น ชุนเรียว ซูซูกิ ฝากหนังสือเล่มเล็ก ๆ ไว้ให้โลกเพียงเล่มเดียวก่อนลาจากคือ Zen Mind, Beginner’s Mind ส่วนท่านโซโก โรชิ ก็มีเพียงอัตชีวประวัติที่ชื่อ Pointer to Insight เล่มบาง ๆ เช่นกันก่อนที่จะล่วงลับด้วยโรคมะเร็ง ๒ ปีหลังจากที่ไปคารวะท่านครั้งนั้น จำได้ว่าก่อนจะกราบลาท่านวันนั้น เราถามคำถามท่านกันคนละข้อ ต่อคำถามของผู้เขียนว่า เซนยังอยู่ในญี่ปุ่นหรือไปเบ่งบานในยุโรปและอเมริกานั้น ท่านชี้แจงไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติของท่านดังต่อไปนี้ “สิ่งซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่าสำคัญนั้น ไม่ใช่อยู่ที่ว่าพุทธศาสนาจะแพร่ขยายหรือนิกายเซนจะเจริญรุ่งเรือง แต่อยู่ที่ว่าคนแต่ละคนมีชีวิตที่เต็มอิ่ม และเพียงพอใจ เปี่ยมด้วยสันติภาพตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต”
ประตูทางเข้าไดชูอิน ยังคงสงบไร้ความพลุกพล่าน ปลายฤดูใบไม้ผลิแล้วแต่เมืองทั้งเมืองคงอบอวลด้วยกลิ่นหอม อันเป็นสาระของดอกไม้นานาพันธุ์ บริเวณรอบไดชูอินก็เช่นกัน ทั้งความหอมหวานและสีสันของดอกไม้สีม่วงแม้ใกล้ร่วงโรย แต่ยังคงกระจ่างแจ้งอยู่ในใจถึงทุกวันนี้ ผู้มาเยือนจากเชียงใหม่ในครั้งนี้เหลือเพียงสตรี ๒ คนพร้อมล่าม ทั้งที่ทราบว่าท่านโซโก โรชิได้มรณภาพเมื่อ ๒ ปีที่แล้ว แต่จุดมุ่งหมายของการเยือนคือ อยากศึกษาเรื่องการสืบทอดทางวัฒนธรรม อีกทั้งใจจริงใคร่รู้ว่าใครคือผู้นั่งในไดชูอินแทนท่านอาจารย์ สุภาพบุรุษในวัย ๓๐ ที่นั่งคุกเข่าก้มศีรษะต้อนรับเราตรงหน้าเรือนไม้หลังเดิม อยู่ในเสื้อคลุมอย่างไม่เป็นทางการ เป็นผู้เดียวกับที่เข้ามาในห้องที่เราสนทนากับท่านโซโก โรซิเมื่อสองปีก่อน ที่จำได้แม่นเพราะเป็นท่าทางและร่างกายอันอ่อนน้อมและงดงาม เช่นเดียวกันกับเมื่อนำเสนอน้ำชาและขนมให้กับเราคราวนั้น เราไม่รู้จักแม้กระทั่งนามของท่าน ได้แต่เดินท่านไปตามระเบียงไม้ ผ่านห้องเล็ก ๆ ที่มีคน ๓–๔ คนกำลังนั่งเรียนเขียนอักขระแบบโบราณไปยังห้องกลาง ล่ามบอกว่า เพื่อให้เราได้คารวะและระลึกถึงอาจารย์ผู้ล่วงลับคนก่อน ๆ จากนั้นก็ถูกพาไปยังอีกห้องหนึ่ง เพื่อรอที่จะพบท่านเจ้าอาวาสไดชูอินคนใหม่
การนั่งกับพื้นของชาวตะวันออก นอกจากจะเป็นการสำรวมด้วยท่วงท่าของร่างกายแล้ว ยังหมายลึกถึงประเพณีของการสื่อสาระของใจด้วยการนั่ง ดังที่เรารู้กันว่าคำว่า อุปนิษัท ที่ใช้เรียกยุคทองของปรัชญาอินเดีย ๒๕๐ ปีก่อนและหลังพุทธกาลนั้น รากลึก ๆ แปลว่านั่งใกล้ นั่งใกล้ครูผู้สอนสั่งหรือนั่งใกล้สัจธรรมที่โน้มนำใจ ตรงกลางห้องในขณะที่นั่งรอคอยนี่เอง เราเห็นการนั่งด้วยใจที่ปรากฏเป็นความงามในท่าทางของสุภาพสตรีวัย ๔๐ ที่กำลังชงชาอยู่ตรงห้อง เพลินอยู่กับการชงชาของเธอจนกระทั่ง ประตูโชจิ ด้านหลังของห้องเลื่อนเปิดออกจากกัน ผู้ที่ก้าวเข้ามาคือ ผู้ที่นำขนมมาให้ในปีก่อนโน้น และผู้ที่เพิ่งจะต้องรับเราเข้ามาในตัวเรือนนั่นเอง บัดนี้อยู่ในเครื่องแต่งกายเต็มรูปแบบ ด้วยเสื้อคลุมตัวนอกหรือโอเกสะผ้าค่อนข้างหนาสีคราม และจีวรคล้องคอสีเขียวเข้ม “ทามูระ โซกัน” เราเพิ่งจะรู้จักฉายาท่านผ่านล่าม ท่านบวชที่ไดชูอินเมื่อ ๑๕ ปีที่แล้ว ครั้งยังอายุ ๒๑ และอยู่เป็นศิษย์ของท่านอาจารย์โซโก โรชิ ที่ไดชูอินมาโดยตลอดแม้จะต้องไปเรียนและฝึกฝนตนในวัดเซน ที่ใหญ่กว่าที่มีชื่อว่า เมียวชินจิ นับว่าอายุท่านยังน้อยเมื่อนึกถึงว่า ท่านรับภาระหน้าที่แทนท่านอาจารย์ ในตำแหน่งเจ้าอาวาสไดชูอิน และอธิการบดีมหาวิทยาลัยฮานาโซโน ที่สอนพุทธศาสนาด้วย แต่ท่านทามูระ โซกัน ได้ใช้ชีวิตนักบวชตามวิถีเซน คือ เรียนรู้จากครูผู้ถ่ายทอดจากใจหนึ่งถึงอีกใจหนึ่งซึ่งพร้อมรับ ถึงวันนี้ศิษย์ต้องยืนอยู่ด้วยตัวเองไม่มีอาจารย์คอยประคับประคอง ยังมีการสอนซาเซนอยู่ที่ไดชูอิน แต่ด้วยวัยวุฒิและคุณวุฒิที่ต่างจากท่านโซโกโรชิจึงทำให้ท่านพบว่า การสอนซาเซนเช่นอาจารย์นั้นเป็นความยากยิ่งสำหรับท่าน แต่ก็มีศิษย์ชาวตะวันตกของอาจารย์แวะเวียนมาปีละ ๑ ครั้ง เราสนทนากันหลายเรื่อง การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมในญี่ปุ่น พุทธศาสนาในญี่ปุ่นที่คลายความสำคัญ อิทธิพลของเซนที่ยังคงแทรกซึมอยู่ในชีวิตเล็กๆ ของผู้คนจำนวนไม่มากแต่มีพลังเรื่อง “ซาโตริ หรือสัมโพธิ”ซึ่งคือ ญาณที่เป็นคำฮิตติดปากคน เมื่อเอ่ยถึงพุทธศาสนานิกายเซน ซึ่งท่านบอกว่าเอามายึดเป็นที่พึ่งไม่ได้ อีกทั้งไม่แน่ใจนักว่ามีจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงมายา เรื่องเล็กที่สุดที่ท่านตอบสนองความใคร่รู้จากเบื้องลึกของใจผู้เขียนคือ อาจารย์ท่านสั่งเสียอะไรในลมหายใจสุดท้ายของชีวิต ท่านทามูระ โซกัน เล่าให้ฟังว่า อาจารย์ไม่ได้บอกกล่าวสาระสำคัญอันใดไว้ เพียงยกมือขึ้นวางแนบลงตรงหัวใจเท่านั้นเอง และท่านก็ยกมือทำท่าสาธิตให้ดู เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งต้องจดไว้ในบันทึกหน้าขนบแห่งชีวิตของครูตอนก่อนหมดลมหายใจ
ท่านทามูระ โซกัน สร้างความประทับใจให้กับผู้มาเยือน จากประเทศที่มีประเพณีทางพุทธศาสนาที่แตกต่างอย่างแน่นอน แต่นั่นเป็นเพียงรูปแบบภายนอก ที่สะท้อนจากการฝึกปฏิบัติภายในที่เป็นผลทำให้ใจใสบริสุทธิ์ ท่านผู้นี้ทำให้เราเกิดความหวังต่อโลกสมัยใหม่อีกนานัปการ เรื่องราวของการสื่อธรรมะจากครูถึงศิษย์ด้วยใจต่อใจที่สืบสายกันมาใน ไดชูอิน ทำให้เข้าใจซึ้งถึงความหมายของคำว่า อันเตวาสิก ที่ไม่หมายความผิวเผินเพียงแค่ศิษย์ก้นกุฏิที่ชิดใกล้ แต่ตามรากความเดิมคือ ผู้อาศัยอยู่ภายใน ล่วงรู้ใจของกันและกัน นอกจากนี้ยังรู้สึกยินดีที่ได้พบว่า บรรยากาศอุปนิษัทนั้นมิใช่อยู่แต่ในประวัติศาสตร์อันห่างไกลสุดไขว่คว้า หากเป็นเรื่องจริงที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน แม้จะเกิดขึ้น ณ มุมเล็ก ๆ บนผืนแผ่นดินโลกอันกว้างใหญ่ เรื่องวัฒนธรรมประเพณีก็สำคัญ แม้ไม่ใช่สาระอันยิ่งใหญ่ แต่เรื่องใจนั้นยิ่งยวดกว่ายากจะหาอะไรเสมอเหมือน













ความคิดปรุงใด ๆ ของสัตว์ทั้งหลาย
ที่กำลังกระหายต่อความหลุดพ้น
ย่อมสร้างภาวะพุทธะแห่งความเป็นตัวเป็นตนขึ้นมา








บทที่ 12 ยุคคนกินคน
กาลเวลาในกัปป์นี้ในห้วงพุทธันดรนี้ เป็นกาลสมัยแห่งศาสนาพุทธโคดม พระพุทธองค์ลงมาตรัสรู้ในยุคที่มนุษย์เกิดความประมาทเป็นอย่างมากๆแล้ว เป็นกรรมพิสดารแห่งพุทธวิสัยของพระองค์ท่านที่ลงมาตรัสรู้เมื่ออายุมนุษย์ลดน้อยถอยลงเหลือแค่ 120 ปี เท่านั้น และพระพุทธองค์ท่านก็ได้ตรัสพยากรณ์ถึงเหตุการณ์ในอนาคตข้างหน้าไว้ใน “ จักรวรรดิสูตร ” ว่า ต่อจากนี้ไปเมื่อสิ้นศาสนาแห่งเราอายุมนุษย์จักน้อยลงไปเรื่อยๆเพราะความประมาท ไม่รักษาศีล ไม่ปฏิบัติธรรม เมื่ออายุมนุษย์น้อยลงเหลือแค่ 25-30 ปี เมื่อไหร่ จะเกิดยุคมิคคสัญญีเกิดขึ้นซึ่งเป็นห้วงเวลาที่มีแต่ภยันตราย เป็นห้วงเวลาที่เกิดจากภัยอันเกิดจากอาวุธเข้าทำการประหัตประหารกันของมวลมนุษยชาติ ที่เรียกว่า “ สัตถันตรกัปป์ ”
พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า คนในยุคที่มีอายุสั้นแค่ 25-30 ปีนั้นเป็นมนุษย์ที่ดำรงชีวิตด้วยสัญชาติญาณคล้ายสัตว์ป่าเถื่อนเป็นคนไม่มีศีลธรรมดำรงชีวิตอยู่คล้ายสัตว์เดรัจฉาน ใครมีกำลังมากก็จักจะได้เป็นผู้นำฝูงมนุษย์ในยุคนั้น ห้วงเวลาสัตถันตรกัปป์ซึ่งเป็นยุคมิคคสัญญีนี้เป็นรอยต่อระหว่างกัปป์ต่อกัปป์ เป็นรอยต่อระหว่างพุทธันดรต่อพุทธันดรเป็นรอยต่อระหว่างศาสนาพุทธโคดมกับระยะเวลาที่เข้าเขตแห่งศาสนาเมตไตรโย รอยต่อระหว่างยุคในคราวนี้จักจะไม่มีน้ำท่วมโลกเพื่อล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์เหมือนครั้งรอยต่อระหว่างศาสนากัสสัปโปพระพุทธเจ้ากับศาสนาพุทธโคดมที่ผ่านมา
ในยุคมิคคสัญญีนั้นโลกจะเต็มไปด้วยภาวะมลพิษอันเกิดจากฝีมือมนุษย์ น้ำจะไม่สามารถดื่มกินได้เพราะเกิดจากการปนเปื้อนสารเคมีที่สะสมมานาน ผิวพรรณของมนุษย์ในยุคนั้นมีผิวหนังหยาบกร้านผิวพรรณทรามเป็นมะเร็งผิวหนังกันเป็นส่วนใหญ่เพราะเกิดจากสภาวะเรือนกระจกจึงทำให้หน้าตามนุษย์ในยุคนั้นไม่หล่อไม่สวย อายุมนุษย์ในยุคนั้นสั้นมีอายุยืนเฉลี่ยแค่ 25-30 ปีเท่านั้น เพราะสุขภาพมนุษย์ในยุคนั้นแย่มากๆเป็นโรคแปลกๆที่รักษาไม่หาย เทคโนโลยีทางการแพทย์ก็สูญสลายไปการรักษาแบบสมุนไพรก็ไม่ได้ผล เพราะต้นไม้ใบหญ้าในยุคนั้นแห้งเหี่ยวเฉาตายแคระแกร็นไม่ค่อยเจริญเติบโตสุญพันธุ์ไปหลายชนิดด้วยสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย โลกจะร้อนระอุเหมือนดั่งทะเลทราย ผู้คนในยุคนั้นจะรีบครองเรือนเพื่อเสพกามกัน ชายอายุ 10 ขวบ หญิงอายุ 5 ขวบ จะรีบได้เสียเป็นเมียผัว การครองเรือนแบบนี้จะกลายเป็นที่ยอมรับทั่วไปในยุคนั้นเพราะความที่มนุษย์ในยุคมิคคสัญญีมีอายุสั้นวงจรชีวิตสั้นนั้นเอง ในยุคนั้นพระพุทธศาสนาได้สูญหายไปรวมทั้งศาสนาอื่นๆด้วย เคยมีคนกล่าวว่าในกาลข้างหน้าจะมีคนคาดไถดำนาแล้วไปเจอรูปปั้นพระพุทธรูปที่ฝังไว้ใต้โคนต้นโพธิ์ แล้วคนเหล่านั้นถามกันว่า “ นี้คือตุ๊กตาอะไร ทำไมถึงปั้นกันแบบแปลกๆมีหัวแหลมๆ ” นี้คือความเสื่อมสูญสิ้นแห่งพระพุทธศาสนา
สัตว์ต่างๆจะสูญพันธ์ไปจากโลกใบนี้ เพราะมนุษย์ในยุคก่อนๆล่าเอามากินเป็นอาหารจนแทบจะหมดสิ้น มนุษย์ในยุคมิคสัญญีนี้จักอดอาหารตายเป็นส่วนมากเป็นยุคที่เกิดมาเพื่อรับวิบากกรรม เกิดมาเพื่อสืบพันธุ์เท่านั้น และเกิดมาเพื่อเบียดเบียนกันเป็นส่วนใหญ่ เป็นการเกิดมาเพื่อตายอย่างทรมาน เมื่ออดอาหารมากๆเข้ามนุษย์ในยุคนั้นจักต้องถกหญ้ากับแก้มากินเพื่อประทังชีวิตให้อยู่รอด แต่ความเป็นมนุษย์มิใช่วัวมิใช่ควายการกินหญ้ากับแก้ก็ไม่ทำให้ชีวิตอยู่รอดได้ เมื่อความหิวเกิดขึ้นมากๆเข้าสัญญาคือความจำได้หมายรู้ คือ สัญญาที่ว่าตนเองเป็นมนุษย์ก็จักเลือนหายไปกลายเป็นสัญญาที่วิปลาสผิดปรกติเห็นมนุษย์ด้วยกันเป็นเหยื่ออันโอชะ จักล่ากันเองเอามากินเป็นอาหาร จึงเกิดการใช้อาวุธอันเป็นมีดของมีคม ท่อนไม้ ก้อนหิน มาไล่ฆ่ามนุษย์ด้วยกันเพื่อนำเนื้อมนุษย์มากินเป็นอาหารประทังความอยู่รอด พระพุทธองค์จึงทรงตรัสเรียกกาลเวลาในยุคนี้ว่า “ สัตถันตรกัปป์ ” คือห้วงกาลเวลาที่เกิดอันตรายเกี่ยวกับอาวุธและเรียกชื่อยุคนี้อีกว่า “ ยุคมิคคสัญญี ” คือยุคแห่งกาลเวลาที่สัญญาความจำได้หมายรู้ของผู้คนส่วนใหญ่เกิดผิดปรกติวิปลาสเข้าใจผิดว่า เนื้อ (มิคคะ)คนกินได้ ยุคมิคสัญญีจึงเป็นยุคแห่งคนกินคน
คนจักไล่ล่าฆ่าคน เพื่อนำเนื้อคนมากินเป็นอาหาร เมื่อคนกินคนมากๆเข้ามนุษย์ก็จักแทบจะสูญเผ่าพงษ์พันธุ์ จะมีผู้คนกลุ่มหนึ่งที่ยังประคองสติและสัญญายังไม่วิปลาสพากันหนีเข้าป่าเข้าหุบเขาหลบหนีอยู่ตามถ้ำ เป็นการหนีเพื่อเอาชีวิตรอดมิให้ถูกมนุษย์ด้วยกันฆ่ากินกันเป็นอาหาร เมื่อมนุษย์ที่หลบหนีรอดได้จำนวนหนึ่งมาเจอกันก็ต่างวิ่งเข้าโอบกอดกันแล้วร้องไห้เศร้าโศกเสียใจว่า โลกใบนี้ถึงกาลพินาศด้วยน้ำมือมนุษย์เองแล้วต่างปรับทุกข์กันถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าที่มนุษย์ฆ่ากันและอายุสั้นแบบนี้ เพราะเหตุมาจากมนุษย์ไร้ศีลธรรมเบียดเบียนซึ่งกันและกันเป็นอาจิณ
เมื่อพวกเรารอดตายแล้วพวกเราจักอยู่ร่วมกันกันด้วยความสงบสุขเถิด พวกเราจักไม่กินกัน พวกเราจักทำความดีและร่วมกันสร้างกฎระเบียบ จารีตประเพณี ศิลปะวัฒนธรรม อันจะทำให้ความเป็นมนุษย์สมบัติกลับคืนมา และสืบพันธุ์เพื่อรักษาเผ่าพันธุ์มนุษย์เอาไว้ให้ดำรงอยู่คู่โลกใบนี้ พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสว่ามนุษย์พวกที่รอดตายและเริ่มต้นรักษาความดีกันใหม่นี้ จักเป็นต้นตระกูลบรรพบุรุษแห่งมวลมนุษยชาติแห่งศาสนาเมตไตรโย เมื่อมนุษย์เริ่มรักษาความดีรักษาศีลและอายุมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ จิตมนุษย์สูงขึ้นเรื่อยๆ จาก 25 ปี เป็น 50 ปี จาก 50 ปีเป็น 100 ปี จาก 100 ปีเป็น 500 ปี จากหลักร้อยสูงเป็นหลักพัน จากหลักพันสูงเป็นหลักหมื่น เมื่ออายุมนุษย์ยืนถึง 80,000 ปี เมื่อนั้น โพธิสัตว์ชั้นดุสิตจักจะได้ลงมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป









ฉันจะกลับไปญี่ปุ่น
ไปพบครูสอนเซน
ผู้วางแนวทางให้แก่ฉัน
กลับไปหาพ่อแม่และคนที่ฉันรัก
ฉันจะพาเธอไปดูต้นข้าวที่ออกรวง
ในแปลงนาของเราผืนนั้น








บทที่ 13 ธรรมชาติฟื้นฟูตัวเอง
“มาซาโนบุ ฟูกูโอกะ” เป็นเจ้าของแนวคิดเกษตรธรรมชาติที่เป็นที่รู้จักในหมู่เกษตรกรและนักวิชาการ ชาวไทยเป็นอย่างดี ภายหลังจากที่หนังสือ One Rice Straw Revolution หรือในชื่อไทยคือ ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว ได้รับการเผยแพร่ในปี พ.ศ. 2530 ฟูกูโอกะได้รับรางวัล แมกไซไซ ในปี 2531 จากผลงานเกษตรธรรมชาติซึ่งมีหลักการสี่ประการได้แก่ การไม่ไถพรวน การไม่ใช้ปุ๋ยเคมี การไม่กำจัดวัชพืช และการไม่ใช้สารเคมี ซึ่งหลักการของฟูกูโอกะได้สวนทางกับการเกษตรกรรมแผนปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง ฟูกูโอกะเป็นนักโรคพืชวิทยาที่ผันตัวเองไปเป็นเกษตรกรมาไม่ต่ำกว่า 50 ปี โดยพยายามที่จะฟื้นฟูดินและระบบนิเวศในไร่นาให้กลับมามีชีวิตดังเดิม สร้างเสริมความอุดมสมบูรณ์ให้แก่พรรณไม้และพืชผลในทางคุณภาพและปริมาณอีก
ด้วยมาซาโนบุ ฟูกูโอกะ เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2454 ในหมู่บ้านเล็กๆ บนเกาะซิโกกุทางตอนใต้ของญี่ปุ่น และจบการศึกษาทางจุลชีววิทยาสาขาโรคพืชวิทยา เคยทำงานเป็นนักวิจัยทางการเกษตรของกรมศุลกากรเมืองโยโกฮาม่าในการตรวจสอบ พันธุ์พืชที่จะนำเข้าและส่งออก เมื่อเขาอายุได้ 25 ปี ได้ตัดสินใจลาออกจากงานและกลับไปทำเกษตรกรรมที่บ้านในชนบท เขาใช้เวลากว่า 50 ปี ไปกับการพัฒนาวิธีการทำการเกษตรธรรมชาติ
ฟูกูโอกะเป็นผู้นำงานจากห้องทดลองออกมาสู่ไร่นา เขาอธิบายว่า ชาวนาเชื่อว่าทางเดียวที่จะให้อากาศเข้าไปปรับสภาพเนื้อดินได้ดี คือ ต้องใช้จอบ พลั่ว ไถ หรือใช้แทรคเตอร์พรวนดิน แต่ยิ่งไถพรวนมาก ดินก็จะแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยมากขึ้นทำให้อนุภาคของดินแตกกระจายออกจากกัน ทำให้อนุภาคของดินเหล่านี้เข้าไปอุดอยู่ในช่องว่างในดิน ดินก็จะแข็งขึ้นเกิดชั้นดินดาน แต่ถ้าปล่อยให้วัชพืชทำหน้าที่นี้แทน รากของวัชพืชจะซอนไซลงไปได้ลึกได้ถึง 30-40 ซม. ซึ่งจะช่วยทำให้ทั้งอากาศและน้ำผ่านเข้าไปในเนื้อดินได้ เมื่อรากเหล่านี้ตายก็เป็นอาหารของจุลินทรีย์ทำให้แพร่ขยายจำนวนมากขึ้น ไส้เดือนก็จะเพิ่มจำนวนขึ้นและตัวตุ่นก็จะมีตามมา ซึ่งจะช่วยขุดดิน เป็นการช่วยพรวนดินตามธรรมชาติ ดินจะร่วนซุย และสมบูรณ์ขึ้นเองตามธรรมชาติโดยไม่ต้องให้มนุษย์ช่วย เพียงแต่ปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นฟูตัวเอง
ผู้เขียนนึกถึงหนังสือเล่มนี้ทีไรก็อดนึกถึงวันเก่าๆในสมัยที่ยังเป็นพระเด็กๆซึ่งเริ่มหัดภาวนาไม่ได้ ก็เพราะว่าหนังสือเล่มนี้นี่เอง “ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว” ( One Rice Straw Revolution ) ที่มันพลิกโฉมหน้าการปฏิบัติของข้าพเจ้ามาสู่เส้นทางธรรมอันคือธรรมชาติมาจนถึงทุกวันนี้ ข้าพเจ้าต้องขอบคุณ ดร.ฟูกูโอกะ ที่ท่านเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นและหนังสือของท่านได้รับรางวัลแมกไซไซ แล้วข้าพเจ้าก็เคยอ่านหนังสือเล่มนี้มาตั้งแต่สมัยเป็นฆาราวาสตอนนั้นเรียนอยู่มหาวิทยาลัย ปี 3 และครั้งเมื่อมาบวชได้ 9 พรรษาจึงได้มาเจอหนังสือเล่มนี้อีกครั้งบนศาลาใหญ่หอประชุม แห่ง “วัดถ้ำเสือวิปัสสนา” จังหวัดกระบี่ เป็นวัดที่ข้าพเจ้าได้มาจำพรรษาพำนักอยู่หลายปีแล้ว ครั้งเมื่อเจอมันโดยบังเอิญก็รีบหยิบมันขึ้นมาอ่านเพื่อเสพอรรถรสในเนื้อหาเดิมๆของหนังสือเล่มนี้
แต่เมื่อข้าพเจ้าได้อ่านไปๆ ก็ฉุกคิดขึ้นมาไม่รู้ตัวถึง “วิธีการธรรมชาติ” ที่ ดร.ฟูกูโอกะ ท่านนำเอามาใช้ในวิธีการทำเกษตรของท่านเองที่ตั้งใจย้อนยุคไปสู่วิธีการธรรมชาติดั้งเดิมในการทำกสิกรรมของคนญี่ปุ่นโบราณ บนพื้นฐานความคิดที่ว่า “ไม่ต้องใส่วิธีการใดๆลงไปในการเพาะปลูก ไม่ไถพรวน ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ไม่กำจัดวัชพืช และไม่ใช้สารเคมี ควรให้ธรรมชาติมันปรับปรุงระบบมันเอง แล้วทุกอย่างที่เพาะปลูกมันจะลงตัว” ข้าพเจ้าได้เปรียบเทียบว่า มันก็เหมือนกับการที่ข้าพเจ้า พยายามปฏิบัติธรรม ทำโน้น ทำนี่ ทำตรงนั้นกับตรงนี้ เป็นการใส่วิธีการลงไปเพื่อให้ได้มาซึ่งผลแห่งการปฏิบัติตามที่ข้าพเจ้ามุ่งหวังไว้ แต่ในภาวะความเป็นจริง ข้าพเจ้าปฏิบัติธรรมมาตั้ง 9 พรรษาแล้วนับแต่บวช แต่ผลแห่งการปฏิบัติก็ไม่คืบหน้าเท่าที่ควรแต่อย่างใด ก็เคยมีอยู่ครั้งหนึ่งปฏิบัติจนได้อภิญญาแล้วในระดับหนึ่งซึ่งเป็นโลกียฌาน ได้มาหลายๆอย่างแต่ก็ทำให้ตัวเองควบคุมกำลังจิตตรงนั้นไม่ได้ จนทำให้จิตข้าพเจ้ามันเกิดความวิปลาส จิตแตกจิตเสีย เกือบแทบเสียผู้เสียคนเสียความเป็นพระนักปฏิบัติไป ครั้งนั้นทำให้ข้าพเจ้าละเลิกการเข้าไปทำกรรมฐานแบบกสินอย่างเด็ดขาดและหันมาวิปัสสนาดูจิตตนเองมากขึ้น แต่เมื่อวิปัสสนามาอีกหลายปีมันก็ยังไม่ดีขึ้น ราคะ โทสะ โมหะ ก็ยังมีอยู่เต็มหัวใจ จนกระทั่งข้าพเจ้าคิดว่า ตนเองคงไม่มีวาสนาที่จะบรรลุขึ้นฝั่งพระนิพพานเป็นพระอรหันต์เหมือนครูบาอาจารย์รูปอื่นๆแล้วกระมัง ทั้งๆที่ข้าพเจ้าก็นั่งสมาธิเพื่อให้จิตสงบขึ้นและเดินจงกรม พิจารณาเพื่อให้เกิดความเข้าใจในปัญญาตามรู้ตามดูจิตของตนเองตลอด โดยมีเวลาพักผ่อนได้นอนวันละ 4 ชั่วโมงเท่านั้นมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว
แต่เมื่อมาอ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว ฉุกคิดขึ้นมาถึงคำว่า “เพียงแต่ให้ธรรมชาติมันฟื้นฟูตัวมันเอง แล้วทุกอย่างที่เพาะปลูกมันจะลงตัว” มันทำให้ข้าพเจ้าครุ่นคิดเก็บนำมาพิจารณาถึงเรื่อง “จิต” ของเราเช่นกัน เราเองก็ควรปล่อยให้จิตมันดำเนินกลับไปสู่วิถีธรรมชาติดั้งเดิมของมัน แล้วมันน่าจะฟื้นฟูตัวมันเองออกจาก อวิชชาตัณหาอุปาทานได้ เพราะโดยธรรมชาติของจิตนั้นเมื่อถูกปรุงแต่งขึ้น มันก็ย่อมตั้งอยู่ได้ไม่นาน หลักธรรมชาตินั้นมันไม่มีอะไรที่สามารถตั้งอยู่ได้เพราะธรรมชาติแท้จริงมันคือความไม่มีไม่เป็น ถ้ามีมันก็ย่อมแปรปรวนเสื่อมไปสิ้นไป ดับไปเองตามภาวะธรรมชาติอยู่แล้ว ข้าพเจ้าเลยกลับมาพิจารณาถึงวิธีปฏิบัติธรรมของข้าพเจ้าที่พยายามฝืนธรรมชาติทำในสิ่งที่ขัดต่อธรรมชาติ โดยข้าพเจ้าพยายามเข้าไป บังคับ จับฉวย จับกุม ให้จิตมันว่างไม่ปรุงแต่งขึ้นมา

มันก็คงเหมือนกับที่ พวกชาวนาญี่ปุ่นเชื่อว่า... “ทางเดียวที่จะให้อากาศเข้าไปปรับสภาพเนื้อดินได้ดี คือ ต้องใช้จอบ พลั่ว ไถ หรือใช้แทรคเตอร์พรวนดิน แต่ยิ่งไถพรวนมาก ดินก็จะแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยมากขึ้นทำให้อนุภาคของดินแตกกระจายออกจากกัน ทำให้อนุภาคของดินเหล่านี้เข้าไปอุดอยู่ในช่องว่างในดิน ดินก็จะแข็งขึ้นเกิดชั้นดินดาน” มันเป็นการที่ชาวนาใช้ความพยายามทำอะไรลงไปสักอย่างในผืนนาแล้วชาวนาเหล่านี้คิดว่า การกระทำแบบนั้นเป็นการช่วยส่งเสริมการพรวนดินทำให้คุณภาพดินดีขึ้น แต่ในความเป็นจริงการกระทำดังกล่าวมันกลับทำให้ดินแย่ลงกว่าเดิม และชาวนาพวกนี้ก็ลืมและมองข้าม “วิธีธรรมชาติ” ไปว่า แท้จริงแล้วธรรมชาตมันก็มีวิธีการปรับปรุงตัวมันเองอยู่แล้ว และวิธีการธรรมชาติมันก็เป็นวิธีการจัดการโดยตัวมันเองโดยกระบวนการมันเอง และเป็นวิธีที่ดีที่สุดแบบเหมาะสมลงตัว ด้วยการปล่อยให้วัชพืชทำหน้าที่นี้แทน รากของวัชพืชจะซอนไซลงไปได้ลึกได้ถึง 30-40 ซม. ซึ่งจะช่วยทำให้ทั้งอากาศและน้ำผ่านเข้าไปในเนื้อดินได้ เมื่อรากเหล่านี้ตายก็เป็นอาหารของจุลินทรีย์ทำให้แพร่ขยายจำนวนมากขึ้น ไส้เดือนก็จะเพิ่มจำนวนขึ้นและตัวตุ่นก็จะมีตามมา ซึ่งจะช่วยขุดดิน เป็นการช่วยพรวนดินตามธรรมชาติ ดินจะร่วนซุย และสมบูรณ์ขึ้นเองตามธรรมชาติโดยไม่ต้องให้มนุษย์ช่วย
ในการจัดการจิตก็เช่นกัน หากเรางดเว้นที่จะเอาความเป็น “เรา” เข้าไปยุ่งเกี่ยวยุ่งยากกับมัน แล้วปล่อยให้ “ธรรมชาติ” แห่งจิตนั้น มันจัดการปรับปรุงตัวมันเอง โดยเราเห็นว่าจิตที่ถูกปรุงแต่งขึ้นนั้นมันคือทุกข์ ก็ไม่ควรเข้าไปยุ่งเข้าไปสาละวนในการปรุงแต่งต่อเติมยืดเยื้อออกไป เมื่อเราหยุดสาละวน โดยธรรมชาติแห่งจิตนั้นเมื่อไม่มีสิ่งใดแปลกปลอมเข้ามายุ่งเกี่ยวกับมันมาทำให้มันต้องแสดงเนื้อหาแห่งความปรุงแต่งเป็นตัวจิตมันให้ยืดยาวออกไป โดยธรรมชาติจิตนั้นเองมันก็จะมีความแปรปรวนไปตั้งอยู่ได้ไม่นานและในท้ายที่สุดแล้วมันก็จะดับไปเองเป็นธรรมดาตามระบบธรรมชาติแห่งมันอยู่แล้ว การที่จิตมันดับไปๆ มันก็ทำให้เราออกจากพฤติกรรมที่ชอบเข้าไปปรุงแต่งให้เกิดขึ้นเป็นจิตอยู่เนืองๆ มันเป็นระบบธรรมชาติที่ช่วยฟื้นฟูปรับปรุงจิตให้กลับไปสู่ระบบธรรมชาติของจิตที่มันแปรปรวนดับไปไม่มีเหลือเป็นธรรมดา ธรรมชาติแห่งความเสื่อมไปสิ้นไปมันจะช่วยปรับปรุงฟื้นฟูให้เกิดความคลายกำหนัดอันเกิดจากการที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่น
นับแต่วันนั้นเป็นต้นมา ทำให้ข้าพเจ้าได้เข้าใจถึงความหมายแห่งธรรมชาติที่มันมีอยู่ในธรรม และเข้าใจอย่างชัดเจนในพุทธประสงค์ที่พระพุทธองค์ท่านตรัสไว้ว่า
-ธรรมชาติแห่งจิตนั้น เมื่อมันถูกปรุงแต่งเกิดขึ้นเป็นจิต มันย่อมตั้งอยู่ได้ไม่นาน มีความแปรปรวนดับไปเป็นธรรมดา
-ธรรมชาติแห่งขันธ์ทั้ง 5 นั้น เมื่อขันธ์ทั้ง 5 เกิดขึ้นแล้ว ขันธ์ทั้ง 5นั้นย่อมดับไปเป็นธรรมดา
พระพุทธองค์ท่านก็ใช้ระบบธรรมชาติที่สามารถฟื้นฟูตัวมันเองเข้ามาในการแก้ไขปัญหาแห่งทุกข์แห่งการปรุงแต่งที่เกิดขึ้นเป็นจิตต่างๆ และพระพุทธองค์ท่านก็ค้นพบในวันที่ท่านได้ตรัสรู้ว่า แท้ที่จริงหากหลงผิดยังคิดว่ามีสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ ธรรมชาติแห่งความมีของสิ่งนั้นย่อมไม่เที่ยงแท้แน่นอนตั้งอยู่สภาพแห่งความมีเดิมๆได้ไม่นาน มันย่อมแปรปรวนสิ้นไปดับไปเป็นธรรมดาตามสภาพแห่งธรรมชาติ และแท้ที่จริงธรรมชาติอันแท้จริงนั้นย่อมว่างเปล่าไร้ความเป็นตัวเป็นตนอยู่อย่างนั้นไม่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นได้เลย และจึงไม่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่จะแปรปรวนดับไป มันคือความว่างเปล่าที่เป็นเช่นนั้นของมันเองอยู่อย่างนั้น พระพุทธองค์จึงตรัสไว้ใน ตติยนิพพานสูตร ว่า นิพพาน คือ “ธรรมชาติ แห่งการปรุงแต่งไม่ได้แล่ว”
เมื่อข้าพเจ้าเข้าใจเนื้อหาธรรมชาติดังนี้แล้ว นับแต่วันที่ได้อ่านหนังสือ “ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว” ของ ดร.ฟูกูโอกะ เสร็จแล้ว ข้าพเจ้าจึงงดเว้นที่จะเอาความเป็น “ข้าพเจ้า” เข้าไปกำกับจิต จับฉวยจับกุมจิต ตามรู้ตามดูเพื่อบังคับจิตมิให้มันเกิดขึ้นหรือคอยบังคับให้มันดับไปตามความต้องการของข้าพเจ้าแล้วคอยประคองภาวะความว่างอยู่ตลอดเวลา ซึ่งมันผิดวิธีธรรมชาติ ข้าพเจ้าได้เริ่มนำเอากระบวนการวิธีธรรมชาติมาใช้ในการปฏิบัติธรรม เพื่อให้ระบบธรรมชาติมันปรับปรุงฟื้นฟูตัวมันเอง จนกว่าข้าพเจ้าจะตระหนักชัดและซึมทราบภาวะแห่งความเป็นธรรมชาติดั้งเดิมแท้ของมันอีกครั้ง













มรรคมีองค์แปด
มันคือเส้นทางแห่งการบรรเทาพฤติกรรม
ที่ชอบเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่เข้าใจผิดไปเองว่ามี
แต่ธรรมชาติแห่งพุทธะมันไร้ตัวตนมันไม่เคยมีมาแต่ใหนแต่ไร
มันจึงไม่มีอะไรให้เข้าไปยึดมั่นถือมั่นได้เลย
มันจึงมิใช่สิ่งที่เกิดจากเส้นทางมรรคมีองค์แปดแต่อย่างใด








บทที่ 14 โสดาบัน
มีพระอริยเจ้าทั้งหลายเคยกล่าวไว้ว่า ธรรมอันแท้จริงนั้น "ไม่มีจุดเริ่มต้นและไม่มีจุดจบ ไม่มีการบรรลุและผู้บรรลุ" นั้นเป็นคำกล่าวที่ถูกต้อง เพราะธรรมอันแท้จริงที่ว่านั่น คือ "นิพพานธรรม" นั่นเองเป็นธรรมที่เสร็จเด็ดขาดไปแล้ว แต่ความที่พระพุทธ-องค์ลงมาจุติเพื่อมาประกาศธรรมอันเป็นสัมมาทิฐินั้น พระองค์มีความเมตตาต่อบรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลายทุกหมู่เหล่า พระพุทธองค์ทรงเล็งเห็นว่าในบรรดาหมู่เวไนยสัตว์นั้นมีความแตกต่างกันเปรียบเสมือนดอกบัวทั้ง 4 เหล่า รอบปัญญาบารมีแต่ละคนทำมาไม่เท่ากัน พระพุทธองค์จึงทรงประกาศธรรมไว้ทุกระดับแตกต่างกันไป เพราะฉะนั้นในเวลาที่มีพราหมณ์หรือบรรดานักบวชนอกศาสนาทั้งหลายมาถามปัญหาในธรรมต่อพระพุทธองค์ พระพุทธ-องค์ก็จะตอบปัญหาข้อข้องใจในธรรมไปตามเหตุตามปัจจัย การตอบธรรมของท่านนั้นมีการกล่าวถึงธรรมในระดับต่างๆกันไปตามความเหมาะสม

ในเส้นทางการบรรลุธรรมเป็นโสดาบันนั้น เป็นรอบบารมีของผู้ที่ได้ดวงตาเห็นธรรมชั้นต้น ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่จะละอนุสัยของตัวเองออกจากระบบเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏได้ จุดโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล เป็นจุดที่เข้าใจในเส้นทางธรรมชาติแห่งธรรม เข้าใจในเส้นทางวิถีแห่งจิตที่เป็นธรรมชาติของมัน เป็นจุดที่กระบวนการแห่งจิตเริ่มปรับไปสู่ "วิถีธรรมชาติอันดั้งเดิมของมัน" เพื่อมุ่งไปสู่เส้นทางการหลุดพ้นซึ่งเป็นวิถีแห่งธรรมอันเป็น "ธรรมชาติล้วนๆ" จุดตรงนี้เองที่พระพุทธองค์กล่าวไว้ว่าหากผู้ใดบรรลุธรรมอันเป็นโสดาบันแล้ว มันเปรียบเสมือนสายน้ำที่ไม่ไหลกลับ เป็นจุดที่จิตได้เรียนรู้เพื่อความกระจ่างชัดเจนในธรรมและแก้ไขปัญหาคือทุกข์เป็น และด้วยวิธีแก้ทุกข์หรือแก้อวิชชาความไม่รู้ทั้งปวงโดยปรับสภาพจิตไปสู่"ความเป็นธรรมชาติ" ของมันนั้น วิธีหรือวิถีแห่งจิตที่เป็น "ธรรมชาติ"นั่นเองมันเป็นสภาพที่เหมือน "สายน้ำที่ไม่สามารถย้อนกลับไปสู่จุดเดิมที่เคยไหลผ่านมา" ได้ มันมีแต่สายน้ำหรือวิถีอันเป็นธรรมชาตินี้จะไหลไปเรื่อย จะคลายกำหนัดไปเรื่อย เพื่อไปสู่ "ปากน้ำแห่งพระนิพพาน" ในท้ายที่สุด ด้วยวิธี "ไหลหรือคลายกำหนัด" แบบวิธีธรรมชาติ ตามที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้นั่นเอง
การบรรลุโสดาบันนั้น พระพุทธองค์ไม่ได้ทรงวางหลักเกณฑ์ใดๆตามความเห็นส่วนตัวของพระพุทธองค์เองแต่อย่างใดเลย "แต่โดยสภาพแห่งธรรม" หากความรู้ที่ได้เรียนรู้นั้น องค์ประกอบแห่งความรู้ทุกส่วนได้ทำลาย สักกายทิฐิ ศีลพรตปรามาส และวิจิกิจฉา ลงได้ทุกส่วนหมดแล้วเช่นกันไซร้ ก็เท่ากับ "ดวงจิต" นั้น ได้บรรลุเป็นอริยชนชั้นต้น คือ โสดาบันแล้ว
สักกายทิฐิ คือ ความเห็นที่เป็นส่วนอวิชชาล้วนๆว่าเป็นตัวเป็นตนว่าเป็นเราเป็นเขาว่าเป็นอัตตาล้วนๆ เป็นส่วนของดวงจิตที่ยังถูกอวิชชาครอบงำได้ในทุกส่วน วิธีแก้ไขคือ ต้องเรียนรู้และยอมรับเพื่อทำความเป็นสัจธรรมความเป็นจริงให้ปรากฏว่าจริงๆแล้วไม่มีเราไม่มีเขาไม่มีอัตตาไม่มีความเป็นตัวตน แต่ความเป็นจริงมันประกอบขึ้นไปด้วยขันธ์ทั้ง 5 หรือ สิ่งห้าอย่างมารวมตัวกันคือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ และขันธ์ทั้ง 5 นี้ ก็ล้วนตกอยู่ในกฎธรรมชาติ คือ มันล้วนไม่เที่ยงโดยตัวมันเองโดยเนื้อหามันเอง มันคือความหมายแห่งความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่แล้วโดยสภาพของมัน นี่คือความเป็นธรรมดาโดยธรรมชาติของมันเองอยู่แล้ว เมื่อสภาพแห่งธรรมปรากฏขึ้นเช่นนี้ก็ถือว่า ดวงจิตนั้นได้ทำลายอวิชชาแห่งสักกายทิฐิลงได้โดยสิ้นเชิง

ศีลพรตปรามาส คือ ข้อห้าม ข้อวัตรหรือเงื่อนไขหลักเกณฑ์ต่างๆที่ดวงจิตนั้นเข้าไปยึดมั่นถือมั่น โดยคิดว่าจะต้องทำข้อวัตรข้อห้ามเงื่อนไขนั้นๆอยู่ตลอดเวลาเพื่อไปสู่หนทางแห่งพระนิพพาน แต่โดยเนื้อแท้แล้ว ข้อวัตร ข้อห้ามเงื่อนไขเหล่านี้ล้วนเป็นอวิชชาทั้งสิ้น เป็นหนทางที่นำไปสู่ความเป็นโมหะงมงาย ไม่ใช่เส้นทางแห่งธรรมอันเป็นธรรมชาติซึ่งเป็นหนทางอันหลุดพ้นแท้จริง เช่น ลัทธิที่ต้องถือข้อวัตรคลานสี่ขาเหมือนโคแล้วต้องกินหญ้าทุกวัน เมื่อทำเช่นนี้แล้วตนเองจักเชื่อว่าข้อวัตรเหล่านี้จะทำให้ตนพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวง แต่ด้วยความเป็นจริงโดยเนื้อหาแห่งข้อวัตรนั้นมันกลับเป็นอวิชชาซึ่งเต็มไปด้วยโมหะอย่างยิ่ง แต่เมื่อนักบวชเหล่านี้ได้ฟังธรรมพระพุทธองค์แล้วเกิดความเข้าใจในธรรมทั้งปวงและปล่อยให้ “จิต” มันดำเนินไปสู่ “ความไม่เที่ยงดับไปตามธรรมดาตามวิถีธรรมชาติ” ของมัน อันเป็นข้อวัตรแห่งธรรมชาติ เมื่อสภาพแห่งธรรมปรากฏขึ้นเช่นนี้แล้วก็ถือว่าดวงจิตนั้นได้ทำลายอวิชชาแห่งศีลพรตปรามาสลงได้โดยสิ้นเชิง

วิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัยในธรรม เป็นความลังเลสงสัยด้วยความไม่เข้าใจว่าอะไรคือทุกข์ อะไรคือเหตุแห่งทุกข์ อะไรคือการดับทุกข์ได้ และอะไรคือหนทางแห่งความพ้นทุกข์ ความลังเลความไม่เข้าใจในธรรมทั้งปวงมันเป็นอุปสรรคต่อการจะเข้าไปแก้ไขปัญหาดวงจิตที่ถูกอวิชชาห่อหุ้มเอาไว้ เสมือนว่ามีปัญหาเกิดขึ้นอยู่แต่ไม่มีความรู้เลยว่าปัญหานั้นคืออะไร มีลักษณะอย่างไร ปัญหาเกิดขึ้นตรงไหนแล้วจะเข้าไปแก้ไขปัญหานั้นด้วยวิธีอะไร หากไม่ยอมศึกษาเรียนรู้ในธรรมว่าอะไรคืออะไรเพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงต่อสัจธรรม ก็ย่อมหมายถึงเราไม่สามารถตระหนักชัดถึงเนื้อหาแห่ง “กระบวนการแก้ไขปัญหา” และยังสรุปเอาเองว่าธรรมแบบนี้แบบนั้นใช่แล้วตามความเข้าใจของตน การเข้าไปแก้ไขปัญหาด้วยลักษณะไม่รู้จริงก็ทำให้ปัญหาคืออวิชชานั้นยังคงอยู่ และลักษณะการเข้าไปแบบความไม่รู้จริงก็กลายเป็นอวิชชาตัวใหม่ซ้อนเข้ามาทำให้เกิดปัญหามากขึ้นตามมาอีก

ครั้งในสมัยพุทธกาลที่พระองค์ทรงประกาศธรรมไว้ครั้งแรก ในนาม "ธัมมจักรกัปปวัตตนสูตร" พระองค์ทรงตรัสถึงธรรมอันเป็นทางสายกลาง คือมรรคมีองค์ 8 ให้ละเว้นทางที่ตึงเกินไป คือ การบำเพ็ญทรมานกายต่างๆแบบทุกรกิริยา และให้ละเว้นทางที่หย่อนเกินไปคือทางที่เสพกามคุณ และพระพุทธองค์ทรงตรัสว่าอะไรคือทุกข์ อะไรคือสมุทัย(เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์) อะไรคือนิโรธ(การดับทุกข์ได้) อะไรคือมรรค(หนทางแห่งความพ้นทุกข์) ซึ่งเป็นธรรมอริยสัจทั้ง4 พระองค์ทรงชี้ให้ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 แก้ไขปัญหาในอวิชชาอย่างเป็นระบบและถูกต้องตรงต่อสัจธรรม เมื่ออัญญาโกณฑัญญะเข้าใจในธรรมที่พระองค์ตรัสแล้วว่า ความปรุงแต่งความคิดทั้งปวงคือทุกข์ ความไม่รู้คืออวิชชาพาเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ทั้ง 5 จนก่อให้เกิดตัณหาอุปาทานคือ สมุทัย ความไม่เที่ยงโดยสภาพมันเองโดยตัวมันเองของขันธ์ทั้ง5 ของตัณหาอุปาทานทั้งปวงคือ นิโรธ และตรงนี้ก็คือเนื้อหาแห่งหนทางดับทุกข์ได้อยู่แล้ว คือมรรค ก็เท่ากับอัญญาโกณฑัญญะทำลาย สักกายทิฐิ ศีลพรตปรามาส วิจิตรกิจฉา ลงได้แล้ว และเมื่ออัญญาโกณฑัญญะปล่อยให้จิตดำเนินไปสู่ความดับโดยตัวมันเอง ซึ่งเป็นไปตามธรรมดาอันคือสภาพธรรมชาติของมันอยู่แล้ว พระองค์จึงเปล่งวาจาออกมาว่า "อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอรู้แล้วหนอ" อัญญาโกณฑัญญะก็บรรลุเป็นอริยชนชั้นโสดาปัตติผล ณ เวลานั้น










































เมื่อพวกเธอมัวเมาในทิฏฐิแห่งธรรม
เธอก็จะแสวงหาด้วยการหว่านเมล็ดพืชแห่งการปฏิบัติ
และก็จะเก็บเกี่ยวผลที่ได้ปฏิบัติด้วยการเฝ้ารออย่างฝันหวาน
นั่นแหละหน้าตาความบริสุทธิ์ทางจิตของพวกเธอ
แต่แท้ที่จริงมันกลับแปดเปื้อนไปด้วยตัวตน
ที่จิตเธอเกาะยึดในธรรมและหลักเกณฑ์ในธรรมนั้นๆ









บทที่ 15 ศีล
โดยปรกติเมื่อต้นกัปป์นี้อายุมนุษย์ยืนถึง 100,000 ปีนั้น จิตใจมนุษย์มีสภาพปรกติมาก มนุษย์ในยุคนั้นไม่รุ้จักคำว่า “ลักขโมย” เพราะของทิพย์ข้าวทิพย์ขึ้นเกลื่อนกลาดอยู่ทั่วไป ไม่มีความจำเป็นต้องเก็บมารักษาเอาไว้เป็นเจ้าของ จึงไม่จำเป็นต้องลักชิงแย่งกัน ไม่รู้จักคำว่าผิดลูกผิดเมียเพราะจารีตประเพณียุคนั้นนิยมครองเรือนแบบผัวเดียวเมียเดียวจึงไม่มีใครผิดลูกผิดเมียทำชู้กัน ไม่รู้จักคำว่าพูดโกหกเพราะต่างคนต่างมีวาระจิตรู้ความคิดซึ่งกันและกัน เมื่อคิดแบบไหนก็พูดออกมาแบบนั่นเป็นสัจจะวาจา ไม่รู้จักคำว่าฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเพราะอยู่กันแบบธรรมธิปไตยผู้คนมีศีลธรรมไม่เบียดเบียนชีวิตซึ่งกันและกัน ผู้คนยุคนั้นบริโภคแต่ข้าวทิพย์สีเหลืองหอมกรุ่น กิน 1 มื้อ อยู่ไปได้ 7 วัน ไม่บริโภคเนื้อสัตว์เพราะไม่เหมาะสมแก่ร่างกายของมนุษย์ในยุคนั้นซึ่งเป็นกึ่งกายหยาบกายทิพย์ ซึ่งมีวรรรณะผิวพรรณผุดผ่อง ไม่รู้จักคำว่าหลงลืมสติเพราะผู้คนในยุคนั้นเจริญกรรมฐานเป็นบาตรฐานกันทุกดวงจิตเพราะเป็นพรหมเก่าที่ลงมากินง้วนดินจนร่างกายหยาบกลายเป็นต้นตอเผ่าพันธ์มนุษย์ในยุคนี้ สิ่งของประเภทมึนเมามัวเมาเช่นน้ำสุราคันธบาลคนในยุคนั้นไม่รู้จักและประกอบขึ้นไม่เป็น กล่าวได้ว่าจิตใจในยุคที่มนุษย์มี อายุ 100,000 ปีที่ผ่านมา เป็นจิตใจที่สูงส่ง ผู้คนในยุคนั้นจึงไม่มีความจำเป็นต้องรักษาศีลแต่อย่างใดเพราะจิตใจของทุกคนในยุคนั้นมีความเป็นปรกติอยู่แล้วดำรงชีวิตด้วยความผาสุขเรื่อยมา ทุกคนมีธรรมประจำใจคนในยุคนั้นอยู่ร่วมกันด้วยระบบการปกครองแบบธรรมธิปไตย คือ มีธรรมเป็นใหญ่
แต่แล้วด้วย “ความประมาท” ของมนุษย์เอง เมื่อประชากรมนุษย์มากขึ้น เริ่มปักเขตแดนเป็นสถานที่อยู่อาศัย เริ่มสะสมอาหารสิ่งของเริ่มมีตัวกูของกูมากขึ้น จิตใจมนุษย์เริ่มหยาบขึ้น ข้าวทิพย์ก็เลยกลายเป็นข้าวไม่ทิพย์ มนุษย์เลยมีความจำเป็นต้องเอาข้าวมาปลูกในนาในที่ดินของตน เริ่มแบ่งว่าของเราของเขา
จิตมนุษย์เริ่มผิดปรกติเพราะความเข้าไปยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูของกูมากขึ้น เมื่อประชากรมากกว่าปริมาณอาหารมนุษย์ก็เริ่มประมาท มนุษย์ก็ตัดสินใจที่จะลักขโมยข้าวในยุ้งฉางของผู้อื่นจนเป็นเรื่องที่น่าตกใจมากในยุคนั้นว่ามีการแย่งชิงลักขโมยอาหารกันเกิดขึ้นแล้ว เมื่อถูกจับได้ก็เริ่มโกหกเป็น ว่าตัวเองไม่ได้เป็นผู้ขโมยไปเพราะกลัวถูกลงโทษทางอาญา เมื่อมีการสอบสวนว่าได้ขโมยไปจริง มหาจักรพรรดิในยุคนั้นจึงสั่งประหารชีวิตเพราะถือว่าการขโมยเป็นเรื่องร้ายแรงในยุคนั้น ก็เท่ากับว่ามนุษย์เริ่มประหัตประหารชีวิตกันเอง
การที่มนุษย์ทำผิดศีลจิตใจมนุษย์เริ่มผิดปรกติความประมาทของมนุษย์เองทำให้อายุมนุษย์ลดลงต่ำมาเรื่อย จาก 100,000 ปี เหลือ 80,000 ปี เมื่อเกิดประมาทมากขึ้น 80,000 ปี เหลือ 40,000 ปี เมื่อเกิดความประมาทในหลายๆเรื่อง จาก 40,000 ปี ก็ลดลงเหลือ 20,000 ปี จนกาลเวลาผ่านเลยมาถึงปัจจุบันนี้อายุมนุษย์ในยุคนี้เฉลี่ยแล้วมีอายุยืนแค่ 70 ปี เท่านั้น เป็นยุคที่น่ากลัวมากเพราะมนุษย์ในยุคนี้เป็นผู้ที่ขาดศีลขาดธรรมเป็นส่วนใหญ่ เบียดเบียนซึ่งกันและกันอยุ่ตลอดเวลา เป็นยุคที่จะดิ่งต่ำลงไปสู่ยุคมิคคสัญญีอันมืดดำเข้าสู่ยุคคนกินคนในที่สุด เพราะฉะนั้นในเวลาที่พระพุทธองค์มาประกาศธรรมในยุคนี้ท่านจึงทรงสอนให้ทุกคนที่ยังไม่เข้าใจเรื่องทุกข์และความดับไปแห่งทุกข์นั้น “ใช้จิตปรุงแต่ง” เพื่อเข้าไปรักษาศีล ทั้งนี้เพื่อยังความเป็นปรกติผาสุกในการดำรงชีวิตของมวลหมู่มนุษยชาติให้กลับคืนมา เหมือนเช่นสังคมมนุษย์อันเป็นปรกติในต้นกัปป์ที่ผ่านมา ในการอยู่ร่วมกันของสังคมมนุษย์นั้น “ศีล” คือศิลปะในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันกับคนอื่นอย่างมีความสุขเป็นปรกติ หากทุกคนมีศีลสังคมที่อยู่ร่วมกันนั้นก็จะหมดความวุ่นวายลงอย่างทันที
เมื่อพระพุทธองค์ทรงประกาศธรรมครั้งแรกที่ชื่อ “ธัมมจักรกัปปวัตนสูตร” ในเรื่องมรรคมีองค์ 8 นั่น พระพุทธองค์ก็ได้ตรัสถึงเรื่องศีลไว้ในเส้นทางหลุดพ้นนี้ด้วย คือ สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว ซึ่งเป็นเรื่องของศีล5 ศีล8 ศีล 227 นั่นเองทั้งนี้เพราะอริยชนที่ได้เดินบนเส้นทางหลุดพ้นในมรรคมีองค์แปด ถึงแม้จะหลุดพ้นแล้วจิตถึงความดับสนิทไม่มีเหลือ แต่การครองขันธ์ 5 และการดำรงชีวิตร่วมกับผู้อื่นก็ยังมีอยู่ ยังคงต้องมีศีลเพื่อเป็นศิลปะในการดำเนินชีวิตเพื่อให้สอดคล้องแก่คนรอบข้างได้อย่างเหมาะสมลงตัว เป็นศีลปรมัตถ์ที่การแสดงออกทางกาย วาจา เป็นเรื่องปรกติที่ไปในทางที่ชอบอยู่แล้ว มิได้เกิดจากการยึดมั่นถือมั่นของจิตที่จะปรุงแต่งเพื่อเข้าไปที่จะรักษาศีลแต่อย่างใด
และศีลนี้เองที่พระพุทธองค์ได้ใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างศรัทธาแก่ศาสนิกชนเพื่อการเผยแพร่พระพุทธศาสนาให้เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางอีกด้วย ในยุคแรกของการประกาศศาสนานั้น ศีลของภิกขุยังไม่ได้บัญญติเป็นข้อๆถึง 227 ข้อ ที่รวมมาในวินัยปิฏกเพราะยังไม่มีเหตุปัจจัยพระพุทธองค์จึงยังทรงไม่บัญญัติขึ้น แต่พระองค์ท่านทรงวางหลักเกณฑ์ไว้อย่างคร่าวๆว่า ภิกษุผู้ที่ยังชีพด้วยผู้อื่นเลี้ยงคือต้องขอเขากินตลอดชีวิตนั้น การดำรงชีวิตของภิกษุก็ควรดำเนินไปในทางมีศิลปะในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นด้วยความเป็นคนดี กล่าวคือต้องมีวาจาที่ชอบในการพูดออกมาแต่ละครั้ง(สัมมาวาจา) ต้องมีการกระทำที่ชอบไม่เบียดเบียนผู้อื่น(สัมมากัมมันโต) ต้องมีการเลี้ยงชีพชอบไม่ต้องลักขโมยสิ่งของ ของผู้อื่น(สัมมาอาชีโว) และพระพุทธองค์ก็ได้วางหลักเกณฑ์เรื่องศีลอีกครั้งในครา “ ประกาศโอวาทปาฏิโมกข์ ” โดยพระองค์ท่านตรัสว่า “ให้ละเว้นเสียซึ่งความชั่วทั้งปวง ให้ทำแต่ความดี และยังจิตให้บริสุทธิ์” เพราะฉะนั้นการดำเนินชีวิตของภิกษุในยุคเริ่มแรกแห่งการประกาศศาสนานั้นไม่มีศีลเป็นข้อห้ามแต่ละอย่างแต่ละข้อตายตัวเหมือนปัจจุบันนี้ แต่ศีลของภิกษูในยุคแรกนั้นอิงกับมาตรฐานความดีของสังคมชาวชมพูทวีปในยุคนั้นว่า อะไรคือความดีซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วไป โดยพระพุทธองค์ประสงค์ให้ สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว เป็นเนื้อหาอันเดียวกับศีล5 คือ ห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ห้ามลักทรัพย์ ห้ามเสพกามคุณ ห้ามพูดโกหก ห้ามดื่มสุราเมรัยของมันเมานั่นเอง
ในการเวลาต่อมาเมื่อมีเหตุปัจจัยตั้งแต่คราวพระสุทินเสพกามคุณเพื่อสืบเผ่าพันธุ์ในตระกูลตนเอง พระองค์ก็เริ่มบ้ญญัติศีลของภิกษุเป็นข้อๆเรื่อยมา โดยอาศัยเหตุปัจจัยที่มีผู้อื่นมาทูลฟ้องพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ก็จำเป็นต้องบัญญัติเป็นเรื่องๆไป ทั้งนี้เพื่อยังให้ศรัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนายังคงอยู่และมิให้เป็นอุปสรรคขวางกั้นต่อการประกาศธรรมของพระองค์ท่าน และที่สำคัญก็เพื่อประสงค์ให้ภิกษุทั้งหลายดำรงชีวิตกับผู้คนในสังคมปุถุชนได้อย่างเป็นปรกติสุขนั้นเอง




















เมื่อกล่าวถึงการสั่งสอน
ถ้าหากว่าเห็นแก่ทางอันประเสริฐนั้น
อาตมาก็จะกล่าวแก่ท่าน จากความรู้อันลึก
และนำท่านไปข้างหน้แต่ด้วยการกระทำของอาตมานี้
จะไม่ช่วยให้พวกเธอ เข้าถึงความรอบรู้ต่อพุทธะ
อันคือภาวะดั้งเดิมแท้ได้เลย






บทที่ 16 การตระหนักชัด
การที่เราจะเข้าไปแก้ไขปัญหาในทุกๆปัญหาที่เกิดขึ้น ความจำเป็นจริงๆในสิ่งแรกก็คือ ควรเข้าไปศึกษาดูว่า “ ปัญหา ” นั้น มันคืออะไร หน้าตาแห่งปัญหามันเป็นอย่างไร เมื่อทำความรู้จักปัญหานั้นแล้ว สิ่งที่ควรทำต่อไปก็คือ ควรเข้าไปศึกษาถึงเหตุปัจจัยว่าอะไรที่มันก่อให้เกิดปัญหานี้ขึ้น ความจำเป็นที่เราจะต้องเข้าไปศึกษาถึงเหตุอันก่อให้เกิดปัญหา ก็เพราะเราจะได้เข้าไปแก้ไขปัญหาให้ถูกทิศทาง มันจึงเป็นการแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริงไม่ให้เกิดการหลงทางอีกด้วย กระบวนการดังกล่าวนี้คือ กระบวนการแห่ง “ การศึกษาถึงปัญหาและการแก้ไขปัญหา ” เป็นกระบวนการวิธีในการพิสูจน์แบบวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ซี่งอาศัยการพิสูจน์ด้วยหลักทฤษฎี “ การอาศัยเหตุและผล ” อย่างตรงประเด็น และพระพุทธองค์ท่านก็ได้ใช้หลักทฤษฎีนี้มาก่อนนักวิทยาศาสตร์ในยุคปัจจุบัน ท่านได้ใช้หลักนี้ในราตรีคืนแห่งการตรัสรู้นั่นเอง เมื่อท่านได้ตรัสรู้แล้วและหลักในทฤษฎีท่านถูกต้องท่านจึงเป็นนักวิทยาศาสตร์เอกในยุคนั้นที่ผ่านมา
เมื่อพระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า ปัญหาที่เป็นตัวพาทำให้บรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลายต้องไปเวียนว่ายตายเกิดนั้น คือ “ ทุกข์ ” เราเองในฐานะนักปฏิบัติจึงมีความจำเป็นต้องเข้าไปศึกษาว่า “ทุกข์ ” นั้นหน้าตาเป็นอย่างไร และต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความเข้าใจว่าอย่างถ่องแท้ว่า “ ทุกข์ ” นั้น มันเกิดขึ้นได้อย่างไรและอาศัยเหตุปัจจัยอะไรที่ทำให้มันเกิด และอีกทั้งจะเข้าไปแก้ไขปัญหาคือ “ ทุกข์ ” นั้นได้ด้วยวิธีอะไร เมื่อศึกษาธรรมะที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ให้เพียงพอจนเกิดความรู้และความเข้าใจแบบถ้วนทั่วว่า อะไรคือทุกข์ อะไรคือเหตุแห่งทุกข์ และอะไรคือความดับทุกข์ สิ่งที่เราเข้าใจแบบ “หมดไปซึ่งความลังเลสงสัย” ในเรื่องกระบวนการเรียนรู้ถึงปัญหาและการแก้ไขปัญหาคือ “ทุกข์” เหล่านี้ข้างต้นและคิดออกเห็นภาพชัดเจน สิ่งเหล่านี้เรียกมันว่า “ การตระหนักชัด ”
การตระหนักชัดนี้เอง คือ เป็นการเริ่มต้นปฏิบัติธรรมที่แท้จริง และ “เป็นคำตอบเดียว ” สำหรับคำถามที่หลายๆคนที่พึ่งจะเข้ามาเป็นลูกศิษย์หน้าใหม่ๆ ถามผู้เขียนเข้ามาแทบทุกคนเลยว่า “ พระอาจารย์ ลูกศิษย์จะเริ่มต้นปฏิบัติธรรมอย่างไรตรงใหนก่อนดี ”






















ธรรมะมันเป็นสภาพธรรมชาติของมันเองมาแต่แรกเริ่มเดิมที
แล้วจะเข้าไปปรุงแต่งบรรยายคุณลักษณะ
ชนิด และ เนื้อหาทุกซอกทุกมุม มันอีกทำไม
คุณโง่เขลาไปเองว่ามันเป็นธรรมะชนิดที่มันต้องจับต้องได้
และมันต้องโผล่ปรากฎภาพลักษณ์ในหัวของคุณ
ตามที่คุณจินตนาการ...นี่มันไม่ใช่ธรรมะไม่ใช่พุทธะแล้ว
มันเป็นเพียง "ภาพแห่งจินตนาการ"ที่จับฉวยธรรมะให้มีตัวตนขึ้นมา







บทที่ 17 สติปัฏฐาน
โดยความเป็นจริง ธรรมอันคือธรรมชาติที่แท้จริงนั้นมีเพียงข้อเดียวที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ คือ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา หมายถึง ธรรมทั้งหลายทั้งปวงย่อมไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่แล้วอย่างนั้นโดยตัวมันเอง แต่เพราะความที่บรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลายมีรอบปัญญาบารมีไม่เท่ากัน สรรพสัตว์บางพวกก็ไม่สามารถที่จะทำความเข้าใจตระหนักชัดในธรรมอันคือธรรมชาติที่แท้จริงนั้นได้ เพราะสรรพสัตว์พวกนี้ยังมีความหลงผิดเข้าไปยึดมั่นถือมั่นว่า ยังเห็นว่ามีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นอยู่เนืองๆ เมื่อไม่เข้าใจธรรมอันคือธรรมชาติที่แท้จริงว่า ความจริงมันไม่มีอะไรที่เป็นตัวเป็นตนอยู่เลยมันว่างเปล่าของมันอยู่อย่างนั้น เมื่อยังเข้าไปหลงยึดว่า “มี” พระพุทธองค์จึงทรงมีความเมตตาที่จะสั่งสอนสรรพสัตว์พวกนี้ว่า สิ่งที่หลงเข้าไปยึดว่ามีซึ่งมันคือ “ การเกิดขึ้น ” แห่งอัตตาความเป็นตัวตนนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นนี้นั้นย่อมตั้งอยู่ได้ไม่นานและมีความเสื่อมไปดับไปโดยตัวมันเองเป็นธรรมดาตามธรรมชาติของมัน
เมื่อครั้งที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสถึงธรรมอันหากหลงเข้าไปยึดว่ามีแล้วมันย่อมมีความเสื่อมไปดับไปเป็นธรรมดาแก่ชุมชนนิคมชาวกุรุ ชื่อว่า กัมมาสธัมมะ พระพุทธองค์ท่านได้ทรงแจกแจงลักษณะธรรมอันหลงเข้าไปยึดว่ามี ไว้ทั้งหมด 4 หมวดใหญ่ ได้แก่ หมวดกาย หมวดเวทนา หมวดจิต หมวดธรรม พระพุทธองค์ตรัสธรรมอันคือ สติปัฏฐานทั้ง 4 ไว้ เพื่อชี้ให้บรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลายที่ยังหลงยึดว่ามีนั้น ได้เห็นความเกิดขึ้นแห่งธรรม อันคือ กาย เวทนา จิต ธรรม และได้เห็นความเสื่อมไปดับไปในธรรม อันคือ กาย เวทนา จิต ธรรม นั้นเอง
ทั้งนี้เพื่อเป็นไปในความตั้งมั่นแห่ง สติ สมาธิ ปัญญา อันคือเนื้อหาแห่งมรรคมีองค์แปด ซึ่งเป็นหนทางพ้นจากทุกข์ ( ซึ่งหมายถึง การที่ได้เห็นความเกิดขึ้นแห่งธรรม อันคือ กาย เวทนา จิต ธรรม และได้เห็นความเสื่อมไปดับไปในธรรม อันคือ กาย เวทนา จิต ธรรม นั้น มันคือความตั้งมั่นและมันคือความเป็นไปในอินทรีย์แห่งธรรม คือ สติ สมาธิ ปัญญา ซึ่งเป็นหนทางแห่งมรรคมีองค์แปดไปในตัวอยู่แล้ว )
ทั้งนี้เพื่อเป็นไปในความตั้งมั่นแห่ง สติ สมาธิ ปัญญา อันคือเนื้อหาแห่งโพชฌงค์ธรรม 7 ประการ ซึ่งเป็นธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้หลุดพ้น ( ซึ่งหมายถึง การที่ได้เห็นความเกิดขึ้นแห่งธรรม อันคือ กาย เวทนา จิต ธรรม และได้เห็นความเสื่อมไปดับไปในธรรม อันคือ กาย เวทนา จิต ธรรม นั้น มันคือความตั้งมั่นและมันคือความเป็นไปในอินทรีย์แห่งธรรม คือ สติ สมาธิ ปัญญา ซึ่งเป็นโพชฌงค์ธรรม 7 ประการ ซึ่งเป็นธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้หลุดพ้นไปในตัวอยู่แล้ว)
ทั้งนี้เพื่อเป็นไปแห่ง ความดับไปแห่งตัณหาอุปาทานไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่หลงเข้าไปยึดว่ามีและมันเกิดขึ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นไปแห่ง ความคลายกำหนัดที่แท้จริง
โดยเนื้อแท้อันเป็นธรรมแห่งสติปัฏฐานตามความประสงค์ของพระพุทธองค์นั้น พระองค์ท่านต้องการชี้ให้เห็นถึงธรรมชาติอันดับอยู่แล้วไม่เที่ยงอยู่แล้วโดยตัวมันเอง เป็นการเจริญสติปัฏฐานในวิถี “ความเป็นธรรมดาความเป็นธรรมชาติแห่งความเสื่อมไป” ในสิ่งที่หลงเข้าไปยึด














ทั่วทุก ๆ อาณาจักร
แห่งพุทธะทั้งหลาย
ย่อมเป็นของว่าง
โดยเสมอกัน








บทที่ 18 กาย
ในส่วนกายานุปัสสนาสติหรือสติปัฎฐานในหมวด กาย นั้น เป็นพุทธประสงค์ที่จะให้เราย้อนกลับมาพิจารณาถึงร่างกายเราเองที่เราชอบปรุงแต่งว่า “ ร่างกาย ” นี้คือ “ เรา ” แต่แท้ที่จริงนั้นอวัยวะทั้งหลายที่มาประกอบขึ้นเป็น “ ร่างกาย ” มันก็ล้วนมีสภาพเกิดขึ้นแล้วตั้งอยู่ในสภาพเดิมได้ไม่นาน แล้วสภาพเดิมแห่ง “ ร่างกาย ” นั้นก็ต้องเปลี่ยนสภาพไปเพราะมันมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดาธรรมชาติ ซึ่งเป็นอุบายที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้เพื่อให้เราละจากทิฏฐิความเห็นในส่วนที่ว่า “ กาย ” นี้ คือ “ เรา ” และให้เราเห็นถึง “ ลักษณะธรรมที่มันมีสภาพตั้งอยู่ได้ไม่นานเพราะมันมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ” พระพุทธองค์ท่านสอนให้เห็นถึงธรรมอันคือ “ อนิจจัง ” ความไม่เที่ยงโดยใช้การพิจารณาการเสื่อมไปแห่งกายเป็นบาทฐาน การพิจารณากายในกายซึ่งอยู่ในสติปัฏฐานหมวดกายนี้ มีดังต่อไปนี้

1. หายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกสั้น เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้าสั้น
พึงพิจารณาเห็นถึง ความเกิดขึ้นแห่งลมหายใจในจุดใดจุดหนึ่งในร่างกาย และจุดที่เกิดขึ้นแห่งลมหายใจก็เปลี่ยนสภาพไปตั้งอยู่จุดเดิมได้ไม่นานและมีความเสื่อมไปสิ้นไปจากจุดเดิมนั้น
“ ด้วยความตระหนักชัดถึงความสิ้นไปเสื่อมไปเป็นธรรมดา ” อันเกิดจากการพิจารณากายในส่วนนี้เป็นบาทฐาน ก็ให้เราควรละทิฏฐิที่เห็นว่ากายนี้คือเรา ไม่ควรเข้าไปเนื่อง ไม่ควรเข้าไปเนิ่นช้า ไม่ควรเข้าไปสาละวน ในทิฏฐิซึ่งเป็นจิตปรุงแต่งแบบนี้อีก กายนั้นเป็นเพียงแค่ได้อาศัยอยู่ชั่วคราวมีความเสื่อมไปสิ้นไปเป็นธรรมดา

2. เมื่อเดิน ก็รู้ชัดว่าเราเดิน เมื่อยืน ก็รู้ชัดว่าเรายืน เมื่อนั่ง ก็รู้ชัดว่าเรานั่ง เมื่อนอนก็รู้ชัดว่าเรานอน และความรู้สึกตัวในการก้าว ในการถอย ในการแล ในการเหลียว ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ในการกิน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้มรส ในการถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ ย่อมทำความรู้สึกตัว ในการเดิน การยืน การนั่ง การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง
พึงพิจารณาเห็นถึง ความเกิดขึ้นแห่งอิริยาบถของร่างกาย และอริยาบทที่เกิดขึ้นของร่างกายก็เปลี่ยนสภาพไปตั้งอยู่ในอริยบทเดิมได้ไม่นานและมีความเสื่อมไปสิ้นไปจากอริยบทเดิมนั้น
“ ด้วยความตระหนักชัดถึงความสิ้นไปเสื่อมไปเป็นธรรมดา ” อันเกิดจากการพิจารณากายในส่วนนี้เป็นบาทฐาน ก็ให้เราควรละทิฏฐิที่เห็นว่ากายนี้คือเรา ไม่ควรเข้าไปเนื่อง ไม่ควรเข้าไปเนิ่นช้า ไม่ควรเข้าไปสาละวน ในทิฏฐิซึ่งเป็นจิตปรุงแต่งแบบนี้อีก กายนั้นเป็นเพียงแค่ได้อาศัยอยู่ชั่วคราวมีความเสื่อมไปสิ้นไปเป็นธรรมดา
ในส่วนพิจารณาอริยบทนี้ พระพุทธองค์มีความประสงค์ให้เราเรียนรู้ถึงสภาพธรรมอันคือการระลึกรู้แบบถ้วนทั่วซึ่งมันคือ สติสัมปชัญญะ เพื่อเป็นบาทฐานเทียบเคียงให้เราได้ตระหนักชัดขึ้นถึงลักษณะความเป็นไปในอินทรย์แห่ง สัมมาสติ


3. แต่พื้นเท้าขึ้นไป แต่ปลายผมลงมา มีหนังเป็นที่สุดรอบ เต็มด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ ว่า มีอยู่ในกายนี้ เส้นผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้ทบ อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตามันเหลว น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร


พึงพิจารณาเห็นถึง ความเกิดขึ้นแห่งทิฏฐิเกี่ยวกับรูปกายที่เห็นเป็นร่างกายสมบูรณ์สวยงามครบ 32 ประการ เมื่อเข้าใจว่าแท้จริงร่างกายนั้นมันเพียงถูกห่อหุ้มและเต็มไปด้วยอวัยวะน้อยใหญ่ซึ่งเป็นสิ่งไม่สวยงาม ก็ไม่ควรเข้าไปเนื่อง ไม่ควรเข้าไปเนิ่นช้า ไม่ควรเข้าไปสาละวน ในทิฏฐิเกี่ยวกับรูปกายที่เห็นเป็นร่างกายสมบูรณ์สวยงามครบ 32 ประการ ทิฏฐินี้ก็มีความเสื่อมไปสิ้นไปเป็นธรรมดาธรรมชาติ
“ ด้วยความตระหนักชัดถึงความสิ้นไปเสื่อมไปเป็นธรรมดา ” อันเกิดจากการพิจารณากายในส่วนนี้เป็นบาทฐาน ก็ให้เราควรละทิฏฐิที่เห็นว่ากายนี้คือเรา ไม่ควรเข้าไปเนื่อง ไม่ควรเข้าไปเนิ่นช้า ไม่ควรเข้าไปสาละวน ในทิฏฐิซึ่งเป็นจิตปรุงแต่งแบบนี้อีก กายนั้นเป็นเพียงแค่ได้อาศัยอยู่ชั่วคราวมีความเสื่อมไปสิ้นไปเป็นธรรมดา

4.กายนี้ซึ่ง ตั้งอยู่ตามที่ ตั้งอยู่ตามปรกติ โดยความเป็นธาตุว่ามีอยู่ในกายนี้มี ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม
พึงพิจารณาเห็นถึง ความเกิดขึ้นแห่งทิฏฐิเกี่ยวกับรูปกายที่เห็นว่ากายนี้พึงตั้งอยู่ตามที่ พึงตั้งอยู่ตามปรกติ เมื่อเข้าใจว่าแท้จริงร่างกายนั้นมันประกอบไปด้วยธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม และย่อมสลายออกเป็นส่วนๆไปตามกาลเวลาพึงตั้งอยู่ตามที่ พึงตั้งอยู่ตามปรกติ ได้ไม่นาน ก็ไม่ควรเข้าไปเนื่อง ไม่ควรเข้าไปเนิ่นช้า ไม่ควรเข้าไปสาละวน ในทิฏฐิเกี่ยวกับรูปกายที่เห็นว่ากายนี้พึงตั้งอยู่ตามที่ พึงตั้งอยู่ตามปรกติ ทิฏฐินี้ก็มีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดาธรรมชาติ
“ ด้วยความตระหนักชัดถึงความสิ้นไปเสื่อมไปเป็นธรรมดา ” อันเกิดจากการพิจารณากายในส่วนนี้เป็นบาทฐาน ก็ให้เราควรละทิฏฐิที่เห็นว่ากายนี้คือเรา ไม่ควรเข้าไปเนื่อง ไม่ควรเข้าไปเนิ่นช้า ไม่ควรเข้าไปสาละวน ในทิฏฐิซึ่งเป็นจิตปรุงแต่งแบบนี้อีก กายนั้นเป็นเพียงแค่ได้อาศัยอยู่ชั่วคราวมีความเสื่อมไปสิ้นไปเป็นธรรมดา

5.พึงเห็น “ สรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า ”
- ตายแล้ววันหนึ่งบ้าง สองวันบ้าง สามวันบ้าง ที่ขึ้นพอง มีสีเขียวน่าเกลียด มีน้ำเหลืองไหลน่าเกลียด
- อันฝูงกาจิกกินอยู่บ้าง ฝูงนกตะกรุมจิกกินอยู่บ้าง ฝูงแร้งจิกกินอยู่บ้าง หมู่สุนัขกัดกินอยู่บ้าง หมู่สุนัขจิ้งจอกกัดกินอยู่บ้าง หมู่สัตว์ตัวเล็กๆต่างๆ กัดกินอยู่บ้าง
- เป็นร่างกระดูก ยังมีเนื้อและเลือด ยังมีเส้นเอ็นผูกรัดอยู่
- เป็นร่างกระดูก ปราศจากเนื้อ แต่ยังเปื้อนเลือด ยังมีเส้นเอ็นผูกรัดอยู่
- เป็นร่างกระดูก ปราศจากเนื้อและเลือดแล้ว ยังมีเส้นเอ็นผูกรัดอยู่

- เป็นกระดูก ปราศจากเส้นเอ็นผูกรัดแล้ว เรี่ยรายไปในทิศใหญ่ทิศน้อย คือ กระดูกมือไปทางหนึ่ง กระดูกเท้าไปทางหนึ่ง กระดูกแข้งไปทางหนึ่ง กระดูกขาไปทางหนึ่ง กระดูกสะเอวไปทางหนึ่ง กระดูกหลังไปทางหนึ่ง กระดูกสันหลังไปทางหนึ่ง กระดูกสีข้างไปทางหนึ่ง กระดูกหน้าอกไปทางหนึ่ง กระดูกไหล่ไปทางหนึ่ง กระดูกแขนไปทางหนึ่ง กระดูกคอไปทางหนึ่ง กระดูกคางไปทางหนึ่ง กระดูกฟันไปทางหนึ่ง กะโหลกศีรษะไปทางหนึ่ง
- เป็นกระดูกมีสีขาว เปรียบด้วยสีสังข์บ้าง
- เป็นกระดูกกองเรียงรายอยู่แล้วเกินปีหนึ่งขึ้นไปบ้าง
- เป็นกระดูกผุ เป็นจุณแล้ว

พึงพิจารณาเห็นถึง ความเกิดขึ้นแห่งทิฏฐิเกี่ยวกับรูปกายที่เห็นว่ากายนี้ต้องคงอยู่ในสภาพแบบนี้ตลอดไป เมื่อเข้าใจว่าแท้จริงการคงอยู่ตลอดไปของร่างกายนั้นก็มีการเสื่อมสิ้นสลายไปเหมือนที่เห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้าและกระจัดกระจายอยู่ในรูปแบบต่างๆอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้ ก็ไม่ควรเข้าไปเนื่อง ไม่ควรเข้าไปเนิ่นช้า ไม่ควรเข้าไปสาละวน ในทิฏฐิเกี่ยวกับรูปกายที่เห็นว่ากายนี้คงอยู่ในสภาพแบบนี้ตลอดไป ทิฏฐินี้ก็มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดาตามธรรมชาติ
“ ด้วยความตระหนักชัดถึงความสิ้นไปเสื่อมไปเป็นธรรมดา ” อันเกิดจากการพิจารณากายในส่วนนี้เป็นบาทฐาน ก็ให้เราควรละทิฏฐิที่เห็นว่ากายนี้คือเรา ไม่ควรเข้าไปเนื่อง ไม่ควรเข้าไปเนิ่นช้า ไม่ควรเข้าไปสาละวน ในทิฏฐิซึ่งเป็นจิตปรุงแต่งแบบนี้อีก กายนั้นเป็นเพียงแค่ได้อาศัยอยู่ชั่วคราวมีความเสื่อมไปสิ้นไปเป็นธรรมดา














ตราบใดที่ยังมี "หนทางไปสู่"
ตราบนั้นก็ยังมีความคิดให้พุทธะปรากฎเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา
แต่แท้ที่จริงธรรมชาติแห่งพุทธะ..ไม่มีการมาไม่มีการไป
และไม่มีการไปสู่...
ไม่มีหนทางไปสู่ที่นั้นๆที่คิดว่ามีพุทธะรอเธออยู่










บทที่ 19 เวทนา

ในส่วนเวทนานุปัสสนาสติหรือสติปัฏฐานในหมวด เวทนานั้น เป็นพุทธประสงค์ที่จะให้เราทำความเข้าใจพื่อตระหนักชัดว่า
ยามเราเสวยสุขเวทนา(ความรู้สึกที่เป็นสุข) ที่มันเกิดขึ้น โดยธรรมชาติสุขเวทนาที่เกิดขึ้นนั้น ย่อมไม่เที่ยงไม่ยั่งยืนตั้งอยู่ได้ไม่นาน มีความแปรปรวนดับไปเป็นธรรมดาอยู่แล้ว
ยามเราเสวยทุกขเวทนา(ความรู้สึกที่เป็นทุกข์) ที่มันเกิดขึ้น โดยธรรมชาติทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นนั้น ย่อมไม่เที่ยงไม่ยั่งยืนตั้งอยู่ได้ไม่นาน มีความแปรปรวนดับไปเป็นธรรมดาอยู่แล้ว
ยามเราเสวยอทุกขมสุขเวทนา(ความรู้สึกที่เฉยๆไม่สุขไม่ทุกข์) ที่มันเกิดขึ้น โดยธรรมชาติอทุกขมสุขเวทนาที่เกิดขึ้นนั้น ย่อมไม่เที่ยงไม่ยั่งยืนตั้งอยู่ได้ไม่นาน มีความแปรปรวนดับไปเป็นธรรมดาอยู่แล้ว
ถึงแม้ในความเป็นจริง เราไม่หลงเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ทั้ง 5 ในเวทนาทั้งหลายจนก่อให้เกิดตัณหาอุปาทาน เป็นจิตปรุงแต่ง เป็นเราเป็นเขา เป็นตัวตนขึ้นมา แต่ถ้าหากเรารู้ว่า ขณะนี้มีเวทนาทั้งหลายเกิดขึ้นและเสวยเวทนานั้นๆอยู่ ก็ให้เราทำความเข้าใจเพื่อตระหนักชัดและซึมทราบกลายเป็นเนื้อหาเดียวกันกับที่ เวทนาทั้งหลายนั้นมันล้วนดับไปเป็นธรรมดาตามธรรมชาติโดยตัวของมันเองอยู่แล้ว






















ความว่าง นั้น
เป็นสิ่งที่สิงซึมอยู่ทั่วทุกหนทุกแห่ง
เป็นความงามที่ไร้ตำหนิ
เป็นสิ่งซึ่งมีอยู่ได้โดยตัวมันเอง
และเป็นสิ่งสูงสุดที่ไม่มีอะไรสร้างขึ้นได้













บทที่ 20 จิต

ในส่วนของจิตตานุปัสนาสติหรือสติปัฏฐานในหมวด จิต เป็นพุทธประสงค์ที่จะให้เราทำความเข้าใจเพื่อตระหนักชัดว่า เมื่อความไม่รู้พาเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ทั้ง 5 ในเวทนาทั้งหลายแล้วนั้น มันย่อมก่อให้เกิด ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรามรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาสะ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็คือความหมายแห่งการปรุงแต่งเป็นจิตในลักษณะต่างๆนั่นเอง และจิตในลักษณะต่างๆนี้ซึ่งมันคือ ปรากฏการณ์ทางจิตหรือพฤติกรรมทางจิต มันย่อมแปรปรวนตั้งอยู่ได้ไม่นานและไม่เที่ยงแท้ดับไปโดยตัวมันเองตามธรรมดาอยู่แล้วในที่สุด
จิตในลักษณะต่างๆ มีดังต่อไปนี้
1.จิตมีราคะ ก็รู้ว่า จิตมีราคะ
2.จิตปราศจากราคะ ก็รู้ว่า จิตปราศจากราคะ
3.จิตมีโทสะ ก็รู้ว่า จิตมีโทสะ
4.จิตปราศจากโทสะ ก็รู้ว่า จิตปราศจากโทสะ
5.จิตมีโมหะ ก็รู้ว่า จิตมีโมหะ
6.จิตปราศจากโมหะ ก็รู้ว่า จิตปราศจากโมหะ
7.จิตหดหู่ ก็รู้ว่า จิตหดหู่
8.จิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ว่า จิตฟุ้งซ่าน
9.จิตเป็นมหรคต* ก็รู้ว่า จิตเป็นมหรคต
10.จิตไม่เป็นมหรคต ก็รู้ว่า จิตไม่เป็นมหรคต
11.จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่า จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า
12.จิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่า จิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า
13.จิตเป็นสมาธิ ก็รู้ว่า จิตเป็นสมาธิ
14.จิตไม่เป็นสมาธิ ก็รู้ว่า จิตไม่เป็นสมาธิ
15.จิตไม่หลุดพ้น ก็รู้ว่า จิตไม่หลุดพ้น
16.จิตหลุดพ้น ก็รู้ว่า จิตหลุดพ้น

ก็พึงเข้าใจว่า จิตก็คือสิ่งที่เราปรุงแต่งขึ้นเพราะความไม่รู้ของเราพาเข้าไปยึดในเวทนาทั้งหลาย ซึ่งจะเรียกมันว่า “ความคิด” ก็ได้ ความคิดของนักปฏิบัตินั้นจะคิดจะปรุงแต่งอยู่แค่สองลักษณะเท่านั้น คือ มีความคิดปรุงแต่งไปในทางเรื่องราวของทางโลกๆ และ มีความคิดปรุงแต่งไปในทางธรรม เช่นในเรื่องการศึกษาพิจารณาถึงความหมายแห่งธรรม อีกทั้งในเรื่องการปฏิบัติธรรมและผลแห่งการปฏิบัติ ซึ่งความคิดความปรุงแต่งในสองลักษณะนี้ ก็ล้วนตกอยู่ในความหมายที่พระพุทธองค์ทรงแจกแจงเป็นจิตไว้ถึง 16 ลักษณะดังกล่าวแล้ว ซึ่งก็คือจิตในลักษณะต่างๆที่นักปฏิบัติทั้งหลายชอบปรุงแต่งไปในทาง “ ทั้งทางโลกและทางธรรม ” นั่นเอง

และจิตลักษณะต่างๆนี้เอง เมื่อมันเกิดขึ้น ก็ตั้งอยู่ได้ไม่นาน เรา “ ก็รู้ว่า ” ไม่ควรเข้าไปเนื่อง ไม่ควรเข้าไปเนิ่นช้า ไม่ควรเข้าไปสาละวน ในการปรุงแต่งในรายละเอียดแห่งเนื้อหาจิตต่างๆนั้น จนจิตต่างๆนั้นมันยืดยาวออกไปด้วยความยึดมั่นถือมั่น และเรา “ ก็รู้ว่า ” จิตต่างๆนั้น เมื่อไม่เข้าไปเนื่อง ไม่เข้าไปเนิ่นช้า ไม่เข้าไปสาละวน จิตต่างๆนั้นมันก็ล้วนไม่เที่ยงดับไปโดยตัวมันเองเป็นธรรมดาตามสภาพธรรมชาติ ( ธรรมดาธรรมชาติแห่งการที่ไม่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งตั้งอยู่ได้นานมีความแปรปรวนตลอด )
เมื่อเข้าใจและตระหนักชัดในความหมายทั้งหมดข้างต้น ก็ควรที่จะ “ ซึมทราบกลายเป็นเนื้อหาเดียวกัน ” กับจิตลักษณะต่างๆที่ดับไปนั้น

( มหรคต* คือ ภาวะธรรมแห่งความเป็นใหญ่ได้แก่ฌานจิตขั้นต่างๆ ทั้งรูปฌานและอรูปฌาน )

























โดยการคิดถึงอะไรบางอย่าง
เธอย่อมสร้างความมีอยู่ขึ้นมาอย่างหนึ่ง
และโดยการคิดถึงความไม่อะไร
เธอย่อมสร้างความมีอยู่ขึ้นมาอีกอย่างหนึ่ง เช่นกัน















บทที่ 21 ธรรม

ในส่วนของธรรมนุปัสสนาสติหรือสติปัฏฐานในหมวด ธรรม มีธรรมอยู่ 5 แบบ ที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้คือ ขันธบรรพะ อายตนบรรพะ นิวรณ์บรรพะ โพชฌังคบรรพะ สัจจะบรรพะ โดยเนื้อหาแห่งธรรมต่างๆแล้วนี้ เป็นส่วนที่ต้องเข้าไปศึกษาพิจารณาเพื่อทำลายความเห็นอันเป็นสักกายทิฐิและความลังเลสงสัยอันเป็นความไม่เข้าใจในธรรมคือวิจิกิจฉา เพื่อทำให้ความเข้าใจในธรรมทั้งปวงเกิดขึ้น เป็นความเข้าใจในธรรมที่ว่าตามธรรมชาตินั้นย่อมไม่เที่ยงอยู่แล้วโดยสภาพมันเองเป็นธรรมดา
การที่พระพุทธองค์ตรัสถึงธรรมานุปัสสนาสตินั้น พระพุทธ-องค์ทรงประสงค์ที่จะเกื้อกูลหมู่สัตว์ที่มีปัญญามากพอที่จะดำเนินไปในเส้นทาง “ ธรรมชาติ ” อันเป็นเส้นทางหลุดพ้นได้ แต่ยังติดที่ยังมีความไม่เข้าใจในธรรมในส่วนต่างๆที่เป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้ถึงปัญหาและวิธีการแก้ไขปัญหาในทุกข์อย่างถูกวิธี

ขันธบรรพะ คือ การพิจารณาธรรมว่า นี่คือการเกิดขึ้นแห่งขันธ์ทั้ง 5 เมื่อ รูปเกิด วิญญาณเกิด สัญญาเกิด สังขารเกิด เวทนาเกิด และนี่คือการดับไปแห่งขันธ์ทั้ง 5 เมื่อเวทนาดับ สังขารดับ สัญญาดับ วิญญาณดับ รูปดับ ทั้งนี้เพื่อความเข้าใจในธรรมว่าขันธ์ทั้ง 5 นั้นเมื่อเกิดขึ้นก็ย่อมดับไปเองอยู่แล้วเป็นธรรมดา

อายตนบรรพะ คือ การพิจารณาธรรมว่า โดยปรกติ เมื่อมีเหตุปัจจัย เข้ามาทางรูป เช่น

รูปภาพ ที่เข้ามาทาง ตา
เสียง ที่เข้ามาทาง หู
กลิ่น ที่เข้ามาทาง จมูก
รสชาด ที่เข้ามาทาง ลิ้น
การสัมผัสสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาทาง ผิวกาย
สิ่งที่ผุดขึ้นในความรู้สึก ที่เข้ามาทาง ใจ
ให้ทำความเข้าใจและรู้จักสังโยชน์ที่อาศัย ภาพที่เข้ามาทางตา ,เสียงที่เข้ามาทางหู ,กลิ่นที่เช้ามาทางจมูก ,รสชาติที่เข้ามาทางลิ้น , การสัมผัสต่างๆที่เข้ามาทางผิวกาย ,สิ่งที่ผุดขึ้นในความรู้สึกที่เข้ามาทางใจ ทั้งหมดนี้ที่สังโยชน์ได้อาศัยเกิดขึ้น อนึ่ง สังโยชน์ที่ยังไม่เกิด จะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย สังโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้ว จะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย สังโยชน์ที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
สังโยชน์ แปลว่า กิเลสเป็นเครื่องร้อยรัดจิตใจให้ตกอยู่ในวัฎฎะ มี 10 อย่าง
1. สักกายทิฏฐิ ความรู้สึกว่าร่างกายเป็นเรา เป็นของเรา
2. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในเนื้อหาธรรม
3. สีลัพพตปรามาส ข้อประพฤติข้อวัตรที่เต็มไปด้วยความงมงาย
4. กามฉันทะ พอใจในกามคุณ
5. ปฏิฆะ มีอารมณ์กระทบใจ จิตมีความโกรธ
6. รูปราคะ หลงในรุปฌาน
7. อรูปราคะ หลงในอรูปฌาน
8. มานะ การถือตัวถือตน
9. อุทธัจจะ มีอารมณ์ฟุ้งซ่าน
10. อวิชชา ไม่รู้ตามความเป็นจริงเรื่องนิพพาน




นิวรณ์บรรพะ คือการพิจารณาเนื้อหาธรรมอันคือนิวรณ์ทั้ง 5
1.กามฉันทะ จิตที่ปรุงแต่งเกี่ยวกับความพึงพอใจในกาม
2.พยาบาท จิตที่ปรุงแต่งเกี่ยวกับความโกรธแค้นอันเนื่องมาจากโทสะ
3.ถีนมิทธะ จิตที่ปรุงแต่งมีสภาพเกี่ยวกับความง่วงเหงาหาวนอน หดหู่ เซื่องซึม
4. อุทธัจจกุกกุจจะ จิตที่ปรุงแต่งมีสภาพเกี่ยวกับความฟุ้งซ่าน หงุดหงิดรำคาญใจ
5.วิจิกิจฉา จิตที่ปรุงแต่งมีสภาพเกี่ยวกับความลังเลสงสัยคงามไม่เข้าใจในธรรม

ให้พิจารณาถึง ความมีอยู่และความไม่มีอยู่ ของธรรมเหล่านี้ในจิต
ให้พิจารณาถึง ธรรมเหล่านี้ที่ยังไม่เกิด จะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้น
ให้พิจารณาถึง ธรรมเหล่านี้ที่เกิดขึ้นแล้ว จะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้น
ให้พิจารณาถึง ธรรมเหล่านี้ที่ละได้แล้ว จะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย


โพชฌังคบรรพะ คือการพิจารณาเนื้อหาธรรมอันคือโพชฌงค์ 7 ประการ
1.สติ 2.ธัมมวิจยะ(การวินิจฉัยสอดส่องธรรม) 3.วิริยะ 4.ปิติ(ความอิ่มใจ) 5.ปัสสัทธิ(ความสงบใจ) 6.สมาธิ 7.อุเบกขา

ให้พึงพิจารณาว่า เมื่อธรรมข้อใดข้อหนึ่งในโพชฌงค์ “มีอยู่” ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัด้วยมีธรรมข้อใดข้อหนึ่งในโพชฌงค์อยู่ ณ ภายในจิตของเรา
ให้พึงพิจารณาว่า เมื่อธรรมข้อใดข้อหนึ่งในโพชฌงค์ “ไม่มีอยู่” ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า ธรรมข้อใดข้อหนึ่งในโพชฌงค์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา
ให้พึงพิจารณาว่า เมื่อธรรมข้อใดข้อหนึ่งในโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
ให้พึงพิจารณาว่า เมื่อธรรมข้อใดข้อหนึ่งในโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว จะเจริญบริบูรณ์ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย


สัจจะบรรพะ คือการพิจารณาเนื้อหาธรรมอันคือ อริยสัจจ์ทั้ง 4
1.ทุกข์ คือการที่ความไม่รู้พาเข้าไปยึดขันธ์ทั้ง 5 จนก่อให้เกิดตุณหาอุปาทาน เป็นการปรุงแต่งเป็นจิตขึ้นมา
เมื่อยึดถือเอาแล้ว ซึ่งรูป,ซึ่งเวทนา, ซึ่งสัญญา, ซึ่งสังขาร, และซึ่งวิญญาณ
เพราะความยึดถือ (อุปาทาน) ของเรานั้นเป็นปัจจัย จึงมีภพ;เพราะมีภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ: เพราะมีชาติเป็นปัจจัย, ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาส ทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วน ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้ ดังนี้


แม้ชาติก็เป็นทุกข์ แม้ชราก็เป็นทุกข์ แม้มรณะก็เป็นทุกข์ แม้
โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ก็เป็นทุกข์ โดยย่ออุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นทุกข์
ชาติ คือ ความเกิด ความบังเกิด ความหยั่งลงเกิด เกิดจำเพาะ ความปรากฏแห่งขันธ์ ความได้อายตนะครบ ในหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ
ชรา คือ ความแก่ ภาวะของความแก่ ฟันหลุด ผมหงอก หนังย่น ความเสื่อมแห่งอายุ ความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์ ในหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้น
มรณะ คือ ความเคลื่อน ภาวะของความเคลื่อน ความแตกทำลาย ความหายไป มฤตยู ความตาย ความทำกาละ ความทำลายแห่งขันธ์ ความทอดทิ้งซากศพไว้ความขาดแห่งชีวิตินทรีย์ ในหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ
โสกะ คือ ความแห้งใจ กิริยาที่แห้งใจ ภาวะของบุคคลผู้แห้งใจ ความผาก ณ ภายใน ความแห้งผาก ณ ภายใน ของบุคคลผู้ประกอบด้วยความพิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ถูกธรรม คือ ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบแล้ว
ปริเทวะ คือ ความคร่ำครวญ ความร่ำไร รำพัน กิริยาที่คร่ำครวญ กิริยาที่ร่ำไรรำพัน ภาวะของบุคคลผู้คร่ำครวญ ภาวะของบุคคลผู้ร่ำไรรำพัน ของบุคคลผู้ประกอบด้วยความพิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ถูกธรรมคือทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบแล้ว
ทุกข์ คือ ความลำบากทางกาย ความไม่สำราญทางกาย ความเสวยอารมณ์อันไม่ดีที่เป็นทุกข์ ซึ่งเกิดแต่กายสัมผัส
โทมนัส คือ ความทุกข์ทางจิต ความไม่สำราญทางจิต ความเสวยอารมณ์อันไม่ดีที่เป็นทุกข์ ซึ่งเกิดแต่มโนสัมผัส
อุปายาสะ คือ ความแค้น ความคับแค้น ภาวะของบุคคลผู้แค้น ภาวะของบุคคลผู้คับแค้น ของบุคคลผู้ประกอบด้วยความพิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ถูกธรรม คือทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบแล้ว


2.สมุทัย คือเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ก็คืออวิชชาความไม่รู้ ไม่รู้ในเรื่องที่ว่าแท้ที่จริงทุกสรรพสิ่งมันย่อมไม่ใช่ตัวใช่ตนอยู่แล้ว เมื่อไม่รู้และคิดว่าสิ่งนั้นคือเราคือตัวของเรา อวิชชาความไม่รู้จึงพาเข้าไปยึดมั่นถือมันในขันธ์ทั้ง 5 ในเวทนาทั้งหลายจนก่อให้เกิดตัวตนขึ้นมา

3.นิโรธ คือความดับไปแห่งทุกข์ ก็คือสภาพธรรมดาธรรมชาติของทุกข์ทั้งหลายที่มันตั้งอยู่ได้ไม่นานละต้องดับไป เมื่อรู้ว่ามันตั้งอยู่ได้ไม่นานก็ไม่ควรเข้าไปเนื่องเข้าไปเนิ่นช้า เข้าไปสาละวน เมื่องดเว้นที่จะไม่เข้าไปเนื่องเข้าไปเนิ่นช้า เข้าไปสาละวน ทุกข์นั้นก็ดับไปเองอยู่แล้วเป็นธรรมดาของมัน

4.มรรค คือหนทางแห่งความพ้นทุกข์ ความดับไปเป็นธรรมดาแห่งทุกข์นั่นแหละคือเนื้อหาแห่งมรรคซึ่งเป็นหนทางพ้นทุกข์ไปในตัวอยู่แล้ว มันประกอบไปด้วยเนื้อหาอินทรย์แห่งธรรมแปดประการ คือ 1.สัมมาทิฏฐิ 2.สัมมาสังกัปปะ 3.สัมมาวาจา 4.สัมมากัมมันตะ 5.สัมมาอาชีวะ 6.สัมมาวายามะ 7.สัมมาสติ 8.สัมมาสมาธิ
การที่พระพุทธองค์ทรงตรัสเรื่องสติปัฏฐานในหมวดธรรมนี้ ท่านมีพุทธประสงค์ให้นักปฏิบัติทั้งหลายทั้งในและนอกศาสนา ที่ยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับธรรมะที่ท่านประกาศไว้ ให้ได้เข้ามาเรียนรู้ถึงปัญหาที่ทำให้ต้องไปเวียนว่ายตายเกิด คือ ทุกข์ และเรียนรู้ถึงต้นเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ อีกทั้งยังให้ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับความสิ้นไปดับไปเป็นธรรมดาซึ่งเป็นความดับทุกข์และหนทางพ้นจากกองทุกข์ด้วย ซึ่งประกอบไปด้วยธรรมหลายหมวดที่ต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจ การที่ได้ตระหนักชัดในความหมายในความเข้าใจแห่งเนื้อหาธรรมทั้งหลายที่พระองค์ตรัสไว้นั้น มันเป็นการทำลายสักกายทิฐิคือความเห็นที่เห็นว่านี่กายเรานี่คือเราลงได้ มันเป็นการทำลายวิจิกิจฉาคือความลังเลสงสัยไม่เข้าใจในธรรมซึ่งเป็นธรรมอันว่าด้วยลักษณะทุกข์และการแก้ไขปัญหาแห่งทุกข์ได้อย่างตรงและถูกต้อง และเมื่อเราละข้อวัตรอันคือศิลพรตปรามาสซึ่งเป็นข้อปฏิบัติอันงมงายที่เราเคยยึดถือมาก่อนที่จะมาศึกษาธรรมที่พระองค์ประกาศไว้ เมื่อละได้แล้วกับอีกทั้งได้ตระหนักชัดในธรรมทั้งหมดและกลายเป็นเนื้อหาเดียวกับความดับไปแห่งทุกข์ ตรงนี้แหละคือ จุดเริ่มต้นแห่งเส้นทางที่ก้าวเดินออกมาจากกองทุกข์ที่เคยเข้าไปยึดมั่นยึดถือ เป็นเส้นทางแห่งความดับไปเป็นธรรมดาเป็นธรรมชาติ นี่คือเส้นทางแห่ง “ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล ”


และท้ายที่สุดนักปฏิบัติทั้งหลายพึงรู้ด้วยอีกว่า “ การพิจารณาธรรม” ทั้งหมดเหล่านี้ในสติปัฏฐานแห่งหมวดธรรม ก็ล้วนเป็น “สังขตธาตุ” คือธาตุแห่งการปรุงแต่ง มันล้วนคือจิตปรุงแต่งชนิดหนึ่ง และพึงรู้ชัดซึ่งเป็นไปในสัมมาสติ ว่า
- จิตที่ปรุงแต่งซึ่งเป็นการพิจารณาธรรมอันเป็นขันธบรรพะนั้น โดยธรรมชาติจิตที่ปรุงแต่งซึ่งเป็นการพิจารณาธรรมอันเป็นขันธบรรพะนั้น ล้วนไม่เที่ยง ล้วนดับไปเป็นธรรมดาโดยตัวมันเองอยู่แล้ว
-จิตที่ปรุงแต่งซึ่งเป็นการพิจารณาธรรมอันเป็นอายาตนะ บรรพะนั้น โดยธรรมชาติจิตที่ปรุงแต่งซึ่งเป็นการพิจารณาธรรมอันเป็นอายาตนะบรรพะนั้นล้วนไม่เที่ยง ล้วนดับไปเป็นธรรมดาโดยตัวมันเองอยู่แล้ว
-จิตที่ปรุงแต่งซึ่งเป็นการพิจารณาธรรมอันเป็นนิวรณ์บรรพะนั้น โดยธรรมชาติจิตที่ปรุงแต่งซึ่งเป็นการพิจารณาธรรมอันเป็นนิวรณ์บรรพะนั้น ล้วนไม่เที่ยง ล้วนดับไปเป็นธรรมดาโดยตัวมันเองอยู่แล้ว
-จิตที่ปรุงแต่งซึ่งเป็นการพิจารณาธรรมอันเป็นโพชฌังค บรรพะนั้น โดยธรรมชาติจิตที่ปรุงแต่งซึ่งเป็นการพิจารณาธรรมอันเป็นโพชฌังคบรรพะนั้น ล้วนไม่เที่ยง ล้วนดับไปเป็นธรรมดาโดยตัวมันเองอยู่แล้ว
-จิตที่ปรุงแต่งซึ่งเป็นการพิจารณาธรรมอันเป็นสัจจะบรรพะนั้น โดยธรรมชาติจิตที่ปรุงแต่งซึ่งเป็นการพิจารณาธรรมอันเป็นสัจจะบรรพะนั้น ล้วนไม่เที่ยง ล้วนดับไปเป็นธรรมดาโดยตัวมันเองอยู่แล้ว
















มโนสำนึกแห่งการที่จะต้องปฏิบัติธรรม
และความเปรมปรีดิ์ที่ได้รับจากผลแห่งการปฏิบัติ
มันก็ล้วนเป็นผลงานการปรุงแต่งอันละเมียดละไมและบรรเจิดจ้า
ที่ต่างก็ออกมาจากเส้นสมองของพวกคุณเองในการดิ้นรน
เมื่อตถาคตเจ้าให้สละทิ้งทุกลู่ทางในการปรุงแต่ง
แล้วลู่ทางนี้ที่ปรุงแต่งในการปฏิบัติ..เธอทำไมไม่ทิ้งกันล่ะ






บทที่ 22 โพชฌงค์ธรรม
โพชฌงค์ธรรม คือ ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้หรือการบรรลุธรรม ก็คือกำลังหรืออินทรีย์แห่งธรรมที่เกิดจากการที่ได้ตระหนักชัดและซึมทราบกลายเป็นเนื้อหาเดียวกันกับความดับไปเป็นธรรมดาแห่งทุกข์ ความดับไปเป็นธรรมดาแห่งธรรมทั้งหลายในสติปัฏฐานทั้งสี่ ซึ่งเมื่อเป็นความบริบูรณ์ในธรรมอันคือโพชฌงค์นี้แล้วย่อมยังให้ วิชชา คือ ความรู้แจ้ง วิมุติ คือ การหลุดพ้น ซึ่งเป็นเครื่องหมายแห่งการตรัสรู้บรรลุธรรมให้บริบูรณ์ เกิดขึ้น
โพชฌงค์ มีอยู่ 7 ประการ คือ สติ ธัมมวิจยะ วิริยะ ปิติ ปัสสัทธิ สมาธิ อุเบกขา
กำลัง หรือ อินทรีย์แห่งธรรม 7 ประการนี้ เกิดจากการที่ได้ตระหนักชัดและกลายเป็นเนื้อหาเดียวกันกับความดับไปเป็นธรรมดาแห่งทุกข์ ความดับไปเป็นธรรมดาแห่งธรรมทั้งหลายในสติปัฏฐานทั้งสี่เท่านั้น มิใช่เกิดจากการ “เข้าไปทำ ” โพชฌงค์ธรรมที่ละข้อทีละขั้นทีละตอนเพื่อให้เกิดโพชฌงค์ธรรม 7 ประการขึ้นจนครบแล้วพระนิพพานจะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง เพราะเหตุใดเล่า
ก็เพราะว่านิพพาน คือ ธรรมชาติอันปรุงแต่งไม่ได้แล้ว เพราะเหตุนี้มรรคาเส้นทางหลุดพ้นนี้จึงเป็นเส้นทางในวิถี “ธรรมชาติ” เท่านั้น “ธรรมชาติ” คือ ความไม่เที่ยงแท้อยู่แล้วโดยเนื้อหามันเอง เป็นความแปรปรวนไปเป็นธรรมดาของมันเอง คือ ความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนโดยสภาพมันเองอยู่แล้ว เมื่อเข้าใจในธรรมทั้งปวงโดยปราศจากความลังเลสงสัยแล้ว ความไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นและปล่อยให้จิตไปสู่วิถีธรรมชาติที่มันดับเอง ไม่เที่ยงแท้อยู่แล้วเอง เป็นความแปรปรวนไปเป็นธรรมดาอยู่แล้ว

เอง ซึ่งการดำเนินไปสู่วิถีธรรมชาติแบบนี้ ก็คือไปด้วยกำลัง หรืออินทรีย์แห่งโพชฌงค์ธรรม อันเกิดจากตระหนักชัดและซึมทราบกลายเป็นเนื้อหาเดียวกันกับความดับไปเป็นธรรมดาแห่งทุกข์ ความดับไปเป็นธรรมดาแห่งธรรมทั้งหลายในสติปัฏฐานทั้งสี่นั่นเอง

การที่เราตระหนักชัดและซึมทราบกลายเป็นเนื้อหาเดียวกันกับความดับไปเป็นธรรมดาแห่งทุกข์ ความดับไปเป็นธรรมดาแห่งธรรมทั้งหลายในสติปัฏฐานทั้งสี่นั้น ก็คือเนื้อหาอินทรีย์แห่งโพชฌงค์ธรรมไปในตัวอยู่แล้ว การเข้าใจผิดด้วยการเข้าไปทำโพชฌงค์ธรรมทีละขั้นทีละตอน เช่น การฝึกสติด้วยการเดินจงกรมเพื่อให้มันเกิด “สติสัมโพชฌงค์” การนั่งสมาธิเพื่อให้ได้ฌาณ 4 เพื่อให้มันเกิด “สมาธิสัมโพชฌงค์” เพื่อที่จะทำให้โพชฌงค์บริบูรณ์ เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง การเข้าไปทำโพชฌงค์แบบนี้มันเป็นลักษณะของจิตปรุงแต่งที่เนื่องด้วย อวิชชาความไม่รู้ ตัณหา อุปทานทั้งสิ้น เป็นความยึดมั่นถือมั่นที่กลายเป็นจิตเป็นตัวตนขึ้นมา มิใช่เส้นทาง “ธรรมชาติ” ที่ดับไปเป็นธรรมดา แต่อย่างใด
1.สติ (สติสัมโพชฌงค์)
เมื่อเกิดความเข้าใจในธรรมโดยปราศจากความลังเลสงสัยและมีความระลึกได้ว่า
-จิตที่ปรุงแต่งไปในการเห็นว่ากายนี้คือเรานั้นล้วนไม่เที่ยงดับไปเองตามธรรมชาติแล้ว
จิตที่ปรุงแต่งไปในการพิจารณาธรรมอันคือสติปัฏฐานแห่งหมวดกายนั้นล้วนไม่เที่ยงดับไปเองตามธรรมชาติแล้ว
-เวทนาทั้งหลายนั้นล้วนไม่เที่ยงดับเองตามธรรมชาติแล้ว
-จิตที่ปรุงแต่งขึ้นเป็นจิตลักษณะต่างๆนั้น ล้วนไม่เที่ยงดับไปเองตามธรรมชาติแล้ว
-จิตที่ปรุงแต่งไปในทางพิจารณาธรรมต่างๆ “อันเป็นธรรมที่ทำให้เกิดความเข้าใจในปัญหา และวิธีแก้ไขปัญหา” ทั้งหลายอันคือสติปัฏฐานแห่งหมวดธรรมนั้นล้วนไม่เที่ยงดับไปเองตามธรรมชาติแล้ว
ความระลึกดังกล่าวนี้ คือ สติ แห่งโพชฌงค์ธรรมนั้นเอง (สติสัมโพชฌงค์) เป็นธรรมชาติแห่งความระลึกรู้ เป็นธรรมชาติแห่งสติ อันเป็นสัมมาสติ ในมรรคมีองค์ 8 ด้วย

2.ธัมมวิจยะ(ธัมมวิจยะสัมโพชฌงค์)
เมื่อเข้าใจในการแก้ไขปัญหาแห่งทุกข์ซึ่งมันเป็นวิธีแก้ไขในแบบลักษณะ “ธรรมดาธรรมชาติ” แห่งความไม่เที่ยงแห่งความดับไปเป็นธรรมดาโดยตัวมันเองสภาพมันเองอยู่แล้วนั้น แต่หากเมื่อ “ตราบใดยังมีส่วนแห่งอวิชชาตัณหาอุปทานเหลืออยู่โดยเนื้อหาแห่งการมีอยู่” เพราะฉะนั้นการสอดส่องการสืบค้นธรรม การเลือกธรรมว่าอะไร คือการปรุงแต่ง คือธรรมอันปรุงแต่ง (สังขตธาตุ) ว่าอะไรคือ การไม่ปรุงแต่งซึ่งคือการที่กลายเป็นเนื้อหาเดียวกันกับความดับไปเป็นธรรมดาคือธรรมไม่ปรุงแต่ง (อสังขตธาตุ) เมื่อรู้ว่าสิ่งนี้คือธรรมอันปรุงแต่ง ก็จะได้ระลึกรู้ว่าธรรมอันปรุงแต่งนี้ก็ล้วนไม่เที่ยงมันดับโดยตัวมันเองโดยสภาพมันเองตามธรรมดาธรรมชาติ การเลือกเฟ้นธรรม การสอดส่องธรรม การสืบค้นธรรมในลักษณะเช่นนี้ ก็คือธัมมวิจยะแห่งโพฌชงค์ธรรมนั้นเอง (ธัมมวิจยะสัมโพชฌงค์) ธัมมวิจยะจึงเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดธรรมชาติแห่งสติการระลึกรู้

แต่ธัมมวิจยะเป็นธรรมอันประกอบขึ้นชั่วคราวในโพฌชงค์ธรรมเท่านั้น เพราะเหตุที่ว่าด้วยการอาศัยในการเข้าไปเพื่อวินิจฉัยธรรม การสอดส่องสืบค้น เลือกเฟ้นธรรมนั้น ก็เพื่อยังให้เกิดกำลังหรืออินทรีย์แห่งสติการระลึกรู้ แต่โดยเนื้อหามันนั้นการวินิจฉัยวิจัย การสอดส่อง การสืบค้น การเลือกเฟ้น ก็เป็นการปรุงแต่ง(สังขตธาตุ) หรือจิตปรุงแต่งด้วยลักษณะหนึ่งเช่นกัน เมื่อมีสติระลึกรู้ด้วยว่า “จิตที่ปรุงแต่งไปในทางวินิจฉัย สอดส่องสืบค้น เลือกเฟ้นธรรมนั้นล้วน ไม่เที่ยงดับไปเองตามธรรมชาติ” เมื่อไหร่ อวิชชาความไม่รู้ที่ทำให้เกิดลักษณะเป็นจิตปรุงแต่งไปในทางวินิจฉัย สอดส่อง สืบค้นธรรม ก็จักไม่ปรากฏขึ้นมาอีก ธัมมวิจยะจึงเป็นธรรมอันประกอบขึ้นชั่วคราวในโพชฌงค์ธรรมด้วยเหตุนี้
3.วิริยะ(วิริยะสัมโพชฌงค์)
การที่มีสติที่ระลึกได้ว่า
-จิตที่ปรุงแต่งไปในการเห็นว่ากายนี้คือเรานั้นล้วนไม่เที่ยงดับไปเองตามธรรมชาติแล้ว
จิตที่ปรุงแต่งไปในการพิจารณาธรรมอันคือสติปัฏฐานแห่งหมวดกายนั้นล้วนไม่เที่ยงดับไปเองตามธรรมชาติแล้ว
-เวทนาทั้งหลายนั้นล้วนไม่เที่ยงดับเองตามธรรมชาติแล้ว
-จิตที่ปรุงแต่งขึ้นเป็นจิตลักษณะต่างๆนั้น ล้วนไม่เที่ยงดับไปเองตามธรรมชาติแล้ว
-จิตที่ปรุงแต่งไปในทางพิจารณาธรรมต่างๆ “อันเป็นธรรมที่ทำให้เกิดความเข้าใจในปัญหา และวิธีแก้ไขปัญหา” ทั้งหลายอันคือสติปัฏฐานแห่งหมวดธรรมนั้นล้วนไม่เที่ยงดับไปเองตามธรรมชาติแล้ว
การมีสติระลึกได้อยู่ทุกขณะนั้น มันคือเนื้อหาที่ทำให้กำลังหรืออินทรีย์แห่งสติมากขึ้นไปสู่ความบริบูรณ์แห่งสติ และความบริบูรณ์ในโพชฌงค์ธรรมทุกส่วน การมีสติระลึกได้อยู่ทุกขณะมันคือเนื้อหาแห่งความเพียรอยู่แล้ว มันคือธรรมชาติแห่งความเพียร หรือวิริยะในโพชฌงค์ธรรม (วิริยะสัมโพชฌงค์) หรือ สัมมาวายาโม ในมรรคมีองค์ 8 นั่นเอง เมื่อกำลังหรืออินทรีย์แห่งวิริยะความเพียรคือการมีสติระลึกได้อยู่ทุกขณะบริบูรณ์แล้ว ความบริบูรณ์ในความเพียรนี้เองที่ส่งผลให้เกิด “ความเป็นปรกติ” หรือ “ความบริบูรณ์” ในโพชฌงค์ธรรมตัวอื่น

4.ปิติ(ปีติสัมโพชฌงค์)
คือ ความอิ่มใจ
5.ปัสสัทธิ(ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์)
คือ ความสงบจิตสงบใจ
โดยธรรมชาติแล้วตราบใดที่อวิชชา ความไม่รู้ยังคงมีอยู่ก็จะทำให้ไปยึดมั่นถือมั่นจนกลายเป็นอัตตาตัวตนขึ้นมากลายเป็นความปรุงแต่งขึ้นมา เป็นความวุ่นวายในจิตอยู่ตลอดเวลา แต่เมื่อมีสติระลึกรู้ได้อยู่ว่า
-จิตที่ปรุงแต่งไปในการเห็นว่ากายนี้คือเรานั้นล้วนไม่เที่ยงดับไปเองตามธรรมชาติแล้ว
จิตที่ปรุงแต่งไปในการพิจารณาธรรมอันคือสติปัฏฐานแห่งหมวดกายนั้นล้วนไม่เที่ยงดับไปเองตามธรรมชาติแล้ว
-เวทนาทั้งหลายนั้นล้วนไม่เที่ยงดับเองตามธรรมชาติแล้ว

-จิตที่ปรุงแต่งขึ้นเป็นจิตลักษณะต่างๆนั้น ล้วนไม่เที่ยงดับไปเองตามธรรมชาติแล้ว
-จิตที่ปรุงแต่งไปในทางพิจารณาธรรมต่างๆ “อันเป็นธรรมที่ทำให้เกิดความเข้าใจในปัญหา และวิธีแก้ไขปัญหา” ทั้งหลายอันคือสติปัฏฐานแห่งหมวดธรรมนั้นล้วนไม่เที่ยงดับไปเองตามธรรมชาติแล้ว
ความล้วนไม่เที่ยงดับไปเองตามธรรมดาธรรมชาติก่อให้เกิดปิติความอิ่มใจ ปัสสัทธิ ความสงบจิตสงบใจ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดจากความสงบระงับจากการไม่ปรุงแต่งทั้งปวง ซึ่งพระพุทธองค์ทรงแจกแจงเพื่อให้เกิดความเข้าใจในความเป็นไปในอินทรีย์แห่งธรรมส่วนนี้เท่านั้น
เพราะสภาพธรรมแห่งปิติและปัสสัทธิ เป็นกำลังหรืออินทรีย์แห่งธรรมที่เกิดขึ้นโดยลักษณะเนื้อหามันเอง แต่หากอวิชชาความไม่รู้พาเข้าไปยึดมั่นถือมั่นเป็นจิตปรุงแต่งขึ้นมาเป็นอัตตาตัวตนขึ้นมาว่ามีเราและเรากำลังมีสภาวะธรรมในปิติ และปัสสัทธิ อยู่ดังนี้ จิตปรุงแต่งลักษณะนี้ ก็ล้วนไม่เที่ยงดับไปเองตามธรรมชาติเช่นกัน ปิติ และปัสสัทธิ จึงเป็นธรรมประกอบขึ้นชั่วคราวเท่านั้น
6.สมาธิ(สมาธิสัมโพชฌงค์)
เมื่อมีสติระลึกรู้ได้อยู่ว่า
-จิตที่ปรุงแต่งไปในการเห็นว่ากายนี้คือเรานั้นล้วนไม่เที่ยงดับไปเองตามธรรมชาติแล้ว
จิตที่ปรุงแต่งไปในการพิจารณาธรรมอันคือสติปัฏฐานแห่งหมวดกายนั้นล้วนไม่เที่ยงดับไปเองตามธรรมชาติแล้ว

-เวทนาทั้งหลายนั้นล้วนไม่เที่ยงดับเองตามธรรมชาติแล้ว
-จิตที่ปรุงแต่งขึ้นเป็นจิตลักษณะต่างๆนั้น ล้วนไม่เที่ยงดับไปเองตามธรรมชาติแล้ว
-จิตที่ปรุงแต่งไปในทางพิจารณาธรรมต่างๆ “อันเป็นธรรมที่ทำให้เกิดความเข้าใจในปัญหา และวิธีแก้ไขปัญหา” ทั้งหลายอันคือสติปัฏฐานแห่งหมวดธรรมนั้นล้วนไม่เที่ยงดับไปเองตามธรรมชาติแล้ว
ความล้วนไม่เที่ยงดับไปเองตามธรรมดานี้มันคือเนื้อหาแห่งธรรมชาติในอินทรีย์แห่งความแน่วแน่แห่งความตั้งใจมั่น ซึ่งเป็นลักษณะของความต่อเนื่องแห่งธรรมอันเป็นความดับไปเป็นธรรมดา เมื่อกำลังหรืออินทรีย์แห่งความตั้งใจมั่นนี้บริบูรณ์ก็จะทำให้เกิดความเป็นปรกติ “ในการที่กลายเป็นเนื้อหาเดียวกัน” กับธรรมชาติล้วนๆแห่งความดับสนิทไม่มีเหลือนั่นเอง ธรรมชาติแห่งความตั้งใจมั่นดังกล่าวนี้ก็คือ สมาธิแห่งโพชฌงค์ธรรม (สมาธิสัมโพชฌงค์) หรือธรรมชาติแห่งสมาธิ หรือ สัมมาสมาธิในมรรคมีองค์8

7.อุเบกขา(อุเปกขาสัมโพชฌงค์)
เมื่อมีสติระลึกรู้ได้อยู่ว่า
-จิตที่ปรุงแต่งไปในการเห็นว่ากายนี้คือเรานั้นล้วนไม่เที่ยงดับไปเองตามธรรมชาติแล้ว
จิตที่ปรุงแต่งไปในการพิจารณาธรรมอันคือสติปัฏฐานแห่งหมวดกายนั้นล้วนไม่เที่ยงดับไปเองตามธรรมชาติแล้ว
-เวทนาทั้งหลายนั้นล้วนไม่เที่ยงดับเองตามธรรมชาติแล้ว
-จิตที่ปรุงแต่งขึ้นเป็นจิตลักษณะต่างๆนั้น ล้วนไม่เที่ยงดับไปเองตามธรรมชาติแล้ว
-จิตที่ปรุงแต่งไปในทางพิจารณาธรรมต่างๆ “อันเป็นธรรมที่ทำให้เกิดความเข้าใจในปัญหา และวิธีแก้ไขปัญหา” ทั้งหลายอันคือสติปัฏฐานแห่งหมวดธรรมนั้นล้วนไม่เที่ยงดับไปเองตามธรรมชาติแล้ว
ความล้วนไม่เที่ยงดับไปเองตามธรรมดานี้มันคือเนื้อหาแห่งธรรมชาติในอินทรีย์แห่งความเป็นกลางความวางเฉยที่จะไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในจิตปรุงแต่งข้างต้น ความเป็นกลางความวางเฉยก็คืออุเบกขาในโพชฌงค์ธรรม(อุเปกขาสัมโพชฌงค์) คือธรรมชาติแห่งอุเบกขา หรือ สัมมาทิฐิ ในมรรคมีองค์ 8
โพชฌงค์ธรรม 7 ประการ คือ สติ ธัมมวิจยะ วิริยะ ปิติ ปัสสัทธิ สมาธิ อุเบกขา นั้น เป็นธรรมอันเป็นเหตุปัจจัยอาศัยซึ่งกันและกันในลักษณะมีสิ่งนี้จึงมีสิ่งนี้ เมื่อกำลังหรืออินทรีย์แห่งสติเต็มจนกลายเป็นธรรมชาติแห่งความบริบูรณ์ในสติ ด้วยความที่ธรรมโพชฌงค์ 7 ประการเป็นธรรมอันเป็นเหตุปัจจัยอาศัยซึ่งกันและกัน เมื่อสติบริบูรณ์แล้วเลยทำให้ธรรมโพชฌงค์ในส่วนอื่นบริบูรณ์ไปด้วย จนกลายเป็นโพชฌงค์ธรรมบริบูรณ์ในทุกส่วน
เมื่อโพชฌงค์ธรรมบริบูรณ์ซึ่งหมายถึงความเป็นปรกติแห่งธรรมในทุกส่วนของโพชฌงค์แล้ว ย่อมยัง “วิชชาและวิมุติ” ให้บริบูรณ์ไปด้วย




















ขอให้เราทั้งหลายดำเนินชีวิต
ตามคำสั่งสอนอันสูงสุดของบรมพระศาสดา
ตระหนักชัดถึงคุณค่าอันประเสริฐยิ่งของชีวิต








บทที่ 23 มรรคมีองค์ 8 คือการปรุงแต่ง
เรื่องมรรค ๘ ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเวฬุวัน อันเป็นสถานที่ให้เหยื่อแก่กระแตเขตพระนครราชคฤห์. ครั้งนั้น นางวิสาขอุบาสกเข้าไปหาธรรมทินนาภิกษุณีถึงที่อยู่ อภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
วิสาขอุบาสกครั้นนั่งแล้ว ได้ถามธรรมทินนาภิกษุณีว่า
วิสาขา: ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็อริยมรรคมีองค์ ๘ ไฉน?
ธรรมทินนา: ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ คือ ปัญญาอันเห็นชอบ ๑ ความดำริชอบ ๑ วาจาชอบ ๑ ทำการงานชอบ ๑ เลี้ยงชีวิตชอบ ๑ ความเพียรชอบ ๑ ความระลึกชอบ ๑ ความตั้งจิตไว้ชอบ ๑.
วิสาขา: ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นสังขตะหรือเป็นอสังขตะ?
ธรรมทินนา: ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นสังขตะ
วิสาขอุบาสกสรรเสริญธรรมทินนาภิกษุณี
ลำดับนั้น วิสาขอุบาสก ชื่นชม อนุโมทนา ภาษิตของธรรมทินนาภิกษุณีแล้ว ลุกจากอาสนะ อภิวาทธรรมทินนาภิกษุณี ทำประทักษิณแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลเรื่องที่ตนสนทนาธรรมกถากับธรรมทินนาภิกษุณีให้ทรงทราบทุกประการ.
เมื่อวิสาขอุบาสกกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาค จึงตรัสว่า
ดูกรวิสาขะ ธรรมทินนาภิกษุณีเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก แม้หาก ท่านพึงสอบถามเนื้อความนั้นกะเรา แม้เราก็พึงพยากรณ์เนื้อความนั้น เหมือนที่ธรรมทินนาภิกษุณี พยากรณ์แล้ว เนื้อความแห่งพยากรณ์นั้นเป็นดังนั้นนั่นแล ท่านพึงจำทรงไว้อย่างนั้นเถิด
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว วิสาขอุบาสก ชื่นชม ยินดี พระภาษิตของ
พระผู้มีพระภาคแล้ว ฉะนั้นแล.
จบ จูฬเวทัลลสูตร ที่ ๔
ก็โดยลักษณะแห่งสังขตธาตุนั้นมี 3 ประการคือ
1.มีความเกิดขึ้นปรากฏ 2.มีความเสื่อมปรากฏ 3.เมื่อตั้งอยู่มีความแปรปรวนปรากฏ
กล่าวคือ เป็นธาตุหรือคุณลักษณะที่เกิดจากการเข้าไปยึดมั่นถือมั่น เป็นการปรุงแต่งปรากฏมีสิ่งนี้ขึ้นมาและสิ่งนี้ตั้งอยู่ได้ไม่นาน มีความแปรปรวนมีความเสื่อมสิ้นดับไปเป็นธรรมดา
โดยปรกติตามกฏธรรมชาติอันแท้จริงมีอยู่ข้อเดียวคือ ทุกสรรพสิ่งนั้นย่อมไม่มีและย่อมไม่เกิดขึ้นอยู่แล้ว มันแสดงเนื้อหาแต่ความว่างเปล่าไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่อย่างนั้น มันคือธาตุแห่งความว่างเปล่าอันไร้ตัวตนอยู่อย่างนั้น (อสังขตธาตุ) ซึ่งมันเป็นเช่นนั้นของมันเองอยู่อย่างนั้น ยกตัวอย่างเช่น มันไม่มีแม้กระทั้งการบรรลุและผู้ถูกบรรลุ มันไม่มีแม้กระทั่งฝั่งนิพพานและผู้ที่กำลังก้าวขึ้นฝั่งนิพพาน มันไม่มีแม้กระทั้งมรรคมีองค์ 8 และไม่มีแม้กระทั้งผู้ที่กำลังเดินบนทางมรรคมีองค์ 8 เพราะถ้าหาก ” มี ” เมื่อไหร่ สิ่งที่มีนั้นย่อมตั้งอยู่ได้ไม่นาน และแปรปรวนดับไปเป็นธรรมดาตามลักษณะแห่งสังขตธาตุ
ด้วยเหตุผลนี้ ภิกษุณีธรรมทินนาและพระพุทธองค์จึงตรัสว่า เนื้อหาแห่งมรรคมีองค์แปดนั้นแท้จริงไม่มี แต่ถ้าหากมีมันก็เป็นเรื่องของการปรุงแต่งขึ้นมาโดยปรุงแต่งว่า “มีเรา” และเรากำลังเดินบน”มรรคมีองค์ 8 “ ในเรื่องของมรรคนี้พระพุทธองค์ตรัสไว้ในส่วนที่ “ เมื่อยังเห็นว่า ” มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นและการที่เห็นสิ่งนั้นดับไปเป็นธรรมดาโดยตัวมันเองนั้น มันคือความดับทุกข์ (นิโรธ) ซึ่งมันก็คือเนื้อหาแห่งมรรคมีองค์ 8 ที่เป็นหนทางออกจากกองทุกข์ไปในตัวอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นมรรคมีองค์ 8 จึงยังเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับการที่เห็นว่ามีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นอยู่ เมื่อธรรมชาติมันย่อมไม่มีเราไม่มีสิ่งใดเลย “ มันจึงย่อมไม่มีใครเดินบนเส้นทางใด ” มันคงแสดงเนื้อหาแห่งความไม่มีไม่เป็น มันคือเนื้อหาแห่งความว่างเปล่าของมันอยู่อย่างนั้น มรรคมีองค์แปดจึงเป็นเรื่องของการปรุงแต่ง(สังขตธาตุ) ด้วยประการฉะนี้
การที่พระพุทธองค์ตรัสเรื่องมรรคไว้นั้น เป็นพุทธประสงค์ให้หมู่สัตว์ทั้งหลายที่ยังไม่ตระหนักชัดถึงความว่างแห่งความไม่มีไม่เป็นอยู่อย่างนั้น ให้เข้าใจในสิ่งที่เห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นอยู่นั้นมันมีความดับไปเป็นธรรมดา และความดับไปนั้นก็คือเนื้อหาหนทางแห่งมรรค ท่านมีความประสงค์ให้หมู่สัตว์เหล่านี้ได้พิจารณาธรรมและทำความเช้าใจในความหมายตรงนี้ แต่ทั้งนี้นักปฏิบัติทั้งหลายพึงเข้าใจอีกด้วยว่า “ การพิจารณาเพื่อให้เกิดความเข้าใจในเรื่องมรรคนั้น ” โดยเนื้อหาแห่งการพิจารณานั้นมันคือ สังขตธาตุที่เป็นการปรุงแต่งเกิดขึ้นในจิตแล้วด้วยเช่นกัน
ดังนั้นเราจึงควรตระหนักชัดและซึมทราบกลายเป็นเนื้อหาเดียวกันในเรื่องที่ว่า เมื่อเกิดจิตที่ปรุงแต่งไปในการพิจารณาธรรมเรื่องมรรคมีองค์ 8 ขึ้นมา จิตปรุงแต่งชนิดนี้ ย่อมไม่เที่ยงดับไปตามธรรมดาอยู่แล้วโดยตัวมันเอง
และด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น ธรรมอันคือ สติปัฎฐานทั้ง 4 และโพชฌงค์ 7 ก็ล้วนคือ สังขตธาตุ หรือ การปรุงแต่งเช่นกัน ด้วยประการฉะนี้












ความสมบูรณ์แห่งพุทธะ...
จะพาให้เธอดำรงชีวิตบนโลกใบนี้
ด้วยความอิ่มเอมในธรรมชาติแห่งความสงบผาสุก
และเป็นไปในทางไมตรีต่อสิ่งรอบข้าง
ด้วยความลงตัวและคล่องแคล่วในทุกวิถีทาง








บทที่ 24 กุณฑลิยสูตร

ตถาคตมีวิชชาและวิมุติเป็นผลานิสงส์

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าอัญชนมฤคทายวัน ใกล้เมืองสาเกต ครั้งนั้นแล กุณฑลิยปริพาชกเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญข้าพเจ้าเที่ยวไปในอารามเข้าไปสู่บริษัท เมื่อข้าพเจ้าบริโภคอาหารเช้าแล้ว ในเวลาปัจฉาภัต ข้าพเจ้าเดินไปเนืองๆ เที่ยวไปเนืองๆ สู่อารามจากอาราม สู่อุทยานจากอุทยาน ณ ที่นั้น ข้าพเจ้าเห็นสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง กำลังกล่าวถ้อยคำมีวาทะและการเปลื้องวาทะว่าดังนี้เป็นอานิสงส์ และมีความขุ่นเคืองเป็นอานิสงส์ ส่วนท่านพระโคดมมีอะไรเป็นอานิสงส์อยู่เล่า? พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรกุณฑลิยะ ตถาคตมีวิชชาและวิมุติเป็นผลานิสงส์อยู่

กุณฑลิยปริพาชก: ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ ก็ธรรมเหล่าไหนที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังวิชชาและวิมุติให้บริบูรณ์?

พระโคดม: ดูกรกุณฑลิยะ โพชฌงค์ ๗ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังวิชชาและวิมุติให้บริบูรณ์

กุณฑลิยปริพาชก: ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ ก็ธรรมเหล่าไหนที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์?

พระโคดม: ดูกรกุณฑลิยะ สติปัฏฐาน ๔ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์

กุณฑลิยปริพาชก: ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ ก็ธรรมเหล่าไหนที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์?

พระโคดม: ดูกรกุณฑลิยะ สุจริต ๓ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์.

กุณฑลิยปริพาชก: ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ ก็ธรรมเหล่าไหนที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์?

พระโคดม: ดูกรกุณฑลิยะ อินทรีย์สังวรอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์ อินทรีย์สังวรอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างไร ย่อมยังสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์?
ดูกรกุณฑลิยะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปที่ชอบใจด้วยจักษุแล้ว ย่อมไม่ยินดี ไม่ขึ้งเคียด ไม่ยังความกำหนัดให้เกิด และกายของเธอก็คงที่ จิตก็คงที่มั่นคงดีในภายใน หลุดพ้นดีแล้ว อนึ่ง เธอเห็นรูปที่ไม่ชอบใจด้วยจักษุแล้ว ก็ไม่เก้อ ไม่มีจิตตั้งอยู่ด้วยอำนาจกิเลส ไม่เสียใจ มีจิตไม่พยาบาท และกายของเธอก็คงที่ จิตก็คงที่ มั่นคงดี ในภายใน หลุดพ้นดีแล้ว

อีกประการหนึ่ง ภิกษุฟังเสียงด้วยหู ฯลฯ ดมกลิ่นด้วยจมูก ฯลฯ ลิ้มรสด้วยลิ้น ฯลฯ ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ฯลฯ รู้ธรรมารมณ์ที่ชอบใจ ด้วยใจแล้ว ย่อมไม่ยินดี ไม่ขึ้งเคียด ไม่ยังความกำหนัดให้เกิด และกายของเธอก็คงที่ จิตก็คงที่มั่นคงดีในภายใน หลุดพ้นดีแล้ว อนึ่ง เธอรู้ธรรมารมณ์ ที่ไม่ชอบใจด้วยใจแล้ว ไม่เก้อ ไม่มีจิตตั้งอยู่ด้วยอำนาจกิเลส ไม่เสียใจ มีจิตไม่พยาบาท และกายของเธอก็คงที่จิตก็คงที่ มั่นคงดีในภายใน หลุดพ้นดีแล้ว.
จบ กุณฑลิยสูตร
ก็ในสมัยพุทธกาลนั้น ได้มีนักบวชนอกศาสนาประเภทหนึ่งที่ชอบท่องเที่ยวไปจาริกไปในที่ต่างๆเพื่อสืบเสาะค้นหาแสวงหาธรรมะที่ตนเองอยากรู้ เค้าเรียกนักบวชประเภทนี้ว่า “ ปาริพาชก ” ซึ่งหมายถึงนักบวชเร่ร่อนเพศชาย ถ้าเป็นเพศหญิงเรียกว่า “ ปริพาชิกา ” กุลฑลิยะปริพาชกก็เป็นนักบวชประเภทนี้เช่นกันที่ชอบเร่ร่อนไต่ถามถึงธรรมะไปในที่ต่างๆ จนกระทั้งกุลฑลิยะได้มาเข้าเฝ้าพระพุทธองค์จึงเกิดการไต่ถามธรรมในส่วนที่กุลฑลิยะเองอยากรู้ จึงเป็นที่มาของ “ กุลฑลิยสูตร ”
ในพระสูตรนี้พระพุทธองค์ทรงชี้แจงแสดงถึงผลานิสงค์ธรรมที่พระพุทธองค์ทรงมีอยู่ โดยพระพุทธองค์ทรงตรัสถึงการมีอินทรีย์สังวร คือการสำรวมทางทวารทั้ง 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น ผิว กายและใจ เมื่อมีเหตุปัจจัยเข้ามาทางทวารทั้ง 6 นี้คือ รูปภาพ เสียง กลิ่น รสชาติ การสัมผัสและธรรมารมณ์ “ การสำรวมอินทรีย์สังวร ” คือ การที่ไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่น ในขันธ์ทั้ง 5 ในเวทนาทั้งหลาย เมื่อมีเหตุปัจจัยเข้ามาทางทวารทั้ง 6 ข้างต้น
เมื่อไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้วก็กลายเป็นความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่มีจิตตั้งมั่นอยู่ด้วยกิเลส การที่ได้ตระหนักชัดและซึมทราบกลายเป็นเนื้อหาเดียวกันกับความดับไปเป็นธรรมดา ของขันธ์ทั้ง 5 ของจิตทั้งหลายนั้น ถือว่าเป็น “การที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว” ซึ่งอินทรีย์สังวร ( การที่เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว มิใช่หมายถึง เอาความเป็น ” เรา ” เข้าไปทำ แต่หมายถึงการตระหนักชัดและกลายเป็นเนื้อหาเดียวกันแห่งความดับไปเป็นธรรมดาโดยตัวมันเองอยู่แล้ว ซึ่งตรงนี้มันจะทำให้ความเป็นเราดับไป หมายถึงขันธ์ทั้ง 5 ดับไป นั่นเอง ) และเป็นเหตุปัจจัยย่อมยัง “สุจริต 3” บริบูรณ์ สุจริต 3 คือ ความประพฤติชอบ 3 ประการ คือ
1. กายสุจริต ได้แก่ เว้นจากการฆ่าสัตว์ เ ว้นจากการลักทรัพย์ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม
2. วจีสุจริต ได้แก่ เว้นจากการพูดเท็จ เว้นจากการพูดส่อเสียด เว้นจากการพูดคำหยาบและเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
3. มโนสุจริต ได้แก่ ไม่โลภ ไม่พยาบาท และมีทิฐิความเห็นถูกต้อง
และพระพุทธองค์ยังทรงตรัสอีกว่า การที่ได้ตระหนักชัดและซึมทราบกลายเป็นเนื้อหาเดียวกันกับความดับไปเป็นธรรมดาตามธรรมชาติโดยตัวมันเองอยู่แล้วแห่งจิตทั้งหลายแห่งขันธ์ทั้ง 5 ที่เป็นเหตุให้ สุจริต 3 บริบูรณ์นั้น การที่ได้ตระหนักชัดและการที่ได้ซึมทราบกลายเป็นเนื้อหาเดียวกันดังกล่าวข้างต้นยังเป็นเหตุให้ สติปัฏฐาน 4 บริบูรณ์ โพชฌงค์ธรรม 7 บริบูรณ์ วิชชาและวิมุติบริบูรณ์ ซึ่งเป็นผลานิสงค์ที่พระพุทธองค์มีอยู่















เมื่อใดพวกเธอยอมให้พฤติแห่งจิตของเธอ
ไปผลิตผลออกมาเป็นความคิดว่า พุทธะ
เมื่อนั้นชื่อว่าเธอกำลังไปนำเอาความมีความเป็น
ฝ่ายรูปธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง
ซึ่งสามารถเอามาทำให้เป็นผู้ตรัสรู้ได้นั้น
มาปั้นให้เป็นตัวเป็นตนขึ้นมาเอง








บทที่ 25 วิวาทะเรื่อง "ก็รู้ชัด" ในสติปัฎฐาน
ผู้ตอบ : พระพุทธองค์ตรัสไว้ครับว่า เมื่อจิตปรุงแต่งว่าจิตหลุดพ้น ก็ให้รู้ชัดว่าจิตที่ปรุงแต่งว่าจิตหลุดพ้นนั้น มันก็มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา
ผู้เถียง : ไม่เคยได้ยินนะแบบนี้ เคยเห็นแต่แบบล่างค่ะ
เพราะการจะพิจารณาว่า จิตหลุดพ้นนั้น ต้องออกมาจากสภาวะนิพพาน และพิจารณาธรรมที่เข้าไปพบมา
เมื่อจิตหลุดพ้น ก็รู้ชัดว่า จิตหลุดพ้น เมื่อจิตยังไม่หลุดพ้น ก็รู้ชัดว่า จิตยังไม่หลุดพ้น
[๔๔๗] ก็ภิกษุ พิจารณาเห็นจิตในจิตทั้งภายในและภายนอกเนืองๆ อยู่ เป็นอย่างไร
ภิกษุในศาสนานี้ เมื่อจิตมีราคะ ก็รู้ชัดว่า จิตมีราคะ เมื่อจิตปราศจากราคะ ก็รู้ชัดว่า จิตปราศจากราคะ
เมื่อจิตมีโทสะ ก็รู้ชัดว่า จิตมีโทสะ เมื่อจิตปราศจากโทสะ ก็รู้ชัดว่า จิตปราศจากโทสะ
เมื่อจิตมีโมหะ ก็รู้ชัดว่า จิตมีโมหะ เมื่อจิตปราศจากโมหะ ก็รู้ชัดว่า จิตปราศจากโมหะ
เมื่อจิตหดหู่ ก็รู้ชัดว่า จิตหดหู่ เมื่อจิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ชัดว่า จิตฟุ้งซ่าน
เมื่อจิตเป็นมหัคคตะ ก็รู้ชัดว่า จิตเป็นมหัคคตะ เมื่อจิตไม่เป็นมหัคคตะ ก็รู้ชัดว่า จิตไม่เป็นมหัคคตะ
เมื่อจิตเป็นสอุตตระ ก็รู้ชัดว่า จิตเป็นสอุตตระ เมื่อจิตเป็นอนุตตระ ก็ รู้ชัดว่า จิตเป็นอนุตตระ
เมื่อจิตตั้งมั่น ก็รู้ชัดว่า จิตตั้งมั่น เมื่อจิตไม่ตั้งมั่น ก็รู้ชัดว่า จิตไม่ตั้งมั่น
เมื่อจิตหลุดพ้น ก็รู้ชัดว่า จิตหลุดพ้น เมื่อจิตยังไม่หลุดพ้น ก็รู้ชัดว่า จิตยังไม่หลุดพ้นด้วย อาการอย่างนี้ ภิกษุ ชื่อว่าพิจารณาเห็นจิตในจิตทั้งภายในและภาย นอกเนืองๆ อยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัส เสียได้ในโลก

ผู้ตอบ : สัจธรรมจริงๆแล้ว ทุกอนูธรรมธาตุไม่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เป็นตัวเป็นตนเลยคงไว้ซึ่งแต่ธรรมชาติแห่งความไม่มีตัวตน เป็นความว่างเปล่าถ้วนทั่วอยู่อย่างนั้น นี่คือธรรมชาติ แต่เมื่ออวิชชาพาหลงยึดจนเกิดตัวตนขึ้นมา ตถาคตก็ตรัสว่า
“สิ่งนั้น แท้จริงในธรรมชาติย่อมไม่มี หากยึดว่ามีสิ่งนั้น
สิ่งนั้นย่อมไม่เที่ยง แปรปรวนไปเป็นธรรมดา”
คำว่า “จิต” ในสติปัฏฐานในหมวดจิต นั้น หมายถึงการที่อวิชชาความไม่รู้พาเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ทั้ง 5 ในเวทนาทั้งหลายจนก่อให้เกิด ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ซึ่งก็คือจิตในลักษณะต่างๆนั่นเองตามที่คุณพรรณนาอ้างพระไตรปิฎกก๊อบปี้มาให้ผมดู เพราะฉะนั้น คำว่า “ จิตหลุดพ้น ” จึงหมายถึง อวิชชาความไม่รู้พาเข้าไปยึดมั่นถือมั่นจนก่อให้เกิดการปรุงแต่งในภาวะธรรมที่ตนเองคิดว่ามันคือการหลุดพ้น ” จึงเรียกชื่อมันว่า “ จิตหลุดพ้น ” เพราะฉะนั้นข้อความที่มาในพระไตรปิฎกที่ว่า จิตหลุดพ้น ก็รู้ชัดว่า จิตหลุดพ้น นั้น มันจึงแปลได้ว่า เมื่อจิตปรุงแต่งว่าหลุดพ้น ก็ให้รู้ชัดว่าจิตที่ปรุงแต่งว่าหลุดพ้นนั้น มันก็มีความแปรปรวนไปดับไปเป็นธรรมดาโดยตัวมันเองอยู่แล้ว
มันมิใช่เป็นเพราะ การจะพิจารณาว่า จิตหลุดพ้นนั้น ต้องออกมาจากสภาวะนิพพานและพิจารณาธรรมที่เข้าไปพบมา ตามที่ “ คุณชอบเถียง ” กล่าวอ้างแต่อย่างใด ภาวะนิพพานนั้นมันไม่ใช่ธรรมที่ต้องเข้าไปพิจารณาเข้าไปสอดส่องอีกต่อไปแล้วครับ มันเป็นธรรมที่แสดงเนื้อหามันเองอยู่อย่างนั้นโดยที่ไม่มีความเป็น “เรา ” เข้าไปเกี่ยวข้องได้เลยในทุกกรณี
คำว่า ก็รู้ชัดนั้น หมายถึงสัมมาสติหรือสติตามธรรมชาติ ที่เป็นธรรมชาติแห่งการระลึกรู้ว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่หลงเข้าไปยึดขึ้นมาเป็นจิตหลุดพ้นนั้นแท้จริงมันย่อมไม่มี และสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้น (จิตหลุดพ้น) ย่อมดับไปแปรปรวนไปตามธรรมดาธรรมชาติอยู่แล้ว
แล้วคุณแปล ก็รู้ชัด อย่างไรเล่า
ผมน่ะแปลความหมายออกมาตรงต่อสัจธรรมแล้วครับ
( วิวาทะนี้ เป็นบทความเก่าที่ผู้เขียนเคยเขียนลงไว้ในเว็บบอร์ดธรรมะแห่งหนึ่ง เป็นการถกเถียงกันในเรื่องวิธีปฏิบัติ )




















ลัทธิแว่นส่องสมาธิและปัญญานั้น
ต้องการประโยชน์ของการเห็นการฟัง การสัมผัส
และความรู้ที่เกิดจากการกระทำเปล่านั้น
ซึ่งล้วนแต่นำไปสู่สภาวะแห่งความสงบ
ซึ่งสลับกันอยู่กับความวุ่นวายอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
พอกันทีกับคำสอนแห่งลัทธินี้...
“ คำสอนฮวงโป ”






บทที่ 26 วิวาทะเรื่อง เอามารวมกันทีหลัง
ผู้เถียง : ..............................................
ผู้ตอบ : ธรรมที่ลงไว้ค่อนข้างมีหลักเกณฑ์ที่สมบูรณ์ ขึ้นอยู่กับปัญญาของผู้อ่าน
การที่เห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่เที่ยงดับไปเอง เป็นการเจริญ สติ สมาธิ ปัญญา ไปในตัว เป็นเนื้อหาแห่งมรรคมีองค์ 8 ไปในตัวอยู่แล้ว
ไม่ใช่เป็นการใช้จิตปรุงแต่ง เข้ามาทำทีละอย่างๆ แบบเป็นขั้นเป็นตอน
ธรรมอันหลุดพ้น เป็นธรรมสมังคีแล้วครับ มันสมังคีพร้อมเพียงกันไปด้วย “ ความที่เข้าใจในธรรม ” แล้วปล่อยให้ธรรมนั้นมันทำหน้าที่ไปสู่ระบบธรรมชาติของมัน คือ ความดับไปเป็นธรรมดาตามธรรมชาติของมันนั่นเอง
แต่ที่คุณค้านเข้ามา ธรรมะของพวกคุณมันเริ่มจากการฝึกทีละตัว มันไม่ผิดหรอกครับ แต่มันยังเป็นธรรมของกัลยาณชนซึ่งยังไม่เข้าใจเรื่องความดับไปเป็นธรรมดา ไม่ใชอริยชนผู้ซึ่งสามารถตระหนักชัดเข้าใจในเนื้อหาแห่งธรรมอันคือธรรมชาติ ธรรมอันสมังคี เป็นธรรมบนเส้นทางหลุดพ้นแท้จริงแล้วครับ ขี้เกียจอธิบายแล้ว
เอาเป็นว่า คุณไปทำกิจของคุณให้จบดีกว่า เรื่องนิพพาน คุณยังมาโพสต์แบบเดาในความน่าจะเป็นของคุณเลยผมนำเสนอในส่วนที่ผู้ที่เข้ามาอ่านด้วยความสนใจใน “ ธรรมอันดับไปสิ้นไปเสื่อมไปเป็นธรรมดา ” ในวิถีธรรมชาติแห่งธรรมเท่านั้นครับ
คุณเข้ามาค้านด้วยเหตุผลที่ว่า เป็นการทำลายพระพุทธศาสนา แล้วถ้าแนวทางธรรมชาติเป็นแนวทางที่ถูกต้องล่ะ คุณเองจะอยู่ในฐานะไหนดี คุณเองนั่นแหละ ที่ทำลายพระพุทธศาสนาซะเอง “ ก็รู้ชัด ” ในสติปัฏฐาน คุณยังแปลไม่ออกแปลไม่ตรงเลย
ตัวเอง กิจยังไม่จบเลย กระทู้นี้เป็นธรรมปรมัถต์ แต่คุณใช้ความรู้ของคุณที่ยังกระพร่องกระแพร่ง ผมว่า ผู้ที่เค้าอ่านด้วยความสนใจ เขาคงพิจารณาออก ก็นะ แค่นั้นแหละ
( วิวาทะนี้ เป็นบทความเก่าที่ผู้เขียนเคยเขียนลงไว้ในเว็บบอร์ดธรรมะแห่งหนึ่ง เป็นการถกเถียงกันในเรื่องวิธีปฏิบัติ )

















ท่ามกลางความวุ่นวายร้อนรน
ของโลกและสังคมมนุษย์
พุทธธรรมก็ยังคงฉายแสงเจิดจ้า
เป็นแสงแห่งความร่มเย็นเป็นศานติสุข
ให้ผู้ศรัทธาได้พักพิงตลอดไป







บทที่ 27 วิวาทะเรื่อง การพิจารณาธรรม
ผู้เถียง : ..............................................
ผู้ตอบ : ชัดเจนนะครับ เนื้อหาธรรมที่ลงไว้ก็บอกอยู่แล้ว หากไม่รู้ไม่เข้าใจ ก็ศึกษา ก็พิจารณาสิครับ ว่า ขันธบรรพะ อายตนบรรพะ นิวรณ์บรรพะ โพชฌังคบรรพะ สัจจะบรรพะ คือธรรมะ เกี่ยวกับอะไร
แต่ถ้าคุณ อยากจะหลุดพ้นจากกองทุกข์ ทั้งปวง คำว่าทั้งปวง คือ ปรุงแต่งหยาบ ปรุงแต่งละเอียด ก็ล้วนไม่เที่ยงดับไปตามธรรมชาติอยู่แล้ว จุดประสงค์ ในเนื้อหาธรรม ในหนังสือที่ผมเขียน กำลังชี้ให้เห็น ถึงการปรุงแต่ง “ ในทุกระดับ ” ตั้งแต่ปรุงแต่งแบบหยาบๆ ยัน ปรุงแต่งแบบละเอียด
แต่สำหรับผู้ที่มีปัญญามีความรอบรู้ มีความเข้าใจในธรรมเข้าใจถึงปัญหาและวิธีแก้ปัญหาอย่างชัดเจนตามวิธี “ ธรรมชาติ ” แล้ว ผู้มีปัญญาเหล่านี้พึงรู้ว่า การพิจารณาธรรมทุกๆหมวดเหล่านี้ ก็ล้วนเป็นจิตปรุงแต่งชนิดหนึ่ง
เอาแค่นี้ก่อน อ่านแล้วแยกแยะรู้เรื่องหรือเปล่า เมื่อไม่เข้าใจไม่รู้ ในความหมายธรรมะแต่ละตัว ก็ศึกษาพิจารณาสิครับ เพื่อให้หายจากความลังเลสงสัยในธรรม หนังสือที่ผมเขียนก็นำเสนอแบบนี้
แต่ธรรมะที่ผมเขียนไว้ในหนังสือ ก็นำเสนออีกว่า “ การพิจารณาธรรม ” นั้น ก็เป็น สังขตธาตุ หรือ การปรุงแต่งชนิดหนึ่งด้วยเช่นกัน

ก็นำเสนอไว้แบบนี้ แบบองค์ความรู้ถ้วนทั่ว แบบอุชุปฏิปันโน “ปฏิบัติตรงๆ” ตรงตามพุทธะประสงค์ ทั้งนี้ คุณจะเห็นว่า “ การพิจารณาธรรม ” มันก็ล้วนเป็นการปรุงแต่งอย่างหนึ่งโดยสภาพมันเอง มันก็ขึ้นอยู่กับ อินทรีย์แห่งปัญญาของคุณ ว่าจะรอบรู้ขนาดไหน ไม่ใช่เป็นการบังคับให้คุณต้องรู้นี่ เมื่อคุณเข้าใจตรงนี้เมื่อไร คุณก็จะ “ ร้องอ๋อ ” ของคุณเองเมื่อนั้น
ลองทำความเข้าใจในเนื้อความดูอีกทีนะครับ ไม่ใช่การบิดเบือน แต่เป็นการ ชี้ธรรม อันคาดไม่ถึง นะครับ เหมือนเส้นผมบังภูเขา
( วิวาทะนี้ เป็นบทความเก่าที่ผู้เขียนเคยเขียนลงไว้ในเว็บบอร์ดธรรมะแห่งหนึ่ง เป็นการถกเถียงกันในเรื่องวิธีปฏิบัติ )
















เซนจะสอนให้เธอมีความสุขอย่างง่ายดาย
ในทุกๆลมหายใจที่อ่อนละมุนของเธอเอง








บทที่ 28 วิวาทะเรื่อง ปัญหาต้องเข้าไปแก้ไข
ผู้เถียง : ..............................................
ผู้ตอบ : ก็เพราะ “ อวิชชาพาปรุงแต่ง ” เสมอๆ ว่ามีคุณและคุณกำลังปฏิบัติธรรม คุณมีปัญหา และ ต้องเข้าไปแก้ไขปัญหา
ขอย้ำนะครับ ก็ถ้าหากว่า ยังมีอวิชชา ในส่วนมืดข้างไหนส่วนไหนของคุณ สิ่งนั้นก็ไม่เที่ยง ปรุงแต่งเมื่อไร มันก็ไม่เที่ยงโดยสภาพมันเองเมื่อนั้น อันนี้คือธรรมชาติ
แต่ถ้าหากยังฝังใจในความเข้าใจว่า มีคุณอยู่ คุณมีปัญหา และคุณต้องเข้าไปแก้ไขปัญหา ในการปฏิบัติธรรมของคุณ
มันก็เทียบเคียงมีความหมาย ว่า จิตคุณปรุงแต่งอยู่เสมอว่า จิตคุณยังไม่หลุดพ้น จิตที่ปรุงแต่งอยู่เสมอว่า จิตยังไม่หลุดพ้นนี้ มันก็ไม่เที่ยงล้วนดับไป เป็นความแปรปรวนเป็นธรรมดา ตามธรรมชาติอยู่แล้ว
โดยแท้จริง มันไม่มีอะไรต้องแก้ไขกับอะไรอยู่แล้วครับ ปัญหาที่คุณว่านั้น แท้จริงมันก็ไม่เที่ยงดับไปเป็นธรรมดาโดยตัวมันเองอยู่แล้ว เพราะคุณเข้าไปยึดมั่นถือมั่นว่ามีมันและมันคือปัญหา คุณก็เลยปรุงแต่งซ้อนเข้าไปในการสาละวนที่จะหาวิธีเอาปัญหานี้ออก
แต่โดยความเป็นจริง ตัวปัญหาและวิธีแก้ไขปัญหา ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้มันคือจิตปรุงแต่งของคุณเองทั้งนั้น
วิธีแก้ไขที่แท้จริงตามที่พระพุทธองค์ตรัส คือ คุณต้องตระหนักชัดว่า ตัวปัญหาและวิธีแก้ไขปัญหานั้น คือ จิตปรุงแต่ง
และ จิตที่ปรุงแต่งที่บัญญัติว่านี่คือปัญหากับจิตที่ปรุงแต่งในการสาละวนเข้าไปแก้ไขปัญหานั้น จิตทั้งสองนี้ก็ล้วนไม่เที่ยงดับไปเองเป็นธรรมดาอยู่แล้ว
มันเป็นการปรับไปสู่ความดับไปเป็นธรรมดาตามธรรมชาติในทุกๆส่วน
การปฏิบัติธรรมที่ตรงต่อสัจธรรมนั้นมันเป็นวิธีการของมันเอง คือ วิธีการธรรมดาวิธีการธรรมชาติของธรรมะที่มันดับไปโดยตัวมันเองอยู่แล้ว
ไม่ใช่วิธีการที่คุณปรุงแต่งขึ้นว่าจะต้องลงมือทำโน้น ทำนี่และทำนั่น เพื่อให้จิตมันสงบลงนี่มันปรุงแต่งชัดๆ ปรุงแต่งเห็นๆ

( วิวาทะนี้ เป็นบทความเก่าที่ผู้เขียนเคยเขียนลงไว้ในเว็บบอร์ดธรรมะแห่งหนึ่ง เป็นการถกเถียงกันในเรื่องวิธีปฏิบัติ )

















ก่อนศึกษาเซน "ฉันคือฉัน"
ขณะศึกษาเซน "ฉันกำลังเปลี่ยนไป"
แต่เมื่อเซนเข้าไปในเส้นเลือดแล้ว "ฉันคือฉันคนเดิม"








บทที่ 29 วิวาทะเรื่อง เว่ยหล่างสอนลูกศิษย์
พระสังฆปรินายก(เว่ยหล่าง) กล่าวไว้ว่า “เมื่อภาวะที่แท้แห่งจิตของเราปราศจากมลทิน ปราศจากความโง่และปราศจากความกระวนกระวาย เมื่อ เราตรวจตราภายในจิตของเราด้วยปรัชญาอยู่ทุกขณะโดยไม่ว่างเว้น เมื่อเราไม่ยึดติดอยู่กับสิ่งทั้งหลาย และไม่ยึดติดอยู่กับวัตถุที่ปรากฏ เราก็เป็นอิสระและเสรี เราจะวางหลักเกณฑ์ในธรรมไปทำไม เมื่อ เราอาจบรรลุจุดประสงค์ได้โดยไม่มีปัญหา ไม่ว่าเราจะเหลียวซ้ายหรือแลขวา ทั้งนี้เนื่องจากความพยายามของเราเองที่เราตระหนักชัดถึงภาวะที่แท้แห่งจิต และ เนื่องจากการตระหนักชัดกับการปฎิบัติธรรม นั้นเป็นสิ่งที่ต้อง ปฏิบัติพร้อมกันไป ไม่ใช่ค่อยทำค่อยไปทีละขั้น
การวางหลักเกณฑ์ในธรรมจึงไม่จำเป็น เพราะธรรมทั้งหลาย ย่อมมีลักษณะเป็นนิพพานอยู่แล้วในเนื้อหา เราจะสามารถไปกำหนดเป็นขีดขั้นได้อย่างไร? “
ผู้เถียง : ..............................................
ผู้ตอบ : ธรรมที่ผลเอามาลงโพสต์ข้างต้น เป็นคำกล่าว ของครูเว่ยหล่าง ล้วนๆครับ ท่านกล่าวไว้ใน พระสูตรเว่ยหล่าง หลวงพ่อพุทธทาส ท่านแปลออกมา
ชอบตรงที่ “ การวางหลักเกณฑ์ในธรรมจึงไม่จำเป็น เพราะธรรมทั้งหลาย ย่อมมีลักษณะเป็น นิพพานอยู่แล้วในเนื้อหา เราจะสามารถไปกำหนดเป็นขีดขั้นได้อย่างไร? ” ก็ เป็นความเห็นของพระอรหันต์ที่ชื่อ เว่ยหล่าง
อยากเห็นผู้ที่เค้าค้านวิเคราะห์เข้ามาบ้าง อย่าใช้ ความน่าจะเป็น เข้ามาวิเคราะห์อีกนะครับ
เอาที่มันอ่านแล้วเข้าใจ ร้องอ๋อได้ และก็ชอบอีกอย่างหนึ่งที่ครูเว่ยหล่างท่านกล่าวอีกว่า เนื่องจากการตระหนักชัดกับการปฎิบัติธรรม นั้น เป็นสิ่งที่ต้อง ปฏิบัติพร้อมกันไป ไม่ใช่ค่อยทำค่อยไปทีละขั้น
ก็นะ ขนาดครูเว่ยหล่างท่านเป็นอรหันต์ ท่านมีชื่อเสียงท่านมีฤทธิ์ท่านเอง ท่านก็ยังสอนลูกศิษย์ท่านแบบนี้ หลักธรรมอันคือธรรมชาติในพระสูตรเว่ยหล่าง เป็นเนื้อหาธรรมเป็นแบบนี้นะครับ

( วิวาทะนี้ เป็นบทความเก่าที่ผู้เขียนเคยเขียนลงไว้ในเว็บบอร์ดธรรมะแห่งหนึ่ง เป็นการถกเถียงกันในเรื่องวิธีปฏิบัติ )



















ในความเป็นบวก และความเป็นลบ
ผมได้พบธรรมชาติแห่งความเสมอภาคของมัน
บัดนี้ ผมจึงไม่มีความคิดที่จะรับเอาไว้ หรือ ปฏิเสธ








บทที่ 30 วิวาทะเรื่อง การทำ สติ สมาธิ ปัญญา
ผู้เถียง : ..............................................
ผู้ตอบ : ยังยืนยันอยู่ครับ ว่าไม่ต้องทำอะไรเลย
เพียงอาศัยความเข้าใจในธรรมชาติแห่งธรรม
แล้วปล่อยให้ธรรมอันคือธรรมชาตินั้น “ ดำเนินเนื้อหาของมันเอง ”
โดยที่ไม่มีความเป็น "เรา" หรือ "อัตตา" เข้าไปเกี่ยวข้อง
เนื้อหาธรรมในที่ผมโพสต์ไว้ สรุปได้ว่า
“ จงปล่อยจิตเดิมแท้และสิ่งทั้งปวง ไว้ในสภาพแห่งความเป็นสภาพเช่นนั้น แล้วท่านจะอยู่ในสมาธิตลอดเวลา ”
อยากจะเสริมว่า
จงปล่อยจิตเดิมแท้และสิ่งทั้งปวง ไว้ในสภาพแห่งความเป็นสภาพเช่นนั้น
แล้วท่านจะอยู่ใน “ สติ สมาธิ ปัญญา ตลอดเวลา ”
โดยที่ไม่ต้องใช้จิตปรุงแต่งจนเกิดความเป็นเรา หรือ อัตตาเข้าไปทำไปดำริ เพื่อให้มันเกิดเป็น สติ สมาธิ ปัญญา ตามความไม่เข้าใจในธรรมของตนอีกเลย
ตรงนี้เป็นธรรมสมังคีแล้วนะครับ เป็นเส้นทางหลุดพ้นอันแท้จริงด้วย
( วิวาทะนี้ เป็นบทความเก่าที่ผู้เขียนเคยเขียนลงไว้ในเว็บบอร์ดธรรมะแห่งหนึ่ง เป็นการถกเถียงกันในเรื่องวิธีปฏิบัติ )











โลกนี้เต็มไปด้วย
คนที่ไม่เข้าใจตนเอง
ฉะนั้น อย่าเสียใจ
ถ้าพวกเขาไม่เข้าใจตัวคุณ







บทที่ 31 วิวาทะเรื่อง แบบค่อยเป็นค่อยไป
ผู้เถียง : ..............................................
ผู้ตอบ : ขอบคุณครับ ที่ติติงมา
เจตนาในการเผยแพร่เนื้อหาแห่งธรรมของผม เป็นการเสนอธรรมในมุมมองธรรมชาติ
อันเป็นเส้นทางหลุดพ้นตั้งแต่ระดับ โสดาปัตติมรรคขึ้นไป
และ ไม่มีจุดประสงค์ยัดเยียดให้ใครครับ
เป็นการให้ธรรมเป็นทานในจุดหนุึ่ง คือ ในกระทู้นี้เท่านั้นครับ
แต่บังเอิญมีคนกลุ่มหนึ่งไม่เห็นด้วยและเอามาตรฐานเท่าที่ตัวเองรู้
มาวัดความรู้ของคนอื่น แล้วก็ชี้เป้าว่า
ธรรมอันคือลักษณะธรรมชาติโดยตัวมันเอง เป็นแนวทางที่ผิดและง่ายเกินไป
เมื่อคนกลุ่มนี้เข้ามา ทางเราก็มิได้ขัดขวางแถมยังยอมรับฟังเหตุผล
ธรรมแห่งธรรมชาตินี้มันเป็นเนื้อหาแห่งธรรมสมังคี อันเกิดจากความเข้าใจในธรรมชาติแห่งธรรม
แต่ที่กลุ่มบุคคลเหล่านี้ค้าน เพราะพวกเขาคิดว่าการปฏิบัติธรรม
ต้องค่อยเป็นค่อยไป “ตามขั้นตอน”
แต่ทางธรรมชาติเอง “การปฏิบัติธรรมแบบนี้แบบค่อยเป็นค่อยไป”ล้วนแต่เป็นอวิชชาตัวใหม่ที่ซ้อนเข้ามา เพราะจิตยังไม่เข้าใจในธรรม ในธรรมชาติ
ก็เลย แสวงหาวิธีหลุดพ้น ด้วยการปรุงแต่งในธรรม
เพื่อใช้ในการทำพระนิพพานให้เกิด
การปฏิบัติธรรมแบบค่อยเป็นค่อยไป พระพุทธองค์ท่านไม่เคยตรัสไว้
ท่านเพียงบอกให้ศึกษาธรรม เพื่อขจัดความลังเลความสงสัยความไม่เข้าใจในธรรมให้มันหมดไปเท่านั้น
เมื่อศึกษาและเข้าใจจนหมดความลังเลสงสัยแล้ว
จึงจะเข้าใจว่า
ธรรมอันสมังคีที่เกิดขึ้นตามกำลังแห่งอินทรีย์นั้น
จะมีได้แต่เฉพาะผู้ที่ศึกษาและเข้าใจในธรรมอันคือธรรมชาติแล้วเท่านั้น
การที่ค่อยๆศึกษา และ ค่อยๆทำไปที่ละขั้นทีละตอนโดยเนื้อหา มันก็คือความไม่เข้าใจในธรรม มันก็คือความลังเลสงสัยในธรรม(วิจิกิจฉา)
นั่นเอง โดยหลัก มีแค่นี้

( วิวาทะนี้ เป็นบทความเก่าที่ผู้เขียนเคยเขียนลงไว้ในเว็บบอร์ดธรรมะแห่งหนึ่ง เป็นการถกเถียงกันในเรื่องวิธีปฏิบัติ )












เพราะพุทธะในความคิดเธอ
ต้องประกอบไปด้วยธรรมต่างๆนาๆ
มันก็คือ พุทธะที่เป็นตัวตนขึ้นมาในหัวเธอน่ะ








บทที่ 32 วิวาทะเรื่อง พระอรหันต์ยุคก่อน
ผู้เถียง : ..............................................
ผู้ตอบ : จริงๆแล้ว เรื่องจิตสู่จิต มันมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้ว
คราวที่พระพุทธองค์ ทรงชูดอกบัวขึ้นต่อหน้าพระมหากัสสัปปะ

ท่านโพธิธรรม หรือ ปรมาจารย์ตั๊กม้อ ท่านเป็นภิกษุที่มีอภิญญาอย่างเอกอุด้วยซ้ำ
ท่านนำเอาลัทธิปฏิบัติธรรมโดยที่อย่าเอาความเป็น “เรา” เข้าไปทำ ก็คือ “ นิกายเซน ” ไปเผยแพร่ในประเทศจีน
เว่ยหลาง เป็นศิษย์รุ่นที่ 6 เป็นสังฆปรินายกองค์ที่ 6
ท่านมีอภิญญาด้วยซ้ำ คราวที่โจรมาตัดคอท่าน โจรเอามีดฟันลงที่คอ ท่านเอาคอรองรับ มีดฟันไม่เข้า.....จนโจรสลบไป
พระภิกษุเหล่านี้ของแท้ครับ ไม่ต้องพิสูจน์
แล้วพระอภิญญาพระอรหันต์เหล่านี้ท่านสอนธรรมอย่างไร ดูวิธีการสอนธรรมท่านสิครับ

ภิกษุรูปหนึ่งนำโศลกซึ่งแต่งขึ้นโดย คณาจารย์ที่ชื่อ ออหลุน มาท่องบ่นอยู่ว่า....
“ออหลุน มีวิธีและเครื่องมือ
ที่จะกั้นจิตเสียจาก ความนึกคิดทั้งปวง
เมื่ออารมณ์ต่างๆ มิได้กลุ้มรุมจิต
ต้นโพธิ(เครื่องหมายแห่งปัญญา) ก็จะงอกงามอย่างเป็นล่ำสัน”

พระสังฆปรินายก ได้ยินโศลกนี้ จึงพูดว่า
“โศลกนี้ย่อมแสดงว่า ผู้แต่งยังไม่ทันเห็นจิตเดิมแท้อย่างเต็มที่
ถ้าใครรับเอาข้อความมาถือปฏิบัติ
ก็จะไม่ได้รับความหลุดพ้นแต่จักกลับผูกรัดตัวเองหนาแน่นยิ่งขึ้น”

แล้วพระสังฆปรินายกก็แต่งโศลกขึ้นมาใหม่ว่า
“เว่ยหล่าง ไม่มีวิธี และเครื่องมือ
ที่จะกลั้นจิตเสียจากความนึกคิดทั้งปวง
อารมณ์ต่างๆย่อมกลุ้มรุมจิตของข้าพเจ้าอยู่เสมอ
และข้าพเจ้าสงสัยว่าต้นโพธิจะงอกงามได้อย่างไรกัน?”
อธิบาย นี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่นักปฎิบัติธรรมติดกันมาก คือ ติดใช้จิตปรุงแต่งเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติและปรุงแต่งเกี่ยวกับการลงมือปฏิบัติ
ธรรมชาตินั้น เป็นกระบวนการ “ โดยสภาพมันเอง ” มันไม่ใช่วิธีและเครื่องมือ
หากจะกล่าวว่ามีวิธีและเครื่องมือ มันก็ “เป็นวิธีและเครื่องมือโดยตัวมันเอง”
การที่ใช้จิตปรุงแต่งว่า เรามีวิธีที่จะเข้าไปจัดการกับจิตทั้งหลายนั้นออกเสียจากความนึกคิด และ ด้วยเหตุจากวิธีและเครื่องมือของเรา จะทำให้อารมณ์คือเวทนาต่างๆไม่เข้ามากลุ้มรุมจิต(หมายถึง เราจะได้ไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในเวทนาทั้งหลาย) สภาวะแห่งความหลุดพ้นก็จะงอกงามอย่างเป็นล่ำสัน.........การที่ใช้จิตปรุงแต่งแบบนี้ ก็บ่งบอกอยู่แล้วในตัวว่าผู้แต่งโศลกนี้ยังไม่เข้าใจในธรรมอันแท้จริงนั้นเป็นเช่นไร การปรุงแต่งในวิธีการปฏิบัตินั้น เป็นอวิชชาตัณหาอุปาทานอย่างหนึ่งด้วย
ธรรมชาตินั้น เป็นกระบวนการ “ โดยสภาพมันเอง ” มันไม่ใช่วิธีและเครื่องมือ
หากจะกล่าวว่ามีวิธีและเครื่องมือ มันก็ “เป็นวิธีและเครื่องมือโดยตัวมันเอง”
วิธีและเครื่องมือโดยตัวมันเอง หรือ วิธีและเครื่องมือโดยธรรมชาติ นั้น เป็นอย่างไรเล่า? ก็โดยธรรมชาติ อารมณ์หรือเวทนาต่างๆ มันก็ดับไปโดยตัวมันเองโดยสภาพมันเองตามธรรมดาธรรมชาติอยู่แล้ว ธรรมชาติที่ว่าทุกสรรพสิ่งย่อมไม่เที่ยงอยู่แล้ว
โดยธรรมชาติ เมื่อไม่เข้าไปเนื่องไม่เข้าไปเนิ่นช้าในความคิดทั้งปวง ความคิดทั้งปวงนั้นมันก็ดับไปโดยตัวมันเองโดยสภาพมันเองตามธรรมดาตามธรรมชาติ ธรรมชาติที่ว่าทุกสรรพสิ่งย่อมไม่เที่ยงอยู่แล้ว
เว่ยหล่างจึงแต่งโศลกขึ้นมาใหม่ว่า ท่านไม่มีวิธีและเครื่องมือนั้น จึงถูกต้อง

( วิวาทะนี้ เป็นบทความเก่าที่ผู้เขียนเคยเขียนลงไว้ในเว็บบอร์ดธรรมะแห่งหนึ่ง เป็นการถกเถียงกันในเรื่องวิธีปฏิบัติ )









เธอชอบเข้าไปดูในสิ่งที่มันไม่มี เธอชอบเข้าไปดู "จิต"
เมื่อเข้าใจผิดว่ามันมี..เธอก็ต้องตามรู้ความมีที่เธอเข้าใจผิด
ว่ามันดับไปเป็นธรรมดาตามหลักเกณฑ์อะไรของเธอ
และก็มานั่งภูมิใจว่านี่คือตัวรู้ นี่คือสัมมาสติ อะไรทำนองนี้
ทั้งๆที่ความจริงมันไม่เคยมีมันจึงไม่เกิดไม่ดับ..มันไร้วิถีเกิดดับ
มันจึงเป็นการที่เธอหลอกตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่ามี
และต้องเหนื่อยกับมันในการเข้าไปตามรู้ตามดูมันที่เกิดๆดับๆ
มันเหนื่อยเปล่า...ที่ชีวิตนี้ทิ้งไปกับการปฏิบัติแบบนี้






บทที่ 33 วิวาทะเรื่อง ฉับพลับหรือเชื่องช้า
ผู้เถียง : ..............................................
ผู้ตอบ : ผมเคยถามพระอาจารย์ ราเชนทร์ อานนฺโท
ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ผมศึกษาความรู้ทางธรรมกับท่าน
ผมเคยถามท่านว่า
ธรรมในแบบที่ท่านสอนนี้ เป็นคำสอนของพวกสำนักเซนที่บรรลุโดยฉับพลันหรือเปล่า
ท่านตอบว่า
จะฉับพลัน ได้อย่างไร
กว่าท่านจะพบ....รสชาติ แห่งธรรมชาติล้วนๆ นี้ได้
ท่านก็บำเพ็ญเข้าไปทำแบบผิดๆตั้ง 9 ปี
ท่านบอกว่า ไม่เห็นจะฉับพลันตรงใหน
หากไม่รู้จริง มันก็จะติดอวิชชาตัณหาอุปาทานอยู่อย่างนั้น
หากรู้จริงแบบ เข้าใจในธรรมทั้งปวงและแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด
แบบวิธีธรรมชาติตามที่พระองค์กล่าวไว้
ท่านว่า รู้แจ้งเมื่อไหร่ ก็ หลุดพ้นด้วยธรรมชาติล้วนๆเดี๋ยวนั้น
ท่านว่า ไม่มีเชื่องช้า และ ไม่มีฉับพลัน
ท่านว่า มีแต่ความเข้าใจ และ มีแต่ความไม่เข้าใจ
ท่านว่า ทางหลุดพ้นมีทางเดียว คือ ธรรมชาติแห่งธรรมเท่านั้น
ไม่มีสองทาง ไม่มีทางอื่น
จะมีพระพุทธเจ้า อีกสักกี่พระองค์
ก็ล้วน มาตรัสรู้ เรื่องธรรมชาติแห่งธรรมนี้เท่านั้น
หนึ่ง ไม่มี สองเป็นอย่างอื่นครับ

ลองอ่านบทความธรรมะ
เรื่อง โสดาบัน สติปัฏฐาน โพชฌงค์ธรรม นิพพาน ที่พระอาจารย์เขียนให้ดี
บทความทั้ง 4 เรื่องนี้ น่าจะเป็นหลักที่จะนำไปปฏิบัติได้
แบบไม่ต้องหาอะไรมาเพิ่มเติมอีกแล้ว
เหมาะสำหรับผู้เริ่มปฏิบัติธรรมมือใหม่
และ ผู้ที่ปฏิบัติธรรมมานานแล้ว
วางอคติลงเสียก่อน น่าจะได้ความรู้ที่ตรงต่อสัจธรรมล้วนๆ
ด้วยรักและห่วงใย

( วิวาทะนี้ เป็นบทความเก่าที่ลูกศิษย์ของผู้เขียนชื่อ นายเมฆ โซะระคุโมะ เคยเขียนลงไว้ในเว็บบอร์ดธรรมะแห่งหนึ่ง เป็นการถกเถียงกันในเรื่องวิธีปฏิบัติ )









ชีวิตเท่าที่มีอยู่ตามปกติ ณ ขณะนี้
นี่คือ...วิถีชีวิตแห่งเซน








บทที่ 34 วิวาทะเรื่อง อัคคิเวสนะ
ผู้เถียง : .............................................. ผู้ตอบ : อัคคิเวสนะ เขาปฏิบัติธรรมกันอย่างไร อัคคิเวสนะคือคนโง่บรมโง่ ในสายตาของพระพุทธองค์กระนั้นหรือ
เพียงพระพุทธองค์ ตรัสว่า เวทนาทั้งหลาย ล้วนมีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไป เป็นธรรมดา อัคคิเวสสนะ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่ายทั้งในสุขเวทนา ทั้งในทุกขเวทนา ทั้งในอทุกขมสุข เวทนา เมื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้น แล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำสำเร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็น อย่างนี้มิได้มี
ผมขอถามหน่อย การที่อัคคิเวสนะ ฟังธรรมที่พระพุทธองค์ตรัส แล้วเข้าใจในธรรมที่ว่า เวทนาทั้งหลาย ล้วนมีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไป เป็นธรรมดาตามธรรมชาติของมัน
เพียงความเข้าใจในธรรม ที่เข้าถึงความเป็นธรรมดาธรรมชาติของมัน ที่ว่า เวทนาทั้งหลายก็ล้วนไม่เที่ยงดับไปเองตามสภาพธรรมชาติเป็นธรรมดาของมันเองอยู่แล้ว
พระพุทธองค์ยังกล่าวต่อว่า อริยสาวก ผู้ได้สดับ แล้ว เมื่อ เห็นอยู่ อย่างนี้
ย่อมหน่ายทั้งในสุขเวทนา ทั้งในทุกขเวทนา ทั้งในอทุกขมสุขเวทนา
เมื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำสำเร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็น อย่างนี้มิได้มี
ก็คงจะง่ายไปอีกสินะ การปฏิบัติธรรมสมัยก่อน ในยุคพระพุทธองค์ เพียงแค่ ได้สดับฟัง แล้ว เมื่อ เห็นอยู่ อย่างนี้ การบรรลุธรรมแบบนี้ ส่วนใหญ่ในสมัยพุทธกาล ก็ล้วนบรรลุธรรมกันมาแบบนี้ทุกดวงจิต มันง่ายไป อย่าเลย เอาที่มันยากๆ ดีกว่า อย่างนั้นหรือ

ผมบอกแล้ว ไม่มียากไม่มีง่าย มีแต่ ความเข้าใจในธรรม กับ ความไม่เข้าใจในธรรม
เรื่องของเรื่องอัคคิเวสนะ ก็ง่ายมาแล้ว มันจะฉับพลัน หรือ เชื่องช้า ดีล่ะทีนี้ อัคคิเวสนะ เค้าปฏิบัติธรรมหรือเปล่า การปฏิบัติธรรมของอัคคิเวสสนะ ก็คือ การได้สดับฟังธรรมเพื่อทำความเข้าใจตระหนักชัดในเนื้อหาธรรม และได้กลายเป็นเนื้อหาเดียวกับธรรม คือ การที่เห็นอยู่ อย่างนี้
อ้าวแล้ว สติ สมาธิ ปัญญา ล่ะ ทำไมอัคคิเวสนะเค้าถึง “ ไม่ลงมือแสวงหา ” ก็เพราะว่า การที่อัคคิเวสนะ เข้าใจและเห็นชัด แล้วว่า เวทนาทั้งปวง ล้วนมีความไม่เที่ยงดับไปเสื่อมไปเป็นธรรมดา ตามสภาพธรรมชาติของมันเองอยู่แล้ว
พระพุทธองค์ยังกล่าวต่อว่า เมื่อเข้าใจเรื่อง ความสิ้นไปเสื่อมไปเป็นธรรมดาธรรมชาติแล้ว เมื่อรู้แล้ว ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น
ถามว่า สติ สมาธิ ปัญญา อยู่ตรงใหน ทำไมไม่ทำมันขึ้นก่อน
ก็การที่เข้าใจในธรรมว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงล้วนไม่เที่ยงดับไปเสื่อมไปเป็นธรรมดาธรรมชาติของมัน แล้วปล่อยให้ธรรมดาธรรมชาติมันคงอยู่อย่างนั้น นั่นแหละ มันก็บ่งบอกอยู่ในตัวอยู่แล้ว ว่า อินทรีย์แห่ง สติ สมาธิ ปัญญา มันทำงานของมันอยู่ เป็นปกติแห่งธรรม เป็นความบริบูรณ์ในธรรม
สติ สมาธิ ปัญญา เกิดจากการเข้าใจในธรรม แล้วปล่อยให้ธรรมอันเป็นธรรมดาธรรมชาติแห่งความสิ้นไปเสื่อมไปมันคงอยู่ตามสภาพธรรมชาติมันอยู่อย่างนั้น นี่คือการทำ สติ สมาธิ ปัญญา ตามความหมายของพระพุทธองค์
มิใช่ เกิดจากการที่ เอาความเป็นเรา เข้าไปทำให้มันเกิด เมื่อธรรมอันเป็นธรรมดาธรรมชาติยังคงอยู่ตามสภาพมัน ฉันใดสติ สมาธิ ปัญญา มันก็คงสภาพอินทรีย์แห่งมัน ฉันนั้น
มันคงยากไปสำหรับ ผู้ที่ไม่เข้าใจในธรรมเลย

( วิวาทะนี้ เป็นบทความเก่าที่ผู้เขียนเคยเขียนลงไว้ในเว็บบอร์ดธรรมะแห่งหนึ่ง เป็นการถกเถียงกันในเรื่องวิธีปฏิบัติ )










ทุกคนย่อมมีเหตุผล
ในการกระทำของตัวเองเสมอ
เรามีหน้าที่เพียงยอมรับและเข้าใจ
เหตุผลของการกระทำนั้นๆ
















บทที่ 35 ไม่ต้องเข้าไปทำอะไร

หากไปศึกษาในพระสูตรต่างๆในพระสุตันตปิฏกไล่เรียงตั้งแต่ธรรมจักรกัปปวัฏตนสูตร อนัตลักขณะสูตร อาทิตยสูตร เป็นต้น พระพุทธองค์ได้ตรัสลักษณะธรรมที่เหมือนกันไว้คือ "ขันธ์ 5 ไม่เที่ยงโดยสภาพมันเอง ขันธ์ 5 เป็นทุกข์ และขันธ์ 5 ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนโดยสภาพมันเอง" และผู้ที่มาฟังธรรมที่พระพุทธองค์ตรัสไว้แบบนี้แล้วต่างก็บรรลุธรรมในระดับชั้นแตกต่างกันไปตามความเข้าใจในธรรมของตน
การพิจารณาธรรมว่าขันธ์ 5 ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เป็นการเรียนรู้เพื่อขจัดความไม่เข้าใจลังเลสงสัยในธรรมทั้งปวง เมื่อได้เรียนรู้ว่าอะไรคือทุกข์และจะดับทุกข์นั่นได้อย่างไร เมื่อเข้าใจว่าขันธ์ทั้ง5 เป็นทุกข์ เมื่อเข้าใจว่าขันธ์ทั้ง5 ไม่เที่ยงโดยตัวมันเองอยู่แล้วไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่นไม่ควรเข้าเนื่องเข้าไปเนิ่นช้า ไม่ควรเข้าไปสาละวน เมื่อเข้าใจว่าขันธ์ทั้ง 5 ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่แล้วโดยสภาพมันเอง ก็ถือว่าได้เข้าใจในกระบวนการแก้ไขปัญหาในกองทุกข์ได้ทั้งหมด
เมื่อพิจารณาจนเกิดความเข้าใจชัดเจนแล้ว ก็จงปล่อยให้ขันธ์ทั้ง5 ดับไปทุกกรณี การดับของขันธ์ทั้ง 5 เป็นการดับโดยตัวมันเองสภาพมันเองอยู่แล้วโดยมีพื้นฐานแห่งความรู้ความเข้าใจในธรรมในการแก้ไขปัญหา เป็นวิธีการแบบที่ไม่มี "เรา" เข้าไปเกี่ยวข้องเข้าไปจัดการ มันเป็นวิธีการโดยตัวมันเองซึ่งเรียกว่า "วิธีแบบธรรมชาติ" เป็นธรรมชาติที่มันดับมันไม่เที่ยงโดยตัวมันเองอยู่แล้ว และเป็นธรรมชาติที่มันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนโดยตัวมันเองอยู่แล้วเช่นกัน
การปฏิบัติธรรมโดยการปล่อยให้มันเป็นไปตามกระบวนการ "ธรรมชาติแห่งขันธ์" ดังกล่าวนี้เป็นการปฏิบัติธรรมตามความหมายที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ ในพระสูตรต่างๆ และข้อยืนยันในสัจธรรมอันเป็นธรรมชาติแห่งขันธ์ 5 ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน โดยสภาพมันเองโดยตัวมันเองนี้ พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ในนิพพานสูตรว่า "นิพพานคือธรรมชาติอันปรุงแต่งไม่ได้แล้ว" ซึ่งหมายถึงพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมไว้ว่า เส้นทางแห่งพระนิพพานเป็นเส้นทางในกระบวนการ "ธรรมชาติ" เท่านั้น เป็นธรรมชาติที่ไม่เที่ยงอยู่แล้ว โดยตัวมันเองนั้นเท่ากับว่ามันเป็นธรรมชาติที่มันไม่ปรุงแต่งอยู่แล้วโดยสภาพมันเองอีกด้วยเช่นกัน เป็นความหมายโดยนัยยะ


- การที่คิดว่าจะต้องเข้าไปทำอะไรสักอย่างหนึ่งกับอีกอย่างหนึ่งเพื่อให้พระนิพพานเกิดเช่น การคิดว่าเราจักต้องทำสติ ทำสมาธิ เจริญปัญญา เพื่อให้ไปสู่เส้นทางพระนิพพาน ความคิดเช่นนี้เป็นลักษณะเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ทั้ง 5 โดยลืมนึกว่าความคิดแบบนี้ก็ล้วนไม่เที่ยงโดยตัวมันเองอยู่แล้ว ล้วนไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่แล้วเช่นกัน การเข้าใจและการลงมือปฏิบัติด้วยความคิดแบบนี้อยู่ตลอดเวลาเป็นการเข้าใจผิดอย่างยิ่ง เพราะมันไม่ใช่วิธีในการแก้ไขปัญหาในกองทุกข์แบบ "ธรรมชาติ" ตามที่พระพุทธองค์ตรัส วิธีแบบธรรมชาติมันเป็นวิธีของมันอยู่แล้วมันไม่ต้องอาศัยความมีเราเข้าไปจัดการเข้าไปปฏิบัติ (การที่จิตซี่งปรุงแต่งขึ้นดับไปเป็นธรรมดา การที่ขันธ์ทั้ง 5 ดับไปเป็นธรรมดา มันก็คือเนื้อหาแห่งมรรคมีองค์ 8 ไปในตัวอยู่แล้ว ซึ่งประกอบไปด้วยอินทรีย์แห่งสัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาทิฏฐิซึ่งคือตัวปัญญา อยู่แล้วนั่นเอง)
-การที่คิดว่าจะต้องเข้าไปกำหนดว่าสิ่งนี้ไม่เที่ยง เข้าไปกำหนดว่าสิ่งนี้ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เข้าไปกำหนดว่า สิ่งนี้คือเวทนาทั้งหลาย การเข้าไปสำรวมระวังแบบกำหนดสติไว้ในอริยบทต่างๆคือ ยืน นั่ง เดิน นอน เข้าไปกำหนดว่าอะไรคืออะไรในกระบวนการแห่งขันธ์ การกำหนดเช่นนี้เป็นลักษณะจิตปรุงแต่งซ้อนเข้าไปทำให้มีเรามีอัตตาขึ้นมาเป็นการขัดขวางธรรมชาติโดยสิ้นเชิง การรู้ชัดแบบมีสัมมาสตินี้เป็นการรู้แบบ "ธรรมชาติ" ในการรู้มีสติ เป็นการรู้มีสติบนพื้นฐานที่ขันธ์ 5 ไม่เที่ยงโดยตัวมันเองอยู่แล้วไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่แล้ว เป็นการรู้มีสติแบบ "ไม่มีเรา ไม่มีอัตตา" แต่การกำหนดเป็นการปรุงแต่งยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ 5 จนทำให้เกิดตัณหาอุปทานมีเราขึ้นมา มันเป็นการ “ประคอง”สติ ซึ่งไม่ใช่ "ธรรมชาติ"แห่งสติ ที่แสดงเนื้อหาแห่งขันธ์ซึ่งมันต้องดับไปเองอยู่แล้วโดยสภาพ (การกำหนด เป็นการเข้าไปศึกษาธรรมขั้นพื้นฐานเพื่อที่จะทำให้เราตระหนักชัดถึงลักษณะหน้าตาและความหมายแห่งธรรมนั้นๆ แต่เพียงเท่านั้น )
-การเข้าไปจับกุมจับฉวย สภาวะธรรมใดสภาวะธรรมหนึ่งตลอดเวลาเพื่อทำให้พระนิพพานเกิด การจับกุมจับฉวยก็เป็นการกระทำที่ขัดขวางต่อกระบวนการธรรมชาติโดยสิ้นเชิงเช่นกัน
การปฏิบัติธรรมโดยที่มี "เรา" เข้าไปคิดจัดการจัดแจงเข้าไปกำหนดเข้าไปจับกุมจับฉวย เพื่อที่จะมี "เรา" หรือ "อัตตา" เข้าไปปฏิบัติธรรมอยู่ตลอดเวลานั้นเป็นความเข้าใจผิดในธรรมเป็นความลังเลสงสัยไม่เข้าใจในเนื้อหาแห่งธรรมอยู่ เปรียบเสมือน เอา "เรา" หรือ "อัตตา" ไปแสวงหา "นิพพานอันเป็นธรรมชาติแห่งธรรมล้วนๆ" ซึ่งเป็น "อนัตตา" เอา "อัตตา" ไปทำเพื่อให้เกิด "อนัตตา" ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ นิพพานธรรมก็จักไม่เกิดขึ้นเพราะจิตยังติดปรุงแต่งในตัววิธีปฏิบัติธรรมนั่นเอง
แต่การที่ปฏิบัติธรรมโดยอาศัยความเข้าใจในธรรมแล้วปล่อยให้ขันธ์ 5 ดำเนินไปสู่ "วิธีธรรมชาติ" ที่มันดับโดยสภาพมันเองที่มันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนโดยสภาพมันเองอยู่แล้ว เป็นการ "ปฏิบัติธรรมโดยที่ไม่ต้องเข้าไปทำอะไร" เป็นการปฏิบัติธรรมโดยที่ไม่มีอัตตาไม่มีเราเข้าไปเกี่ยวข้อง เป็นการปฏิบัติธรรมตรงต่อสัจธรรมตรงต่อที่พระพุทธองค์ประสงค์จะให้เรียนรู้และเข้าใจแบบนี้ เป็นการปฏิบัติธรรมแบบ "ธรรมชาติแห่งความไม่มีเรา ไม่มีอัตตาเข้าไปปฏิบัติ"
" เป็นการปฏิบัติธรรมโดยที่ไม่ต้องใช้จิตปรุงแต่งให้มีเราเข้าไปทำอะไรอีกเลย "






























ธรรมชาติแห่งพุทธะ
มันอยู่เหนือกฎแห่งความเป็นเหตุและผล








บทที่ 36 การเข้าไป “เสือก”
การดับไปเป็นธรรมดา มันเป็นคุณลักษณะ"ธรรมชาติ"ของมันอยู่แล้ว

ต้องเว้นเสียแบบเด็ดขาด ที่จะเอาความเป็นเรา
หรือที่จะเอาความสามารถแห่งความเป็นเรา
เข้าไปกระทำเข้าไปปฏิบัติเข้าไป"จัดแจง"ทุกกรณี
เพราะการเข้าไป "เสือก" แบบนี้ มันเป็นจิตปรุงแต่งที่ซ้อนเข้าไป
มันเป็นอวิชชาความปรุงแต่งความหลงในการปฏิบัติตัวหนึ่ง

ภาวะขันธ์ 5 หรือ ภาวะจิตต่างๆ มันก็ปฏิบัติธรรมแทนเราอยู่แล้วทุกๆกรณี ถ้าคิดว่ามีจิตหรือมีขันธ์เกิดขึ้น
ก็คือความดับไปเป็นธรรมดาโดยสภาพธรรมชาติของภาวะขันธ์ 5 หรือ ภาวะจิตต่างๆมันเองอยู่แล้ว "นี่ คือ การปฏิบัติธรรมที่แท้จริง" ถูกต้องตามที่พระพุทธองค์ประสงค์ที่พระพุทธองค์ตรัสไว้

ควรงดเว้นการปรุงแต่งที่จะทำให้เกิดจิตที่ปรุงแต่งซ้อนเข้ามา ในรูปแบบของโมหะแห่งการหลงเข้าไปปฏิบัติ
เพราะเหตุที่ว่าการที่ “เข้าไปปฏิบัติ” โดยขัดโดยฝืนต่อกระบวนการธรรมชาติแห่งธรรม ด้วยการเข้าไปจับจ้องจับฉวยจับกุมภาวะ บังคับจิตให้มันอยู่ในความว่างบ้าง บังคับให้ดับตามความต้องการของเราบ้าง เข้าไปนั่งสมาธิเพื่อให้จิตมันสงบบ้าง โดยที่ไม่เข้าใจเลยว่าแท้จริงแล้ว จิตเมื่อมันแปรปรวนดับไป นั่นคือความสงบที่แท้จริงตามธรรมชาติอยู่แล้ว การเข้าไปปฏิบัติธรรมด้วยความไม่เข้าใจในธรรมชาติ ด้วยการปรุงแต่งวิธีปฏิบัติขึ้นมาเองตามความไม่เข้าใจของเรา ด้วยวิธีการต่างๆนาๆ มันไม่ใช่การดับไปเป็นธรรมดาตามธรรมชาติ แต่มันคือการปรุงแต่งทางจิตเอาความ"เป็นเรา" “เข้าไปกระทำ" มันจึงเป็นแค่จิตที่ปรุงแต่งซ้อนเข้ามาแบบไม่รู้ตัว หากปฏิบัติแบบนี้ก็ไม่สามารถพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวงได้ เพราะเหตุที่ว่าการจับฉวยจับกุมจับจ้องภาวะ มันเป็นการปรุงแต่ง มันเป็นกิเลสละเอียดที่เราสร้างขึ้นมา มันเป็นพฤติกรรมทางจิตอย่างหนึ่งที่คอยปรุงแต่งเพื่อจับจ้องภาวะอยู่ตลอดเวลา

เปรียบเสมือน เอาวิธีปฏิบัติตามความเข้าใจของเราซึ่งแท้จริงมันเป็นการปรุงแต่งไปไล่ล่า ตามหาธรรมอันไม่ปรุงแต่ง

ชาตินี้มันก็ไม่นิพพาน


บทความนี้ เขียนโดย นายเมฆ โซะระคุโมะ (ลูกศิษย์)















ถ้าเธอจะเพียงแต่ไม่คิด
เรื่องความมีอยู่และความไม่มีอยู่
เกี่ยวกับทุก ๆ สิ่ง จริง ๆ ได้เท่านั้น
เธอก็จะลุถึงธรรมตัวจริงได้







บทที่ 37 หลงปฏิบัติเข้าไปทำมรรค
มรรคมิได้มีไว้ให้เข้าไปทำเข้าไปเจริญ
พวกชอบเจริญมรรคเข้าไปทำมรรค สอบตกทั้งนั้น
มรรคมีองค์ 8 คือ ตัวชี้วัดในความเข้าใจในธรรมของนักปฏิบัติ
คือ ตัวชี้วัดในการตระหนักชัดและความกลายเป็นเนื้อเดียวกัน กับความดับไปเป็นธรรมดาตามสภาพธรรมชาติของจิตปรุงแต่งทั้งหลายหรือของขันธ์ 5 เท่านั้น นี่คือมรรค

มรรคมีองค์ 8 เป็นเพียงธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแจกแจงเพื่อให้เกิดความเข้าใจว่า การที่ปล่อยให้จิตปรุงแต่งทั้งหลาย หรือ
ปล่อยให้ขันธ์ 5 ดับไปเป็นธรรมดาตามสภาพธรรมชาติของมัน อยู่แล้วนั้น มันก็จะทำให้เรามี "ระยะห่าง" จากกองทุกข์
ระยะห่างนั้นก็คือ เส้นทางแห่งมรรคหรือหนทางที่ออกมาจากกองทุกข์นั่นเอง

เมื่อปล่อยให้ทุกสรรพสิ่งมัน"นิโรธ"
มันดับไปเองตามธรรมดาตามธรรมชาติของมัน ตามกระบวนการ ”ธรรมชาติ” ที่ฟื้นฟูตัวมันเอง
มันก็เป็นหนทางออกจากทุกข์อยู่แล้ว โดยเนื้อหามันนี่คือ "มรรค" อยู่แล้ว
แค่ปล่อยให้ความคิดดับไป โดยตัวมันเองตามธรรมดาของมัน
แค่ปล่อยให้ความคิดดับไป ตามสภาพธรรมชาติมันเอง
ไม่ปรุงแต่งต่อ ไม่เข้าไปสาละวนให้ยืดยาว
ก็เดินบนมรรคมีองค์แปดแล้ว

มรรคมีองค์แปด คืออินทรีย์แห่งธรรม
ที่เกิดจากความเข้าใจใน"ธรรมชาติแห่งธรรม"
ที่ทุกสรรพสิ่ง(การปรุงแต่ง)ย่อมดับไป
"ดับไป"โดยตัวมันเองเป็นธรรมดาตามธรรมชาติของมัน
ไม่ใช่เข้าไปมรรคทำทีละข้อ จนครบแปดข้อ แล้วเอามารวมกันแล้วค่อยมาพิจารณาเรื่องความดับ
อย่างนี้เป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง การเข้าไปทำมรรคทีละข้อๆนั้น มันล้วนแต่เป็นจิตที่ปรุงแต่งขึ้นมาว่าจะเข้าไปทำมรรค มันเป็นการเข้าไป “เสือก” ปฏิบัติ ตามความไม่เข้าใจของตน มันฝืนมันขัดต่อระบบธรรมชาติที่มันฟื้นฟูตัวมันเองอยู่แล้ว
เมื่อตระหนักชัดถึงความดับไปเป็นธรรมดาโดยตัวมันเอง
และกลายเป็นเนื้อหาเดียวกับมัน
นั่นแหละ คือ มรรคมีองค์แปดแล้ว


การที่ปล่อยให้ธรรมชาติและความเป็นธรรมดา แห่งขันธ์ 5
มันดับไปเอง ให้จิตที่เราปรุงแต่งขึ้นมันดับไปเอง นั่นแหละ คือความเป็นเรา ความเป็นอัตตาคือเรา มันดับไป
หมายถึงความเป็นปกติแห่ง "การดำเนินบนมรรคมีองค์แปด" แล้ว
เมื่อขันธ์ 5 ดับ จิต ดับ ก็แสดงว่าอินทรีย์แห่ง สติ สมาธิ ปัญญา
มันทำหน้าที่มันตามปกติ อยู่แล้ว

เมื่อจิตที่ปรุงแต่งมันดับไป หรือ ขันธ์ทั้ง 5 มันดับไป แสดงว่า สัมมาสติ มันกำลังทำหน้าที่มันอยู่ แสดงว่า สัมมาสมาธิ มันกำลังทำหน้าที่ของมันอยู่ แสดงว่า สัมมาทิฏฐิ (ปัญญา) มันกำลังทำหน้าที่ของมันอยู่
มันเป็นอินทรย์แห่งธรรมที่ขับเคลื่อนให้เราออกจากกองทุกข์ ด้วยระบบธรรมชาติที่มันปรับปรุงฟื้นฟูตัวมันเอง
เป็นการปรับปรุงฟื้นฟูให้ออกจากการเข้าไปยึดมั่นถือมั่น เป็นธรรมชาติแห่งการคลายกำหนัด แล้วจะเอาความเป็นเราเข้าไปปฏิบัติอะไรอีก
ตัวที่เข้าไปปฏิบัตินะ ตัวปรุงแต่งของเราทั้งนั้น
เนี่ย เค้าเรียกว่า "ติดในการปฏิบัติ"

ชอบเจริญมรรคมีองค์แปด เหรอ
มันเท่ากับ เจริญ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ตัวละเอียดอยู่ร่ำไป
ติดเจริญมรรค ก็ไม่หมดจด
มีมรรค ที่ใหนให้เจริญเล่า “ไอ้นี่ กะ ไอ้นั่น และต้องเข้าไปทำไปปฏิบัติไอ้โน่น
แล้วไอ้นี่ กะ ไอ้นั่น ก็จะหายไป
แล้วไอ้โน่น ต้องทำให้ได้ตามนี้เท่าไอ้นี่
แล้ว เอ่อ ไอ้โน่น มันน่าจะคือการหลุดพ้น”
สรุป ไอ้นี่ ไอ้นั่น ไอ้โน่น คือ การที่ใช้จิต ปรุงแต่ง ทั้งหมด

บทความนี้ เขียนโดย นายเมฆ โซะระคุโมะ (ลูกศิษย์)












จงเพียงแต่พักใจของท่านไว้
และไม่แสวงหาสิ่งใดจากภายนอก
สิ่งทั้งหลายทั้งปวงก็จะเข้าถึงความว่างได้ในตัวมันเอง







บทที่ 38 ฌาน คือ ธรรมสำหรับบัวใต้น้ำ
ฌาน คือ สมาธิความตั้งมั่นในระดับต่างๆที่เอาความเป็นเราเข้าไปทำเป็นอัตตาชนิดหนึ่ง พระพุทธองค์ตรัสเรื่องฌานไว้ในกรรมฐาน 40 กอง ท่านตรัสเพื่อทรงสอนดอกบัวจำพวกใต้น้ำ คือ หมู่ชนผู้มืดบอดที่ “ ไม่รู้จักความสงบที่แท้จริง ” เพราะความเป็นจริง “จิต” ที่ปรุงแต่งขึ้นเป็นจิตต่างๆนั้น ถือว่า เป็นความวุ่นวายอันเกิดจากอวิชชาความไม่รู้พาเข้าไปยึดมั่นถือมั่นปรุงแต่งขึ้นมา มันวุ่นวายไปด้วยอวิชชาตัณหาอุปาทาน วุ่นวายไปด้วยความหมายแห่งความเป็นตัวตนเป็นอัตตา วุ่นวายไปด้วยความมีเรามีเขามีสิ่งๆโน้นมีสิ่งๆนี้เข้ามา สรุปคือ เป็นความวุ่นวายในความเป็นอัตตาตัวตน ซึ่งมีสภาพเป็นทุกข์
แต่โดยธรรมชาติแห่งความเป็นสัจธรรมความจริง “จิต” ต่างๆนั้นเป็นธรรมชาติที่มันตั้งอยู่ได้ไม่นาน มีความแปรปรวนสิ้นไปดับไปเป็นธรรมดาโดยสภาพมันเองอยู่แล้ว “ความสงบที่แท้จริง” ก็คือ ความสิ้นไปดับไปเป็นธรรมดาโดยสภาพธรรมชาติของ”จิต” มันเองนั่นแหละ เป็นความสงบปราศจากภาวะความเข้าไปยึดมั่นถือมั่น ปราศจากภาวะความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตน ปราศจากภาวะความมีเรามีเขามีสิ่งต่างๆ ปราศจากภาวะความเป็นอัตตา มันเป็นความสงบแท้จริงซึ่งแสดงเนื้อหาแห่งความว่างเปล่าจากความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตน
แต่หมู่ชนซึ่งเปรียบเสมือนพวกบัวใต้น้ำกลับไม่เข้าใจในความหมายแห่งความสงบที่แท้จริง ไม่สามารถตระหนักชัดและซึมทราบกลายเป็นเนื้อหาเดียวกับความสิ้นไปดับไปเป็นธรรมดาของจิตต่างๆที่ถูกปรุงแต่งขึ้นได้ ซึ่งความดับไปตามธรรมชาตินั้นคือความสงบซึ่งแสดงเนื้อหาแห่งความว่างเปล่าจากความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตน หมู่ชนแห่งบัวเหล่านี้ไม่รู้จักความหมายแห่งความแปรปรวน ไม่รู้จักความหมายแห่งอนิจจังความไม่เที่ยงแท้แน่นอน แต่ในทางตรงกันข้ามหมู่ชนเหล่านี้ กลับ“มีแต่ความปรุงแต่งทางจิต และมีความสาละวนในการปรุงแต่งซ้ำๆซากๆ จนกลายเป็นพฤติกรรมทางจิตที่ชอบปรุงแต่งก่อให้เกิดเป็นจิตประเภทต่างๆอยู่ตลอดเวลา และไม่มีปัญญาพอที่จะตระหนักชัดและซึมทราบกลายเป็นเนื้อหาเดียวกันกับความดับไปของจิตนั้นได้ สาละวนปรุงแต่งจนกระทั้งเกิด “ภาวะอุปสรรค” เข้ามากีดกั้นปิดบังไม่ให้รู้ไม่ให้เข้าใจไม่ให้ตระหนักชัดในธรรมอันคือธรรมชาติซึ่งเป็นความสงบที่แท้จริง พระพุทธองค์ทรงตรัสถึงการปรุงแต่ง ซ้ำๆซากๆ ที่กลายเป็นจิตประเภทนี้ไว้ 5 ชนิด คือ นิวรณ์ทั้ง 5 ได้แก่

1.กามฉันทะ ความพอใจ ติดใจ หลงใหลใฝ่ฝัน ในกามโลกีย์ทั้งปวง
2. พยาบาท ความไม่พอใจ ความคับแค้นใจ ความอาฆาตปองร้าย
3. ถีนมิทธะ ความขี้เกียจ ท้อแท้ อ่อนแอ หมดอาลัย ไร้กำลังทั้งกายใจ ไม่ฮึกเหิม
4. อุทธัจจะกุกกุจจะ ความคิดซัดส่ายตลอดเวลา ไม่สงบนิ่งอยู่ในความคิดใดๆ
5. วิจิกิจฉา ความไม่แน่ใจ ลังเลใจ สงสัย กังวล กล้าๆ กลัวๆ ไม่เต็มที่ ไม่มั่นใจ
เมื่อรอบปัญญาบารมียังไม่มากพอที่จะทำความเข้าใจและตระหนักชัดในเนื้อในเนื้อหาแห่งความแปรปรวนดับไปสิ้นไปของจิตทั้ง 5 ชนิดดังกล่าวข้างต้นได้ พระพุทธองค์จึงทรงสั่งสอนบัวเหล่าใต้น้ำนี้ท่านทรงแนะนำ “ อุบาย” อันจะช่วยทำให้ “หันเห” ความสนใจหันเหจากพฤติกรรมทางจิตที่ปรุงแต่งต่างๆนาๆจนเป็นอุปสรรคทำให้ไม่รู้จักไม่เข้าใจในความอนิจจังสิ้นไปเสื่อมไปดับไปเป็นธรรมดาของจิต “หันเห” มาสู่จุดใดจุดหนึ่งในองค์ภาวนาในประเภทใดประเภทหนึ่งซึ่งพระพุทธองค์ท่านตรัสไว้ถึง 40 กอง และให้ตามเพ่งอยู่ตรงจุดนั้นจนกว่าจะเกิด “ภาวะอัตตาอันประณีต” เช่นอาการวิตก วิจารณ์ ปีติ สุข เอกคัตตา คือ จิตเพ่งตรงนั้นจนไม่ไปใหนในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งมันทำให้หันเหจากพฤติกรรมที่ชอบปรุงแต่งเป็นจิตประเภทต่างๆที่มันเป็นอุปสรรคได้อย่างดี เมื่อหันเหมาสู่ภาวะอัตตาอันประณีตที่เรียกว่า องค์ฌาน มันก็กลายเป็นจิตอันประณีตอยู่ตรงนี้แบบชั่วคราวแต่เมื่ออำนาจฌานหมดไปหายไป หมู่ชนเหล่านี้ซึ่งเคยมีพฤติกรรมปรุงแต่งทางจิตไปต่างๆนาๆตามความเคยชิน ก็จะกลับไปปรุงแต่งอีกเหมือนเดิม เพราะฉะนั้นพระพุทธองค์จึงทรงแนะนำให้หมู่ชนเหล่านี้ทำสมาธิในลักษณะฌาน เมื่อเกิดภาวะจิตปรุงแต่งอันประณีตในองค์ฌาน เมื่อจิตมีความ “รำงับ” จากความวุ่นวายชั่วคราวแล้วก็ควรรีบมาศึกษาทำความเข้าใจในเรื่องอริยสัจจ์ เรื่องการแก้ไขปัญหาแบบตรงประเด็น คือการปฏิบัติตรงแบบอุชุปฏิปันโน แบบความดับไปเป็นธรรมดาตามสภาพธรรมชาติโดยเร็วที่สุด เพื่อที่จะได้ตระหนักชัดและสามารถซึมทราบกลายเป็นเนื้อหาเดียวกันกับธรรมอันคือความสงบนั้น
แต่สำหรับผู้ที่เข้าใจเนื้อหาธรรมอันคือธรรมชาติซึ่งสามารถตระหนักชัดและกลายเป็นเนื้อหาเดียวกันกับความสิ้นไปดับไปเป็นธรรมดาของจิตประเภทต่างๆได้ซึ่งถือว่าหมู่ชนเหล่านี้เปรียบเสมือนบัวปริ่มน้ำ บุคคลเหล่านี้ได้ลิ้มรสชาดแห่งความสงบทางจิตที่แท้จริงได้แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใดที่จะต้องเข้าไปทำกรรมฐานใน 40 กอง เพื่อให้เกิดความปรุงแต่งเป็นจิตอันประณีตในองค์ฌานเป็นอัตตาตัวตนขึ้นมาบดบังพระนิพพานและทำให้เกิดความลำบากกายทรมานกายขึ้นมาอีก
กรรมฐาน 40 กองมีดังนี้
- กสิณกรรมฐาน 10 อย่าง แบ่งเป็น
ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ แสงสว่าง กสิณสีแดง กสิณเขียว กสิณสีขาว กสิณสีเหลือง

-อสุภกัมมัฏฐาน 10 อย่าง
อุทธุมาตกอสุภ คือ ร่างกายของคนและสัตว์ที่ตายไปแล้ว นับแต่วันตายเป็นต้นไป มีร่างกายขึ้นบวมพอง ขึ้นอืด
วินีลกอสุภ เป็นร่างกายที่มีสีเขียว สีแดง สีขาว ปะปนคน สีแดงในที่มีเนื้อมาก สีขาวในที่มีน้ำเหลืองน้ำหนองมาก สีเขียวที่มีผ้าสีเขียวคลุม ร่างของผู้ตายส่วนใหญ่ปกคลุมด้วยผ้า สีเขียวจึงมากกว่า ดังนั้นจึงเรียกว่า วินีลกะ แปลว่าสีเขียว
วิปุพพกอสุภ เป็นซากศพที่มีน้ำเหลืองไหลอยู่เป็นปกติ
วิฉิทททกอสุภ คือซากศพที่มีร่างกายขาดเป็นสองท่อนในท่ามกลาง มีกายขาดออกจากกัน
วิกขายิตกอสุภ เป็นร่างกายของซากศพที่ถูกสัตว์ยื้อแย่งกัดกิน
วิขิตตกอสุภ เป็นซากศพที่ถูกทอดทิ้งไว้จนส่วนต่าง ๆ กระจัดกระจาย
หตวิกขิตตกอสุภ คือซากศพที่ถูกสับฟันเป็นท่อนน้อยและท่อนใหญ่
โลหิตกอสุภ คือซากศพที่มีเลือดไหลอออกเป็นปกติ
ปุฬุวกอสุภ คือซากศพที่เต็มไปด้วยตัวหนอนคลานกินอยู่
อัฏฐกอสุภ คือซากศพที่มีแต่กระดูก
- อนุสติ 10 คือ
พุทธานุสสติ - ระลึกถึงพระพุทธเจ้า
ธัมมานุสสติ - ระลึกถึงพระธรรม คำสอน
สังฆานุสสติ - ระลึกถึง คุณพระสงฆ์
ศีลานุสสติ - ระลึก ถึงผู้มีศีล
จาคานุสสติ - ระลึกถึงคุณความดีของการให้
เทวตานุสสติ - ระลึกถึงความดีของเทวดา
มรณานุสสติ - ระลึกถึงความตาย
กายคตานุสสติ - ระลึกถึงร่างกายเราเป็นของสกปรกไม่มีอะไรดี
อาณาปานุสสติ - ระลึกถึงลมหายใจของเรา
อุปสมานุสสติ - ระลึกถึงอารมณ์พระนิพพาน
-พรหมวิหาร 4
-อรูปฌาน 4
-อหาเรปฏิกูลสัญญา - พิจารณาว่าอาหารเป็นของเหม็นเน่าเหมือนร่างกาย
- จตุธาตุววัฏฐาน 4 พิจารณาการเกิดของสังขาร คือเป็นการประชุมของ ธาตุทั้ง 4














ถ้าหากว่าชั่วขณะหนึ่ง
ที่มันถูกวางจากเครื่องผูกมัด
ในหัวใจของท่านเอง
ทุก ๆ แห่งก็คืออิสรภาพ







บทที่ 39 สัมมาสมาธิ
การที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า การที่จิตต่างๆหรือขันธ์ทั้ง 5 สิ้นไปดับไปเป็นธรรมดานั้น มันเป็นเนื้อหาแห่ง “ มรรคมีองค์ 8” อยู่แล้ว ซึ่งมันประกอบไปด้วยอินทรีย์ธรรมแห่ง สัมมาสมาธิอยู่ด้วย เพราะฉะนั้น “สัมมาสมาธิ” มันจึงเป็น “ธรรมชาติแห่งความตั้งมั่น” ตั้งมั่นในความดับไปเป็นธรรมดาแห่งจิตต่างๆแห่งขันธ์ทั้ง 5 เมื่อจิตต่างๆหรือขันธ์ทั้ง 5 มันดับไปเป็นธรรมดาโดยสภาพมันเองมันก็บ่งบอกความหมายที่แสดงถึง “ไม่มีความเป็นเรา” “ความเป็นเราดับไป” ด้วยเหตุผลนี้จึงไม่สามารถเอาความเป็นเราเข้าไปฝึกเข้าไปทำ “สัมมาสมาธิ”ได้
เพราะฉะนั้นสัมมาสมาธิจึงไม่ใช่การเข้าไปทำ ไม่มีการเข้าไปฝึกเข้าไปทำ การเข้าไปทำสัมมาสมาธิล้วนเป็นความไม่เข้าใจในธรรมและเป็นจิตปรุงแต่งชนิดหนึ่ง อีกทั้งสัมมาสมาธิไม่มีการเข้าและการออกเหมือนองค์ฌาน ที่มีลำดับในการเข้าไปในระดับของสมาธิในภาวะแห่งอัตตาอันประณีตนั้น เช่น เข้าไปในภาวะวิตกวิจารณ์ ปีติ สุข และเป็นภาวะหนึ่งเดียวที่ไม่ไปใหนไม่สนใจอย่างอื่นนอกจากองค์ภาวนาคือจิตรวมเป็นอาการหนึ่งเดียวในลักษณะจิตจดจ่ออยู่อย่างนั้น เรียกว่า เอกคัตตา และสามารถออกมาจากภาวะฌานดังกล่าวได้

“จงฟังโศลกแห่งสมาธิธรรมชาติ”
ธรรมชาติของสมาธิ ไม่มีทั้งการเข้า และไม่มีทั้งการออก
ไม่มีทั้งความเงียบ และ ไม่มีทั้งความวุ่นวาย ไม่มีทั้งสภาวะธรรมคู่แห่งการปรุงแต่ง
ธรรมชาติของสมาธิ ไม่ใช่เป็นความเข้าอยู่
ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ใครจะสร้างขึ้นได้ มันเป็นธรรมชาติแห่งความสงบตลอดกาล
ซึ่งในภาวะเช่นนั้นไม่มีทั้งการเข้าอยู่และการออกมา
อาการที่ท่านยังเข้าๆ ออกๆ ได้อยู่นั้น
ยังไม่ใช่สมาธิชั้นเยี่ยม

ธรรมชาติแห่งสมาธิ มันเป็นอาการที่นิ่งแต่เคลื่อนไหวได้ มันเป็นสมาธิที่ประกอบไปด้วย สติและปัญญา มันจึงทำหน้าที่ตามธรรมชาติแห่งความตั้งมั่นอยู่ตลอดเวลา ในทุกอิริยาบถ ไม่ว่าจะ ยืน เดิน นั่ง นอน กินข้าว ล้างหน้า แปรงฟัน ขับรถ ทำงาน คุยกับเพื่อน ดูทีวี อ่านหนังสือ

และสมาธิธรรมชาตินี้ ไม่มีความเป็น “เรา” จะเข้าไปจับฉวยจับกุม เพื่อวัดขนาดความเข้มข้นระดับชั้นมันได้ มันเป็นเพียงธรรมชาติอันตรงแน่วในความไม่มีไม่เป็นเท่านั้น

สมาธิธรรมชาติ มันก็ทำหน้าที่ของมันอยู่อย่างนั้นตามธรรมชาติ หน้าที่ ที่เป็นความตั้งมั่นแห่ง “ความกลายเป็นเนื้อหาเดียวกัน” กับความว่างเปล่าไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่อย่างนั้น










การทำให้ก้าวหน้า
เป็นเพียงสิ่งลวงตาในทางปัญญา
อันเกิดจากการปรุงแต่







บทที่ 40 สัมมาสติ
ในส่วนธรรมที่พระพุทธองค์ตรัสถึง “สติ” ในธรรมอันคือสติปัฎฐาน ท่านทรงตรัสไว้ในหมวดกายานุปัสนาสติว่า “เมื่อเดิน ก็รู้ชัดว่าเราเดิน เมื่อยืน ก็รู้ชัดว่าเรายืน เมื่อนั่ง ก็รู้ชัดว่าเรานั่ง เมื่อนอน ก็รู้ชัดว่าเรานอน และความรู้สึกตัวในการก้าว ในการถอย ในการแล ในการเหลียว ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ในการกิน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้มรส ในการถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ ย่อมทำความรู้สึกตัว ในการเดิน การยืน การนั่ง การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง ”

ในส่วนพิจารณาอริยบทนี้ พระพุทธองค์มีความประสงค์ให้เราเรียนรู้ถึงสภาพธรรมอันคือการระลึกรู้แบบถ้วนทั่วซึ่งมันคือ สติสัมปชัญญะ เพื่อเป็นบาทฐานเทียบเคียงให้เราได้เข้าใจตระหนักชัดขึ้นถึง “ลักษณะความเป็นไป” ในอินทรย์แห่ง สัมมาสติ
เพราะฉะนั้นการเดินจงกรม การนั่ง การนอน ในการก้าว ในการถอย ในการแล ในการเหลียว ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ในการกิน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้มรส ในการถ่ายอุจจาระและปัสสาวะเพื่อฝึกสติ มันจึงเป็นเพียง "สติสัมปัชชัญญะ" เป็นการเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจธรรมในลักษณะที่เป็น “การระลึกรู้แบบถ้วนทั่ว” เป็นการเอา “ความเป็นเราเป็นอัตตาตัวตน” เข้าไปฝึกเข้าไปทำ แต่ทั้งนี้เป็นพุทธะประสงค์ให้เรียนรู้ทำความเข้าใจเพื่อเป็นบาทฐานเทียบเคียงให้เราได้เข้าใจตระหนักชัดขึ้นถึงลักษณะความเป็นไปในอินทรย์แห่งสัมมาสติ ในภายภาคหน้าเท่านั้น พึงเข้าใจอย่างชัดแจ้งว่า การฝึกสติสัมปัชชัญญะ ในอริยบทต่างๆเหล่านี้ยังไม่ใช่สัมมาสติแต่อย่างใด

สัมมาสติ เป็น "ธรรมชาติแห่งการรู้ในการที่จิตต่างๆหรือขันธ์ทั้ง 5 นั้นดับไปเป็นธรรมดาอยู่แล้วตามสภาพธรรมชาติมันเอง"
จึงไม่สามารถเอาความเป็นเราเข้าไปฝึกทำได้ เพราะมันเป็นอินทรีย์แห่งธรรมที่เกิดจากความดับไปเป็นธรรมดา จิตต่างๆหรือขันธ์ทั้ง 5 เมื่อมันดับไปโดยตัวมันเองเป็นธรรมดา แสดงว่า "ไม่มีความเป็นเรา" “ความเป็นเราดับไป” และจะเอาความเป็นเราไปฝึก "สัมมาสติ" ได้ที่ใหนกัน

สัมมาสติ คือ"การที่รู้แบบธรรมดาธรรมชาติ"ว่าความคิดนั้นล้วนไม่เที่ยง ดับไปเป็นธรรมดาโดยสภาพมันเองตามธรรมชาติ
ไม่ใช่เป็นการเอาจิตไปปรุงแต่งขึ้นมาอีกชั้นหนี่ง "เพื่องัดตัวสติ" ขึ้นมา สัมมาสติ ก็คือ สติที่มีเองทุกขณะ
โดยไม่ต้องออกแรงตั้งใจให้มีสติ
และมีอยู่เองโดยไม่มีความต้องการที่จะให้มีสติ
เพราะเห็นว่าสตินั้นมีประโยชน์ การเอาสติไปตั้งเพื่อคอยจ้องดูความคิด การตั้งสติแบบนี้
การเข้าไปจัดแจงเพื่องัดและดึงตัวสติขึ้นมา
เป็นการปรุงแต่งในธรรม เป็นการปรุงแต่งในรายละเอียดในวิธีปฏิบัติ มันไม่ใช่สัมมาสติ แต่มันเป็นอวิชชาตัณหาอุปาทานตัวหนึ่งเลยทีเดียว เพราะขันธ์ 5 ไม่ดับ แต่กลับเข้าไปยึดขันธ์ 5 ให้กลายเป็นจิตที่ปรุงแต่งในการพิจารณาธรรม ซึ่งเป็นอวิชชาอันละเอียด
มันเป็นได้แค่สติสัมปัชชัญญะ ไม่ใช่สัมมาสติ

การเข้าใจผิดด้วยการเข้าไปทำทีละขั้นทีละตอน เช่น การฝึกสติสัมปัชชัญญะด้วยการเดินจงกรม การนั่ง การนอน ในการก้าว ในการถอย ในการแล ในการเหลียว ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ในการกิน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้มรส ในการถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ ทั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง การฝึกสติสัมปัชชัญญะดังกล่าวนี้จึงเป็นลักษณะของจิตปรุงแต่งที่เนื่องด้วย อวิชชา ตัณหา อุปทานทั้งสิ้น มิใช่เส้นทาง “ธรรมชาติ” อันคือธรรมชาติแห่งสติ หรือ สัมมาสติ แต่อย่างใด

แต่ถ้าเราพึงพิจารณาเห็นถึง ความเกิดขึ้นแห่งอิริยาบทของร่างกาย และอริยาบทที่เกิดขึ้นของร่างกายก็เปลี่ยนสภาพไปตั้งอยู่ในอริยบทเดิมได้ไม่นานและมีความเสื่อมไปสิ้นไปจากอริยบทเดิมนั้น “ ด้วยความตระหนักชัดถึงความสิ้นไปเสื่อมไปเป็นธรรมดา ” อันเกิดจากการพิจารณากายในส่วนกายานุปัสสนาสติแห่งอริยบทแบบนี้เป็นบาทฐาน ก็ให้เราควรละทิฏฐิที่เห็นว่ากายนี้คือเรา
ไม่ควรเข้าไปเนื่อง ไม่ควรเข้าไปเนิ่นช้า ไม่ควรเข้าไปสาละวน ในทิฏฐิซึ่งเป็นจิตปรุงแต่งแบบนี้อีก กายนั้นเป็นเพียงแค่ได้อาศัยอยู่ชั่วคราว มีความเสื่อมไปสิ้นไปเป็นธรรมดา การละทิฏฐิซึ่งเป็นจิตปรุงแต่งขึ้นมาตรงนี้ได้ คือ สัมมาสติ



เมื่อเข้าใจเช่นนี้ ว่า
มันว่างเปล่าตามธรรมชาติโดยสภาพมันเองอยู่แล้ว
มันก็บ่งบอกว่า อินทรีย์ แห่ง สติ หรือ สัมมาสติ มันก็ยังคงทำหน้าที่ของมันอยู่ตามธรรมชาติอยู่แล้วเช่นกัน















เพราะเธอคิดว่าพุทธะจะเกิดขึ้นได้ด้วยการแสวงหา
ความคิดเหล่านี้ก็จะพาเธอเดินไปตามมรรคมีองค์แปด
ที่เป็นหนทางบริสุทธิ์แห่งอัตตานานาชนิดที่มันไม่เที่ยงดับไป
เธอต้องไต่ไปตามมรรคาแห่งการแสวงหาของเธอเช่นนี้ตลอด
แต่แท้ที่จริงมันไม่มีหนทางไปสู่ธรรมชาติแห่งพุทธะได้เลย






บทที่ 41 การปรุงแต่ง “เพื่อรักษาจิต”
ความเป็นจริงแล้วหัวใจหลักที่เป็นคำสอนแห่งพระพุทธศาสนานั้น คือ ความเป็นเช่นนั้นของมันเองอยู่อย่างนั้น มันคือความไม่ใช่ตัวไม่ตนแบบถ้วนทั่วของมันอยู่อย่างนั้นเอง ไม่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเลยที่จะเกิดขึ้นและไม่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเลยที่จะดับไป มันล้วนแต่เป็นธรรมชาติแห่งความว่างเปล่าที่เป็นความหมายแห่งความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนเป็น “ธรรมชาติดั้งเดิมแท้” ของมันอยู่อย่างนั้น แต่ถ้าหากบุคคลใดมีความไม่เข้าใจในคำสอนอันเป็นหลักธรรมอันแท้จริงข้อเดียวนี้ และยังเข้าไปหลงด้วยอวิชชาความไม่รู้พาเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ทั้ง 5 ก่อให้เกิดเป็นจิตปรุงแต่งเป็น “ความมีตัวตนอัตตา”เกิดขึ้น เมื่อยังไม่เข้าใจในธรรมชาตืที่แท้จริงและยังหลงเห็นว่ามีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น พระพุทธองค์ก็จะทรงชี้แนะว่า “สิ่งที่เห็นนั้นล้วนมีความแปรปรวนตั้งอยู่ได้มานานและมีความเสื่อมไปสิ้นไปเป็นธรรมดาตามสภาพธรรมชาติของมันเองอยู่แล้ว”
แต่ถ้าบุคคลนั้นยังไม่เข้าใจและไม่สามารถตระหนักชัดถึงธรรมชาติแห่งความแปรปรวนเสื่อมไปสิ้นไปเป็นธรรมดาของทุกสรรพสิ่งที่เห็นว่ามัน “เกิดขึ้น” แล้วได้ พระพุทธองค์ก็จะทรงสอนบุคคลเหล่านี้เพิ่มเติมเพื่อให้เข้าไปเรียนรู้และทำความเข้าใจในธรรมอันมีสภาพไม่เที่ยงแท้แน่นอนด้วยการแนะนำให้เข้าไปฝึกทำกรรมฐาน 40 กองตามจริตที่ตนเองชอบ เพื่อให้เกิดจิตอันประณีตปราศจากความวุ่นวายแห่งการปรุงแต่งเป็นตัวตนแบบซ้ำๆซากๆ เมื่อจิตสงบอันเกิดจากการเข้าไปทำกรรมฐานปราศจากการปรุงแต่งชั่วคราวแล้ว พระพุทธองค์จึงทรงแนะนำให้น้อมนำธรรมอันมีสภาพไม่เที่ยงแท้แน่นอนมาพิจารณาถึงเนื้อหาและความหมายของมันว่าเป็นเช่นไร
แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีกลุ่มบุคคลซึ่งเปรียบเสมือนบัวใต้น้ำอีกหลายกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าไปทำกรรมฐานเพื่อให้จิตสงบลงได้และไม่สามารถทำความเข้าใจเพื่อตระหนักชัดและกลายเป็นเนื้อหาเดียวกันกับความสิ้นไปเสื่อมไปดับไปเป็นธรรมดาของจิตต่างๆหรือของขันธ์ทั้ง 5 ได้เลย พระพุทธองค์จึงทรงมีพระมหากรุณาธิคุณที่จะโปรดสัตว์ผู้มีปัญญาอันมืดบอดเหล่านี้ โดยท่านทรงชี้แนะสอนให้สรรพสัตว์พวกนี้ “ปรุงแต่งจิต” เพื่อให้รักษาจิตไปในทางกุศลกรรมอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้เพื่อให้บุคคลเหล่านี้เรียนรู้เรื่องภพชาติเรื่องกฏแห่งกรรมที่จะทำให้ต้องไปเวียนว่ายตายเกิด พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้เลือกที่จะปรุงแต่งจิตไปในทางกุศลกรรมเพื่อเลือกที่จะ

ประกอบกรรมดีให้เกิดขึ้นอยู่เสมอๆ เป็นการสอนเพื่อให้เข้าไปปรุงแต่งรักษาจิต เป็นการสอนเพื่อให้เกิดความสำรวมระวังจิตมิให้ปรุงแต่งจิตไปในทางอกุศลกรรมไปในทางที่ไม่ดีไม่ชอบ ทั้งนี้เป็นพุทธประสงค์เพื่อให้บุคคลเหล่านี้ไม่ตกไปสู่ภพภูมิที่ลำบากเมื่อละขันธ์ 5 ตายจากโลกนี้ไปแล้ว ธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแนะนำให้เข้าไปกระทำปรุงแต่ง เช่น ให้รักษาศิลต่างๆ ให้มีความละอายเกรงกลัวต่อบาป ให้มีความสงบเสงี่ยมแสดงออกทาง กาย วาจา ใจ แบบสวยงามเหมาะสมลงตัวในมาตรฐานความดีในสังคมนั้นๆ แนะนำให้ให้สละทรัพย์เพื่อบริจาคทาน แนะนำให้เคารพและเลี้ยงดูบำรุงบิดา มารดา แนะนำให้เคารพผู้ใหญ่ครูบาอาจารย์ แนะนำให้คบหาแต่บัณฑิต เหล่านี้เป็นต้น
แต่สำหรับบุคคลผู้มีปัญญาที่สามารถตระหนักชัดถึงความสิ้นไปเสื่อมไปเป็นธรรมดา บุคคลผู้เปรียบเสมือนเป็นบัวปริ่มน้ำนี้ย่อมเข้าใจและเห็นชัดว่า จิตที่ปรุงแต่งไปในทางกุศลกรรมเหล่านี้ข้างต้น มันก็ล้วนมีสภาพเกิดขึ้นและตั้งอยู่ได้ไม่นานมีความแปรปรวนสิ้นไปเสื่อมไปดับไปเป็นธรรมดาอยู่เองแล้วตามสภาพธรรมชาติ ไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในจิตอันเป็นกุศลกรรมเหล่านี้เพื่อที่จะส่งผลให้ต้องไปเวียนว่ายตายเกิดให้เป็นทุกข์ขึ้นมาอีก พวกเขาสามารถตระหนักชัดและซึมทราบกลายเป็นเนื้อหาเดียวกันกับความดับไปสิ้นไปเป็นธรรมดาของจิตอันเป็นกุศลต่างๆเหล่านี้ได้

ผู้ที่มีใจเที่ยงธรรม ผู้ที่มีความตระหนักชัดและกลายเป็นเนื้อหาเดียวกัน กับธรรมอันคือธรรมชาติ การรักษาศีลไม่เป็นของจำเป็น






















ความว่างมันคือธรรมชาติแห่งพุทธะที่บริบูรณ์อยู่แล้ว
มันนอกเหนือความหลุดพ้นหรือความไม่หลุดพ้น
อันเป็นส่วนที่เธอจะไขว่คว้ามาในฐานะแห่งการบรรลุ
โละทิ้งไปได้เลยการปฏิบัติและหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติ
ที่มันเป็นมายาแห่งความฝันที่เหมือน "คนตาบอด"
ลูบคลำหน้าตาพุทธะ...แล้วมานั่งนึกมโนภาพเอาเอง








บทที่ 42 จักรวาลไม่มีอยู่จริง
วันๆหนึ่งเราท่านต่างทำงานเพื่อแลกปัจจัย(เงิน) เพื่อนำปัจจัยไปแลกอาหาร เพื่อนำอาหารไปบริโภค บริโภคเพื่อเลี้ยงเซลล์อันเป็นองค์ประกอบหลักของอวัยวะต่างๆของร่างกาย พอเซลล์ตายกายดับ เราหรือท่านต่างก็ไม่มี จริงๆแล้วชีวิตมนุษย์เราต้องการแต่เพียงอาหารและน้ำเพื่อดำรงชีวิตอยู่ให้ผ่านพ้นไปวันๆเท่านั้น ปัจจัยอื่นนอกเหนือจากนี้ไม่ได้มีความสำคัญอันใดต่อการมีชีวิตอยู่ สิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่เกิดขึ้นมาได้ด้วยเหตุผลของกรรม การได้เกิดมาเป็นมนุษย์ก็เพื่อให้เราเข้าใจในธรรมชาติของกรรม เมื่อเข้าใจแล้วก็หันหลังให้มันซะแล้วไม่ต้องหันไปมองมันอีก วิธีที่จะทำให้เข้าใจในกรรมแห่งการเกิดนั้นคือ ไม่สงสัยในกรรม ไม่ว่ากรรมจะเป็นเช่นไรจะเป็นไปในทิศทางใด หรือเราจะต้องชดใช้กรรมหรือไม่ เมื่อหยุดสงสัยมันได้แล้วคุณก็จะเข้าใจกรรมว่าเป็นสิ่งที่ไม่น่าสงสัย สงสัยไปก็เปล่าประโยชน์เพราะมันไม่มีคำตอบ จริงๆแล้วการได้เกิดมาเป็นมนุษย์คุณควรที่จะสงสัยในสิ่งที่มีคำตอบและมันเป็นประโยชน์กับชีวิตมนุษย์มากที่สุด คือ ความว่างเปล่าอันไร้ตัวตนที่นำความผาสุกให้แก่ชีวิตมนุษย์ไปตลอดตั้งแต่ยังมีลมหายใจจนถึงหมดลมหายใจไปแล้ว มันคือความสุขที่เป็นนิรันดร์ สภาวะแห่งความว่างนั้นเป็นเพียงสภาวะธรรมดาๆ ที่มีอยู่ตลอดเวลา มีอยู่ทุกสถานที่ทุกหนแห่ง เป็นสภาวะที่มันเป็นของมันเองตามธรรมชาติในจิตใจของมนุษย์ มันเป็นโดยสภาพของตัวมันเองโดยที่ไม่มีวิธีการใดๆจะทำให้มันเกิดได้ มันเป็นสิ่งที่มีอยู่ในเราตลอดเวลา พระตถาคตท่านได้คิดวิธีต่อหลายวิธีที่จะทำอย่างไรให้ได้พบกับความสุขอันเป็นนิรันดร์ ความสุขที่ว่าคือทำอย่างไร จะไม่ให้เกิดทุกข์อีก ทั้งที่ชีวิตมนุษย์เต็มไปด้วยความทุกขเวทนาทั้งสิ้น และวันหนึ่งท่านก็ค้นพบคำตอบแห่งการพ้นทุกข์และท่านได้สรุปให้เราสั้นๆว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเองเป็นธรรมดา สิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นย่อมดับลงไปเองเป็นธรรมดาอีกเช่นกัน ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่มีวิธีปฏิบัติ เพราะถ้าหากว่ามันต้องมีวิธีปฏิบัติ แล้วตถาคตท่านจะบอกทำไมว่า มัน
เกิดขึ้นเองและดับลงไปเองเป็นของธรรมดา ในเมื่อมันเกิดขึ้นเองและดับลงเองเป็นของธรรมดา ในเมื่อมันเกิดขึ้นเองและดับลงเองก็ไม่จำเป็นจะต้องมีวิธีที่จะต้องทำให้มันดับลงไปตามความต้องการของเรา ธรรมชาติแห่งความดับไปมันเป็นของมันอย่างนี้มานานแล้ว ถึงจะไม่มีใครหรือสิ่งใดมาเป็นเหตุหรือปัจจัย มันก็เป็นความดับไปเป็นธรรมดาของมันอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา
สภาวะจิตก็เช่นกัน วันๆหนึ่งมีการเกิดขึ้นของความคิดและดับลงไปเองวันละหลายๆครั้ง และมันก็ดับไปเป็นธรรมดาของมันเอง ไม่มีใครสามารถเข้าไปบังคับให้มันดับไปได้ หากเป็นเช่นนั้นก็ต้องมานั่งนับความเกิดดับของจิตอยู่ตลอดเวลา มันจะเป็นเช่นไรก็อย่างนั้นแหละ มันไม่มีอะไรให้ต้องเข้าถึงกับอะไร มันเป็นเพียงความเข้าใจในธรรมชาติของสภาวะแห่งความว่างเท่านั้นว่าสภาวะความว่างเป็นอย่างไร เพราะทุกสิ่งที่เห็นว่ามีอยู่จริง แต่อันที่จริงทุกๆสิ่งจริงๆนั้นไม่มี ในโลกนี้มีแต่ของมายา มีแต่ของสมมุติ แม้กระทั้งตัวเราเองก็สมมุติ ก็แม้กระทั้งตัวเราเองยังไม่มีแล้วทุกสิ่งจะมีได้อย่างไร สิ่งที่มีอยู่จริงก็คือความว่าง จักวาลนี้ประกอบไปด้วยดาวเคราะห์ต่างๆ โลก อุกาบาต และอื่นๆ ทุกๆสิ่งในจักรวาลนี้ล้วนเป็นหนึ่งเดียวกับความว่าง หากคุณเข้าใจว่าทุกสรรพสิ่งล้วนเป็นส่วนหนึ่งแห่งความว่างแล้ว คุณจะรู้ว่าจริงๆแล้ว จักวาลนี้ก็ไม่มีอยู่จริง

บทความนี้
เขียนโดย นางดวงฤทัย(แตง) วงศ์สูงเนิน (ลูกศิษย์)











ด้วยความเสมอภาคและเที่ยงตรง
จิตของท่านไม่ได้พำนัก ณ ที่ใด








บทที่ 43 มรณสติ
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ที่พักก่อด้วยอิฐชื่อ
นาทิกะ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย มรณสติอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็มรณสติอันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร กระทำให้มากแล้วอย่างไร จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มากหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อกลางวันสิ้นไป กลางคืนเวียนมาย่อมพิจารณาดังนี้ว่า ปัจจัยแห่งความตายของเรามีมากหนอ คือ งูพึงกัดเราก็ได้ แมลงป่องพึงต่อยเราก็ได้ ตะขาบพึงกัดเราก็ได้ เพราะเหตุนั้นเราพึงทำกาลกิริยา อันตรายนั้นพึงมีแก่เรา เราพึงพลาดล้มลงก็ได้ อาหารที่เราบริโภคแล้วไม่ย่อยเสียก็ได้ ดีของเราพึงซ่านก็ได้ เสมหะของเราพึงกำเริบก็ได้ ลมมีพิษดังศาตราของเราพึงกำเริบก็ได้ มนุษย์ทั้งหลายพึงเบียดเบียนเราก็ได้พวกอมนุษย์พึงเบียดเบียนเราก็ได้ เพราะเหตุนั้นเราพึงทำกาลกิริยา อันตรายนั้นพึงมีแก่เรา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นพึงพิจารณาดังนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาปอกุศลอันเรายังละไม่ได้ ที่จะพึงเป็นอันตรายแก่เราผู้ทำกาละในกลางคืน มีอยู่หรือหนอแล ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาปอกุศลอันเรายังละไม่ได้ ที่จะพึงเป็นอันตรายแก่เราผู้ทำกาละในกลางคืน มีอยู่ ภิกษุนั้นพึงกระทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความเพียร ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะให้ยิ่ง เพื่อละธรรมอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นเสีย เปรียบเหมือนคนที่มีผ้าไฟไหม้ หรือศีรษะถูกไฟไหม้ พึงกระทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความเพียร ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะให้ยิ่ง เพื่อดับไฟไหม้ผ้าหรือศีรษะนั้น ฉะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลายถ้าแหละภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาปอกุศลอันเรายังละไม่ได้ ที่จะเป็นอันตรายแก่เราผู้ทำกาละในกลางคืน ไม่มี ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้มีปีติและปราโมทย์หมั่นศึกษาทั้งกลางวันและกลางคืนในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อกลางคืนสิ้นไป กลางวันเวียนมาถึง ย่อมพิจารณาดังนี้ว่า ปัจจัยแห่งความตายของเรามีมากหนอ คือ งูพึงกัดเราก็ได้ แมลงป่องพึงต่อยเราก็ได้ ตะขาบพึงกัดเราก็ได้ เพราะเหตุนั้นเราพึงทำกาลกิริยา อันตรายนั้นพึงมีแก่เรา เราพึงพลาดล้มลงก็ได้ อาหารที่เราบริโภคแล้วไม่ย่อยเสียก็ได้ ดีของเราพึงซ่านก็ได้ เสมหะของเราพึงกำเริบก็ได้
ลมมีพิษดังศาตราของเราพึงกำเริบก็ได้ มนุษย์ทั้งหลายพึงเบียดเบียนเราก็ได้ พวกอมนุษย์พึงเบียดเบียนเราก็ได้ เพราะเหตุนั้นเราพึงทำกาลกิริยา อันตรายนั้นพึงมีแก่เรา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นพึงพิจารณาดังนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาปอกุศลอันเรายังละไม่ได้ที่จะพึงเป็นอันตรายแก่เราผู้ทำกาละในกลางวัน มีอยู่หรือหนอแล ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาปอกุศลอันเรายังละไม่ได้ที่จะพึงทำอันตรายแก่เราผู้ทำกาละในกลางวัน มีอยู่ ภิกษุนั้นพึงกระทำความพอใจความพยายาม ความอุตสาหะ ความเพียร ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะให้ยิ่ง เพื่อละธรรมอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นเสีย เปรียบเหมือนบุคคลมีผ้าถูกไฟไหม้หรือศีรษะถูกไฟไหม้ พึงกระทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะความเพียร ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะให้ยิ่ง เพื่อดับไฟไหม้ผ้าหรือศีรษะนั้น ฉะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าแหละภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาปอกุศลอันเรายังละไม่ได้ที่จะพึงเป็นอันตรายแก่เรา ผู้ทำกาละในกลางวันไม่มี ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้มีปีติและปราโมทย์ หมั่นศึกษาทั้งกลางวันกลางคืนในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย มรณสติอันภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ กระทำให้มากแล้วอย่างนี้ จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด ฯ














เมื่อเธอพยายามหยุดการกระทำ
เพื่อจะได้ถึงความหยุดนิ่ง
ความพยายามของเธอนั่นแหละ
ที่ทำให้เธอเต็มไปด้วยการกระทำ











บทที่ 44 อวิชชาแห่งการตามรู้ตามดูจิต

โดยกฎธรรมชาติ มันย่อมไม่มีไม่เป็นอยู่แล้ว มันคือความว่างเปล่าไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่อย่างนั้น แต่การที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนธรรมถึงสติปัฏฐานนั้นเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ท่านทรงอนุเคราะห์บรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลายที่ยังไม่เข้าใจและไม่สามารถเป็นเนื้อหาเดียวกันกับธรรมอันคือธรรมชาติข้างต้นได้ หมู่สัตว์พวกนี้ยังเห็นว่ามีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นอยู่เนืองๆด้วยอวิชชาความไม่รู้ของตนนั้นที่พาเข้าไปยึด พระพุทธองค์จึงทรงแจกแจงธรรมไว้ในสติปัฏฐานถึง 4 หมวด คือ กาย เวทนา จิต ธรรม โดยเป็นพุทธประสงค์ให้เข้าไปเรียนรู้ถึงสภาพแห่งทุกข์ ต้นเหตุแห่งการเกิดทุกข์ และความดับทุกข์ได้ตามวิธีธรรมชาติ
เมื่อเราได้ศึกษาถึงปัญหาและการแก้ไขปัญหาอย่างถูกวิธีแล้วนั้น เราย่อมทราบได้ว่าความจริงแล้วโดยสภาพธรรมชาติแห่งขันธ์ 5 แท้จริงมันไม่มี มันไม่เกิดมันไม่ดับ มันคือความว่างเปล่าของมันอยู่อย่างนั้น แต่ถ้าหากเกิดขันธ์ 5 ขึ้น (เพราะด้วยความที่ยังมีอวิชชาอยู่สภาพแห่งขันธ์ยังไม่ไปสู่ความดับสนิทไม่มีเหลือ) แต่ไม่มีความเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในขันธ์แห่งเวทนาทั้งหลาย พระพุทธ-องค์ก็ทรงตรัสไว้ในหมวดเวทนานุปัสนาสติว่า เมื่อไม่มีการเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในเวทนาทั้งหลาย เวทนาทั้งหลายเหล่านี้ย่อมดับไปเองเป็นธรรมดาตามสภาพธรรมชาติมันอยู่แล้ว และยิ่งไปกว่านั้นถ้าหากเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในเวทนาทั้งหลายจนกลายเป็นจิตที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมาในลักษณะเป็นจิตต่างๆ พระพุทธองค์ก็ทรงตรัสไว้ในหมวดจิตตานุปัสสนาสติว่า จิตที่ถูกปรุงแต่งขึ้นเป็นจิตต่างๆเหล่านี้ ย่อมไม่เที่ยงดับไปเองเป็นธรรมดาตามสภาพธรรมชาติมันเองอยู่แล้วเช่นกัน
หากไล่เรียงตามข้อความดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าแท้จริงไม่มีขันธ์ทั้ง 5 เกิดขึ้นด้วยซ้ำ มันคือสภาพธรรมแห่งความว่างเปล่าที่มันเป็นเช่นนั้นของมันเองอยู่อย่างนั้นตลอดถ้วนทั่วทุกอนูธรรมธาตุ แต่เมื่อเราไม่สามารถตระหนักชัดและกลายเป็นเนื้อหาเดียวกับมันได้ มันก็เป็นปรกติที่อวิชชาความไม่รู้ที่เรายังมีมันอยู่ มันย่อมทำให้เกิดการเห็นว่า “ขันธ์ทั้ง 5 มันเกิดขึ้น” และบางทีก็มีการเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ทั้ง 5 อยู่เนืองๆ ตามลักษณะอนุสัยพฤติกรรมการปรุงแต่งของแต่ละคน เพราะฉะนั้น การที่เรายังไม่สามารถเป็นเนื้อหาเดียวกันกับความว่างเปล่าจากความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนแบบถ้วนทั่วได้ พระพุทธองค์จึงทรงชี้แนะว่า “ถ้าเผลอหลงลืมสติ” เข้าไปยึดมั่นถือมั่นเป็นจิตขึ้นมาประเภทใด จิตนั้นก็ย่อมไม่เที่ยงดับไปเป็นธรรมดาอยู่แล้วเอง เป็นการที่พระองค์ทรงชี้แนะให้มีธรรมชาติแห่งการระลึกรู้ตามเหตุตามปัจจัยเท่านั้น เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยที่ว่า ปรกติขันธ์ทั้ง 5 ดับอยู่แล้ว มันว่างเปล่าไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่แล้ว และถ้ามีเหตุปัจจัยเผลอเข้าไปยึดมั่นถือมั่นขึ้นมา สิ่งที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นก็ย่อมไม่เที่ยงดับไปเป็นธรรมดาอยู่แล้ว

เพราะฉะนั้นการปฏิบัติธรรมที่แท้จริงควรดำเนินไปในเนื้อหาความเข้าใจที่ว่า แท้จริงมันไม่มีอะไรกับอะไรอยู่แล้ว มันคือความว่างเปล่าไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่แล้ว เป็นพื้นฐานแห่งความเข้าใจขั้นต้น และถ้าหากเผลอและหลงเข้าไปยึดมั่นถือมั่น ด้วยเหตุปัจจัยแห่งการเผลอนี้ จึงควรระลึกรู้ตามธรรมชาติว่า สิ่งที่เข้าไปยึดนั้นมันดับไปเป็นธรรมดา แต่ถ้าหากเราเข้าใจแบบผิดๆว่าเราจะต้องปฏิบัติธรรมบนพื้นฐานความคิดที่ว่า มีความเป็น “เรา” อยู่ตลอดเวลาเพราะเรายังไม่หลุดพ้น เรามีกิเลสมีความเป็นอัตตาตัวตนอยู่เต็มหัวใจและเราควรปฏิบัติธรรมเพื่อเอาความเป็นตัวตนแห่งเราออกไป มันจะเกิดพฤติกรรมทางจิตขึ้นมาอยู่อย่างหนึ่งก็คือ ความตั้งใจความมีเจตนาที่จะคอยตามรู้ตามดูจิต เข้าไปตั้งท่ารอคอยเพื่อตามรู้ตามดูจิตขึ้นมาแบบเอาเป็นเอาตาย การเข้าไปแบบนี้มันเป็นการสร้างระบบวิธีปฏิบัติขึ้นมาอีกต่างหากตามความไม่เข้าใจของตนเอง ซึ่งมันไม่ใช่และขัดต่อธรรมชาติ การตั้งหน้าตั้งตาเพื่อคอยตามรู้ตามดูจิต มันคือ การปรุงแต่งขึ้นมาเป็นจิตชนิดหนึ่งที่ปรุงแต่งซ้อนเข้ามาแบบไม่รู้ตัวชนิดเส้นผมบังภูเขา (อวิชชาซ้อน) มันคืออวิชชาความไม่รู้ที่พาให้เราเข้าไปยึดมั่นถือมั่นกลายเป็นจิตที่ปรุงแต่งขึ้นเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมในความเข้าใจผิดที่เราสร้างระบบปฏิบัติขึ้นมาซึ่งขัดต่อธรรมชาติมันเป็นอัตตาซ้อนเข้ามาแบบไม่รู้ตัว
พระพุทธองค์ท่านมีความประสงค์ให้มีธรรมชาติแห่งการระลึกรู้ ตามเหตุ ตามปัจจัย เท่านั้น มิใช่เข้าไปสร้างความเป็น “เรา” เป็น “อัตตา” ขึ้นมาแบบไม่รู้ตัวเพื่อเข้าไปจัดแจงตามรู้ตามแก้ไขจิต ซึ่งการเข้าไปในลักษณะนี้มันขัดมันฝืนต่อธรรมชาติ มันไม่ใช่ธรรมชาติ และ “การเข้าไป” นั้นมันก็กลับเป็นอุปสรรคมาขวางกั้นพระนิพพานเพราะการเข้าไปมันคือลักษณะเข้าไปยึดมั่นถือมั่นเป็นการปรุงแต่งเป็นจิตชนิดหนึ่งขึ้นมา จิตชนิดนี้ มันชื่อว่า “จิตแห่งการเข้าไปตามรู้ตามดู” นั่นเอง



























ผู้ที่ยึดมั่นในรูปธรรมซึ่งทำความดี
ก็ทำตัวเองให้ตกลงไปเป็นทาสของความพยายาม
มันจะเกิดความรู้สึกว่าตนเป็นผู้ขาดแคลนอยู่เสมอ
โดยเท่าเทียมกันอย่างไม่มีที่มุ่งหมาย











บทที่ 45 อวิชชาซ้อน

อวิชชาซ้อน คือ อวิชชาอันเป็นความไม่รู้นั่นเองที่ปรุงแต่งซ้อนเข้ามาเพื่อปิดบังพระนิพพานมิให้เกิดขึ้น เมื่อเราไม่เข้าใจในเนื้อหาแห่งพระนิพพานอันเป็นธรรมชาติล้วนๆ ไม่เข้าใจเนื้อหาแห่งพระนิพพานอันเป็นธรรมชาติแห่งการปรุงแต่งไม่ได้แล้วอันคือธรรมชาติแห่งความดับสนิทไม่มีเหลือ ไม่เข้าใจในเนื้อหาแห่งพระนิพพานอันเป็นธรรมชาติแห่งความหยุดคิดโดยสมบูรณ์ ไม่เข้าใจในเนื้อหาแห่งพระนิพพานอันเป็นธรรมชาติแห่งความว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวใช่ตนแบบตลอดสายถ้วนทั่วทุกอนูธรรมธาตุโดยเนื้อหามันเองอยู่แล้ว เมื่อไม่เข้าใจในเนื้อหาแห่ง “ธรรมชาติดั้งเดิมแท้” เหล่านี้ ซึ่งไม่สามารถกระทำให้มันเกิดขึ้นได้ตามความต้องการของเรา ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ต้องใช้การแสวงหาแล้วจึงจะพบมัน ซึ่งมันเป็นเพียงเราต้องทำความเข้าใจในความหมายโดยต้องตระหนักชัดและซึมทราบกลายเป็นเนื้อหาเดียวกับมันเท่านั้น อวิชชาความไม่รู้ของเราก็เลยพาปรุงแต่งเป็นจิตในเรื่องที่จะเข้าไปจัดการ เข้าไปตรวจสอบ เข้าไปรอคอย เพื่อที่จะทำทุกวิถีทางเพื่อให้พระนิพพานเกิดขึ้นตามความต้องการและตามความไม่เข้าใจของตนเอง ลักษณะของจิตที่ปรุงแต่งแบบนี้เป็นลักษณะของอวิชชาที่ปรุงแต่งซ้อนเข้ามาเพื่อปิดบังธรรมชาติดั้งเดิมแท้ เป็นลักษณะจิตที่ปรุงแต่งในวิธีที่จะเข้าไปทำทุกวิถีทางตามความเข้าใจผิดของตนเพื่อให้พระนิพพานเกิด

-เมื่อยังไม่เข้าใจในสมุทเฉทคือการตัดประหารอาสาวะกิเลสได้โดยเด็ดขาด
-เมื่อยังไม่เข้าใจในวิชชาคือความรู้แจ้งทั้งปวง
-เมื่อยังไม่เข้าใจในวิมุติคือการหลุดพ้น
-เมื่อยังไม่เข้าใจว่านิพพานคืออะไร
เมื่อไม่เข้าใจในเนื้อหาแห่งการพลุดพ้นอย่างแท้จริง จิตก็จะปรุงแต่งไปในทาง "คิดว่าต้องทำอย่างนี้อย่างนั้นเพื่อให้พระนิพพานเกิด คิดว่ากิเลสตัวนี้ตัวนั้นได้เบาบางลงไปได้คลายกำหนัดจางหายไปและยังเหลือกิเลสอีกเท่าไหร่ที่จะต้องเข้าไปจัดการทำลายให้สิ้นซาก คิดว่าเมื่อไหร่จะนิพพาน คิดว่าเดี๋ยวมันก็จะคลี่คลายไปเองเดี๋ยวนิพพานก็เกิด คิดว่าเรายังไม่หลุดพ้นต้องทำความเพียรเพิ่มขึ้นอีกเพื่อให้นิพพานเกิด"
จิตที่ถูกปรุงแต่งขึ้นเป็นความคิดเหล่านี้มันก็ล้วนเป็นอวิชชา
ตัณหาอุปทาน เป็นจิตชนิดหนึ่งซึ่งปรุงแต่งซ้อนเข้ามาเพื่อปิดบังสัจธรรมความเป็นจริงตามธรรมชาติดั้งเดิมแท้ที่มันว่างเปล่าไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนแบบถ้วนทั่วยู่แล้วโดยตัวมันเอง มันเป็นเช่นนั้นของมันเองอยู่อย่างนั้น จิตปรุงแต่งซึ่งคืออวิชชาที่ซ้อนเข้ามานี้มันก็ตกอยู่ภายใต้กฏธรรมชาติที่มันก็ล้วนไม่เที่ยงมันดับโดยตัวมันเองเป็นธรรมดาอยู่แล้ว เมื่อเป็นธรรมชาติแห่งความไม่เที่ยงความสิ้นไปดับไปเป็นธรรมดาแห่งอวิชชาซ้อนและได้ตระหนักชัดถึงความหมายแห่งธรรมชาติดั้งเดิมแท้แล้ว นิพพานก็จักปรากฏแสดงเนื้อหามันเองตามสภาพธรรมชาติมันเองอยู่แล้ว
อวิชชาซ้อนนั้นล้วนบังพระนิพพานทั้งสิ้น ยิ่งปรุงแต่งหาหนทางแห่งพระนิพพานมากเท่าไร พระนิพพานซึ่งเป็นธรรมชาติอันแท้จริงก็ยิ่งห่างหายไปทุกทีๆ
































พวกเธอไม่อาจจะ
ใช้ จิต ให้แสวงหา จิต
ใช้พุทธะ ให้แสวงหา พุทธะ
หรือใช้ ธรรม ให้แสวงหา ธรรม







บทที่ 46 ไม่ใช่เรื่องยากและไม่ใช่เรื่องง่าย
ในสมัยพุทธกาล การบรรลุธรรมของเหล่าอริยชนทั้งหลายในยุคนั้นใช้เวลาพิจารณาทำความเข้าใจธรรมเพื่อที่จะได้ตระหนักชัดและซึมทราบกลายเป็นเนื้อหาเดียวกับธรรมนั้นแตกต่างกันไป แต่ธรรมที่พระพุทธองค์นำมาตรัสสอนแก่เหล่าอริยชนทั้งหลายนั้นล้วนเป็นธรรมที่มีเนื้อหาเดียวกันในการชี้ทางไปสู่ความไม่ใช่ตัวใช่ตนทั้งสิ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัญญาบารมีของแต่ละคนที่จะทำความเข้าใจในเนื้อหาแห่งธรรมที่พระพุทธองค์ตรัสได้กระจ่างแจ้งมากน้อยแค่ใหน บางคนก็ใช้เวลาเพียงเล็กน้อยแล้วบรรลุธรรมต่อหน้าพระพุทธองค์ก็มี บางคนก็ใช้เวลาเพียง 3 วัน 7 วัน บางคนก็ใช้เวลาเป็น 1 เดือน 3 เดือนบ้าง บางคนก็ใช้เวลาเป็นปีหรือทั้งชีวิต บางคนก็ไม่สามารถทำความตระหนักชัดในชาตินี้ได้เลย ต้องรอทำความเข้าใจในเรื่องธรรมอันคือธรรมชาติแบบข้ามภพข้ามชาติ
เนื้อหาธรรมในสติปัฏฐานนั้นเป็นธรรมที่ท่านทรงตรัสไว้โดยรวมเพื่อให้ทุกคนพิจารณาธรรมนั้นๆ ตามอินทรีย์แห่งปัญญาของแต่ละคนที่จะสามารถทำความเข้าใจได้มากน้อยแค่ใหน บางคนสามารถทำความเข้าใจตระหนักชัดในเนื้อหาธรรมได้อย่างรวดเร็ว บรรลุได้แบบฉับพลัน แต่ถ้าหากเราเป็นผู้มีปัญญามืดบอดไม่สามารถทำความเข้าใจในข้ออรรถข้อธรรมได้รวดเร็วเหมือนเช่นบุคคลที่เขามีปัญญามากกว่า เราเองก็อย่าได้ไปคิดตำหนิเขาในทำนองที่ว่า เขาคงมีความหลงหรือโมหะในการปฏิบัติธรรมเพียงเพราะเขาปฏิบัติธรรมได้ลุล่วงเร็วเกินไป และก็อย่าได้เอาตนเองเป็นมาตรฐานว่าเราพิจารณาธรรมมานานมากเพียงใด บุคคลอื่นก็ต้องใช้เวลาพิจารณาธรรมทำความเข้าใจนานเหมือนเราเฉกเช่นเดียวกัน
ธรรมที่พระพุทธองค์ตรัสนั้น คือ สัจธรรมแห่งความเป็นจริงในความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ท่านทรงตรัสธรรมไว้ตรงตามเนื้อหาธรรมแห่งธรรมชาติแล้ว ท่านทรงตรัสไว้ตรงทั้งในเบื้องต้น ท่ามกลางและบั้นปลายแห่งธรรมนั้น มันจึงมิใช่เรื่องยากหรือเรื่องง่ายที่เราจะปฏิบัติธรรมให้ลุล่วงได้ แต่มันเป็นเรื่องที่เราจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจในเนื้อหาธรรมนั้นต่างหาก หากเราไม่เข้าใจในธรรมเราก็จะคิดสาละวนต่อไปว่าการปฏิบัติธรรมมันเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญแล้วก็เกิดความท้อใจ แต่ในความเป็นจริงเราอาจจะบกพร่องในส่วนที่เราศึกษาธรรมขั้นพื้นฐานมาไม่ดีพอไม่ครบองค์ประกอบแห่งความรู้เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหานั้นได้ เมื่อเกิดความประมาทในการศึกษาธรรมมาแบบน้อยนิดแล้วก็ลงมือปฏิบัติธรรมแบบผิดๆ การปฏิบัติธรรมโดยที่ไม่เข้าใจในธรรมทุกส่วนมันจึงกลายเป็นอุปสรรคที่เพิ่มขึ้นมาแก่นักปฏิบัติเองและอาจเกิดความท้อใจที่ปฏิบัติแบบผิดๆแล้วไม่ได้ผล จนกระทั้งหันหลังทิ้งการศึกษาและเลิกปฏืบัติธรรมไปในที่สุด แต่ถ้าหากเราเกิดความเข้าใจในธรรมในทุกขั้นตอนในทุกส่วนแห่งความจำเป็นที่ต้องเข้าไปศึกษาให้ครบองค์ประกอบแห่งความรู้ มันก็ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ “ง่าย”เกินไปอีกเช่นกันแต่มันคือความเข้าใจในธรรมที่เกิดจากปัญญินทรีย์ของเราที่ใช้เวลาไม่นานในการพิจารณาธรรมต่างหาก เพราะฉะนั้นการปฏิบัติธรรมมันจึงไม่ใช่เป็นเรื่องของความยากหรือความง่าย แต่มันเป็นเรื่องของความเข้าใจหรือความไม่เข้าใจในธรรมเพียงเท่านั้น
การปฏิบัติธรรมของผู้ที่พึ่งเริ่มปฏิบัติ ส่วนใหญ่เมื่อเข้าใจและตระหนักชัดเรื่องความสิ้นไปดับไปเป็นธรรมดาแล้ว ก็จะเริ่มระลึกรู้ตามธรรมชาติ “ตามเหตุปัจจัย” แห่งการเกิดขึ้นและดับไปเป็นธรรมดาของจิตประเภทต่างๆ เช่น จิตมีราคะ จิตปราศจากราคะ จิตมีโทสะ จิตปราศจากโทสะ จิตมีโมหะ จิตปราศจากโมหะ จิตหดหู่ จิตฟุ้งซ่าน เป็นต้น
แต่สำหรับผู้ที่มีรอบปัญญาบารมีดีกว่านี้ ย่อมพึงพิจารณาธรรมได้มากกว่านั้นโดยเห็นว่า แท้จริงแล้วจิตประเภทต่างๆก็ล้วนแต่เป็นเพียง “ปรากฎการณ์ทางจิต” เท่านั้น ไม่ควรเข้าไปใส่ใจในรายละเอียดแห่งจิตที่ปรุงแต่ง มันจะชื่อจิตอะไรจิตประเภทใหนมันก็ล้วนแต่เป็นเรื่องของการปรุงแต่งขึ้นมาเหมือนกันทั้งสิ้น และเราก็ได้ทำความเข้าใจจิตประเภทต่างๆนี้ที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมาอย่างดีแล้ว เราจักใช้อุบายพิจารณาธรรมแค่ “มีอาการปรุงแต่ง” กับ “ไม่มีอาการปรุงแต่ง” โดยไม่ต้องพิจารณาลงไปถึงรายละเอียดแห่งเนื้อหาการปรุงแต่งนั้น หากมีอาการปรุงแต่งขึ้นมาก็จะได้ระลึกรู้ตามธรรมชาติว่า “มีการปรุงแต่ง” เกิดขึ้น ซึ่งมันเป็นความไม่ตั้งมั่นในความว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน แต่ถ้าหากไม่ได้ปรุงแต่ง “ไม่มีอาการปรุงแต่ง” ก็จะได้ระลึกรู้ตามธรรมชาติว่าขันธ์ทั้ง 5 มันดับไปซึ่งมันคือ ธรรมชาติแห่งความตั้งมั่น(สัมมาสมาธิ) ในความว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่อย่างนั้น แต่ถึงกระนั้นการเข้าใจธรรมโดยการพิจารณาธรรมซึ่งใช้กลอุบายอันแยบยลแบบนี้ โดยเนื้อหามันก็ยังเป็นอวิชชาตัณหาอุปาทานเป็นการปรุงแต่งเป็นจิตชนิดใหม่ขึ้นมาอยู่ดี เพราะพระพุทธองค์ได้ทรงตรัสไว้แล้วในสติปัฏฐานหมวดจิตตานุปัสสนาสติ ว่า จิตเป็นสมาธิ (จิตตั้งมั่น) ก็รู้ว่า จิตเป็นสมาธิ (จิตตั้งมั่น) , จิตไม่เป็นสมาธิ (จิตไม่ตั้งมั่น) ก็รู้ว่า จิตไม่เป็นสมาธิ (จิตไม่ตั้งมั่น)
การพิจารณาธรรมว่า การที่เรามีอาการปรุงแต่งเป็นจิตขึ้นมาซึ่งมันหมายถึง “เป็นการไม่ตั้งมั่นในความว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน” นั้น การพิจารณาธรรมแบบนี้พระพุทธองค์ก็ตรัสไว้ว่า มันเป็นจิตที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมาชนิดหนึ่ง เรียกชื่อจิตชนิดนี้ว่า จิตไม่เป็นสมาธิ (จิตไม่ตั้งมั่น) คือการปรุงแต่งว่าเราไม่มีธรรมชาติแห่งสัมมาสมาธิอันที่จะทำให้ตั้งมั่นกลายเป็นเนื้อหาเดียวกับความว่างเปล่าได้ เมื่อเราได้ใช้อุบายพิจารณาธรรมในรายละเอียดแบบนี้ขึ้นมา ก็ให้เราพึงสังวรณ์ด้วยว่า การพิจารณาธรรมแบบนี้ขึ้นมามันก็เป็นจิตปรุงแต่งชนิดหนึ่งมันคือ จิตไม่เป็นสมาธิ (จิตไม่ตั้งมั่น) ก็พึงให้ระลึกรู้ตามธรรมชาติ (ก็รู้ว่า) จิตไม่เป็นสมาธิ (จิตไม่ตั้งมั่น) นี้ มันสิ้นไปมันดับไปเป็นธรรมดาเองอยู่แล้วตามสภาพธรรมชาติ
เฉกเช่นเดียวกัน การพิจารณาธรรมว่าการที่เราไม่มีอาการปรุงแต่งนั้นมันคือความตั้งมั่นในความว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน การพิจารณาธรรมแบบนี้พระพุทธองค์ก็ทรงตรัสไว้ว่า มันเป็นจิตที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมาชนิดหนึ่งเช่นกัน เรียกชื่อจิตชนิดนี้ว่า จิตเป็นสมาธิ (จิตตั้งมั่น) คือการปรุงแต่งว่าเรามีธรรมชาติแห่งสัมมาสมาธิอันที่จะทำให้ตั้งมั่นกลายเป็นเนื้อหาเดียวกับความว่างเปล่าได้ เมื่อเราได้พิจารณาธรรมในรายละเอียดแบบนี้ขึ้นมา ก็ให้เราพึงสังวรณ์ด้วยว่า การพิจารณาธรรมแบบนี้ก็เป็นจิตปรุงแต่งชนิดหนึ่งเช่นกันมันคือ จิตเป็นสมาธิ (จิตตั้งมั่น) ก็พึงให้ระลึกรู้ตามธรรมชาติ (ก็รู้ว่า) จิตเป็นสมาธิ (จิตตั้งมั่น)นี้ มันสิ้นไปมันดับไปเป็นธรรมดาเองอยู่แล้วตามสภาพธรรมชาติ
แต่สำหรับผู้ที่มีรอบปัญญาบารมีดีกว่านี้ขึ้นมาอีกนั้น ย่อมไม่ใส่ใจในรายละเอียดแห่งจิตที่ปรุงแต่งขึ้นว่าเป็นจิตประเภทใหนและชื่ออะไร และย่อมใม่ใส่ใจในการเข้าไปพิจารณาว่ามีความตั้งมั่นหรือไม่มีความตั้งมั่นในความว่างอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน แต่กลับใช้อุบายอันแยบยลมากกว่านั้นเพื่อเข้าไปพิจารณาถึงรายละเอียดแห่งธรรม ว่า หากมันเป็นธรรมชาติแห่งความตั้งมั่นในความว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่อย่างนี้ เราจักจะปล่อยให้มันแสดงเนื้อหาแห่งความว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ แต่ถ้าหากเราเผลอไปปรุงแต่งขึ้นมา เราจักจะระลึกรู้ว่าเรายังไม่หลุดพ้น แต่ในความเป็นจริงโดยหลักธรรมชาติถึงแม้เราจะใช้อุบายอันแยบยลขนาดนี้แล้วพระพุทธองค์ก็ทรงตรัสไว้แล้วว่า การพิจารณาธรรมแบบนี้ก็คือจิตที่ปรุงแต่งขึ้นมาอีกชนิดหนึ่งเช่นกัน เรียกจิตชนิดนี้ว่า “จิตไม่หลุดพ้น” คือการปรุงแต่งขึ้นมาว่า “มีเราและเรายังไม่หลุดพ้นเพราะยังเผลอเข้าไปปรุงแต่งอยู่” พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า “จิตไม่หลุดพ้น” ก็รู้ว่า “จิตไม่หลุดพ้น” ซึ่งหมายถึง หากเรากำลังพิจารณาว่าเรายังไม่หลุดพ้นเพราะเรายังเผลอปรุงแต่งขึ้นมาซึ่งคือ จิตไม่หลุดพ้น ก็ให้ระลึกรู้ตามธรรมชาติว่า (ก็รู้ว่า) จิตที่ไม่หลุดพ้นนี้มันสิ้นไปดับไปเป็นธรรมดาเองอยู่แล้วตามสภาพธรรมชาติ
แต่สำหรับผู้ที่มีรอบปัญญาบารมีมากขึ้นเป็นปัญญา “รู้รอบ” ว่าควรจะประหารกิเลสอนุสัยซึ่งมันคือพฤติกรรมการปรุงแต่งของจิตที่หมักหมมมานานนับภพชาติไม่ถ้วนนั้นอย่างเด็ดขาดได้ด้วยอุบายอันแยบยลด้วยวิธีที่ตระหนักชัดว่า แท้จริงแล้วความว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนมันคือ ธรรมชาติที่มันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่เช่นนี้แบบตลอดถ้วนทั่วทุกอนูธรรมธาตุโดยเนื้อหามันเองอยู่แล้ว มันคือความว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนแบบตลอดสายโดยเนื้อหามันเองอยู่แล้ว การที่เราคิดจะเข้าไปทำความตั้งมั่นให้มันว่างแบบตลอดสายประติดประต่อกันไปตามความต้องการของเรานั้น แท้ที่จริงมันคือการปรุงแต่งชนิดหนึ่ง การรอคอยภาวะความหลุดพ้นแท้ที่จริงมันก็คือการปรุงแต่งชนิดหนึ่งอีกเช่นกัน การปรุงแต่งแบบนี้ล้วนเป็นการปรุงแต่งซ้อนเข้ามาเพื่อปิดบังธรรมชาติแห่งพระนิพพานทั้งสิ้น แท้จริงแล้วความว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนนั้นมันก็ทำหน้าที่ของมันแบบบริบูรณ์ถ้วนทั่วทุกอนูธรรมธาตุแบบตลอดสายโดยมันเองอยู่แล้ว หากเราปล่อยให้ความว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนมันทำหน้าที่ของมันเองด้วยความบริบูรณ์โดยตัวมันเองอยู่แล้วตามคุณลักษณะของมันนั้น เราก็ไม่มีอะไรที่จะต้องเข้าไปพิจารณาธรรมขึ้นมาอีก ความว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนมันคือเนื้อหาแห่งความหลุดพ้นโดยตัวมันเองอยู่แล้ว แต่ถึงกระนั้นหากเข้าใจในเนื้อหาแห่งความหลุดพ้นนี้แล้วแต่ก็ยังเผลอเข้าไปยึดมั่นถือมั่นเข้าไปปรุงแต่งแบกสภาวะขึ้นมาซ้อนเข้ามาอีกว่า มีเราและเราหลุดพ้นแล้ว พระพุทธองค์ก็ทรงตรัสไว้ว่า จิตหลุดพ้น ก็รู้ว่า จิตหลุดพ้น หมายถึงว่าหากเราได้ตระหนักชัดและอาจจะซึมทราบกลายเป็นเนื้อหาเดียวกันกับความว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนซึ่งมันคือเนื้อหาแห่งความบริบูรณ์แห่งธรรมอันเป็นความหลุดพ้นโดยตัวมันเองได้อยู่แล้ว แต่ก็ยังคงเผลอสติหลงเข้าไปปรุงแต่งเพื่อแบกสภาวะว่าเราหลุดพ้นนั้น มันคือจิตที่ปรุงแต่งว่าหลุดพ้น (ซึ่งมันคืออวิชชาตัวสุดท้ายที่อาจเกิดขึ้น) ก็ให้ระลึกรู้ตามธรรมชาติว่า (ก็รู้ว่า) จิตหลุดพ้นนี้ มันย่อมสิ้นไปดับไปเป็นธรรมดาตามสภาพธรรมชาติของมันอยู่แล้ว เมื่อเข้าใจและสามารถตระหนักชัดได้ตามนี้ นี่แหละคือการที่ได้ซึมทราบเป็นเนื้อหาเดียวกันกับความว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนซึ่งมันคือเนื้อหาแห่งความบริบูรณ์แห่งธรรมอันเป็นความหลุดพ้นโดยตัวมันเองได้แล้วอย่างแท้จริง
เพราะฉะนั้นการปฏิบัติธรรมจึงไม่ใช่เป็นเรื่องยากหรือเรื่องง่าย แต่มันเป็นเรื่องของความเข้าใจหรือไม่เข้าใจ หากเราเข้าใจว่าสิ่งที่เข้าไปเรียนรู้และพิจารณาธรรมตรงจุดนั้นมันก็ล้วนเป็นการปรุงแต่งชนิดหนึ่งเช่นกัน ก็ให้เราพึงระลึกรู้ตามธรรมชาติว่ามันก็สิ้นไปดับไปเป็นธรรมดา มันจึงจะเกิดความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม และก็ให้เราพึงศึกษาอย่างรู้รอบว่าอะไรคือการปรุงแต่งและอะไรคือการไม่ปรุงแต่ง ก็ให้เราพิจารณาธรรมเพื่อทำความเข้าใจในธรรมจนกว่าจะเข้าใจได้ว่า เราควรจะได้ตระหนักชัดและกลายเป็นเนื้อหาเดียวกันกับความว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนนั้นได้อย่างไร





















ภาค 2

อสังขตธาตุ




บทที่ 47 ไดชูอิน

ไดชูอิน คือเรือนไม้ญี่ปุ่นที่ซ่อนตัวอยู่ในมุมเล็กๆริมสระน้ำในบริเวณกว้างของวัดเรียวอันจิ นครเกียวโต ซึ่งเป็นสถานที่เล็กเกินกว่าที่จะเรียกเป็นวัดได้ แต่ไดชูอินเรือนไม้โบราณแห่งนี้ก็เป็นสถานที่ฟูมฟักนักปฏิบัติซึ่งเป็นนักบวชนิกายเซนสายรินไซมาหลายชั่วคนแล้ว ผู้ที่ดูแลไดชูอินก็จะเป็นการดูแลในฐานะเป็นครูกับศิษย์ที่สืบต่อกันมาจากใจถึงใจฝากไว้ให้กันด้วยการมอบตราประทับ (inka shomei) และผู้ที่ได้รับตราประทับจะได้ชื่อว่าพระอาจารย์ หรือ โรชิ (roshi)
ท่านโซโก โมรินากะ โรชิ คือโรชิคนปัจจุบันที่ดูแล “ไดชูอิน”แห่งนี้สืบต่อมาจากพระอาจารย์ของท่าน นอกจากท่านจะเป็นโรชิ ที่คอยคุ้ยเขี่ยธรรมะให้ลูกศิษย์ในไดชูอินแล้วท่านก็ดำรงตำแหน่งเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยที่สอนพระพุทธศาสนาในกรุงเกียวโตอีกด้วย อดีตท่านโซโก เป็นทหารญี่ปุ่นออกไปรบในนามจักรพรรดิ์เมื่อคราวสงครามโลกครั้งที่ 2ที่ผ่านมา เมื่อสงครามยุติลงทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่แพ้สงคราม ท่านรอดชีวิตกลับมาและก็กลายเป็นคนเร่ร่อนพเนจรไม่มีที่ไป จนกระทั้งท่านได้มายืนอยู่ที่หน้าประตูวัดเรียวอันจิและขออนุญาตเจ้าอาวาสที่วัดนี้บวช ท่านบวชมิใช่เพราะความศรัทธาที่จะปฏิบัติธรรมเพื่อหลุดพ้นแต่ท่านบวชเพียงเพื่อขอให้ท่านมีชีวิตรอดอยู่ได้ในท่ามกลางความพ่ายแพ้สงครามของประเทศในยุคข้าวยากหมากแพง เมื่อท่านพระอาจารย์เจ้าอาวาสบวชให้แล้วท่านโซโกเองก็ได้มีหน้าที่เก็บกวาดใบไม้ภายในบริเวณไดชูอินให้สะอาด ท่านทำหน้าที่ตรงนี้อยู่หลายปีโดยไม่มีโอกาสได้ฝึกฝนการปฏิบัติธรรมตามที่ท่านคิดไว้ ท่านได้เล่าย้อนถึงอดีตที่ท่านพึ่งมาบวชใหม่ๆว่า เพราะความที่ท่านไม่มีปัญญาเองและตอนที่ท่านมาบวชก็มิได้หวังที่จะบวชเพื่อปฏิบัติธรรมให้หลุดพ้น ซึ่งครั้งหนึ่งพระอาจารย์เคยสอนธรรมะลึกซึ้งกับท่านแต่ความที่ท่านไม่ได้เก็บคำพูดของพระอาจารย์มาขบคิด ท่านก็เลยเข้าใจว่าพระอาจารย์ไม่ค่อยดูแลสอนสั่งท่าน ก็มีอยู่ครั้งหนึ่งในช่วงเย็นวันนั้นท่านได้เก็บกวาดใบไม้และเศษก้อนหินรอบๆบริเวณไดชูอินมากวาดไว้รวมกัน แล้วท่านก็เดินไปถามพระอาจารย์ว่า “จะให้เอาขยะกองนี้ไปทิ้งไว้ที่ใหนกัน” พระอาจารย์โซอิ ซึ่งเป็น “โรชิ” ของท่านก็ได้ส่งเสียงตวาดท่านอย่างดังว่า “ใบไม้นี้ไม่ใช่ขยะ นี่เธอไม่เชื่อใจใช่มั๊ย” ท่านโซโก ได้แต่ทำหน้างงๆไม่เข้าใจในคำพูดของพระอาจารย์ท่าน แต่ก็ได้ถามต่อไปอีกว่าจะให้กำจัดมันอย่างไรในสิ่งที่ไม่ใช่ขยะ ท่านพระอาจารย์โซอิกลับแผดเสียงดังขึ้นมาอีกว่า “เราไม่กำจัดมันหรอก” และบอกให้ท่านไปเอาถุงมาใส่ใบไม้ที่กวาดเพื่อนำไปเก็บใช้เป็นเชื้อเพลิงต่อไป ส่วนที่เหลือเป็นก้อนกรวดก้อนหินให้นำไปเก็บไว้ตรงชายหลังคาเพื่อทำเป็นที่รองรับน้ำฝนและเพิ่มความงามให้กับสถานที่แห่งไดชูอินนี้ และพระอาจารย์ก็ยังพูดต่ออีกว่า “เธอเข้าใจบ้างหรือยังว่าสภาพที่แท้จริงซึ่งมันคือความดั้งเดิมของมนุษย์และสรรพสิ่งนั้นปราศจากขยะ” คำพูดเหล่านี้นับเป็นบทเรียนแรกในชีวิตความเป็นสมณะของท่านโซโก แต่ท่านกลับไม่เข้าใจในความหมายในธรรมซึ่งออกมาเป็นคำพูดของพระอาจารย์โซอิเลย
และเมื่อท่านได้ใช้ชีวิตนักบวชอยู่ที่ “ไดชูอิน” ในวัดเรียวอันจิมาหลายปีก็ทำให้ท่านท้อแท้ว่า ท่านยังมิได้มีความรู้ความเข้าใจในธรรมะและท่านก็ยังมิได้บรรลุธรรมอะไรเลย จนทำให้ท่านคิดจะไปเรียนรู้ธรรมะในวัดที่ใหญ่กว่าและมีชื่อเสียงกว่าที่เรียวอันจิแห่งนี้ วันที่ท่านตัดสินใจจากไดชูอินไปสู่ที่แห่งใหม่ ท่านได้เข้าไปลาพระอาจารย์โซอิ พระอาจารย์ท่านได้พูดแกมประชดต่อท่านว่า “หากท่านไปอยู่ที่วัดนั้นซี่งมันใหญ่โตกว่าที่ไดชูอินแห่งนี้ แล้วถ้าเขาพาท่านฝึกปฏิบัติธรรมทั้งวันทั้งคืน การฝึกปฏิบัติในวัดนั้นมันคงหนักหนาสาหัสสากรรจ์อาจถึงตายได้ถ้าหากเธอประคองตนไปไม่ถึงฝั่งพระนิพพาน เงินจำนวนนี้คือเงินทำศพของเธอจะได้ไม่ต้องให้ใครเดือดร้อน” ท่านโซโกก็ได้รับเงินของพระอาจารย์ซูอิไว้แล้วก็ได้เดินทางไปเพื่อศึกษาและปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดอื่นหลายปี การอยู่ที่อื่นหลายปีนั้นก็มิได้ทำให้ท่านรู้ธรรมะที่ลึกซึ้งและบรรลุธรรมแต่อย่างใด จนกระทั้งท่านได้เดินทางกลับมาสู่ “ไดชูอิน”สถานที่นี้อีกครั้ง
และการกลับมาครั้งนี้เองก็ทำให้ท่านซึ้งในน้ำใจของครูโซอิ ที่เมตตาสอนธรรมะลึกซึ้งแก่ท่านมาหลายปี ก็เพราะความที่ท่านไม่มีปัญญาเลยทำให้ท่านต้องไปฝึกกวาดขยะที่สำนักอื่นซึ่งเป็นวัดที่มีชื่อเสียงมากกว่าที่นี่ ท่านได้ฝึกกวาดขยะในใจอยู่ที่สำนักนั้นที่สอนวิธีการกวาดขยะให้ท่านอยู่หลายปี จนทำให้ท่านรู้สึกอ่อนล้าในการกวาดขยะในใจท่านอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่ตื่นยันท่านเข้านอน และท่านก็เหนื่อยล้าในการที่ต้องฝึกฝนอย่างสาหัสสากรรจ์ในแต่ละวันที่จะต้องฝึก “ท่ากวาดขยะ” ในใจท่าน ไม่ว่าจะเป็นการเดินจงกรมสลับกับการนั่งหลับตาทำสมาธิ โดยที่สำนักใหญ่ให้ฝึกทำตามวิธีที่ทางสำนักสอนเท่านั้นเพื่อที่ใจของท่านจะปราศจากขยะในสักวันหนึ่ง ท่านได้ใช้เวลาฝึกอยู่หลายปีและไม่เกิดความก้าวหน้าจนท่านท้อแท้และได้ตัดสินใจกลับคืนสู่ไดชูอินสถานที่นี้อีกครั้ง และที่ “ไดชูอิน” นี้เองทำให้ท่านโซโก ได้ตกผลึกในธรรมตระหนักชัดและซึมทราบกลายเป็นเนื้อหาเดียวกันกับธรรมชาติดั้งเดิมแท้ โดยในเช้าวันหนึ่งขณะที่ท่านกำลังเก็บกวาดใบไม้ ท่านได้นึกถึงคำพูดของพระอาจารย์โซอิว่า แท้จริงธรรมชาติดั้งเดิมแท้บนโลกใบนี้ “มันไม่เคยมีขยะ” ท่านโซโกเลยเข้าใจว่าเพราะท่านเองไม่เข้าใจในความหมายของธรรมชาติดั้งเดิมแท้ที่ไม่มีขยะ มันสะอาดอยู่แล้วไม่ต้องเข้าไปกวาดขยะที่ใหนเพราะมันไม่มีขยะให้กวาด การที่ท่านไปฝึกที่สำนักอื่นสอนว่ามีขยะและฝึกให้กวาดขยะนั้นมันก็ยังไม่ใช่ธรรมชาติดั้งเดิมแท้ หากท่านยังคิดว่าในใจท่านมีขยะท่านก็ต้องเข้าไปกวาดขยะอยู่ร่ำไป แท้จริงธรรมชาติดั้งเดิมแท้มันไม่มีขยะ “ธรรมชาติดั้งเดิมแท้” มันสะอาดบริสุทธิ์คือความว่างปล่าอันไม่ใช่ตัวใช่ตนอยู่แล้วโดยตัวมันเองอยู่อย่างนั้น มันปราศจากขยะอันคือความเป็นตัวเป็นตน และการที่ “เราคิด” ว่ามีขยะและต้องเข้าไปกวาด “ความคิด” ของเราเช่นนี้มันก็เป็นสิ่งสกปรกมาปิดบังเนื้อหาธรรมชาติดั้งเดิมแท้เช่นกัน
ประตูทางเข้า “ไดชูอิน” ยังคงสงบและตลบอบอวลไปด้วยกลิ่นอายแห่งความเป็น “ธรรมชาติดั้งเดิมแท้” แห่งพุทธะ ภายในบริเวณไดชูอินเต็มไปด้วยกลิ่นหอมของดอกไม้นานาพรรณ อีกทั้งทางเข้าตรงประตูก็ยังมีดอกซากูระแข่งกันบานในช่วงไกล้ปลายฤดูหนาวนี้ มันออกดอกสะพรั่งเต็มต้นและร่วงหล่นมาบนพื้นเพื่อให้นักบวชอีกหลายๆรูปหลงเข้าไปกวาดขยะอย่างมันเฉกเช่นท่านโซโก ในอดีตที่ผ่านมา พระอาจารย์โซโก โมนาริกะ โรชิ ยังคงทำหน้าที่ความเป็น “โรชิ” ของท่านต่อศิษย์ทั้งหลายที่มีความไว้วางใจในความเป็นอาจารย์อย่างท่านเพื่อให้ท่านได้ช่วยสั่งสอนถ่ายทอดธรรมะแห่งความไม่มีขยะ ณ ไดอูชิน แห่งนี้มาอีกหลายสิบปีตราบจนลมหายใจสุดท้ายของท่าน และท่าน ทามูระ โซกัน ศิษย์ผู้ซึ่งไกล้ชิดผ่านใจต่อใจในการฝึกฝนตนกับพระอาจารย์โซโก โรชิ ก็ได้รับตำแหน่ง “โรชิ” สืบต่อจากพระอาจารย์คอยดูแลศิษย์ในรุ่นต่อๆไป

















ความฝันและปีศาจ
พรรณดอกไม้ทั้งหลาย
ในท่ามกลางท้องฟ้าว่าง
ธุระร้อนอะไรของท่าน
ที่จะไปยึดฉวยมัน








บทที่ 48 พระพุทธองค์ คือ ต้นกำเนิด “เซน”
แก่นแท้คำสอนของ เซน ( The core of Zen ) ในญี่ปุ่นที่เรียกว่า เซนสายรินไซ หรือ รินไซเซนนั้น ได้สืบทอดคำสอนบรรลุแบบฉับพลันมาจากประเทศจีนซึ่งสืบทอดกันมาตั้งแต่ท่านโพธิธรรม (ตั๊กม๊อ ซือโจ๊ว)และสังฆปรินายกองค์ที่ 6 หรือ ครูเว่ยหล่าง และรุ่นหลังต่อมาคือ ครูบาฮวงโป เป็นคำสอนที่เน้นให้นักศึกษาทางฝั่งโน้นได้เข้ามาศึกษาและทำความเข้าใจเพื่อที่จะได้ตระหนักชัดในเนื้อหาที่เป็นความดั้งเดิมแท้แห่งธรรมอันคือธรรมชาติที่มันว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่อย่างนั้นโดยตัวมันเองอยู่แล้ว ซึ่งมันคือเนื้อหาแห่งความหลุดพ้นหรือพระนิพพานนั่นเอง โดยคำสอนแห่งเซนมุ่งเน้นสอนให้รู้จักทำความเข้าใจในธรรมธาตุที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ในพระไตรปิฎกซึ่งมีอยู่ 2 ประเภท คือ ธรรมธาตุแห่งการปรุงแต่ง(สังขตธาตุ) และ ธรรมธาตุแห่งธรรมชาติอันไม่ปรุงแต่งแห่งธรรมชาติอันปรุงแต่งไม่ได้แล้ว(อสังขตธาตุ)
ก็ในส่วนของธรรมธาตุแห่งการปรุงแต่ง (สังขตธาตุ) นั้น ทางคำสอนแห่งเซนปฏิเสธที่จะให้นักศึกษาทางฝั่งโน้นเข้าไปศึกษาและปฏิบัติตามเนื้อหาแห่งสังขตธาตุอันว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นดับไปและรวมทั้งลักษณะแห่งความดับไปเป็นธรรมดาก็ตาม คำสอนแห่งเซนเน้นให้เข้าไปทำความเข้าใจในเนื้อหาแห่งอสังขตธาตุคือธาตุอันว่างเปล่าอยู่แล้วโดยตัวมันเองอยู่อย่างนั้นอันคือธรรมชาติดั้งเดิมแท้ซึ่งเป็นเนื้อหาแห่งความหลุดพ้น โดยคำสอนเซนมองว่ามันเป็นการเสียเวลาเปล่าที่จะเข้าไปปฏิบัติ เพราะการดำเนินไปในการปฏิบัติแบบระลึกรู้ตามธรรมชาติในสิ่งที่มันเกิดขึ้นและดับไปเป็นธรรมดานั้น สิ่งที่มันปรุงแต่งให้ “เกิดขึ้น” นั้น โดยตัวมันเองก็คือสภาพแห่งสังขตธาตุคือสภาพแห่งการปรุงแต่งอยู่แล้ว แต่ในส่วนของธรรมอันคือวิธีการเรียนรู้และทำความเข้าใจที่จะไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นปรุงแต่งสิ่งต่างๆให้เกิดขึ้นนั้น ไม่ว่าจะเป็น อริยสัจจ์ทั้ง 4 มรรคมีองค์ 8 สติปัฏฐานทั้ง 4 โพชฌงค์ทั้ง 7 ธรรมเหล่านี้ถึงแม้จะช่วยให้เราเข้าใจและตระหนักชัดถึงการแก้ไขปัญหาสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยการไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นและระลึกรู้ตามธรรมชาติแล้วก็ตาม แต่ธรรมเหล่านี้โดยสภาพมันเองก็คือการปรุงแต่งหรือสังขตธาตุชนิดหนึ่งเช่นกัน เป็นการปรุงแต่งไปในการพิจารณาธรรม เป็นการปรุงแต่งไปในเนื้อหาธรรมนั้นๆ สรุปแล้วธรรมที่คือการแสดงลักษณะเนื้อหาแห่งปัญหา และธรรมที่คือการแสดงลักษณะเนื้อหาแห่งวิธีการเข้าไปแก้ไขปัญหา ต่างก็เป็นสังขตธรรมคือธรรมอันปรุงแต่งทั้งสองลักษณะ เพราะฉะนั้นในคำสอนแห่งเซนจึงมองว่าการปฏิบัติแบบระลึกรู้ตามธรรมชาติว่าสิ่งนั้นเกิดขึ้นและดับไปเป็นธรรมดานั้น มันเป็นเพียงการบรรเทาพฤติกรรมการเข้าไปปรุงแต่งซึ่งมันคือความคลายจากการกำหนัดที่ชอบเข้าไปยึดมั่นถือมั่นเพียงเท่านั้น และด้วยธรรมอันคือวิธีการเข้าไปแก้ไขปัญหาซึ่งคือการปฏิบัตินั้นก็โดยสภาพมันเองมันก็เป็นการปรุงแต่งเป็นอัตตาตัวหนึ่งที่ “เกิดขึ้น” เช่นกัน มันจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะใช้ความเป็นอัตตาการปรุงแต่งชนิดที่เรียกว่า “การปฏิบัติ” ไปตามหาธรรมชาติแห่งการไม่ปรุงแต่งล้วนๆ จะใช้สิ่งที่มันเป็นการปรุงแต่งด้วยชนิดหนึ่ง(การปฏิบัติ)ไปตามหาการไม่ปรุงแต่งอันคือความว่างเปล่าล้วนๆ มันจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ด้วยประการฉะนี้
คำสอนเซนจึงมองว่าถึงจะปฏิบัติไปในลักษณะเช่นนี้ก็ยัง “ไม่เกลี้ยงเกลา”อยู่ดี เพราะยังติดปรุงแต่งขึ้นมาเป็นจิตในเรื่องการปฏิบัติ ว่าจะต้องปฏิบัติแบบนี้เพื่อให้ได้ผลแห่งการปฏิบัติแบบนั้น ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาในเรื่องการปฏิบัติมันก็คือการปรุงแต่งทั้งสิ้น มันจึงไม่เกลี้ยงเกลาเพราะปรุงแต่งในการเข้าไปปฏิบัตินี่เอง จึงเป็นการเสียเวลาเปล่าที่จะสอนนักศึกษาฝั่งทางโน้นให้เข้าไปปรุงแต่งสาละวนในเรื่องความไม่เกลี้ยงเกลาเหล่านี้ เป็นการ “สาละวนปรุงแต่งง่วนอยู่ในการปฏิบัติอยู่อย่างนั้น”
และด้วยเหตุผลเหล่านี้ที่มองว่าทุกข์และวิธีการแก้ไขทุกข์ ซึ่งเป็นธรรมที่พระพุทธองค์ตรัสมาเกือบทั้งหมดในพระไตรปิฎกนั้นมันก็คือสังขตธาตุหรือธาตุแห่งการปรุงแต่งล้วนๆ คำสอนแห่งเซนจึงให้สลัดออกสลัดทิ้งเสียซึ่งสิ่งเหล่านี้ แล้วหันกลับไปทำความเข้าใจถึงสภาพธรรมชาติดั้งเดิมที่มันไม่เคยมีไม่เคยเป็น มันว่างเปล่าของมันโดยตัวมันเองตามสภาพดั้งเดิมอยู่แล้ว มันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนตามสภาพเดิมๆของมันอยู่อย่างนั้น มันเป็นสภาพดั้งเดิมแท้ของมันอยู่แล้ว ไม่ใช่เกิดจากการที่ต้องมีใครเข้ามาทำให้มันเกิดขึ้นมันถึงจะว่างแบบตลอดสายถ้วนทั่ว โดยสภาพดั้งเดิมแท้นั้นมันว่างแบบตลอดสายถ้วนทั่วตามสภาพเดิมๆอยู่แล้ว คำสอนแห่งเซนเพียงแต่ให้นักศึกษาทางฝั่งโน้นเข้ามาศึกษาและทำความเข้าใจในเนื้อหาธรรมชาติดั้งเดิมแท้ตรงนี้เพียงเท่านี้ เพื่อตกผลึกในความหมายอันแท้จริงแห่งธรรมชาติที่มันคงเนื้อหาดั้งเดิมของมันอยู่อย่างนั้น เพื่อที่จะได้ตระหนักชัดและซึมทราบกลายเป็นเนื้อหาเดียวกันแบบกลมกลืนตามธรรมชาติในที่สุด
ก็ด้วยคำสอนแห่งเซนในลักษณะเช่นนี้ จึงทำให้หลายๆฝ่ายไม่ว่าจะเป็นเทวาหรือมนุษย์ ล้วนมองกันว่าการปฏิบัติธรรมแบบคำสอนแห่งเซนด้วยวิธีการตกผลึก ตระหนักชัดและซึมทราบเป็นเนื้อหาเดียวกันแบบกลมกลืนตามธรรมชาตินั้น มันเป็นการบรรลุแบบรวดเร็วฉับพลัน และมองด้วยความสงสัยว่ามันบรรลุเร็วเกินไปหรือเปล่า และก็เกิดข้อกังขาขึ้นมาว่า การปฏิบัติธรรมตามวิถีเซนนี้เป็นแนวทางที่ถูกต้องหรือไม่ โดยเฉพาะในกลุ่มปฏิบัติธรรมในสยามประเทศที่เรียกตัวเองว่า “ฝ่ายเถรวาท” ที่หลายๆกลุ่มนิยมฝึกปฏิบัติธรรมกันในแบบที่เรียกว่า “ค่อยๆปฏิบัติ ค่อยๆเป็น ค่อยๆไป” ค่อยๆฝึกไปแล้วนิพพานมันจักจะเกิดขึ้นเอง ซึ่งคำสอนแห่งเซนไม่เห็นพ้องตรงนี้ด้วย ทางวิถีเซนถือว่า การค่อยๆเป็น ค่อยๆไป ค่อยๆปฏิบัติธรรมไป โดยตัวมันเองแห่งการ “ค่อยๆ” โดยเนื้อหามันเองแบบ “ค่อยๆ” นี้ มันคือการปรุงแต่งชนิดหนึ่ง ซึ่งมันขวางธรรมชาติแห่งพระนิพพาน มันขวางโดยเนื้อหาโดยสภาพมันเองที่มันคือ สังขตธาตุอันคือธรรมธาตุแห่งการปรุงแต่ง
แต่ทั้งนี้โดยความเป็นจริงพระพุทธองค์ก็ได้ทรงตรัสถึง สังขตธาตุ คือ ธรรมธาตุแห่งการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ได้ไม่นานและมีความแปรปรวนดับไปเป็นธรรมดา พระพุทธองค์ทรงตรัสถึงธรรมอันคือ “การเกิดขึ้น” นั้นว่า มันคือสภาพแห่งทุกข์ พระพุทธองค์จึงทรงตรัสธรรมไว้ในหมวดต่างๆเพื่อให้เกิดความเข้าใจในวิธีการออกจากทุกข์ตรงนี้ แต่ด้วยปัญญาแห่งพุทธวิสัยพระพุทธองค์ก็ยังทรงตรัสอีกเช่นกันว่า ธรรมต่างๆที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้เพื่อแก้ไขปัญหาเพื่อเป็นหนทางออกจากกองทุกข์นั้น โดยตัวมันเองโดยสภาพมันเองแห่งธรรมเหล่านี้ก็เป็นการ “เกิดขึ้น” เป็นลักษณะแห่งสังขตธาตุเช่นกัน พระพุทธองค์ทรงตรัสถึงเรื่องการเกิดขึ้นและดับไปแห่ง “ธรรม” ไว้ในหมวด ธรรมานุปัสสนาสติ กล่าวคือ
นักปฏิบัติทั้งหลายพึงรู้ด้วยอีกว่า “ การพิจารณาธรรม” ทั้งหมดเหล่านี้ในสติปัฏฐานแห่งหมวดธรรม ก็ล้วนเป็น “สังขต

ธาตุ” คือธาตุแห่งการปรุงแต่ง มันล้วนคือจิตปรุงแต่งชนิดหนึ่ง และพึงรู้ชัดว่า
- จิตที่ปรุงแต่งซึ่งเป็นการพิจารณาธรรมอันเป็นขันธบรรพะนั้น โดยธรรมชาติจิตที่ปรุงแต่งซึ่งเป็นการพิจารณาธรรมอันเป็นขันธบรรพะนั้น ล้วนไม่เที่ยง ล้วนดับไปเป็นธรรมดาโดยตัวมันเองอยู่แล้ว
-จิตที่ปรุงแต่งซึ่งเป็นการพิจารณาธรรมอันเป็นอายาตนะบรรพะนั้น โดยธรรมชาติจิตที่ปรุงแต่งซึ่งเป็นการพิจารณาธรรมอันเป็นอายาตนะบรรพะนั้นล้วนไม่เที่ยง ล้วนดับไปเป็นธรรมดาโดยตัวมันเองอยู่แล้ว
-จิตที่ปรุงแต่งซึ่งเป็นการพิจารณาธรรมอันเป็นนิวรณ์บรรพะนั้น โดยธรรมชาติจิตที่ปรุงแต่งซึ่งเป็นการพิจารณาธรรมอันเป็นนิวรณ์บรรพะนั้น ล้วนไม่เที่ยง ล้วนดับไปเป็นธรรมดาโดยตัวมันเองอยู่แล้ว
-จิตที่ปรุงแต่งซึ่งเป็นการพิจารณาธรรมอันเป็นโพชฌังคบรรพะนั้น โดยธรรมชาติจิตที่ปรุงแต่งซึ่งเป็นการพิจารณาธรรมอันเป็นโพชฌังคบรรพะนั้น ล้วนไม่เที่ยง ล้วนดับไปเป็นธรรมดาโดยตัวมันเองอยู่แล้ว
-จิตที่ปรุงแต่งซึ่งเป็นการพิจารณาธรรมอันเป็นสัจจะบรรพะนั้น โดยธรรมชาติจิตที่ปรุงแต่งซึ่งเป็นการพิจารณาธรรมอันเป็นสัจจะบรรพะนั้น ล้วนไม่เที่ยง ล้วนดับไปเป็นธรรมดาโดยตัวมันเองอยู่แล้ว
และพระพุทธองค์ยังทรงกล่าวถึงนิพพานว่า มันคือธรรมชาติอันปรุงแต่งไม่ได้แล้ว ไว้ใน ตติยนิพพานสูตรว่า เพราะมีธรรมชาติแห่งการปรุงแต่งไม่ได้ ซึ่งมันคือเนื้อหาแห่งความว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนโดยตัวมันเองอยู่แล้ว ซึ่งมันมีมาในฐานะตามธรรมชาติดั้งเดิมแท้อยู่แล้ว เมื่อมีธรรมอันคือธรรมชาติตรงนี้ปรากฎอยู่ พระพุทธองค์จึงทรงแนะนำให้ภิกษุทั้งหลายสลัดออกซึ่งสังขตธรรมทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นธรรมอันว่าด้วยเรื่อง “การเกิดขึ้น” คือทุกข์ และธรรมอันว่าด้วย “การดับไป” แห่งทุกข์ เพราะด้วยปัญหาและวิธีแก้ไขปัญหาซึ่งคือเนื้อหาแห่งการปฏิบัตินั้น มันล้วนแต่คือสังขตธาตุ คือ ธาตุอันว่าด้วยการปรุงแต่ง “เกิดขึ้น” ทั้งสิ้น พระพุทธองค์ทรงให้สลัดออกซึ่งธรรมเหล่านี้เสียสลัดทิ้งเสีย ไม่ต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับมัน เพราะเหตุว่ามันมีธรรมอันมีเนื้อหาประณีตกว่านั้นซึ่งมันมีอยู่และเป็นที่สุดแห่งธรรมแล้ว ไม่มีธรรมอันใดจะประณีตกว่าธรรมเหล่านี้แล้ว และธรรมอันเป็นที่สุดและประณีตนี้ก็สามารถทำให้พ้นจากกองทุกข์ได้โดยสิ้นเชิง ธรรมที่ว่านี้คือ ธรรมชาติดั้งเดิมแท้ซึ่งมันเป็นเนื้อหาแห่งธรรมชาติที่ไม่ปรุงแต่ง เป็นเนื้อหาธรรมชาติที่ปรุงแต่งไม่ได้แล้ว เป็นเนื้อหาธรรมชาติที่มันว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวไม่ตนอยู่อย่างนั้น เป็นเนื้อหาธรรมชาติที่มันไม่เกิดไม่ดับ ซึ่งมันคือเนื้อหาแห่งพระนิพพานที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ใน ตติยนิพพานสูตรนั่นเอง
เมื่อเนื้อหาธรรมแห่งคำสอนเซนซึ่งเป็นการมุ่งเน้นให้สลัดออกซึ่งสังขตธาตุ และมุ่งเน้นให้ตระหนักชัดซึมทราบกลายเป็นเนื้อหาเดียวกันกับธรรมชาติอันปรุงแต่งไม่ได้นั้น เป็นเนื้อหาธรรมที่ตรงกับธรรมที่พระพุทธองค์ได้ประกาศไว้แล้วเช่นกัน คำสอนแห่งเซนจึงเป็นคำสอนที่ถูกต้อง ซึ่งตรงกับแนวคำสอนที่พระพุทธองค์ทรงใช้สอนแก่บรรดาหมู่เวไนยสัตว์ที่มีรอบปัญญาบารมีมากพอที่จะวิเคราะห์แยกแยะได้อย่าง “เด็ดขาด” ว่าธรรมลักษณะใดทั้งปวงคือ สังขตธาตุ ธรรมลักษณะใดคือ อสังขตธาตุ ด้วยเหตุผลนี้ “พระพุทธองค์จึงเป็นต้นกำเนิดเซน” ด้วยประการฉะนี้แล้ว จึงไม่เป็นที่แปลกใจเลยว่าในยุคที่พระพุทธองค์ยังทรงประกาศธรรมอยู่นั้นก็ได้มีบัณฑิตบางพวกได้บรรลุธรรมแบบฉับพลันต่อหน้าพระพุทธองค์มาแทบนับจำนวนไม่ถ้วน พระพุทธองค์ได้เผยแพร่คำสอนแบบเซนมานานตราบจนกระทั้งพระองค์ท่านได้เสด็จปรินิพพาน



















ความเรียบง่าย
ในความเป็นไปเองแห่ง “เซน”
จะพาข้ามพ้น
ความซับซ้อนทั้งปวงแห่งวิธีปฏิบัติ







บทที่ 49 ธรรมชาติดั้งเดิมแท้
พระพุทธองค์เคยตรัสเรื่อง “ธรรมชาติดั้งเดิมแท้” ไว้ใน ตติยนิพพานสูตร ว่า
“ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำไม่ได้แล้ว ปรุงแต่งไม่ได้ แล้ว มีอยู่ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าปัจจัยกระทำไม่ได้แล้ว เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำไม่ได้แล้ว ปรุงแต่งไม่ได้แล้ว จักไม่ได้มีแล้วไซร้ การสลัด ออกซึ่งธรรมชาติที่เกิดแล้ว เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำแล้ว ปรุงแต่งแล้ว จะไม่พึงปรากฏในโลกนี้เลย”
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะธรรมชาติอันไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำไม่ได้แล้วปรุงแต่งไม่ได้แล้ว มีอยู่ ฉะนั้น การสลัดออกซึ่งธรรมชาติที่เกิดแล้ว เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำแล้วปรุงแต่แล้วจึงปรากฏ ”
พระพุทธองค์ทรงตรัสถึง ธรรมชาติดั้งเดิมแท้ ว่า มันคือธรรมชาติแห่งความไม่เกิดแล้ว คือธรรมชาติแห่งความไม่มีธรรมอันว่าด้วยการเกิดขึ้นและดับไป คือธรรมชาติแห่งความไม่เป็น มันคือความว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนโดยเนื้อหามันเองตามสภาพธรรมชาติมันอยู่แล้ว
และพระพุทธองค์ทรงตรัสถึงความมีแห่งธรรมชาติดั้งเดิมแท้ที่มีมันแสดงเนื้อหามันอยู่ตามธรรมชาติ เมื่อมีธรรมชาติดั้งเดิมแท้มันจึงมีการสลัดออกจากธรรมอันว่าด้วยการเกิดขึ้นการปรุงแต่งขึ้นและธรรมอันว่าด้วยความแปรปรวนดับไป ในความหมายของพระพุทธองค์นั้นหากไม่มีธรรมชาติดั้งเดิมแท้ในโลกใบนี้แล้ว พระพุทธองค์ก็คงสั่งสอนธรรมแก่บรรดาหมู่เวไนยสัตว์แค่ธรรมที่ว่าด้วย การมีสิ่งนี้เกิดขึ้นเพราะการปรุงแต่งและสิ่งนี้ย่อมดับไปเป็นธรรมดา พระพุทธองค์คงสั่งสอนบรรดาสรรพสัตว์แค่เรื่อง อนิจจัง ความไม่เที่ยงแท้ คือสอนธรรมอันเกิดขึ้นและดับไปเพียงเท่านั้น แต่โดยความเป็นจริง ตามธรรมชาตินั้นมันมีเนื้อหาธรรมที่แท้จริงคือธรรมชาติดั้งเดิมแท้อยู่แล้ว มันเป็นธรรมชาติแห่งความไม่มีไม่เป็นอยู่แล้วโดยเนื้อหามันเอง ไม่มีใครผู้ใดใช้ความสามารถแสวงหาเพื่อสร้างมันขึ้นมาได้เพราะมันเป็นเรื่องฝืนและขัดต่อความเป็นธรรมชาติดั้งเดิมแท้ มันคือเนื้อหาแห่งความว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของมันอยู่อย่างนั้นโดยตัวมันเองอยู่แล้ว เมื่อความจริงธรรมอันแท้จริงคือธรรมชาติดั้งเดิมแท้ที่มันมีอยู่แล้วตามธรรมชาติ พระพุทธองค์จึงทรงให้ “สลัดทิ้ง” ซึ่งธรรมอันว่าด้วยการเกิดขึ้นและดับไปเสีย พระพุทธองค์ให้ “สลัดทิ้ง” ทั้งวิธีการในกระบวนการทั้งปวงแห่งการเรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้น และกระบวนการการเรียนรู้และการตระหนักชัดถึงสิ่งที่ดับไปเป็นธรรมดา เพราะแท้จริงตามธรรมชาติดั้งเดิมแท้มันไม่มีธรรมอันว่าด้วยสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นและดับไปเป็นธรรมดาเลย แต่แท้จริงแล้วมันคือธรรมชาติดั้งเดิมแท้ที่ปรากฎเนื้อหาแห่งความว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนแบบถ้วนทั่วทุกอนูธรรมธาตุโดนสภาพมันเองโดยตัวมันเองอยู่อย่างนั้น ไม่มีใครสามารถสร้างมันขึ้นมาได้เพราะมันแสดงเนื้อหามันเองอยู่แล้วตามธรรมชาติ เพียงแค่ “สลัดทิ้ง”ซึ่งธรรมอันว่าด้วยเนื้อหาปรุงแต่งที่เกิดขึ้น เพียงแค่ “สลัดทิ้ง”ซึ่งธรรมอันว่าด้วยความดับไปเป็นธรรมดา เพียงแค่“สลัดทิ้ง”ซี่ง กระบวนการปฏิบัติธรรมอันเกี่ยวข้องกับธรรมอันว่าด้วยการเกิดขึ้นและดับไป และเมื่อสลัดทิ้งแล้วก็ทำความเข้าใจเพื่อตระหนักชัดถึงความหมายแห่งธรรมชาติดั้งเดิมแท้ที่แสดงเนื้อหามันเองอยู่แล้วตามธรรมชาติและกลายเป็นเนื้อหาเดียวกับมัน
การที่ยังดำเนินเนื้อหาแห่งการปฏิบัติธรรมตามเหตุปัจจัยแห่งการระลึกรู้ตามธรรมชาติแห่งการเกิดขึ้นและดับไปนั้น มันเป็นเรื่องของการปฏิบัติธรรมเพื่อความคลายกำหนัดจากพฤติกรรมที่ชอบเข้าไปยึดมั่นถือมั่นปรุงแต่งเป็นจิตต่างๆเกิดขึ้นเท่านั้น แต่ถ้าเข้าใจว่าการปฏิบัติธรรมแบบนี้แล้วนิพพานจักจะเกิดขึ้นนั้นมันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะมันยังไม่ใช่ “การสลัดทิ้ง” ตามที่พระพุทธองค์ตรัส
เพราะฉะนั้น หากนักศึกษาฝั่งทางโน้นผู้ใดมีความประสงค์ที่จะตระหนักชัดและซึมทราบกลายเป็นเนื้อหาเดียวกันกับนิพพานในชาตินี้ หากท่านได้อ่านบทความธรรมะที่ผู้เขียนได้เขียนไว้ ภาค 1 สังขตธาตุ ตั้งแต่บทที่ 1 ถึงบทที่ 46 อันว่าด้วยธรรมธาตุซึ่งมีลักษณะเกิดขึ้นและดับไปเป็นธรรมดานั้น นักศึกษาฝั่งทางโน้นทั้งหลายต้อง “สลัดทิ้ง” ซึ่งความรู้และ “สลัดทิ้ง” ซึ่งการตระหนักชัดในเรื่องธรรมอันว่าด้วยการเกิดขึ้นและดับไปเหล่านี้ทิ้งเสีย และหันหน้ามาเรียนรู้ทำความเข้าใจเรื่อง “ธรรมชาติดั้งเดิมแท้” ใน ภาค 2 อสังขตธาตุ อันว่าด้วยธรรมธาตุซึ่งมีลักษณะไม่มีไม่เป็นมันคือความว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของมันอยู่อย่างนั้น ตั้งแต่บทที่ 47 เป็นต้นไป เพื่อที่จะได้ตระหนักชัดและซึมทราบกลายเป็นเนื้อหาเดียวกันกับธรรมชาติดั้งเดิมแท้ได้ในที่สุด

















ธรรมชาติเดิมแท้ของเธอนั้น
เป็นสิ่งซึ่งมิได้หายไปจากเธอ
แม้ในขณะที่เธอกำลังหลงผิดด้วยอวิชชา
และมิได้รับกลับมาในขณะที่เธอมีการตรัสรู้









บทที่ 50 ดอกบัวแห่ง “ ไดชูอิน ”

ผู้เขียนในฐานะเป็นครูบาอาจารย์มีลูกศิษย์ลูกหามากหน้าหลายตา ผู้เขียนเองได้เริ่มมีแนวทางสอนลูกศิษย์โดยได้รับแรงบันดาลใจจากบทความชิ้นหนึ่งซึ่งได้อ่านจากวารสารของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ซึ่งเป็นของคณาจารย์มหาวิทยาลัยไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น และคณาจารย์ชุดนี้ได้ไปแวะเยี่ยมพระรูปหนึ่งที่ชื่อ พระอาจารย์โซโก โมนิรากะ โรชิ ซึ่งพำนักอยู่ที่วัดเรียวอันจิ และหนึ่งในกลุ่มอาจารย์ของมหาวิทยาเชียงใหม่เป็นรองศาสตราจารย์ผู้หญิงซึ่งผู้เขียนจำชื่อไม่ได้ก็ได้เขียนบทความชิ้นหนึ่งขึ้นมาซึ่งปรากฎอยู่ในวารสารของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั่นเองเป็นบทความที่ชื่อ “ครูกับศิษย์นิกายเซน;ใจต่อใจในการฝึกตน” โดยในบทความชิ้นนี้เป็นการเขียนบรรยายแนวทางในการฝึกลูกศิษย์ของพระอาจารย์ โซโก โรชิ และแนวทางในการดำรงชีวิตของผู้ที่ศึกษาธรรมะนิกายเซน ซึ่งบทความชิ้นนี้ผู้เขียนได้นำมาลงไว้แล้วในหนังสือ “ใจต่อใจในการฝึกตน”นี้ เป็นบทความที่ชื่อว่า “ใจต่อใจในการฝึกตน”
ผู้เขียนชอบบทบาทของท่านโซโก ในฐานะอาจารย์ใหญ่ผู้รับตำแหน่ง “โรชิ ” คอยฝึกสอนลูกศิษย์ใน “ ไดชูอิน” ซึ่งเป็นชื่อของโรงเรือนไม้ญี่ปุ่นแบบโบราณ เป็นสถานที่ฝึกเพื่อนั่งวิเคราะห์ธรรมแบบเซนซึ่งเป็นสถานที่อันสงบ ในมุมมองของคนที่เป็นครูบาอาจารย์อย่างท่านโซโก โรชิ นั้น ท่านมีมุมมองแบบความเป็นพุทธะ ท่านมิได้มองในด้านเนื้อหากรรมภายนอกว่าอะไรจะต้องเป็นอะไร แต่ท่านกลับมีมุมมองสมกับฐานะทางธรรมของท่าน คือท่านเป็นผู้หลุดพ้นแล้วด้วยการตระหนักชัดและซึมทราบกลายเป็นเนื้อหาเดียวกันกับธรรมชาติดั้งเดิมแท้ ท่านเพียงมุ่งหวังว่าให้ผู้ที่เข้ามาศึกษาธรรมะแต่ละคนพึงมีชีวิตที่เต็มอิ่มและเพียงพอใจเปี่ยมด้วยสันติภาพตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต โดยท่านมิได้มองว่าตัวพระพุทธศาสนาจะเผยแพร่ขยายหรือนิกายเซนจะเจริญรุ่งเรืองไปทั่วโลก โดยท่านมองว่าขอเพียงให้ทุกคนเข้าใจเนื้อหาคำสอนที่พระพุทธองค์ตรัสไว้เพื่อที่ทุกคนจะได้นำไปขัดเกลาจิตใจพัฒนาตนเองเพื่อออกจากกองทุกข์ได้อย่างสิ้นเชิง

ผู้เขียนได้นำแนวคิดนี้มาสอนลูกศิษย์ทั้งหลายตามแนวทางของครูโซโก โรชิ ซึ่งผู้เขียนเองนับถือท่านเป็นส่วนตัวในฐานะครูของผู้เขียนซึ่ง “ท่านเป็นครูผู้วางแนวทาง” ในการสอนลูกศิษย์ของผู้เขียนให้ผู้เขียนเดินตามแนวทางนี้เรื่อยมา ผู้เขียนพยายามสอนลูกศิษย์ให้เข้าใจเรื่องการดำรงชีวิตในเส้นทางธรรมชาติดั้งเดิมแท้ โดยพยายามสอนให้ทุกคนดำรงชีวิตบนวิถีชีวิตที่เรียบง่ายมีความพึงพอใจในสิ่งที่ตนเองมีอยู่ มีความสุขในรสชาติแห่งเนื้อหาธรรมชาติดั้งเดิมแท้ไปวันๆ พอใจที่ตนเองมีข้าวกินอิ่มสามมื้อเพื่อประทังชีวิตให้อยู่รอด และผู้เขียนมีความพยายามที่จะสอนให้ลูกศิษย์รู้จักที่จะเรียนรู้เรื่องลักษณะจิตต่างๆ เรียนรู้เรื่องระบบกรรมวิสัยที่เป็นไปในแต่ละยุคในแต่ละกลุ่ม เรียนรู้ถึงเหตุลักษณะกรรมที่มีสิ่งนี้จึงมีสิ่งนี้และหัดที่จะยอมรับกับมัน โดยผู้เขียนมีจุดประสงค์จะให้ลูกศิษย์เหล่านี้เป็นครูคอยสอนคนอื่นเฉกเช่นเดียวกับตัวผู้สอนเอง ผู้เขียนเองเคยตั้งปณิธานไว้ว่าสิ่งใดๆที่ผู้เขียนจะพึงมีพึงได้ในความรู้ต่างๆในสิ่งที่ผู้เขียนเห็นว่ามันดีและเลือกเฟ้นแล้ว ผู้เขียนจักจะหยิบยื่นสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตของผู้เขียนให้กับลูกศิษย์เพื่อดำเนินรอยตาม

และมีอยู่อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนพยายามศึกษาเรียนรู้และคอยนำมาสอนลูกศิษย์ข้าพเจ้าซึ่งจะเป็นครูรุ่นต่อไปในอนาคต คือมุมมองของพระพุทธองค์ที่ท่านทรงมองภาพโดยรวมแห่งระบบกรรมวิสัยในแต่ละยุคแบบตรงๆตามเหตุและผลและแนวทางการสอนการโปรดบรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลายแบบไม่เลือกกลุ่มและหมู่เหล่า พระพุทธองค์ทรงมองในมุมมองแบบผู้อยู่เหนือโลกแห่งการเวียนว่ายตายเกิดซึ่งเป็นมุมมองของผู้ที่เข้าใจในเหตุผลแห่งกรรมที่มีเนื้อหาเป็นไปในลักษณะ “เพราะมีสิ่งนี้จึงเกิดสิ่งนี้” พระพุทธองค์ทรงอยู่เหนือระบบกรรมวิสัยทั้งปวงและท่านก็ใช้ความเป็น “พุทธวิสัยศาสตร์” คอยสอนหมู่เวไนยสัตว์ทั้งหลายตามเหตุตามปัจจัยเท่านั้น สิ่งที่ข้าพเจ้ามุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งก็คือ ทั้งตัวข้าพเจ้าเองและบรรดาลูกศิษย์ทุกรุ่นจักจะต้องมีมุมมองและแนวทางสอนเหมือนกับที่พระพุทธองค์ได้ทรงสอนบรรดาหมู่เวไนยสัตว์ในยุคที่ผ่านมา ผู้เขียนเพียงมุ่งหวังว่าจะให้ลูกศิษย์ของข้าพเจ้าทุกรุ่นได้นำแนวคิดเหล่านี้ไปสอนลูกศิษย์ตัวเองเพื่อสร้างครูในรุ่นต่อๆไป และครูทุกรุ่นก็ยังดำเนินปณิธานนี้อยู่ เพียงเพื่อหวังว่าครูทุกๆรุ่นจะเป็นผู้สืบทอดคำสอน “ธรรมชาติดั้งเดิมแท้” ไปในอนาคตอย่างไม่ขาดสาย

ปณิธานเหล่านี้ผู้เขียนได้รับแรงบันดาลใจมาจาก “ไดชูอิน” สถานที่ฝึกตนแบบใจต่อใจระหว่างครูกับลูกศิษย์โดยอาศัยความไกล้ชิดและปณิธานตามมุมมองของพระพุทธองค์ ที่พระพุทธองค์มองธรรมและระบบกรรมวิสัยในจักวาลใบนี้แบบตรงไปตรงมา ผู้เขียนจึงหวังว่า “ดอกบัวแห่งไดชูอิน” ในแต่ละดอกที่มันบานสะพรั่งไปด้วยธรรมธาตุแห่งธรรมชาติดั้งเดิมแท้ ดอกบัวเหล่านี้จะทำหน้าที่ของตนในเส้นทางธรรมชาติแห่งพุทธะได้อย่างสมบูรณ์แบบ และเอื้อประโยชน์แก่ชาวโลกทุกหมู่เหล่าตราบนานเท่านานตามพุทธะประสงค์แห่งบรมครูที่ชื่อ "พุทธโคดม”
































การเห็นแจ้งธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะภายในของตน
เหล่านี้ไม่ได้หมายความว่าได้อะไรมาใหม่
















บทที่ 51 แสงหนึ่งเมื่อรุ้งงาม

เราทุกคนต่างก็ดิ้นรนเพื่อให้พ้นทุกข์ เมื่อใดที่สุขก็อยากจะอยู่กับสุขนั้นให้นาน แต่เพราะไม่ว่าจะสุข หรือทุกข์ใดๆก็ตาม มิอาจอยู่กับเราได้ตลอดไป มันเป็นความจริงที่ว่าทุกสรรพสิ่งนั้น ดำเนินอยู่ภายใต้กฎของธรรมชาติ เกิดขึ้นแล้วย่อมสลายไป
รวมถึงสภาวะทางอารมณ์ต่างๆ ก็ไม่มีอะไรที่ตั้งอยู่ได้เลย เกิดแล้วดับไป วนเวียนจนไม่อาจนับครั้งได้ และโดยธรรมชาตินั้น จิตเราย่อมทำหน้าที่รู้สึกนึกคิด เรามักพยามไล่ตามมัน โดยใช้สติควบคุม หรือกดมันไว้ ก็ได้แค่เพียงชั่วขณะ แต่พอเผลอมันก็เตลิดไปอีก บางทีไล่ตามมันจนเกิดความชำนาญ คิดว่านั่นคือความสงบหรือความว่าง แท้จริงแล้ว เราได้ใช้ความมีตัวตนเข้าไปจัดการมันต่างหาก เพราะมีเราได้เข้าไปเริ่มและจบให้กับมัน ก็เป็นการสมมุติปรุงแต่งทั้งนั้น ทำให้บดบังความเป็นธรรมชาติอันแท้จริง
เพราะทุกสิ่งดำเนินไปตามธรรมดาของมันอยู่แล้ว มันไม่มีอะไรเลยสักอย่าง เราเองต่างหากที่สร้างความมีตัวตน เข้าไปยึดมั่นถือมั่น เข้าไปจัดการสร้างสิ่งอันเป็นมายาขึ้นมาใช่หรือไม่ ทำให้เกิดวัฏจักรเกิดดับไม่จบสิ้น ทั้งๆที่ทุกสรรพสิ่งมันเป็นของมันอยู่อย่างนั้นอยู่แล้ว ไม่เห็นต้องทำอะไรเพื่ออะไร หรือใช้ความพยามเข้าไปบังคับ เมื่อมันเกิด มันก็ดับไปเอง ไม่ต้องเข้าไปจัดการในสิ่งอันสมบูรณ์อยู่แล้ว มันเป็นวิถีซึ่งเบ็ดเสร็จในตัวของมันเอง นี่ก็คือธรรมชาติอันคือความเป็นจริงเพียงส่วนหนึ่ง
เราทั้งหลายก็มิได้มีสภาพอันมีตัวตนอยู่เลย ล้วนเป็นสิ่งเดียวกับธรรมชาติทั้งสิ้น ธาตุขันธ์ทั้งหลาย ตลอดจน องค์ประกอบความบริบูรณ์ของสภาพแวดล้อมต่างๆ ก็เกิดจากสภาพจิตของแต่ละคนที่ได้ยึดมั่นสั่งสมมาช้านาน เหตุเพราะจิตเราเองยังหลงยึดมั่น ถือครองเป็นเจ้าของในสิ่งอันเราสมมุติขึ้นมานาน และถูกฝังการรับรู้ชนิดต่าง สิ่งนั้นถูกสิ่งนี้ผิด อันนั้นดี อันนี้ไม่ดี หากไม่มี ไม่เป็นตามนั้นก็โศกเศร้าเสียใจ หรือความยินดีต่อการได้สิ่งนั้น สิ่งนี้มา ก็ใครกันกำหนดกฏเกณฑ์ และสร้างเงื่อนไขต่างๆขึ้น มิใช่เราเองหรอกหรือ เพราะเราสร้างความมีตัวตนในทุกสิ่งทุกสภาวะของธรรมชาติ จนเวียนว่ายเกิดดับอยู่ในวัฏสงสารมิจบสิ้น มันไม่มีวันจบจริงๆ
ทว่าดีหรือชั่ว มีหรือไม่มี ก็อยู่แต่ในจิตเรานี้เอง ทุกสรรพสิ่งเป็นมายาของจิตทั้งนั้น แท้จริงแล้วมันไม่เป็นสิ่งใดเลย และมันไม่อาจมีความหมาย หรือนิยามใด เมื่อหยุดสมมุติ ปรุงแต่ง ก็ไม่มีสิ่งไหนเกิดสิ่งไหนเกิดดับอีกต่อไป วัฎจักรก็จบสิ้นทันที เปิดใจให้กว้าง แล้วใช้สติปัญญาพิจารณาให้เห็นความจริงอันเป็นสัจธรรมนี้ และตระหนักชัดถึงความเป็นธรรมชาติ แล้วอยู่เหนือสภาวะทั้งมวล เด็ดขาดออกจากมัน ไม่ต้องสมมุติว่า มี ไม่มี ต้องเป็น หรือไม่เป็นอย่างนั้น อย่างนี้ เอาความเป็นตัวเราออกมา ไม่เป็นผู้แสดง ไม่เป็นผู้แต่งบท ปล่อยวางจากทุกสภาวะ ก็จะเป็นอิสระทันที
คนเรามักพยามแสวงหาในสิ่งที่ไกลตัวออกไป จนมองข้ามที่จะศึกษาภายในจิตของตน ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดสรรพสิ่งทั้งมวล ไม่กล้าที่จะเด็ดขาด และยอมรับความจริง อย่าเที่ยวแสวงหาสิ่งใดจากภายนอกเพื่อดับทุกข์อีกเลย เพราะถึงแม้เราจะเพียรพยายามสร้างสมความดีเท่าไหร่ จิตเราก็จะติดอยู่แต่ในกุศลบุญนั้น และยังต้องเวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏอีกต่อไป หากเราไม่ใช้ปัญญาที่จะทำความเข้าใจความเป็นธรรมชาติภายในจิตเรา

เหตุที่จิตนี้เป็นที่บรรจุสรรพสิ่งต่างๆไว้อย่างน่าอัศจรรย์เหลือเกิน มันเก็บเรื่องราวไว้ได้มากมายกว่าคอมพิวเตอร์ชนิดความจำสูงที่สุดในโลกก็ว่าได้ ฉะนั้นผลของการแบกรับทุกสิ่งไว้ ทำให้เรารู้สึกคับแคบหรือถูกบีบอัด จนต้องดิ้นรนหนีมัน และการเจริญด้วยสติว่ามีมันอยู่ แล้วรอดูการดับไป ก็ไม่ได้ทำให้เข้าถึงธรรมชาติอันแท้จริง เพราะสิ่งอันเป็นมายาทั้งหลายก็จะมาวนเวียนมาให้เราดูอยู่เสมอ จนกว่าเราจะใช้ปัญญาซึ่งเป็นเสมือนกุญแจ ปลดความมีตัวตนออกมา เพื่อให้เห็นสิ่งอันจริงแท้ ที่องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็น ว่าแท้จริงแล้วมันไม่มีอะไรเลยสักสิ่งเดียว
ธรรมะจึงมิใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป แต่มันคือการทำความเข้าใจในกฏของธรรมชาติซึ่งเป็นจริงเสมอ และมันก็อยู่ภายในจิตเรานี้เอง
และนี่เป็นเพียงทัศนะทางธรรมของข้าพเจ้าเท่านั้น ที่ส่งจากเพื่อนถึงเพื่อน ด้วยหวังว่าจะเป็น “ แสงหนึ่ง ” ซึ่งนำทางให้เพื่อนทั้งหลายได้ข้ามพ้นวัฏสงสาร สาธุ

บทความนี้
เขียนโดย นางสาวนวพัฒน์ พรหมครุฑ (ลูกศิษย์)
















หลักธรรมที่กล่าวนี้
ก็คือ ธรรมชาติแห่งพุทธะ
ซึ่งถ้านอกไปจากนั้นแล้ว
ก็ไม่มีหลักธรรมหรือหลักเกณฑ์ใดๆ เลย
ที่ต้องเข้าไปปฏิบัติให้ยุ่งยากซับซ้อน






บทที่ 52 ไม่มีหนทางที่จะเข้าถึง
ธรรมชาติที่แท้จริงนั้น มันคือ สัจธรรมความเป็นจริงตามธรรมชาติที่มันแสดงเนื้อหาความว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่อย่างนั้น มันดำรงเนื้อหาสัจธรรมความเป็นจริงของมันอยู่เช่นนี้มานานแสนนานแล้ว อย่าถามเลยว่าความเป็นจริงนี้มันเกิดขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไรและมันจะมีวันจบสิ้นสูญสลายไปไหม ก็เพราะความจริงนี้มันคือคุณลักษณะแห่งความไม่มีไม่เป็นโดยเนื้อหามันเองอยู่แล้ว มันจึงไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นหรือดับไปได้ และมันก็คือเนื้อหาธรรมชาติแห่งทุกๆอนูธรรมธาตุที่เป็นคุณลักษณะดั้งเดิมแท้ของมันอยู่แล้ว มันจึงดำรงเนื้อหาของมันอยู่อย่างนั้นด้วยความเป็นเช่นนั้นของมันเอง มันจึงไม่ต้องอาศัยกาลเวลาเพื่อที่จะทำให้มันเกิดขึ้นหรือเสื่อมสิ้นดับสูญไป หากจะถามแบบโง่ๆว่ามันเป็นอย่างนี้มาตั้งแต่เมื่อไร ก็ขอตอบแบบโง่ๆว่า รู้แต่ว่า “มันมีมามันเป็นมา” ตั้งแต่ก่อนที่พวกคุณจะลงมาเกิดบนโลกมนุษย์อีกด้วยซ้ำ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วพวกคุณที่เป็นนักศึกษาทางฝั่งโน้นจะบังอาจแสดงความโง่เขลาของตนเข้าไปทำธรรมชาติดั้งเดิมแท้ให้มันเกิดขึ้นอีกได้อย่างไรเล่า ก็ในเมื่อมันดำรงเนื้อหาแสดงเนื้อหาธรรมชาติดั้งเดิมแท้มานานแสนนานอยู่แล้วก่อนที่พวกคุณจะลงมาเกิดเป็นมนุษย์เสียอีก มันดำรงเนื้อหาซึ่งเป็นเนื้อหาที่บริบูรณ์อยู่แล้วมาก่อนหน้าพวกคุณที่คิดผิดจะเข้าไปแสวงหาสร้างให้มันเกิดขึ้นในสภาพบริบูรณ์ตามความเข้าใจของพวกคุณด้วยซ้ำ
เพราะฉะนั้นด้วยการ “ตกผลึก” และ “ตระหนักชัด” ในธรรมจึงจะเข้าใจว่า แท้จริงมันไม่มีหนทางที่ไปสู่ธรรมชาติดั้งเดิมแท้ได้เลย การที่คิดว่าต้องมีหนทางมันจึงเริ่มแสวงหาเพื่อ “สร้างหนทาง” ที่จะพาให้เราเข้าถึงตัวเนื้อแท้แห่งธรรมชาติ แต่ด้วย “ความคิด” ซี่งมันคือรายละเอียดแห่งอวิชชาการแสวงหาการ มันก็คือการปรุงแต่งเพื่อความเกิดขึ้นและดับไปแห่งจิตที่ปรารถนาหนทางนั้นเอง มันจึงเป็นการฝืนและขัดต่อสัจธรรม อันคือธรรมชาติแห่งความไม่มีความไม่เกิดความไม่ดับ
จากมุมมองแบบผ่านกระบวนการ “การตกผลึก” แล้ว ทุกสรรพสิ่งอันคือความเกิดขึ้นมันย่อมไม่มีปรากฎ มันย่อมไม่มีไม่เป็นแม้กระทั้งสิ่งใดๆเลย ไม่มีโลก ไม่มีพระจันทร์ ไม่มีเขา ไม่มีใคร ไม่มีความรู้สึก ไม่มีขันธ์ทั้ง 5 ไม่มีสิ่งนั้น ไม่มีสิ่งนี้ ไม่มีเรา และไม่มีอะไรต่ออะไรอีกมากมายก่ายกองที่เรียกมันว่า “ทุกสรรพสิ่ง” มันดำรงแต่เนื้อหาที่มีคุณลักษณะแห่งความว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนแสดงปรากฎออกมาอยู่อย่างนั้นแบบนี้มาช้านานตลอดกาลนานตราบชั่วนิจนิรันดร์ มันไม่มี “เรา” แต่เราคือเนื้อหาสัจจธรรมอันคือธรรมชาติดั้งเดิมแท้ที่เผยตัวออกมาอยู่ตลอดเวลาต่างหากอยู่แล้วนั่นเอง
เพราะฉะนั้นเราเพียงแต่ทำความเข้าใจเพื่อจะได้ตระหนักชัดในความหมายแห่งคุณลักษณะมัน และซึมทราบเป็นเนื้อหาเดียวกับมันอย่างกลมกลืนเท่านั้น ไม่มีเราและไม่มีมันซี่งมีระยะห่างจากเราและเราต้องทำหนทางไปหามัน ด้วยธรรมชาติดั้งเดิมแท้มันไม่เคยแยกจากที่ที่เราอยู่เลยแม้ชั่วขณะหนึ่งก็ไม่มี เพราะฉะนั้นการเข้าไปสาละวนในการปฏิบัติธรรมเพื่อที่จะแสวงหาหนทางสร้างหนทางในมรรคมีองค์แปดเพื่อเข้าถึงมัน การมุ่งปฏิบัติเช่นนี้แล้วเข้าใจว่านิพพานหรือธรรมชาติดั้งเดิมแท้มันจะเกิดขึ้น มันก็จะเป็นการเสียเวลาเปล่า หามีประโยชน์อันใดไม่











สัตว์ซึ่งมีความรู้สึกนึกคิดกระดุกกระดิกได้ทั้งหมดก็ดี
และพระพุทธเจ้าพร้อมทั้งพระโพธิสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงก็ดี
ล้วนแต่เป็นของสิ่งหนึ่งแห่ง ธรรมชาติ
อันหนึ่งนี้เท่านั้น และไม่แตกต่างกันเลย
ความแตกต่างทั้งหลายเกิดขึ้นจากความคิดผิดๆ เท่านั้น
และนำไปสู่การก่อสร้างกรรมทั้งหลายทั้งปวงทุกชนิดไม่มีหยุด







บทที่ 53 หน้าตาแห่งความบริสุทธิ์
ในการภาวนาแบบ “เซน” มันคือ ความตกผลึกในธรรมชาติ เพื่อให้เข้าถึงความเป็นธรรมชาติดั้งเดิมแท้ซึ่งเป็นเนื้อหาแห่งความหลุดพ้นในพระพุทธศาสนานั้น มันเป็นเพียงแต่ทำความเข้าในความหมายเพื่อที่จะได้ตระหนักชัดและตกผลึกซึมทราบกลายเป็นเนื้อหาเดียวกันกับธรรมชาติดั้งเดิมแท้แห่งความว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่อย่างนั้นเพียงเท่านั้น เพียงแค่ตระหนักชัดและมันไม่มีวิธีการเข้าไปทำ การตระหนักชัดและการที่ตกผลึกซึมทราบเป็นเนื้อหาเดียวกันแบบกลมกลืนไม่แปลกแยกกับธรรมชาตินั้น มัน “ไม่ใช่วิธีการ” ตัวธรรมชาติดั้งเดิมแท้นั้นมันก็บริสุทธิ์อย่างแท้จริงอยู่แล้ว มันคือความบริสุทธิ์ที่เต็มไปด้วยเนื้อหาแห่งความว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่อย่างนั้น มันบริสุทธิ์โดยตัวมันเองปราศจากความสกปรกแปดเปื้อนไปด้วยมลทินแห่งอวิชชาตัณหาอุปาทานในธรรมอันคือ “สังขตธาตุ” หรือธรรมธาตุอันว่าด้วยการเกิดขึ้นและดับไปเป็นธรรมดาแห่งสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นทั้งหลาย ธรรมชาติดั้งเดิมแท้มันบริสุทธิ์ด้วยความว่างเปล่าของมันอยู่อย่างนั้นไม่มีความสกปรกมลทินแห่งความเกิดขึ้นและดับไปเลย นี่คือ “หน้าตาแห่งความบริสุทธิ์” ที่เป็นเนื้อหาธรรมชาติดั้งเดิมแท้
แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีนักศึกษาทางฝั่งโน้นที่ไม่เข้าใจเนื้อหาธรรมอันคือธรรมชาติดั้งเดิมแท้ และไม่รู้จัก “หน้าตาแห่งความบริสุทธิ์” ที่แท้จริง นักศึกษาพวกนี้ก็เลยมีความกุลีกุจอเร่งรีบที่จะเข้าไปภาวนาโดยการ “กำหนดลงไปที่จิต” ว่ามีจิตชนิดนี้มีจิตชนิดนั้นเกิดขึ้นและดับไปเป็นธรรมดา และยังโง่เขลาต่อไปอีกว่าการกำหนดลงไปที่จิตต่างๆแบบนี้คือความบริสุทธิ์ และก็ได้กำหนดลงไปที่ความบริสุทธิ์แบบนี้อยู่ตลอดเวลา โดยเข้าใจว่ามันคือความบริสุทธิ์ที่แท้จริง สำหรับการกำหนดจดจ่อลงไปที่จิตนั้นไม่ควรทำเพราะจิตต่างๆนั้นมันเป็นของมืดมัวมาก่อนเสียแล้ว มันเป็นมลทินแห่งจิตชนิดต่างๆที่เจือปนไปด้วยธรรมธาตุแห่งการเกิดขึ้นและดับไป จึงเป็นการเสียเวลาเปล่าๆที่จะเข้าไปกำหนดดูจิตแบบนี้ การเข้าไปกำหนดเช่นนี้มันจึงเป็นความมัวหมองแห่งอวิชชาที่ซ้อนเข้ามาเพื่อปิดบังความบริสุทธิ์ที่แท้จริง และการที่เราตระหนักชัดและซึมทราบกลายเป็นเนื้อหาเดียวกันกับ “ความดับไปแห่งจิต” ซึ่งเกิดจากการเข้าไปกำหนดจดจ่อจิตประเภทต่างๆนั้นแล้วถือว่าตรงนี้เป็นความบริสุทธิ์ เป็นการกำหนดลงไปที่ตัวความบริสุทธิ์นั้น ก็ถือว่ามันยังไม่ใช่เป็นความบริสุทธิ์แต่มันคืออวิชชาตัวใหม่ที่เกิดขึ้นมาอันหนึ่งเท่านั้น มันคือ “อวิชชาแห่งความบริสุทธิ์” เพราะแท้จริงธรรมชาติดั้งเดิมแท้มันคือความบริสุทธิ์โดยเนื้อหามันเองอยู่แล้ว คือความว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของมันอยู่อย่างนั้น มันเป็นเช่นนั้นของมันเองอยู่อย่างนั้น ไม่มีใครสามารถสร้างความบริสุทธิ์ขึ้นมาซ้อนเข้ามาแทนมันซึ่งคือความบริสุทธิ์ดั้งเดิมแท้ได้
ตัวความบริสุทธิ์ตามธรรมชาติดั้งเดิมแท้นั้น มันไม่มีสัณฐาน ไม่มีรูปร่างลักษณะ ไม่มีขนาด ไม่มีปริมาณ ไม่มี “ความชัดเจนหรือไม่ชัดเจน” การที่จะสร้างความบริสุทธิ์ขึ้นมาตามความไม่เข้าใจของตน การสร้างความบริสุทธิ์แบบนี้คือ “การเข้าไปประดิษฐ์รูปร่างแห่งความบริสุทธิ์” ขึ้นมาเสียเอง และก็ยังหลงเข้าใจผิดต่อไปอีกว่าการภาวนาเพื่อกำหนดลงไปที่ความบริสุทธิ์แบบนี้มันคือปัญหาสำคัญแห่งความหลุดพ้นต้องกำหนดจดจ่อกับความบริสุทธิ์แบบนี้ไปเรื่อยๆจนกว่าจะมีภาวะหลุดพ้นเกิดขึ้น เมื่อถือหลักความคิดแบบนี้มันจึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง นักศึกษาเหล่านี้ก็ได้กลายเป็นผู้ขับไล่ไสส่งความบริสุทธ์เสียเองแล้ว ความคิดผิดเหล่านี้มันเป็นการปรุงแต่งซ้อนเข้ามาเพื่อมาปิดบังความบริสุทธิ์ที่แท้จริงแห่งธรรมชาติดั้งเดิมแท้ซึ่งมันคือเนื้อหาแห่งความหลุดพ้นอยู่แล้ว มันหลุดพ้นโดยตัวมันเองสภาพมันเอง
เพียงแค่ ละทิ้ง สลัดทิ้ง สลัดออก ซึ่งกระบวนการต่างๆแห่งความเข้าใจผิดในการกำหนดจดจ่อลงไปที่จิต ในการกำหนดจดจ่อลงไปที่ความบริสุทธิ์ซึ่งเป็นธรรมอันว่าด้วยการเกิดขึ้นและดับไปเป็นธรรมดา แล้วหันหน้ามาทำความเข้าใจในความหมายของความบริสุทธิ์ที่แท้จริงแห่งธรรมชาติดั้งเดิมแท้ แล้วตระหนักชัดและซึมทราบกลายเป็นเนื้อหาเดียวกับมันเพียงเท่านี้ “หน้าตาแห่งความบรสุทธิ์” ที่แท้จริงก็จะปรากฏเผยโฉมหน้าของมันขึ้นมาเองตามธรรมชาติ






















ถึงอิคคิว
แม่ได้ทำงานของแม่ในชีวิตนี้เสร็จสิ้นแล้ว และขณะนี้แม่ได้กลับไปสู่แดนอมตะ แม่หวังว่าเจ้าคง เป็นนักศึกษาที่ดีและรู้แจ้งธรรมชาติแห่งพุทธะของเจ้า
คำสอนของพระพุทธองค์ส่วนใหญ่ มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การทำให้ผู้อื่นรู้แจ้ง ถ้าเจ้ายังคงติดอยู่ กับวิธีการต่างๆของมัน เจ้าก็จะไม่มีอะไรเลย ไม่ได้อะไรเลย เจ้าก็จะเป็นเพียงแมลงโง่ๆตัวหนึ่งเท่านั้นเอง มีหนังสืออยู่มากกว่า 80,000 เล่มเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ถึงเจ้าจะอ่านหนังสือนั้นทั้งหมด แต่ถ้าเจ้ายังคงไม่เห็นธรรมชาติภายในตัวของเจ้า เจ้าก็คงไม่เข้าใจแม้แต่จดหมายฉบับนี้ นี่คือความปรารถนาและคำสั่งเสียของแม่
แม่ของเจ้า
ไม่เกิด ไม่ตาย
กันยายน




บทที่ 54 ความสิ้นสุดแห่ง “การเกิดขึ้นและดับไป ”
ก็ในสมัยนั้น พระสังฆปรินายกองค์ที่ 6 (เว่ยหล่าง) ได้ดำรงตำแหน่งผู้นำทางด้านศาสนาแห่งนิกายเซน เพื่อทำหน้าที่เผยแพร่เนื้อหาธรรมอันหลุดพ้นจนมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางทางจีนตอนใต้ มีภิกษุในประเทศจีนทั่วสารทิศในยุคนั้นได้เข้ามาพำนักฝากตัวเป็นศิษย์อยู่กับท่านเพื่อศึกษาและปฏิบัติธรรมด้วยหลายร้อยรูป หนึ่งในนั้นก็คือ ภิกษุ ฉิต่าว ภิกษุรูปนี้ท่านได้อ่านมหาปรินิรวาณสูตรมานานเป็นสิบปี ท่านไม่เข้าใจในเนื้อหาแห่งพระสูตรที่กล่าวถึงเรื่องพระนิพพานที่ว่า “สิ่งทุกสิ่งไม่คงตัวอยู่อย่างถาวร ดังนั้น สิ่งทั้งปวงจึงตกอยู่ใต้อำนาจของธรรมที่เป็นความเกิดขึ้นและความแตกดับ(กล่าวคือสังขตธรรมหรือธรรมอันปรุงแต่ง) เมื่อความเกิดขึ้นและความแตกดับมาสิ้นสุดลงด้วยกัน ศานติสุขแห่งความหยุดได้โดยสมบูรณ์ และ ความสิ้นสุดของการเปลี่ยนแปลง (กล่าวคือนิพพาน) ย่อมปรากฏขึ้น”
พระสังฆปรินายกเว่ยหล่าง ได้อธิบายความหมายแห่งพระสูตรนี้ให้ ภิกษุ ฉิต่าว ฟังว่า “ ไม่ว่าในขณะใดทั้งหมด นิพพานย่อมไม่มีปรากฎการณ์แห่งการเปลี่ยนแปลง หรือแห่งการเกิดดับ ไม่มีแม้กระทั่งความสิ้นสุดของการทำหน้าที่ของความเกิดขึ้น และความแตกดับ นิพพานเป็นการแสดงออกของความหยุดได้โดยสมบูรณ์ และความสิ้นสุดของความเปลี่ยนแปลง ”
ก็ด้วยเนื้อหาพระนิพพานหรือธรรมชาติดั้งเดิมแท้นั้นมันคือ อสังขตธรรม กล่าวคือเป็นธรรมอันไม่ปรุงแต่ง มันคือความว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่อย่างนั้น และความว่างเปล่านั้นมันคือคุณสมบัติดั้งเดิมแท้ของมันเองเป็นเนื้อหาเดิมๆของมันอย่างนั้นอยู่แล้ว มิใช่เป็นความว่างเปล่าที่เกิดจากการอาศัยเหตุปัจจัยจากสิ่งที่มันเกิดขึ้นและดับไปและไม่ได้อาศัยเหตุปัจจัยจากการสิ้นสุดลงแห่งความเกิดและแตกดับซึ่งเป็นความดับสนิทไม่มีเหลือ ที่เป็นเช่นนี้เพราะเหตุใดเล่า ก็เพราะว่าเนื้อหานิพพานหรือธรรมชาติดั้งเดิมแท้ มันคือความว่างเปล่าซึ่งมันว่างเปล่าเช่นนั้นของมันเองอยู่อย่างนั้น มันคืออสังขตธาตุ ธรรมธาตุแห่งความไม่มีการปรุงแต่ง เมื่อเป็นเช่นนี้มันจึงย่อมไม่มีปรากฎการณ์แห่งการเปลี่ยนแปลงในการเกิดขึ้นดับไป ไม่มีแม้กระทั้งความสิ้นสุดของการทำหน้าที่แห่งความเกิดขึ้นและดับไปดังกล่าว เพราะเนื้อหาเหล่านี้มันคือความหมายแห่งสังขตธาตุ คือ ธรรมธาตุแห่งการปรุงแต่ง มันเป็นจิตปรุงแต่งขึ้นมา มันเป็นจิตที่ปรุงแต่งเพื่อคอยอาศัยการเกิดดับ มันเป็นจิตที่ปรุงแต่งเพื่อรอคอยความสิ้นสุดแห่งการเกิดดับ มันเป็นจิตที่ปรุงแต่งเข้ามาซ้อนเข้ามาปิดบังไม่ให้เห็นไม่ให้เข้าใจในความหมายที่แท้จริงแห่งพระนิพพาน เพียงแค่ตระหนักชัดและตกผลึกว่า เนื้อหานิพพานหรือธรรมชาติดั้งเดิมแท้นั้นมันคือความว่างเปล่าแบบถ้วนทั่วซึ่งเป็นคุณสมบัติของมันอยู่แล้ว เพียงแค่ซึมทราบกลายเป็นเนื้อหาเดียวกันกับมันด้วยความกลมกลืนในความว่างเปล่าแบบถ้วนทั่วทุกอนูธรรมธาตุซึ่งมันเป็นความบริบูรณ์แห่งความว่างเปล่าอยู่แล้ว ไม่มีสิ่งใดอันเป็นตัวตนที่จะแทรกเข้ามาทำหน้าที่เกิดดับได้เลย
นิพพานหรือธรรมชาติดั้งเดิมแท้นั้น เป็นการสลัดออกจากธรรมอันคือการปรุงแต่งซึ่งคือการเกิดขึ้นดับไปโดยสิ้นเชิง เป็นการสลัดออกโดยเด็ดขาด เป็นความเด็ดขาดที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยเหตุปัจจัยจากการทำหน้าที่แห่งความสิ้นสุดของการเกิดดับด้วยซ้ำไป เป็นความเด็ดขาดซึ่งคือความหมายแห่งความว่างเปล่าของมันอยู่อย่างนั้นอยู่แล้ว ไม่มีอะไรกับอะไรอยู่แล้ว ไม่มีเกิดขึ้นและดับไปอยู่แล้ว ไม่มีอะไรที่ต้องสิ้นสุดในหน้าที่อะไรอยู่แล้ว เป็นความเด็ดขาดที่คือความหมายแห่งความว่างเปล่าของมันอยู่อย่างนั้นซึ่งเป็นคุณสมบัติดั้งเดิมแท้ของมันเองอยู่แล้ว เป็นความเด็ดขาดที่เรียกมันว่า “ตถตา” คือ มันเป็นเช่นนั้นของมันเองอยู่อย่างนั้น เป็นความเด็ดขาดซึ่งคือการตกผลึกและเป็นเนื้อหาเดียวกันแบบกลมกลืนกับธรรมชาติดั้งเดิมแท้นั่นเอง








ผมเลือกแล้ว
ด้วยใจผมเอง
ที่จะเป็น "ครูสอนเซน"
ผู้อยู่ปลายแถว...
เป็นความสุขบนเส้นทางที่เรียบง่าย

"พระอาจารย์ราเชนทร์ อานนฺโท"







บทที่ 55 สลัดออก
การ “สลัดออก” คือ ศาสตร์แห่งความเป็นพุทธะวิสัยที่ตถาคตเจ้าซึ่งเปรียบเสมือนครูใหญ่ของเหล่ามนุษย์และเทวา ท่านใช้การ “สลัดออก” เป็นศิลปะในการสอนเพื่อชี้แนะบรรดาหมู่เวไนยสัตว์ทั้งหลายให้ได้เรียนรู้ทำความเข้าใจเพื่อไปสู่ความตกผลึกตระหนักชัดและซึมทราบกลายเป็นเนื้อหาเดียวกับธรรมที่ตถาคตเจ้าทรงโปรดสั่งสอนบรรดาสรรพสัตว์ตามความเหมาะสมแห่งการรับธรรม
บางครั้งตถาคตเจ้าก็ทรงสอนให้ “สลัดออก” ซึ่งภาวะจิตอันเป็นอกุศล โดยท่านทรงชี้แนะให้บรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลายเรียนรู้ทำความเข้าใจที่จะรักษาจิตโดยการพยายามปรุงแต่งจิตไปในทางกุศล เช่น การรักษาศีล โดยตถาคตทรงใช้อุบายอันแยบยลซึ่งคือศิลปะในการสอน ท่านทรงชี้ถึงการได้รับโทษต่างๆเมื่อยังดำเนินจิตไปในทางอกุศลและทรงชี้ถึงการได้รับผลแห่งบุญเมื่อดำเนินจิตไปในทางกุศล
บางครั้งตถาคตเจ้าก็สอนให้ “สลัดออก” ซึ่งความทุกข์ทั้งปวง โดยท่านทรงชี้แนะให้บรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลายเรียนรู้ทำความเข้าใจเรื่องขันธ์ทั้ง 5 เรื่องธรรมชาติแห่งขันธ์ทั้ง 5 ที่มันเกิดขึ้นและดับไปเป็นธรรมดา เรียนรู้ทำความเข้าใจเรื่องสังขตธาตุทั้งหลายอันคือธรรมธาตุที่มีคุณลักษณะแห่งการเกิดขึ้นละดับไปเป็นธรรมดา
บางครั้งตถาคตเจ้าก็สอนให้ “สลัดออก” ซึ่งสังขตธาตุทั้งปวง โดยท่านทรงชี้แนะให้บรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลายเรียนรู้ทำความเข้าใจเรื่อง อสังขตธาตุ อันคือธรรมธาตุที่มีคุณลักษณะแห่งการไม่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น ไม่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งตั้งอยู่ได้ และไม่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งดับไปสิ้นไป มันคือความเป็นอิสระอย่างเด็ดขาดแห่งความว่างเปล่าอันไร้ตัวตนอยู่อย่างนั้น โดยตถาคตเจ้าได้ใช้อุบายอันแยบยลอันคือศิลปะในการสอน ท่านทรงชี้ว่าสังขตธาตุนั้นความจริงมันเป็นเพียงภาวะแห่งความแปรปรวนไม่แน่นอนแห่งอัตตาตัวตนที่เกิดขึ้นและดับไปเพียงเท่านั้นแต่มันยังไม่ใช่ภาวะเด็ดขาดแห่งความว่างเปล่าอันไม่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นดับไปได้เลย แต่แท้ที่จริงมันมีภาวะธรรมที่เป็นธรรมชาติที่อยู่นอกเหนือความเป็นสังขตธาตุ มันคือ “อสังขตธาตุ” อันคือธรรมชาติดั้งเดิมแท้ที่มันว่างเปล่าไร้ตัวตนของมันอยู่อย่างนั้น มันเป็นความว่างเปล่าแบบเด็ดขาดที่อยู่นอกเหนือการเกิดขึ้นและดับไป ตถาคตทรงชี้ว่า “ความว่างเปล่าอันมิใช่ตัวมิใช่ตนนั้นมันทำหน้าที่ตามธรรมชาติอย่างสมบูรณ์โดยตัวมันเองอยู่แล้ว” ตถาคตเจ้าจึงทรงตรัสธรรมไว้ว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา อันหมายถึง ธรรมทั้งหลายทั้งปวงย่อมไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่แล้ว (โดยตัวมันเองโดยสภาพธรรมชาติของมันเอง) เมื่อเราเข้าใจและตระหนักชัดในความหมายแห่งธรรมชาติดั้งเดิมแท้แล้ว ตถาคตจึงทรงชี้ให้ “สลัดออก” เสียซึ่งสังขตธรรมทั้งปวงเสีย
การ “สลัดออก” จึงเป็นความหมายแห่งการละทิ้งภาวะธรรมเดิมๆของตนที่เคยได้เข้าไปเรียนรู้แล้วตกผลึกตระหนักชัดและเคยซึมทราบกลายเป็นเนื้อหาเดียวกับมัน “เป็นการละทิ้งได้โดยสิ้นเชิง” และเป็นความหมายแห่งการได้เริ่มเรียนรู้ภาวะธรรมใหม่ที่ดีกว่าอันเป็นอุบายทำให้ออกจากกองทุกข์ได้ผลมากกว่า และท้ายที่สุดเมื่อ “สลัดออก” ซึ่งสังขตธาตุและการที่ได้ตกผลึกตระหนักชัดและซึมทราบเป็นเนื้อหาเดียวกันกับอสังขตธาตุอันคือธรรมชาติดั้งเดิมแท้ซึ่งเป็นการออกจากกองทุกข์ทั้งปวงได้อย่างสิ้นเชิงแล้ว มันจึงเป็นการ “สลัดออก” ไปสู่ความเป็นที่สุดแห่งธรรม ความรู้ที่พาพวกเธอ “สลัดออก” และนำไปสู่ความพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวงอย่างสิ้นเชิงได้นั้น ก็คือ สภาพความเป็นเช่นนั้นของมันเองอยู่อย่างนั้นซึ่งมันอยู่นอกเหนือภาวะความหลุดพ้นและภาวะความไม่หลุดพ้น
นี่คือ พุทธศาสตร์ที่ชื่อ “สลัดออก” แห่งพุทธะวิสัย









เมื่อพวกเธอ...ยังคงเห็นความแตกต่าง
ระหว่าง ของมืดมัว กับ การรู้แจ้ง
เป็นภาวะที่แยกจากกันได้อยู่
เธอทั้งหลายก็จะตกหล่นไปสู่ห้วงเหวลึก
แห่งความดิ้นรนขวนขวายและการแสวงหาอะไรสักอย่าง
ที่จะทำให้เธอรู้สึกดีขึ้นในทางปฏิบัติทันที








บทที่ 56 โศลกแห่งเซน
เว่ยหล่าง เป็นพระอรหันต์ในยุค 1200 กว่าปีที่ผ่านมา ท่านดำรงตำแหน่งสังฆปรินายกองค์ที่ 6 แห่งนิกายเซน ท่านเป็นโพธิสัตว์ที่ลงมาทำหน้าที่ส่วนหนึ่งในการต่ออายุพระพุทธศาสนา ได้อย่างสมภูมิธรรมของท่าน เว่ยหล่าง เป็นชายผู้ไม่รู้หนังสือ อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ แต่ท่านสามารถฟังธรรมและวิเคราะห์ธรรมที่พระพุทธองค์ประกาศไว้ได้อย่างถูกต้องและตรงประเด็น ถือว่าท่านเป็นอริยสงฆ์แห่งนิกายเซนในประเทศจีนที่เด่นทางด้านปฏิสัมภิทาญาณมาก ท่านสามารถอธิบายธรรมที่ยากให้สามารถเข้าใจได้ง่าย
มีอยู่วันหนึ่ง พระสังฆปรินายกองค์ที่ 5 ได้เรียกประชุมบรรดาศิษย์ทั้งหมด เพื่อให้ทุกคนเขียนโศลก ว่าด้วยเรื่อง ธรรมชาติดั้งเดิมแท้ โดยหากผู้ใดเข้าใจได้ถูกต้องว่า ธรรมชาติดั้งเดิมแท้นั้นเป็นอย่างไร ผู้นั้นจะได้รับมอบผ้ากาสาวพัตร (อันเป็นเครื่องหมายตำแหน่งพระสังฆปรินายก) และจะถูกสถาปนาผู้นั้นเป็นสังฆปรินายกองค์ที่ 6 แห่งนิกายเซน
ชินเชา ภิกษุผู้เป็นเชฏฐอันเตวาสิก ผู้มีอายุกาลพรรษามากที่สุดในบรรดาลูกศิษย์ของสังฆปรินายกองค์ที่ 5 ได้พยายามแต่งโศลกขึ้น มีข้อความดังนี้
“กายของเราคือต้นโพธิ์
ใจของเราคือกระจกเงาอันใส
เราเช็ดมันโดยระมัดระวังทุกๆชั่วโมง
และไม่ยอมให้ฝุ่นละอองลงจับ”

แต่สังฆปรินายกองค์ที่ 5 ได้ทราบก่อนอยู่แล้วว่า ชินเชาผู้นี้ยังไม่ได้ก้าวเข้าไปในประตูแห่งการตรัสรู้ และเขายังไม่ซึมทราบในธรรมชาติดั้งเดิมแท้ ท่านได้อ่านโศลกที่ชินเชาเขียนแปะไว้ที่ฝาผนังทางเดินแล้วท่านก็กล่าวแก่คนทั่วไปว่า เพราะสูตรๆ นั้นได้กล่าวไว้ว่า "สรรพสิ่งที่มีรูป หรือมีความปรากฏกิริยาอาการ ย่อมเป็นอนิจจังและเป็นมายา" หากผู้ใดน้อมไปยึดถือปฏิบัติก็จะได้ไปจุติในสวรรค์ ครั้นเวลาเที่ยงคืน พระสังฆปริณายกได้ให้คนไปตามตัวชินเชามาที่หอแล้วถามว่าเขาเป็นผู้เขียนโศลกนั้นใช่หรือไม่ พระสังฆปริณายกได้พูดต่ออีกว่า "โศลกของเจ้าแสดงว่าเจ้ายังไม่ได้รู้แจ้ง ธรรมชาติดั้งเดิมแท้ เจ้ามาถึงประตูแห่งการบรรลุธรรมแล้วเป็นนาน แต่เจ้ายังไม่ได้ก้าวข้ามธรณีประตูเข้าไป การแสวงหาความตรัสรู้อันสูงสุด ด้วยความเข้าใจอย่างของเจ้าที่มีอยู่ในขณะนี้นั้น ยากที่จะสำเร็จได้"

"การที่ใครจะบรรลุอนุตรสัมโพธิได้นั้น ผู้นั้นจะต้องสามารถรู้แจ้งด้วยใจเอง ในธรรมชาติแท้ของตนเอง หรือที่เรียกว่าธรรมชาติดั้งเดิมแท้ อันเป็นสิ่งที่ใครสร้างขึ้นไม่ได้ หรือทำลายให้สูญหายไปก็ไม่ได้ ชั่วเวลาขณะจิตเดียวเท่านั้น ผู้นั้นสามารถเห็นแจ้งธรรมชาติดั้งเดิมแท้ได้โดยตลอดกาลทั้งปวง ต่อจากนั้นทุกๆ สิ่งก็จะเป็นอิสระจากการถูกกักขัง กล่าวคือจะเป็นวิมุติหลุดพ้นไป ตถตา (คือความเป็นแต่ที่เป็นอยู่เช่นนั้น ไม่อาจเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นได้, ซึ่งเป็นชื่อของธรรมชาติดั้งเดิมแท้อีกชื่อหนึ่ง) ปรากฏขึ้นเป็นครั้งเดียวหรือชั่วขณะจิตเดียว ผู้นั้นก็จะเป็นอิสระจากความหลงได้ตลอดกาลไม่มีที่สิ้นสุด ไม่ว่าสถานการณ์รอบข้างจะเป็นเช่นไรใจของผู้นั้น ก็จะยังคงอยู่ในสภาพแห่ง "ความเป็นเช่นนั้น" สถานะเช่นนี้ที่จิตได้ลุถึงนั่นแหละคือตัวสัจจธรรมแท้ ถ้าเจ้าสามารถเห็นสิ่งทั้งปวง โดยลักษณะการเช่นนี้ เจ้าจะได้รู้แจ้งธรรมชาติดั้งเดิมแท้ ซึ่งเป็นการตรัสรู้อันสูงสุด"
เวลาล่วงมาอีกสองวัน บังเอิญเด็กหนุ่มคนหนึ่งเดินผ่านมาทางห้อง ที่เว่ยหล่างตำข้าวอยู่ เด็กคนนั้น ได้เดินท่องโศลกของชินเชา ที่จำมาจากฝาผนังอย่างดังๆ พอได้ยินโศลกนั้น เว่ยหล่างก็ทราบได้ทันทีว่าผู้แต่งโศลกนั้น ยังไม่ใช่ผู้เห็นแจ้งใน ธรรมชาติดั้งเดิมแท้ เว่ยหล่างจึงไหว้วานเจ้าหน้าที่เสมียนพนักงานแห่งตำบลกองเจาคนหนึ่งชื่อ จางตัตยุง เขียนโศลกให้ตนขึ้นเพราะตนเองไม่สามารถอ่านและเขียนหนังสือเองได้

โศลกของเว่ยหล่าง มีว่า:-
"ไม่มีต้นโพธิ์
ทั้งไม่มีกระจกเงาอันใสสะอาด
เมื่อทุกสิ่งว่างเปล่าแล้ว
ฝุ่นจะลงจับอะไร?"
วันรุ่งขึ้น พระสังฆปริณายกได้ลอบมาที่โรงตำข้าวอย่างเงียบๆหลังจากที่ท่านได้อ่านโศลกของเว่ยหล่างแล้ว ท่านก็ได้อธิบายข้อความอันลึกซึ้งในวัชรสูตร(กิมกังเก็ง) ให้แก่เว่ยหล่าง เมื่อท่านได้อธิบายมาถึงข้อความที่ว่า "คนเราควรจะใช้จิตของตน ในวิถีทางที่มันจะเป็นอิสระได้จากเครื่องข้องทั้งหลาย ทันใดนั้นเว่ยหล่างก็ได้บรรลุการตรัสรู้ธรรมโดยสมบูรณ์ และได้เห็นแจ้งชัดว่า "ที่แท้ทุกๆ สิ่งในสากลโลกนี้ก็คือตัว ธรรมชาติดั้งเดิมแท้ นั่นเองมิใช่อื่นไกล"
เว่ยหล่างได้ร้องขึ้นในที่เฉพาะหน้าพระสังฆปริณายก ในที่นั้นว่า "แหม! ใครจะไปคิดว่า ธรรมชาติดั้งเดิมแท้ นั้น เป็นของบริสุทธิ์อย่างบริสุทธิ์แท้จริง ใครจะไปคิดว่า ธรรมชาติดั้งเดิมแท้ นั้น เป็นอิสระไม่อยู่ภายใต้อำนาจ ความต้องเป็นอยู่ หรือภายใต้ความดับสูญ อย่างอิสระแท้จริง ใครจะไปคิดว่า ธรรมชาติดั้งเดิมแท้นั้น เป็นสิ่งที่มีความสมบูรณ์อยู่ในตัวมันเอง อย่างสมบูรณ์แท้จริง ใครจะไปคิดว่า ธรรมชาติดั้งเดิมแท้ นั้น เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือความเปลี่ยนแปลง อย่างนอกเหนือแท้จริง ใครจะไปคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏออกมานี้ ไหลเทออกมาจากตัว ธรรมชาติดั้งเดิมแท้"
เมื่อพระสังฆปริณายก สังเกตเห็นว่า เว่ยหล่างได้เห็นแจ้งแล้วใน ธรรมชาติดั้งเดิมแท้ ท่านได้กล่าวว่า "สำหรับผู้ที่ไม่รู้จักจิตใจของตนเอง ว่าคืออะไร ก็ป่วยการที่ผู้นั้นจะศึกษาพุทธศาสนา ตรงกันข้าม ถ้าผู้ใดรู้จักจิตใจของตนเองว่าเป็นอะไร และเห็นด้วยปัญญาอย่างซึมซับว่า ธรรมชาติแท้ของตนเองคืออะไรด้วยแล้ว ผู้นั้นคือวีรมนุษย์ คือครูของเทวดาและมนุษย์ คือพุทธะ "
ดังนั้น, ในฐานะที่ความรู้ย่อมไม่เป็นของบุคคลใดแต่ผู้เดียว ธรรมะอันนั้นจึงถูกมอบตกทอดมายังเว่ยหล่างในเที่ยงคืนวันนั้นเอง พระสังฆปริณายกได้กล่าวสืบไปว่า "บัดนี้ ท่านเป็นสังฆปริณายกองค์ที่6 ท่านต้องคุ้มครองตัวของท่านให้ดี จงช่วยมนุษย์ให้มากพอที่จะช่วยได้ จงทำการเผยแพร่คำสอน และสืบอายุคำสอนไว้อย่าให้ขาดตอนลงได้"
ถึงแม้ชินเชาจะบวชเป็นพระและปฏิบัติธรรมอยู่กับสังฆปรินายกองค์ที่ 5 มาเป็นเวลานานกว่า 30 ปี แต่ชินเชากลับไม่เข้าใจธรรมชาติดั้งเดิมแท้ว่า แท้จริงโดยเนื้อหาธรรมชาติดั้งเดิมแท้มันคือความว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของมันอยู่อย่างนั้น โดยไม่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นและดับไปเลย และธรรมชาติดั้งเดิมแท้นี้เป็นสิ่งที่

ใครสร้างขึ้นไม่ได้ แต่ชินเชากลับเห็นว่ายังมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นอยู่ คือยังเห็นว่ามีกายมีใจ เห็นว่ายังมีสิ่งๆหนึ่งเกิดขึ้นคือฝุ่นละอองแห่งมายาจิตที่ปรุงแต่งลงมาจับกระจกให้หมองมัวไม่ใสกระจ่างและต้องมีวิธีที่เข้าไปกวาดเช็ดถูมันทุกๆชั่วโมงซี่งเป็นความหลงปรุงแต่งที่จะเข้าไปแสวงหาสร้างธรรมชาติดั้งเดิมแท้ให้มันเกิดขึ้นมาตามความต้องการของตน ซึ่งความเข้าใจในธรรมของชินเชา “มันขัดต่อ มันฝืนต่อ” ความเป็นธรรมชาติดั้งเดิมแท้โดยสิ้นเชิง
แต่ในส่วนของเว่ยหล่าง ชายผู้ตัดฟืนเป็นคนป่าคนเยิงไม่มีความรู้อ่านและเขียนหนังสือไม่ได้และไม่เคยบวชเป็นพระในพระพุทธศาสนามาก่อน เมื่อมาอยู่วัดก็ถูกสังฆปรินายกองค์ที่ 5 ไล่ให้ไปอยู่ในโรงตำข้าว แต่เว่ยหล่างกลับเป็นคนผู้มีปัญญาสามารถตระหนักชัดและซึมทราบเป็นเนื้อหาเดียวกับธรรมชาติดั้งเดิมแท้แห่งความไม่มีตัวไม่มีตนโดยตัวมันเองได้ เว่ยหล่างจึงแต่งโศลกขึ้นมาว่า แท้จริงกายใจก็ไม่มี ฝุ่นละอองก็ไม่มี กระจกก็ไม่มี วิธีกำจัดฝุ่นละอองก็ไม่มี โศลกของเว่ยหล่างมีความหมายว่า แท้จริงในทุกสรรพสิ่งสากลนั้นล้วนคือหน้าตาธรรมชาติดั้งเดิมแท้อยู่แล้ว การที่เราจะเข้าไปกำจัดอะไรออกไปจากใจ เพื่อให้ธรรมชาติดั้งเดิมแท้มันเกิดขึ้น “การเข้าไปกำจัด” มันก็คือจิตอันเป็นมายาปรุงแต่งขึ้นมาตัวหนึ่งซึ่งมาบดบังธรรมชาติดั้งเดิมแท้ไม่ให้เราได้ตระหนักชัดและซึมทราบกลายเป็นเนื้อหาเดียวกับมันได้ ธรรมชาติดั้งเดิมแท้นี้เป็นสิ่งที่ใครสร้างขึ้นไม่ได้ ธรรมชาติดั้งเดิมแท้ก็คือความว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนมันก็ทำหน้าที่ของมันของมันอยู่อย่างนั้นโดยบริบูรณ์ในฐานะธรรมชาติดั้งเดิมแท้โดยเนื้อหาโดยสภาพมันเองอยู่แล้ว การที่จะตระหนักชัดและจะสามารถซึมทราบเป็นเนื้อหาเดียวกันกับธรรมชาติดั้งเดิมแท้ได้นั้นมิใช่เกิดจากการลงมือปฏิบัติแสวงหามันเพื่อทำให้มันเกิดขึ้นตามความต้องการของเรา เพราะการลงมือปฏิบัติแสวงหามันเป็นจิตปรุงแต่งตัวหนึ่ง “ซึ่งมันเป็นสภาพธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและดับไป” มันคืออวิชชาตัณหาอุปาทานตัวหนึ่ง มันเป็นอัตตาตัวตนชนิดหนึ่งที่มีลักษณะธรรมธาตุแห่งการเกิดขึ้นดับไป มันจึงไม่ใช่เนื้อหาของธรรมชาติดั้งเดิมแท้ซึ่งไม่ใช่สภาพธรรมอันที่จะสามารถปรุงแต่งให้เกิดขึ้นและแปรปรวนดับไปได้ มันขัดต่อธรรมชาติดั้งเดิมแท้ มันเป็นการปรุงแต่งเพื่อหลงเข้าไปปฏิบัติอยู่อย่างนั้น หลงปรุงแต่งเป็นจิตเกิดขึ้นในการเข้าไปปฏิบัติ เป็นการปรุงแต่งในวิธีปฏิบัติ









ไม่เคยไฝ่ฝันเป็นโตเป็นใหญ่
ไม่มีปัจจัยทั้งสี่ประการ
แค่ "สัตว์เลื้อยคลาน" สองข้างถนน
เนื้อตัวยากจนแต่น้ำใจยิ่งใหญ่


"เซนคาราบาว"







บทที่ 57 ผูกมัดโดยไม่ต้องมีเชือก
หน้าตาดั้งเดิมแท้ของธรรมชาติที่เผยตัวเองออกมาอยู่ตลอดเวลานั้น มันคงคุณลักษณะแห่ง “ความเป็นอิสระ” ซึ่งคือความว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่อย่างนั้น เป็นความอิสระโดยเนื้อหาตัวมันเองโดยสภาพตัวมันเอง ไม่มีใครหรือสิ่งใดจะแทรกเข้าไปอยู่ปะปนกับมันได้เลย หากจะไปอยู่รวมกับมันก็ไม่ใช่ไปอยู่ในสถานะที่ “ต้องอยู่”แต่ต้องมีคุณลักษณะแห่งความเป็นอิสระในความว่างเปล่าซึ่งเป็นเนื้อหาเดียวกันกับมันแบบกลมกลืนเท่านั้น เป็นความกลมกลืนแบบไม่อาจแบ่งแยกออกมาเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เลย การกลมกลืนเป็นเนื้อหาเดียวกันจึงไม่ใช่เป็นการ “เข้าไปอยู่” หรือ ไม่ใช่เป็นการต้องทำอะไรสักอย่างหนึ่งขึ้นมาเพื่อให้ได้ “อยู่” กับมัน
เพราะฉะนั้น นักศึกษาทางฝั่งโน้นจงอย่าได้เดินตกไปสู่หลุมลึกแห่งความขาดอิสระโดยไม่รู้ตัว การที่เราจะกลมกลืนกับมันในความเป็นอิสระนั้น มิใช่เป็นการที่เราต้องรีบเข้าไปกระทำการสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อให้ “ผล”แห่งการเข้าไปกระทำการนั้นเกิดขึ้นซึ่งพวกคุณเรียกมันว่า “การปฏิบัติ” และพวกคุณก็ยังเข้าใจอีกว่า “ผล”ที่เกิดขึ้นนั้นคือความเป็นอิสระอย่างแท้จริง แต่โดยความเป็นจริงตามเนื้อหาแห่ง “ความคิด”ซึ่งสั่งการให้กระทำเหล่านี้ ความหมายของมันกลับเป็นการเข้าไปตีกรอบเพื่อให้เกิดแบบแผนซึ่งมันเป็น “กฏเกณฑ์” ที่เข้าใจผิดคิดขึ้นมาเองว่า จะต้องกระทำและจะต้องได้ผลแห่งการกระทำ ซึ่งโดยเนื้อหามันกลับเป็น “ความไม่อิสระ” เพราะเป็นการผูกมัดตัวเองไว้กับการปรุงแต่งที่เรียกว่า “วิธีปฏิบัติที่เป็นแบบแผนและกฎเกณฑ์” อยู่ตลอดเวลา อย่างไรก็ตามถึงแม้จะงดเว้น “ไม่เข้าไปกระทำเพื่อให้ผลเกิดขึ้น ”แล้ว แต่ก็ยังเข้าไป “รอคอย” ซึ่งเนื้อหาแห่งความอิสระให้เกิดขึ้น “การรอคอย”นั้นก็เป็นการผูกมัดตัวเองด้วยเช่นกันประการหนึ่ง เป็นการผูกมัดตัวเองไว้กับ “กาลเวลาแห่งการปรุงแต่ง” เป็นการผูกมัดตัวเองโดยไม่ต้องใช้เชือกสักเส้นเดียว






ความสุขแห่ง ...เซน
คือ การที่ได้ทำตามที่ใจปรารถนา
โดยที่ไม่มีผู้กระทำและการกระทำ
เป็นความสุขบนพื้นฐานแห่งความเป็นมนุษย์
ที่อยู่ร่วมกันด้วยสันติไมตรีแห่งความเป็นเพื่อน







บทที่ 58 ปีศาจแห่งความเปลี่ยนแปลง
ถึงแม้เราจะรู้ว่าสิ่งๆนี้คือสิ่งที่ “เกิดขึ้น” จากการเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในเวทนาทั้งหลายด้วยอวิชชาความไม่รู้จนก่อให้เกิดตัณหาอุปาทานเป็นอัตตาตัวตนขึ้นมา และเรียกสิ่งนี้ว่า “ทุกข์” นี่ก็เป็นความรู้ที่ถูกต้อง
และถึงแม้เราจะรู้เพิ่มเติมอีกว่าสิ่งที่ “เกิดขึ้น” นั้น โดยธรรมชาติแล้วมันมีความแปรปรวนตั้งอยู่ได้ไม่นานและมันต้องดับไปเป็นธรรมดาตามสภาพธรรมชาติของมัน โดยที่เราไม่ต้องเข้าไปริเริ่มปฏิบัติเองแบบผิดๆเพื่อเข้าไปบังคับจับกุมให้มันไม่เที่ยงไปตามความต้องการของเราซึ่งมันเป็นการปรุงแต่งซ้อนเข้ามาปิดบังธรรมชาติแห่งความดับไปเป็นธรรมดา นี่ก็เป็นความรู้ที่ถูกต้อง
แต่ถึงกระนั้น กระบวนการทั้งหมดทั้งปวงในการรู้เห็นความเกิดขึ้นและดับไปเป็นธรรมดาตามสภาพธรรมชาติแห่งความแปรปรวนนั้น มันก็ยังเป็นเพียงแค่ความรู้ถูกต้องในระดับหนึ่งเท่านั้น มันเป็นความถูกต้องบนพื้นฐานในความคิดเห็นว่า “ ยังมี ” ซึ่งมันกลับเป็นความถูกต้องในความผิดพลาดอันใหญ่หลวง เพราะแท้จริงตามธรรมชาติดั้งเดิมแท้นั้นมันว่างเปล่าไม่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเลย มันว่างเปล่าของมันอยู่อย่างนั้นโดยสภาพมันเอง ถึงแม้จะเห็นว่ามี “ความเปลี่ยนแปลง” เกิดขึ้นดับไปเป็นธรรมดา แต่มันก็ยังเป็นการเห็นบนความเข้าใจในธรรมว่ายัง “มี” สิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่เพื่อให้เราเข้าไปรับรู้ถึง “ความเปลี่ยนแปลง” ในการเกิดขึ้นดับไปของมัน ถึงจะรู้เห็นตามธรรมชาติว่ามันมีความเปลี่ยนแปลง แต่โดยความเป็นจริงมันก็ยังมีอยู่เหมือนเดิม
ถึงแม้ว่าความ “มี” อยู่ มันจะคลายออกไปมากๆแล้วก็ตามด้วยการเข้าไปปฏิบัติแบบต่อเนื่อง แต่เมื่อยังคิดว่า “มี” มันจึงเกิดการเข้าไปตามรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงแห่งความ “มี” ที่เรายังคิดเป็นพื้นฐานแบบนี้อยู่ตลอดเวลาไม่มีวันจบสิ้น หากเราเข้าใจและ
ตระหนักชัดในเนื้อหาธรรมชาติดั้งเดิมแท้ว่า แท้จริงมันย่อมไม่มีสิ่งใดๆเกิดขึ้นเลย มันคือเนื้อหาแห่งความว่างเปล่าของมันอยู่อย่างนั้น ก็ในเมื่อเข้าใจว่าไม่มีสิ่งใดเลยสักสิ่ง พฤติกรรมในการปฏิบัติแห่งการเข้าไประลึกรู้ตามธรรมชาติว่ามัน “มี” และมันมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นดับไป ก็จะไม่เกิดขึ้น
“ความเปลี่ยนแปลง” จึงเปรียบเสมือนเป็นปีศาจที่มาหลอกให้เราคอยใช้ “ความพยายามแห่งปัญญาอันโง่เขลา” เข้าไปวิ่งไล่ตามจับมัน
มันจึงเป็นการเสียเวลาเปล่าๆที่จะต้องใช้ความพยายามไล่จับ “ปีศาจแห่งความเปลี่ยนแปลง” ตลอดชีวิต เป็นการไล่จับบนพื้นฐานความคิดของเราที่ยังเห็นว่า “มี” อยู่ตลอดชีวิตเช่นกัน




















ธรรมชาติดั้งเดิมแท้
มันดำรงอยู่ ณ ที่นี้เรื่อยมาเสมอมา
ความดำรงอยู่อันคือปรากฏการณ์ธรรมชาติของมันนั้น
มิได้ผูกติดอยู่กับอดีตหรืออนาคต
และมิได้อิงอยู่กับปัจจุบันขณะ
มันนอกเหนือกว่านั้น..."มันไร้มิติแห่งกาลเวลา"







บทที่ 59 ความไม่มุ่งเน้น
ความที่มันคงคุณลักษณะของมันอยู่อย่างนั้นโดยปราศจากการตั้งต้นและไม่มีวันดับไปจบสิ้น มันแสดงเนื้อหาอันเป็นคุณสมบัติของมันอยู่อย่างนั้นโดยสภาพมันเอง มันเป็นเช่นนั้นของมันเองอยู่อย่างนั้น โดยไม่มีใครหรือสิ่งใดแม้กระทั้ง“ธรรมอันละเอียดประณีตแห่งสัมมาทิฐิ” จะมาเป็นเหตุปัจจัยทำให้มันเกิดขึ้นได้เลย ไม่มีภาวะแห่งการเกิดขึ้นดับไป ตรงนี้เรียกว่า ธรรมชาติอันคือ ธรรมชาติดั้งเดิมแท้
ธรรมชาติ มันทำหน้าที่มันเองตามปรกติ แต่ด้วยความไม่เข้าใจของเราก็เลยเอาความเป็น “เรา” เข้าไป “มุ่งเน้น” เพื่อเสริมสร้างก่อรูปในสภาวะธรรมต่างๆขึ้นมา โดยมีความเข้าใจอย่างผิดๆว่า ธรรมต่างๆเหล่านี้จะช่วยให้ลักษณะธรรมชาติดั้งเดิมแท้มันเกิดขึ้นและจะเข้าไปช่วยให้ธรรมชาติมันทำหน้าที่ในเนื้อหาความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนตลอดไปอย่างมั่นคงถาวร เช่น การเข้าไป “มุ่งเน้น” อินทรีย์แห่งสติ หรือ “ ตัวรู้ ” โดยเข้าใจว่าตัวรู้นี้คือ สัมมาสติ และสัมมาสติแห่งตัวรู้นี้เองที่เข้าใจว่า มันจะช่วยให้ความความว่างเปล่าไร้ตัวตนนี้ทำหน้าที่ของมันได้ตลอดแบบประติดประต่อกันไปจนไม่ขาดสาย แต่โดยความเป็นจริง “ความมุ่งเน้น” มันคือพฤติกรรมการปรุงแต่งของจิตชนิดหนึ่งที่ “ เกิดขึ้น ” ซึ่งเป็นลักษณะแห่ง สังขตธาตุ ซึ่งมันขัดและฝืนต่อเนื้อหาแห่งธรรมชาติที่ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน แห่งอสังขตธาตุ โดยธรรมชาติดั้งเดิมแท้นั้นมันทำหน้าที่แสดงเนื้อหาของมันอยู่อย่างนั้นตลอดเวลาแบบประติดประต่อตลอดสายคงคุณลักษณะแห่งเนื้อหาความว่างเปล่าอันคือธรรมชาติอยู่แล้ว มันเป็นคุณสมบัติโดยตัวมันเองอยู่แล้วไม่ต้องเข้าไปทำให้มัน การคิดที่จะเข้าไปทำคุณสมบัติให้ธรรมชาติมันครบถ้วนบริบูรณ์ตามความเข้าใจผิดของตนมันกลับเป็นการปรุงแต่งทางจิตขึ้นมาแบบไม่รู้ตัวเหมือนเส้นผมบังภูเขา ซึ่งมันกลับทำให้ความเป็นธรรมชาติดั้งเดิมแท้นั้นหายไปเสียสิ้น
แต่ถึงกระนั้น เมื่อตระหนักชัดเข้าใจเนื้อหาธรรมชาติข้างต้นแล้วก็ยังอดที่จะเข้าไป “มุ่งเน้น” โดยการเข้าไปประคับประคองความเป็นธรรมชาติ เข้าไปประคับประคองให้ธรรมชาติมันคงความเป็นธรรมชาติอยู่อย่างนั้น เข้าไปประคับประคองโดยกลัวว่าความเป็นธรรมชาติมันจะเสียรูปทรงและหายไปต้องเข้าไปประคับประคองโดยตลอด ซึ่งความเข้าไป “มุ่งเน้น” ในภาวะธรรมชาติเช่นนี้มันเป็นการปรุงแต่งจิตขึ้นมาด้วยเหตุแห่งความมุ่งเน้นนั้นมันปรุงแต่งซ้อนเข้ามาบังความเป็นธรรมชาติที่แท้จริง ก็โดยเนื้อหาธรรมชาติ “ดั้งเดิมแท้” นั้นมันเป็นเนื้อหาความว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่อย่างนั้นมานานแสนนานแล้ว เป็นความ “ดั้งเดิม” โดยความเป็นธรรมชาติที่แท้จริงของมันแบบนี้มาช้านานแล้ว เป็นธรรมชาติที่ปราศจากการตั้งต้นและจะเป็นธรรมชาติไปแบบนี้อยู่อย่างนั้นไม่มีวันสิ้นสุดจบสิ้นแห่งความเป็นธรรมชาติอีกด้วย เพราะฉะนั้นจงทำความเข้าใจในเนื้อหาธรรมชาติอันคือความดั้งเดิมแท้ของมันว่า มันสามารถดำเนินเนื้อหาหรือแสดงเนื้อหาแห่งธรรมชาติอันไม่มีไม่เป็นของมันอยู่อย่างนั้นแบบ “ไม่ผิดเพี้ยน” มันสามารถทำหน้าที่แสดงคุณสมบัติของมันได้ในทุกที่ ทุกเวลา ทุกโอกาส โดยที่มันไม่ต้องการความสามารถจากใครๆหรือผู้ใดเข้าไปประคับประคองในคุณสมบัติแห่งมันเลย เพราะว่ามันคือธรรมชาติ “ อยู่แล้ว ” มันคือธรรมชาติดั้งเดิมแท้ “อยู่แล้ว” เป็นความ “อยู่แล้ว” แบบบริบูรณ์ในเนื้อหาอยู่อย่างนั้นโดยไม่มีส่วนบกพร่อง













ความเป็นจริงมันไม่มีอะไรเลย
มันว่างของมันอยู่อย่างนั้น
แต่ถ้าเข้าใจผิดว่า "มี"
ความไม่เที่ยงเกิดดับแห่งความมีที่เข้าใจผิดนั่นแหละ
มันก็จะพาสิ่งนั้น "ลอยไปก็ลอยมา"ผ่านหน้าเราไป
และเราก็เข้าไปเรียกอาการลอยไปก็ลอยมาว่า "สักแต่ว่า"
สิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่ธรรมชาติแห่งพุทธะ







บทที่ 60 ชีวิตที่อยู่ไปวันวัน

เมื่อท่านทั้งเห็นประโยคที่ว่า “ชีวิตที่อยู่ไปวันวัน” เมื่อพิจารณาอย่างผิวเผิน ก็อาจคิดได้ว่าเป็นชีวิตที่ไร้ค่า ไร้จุดมุ่งหมาย ปล่อยกายไปตามวันและเวลาที่สูญไป แต่เมื่อพิจารณาอย่างจิตที่เป็นพุทธะแล้ว ชีวิตแบบนี้ถือว่าเป็นชีวิตที่บริบูรณ์

ชีวิตที่บริบูรณ์มิได้หมายถึงชีวิตที่พรั่งพร้อมด้วยเงินทอง ชื่อเสียง แต่กลับเป็นชีวิตที่ได้ทำหน้าที่ ที่เกิดมาพร้อมกับความเป็นมนุษย์เพื่อผู้อื่น เช่น หน้าที่ของความเป็นพ่อแม่ หน้าที่ของความเป็นลูก หน้าที่ของครูผู้ให้ เป็นต้น และชีวิตที่บริบูรณ์ยังเป็นชีวิตที่ได้ทำหน้าที่เพื่อตนเอง คือเมื่อมีเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดเป็นมนุษย์แล้ว ก็ควรได้มาเรียนรู้ธรรมะอย่างแท้จริง

การที่มีชิวิตไปวันวันแบบบริบูรณ์นั้น มิได้ทำให้สุขหรือทุกข์มากขึ้น แต่กลับทำให้เข้าใจถึงการเป็นธรรมชาติของสิ่งต่างๆ เข้าใจถึงความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของทุกสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา แม้กระทั่งตัวเราก็ไม่มี สภาวะทุกอย่างย่อมเป็นธรรมดาที่มีอยู่เองตามธรรมชาติอยู่แล้ว ดังนั้นขอให้ท่านจงดำเนินชีวิตไปวันวัน แบบเข้าใจในความเป็นธรรมชาติของทุกสิ่ง และปล่อยให้ทุกสิ่งดำเนินไปแบบธรรมชาติ ในความเป็นเช่นนั้นของมันเองอยู่อย่างนั้น


บทความนี้
เขียนโดย นางสาวปานวาส โททอง (ลูกศิษย์)




















พุทธภาวะ ไม่เคยแยกจากที่ที่เราอยู่ในขณะหนึ่งนั่นเอง
แล้วการวุ่นวายไปโน่นมานี้
เพื่อ
ปฏิบัติธรรมจะมีประโยชน์อันใดเล่า









บทที่ 61 นิพพานในฝั่งเถรวาท
วิชชา แปลว่า ความรู้แจ้งทั้งปวงในธรรมชาติแห่งความว่างเปล่าของมันอยู่อย่างนั้น โดยไม่มีเนื้อหาแห่งธรรมอันเกิดขึ้นดับไป
วิมุตติ แปลว่า ความหลุดพ้น เป็นความหลุดพ้นจากสภาพปรุงแต่งแห่งการเกิดขึ้นดับไป เป็นความหลุดพ้นที่เป็นเนื้อหาเดียวกับธรรมชาติดั้งเดิมแท้อยู่อย่างนั้น
วิชชาและวิมุตติจึงเป็นความหมายของคำว่า “นิพพาน” นั่นเอง
แต่วิชชาและวิมุตติจะบริบูรณ์เกิดขึ้นได้เพราะเกิดจากโพชฌงค์ธรรมบริบูรณ์
และโพชฌงค์ธรรมจะบริบูรณ์ได้ เพราะเกิดจากการเจริญสติปัฏฐาน4 นั่นเอง (เป็นข้อความที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในกุณฑลิยสูตร)
สรุปได้ว่า เมื่อบุคคลได้เจริญซึ่งสติปัฏฐาน 4 เมื่อสติปัฏฐานบริบูรณ์ ย่อมยังให้โพชฌงค์บริบูรณ์และวิชชาวิมุติย่อมบริบูรณ์ตามไปด้วย ซึ่งเท่ากับว่าเมื่อสติปัฏฐานบริบูรณ์ย่อมยังวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ ย่อมทำพระนิพพานให้แจ้งได้
โดยลักษณะธรรมธาตุแห่งธรรมมีอยู่เพียง 2 ลักษณะเท่านั้น คือ
1. สังขตธาตุ คือ ธรรมธาตุ อันมีลักษณะปรุงแต่ง
2. อสังขตธาตุ คือ ธรรมธาตุ อันมีลักษณะไม่ปรุงแต่ง
สังขตธาตุ นั้น คือธรรมอันมีลักษณะปรุงแต่ง ซึ่งเกิดจากอวิชชาความไม่รู้ โดยไม่รู้ว่า ทุกสรรพสิ่งย่อมไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน(อนัตตา) อยู่แล้วโดยธรรมชาติของมัน เมื่อไม่รู้ก็เลยเข้าไปยึดมั่นถือมั่นก่อให้เกิดเป็นตัณหาอุปทานจนกลายเป็นตัวตน มีเรา มีเขา ขึ้นมา (อัตตา) ซึ่งสังขตธาตุนี้เป็นธรรมซึ่งผิดไปจากความเป็นจริง เนื้อหาแห่งสังขตธาตุไม่ตรงต่อสัจธรรม ไม่ตรงต่อ “ธรรมชาติดั้งเดมแท้”
อสังขตธาตุ นั้น คือธรรมอันมีลักษณะไม่ปรุงแต่ง ซึ่งเกิดจากความรู้เห็นตามความเป็นจริงที่ว่า ทุกสรรพสิ่งย่อมไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน (อนัตตา) อยู่แล้วโดยธรรมชาติของมัน อสังขตธาตุนี้เป็นธรรมซึ่งตรงต่อความเป็นจริง เนื้อหาแห่งอสังขตธาตุนี้เป็นเนื้อหาซึ่งตรงต่อสัจธรรมตรงต่อธรรมชาติโดยสภาพมันเองอยู่แล้ว
การเข้าไปเจริญซึ่งสติปัฏฐาน 4 เป็นการรู้เท่าทันว่า เมื่อเกิดการปรุงแต่ง(สังขตธาตุ) ตามลักษณะของหมวดธรรมทั้ง 4 ในสติปัฏฐานแล้ว การปรุงแต่งนั้นก็ย่อมไม่เที่ยงดับไปเองโดยสภาพมันเองโดยธรรมชาติของมันอยู่แล้ว
เพราะฉะนั้นการเข้าไปเจริญซึ่งสติปัฏฐาน 4 จึงเป็นการตกผลึกและตระหนักชัดในธรรม คือ กาย เวทนา จิต ธรรม อันเกิดขึ้นตั้งอยู่แปรปรวนและดับไปเป็นธรรมดาตามสภาพธรรมชาติ สติปัฎฐานจะบริบูรณ์ได้ย่อมเกิดจาก “การตัดได้โดยเด็ดขาด” จากอาการปรุงแต่งทั้งปวง(สมุทเฉจ) จนกลายเป็นสภาพแห่งธรรมอันไม่ปรุงแต่งล้วนๆ จนกลายเป็นสภาพ “ธรรมชาติล้วนๆอันปรุงแต่งไม่ได้แล้ว” สมุทเฉจหรือการตัดได้โดยเด็ดขาดจากการปรุงแต่งทั้งปวงนั้นเป็นอุบายอันแยบยลอันเกิดจากการพิจารณาว่า โดยแท้จริงแล้ว สติปัฏฐานธรรมนั้นโดยสภาพมันเองก็เป็นสังขตธาตุอันคือธาตุแห่งการปรุงแต่งที่ต้องสลัดออก เป็น “การสลัดออก” ด้วยความเข้าใจว่าความเป็นจริงแห่งธรรมชาติอันคือลักษณะแห่งอสังขตธาตุ มันไม่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเลยไม่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งตั้งอยู่ และไม่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งแปรปรวนดับไป แท้จริงแล้วมันคือธรรมชาติอันปรุงแต่งไม่ได้ มันคือธรรมชาติแห่งความว่างเปล่าอยู่อย่างนั้น มันคือธรรมชาติแห่งความเป็นเช่นนั้นเองอยู่อย่างนั้น เมื่อเข้าใจว่าแท้จริง “สติปัฏฐานธรรม” ก็ไม่มี มันคือความว่างเปล่าของมันอยู่อย่างนั้นซึ่งเป็นเนื้อหา “ธรรมชาติดั้งเดิมแท้” มันจึงเป็นการตัดได้โดยเด็ดขาด โดยที่สัมมาสติมันบริบูรณ์ มันทำหน้าที่เป็นปกติไม่ขาดตกบกพร่องในความว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่อย่างนั้น
เมื่อเข้าใจว่า ตัวสติปัฏฐานธรรม มันคือสังขตธาตุหรือธรรมธาตุแห่งการปรุงแต่ง ซึ่งเป็นการเกิดขึ้นแห่งธรรมอันคือสติปัฏฐาน เป็นการตั้งอยู่แห่งธรรมอันคือสติปัฏฐาน และธรรมชาตินั้นมีความแปรปรวนตั้งอยู่ได้ไม่นานเป็นการดับไปแห่งธรรมอันคือสติปัฏฐาน มันจึงต้อง “สลัดออก” และส่งผลทำให้สติปัฏฐานบริบูรณ์ตามที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในกุณฑลิยสูตรนั้น แท้จริงแล้วมันไม่ใช่ที่ตัวสติปัฏฐานบริบูรณ์ เพราะตัวสติปัฏฐานแท้จริงไม่มี แต่มันเป็นความบริบูรณ์ในอสังขตธรรมคือธรรมธาตุแห่ง “ธรรมชาติอันว่างเปล่าไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่อย่างนั้น” เพราะฉะนั้น การที่พระพุทธองค์ตรัสว่า เมื่อสติปัฏฐานบริบูรณ์ ย่อมทำให้โพชฌงค์บริบูรณ์ และวิชชาวิมุติย่อมบริบูรณ์ตามไปด้วยนั้น เป็นการตรัสด้วยเหตุและผลแห่งการทำหน้าที่ของอินทรีย์แห่งธรรมเท่านั้น

















การเกิดขึ้นของมายาก็ดี
การถอนมายาออกเสียได้ก็ดี
ล้วนแต่เป็นมายาด้วยกันทั้งสิ้น










บทที่ 62 อรหันตมรรค อรหันตผล
โดยเนื้อหาแห่งธรรมชาติดั้งเดิมแท้ตามแนวคำสอนแห่งเซนซึ่งเป็นเรื่องความไร้ตัวตนนี้ ตัวธรรมชาติดั้งเดิมแท้เองนั้นมันเป็นสัจธรรมซึ่งมีเนื้อหาที่สมบูรณ์แบบโดยตัวมันเองอยู่แล้ว และมันเป็นเนื้อหาที่ที่ไม่ต้องการสิ่งใดๆมาเพิ่มเติมหรือมายุ่งเกี่ยวกับมันอีกในทุกๆด้าน เพราะแท้จริงมันย่อมไม่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งในทุกๆลักษณะในทุกๆทางที่จะเกิดขึ้นในเนื้อหาธรรมชาติดั้งเดิมแท้ได้เลย ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นและดับไป เพราะฉะนั้นธรรมชาติดั้งเดิมแท้มันจึงเป็นเรื่องสมบูรณ์แบบอยู่แล้ว มันไม่ต้องการอะไรกับอะไร ไม่ต้องการให้ใครมาบรรลุธรรมอะไรเพื่อให้เกิดอะไร มันไม่ใช่เป็นเรื่องใครต้องมาบรรลุอะไรแล้วธรรมชาติดั้งเดิมแท้มันถึงจะเกิดขึ้น
แต่ในพระไตรปิฏกในส่วนของสังขตธาตุนั้น พระพุทธองค์ทรงตรัสถึงเรื่อง ธรรมอันเกิดขึ้นว่าด้วยสมุทเฉทปหาน ซึ่งเป็นการตัดได้โดยเด็ดขาดจากอาสวะกิเลสทั้งปวง เป็นการตัดได้โดยเด็ดขาดจากพฤติกรรมการปรุงแต่งทางจิตทั้งปวงไปสู่ความดับสนิทไม่มีเหลือ เป็นความดับสนิทจากเหตุแห่งการชักจูงเข้าไปปรุงแต่งทุกๆกรณี ธรรมแห่งสมุทเฉทปหานที่พระพุทธองค์ตรัสถึงนี้เป็นธรรมอันว่าด้วย การมีเหตุปัจจัยให้ได้พิจารณาและตกผลึกซึ่งมัน “เป็นอุบายอันแยบยล” ที่จะทำให้เราไม่เข้าไปปรุงแต่งได้อีกอย่างเด็ดขาด ซึ่งเราเรียกว่า ธรรมอันเกิดขึ้นว่าด้วย อรหันตมรรค และ อรหันตผล
ธรรมอันเกิดขึ้น ซึ่งคือเนื้อหาแห่งอรหันตมรรคนั้น เป็นการหยิบยกธรรมขึ้นมาพิจารณาถึงเรื่องคุณลักษณะแห่งธรรมทั้งปวงว่า อะไรคือธรรมทั้งหมดซึ่งมีลักษณะแห่งการปรุงแต่งหรือสังขตธาตุ และ อะไรคือธรรมอันมีลักษณะธรรมชาติแห่งการปรุงแต่งไม่ได้หรืออสังขตธาตุ เมื่อเราสามารถแยกแยะออกมาได้ทั้งหมดแล้วว่าธรรมเหล่าใดมีคุณลักษณะแห่งสังขตธาตุคือธรรมธาตุแห่งการปรุงแต่ง พระพุทธองค์ได้ทรงชี้แนะให้ “สลัดออก” ในธรรมอันคือสังขตธาตุ ซึ่งคือธรรมธาตุแห่งการปรุงแต่งนี้ทิ้งเสีย และให้ดำเนินไปสู่เนื้อหาธรรมอันคือธรรมชาติอันปรุงแต่งไม่ได้หรืออสังขตธาตุนั่นเอง
ในส่วนเนื้อหาธรรมอันคือ “สังขตธาตุ” ทั้งหมดนั้น ก็คือเนื้อหาธรรมอันว่าด้วยการเกิดขึ้นแห่งทุกข์ ว่าด้วยการดับไปเป็นธรรมดาแห่งทุกข์ ซึ่งประกอบไปด้วย ธรรมอันคือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค สุจริต 3 สติปัฏฐาน 4 โพชฌงค์ธรรม และธรรมทุกๆหมวดที่พระพุทธองค์ได้ทรงกล่าวถึงซึ่งมีเนื้อหาอันเกี่ยวกับสภาพธรรมที่มีลักษณะปรุงแต่งเกิดขึ้นและดับไป
และก็เป็นเรื่องแปลกประหลาดใจ แต่มันคือความเป็นจริงกล่าวคือ ธรรมอันคืออรหันตมรรคนั้น เป็นการที่ต้องหยิบยกเรื่อง “มรรคมีองค์ 8” ซึ่งเป็นหนทางหลุดพ้นนั้นขึ้นมาพิจารณาถึงความที่มันเป็นธาตุแห่งการปรุงแต่งหรือสังขตธาตุด้วย ก็เพราะว่ามรรคมีองค์ 8 มันคืออินทรีย์แห่งธรรมที่เกิดจากการตระหนักชัดและการที่ได้ซึมทราบกลายเป็นเนื้อหาเดียวกันกับการเกิดขึ้นและดับไปเป็นธรรมดาตามสภาพธรรมชาติ มันจึงเป็นธรรมที่เกี่ยวข้องกับสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป และมรรคมีองค์ 8 เองก็โดยคุณลักษณะของมัน “มันก็คือํธรรมชนิดหนึ่งที่มีสภาพเกิดขึ้นและดับไป” เช่นกัน มันจึงเป็นเรื่องประหลาดใจสำหรับนักปฏิบัติธรรมที่พึ่งจะเข้าใจว่า แท้จริงแล้วอรหันตมรรค คือ ความที่ไม่ต้องมีธรรมอันว่าด้วยมรรคเกิดขึ้น คือความที่ต้องสลัดมรรคมีองค์ 8 ออกไปตามพุทธประสงค์ที่ให้สลัดออกซึ่งสังขตธาตุ เพราะถ้าเราคิดว่ามันจะต้องเดินไปบนเส้นทางมรรคมีองค์ 8 อยู่ มันก็ยังเป็นสังขตธาตุคือธรรมธาตุอันปรุงแต่งอยู่นั่นเอง ซึ่งมันเป็นเรื่องแห่งการปรุงแต่งที่เกิดขึ้นดับไปเกี่ยวกับมรรค มันทำให้บดบังและไม่ให้เกิดความเข้าใจใน “ธรรมชาติดั้งเดิมแท้” ที่แท้จริง
และก็ยิ่งเป็นที่ประหลาดใจไปมากกว่านั้นก็คือ การหยิบยกธรรมอันว่าด้วย อรหันตมรรค อรหันตผล ขึ้นมาพิจารณาเพื่อให้เกิดความเข้าใจในเนื้อหาธรรมนั้นว่าอะไรเป็นอะไร ด้วยการพิจารณาเช่นนี้มันก็เป็นการเกิดขึ้นและดับไปแห่งธรรมอันว่าด้วย อรหันตมรรค อรหันตผล นี้ด้วย ซึ่งเป็นคุณลักษณะแห่งสังขตธาตุที่เป็นการปรุงแต่งมีสภาพเกิดขึ้นและดับไปเป็นธรรมดาด้วยเช่นกัน เป็นสังขตธาตุแห่ง อรหันตมรรค อรหันตผล ที่ต้องสลัดออกสลัดทิ้งไปเพื่อไปสู่ความตระหนักชัดในเนื้อหา “ธรรมชาติดั้งเดิมแท้” อย่างแท้จริงเช่นกัน
ในส่วนเนื้อหาธรรมอันคือ “อสังขตธาตุ”นั้น ก็คือเนื้อหาธรรมอันว่าด้วยธรรมชาติที่ปรุงแต่งไม่ได้แล้ว เนื้อหามันคือความว่างเปล่าอยู่อย่างนั้น มันปราศจากการพิจารณาธรรมทั้งปวง มันเป็นเนื้อหาธรรมชาติที่ “ไม่ยุ่งเกี่ยว” กับ “กระบวนการพิจารณาแยกแยะธรรมแบบเด็ดขาดว่า อะไรคือการปรุงแต่ง อะไรคือธรรมชาติแห่งการไม่ปรุงแต่ง” มันเป็นเนื้อหาธรรมชาติที่ “ไม่ยุ่งเกี่ยว” กับ “กระบวนการการสลัดออกแห่งสังขตธาตุได้อย่างสิ้นเชิง” มันเป็นธรรมชาติที่มันเป็นอิสระโดยตัวมันเองในความว่างเปล่าอยู่อย่างนั้น

มันแสดงเนื้อหามันอยู่อย่างนั้นโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการใดๆทั้งสิ้น
เมื่อสามารถตระหนักชัดว่า อะไรคือธรรมชาติดั้งเดิมแท้ที่มันปรุงแต่งไม่ได้แล้ว ซึ่งมันคือความว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนโดยสภาพมันเองตามธรรมชาติอยู่อย่างนั้นตามธรรมอันว่าด้วย “อรหันตมรรค” นั้นแล้ว และการที่ได้ซึมทราบเป็นเนื้อหาเดียวกันแบบกลมกลืนกับธรรมชาติดั้งเดิมแท้นั้นได้ มันก็คือ “อรหันตผล” นั่นเอง อรหันตผล เป็นเนื้อหาธรรมชาติดั้งเดิมแท้ที่มันเผยตัวมันเองออกมา แสดงเนื้อหามันออกมาซึ่งมันคือความว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่อย่างนั้น ไม่มีธรรมสิ่งใดเลยในคุณลักษณะแห่งการปรุงแต่งคือสังขตธาตุเกิดขึ้นและดับไปในเนื้อหาธรรมชาติดั้งเดิมแท้นี้ได้ ไม่มีแม้กระทั้งการปรุงแต่งด้วยว่า “นี่คือธรรมอันว่าด้วย อรหันตผล”
สรุปโดยหลักแล้ว ธรรมชาติดั้งเดิมแท้มันมิได้เกิดขึ้นจากสิ่งใดหรือใครต้องมากระทำให้เกิดขึ้น มันแสดงเนื้อหาอันคือ ความว่างเปล่าของมันอยู่อย่างนั้น และในเนื้อหาธรรมชาติดั้งเดิมแท้มันก็ไม่ได้มีกระบวนการ “การทำความเข้าใจและพิจารณาธรรม” อันว่าด้วยธรรมอันคือ อรหันตมรรค อรหันตผล แต่อย่างใด เพราะโดยสภาพแห่งธรรมอันว่าด้วย อรหันตมรรค อรหันตผล นี้ มันคือธรรมอันมีสภาพปรุงแต่งซึ่งมันมิใช่เนื้อหาของธรรมชาติดั้งเดิมแท้อยู่แล้ว มันจึงต้องสลัดออกซึ่งธรรมอันคือ อรหันตมรรค อรหันตผล ซึ่งเป็นสังขตธาตุ ธรรมชาติดั้งเดิมแท้มันถึงจะเผยตัวมันเองออกมา ซึ่งมันเป็นเนื้อหาตามธรรมชาติอยู่แล้ว
การพิจารณาธรรมอันเป็นเหตุให้เราตระหนักชัดถึง"ธรรมชาติดั้งเดิมแท้" มันเป็นเรื่องต่างหากจากเนื้อหาธรรมชาติดั้งเดิมแท้ที่มันเผยตัวมันเองออกมา การพิจารณาธรรมอันเป็นเหตุให้เราตระหนักชัดถึง"ธรรมชาติดั้งเดิมแท้ " มันคือเนื้อหาแห่งการปรุงแต่งด้วยชนิดหนึ่งที่ต้องสลัดออกไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว เมื่อพิจารณาจนเกิดความเข้าใจแล้ว ก็ต้องสลัดการพิจารณาออกอันคือธาตุแห่งการปรุงแต่งด้วย แล้วเราจะได้ซึมทราบเป็นเนื้อหาเดียวกันแบบกลมกลืนกับ "ธรรมชาติดั้งเดิมแท้" ที่มันว่างอยู่อย่างนั้นมานานแสนนานอันหาจุดเริ่มต้นไม่ได้














ท่านอิคคิว ปรมาจารย์เซน
เจ้าของฉายา จักรพรรดิของคนนอกรีต
ก็ยังได้แนะนำให้ลูกศิษย์ระหว่างที่กำลังสนทนาธรรม
เพื่อฝึกเซนอยู่ดีๆ ว่า
" เจ้าจงลืมการฝึกเซนเสียเถอะ
ไปมุ่งมั่นชงชาจะดีกว่า "








บทที่ 63 มิได้ยืนยัน
ความเป็นธรรมชาติดั้งเดิมแท้ในการทำหน้าที่ของมันที่มันแสดงเนื้อหาแห่งความว่างเปล่าอยู่อย่างนั้นอันหาจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดมิได้นั้น การทำหน้าที่ตามธรรมชาติของมัน มิได้เป็นการทำหน้าที่เพื่อเป็นสิ่งยืนยันเกี่ยวกับการสิ้นสุดหรือการดับสูญของปรากฎการณ์ใดๆ
มิได้เป็นการทำหน้าที่เพื่อเป็นสิ่งยืนยันว่า “นี่คือการสลัดออกสละทิ้งซึ่งสังขตธาตุ” “นี่คือการสลัดออกสละทิ้งซึ่งธรรมธาตุแห่งการปรุงแต่งทั้งปวงได้โดยเด็ดขาดแล้ว”
มิได้เป็นการทำหน้าที่เพื่อเป็นสิ่งยืนยันว่า “นี่คือการดับไปสิ้นไปแห่งอัตตาทั้งปวง”
มิได้เป็นการทำหน้าที่เพื่อเป็นสิ่งยืนยันว่า “นี่คือการดับไปสิ้นไปแห่งอาสวะกิเลสทั้งหลาย”
มิได้เป็นการทำหน้าที่เพื่อเป็นสิ่งยืนยันถึง “ความมีอยู่หรือความไม่มีอยู่แห่งภาวะธรรมใดๆ”
มิได้เป็นการทำหน้าที่เพื่อเป็นสิ่งยืนยันว่า “นี่คือการตกผลึก” “นี่คือการตระหนักชัดและกลายเป็นเนื้อหาเดียวกันแบบกลมกลืนกับธรรมชาติดั้งเดิมแท้”
และท้ายที่สุดมันก็มิได้เป็นการทำหน้าที่เพื่อเป็นสิ่งยืนยัน“ฐานะตัวมันเองว่ามันคือธรรมชาติดั้งเดิมแท้”
ธรรมชาติดั้งเดิมแท้ มันก็ทำหน้าที่ของมันอยู่อย่างนั้น











ถ้ามันมีการเปลี่ยนแปลง
มันก็ยังมีอยู่เหมือนเดิม
ถ้ามันไม่มีการเปลี่ยนแปลง
มันก็ไม่มีสิ่งใดเลยสักสิ่ง








บทที่ 64 ฝันละเมอ
ความจริงที่ไม่ใช่ความเป็นจริง
ถ้าหากว่าสิ่งที่เรียกว่า “ความจริง” เป็นเพียงสิ่งที่พยายามให้เป็น“ความเป็นจริง” เท่านั้น แล้วอะไรจะเกิดขึ้น?
หากถ้าความหมายของคำว่า “ความจริง” ที่เราต่างเข้าใจกันนั้น เป็นเพียงความเข้าใจบนพื้นฐานความเข้าใจของตนเองเพียงเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วความเข้าใจในส่วนนี้ที่ว่านี้ เป็นเพียงสิ่งที่ตนพยายามให้เป็นความจริงเสียมากกว่า ด้วยเหตุผลที่ว่า ความจริงนั้นต้องมีตัวตน จับต้องสัมผัส ต้องมีสิ่งที่พิสูจน์และมีความหมายและสามารถให้คำจำกัดความให้ได้ ถึงจะเรียกสิ่งเหล่านั้นว่า “ความจริง” แต่ในทางกลับกันสำหรับผู้ที่ตระหนักชัดแล้วจึงเรียกสิ่งนั้นว่า “ความจริงที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นความเป็นจริง”
จึงไม่แปลกอะไรที่จะเห็นได้ว่า มนุษย์เรามีความคิดที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งนั่นอาจเป็นข้อพิสูจน์ให้เห็นได้อย่างหนึ่งว่า สิ่งที่แต่ละคนเชื่อหรือได้รับรู้มาเป็นความเป็นจริงสำหรับเขาเหล่านั้น และการที่จะทำให้เขาเหล่านั้นรับรู้และลืมตาต่อความเป็นจริงแท้โดยธรรมชาติก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนกัน จึงเป็นไปได้ยากและมีน้อยคนนักที่จะตระหนักชัดถึงความเป็นจริงที่แท้นี้โดยใช้ระยะเวลาอันสั้น เพราะเหตุที่ว่าทุกคนมัวแต่หลับตาหาความเป็นจริงตามจินตนาการณ์ที่สร้างขึ้นมาด้วยความอยากให้เป็นความจริง หรือจะอธิบายง่ายๆว่า เหมือนกำลังฝันแต่ไม่รู้ตัวว่าฝันอยู่ ละเมออยู่ แล้วก็เลยไปจริงจังกับความฝัน ตามติด ติดพัน ผูกพันจนฝันกันข้ามชาติ
ดั้งนั้นคนที่ปฏิบัติธรรมนั้นก็เหมือนควานหาการตื่นออกจากความหลงในภาวะที่ละเมออยู่นั่นเอง แล้วหวังว่าวันหนึ่งจะตื่นออกได้จากการวุ่นวายอยู่กับสภาวะธรรมที่ตนรับรู้ในฝันนั้นๆ (ซึ่งเป็นการรับรู้สภาวะธรรมในภาวะหลับไหลจากความหลงนั่นเอง) แล้วมันจะเป็นไปได้ยังไง แบบนี้เรียกว่าละเมอหลงในธรรม

ส่วนคนที่ไม่ได้ปฏิบัติธรรมนั่นก็มีสองประเภทคือเขาตื่นจากความหลงโดยธรรมชาติของเขาอยู่แล้ว หรืออีกประเภทที่เป็นส่วนใหญ่คือคนละเมอหลงโลก ซึ่งบางส่วนก็ว่าตัวเราอยู่ในความฝันก็เลยสาละวนหาทางออกกันใหญ่ แต่ถ้ายิ่งไปทำ ไปปฏิบัติก็จะยิ่งติดอยู่ในความฝัน เพราะกายนี้ใจนี้ก็เป็นเพียงร่างชั่วคราวที่มีขึ้นมาเพื่อใช้งานในชั่วขณะหนึ่งของชีวิตเท่านั้น แล้วดันไปจริงจังกับมันจนยืดยาว
แต่ทั้งละเมอหลงในโลกหรือหลงในธรรมมันก็ละเมออยู่ในความฝันเหมือนกัน ไม่มีความแตกต่าง เพราะถ้ายังมีความแตกต่างระหว่างดีกับเลว ถูกกับผิด มันก็ยังมีตัณหาเหมือนเดิม จะออกจากฝันได้ก็เลิกใส่ใจทุกสภาวะที่เกิดขึ้นในฝัน รู้หรือไม่รู้ก็ไม่มี คือยังไงถ้ามันจะรู้ก็รู้ของมันอยู่เองแล้ว ถึงไม่มีเจตนาเข้าไปรู้ก็ตาม แล้วเราจะค่อยๆตื่นออกจากฝันนั้นไปเอง ซึ่งก็แล้วแต่สภาวะของแต่ละคนด้วยว่าหลับลึกขนาดไหน ฝันจริงจังเท่าใด หรือถูกความฝันหลอกหลอนจนบังไปหมด บางคนสภาวะในการหลับละเมอนั้นเป็นไปเพียงตื้นๆ พอได้ฟังได้รู้สัจธรรมก็สะดุ้งตื่นออกทันที อย่างที่เรียกว่าบรรลุฉับพลัน บางคนเจอบังเยอะหน่อยก็อาจจะค่อยๆรู้สึกตัว สะลึมสะลือตื่นขึ้นมาแบบงงๆก็มี ทั้งหมดนี้เพียงแต่ให้เรา “ปลง” คือไม่เล่นเกมไปกับมัน ไม่ต้องไปสาละวนกับการปฏิบัติเพื่อตื่นออกจากความฝัน เพราะกายและใจนี้ก็เป็นเพียงเครื่องมือของเกมความฝัน เพื่อที่จะสืบต่อไปบนเกมฝันนี้เท่านั้น ยิ่งไปยุ่งกับมัน มันก็จะมีฝันอื่นๆรอเราอยู่มากขึ้นเท่านั้นเอง
นี่แหล่ะคือความเป็นจริงแท้โดยธรรมชาติ และเมื่อบุคคลใดสามารถที่จะเข้าใจได้ว่า โดยแท้จริงแล้วธรรมชาติไม่ได้สร้างอะไรมาเพื่อให้แตกต่าง และเข้าใจว่าสิ่งที่แตกต่างคือความเข้าใจของตน นั้นแหล่ะ ท่านได้เข้าใจเนื้อหาของความเป็นจริงโดยธรรมชาติล้วนๆแล้ว

บทความนี้ เขียนโดย นางสาวอัญชลี พรมน้อย (ลูกศิษย์)







จะทิ้งหรือไม่ทิ้งตัวรู้
จะสละหรือไม่สละ
จะวางหรือไม่วาง
จะบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์
ก็ไม่เกี่ยวกับธรรมชาติแห่งพุทธะ








บทที่ 65 กรอบแห่งมนุษยชาติ
“มนุษย์” จัดว่าเป็นสัตว์สังคมชนิดหนึ่งที่มีรูปแบบการอยู่ร่วมกันในเชิงปฏิสัมพันธ์ ก็ด้วยลักษณะของความเป็นมนุษย์นั่นเองที่มีความคิดซับซ้อนทั้งในเชิงแง่บวกและแง่ลบ เพราะฉะนั้นการอยู่ร่วมกันในสังคมจึงเกิดกฎกติกาขึ้นมาเพื่อเป็นการตีกรอบ ซึ่งมันเป็นแนวทางให้แต่ละคนได้เดินตามทั้งนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งความผาสุกในการอยู่ร่วมกันทางสังคม “กรอบ” ที่ช่วยกันตั้งขึ้นซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกันนั้นเป็นความเห็นร่วมกันไปในทางที่ดี เช่น จารีตประเพณี วัฒนธรรม ศีลธรรม กฎหมาย และ ศาสนา การดำรงชีวิตมนุษย์ในฐานะสัตว์สังคมจึงเป็นวิถีชีวิตที่อยู่ภายใต้กรอบตลอดมา เป็นการดำรงชีวิตในความหมายแห่งการมีเรามีเขามีสิ่งต่างๆในสังคมโดยมีกรอบแห่งความดีชี้นำ
แต่เนื้อหาธรรมชาติดั้งเดิมแท้ มันคือเนื้อหาแห่งความไร้ซึ่งความเป็นตัวเป็นตน มันคือความว่างเปล่าของมันอยู่อย่างนั้น ธรรมชาติดั้งเดิมแท้จึงไม่มีกฎกติกาใดๆมาเป็นกรอบ ธรรมชาติดั้งเดิมแท้นั้น มันก้าวไปกว่ากรอบทางศาสนาและความเชื่อใดๆ ที่มนุษยชาติเคยรู้จัก มันก้าวหน้าพ้นแม้กระทั้งศิลธรรมอันดีอันบริสุทธิ์ของมนุษย์ ในเนื้อหาธรรมชาติมันมีแต่ความว่างเปล่ามันไม่มีกรอบ เพราะฉะนั้น เราในฐานะนักปฏิบัติทั้งหลายขอให้ทำความเข้าใจในเรื่อง “กรอบ” ให้ดี การที่เราจะตกผลึกหรือตระหนักชัดและจะซึมทราบกลายเป็นเนื้อหาเดียวกันกับธรรมชาติดั้งเดิมแท้ได้นั้น ขอให้เรามีความมั่นใจว่าธรรมชาติดั้งเดิมแท้มันไม่ใช่เนื้อหาที่ต้องอยู่ในกรอบ มันเป็นการก้าวพ้นกรอบแห่งวิถีจิตวิญญาณในความเป็นมนุษย์ไปแล้ว มันปลอดจากความรู้สึกดีหรือชั่ว ความรู้สึกที่ดีมากๆและความรู้สึกที่ชั่วมากๆมันย่อมไม่ปรากฎในเนื้อหาธรรมชาติดั้งเดิมแท้ได้เลย มันอาจจะเป็นความกระอักกระอ่วนใจเป็นความกังวลใจและไม่มั่นใจในการที่เราจะเป็นเนื้อหาเดียวกันแบบกลมกลืนตามธรรมชาติแห่งความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่อย่างนั้นโดยปราศจากความรู้สึกที่ต้องพึ่งพิงเกี่ยวข้องกับศีลธรรมกฎระเบียบ วัฒนธรรม รูปแบบแห่งศาสนา หรือ ข้อวัตรแห่งการปฏิบัติและผลแห่งการปฏิบัติซึ่งเป็นกรอบที่เราเคยยึดว่ามันเป็นหนทางหรือแนวทางที่จะทำให้เราหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงได้ เพราะความที่เข้าใจผิดเองว่าเราต้องปฏิบัติอะไรสักอย่างเพื่อให้มันดูดีในความรู้สึกของเราที่เราเรียกมันว่า “ความบริสุทธิ์ของจิต” อันเกิดขึ้นจากการปฏิบัติตาม “ความเกิดขึ้นดับไปเป็นธรรมดา” แต่ในความหมายแห่งธรรมชาติดั้งเดิมแท้ การที่เราคิดว่าเราต้องปฏิบัติธรรมและจะต้องมีผลแห่งการปฏิบัติเกิดขึ้น ซึ่งมันเป็น “ภาพแห่งความบริสุทธิ์โดยรวม” อันเกิดจากการที่เรากำลังเดินบนมรรคาแห่งความหลุดพ้น สิ่งต่างๆเหล่านี้มันก็ยังล้วนแต่เป็นกรอบเช่นกัน ซึ่งเรียกมันว่า“กรอบปฏิบัติแห่งความเกิดขึ้นและดับไปเป็นธรรมดา” เป็นการเข้าไปติดกรอบในวิธีการปฏิบัติ
การที่เราจะตระหนักชัดและเป็นเนื้อหาเดียวกันกับธรรมชาติดั้งเดิมแท้ มันจึงเป็นการที่เราจะต้องสลัดออกซึ่งกรอบต่างๆเหล่านี้ได้อย่างเด็ดขาดโดยที่ไม่ต้องมีความรู้สึกกังวลใดๆทั้งสิ้นที่จะต้องมาแอบอิง “กรอบ” เพื่อให้ธรรมชาติดั้งเดิมแท้เกิดขึ้น เนื้อหาธรรมชาติดั้งเดิมแท้มันเป็นความอิสระโดยตัวมันเอง ไม่ได้อาศัยเหตุและปัจจัยจากสิ่งใดๆกรอบใดๆเพื่อมาเอื้อให้เนื้อหาธรรมชาติมันปรากฎขึ้นเลย ธรรมชาติดั้งเดิมแท้มันดำรงเนื้อหาแห่งความอิสระที่เป็นความว่างเปล่าอย่างนี้มานานแสนนานโดยไม่มีจุดเริ่มต้นของมันด้วยซ้ำ มันมิใช่เป็นการก้าวพ้นกรอบ แต่มันเป็นสิ่งที่ “ไม่เคยมีกรอบ” มาก่อนต่างหาก เพราะฉะนั้นการที่ได้ซึมทราบเป็นเนื้อหาเดียวกันกับมันแบบกลมกลืนไม่มีข้อแตกต่างในธรรมชาติดั้งเดิมแท้ มันจึงเป็นความกลมกลืนโดยที่ไม่มีความรู้สึกถึงความมีตัวตนแห่งเราที่ต้องก้าวพ้นกรอบการปฏิบัติให้ได้แม้แต่สักนิดเดียว มันเป็นความกลมกลืนในความว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนแบบอิสระเด็ดขาดอยู่อย่างนั้น โดยไม่ต้องรู้สึกว่า “จะต้องก้าวพ้นอะไรเพื่ออะไรอีก”








พระพุทธเจ้าได้ประกาศธรรมทั้งปวง
โดยมั่งหวังที่จะขจัดเสียซึ่งลู่ทาง
ทุก ๆ ชนิด แห่งความคิดปรุงแต่ง
และพระพุทธองค์ก็มุ่งกำจัด
ลู่ทางในการปรุงแต่งของพวกเธอ
ที่เกาะยึดด้วยหลักเกณฑ์แห่งการปฏิบัติต่างๆ ด้วย







บทที่ 66 บัวสี่เหล่า
ด้วยความที่กลุ่มกรรมวิสัยของแต่ละกลุ่มมีดวงจิตผูกพันกันมาในเชิงกระทำกรรมต่อกันทั้งในด้านบวกและด้านลบ เพราะฉะนั้นเมื่อถึงเวลาที่บรมมหาโพธิสัตว์ได้ลงมาจุติเพื่อตรัสรู้และประกาศสัจธรรมในแต่ละยุค ด้วยผลกรรมที่ได้ทำต่อกันมานั้นมันหลากหลายและซับซ้อนจึงทำให้รอบบารมีของแต่ละดวงไม่เท่ากัน ด้วยเหตุผลนี้เมื่อองค์พุทธโคดมได้ตัดสินใจประกาศแสดงธรรมในยุคนี้ ท่านจึงมีพระมหากรุณาธิคุณที่จะทรงแสดงธรรมเพื่อเอื้อแก่หมูบรรดาสรรพสัตว์น้อยใหญ่ ท่านเลือกที่จะทรงแสดงธรรมแตกต่างกันไปให้เหมาะสมกับภูมิปัญญาบารมีของแต่ละดวงจิต เพื่อให้ทุกดวงจิตได้รับประโยชน์สูงสุดจากการที่ท่านได้ลงมาจุติตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในห้วงกาลเวลาแห่งกัปป์นี้
บัวเหล่าที่ 1 บัวใต้โคลนตม
เปรียบเสมือนกลุ่มดวงจิตที่ไม่มีความละอายเกรงกลัวต่อบาปชอบเบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นด้วย กาย วาจา ใจ อยู่เป็นนิจ อีกทั้งเป็นกลุ่มดวงจิตที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่เชื่อในกรรมคือการกระทำและผลแห่งกรรมวิบากที่จะได้รับ ดวงจิตเหล่านี้ได้แต่แสวงหาความสุขแบบทางโลกๆไปวันๆเท่านั้น เป็นดวงจิตที่ขาดการพัฒนาทางด้านจิตใจมาเป็นเวลายาวนานหลายภพหลายชาติแล้ว
เมื่อพระพุทธองค์เสด็จไปในที่ต่างๆ และมีวาระกรรมที่ต้องได้พบปะกับพวกบัวเหล่านี้ หากพระองค์ทรงมีพระเมตตาพระองค์ก็จะทรงตักเตือนและตรัสธรรมอันเป็นเหตุให้พวกบัวเหล่านี้สะดุ้งสะเทือนกลัวถึงกรรมวิบากที่พวกตนจักได้รับ เช่น พระองค์จะตรัสถึงผลแห่งอกุศลกรรมที่หากได้ทำไปแล้วจะนำพาไปสู่นรกภูมิเป็นต้น แต่ถ้าหากบัวเหล่านี้ไม่รับฟังหรือเป็นบัวที่มีดวงจิตหยาบช้าเกินไป เมื่อพระพุทธองค์ได้พบเจอ พระพุทธองค์ก็จะทรงเป็นผู้นิ่งเฉยอยู่ โดยไม่ทรงตรัสธรรมใดๆ ทั้งสิ้น ท่านทรงปล่อยให้บัวเหล่านี้เวียนว่ายตายเกิดไปตามยถากรรมอันคือกรรมวิบากต่อไป

บัวเหล่าที่ 2 บัวใต้น้ำ
เปรียบเสมือนกลุ่มดวงจิตที่พอจะพัฒนาจิตตนเองได้บ้าง แต่รอบปัญญาบารมียังไม่เพียงพอที่จะเรียนรู้ทำความเข้าใจเพื่อที่จะตระหนักชัดถึง ความหมายแห่งทุกข์ เหตุแห่งการให้เกิดทุกข์ และความดับทุกข์ได้
เมื่อพระพุทธองค์เสด็จไปในที่ต่างๆ และมีวาระกรรมที่ต้องได้พบปะกับพวกบัวเหล่านี้ พระพุทธองค์จึงทรงมีความเมตตาที่จะสั่งสอนบัวเหล่านี้ให้รู้ถึงเรื่องกรรมที่ได้กระทำและผลแห่งกรรมที่จะได้รับจากการกระทำนั้นที่จะทำให้ไปเกิดในภพภูมิที่ดีและเลว ทั้งนี้เพื่อช่วยให้บัวเหล่านี้ให้มีทิฎฐิความเห็นที่ถูกต้องเป็นสัมมาทิฎฐิ หลุดพ้นจากมิจฉาทิฎฐิความเห็นผิดทั้งปวง ซึ่งเห็นว่าโลกนี้เที่ยงหรือขาดสูญ ซึ่งเป็นความเห็นผิดที่แพร่หลายในยุคนั้น และเมื่อบัวเหล่านี้มีรอบปัญญาบารมีไม่เพียงพอที่จะเรียนรู้เรื่องทุกข์ และความดับไปแห่งทุกข์ พระพุทธองค์จะทรงแสดงธรรมเพื่อสอนบัวเหล่านี้ให้รู้จักการอบรมจิตใจตนเอง “ ด้วยการสอนให้ปรุงแต่งจิต ” ไปในทิศทางที่ชอบอันเป็นกุศลจิต เช่นทรงสอนให้รักษาศิล 5 ทรงสอนให้สละทรัพย์เพื่อทำบุญบริจาค ทรงสอนให้ออกบวชเนกขัมมะเพื่อรักษาอุโบสถศิล ทรงสอนให้เลี้ยงดูบิดามารดาเชื่อฟังเคารพผู้ใหญ่ ทรงสอนให้เลือกคบหาบัณฑิตเป็นกัลยาณมิตร เหล่านี้เป็นต้น
บัวเหล่าที่ 3 บัวปริ่มน้ำ
เปรียบเสมือนกลุ่มดวงจิตที่มีรอบปัญญาบารมีมากพอที่จะเรียนรู้ทำความเข้าใจเพื่อจะตระหนักชัดถึง สภาพแห่งทุกข์ เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ และทุกข์ดับไปได้เพียงบางส่วน
เมื่อพระพุทธองค์เสด็จไปในที่ต่างๆ และมีวาระกรรมที่ต้องได้พบปะกับพวกบัวเหล่านี้ พระพุทธองค์จึงทรงมีความเมตตาที่จะสั่งสอนบัวเหล่านี้ให้รู้ถึงเรื่อง การเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ทั้ง 5 นั้นคือ ทุกข์ และทุกข์นั้นเองที่ทำให้ต้องไปเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฎฎ์ และ เพราะรอบปัญญาบารมีของบัวเหล่านี้ยังเห็นอยู่ด้วยโมหะความหลงว่า “ ยังมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นอยู่ ” พระพุทธองค์จึงทรงสอนชี้ให้เห็นว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่บัวเหล่านี้เห็นว่ามันเกิดขึ้นนั้น “ มันตั้งอยู่ได้ไม่นาน ” และเป็นธรรมดาธรรมชาติที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งนี้มันก็ล้วนดับไปโดยสภาพมันเอง ท่านทรงเพียงสอนให้บัวเหล่านี้คลายจากกำหนัดแห่งความเข้าไปยึดมั่นถือมั่นทั้งหลายเท่านั้น

บัวเหล่าที่ 4 บัวที่ชูช่อเหนือน้ำและกำลังที่จะบานกลีบออก
เปรียบเสมือนกลุ่มดวงจิตที่จะมีปัญญาบารมีมากเพียงพอแล้วที่จะพ้นทุกข์เป็นผู้หลุดพ้นในชาตินี้ได้
เมื่อพระพุทธองค์เสด็จไปในที่ต่างๆ และมีวาระกรรมที่ต้องได้พบปะกับพวกบัวเหล่านี้ พระพุทธองค์เพียงทรงตรัสธรรมแค่ว่า ทุกสรรพสิ่งมันย่อมไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่แล้ว มันคือความว่างเปล่าเป็นเช่นนั้นของมันเองอยู่อย่างนั้น สำหรับบัวเหล่านี้พระพุทธองค์จะไม่ทรงตรัสธรรมอะไรมาก เพราะบัวเหล่านี้มีปัญญามากพอมีความเป็นบัณฑิตมากพอที่จะพิจารณาและทำความเข้าใจในธรรมต่างๆ ด้วยปัญญาของตนเองได้ เพียงพระพุทธองค์ทรงตรัสธรรมซึ่งเป็น “ ธรรมอันคือธรรมชาติแห่งการปรุงแต่งไม่ได้โดยตัวมันเอง ” เพียงเท่านั้น บัวเหล่านี้ก็ได้ตระหนักชัดและสามารถซึมทราบกลายเป็นเนื่อหาเดียวกันกับความว่างเปล่าแห่งความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่อย่างนั้น ต่อหน้าพระพักตร์แห่งองค์พระตถาคตเจ้า








จะกี่ทัพพีๆก็รสชาติเดียวกัน
เสมอกันด้วยความอิ่มเอมในธรรมชาติแห่งพุทธธะนั้น
เพราะพุทธะไม่มีอันดับลดหลั่นมันเสมอกันหมด
ด้วยความเป็นเนื้อหาเดียวกันตลอดทุกอนูธรรมธาตุ









บทที่ 67 ความว่าง
ความว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่อย่างนั้นที่เป็นเนื้อหาของธรรมชาติดั้งเดิมแท้ ความว่างชนิดนี้มันคือลักษณะแห่งความหยุดคิด มันคือความที่ไม่ต้องคิด มันคือธรรมชาติแห่งความไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในเวทนาทั้งหลายอันก่อให้เกิดตัณหาอุปาทานเป็นความปรุงแต่งขึ้นมาเป็นความคิดขึ้นมาเป็นตัวเป็นตนขึ้นมา มันเป็นธรรมชาติแห่งความไม่ใช่ตัวตนไม่ใช่เราไม่ใช่เขา มันเป็นความว่างเปล่าอันเกิดจากพื้นฐานความเข้าใจในเรื่องขันธ์ 5 ในเรื่องการไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ทั้ง 5 ในเรื่องการที่ขันธ์ทั้ง 5 ดับไป ในเรื่องการที่ขันธ์ทั้ง 5 ดับสนิทไปไม่มีเหลือ ในเรื่องการสลัดออกแห่งขันธ์ทั้ง 5 ซึ่งเป็นการสลัดออกแห่งสังขตธาตุ ในเรื่องการที่มันทำหน้าที่ “เป็นความว่าง” ตามธรรมชาติโดยเนื้อหามันอยู่อย่างนั้น
เพราะฉะนั้น ความว่างเปล่าที่เป็นเนื้อหาแห่งธรรมชาติดั้งเดิมแท้มันจึงไม่ใช่ “ความว่างแบบไม่สนใจอะไรเลย” มันไม่ใช่ความว่างอันเกิดจากการการภาวนาโดยไม่ใส่ใจในสิ่งใด ไม่ใช่ความว่างแบบดับสูญซี่งเป็นมิจฉาทิฏฐิ ก็โดยข้อเท็จจริงนักปฏิบัติทั้งหลายย่อมถูกอวิชชาตัณหาอุปาทานครอบงำ เราทั้งหลายควรที่จะศึกษาถึงปัญหาคือลักษณะทุกข์ ลักษณะเหตุแห่งการทำให้เกิดทุกข์คือการเข้าไปยึดมั่นถือมั่น ลักษณะแห่งการออกจากกองทุกข์ได้อย่างสิ้นเชิงคือการสลัดออกซึ่งสังขตธาตุซึ่งเป็นธรรมธาตุแห่งการปรุงแต่งทั้งหลาย เมื่อทำความเข้าใจก็เกิดการตกผลึก ตระหนักชัดและซึมทราบเป็นเนื้อหาเดียวกันกับธรรมชาติดั้งเดิมแท้อยู่อย่างนั้น นั่นแหละคือหน้าตาแห่งความว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอันแท้จริง










ไม่มีพุทธะที่จะต้องแสวงหา
ไม่มีมรรคจะต้องปฏิบัติให้สำเร็จ
ไม่มีธรรมที่จะต้องเข้าถึง
พุทธะ ธรรม มรรค เป็นหนึ่งเดียว
แต่เป็นเพียงชื่อที่ว่างเปล่า
และไม่มีอยู่จริง








บทที่ 68 ไม่ต้องการทั้งเหตุและผล
ตัวธรรมชาติดั้งเดิมแท้นั้น มันคือเนื้อหาแสดงคุณสมบัติของมันในความไร้ซึ่งความเป็นตัวเป็นตนอยู่อย่างนั้น มันปราศจากทุกๆสิ่งโดยไม่มีใคร ไม่มีเขา ไม่มีเรา และไม่มีสิ่งใดๆเลยที่จะเข้าไปแทรกอยู่ได้ในเนื้อหามันได้เลย มันเป็นเนื้อหาที่ “ไม่ต้องการ”อาศัยอยู่บนสิ่งๆหนึ่งที่แสดงเหตุและผลกับมันอยู่ตลอดเวลา เพราะเนื้อหาธรรมชาติดั้งเดิมแท้มันเป็นเนื้อหาที่บริบูรณ์อยู่แล้วโดยตัวมันเอง เป็นความบริบูรณ์เต็มเปี่ยมชนิดที่ไม่ต้องการเหตุและผลเพื่อมาเติมเต็มในความบริบูรณ์แห่งมันได้อีกเลย
หากนักศึกษาทางฝั่งโน้น ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่เข้าใจว่า “เพียงแค่ลืมตาตื่นซึ่งเป็นความตระหนักชัดและซึมทราบเป็นเนื้อหาเดียวกันแบบกลมกลืนในธรรมชาติดั้งเดิมแท้ ” นักศึกษาเหล่านี้ก็จะเฝ้าเพียรพยายามหา “เหตุและผล” ในการที่จะเรียนรู้ว่าอะไรเป็นอะไร โดยอาศัยเหตุและผลต่างๆนาๆ เป็นพื้นฐานแห่งความเข้าใจผิดว่าสิ่งนั้นๆจะนำพาไปสู่ธรรมชาติดั้งเดิมแท้ได้ แม้กระทั้งเหตุผลที่ดูดีที่สุดเท่าที่นักศึกษาฝั่งทางโน้น “จะใช้ความพยายามกระเสือกกระสนค้นหาความรู้เหล่านี้มาประดับได้ ” และคิดว่า “มันใช่” บนความคิดเห็นที่เป็นเหตุและผลว่ามันถูกต้องและบนความเข้าใจผิดอีกเช่นเคยว่า มันคือ “แนวทาง” ด้วยการอิงเหตุผลที่ว่า “อวัยวะแห่งอายตนะทั้งหกเหล่านี้ ต่างก็เข้าคลุกคลีกันกับสิ่งที่จะทำให้มันเศร้าหมอง กล่าวคือ ตากับรูป หูกับเสียง จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส กายกับโผฏฐัพพะ และใจกับธรรมารมณ์ ในขณะแห่งการสัมผัสระหว่างอวัยวะเหล่านี้ กับวัตถุที่มันสัมผัส ย่อมเกิดความรู้สึกทางอารมณ์ขึ้นอีก ๖ ชนิด (คือเวทนา) ดังนั้น จึงทำให้เกิดมีสิ่งซึ่งเนื่องกันอยู่กับอายตนะขึ้นเป็น ๑๘ อย่างด้วยกัน” และถึงจะเรียนรู้เพิ่มเติมอีกว่า “สิ่งที่มันเศร้าหมองนั้นมันก็ย่อมไม่เที่ยงดับไปเป็นธรรมดา ”
เหตุและผลต่างๆเหล่านี้ข้างต้นก็เป็นเพียงแค่การปลดเปลื้องจากความมืดแห่งทิฏฐิทั้งหลายในระดับหนึ่งเท่านั้น แต่โดยตัวมันเองแห่ง “เหตุและผล” มันก็ยังเป็นสัมมาทิฏฐิซึ่งเป็นทิฏฐิธรรมแห่งเหตุและผลอันเป็นสังขตธาตุคือธรรมธาตุแห่งการปรุงแต่งในเหตุและผลขึ้นมาเท่านั่นเอง ซึ่งโดยตัวมันเองก็มีสภาพแห่งการเกิดขึ้นดับไป ซึ่งมันไม่ใช่เนื้อหาแห่งอสังขตธาตุ อันคือธรรมธาตุแห่งการไม่ปรุงแต่งซึ่งมันคือความว่างเปล่าของมันอยู่อย่างนั้น เป็นเนื้อหาแห่งความบริบูรณ์ของความว่างเปล่าซึ่งปราศจากตัวตน ซึ่งมันไม่ประกอบไปด้วยธรรมธาตุแห่งการเกิดขึ้นและดับไปชนิดที่เราเรียกว่า “เหตุและผล”
และเนื้อหาธรรมชาติดั้งเดิมแท้ มันก็ไม่ได้ประกอบไปด้วยอัตตาหรือสังขตธาตุชนิดเหตุและผลที่ว่า “เพียงแค่ลืมตาตื่นซึ่งเป็นความตระหนักชัดและเป็นเนื้อหาเดียวกันแบบกลมกลืนในธรรมชาติดั้งเดิมแท้ ” เช่นกัน ธรรมชาติดั้งเดิมแท้มันไม่ต้องการแม้กระทั้งเหตุและผลที่ว่า ใครจะมาตระหนักชัดในตัวมัน และใครจะมาซึมทราบกลายเป็นเนื้อหาเดียวกันแบบกลมกลืนกับมันได้
เพราะโดยแท้จริง ธรรมชาติดั้งเดิมแท้มันก็แสดงเนื้อหาแห่งความว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของมันอยู่อย่างนั้น เพียงเท่านั้นจริงๆ
















พระพุทธเจ้าที่แท้จริงนั้นไม่มีตัวตน
ธรรมะที่แท้จริงนั้นไม่มีรูปร่าง
แม้ว่าท่านอาจจะได้บรรลุถึง
สิ่งหนึ่งสิ่งใดในทางนั้นก็ตาม
มันก็มิใช่ธรรมชาติแห่งพุทธะที่แท้จริง








บทที่ 69 ไล่ตะครุบความสงบ
หากท่านเป็นนักปฏิบัติที่กำลังแสวงหาความสงบในลู่ทางความรู้ของท่านด้วยกำลังแห่งสติ สมาธิ และปัญญา ตามที่ท่านเข้าใจ ก็ขอให้พึงทำความเข้าใจไว้ว่าความสงบสุขที่ท่านกำลังแสวงหามันยังไม่ใช่ความสงบสุขที่แท้จริง ก็เพราะว่าท่านไม่เข้าใจเอาซะเลยว่าแท้ที่จริงมันไม่มีอะไรเลย ความเป็นจริงมันไม่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเลยที่จะเกิดขึ้นเป็นตัวเป็นตนได้มันมีแต่ความว่างเปล่าอยู่อย่างนั้น เมื่อท่านเข้าใจผิดไปเองว่ามีและความมีนั้นมันไม่เที่ยงดับไปเป็นธรรมดาตามความรู้ของท่าน และความดับไปแห่งความมีนี้เองคือความสงบตามที่ท่านเข้าใจและมุ่งมั่นเพื่อปฏิบัติแสวงหา ท่านจะเชื่อหรือไม่ว่าความสงบตามที่ท่านกำลังผจญอยู่มันจะทำให้ท่านต้องเฝ้าระวังมันเพื่อรักษาระดับความสงบของมันอยู่ตลอดเวลา เพราะมันคงจะมีอีกหลายมีตามความเข้าใจผิดที่มีอยู่ในใจท่านที่มันจะผุดขึ้นมาคอยหลอกหลอนให้ท่านเข้าไปรับรู้กับความดับของมัน ความสงบของท่านมันก็คงจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย เป็นความสงบบ้างไม่สงบบ้างสลับสับเปลี่ยนกันไป เป็นความสงบแบบขึ้นๆลงๆที่ท่านต้องเข้าไปไล่ตระครุบให้มันหยุดนิ่งตามที่ใจท่านต้องการ
แต่ความสงบที่แท้จริงมันคือธรรมชาติแห่งความว่างเปล่าอันไร้ตัวตนของมันอยู่อย่างนั้น มันเป็นความว่างเปล่าที่เสมอกันด้วยเนื้อหาแห่งความบริบูรณ์ตามธรรมชาติที่ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งที่จะพร่องไปแล้วกลายเป็นอัตตาตัวตนซึ่งเป็นการเข้าไปยึดมั่นถือมั่นจนก่อให้เกิดความทุกข์วุ่นวายไม่สงบตามมา มันเป็นธรรมชาติแห่งการเสมอกันด้วยความสงบสุขอย่างถาวรไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นไปได้ มันเป็นความสงบสุขอย่างแท้จริงโดยตัวมันเองโดยสภาพมันเอง โดยที่ไม่ต้องมีใครเข้าไปประคองไล่ตะครุบมันด้วยการเฝ้าระวังที่เต็มเปี่ยมไปด้วยกำลังแห่ง สติ สมาธิ และปัญญา อันเกิดจากความกลัวพลั้งเผลอที่จะเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง








การเข้าไปปฏิบัติมันไม่ใช่ธรรมชาติแห่งพุทธะ...หรอก
แต่มันเป็นจิตที่ปรุงแต่งในการปฏิบัติเพื่อแสวงหา
สิ่งที่เราคาดหวังในอนาคตที่เรียกมันว่าการหลุดพ้น
สิ่งที่เรามุ่งหวังบรรลุ...มันก็จะกลายเป็นเรื่องการบรรลัยไป
เพราะมันเป็นเพียงจิตที่ปรุงแต่งพุทธะให้เกิดขึ้น
ในมโนสำนึกของเรา...มันเป็นพุทธะที่มีตัวตนโผล่ขึ้นในจิตเรา
การปฏิบัติมันจึงเป็นเรื่อง "ใช้จิตหาจิต" ทั้งหมด







บทที่ 70 คำสอนเซนรุ่นแรก

เพียงแค่ลืมตาตื่น เพียงแค่ทำความเข้าใจเพื่อตระหนักชัด เพียงแค่ซึมทราบกลายเป็นเนื้อหาเดียวกับมัน เพียงแค่นี้จริงๆหรือ คำสอนเซน ใช่ มันมีเพียงเท่านี้ เท่าที่จะทำความเข้าใจในเนื้อหาธรรมให้กระจ่าง ไม่ติดขัดไม่ลังเลสงสัยในความหมายแห่งธรรม

ก็คราวนั้น อัญญาโกณฑัญญะ ก็มิได้ลุกขึ้นหนีจากพระพุทธองค์ หลังจากที่ได้ฟังธรรมจากพระโอษฐ์ เพื่อไปเดินจงกรม นั่งสมาธิ แต่พระพุทธองค์ทรงใช้วิธีชี้หนทาง เพื่อให้อัญญาโกณฑัญญะเข้าใจในความหมายของธรรมชาติ และเพื่อให้อัญญาโกณฑัญญะละทิ้งข้อวัตรเดิมๆ อันคือ อสัทธรรมของตน และให้หันหน้ามาเผชิญความเป็นจริงในธรรมอันคือธรรมชาติ

และก็มีเท่านี้จริงๆอีกเช่นกัน ในวันนั้น เมื่ออัญญาโกณฑัญญะเข้าใจในการเกิดขึ้นดับไปเป็นธรรมดา หนึ่งวันผ่านไป และก็มีเท่านี้จริงๆอีกเช่นกัน ในวันต่อมา เมื่ออัญญาโกณฑัญญะ ละทิ้งความเข้าใจ ที่ตนเข้าใจว่า ทุกสรรพสิ่งมันย่อมเกิดขึ้นดับไปเป็นธรรมดา เพราะอัญญาโกณฑัญญะได้ทำความเข้าใจเพิ่มเติม ให้มันตรงต่อสัจธรรมความเป็นจริง ในธรรมชาติดั้งเดิมแท้ ว่าแท้จริงแล้วมันไม่มีอะไรให้เกิดขึ้นดับไปเป็นธรรมดาได้เลย ว่าแท้จริงแล้วมันคงปรากฏแต่สภาพอันว่างเปล่า ไร้ตัวตนของมันอยู่เช่นนั้นมานานแสนนานแล้ว สมตามที่ตถาคตเจ้าตรัสสอนว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา อัญญาโกณฑัญญะใช้เวลาทำความเข้าใจ เพื่อที่จะได้ตระหนักชัดและซึมทราบกลายเป็นเนื้อหาเดียวกัน กับธรรมชาติดั้งเดิมแท้ เพียงแค่ 2 ราตรี เพียงเท่านี้จริงๆ สำหรับเรื่องราวที่เกิดขึ้นที่ป่าอิสิปตณมฤคทายวัน นี่คือ คำสอนเซนในรุ่นแรก ที่ครูสอนเซน ชื่อ พุทธโคดม

จะยุ่งยาก หลงโมหะไปในวิธีการปฏิบัติอันซับซ้อน ที่ถ่ายทอดคำสอนธรรมะกันมาแบบผิดๆ หลายต่อหลายรุ่นแล้วทำไม

ก็ในเมื่อคุณสามารถละทิ้ง ความคิดเห็นที่เป็นตัวเป็นตนแบบดิบๆของคุณ มาสู่ความเข้าใจในธรรมชาติว่า มีสิ่งหนึ่งแล้วสิ่งหนึ่งนั้น เกิดขึ้นดับไปเป็นธรรมดาได้ ด้วยความสามารถ ด้วยความเข้าใจของคุณเองได้ และ ก็ด้วยเหตุผลเดียวกัน คุณก็ต้องสามารถละทิ้งความเข้าใจในธรรมชาติที่ว่า มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นแล้วดับไปเป็นธรรมดานั้น มาสู่ความเข้าใจที่แท้จริง ซึ่งเป็นที่สุดของที่สุดแห่งความเป็นจริง ว่า แท้ที่จริงแล้วธรรมชาตินั้น ความดั้งเดิมแท้อันเป็นความแรกเริ่มเดิมทีของมัน มันคือความว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน อยู่อย่างนั้นมานานแสนนานแล้ว อันหาจุดเริ่มต้นและจุดจบของมันไม่ได้ เมื่อคุณละทิ้งภาวะธรรมอันเกิดจาก การตระหนักชัดและซึมทราบเป็นเนื้อหาเดียวกัน กับความเกิดขึ้นดับไปเป็นธรรมดา มาสู่ความเป็นจริงด้วยการตระหนักชัดว่า ทุกสรรพสิ่งมันย่อมไม่มี มันปรากฏแต่ธรรมชาติแห่งความว่างเปล่า ไร้ตัวตนของมันอยู่อย่างนั้น มันเป็นเช่นนั้นของมันเองอยู่อย่างนั้น และคุณก็ได้ซึมทราบเป็นเนื้อหาเดียวกับมัน

มันก็จบเพียงเท่านี้ จะไปทำอะไรให้มันหลงโมหะขึ้นมาอีก

นั่นแหละ เพียงแค่ลืมตาตื่น เพียงแค่ทำความเข้าใจเพื่อตระหนักชัด เพียงแค่ซึมทราบกลายเป็นเนื้อหาเดียวกับมัน เพียงแค่นี้จริงๆ คำสอนเซน







โอ๊ย...หลักเกณฑ์ทำไมเยอะไปหมด
กว่าจะทำให้เธอตระหนักเห็นในพุทธะ
มันเป็นหลักเกินไปแล้วต่างหาก
พุทธะไม่มีหลักเกณฑ์หรอก
มันเป็นสภาพเช่นนั้นของมันเองอยู่อย่างนั้น
โดยมิได้อาศัยหลักเกณฑ์ใดๆ







บทที่ 71 ล้างทิฏฐิทั้งปวง
โดยสภาพดั้งเดิมแท้แห่งธรรมชาตินั้นมันมิใช่ตัวใช่ตนเลย มันคือความว่างเปล่าของมันอยู่อย่างนั้น แต่ด้วยเพราะเหตุแห่งอวิชชาคือความไม่รู้มันได้พาก่อรูปขึ้นมาเป็นความคิดเป็นตัวเป็นตน ทำให้เราไม่รู้จักหน้าตาสภาพดั้งเดิมแท้แห่งธรรมชาติที่มันคงเนื้อหาของมันอยู่อย่างนั้นอันหาจุดเริ่มต้นไม่ได้
และด้วยสภาพความคิดอันคืออวิชชาความไม่รู้อันหลากหลายนี้เอง พระตถาคตเจ้าได้ตรัสไว้ว่ามันคือ “ทิฏฐิ” หรือ ความคิดเห็น ซึ่งพระพุทธองค์ได้แบ่งไว้เป็น 2 ประเภท คือ สัมมาทิฏฐิ และ มิจฉาทิฏฐิ ในส่วนของมิจฉาทิฏฐินั้นเป็นความคิดเห็นที่ไม่ตรงต่อความเป็นจริงแห่งเนื้อหากรรม ไม่ตรงต่อเนื้อหาอันคือสภาพทุกข์ ไม่ตรงต่อเนื้อหาที่เป็นความดับไปแห่งทุกข์ ส่วนสัมมาทิฏฐิเองนั้นเป็นความคิดเห็นที่ตรงต่อสัจธรรมในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่ใช่หน้าตาธรรมชาติดั้งเดิมแท้ เป็นความคิดเห็นในเรื่องทุกข์และการออกจากทุกข์
ครั้งเมื่อพระพุทธองค์ทรงย่างก้าวออกมาจากใต้โคนศรีมหาโพธิ์ นอกจากพระพุทธองค์จะทรงชี้สอนเรื่องธรรมชาติดั้งเดิมแท้แก่บรรดาหมู่เวไนยสัตว์ให้หลุดพ้นแล้ว พระพุทธองค์ยังทรงตรัสสอนเรื่องทิฏฐิซี่งเป็นเนื้อหากรรมและกลุ่มกรรม ที่แสดงเนื้อหาทิฏฐิที่นำทิฏฐิของกลุ่มพวกตนมาก่อตั้งในรูปแบบลัทธิและศาสนาของโพธิสัตว์แต่ละดวงที่ทำหน้าที่ตามรอบบารมีของตนต่อบริวารทั้งหลาย แม้กระทั้งในส่วนของการก่อรูปขึ้นมาเป็นศาสนาที่เรียกว่า “พระพุทธศาสนา” เองก็ตาม พระพุทธองค์ก็แสดงภูมิความรู้แห่งบรมมหาโพธิสัตว์ในฐานะ “พุทธวิสัย” ที่ท่านได้ตรัสรู้ซึ่งเป็นการรู้แจ้งในทุกส่วนแห่งเนื้อหากรรมเนื้อหาธรรมแล้วมาโปรดสอนเวไนยสัตว์ทุกหมู่เหล่าให้เข้าใจในเรื่องทิฏฐิต่างๆเหล่านี้ที่เป็นเหตุนำพาดวงจิตทั้งหลายได้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ และพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเพื่อชักจูงให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลายในยุคนั้นซึ่งมีกรรมเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธองค์ในฐานะบริวารของท่านมาสู่เส้นทางสัมมาทิฏฐิเพื่อให้เกิดความเข้าใจในธรรมที่ถูกต้อง ทั้งนี้เป็นพุทธประสงค์ที่จะให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลายได้เข้าใจในสภาพทิฏฐิต่างๆและสภาพความบีบคั้นที่ก่อให้เกิดทุกข์และเกิดเบื่อหน่ายในทิฏฐิซึ่งโดยเนื้อหามันคือสภาพแห่งความทุกข์ เมื่อพุทธศาสนิกชนเหล่านี้ “ล้างทิฏฐิ” ทั้งหมดของตนเองออกได้ ล้างทั้งในส่วนมิจฉาทิฏฐิและสัมมาทิฏฐิ เมื่อสลัดออกซึ่งทิฏฐิทั้งหลายได้จึงเป็นการตระหนักชัดและเป็นเนื้อหาเดียวกันกับธรรมชาติดั้งเดิมแท้ได้อย่างสิ้นเชิง

เพราะฉะนั้นตัวสภาพเนื้อหาธรรมชาติดั้งเดิมแท้เอง มันจึงเป็นสภาพที่ปลอดจากมิจฉาทิฏฐิและสัมมาทิฏฐิ มันจึงเป็นสภาพที่ปลอดจากรูปแบบแห่งพระพุทธศาสนาทั้งปวง มันจึงเป็นสภาพที่ปลอดจากธรรมในทุกระดับที่พระพุทธองค์ประกาศที่เป็นเนื้อหาแห่งสัมมาทิฏฐิ การล้างทิฏฐิทั้งปวงด้วยการสลัดออก จึงเป็นการกลับคืนสู่ธรรมชาติดั้งเดิมแท้ตามที่มันควรจะเป็น เป็นการกลับคืนสู่ “ความเป็นอิสระทั้งปวง” โดยไม่ถูกบีบคั้นจากทิฏฐิใดๆและไม่อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์หรือกรอบแห่งศาสนา














ถ้าหากคนผู้นั้น
มีชีวิตอยู่แค่ลมหายใจเฉพาะหน้าได้แล้ว
ไม่ว่าใครก็ไม่อาจมีอำนาจเหนือคนผู้นั้นได้
คำสอนแบบนี้ของ "เซน" จึงเหมาะกับ
ผู้ที่รักเสรีภาพเป็นที่สุดและเป็นอิสรชนที่สุด








บทที่ 72 แก่นแท้แห่งเซน (the core of Zen)
หลังจากที่พระพุทธองค์ทรงประกาศธรรมจนถึงวาระสุดท้ายและเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานใต้ต้นนางรังคู่นั้น เนื้อหาธรรมที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ทั้งหมดก็ถูกสืบทอดไปเป็นสายๆโดยแบ่งเป็นนิกายต่างๆ ก็มีอยู่นิกายหนึ่งที่โดดเด่นในเรื่องแนวคำสอนและการคุ้ยเขี่ยธรรม ก็คือ “นิกายเซน” หรือ ธยาณะ นิกายนี้ได้สืบทอดคำสอนสืบต่อกันมาแบบ “มีเอกลักษณ์” ซึ่งได้ส่งมอบวิธีสอนในเรื่องธรรมอันหลุดพ้นสู่คณาจารย์เป็นรุ่นๆ และเป็นการสืบทอดคำสอนหลักของพระพุทธองค์เพื่อชี้ทางไปสู่ความหลุดพ้นที่แท้จริง ผู้ที่ศึกษาธรรมะแบบเซนและผู้ที่เข้าถึงแก่นแท้แห่งเซน (the core of zen) ย่อมรู้ดีว่า คำสอนแบบเซน คือ คำสอนหลักที่พระพทธองค์ตรัสไว้เพื่อให้พ้นจากอาสวะกิเลสทั้งปวง เป็นผู้รู้ว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว แต่สำหรับผู้ที่ไม่เคยศึกษาเซนและสำหรับผู้ที่เคยศึกษาเซนมาบ้างแต่เข้าไม่ถึงแก่นแท้แห่งเซน ย่อมเดาไปต่างๆนาๆว่าคำสอนเซนเป็นคำสอนแนว “ปาหี่” บ้าง เป็นแนวแค่ความนึกคิดหรือเป็นเพียงความคิดคำนึงบ้าง หรือมองดูเซนมีคุณค่าขึ้นมามากกว่านั้นคือ คำสอนเซนนั้นเป็นคำสอนแนวปัญญาเป็นไปในลักษณะปัญญาวิมุตติซึ่งมันไม่ใช่เจโตวิมุตติบ้าง แต่ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ก็ล้วนเป็นการคาดเดาผิดทั้งสิ้น
ก็เพราะเหตุที่ว่า เจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติ มันเป็นคุณลักษณะอันหลากหลายที่ประกอบมาอันเป็นคุณสมบัติของดวงจิตต่างๆที่เข้ามาสู่เส้นทางธรรมเพื่อหลุดพ้น บางดวงจิตก็มีลักษณะชอบวิเคราะห์แยกแยะซึ่งเป็นคุณลักษณะเด่นในทางปัญญาซึ่งเป็นบาทฐานทางจิต และบางดวงจิตก็มีคุณลักษณะชอบเข้าไปเสวยอยู่ในภาวะจิตอันประณีตอันคือองค์ฌาณซึ่งเป็นคุณลักษณะเด่นในทางอำนาจจิต ซึ่งเป็นบาทฐานทางจิตเช่นกัน ซึ่งคุณลักษณะทั้งสองด้านเหล่านี้ก็ล้วนเป็นแค่ “คุณสมบัติขั้นพื้นฐาน”เท่านั้นที่จะนำไปสู่การเรียนรู้ซึ่งเป็นธรรมหลักใหญ่อันนำไปสู่เส้นทางแห่งความหลุดพ้น ธรรมอันคือเนื้อหาหลักประการแรก ที่พระพุทธองค์ทรงสอนเหล่าสาวกทุกดวงจิตในยุคนั้นไม่ว่าดวงจิตเหล่านั้นจะมีคุณสมบัติทางด้านเจโตวิมุตติหรือปัญญาวิมุตติก็ตาม คือ “ความดับไปเป็นธรรมดาตามสภาพธรรมชาติ”
ก็ครั้งในสมัยพุทธกาล พระมหาโมคคัลนะ นอกจากเป็นอัครสาวกเบื้องขวาแห่งกองทัพธรรมพุทธโคดมแล้ว ท่านเองก็ถูกยกขึ้นในฐานะเป็นอัครสาวกที่เลิศทางด้านฤทธิ์ ซึ่งลักษณะดวงจิตของท่านเป็นลักษณะที่ชอบเข้าไปเสวยอยู่ในภาวะจิตอันประณีตในองค์ฌาน แต่ถึงแม้คุณลักษณะจิตอันเป็นบาทฐานของพระโมคคัลลานะ จะหลุดพ้นในลักษณะ “เจโตวิมุตติ” ตามที่ฝ่ายเถรวาทเรียก ยามเวลาที่พระพุทธองค์ทรงตรัสธรรมเพื่อชี้ทางให้พระโมคคัลลานะไปสู่เส้นทางอันหลุดพ้น พระพุทธองค์ก็ทรงตรัสธรรมอันเป็นเนื้อหาเดียวกันกับธรรมที่พระพุทธองค์ทรงตรัสเพื่อชี้ทางหลุดพ้นให้กับดวงจิตที่ซึ่งมีคุณลักษณะหลุดพ้นแบบ “ปัญญาวิมุตติ” ด้วยเช่นกัน ธรรมที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนพระโมคคัลลานะ คือ
“ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เมื่อได้สดับว่าธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น ก็ควรกำหนดธรรมเหล่านั้น ในยามเมื่อเสวยเวทนา อันเป็นสุขหรือทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่ง และให้พิจารณาดังปัญญา อันประกอบด้วยความหน่าย ความดับ และความไม่ยึดมั่น จิตก็จะพ้นจากอาสวกิเลส เป็นผู้รู้ว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว ” เฉกเช่นเดียวกันกับฝ่ายพระสารีบุตร ผู้มีลักษณะจิตไปในทางชอบวิเคราะห์แยกแยะ ซึ่งเป็นภิกษุผู้เลิศทางด้านปัญญา พระสารีบุตรนั้นนั่งถวายอยู่งานพัด ณ เบื้องพระปฤษฎางค์ เพียงแค่ได้ยินพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสการสอนธรรมแก่ ทีฆนขปริพาชก ว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดาสิ่งทั้งหมดนี้มีความดับไปเป็นธรรมดา ก็ทำให้พระสารีบุตรพ้นไปจากอาสวะกิเลสทั้งปวงอีกเช่นกัน ซึ่งธรรมที่พระพุทธองค์ทรงตรัสเพื่อชี้นำไปสู่ความหลุดพ้นทั้งในฝ่ายเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติ เป็นการตรัสธรรมชนิดเดียวกันเนื้อหาเหมือนกัน ก็คือ “ความแปรปรวนไป ความสิ้นไป ความดับไป เป็นธรรมดาตามสภาพธรรมชาติแห่งขันธ์ทั้ง 5 ”
แต่ “แก่นแท้แห่งเซน” ซึ่งเป็นคำสอนแบบเซนนั้น ก็คือธรรมอันเป็นเนื้อหาหลักที่พระพุทธองค์ตรัสเพื่อ “เอื้อให้ทุกสาย” ไม่ว่าจะเป็น สายเจโตวิมุตติหรือสายปัญญาวิมุตติ ต้องมาเรียนรู้ทำความเข้าใจเพื่อตัดอาสวะกิเลสได้โดยเด็ดขาด โดยทางเซนก็เดินตามคำสอนของพระพุทธองค์ทุกฝีก้าว คำสอนแบบเซนเน้นที่จะสอนเนื้อหาธรรมที่เป็นโครงสร้างใหญ่ๆซึ่งเป็นเนื้อหาหลัก โดยแบ่งเนื้อหาธรรมออกเป็น 2 ลักษณะใหญ่ คือ สังขตธาตุและอสังขตธาตุ ตามที่พระพุทธองค์ตรัสไว้
ในส่วนของสังขตธาตุนั้น ทางคำสอนเซนชี้ให้เห็นว่าการที่พระพุทธองค์ตรัสสอนเรื่องความเกิดขึ้นดับไปเป็นธรรมดาตามสภาพธรรมชาตินั้นเป็นการสอนเพื่อไม่ให้เข้าไปยึดมั่นถือมั่น เพื่อบรรเทาพฤติกรรมทางจิตที่ชอบปรุงแต่งในลักษณะต่างๆ เมื่อไม่เข้าไปยึดพฤติกรรมทางจิตเหล่านี้ก็จะลดน้อยถอยลง เป็นอาการที่พระพุทธองค์ทรงตรัสเรียกว่า “การคลายกำหนัด” เป็นการคลายจากอาการเข้าไปยึดเข้าไปปรุงแต่งเป็นจิตเกิดขึ้น แต่ธรรมชนิดนี้ซึ่งเป็นสังขตธาตุนั้นก็ล้วนแต่เป็นแค่การบรรเทา เป็นการลดพฤติกรรม ที่เข้าไปยึดเท่านั้น แต่ยังไม่ใช่เป็นการตัดโดยเด็ดขาดซึ่งอาการ การปรุงแต่ง ซึ่งทางคณาจารย์เซนจะสอนลูกศิษย์โดยชี้ให้เห็นว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวงถึงแม้จะเป็นธรรมอันละเอียดประณีตปานใดที่อยู่ภายใต้คำว่า “สัมมาทิฏฐิ” ธรรมเหล่านี้ก็ล้วนแต่เป็นธรรมสังขตธาตุ ซึ่งเป็นลักษณะการปรุงแต่งไปในทาง “ธรรมอันประณีตแห่งสัมมาทิฏฐิทั้งหลายเกิดขึ้น ธรรมอันประณีตแห่งสัมมาทิฏฐิทั้งหลายแปรปรวนตั้งอยู่ได้ไม่นาน และธรรมอันประณีตแห่งสัมมาทิฏฐิทั้งหลายล้วนดับไปเป็นธรรมดาตามสภาพธรรมชาติ” ซึ่งถึงแม้จะเป็นการเกิดขึ้นดับไปมันก็ยังเห็นธรรมบนพื้นฐานความเข้าใจว่า ยังมีตัวมีตนอยู่ ถึงแม้จะทำความเพียรพยายามสักปานใดด้วยการตระหนักชัดและซึมทราบเป็นเนื้อหาเดียวกันกับสิ่งที่เกิดขึ้นดับไป ความเพียรพยายามนั้นมันก็ก่อให้เกิดผลแค่ว่า พฤติกรรมแห่งการเข้าไปยึดมั่นถือมั่นมันได้เบาบางไปมากๆแล้ว “มันก็ยังเป็นเพียงแค่” การที่ได้เบาบางไปมากๆแล้วเท่านั้น แต่มันยังมิใช่การตัดได้โดยเด็ดขาด มันก็ยังปรากฏ “ซากแห่งอัตตา” ที่จะก่อให้เกิดอาการเกิดขึ้นดับไปได้อีกอยู่ดี ทางคณาจารย์เซนจึงมองว่าเป็นการเสียเวลาเปล่าที่จะดำเนินเนื้อหาการปฏิบัติบนเส้นทางสัมมาทิฏฐิซึ่งเป็นสังขตธาตุตรงนั้น ทางคณาจารย์เซนทั้งหลายจึงเพียง “เฝ้าสอน” บรรดาลูกศิษย์ตัวเองให้รู้จักแต่หน้าตาธรรมชาติดั้งเดิมแท้ซึ่งเป็นลักษณะแห่งอสังขตธาตุ ซึ่งเป็นเนื้อหาธรรมอันเด็ดขาดจากการปรุงแต่งได้ทั้งปวง เป็นการสอนชี้นำอยู่แค่เพียงตรงนี้เท่านั้น

เพราะฉะนั้นเนื้อหาธรรมที่เป็นคำสอนเซน จึงเป็นการไล่เรียงถึง “เหตุและผล” ที่พระพุทธองค์ได้ตรัสธรรมไว้ กล่าวคือ
1.พระพุทธองค์ทรงชี้ให้เห็นถึง ความเกิดขึ้นดับไปแห่งธรรมทั้งหลาย และทรงชี้ให้เห็นว่านี่คือ ความคลายกำหนัด
2.พระพุทธองค์ก็ทรงชี้ต่อไปอีกว่า ธรรมที่เกิดขึ้นและดับไปนั้น มันคือสังขตธาตุเป็นธาตุแห่งการปรุงแต่ง ซึ่งพระพุทธองค์ทรงแนะนำให้ “สลัดออก” ซึ่งธรรมเหล่านี้ เพราะพระพุทธองค์ทรงชี้ว่ายังมีธรรมที่ปรากฎและเป็นที่สิ้นสุดแห่งธรรมอันมีเนื้อหาซึ่งเป็นธรรมชาติอันปรุงแต่งไม่ได้แล้ว ซึ่งนั่นก็คือ พระนิพพาน ซึ่งทางเซน เรียกมันว่า “ธรรมชาติดั้งเดิมแท้” นั่นเอง
ด้วยเหตุผลนี้ คณาจารย์ทางฝ่ายเซนทุกรุ่นจึงเน้นเฝ้าสอนให้นักศึกษาทางฝั่งโน้น “สลัดออก” ซึ่งสังขตธาตุทั้งปวง ในทุกๆแง่ ในทุกๆมุมมองแห่งความเป็นสังขตธาตุ ยกตัวอย่างเช่น จิตที่ปรุงแต่งเพื่อรอคอยความหลุดพ้น จิตที่ปรุงแต่งว่าหลุดพ้นแล้ว ทั้งนี้เพื่อที่จะให้นักศึกษาทางฝั่งโน้นได้ “ตกผลึกอย่างแท้จริง” ว่าธรรมทั้งหลายทั้งปวงแห่งสัมมาทิฏฐิและวิธีปฏิบัติทั้งหลายซึ่งเป็นไปในทางเกิดขึ้นและดับไปนั้นมันก็ล้วนเป็นเรื่องแห่งสังขตธาตุซึ่งต้องสลัดออก ทั้งนี้เพื่อที่จะได้ตระหนักชัดและกลายเป็นเนื้อหาเดียวกันแบบกลมกลืนกับ “ธรรมชาติดั้งเดิมแท้” ซึ่ง มันคือเนื้อหาแห่งความว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่อย่างนั้น
ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นด้วยประการทั้งปวง คำสอนแบบเซนซึ่งเป็นแก่นแท้นั้น มันจึงเป็นธรรมที่ประกอบไปด้วยเหตุและผลซึ่งเป็นไปตามที่พระพุทธองค์ตรัสทุกประการ และมันก็มิใช่คำสอนที่เป็นการหลุดพ้นแบบปัญญาวิมุตติ แต่คำสอนแบบเซนเป็นคำสอนซึ่งผู้ที่จะหลุดพ้นทั้งในแนวเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติทุกๆดวงจิตในขอบข่ายแห่งการจุติในจักวาลใบนี้ ย่อมจะต้องมาศึกษาคำสอนแบบเซนเพื่อปรับไปสู่ความหลุดพ้นทั้งปวง เพราะเซนคือคำสอนที่มุ่งให้ตระหนักชัดและซึมทราบเป็นเนื้อหาเดียวกันกับ “ธรรมชาติดั้งเดิมแท้” ซึ่งคือการตัดได้โดยเด็ดขาดจากการปรุงแต่งทั้งปวง ซึ่งมันคือเนื้อหาแห่งพระนิพพานที่พระพุทธองค์ตรัสไว้นั่นเอง นี่คือ “เซน”
























ความขยันอย่างกระตือรือร้น
ที่มีรูปแห่งการประสบความสำเร็จอย่างสมบูรณ์ถึงที่สุดนั้น
คือความที่ความรู้สึกแตกต่างกันเป็นคู่
เช่นว่า “กายของฉัน” “ใจของฉัน” เป็นต้น
ได้หมดไปจากใจของพวกเธอโดยสิ้นเชิง นั่นเอง








บทที่ 73 หลักเกณฑ์ซับซ้อน
เมื่อพูดถึงการปฏิบัติ นัก ปะ-ติ-บัด ทั้งหลายก็จะฉายภาพที่มีอยู่ในหัวอันคือข้อมูลในเส้นสมองออกมาเป็นฉากๆ ซึ่งมันคือหลักเกณฑ์ต่างๆมากมายที่พวกเขาเหล่านี้ได้ขยันขวนขวายศึกษามาไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ อริยสัจจ์ทั้ง 4 เรื่องอินทรีย์แห่งธรรมต่างๆไม่ว่าจะเป็น สติ สมาธิ ปัญญา และพวกเขาเหล่านี้ก็ยังมีความเข้าใจอีกว่า ธรรมตัวนี้มีความเกี่ยวข้องกับธรรมตัวนั้นอย่างไร ซึ่งมันเต็มไปด้วยเหตุและผลในเชิงตรรกะที่มีความเป็นไปได้ในความเข้าใจของพวกเขาเอง
แต่ในความเป็นจริง ธรรมชาติแห่งพุทธะมันไม่มีหลักเกณฑ์อะไรเลยให้ซับซ้อนยุ่งยาก ถ้าหากจะกล่าวว่ามีหลักเกณฑ์ก็โดยสภาพของธรรมชาติแห่งพุทธะนั่นแหละคือหลักเกณฑ์ ความที่มันคือธรรมชาติแห่งความว่างเปล่าที่เป็นสภาวะโดยตัวมันเอง มันจึงมิได้เกิดขึ้นโดยอาศัยหลักเกณฑ์ใดๆ หลักเกณฑ์ต่างๆที่ตถาคตเจ้าตรัสมาในพระไตรปิฎกถึง 84,000 พระธรรมขันธ์นั้น มันก็เป็นเพียงหลักเกณฑ์สำหรับคนที่ไม่เข้าใจและไม่สามารถซึมทราบธรรมชาติแห่งพุทธะได้ พวกเขามัวแต่เล็งถึงความมีความเป็นและก็พยายามที่จะใส่ความมุ่งมั่นเพื่อที่จะเอาความมีความเป็นเหล่านี้ออกไปจากหัวจิตหัวใจของพวกเขา เมื่อพวกเขาตั้งต้นว่า “มี” มันก็มิใช่หนทางที่จะซึมทราบตระหนักชัดในธรรมชาติแห่งพุทธะได้เลย เพราะพุทธะนั้นโดยธรรมชาติมันก็ไม่มีตัวตนเสียแต่แรกเริ่มแล้ว เมื่อพวกเขาไม่เข้าใจความหมายเหล่านี้ ตถาคตเจ้าจึงตรัสถึงสิ่งที่พวกเขาเข้าใจในระดับปัญญาของพวกเขาเองที่เข้าใจผิด เมื่อพวกเขาตั้งต้นตั้งแต่แรกในการปฏิบัติธรรมว่ามีสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ ตถาคตจึงตรัสถึงการเข้าไปยึดมั่นถือมั่นด้วยความเข้าใจผิดตั้งแต่แรกเริ่มว่ามีอยู่นั้น ว่าความมีอยู่นั้นมันไม่เที่ยงดับไปเป็นธรรมดา การเกิดขึ้นดับไปเป็นธรรมดาเหล่านี้จึงเกิดหลักเกณฑ์ต่างๆเพื่อที่จะเข้าไปบรรเทาอาการเข้าใจผิดตั้งแต่แรกเริ่มว่ามี ให้ลดน้อยถอยลงไปด้วยการไม่เข้าไปยึดเพราะความเข้าใจว่าสิ่งๆนั้นมันดับไปเป็นธรรมดา
เรื่องของเรื่องมันก็มีอยู่แค่นี้ และเรื่องราวเหล่านี้ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่ซับซ้อนก็มิได้เกี่ยวข้องอะไรกับธรรมชาติที่มันไม่มีตั้งแต่แรกเริ่ม เมื่อมันไม่มีของมันอยู่อย่างนั้นอันเป็นความบริบูรณ์ไม่มีส่วนพร่อง มันจึงไม่จำเป็นต้องอาศัยหลักเกณฑ์ใดๆเข้ามายุ่งเกี่ยวกับมันอีก





















ถ้าพวกเธอทราบโดยประจักษ์ว่า
สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงเป็นของอันเดียวกัน
กับโพธิมาเสร็จเรียบร้อยแล้ว
พวกเธอจะหยุดคิดถึงโพธิ
ในฐานะเป็นสิ่งที่ต้องลุถึงทันที







บทที่ 74 ศีล สมาธิ ปัญญา
ธรรมชาติดั้งเดิมแท้อันคือเนื้อหาแห่งความว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่อย่างนั้น มันคือความเป็นอิสระโดยเด็ดขาดจากมลทินต่างๆทั้งปวง มันปราศจากมลทินแห่งจิตที่คอยคิดกระทำชั่วอยู่ตลอดเวลา และมันอยู่นอกเหนือจิตที่มุ่งมั่นกระทำความดี นี่คือ “ศีล” ของภาวะที่แท้จริงแห่งธรรมชาติดั้งเดิมแท้
ธรรมชาติดั้งเดิมแท้อันคือเนื้อหาแห่งความว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่อย่างนั้น มันคือความเป็นอิสระโดยเด็ดขาดจากความกระวนกระวายทั้งหลายอันเกิดจากการยึดมั่นถือมั่นอันก่อให้เกิดการปรุงแต่งเป็นจิตต่างๆ นี่คือ “สมาธิ” ของภาวะที่แท้จริงแห่งธรรมชาติดั้งเดิมแท้
ธรรมชาติดั้งเดิมแท้อันคือเนื้อหาแห่งความว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่อย่างนั้น มันคือสิ่งที่ไม่เพิ่มขึ้นหรือลดลง มันเป็นความว่างเปล่าที่คือความคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นคุณลักษณะตามธรรมชาติของมันเอง นี่คือ “ปัญญา” ของภาวะที่แท้จริงแห่งธรรมชาติดั้งเดิมแท้
ก็เพราะว่าธรรมซึ่งเป็นธรรมชาติที่แท้จริง อันคือเนื้อหาแห่งความว่างเปล่าที่ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอันหาจุดเริ่มต้นไม่ได้ซึ่งเป็นความดั้งเดิมแท้ของมันนั้น “มันมีลักษณะนิพพานอยู่แล้วโดยเนื้อหา” เพราะฉะนั้น ศีล สมาธิ และปัญญา มันจึงควรเป็นความปรกติธรรมดาอันคือธรรมชาติของมันเองในภาวะแห่งการแสดงออกซึ่งเนื้อหาธรรมชาติดั้งเดิมแท้ มันหาใช่เป็นการวางหลักเกณฑ์ในธรรมเพื่อให้เข้าไปรักษาศีล ทำสมาธิ และเจริญปัญญา ให้มากๆแล้วนิพพานจักจะเกิดก็หาไม่










ในธรรมชาติดั้งเดิมแท้นี้
ไม่มีทั้งอวิชชา
ไม่มีทั้งสัมมาทิฏฐิ







บทที่ 75 ทาสแห่งความพยายาม
ก็ตามธรรมชาติที่ปรากฎเนื้อหาแห่งความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่อย่างนั้น มันเป็นเนื้อหาแห่งความว่างเปล่าที่บริบูรณ์เต็มเปี่ยมไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งพร่องไปอันจะก่อให้เกิดความเป็นตัวเป็นตนแทรกเข้ามาปะปนความเป็นธรรมชาติแห่งพุทธะได้เลย มันเป็นเช่นนั้นของมันเองมาตั้งแต่แรกเริ่ม แม้กระทั้งมาบัดนี้ความเป็นเช่นนั้นของมันเองก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง และมันจะเป็นแบบนี้อีกเรื่อยไปไม่มีวันสิ้นสุดที่จะสลายกลายเป็นอื่นไปได้
เมื่อความจริงมันเป็นเช่นนี้แล้ว หากพวกท่านทั้งหลายไม่เข้าใจความหมายมันก็อย่าหวังว่าจะได้ตระหนักชัดและซึมทราบเป็นเนื้อหาเดียวกับมันได้ หากพวกท่านไม่เข้าใจว่าความว่างเปล่าตามธรรมชาตินั้นมันเป็นความบริบูรณ์เต็มเปี่ยมโดยสภาพตัวมันองอยู่แล้ว หาใช่มีใครที่ใหนต้องมาเติมความเต็มแบบพร้อมเพรียงให้กับมันอีก เมื่อพวกท่านไม่เข้าใจ พวกท่านก็จะหันหลังให้กลับธรรมชาติแห่งพุทธะแล้วไปตั้งต้นค้นหาความบริบูรณ์เต็มเปี่ยมของธรรมชาติแห่งพุทธะด้วยการค่อยๆเติมที่ละส่วนๆตามความเข้าใจของท่านเอง ด้วยการทำความเพียรปฏิบัติเพื่อให้ความว่างนั้นมันต่อเนื่องแบบไม่ขาดสายตามกำลังอินทรีย์แห่งธรรมที่ท่านคิดว่าต้องปฏิบัติธรรมด้วยการเข้าไปรื้อค้นเพื่อสังเกตุความเคลื่อนไหวแห่งจิตอยู่ตลอดเวลา แล้วท่านก็มุ่งหวังว่าการกระทำตรงนั้นในสักวันหนึ่งมันจะเกิดความบริบูรณ์ถึงความพร้อมเพรียงแห่งความว่างในทุกส่วนโดยไม่ขาดสาย แต่ท่านจะเชื่อหรือไม่ ก็ด้วยความคิดและการกระทำของท่านเช่นนี้แหละมันคือสิ่งที่บกพร่องลงไปโดยเนื้อหาแห่งการคิดมุ่งหวังและการเติมเต็มด้วยการปฏิบัติ ทุกๆสิ่งที่ท่านกำลังดำเนินไปแท้จริงมันก็เป็นผลผลิตที่ออกมาจากความนึกคิดการปรุงแต่งของท่านซึ่งมันเป็นจิตเป็นอัตตาตัวตนชนิดหนึ่ง มันคือจิตของท่านเองที่มุ่งแสวงหาพุทธะซึ่งเป็นพุทธะที่ผุดขึ้นมาในจิตของท่านเองอีกเช่นกัน
เมื่อไม่เข้าใจและไม่รู้จักหน้าตาธรรมชาติแห่งพุทธะที่แท้จริง ท่านก็จะตกไปสู่ความพยายามดิ้นรนของท่านเองที่จะเติมเต็มอะไรสักอย่างหนึ่งแล้วท่านก็เข้าใจว่านั่นคือพุทธะ แต่แท้จริงหาใช่ไม่ เมื่อมันไม่ใช่และหนทางที่ท่านกำลังเดินอยู่มันก็ไม่มีวันที่จะทำให้ท่านได้ตระหนักชัดและซึมทราบธรรมชาติแห่งพุทธะอันมีสภาพเต็มเปี่ยมได้เลย หนทางที่ท่านกำลังเดินอยู่นั้นก็จะทำให้ท่านตกเป็นทาสแห่งความพยายามที่จะเติมเต็มบางสิ่งบางอย่างให้มันเต็มบริบูรณ์ในความรู้สึกของท่านอยู่อย่างนั้นตราบจนลมหายใจสุดท้ายของท่านเองนั่นแหละ






















มีคนจำพวกหนึ่งที่มีจิตเหมือนจิตของวานร
ซึ่งเป็นพวกที่สอนได้ยากนัก
เป็นพวกที่ต้องการข้อบัญญัติและคำสอนทุกชนิด
ที่จะเอาไปใช้บีบบังคับจิตของตนให้ยอมจำนนเท่านั้นเอง








บทที่ 76 หมดจิต.....หมดใจ
แด่...ท่านผู้หลงทาง
ความไม่รู้ความไม่เข้าใจของมนุษย์ ไม่รู้ว่า ความจริงแล้วสรรพสิ่งทั้งหลาย ไม่มีความหมายแห่งการมีตัวตน ปราศจากการปรุงแต่งโดยธรรมชาติของมัน เป็นเช่นนั้นเป็นอยู่อย่างนั้นตลอดสายตลอดเวลา โดยธรรมชาติของมัน และไม่เปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น ด้วยความไม่รู้ ไม่เข้าใจ ในกฏของธรรมชาติ มนุษย์จึงสมมุติสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมา ปรุงแต่งสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมา ในความหมายแห่งการมีตัวตน สมมุติผลของการกระทบของ ตา หู จมูก ลิ้น ผิวกาย และใจขึ้นมา เป็นอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดปรุงแต่งต่าง ๆนานา สมมุติสิ่งที่รองรับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดปรุงแต่งทั้งหลายขึ้นมา เรียกว่า จิต หรือ จิตใจ
อารมณ์ความรู้สึกนึกคิดปรุงแต่งที่มนุษย์ปรุงแต่งขึ้นมานั้น มีมากมายสุดจะพรรณา เช่น รัก โลภ โกรธ หลง อาฆาต พยาบาท และอีกมากมาย เมื่อปรุงแต่งขึ้นมาแล้ว ย่อมทำให้เกิดความยึดมั่นถือมั่น เป็นเรา เป็นเขา เป็นของของเรา เป็นของของเขา เป็นความหมายแห่งการมีตัวตนต่าง ๆ นานา ด้วยความไม่รู้ความไม่เข้าใจของมนุษย์ว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงสิ่งสมมุติที่มนุษย์สรรค์สร้างขึ้นมาเอง มนุษย์จึงพยายามทำสิ่งสมมุติเหล่านี้ให้เต็ม ให้บริบูรณ์ ให้มั่นคง ให้คงทนถาวร อยู่ในความรู้สึกของตน หรือพยายามทำสิ่งสมมุติที่ไม่ต้องการให้หมดไป ให้สูญสลาย ให้หายไปจากความรู้สึกของตน โดยที่เราหารู้ไม่ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสมมุติทั้งสิ้น เช่น ความอยากมีชื่อเสียง มนุษย์ผู้มีความหลงทั้งหลายอยากมีชื่อเสียง พยายามทำให้มีชื่อเสียง และให้ชื่อเสียงนั้นคงทนถาวรไม่เสื่อมไป โดยที่หารู้ไม่ว่า ความอยากมีชื่อเสียงนี้ เป็นสิ่งสมมุติทั้งสิ้น หรือเช่น มนุษย์ผู้พยายามทำความโกรธให้หมดไปให้หายไปจากความรู้สึกโดยที่ไม่รู้ว่า ความโกรธนี้เป็นเพียงสิ่งสมมุติที่มนุษย์สร้างขึ้นเอง ไม่มีอยู่จริง แล้วโดยธรรมชาติ โดยความเป็นจริงจะทำให้ความอยากมีชื่อเสียงเกิดขึ้น หรือทำให้ความโกรธหมดไป จะทำให้อารมณ์ความรู้สึกนึกคิดปรุงแต่งทั้งหลายเกิดขึ้นหรือหมดไปได้อย่างไร เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นมาทั้งสิ้น ไม่มีอยู่จริง
พระพุทธองค์ท่านทรงตระหนักชัดในความเป็นจริงตามธรรมชาติเหล่านี้ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณที่จะสอนมนุษย์ผู้มีปัญญา ผู้ที่พอมีปัญญาอยู่บ้าง หรือผู้ที่ไม่หลงไปในทางสุดโต่งทั้งหลาย ให้เข้าใจ ให้หมดความหลง ให้หมดความลังเลสงสัยว่า โดยความเป็นจริง โดยธรรมชาติ สรรพสิ่งทั้งหลาย ไม่มีความหมายแห่งการมีตัวตน ปราศจากการปรุงแต่งโดยธรรมชาติของมันเอง ตลอดสาย ตลอดเวลา โดยธรรมชาติของมัน เป็นเช่นนั้น เป็นอยู่อย่างนั้นและไม่เปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น แต่ตราบใดที่มนุษย์ยังฝืนธรรมชาติ ไม่ยอมรับ ไม่ยอมเข้าใจ ก็ยังคงปรุงแต่งสิ่งทั้งหลายทั้งปวงว่ามีอยู่จริง ยังคงปรุงแต่งไปในความหมายแห่งการมีตัวตน ยังคงปรุงแต่งว่าจิต หรืออารมณ์ความรู้สึกนึกคิดต่าง ๆ ว่ามีอยู่จริง และยังคงปรุงแต่งไปในความหมายแห่งการยึดมั่นถือมั่นว่า นี่คือเรา นี่คือเขา นั่นเป็นของของเรา นั่นเป็นของของเขา ที่สุดแล้วมนุษย์ก็ยังคงไขว่คว้าทะยานไปในความสุดโต่งอันหาที่สิ้นสุดไม่ได้อยู่ดี
การเปรียบเทียบความนึกคิดปรุงแต่งที่พอใจ ประทับใจ ตรงกับความต้องการ แล้วเรียกรวมกันว่า ความสุข แล้วพยายามปรุงแต่งหรือรักษา อารมณ์ความรู้สึกเหล่านี้ไว้ หรือทำให้เพิ่มพูนมากขึ้น ก็ยังคงเป็นสิ่งสุดโต่งอันหาที่สิ้นสุดไม่ได้อยู่ดี การเปรียบเทียบความนึกคิดปรุงแต่งที่ไม่พอใจ ไม่ประทับใจไม่ตรงกับความต้องการแล้วรวมเรียกว่า ความทุกข์ แล้วพยายามปรุงแต่งโดยทำให้ลืม ทำให้หมดไปหรือทำให้หายไป ก็ยังคงเป็นสิ่งสุดโต่งอันหาที่สิ้นสุดไม่ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเรียกความนึกคิดปรุงแต่งทั้งหลายว่าความทุกข์ ความสุข หรือความรู้สึกอื่นใด เหล่านี้ก็ยังคงเป็นการฝืนธรรมชาติโดยสิ้นเชิง เพราะโดยธรรมชาติโดยความเป็นจริงสิ่ง เหล่านี้ไม่มีอยู่จริง แล้วจะทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ตั้งอยู่ หรือดับไปได้อย่างไร ตราบใดที่มนุษย์ไม่ยอมรับ ไม่ยอมเข้าใจ ก็จะยังคงวนเวียนอยู่ในสิ่งสมมุติอันหาที่สิ้นสุดไม่ได้อย่างนี้ต่อไป

แด่....ท่านผู้แสวงหา
ในโลกนี้คงจะมีผู้แสวงหาอยู่ไม่น้อย ผู้ที่หาทางออกนำตนเองออก ออกจากสิ่งที่ตนเองปรุงแต่งว่า เป็นสิ่งมายา เป็นสิ่งสร้างความวุ่นวาย รำคาญใจ เศร้าหมองใจ ด้วยวิธีการปฏิบัติต่าง ๆ ที่มีอยู่หลากหลายรูปแบบในปัจจุบัน แต่จุดประสงค์หลักของวิธีการปฏิบัติเหล่านี้ ส่วนใหญ่แล้วเป็นวิธีทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ด้วยวิธีการฝึกสมาธิจนถึงระดับเป็นฌานสมาบัติรูปแบบต่าง ๆ เหล่านี้เป็นเพียงการทำให้สงบ รำงับ ชั่วคราวเท่านั้น เหมือนการหนีโลก หนีความวุ่นวาย หนีจากสิ่งที่ตนเองปรุงแต่งว่า เป็นความทุกข์ แล้วไปกำหนดจดจ่อให้เกิดสมาธิขึ้นมา ให้ลืมความวุ่นวาย หรือทำให้ความวุ่นวายหายไป แต่ยิ่งฝึก ยิ่งปฏิบัติ ยิ่งปรุงแต่ง ในการปฏิบัติมากขึ้น ยิ่งปรุงแต่งไปว่าจิตสงบ จนถึงระดับนั้นระดับนี้ เป็นฌานสมาบัติขั้นนั้นขั้นนี้ แล้วยังปรุงแต่งว่า ต้องฝึกปฏิบัติไปจนถึงระดับได้สภาวะนิพพาน แต่ถ้าหากการปฏิบัติไม่ถึงหรือไม่ได้สภาวะ ไม่สงบอย่างที่ตนต้องการก็เป็นทุกข์
หรือการปฏิบัติยังหย่อนเกินไป ต้องปฏิบัติให้มากยิ่งขึ้นไป เมื่อสิ่งแวดล้อมไม่เป็นใจ ต้องหนีออกห่าง จากสิ่งแวดล้อมนั้น เพื่อหาที่สงบที่เหมาะแก่การปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติไปนาน ๆ ก็ยังไม่ได้สภาวะนิพพานสักที ยังไม่เด่นชัดในความรู้สึกของตน หรือบางคนหลงสภาวะ ปรุงแต่งว่าตนเองหลุดพ้นแล้ว แต่เมื่อเข้าไปสู่สิ่งแวดล้อมที่ตนเองปรุงแต่งว่า วุ่นวาย ไม่สงบ ก็ยังปรุงแต่งต่อไปว่า ความโกรธยังมีอยู่ ความวุ่นวายใจยังมีอยู่ หรือความทุกข์ยังมีอยู่ ต้องอาศัยอยู่ในที่หลีกเร้นเท่านั้น สภาวะนิพพานถึงจะกลับมาชัดเจนอีกครั้ง เหล่านี้คือ การปรุงแต่งแบบผู้ปฏิบัติธรรม ยิ่งปฏิบัติยิ่งปรุงแต่งว่า มีความทุกข์มากขึ้นกว่าเดิม หรือที่เรียกว่า ทุกข์แบบผู้ปฏิบัติธรรม
ทั้งหมดเหล่านี้เป็นเพราะอวิชชา ความไม่รู้ ความไม่เข้าใจ ของท่านผู้ปฏิบัติเอง เพราะท่านทั้งหลายไม่รู้ว่า เมื่อนิพพาน คือ ธรรมชาติอันปราศจากความหมายแห่งการมีตัวตนแล้ว เมื่อนิพพาน คือ ธรรมชาติอันปราศจากการปรุงแต่งโดยธรรมชาติของมันแล้ว เมื่อนิพพานเป็นเช่นนั้น เป็นอยู่อย่างนั้น ตลอดสาย ตลอดเวลา โดยธรรมชาติของมัน และไม่เปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่นแล้ว เมื่อจิตหรือจิตใจ และความนึกคิดปรุงแต่งทั้งหลาย เป็นเพียงสิ่งสมมุติที่มนุษย์สรรค์สร้างขึ้นมาเอง ไม่มีอยู่จริงแล้ว ก็ไม่อาจจะมีวิธีการปฏิบัติใด ๆ ที่ทำให้จิตใจบริสุทธิ์ หรือสงบ รำงับได้ การกำหนด จดจ่อ ให้เกิดสมาธิทั้งหลายเหล่านั้น ก็กลายเป็นการฝืนธรรมชาติไปเสียสิ้น
จุดหมายปลายทางของท่านผู้แสวงหาทั้งหลาย คือ การหลุดพ้น หรือที่เรียกว่า นิพพาน หากท่านผู้มีปัญญาทั้งหลาย ทำความเข้าใจถึงกฎธรรมชาติที่ว่า นิพพาน คือ ธรรมชาติอันปราศจากความหมายแห่งการมีตัวตน เป็นธรรมชาติอันปราศจากการปรุงแต่งโดยธรรมชาติของมัน เป็นเช่นนั้น เป็นอยู่อย่างนั้น ตลอดสาย ตลอดเวลา โดยธรรมชาติของมัน และไม่เปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น ท่านก็จะได้เข้าใจว่า พระพุทธองค์ทรงเป็นผู้ชี้ทางให้สัตว์โลกได้เห็นถึงกฏธรรมชาติเหล่านี้ ถึงแม้พระพุทธองค์มิทรงชี้ทาง นิพพานก็เป็นธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้นมาแต่ก่อนกาลแล้วท่านผู้แสวงหาทั้งหลายจักเอาวิธีการกำหนด จดจ่อ หรือทำให้จิตใจเกิดความบริสุทธิ์ขึ้นมาได้อย่างไร ท่านทั้งหลายจะทำนิพพานให้แจ้งได้อย่างไร ในเมื่อนิพพานเป็นธรรมชาติอันปราศจากความหมายแห่งการมีตัวตน จะเอาความมีตัวตนเพื่อทำให้เกิดความไม่มีตัวตน จะเอาการปรุงแต่งเพื่อทำให้เกิดการไม่ปรังแต่งได้อย่างไร ในเมื่อสรรพสิ่งทั้งหลาย ปราศจากความหมายแห่งการมีตัวตน และเป็นธรรมชาติอันไม่ปรุงแต่ง เป็นอยู่อย่างนั้นตลอดสายตลอดเวลา โดยธรรมชาติของมัน การทำนิพพานให้แจ้ง ให้เด่นชัด ให้เป็นรูปธรรมขึ้นมา ก็เป็นการฝืนธรรมชาติโดยสิ้นเชิง

ชีวิต....แห่งผู้รู้แจ้ง
ข้าพเจ้าเคยเข้าใจ เหมือนกับผู้ปฏิบัติธรรมท่านอื่นๆ ที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน ว่า นิพพานต้องเกิดจากการฝึกปฏิบัติในวิธีการต่างๆ แต่เมื่อฝึกปฏิบัติไปนานๆ ก็เกิดความลังเลสงสัยว่า การฝึกปฏิบัติเหล่านี้ เป็นการปรุงแต่งอย่างหนึ่งหรือไม่ เมื่อนิพพาน คือ การไม่ปรุงแต่งแล้วจะเอาการปรุงแต่ง ไปสู่ การไม่ปรุงแต่งได้อย่างไร ข้าพเจ้าเลยศึกษาค้นคว้า ทำความเข้าใจใหม่ จนกระจ่างว่า นิพพาน คือ การเข้าใจ(วิชชา) หมดความลังเลสงสัยแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในธรรมทั้งหลาย ในสรรพสิ่งทั้งหลาย และข้าพเจ้าก็เข้าใจอีกว่า ธรรมอันเป็นปรมัตถ์หมวดหมู่ใด ที่มีการกล่าวขัดแย้งกัน ความหมายไม่ตรงกัน และมีความหมายที่ฝืนต่อธรรมชาติ หลักธรรมนั้นก็มิใช่ ธรรมอันเป็นธรรมชาติ ที่ชี้ทางให้บุคคลเข้าใจกระจ่าง หมดความหลง หมดความลังเลสงสัย แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในธรรมทั้งหลาย ในสรรพสิ่งทั้งหลายได้
หากมีใครถามท่านผู้รู้แจ้งท่านหนึ่งท่านใดว่า นิพพานเป็นอย่างไร มีสภาพอย่างไร มีสภาวะเป็นอย่างไร หรือมีอารมณ์เป็นอย่างไร ท่านผู้รู้แจ้งท่านนั้นก็คงไม่สามารถให้คำตอบกับเขาได้ เพราะนิพพานมิใช่สภาวะหรืออารมณ์ความรู้สึก เพราะสภาวะหรืออารมณ์ความรู้สึก ก็ยังเป็นสิ่งสมมุติทั้งสิ้น ยังฝืนธรรมชาติอยู่ ยังไม่เป็นธรรมชาติ
หรือหากมีใครถามท่านผู้รู้แจ้งท่านหนึ่งท่านใดว่า ผู้ที่รู้แจ้ง ผู้หมดความหลง ผู้หมดความลังเลสงสัย แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในธรรมทั้งหลาย ในสรรพสิ่งทั้งหลายแล้ว ท่านใช้ชีวิตกันอย่างไร ท่านผู้รู้แจ้งท่านนั้น ก็คงจะตอบเขาไปว่า ใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย อยู่ในสังคมได้ตามปกติ แต่ที่แตกต่างจากปุถุชนคนทั่วไป คือ ท่านไม่ปรุงแต่งสิ่งทั้งหลายทั้งปวงว่าเป็นความทุกข์ ความสุข หรือความรู้สึกอื่นใดได้อีกแล้ว เพราะท่านรู้ว่า เหล่านี้เป็นสิ่งสมมุติ ไม่มีอยู่จริง ท่านไม่ปรุงแต่งสิ่งแวดล้อมที่ท่านอยู่ว่า เป็นที่ที่วุ่นวาย รำคาญใจ หรืออยู่ไม่ได้ ได้อีกแล้ว และในทางกลับกัน ท่านย่อมไม่ปรุงแต่งว่า สิ่งแวดล้อมที่ท่านอยู่นั้น น่าอยู่ สบายใจ หรืออยากอยู่ที่นี่ตลอดไป ได้อีกแล้ว เพราะท่านรู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสมมุติ ไม่มีอยู่จริง ท่านอยู่ได้กับปุถุชนทุกชนชั้นวรรณะ ไม่แบ่งแยกว่าใครดีใครไม่ดี เพราะท่านไม่มีความหมายแห่งการมีตัวตนได้อีกแล้ว และท่านย่อมอยู่ได้ภายใต้กฏเกณฑ์ของทุกสังคมอย่างลงตัว กลมกลืน นี่คือธรรมชาติแห่งผู้รู้แจ้งทั้งหลาย ท่านอยู่อย่างไม่มีความหมายแห่งการมีตัวตนได้อีกแล้ว ท่านอยู่อย่างธรรมชาติอันปรุงแต่งไม่ได้อีกแล้วท่านอยู่กันอย่างนั้น เป็นเช่นนั้นตลอดสาย ตลอดเวลา และไม่เปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น เป็นเช่นนี้ตลอดไป

บทความนี้
เขียนโดย นายชัยพร บุญเพ็ชร์ (ลูกศิษย์)











เพราะเหตุที่ โพธิมิได้เป็นภาวะอย่างใดอย่างหนึ่ง
มันจึงมิได้เป็นอะไร ๆ เพื่อให้เธอลุถึง
ถ้าพวกเธอสามารถเข้าใจ ซึมทราบ
ถึงความที่มันเป็น สิ่งที่ไม่ต้องมีการลุถึงด้วยใจเธอเอง
และเป็นผู้แน่ใจจริง ๆ ว่า ไม่มีอะไรเลยที่ใคร ๆ เคยลุถึง
แล้วเธอจะเป็นผู้มีโพธิ-จิต ไปแล้วทันที








บทที่ 77 ความเป็นของคู่
ก็เพราะตามความคิดของคนธรรมดาทั่วๆไปนั้น ย่อมเข้าใจว่าส่วนย่อยๆของขันธ์และธาตุทั้งหลายนั้นเป็นของที่แบ่งแยกออกได้เป็นสองอย่าง ซึ่งความคิดเหล่านี้ล้วนเกิดจากการยึดมั่นถือมั่นในขันธ์และธาตุทั้งหลายแล้วก่อรูปเกิดขึ้นมาเป็นจิตเป็นเราเป็นเขาเป็นสิ่งนั้นเป็นสิ่งนี้ขึ้นมาและแบ่งแยกการปรุงแต่งเหล่านี้ออกเป็นสองทาง คือภาวะความเป็นของคู่แห่งชนิดของการปรุงแต่ง เช่น ดี-ชั่ว ขาว-ดำ ร้อน-เย็น สัทธรรม-อสัทธรรม มิจฉาทิฏฐิ-สัมมาทิฏฐิ มากสุด-น้อยสุด มีอยู่-ไม่มีอยู่
แต่โดยแท้ที่จริง ขันธ์และธาตุถึงแม้จะเป็นส่วนย่อยๆเองก็ตาม “มันก็ล้วนไม่มี” เพราะโดยทุกสรรพสิ่งแท้จริงมันย่อมไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่แล้ว มันคือความว่างเปล่าอยู่อย่างนั้น มันไม่มีแม้กระทั้งขันธ์และธาตุ ธรรมชาติดั้งเดิมแท้นั้นมันมิใช่ความเป็นของคู่อันเกิดจากการเข้าไปยึดขันธ์และธาตุแล้วสามารถแบ่งแยกออกเป็นชนิดนั้นชนิดนี้ได้เลย
ธรรมชาติดั้งเดิมแท้นั้นมันก็ทำหน้าที่ของมันอยู่อย่างนั้น เป็นการทำหน้าที่แห่งความว่างเปล่า “โดยเด็ดขาด” เด็ดขาดซึ่งปราศจากภาวะความเป็นของคู่โดยสิ้นเชิง มันปราศจากภาวะความเป็นของคู่แม้กระทั้งชนิดที่ถูกแบ่งแยกแล้วซึ่งเรียกมันว่า “การบรรลุ-การไม่บรรลุ” “การหลุดพ้น-การไม่หลุดพ้น”










ความดั้งเดิมแท้แห่งธรรมชาติ
อันคือสภาวะไร้ใจนี้
จับก็ไม่ได้ ทิ้งก็ไม่ได้







บทที่ 78 “สมาธิ” แห่งเซน
เมื่อกล่าวถึงสมาธิหรือกรรมฐาน นักศึกษาทางฝั่งโน้นซึ่งเป็นผู้ที่ยังไม่เข้าใจธรรมอย่างถ่องแท้ ย่อมต้องนึกถึงการนั่งขัดสมาธิเอาขาขึ้นมาทับซ้อนกันแล้วหลับตาลงมององค์ภาวนาตามแต่จริตที่ชอบ จนกระทั้งจิตหยุดนิ่งรวมกันเป็นหนึ่งซึ่งร่างกายและจิตก็นิ่งไม่ไหวติงจมดิ่งอยู่กับภาวะอันประณีตในอาการ ปีติ สุข และการรวมเป็นหนึ่งแห่งอารมณ์เอกัตคัตตา
แต่ในทางเซนนั้น ธรรมอันแท้จริงที่นักศึกษาทางฝั่งโน้นจักจะต้องทำความเรียนรู้เข้าใจเพื่อตกผลึกตระหนักชัดและซึมทราบกลายเป็นเนื้อหาเดียวกันกับมันนั้น มันเป็นธรรมอันคือธรรมชาติซึ่งเป็นเนื้อหาอันมีลักษณะไม่ปรุงแต่งและไม่เข้าไปปฏิบัติเข้าไปกระทำ ซึ่งทางเซนถือว่าธรรมอันแท้จริงตามธรรมชาตินั้น มันคือหน้าตาแห่งความดั้งเดิมแท้ของมันที่มีลักษณะเป็นความว่างเปล่าไร้ตัวตน มันคือธรรมอันบริบูรณ์เปี่ยมไปด้วยสัจธรรมทุกแง่ทุกมุมตลอดโดยเนื้อหามันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการปฏิบัติธรรมตามความหมายแห่งเซน มิใช่ต้องเป็นการลงมือกระทำเพราะเซนถือว่าการลงมือปฏิบัติในลักษณะดังกล่าวนี้ มันเกิดจากการริเริ่มซึ่งถือว่ามันคือความคิดซึ่งเป็นการปรุงแต่งชนิดหนึ่ง มันบดบังความเป็นธรรมชาติดั้งเดิมแท้ไปเสียสิ้น
เพราะฉะนั้น “สมาธิ” ในทางเซน มันคือความหมายแห่ง “ความเป็นปรกติ” ในการที่ธรรมชาติดั้งเดิมแท้มันทำหน้าที่แสดงเนื้อหาของมันอยู่อย่างนั้น “เป็นไปอย่างคงที่ ” โดยเป็นธรรมชาติแห่งการไม่ผันแปรเป็นอย่างอื่นอยู่แล้ว การนั่งกรรมฐานภาวนาในทางเซน จึงเป็นการนั่งที่ได้รับอิสรภาพอันเด็ดขาดจากการปรุงแต่งทั้งปวง เฉกเช่นเดียวกับการอยู่ในอริยบทอื่นๆ เช่น การเดิน การนอน การทำกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวัน ก็ย่อมเป็นการเคลื่อนไหวในอริยบทต่างๆอย่างมีอิสรภาพอันเด็ดขาดจากการปรุงแต่งทั้งปวงเช่นกัน







ธรรมชาติแห่งพุทธะ...
คือการที่ไม่ต้องทำอะไรกับอะไร
เพื่อประคองรักษาความเป็นพุทธะของตนเอาไว้
เพราะฉะนั้นพุทธะจึงเป็นผู้ที่ไม่เป็นแม้แต่ "พุทธะ"









บทที่ 79 การรักษา “ความบริสุทธิ์”
ในบรรยากาศแห่งการปฏิบัติธรรมกันอย่างหน้าดำคร่ำเครียด นักศึกษาทางฝั่งโน้นผู้ซึ่ง “ติดกับดัก” ในอวิชชาตัณหาอุปาทาน ก็กำลังสร้างจินตนาการขึ้นมาในระหว่างการเร่งรีบปฏิบัติด้วยการไขว่คว้าหาความบริสุทธิ์ในรูปแบบลักษณะต่างๆ เช่น การรักษาศีลให้บริสุทธิ์ การรักษาจิตให้บริสุทธิ์ ด้วยความเข้าใจผิดว่าการรักษาความบริสุทธิ์ตรงนั้นจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้มาซึ่งผลแห่งการปฏิบัติในทุกๆขั้นตอนและท้ายที่สุด การรักษาความบริสุทธิ์นี้จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้มรรคผลนิพพานบังเกิดขึ้น ซึ่งในมุมมองแห่งเซนแล้วการรักษาความบริสุทธิ์ดังกล่าวนั้นแหละเป็นตัวกีดกั้นพระนิพพาน การรักษาความบริสุทธิ์นั่นเอง โดยตัวมันเองมันคือภาวะแห่งการบดบังเนื้อหาธรรมชาติดั้งเดิมแท้
ทางคณาจารย์เซนมองว่า การรักษาศีลให้บริสุทธิ์นั้นมันเป็นการปรุงแต่งขึ้นมาเป็นจิตประเภทที่ดีเท่านั้น เป็นการปรุงแต่งเพื่อเจริญกุศลกรรมรักษาความดีเป็นการตกแต่งคุณภาพจิตให้ดีขึ้นเท่านั้นเอง ซึ่ง “การรักษาความบริสุทธิ์” ของศีลมันเองก็คือการปรุงแต่งซึ่งเป็นสังขตธาตุอันคือธรรมธาตุแห่งการปรุงแต่งซึ่งมันมีลักษณะเที่ยงแท้ไม่แน่นอน มีการเกิดขึ้นดับไป มันคือ “อัตตา”ตัวหนึ่ง มันเป็นอัตตาชนิดบริสุทธิ์ที่นักศึกษาทางฝั่งโน้นพากันเข้าไปบัญญัติชื่อโดยใส่คุณลักษณะผิดๆที่ชื่อความบริสุทธิ์ให้กับมัน แล้วคิดว่าความบริสุทธิ์ของมันจะเป็นเหตุให้ได้ตระหนักชัดในเนื้อหาธรรมชาติดั้งเดิมแท้ ซึ่งแท้จริงมันเป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง ก็เพราะโดยเนื้อหาแห่งธรรมชาติดั้งเดิมแท้นั้น มันคือความว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่อย่างนั้น มันปราศจากอัตตาบริสุทธิ์ที่เรียกว่า “ศีลบริสุทธิ์” ซึ่งเป็นลักษณะสังขตธาตุคือธรรมธาตุแห่งการปรุงแต่งที่เกิดขึ้นดับไปโดยสิ้นเชิง
และความเป็นจริงธรรมชาติดั้งเดิมแท้มันก็มิใช่เป็น “การรักษาจิตให้บริสุทธิ์ ” การที่นักศึกษาฝั่งทางโน้นมีความหลงผิดเข้าใจว่า การที่เกิดการปรุงแต่งใดๆขึ้นมาเป็นจิตแล้วเราก็ไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในจิตชนิดนั้นๆ ควรปล่อยให้มันไม่เที่ยงดับไปเป็นธรรมดาตามสภาพธรรมชาติ แล้วนักศึกษาทางฝั่งโน้นก็พากันเข้าไปบัญญัติชื่อโดยใส่คุณลักษณะผิดๆที่ชื่อความบริสุทธิ์ให้กับมันโดยเรียกมันว่า “การรักษาจิตให้บริสุทธิ์” แล้วยังคิดอีกว่าความบริสุทธิ์ของจิตชนิดที่ไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นมันจะเป็นเหตุให้ได้ตระหนักชัดในเนื้อหาธรรมชาติดั้งเดิมแท้ ซึ่งแท้จริงมันก็ยังเป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่งอีกเช่นเดิม ก็เพราะว่าโดยเนื้อหาแห่งธรรมชาติดั้งเดิมแท้ มันคือความว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่อย่างนั้น มันคือความว่างเปล่าอย่างนี้มานานแสนนานแล้วเป็นคุณสมบัติอันดั้งเดิมของมันอันหาจุดเริ่มต้นมิได้ด้วยซ้ำ เป็นคุณสมบัติของตัวมันเองตามธรรมชาติดั้งเดิมแท้โดยมิได้อิงหรือต้องอาศัยกับความเกิดขึ้นดับไปแห่งปรากฎการณ์ทางจิตต่างๆ อันจะถือว่าเป็นจิตบริสุทธิ์ ก็เพราะธรรมชาติดั้งเดิมแท้มันคือเนื้อหาแห่งความเป็นธรรมดาตามธรรมชาติแห่งความว่างเปล่าของมันอยู่อย่างนั้น หาใช่ความบริสุทธิ์ใดๆไม่
















ธรรมชาติอันมีอยู่ก่อนแล้วที่เป็นความดั้งเดิมแท้ของมัน
มันดำรงอยู่แบบนี้เสมอมา...และเรื่อยมา
มันอยู่นอกเหนือภาวะความหลุดพ้นหรือความไม่หลุดพ้น
เพราะฉะนั้นมันจึงมิใช่เกิดจากภาวะสลายอัตตา
ให้ทิ้งวิธีการไปสู่มัน...แต่ให้เป็นเนื้อหาเดียวกับมันเลย
และลืมเรื่องเป็นเนื้อหาเดียวกับมันไปซะด้วย








บทที่ 80 จุดผลิกผัน

แรกเริ่มเดิมที ข้าพเจ้าเป็นคนที่ไม่ได้สนใจธรรมะเลย มัวแต่ก้มหน้าก้มตาทำงาน เพียงเพื่อหวังจะได้มีเงินไว้ใช้จ่ายเยอะๆ เป็นคนที่ใช้ชีวิตอยู่บนความประมาท ไม่เคยได้ตระหนักชัดในการดำเนินชีวิต

จนมาถึงวันหนึ่ง เป็นจุดพลิกผันของชีวิต ชีวิตนี้ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร มีความทุกข์เป็นอย่างมาก ทำให้ต้องหันหน้าเข้าพึ่งธรรมะ แรกๆเลย ก็เริ่มอ่านหนังสือธรรมะแบบทั่วไป ที่มีจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อ ซื้อมา ก็อ่านยามที่ว่างจากงาน หวังเพียงเพื่อจะคลายความทุกข์ไปได้บ้าง แต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไรเลย
จนกระทั่งวันนึง นับว่าข้าพเจ้าโชคดีมาก ได้มีโอกาสมาศึกษาธรรมะ กับ พระอาจารย์ราเชนทร์ อานนฺโท ท่านเมตตาสอนข้าพเจ้า ผู้ซึ่งหลงเดินบนเส้นทางแห่งความมีความเป็น ความมีตัวตน ท่านได้สอนว่าแท้ที่จริงแล้วนั้น ทุกสรรพสิ่งบนโลกนี้ล้วนไม่ใช่ตัวใช่ตน มันเป็นเพียงมายาทั้งสิ้น เพียงแต่มนุษย์นี้ไปสมมติ บัญญัติเรียกขึ้นมา เมื่อมนุษย์เพียงดำริไปว่ายังมีสิ่งนั้น ยังมีสิ่งนี้ มันจึงเกิดขึ้นเป็นอัตตา(ความมีตัวตน) เกิดเป็นความหมายต่างๆนานา สิ่งเหล่านั้นจึงดำรงอยู่ตามสภาพ แล้วเสื่อมสลายไปในที่สุด จึงได้ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป วนเวียนซ้ำๆอย่างไม่มีวันจบสิ้น แท้ที่จริงแล้วมิได้มีสิ่งใดเกิดขึ้นตั้งแต่แรกแล้ว มันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่มีอยู่ เป็นอย่างนั้นมานานแล้ว



จากสิ่งต่างๆที่ท่านอาจารย์ได้สอนมา ทำให้ข้าพเจ้าได้ตระหนักชัดแล้วว่า ชีวิตก็แค่นี้ เงินทองจะมีมากมายไปทำไมก็ไม่รู้ ในเมื่อเราไม่รู้จักใช้เงินนั้นให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่าที่สุด เพียงสิ่งของนอกกายที่ให้ความสุขได้แค่ชั่วครั้งชั่วคราว สักพักสิ่งเหล่านั้นก็มลายหายไป ผู้คนมากมายต่างก็ดิ้นรน แสวงหา เพื่อให้ได้มากับสิ่งที่ตนต้องการ จนลืมคิดไปว่า จริงแล้ว แค่ได้เกิดมาเป็นคน ได้ใช้ชีวิตเป็นปกติธรรมดา ก็วิเศษที่สุดแล้ว ใยต้องแสวงหาอีก ต่างกันกับสุขที่อยูู่ข้างใน สุขจากการที่ได้เป็นผู้ให้มากกว่าการเป็นผู้รับ อย่ามุ่งหวังกับเป้าหมายในชีวิตจนเกินไป เพราะเราไม่รู้ว่าเข้านอนแล้วจะได้ตื่นขึ้นมาหรือเปล่า เพราะฉะนั้นตอนที่มีลมหายใจอยู่ต้องใช้ชีวิตให้คุ้มค่า ไม่ไปมัวหลงระเริงอยู่กับสิ่งที่เป็นมายา เพราะสิ่งเหล่านั้น ตายไปแล้ว ก็เอาไปไม่ได้สักอย่าง

ในการดำเนินชีวิต เราจะอาศัยความเป็นตัวตนของเราเข้าไปกำหนดสิ่งใดไม่ได้ เพราะทุกอย่างล้วนเป็นอนัตตา(ความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน) เป็นสภาพที่ว่างเปล่า จับต้องมิได้ ไม่อยู่ในอำนาจของสิ่งใด ไม่มีเจ้าของ สิ่งเหล่านี้จึงทำให้ข้าพเจ้า ใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท มีความเป็นอยู่แบบพอเพียง ทำไปตามหน้าที่อันพึงกระทำ


บทความนี้
เขียนโดย นส.พัชรินทร์ บุรินทร์กุล และ นาย กรัณย์ยศ ทูลธรรม (ลูกศิษย์)















แม้หากว่าเธอ
ได้รับ “วิธีการ” อะไรบางอย่างเล็ก ๆ น้อย ๆ มา
มันก็จะเป็นแต่เพียงสิ่งที่สร้างขึ้นจากความคิด
หามีอะไรเกี่ยวกับธรรมชาติเดิมแท้
ซึ่งมันบริสุทธิ์อยู่แล้วโดยตัวมันเอง









บทที่ 81 ตามลำดับขั้นตอน
เหตุที่ตถาคตตรัสถึงเรื่องกรรม ก็เพราะท่านตรัสสอนบรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลายที่ไม่สามารถแยกแยะถูกผิดได้ ให้มีความสะดุ้งกลัวในการทำอกุศลกรรมชนิดต่างๆซึ่งนำมาซึ่งกรรมวิบาก
เหตุที่ตถาคตตรัสถึงเรื่องการรักษาศีล เรื่องกรรมฐาน เรื่องการฝึกสติสัมปัชชัญญะ ก็เพราะท่านตรัสสอนบรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลายที่จะสามารถอบรมจิตใจของตนเองได้แต่ไม่สามารถทำความเข้าใจถึง “ธรรมอันเกิดขึ้นดับไปเป็นธรรมดาตามสภาพธรรมชาติ” ได้ ท่านตรัสสอนให้บรรดาสรรพสัตว์เหล่านี้มี หิริโอตตัปปะ คือ ความละอายเกรงกลัวต่อบาป และ มีขันติโสรัจจะ คือ มีความอดทนอดกลั้นที่จะแสดงออกทาง กาย วาจา ใจ เป็นที่เรียบร้อย ให้รู้จักความสงบของจิตโดยการเข้าไปเจริญรักษากุศลจิตอันคือการรักษาศีลต่างๆ และความสงบอันเกิดจากการฝึกทำกรรมฐานและฝึกสติสัมปัชชัญญะ ซึ่งมันเป็นพื้นฐานแห่งการเรียนรู้ธรรมอันมีสภาพไม่เที่ยง คือ ธรรมอันเกิดขึ้นดับไป
เหตุที่ตถาคตตรัสถึงเรื่องธรรมอันเกิดขึ้นดับไป ก็เพราะท่านตรัสสอนบรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลายที่มีรอบปัญญาพอที่จะเรียนรู้ทำความเข้าใจถึงธรรมอันมีสภาพไม่เที่ยงแท้แน่นอนที่มันเกิดขึ้นและดับไป แต่ก็ไม่มีปัญญามากพอที่จะทำความเข้าใจถึงสภาพธรรมชาติดั้งเดิมแท้ ซึ่งคือความว่างเปล่าอันมิใช่ตัวมิใช่ตนอยู่อย่างนั้นโดยหามีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นและดับไปไม่
เหตุที่ตถาคตตรัสเรื่องธรรมอันคือธรรมชาติแห่งความว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่อย่างนั้น ก็เพราะท่านตรัสสอนบรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลายที่มีรอบปัญญาบารมีมากพอแล้วที่จะเรียนรู้ทำความเข้าใจถึงธรรมอันคือธรรมชาติที่แท้จริงซึ่งมันคือความว่างเปล่าของมันอยู่อย่างนั้น ซึ่งบรรดาสรรพสัตว์เหล่านี้มีปัญญารอบรู้ถ้วนทั่วใน “เหตุและผล” ถึงสิ่งที่ตถาคตตรัสถึงธรรมในระดับต่างๆว่า แท้จริงแล้วธรรมที่ตถาคตตรัสในส่วนของสังขตธาตุอันคือธรรมธาตุแห่งการปรุงแต่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกรรม ศีล กรรมฐาน การฝึกสติสัมปัชชัญญะ และ ธรรมอันเกิดขึ้นดับไป ท่านตรัสไว้ก็เป็นเพียงเหตุและผลแห่ง “การบรรเทา” การเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในลักษณะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นส่วนที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในจิตอันเป็นอกุศล ก็ให้ละเพื่อเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในจิตที่เป็นกุศลแทน หรือ ให้ละการยึดมั่นถือมั่นในปรากฎการณ์ทางจิตทั้งปวงเพื่อให้เกิดความคลายกำหนัดในระดับแตกต่างกันไป แต่แท้ที่จริงธรรมต่างๆเหล่านี้โดยสภาพมันเองมันก็คือคุณลักษณะแห่งสังขตธาตุอันคือธรรมธาตุแห่งการปรุงแต่งอยู่ดี ซึ่งเป็นธรรมที่ตถาคตทรงชี้ให้สลัดออกสลัดทิ้งเสีย และธรรมในส่วนของอสังขตธาตุ อันคือธรรมชาติดั้งเดิมแท้นั้น มันคือ “ธรรมชาติอันแท้จริงข้อเดียวที่ปรากฎอยู่โดยเป็นที่สุดแห่งธรรมแล้ว” และสรรพสัตว์ผู้มีปัญญามากแบบรอบรู้ถ้วนทั่วพวกนี้ก็เลือกที่จะตระหนักชัดและซึมทราบเป็นเนื้อหาเดียวกับมัน โดยปฏิเสธที่จะเข้าไปปรุงแต่งสาละวนในการปฏิบัติธรรมอันคือสังขตธาตุในระดับต่างๆ ซึ่งเป็นความไม่เด็ดขาดในความว่างเปล่า
เพราะฉะนั้นการที่เราจะตระหนักชัดและซึมทราบกลายเป็นเนื้อหาเดียวกับธรรม มันมิใช้เป็นการที่เราต้องลงมือปฏิบัติธรรมตั้งแต่ขั้นตอนแรก และมิใช่เป็นความจำเป็นที่เราต้องปฏิบัติธรรมให้เป็นไปตามลำดับขั้นตอน เพราะธรรมที่ตถาคตตรัสไว้นั้นมันก็เป็นเพียง “เหตุและผล” ในตัวมันเองสำหรับธรรมนั้นๆ การปฏิบัติธรรมตามความเข้าใจผิดว่ามันต้องเป็นไปตามลำดับขั้นตอน มันก็เป็นเพียงความรู้ที่ถูกต้องในส่วนหนึ่ง แต่ก็ถูกอวิชชาตัณหาอุปาทานครอบปิดบังไว้ในส่วนหนึ่ง เช่น การที่เราตระหนักชัดและซึมทราบกลายเป็นเนื้อหาเดียวกันกับธรรมอันเกิดขึ้นและดับไปเป็นธรรมดา ผลแห่งการปฏิบัติมันก็เป็นเพียงทำให้เราคลายกำหนัดในการที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นซึ่งเป็นพฤติกรรมแห่งการปรุงแต่งเป็นปรากฎการณ์ทางจิตต่างๆเกิดขึ้น มันเป็นเพียงความคลายกำหนัดแต่เพียงเท่านั้น แต่มันไม่ใช่ภาวะความเด็ดขาดแห่งความว่างเปล่าอันเป็นผลจากการที่สลัดออกซึ่งสังขตธาตุทั้งปวงที่เนื่องด้วยการปฏิบัติและผลแห่งการปฏิบัติทั้งหลาย ซึ่งภาวะอันเป็นความอิสระโดยเด็ดขาดนั้นมันคือ อสังขตธาตุ อันคือธรรมชาติอันใม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่อย่างนั้น
ธรรมอันแท้จริง มันจึงไม่มีลำดับขั้นตอนให้ต้องเข้าไปปฏิบัติ การที่นักศึกษาฝั่งทางโน้นเข้าใจว่าการปฏิบัติธรรมต้องค่อยๆปฏิบัติไปตามลำดับขั้นตอนแล้วนิพพานจักจะเกิดขึ้น มันจึงเป็นอวิชชาความไม่รู้ชนิดหนึ่ง






















ถ้าท่านจะค้นหาเขา
เขาก็จะหลบหลีกท่าน
ถ้าท่านตามหาเขาอีก
เขาก็ยิ่งหนีไกลออกไปอีก








บทที่ 82 ภิกษุฮังฉิ ผู้ปฏิเสธอริยสัจจ์
ฮังฉิ เป็นภิกษุในนิกายเซนผู้ซึ่งมีความรอบรู้ในด้านปัญญา ท่านสามารถตระหนักชัดและซึมทราบเป็นเนื้อหาเดียวกันกับธรรมชาติดั้งเดิมแท้ได้ด้วยตนเองโดยไม่มีครูบาอาจารย์มาชี้แนะสอนท่าน และท่านฮังฉิได้ยินข่าวเล่าลือว่าคำสอนของสังฆปรินายก องค์ที่ 6 (เว่ยหล่าง) ได้ทำให้คนจำนวนมากมีความสว่างไสวในธรรม ท่านฮังฉิจึงได้รีบเดินทางมายังตำบลโซกายทันทีเพื่อมาทำความเคารพและสนทนาธรรมกับครูเว่ยหล่าง
พระสังฆปริณายกถามว่า ก็ท่านกำลังปฏิบัติอยู่อย่างไรเล่า?
ภิกษุ ฮังฉิ ตอบว่า แม้ธรรมคืออริยสัจทั้งหลาย ที่พระพุทธเจ้าทุกๆองค์สอนไว้ ข้าพเจ้าก็ไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องเข้าไปแตะต้องด้วย
พระสังฆปริณายกถามต่อไปว่า แล้วก็เดี๋ยวนี้ท่านอยู่ใน "ชั้นแห่งคุณวิเศษ" ชั้นไหนเล่า?
ภิกษุ ฮังฉิ ย้อนว่า จะมี "ชั้นคุณวิเศษ" อะไรที่ไหนเล่า ในเมื่อข้าพเจ้าปฏิเสธไม่เข้าเกี่ยวข้องด้วย แม้กับอริยสัจที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายได้สอนไว้?
การตอบโต้อย่างทันควันของภิกษุฮังฉิ ได้ทำให้พระสังฆปริณายกเกิดความนับถือ ถึงกับยกเธอขึ้นเป็นหัวหน้าคณะ
สำหรับนักศึกษาทางฝั่งโน้นผู้ซึ่งยังไม่เข้าใจธรรมอย่างถ่องแท้และยังไม่สามารถซึมทราบในเนื้อหาธรรมชาติดั้งเดิมแท้ได้ เมื่ออ่านบทความซึ่งเป็นข้อสนทนาระหว่างอาจารย์ทั้งสองข้างต้นจึงอาจเกิดความสงสัยและก็คงมีคำถามเกิดขึ้นมาอย่างทันทีทันใดว่า “ถ้าแม้กระทั้งธรรมอันคืออริยสัจจ์ 4 อันได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ก็ยังไม่เข้าไปแตะต้องด้วยแล้วจะบรรลุธรรมได้อย่างไรเล่า”
แต่ความเป็นจริง ธรรมอันเกิดจากการโต้ตอบระหว่างสองคณาจารย์และเป็นธรรมที่คณาจารย์ทั้งสองยอมรับซึ่งกันและกันในความเห็นพ้องต้องกันในธรรมที่โต้ตอบ คือ ธรรมชาติดั้งเดิมนั้น มันไม่มีแม้กระทั้งอริยสัจจ์นั้น “เป็นความเห็นที่ถูกต้อง” ก็เพราะเหตุที่ว่า “การเข้าไปแตะต้อง” ด้วยอริยสัจจ์ แท้จริงมันคือการหยิบยกธรรมอันคืออริยสัจจ์ขึ้นมาพิจารณาว่ามันคืออะไร มันประกอบไปด้วยเนื้อหาธรรมซึ่งมีความหมายอย่างไร เมื่อยังไม่เข้าใจว่าอะไรคืออะไรซึ่งเท่ากับว่ามันคือความลังเลสงสัยอันเป็นเหตุให้หยิบยกธรรมนั้นขึ้นมาพิจารณา แต่ “การหยิบยกธรรมอันคืออริยสัจจ์ขึ้นมาพิจารณา”นั้น มันคือความเกิดขึ้นแห่งธรรมอันคืออริยสัจจ์ มันคือความแปรปรวนตั้งอยู่ได้ไม่นานแห่งธรรมอันคืออริยสัจจ์ และมันคือความดับไปเป็นธรรมดาตามสภาพธรรมชาติแห่งธรรมอันคืออริยสัจจ์ มันคือสังขตธาตุอันคือธรรมธาตุแห่งการเกิดขึ้นดับไปของธรรมอันคืออริยสัจจ์นั่นเอง มันเป็นเพียง “ซากอัตตาตัวตน” ที่ผลุบๆโผล่ๆในลักษณะการเกิดขึ้นดับไปแบบซ้ำๆซากๆอยู่อย่างนั้น มันผลุบๆโผล่ๆด้วยเหตุแห่งความไม่เข้าใจของเราเองที่ว่า “เรามีความจำเป็นจะต้องพิจารณาธรรมอันคืออริยสัจจ์นั้นอยู่ตลอดเวลาแล้วเราจะสามารถกลายเป็นเนื้อหาดียวกันกับธรรมชาติดั้งเดิมแท้นั้นได้” แต่ธรรมอันแท้จริงคือธรรมชาติดั้งเดิมแท้ซึ่งเป็นความเห็นที่พ้องกันระหว่างคณาจารย์ทั้งสองคือ เว่ยหล่างและฮังฉิ นั้น ท่านทั้งสองเห็นว่า เนื้อหาธรรมธรรมชาติดั้งเดิมแท้นั้น มันคือธรรมชาติแห่งความว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของมันอยู่อย่างนั้นด้วยความเป็นอิสระเด็ดขาดโดยปราศจากความเป็นอัตตาตัวตนที่จะเกิดขึ้นได้ มันปราศจากความเป็นอัตตาตัวตนแม้กระทั้ง ความเป็นอัตตาตัวตนที่ชื่อว่า “ธรรมอันคืออริยสัจจ์”
ก็ขอให้นักศึกษาทางฝั่งโน้นทำความเข้าใจตามนี้








เมื่อครูเมตตาสอนเจ้า
เพราะด้วยจิตวิญญาณแห่งความเป็นครูเช่นเรา
เจ้าก็ต้องมีความเมตตาสอนคนอื่นด้วยเช่นกัน
ให้ระลึกว่าครูสอนเจ้าเช่นไร
เจ้าก็ต้องสอนคนอื่นเฉกเช่นเดียวกัน
กับที่เจ้าได้รับความรู้และแนวทางจากครูคนนี้






บทที่ 83 ตัวตนไม่มีอยู่จริง
ความเป็นจริงตัวตนไม่มีอยู่จริง ตามธรรมชาติมันคงมีแต่ความว่างเปล่าอันไร้ตัวตนอยู่อย่างนั้น ธรรมชาติแห่งความว่างเปล่านี้มันดำรงเนื้อหาแห่งความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนตามความดั้งเดิมแท้ของมันอย่างนี้มานานแสนนานแล้วอันหาจุดเริ่มต้นไม่ได้และก็ไม่สามารถทำลายล้างมันลงไปได้ เหมือนกับที่ตถาคตเจ้าทรงตรัสธรรมไว้ว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา คือ ธรรมทั้งหลายทั้งปวงอันคือธรรมชาติดั้งเดิมแท้นั้นมันย่อมไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่แล้วตามสภาพธรรมชาติของมันเอง
ความเป็นจริงตัวตนไม่มีอยู่จริง แต่ที่เราคิดว่ามีอยู่จริง มันจึงเป็นการที่เราคิดว่ามีสิ่งๆหนึ่งคือความเป็นตัวตนเกิดขึ้น ตถาคตเจ้าจึงทรงตรัสธรรมว่า สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา คือ การปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวงอันเกิดจากการเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ทั้ง 5 จนก่อให้เกิดความเป็นตัวตนจนกลายเป็นสิ่งที่เราคิดว่ามันมีอยู่จริงนั้นมันคือ ทุกข์ และตถาคตเจ้าก็ยังทรงตรัสธรรมอีกว่า สพฺพ สงฺขารา อนิจฺจา คือ การปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวงอันเกิดจากการเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ทั้ง 5 จนก่อให้เกิดความเป็นตัวตนจนกลายเป็นสิ่งที่เราคิดว่ามันมีอยู่จริงนั้นมันมีสภาพไม่เที่ยง เมื่อมันเกิดขึ้น มันย่อมมีความแปรปรวนตั้งอยู่ได้ไม่นาน และมันย่อมมีความสิ้นไปดับไปเป็นธรรมดา
เพราะฉะนั้นในเมื่อความเป็นจริงตัวตนไม่มีอยู่จริง มันย่อมไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่แล้วตามธรรมชาติซึ่งเรียกมันว่า “ธรรมชาติดั้งเดิมแท้” มันจึงย่อมไม่เกี่ยวอะไรเลยกับความเข้าใจผิดของเราที่เข้าใจผิดว่า เราคิดว่าตัวตนมันมีอยู่จริง เมื่อเข้าใจผิดคิดว่าความเป็นตัวตนมันมีอยู่จริงพระพุทธองค์จึงทรงชี้ว่า ความมีตัวตนอันเกิดจากความเข้าใจผิดนั้นเมื่อมันเกิดขึ้นแล้วมันก็ย่อมดับไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นการปฏิบัติธรรมอันเนื่องด้วยการตระหนักชัดและซึมทราบเป็นเนื้อหาเดียวกันกับความเกิดขึ้นดับไปเป็นธรรมดานั้น มันจึงเป็นการปฏิบัติธรรมบนพื้นฐานแห่งความเข้าใจผิดของเราเองว่าความเป็นตัวตนมันมีอยู่จริง เพราะฉะนั้นต่อให้เราปฏิบัติธรรมบนพื้นฐานแห่งการตระหนักชัดและซึมทราบเป็นเนื้อหาเดียวกันกับธรรมชาติแห่งการเกิดขึ้นดับไปเป็นธรรมดาอย่างเคร่งครัดและปฏิบัติอย่างนี้ไปเรื่อยๆเป็นเวลาอีกยาวนานตลอดชีวิตตราบจนลมหายใจสุดท้ายของเราก็ตาม มันก็เป็นได้แค่เพียงการปฏิบัติธรรมบนพื้นฐานแห่งความเข้าใจผิดของเราเองที่คิดว่าความเป็นตัวตนมันมีอยู่จริงและมันก็เกิดขึ้นดับไปมันเป็นได้เพียงเท่านี้จริงๆ อีกทั้งผลแห่งการปฏิบัติบนความเกิดขึ้นดับไปเช่นนี้มีผลเพียงแค่ทำให้เกิดความคลายกำหนัดเบาบางไปมากๆเท่านั้นจากการที่เราเข้าไปยึดมั่นถือมั่นจนก่อให้เกิดความเป็นตัวตนตามที่เราเข้าใจผิดว่ามันมีอยู่จริงนั่นเอง
ด้วยเหตุผลข้างต้นนี้ ตถาคตเจ้าจึงให้สลัดออกซึ่งวิธีปฏิบัติและผลแห่งการปฏิบัติที่มาจากการดำเนินไปบนเส้นทางแห่งความเกิดขึ้นดับไปอันเกิดจากที่นักปฏิบัติทั้งหลายเข้าใจผิดคิดว่าความเป็นตัวตนนั้นมีอยู่จริง แล้วให้นักปฏิบัติทั้งหลายหันมาทำความเข้าใจถึงธรรมชาติอันคือเนื้อหาแห่งสัจธรรมความเป็นจริงว่า แท้จริงแล้ว “ความเป็นตัวตน” มันไม่มีอยู่จริง มันคือความว่างเปล่าอันไร้ความเป็นตัวตนของมันอยู่อย่างนั้น มันคือความว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนซึ่งเป็นความสมบูรณ์ไปด้วยสัจจธรรมอันคือเนื้อหาแห่งความหลุดพ้นอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเพียงแต่นักปฏิบัติได้ละทิ้งอย่างสิ้นเชิงด้วยการสลัดออกซึ่งการปฏิบัติอันเนื่องด้วยวิถีธรรมชาติแห่งความเกิดดับที่เกิดจากความเข้าใจผิดของเราเองว่า “ความเป็นตัวตน” มันมีอยู่จริง และหันมาตระหนักชัดแล้วซึมทราบเป็นเนื้อหาเดียวกันกับธรรมชาติดั้งเดิมแท้ซึ่งมันคือสัจจธรรมที่ “ความเป็นตัวตน” มันไม่มีอยู่จริง เพียงเท่านี้ นี่คือการปฏิบัติธรรมตามคำสอนแบบเซนที่เดินตามคำสอนแห่งตถาคตเจ้าทุกฝีก้าว
ความเป็นจริงตัวตนไม่มีอยู่จริง แต่ที่คิดว่ามีอยู่และยังเข้าใจอีกว่าที่มีอยู่ก็เกิดขึ้นดับไปสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ขัดต่อธรรมชาติดั้งเดิมแท้








ทุกสิ่งโดยตัวมันเองล้วนว่างเปล่า











บทที่ 84 “โพธิสัตว์ศาสตร์” แห่งพุทธโคดม
เมื่อย้อนเวลาไปในอดีตอันไกลโพ้น ได้มีดวงจิตดวงหนึ่งลงมาเกิดในโลกมนุษย์และได้หมั่นประกอบกุศลกรรมในลักษณะโพธิสัตว์เรื่อยมา ดวงจิตดวงนี้มีลักษณะธาตุแห่ง “ปัญญา” ชอบพิจารณาสิ่งต่างๆชอบวิเคราะห์แยกแยะถึงลักษณะเหตุและปัจจัยในที่มาและที่ไป เป็นธรรมธาตุที่ประกอบไปด้วยลักษณะความชอบแห่งเหตุและผล โพธิสัตว์ดวงนี้เป็นผู้มีปัญญาบารมีมีแนวทางและหลักเกณฑ์ในการดำรงค์ชีวิตโดยมุ่งหมายเอาความดีเป็นที่ตั้ง เป็นผู้ที่มีความระมัดระวังหมั่นประกอบแต่บุญกุศลและพยายามงดเว้นกระทำความชั่วจนเป็นอุปลักษณะนิสัยทุกภพทุกชาติไป
จนกระทั้งในชาติหนึ่งที่ท่านได้ลงมาจุติบนโลกมนุษย์ใบนี้อีกครั้งในฐานะสุเมธดาบส เพราะเหตุปัจจัยในอดีตชาติที่สะสมกุศลกรรมมานานนับเป็นกัปป์ ด้วยเหตุผลแห่งกุศลกรรมนั้นจึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ “มีสิ่งนี้จึงมีสิ่งนี้” เกิดขึ้นตั้งแต่อดีตชาติอันไกลโพ้นจนมาถึงชาติปัจจุบันแห่งสุเมธดาบส และด้วยแรงกุศลที่ทำมาพร้อมเพรียงอย่างมากนั้นจึงมีแรงส่งผลให้ก่อรูปความมีความเป็นขึ้นมาในอนาคตด้วยอาศัยเหตุปัจจัย “เพราะมีสิ่งนี้จึงมีสิ่งนี้” อีกเช่นกัน และก็ในชาติสุเมธดาบสเช่นกันกรรมดีของท่านพาให้ท่านได้พบพระพุทธเจ้าที่ชื่อ “ทีปังกร” สุเมธดาบสได้ถูกพระพุทธเจ้าทีปังกรพยากรณ์ว่า กรรมดีอันคือกุศลกรรมในอดีตชาติของท่านที่ผ่านมานับไม่ถ้วนนั้นได้ส่งผลเป็นเหตุเป็นปัจจัยในอนาคตกาลนับเนื่องแต่นี้ไปอีก 4 อสงไขยแสนมหากัปป์ท่านสุเมธดาบสท่านจักจะได้เป็นพระพุทธเจ้าที่ชื่อว่า “พุทธโคดม”
“สุเมธดาบส”จักจะได้เป็นพระพุทธเจ้านามว่า “พุทธโคดม” นั้น หาใช่เกิดจากการที่พระพุทธเจ้าทีปังกรได้ตรัสพยากรณ์ว่าจะได้เป็นไม่ แต่มันเป็นเรื่องของกุศลกรรมที่เคยประกอบขึ้นตั้งแต่อดีตชาติอันไกลโพ้นและกรรมดีดังกล่าวนั้นได้เป็นแรงบุญมหาศาลส่งผลเป็นเหตุเป็นปัจจัยในความมีสิ่งนี้จึงมีสิ่งนี้เป็นแรงส่งผ่านมายังชาติปัจจุบันแห่งสุเมธดาบสและเป็นแรงต่อเนื่องไปอีก 4 อสงไขยแสนมหากัปป์ในอนาคตกาลและเหตุปัจจัยในการมีสิ่งนี้จึงมีสิ่งนี้ก็จะทำให้สุเมธดาบสจักจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านามว่า “พุทธโคดม” อย่างแน่นอน
และเพราะด้วยลักษณะธรรมธาตุแห่งดวงจิตของสุเมธดาบสในอดีตชาติที่สะสมแต่กุศลกรรมมานั้นเป็นลักษณะ “ปัญญาบารมี” ลักษณะธรรมธาตุเช่นนี้มีคุณลักษณะพิเศษคือ เป็นธรรมธาตุที่ชอบพิจารณาวิเคราะห์แยกแยะ จึงมีลักษณะแห่งการใคร่ครวญและเลือกเฟ้น อีกทั้งเมื่อดวงจิตนี้ประกอบไปด้วยธรรมธาตุแห่งปัญญาซึ่งเป็นลักษณะแห่งมหาบัณฑิต จึงทำให้ดวงจิตดวงนี้เลือกประกอบแต่ความดีเท่านั้นและเลือกเฟ้นในการที่ใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะละเว้นทำความชั่วประการต่างๆ ด้วยเหตุผลแห่งการเลือกใช้ “ปัญญา” เป็นคุณธรรมนำหน้าในการดำเนินชีวิตในแต่ละภพในแต่ละชาติจึงส่งผลให้ดวงจิตธรรมธาตุนี้ใช้เวลาประกอบกุศลกรรมไม่นานเพียงแค่ 4 อสงไขยแสนมหากัปป์นับเนื่องแต่ชาติสุเมธดาบส ก็จักได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านาม “พุทธโคดม” อย่างแน่นอน
ก็โดยปกติทั่วไปลักษณะดวงจิตที่มีเหตุปัจจัยจักจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้ามีลักษณะอยู่ 3 ประเภท
ประเภทแรกใช้เวลาประกอบกุศลกรรมน้อยที่สุดคือ 4 อสงไขยแสนมหากัป คือ ลักษณะปัญญาธิกะบารมี
ประเภทสองใช้เวลาประกอบกุศลกรรมมากขึ้นมาอีกคือ 8 อสงไขยแสนมหากัปป์ คือ ลักษณะศรัทธาธิกะบารมี
ประเภทที่สามใช้เวลาประกอบกุศลกรรมนานที่สุด คือ 16 อสงไขยแสนมหากัป คือ ลักษณะวิริยะธิกะบารมี
เพราะฉะนั้น การที่สุเมธดาบสมหาบัณฑิตเลือกใช้ “ปัญญา”เป็นคุณธรรมหลักในการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพและเนื่องจากธาตุแห่ง “ปัญญา” นั้น ช่วยเลือกเฟ้นให้ท่านแยกแยะและเลือกที่จะมุ่งกระทำคุณงามความดี จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ท่านใช้เวลาน้อยมากในการบำเพ็ญบารมีในฐานะ “บรมหาโพธิสัตว์”เพื่อจักจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาค จึงถือว่าท่านมีศิลปะแห่ง “โพธิสัตว์ศาสตร์” ทำให้ท่านได้ใช้เวลาน้อยที่สุดในการบำเพ็ญบารมีเพื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เพียงแค่ 4 อสงไขยแสนมหากัปป์เพียงเท่านั้น นี่คือ “โพธิสัตว์ศาสตร์แห่งพระพุทธโคดม”






















เพราะเส้นทาง "อมตะธรรม" มันไร้มิติแห่งกาลเวลา
ศิษย์เอ๋ย..ครูจะพาเจ้าไปโดยมิได้อาทรร้อนใจ
ความเป็นครูของเจ้ามิได้สูญหายไปไหน
ก็เพราะเจ้านั่นแหละคือ.....
จิตวิญญาณแห่งความเป็นครูผู้ให้อยู่ตลอดเวลา









บทที่ 85 ความมีอยู่และความไม่มีอยู่
ความมีอยู่ คือความหมายแห่งฐานะการดำรงอยู่ของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เป็นสิ่งยืนยันว่า “มี” สิ่งนั้นอยู่ ซึ่งหมายถึง “การเกิดขึ้น” ของสิ่งๆนั้น
ความไม่มีอยู่ คือความหมายแห่งฐานะการสิ้นสุดของสิ่งๆหนึ่งที่มันเคย “มีอยู่” เป็นสิ่งยืนยันว่า “ไม่มี” สิ่งนั้นอยู่ ซึ่งหมายถึงการดับไปสิ้นไปของสิ่งๆนั้น
สิ่งที่หมายถึง “ความไม่มีอยู่” มันมิใช่หมายถึงการทำลายล้างโดยแท้จริง ( ซึ่งมันมิได้หมายถึง ความไม่มีสิ่งใดเลยซึ่งมันคือธรรมชาติแห่งความว่างเปล่าของมันอยู่อย่างนั้น ) แต่มันเป็นการยืนยันว่าเคยมีสิ่งๆหนึ่งอยู่และมันก็มีสภาพแห่งความแปรปรวนแล้วดับไปเป็นธรรมดา จึงเรียกมันว่า “ความไม่มีอยู่”
สิ่งที่หมายถึง “ความมีอยู่” มันก็มิได้หมายถึงความมีอยู่อย่างแท้จริง ( ซึ่งมันมิได้หมายถึง ความมีอยู่ตามธรรมชาติอย่างแท้จริงของความว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่อย่างนั้น ) แต่มันเป็นการยืนยันว่าสิ่งที่มีอยู่นั้นมันย่อมตกอยู่ในสภาพแห่งความแปรปรวนดับไปเป็นธรรมดา มันจึงเป็น “ความมีอยู่” แบบไม่ถาวรไม่คงที่ซึ่งมีลักษณะแปรผันของสิ่งๆหนึ่งเพียงเท่านั้น
เพราะฉะนั้น ความมีอยู่หรือความไม่มีอยู่ จึงเป็นภาวะแห่งการยืนยันในความมีอยู่หรือความเกิดขึ้นของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และเป็นภาวะแห่งการยืนยันในความไม่มีอยู่หรือความดับไปของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มันจึงเป็นเพียงการยืนยันภาวะแห่งการเกิดดับของสิ่งๆหนึ่ง มันเป็นการยืนยันแค่เพียงความหมายนี้
แต่เนื้อหาธรรมชาติดั้งเดิมแท้ซึ่งมันคือธรรมชาติแห่งความว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของมันอยู่อย่างนั้น มันคือสภาพแห่งความเป็นเช่นนั้นของมันเองอยู่อย่างนั้น โดยเนื้อหาแล้ว มันย่อมไม่มีการมาหรือการไป มันย่อมเป็นสิ่งไม่รับและไม่ปฏิเสธ มันย่อมเป็นสิ่งที่ไม่คงอยู่และไม่จากไป มันย่อมไม่มีการเกิดหรือการดับ เพราะฉะนั้นเมื่อมันปราศจากความมีความเป็นซึ่งมีคุณสมบัติแห่งการเกิดขึ้นดับไป ธรรมชาติดั้งเดิมแท้มันจึงไม่ตกอยู่ภายใต้ “ความมีอยู่หรือความไม่มีอยู่”
เพราะฉะนั้น “ธรรมชาติดั้งเดิมแท้” มันจึงมิใช่สิ่งที่ยืนยัน “ความมีอยู่” ของความว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนซึ่งคือเนื้อหาของมัน แต่ความว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนมันก็ทำหน้าที่แสดงเนื้อหาของมันเองตามธรรมชาติอยู่แล้ว อันหมายถึงความเป็นเช่นนั้นของมันเองอยู่อย่างนั้น และมันจึงมิใช่สิ่งที่ยืนยัน “ความไม่มีอยู่” ของสิ่งใดสิ่งหนึ่งนอกจากความว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เพราะความว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนมันเป็นธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้น มันมิได้เกิดจากการที่ “ต้องอาศัย” สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้วสิ่งนั้นไม่มีอยู่ดับไปแล้วธรรมชาติดั้งเดิมแท้ถึงจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งหมายถึงความเป็นธรรมชาติดั้งเดิมแท้มันมิได้เป็นสิ่งยืนยันว่าพึ่งมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นแล้วไม่มีอยู่ดับไปจนกลายเป็นความดับสนิทไม่มีเหลือ
















มันหลอมอะไรกับอะไรเล่า...บ้าแน่ๆ
ในหัวเธอคงมีแต่สิ่งนี้สิ่งนั้นเต็มไปหมด
มันถึงต้องถูกหลอมเอามาเป็นพุทธะในความคิดเธอน่ะ
ธรรมชาติแห่งพุทธะมันเป็นสภาพของมันเองมาแต่แรกเริ่ม
มิใช่ถูกใครสร้างขึ้นมาและมันก็มิใช่เกิดขึ้นจากฝีมือใคร
ที่ต้องไปหลอมอะไรต่อมิอะไรแล้วพุทธะมันถึงจะเกิดขึ้น







บทที่ 86 จิตเดิมแท้,จิตหนึ่ง
“จิต” คือ ปรากฎการณ์ชนิดต่างๆซึ่งเป็นการแสดงออกในหลากหลายรูปแบบอันคือคุณลักษณะแห่งการปรุงแต่งที่อวิชชาความไม่รู้พาเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ทั้ง 5 จนก่อให้เกิดเป็นจิตเกิดขึ้น ซึ่งมันคือภาวะแห่งสังขตธาตุอันคือธรรมธาตุซึ่งมีคุณลักษณะแห่ง การเกิดขึ้น มีความแปรปรวนตั้งอยู่ได้ไม่นาน และมีความดับไปเป็นธรรมดาตามสภาพธรรมชาติ นี่คือความหมายของคำว่า “จิต”
แต่สำหรับนักศึกษาทางฝั่งโน้นผู้ซึ่งเคยอ่านคำสอนแบบเซนจากตำราคณาจารย์ทางเซนผู้มีชื่อเสียงในยุคนี้ ไม่ว่าจะเป็น “สูตรของเว่ยหล่าง” และ “คำสอนของฮวงโป” ต้องเจอคำบางคำเหล่านี้เช่น จิตเดิมแท้ (Essence of Mind) และ จิตหนึ่ง (ONE MIND) ซึ่งเป็นคำหลักที่ผู้แปลหนังสือสองเล่มนี้ใช้เขียนแทนภาวะธรรมซึ่งปรากฎอยู่ในหนังสือหลายๆที่ แล้วนักศึกษาทางฝั่งโน้นผู้ซึ่งเป็นผู้อ่านอาจเกิดความเข้าใจผิดว่า แท้จริงภาวะแห่งความเป็นอิสระโดยเด็ดขาดที่มันคือสภาพความเป็นเช่นนั้นของมันเองอยู่อย่างนั้น แท้จริงมันคือ “จิต” ซึ่งเรียกมันว่าจิตเดิมแท้หรือจิตหนึ่ง ซึ่งชวนให้นักศึกษาทางฝั่งโน้นเข้าใจไปว่าสามารถจับกุมจับฉวยภาวะมันได้เพราะว่ามันคือ จิต และมันก็มีสัณฐานมีรูปร่างลักษณะขึ้นมาพอที่จะยืนยันถึงสภาพแห่งความหลุดพ้นได้ด้วยเหตุที่เข้าใจว่ามันคือ จิต อีกเช่นเดียวกัน และนี่ก็คือความผิดพลาดอย่างมหันตร์ที่นักศึกษาทางฝั่งโน้นไปเข้าใจผิดในความหมายแห่งอักษรตัวหนังสือของคำว่า “จิต”แต่อย่างเดียว โดยที่ไม่ทำความเข้าใจในความหมายแห่งเนื้อหาธรรมอันแท้จริงของ จิตเดิมแท้และจิตหนึ่งให้อย่างกระจ่างชัดเสียก่อน
ก็เพราะว่า “จิตเดิมแท้” ในหนังสือ สูตรของเว่ยหล่าง นั้นหมายถึง มันเป็นของบริสุทธิ์อย่างบริสุทธิ์แท้จริง มันเป็นอิสระไม่อยู่ภายใต้อำนาจ ความต้องเป็นอยู่ หรือภายใต้ความดับสูญ อย่างอิสระแท้จริง มันเป็นสิ่งที่มีความสมบูรณ์อยู่ในตัวมันเอง อย่างสมบูรณ์แท้จริง มันเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือความเปลี่ยนแปลง อย่างนอกเหนือแท้จริง มันคือสภาพความเป็นเช่นนั้นอยู่อย่างนั้น
ก็เพราะว่า “จิตหนึ่ง” ในหนังสือ คำสอนของฮวงโป นั้นหมายถึง มันซึ่งเป็นที่ปราศจากการตั้งต้นนี้ เป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้น และไม่อาจจะถูกทำลายได้เลย มันไม่ใช่ของมีสีเขียวหรือสีเหลือง และไม่มีทั้งรูป ไม่มีทั้งการปรากฏ มันไม่ถูกนับรวมอยู่ในบรรดาสิ่งทั้งที่มีการตั้งอยู่ และไม่มีการตั้งอยู่ มันไม่อาจจะถูกลงความเห็นว่า เป็นของใหม่หรือของเก่า มันไม่ใช่ของยาว ของสั้น ของใหญ่ ของเล็ก ทั้งนี้เพราะมันอยู่เหนือขอบเขต เหนือการวัด เหนือการตั้งชื่อ เหนือการทิ้งร่องรอยไว้ และเหนือการเปรียบเทียบทั้งหมดทั้งสิ้น
ก็เพราะโดยความหมายแห่งเนื้อหาของคำว่า จิตเดิมแท้และจิตหนึ่ง ความหมายของคำทั้งสองคำนี้มันหมายถึง ความว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของมันเองอยู่อย่างนั้น มันคือธรรมชาติแห่งความว่างเปล่าอันไร้ตัวตนของมันอยู่เช่นนั้นเองอันหาจุดเริ่มต้นมิได้ ซึ่งมันปราศจากภาวะธรรมอันเกิดขึ้นและดับไปที่มันเป็นคุณลักษณะแห่งปรากฎการณ์ทางจิตต่างๆที่ถูกปรุงแต่งขึ้น เพราะฉะนั้นจิตเดิมแท้ ในหนังสือสูตรของเว่ยหล่าง และจิตหนึ่ง ในหนังสือคำสอนของฮวงโป มันก็คือความหมายเดียวกันกับคำว่า “ธรรมชาติดั้งเดิมแท้” ที่ปรากฎอยู่ในหนังสือ “ใจต่อใจในการฝึกตน” ที่ผู้เขียนได้ดำริเขียนขึ้นนั่นเอง มันมิใช่ “จิต” ตามที่นักศึกษาทางฝั่งโน้นหลายๆคนเข้าใจผิด ก็ขอให้พวกเธอทั้งหลายทำความเข้าใจให้ถูกต้องตามนี้













เมื่อคุณแสวงหา
คุณไม่อาจพบมัน









บทที่ 87 “ตถาคต” ตรัสถึงธรรมชาติ
พระตถาคตเจ้าทรงตรัสถึง “ธรรมชาติ” ซึ่งปรากฎมาในพระไตรปิฎกแห่ง ตติยนิพพานสูตร ว่า “ธรรมชาติ” นั้นคือคุณลักษณะของมันเอง โดยตัวมันเอง โดยสภาพมันเอง ซึ่งมันเป็นของมันเองอยู่อย่างนั้นโดยมิได้เกิดจากใครทำหรือเข้าไปบังคับให้มันเกิดลักษณะนั้นขึ้น “ธรรมชาติ” แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ ธรรมชาติแห่งสังขตธาตุ และ ธรรมชาติแห่งอสังขตธาตุ ตถาคตเจ้าทรงตรัสไว้ว่า “ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำไม่ได้แล้ว ปรุงแต่งไม่ได้ แล้ว มีอยู่ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าปัจจัยกระทำไม่ได้แล้ว เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำไม่ได้แล้ว ปรุงแต่งไม่ได้แล้ว จักไม่ได้มีแล้วไซร้ การสลัดออกซึ่งธรรมชาติที่เกิดแล้ว เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำแล้ว ปรุงแต่งแล้ว จะไม่พึงปรากฏในโลกนี้เลย”
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะธรรมชาติอันไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำไม่ได้แล้วปรุงแต่งไม่ได้แล้ว มีอยู่ ฉะนั้น การสลัดออกซึ่งธรรมชาติที่เกิดแล้ว เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำแล้วปรุงแต่งแล้วจึงปรากฏ ”
ธรรมชาติแห่งสังขตธาตุ ก็คือสิ่งที่ตถาคตเจ้าได้ตรัสว่า “ธรรมชาติที่เกิดแล้ว เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำแล้ว ปรุงแต่งแล้ว” อันหมายถึง สิ่งๆหนึ่งที่เกิดขึ้นอันเกิดจากมีอวิชชาเป็น “ปัจจัยกระทำแล้ว” ซึ่งทำให้เกิดการเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ทั้ง 5 จนก่อให้เกิดตัณหาอุปาทานอันทำให้ “การปรุงแต่งปรากฎ” เกิดขึ้น มันจึง “เป็นแล้ว”ซึ่งอัตตาตัวตน สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นมันมีลักษณะธรรมชาติของมันคือ เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว มันย่อมเป็นธรรมชาติแห่งการตั้งอยู่ได้ไม่นานมีความแปรปรวน และมันย่อมเป็นธรรมชาติที่มันต้องดับไปสิ้นไปเป็นธรรมดา ซึ่งความดับไปสิ้นไปเป็นธรรมดาอันคือคุณลักษณะแห่งธรรมชาติในสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น พระตถาคตเจ้าได้หยิบยกเรื่องธรรมชาติแห่งสังขตธาตุนี้นำไปสอนชี้แนะแก่เหล่าอริยสาวกทั้งหลายในสมัยพุทธกาลเป็นบทเรียนแรกทุกครั้งไป ท่านทรงชี้แนะว่าหนทางอันหลุดพ้นซึ่งคืออริยมรรคมีองค์แปดนั้น แท้จริงมันก็คือมรรคหรือหนทางที่มีลักษณะแห่ง “ธรรมชาติแห่งการสิ้นไปดับไปเป็นธรรมดา” ตถาคตเจ้าทรงชี้หนทางธรรมชาติแห่งสังขตธาตุด้วยการตรัสว่า ขันธ์ทั้ง 5 มีความสิ้นไปเสื่อมไปดับไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นนักศึกษาทางฝั่งโน้นทั้งหลายหากมีความศรัทธาประสงค์ที่จะหลุดพ้น นักศึกษาทั้งหลายจึงควรทำความเข้าใจถึงความหมายแห่ง “ธรรมชาติ” เป็น “ลำดับแรก” และควรทำความเข้าใจถึงความหมายแห่งธรรมชาติของขันธ์ทั้ง 5 ที่มันล้วนดับไปสิ้นไปเป็นธรรมดา เป็น “ลำดับที่สอง”

ธรรมชาติแห่งอสังขตธาตุ ก็คือสิ่งที่ตถาคตเจ้าได้ตรัสว่า “ธรรมชาติไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำไม่ได้แล้ว ปรุงแต่งไม่ได้แล้ว” อันหมายถึงธรรมชาติแห่งความเป็นอิสระโดยเด็ดขาดซึ่งเป็นเนื้อหาแห่งความว่างเปล่าไร้อัตตาตัวตนอยู่อย่างนั้น ซึ่งมันปราศจากปัจจัยอันคืออวิชชาความไม่รู้พาเข้าไปยึดมั่นถือมั่น มันจึงไม่เป็นแล้วซึ่งอัตตาตัวตน มันจึงเป็นสภาพธรรมชาติแห่งการปรุงแต่งไม่ได้แล้ว
ตถาคตเจ้าทรงตรัสชี้ว่า เพราะ “ความมี” ธรรมชาติแห่งอสังขตมัน “มีอยู่” ท่านจึงทรงชี้แนะให้สลัดออกซึ่งธรรมชาติแห่งสังขตธาตุอันคือธรรมธาตุแห่งการปรุงแต่งซึ่งมีคุณลักษณะที่เกิดขึ้นและดับไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นนักศึกษาฝั่งทางโน้นทั้งหลายจึงควรทำความเข้าใจถึงความหมายแห่งการ “สลัดออก” ในการดำเนินไปในธรรมชาติแห่งสังขตธาตุอันคือการเกิดขึ้นดับไปเป็นธรรมดา ซึ่งนักศึกษาทั้งหลายกำลังสาละวนปฏิบัติตามมันอยู่ เป็นการทำความเข้าใจ “ลำดับที่สาม”
และนักศึกษาทางฝั่งโน้นทั้งหลายก็ควรทำความเข้าใจถึงการ “มีอยู่” อยู่แล้วซึ่งธรรมชาติแห่งอสังขตธาตุอันคือธรรมชาติแห่งความว่างเปล่าโดยหาจุดเริ่มต้นไม่ได้และก็ไม่สามารถทำลายล้างมันลงไปได้ เพราะความว่างเปล่านั้นมันคือคุณสมบัติ “ดั้งเดิมแท้” ของมันเองอยู่แล้ว มิใช่เกิดจากการที่ใครจะมาสามารถแสวงหาทำมันให้เกิดขึ้นมาได้ตามความต้องการของตน มันจึงเป็น “ธรรมชาติดั้งเดิมแท้” อันคือสภาพความเป็นเช่นนั้นของมันเองอยู่อย่างนั้น และมันก็มิใช่เกิดจากการอาศัยเหตุจาก “การสลัดออก” ซึ่งธรรมชาติแห่งสังขตธาตุแล้วถึงจะเป็นผลทำให้เนื้อหาธรรมชาติดั้งเดิมแท้มันปรากฎขึ้น นักศึกษาทั้งหลายควรทำความเข้าใจตรงนี้ เป็น “ลำดับสุดท้ายที่สี่”
















ถ้าเมื่อเธอเป็นผู้สมบูรณ์
ด้วยสัจจะพื้นฐานในทุก ๆ กรณีอยู่แล้ว
เธอก็ไม่ควรพยายามจะเพิ่มเติมอะไร
ให้แก่สิ่งซึ่งสมบูรณ์อยู่แล้วนั้น
ด้วยการบำเพ็ญวัตรปฏิบัติต่าง ๆ
ซึ่งไร้ความหมายเหล่านั้น...มิใช่หรือ






บทที่ 88 พุทธะเป็นตัวเป็นตน
หากพวกเธอไม่เข้าใจและไม่สามารถซึมทราบในธรรมชาติแห่งพุทธะนั้นได้ ก็ด้วยความรู้ที่พวกเธอศึกษามาจากคัมภีร์ต่างๆและด้วยความมุ่งหวังที่พวกเธออยากจะหลุดพ้นจนตัวสั่น ก็ด้วยแรงจูงใจที่ถูกบีบอัดไปด้วยความรู้ต่างๆเหล่านี้ก็จะทำให้พวกเธอรีบกระโจนลงสู่สนามแห่งการประลองปัญญาอันทื่อๆของพวกเธอที่เรียกมันว่าหนทางอันบริสุทธิ์ที่เกิดจากการปฏิบัติด้วยความพากเพียรวิริยะอุตสาหะ และสิ่งๆหนึ่งซึ่งพวกเธอผลิตมันออกมาอยู่ตลอดเวลาในขณะที่เธอเร่งรีบขวนขวายในการปฏิบัติ คือ ภาพแห่งความเป็นพุทธะที่พวกเธอมุ่งหวัง มันเป็นสิ่งมุ่งหวังว่าเมื่อพวกเธอลงมือลงแรงไปเท่าไร ผลแห่งการที่เธอได้ลงแรงไปมันก็น่าจะให้ผลตามที่คาดหวังไว้ และพวกเธอก็ยังฉายภาพต่อออกมาเป็นฉากๆอีกว่า พวกเธอควรจะต้องเร่งปฏิบัติไปอีก มุ่งความเพียรพยายามไปอีกให้มากกว่านี้แล้วผลที่อาจจะได้รับในกาลข้างหน้าอาจจะทำให้พวกเธอกลายเป็นพวกๆหนึ่งซึ่งมันมีอยู่น้อยบนโลกใบนี้และเรียกพวกนั้นว่า “อรหันต์” ใช่ พวกเธออาจจะได้เป็นอรหันต์ ก็ขอให้ไปตามทางของพวกเธอเถอะ แต่เราไม่ไป ไม่ไปแน่ๆ
เพราะอะไร ก็เพราะว่าพุทธะในวิถีแห่งการปฏิบัติของพวกเธอบนหนทางบริสุทธิ์ที่พวกเธอกำลังจ้ำเดินอยู่นั้น มันเป็นพุทธะที่กลายเป็นตัวเป็นตนขึ้นมาทุกๆขณะที่เธอกำลังทำความเพียรและมุ่งหวังให้พุทธะชนิดนี้ในมโนภาพที่อยู่ในหัวพวกเธอ (อันคือความคิดซึ่งเป็นผลผลิตจากเส้นสมองอันอักเสบของพวกเธอเอง) มันเกิดขึ้น มันจะเกิดขึ้นทุกครั้งที่เธอตั้งใจภาวนาและมันจะเกิดขึ้นทุกครั้งที่เธอมุ่งหวังผลแห่งการภาวนา มันเป็นเพียงจิตที่แสวงหาจิต พวกเธอเดินต่อไปเถอะบนหนทางบริสุทธิ์ที่ฉาบไร้ไปด้วยพุทธะที่กลายเป็นตัวเป็นตนขึ้นมาอยู่ทุกขณะ เธอไป แต่เราไม่ไป







ลูกศิษย์ทั้งหลาย
จงเดินตามเราทุกฝีก้าว
ไปตาม "ร่องพุทธะ"
และเป็นครูสอนเซน
ต่อจากเรา








บทที่ 89 ดอกบัวแห่งพุทธะเซน (Zen lotus)
"สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ ณ ภูเขาคิชฌกูฏค่ำนั้น ท้าวมหาพรหมได้เสด็จมาเข้าเฝ้าถวายดอกบัวเป็นพุทธบูชาแล้วจึงกราบทูลอาราธนา ให้ทรงแสดงธรรมพระตถาคตจึงทรงยกพระหัตถ์ขวาอันบรรจงหยิบดอกบัวชูขึ้นท่ามกลางสันนิบาตนั้น โดยมิได้ตรัสแต่ประการใด
ในขณะนั้นปวงมนุษย์ทั้งหลายต่างไม่เข้าใจในความหมาย มีเพียงพระมหากัสสปะผู้เดียวเท่านั้น ที่ทัศนาองค์พระบรมครูด้วยดวงตาอันเปล่งประกายจำรัส พร้อมกับรอยยิ้มละไม
ครั้นแล้วพระโลกนาถเจ้า จึงตรัสขึ้นในท่ามกลางที่ประชุมว่า
" ตถาคตมีธรรมจักษุอันถูกตรงนิพพาน
ตถาคตเป็นผู้มีญาณทัศนะอันรู้จบพร้อมในธรรม
ตถาคตเป็นผู้มีดวงจิตอันหลุดพ้นแล้ว
ตถาคตเป็นผู้ธำรงสัจจะอันบริสุทธิ์ไม่เคลือบคลุม
สิ่งใดอันตถาคตเป็น...ธรรมใดอันตถาคตรู้
สิ่งนั้น ธรรมนั้น....ตถาคตได้ถ่ายทอด
ให้แก่มหากัสสปะโดยครบถ้วนบริบูรณ์แล้ว "
ก็ในครานั้น นอกจากท้าวมหาพรหมแล้วก็ยังมีหมู่ทวยเทพทั้งหลายอันหาประมาณมิได้ก็ได้มาเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ และด้วยอนาคตังสญาณแห่งความเป็นเทวาทั้งหลายทำให้เป็นที่รับรู้ในหมู่ทวยเทพว่า ธรรมของพระพุทธองค์อันคือดอกบัวที่ท่านทรงยกชูขึ้นนั้นจะได้เผยแพร่ไปเป็นที่ยอมรับแก่หมู่ชนในลักษณะการบรรลุธรรมเข้านิพพานด้วยการอธิบายและชี้หนทางขึ้นฝั่งนิพพานกันแบบง่ายๆ ไม่ยุ่งยากซับซ้อน และการสอนธรรมแบบนี้จะมีต้นเหตุมาจากสายวงกรรมแห่งพระมหากัสสปะ
แล้วในกาลต่อมาก็มหากัสสปะนั่นเองได้นำเอาวิธีการสอนธรรมแบบง่ายๆแต่กลับมีความเข้าใจในธรรมอันลึกซึ้งไปเผยแพร่ในประเทศจีน ทั้งนี้มหากัสสปะได้เป็นบุคคลผู้ปิดทองหลังพระโดยเมื่อท่านได้ละขันธ์ 5เข้านิพพานไปแล้ว ท่านเองก็มิได้ทิ้งพระพุทธศาสนาไปแต่อย่างใด เมื่อท่านเป็นวิสุทธิเทพท่านก็ยังตามมาช่วยเก็บงานในการเผยแพ่ธรรมในลักษณะบรรลุธรรมง่ายๆนั้น ด้วยการลงมาช่วยสอนภิกษุในรุ่นต่างๆให้เข้านิพพานและสืบทอดคำสอนธรรมในลักษณะเช่นนี้สืบต่อเป็นช่วงๆ ไป จนกระทั้งคำสอนนี้ได้ถูกปรมาจารย์ ตั๊กม๊อ ซือโจ๊ว หรือ ท่านโพธิธรรม เป็นพระอรหันต์จากอินเดียได้นำเข้าไปเผยแพร่ในจีน (โดยมีมหากัสสปะอยู่เบื้องหลัง) ท่านตั๊กม้อ ถือว่าเป็นดอกบัวกลีบแรก และเมื่อคำพยากรณ์ของฝ่ายเทวาที่รู้เส้นทางกรรมวิสัยได้พยากรณ์ไว้ล่วงหน้าว่า “ เมื่อดอกบัวครบห้ากลีบเมื่อไร คำสอนในสายมหากัสสปะนี้จะเป็นที่แพร่หลายยอมรับไปทั่วโลกใบนี้ ” ก็จนกระทั้งมีโพธิสัตว์ดวงหนึ่งแห่งสวรรค์ได้ลงมาจุติบนโลกมนุษย์เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้เผยแพร่ แล้ววันนั้นเองดอกบัวก็ครบห้ากลีบตามคำพยากรณ์ โพธิสัตว์ดวงนี้มีชื่อว่า ท่านฮุ่ย เหนิง (ครูเว่ยหล่าง) ท่านเป็นผู้รับธรรมสืบทอดคำสอน “ จากจิตสู่จิต ” และคำสอนของท่านก็เป็นที่แพร่หลายโด่งดังมาจนถึงทุกวันนี้ ทางจีนเองเรียกคำสอนแบบ “ จิตสู่จิต ” ว่า “ ธยาณะ หรือ ฌาน ” เรียกสำนักท่านว่า “สำนักฝ่ายใต้” เชื่อว่า การปฏิบัตินั้นต้องปฏิบัติอย่างรวดเร็วเพราะการตรัสรู้ธรรมนั้นต้องอาศัยการ รู้อย่างฉับพลัน หลังจากนั้นก็มีการสืบทอดธรรมะต่อไปยังลูกศิษย์รุ่นหลังที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับก็คือ ครูบาฮวงโป ต่อมาไม่นานลัทธิธยาณะหรือฌานที่ได้ถือการปฏิบัติกันอย่างกว้างขวางและเผยแผ่ไปสู่ ประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี ๑๑๙๐ ถูกเรียกขนานใหม่ว่า เชน หรือ “เซน”
แบ่งออกไปได้อีก ๒ นิกายหลัก คือ
1.โซโต
2.รินไซ
รินไซเซน ปรมาจารย์ของเซนสายนี้คือท่าน หลินจิ อี้เสวียน มรณะภาพประมาณปี ค.ศ. 867 ท่านเป็นศิษย์ของปรมาจารย์ หวงปอ ซีอวิ้น เซนสายนี้รุ่งเรืองทั้งในและนอกประเทศจีน ในญี่ปุ่น ท่านเมียวอัน เออิไซ เป็นผู้นำเข้าไปเผยแผ่ ในญี่ปุ่น ในราวปีค.ศ. 1191
คำสอนหนึ่งของปรมาจารย์ท่านนี้ที่สร้างความตระหนกให้กับผู้ได้ยินได้ฟังเป็นครั้งแรกคือคำสอน ที่บอกให้ฆ่าทุกสิ่งที่ขวางหน้า หากดูเผินๆดูจะเป็นคำสอนที่ไม่สมเหตุผลอย่างยิ่ง แต่ในวิถีแห่งเซนนั้น ไม่อาจแปลคำพูดคำสอนตรงตามตัวหนังสือได้ คำสอนเซนหนึ่งๆอาจใช้ได้กับบางคนและในบางสถานการณ์เท่านั้น ตอนที่ท่านหลินจิสอนคำสอนนี้ ท่านมุ่งจะแก้ความยึดมั่นถือมั่นที่มีอยู่ในตัวศิษย์ผู้หนึ่งซึ่งมีภูมิธรรม ลึกซึ้งแล้ว แต่ยังยึดมั่นถือมั่นในตัวตนขั้นสุดท้ายอยู่ ท่านจึงสอนคำสอนนี้ไป เพื่อช่วยปลดศิษย์ให้หลุดพ้นจากพันธนาการ
คำสอนหลักประการหนึ่งของสายหลินจิ หรือ รินไซนี้ คือ การสอนให้มองหาธรรมชาติที่แท้ของตน
“ เมื่อไร้ใจ ย่อมบรรลุ ”
“ จิตเดิมแท้คือพุทธะ ”
“ ธรรมชาติที่แท้ของคนคือจิต จิตเดิมแท้คือพุทธะ พุทธะคือธรรม”




















นิกายเซนในเมืองไทยนะเหรอ
มีอยู่ทั่วไปตามวัดวาอารามต่างๆ
อยู่ทั่วทุกหนแห่ง ตามขุนเขา ท้องทะเล
แม่น้ำลำธาร ท้องฟ้า ก้อนเมฆ สายลม แสงแดด
ก็คำสอนเซนมันขึ้นตรงต่อธรรมชาติ
ที่ล้วนเป็นหนึ่งเดียวในเนื้อหาเดียวกัน







บทที่ 90 อิสรภาพ
ตา-รูป หู-เสียง จมูก-กลิ่น ลิ้น-รสชาติ ผิวกาย-สัมผัส ใจ-อารมณ์

มีทุกอย่าง แต่เป็นอิสรภาพเหนือทุกอย่าง

อะระหัง สัมมา สัมพุทโธ ภะคะวา พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระอรหันต์ ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์สิ้นเชิง ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง

พุทธัง ภะคะวันตัง อะภิวาเทมิ ข้าพเจ้านมัสการพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน

สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว

ธัมมัง นะมัสสามิ ข้าพเจ้านมัสการพระธรรม

สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าปฏิบัติดีแล้ว

สังฆัง นะมามิ ข้าพเจ้านอบน้อมพระสงฆ์

บทความนี้ เขียนโดย พระธีระศักดิ์ กุสลจิตโต (ลูกศิษย์)
















ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะดั้งเดิมของเรานั้น
โดยความจริงอันสูงสุดแล้วเป็นสิ่งที่ไม่มีความหมาย
แห่งความเป็นตัวตนแม้แต่สักปรมาณูเดียว
สิ่ง นี้ เป็น ความว่าง, เป็นสิ่งที่มีอยู่ในที่ทุกแห่งสงบเงียบ
และไม่มีอะไรเจือปน มันเป็นศานติสุขที่รุ่งเรืองและเร้นลับ
จงเข้าไปสู่สิ่งนี้ให้ลึกซึ้งโดยการลืมตาต่อมันด้วยตัวเองเถิด







บทที่ 91 นิพพานแห่งการคาดเดา
ก็ด้วยความเข้าใจว่า หากเราปฏิบัติธรรมไปด้วยความตระหนักชัดและซึมทราบเป็นเนื้อหาเดียวกันกับธรรมชาติอันเกิดขึ้นและดับไปเป็นธรรมดานั้น อีกทั้งเรามีความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติธรรมเช่นนี้ไปเรื่อยๆและหากการเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในการปรุงแต่งของเราเบาบางน้อยลงไปเพราะความตั้งใจปฏิบัติธรรมเช่นนี้สักวันหนึ่งนิพพานจักจะปรากฎขึ้นแก่เรา ความคิดเช่นนี้คือความผิดพลาดประการหนึ่งที่เกิดขึ้นแก่วงการนักปฏิบัติทั้งหลาย และที่ผิดพลาดยิ่งไปกว่านั้นก็คือนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายเหล่านี้ไปจับฉวยเอาภาวะความหยุดนิ่งซึ่งเป็นผลแห่งการที่ได้ตระหนักชัดและซึมทราบเป็นเนื้อหาเดียวกันกับ “ความเกิดขึ้นดับไปเป็นธรรมดาตามสภาพธรรมชาติ” ซึ่งมันคือผลแห่งการปฏิบัติธรรมมาอย่างยาวนานของนักปฏิบัติเอง และยังคาดเดาเอาเองว่าความหยุดนิ่งในลักษณะนี้มันคือความหยุดปรุงแต่งได้แล้ว ซึ่งมันเป็นการคาดเดาที่ “ขาดเหตุผล” ว่าทำไมมันจึงเป็นภาวะเด็ดขาดจากการไม่ปรุงแต่งได้ทั้งปวง ได้แต่อนุมานคาดเดาเอาเองว่า นี่คือการหยุดปรุงแต่งได้แล้ว นี่คือภาวะแห่งพระนิพพานแล้ว การเข้าใจด้วยการคาดเดาจากภาวะความหยุดนิ่งนั้น มันไม่ใช่นิพพานอันแท้จริง แต่มันคือ “นิพพานแห่งการคาดเดา”
ก็ด้วยการที่ตถาคตเจ้าได้ตรัสไว้ว่า อสังขตธาตุ อันคือธรรมธาตุแห่งความว่างเปล่าอันไร้ตัวตนไม่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นดับไปได้นั้น มันคือความว่างเปล่าที่สมบูรณ์ไปด้วยสัจธรรมที่มันบริบูรณ์ถ้วนทั่วอยู่แล้ว มันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนแบบถ้วนทั่วอยู่แล้วตามสภาพธรรมชาติของมัน ตถาคตเจ้าจึงทรงตรัสธรรมไว้ว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา อันคือ ธรรม “ทั้งหลายทั้งปวง” มันย่อมไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่แล้ว คือธรรมทั้งหลายมันไม่ใช่สภาพ “อัตตาตัวตน” อันมีคุณลักษณะแห่งการเกิดดับ แต่ธรรมทั้งหลายมันคือคุณลักษณะอันว่างเปล่าไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนแบบถ้วนทั่วอยู่แล้วตามธรรมชาติของมันเองอยู่อย่างนั้น เพราะฉะนั้นการที่เราได้ไต่มรรคาดำเนินไปในทางปฏิบัติซึ่งเห็นว่ายังมีอัตตาตัวตนเกิดขึ้นและอัตตาตัวตนนั้นดับไปเป็นธรรมดา มันจึงมิใช่ความหมายแห่งธรรมอันว่าด้วย “สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา” ด้วยเหตุผลนี้คณาจารย์ทางเซนจึงเพียงสอนให้นักศึกษาทางฝั่งโน้นทั้งหลาย “สลัดออก” ซึ่งสังขตธาตุที่เป็นเนื้อหาอันเนื่องด้วยการปฏิบัติที่ยังเห็นว่ามีอัตตาตัวตนเกิดขึ้นและดับไป และเพียงสอนให้นักศึกษาทั้งหลาย “ลืมตาตื่นขึ้น” เพื่อหันมาทำความเข้าใจในธรรมชาติที่แท้จริงซึ่งมันคือความว่างเปล่าที่บริบูรณ์อยู่แล้วโดยสภาพมันเอง ซึ่งมันคือความว่างเปล่าโดยเด็ดขาดอันเป็นธรรมชาติของมันเองไร้ซึ่งการเกิดดับ มันเป็นธรรมชาติที่ไม่มีใครสามารถทำมันให้เกิดขึ้นมาได้ด้วยการปฏิบัติอย่างเอาเป็นเอาตายบนมรรคาแห่งการเกิดดับ และมันเป็นธรรมชาติซึ่งมันเป็นเนื้อหาอันดั้งเดิมอย่างนี้มานานแสนนานอันหาจุดเริ่มต้นไม้ได้ ความดั้งเดิมแท้อันคือธรรมชาติของมัน “ที่มีอยู่ก่อนแล้ว” จึงมิใช่เป็นการเข้าไปปฏิบัติแล้วเนื้อหาธรรมชาติดั้งเดิมแท้มันจึงจะปรากฎให้เห็น
ก็ด้วย “ความรู้” ที่ว่าเพียงแค่ “สลัดออก” ซึ่งวิธีการปฏิบัติที่เนื่องด้วยความหมายแห่งสังขตธาตุทั้งปวงและแค่เพียงตระหนักชัดและซึมทราบเป็นเนื้อหาเดียวกันกับธรรมชาติดั้งเดิมแท้แต่เพียงเท่านั้น ความรู้นี้เองมันก็คือ “วิชชา” ความรู้แจ้งทั้งปวงซึ่งถือว่าเป็น “เหตุผล” ยืนยันว่า สิ่งที่เราตระหนักชัดละซึมทราบเป็นเนื้อหาเดียวกันกับธรรมชาติดั้งเดิมแท้ มันคือภาวะเด็ดขาดในความว่างเปล่าปราศจากการปรุงแต่งทั้งปวงได้ นี่คือ นิพพานอันแท้จริง









เมื่อชาวโลกได้ฟังคำกล่าวว่า
พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมทรงถ่ายทอดพุทธะธรรม
เขาก็พากันเหมาเอาด้วยความเข้าใจผิดว่า
มีอะไรบางสิ่งซึ่งจะต้องลุถึงหรือเห็นแจ้ง
เพราะเหตุนั้น เขาจึงใช้ จิต เพื่อการแสวงหา ธรรม







บทที่ 92 ไม่มีอันดับลดหลั่น
ในรูปแบบแห่งกรรมวิสัยที่เป็นการเวียนว่ายตายเกิดในลักษณะเป็นกลุ่มกรรมนั้น มันเป็นเพียงเส้นทางที่ต้องคอยประคองรักษาจิตของตนให้อยู่ในคุณงามความดีเท่าที่แต่ละดวงจิตจะสามารถไขว่คว้าหาทำประกอบขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้นแต่ละดวงจิตจึงได้ประกอบคุณงามความดีมาไม่เท่ากัน มันจึงเกิดความรู้สึกถึงความแตกต่างในเส้นทางที่แต่ละดวงจิตได้บำเพ็ญบุญบารมีมา ความแตกต่างนั้นมันจึงก่อให้เกิดความรู้สึกถึงความมีอันดับลดหลั่นในการสะสมบุญกันอย่างที่รับรู้ได้และรู้สึกถึงความไม่เท่ากันแห่งบุญบารมีที่มุ่งสร้างสะสมกันไปตามเหตุตามปัจจัยของแต่ละดวงจิต บางดวงจิตก็มุ่งหวังที่จะตรัสรู้เป็นพุทธะเพื่อโปรดบรรดาสรรพสัตว์ในภายภาคหน้า เราเรียกดวงจิตที่มุ่งมั่นทำกุศลกรรมชนิดนี้เพื่อเอาบุญบารมีตรงนี้ไปโปรดบรรดาสรรพสัตว์สามัญในภายภาคหน้าตามที่ดวงจิตนั้นมุ่งหวังว่า “โพธิสัตว์” บางดวงจิตก็มุ่งหวังเป็นเพียงแค่อริยะสาวกที่คอยรับธรรมจากการตรัสรู้แห่งมหาพุทธะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นความแตกต่างอันทำให้มีอันดับลดหลั่นก็ล้วนแต่เป็นเพียงเหตุและปัจจัยในลักษณะธรรมธาตุแห่งดวงจิตนั้นเท่านั้นเองที่ทำให้ต้องไปเวียนว่ายตายเกิดและก่อกรรมอันมีประเภทต่างๆซึ่งเป็นไปในลักษณะอันเป็นคุณสมบัติแห่งธรรมธาตุของดวงจิตนั้น และจนกว่าดวงจิตนั้นจะมีเหตุปัจจัยให้ได้ก้าวข้ามอวิชชาตัณหาอุปาทานเป็นพุทธะและได้ทำหน้าที่ของตนที่ได้มุ่งหวังกระทำกรรมมาเป็นเส้นทางที่เรียกว่าการสร้างสมบารมีแห่งพุทธะ
ก็ในเมื่อพูดถึงเหตุและปัจจัย มันก็คงเป็นจริงอีกเช่นกันที่หลายๆดวงจิตที่เคยมุ่งบำเพ็ญภาวนามา แล้วเส้นทางกรรมของพวกท่านทั้งหลายอันคือบุญกุศลในอดีตชาติของพวกท่านได้ชักนำให้ท่านได้เจอะเจอแหล่งข้อมูลอันจะทำให้ท่านได้ศึกษาเรื่องธรรมชาติแห่งพุทธะ นี่คือเหตุและปัจจัยอันแท้จริงเช่นกันที่มันจะทำให้ท่านได้ศึกษาทำความเข้าใจเพื่อที่จะได้รู้จักหน้าตาธรรมชาติแห่งพุทธะและเพื่อที่จะได้ ตระหนักชัดและซึมทราบเนื้อหาเดียวกันกับมัน เมื่อมันเป็นเหตุให้ท่านได้ศึกษาธรรมชาติแห่งพุทธะก็ขอให้ท่านสลัดทิ้งซึ่งความคิดอิดๆออดๆที่อยากจะบำเพ็ญบารมีสะสมบุญไปอีกเรื่อยๆโดยท่านเข้าใจผิดไปเองว่าท่านยังมีบุญน้อยอยู่บารมียังไม่มากพอที่จะขึ้นฝั่งนิพพานในชาตินี้ได้
เมื่อท่านสามารถสลัดทิ้งซึ่งความคิดที่จะต้องสั่งสมบุญบารมีให้มันมากพอ ให้มันมีขนาดของบุญมากขึ้นเสียก่อน ซึ่งเปรียบเสมือน “ ความมีอันดับลดหลั่นแห่งขนาดที่ต้องสะสมบุญ ” ในใจท่านเหล่านี้ทิ้งไปเสีย และเมื่อหากท่านหันหน้ามาทำความเข้าใจในความหมายของธรรมชาติแห่งพุทธะอันเกิดจากเหตุและปัจจัยของท่านเองชักจูงให้เข้ามาศึกษา เมื่อท่านศึกษาแล้วหากเกิดความเข้าใจในเนื้อหาธรรมชาติแห่งพุทธะ ก็ขอให้ท่านมีความเข้าใจอีกว่าในเนื้อหาของธรรมชาติแห่งพุทธะนั้นมันคือความเสมอภาคกันไปด้วยความว่างเปล่าอยู่อย่างนั้นโดยไม่มีความมีคุณค่าหรือความด้อยคุณค่าแห่งการวัดด้วยขนาดแห่งการสะสมของบุญซึ่งมันคืออัตตาตัวตนเข้ามาแทรกอันจะก่อให้เกิดความรู้สึกถึงการมีอันดับลดหลั่นได้เลย ใครผู้ใดที่ได้ประกอบสะสมบุญมาน้อยหรือใครผู้ใดที่ได้ประกอบบุญกุศลมาแบบมากมายมหาศาล บุคคลเหล่านี้ถึงแม้ว่าบุญจะไม่เท่ากันแต่ถ้าหากบุคคลเหล่านี้ต่างก็ได้มีเหตุและปัจจัยได้ชักจูงเข้ามาศึกษาและเกิดความเข้าใจสามารถซึมทราบความเป็นธรรมชาติแห่งพุทธะนั้นได้ ก็ถือว่าบุคคลเหล่านี้มีความเสมอภาคกันด้วยการที่จะได้ตระหนักชัดและสามารถซึมทราบเป็นเนื้อหาเดียวกันกับธรรมชาติแห่งพุทธะอันคือความเสมอภาคกันด้วยเนื้อหาแห่งความว่างเปล่าอยู่อย่างนั้นโดยไม่มีอันดับลดหลั่นแตกต่างในความหมายแห่งความมีคุณค่าในความมีตัวมีตนอีกต่อไป









จิต ไม่ใช่สิ่งซึ่งอาจนำไป
ใช้แสดงหาสิ่งอื่น
นอกจาก จิต
มันเป็นเพียงแค่
จิต แสวงหา จิต








บทที่ 93 ความกลมกลืน
ธรรมแห่งสัมมาทิฏฐิทั้งหลายทั้งปวงที่เข้าไปเกาะไปยึดนั้น ก็เพื่อเป็นไปในการพิจารณาวิเคราะห์แยกแยะถึงปัญหาและวิธีแก้ไขปัญหาแต่เพียงเท่านั้น ประโยชน์มันมีอยู่แค่นี้
แต่การสลัดทิ้งธรรมแห่งสัมมาทิฏฐิทั้งหลายปวงที่เคยหยิบยกขึ้นมาพิจารณาถึงปัญหาและวิธีแก้ไขปัญหา ก็เพื่อเป็นไปในการเข้าถึงความจริงอันคือสัจธรรมแห่งธรรมชาติดั้งเดิมแท้ ซึ่งเป็นความเข้าถึงความเป็นจริงด้วยการตระหนักชัดว่า โดยธรรมชาติที่แท้จริงมันคือความว่างเปล่าอันไร้ตัวตนของมันอยู่อย่างนั้น มันคือธรรมชาติแห่งความว่างเปล่าที่มันไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับภาวะทุกข์ ภาวะเหตุแห่งทุกข์ ภาวะความดับไปแห่งทุกข์ ภาวะธรรมอันคือหนทางอันออกจากทุกข์ อันคือธรรมแห่งสัมมาทิฏฐิทั้งหลายทั้งปวง มันไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเลยแม้แต่เพียงนิดเดียวกับธรรมเหล่านี้ มันคือความว่างเปล่าอันไร้ตัวตนที่มันมีแค่เพียงการทำหน้าที่ของมันตามธรรมชาติแบบนี้เสมอมา มันเพียงทำหน้าที่ของมันแต่เพียงเท่านี้ เมื่อได้ตระหนักชัดในความหมายของมันเช่นนี้แล้วก็เพียงแค่ซึมทราบเป็นเนื้อหาเดียวกันกับมันแบบกลมกลืน
เป็นความกลมกลืนที่ไม่เคยมีแม้กระทั้ง “การสลัดทิ้งธรรมแห่งสัมมาทิฏฐิทั้งหลายทั้งปวง” มาก่อน ซึ่งมันหมายถึงความไม่มีธรรมชนิดใดๆให้ต้องสลัดทิ้ง
เป็นความกลมกลืนที่ไม่เคยมีแม้กระทั้ง “การเข้าถึงความเป็นจริงอันคือสัจจธรรมแห่งธรรมชาติดั้งเดิมแท้” มาก่อน ซึ่งมันหมายถึงความไม่มีความเป็นจริงอะไรให้เข้าถึง
เป็นความกลมกลืนที่ไม่เคยมีแม้กระทั้ง “การได้ตระหนักชัดว่าโดยธรรมชาติที่แท้จริงมันคือความว่างเปล่าอันไร้ตัวตนของมันอยู่อย่างนั้น” มาก่อน ซึ่งมันหมายถึงความไม่เคยมีอะไรให้ได้ตระหนักชัด
เป็นความกลมกลืนที่ไม่เคยมีแม้กระทั้ง “นี่คือการที่ได้ซึมทราบกลายเป็นเนื้อหาเดียวกันแบบกลมกลืนกับธรรมชาติดั้งเดิมแท้” มาก่อน ซึ่งมันหมายถึงความไม่มีสิ่งใดที่จะต้องซึมทราบกลายเป็นเนื้อหาเดียวกับมัน
เป็นความกลมกลืนที่ไม่เคยมีแม้กระทั้ง “นี่คือความกลมกลืน” มาก่อน ซึ่งมันหมายถึงความไม่มีสิ่งใดที่ต้องเข้าไปเป็นเนื้อหาเดียวกับมันแบบกลมกลืน
ธรรมชาติดั้งเดิมแท้ มันเพียงแค่ทำหน้าที่ของมันซึ่งคือความว่างเปล่าอันไร้ตัวตนของมันอยู่อย่างนั้นแต่เพียงเท่านั้น

















ธรรมชาติที่เป็นความรู้แจ้งทางฝ่ายจิตนี้
เป็นสิ่งที่ไม่มีการเริ่มต้น
เป็นของเก่าเท่าความว่าง
ไม่อยู่ใต้อำนาจของการเกิดหรือการทำลาย
ไม่ตั้งอยู่ หรือไม่ได้ตั้งอยู่







บทที่ 94 มังกรเซน
เซน คือ วิถีแห่งสัจธรรมความเป็นจริงตามธรรมชาติ เซนจึงมิใช่การเรียนรู้เผื่อฝึกฝนให้ภาวะมันเกิดและมิใช่การดำเนินไปในเส้นทางแห่งการรู้แจ้ง เพราะเซนคือความดั้งเดิมแท้แห่งเนื้อหาซึ่งมันคือปรากฎการณ์ตามธรรมชาติ ธรรมชาติมันคือความเป็นเช่นนั้นของมันเองอยู่อย่างนั้นมันจึงมิใช่ภาวะที่จะเข้าไปฝึกฝนได้ และเซนก็มิใช่พุทธะภาวะที่จะถูกใครมาทำให้มันปรากฎขึ้นมาแล้วเรียกสิ่งนี้ว่าการ “รู้แจ้ง” ได้ เพราะเซนคือความกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวแห่งทุกสรรพสิ่งในหมื่นแปดโลกธาตุ มันเป็นความกลมกลืนในเนื้อหาเดียวกันแห่งธรรมธาตุอันคือความว่างเปล่าไร้ตัวตนอยู่อย่างนั้น มันจึงมิใช่เป็นภาวะว่างเปล่าที่ต้องตกอยู่ในฐานะรองรับการ “รู้แจ้ง”เพื่อใคร ดังนั้นวิถีแห่งเซน คือ ความเป็นเนื้อหาที่เราและสรรพสัตว์ทั้งหลายซึ่งล้วนเป็นหนึ่งเดียวต่างก็เผยความเป็นธรรมชาติดั้งเดิมแท้ที่มีอยู่ในตัวในตนของเรานั้นให้เผยตัวออกมาในเนื้อหาแห่งความเป็นหนึ่งเดียวกันนั้นแบบไม่มีความแปลกแยก นี่คือเซน
แต่ผู้ที่ไม่เคยศึกษาเซนหรือผู้ที่เคยศึกษามาแต่เข้าไม่ถึงเซน และอีกทั้งผู้ที่ศึกษาธรรมในฝั่งเถรวาทผู้ซึ่งไม่เข้าใจในพระสูตรอันสูงสุดอันชื่อว่า “ตติยนิพพานสูตร” บุคคลเหล่านี้ก็อาจกล่าวหาเซนว่าเป็นคำสอนที่เลื่อนลอยเพราะมิได้อิงอยู่กับหลักเกณฑ์ใดๆ แต่สำหรับผู้เขียนในฐานะ “ครูสอนเซน” ซึ่งเป็นครูปลายแถวผู้ไม่มีชื่อเสียงไม่ได้อยู่ในฐานะครูสอนเซนระดับ “มังกร” ซึ่งใช้เปรียบเทียบครูสอนเซนที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับและกล่าวขานในแต่ละยุคที่ผ่านมา บุคคลเหล่านี้ถูกยกย่องอยู่ในฐานะ “มังกรเซน” ซึ่งถือว่าเป็นคณาจารย์ผู้ปราดเปรื่องเป็นที่ยอมรับกว้างขวางในการคุ้ยเขี่ยธรรมให้กับบรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายตั้งแต่ยุคเซนรุ่งเรืองที่ผ่านมาในอดีตทั้งในจีนและญี่ปุ่น “ครูสอนเซน” ซึ่งยืนอยู่ปลายแถวหรืออาจจะไม่มีแถวให้ยืนอย่างผู้เขียนเองกลับมองว่าคำสอนเซนที่สืบทอดคำสอนผ่านทาง “มังกรเซน” มาแต่ละรุ่นๆนั้น คำสอนเซนทั้งหลายก็ล้วนเป็นคำสอนที่หลุดออกมาจากพระโอษฐ์แห่งตถาคตเจ้านั่นเอง พระพุทธองค์นั้นทรงเป็นบุคคลแรกที่สอนเซนแล้วสืบทอดวิธีคำสอนเซนด้วยวิธีใจต่อใจไร้ซึ่งคัมภีร์อักษรใดๆให้แก่ “มังกรเซน” ซึ่งเป็นครูสอนเซนรุ่นแรกที่ชื่อพระมหากัสสัปปะ พระตถาคตเจ้านั่นเองที่ทรงตรัสสอน “ธรรมะแบบเซน” ว่า ธรรมชาติอันคือความว่างเปล่าไร้ตัวตนอันหาจุดเริ่มต้นไม่ได้และไม่มีวันจะสูญสิ้นสลายไปซึ่งมันคือความดั้งเดิมแท้ที่ปรากฎเนื้อหาอันคือธรรมชาติแห่งความไม่เกิดดับอยู่เช่นนี้ตลอดเวลา ซึ่งตถาคตเจ้าได้ตรัสธรรมอันคือความเป็นธรรมชาติดั้งเดิมแท้ไว้ใน “ตติยนิพพานสูตร” ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติอันไม่เกิดแล้วไม่เป็นแล้วอันปัจจัยกระทำไม่ได้แล้วปรุงแต่งไม่ได้แล้ว มีอยู่
ก็ธรรมชาติอันไม่เกิดแล้วไม่เป็นแล้วอันปัจจัยกระทำไม่ได้แล้วปรุงแต่งไม่ได้แล้วมันก็คือธรรมชาติแห่งความว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนซึ่งคือความไม่เกิดดับ มันคือเนื้อหาที่เป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติอยู่อย่างนั้นมานานแสนนานแล้ว มันเป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติแบบนี้เรื่อยมาและตลอดไปอันเป็นความหมายแห่งการไม่มีจุดเริ่มต้นและไม่มีจุดจบซึ่งเป็นสภาพแห่งความดั้งเดิมแท้อันเป็นคุณลักษณะของมันอย่างนี้อยู่แล้ว พระตถาคตเจ้าจึงตรัสว่าธรรมชาติในลักษณะที่มันเป็นเช่นนั้นของมันเองอยู่อย่างนั้นมัน “มีอยู่”ท่านจึงทรงให้ละทิ้งมายาแห่งความมีตัวตนและสภาพอันเกิดขึ้นดับไปเป็นธรรมดาแห่งมายานั้น ท่านทรงตรัสว่าแท้จริง “ความเป็นจริงมันมีอยู่ปรากฎอยู่แต่ธรรมชาติอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน (ธรรมชาติแห่งความไม่เกิดแล้วไม่เป็นแล้วอันปัจจัยกระทำไม่ได้แล้วปรุงแต่งไม่ได้แล้ว) อยู่อย่างนั้น” ท่านตรัสว่ามันคือ ตถตา อันคือสภาพความเป็นเช่นนั้นของมันเองอยู่อย่างนั้น ท่านตรัสว่ามันคือ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา อันคือธรรมทั้งหลายทั้งปวงย่อมคือเนื้อหาแห่งความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่อย่างนั้น
เพราะฉะนั้นคำสอนเซนจึงไม่ใช่พุทธะที่แหวกแนว แต่คำสอนเซนกลับเป็นคำสอนอันสูงสุดทางพระพุทธศาสนาซึ่งชี้ถึงความเป็นธรรมดาสามัญแห่งธรรมชาติซึ่งอยู่นอกเหนือภาวะความหลุดพ้นหรือความไม่หลุดพ้น เป็นธรรมอันคือธรรมชาติดั้งเดิมแท้ที่ตถาคตเจ้าเป็นผู้ตรัสไว้ ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้พระพุทธองค์ก็คือผู้ให้กำเนิดเซนซึ่งถือว่าเป็นครูใหญ่ที่สอนเซนให้แก่มนุษย์และเทวาในยุคที่ตถาคตเจ้าลงมาประกาศธรรมประกาศศาสนาในโลกมนุษย์ที่ผ่านมา ท่านจึงเปรียบเสมือน “บรมครูแห่งมังกรเซน” ผู้ซึ่งเป็น “เอกมหาบุรุษ”ผู้มีชื่อเสียงเอกอุเกริกก้องเกรียงไกลไปทั่วจักวาลในห้วงเวลาแห่งกัปป์นี้















สิ่งทั้งสองนี้ ไม่แตกต่างจากกันและกันเลย
ในระหว่างสามัญสัตว์ทั้งปวง กับพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
หรือระหว่างสังสารวัฏ กับนิพพาน
หรือระหว่างโมหะ กับ โพธิ
เมื่อใดรูปบัญญัติเหล่านี้ถูกเพิกถอนไปแล้วทั้งหมดทั้งสิ้น
นั่นแหละ คือ พุทธะ







บทที่ 95 มิได้หายไปไหน
ถึงแม้ว่าพวกเธอซึ่งเป็นนักศึกษาฝั่งทางโน้นกำลังถูกอวิชชาปิดบังหนทางที่จะซึมทราบเป็นเนื้อหาเดียวกันกับธรรมชาติแห่งพุทธะ ด้วยการที่พวกเธอง่วนสาละวนอยู่ในการปฏิบัติด้วยความพากเพียรอันแสนสาหัส หรือถึงแม้ว่าพวกเธอกำลังประสบอยู่กับภาวะใดภาวะหนึ่งซึ่งมันคือผลแห่งการปฏิบัติตามที่พวกเธอเข้าใจที่อาจทำให้พวกเองร้องอุทานออกมาว่า นี่คือการลุถึงความหลุดพ้น นี่คือการรู้แจ้งมันทำให้พวกเธอขึ้นถึงฝั่งพระนิพพาน
แต่พวกเธอจะเชื่อหรือไม่ว่าต่อให้พวกเธอเคลื่อนไหวไปในหนทางแห่งความพยายามที่จะรู้แจ้งสักเพียงใด หรือพวกเธออาจจะรู้แจ้งตามความเข้าใจของพวกเธอซึ่งมันเป็นผลมาจากความเพียรพยายามต่างๆนั้น มันก็มิได้มีความเกี่ยวพันใดๆเลยกับธรรมชาติแห่งพุทธะ ธรรมชาติมันก็คือธรรมชาติที่มันดำรงเนื้อหาความว่างเปล่าแบบนี้เสมอเรื่อยมา ปรากฎการณ์ที่มันเป็นแบบนี้มาตลอดตามธรรมชาตินั้นมันเป็นปรากฎการณ์ตามสภาพของมันเองมิใช่เกิดขึ้นจากการเพียรพยายามของใคร เมื่อพวกเธอได้ละความพยายามซึ่งมันเป็นเพียงความคิดในโลกส่วนตัวของเธอเองเหล่านี้ทิ้งไปเสียซึ่งมันเป็นการแสวงหาในสิ่งที่มันเป็นไปไม่ได้ และเพียงพวกเธอได้ลืมตาตื่นต่อสภาพความเป็นจริงตามธรรมชาติซึ่งมันดำรงอยู่แบบนี้มานานแสนนานมิได้หายไปใหนเลย มันจึงทำให้พวกเธอตระหนักได้ว่าการที่พวกเธอจะดิ้นรนพยายามทำให้มันปรากฎขึ้น มันจึงเป็นการเข้าใจผิดต่อสภาพธรรมชาติแห่งพุทธะของพวกเธอเอง
เมื่อมันมิได้หายไปใหนและพวกเธอก็เป็นส่วนหนึ่งแห่งมันมาโดยตลอด แล้วพวกเธอจะใช้ความพยายามเพื่อดิ้นรนหนีมันไปทำไมอีก ยิ่งดิ้นรนพยายามก็ยิ่งห่างไกลจากธรรมชาติแห่งพุทธะไปทุกทีๆ





ถึงแม้เธอได้ก้าวไปจนถึงความเป็นพุทธะ
โดยผ่านทางภูมิทั้งสิบแห่งความก้าวหน้าของพระโพธิสัตว์
ทีละขั้นๆ ไปตามลำดับ จนกระทั่งวาระสุดท้าย
และเธอได้ลุถึงความรู้แจ้งเต็มที่โดยแว็บเดียวซึ่งความเป็นพุทธะ
ซึ่งที่แท้ก็ได้มีอยู่ในตัวเธอเองแล้วตลอดเวลานั่นเอง
การปฏิบัติก้าวหน้าตามลำดับดังกล่าวแล้วทั้งหมดของเธอนั้น
ก็หาได้เป็นการเพิ่มอะไรให้แก่สิ่งสิ่งนี้ไม่เลยแม้แต่หน่อยเดียว









บทที่ 96 การปฏิบัติที่แท้จริง
ภาพลักษณ์แห่งการปฏิบัติในยุคนี้ คือการที่จะต้องนั่งสมาธิเป็นเวลานานๆ ฝึกเดินจงกรมทั้งวัน ต้องกินน้อย ต้องนอนน้อย ต้องพูดน้อย และอีกหลากหลายอุบายที่นักปฏิบัติทั้งหลายงัดกลยุทธ์ขึ้นมาเพื่อเป็นแนวทางให้ตนเองเดินไปบนเส้นทางที่คิดว่าเป็นการปฏิบัติที่แท้จริงและนำมาซี่งผลแห่งการปฏิบัติที่แท้จริง แต่ในความเป็นจริงนั้น ธรรมที่ตถาคตเจ้าได้ตรัสไว้นั้นมันมีลักษณะหลากหลาย ธรรมที่ท่านทรงตรัสไว้แต่ละอย่างก็ประกอบไปด้วยเหตุและผลของธรรมที่ท่านตรัสไว้แต่ละอย่างนั่นเอง
แต่การปฏิบัติธรรมอันแท้จริง มันมิใช่เป็นการปฏิบัติที่ต้องประกอบไปด้วยลีลาท่าทาง มันมิใช่เป็นการปฏิบัติที่ต้องประกอบไปด้วยอุบายอันต่างๆ และการที่เราหยิบยกธรรมอันคือความเป็นจริงขึ้นมาพิจารณาเพื่อที่จะได้ตระหนักชัดและซึมทราบกลายเป็นเนื้อหาเดียวกันกับมัน มันก็มิใช่เป็นแค่การนั่งคิดคาดคิดคาดคะเน และการปฏิบัติธรรมมันก็มิได้ขึ้นอยู่กับระยะเวลาว่ามันต้องใช้เวลาอย่างยาวนานเท่าโน้นเท่านี้มันถึงขึ้นชื่อได้ว่านี่คือ “การปฏิบัติ ”
แต่สิ่งที่เราได้ตระหนักชัดในความหมายที่แท้จริงในทุกๆขณะว่ามีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นและสิ่งนั้นมันดับไปเป็นธรรมดาตามความเข้าใจผิดของเราว่าตัวตนมันมีอยู่จริง และการที่เราได้ซึมทราบเป็นเนื้อหาเดียวกันกับความดับไปเป็นธรรมดาอยู่ทุกๆขณะเช่นกันนั้น ถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติธรรมที่แท้จริงในระดับหนึ่งแล้วตามความหมายแห่งตถาคตเจ้า
แต่สิ่งที่เราได้ตระหนักชัดในความหมายที่แท้จริงว่า “ควรละทิ้งโดยสิ้นเชิงด้วยการสลัดออกซึ่งการปฏิบัติและผลแห่งการปฏิบัติอันเนื่องด้วยการตระหนักชัดและเป็นเนื้อหาเดียวกันกับความเกิดขึ้นและดับไปเป็นธรรมดาบนพื้นฐานแห่งความเข้าใจผิดของเราเองว่าตัวตนมันมีอยู่จริง” นั้น และได้กลายเป็นเนื้อหาเดียวกันแบบกลมกลืนกับธรรมชาติดั้งเดิมแท้อันคือเนื้อหาแห่งความที่ตัวตนไม่มีอยู่จริง ซึ่งมันมีแต่ความว่างเปล่าอันไร้ตัวตนอยู่อย่างนั้นตามธรรมชาติแห่งความดั้งเดิมแท้ของมันอันหาจุดเริ่มต้นมิได้และไม่มีการเสื่อมสิ้นสลายไป ซึ่งมันมีแต่สภาพความเป็นเช่นนั้นของมันเองอยู่อย่างนั้น ก็ถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติธรรมที่แท้จริงแล้วตามความหมายแห่งตถาคตเจ้า
























เพราะเซนนั้นคือทุกขณะแห่งการเคลื่อนไหวของชีวิต
การชงชาเพื่อการชงชา
มันคือธรรมชาติแห่งพุทธะในการชงชา






บทที่ 97 บทโศลกแห่งเมฆบ้า
ก่อนปฏิบัติธรรม
เห็นภูเขา เป็นภูเขา
เห็นแม่น้ำ เป็นแม่น้ำ

เมื่อเริ่มปฏิบัติธรรม
เห็นภูเขา ไม่ใช่ภูเขา
แม่น้ำ ไม่ใช่แม่น้ำ

หลังจากปฏิบัติธรรม
ก็เห็นภูเขา เป็นภูเขา
เห็นแม่น้ำ เป็นแม่น้ำ

เมื่อค้นหาเหตุเราก็จะเจอผล
ทุกข์ ก็เป็นผลที่เกิดมาจากเหตุ และ
ในเหตุและผลเหล่านั้น
ก็มีความดับอยู่ในตัวของมันเองอยู่แล้ว
ที่เราเรียกว่าความดับทุกข์
และในความดับทุกข์นี่เอง คือหนทางแห่งการออกจากความทุกข์
หากพูดหยุดไว้แต่เพียงเท่านี้ ก็จะทำให้ผู้อ่านเข้าใจเอาเองว่า
หากมีหนทางแห่งความดับทุกข์
ก็ต้องมีการปฏิบัติเพื่อการออกจากทุกข์
แล้วทุกคนที่ปรารถนาจะออกจากทุกข์ ก็เร่งปฎิบัติ
ปฎิบัติตามหนทางที่ว่านั้น
แล้วอีกไม่นานก็จะถึงจุดหมายปลายทาง
หากทุกคนผู้ที่ปราถนาจะออกจากทุกข์มีความคิดเห็นเช่นนี้เสียแล้วรับรองได้ ว่า จุดหมายปลายทางที่ว่านั้นก็ยังอยู่อีกไกล
และเชื่อว่าผู้นั้นก็ยังไม่เห็นหนทางอะไรเลย
ยังไม่ได้เสวยรสแห่งพระธรรมที่พระผู้มีภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตุ ตถาคโต
เตสญฺ จ โย นิโรโธ จ
ความว่า ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ
พระตถาคตตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น
และเหตุแห่งความดับแห่งธรรมเหล่านั้น
สิ่งทั้งหลายทั้งปวงมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นก็ย่อมมีความดับไปเป็นธรรมดา

หากว่าเราเข้าใจความธรรมดาที่ว่านี้เสียแล้ว
ก็ไม่จำเป็นจะต้องมีคำอธิบายอื่นอีกต่อไปแล้ว
นี่ยังเป็นเพียงการว่าด้วยเรื่อง
เมื่อยังเห็นว่ามี และสิ่งที่เห็นว่ามีนั้น
มันดับไปเป็นธรรมดาแต่เพียงเท่านั้น

แต่ความเข้าใจที่แท้จริง
นั้นมันเป็นความเข้าใจที่จบในธรรม
ไม่ต้องอาศัยการปรุงแต่งจาก สังขาร ธาตุขันธ์ แต่อย่างใดเลย
เป็นความเข้าใจที่เรียบง่าย
ทุกคนเข้าถึงได้ ไม่วิเศษเลิศเลอแต่อย่างเลย
แต่ความเรียบง่ายที่ว่านี้แหละคือความวิเศษ ประเสริฐ
เพราะนั่น คือ ความพ้นจากทุกข์
ถึงแม้เราไม่ปรารถนา แต่สิ่งนี้ก็มีก็เป็นอยู่เช่นนั้น
แต่เป็นเพราะว่าเราหลงเข้าไปยึดทุกข์และสุข
หลงหมกมุ่นอยู่กับการปฎิบัติ
หลงอยู่กับวิธีที่เราสร้างขึ้นมา
หลงเข้าใจว่าเราเป็นสิ่งหนึ่งแยกจากธรรมชาติ
แต่นั่นก็เป็นความหลงผิดที่มีที่เป็นอยู่เองแล้วในธรรมชาติ
ไม่เป็นความผิดของใครเลย
ด้วยว่าเราก็ตกอยู่ในสภาพเดียวกันทั้งหมดทั้งสิ้น
แต่นี่ก็ล้วนแล้วแต่เป็นกระบวนการของธรรมชาติทั้งสิ้น
เหมือนที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า
ก่อนที่เราจะเริ่มปฎิบัติธรรม
เราเห็นภูเขาเป็นภูเขา
เห็นแม่น้ำเป็นแม่น้ำ
เห็นธรรมชาติเป็นธรรมชาติ

หากแต่ว่าเรายังขาดความเข้าใจ
ทำให้เราหลงเข้าไปปฎิบัติ
และ เมื่อเราหลงเข้าไปปฏิบัติแล้ว
ภูเขาก็ไม่เป็นภูเขา
แม่น้ำก็ไม่เป็นแม่น้ำ

เมื่อเราเห็นตามความเป็นจริง
เมื่อนั้นเราก็จะเห็นภูเขาเป็นภูเขา
เห็นแม่น้ำเป็นแม่น้ำ
ธรรมชาติก็กลับเป็นธรรมชาติ



เมฆขาวพราวฟ้าบ้าคลั่ง
ละล่องลอยระรื่นไหลไอระเหย
ละล่องลิ้วพลิ้วแรงลมมาชมเชย
หยาดฝนเอยคือหยาดฟ้าน่าชื่นชม

บทโศลกแห่งเมฆบ้า



บทความนี้
เขียนโดย พระธีรโชติ ญาณรํสี (ลูกศิษย์)









เซน คือ
ธรรมชาติแห่งความพลิ้วไหวอันไร้ตัวตน
บทที่ 98 มายา

มนุษย์ สิ่งมีชีวิตหนึ่งเดียวในโลก(มายา)นี้ ที่อยู่เป็นกลุ่มสังคม สังคมที่มีแต่ความยุ่งเหยิง วุ่นวาย เป็นไปตามกระแสวัตถุนิยม
ลุ่มหลงทางความคิดและวัตถุสิ่งของที่สร้างขึ้น เพื่อตอบสนองความคิดและอารมณ์ตนเอง กอบโกยประโยชน์จากสังคมเพื่อสนองตัณหาของตน โดยลืมไปว่า
วิถีชีวิตมนุษย์ดั้งเดิมแท้นั้นเป็นเช่นไร ทำทุกทางเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ที่ตนต้องการ โดยไม่รู้เลยว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงมายากลลวงจิตใจ ให้ลุ่มหลงตกต่ำทางความคิด
ความคิดที่ให้ได้มาซึ่งความสุข ความสุขที่หลอกลวง ความสุขทางกายไม่ได้อยู่งถาวร ความทุกข์ทางกายก็ไม่ได้อยู่คงทนถาวรเช่นกัน แล้วจักเอาอะไรในโลกแห่งมายาแห่งนี้
ปุถุชนมักมองว่า วัดเป็นที่บำบัดทุกข์หรือเพื่อหาความสุขทางจิตใจ แต่แท้จริงแล้วทุกข์หรือสุขที่เข้าใจกันนั้น เป็นสิ่งที่จิตใจของคนเหล่านั้นสร้างขึ้นมาเองทั้งนั้น
จักให้ผู้อื่นช่วยได้อย่างไรเล่า เมื่อตัวเองยังหลอกตัวเองให้ติดอยู่ ในที่ขุมขังแห่งโลกมายาเหล่านี้

หากมองดูให้ดีแล้วปุถุชน ก็คือเหล่าแมลงเม่าที่บินเข้ากองเพลิงแห่งมายา โดยไม่รู้จักวิถีชีวิตที่เรียบง่ายพอเพียง พอเพียงทั้งกายใจ
ดั่งที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เกิดจากจิตใจที่ตกต่ำ เมื่อจิตใจที่ตกต่ำก็จะแสดงออกมาทางกาย พร้อมที่จะทำกายให้ตกต่ำสร้างแต่วิบากกรรม จนไม่รู้จบ

บทความนี้
เขียนโดย ภาณุวัตร พรมน้อย (ลูกศิษย์)


















สมมติว่าพวกเธอเพชรพลอยจำนวนนับไม่ถ้วน
ไปประดับเข้าที่ความว่าง
จงคิดดูเถิดว่า ...
มันจะติดอยู่ที่นั่นได้อย่างไร ?







บทที่ 99 ทุกสรรพสิ่งล้วนเป็นหนึ่งเดียว
ก็ด้วยความเป็นธรรมชาติมันคือความว่างเปล่าที่แสดงเนื้อหาของมันอยู่อย่างนี้มานานแสนนานมากแล้ว มันดำรงความเป็นธรรมชาติแบบนี้เสมอมา และ ณ เดี๋ยวนี้ มันก็ยังเป็นเช่นนี้ไม่เคยเปลี่ยนแปลงจนกระทั้งกาลอวสานตราบชั่วนิจนิรันดร์ มันเป็นความดั้งเดิมแท้ที่ไม่อาจย้อนเวลาไปหาจุดกำเนิดเริ่มต้นของมันได้เลยเพราะมันไม่ปรากฏและอีกทั้ง ณ ปัจจุบัณขณะและในอนาคตกาลก็ไม่สามารถมีสิ่งใดๆที่จะทำให้มันเสื่อมสิ้นสูญสลายเปลี่ยนแปลงไปได้อีกเลยเช่นกัน เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นความจริงที่กล่าวได้ว่าทุกสรรพสิ่งล้วนเป็นหนึ่งเดียวในธรรมชาติแห่งความว่างเปล่านั้นเมื่อมนุษย์ล้วนเกิดมาพร้อมกับธรรมชาติแห่งพุทธะและในฐานะของความเป็นมนุษย์นั่นเองแหละก็คือความเป็นหน้าตาของธรรมชาติแห่งพุทธะที่ปรากฎอยู่ในความเป็นสิ่งเดียวแบบกลมกลืนของทุกสรรพสิ่ง มันจึงไม่อาจกล่าวได้ว่าคนเราย่อมมีหนทางไปสู่สัจธรรมได้เลยแม้แต่เพียงนิดเดียว เพราะ “ความมีหนทางไปสู่” นั้นเท่ากับว่าคนเราเองย่อมยังมีระยะห่างจากธรรมชาติที่แท้จริงอยู่ มิได้ล้วนเป็นหนึ่งเดียวของทุกสรรพสิ่งที่กลมกลืนกันอยู่อย่างแนบแน่นในเนื้อหาเดียวกันแห่งธรรมชาติดั้งเดิมแท้ แต่แท้ที่จริงคนเรานี่แหละคือการเผยตัวออกมาของธรรมชาติแห่งพุทธะต่างหาก
เมื่อทุกสรรพสิ่งล้วนเป็นหนึ่งเดียวอันคือธรรมชาติแห่งพุทธะ จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะก่อให้เกิดใครสักคนแล้วบังอาจกระทำตัวแปลกแยกออกมาจากความกลมกลืนแห่งธรรมชาตินั้นแล้วมายืนตะโกนร้องบอกว่านี่คือ “ฉัน” และนี่ก็คือธรรมชาติดั้งเดิมแท้ที่มันปรากฎขึ้นซึ่ง “ฉัน” ได้ค้นพบมันด้วยการแสวงหาอย่างเหน็ดเหนื่อยซึ่งเกิดจากการปฏิบัติธรรมด้วยน้ำพักน้ำแรงของฉันเอง มันจึงเป็นเรื่องที่ขัดแย้งต่อธรรมชาติแห่งความเป็นหนึ่งโดยสิ้นเชิงที่จะมีคนบ้าสักคนมาเที่ยวพูดว่า ความเป็นเนื้อหาเดียวกันต่อทุกสรรพสิ่งอันคือธรรมชาติแห่งพุทธะนั้นมันเกิดขึ้นมาได้เพราะความฝึกฝนซึ่งเกิดจากความตั้งใจอันเด็ดเดี่ยวด้วยความอดทนแห่งความพากเพียรพยายามที่มันจะพาเราเดินไปตามมรรคาแห่งการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบและยิ่งมากไปกว่านั้นคือสิ่งที่ได้พลั้งเผลอตกไปสู่หลุมลึกโดยไม่รู้ตัวแห่ง “มายาข้อวัตรปฏิบัติ ” บนหลักการไม่รู้อีกกี่ต่อหลักการด้วยความครุ่นคิดและกระทำว่าเราจักจะเดินไปบนเส้นทางธรรมชาตินี้ด้วยความระมัดระวังมิให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นดับไปและมันต้องว่างของมันไปโดยตลอดด้วยความที่เราจะหมั่นตรวจตราดูมันอย่างสม่ำเสมอในย่างก้าวของเราทุกๆฝีก้าว
ก็ในเมื่อทุกสรรพสิ่งล้วนเป็นหนึ่งเดียวเช่นนี้มานานมากแล้วมันเป็นความว่างเปล่าแบบอิสระโดยเด็ดขาดอยู่แล้ว มันคือสภาพความเป็นเช่นนั้นของมันเองอยู่อย่างนั้น มันจึงย่อมไม่มีใครไปทำอะไรเพื่อให้ความเป็นพุทธะอย่างมันเกิดขึ้นมาได้อีก ธรรมชาติแห่งพุทธะมันก็ทำหน้าที่อันคือปรากฎการณ์ตามธรรมชาติแห่งความว่างเปล่าอยู่แล้ว


















ถ้าฉันปราศจากทุกๆลู่ทาง
แห่งคิดปรุงแต่งโดยสิ้นเชิงแล้ว
ธรรมทั้งปวง
จะมีประโยชน์อะไรแก่ฉัน








บทที่ 100 ตถตา
ธรรมชาติแห่งพุทธะที่คำสอนเซนกล่าวถึงนี้มันคือธรรมชาติแห่งความว่างเปล่าอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่อย่างนั้น ซึ่งหมายถึงสภาพความเป็นเช่นนั้นของมันเองอยู่อย่างนั้น ธรรมชาติแห่งเซนที่กล่าวมานี้มันคือเนื้อหาที่แสดงปรากฎการณ์ความเป็นธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้นและมันเป็นธรรมชาติที่มีความเป็นอิสระแบบเด็ดขาดโดยตัวมันเอง ธรรมชาติแห่งเซนมันเป็นเรื่องปกติธรรมดาแห่งความเป็นสามัญซึ่งมันมีสภาพของมันเองอยู่อย่างนั้น มันจึงมิใช่ภาวะธรรมที่ซึ่งเกิดจากการเข้าไปจัดแจงภาวะธรรมใดภาวะธรรมหนึ่งแล้วการเข้าไปจัดแจงนั้นมันเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ธรรมชาตินี้ปรากฎขึ้น ธรรมชาตินี้มันจึงมิใช่เป็นสิ่งที่พึ่งปรากฎขี้นเพื่อยืนยันให้กับฐานะทางธรรมใดๆ รวมทั้งก็มิได้เป็นสิ่งยืนยันฐานะตัวมันเองด้วย
เพราะฉะนั้นในคำสอนเซนจึงหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวว่าธรรมชาติแห่งพุทธะนั้นคือสภาวะธรรมอันคือตัวแทนในฐานะเป็นความหลุดพ้นหรือนิพพาน ในความเข้าใจของครูสอนเซนทั้งหลายนิพพานหรือความหลุดพ้นนั้นมันมีความหมายเปรียบเสมือนเป็นภาวะธรรมซึ่งผ่านกระบวนการเข้าไปจัดแจงภาวะการปรุงแต่งโดยเกิดความรู้แจ้งซึ่งเป็นเหตุให้การปรุงแต่งนั้นถึงความดับสนิทไม่มีเหลือซึ่งเป็นภาวะที่เกิดขึ้นโดยได้ตระหนักชัดและซึมทราบกลายเป็นเนื้อหาเดียวกับมันซึ่งเรียกมันว่า “ภาวะหลุดพ้นหรือนิพพาน” แต่ธรรมชาติแห่งพุทธะมันมิใช่ภาวะนิพพานซึ่งเป็นภาวะแห่งความดับสนิทไม่มีเหลือ แต่มันคือธรรมชาติแห่งความว่างเปล่ามันไม่มีความเกิดดับอยู่อย่างนั้นอยู่แล้ว และมันก็มิใช่พึ่ง “ไม่เกิดดับ” ซึ่งคือความหมายแห่งภาวะธรรมที่พึ่งจะดับสนิทไปไม่มีเหลือ แต่ความไม่เกิดดับอันคือความว่างเปล่าอยู่อย่างนั้นมันกลับเป็นธรรมชาติอันดั้งเดิมแท้ที่ปรากฎเนื้อหามันอย่างนี้มานานแสนนานแล้วซึ่งหาจุดเริ่มต้นมิได้และก็ไม่มีวันที่จะมีจุดจบด้วยการถูกทำลายให้สูญสลายหายไป ธรรมชาติแห่งพุทธะนี้มันจึงไม่เกี่ยงข้องอะไรกับภาวะความหลุดพ้นหรือนิพพานเลย มันคือธรรมชาติที่อยู่นอกเหนือภาวะแห่งความหลุดพ้นหรือนิพพาน ตถาคตเจ้าเรียกธรรมชาติแห่งพุทธะนี้ว่า ตถตา หรือ สภาพธรรมชาติอันคือความเป็นเช่นนั้นของมันเองอยู่อย่างนั้น

























การนั่งวิปัสสนาของเซ็น
ไม่มีอะไรที่จะต้องทำเกี่ยวกับการรักษาศีล
การปฏิบัติสมาธิ การเข้าถึงปัญญา









บทที่ 101 สลายอัตตา?
ก็เพราะมันเป็นความเข้าใจผิดในยุคนี้จริงๆ ที่ความเข้าใจผิดชนิดนี้มันถูกสืบทอดมาจากคณาจารย์รุ่นก่อนๆที่ไม่แตกฉานและไม่สามารถซึมทราบถึงธรรมชาติดั้งเดิมแท้ได้ แล้วบังอาจนำเอาคำสอนผิดๆมาสอนลูกศิษย์ตนและก็สืบทอดคำสอนชนิดนี้มาหลายต่อหลายรุ่นแล้ว ก็มันเป็นเรื่องเข้าใจผิดที่ว่าการปฏิบัติธรรมที่แท้จริงซึ่งคือการตระหนักชัดและซึมทราบในเนื้อหาธรรมชาติดั้งเดิมแท้นั้นถูกคณาจารย์ในยุคนี้ต่างก็สอนลูกศิษย์ว่า ให้เอาอัตตาตัวตนทั้งหมดของเรามาตั้งไว้แล้วก็ค่อยๆสลายอัตตาไปด้วยความไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่น เมื่อมันเกิดขึ้นก็ปล่อยให้มันดับไปเป็นธรรมดาโดยการปฏิบัติธรรมนี้ถือว่าไม่มีความเป็นเรามันมีแต่ผู้รู้หรือสัมมาสติและคอยใช้สติหมั่นเฝ้าสังเกตุมันด้วยความระมัดระวังให้ดี เมื่อมันเกิดขึ้นก็อย่าเข้าไปยึดมั่นถือมั่นให้กลายเป็นตัวเป็นตนขึ้นมา และก็ยังสอนสำทับกันไปต่ออีกว่าการเฝ้าระวังด้วยสัมมาสติเช่นนี้ไปเรื่อยๆเดี๋ยวนิพพานมันหรือธรรมชาติดั้งเดิมแท้มันก็จะเกิดขึ้นเองขอให้เราจงหมั่นทำความเพียรไปเถิดแล้วจักจะเกิดผล
แต่ในความเป็นจริงของธรรมชาติดั้งเดิมแท้นั้น มันคือความว่างเปล่าอันไร้ตัวตนมาแต่แรกเริ่มเดิมทีอันคือความดั้งเดิมแท้ของมัน มันเป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติที่เป็นเช่นนั้นของมันเองอยู่อย่างนั้นตลอดเรื่อยมาไม่สามารถหาจุดเริ่มต้นของมันได้ และก็ไม่มีวันสิ้นสุดสลายหายไป มันคือคุณลักษณะที่เป็นเช่นนี้มานานแสนนานแล้ว มันคงที่ถาวรมาโดยตลอดไม่เคยเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นเมื่อมันเป็นโดยสภาพมันเองตามธรรมชาติอยู่แล้ว มันจึงมิได้เกิดขึ้นจากฝีมือในการภาวนาปฏิบัติของใคร มันจึงมิได้เกิดขึ้นจากการที่ได้ทำลายอะไรลงไป มันจึงมิได้เกิดขึ้นเพราะใครไปสลายอัตตาอะไรให้หมดไปแล้วอนัตตาคือความไม่มีตัวตนเช่นมันจึงจะปรากฎขึ้นมา แต่ความเป็นจริงโดยสภาพธรรมชาติแห่งพุทธะมันคืออนัตตาความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอย่างนี้มานานแสนนานแล้ว มันเป็นอนัตตาโดยสภาพของมันเองเขาจึงเรียกมันว่า ธรรมชาติแห่งพุทธะ,ธรรมชาติดั้งเดิมแท้
ก็เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว การปฏิบัติธรรมทั้งหมดทั้งระบบทุกๆสายแห่งทุกๆคณาจารย์ที่มุ่งหวังปฏิบัติเพื่อให้พระนิพพานเพื่อให้ธรรมชาติแห่งพุทธะมันเกิดด้วยการเข้าไปสลายอัตตาจนกว่าจะหมดไปจึงเป็นการเข้าใจผิดในความหมายของธรรมชาติแห่งอนัตตา ก็เพราะความเป็นจริงแห่งธรรมชาติตั้งแต่แรกเริ่มเดิมทีมันก็ไม่เคยมีมาก่อนมันเป็นสภาพอนัตตามาตั้งแต่แรกเริ่มในความดั้งเดิมของมัน แม้กระทั้งปัจจุบันมันก็ยังคงแสดงเนื้อหาอันคือปรากฎการณ์ตามธรรมชาติแห่งความไม่เคยมีอยู่อย่างนั้น และมันก็ยังคงแสดงเนื้อหาแบบนี้ไปเรื่อยๆ มันจึงเป็นความเข้าใจผิดตั้งแต่แรกที่เข้าใจว่า “มี” เมื่อเข้าใจว่ามีมันจึงเกิดภาวะเกิดขึ้นดับไปเป็นธรรมดาและก็เข้าไปคิดว่าตรงนี้คือการสลายอัตตาเพื่อความเป็นอนัตตา แต่แท้ที่จริงแล้วมันเป็นเพียงความคลายกำหนัดจากพฤติกรรมการเข้าไปยึดมั่นถือมั่นตามอนุสัยแห่งการชอบเข้าไปยึดตั้งแต่เก่าก่อน มันมีเพียงเท่านี้ เท่าที่พวกคุณเรียกมันว่าการปฏิบัติ แต่การปฏิบัติและผลแห่งการปฏิบัติเหล่านี้ตามมรรคมีองค์แปดมันก็ยังไม่ใช่ความหมายของธรรมชาติแห่งอนัตตาแต่อย่างใด ต่อให้พวกคุณซึ่งเป็นนักปฏิบัติทั้งหลายเฝ้าเพียรพยายามตื่นรู้สว่างโพลงเต็มที่เท่าที่คุณคิดว่ามันคือความเพียรหนักที่สุดในชีวิตของพวกคุณบนเส้นทางปฏิบัติด้วยการเฝ้าระวังสังเกตุความมีอยู่หรือความไม่มีอยู่ที่มันจักจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้น มันก็เป็นความเพียรซึ่งเป็นความสังเกตุบนพื้นฐานความคิดของคุณว่ามันมีอยู่หรือมันน่าจะมีอยู่ และต่อให้คุณมั่นใจในตัวคุณเองว่ามันน่าจะเหลืออีกเพียงส่วนน้อยนิดเท่าผงธุลีดินที่ต้องคอยเฝ้าระวังและมันน่าจะเกือบนิพพานแล้ว ก็ในเมื่อความเป็นจริงมัน “ไม่เคยมี” แล้วคุณมาเฝ้าสังเกตุความเกิดดับแบบนี้โดยคิดว่ามันน่าจะมีและก็เรียกมันอย่างภาคภูมิใจว่านี่คือการปฏิบัติ ด้วยอุบายและวิธีแบบนี้ก็ไม่ได้ช่วยให้คุณตระหนักชัดและซึมทราบในเนื้อหาธรรมชาติแห่งอนัตตาซึ่งมันเป็นสภาพความไม่มีตัวไม่มีตนเช่นนั้นของมันเองอยู่อย่างนั้นแบบนี้มานานแสนนานแล้ว มันเป็นสภาพตามธรรมชาติมันเองโดยที่ไม่ได้อาศัยหรือเกิดขึ้นจากการปฏิบัติของนัก ปะ-ติ-บัด สลายอัตตาคนใหนเลย

























คนธรรมดาสามัญมองดูแต่สิ่งแวดล้อมรอบตัวเขา
พร้อมกันนั้นพวกผู้ปฏิบัติฝ่าย ทาง ทางนี้ ก็มองดูไปยัง จิต
แต่ ธรรม ที่แท้จริงนั้น คือ ไม่ใส่ใจมันเลยทั้งสองอย่าง









บทที่ 102 ไม่มีการบรรลุ
หากท่านเป็นผู้หนึ่งที่เคยได้รับฟังเรื่องราวของความเป็นอิสระในธรรมชาติแห่งพุทธะ แล้วท่านเกิดศรัทธะที่จะหนีจากความทุกข์ยากไม่อยากเวียนว่ายตายเกิดต่อไป และมันก็คงเป็นความผิดพลาดที่ท่านได้มีโอกาสฟังเรื่องราวต่างๆเหล่านั้น โดยท่านกลับไม่เข้าใจในเนื้อหาในความหมายที่แท้จริงแห่งมัน แล้วท่านเกิดไปนั่งตีความเอาเองว่าท่านต้องลงมือทำอะไรสักอย่างหนึ่งและอีกหลายๆอย่างเพื่อให้ความเป็นอิสระแห่งพุทธะมันเกิดขึ้น ด้วยการจินตนาการขึ้นมาว่าท่านจะต้อง “เดินหนีจาก” จากจุดที่ท่านยืนอยู่ไปสู่จุดๆนั้นซึ่งมันเป็นปากประตูที่ท่านจะต้องก้าวข้ามกองทุกข์ทั้งปวงของท่านไปสู่ดินแดนแห่งอิสระเสรี และการก้าวข้ามปากประตูเข้าไปนั้นท่านได้เรียกมันว่า “การบรรลุ” ก็จะขอบอกท่านตรงนี้ไว้เลยว่า ท่านจะต้องเดินบนเส้นทางที่คิดว่าจะทำให้ท่านบรรลุอะไรสักอย่างนี้ไปเรื่อยๆและจะไม่มีวันได้เจอปากประตูแห่งอิสระภาพนั้นอย่างแน่นอนในชีวิตท่าน
ก็เพราะธรรมชาติแห่งพุทธะที่เป็นความอิสระนั้น มันเป็นความอิสระโดยเนื้อหามันเองอยู่แล้ว ความคิดที่ท่านจะต้องลุถึงมันกลับกลายเป็นอุปสรรคใหญ่หลวงที่จะมาปิดบังมิให้ท่านตระหนักชัดในพุทธะนั้นได้ เพราะความว่างมันคือธรรมชาติแห่งพุทธะเป็นความอิสระที่บริบูรณ์อยู่แล้ว มันเป็นความอิสระโดยตัวมันเองซึ่งนอกเหนือความหลุดพ้นหรือความไม่หลุดพ้นอันเป็นส่วนที่เธอจะไข่วคว้ามาในฐานะแห่งการบรรลุ และเมื่อพวกเธอยังคงเห็นความแตกต่างระหว่างจุดมืดมัวที่เธอคิดว่าเธอกำลังยืนอยู่และปากประตูแห่งการลุถึงความรู้แจ้งอันคือความอิสระเป็นภาวะที่แยกจากกัน และเธอต้องทำภาวะอันคือหนทางที่อยู่ปลายทางให้เกิดขึ้น เธอก็จะตกไปสู่ข้อวัตรปฏิบัติอะไรสักอย่างหนึ่งที่มันจะช่วยให้เธอไปถึงจุดหมายปลายทางได้ตามอย่างที่ใจเธอต้องการ ก็เพราะว่าความเป็นอิสระตามธรรมชาตินั้นมันเป็นธรรมชาติของมันเองมันมิใช่ภาวะธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเลย มันจึงมิได้เป็นอะไรๆเพื่อให้เธอต้องได้ลุถึงมัน เมื่อพวกเธอเข้าใจซึมทราบด้วยใจของพวกเธอเองถึงความที่มันเป็นอิสระโดยคุณลักษณะของมันเองซึ่งมันเป็นสิ่งที่ไม่ต้องการให้ใครมาลุถึง เธอก็เป็นอิสระไปแล้วทันทีโดยเป็นเนื้อหาเดียวกันแบบกลมกลืนกับความเป็นอิสระตามธรรมชาติแบบไม่ต้องออกแรงพยายามลุถึงสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย ก็นั่นแหละ อิสระแล้ว จะต้องลงมือปฏิบัติเพื่อให้เกิดความรู้สึกว่าตัวเองยังขาดความอิสระอยู่ทำไม























ฝีมือมันไม่เลว
แต่เสียงระนาดมันลำพอง
บาดหูข้าเหลือเกิน

เซนโหมโรง









บทที่ 103 ปณิธาน
ปลาบปลื้มใจ ที่เห็นลูกศิษย์ทุกคน เหยียบหัวเรือก้าวขึ้นฝั่งได้อย่างปลอดภัย “ พวกเขาเก่งนะ เก่งมากๆ ” “ คนเหล่านี้มีบุญบารมีมากๆ ” นั่นคือความรำพึงในใจ ของครูสอนเซนคนนี้ รำพึงทุกครั้ง ที่ลูกศิษย์ทุกคนทำได้สำเร็จ
และ ยังห่วงอีกหลายๆคน ทั้งคนที่ใกล้ชิด ทั้งคนที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ที่ยังมีความประมาทในชีวิตของตนอยู่ เป็นงานที่ต้องช่วยกันตามเก็บ แบบ ห้ามถอดใจ ห้ามท้อแท้และห้ามเหนื่อย
คนที่ผ่านแล้ว ก็ควรศึกษาเพิ่มเติมในเรื่อง “ ศิลปะในการบอกธรรม ” คนที่ไม่ผ่าน ก็ควรศึกษาเพิ่มเติม เพื่อมุ่งสู่ความที่จะได้ตระหนักชัดและซึมทราบ กลายเป็นเนื้อหาเดียวกัน กับธรรมชาติดั้งเดิมแท้
เราลงมาเกิดชาตินี้ เพื่อทำหน้าที่ และเราก็ทำหน้าที่ได้ดีที่สุดเพียงเท่านี้แล้ว อยากให้ลูกศิษย์ทุกคนดำเนินรอยตามเรา ทุกย่างก้าว ย่างก้าวแห่งความเป็นครูสอนเซน ที่ต้องขนอีกหลายดวงจิตขึ้นฝั่ง อย่าทิ้งหน้าที่ของตัวเอง หน้าที่ที่ต้องช่วยเหลือคนอื่น “ ตลอดไป ”









คลื่นอารมณ์โถมจิตใจ
ร่างดิ่งลงจมลึกเบื้องมหานที
หมดกำลังจะฝืนแหวกว่ายเต็มที
ฝ่ากระแสความเหยียดหยามซ้ำเติม
ข้ามมหานทีแห่งใจ
ไกลเพียงไหนยังไม่รู้ทิศทาง
ข้ามความทุกข์ระทมอ่อนไหวที่ประดัง
กำลังใจแหละความหวังที่ต้องการ






บทที่ 104 ข้ามสีทันดร
ยอมรับว่าชีวิตที่ผ่านมาในอดีต มันเป็นสิ่งที่ย่ำแย่ในความรู้สึกที่เคยคิดคำนึงถึงมัน เส้นทางกรรมในอดีตที่ก่อตัวเป็นกรรมวิบากเกิดขึ้นมันรุมเร้าทำให้เจอแต่ความทุกข์ระทมมองหาความหวังของชีวิตในวันข้างหน้าแทบไม่เจอ สิ่งที่ต้องแบกรับมันคือเส้นทางแห่งความผิดหวังที่ชีวิตหนึ่งของข้าพเจ้านี้ต้องชดใช้ สิ่งที่เคยวาดหวังว่าจะดำรงชีวิตเยี่ยงผู้คนทั่วไปมีความสุขตามที่ใจเราพอที่จะปรารถนาได้บ้าง มันกลับกลายเป็นความพลาดพลั้งทำให้ชีวิตต้องล้มลุกคลุกคลานมานับครั้งไม่ถ้วน ก็ครั้งยามได้เสพสุขสมหวังสิ่งดีๆที่เกิดขึ้นในชีวิตเรามันก็เป็นเพียงได้แค่ความภาคภูมิใจชั่วครั้งชั่วคราว แต่เมื่อยามที่เกิดผิดหวังขึ้นมาความทุกข์ที่ถาโถมเข้ามาแต่ละครั้งนั้นมันเหมือนเราต้องชดใช้มันแบบปางตายเอาชีวิตแทบไม่รอดทุกครั้งไป กรรมที่ไม่เคยคิดว่าจะต้องประสบพบเจอกลับเป็นสิ่งที่มาเหนี่ยวรั้งให้ชีวิตเราต้องวิ่งเข้าไปหาเหมือนมันเป็นนายซึ่งมีเราเป็นทาสผู้ที่ต้องคอยรับใช้ชดใช้มันทุกภพทุกชาติไป กรรมวิบากที่ต้องผจญกับมันทุกครั้งในชีวิตที่ผ่านมาเหมือนมาปลุกเร้าให้อารมณ์ความรู้สึกเป็นคลื่นที่ถาถมเข้ามาซัดจิตใจให้โลดแล่นทะยานไปในวิถีตกต่ำตามเนื้อหาแห่งมัน ชีวิตๆหนึ่งที่เคยมีแต่ความทรนงตนกลับต้องถูกกรรมวิสัยเหล่านี้กดหัวให้ต้องก้มยอมรับสภาพแห่งมันที่เลวร้าย บางครั้งถึงกลับท้อแท้อยากจะฆ่าตัวตายเพราะชีวิตเหมือนไม่มีหนทางที่จะไป ความผิดหวังเหล่านี้เหมือนมาดึงให้เราต้องทิ้งร่างดิ่งลงจมลึกสู่ก้นบึ้งในเบื้องมหานทีแห่งความมืดของหัวใจอันแตกสลายนั้น และมันก็เป็นรอยแผลอยู่ในใจของเราอยู่อย่างนี้ในห้วงที่ลึกที่สุดที่เราไม่อยากจะรู้สึกถึงมันอีกเลย บางครั้งมันเกิดความกลัวและท้อแท้เมื่อเจอกับอุปสรรคที่เข้ามาขวางชีวิต มันก็ทำให้เราสิ้นหวังและหมดกำลังใจที่จะฝืนแหวกว่ายไปในห้วงมหานทีแห่งความทุกข์ยากนี้ และเมื่อทุกสิ่งถูกกำหนดให้เราเป็นคนไม่ดีแทบจะหาคุณค่ามิได้ ยามเมื่อเราต้องกลายเป็นสภาพเดียวกันกับกรรมวิบากอันทุเรศทุรังที่ถาโถมเข้ามาใส่และต้องชดใช้ให้มันนั้น มันแทบหมดกำลังใจที่จะต้านฝืนฝ่ากระแสความเหยียดหยามซ้ำเติมนั้นออกมาได้
เมื่อมันหนักอึ้งและอ่อนล้า กำลังใจที่พอจะรวบรวมได้ในเฮือกสุดท้ายก็ทำให้ต้องพยายามดิ้นรนตะเกียกตะกายผุดดำแหวกว่ายขึ้นมาสู่ผืนท้องนทีแห่งใจที่ยังพอจะสู้ไหว เมื่อต้องพาชีวิตตนเองเข้ามาสู่ร่มเงาแห่งผ้ากาสาวพัตรก็ได้แต่บอกกับตัวเองว่าต่อไปนี้จะขอเร่งรีบแหวกว่ายข้ามมหานทีแห่งใจที่มีแต่ความทุกข์ระทมนี้ข้ามพ้นไปให้จงได้ หนทางที่ต้องไปนั้นแม้จะไกลแสนไกลเพียงใดก็ตามถึงแม้จะไม่รู้ทิศทางแห่งมัน ก็ในเมื่อใจที่มันตั้งความปรารถนาไว้ด้วยความอยากจะพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวงในชาตินี้ มันกลับเป็นกำลังใจอันยิ่งใหญ่ให้กับตัวเองเพื่อค้นหาหนทางอันแท้จริงที่จะทำให้พ้นจากชีวิตที่ล้มเหลวซึ่งมันจะพกพาความระทมทุกข์แห่งใจนั้นไปเวียนว่ายตายเกิดอีกแบบไม่รู้จบรู้สิ้น วันนั้นวันที่เราตั้งความหวังไว้ว่า “เราจักจะข้ามห้วงสีทันดรแห่งความทุกข์ยากแห่งใจนี้ไปให้ได้” นั้น ความหวังที่ตั้งใจไว้ในวันนั้น มันทำให้มีวันนี้เกิดขึ้น มันเป็นชีวิตใหม่ที่สมบูรณ์ของข้าพเจ้า มันเป็นวันที่ข้าพเจ้าได้ตระหนักชัดและซึมทราบเป็นเนื้อหาเดียวกันกับธรรมชาติแห่งพุทธะซึ่งมันเป็นความสุขอันนิรันดร์ที่ข้าพเจ้าได้เจอะเจอและได้ลิ้มลองรสชาติแห่งมันตราบมาจนถึงทุกวันนี้
ข้าพเจ้าซึ่งเป็นผู้ผ่านความทุกข์โศกนั้นมาได้ จึงได้เขียนบทความนี้ขึ้นเพื่อให้เป็นกำลังใจแก่ทุกชีวิตที่มีเลือดแห่งความเป็นนักสู้ที่จะแหวกว่ายมหานทีแห่งใจที่ทุกข์ยากของท่านเพื่อว่ายขึ้นฝั่งพระนิพพาน ข้าพเจ้าขอเป็นกำลังใจให้แก่ผู้ที่กำลังประสบปัญหาแห่งชีวิต และผู้ที่ต้องการความหวังที่จะมุ่งมั่นปฏิบัติธรรมเพื่อพ้นจากความทุกข์แห่งใจทั้งปวง และขอเป็นกำลังใจให้อีกครั้งแก่ใจอันแตกสลายของพวกท่านที่หมดหวังเพื่อ “ข้ามสีทันดร” แห่งความทุกข์ยากนี้ให้สำเร็จสมหวังสมดั่งที่ใจท่านปรารถนา








ครู ก็ต้องเข้าถึงจิตวิญญาณแห่งความเป็นครูผู้ให้
เป็นครูผู้ที่เข้าใจอย่างถ่องแท้ในการดำเนินวิถีชีวิตที่เรียบง่าย
บนเส้นทางธรรมชาติแห่งพุทธะ
เมื่อตนเองเป็นตนแบบให้แก่ตนเองได้
ก็สามารถนำแบบแผนการดำรงชีวิตนี้
นำไปสอนลูกศิษย์ให้เข้าใจถึงวิถีชีวิตมนุษย์ที่แท้จริง
แล้วเมื่อสักวันหนึ่งที่ลูกศิษย์เขายืนอยู่ได้ด้วยตนเอง
โดยไม่ต้องมีครูเช่นเราคอยประคับประคองอีกต่อไป
นั่นแหละคือความดีใจของคนที่เป็นครูผู้ให้เสมอมา








บทที่ 105 ครูกับศิษย์
ก็ด้วยความที่ดิ้นรนกระเสือกกระสนมาเอง ฝ่ากระแสความมืดมิดแห่งใจที่มืดมนของข้าพเจ้า ด้วยความพยายามหาหนทางที่มันพอจะมีแสงสว่างอยู่บ้าง ความมุ่งมั่นด้วยความทะยานอยากที่จะหลุดพ้น มันทำให้ข้าพเจ้าเป็นนักแสวงหาตัวยง เส้นทางที่ข้าพเจ้าคิดว่ามันใช่ มันกลับทำให้ข้าพเจ้าต้องหลงเดินไป ตามทางแห่งมันซึ่งเรียกว่า “หนทางแห่งการปฏิบัติ”

ต่อมาเมื่อข้าพเจ้าได้ตระหนักชัดและซึมทราบ แห่งเนื้อหาของธรรมชาติแห่งพุทธะแล้ว มันจึงทำให้ข้าพเจ้ารู้ว่า การที่ได้ละจากอารมณ์ดิบๆแห่งปุถุชนของข้าพเจ้าเอง ไปสู่หนทางปฏิบัติซึ่งเต็มไปด้วยหลักเกณฑ์ต่างๆนั้น มันกลับกลายเป็น “กับดักแห่งปัญญา” ที่ทำให้ข้าพเจ้า ต้องตกไปสู่หลุมลึกแห่งการปรุงแต่งเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติ ข้าพเจ้าต้องติดกับดักในปัญญานั้นอยู่เกือบ 10 ปี

ต้องขอขอบคุณหนังสือสองเล่มนั้นกับอีกหนึ่งพระสูตร ที่ได้เข้ามาจุดประกายสัจธรรมความเป็นจริง ให้เกิดขึ้นแก่ใจข้าพเจ้า

“ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว” ที่เขียนโดย ดร.ฟูกูโอกะ หนังสือเล่มนี้ทำให้ข้าพเจ้ารู้จักคำว่า “ธรรมชาติ” ทำให้ข้าพเจ้ารู้จักปรับกระบวนวิธีปฏิบัติทั้งหลาย ที่ติดกับดักมันอยู่ด้วยการเอาความเป็น “ข้าพเจ้า” เข้าไปทำ หันมาสู่การปฏิบัติที่เป็นไปตาม “ภาวะแห่งธรรมอันคือธรรมชาติ”

“สูตรของเว่ยหล่าง” ที่ถูกแปลออกมาด้วยความเมตตากรุณาปราณี ของ หลวงพ่อพุทธทาส หนังสือเล่มนี้ทำให้ข้าพเจ้ารู้จักหน้าตาธรรมะที่แท้จริง เป็นหนังสือธรรมะเล่มเดียวที่เอาติดตัวไปด้วยเสมอๆ ยามจะต้องออกไปเดินธุดงค์อยู่หลายปี ไม่เคยทิ้งมันไว้ให้ห่างตัว ข้าพเจ้าซึมทราบเป็นเนื้อหาเดียวกับธรรมชาติแห่งพุทธะได้ ก็เพราะความรู้จากคำสอนแห่งเซน ในหนังสือเล่มนี้ด้วยความแท้จริง

“ตติยนิพพานสูตร” เป็นสูตรหนึ่งในพระไตรปิฎก ที่บังเอิญกงล้อแห่งโชคชะตาได้พลิกชีวิตข้าพเจ้า ให้ได้ไปเปิดเจอในหนังสือพระไตรปิฎกเล่มหนึ่ง พระสูตรนี้เป็นการยืนยันว่า ธรรมะแบบเซน เป็นธรรมะที่ถูกต้อง และคำสอนเซนเป็นคำสอนสูงสุดที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้

และที่จะอดกล่าวถึงไม่ได้เลย คืออาจารย์ของข้าพเจ้าเอง ที่ท่านได้ช่วยชี้ทางสว่างให้ ซึ่งเปรียบเสมือนท่านเป็น “มือแห่งสวรรค์” ที่ได้หยิบยื่นความบริบูรณ์แห่งชีวิตให้แก่ข้าพเจ้า ท่านชื่อ “หลวงพ่อโพธิ์ศรีสุริยะ” แห่งวัดร่มโพธิธรรม ต.หนองหิน อ.หนองหิน จ.เลย ข้าพเจ้าขอกราบแทบเท้าท่านอีกครั้งหนึ่งไว้ใน ณ ที่นี้ พระคุณที่ท่านได้ช่วยชีวิตข้าพเจ้าไว้ ให้รอดจากความทุกข์ทั้งปวงได้ ข้าพเจ้าจักจะไม่มีวันลืมเลือนในบุณคุณของท่าน

เมื่อข้าพเจ้าได้เริ่มใช้ชีวิตด้วยความสุขสงบ และได้เริ่มทำงานทางด้านพุทธศาสตร์อย่างจริงจัง ก็มีความบังเอิญได้เจอบทความ “ครูกับศิษย์ นิกายเซนสายรินไซ ; ใจต่อใจในการฝึกตน” ซึ่งเป็นคำสอนแห่งเซนสายรินไซในญี่ปุ่น บทความนี้เป็นเรื่องราวของครูโซโก โรชิ ซึ่งท่านเป็นครูสอนเซน ในไดชูอิน แห่งวัดเรียวอันจิ เมืองเกียวโต เมื่อได้อ่านบทความธรรมะแห่งนิกายเซนชิ้นนี้แล้ว มันทำให้ข้าพเจ้าชอบและศรัทธาครู โซโก โรชิ เป็นอย่างมาก ข้าพเจ้าถือว่าท่านเป็น “ครูผู้วางแนวทาง” ให้กับข้าพเจ้า ในการที่ข้าพเจ้าได้ดำเนินการสอนธรรม ให้แก่ลูกศิษย์ของข้าพเจ้าเอง ความไกล้ชิดระหว่างครูเช่นข้าพเจ้ากับศิษย์ทั้งหลาย ที่เส้นทางกรรมแห่งความดี ได้พาลูกศิษย์มาพบกับครูสอนเซนเช่นข้าพเจ้า ความไกล้ชิดนั้นนำมาสู่การถ่ายทอดธรรมะ ที่เป็นธรรมชาติอันว่างเปล่าไร้ตัวตน ซึ่งมันมิได้อิงอยู่กับอักษรในตำราใดๆ การถ่ายทอดธรรมะ ทางวิถีแห่งการรู้แจ้งในลักษณะนี้ ข้าพเจ้าล้วนได้มาจาก ครูโซโก โรชิ
และด้วยกรรมวิบากของข้าพเจ้า ที่ติดตัวมาไม่รู้แต่ชาติปางใหน เมื่อได้กระทำไปด้วยความบีบคั้นในเส้นทางพุทธะ ข้าพเจ้ารู้สึกขอบคุณและจักจะรำลึกเสมอ ถึงอาจารย์นิรนามผู้วางแนวทางให้ข้าพเจ้า เดินไปตามร่องพุทธะ และทำให้ข้าพเจ้ารู้จักหน้าตาพุทธะที่แท้จริง ที่ประจักษ์แก่ใจข้าพเจ้าแล้ว ความเมตตาและปรารถนาดี ของอาจารย์นิรนามหลายๆอาจารย์ จักจะเป็นคุณที่ทำให้ข้าพเจ้าได้ทำงานทางด้านสอนลูกศิษย์ ได้อย่างมีคุณภาพ และเป็นไปตามแนวทางพุทธะ ที่พระพุทธองค์มุ่งหวัง

และท้ายที่สุด ด้วยความเหนื่อยยากนี้ กว่าที่ข้าพเจ้าจะได้ตระหนักชัดและซึมทราบ เป็นเนื้อหาเดียวกับพุทธะได้นั้น มันเหมือนเลือดตาแทบกระเด็นและใช้ความอดทนอย่างสูง กว่าที่จะกระเสือกกระสนมาอยู่ตรงนี้ได้ ก็เพราะด้วยความยากลำบากอย่างยิ่ง กว่าจะทำให้ข้าพเจ้าได้เข้าใจและซึมทราบ ธรรมชาติแห่งพุทธะได้อย่างแท้จริง ข้าพเจ้าจึงอยากบอกลูกศิษย์ของข้าพเจ้าทุกคนไว้ในที่นี้ว่า ธรรมะทุกๆคำพูดที่ครูสอนเซนอย่างเรา ได้สอนลูกศิษย์อย่างพวกเจ้าไปนั้น มันมีคุณค่าอย่างยิ่งนะลูก กว่าอาจารย์จะได้ธรรมะเหล่านี้มาสอนพวกเจ้า ก็ขอให้พวกเจ้านึกถึงความยากลำบากนั้นๆ พวกเจ้าจะได้ตระหนักถึงคุณค่าของธรรมะที่ได้เรียนรู้จากเรา อาจารย์ก็ได้แต่เพียงหวังว่า พวกเจ้าจะได้นำสิ่งที่พวกเจ้าได้ซึมทราบในธรรมนั้น ไปสอนคนอื่น

ในฐานะที่พวกเจ้าจะได้เป็นครูสอนเซน ตามแบบอย่างเช่นอาจารย์เคยสอนพวกเจ้าไป อาจารย์หวังว่าคำสอนในธรรมเหล่านี้ และแนวทางที่อาจารย์ได้เมตตาสอนพวกเจ้า พวกเจ้าจักจะได้นำไปใช้สอนคนอื่น เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์อันแท้จริงในภายภาคหน้า นั่นแหละคือชีวิตที่สมบูรณ์ของลูกศิษย์อย่างพวกเจ้าทั้งหลาย ที่อาจารย์เช่นเราได้แอบภาคภูมิใจอยู่เสมอ


















มนุษย์แต่ละคน
มีศักยภาพอย่างเต็มเปี่ยม
สำหรับการดำรงชีวิต
ที่เป็นอิสระและสมบูรณ์








บทที่ 106 ชีวิตที่อิสระสมบูรณ์
กาลเวลาได้เดินผ่านไปอย่างไม่เคยหยุดนิ่ง มันได้กลืนกินทุกสรรพสิ่งแม้กระทั้งตัวมันเอง ก็ในชั่วอึดใจหนึ่ง ณ ห้วงเวลานี้ มาบัดนี้กาลเวลามันได้ผันผ่านเข้าสู่กลียุคแล้ว โลกใบนี้ไม่เคยมีสันติสุขเกิดขึ้นมาก่อน มันถูกอัดแน่นไปด้วยทิฐิความเห็นต่างๆ มาตั้งแต่ยุคต้นกัปป์นี้แล้ว ครั้งตั้งแต่พรหมลงมากินง้วนดิน ซึ่งเป็นต้นตระกูลเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ในยุคนี้ มนุษย์ในยุคที่ผ่านๆมาได้แต่รู้จักความทุกข์ แต่ไม่รู้จักวิธีอันจะเป็นความรู้ให้ออกจากทุกข์ได้ เพราะฉะนั้นมนุษย์ในยุคที่ผ่านๆมาจึงทำได้เพียงแต่ เลือกที่จะประกอบคุณงามความดีแต่เพียงเท่านั้น และก็ต้องจำยอมตกอยู่ในสังสารวัฏฏ์ แห่งการเวียนว่ายตายเกิดแบบโงหัวไม่ขึ้น มนุษย์ในยุคที่ผ่านๆมาจึงมีศักยภาพในการดำรงชีวิต ได้แต่เพียงเท่านี้ เป็นการดำรงชีวิตที่ยังขาดอิสระแห่งใจ เพราะใจยังถูกบีบคั้นไปด้วย อวิชชา ตัณหา อุปาทาน

แต่แล้วเมื่อบรมมหาโพธิสัตว์สันดุสิต ได้ลงมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านาม “พุทธโคดม” ท่านได้ออกมาประกาศธรรมอันคือธรรมชาติ ท่านมาชี้หนทางเพื่อไปสู่สัจธรรมความเป็นจริง อันคือธรรมชาติแห่งพุทธะ มันจึงเป็นห้วงเวลาที่มนุษย์ในยุคนี้บางส่วนซึ่งเป็นผู้มีปัญญา จะได้ทดสอบความสามารถของตนเอง ในฐานะผู้ที่เกิดมาเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นผู้มีศักยภาพในการดำรงชีวิต ได้อย่างสมบูรณ์แบบหรือไม่

หากท่านเป็นมนุษย์คนหนึ่งผู้ซึ่งเคยสร้างเหตุและปัจจัย มาอย่างพร้อมเพรียงเพื่อมาพบธรรมอันแท้จริง ในยุคพุทธโคดมแห่งภัททกัปป์นี้ หากท่านเพียงแต่ทำความเข้าใจว่า ธรรมอันแท้จริงก็คือธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ ที่มันดำรงเนื้อหาของมันอยู่แบบนี้ตลอดเรื่อยมา ก็เพียงแต่ท่านลืมตาตื่นและซึมทราบเป็นเนื้อหาเดียวกับมัน และนั่น ก็คือเส้นทางแห่งความเป็นอิสระ ที่จะทำให้ท่านเป็นหนึ่งเดียวแบบกลมกลืนกับธรรมชาติ มันเปรียบเสมือนว่าท่านได้ทำหน้าที่ แห่งความเป็นมนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์แบบแล้ว

มันจึงเป็นบททดสอบได้ว่า มนุษย์ในแต่ละยุคที่ผ่านมา เมื่อผ่านช่วงเวลาอันมืดมนที่เต็มไปด้วยอสัทธรรม แล้วเมื่อมนุษย์ผู้หนึ่งผู้ซึ่งเชื่อว่าตนเองก็มีศักยภาพ แห่งความเป็นมนุษย์ได้อย่างแท้จริง และเมื่อมนุษย์ผู้นั้นได้ลงมาทำหน้าที่ ตามศักยภาพอันมีอยู่เต็มเปี่ยมแห่งตน และได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เราเองเมื่ออยู่ในฐานะเป็นมนุษย์ผู้หนี่ง ซึ่งเคยคบหามหาบัณฑิตอย่างท่านมา อย่างน้อยก็เคยเคารพนับถือท่านมาในชาติใดชาติหนึ่ง เมื่อท่านได้มาตรัสรู้และประกาศธรรมอันคือธรรมชาติแห่งพุทธะ เมื่อเราได้มาเกิดในห้วงเวลาแห่งศาสนาท่าน และได้เรียนรู้ธรรมอันคือธรรมชาตินั้น หากเรามีศักยภาพเพียงพอในฐานะที่ จะเป็นมนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์แบบ เราก็จะสามารถตระหนักชัดและซึมทราบ กลายเป็นเนื้อหาเดียวกับธรรมอันคือธรรมชาตินั้นได้ อย่างไม่ยากเย็นนัก นี่คือ ชีวิตที่อิสระสมบูรณ์ และนี่คือความเป็นมนุษย์ที่แท้จริง

















จบบริบูรณ์









คำอนุญาต

หนังสือธรรมะ “ใจต่อใจในการฝึกตน” (The core of Zen) ถูกพิมพ์ขึ้นเพื่อมีวัตถุประสงค์ เผยแพร่ธรรมะ เพื่อให้ธรรมเป็นทาน หากผู้ใดมีเจตนา จะเอาธรรมะในหนังสือเล่มนี้ไปพิมพ์ต่อ เพื่อมีเจตนาจะเผยแพร่ธรรม และพิมพิ์แจกฟรี ผู้เขียนอนุญาตในทุกกรณี แต่ห้ามดัดแปลง แก้ไข เพิ่มเติม เนื้อหาธรรมะ ในทุกส่วนของหนังสือเล่มนี้ ขออนุโมทนาบุญ สำหรับผู้ที่สนใจ จะนำ หนังสือธรรมะ “ใจต่อใจในการฝึกตน” (The core of Zen) ไปพิมพ์แจกจ่ายฟรี เพื่อให้ธรรมเป็นทาน สมดังเจตนาของผู้เขียน

ผู้เขียน พระราเชนทร์ อานนฺโท





รายชื่อเจ้าภาพร่วมพิมพ์หนังสือ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 พ.ย. 2012, 20:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 21 ส.ค. 2012, 21:53
โพสต์: 235

สิ่งที่ชื่นชอบ: ใจต่อใจในการฝึกตน
ชื่อเล่น: เมฆ
อายุ: 43

 ข้อมูลส่วนตัว




922821_363708957072460_809480055_n.jpg
922821_363708957072460_809480055_n.jpg [ 30.82 KiB | เปิดดู 3091 ครั้ง ]
เปิดสั่งจองด่วน..หนังสือเซนที่สมบูรณ์แบบที่สุดในเมืองไทย
" หนังสือใจต่อใจในการฝึกตน " (The core of Zen)
มีความหนา 525 หน้า พิมพ์กระดาษอย่างดี มีจำนวนจำกัด
ติดต่อได้ที่ คุณเมฆ เบอร์โทร 0895942191 จะจัดส่งให้ทันที
ราคารวมค่าส่งแล้ว เล่มละ 300 บาทเท่านั้น แถม mp3 1 แผ่น
โอนเงิน ชื่อบัญชี RACHEN SIMASUNTHORN ธ.กรงเทพ
สาขากระบี่ บัญชีสะสมทรัพย์ เลขที่บัญชี 280-0-90613-9
แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 5 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron