วันเวลาปัจจุบัน 19 เม.ย. 2024, 16:22  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.ย. 2012, 19:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

วัดป่าวิมุตตยาลัย
วัดป่าชานเมือง ที่พักพิงทางจิตวิญญาณของคนกรุง


อีกหนึ่งโครงการดีๆ ของพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี ที่ท่านมีดำริสร้าง “วัดป่าวิมุตตยาลัย” ในโครงการวัดป่าชานเมือง สถาบันการเผยแผ่พุทธศาสนาเชิงรุก (Applied Buddhism) ครบวงจร ซึ่งมุ่งเน้นการเผยแผ่ภารกิจ ๔ ประการ คือ การศึกษา การเผยแผ่ การพัฒนาสังคม และการสร้างสันติภาพโลก โดยได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์ไปเมื่อวันที่ ๙ เดือน ๙ ปี ๒๐๐๙ เวลา ๐๙.๐๙ น. โดยมีศิษยานุศิษย์จำนวนมากมายเข้าร่วมงาน

โครงการดังกล่าวเป็นหนึ่งในวิสัยทัศน์ของสถาบันวิมุตตยาลัย ในการมุ่งขับเคลื่อนการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุก (Applied Buddhism) ภายใต้วิสัยทัศน์ “พุทธศาสนาไทยก้าวไกลเพื่อสันติภาพโลก” หวังพัฒนาวัดให้เป็นแหล่ง “ความรู้” (wisdom) คู่ “ความตื่น” (mindfulness)

ในวิกฤติสังคมทุกวันนี้ มีเรื่องราวต่างๆ มากมาย ที่ผ่านเข้ามาทางประสาทสัมผัสของคนไทย ปั่นป่วนทำให้เกิดความรู้สึกต่างๆ นานา แปรผันไปตามข้อมูลข่าวสารทั้งทางด้านบวกและด้านลบ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ร้อยละ ๙๐ ของข้อมูลข่าวสารโดยส่วนใหญ่เป็นข้อมูลข่าวสารทางลบ ที่ส่งผลต่อทัศนคติของคนไทย ก่อให้เกิดความเคียดขึ้ง โกรธแค้น พยาบาท ซึ่งค่อยๆ ก่อตัวขึ้นมาในจิตใจของคนเราทุกวัน วันละนิด วันละหน่อย จนกลายเป็นกำแพงกั้นขวางจิตใจของคนเราในการที่่จะมองโลกในอีกมุมหนึ่ง

นอกจากนี้ สังคมคนกรุงปัจจุบันห่างจาก “วัด” บ้างก็อาจมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อ “วัด” ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะกระแสข่าวที่เกิดขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว “ธรรมะ” กลับกลายเป็นเรื่องที่คนไทยหลายคนกำลังมองหา และ “การปฏิบัติ” เป็นเรื่องที่คนไทยหลายคนกำลังต้องการ

“วัดป่าวิมุตตยาลัย” ในโครงการวัดป่าชานเมืองนั้น เป็นอีกหนึ่งโครงการที่เปิดให้คนกรุงเทพฯ ได้มีโอกาสเรียนรู้ปฏิบัติธรรมในสถานที่ใกล้ๆ กรุงเทพฯ ตั้งอยู่บริเวณรังสิตคลอง ๑๔ ต.หนองสามวังใต้ อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี บนเนื้อที่ ๕๐ ไร่ โดยมีวัดถุประสงค์เพื่อสร้างสำนักงานการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุก (Applied Buddhism) ครบวงจร (การศึกษา การเผยแผ่ การพัฒนาสังคม และการสร้างสันติภาพโลก) ตลอดจนเพื่อเป็นการสร้างห้องสมุดพระพุทธศาสนานานาชาติ และเพื่อสร้างศูนย์วิจัยและวิปัสสนาเพื่อสันติภาพโลก

โดยมีสิ่งปลูกสร้างภายในวัด ประกอบด้วย
๑. อุโบสถ แบบธรรมชาติสำหรับใช้เป็นที่ประกอบสังฆกรรมของคณะสงฆ์
๒. สถาบันวิมุตตยาลัย (สำนักงานกลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุกครบวงจร)
๓. ศูนย์วิปัสสนาเพื่อสันติภาพโลก (ห้องปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานรองรับคนได้ประมาณ ๕๐๐ คน)
๔. ศูนย์วิจัยพุทธศาสน์และห้องสมุดพระพุทธศาสนานานาชาติ
๕. กุฏิที่พำนักสงฆ์ ๖. อาคารที่พักผู้ปฏิบัติธรรม และ ๗. ห้องน้ำ

โครงการดังกล่าวถือเป็นยุคที่ ๓ ของความเป็นมาของการเผยแผ่ธรรมะของพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี โดยมีรายละเอียดในแต่ละยุค ดังนี้

ยุคที่ ๑ : ธรรมะติดปีก

นับแต่สำเร็จการศึกษาเปรียญธรรม ๙ ประโยค (พ.ศ. ๒๕๔๓) และพุทธศาสตรมหาบัณฑิต (พธ.ม.) จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ แล้ว พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี หรือ ท่าน ว.วชิรเมธี ได้อุทิศตนทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุกครบวงจร ทั้งโดยการเทศน์ การสอน การผลิตผลงานทางวิชาการ การเขียนหนังสือธรรมะออกเผยแผ่โดยใช้ภาษาร่วมสมัย การทำรายการธรรมะทางโทรทัศน์ วิทยุ และการเปิดเว็บไซต์ธรรมะ (vimuttayalaya.net) ตลอดจนการเดินทางไปปาฐกถาและสอนสมาธิภาวนาทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ จนก่อให้เกิดความสนใจธรรมะในหมู่ประชาชนแทบทุกกลุ่มอย่างกว้างขวาง ก่อเกิดเป็นกระแส “ธรรมะติดปีก, ธรรมะอินเทรนด์, ธรรมะประยุกต์” อย่างแพร่หลาย ต่อมาเมื่อปริมาณงานเพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้สนใจธรรมะ ทำให้ท่านตัดสินใจก่อตั้ง “สถาบันวิมุตตยาลัย” (Vimuttayalaya Institute) ซึ่งเป็น “สถาบันการศึกษาเพื่อพัฒนาสันติภาพโลก” ขึ้นมาขับเคลื่อนการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในเชิงรุกต่อไปเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๐

ยุคที่ ๒ : สถาบันวิมุตตยาลัย

สถาบันวิมุตตยาลัย ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาทางเลือกมีวิสัยทัศน์ในการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุกครบวงจร โดยมีภารกิจ ๔ ประการ คือ

(๑) การศึกษา (จัดตั้งโรงเรียนสามเณร)
(๒) การเผยแผ่ (เผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุกทุกรูปแบบ)
(๓) การพัฒนาสังคม (ร่วมแก้ปัญหาสังคมไทยโดยใช้พุทธธรรม)
(๔) การสร้างสันติภาพโลก (สอนสมาธิภาวนาทั้งในไทยและต่างประเทศ)

การทำงานในรูปแบบสถาบันวิมุตตยาลัยของพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี ทำให้การเผยแผ่พระพุทธศาสนามีประสิทธิภาพ เป็นระบบ และอำนวยประโยชน์โสตถิผลแก่สังคม ประเทศชาติ เป็นอย่างมากทำให้มีสถาบัน องค์กรต่างๆ ถวายรางวัลแก่พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี จำนวนมาก เช่น รางวัลพระธรรมทูตผู้มีผลงานดีเด่นระดับโลก จากองค์กรยุวพุทธสงฆ์โลก (WBSY) ซึ่งถวายโดย ฯพณฯ มหินทระ ราชปักษะ ประธานาธิบดีแห่งประเทศศรีลังกา, รางวัลเสาเสมาธรรมจักรทองคำ สาขาผู้นิพนธ์หนังสือพระพุทธศาสนาดีเด่น จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, รางวัลเกียรติคุณสัมพันธ์สังข์เงิน จากสำนักนายกรัฐมนตรี, รางวัลสุดยอดนักคิด ประจำปี ๒๕๕๒ จากสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย, รางวัลนักเขียนบทความดีเด่นแห่งปี จากมูลนิธิอายุมงคล โสณกุล, รางวัลการเผยแผ่พระพุทธศาสนาดีเด่น จากมูลนิธิจำนงค์ ทองประเสริฐ เลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน และได้รับการคัดเลือกให้เป็น ๑ ใน ๑๐๐ บุคคลผู้เป็นต้นแบบจากหนังสือ a day เป็นต้น

ยุคที่ ๓ : วัดป่าวิมุตตยาลัย (พุทธศาสนาไทยเพื่อสันติภาพโลก)

ผลแห่งการอุทิศตนทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย ทำให้มีผู้ได้รับผลประโยชน์จากธรรมะที่เผยแผ่โดยพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ท่าน ว.วชิรเมธี) แพร่หลายออกไปทั้งในเมืองไทย และต่างประเทศ ทำให้ศิษยานุศิษย์ซึ่งเห็นคุณค่าของงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุก (Applied Buddhism) ได้ร่วมกันแสวงหาที่ดินจำนวนหนึ่งเพื่อจัดตั้งเป็นสำนักงานกลาง สำหรับขับเคลื่อนงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา นั่นจึงเป็นที่มาของการน้อมถวายที่ดินจำนวน ๕๐ ไร่ โดย คุณยายทัศนีย์ บุรุษพัฒน์ (อดีตเจ้าของโรงเรียนปัญญาทิพย์) ซึ่งที่ดินดังกล่าวมีโฉนดอยู่ ณ รังสิตคลอง ๑๔ ต.หนองสามวังใต้ อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี แด่พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) เพื่อให้พัฒนาเป็น “วัดป่าวิมุตตยาลัย” อันจักเป็นศาสนสถานสำคัญสำหรับการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุก จากเมืองไทยสู่ประชาคมโลกต่อไปในอนาคต

สำหรับพุทธศาสนิกชนที่สนใจ สามารถร่วมบำเพ็ญมหากุศลครั้งสำคัญด้วยการร่วมเป็นเจ้าภาพสร้าง “วัดป่าวิมุตตยาลัย” โดยสามารถติดต่อร่วมทำบุญได้ที่ “สถาบันวิมุตตยาลัย” โทรศัพท์ ๐๘๙-๘๙๓-๒๑๓๖, ๐๘๑-๘๘๙-๐๐๑๐, ๐๘๗-๐๘๐-๗๗๗๙, ๐๒-๔๒๒-๙๑๒๓ หรืออ่านรายละเอียดได้ที่ www.vimuttayalaya.net หรือบริจาคสร้างอาคารวิปัสสนากรรมฐาน โดยโอนเงินผ่านบัญชีเงินฝาก

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาศิริราช
ชื่อบัญชี พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (โครงการวัดป่าชานเมือง)
บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ ๐๑๖ - ๔๑๔๖๗๖ - ๔

(มีต่อ)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.ย. 2012, 19:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


เกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับ “วัด”

๑. วัดคืออะไร

สถานที่ซึ่งเป็นจุดรวมงานด้านใด เรียกว่าเป็นศูนย์ของงานด้านนั้น เช่น จุดรวมงานด้านการค้า เรียกว่า ศูนย์การค้า, จุดรวมงานด้านการศึกษา เรียกว่า ศูนย์การศึกษา ฯลฯ แต่จุดรวมงานด้านการปลูกฝังพระธรรมลงในใจประชาชน เราไม่นิยมเรียกว่า ศูนย์การปลูกฝังพระธรรม แต่เรียกว่า วัด

วัดที่สมบูรณ์ประกอบด้วยองค์ ๔ คือ
๑. มีสถานที่เหมาะสมอยู่เป็นสัดส่วน และทางรัฐรับรอง
๒. มีพระภิกษุสามเณรจำพรรษาเป็นประจำ เพื่อเรียนธรรม สอนธรรม และปฏิบัติธรรม
๓. มีประชาชนให้การสนับสนุน ทำนุบำรุงด้วยปัจจัยสี่โดยไม่ขาดแคลน
๔. มีการเรียนธรรม การสอนธรรม และการปฏิบัติธรรมสำหรับประชาชน

วัด จึงเป็นสถานที่สำคัญในการปลูกฝังพระธรรม คือ ทาน ศีล ภาวนา ให้แก่ประชาชนสำหรับไว้ต่อสู้ทำลายล้างกิเลส โดยมีพระภิกษุเป็นผู้แนะ ได้แก่ อบรมสั่งสอนชี้ทางถูก และผู้นำ ได้แก่ ประพฤติดีปฏิบัติชอบให้ดูเป็นตัวอย่าง

วัดนอกจากเป็นแหล่งอบรมปลูกฝังพระธรรมแล้ว ยังเป็นจุดรวมให้ประชาชนเข้ามาสอบตัวเองดูว่า การให้ทาน การรักษาศีล การเจริญภาวนา ของตัวมีอยู่และถูกต้องหรือไม่ วัดกิริยามารยาท คุณสมบัติของผู้ดี คุณธรรมต่างๆ ฯลฯ ของแต่ละคนว่าจะมีหรือไม่ และมีมากหรือน้อยกว่ากันอย่างไร จะได้แก้ไขปรับปรุงให้มีและดียิ่งๆ ขึ้น

วัดเมื่อเป็นสถานที่ปลูกฝังพระธรรม ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดของชีวิต จึงนับว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด เมื่ออยู่วัดทุกคนต้องระมัดระวังตนให้คิด พูด ทำแต่นั้นยังต้องช่วยกันทำนุบำรุงและปรับปรุงแก้ไขวัดให้เจริญยิ่งขึ้น ให้อยู่ในสภาพที่พร้อมจะใช้งานได้เสมอ

๒. พระอารามในสมัยพุทธกาล

วัดที่เป็นที่ประทับประจำของพระพุทธเจ้า และเป็นศูนย์รวมของวัดทั้งหลายในสมัยพุทธกาล เราเรียกกันว่า พระอาราม ที่สำคัญมี ๓ แห่งคือ

(๑) เวฬุนาราม พระเจ้าพิมพิสารผู้ครองแคว้นมคธเป็นผู้สร้างถวายโดยดัดแปลง อุทยานอันกว้างขวาง ใหญ่โต ร่มรื่นด้วยป่าไผ่ นอกเมืองราชคฤห์ขึ้นเป็นพระอาราม (ราชคฤห์เป็นเมืองหลวงแคว้นมคธ) อาคารและถาวรวัตถุต่างๆ ส่วนมากเป็นเครื่องไม้สร้างอย่างแข็งแรง ทนทาน ประณีต สมกับที่กษัตริย์ทรงสร้าง เวฬุวนารามมีความสำคัญทางพระพุทธศาสนามากเนื่องจาก

๑. เป็นวัดแรกที่บังเกิดขึ้นในพระพุทธศาสนา

๒. เป็นวัดที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศหลักพระพุทธศาสนาในวันมาฆบูชา ครั้งนั้นมีพระอรหันตสาวกมาร่วมประชุมกันถึง ๑,๒๕๐ รูป โดยไม่แออัดคับแคบ

๓. พระพุทธเจ้าทรงใช้วัดนี้เป็นศูนย์กลางเผยแผ่ และอบรมปลูกฝังพระธรรมแก่ประชาชนในระยะต้นพุทธกาล ต่อมาเมื่อพระองค์เสด็จไปประทับที่เชตวนาราม กรุงสาวัตถี ก็ทรงมอบให้พระสารีบุตร อัครสาวกเบื้องขวา อยู่บริหารควบคุมบัญชางานแทนและใช้เป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาบริเวณภาคกลางประเทศอินเดียตลอดมา

๔. เป็นที่ตั้งสถูปบรรจุพระธาตุของพระโมคคัลลานะอัครสาวกเบื้องซ้าย ให้พุทธศาสนิกชนได้เคารพสักการะ

๕. เป็นที่พักจำพรรษาของพระอรหันต์ ๕๐๐ รูป ซึ่งเข้าร่วมประชุมกันทำปฐมสังคายนาตลอดมาเวลา ๓ เดือน โดยมีพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นองค์อุปถัมภก์

(๒) เชตวนาราม มหาเศรษฐีเมืองสาวัตถีชื่อ อนาถปิณฑิกะ เป็นผู้สร้างถวาย โดยซื้ออุทยานของเชื้อพระวงค์นามว่า เจ้าเชต มาดัดแปลงเป็นพระอาราม การก่อสร้างอาคาร และถาวรวัตถุต่างๆ ทำอย่างประณีต งดงามแข็งแรงทนทานเป็นพิเศษ รวมค่าที่ดิน และค่าก่อสร้างเป็นเงินทั้งสิ้นถึง ๕๔๐ ล้านกหาปณะ คิดเป็นไทยประมาณ ๒,๑๖๐ ล้านบาท (๑ กหาปณะเท่ากับ ๔ บาท) ในคัมภีร์ศาสนากล่าวชมว่า แม้พระราชวังของพระเจ้าปเสนทิโกศล พระราชาผู้ทรงยิ่งใหญ่ในสมัยนั้น ก็ยังสวยงามสู้เชตวนารามไม่ได้

เชตวนาราม เป็นพระอารามที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการเผยแพร่และปลูกฝังพระธรรมควบคู่กับเวฬุวนาราม พระพุทธเจ้าทรงประทับและแสดงพระธรรมเทศนาโปรดประชาชนที่พระอารามนี้นานถึง ๑๙ พรรษา จึงกลายเป็นศูนย์เผยแพร่พระพุทธศาสนา บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันตกของประเทศควบคู่กับปุพพาราม

(๓) ปุพพาราม มหาอุบาสิกาชื่อ วิสาขา เป็นผู้สร้างถวาย ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองสาวัตถี คู่กับเชตวนารามอยู่ทางทิศตะวันตก หลังจากสถาปนิกออกแบบแปลนแผนผังดีแล้ว จึงลงมือก่อสร้างพระอารามนี้ขึ้นในบริเวณทุ่งนารกร้างนอกเมือง อาคารสร้างเป็นทรงปราสาท ๒ ชั้นๆ ละ ๕๐๐ ห้อง จัดเป็นส่วนๆ โดยแยกเป็นที่อยู่ของพระผู้ชำนาญพระวินัย ส่วนหนึ่ง ของผู้ชำนาญพระสูตรส่วนหนึ่ง ของพระผู้ชำนาญพระอภิธรรมส่วนหนึ่ง เป็นที่พักของภิกษุอาพาธส่วนหนึ่ง เป็นห้องพยาบาลส่วนหนึ่ง เป็นที่พักของพระอาคันตุกะส่วนหนึ่ง และห้องอื่นๆ อีกครบถ้วน ยอดปราสาทเป็นรูปหม้อน้ำทรงสูง ทำด้วยทองคำเป็นพุทธบูชา เมื่อสร้างเสร็จแล้วก็ปลูกต้นไม้ทำเป็นสวนป่าพาให้ร่มเย็นตลอดทั้งบริเวณ ค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้นถึง ๒๗๐ ล้านกหาปณะ คิดเป็นเงินไทยประมาณ ๑,๐๘๐ ล้านบาท เนื่องจากปุพพารามเป็นพระอารามที่มีแบบแปลนแผนผังดีมาก ดังนั้น จึงใช้เป็นแบบมาตรฐานในการสร้างวัดสมัยต่อๆ มา พระพุทธเจ้าทรงประทับฉลองศรัทธาอยู่ที่พระอารามนี้ถึง ๖ พรรษา นางวิสาขาก็ได้ทำนุบำรุงโดยถวายภัตตาหารและปัจจัยอื่นๆ แก่พระภิกษุผู้อยู่ในพระอารามจนตลอดชีวิต

๓. อานิสงส์การสร้างวิหาร

การสร้างกุฏิวิหารถวายเป็นสังฆทานนั้น พระพุทธองค์ทรงตรัสสรรเสริญว่า เป็นทานอันเลิศ เป็นทานที่มีผลมาก มีอานิสงส์มากเช่นกัน ดังที่พระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์แห่งกรุงราชคฤห์ ได้ทูลถามสมเด็จพระบรมศาสดาว่า ว่า ภนฺเต ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญสาธุชนทั้งหลายมีใจศรัทธา ปสันนาการ เลื่อมใสมาก่อสร้างกุฎีวิหารถวายเป็นสังฆทานนั้น จะได้ผลานิสงส์เป็นประการใด ขอให้พระองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาให้ข้าพุทธเจ้า พร้อมบริษัททั้งหลายให้รู้แจ้งเห็นจริงด้วยเถิดพระพุทธเจ้าข้า

องค์สมเด็จพระบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนาว่า ดูกรมหาบพิตรพระราชสมภาร บุคคลผู้ใดมีจิตศรัทธาเลื่อมใสพระรัตนตรัยแล้วก่อสร้างกุฎีวิหารศาลาคูหาน้อยใหญ่ ถวายเป็นทาน จะประกอบด้วยผลอานิสงส์มาก เป็นอเนกประการนับได้ถึง ๔๐ กัลป์

พระองค์ทรงนำอดีตนิทานมาเทศนาต่อไปว่า ในอดีตกาลล่วงมาแล้ว พระพุทธเจ้ายังมิได้อุบัติบังเกิดในโลกยังศูนย์เหล่าอยู่สิ้นกาลช้านาน ในระหว่างนั้นพระปัจเจกโพธิเจ้าทั้งหลายก็ได้บังเกิดตรัสรู้ในโลกนี้ เมื่อพระปัจเจกโพธิเจ้าก็อาศัยในป่าหิมพานต์ อยู่มาวันหนึ่งมีความปรารถนาเพื่อจะมาใกล้หมู่บ้านอันเป็นว่านแคว้นกาสิกราชมาอาศัยอยู่ในราวป่าแห่งหนึ่ง แถบใกล้บ้านนั้นมีนายช้างคนหนึ่งอยู่ในหมู่บ้านนั้น ก็ไปป่ากับลูกชายของตน เพื่อจะตัดไม้มาขายกินเลี้ยงชีพตามเคย ก็แลเห็นพระปัจเจกโพธิเจ้านั่งอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ พ่อลูกสองคนก็เข้าไปใกล้น้อมกายถวายนมัสการแล้ว ทูลถามว่าข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าจะไปไหน จึงมาอยู่ในสถานที่นี้

พระปัจเจกโพธิจึงตอบว่า ดูกรอาวุโส บัดนี้จวนจะเข้าพรรษาแล้ว อาตมาเที่ยวแสวงหากุฏีวิหาร ที่จะจำพรรษา นายช่างก็อาราธนาให้อยู่จำพรรษาในที่นี้พระปัจเจกโพธิ ทรงรับด้วยการดุษณียภาพสองคนพ่อลูกก็ดีใจ จึงขออาราธนาพระผู้เป็นเจ้าเข้าไปสู่เรือน ถวายบิณฑบาตทานแก่พระปัจเจกโพธิสองคนพ่อลูกก็เที่ยวตัดไม้แก่นมาทำสร้างกุฎีวิหารที่ริมสระโบกขรณีใหญ่ และทำที่จงกรมเสร็จแล้วขออาราธนา พระผู้เป็นเจ้าจงอยู่ให้เป็นสุขเถิดพระเจ้าข้า

ครั้นพระปัจเจกโพธิได้รับนิมนต์แล้ว สองคนพ่อลูกตั้งปฏิธานความปรารถนา ขอให้ข้าพเจ้าพ้นจากทุกข์ยากไร้เข็ญใจ และขอให้ข้าพเจ้าทั้งสองนี้ได้เป็นพระอรหันต์ขีณาสพผู้ประเสริฐองค์หนึ่งเถิด พระปัจเจกโพธิก็รับอนุโมทนาซึ่งบุญ นายช่างสองคนพ่อลูกอยู่จนสิ้นอายุขัยแล้วก็ทำกาลกิริยาตายไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มีวิมานทองเป็นที่รองรับ และเทพอัปสรแวดล้อมเป็นบริวารเสวยทิพย์สมบัติอยู่ในสวรรค์สิ้นกาลช้านานจุติจากสวรรค์นั้น

แล้วก็ไปบังเกิดเป็นราชบุตรของพระเจ้าสุโรธิบรมกษัตริย์ในเมืองมิถิลามหานคร ทรงพระนามว่า มหาปนาทกุมาร ครั้นมหาปนาทกุมารเจริญวัยขึ้นได้เสวยราชสมบัติเป็นพระยาจักรพรรดิราช ด้วยอานิสงส์ที่ได้สร้างกุฎีวิหารถวายเป็นทานแก่พระปัจเจกโพธิ ครั้นตายจากชาติเป็นพระยามหาปนาทแล้ว ก็เวียนว่ายตายเกิดในมนุษย์สมบัติสวรรค์สมบัติ แล้วก็มาเกิดเป็นเศรษฐีมีทรัพย์ ๘๐ โกฎิอยู่ในภัททิยนคร ชื่อว่า ภัททชิ ก็ได้ปราสาท ๓ หลัง อยู่ใน ๓ ฤดู ครั้นเจริญวัยได้บวชในศาสนาสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ในศาสนาของตถาคตดังนี้แล

ส่วนเทพบุตรองค์พ่อนั้น ยังเสวยทิพย์สมบัติอยู่ในสวรรค์ช้านานจนถึงศาสนาพระศรีอริยเมตไตรย์ลงมาตรัสสัพพัญญู เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในมนุษย์โลก ได้จุติลงมาปฏิสนธิในครรภ์ พระอัครมเหสีสมเด็จพระเจ้ากรุงเกตุมวดี ทรงพระนามว่าสังขกุมาร ครั้นเจริญวัยแล้วก็ขึ้นครองราชย์สมบัติ ทรงพระนามว่าสมเด็จพระเจ้าสังขจักรบรมกษัตริย์ มีทวีปน้อยใหญ่เป็นบริวาร พระองค์จึงได้สละราชสมบัติบ้านเมืองออกไปบรรพชา ในสำนักพระศรีอริยเมตไตรย์ กับทั้งบริวาร ๑ โกฎิ ก็ได้ถึงอรหันต์ได้เป็นอัครสาวกเบื้องขวา ทรงพระนามอโสกเถระ ก็ด้วยอานิสงส์ได้สร้างกุฎีให้เป็นทานนั้นแล อันเป็นบุญให้ถึงความสุข ๓ ประการ คือ มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ นิพพานสมบัติ


:b8: ที่มา... http://www.pr-network.in.th/main/other/ ... 10-49.html

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=31140

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 9 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร