วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 02:57  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ม.ค. 2012, 13:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

สักการะ 9 สิ่งมงคล ในงานสมโภช 175 ปี วัดบวรนิเวศวิหาร
ระหว่างวันที่ 11-15 มกราคม 2555 เวลา 09.00-21.00 น.


วัดบวรนิเวศวิหาร จัด “งานสมโภช 175 ปี วัดบวรนิเวศวิหาร” เชิญชวนประชาชนร่วมสร้างกุศล เสริมสิริมงคลครั้งยิ่งใหญ่แก่ชีวิตต้อนรับปีใหม่และเทศกาลตรุษจีน สักการะพระพุทธรูปสำคัญของชาติ และสิ่งมงคลคู่แผ่นดินภายในวัดบวรนิเวศวิหารทั้ง 9 แห่ง ร่วมพิธีสมโภช “พระเกศรัศมีทองคำลงยาราชาวดีพระพุทธชินสีห์” ร่วมเขียนบัตรถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมชมการแสดงนาฏศิลป์ชั้นสูงและการแสดงพื้นบ้านต่างๆ ฯลฯ ตั้งแต่วันที่ 11-15 มกราคม 2555 นี้

ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ รองราชเลขาธิการในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการโครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดบวรนิเวศวิหาร ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า คณะกรรมการวัดบวรนิเวศวิหาร และคณะกรรมการโครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดบวรนิเวศวิหาร ในพระบรมราชูปถัมภ์ เตรียมจัดงานสมโภช 175 ปี วัดบวรนิเวศวิหาร หลังจากได้ได้ดำเนินการบูรณะแล้วเสร็จสมบูรณ์ และเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554

ในพิธีงานสมโภช 175 ปี วัดบวรนิเวศวิหารนี้ คณะกรรมการวัดบวรนิเวศวิหาร และคณะกรรมการโครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดบวรนิเวศวิหาร ได้ขอพระราชทานทูลเชิญเสด็จ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสมโภช “พระเกศรัศมีทองคำลงยาราชาวดีพระพุทธชินสีห์” และทรงสมโภชพระอาราม ในวันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม 2555 ณ พระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร

ด้าน นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีและอดีตปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะประธานคณะทำงานพิจารณากลั่นกรองรูปแบบการจัดงานสมโภช 175 ปี วัดบวรนิเวศวิหาร กล่าวว่า ในงานสมโภชครั้งนี้ ได้มีการจัดกิจกรรมที่สำคัญขึ้นภายในและบริเวณโดยรอบวัดบวรนิเวศวิหาร โดยภายในเขตพุทธาวาสนั้น ได้เปิดสถานที่สำคัญให้พุทธศาสนิกชนได้ร่วมบูชาพระพุทธรูปสำคัญของชาติ และสิ่งมงคลสักการะทั้ง 9 แห่ง เพื่อความเป็นสิริมงคลต้อนรับปีใหม่พุทธศักราช 2555 ประกอบด้วย

(1) ไหว้พระคู่บวร ณ พระอุโบสถ
(2) ขอพรพระบรมสารีริกธาตุ บูชาพระไพรีพินาศ ณ พระเจดีย์
(3) อภิวาทพระศรีศาสดา ณ พระวิหารพระศาสดา
(4) วันทาพระพุทธรูปคู่พระบารมีฯ ณ พระวิหารเก๋ง
(5) บูชาพระพุทธรูปศิลา ณ โพธิฆระ
(6) ไหว้พระพุทธรูปปางลีลา ณ ศาลาการเปรียญ
(7) สักการะรอยพระพุทธบาทโบราณ ณ ศาลาพระพุทธบาท
(8) ไหว้พระพุทธรูปโบราณที่ซุ้มปรางค์ (ด้านซ้าย) ข้างพระอุโบสถ
(9) ไหว้พระพุทธรูปโบราณที่ซุ้มปรางค์ (ด้านขวา) ข้างพระอุโบสถ


งานสมโภช 175 ปี จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-15 มกราคม 2555 เวลา 09.00-21.00 น. ณ วัดบวรนิเวศวิหาร นอกจากนี้ท่านผู้มีจิตศรัทธาที่มาบูชาสักการะพระพุทธรูปสำคัญของชาติ และสิ่งมงคลครบทั้ง 9 แห่งจะได้รับสิ่งมงคลสักการะที่ระลึก คือ พระพุทธชินสีห์ เนื้อผง ด้านหลังประดิษฐานตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554

สำหรับผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 0-2281-5052


• ประวัติความสำคัญและศิลปกรรมล้ำค่า วัดบวรฯ •
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=19342

รูปภาพ

รูปภาพ
พระพุทธชินสีห์ เนื้อผง ที่ระลึกงานสมโภช 175 ปี วัดบวรนิเวศวิหาร

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ม.ค. 2012, 14:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระคู่บวร ณ พระอุโบสถ


:b42: ไหว้พระคู่บวร ณ พระอุโบสถ

พระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โดย สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ วังหน้าในรัชกาลที่ 3 ทรงสถาปนาขึ้นใหม่ พระอุโบสถเมื่อแรกสร้างเป็นอาคารจตุรมุข ต่อมาได้รื้อมุขหลังออก จึงปรากฏเป็นอาคารตรีมุข มีลักษณะเป็นอาคาร 2 หลังต่อกัน มีหน้าบันรวม 3 ด้าน ประดับด้วยปูนปั้นลายดอกพุดตานใบเทศ ตรงกลางเป็นตราพระมหามงกุฎและพระขรรค์ปูนปั้นลงรักปิดทอง ประดิษฐานเหนือพานแว่นฟ้า ซึ่งเป็นพระราชลัญจกรประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เป็นเครื่องหมายว่าทรงครองวัดบวรนิเวศวิหารเมื่อครั้งทรงพระผนวช

พระสุวรรณเขต หรือที่เรียกว่า “หลวงพ่อโต” (องค์หลัง) เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 9 ศอก 21 นิ้ว สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพได้อัญเชิญจากวัดสระตะพาน จังหวัดเพชรบุรี มาประดิษฐานเป็นพระประธานองค์แรกของพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร

พระพุทธชินสีห์ (องค์หน้า) เป็นพระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่งในหัวเมืองฝ่ายเหนือ ตามตำนานเล่าว่า พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก เจ้าเมืองนครเชียงแสน ทรงหล่อขึ้นพร้อมกับ พระพุทธชินราช และพระศรีศาสดา เมื่อประมาณปี พ.ศ.1500 พระพุทธชินสีห์เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 5 ศอกคืบ 7 นิ้ว สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ โปรดให้อัญเชิญมาประดิษฐานในมุขหลังพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร ครั้นในปี พ.ศ.2380 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะยังทรงพระผนวชอยู่และทรงครองวัดบวรนิเวศวิหาร โปรดให้อัญเชิญเข้าประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ ดังปรากฏทุกวันนี้

อ่านเพิ่มเติมจาก...พระพุทธชินสีห์และพระโต
พระประธานในพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=19305

รูปภาพ
พระไพรีพินาถ ณ พระเจดีย์


:b42: ขอพรพระบรมสารีริกธาตุ บูชาพระไพรีพินาศ ณ พระเจดีย์

พระเจดีย์ วัดบวรนิเวศวิหาร ก่อพระฤกษ์สร้างขึ้นเมื่อเดือน 10 ขึ้น 11 ค่ำ ปีเถาะ ตรีศก จ.ศ.1193 ตรงกับวันที่ 17 กันยายน พ.ศ.2374 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 และสร้างเสร็จในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงครองวัดบวรนิเวศวิหาร องค์พระเจดีย์มีสัณฐานกลมขนาดใหญ่ มีทักษิณ 2 ชั้นเป็นสี่เหลี่ยม ภายในคูหาพระเจดีย์ประดิษฐานพระเจดีย์กาไหล่ทอง บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2386 ในรัชกาลที่ 3 ที่ฐานพระเจดีย์กาไหล่ทอง เป็นแท่นศิลาสลักภาพพุทธประวัติ ปางประสูติ ตรัสรู้ แสดงธรรมจักร และปรินิพพาน ด้านละปาง มีอักษรจารึก พระวาจา พระอุทาน และพระพุทธวจนะไว้เหนือแผ่นภาพสลักนั้นด้วย และมีพระเจดีย์ประดิษฐานโดยรอบพระเจดีย์กาไหล่ทองอีก 4 องค์ คือ ด้านตะวันตกเป็นพระไพรีพินาศเจดีย์ ด้านใต้เป็นพระเจดีย์บรมราชานุสรณ์พระชนมพรรษา 5 รอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ด้านตะวันออกเป็นพระเจดีย์ไม้ปิดทอง ด้านตะวันตกเป็นพระเจดีย์โลหะปิดทอง

พระไพรีพินาศ ประดิษฐาน ณ เก๋งบนทักษิณชั้น 2 ของพระเจดีย์ วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นพระพุทธรูปศิลา หน้าตักกว้าง 33 เซนติเมตร ความสูงถึงปลายรัศมี 53 เซนติเมตร มีผู้นำมาถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เมื่อครั้งยังทรงพระผนวช และทรงครองวัดบวรนิเวศวิหาร ในราวปี พ.ศ.2391 เมื่อทรงได้รับถวายพระพุทธรูปองค์นี้แล้ว ปรากฏว่า อริราชศัตรูที่คิดปองร้ายพระองค์ มีอันพ่ายแพ้พินาศไป พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้ถวายพระนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระไพรีพินาศ”

อ่านเพิ่มเติมจาก...เหตุใดจึงชื่อ “พระไพรีพินาศ” ?
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=44199

รูปภาพ
พระศรีศาสดา ณ วิหารพระศาสดา


:b42: อภิวาทพระศรีศาสดา ณ พระวิหารพระศาสดา

พระวิหารพระศาสดา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระศรีศาสดา ซึ่งโปรดให้อัญเชิญจากวัดประดู่ฉิมพลีมาประดิษฐานไว้คู่กับพระพุทธชินสีห์ที่วัดนี้ แต่การก่อสร้างยังมิทันแล้วเสร็จก็สิ้นรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงโปรดให้สร้างต่อจนเสร็จสมบูรณ์ พระวิหารพระศาสดาจึงเป็นสถาปัตยกรรมตามพระราชนิยมในรัชกาลที่ 5 ภายในพระวิหารพระศาสดาประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ 2 องค์ คือ พระศรีศาสดาและพระพุทธไสยา (พระพุทธไสยาสน์)

พระศรีศาสดา เป็นพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย สมัยสุโขทัย ขนาดหน้าตักกว้าง 4 ศอก 1 คืบ 8 นิ้ว สร้างขึ้นในคราวเดียวกับ พระพุทธชินราชและพระพุทธชินสีห์ เดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก ต่อมาเจ้าอาวาสวัดบางอ้อยช้าง จังหวัดนนทบุรี ให้อัญเชิญจากเมืองพิษณุโลกมาไว้ที่วัดบางอ้อยช้าง เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัด บุนนาค) ทราบเรื่อง จึงให้อัญเชิญมาไว้ที่วัดประดู่ฉิมพลี ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้คู่กับพระพุทธชินสีห์ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร แต่ยังมิได้สร้างสถานที่ประดิษฐาน จึงโปรดให้อัญเชิญไปประดิษฐานยังมุขหน้าพระอุโบสถ วัดสุทัศนเทพวราราม ก่อน ครั้นสร้างพระวิหารพระศาสดาจวนแล้วเสร็จจึงโปรดให้อัญเชิญมาประดิษฐานเมื่อปี พ.ศ.2406

พระพุทธไสยา (พระพุทธไสยาสน์) เป็นพระพุทธรูปสำริดลงรักปิดทองปางไสยาสน์ สมัยสุโขทัย มีความยาวตั้งแต่พระบาทถึงพระจุฬา 6 ศอก 1 คืบ 5 นิ้ว สร้างขึ้นราวปี พ.ศ.1800-1893 เดิมประดิษฐาน ณ วัดพระพายหลวง จังหวัดสุโขทัย ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เมื่อครั้งยังทรงพระผนวชอยู่ ได้เสด็จประพาสเมืองสุโขทัย เมื่อปี พ.ศ.2376 ทอดพระเนตรว่ามีพุทธลักษณะงดงาม จึงโปรดให้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่มุขหลังของพระอุโบสถ เมื่อปี พ.ศ.2390 ครั้นเมื่อสร้างพระวิหารพระศาสดาแล้วเสร็จ จึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่พระวิหารพระศาสดา ห้องทิศตะวันตก

รูปภาพ
พระพุทธรูปคู่พระบารมีฯ ณ พระวิหารเก๋ง


:b42: วันทาพระพุทธรูปคู่พระบารมีฯ ณ พระวิหารเก๋ง

พระวิหารเก๋ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดให้สร้างขึ้นสำหรับเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธรูปฉลองพระองค์ผู้ทรงครองวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นอาคารขนาดเล็กศิลปะผสมไทยจีน ผนังภายในพระวิหารเก๋งมีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องสามก๊ก ฝีมือช่างสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปฉลองพระองค์ผู้ทรงครองวัดบวรนิเวศวิหาร คือ พระพุทธวชิรญาณ, พระพุทธปัญญาอัคคะ, พระพุทธมนุสสนาค และพระพุทธปฏิมาทีฆายุมหมงคล (หลวงพ่อดำ)

พระพุทธวชิรญาณ พระพุทธรูปทรงเครื่องอย่างจักรพรรดิราชปางห้ามสมุทร ประดิษฐานตรงกลางหันพระพักตร์ไปทิศใต้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างเป็น พระพุทธรูปฉลองพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 อัญเชิญมาประดิษฐานเมื่อปี พ.ศ.2428

พระพุทธปัญญาอัคคะ พระพุทธรูปฉลองพระองค์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ (พระองค์เจ้าฤกษ์ ปญฺญาอคฺโค) ประดิษฐานทางด้านทิศตะวันออก หล่อและประดิษฐานพร้อมกับพระพุทธวชิรญาณ เมื่อปี พ.ศ.2428 เป็นพระพุทธรูปยืนปางห้ามสมุทร ครองจีวรคลุมสองพระอังสา เบื้องล่างบรรจุพระอังคารสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์

พระพุทธมนุสสนาค พระพุทธรูปฉลองพระองค์และบรรจุพระอังคารของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ มนุสฺสนาโค) ประดิษฐานทางด้านทิศตะวันตก เป็นพระพุทธรูปยืนครองจีวรคลุมสองพระอังสา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงสร้างและอัญเชิญมาประดิษฐานเมื่อปี พ.ศ.2473

พระพุทธปฏิมาทีฆายุมหมงคล หรือ “หลวงพ่อดำ” สร้างขึ้นในวโรกาสงานฉลองพระชนมายุ 80 พรรษา สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (หม่อมราชวงศ์ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต) เมื่อปี พ.ศ.2495 เป็น พระพุทธรูปฉลองพระองค์และบรรจุพระอังคารของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (หม่อมราชวงศ์ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต) ประดิษฐานที่มุขด้านทิศตะวันออกของพระวิหารเก๋ง

รูปภาพ
พระพุทธรูปศิลา ณ โพธิฆระ


:b42: บูชาพระพุทธรูปศิลา ณ โพธิฆระ

โพธิฆระ เป็นฐานต้นพระศรีมหาโพธิ ซึ่งมีทับเกษตรล้อมรอบ การสร้างโพธิฆระสำหรับต้นพระศรีมหาโพธินี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริขึ้น โดยทรงได้แบบอย่างมาจากลังกา แต่เดิมในบริเวณโพธิฆระนี้เป็นที่ตั้งคณะลังกา ที่พักของสมณทูตชาวลังกาที่เข้ามาสืบข่าวพระศาสนาตั้งแต่ในรัชกาลที่ 3 ต่อมาโปรดให้รื้อคณะลังกาเพื่อสร้างพระวิหารพระศาสดา ต้นพระศรีมหาโพธินี้เป็นบริโภคเจดีย์ที่เกี่ยวเนื่องกับสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระศรีมหาโพธิต้นนี้ได้พันธุ์มาจากพุทธคยา ประเทศอินเดีย สังเวชนียสถานที่ตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เมล็ดพันธุ์แล้วทรงเพาะเป็นต้นขึ้น พระราชทานมาปลูกที่วัดบวรนิเวศวิหาร 1 ต้น พระศรีมหาโพธินี้เป็นพระศรีมหาโพธิรุ่นแรกในประเทศไทยที่ได้พันธุ์มาจากต้นพระศรีมหาโพธิที่พุทธคยา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงปลูก

ต่อมาโพธิฆระได้ทรุดโทรมไปตามกาลเวลาจนที่สุดได้ถูกรื้อลง คงเหลือแต่ฐานต้นพระศรีมหาโพธิ ถึงปี พ.ศ.2522 สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) จึงให้ก่อสร้างโพธิฆระขึ้นใหม่ตามรูปลักษณะเดิมจากภาพถ่ายปี พ.ศ.2525

หลังจากสร้างโพธิฆระเสร็จประมาณ 1 ปี ต้นพระศรีมหาโพธิ ซึ่งมีอายุราว 100 ปี ได้ตายลงตามอายุขัยของต้นไม้ และเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2525 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินมาทรงปลูกหน่อกล้าโพธิซึ่งเกิดใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ ณ โพธิฆระนี้แทนต้นเดิมที่ตายลง

พระพุทธรูปศิลาแลง ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยใด เดิมแตกหักเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยกระจัดกระจายอยู่ในที่ต่างๆ มีผู้เก็บมาถวายสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) ทีละชิ้น ต่อมาจึงโปรดให้ประกอบกันเข้า ก็ปรากฏเป็นองค์พระพุทธรูปสมบูรณ์และงดงาม จึงโปรดให้สร้างซุ้มที่ประดิษฐานไว้ ณ โพธิฆระแห่งนี้

รูปภาพ
พระพุทธรูปปางลีลา ณ ศาลาการเปรียญ


:b42: ไหว้พระพุทธรูปปางลีลา ณ ศาลาการเปรียญ

ศาลาการเปรียญ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระเจดีย์ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางลีลา สมัยสุโขทัย 3 องค์ ข้างหน้ามีธรรมาสน์สำหรับแสดงธรรม ฐานก่ออิฐถือปูน ตัวธรรมาสน์เป็นไม้สลักปิดทอง แต่เดิมศาลาการเปรียญนี้ใช้เป็นที่แสดงธรรมเทศนา

พระพุทธรูปปางลีลา สมัยสุโขทัย องค์กลางมีขนาดใหญ่กว่ายกพระหัตถ์ซ้าย องค์ขนาบข้างมีขนาดย่อมลงมา องค์ทางขวายกพระหัตถ์ซ้าย องค์ทางซ้ายยกพระหัตถ์ขวา แปลกกว่าที่อื่น ซึ่งสร้างเข้าชุดกันทั้ง 3 องค์

รูปภาพ
รอยพระพุทธบาทโบราณ ณ ศาลาพระพุทธบาท


:b42: สักการะรอยพระพุทธบาทโบราณ ณ ศาลาพระพุทธบาท

รอยพระพุทธบาท หรือรอยพระพุทธยุคลบาท สมัยสุโขทัย ประดิษฐานภายใน ศาลาพระพุทธบาท ด้านติดกำแพงวัดทางด้านทิศตะวันตกของพระอุโบสถ รอยพระพุทธบาทนี้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ วังหน้าในรัชกาลที่ 3 ทรงได้มาจากจังหวัดชัยนาท เดิมประดิษฐานไว้ที่วัดบวรสถานสุทธาวาสในพระราชวังบวรสถานมงคล ต่อมาในปี พ.ศ.2452 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดให้ย้ายมาที่วัดบวรนิเวศวิหาร สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส จึงโปรดให้มีการบูรณะและต่อมุขศาลานี้เป็นที่ประดิษฐานภายในเจาะผนังเป็นคูหาประดิษฐานพระพุทธรูปปางลีลา ตรงกลางประดิษฐานพระพุทธรูปนาคปรกศิลา สมัยลพบุรี ไว้สองข้าง ข้างละ 1 องค์ และพระพุทธรูปประจำวันเกิด

รอยพระพุทธบาทนี้สลักอยู่ตรงกลางแผ่นหินชนวนขนาดใหญ่ ความยาว 3.60 เมตร ความกว้าง 2.17 เมตร ความหนา 20 เซนติเมตร รอบรอยพระพุทธบาทสลักภาพพระอสีติมหาสาวก มีตัวอักษรบอกนามของพระมหาเถระ (พระอสีติมหาสาวก) กำกับไว้ รอยพระพุทธบาทคู่นี้อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม กลางฝ่าพระบาทแต่ละข้างมีรูปธรรมจักรขนาดใหญ่ ภายในธรรมจักรมีรูปมงคล 108 ที่ด้านข้างแผ่นหินด้านปลายพระพุทธบาท มีคำจารึกภาษามคธ อักษรขอม 7 บรรทัด คำจารึกมีใจความว่า

“ครั้งแผ่นดินพระมหาธรรมราชาที่ 3 ไสยลือไทย พระวิทยาวงศ์มหาเถร ได้นำแผ่นหินมายังเมืองสุโขทัย ครั้นมาในแผ่นดินพระมหาธรรมราชาที่ 4 บรมปาลมหาธรรมราชา พระสิริสุเมธังกรสังฆนายก ผู้เป็นศิษย์ของพระสิริสุเมธังกรสังฆราช ได้สลักรอยพระพุทธบาททั้งคู่ลงบนแผ่นหินนั้น ตามแบบรอยพรุพุทธบาทบนยอดเขาสมันตกูฏ ในลังกาทวีป”

รูปภาพ
พระพุทธรูปโบราณที่ซุ้มปรางค์ (ด้านซ้าย) ข้างพระอุโบสถ


:b42: ไหว้พระพุทธรูปโบราณที่ซุ้มปรางค์ (ด้านซ้าย) ข้างพระอุโบสถ

ซุ้มปรางค์พระพุทธรูป ตั้งอยู่ด้านข้างพระอุโบสถ นอกกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก เดิมเป็น หอระฆังน้อย ดัดแปลงเป็นซุ้มพระพุทธรูปในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระไวโรจนะ พระพุทธรูปศิลาสมัยศรีวิชัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับถวายมาจากพระเจดีย์บุโรพุทโธ ในเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อคราวเสด็จประพาสเกาะชวา ในปี พ.ศ.2439 ประดิษฐานอยู่ใน ซุ้มปรางค์พระพุทธรูป ด้านทิศตะวันตก (ด้านซ้าย)

รูปภาพ
พระพุทธรูปโบราณที่ซุ้มปรางค์ (ด้านขวา) ข้างพระอุโบสถ


:b42: ไหว้พระพุทธรูปโบราณที่ซุ้มปรางค์ (ด้านขวา) ข้างพระอุโบสถ

พระพุทธรูปศิลาประทับยืน สมัยทวารวดี สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส อัญเชิญมาจากวัดตองปุ เมืองลพบุรี ประดิษฐานอยู่ใน ซุ้มปรางค์พระพุทธรูป ด้านทิศตะวันออก (ด้านขวา)


โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 11 มกราคม 2555 13:58 น.

:b45: วัดประจำรัชกาลที่ ๖ : วัดบวรนิเวศวิหาร
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=19342

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ม.ค. 2012, 23:01 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 31 พ.ค. 2009, 02:41
โพสต์: 5636

แนวปฏิบัติ: พอง ยุบ
ชื่อเล่น: เจ
อายุ: 0
ที่อยู่: USA

 ข้อมูลส่วนตัว www


อนุโมทนา สาธุ :b8:

สวัสดีปีใหม่ค่ะสาวน้อย :b12:

.....................................................
"มิควรหวังร่มเงาจากก้อนเมฆ"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ก.ค. 2013, 12:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


วัดบวรนิเวศวิหาร มีสิ่งมงคลมากมายควรค่าแก่การสักการะอย่างยิ่งเลยค่ะ
เวลาไปนั่งสมาธิในพระอุโบสถ แม้เพียงเวลาสั้นๆ ก็ทำให้สงบจิตสงบใจ
มีโอกาสเมื่อไหร่ จะก็ไปวัดบวรนิเวศวิหาร กราบ กราบ กราบ :b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร