วันเวลาปัจจุบัน 18 เม.ย. 2024, 22:38  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 12 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 ธ.ค. 2011, 15:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

:b42: :b42: :b42:

แสดงธรรม โดย
พระราชนิโรธรังสี (เทสก์ เทสรังสี)
วัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย



พระพุทธเจ้าได้อุบัติเกิดขึ้นมาในโลก เป็นศาสดาเอกด้วยการตรัสรู้ชอบเอง
ไม่มีใครเป็นครูอาจารย์สอน แล้วก็นำเอาธรรมที่พระองค์ตรัสรู้นั้นมาสอนแก่มนุษย์ทั้งปวง
ด้วยธรรมที่สอนนั้น สอนมีเหตุมีผล มิใช่ไม่มีเหตุมีผล เป็นของอัศจรรย์
สมควรที่ผู้ฟังทั้งหลายตรึกตรองแล้วจะเข้าใจได้
แลไม่ได้บังคับให้ผู้ใดมานับถือ

แต่เมื่อผู้ฟังทั้งหลายมาฟัง ตรึกตรองตามเหตุผลแล้ว
เห็นดี เห็นชอบ มีเหตุมีผลแล้วเลื่อมใสศรัทธา จึงเข้ามานับถือด้วยตนเอง
ซึ่งผิดจากศาสนาอื่นและลัทธิอื่น
บางลัทธิ บางศาสนาอื่นซึ่งเขาห้ามไม่ให้วิจารณ์ศาสนาของเขา
ส่วนพุทธศาสนาท้าให้วิจารณ์ได้เต็มที่เลย
วิจารณ์เห็นเหตุเห็นผลแน่ชัดด้วยตนเองแล้ว จึงนับถือด้วยความเป็นอิสระ
แลเมื่อยอมรับนับถือแล้ว ความคิดความเห็น และการปฏิบัติ
ก็จะเป็นไปในแนวเดียวกันทั้งหมด โดยที่มิได้บังคับ
หรือนัดแนะกันไว้ก่อนเลย หากแต่เป็นไปตามเหตุผล ดังนี้คือ


:b41: ขั้นที่ ๑ เชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม

"กัมมัสสกากัมมทายาทา กัมมโยนี กัมมพันธู กัมมปฏิสรณา
ยัง กัมมัง กริสสันติกัลยาณัง วา ปาปกัง วา ตัสส ทายาทา ภวิสสันติ"

ทั้ง ๖ อย่างนี้เชื่อมั่นแน่วแน่อยู่ในใจของตนทุกๆ คน ตลอดชีวิต
กัมมัสสกา คนเราเกิดขึ้นมาพอรู้ภาวะเดียงสาแล้ว
ก็ตั้งหน้าตั้งตากระทำแต่กรรมเรื่อยไป ไม่ด้วยกาย ก็ด้วยวาจา หรือด้วยใจ
จะอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ เรียกว่า กัมมัสสกา ๑

การกระทำทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีผลทั้งนั้น
ไม่ดีก็ชั่ว ไม่เป็นบาปก็เป็นบุญ จะหลีกเลี่ยงไม่ได้
ฉะนั้น กาย วาจา แลใจ เกิดมาได้กระทำกรรมนั้นๆ ไว้
ย่อมได้รับผลของกรรมนั้นๆ สืบไป เรียกว่า กัมมทายาทา ๑

ผลของกรรมดีย่อมนำเอากาย วาจา แลจิตอันนี้
ให้ไปเกิดเป็นสุขในโลกนี้ และโลกหน้า
ผลของกรรมชั่ว ย่อมนำเอากาย วาจา จิตอันนี้
ให้ไปเกิดเป็นทุกข์ในโลกนี้ และโลกหน้า เรียกว่า กัมมโยนี ๑

กรรมที่กาย วาจา แลใจ ได้กระทำไว้ในภพก่อน
บันดาลให้ในภพที่ตนเกิดแล้วให้เป็นไปต่างๆ นานา เรียกว่า กัมมพันธู ๑

คนเราเกิดมาเพราะกรรม ดังที่ได้อธิบายมาแล้ว
แล้วจะอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ ต้องมีการกระทำทั้งนั้น
ไม่ทำดี ก็ทำชั่ว เพื่อการเลี้ยงชีพของตน
เราต้องอาศัยกรรมนั้นๆ เป็นเครื่องอยู่อาศัย
ฉะนั้นกรรมนั้นจึงเรียกว่า กัมมปฏิสรณา ๑


ฉะนั้น บุคคลเกิดมา จึงควรตัดสินใจของตนเองว่า
เราจะทำกรรมดี หรือกรรมชั่ว
กรรมดีแลกรรมชั่วนั้นไม่ใช่เป็นของคนอื่นเป็นของเราเอง
กรรมนี้เท่านั้นจะจำแนกแจกมนุษย์แลสัตว์ให้เป็นต่างๆนานาได้
นอกจากกรรมแล้ว ใคร แลสิ่งใดในโลกนี้ จะมาจำแนกไม่ได้เลย
จึงเรียกว่า กัลยาณัง วา ปาปกังวา ตัสสะ ทายาทา ภวิสสันติ ๑

ทั้ง ๖ อย่างนี้ ย่อมเชื่อแนบแน่นอยู่ในใจของผู้นับถือพระพุทธศาสนาจนตลอดชีวิต
มนุษย์คนเราเกิดมาเพราะกรรมยังไม่สิ้นสุด
กรรมเก่าที่นำมาให้เกิดนั่นแหละ พาให้กระทำกรรมใหม่อีก
กรรมใหม่นั่นแหละ เป็นเหตุให้นำไปเกิดชาติหน้า เป็นกรรมเก่าอีก
อธิบายว่า กรรมใหม่ในชาตินี้เป็นเหตุให้นำไปเกิดเป็นกรรมในชาติหน้าต่อไป
อนึ่ง กรรมทั้งหมดเกิดจาก กาย วาจา แลใจ สายเดียวกันทั้งสิ้น
จึงได้ชื่อว่า กรรมเป็นเผ่าพันธุ์ของกรรมด้วยกันแลกัน จึงเรียกว่า กัมมพันธู

ผู้เชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม ดังที่อธิบายมาแล้ว
ได้ชื่อว่านับถือพระพุทธศาสนา หรือเข้าถึงพระไตรสรณาคมน์เป็นขั้นแรก



:b41: ขั้นที่ ๒ จะต้องมีศีล ๕ ประจำอยู่ในตัวเป็นนิจ

ศีล ๕ นี้เมื่อเชื่อกรรม เชื่อผลของกรรมแล้ว รักษาง่ายนิดเดียว
เพราะศีล ๕ พระพุทธเจ้าพระองค์ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว
เมื่องดเว้นการกระทำความชั่วแล้ว ก็เป็นอันว่ารักษาศีลเท่านั้นเอง

บาปกรรม ความชั่วทั้งหมดที่คนเราหรือสัตว์ทั้งหลายที่กระทำกันอยู่ในโลก
ท่านประมวลไว้รวมกันอยู่ มี ๕ ข้อเท่านั้นเอง
ใครจะทำอะไร หรือที่ไหน ก็มารวมลง ๕ ข้อนี้เท่านั้น
จิตเป็นตัวการของสิ่งทั้งปวงหมด ท่านจึงให้สำรวมจิต

- จิตคิดงดเว้นที่จะฆ่าสัตว์ตัวเป็นให้ตาย ๑
- จิตคิดงดเว้นที่จะลักทรัพย์ของเขาที่เจ้าของหวงแหนมาเป็นกรรมสิทธิ์ของตน ๑
- จิตคิดงดเว้นที่จะไม่ล่วงละเมิดผิดลูกเมียของคนอื่น ๑
- จิตคิดงดเว้นที่จะไม่กล่าวเท็จ คำไม่จริง คำหยาบคาย หรือวาจาส่อเสียดผู้อื่น ๑
- จิตคิดที่จะไม่ดื่มสุราเมรัย น้ำดองของมึนเมา ๑


ทั้ง ๕ ข้อนี้ ถ้าคนใดรักษาได้ ก็ได้ชื่อว่ารักษาศีล ๕ ได้
อันเป็นเหตุนำความสุขมาให้แก่หมู่มวลมนุษย์ทั้งปวง
ถ้างดเว้นไม่ได้ ก็ได้ชื่อว่าคนนั้นไม่มีศีล

อันจะเป็นเหตุให้นำความทุกข์เดือดร้อนมาให้แก่มวลมนุษย์ทั้งหลาย
เพราะฉะนั้น ปราชญ์ทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น
ท่านจึงงดเว้นบาปกรรม ความชั่วทั้งปวงเหล่านี้
แล้วแนะนำสั่งสอนมวลมนุษย์ทั้งปวงให้งดเว้นทำตามด้วย

ผู้เชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม ดังได้อธิบายมาแล้ว
แลมีศีล ๕ เป็นเครื่องรักษา กาย วาจา แลใจ
ผู้นั้นได้ชื่อว่า เข้าถึงพระพุทธศาสนาเป็นที่สอง
แล้วจึงตั้งใจชำระจิต ชำระใจของตนด้วยการทำสมาธิต่อไป


ถ้าไม่เข้าถึงหลักพระพุทธศาสนาแล้ว จะทำสมาธิ ชำระจิตของตนได้อย่างไร
แม้แต่ความเห็นของตนก็ยังไม่ตรงต่อคำสอนของพระพุทธศาสนา
เช่น เห็นว่ากรรมที่ตนกระทำแล้ว คนอื่น แลสิ่งอื่น เอาไปถ่ายทอดให้คนอื่น แลสิ่งอื่นได้
หรือกรรมที่ตนกระทำไว้แล้ว ให้คนอื่นเอาไปใช้ให้หมดสิ้นไปได้ อย่างนี้เป็นต้น

ศีล บางคนที่ว่าต้องรักษาที่กาย ที่วาจา ไม่ต้องไปรักษาที่ใจ ใจเป็นเรื่องของสมาธิต่างหาก
กาย วาจา มันจะเป็นอะไร มันจะทำอะไร มันก็ไม่กระเทือนถึงสมาธิ
ตกลงว่า กาย กับ ใจ แยกกันเป็นคนละอันตรงนี้
ผู้เขียนไม่เข้าใจจริงๆ เรื่องเหล่านี้พิจารณาเท่าไรๆ ก็ไม่เข้าใจจริงๆ
ขอแสดงความโง่ออกมาสักนิดเถอะ
สมมุติว่าคนจะไปฆ่าเขา หรือขโมยของเขา
จำเป็นจิตจะต้องเกิดอกุศลบาปกรรมขึ้นมา
แล้วจะต้องไปซุ่มแอบ เพื่อไม่ให้เขาเห็น เมื่อได้โอกาสแล้วจะต้องลงมือฆ่า
หรือขโมยของเขาตามเจตนาของตน
แต่เบื้องต้นการที่จิตคิดจะฆ่า หรือขโมยของเขา แล้วไปซุ่มอยู่นั้น
ถึงแม้ศีลจะไม่ขาด แต่จิตนั้นเป็นอกุศลพร้อมแล้วทุกประการที่จะทำบาปมิใช่หรือ
ถ้าจิตอันนั้นมีสติรักษาสำรวมได้ไม่ให้กระทำ เลิกซุ่มเสีย ศีลก็จะไม่ขาด
ตกลงว่าใจเป็นตัวการใจเป็นต้นเหตุที่จะให้ศีลขาดและไม่ขาด
จะว่ารักษาศีลไม่ต้องรักษาใจได้อย่างไร


ท่านว่า รักษาศีล คือ รักษาที่กาย วาจา ใจ ๓ อย่างนี้มิใช่หรือในทางธรรม
พระพุทธเจ้าก็เทศนาว่า "ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นใหญ่ มีใจถึงก่อน สำเร็จแล้วด้วยใจ"
จะพูด จะคุย ก็เกิดจากใจทั้งนั้น
พูดถึงธรรมแล้ว ที่จะไม่พูดถึงเรื่องใจแล้วไม่มี

คำว่า "ธรรมทั้งหลายมีใจถึงก่อน" นั้นชัดเจนเลยทีเดียว
ที่ว่า "ธรรมทั้งหลาย" นั้น หมายถึงการกระทำทุกอย่าง
ทำดีเรียกว่า กุศลธรรม ทำชั่วเรียกว่า อกุศลธรรม
ทำไม่ดี ไม่ชั่ว เรียกว่า อพยากฤตธรรม
เรียกย่อๆ เรียกว่า ทำบุญทำบาป หรือไม่เป็นบุญ ไม่เป็นบาป
(ข้อสุดท้ายนี้ ไม่มีใครเลยในโลกนี้ที่จะไม่ทำบาปไม่อย่างใดอย่างหนึ่ง)


เมื่อผู้เขียนพิจารณาถึงเรื่องเหตุ ผล ในธรรมทั้งหลายแล้ว
ที่ว่า ศีล ให้รักษาที่กายแลวาจา สมาธิให้รักษาที่ใจ ไม่ปรากฎเห็นมี ณที่ใด
หากผู้เขียนจำตำราที่เขียนไว้ไม่เข้าใจ หรือตีความหมายของท่านไม่ถูก
เพราะความโฉดเขลาเบาปัญญาของตนเองก็สุดวิสัย
พระพุทธองค์ยังทรงเทศนาให้พระผู้กระสันอยากสึกว่า
พระวินัยในศาสนานี้มีมากนัก ข้าพระองค์ไม่สามารถจะรักษาให้บริบูรณ์ได้
ข้าพระองค์จะสึกละ
พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า
"อย่าสึกเลย ถ้าพระวินัยมันมากนัก เธอจงรักษาเอาแต่ใจอันเดียวเถิด"

นี่แหละ พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนให้เอาแต่ใจอันเดียวซ้ำเป็นไร
นี้เรารักษาศีล จะทิ้งใจเสียแล้ว แล้วจะรักษาศีลได้อย่างไร
ผู้เขียนมืดแปดด้านเลยจริงๆ

ฆราวาสผู้มีศรัทธาแก่กล้า จะรักษาศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ก็ได้
แต่ศีล ๑๐ นั้น รักษาตลอดเวลาไม่ได้
ถ้าเรามีศรัทธาจะรักษาเป็นครั้งเป็นคราวนั้นได้
ส่วนศีล ๒๒๗ ก็เช่นเดียวกัน จะรักษาข้อใดข้อหนึ่งก็ได้
พระพุทธเจ้าพระองค์ไม่ห้าม แต่อย่าไปสมาทานก็แล้วกัน

อย่างครั้งพระองค์เสวยพระชาติเป็นโชติกะบุรุษ
เลี้ยงบิดามารดาตาบอดทั้งสองข้างทั้งสองคนด้วยการตีหม้อ
เอาไปแลกอาหารมาเลี้ยงบิดา มารดา ตาบอด
อยู่มาวันหนึ่ง พระพุทธเจ้าชื่อโกนาคมโน (ขอโทษถ้าจำไม่ผิด)
เสนาสนะของสงฆ์ไม่มีเครื่องมุงพระองค์ใช้ให้พระไปขอเครื่องมุงกับโชติกะบุรุษ
โชติกะบุรุษรื้อหลังคาบ้านถวายพระสงฆ์ทั้งหมด
ในพรรษานั้น โชติกะบุรุษมุงด้วยอากาศตลอดพรรษา ฝนไม่รั่วเลย

วันหนึ่งพระเจ้าแผ่นดินนิมนต์พระพุทธเจ้าชื่อ โกนาคมโน
เข้าไปเสวยในพระราชวัง พอเสร็จแล้วจึงได้อาราธนา
ขอนิมนต์ให้จำพรรษาในสวนพระราชอุทยาน
พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า
"ขอถวายพระพร อาตมาภาพได้รับนิมนต์ของโชติกะบุรุษก่อนแล้ว"
พระเจ้าแผ่นดินจึงตรัสว่า "ข้าพระองค์เป็นใหญ่กว่าคนทั้งหลายในแว่นแคว้นอันนี้ มิใช่หรือ
เมื่อข้าพระองค์นิมนต์ ทำไมจึงไม่รับ โชติกะบุรุษมีดีอย่างไร"

พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงเล่าพฤติการณ์ของโชติกะบุรุษถวายพระเจ้าแผ่นดิน
ตั้งแต่ต้นจนอวสาน เมื่อพระองค์ได้สดับแล้ว ก็เกิดศรัทธาเลื่อมใสในโชติกะบุรุษเป็นอันมาก
จึงให้ราชบุรุษเอาเกวียนบรรทุกสิ่งของต่างๆ มีข้าวสาร ถั่ว งา เนยใส เนยข้น เปลียงมันเป็นต้น
ไปให้แก่โชติกะบุรุษ เมื่อโชติกะบุรุษเห็น จึงถามว่า นั้นใครให้เอามา
ราชบุรุษจึงบอกว่า พระเจ้าแผ่นดินรับสั่งให้เอามาให้ท่าน
โชติกะบุรุษจึงบอกว่า ดีแล้ว พระเจ้าแผ่นดินพระองค์มีภาระมากเลี้ยงผู้คนเป็นจำนวนมาก
เราหาเลี้ยงกันสามคนไม่ลำบากอะไร ช่วยกราบบังคมทูลว่า
ของทั้งหมดเราขอถวายคืนให้พระเจ้าแผ่นดินไว้ตามเดิมก็แล้วกัน

โชติกะบุรุษเป็นผู้มีศรัทธาแก่กล้า เพียงแค่ขุดดินมาปั้นหม้อก็ไม่ทำ
อุตส่าห์ไปหาขวายหนู ขวายตุ่น และตลิ่งที่มันพังเอามาปั้นหม้อ
ส่วนสิกขาบทที่หยาบกว่านั้น ทำไมผู้รักษาศีลจะละเว้นไม่ได้


ศีล ๕ เป็นเสมือนท่านบัญญัติตราไว้สำหรับโลกนี้
ผู้จะทำดีต้องเว้นข้อห้าม ๕ ประการนี้
ผู้จะประพฤติความชั่วก็ทำตาม ๕ ข้อนี้เป็นหลักฐาน จะพ้นจาก ๕ ข้อนี้แล้วไม่มี

ผู้จะถึงพระไตรสรณาคมน์ ต้องถือหลัก ๕ ประการนี้ให้มั่นคง คือ
ไม่ประมาทพระพุทธเจ้า ๑
ไม่ประมาทพระธรรม ๑
ไม่ประมาทพระสงฆ์ ๑
ไม่ถือมงคลตื่นข่าว คือเชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม
เชื่อว่าเราทำดีต้องได้ดี เราทำชั่วต้องได้ชั่ว
ไม่เชื่อว่าของภายนอกจะมาป้องกันภัยพิบัติเราได้ ๑
ไม่ทำบุญภายนอกพระพุทธศาสนา ๑


การเชื่อกรรม เชื่อผลของกรรมว่า
เราทำดีย่อมได้ดี เราทำชั่วย่อมได้ความชั่วชัดเจนในใจของตนแล้ว
ศีล ๕ ย่อมไหลมาเอง ๓ ข้อเบื้องต้น แลข้อหนึ่งเบื้องปลาย ไม่เป็นของสำคัญ

ฆราวาสต้องสมาทานศีล ๕ ศีล ๘ ถึงศีล ๑๐ แลศีล ๒๒๗
ฆราวาสก็รักษาได้เป็นข้อๆ แต่อย่าสมาทานก็แล้วกัน
เพราะศีล คือข้อห้ามไม่ให้ทำบาป
ฆราวาสก็ไม่มีข้อบังคับว่า ไม่ให้ทำบาปเท่านั้นข้อเท่านี้ข้อ

ถึงแม้พระภิกษุ แลสามเณรก็เหมือนกัน
ที่พระองค์บัญญัติไว้ฆราวาสต้องรักษาศีล ๕ ศีล ๘
สามเณรต้องรักษาศีล ๑๐ ภิกษุต้องรักษาศีล ๒๒๗ นั้น
พระองค์ทรงบัญญัติพอให้เป็นมาตรฐานเบื้องต้น
ให้เป็นเครื่องหมายว่า ฆราวาส สามเณร ภิกษุ มีชั้นภูมิต่างกันอย่างนี้ๆเท่านั้น
ถ้าเห็นว่าบาปกรรมที่ตนทำลงแล้ว จะต้องตกมาเป็นของเราเอง
แล้วงดเว้นจากบาปกรรมนั้นๆ จะมากเท่าไรยิ่งเป็นการดี
ดังที่อธิบายมาแล้ว พระพุทธองค์ก็มิได้ห้าม ทรงห้ามแต่การกระทำความชั่วอย่างเดียว


เมื่อพูดถึงความชั่ว คือบาปแล้ว
คนเกิดมาในโลกนี้เจอะเอามากเหลือเกิน
แทบจะกระดิกตัวไม่ได้เลยทีเดียว กระดิกตัวไปที่ไหนก็เจอแต่บาปทั้งนั้น

พระพุทธเจ้าท่านทรงสรุปให้พวกเราเห็นย่อๆ ไว้ดังนี้

ให้เข้าหาจิต จับจิตผู้คิด ผู้นึก ให้ได้เสียก่อน
จิตมันคิดนึกอยากจะทำบาปทางกาย
มันสั่งให้กายนี้ไปฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ของคนอื่นสั่งให้กายนี้ไปประพฤติผิดในกาม
จิตมันคิดนึกอยากจะทำบาปด้วยวาจา
มันก็สั่งวาจาให้ไปกระทำบาป ด้วยการพูดเท็จ พูดคำหยาบคายด่าคนนั้นคนนี้
พูดเพ้อเจ้อ เหลวไหลหาประโยชน์มิได้
จิตมันคิดนึกอยากจะทำความชั่วทางกาย
ด้วยการกระทำกายอันนี้ให้เป็นคนบ้า
มันก็ให้กายนี้เอาน้ำเมามากรอกใส่ปาก แล้วก็ดื่มลงไปในลำคอ
กายก็จะแสดงฤทธิ์บ้าออกมาต่างๆ นานา

ตรงกันข้าม ถ้าจิตมันละอายจากบาป กลัวบาปกรรม
เห็นโทษที่จิตคิดไปทำเช่นนั้น แล้วจิตไม่คิดนึกที่จะทำเช่นนั้นเสีย
กายแลวาจาอันนี้ก็จะเป็นศีลขึ้นมา


นี่แหละ ถ้าผู้ใดเห็นจิตอันมีอยู่ในกาย แลวาจาอันนี้แล้ว แลจับจิตอันนี้ได้แล้ว
จะเห็นบาปกรรมแลศีลธรรม ซึ่งอยู่ในโลกทั้งหมด
บาปกรรม ศีล แลธรรม ย่อมเกิดจากจิตนี้อันเดียวเท่านั้น
ถ้าจิตอันนี้ไม่มีเสียแล้ว บาปกรรม ศีล และธรรมเหล่านั้นก็ไม่มี
รักษาศีลต้องถือจิต รักษาจิตก่อน จึงจะรักษาศีลถูกตัวศีลแท้


ดังผู้เขียนเคยได้ยินพระบางรูปพูดว่า พระมีศีล ๒๒๗ ข้อ
ฆราวาสมีศีล ๕ ข้อ ฆราวาสต้องรักษาศีลให้ดีนะ ถ้าไม่ดีมันขาดเอา
ถ้าขาดข้อหนึ่งก็คงยังเหลือ ๔ ข้อ ถ้าขาด ๒ ข้อก็คงยังเหลือ ๓ ข้อ
ถ้าขาด ๓ ข้อก็คงยังเหลือ ๒ ข้อ ถ้าขาด ๔ ข้อก็คงยังเหลือข้อเดียว
ถ้าขาด ๕ ข้อก็หมดกันเลย ไม่เหมือนพระภิกษุท่านมีศีล ๒๒๗ ข้อ
ถึงท่านขาด ๙-๑๐ ข้อ ท่านก็ยังเหลืออยู่แยะ
นี่แสดงว่าท่านองค์นั้นท่านรักษาศีลไม่ได้รักษาที่ใจ
รักษาแต่กายวาจา ๒ อย่างเท่านั้น
ไม่ได้คิดว่าใจผู้คิดล่วงละเมิดในสิกขาบทนั้นๆ เป็นบาป
แล้วจึงบังคับให้กาย วาจาทำ
ก็สนุกดีเหมือนกัน เอาศีล สิกขาบทนั้นๆ มาอวดอ้างกันว่า ใครจะมีศีลมากกว่ากัน

ความจริงแล้ว พระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้นั้น
ทรงบัญญัติเข้าถึงกาย วาจา แลใจ
ที่แสดงออกมาทางกาย แลวาจานั้นส่อถึงจิต ผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง ผู้แต่ง
แล้วจึงบังคับให้กายแลวาจากระทำตามต่างหาก ดังที่อธิบายมาแล้วในข้างต้น

พระพุทธองค์ท่านทรงบัญญัติพระวินัยไว้
เพื่อให้พระภิกษุสามเณร ผู้ไม่รู้พระวินัยให้ปฏิบัติตามนั้น
นับว่าเป็นบุญแก่พวกเราอักโขแล้ว
ประพฤติสิ่งที่ไม่ดี ไม่งาม ไม่เหมาะสมแก่สมณสารูปพระองค์ห้ามไว้ไม่ให้กระทำ
เพื่อความดีของตนเองนั่นแหละ มิใช่เพื่อประโยชน์แก่คนอื่น
แลมิใช่เพื่อประโยชน์แก่พระองค์
เราหาที่พึ่งไม่ได้แล้ว พระองค์มาเป็นที่พึ่งชี้บอกทางให้
นับว่าเป็นบุญเหลือล้นแก่พวกเราแล้ว


ผู้รักษาศีลไม่เข้าถึงใจ ถึงจิตแล้ว รักษาศีลยาก
หรือรักษาศีลเป็น "โคบาลกะ" ว่า
เมื่อไรหนอจะถึงเวลามืดค่ำ จะไล่โคเข้าคอกแล้วเราจะได้พักผ่อนนอนสบาย
ไม่เข้าใจว่า เรารักษาศีลเพื่อความบริสุทธิ์สะอาดของกาย วาจา แลใจ
รักษาได้นานเท่าไร มากเท่าไร ยิ่งสะอาดมากเท่านั้น
รักษาจนตลอดชีวิตได้ยิ่งดีใหญ่ เราจะได้ละความชั่วได้ในชาตินี้ไปเสียที

คนเราไม่รู้จักศีล (คือตัวของเรา) และไม่เข้าใจถึงศีล (คือข้องดเว้น)
ข้อห้ามไม่ให้ทำความชั่ว จึงโทษพระองค์ว่า บัญญัติศีลไว้มากมาย สมาทานไม่ไหว
มีบางคนพูดว่า บวชนานเท่าไร ดูพระวินัยมากๆ
มีแต่ข้อห้าม นั่นก็เป็นอาบัติ นี่ก็เป็นอาบัติ บาปมากเข้าทุกที
สู้บวช ๓ วัน ๗ วันไม่ได้ ไม่ได้เป็นอาบัติดี
คำพูดของผู้เห็นเช่นนั้นนับว่าน่าสลดสังเวชมาก
พระพุทธศาสนาเผยแพร่เข้ามาในเมืองไทยของเรานับตั้งสองพันกว่าปีแล้ว
แสงธรรมยังไม่ส่องถึงจิตถึงใจของเขาเลยน่าสงสารจริงๆ
เหมือนกับเต่านอนเฝ้ากอบัว ไม่รู้จักกลิ่นดอกบัวเลย

เมื่อศีลเข้าถึงจิตเข้าถึงใจแล้ว
เราไม่ต้องรักษาศีล ศีลกลับมารักษาตัวเราเอง
ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน อิริยาบถใดๆ
ศีลต้องระวังสังวรอยู่ทุกอิริยาบถ ไม่ให้ละเมิดทำความชั่ว

แม้แต่จิตจะคิดวิตกว่าเราจะทำความชั่วก็รู้แล้ว
แลจะละอายต่อความชั่วนั้นๆ ทั้งที่คนทั้งหลายยังไม่ทันจะรู้ความวิตกของเรานั้นเลย
ความเกลียด โกรธพยาบาท อาฆาตทั้งหลาย มันจะมาจากไหน
เพราะหัวใจมันเต็มเปี่ยมไปด้วยความเมตตา กรุณา เข้ามาอยู่เต็มไปหมดแล้วในหัวใจ

ศีล คือ ความปกติของกาย วาจา แลใจ ถ้าใจไม่ปกติเสียแล้ว
กาย วาจา มันจะปกติไม่ได้ เพราะกาย วาจา มันอยู่ในบังคับของจิต

ดังอธิบายมาแล้วแต่เบื้องต้น
เพราะฉะนั้น ผู้ต้องการให้เข้าถึงศีลที่แท้จริง แลเข้าถึงพุทธศาสนาให้จริงจัง
พึงฝึกหัดจิตของตนให้เป็นสมาธิต่อไป

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ธ.ค. 2011, 06:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

:b41: ขั้นที่ ๓ การฝึกหัดสมาธิ

ก็ไม่พ้นไปจากฝึกหัดกายวาจาแลใจอีกนั่นแหละ
ใครจะฝึกหัดโดยวิธีใดๆ ก็แล้วแต่เถอะ
ถ้าฝึกหัดสมาธิที่ถูกในทางพระพุทธศาสนาแล้ว
จำจะต้องฝึกหัดที่กาย วาจาแลใจ นี้ด้วยกันทั้งนั้น
เพราะพุทธศาสนาสอนที่กาย วาจาแลใจนี้อย่างเดียว
ไม่ได้สอนที่อื่น ๓ อย่างนี้เป็นหลัก

จะสอนศีล สมาธิปัญญา ก็ไม่นอกเหนือไปจากหลัก ๓ อย่างนี้
ถ้ายังพูดถึงพระพุทธศาสนาอยู่ตราบใด
หรือพูดถึงการปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญาอยู่ตราบใด
พูดถึงมรรค ผล นิพพาน อยู่ตราบใด ย่อมไม่พ้นจากกาย วาจา แลใจ
ถ้ายังมีสมมุติบัญญัติอยู่ตราบใด ต้องพูดถึงกาย วาจา แลใจอยู่ตราบนั้น
ถ้ายังไม่ดับขันธ์เป็นอนุปาทิเสสนิพพานเมื่อใด จำจะต้องพูดถึงอยู่ตราบนั้น


ฝึกหัดสมาธิภาวนา นึกเอา มรณานุสติ เป็นอารมณ์
ให้นึกถึงความตายว่า เราจะต้องตายแน่แท้ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง
เพราะความตายเป็นที่สุดของชีวิตคนเรา
เมื่อตายแล้วก็ทอดทิ้งสิ่งทั้งปวงหมด
ไม่ว่าจะของรักแลหวงแหนสักปานใดต้องทอดทิ้งทั้งหมด
การบริกรรมมรณานุสติ เป็นอุบายที่สุดของอุบายทั้งปวง
จะพิจารณาลมหายใจเข้าหายใจออก ในที่สุดก็ลงความตาย
จะพิจารณาอสุภกรรมฐาน ในที่สุดก็ลงความตาย


เมื่อพิจารณาถึงความตายแล้ว มันมิอาลัยในสิ่งทั้งปวงหมดสิ้น
จะคงเหลือแต่จิตอันเดียว นั่นแหละ ได้ชื่อว่าชำระจิตแล้ว
แล้วจะมีขณะหนึ่ง จิตจะรวมเข้าเป็นสมาธิ
คือจิตจะหยุดนิ่งเฉย ไม่คิดไม่นึก อะไรทั้งหมด แต่รู้ตัวอยู่ว่าเราอยู่เฉย
จะนานเท่าไรก็ได้ ถ้าจิตนั้นมีพลังแก่กล้า

บางทีเมื่อชำระจิต ปราศจากอารมณ์ทั้งหมดแล้ว
จะยังเหลือแต่จิตดังอธิบายมาแล้ว
จิตจะรวมเข้า มีอาการวูบวาบเข้าไปแล้วจะเห็นสิ่งนั้น สิ่งนี้ หลายอย่าง
นั่นก็อย่าไปยึดเอา นั่นแหละเป็นตัวมารอย่างร้ายกาจ
ถ้าไปยึดเอา สมาธิจะเสื่อมเสีย แต่คนทั้งหลายก็ไปยึดเอาอยู่นั่นแหละ
เพราะเห็นเป็นของแปลกประหลาด แลบางอาจารย์ก็สอนให้ไปยึดถือเอาเป็นอารมณ์เสียด้วย
จะเป็นเพราะท่านไม่เคยเห็นเคยเป็น หรือท่านไม่เข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นมาร ก็ไม่ทราบ

บางคนฝึกหัดสมาธิภาวนา ใช้คำบริกรรมว่า "อานาปานุสติ"
โดยพิจารณาลมหายใจเข้า-ออก

หายใจเข้าไม่หายใจออกก็ต้องตายหายใจออกแล้วไม่หายใจเข้าก็ต้องตาย
ความตายของคนเรามีอยู่นิดเดียว มีเพียงแค่หายใจเข้า หายใจออก เท่านี้เอง
แล้วพึงจับเอาแต่จิตนั้น ลมก็จะหายไปเองโดยไม่รู้ตัว
จะยังเหลือแต่จิตใสสว่างแจ๋วอยู่ผู้เดียว
จิตที่ใสสว่างนี้ ถ้ามีสติแก่กล้าจะอยู่ได้นานๆ
ถ้าสติอ่อนจะไม่นาน หรือรวมเข้าภวังค์เลยก็ได้


จิตเข้าภวังค์นี้จะมีอาการหลายอย่าง อย่างหนึ่งเมื่อจิตจะรวม
จิตน้อมเข้าไปยินดีพอใจกับสุขสงบที่จิตรวมนั้น แล้วจิตจะเข้าภวังค์
มีอาการเหมือนกับคนนอนหลับ หายเงียบเลย อยู่ได้นานๆ ตั้งเป็นหลายชั่วโมงก็มี
บางคนขณะที่จิตเข้าภวังค์อยู่นั้น มันจะส่งไปเห็นนั้น เห็นนี่ ต่างๆ นานา
บางทีเป็นจริงบ้าง ไม่เป็นจริงบ้าง บางคนก็ไม่เห็นอะไร เงียบไปเฉยๆ
เมื่อถอนออกจากภวังค์มาแล้ว จำนิมิตนั้นได้บ้างไม่ได้บ้าง
บางคนมีอาการวูบเข้าไปเปลี่ยนสภาพของจิตแล้วเฉยอยู่
มันเกิดหลายเรื่อง หลายอย่าง แล้วแต่อุปนิสัยของคน

ภวังค์นี้มิใช่หนทางให้พ้นจากทุกข์ก็จริงแล
แต่มันเป็นหนทางให้ถึงความบริสุทธิ์ได้
ผู้ฝึกหัดจะต้องเป็นไปเป็นขั้นแรก แลเราจะแต่งเอาไม่ให้เป็นก็ไม่ได้
ผู้ฝึกหัดสมาธิจะเป็นทุกๆ คน
ถ้าสติอ่อน หมั่นเป็นบ่อยๆ จนเคยชินแล้ว เห็นว่าไม่ใช่หนทางแล้ว
มันหากแก้ตัวมันเองดอก ดีเหมือนกันนั่งหลับ มันเป็นเหตุให้ระงับจิตฟุ้งซ่านไปพักหนึ่ง
ดีกว่าจิตไปฟุ้งซ่านหาโน่น หานี่ ตลอดวันค่ำคืนรุ่ง
สิ่งทั้งปวงถ้าเราไม่เห็นด้วยตัวเองแล้ว เราก็ไม่รู้ว่า สิ่งนั้นคืออะไร
เรารู้ไว้มากๆ แล้วภายหลังจะได้ไม่หลงอีก

บางคนฝึกหัดภาวนา กำหนดเอา อสุภะ เป็นอารมณ์
พิจารณาร่างกายตัวของเรา ให้เห็นเป็นอสุภะไปทั้งตัวเลย
หรือพิจารณาส่วนใดส่วนหนึ่งให้เป็นอสุภะก็ได้
เช่น พิจารณาผม ขน เล็บหรือจะพิจารณาของภายในมีตับ ไต ไส้ พุง เป็นต้น
ให้เห็นเป็นของปฏิกูลเน่าเปื่อย น่าพึงเกลียด เป็นของไม่งาม
ให้พิจารณาจนเห็นชัดเบื้องต้นพึงพิจารณาโดยอนุโลมเอาของภายนอกมาเทียบ
เช่น เห็นคนตาย หรือสัตว์ตายขึ้นอืดอยู่ เอามาเทียบกับตัวของเราว่า
เราก็จะต้องเป็นอย่างนั้น แล้วมันค่อยเห็นตัวของเราชัดขึ้นโดยลำดับจนชัดขึ้นมาในใจ
แล้วจะเกิดความสังเวชสลดใจ จิตจะรวมเข้าเป็นสมาธินิ่งแน่วเป็นอารมณ์อันเดียว
ถ้าสติอ่อนจิตจะน้อมเข้าไปยินดีกับความสงบสุข มันจะเข้าสู่ภวังค์
มีอาการดังอธิบายมาแล้วในเรื่องมรณานุสติแลอานาปานุสติ
วางคำบริกรรมแล้วสงบนิ่งเฉย บางคนก็เกิดนิมิตต่างๆ นานา
เกิดแสงสว่างเหมือนกับพระอาทิตย์ แลพระจันทร์ เห็นดวงดาว
เห็นกระทั่วเทวดา หรือภูติ ผี ปีศาจ แล้วหลงไปจับเอานิมิตนั้นๆ สมาธิเลยเสื่อมหายไป

บางอาจารย์เมื่อนิมิตเกิดขึ้นมาแล้ว สอนให้เอานิมิตนั้นเป็นขั้น
เป็นชั้นของมรรคทั้ง ๔ มีโสดาปัตติมรรค เป็นต้น
เช่นนิมิตเห็นแสงเล็กเท่าแสงหิ่งห้อย ได้สำเร็จชั้นพระโสดาบัน
เห็นนิมิตแสงใหญ่ขึ้นมาหน่อยเท่าแสงดาว ได้สำเร็จชั้นพระสกทาคามี
เห็นนิมิตแสงใหญ่ขึ้นมาเท่าแสงพระจันทร์ ได้สำเร็จชั้นพระอนาคามี
เห็นนิมิตแสงใหญ่ขึ้นมาเท่าแสงพระอาทิตย์ ได้สำเร็จชั้นพระอรหันต์ อย่างนี้เป็นต้น

ไปถือเอาแสงภายนอก ไม่ถือเอาใจของคนที่บริสุทธิ์มากน้อยเป็นเกณฑ์
ความเห็นเช่นนั้น ยังห่างไกลจากความเป็นจริงนัก
ผู้อยากได้ชั้นได้ภูมิ เมื่ออาจารย์ถาม ก็แสดงถึงแสงอย่างนั้น
แล้วก็ถือว่าตนถึงขั้นนั้นแล้ว แต่อาจารย์ไม่ถามถึงกิเลส
แลตนก็ไม่รู้กิเลสของตนเลยว่ามันมีเท่าไร มันหมดไปเท่าไรแล้ว
เดี๋ยวกิเลสคือโทสะ มันเกิดขึ้นมาหน้าแดงกล่ำ มรรคผลนั้นเลยหายหมด

การสอนให้จับเอานิมิต เกิดทีแรกแล้ว ทีหลังไม่เป็นอีกเด็ดขาด
อย่างนี้มันจะเป็นของจริงได้อย่างไร นิมิตเกิดจากภวังค์เป็นส่วนมาก
ภวังค์เป็นอุปสรรคของมรรคโดยเฉพาะอยู่แล้ว มันจะเป็นมรรคได้อย่างไร
จริงอยู่ คนภายนอกพระพุทธศาสนาก็ทำสมาธิได้มิใช่หรือ
เช่น ฤาษีชีไพร เป็นต้น คนเหล่านี้เขาทำกันมาแต่พระพุทธเจ้าของเรายังไม่อุบัติเกิดขึ้นในโลก
เขาทำก็ได้เพียงแค่นั้น โลกิยฌานเท่านั้น
ส่วนโลกุตรสมาธิ พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้สอนแต่พระองค์เดียว

ไม่มีใครสอนได้ในโลก ผู้เข้าถึงฌาน สำคัญตนว่าเป็นสมาธิแล้ว
ก็เลยพอใจยินดีในฌานนั้น ติดอยู่ในฌานนั้น

ฌาน กับ สมาธิ มีลักษณะคล้ายๆ กัน
ผู้ไม่พิจารณาให้ถ่องแท้แล้ว จะเห็นเป็นอันเดียวกัน
เพราะ ฌาน แล สมาธิ สับเปลี่ยนกันได้
อารมณ์ก็อันเดียวกัน ต่างแต่การเข้าภวังค์แลเข้าสมาธิเท่านั้น
เมื่อเข้าภวังค์จะน้อมจิตลงสู่ความสงบสุขอย่างเดียวแล้วก็เข้าภวังค์เลย
ถ้าเข้าสมาธิ จิตจะกล้าแข็ง มีสติอยู่เป็นนิจ จะไม่ยอมน้อมจิตเข้าสู่ความสงบสุข
จิตจะรวมหรือไม่รวมก็ช่าง แต่จิตนั้นจะพิจารณาอยู่ในธรรมอันเดียว อย่างนี้เรียกว่า สมาธิ


แท้จริงนิมิตทั้งหลาย ดังที่ได้อธิบายมาแล้วก็ดี
หรือนอกไปกว่านั้นก็ดี ถึงมิใช่เป็นทางให้ถึงความบริสุทธิ์ก็จริงแล
แต่ผู้ปฏิบัติทั้งหลายจะต้องได้ผ่านทุกๆ คน
เพราะการปฏิบัติเข้าถึงจิตรวมเข้าถึงภวังค์แล้วจะต้องมี
เมื่อผู้มีวาสนาเคยได้กระทำมาเมื่อก่อน เมื่อเกิดนิมิตแล้วจะพ้นจากนิมิตนั้นหรือไม่
ก็แล้วแต่สติปัญญาของตน หรืออาจารย์ของผู้นั้นจะแก้ไขให้ถูกหรือไม่
เพราะของพรรคนี้ต้องมีครูบาอาจารย์เป็นผู้แนะนำ
ถ้าหาไม่แล้วก็จะต้องจมอยู่ปรัก คือนิมิตนั้น นานแสนนาน
เช่น อาฬารดาบส และอุททกดาบส เป็นตัวอย่าง

ความรู้แลนิมิตต่างๆ เกิดจากคำบริกรรม
เมื่อจิตรวมเข้าภวังค์แล้ว คำบริกรรมมีมากมาย
ท่านแสดงไว้ในตำรามีถึง ๔๐ อย่างมีอนุสติ ๑๐ อสุภะ ๑๐ กสิณ ๑๐ เป็นต้น
ที่พระสาวกบางองค์บริกรรมแล้วได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ยังมีมากกว่านี้
แต่ท่านไม่ได้เอามารวมไว้ในที่นี้ ยังมีมากกว่านั้น
เช่น องค์หนึ่งไปนั่งอยู่ริมสระน้ำ เห็นนกกระยางโฉบกินปลา
ท่านไปจับเอามาเป็นคำบริกรรมจนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
คำบริกรรมแล้วแต่อัธยาศัยของบุคคล มันถูกกับอัธยาศัยของตนก็ใช้ได้ทั้งนั้น
ที่ท่านแสดงไว้ ๔๐ อย่างนั้น พอเป็นเบื้องต้นเฉยๆ ดอก
ถึงผู้เขียนนำมาแสดงไว้ ๓ อย่างนั้น ก็พอเป็นบทเบื้องต้นข้อใหญ่ที่สำคัญๆ เท่านั้น
ผู้ภาวนาถ้าไม่ถูกจริตนิสัยของตนแล้ว จะเอาอะไรก็ได้ แต่ให้เอาอันเดียว
อย่าเอาหลายอย่างมันจะฟุ้งแลลังเล ไม่ตั้งมั่นในคำบริกรรมของตน

คำบริกรรมนี้ให้เอาอันเดียว ถ้ามากอย่างจิตจะไม่รวม เมื่อพิจารณาไปๆ แล้ว
จิตมันจะมารวมนิ่งเฉยอยู่คนเดียว แล้วให้วางคำบริกรรมนั้นเสีย
ให้จับเอาแต่จิตรู้นิ่งเฉยนั้น ถ้าไม่วางคำบริกรรมเดี๋ยวมันจะฟุ้งอีก จับจิตไม่ได้
ถึงฌานแลสมาธิก็เหมือนกัน เมื่อเกิดนิมิตแลความรู้ต่างๆ
แล้วไปจับเอานิมิตแลความรู้นั้น ไม่เข้ามาดูตัวผู้ที่ส่งออกไปดูนิมิตแลความรู้นั้น
เมื่อความรู้แลนิมิตนั้นหายไปแล้วจับเอาจิตไม่ได้

ใจ ๑ นิมิต ๑ ผู้ส่งออกไปดูนิมิต ๑ ๓ อย่างนี้ ให้สังเกตให้ดี
เมื่อนิมิตแลความรู้เกิดขึ้น อาการทั้งสามอย่างนี้จะเกิดขึ้นพร้อมๆกัน
ถ้าจับ ใจ คือ "ผู้รู้" ไม่ได้ เมื่อนิมิตแลความรู้นั้นหายไป
ผู้รู้อันนั้นก็หายไปด้วยแล้วจะจับเอาตัวผู้รู้นั้นไม่ได้สักที

คำบริกรรม ก็ต้องการให้จิตรวมเข้ามาอยู่ในอารมณ์อันเดียว
เมื่อจิตรวมเข้ามาอยู่ในอารมณ์อันเดียวแล้ววางคำบริกรรมนั้นเสีย
จับเอาแต่ ผู้รู้ อันเดียวก็ใช้ได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นคำบริกรรมอะไรก็ตาม
ผู้บริกรรมภาวนาทั้งหลาย ขอให้พิจารณาดูให้ถี่ถ้วนบริกรรมอันเดียวกัน
แต่เวลามันรวมเข้าเป็นภวังค์ แลเป็นสมาธิ มันต่างกัน
คือว่า บริกรรม มรณานุสติ พิจารณาความตายเป็นอารมณ์จนแน่ชัดว่าเราต้องตายแน่แท้
ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ตายแล้วไปคนเดียวสิ่งทั้งปวงละทิ้งหมด
แม้แต่ปิยชนของเราเอาไปด้วยก็ไม่ได้
เมื่อเห็นชัดเช่นนั้นแล้ว จิตจะเพ่งแต่ความตายอย่างเดียว
จะไม่เกี่ยวข้องถึงเรื่องอื่นทั้งหมด แล้วจิต จะรวมเข้าเป็นภวังค์หายเงียบ
ไม่รู้สึกตัวสักพักหนึ่ง หรือรวมเข้าเป็นภวังค์วูบวาบ
คล้ายกับคนนอนหลับ แล้วเกิดความรู้ตัวอยู่อีกโลกหนึ่ง (โลกของจิต)
แล้วมีความรู้เห็นทุกอย่างเหมือนกับความรู้เห็นที่อยู่ในโลกนี้
แต่มันยิ่งกว่าโลกนี้ แลจะเทียบกับโลกนี้ไม่ได้
เป็นแต่รู้สึกได้ในเมื่อจิตนั้นยังไม่ออกจากภวังค์
หรือจิตมีอาการดังกล่าวแล้ว แล้วเข้าไปนิ่งเฉยอยู่
ไม่มีอารมณ์ใดๆ ทั้งหมดนอกจากความนิ่งเฉยอย่างเดียวเท่านั้น อย่างนี้เป็นต้น
เรียกว่าจิตรวมเข้าเป็น "ภวังค์"

บริกรรม มรณานุสติ พิจารณาความตาย ดังอธิบายแล้วแต่เบื้องต้น
แต่คราวนี้เวลามันจะรวมเข้าเป็นสมาธิ มันจะต้องตั้งสติให้กล้าหาญเข้มแข็ง
ไม่ยอมให้จิตเข้าสู่ภวังค์ได้ พิจารณา มรณานุสติถึงเหตุแห่งความเกิดว่ามันเกิดอย่างไร
พิจารณาถึงความตาย ว่ามันตายอย่างไร ตายแล้วไปเป็นอะไร
จนความรู้แจ่มแจ้งชัดขึ้นมาในใจจนจิตเกิดความปราโมทย์ ร่าเริงอยู่กับความปราโมทย์นั้น
(จะไม่มีปีติ ปีติเป็นอาการของฌาน) อย่างนี้เรียกว่า "สมาธิ"

ฌาน และสมาธิ พิจารณาคำบริกรรมอันเดียวกัน
แต่จิตที่มันเข้าไปมันต่างกัน ฌาน รวมเข้าไปเป็นภวังค์
ให้นึกน้อมเอาอารมณ์อันเดียวคือความตาย แลเพื่อความสุขสงบอย่างเดียวแล้วเป็นภวังค์
ส่วน สมาธิ นั้น ตั้งสติให้กล้าแข็ง พิจารณาความตายให้เห็นชัดตามเป็นจริงทุกสิ่ง
จิตจะรวมหรือไม่รวมก็ไม่คำนึงถึง ขอแต่ให้เห็นชัดก็แล้วกัน
แต่ด้วยจิตที่แน่วแน่พิจารณาอารมณ์อันนั้น มันเลยกลายเป็นสมาธิไปในตัว
เกิดความรู้ชัดขึ้นมา เกิดปราโมทย์ร่าเริงในธรรมที่ตนพิจารณาอยู่นั้น
แจ่มแจ้งอยู่ในที่เดียว แลคนเดียว จะพิจารณาไปรอบๆ ข้าง ก็จะมาชัดแจ้งในที่เดียวหายสงสัยหมด

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ธ.ค. 2011, 20:28 
 
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 ต.ค. 2010, 12:11
โพสต์: 5013


 ข้อมูลส่วนตัว


:b6:

ต่อเร็ว ๆ หน่อยจิ่

:b12: :b12: :b12:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ธ.ค. 2011, 06:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

:b39: :b41: :b41: :b39:

ฌาน และสมาธิ บริกรรมอันเดียวกัน
แต่มันเป็นฌานแลเป็นสมาธิ ต่างกันดังอธิบายมานี้พอเป็นตัวอย่างแก่ผู้ปฏิบัติ
นอกเหนือจากคำบริกรรมที่อธิบายแล้ว จะเป็นคำบริกรรมอะไรก็ได้
แต่มันเป็นฌานแลสมาธิจะต่างกันตรงที่มันจะรวมไปเท่านั้น
ทางที่ดีที่สุดไม่ต้องไปถือเอาคำที่ ฌาน ภวังค์ แลสมาธิ
ให้พิจารณาเอาแต่อาการของจิตที่รวมเข้าไป มีอาการต่างกันอย่างไร
ดังได้อธิบายมาแล้ว ก็จะเห็นชัดเลยทีเดียว

ผู้ทำฌานได้ชำนาญคล่องแคล่ว จะเข้าจะออกเมื่อไรก็ได้แล้ว
ถ้าหากผู้นั้นเคยบำเพ็ญมาแล้วแต่ชาติก่อน
ก็จะทำอภินิหารได้ตามความต้องการของตน
เป็นต้นว่า มีความรู้เห็นนิมิตตนเอง
แลคนอื่นเคยได้เป็นบิดา มารดา เป็นบุตร ธิดา แลสามี ภรรยา
หรือเคยได้จองเวรจองกรรม อาฆาตบาดหมางแก่กันแลกันมาแล้วแต่ชาติก่อน
เรียกว่า "อตีตังสญาณ" อตีตังสญาณนี้
บางทีบอกชื่อแลสถานที่ที่เคยกระทำมาแล้วนั้นพร้อมเลยทีเดียว

บางทีก็เห็นนิมิตแลความรู้ขึ้นมาว่าตนเอง แลคนอื่น
มีญาติพี่น้องเราเป็นต้น ที่มีชีวิตอยู่จะต้องตายวันนั้นวันนี้
หรือปีนั้นปีนี้หรือจะได้โชคลาภ หรือเป็นทุกข์จนอย่างนั้นๆ
เมื่อถึงกำหนดเวลา ก็เป็นจริงอย่างที่รู้เห็นนั้นจริงๆ นี้เรียกว่า "อนาคตังสญาณ"


"อาสวักขยญาณ" ท่านว่า ความรู้ความเห็นในอันที่จะทำอาสวะให้สิ้นไป
ข้อนี้ผู้เขียนขอวินิจฉัยไว้สักนิดเถอะ เพราะกังขามานานแล้ว
ถ้าแปลว่าความรู้ความเห็นของท่านผู้นั้นๆ ท่านทำให้สิ้นอาสวะไปแล้วก็ยังเข้าใจบ้าง
เพราะญาณก็ดี อภิญญา ๖ ก็ดี เกิดจากฌานทั้งนั้น
และในนั้นก็บอกชัดอยู่แล้ว ฌาน ถ้าแปลว่าความรู้เห็นอันที่จะทำอาสวะให้สิ้นไป
ก็แสดงว่าได้ฌานแล้วทำหน้าที่แทนมัคสมังคีในมัคค์นั้นได้เลย
ถ้าพูดอย่างนี้มันตรงกันข้ามกับที่ว่า มัคคสมังคี เป็นเครื่องประหารกิเลสแต่ละมัคค์

ญาณ ๓ เกิดจากฌาน ฌานก็ดีแต่รู้เห็นคนอื่น สิ่งอื่น
ส่วนกิเลสภายในใจของตนหาได้รู้ไม่
ญาณ ๓ ก็ดี ญาณ ๖ ก็ดี หรือบรรดาญาณทุกอย่าง
ไม่เคยได้ยินท่านกล่าวไว้ที่ไหนเลยว่า "ญาณประหาร"
มีแต่ "มัคคประหาร" ทั้งนั้น
มีแต่อาสวักขยญาณ นี้แหละที่แปลว่าวิชาความรู้อันที่จะทำอาสวะให้สิ้นไป
จึงเป็นที่น่าสงสัยยิ่งนัก ท่านผู้รู้ทั้งหลายกรุณาพิจารณาเรื่องเหล่านี้ให้ด้วย
ถ้าเห็นว่าไม่ตรงตามผู้เขียนแล้ว โปรดจดหมายส่งไปที่ที่อยู่ของผู้เขียนข้างต้นด้วย
จักขอบพระคุณอย่างยิ่ง

"อาสวกขยญาณ" มิได้เกิดจากฌาน ฌานเป็นโลกียะทั้งหมด
ตลอดถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ เพราะโลกุตรฌานไม่เห็นท่านแสดงไว้ว่ามีองค์เท่านั้นเท่านี้
ท่านผู้เข้าเป็นโลกุตระต่างหาก จึงเรียกฌานเป็นโลกุตระตามท่าน
เหมือนกับพระเจ้าแผ่นดินทรงพระขรรค์ที่จริงก็ดาบธรรมดาเราดีๆ นี่แหละ
เมื่อเป็นของพระเจ้าแผ่นดินแล้วจึงเรียกว่าทางพระขรรค์
นี่ก็ฉันใด ถ้าแปลว่ารู้จักท่านที่ทำกิเลสอาสวะให้สิ้นไป ก็ยังจะเข้าใจบ้าง


อนึ่ง ท่านยังแยกฌานออกเป็นภวังค์ มี ๓
คือ ภวังคุบาท ๑ ภวังคจรณะ ๑ ภวังคุปัจเฉทะ ๑
ตามลักษณะของจิตที่รวมเข้าไปเป็นภวังค์
ส่วนสมาธิ ก็แยกออกเป็นสมาธิ ดังอธิบายมาข้างต้นเป็น ๓ เหมือนกัน
คือ ขณิกสมาธิ ๑ อุปจารสมาธิ ๑ อัปปนาสมาธิ ๑


ส่วนการละกิเลสท่านก็แสดงไว้ ไม่ใช่การละกิเลส
เป็นแต่การข่มกิเลสของตนไว้ไม่ให้มันเกิดขึ้นด้วยองค์ฌานนั้นๆ
ส่วนการละกิเลสของสมาธิ ท่านแสดงไว้ว่า พระโสดาบัน ละกิเลสได้ ๓
คือ ละสักกายทิฎฐิ ๑ วิจิกิจฉา ๑ สีลัพพตปรามาส ๑
พระสกทาคามี ละได้ ๓ ตัวเบื้องต้นและยังทำให้ราคะเบาบางลงอีก
พระอนาคามี ละได้ ๓ เบื้องต้นนั้นได้เด็ดขาดแล้ว
ยังละกามราคะและปฏิฆะให้หมดไปอีกด้วย
นี้แสดงว่าฌานเป็นโลกิยะโดยแท้
ส่วนสมาธิเป็นโลกุตตระ ละกิเลสได้ตามลำดับ ดังอธิบายมาแล้ว

ฌาน ถึงแม้เป็นโลกิยะก็จริงแล แต่ผู้ฝึกหัดทำสมาธิจำเป็นต้องผ่านฌานนี้เสียก่อน
เพราะฌาน และสมาธิ มันกลับกันได้ด้วยอุบายแยบคายของตนเอง
ผู้จะไม่ผ่านฌาน แลสมาธิ ทั้งสองนี้ไม่มี
ฝึกหัดจิตอันเดียวกัน บริกรรมภาวนาอันเดียวกัน หนีไม่พ้นฌาน แลสมาธิเป็นอันขาด
ฌาน แลสมาธิ เบื้องต้นเป็นสนามฝึกหัดของจิตของพระโยคาวจรเจ้าทั้งหลาย
พระโยคาวจรเจ้าฝึกหัดฌาน แลสมาธิ ทั้ง ๒ อย่างนี้ให้ชำนิชำนาญ
รู้จักผิด รู้จักถูกละเอียดถี่ถ้วยดีแล้ว จึงจะทำวิปัสสนาให้เป็นไปได้

วิปัสสนามิใช่เป็นของง่ายเลย ดังคนทั้งหลายเข้าใจกันนั้น
จิตรวมเข้ามาเป็นฌาน แลสมาธิ เป็นบางครั้งบางคราวก็โมเมเอาว่าตนได้ขั้นนั้นขั้นนี้แล้ว
ไม่ทราบว่าถึงขั้นไหน เป็นฌาน หรือเป็นสมาธิ คุยฟุ้งเลย ทีหลังสมาธิเสื่อมแล้วเข้าไม่ถูก


สมาธิ ก็มีลีลามากน่าดูเหมือนกัน แต่ไม่เหมือนฌาน
เหมือนกับเล่นกีฬา คนหนึ่งเล่นเพื่อความมัวเมา
แต่คนหนึ่งเล่นเพื่อสุขภาพอนามัย


สมาธินั้นเมื่อจิตรวมเข้าไป ก็รู้ว่าจิตรวมเข้าไปรู้อยู่ตลอดเวลา
จิตจะหยาบ แลละเอียดสักเท่าไร สติย่อมตามรู้อยู่ทุกขณะจิต
เมื่อยังหยาบอยู่ มันรู้อยู่แต่ภายนอก
เมื่อจิตมันละเอียดเข้าไป มันก็รู้อยู่ทั้งภายนอก และภายใน
ไม่หลงไปตามอาการของจิตของตน รู้ทั้งที่จิตเป็นธรรม แลจิตปะปนไปกับโลก
ไม่เห็นไปหน้าเดียว อย่างที่เขาพูดว่า "หลงโลก หลงธรรม" นั่นเอง
ผู้เห็นอย่างนี้แล้ว จิตจะเป็นกลาง วางอารมณ์ทั้งหมดเฉยได้
จะทำก็ได้ จะไม่ทำก็ได้ เมื่อจะทำก็ทำแต่สิ่งที่ควรสิ่งที่เป็นประโยชน์ ไม่ทำสุ่มสี่สุ่มห้า
สมาธิเป็นลักษณะของผู้ใหญ่ผู้รู้เดียงสากระทำ ฌานเป็นลักษณะของเด็กผู้ไม่รู้เดียงสากระทำ

นิมิตแลความรู้ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสมาธินั้น
นอกจากดังได้อธิบายมาในฌานในเบื้องต้นแล้ว
มันอาจเกิดความรู้เห็นอรรถเป็นคาถาหรือเป็นเสียงไม่มีตัวตน
หรือเป็นเสียงพร้อมทั้งตัวตนขึ้นมาก็ได้
ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นเครื่องเตือนตัวเองแลคนอื่นให้ระวังอันจะเกิดภัยในข้างหน้า
หรือเตือนว่าสิ่งที่ตนทำมานั้นผิด หรือถูกก็ได้ นิมิตแลความรู้อันเกิดจากสมาธิภาวนานี้
จึงนับว่าเป็นของสำคัญมากทีเดียว เป็นเครื่องมือของนักบริหารทั้งหลาย ซึ่งมีพระพุทธเจ้า เป็นต้น

นิมิต แลความรู้ ดังอธิบายมานั้น
เมื่อจะเกิดขึ้นแก่นักปฏิบัติย่อมเกิดในเวลาจิตเป็นอุปจารสมาธิ
แต่ตัวเองไม่รู้ว่าเป็นอุปจารสมาธิ แลรู้ได้ในขณะยืนอยู่ก็ได้ นั่งทำสมาธิก็ได้
นอนอยู่ในท่าทำสมาธิก็ได้ แม้แต่เดินไปมาอยู่ก็รู้ได้เหมือนกัน

มีหลายท่านหลายคนซึ่งไม่เคยไปที่วัดของผู้เขียนเลยสักหนเดียว
แต่รู้ล่วงหน้าไว้ก่อนแล้วว่า ที่นั้นๆ เป็นรูปร่างลักษณะอย่างนั้นๆ
เมื่อไปถึงแล้วเห็นสถานที่ต่างๆ ไม่ผิดเลยสักอย่างเดียว ดังได้เห็นนิมิตไว้แต่ก่อน
อันนี้จะเป็นเพราะฌาน สมาธิของเขา หรือเพราะบุญบารมีของเขา
ซึ่งเคยได้ไปอยู่มาแล้วแต่ก่อนก็ไม่ทราบได้
เมื่อถามท่านเหล่านั้นว่า เคยทำฌาน สมาธิ แลภาวนาหรือไม่ ก็บอกปฏิเสธทั้งนั้น


นิมิต แลความรู้ทั้งหลายเหล่านี้ เกิดขึ้นกระท่อนกระแท่นไม่ติดต่อกัน
แลจริงบ้าง ไม่จริงบ้าง เพราะผู้เข้าทำสมาธิไม่ชำนาญ
พอเข้าเป็นอุปจารสมาธิก็เกิดขึ้นแล้ว ดังได้อธิบายมาแล้วในเบื้องต้น
ไม่เหมือนท่านที่ชำนาญ ท่านที่ชำนาญแล้วท่านจะต้องเข้าสมาธิให้ถึงอัปปนาสมาธิ
แล้วจึงถอนออกมาอยู่แค่ อุปจารสมาธิ
เมื่อต้องการจะรู้จะเห็นเหตุการณ์อะไรท่านจึงวิตกถึงเรื่องนั้น
เมื่อวิตกขึ้นแล้วท่านก็วางเฉย เมื่อเหตุการณ์อะไรจะเกิดมันก็เกิดขึ้น
เมื่อมันไม่มีมันก็จะไม่เกิด เมื่อมันเกิดขึ้นเรื่องนั้นแน่นอนที่สุด เป็นจริงทุกอย่าง

ไม่เหมือนคนเราในสมัยนี้ ทำฌาน ทำสมาธิยังไม่ทันจะเกิดเอาความอยากไปข่มแล้ว
ความอยากจะเห็น อยากรู้นั้นนี้ต่างๆ นานาเมื่อมันไม่เห็นสิ่งที่ตนต้องการ
ก็เลิกล้มความเพียรเสีย หาว่าตนไม่มีบุญมีวาสนา อะไรไปต่างๆ นานา

ความจริงตนกระทำมานั้นมันถูกหนทางแล้ว มันได้แค่นั้นก็นับว่าดีอักโขแล้ว
พึงยินดีพอใจกับที่ตนได้นั้นก็ดีแล้ว จะไปแข่งวาสนากับท่านที่ได้บำเพ็ญมาแต่ก่อนไม่ได้
แข่งเรือแข่งพายยังพอแข่งได้ แข่งบุญวาสนานี้ไม่ได้เลยเด็ดขาด
บางท่านบำเพ็ญเพียรมาสักเท่าไรๆ นิมิตแลความรู้ต่างๆ ไม่เกิดเลย ทำไม่ท้อถอย
ท่านสามารถบรรลุผลได้เหมือนกัน
ท่านที่ได้จตุปฏิสัมภิทา ๔ อภิญญา ๖ กับผู้ที่ท่านไม่ได้เลย
ถึงพระนิพพานแล้วก็เป็นอันเดียวกันไม่เห็นแตกต่างกันตรงไหน

คำบริกรรมนี้ ถ้าผู้ภาวนายังไม่ชำนาญ
ต้องถือเป็นหลัก ภาวนาครั้งใดต้องใช้คำบริกรรมเสียก่อน
จะภาวนาโดยไม่ใช้คำบริกรรมไม่ได้ คำบริกรรมที่ดีที่สุด คือ มรณานุสติ

พิจารณาความตายแล้วไม่มีอะไรเหลือหลอ
ถ้าผู้ภาวนาชำนาญแล้วจะพิจารณาอะไรก็ได้ หรือจะไม่ใช้คำบริกรรมเลยก็ได้
ที่พิจารณาเอาแต่อารมณ์ของกรรมฐานเลยก็ได้ จิตมันจะมารวมเอง


คำบริกรรมนี้ เมื่อบริกรรมไปนานๆ เข้าชักจะขี้เกียจไม่อยากพิจารณาเสีย
จะเอาแต่ความสงบอย่างเดียว เพราะเข้าใจว่าตนเก่งพอแล้ว
แท้จริง นั้นคือความประมาท ถึงแม้วิปัสสนาก็ไม่พ้นจากมรณานุสตินี้เหมือนกัน

แต่วิปัสสนา พิจารณาให้เห็นแจ้งชัดทั้งที่เกิดขึ้นแลดับไปด้วยเหตุปัจจัยนั้นๆของสิ่งทั้งปวง
ส่วนฌาน แลสมาธินั้นพิจารณาเหมือนกัน แต่เห็นบางส่วน
ไม่เห็นชัดแจ้งตลอดพร้อมด้วยเหตุปัจจัยของมัน
แต่ผู้ภาวนาทั้งหลายก็เข้าใจว่าตนเห็นตลอดแล้วตัวอย่างดังยายแก่คนหนึ่งภาวนา
บอกว่าตนเห็นตลอดแล้ว ทุกอย่างมันเป็นของไม่เที่ยงทั้งสิ้นแม้แต่ตัวของเรานี้ก็จะต้องแตกดับ
แกภาวนาจนทานอาหารอยู่ จิตรวมเข้าภวังค์จนลืมทานอาหาร
นั่งตงมงอยู่เฉยๆ ต้มน้ำร้อนถวายพระ นั่งเฝ้ากาน้ำร้อนอยู่จนน้ำร้อนเดือดแห้งหมด
วันหนึ่ง แกนั่งภาวนาอยู่ ปรากฏว่า ตัวแกไปนอนขวางทางรถยนต์อยู่
ขณะนั้นปรากฏว่ารถยนต์วิ่งปรูดมา แกคิดว่าตายแล้วเวลานี้
ในใจบอกว่าตายเป็นตาย ที่ไหน พอรถวิ่งมาใกล้ๆ จวนจะถึงจริงๆแกลุกขึ้นทันที
นี้แหละความถือว่าตัวตนเข้าไปลี้อยู่ลึกซึ้งมาก
ขนาดภาวนาจิตรวมเข้าจนไม่รู้ตัวภายนอกแล้ว ความถือภายในมันยังมีอยู่

มรณานุสติ ต้องพิจารณาให้ชำนิชำนาญ แลพิจารณาให้บ่อยๆ
จนให้เห็นความเกิดขึ้น แลความดับ เมื่อดับไปแล้วมันไปเป็นอะไร
จนเห็นเป็นสภาพธรรมดา ตามเป็นจริงของมัน
จนเชื่อมั่นในใจของตนเองว่า เราจะไม่หวั่นไหวต่อความตายละ
กาย แล จิต หรือ รูป กับ นาม ก็ว่าแยกกันเกิด แลแยกกันดับ
ฉะนั้น ผู้มีปัญญาทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น เมื่อท่านมีทุกขเวทนาทางกาย
ท่านจึงแยก จิต ออกจาก กาย แล้วจึงเป็นสุข


เมื่อจะเกิด สัมภาวะธาตุของบิดามารดาประสมกันก่อนหรือเรียกว่าน้ำเชื้อ
หรือเรียกว่าสเปอร์มาโตซัวกับไข่ประสมกันก่อนแล้วจิตปฏิสนธิจึงเข้ามาเกาะ
ถ้าธาตุของบิดามารดาประสมกันไม่ได้สัดส่วนกัน เช่น อีกฝ่ายหนึ่งเสีย
เป็นต้นว่า มันแดง หรือ สีมันไม่ปกติก็ประสมกันไม่ติด แล้วปฏิสนธิจิตก็ตั้งไม่ติด
เรียกว่า รูปเกิดก่อน แล้วจิตจึงเข้าปฏิสนธิภายหลัง

เวลาดับ จิตดับก่อน กายจึงดับภายหลัง
พึงเห็นเช่นคนตาย จิตดับหมดความรู้สึกแล้ว แต่กายยังอบอุ่น
เซลส์หรือประสาทยังมีอยู่ คนตายแล้วกลับฟื้นคืนมา
ยังใช้เซลส์หรือประสาทนั้นได้ตามเดิม

เมื่อจิตเข้ามาครองร่างกายอันนี้แล้ว
จิตจึงเข้าไปยึดร่างกายอันนี้หมดทุกชิ้นทุกส่วน ว่าเป็นของกูๆ
แม้ที่สุด ร่างกายอันนี้จะแตกดับตายไปแล้ว มันก็ยังถือว่าของกูๆ ๆ อยู่นั่นเอง

พึงเห็นเช่นพวกเขาเหล่านั้นตายไปแล้ว ได้เสวยกรรมตามที่ตนได้กระทำไว้แต่ยังเป็นมนุษย์อยู่
ไปเกิดเป็นอมิสกาย เช่น ภูต ผี ปีศาจ หรือ เทวบุตรเทวดา เป็นต้น
เมื่อเขาเหล่านั้นจะแสดงให้คนเห็น ก็จะแสดงอาการที่เคยเป็นอยู่แต่ก่อนนั้นแหละ
เช่น เคยทำชั่ว จิตใจเศร้าหมอง กายสกปรก
หรือเคยทำความดี จิตใจใสสะอาด ร่างกายงดงาม สมบูรณ์ก็จะแสดงอย่างนั้นๆ ให้คนเห็น


แม้ที่สุดสัตว์ตายไปตกนรก ก็แสดงภูมินรกนั้นให้คนเห็นชัดเจนเลยทีเดียว
แต่แท้ที่จริงแล้ว ภพภูมิของเขาเหล่านั้น มนุษย์ธรรมดาไม่สามารถจะเห็นได้ดอก
เพราะเขาเหล่านั้นตายไปแล้ว ยังเหลือแต่จิตกับกรรม ที่เขาได้กระทำไว้แล้วเท่านั้น

มนุษย์คนเรานี้เกิดขึ้นมาแล้ว มายึดถือร่างกายอันนี้ว่าเป็นของกู
มันแน่นหนาลึกซึ้งถึงขนาดนี้
ท่านผู้ฉลาดมาชำระจิตด้วยการทำสมาธิภาวนา ให้จิตสะอาดบริสุทธิ์แล้ว
จนเข้าถึงความเป็นกลางได้ ไม่มีอดีต อนาคต วางเฉยได้
เข้าถึงใจ นั่นแลจึงพ้นจากสรรพกิเลสทั้งปวงได้


สมาธิ เป็นเรื่องของจิต แต่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นเรื่องของวาจาแลกายด้วย
เพราะจิตมีแล้ว กาย แลวาจา จะต้องมี
เมื่อจิตมีแล้วความวิตก คือวาจา จะต้องมี ความวิตกนั้นและวาจามีแล้ว
มันจะต้องวิ่งแส่ส่ายไปในรูปธรรม ที่เป็นของสัตว์ แลมนุษย์ทั้งหลาย แลสิ่งสารพัดวัตถุทั้งปวง
ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ จิตจะหาที่เกาะเกี่ยวไม่ได้ จิตของคนเรา ไม่ว่าหยาบ แลละเอียด
นับแต่กามาพจรภูมิ รูปาพจรภูมิแลอรูปาพจรภูมิ
ต้องมีรูปธรรมเป็นเครื่องอยู่ด้วยกันทั้งนั้น มีอายตนะภายใน ภายนอก มีสัมผัสอยู่เป็นนิจ
มีผู้รู้อยู่เสมอ แม้แต่อรูปาพจรจิตก็มีอรูปจิต นั้นแหละเป็นเครื่องอยู่
อรูปจิตนี้ผู้ได้อรูปฌานแล้ว จะเห็นอรูปจิตด้วยอายตนะภายในของตนเองอย่างชัดเจนทีเดียว

อายตนะภายใน ในที่นี้มิได้หมายเอาอายตนะภายใน
คือ ตาหู จมูก ลิ้น กาย แลใจ อย่างที่ท่านแสดงไว้นั้น
แต่หมายเอาอายตนะภายในของใจ คือหมายเอาผู้ละ
อายตนะภายใน มีตา หู จมูก ลิ้น กายเหล่านี้หมดแล้ว
แต่ยังมีอายตนะภายในของใจ ยังมีอยู่อีก
อย่างที่เรียกว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย สัมผัส อันเป็นทิพย์
เช่น เมื่อตาเห็น ก็มิได้เอาตาธรรมดานี้ไปเห็น แต่เอาตาของใจไปดู
รูปที่ตาของใจเห็นนั้น ก็มิใช่รูปที่ตาธรรมดาเห็นอยู่นี้
แต่เป็นรูปที่ตาใจเห็นต่างหาก เสียง กลิ่นรส สัมผัส แลอารมณ์ ก็เหมือนกัน

อายตนะภายในของใจนี้ เมื่อสัมผัสเข้าแล้ว
จะซาบซึ้งยิ่งกว่าอายตนะภายในดังที่ว่ามานั้น มากเป็นทวีคูณ
แลจะสัมผัสเฉพาะตนเองเท่านั้น คนอื่นหารู้ได้ด้วยไม่
อายตนะภายในของจิตนี้พูดยากผู้ไม่ได้ภาวนาจนเห็นจิตใจของตนเสียก่อนแล้ว
จะพูดเท่าไรๆ ก็ไม่เข้าใจ จะใช้ภาษาคำพูดของคนเราธรรมดาเป็นสื่อสารนี้ยาก
จะเข้าใจไม่ได้ ต้องใช้อุปมาอุปไมยเปรียบเทียบจึงพอจะเข้าใจได้

เหตุนั้น นักปฏิบัติทั้งหลายผู้ไม่ชำนาญในการปฏิปทา จึงปฏิบัติไม่ค่อยลงรอยกัน
ทั้งๆ ที่ปฏิบัติใช้คำบริกรรมอย่างเดียวกัน
ถ้าเป็นพระคณาจารย์ผู้ใหญ่เสียแล้ว มีลูกศิษย์ลูกหามากๆ ก็ยิ่งไปใหญ่เลย
ฉะนั้นจึงควรยึดเอาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้เป็นที่ตั้ง
เราปฏิบัติถูกต้องตามคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือไม่
แบบตำราเป็นบรรทัดเครื่องวัดให้เราดำเนินตาม มิใช่ต่างคนต่างปฏิบัติ
พุทธศาสนาคำสอนอันเดียวกัน พระศาสดาองค์เดียวกัน
แต่สาวกผู้ปฏิบัติไปคนละทางกัน เป็นที่น่าอับอายขายขี้หน้าอย่างยิ่ง

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ธ.ค. 2011, 17:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

:b45: :b41: :b41: :b45:

อายตนะภายในที่ว่ามานี้ มันเป็นของหลอกลวงเหมือนกัน
จะเชื่อมันเป็นของจริงเป็นของจังทั้งหมดไม่ได้
ของทั้งหมดที่มีอยู่ในโลกนี้ จะต้องเป็นของจริงบ้าง ของปลอมบ้างด้วยกันทั้งนั้น

สรรพสังขารทั้งหลายซึ่งมีอยู่ในโลกนี้ทั้งหมด
ไม่ว่าสิ่งสารพัดวัตถุ สัตว์มนุษย์ ทั้งปวง ล้วนแต่เป็นของหลอกลวงกันทั้งนั้น

โลก คือ จิตของคนเรา
มาหลอกลวงจิตให้หลงในสิ่งต่างๆ ว่าเป็นจริงเป็นจัง
แต่แล้วสิ่งเหล่านี้เป็นแต่เพียงมายาเท่านั้นเกิดมาแล้วก็สลาย
แตกดับไปตามธรรมดาของมัน


เช่น มนุษย์เกิดมาจากธาตุ ๔ ประชุมกันเข้าเป็นก้อนอันหนึ่งเขาเรียกกันว่า ก้อนธาตุ
จิตมนุษย์เข้าไปยึดถือเอา จึงสมมุติเรียกว่าเป็นมนุษย์
เป็นหญิง เป็นชาย เป็นหนุ่ม เป็นสาว แต่งงานกันมีลูกออกมา
หลงรักหลงใคร่ แล้วก็โกรธเกลียดชังกัน เบียดเบียน ฆ่าฟัน อิจฉาริษยา ซึ่งกันและกัน
ส่วนอาชีพการงานก็เหมือนกัน เกิดมาในโลกกับเขาแล้ว จะไม่ทำก็อยู่กับเขาไม่ได้ ต้องกระทำ
ทำมาค้าขาย หรือกสิกรรมกสิกร หรือเป็นข้าราชการทำไปจนวันตายก็ไม่จบไม่สิ้น
คนนี้ตายไปแล้วคนใหม่เกิดมา ตั้งต้นทำอีก ยังไม่ทันหมดทันสิ้นก็ตายไปอีกแล้ว

ตราบใดโลกนี้ยังมีอยู่ มนุษย์คนเราก็เกิดมาทำอยู่อย่างนี้ร่ำไปทุกๆ คน
เมื่อตายไปแล้วก็ไม่มีใครหอบเอาสิ่งที่ตนกระทำไว้นั้นไปด้วยสักคนเดียว
แม้แต่ร่างกายก็ทอดทิ้ง
เว้นแต่กรรมดีและกรรมชั่วที่ตนทำไว้เท่านั้นที่ตามจิตใจของตนไป


โลกจิต ที่มีวิญญาณครองยังหลอกจิตได้ ไม่เห็นแปลกอะไรเลย
แม้ที่สุดโลกที่หาวิญญาณครองไม่ได้ ก็ยังหลอกจิตเลย
เราจะเห็นได้จากสิ่งต่างๆ เหล่านี้ เช่น ป่า ดง พงไพร
ต้นไม้ประกอบด้วยพันธ์ไม้นานาชนิด เกิดในดงงดงาม เขียวชอุ่ม
ประกอบด้วย กิ่ง ก้านดอก ผล เป็นช่อระย้า
เรียงลำดับเป็นระเบียบเรียบร้อย ยิ่งกว่าคนเอาไปประดับตกแต่งไว้
ใครเห็นแล้วก็นิยมชมว่าสวยงาม
ส่วนผาเล่าก็มีชะโงกเงื้อมงุ้ม เป็นตุ่ม เป็นต่อม มีชะง่อน ชะเงื้อม เพิงผา ดูน่าอัศจรรย์
เป็นหลั่นเป็นถ้องแถว ดังคนเอามาเรียงลำดับให้วิจิตรงดงาม
ส่วนแม่น้ำลำธารซึ่งตกลงแต่ที่สูงแล้วก็ไหลลงสู่ที่ต่ำ
เป็นลำธาร มีแง่มีมุม เป็นลุ่มเป็นดอน มีน้ำไหลวกวนเวียน
มีหมู่มัจฉาปลาหลากหลายพันธุ์ว่ายวนเป็นหมู่ๆ ดูแล้วก็จับใจ
ดูไป เพลินไปทำให้ใจหลงใหลไปตามๆ กัน

ดูแล้วเหมือนของเหล่านั้นจะเป็นจริงเป็นจัง
เดี๋ยวๆ ของเหล่านั้นก็อันตรธานหายจากความทรงจำของเรา
หรือมิฉะนั้นคนเราก็จักต้องอันตรธานหายไปจากสิ่งเหล่านั้น
ไม่มีอะไรเหลือหลออยู่ในโลกนี้สักอันเดียว เป็นอนิจจังทั้งสิ้น


เมื่อของในโลกนี้เป็นของหลอกลวงได้
"ธรรม" ธรรมที่เป็นโลกีย์ ก็หลอกลวงได้เหมือนกัน

เราจะเห็นได้จากการนั่งสมาธิภาวนา
เมื่อจิตจะรวมเข้าเป็นสมาธิ ตกใจผวา เหมือนกับมีคนมาผลัก
บางทีมีเสียงเปรี้ยง เหมือนเสียงฟ้าผ่าลงมาก็มี
บางทีกายของเราแตกออกเป็นซีกๆ ก็มี
บางทีมีแสงสว่างจ้าขึ้นมาแลเห็นสิ่งต่างๆ เข้าใจว่าเป็นจริงเป็นจัง
พอลืมตาขึ้นหายหมด สารพัดแต่มันจะเกิด
บางทีพอจิตจะรวมเข้าไป ปรากฏเห็นภูต ผี ปีศาจ ทำเป็นหน้ายักษ์ หน้ามารมา
เลยกลัววิ่งหนีเลยเสียสติเป็นบ้าไปก็มี
ธรรมที่ยังเป็นโลกีย์อยู่ก็หลอกลวงได้ เช่นเดียวกับโลกๆ เรานี้แหละ

บางทีเราพิจารณาร่างกายอันนี้ให้เป็นอสุภะ
เมื่อใจเราน้อมเชื่อมั่นว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ มันเลยเกิดอสุภะขึ้นมา
เปื่อยเน่าเฟะไปทั้งตัวเลย
แต่แท้ที่จริงแล้วร่างกายมันก็เป็นอสุภะธรรมดาๆ เท่าที่มันมีอยู่นั้นแหละ
แต่เราเข้าใจผิด หลงไปเชื่อตามจิตมันหลอก
เลยหลงเชื่อว่าเป็นอสุภะจริงๆ
ไปยึดถือเอาจนเหม็นติดไม้ติดมือติดตัว ไปไหนก็มีแต่กลิ่นอสุภะทั้งนั้น


จิตเราที่ฝึกหัดให้เข้าถึงธรรมแล้ว
แต่ธรรมนั้นมันยังเป็นโลกียะอยู่ มันหลอกได้เหมือนกัน
พระพุทธเจ้าจึงเทศนาว่า "จิตหลอกจิต"
เราจะสังเกตได้อย่างไรว่าจิตหลอกจิต เรื่องของใจ จิต กับ ใจมันคนละอันกัน
ดังภาษาชาวบ้านที่พูดกันว่า ใจๆ นั่นแหละ
ใจ เขาหมายเอาของที่เป็นกลางกลาง
อะไรทั้งหมดที่เป็นของกลางแล้ว เขาเรียกว่า ใจ ทั้งนั้น


คราวนี้มาพูดถึงเรื่อง จิต
คือผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง ผู้แต่งสัญญาอารมณ์ร้อยแปดพันเก้าไม่มีที่สิ้นสุด
นั้นเป็นเรื่องของ จิตตามความรู้สึกของคนทั่วไปแล้ว
จิต กับ ใจ มักจะเป็นอันเดียวกัน
ดังพูดออกมาเมื่อไม่สบายว่า "ไม่สบายใจ จิตใจหงุดหงิด" ดังนี้ เป็นต้น
ถ้าสบายใจก็บอกว่า "จิตใจมันปลอดโปร่งโล่งไปหมด"

จิต กับ ใจ แยกออกไว้เป็นคนละส่วนกัน
บางทีท่านก็เรียกว่า จิตเป็นของผ่องใสอยู่เป็นนิจ
แต่อาคันตุกะกิเลสจรมา ทำให้จิตเศร้าหมองต่างหาก
หรือบางทีท่านก็ว่า จิตเป็นของเศร้าหมอง
จิตนี้เป็นของผ่องใสสะอาด อะไรหลายอย่าง ต่างๆ นานา
ทำให้ผู้ศึกษาเรื่องจิต เรื่อง ใจ ยุ่งกันไปหมด

จิต นี้ถ้าเราจะพิจารณาด้วยสามัญสำนึกแล้ว
มันให้คิดให้นึก ให้ปรุง ให้แต่ง ไปต่างๆ นานา สารพัดร้อยแปดพันอย่าง
ยากที่บุคคลจะห้ามให้อยู่ในอำนาจของตนได้
แม้ที่สุดแต่นอนหลับไปแล้วยังปรุงแต่งท่องเที่ยวไปเลย อย่างเราเรียกว่า ฝัน
ปรุงแต่งไปทำธุรกิจการงานต่างๆ ไปทำสวน ทำนา ไปค้าขาย
หาเงิน หาทอง อาชีพต่างๆ หรืออาฆาตบาดหมาง ฆ่าฟันกัน เป็นต้น


ถ้าเราฝึกหัด จิต ของตนที่ดิ้นรนนี้ให้สงบอยู่เป็นหนึ่งได้แล้ว
เราจะมองเห็นจิตที่เป็นหนึ่งนั้น เป็นหนึ่งอยู่ต่างหาก
กิเลสมีโทสะ เป็นต้นนั้น อยู่อันหนึ่งต่างหาก
จิต กับ กิเลส มิใช่อันเดียวกัน
...ถ้าอันเดียวกันแล้วใครในโลกนี้จะทำใจให้บริสุทธิ์ได้

จิต เป็นผู้ไปปรุงแต่งเอา กิเลส มาไว้ที่จิตต่างหาก
แล้วก็ไม่รู้ว่าอันใดเป็น จิตอันใดเป็น กิเลส


พระพุทธเจ้าพระองค์ตรัสว่า
จิตตัง ปภัสสรัง อาคันตุเกหิกิเลเสหิ
จิตเป็นของผ่องใสอยู่ทุกเมื่อ กิเลสเป็นอาคันตุกะจรมาต่างหาก

นี้ก็แสดงว่าพระพุทธองค์ตรัสไว้ชัดแล้ว


ของในโลกนี้ต้องประสมกันทั้งหมดจึงเป็นโลก
ของอันเดียวมีแต่ ธรรม คำสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้น
ผู้เห็นธรรมเป็นของหลายอย่างต่างๆ กัน ผู้นั้นได้ชื่อว่ายังเข้าไม่ถึงธรรม


นัยหนึ่งเหมือนกันน้ำเป็นของใสสะอาด
เมื่อบุคคลนำเอาสีมาประสมย่อมมีสีต่างๆ เช่น เอาสีแดงมาประสมน้ำก็เลยเป็นสีแดงไป
เมื่อเอาสีดำมาประสมน้ำก็เลยเป็นสีดำไป สุดแท้แต่จะเอาสีอะไรมาประสม
น้ำก็เปลี่ยนแปลงไปเป็นสีนั้นๆ แท้จริงแล้วน้ำเป็นของใสสะอาดอยู่ตามเดิม
หากผู้มีปัญญา สามารถกลั่นกรองเอาน้ำออกมาได้ น้ำก็ใสสะอาดเป็นปกติอยู่ตามเดิม
สีเป็นเครื่องประสมให้น้ำเป็นไปต่างๆ

น้ำเป็นของมีประโยชน์มาก สามารถชำระของสกปรกสิ่งโสโครกทั้งปวงให้สะอาดได้
ความสะอาดของตนมีอยู่แล้ว ยังสามารถแทรกซึมเข้าไปในสิ่งโสโครกทั้งปวง
ชำระเอาสิ่งโสโครกเหล่านั้นออกมาได้ นี่ก็ฉันใด
ผู้มีปัญญาทั้งหลายย่อมสามารถกลั่นกรองเอาจิตของตนที่ปะปนกับกิเลสออกมาได้ฉันนั้น


คราวนี้มาพูดกันถึงเรื่อง จิต กับ ใจ ให้เข้าใจกันก่อน
จึงค่อยพูดกันถึงเรื่องกิเลส อันเกิดจากจิตต่อไป

จิต คือผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง สังขาร สัญญาอารมณ์ทั้งหมดเกิดจากจิต
เมื่อพูดถึงจิตแล้วไม่นิ่งเฉยได้เลย แม้ที่สุดเรานอนอยู่ก็ปรุงแต่งไปร้อยแปดพันเก้า
อย่างที่เราเรียกว่า ฝัน นั่นเอง จิตไม่มีการนิ่งอยู่เฉยได้
จิตนอนหลับไม่เป็น แลไม่มีกลางคืน กลางวันเสียด้วย
ที่นอนหลับนั้นมิใช่จิต กายต่างหาก มันเหนื่อยจึงพักผ่อน
จิต เป็นของไม่มีตัวตน แทรกซึมเข้าไปอยู่ได้ในที่ทุกสถาน
แม้แต่ภูเขาหนาทึบก็ยังแทรกเข้าไป แทรกทะลุปรุโปร่งได้เลย
จิต นี้มีอภินิหารมาก เหลือที่จะพรรณนาให้สิ้นสุดได้

ใจ คือผู้เป็นกลางๆ ในสิ่งทั้งปวงหมด
ใจก็ไม่มีตัวตนอีกนั่นแหละ มีแต่ผู้รู้อยู่เฉยๆ
แต่ไม่มีอาการไป อาการมา อดีตก็ไม่มีอนาคตก็ไม่มี บุญแลบาปก็ไม่มี นอกแลในก็ไม่มี
กลางอยู่ตรงไหนใจก็อยู่ตรงนั้น ใจ หมายความเป็นกลางๆ
ดังภาษาชาวบ้านเขาเรียกกันว่า ใจมือ ก็หมายเอาท่ามกลางมือ
ใจเท้า ก็หมายเอาท่ามกลางเท้า
แม้ที่สุดเมื่อถามถึงใจคนเรา ก็ต้องชี้เข้าท่ามกลางหน้าอก
แต่แท้จริงแล้วที่นั้นไม่ใช่ใจนั่นเป็นแต่หทัยวัตถุ
เครื่องสูบฉีดเลือดที่เสียแล้วกลับเป็นของดี
ให้ไปหล่อเลี้ยงสิ่งต่างๆ ในสรรพางค์ร่างกายเท่านั้น
ตัวใจแท้มิใช่วัตถุ เป็นนามธรรม

จิต กับ ใจ โดยความหมายแล้วก็อันเดียวกัน
ดังพระพุทธเจ้าตรัสว่า "จิตอันใด ใจก็อันนั้น ใจอันใด จิตก็อันนั้น"
จิต กับ ใจ เป็นไวพจน์ของกันแลกัน ดังพุทธภาษิตว่า
จิตตังทันตัง สุขาวหัง จิตที่ฝึกดีแล้วนำความสุขมาให้
หรือ มโนปุพพังคมาธัมมา ธรรมทั้งหลายมีใจถึงก่อน เป็นต้น
แต่โดยส่วนมากท่านจะพูดถึงเรื่องจิตเป็นส่วนมาก เช่นเรื่องพระอภิธัมม์
จะพูดแต่เรื่องจิตเจตสิกทั้งนั้น จะเป็นเพราะจิตทำงานมากกว่าใจ
ไม่ว่าจะเรื่องของกิเลส หรือเรื่องของการชำระกิเลส (คือ ปัญญา) เป็นหน้าที่ของจิตทั้งนั้น

กิเลสมิใช่จิต จิตมิใช่กิเลส แต่จิตไปยึดเอากิเลสมาปรุงแต่งให้เป็นกิเลส
ถ้าจิตกับกิเลสเป็นอันเดียวกันแล้ว ใครในโลกนี้จะชำระกิเลสให้หมดได้


จิต แล กิเลส เป็นแต่นามธรรมเท่านั้น
หาได้มีตัวมีตนไม่จิตที่ส่งไปทางตา หู เป็นต้น
ก็มิใช่ตา หู เป็นกิเลส แต่จิตกระทบกับอายตนะจึงเป็นเหตุให้เกิดกิเลสเท่านั้น
เมื่อตาเป็นต้น กระทบกับรูปให้เกิดความรู้สึก แล้วความรู้สึกนั้นก็หายไป
จิตไปตามเก็บเอาความรู้สึกนั้นมาเป็นอารมณ์ จึงเกิดกิเลส ดีแลชั่ว รักแลชังต่างหาก
ผู้ไม่เข้าใจ ไปหลงว่าจิตเป็นกิเลส ไปแก้แต่จิต ตัวกิเลสไม่ไปแก้
ไม่ไปแยกเอาจิตให้ออกจากกิเลส อย่างนี้ แก้เท่าไรๆ ก็แก้ไม่ออก
เพราะแก้ไม่ถูกจุดสำคัญของจิต
จิตไปหลงยึดเอาสิ่งสารพัดวัตถุเครื่องใช้ต่างๆมาเป็นของกูๆ
ติดมั่นอยู่ในสิ่งนั้นๆ มันเลยเป็นกิเลส

เป็นต้นว่า เรือกสวน ไร่นา ทรัพย์สินเงินทอง วัตถุต่างๆ
แม้ที่สุดแต่บุตร ธิดา สามี ภรรยา พี่ ป้า น้า อา เป็นที่สุด
ว่าเป็นของกูๆจิตเลยเป็นกิเลส แต่สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นมันเป็นอยู่อย่างไร มันก็เป็นอยู่อย่างนั้น
มันหาได้ไปเป็นตามความหลงยึดมั่นถือมั่นของเราไม่
ดังภรรยาสามีของเรา หลงยึดมั่นถือมั่นสำคัญว่าเป็นของเราจริงๆ
ราวกับว่าเอาหัวใจของเขามาไว้ในหัวใจของเราเลยทีเดียว
เวลาเขาคิดจะทำมิจฉาจาร เขาไม่ได้บอกเราเลยสักนิดเดียว
พอรู้เรื่อง เราเกิดความทุกข์ระทมใจแทบตาย
นี่ก็เพราะความหลง ไม่เห็นตามความเป็นจริงของมันนั่นเอง
ยิ่งเป็นสิ่งที่หาวิญญาณไม่ได้เสียแล้ว ก็ยิ่งไปกันใหญ่
เช่น เพชร นิล จินดา ราคามากๆ เก็บใส่ตู้ใส่หีบไว้แน่นหนากลัวขโมยจะมาลักเอาไป
แต่ตัวมันเองหาได้รู้สึกอะไรไม่ ใครมาลักมาขโมยเอาไปก็ไม่มีความรู้สึก
จะโวยวายก็ตัวเจ้าของผู้ไปยึดมั่นถือมั่นนี้ต่างหาก
กิเลสตัวผู้ไปยึดถือนี้มันร้ายกาจเอาเสียจริงๆ
ไม่ว่าอะไรทั้งหมด มันเข้าไปยึดถือเอาเลยแล้วก็ฝังตัวลึกเข้าไปจนถอนไม่ขึ้น
จิต ใจ และ กิเลส มีความหมายดังได้อธิบายมานี้

จิต ผู้ที่ไม่ได้ฝึกฝนอบรมไว้ให้ดีแล้ว มีแต่จะนำให้กิเลสมาทับถมถ่ายเดียว
ตรงกันข้าม ถ้าเป็นผู้ได้ฝึกฝนอบรม จิต ไว้ดีแล้วก็จะเป็นขุมทรัพย์อันมหาศาล
เพราะจิตเป็นผู้แส่ส่ายแสวงหากิเลสใส่ตัวเอง
พร้อมๆ กันนั้นก็เป็นผู้แสวงหาปัญญามาให้ตัวอีกด้วย


บ่อเกิดกิเลสของจิต ก็ไม่พ้นจากอายตนะทั้ง ๖
ซึ่งจิตเคยใช้อยู่ประจำแล้ว อายตนะทั้ง ๖ นี้
เป็นสมบัติอันล้ำค่าของจิตเท่ากับแก้วสารพัดนึกของจิตก็ว่าได้
จะใช้ให้ไปดูรูปที่สดสวยงดงามสักปานใดก็ได้
ตา ก็ไม่อั้น ตามัว ตาเสีย ไปหาแว่นมาใส่ก็ยังได้
หู ก็ยิ่งใช้ได้ดีใหญ่เลย ตาหลับแล้วหูยังได้ฟัง ได้ยินสบายเลย
จมูก ก็เช่นเดียวกัน ไม่ต้องไปยืมเอาตา แลหู มาดมกลิ่นแทน
แต่จมูกจะต้องรับหน้าที่คนเดียว ดมกลิ่นเหม็น กลิ่นหอมด้วยตนเองทั้งนั้น
ลิ้น ก็ไม่ต้องเกี่ยงให้ตา หู จมูกมาทำหน้าที่รับรสแทนเลย
พอป้อนอะไรเข้าในปากเท่านั้นแหละ ไม่ว่าอะไรทั้งหมด
ลิ้นจะต้องรับหน้าที่รับรู้ว่า รสเผ็ด เค็มหวาน เปรี้ยว อร่อย แลไม่อร่อยทันที
กาย ก็รับรู้ว่าสัมผัสอันนี้นิ่มนวล อ่อน แข็ง อะไรต่างๆ
ยิ่ง ใจ แล้ว มโนสัมผัส รู้คิดนึกอะไรต่อมิอะไรด้วยตนเอง
ไม่ต้องไปเกี่ยวข้องด้วยอายตนะทั้ง ๕ หรือจิตใดๆ ทั้งสิ้น
เป็นหน้าที่ของใจโดยเฉพาะเลยทีเดียว

สิ่งทั้ง ๕, ๖ นี้เป็นของเก่า เคยรับใช้จิตมานานแล้วจนคล่องแคล่วทีเดียว
แต่ให้ระวังหน่อย ของเก่าเราเคยใช้มา ให้ความสุขสบายมานานนั้น
มันอาจทำพิษให้เราเมื่อไรก็ได้
ดังโบราณท่านกล่าวไว้ว่า ข้าเก่า งูเห่า เมียรัก ไม่ควรไว้วางใจ
ของ ๓ อย่างนี้ มันอาจทำพิษให้เราเมื่อไรก็ได้

เมื่ออธิบายให้เข้าใจถึงเรื่อง จิต แล ใจ พร้อมด้วยกิเลสเครื่องเศร้าหมองของจิตแล้ว
ผู้ต้องการที่จะกำจัดกิเลสให้พ้นออกจากจิตของตน พึงหัดสมาธิให้ชำนาญเสียก่อน
จึงแยกจิตแลกิเลสออกจากกันได้ ถ้ามิฉะนั้นแล้ว
จิตแลกิเลสจะเป็นอันเดียวกันเลยไม่ทราบว่าจะแยกอย่างไรกันออก
ถ้ามีสมาธิแลชำนาญแล้ว การแยกจิตแลกิเลสออกจากกัน จะค่อยง่ายขึ้น
คือจิตตั้งมั่นในอารมณ์อันเดียวแล้ว เรียกว่า สมาธิ
สมาธิไม่มีอาการส่งส่ายไปภายนอก นั้นเป็นที่ตั้งฐานของการต่อสู้กับกิเลส
จิตที่มันส่งส่ายไปหาอารมณ์ภายนอกนั้น มันส่งส่ายไปหากิเลส


ถ้าหากเรากำหนดรู้เท่าทัน อย่าให้มันไปหมายมั่นสัญญาจดจำแลปรุงแต่ง
ให้มีแต่เพียงรู้เฉยๆ กิเลสมันก็จะไม่เกิดขึ้น
เพราะจิตนี้กว่าจะเกิดกิเลสขึ้น มันต้องจดจำ ดำริ ปรุงแต่ง มันจึงเกิดขึ้น
ถ้าเพียงแต่รู้เฉยๆ กิเลสไม่มี เช่น ตาเห็นรูป ก็สักแต่ว่าเห็น มันก็ไม่เกิดกิเลสอะไร

ถ้าตาเห็นรูป จดจำว่าเป็นหญิง เป็นชาย
ว่าดำ ว่าขาวสวย แลไม่สวย แล้วดำริ ปรุงแต่งไปต่างๆ นานา
มันก็เกิดกิเลสตามเราปรุงแต่งจึงมาทับถมจิตเราที่ผ่องใสอยู่แล้วให้เศร้าหมองไป
สมาธิเลยเสื่อม กิเลสเลยเข้ารุมล้อม

หูฟังเสียงก็เช่นเดียวกัน เมื่อหูฟังเสียงก็สักแต่ว่าฟังอย่าไปจดจำ
หรือดำริ ปรุงแต่งในเสียงนั้นๆ ฟังแล้วก็ผ่านไปๆ มันก็จะไม่เกิดกิเลสอะไร
เหมือนกับเราฟังเสียงนก เสียงกา หรือเสียงน้ำตก เป็นต้น
ส่วนอายตนะอื่นๆ นอกนั้น มีจมูกเป็นต้น ก็ทำนองเดียวกัน

เมื่อเราฝึกหัดสมาธิให้ชำนิชำนาญแล้ว เวลาอายตนะทั้งหลาย มีตาเห็นรูป เป็นต้น
จะกำหนดจิตให้เข้าถึงสมาธิ แล้วจิตก็จะมองเห็นรูป สักแต่ว่ารูปเฉยๆ
จะไม่จดจำว่ารูปเป็นหญิง เป็นชายเป็นหนุ่ม เป็นแก่ ขาวแลดำ สวย แลไม่สวย
แล้วก็ไม่ดำริปรุงแต่งไปต่างๆ นานา กิเลสก็จะไม่เกิดในที่นั้นๆ
การชำระจิตอย่างที่ว่ามานี้เป็นแต่ชำระได้ชั่วคราว
เพราะเหตุทำสมาธิให้มั่นคงชำนิชำนาญ ถ้าสมาธิไม่มีกำลังแล้ว ไม่ได้ผลเลย
ถ้าจะชำระจิตให้สะอาดหมดจริงจังแล้ว ต้องทำวิปัสสนา ซึ่งจะกล่าวต่อไปข้างหน้า

ฌาน สมาธิ วิทยาศาสตร์ ใช้นามธรรมพิจารณารูปอย่างเดียวกัน
แต่ต่างกันในความหมายแลความประสงค์ ฌาน แลสมาธิ ดังอธิบายมาแล้ว
จะอธิบายซ้ำอีกเล็กน้อย เพื่อทวนความจำ

ฌาน พิจารณาด้วยนามธรรม คือ จิต เอาไปเพ่งรูปธรรม
คือ เช่น เพ่งร่างกายอันนี้ให้เห็นเป็นธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม
จิตน้อมเชื่อมั่นว่าตัวของเราเป็นสิ่งนั้นจริงๆ
จนเกิดภาพเป็นดินขึ้นมาจริงๆบางทีตนเองพิจารณาเห็นภาพหลอกลวง
ว่าเป็นสิ่งนั้นจริงๆ จนกลัวเลยเกิดวิปริตจิตเป็นบ้าก็มี
แลยังมีอาการมากกว่านี้อีกแยะ นี้เป็นเรื่องของฌาน


เรื่องของ สมาธิ ก็พิจารณาอย่างนั้นเหมือนกัน
แต่พิจารณาเป็น ๒ นัย คือ ไม่เห็นแต่ภายใน เห็นทั้งภายนอกด้วย


เห็นภายใน คือเห็นแบบฌาน
เห็นว่าร่างกายเราเป็นอสุภะ เปื่อยเน่าเป็นของน่าเกลียด
ความเห็นอีกอันหนึ่งเห็นว่ามันจะน่าเกลียดอะไร
เราอยู่ด้วยกันมาแต่ไหนแต่ไรมา เราก็ไม่เห็นเป็นอะไร
มันเป็นอสุภะก็ของธรรมดาของร่างกาย
มันเป็นธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้นแต่ไรมาแล้ว นี่เป็นความเห็นของผู้ฝึกหัดสมาธิ

เรื่องของวิทยาศาสตร์ ก็พิจารณาอย่างนั้น
พิจารณาจนนิ่งแน่วลงสู่เรื่องนั้นจริงๆ ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วก็จะไม่รู้เรื่องเหล่านั้น
เช่น พิจารณากายวิภาค เห็นเรื่องของกายมนุษย์คนเรา
มีชิ้นส่วนประกอบด้วยสิ่งต่างๆ ให้เคลื่อนไหวไปมาได้อย่างนี้ๆ
แล้วก็บันทึกไว้เป็นตำรา ดีเหมือนกัน ถ้าไม่มีวิทยาศาสตร์ เราเกิดมาก็ไม่ได้เห็นสิ่งต่างๆ ในโลกนี้
วิทยาศาสตร์ เป็นเครื่องมือสร้างโลก ของผู้ยังติดอยู่ในโลก ยังไม่เบื่อ
บางคนอายุตั้ง ๑๐๐ ปี ยังไม่อยากตายยังขออยู่ไปอีกสัก ๕๐-๖๐ ปีก่อน
นักวิทยาศาสตร์สร้างโลกยังไม่จบตายไปแล้ว คนอื่นเกิดมาสร้างใหม่อีก
ตายแล้วเกิด เกิดแล้วตามมาสร้างโลก อย่างนี้ไม่รู้จักจบสิ้น

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ธ.ค. 2011, 19:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

:b39: :b41: :b41: :b39:

นักวิทยาศาสตร์ส่วนมากมักเห็นว่าตายไปแล้วก็หมดเรื่องไปเรื่องหนึ่ง
หรือเราเคยเป็นอะไร มีวิทยฐานะเช่นไรอยู่ในโลกนี้ ตายไปแล้วก็จะเป็นอยู่อย่างเคยไม่เปลี่ยนแปลง
ไม่เชื่อกรรมเชื่อผลของกรรม ทั้งๆ ที่เขาเหล่านั้นทำกรรมอยู่นั้นเอง
เช่น เขาแต่งมนุษย์เพศชายให้เป็นหญิงได้ ดังนี้เป็นต้น
เขาเชื่อว่ากรรม คือ ตัวมนุษย์วิทยาศาสตร์เองเป็นผู้แต่งคนไม่ใช่กรรม
คือ บุญแลบาป เป็นของไม่มีตัวตน ของไม่มีตัวตนจะมาทำของที่มีตัวตนได้อย่างไร

ท่านผู้รู้ทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ท่านเหล่านั้นเชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม
เราเกิดมาเวียนว่ายตายเกิด นับเป็นอเนกอนันตชาติเพราะกรรมเก่า
เกิดมาใช้กรรมเก่ายังไม่หมดสิ้นทำกรรมใหม่อีกแล้ว เป็นอย่างนี้อยู่ตลอดภพตลอดชาติ
ท่านเรียกว่า วัฏฏะ ๓

เกิดมาเรียกว่า วิปากวัฏฏ์ เกิดจากวิบากของกรรม
เกิดมาแล้วต้องประกอบกรรม ไม่ทำดีก็ทำชั่ว เรียกว่า กัมมวัฏฏ์
การประกอบกรรมมันต้องมีเจตนา เจตนานั้นเป็นกิเลสเรียกว่า กิเลสวัฏฏ์
ผลของกิเลสนั้นเรียกว่า วิปากวัฏฏ์
วิปากวัฏฏ์กลับมาเกิดอีกวนเวียนกันอยู่อย่างนี้ ไม่รู้จักจบจักสิ้นสักที
ผู้รู้ทั้งหลายท่านเห็นโทษของความเกิด เบื่อหน่ายในความเกิด
หาวิธีไม่ให้เกิดอีกด้วยการหัดทำฌาน สมาธิ แลเจริญปัญญา วิปัสสนา
รู้แจ้งแทงตลอดเห็นตามสภาพเป็นตามธรรมดาของมัน
ปล่อยวางไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวงหมด จิตใจสะอาดกลายมาเป็นใจ กิเลสตามไม่ทัน


วิทยาศาสตร์เพ่งพิจารณาจนเห็นชัดแจ้งตามเป็นจริงแต่เป็นรูปธรรม
เป็นของภายนอก แล้วบันทึกเป็นตำราสอนกันต่อๆ ไป
ส่วนในทางธรรม ต้องฝึกหัดทำ ฌาน สมาธิ แลปัญญาวิปัสสนารู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งนั้นๆ
ที่เป็นรูปธรรมทั้งเป็นนามธรรมด้วยจิตใจอันบริสุทธิ์
แลไม่สามารถจะ บันทึกออกมาเป็นรูปธรรมได้
แต่พูดรู้เรื่องกันได้ในพวกผู้ปฏิบัติด้วยกัน

นักพูดธรรมะจงระวัง พูดถึงเรื่อง ฌาน
กลับเป็นสมาธิแลวิทยาศาสตร์เสียเลยไม่รู้ตัว
เมื่อพูดถึงเรื่อง สมาธิ เลยกลายเป็นฌาน แลวิทยาศาสตร์ไปฉิบ
ของทั้ง ๓ อย่างนี้ใกล้กันมาก

นักปฏิบัติทั้งหลายใจร้อน เรียกว่าชิงสุกก่อนห่าม หรือตายก่อนเกิด
ทำความสงบ บริกรรมภาวนา ใจยังไม่เป็นสมาธิ
อยากจะรู้จะเห็นสิ่งต่างๆ เลยนึกปรุงแต่งไปตามมติของตน แลมันก็เป็นตามนั้นจริงๆ
ถึงแม้ถึงขั้นสมาธิภาวนาแล้ว ผู้ไม่ชำนาญในสมาธิภาวนาของตนก็ยังปรุงแต่งไปได้
เลยสำคัญว่าตนเกิดความรู้จากการภาวนา

ถ้านักปฏิบัติจริงแล้วจะไม่อยากรู้อย่างนั้น
มีแต่ตั้งหน้าตั้งตาทำสมาธิให้จิตสงบอย่างเดียว
มันจะเกิดความรู้อะไรหรือไม่ก็ตาม ถือว่าสมาธิความสงบเป็นของสำคัญ
สมาธิมั่นคงดีแล้วปัญญาความรู้อะไรต่างๆ มันจะไปไหนพ้น
อุปมาเหมือนไฟยังไม่ดับแสงสว่างแลความร้อนย่อมมี


ผู้ทำสมาธิมั่นคงดีแล้ว ไม่อะไรทั้งหมด
ขยันทำแต่สมาธิทั้งกลางวัน แลกลางคืน
ไม่คิดถึงความเหนื่อยยากลำบากอะไร
ขอให้ได้สมาธิแล้วก็พอ นั้นได้ชื่อว่า "นักปฏิบัติ" โดยแท้


ในที่นี้ ผู้เขียนอยากจะแสดง ฌาน กับ สมาธิ ให้เห็นความแตกต่างกัน
พอเป็นนิทัศน์สักเล็กน้อย ฌาน แล สมาธิ มิใช่อันเดียวกัน
ท่านผู้รู้ทั้งหลายท่านก็แสดงว่า ฌานอันหนึ่ง สมาธิอันหนึ่ง
เพราะท่านแสดงองค์ฌานแลการละต่างกัน
ถึงฌาน แลสมาธิ จะใช้คำบริกรรมอย่างเดียวกัน
แต่การพิจารณามันแตกต่างกันถ้าพิจารณาให้ดีแล้ว แม้ความรู้ก็ต่างกัน ตัวอย่างเช่น

พิจารณาความตาย ฌาน พิจารณาแต่ตายๆ อย่างเดียวจนจิตนิ่งแน่ลงเป็นฌาน
รวมเข้าเป็น ภวังค์ บางทีก็นิ่งเฉยไม่รู้ตัวอย่างนี้เรียกว่านั่งหลับ
ได้เป็นนานๆ ตั้งหลายชั่วโมงก็มี บางทีนิ่งเฉยอยู่ ยินดีกับความสุขสงบของฌานนั้น
พูดง่ายๆ จิตใดที่บริกรรมภาวนานึกน้อมเอาแต่คำบริกรรมนั้นอย่างเดียว
จนจิตเข้าสู่ภวังค์จะหายหรือไม่หายเงียบก็ตาม เรียกว่า ฌาน
หรือจะพิจารณาของภายนอก เช่น ดิน หรือ น้ำ-ไฟ-ลม ก็ตาม
ล้วนแล้วแต่เพ่งพิจารณาเพื่อน้อมจิตให้รวมเข้าเป็นภวังค์ทั้งนั้น
แล้วก็ยินดีพอใจกับความสุขสงบอย่างเดียว

ฌาน แปลว่า เพ่ง คือจะเพ่งเอาดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นอารมณ์ของภายนอก
หรือเอาของภายในกายของตัวเอง หรือจะเพ่งจิตเป็นอารมณ์ก็ตาม
ได้ชื่อว่า "เพ่ง" ด้วยกันทั้งนั้น จิตที่เพ่งอยู่ในอารมณ์อันเดียว
ไม่ไปเอาอารมณ์อื่นมาเกี่ยวข้อง นั้นแหละเป็นการข่มกิเลสด้วยฌาน


ฌาน เมื่อจิตถอนออกจากฌานแล้ว กิเลสที่มีอยู่ก็ฟูขึ้นตามเดิม
ท่านอธิบายไว้ชัดเลยว่า ฌานมีองค์ ๕ คือ วิตก ๑ วิจาร ๑ ปิติ ๑ สุข ๑ เอกัคคตา ๑

เมื่อจะเป็นฌานก็มีภวังคุบาท ภวังคจรณะ ภวังคุปัจเฉท
เมื่อเข้าถึงฌานแล้วละกิเลสได้ ๕
คือ กามฉันทะ ๑ พยาบาท ๑ ถีนมิทธะ ๑ อุทธัจจกุกกุจจะ ๑ วิจิกิจฉา ๑
(แท้จริงเป็นเพียงแต่ ข่ม มิใช่ ละ)
แต่ท่านไม่ได้อธิบายไว้ว่าฌานอะไร ละกิเลสได้เท่าไร
นักปฏิบัติโปรดได้พิจารณาด้วย
ถ้าเห็นในที่ใดแล้วกรุณาบอกไปยังผู้เขียนด้วย ผู้เขียนยินดีรับฟังเสมอ

ความรู้อันเกิดจากฌานนั้น ถ้าผู้นั้นเคยได้บำเพ็ญมาแต่ชาติก่อน
ก็จะเกิดความรู้ต่างๆ นานาหลายอย่าง
แต่ความรู้นั้นมักจะเป็นไปในการส่งออกไปข้างนอก
โดยมากจับเอาจิตผู้ส่งออกไปรู้ไม่ค่อยได้
เหมือนกับตามองเห็นรูป แต่ตาไม่เคยมองเห็นตาตนเองเลย
เช่น รู้เห็นอดีตอนาคตของตนเองแลคนอื่น
ว่าตนเองแลคนนั้นคนนี้เคยมีชาติภูมิเป็นอยู่อย่างนั้นอย่างนี้
เคยมีสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันอย่างนั้นอย่างนี้
แต่ไม่ทราบลำดับภพชาติแลในระหว่างนั้นได้เป็นอะไร ดังนี้เป็นต้น
แต่หาได้รู้ละเอียดไปถึงตัวเราแลคนนั้นได้ทำกรรมอะไรไว้จึงได้ไปเกิดเช่นนั้นไม่
แลเมื่อจะรู้จะเห็นก็ต้องจิตเข้าถึงภวังค์
มีอาการคล้ายๆ กับคนจะนอนหลับเคลิ้มไปหรือหายเงียบไปเลย
แล้วเกิดความรู้ขึ้นในขณะจิตเดียวเท่านั้น

สมาธิ นั้นจะจับเอาคำบริกรรมของฌานดังอธิบายมาแล้วนั้นก็ได้
หรือจับเอาอันอื่นที่มา ปรากฎแก่จิตของตนก็ได้
เช่น เดินไปเห็นเขาทำทารุณกรรมแก่สัตว์ หรือมนุษย์อย่างสาหัส
แล้วเกิดความสงสารเป็นอย่างยิ่งแก่สัตว์เหล่านั้น เป็นต้น
แล้วจับเอามาพิจารณาจนเห็นชัดแจ้งว่า
มนุษย์แลสัตว์เกิดมามีแต่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน
สัตว์ตัวน้อยแลมีอำนาจน้อยย่อมเป็นเหยื่อของการเบียดเบียนของสัตว์ตัวใหญ่
แลมีอำนาจมากอยู่อย่างนี้หาได้มีที่สิ้นสุดไม่ ตราบใดในโลกนี้ยังเป็นโลกอยู่
แล้วเกิดมีความสลดสังเวชในสัตว์เหล่านั้นพร้อมทั้งตัวของเรา
ซึ่งก็เป็นสัตว์ตัวหนึ่งของโลกเหมือนกับเขา
จิตก็สลดหดหู่เหมือนขนไก่ถูกไฟฉะนั้น แล้วก็รวมเข้ามาเป็นสมาธิ


พูดง่ายๆ เรียกว่า ฌาน พิจารณาบริกรรมเพ่งพยายามเพื่อให้จิตรวม
เมื่อจิตรวมแล้วก็ยินดีกับสุขสงบของฌานนั้นไม่อยากพิจารณาธรรมอะไรอีก

สมาธิ ก็พิจารณาเช่นเดียวกัน แต่พิจารณาให้เห็นสิ่งนั้น
ให้เห็นสภาพตามเป็นจริงของมันอย่างไร จิตจะรวมหรือไม่รวมก็ไม่คำนึงถึง
มีแต่เพ่งพิจารณาให้เห็นตามสภาพความเป็นจริงของมันก็แล้วกัน
ด้วยอำนาจจิตที่แน่วแน่ในอารมณ์อันเดียวนั้นแหละ จิตเลยเป็นสมาธิไปในตัว
มีลักษณะเหมือนกับนั่งสงบอยู่คนเดียว แต่จิตยังฟุ้งซ่านอยู่
ขยับออกไปนั่งอยู่อีกแห่งหนึ่งซึ่งอากาศโปร่งดี จิตใจก็เบิกบาน
แล้วอารมณ์ภายในจิตก็หายหมด ไม่วุ่นวายฉะนั้น

เมื่อมันจะเกิดความรู้อะไรขึ้นมาในที่นั้น
มันก็เกิดขึ้นมาอย่างฌานนั้นแหละ แต่มันไม่หลงลืมตัว
รู้แลเห็นอย่างคนนั่งดูปลาหรืออะไรว่ายอยู่ในตู้กระจกฉะนั้น
แลเมื่อจะเกิดถ้าผู้ชำนาญในการเข้าสมาธิแล้ว
ไม่เลือกกาลเวลา ยืน เดิน นั่ง นอน ย่อมรู้ได้ทุกเมื่ออย่างพระโมคคัลลานะ
ท่านลงมาจากเขาคิชฌกูฎ เห็นเปรตตัวหนึ่งยาว ๓ คาพยุต มีปากเท่ารูเข็ม
ท่านอดยิ้มไม่ได้ ท่านจึงยิ้มอยู่คนเดียวหมู่ภิกษุทั้งหลายเห็นดังนั้นจึงถามท่าน
ท่านก็ไม่บอก แล้วบอกว่าท่านทั้งหลายจะรู้เรื่องนี้ในสำนักของพระพุทธเจ้า
เมื่อไปถึงสำนักพระพุทธเจ้าแล้ว ท่านจึงกราบทูลพระพุทธองค์ว่า
"ข้าพระพุทธเจ้าลงมาจากภูเขาคิชฌกูฎ เห็นเปรตตัวหนึ่งยาว ๓ คาพยุต
มีปากเท่ารูเข็ม กินอะไรเท่าไรก็ไม่อิ่ม"

พระพุทธองค์ตรัสว่า "ดีแล้วๆ โมคคัลลานะเป็นสักขีของเรา
เปรตตัวนี้เราเห็นแต่เมื่อเราตรัสรู้ใหม่ๆ วันนี้โมคคัลลานะมาเป็นพยานของเรา"

สมาธิ เมื่อจะเข้าต้องมีสมาธิเป็นเครื่องวัด
เมื่อจิตฝึกหัดยังไม่ชำนาญ
มันจะรวมได้เป็นครั้งเป็นคราวนิดๆ หน่อยๆ เรียกว่า "ขณิกสมาธิ"
ถ้าหากฝึกหัดจิตค่อยชำนาญหน่อย
จิตจะรวมเป็นสมาธิอยู่ได้นานๆ หน่อย เรียกว่า "อุปจารสมาธิ"
ถ้าฝึกหัดจิตได้เต็มที่แล้ว จิตจะรวมเข้าเป็นสมาธิเต็มที่เลย เรียกว่า "อัปปนาสมาธิ"
แต่จิตจะเกิดรู้แต่เฉพาะจิตที่เป็นอุปจารสมาธิเท่านั้นสมาธิอื่นจะไม่เกิดเลย
แลเมื่อเกิดก็มักเกิดเป็นไปเพื่อเตือนแลสอนตนเองเป็นส่วนมาก


เช่น ปรากฏเห็นเป็นอุโบสถใหญ่มีพระสงฆ์เป็นอันมากเข้าประชุมกันอยู่
อันแสดงถึงการปฏิบัติของเราถูกต้องดีแล้ว
หรือปรากฏเห็นว่าทางอันรกขรุขระ มีพระคลุมจีวรไม่เรียบร้อย หรือเปลือยกายเดินอยู่
อันแสดงถึงการปฏิบัติของเราผิดทาง หรือไม่เรียบร้อยตามมรรคปฏิบัติ ดังนี้เป็นต้น


การละกิเลสท่านก็แสดงไว้ว่า พระโสดาบัน ละกิเลสได้ ๓
คือ สักกายทิฏฐิ ๑ วิจิกิจฉา ๑ สีลัพพตปรามาส ๑
พระสกทาคามี ละกิเลสเบื้องต้นได้ ๓ เหมือนกัน กับทำกามราคะ ๑ ปฏิฆะ ๑ ให้เบาบางลงอีก
พระอนาคามี ก็ละกิเลส ๓ เบื้องต้นนั้นได้ แล้วยังละกามราคะ ๑ ปฏิฆะ ๑ ได้เด็ดขาดอีกด้วย
พระอรหันต์ ละโอรัมภาคิยสังโยชน์ทั้ง ๕ เบื้องต้นได้แล้ว
ยังละรูปราคา ๑ อรูปราคะ ๑ มานะ ๑ อุทธัจจะ ๑ อวิชชา ๑ ได้อีกด้วย

ฌาน แลสมาธิ ถึงแม้ว่าจะบริกรรมภาวนาอันเดียวกันแต่การพิจารณมันต่างกัน
แลเวลาเข้าเป็นองค์ฌาน แลสมาธิมันก็ต่างกัน ความรู้ความเห็นก็ต่างกัน ดังได้อธิบายมานี้

ฌาน แลสมาธิ ทั้งสองนี้ ผู้ฝึกหัดกรรมฐานทั้งหลายจะไม่ให้เกิดไม่ได้
มันหากเกิดเป็นคู่กันอย่างนั้นเอง แล้วมันก็กลับกันได้เหมือนกัน
บางทีจิตรวมเข้าเป็นฌานแล้วเป็นโทษของฌานพิจารณากลับเป็นสมาธิไปก็มี
บางทีฝึกหัดสมาธิไปๆ สติอ่อนรวมเข้าเป็นฌานไปก็มี
ฌาน แลสมาธิ มันหากเป็นเหตุเป็นปัจจัยของกันแลกันอยู่อย่างนั้น
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
"ผู้ใดไม่มีฌานผู้นั้นไม่มีสมาธิ ผู้ใดไม่มีสมาธิผู้นั้นก็ไม่มีฌานเหมือนกัน"

เพราะฌานแลสมาธิฝึกหัดสายเดียวกัน คือเข้าถึงจิตเหมือนกัน เป็นแต่ผู้ฝึกหัดต่างกันเท่านั้น
บางท่านกลัวนักหนากลัวฌาน ตายแล้วจะไปเกิดเป็นพรหมลูกฟัก
แต่หารู้ไม่ว่าฌานเป็นอย่างไร จิตอย่างไรมันจะไปเกิดเป็นพรหมลูกฟัก

ผู้ต้องการจะชำระจิตใจของตนให้สะอาดปราศจากกิเลสทั้งปวง
จะต้องชำระ จิต นี้แหละ ไม่ต้องไปชำระที่ ใจ หรอก
เมื่อชำระที่ จิต แล้ว ใจ มันก็สะอาดไปเอง
เพราะจิตแส่ส่ายไปแสวงหากิเลสมาเศร้าหมองด้วยตนเอง
เมื่อชำระ จิต ให้ใสสะอาดแล้วก็จะกลายมาเป็น ใจ ไปในตัว


นักปฏิบัติทั้งหลาย เมื่อปฏิบัติเข้าถึงจิตถึงใจแล้ว
ถึงไม่ได้เรียนให้รู้ชื่อของกิเลสตัวนั้นว่าชื่ออย่างนั้นๆ
แต่รู้ด้วยตนเองว่าทำอย่างนั้น จิต มันเศร้าหมองมากน้อยแค่ไหน
คิดอย่างนั้น จิตมันเศร้าหมองมากน้อยแค่ไหน
เมื่อเห็นโทษของมันแล้ว มันจะต้องหาอุบายชำระด้วยตนเอง
มิใช่ไปรู้กิเลสทั้งหมดแล้วจึงชำระให้หมดสิ้นไป


เมื่อครั้งปฐมกาล พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้ใหม่ๆ
พระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลายออกประกาศพระศาสนา
ท่านที่ได้บรรลุธรรมทั้งหลายส่วนมากก็คงไม่ได้ศึกษาธรรมอะไรกันเท่าไรนัก
เช่น พระสารีบุตร เป็นต้น ได้ฟังธรรมโดยย่อจากพระอัสสชิว่า
"ธรรมทั้งหลายเกิดจากเหตุ พระพุทธเจ้าเทศนาให้ดับต้นเหตุ"
เพียงเท่านี้อุปติสสะ (คือพระสารีบุตร) ก็มีดวงตาเห็นธรรมแล้ว
เมื่อพระพุทธเจ้าเทศนาหลายครั้งหลายหนเข้า
พระสาวกทั้งหลายจดจำเอาคำสอนของพระพุทธเจ้าได้มากขึ้น
จึงมีการเล่าเรียนกันสืบต่อๆ กันไป พระพุทธศาสนาจึงแพร่หลายกว้างขวางมาโดยลำดับ

พระอานนท์ พระอนุชาผู้ติดตามพระพุทธเจ้าจดจำคำสอนของพระพุทธเจ้าได้แม่นยำ
จนได้ฉายาว่าเป็นพหูสูต ไม่มีใครเทียบเท่า
เทศนาสั่งสอนลูกศิษย์ให้ได้สำเร็จมัคค์ผล นิพพานมาแล้วมากต่อมาก
แต่ตัวท่านเองได้เพียงแค่พระโสดาบันขั้นต้นเท่านั้น
ตอนพระพุทธเจ้านิพพานแล้ว พระสงฆ์อรหันตสาวกทั้งหลายพร้อมกันทำสังคายนา
ในการนี้จะขาดพระอานนท์ไม่ได้ เพราะพระอานนท์เป็นพหูสูต
แต่ยังขัดข้องอยู่ที่พระอานนท์ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์
สงฆ์ทั้งหลายจึงเตือนพระอานนท์ว่า ให้เร่งทำความเพียรเข้า
พรุ่งนี้แล้วพระสงฆ์ทั้งหลายจะได้ทำสังคายนา
ในคืนวันนั้น ท่านได้เร่งทำความเพียรตลอดคืน
ธรรมที่ได้สดับมาแต่สำนักพระพุทธเจ้ามีเท่าใดนำมาพิจารณาคิดค้นจนหมดสิ้น
ก็ไม่ได้บรรลุพระอรหันต์ จนอ่อนเพลีย
จึงตัดสินใจว่า เอาเถอะไม่ได้บรรลุพระอรหันต์ก็แล้วเถิด
แล้วล้มพระเศียรเอนกายลงนอน พระเศียรยังไม่ทันแตะพระเขนยเลย
จิตก็รวมเข้าสู่มัคคสมังคี ปัญญาก็ตัดสินได้เด็ดขาดว่าบรรลุพระอรหันต์แล้ว

ผู้มีปัญญาพิจารณาคิดค้นเหตุผลในสิ่งนั้นๆ แล้วปล่อยวาง
ทำจิตให้เป็นกลางในสิ่งทั้งปวงได้ ย่อมจะเกิดความรู้ในธรรมนั้นๆ ได้ไม่มากก็น้อย
ดังท่านพระอานนท์ เป็นต้น


กิจในพระศาสนานี้มี ๒ อย่าง
ผู้บวชมาละกิจของฆราวาสแล้วจำเป็นต้องทำ
คือ สมถะ (คือฌาน แลสมาธิ) ๑ วิปัสสนา ๑

ฌานแลสมาธิได้อธิบายมามากแล้ว
คราวนี้มาฟังเรื่องของ วิปัสสนา ต่อไป


ผู้เจริญฌาน แลสมาธิจนชำนิชำนาญ จนทำจิตของตนให้อยู่ในบังคับตนได้
จะเข้าฌาน แลสมาธิเมื่อใดก็ได้ จะอยู่ได้นานเท่าใด
จะพิจารณาฌานให้เป็นสมาธิก็ได้ จะพิจารณาสมาธิให้เป็นฌานก็ได้
จนกลายเป็นเครื่องเล่นของผู้ปฏิบัติไป
การพิจารณาฌานแลสมาธิให้ชำนาญนี้ เป็นการฝึกหัดวิปัสสนาไปในตัว
เพราะฌานแลสมาธิก็พิจารณารูป-นามอันเดียวกัน
วิปัสสนาพิจารณาความแตกดับ เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อย่างเดียวกัน
แต่ฌาน แลสมาธิมีความรู้ขั้นต่ำ พิจารณาไม่รอบคอบ
เห็นเป็นส่วนน้อยแล้วก็รวมเสีย ไม่สามารถรู้ได้ทั่วถึงทั้งหมด ท่านจึงไม่เรียกว่าวิปัสสนา

เปรียบเหมือนมะม่วงสุกหวาน เบื้องต้นเป็นลูกมีรสขมโตขึ้นมาหน่อยมีรสฝาด
โตขึ้นมาอีกมีรสเปรี้ยว โตขึ้นมาจึงจะมีรสหวาน
รสทั้งหมดตั้งต้นแต่รสขมจนกระทั่งรสหวาน มันจะเก็บเอามารวมไว้ในที่เดียว
มะม่วงนั้นจึงจะได้ชื่อว่ามีรสดี นี้ก็ฉันนั้นเหมาะแล้วฌาน
พระสังคาหะกาจารเจ้าท่านไม่เรียกว่าวิปัสสนา เพราะเป็นชองเสื่อมได้

วิปัสสนานั้น ไม่ว่าจะพิจารณาคำบริกรรม หรือธรรมทั้งหลาย
มีธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ อายตนะ เป็นต้น
พิจารณาให้รู้แจ้งตามเป็นจริงของมันแล้วปล่อยวาง
แล้วเข้าอยู่เป็นกลางวางเฉย เรียกว่าวิปัสสนา
วิปัสสนา แปลว่ารู้แจ้ง เห็นจริงตามสภาพของมัน


วิปัสสนานี้พิจารณาจนชำนิชำนาญแก่กล้า จนเห็นรูปเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
แลธรรมารมณ์ทั้งหลาย ทั้งภายนอกแลภายใน เห็นเป็น อนิจจัง ของไม่เที่ยงจีรังถาวรยั่งยืน
เกิดมาแล้วก็แปรปรวน ผลที่สุดก็ดับสูญหายไปตามสภาพของมัน
สิ่งทั้งปวงเกิดขึ้นรองรับเอาสิ่งที่ไม่เที่ยงนั้น จึงต้องทน ทุกข์ ทรมานอยู่ตลอดเวลา

สิ่งทั้งปวงไม่ว่ารูปธรรม แลนามธรรม เกิดขึ้นมาแล้วย่อมเป็นไปตามสภาพของมัน
ใครจะห้ามปรามอย่างไรๆ ย่อมไม่อยู่ในอำนาจของใครทั้งหมด
มิใช่ของไม่มี ของมีอยู่ แต่ห้ามมันไม่ได้จึงเรียกว่า อนัตตา


ผู้เจริญวิปัสสนาทั้งหลาย เมื่ออายตนะภายในแลภายนอกมากระทบกันเข้า
มีความรู้สึกเกิดขึ้น ย่อมพิจารณาเป็นไตรลักษณญาณ อย่างนี้ทุกขณะ ไม่ว่าอิริยาบถใดๆ
ทั้งหมดถ้าพิจารณาจนชำนิชำนาญแล้วมันจะเป็นไปโดยอัตโนมัติของมันเองเมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว
ช่องว่างอันจะเกิดกิเลส มีราคะเป็นต้น มันจะเกิดขึ้นในจิตใจได้อย่างไร

ด้วยอำนาจผู้เจริญฌาน-สมาธิ แลวิปัสสนานี้แหละ จนชำนิชำนาญแก่กล้าเพียงพอแล้ว
จึงทำให้เกิด มัคคสมังคี

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ธ.ค. 2011, 20:01 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

:b42: :b39: :b39: :b42:

มัคคสมังคี มิใช่จิตที่รวมเข้าเป็นภวังค์อย่างฌาน
แลมิใช่จิตที่รวมเข้าเป็นสมาธิอย่างสมาธิ
แต่จะรวมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวเหมือนกัน
ในเมื่อวิปัสสนาพิจารณาค้นคว้าเหตุผลภายนอกภายในเห็นแจ่มแจ้งชัดเจนตามเป็นจริง
ไม่เคลือบแคลงสงสัยแล้ว จิตก็รวมเอา องค์มัคค์ ทั้ง ๘ (คือ ศีล สมาธิ ปัญญา)
เข้ามาไว้ในที่เดียวให้เป็น สัมมาทิฏฐิ อันเดียว ในขณะจิตเดียว
แล้วก็ถอนออกมาจากนั้นแล้วก็เดินไปตามกามาพจรจิต
แต่มีความรู้เท่าอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้หลงไปตามกามารมณ์เช่นเมื่อก่อน
มัคคจิต นี้ท่านแสดงไว้ว่าแต่ละมัคค์จะเกิดหนเดียว แล้วจะไม่เกิดอีกเด็ดขาด

ต่อนั้น ผู้ได้ ปฐมมัคค์ แล้วก็เจริญวิปัสสนาตามที่ตนได้เจริญมาแล้วแต่เบื้องต้น
วิปัสสนาจะรู้เห็นชัดแจ้งสักปานใดก็เห็นตามของเก่า
ไม่ได้ชื่อว่าเป็นมัคคสมังคี
เหมือนกับความฝันตื่นจากนอนแล้วเล่าความฝันได้ถูกต้อง แต่มิใช่ฝันฉะนั้น

หากมัคคสมังคีที่สูงขึ้นไปโดยลำดับจะเกิดขึ้น
ก็ด้วยปัญญาอันแก่กล้าเจริญมัคค์ให้คล่องแคล่วจนชำนาญ
แล้วมันหากเกิดเองของมันต่างหาก ใครจะแต่งเอาไม่ได้
แต่ละภูมิพระอริยมรรคจะเป็นเครื่องตัดสินชี้ขาดว่าได้ขั้นนั้นๆ
แต่จะรู้จักด้วยตนเองเท่านั้นคนอื่นจะรู้ด้วยไม่ได้ จะรู้ก็ต่อถึงเมื่อมรรคนั้นๆ แล้วเท่านั้น
การจะรู้ด้วยอภิญญา หรือผู้มีภูมิสูงกว่า
หรือด้วยการสังเกตก็ได้ แต่ข้อสุดท้ายนี้ไม่แน่เหมือนกัน

นักปฏิบัติทั้งหลาย ไม่ว่าจะเรียนมาก หรือน้อย
หรือเรียนเฉพาะกรรมฐานที่ตนจะต้องพิจารณาก็ตาม
เมื่อลงมือปฏิบัติแล้วจะต้องทอดทิ้งสิ่งทั้งปวงหมด
เพ่งพิจารณาแต่เฉพาะกรรมฐานที่ตนพิจารณาอยู่นั้นเฉพาะอย่างเดียว

จึงจะรวมลงเป็นเอกัคคตารมณ์ได้ จะเรียนมาก
หรือเรียนเอาแต่เฉพาะกรรมฐานที่ตนพิจารณาอยู่นั้นก็ตาม
ก็เพื่อทำจิตให้เป็นสมาธิ เอกัคคตารมณ์อันเดียว
ดังท่านที่เจริญวิปัสสนา ถึงแม้จิตจะแส่ส่ายตามสภาพวิสัยของมันซึ่งบุคคลยังมีชีวิตอยู่
แต่ก็รู้เท่าทันเห็นตามพระไตรลักษณ์ไม่หลงใหลตามมัน


อารมณ์ที่พบผ่านมาไม่ว่าจะเป็นตา หู จมูก ลิ้น กายแลใจก็ตาม
ล้วนแล้วแต่เป็นอุปสรรคของการทำฌาน สมาธิ ทั้งนั้น
ตกลงว่า อายตนะที่เราได้มาในตัวของเรานี้เป็นภัยแก่การทำฌาน-สมาธิ ของเราทั้งนั้น
ผู้พิจารณาเห็นโทษดังนี้ ย่อมเบื่อหน่ายในอารมณ์นั้นๆ
เห็นจิตที่สงบจากอารมณ์นั้นแล้วจิตจะรวมเข้าเป็นเอกัคคตารมณ์สงบนิ่งเฉยอยู่คนเดียว
เมื่อจิตถอนออกมาแล้ว ก็จะวิ่งตามวิสัยของมันอีก
แล้วเห็นโทษของมัน สละถอนออกจากอารมณ์นั้นอีก
ทำจิตให้เข้าสู่เอกัคคตารมณ์อีก ทำอย่างนี้จนจิตคล่องแคล่วชำนิชำนาญ
จนเห็นว่าอารมณ์ทั้งปวงสักแต่ว่าอารมณ์เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไปตามสภาพของมัน
จิตก็อยู่พอจิตต่างหากจิตไม่ใช่อารมณ์ อารมณ์ไม่ใช่จิต
แต่อาศัยจิตเข้าไปยึดเอา อารมณ์จึงเกิด
เมื่อขาดตอนกันอย่างนี้ จิตก็จะอยู่วิเวกคนเดียว กลายเป็นใจ ขึ้นมาทันที

ความรู้ในทางพระพุทธศาสนา ถ้าพูดว่าลึกแลกว้างก็ลึกแลกว้าง
เพราะผู้นั้นทำตนไม่ให้เข้าถึงใจ เมื่อจะพูดก็พูดแค่อาการของใจ (คือจิต)
จิต คิดนึกปรุงแต่งอย่างไร ก็พูดไปตามอาการอย่างนั้น
แต่จับตัว ใจ (คือผู้เป็นกลางนิ่งเฉย) ไม่ได้
อุปมาเหมือนกับคนตามรอยโค ตามไปเถิด ตามไปวันค่ำคืนรุ่ง
เมื่อยังไม่เห็นตัวของมันแลจับตัวมันยังไม่ได้ ก็ตามอยู่นั้นแหละ
ถ้าตามไปถึงตัวมันแลจับตัวมันได้แล้ว ไม่ต้องไปแกะรอยมันอีก

ธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าก็เช่นเดียวกัน ที่ว่าลึกซึ้งแลกว้างขวางนั้น
เพราะเราไม่ทำ จิต ให้เข้าถึง ใจ ตามแต่อาการของใจ (คือจิต) จึงไม่มีที่สิ้นสุดได้
ดังท่านแสดงไว้ในอภิธรรมว่าจิตเป็นกามาพจร จิตเป็นรูปาพจร
จิตเป็นอรูปาพจร แลจิตเป็นโลกุตร มีเท่านั้นดวง เท่านี้ดวง
ท่านจำแนกแจกอาการของจิตไว้เป็นอเนกประการ
เพื่อให้รู้แลเข้าใจว่า อาการของจิตมันเป็นอาการอย่างนั้นๆ
เพื่อให้ผู้ปฏิบัติไม่หลงตามอาการของมันต่างหาก
แต่ผู้ท่องบ่นจดจำได้แล้ว เลยไปติดอยู่เพียงแค่นั้น จึงไม่เข้าถึงตัวใจสักที
มันก็เลยเป็นของลึกซึ้งแลกว้างขวาง เรียนเท่าไรก็ไม่รู้จักจบจักสิ้นสักที


ดูเหมือนพระพุทธเจ้าจะสอนพวกเราว่า
"เราได้เคยตามรอยโคมาแล้วนับเป็นอเนกชาติ
ถึงแม้ในชาติปัจจุบันเราได้เกิดมาเป็นสิทธัตถะ
เราก็ตามอยู่ถึง ๖ ปี จึงได้พบตัวโค (คือใจ)"


ถ้าจะพูดว่าแคบก็แคบ แคบในที่นี้มิได้หมายความว่าที่มันไม่มี
แลของมันไม่มี ของกว้างๆ นั้นแหละ
จับแต่หัวใจของมัน หรือข้อสำคัญของมัน จึงเรียกว่าแคบ
เช่น จิตของคนเรา มันคือวุ่นวายไปตามอารมณ์ของตน แลของตัวเราเอง
ไม่รู้จักหยุดจักยั้งสักทีเรียกว่า กว้าง
ผู้มาเห็นโทษของจิตว่าวุ่นวายส่งส่าย
มันเป็นทุกข์แล้วมาพิจารณาเรื่องอารมณ์มันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
เรื่องของจิตผู้คิดนึกไปตามอารมณ์มันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
แล้วเรามาแยกออกจากกันเสีย เอาอารมณ์ออกไปไว้ส่วนหนึ่ง เอาจิตออกไปไว้ส่วนหนึ่ง
จิตก็จะอยู่คนเดียว แล้วมาเป็นใจ อารมณ์ก็หายสูญไปโดยไม่รู้ตัว

คราวนี้จะเห็นได้ชัดเลยทีเดียวว่า
สรรพกิเลสทั้งปวงและโทษทุกข์ทั้งหลายที่มนุษย์คนเราได้พากันเสวยอยู่นี้
ล้วนแต่จิตผู้เดียวเป็นผู้หามาใส่ ถ้าจิตไม่ไปหามาใส่แล้ว
จิตก็จะกลายเป็นใจไม่มีอะไรเกี่ยวข้อง อยู่เป็นสุขโดยส่วนเดียว

เหมือนต้นกล้วยไม่มีแก่น แกะกาบไปๆ ผลที่สุดเลยหาแก่นไม่ได้ มีแต่กาบอย่างเดียว
ผู้ภาวนาทั้งหลายล้วนแต่แกะกาบหาแก่นแท้ของธรรมทั้งนั้น
ผู้หาแก่นของธรรมแต่แกะกาบไม่หมดจึงไม่เห็นธรรม

ผู้ภาวนายังไม่ถึงจิตถึงใจพากันกลัวนักกลัวหนาว่า
เมื่อจิตเข้าถึงใจแล้วจะไม่ทำให้เกิดความรู้อะไรต่างๆ
เมื่อไม่เกิดความรู้ความสิ้นทุกข์มันจะมีมาแต่ไหน มันก็โง่เท่านั้นเอง
แม้พระผู้ใหญ่บางท่านก็พูดกับผู้เขียนเองเช่นนี้เหมือนกัน
ผู้เขียนเคยได้อธิบายแล้วว่า จิตเป็นผู้ส่งส่ายหาอารมณ์ต่างๆ มาครอบงำจิต
เมื่อจิตเห็นโทษของอารมณ์นั้นๆ แล้ว
จิตสละอารมณ์นั้นเสีย แล้วเข้ามารวมเป็นหนึ่ง เลยกลายเป็นใจ


มิใช่เข้ามาอยู่เป็นใจเลยโดยมิได้ตรึกตรองพิจารณาให้รอบคอบ
เรียกว่าพิจารณาหาเหตุผลทุกแง่ทุกมุมจนถึงพระไตรลักษณ์ ไม่มีที่ไปแล้วจึงเข้าถึงใจ
เมื่อเป็นเช่นนี้จะเรียกว่าไม่มีปัญญาได้อย่างไร ก็มีปัญญาตามชั้นตามภูมิของตนนั้นเอง
ดังได้อธิบายมาแล้วว่า จิตเป็นเหตุให้เกิดกิเลส ถ้าไม่มีจิตกิเลสมันจะมีมาแต่ไหน
ทั้งเป็นเหตุให้เกิดปัญญา ถ้าหาจิตไม่ได้แล้วจะไปคิดปรุงแต่งพาปัญญามาที่ไหน
เป็นเหตุให้เกิดกิเลสเพราะจิตส่งส่ายไม่เข้าถึงใจ "คือความเป็นกลาง"
เป็นเหตุให้เกิดปัญญาเพราะจิตส่งส่ายไปในที่ต่างๆ
แล้วรวมเข้ามาลงในพระไตรลักษณ์แล้วหยุดนิ่งเฉยรู้ตัวอยู่ว่านิ่งเฉย เข้าถึงใจ

เหมือนกับตัวไหม เขาเลี้ยงด้วยหม่อน โตขึ้นโดยลำดับจนกลายมาเป็นบุ้ง
แก่แล้วชักใยหุ้มตัวมันเอง เขาเรียกว่าดักแด้แก่เข้าแล้วเจาะรังออกมา เขาเรียกว่าแมลงบี้
ออกไข่ตั้งเยอะแยะนับเป็นหมื่นๆ แสนๆ ตัวฉันใด
จิตก็ฉันนั้น เมื่อมันรวมตัวเข้าเป็นใจแล้ว จะไม่มีอาการอะไรทั้งหมด
เมื่อมันออกจากใจมาแล้วมันจะมีอาการมากมายเหลือจะประมาณ
(แต่ท่านผู้รู้ทั้งหลายท่านจะไม่ยอมให้มันออกไปเที่ยวเกิดอีก ประหารในที่เดียวเลย)

สรรพกิเลสของมนุษย์ผู้ไม่ได้ทำสมาธิภาวนา จิตยังวุ่นอยู่ในอารมณ์ต่างๆ
ก็เหมือนกับลูกแมลงบี้ที่เกิดจากแม่ตัวเดียวมีลูกนับเป็นหมื่นๆ แสนๆ ตัวฉะนั้น

สรุปแล้ว กิเลสทั้งหลายของมนุษย์เรานี้เกิดจากจิตแต่ผู้เดียว
เมื่อสัมปยุตไปด้วยอายตนะทั้ง ๑๒ คือ ภายนอก ๖ มีรูป เสียง เป็นต้น
อายตนะภายใน ๖ มี ตา หู เป็นต้น กระทบกัน แล้วก็เกิดผัสสะขึ้นมา
แล้วก็แผ่ออกเป็นลูกหลาน ลุกลามไปทั่วทั้งโลกให้เกิดความยินดียินร้าย
ความรักความชัง เกลียด โกรธ
แล้วประหัตประหารฆ่าฟันซึ่งกันและกัน ทำให้โลกนี้วุ่นวายไปหมด


เมื่อรู้เช่นนี้ นักปฏิบัติทั้งหลายควรระวังสังวร
อย่าให้จิตไปสัมปยุตด้วยอายตนะทั้ง ๑๒ เหล่านั้น
ทำใจให้เป็นกลางวางเฉยอยู่คนเดียว
ถึงแม้จิตจะใช้อายตนะทั้งหลายเป็นเครื่องเที่ยว
ก็ให้ระวังใจไว้ อย่าให้หลงตามจิต


เมื่อใจไม่หลงตามจิต เพราะใจรู้เท่าเข้าใจอาการของจิต
ว่าจิตเป็นผู้นำอารมณ์ให้ปรุงแต่งวุ่นวาย
ใจก็จะอยู่คนเดียวตามธรรมชาติของใจ
เมื่อใจเป็นธรรมชาติของมันแล้ว จิตจะปรุงจะแต่งก็เข้าถึงใจ เพราะใจไม่มีอาการไปแลอาการมา
ไม่มีนอกแลในไม่มีความยินดีแลยินร้าย ปล่อยวางเฉยในสิ่งทั้งปวงแล้ว จิตก็จะขวยเขินไปเอง

นักปฏิบัติเมื่อเห็นชัดตามเป็นจริงดังได้อธิบายมานี้แล้วจะเห็นสิ่งทั้งปวง
ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรม แลนามธรรมทั้งหลาย เห็นเป็นสักว่า สภาวธรรม เท่านั้น

เกิดขึ้นจากเหตุปัจจัย หมดเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไปเท่านั้น ไม่มีอะไรจะเป็นจริงเป็นจังเลย
แล้วแผ่นดินคือกายผืนแผ่นเล็กๆ อันนี้ กว้างศอก ยาววา หนาคืบ ก็จะบรรจุเต็มไปด้วยธรรมทั้งหมด
ตามองออกไปเห็นรูป ก็จะเห็นเป็นสักแต่ว่าเป็นธรรมเท่านั้น ไม่เห็นเป็นอย่างอื่น
หูได้ฟังเสียง ก็จะเห็นเป็นสักแต่ว่าเป็นธรรมเท่านั้น จะไม่เป็นอย่างอื่น
จมูกถูกกลิ่น ลิ้นถูกรสกายถูกสัมผัส
ใจมีอารมณ์เกิดขึ้น ก็สักแต่ว่าเป็นธรรมเท่านั้น
มิใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา หรืออะไรทั้งสิ้น

คนไทยทั้งประเทศ เมื่อได้แผ่นดินคนละผืนอันเล็กๆ กว้างศอก ยาววา หนาคืบอันนี้แล้ว
ตั้งใจรักษาแผ่นดินอันนี้ให้เป็นธรรม เมื่อต่างคนต่างรักษาแผ่นดินของตนให้เป็นธรรมแล้ว
ประเทศไทยก็จะกลายเป็นแผ่นดินธรรมไปทั้งหมด
คราวนี้ใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็จะสบาย ไม่ต้องลำบาก


:b44: :b41: :b41: :b44:


ที่มา http://www.watasokaram.com/board/read.php?tid=516

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ธ.ค. 2011, 09:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 มี.ค. 2010, 16:12
โพสต์: 2298

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


สาธุ ..ครับ :b8: ที่นำสิ่งดีๆ มาแบ่งปันกันเสมอ :b12:

.....................................................
"พุทโธ .. พุทโธ .. พุทโธ"
ภาวนาวันละนิด จิตแจ่มใส


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ธ.ค. 2011, 19:28 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


ลึกๆจริงๆในใจก่อนหน้านี้ ตั้งใจไว้ว่า
จะไม่นำบทความที่เกินความรู้ความสามารถ ภูมิธรรมของตัวเองมาโพส
เพราะเกรงจะผิดพลาดประการใด ล่วงเกินครูบาอาจารย์(ทางอ้อม)ไปด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์น่ะค่ะ


แต่ว่า มาคิดอีกทีว่า แม้ภูมิรู้ภูมิธรรมเราไม่ถึง
แต่คำสอนครูบาอาจารย์ต้องมีประโยชน์ต่อหลายท่านแน่ๆ
และอีกหลายท่านที่ได้อ่านอาจสามารถได้รับประโยชน์จากคำสอนเหล่านี้ คิดไปคิดมาเลยโพส

ถ้ามีอะไรผิดพลาด ฮานาโกะของรับไว้คนเดียวและได้โปรดชี้แนะด้วยนะคะ
(ฝากเนื้อฝากตัวอ่ะ อิๆ) :b27: :b3:

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ธ.ค. 2011, 08:28 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 มี.ค. 2010, 16:12
โพสต์: 2298

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ยินดีรับฝากอ่ะ .. อิอิ :b13:

.....................................................
"พุทโธ .. พุทโธ .. พุทโธ"
ภาวนาวันละนิด จิตแจ่มใส


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ธ.ค. 2011, 20:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


:b3: โอ้ เยี่ยมเลย แต่หนักหน่อยนะคะ นน. เยอะ :b32: :b32: :b32: :b32:

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ธ.ค. 2011, 07:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 มี.ค. 2010, 16:12
โพสต์: 2298

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ช่วงนี้อากาศเปลี่ยน .. รู้สึกไม่ค่อยซะบาย .. คงป่วยหลายวันอ่ะ :b22: :b22:

:b32: :b32: :b13:

.....................................................
"พุทโธ .. พุทโธ .. พุทโธ"
ภาวนาวันละนิด จิตแจ่มใส


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 12 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 21 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร