วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 18:09  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ก.ย. 2011, 16:56 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 มิ.ย. 2011, 18:31
โพสต์: 292


 ข้อมูลส่วนตัว


อริยสัจ แปลว่าของจริง อริยสัจมันมีเป็นขั้น ๆ

พระพุทธเจ้าองค์ปฐม

......................................

ในตอนนี้มีสามเรื่อง เรื่องแรก อริยสัจ แปลว่าของจริง เรื่องที่สอง เรื่องเวลาทางธรรมมีอยู่ขณะจิตเดียว คือ ธรรมปัจจุบัน และเรื่องพรหมวิหาร ทั้งสามเรื่องเป็นพระเมตตาที่ทรงสอนโดย พระพุทธเจ้าองค์ปฐม ข้อมูลนี้นำมาจากหนังสือ “ธรรมนำไปสู่ความหลุดพ้นเล่ม ๕ เดือนกรกฎาคม ๒๕๓๖” รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน ขอความเจริญในธรรมจงมีแด่ทุก ๆ ท่านครับ

................................

อริยสัจ แปลว่าของจริง

ในวันต่อมา(พฤหัสที่ ๑ ก.ค. ๒๕๓๖) สมเด็จองค์ปฐม ก็ทรงพระเมตตาตรัสสอนว่า

๑. ศึกษามาตั้งนาน เพิ่งรู้ว่าเป็นอริยสัจหรือ (ก็ยอมรับว่า ใช่)

๒. จอมโง่ เจ้าจงรู้ไว้ว่า แม้คำสอนที่ตถาคตและพระพุทธเจ้า หรือพระอริยสงฆ์ทุก ๆ องค์มาสงเคราะห์เจ้านั้นก็เป็นอริยสัจทั้งสิ้น (เพื่อนของผมท่านก็ตกตะลึง เพราะคาดไม่ถึง)

๓. สิ่งใดที่ตถาคตตรัส สิ่งนั้นย่อมเป็นของจริง อริยสัจแปลว่าของจริง พระธรรมทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้นก็เป็นของจริง พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ต่างก็อาศัยอริยสัจบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณกันเหมือนตถาคตทั้งสิ้น จิตเมื่อเข้าถึงอริยสัจขั้นสูงสุด กล่าวคือ ถึงความเป็นอรหัตผล เห็นทุกข์ ยอมรับและวางทุกข์หมดทุกอย่าง จิตก้าวถึง สมุทัย - นิโรธ - มรรค แล้วก็สิ้นทุกข์ตามความเป็นจริง เพราะยอมรับอัตภาพร่างกายที่เกิดขึ้นแล้วต้องแก่-เจ็บ-ตาย มีการกระทบกระทั่งอารมณ์ มีความปรารถนาไม่สมหวัง มีการพลัดพรากจากของรักของชอบใจ

๔. เมื่อจิตท่านยอมรับตามอริยสัจนี้ เหตุแห่งทุกข์อันเกิดแก่ร่างกายเกิดขึ้น ท่านก็เคารพในกฎของกรรมเป็นธรรมดาฉะนี้ไม่หนีแล้ว เพราะรู้อยู่แก่ใจว่าเป็นเรื่องจริง เป็นสิ่งปกติธรรมดา อารมณ์จิตของท่านสบาย คลายจากสังโยชน์อันเป็นเครื่องร้อยรัดอย่างสิ้นเชิง อารมณ์เป็นสุขมุ่งเฉพาะพระนิพพานจุดเดียวเท่านั้น พูดมาแค่นี้เจ้าเข้าใจอริยสัจหรือยัง (ก็ยอมรับว่าเข้าใจแล้ว)

๕. เข้าใจแล้ว แต่ก็ต้องศึกษาให้เข้าถึงใจต่อ ๆ ไปด้วย เพราะเจ้ายังมีสังโยชน์ ๗ ประการ เป็นเครื่องร้อยรัด จงหมั่นรู้ทุกข์ (กำหนดรู้) รู้โทษแห่งสังโยชน์นั้น ๆ ให้พึงเห็นอริยสัจ วางกรรมทั้งปวงลงได้ตามลำดับเถิด

๖. ขอจงอย่าลืมตัว ทะนงตนว่า เป็นผู้รู้ เพราะตราบใดที่ยังไม่สิ้นสังโยชน์ จงสำนึกตนไว้เสมอว่า จิตเจ้ายัง เป็นผู้ชั่วอยู่ เพราะจิตยังถูกสังโยชน์ร้อยรัดให้จุติอยู่ แม้อัตภาพยังไม่สิ้น จิตเจ้าก็ยังเกิดอารมณ์อยู่เนือง ๆ ซึ่งล้วนแต่ทำให้เกิดทุกข์ทั้งสิ้น

๗. อย่าคิดว่าตนเองดีแล้วเป็นอันขาด ให้หมั่นโจทย์จิตเอาไว้เสมอ ๆ เมื่อยามที่เกิดอารมณ์ว่านี่เลว นี่ชั่วไปเสียแล้ว ห้ามปรามอารมณ์ข่มจิตเข้าไว้ให้รู้

๘. มีสติอยู่เสมอ ๆ ว่านี่ไม่ใช่หนทางจักไปพระนิพพาน (ก็คิดว่าตัวเองได้พยายามห้ามแล้ว แต่บางขณะก็ยังยับยั้งอารมณ์ของจิตตนเองไม่อยู่)

๙. ทรงตรัสว่า กรรมฐานแก้จริตยังอ่อนเกินไป อานาปานัสสติหย่อนไป จิตจึงไม่มีกำลัง เจ้ามักจักเผลอลืมลมหายใจเข้า-ออกไปเป็นประจำ ก็เหมือนทหารรบแนวหน้าที่ทิ้งฐานกำลังวิ่งออกไปเสี่ยงอาวุธข้าศึกโจมตีตามลำพัง มีแต่ตายกับพิการเท่านั้นเป็นของกำนัล หาประสบกับชัยชนะต่อข้าศึกไม่ ฉันนี้ก็ฉันนั้น อานาปานัสสติเป็นเกราะป้องกันข้าศึกโจมตีที่ใหญ่ที่สุด ไม่ว่าจักเป็นฌานหรือสมถะ - วิปัสสนาก็ต้องอาศัยการรู้ลมหายใจเข้า - ออก เป็นฐานกำลังทั้งสิ้น

๑๐. เพราะฉะนั้น จงหมั่นทรงอารมณ์อานาปานัสสติให้ดี ๆ เพราะเป็นกำลังใหญ่ของการปฏิบัติธรรมทั้งหมด เอาล่ะเมื่อเจ้าเข้าใจพอควรแล้ว ก็จงเพียรนำไปปฏิบัติให้เกิดผลด้วย


เรื่องเวลาทางธรรมมีอยู่ขณะจิตเดียว
คือ ธรรมปัจจุบัน



ในวันต่อมา คือ ศุกร์ที่ ๒ ก.ค. ๒๕๓๖ เพื่อนของผมท่านเล่าว่า ขณะที่กวาดวัดอยู่คนเดียว ก็เอาพระธรรมคำสอนของพระองค์มาปฏิบัติ คือ เอากายทำงานทางโลก แต่เอาจิตอยู่กับพระธรรม ใช้ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ทำให้เห็นกฎของกรรม ซึ่งเป็นอริยสัจขั้นสูง พยายามให้จิตยอมรับว่า ทุกสิ่งที่เข้ามากระทบทางทวารทั้งหก พยายามให้จิตยอมรับว่า ทุกสิ่งที่เข้ามากระทบทางทวารทั้งหก (อายตนะ ๖) ล้วนเป็นของธรรมดา จิตเลยไม่ดิ้นรนและเป็นสุข การปฏิบัติในเช้าวันนั้น เริ่มต้นด้วยอานาปา พร้อมกับจับภาพพระ ๔ องค์ตามที่สมเด็จองค์ปฐมทรงตรัสแนะนำไว้ คือ องค์ปฐม, องค์ปัจจุบัน หลวงพ่อปานและหลวงพ่อฤๅษี เมื่อ ๒๗ มิ.ย. ๒๕๓๖ มีต้นเหตุมาจากเพื่อนผมท่านเจริญพระกรรมฐานแล้วเกิดความกลัว เพราะตนเองโง่ จึงเกิดมานานแสนนาน จึงเกรงว่าอารมณ์โง่หรือมิจฉาทิฎฐิที่เกาะจิตมานาน จะให้ผลกับตนในชาติปัจจุบัน พระองค์จึงทรงพระเมตตามาตรัสสอนว่า

๑. ถ้าเจ้ายังกลัวเลวอยู่ ก็แสดงว่าจิตยังพอมีความดีอยู่บ้าง แต่เวลาใดที่ไม่มีความกลัวเลว จิตคิดว่าตนเองดีเมื่อไหร่ เมื่อนั้นเจ้าจักเป็นคนเลวอย่างแท้จริง

๒. เอาอย่างนี้ซิ จับภาพพระ ๔ จุด ภาวนานิพพานไปให้ชินจิตเห็นตถาคตคุมกายอยู่ภายนอก เห็นองค์สมเด็จปัจจุบันประทับนั่งอยู่ในสมอง เห็นท่านปานนั่งอยู่ในอก เห็นท่านฤๅษีนั่งอยู่เหนือฐานสะดือ - ภาวนาไป จับภาพไล่ขึ้น ไล่ลง วนไป วนมา ให้จิตทรงตัว

๓. และผมจำได้ว่า ทรงตรัสไว้อีกตอนหนึ่งความว่า ไปไหนจงอย่าไปคนเดียวให้ไปกับพระ ๔ องค์

องค์ที่ ๑ คือ ตถาคตให้คุมกายเธอไว้ภายนอก
องค์ที่ ๒ คือ สมเด็จองค์ปัจจุบัน ให้ประทับอยู่ในสมอง หรือบนศีรษะก็ได้
องค์ที่ ๓ คือ หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค เอาไว้ที่ฐานหน้าอก
องค์ที่ ๔ ท่านฤๅษี เอาไว้ที่ฐานเหนือสะดือ


ในวันนี้ หลวงพ่อปาน ท่านก็มีเมตตามาสอนว่า

๑. อย่าให้เวลาทางโลกมันมาทำลายการปฏิบัติธรรมเพื่อมรรคผลนิพพาน เวลาทางธรรมมีอยู่ขณะจิตเดียว คือธรรมปัจจุบัน ร่างกายจะทำอะไรอยู่ก็ช่าง อย่าร้อนใจ

๒. งานของร่างกายเปลี่ยนไปตามสภาวะของโลก ตามเวลาของโลก แต่อย่าร้อนใจให้งานทางจิต คือรู้ธรรมปฏิบัตินั้นเสียหายไป แยกส่วนออกมาให้ได้ อกาลิโก จึงจะเกิดขึ้นได้

๓. จะพูดอยู่ จะกินอยู่ จะนอนอยู่หรือทำอะไรอยู่ก็ตาม นึกถึงภาพพระ กำหนดรู้ลมหายใจเอาไว้เสมอ และรู้สภาพตามความเป็นจริงของร่างกายนี้ไว้เสมอ ทำให้ชิน จิตจะได้เป็นสุข มรรคผลมันเกิดตรงที่เห็นของจริง เห็นอริยสัจนี้ จึงจะเป็นพระอริยเจ้าได้

๔. พระโสดาบันที่ได้ชื่อว่าเข้าถึงโลกุตรธรรม เพราะมีศีลบริสุทธิ์และเห็นอริยสัจของร่างกายว่าต้องตาย ยอมรับนับถือความตาย และมีความเคารพ พระพุทธ - พระธรรม - พระอริยสงฆ์มั่นคงไม่คลอนแคลน เพราะธรรมของรัตนะทั้ง ๓ นี้ พ้นโลกแล้ว

๕. พระสกิทาคามีไม่พูดถึง อย่างพระอนาคามีท่านเห็นทุกข์และโทษของอารมณ์ราคะและปฏิฆะ ซึ่งเป็นตัวนำให้เกิด เมื่อตัดระงับได้ท่านก็ไปเป็นพรหม ต่อบุญบนนั้นเข้าถึงพระนิพพานเลย

๖. สำหรับพระอรหันต์ ท่านเห็นทุกข์ว่าพรหมก็ยังไม่จบกิจ ก็ตัดตัวอวิชชาทิ้งไปเสีย จนหมดกิจที่จะทำต่อไป อริยสัจมันมีเป็นขั้น ๆ อย่างนี้ เอ็งเห็นแล้ว แม้เป็นสัญญา ก็จงนำไปปฏิบัติให้เกิดปัญญา ให้เกิดความชำนาญด้วย (ก็รู้สึกอยากมีอารมณ์แบบนี้ และให้ทรงตัวจะได้สบายและเบา)

๗. ก็ทำจิตให้เป็นฌานซิ ทำให้บ่อย ๆ จิตมันก็จะสงบเยือกเย็นได้ แล้วใช้พรหมวิหาร ๔ คุม ทีนี้อะไร ๆ ก็จะสบายไปหมด

๘. เอ็งไปดูและศึกษาบทกรณีเมตตายสูตร ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ซิ ในนั้นมีข้อคิดให้นำมาปฏิบัติ ถ้าทำได้อย่างต่ำก็เป็นพระอนาคามี อย่างสูงก็เป็นพระอรหันต์


พรหมวิหาร ต้องเต็มทุกข้อ

เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๐ ก.ค. ๒๕๓๖ สมเด็จองค์ปฐม ทรงพระเมตตาตรัสให้ดังนี้

๑. หมั่นเอาจิตจดจ่อ พิจารณาพรหมวิหาร ๔ ให้เนือง ๆ ด้วย พยายามให้เกิดแก่อารมณ์ของตนเองเป็นสำคัญ เมตตาภายในให้เต็มเสียก่อน จึงค่อยคิดเมตตาออกภายนอก

๒. ที่จิตของเจ้ามีความวุ่นวายอยู่ในขณะนี้ เพราะพรหมวิหาร ๔ อ่อน ไม่เมตตาจิตของตนเอง จึงยังอารมณ์ให้เบียดเบียนตนเองอยู่เสมอมิได้ขาด เจ้าจงอย่าทิ้งกรรมฐานบทนี้ พยายามทำควบคู่ไว้กับมรณาและกายคตา และอสุภะ และอุปสมา โดยอาศัยอานาปานัสสติเป็นพื้นฐานยังจิตให้มีกำลัง

๓. การพิจารณาก็ต้องให้เห็นทุกข์ อันเกิดจากอารมณ์เบียดเบียนจิตของตนเอง อันมีสาเหตุมาจากพรหมวิหาร ๔ ไม่ทรงตัว ขาดกรรมฐานบทนี้ตัวใดตัวหนึ่งใน ๔ ตัว จิตของเจ้าก็ไม่พ้นจากอารมณ์ที่เบียดเบียนตนเอง และไม่พ้นจากอารมณ์ที่ไปเบียดเบียนผู้อื่น แล้วไม่พ้นจากโลกธรรมที่เข้ามากระทบอารมณ์ของจิต

๔. การขาดพรหมวิหาร ๔ หรือทรงพรหมวิหาร ๔ ไม่ครบทุกตัว ธรรมแห่งการถูกเบียดเบียน ก็จักกระทบเข้ามาเป็นลูกโซ่ปานฉะนี้ ขอให้พวกเจ้าใช้ปัญญาพิจารณาให้ดี ๆ จักได้เป็นแนวทางปฏิบัติ ทำพรหมวิหาร ๔ ให้เต็มได้

๕. แล้วอย่าทิ้งอิทธิบาท ๔ เสียล่ะ จรณะ ๑๕ ก็ต้องทรงให้ครบ ใช้วิชชาทั้ง ๘ คือญาณทั้ง ๘ หรือมโนมยิทธินั้นกำหนดรู้อดีต อนาคต ปัจจุบัน เป็นเครื่องประกอบศึกษาธรรมหมวดพรหมวิหาร ๔ ไปด้วย จักได้รู้ว่า ผลของการขาดพรหมวิหาร ๔ มีผลส่งทำให้เกิดกรรมเช่นใด และจักได้รู้ผลของการรักษาพรหมวิหาร ๔ ถ้าครบอนาคตจักเป็นเช่นใด และรู้ผลของจิตปัจจุบันบันที่กำลังทำความเพียรอยู่ในขณะนี้ มีอารมณ์เช่นใด

๖. ทำไปรู้ไป อย่าทำเหมือนคนดำน้ำ หรือคนเอาผ้าดำมาผูกตา ทำมันส่งไปไม่รู้ว่าจิตมีพรหมวิหาร ๔ ประจำจิตหรือไม่ และจงอย่าเข้าข้างอารมณ์กิเลสที่หลอกตัวเองว่าพรหมวิหาร ๔ ของเรามีเต็มแล้ว

๗. จำไว้ตราบใดที่จิตยังถูกสังโยชน์ ๑๐ ร้อยรัดอยู่ในอารมณ์ ตราบนั้นห้ามพวกเจ้าคิดว่าพรหมวิหาร ๔ เต็มเป็นอันขาด

๘. อารมณ์ที่เบียดเบียนจิตให้เกิดทุกข์ ไม่ว่าจักมีอามิสก็ดี หรือเป็นธรรมารมณ์เข้ามากระทบก็ตาม จงกำหนดรู้ และศึกษาวัดกำลังของพรหมวิหาร ๔ ตามนั้น ถ้าหากยังยินดี ยินร้าย ยึดสุข ยึดทุกข์ ทำอารมณ์จิตให้หวั่นไหวนานเท่าไหร่ ก็ขาดพรหมวิหาร ๔ นานเท่านั้น จุดนี้ต้องกำหนดรู้ให้ดี ๆ

๙. และจงอย่าแก้ไขธรรมภายนอกที่เข้ามากระทบเป็นอันขาด จงหมั่นแก้ที่จิตของตนเอง ดูอารมณ์ของจิตตนเองให้ดี ๆ แก้ไขที่ตรงนี้จึงจักมีผลสมบูรณ์ ถูกต้องตามหลักธรรมที่ตถาคตตรัสสอนมา (เพื่อนผมท่านก็ยอมรับว่า ในอดีตตนมักชอบแก้ไขธรรมภายนอก, ชอบโทษผู้อื่น แทนที่จะโทษอารมณ์จิตตนเองว่าไม่เอาไหน เช่น ชอบยึดโลกธรรมที่มากระทบ ไม่ยอมรับกฎของกรรม ไม่ยอมรับกฎของธรรมดา และไม่เข้าใจอริยสัจตามความเป็นจริง)

๑๐. ทรงแย้มพระโอษฐ์ แล้วตรัสสอนว่า ดีแล้วที่เจ้าเริ่มรู้สึกตัว ตราบนี้ให้หมั่นปรับปรุงอารมณ์ของจิต ให้ดูตนเองเป็นสำคัญ ให้แก้ไป กล่าวโทษโจทย์ตนเป็นสำคัญ อย่าไปโทษบุคคล สัตว์ วัตถุธาตุภายนอก ต้องโทษจิตตนเองเป็นสำคัญ ที่อยากมีร่างกายให้เกิดมารับกฎของกรรมเหล่านี้

๑๑. รู้กฎธรรมดาแต่อย่าทำจิตให้เศร้าหมอง ทรงพรหมวิหาร ๔ เข้าไว้ให้ครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุเบกขาตัวท้าย จักทำให้จิตยอมรับกฎของกรรมได้โดยสงบ เมื่อเข้าใจแล้วก็จงหมั่นนำไปปฏิบัติให้เกิดผลด้วย

รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน

............................................

ที่มาของข้อมูล
ธรรมนำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๕ เดือนกรกฎาคม ๒๕๓๖
หนังสือ “ธรรมนำไปสู่ความหลุดพ้น ทุกเล่ม
หาข้อมูลศึกษาได้จาก.......

http://www.tangnipparn.com/page_book_all.html
ต้องขอโมทนาทุกท่านที่ช่วยเผยแพร่ผลงานของพระพุทธเจ้าหรือ
หลวงพ่อในทุกรูปแบบทั้งทางหนังสือและอินเตอร์เน็ต
ขอความเจริญในธรรมจงมีแด่ทุกๆท่านครับ
…………………………………


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ก.ย. 2011, 18:05 
 
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 เม.ย. 2009, 02:43
โพสต์: 12233


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 24 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร