วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 17:18  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 9 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ม.ค. 2009, 14:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
บันทึกภาพนี้เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๓ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๓
ณ ป่าช้าเฟรสฮอฟโอลซดอร์ฟ (Friedhof Ohlsdor) เมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี
หลวงพ่อสนองนั่งพิงสุสานชาวคริสต์ และร่วมนั่งภาวนาพร้อมคณะอีก ๒๒ คน


ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อสนอง กตปุญฺโญ


วัดสังฆทาน
ต.บางไผ่ อ.เมือง จ.นนทบุรี



๏ อัตชีวประวัติ

หลวงพ่อสนอง กตปุญฺโญ พระนักเผยแผ่ธรรมและพระนักปฏิบัติด้านวิปัสสนากรรมฐานชื่อดัง มีนามเดิมว่า สนอง โพธิ์สุวรรณ เกิดเมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๗ ตรงกับวันพุธ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๕ (๔ ฯ ๕) ปีวอก จ.ศ. ๑๓๐๕ ณ ต.หนองผักนาก อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี ซึ่งในวันที่ท่านเกิดนั้นได้เกิดสิ่งอัศจรรย์ คือ มีลูกเห็บตกลงมาจากท้องฟ้า ซึ่งผู้คนในบ้านต่างตื่นเต้นยินดี และคิดว่าเด็กที่เกิดในวันนี้ต้องเป็นผู้มีบุญมาเกิดแน่นอน จึงจัดหาพานมารับเด็กที่พึ่งคลอด และขนานนามเด็กชายคนนี้ว่า สนอง โยมบิดาชื่อ นายเอม โพธิ์สุวรรณ (ต่อมาได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ มีนามฉายาว่า อริยวํโส) โยมมารดาชื่อ นางแม้น โพธิ์สุวรรณ (ต่อมาได้ถือศีลออกบวชเป็นแม่ชี) มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๙ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๗ มีชื่อตามลำดับดังนี้

๑. นางจอง ศรีสำแดง
๒. นางลูกจันทร์ วงค์กฏ
๓. นางบรรจง ปานสุวรรณ
๔. ทารกเพศหญิง เสียชีวิตขณะคลอด
๕. นายบุญทรง โพธิ์สุวรรณ
๖. นางชะอม บุญประสม
๗. หลวงพ่อสนอง กตปุญฺโญ
๘. นายเสนาะ โพธิ์สุวรรณ
๙. พระพงษ์ศักดิ์ สีลเปโม


๏ การบรรพชา

ครั้นเมื่ออายุประมาณ ๑๕ ปี ได้เข้าพิธีบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดไชนาวาส ต.ท่าพี่เลี้ยง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี แล้วมีโอกาสศึกษาบาลีนักธรรมอยู่ ๒ ปี จนสามารถสอบไล่ได้นักธรรมชั้นตรี


๏ การอุปสมบท

ครั้นอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๗ ณ พัทธสีมาวัดดอนไร่ ต.หนองสะเดา อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี โดยมี พระครูสุวรรณวุฒาจารย์ (หลวงพ่อมุ่ย พุทธรักขิโต) วัดดอนไร่ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระบุญทรง วัดหนองไผ่ จ.สุพรรณบุรี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระบุญยก วัดดอนไร่ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “กตปุญฺโญ” ซึ่งแปลว่า “ผู้มีบุญอันได้กระทำแล้ว, ผู้ทำบุญไว้แล้วแต่ปางก่อน” ท่านอุปสมบทได้เพียงพรรษาเดียวก็เริ่มออกเดินธุดงค์ไปทางภาคอีสาน

รูปภาพ
พระครูสุวรรณวุฒาจารย์ (หลวงพ่อมุ่ย พุทธรักขิโต)

รูปภาพ
หลวงพ่อสนอง กตปุญโญ วัดสังฆทาน จ.นนทบุรี

รูปภาพ
พระอาจารย์พงษ์ศักดิ์ สีลเปโม พระน้องชายของหลวงพ่อสนอง กตปุญโญ


(มีต่อ ๑)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ม.ค. 2009, 14:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
หลวงพ่อสังวาลย์ เขมโก


๏ ลำดับการจำพรรษา

• พรรษาที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๐๗
วัดหนองไผ่ ต.หนองผักนาก อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี


หลังจากที่อุปสมบทแล้ว หลวงพ่อสนอง กตปุญฺโญ ได้ประพฤติปฏิบัติตามศีลอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะข้อ ๑๐ (ชาตะรูปะระชะตะปะฏิคคะหะณา เวระมะณี) คือ เจตนาเว้นจากการรับเงินทองหรือยินดีในเงินทองที่เขาเก็บไว้เพื่อตน ท่านออกธุดงค์ประมาณ ๗ เดือน ได้ข่าวโยมมารดามาบวชชี ณ วัดทุ่งสามัคคีธรรม ต.หนองผักนาก อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี จึงรีบเดินทางมาพบโยมมารดาด้วยความปีติดีใจ และได้พบ หลวงพ่อสังวาลย์ เขมโก จึงได้ถวายตัวเป็นศิษย์ หลวงพ่อสังวาลย์ได้แนะนำให้หลวงพ่อสนองเข้าห้องกรรมฐานบ่มอินทรีย์ เจริญสติปัฏฐาน ๔ ณ ป่าช้าวัดหนองไผ่ เช่นเดียวกับที่ท่านเคยปฏิบัติที่ป่าช้าวัดบ้านทึง โดยสมาทานไม่พูด ไม่เขียน (พูดเขียนได้แต่เฉพาะกับหลวงพ่อสังวาลย์รูปเดียวเท่านั้น) และได้สมาทานธุดงค์ ๗ ข้อคือ

(๑) เตจีวริกังคะ ถือเพียงไตรจีวรเป็นวัตร
(๒) เอกาสนิกังคะ ถือนั่งฉันเพียงอาสนะเดียวเป็นวัตร
(๓) ปัตตปิณฑิกังคะ ถือฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร
ไม่ใช้ภาชนะใส่อาหารเกินหนึ่งอย่างคือบาตร
(๔) ขลุปัจฉาภัตติกังคะ ถือห้ามภัตที่ถวายภายหลังเป็นวัตร
แม้อาหารที่ถวายภายหลังจะประณีตกว่า
(๕) โสสานิกังคะ ถืออยู่ป่าช้าเป็นวัตร
(๖) ยถาสันถติกังคะ ถืออยู่ในเสนาสนะแล้วแต่เขาจัดให้เป็นวัตร
(๗) เนสัชชิกังคะ ถือการนั่งเป็นวัตร เว้นการนอน อยู่ได้เพียง ๓ อิริยาบถ
(เฉพาะธุดงควัตร ข้อ ๗ นี้ เริ่มปฏิบัติหลังจากอยู่ป่าช้าแล้ว ๓ เดือนแล้วถือมาตลอด
จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๓๒ เมื่อโยมมารดาถึงแก่กรรม จึงได้เลิกเนื่องจากสุขภาพไม่อำนวย)


• พรรษาที่ ๒-๔ พ.ศ. ๒๕๐๘-๒๕๑๐
ป่าช้าวัดหนองไผ่ ต.หนองผักนาก อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี


การปฏิบัติในป่าช้า หลวงพ่อสังวาลย์จะมาสอบอารมณ์กรรมฐานหลวงพ่อสนอง ๑ เดือน หรือ ๒ เดือน ต่อครั้ง ผลการปฏิบัติในป่าช้าทำให้ท่านเชื่อในนรกสวรรค์ เชื่อว่ามรรคผลนิพพานมีจริง หลวงพ่อสังวาลย์กล่าวชมหลวงพ่อสนองว่าเป็น พระภิกษุสุวโจ คือเป็นคนที่ว่าง่าย สอนง่าย ไม่ดื้อ ไม่รั้น สอนอะไรก็ทำตามได้หมด

• พรรษาที่ ๕-๖ พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๑๒
สำนักป่าพุทธอุทยานเขาถ้ำหมี (วัดเขาถ้ำหมี)
ต.หนองมะค่าโมง อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี


หลังจาก ๓ ปีผ่านไป หลวงพ่อสนองขออนุญาตหลวงพ่อสังวาลย์ออกจากห้องกรรมฐาน หลวงพ่อสังวาลย์เห็นสมควรแล้วจึงอนุญาต และได้พูดถึงความดีของพระสงฆ์ให้ฟัง ต่อมาหลวงพ่อสนองได้กราบลาหลวงพ่อสังวาลย์เพื่อออกธุดงค์หาที่สงบวิเวกและเที่ยวชมวัดร้าง โดยไม่คิดที่จะเป็นครูบาอาจารย์สอนใคร แต่หลวงพ่อสังวาลย์คิดว่าพระรูปนี้ต่อไปจะต้องสั่งสอนคนแน่นอน จึงมอบกลดของท่านที่หลวงพ่อเกลื่อนทำถวาย ซึ่งหลวงพ่อสังวาลย์ใช้เดินธุดงค์เป็นเวลาหลายปีให้กับหลวงพ่อสนอง การเดินธุดงค์ของหลวงพ่อสนองจะเดินไปตลอด ไม่ยอมขึ้นรถ เมื่อพบคนไม่มีรองเท้าก็ถอดให้ ตัวท่านเองจะเดินเท้าเปล่า

ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ วัดร้างวัดแรกที่ท่านมาชมโดยมิได้ตั้งใจคือ วัดสังฆทาน ร้างอยู่กลางสวน มีเพียงองค์หลวงพ่อโตกับศาลาไม้มุงสังกะสีเก่าๆ และฐานอิฐเก่าๆ บนที่ไร่เศษ สถานที่สงบเย็น ร่มรื่น เหมาะกับการปฏิบัติธรรม หลวงพ่อสนองพิจารณาแล้วคิดสร้างวัดสังฆทานให้เป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาตามหลักธุดงคกรรมฐาน เพราะที่ตั้งของวัดอยู่ใกล้แหล่งรวมของผู้มีปัญญาและกำลังซึ่งจะเป็นกำลังของพระศาสนาได้ดี

แต่ขณะนั้นตัวท่านคิดว่าตนเองยังมีบารมีไม่เพียงพอที่จะเป็นผู้นำที่นี่ได้ ด้วยเหตุผลที่ว่าที่นี่ไม่เหมือนที่อื่น การจะเข้ามาทำอะไรนั้นทำได้ยาก จะต้องให้เขาเห็นดี ให้เขาเข้าใจ เพราะเป็นการเผยแผ่ธรรมะให้กับผู้มีปัญญา ท่านจึงตั้งใจธุดงค์กลับไปปฏิบัติธรรมที่ถ้ำพุข่อย จ.สุพรรณบุรี แต่มีเหตุให้ต้นไม้ล้มขวางเส้นทางลบหายไปหมด ท่านจึงเดินย้อนมาอีกทางก็มาพบเขาถ้ำหมี จึงเปลี่ยนใจปฏิบัติธรรมที่เขาถ้ำหมี จ.สุพรรณบุรี และถ้ำกระเปาะ จ.ชุมพร อีกเป็นเวลา ๖ ปี โดยท่านได้ฝึกกสิณดินและกสิณไฟ ได้ดวงกสิณดินที่ถ้ำหมีนั่นเอง

• พรรษาที่ ๗-๙ พ.ศ. ๒๕๑๓-๒๕๑๕
ถ้ำกะเปาะ ต.สลุย อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร


หลวงพ่อสนองเดินทางมาที่ถ้ำกะเปาะ พิจารณาแล้วว่าเป็นสถานที่เหมาะสำหรับการฝึกปฏิบัติของพระสงฆ์มาก แต่มีไข้มาลาเรียชุกชุม ที่นี่หลวงพ่อได้มาฝึกกสิณน้ำ กสิณลม ส่วนกสิณไฟได้มาฝึกต่ออีกครั้งจนเกิดดวงกสิณ การเผยแผ่ธรรมในช่วงนี้จะมีเพียงเล็กน้อย มีญาติโยมมาฝึกสมาธิบ้าง ที่ถ้ำกะเปาะมีเหตุการณ์ที่สนุกประทับใจหลายเรื่อง มีพระที่ตามไปปฏิบัติธรรมกับท่านคือ หลวงพ่อประทีป สมฺปุณฺโณ ต่อมาหลวงพ่อได้แต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดต้นตาลโตน ต.ป่าแดด อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ท่านมรณภาพลงเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๔

• พรรษาที่ ๑๐ พ.ศ. ๒๕๑๖
สำนักป่าพุทธอุทยานเขาถ้ำหมี (วัดเขาถ้ำหมี)
ต.หนองมะค่าโมง อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี


หลวงพ่อสนองเดินทางกลับมาที่ถ้ำหมีอีกครั้งเพื่อมาโปรดญาติโยมและสร้างโรงเรียน มีญาติโยมศรัทธามาปฏิบัติเป็นประจำ ในวันหนึ่งท่านปีนขึ้นไปบนยอดเขาและได้ก้าวพลาดตกลงมา หลังกระแทกกับหินทำให้กระดูกที่หลังแตก จากนั้นเป็นต้นมาท่านจะปวดหลังตลอดเวลา ไม่ว่ายืน เดิน นั่ง นอน ปวดจนเป็นปกติ เวลานั่งสอนสมาธิก็จะเจ็บปวด ขาทั้งสองจะชามาก ท่านไม่ได้ให้หมอรักษา แต่ใช้ความอดทนข่มความเจ็บปวดเนื่องจากไม่ต้องการให้ใครทราบและเป็นห่วง โดยเฉพาะโยมมารดาซึ่งขณะนั้นเป็นแม่ชีอยู่ที่วัดสังฆทาน แต่หลังจากโยมมารดาถึงแก่กรรม (พ.ศ. ๒๕๓๒) ท่านจึงได้เล่าให้ญาติโยมฟังและไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพฯ

รูปภาพ
หลวงปู่สงฆ์ พรหมสโร


• พรรษาที่ ๑๑-๒๔ พ.ศ. ๒๕๑๗-๒๕๓๐
วัดสังฆทาน ต.บางไผ่ อ.เมือง จ.นนทบุรี


หลังจากที่ฝึกกสิณดิน กสิณน้ำ กสิณลม และกสิณไฟ เป็นเวลาทั้งหมด ๖ ปี หลวงพ่อสนองจึงเดินทางกลับมาวัดสังฆทานอีกครั้งในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เพื่อจำพรรษาร่วมกับพระสงฆ์อีก ๕ รูป ด้วยข้อวัตรปฏิปทาตามหลักธุดงคกรรมฐาน ชาวบ้านบางคนตั้งข้อหาท่านว่าเป็นพระคอมมิวนิสต์ สภาพความเป็นอยู่จึงยากลำบาก ถูกข่มขู่ด้วยปืนและการปาระเบิด บิณฑบาตเกือบไม่ได้ เมื่อนำอาหารมาเทรวมกันก็มีจำนวนน้อยมาก พระสงฆ์ทุกรูปไม่ยอมตักอาหารใส่บาตร หลวงพ่อต้องเป็นผู้ตักใส่บาตรให้ น้ำดื่มต้องตักจากบ่อเก่ามาต้มฉัน ไม่มีน้ำปานะ ไม่มีไฟฟ้า หลังจากนั้นก็มีพระเณรตามมาอีก แต่ต่อมาก็หนีกลับเพราะบิณฑบาตแล้วไม่พอฉัน

ช่วงนี้ท่านใช้หลักการเผยแผ่ธรรมด้วยความสงบด้วยการปฏิบัติ ท่านเล่าว่ามีนิมิตเกิดขึ้น คือ หมีเดินเข้ามาหา ต่อมาหมีก็กลายเป็นหมู จากหมูก็กลายเป็นเณรมานั่งตักท่าน นโยบายของท่านเริ่มต้นด้วยการสร้างบุคลากรโดยมุ่งฝึกฝนพระสงฆ์ที่มาบวช พระสงฆ์ที่จะออกมาทำงานให้กับสังคมต้องเก็บตัวปฏิบัติก่อน จนกว่าจะมีธรรมะและสามารถนำธรรมะมาใช้ได้ จึงจะให้ออกมาทำงาน

ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ได้เดินทางไปกราบ หลวงปู่สงฆ์ พรหมสโร ณ วัดอาวุธวิกสิตาราม แขวงบางพลัด เขตบางพลัด กรุงเทพฯ ปรารภถึงสถานที่ปฏิบัติธรรม พิจารณาเห็นว่าวัดร้างกลางสวนบริเวณ ต.บางไผ่ อ.เมือง จ.นนทบุรี มีพระพุทธรูปใหญ่เป็นพระประธาน (องค์หลวงพ่อโต) มีความเป็นสัปปายะอันหาได้ยาก ทั้งบริเวณตั้งอยู่ใกล้เมืองหลวง จึงได้บูรณปฏิสังขรณ์และขอพระราชทานวิสุงคามสีมาตั้งเป็นวัดสังฆทาน เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๒

ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ หลวงพ่อสนองไปรับ พระอาจารย์พลอย เตชพโล แห่งวัดเขาภูคา ต.หัวหวาย อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ มาช่วยเป็นหัวหน้าช่างในการบูรณะ องค์หลวงพ่อโต พร้อมพระเณรประมาณ ๑๐ กว่ารูป รวมทั้งชาวบ้านญาติโยม การบูรณะที่แขนชำรุดมากต้องเอาแป๊บน้ำใส่แล้วโบกปูนทับ ส่วนที่ใดเนื้อปูนยุ่ยก็ขูดออกแล้วโบกปูนทับ นำปูนเก่ามาผสมปั้นเป็นหลวงพ่อสังกัจจายน์ (พระมหากัจจายนะ)

ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ท่านได้ก่อตั้ง มูลนิธิพุทธอเนกประสงค์ วัดสังฆทาน ขึ้นเพื่อช่วยเผยแผ่พระพุทธศาสนาและช่วยหมู่คณะได้ดีขึ้น มูลนิธิฯ จะเป็นตัวแทนของท่านในอนาคต ซึ่งในปัจจุบันการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของท่านได้ดำเนินไปในนามของมูลนิธิฯ เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขของมวลมนุษย์ชาติด้วยความเมตตา

• พรรษาที่ ๒๕ พ.ศ. ๒๕๓๑
วัดสันติวงศาราม (วัดสังฆทาน) เมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ


หลวงพ่อสนองได้เดินทางไปจำพรรษา ณ วัดสันติวงศาราม (เดิมชื่อ วัดสังฆทาน) เมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ โดยขณะนั้นมีพระสุรชัย อภิชโย (ปัจจุบันลาสิกขาแล้ว) เป็นเจ้าอาวาส หลวงพ่อพยายามฝึกฝนเรียนรู้ภาษาอังกฤษ เพื่อที่จะใช้สอนสมาธิและอธิบายธรรมะให้กับชาวต่างชาติ เพราะต่อไปเมืองไทยจะมีชาวต่างชาติมาศึกษาฝึกสมาธิกันเป็นจำนวนมาก และจะกลายเป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กับชาวต่างชาติทั่วโลก ที่ประเทศอังกฤษมีญาติโยมคนไทยมาฝึกสมาธิและทำบุญประมาณ ๕๐๐ ครอบครัว

รูปภาพ
องค์หลวงพ่อโต ในยุคแรก

รูปภาพ
“องค์หลวงพ่อโต” พระประธานในอุโบสถแก้ว

รูปภาพ
พระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมาจากประเทศศรีลังกา ประดิษฐาน ณ อุโบสถแก้ว

รูปภาพ
อัฐิธาตุของครูบาอาจารย์ต่างๆ ประดิษฐาน ณ อุโบสถแก้ว

รูปภาพ
บริเวณรอบๆ อุโบสถแก้ว มีความสงบเงียบ
นักปฏิบัติธรรมมักใช้เป็นที่สำหรับเดินจงกรม


รูปภาพ
ป้ายชื่อ “วัดสังฆทาน” ต.บางไผ่ อ.เมือง จ.นนทบุรี

รูปภาพ
กำแพงรั้ว “วัดสังฆทาน” วัดกรรมฐานกลางกรุง


(มีต่อ ๒)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 ธ.ค. 2010, 11:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

• พรรษาที่ ๒๖-๓๔ พ.ศ. ๒๕๓๒-๒๕๔๐
วัดสังฆทาน ต.บางไผ่ อ.เมือง จ.นนทบุรี


หลวงพ่อสนองกลับมาจำพรรษาอยู่ ณ วัดสังฆทาน จ.นนทบุรี หลังจากที่ได้วางรากฐานการเผยแผ่พระพุทธศาสนาตามหลักธุดงคกรรมฐานที่ประเทศอังกฤษแล้ว

ปี พ.ศ. ๒๕๓๒ แม่ชีแม้น โพธิ์สุวรรณ (มารดาของหลวงพ่อสนอง) ได้ถึงแก่กรรม

ปี พ.ศ. ๒๕๓๔ หลวงปู่เอม อริยวํโส สิริอายุรวมได้ ๙๔ ปี พรรษา ๓๔ (บิดาของหลวงพ่อสนอง) ได้มรณภาพลงเมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๔

ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ หลวงพ่อสนองสร้างสำนักสงฆ์เขายายแสง ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

• พรรษาที่ ๓๕-๔๒ พ.ศ. ๒๕๔๑-๒๕๔๘
วัดถ้ำกฤษณาธรรมาราม ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา


หลวงพ่อสนองได้เปลี่ยนชื่อและยกฐานะขึ้นเป็นวัดที่ถูกต้องตามกฎหมายจาก สำนักสงฆ์เขายายแสง เป็น “วัดถ้ำกฤษณาธรรมาราม” ท่านมีดำริให้วัดแห่งนี้เป็น สถานที่ปฏิบัติธรรมเพื่อเข้าคอร์สฝึกสมาธิตามหลักสติปัฏฐาน ๔ สำหรับพระภิกษุ สามเณร อุบาสก และอุบาสิกา ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เป็นศูนย์ปฏิบัติธรรมนานาชาติสำหรับรับรองชาวต่างประเทศโดยเฉพาะ ท่านได้มอบหมายให้แม่ชีชาวออสเตรียเป็นผู้ดูแลให้ความสะดวกในด้านการปฏิบัติกับชาวต่างประเทศ

ลักษณะภูมิประเทศนั้น แต่เดิมเป็นภูเขาแห้งแล้งและป่าเสื่อมโทรมเชื่อมต่อเป็นทิว มีถ้ำมากมาย แต่ในปัจจุบันได้พัฒนาปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นป่าที่สมบูรณ์ร่มรื่น มีอุโบสถเป็นถ้ำ มีกุฏิพระสงฆ์เรียงรายตามไหล่เขา เป็นสถานที่อันสัปปายะเหมาะสมกับผู้ที่มาแสวงหาความสงบทางจิตใจ ตั้งแต่พื้นที่ราบเชิงเขาเลียบเลาะไหล่เขาขึ้นไปตามลำดับ พื้นที่โดยรอบเขามีการปลูกป่าต้นกฤษณาและสมุนไพรที่เป็นประโยชน์จำนวนมาก ผืนป่าอันสงบเงียบ สงบเย็น มีอากาศหนาวเย็นสบายแห่งนี้ จึงเป็นสถานที่ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งในการใช้เพื่อรักษาสุขภาพกายและสุขภาพใจ พื้นที่ของวัดตั้งอยู่ติดกับ “บ้านสว่างใจ” ใกล้กับเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

รูปภาพ
หลวงพ่อสังวาลย์ เขมโก สรงน้ำให้กับ หลวงพ่อสนอง กตปุญฺโญ
เนื่องในวาระอันเป็นมงคลคล้ายวันเกิดของหลวงพ่อสนอง



• พรรษาที่ ๔๓-๔๔ พ.ศ. ๒๕๔๙-๒๕๕๐
สำนักป่าปฏิบัติธรรมวังน้ำเขียว ต.วังหมี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา




• พรรษาที่ ๔๕ พ.ศ. ๒๕๕๑




• พรรษาที่ ๔๖ พ.ศ. ๒๕๕๒
ที่พักสงฆ์เขารามโกฏิ เมืองกาฐมัณฑุ ประเทศเนปาล


หลวงพ่อสนองได้ไปโปรดชาวเนปาล จำพรรษาอยู่ ณ ที่พักสงฆ์เขารามโกฏิ เมืองกาฐมัณฑุ ประเทศเนปาล

• พรรษาที่ ๔๗ พ.ศ. ๒๕๕๓
วัดสังฆทาน ไทย-เยอรมัน กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน


หลวงพ่อสนองไปจำพรรษาอยู่ ณ วัดสังฆทาน ไทย-เยอรมัน (Wat Sanghathan Thai-German) กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน

• พรรษาที่ ๔๘ พ.ศ. ๒๕๕๔


• พรรษาที่ ๔๙ พ.ศ. ๒๕๕๕
ศูนย์ปฏิบัติธรรมกตปุญโญ ต.ปากน้ำ อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี


รูปภาพ
หลวงพ่อสังวาลย์ เขมโก-หลวงพ่อสนอง กตปุญฺโญ


(มีต่อ ๓)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ธ.ค. 2010, 04:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
รูปภาพ รูปภาพ
รูปภาพ รูปภาพ
“สถานีวิทยุสังฆทานธรรม” วัดสังฆทาน อ.เมือง จ.นนทบุรี


๏ ผลงานด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

ผลงานด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งในประเทศและต่างประเทศของท่าน ได้ดำเนินการไปในนามของ มูลนิธิพุทธอเนกประสงค์ วัดสังฆทาน โดยเฉพาะรายการวิทยุ “ธรรมะสว่างใจ” และ “ธรรมะก่อนนิทรา” ที่มีผู้ติดตามรับฟังเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่สาธุชนในเมืองหลวง ในชนบท จนกระทั่งชาวไทยภูเขาที่อาศัยอยู่บนดอย ซึ่งต่อมาท่านได้จัดตั้ง สถานีวิทยุสังฆทานธรรม เพื่อใช้เป็นสื่อในการสร้างสติปัญญาทางธรรมให้กับสาธุชนทั่วไป ให้ได้รับฟังธรรมะตลอดทั้งวันทั้งคืน โดยมีทั้งภาคภาษาไทย คลื่น FM ๘๙.๒๕ Mhz. ระบบวิทยุออนไลน์ (Radio Online) สามารถรับฟังผ่านทาง http://www.fm8925.net/ และภาคภาษาอังกฤษ คลื่น FM ๘๙.๗๕ Mhz. ปัจจุบันสถานีวิทยุสังฆทานธรรมยังได้ขยายเครือข่ายไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ

นอกจากนี้แล้ว ท่านยังได้จัดตั้ง สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมพุทธภูมิ SBBTV999 วัดสังฆทาน ทั้งในระบบดาวเทียวและระบบโทรทัศน์ออนไลน์ (TV Online) เพื่อใช้เป็นสื่อในการเผยแผ่ธรรมอีกทางหนึ่งไปทั่วโลก โดยระบบโทรทัศน์ออนไลน์ (TV Online) สามารถรับชมผ่านทาง http://sbbtv999.tv/sbbtv999/tv.php

หลวงพ่อสนอง กตปุญฺโญ ท่านเป็นผู้มีความจริงใจและจริงจังต่องานการเผยแผ่หลักธรรมคำสอนของพระบรมศาสดาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปัจจุบันท่านดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดสังฆทาน เลขที่ ๑๐๐/๑ หมู่ที่ ๓ บ้านบางไผ่น้อย ต.บางไผ่ อ.เมือง จ.นนทบุรี ซึ่งวัดสังฆทานนี้ยังได้แยกสาขาออกไปเพื่อเผยแผ่ธรรมะตามวัดในจังหวัดต่างๆ และตามถ้ำต่างๆ รวมแล้วประมาณ ๔๒-๔๓ แห่งทั่วประเทศ และในต่างประเทศอีก ๕ สาขา ได้แก่ วัดสันติวงศาราม (เดิมชื่อ วัดสังฆทาน) เมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ, วัดอนันทะวิหาร เมืองคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย และ วัดสังฆทาน ไทย-เยอรมัน เมืองเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน ฯลฯ

รูปภาพ
ลานปฏิบัติธรรม (ลานธรรม) วัดสังฆทาน

รูปภาพ
บริเวณด้านข้างอุโบสถแก้ว วัดสังฆทาน ทางเดินไปสู่ลานปฏิบัติธรรม (ลานธรรม)
เป็นอีกมุมหนึ่งที่ผู้มาปฏิบัติธรรมมักใช้เป็นที่สำหรับเดินจงกรมเวลาถือ “เนสัชชิกังคะ”



๏ ผลงานด้านอื่นๆ

ผลงานเพื่อพระศาสนาที่หลวงพ่อสนองได้ทำตลอดมานั้น นอกจากจะเป็นที่ประจักษ์แจ้งแก่พุทธศาสนิกชนชาวไทยแล้ว ชาวพุทธในต่างประเทศก็ยังยอมรับในผลงานของท่าน โดยสมาคมมหาโพธิแห่งอินเดีย และองค์กรยุวพุทธสงฆ์โลก (World Buddhist Sangha Youth) ได้ถวายพระบรมสารีริกธาตุ ๒ องค์จากวัดมหินทะเลและวัดมหินทุ ประเทศศรีลังกา มาประดิษฐาน ณ อุโบสถแก้ว วัดสังฆทาน เป็นการถาวรตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนชาวไทยได้มีโอกาสสักการบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคลของชีวิต

นอกจากงานด้านพระพุทธศาสนาแล้ว ท่านยังมีเมตตาธรรมสงเคราะห์พระภิกษุ-สามเณร แม่ชี และฆราวาส ผู้ที่ได้รับทุกขเวทนาทางร่างกาย มีปัญหาด้านสุขภาพ และผู้ด้อยโอกาส โดยการจัดสร้าง โรงพยาบาลแพทย์แผนไทย เพื่อรักษาผู้ป่วยด้วยการแพทย์วิถีไทยโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น อีกทั้งยังสนับสนุนและส่งเสริมให้อุบาสก อุบาสิกา สาธุชนทั่วไป ได้ใช้วัดเป็นสถานที่เพื่อประโยชน์ในการศึกษาธรรม ฟังธรรม ปฏิบัติธรรม และให้โอกาสทุกท่านที่สนใจบวชเนกขัมมะที่วัดสังฆทานได้ทุกวัน และมีการปฎิบัติธรรมตลอดรุ่งทุกวันเสาร์และวันพระ โดยจะมีพ่อแม่ครูบาอาจารย์ผลัดเปลี่ยนกันมาสอนปฏิบัติธรรมกรรมฐานกระทั่งจนถึงเวลาทำวัตรเช้า

ผลงานด้านอื่นๆ ของท่านยังมีอีกนานัปการ เช่น จัดทำหนังสือพิมพ์ชื่อว่า “สังฆทานนิวส์” สารนำแสงแห่งชีวิต ซึ่งเนื้อหาประกอบด้วยสารพันความรู้ หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ต่างๆ ของวัดสังฆทาน จัดพิมพ์เดือนละ ๑ ฉบับ เพื่อแจกเป็นธรรมทานให้กับสาธุชนทั่วไป โดยระบบออนไลน์ (Online) สามารถอ่านผ่านทาง http://www.sanghathannews.net/ นอกจากหนังสือพิมพ์สังฆทานนิวส์แล้ว ท่านก็ยังรวบรวมหนังสือ-ซีดีเผยแผ่พระธรรมหลักคำสอนของครูบาอาจารย์ต่างๆ อีกด้วย ทั้งนี้ ในปัจจุบันท่านยังคงมุ่งมั่นทำงานเพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนาให้เจริญวัฒนาถาวรอยู่คู่ประเทศไทยและชาวโลกสืบต่อไป

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ
หลวงพ่อสนอง กตปุญโญ เมื่่อครั้งเดินทางไปเผยแผ่ธรรม
ณ เมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์


รูปภาพ
หลวงพ่อสนอง กตปุญโญ สอนสมาธิในป่าใกล้ชายทะเล
กับวัดพุทธวิหารอัมสเตอร์ดัม เมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์



(มีต่อ ๔)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ธ.ค. 2010, 17:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

รูปภาพ
“อุโบสถแก้ว” หรือ “โบสถ์แก้ว” รูปแบบของอุโบสถ วัดสังฆทาน
ที่หลวงพ่อสนองดำริให้สร้างขึ้นใหม่ มีลักษณะเป็น “รูปทรงแปดเหลี่ยม”
ทำด้วยกระจกทั้งหมด โดยท่านตั้งจุดประสงค์ว่าอุโบสถของวัดสังฆทาน
ต้องเป็นอุโบสถที่ใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุดและถูกต้องตามความเป็นจริง



๏ วัดสังฆทาน วัดกรรมฐานกลางกรุง

“วัดสังฆทาน” ได้ลงทะเบียนไว้กับกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ตั้งอยู่เลขที่ ๑๐๐/๑ หมู่ที่ ๓ บ้านบางไผ่น้อย ต.บางไผ่ อ.เมือง จ.นนทบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบลุ่มแวดล้อมไปด้วยสวนของราษฎร มีปูชนียวัตถุสำคัญ คือ พระประธานในอุโบสถแก้ว นามว่า “หลวงพ่อโต” สำหรับความเป็นมาของหลวงพ่อโตนั้น เนื่องจากวัดสังฆทานเป็นวัดร้างนับเป็นร้อยๆ ปีขึ้นไป การจดบันทึกไว้จึงไม่มี มีเพียงการเล่าขานต่อถึงความศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น ดังนั้น จึงได้มีการวิเคราะห์จากหลักฐานพระพุทธลักษณะจากองค์หลวงพ่อโต กระเบื้องเชิงชายหน้าอุดของหลังคาอุโบสถหลังเก่า และอิฐที่สร้างองค์พระกับฐานอุโบสถ กระเบื้องเชิงชายหรือกระเบื้องหน้าอุดเป็นหลักฐานอันสำคัญชิ้นหนึ่งที่ค้นพบและเก็บรักษาไว้ในวัดสังฆทาน หลักฐานชิ้นนี้ใช้เป็นกระเบื้องประดับตกแต่งเชิงชายบนหลังคาอุโบสถสืบทอดจนถึงปัจจุบัน จะพบเห็นทั่วไปตามพระอารามหลวง (วัดหลวง) ใช้ประกอบกับกระเบื้องกาบกล้วยเพื่ออุดรูไม่ให้นกหนูเข้าไปทำรัง ลักษณะกระเบื้องเชิงชายหน้าอุดของวัดสังฆทาน มีลวดลายดอกบัวที่คลี่คลายปรับเปลี่ยนมาเป็นลายกนก ท้ายที่สุดเป็นลายประเภทใบไม้ ๓ แฉก ซึ่งเป็นเค้าโครงดั้งเดิมของดอกบัว ทำด้วยดินเผา สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑๒๒

วัดสังฆทานจะมีประเพณีทำบุญวันสงกรานต์ และสรงน้ำพระในเดือนเมษายน (วันที่ ๑๓-๒๐ เมษายน) เป็นประจำทุกปี พร้อมทั้งเปลี่ยนผ้าห่มองค์พระหลวงพ่อโต พระประธานในอุโบสถแก้ว ผ้าห่มที่ถูกเปลี่ยนจะนำมาฉีกแบ่งกันไปผูกข้อมือ-ผูกคอให้กับชาวบ้านเพื่อความเป็นสิริมงคล เพราะถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ การบนหลวงพ่อโตมักโดยจะบนด้วยการจุดปะทัดเป็นเครื่องแก้บน “สังฆทาน” จึงกลายเป็นชื่อของวัดมาแต่เดิม

• กว่าจะมาเป็น “อุโบสถแก้ว” หรือ “โบสถ์แก้ว”

ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ หลวงพ่อสนองพบวัดสังฆทานร้างอยู่กลางสวน มีเพียงหลวงพ่อโตกับศาลาไม้มุงสังกะสีเก่าๆ บนที่ไร่เศษ พิจารณาแล้วว่าที่นี่เหมาะแก่การเผยแผ่พระพุทธศาสนาตาม “แนวทางธุดงคกรรมฐาน” เนื่องด้วยอยู่ใกล้แหล่งของผู้มีกำลังและปัญญาที่สามารถช่วยศาสนาได้ดีในอนาคต ท่านจึงตัดสินใจที่จะอยู่ที่นี่ แต่ขณะนั้นท่านคิดว่าตนเองยังมีบารมีไม่เพียงพอที่จะเป็นผู้นำที่นี่ได้ ด้วยเหตุผลที่ว่าที่นี่ไม่เหมือนที่อื่นการจะเข้ามาทำอะไรนั้นทำได้ยาก จะต้องให้เขาเห็นดีให้เขาเข้าใจเพราะเป็นการเผยแผ่ธรรมะให้กับผู้มีปัญญา ท่านจึงตั้งใจกลับไปปฏิบัติธรรมในถ้ำหมีและถ้ำกระเปาะอีก ๖ ปี

ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ หลวงพ่อสนองกลับมาวัดสังฆทานอีกครั้งเพื่อจำพรรษา ร่วมกับพระสงฆ์อีก ๕ รูป ด้วยปฏิปทาตามหลักธุดงคกรรมฐาน ชาวบ้านบางคนตั้งข้อหาว่าเป็นพระคอมมิวนิสต์ ความเป็นอยู่จึงลำบาก ถูกข่มขู่ด้วยปืนและปาระเบิด บิณฑบาตเกือบไม่ได้ เมื่อนำอาหารมาเทรวมกันก็มีน้อยมากทุกรูปไม่ยอมตักอาหารใส่บาตร หลวงพ่อต้องเป็นผู้ตักใส่บาตรให้ น้ำดื่มต้องตักจากบ่อเก่ามาต้มฉัน ไม่มีน้ำปานะ ไม่มีไฟฟ้า

ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ หลวงพ่อสนองไปรับ พระอาจารย์พลอย เตชพโล แห่งวัดเขาภูคา ต.หัวหวาย อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ มาช่วยเป็นหัวหน้าช่างในการบูรณะ องค์หลวงพ่อโต พร้อมพระเณรประมาณ ๑๐ กว่ารูป รวมทั้งชาวบ้านญาติโยม การบูรณะที่แขนชำรุดมากต้องเอาแป๊บน้ำใส่แล้วโบกปูนทับ ส่วนที่ใดเนื้อปูนยุ่ยก็ขูดออกแล้วโบกปูนทับ นำปูนเก่ามาผสมปั้นเป็นหลวงพ่อสังกัจจายน์ (พระมหากัจจายนะ)

รูปภาพ
“องค์หลวงพ่อโต” พระประธานในอุโบสถแก้ว

รูปภาพ
รูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งหลวงพ่อสังวาลย์ เขมโก ขนาดเท่าองค์จริง
ประดิษฐาน ณ อุโบสถแก้ว วัดสังฆทาน


รูปภาพ
บริเวณรอบๆ อุโบสถแก้ว มีความสงบเงียบ
นักปฏิบัติธรรมมักใช้เป็นที่สำหรับเดินจงกรม



• การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของศาลาหลวงพ่อโต

ในวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๖ หลวงพ่อสนองดำริให้รื้อถอนศาลาเพื่อจะสร้างอุโบสถใหม่ เนื่องด้วยศาลาหลวงพ่อโตมีความชำรุดทรุดโทรม และคับแคบไม่เพียงพอที่จะรองรับจำนวนพระภิกษุสามเณร และผู้เข้ามาปฏิบัติธรรมได้ นอกจากนี้หลังคาสังกะสีเวลาฝนตกจะมีเสียงดังมาก หน้าร้อนก็จะร้อนมาก ดังนั้น พระภิกษุผ้าขาวและชาวบ้านจึงช่วยกันรื้อถอน แม้กระทั่งชาวอังกฤษที่เพิ่งเดินทางมาถึงก็ร่วมช่วยด้วย

• รูปแบบของอุโบสถหรือโบสถ์

“อุโบสถแก้ว” หรือ “โบสถ์แก้ว” รูปแบบของอุโบสถที่หลวงพ่อสนองดำริให้สร้างขึ้นใหม่นั้นเป็น “รูปทรงแปดเหลี่ยม” ทำด้วยกระจกทั้งหมด และกำหนดเวลาการก่อสร้างเป็นเวลา ๑ ปีครึ่ง โดยท่านตั้งจุดประสงค์ว่าอุโบสถของวัดสังฆทาน ต้องเป็นอุโบสถที่ใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุดและถูกต้องตามความเป็นจริง ขนาดของอุโบสถต้องจุคนได้ ๖๐๐ คน เมื่อแบบจำลองของอุโบสถออกมาก็ถูกวิจารณ์ว่าทำไมอุโบสถจึงเป็นแก้วแปดเหลี่ยม ไม่ใช่ทรงไทยที่มีช่อฟ้า ใบระกา หลวงพ่อสนองได้ให้เหตุผลว่า

(๑) หลวงพ่อโตองค์ใหญ่มาก มีความสูงหลายเมตร ถ้าสร้างอุโบสถเป็นแบบทรงไทยต้องสร้างให้เศียรหลวงพ่อโตต่ำกว่าขื่อต่ำกว่าอกไก่ อุโบสถต้องใหญ่มากต้องรับน้ำหนักมาก ทำ ๒ ชั้นก็ไม่เหมาะเพราะต้องการประหยัดพื้นที่ แต่ถ้าทำเป็นรูปเจดีย์แล้วสามารถให้หลวงพ่อโตอยู่ตรงกลางหรือตรงริมก็ได้ หลวงพ่อโตก็จะดูสวยสง่า และทรงแปดเหลี่ยมสมมุติเป็นมรรคองค์แปด

(๒) การสร้างอุโบสถทรงไทยต้องลงทุนมากกว่า ๑๐๐ ล้านบาทขึ้นไปจึงจะแล้วเสร็จ แต่อุโบสถแก้วใช้ประมาณ ๕๐ ล้านบาท สร้างได้ ๒ ชั้น และสามารถสร้างเสร็จได้เร็วกว่า เนื่องจากทางวัดจำเป็นต้องใช้อุโบสถในการอุปสมบทหมู่ โดยให้สามารถจุพระสงฆ์ได้เป็น ๑๐๐ รูป บรรพชาสามเณรปีละ ๓๐๐ รูป มีการประชุมพระสงฆ์ครั้งละ ๒๐๐-๓๐๐ รูป อุโบสถนี้สามารถจุคนได้ถึง ๖๐๐ คน ด้านล่างใช้เป็นสำนักงาน ห้องเทป ห้องมูลนิธิ ห้องสมุด ฯลฯ มีประโยชน์อเนกประสงค์

“การใช้ประโยชน์อย่างสุด” ภายใต้ชั้นล่างของอุโบสถแก้ว มีการใช้ประโยชน์ดังนี้

(๑) เป็นที่สำหรับรับสมัครนักบวชเนกขัมมะ

(๒) เป็นห้องสมุดมีหนังสือธรรมะของครูบาอาจารย์ที่สำคัญๆ มากมาย

(๓) เป็นที่จำหน่ายหนังสือธรรมะ ซีดีธรรมะ และเป็นสถานที่ให้ยืมเทปธรรมะ รวมทั้ง เมื่อมีญาติธรรมมาปฏิบัติธรรมจำนวนมากจนที่พักไม่เพียงพอ ชั้นล่างอุโบสถแก้วนี้ก็จะใช้เป็นที่พักได้อย่างดีทีเดียว

ปี พ.ศ. ๒๕๓๗ หลวงพ่อสังวาลย์ เขมโก วางศิลาฤกษ์อุโบสถแก้ว ตรงกับวันมาฆบูชาที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ เวลา ๐๒.๔๖ น. คณะพระภิกษุ-สามเณรจากวัดสังฆทาน, วัดทุ่งสามัคคีธรรม อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี และวัดสาขาของวัดสังฆทานทั้งหมด (ในขณะนั้น ๑๗ สาขา) เป็นจำนวนกว่า ๒๐๐ รูป รวมทั้งสาธุชนจำนวนมากได้พร้อมใจกันน้อมจิตอธิษฐาน ปฏิบัติธรรม สวดมนต์ ภาวนา เวียนเทียนรอบองค์หลวงพ่อโต

ถึงวันนี้อุโบสถแก้วได้ตั้งตระหง่านแซมพุ่มไม้ใบบัง ภายในเขตสีมาวัดสังฆทาน กำลังรอสายธารศรัทธาจากสาธุชนทั่วทุกสารทิศ ทั้งนี้ เพื่ออุโบสถแก้วหลังนี้จะได้เป็นศาสนสมบัติอันถาวรเป็นที่อุปสมบทแห่งกุลบุตรทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนาสืบไป

ปัจจุบัน “วัดสังฆทาน” เป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาส­นานานาชาติแห่งหนึ่งของประเทศไทย ที่เป็นที่รู้จักกันทั่วโลก

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ


(มีต่อ ๕)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ธ.ค. 2010, 07:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
บรรยากาศการปฏิบัติธรรมภายใน “อุโบสถแก้ว”
วัดสังฆทาน บ้านบางไผ่น้อย ต.บางไผ่ อ.เมือง จ.นนทบุรี



• รายชื่อสาขาของวัดสังฆทาน ทั้งหมด ๔๗ สาขา

(๑) วัดเขาถ้ำหมี (สำนักป่าพุทธอุทยานเขาถ้ำหมี)
ต.หนองมะค่าโมง อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี ๗๒๑๘๐
(๒) วัดหนองบัว
หมู่ที่ ๔ ต.เกาะหลัก อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ๗๗๐๐๐
(๓) วัดหนองไผ่เจริญธรรม
ต.หนองผักนาก อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี ๗๒๑๓๐
(๔) วัดป่าผาตาดธารสวรรค์
ต.หินดาด อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ๗๑๑๘๐
(๕) วัดสองพี่น้องเจริญธรรม
ต.กฤษณา อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ๓๐๑๔๐
(๖) วัดเขาแตงอ่อน
ต.สุรศักดิ์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ๒๐๑๑๐
(๗) วัดสองพี่น้อง
ต.แพรกศรีราชา อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท ๑๗๑๔๐
(๘) วัดต้นตาลโตน (วัดป่าอันธวันวิเวกอารมณ์)
ต.ป่าแดด อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ๕๐๑๐๐
(๙) สำนักปฏิบัติธรรมสวนป่า
ต.สุรศักดิ์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ๒๐๑๑๐
(๑๐) วัดบ้านพลับ
ต.หนองปลาไหล อ.เมือง จ.สระบุรี ๑๘๐๐๐
(๑๑) วัดบุ่งมะแลงน้อย (ที่พักสงฆ์ป่าช้าบุ่งมะแลง)
ต.บุ่งมะแลง อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี ๓๔๑๙๐
(๑๒) วัดอุ้มผางธรรมาราม
ต.อุ้มผาง อ.อุ้มผาง จ.ตาก ๖๓๑๗๐
(๑๓) วัดถ้ำเขาวง (ธรรมสถานถ้ำเขาวง)
ต.บ้านไร่ อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี ๖๑๑๔๐
(๑๔) วัดธรรมชัยสิริมงคล
ต.สนามชัย อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ๗๐๐๐๐
(๑๕) วัดเขาภูคา
ต.หัวหวาย อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ๖๐๑๔๐
(๑๖) วัดเขายายเที่ยงใต้
หมู่ที่ ๑๐ ต.คลองไผ่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ๓๐๓๔๐
(๑๗) วัดป่าภาวนาวิเวก
ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ๗๐๑๕๐
(๑๘) วัดสันติวงศาราม (เดิมชื่อ วัดสังฆทาน)
Wat Santiwongsaram (ex Wat Sanghathan)
107 Handsworth Wood Rd. Handsworth Wood,
Birmingham City, England B20 2PH
(๑๙) ที่พักสงฆ์ศาลาธรรม
เลขที่ ๗ หมู่ที่ ๑๑ แขวงศาลาธรรมสพน์ เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
(๒๐) ที่พักสงฆ์ถ้ำเวฬุวัน (ถ้ำลม-ถ้ำวัง)
หมู่ที่ ๘ บ้านลุเตา ต.นาขุนไกร อ.ศรีสำโรง จ.สุโขทัย ๖๔๑๒๐
(๒๑) สำนักสงฆ์เกาะผาสุข
ต.มะขาม อ.มะขาม จ.จันทบุรี ๒๒๑๕๐
(๒๒) ที่พักสงฆ์ดอยโตน
หมู่ที่ ๖ ต.ป่าตึง อ.แม่จัน จ.เชียงราย ๕๗๑๑๐
(๒๓) วัดป่าจำกู่
ต.ศรีบัวบาน อ.เมือง จ.ลำพูน ๕๑๐๐๐
(๒๔) ที่พักสงฆ์หาดแตง
เลขที่ ๒๐ หมู่ที่ ๕ ต.ด่านแม่แฉลบ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ๗๑๒๕๐
(๒๕) ที่พักสงฆ์เขื่อนบางลาง
ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา ๙๕๑๓๐
(๒๖) วัดหนองโบสถ์
หมู่ที่ ๑ บ้านหนองโบสถ์ ต.สำนักท้อน อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ๒๑๑๓๐
(๒๗) วัดหลวงขุนวิน (ดอยหลวง)
หมู่ที่ ๗ ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ ๕๐๓๖๐
(๒๘) ที่พักสงฆ์ดอยปภัสสร (ดอยแม่เกิ๋น)
บ้านปงทอง ต.วังทอง อ.วังเหนือ จ.ลำปาง ๕๒๑๔๐
(๒๙) วัดป่าพุทธะนิกาย
บ้านกุดไกรสร ต.หนองหมี อ.กุดชุม จ.ยโสธร ๓๕๑๔๐
(๓๐) วัดถ้ำกฤษณาธรรมาราม
หมู่ที่ ๖ ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ๓๐๑๓๐
(๓๑) ที่พักสงฆ์สิชล
หมู่ที่ ๖ ต.เปลี่ยน อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช ๘๐๑๒๐
(๓๒) ที่พักสงฆ์น้ำราดธารธรรม
หมู่ที่ ๙ ต.บ้านทำเนียบ อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี ๘๔๑๘๐
(๓๓) วัดเสาหิน
หมู่ที่ ๘ บ้านหางตลาดเหนือ ต.ท่าฉนวน อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย ๖๔๑๗๐
(๓๔) วัดในขนอม
หมู่ที่ ๑๑ ต.ขนอม อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช ๘๐๒๑๐
(๓๕) สวนป่าเฉลิมพระเกียรติ
หมู่ที่ ๖ บ้านนา ต.เขาต่อ อ.ปลายพระยา จ.กระบี่ ๘๐๒๑๐
(๓๖) วัดสว่างโพธิ์ชัย
บ้านเมืองเพ็ง ต.กู่ทอง อ.เชียงยืน จ.มหาสารคาม ๔๔๑๖๐
(๓๗) ที่พักสงฆ์ถ้ำทะลุ
ต.หินดาด อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ๗๑๑๘๐
(๓๘) ที่พักสงฆ์บ้านธรรมวารี
หมู่บ้านบางพุทรา ซอย ๑ ต.หัวไทร อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ๒๔๑๑๐
(๓๙) วัดเนื้อนาบุญ
หมู่ที่ ๑๔ บ้านทุ่งลานนา ต.ป่างิ้ว อ.เทิง จ.เชียงราย ๕๗๑๖๐
(๔๐) ที่พักสงฆ์ป่าช้าดงมะตาว
ต.กุดลาด อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ๓๔๐๐๐
(๔๑) วัดอนันทะวิหาร
ต.พุทธคยา เมืองคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย
(๔๒) วัดโภคัลพุทธวิหาร (Bhogal Buddha Vihara)
ถ.จังปุระ ออสปิตัลโรด เมืองนิวเดลี ประเทศอินเดีย
(๔๓) ที่พักสงฆ์เขารามโกฏิ
เมืองกาฐมัณฑุ ประเทศเนปาล
(๔๔) วัดศากยมุนี
อ.รุปันเดหิ เมืองลุมพินี ประเทศเนปาล
(๔๕) วัดสังฆทานไทย-เยอรมัน
Wat Sanghathan Thai-German

1556 Schoneiche Brandenburg Street 76A, Berlin Germany
(๔๖) ศูนย์ปฏิบัติธรรมกตปุญโญ
ต.ปากน้ำ อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี ๗๒๑๒๐
(๔๗) สำนักป่าปฏิบัติธรรมวังน้ำเขียว
ต.วังหมี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ๓๐๓๗๐
(๔๘)

รูปภาพ
คณะสงฆ์, แม่ชี, อุบาสก และอุบาสิกา
วัดหลวงขุนวิน ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่



(มีต่อ ๖)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 มิ.ย. 2011, 10:33 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 7
สมาชิก ระดับ 7
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ต.ค. 2010, 09:11
โพสต์: 597


 ข้อมูลส่วนตัว


ขอบพระคุณค่ะ ฟังท่านเทศน์ทางเวป ดีมากเลยค่ะ :b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ส.ค. 2012, 12:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
สรีระสังขารหลวงพ่อสนอง กตปุญโญ ณ ศาลาเรือนไทยริมน้ำ วัดสังฆทาน


๏ การอาพาธและการมรณภาพ

ช่วงบั้นปลายชีวิตของหลวงพ่อสนอง กตปุญโญ ท่านมีอาการอาพาธบ่อยครั้ง เป็นทั้งโรคไต โรคหัวใจ และโรคความดันโลหิตสูง ฯลฯ ต้องเข้าออกโรงพยาบาลเป็นประจำ

กระทั่งในที่สุดเมื่อเวลาประมาณ ๒๑.๓๙ น. ของคืนวันศุกร์ที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๕ หลวงพ่อสนองได้ละสังขารด้วยอาการสงบแล้ว ด้วยโรคไตวายและโรคหัวใจ ในระหว่างกำลังจำพรรษาอยู่ ณ ศูนย์ปฏิบัติธรรมกตปุญโญ (สวนธรรมกิจสุนทร) ต.ปากน้ำ อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี ซึ่งองค์หลวงพ่อท่านได้ลงไปพำนักจำพรรษาอยู่ในปีนี้ สิริรวมอายุได้ ๖๘ ปี ๔ เดือน พรรษา ๔๘ ท่ามกลางความเศร้าโศกอาลัยเป็นยิ่งนักของบรรดาคณะสงฆ์ คณะศิษยานุศิษย์ และสาธุชนทั่วไป

แม้ว่าหลวงพ่อสนองจะละสังขารลาโลกไปแล้วก็ตาม แต่คุณงามความดี คุโณปการยิ่งที่ท่านมีต่อพระพุทธศาสนาและมวลมนุษย์ชาติ จะเป็นเครื่องเตือนใจให้บรรดาศิษยานุศิษย์ได้จดจำมิลืมเลือน

:b50: :b49: :b50:

เชิญชมประมวลภาพ...การละสังขาร-พิธีสวดพระอภิธรรม
และงานพระราชทานเพลิงสรีระสังขาร “หลวงพ่อสนอง กตปุญโญ”
พระบูรพาจารย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดสังฆทาน จ.นนทบุรี
ได้จากกระทู้ข้างล่างนี้ >>>


• หลวงพ่อสนอง กตปุญโญ วัดสังฆทาน ละสังขารแล้ว •
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=43080

รูปภาพ
หลวงพ่อสนอง กตปุญโญ ณ ธัมมเมกขสถูป สารนาถ ประเทศอินเดีย

รูปภาพ

รูปภาพ
มุมอันสงบร่มรื่นภายในวัดสังฆทาน วัดสายปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน



.............................................................

:b8: :b8: :b8: ♥ รวบรวมและเรียบเรียงมาจาก ::
(๑) เว็บวัดสังฆทาน http://www.sanghathan.net
(๒) ถอดความจาก...ซีดีอัตชีวประวัติหลวงพ่อสนอง กตปุญฺโญ
โดย คุณดุสิตธานี แห่งลานธรรมจักร และคุณสุมิตรา

♥ ขอขอบพระคุณที่มาของรูปภาพทุกแหล่ง


:b44: รวมคำสอน “หลวงพ่อสนอง กตปุญโญ”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=44299

:b44: รวมโอวาทธรรม : หลวงพ่อสนอง กตปุญโญ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=43108

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ม.ค. 2016, 17:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 พ.ค. 2009, 05:25
โพสต์: 621


 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 9 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 9 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร