วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 05:16  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 16 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 เม.ย. 2010, 06:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ประวัติและปฏิปทา
สมเด็จพระญาณวชิโรดม วิ. (หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร)

วัดธรรมมงคล เถาบุญญนนท์วิหาร
แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร


๏ ชาติภูมิ

“เจ้าประคุณ สมเด็จพระญาณวชิโรดม วิ.” หรือ “หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร” มีนามเดิมว่า วิริยังค์ บุญฑีย์กุล เกิดเมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ.2463 ตรงกับวันศุกร์ แรม 13 ค่ำ เดือนอ้าย ปีวอก ณ บ้านพักบริเวณสถานีรถไฟปากเพรียว ต.ปากเพรียว อ.เมือง จ.สระบุรี โยมบิดาชื่อ ขุนเพ็ญภาษชนารมย์ เป็นนายสถานีรถไฟ โยมมารดาชื่อ นางมั่น บุญฑีย์กุล (อุบาสิกามั่น - ถึงแก่กรรมเมื่อปี พ.ศ.2520) มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด 7 คน เป็นชาย 5 คน หญิง 2 คน ท่านเป็นบุตรคนที่ 5 มีชื่อตามลำดับดังนี้

1. นางกิมลั้ง บุญฑีย์กุล (ชูเวศ)
2. นายฑีฆายุ บุญฑีย์กุล
3. นายสุชิตัง บุญฑีย์กุล
4. นายสัจจัง บุญฑีย์กุล
5. สมเด็จพระญาณวชิโรดม วิ. (หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร)
6. นายไชยมนู บุญฑีย์กุล
7. นางสายมณี บุญฑีย์กุล (ศรีทองสุข)

ปัจจุบัน สมเด็จพระญาณวชิโรดม วิ. (หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร) สิริอายุได้ 100 ปี พรรษา 79 (เมื่อปี พ.ศ.2563) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดธรรมมงคล เถาบุญญนนท์วิหาร (วัดธรรมมงคล) ในคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย

รูปภาพ
หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร ในวัยเด็ก

รูปภาพ
ถ่ายภาพร่วมกับสมาชิกในครอบครัว


๏ พบพระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ

ต่อมาครอบครัวของท่านได้ย้ายมาตั้งหลักฐานที่บ้านใหม่สำโรง ต.ลาดบัวขาว อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา วันหนึ่งขณะที่ท่านมีอายุประมาณ 13 ปี ย่างเข้า 14 ปี เพื่อนผู้หญิงคนหนึ่งชวนเป็นเพื่อนให้ไป “วัดสว่างอารมณ์” ต.ลาดบัวขาว อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ซึ่งมี พระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ เป็นเจ้าอาวาส ขณะที่รอเพื่อนผู้หญิงคนนั้นไปต่อมนต์ (ท่องบทสวดมนต์) กับพระอาจารย์กงมา ท่านก็รออยู่ด้วยความเบื่อหน่ายเพราะไปตั้งแต่ 2 ทุ่มกลับเที่ยงคืน จะกลับบ้านเองก็ไม่ได้ เพราะเส้นทางเปลี่ยวและกลัวผี

ได้แต่คิดอยู่ในใจว่า “ตั้งแต่นี้ต่อไปไม่มาอีกแล้วๆๆ” ไม่ช้าก็เกิดความสงบขึ้น ตัวหายไปเลย เบาไปหมด เห็นตัวเองมี 2 ร่าง ร่างหนึ่งเดินลงศาลาไปยืนอยู่ที่ลานวัด มีลมชนิดหนึ่งพัดหวิวเข้าสู่ใจ รู้สึกเย็นสบายเป็นสุขอย่างยิ่ง ถึงกับอุทานออกมาเองว่า “คุณของพระพุทธศาสนามีถึงเพียงนี้เทียวหรือ” แล้วเดินกลับไปที่ร่าง กลับเข้าตัว

พอดีเป็นเวลาเลิกต่อมนต์ จึงเล่าให้กับพระอาจารย์กงมาฟัง ท่านก็พูดว่า “เด็กนี่ เรายังไม่ได้สอนสมาธิให้เลยทำไมจึงเกิดเร็วนัก” ตั้งแต่นั้นมาก็จึงเรียนรู้เกี่ยวกับการทำสมาธิ จนกระทั่งอยู่มาวันหนึ่งท่านทำงานหนักเกินตัวจึงล้มป่วยเป็นอัมพาต บิดาพยายามหาหมอมารักษาแต่ก็รักษาไม่ได้ แพทย์แผนปัจจุบันบอกว่าหมดหวังในการรักษา

๏ พบชีปะขาวมารักษาให้หายจากอัมพาต

ท่านได้แต่นอนอธิษฐานอยู่ในใจว่า “ถ้ามีผู้ใดมารักษาให้หายจากอัมพาตได้ จะอุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น” ไม่นานนักก็ปรากฏว่ามีชีปะขาวหนวดรุงรังตนหนึ่ง มาถามโยมบิดาของท่านว่า “จะรักษาลูกให้เอาไหม” โยมบิดาก็บอกว่า “เอา” ชีปะขาวก็เดินมาหาท่านซึ่งนอนอยู่ พร้อมทั้งกระซิบถามว่า “อธิษฐานดังนั้นจริงไหม” ท่านก็ตอบว่า “จริง” ชีปะขาวตนนั้นจึงให้พูดให้ได้ยินดังๆ หน่อย ท่านก็พูดให้ฟัง ชีปะขาวก็เอาไพรมาเคี้ยวๆ แล้วก็พ่นใส่ตัวของท่านจนเหลืองไปหมด แล้วก็จากไป

เช้าตรู่วันรุ่งขึ้น ปรากฏว่าท่านรู้สึกว่าจะกระดิกตัวได้ ทดลองลุกขึ้นเดินก็ทำได้ เป็นที่อัศจรรย์ใจ 7 โมงเช้าปรากฏว่าชีปะขาวมายืนหลับตาบิณฑบาตอยู่ที่ประตูบ้าน ท่านจึงนำอาหารจะไปใส่บาตร ชีปะขาวกลับขอให้ท่านพูดถึงคำอธิษฐานของท่านให้ฟัง เมื่อพูดแล้ว จึงยอมรับบาตร แล้วบอกให้ท่านไปหาที่ใต้ต้นมะขาม วัดสว่างอารมณ์

เมื่อไปถึงชีปะขาวก็ให้พูดคำอธิษฐานให้ฟังอีก แล้วก็พาเดินไปหลังวัด คว้าเอามีดอันหนึ่งออกไปตัดหางควาย มาชูให้ดู แล้วก็ต่อหางคืนไปใหม่ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น พร้อมกับถามว่า “ลุงเก่งไหม” ท่านก็ตอบว่า “เก่ง” ลุงจะสอนคาถาให้ แต่ต้องท่องทุกวัน เป็นเวลา 10 ปีจึงใช้ได้ ท่านก็ได้เรียนคาถานั้น แล้วก็บอกว่าพรุ่งนี้ให้เตรียมใส่บาตร วันรุ่งขึ้นปรากฏว่าไม่พบตาชีปะขาวแล้ว ตั้งแต่นั้นมาท่านก็ไม่เคยพบกับตาชีปะขาวอีกเลย

๏ ใต้ร่มกาสาวพัสตร์

ปี พ.ศ.2477 เมื่ออายุประมาณ 15 ปี พระอาจารย์กงมาบวชให้เป็นตาปะขาวอยู่รับใช้ท่าน ครั้นต่อมาอายุ 16 ปี ได้เข้าพิธีบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2463 ณ วัดสุทธจินดา ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา โดยมี พระธรรมฐิติญาณ (สังข์ทอง นาควโร พันธ์เพ็ง) เป็นพระอุปัชฌาย์

หลังจากบรรพชาเป็นสามเณรได้ 10 วัน ก็ติดตามพระอาจารย์กงมาออกเดินธุดงค์ตามป่าเขาลำเนาไพรและตามวัดต่างๆ อย่างเคร่งครัด เพื่อแสวงหาความสงบวิเวก เมื่อพบที่สงบวิเวกก็จะหยุดอยู่ทำความเพียร แม้บางครั้งอดอาหารกันอยู่หลายวัน บางครั้งเจอสัตว์ร้าย เจออันตราย หรือหนทางอันยาวไกล ในบางวันเดินธุดงค์ข้ามเขาเกือบ 50 กิโลเมตร ก็ไม่ย่อท้อ โดยถือคติที่ว่ารักความเพียร รักธรรมะมากกว่าชีวิต

ครั้งหนึ่งเมื่อออกจากดงพญาเย็น ได้พบโจรกลุ่มหนึ่งมีอาวุธครบมือมาล้อมไว้ พระอาจารย์กงมาได้เทศน์สั่งสอนโจรกลุ่มนั้น มีอยู่ตอนหนึ่งท่านเทศน์ว่า “พวกเธอเอ๋ย แม้พวกเธอจะมาหาทรัพย์ ตลอดถึงการผิดศีลของพวกเธอนั้น ก็เพื่อเลี้ยงชีวิตนี้เท่านั้น แต่ชีวิตนี้ก็ไม่ใช่ของพวกเธอเลย มันจะสิ้นกันไม่รู้วันไหน เป็นเช่นนี้ทุกคน ถึงพวกเธอจะฆ่าหรือไม่ฆ่าเขา เขาก็ต้องตาย เธอก็เหมือนกัน มีความดีเท่านั้นที่ใครๆ ฆ่าไม่ตาย อย่างเรานี้จะตายเมื่อไหร่ก็ไม่อนาทรร้อนใจ เพราะความดีเราทำมามากแล้ว” ปรากฏว่าพวกโจรกลุ่มนั้นวางมีด วางปืนทั้งหมด แล้วน้อมตัวลงกราบพระอาจารย์กงมาอย่างนอบน้อม หัวหน้าโจรมอบตัวเป็นศิษย์ และได้บวชเป็นตาผ้าขาว ถือศีล 8 เดินธุดงค์ไปด้วยกัน จวบจนกระทั่งหมดลมหายใจลงในขณะทำสมาธิ

รูปภาพ
พระปัญญาพิศาลเถร (หนู ฐิตปญฺโญ)

รูปภาพ
พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ

รูปภาพ
พระครูอุดมธรรมคุณ (หลวงปู่มหาทองสุก สุจิตฺโต)


๏ การอุปสมบท

ครั้นเมื่ออายุได้ 21 ปีบริบูรณ์ ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดทรายงาม (อุทกสีมากลางทะเล) บ้านหนองบัว ต.หนองบัว อ.เมือง จ.จันทบุรี เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ.2484 โดยมี ท่านเจ้าคุณพระปัญญาพิศาลเถร (หนู ฐิตปญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดสระปทุม (วัดปทุมวนาราม ราชวรวิหาร เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ ในปัจจุบัน) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูอุดมธรรมคุณ (หลวงปู่มหาทองสุก สุจิตฺโต) เป็นพระอนุสาวนาจารย์

หลวงพ่อวิริยังค์ได้อยู่ปฏิบัติสมาธิและเดินธุดงค์ติดตามพระอาจารย์กงมาไปในที่ต่างๆ เป็นเวลา 8 ปีเต็ม จึงมีความรู้เรื่องสมาธิสามารถสอนผู้อื่นได้ เมื่อปี พ.ศ.2484 ขณะนั้นมีอายุ 22 ปี วันหนึ่งพระอาจารย์กงมาก็พาท่านเดินธุดงค์จากจังหวัดจันทบุรีไปจังหวัดสกลนคร เพื่อไปพบพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พระอาจารย์กงมาได้บอกหลวงพ่อวิริยังค์ว่า “วิริยังค์ หลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ เป็นปรมาจารย์และเป็นอาจารย์ของเรา สมาธิทุกๆ ขั้นตอนเราได้สอนเธอไปหมดแล้ว ต่อไปนี้เธอจะได้เรียนสมาธิกับท่านปรมาจารย์ เธอจงอย่าประมาท จงปฏิบัติหลวงปู่มั่นแบบถวายชีวิต เธอจะได้ความรู้อย่างกว้างขวาง ยิ่งกว่าที่เราสอนอีกมากนัก”

หลวงพ่อวิริยังค์รับคำตักเตือนจากพระอาจารย์กงมาด้วยความตื้นตันใจ ดังนั้น ในปี พ.ศ.2484 จึงเป็นปีเริ่มศักราชใหม่ของท่าน โดยที่ท่านได้รับเลือกให้เป็นพระผู้อุปัฎฐากของพระอาจารย์มั่น แบบใกล้ชิดที่เรียกว่า ท.ส. อยู่เป็นเวลา 4 ปี และอยู่นอกพรรษาหมายถึงเดือนตุลาคมไปถึงเดือนมิถุนายน เป็นเวลาอีก 5 ปี รวมทั้งหมด 9 ปี จึงเป็นอันว่าปัญหาของสมาธิได้ถูกชี้แจงอย่างหมดเปลือกจริงๆ ซึ่งบางครั้งปัญหาเข้าขั้นสำคัญ พระอาจารย์มั่นก็ให้หลวงพ่อวิริยังค์อยู่ด้วยกับท่านสองต่อสองตลอดเวลา และแก้ไขปัญหานั้นให้

ซึ่งมีครั้งหนึ่งต้องใช้เวลาอยู่กับท่านสองต่อสองนานถึง 3 เดือน ตลอดจนได้เดินธุดงค์ร่วมกับพระอาจารย์มั่น พร้อมทั้งเรียนธรรมะอันลึกซึ้ง ผลงานชิ้นแรกที่หลวงพ่อวิริยังค์ได้ทำขึ้นมา คือ เมื่ออยู่กับพระอาจารย์มั่นในปีที่ 2 โดยได้บันทึกพระธรรมเทศนาของท่านตลอดพรรษา (ปกติท่านห้ามผู้ใดจดเด็ดขาด) เมื่อได้บันทึกไว้แล้ว ก็ได้อ่านถวายให้ท่านฟังและให้ท่านตรวจดู ท่านพอใจ รับรองว่าใช้ได้ และให้ความไว้ใจตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จากการบันทึกในครั้งนั้นได้มีการนำมาพิมพ์เผยแผ่คำสอนนี้แก่สาธารณชน ในหนังสือที่ชื่อว่า “มุตโตทัย” ที่โด่งดังอยู่ในเวลานี้ เพราะได้ถูกพิมพ์เผยแผ่จำนวนกว่าล้านเล่มแล้ว

รูปภาพ
วัดสุทธจินดา ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา
วัดที่หลวงพ่อวิริยังค์ได้เข้าพิธีบรรพชาเป็นสามเณร


(มีต่อ)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 เม.ย. 2010, 06:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
“นครธรรม” ตั้งอยู่ใต้ฐานพระวิริยะมงคลมหาเจดีย์ ศรีรัตนโกสินทร์
พระมหาเจดีย์ที่สูงที่สุดในกรุงเทพมหานคร ณ วัดธรรมมงคล



๏ สร้างนครธรรมและสถาบันพลังจิตตานุภาพ

ระหว่างที่อยู่ใกล้ชิดหลวงปู่มั่น หลวงพ่อวิริยังค์ได้ทราบข้อเท็จจริงต่างๆ มากมายในด้านสมาธิ ทั้งสมาธิตื้น สมาธิลึก ตลอดถึงวิปัสสนา ซึ่งเมื่อเข้าใจทุกประการแล้ว หลวงพ่อวิริยังค์จึงมีความรักและหวงแหนในหลักการต่างๆ เป็นอย่างยิ่ง ไม่อยากที่จะให้หลักการเหล่านั้นต้องสลายไป เพราะท่านมีวิธีทั้งขั้นพื้นฐานและขั้นสูงสุด

หลวงพ่อวิริยังค์ถามหลวงปู่มั่นว่า “ต่อไปกระผมจะเขียนเป็นหลักการให้ชาวโลกเขาทำกันจะได้ไหม”

หลวงปู่มั่นท่านตอบว่า “ต้องเอาแบบขั้นพื้นฐานสำหรับเป็นประโยชน์แก่มหาชน สำหรับขั้นสูงให้มีน้อย โอกาสที่เธอจะทำนั้นมีอยู่ แต่ต้องทำขั้นพื้นฐานเพื่อคนส่วนมากในโลกจะได้สงบ และเธอต้องไปอยู่กรุงเทพฯ เพราะคนกรุงเทพฯ ที่มีวาสนาบารมี มีอยู่ไม่น้อย”

ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ ดังกล่าวมานี้ เป็นแรงสนับสนุนในใจของหลวงพ่อวิริยังค์อยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ.2529 ถึง พ.ศ.2534 หลวงพ่อวิริยังค์ได้มีโอกาสไปพักผ่อนที่วิทยาลัยสงฆ์กำแพงแสน สาขาน้ำตกแม่กลาง ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ อันเป็นบริเวณป่าไม้และภูเขาบนดอยอินทนนท์ ทำให้ท่านได้ทบทวนหลักการต่างๆ ที่เคยได้ไต่ถามอัตถปัญหาสมาธิ พร้อมทั้งคำแนะนำจากหลวงปู่มั่น ท่านจึงได้เขียนเป็นตำราสมาธิขึ้นจนเต็มรูปแบบสามารถใช้ในการเรียนการสอนวิชาสมาธิได้ รวมเวลาที่ใช้ในการทบทวนและรวบรวมการเขียนตำรานั้น ใช้เวลาถึง 5 ปีจึงสำเร็จ เพื่อให้ได้เนื้อหาสาระที่สำคัญ ท่านจึงจัดทำเป็นรูปเล่มตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน ขั้นกลาง และขั้นสูง รวม 3 เล่ม ซึ่งเหมาะแก่การศึกษาและปฏิบัติสมาธิเป็นยิ่งนัก

ในขณะเขียนตำราสมาธิ หลวงพ่อวิริยังค์ก็มาคำนึงว่าชาวโลกได้พัฒนาก้าวไปไกลถึงยุคโลกาภิวัฒน์ เขาได้ลงทุนสร้างวัตถุต่างๆ ทั้งแหล่งบันเทิงเริงรมย์ ทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกสบายทั้งหลาย ทั้งที่อยู่อาศัย ทั้งรถยนต์ เรือยนต์ เครื่องบิน สามารถย่นระยะทางไกลให้ใกล้ ไปมาได้ง่ายและสะดวก ทั้งโทรทัศน์ โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต และอีเมลล์ ก็ย่นระยะการติดต่ดสื่อสารกันได้อย่างสบาย ทั้งหมดเงินเป็นหมื่นล้าน แสนล้าน เขาก็ยังลงทุนกันได้ แล้วทำไม ? เราจะลงทุนสร้าง “นครธรรม” ให้ทันสมัยด้วยไฮเทคต่างๆ เพื่อย่นระยะการศึกษาและปฏิบัติธรรมะบ้างมิได้หรือ ?

หลวงพ่อวิริยังค์จึงได้คิดสร้างนครธรรมขึ้นเมื่อ พ.ศ.2529 และได้ดำเนินการสร้างเมื่อ พ.ศ.2536 ซึ่งก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะคนส่วนมากเข้าใจแต่การสร้างโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ บวชพระ ถวายสังฆทาน เป็นต้น จึงจะได้บุญกุศล แต่จะมาสร้างนครธรรมสอนคนด้วยไฮเทคนี้ ไม่รู้ว่าจะได้บุญตรงไหน แต่ด้วยใจที่มีความมุ่งมั่นของผู้สร้าง จึงพยายามพูดให้สาธุชนทั้งหลายเข้าใจในการทำบุญกุศล จนสามารถมีผู้บริจาคสร้างสำเร็จเมื่อ พ.ศ.2539 จึงเป็นนครธรรมยุคไฮเทค แหล่งย่นระยะการศึกษาธรรมะล้ำยุคสุดอลังการ ณ วัดธรรมมงคล ในเนื้อที่ 4,800 ตารางเมตร ใต้ฐานพระมหาเจดีย์ที่สูงที่สุดในกรุงเทพมหานคร คือสถานที่ศึกษาและปฏิบัติธรรมทันสมัย มีห้องเรียนภาคทฤษฎี มีห้องเรียนภาคปฏิบัติทั้งนั่งสมาธิและเดินจงกรม มีห้องชมธรรมะด้วยสไลด์มัลติวิชั่น มีห้องสนทนาธรรม มีห้องสมุดธรรมะ มีห้องธุรการ มีห้องอาหารและเครื่องดื่ม มีห้องสำนักงานประทีปเด็กไทยเพื่อช่วยเหลือเด็กทั่วเมืองไทย มีห้องถ้ำวิปัสสนาไว้ให้ปฏิบัติธรรม เป็นต้น

รูปภาพ
นครธรรม เป็นสถานที่ตั้งสถาบันการศึกษาหลักสูตรครูสมาธิ
ที่มีชื่อเรียกว่า “สถาบันพลังจิตตานุภาพ” (Willpower Institute)



สาธุชนผู้ที่มาศึกษาและปฏิบัติธรรมจะได้รับความสะดวกสบายในห้องแอร์คอนดิชั่น (air-conditioned room) อย่างดี เป็นการลงทุนสร้างนครธรรมให้ทันสมัยเพื่อสุขภาพใจโดยเฉพาะ จึงเหมาะแก่คนยุคโลกาภิวัฒน์ที่ได้มาศึกษาและปฏิบัติธรรม ทั้งมีเกียรติมีศักดิ์ศรี ทั้งจะได้รับความรู้และความสุขใจเป็นอย่างยิ่ง นี้คือ นครธรรม สถานที่ตั้งของสถาบันพลังจิตตานุภาพ (Willpower Institute) ในใจกลางกรุงเทพมหานคร ด้วยเหตุนี้จึงได้ประกาศเปิดสอนหลักสูตรครูสมาธิขึ้น ณ นครธรรม วัดธรรมมงคล และเปิดรับสมัครนักศึกษาอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2540 มีบุคคลที่มีความรู้ตามกำหนดมาตรฐานมาสมัครเรียนถึง 200 กว่าคน เริ่มเปิดสอนเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ.2540 เป็นรุ่นแรกเรียกว่า รุ่นปฐโม (รุ่นพยัคฆ์) ดำเนินการสอนโดยหลวงพ่อวิริยังค์ ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ พร้อมทั้งนำไปสอบปฏิบัติภาคสนาม จึงจะจบครบตามหลักสูตร

ในหลักสูตรนี้แบ่งออกเป็น 3 เทอมๆ ละ 40 วัน มีการปิดภาคเรียนเทอมละ 7-15 วัน โดยเปิดเรียนระหว่างวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 18.00-20.20 นาฬิกา วันละ 2 ชั่วโมง เริ่มชั่วโมงแรกเรียนภาคทฤษฎี 40 นาที, ถาม-ตอบเพื่อความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง 20 นาที รวมเป็น 1 ชั่วโมง หยุดพัก 20 นาที ต่อจากนั้นเรียนภาคปฏิบัติเดินจงกรม 30 นาที และนั่งสมาธิอีก 30 นาที รวมเป็น 1 ชั่วโมง เมื่อเรียนจบทั้ง 3 เทอมแล้ว มีการสอบข้อเขียนทั้งภาคทฤษฎีและสอบภาคปฏิบัติ ตลอดถึงการสอบสัมภาษณ์ และในขั้นสุดท้ายจะต้องไปสอบปฏิบัติภาคสนามบนดอยอินทนนท์ สถานที่สูงที่สุดในเมืองไทย จ.เชียงใหม่ เป็นเวลา 4 วัน 3 คืน จึงจะมีสิทธิ์จบหลักสูตรครูสมาธิ 200 ชั่วโมง และสุดท้ายจึงจัดพิธีมอบใบประกาศนียบัตรให้

พิจารณาจากการเรียนการสอนที่ผ่านมาของนักศึกษา ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติอย่างสมบูรณ์ ผลที่ออกมาจึงทำให้นักศึกษาได้รับความรู้ความเข้าใจ และได้ทั้งประสบการณ์ด้านการปฏิบัติเป็นที่ประทับใจอย่างยิ่ง นับเป็นปรากฏการณ์ในการศึกษาสมาธิในยุคปัจจุบัน ทำให้ผลงานนี้แพร่กระจายออกไปอย่างกว้างขวางทั่ววงการต่างๆ จะเห็นได้จากการมีผู้มาสมัครเรียนหลักสูตรครูสมาธิเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ

นครธรรม อันเป็นสถานที่ตั้งสถาบันการศึกษาหลักสูตรครูสมาธิ ที่มีชื่อเรียกว่า “สถาบันพลังจิตตานุภาพ” (Willpower Institute) นั้น เป็นสถานการศึกษาสมาธิที่ทันสมัยในยุคปัจจุบัน โดยเปิดสอนให้แก่บุคคลทั่วไป ในการเรียนการสอนนักศึกษาจะได้รับการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับสมาธิเบื้องต้นตั้งแต่การเริ่มบริกรรม จนถึงสมาธิชั้นสูง ที่หลวงพ่อวิริยังค์ได้เรียนรู้มาจากพระอาจารย์ใหญ่มั่น และพระอาจารย์กงมา รวมทั้ง จากประสบการณ์ในชีวิตการปฏิบัติสมาธิของท่านเองกว่า 60 ปี นอกจากผู้เรียนจะเข้าใจการทำสมาธิทั้งสมถะ-วิปัสสนา อย่างถี่ถ้วนแล้ว ยังสามารถเป็นครูสอนสมาธิให้แก่บุคคลอื่นได้อย่างถูกต้องด้วย

เมื่อมีการเรียนการสอนตามระบบของหลักสูตรดังได้กล่าวมาแล้ว แสดงให้เห็นถึงความพร้อมของสถาบันพลังจิตตานุภาพ (Willpower Institute) คือ มีทั้งอาจารย์ผู้สอน มีนักศึกษา มีอาคารสถานที่ มีอุปกรณ์การเรียนการสอนครบถ้วนบริบูรณ์ ดังนั้น ผู้ที่เข้ามาศึกษาจะได้รับประโยชน์จากสถาบันแห่งนี้อย่างเต็มที่ ทั้งจะเป็นผลดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และก่อให้เกิดความสงบสุขร่มเย็นแก่โลกมากยิ่งขึ้นต่อไป

รูปภาพ
ขณะอบรมสมาธิภาคภาษาอังกฤษให้กับชาวต่างชาติ


นอกจากนี้แล้ว สถาบันพลังจิตตานุภาพ (Willpower Institute) ยังได้เปิดหลักสูตรใหม่ คือ “การอบรมสมาธิภาคภาษาอังกฤษ” ให้กับชาวต่างชาติ เพื่อสร้างสันติภาพและสันติสุขให้ชาวโลกโดยการปฏิบัติสมาธิ วัตถุประสงค์ของการเปิดหลักสูตรนี้เพื่อให้ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในเมืองไทย ที่มีความสนใจการทำสมาธิ ได้มีโอกาสเรียนรู้วิธีการสร้างเสริมพลังจิตและหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาได้อย่างถ่องแท้ โดยปราศจากอุปสรรคทางด้านภาษา เพื่อนำเอาไปใช้ในการดำรงชีวิตประจำวันได้ ทั้งในด้านการทำงานและชีวิตในครอบครัว เพราะการทำสมาธิถือเป็นการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างหนึ่งที่จะทำให้จิตใจของคนเราสงบ สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้องและมีความสุข ซึ่งหากสามารถปฏิบัติได้โลกก็จะสงบสุขและเกิดสันติภาพ การทำสมาธิเพื่อให้จิตใจสงบมิได้จำกัดเฉพาะศาสนาหนึ่งศาสนาใด โปรแกรมการอบรมสมาธินี้จึงเปิดกว้างสำหรับคนทุกเพศ ทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา หรือแม้แต่คนไม่มีศาสนาก็มาเรียนได้เช่นกัน

หลวงพ่อวิริยังค์ได้เปรียบเทียบระหว่างสมาธิกับการเรียน ไว้ว่า “คนเราได้ทำสมาธิมีพลังจิตแล้ว ก็เหมือนไปเรียนหนังสือ เมื่อไปเรียนทุกวันก็จะมีความรู้ เรียนจนจบมัธยมแล้วเป็นอย่างไร ความรู้เราก็ได้มากกว่าคนที่ไม่ได้เรียนเลย ทุกอย่างจึงเป็นไปอัตโนมัติ พอมาเปิดหนังสือ จับปากกาก็รู้ ก็เข้าใจ แต่คนที่ไม่ได้ไปเรียนไม่มีความรู้ เปิดหนังสือเท่าไรก็ไม่รู้ จับปากกาก็เขียนไม่ได้ การมาเรียนจึงเป็นการสะสมความรู้ เช่นเดียวกับคนที่มาเรียนสมาธิก็เป็นการสะสมพลังจิต ทำทุกวันๆ ก็เป็นการสะสมโดยไม่รู้ตัว”

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จะเริ่มฝึกสมาธิให้ดีต้องทำอย่างน้อย 5 นาทีต่อวัน หรือ 6 ชั่วโมงต่อเดือน จะทำให้พลังจิตดีในระดับหนึ่ง แต่ต้องทำให้ติดต่อกันทุกวันจึงจะได้ผล การฝึกทำสมาธิครั้งละ 5 นาทีวันละ 3 เวลา คือ เช้า กลางวัน เย็น รวมแล้วก็จะตกวันละ 15 นาที รวมทั้งเดือน 415 นาที เมื่อทำสมาธิเสร็จเรียบร้อยแล้ว ควรจะจดบันทึกลงในสมุดทุกครั้ง เพื่อจะได้เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างช่วงเวลาที่ฝึกปฏิบัติสมาธิ และนับว่าเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดสำหรับการทำสมาธิเพื่อสันติภาพของโลก เพราะโลกจะสงบสุขได้ด้วยใจของคนเราที่มีเมตตาธรรม

๏ การศึกษาและวิทยฐานะ

เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ต่อมาเมื่ออายุ 15 ปี พ.ศ.2477 ได้บวชเป็นตาปะขาว การศึกษาเนื่องด้วยได้บวชตั้งแต่อายุยังน้อย เมื่อบรรพชาแล้วสามารถสอบไล่ได้นักธรรมชั้นตรี นอกจากนั้นเป็นเวลาปฏิบัติกรรมฐาน เดินธุดงค์ ตลอดระยะเวลาบรรพชาและอุปสมบท

๏ ลำดับสมณศักดิ์

พ.ศ.2507 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอกที่ พระครูญาณวิริยะ

พ.ศ.2510 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระญาณวิริยาจารย์ (ฝ่ายวิปัสสนาธุระ)

พ.ศ.2535 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชธรรมเจติยาจารย์ (ฝ่ายวิปัสสนาธุระ)

พ.ศ.2545 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพเจติยาจารย์ (ฝ่ายวิปัสสนาธุระ)

เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2553 เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 83 พรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมมงคลญาณ (ฝ่ายวิปัสสนาธุระ)

รูปภาพ

รูปภาพ
ภาพในงานพิธีถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
สาขาวิชาการพัฒนาสังคม จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย จ.เชียงราย
แด่หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร ณ วัดธรรมมงคล เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2553



๏ ผลงานและเกียรติคุณดีเด่น

~ ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

พ.ศ.2538 ปริญญาพัฒนบริหารศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาบริหารการพัฒนา สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

พ.ศ.2545 ปริญญาครุศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

พ.ศ.2545 ปริญญาศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการศึกษานอกระบบ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.)

พ.ศ.2550 ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยโยนก จ.ลำปาง

พ.ศ.2553 ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย จ.เชียงราย

~ โล่รางวัล

พ.ศ.2540 ได้รับรางวัลจากมูลนิธิสมาน-คุณหญิงเบญจา แสงมลิ สาขาพระสงฆ์

พ.ศ.2541 ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติบุคคลดีเด่น “เพชรกรุงเทพ” สาขาศิลปวัฒนธรรม ศาสนา และการศึกษา จากกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2541

รูปภาพ

(มีต่อ)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 เม.ย. 2010, 06:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

๏ ผลงานด้านสาธารณประโยชน์

เนื่องด้วยหลวงพ่อวิริยังค์มีความประสงค์จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทยและชาวต่างประเทศ ท่านได้พัฒนาถาวรวัตถุและให้การศึกษาทุกๆ ด้าน ปรากฏเห็นเป็นที่ประจักษ์ ดังนี้

1. สร้างวัด 10 แห่งในประเทศไทย

2. สร้างวัดไทยในประเทศแคนนาดา 6 แห่ง

3. สร้างวิทยาลัยสงฆ์ 3 แห่ง

4. สร้างสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จ.นครราชสีมา

5. สร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 3,000 กว่าแห่งทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายที่ 7,000 แห่ง

6. สร้างโรงพยาบาลจอมทอง จ.เชียงใหม่

7. สร้างที่ว่าการอำเภอจอมทอง จ.เชียงใหม่

8. สถาบันประถมศึกษาจอมทอง จ.เชียงใหม่

9. สร้าง “พระวิริยะมงคลมหาเจดีย์ ศรีรัตนโกสินทร์” พระมหาเจดีย์ที่สูงที่สุดในประเทศไทย ประดิษฐาน ณ วัดธรรมมงคล เถาบุญญนนท์วิหาร (วัดธรรมมงคล)

10. สร้าง “พระพุทธมงคลธรรมศรีไทย” พระพุทธรูปหยกเขียวที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประดิษฐาน ณ วัดธรรมมงคล เถาบุญญนนท์วิหาร (วัดธรรมมงคล)

11. สร้างสถาบันพลังจิตตานุภาพในประเทศไทย ด้วยเวลาเพียง 3 ปี และสร้างสถาบันพลังจิตตานุภาพในประเทศแคนนาดา ด้วยเวลาเพียง 2 ปีกว่า สำหรับประเทศไทยสามารถผลิตครูสมาธิได้กว่า 2,000 คน สำหรับประเทศแคนนาดา หลวงพ่อจะเดินทางไปสอนเองเป็นภาษาอังกฤษ ก็สามารถผลิตครูสมาธิที่เป็นชาวต่างชาติล้วนๆ ในรุ่นแรกมีผู้สนใจเรียนเพียง 24 คน โดย 24 คนที่ได้บอกต่อกันไป ทำให้รุ่นที่สองเพิ่มเป็น 200 กว่าคน และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกรุ่น จนปัจจุบันได้ 7 รุ่นแล้ว สามารถผลิตครูสมาธิได้กว่า 2,000 คน

เมื่อนักศึกษาครูสมาธิชาวแคนนาดาเรียนจบภาคทฤษฎี หลวงพ่อก็จะนำพามาเดินธุดงค์ที่ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ทุกปี ปัจจุบันมีศูนย์สอนครูสมาธิอยู่ 6 แห่งในแคนนาดา คือ เอ็ตมอนตัน, แคลการี, แองการา, โตรอนโต, แวนคูเวอร์ และฟอร์ดแมคเคอรี ซึ่งกำลังจะเปิดเพิ่มอีก 10 แห่ง นับว่าท่านได้เสียสละเพื่อประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาและส่วนรวม โดยมิได้เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยเลยแม้อายุท่านจะกว่า 90 ปีแล้วก็ตาม

12. สร้างสถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์ หรือซีไอดีไอชนาพัฒน์ (Chanapatana International Design Institute : CIDI) เดิมชื่อ “สถาบันชนาพัฒน์” มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นสถาบันนานาชาติด้านการออกแบบ และเพื่อพัฒนานักออกแบบชาวไทยให้เป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติ โดยได้รับความร่วมมือทางวิชาการจากสถาบัน Academia Itialiena สถาบันออกแบบชั้นนำจากเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี

~ การสร้างวัดในประเทศไทย

วัดที่ 1 ปี พ.ศ.2486 สร้างวัดบ้านห้วยแคน ต.หนองเทียน อ.เมือง จ.สกลนคร ขณะนั้นท่านอายุได้ 24 ปี

วัดที่ 2 ปี พ.ศ.2487 สร้างวัดวิริพลาราม บ้านเต่างอย ต.เต่างอย อ.เต่างอย จ.สกลนคร

วัดที่ 3 ปี พ.ศ.2489-2491 สร้างวัดมณีคีรีวงศ์ (กงรังษี) จ.จันทบุรี มีกุฏิ ศาลา หอระฆัง ฯลฯ

วัดที่ 4 ปี พ.ศ.2491-2495 สร้างวัดดำรงธรรมาราม ต.วันยาว อ.ขลุง จ.จันทบุรี เพื่อให้เป็นที่ธุดงค์วิปัสสนากัมมัฏฐาน

วัดที่ 5 ปี พ.ศ.2493 สร้างวัดสถาพรพัฒนา (วัดหนองชิ่ม) ต.หนองชิ่ม อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี เพื่อให้เป็นแหล่งบำเพ็ญสมณธรรมอันสัปปายะ สงบเย็น ร่มรื่น

วัดที่ 6 ปี พ.ศ.2506 สร้างวัดธรรมมงคล เถาบุญญนนท์วิหาร (วัดธรรมมงคล) ถ.สุขุมวิท 101 แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพฯ เป็นวัดแรกในกรุงเทพฯ มีเนื้อที่ทั้งหมด 32 ไร่ สิ่งสำคัญภายในวัดประกอบด้วย

รูปภาพ
พระวิริยะมงคลมหาเจดีย์ ศรีรัตนโกสินทร์

รูปภาพ
พระบรมสารีริกธาตุ ภายในพระวิริยะมงคลมหาเจดีย์ ศรีรัตนโกสินทร์

รูปภาพ
ศาลาพระหยก

รูปภาพ
“พระพุทธมงคลธรรมศรีไทย” พระพุทธรูปหยกเขียวที่ใหญ่ที่สุดในโลก

รูปภาพ
พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์กวนอิมหยก


- “พระวิริยะมงคลมหาเจดีย์ ศรีรัตนโกสินทร์” พระมหาเจดีย์ที่สูงที่สุดในประเทศไทย สูง 14 ชั้น เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ มีความสวยสดงดงามตามศิลปไทย วิจิตรตระการตาหาชมได้ยาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จทรงหล่อพระประธาน ตัดลูกนิมิต และวางศิลาฤกษ์พระมหาเจดีย์ สิ้นงบประมาณการก่อสร้างร่วมร้อยล้านบาท

- “พระพุทธมงคลธรรมศรีไทย” พระพุทธรูปหยกเขียวที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประดิษฐาน ณ “ศาลาพระหยก” ซึ่งเป็นศาลากระจกมีหลังคาแบบโดมแก้ว เป็นปฏิมากรรมแบบทันสมัยที่มีความอัศจรรย์อย่างยิ่ง หยกชิ้นใหญ่นี้ได้ถูกค้นพบที่ใต้ทะเลสาบน้ำแข็ง ประเทศแคนาดา หยกเป็นวัสดุที่มีความแข็งแกร่งมากและเหมาะแก่การนำมาสร้างพระพุทธรูป เพราะมีความสวยงาม คงทนถาวร

- “ศาลาพระหยก” เป็นที่ประดิษฐาน “พระพุทธมงคลธรรมศรีไทย” พระพุทธรูปหยกเขียวที่ใหญ่ที่สุดในโลก และ “พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์กวนอิมหยก” ศาลาพระหยกเป็นศาลากระจกมีหลังคาแบบโดมแก้ว มีสระน้ำล้อมรอบประดับด้วยไม้ใบและไม้ดอกรอบขอบสระ ซึ่งได้ออกแบบตามสถาปัตยกรรมทันสมัย มีลักษณะเป็นวงกลมโดยยึดหลักปฏิจจสมุปปบาท 12 ประการ และมีการจารึกพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในศาลาแห่งนี้ด้วย เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหยกเขียวให้เป็นการสมพระเกียรติ

- “ถ้ำวิปัสสนา” เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของผู้ที่จะมารับการอบรมพระกรรมฐาน และสำหรับนักศึกษาครูสมาธิ สถาบันพลังจิตตานุภาพ ตลอดทั้งผู้มาถือศีลอุโบสถทุกท่าน จำลองบรรยากาศการปฎิบัติในป่า-ถ้ำ เพื่อเข้าไปนั่งสมาธิและฟังธรรมในถ้ำได้โดยปราศจากกังวลจากสัตว์ป่า ปากถ้ำมีประตูมุ้งลวด บรรจุคนได้กว่า 200-300 คน ล้อมรอบด้วยสวนป่า มีไม้ดอกไม้ใบ สระน้ำและเนินเขาซึ่งให้บรรยากาศร่มรื่น เป็นป่ากลางกรุง

ด้วยหลวงพ่อวิริยังค์ได้เผยแผ่การฝึกสมาธิภาวนาอย่างมีหลักการ และยึดหลักแนวทางการปฏิบัติของ “หลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ” ที่ให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติทางด้านจิตใจ และเน้นเรื่องการทำสมาธิสะสมพลังจิต ได้เล็งเห็นว่าปัจจัยหนึ่งที่สนับสนุนผู้ปฏิบัติธรรม ช่วยให้จิตใจสงบได้โดยเร็ว คือ สถานที่สัปปายะที่มีลักษณะเป็นป่าไม้และภูเขา อันมีความเงียบสงัด สงบเย็น ซึ่งในใจกลางกรุงเทพฯ ไม่มี ท่านจึงได้ดำเนินการสร้างป่าไม้-ภูเขาขึ้นในบริเวณวัดธรรมมงคล บนเนื้อที่ทั้งหมดกว่า 4 ไร่ ให้ชื่อเรียกว่า “ถ้ำวิปัสสนา”

- กุฏิถาวรหลังใหญ่ 2 ชั้น อีก 12 หลัง, ศาลาการเปรียญ, ศาลาเมรุฌาปนสถาน และอุโบสถ มีพระภิกษุสามเณรพำนักจำพรรษาอยู่กว่า 400 รูป และมีโรงเรียนอนุบาลอบรมสอนหนังสือให้แก่นักเรียนกว่า 500 คน

รูปภาพ
“ถ้ำวิปัสสนา”

รูปภาพ
สวนหย่อมหน้า “ถ้ำวิปัสสนา”

รูปภาพ
ศาลากลางน้ำตั้งอยู่ด้านหน้าของ “ถ้ำวิปัสสนา”


วัดที่ 7 ปี พ.ศ.2512 สร้างวัดผ่องพลอยวิริยาราม ซ.ลาซาล สุขุมวิท 105 แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพฯ มีเนื้อที่ทั้งหมด 10 ไร่ มีกุฏิบำเพ็ญภาวนา 60 หลัง ศาลาปฏิบัติธรรม อุโบสถ หอระฆัง และอื่นๆ ครบบริบูรณ์

วัดที่ 8 ปี พ.ศ.2512 สร้างวัดสิริกมลาวาส (วัดใหม่เสนานิคม) ซ.เสนานิคม 1 ถ.พหลโยธิน แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ มีกุฏิ 40 หลัง, ศาลาปฏิบัติธรรม, โรงเรียนสอนพระปริยัติธรรม และอุโบสถ ปัจจุบันมีพระภิกษุสามเณรพำนักจำพรรษาอยู่ประมาณ 100 รูป

วัดที่ 9 ปี พ.ศ.2513 สร้างวัดอมาตยาราม (เขาอีโต้) ต.บ้านพระ อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี มีเนื้อที่ทั้งหมด 60 ไร่ มีศาลาการเปรียญ, กุฏิที่พัก และอุโบสถ ฯลฯ ครบบริบูรณ์

วัดที่ 10 ปี พ.ศ.2516 สร้างวัดแก้วพิทักษ์เจริญธรรม ซ.อุดมสุข สุขุมวิท 103 แขวงประเวศ เขตประเวศ กรุงเทพฯ มีศาลาการเปรียญ, กุฏิที่พัก, โรงครัว, บ่อน้ำ และอุโบสถ ตามลำดับ

(มีต่อ)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 เม.ย. 2010, 06:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

~ การสร้างวิทยาลัยสงฆ์

แห่งที่ 1 ปี พ.ศ.2511 สร้างวัดหนองกร่าง วิทยาลัยสงฆ์กำแพงแสน ต.ทุ่งลูกนก อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม มีกุฏิ 80 หลัง, ศาลาการเปรียญ, อาคารเรียน 3 หลัง และอุโบสถ 2 ชั้น ปัจจุบันมีพระภิกษุสงฆ์ทั่วราชอาณาจักรศึกษาอยู่ประมาณ 200 รูป

แห่งที่ 2 ปี พ.ศ.2513 สร้างวิทยาลัยสงฆ์กำแพงแสน สาขาน้ำตกแม่กลาง ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ เพื่อการปฏิบัติธรรมให้บรรลุเป้าหมายในทางปฏิบัติบำเพ็ญวิปัสสนาชั้นสูง เหมาะกับภูมิประเทศแถบนี้ เมื่อปี พ.ศ.2530-2534 หลวงพ่อวิริยังค์ได้ปฏิบัติธรรมจำพรรษาอยู่ที่น้ำตกแม่กลางแห่งนี้ เพื่อฝึกพลังจิตให้สว่างไสวแล้วนำไปโปรดคณะศรัทธาญาติโยมต่อไป

แห่งที่ 3 ปี พ.ศ.2514 สร้างวัดชูจิตรธรรมมาราม วิทยาลัยสงฆ์วังน้อย ต.สนับทึบ อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา (มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตมหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย) มีเนื้อที่ทั้งหมด 108 ไร่ ปัจจุบันมีพระภิกษุสามเณรศึกษาเล่าเรียนอยู่ประมาณ 300 รูป

~ การสร้างวัดในต่างประเทศ

สำหรับประวัติการสร้างวัดพุทธศาสนาไทยในประเทศแคนาดานั้น กล่าวคือ เมื่อปี พ.ศ.2530 สมเด็จพระญาณวชิโรดม วิ. (หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระราชธรรมเจติยาจารย์ เจ้าอาวาสวัดธรรมมงคล เถาบุญญนนท์วิหาร (วัดธรรมมงคล) ได้เดินทางไปประเทศแคนาดาเป็นครั้งแรกกับคุณชัยยศ และคุณรัตนา สมบุญธรรม ซึ่งครั้งนั้นมีงานแสดงสินค้านานาชาติที่เมืองเอ็ดมันตัน ขณะที่อยู่เมืองเอ็ดมันตัน ได้มีคุณดำเกิง คงคา เป็นผู้ดูแล หลังจากงานแสดงสินค้านานาชาติเสร็จแล้ว คุณดำเกิง คงคาก็ได้พาไปเมืองแคนการี่และที่แบมป์ ทำให้หลวงพ่อวิริยังค์ชอบสถานที่เหล่านี้มากเพราะมีภูเขาป่าไม้เหมือนกับเมืองหิมพานต์

หลังจากนั้นก็ได้เดินทางต่อไปที่เมืองแวนคูเวอร์ ได้พบกับคุณประเสริฐ และคุณแหม่ม อุทกภาชก์ ซึ่งทั้ง 2 สามีภรรยาได้มาอยู่ที่เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา เป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว รู้จักคนไทยเป็นจำนวนมาก ได้ทำการประชุมชาวไทย-ลาว มีผู้มาร่วมทำบุญจำนวนมาก แล้วได้ปรารภความประสงค์จะมีวัดไทยในครั้งนั้น ในการเดินทางมาครั้งนี้ หลวงพ่อวิริยังค์ได้ถือโอกาสสำรวจหยก ที่ได้ข่าวว่าประเทศแคนาดามีหยกเขียวและมีเหมืองหยกด้วย เนื่องจากท่านมีความตั้งใจจะสร้างพระพุทธรูปด้วยหยก และต้องการสร้างองค์ใหญ่ที่สุดในโลก เมื่อเดินทางมาสำรวจหยกในครั้งนั้นไม่พบว่ามีหยกก้อนใหญ่ที่มีคุณภาพดี ท่านจึงได้จองหยกไว้กับเจ้าของเหมืองหยกว่า ถ้าพบหยกก้อนใหญ่ไม่ต่ำกว่า 7 ฟุต ก็ให้รีบบอกไปด้วย

ปี พ.ศ.2534 หลวงพ่อวิริยังค์ พร้อมกับคุณชัยยศ สมบุญธรรม ได้เดินทางมาที่เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา เพื่อมารับหยกเขียวก้อนใหญ่ที่สุดในโลกน้ำหนักรวม 32 ตัน เป็นหยกที่มีคุณภาพดีนำมายังประเทศไทย แล้วทำการแกะสลักพระพุทธรูปซึ่งเป็นปฏิมากรรมหยกเขียวใหญ่ที่สุดในโลก นามว่า “พระพุทธมงคลธรรมศรีไทย” โดยได้รับความร่วมมือจากประชาชนชาวไทยทั่วประเทศมาร่วมช่วยสร้างองค์พระพุทธรูปหยกจนสำเร็จ

ปี พ.ศ.2536 ชาวไทย-ลาวในประเทศแคนาดาที่มีศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนา มีความประสงค์ที่จะให้มีวัดพุทธศาสนาไทยขึ้น จึงได้รวมตัวกันก่อตั้งสมาคมพระพุทธศาสนาขึ้นมา ด้วยต้องการที่จะให้มีความอบอุ่นสงบเย็นทางใจเนื่องได้จากประเทศบ้านเกิดเมืองนอนมานาน ประสงค์ให้มีวัดพระพุทธศาสนาขึ้นในท้องที่เพื่อศูนย์กลางปฏิบัติศาสนกิจอันเป็นที่พึ่งทางใจ ทั้งนี้เพราะมารำลึกถึงว่าพวกเราเป็นพุทธบริษัทและมีความวิตกกังวลถึงลูกหลานต่อไปข้างหน้า หากไม่มีวัด เด็กๆ เหล่านี้ก็จะต้องเข้านับถือศาสนาอื่น เพราะลูกหลานของเขาก็จะเพิ่มมากขึ้นเป็นจำนวนพัน จำนวนหมื่น หากมีวัดพุทธศาสนาก็จะทำให้อนาคตของเด็กๆ ที่เป็นลูกหลานของเขาเป็นพุทธบริษัท ซึ่งจะเป็นการเผยแผ่พระพุทธศาสนามายังประเทศแคนาดานี้ทางหนึ่งด้วย ชาวไทย-ลาวในประเทศแคนาดาจึงตั้งใจอย่างมั่นคงแน่วแน่ที่จะมีวัดไทยในประเทศนี้ให้จงได้

รูปภาพ
หลวงพ่อวิริยังค์สอนสมาธิในประเทศแคนาดา


หลวงพ่อวิริยังค์เห็นความตั้งใจจริงของพุทธบริษัท จึงได้ช่วยเหลือสนับสนุนโดยการบอกบุญไปยังพุทธบริษัทในประเทศไทย ซึ่งก็ได้รับความศรัทธาอย่างกว้างขวางช่วยบริจาคเงินเป็นจำนวนมาก จนสามารถสร้างวัดขึ้นมา เพียง 7 ปี สามารถสร้างได้ถึง 6 วัด ตั้งอยู่ตามเมืองใหญ่ต่างๆ ของประเทศแคนนาดา ดังนี้

วันที่ 14 พ.ศ.2535 วัดญาณวิริยาเทมเปิ้ล 1 เมืองแวนคูเวอร์ รัฐบริทิชโคลัมเบีย
วันที่ 15 พ.ศ.2536 วัดญาณวิริยาเทมเปิ้ล 2 เมืองโตตรอนโต้
วันที่ 16 พ.ศ.2538 วัดธรรมวิริยาราม 1 เมืองออตตาวา (เมืองหลวงของประเทศแคนนาดา)
วันที่ 17 พ.ศ.2540 วัดธรรมวิริยาราม 2 น้ำตกไนแองการ่า เมืองออนโตริโอ
วันที่ 18 พ.ศ.2541 วัดธรรมวิริยาราม 3 เมืองแอตแมนตัน รัฐอับเบอร์ต้า
วันที่ 19 พ.ศ.2542 วัดธรรมวิริยาราม 4 เมืองแคลการี

ซึ่งต้องใช้ปัจจัยในการก่อสร้างทั้งหมดถึง 90 ล้านกว่าบาท อันเป็นปัจจัยจำนวนมากทีเดียว แต่ก็ได้รับความร่วมมือจากทั้งชาวแคนาดาและชาวไทยในประเทศไทยจนสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ทั้งนี้ การเริ่มต้นของการสร้างวัดพุทธศาสนาไทยในประเทศแคนาดาของหลวงพ่อวิริยังค์ คือ ท่านซื้อโบสถ์ของคริตส์ศาสนา เพื่อให้เป็นโบสถ์พระพุทธศาสนาได้สำเร็จจำนวน 2 โบสถ์

การเกิดขึ้นของวัดไทยในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศแคนาดานั้น นับเป็นผลดีอย่างมากในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ เพราะว่าในประเทศนี้ยังไม่เคยมีวัดไทย และยังเป็นการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาให้แพร่หลาย การสร้างวัดนั้นมิใช่เรื่องง่าย แต่มีความยากลำบากมาก ในเบื้องต้นมีปัญหามาก ต้องใช้ความสามารถทุกๆ ด้าน ทั้งด้านภาษา วัฒนธรรม ตลอดถึงปัจจัย อีกทั้งบุคคลากร หากไม่ใช้ความตั้งใจจริง พร้อมทั้งการเสียสละอย่างสูงแล้วจะทำให้สำเร็จไม่ได้เลย

แต่อย่างไรก็ตาม การสร้างวัดไทยครั้งนี้ โดยการนำพาของหลวงพ่อวิริยังค์ สามารถดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ อันเนื่องมาจากความตั้งใจจริงของท่าน พร้อมทั้งได้รับการสนับสนุนจากพุทธศาสนิกชนทั้งในประเทศแคนาดาและประเทศไทย จึงทำให้บังเกิดผลอย่างรวดเร็วและจะเป็นผลต่อไปในอนาคตซึ่งจะประเมินค่ามิได้ ขณะนี้วัดพุทธศาสนาไทยทั้ง 6 แห่ง ได้ทำประโยชน์มากมาย ได้แก่เป็นศูนย์รวมการปฏิบัติทางศาสนา มีการสวดมนต์ ไหว้พระ รักษาศีล ฟังธรรม นั่งสมาธิ หรือจัดพิธีกรรมตามศาสนา และประเพณีต่างๆ เช่น วันปีใหม่ วันสงกรานต์ วันลอยกระทง วันเข้าพรรษา และออกพรรษา เป็นต้น

วัดญาณวิริยาเทมเปิ้ล 2 เมืองโตรอนโต พระภิกษุที่นี่ได้รับอาราธนาไปสอนการทำสมาธิแก่ผู้ถูกคุมขัง ณ เรือนจำ เป็นประจำ ทำให้ผู้ถูกคุมขังรู้จักพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาจำนวนมาก, วัดญาณวิริยาเทมเปิ้ล 1 เมืองแวนคูเวอร์ ได้มีนักเรียน นักศึกษาชาวแคนาดา มาฝึกหัดการทำสมาธิ ทำให้เข้าใจพระพุทธศาสนายิ่งขึ้น และวัดธรรมวิริยาราม 2 น้ำตกไนแองการ่า เมืองออนโตริโอ มีชาวต่างชาติมาฝึกการทำสมาธิที่วัดอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้แล้ว ทางวัดยังได้แก้ข้อสงสัยในพระพุทธศาสนาให้แก่ชาวต่างชาติให้เข้าใจข้อเท็จจริง และทุกๆ วัดในเมืองต่างๆ กำลังดำเนินงานเผยแผ่พุทธศาสนา คาดว่าในอนาคตวัดในประเทศแคนนาดาตามเมืองต่างๆ จะเป็นสถานที่ศึกษาอบรมพระพุทธศาสนา และเผยแผ่การทำสมาธิให้ได้รับประโยชน์มหาศาลเกินความคาดหมายของหลวงพ่อวิริยังค์

ฉะนั้น การสร้างวัดไทยในต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศแคนนาดานั้น นับว่าเป็นประโยชน์และเป็นผลดีอย่างมาก เพราะประเทศแคนนาดายังไม่มีวัดพุทธไทย การดำเนินงานด้านเผยแผ่พระพุทธศาสนากำลังได้ผล ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ทั้งนี้ อยู่ที่การเสียสละของพระภิกษุผู้ที่มาประจำ และผู้ที่สนับสนุนอยู่เบื้องหลังคือพระเถระทั้งหลาย พร้อมทั้งพุทธศาสนิกชนในประเทศไทย เมื่อได้รับการสนับสนุนเพื่อให้กำลังใจพร้อมทั้งปัจจัยสี่ และความอบอุ่นในการดำเนินงานแล้ว คาดว่าในอนาคตจะทำให้ประเทศนี้มีพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทย-ลาว-เขมร-ญวน-จีน ที่มาตั้งรกรากอยู่ในประเทศแคนาดาเพิ่มขึ้น จนเป็นความหวังที่จะทำให้พุทธศาสนาเป็นปึกแผ่นในประเทศนี้

รูปภาพ

รูปภาพ

~ สถาบันพลังจิตตานุภาพ และศูนย์สมาธิวิริยานุภาพ

จุดประสงค์เพื่อเผยแผ่หลักการวิปัสสนา สำหรับประเทศไทยสามารถผลิตครูสมาธิได้กว่า 2,000 คน และ 1 ปี 6 เดือน สำหรับประเทศแคนนาดา (หลวงพ่อวิริยังค์สอนเป็นภาษาอังกฤษ) สามารถผลิตครูสมาธิที่เป็นชาวต่างชาติล้วนๆ ได้กว่า 5,000 คนแล้ว ท่านได้เพียรเสียสละเพื่อประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาและส่วนรวม โดยมิได้เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยแม้อายุจะล่วงเลยมากว่า 89 ปีแล้ว

~ โครงการประทีปเด็กไทย

เริ่มดำเนินการอย่างไม่เป็นทางการ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2518 และเป็นทางการในปี พ.ศ.2520 จนถึงปัจจุบัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กก่อนวัยเรียน (แรกเกิด-6 ปี) โครงการประทีปเด็กไทยสนับสนุนในด้านการก่อสร้างอาคาร ด้านวิชาการ และด้านโภชนาการ ในหมู่บ้าน 1 ตำบล ตามความต้องการและขีดความสามารถของประชาชน เพื่อรับเด็กในชนบทและในเมืองอายุ 2-6 ปี เข้ารับการเลี้ยงดูในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเพื่อได้รับการพัฒนาอย่างถูกต้อง ทั้งนี้ จะดำเนินการให้เสร็จทุกตำบลทั่วประเทศ ประมาณ 7,000 ตำบล โดยสนับสนุนการสร้างอาคาร ราคาประมาณ 200,000 บาท/หลัง และดำเนินการอบรมผู้ดูแลเด็ก (ผ.ด.ด.) ให้มีคุณภาพ ชึ่งขณะนี้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่สำเร็จแล้วมีจำนวนประมาณ 400 ศูนย์

~ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กธรรมศาลา

หลวงพ่อวิริยังค์ ได้จัดทำโครงการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กธรรมศาลา วัดธรรมมงคล ร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2530 โดยริเริ่มดำเนินการครั้งแรกที่ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ทั้งนี้ ได้ก่อสร้างอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ขนาดกว้าง 6.00 เมตร ยาว 18.00 เมตร สามารถรับเด็กเล็กได้ 60-70 คน

ต่อมาท่านได้พยายามชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนให้ทราบถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จึงมีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคทรัพย์สร้างอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็กไปแล้ว จำนวน 122 ศูนย์ โดยใช้แบบแปลนที่ประยุกต์มาจากกรมการพัฒนาชุมชน ภายหลังได้เปลี่ยนขนาดของศูนย์ลงเหลือ ขนาดกว้าง 5.00 เมตร ยาว 15.00 เมตร แต่ละศูนย์จะใช้เงินงบประมาณ 120,000 บาท โดยหลวงพ่อวิริยังค์มีเจตนารมณ์จะจัดสร้างศูนย์ในลักษณะดังกล่าวให้ครบทุกตำบลประมาณ 5,000 ศูนย์

~ สถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์ (CIDI)

สถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์ หรือซีไอดีไอชนาพัฒน์ (Chanapatana International Design Institute : CIDI) เดิมชื่อ “สถาบันชนาพัฒน์” ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2543 ตามดำริของหลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นสถาบันนานาชาติด้านการออกแบบ และเพื่อพัฒนานักออกแบบชาวไทยให้เป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติ โดยได้รับความร่วมมือทางวิชาการจาก สถาบัน Academia Itialiena สถาบันออกแบบชั้นนำจากเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ซึ่งได้มีการลงนามความร่วมมือทางการศึกษาระหว่างทั้งสองสถาบัน ในวันจันทร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ.2543 และเริ่มการเรียนการสอนเป็นครั้งแรกในเดือนกันยายน พ.ศ.2544 มีจำนวนนักศึกษาทั้งสิ้น 35 คน โดยเปิดสอนการออกแบบเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของนักออกแบบไทยในตลาดโลก ซึ่งมุ่งเน้น 3 สาขา คือ ออกแบบแฟชั่น, ออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และออกแบบเครื่องหนัง โดยอาจารย์จากประเทศอิตาลี ผู้สำเร็จการศึกษาสามารถเดินทางไปศึกษาต่อได้ที่ Academia Iialiena Institute นอกจากนี้แล้ว ยังได้รับการสนับสนุนและร่วมมือจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล มุ่งพัฒนาบุคลากรของชาติไทย ทั้งนี้ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ให้ความสนใจและรับรองหลักสูตรในขั้นต้น และจะส่งนิสิตนักศึกษาในระดับชั้นปีที่ 3 และ 4 ของหลักสูตรปริญญาตรี มาร่วมศึกษาด้านการออกแบบแฟชั่น เครื่องหนังผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม

รูปภาพ
หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร เป็นประธานในพิธีมอบใบประกาศนียบัตร
ให้แก่ผู้จบการศึกษาจากสถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์ (CIDI)


(มีต่อ)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 เม.ย. 2010, 06:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

๏ คุณสมบัติที่สมควรได้รับการยกย่อง

1. เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ มีคุณธรรมและจริยธรรมเป็นที่ยอมรับของสังคม

หลวงพ่อวิริยังค์เป็นผู้ทรงวุฒิ มีคุณธรรมและจริยธรรมเป็นที่ยอมรับของสังคม ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดังจะเห็นได้จากผลจากการดำริของท่านทุกๆ เรื่องจะเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณธรรมและจริยธรรม

1.1 ความเป็นผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ยอมรับของสังคม

สร้างหลักสูตรครูสมาธิ โดยเน้นทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติอย่างมีหลักเกณฑ์ อันเป็นแนวทางสายกลางทำให้เกิดความเป็นไปได้แก่บุคคลทุกเพศทุกวัย, เขียนหนังสือหลักสูตรครูสมาธิ 3 เล่ม เพื่อใช้ประกอบการเรียนการสอน และหากใครต้องการศึกษาด้วยตนเองก็สามารถกระทำได้, สร้างระบบการบริหารหลักสูตรและการเรียนการสอนเต็มรูปแบบ ยึดถือเป็นระบบเดียวกันในการไปสอนในที่ต่างๆ, จัดการเรียนการสอนหลักสูตรครูสมาธิในประเทศแคนนาดา และเป็นผู้สอนหลักสูตรครูสมาธิแก่ชาวแคนนาดา

1.2 ความเป็นผู้มีคุณธรรมและจริยธรรมเป็นที่ยอมรับของสังคม

ท่านได้เน้นหนักให้พระภิกษุสามเณรที่อยู่ภายใต้การดูแลของท่านจำนวนมาก บำเพ็ญสมาธิภาวนา ทำให้พระภิกษุสามเณรเหล่านั้นได้รับประโยชน์อย่างยิ่ง เนื่องด้วยท่านเป็นพระปฏิบัติกัมมัฏฐาน ทั้งนี้ โดยได้ปฏิบัติบำเพ็ญสมาธิในเบื้องต้นแห่งชีวิตความเป็นพระภิกษุสามเณร ครั้งแรกอยู่กับพระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ (ศิษย์เอกพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ) เป็นเวลาถึง 8 ปี และอยู่ปฏิบัติกัมมัฏฐานกับพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ เป็นเวลา 9 ปี ดังนั้น หลวงพ่อวิริยังค์จึงมีความชำนาญในการสอนพระกัมมัฏฐานเป็นอย่างยิ่ง เป็นที่ซาบซึ้งใจเมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาตลอดถึงผลแห่งการปฏิบัติที่ได้รับ ก็เป็นที่ยอมรับจากบรรดาศิษย์ทั้งหลาย

สำหรับปัจจัยในการสร้างวัดและบูรณปฏิสังขรณ์วัดนั้น ท่านมิให้ไปเรี่ยไรที่ไหน เพียงตั้งตู้บริจาคไว้ที่ศาลาวัดแห่งเดียวเท่านั้น จึงเป็นการแสดงถึงศรัทธาอันยิ่งใหญ่ของชาวพุทธที่มีต่อตัวท่านและวัดธรรมมงคล

หลวงพ่อวิริยังค์ ได้ให้พระภิกษุสามเณรที่อยู่ภายใต้การปกครองของท่าน ได้ร่ำเรียนเขียนอ่านตามหลักวิชาการด้านพระพุทธศาสนา และทางวิชาสามัญ ตลอดถึงภาษาต่างประเทศ โดยตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมและโรงเรียนวิชาสามัญให้พระภิกษุสามเณรทั้งหลาย ได้ร่ำเรียนโดยไม่มีขอบเขตที่จำกัด ให้มีความรู้กว้างขวาง เข้าใจเหตุและผลเป็นความรู้ที่ใช้การได้ พระภิกษุสามเณรที่มาศึกษาอยู่ในแวดวงของหลวงพ่อวิริยังค์ จำนวนหลายพันรูปได้ซึ่งความรู้เป็นประโยชน์แก่ตนในหลายกรณี ทั้งเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นอีกมาก ทุกๆ รูปเหล่านี้ต่างระลึกถึงคุณาคุณของท่านอย่างมิรู้ลืมและอย่างจริงใจ บัดนี้ก็ปรากฏว่ามีผู้เรียนสำเร็จผลช่วยงานพระพุทธศาสนา ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศเป็นจำนวนมาก

2. เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญพิเศษในวิชาชีพระดับดีเด่นในสาขาวิชาการบริหารการศึกษา

หลวงพ่อวิริยังค์ เป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในการบริหารการศึกษา ทั้งการศึกษาในระบบโรงเรียน การศึกษานอกระบบโรงเรียน และการศึกษาตามอัธยาศัย ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับต่างประเทศ ด้วยเหตุที่ท่านเป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล มุ่งพัฒนาคนให้เป็นผู้ที่มีคุณธรรมและจริยธรรม ได้รับการศึกษาทั้งทางโลกและทางธรรมอย่างทั่วถึง และท่านยังมองการณ์ไกลว่า ปัจจุบันนี้การบริหารจัดการวัดต่างๆ ในประเทศไทยไม่มีประสิทธิภาพเพราะเจ้าอาวาสรู้แต่ทางธรรม ท่านจึงได้มีดำริเตรียมพระสงฆ์เพื่อที่จะไปเป็นเจ้าอาวาสวัดต่างๆ ให้มีทางด้านการบริหารจัดการโดยเฉพาะทางการบริหารการศึกษา ทั้งนี้เพราะท่านเล็งเห็นว่าวัดควรเป็นสถาบันการศึกษาที่สามารถจัดการศึกษาด้านต่างๆ ได้อย่างดีและทั่วถึง ถ้าเจ้าอาวาสรู้จักการบริหารและการจัดการที่ดี

ผลงานของท่านสรุปได้ดังนี้

2.1 การบริหารอาคารสถานที่

วัดธรรมมงคล สุขุมวิท 101 แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพฯ มีเนื้อที่ 32 ไร่ สิ่งก่อสร้างภายในวัดทุกสถานที่ท่านสามารถจัดสรรทรัพยากรให้ใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพสูงสุด ถือได้ว่าการจัดการศึกษาทุกรูปแบบ ได้จัดมาอยู่ไว้ ณ วัดแห่งนี้ ดังนี้

พระวิริยะมงคลมหาเจดีย์ ศรีรัตนโกสินทร์
ชั้นที่ 1 สถาบันพลังจิตตานุภาพ
ชั้นที่ 2 วิหารหลวงพ่อดำ
ชั้นที่ 3 ห้องสมุด
ชั้นที่ 4 ห้องเรียนโรงเรียนปริยัติธรรม
ชั้นที่ 5 ห้องเรียนโรงเรียนปริยัติธรรม
ชั้นที่ 6 สำนักงานโรงเรียนปริยัติธรรม
ชั้นที่ 7 สำนักงานศูนย์ให้การศึกษาวัดธรรมมงคล,
ห้องสมุด และห้องเรียนมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา 3 ห้อง
ชั้นที่ 8 ห้องเรียนมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา 2 ห้อง
ชั้นที่ 9 พิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับพุทธศาสนา
ชั้นที่ 10 พิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับพุทธศาสนา
ชั้นที่ 11 พิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับพุทธศาสนา
ชั้นที่ 12 พิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับพุทธศาสนา
ชั้นที่ 13 พิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับพุทธศาสนา
ชั้นที่ 14 ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

อาคารธรรมศาลา
ชั้นที่ 1 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
ชั้นที่ 2 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
ชั้นที่ 3 ศูนย์อาชีพกรุงเทพมหานคร
ชั้นที่ 4 ศูนย์อาชีพกรุงเทพมหานคร

ศาลาพระหยก
ชั้นที่ 1 ที่จอดรถ
ชั้นที่ 2 ที่บรรจุอัฐิ
ชั้นที่ 3 ประดิษฐสถานพระพุทธรูปหยกและพระโพธิสัตว์เจ้าแม่กวนอิมหยก

ถ้ำวิปัสสนา
เนื่องจากการฝึกสมาธิให้ได้ผลดีนั้น จำเป็นต้องมีสถานที่และบรรยากาศสัปปายะ ท่านจึงได้สร้างถ้ำเพื่อจำลองสถานที่ในป่าสำหรับผู้ต้องการฝึกสมาธิ

ส่วนการดำเนินการพัฒนาทางด้านจิตใจนั้น หลวงพ่อวิริยังค์ได้วางรากฐานการปฏิบัติอันเป็นแนวทางเดียวกันกับของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ คือแนวทางสายกรรมฐานอันเป็นที่เชื่อถือแก่ประชาชนทุกๆ ระดับชั้น

วัดธรรมมงคลแห่งนี้ เป็นศูนย์กลางการปฏิบัติที่ใหญ่มากแห่งหนึ่ง โดยมีพระภิกษุสามเณรกว่า 500 รูป มีประชาชนฟังธรรมจำศีลวันพระกว่า 500 คน มีเด็กอยู่ในอุปการะ 500 คน ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร นอกจากนั้น ยังเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาเด็ก (เยาวชนของชาติ) โดยได้ดำเนินการช่วยเหลือสร้างอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เช่นที่จังหวัดเชียงใหม่ อ.จอมทอง สร้าง 13 แห่ง, ที่ อ.ดอยเต่า 3 แห่ง, ที่ อ.สารภี 1 แห่ง, จังหวัดลำพูน ที่ อ.ป่าซาง 12 แห่ง, ที่ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.อุบลราชธานี 13 แห่ง, ที่ อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม 10 แห่ง, ที่ จ.ร้อยเอ็ด, จ.สกลนคร และจังหวัดสมุทรปราการ ทั้งหมดเป็นเงินกว่า 10 ล้านบาท

นอกจากนี้ได้ให้โภชนาการอาหารเสริมแก่เด็กเล็กก่อนวัยเรียน อ.จอมทอง จำนวน 2,000 คน, อ.ดอยเต่า จำนวน 800 คน, อ.ป่าซาง จำนวน 1,800 คน, อ.ศรีเชียงใหม่ จำนวน 2,000 คน ทั้งนี้มีวัดธรรมมงคลเป็นศูนย์กลางเพื่อนำเงินและสิ่งของไปช่วยเหลือ และยังได้ช่วยสร้างโรงพยาบาลให้แก่รัฐบาล โดยสร้างอาคารผู้ป่วยใน-ผู้ป่วยนอก 3 ชั้น ขนาด 60 เตียง สิ้นเงินกว่า 22 ล้านบาท เพื่อเป็นประโยชน์แก่ประชาชนในท้องถิ่นอำเภอจอมทอง รวมทั้ง ได้ช่วยเหลือสร้างที่ว่าการอำเภอจอมทอง สำนักงานการประถมศึกษาจอมทอง และได้สร้างอาคารกว้าง 18 เมตร ยาว 81 เมตร 3 ชั้น เป็นอาคารทันสมัย เป็นหอพักที่ฝึกงาน ห้องเรียนพร้อมบริบูรณ์เป็นเงินกว่า 30 ล้านบาท เพื่อให้แก่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

ทั้งหมดนี้ ท่านได้อุทิศชีวิตของท่านเพื่อบำเพ็ญประโยชน์แก่ตนและบุคคลผู้อื่น ด้วยการเสียสละอย่างยิ่ง โดยมิเห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยแต่ประการใด หากท่านมิได้เสียสละอย่างยิ่งยวดแล้ว ผลงานจะปรากฏแก่สายตาของประชาชนเช่นนี้ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ แต่ด้วยความตั้งมั่นที่จะช่วยเหลืองานพระพุทธศาสนาให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง ด้วยเหตุผลดังกล่าวแล้ว หลวงพ่อวิริยังค์จึงเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนเป็นอย่างสูง ในขณะนี้พุทธบริษัททั้งหลายต่างพากันชื่นชมในผลงานของท่านที่ยังประโยชน์แก่ประเทศชาติและพระศาสนาอย่างหาประมาณมิได้

2.2 การบริหารงานวิชาการ

หลวงพ่อวิริยังค์ ได้บริหารงานวิชาการอย่างมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล โดยท่านได้คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก การบริหารงานวิชาการของท่านมีดังนี้

- โรงเรียนปริยัติธรรม ระดับมัธยมต้น-มัธยมปลาย

- ศูนย์ให้การศึกษาสำหรับพระภิกษุวัดธรรมมงคล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เปิดสอน 2 หลักสูตร มีวัตถุประสงค์เพื่อให้พระสงฆ์นำความรู้ให้ได้ไปพัฒนาชุมชน และบริหารจัดการการศึกษาของสงฆ์

- การพัฒนาชุมชนระดับอนุปริญญา

- การบริหารการศึกษาระดับปริญญาตรี (หลังอนุปริญญา)

- สถาบันพลังจิตตานุภาพ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้ฝึกปฏิบัติสมาธิได้อย่างถูกต้อง พร้อมทั้งผลิตครูสมาธิที่มีคุณภาพเพื่อเผยแพร่การฝึกปฏิบัติสมาธิต่อไป

- สถาบันชนาพัฒน์ โดยได้รับความร่วมมือจากสถาบัน Academia Itialiena ประเทศอิตาลี เปิดสอนการออกแบบ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของนักออกแบบไทยในตลาดโลก เปิดสอนโดยมุ่งเน้น 3 สาขาคือ ออกแบบแฟชั่น, ออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และออกแบบเครื่องหนัง โดยอาจารย์จากประเทศอิตาลี ผู้สำเร็จการศึกษาสามารถเดินทางไปศึกษาต่อได้ที่ Academia Iialiena Institute

- ศูนย์ฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานเขตพระโขนง ในการเปิดสอนอาชีพต่างๆ เช่น การจัดดอกไม้, การทำอาหาร, การซ่อมคอมพิวเตอร์, การนวดแผนไทย เป็นต้น

2.3 ผลงานวิชาการ

หลวงพ่อวิริยังค์ ได้เขียนหนังสือและเอกสารวิชาการไว้มากมาย ความรู้ทุกอย่างท่านจะบันทึกตลอดเวลา งานเขียนของท่านจึงมีมากมาย ดังนี้

1. หลักสูตรครูสมาธิ เล่ม 1
2. หลักสูตรครูสมาธิ เล่ม 2
3. หลักสูตรครูสมาธิ เล่ม 3
4. มุตโตทัย
5. 5 ฉลอง
6. ประวัติพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตะเถระ
7. คุณค่าของชีวิต
8. ชีวิตคือการต่อสู้
9. พระพุทธรูปหยกเขียว

3. เป็นผู้ทำคุณประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง

จากภารกิจที่ท่านทำมาโดยตลอด ท่านได้รับการยกย่องและยอมรับนับถืออย่างกว้างขวางในฐานะเป็นพระนักพัฒนาประเทศ นักพัฒนาการศึกษา นักบริหารการศึกษา โดยดูได้จากผลงานที่สะท้อนภาพลักษณ์ของนักบริหารการศึกษา ดังนั้น ภายในวัดธรรมมงคลจึงมีการจัดการศึกษาที่หลากหลาย ได้แก่ โรงเรียนปริยัติธรรมสายสามัญ, ศูนย์ให้การศึกษาสำหรับพระสงฆ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา, ศูนย์ฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร, ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก, สถาบันพลังจิตตานุภาพ และมีการจัดพิธีกรรมต่างๆ ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ตลอดจนในวาระเทศกาลประเพณีของชาวไทย เพื่อให้พุทธศาสนิกชนทั่วไปได้มาร่วมกิจกรรม

3.1 การส่งเสริมการศึกษาของพระภิกษุสามเณร

- สนับสนุนให้เรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมบาลี
- สนับสนุนให้เรียนสายสามัญในระดับมัธยมถึงปริญญาตรี

3.2 การส่งเสริมการศึกษาของฆราวาส

- การนั่งสมาธิและการฝึกสมาธิ
- การฝึกอาชีพ
- พัฒนาเด็กเล็ก
- การจัดกิจกรรมทางพุทธศาสนา

3.3 การส่งเสริมและเผยแผ่พระศาสนาในต่างประเทศ

- การสร้างวัดไทยในต่างประเทศ
- การสอนสมาธิแก่ชาวต่างประเทศ
- การส่งเสริมการจัดกิจกรรมทางพุทธศาสนา

รูปภาพ
“นครธรรม” ตั้งอยู่ใต้ฐาน พระวิริยะมงคลมหาเจดีย์ ศรีรัตนโกสินทร์
พระมหาเจดีย์ของวัดธรรมมงคลที่สูงที่สุดในกรุงเทพมหานคร
โดย “นครธรรม” เป็นสถานที่ตั้งสถาบันการศึกษาหลักสูตรครูสมาธิ
ที่มีชื่อเรียกว่า “สถาบันพลังจิตตานุภาพ” (Willpower Institute)


.............................................................

:b8: รวบรวมและเรียบเรียงเนื้อหามาจาก ::
เว็บไซต์ http://www.dhammamongkol.com/
เว็บไซต์ http://www.samathi.com/2016/

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ธ.ค. 2010, 11:03 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

เพื่อความสมบูรณ์ครบถ้วนของเนื้อหาประวัติและปฏิปทาหลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร สาธุชนทุกท่านควรอ่าน “ใต้สามัญสำนึก” ซึ่งเป็นประวัติบางส่วนของหลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร ในช่วงอยู่อบรมธรรมกับท่านพระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ จากหนังสือประวัติพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ ฉบับสมบูรณ์ และใต้สามัญสำนึก เรียบเรียงโดย พระญาณวิริยาจารย์ (พระอาจารย์วิริยังค์ สิรินฺธโร) เจ้าอาวาสวัดธรรมมงคล

รูปภาพ

ใต้สามัญสำนึก

คำปรารภ

การเขียนประวัติพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ นั้นเป็นเรื่องสำคัญ เพราะปัจจุบันปรากฏว่าท่านได้รับการเคารพนับถือจากชาวไทยเป็นอย่างสูง เนื่องด้วยศิษย์ของท่านหลายองค์เป็นผู้มีชื่อเสียงกระฉ่อน และเป็นที่เคารพนับถืออย่างสูงทั่วประเทศไทย เช่น หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ วัดดอยแม่ปั๋ง เชียงใหม่, หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร สกลนคร, หลวงปู่เทสก์ เทสฺรํสี (พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์) วัดหินหมากเป้ง หนองคาย, หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ วัดบ้านหนองบัวบาน (วัดป่านิโครธาราม) อุดรธานี, หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล หนองบัวลำภู, พระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน วัดป่าบ้านตาด อุดรธานี, หลวงปู่บุญมา ฐิตเปโม วัดสิริสาลวัน หนองบัวลำภู, หลวงปู่ชอบ ฐานสโม วัดป่าสัมมานุสรณ์ เลย, พระอาจารย์วัน อุตฺตโม วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม (วัดถ้ำพวง) สกลนคร, พระอาจารย์จวน กุลเชฏฺโฐ วัดเจติยาคิรีวิหาร (วัดภูทอก) บึงกาฬ เป็นต้น และยังมีอีกหลายร้อยองค์ที่เป็นศิษย์ของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ ที่ยังไม่มีใครรู้จัก เพราะท่านเที่ยวแสวงหาความสงบส่วนตนตามป่าเขาลำเนาไพร ไม่ติดต่อบุคคลภายนอกเท่าไร

ดังนั้น ศิษย์ทั้งหลายที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ จึงเป็นการส่งเสริมครูบาอาจารย์ไปด้วย ดังที่ศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่นฯ ที่ได้ปฏิบัติดี-ชอบตามโอวาทของครูบาอาจารย์ปรากฏเด่นขึ้นในภายหลัง ทำให้ชื่อเสียงเกียรติคุณของท่านพระอาจารย์มั่นฯ เด่นขึ้นอย่างมากมาย ซึ่งก่อนนั้นก็ไม่ใคร่จะมีผู้กล่าวถึงกันเท่าใดนัก มาระยะนี้ศิษย์ของท่านได้รับการเคารพนับถือทั่วประเทศ จึงส่งเสริมให้ท่านมีความสำคัญในเวลาต่อมา ประชาชนทั่วประเทศได้กล่าวถึงท่านอย่างสูงสุด ไม่เคยมีครั้งใดที่พระเถระผู้ทรงคุณวุฒิ จะได้รับการกล่าวถึงอย่างกว้างขวางเหมือนท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ เลย


รูปภาพ
พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ

รูปภาพ
หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ วัดดอยแม่ปั๋ง เชียงใหม่

รูปภาพ
หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร สกลนคร

รูปภาพ
หลวงปู่เทสก์ เทสฺรํสี วัดหินหมากเป้ง หนองคาย

รูปภาพ
หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ วัดบ้านหนองบัวบาน (วัดป่านิโครธาราม) อุดรธานี

รูปภาพ
หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล หนองบัวลำภู

รูปภาพ
พระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน วัดป่าบ้านตาด อุดรธานี

รูปภาพ
หลวงปู่บุญมา ฐิตเปโม วัดสิริสาลวัน หนองบัวลำภู

รูปภาพ
หลวงปู่ชอบ ฐานสโม วัดป่าสัมมานุสรณ์ เลย

รูปภาพ
พระอาจารย์วัน อุตฺตโม วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม (วัดถ้ำพวง) สกลนคร

รูปภาพ
พระอาจารย์จวน กุลเชฏฺโฐ วัดเจติยาคิรีวิหาร (วัดภูทอก) บึงกาฬ

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ธ.ค. 2010, 11:05 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ


พ.ศ. ๒๔๗๗
ตอนเริ่มต้นฝึกออกธุดงค์ (ของพระวิริยังค์)


ข้าพเจ้าได้พบท่านอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ เป็นครั้งแรกขณะนั้นข้าพเจ้าอายุได้ ๑๓ ปี ย่างเข้า ๑๔ ท่านกำลังขะมักเขม้นสอนอุบาสก อุบาสิกา อย่างไม่เห็นแก่การเหน็ดเหนื่อย การก่อสร้างวัดที่ชื่อว่า “วัดสว่างอารมณ์” ตำบลลาดบัวขาว อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา อันเป็นวัดแรกที่ท่านได้จัดการก่อสร้างขึ้น ก็เริ่มด้วยกุฏิศาลาที่เป็นอาคารชั่วคราวมุงด้วยจาก แต่นั่นเป็นสิ่งที่ท่านมิได้เอาใจใส่มากนัก ท่านได้แนะนำสั่งสอนธรรมแก่อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายนั้นเป็นประการสำคัญ ดังที่จะเห็นได้ว่าตอนเวลาค่ำคืนจะมีจำพวกหนุ่มสาว เฒ่าแก่หลั่งไหลไปหาท่าน โดยท่านจะสอนธรรมหรือไม่ก็ต่อมนต์ คือคนในละแวกนั้นอ่านหนังสือไม่ออก ท่านต้องต่อให้ทีละคำๆ จนกระทั่งจำได้ทั้งทำวัตรเช้าและทำวัตรค่ำ อาราธนาศีล อาราธนาเทศน์

คนในบ้านใหม่สำโรงในขณะนั้นเป็นบ้านป่า ไกลความเจริญ แต่เป็นแหล่งทำมาหากินดี เพราะมีป่าว่างมาก หลายหมู่บ้านหลายแห่งพากันอพยพมาตั้งหลักแหล่งกัน ฉะนั้นคนในละแวกนี้จึงมาจากหลายๆ กรุ๊พ ทำให้เกิดความไม่ใคร่จะลงรอยกัน คงเป็นพรรคเป็นพวกก่อความทะเลาะกันเนืองๆ

ท่านอาจารย์กงมา ท่านเห็นเหตุนี้แล้วท่านก็เริ่มโปรยปรายธรรมเข้าสู่จิตใจประชาชน และก็ได้ผลดือท่านได้หาอุบายให้คนทั้งหลายเหล่านั้นได้เข้าวัด ท่านก็พยายามพร่ำสอนให้เข้ามารักษาอุโบสถบ้าง ฟังธรรมบ้าง บำเพ็ญกุศลอื่นๆ บ้าง จนจิตใจอ่อนลง ข้าพเจ้าเองก็เป็นผู้หนึ่งที่ถูกความดึงดูดของท่านได้เข้ามาปฏิบัติธรรม

ภายหลังปรากฏว่าชาวบ้านใหม่สำโรงอยู่ในศีลธรรมมากขึ้น จนมีศูนย์กลางคือวัด ได้ร่วมสังสรรค์จนเกิดความสามัคคีธรรมขึ้น กลับกลายเป็นบ้านที่มีความสุข อยู่ด้วยความพร้อมเพรียง งานชิ้นนี้ของอาจารย์กงมา เห็นงานชิ้นโบว์แดงชิ้นแรกของชีวิตท่าน จนกระทั่งประชาชนเห็นดีเห็นชอบได้ช่วยกันสร้างถาวรวัตถุจนเป็นวัดโดยสมบูรณ์ขึ้นในภายหลัง

ท่านได้ใช้เวลาอยู่ที่นี่ ๓ พรรษา ในเวลา ๓ ปีนี้ ท่านขยันสอนทั้งฝ่ายพระภิกษุ สามเณร และประชาชน ทางด้านพระภิกษุสามเณรนั้นท่านจะกวดขันเรื่องการปฏิบัติอย่างเข้มแข็ง โดยให้ฉันหนเดียว ฉันในบาตร บิณฑบาตไม่ให้ขาด ทำวัตรเช้าเย็น บำเพ็ญกัมมัฏฐานภาวนา ทั้งนั่งสมาธิและเดินจงกรม ภายในบริเวณวัดท่านจะจัดสถานที่วิเวกไว้เป็นแห่งๆ คือมีทางจงกรมภายใต้ร่มไม้เป็นทางยาวพอสมควรประมาณ ๑๐ วา หัวทางจงกรมจะมีแท่นสำหรับนั่งสมาธิ มีอยู่ทั่วไปตามรอบๆ วัด สถานที่ที่ท่านจัดขึ้นให้โอกาสทุกองค์ได้เลือกเอาเพื่อไว้เป็นที่บำเพ็ญกัมมัฏฐาน ปรากฏว่าผลที่ได้รับคือความสงบทางใจอย่างยิ่งแก่ผู้มาพึ่งพาอาศัยท่าน แม้แต่ข้าพเจ้าก็ได้รับผลมาจากครั้งกระนั้นเองเป็นขั้นต้น

ขณะถึงกาลออกพรรษาหน้าแล้ง ท่านจะพาศิษย์ที่สมัครใจออกเที่ยวธุดงค์ตามป่าเขาลำเนาไพร เพื่อแสวงหาที่สงบวิเวก พ.ศ. ๒๔๗๘ ท่านประกาศว่า ถ้าใครไม่กลัวตายไปธุดงค์กับเรา ข้าพเจ้าขอสมัครไปกับท่านทันที พร้อมกันนั้นท่านก็เล่าถึงเหตุการณ์การบำเพ็ญความเพียรของพระอริยะสาวกแต่ปางก่อนว่า

มีพระเถระที่เป็นเพื่อนสหธรรมมิก ๔ รูปด้วยกันปรารถนาความเพียรอย่างยิ่งเป็นที่ตั้ง แม้จะพยายามสักเพียงใดก็ไม่พอใจ คิดว่าพวกเราทั้ง ๔ ยังมีความประมาทอยู่ จึงชักชวนกันธุดงค์ไปในกลางดงใหญ่มีทั้งเหว น้ำ ถ้ำ ภูเขา ทั้ง ๔ องค์ได้ไปพบภูเขาสูงชันอยู่แห่งหนึ่ง จึงเดินเข้าไปใกล้ มองดูข้างบนเห็นถ้ำอยู่หน้าผา จึงให้ตัดไม้ทำเป็นบันไดต่อขึ้นไปจนถึงถ้ำนั้นแล้วทั้ง ๔ องค์นั้นก็พร้อมกันขึ้นไปบนถ้ำ เมื่อพร้อมกันอยู่ที่ถ้ำนั้นเรียบร้อยแล้วก็พร้อมใจกันอธิษฐานว่า เรามาทำความเพียรอันอุกฤษฎ์ไม่ต้องคำนึงถึงชีวิต แม้จะตายก็ช่างมัน ถ้าบันไดยังพาดอยู่ปากถ้ำ คนเราก็ยังถือว่าห่วงชีวิตอยู่ เราไม่ต้องห่วงชีวิตแล้ว ถ้าไม่บรรลุธรรมก็ให้หายไปเสียเถิด จึงพร้อมใจกันผลักบันไดทิ้ง เป็นอันว่าทั้ง ๔ รูปก็ไปทางไหนไม่ได้แล้วก็จึงปรารภความเพียรอย่างหนัก

เมื่อทั้ง ๔ องค์ปรารภความเพียรอยู่นั้น ๗ วันล่วงไป องค์ที่หนึ่งได้บรรลุพระอรหัตแล้ว ก็เหาะไปบิณฑบาตเพื่อมาเลี้ยง ๓ องค์ที่ยังอยู่ ๓ องค์ไม่ประสงค์เพราะยอมตายแล้ว ล่วงไปอีก ๗ วัน องค์ที่สองได้บรรลุพระอนาคาเหาะไปบิณฑบาตมาเลี้ยง แม้ ๒ องค์ ไม่ปรารถนาที่จะฉัน ห้ามเสียแล้ว ๒ องค์ แม้นจะพยายามสักเท่าใดก็ไม่อาจบรรลุได้ ได้อดอาหารจนมรณภาพไปทั้ง ๒ องค์ ทั้ง ๒ องค์นี้ได้มาเกิดในสมัยพระพุทธเจ้าของเรา องค์หนึ่งได้นามว่าพระพาหิยะได้บรรลุพระอรหัตเมื่อฟังธรรมของพระพุทธองค์ขณะที่บิณฑบาต อีกองค์หนึ่งชื่อกุมารกัสสปะไปทำความเพียรอยู่ในป่าผู้เดียว ได้ฟังธรรมกามาทีนวกถาได้บรรลุพระอรหัตเช่นเดียวกัน

ขณะนั้นมีพระ ๑ รูป ชื่อพระสังฆ์ สามเณร ๒ รูป สามเณรเที่ยงและสามเณรวิริยังค์ รวม ๕ รูปด้วยกัน ออกเดินธุดงค์เข้าดงพญาเย็น พบสถานที่ใดเป็นที่สงบ ท่านก็จะทำความเพียรอยู่หลายวัน ในครั้งนั้นไม่มีบ้านคนเลยที่ผ่านไปถึง ๕ วันไม่ได้ฉันอาหารกันเลย ได้ฉันแต่น้ำเท่านั้น พวกเราอดอาหารกันทุกๆ องค์ แต่พวกเราก็เดินกันไหว ท่านอาจารย์กงมาท่านก็ให้กำลังใจแก่พวกเราว่า เรารักความเพียร เรารักธรรมมากกว่าชีวิต แต่ข้าพเจ้าซิอายุ ๑๔ ปีเท่านั้น รู้สึกว่ามันหิวกระหายเบาไปหมดทั้งตัว ข้าพเจ้าต้องพยายามทำจิตให้แน่วแน่ไว้ตลอดเวลา การพูดคุยไม่ต้องพูดกับใคร ก้มหน้าก้มตากำหนดจิตมิให้ออกนอกได้ เพราะจิตออกไปเวลาใดขณะใด จะเกิดทุกขเวทนาขณะนั้น

ขณะที่พวกเราหยุดพักนอน ท่านก็ใช้ให้ไปกางกลดให้ไกลกันให้มาก ข้าพเจ้าก็ต้องออกห่างท่าน ไปอยู่ไกล เอาแต่เพียงกู่กันได้ยินน้อยๆ ก็คืออยู่กันคนละลูกภูเขา การทำเช่นนี้เป็นการหยั่งถึงความจริงของลูกศิษย์ท่าน ว่าจะเอาจริงกันแค่ไหน ข้าพเจ้าแม้จะกลัวแสนกลัวที่จะกลัว ก็จำต้องออกไปอยู่ให้ไกลที่สุด แต่พอตกกลางคืนเข้าแล้วไม่ทราบว่าความกลัวมันประดังกันเข้ามาอย่างไรกันนักก็ไม่ทราบ รู้สึกว่ามันเสียวไปทั้งตัวเลย

แต่ข้าพเจ้าได้ให้คำมั่นกับท่านอาจารย์ของข้าพเจ้าไว้แล้วว่าไม่กลัวตาย แต่ในใจคิดว่าอยากไปนอนให้ใกล้ๆ ท่านที่สุด แต่ก็ไม่กล้า จำเป็นที่จะต้องอยู่ห่างไกล เสียงเสือคำราม เสียงช้างมันร้อง ดูรู้สึกว่ามันจะมากินข้าพเจ้าไปเสียแล้ว แต่ก็เป็นเหตุให้เกิดมรณานุสสติอยู่ตลอดเวลา เลยทำให้เกิดผลทางใจขึ้นอย่างยิ่ง

ธรรมดาว่าใจของคนเรานี้ต้องอาศัยฝึกหัดทำ ทำไปเหมือนคนฝึกหัดไปกับกิเลส เช่นฝึกแสดงภาพยนตร์ ดนตรีต่างๆ ก็เป็นได้ ถ้านึกในทางธรรมก็เป็นได้ แต่ทุกๆ อย่างก็ต้องอาศัยกรรมวิธีแต่ละอย่าง การแสวงหาธรรมก็เช่นเดียวกัน ก็ต้องมีกรรมวิธีที่จะนำมาใช้ให้ได้ผล เช่นเดียวกันกับข้าพเจ้าที่กำลังถูกกรรมวิธีของอาจารย์ข้าพเจ้าทรมานอยู่ในขณะนี้นั่นเอง

เมื่อพ้นจากดงพญาเย็นแต่อยู่ตอนหางดงนั้น เป็นแหล่งที่พวกมหาโจรทั้งหลายพากันมาส้องสุมกันอยู่จำนวนมาก ท่านอาจารย์กงมา ก็พาพวกเราพักอยู่กับพวกโจรเหล่านั้น เมื่อเราพักกันเรียบร้อยแล้ว พวกโจรประมาณ ๒๐ คน ได้เข้ามาล้อมพวกเรา ในมือมีทั้งดาบและปืนน่าสะพรึงกลัว

ท่านอาจารย์กงมา เคยเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า พวกโจรดงพญาเย็นนี้ร้ายกาจนัก มันจับพระธุดงค์ฆ่าเสียมากต่อมากแล้ว คราวหนึ่งมีพระธุดงค์จำนวน ๙ รูป ธุดงค์มาเจอพวกโจรเขาใหญ่ดงพญาเย็นนี้ มันจับเอาไว้หมด ค้นดูย่ามว่าจะมีเงินไหม พระธุดงค์ทั้ง ๙ รูปไม่มีเงินแม้แต่สตางค์แดงเดียว พวกโจรก็โกรธ จึงจับเอาพระชนกัน ชนค่อยๆ ก็ไม่ยอม ชนจนหัวได้เลือด แต่มีอีกหนึ่งรูปไม่มีคู่เลยให้ชนหัวคันนา โจรชอบใจหัวเราะกัน พระรูปไม่มีคู่เดือดดาลในใจนักจึงค่อยๆ คลานไปจนถึงปืนที่โจรวางไว้ คว้าปืนยิงโจรตายไป พวกโจรก็หนีเตลิดไป

ข้าพเจ้านึกถึงที่ท่านเล่ามาให้ข้าพเจ้าฟังได้ก็ให้เสียวว่าเราจะโดนอีท่าไหนหนอ จากนั้นท่านอาจารย์กงมา ท่านก็เริ่มอธิบายธรรมต่างๆ ให้พวกโจรมันฟัง แต่มันก็หาได้เคารพพระอาจารย์แต่อย่างใดไม่ พวกมันนั่งยองๆ เอาปลายดาบปักลงที่ดิน วางท่าทางน่ากลัว ข้าพเจ้าก็นั่งรับใช้ท่านอาจารย์ข้างๆ นั้นนั่นเอง ท่านอาจารย์ก็ไม่ยอมลดธรรมเทศนา อธิบายเรื่อยๆ ไป ข้าพเจ้าจำได้ตอนหนึ่งว่า

“พวกเธอเอ๋ย แม้พวกเธอจะมาหาทรัพย์ ตลอดถึงการผิดศีลของพวกเธอนั้นน่า ก็เพื่อเลี้ยงชีวิตนี้เท่านั้น แต่ชีวิตนี้ก็ไม่ใช่ของพวกเธอ มันจะสิ้นกันไม่รู้วันไหน เป็นเช่นนี้ทุกคน พวกเธอฆ่าเขา ถึงจะฆ่าไม่ฆ่าเขาก็ตาย เธอก็เหมือนกัน มีความดีเท่านั้นที่ใครๆ ฆ่าไม่ตาย อย่างเรานี้จะตายเมื่อไรก็ไม่อนาทรร้อนใจ เพราะความดีเราทำมามากแล้ว”

ข้าพเจ้าแทบจะไม่เชื่อในสายตาของข้าพเจ้าเลยทีเดียว ในขณะนั้นพวกโจรทั้งหมดพากันวางมีดวางปืนหมด น้อมตัวลงกราบอาจารย์ของข้าพเจ้าอย่างอ่อนน้อม ข้าพเจ้าโล่งใจไปถนัดและพอใจที่พวกโจรมันยอมแล้ว หัวหน้าโจรชื่อนายอุง เป็นคนล่ำสันมาก กรากเข้ามาหาอาจารย์ ขอฝากตัวเป็นลูกศิษย์ อีกครั้งเหมือนกันที่ข้าพเจ้าไม่ยอมเชื่อสายตาของข้าพเจ้าว่า ทำไมโจรจะยอมเป็นลูกศิษย์อาจารย์ของข้าพเจ้า ทำไมช่างง่ายดายอะไรอย่างนี้ และก็เป็นจริงเช่นนั้น

ท่านอาจารย์กงมา ท่านก็บัญชาให้พระที่ไปกับท่านโกนผมนายอุงเสียเลย บวชเป็นตาผ้าขาวติดตามท่านไป เดี๋ยวนี้หัวหน้าโจรได้กลายเป็นผู้ทรงศีลไปเสียแล้ว มันจะเป็นไปได้หรือท่านผู้อ่านทั้งหลาย เพียงชั่วโมงเดียวเท่านั้น โจรทั้งคณะมายอมแพ้อาจารย์ของข้าพเจ้า มันเป็นไปแล้วแหละท่านทั้งหลาย ต่อมาเมื่อมหาโจรอุง มาเป็นตาผ้าขาวอุงแล้วก็สนิทสนมกันกับข้าพเจ้าอย่างยิ่ง

ข้าพเจ้าแม้ขณะนั้นอายุเพียง ๑๕ ปี เป็นสามเณร ถึงจะยังไม่เจนต่อโลกมากนัก แต่สามัญสำนึกของข้าพเจ้าได้บอกตัวเองว่า น่าอัศจรรย์ น่าอัศจรรย์ที่อาจารย์ได้สอนคนที่จะต้องฆ่าคนอีกมากให้หยุดจากการกระทำบาปเช่นนี้ ข้าพเจ้าในสามัญสำนึกก็ต้องยอมรับแล้วว่า อาจารย์ของข้าพเจ้านี้แก่งมาก ข้าพเจ้านึกชมอยู่ในใจ แม้กระทั่งบัดนี้ ข้าพเจ้าก็จะยังไม่ยอมลืมต่อเหตุการณ์ในวันนั้นได้เลย นี่ถ้าหากว่าอาจารย์ของข้าพเจ้าเกิดทรมานโจรไม่สำเร็จ พระเราก็จะถูกพวกมันบังคับให้เอาหัวชนกัน เมื่อไป ๕ องค์ ข้าพเจ้าซิจะถูกมันบังคับให้เอาหัวชนคันนา ข้าพเจ้าจะกล้าหรือไม่กล้าที่จะยิงมัน แต่อย่าคิดดีกว่า เพราะอาจารย์ของข้าพเจ้าได้ทรมานมหาโจรสำเร็จแล้ว และข้าพเจ้าจะเล่าประวัติของนายโจรอุงนี้ต่อ ขอให้ติดตามต่อไป


ตอนธุดงค์อยู่ในถ้ำเขาภูคา นครสวรรค์
เหตุการณ์ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๗๘


พระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ ได้ปราบมหาโจรอุง จนยอมทุกสิ่งทุกอย่างโดยอาศัยวาทศิลป์แห่งพระสัทธรรม และความจริงแห่งการปฏิบัติในพระธรรมวินัยที่เคร่งครัดของท่าน ตลอดถึงอาจารมรรยาทที่น่าเลื่อมใส ทำให้มหาโจรอุงได้ยอมเข้ามาถือบวช แต่พระอาจารย์ก็ให้บวชเป็นเพียงตาผ้าขาว นุ่งขาวห่มขาวสมาทานศีล ๘ เพราะมหาโจรผู้นี้ได้ฆ่าคนมามาก

ภายหลังจากที่ท่านอาจารย์ฯ ได้พาข้าพเจ้าเที่ยวธุดงค์หาวิเวกไปตามป่า ตามเขา ตามถ้ำ จนถึงจังหวัดนครสวรรค์ ไปที่สถานีรถไฟหัวหวาย เดินเข้าไปจนถึงถ้ำแห่งหนึ่ง ชื่อว่าถ้ำภูคา ถ้ำนี้อยู่ที่ภูเขาไม่ใหญ่นัก แต่ถ้ำใหญ่มาก กว้างขวาง และเป็นถ้ำขึ้นไม่ใช่ถ้ำลง มีปล่องหลายปล่อง ทำให้ภายในถ้ำสว่างไม่มืด และมีซอกเป็นที่น่าอยู่มากแห่ง พระอาจารย์พาข้าพเจ้าอยู่ ณ ที่ถ้ำนี้เป็นเวลาหลายเดือน เพราะเป็นที่วิเวกดี ท่านได้พาชาวบ้านใกล้ๆ นั้นขุดดินทำทางเดินจงกรมในถ้ำได้หลายทาง แต่ขณะที่ขุดดินทำทางเดินจงกรม ได้พบเบ้าหลอมทองเก่าแก่ ตุ้มหู ต่างหู เป็นทองคำและกะโหลกศีรษะ อะไรต่างๆ มากมาย เป็นของโบราณ

ข้าพเจ้าก็ได้ท่องปาฏิโมกข์ได้ในขณะที่อยู่ในถ้ำนั้นเอง เพียง ๑๕ วันเท่านั้นก็ท่องจบ

ณ ที่ถ้ำแห่งนี้ ท่านอาจารย์ได้แนะนำพร่ำสอนเรื่องการปฏิบัติจิตใจให้แก่ข้าพเจ้าอย่างเต็มที่ ข้าพเจ้าก็ปรารภความเพียรอย่างเต็มกำลัง ได้ผลเป็นที่พอใจ ตั้งใจว่าจะจำพรรษาอยู่ที่นี้ แต่พอจวนจะเข้าพรรษา ท่านอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ได้โทรเลขไปเรียกให้ท่านอาจารย์กงมากลับ พวกเราจึงได้กลับนครราชสีมา และได้มาอยู่ที่วัดสว่างอารมณ์ บ้านใหม่สำโรง

มหาโจรอุง ซึ่งบัดนี้ได้กลายเป็นตาผ้าขาวอุงไปแล้วนั้น ก็ได้ติดตามอาจารย์มาจำพรรษาร่วมอยู่ที่วัดนี้ เธอตั้งใจจะปฏิบัติกัมมัฏฐานอย่างเต็มความสามารถ และก็เป็นผล ทำให้จิตใจของเธอได้รับความสงบและเยือกเย็นเป็นอย่างยิ่ง การทำความเพียรของเธอนั้นทำอย่างยิ่ง บางครั้งนั่งสมาธิตลอดคืนยังรุ่ง บางครั้งเมื่อสมาธิได้ผล เธอจะอดอาหาร ๒ วัน ๓ วัน เป็นการทรมานตน ข้าพเจ้าได้ถามเธอว่า ตอนเป็นโจรได้ฆ่าคนไปแล้วกี่คน เธอบอกว่า ๙ คน นับเป็นบาปกรรมอย่างยิ่ง แต่อาศัยธรรมของพระอาจารย์กงมา ที่ได้พร่ำสอนอยู่เนืองนิตย์ ทำให้เธอได้รับผลจากคำสอนเป็นอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าถามเธอเรื่องการปล้นฆ่าทีไรเป็นได้เรื่องทุกที เธอบอกว่าเมื่อได้เล่าเรื่องความหลัง ในเวลาบำเพ็ญสมาธิจะแลเห็นในนิมิตว่า มีตำรวจนับไม่ถ้วนมารุมล้อมจะฆ่าเอาเสียให้ได้ มันเป็นนิมิตที่คอยมาหลอกหลอนตัวเองอยู่เสมอ

เธอได้เล่าต่อไปว่า มีคราวหนึ่งเขาจับผมได้ เขาประชาทัณฑ์จนผมสลบไป พวกเขานึกว่าผมตายแล้วจึงหามเอาผมไปโยนทั้งในป่าแห่งหนึ่ง พอกลางดึกน้ำค้างตกถูกหัวผม ผมได้รู้สึกตัวและได้ฟื้นขึ้น พวกชาวบ้านรู้ว่าผมฟื้นไม่ตาย พวกเขายิ่งกลัวกันใหญ่ อกสั่นขวัญแขวน ผมเองมารู้สึกตัวตอนฟื้นชีพว่า คนเราเกิดแล้วต้องตายแน่ เรามาประพฤติตัวเป็นมหาโจรอยู่เช่นนี้ ก็คงจะได้รับบาปกรรมอันใหญ่หลวงต่อไปเป็นแน่ แต่แม้จะได้คิดเช่นนี้ก็ตาม สัญชาตญาณของความเป็นโจรของผมก็ไม่สิ้นไป ต้องคุมสมัครพรรคพวกเข้าปล้นสะดมเขาเหมือนเดิม

แต่คราวนี้ผมได้ตั้งใจไว้ว่าจะไม่ฆ่าใครอีกต่อไป เหมือนกับบุญปางหลังมาช่วยผม อีกไม่ช้าไม่นานนัก ก็พอดีมาพบกับท่านอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ พร้อมกับเมื่อมองเห็นท่านครั้งแรกก็อัศจรรย์ใจแล้วครับ ให้เกิดความเลื่อมใสในองค์ท่านตั้งแต่ยังไม่ฟังธรรมจากท่าน อาจถึงคราวหมดบาปกรรมแล้ว พอได้ฟังธรรมจากท่านเท่านั้น ก็เกิดความสลดลงอย่างไม่น่าเชื่อ จิตของผมเหมือนกับถูกชโลมด้วยน้ำอมฤต กลายเป็นจิตที่ให้อภัยทุกสิ่งทุกอย่าง ละตัวออกจากพวกมหาโจรทั้งหลาย

ผมเองก็พยายามเกลี้ยกล่อมลูกน้องให้ตามผมมาบวช แต่มันไม่ตามมา ผมก็เลยปล่อย แต่ในที่สุดลูกน้องของผมทั้งหมดมันก็เลิกเป็นโจร เข้ามาอยู่ในบ้านทำมาหากินตามปกติ ผมเองจึงบวชเป็นตาผ้าขาว ผมรู้ตัวผมดีว่าทำบาปกรรมไว้มาก ผมจึงขอสละชีวิตเพื่อการทำสมาธิอย่างยิ่งยวด

ตาผ้าขาวอุงได้อยู่ปฏิบัติกับท่านอาจารย์กงมา อยู่เป็นเวลาหลายปี เป็นผู้เคร่งครัดอยู่ในพระธรรมวินัยเป็นอย่างยิ่งจนวาระสุดท้ายของชีวิตในวันหนึ่ง ตาผ้าขาวอุงนั่งสมาธิอยู่ภายในกลด เป็นเวลา ๒ วันไม่ออกมา ตามธรรมดาจะออกมารับประทานอาหารพร้อมพระ ในวันนั้นไม่ออก พระภิกษุสามเณรก็สงสัย แต่บางครั้งตาผ้าขาวอุงจะอดอาหารถึง ๕-๗ วัน ก็มี จึงทำให้ไม่มีใครสนใจเท่าใดนัก แม้ว่าจะไม่ออกจากกลดตั้งหลายวัน วันนี้พวกเรานึกสงสัยมากกว่าทุกวัน จึงพากันเข้าไปเพื่อจะเปิดดูว่า ตาผ้าขาวอุงทำอะไรอยู่ข้างใน แต่โดยส่วนมากท่านอาจารย์ท่านห้าม เพราะเป็นเวลาที่เขานั่งสมาธิอยู่ เราไปทำให้เสียสมาธิของคนอื่น จึงทำให้เกิดความลังเลที่จะเปิดกลดของตาผ้าขาวอุง

ครั้นเมื่อเห็นว่าไม่มีการเคลื่อนไหวเป็นเวลานานผิดปกติ พวกเราจึงตัดสินใจเปิดกลด เมื่อเปิดกลดแล้วทุกๆ คนที่เห็นก็ต้องตกตะลึง เพราะตาผ้าขาวอุงไม่มีลมหายใจเสียแล้ว แต่ว่ายังคงนั่งสมาธิอยู่ตามปกติไม่ล้ม พวกเราจับตัวดูเย็นหมด แข็งทื่อเป็นท่อนไม้ แต่ว่าคราวนั้นอยู่กันในป่า เป็นวัดป่า เรื่องก็ไม่เป็นข่าวโกลาหล ซึ่งถ้าเป็นอย่างปัจจุบันนี้ เข้าใจว่าจะเป็นข่าวอึกทึกครึกโครมอย่างมหาศาลทีเดียว น่ากลัวว่า พวกที่นับถือเรื่องโชคลางจะพากันแตกตื่นไปหากันใหญ่ แต่ว่าขณะนั้นเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ในที่สุดท่านอาจารย์ก็ได้พาญาติโยมพระภิกษุสามเณรทำฌาปนกิจศพตามมีตามได้ จนกระทั่งเหลืออยู่แต่เถ้าถ่านเท่านั้น

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ธ.ค. 2010, 11:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร


พ.ศ. ๒๔๗๙
ตอนไปเผยแพร่ธรรมที่จังหวัดจันทบุรี


หลังจากจำพรรษาอยู่ที่นี้แล้ว ในพรรษา พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร ผู้ซึ่งได้ไปทำประโยชน์อยู่ที่จังหวัดจันทบุรี ในขณะนั้น ได้มีผู้เลื่อมใสในพระธรรมเทศนาของท่านมาก ท่านได้ไปอยู่จันทบุรีองค์เดียว ไม่มีใครช่วยในด้านการเผยแพร่ธรรมกัมมัฏฐาน จึงได้มีจดหมายมาถึงท่านอาจารย์กงมาฯ ขอให้ไปช่วยในการเผยแพร่ธรรมดังกล่าวแล้ว หลังจากท่านอาจารย์กงมาฯ ได้รับจดหมายแล้ว ก็นำไปปรึกษาท่านอาจารย์สิงห์ ก็ได้รับอนุมัติให้ไปจันทบุรี

ข้าพเจ้าหลังจากที่กลับจากธุดงค์ในครั้งนั้นแล้ว ก็เป็นไข้มาเลเรีย จับไข้อยู่วันเว้นวัน จนถึงขึ้นสมองและสลบไป ข้าพเจ้าไม่รู้ตัวเลยในขณะนั้น เหมือนกับจิตวิญญาณไปเสวยความสุขอยู่ในสถานที่ใดที่หนึ่งประมาณ ๓๐ นาที จึงฟื้นขึ้นมา พอหายไม่ดีเท่าไหร่พร้อมกับท่านอาจารย์กงมาฯ ก็ตัดสินใจเดินทางไปจันทบุรี แต่ได้ไปพักอยู่ที่กรุงเทพฯ ก่อน นางถม ลิปิพันธ์ เลื่อมใสในท่านอาจารย์ ได้ถวายค่าโดยสารเรือไปจันทบุรีองค์ละ ๕ บาท ไป ๕ องค์ด้วยกัน

แต่ตอนนี้ข้าพเจ้าขอพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างท่านอาจารย์กงมา และท่านอาจารย์ลี ไว้ ณ ที่นี้ด้วย ย้อนกล่าวตอนต้นของท่านอาจารย์กงมา เพื่อให้ข้อความต่อเนื่องกัน

เมื่อท่านเป็นฆราวาส เป็นพ่อค้าขายโค กระบือ และเป็นหัวหน้าได้นำกระบือเข้ามาขายทางภาคกลางทุกๆ ปี จนฐานะท่านมั่นคง และได้แต่งงานกับหญิงในหมู่บ้านของท่านคือ บ้านโคก ต่อมาเมื่อภรรยาตั้งครรภ์และได้คลอดบุตร ภรรยาได้ตายขณะคลอดทำให้ท่านเกิดความสังเวชสลดใจ และเศร้าโศกเป็นอย่างยิ่ง จึงได้คิดที่จะสละโลกีย์ทั้งมวล ได้ไปลาบิดามารดาและญาติก็ได้รับความสนับสนุนเป็นอย่างดี เมื่อบวชแล้ว ท่านก็ได้ไปอยู่ที่วัดตองโขบ แต่วัดนั้นเขาไม่ได้ปฏิบัติกัมมัฏฐานกัน เมื่ออยู่ไปไม่ได้ผลทางใจ

ท่านก็พยายามสืบหาครูบาอาจารย์ ได้ข่าวว่า “อาจารย์วานคำ” เป็นอาจารย์ที่มีชื่อเสียงอยู่ไม่ไกลนัก จึงไปขอพักอาศัยอยู่ด้วย อาจารย์วานคำฯ ก็ได้ให้ความรักใคร่แก่ท่านเป็นพิเศษ ได้สอนให้ทำสมาธิตามวิธีของท่านอยู่ประมาณ ๑๐ เดือน ก็มีบางสิ่งบางอย่างที่ท่านไม่พอใจ คือ ตอนค่ำๆ พระจะต้องไปถอนหญ้าถางป่า ตัดต้นไม้ อาจารย์วานคำบอกว่า เราทำอย่างนี้มันก็ผิดวินัยอยู่ แต่จำต้องทำ ภายหลังอาจารย์กงมาทราบว่าผิดวินัยก็ไม่อยากจะทำ แต่ก็จำต้องทำด้วยความเกรงใจ

อยู่มาวันหนึ่ง ท่านอาจารย์กงมาฯ ท่านก็ได้ทราบข่าวว่า มีตาผ้าขาวคนหนึ่งธุดงค์มาปักกลดอยู่ใกล้ๆ แถวๆ นั้น มีผู้คนไปฟังเทศน์กันมาก เกิดความสนใจขึ้น เมื่อได้โอกาสจึงได้ไปหาตาผ้าขาวคนนั้น เมื่อได้พบก็เกิดความเลื่อมใส เพราะเห็นกิริยามารยาท ประกอบกับมีรัศมีผ่องใส จึงได้ถามว่า “ท่านมาจากสำนักไหน”

ตาผ้าขาวบอกว่า “มาจากสำนักท่านอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต”

ถามว่า “อยู่กับท่านมากี่ปี”

ตาผ้าขาวบอกว่า “๓ ปี”

และตาผ้าขาวได้อธิบายวิธีทำกัมมัฏฐานแบบของท่านอาจารย์มั่นฯ ให้ฟัง ก็เกิดความเลื่อมใสอย่างจริงจังขึ้น ถามว่า “เวลานี้ท่านอาจารย์มั่นฯ อยู่ที่ไหน”

ตอบว่า “อยู่ที่บ้านสามผง ดงพะเนาว์ อำเภอวานรนิวาส”

และท่านอาจารย์กงมาก็ตั้งใจจะไปหาท่านอาจารย์มั่นฯ ให้ได้ และได้ลาตาผ้าขาวคนนั้นกลับวัด มาขอลาท่านอาจารย์วานคำ ไม่ได้รับอนุญาต แม้จะพากเพียรขออนุญาตตั้งหลายครั้ง พออยู่มาวันหนึ่ง อาจารย์วานคำมีธุระไปฟากภู (ข้างหนึ่งของภูพาน) เป็นโอกาสของท่านอาจารย์กงมาฯ จึงได้ชวนพระบุญมี เป็นเพื่อนองค์หนึ่ง แล้วก็พากันหนีออกจากวัดนั้นไป เดินทางเป็นเวลา ๒ วัน ก็ถึงที่ที่ท่านอาจารย์มั่นฯ อยู่

ขณะไปถึงท่านอาจารย์มั่นฯ กำลังให้โอวาทแก่พระภิกษุสามเณรอยู่ ณ ที่ศาลากำมะลอมุงหญ้าคาหลังเล็กๆ ท่านอาจารย์กงมาฯ รู้สึกว่า เมื่อได้มาเห็นภาพเช่นนั้นเข้าให้ตื่นเต้นระทึกใจ เหมือนกับว่ามีปีติตกอยู่ในมโนรมณ์ ตัวชาไปหมด จึงนั่งรอพักอยู่ในที่แห่งหนึ่งใต้โคนไม้ เมื่อท่านอาจารย์มั่นฯ เสร็จจากการให้โอวาทแล้ว ทั้งสองก็ได้เข้าไปนมัสการขอฝากตัวเป็นศิษย์กับท่านอาจารย์มั่นฯ

ท่านอาจารย์มั่นฯ ได้ให้พระไปพาขึ้นมา โดยบอกว่านั่นพระแขกมาแล้ว และทั้งสองมีความตั้งใจองค์หนึ่ง อีกองค์หนึ่งเพียงแต่ตามมาเท่านั้น และเมื่อท่านอาจารย์กงมาฯ นั่งแล้ว ท่านอาจารย์มั่นฯ ก็ให้กัมมัฏฐานเลยทีเดียว โดยไม่ต้องรอกาลเวลา และก็บอกให้ไปอยู่ที่กุฏิหลังหนึ่งที่เปลี่ยวที่สุด


ตอนพระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ
พบพระอาจารย์มั่นรับโอวาทครั้งแรก


เมื่อท่านได้รับโอวาทครั้งแรกของท่านอาจารย์มั่นฯ แล้ว ก็ทำให้ซาบซึ้งอย่างยิ่ง เริ่มต้นเร่งความเพียรอย่างเต็มความสามารถ ท่านได้กระต๊อบเล็กหลังหนึ่งอยู่ในป่า ณ ดงพะเนาว์นี้เป็นดงใหญ่เต็มไปด้วยสิงห์สาราสัตว์ดุร้ายต่างๆ แต่เป็นที่สงบวิเวกเป็นอย่างยิ่ง ขณะที่ท่านกำลังเร่งความเพียรอยู่นั้น ท่านเล่าว่า ณ ที่แห่งนี้เป็นดงมาเลเรีย ถ้าผู้ใดอยู่ที่ไม่ระมัดระวังแล้วเป็นไข้มาเลเรียมีหวังตาย หลังจากได้บำเพ็ญความเพียรมาเป็นลำดับโดยอุบายวิธีของท่านอาจารย์มั่นฯ ทำให้เกิดสมาธิ ปีติเยือกเย็นใจลึกซึ้งเพิ่มขึ้นทุกๆ วัน ความเปลี่ยนแปลงไปในทางได้ผลของการบำเพ็ญจิต ไม่อยู่คงที่ คือดำเนินเข้าไปหาความยิ่งใหญ่โดยไม่หยุดยั้ง

ท่านจะเข้าไปปรึกษาไต่ถามท่านอาจารย์มั่นฯ ทุกๆ วันมิได้ขาด เนื่องด้วยความเป็นไปของสมาธิได้เป็นไปอย่างรวดเร็ว ท่านอาจารย์มั่นฯ ก็ได้แก้ไขให้เกิดศรัทธาอย่างไม่มีลดละ ทำให้ท่านมุมานะบากบั่นอย่างไม่คิดชีวิต

วันหนึ่งท่านไปนั่งสมาธิอยู่ใต้โคนค้นไม้ พอจะพลบค่ำ ยุงได้มากันใหญ่ แต่พอดีกับท่านกำลังได้รับความรู้ทางในแจ่มแจ้งน่าอัศจรรย์ จึงไม่ลุกจากที่นั่ง ได้นั่งสมาธิต่อไป ยุงได้มารุมกัดท่านอย่างมหาศาล และยุงที่นี้เป็นยุงอันตรายทั้งนั้น เพราะมันมีเชื้อมาเลเรีย ท่านก็ไม่คำนึงถึงเลย คำนึงถึงความรู้แจ้งเห็นจริงที่กำลังจะได้อยู่ในขณะนั้น ท่านเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า เราได้ยอมสละแล้วซึ่งชีวิตนี้ เราต้องการรู้แจ้งเห็นจริงในธรรมอันท่านอาจารย์มั่นฯ ได้แนะนำให้ ในการนั่งครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งพิเศษมากเพราะมันเกิดความสว่างอย่างไม่มีอะไรปิดบัง เราลืมตาก็ไม่กว้างเท่า ดูมันทะลุปรุโปร่งไปหมด ภูเขาป่าไม้ไม่มีอะไรมาขวางกั้นได้เลย และมันเป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นแก่เรา แม้จะพิจารณากายสังขารก็แจ้งกระจ่างไปหมด จะนับกระดูกกี่ท่อนก็ได้ เกิดความสังเวชสลดจิตยิ่งนัก หวนคิดไปถึงคุณของท่านอาจารย์ว่าเหลือล้นพ้นประมาณ คิดว่าเราถ้าไม่ได้พบท่านอาจารย์มั่นฯ เหตุไฉนเราจะได้เป็นเช่นนี้หนอ

ท่านได้นั่งสมาธิจนรุ่งสว่าง พอออกจากสมาธิ ปรากฏว่าเลือดของยุงที่กัดท่านหยดเต็มผ้านิสีทนะ (ผ้าปูนั่ง) เต็มไปหมด พอท่านลุกขึ้นมาตัวเบา แม้จะรู้อยู่แก่ใจว่ายุงเหล่านี้มีพิษสงร้ายนัก แต่ท่านก็ไม่อนาทรร้อนใจ เพราะที่ท่านได้รับธรรมนั้นวิเศษนักแล้ว แต่ท่านก็หาได้จับไข้หรือเป็นมาเลเรียเลย นับเป็นสิ่งอัศจรรย์อยู่มากทีเดียว

ความเป็นมาในวันนี้ท่านได้นำไปเล่าถวายท่านอาจารย์มั่นฯ ได้รับการยกย่องสรรเสริญในท่ามกลางพระสงฆ์ทั้งหลายที่มาประชุมกัน และได้พูดว่า ท่านกงมานี้สำคัญนัก แม้จะเป็นพระที่มาใหม่ แต่บารมีแก่กล้ามาก ทำความเพียรหาตัวจับยาก สู้เสียและให้ยุงกินได้ตลอดคืน ควรจะเป็นตัวอย่างแก่ผู้ตั้งใจปฏิบัติทั้งหลาย และท่านอาจารย์มั่นฯ ก็ได้แสดงถึงมหาสติปัฏฐานโดยเฉพาะกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ให้ท่านฟังอย่างแจ่มแจ้ง

ท่านเล่าให้ข้าพเจ้าฟังต่อไปว่า

เมื่อเราอยู่ที่บ้านสามผงดงพะเนาว์นี้ การทำความเพียรได้บำเพ็ญทั้งกลางคืน และกลางวัน มีการพักหลับนอนในเวลากลางคืนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนตอนกลางวันเราจะเอนหลังลงนอนไม่ได้เลย แม้ว่าเราต้องการจะเอนหลังพักผ่อนบ้าง เพราะความเหน็ดเหนื่อย แต่พอเอนหลังลงเท่านั้น จะมีอีกาตัวหนึ่งบินโฉบมาจับที่หลังคากระต๊อบของท่าน แล้วใช้จะงอยปากสับตรงกลางหลังคาเสียงดังทันที ถ้าท่านไม่ลุกขึ้น มันก็จะสับอยู่อย่างนั้น พอท่านลุกขึ้นมันก็จะหยุด เป็นอยู่อย่างนี้มาหลายเวลาทีเดียว จนท่านไม่กล้าจะพักจำวัดเวลากลางวัน

ท่านได้เล่าเหตุการณ์ตอนนี้ต่อไปอีกว่า มีคราวหนึ่งที่ท่านต้องหนักใจอย่างยิ่ง คือ ท่านอาจารย์มั่นฯ ใช้ให้ท่องพระปาฏิโมกข์ให้ได้เสียก่อนจึงจะญัตติเป็นพระธรรมยุต เหมือนกับท่านอาจารย์มั่นฯ เพราะท่านบวชเป็นพระมหานิกายอยู่ก่อน ค่าที่มีความเลื่อมใสอย่างยิ่ง และต้องการที่จะเป็นศิษย์ที่แท้จริงของ ท่านอาจารย์มั่นฯ เราจึงต้องพยายามอย่างยิ่งที่จะท่องพระปาฏิโมกข์ให้ได้ ซึ่งเป็นการขัดข้องเหลือเกิน เนื่องจากเราอ่านหนังสือเขียนหนังสือไทยไม่ได้มาก ถึงได้ก็ไม่ชำนาญที่จะอ่านถึงหนังสือพระปาฏิโมกข์

แม้จะเป็นเรื่องยากแสนยากนักสำหรับตัวเรา ก็ถือว่าแม้แต่การปฏิบัติจิตใจที่ว่ายากนัก เราก็ยังได้พยายามจนได้รับผลมาแล้ว จะมาย่อท้อต่อการทั้งพระปาฏิโมกข์นี้เสียทำไม เราจึงพยายามทั้งกลางวันกลางคืนเช่นกัน แกะหนังสือไปทีละตัว ถึงกับขอให้พระอื่นที่อ่านหนังสือได้ช่วยต่อให้ เราพยายามอยู่หลายเดือน ในที่สุดก็สำเร็จให้แก่เราจนได้ เป็นอันว่า เราท่องพระปาฏิโมกข์จบอยู่ที่บ้านสามผง ดงพะเนาว์นี้เอง

แม้การอยู่ร่วมกับท่านอาจารย์มั่นฯ เป็นเวลานานเป็นปีๆ นั้น เป็นการอยู่อย่างมีความหมายจริงๆ วันและคืนที่ล่วงไปไม่เคยให้เสียประโยชน์แม้แต่กระเบียดนิ้วเดียว เราจะไต่ถามความเป็นไปอย่างไรในจิตที่กำลังดำเนิน ท่านจะแก้ไขให้อย่างแจ่มแจ้ง และท่านยังรู้จักความก้าวหน้าถอยหลังของจิตของเราเสียอีก บอกล่วงหน้าให้ได้เลยในการบางครั้ง ทำให้เราเกิดความอัศจรรย์ใจเป็นอย่างยิ่ง คราวใดที่เราเคร่งครัดการทำความเพียรเกินควร ท่านก็จะทัดทานแนะนำให้ผ่อนลงมา คราวใดเราชักจะหย่อนไป ท่านก็จะเตือนให้ทำหนักขึ้น

และบางคราวบางเดือน สมควรที่จะให้ไปห่างจากท่าน ท่านก็จะบอกชี้ทางให้ออกไปว่า ไป ณ ที่ถ้ำนั้น ภูเขาลูกนั้น ป่านั้น เพื่อความวิเวกยิ่งขึ้น เราก็จะไปตามคำสั่งของท่าน ทำการปรารภความเพียรในที่ไปนั้น เกิดความรู้แจ้งเห็นจริง ยิ่งชัดเจนในความสามารถของท่านอย่างไม่มีอะไรจะมาเปรียบปาน ครั้นได้กาลเวลาท่านก็เรียกให้กลับ เพื่อความที่จะแนะนำต่อ เรารู้สึกว่าเมื่อกลับมาจากการไปวิเวกแล้วมาถึง ท่านจะแลดงธรรมวิจิตรจริงๆ ให้ซาบซึ้งอย่างยิ่ง คล้ายกับว่าท่านได้ล่วงรู้ความเป็นไปต่างๆ ที่เราได้กระทำมา นี้ก็ทำให้เราอัศจรรย์ใจอย่างยิ่งอีกเช่นกัน การกระทำเช่นนี้มิใช่ว่าจะแนะนำให้แก่เราแต่ผู้เดียว ทุกๆ องค์ที่อยู่กับท่านๆ ก็จะแนะนำเช่นเดียวกัน

ท่านอาจารย์กงมาท่านก็พยายามเล่าเรื่องต่างๆ ของท่านในอดีตให้ข้าพเจ้าฟังต่อไปอีกว่า

ครั้งหนึ่งที่เราได้อยู่กับท่านอาจารย์มั่นฯ ผ่านมาเป็นเวลา ๒ ปีเศษ ได้พบเห็นเหตุการณ์ต่างๆ เช่น พระภิกษุสามเณรที่มาอยู่กับท่าน ทุกๆ องค์ต่างก็สนใจในธรรมอย่างแท้จริง มิได้มีองค์ใดเลยที่ย่อหย่อน และทุกๆ องค์ต่างได้ผลทางใจกันทั้งนั้น เพราะเมื่อผู้ใดมีอะไรเกิดขึ้นจากการบำเพ็ญจิตแล้ว ก็จะนำมาเล่าถวายท่านฟังและในเวลาที่ประชุมกันฟัง ทำให้รู้สึกขนพองสยองเกล้าเอาทีเดียว เมื่อได้ยินแต่ละองค์พูดถึงความจริงที่ตนได้รับ บางองค์ก็พูดเหมือนเรากำลังเป็นอยู่แล้ว และท่านก็แก้ไขให้องค์นั้น เราเองก็พลอยถูกแก้ไขไปในตัวเสร็จ

บางองค์พูดขึ้นลึกซึ้งเหลือที่เราจักรู้ได้ ก็ทำให้เราอยากรู้อยากเห็น ต่างองค์ก็ต่างไม่สงสัยซึ่งกันและกันว่าคำพูดเหล่านั้นจะไม่จริง ทำให้เรานี้นึกย้อนหลังไปถึงอดีตว่า แม้ครั้งพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ก็คงจะเป็นเช่นนี้เอง เลยทำให้เหมือนกับว่าเรากำลังอยู่ต่อหน้าพระพักตร์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังงั้นแหละ ถึงอย่างไรก็ตาม เราเองเลื่อมใสยิ่ง ทั้งท่านและพระภิกษุสามเณรที่อยู่กับท่าน เพราะเหตุที่เห็นการปฏิบัติและปฏิทาน่าเลื่อมใส และที่ได้เปล่งวาจาแห่งความจริงที่เกิดขึ้นในจิตของแต่ละท่าน

ในระยะต่อมาท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านจะเดินทางกลับไปจังหวัดอุบลฯ ทั้งนี้เพื่อจะส่งมารดาของท่านกลับไปบ้านด้วย หลังจากที่ท่านได้นำมารดาของท่านมาบวชชี แล้วแนะนำการปฏิบัติให้จนเป็นที่พอใจแล้ว จึงได้นัดพระภิกษุที่ติดตามปฏิบัติอยู่กับท่าน เพื่อจะได้เดินทางกลับไปทางจังหวัดอุบลราชธานี

การเดินทางไปจังหวัดอุบลราชธานีอันเป็นถิ่นบ้านเกิดเมืองนอนของท่านในครั้งนี้ ถือว่าเป็นครั้งสำคัญครั้งหนึ่งเพราะบรรดาศิษยานุศิษย์ทั้งใหญ่และเล็กก็ได้เตรียมที่จะเดินทางติดตามท่านในครั้งนี้แทบทั้งนั้น การจัดการเดินทางโดยการเดินแบบเดินธุดงค์ แต่การธุดงค์นั้นเพื่อให้เป็นประโยชน์ด้วย ท่านจึงจัดเป็นคณะๆ ละ ๓ รูป ๔ รูปบ้าง ท่านเองเป็นหัวหน้าเดินทางไปก่อน เมื่อคณะที่ ๒ ไปก็จะพักที่เดิม คณะที่ ๓-๔ ก็จะพักที่เดิมนั้น ทั้งนี้เพื่อจะได้สอนญาติโยมตามรายทางด้วย การสอนนั้นก็เน้นหนักไปในทางกัมมัฏฐาน และการถึงพระไตรสรณาคมน์ ที่ให้ละการนับถือภูตผีปีศาจต่างๆ นานา เป็นการทดลองคณะศิษย์ไปในตัวด้วยว่า องค์ใดจะมีผีมือในการเผยแพร่ธรรม

ในการเดินทางนั้น พอถึงวันอุโบสถ ก็จะนัดทำปาฏิโมกข์ หลังจากนั้นแล้วก็จะแยกย้ายกันไปตามที่กำหนดหมาย การเดินธุดงค์แบบนี้ท่านบอกว่าเป็นการโปรดสัตว์ เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่พุทธบริษัททั้งหลาย และก็เป็นจริงเช่นนั้น แต่ละแห่งที่ท่านกำหนดพักนั้น ตามหมู่บ้าน ประชาชนได้เกิดความเลื่อมใสยิ่งในพระคณะกัมมัฏฐานนั้นเป็นอย่างดีและต่างก็รู้ผิดชอบในพระธรรมวินัยขึ้นมาก ตามสถานที่เป็นที่พักธุดงค์ในการครั้งนั้น ได้กลับกลายมาเป็นวัดของคณะกัมมัฏฐานเป็นส่วนใหญ่ในภายหลัง โดยญาติโยมทั้งหลายที่ได้รับรสพระธรรมได้พากันร่วมอกร่วมใจกันจัดการให้เป็นวัดขึ้น โดยเฉพาะให้เป็นวัดพระภิกษุสามเณร ฉันมื้อเดียว ฉันในบาตร บำเพ็ญสมาธิกัมมัฏฐาน

ในครั้งนี้เองพระอาจารย์กงมา ได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร เป็นพระมหานิกายอยู่วัดบ้าน อำเภอม่วงสามสิบ ขณะที่เราได้พักอยู่ในป่าแห่งหนึ่งใกล้หมู่บ้านวัดนี้ ท่านอาจารย์ลีก็ได้กิตติศัพท์ว่ามีพระกัมมัฏฐานมาพักอยู่ในที่ใกล้ๆ แห่งนี้ เห็นจะมีของดีๆ แจกเป็นแน่ กับไม่ใคร่เคยได้ยินมานานแล้ว ค่าที่อยากจะพบ ในค่ำคืนวันหนึ่งท่านอาจารย์ลีฯ จึงได้ไปหาเรา ณ ที่พักรุกขมูลอยู่ในป่านั้น

รูปภาพ
พระครูสุทธิธรรมรังษี (หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท)


ตอนพระอาจารย์ลี ธมฺมธโร
พบท่านพระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ


ท่านอาจารย์กงมาเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า เมื่อท่านได้เดินธุดงค์ตามท่านอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ เพื่อไปส่งมารดาของท่านที่บวชชีไปอยู่จังหวัดอุบลฯ นั้น ท่านได้แวะพักที่บ้านของท่านอาจารย์ลี ขณะนั้นท่านบวชเป็นภิกษุอยู่ที่วัดบ้าน เมื่อท่านอาจารย์ลีทราบข่าวว่ามีพระธุดงค์มาพักที่ป่าช้า ก็เกิดความสนใจขึ้น จึงได้มาพบพระอาจารย์กงมา ซึ่งมีมารยาทที่น่าเลื่อมใสผิดกับภิกษุอื่นๆ ที่เคยเห็นมา ทำให้เกิดความเลื่อมใสในใจเป็นอย่างยิ่ง ครั้นเมื่อได้เข้าไปนมัสการไต่ถามถึงธรรมต่างๆ ก็ให้เกิดความเลื่อมใสยิ่งขึ้น โดยเฉพาะท่านอาจารย์กงมาท่านได้อธิบายธรรมที่ท่านได้รับการปฏิบัติทางใจมาจากท่านอาจารย์มั่นฯ และการปฏิบัติที่ผ่านมาแล้ว ยิ่งทำให้ท่านอาจารย์ลีเกิดความสนใจเป็นพิเศษ

ท่านอาจารย์กงมาได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า ครั้งแรกที่เราได้แสดงธรรมให้แก่ท่านอาจารย์ลีนั้น เราได้แสดงถึงข้อปฏิบัติเกี่ยวกับการพิจารณากายให้เกิดอริยสัจจธรรม ตามแนวของท่านอาจารย์มั่นฯ จึงทำให้ท่านอาจารย์ลีที่กำลังฟังนั้นนั่งนิ่งเหมือนกับถูกสะกดจิตทีเดียว

จากคืนวันนั้น ก็ทำให้ท่านอาจารย์ลีได้ตัดสินใจที่จะไปธุดงค์กับท่านอาจารย์กงมา โดยการเดินติดตามท่านอาจารย์มั่นฯ ไปจนถึงจังหวัดอุบล เมื่อไปถึงจังหวัดอุบล พักอยู่วัดบูรพาราม พอดีกับท่านเจ้าคุณพระปัญญาพิศาลเถร (หนู ฐิตปญฺโญ) อดีตเจ้าอาวาสวัดปทุมวนาราม ขึ้นมาจากกรุงเทพฯ พักอยู่ที่วัดเลียบ จังหวัดอุบลราชธานี และท่านเจ้าคุณปัญญาฯ นี้ ได้เป็นเพื่อนสหธัมมิกกับพระอาจารย์มั่นฯ จึงขอให้เป็นอุปัชฌาย์ญัตติบวชใหม่ให้ท่านอาจารย์กงมาและท่านอาจารย์ลี โดยพระอาจารย์กงมาเป็นนาคขวา พระอาจารย์ลีเป็นนาคซ้าย เพราะเหตุนั้นท่านทั้งสองจึงได้มีการสนิทสนม และเคารพนับถือซึ่งกันและกันตลอดมา

ขณะที่ผู้เขียนเป็นสามเณรและได้ติดตามพระอาจารย์กงมา เป็นศิษย์ก้นกุฏิ ก็ได้เห็นท่านทั้งสองปรึกษาธรรมและกิจการพระศาสนาอยู่เสมอๆ ดังนั้นเมื่อท่านพระอาจารย์ลี ได้ไปเผยแพร่ข้อปฏิบัติธรรมทางจันทบุรี มีประชาชนให้ความสนใจมาก และมีความเลื่อมใสในข้อปฏิบัติของกัมมัฎฐานกว้างขวางขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงได้มีจดหมายไปอาราธนาท่านพระอาจารย์กงมา ซึ่งขณะนั้นจำพรรษาอยู่ที่บ้านใหม่สำโรง อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา อันเป็นบ้านเดิมของผู้เขียน ท่านอาจารย์กงมาก็มีความยินดี ที่จะมาร่วมงานการเผยแพร่พุทธธรรมข้อปฏิบัติ จึงได้เดินทางมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๙ ซึ่งข้าพเจ้าเป็นสามเณรได้ติดตามท่านมาด้วย

การเดินทางครั้งนั้นได้โดยสารเรือทะเลมา ชื่อเรือภาณุรังสี นับว่าเป็นการเห็นทะเลครั้งแรกของผู้เขียน เป็นการอัศจรรย์ดีเหมือนกันเมื่อได้เห็นความกว้างขวางของทะเล

เมื่อพระอาจารย์กงมาได้มาถึงจันทบุรี ก็ได้มาพักอยู่ที่วัดป่าคลองกุ้ง อันเป็นวัดกัมมัฏฐานวัดแรกของจังหวัดจันทบุรีที่พระอาจารย์ลีได้มาริเริ่มก่อสร้างขึ้น

ขณะนั้น ชาวจันทบุรีโดยทั่วไปมีความประสงค์ที่จะให้พระอาจารย์กัมมัฏฐานไปแนะนำข้อปฏิบัติตามถิ่นของตนๆ มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวบ้านหนองบัว อำเภอเมืองนั้นมีความสนใจในธรรมกันมาก ได้เคยพยายามมาติดต่อท่านอาจารย์ลีอยู่เสมอ เพื่อขอพระอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิไปสร้างวัด เพื่อให้เป็นสถานที่อบรมการปฏิบัติ ก็พอดีวันนั้นได้มีนายหลวน และนายเสี่ยน ชาวบ้านหนองบัวได้ไปที่วัดป่าคลองกุ้งอีกครั้งหนึ่ง ได้พบกับพระอาจารย์กงมาเกิดความเลื่อมใสได้อาราธนาให้ท่านไปที่บ้านหนองบัวเพื่อจะได้ไปสอนธรรมปฏิบัติ ท่านพระอาจารย์กงมาจึงบอกว่าให้กลับไปก่อน ลองเสี่ยงความฝันดู ถ้าดีก็ให้มารับไป ถ้าไม่ดีก็ไม่ต้องมารับ

นายหลวนจึงบอกว่า “ผมฝันดีแล้วตั้งแต่เมื่อคืนนี้”

ท่านพระอาจารย์กงมาถามว่า “ฝันว่าอย่างไร ลองเล่าให้ฟังที”

นายหลวนจึงเล่าว่า “ผมฝันว่าได้ช้างเผือน ๒ เชือกงามมาก ตัวหนึ่งเป็นแม่ ตัวหนึ่งเป็นลูก ขณะที่ฝันนั้นผมดีใจมาก พยายามลูบคลำช้างนั้นอย่างรักใคร่เป็นอย่างมาก นายหลวนได้พูดเสริมต่อไปว่า ผมนึกว่าผมจะถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ ๑ เสียแน่แล้ว แต่ว่าหาใช่เช่นนั้นไม่ คือผมจะได้อาจารย์ไปสอนธรรมะให้พวกกระผมนั่นเอง ซึ่งพวกกระผมดีใจกว่าถูกลอตเตอรี่เสียอีก”

ท่านอาจารย์กงมาได้ฟังนายหลวนเล่าให้ฟังเช่นนั้น ก็จึงได้ตกลงใจที่จะไปบ้านหนองบัว นัดวันให้มารับ คือวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๕ ปีชวด พ.ศ. ๒๔๗๙ ได้ไปกับสามเณรวิริยังค์ (คือผู้เขียน) การไปบ้านหนองบัวนั้นต้องไปทางเรือแจว ใช้เวลา ๒ ชั่วโมง ขณะที่ไปในเรือซึ่งมีคณะเก่าของนายหลวน-นายเสี่ยน กับพวกอีก ๕ คนมารับ และนายหลวนได้พูดขึ้นว่า เป็นการแน่นอนแล้วสำหรับความฝันของผมว่าได้ช้างเผือก ๒ เชือกแม่กับลูก คือท่านอาจารย์กงมา กับสามเณรนี้เอง ทำให้พวกเขาเกิดความปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง พวกเราได้ไปถึงบ้านหนองบัว และเดินต่อไปที่ป่าช้า ซึ่งเขาจะจัดให้เป็นที่สร้างวัด ซึ่งปรากฏเป็นวัดทรายงามในเวลาต่อมา ได้ถึงเวลาป่ายโมงกับสิบห้านาที

การสร้างวัดทรายงามนี้ ท่านอาจารย์กงมาท่านได้สร้างคน หมายความว่าท่านได้สร้างคุณธรรมให้แก่คนในละแวกนั้นอย่างเต็มที่ เพราะตั้งแต่วันมาถึง ท่านได้เปิดการแสดงธรรมทุกวัน ก็มีประชาชนสนใจมาฟังทุกวันมิได้ขาด นอกจากแสดงธรรมแล้ว ท่านก็นำบำเพ็ญสมาธิ จนปรากฏว่ามีผู้ได้รับธรรม จนเกิดปีติภายในกันมากในระยะ ๓ เดือนแรก ท่านอาจารย์ได้แสดงธรรมอย่างวิจิตรพิสดารทำให้ชาวบ้านนั้นเกิดศรัทธา ได้ช่วยสร้างศาลาการเปรียญและกุฏิอย่างรวดเร็ว พอกับพระ ๕ รูป สามเณร ๑ รูปในปีนั้น

ตลอดระยะเวลา ๕ ปีของท่านพระอาจารย์กงมา ที่ท่านได้อยู่สร้างวัดที่จันทบุรีนี้ ท่านได้ทำประโยชน์แก่พระพุทธศาสนามากอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการแนะนำในการปฏิบัติธรรม ทั้งผ่ายบรรพชิตและคฤหัสถ์

เป็นอันว่า จังหวัดจันทบุรีในขณะนั้นได้มีผู้สร้างบุคคลให้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ๒ องค์ คือ พระอาจารย์ลี และพระอาจารย์กงมา ได้ช่วยกันเผยแผ่ธรรมปฏิบัติกว้างขวางออกไปทุกอำเภอ และหลายๆ ตำบล อันเป็นผลงานปรากฏจนถึงทุกวันนี้ คือปรากฏว่ามีวัดที่เป็นวัดปฏิบัติอยู่แทบทุกอำเภอ เช่น วัดป่าคลองกุ้ง วัดเขาแก้ว วัดเขาน้อย ท่าแฉลบ วัดยางระโหง วัดเขากระแจะ วัดทรายงาม วัดดำรงธรรม วัดมณีคีรีวงศ์ วัดสถาพรวัฒนา วัดสามัคคีคุณาวาส (วัดสถานีทดลองพริ้ว) ฯลฯ นี้คือผลงานของพระอาจารย์ทั้งสอง และนี้เป็นทางด้านวัตถุ

ส่วนทางด้านธรรม คือ ทำให้เกิดพระที่เป็นสมภารให้แก่วัดต่างๆ ซึ่งกำเนิดมาจากวัดทรายงาม หนองบัว ไปเป็นสมภาร มี พระครูสุทธิธรรมรังษี (เจี๊ยะ จุนฺโท), พระครูญาณวิโรจน์ (ปทุม), พระอาจารย์ถวิล, พระมหาเข้ม, พระอาจารย์สันติ สันติปาโล เป็นต้น ส่วนทางอุบาสกอุบาสิกาก็ได้รับรสพระธรรมตกทอดมาจนถึงลูกหลาน ก็ได้มาเข้าวัดฟังธรรม และปฏิบัติจนเป็นหลักฐานในทางใจ ได้รับผลสืบต่อมาจากบิดามารดา จนปรากฏว่ายังมีการปฏิบัติธรรมกันเป็นอย่างดีทุกๆ วัด ที่เป็นวัดเกิดขึ้นจากการดำเนินงานของศิษย์ท่านอาจารย์ทั้งสอง

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ธ.ค. 2010, 11:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล)


พ.ศ. ๒๔๘๔

ในปีนี้ท่านอาจารย์กงมาท่านได้ทราบข่าวว่า ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ ได้กลับจากเชียงใหม่ หลังจากที่ได้อยู่เป็นเวลานานถึง ๑๒ ปี เพราะท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) ไปนิมนต์ให้มาโปรดญาติโยมทางจังหวัดอุดรธานี และได้อยู่ที่จังหวัดนี้ ๓ ปี แล้วจึงไปจังหวัดสกลนคร ได้ไปพักอยู่ที่ป่าแห่งหนึ่งใกล้กับบ้านโคก ตำบลตองโขบ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร อันเป็นบ้านเกิด บ้านเดิมของท่านอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ

ท่านเมื่อได้ทราบข่าวเช่นนี้ มิได้รอช้า คิดถึงวัดวาอารามที่ท่านได้สร้างด้วยทุนทรัพย์มหาศาล และญาติโยมที่ได้ปฏิบัติธรรมอยู่กับท่าน ทุกๆ อย่างล้วนแต่เป็นสิ่งน่าจะต้องผูกพันมากมาย เช่น วัตถุก่อสร้างที่น่ารื่นรมย์ ญาติโยมที่นอบน้อมเลื่อมใสมากมายนัก แต่ท่านไม่ได้คิดเอาแต่สิ่งเหล่านี้มาเป็นสิ่งที่ขัดขวาง หรือเป็นอุปาทานเลย เมื่อถึงเวลาที่จะไปนมัสการท่านอาจารย์มั่นฯ แล้ว ขณะนั้นข้าพเจ้าผู้เขียนกำลังธุดงค์อยู่อำเภอขลุง กำลังเทศนาสั่งสอนญาติโยมอยู่ด้วย ท่านอาจารย์กงมาก็ให้พระไปบอกว่า ให้รีบกลับ และเดินทางไปหาท่านอาจารย์มั่นฯ ด้วยกันในวันปรืนนี้

ข้าพเจ้าก็มิได้สะทกสะท้าน เพราะพวกเรามีสมบัติอยู่แต่เพียงแค่บาตรใบเดียวจีวรครองอยู่เท่านั้น ก็จึงได้เริ่มออกเดินทาง เดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๘๔ มันเป็นระยะเวลาพอดีเอาเสียจริงๆ เพราะปีนี้มาอยู่จังหวัดจันทบุรีวัดทรายงามเป็นวัดแรกก็เดือนเมษายน เวลาจะจากไปก็เดือนเมษายน

ในครั้งนั้นญาติโยม อุบาสก อุบาสิกา ได้พากันเศร้าโศกร้องไห้เป็นการใหญ่ ต่างก็พากันเสียดายท่านอาจารย์กงมา และข้าพเจ้าผู้เขียน เนื่องจากขณะที่อยู่ ณ ที่นั้นเป็นเวลา ๕ ปี ก็ได้ทำประโยชน์ทั้งทางด้านวัตถุ และทางด้านจิตใจอย่างมากมาย เป็นอันว่าพวกเราไม่มีการคิดถึงเหตุการณ์เหล่านี้เท่าใดนัก ท่านอาจารย์กงมาท่านว่า

“เราไม่ต้องกังวล เรารีบเดินทางไปเถิด”

ได้เริ่มเดินทางโดยเท้าธุดงค์ออกจากวัดทรายงาม วันที่ ๑๘ เมษายน ๒๔๘๔ เวลา ๑๐.๒๐ น. ไปสู่อำเภอมะขาม อันเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดจันทบุรี ท่านอาจารย์กงมาได้พูดกับข้าพเจ้าว่า “เราตัวเปล่าๆ หมดภาระสบายจริง”

และได้พักอยู่อำเภอมะขามนี้ ๑ คืน ข้าพเจ้าถามท่านว่า

“ก็อยู่ที่วัดทรายงามมีที่นอนหมอนมุ้ง น้ำอ้อย น้ำตาล น้ำหวาน น้ำอัดลม อาหารทุกอย่างอุดมสมบูรณ์ แต่เวลานี้เรานอนบนดิน ไม่มีแม้แต่น้ำตาลสักก้อน ทำไมท่านอาจารย์จึงว่าสบาย”

ท่านอาจารย์พูดว่า “วิริยังค์ นั่นมันเป็นอาหารภายนอก บัดนี้เรามาได้อาหารภายใน ต่อการละอุปาทาน ไม่ต้องไปเป็นสมภารให้มันหนักอึ้ง เราแม้จะนอนกับดินกินกับหญ้า แต่อิ่มด้วยธรรมปีติแล้ว” ท่านได้กล่าวอย่างนี้กับข้าพเจ้า ในขณะที่ข้าพเจ้ากำลังถวายการนวดให้แก่ท่านในค่ำคืนวันนั้น


ตอนพระอาจารย์กงมากับพระวิริยังค์
เดินธุดงค์ตามพระอาจารย์มั่นฯ


การเดินธุดงค์ ในกาลครั้งนี้ของท่านพระอาจารย์กงมากับพระวิริยังค์ เป็นไปด้วยการมีความหมายเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการปลดภาระจากการก่อสร้างวัดและการผูกพันการสั่งสอนประชาชน พร้อมกับการถือเขาถือเราในการยึดกุลปลิโพธ

ข้าพเจ้าผู้เขียนหวนระลึกไปถึงในกาลครั้งนั้น ยังรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่มีเพียงครั้งเดียวในชีวิตของการเดินธุดงค์มหาวิบาก แม้จะมีการเดินอยู่ตลอดเวลาอันยาวนาน แต่ก็ไม่เหมือนครั้งนี้ จะเป็นเพราะเหตุใด ผู้เขียนเข้าใจในภายหลังว่า พระอาจารย์กงมา ท่านต้องการทรมานตัวของท่านและข้าพเจ้าผู้เขียนไปด้วย เพราะการเดินธุดงค์ครั้งนี้จุดมุ่งหมายมีอยู่ ๒ ประการ ประการที่ ๑ ต้องการทรมานกิเลส เมื่อพบที่สงบดีก็จะพักภาวนาอยู่หลายวัน เพื่อเพิ่มพูนพลังจิต ประการที่ ๒ เพื่อไปพบพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ อันเป็นจุดประสงค์แท้จริง

จากอำเภอมะขาม ท่านก็เดินด้วยเท้า ข้าพเจ้าก็เดินด้วยเท้า ไปตามทางเกวียนบ้าง ทางเท้าบ้าง แดดร้อนจ้า เมื่อเดินออกทุ่งแต่เป็นทุ่งหญ้า ท่านรู้สึกจะเหนื่อยมาก จึงพาข้าพเจ้าแวะที่ร่มไม้แห่งหนึ่ง และขอฉันน้ำ ข้าพเจ้าถวายท่าน ๑ แก้ว น้ำนี้ข้าพเจ้าสะพายมันมาจากอำเภอมะขามโดยใส่กระติก ข้าพเจ้าเองก็ไม่กล้าฉันในระหว่างเดินทาง เพราะกลัวน้ำจะหมด หลังจากท่านได้ฉันน้ำแล้วท่านบ่นออกมาว่า

“แหม ร่างกายนี้มันคอยจะหาเรื่องอยู่เรื่อยทีเดียว”

ข้าพเจ้าถามท่านว่า “หาเรื่องอะไรครับ”

“ก็หาเรื่องจะให้กลับไปนอนเตียงที่วัดน่ะซี และไปไหนมาไหนก็มีรถยนต์เรือไฟ แต่เราจะไม่ยอมเชื่อมัน แม้จะลำบากเท่าไรก็ทรมานมันต่อไป”

พอหายเหนื่อย ท่านก็พาข้าพเจ้าเดินต่อไป คราวนี้ข้าพเจ้าเห็นว่าท่านต้องแบกกลด สะพายบาตร ของในบาตรก็หนัก ข้าพเจ้าจึงเอาผ้ามุ้งกลดมาพันเข้ากับตัว แล้วเอาสายสะเดียงรัดให้แน่น จึงเอากลดและบาตรของท่านมาสะพายแลแบกไป ทำให้ข้าพเจ้าต้องแบกสัมภาระหนักอีกเท่าตัว สำหรับข้าพเจ้าไม่เป็นไร เพราะในขณะนั้นกำลังหนุ่มน้อย อายุ ๒๒ ปีเท่านั้น จึงไม่รู้จักคำว่าเหนื่อย และด้วยความเคารพและศรัทธาในตัวอาจารย์ของข้าพเจ้าอย่างสุดซึ้ง จึงทำให้ไม่มีความสะทกสะท้านอะไรเลยในตัว และต้องการจะสนองคุณของครูบาอาจารย์อย่างยิ่ง

เป็นเวลาค่ำลงแล้ว เห็นหมู่บ้านเล็กๆ บ้านหนึ่งมีประมาณ ๕ หลังคาเรือน ท่านได้พาแวะพักที่นั้นโดยยึดโรงฟางที่เขาเก็บเอาไว้เลี้ยงโค-กระบือ แม้จะเป็นการเดินที่เหน็ดเหนื่อย แต่ท่านก็ยังพาข้าพเจ้านั่งสมาธิอยู่ตลอดเวลา ท่านบอกว่าเหนื่อยก็จริงแต่พอนั่งสมาธิแล้วก็หายเหนื่อย ตอนนี้มีชาวบ้านมาหาท่านอยู่ ๒-๓ คน ตื่นเช้าเขาถวายอาหารบิณฑบาตแล้วก็เดินต่อไป

ถึงกิ่งอำเภอพญากำพุด อันเป็นกิ่งอำเภอทุรกันดารเหลือเกินเพราะรถยนต์มาไม่ได้ เดินมาถึงที่นี่ก็ค่ำแล้ว ก็แวะพักที่ใต้โคนต้นไม้ พอที่จะเป็นสถานที่ทำความเพียรสงบสงัด ข้าพเจ้ากางกลดปูที่นอนกับดินเพียงแค่เอาผ้าอาบน้ำปูถวาย ใช้เท้าบาตรเป็นหมอนตามมีตามได้ และคอยนั่งเฝ้าปฏิบัติท่านตลอดเวลา ท่านก็ให้โอวาทแก่ข้าพเจ้าเช่นเคยโดยบอกว่า

“วิริยังค์ อันการที่จะหาเรื่องกังวลใส่ตัวเองนั้น มันไม่สมควรเป็นอย่างยิ่ง และควรจะพิจารณาในเมื่อเห็นหญิงสาวให้เห็นเป็นสิ่งปฏิกูลน่าเกลียดและพึงพิจารณามิให้มันเข้ามาอยู่ในใจว่าเป็นของสวยงาม ทั้งตัวเราและตัวเขา”

หลังจากนั้นท่านก็พักผ่อนจนจนรุ่งสว่างแล้วออกบิณฑบาต มีแต่ชาวเขมรทั้งนั้น เขาเห็นพวกเราเข้าไปบิณฑบาต ตะโกนกันทั่วไปให้ใส่บาตรว่า “ลูกสงฆ์โม๊กเฮย” ข้าพเจ้าไม่รู้ว่าเขาพูดว่าอะไร บัดเดี๋ยวใจก็ปรากฏว่ามีคนมาใส่บาตรกันเต็มไปหมด แต่ไม่มีใครใส่กับข้าวเลย กลับจากบิณฑบาตแล้วมีคนนำกับข้าวมาคนเดียว แกงถ้วยเล็กๆ แต่ข้าวอร่อยมากเป็นข้าวจ้าวแต่เหนียวหอม ก็เลยต้องเอาน้ำฉันไปกับข้าวพอเป็นยาปนมัตต์

ฉันเสร็จแล้วก็เดินต่อไปทั้งวัน นั่งพักบ้างเดินบ้าง ตอนนี้ท่านก็ค่อยแข็งแรง ขึ้นไปจนไปถึงบ้านโอลำเจียก มาถึงนี้มีพระสมภารมาขอให้ท่านไปพักในวัดของเขา แม้ท่านอาจารย์กงมา ท่านจะไม่อยากจะไป แต่ท่านสมภารอ้อนวอนอยู่นาน ท่านได้ตกลงเข้าไปพักในวัดนั้น เขาได้จัดแจงตกแต่งที่หลับที่นอนให้อย่างดี ต้อนรับอย่างเต็มอกเต็มใจ เพราะสมภารวัดนี้ท่านรู้ดีว่า ท่านอาจารย์กงมา เป็นอาจารย์ที่มีชื่อเสียงมาก

พอค่ำลงข้าพเจ้าก็เข้าปฏิบัติท่านตามปรกติ ท่านบอก ดูเถิดเราจะหนีวัด ยังไงถึงเข้ามาวัดอีก ข้าพเจ้าได้พูดว่า เขามีศรัทธาก็ฉลองศรัทราเขาหน่อย ท่านตอบว่า เพราะฉลองศรัทธานี้แหละมันทำให้ธุดงค์ต้องเสียหาย

รุ่งเช้ามันเป็นภาพประทับใจข้าพเจ้าอย่างบอกไม่ถูก ข้าพเจ้าแทบไม่เชื่อในสายตาของข้าพเจ้าเอาจริงๆ โดยที่ข้าพเจ้าเห็นสมภารที่วัดนี้ขึ้นอยู่บนยอดต้นมะพร้าวกำลังปลิดผลมะพร้าวอ่อนหย่อนลงมากองพะเนิน และท่านสมภารได้ลงมาเฉาะมะพร้าวเอง แล้วให้ข้าพเจ้าถวายท่านอาจารย์กงมา ไม่ทราบว่ายังไง ท่านทำอาการขยะแขยง ข้าพเจ้าพยายามข่มจิตใจในขณะนั้น ท่านก็คงข่มเช่นกัน แล้วพวกเราก็ฉันน้ำมะพร้าวอ่อนในวันนั้นอย่างเต็มที่ สมภารดีใจมากและต้องการจะให้พวกเราอยู่ต่อไปให้หลายๆ วัน แต่ท่านก็บอกว่ามันเป็นการผิดวัตถุประสงค์ พวกเราก็ต้องลาสมภารนั้นไปหลังจากฉันเสร็จแล้ว สมภารนั้นรู้สึกอาลัยอาวรณ์พวกเรามาก แต่จะทำอย่างไรได้ ท่านเดินธุดงค์ ข้าพเจ้าเดินธุดงค์ต่อ และท่านก็พูดว่า

“ดูเถอะ พระท้องถิ่นนี้ช่างไม่รู้วินัยกันเลย ศรัทธาดีแท้ๆ เลื่อมใสแท้ๆ แต่ทำผิด ดูซิขึ้นต้นมะพร้าว ยังปลิดมะพร้าวเอง ผิดวินัยทั้งนั้น แต่ไม่รู้จะบอกเขาอย่างไร เราก็เป็นพระแขกก็ต้องปล่อยตามเรื่องไป”


ตอนเข้าเขตเขมร (บ่อไพลิน)

กาวเดินทางวันนี้โดยความประสงค์จะให้ถึงบ่อไพลิน อันเป็นแดนเขมร ซึ่งขณะนั้นเป็นของไทยอันเป็นผลของการรบสงครามอินโดจีน พวกเราจึงเดินทางเข้าไปไม่ต้องมีพาสสปอร์ต ระยะทางจากบ้านโอลำเจียกไปถึงบ่อไพลินประมาณ ๓๐-๔๐ กิโลเมตรถึง ๑,๐๐๐ กว่าเส้น ท่านบอกว่าวันนี้เราจะต้องเดินให้ถึง ก็ต้องพยายามและก็ได้รับความเหน็ดเหนื่อยมาหลายวันแล้วก็เหนื่อยกันต่อไป เพราะช่วงนี้ยาวมาก

ขณะนั้นดูสถานที่เดินทางไปยังมีร่องรอยของสงครามอินโดจีน คือมีสนามเพลาะลวดหนามอยู่เรียงราย ตกเย็นประมาณ ๑๘.๐๐ น. ก็ถึงหมู่บ้านขุดพลอย แต่ไม่ใช่บ่อไพลิน อยู่ในเขตอำเภอไพลิน เป็นเวลาค่ำแล้ว ก็แวะเข้าพักในวัด ทุกๆ วัดเป็นวัดแบบพม่า แต่พวกนี้กุหล่าหรือไทยใหญ่อยู่ เมื่อสงครามอินโดจีน พวกกุหล่าเหล่านี้อพยพเข้าไปอยู่ในประเทศไทย จังหวัดจันทบุรีเป็นส่วนมาก ข้าพเจ้าผู้เขียนได้เคยจัดอาหารหรือวัตถุต่างๆ ไปช่วยเป็นจำนวนมาก จนรู้จักกับพวกกุหล่าเหล่านี้เป็นอย่างดี แต่ที่นี่มีหมู่บ้านเล็กน้อย ตามวัดต่างๆ นั้นเวลานี้ไม่มีพระสักองค์เดียว ร้างหมด ตามวัดถูกตัดต้นมะพร้าวเอามาทำหลุมเพลาะเพื่อสงคราม ตามวัดต่างๆ ก็เป็นที่พักของพวกทหารฝรั่งเศส แต่ขณะนี้ไม่มีเสียแล้วเพราะฝรั่งเศสแพ้สงครามไป

ท่านอาจารย์กงมา จึงพาข้าพเจ้าพักอยู่ที่นี่ ๑ คืน ภายในวัดและบนกุฏิเข้าของเสียหายมาก เหลือแต่ความอ้างว้าง และพวกค้างคาวมาอยู่จับกันเต็มไปหมด มีแต่ขี้ค้างคาว พวกเราต้องเข้าปัดกวาดกันหลายชั่วโมงจึงจะเข้าพักได้ พวกชาวบ้านพอทราบว่าพวกเรามาก็ดีใจ เพราะไม่มีพระทำบุญมานานแล้ว พระของเขาได้หนีกลับไปประเทศพม่าหมด

ตอนเช้า ท่านอาจารย์กงมา ก็พาข้าพเจ้าไปบิณฑบาต ทุกคนออกมาใส่บาตรกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง เขาเรียกพระว่า (เจ้าบุญ) เรียกสามเณรว่า (เจ้าสร้าง) พระเรียกโยมผู้ชายว่า (ตะก้า) ส่วนโยมผู้หญิง “ตะก้าม้า” เทศน์เขาว่า “ฮอติยา” วันนี้พวกเขาพากันดีใจมากที่ได้พบพระมาบิณฑบาต ในตอนกลางวันเขาพากันมาทำความสะอาดลานวัดจนเป็นที่น่าดู แต่ท่านอาจารย์ก็อยู่ให้เขาเพียง ๒ วันเท่านั้น แล้วก็เดินทางไปบ่อไพลินใช้เวลาเพียง ๑ ชั่วโมง คณะญาติโยมชาวกุหล่าก็ขอให้พักอยู่อีก ท่านอาจารย์ก็ไม่ขัดข้อง แต่ก็เหมือนเดิม วัดใหญ่ๆ ไม่มีพระสักองค์เดียว ท่านอาจารย์ก็พาข้าพเจ้าพักอยู่นี้อีก โดยพวกกุหล่าทั้งหลายได้พากันมาทำความสะอาดสถานที่ ขนขี้ค้างคาวกันเป็นเวลาตั้งหลายชั่วโมงเป็นที่เรียบร้อย แล้วก็พักในวัดนี้ ท่านอาจารย์กงมาพาข้าพเจ้าพักอยู่ที่นี้เป็นเวลา ๑๐ วัน ตามคำเรียกร้องของชาวกุหล่า

ในขณะที่พวกเราอยู่นี้ ท่านอาจารย์ได้ถามประวัติว่า แต่ครั้งแรกๆ ที่จะมาอยู่ที่นี้นั้น อยู่ที่ไหนมาก่อน พวกชาวกุหล่าจึงได้เล่าประวัติของชาวกุหล่าที่มาอยู่อำเภอบ่อไพลินให้พวกเราฟัง ข้าพเจ้าผู้เขียนซึ่งนั่งฟังอยู่ด้วย


ประวัติบ่อไพลิน

ไพลิน เป็นชื่อพลอย เป็นพลอยที่มีค่ามากเทียบเท่ามรกต มีสีเขียว

เขาเล่าให้ฟังว่า ครั้งแรกพวกเขานำเอาผ้ามาขาย แต่เดิมเป็นที่อยู่ของชาวเขมร เขาเอาผ้ามาขายเป็นเวลาหลายปี มีหลายพวกด้วยกันจนเป็นที่ชินหูว่า กุหล่าขายผ้า เหมือนแขกขายผ้าบ้านเรา ในวันหนึ่งมีคณะกุหล่าขายผ้านำเอาผ้าไปขายแล้วก็ขอพักอยู่กับในบ้านกับชาวเขมร ชาวเขมรได้เอาหมากพลูบุหรี่มาเลี้ยงเป็นการต้อนรับ ขณะนั้นชาวกุหล่าได้เหลือบไปเห็นหินเป็นก้อนๆ สีเขียววางอยู่ในเชี่ยนหมากจึงหยิบมาดูก็รู้ ได้ทันทีว่าเป็นพลอยที่มีค่ามาก จึงพูดกับชาวเขมรว่า “อันหินอย่างนี้มีที่ไหนบ้าง” ชาวเขมรบอกว่ามีถมไป กุหล่าจึงบอกว่าถ้าอย่างนั้น ก็ขอให้หามาให้ที เราจะให้ผ้าทั้งหมดที่เอามา เขมรดีใจใหญ่ ไปขนพลอยไพลินมาแลกกับผ้า จนกุหล่ามีเงินเท่าไรก็รางวัลให้เขมรหมด ได้พลอยไพลินจำนวนมากกลับบ้าน แล้วขายพลอยเหล่านั้นหมดจนได้เป็นเศรษฐี อยู่ที่มะละแหม่งจนปัจจุบันนี้ ครั้นชาวกุหล่ารู้เหตุเช่นนี้ก็มาเป็นการใหญ่ มาขุดพลอยจนร่ำรวยหมู่แล้วหมู่เล่า แล้วก็กลับไป แล้วหมู่ใหม่ก็มาจนถึงปัจจุบันจึงพาหันมาตั้งรกรากอยู่กันอย่างหนาแน่น นี้เป็นประวัติของหมู่บ้านนี้

ข้าพเจ้าได้สังเกตดูชาวบ้านกุหล่าเป็นคนมีฐานะดีทั้งนั้น ชาวเขมรฐานะต่ำต้อยมาก ทั้งนี้เนื่องจากอะไรไม่ทราบ เมื่อเขาเล่าประวัติจบ ตอนค่ำท่านอาจารย์กงมาได้พูดกับข้าพเจ้าว่า “ดูเอาเถิด คนฉลาดและคนไม่ฉลาดต่างกันอย่างนี้ แม้แต่ผู้ที่จะปฏิบัติพระพุทธศาสนาก็เช่นเดียวกัน ชาวบ้านกุหล่านี้เป็นตัวอย่างได้เป็นอย่างดี เปรียบเหมือนความดีของพระพุทธศาสนานั้นมีอยู่ในตัวของเราทุกคน แต่ไม่รู้จักหาวิธีทำให้มีประโยชน์เกิดขึ้นโดยขาดปัญญา เช่นเดียวกับพวกเขมรที่เอาพลอยอย่างดีแลกแต่เสื้อผ้าเท่านั้นเอง คนมีปัญญาก็สามารถปฏิบัติตัวของเราให้เห็นอัตถธรรมได้ ตัวเธอจงเข้าใจเถอะ ถ้าทำตัวโง่ก็มีของดีเสียเปล่า ไม่ได้ประโยชน์อะไร นั่งเฝ้านอนเฝ้าศาสนาแต่ไม่ได้ประโยชน์อะไร ส่วนผู้มีปัญญาย่อมหาประโยชน์จากตัวของเราได้ เหมือนเรื่องประวัติบ่อไพลิน ชาวเขมรกับชาวกุหล่านั่นเอง วิริยังค์ เธอจงเปรียบเทียบเอาเองเถิด”

ข้าพเจ้ารู้สึกซาบซึ้งในข้อเปรียบเทียบนี้มาก

การเดินธุดงค์ทุรกันดารไกลเป็นพิเศษครั้งหนึ่งในชีวิตของพระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ กับข้าพเจ้าซึ่งได้ทั้งความวิเวก ได้ทั้งทัศนศึกษาเฉพาะอย่างยิ่งได้ความอดทนเป็นพิเศษ

ขณะที่พวกเราธุดงค์รอนแรมมาจากจังหวัดจันทบุรี จนถึงบ่อไพลิน อันเป็นที่อยู่ของชาวกุหล่า (ไทยใหญ่) ก็ทำให้อ่อนเพลีย เหน็ดเหนื่อยพอสมควร ท่านอาจารย์จึงพาข้าพเจ้าพักอยู่หลายวัน ประกอบกับชาวกุหล่ากำลังว้าเหว่ เพราะไม่มีพระสงฆ์อยู่เลยแม้แต่วัดเดียว เป็นวัดร้างไปหมด เมื่อท่านอาจารย์พักอยู่เขาก็มาทำบุญกันมาก ไปบิณฑบาตเขามาใส่บาตร เมื่อใส่บาตรแล้วจะไม่ให้เหลือ คดข้าวมาเท่าไรต้องใส่ให้หมด ข้าพเจ้าบาตรเต็มแล้วปิดฝาบาตรเขาไม่ยอมเพราะ เขาถือว่าถ้าเหลือกลับจะรับประทานไม่ได้ เป็นเปรตบาป จึงเป็นธรรมเนียมที่น่าสนใจ เวลานั้นวัดที่อยู่รกรุงรัง พวกเขาได้มาทำความสะอาดทั้งภายในและลานวัด ข้าพเจ้าดูแล้วรู้สึกว่าเขาศรัทธากันจริง และชาวกุหล่าก็ขอนิมนต์ให้ท่านอาจารย์และข้าพเจ้าอยู่เป็นประจำต่อไป โดยให้หัวหน้าชาวบ้านมาอ้อนวอนอยู่ทุกๆ วัน

ค่ำวันหนึ่งข้าพเจ้าได้เข้าไปถวายการนวดแด่ท่านอาจารย์ ซึ่งข้าพเจ้าต้องปฏิบัติเป็นกิจวัตร ในค่ำวันนี้ท่านได้ปรารภกับข้าพเจ้าอย่างน่าฟังและน่าสลดใจว่า

“วิริยังค์ เอ๋ย เราพยายามหนีความขัดข้องจากวัดทรายงาม ตำบลหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรีมาแล้ว เราจะมาหาห่วงที่นี่อีกหรือ มันเป็นการไม่สมควรเป็นอย่างยิ่ง อันการเป็นสมภารนั้นคือ การหนักอกทุกประการ ถ่วงความเจริญในการปฏิบัติธรรมเพื่อให้ยิ่ง อย่าเลย เรามาพากันออกจากที่นี่ วันพรุ่งนี้เถอะ”

ข้าพเจ้าได้ทัดทานท่านไว้ว่า “ท่านอาจารย์ครับ ผมเห็นเขาศรัทธาดีจริงๆ อ่อนน้อม ใครต่อใครปฏิบัติ ท่านอาจารย์แนะนำอย่างไรเขาก็ไม่ขัดข้องเลย อยู่โปรดเขาไปอีกสักพักหนึ่งเถิด”

ท่านขู่ข้าพเจ้าว่า “วิริยังค์ ตัวเธอยังอ่อนต่อความเป็นสงฆ์นัก เห็นความดีของเขาเพียงเท่านี้ก็หลง นี่คือเหยื่อล่อให้พวกเราติดกับละ อย่าอยู่เลย พรุ่งนี้เราไปเถอะ”

ข้าพเจ้าจึงขอพูดทัดทานท่านเป็นครั้งสุดท้ายว่า “กระผมเห็นว่าควรอยู่ต่อ พอปลูกศรัทธาให้เขารู้ทางการบำเพ็ญสมาธิพอสมควร ไหนๆ ท่านอาจารย์ก็ได้ผ่านมาทางนี้แล้ว กระผมคิดว่าในอนาคตคงจะมิได้มาอีกตลอดชีวิตก็ได้”

ตกลงท่านก็เชื่อข้าพเจ้า อยู่ฝึกฝนสมาธิให้พวกกุหล่าทั้งหญิงและชาย แต่เป็นที่น่าประหลาดใจว่าพวกกุหล่าเหล่านี้ทำจิตได้ง่ายมาก อยู่เพียง ๒ อาทิตย์เท่านั้นจิตรวมกันได้ทุกคน เมื่อพวกเราต้องอำลาเขาไปก็เกิดความเสียใจมาก ถึงกับร้องห่มร้องไห้ เป็นบรรยากาศที่ตรึงราตรึงใจ ถึงหยดน้ำตาอันบริสุทธิ์ของพวกชาวพุทธผู้เลื่อมใส ข้าพเจ้ายังจำภาพนั้น แม้มันจะล่วงเลยมาหลายสิบปีก็ไม่มีเลือนลางเลย

การเดินทางได้เดินต่อมาจนถึงชานเมืองพระตะบอง เป็นหมู่บ้านใหญ่พอสมควร คราวนี้ถึงเมืองเขมรจริงๆ แล้ว พูดไทยไม่รู้เรื่องเลย ท่านอาจารย์พาข้าพเจ้าไปพักที่วัดแห่งหนึ่ง เข้าไปหาสมภารในวัดนั้น เมื่อไปกราบท่านต่างก็มองตากันไปมา เพราะพูดไม่รู้เรื่องกัน

ท่านอาจารย์บอกว่า “ขอพักสัก ๒-๓ คืนเถิด”

เขาพยักหน้า เอาน้ำชามาเลี้ยงแล้วก็นั่งต่อไป แม้ท่านอาจารย์จะพูดว่า “ขอพักที่นี่” ตั้ง ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง เขาก็ยิ่งเอาน้ำชามาเลี้ยงเป็นการใหญ่ นี่แหละเป็นการอึดอัดเรื่องภาษาเป็นครั้งแรก เขาก็อึดเราก็อัด นั่งจนแข้งขาเหน็ดเหนื่อยอ่อนใจ ข้าพเจ้ารู้สึกเกรงใจสมภารเขามากทีเดียว ตั้งแต่เช้า ถึงบ่ายโมง ถึง ๔ โมงเย็น พูดไม่รู้เรื่องกัน

ก็พอดี ครู ร.ร. ของวัด ไปจากประเทศไทยสอนหนังสือไทย พอดี ร.ร. เลิกเขารู้ว่าพระมาจากประเทศไทย เขาก็รีบมาหา พูดให้ครูนั้นรู้เรื่องว่าจะพักอยู่ที่นี่สัก ๒-๓ วัน เพียง ๕ นาทีเท่านั้นเอง สมภารก็ให้คนจัดห้องรับรองให้เป็นอย่างดี ข้าพเจ้านึกในใจว่าภาษานี้สำคัญแท้ มันเป็นความจำเป็นเหลือเกินที่จะต้องรู้ภาษาหลายๆ ภาษา

ท่านอาจารย์พาข้าพเจ้าพักอยู่ในวัดนี้แล้ว ตอนเช้าออกบิณฑบาต ชาวเขมรมาใส่บาตร เขาไม่เคยเห็นบาตรใหญ่และสวยอย่างนี้มาก่อน ต่างก็มาดูบาตรและจับดูกันเป็นการใหญ่ แล้วพูดว่า “ละอ้อละออ” แปลว่าสวยจริง เราได้คุ้นเคยกับพระเณรเขมรในวัดนั้นอย่างเป็นกันเอง แม้จะไม่รู้จักภาษาซึ่งกันและกัน แต่ใจก็เป็นพระภิกษุสามเณรอย่างเดียว ทำให้เกิดวิสาสะได้อย่างน่าประหลาดใจทีเดียว

อยู่ได้สองสามวันก็เข้าไปในเมืองพระตะบอง พักอยู่วัดธรรมยุต ตอนเช้าไปในวัดนั้น พวกเราขึ้นรถ ๓ ล้อเข้าไป พระในวัดมองตาแข็ง เพราะพระธรรมยุตที่เมืองเขมรเขาไม่ขึ้น ๓ ล้อ เขาไม่ต้อนรับเรา อาจารย์บอกเขาว่าเป็นพระธรรมยุต เขาไม่เชื่อ เพราะพวกเราขึ้นรถ ๓ ล้อ เข้าไปพักอยู่ที่ศาลา เขาให้โยมเอาเงินมาถวาย เพื่อลองเชิงดู ท่านอาจารย์ก็ไม่รับ เขาก็ชักสงสัยใหญ่ อยู่มาอยู่อีกหลายวันจนเป็นที่เข้าใจกันแล้ว สมภารเป็นอัมพาตใส่รถมาสนทนาด้วย ก็พอดีมีคนไทยที่เป็นพ่อค้า และเจ้าหน้าที่ผู้ใหญ่รู้จักกับท่านอาจารย์ที่ประเทศไทยไปหา และอุปการะด้วยอาหาร เพราะไปอยู่ที่นี่เขาไม่ดูแลเลย ฉันข้าวเปล่าๆ มาหลายวัน

จากพระตะบองก็เดินทางมุ่งจะออกจากเขมรเข้าไปทางอรัญประเทศ แต่ต้องผ่านมงคลบุรีและศรีโสภณเป็นลำดับ แล้วก็พักอยู่จังหวัดศรีโสภณ ที่นั่นได้คณะตำรวจที่ไปจากประเทศไทย และชาวเขมรอุปถัมภ์ทำให้อยู่สบาย

อันการเข้าไปประเทศเขมรครั้งนี้ เป็นการเข้าไปชมประเทศมากกว่า มิได้ถือเป็นการเดินธุดงค์เท่าไรนัก และเป็นที่ขณะที่ประเทศไทยได้ ๔ จังหวัดในเขมรมาครอบครอง อันเป็นผลมาจากสงครามอินโดจีน เป็นการชั่วคราว

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ธ.ค. 2010, 11:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ตอนออกจากแดนเขมร

เมื่อออกจากเขตแดนเขมรก็เข้าสู่เขตอรัญประเทศ เริ่มการเดินธุดงค์แสวงหาที่สงบจักบำเพ็ญกัมมัฏฐานกันต่อไป เดินไปได้ไปพบศาลาร้างมีอยู่ ๒-๓ หลังข้างๆ ป่า ท่านอาจารย์ก็ตกลงใจยึดเอาที่นี่เป็นที่พัก พอเข้าไปถึงก็ได้กลิ่นไม่สู้ดี ท่านก็พาเข้าไปจนขึ้นข้างบนจึงเห็นอุจจาระญี่ปุ่น เพราะเป็นค่ายญี่ปุ่นพึ่งจะออกจากไป พวกเราต้องช่วยกันล้างอุจจาระเหล่านั้นหมดก็พักภาวนาอยู่ที่นี่ ถือเอาว่าเป็นสูญญาคาร

ค่ำคืนวันนี้ ข้าพเจ้าก็ถวายการนวดแด่พระอาจารย์ของข้าพเจ้าตามปรกติ ข้าพเจ้าใคร่ขอกล่าวเตือนบรรดาศิษย์ทั้งหลายของพระอาจารย์ทั้งหลายว่า การปฏิบัติอาจารย์โดยการนวดเฟ้นนี้เราควรจะทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะถ้าเราไม่กลัวอาจารย์จนเกินไปแล้ว เราจะได้ถามอรรถปัญหาและได้รับการแนะนำเป็นพิเศษ

แม้ในวันนี้อีกเช่นเดียวกัน ข้าพเจ้าก็ได้รับความรู้ขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งว่า ของสกปรกอย่าดูถูก ของดีย่อมมาจากของสกปรก พระอริยะเจ้าถ้าไม่ได้รับรสของสกปรกแล้ว ท่านจะเป็นพระอริยะเจ้าไปไม่ได้เลย ท่านอาจารย์กงมา ท่านได้เสริมขึ้นอีกว่า “เรานอนบนกองอุจจาระเวลานี้ยังไม่เท่าอยู่ในท้องเรา แล้วเราก็ต้องน้อมเข้ามาเป็นธรรมส่วนตัวของเราว่า อย่าหลงสวยหลงงาม เพราะเขาทั้งหลายโง่ เอาน้ำอบมาประอุจจาระกันอยู่ทุกวันนี้มิใช่หรือ วิริยังค์ ถ้าตัวเขาหอมแล้วจะเอาน้ำอบมาประตัวเขาทำไม วิริยังค์เอ๋ย นี่แหละคนเราถึงว่าเป็นโมหะ จงรู้ให้ดี”

ทำเอาข้าพเจ้ามีจิตลึกซึ้งดื่มด่ำหอมชื่นในรสพระธรรมของอาจารย์ขึ้นมาแทนอุจจาระที่ส่งกลิ่นตึๆ ขึ้นมาทันทีเชียวท่านเอ๋ย

ในเมื่ออยู่อรัญประเทศ นอนอยู่กับกลิ่นอุจจาระของญี่ปุ่น แต่กลับได้รับรสพระธรรมจากอาจารย์ของข้าพเจ้า ก็เป็นอันเรียบร้อยไป ๑ คืน รุ่งเช้าบิณฑบาตในตลาด ได้ข้าวกับขนมถ้วย ๒-๓ อัน ฉันกันพอประทังชีวิต แล้วก็เดินธุดงค์กันต่อไป ใช้เวลา ๓ ชั่วโมงเศษก็ถึงบ้านหนองแวง ได้พบวัดร้างอยู่วัดหนึ่ง ท่านอาจารย์เห็นสงบดี ก็พาผู้เขียนพักอยู่ที่วัดนี้ และพักกันหลายวัน ญาติโยมทั้งหลายก็พากันมาส่งอาหาร ในละแวกนี้ก็ได้น้ำพริกเป็นพื้น แต่ก็สบายใจดี เราอยู่กัน ๓ วันท่านอาจารย์ก็พาข้าพเจ้าเดินธุดงค์ต่อ ตอนนี้มีความประสงค์ที่จะเดินตัดตรงขึ้นจังหวัดนครราชสีมา วันนี้ถือเป็นที่เดินทางระยะยาวมากถึง ๔๘ กิโลเมตร ใช้เวลาเดิน ๑๐ ชั่วโมง ซึ่งเป็นทางทุรกันดารมากระหว่างทางหาน้ำฉันไม่มีเลย แต่อาจารย์บอกว่า ถ้าจะให้เดินทนอย่าฉันน้ำ ข้าพเจ้าก็เชื่อแต่มันกระหายมาก คอแห้งผาก เนื่องจากระยะทางเดินนั้นไม่ใคร่จะมีต้นไม้ใหญ่และเป็นทางหินกรวดตลอด ข้าพเจ้าต้องฉันน้ำในกระติกที่ตะพายไป

ในระยะไม่ถึงครึ่งวันความจริงได้ปรากฏขึ้นแก่ข้าพเจ้าแล้ว ปรากฏว่าเท้าหนักไปหมด เดินอืดลง แต่ก่อนทุกครั้งข้าพเจ้าเดินสบายมาก อาจารย์ได้หันมามองข้าพเจ้า ซึ่งข้าพเจ้าคิดอุทานอยู่ในใจว่า ไม่อยากจะเดินต่อไป อาจารย์จึงพาแวะพักที่โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง แล้วท่านก็ถามว่าน้ำอยู่ไหน

“กระผมฉันหมดแล้ว” ข้าพเจ้าตอบ

“นั่นน่ะชี เห็นหน้าตาบอกว่าล้าเพราะน้ำกระติกนี้เอง” ท่านอาจารย์พูด “แล้วเราเวลานี้กำลังหิวจะทำอย่างไร”

ข้าพเจ้าจึงรีบออกไปเงินหาน้ำตามบริเวณนั้นโดยทั่วๆ ก็ได้พบหนองน้ำเล็กๆ แห่งหนึ่งเป็นปลักควาย อุจจาระควายเต็มทั้งหนอง แต่มันนอนก้นหมด น้ำข้างบนใสดี รีบกลับมาบอกอาจารย์ว่า

“น้ำมีแต่เป็นปลักควาย มีอุจจาระเต็มไปหมด”

ท่านบอกว่า ”ไม่เป็นอะไร เอามาเถอะ”

ข้าพเจ้าคิดในใจว่า อย่างไรเสียท่านอาจารย์คงหิวเอามากๆ ทีเดียว นึกติตัวเองว่าดื่มน้ำในกระติกคนเดียวหมด ไม่น่าเลย แล้วทำให้ล้าด้วย แล้วข้าพเจ้าก็นำเอาธรรมการกไปกรองน้ำเอาที่หนองปลักควายนั้นด้วยความบรรจงกรอง กลัวอุจจาระควายที่เป็นตะกอนจะฟุ้งขึ้น ได้น้ำแล้วรีบนำมาถวายรู้สึกกลิ่นตึตึ ท่านอาจารย์ก็ฉันอย่างสบาย

ข้าพเจ้าถามท่านว่า “เป็นอย่างไรบ้างครับ”

“หอมดี วิริยังค์” ท่านตอบ

“รู้ไหมว่าขี้ควายมันเป็นยาเย็น” ท่านพูดเสริมขึ้นอีกทำเอาข้าพเจ้าอยากจะดื่มน้ำปลักควายอีกแล้ว ข้าพเจ้า.จึงกลับไปที่ปลักควาย แล้วกรองน้ำขี้ควายนั้นดื่มไป ๑ แก้ว แต่ก็พยายามนึกถึงคำอาจารย์ว่าหอม ก็ทำให้หายอุปาทานไปมาก แล้วก็รู้สึกจริงๆ ว่าหายหิวน้ำ ข้าพเจ้าเดินกลับมาหลังจากดื่มน้ำขี้ควายแล้ว อาจารย์มองข้าพเจ้าแล้วหัวเราะ ท่านก็ได้พาข้าพเจ้าเดินต่อไป เพราะวันนี้ต้องเดิน ๔๘ กิโลเมตร

ได้ถึงบ้านตาดโดน บ้านนี้เป็นชาวเขมรต่ำ ถึงนั่นประมาณ ๒ ทุ่ม รู้สึกว่าท่านอาจารย์เหน็ดเหนื่อยมาก ข้าพเจ้ารีบจัดที่กางกลดถวายท่านในรุกขมูลใต้โคนต้นไม้อันเป็นป่าโปร่ง ใช้ผ้าอาบน้ำปูกับพื้นดิน ตีนบาตรเป็นหมอน เรียบร้อยภายใน ๑๐ นาที ในที่ใกล้มีน้ำที่เขาขุดเป็นบ่อ ข้าพเจ้ารีบไปตักน้ำเพื่อถวายท่านสรง แต่ไม่มีภาชนะจะนำมา จึงต้องอาราธนาท่านไปข้างบ่อน้ำแล้วข้าพเจ้าก็ตักถวายท่าน

สรงเสร็จแล้ว แทนที่ท่านจะพัก กลับพาข้าพเจ้านั่งสมาธิต่อไป ท่านบอกว่าเหนื่อยๆ นั่งสมาธิดี ก็จริงอย่างท่านว่า พอนั่งก็รวมเลยเพราะเหนื่อยมาก ถ้าจิตไม่รวมคงจะแย่หน่อยทีเดียว หลังจากนั่งสมาธิแล้วแทนที่จะหลับนอนกัน ท่านกลับแสดงธรรมอบรมข้าพเจ้าต่อไปอีกว่า “วิริยังค์ การที่เราต้องการอยากจะพ้นทุกข์ เราต้องเข้าหาทุกข์ ถ้าเรากลัวทุกข์ เราก็พ้นทุกข์ไม่ได้ การที่เราจะเข้าหาทุกข์อย่างขณะนี้แหละ นอนดิน เดินไกล เราก็จะพอมองเห็น และเมื่อจิตเป็นสมาธิแล้วก็พิจารณากาย เพราะกายคือตัวทุกข์ เพราะคนเราจะหลงก็เพราะมีกาย หลงกายซึ่งกันและกันนี่เอง กายคนเราถ้าลอกหนังออกเสียแล้วใครเล่าจะหลงกัน ก็เกลียดเท่านั้นเอง เวลาจิตเป็นสมาธิแล้วก็ให้พิจารณาอย่างนี้จะทำให้รู้แจ้งเห็นจริงเป็นสัจธรรมได้”

วันนั้นรู้สึกว่าถูกทรมานเป็นพิเศษ หลังจากจำวัดตื่นขึ้นแล้ว ชาวบ้านจึงพากันมาเห็น ต่างก็ส่งเสียงกันระเบ็งเซ็งแซ่ ได้เวลาท่านอาจารย์ก็พาข้าพเจ้าออกบิณฑบาต ชาวเขาก็ใส่บาตรให้แต่ข้าวเปล่าๆ และมีน้ำอ้อยงบสี่ห้าอัน เข้าใจว่าเขาคงเข้าใจว่าพระธุดงค์ไม่ฉันของคาว มีเนื้อสัตว์เป็นต้น กลับจากบิณฑบาต นั่งฉันกันใต้โคนต้นไม้ ไม่มีใครมาดูแลหรือส่งอาหารเพิ่มเติมเลย ก็ได้ฉันข้าวกับน้ำอ้อย ดูเอาเถิด เดินมาเหนื่อยแทบแย่ เช้ายังได้ฉันข้าวเปล่าๆ ข้าพเจ้าต้องเอาน้ำฉันเพื่อกันแค้นเวลากลืนคำข้าว แต่ก็เป็นสุขใจดี


ตอนเดินทางข้ามภูเขาใหญ่

เราพักกันเพียงคืนนั้น พอฉันเสร็จก็เดินต่อไป พอไปถึงด่านตรวจโคกระบือ เจ้าหน้าที่อยู่นั่นเขามาถามพวกเราว่าจะไปไหน ท่านอาจารย์บอกว่าจะไปนครราชสีมา เขาบอกว่า วันนี้ข้ามไม่ไหวหรอกครับ ขึ้นภูเขานี้หนทางคง ๙๐๐ เส้น (๓๕ กิโลเมตร) และขึ้นสูงด้วย ขอนิมนต์พักอยู่ที่นี่ก่อนเถอะครับ ท่านอาจารย์ก็รู้สึกเหนื่อยอยู่แล้วก็รับอาราธนา เขาจัดบ้านว่างเปล่าให้ห้องหนึ่ง เป็นกระท่อมมุงหญ้าคา ฝาไม้ไผ่ พวกเราพักกันตามสบาย ท่านอาจารย์ก็เลยพาข้าพเจ้าพักเสีย ๒ วัน เพื่อเอากำลัง และก็ได้พาพวกนายด่านนั่งสมาธิเป็นประโยชน์อีกประการหนึ่งด้วย

เมื่อหลังจากพักเอาแรง ๒ วัน ท่านก็ได้พาข้าพเจ้าเดินต่อไป คราวนี้ขึ้นเขาอันเป็นเทือกเขาดงพญาเย็นสูงชัน ใช้เวลาเริ่ม ๘.๐๐ น. เช้าออกเดินทาง ข้ามภูเขาสำเร็จ ๑ ทุ่มเศษ พอตะวันตกดินก็ข้ามเขาพ้นพอดี คราวนี้เหนื่อยจริงๆ แล้ว ข้าพเจ้าเองล้าเอาทีเดียว เพราะการขึ้นเขาไม่ใช่เล่น ใครยังไม่เคยลองขึ้นภูเขาก็ขอให้ลองดูกันบ้างเถิด จะได้เห็นรสชาติของมันว่าเหนื่อยขนาดไหน หายใจแทบไม่ออกและคราวนี้ไม่ใช่เล่น ทั้งสูงทั้งชัน ทั้งถูกบังคับว่าจะต้องเดินข้ามในวันเดียวเสียด้วย แต่ขณะที่ขึ้นภูเขาท่านอาจารย์ก็แนะนำให้กำหนดจิต อย่าปล่อยจิตให้ฟุ้งซ่านเป็นอันขาด ข้าพเจ้าทำตามท่านก็พอประทังความเหนื่อยลงได้บ้าง นับเป็นครั้งสำคัญในชีวิตของข้าพเจ้า ในการเดินทางขึ้นเขาคราวนี้ ได้รับความรู้และความจริงอะไรหลายประการ แทบจะขาดใจในบางครั้ง แต่ว่าพอพ้นจากภูเขาผ่านไปได้แล้ว มันช่างหายเหนื่อยเหมือนปลิดทิ้ง

แต่ว่าท่านอาจารย์ได้จับไข้เสียแล้ว ในวันรุ่งขึ้นข้าพเจ้าต้องพยาบาลท่านอย่างดีที่สุดเท่าที่จะหาสถานที่กำบังได้ ครั้งนี้มีหมู่บ้านเล็กๆ อยู่แห่งหนึ่ง ข้าพเจ้าก็รีบไปเที่ยวหาฟางมาซึ่งมีอยู่ข้างบ้าน ขอญาติโยมเขา นำมาปูลาดลงแล้วเอาผ้าอาบน้ำปูเพื่อไม่ให้ถูกดินแข็ง กางกลดถวายท่านแล้วข้าพเจ้าก็นั่งเฝ้าดู ท่านกำลังจับไข้สั่นไปหมด ข้าพเจ้าหมดหนทางไม่ทราบจะทำอย่างไร หยูกยาก็มิได้เตรียมกันมาเลย ก็ได้แต่นั่งดูท่านอาจารย์ของข้าพเจ้าจับสั่นอย่างรันทดใจ บางครั้งข้าพเจ้าต้องกดร่างกายท่านไว้เพราะการจับไข้ครั้งนี้เป็นเอามาก แต่ท่านก็บอกข้าพเจ้าว่าไม่เป็นไรหรอก วิริยังค์ เราก็ใช้การพิจารณาภายในด้วยตัวเอง เพียงพักเดียวเท่านั้น ท่านก็เหงื่อไหลออกมาโทรมกายจากการจับสั่น ทำให้ข้าพเจ้าหายใจโล่งออกมาด้วยความสบายใจ

รุ่งขึ้นก็ได้เดินกันต่อไปทั้งๆ ที่ท่านก็ยังงงๆ อยู่ แต่ก็อาศัยกำลังใจของท่านสูง ทำเหมือนกับว่าไม่เป็นอะไรอย่างนั้นเอง ตอนนี้ถึงที่ราบสูงแล้ว พวกเราเดินธุดงค์กันไปตามทุ่งบ้างป่าบ้าง ก็เป็นป่าไม้ไม่ใหญ่อะไรนัก เป็นทุ่งก็ไม่กว้างเท่าไร

พวกเราเดินวันนี้ใช้เวลา ๘ ชั่วโมงก็ถึงบ้านกุดโบสถ์ ในบริเวณนี้มีแต่ทุ่งนาทั้งนั้น มีวัดอยู่วัดหนึ่งกลางทุ่งนา เมื่อไม่เห็นต้นไม้ที่จะรุกขมูลกัน ท่านอาจารย์ก็พาเข้าวัด เห็นมีพระอยู่ ๒ องค์ สงบดีก็เลยพักอยู่ที่นี่ ๑ คืน ท่านอาจารย์ยังหายได้ไม่ดีเท่าไร แต่ก็พอค่อยยังชั่ว ทั้งๆ ที่เดินตากแดดมาตั้ง ๘ ชั่วโมง ข้าพเจ้ารู้สึกสงสารท่านอาจารย์มาก แต่ดูถึงหน้าตาของท่านบอกว่าไม่เกรงกลัวอะไรทั้งสิ้น ยังปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ในค่ำคืนวันนี้ข้าพเจ้าจัดการกางกลดปูที่นอนตามมีตามได้ แล้วก็ถวายการนวดให้ท่านตามปรกติ การนวดวันนี้ข้าพเจ้าต้องนวดนานเป็นพิเศษ แม้ว่าข้าพเจ้าเองก็จะต้องเหนื่อยมากเหมือนกัน ในการเดินทางหามรุ่งหามค่ำ แต่ก็ไม่เป็นอะไรเพราะยังหนุ่มแน่น หยุดสักพักก็หายเหนื่อย ท่านปรารภกับข้าพเจ้าวันนี้ว่า

“ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้น มันทำจิตของคนให้หดหู่ ย่อท้อต่อกิจการของตนที่กำลังเร่งทำ อันเราก็เช่นเดียวกัน เมื่อทุกขเวทนาเกิดขึ้นครั้งนี้ ก็เป็นการลองดีกับผู้ได้บำเพ็ญความเพียรมาแล้วในอดีตอย่างเข้มแข็ง การต่อสู้ทุกขเวทนาครั้งนี้ เราจึงได้เห็นคุณค่าของการบำเพ็ญความเพียรมาเเล้วในอดีต ว่าได้เป็นเครื่องหนุนกำลังอย่างดีเยี่ยม อย่างไรก็ตามถึงจะมีกำลังความเพียรมาก แต่ก็ไม่วายที่จะมีบางขณะของจิตที่ทำให้เกิดท้อๆ ขึ้นมา แต่นั่นมันเป็นเพียงขณะจิตหรือเรียกจิตตุบาท จึงไม่มีความสำคัญแก่เราเลย”

ข้าพเจ้าฟังแล้วก็สบายใจ เพราะอาจารย์ของข้าพเจ้ามิได้มีความทุกข์ใจเลย แม้จะมีโรคภัยเบียดเบียน


ผจญภัยในถ้ำวัวแดง

ข้าพเจ้าเคยได้ยินคนเฒ่าคนแก่โบราณเล่ามาว่า ถ้ำวัวแดงนี้มีความศักดิ์สิทธิ์มาก และมีลายแทงที่นี่ด้วย คนเดินทางผ่านโดยยานพาหนะใดๆ ถ้าไม่ทำความเคารพแล้วก็จะมีอันเป็นไปทุกราย อนึ่งผู้จะเรียนวิชาอาคมทางไสยศาสตร์ทุกคน ถ้าจะให้เก่งจริงต้องมาผจญกับความศักดิ์สิทธิ์ของถ้ำวัวแดงเสียก่อน แต่ผู้เฒ่าผู้แก่ก็พากันเกรงขามถ้ำนี้กันนัก ไม่ค่อยจะมีใครมากล้ำกรายกันทีเดียว

รุ่งขึ้นหลังจากที่พักอยู่ที่วัดกุดโบสถ์ ในตอนเช้านั้น ท่านอาจารย์ก็ได้บอกข้าพเจ้าว่า วันนี้เราจะต้องเดินทางไปถ้ำวัวแดง “ถ้ำวัวแดง” ข้าพเจ้าทวนคำอย่างงุนงง

“เออ ก็ถ้ำวัวแดงนี้น่ากลัวนักหรือ ? วิริยังค์” ท่านอาจารย์ตอบ

“มันเป็นเรื่องนิยายหรือจริงมิทราบครับ เพราะผมได้ยินว่ามันศักดิ์สิทธิ์เหลือเกิน แต่ผมไม่กลัวหรอกครับ เพราะมีอาจารย์ไปด้วย” ข้าพเจ้าตอบ

“เราต้องเดินให้ถึงในวันเดียว” ท่านอาจารย์พูด

แล้วพวกเราก็เดินธุดงค์ต่อไป ค่อยๆ ลึกเข้าไปก็เป็นดงหนาเข้าไปทุกทีๆ เริ่มทำให้ข้าพเจ้าเกิดสามัญสำนึกว่าใกล้แล้ว แต่ที่ไหนได้ ต้องใช้เวลาอีกหลายชั่วโมง เป็นป่าเป็นภูเขาเริ่มขึ้นแล้ว มันคือถิ่นเสือ ข้าพเจ้าเห็นรอยของเสือขวักไขว่ไปหมด จึงมาคิดว่า เราจะได้ผจญอะไรๆ สักอย่างเป็นแน่ แต่ก็จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้เจอตัว เจอแต่รอยเดินขึ้นเรื่อยๆ ไป คือขึ้นภูเขา

บัดนี้เป็นเวลาบ่าย ๕ โมงเย็นแล้ว พวกเรายังเดินย่ำต๊อกกันอยู่ระหว่างเขาลูกหนึ่งไปยังอีกลูกหนึ่งเรื่อยไป ตะวันจวนจะลับปลายไม้แล้วทำไมยังไม่ถึงอีก ข้าพเจ้าต้องรำพึงรำพันอยู่ในใจ จะค่ำเสียกลางป่าเขานี่เสียหรือยังไง เอ้าเป็นอะไรเป็นกัน อาจารย์เราอยู่ข้างหน้าไม่เห็นต้องกังวลอะไรเลยนี่นา อาจารย์หันหน้ามามองข้าพเจ้าแล้วบอกว่า

“โน่นยังไง วิริยังค์ มองเห็นถ้ำวัวแดงแล้ว”

“ช่างชื่นใจอะไรเช่นนั้น” ข้าพเจ้าคิดและเหมือนกับความเหนื่อยที่คร่ำเคร่งมาหายหมดเป็นเวลาพลบค่ำพอดีถึงถ้ำวัวแดง

ท่านอาจารย์ก็ขึ้นบนศาลา “เอ๊ะ ถ้ำทำไมจึงมีสิ่งก่อสร้างไว้หลายอย่าง มีทั้งศาลา กุฏิที่พัก แต่ไม่มีพระภิกษุสามเณรไม่มีใครเลย”

ข้าพเจ้ากับอาจารย์ขึ้นบนศาลาเป็นอันดับแรกเพราะเหนื่อยมาหลายเพลาแล้ว

อันดับแรกข้าพเจ้าวางบริขารทุกอย่างและกลางกลด จัดปูที่นอนถวายท่านอาจารย์ จากนั้นก็รีบแสวงหาแหล่งน้ำก่อนอื่น ลงเดินไปคนเดียวเที่ยวดูโดยรอบ ก็ไม่เห็นมีวี่แววว่าจะมีแหล่งน้ำ เวลาก็ชักจะดึกเข้าทุกทีๆ จนต้องเดินไปอีกมุมหนึ่งของบริเวณ มองเห็นแต่ตุ่มน้ำตั้งอยู่ ๔-๕ ใบ เข้าไปเปิดดู ข้าพเจ้าต้องเอะใจขึ้นมาว่าทำไมน้ำจึงเต็มโอ่งหมดทุกใบ ทั้งดีใจทั้งสงสัยว่า ใครหนอตักน้ำมาไว้ที่นี่ ยังกับจะรู้ว่าเรามาวันนี้ ทำให้มึนงงไปหมด

ข้าพเจ้ารีบกลับไปที่ศาลา นิมนต์ท่านอาจารย์มาที่ตุ่มน้ำเพื่อสรงน้ำ หลังจากนั้นแล้วข้าพเจ้าก็สรงน้ำเป็นที่เรียบร้อย ท่านอาจารย์บอกกับข้าพเจ้าว่า “คุณไม่ต้องห่วงเราหรอก จงไปหาที่วิเวกให้เหมาะสมห่างจากเรา”

ก็เป็นอันว่าข้าพเจ้าได้แบกกลดออกไปในเวลากลางคืน หาดูที่เหมาะๆ มีความรู้สึกว่าเสียวๆ บ้างเพราะไม่เคยชินกับสถานที่ แต่เห็นกุฏิหลังหนึ่งพอเบาใจจึงแวะขึ้นไปอยู่พัก กุฏินั้นเป็นกุฏิกั้นฝาด้วยใบไม้ พื้นฟากเป็นกุฏิเก่าๆ อยู่ในสภาพจะพังมิพังแหล่ แต่ก็ยังดี ข้าพเจ้าใช้มันเป็นที่พักในเวลาค่ำคืนนี้ และนั่งสมาธิรู้สึกว่าดีเป็นพิเศษ จะเป็นเพราะความหวาดเสียวหรืออุปาทานเก่าๆ ก็ไม่ทราบ เพราะมาถึงกลางคืนยังไม่ทราบข้อเท็จจริง แต่ก็ได้ผลแก่ตนในคืนนี้ คือจิตใจสงบสบายดี

ตอนเช้าข้าพเจ้าจะต้องปฏิบัติอาจารย์อันเป็นกิจวัตรประจำวัน คือไปคอยดูว่าท่านจะลุกขึ้นออกจากสมาธิแล้ว เมื่อท่านออกแล้วจะต้องเข้าไปถวายน้ำล้างหน้า ไม้สีฟัน เก็บที่นอน นำบาตรมาเพื่อการบิณฑบาต

ตอนเช้าข้าพเจ้าก็บำเพ็ญกิจวัตรตามปกติ แต่ปรากฏว่าท่านอาจารย์ลุกไม่ขึ้น ข้าพเจ้าเข้าไปใกล้แล้วถามว่า

“ท่านอาจารย์เป็นอะไรครับ ?”

ท่านตอบว่า “ยอกหมดทั้งตัวเลย วิริยังค์”

ข้าพเจ้าเตรียมจะนวดถวายท่าน ท่านบอกว่า ไม่ต้อง และพอเวลาผ่านไปสัก ๒๐ นาที ท่านก็พยายามจะลุกขึ้นจนสามารถพยุงตัวลุกขึ้นมาได้ และบอกข้าพเจ้าว่าให้ไปบิณฑบาต

“จะไปยังไงไหวครับท่านอาจารย์” ข้าพเจ้าพูดขึ้น

ท่านอาจารย์บอกว่า “ไปเถิดถ้าเราไม่ไป เธอจะไปคนเดียวได้ยังไง บ้านห่างจากนี้อีกไกล ต้องผ่านดง เดี๋ยวเกิดหลงเข้าป่าเข้าดงไปจะลำบาก”

มันเป็นภาพที่ข้าพเจ้าต้องจดจำไว้ในคลอดชีวิตทีเดียวว่า ท่านอาจารย์มีความเพียรขันติเป็นยอด ท่านได้พาข้าพเจ้าเดินลัดเลาะไปด้วยความสันทัดของท่านที่ทราบถึงภูมิประเทศว่า แห่งใดควรจะมีหมู่บ้าน แม้ในขณะนั้นมองดูตามสองข้างทางก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะมีหมู่บ้านแต่อย่างไร เพราะเป็นป่าดงทึบไปหมด มีรอยสัตว์ป่าต่างๆ ผ่านทางเดินเป็นระยะ

แม้ท่านอาจารย์จะยอกแต่ท่านเดินเหมือนกับไม่เป็นไร เราได้ผ่านดงไปด้วยความสงบอย่างยิ่ง ท่านเดินหน้าข้าพเจ้าเดินตามหลัง นึกถึงภาพในอดีตหายากแท้ จะมาคิดเป็นจินตนิยายอะไรสักเรื่องก็คงไม่เหมือนเป็นแน่ ข้าพเจ้ารู้สึกว่าการเดินไปบิณฑบาตอย่างไม่มีจุดหมายนี้เป็นครั้งแรกในชีวิต

ในที่สุดท่านอาจารย์ก็ชี้ไปข้างหน้าว่า โน้นยังไงหมู่บ้าน มองไปข้างหน้ามีทุ่งนากว้างพอสมควร แล้วถัดไปก็มีหมู่บ้านซึ่งเป็นหมู่บ้านใหญ่พอสมควร เมื่อเดินข้ามทุ่งนาไปแล้วถึงหมู่บ้านประมาณว่าสักหนึ่งชั่วโมงเศษ จากการเดินมาจากถ้ำวัวแดง

ชาวบ้านพอเห็นพวกเราเข้ามาบิณฑบาตตอนเช้า เขาพากันดีอกดีใจกันใหญ่ เพราะนานๆ จะมีพระมาอยู่ที่ถ้ำ ส่วนที่บ้านก็ไม่มีวัด ชาวบ้านพากันป่าวร้องกันสักพักเดียวเท่านั้น ก็ถือข้าวมาใส่บาตรกันเต็มไปหมด เขาถามว่า

“ท่านอาจารย์มาแต่เมื่อไร ? พวกผมไม่ทราบกันเลย”

“มาถึงค่ำวานนี้” ท่านอาจารย์ตอบ

โยมบอกว่า เมื่อวันก่อนก็มีพระมาคณะหนึ่งพึ่งจะกลับไป ข้าพเจ้านึกขึ้นมาได้ในทันทีทันใดนั้นเองว่า “อ้อ น้ำถึงได้เต็มโอ่งไปหมด นึกว่ามีเทวดามาตักให้เสียแล้ว”

หลังจาครับบิณฑบาตเรียบร้อยแล้วพวกเราก็เดินกลับไปที่ถ้ำ โดยพวกญาติโยมนำอาหารตามไปด้วยประมาณ ๖-๗ คน มีอาหารตามมีตามได้ ในระหว่างทาง ท่านอาจารย์ให้ข้าพเจ้าเก็บผักไปด้วย ก็มียอดแต้ว ยอดกระโดน ครั้นถึงที่พักแล้วญาติโยมก็จัดอาหารถวาย มีน้ำพริกอย่างว่าจริงๆ ท่านอาจารย์คงทายใจเขาถูก จึงให้ผู้เขียนเก็บผักตามมา มีแกงก็เป็นแกงป่าน้ำดำๆ และอื่นๆ ดูก็ไม่น่าจะอร่อย แต่ว่าอาหารมื้อนี้อร่อยเป็นพิเศษ ไม่ทราบว่าทำไมรสชาติมันถึงอกถึงใจอะไรอย่างนี้ ดีจริงๆ

ข้าพเจ้ามาคิดได้ว่า อ้อ อันความหิวนี้เองทำให้อร่อย เป็นอันว่า ท่านอาจารย์และข้าพเจ้าได้พักอยู่ที่ถ้ำวัวแดงนี้ โดมีญาติโมมาส่งอาหารตามศรัทธาที่เขาจะพึงทำได้ตลอดเวลาที่พักอยู่

ท่านอาจารย์กลับยอกเอวหนักขึ้น ท่านบอกว่า

“ไปไม่ไหวแล้ว วิริยังค์เอ๋ย ยอกแบบนี้เหมือนเข็มแทงเรา จะต้องอยู่ที่นี่จนกว่ายอกจะหาย”

ข้าพเจ้ากลับดีใจเมื่อได้ฟังท่านอาจารย์ เพราะจะได้อยู่ทำความเพียรให้ถึงอกถึงใจ ในสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์เช่นนี้ เป็นอันว่าพวกเราต้องอยู่ที่ถ้ำนี้ถึงเดือนเศษ

นับว่าเป็นการพักแรมนานที่สุดในการเดินธุดงค์มาราทอนในครั้งนี้ ข้าพเจ้าได้เลื่อนจากการอยู่บนกุฎิสัพพะรังเคนั้นไปอยู่ที่ตัวถ้ำวัวแดงเลยทีเดียว อันชาวบ้านบอกว่าเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ เห็นข้าพเจ้าไปอยู่ที่นั้น โยมก็ได้ห้ามปรามต่างๆ นานา ว่าอย่าเลยท่านไม่ดีแน่ แต่ข้าพเจ้าไม่ยอมเชื่อ แม้จะเป็นอย่างไรก็ไม่กลัวทั้งสิ้น ข้าพเจ้าคิดว่า ไหนๆ มาถ้ำวัวแดงทั้งที นอนมันใต้ท้องวัวแดงเลยเป็นไง ? ข้าพเจ้าจึงเข้าไปในถ้ำซึ่งเป็นถ้ำไม่ใหญ่โตอะไรนัก มีวัวแดงอยู่ในถ้ำเป็นหินแกะสลัก บนหลังวัวแดงมีกษัตริย์ ๑ องค์ มีมเหสี ๙ คน นั่งอยู่บนหลังวัวแดงตัวเดียวนั้น ซึ่งก็ล้วนแกะสลักด้วยหินทั้งสิ้น สวยงามมาก ฝีมือดีเยี่ยมทีเดียว ข้าพเจ้ามองดูรอบๆ วัวแดงเป็นพื้นเสมอนั่งนอนสบาย แต่ข้าพเจ้าเสียดายมาก คือพวกนักหาทรัพย์ในดินสินในน้ำและลายแทงต่างๆ พากันมาเจาะท้องวัวแดง ขุดลงไปตรงพื้นที่วัวแดงเหยียบเป็นรูเป็นหลุม แม้แต่บริเวณอันเป็นหินก้อนใหญ่ๆ เท่าบ้าน เขาก็เจาะกันทะลุไปหมด เขาเล่าให้ฟังว่าพวกคนที่มาเจาะมาทำลายนั้น โดยมากกลับไปตายกันเสียเป็นส่วนใหญ่

ในค่ำคืนหนึ่งที่ข้าพเจ้านอนพักอยู่ที่ถ้ำวัวแดงนั้น บังเกิดความประหลาดใจขึ้นในตอนดึก หลังจากบำเพ็ญสมาธิผ่านไปแล้ว คือปรากฏเหมือนหินทั้งถ้ำนั้นกำลังจะทรุดลงเสียงลั่นดังกึกก้อง แต่พอข้าพเจ้าลุกขึ้นหมายจะฟังให้ชัดแล้ว เสียงนั้นก็หายไป พอจะหลับก็เกิดเสียงนั้นขึ้นมาอีก จึงทำให้ใจหายรู้สึกว่าจะโดนลองดีเสียละกระมัง แต่ข้าพเจ้าไม่ยอมกลัว ทำใจกล้า แต่เสียงนั้นมันคอยจะมาหลอนเอาตอนเคลิ้มทุกที ขณะที่ตื่นจริงๆ ทำไมไม่มีเสียง จะมีเสียงเอาตอนจะหลับ อย่างไรเสียต้องมีเหตุเป็นแน่แท้ ข้าพเจ้าเลยตั้งใจเอาเสียเลยว่า ค่ำนี้เราจะไม่นอนละ จะนั่งทำสมาธิตลอดเวลาสว่างเลย

ขณะที่ข้าพเจ้าตั้งใจจะนั่งตลอดสว่างอย่างนั้น ทุกอย่างที่ปรากฏขึ้นก็หายไปหมด และกลับกลายปรากฏในสมาธิแทน เห็นเป็นเหมือนกับเทวบุตรและเทวดา เป็นคนที่รู้สึกจะแปลกกว่าคนธรรมดา ข้าพเจ้าก็เลยเข้าใจเอาว่า คงเป็นพวกเทวดา ต่างก็มานั่งล้อมรอบอยู่ตามบริเวณนั้น เพียงแต่เดินกันไปมา รู้สึกว่าขณะนั้นมีความสบายดีมากจนไม่ทราบว่าสว่างเสียแต่เมื่อไร

ข้าพเจ้าได้นำเอาเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นมาเล่าถวายอาจารย์ ท่านก็หัวเราะแล้วพูดว่า

“นั่นแหละเธออยากประมาท เขาก็มาเตือนซิ”

“ เขาหมายความว่าอะไรครับ” ข้าพเจ้าถาม

“ก็พวกเทพเจ้านั้นแหละ” ท่านตอบ

“เทพเจ้าๆ” ข้าพเจ้าคำนึงอยู่ในใจว่า มันจะเป็นไปได้หรือที่เราได้พบเห็นสิ่งแปลกประหลาด

ท่านอาจารย์ได้สำทับข้าพเจ้าว่า “เธออย่าประมาท จงพยายามเร่งความเพียรอย่างเต็มความสามารถ”

นั่นมันเป็นความประสงค์ของผู้เขียนอยู่แล้ว

เป็นเวลาเดือนหนึ่ง อาการยอกของท่านอาจารย์ก็ค่อยทุเลาลงเป็นลำดับ จนหายเป็นปกติ ท่านอาจารย์ก็บอกว่า “แม้ว่าเราหายแล้วก็จะต้องอยู่ทำความเพียรในที่นี่ต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง” ข้าพเจ้าก็พอใจด้วยเป็นอย่างยิ่ง

ในวันหนึ่งที่ท่านอาจารย์สบายดี ข้าพเจ้าได้ถามท่านว่า “ธรรมปฏิบัตินี้มีความจำเป็นด้วยหรือที่เราจะต้องมาทรมานอดๆ อยากๆ ทุลักทุเล เดินหามรุ่งหามค่ำอยู่ อย่างวัดทรายงามกระผมก็ทำความเพียรได้อย่างมาก”

ท่านตอบว่า “การอยู่ในที่เดียวจำเจ มันก็ทำให้เรามีจิตอ่อนไม่เข้มแข็ง และทำให้เกิดความเคยชิน เป็นการทำให้ย่อหย่อนต่อความพยายาม ยิ่งกว่านั้นถ้าเป็นครูอาจารย์ก็จะเพิ่มภาระที่จะสั่งสอน และกิจการที่จะต้องเกี่ยวข้องอีกมาก การที่เราได้ออกวิเวก อยู่ตามป่าเขาลำเนาไพรนั้น มันเป็นสิ่งทำให้จิตใจแข็งแกร่งขึ้น มีความกระตือรือร้นขึ้นมาเองตามธรรมชาติ”

เป็นอันว่า เวลาเดือนเศษพวกเราอยู่ที่ถ้ำวัวแดง โดยเฉพาะข้าพเจ้าได้ผลจากสถานที่แห่งนี้เป็นพิเศษ อันเป็นสิ่งจารึกอยู่ในความทรงจำไว้อย่างมาก ยากที่จะเขียนบรรยายออกมาให้หมดสิ้น ท่านอาจารย์บอกข้าพเจ้าว่า เรามาเดินทางกันต่อไป เพื่อตามท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ ให้พบ เพราะเวลานี้ข่าวว่าท่านอยู่จังหวัดสกลนคร

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ธ.ค. 2010, 11:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ


พระวิริยังค์ใกล้พบกับพระอาจารย์มั่นฯ

พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ ผู้ซึ่งได้นำพระวิริยังค์ ซึ่งขณะนั้นยังเป็นพระภิกษุหนุ่ม อายุได้ ๒๒ ปี อุปสมบทได้หนึ่งพรรษา เดินธุดงค์ครั้งสำคัญเพื่อติดตามพระอาจารย์มั่นฯ ผู้เป็นพระปรมาจารย์ของคณะกัมมัฏฐาน การเดินธุดงค์ด้วยเท้าจากจังหวัดจันทบุรี จนถึงจังหวัดนครราชสีมานั้น นับว่าไม่ใช่ใกล้ แต่ระหว่างทางที่ผ่านก็ย่อมแสดงให้เห็นว่า สมัยนั้นเป็นป่าใหญ่และเป็นสถานที่วิเวกของผู้สนใจในธรรมได้เป็นอย่างดี

จากถ้ำวัวแดง ท่านอาจารย์ได้พาข้าพเจ้าเดินทางต่อไป คราวนี้ไม่เป็นป่าใหญ่ เป็นทุ่งนาและมีป่าไม้เต็ง-ไม้รัง-ไม้แดงเป็นระยะๆ ไป ไม่มีอะไรจะทำให้เกิดความหวาดเสียวเหมือนที่ผ่านมา เพราะท่านอาจารย์ได้มุ่งตรง เพื่อตัดทางให้ถึงพระอาจารย์มั่นฯ ให้เร็วเข้า จึงไม่มุ่งเข้าหาป่าใหญ่ เดินลัดเข้าหาตัวอำเภอกระโทกก็ถึงในวันเดียว พักอยู่ที่วัดนี้ตามอัธยาศัย เปลี่ยนจากธุดงค์นอนกับดินกับหญ้ามาจำวัดกันบนกุฏิที่เขาจัดไว้ให้ ซึ่งก็ทำให้บรรยากาศทั้งหลายเปลี่ยนไป โดยการพบหมู่คณะผู้ปฏิบัติธรรมมาด้วยกัน แล้วก็ไต่ถามถึงการปฏิบัติว่าได้ผลอย่างไร ไปธุดงค์กันที่ไหน เป็นการสังสรรค์ภายในหมู่คณะ ซึ่งก็ได้ผลไปอีกอย่างหนึ่ง

ในขณะนั้นสงครามโลกครั้งที่สองยังไม่สงบ การจะไปไหนมาไหนจะต้องมีการระมัดระวัง และขณะที่มาถึงนครราชสีมานั้น ก็เป็นเวลาที่ทางฝ่ายสัมพันธมิตรกำลังทิ้งระเบิดสถานีรถไฟจังหวัดนครราชสีมา หลังจากพวกเราได้พบปะสังสรรค์กับหมู่คณะที่จากกันไปนาน แล้วก็ออกเดินทางจากอำเภอกระโทกเข้าสู่ตัวเมืองนครราชสีมา พักที่วัดป่าสาลวัน อันเป็นวัดใหญ่ของคณะกัมมัฏฐานในจังหวัดนี้ แทบเป็นวัดร้างเพราะมีพระภิกษุสามเณรไม่กี่องค์เนื่องจากวัดนี้อยู่ใกล้สถานีรถไฟ จึงได้ถูกลูกหลง (ลูกระเบิด) เข้าให้หลายลูก พระภิกษุสามเณรจึงต้องอพยพไปอยู่ที่อื่นกันเสียเป็นส่วนมาก ท่านอาจารย์กงมาบอกกับผู้เขียนว่า นี่แหละ ดูเอาเถิด เมื่อสงครามเกิดขึ้น ก่อความทุกข์ยากให้แก่คนทุกชั้นแม้กระทั่งพวกเราผ่ายพระสงฆ์ ซึ่งก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสงครามก็ยังพลอยลำบากไปกับเขาด้วย ชื่อว่าสงครามนี้ไม่ดีเลย แต่มนุษย์ก็ชอบทำสงครามทุกยุคทุกสมัย

ตื่นขึ้นตอนเช้าท่านอาจารย์ก็พาข้าพเจ้าเข้าไปบิณฑบาตตามหมู่บ้านที่เคยไปแต่ก่อนๆ รู้สึกหงอยเหงามากเพราะญาติโยมอพยพไปที่อื่นๆ ยังกลับกันไม่หมด มองไปทางใดเห็นแต่หลุมลูกระเบิด บางหลุมเก่าขังน้ำจนเกิดผักบุ้งเต็ม มันมีอยู่ภาพหนึ่ง ซึ่งเห็นภาพที่น่าหวาดเสียวก็คือ มี ๒ คน ถูกสะเก็ดระเบิดเลือดอาบตัวแดงไปหมด เขายังมีชีวิตอยู่ ได้วิ่งกระเสือกกระสนเข้ามาที่วัดนี้ แต่การวิ่งของเขาวิ่งโดยความกลัวหรืออย่างไรไม่ทราบ วิ่งอย่างไม่มองหน้า-หลัง ตรงขึ้นศาลาการเปรียญ เลือดไหลแดงฉาน เขาตรงเข้ากราบพระประธานแล้วสิ้นใจที่ตรงนั้นเอง มันช่างเป็นภาพที่น่าปลงธรรมสังเวชอะไรเช่นนั้น

ท่านอาจารย์บอกกับผู้เขียนว่า เราควรจะรีบเดินทางต่อไปดีกว่า เพื่อพบกับพระอาจารย์มั่นฯ ตามความตั้งใจของพวกเรา ท่านอาจารย์ก็รีบไปสืบว่ามีรถไฟเดินไปทางจังหวัดอุดรหรือเปล่า เพื่อเป็นการย่นทางย่นเวลา เพราะถ้าใช้เวลาเดินจะต้องเป็นเดือนๆ อีก เวลาก็จะใกล้เข้าพรรษามาแล้ว อาจจะไม่ทันกาล

เมื่อทราบว่ามีรถไฟวิ่งไปอุดรเป็นบางวัน ท่านอาจารย์ก็คอยวันนั้น ได้พาข้าพเจ้าขึ้นรถไฟ ซึ่งสภาพในขณะนั้นก็แย่มาก เพราะรถไฟถูกลูกระเบิดเค้เก้ไปเยอะ แต่ก็ต้องทนเอา แม้จะต้องยืนบ้างนั่งบ้างไปวันเดียวก็ถึงจังหวัดอุดรธานี ได้พาไปพักที่วัดป่าบ้านจิก ณ ที่จังหวัดอุดรฯ นี้สงบเหมือนกับไม่มีสงคราม ผู้คนมิได้อพยพหนีภัยแต่อย่างใด เมื่อมาถึงวัดนี้ก็พอดี คุณนายทิพย์ผู้เป็นเจ้าของวัดป่าบ้านจิก ก็เป็นวัดป่าเช่นเดียวกับวัดป่าทั้งหลาย โดยมีกุฏิพระภิกษุสามเณรอยู่องค์ละหลัง เพื่อบำเพ็ญสมณธรรม มีศาลาการเปรียญเป็นที่ประชุมพระภิกษุสามเณรในเวลาบางครั้งบางคราวที่จะได้ มีการอบรมสมาธิและชี้แจงข้อธรรมที่ปฏิบัติมา

วันหนึ่ง คุณนายทิพย์และคณะอุบาสิกาหลายคน ได้มาสนทนาธรรมกับท่านอาจารย์กงมา ต่างก็ได้ถามถึงเรื่องการปฏิบัติทางจิตใจหลายอย่าง ท่านอาจารย์ก็ได้อธิบายไปตามความรู้ของท่าน แต่คุณนายทิพย์ยังไม่พอใจ เพราะเธอแก่ปริยัติมาก เมื่อพูดถึงวิธีการเข้าฌานว่าจะเข้าอย่างไร ขอให้ท่านอาจารย์เข้าให้พวกดิฉันดูบ้างซี ท่านอาจารย์กงมาท่านถูกไม้นี้เข้า ท่านจึงหาวิธีแก้ลำด้วยหนามยอกเอาหนามบ่ง จึงได้บอกว่าจะเข้าฌานให้ดูก็ด๊าย ! ให้คุณนายจัดหามะม่วงอกร่องกับข้าวเหนียวมูลมาให้ มากหน่อย ไม่ว่าแต่อาตมาดอก เข้าฌานได้ทุกคน ถ้ารับประทานมันให้อิ่ม เข้าฌานมันจะยากอะไร คณะคุณนายชอบใจกันเป็นการใหญ่

เมื่อพักอยู่จังหวัดอุดรธานีประมาณ ๑ อาทิตย์ ก็เดินทางคือไปจังหวัดสกลนครอันเป็นจุดหมายปลายทาง และเป็นจุดประสงค์อย่ายิ่งในการเดินธุดงค์อันแสนจะทุรกันดารในครั้งนี้

ข้าพเจ้ามีจิตใจเบิกบานผิดกว่าการเดินทางไปที่ไหนๆ ทั้งหมดในวันนี้เพราะมาถึงจังหวัดสกลนคร ทั้งทราบว่าท่านอาจารย์มั่นฯ ได้มาพักอยู่ในจังหวัดนี้ แต่ท่านอาจารย์ยังไม่พาผู้เขียนไปถึงท่านอาจารย์มั่นฯ เพียงแต่พักเอาแรงกันที่วัดสุทธาวาสในตัวจังหวัดเสียหลายวัน ทำให้ข้าพเจ้าทุรนทุรายมิใช่น้อย ที่มาใกล้แล้วไม่รีบไป และท่านได้เล่าถึงความเป็นไปต่างๆ ของท่านอาจารย์มั่นฯ ซึ่งอาจารย์ของข้าพเจ้าได้ว่าไว้อย่างนี้ คือ

๑. ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านรู้จักใจคน จะนึกจะคิดอะไรทราบหมด

๒. ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านดุยิ่งกว่าใครๆ ทั้งนั้น

๓. ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านเทศน์ในธรรมปฏิบัติยอดกว่าใครทั้งนั้น

๔. ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านปฏิบัติตัวของท่านเป็นตัวอย่างแก่ศิษย์อย่างเยี่ยมยอด

๕. ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านจะต้องไล่พระที่อยู่กับท่าน ถ้าหากทำผิด แม้แต่ความผิดนั้นไม่มาก แต่เป็นเหตุให้เสื่อมเสีย

นี่ก็เป็นความทรงจำของผู้เขียนที่จะต้องท่องไว้ในใจไม่มีวันลืม ทั้งกลัวทั้งต้องการที่จะพบ ทั้งๆ ที่ยังไปไม่ถึง เป็นการเตรียมตัวเตรียมใจยิ่งกว่าครั้งใดๆ ของผู้เขียนอย่างยิ่ง ดูเป็นเรื่องใหญ่จริงๆ คราวนี้ ข้าพเจ้าได้ถามท่านอาจารย์ว่า เมื่อไรจึงจะเดินทางไปพบท่านอาจารย์มั่นฯ เสียที ได้รับคำตอบว่า รอก่อน กี่วันท่านก็ไม่บอก ก็จำต้องอยู่ที่วัดสุทธาวาสนี้ไปเรื่อยๆ ข้าพเจ้าคิดในใจว่า ท่านอาจารย์ก็คงจะตระเตรียมอะไรๆ ของท่านบ้างเป็นแน่ เพราะท่านได้จากท่านอาจารย์มั่นไป ๑๐ กว่าปี ก็คงจะร้อนๆ หนาวๆ เหมือนหัน เอาเถอะ แม้จะรอหลายวันก็เป็นการรอที่ใกล้ความหมายกันแล้ว !!!

ณ วัดสุทธาวาสนี้เป็นที่ท่านอาจารย์มั่นฯ ได้มามรณภาพเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๒ จึงเป็นวัดประวัติศาสตร์ที่สำคัญวัดหนึ่ง และเป็นสถานที่ประชุมของคณะพระกัมมัฏฐาน ที่นับเนื่องด้วยความเป็นศิษย์ของท่านอาจารย์มั่นฯ ทุกๆ ปี ของวันมาฆบูชา ข้าพเจ้ามาพักที่นี่ได้ถามญาติโยมทั้งหลายที่อยู่ในละแวกนี้ ก็ทราบว่าเป็นวัดที่ท่านอาจารย์เสาร์ ผู้เป็นอาจารย์ของท่านอาจารย์มั่นฯ มาสร้างไว้ เป็นป่าไกลจากตัวเมือง ๒ กิโลเมตร จึงเป็นวัดที่สงบสงัดมาก แต่บัดนี้ก็มีบ้านคนตลอดจนถึงที่ทำการของรัฐบาล เช่นศาลากลางจังหวัดก็มาตั้งอยู่ใกล้ๆ จึงทำให้กลายเป็นวัดกลางเมืองไปในปัจจุบัน

ท่านอาจารย์กงมาได้บอกผู้เขียนว่า หนทางจากวัดสุทธาวาสนี้ไปที่บ้านโคก ต.ตองโขบ อ.เมือง จ.สกลนคร เป็นหนทางไกลถึง ๕๐๐ เส้น ๒๐ กิโลเมตร ต้องเดินไปไม่มีทางรถยนต์ เป็นบ้านเกิดของท่านอาจารย์กงมา ซึ่งเป็นอาจารย์ของข้าพเจ้าเอง

ท่านว่าเป็นโชคดีอะไรเช่นนี้ ท่านอาจารย์มั่นฯ ได้มาพักที่บ้านของเราเท่ากับว่าเราได้โปรดญาติเราพร้อมกับอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิสูง ถ้าเราไม่มาจากจันทบุรีเราจะเป็นคนเสียหายมาก จะพลาดโอกาสที่งดงามอย่างยิ่ง แต่เป็นการดีและประจวบเหมาะเอาเสียจริงๆ ที่เรื่องต่างๆ มาผสมผเสได้อย่างนี้ ซึ่งท่านอาจารย์มั่นฯ จะต้องรักเรามาก จึงมารอเราที่บ้านของเราเอง เราไม่เหนื่อยเลยที่ต้องตรากตรำมาอย่างลำบากนี้ การเดินทางของเราจึงมีผลอย่างล้นค่าที่สุดในชีวิต

ผู้เขียนได้ฟังอาจารย์ของผู้เขียนรำพึงรำพันอยู่เช่นนี้ ช่างถูกอกถูกใจผู้เขียนเสียจริงๆ แต่ข้าพเจ้ากลับคิดว่าการที่จะได้พบท่านอาจารย์มั่นฯ ในครั้งนี้ เป็นสิ่งที่เหลือจะพรรณนาถึงความซาบซึ้งตรึงใจ คล้ายกับจะพึงได้เห็นพระอรหันต์ก็ปานกัน นึกไปก็กระหยิ่มในใจ อยากจะพบหน้าท่านอาจารย์มั่นฯ เสียโดยพลัน วันและเวลาช่างยาวนานเสียเหลือเกิน มากกว่าที่ข้าพเจ้าเดินทางมาเป็นเวลา ๓ เดือนเศษเสียอีก กับช่วง ๕ วันที่อยู่วัดสุทธาวาส เหมือนกับจะถ่วงเวลาหิวกระหายให้เยิ่นเย้อ

ข้าพเจ้าดีใจอีกครั้งหนึ่งเมื่อเช้าวันนั้น อันถือว่าเป็นวันพิเศษ คือเป็นวันอาจารย์กับศิษย์กำลังจะเดินทางไป ซึ่งจะต้องได้ถึงที่ท่านอาจารย์มั่นฯ พักอยู่ ใช้เวลา ๕ ชั่วโมง ขณะที่เดินไป ลูกศิษย์อาจารย์มิได้พูดกันถึงเรื่องอะไรเลย ต่างก้มหน้าเดินเอาๆ อย่างไม่คิดถึงความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ส่วนข้าพเจ้านั้น มิได้ก้มหน้าเปล่าๆ มีการวาดมโนภาพอยู่ในใจอย่างไม่เคยมีมาในกาลก่อนว่า ท่านอาจารย์คงจะมีร่างกายสูงใหญ่ สถานที่อยู่จะต้องกว้างขวางร่มรื่น มีพระผู้ทรงคุณวุฒิอยู่กับท่าน ห้อมล้อมคอยฟังธรรมจากท่านเป็นอันมาก พระภิกษุสามเณรที่อยู่นั้น คงจะอยู่ด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง แต่คงจะได้รับประโยชน์มากมายเหลือล้น บริเวณลานวัดคงจะเรียบร้อยทุกอย่าง ไม่มีหยากเยื่อรกรุงรัง ผู้ที่มาฟังท่านอาจารย์มั่นฯ เทศนา คงจะได้รับรสพระธรรมที่ยิ่งใหญ่

ยิ่งวาดมโนภาพ ก็ยิ่งคิดไปถึงครั้งพระพุทธเจ้าเมื่อพระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ ในเมื่อถึงกาลออกพรรษา จะมีภิกษุสามเณรมาจากทิศต่างๆ เข้ามาเฝ้าเพื่อทูลถามอรรถปัญหาต่างๆ และก็ได้รับประโยชน์มหาศาล บัดนี้ท่านอาจารย์มั่นฯ ก็ได้มีพระภิกษุสามเณรมาจากทิศต่างๆ ดูแต่เรากับอาจารย์ก็กำลังมา ข่าวว่ามีพระภิกษุสามเณรมาจากที่ต่างๆ ก่อนเราก็มี กำลังจะมาตอนหลังเราก็มี ดูก็จะเป็นการพิลึกกึกกืออยู่ไม่น้อย ดูก็จะเหมือนครั้งพุทธกาลเสียละกระมัง คิดไปคิดมา เอ...นี่จะคิดมากไปเสียแล้ว ทำไมจะนำเอาอาจารย์มั่นฯ ผู้เป็นเพียงพระสาวกมาเปรียบเทียบกับพระพุทธเจ้า ไม่ควรแม้ ถ้าไม่ปรียบอย่างนี้จะไปเปรียบอย่างไรจึงจะดี ก็ควรจะเปรียบกับสาวกบางองค์ แต่เราก็ไม่รู้ประวัติพระสาวกเหล่านั้น


พระวิริยังค์พบกับพระอาจารย์มั่นฯ แล้ว

มโนภาพที่ข้าพเจ้ากำลังวาดไปๆ อยู่นั้นได้สะดุดหยุดลง เมื่อพระอาจารย์ของข้าพเจ้าบอกว่า ถึงแล้ว วิริยังค์ โน่นยังไง บ้านโคก อันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของเรา และนี่ยังไง ทางเข้าไปวัดป่าที่ท่านอาจารย์มั่นฯ พักอยู่ เหมือนกับตัวลอยจะเหาะเสียแล้วเรา ดุให้มึนซู่ซ่าไปตามร่างกายคล้ายกับเกิดปีติในสมาธิอย่างไรก็อย่างนั้น ยิ่งใกล้เข้าไปก็ยิ่งเหมือนกับตกอยู่ในห้วงแห่งความปลื้มปีติอย่างไม่เคยมีมาก่อนเลย

ข้าพเจ้าต้องยอมรับว่า ศรัทธาที่เกิดขึ้นจากศิษย์กับอาจารย์นี้ เป็นเรื่องมหัศจรรย์เหลือหลาย ได้แก่ตัวของข้าพเจ้า ขณะที่กำลังจะเหยียบย่างเข้าในบริเวณที่พักของท่านอาจารย์มั่นฯ เป็นความเชื่อตั้งแต่ยังไม่เห็นตัวท่าน เป็นธรรมตั้งแต่ยังไม่เห็นตัวท่าน เป็นความซาบซึ้งตั้งแต่ยังไม่เห็นตัวท่าน หวนระลึกถึงพระสาวกบางท่านแล้วมานมัสการพระพุทธเจ้า ยังมิทันได้เห็นพระพักตร์พระพุทธองค์ แม้เพียงนั่งอยู่ข้างคันธกุฎีเท่านั้น กำหนดจิตดูน้ำที่ตกชายคาเป็นนิมิตว่า น้ำตกลงมาแล้วก็หายไป เป็นฟองขึ้นแล้วก็หายไป ไม่ตั้งอยู่ได้นาน สังขารทั้งหลายก็เป็นเช่นเดียวกัน เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ท่านพระสาวกรูปนั้นก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ แต่ก่อนที่จะพบพระพักตร์ของพระพุทธองค์

นี่ข้าพเจ้าก็จะเห็นเช่นนั้นหรืออย่างไร แม้ขณะที่จะก้าวย่างเข้าสู่ลานวัดที่พักก็ทำให้เกิดอาการผิดปกติ ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ยากจะพูดออกมาว่าเป็นอย่างไร ถึงแล้ว !!! ความรอคอยของผู้เขียนได้บรรลุจุดที่หมายอย่างสมบูรณ์ในเมื่อเข้าถึงที่พักและข้าพเจ้าต้องตกตะลึงนิดหน่อย เมื่อเห็นท่านอาจารย์มั่นฯ เป็นครั้งแรกของชีวิต ซึ่งท่านได้นั่งอยู่ที่ศาลาหลังเล็ก ชี้มือมายังอาจารย์ของข้าพเจ้าและผู้เขียน สั่งให้พระภิกษุรูปหนึ่งและสามเณรให้รีบมารับบริขาร ที่ผู้เขียนกับอาจารย์กำลังตะพายบาตรแบกกลด ความนึกความคิดไปต่างๆ นานาหายจากจิตไปแล้วโดยสิ้นเชิง กลับมาเป็นความเลื่อมใส ขณะที่มาถึงเป็นเวลาบ่าย ๕ โมงเย็นแล้ว และท่านอาจารย์มั่นฯ ได้สั่งให้พระเณรจัดบริขารนำไปที่กุฏิซึ่งได้จัดไว้เป็นอย่างดีล่วงหน้าแล้ว

และพระอาจารย์ข้าพเจ้าได้พาผู้เขียนซึ่งขณะนี้ตัวเบาจริงๆ เพราะบริขารที่ถูกตะพายมาถึง ๕๐๐ เส้น ได้ถูกปลดออกไปแล้ว เข้าไปกราบนมัสการท่านอาจารย์มั่นฯ บนศาลาหลังเล็กซึ่งมุงด้วยหญ้าคา ประโยคแรกและน้ำเสียงครั้งแรกที่เป็นคำพูดของท่านอาจารย์มั่นฯ ที่เข้าสู่โสตประสาทของข้าพเจ้าๆ ยังจำได้และจำได้แม่นยำ เพราะเป็นคำที่ซาบซึ้งอะไรเช่นนั้น “เออ เจ้าลูกศิษย์อาจารย์เหนื่อยแท้บ่อ” หมายความว่า “เหนื่อยมากนักหรือ” ท่านอาจารย์กงมาได้ตอบว่า “ไม่เหนื่อยเท่าไร พอทนได้” ท่านอาจารย์มั่นฯ ได้ให้พวกเราไปสรงน้ำ มีพระภิกษุสามเณรได้จัดน้ำร้อนน้ำเย็นไว้พร้อม คอยรับพวกเรา

ผู้เขียนสรงน้ำไปพลางคิดไปพลางว่า ข้อวัตรปฏิบัติของพระภิกษุสามเณรที่อยู่กับพระอาจารย์มั่นฯ นี้ช่างเรียบร้อยและรู้ทุกๆ อย่างยิ่งกว่าผู้ที่อยู่ในถิ่นเจริญที่ได้ศึกษาสูงเสียอีก แม้ว่าที่นี่จะเป็นบ้านนอกอยู่ในป่าดง ดูแค่ลานวัด แม้จะมีต้นไม้ปกคลุมอยู่หนาแน่น แต่ภายใต้ต้นไม้ที่เป็นลานจะถูกกวาดเตียนเรียบ ไม่มีใบไม้รกรุงรัง โอ่งน้ำทุกแห่งวางไว้อย่างมีระเบียบ กระทั่งฝาปิดโอ่ง ขันตักน้ำ แม้จะเป็นกระบวยซึ่งทำด้วยกะลามะพร้าว แต่ก็สะอาดเรียบร้อย โอ่งถูกขัดทั้งข้างนอกและข้างใน สะอาดสะอ้าน หลังจากสรงน้ำเสร็จแล้ว เข้าไปที่กุฏิที่จัดไว้แล้ว แม้จะเป็นกุฏิมุงหญ้าคา แต่สะอาดจริงๆ แม้แต่ผ้าเช็ดเท้ายังพับเป็นระเบียบ แทบไม่กล้าเหยียบลงไปเลย เมื่อเข้าห้องยิ่งดูเป็นระเบียบ เพราะบริขารต่างๆ ถูกจัดไว้เรียบร้อย แม้กระทั่งบาตรตั้งแล้วเปิดฝา เพื่อไม่ให้อับและเหม็นกลิ่น ทั้งนี้เห็นจะเป็นเพราะภิกษุสามเณรทั้งหลาย ได้ถูกอบรมการปฏิบัติข้อวัตรต่างๆ อย่างดียิ่ง จึงเป็นอันว่า วัฒนธรรมของพระนี้มีอยู่แม้กระทั่งในป่าเขา ในท้องถิ่นป่าดงที่ห่างไกลความเจริญ

เมื่อผู้เขียนได้กลับออกจากกุฏิ มองไปโดยทั่ววัด เห็นพระ-เณรทุกรูป ต่างก็เข้าที่จงกรมอยู่ตามกุฏิของตน เพราะกุฏิแต่ละหลังจะมีทางเดินจงกรมทุกหลัง ขณะนั้นบรรยากาศโดยทั่วบริเวณช่างสงบเอาจริงๆ ต่างองค์ต่างก็มุ่งหวังเพื่อพระนิพพานโดยแท้ แม้จะมองไปที่กุฏิอาจารย์มั่นฯ ก็เห็นท่านกำลังเดินจงกรมอยู่เช่นเดียวกัน ข้าพเจ้าก็เลยเข้าทางจงกรมต่อไป แม้จะเดินทางมาถึง ๒๐ กว่ากิโลเมตรแล้ว แทนที่จะพักกันวันนั้น แต่เมื่อเห็นทุกๆ องค์เขาเข้าที่จงกรมหมดแล้วก็ต้องเข้ากับเขาต่อไป แต่ก็ไม่เห็นว่าจะเหน็ดเหนื่อยเลย เพราะขณะนี้มีปีติอยู่ในตัวแล้ว และเป็นความสำเร็จในชีวิตของความเป็นพระ อย่างที่จะต้องจารึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ของตนเองด้วย ความหนักแน่นของจิตในขณะนี้ ดูเหมือนไม่มีอะไรจะมาเปรียบเทียบได้

หลังจากเดินจงกรมเสร็จ พอท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านขึ้นกุฏิ พระภิกษุสามเณรก็หยุดจงกรม คอยสังเกตดูว่าท่านจะเข้าห้องเลย หรือท่านจะนั่งอยู่ข้างนอก ถ้าหากท่านนั่งอยู่ข้างนอก พระภิกษุสามเณรทั้งหลายก็จะรีบตามขึ้นไป เพื่อจะได้ฟังธรรมจากท่าน วันนั้นท่านได้มานั่งข้างนอก พระภิกษุสามเณรทั้งหลายก็ทยอยกันขึ้นไปที่กุฏิของท่านข้าพเจ้ามองเห็นอาจารย์กงมาผู้เป็นอาจารย์ของข้าพเจ้ากำลังเดินขึ้นไป ผู้เขียนก็เดินตามขึ้นไปบ้าง เป็นอันว่าการเดินทางแม้จะเหน็ดเหนื่อยก็ไม่ต้องคำนึงถึง ขึ้นไปเพื่อฟังธรรมจากท่านอาจารย์มั่นฯ ซึ่งมันเป็นการรอคอยที่ออกจะนานพอดู ความตั้งใจก็ตั้งอย่างเที่ยงมั่นอยู่แล้ว

เมื่อทุกๆ องค์นั่งอยู่ในความสงบ ต่างก็ดูเหมือนจะพยายามสำรวมใจกันอย่างเต็มที่ เพราะเท่าที่สังเกตดู ทุกๆ ท่านอยู่ในลักษณะเตรียมพร้อม หมายถึงพร้อมจะรับธรรมโดยอาการสงบเสงี่ยม สำรวมระวังแม้กระทั่งการเดินและการนั่ง น่าเลื่อมใสจริงๆ ทำให้ผู้เขียนก็ต้องเตรียมพร้อมเช่นเดียวกัน ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งแรกของการพบท่านอาจารย์มั่นฯ ซึ่งก็ได้รับแต่คำเล่าลือว่า ท่านมีความหนักแน่นในธรรมวินัย และมีพละกำลังจิตน่าเกรงขาม

แต่ท่านกลับมีกิริยามรรยาทที่อ่อนน้อมละมุนละไม ทักทายปราศรัยกับอาจารย์ของข้าพเจ้าอย่างเป็นกันเอง คล้ายกับท่านได้คุ้นเคยกันมาตั้งเป็นสิบๆ ปี ทำให้ผู้เขียนคลายความตึงเครียดไปตั้งเยอะ ค่อยๆ พอหายใจโล่งไปได้ เมื่อเห็นท่านคุยไปและยิ้มย่องผ่องใสเหมือนธรรมดา หลังจากท่านถามสารทุกข์สุกดิบกับอาจารย์ของข้าพเจ้าแล้ว ก็หันมาถามผู้เขียนว่า ได้มาพร้อมกันหรือ และมากันยังไง

ผู้เขียนก็ตอบว่า

“ครับ ! มากับอาจารย์ของกระผม เดินทางมาโดยเท้าตลอด เป็นระยะหลายร้อย ก.ม. !”

ท่านยิ้ม แล้วก็ไม่พูดอะไรต่อไป หันไปทางภิกษุสามเณรทั้งหลายแล้วท่านก็เริ่มที่จะแสดงธรรม ตั้งแต่ ๒๐.๐๐ น. โดยประมาณ ถึง ๒๔.๐๐ น. เป็นการแสดงธรรมอย่างละเอียดอ่อน ในเนื้อความแห่งธรรมจักรกัปฺปวัตนสูตร ซึ่งผู้เขียนยังไม่เคยฟังวิธีการอธิบายอย่างนี้มาก่อนเลย (ข้อความละเอียดขอให้อ่านประวัติพระอาจารย์มั่นฯ ที่ผู้เขียนได้เขียนไว้แล้ว) ตลอดเวลา ๔ ชั่วโมงเต็มซึ่งเป็นเวลามิใช่น้อยเลยสำหรับการแสดงธรรม ซึ่งท่านพูดอยู่ตลอดไม่มีเวลาหยุด

ผู้เขียนและอาจารย์ของข้าพเจ้าก็กำลังเดินทางมาเหน็ดเหนื่อยมาก แต่ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านก็มิได้คำนึงถึงเหตุการณ์เหล่านั้น เอาธรรมเป็นใหญ่ ร่างกายช่างมัน ทรมานมัน นี้เป็นคำพูดของท่าน แต่เราทั้ง ๒ ก็ได้ถูกทรมานแล้วอย่างไม่ต้องมีการหลีกเลี่ยงได้ แต่การถูกทรมานในครั้งนี้ เป็นการทำโดยความเต็มใจทั้ง ๒ ฝ่าย คือผู้ถูกทรมานก็ไม่ย่อท้อ ผู้ทรมานก็ไม่ท้อถอย ก็เลยเข้ากันได้ เป็นอันว่าได้ต่อสู้กับกิเลสอย่างได้ผลคุ้มค่าที่สุด


ตอนพระวิริยังค์ฟังธรรมเทศนา
ของพระอาจารย์มั่นฯ กัณฑ์แรก


มิใช่เท่านั้นสำหรับตัวผู้ผู้เขียน ในเมื่อเวลาเสร็จจากการแสดงธรรมในค่ำคืนวันนั้น ทุกองค์ต่างก็รีบทยอยกลับ ผู้เขียนก็เตรียมจะกลับอยู่แล้ว แต่ท่านอาจารย์มั่นฯ ได้เรียกให้ผู้เขียนหยุดก่อน ให้ทุกองค์กลับแล้วให้ข้าพเจ้าเก็บย่ามและของให้เข้าในห้องของท่าน ท่านได้เอนหลังลงแล้วก็ให้ผู้เขียนบีบนวด เป็นกิจวัตรอย่างหนึ่งสำหรับพระกัมมัฏฐานผู้เป็นศิษย์ถือว่าการถวายการนวดนั้นเป็นกิจวัตรประจำ

วันนี้ท่านได้ให้โอกาสแก่ผู้เขียน ซึ่งผู้เขียนถือว่าเป็นลาภอันประเสริฐแล้วที่ท่านอาจารย์มั่นฯ ได้ให้โอกาสนี้แก่เรา เพราะยากนักที่ท่านจะให้โอกาสแก่ภิกษุรูปใด

และนึกอยู่ ๒-๓ ครั้ง ท่านอาจารย์ก็รีบลุกขึ้นพลัน ยังกับจะรู้ใจผู้เขียนเอาทีเดียว แล้วข้าพเจ้าก็รีบหาไม้สีฟัน น้ำล้างหน้า กระโถนถวายท่าน เมื่อท่านรับและล้างหน้าเสร็จแล้วท่านก็พูดกับผู้เขียนว่า

“เราได้นิมิตดี คือปรากฏในนิมิตว่า ได้รองเท้าใหม่คู่หนึ่ง รองเท้าคู่นี้แปลกไม่มีแหว่งเว้าตรงกลางเหมือนกับรองเท้าทั่วๆ ไป เออ วิริยังค์กลับได้”

ผู้เขียนกราบ ๓ ครั้งแล้วก็รีบกลับกุฏิ สว่างได้อรุณพอดี

เป็นอันว่าผู้เขียนได้ถูกท่านทรมานตั้งแต่วันแรกพบ ถือว่าเป็นโชคดีของข้าพเจ้าอย่างยิ่ง ท่านคงเห็นว่าผู้เขียนตั้งใจยิ่งใหญ่เหลือเกิน แล้วก็เลยฉลองความศรัทธาเสียให้เต็มที่ พอเช้าขึ้นแทนที่ข้าพเจ้าจะอ่อนเพลีย หรือเหน็ดเหนื่อย กลับกระปรี้กระเปร่าสดชื่นเอาจริงๆ เหมือนกับคนได้ของอันถูกใจและได้สมใจและได้มากเสียด้วย

แต่อะไรก็ไม่ว่าหรอก ปัญหาที่ท่านได้ตั้งให้ข้าพเจ้านั่นซี หนักกว่าอะไร ? ก็รองเท้าคู่นั้นนั่นเอง มันหมายถึงความว่าอย่างไรกัน ท่านเองก็ไม่อธิบายขยายความให้กระจ่างแจ้งเลย คงให้ผู้เขียนต้องขบปัญหานี้เองนานทีเดียว จนกระทั่งบัดนี้ก็ยังไม่แน่ใจว่า ความคิดของข้าพเจ้าจะถูกต้อง

เป็นอันว่าข้าพเจ้าได้ออยู่กับท่านอาจารย์มั่นฯ สมความปรารถนา และนับเป็นโชคอันมหาศาล ที่พระผู้ปฏิบัติท่านอาจารย์มั่นฯ มาก่อน ได้หลีกทางให้ผู้เขียนได้เข้ารับหน้าที่เป็นอุปัฏฐากอย่างที่ไม่ต้องมีพิธีรีตองอะไร เพราะเป็นที่ทราบในความประสงค์ของท่านอาจารย์แล้ว นี่แหละที่ข้าพเจ้ายังได้รับความภาคภูมิใจหนักหนา ที่อยู่ได้กับท่านและใกล้ชิดเป็นกรณีพิเศษ

วันหนึ่งพระอาจารย์กงมาผู้เป็นอาจารย์ของข้าพเจ้าได้เตือนผู้เขียน ขณะที่มีโอกาสเข้าไปกราบไหว้ท่านตามเวลาปรกติ ท่านเตือนว่า “การอยู่กับท่านอาจารย์มั่นฯ และได้เป็นผู้อุปัฏฐากนี้ ต้องถือว่าเป็นบุญอย่างยิ่งของเธอแล้ว เพราะผู้จะเป็นอุปัฏฐากท่านอาจารย์มั่นฯ นี้ ต้องเป็นผู้ที่เพียบพร้อมด้วยกิริยามรรยาท ต้อนรับแขกเป็น เคารพพระเถรานุเถระที่จะเข้ามาศึกษาปฏิบัติธรรมกับท่าน มีสติระวังในขณะที่ปฏิบัติกิจวัตรโดยรอบคอบและสะอาด ตื่นก่อน นอนทีหลัง ฯลฯ”

“เมื่อรู้ความจริงต่างๆ ของการปฏิบัติอาจาริยวัตรโดยรอบคอบแล้ว เธอจะได้ความรู้อย่างพิเศษ และได้ความชำนาญตลอดถึงอัตถปัญหา ก็ถามท่านได้ตามความสามารถของตน จึงเป็นโอกาสอันงดงามที่สุดในชีวิตพรหมจรรย์ของเธอ”

ข้าพเจ้าฟังด้วยความปลาบปลื้มใจ น้ำตาได้ซึมซาบออกมาโดยไม่รู้ตัวกับปีติ นึกในใจว่า ทุกสิ่งทุกอย่างประกอบกันเข้าโดยอัตโนมัติ เพราะอาจารย์มั่นฯ ก็ให้โอกาส อาจารย์ของข้าพเจ้าก็ให้โอกาส ตัวของผู้เขียนเองก็ให้โอกาสแก่ตัวเอง เป็นอันว่า ไม่มีอะไรจะมาขัดข้องในการแสวงหาธรรมชั้นสูงกันต่อไปอีกแล้ว

เมื่อถึงกาลเข้าพรรษา ก็เป็นธรรมดาที่จะต้องมีพิธีการที่จะเตรียมการต่างๆ ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านได้ให้ให้ข้าพเจ้าจัดการทำไม้กราด ความจริงไม้กราดที่จะต้องกวาดวัดนั้น ก็มีปรกติอยู่แล้ว แต่ท่านให้จัดเป็นพิเศษ หามาไว้ให้พร้อม โดยไม่ต้องทำตลอด ๓ เดือน นี้ก็เป็นเครื่องสะกิดใจข้าพเจ้าอย่างยิ่งในเรื่องของการรักษาความสะอาดทั้งบริเวณวัดและที่อยู่อาศัย ตลอดจนเครื่องใช้ ท่านเป็นผู้มีความสะอาดอย่างยิ่ง แม้กระทั่งห้องส้วม ต้องเช็ดถูให้สะอาดจริงๆ ทั้งๆ ที่ส้วมนั้นมิใช่ส้วมซึม เป็นส้วมหลุม ท่านได้ดุอาจารย์ของข้าพเจ้าว่า

“กงมา นี่เธอทำไมไม่รักษาความสะอาด ปล่อยให้ส้วมรกยังกับป่าเสือ”

ผู้เขียนต้องตกใจอย่างยิ่ง ! ในวันนั้น ท่านเดินทางไปกุฏิของท่านอาจารย์กงมา ได้เห็นต้นหญ้าเกิดขึ้นรอบห้องส้วม ซึ่งเข้าใจว่าท่านอาจารย์ของข้าพเจ้าคงลืมไปหลายวัน ปล่อยให้หญ้าขึ้นโดยรอบ แท้จริงท่านก็ให้สามเณรถากหญ้าโดยรอบอยู่เสมอ

ผู้เขียนจำคำได้ว่า “ส้วมรกยังกับป่าเสือ” จากปากคำของท่านอาจารย์มั่นฯ ตกใจมาก และท่านยังถามข้าพเจ้าว่า

“อยู่ด้วยกันที่จันทบุรี ส้วมก็รกอย่างนี้หรือ ?”

ผู้เขียนได้แก้ตัวแทนท่านอาจารย์ของข้าพเจ้าว่า “ที่จันทบุรี ส้วมอยู่กลางวัด กวาดทุกวัน”

ในการจำพรรษาปีนี้ก็เป็นเรื่องพิเศษสำหรับข้าพเจ้าอย่างยิ่ง เพราะเป็นการจำพรรษากับผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งทำให้จิตใจเกิดความระมัดระวังเป็นอย่างสำคัญอยู่ ผู้เขียนจำได้ว่า ขณะนั้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยังไม่สงบ จึงทำให้จีวรของใช้ต่างๆ ขาดแคลนมาก แม้กระทั่งไม้ขีดไฟก็ไม่มีใช้ ต้องใช้เหล็กไฟ ตะบันไฟ เวลาจะจุดบุหรี่กันแต่ละครั้งก็ต้องตีเหล็กไฟเอา แม้จีวรก็ใช้ผ้าทอเอง หนามาก

แต่ว่าท่านอาจารย์เป็นผู้มีบุญญาภินิหารมาก สิ่งของแม้จะหายาก แต่ก็ยังพอมีใช้ไม่ถึงกับขาดแคลนนัก ผู้เขียนต้องอัศจรรย์มาก ทั้งๆ ที่ท่านก็มิได้ทำอะไรให้เป็นของขลัง และเพื่อโอ้อวดคุณภาพตลอดทั้งโฆษณาอะไรเลย แต่ประชาชนต่างก็ทราบเกียรติคุณของท่านอย่างกว้างขวางรวดเร็ว ในเมื่อท่านจะพักอยู่ที่ไหน จึงทำให้ไม่ขาดแคลนเครื่องใช้อันเป็นไปตามอัตตภาพ

มันเป็นความจำที่ข้าพเจ้าจะต้องจำจนกระทั่งบัดนี้ ที่ผู้เขียนกับพระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ในวันหนึ่ง ญาติโยมทั้งหลายมาประชุมกันที่ศาลา ศาลานั้นท่านอาจารย์มั่นฯ ให้กั้นห้องแล้วท่านก็จำวัดอยู่ที่นั่น ขณะที่ญาติโยมประชุมกันด้วยเทศกาลอันใดอันหนึ่ง ในเมื่อทำศาสนกิจส่วนอื่นเสร็จแล้ว ถึงเวลาเทศน์ ท่านอาจารย์ได้สั่งให้ผู้เขียนกับอาจารย์มหาบัวเทศน์ให้โยมฟังทีละกัณฑ์ เมื่อท่านสั่งแล้ว ท่านก็เข้าห้องไป ผู้เขียนกับอาจารย์มหาบัว ก็มองหน้ากันว่าจะทำอย่างไร ข้าพเจ้าก็กลัว อาจารย์มหาบัวก็กลัว กลัวอะไร ? ไม่กลัวโยมหรอก แต่กลัวท่านอาจารย์...

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ธ.ค. 2010, 11:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน


ตอนพระวิริยังค์ พระมหาบัว ถูกให้เทศน์ต่อหน้าท่าน

ใจของผู้เขียนรู้สึกจะเต้นแรงเป็นพิเศษ ผู้เขียนไม่เคยกลัวเรื่องเทศน์ให้โยมฟัง เพราะผู้เขียนเป็นนักเทศน์มาตั้งแต่เป็นสามเณรอายุเพียง ๑๗ ก็เริ่มจะเป็นนักเทศน์แล้ว บัดนี้อายุ ๒๒ ปี ผ่านการเทศน์มาไม่ใช่น้อย

แต่ท่านจะมาให้เทศน์ต่อหน้าท่านผู้ทรงคุณวุฒิที่เราจะต้องมาศึกษาธรรมปฏิบัติกับท่าน ท่านก็เป็นที่น่าเกรงขามอย่างยิ่งแล้ว ทำไมพระเถระผู้มีอาวุโสสูงตั้งเยอะแยะท่านไม่สั่งให้เทศน์ ทำไม ? จึงมาสั่งให้เราผู้เป็นภิกษุใหม่เทศน์ ยิ่งคิดยิ่งไม่สบายใจ จะเทศน์ออกหรือนี่

ส่วนอาจารย์มหาบัว ผู้เขียนก็ทายใจถูกเหมือนกันว่า ใจของท่านอาจารย์มหาบัวก็กำลังระทึกหวั่นไหวอยู่อย่างหนัก และก็ถูกให้เทศน์ก่อน เพราะอาวุโสกว่าผู้เขียน ท่าทางเหมือนจะปวดหนักปวดเบายังไงพิกล ผู้เขียนก็นึกขำอยู่ในใจ ทั้งขำทั้งกลัวระคนกันไป ข้าพเจ้าก็ยังรู้จักกับอาจารย์มหาบัวใหม่ๆ ไม่ทราบว่าเคยเทศน์หรือเปล่า หรือเป็นนักเทศน์มาเก่งแล้ว ก็ทำให้หนักใจแทนอยู่

เมื่อต่างก็มองตากันไปกันมาพอสมควร เวลาอันระทึกใจก็มาถึงคือเสียง “พรหมมาจะโลกา” อาราธนาเทศน์ โยมเขาอาราธนาแล้ว ผู้เขียนบอกท่านอาจารย์มหาบัว แต่ดูรู้สึกว่าท่านมีความมั่นใจอยู่ไม่น้อยทีเดียว ได้ก้าวขึ้นธรรมาสน์ยังไงๆ พิกล เหมือนกับจะอุทธรณ์อะไรออกมาจากใจสักอย่างยังงั้นแหละ แต่จะไปอุทธรณ์กับใคร เมื่อขึ้นธรรมาสน์ ท่านก็หลับหูหลับตาเทศน์อย่าน้ำไหลไฟดับเหมือนกัน แสดงว่าเจนเวทีมาพอสมควรทีเดียว แต่เวทีนี้เป็นเวทีอันตรายเหลือหลาย ท่านคงจะคิดอย่างนั้นเอง เมื่อท่านใช้วาทะแห่งการแสดงธรรมอย่างไพเราะและอึดอัดระคนกัน เป็นอันว่าจบธรรมเทศนาไปได้อย่างสบาย

เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ ทำเอาผู้เขียนต้องหัวใจเต้น มันเป็นตาของเราแล้ว พร้อมกันนั้นท่านมหาบัวก็ชำเลืองมายังข้าพเจ้า ท่านคงจะคิดในใจว่าถึงตาวิริยังค์มั่งละน่า และคงจะคิดต่อไปว่าดูท่าทางของวิริยังค์จะเอายังไง จะไปไหวหรือไม่ไหวเพราะต่างก็ยังไม่รู้ความสามารถของกันและกัน ท่านมหาบัวนั่งเรียบร้อยแล้ว โยมก็อาราธนาต่อ ขอให้ “ยาคูไทย” เทศน์ต่อไปเถอะ ญาติโยมแถวนี้เขาเรียกผู้เขียนว่า “ยาคูไทย” ซึ่งแปลว่า พระไทย

เป็นอันว่าผู้เขียนก็ขึ้นธรรมาสน์ในอันดับต่อมา พอขึ้นธรรมาสน์แล้วรู้สึกตัวลอยๆ พิกลเหมือนกัน เพราะท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านนั่งอยู่ข้างหลัง เราเป็นภิกษุหนุ่มนับว่าอ่อนพรรษากว่าใครๆ ทั้งหมดที่มารวมกันอยู่นี้ ก็ทำให้หวาดเสียวซู่ซ่าไปหมด ผู้เขียนพยายามกำหนดใจมิให้หวั่นไหว แต่มันก็หยุดได้เป็นพักๆ อาศัยชำนาญธรรมาสน์เท่านั้น ที่ทำให้ทุกอย่างเรียบร้อยในเวลาอันเร็วพลัน แต่เข้าใจว่า คงจะมีหลายองค์จับพิรุธได้ ถึงอย่างไรก็ตาม ผู้เขียนก็สามารถแสดงธรรมไปได้ ตามประสาของผู้ประหม่า และหวาดเสียวเป็นที่สุด พอเทศน์เพลินๆ ไปก็ไม่เป็นไร พอนึกถึงท่านอาจารย์มั่นฯ นั่งอยู่ข้างหลัง สะดุ้งทุกที แต่ก็เอาตัวรอดปลอดภัยไปได้ นับเป็นธรรมเทศนาประวัติศาสตร์ของผู้เขียนจริงๆ ยี่สิบเก้าปีแล้ว ยังคงจำเหตุการณ์ในวันนั้นได้เป็นอย่างดี ไม่ทราบว่าจะเขียนพรรณนาเหตุอย่างใดจึงจะถูกต้องกับความเป็นจริง

และก็เป็นเรื่องแปลกประหลาดในอนาคตกาลต่อมา ผู้เขียนกับอาจารย์มหาบัวจะต้องเทศน์คู่กันเสมอๆ มา เช่นงานศพอาจารย์มหาทองสุข พระครูอุดมธรรมคุณ งานศพท่านอาจารย์ชม ที่หนองหลวง อำเภอสว่างแดนดิน งานพิธีของท่านอาจารย์ฝั้น อาจาโร ที่วัดป่าอุดมสมพร อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร จะต้องถูกให้เทศน์ด้วยกันทุกครั้ง เมื่ออาจารย์มหาบัวเทศน์ ผู้เขียนก็ต้องเทศน์ คล้ายกับท่านอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ ท่านจะรู้กาลอนาคตว่าพระสององค์นี้จะต้องเทศน์ร่วมกัน

กาลพรรษานี้ ผู้เขียนพึ่งจะบวชเป็นพระภิกษุพรรษาที่ ๒ รู้สึกว่าเป็นพรรษาที่อิ่มเอิบด้วยธรรมอย่างยิ่ง ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านแสดงธรรมแทบทุกวัน แต่ละครั้งของท่านแสดงธรรม ดุจจิ้มหรือจี้ลงในหัวใจของผู้เขียนอย่างลึกซึ้งสุดพรรณนา ทำให้ผู้เขียนระลึกถึงบุญวาสนาบารมีของตนเองว่า “บุญจริงๆ หนอที่ได้มาพบอาจารย์ผู้ทรงคุณธรรมและแสดงธรรมที่ซาบซึ้งจริงๆ” จะมีอะไรเล่ามาเปรียบเทียบได้ถึงความดีงามของการให้ทานธรรมของท่านอาจารย์มั่นฯ

การปฏิบัติกิจวัตรด้วยการอุปัฏฐากโดยการใกล้ชิดนั้น นับแต่การปูที่นอน กางกลด ซักผ้า เทกระโถน ล้างบาตร รับบาตร ปูอาสนะ หั่นผัก ตำหมาก มวนบุหรี่ ชงชา นั่งคอยรับใช้ ถวายน้ำบ้วนปาก ไม้สีฟัน จนถึงการบีบนวด ผู้เขียนได้บรรจงปฏิบัติท่านด้วยเคารพเป็นอย่างสูงสุด พยายามทำให้ดีที่สุด แต่ก็ไม่วายที่จะเกิดความบกพร่องขึ้น เพราะท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านเป็นคนละเอียดและสะอาดมาก บางครั้งล้างกระโถนไม่สะอาด ท่านก็ดุเอา กระโถนยุคนั้นทำด้วยกระบอกไม้ไผ่ ถ้าไม่พยายามเอาขี้เถ้าแช่จริงๆ แล้วจะมีกลิ่น แม้จะมีกระโถนเคลือบล้างง่ายๆ ท่านก็ไม่ใช้ ซึ่งเป็นการฝึกฝนผู้ที่จะอุปัฏฐากท่านไปในตัวเสร็จ แม้แต่ผ้าปูที่นอน ซึ่งการเย็บผ้าตะเข็บข้างบนข้างล่างเหมือนกัน ถ้าไม่สังเกตจริงๆ จะไม่ทราบเลย ผู้เขียนไม่สังเกตเอาหัวกลับท้าย เอาท้ายกลับหัว ถูกดุเอาหลายครั้งจนจำได้

กลดที่แขวนจำวัด กลดนั้นมันกลม ใครจะจำได้ว่าข้างไหนเป็นหัวนอน ข้างไหนเป็นปลายเท้า ผู้เขียนก็จะโดนดุอีก เพราะกางกลับไปข้างบ้าง เอาหัวไปเท้าบ้าง นึกว่าไม่เป็นไร จนถึงกับต้องเอาเครื่องหมายไปหมายไว้ที่กลด จนจำได้ จึงไม่โดนดุ ท่านพูดเสมอๆ ว่า

“ก็เมื่องานภายนอกหยาบๆ อย่างนี้ยังทำไม่ได้ ทำไมจิตเป็นของละเอียดจึงจะบำเพ็ญฝึกหัดได้”

ทำเอาผู้เขียนสะดุ้งทุกครั้ง จึงเป็นอันว่า ผู้เขียนต้องพยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุด เพื่อถวายความเคารพและทดแทนคุณานุคุณของท่าน ก็มิใช่ผู้เขียนจะผูกขาดการปฏิบัติท่านอาจารย์มั่นฯ แต่ผู้เดียว ทุกๆ องค์ที่อยู่ด้วยก็ช่วยกันเท่าที่โอกาสจะให้ และทุกๆ องค์ก็ต้องการเช่นเดียวกับข้าพเจ้า ศรัทธาด้วยตนเองที่จะถวายการอุปัฏฐากท่าน โดยเฉพาะท่านได้เอ็นดูผู้เขียนเป็นกรณีพิเศษ ไม่ทราบว่าเป็นเหตุผลอะไร ท่านเคยพูดว่า

“วิริยังค์ ธาตุถูกกัน เวลาบีบนวดถวาย”

เมื่อกาลพรรษาผ่านไปอย่างได้ผลในการบำเพ็ญ โดยไม่หยุดยั้งเหมือนประหนึ่งว่า ๓ เดือนนั้นเป็น ๓ วันไปทีเดียว ส่วนอาจารย์ของข้าพเจ้า ท่านก็หาวิธีที่จะวางรากฐานในบริเวณสถานที่แห่งนี้ให้เป็นการถาวรสมกับท่านอาจารย์มั่นฯ ได้มาพักอยู่ที่นี่ถึง ๒ พรรษา ท่านได้จัดการที่ดินให้เป็นบริเวณกว้างขวางหลายสิบไร่ให้เป็นวัดขึ้น จัดการก่อสร้างกุฏิศาลาให้ใหญ่โตและถาวรขึ้นมาอย่างรวดเร็ว

ท่านอาจารย์กงมา ได้พูดกับผู้เขียนว่า “วิริยังค์ เราจะต้องทำที่แห่งนี้ให้เป็นสถานที่บำเพ็ญวิปัสสนาเป็นการถาวรแก่ละแวกบ้านของเราให้สมกับท่านอาจารย์มั่นฯ ผู้เป็นปรมาจารย์ได้มาพักอยู่ในสถานที่แห่งนี้”

ผู้เขียนได้ตอบท่านว่า “จะไม่เป็นการรบกวนความสงบของท่านอาจารย์มั่นฯ ไปหรือ เพราะว่าท่านไม่ต้องการที่จะก่อสร้างที่ถาวร จะเป็นกังวล”

ท่านอาจารย์ของข้าพเจ้าบอกว่า “ไม่เป็นเช่นนั้นดอก แม้แต่พระพุทธเจ้า ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็ยังสร้างคันธกุฎีถวายราคาตั้งหลายล้าน”


ตอนพระวิริยังค์เขียนมุตโตทัย

หลังจากปวารณาออกพรรษาแล้ว (พ.ศ. ๒๔๗๔) ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านก็ได้ไปพักที่บ้านนามน ไม่ไกลจากบ้านโคกเท่าไรนัก ประมาณ ๔ กิโลเมตร

แต่เวลาไปครั้งนี้ ทั้งๆ ที่ข้าพเจ้าปฏิบัติท่านอย่างใกล้ชิด ท่านก็ไม่ให้ข้าพเจ้าไปกับท่าน ทั้งๆ ที่ข้าพเจ้าเชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์ที่ข้าพเจ้าจะต้องติดตามท่านไปทุกหนทุกแห่ง ในครั้งนี้ท่านได้บอกองค์นั้นบ้าง องค์นี้บ้าง ให้ไปกับท่าน แต่ข้าพเจ้าท่านไม่บอก กลับเฉยเสีย แม้ข้าพเจ้าจะเรียนท่านว่า จะขอตามไปด้วย ท่านก็ไม่ให้ไป

ทำเอาผู้เขียนต้องงงเป็นอย่างยิ่งว่า ทำไมท่านจึงไม่ให้ข้าพเจ้าไปกับท่านทั้งๆ ที่ข้าพเจ้าก็เป็นผู้ปฏิบัติอุปัฏฐากท่านทุกอย่างในขณะนั้น หลังจากท่านได้เดินทางออกจากบ้านโคกไปแล้ว ข้าพเจ้าสังเกตดูมันให้หงอยเหงาไปหมด ดูเหมือนใบไม้จะเหี่ยวแห้ง แผ่นดินแห้งแล้งไปทีเดียว ข้าพเจ้าทนไม่ไหวต้องติดตามไปหาท่านที่วัดป่าบ้านนามน และก็ไม่ได้นำเอาบริขารไป ไปเป็นเพียงอาคันตุกะเท่านั้น เมื่อกราบท่านเสร็จแล้วก็ปฏิบัติเหมือนกับปฏิบัติอยู่เดิม ได้กระทำทุกอย่าง ได้เวลาเย็นผู้เขียนก็ลาท่านกลับ ตอนกราบลาจะลุก ท่านได้ถามว่า

“วิริยังค์ ลากงมาแล้วหรือ” (หมายความว่า ข้าพเจ้าได้ลาท่านอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ ซึ่งเป็นอาจารย์ของข้าพเจ้าแล้วหรือ ?)

เท่านี้ผู้เขียนก็ทราบแน่ใจแล้วว่า ท่านต้องการให้อาจารย์ข้าพเจ้าอนุญาตเสียก่อน ท่านไม่ต้องการที่จะนำเอาลูกศิษย์ใครไปโดยพละการ ในเมื่ออาจารย์ของเขาไม่เต็มใจหรือไม่อนุญาต ซึ่งด้วยเหตุเช่นตัวของข้าพเจ้านี้ ท่านจะทำอย่างไรก็ได้เพราะฝากกายถวายชีวิตแล้ว แม้แต่อาจารย์ของข้าพเจ้าท่านจะทำอย่างไรก็ได้ แต่ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านก็ไม่ก้าวก่ายระหว่างศิษย์อาจารย์ จึงทำให้เป็นที่น่าเคารพบูชายิ่ง

ข้าพเจ้ารู้ความจริงแล้วดีใจยิ่งนัก และเสียใจยิ่งนักในเมื่อมารู้ตัวว่าตัวเรานี่โง่จัด ควรจะได้ล่ำลาอาจารย์ข้าพเจ้าเสียแต่วันท่านอาจารย์มั่นฯ เดินทางก็จะดี ข้าพเจ้าเดินทางกลับ พลางเกาศีรษะพลางนึกพลางว่า โง่จัดๆ ทำให้ท่านอาจารย์มั่นฯ เตือน แต่ก็นึกต่อไปว่า ท่านให้ความรักใคร่เอ็นดูข้าพเจ้าเป็นกรณีพิเศษ จึงได้ให้นัยแก่ผู้เขียน ซึ่งผู้เขียนก็ยังได้จำและจารึกอยู่ในใจว่า ท่านก็ประสงค์จะทรมานและฝึกสอน-ต่อเติมความรู้ให้ผู้เขียนด้วยความเมตตาปรานี

จึงเป็นอันว่าผู้เขียนได้กลับไปลาพระอาจารย์กงมา ท่านก็อนุญาตให้ผู้เขียนไปอยู่กับท่านอาจารย์มั่นฯ ตามความประสงค์ สมใจผู้เขียนเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาอยู่กับท่านอีกวาระหนึ่ง และก็เพิ่มความตั้งใจแก่ผู้เขียนอย่างยิ่ง ในอันที่จะพยายามบำเพ็ญความเพียร ปฏิบัติทางใจให้หนัก เพราะมาคิดว่าการจะหาครูบาอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิสูงเช่นนั้นยากนัก แม้หมดชีวิตหนึ่งๆ หรือหลายชาติอาจจะไม่ได้พบก็เป็นได้ ดังนั้นผู้เขียนจึงทุ่มเททุกๆ อย่างทั้งกำลังกายและกำลังใจศึกษา และปฏิบัติอย่างไม่หยุดยั้ง

ผลก็ปรากฏขึ้นอย่างมหัศจรรย์เช่นกัน ทั้งพระธรรมเทศนาของพระอาจารย์มั่นฯ ก็ไพเราะเสียจริงๆ ผู้เขียนนั่งกัมมัฏฐานได้รับความสงบใจแล้ว ได้มาฟังธรรมของท่าน ธรรมเทศนานั้น ได้เกิดรสชาติที่ซาบซึ้งหาอะไรเปรียบไม่ได้อีกแล้ว ทำไมจึงดีอย่างนี้ สุดแสนจะพรรณนา ทำให้ผู้เขียนระลึกถึงคนอื่นๆ ต่อไปว่า เราจำเป็นที่จะต้องบันทึกธรรมเทศนาของท่านอาจารย์มั่นๆ ให้ได้ เพราะถ้าเราไม่บันทึก ต่อไปธรรมเทศนาอันวิเศษนี้ก็จะหายสูญไปอย่างน่าเสียดาย และธรรมเทศนาเช่นนี้จะพึงแสดงได้ก็แต่ท่านอาจารย์มั่นฯ เท่านั้น องค์อื่นถึงแสดงก็ไม่เหมือน จึงทำให้ผู้เขียนได้พยายามอย่างยิ่ง ที่จะเขียนบันทึกธรรมเทศนาของท่านให้ได้ และก็เป็นผลสำเร็จขึ้นเป็นอันดับแรก เพราะยังไม่เคยมีใครบันทึกธรรมเทศนาของท่านเลย

เป็นที่น่าสังเกต ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านไม่เคยยอมให้ใครบันทึกธรรมเทศนาของท่านโดยเป็นหนังสือเลย มีแต่จำกันใส่ใจเท่านั้น ถ้าใครจะบันทึกด้วยหนังสือจะต้องถูกท่านดุและประณามเอาทีเดียว แต่ผู้เขียนขโมยเขียนและยอมทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะรักและชอบและเลื่อมใสสุดหัวใจแล้ว ท่านจะดุด่าประณาม ผู้เขียนยอมทุกอย่าง ขออย่างเดียวให้ได้บันทึกธรรมเทศนาเพื่อประโยชน์แก่คนอื่นต่อไปภายหลัง ไม่ได้ฟังจากท่านจะได้อ่านในหนังสือเล่มนี้ พระภิกษุสามเณรที่ไปอยู่กับท่านต่างก็กลัวเช่นนี้ จึงไม่มีใครกล้าจะเขียนธรรมเทศนาของท่าน จึงเป็นอันว่าผู้เขียนได้กล้าเสี่ยงอันตรายครั้งสำคัญทีเดียว

เกิดความสำเร็จแก่ผู้เขียนอย่างเต็มภาคภูมิ คือตลอดพรรษานี้ผู้เขียนได้บันทึกธรรมเทศนาตลอดไตรมาส ซึ่งก็สำเร็จจนเป็นเล่มในชื่อ “หนังสือมุตโตทัย”

หลังจากผู้เขียนได้บันทึกธรรมเทศนาของท่านแล้ว ก็พยายามทำเป็นความลับไว้ตลอดเวลา วิธีการที่ผู้เขียนทำสำเร็จนั้นคือ เมื่อเวลาท่านแสดงธรรม พยายามกำหนดไว้ในใจอย่างมั่นคง เพราะขณะนั้นความจำของผู้เขียนยังอยู่ในการใช้ได้ เมื่อท่านแสดงธรรมจบแล้ว ผู้เขียนยังต้องมีหน้าที่ถวายการนวดอีกไม่ต่ำกว่า ๒ ชั่วโมง เมื่อถวายการนวดเสร็จแล้ว ก็รีบกลับที่พักจับปากกา รีบเขียนธรรมเทศนาของท่าน ก่อนความจำนั้นจะเลือนลางไป ตอนนี้ผู้เขียนจะบอกอะไรให้สักอย่าง ว่าเป็นเรื่องน่าคิดหนักหนา ตอนนั้นอยู่ในระหว่างสงคราม ปากกา-ดินสอดำ-น้ำหมึกไม่ต้องหา ไม่มีใช้ เผอิญผู้เขียนมีปากกาอยู่ ๑ ด้ามติดตัวไป น้ำหมึกไม่มี ผู้เขียนต้องคิดตำราทำน้ำหมึกขึ้นใช้ โดยเอาผลสมอไทย ผลมะเหลื่อม ผลมะขามป้อม เอามาตำแช่น้ำ แล้วเอาเหล็กที่มีสนิมมากเช่นผานไถนาแช่ลงไปด้วย เมื่อแช่ ๒-๓ วันได้ที่แล้ว เอามากรองด้วยผ้าบางจนใส แล้วเอาเอาเขม่าติดก้นหม้อนี้ (ต้องการสีดำ) ใส่เข้าไป คนจนเข้ากันดีแล้วกรองอีก คราวนี้ก็เอามาใช้ได้ผล ข้าพเจ้าได้ใช้มันจนเขียนได้เป็นเล่ม แต่เวลาเขียนมันจะไม่แห้งทันที ต้องรอนานกว่าจะแห้ง

ข้าพเจ้าได้ทำอยู่อย่างนี้ คือฟังเทศน์เสร็จแล้วถวายการนวดเสร็จแล้วกลับมาเขียนหนังสือตลอดเวลา ๓ เดือน การแสดงธรรมของท่านมิได้แสดงทุกๆ คืน ในที่สุดข้าพเจ้าก็ทำงานเสร็จสมกับคำปณิธานที่ได้ตั้งไว้ และก็พยายามกำความลับไว้มิได้แพร่งพรายให้ผู้ใดทราบถึงการกระทำของข้าพเจ้าเลยแม้แต่คนเดียว

เมื่อความสนิทสนมผู้เขียนกับท่านอาจารย์มั่นฯ นับวันแต่จะสนิทยิ่งขึ้นท่านได้ให้พรพิเศษ เมตตาพิเศษแนะนำพิเศษ จนผู้เขียนหายความหวาดกลัวเหมือนอย่างแต่ก่อน

อยู่มาวันหนึ่ง ผู้เขียนคิดว่า ก็ธรรมเทศนาที่เราเขียนแล้วนั้นจะปิดเป็นความลับไว้ทำไม เปิดเผยถวายท่านเสียดีกว่า ท่านจะกินเลือดกินเนื้อเราก็ให้รู้ ไป จึงเป็นอันว่า ผู้เขียนได้นำเอาเนื้อความอ่านเล่าถวาย ท่านจึงเอ๊ะใจขึ้นว่า “นี่ วิริยังค์ คุณไปเขียนแต่เมื่อไร”

จากนั้นท่านก็ไม่ว่าอะไรและท่านก็ยอมรับว่าการบันทึกนี้ถูกต้อง โล่งอกโล่งใจข้าพเจ้าเป็นอย่างยิ่ง นึกว่ายังไงเสียคงโดนด่าหลายกระบุง แต่ท่านกลับให้ความร่วมมือเป็นอย่างน่าอัศจรรย์

หนังสือมุตโตทัยนั้น แม้จะมีเนื้อความไม่มากนัก แต่บรรจุถ้อยคำเป็นคำสอนที่ดีมากจริงๆ ได้เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย ตั้งแต่ต้นจนบัดนี้ ปรากฏว่าได้พิมพ์ไปแล้วหลายหมื่นฉบับ และก็ยังไม่จืด จะต้องมีการพิมพ์ต่อไปอีกมาก

ข้าพเจ้าถือว่าเป็นงานชิ้นสำคัญที่ทำได้สำเร็จในขั้นแรกของชีวิต เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายนัก ทั้งเป็นการเสี่ยงอันตรายต่อการขับไล่ของท่านอาจารย์มั่นฯ อย่างยิ่ง เพราะถ้าทำผิดแล้วมีอย่างเดียวคือการไล่ออก นับเป็นสิ่งน่าสะพรึงกลัวเป็นอย่างยิ่ง

ในพรรษานี้ ข้าพเจ้าได้รับบทเรียนเป็นพิเศษมากมายพอดู วันหนึ่งฝนตกใหญ่ ผู้เขียนก็รีบเข้าห้องนอน เพราะครึ้มฟ้าน่าจะนอนมาก แต่พอเอนหลังลงหน่อยเท่านั้น ด้วยความเป็นห่วงจึงแง้มหน้าต่างมองไปที่กุฏิของท่านอาจารย์มั่นฯ ข้าพเจ้าต้องตกใจมาก เพราะท่านผลัดผ้าสรงน้ำ ออกตากฝนรองน้ำฝนใส่โอ่งอยู่องค์เดียว ผู้เขียนรู้สึกตัวว่าเราผิดแล้ว ทำท่าจะนอน ท่านอาจารย์กำลังรองน้ำฝนอยู่ ผู้เขียนรีบผลัดผ้าอาบโดยพลันลงจากกุฏิยังกับจะวิ่ง เข้าไปช่วยท่านรองน้ำฝน ผู้เขียนพูดกับท่านว่า ท่านอาจารย์จะลงมาทำไมเดี๋ยวจะไม่สบาย ท่านตอบว่า

“วิริยังค์ อยู่ใต้ฟ้าต้องกลัวฝนด้วยหรือ การอาบน้ำฝนเป็นยาอายุวัฒนะรู้ไหม ?“

“เป็นยายังไงครับ ?” ผู้เขียนถาม

“ก็น้ำฝนมันบริสุทธิ์ดี เหงื่อไคลก็ออกดีมากกว่าน้ำธรรมดา อาบแล้วเบาตัว” ท่านตอบ

เมื่อรองน้ำ ถวายการถูหลัง บิดผ้าอาบ ตากเรียบร้อย ท่านก็เข้าห้องจำวัดไป ผู้เขียนกลับกุฏิแล้วก็มานึกถึงว่า น้ำฝนเป็นยา น้ำฝนเป็นยา ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านบอก ทำเอาข้าพเจ้าพยายามที่จะอาบน้ำฝนให้มากเพื่อจะได้เป็นยา จนกระทั่งบัดนี้

วันหนึ่งขณะที่ผู้เขียนถวายการปฏิบัติท่านอยู่ตามปรกติเวลากลางวัน เพราะหลังจากฉันเสร็จท่านเดินจงกรมเสร็จท่านเข้าห้อง เวลาบ่ายโมงท่านจะออกมานั่งข้างนอก ผู้เขียนก็จะต้องเตรียมน้ำสำหรับชงชา ชาก็เป็นชาเชียงใหม่ และเตรียมหมากพลูปูนยาไว้สำหรับตำหมากถวายท่าน พร้อมทั้งบุหรี่อันเป็นยาสูบที่ชาวบ้านเขาปลูกกัน วันนี้ก็เช่นเดียวกับทุกๆ วันผู้เขียนได้ทำเช่นนั้น หลังจากทุกอย่างเสร็จเรียบร้อย ก็ได้มวนบุหรี่ถวายท่าน พอท่านสูบ ควันบุหรี่ก็ออกมากระทบกับจมูกของผู้เขียน วันนี้เป็นอย่างไรไม่ทราบ เกิดเหม็นควันบุหรี่ยิ่งกว่าทุกวัน จนอดไม่ไหวจึงได้พูดว่า “แหมบุหรี่นี่เหม็นจริง”

เท่านั้นเอง ผู้เขียนก็ต้องถูกดุว่า “วิริยังค์ การยกโทษผู้อื่นนั้นไม่สมควรอย่างยิ่ง”

ว่าแล้วท่านก็มวนบุหรี่ขึ้นตัวหนึ่งเบ้อเริ่ม ให้ผู้เขียนบอกว่า “เอาสูบเสียเดี๋ยวนี้ เมื่อสูบแล้วจะได้ไม่ยกโทษผู้อื่น”

ทำเอาข้าพเจ้างงไป ต้องสูบบุหรี่แล้วก็สำลัก ท่านก็หัวเราะชอบใจ ผู้เขียนได้คิดเรื่องนี้ไว้เป็นการบ้านอยู่ตลอดเวลาว่า การที่ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านแนะนำพร่ำสอนบุคคลนี้ ท่านสอนโดยทุกวิธี แม้แต่สูบบุหรี่ ทำเอาผู้เขียนต้องจดจำตลอดชีวิตว่า การที่จะยกโทษคนอื่นนั้นย่อมไม่มีประโยชน์อะไร เพราะคนเราต่างก็มีความสามารถ ไปคนละอย่าง เมื่อเขาทำไม่เหมือนเราๆ จะว่าเขาไม่ดี ก็ไม่ควรและควรจะมองคุณประโยชน์ของแต่ละบุคคล ซึ่งคนๆ หนึ่งมิใช่ว่าจะเสียไปหมด และก็มิใช่ดีไปหมด ถ้าบุคคลผู้ฉลาดแล้วดินที่ตรงไหนก็เอามาทำประโยชน์ได้ ถ้าหากว่าเราจะไม่ยกโทษว่าดินมันต่ำทราม

อีกวันหนึ่งขณะที่ผู้เขียนกำลังหั่นผักถวายท่านในเวลาภัตตาหารเช้า ตามปรกติท่านจะต้องฉันผักทุกวัน แต่ฟันของท่านไม่ดี เพราะต้องใช้ฟันเทียม จึงต้องหั่นผักให้ละเอียด ผู้เขียนมีหน้าที่จะต้องหั่นทุกวัน ในเมื่อท่านเลือกดูแล้วว่าผักนี้เป็นที่ถูกกับธาตุของท่าน ในวันนั้นผู้เขียนได้หั่นผักเป็นพิเศษ คือหั่นให้หยาบๆ เพราะทุกๆ วันหั่นละเอียด พอดีท่านเหลือบมองเห็นก็ได้ถามผู้เขียนว่า

“วิริยังค์ ทำไมจึงหั่นหยาบนักวันนี้”

“มันอร่อยดีครับ หั่นละเอียดแล้วมันไม่อร่อย” ผู้เขียนตอบ

“นี่แหละหนาเขาว่า อวดเขี้ยวก็คือหมา อวดงาก็คือช้าง”

ท่านอาจารย์ท่านว่า ในขณะที่พระภิกษุสามเณรเต็มศาลาขณะที่เตรียมจะฉันภัตตาหารเช้า ทำเอาผู้เขียนสะดุ้งเฮือก เป็นอันว่าท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านสอนคนทุกขณะเวลา อันการพูดของท่านว่า “อวดเขี้ยวคือหมา อวดงาคือช้าง” ท่านได้เปรียบเทียบคนที่โอ้อวด หมายความว่า ไปเที่ยวอวดตัวต่อใครๆ ว่า ข้าพเจ้านี้เก่งอย่างนั้นเก่งอย่างนี้ ต้องการที่จะมีชื่อเสียงโด่งดัง เลยหาวิธีการอวดด้วยกรรมวิธีต่างๆ เท่าที่ตัวบุคคลนั้นจะหาได้ เป็นเหตุให้เกิดความเชื่อถือที่ผิดๆ เกิดขึ้นแก่ปวงชนเป็นอันมาก โดยเหตุก็เพียงเพื่อต้องการหาชื่อเสียงความโด่งดังให้แก่ตัวเอง

ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านเปรียบคนพวกนี้เหมือนกันกับสัตว์เดียรัจฉาน ตามที่ท่านได้ด่าผู้เขียนท่ามกลางพระภิกษุสามเณรขณะที่ผู้เขียนยังไม่ทันตั้งตัวเลย เพียงสู้เขียนมีเจตนาที่จะให้ท่านได้ฉันอร่อยสักวันหนึ่งเท่านั้น แต่ท่านก็ถือโอกาสดุด่าเป็นการลั่งสอนที่แนบเนียนที่สุด และได้ผลที่สุด เฉพาะตัวผู้เขียนต้องจดจำจนวันตายและเพี่อนสหธัมมิกที่รวมอยู่กับผู้เขียนก็ได้สติระลึกอยู่อย่างแนบแน่นในจิตใจ เท่าที่ผู้เขียนจำพระเถระที่อยู่ร่วมด้วยวันนั้น คือ พระอาจารย์หลุย พระอาจารย์มหาบัว พระอาจารย์เนตร์ พระอาจารย์เนียม นอกนั้นก็ลืมเลือนลางไปเสียแล้วรวมประมาณ ๒๐ กว่ารูป

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ธ.ค. 2010, 11:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร เมื่อครั้งยังมีอายุพรรษาไม่มากนัก


ตอนพักวัดร้างเสี่ยงบารมีให้กับพระวิริยังค์

การจำพรรษาที่บ้านนามนได้เป็นไปอย่างเรียบร้อยที่สุด และได้ผลทางใจมากที่สุด ทั้งผลเกิดจากประสบการณ์ใหม่ๆ อันเป็นผลได้อย่างคาดไม่ถึง เป็นผลทางปกครอง และผลทางเผยแพร่ธรรม ผู้เขียนจึงมาคิดถึงความเป็นอัจฉริยะของท่านอาจารย์มั่นฯ มิใช่ว่าจะเยินยอท่านจนเกินความจริง แต่ท่านเป็นอัจฉริยะจริงๆ เพราะผู้เขียนก็ชอบตรงไปตรงมาอยู่แล้ว คนจะมาพูดเกินความจริง หรืออ้อมค้อมไม่ชอบ การอยู่กับท่านอาจารย์มั่นฯ ในพรรษานี้จึงเป็นการศึกษาทั้งธรรมและศึกษาทั้งตัวของท่านอาจารย์ด้วย มีอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ ให้พวกเราได้ศึกษาอยู่ตลอดเวลา ทุกๆ องค์ที่มาอยู่กับท่านต่างก็ต้องพูดเป็นเสียงเดียวกันหมด ถึงความสามารถทั้งภายนอกภายใน นี่ก็เป็นปัจจัตตัง รู้เฉพาะตัวๆ ของผู้ที่อยู่ร่วมกับท่าน ผู้ที่ไม่ได้อยู่ร่วมกับท่าน หรือเพียงแต่ได้ยินได้ฟัง ได้อ่านเรื่องราวของท่าน ย่อมจะไม่เป็นปัจจัตตัง บางทีก็เกิดความสงสัย แต่บางคนก็เลื่อมใส จึงเป็นของยากที่จะอธิบายให้เข้าใจได้

ออกพรรษาแล้ว จะมีการตัดเย็บจีวรให้แก่องค์ที่ขาดแคลน เพราะต่างก็ช่วยกันตัดเย็บด้วยมือ กว่าจะเสร็จแต่ละตัวๆ ใช้เวลาหลายวัน ตามปรกติแล้ว ของที่ได้จากกฐิน ผ้าป่า ของที่เขามาถวายท่านก็จะถูกแจกออกไปแก่พระภิกษุสามเณรทั้งหลายโดยทั่วกัน

หลังจากธุรกิจ มีการแจกจีวรและทำจีวรเสร็จแล้ว ท่านปรารภที่จะออกไปจากวัดป่าบ้านนามน เพื่อความสงบตามอัธยาศัย ในที่ไม่ไกลจากวัดบ้านป่านามนนี้เท่าไรนัก มีบ้านหนึ่งชื่อบ้านนาสีนวล อยู่ใกล้เขาภูพาน บ้านนี้มีวัดร้างอยู่วัดหนึ่งไม่ไกลจากบ้าน มีกุฏิหลังเดียว ท่านได้เลือกเอาวัดร้างนี้เป็นที่พัก ได้ออกจากวัดป่าบ้านนามนกับผู้เขียนและมีพระติดตาม ๒ องค์ ตาผ้าขาว ๑ คน

การมาอยู่วัดบ้านนาสีนวลนี้ถือว่าเป็นการพักผ่อนของท่าน ตามธรรมดาท่านก็พักผ่อนอยู่แล้วไม่ว่าอยู่ที่ไหน แต่การอยู่ในหมู่บ้านใหญ่ พระภิกษุสามเณรก็จะมาพักเพื่อศึกษามาก เป็นการกังวลในการดูแลแนะนำสั่งสอน เมื่อมาอยู่บ้านนาสีนวล พระภิกษุสามเณรมาอยู่มากไม่ได้ เพราะเป็นบ้านเล็ก จึงถือว่าเป็นการพักผ่อน ในกาลบางครั้ง พระภิกษุสามเณรผู้อยู่โดยรอบไม่ไกลนัก ก็ถือโอกาสเข้ามานมัสการเพื่อรับโอวาทจากท่านเป็นครั้งคราว

ณ โอกาสนี้เองเป็นโอกาสที่เหมาะที่สุดสำหรับผู้เขียน เวลาว่างมาก นับเป็นโชคในชีวิตครั้งสำคัญครั้งหนึ่งที่ผู้เขียนได้มาอยู่กับท่านอาจารย์มั่นฯ ผู้เขียนมิได้ทิ้งโอกาสอันมีค่านี้ให้เสียไปเลย พยายามไต่ถามประวัติความเป็นมาของท่านอย่างละเอียด ความรู้พิเศษต่างๆ ที่ได้จากสถานที่นี้มากจริงๆ และทั้งยังได้ความคุ้นเคยสนิทสนมกับท่านอย่างที่ใครๆ จะได้ยาก

วันหนึ่งตอนเช้าขณะที่ผู้เขียนเตรียมคลี่สังฆาฏิซ้อนจีวร หลังจากถวายการครองจีวรให้ท่านเสร็จแล้ว ท่านได้เหลือบมองเห็น สังฆาฏิของผู้เขียนแตกตะเข็บหลายแห่ง และผู้เขียนเย็บชุนเอาไว้ ท่านถามว่า

“สังฆาฏิขาดแล้วใช่ไหม”

“ยังไม่ขาดเป็นแต่เพียงแตกตะเข็บครับผม” ผู้เขียนตอบ

“นั่นแหละมันขาดแล้ว เออ วิริยังค์ ถ้าคุณเป็นผู้มีบุญได้ทำไว้แต่ปางก่อน พรุ่งนี้คงจะมีใครสักคนนำผ้ามาถวาย เราจะตัดสังฆาฏิให้”

ท่านอาจารย์ท่านพูด ทำเอาผู้เขียนขนลุกขนพอง ไม่นึกเลยว่าท่านจะพูดกับข้าพเจ้าอย่างนี้

ต่อจากนั้นข้าพเจ้าก็นำบาตรออกเดินไปรอท่านที่ริมละแวกบ้าน ถวายบาตรแก่ท่านเมื่อท่านไปถึง เดินตามหลังท่านไป อันความคิดที่จะต้องคิดติดอยู่ในใจขณะนี้คือ คำพูดของท่านอาจารย์บอกว่า “ถ้าเธอมีบุญ พรุ่งนี้ก็จะมีคนนำผ้ามาถวาย” ทำให้ใจของผู้เขียนต้องกังวลหนักขึ้นว่า ท่านอาจารย์จะเอาตัวเรามาเสี่ยงบารมีเสียแล้ว นี่ถ้าหากไม่ได้ผ้าไม่มีใครมาถวาย เราอาจจะต้องเป็นคนอาภัพ จนถึงกับท่านไม่อาจจะรับเอาเราเป็นศิษย์ของท่านก็เป็นได้ ขณะที่เราก็พึ่งจะมาอยู่กับท่านเพียงปีเศษเท่านั้น ท่านจะเอาผ้าสังฆาฏิมาเสี่ยงบารมีเสียแล้ว เห็นทีจะแย่เสียละกระมังคราวนี้ และขณะนี้เป็นระยะเวลาของสงคราม (สงครามโลกครั้งที่ ๒) ยังไม่สงบ ผ้าที่จะใช้หายากจริงๆ กว่าจะได้แต่ละผืนนานนัก ชาวบ้านต้องนุ่งผ้าขาดหน้าขาดหลัง เด็กนักเรียนไปโรงเรียนไม่มีเสื้อใส่ แม้จะมีบ้างก็ปะหน้าปะหลัง พระภิกษุสามเณรตามวัดต่างๆ จะได้จีวรแต่ละตัวนั้นนานเต็มที ต้องปะชุนเช่นเดียวกัน

อันเราก็มาถูกท่านอาจารย์เสี่ยงบารมีด้วยผ้าสังฆาฏิ ๑ ผืน ดูก็เป็นเรื่องใหญ่ มิใช่เป็นเรื่องเล็กเลย (ถ้าเป็นขณะนี้ พ.ศ. ๒๕๑๕ คงไม่ต้องนึกให้ลำบาก) ค่ำคืนนี้ก็ล่วงไปอย่างฝันดีเป็นที่สุด ท่านอาจารย์ท่านพูดทิ้งคำไว้แต่ตอนเช้าแล้วท่านก็มิได้เอ่ยถึงคำนั้นอีกเลย ผู้เขียนว่าฝันดีนั้นก็คือ ยังไงเสียเราคงจะต้องได้รับผลแห่งความจริงที่ว่า เราจะเป็นผู้มีบุญหรือเป็นคนบาป ก็จะต้องรู้กันในวันพรุ่งนี้แน่นอน เลยทำให้ผู้เขียนทำความเพียรนั่งสมาธิกัมมัฏฐานเป็นการใหญ่ ไม่ต้องหลับนอนกันละ ก็รู้สึกว่าได้ผล หันกลับไปคิดถึงท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านได้ทรมานคนเพื่อเป็นคนดีทุกวิถีทาง ทุกอย่างที่ท่านออกอุบายแต่ละครั้ง ได้ผลเกินคาด ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกันกับที่แล้วมาหลายๆ ครั้งที่บังเกิดผลจากอุบายวิธีของการทรมานที่ได้ผลอย่างสุขุมลุ่มลึก ในขณะที่ผลทางภายในก็กำลังเกิดขึ้นแก่ผู้เขียนอย่างเยือกเย็นสว่างไสว สบาย ผ่องใสอย่างที่จะพูดยากทีเดียว นี้เกิดจากอุบายวิธีอันชาญฉลาดของท่านอาจารย์มั่นฯ

รุ่งขึ้นเวลาบ่ายโมง เสียงคนหลายคนทั้งแบกทั้งหามทัพพสัมภาระ ตีเกราะเคาะไม้ ได้ยินมาแต่ไกล ผู้เขียนกำลังเดินจงกรมอยู่ใต้ต้นไม้ ไม่ห่างจากกุฏิเท่าใดนัก ได้ยินเสียงก็สงสัย รีบออกมาคอยดู ซึ่งขณะเดียวกันท่านอาจารย์ก็เปิดประตูออกมา ก็พอดีกระบวนผู้คนได้มาหยุดอยู่ที่ริมวัด เอาของวางไว้เรียบร้อย มีหัวหน้าคนหนึ่งเข้ามาหาท่านอาจารย์ นิมนต์ให้ไปชักบังสุกุล ท่านก็เดินตามเขาไป แต่ผู้เขียนไม่ไปเพียงแต่จัดที่ต้อนรับเขาอยู่ที่กุฏิ

ในไม่ช้าพวกเขาก็พากันนำเอาของมากองไว้ที่ชานกุฏิ ผู้เขียนไม่สนใจของอื่นนอกจากผ้า จะมีหรือไม่หนอ พอจะทำสังฆาฏิได้ ผู้เขียนก็ต้องอุทานขึ้นมาในใจว่า

“โอ ผ้าทำสังฆาฏิมีแล้ว นี่ยังไง”

แต่นึกยิ้มอยู่ในใจไม่พูดอะไรเลย ท่านอาจารย์เหลือบมองมายังข้าพเจ้ายังกับจะพูดอะไรสักอย่าง แต่ท่านก็ไม่พูด หลังจากท่านได้ให้พรโยม โยมกลับกันหมด และสั่งให้เณร-ตาผ้าขาวเก็บของอื่นๆ ไป ส่วนผ้าขาวท่านสั่งให้ผู้เขียนเก็บมาดูจึงเห็นว่าเป็นผ้าบางเนื้อดี พอที่จะตัดได้สังฆาฏิผืน ๑ อย่างสบาย ท่านจึงพูด

“เอ้า ผู้มีบุญเอาผ้านี้ไปตัดสังฆาฏิเสีย”

เป็นคำพูดที่สั้นๆ ฝังใจน่าดู ข้าพเจ้าไม่ใช่นักเขียนนักประพันธ์ ถ้าเป็นนักเขียนนักประพันธ์คงจะพรรณนาของจริงได้กว้างขวางและแนบเนียนกว่านี้มาก แต่นี่ก็เอาเพียงความเข้าใจก็ดีแล้ว ข้าพเจ้าก็พอใจแล้วที่ยังเขียนได้ถึงเพียงนี้

ผู้เขียนจะดีใจหรือปีติหรือถูกอาจารย์ยกยอหรืออะไร ก็พูดไม่ถูกอีกเหมือนกัน ในเหตุการณ์เกิดขึ้นในครั้งนี้ทำเอาผู้เขียนต้องยิ้มข้างในอยู่หลายวัน แต่ก็ไม่ประมาทในการที่จะพยายามเพี่อการปฏิบัติจิตอย่างไม่ให้เวลาล่วงเลยไปเปล่าๆ ขณะที่เรามาอยู่กับท่านผู้ประเสริฐแล้วจะมัวประมาทอยู่ไม่ได้เป็นอันขาด เพราะการได้อาจารย์เช่นนี้ยากนักที่จะมีบุญได้อยู่กับท่าน ข้าพเจ้าหมายถึงว่ามีบุญอยู่กับท่านผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ยิ้มก็เพราะได้อยู่ปฏิบัตินั่นเอง แต่ว่าอยู่กับผู้หวังดีต่อเรานั้น แม้จะถูกโขกถูกสับก็ยินดีรับเสมอ บางครั้งถูกยกยอเช่นคราวนี้ บางครั้งถูกโขกสับเช่นคราวก่อน แต่เราก็ยินดีให้ท่านทำเช่นนั้น เพื่อความเจริญก้าวหน้าแห่งการปฏิบัติของเรา พร้อมเสมอที่จะให้ท่านทำทุกอย่างเพื่อความเจริญก้าวหน้า

ขณะที่มาอยู่ที่วัดร้าง (บ้านนาสีนวล) นี้เป็นเวลาหลายวันต่อมา ผู้เขียนชอบเล่าความฝันให้ท่านฟังบ่อยๆ เพราะความฝันนั้นแปลกๆ เนื่องจากอยู่ในที่สงบสบาย ซึ่งบางครั้งก็เห็นพระสาวกแต่ครั้งพุทธกาล มีพระอานนท์บ้าง พระกัสสปะบ้าง พระเรวัตตะบ้าง หรือบางครั้งก็ฝันเห็นพระพุทธเจ้าเลย ซึ่งก็ต้องเล่าถวายท่านฟังทุกคราว

วันหนึ่งขณะที่ผู้เขียนเล่าความฝันให้ท่านฟังนั้น เข้าใจว่าท่านคงรำคาญ หรืออาจจะแนะนำผู้เขียนว่าเรื่องฝันนั้นเป็นเรื่องไร้สาระ ท่านจึงว่า “เอ้อ ฝันหยังบู๋ ฝันป่นฝันปี้ ฝันคืนนี้ฝันว่าได้สี่แม่ยาย” เป็นอันว่าท่านได้ทั้งดุทั้งด่าอย่างลึกซึ้ง และเป็นการแนะนำผู้เขียนอย่างมิได้มีวันลืมอีกครั้งหนึ่ง แม้คำนี้จะเป็นคำหยาบ ผู้เขียนไม่น่าจะนำมาลงไว้ ณ ที่นี้เลย แต่ก็ไม่ทราบจะเอาคำอะไรมาพูดมาแปลให้ถูก ถ้าเอาคำอื่นมาลงกลัวจะผิดสำนวน เสียรสชาติไป ผู้เขียนก็ไม่ขอแปลด้วย สุดแล้วแต่ผู้อ่านจะแปลเอาเองก็แล้วกัน

แต่จะอย่างไรก็ตาม เป็นคำสอนที่แนบแน่นที่สุดสำหรับผู้เขียน เพราะความฝันนี้เป็นเรื่องลุ่มหลงกันมานานแสนนานแล้ว ถึงกับมีตำรับตำราทายความฝันกันทีเดียว แต่ท่านอาจารย์ท่านก็พูดไว้เป็นคำแปลบางตอนว่า เป็นเรื่องไร้สาระ ถ้าใครลุ่มหลงอยู่ในความฝันจะทำให้เป็นคนโง่เง่า ทั้งนี้ก็หมายความได้หลายอย่างว่า ผู้หลงในความฝันเท่ากับยอมตัวลงอยู่ใต้ลมๆ แล้งๆ อันนี้คงจะเป็นคติลำหรับผู้หลงละเมอเพ้อฝัน ซึ่งไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะให้มีขึ้นแก่ผู้อบรมจิตดีแล้ว แต่ว่าขณะในที่จิตบริสุทธิ์อารมณ์ต่างๆ ไม่ค่อยหนาแน่น การฝันนั้นกลายเป็นนิมิต คำว่านิมิต คือเครื่องหมาย แสดง เครื่องหมายปริศนา ทำให้เกิดความจริงบางประการขึ้นได้ ซึ่งในวันต่อมา ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านได้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า เมื่อพระนางเจ้าสิริมหามายาสุบินนิมิตก็ดี เมื่อพระพุทธองค์สุบินนิมิตในตอนก่อนจะตรัสรู้ก็ดี นี้เป็นนิมิตไม่ใช่ละเมอเพ้อฝัน ก็เป็นอันว่า ผู้เขียนได้ความรู้เพิ่มเติมในเรื่องนี้อีกมากทีเดียว

วันหนึ่งข้าพเจ้านั่งสมาธิอยู่โคนไม้ใกล้ๆ กับกุฏิของท่าน ได้รำพึงในใจว่า อันการอยู่ร่วมกับปราชญ์นี่ เป็นผลประโยชน์มากจริงๆ เป็นผลทุกตารางนิ้วเลยทีเดียว สมกับคำว่า ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา การคบหาบัณฑิต เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ เป็นมงคลอันอุดมสูงสุด ผู้เขียนมาซาบซึ้งถึงมงคลคาถาข้อนี้อย่างยิ่งในเมื่อมาอยู่กับท่านอาจารย์มั่นฯ ในครั้งนี้

ความรำพึงของผู้เขียนได้เป็นไปอย่างความบริสุทธิ์ใจ และได้มีความกระตือรือร้นต่อความเพียรเป็นอย่างยิ่ง ที่จะทำให้มากขึ้นจากการได้รับธรรมเทศนาของท่าน ไม่ว่าจะอยู่กันเพียงองค์หนึ่งสององค์ท่านก็แสดงธรรมให้ฟัง โดยการให้โอวาทแนะนำตื้นลึกหนาบางของข้อปฏิบัติต่างๆ ถ้าหากว่าเราถามถึงธรรมโดยความบริสุทธิ์ใจแล้ว ท่านจะอธิบายให้หายสงสัยได้อย่างมหัศจรรย์ทีเดียว


ตอนพระวิริยังค์พยาบาลพระอาจารย์มั่นฯ ป่วย

ในวันหนึ่งเหตุการณ์มิได้คาดฝัน ว่าเหตุเช่นนี้จะเกิดขึ้นเพราะเหตุแห่งการป่วยของท่านอาจารย์มั่นฯ เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน เสียงร้องเรียกของท่านดังก้องมาจากห้องข้างในซึ่งถูกลงกลอนประตูหมดแล้ว ขณะนั้นท่านลุกขึ้นไม่ได้ เนื่องจากเป็นไข้มาเลเรียทำให้ขาทั้ง ๒ หมดแรงไม่มีแรงยัน เมื่อผู้เขียนกำลังทำกิจวัตรอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ข้างนอกได้ยินคำว่า

“วิริยังค์ เฮาลุกบ่ได้”

ยิ่งทำให้ตกใจยิ่งขึ้น ผู้เขียนวิ่งวนรอบกุฏิ ๒ รอบ ๓ รอบจะหาวิธีเข้ากุฏิให้ได้ แต่ก็หมดปัญญาเพราะกลอนโบราณหนาแน่นเหลือเกิน ทันใดนั้นความคิดได้เกิดขึ้นแก่ผู้เขียนว่า หน้าต่างคงจะไม่ได้ใส่สลัก อาจจะมีสักช่อง ผู้เขียนจึงใช้ไม้พาดแล้วขึ้นไปตามช่องหน้าต่าง ก็ไปถูกหน้าต่างหนึ่งไม่ได้ใส่กลอน เพียงงับไว้เท่านั้น ก็ดึงออกเปิดได้

โล่งใจ ผู้เขียนรีบปีนหน้าต่างเข้าไปในห้องทันที ซึ่งขณะนั้นท่านอาจารย์มั่นฯ กำลังนอนอยู่ ท่านเรียกบอกให้เข้าไปเร็วเพราะท่านปวดท้องเบาอยู่ ผู้เขียนเข้าไปพยุงท่านให้ลุกขึ้นนั่งแล้วท่านก็เบาได้ตามความประสงค์ แล้วก็พยุงให้ท่านได้กลับมานอนตามเดิม

ผู้เขียนได้ถามท่านว่า ท่านอาจารย์ครับ ท่านอาจารย์ได้เป็นอะไรไป ท่านตอบว่า มันจับไข้ตั้งแต่บ่ายโมง หนาวแท้ๆ เลยเอาผ้ามาห่มเท่าไรก็ไม่หายหนาว พอสร่างไข้ขามันก็อ่อนหมดยกไม่ขึ้นเอาเลย เป็นอันว่าวันรุ่งขึ้นท่านไปบิณฑบาตไม่ได้ และฉันอาหารหนักไม่ได้ ผู้เขียนต้องไปจัดแจงให้ตาผ้าขาวบ๊องๆ นั้นต้มข้าวต้ม และก็มีอาหารข้าวต้มถวายท่าน จนกระทั่งหายจากไข้ แต่ก็ยังไม่ปรกติ

ในระยะนี้ท่านได้อนุญาตผู้เขียนเข้าไปจำวัดในห้องเดียวกับท่าน ตามปรกติแล้วท่านจะไม่ให้ใครเข้าไปจำวัดในห้องเดียวกับท่านเป็นอันขาด คราวนี้ท่านเห็นใจผู้เขียนว่าเอาใจใส่ปฏิบัติอย่างจริงใจ จึงให้เข้าไปจำวัดในห้องเดียวกับท่าน ทั้งนี้ผู้เขียนก็ประสงค์เช่นนั้นเพราะไม่แน่ใจว่า ไข้จะจับเอากับท่านอีกเมื่อไร ถ้าหากจับไข้อีกจะได้หาทางแก้ไขทันทีไม่ต้องวิ่งหาทางปีนหน้าต่างกันอีก

ข้าพเจ้าต้องอัศจรรย์มากทีเดียว ในขณะที่ได้เข้าไปอยู่ในห้องเดียวกับท่าน คือเห็นท่านตื่นตอนตี ๓ (๓.๐๐ น.) ทุกวันเลยทีเดียว ผู้เขียนก็ได้ตั้งใจและคอยระวังอยู่จึงตื่นพอดีกับท่าน เพื่อคอยปฏิบัติในขณะที่ท่านตื่นขึ้นล้างหน้า

ต่อจากนั้นก็นั่งกัมมัฏฐานไปจนตลอดแจ้ง ผู้เขียนคิดว่า ท่านก็กำลังป่วยยังไม่หายสนิท แต่ทำไมจึงยังบำเพ็ญกัมมัฏฐาน พักเพียง ๔-๕ ชั่วโมงเท่านั้น และยิ่งคิดหนักต่อไปว่า ก็ในเมื่อท่านได้บำเพ็ญมาอย่างหนักแล้ว และรู้ธรรมเห็นธรรมตามสมควรแล้ว เหตุไฉน ? ท่านยังมิละความเพียรของท่านเลย อันที่จริงท่านไม่ต้องทำก็เห็นจะไม่เป็นไร เพราะท่านทำมามากพอแล้ว ซึ่งในวันหนึ่งผู้เขียนอดไม่ได้ต้องถามท่านว่า “ท่านอาจารย์ครับ ขณะนี้ท่านอาจารย์ก็ไม่ค่อยสบาย ควรจะได้พักผ่อนให้มากกว่านี้ จะทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น”

แต่แล้วก็ได้รับคำตอบว่า “ก็ยิ่งไม่สบาย คนเรามันใกล้ตาย ก็ต้องยิ่งทำความเพียรโดยความไม่ประมาท แม้เราจะเป็นผู้ได้รับการฝึกฝนมามากแล้ว แต่ก็ต้องทำและยิ่งมีความรู้สึกภายในว่าต้องทำให้มาก เช่นเดียวกับเศรษฐี แม้จะมีทรัพย์มาก ก็ยิ่งต้องทำมาก วิริยังค์ สมาธิมันเป็นเพียงสังขาร ไม่เที่ยงหรอก ความจริงแห่งสัจจธรรมจึงจะเป็นของเที่ยง และการกระทำความเพียรนี้ ยังชื่อว่าทำเป็นตัวอย่างแก่ศิษย์ทั้งหลายด้วย”

ทำเอาผู้เขียนต้องขนลุก ปีติซู่ซ่าไปหมด ทั้งคิดว่าท่านแม้จะมีคุณธรรมสูง ท่านก็มิได้อาตัวรอดแต่ผู้เดียว ยังต้องทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อบุคคลอื่นอย่างน่าสรรเสริญ

การอยู่ร่วมในห้องเดียวกับท่านในคราวนี้จึงนับว่าได้รับความสนิทสนม และใกล้ชิดอย่างยิ่ง และได้รับใช้ท่านอย่างเต็มที่สมกับความปรารถนาของผู้เขียนเป็นหนักหนา ทุกๆ คืนที่อยู่ในห้องนี้ เหมือนอยู่ในถ้ำป่าเขาที่เปลี่ยววิเวก เพราะนอกจากการบีบนวดถวาย และไต่ถามอัตถปัญหาต่างๆ แล้ว นอกนั้นก็เป็นเวลาทำความเพียร

มันไม่มีคราวใดอีกแล้ว ที่ผู้เขียนจะพึงระวังสติเหมือนคราวนี้ เพราะถ้าเราขาดสติ หมายถึงต้องถูกดุหรือถูกประณามอย่างใดอย่างหนึ่ง และผู้เขียนรู้สึกอบอุ่นเอาจริงๆ และผลแห่งความเพียรปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้น อย่างรวดเร็วน่าแปลกใจตัวเองเสียเหลือเกิน มิใช่ผู้เขียนจะกล่าวเกินความจริง สิทธิอันนี้จะไม่มีศิษย์ของท่านองค์ใดจะพึงได้เลย แม้แต่อาจารย์มหาบัว ต้องการจะเข้าไปอยู่กับท่าน ตอนผู้เขียนออกมาแล้ว ท่านก็ไม่ยอมให้อยู่ ต้องหอบกลดมุ้งออกวันนั้นเอง สิทธิอันนี้จึงเป็นสิ่งที่ผู้เขียนภูมิใจเป็นหนักหนา

เพราะเหตุใด ? ท่านอาจารย์มั่นฯ จึงให้ผู้เขียนได้จำวัดอยู่ในห้องเดียวกับท่านและผู้อื่นมิให้เข้าเกี่ยวข้องตลอดเวลาเดือนเศษ ต่อไปนี้ข้าพเจ้าจะเล่าเหตุการณ์ในห้องอันพิสดาร ดุจถ้ำแห่งธรรมอันประเสริฐนี้ให้ผู้อ่านได้ฟังอย่างพิสดาร เพราะถ้าไม่ได้เขียนตอนนี้แล้ว ผู้เขียนเห็นจะต้องเลิกเขียนหนังสือธรรมเอาเสียเลย หรือจะต้องทำให้ผู้เขียนข้องใจตัวเองตลอดชีวิตเอาทีเดียว

พูดถึงการเดิน ผู้เขียนต้องหัดเดินใหม่เอาทีเดียวเมื่อเข้ามาอยู่ในห้องนี้ เพราะวันหนึ่งผู้เขียนปวดท้องเป็นต้องออกจากห้องตอนตี ๔ (๔.๐๐ น.) แม้จะค่อยๆ ย่องอย่างเบาแล้ว พอรุ่งขึ้นท่านได้พูดว่า “วิริยังค์ ทำไมจึงเดินแรงนักเมื่อคืนนี้ เวลาที่ใครๆ เขากำลังนั่งสมาธิอยู่ ต้องระวังชี อย่าเดินแรง ทำสมาธิของผู้อื่นให้เสียไป บาปเท่ากับฆ่าช้างทั้งตัวเชียวนา”

ผู้เขียนตกใจเพราะว่าเราก็ถือว่าเดินเบาเต็มที่แล้ว เสียงยังลอดเข้าหาท่านได้อีก วันหน้าต่อมา ปัญหาที่ยังแก้ไม่ตกคือการเดินดัง ในที่สุดก็มาแก้เอาได้ตอนที่ใช้ปลายเท้าลงก่อน ไม่เหยียบทีเดียวหมดฝ่าเท้า จึงเบาจนท่านไม่ต้องบ่นอีกต่อไป

เรื่องของการรักษาความสงบ ในขณะที่ผู้ใดนั่งสมาธินั้น ท่านได้ถือเอาเป็นเรื่องสำคัญมาก แม้แต่ตัวของท่านเอง ขณะที่ผู้เขียนกำลังนั่งสมาธิเพลินอยู่ ไม่ทราบว่าท่านได้ออกจากห้องไปได้เมื่อไร ผู้เขียนไม่มีความรู้สึกมีเสียงกุกๆ กักๆ อะไรเลย ทั้งๆ ที่ท่านก็ต้องถอดกลอนออกข้างนอก ดูเหมือนว่าวันนั้นท่านออก ไปเดินจงกรมแต่เช้ามืด

และคืนวันหนึ่ง ผู้เขียนถวายการนวดแก่ท่านเสร็จแล้ว ในห้องนี้ประมาณ ๒๓.๐๐ น. เห็นจะได้ ผู้เขียนตั้งใจว่าจะนั่งสมาธิเสียตลอดคืนนี้เลย ไม่ต้องนอนละเรา แล้วก็เริ่มนั่งสมาธิ ครั้งแรกๆ การพิจารณาก็ปลอดโปร่งดี แต่พอดึกเข้าก็เลยนั่งหลับเพลินไปเลย ไม่ทราบเข้าฌานอะไรกัน หรือไม่มีฌานเป็นการนั่งหลับ นั่งไปเรื่อยๆ ไปโดยไม่รู้ตัว และก็ขณะนั้นเองอาจจะเป็นเวลา ๑ หรือ ๒.๐๐ น. ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านเดินไปที่มุ้งกลดผู้เขียน ทำเสียงบอกให้รู้ว่านั่นกำลังหลงอยู่ จนผู้เขียนต้องตกใจสะดุ้งขึ้นและท่านก็พูดว่า

“การบำเพ็ญสมาธิเอาแต่เพียงเป็นบาทของวิปัสสนา คือการพิจารณาก็พอแล้ว ส่วนการจะอยู่ในวิหารธรรมนั้นก็ให้กำหนดรู้ แล้วท่านก็พูดต่อไปว่า การหลงฌานมากไปนั้นจะทำให้ตกไปสู่โมหะ การพิจารณาวิปัสสนามากไปนั้นจะตกไปสู่ความฟุ้งซ่าน จึงควรทำแต่พอดีพอเหมาะที่จะให้ผลอย่าให้มากนัก อย่าให้น้อยนัก ถ้าน้อยนักเป็นเหตุให้ไม่รู้จักพอ เป็นการเนิ่นช้า แต่การควบคุมสติให้มั่นคง เป็นการดีที่สุด” แล้วท่านก็เดินกลับไป

ผู้เขียนรู้สึกปลาบปลื้มอะไรเช่นนั้น ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านมาสอนการปฏิบัติให้เราถึงในมุ้ง ดูแล้วเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ใจจริงๆ และหวนระลึกถึงว่าท่านอาจารย์มั่นฯ นี้สมกับที่เป็นพระปรมาจารย์ที่แท้จริง ได้เป็นห่วงศิษย์ที่จะหลงทาง และพยายามหาหนทางให้โดยมิได้คิดว่าจะให้ลูกศิษย์ไปหา ไปหาลูกศิษย์เสียเอง ทั้งท่านก็รู้ทุกวาระจิตที่จะพึงแนะนำแก้ไข ดูเอาเถิด ผู้เขียนนั่งอยู่ในมุ้งท่านทราบได้อย่างไรว่าผู้เขียนกำลังหลงทาง และมิใช่เพียงครั้งเดียวเท่านี้ ในขณะที่ผู้เขียนพักอยู่ห้องเดียวกับท่าน นับได้หลายครั้งทีเดียว ที่ท่านได้เดินมาถึงมุ้งกลดของผู้เขียน ในเมื่อผู้เขียนต้องหลงทางเรื่องของสมาธิ

เหตุการณ์เช่นนี้แหละทำให้ศิษย์ต้องนับถือเคารพอาจารย์อย่างไม่มีอะไรเปรียบปาน ผู้เขียนแม้จะเป็นพระผู้น้อย แต่ท่านก็มิได้คิดว่าจะเป็นผู้น้อยหรือผู้ใหญ่ เมื่อเห็นว่าควรอนุเคราะห์โดยเป็นธรรมสงเคราะห์แล้ว ท่านก็กระทำทุกอย่างเพื่อการนั้น

ในขณะที่อยู่ ณ ที่นี้ก็เป็นเวลาของการป่วยของท่านด้วย ถึงอย่างนั้นดูเหมือนว่าท่านจะไม่ค่อยคำนึงถึงการป่วยของท่านเท่าใดนัก แม้ว่าผู้เขียนจะไม่ค่อยเข้ามานอนเฝ้าก็คงจะไม่เป็นไร เพราะท่านก็สละแล้วทุกๆ อย่าง ผู้เขียนเข้าใจผิดว่า ท่านต้องการจะทรมานผู้เขียนมากกว่า จึงให้มานอนร่วมห้องกับท่าน และก็เป็นความจริงที่ในความรู้สึกของผู้เขียนว่าได้ถูกทรมานอย่างหนักหน่วงทีเดียว เพราะเหตุใด ? เพราะว่าทุกขณะลมหายใจเข้าออกนั้น ต้องระวัง ทุกๆ ครั้งของการบำเพ็ญกัมมัฏฐานก็ต้องระวัง กลัวความผิดพลาดเมื่อความผิดพลาดเกิดขึ้นก็ได้รับการตักเตือนทันท่วงที ไม่ต้องรอให้เสียเวลา ซึ่งจะต้องไปตักเตือนกันเมื่อเลิกจากสมาธิแล้ว ทันทีที่เหตุการณ์เกิดขึ้น ท่านก็มีโอกาสได้ชี้แจง ผลที่เกิดขึ้นก็รวดเร็วยิ่งขึ้น ผู้เขียนมาคำนึงว่า เวลาทำไมจึงมีค่าเหลือเกินเช่นนี้ ไม่มีเสียประโยชน์ไปเลย แล้วทำไมจึงจะไม่ให้ผู้เขียนภาคภูมิใจอย่างยิ่งนี้ได้

เวลาที่ดีที่สุดนั้นคือ เวลาถวายการล้างหน้าเสร็จแล้ว ประมาณ ๓ น. เศษ ท่านให้โอกาสถามถึงการปฏิบัติที่ผ่านมา และท่านก็แก้ไขให้อย่างแจ่มแจ้ง ถ้าเราไม่ถามท่านๆ ก็จะตั้งปัญหาขึ้น แล้วก็แก้ไขให้เราอย่างดีที่สุด นับเป็นโอกาสดีหรือจะเรียกว่าเป็นกุศลที่ได้บำเพ็ญมาแต่กาลก่อนก็เห็นจะได้ จึงมาประสบโอกาสเช่นนี้ ซึ่งก็มิได้นึกคิดมาก่อนเลยว่าจะได้รับการเมตตาเป็นกรณีพิเศษเช่นนี้เลย และผู้เขียนก็มิได้ให้โอกาสนี้จะต้องสูญเสียไปเปล่าเลย พยายามที่จะทำโอกาสนี้ให้ตัวเองมากที่สุด แต่ว่าในเวลาเช่นนี้คือ ก่อนจะแจ้ง ปัญหากระจุกกระจิกท่านไม่ให้ถาม ให้ถามแต่ส่วนของเป็นปฏิบัติทางจิตใจขั้นละเอียด ส่วนปัญหาเรื่องของคณะ หรืออาจารย์องค์ต่างๆ ว่าใครเป็นอย่างไร มีปฏิปทาได้ปฏิบัติผ่านมาได้ผลอย่างไร ท่านเหล่านั้นมีนิสัยอย่างไร ? ตอนนี้ท่านให้ถามตอนก่อนจะบีบนวดถวายท่าน เป็นตอนค่ำ หรือตอนบ่ายโมงระหว่างถวายน้ำชาและน้ำดื่มอื่นๆ เป็นต้น

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ธ.ค. 2010, 11:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถระ


ตอนพระวิริยังค์เดินธุดงค์กับพระอาจารย์มั่นฯ ๒ ต่อ ๒

ระยะใดเล่าจะสำคัญอย่างยิ่งยวด และปลื้มใจได้ความรู้ประสบการณ์แห่งของจริง เท่ากับครั้งนี้ไม่มีแล้ว ในชีวิตของผู้เขียน มันเป็นปรากฏการณ์ที่มีความจริงเป็นหลักฐาน เพราะเหตุคือการเดินธุดงค์กับพระอาจารย์มั่นฯ เพียง ๒ ต่อ ๒ ซึ่งก็มีบุรุษบ๊องๆ อยู่คนเดียวเท่านั้นที่ติดตามไป ผู้เขียนจะต้องจารึกเป็นประวัติศาสตร์ทางใจไว้อย่างไม่มีการเลือนลาง ทั้งนี้เพราะความเมตตาปรานีของท่านอาจารย์มั่นฯ มีแก่ผู้เขียนเป็นกรณีพิเศษนั่นเอง เป็นการให้การศึกษากับความเป็นจริง แม้ผู้เขียนจะได้เคยเดินธุดงค์มาแล้วอย่างโชกโชนกับพระอาจารย์กงมาเป็นระยะเวลาถึง ๘ ปีก็ตาม แต่นั่นก็เป็นการฝึกฝนในเบื้องต้น ซึ่งมิได้เหมือนกับครั้งนี้ เพราะเป็นการฝึกในขั้นพระปรมาจารย์ที่ผู้เขียนนับถืออย่างสุดยอด

พ.ศ. ๒๔๘๖ เป็นปีที่จะมีการถวายพระราชทานเพลิงศพของพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถระ ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของพระอาจารย์มั่นฯ มาแต่เดิม ข่าวได้ถูกส่งมาจากจังหวัดอุบลราชธานี โดยแม่ชีพวงว่า ให้ท่านขึ้นเครื่องบินไปที่จังหวัดอุบลฯ แม่ชีพวงได้บุ๊กตั๋วเครื่องบินถวาย

ขณะนั้นผู้เขียนก็ยังอยู่วัดร้างนี้กับพระอาจารย์มั่นฯ ตามปรกติ เมื่อได้รับข่าวอย่างนั้นแล้ว ท่านได้บอกกับผู้เขียนว่า “จะไปขี่มันเฮ็ดหยัง ขาเฮามี”

ท่านได้พูดว่า เดินไปก็ได้ เราเคยเดินไปตั้งหลายครั้งแล้วที่จะไปอุบลฯ จึงเป็นที่ทราบก็กันทั่วไประหว่างพระเถรานุเถระที่มาอยู่เพื่อการศึกษาธรรมกับท่านจำนวนมาก เมื่อทราบว่าพระอาจารย์มั่นฯ จะไปในงานพระราชทานเพลิงศพของพระอาจารย์เสาร์ ก็จัดแจงเพื่อติดตามไปกันทั้งหมด จึงจะต้องเป็นขบวนใหญ่มิใช่ธรรมดา

แต่ด้วยเหตุผลอย่างไร ? ท่านอาจารย์มั่นฯ จึงให้ผู้เขียนเพียงผู้เดียวติดตามท่านและเป็นการเดินเท้าธุดงค์จากบ้านนามนไปถึงพระธาตุพนม เป็นหนทางประมาณ ๕๐ กว่ากิโลเมตร ส่วนพระเถรานุเถระทั้งหลายก็ติดตามไปภายหลัง

เมื่อท่านกำหนดวันเป็นที่แน่นอนแล้ว ได้ออกเดินเท้าจากบ้านนามน โดยมีผู้เขียนติดตามกับฆราวาสอายุกลางคนไปด้วย การเดินทางครั้งนี้จึงเป็นที่พอใจของผู้เขียนอย่างบอกไม่ถูก นับเป็นบุญของตัวแท้ๆ ทีเดียว

ขณะที่เดินไปนั้นท่านอาจารย์มั่นฯ เดินไปข้างหน้า ผู้เขียนเดินตามหลัง รู้สึกว่าท่านยังแข็งแรงมาก ขณะนั้นท่านอายุประมาณ ๗๔ ปีแล้ว ดูการเดินของท่านยังกระฉับกระเฉง ในขณะที่ผู้เขียนอายุ ๒๓ ปี รู้สึกว่าเป็นการแตกต่างกันมาก ประหนึ่งปู่กับหลานเอาทีเดียว เหนื่อยแล้ว แสงแดดก็กล้ามาก ร้อนจัด เป็นกลางทุ่ง เขาเรียกทุ่งนี้ว่า ทุ่งจำปานาแก เป็นทุ่งกว้างมาก ต้องใช้เวลาเดินหลายชั่วโมง คนแถบนี้กลัวกันนักเมื่อจะเดินข้ามทุ่งนี้

มีต้นไม้อยู่ต้นหนึ่ง มีร่มเงาพอสมควร ท่านบอกว่าแวะเข้าไปพักที่นี่ก่อนเถอะ ผู้เขียนรีบเดินไปก่อนไปจัดที่ นำเอาอาสนะไปปูถวายให้ท่านนั่งสบาย ถวายน้ำดื่มเรียบร้อยแล้ว ท่านก็พูดว่า

“วิริยังค์ เหนื่อยบ่”

“ไม่เหนื่อยเลยครับ” ผู้เขียนตอบ

“ดีแล้ว” ท่านว่า “แต่การที่เธอมากับเรานี้มีความรู้สึกอย่างไร”

“เป็นโชคชีวิตของกระผมที่สุดแล้วครับ” ผู้เขียนตอบ

“เวลาเดินเธอตั้งใจอย่างไร” ท่านถาม

“กระผมตั้งสติไว้ทุกระยะเลยครับ เพราะรู้ว่าได้เดินมากับท่านที่ทรงคุณธรรม”

“เออดี” ท่านว่า แล้วท่านเล่าว่า

“ทุ่งจำปานาแกนี้เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของคนในละแวกนี้ และนาแถบนี้ไม่ค่อยจะเสีย ดีทุกๆ ปี แต่ระยะที่พวกเรามา เขาเก็บเกี่ยวกันหมดแล้ว ดูแต่ซังข้าวเป็นไร ซังใหญ่ๆ ทั้งนั้น แสดงว่าข้าวงามมากปีนี้ ทำให้ผู้เขียนคิดในใจว่าท่านอาจารย์นอกจากท่านจะมีความรู้ในธรรมแล้ว งานชาวบ้านท่านก็ทราบเหมือนกัน แสดงว่าแม้ท่านจะอยู่ที่ไหน ท่านต้องศึกษาความเป็นอยู่ของท้องถิ่นนั้นๆ มิใช่แต่จะก้มหน้าก้มตาสอนแต่การปฏิบัติธรรมอย่างเดียว

ขณะผู้เขียน (ขออภัย) ได้ขออนุญาตเข้าป่าละเมาะเพื่อถ่ายอุจจาระ เมื่อเสร็จกิจแล้วกลับออกมา ทุกๆ ระยะที่ผู้เขียนเข้าไปถ่ายอุจจาระและกลับ หาได้พ้นสายตาของท่านไม่ เมื่อกลับมานั่งอยู่ใต้โคนไม้นั้นแล้ว ท่านจึงพูดว่า

“ทำไมไม่เอาน้ำไปชำระ”

“ที่นี่เป็นป่า หาน้ำยากกระผม” ผู้เขียนตอบ

“นี่แหละถือว่าผิดวินัย” ท่านพูดและได้พูดต่อไปว่า “การศึกษาพระวินัยนั้นสำคัญ บุคคลจะมาถือเลศอย่างนั้นอย่างนี้แล้วพากันปฏิบัติหลีกเลี่ยงพระวินัยหาควรไม่”

“ในที่นี้เป็นที่ทุรกันดาร ควรจะรับยกเว้นพระวินัยข้อนี้ กระผม” ผู้เขียนตอบ

“ไม่มีการยกเว้น ในเมื่ออยู่ในความสามารถ” ท่านพูด และพูดต่อไปว่า “ทั้งที่ลับและที่แจ้งก็ต้องรักษาพระธรรมวินัย ถ้าผู้ใดมาหาวิธีหลีกเลี่ยงพระธรรมวินัยแม้เล็กน้อย ผู้นั้นชื่อว่าทำลายตนเอง”

ทำเอาผู้เขียนเสียวหลังขึ้นมาเลย นี่ก็นับว่าท่านอาจารย์มั่นฯ ได้สอนผู้เขียนทุกระยะเลยทีเดียว เหตุเช่นนี้ผู้เขียนนึกในใจว่าบุญของเราแท้ๆ ที่ได้พระอาจารย์ผู้รับผิดชอบในตัวของเรา แม้แต่ในเวลาถ่ายอุจจาระ ท่านยังไม่ทอดทิ้ง ยังดูแลตลอดทุกอิริยาบถ ถ้ามีอาจารย์อย่างนี้ ไม่ได้ดี ก็ไม่รู้จะไปได้ดีอย่างไรอีกแล้ว

ต่อจากนั้นก็ออกจากร่มไม้ เดินเข้าหนทางกันต่อไป มันเป็นทางที่ไม่ค่อยเปลี่ยวเท่าไรนัก และขณะนี้ศิษย์กับอาจารย์ก็กำลังเดินอยู่ในเขตของอำเภอนาแก จังหวัดนครพนม หนทางนี้เป็นทางสัญจรของประชาชนแต่ก็ไม่มากนัก นานๆ จะพบคนและหมู่บ้านเป็นระยะ ถ้าผู้เขียนหวนระลึกถึงทางที่เดินผ่านภูเขาดงพญาเย็นมาแล้ว การเดินทางผ่านเข้าอำเภอนาแกนี้ก็ไม่มีความหมายแต่อย่างใด แต่ความหมายที่สำคัญที่สุดคือการเดินไป ๒ ต่อ ๒ กับพระอาจารย์มั่นฯ ซึ่งท่านจะทำความหมายให้แก่ผู้เขียนตลอดชีวิต และเมื่อเดินไปท่านก็ถามอะไรหลายอย่าง ซึ่งจะเขียนให้หมดดูจะเลอะไป

บางครั้งท่านก็ถามว่า “วิริยังค์ ทำไมจึงมาบวช”

ผู้เขียนก็ตอบว่า “เพราะภาวนาเห็นทุกข์”

“ใครสอนให้ครั้งแรก ?”

“ไม่มีใครครับ !”

“ทำยังไงจึงเป็นสมาธิ ?”

“เป็นขึ้นมาเองครับกระผม !”

“เป็นขึ้นมาได้อย่างไร ?”

“วันหนึ่งเพื่อนกระผมชวนไปวัดทั้งๆ ที่กระผมไม่อยากไป แล้ววัดนี้ท่านอาจารย์กงมาเป็นสมภารอยู่ กระผมได้เข้าไปแล้ว ไม่ทราบขนบธรรมเนียมนั่งปนผู้หญิงอยู่ อาจารย์กงมาได้เรียกมานั่งอีกข้างหนึ่งใกล้ๆ ท่าน ขณะนั้นกระผมต้องเหงื่อแตกเพราะอึดอัดใจ เพื่อนของกระผมอ่านหนังสือไม่ออก จึงไปต่อมนต์ด้วยปากกับพระอาจารย์กงมา ต้องอยู่ถึงเที่ยงคืน กระผมก็กลับบ้านคนเดียวไม่ได้เพราะกลัวผี จำเป็นต้องอยู่ อยู่ไปนั่งไป นึกในใจอย่างเดียวว่า (ตั้งแต่นี้ต่อไปไม่มาอีกแล้วๆๆ) อย่างนี้ ไม่ช้าเท่าไรปรากฏว่า ตัวของกระผมหายไปเลย เบาไปหมด ขณะนั้นปรากฏว่ากระผมมี ๒ ตัว กระผมตัวหนึ่งได้เดินออกจากร่างเดิมแล้วเดินลงศาลานั้นไป ขณะนั้นมองไปโดยรอบทิศไม่เห็นใครเลยแม้แต่อาจารย์ คงเห็นแต่ร่างของกระผมนั่งอยู่ เมื่อเดินไป ได้ออกไปที่ลานวัดทางด้านตะวันออกแล้วก็ไปยืนอยู่ที่นั้น ขณะนั้นมีลมชนิดหนึ่งพัดหวิวเข้ามาสู่หัวใจ รู้สึกเย็นเอาจริงๆ สบายบอกไม่ถูกในขณะนั้นถึงกับอุทานออกมาเองว่า “คุณของพระพุทธศาสนา มีถึงเพียงนี้เทียวหรือ ?”

“ต่อจากนั้นปรากฏว่าเดินกลับมาที่เดิม และขึ้นศาลาหลังนั้น มองไปโดยรอบไม่เห็นใครแม้แต่เพื่อนของผม คงมองเห็นแต่ร่างของผมนั่งอยู่ ผมมานึกว่า ‘เอ ทำไมเราจะเข้าร่างเราได้หนอ ?’ ทันใดนั้นผมก็รู้สึกตัว แต่เมื่อรู้สึกตัวขั้นแรกนั้นได้ยินเสียงก่อน เป็นเสียงเพื่อนผมและพรรคพวกกำลังท่องสวดมนต์ แต่ปรากฏเหมือนไกลลิบสุดกู่ แล้วเสียงนั้นก็ค่อยๆ ใกล้เข้าๆ จนรู้สึกปรกติ ก็พอดีเป็นเวลาเขาเลิกกัน เที่ยงคืน”

“กระผมอดไม่ไหว แม้จะกลัวท่านอาจารย์กงมา เพราะพึ่งจะเข้าวัดวันนี้เอง แต่กระผมก็ต้องถามท่านอาจารย์กงมาว่า กระผมเป็นอะไรไป จึงดีอย่างนี้ และก็เล่าความเป็นจริงนั้นถวาย ท่านอาจารย์กงมาถึงตะลึง ว่า ‘เอ เด็กนี่เรายังไม่สอนสมาธิให้เลย ทำไมมันจึงเกิดได้เร็วนัก’ ท่านจึงบอกกระผมว่า ‘ดีแล้วเธอ เรายังไม่ได้หัดสมาธิให้เลย เป็นขึ้นมาก่อนแล้ว และจงพยายามทำต่อไปเถิด”

นี่แหละครับ ผู้เรียนเล่าถวายท่านอาจารย์ฯ ท่านอาจารย์มั่นฯ ก็ได้พูดว่า

“มันแม่นแล้ว เธอมีความเป็นต่างๆ มีบารมีพอสมควร มิฉะนั้นจะได้บวชหรือ ?”

วันนี้ ๒ ศิษย์อาจารย์ก็เดินไปถึงบ้านนาโสก อำเภอนาแก มีวัดป่าอยู่วัดหนึ่ง และที่แห่งนี้เมื่อหลายปีมาท่านเคยมาพักแต่ไม่เป็นวัด ท่านได้พาผู้เขียนเข้ามาพักอยู่วัดนี้ และก็เป็นความดีใจของสมภารเป็นอย่างยิ่ง กุลีกุจอจัดการสถานที่พัก ทั้งญาติโยมเมื่อทราบข่าวก็พากันมานมัสการเป็นการใหญ่ แม้ว่าท่านจะเหนื่อยจากการเดินทาง ท่านก็ยังแสดงธรรม และมีธรรมกถาต่างๆ แก่ญาติโยมที่มาเยี่ยมกันจนดึกดื่น

ในตอนเช้าวันรุ่งขึ้นมีศรัทธาญาติโยมทั้งหลายมาทำบุญถวายอาหารบิณฑบาต ผู้เขียนยังจำได้ว่า ได้ฉันน้ำมะพร้าวอ่อนอร่อยมาก หลังจากฉันภัตตาหารเช้าแล้ว ๒ ศิษย์อาจารย์ก็เดินทางกันคือไป โดยมีโยมบ๊องๆ คนหนึ่งเป็นผู้ช่วยเหลือบริขารและเป็นกปิยะการกไปในตัวด้วย

ขณะนี้กำลังเดินผ่านอำเภอนาแก จังหวัดนครพนม ท่านอาจารย์ได้พูดว่า ระหว่างธาตุนารายณ์เจงเวงกับพระธาตุพนมนี้ เป็นเขตแดนติดต่อของสองจังหวัดได้แก่จังหวัดสกลนครและจังหวัดนครพนม เป็นความศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านในภาคนี้มีความเชื่อกันว่านาไร่แถบนี้ไม่ค่อยจะเสียหายด้วยการแล้งน้ำหรือด้วยการน้ำท่วม ทำให้ชาวบ้านแถบนี้มีความเป็นอยู่ไม่แร้นแค้นนัก

ตามที่ผู้เขียนมักจะสังเกตคำพูดของท่านอาจารย์อยู่เสมอๆ เพราะมิใช่แต่ฟังเท่านั้นจะต้องจดจำที่สำคัญๆ เอาไว้เล่าให้คนอื่นหรือศิษย์ของเราฟังต่อไป

ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกันนอกจากท่านจะพูดถึงเรื่องคนในย่านนี้แล้ว ท่านก็พูดต่อไปอีกว่า “คนแถวๆ นี้สนใจในธรรมดีพอสมควร ดูแต่เราพักกันอยู่ที่ไหนจะมีคนถือขันดอกไม้มาขึ้นธรรม หมายความว่ามาเรียนกัมมัฎฐานนั่นเอง แต่คณะอาจารย์ก็มีหลายพวก จึงทำให้เขาต้องเรียนกันหลายวิธี ทำให้เกิดความไขว้เขวกันมาก”

ผู้เขียนได้เรียนท่านว่า “เราจะมารวมกันสอนกัมมัฏฐานแบบเดียวกันเสียทั้งประเทศไทยจะไม่ดีหรือ เพราะจะได้ไม่ไขว้เขว และได้ผลอย่างประเสริฐด้วย”

ท่านตอบว่า “มันเป็นไปไม่ได้ดอก เพราะอาจารย์กัมมัฏฐานแต่ละองค์ก็มิใช่หมดกิเลส นำเอาแต่ความเห็นของตน พยายามข่มผู้อื่นด้วยการสอนไปตามความเข้าใจของตัวเอง โดยไม่คำนึงถึงความจริง ถ้าจะไปเอาแบบคนอื่น ก็กลัวว่าจะเสียเกียรติอะไรเสียอย่างนั้น ซึ่งเป็นทางเสียหายมาก”

การเดินธุดงค์ครั้งนี้แม้จะไม่มาราธอน เหมือนกับที่ท่านอาจารย์กงมาพาเดินจากจังหวัดจันทบุรีถึงจังหวัดสกลนครก็ตาม แต่ก็เป็นการเดินธุดงค์แบบสาธิตก็เพราะเดินธุดงค์ไปแล้วได้ฝึกฝนจิตใจ ทั้งได้รับความรู้แปลกๆ ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นจากการเดินธุดงค์ครั้งนี้อย่างมากมาย ทำให้ผู้เขียนคิดว่า ในชีวิตความเป็นพระภิกษุสามเณรของเรานี้มันช่างมีการต่อสู้อย่างหนักหน่วงเอาจริงๆ แต่ว่าเป็นการต่อสู้แบบนักรบที่ยืนหยัดอยู่บนอุดมคติ จึงทำให้การต่อสู้นี้มีรสชาติขึ้นอย่างบอกไม่ถูก ว่าถึงผลของการดำเนินไปของชีวิต ดูเป็นผลที่เกิดขึ้นอย่างน่าพอใจ จะอย่างไรก็ตาม ขณะนี้ผู้เขียนกำลังเดินตามหลังพระอาจารย์มั่นฯ ผู้เป็นปรมาจารย์ทางกัมมัฏฐานอยู่ การเดินก็ใกล้ที่จะถึงองค์พระธาตุพนมเข้าไปทุกขณะ พระอาทิตย์กำลังจะคล้อยลงทุกทีๆ

ท่านอาจารย์มั่นฯ จึงหันหน้ามาทางผู้เขียน แล้วพูดว่า

“วิริยังค์ เรานอนกันที่นี่สักคืนเถอะ”

“จะจำวัดตรงไหนดีครับ” ผู้เขียนถาม

“โน่นยังไงกระต๊อบนาเขา เข้าไปดูซิว่ามันร้างหรือเปล่า ?” ท่านตอบ

ผู้เขียนก็รีบเดินเข้าไปที่กระต๊อบนั้น เมื่อสังเกตดูแล้วไม่มีใคร เพราะเขาร้างไว้ กลับบ้านกันหมด เป็นกระท่อมนา ผู้เขียนมารายงานให้ท่านทราบแล้ว ก็จัดแจงขึ้นบริขารเข้าไปที่กระท่อมนาหลังนั้น จัดการปัดกวาดทำความสะอาด กางมุ้งกางกลดของท่านเสร็จแล้ว ผู้เขียนก็รีบจัดการหาน้ำเพื่อถวายให้ท่านสรง

ขณะนั้นก็เป็นเวลาจวนค่ำแล้ว ท่านใช้ให้ผู้เขียนกับอุบาสกคนบ๊องๆ นั้นไปจัดทางเดินจงกรม ทำให้ผู้เขียนอุทานในใจว่า “นี่ท่านเดินมาตั้ง ๒๐ กว่ากิโลเมตร ทำไมหนอจะต้องมาเดินจงกรมอีก มันจะมิเกินไปหรือ ?”

แต่เมื่อถูกคำสั่งแล้วก็ต้องทำตาม แม้จะเป็นเวลาจวนมืด รีบเร่งเต็มทีครึ่งชั่วโมงทุกอย่างเรียบร้อย ทันทีทางเรียบร้อยท่านเข้าทางเดินจงกรม ผู้เขียนยังคิดอิดโรยอยู่ในใจว่าจะเดินหรือไม่เดินหนอ จงกรมนี่ ! ต้องเดิน ก็ท่านแก่กว่าเรา เราแค่อายุ ๒๓ ตกลงเดิน ผู้เขียนนึกว่าท่านก็คงเดินสักประเดี๋ยว ที่ไหนได้นานพอดู ทำเอาผู้เขียนเดินจงกรมตัวเบาไปเลย จึงทำให้ได้ความคิดอย่างหนึ่งว่า

“ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านสอนเรา เพื่อให้เรานำเอาตัวอย่างนี้ไปใช้ เพราะการชำระจิตด้วยการเดินจงกรมนั้น โมหะครอบงำยาก การเดินมาเหนื่อยๆ แล้วนั่งสมาธิ โมหะครอบงำได้เร็ว เนื่องจากเหน็ดเหนื่อย”

ข้อนี้ผู้เขียนยังจดจำจนบัดนี้ ถึงอย่างนั้นก็ไม่วายจะขี้เกียจเดินจงกรม แต่เมื่อนึกถึงตอนธุดงค์กับท่านอาจารย์มั่นฯ แล้วขยันทุกที หลังจากเดินจงกรมแล้ว ผู้เขียนก็รีบขึ้นไปจัดน้ำชาไว้คอยท่าน ท่านก็ได้ขึ้นไปบนกระท่อมนาแล้วก็นั่งที่อาสนะที่ข้าพเจ้าได้จัดถวาย ตอนนี้รู้สึกว่าเงียบดีปราศจากคนที่จะเข้ามารบกวน มีอยู่คนเดียวก็บ๊องๆ ไม่ใคร่เต็มบาท และแกก็ไม่มายุ่งอะไรกับเราและอาจารย์ แกก็ไปนั่งอยู่ห่างๆ มิได้สนใจอะไรกับพวกเราเลย แกเพียงคิดว่าจะแบกจะหาบเมื่อถึงเวลาเดินทางเมื่อไรเท่านั้น

ก็เป็นโอกาสดีของผู้เขียนที่จะได้เรียนถามถึงธรรมต่างๆ และข้อปฏิบัติอันที่ข้องใจวิสาสะอย่างเป็นกันเอง แต่ก็อีกนั่นแหละ โดยส่วนมากท่านจะอธิบายเสียก่อนเราจะถามเสมอ ในเมื่อเราคิดอยากจะรู้อะไรต่างๆ เช่นคราวนี้ท่านพูดขึ้นว่า

“วิริยังค์ คุณเคยเห็นไหมที่นักปฏิบัติกัมมัฏฐาน หรือพวกที่ทำสมาธิภาวนาคุยอวดตัวอวดตน ถือมานะทิฏฐิว่าดีกว่าผู้อื่น เข้าใจตัวเองผิด ทำสมาธิเพื่อโอ้อวด แข่งดี ทำสมาธิเพื่ออุบาย-กโลบายต่างๆ นานา”

ผู้เขียนตอบว่า “เคยเห็นครับ รู้สึกว่าพวกเราก็มี”

ท่านพูดว่า “ก็นั่นซี ทำอย่างไรจึงจะรู้ถึงว่า ไม่เอาจริง เอาจัง ทำสมาธิเพื่อกโลบาย”

ท่านได้อธิบายต่อไปว่า “ผู้มีความหวังเป็นใหญ่ หวังเพื่อปฏิบัติ โดยต้องการจะให้คนแห่แหนกันเข้ามา เป็นการออกอุบายเพื่อหาเหตุเหล่านี้ ย่อมไม่บริสุทธิ์ทั้งตนและผู้อื่น”

เมื่อเวลาดึกเข้ามาแล้วท่านก็เอนหลัง ผู้เขียนก็ทำหน้าที่นวดตามปรกติ

รุ่งเช้าออกบิณฑบาตสององค์ ผู้เขียนและท่านอาจารย์มั่นฯ ซึ่งก็เป็นบรรยากาศหาได้ยากในชีวิตของการมาอยู่กับท่านอาจารย์มั่นฯ ของข้าพเจ้าเป็นอย่างยิ่ง คิดแล้วคิดอีกในใจของผู้เขียนถึงความเมตตากรุณาของท่านที่มีต่อผู้เขียน ซึ่งมันทำให้เกิดความอุ่นใจและซึ้งใจอย่างบอกไม่ถูก ในบรรยากาศและความกรุณาปราณีเของท่านในเพราะเหตุนี้

มีหมู่บ้านอยู่บ้านหนึ่งชื่อบ้านต้อง ไม่ใหญ่นัก พวกเราเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้านนี้ ก็ไม่มีการแตกตื่นอะไรเพราะพวกเขาก็ไม่ทราบว่าท่านอาจารย์มั่นฯ จะมีอะไรพิเศษ พวกเราก็เข้าไปบิณฑบาตอย่างพระธรรมดา ใส่บาตรกันตามปรกติ ได้อาหารมาพอสมควรแล้วก็กลับมา อาหารก็นิดหน่อยพอฉันกับฆราวาสหนึ่งคนไม่เหลือ เป็นอันว่าหมดวันไป

รูปภาพ
พระธาตุพนม (ในปัจจุบัน) ประดิษฐาน ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร
บ้านธาตุพนม ต.ธาตุพนม อ.ธาตุพนม จ.นครพนม



หลังจากฉันเสร็จวันนั้น ท่านก็พาออกเดินทางต่อไปเพื่อไปที่พระธาตุพนม คราวนี้เดินตามทางรถยนต์เป็นทางลูกรัง ใช้เวลาประมาณ ๒ ชั่วโมงเศษก็ถึงพระธาตุพนม ท่านได้พาแวะพักที่วัดอ้อมแก้ว ซึ่งเป็นวัดที่ท่านอาจารย์เสาร์มาสร้างเอาไว้ ไม่ไกลจากพระธาตุพนมเท่าไรนัก เป็นวัดสงบสงัดดีวัดหนึ่ง

วันหนึ่งท่านได้พาผู้เขียนไปนมัสการพระธาตุพนม ซึ่งไม่ไกลนักจากวัดนี้ เป็นเวลาเย็นเดินสบาย ขณะที่กำลังไหว้นมัสการพระธาตุพนมนั้น ท่านได้พูดว่า

“เราเองแหละที่มาสถาปนาพระธาตุพนมแห่งนี้ หลายสิบปีมาแล้ว ในสมัยที่เรามาครั้งนั้นยังไม่มีใครสนใจ แต่เถาวัลย์ปกคลุมอยู่”

และท่านได้พูดเสริมต่อไปว่า “ที่นี้เป็นที่บรรจุพระอุรังคธาตุ”

ผู้เขียนถามท่านว่า “อุรังคธาตุ คือธาตุอะไร”

“ก็ธาตุอกยังไงเล่า !” ท่านตอบ

“และใครเป็นผู้นำพระบรมธาตุนี้มา”

“พระมหากัสสปะ” ท่านว่า “ตามนิทานว่าอย่างนั้น”

ผู้เขียนได้ถามท่านว่า “ที่นี้จะชื่อว่าเป็นพระบรมธาตุจริงหรือไม่”

“ก็จริงซิ มิฉะนั้นเราจะมาจัดการสถาปนาขึ้นหรือ ?” ท่านตอบ ก็ทำให้ผู้เขียนมั่นใจขึ้นมาก ในเมื่อได้รับคำตอบยืนยันเช่นนี้

อยู่ที่วัดอ้อมแก้วนี้เป็นเวลาหลายวัน มีแม่ชีคนหนึ่งเป็นผู้ปฏิบัติธรรมทางใจดีมาก ผู้เขียนลืมชื่อเสียแล้ว เป็นคนมีฐานะดี ได้มาส่งอาหารเป็นประจำทุกวันและเธอก็ดีใจมากที่ท่านอาจารย์มั่นฯ ได้มาพักอยู่ที่วัดนี้ เพราะเธอก็ถือว่าวัดนี้เป็นของเธออยู่แล้ว

ผู้เขียนได้รับความอิ่มใจ และปีติในใจอีกครั้งกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันได้เกิดขึ้นแก่ผู้เขียน วันนั้นเป็นเวลาบ่ายแล้ว ขณะนั้นท่านก็กำลังให้ผู้เขียนบีบนวดถวายเป็นประจำ เมื่อนวดเสร็จ ท่านได้เอามือจับฟันของท่านดึงออกมายื่นให้ผู้เขียน แล้วพูดว่า

“วิริยังค์ จะเอาไหม ?”

ผู้เขียนรีบรับทันทีว่า “เอาครับ”

รีบยกมือประณมเข้าไปรับเอาฟันชี่นั้นมาอย่างปีติยินดีเป็นอย่างยิ่งยวด และขณะที่ดึงฟันซี่นี้ออกเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นในปากของท่าน เลือดแม้แต่หยดเดียวก็ไม่มี เป็นฟันหลุดออกมาแท้ๆ และตั้งแต่บัดนั้น จนท่านมรณภาพก็ไม่ปรากฏว่ามีฟันหลุดออกมาอีกเลยแม้แต่ซี่เดียว จึงเป็นลาภอันประเสริฐของผู้เขียน ที่ได้มีโชคได้รับมูลมรดกคือฟันซี่นี้

มิใช่คิดว่าจะเป็นการหลงวัตถุภายนอก โดยการไม่ใฝ่ใจในธรรมซึ่งเป็นความประสงค์ในการมาอยู่กับท่านอาจารย์มั่นฯ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ก็เท่ากับรางวัลอันเป็นอนุสติ เพราะความระลึกถึงในส่วนของธาตุขันธ์อันนับเนื่องมาจากตัวของท่านผู้บริสุทธิ์ ผู้เขียนยังเก็บฟันของท่านไว้จนถึงทุกวันนี้ เป็นการระลึกถึงว่า สมัยหนึ่งเราได้อยู่ปฏิบัติธรรมกับท่านผู้ทรงคุณวุฒิ ประการหนึ่งก็ทำให้ระลึกวาจากัน เป็นคำพูดอย่างลึกซึ้งของธรรมทั้งหลาย ที่ท่านได้เลือกคัดจัดสรรมาให้เราได้ฟังกันนั้น มันยังฝังลึกอยู่ในส่วนลึกของหัวใจพวกเราอย่างหนักแน่น ว่าถึงผู้ที่ได้รับคุณธรรมตามเป็นจริง

ถึงแม้ว่า ฟันซี่นี้ของท่านจะพูดไม่ได้อีกแล้ว เพราะไม่มีวิญญาณ แต่ฟันซี่นี้ก็ยังมีผู้เขียนเป็นผู้ระลึกถึงคำพูดอันเป็นธรรมวิจิตรของท่านอยู่ผู้หนึ่ง ทั้งยังเป็นผู้พูดแทนท่านอีกด้วย ผู้เขียนต้องยอมรับอย่างเปิดอกว่า ธรรมเทศนาที่ผู้เขียนใช้สอนพุทธบริษัทอยู่ทุกวันนี้ ก็คือได้จำมาจากขี้ฟันของท่านอาจารย์มั่นฯ มานั้นเอง ฟันซี่นี้จึงมาทำอนุสติสำคัญนักแก่ผู้เขียน แม้ธรรมต่างๆ ที่ผู้เขียนได้คิดขึ้นจากปรีชาของตนเองก็มิใช่ไม่มี มีเหมือนกัน และก็ได้ใช้ให้เป็นประโยชน์อย่างมหาศาลจากต้นคลังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเอง

ครั้งหนึ่งผู้เขียนได้ไปประเทศซีลอน (ลังกา) ได้มีโอกาสไปที่จังหวัดแคนดีอันเป็นที่ประดิษฐานพระเขี้ยวแก้ว ผู้เขียนได้เข้าไปชมพระเขี้ยวแก้วครั้งนี้โดยการบังเอิญที่สุด ขณะที่ผู้เขียนเดินเข้าไปที่ปราสาทอันเป็นที่ประดิษฐานพระเขี้ยวแก้วนั้น ก็พอดีพระสังฆราชของลังกาประเทศนี้ได้เข้ามาพอดี มันเป็นวันพิเศษที่พระสังฆราชเสด็จมา ผู้เขียนก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าพระองค์นี้เป็นพระสังฆราช ผู้เขียนก็เดินตามท่านไป มีพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ยืนรับอยู่สองฟากทางเข้า ผู้เขียนก็ชักเอะใจว่าพระองค์นั้นคงเป็นพระสำคัญ แต่ไหนๆ เราก็เดินตามท่านมาแล้วจะเอะอะไปอย่างไร ตกกระไดพลอยโจนเถอะ เดินตามท่านเข้าไปโดยมิได้มีใครแม้แต่คนเดียวตามเข้าไปเลย มีแต่เจ้าหน้าที่ไขกุญแจเปิดประตูเข้าไปเป็นลำดับถึงห้า หกชั้น ข้าพเจ้าต้องตกใจ และทึ่งใจอย่างยิ่งเมื่อเข้าไปถึงที่บรรจุพระเขี้ยวแก้ว เพราะภายในห้องนั้นมันช่างงดงามอะไรเช่นนี้ และมีเครื่องทองเครื่องเพชรมากมายหลายอย่างเป็นมูลค่าเห็นจะไม่ต้องประมาณกันแล้ว

พระสังฆราชกับผู้เขียนยืนเคียงกัน มีทหารยืนยามถือหอกปลายปืนอารักขา ๒ คน พระสังฆราชกับผู้เขียนพูดไม่รู้ภาษากัน ท่านได้ยื่นดอกไม้มาให้ผู้เขียน ๒ กำมือเพื่อทำพิธีบูชา ข้าพเจ้ารับดอกไม้นั้นอย่างอ่อนน้อมเป็นพิเศษ พระสังฆราชยิ้ม แล้วท่านก็โปรยดอกไม้ลงที่แท่นบูชา ข้าพเจ้าก็โปรยดอกไม้ลงที่แท่นบูชาเหมือนกัน ท่านประนมมือกล่าวคำบูชา ข้าพเจ้าก็ประนมมือกล่าวคำบูชาประมาณ ๑๐ นาที

เวลาอันระทึกใจของผู้เขียนได้เกิดขึ้นแล้วในขณะนี้คือ พระสังฆราชเปิดผอบครอบพระเขี้ยวแก้ว แล้วสรงน้ำ ผู้เขียนได้เห็นอย่างถนัดชัดเจน ปลื้มใจอีกแล้ว ว่าถึงใจของผู้เขียน นึกไม่เสียทีที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากประเทศไทย ได้เห็นพระเขี้ยวแก้วนัยว่าเป็นที่หวงแหนของชาวลังกาเหลือเกิน เก็บงำกันอย่างดีกลัวหาย ใครๆ ที่ไปจากต่างแดนยากนักจะเข้าชมถึงที่เช่นนี้ได้ ผู้เขียนนึกในใจว่า แหม ! เราได้เข้าถึงหัวใจชาวลังกาแล้ว ได้เข้าชมถึงที่

ขณะที่เปิดผอบครอบพระเขี้ยวแก้วนั้นเป็นประกายวาบแวบสีเขียว ไม่ใหญ่เท่าไรนัก เพียงเท่านิ้วมือเท่านั้นเอง แต่เป็นธรรมชาติที่สวยงามจริงๆ ไม่ทราบว่าผู้เขียนจะพรรณนาอย่างไรถึงจะถูก พูดได้แต่เพียงว่างามๆๆ และของประดับในสถานที่นั้นมีค่ายิ่งเท่านั้นเอง

ผู้เขียนได้เดินตามหลังพระสังฆราชกลับออกมา พระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกายังยืนเป็นแถวรอรับกันอยู่ มองมาที่ผู้เขียนเป็นสายตาเดียวกันคงนึกว่าเรานี้แปลกแท้ๆ อยู่ๆ ก็มาตามเสด็จพระสังฆราชลังกาได้ ตัวเบาแทบจะลอยอยู่แล้ว คนนำเที่ยวที่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยลังกาเป็นผู้พาผู้เขียนไป ถึงกับตกตะลึง ยืนคอยผู้เขียนอยู่ข้างนอก พอผู้เขียนกลับมา กระโดดเข้าฉุดมือเป็นการใหญ่ บอกข้าพเจ้าว่า

“ทำไมคุณจึงเข้าไปได้ ผมรีบเดินตามไปจะให้คุณกลับ ผมตามไม่ทัน และทหารก็ไม่ให้ผมตามเข้าไป ผมกลัวตำรวจจะจับคุณไป เรื่องจะยุ่งกันใหญ่ ผมรับรองมาจากสถานทูตไทย จะให้ความปลอดภัยแก่คุณ แหม ผมรออยู่ข้างนอกด้วยความไม่สบายใจเลย”

หมดเรื่องสำคัญไปเรื่องหนึ่ง ที่ผู้เขียนแทรกบทเข้ามา จึงต้องขออภัยผู้อ่านด้วย แล้วก็จะวกเข้าเรื่องที่ติดตามท่านอาจารย์มั่นฯ ต่อไป

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ธ.ค. 2010, 11:15 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร เมื่อครั้งยังมีอายุพรรษาไม่มากนัก


ตอนพระอาจารย์มั่นฯ พาพระวิริยังค์
ไปทำศพพระอาจารย์เสาร์


ณ วัดอ้อมแก้วนี้ หลังจากผู้เขียนได้รับฟันอันเป็นรางวัลจากท่านอาจารย์มั่นฯ ในวันนั้นแล้ว ท่านก็ได้เล่าถึงความเป็นไปต่างๆ ของพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถระ ให้ผู้เขียนฟังอย่างละเอียด ทำให้ผู้เขียนได้รู้จักกับความเป็นจริงท่านอาจารย์เสาร์ผู้เป็นอาจารย์ของท่านหลายประการ ที่ผู้เขียนสะดุดใจอยู่อย่างหนึ่งคือ ท่านว่า

“พระอาจารย์เสาร์นี้ วาจาท่านศักดิ์สิทธิ์มาก การแสดงธรรมก็ไม่แสดงมาก คือวันหนึ่งศาลาการเปรียญของวัดชำรุดมานาน วันนี้ท่านขึ้นแสดงธรรม บอกกับโยมทั้งหลายว่า “ศาลาเต็มทีแล้ว สร้างกันให้ดีเสียเถิด”

เพียงเท่านี้ศาลานั้นก็ถูกสร้างขึ้นสำเร็จอย่างรวดเร็ว หรือบางครั้งมีพระดื้ออยู่กับท่าน ท่านบอกว่า “อย่าดื้อเลย”

เพียงเท่านี้พระนั้นก็ไม่ดื้อตลอดชีวิต แต่ว่าท่านอาจารย์เสาร์นี้นานๆ ท่านจึงจะพูด จึงทำให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ในการพูดมาก

ต่อจากพระธาตุพนมนี้ก็จะมีการเดินทางไปจังหวัดอุบลราชธานี อันเป็นที่พระราชทานเพลิงศพ อุบาสกได้มาขอปวารณาปัจจัยค่ารถ ให้ขึ้นรถยนต์ไปที่จังหวัดอุบลฯ ผู้เขียนก็นึกในใจว่า ท่านจะขึ้นรถหรือจะพาเดินเท้าอีกหนอ ? ในคราวนี้

เช้าวันนั้นหลังจากบิณฑบาตมาแล้ว ท่านก็ได้บอกผู้เขียนว่า เวลาถวายพระราชทานเพลิงศพของพระอาจารย์เสาร์ใกล้เข้ามาแล้ว เราจะเดินก็คงไม่ทันต้องขึ้นรถยนต์โดยสารไป จึงให้ผู้เขียนดีใจ และแป้วใจ ที่ดีใจก็จะได้ไม่ต้องเหนื่อย ถึงเร็ว ที่แป้วใจก็คือ เราควรจะได้ธุดงค์กับท่านอีกสักพักใหญ่แต่แล้วก็ไม่มีโอกาส และก็หมดโอกาสเพียงเท่านี้ มาคิดอีกทีท่านก็สงเคราะห์เราเท่านี้จะไปเอาอะไรกับท่านอีกเล่า ขณะนี้ท่านอายุก็ ๗๔ แล้ว หนทางจากนครพนมถึงอุบลฯ นับเป็นร้อยๆ กิโลเมตร

เมื่อได้เวลาของวันเดินทาง ท่านก็พาข้าพเจ้าขึ้นรถโดยสารออกจากอำเภอพระธาตุพนม เป็นถนนลูกรัง ตั้งแต่เช้าถึงจังหวัดอุบลราชธานีตอนเย็นและพักที่วัดเลียบ ที่วัดเลียบนี้เอง ท่านเล่าว่า ท่านอยู่ที่นี่มานาน ทำความเพียรทางสมาธิได้ผลมาก พร้อมกับบอกผู้เขียนว่าท่านอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถระ อยู่ที่นี้เป็นสิบๆ ปี เพราะในขณะนั้นสงบดีมาก และท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) อดีตเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี ก็มาเป็นสามเณรอยู่กับเราที่วัดนี้เอง ก็นับว่าวัดเลียบนี้เป็นที่อยู่ของพระมหาเถระผู้ใหญ่หลายองค์ แม้ขณะที่ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านบำเพ็ญความเพียรได้ทั้งนิมิตสมาธิในขั้นแรกก็คือวัดเลียบนี้เอง

ผู้เขียนได้เดินดูรอบๆ บริเวณ ก็รู้สึกว่ามีความเป็นสัปปายะหลายประการ น่าที่จะเป็นแหล่งทำความเพียรของผู้หวังความสงบได้เป็นอย่างดี เมื่อประชาชนได้ทราบข่าวว่าท่านอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ มาพักอยู่ที่วัดเลียบนี้ ก็ได้พากันมานมัสการท่านมาก และมากขึ้นทุกวัน มีอยู่วันหนึ่งเมื่อญาติโยมมาหลายคนก็อาราธนาท่านอาจารย์มั่นฯ แสดงพระธรรมเทศนา ท่านก็ไม่ขัดข้อง ผู้เขียนก็ถือโอกาสนั่งฟังอย่างจดจ่อเพราะยังไม่เคยเห็นท่านแสดงธรรมแก่ญาติโยมมากอย่างนี้สักที มีแต่แสดงธรรมแก่พระภิกษุ สามเณร

เริ่มการแสดงธรรมเทศนา ท่านได้แสดงว่าบุคคลผู้ประพฤติตัวไม่ดีในพุทธพจน์ว่า ทุวิชาโน ปราภโว ผู้รู้ชั่วทำตัวฉิบหาย เช่น เล่นไพ่ กินเหล้า ท่านแสดงว่าสุรา นารี กีฬาบัตร เที่ยวผู้หญิง พวกนี้พากันล่มหลวง หมายความว่า เมื่อตัวไม่ทำงานยังใช้เวลาเล่นโดยไม่มีประโยชน์ เสียเงิน ภาษีอากรของรัฐก็ขาดไป ตั้งตัวของตนเป็นภัยต่อสังคม อย่างนี้เรียกว่าล่มหลวง ถ้าทำกันมากขึ้นก็เป็นภาระหนักแก่หลวงคือรัฐบาล ที่ว่าวันล่มหลวง วันฟู วันจม ตามตำราหมอดูนั้น มันบ่แม่นดอกท่านว่า วันไม่ได้ล่มหลวง ไม่ฟู ไม่จม ตัวคนนี้ต่างหากที่ฟู ที่จม ที่ล่มหลวง

ขณะที่ผู้เขียนฟังท่านอยู่นั้น ก็คิดในใจว่าท่านอาจารย์มั่นฯ ที่ท่านแสดงธรรมนี้ช่างมีคำคมน่าฟังจริง เราก็พึ่งจะรู้ว่า วันล่มหลวงนั้น ที่แท้ก็คือคนทำความชั่วล่มทั้งตัวทั้งที่รัฐบาล วันนี้เอง และมาเข้าใจว่า ท่านอาจารย์มั่นฯ มิได้สนับสนุนการเป็นหมอดู หรือการดูหมอโชคชาตาราศีต่างๆ

ต่อมา ๒-๓ วันท่านได้พาผู้เขียนไปพักที่วัดบูรพาราม อันเป็นสถานที่ถวายพระราชทานเพลิงศพพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถระ ที่นี้เองได้มีพระเถรานุเถระบรรดาที่เป็นศิษย์ของพระอาจารย์เสาร์ และพระอาจารย์มั่นฯ ได้มาประชุมกันมาก แต่แม้จะมีพระภิกษุสามเณรมาก นับจำนวนหลายร้อยรูป ดูเหตุการณ์ต่างๆ เหมือนกับไม่มีพระเณรเลย น่าที่จะลำบากแก่เจ้าภาพผู้ทำการต้อนรับ ด้วยสถานที่อยู่อาศัยและเครื่องใช้ นี่ไม่มีการลำบากอะไรเท่าไรนัก เพราะแต่ละองค์ที่ท่านมากัน ถือเหมือนกับมาสนองพระคุณของครูบาอาจารย์ ไม่ต้องการให้ผู้ใดมาลำบากด้วย เมื่อมาถึงท่านก็จะเข้าไปดูต้นไม้ป่าไม้หลังวัด จัดแจงกางกลดทำที่นอนโดยไม่มีผ้าปูนอน เอาตีนบาตรเป็นหมอน พักกันไปทั่วบริเวณหลังวัด และต่างก็รับผิดชอบตัวเอง ทั้งน้ำใช้น้ำฉันมีเครื่องใส่น้ำพร้อมสรรพ นำมาเองแบบธุดงค์มา จึงไม่ทำความรำคาญเดือดร้อนให้แก่ผู้เป็นเจ้าภาพจัดงาน มีแต่มาช่วยทำงานกันอย่างจริงจัง ไม่ต้องบอกต้องวาน เห็นว่าตรงไหนควรทำอะไรแล้วท่านได้ช่วยกันทำทุกอย่าง น่าปลื้มใจ ผู้เขียนได้ออกอุทานอยู่ในใจ และท่านเหล่านี้ก็มิได้หวังประโยชน์จากงานศพ ถึงจะนิมนต์หรือไม่ ไม่สำคัญ

ในงานศพของพระอาจารย์เสาร์ในคราวนี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสพบกับพระอาจารย์ใหญ่ๆ หลายองค์ด้วยกัน นับเป็นบุญตาเป็นอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าได้เกิดความเลื่อมใสในใจอย่างประหลาด เพราะแต่ละองค์นั้นมีความสง่าและเหมือนกับซ่อนความลึกลับแห่งความดีอะไรๆ มากทีเดียว

เมื่องานพระราชทานเพลิงศพใกล้เข้ามา ท่านพระเถระผู้ใหญ่บรรดาที่เป็นศิษย์ของท่านอาจารย์ทั้ง ๒ ก็ยิ่งทยอยกันเข้ามามากมายจำนวนหลายร้อยองค์ ดูก็เป็นการประชุมพิเศษ ทุกๆ องค์ที่เข้ามาต่างก็มีความเคารพพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระเป็นพิเศษ โดยเฉพาะตอนกลางคืนเวลาว่าง จะมารวมประชุมขอฟังโอวาทพิเศษ และพระอาจารย์มั่นฯ ก็ได้แสดงธรรมให้แก่ท่านเหล่านั้น ดูเหมือนจะไม่ใช่งานศพ เหมือนกับจะประชุมสังคายนาธรรม หรือเป็นแหล่งอบรมธรรมชั้นพระปรมาจารย์ไปทีเดียว

นี่เองทำให้ผู้เขียนมาระลึกถึงงานพระราชทานเพลิงศพครั้งนี้ว่าการทำศพให้เป็นประโยชน์ และก็เป็นประโยชน์จริงๆ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรมาก เป็นการประชุมผู้ทรงคุณวุฒิแลกเปลี่ยนปรับปรุงความคิดเห็น ในการปฏิบัติธรรม เอาเพียงศพเป็นเหตุเท่านั้น แต่ถือการประชุมมีความสำคัญกว่า แม้คำพูดและคำให้โอวาทของพระอาจารย์มั่นฯ ที่ท่านแสดงออกมานั้น มีข้อความเน้นหนักไปในทางให้รักษาเป็นปฏิบัติปฏิปทาเดิมทั้งสิ้น และแสดงเพื่อให้อาจหาญเชื่อมั่นในข้อปฏิบัติที่ได้กระทำมาแล้วนั้นถูกต้องแล้ว

นี่เองผู้เขียนเห็นว่าการทำศพที่มีประโยชน์เพราะการประชุมเช่นนี้ นานนักจะมีการประชุมกันขึ้นได้ เพราะแต่ละองค์นั้นมิใช่อยู่ที่เดียวกัน ต่างองค์ต่างก็ไปอยู่ตามจังหวัดต่างๆ และเป็นถิ่นทุรกันดารในถ้ำภูเขาเป็นส่วนมาก การที่จะติดต่อพบกันได้จึงลำบากมาก ครั้งนี้ถือเอาศพของพระอาจารย์เสาร์ฯ เป็นเหตุได้มาประชุม อันเป็นมหาสันนิบาต นับว่าเป็นบุญตาของผู้พบเห็นจริงๆ

บรรยากาศตอนหนึ่งผู้เขียนต้องจดจำและซาบซึ้งในใจ คือในวันนั้นเป็นรายการแสดงธรรม โดยพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ ณ ศาลาวัดบูรพา เมื่อพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ได้ทราบข่าว ได้พากันมาประชุมในวันนั้นพอสมควร ผิดคาดที่ผู้เขียนคิดว่า ชาวเมืองอุบลคงจะหลามไหลมาฟังธรรมเทศนาของพระอาจารย์มั่นฯ ส่วนพระภิกษุสามเณรนั้นก็อยู่ประจำอยู่แล้ว จึงมากไปด้วยพระเณรที่ตั้งใจฟังธรรม

พระธรรมเทศนาแสดงผ่านไมโครโฟนเครื่องขยายเสียง เสียงพระธรรมเทศนาจึงดังไปทั่วบริเวณวัด ทุกๆ คนที่อยู่ในบริเวณนี้ถ้าตั้งใจฟังก็ได้ยินหมด การแสดงธรรมเทศนาในวันนี้ใช้เวลาประมาณเกือบ ๒ ชั่วโมง นานพอดูทีเดียว การแสดงธรรมเทศนาในวันนี้ส่วนใหญ่เป็นการแสดงธรรมการปฏิบัติกรรมฐานโดยตรง และปรมัตถนัย เพราะพอเริ่มต้นท่านก็แสดงว่า

ธรรมนั้นอย่าพึงเข้าใจว่าอยู่ที่ไหน อยู่ในตัวของเรานี้เอง ที่ว่าอยู่ในคัมภีร์ใบลานนั้นไม่ใช่ เพราะนั่นเพียงใบไม้เขาเอามาจารึก ว่าอยู่ในวัดก็ไม่ใช่ นั่นคือที่อยู่ของหมู่สงฆ์ ว่าอยู่บนอากาศ ป่าไม้ก็ไม่ใช่ ถ้าอย่างนั้นอยู่ที่ไหน ? ก็อยู่ในตัวของคนเรานี้เอง รูปธรรม นามธรรมอยู่ไหนเล่า ? นั่นแหละคือธรรม ในตัวของเรานี้มีหมด พระโสดา พระสกิทาคา พระอนาคา พระอรหันต์ ก็อยู่ในตัวของเรา พระธรรม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ก็อยู่ในตัวของเรา จึงเมื่อใครต้องการปฏิบัติพระพุทธศาสนา ก็มาปฏิบัติในตัวเรา ท่านได้กล่าวคาถาว่า อคฺคํฐนํมนุสฺเสสุ มคฺคํสตฺต วิสุทฺธิยา มนุษย์เป็นผู้ประเสริฐ สามารถทำให้แจ้งได้ซึ่งมรรคผลนิพพาน

จากนั้นท่านก็อธิบายถึงผู้ปฏิบัติที่หลงอยู่ในสมถะ คือหลงอยู่ในฌาน ท่านว่า สมาธิหัวตอ หมายความว่า มันไม่งอกเงยขึ้น เพราะมัวหลงแต่ความสุข โดยมากไม่รู้หนทางที่แน่นอน จึงถือเอาความสุขของฌานเป็นใหญ่เพราะสบายดี แต่ไม่พ้นทุกข์

และท่านก็อธิบายว่า การดำเนินมหาสติปัฏฐาน มีกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นต้น พิจารณาถึงอนิจจลักษณะ ทุกขลักษณะ อนัตตลักษณะ ให้เห็นจริงขึ้นภายในจิตนั้น จิตนั้นก็จะดำเนินเข้าสู่อริยสัจจ เข้าสู่องค์มรรคในที่สุด

ผู้เขียนได้ฟังแล้วจับใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะได้ผ่านการฟังธรรมเทศนาแบบนี้มาตลอดพรรษาที่แล้ว ที่ได้มาพบและจำพรรษาอยู่กับท่าน แต่ข้าพเจ้าสังเกตดูผู้ฟังบางท่านชักงงๆ อย่างไรไม่ทราบ คงจะไม่ใคร่จะเข้าใจเท่าไร เป็นอันว่าธรรมเทศนาผ่านไป ๒ กัณฑ์ตั้งแต่ท่านได้เยี่ยมเข้ามาจังหวัดอุบลฯ และถือได้ว่าเป็นการมาครั้งสุดท้ายของท่านอาจารย์มั่นฯ

ข้าพเจ้ายังแปลกใจหนักหนาว่า ทำไมชาวจังหวัดอุบลในครั้งนั้น จึงไม่มีความกระตือรือร้น ในอันที่จะเข้ามานมัสการไต่ถามอรรถธรรม หรือข้อปฏิบัติในทางด้านจิตใจกับท่านอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทตฺตเถระ เพราะทุกหนทุกแห่งที่ท่านไป ผู้คนจะหลามไหลไปนมัสการ ทำบุญท่านต่างๆ ตลอดถึงขอฟังธรรมเทศนา และทุกๆ คนก็ได้รับการโปรดปรานธรรมเทศนา หรือสัมโมทนียกถาพอใจไปตามๆ กัน

รูปภาพ
พระปัญญาพิศาลเถร (หนู ฐิตปญฺโญ) พระอุปัชฌาย์
ของหลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร ในคราวอุปสมบทเป็นพระภิกษุ
ณ วัดทรายงาม (อุทกสีมากลางทะเล) จ.จันทบุรี


รูปภาพ
พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร

รูปภาพ
พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม

รูปภาพ
พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล


ตอนพระราชทานเพลิงศพพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถระ

ในขณะนี้การกำหนดพระราชทานเพลิงศพพระอาจารย์เสาร์ก็ใกล้เข้ามาทุกขณะ พระเถระผู้ใหญ่ทุกฝ่ายก็ได้หลั่งไหลเข้ามามากขึ้น พระเถระผู้ใหญ่รูปหนึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดสระปทุมกรุงเทพมหานคร เป็นนักปฏิบัติในอดีต ร่วมกับท่านอาจารย์มั่นฯ ธุดงค์ร่วมกัน แต่ถูกแต่งตั้งเป็นสมภารวัดสระปทุม เลยหยุดการธุดงค์แต่นั้น ท่านผู้นั้นคือ ท่านเจ้าคุณพระปัญญาพิศาลเถร (หนู ฐิตปญฺโญ) เป็นอุปัชฌาย์ของผู้เขียนเอง

ท่านเจ้าคุณองค์นี้เมื่อมาถึง ได้ขอสิทธิพิเศษเข้าไปในห้อง แล้วไม่มีใครเข้าไปด้วย ได้สนทนากับพระอาจารย์มั่นฯ เป็นเวลากว่า ๒ ชั่วโมง ทำเอาผู้เขียนชักจะสงสัย ท่านได้สนทนาเรื่องอะไรกันถึงได้นานอย่างนี้

ข้าพเจ้าเกิดความสนใจขึ้นภายหลังจึงได้ถามท่านอาจารย์มั่นฯ ว่า ท่านเจ้าคุณอุปัชฌาย์พูดเรื่องอะไรกับท่านอาจารย์ ได้รับคำบอกเล่าว่า ท่านได้ถามเรื่องการปฏิบัติทางใจ แม้ท่านจะไม่ได้ออกธุดงค์ อยู่ที่กรุงเทพฯ วัดสระปทุม ท่านก็บำเพ็ญกัมมัฏฐานอยู่ทุกๆ วัน การปฏิบัติจิตนั้นก็ได้รับผลเป็นที่น่าพอใจ ที่ได้ถามกันอยู่นานนั้นคือการเคลียถึงการปฏิบัติที่ผ่านมา ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร การปฏิบัติจิตได้เป็นทางที่ถูกต้องหรือไม่ เป็นอันผู้เขียนหมดความสงสัย

พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พระเถระผู้ใหญ่องค์หนึ่ง ก็ได้มาประชุมและประชุมพิเศษคือมาร่วมฉันกับพระอาจารย์มั่นฯ ที่กุฏิทุกวัน นอกจากนั้นยังได้วิสาสะกับท่านอาจารย์มั่นฯ อย่างใกล้ชิด

ในระยะนี้พระอาจารย์ฝั้นอยู่วัดป่าศรัทธารามในจังหวัดนครราชสีมา ได้จากพระอาจารย์มั่นฯ ไปเป็นเวลานานแล้ว เมื่อได้มาพบกับท่านอาจารย์มั่นฯ ก็ทำให้ท่านได้สากัจฉาธรรมอันเป็นส่วนแห่งการปฏิบัติเป็นพิเศษ ผู้เขียนเข้าใจว่าท่านต้องมีการแนะนำที่พิเศษจริงๆ เพราะหลังจากงานศพนี้แล้วพระอาจารย์ฝั้นก็ได้จากจังหวัดนครราชสีมามาอยู่กับพระอาจารย์มั่นฯ ที่จังหวัดสกลนคร โดยทิ้งจังหวัดนครราชสีมาซึ่งท่านก็อยู่เป็นเวลาร่วม ๒๐ ปี

ในขณะนั้น พระอาจารย์ใหญ่ๆ หรือพระเถระผู้ใหญ่ของฝ่ายกัมมัฏฐาน อันนับเนื่องด้วยความเป็นศิษย์ของพระอาจารย์มั่นฯ ต่างก็ได้ทยอยกันเข้ามาอยู่ให้ใกล้กับท่านอาจารย์มั่นฯ เป็นส่วนมาก ทั้งนี้ก็เป็นความประสงค์ของพระอาจารย์มั่นฯ เหมือนกันเพราะท่านต้องการจะปรับปรุงข้อปฏิบัติปฏิปทาหลายประการ เนื่องจากท่านได้จากศิษย์ทางภาคอีสานไปอยู่ภาคเหนือเป็นเวลา ๑๒ ปี

ในงานพระราชทานเพลิงศพพระอาจารย์เสาร์คราวนี้ จึงเป็นการประชุมศิษย์ทั้งผู้ใหญ่และผู้น้อยของพระอาจารย์เสาร์และพระอาจารย์มั่นฯ และเป็นโอกาสอันสำคัญของท่านทั้งหลายที่จะได้ฟังธรรมเทศนาอันเป็นที่วิจิตรลึกซึ้งของพระอาจารย์มั่นฯ ด้วย

วันหนึ่งเป็นวันอุโบสถ พระเถรานุเถระมาในงานประชุมกันเพื่อทำอุโบสถสังฆกรรม วันนั้นประชุมกันเต็มโบสถ์ ซึ่งผู้เขียนไม่เคยเห็นหน้ามาก่อนมาก ทำให้คิดว่าลูกศิษย์พระอาจารย์เสาร์-พระอาจารย์มั่นฯ มีมาก แต่ละท่านทรงคุณวุฒิน่าเกรงขาม ก็พอดีพระอาจารย์มั่นฯ ได้สั่งให้ผู้เขียนสวดปาฎิโมกข์ในวันนี้ ผู้เขียนไม่ขัดข้อง เพราะการสวดปาฏิโมกข์ผู้เขียนถือว่าเป็นกุศลอันประเสริฐ ตั้งใจท่องปาฏิโมกข์ตั้งแต่บวชเป็นสามเณรปีแรก และได้ไปฝึกวิธีสวดกับพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล น้องชายพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม ขณะนั้นท่านอยู่ที่วัดป่าทรงคุณ จังหวัดปราจีนบุรี

ผู้เขียนรับบัญชาสวดปาฏิโมกข์ในวันนั้น ก็รู้สึกครั่นคร้ามไม่น้อยเลย เพราะแต่ละองค์ที่ประชุมใหญ่โตกันทั้งนั้น แต่การสวดของผู้เขียนก็เป็นไปตามปรกติและสวดได้ดีเป็นพิเศษ ตั้งแต่ต้นจนจบไม่ติดขัดเลย มีเพียง ๒ ครั้งเท่านั้นที่ถูกทักขึ้น

เมื่อจบปาฏิโมกข์ เป็นโอกาสที่จะได้ฟังโอวาทของพระเถระผู้เป็นหัวหน้า นี้เป็นธรรมเนียมของคณะกัมมัฏฐาน ครั้งนี้พระอาจารย์มั่นฯ เป็นพระเถระผู้เป็นหัวหน้าและพระเถรานุเถระเหล่านั้นก็ตั้งใจอยู่แล้วว่า ต้องการจะฟังโอวาทจากท่านอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ

เป็นอันสมใจแก่พระเถรานุเถระทั้งปวงในวันนั้น พระอาจารย์มั่นฯ ได้ให้โอวาทเป็นใจความว่า ข้อปฏิบัติจะให้การปฏิบัติก้าวหน้านั้น ต้องเป็นไปทั้งภายนอกและภายใน ภายนอกนั้น คือความวิเวก หาที่วิเวกปราศจากสิ่งรบกวนต่างๆ ที่อยู่ในป่า ถ้ำ เป็นต้น อย่าไปโฆษณาหาให้คนมาพบหรือวุ่นวายให้มาก อย่าเอาความวิเวกเป็นการอวดอ้าง เมื่อจะอยู่วิเวกอย่าหาเครื่องกังวล เช่น การก่อสร้างอะไรต่างๆ ให้คนหลั่งไหลเข้ามา อย่าอยู่เป็นที่ เพราะการอยู่เป็นที่ทำความกังวล

การปฏิบัติภายนอกก็คือข้อปฏิบัติได้แก่ธุดงค์ ธุดงค์เป็นเครื่องขัดเกลากิเลสที่พระพุทธองค์แสดงไว้ ๑๓ ข้อ เลือกถือเอาที่เหมาะแก่อัธยาศัย เช่น การฉันในบาตร การฉันหนเดียว การบิณฑบาต การถือผ้าเฉพาะสามผืน การอยู่ป่า การอยู่โคนต้นไม้ การเยี่ยมป่าช้า เป็นต้น เหล่านี้ชื่อว่าเป็นข้อปฏิบัติภายนอกที่จะต้องทำ เพราะเป็นอุปกรณ์เพื่อให้เกิดการขัดเกลากิเลส และถ้าหากไม่ทำ ก็จะเป็นเหตุให้เกิดความล่าช้า หรือเกิดความสงบได้ยาก ปัจจัยเหล่านี้เป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้การปฏิบัติทางใจเจริญงอกงาม

ภายในนั้นได้แก่ การดำเนินจิต ต้องดำเนินทั้งสมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐาน ความสงบของใจ โดยการฝึกตามอัธยาศัย ทำจิตให้ปราศจากอารมณ์ มีความตั้งมั่นอยู่ได้ มีสติเป็นเครื่องควบคุมอยู่ มีความเยือกเย็นสบาย นั่งนานก็ไม่เหนื่อย การฝึกที่เป็นเช่นนี้เรียกว่าสมถกัมมัฎฐาน พึงเข้าใจว่าสมถะนี้ ถ้าผู้ใดมาติดอยู่จะทำให้เกิดความงมงายได้ เช่นพวกฤๅษีชีไพรสมัยครั้งพุทธกาล มัวแต่หลงอยู่ในฌาน เป็นรูปฌาน อรูปฌาน เข้าใจว่าตนได้บรรลุพระนิพพานแต่หาได้บรรลุไม่ เพราะเพียงแค่สมถะเท่านั้นจะบรรลุไม่ได้


ในตอนนี้พระอาจารย์มั่นฯ ท่านได้ย้ำถึงวิปัสสนาอย่างหนักหน่วง ท่านได้แสดงต่อไปว่า การพิจารณาตามความเป็นจริง คือ การไม่อยู่นิ่งของใจ ที่ได้รับการอบรมจนแข็งแกร่งด้วยสมถะแล้ว ยกจิตขึ้นพิจารณา ตามอย่างของท่านปัญจวัคคีย์ คือ พิจารณารูป-เวทนา-สัญญา-สังขาร-วิญญาณ อันเป็นนามรูป ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน จนเกิดนิพพิทาญาณ ความเบื่อหน่าย สามารถดำเนินจิตเข้าสู่อริยสัจจธรรมจนรู้แจ้งเห็นจริงได้

นับเป็นการแสดงธรรมให้โอวาทแก่พระภิกษุสามเณรที่ทำปาฏิโมกข์เสร็จในวันนั้น ให้เกิดความเข้าใจอะไรหลายอย่าง ซึ่งผู้เขียนได้บันทึกไว้แต่เพียงเนื้อความเล็กน้อยเท่านั้น สังเกตเห็นพระเถรานุเถระที่ประชุมกันพออกพอใจเป็นอย่างยิ่ง

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 16 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 9 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร