วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 16:55  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ต.ค. 2010, 18:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

แนวทางการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน
พระครูภาวนาสมณวัตร (ประจาก สิริวณฺโณ)

วัดปรินายก แขวงบ้ายพานถม เขตพระนคร กรุงเทพฯ
โทรศัพท์ ๐๒-๒๘๒๖๑๕๖

บรรยายระหว่างการปฏิบัติธรรม (คอร์สเข้ม)
ณ ศูนย์ “อุทยานธรรม” อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่
เมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๔๔


--------------------------------------------------

ในวันนี้เป็นวันแรกที่ท่านทั้งหลายได้มาปฏิบัติธรรม เบื้องต้นเราก็ต้องสละก่อน ที่ว่าสละคือปฏิโพธ เครื่องกังวลต่าง ๆ พระมีหน้าที่สอน รับนิมนต์ต่าง ๆ พระก็ต้องปล่อยวาง โยมมีครอบครัว มีภาระในครอบครัว การงานก็ต้องสละ เมื่อเราสละทุกอย่างมาแล้ว ใจก็จะไม่วิตกกังวล ก็จะทำให้การปฏิบัติของเราดีขึ้น มันทุ่มเทให้กับการปฏิบัติได้เต็มที่ แต่ถ้าเรามีเรื่องกังวลอยู่ ใจมันจะแวบ ๆ ไปหาสิ่งที่เรากังวลอยู่ นั้นเราต้องสละก่อน เมื่อเราวางทุกอย่างมาแล้ว อะไร ๆ จะมีอยู่ข้างหลัง ก็ไม่ต้องคิดถึงแล้ว ตัดทิ้งให้หมด เรามาตั้งใจกันใหม่

เมื่อมาถึงที่นี่แล้ว สิ่งที่เราต้องสละอีกอย่างหนึ่ง คือ การสละทิฏฐิมานะ มานะเพราะเหตุแห่งการศึกษา หรือมานะเพราะยศถาบรรดาศักดิ์ก็ตาม มานะต่าง ๆ นี้เราจะต้องทิ้ง ตัวนี้สำคัญ ถ้าเราไม่ทิ้งแล้วมานะจะเป็นตะปูตรึงใจ ถ้าเราไม่ถอนออก มันจะขวางการปฏิบัติของเรา แม้แต่ในสมัยที่สมเด็จพ่อทรงพระชนม์อยู่ พระองค์ได้ประทับอยู่ใต้ต้นไม้พญารัง ในสวนสุภควัน ในเมืองอุกกัฏฐา ที่ปรากฏอยู่ในมัชฌิมนิกายมูลปัณณาสก์ เหตุที่ทำให้เกิดการแสดงธรรมที่เรียกว่า มูลปริยายสูตรนี้ ท่านบอกว่า มีพราหมณ์ 500 คน ในเมืองสาวัตถี มาฟังธรรมของพระพุทธเจ้าแล้วเกิดความเลื่อมใส ก็เห็นโทษของการเป็นฆราวาสนี้ว่ามีโทษมาก แล้วเราจะทำใจให้บริสุทธิ์เป็นดุจสังข์ที่ขัดแล้วทำได้ไม่ง่าย ก็เลยพร้อมใจกันออกบวชทั้ง 500 ปรกติตอนที่เป็นฆราวาสก็จบไตรเภท เป็นคนที่มีความรู้ดีมาก พอมาบวชก็เริ่มศึกษาพุทธวัจนะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่นานก็ สำเร็จการศึกษาในพระไตรปิฎก ท่านก็เกิดทิฏฐิมานะขึ้นเพราะเหตุมาจากการศึกษา ดังที่ท่านอรรถกถาแสดงไว้ว่า “ปรยตฺตึ นิสฺสาย มานํ อุปฺปาเทสุ” ท่านบอกว่าภิกษุเหล่านี้ก็อาศัยปริยัติที่ตนเองศึกษาเล่าเรียนแล้วเกิดมานะขึ้นมา ยกตัวเองไปเทียบพระพุทธเจ้าบอกว่า “โอ ธรรมะของพระพุทธเจ้าเราเรียนหมดแล้ว พระพุทธเจ้าเทศน์อะไรคงไม่เหนือไปจาก ลิงค์ 3 บท 4 วิภัตติ 7 บท 4 ก็คือ นามบท กิริยาบท คืออาขยาตบท อุปสัคคบท และนิปาตบท วิภัตติ 7 ก็มีปัฐมาวิภัตติ เป็นต้น จนถึงสัตตมีวิภัตติเป็นเป็นที่สุด เงื่อนงำที่สงสัยในบทต่าง ๆ เหล่านั้นเราไม่มีเลย “พระภิกษุ 500 รูป ก็เลยยกตัวไปเทียบกับพระพุทธเจ้าว่าพระพุทธเจ้ารู้อะไร เราก็รู้อย่างนั้นแหละก็เลยไม่ไปฟังธรรม เพราะถือว่าตัวเองเข้าใจแล้ว ไม่ไปอุปัฏฐานพระพุทธเจ้าตามกาลตามเวลา องค์สมเด็จพ่อรู้วาระจิตของภิกษุเหล่านั้น ทรงดำริว่า ภิกษุเหล่านี้ยังมีมานะคือตะปูตรึงใจอยู่ ตราบใดก็ไม่สามารถจะบรรลุธรรมได้ตราบนั้น ท่านก็เลยแสดงธรรมเพื่อหักรานมานะ หรือข่มมานะของภิกษุเหล่านี้ ท่านแสดงมูลปริยายสูตร ซึ่งปรากฏเป็นสูตรแรกในมัชฌิมนิกาย พอพระองค์ตรัสจบแล้ว ภิกษุทั้งหลายไม่รู้เรื่องเลยตั้งแต่ต้นจนจบ ฟังไม่รู้เรื่อง ปกติพระพุทธเจ้าสอนคน เทศน์ธรรมะ จะต้องให้คนเข้าใจว่าธรรมะที่พระองค์ทรงแสดงเป็นอย่างไร แต่สูตรนี้ในบรรดา 84,000 พระธรรมขันธ์ หรือบรรดาสูตรต่าง ๆ ที่ปรากฏในพระไตรปิฎก สูตรนี้เป็นสูตรพิเศษ คือเป็นการแสดง เพื่อไม่ให้รู้เรื่องลงท้าย “อิทมโวจ ภควา น อตฺตมนา เต ภิกฺขฺ ภควโต ภาสิตํ อภินนฺทุนฺติ” หมายความว่า ภิกษุทั้งหลายไม่มีความชื่นชมยินดีในพุทธพจน์ของพระพุทธเจ้าเลยในเทศน์กัณฑ์ นี้ เพราะภิกษุทั้งหลายฟังไม่รู้เรื่อง พอเทศน์จบ พระฟังไม่รู้เรื่องก็เกิดอัศจรรย์ใจว่า “เราเข้าใจ ว่าธรรมะของพระพุทธเจ้าเรารู้แล้ว เรามีความสามารถเท่า ๆ กับท่าน แต่วันนี้เราฟังธรรมที่พระพุทธองค์ทรงตรัสแสดงตั้งแต่ต้นจนจบ เราฟังไม่รู้เรื่องเลย พระพุทธเจ้านี่น่าอัศจรรย์จริง ๆ ทิฏฐิมานะที่มีอยู่ในตัวก็ถูกข่มด้วยพระสูตรกัณฑ์นี้

ในศาสนาเรานี่ไม่ใช่ธรรมดา ไม่ใช่ว่าพระพุทธเจ้าจะตรัสให้รู้เสมอไป บางกัณฑ์ก็เทศน์ให้ไม่รู้เรื่อง แต่การให้กรรมฐานวันนี้ให้แบบไม่รู้เรื่องไม่ได้ เดี๋ยวปฏิบัติไม่ถูกอีก พอพระพุทธเจ้าเทศน์จบพระท่านก็ถอนหักมานุของตัวเองได้ที่ไปยกตัวเทียบพระ พุทธเจ้า ข่มมานะของท่านได้ ก็เลยน้อมใจเข้ามาหาพระพุทธเจ้า ไม่นานพระพุทธเจ้าก็เทศน์กัณฑ์อื่นต่ออีก ท่านก็เลยสำเร็จเป็นอรหันต์ เราจะมาปฏิบัติธรรมเราต้องทิ้งตัวนี้ มียศฐาบรรดาศักดิ์ มีความรู้ขนาดไหน ต้องวางไว้ก่อน เพราะธรรมะที่เรามาปฏิบัติไม่ใช่ของอาจารย์ อาจารย์ไม่มี ไม่อาจ ไม่สามารถที่จะไปตรัสธรรมะให้วิปัสสนาอย่างนี้ได้ เพราะนี้เป็นของพระพุทธเจ้าโดยตรง ผู้ที่ตรัสวิปัสสนากรรมฐานได้ก็มีแต่พระพุทธเจ้าเท่านั้น ฉะนั้นที่มาน้อมปฏิบัตินี้ เราปฏิบัติธรรมของพระพุทธเจ้า

ภิกษุเหล่านั้นสามารถข่มมานะของตัวเองได้แล้ว ภิกษุทั้งหลายก็มาโจษจันว่า “โอ น่าอัศจรรย์จริง ๆ พระพุทธเจ้าสามารถถอนมานะ ข่มมานะของภิกษุ 500 รูปนี้ได้” ทีนี้พระพุทธเจ้าเสด็จมาก็ถามว่า “กายนุตถ” (เออ พวกเธอทั้งหลายสนทนาอะไรกันอยู่) ในพระบาลีจะมีคำนี้อยู่เป็นประจำ พอพระพุทธเจ้าตรัสถามอย่างนั้น ภิกษุทั้งหลายตอบว่า “พูดถึงพระพุทธองค์ว่าน่าอัศจรรย์ที่สามารถข่มมานะของภิกษุ 500 รูปนี้ได้” พระพุทธเจ้าก็บอกว่า “โอ ภิกษุทั้งหลาย ไม่ใช่เฉพาะในปัจจุบันนี้ ในอดีตตถาคตก็ข่มมานะของภิกษุเหล่านี้ได้แล้วครั้งหนึ่ง” ภิกษุทั้งหลายก็เลยอาราธนาให้พระพุทธเจ้าเล่าถึงอดีตชาติ ความเป็นไปของภิกษุ 500 ปรากฏในมัชฌิมนิกาย มูลปัณณาก์อรรถกถา คือสมัยนั้นพระพุทธเจ้าเราเป็นทิศาปาโมกข์ เป็นอาจารย์ใหญ่ อยู่ในเมืองพาราณสี แล้วภิกษุ 500 ก็มาเป็นมานุ 500 พระพุทธองค์ทรงยกบุพกรรมของภิกษุเหล่านี้ว่า เมื่อก่อนมานพ 500 นี้มาเรียนหนังสือ เรียนได้ไว เรียนเก่ง อาจารย์คือพระโพธิสัตว์ สอนอะไรสอนแล้วก็จำ ไม่มีผิดพลาดเลย ไม่นานเท่าไรมานพก็คิดว่า “เอ! เรามันจบรึยังก็ไม่รู้ เรียนก็ตั้งนานแล้ว” วันหนึ่งก็มาหาครูบาอาจารย์ คือพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ก็บอกว่า “เอตฺตกมิทํ สิปฺปํ ทิฏฺฐธมฺมสมฺปรายหิตํ” (ศิลปะเพียงเท่านี้ ก็เป็นประโยชน์ทั้งปัจจุบันและภายภาคหน้า) พออาจารย์พูดเท่านี้ หมายความว่า เท่าที่พวกเธอเรียนมา มันจบแล้ว สามารถใช้ได้ทั้งในปัจจุบันและภายภาคหน้า มานพเหล่านั้นก็เกิดทิฏฐิมานะขึ้นมาทันที ภาษาบาลีท่านว่า

“ยํ อมฺหากํ อาจาริโย ชานาติ, มยมฺปิ ตํ ชานาม, มยมฺปิ อาจริยา เอว.” (อาจารย์ของเรารู้อย่างไร พวกเราก็รู้อย่างนั้น) บัดนี้เราทั้งหลายก็เป็นอาจารย์แล้ว ยกตัวเทียบอาจารย์ แล้วภายหลังก็เลยไม่สนใจที่จะเข้ามาหาครูบาอาจารย์ ออกไปทำอะไรต่ออะไร ไม่มาอุปัฏฐากอุปถัมภ์อาจารย์ ภายหลังอาจารย์รู้ว่าลูกศิษย์มีมานะอย่างนี้เกิดขึ้น วันหนึ่งลูกศิษย์พร้อมกันมาหาอาจารย์ อาจารย์ก็เลยถมว่า “ตาตา ปัญหัง ปุจฉิสสามิ กัตจิตถะสมัตถา กเถตุง” (อ้อ! ลูก ๆ ทั้งหลายเอย อาจารย์จะถามปัญหาสักข้อหนึ่ง พวกเธอพอจะตอบได้ไหม) เพราะลูกศิษย์มีมานะว่า ตัวเองมีความรู้เท่ากับอาจารย์ อาจารย์ถามอะไรคงไม่มีปัญหาสำหรับเรา ๆ ตอบได้ ก็เลยแย่งกันพูดเลย “ปุจฉถะ อาจาริยะ ปุจฉถะ อาจาริยะ” (อาจารย์ถามมาเลย อาจารย์ถามมาเลย ผมจะตอบ) ต่างคนต่างแย่งกันพูด ผลที่สุดอาจารย์ก็เลยถามปัญหาว่า

“กาโล ฆสติ ภูตานิ, สพฺพาเนว สหตฺตนา.
โย จ กาลํ ฆโส ภูโต, ส ภูตปจนึ ปจิ.”

(กาลย่อมกลืนกินสรรพสัตว์ พร้อมกับตัวมันเอง ใครเล่าสามารถกินกาลพร้อมกับทำลายตัณหาที่เผาไหม้สรรพสัตว์ทั้งหลายไปได้ด้วย) พออาจารย์ตั้งปัญหานี้ ลูกศิษย์เงียบเลย คิดแล้วคิดอีก เอ! มันอะไรหนอ คิดไม่ออก เลยนั่งก้มหน้ากันอยู่ตรงนั้น อาจารย์รู้แล้วพวกนี้มันตอบเราไม่ได้หรอก ก็เลยบอกว่า “เอาอย่างนี้ดีกว่า พรุ่งนี้มาเฉลยให้อาจารย์” อาจารย์ให้โอกาส ลูกศิษย์กลับไปแล้วก็จับกลุ่มกันคนละ 10 บ้าง 20 บ้าง จับกลุ่มกันมาพิจารณาปัญหาของอาจารย์ว่ามันเป็นอย่างไร คิดไม่ออก จะจับกลุ่มอย่างไรก็คิดไม่ออก ในที่สุดรุ่งขึ้นก็มาหาอาจารย์ นั่งก้มหน้ากันเลย ไม่ยอมสบตาอาจารย์ อาจารย์ก็รู้แล้วพวกนี้มีหัวแต่หัวมันเหมือน กะลามะพร้าว มันทำอะไรไม่ได้ คิดอะไรไม่ออก มีแต่หัวแต่ไม่มีปัญญา ไม่มีความคิด เรื่องนี้ถ้าโยคีอยากจะรู้เรื่องพิสดาร กลับออกไป ไปอ่านกันเอาเองในมัชฌิมนิกายมูลปัณณาสก์ ในพระไตรปิฎกเขาจะมีขยายไว้ วันนี้อาจารย์ไม่ขยาย เพียงแต่ยกมาให้รู้เฉย ๆ ว่า ถ้าเรามีมานะเพราะ เหตุแห่งการศึกษา มีมานะเพราะเหตุยศฐาบรรดาศักดิ์ หรือมีมานะเพราะชาติตระกูลก็ดี มานะเหล่านี้ถ้ามีแล้วเราไม่ถอน ไม่ข่ม เรานำมาในที่นี้ ก็จะเป็นเหตุกางกั้นการปฏิบัติธรรมของเรา วิปัสสนาญาณจะเกิดไม่ได้แม้แต่ในสมัยองค์สมเด็จพ่ออย่างที่บอกไว้นี้ พระภิกษุเหล่านั้น ถึงแม้จะเรียนจบพระไตรปิฎก แต่มีมานะกระด้างกระเดื่องขึ้นมา ลำพองใจว่าตนเองมีความรู้เท่าเทียมกับองค์สมเด็จพ่ออย่างนี้ พระพุทธเจ้าก็ต้องถอนทิฏฐิมานะเหล่านั้น ฉะนั้นของเราไม่จบพระไตรปิฎกก็อย่าไปลำพองตัว มีอะไรก็ข่มไว้ก่อนโยคีที่มาปฏิบัติต้องพยายาม ใครจะมีชาติสูง ตระกูลสูงอย่างไร ตอนนี้ขอให้เราทำตัวเป็นปกติธรรมดา เราเคยเป็นเศรษฐี เป็นมหาเศรษฐี เป็นคุณหญิง เป็นคุณนาย เป็นอะไรก็แล้วแต่ แต่ตอนนี้ถอดยศถอดศักดิ์ไว้ที่บ้านก่อน อย่าเอาตามมา ถ้าตามมาแล้วมันจะยุ่ง

แม้แต่พระโพธิสัตว์ เราตอนที่เป็นดาบสก็มีทิฏฐิมานะว่าตนเองเกิดในตระกูลสูง เป็นพราหมณ์มหาศาล ออกบวชมาก็น้อมนึกอยู่ว่าเรานี่เป็นคนตระกูลสูง ตระกูลพราหมณ์ ไม่มีใครสูงไปกว่าเรา เรามีทรัพย์สมบัติมาก แทนที่จะเจริญสมถกรรมฐานให้ได้ฌาน เลยไม่ได้ มีมานะเหล่านี้ ฌานอะไรก็ไม่เกิด ทีนี้พระปัจเจกพุทธเจ้าที่อยู่ทางทิศเหนือท่านก็มาพิจารณาว่า โอ ฤาษีองค์นี้ไม่ใช่บุคคลธรรมดา เป็นพระโพธิสัตว์ จะต้องตรัสรู้เป็นอนุตรสัมมาสัมพุทธเจ้าในภัทรกัปป์นี้ แต่ว่ามัวไปนึกถึงชาติตระกูลของตัวเอง ความมั่งมีศรีสุขที่มีอยู่ ฌานก็เลยไม่เกิด อย่างที่บาลีท่านบอกว่า

“ตาปโสปิ อตฺตโน ชาตึ นิสฺสาย มานวสิโก หุตฺวา ฌานํ อุปฺปาเทตุ น สกฺโกติ.” (ฝ่ายฤาษีมัวคิดถึงชาติตระกูล มานี่อาศัยชาติตระกูลนี้ ก็ไม่สามารถยังญาณให้เกิดขึ้นได้) พระปัจเจกพุทธเจ้าก็เลยเหาะมาโปรดพระโพธิสัตว์ ท่านมานั่งอยู่บนแท่นหินหน้าบรรณศาลา พระโพธิสัตว์อยู่ในศาลา พอเปิดประตูออกมาเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้านั่งอยู่บนแท่นหินก็โกรธ ด่าว่าพระปัจเจกพุทธเจ้า เพราะว่าสมัยก่อนพวกพราหมณ์เขาถือว่าใครโกนหัวเป็นคนจัณฑาล ฉะนั้นคำด่าเจ็บ ๆ ในสมัยโบราณเขาเรียกว่า “สมณะมุณฑิกะ คนหัวโล้น” หมายความด่าจิกหัวกันเลย เรียกพระในศาสนาเราว่า สมณะหัวโล้น สมณะมุณฑิกะ พระโพธิสัตว์ออกมาเห็นก็โกรธ ด่าเลย “นัสสะ วสละ กาลกัณณิ มุณฑิกสมณะ กิมัตถัง นิสินนผลเก นิสินโนสิ” (จงฉิบหาย คนถ่อย คนกาลกิณี คนหัวโล้น ท่านถือดีอย่างไรมานั่งบนแท่นหินของฉัน) ผลที่สุดพระปัจเจกพุทธเจ้าบอกว่า “เออ เอาสิ เธอกับฉันใครจะแน่กว่ากัน” ท่านก็เลยเหาะขึ้นบนอากาศ เอาเท้าถูสีกันให้ขี้ฝุ่นตกลงบนชฎาของพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์เลยคิดได้ว่า “โอ ดูสิ ท่านก็เป็นนักบวช เราก็เป็นนักบวช ท่านก็มีร่างกายที่หนักเหมือนเรา แต่ท่านเหาะขึ้นไปบนอากาศได้ เหมือนกับปุยนุ่นที่เขาเอาใส่ในช่องลม มันก็ปลิวไป” โอ เราอาศัยทิฏฐิมานะอย่างนี้ไม่ดีเลย จะทำให้เราไปสู่อบายมากกว่า คนที่ประเสริฐ ไม่ใช่ว่าเกิดจากทิฏฐิมานะนี้ต้องอาศัยศีล อาศัยการประพฤติปฏิบัติธรรม ท่านก็เลยคิดว่าวันนี้ถ้าเราข่มทิฏฐิมานะของเราไม่ได้ เราจะไม่ออกไปหาอาหารกินแล้ว ท่านก็เลยกลับเข้าไปสู่บรรณศาลา ข่มมานะของท่าน แล้วยังฌานให้เกิดขึ้น เพราะพระโพธิสัตว์ทำอะไรได้ไว บุญบารมีพร้อมแล้ว ท่านก็ได้ฌาน แล้วท่านก็ออกมาเลย นี้ปรากฏในปัญจุโปสถะ ในชาติกะเดรสกะนิบาตปกิณกะวรรค ให้ไปอ่านในชาดกนั้น อาจารย์ไม่ขยาย หยิบยกมาเพื่อให้รู้ว่ามานะนั้นไม่ดีเลย มันจะเป็นเครื่องกางกั้น ไม่ว่ามานะเกิดเพราะอาศัยอะไรก็แล้วแต่ ก็ขอให้โยคีของเราถ้ามีก็ทิ้งไป

ทีนี้เรามาตรงนี้ อย่างอื่นเราทิ้งมาหมด ภาระอะไรทุกอย่างเราทิ้งมาหมดแล้ว เราไม่รับภาระที่นี่เขาก็ไม่ให้เรามีภาระอะไร อาหารการกิน การเช็ด การถู การปัด การกวาด การแสวงหาอะไรไม่มี เมื่อเราไม่มีภาระอย่างนี้ มาตรงนี้เขาก็ให้อยู่เฉย ๆ โดยไม่ต้องทำอะไร เพียงแต่เราก็ต้องมารับภาระอย่างหนึ่ง คือการเอาใจใส่ดูแลตัวเอง ตอนนี้ภาระอย่างอื่นเราทิ้งไปหมดแล้ว แต่ไม่ใช่มานั่งเฉย ๆ ปล่อยใจไป อย่างนี้ไม่ใช่นะ ต้องมาเอาใจใส่ดูแลตัวของเราเอง แล้วมันไปตรงกับกรรมฐานอย่างไร ที่ว่าให้มาดูแลตัวเอง คือการเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้น มีหลักฐานปรากฏอยู่ในอังคุตรนิกายจตุกกะนิบาตโรหิตัสสะสูตร ในสมัยนั้นโรหิตตัสสะเทวดา เทวดาในที่นี้ได้แก่พรหม ไม่ใช่เทวดาอยู่ในกามาวจร 6 ชั้น เป็นพรหม เมื่อก่อนนี้เป็นฤาษี ท่านมีอายุ 200 ปี ท่านเหาะไปอยากดูว่าที่สุดของโลกมันอยู่ตรงไหน เหาะไปจนหมดอายุ 200 ปีไม่เห็นที่สุด ยิ่งไป ยิ่งเห็น โลกจักรวาลมันไม่มีที่สุด อนันตจักรวาลไม่มีที่สุด ท่านไปเท่าไรก็หาที่สุดไม่ได้ ก็เลยมรณภาพเสียก่อน ยังไม่เห็นที่สุดของโลกเลย ท่านก็ไปเกิดเป็นพรหม แล้วสมัยที่พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลก ท่านก็ลงมาถามปัญหาว่า “ที่สุดของโลกอยู่ตรงไหน” พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า

“อปิจาหัง อาวุโส อิมัสมิง เยวะ พยามมัตตะกเฬวเร สะสัญญิมหิ สมนเก โลกัญจ ปัญญาเปมิ โลกสมุทยัญจะ โลกนิโรธคามินี ปฏิปทันติ”

อริยสัจ 4 สมุทัย นิโรธ มรรค พระพุทธองค์ตรัสไว้ตรงไหน ตรัสไว้ในภูเขา ไว้ในทะเล หรือไว้ในต้นไม้ต่าง ๆ ตรัสไว้ที่ไหน พระพุทธองค์ไม่ได้ทรงตรัสไว้ที่อื่น อริยสัจธรรม 4 พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า “อิมัสมิงเยวะ พยามะมัตตะกเฬวเร” ตถาคตตรัส อริยสัจธรรม 4 อย่างนี้ ตรัสไว้ในร่างกายที่กว้างศอก ยาววา หนาคืบ ตรัสไว้ตรงนี้เอง ฉะนั้นเมื่อเราจะค้นหาสัจจะ 4 เราต้องน้อมมาหาตรงนี้ ฉะนั้นในที่นี้ถึงบอกว่า การปฏิบัติคือการที่เรามาเอาใจใส่ ดูแลตัวของเราเอง

ทีนี้คำว่าดูแลตัวเอง ถาม : เรา ก็อยู่กับตัวเรามาทั้งวันทั้งคืน ตั้งแต่เกิดจนอายุป่านนี้ เราก็อยู่กับตัวเรา แล้วทำไมจะต้องมาดูตัวเองอีก อันที่จริงคนเรารักตัวเราจริง ดังที่พระพุทธองค์ท่านตรัสว่า “นัตถิ อัตต สมัง เปมัง รักอื่นเสมอด้วยตนไม่มี” แต่ทว่าเราสนใจตัวเรามากไหม ระหว่างตัวเรากับคนอื่น เราสนใจใครมากกว่า วัน ๆ หนึ่งที่เราตื่นมา ใจไปอยู่ที่ไหน อยู่กับตัวเราหรือไปอยู่ที่อื่น ส่วนมากไปที่อื่นหมด ใจจะออกไปข้างนอกมากกว่าที่อยู่ข้างใน แต่ถามว่าเรารักตัวเองไหม รักตัวเอง แต่สนใจคนอื่นมากกว่า เราทำตรงกันข้าม ไม่ได้สนใจตัวเอง แม้ตื่นมา ใจเราก็ต้องไปคิดเรื่องของคนอื่น เราทำถูกต้องหรือเปล่า ปากว่ารักตัวเอง แต่ใจไปสนใจคนอื่น เขาเรียกว่า ปากว่าตาขยิบ ให้เข้าใจไว้ ปกติเราไม่ค่อยได้สนใจตัวเรา มีตัวเราอยู่ก็จริง แต่ไม่ค่อยได้สนใจ เราจะพุ่งใจออกไปข้างนอกหมด

ตอนที่อบรมศึกษาธิการทั่วประเทศ กระทรวงศึกษาธิการได้เชิญศึกษาธิการจังหวัดทุก ๆ จังหวัดไปอบรมที่พระพุทธบาทสระบุรี อาจารย์ไปเป็นวิทยากรให้ตอนนั้น อาจารย์ถามศึกษาธิการจังหวัดท่านหนึ่งว่า “การสนใจดูแลตนเองกับคนอื่น อันไหนมันดีกว่ากัน” ศึกษาธิการท่านนั้นตอบได้ดี ถูกต้องเลย เขาลุกขึ้นยืนตอบว่า “เวลาเราสนใจดูแลสิ่งที่อยู่นอกตัวเรา ทั้งสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตนอกตัวเรา ดูแล้วมันเพลินเหลือเกิน แต่เวลากลับมาดูตัวเองมันเซ็งเหลือเกิน” ตัวเรานี่หมดท่า ไม่มีอะไรดีเลย ลองติดดู อย่างที่เรามาที่นี่กัน เวลานั่งรถมามีใครนั่งดูตัวเองมาไหม หรือสายตาดูข้างนอก ดูข้างนอกหมดเลย ตั้งแต่เราออกจากวัดมาจนถึงสำนักนี้ เราไม่ได้สนใจดูตัวเอง นั่งดูเพลินนั้นบ้านไหน นี้บ้านไหน บ้านเป็นอย่างไร ต้นไม้เป็นอย่างไร คูคลองเป็นอย่างไร นั่งดูเพลิน แต่ว่าไม่ได้ดูตัวเองเลย ใครจะนั่งกำหนด หนอ ๆ ไม่มีเลย มันน้อยเหลือเกิน น้อยมาก เห็นง่าย ๆ ขนาดเราอุตส่าห์จะมาปฏิบัติ เรายังไม่ได้สนใจดูตัวเองเลย ท่านบอกว่า ปกติวิสัยของมนุษย์ เรารักตัวเราจริง แต่ไม่ได้สนใจตัวเรา ไปสนใจคนอื่น ฉะนั้นที่เรามาปฏิบัติ เราจะมาให้ความสนใจดูตัวเรา เราทุ่มเทดูคนอื่นมามากแล้ว ตอนนี้เราพยายามเอาใจใส่ดูแลตัวเราบ้าง ว่าเรามีอะไร ไม่มีอะไร ต้องกลับมาดูตัวเอง คนอื่นเราดูมามากแล้ว

การที่เราส่งใจไปดูคนอื่น เราตกเป็นทาสหรือเป็นไท เป็นทาส ทาสกับไทอันไหนดี เป็นไทดี แต่ 2 อย่าง ชอบอันไหนมากกว่า ชอบทาส ไทดีจริง แต่ชอบความเป็นทาส แสดงว่าถึงแม้ไทมันจะเป็นอิสระ มีดีก็ตาม แต่ถ้าพูดถึงใจแล้ว เราชอบทาสมากกว่า เราชอบทำตรงกันข้ามหมด รักตัวเอง แต่สนใจคนอื่น เรารู้ว่าใจที่ไปตกอยู่ข้างนอกมันเป็นทาส แต่กลับชอบความเป็นทาส มันตรงกันข้าม รักตัวเอง มันต้องสนใจตัวเอง แต่กลับไปสนใจสิ่งอื่น

วันนี้เป็นวันที่คนเราจะได้มาสนใจตัวเราเอง เพราะเราทิ้งภาระอื่นมาหมดแล้ว เป็นฆราวาสก็ทิ้งบ้านทิ้งช่องทิ้งหน้าที่การหมด เราเคยเป็นทาสมาก่อน ตอนนี้เราจะประกาศอิสรภาพ เราเป็นไท แต่ว่าจะไทได้สักกี่หนอไม่รู้ พองหนอ เดี๋ยวก็แว้บไปเที่ยวตรงนั้นตรงนี้ เดี๋ยวก็กลับมากำหนดใหม่อีกแล้ว มันจะไปอย่างนี้ เพราะว่ามันเคยกับความเป็นทาสมานาน อายุของเรา 50 กว่าปีก็ดี 30 กว่าปีก็ดี 20 กว่าปีก็ดี เราตกเป็นทาสหรือเป็นไท เป็นทาสมา 20 กว่าปี 365 วัน เราเป็นทาสกี่วัน ทุกวันเลย แล้วปีนี้เราเป็นทาสมา 365 วัน แต่วันนี้เราจะมาอยู่สักกี่วัน 10 วันใช่ไหม ขอเป็นไทกี่วัน 10 วัน ดูว่าน้ำหนักอันไหนมันมากกว่า ความเป็นทาสหรือเป็นไท โอ้โฮ! เป็นทาสมันหนัก ความเป็นไทยมันปลิวเลย ขึ้นน้ำหนักทานกันไม่ได้เลย ฉะนั้นเราต้องเข้าใจว่าเราจะมาดูแลตัวเอง เราจะมาประกาศอิสรภาพเป็นไท โยคีต้องจำไว้ว่า ปกติใจของเราคุ้นกับการไป ไม่คุ้นกับการอยู่ ฉะนั้นวันแรกสองวันแรกใจจะดิ้นรนมาก เมื่อมันดิ้นรนเราก็ไม่ต้องกลัว มันเป็นเป็นสภาวะหนึ่ง เป็นธรรมดาของใจเรา เพราะว่าเราปล่อยเขามามาก จู่ ๆ เราจะมากักขังเขาให้อยู่ เขาจะไม่อยู่อย่างที่เราตั้งใจ เพราะกำลังสติ สมาธิของเรามันน้อย เมื่อน้อยอยู่เอาเขาไม่อยู่ แต่ไม่ต้องหงุดหงิด ไม่ต้องหิ้วกระเป๋ากลับบ้าน ไม่ต้องเอาญาณม้วนเสื่อกลับบ้าน จะบอกล่วงหน้าให้รู้ไว้ก่อนว่า ถ้าเข้าวันที่ 3 ไปแล้วมันจะดี วันที่ 1 วันที่ 2 จะเป็นนักปฏิบัติเก่า นักปฏิบัติใหม่ก็แล้วแต่ สองวันนี้จะเป็นวันที่ใจเราจะดิ้นรนกระวนกระวายมาก บอกให้รู้ก่อน เพราะใจมันคุ้นกับการไป ไม่คุ้นกับการอยู่

ปกติในชีวิตประจำวันเราจะปล่อยใช่ไหม เห็นก็ปล่อยไปเต็มที่ ได้ยิน ปล่อยไปเต็มที่ ได้กลิ่นลิ้มรส ถูกต้องคิดนึกอะไร เราปล่อยไปเต็มที่ ไม่เคยกัน แต่มาตอนนี้เราจะกันเขา เขาจะอยู่ง่าย ๆ ไหม อย่างที่เคยอุปมาเหมือนคนที่เคยเที่ยวกลางคืน ไปทำงานอะไรเสร็จ กลับมาบ้านก็รีบอาบน้ำแต่งตัวเสร็จ มีรถจักรยานก็ปั่นจักรยานไป มีรถเครื่องก็เอารถเครื่องไป มีรถ 4 ล้อ 2 ล้ออะไร ก็ว่ากันไป เขาก็ออกไปทุกวัน ๆ ทีนี้คน ๆ นี้เราจะให้เขาอยู่บ้านสักวันหนึ่ง เขาสบายใจไหม ใจมันไม่อยู่ เราถามว่าบ้านนี้ไม่ใช่บ้านเขาหรือ ก็ใช่ ห้องนอนก็มี เครื่องบริการความสะดวกมีทุกอย่าง ห้องแอร์ก็มี อะไรก็มีพร้อมทุกอย่าง อาหารการกินมีพร้อมทุกอย่าง แต่เขาไม่อยากอยู่ ถามว่าทำไมจึงเป็นอย่างนั้น เพราะเขาคุ้นกับการไป เขาไม่ค่อยอยู่บ้าน นิสัยของเขา เขาฝึกอย่างนั้นไปทุกวัน ๆ แต่ถ้าจะให้เขาอยู่บ้านสักวัน เขาจะอึดอัด ดิ้นรน กระวนกระวาย อยู่ไม่เป็น ใจของเราก็เหมือนกัน เราปล่อยออกทุกวัน เห็นก็ปล่อย ได้ยินก็ปล่อย ได้กลิ่นลิ้มรส ถูกต้องคิดนึกอะไร ๆ เราก็ปล่อยเต็มที่ แล้วจู่ ๆ เราจะให้เขามาอยู่อย่างนี้ เขาไม่ได้อิสระ พอเราจะให้เขาอยู่ เขาจะอยู่เหมือนใจเราไหม เขาจะดิ้นรน ให้จำตัวนั้นไว้ ฉะนั้น 2 วันนี้ อย่าไปบ่น ห้ามบ่น ถ้าเราจะบ่น ๆ ที่เราปล่อย เมื่อก่อนเราปล่อยไม่เห็นบ่น ดูก็ดูเต็มที่ เพลินไปเลย ถ้าเราจะบ่นต้องบ่นตอนนั้น ตอนปล่อยเราไม่บ่น ตอนที่เขาไม่อยู่เราจะไปบ่นถูกหรือเปล่า ฉะนั้นช่วงนี้ไม่ต้องไปคิดอื่น ให้กำหนดอย่างเดียว เพราะเราจะได้รักษาตัวของเราได้ถูกว่า ต่อไปนี้เรามาตรงนี้ เรามาเพื่อจะเอาใจใส่ดูแลตัวเอง เพราะเราสนใจคนอื่นมามาก เรารักตัวเอง แต่เราไม่ได้สนใจตัวเอง เราตกเป็นทาสมามาก เราไม่ได้เป็นอิสระ เป็นไท เราปล่อยให้ใจของเราเป็นทาสของสิ่งอื่นที่นอกจากตัวเราเป็นเวลานาน แล้ววันนี้เราจะประกาศอิสรภาพ แค่ 10 วัน ไม่เอามาก ถ้าออกไปหลังจากนี้ก็เป็นทาสเหมือนเดิม ความเป็นทาสไม่ต้องขอร้อง ฉะนั้นตอนนี้ 10 วัน ก็ขอให้ทุ่มจิตทุ่มใจให้เต็มที่หน่อย เขาจะดิ้นรนอย่างไร เราก็ต้องอดทน อย่าไปกลัวเขา ไม่ต้องไปดิ้นรน กระวนกระวายกับเขา แล้วจะบอกวิธีให้

ทีนี้การที่ว่าเรามาดูแลตัวเราเอง ตัวเรามีอะไรให้เราดู จะไปดูอะไรในตัวเรา ตัวเราแบ่งใหญ่ ๆ มี 2 อย่าง คือ กายกับใจ ภาษาธรรมะเรียกว่า รูปกับนาม มี 2 อย่างที่เราจะให้ดู ทีนี้ระหว่าง 2 อย่าง เราจะดูอันไหนก่อน เบื้องแรกสิ่งที่ดูง่ายที่สุด คือร่างกาย ร่างกายเป็นของดูง่าย ในวิสุทธิมรรคอรรถกถา ท่านว่า

“ยถา ยถา หิสฺส รูปํ สุวิชาริตํ โหติ นิชฺชฏํ สุปริสุทฺธํ ตถา ตถา ตธารมฺมณา อรูปธมฺมา สยเมว ปากฏา โหนฺติ” นี้อยู่ในปัญญานิเทศ ระหว่างรูปกับนาม รูปเป็นของหยาบ หมายความว่า รู้ ได้ง่าย ดูได้ง่าย ถ้าเราชำระรูปได้ดีแล้ว นามที่เอารูปเป็นอารมณ์ก็สามารถปรากฏขึ้นได้ ฉะนั้นเราต้องดูรูปก่อน ดูร่างกายก่อน แล้วใจก็ต้องดูไปตาม กายเราแบ่งอาการเคลื่อนไหวใหญ่ ๆ แล้วมีอยู่ 2 อย่าง คือ เคลื่อนไหวใหญ่ ๆ เรียกว่าอิริยาบถใหญ่ แล้วเคลื่อนไหวย่อย ๆ หรือน้อย ๆ เรียกว่า อิริยาบถย่อย หรืออิริยาบถน้อย 2 อย่างนี้ภาษาบาลีเรียกว่า อิริยาปถะ บ้านเราก็ทับศัพท์ลงไปเลยว่า อิริยาบถ แปลว่า อาการเคลื่อนไหว เคลื่อนไหวใหญ่ ๆ มี 4 อย่าง คือ ยืน เดิน นั่ง นอน อิริยาบถย่อยนับไม่ได้ คู่เข้า สมิญชิเต เหยียดออก ปสาริเต อย่างนี้ คู้เข้า เหยียดออก เหลียวซ้าย แลขวา กระพริบตา อ้าปาก เกา กลืน เคี้ยว อิริยาบถย่อยทั้งนั้น แค่มือเรานี่ก็ตั้งหลายอย่าง นี้เรียกว่า กำมือ เรียกว่ากระดิกนิ้ว เฉพาะมืออย่างเดียวอิริยาบถย่อยมีตั้งเยอะ แล้วแต่เราจะทำลักษณะไหน ส่วนยืน เดิน นั่ง นอน ทำไมจึงเรียกว่าอิริยาบถใหญ่ ที่ว่าใหญ่นี้หมายความว่าการเคลื่อนไหวอิริยาบถทั้ง 4 ยืน เดิน นั่ง นอน เคลื่อนไหวที เคลื่อนไหวไปทั้งหมด อย่างว่าจะนั่ง นั่งเป็นบางส่วนได้ไหม เวลายืน ยืนเป็นบางส่วนได้ไหม ไม่ได้ เดินทีเอาขาข้างหนึ่งไว้ ขาข้างหนึ่งเดินไปอย่างนี้ได้ไหม ไม่ได้ ไปทีไปทั้งหมดเลย คราวนี้อิริยาบถย่อย คู้เข้า เหยียดออก ไม่ได้ไปทั้งหมด เป็นเพียงบางส่วนแค่นั้นเอง ฉะนั้นการเคลื่อนไหวที่เป็นไปบางส่วน เคลื่อนไหวทีไม่ไปทั้งหมด การเคลื่อนไหวนั้นเรียกว่า อิริยาบถย่อย ตอนนี้โยคีนั่งเป็นส่วนใหญ่เพราะมันเคลื่อนไหวไปทั้งหมด ทั้งตัว นั่งไปทั้งหมด เอาตรงไหนไปนั่ง ร่างกายนั่ง ถ้าเราบอกว่าเอาก้นไปนั่ง เอาสะโพกไปนั่ง เวลาเราดูคนใดคนหนึ่งนั่ง อย่างอาจารย์นั่ง ใครเห็นบ้าง อาจารย์นั่งหรือนอน นั่ง เห็นปุ๊บรู้ปั๊บ ต้องไปดูส่วนไหนไหม ไม่ เพราะว่านั่งมันมีอยู่เป็นอาการของร่างกาย ที่เราเรียกว่า นั่ง นอน ยืน เดิน มันเป็นอาการของร่างกาย ถ้าอิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่งปรากฏอีก 3 อย่างหายไปเลย เช่น เรานั่งอยู่ ยืน เดิน นอนหายไป ถ้าเรานอน นั่ง ยืน เดินหาย ฉะนั้นในอรรถกถาท่านว่า ข้างบนตั้ง ๆ ข้างล่างพับครึ่ง เขาเรียกว่า ท่านั่ง อาการของการนั่ง เพราะถ้าดูอาการแล้วไม่ต้องไล่ สมมติว่าโยคีทำท่าพนมมือ แล้วหลับตาดูท่าที่พนมเห็นไหม เอาใจดู ไม่ใช่เอาตาดู น้อมนึกถึงอาการที่เรานั่ง รู้สึกว่าเราทำท่าอย่างนี้ไม่ใช่เห็นเห็นเป็นภาพ คราวนี้เอามือข้างหนึ่งไปจับบนหัว เอามือข้างหนึ่งจับมือตั้งไว้เหมือนเดิม แล้วหลับตา เห็นไหม เอาลงวาง เห็นไหม ท่าที่เรานั่ง แค่นี้เอง เราไม่ต้องไปดูตรงไหน คำว่านั่งหนอ ก็คืออาการนั่งที่เขาปรากฏอยู่นี้ เราไม่จำเป็นต้องสร้างเขาขึ้นมา เขามีอยู่แล้ว เป็นอยู่แล้ว เพียงแต่น้อมใจเข้าไปดูอาการเท่านั้นเอง

สมัยก่อนเมื่ออาจารย์ได้ไปปฏิบัติกับหลวงพ่อใหญ่ ราว พ.ศ. 2508 ไปปฏิบัติอยู่ที่วิเวกอาศรม ได้เคยถามหลวงพ่อใหญ่ หลวงพ่ออาสภะว่า “หลวงพ่อ นั่งหนอนี่มันกำหนดอย่างไรครับ” หลวงพ่อตอบว่า “ไอ้นี่มันโง่จัง” เราถามกลายเป็นเราโง่ มันก็สมควรโง่ เพราะว่าดูตัวเองนั่ง แต่ละมติ ๆ มันดูไม่เหมือนกัน บางคนก็ให้ไล่ตังแต่ข้างบนลงมา นั่งหนอ นั่งหนอ โอโห เหนื่อยเลย ไปดูอย่างนี้ไล่ลงมาอย่างนี้ หลวงพ่อบอกว่า “อาการนั่ง” นั่งแล้วจะไปชี้ตัวไหนเป็นตัวนั่งมันไม่ได้ ท่าทางที่เป็นเขาเรียกว่า “ท่านั่ง” ฉะนั้นหลับตาเราก็เห็น หลับตาน้อมไปดูอาการ แต่ไม่ต้องไปนึกภาพขึ้นมาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ใช่ น้อมนึกไปตามอาการที่เรานั่ง ก็จะเห็นทันที ฉะนั้นเราดูท่านั่งอย่างไร ยืน นอน ก็ดูเหมือนกันเลย อาการเขามีอยู่แล้ว เราก็น้อมนึกไปตามอาการที่เขาเป็นเท่านั้น ไม่ต้องไปไล่ วันนี้ที่เรากำหนดยืนหนอ ๆ 3 ครั้ง ไปดูตรงไหนเป็นยืนอีกก็ยุ่ง เอาเท้ายืนอีกก็ยุ่ง เพราะเท้ามันเหยียบอยู่กับพื้น ไปดูอาการยืนอย่างนั้นไม่ได้

ทีนี้เวลานั่ง หลักการเขามีอยู่ นั่งให้ดูอาการของท้องพองกับท้องยุบเป็นหลัก บริกรรมพองหนอ ยุบหนอ เราอย่าไปเบ่ง อย่าไปตามลมหายใจ ไม่ให้สูดหายใจเข้า แล้วให้มันพอง ปล่อยลมหายใจออกให้มันแฟบลงไปไม่ให้ทำ ให้ปล่อยอย่างธรรมดา ถ้าเขาเริ่มพองขึ้นมา เราก็บริกรรมพองหนอ ยุบลงไปก็บริกรรมยุบหนอ อันนี้หมายความว่าเราอย่าไปตามลมหายใจเข้าไป ลมหายใจเข้าเป็นเหตุให้ท้องพอง เวลาหายใจออกท้องยุบ หายใจเข้าเป็นเหตุ อาการพองเป็นผล หายใจออกเป็นเหตุ อาการยุบเป็นผล ตอนนี้เรามาดูตัวผล ไม่ใช่ดูตัวเหตุ เหมือนเราไปดูเขาเป่าลูกโป่งที่มันพองออก พองออก เวลาเขาปล่อยลม ลูกโป่งมันแฟบลง ๆ ยุบลง ๆ เราไปดูอาการของอาการพอง กับอาการยุบเท่านั้น ลมหายใจเข้าเป็นปัจจัยให้พอง ลมหายใจออกเป็นปัจจัยให้ยุบ ไม่ต้องสนใจ ทิ้งไปเลย ให้ส่งใจไปดูอาการเริ่มขึ้นมาก็พอง พองหนอ มันยุบลงไปก็ยุบหนอ ตามอาการ อย่าไปเบ่ง เพราะจะเหนื่อยแย่

ถ้าสมมติว่าอาการพองยาว-ยุบยาว ถ้าลมหายใจเราเข้ายาว ๆ อาการพองมันจะพองยาว ลมหายใจออกยาวมันก็ยุบยาวอย่างนี้ เราเรียกว่า พองยาว-ยุบยาว เราใส่หนอได้ ถ้ามันพอง ให้กำหนดว่า พองหนอ ถ้ามันยุบ ก็ให้กำหนดว่า ยุบหนอ ถ้าเกิดอาการที่เราหายใจสั้น ๆ พองยุบมันก็สั้นตาม มันจะมีอาการพอง-ยุบ พอง-ยุบ มันไว เราจะไปใส่หนอไม่ได้ บางคนไม่เข้าใจจะใส่หนอให้ได้ เหนื่อยแย่เลย ให้กำหนดว่า พอง-ยุบ พอง-ยุบ ก็พอ ไม่ต้องใส่หนอ ถ้ามันไวกว่านั้น มันเกิดผับ ๆ ๆ ๆ เราจะกำหนดว่า พอง-ยุบ พอง-ยุบ ไว ๆ ไม่ได้ ต้องกำหนดว่า รู้หนอ รู้หนอ คือรู้ไปตามอาการที่เขาเป็นอย่างนั้น อย่าไปเร่ง และอย่าไปกำหนดรู้หนอ ๆ ๆ ๆ ๆ ไว ๆ ไม่ ใช่เขาเขาไวผับ ๆ ๆ ๆ รู้หนอ ๆ ๆ ๆ รัวไปตามเขาไม่ได้ ห้ามไปทำอย่างนั้น เดี๋ยวเหนื่อยแย่ พองยาว-ยุบยาว กำหนดว่า พองหนอ-ยุบหนอ พองสั้น-ยุบสั้น กำหนดว่า พอง-ยุบ พอง-ยุบ พองไว-ยุบไว กำหนดว่า รู้หนอ รู้หนอ สมมติว่ายุบ ๆ ๆ ๆ ไป เกิดตีแน่นขึ้นมา แน่นอก จะกำหนดว่า แน่นหนอ แน่นหนอ ไม่ได้ ถ้ากำหนดแน่นหนอ ๆ ๆ มันจะหายใจไม่ออก เขาจะมีเทคนิคพิเศษ ถ้ามันแน่นขึ้นมา ให้กำหนดว่ารู้หนอ รู้หนอ ประเดี๋ยวเขาจะคลายไปเอง พองหนอ-ยุบหนอ กำหนดไปแล้วมันหายวับไป พอง-ยุบ ไม่มี ถ้ากำหนดหายหนอ ๆ หน้าตามันเป็นอย่างไร มันไม่มีสภาวะ ตัวมันดับไปแล้ว จะเอาหายตรงไหนเป็นตัวอารมณ์ได้ อันนั้นไม่ต้องดูเลย โบราณาจารย์ท่านบอกว่า เวลาพอง-ยุบมันหายไป อย่าเอามือไปคลำ ไม่ต้องไปค้นหา ไม่ต้องไปรอ ทิ้งไปเลย แล้วให้ไปดูอาการนั่งกับอาการถูกที่เรานั่งสัมผัสอยู่กับพื้นแทน โดยกำหนดว่า นั่งหนอ ถูกหนอ นั่งหนอ ถูกหนอ ให้เอาตัวนั่งกับตัวถูกเป็นตัวแทน ช่วงที่พองยุบเขาหายไป การกำหนดถูกหนอ สมมติสะโพกเรา 2 ข้างนี่ ถ้าเราเอาลอย ๆ ไว้อย่างนี้ ไม่สัมผัสกับพื้น เราจะรู้สิ่งข้างล่างที่เราจะสัมผัสเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ว่าเป็นอย่างไรไม่ได้ มันจะต้องถูกหรือสัมผัสก่อน พอถูกปุ๊บ เรียกได้ 3 อย่าง เรียกว่าถูกก็ได้ เรียกว่ากระทบก็ได้ เรียกว่าสัมผัสก็ได้ เหมือนกันเลย พอถูกแล้วความรู้สึกเกิดเขาเรียกว่า กายวิญญาณจิตตุปบาท คือใจที่รู้ทางกาย ที่เป็นไปทางกาย อาศัยกายวัตถุเกิด ถูกแล้ว สัมผัสแล้ว ความรู้สึกเกิด เช่นถ้าไปสัมผัสกับสิ่งที่แข็ง ก็รู้ว่าแข็ง ถ้าไปสัมผัสกับสิ่งที่อ่อน ก็รู้ว่าอ่อน ถ้าไปสัมผัสกับสิ่งที่ร้อน ก็รู้ว่าร้อน ถ้าไปสัมผัสกับสิ่งที่เย็น ก็รู้ว่าเย็น ถ้าสัมผัสสิ่งที่หย่อนตึงก็รู้ เป็นสัมผัสทางกาย เราสามารถรู้ได้ทางกาย สัมผัสแล้วรู้ในการสัมผัสตามอาการ แต่ถ้าไม่ถูกก็รู้ไม่ได้ อย่างที่เรานั่งสะโพกเราถูกหรือยัง ถูกแล้วความรู้สึกเกิด สมมติว่าเรานั่งอยู่ ความรู้สึกร้อนปรากฏ มันจะมีจุดที่ชัดเด่นอยู่ เรารู้สึกตรงไหนเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตรงไหนชัด เราหมายตาตรงนั้น สะโพกข้างขวาตรงไหน รู้สึกชัดดี เย็น ๆ ร้อน ๆ อ่อน แข็ง เราก็หมายใจไว้ตรงนี้ เวลาเรานั่งกำหนด นั่งหนอ ดูอาการนั่งแวบหนึ่ง ถูกหนอ ส่งใจไปสะโพกขวาที่มันสัมผัส รู้สึกเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตรงไหนที่ชัด เราก็ส่งใจไปตรงนั้น ถูกหนอ นั่งหนอ ดูนั่งอีกที แล้วก็ถูกหนอ ส่งใจไปสะโพกซ้ายคู่กัน นั่งหนอ ถูกหนอ นั่งหนอ ถูกหนอ 2 แห่ง คู่กัน นั่งหนอ ถูกหนอ มีวิธีใช้แทนพอง-ยุบที่หายไป หายไปด้วยเหตุอะไรก็ตาม ด้วยอำนาจของสมาธิก็ตาม ด้วยอำนาจของญาณก็ตาม เราก็มาดูนั่งหนอ ถูกหนอ แทน แต่อย่าไปคอยพอง-ยุบ ปล่อยไปเลย ภายหลังรู้สึกว่าพอง-ยุบมาเมื่อไร เราก็ทิ้งนั่งหนอ ถูกหนอ มากำหนดพองหนอ-ยุบหนอต่อ กำหนดไปเรื่อย ๆ ถ้าพอง-ยุบไม่มาก็ไม่ต้องไปกังวล ดูนั่งหนอ ถูกหนอต่อไป

ถ้าเราเจริญอานาปนสติมาก่อน หมายความว่าเจริญพุทโธมาก่อน แล้วติดอยู่ในพุทโธจริง ๆ เรากำหนด พุท เข้า โธ ออก ถ้าเรามากำหนดพองหนอ ยุบหนอ มันจะไล่กัน ตีกับลมหายใจ มันจะขึ้น ๆ ลง ๆ ใจมันไม่เป็นสมาธิ เพราะตามกำหนดถึง 2 อย่าง ตามลมหายใจเข้าไปด้วย ดูอาการพองด้วย ตามลมหายใจออก ดูอาการยุบด้วย มันจะตีกัน ให้ทิ้งพอง-ยุบไม่ต้องดู พอง-ยุบจะเด่นชัดอย่างไรไม่ต้องดู ดูอาการนั่ง กับอาการถูกแทนไปก่อน หลาย ๆ วันเข้า เสร็จแล้วเรามาแย็บ ๆ ดู พองหนอ ยุบหนอ ถ้ามันไม่ไล่เข้าไปหากัน เราก็มากำหนดพองหนอ ยุบหนอ แต่ถ้ามันขึ้น ๆ ลง ๆ กับลมหายใจอยู่ให้ทิ้งไปเลย ไม่ต้องไปกำหนดเดี๋ยวมันเสียเวลา แล้วมีวิธีใช้อีกอย่างหนึ่งคือ ครูบาอาจารย์จะเพิ่มให้ สมมติว่าคู่กับพอง-ยุบที่ทิ้งช่วง หมายความว่า พอพองหนอ ยุบหนอแล้ว มันไม่ยอมพอง มันจะทิ้งช่วงไว้หน่อยหนึ่ง ตอนนี้เราจะต้องเติมนั่งหนอลงไป จึงจะพองขึ้นมาพอดี อันนี้มันเป็นความละเอียดในการเจริญกรรมฐาน ถึงเวลานั้นจะรู้เอง แล้วถ้าพองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ลงไปแล้วมันก็ยังไม่ขึ้นมาอีก ก็กำหนดพองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกหนอ อย่างนี้เขาจะพองขึ้นมาพอดี ได้จังหวะ ใช้นั่งหนอ ถูกหนอ คู่กับพอง-ยุบที่ทิ้งช่วง

ทีนี้เวลาเดินจงกรม ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ เอาใจไปไว้ที่เท้า ปลายเท้า หรือฝ่าเท้า อันที่จริงเราดูเท้าจริง แต่ไม่ได้ไปใส่ใจดูตัวเท้า แต่ไปดูอาการของเท้า คำว่าขวาดูอาการยกขึ้นของเท้า ย่างก็คือย่าง หนอก็คือเหยียบ อาการยกของเท้ากับเท้าเป็นคนละอย่างกัน เพราะฉะนั้นเราดูอาการเคลื่อนไหวของเท้า แต่ต้องส่งใจไปที่เท้า แต่ไม่ใช่ว่าเอาใจไปไว้หลังเท้า ปลายเท้า อุ้งเท้า ส้นเท้า วันแรกเดินจงกรม 30 นาทีก็พอ ที่ของใครของมัน เวลาปฏิบัติไม่ต้องรอกัน ต่างคนต่างปฏิบัติกำหนดของตัวเอง แล้วเวลากราบ ก็รับกรรมฐานแล้ว โยคีต้องกราบแบบที่สอน ตอนเช้ามา ยืน แล้วก็ลงนั่ง กราบ 3 ครั้ง นึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ 3 ครั้ง แล้วเราก็ลุกขึ้นยืน เดินจงกรมก่อน 30 นาที อย่าเพิ่งเอามาก อย่าเห็นว่าเราเดินได้ชั่วโมงก็เอาชั่วโมง ไม่ได้ เพราะเราต้องปรับพื้นฐานของสมาธิให้มีกำลังขึ้นไปโดยลำดับ อย่าไปเร่ง วันที่ 1 ให้เดิน 30 นาที วันที่ 2 ให้เพิ่มไปอีก 10 นาที เป็นเดิน 40 นาที นั่ง 40 นาที คู่กัน วันที่ 3 เพิ่มอีก 10 นาที เป็นเดิน 50 นาที นั่ง 50 นาที วันที่ 4 เพิ่มอีก 10 นาที เป็นเดิน 1 ชั่วโมง นั่ง 1 ชั่วโมง เวลาจะไปไหนมาไหนจะไปเดินสวบ ๆ ๆ ไม่ได้แล้ว ต้องสำรวม จะไปหยิบไปจับอะไร อย่าไปเดินปล่อยมือไม่ได้ ต้องเดินท่าสำรวม และทอดสายตาอยู่ไม่ไกล ไม่ให้เดินไว ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ ไม่ใช่ว่าอยู่บนศาลากำหนด พอลงศาลาแล้วปล่อยหมด ไม่ได้ ต้องปฏิบัติตั้งแต่เราตื่นมาจนถึงเราหลับเลย คำว่าปฏิบัติ เราอยู่ตรงไหน ๆ ก็ต้องกำหนดหมดเลย แล้วก็เดินกับนั่งสลับกันให้มาก เราจะไปหยิบไปจับ อะไรก็ต้องกำหนด อย่าไปอยู่เฉย ๆ ไม่ได้ เวลาจะฉันหรือรับประทานอาหารก็ต้องกำหนด เวลาเห็นก็เห็นหนอ ๆ อยากทานก็อยากทานหนอ ๆ เสร็จแล้วจะตักก็ยกหนอ ๆ เอื้อมหนอ ๆ หรือหยิบหนอ ๆ อ้ามือก็อ้าหนอ ลงหนอ จับหนอ ตักหนอ ใส่หนอ ตักหนอ คลุกหนอ ขึ้นมาหนอ มาหนอ ๆ ๆ อ้าปากหนอ ใส่หนอ หุบหนอ แล้วก็ดึงช้อนออกจากปาก ดึงหนอ ๆ ลงหนอ ๆ วางหนอ เสร็จแล้วก็เคี้ยวหนอ ๆ จะกลืนก็กลืนหนอ ๆ ลงก็ลงหนอ ๆ ดูอาการลงไป ไม่ต้องรีบร้อน เราให้เวลาชั่วโมงครึ่งสำหรับทานข้าว ต้องกำหนดในอาการทานข้าว ไม่ต้องสนใจคนอื่น ไม่ต้องให้พร เอาไปรวมไว้สุดท้ายค่อยให้พรเต็มที่ จะ เหลียวซ้ายแลขวา ยุกยิกไม่ได้แล้ว มือต้องประสานกันห้ามวางต่องแต่ง ๆ ต้องพยายามกำหนด สำหรับทำวัตร สวดมนต์จะไม่มีตอนนี้ ให้ปฏิบัติบูชา การปฏิบัติบูชาเป็นการกระทำที่เลิศกว่าการกระทำอย่างอื่น ฉะนั้น การไหว้พระ สวดมนต์ดี ไม่ใช่ไม่ดี แต่ตอนนี้เรามาทำสิ่งที่ดีกว่า ดีเลิศอย่างนี้ ดีธรรมดาเราเอาไว้ก่อน การแผ่เมตตาก็ให้แผ่วันสุดท้าย ตอนนี้เราชำระใจเราให้บริสุทธิ์ เพราะไม่อย่างนั้นใจเรามันจะแอบคิดไปถึงบ้านโน้นบ้านนี้ มันออกจากปัจจุบันไป เพราะฉะนั้นโยคีของเราต้องเพียรพยายามกำหนด และงดพูด

เรามีหน้าที่มาเอาใจใส่ดูแลตัวเอง คำว่าดูแลตัวเองเขามีเนื้อความ 2 อย่าง คือ รับและปฏิเสธ รับว่าจะมาดูแลตัวเอง ปฏิเสธการสนใจดูแลคนอื่น การสนใจดูแลคนอื่นเรามีมามากแล้ว แต่สนใจดูแลตัวเองไม่ค่อยมีเลย และอย่าพูด เพราะพูดอันตรายมากที่สุด คนอื่นเขากำลังปฏิบัติ เขากำลังได้ดี สติเขากำลังต่อเนื่อง เราไปทักเขาขาดทันที เขาขาดแล้วเราบาปทันทีเลย ทำให้เขาสติขาด เราก็เสีย พาลให้คนอื่นเสียไปด้วย ฉะนั้นต้องงดพูดเลย ถ้ามันอยากพูด เราต้องดังตั้งแต่อยากพูดหนอ ๆ ๆ กำหนดจนความอยากพูดมันดับไปแล้ว มันจะสั่งให้เราพูดอีกไม่ได้ ขอให้จำไว้ว่า เรามีหน้าที่ดูแลตัวเอง ขอบเขตที่เราดูแลรักษามีเพียงกว้างศอก ยาววา หนาคืบ แค่นี้เอง แต่มันรักษาไม่ค่อยหมด ได้เท่าไรเอาเท่านั้น ช่วง 2-3 วันแรก ไม่ต้องไปคิดว่าไอ้โน่นขาดไอ้นี่ขาด เอาเท่าที่เราได้ แต่ให้อยู่ในอาการสำรวม ทำเป็นไม่รู้จักกัน ไม่ต้องมองหน้ากัน มองแล้วมันอดคุยไม่ได้ ให้ก้มหน้า

อีกอย่างคือกำหนดอย่างธรรมดา สมมติว่าเรากำหนดพองหนอ ยุบหนอไป มันเกิดปวดขึ้นมาส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เราต้องทิ้งพอง ยุบ สมมติปวดขา เราก็ส่งใจไปดูขา ปวดหนอ ๆ แล้วไม่ต้องกำหนดเวลาให้ ดูไปจนกว่าอาการปวดจะดับไปเอง เราจะไปอยากให้เขาหายไม่ได้ ดูเวทนาที่เกิดขึ้น เรียกว่าเราเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ไม่ต้องห่วงพอง-ยุบ ถ้าเขามีอยู่เราก็กำหนด ถ้าเวทนามันดับแล้ว เราก็กลับมาพองหนอ ยุบหนอต่อ

ทีนี้เรากำหนดพองหนอ ยุบหนอไป เกิดใจมันแวบขึ้นไป คิด ไปถึงวัด คิดไปหาลูกหลานที่บ้าน คิดไปถึงกิจการที่เราทำอยู่ เราก็ต้องทิ้งพอง-ยุบ โดยกำหนดว่าคิดหนอ ๆ ๆ การกำหนดความคิดไม่ใช่กำหนด เพียงคำ สองคำ แกจะอยู่ไม่อยู่ก็ช่าง ฉันกลับมาพองหนอ ยุบหนอต่อไป ไม่ได้ เราต้องกำหนดจนกว่าอาการคิดนั้นดับวูบไม่มีแล้ว ไม่คิดต่อแล้ว เราก็กลับมาพองหนอ-ยุบหนอต่อ แต่ถ้าเขามีอยู่ก็กำหนดคิดหนอ ๆ ๆ ต่อ ถ้าพองยุบก็ดี อาการของเวทนาก็ดี อาการของใจที่ออกไปก็ดี เราจะหงุดหงิด เรากลุ้มใจ เราเสียใจอย่างไร ให้กำหนด ถ้ากลุ้มใจก็กำหนดกลุ้มใจหนอ ๆ ดูอาการกลุ้มใจอย่างเดียวจนอาการกลุ้มใจมันดับไม่มีแล้ว เราก็กลับมากำหนดพองหนอ-ยุบหนอต่อ เวลาเราได้ยิน เสียงจิ้งหรีด เสียงจักจั่น เสียงพัดลม เบื้องแรกก็กำหนด 3 ครั้งก็พอ คือ ได้ยินหนอ ๆ ๆ สำหรับเสียงที่มีประจำ แต่ถ้าเสียงที่มาเป็นบางครั้งบางคราว กำหนดฟังเขาเฉย ๆ ฟังจนดับไป อย่างคนคุย ๆ ๆ ผ่านไป เราได้ยิน ก็ได้ยินหนอ ๆ แต่อย่าไปสนใจ เขาคุยเรื่องอะไรอย่าไปใส่ใจ กำหนดได้ยินหนอไปจนกว่ามันไม่มีแล้ว เราก็กลับมาพองหนอ ยุบหนอ

ดังนั้น การเจริญกรรมฐานที่แท้จริง เราไม่ต้องคิดหนักอกหนักใจ อันที่จริงก็เป็นการที่เรามาเอาใจใส่ดูแลตัวเอง ไม่ต้องกังวล ไม่ต้องอึดอัด มาเป็นอิสระมาเป็นไท ขอบเขตที่เราดูแลก็แค่กว้างศอก ยาววา หนาคืบไม่มากเท่าไร มันหลุดไปบ้างก็ไม่เป็นไร กำหนดมันใหม่ต่อไป ๆ แล้วจะค่อยดีขึ้นเอง

สุดท้ายของการให้กรรมฐานในวันนี้ ขอให้โยคี ผู้เข้าปฏิบัติธรรมทุกๆท่านได้นำเอาวิธีการนี้ไปปฏิบัติให้เกิดผลต่อไป ขอให้มีความสุขด้วยกันทุกๆท่านเทอญฯ


คุณสินีรัตน์ ศรีประทุม พิมพ์ต้นฉบับ
คุณมณฑาทิพย์ คุณวัฒนา จัดตัวหนังสือ ตรวจแก้

http://www.sati99.com/index.php?lay=sho ... &Id=203230


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 17 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร