วันเวลาปัจจุบัน 30 มี.ค. 2024, 10:55  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=19



กลับไปยังกระทู้  [ 9 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ต.ค. 2010, 09:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

• เทศกาลกินเจ •

คำว่า "เจ" ในภาษาจีน มีความหมายทางพุทธศาสนาฝ่ายมหายานว่า "อุโบสถ" คำว่า "กินเจ" ตามความหมายที่แท้จริงคือการรับประทานอาหารก่อนเที่ยงวัน ดังเช่นที่ชาวพุทธในประเทศไทยถือ "อุโบสถศีล" หรือ "รักษาศีล 8" จะไม่รับประทานอาหารหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว แต่เนื่องจากการถืออุโบสถศีล ของชาวพุทธฝ่ายมหายานไม่กินเนื้อสัตว์ จึงนิยมเรียก "การไม่กินเนื้อสัตว์" ไปรวมกันคำว่า "กินเจ" ซึ่งเป็นการถือศีลไปด้วย ในปัจจุบันผู้ที่รับประทานอาหารทั้ง 3 มื้อ แต่ไม่กินเนื้อสัตว์ก็ยังคงเรียกว่า "กินเจ"

ฉะนั้น ความหมายก็คือ "คนกินเจ" มิใช่เพียงแต่ไม่กินเนื้อสัตว์ แต่คนที่กินเจ ยังต้องดำรงตนอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม มีความบริสุทธิ์สะอาด งดงามทั้งกาย วาจา ใจ เป็นการถือศีลบำเพ็ญธรรมไปด้วยพร้อมกัน เช่นนี้แล้วจึงจะเรียกว่า "กินเจที่แท้จริง" ดังนั้น คำคล้องจองที่เราได้ยินอยู่เสมอ คือ "ถือศีลกินเจ" จึงนับว่ามีความหมายสมบูรณ์ครบถ้วนอยู่ในตัวเองแล้ว

ตามร้านขาย "อาหารเจ" เราจะพบเห็นตัวอักษร คำนี้อ่าน "ไจ" (เจ) แปลว่า "ไม่มีของคาว" เขียนด้วยสีแดงบนพื้นสีเหลืองเสมอ ในช่วงเทศกาลกินเจเดือน 9 จะเห็นตัวอักษรนี้เขียนบนธงสีเหลือง ปักอยู่ตามแผงขายอาหารเจมองเห็นเป็นที่สะดุดตาแก่คนทั่วไป ชาวจีนถือว่าสีแดงเป็นสีแห่งสิริมงคลแก่ชีวิต สีเหลืองเป็นสีของผู้ทรงศีล ดังนั้นผู้ตั้งใจถือศีลบำเพ็ญตนให้บริสุทธิ์ ตัวอักษรนี้ย่อมเป็นเครื่องหมายเตือนสติให้ระลึกไว้เสอมว่า "การกินเจงดเว้นเนื้อสัตว์ของคาวคือ การปฏิบัติธรรม รักษาศีลของความเป็นมนุษย์ เป็นการเจริญมหาเมตตากรุณาธรรมโดยแท้ อันจะนำมาซึ่งความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง และก่อให้เกิดสันติสุขแก่ทุกชีวิตบนโลก"

รูปภาพ

ที่มาของเทศกาลกินเจ

เทศกาลเจเริ่มขึ้นเมื่อประมาณ 400 ปีมาแล้ว ตามตำนานเล่าว่า เกิดมาในสมัยที่ชาวจีนถูกรุกรานโดยชนชาติแมนจู ซึ่งเข้าปกครองประเทศจีน และบังคับให้ชนชาติจีนยอมรับวัฒนธรรมของตน อาทิ การไว้ทรงผมเยี่ยงแมนจู คือ โกนศีรษะโล้นทางด้านหน้าและไว้ผมยาวทางด้านหลัง ซึ่งหลายคนคงจะชินตาในภาพยนตร์จีนที่นำมาฉายทางทีวี

ในสมัยนั้น มีคนจีนกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันต่อต้านชาวแมนจู โดยใช้หลักทางธรรมเข้ามาร่วมด้วย ชาวจีนกลุ่มนี้ นุ่งขาว ห่มขาวและไม่รับประทานเนื้อสัตว์ ซึ่งมีความเชื่อว่า การประพฤติปฏิบัติตามแนวทางนี้จะช่วยสร้างความเข้มแข็ง ให้กับกลุ่มของตนจนสามารถต้านทานชาวแมนจูได้ คนกลุ่มนี้เรียกตัวเองว่า "หงี่หั่วท้วง" ซึ่งแม้จะได้ต่อสู้อย่างอาจหาญ แต่ท้ายที่สุดก็ไม่สามารถต้านทานการรุกรานของชาวแมนจูได้

เมื่อถึงวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 ชาวจีนที่ยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของชาวแมนจู จึงพากันถือศีลกินเจ เพื่อรำลึกถึงเหล่านักสู้ "หงี่หั่วท้วง" ที่ได้ต่อสู้พลีชีพในครั้งนั้น

ความเชื่อถืออีกกระแสหนึ่งของตำนานการกินเจนั้น เชื่อกันว่าเป็นการสักการะพระพุทธเจ้าในอดีต 7 พระองค์ และพระมหาโพธิสัตว์อีก 2 พระองค์ รวมเป็น 9 พระองค์ หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่า ดาวนพเคราะห์ทั้ง 9 ในพิธีกรรมนี้ สาธุชนจึงงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ตัดชีวิต หันมาบำเพ็ญศีล โดยการตั้งปณิธานในการกินเจ งดเว้นอาหารคาว เพื่อเป็นการสมาทานศีล 2 ประการ คือ

1. เว้นจากการเอาชีวิตของสัตว์มาบำรุงชีวิตของตน
2. เว้นจากการเอาชีวิตของสัตว์มาเพิ่มเลือดของตน
3. เว้นจากการเอาชีวิตของสัตว์มาเพิ่มเนื้อของตน

สำหรับเมืองไทยความเชื่อเรื่องการกินเจ เป็นไปในแนวทางของการละเว้นการเอาชีวิตของสัตว์ เพื่อเป็นสักการบูชาแก่พระพุทธเจ้าและมหาโพธิสัตว์กวนอิม อาจเนื่องจากการแพร่หลายของกการละเว้นการกินเนื้อวัว ในกลุ่มคนที่นับถือ "เจ้าแม่กวนอิม" การกินเจจึงเป็นอีกหนึ่งพิธีกรรมเพื่อสักการะ

:b8: :b8: :b8:

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ต.ค. 2010, 09:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ความหมายของธงเจ

อักษรแดงบนพื้นเหลือง เขียนว่า "ไจ" หรือ "เจ" มีความหมายว่า "ของไม่มีคาว" สีแดงเป็นตัวแทนของความเป็นสิริมงคลในชีวิต ส่วนสีเหลืองเป็นสีของพุทธศาสนา หรือผู้ทรงศีล ธงเจนอกจากจะเป็นสัญลักษณ์ของอาหารเจแล้ว ยังเป็นการเตือนให้พุทธศาสนิกชนที่ปฏิบัติตน "ถือศีล-กินเจ" ได้ตระหนักถึงการไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์และการตั้งอยู่ในศีล ตลอดช่วงระยะเวลา 9 วัน 9 คืน

การปฏิบัติตัวในช่วงเทศกาลกินเจ

เมื่อตั้งมั่นที่จะปฏิบัติศีลและกินเจ ในช่วงเทศกาลกินเจ 9 วัน 9 คืนนี้แล้ว ก็ควรจะศึกษาข้อห้ามต่างๆ ที่บัญญัติไว้เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติตัว โดยทั่วไปแล้วจะมีข้อปฏิบัติดังนี้

งดเว้นเนื้อสัตว์ หรือทำอันตรายต่อสัตว์
งดนม เนย หรือน้ำมันที่มาจากสัตว์
งดอาหารรสจัด หมายถึง อาหารรสเผ็ดมาก เค็มมาก หวานมาก เปรี้ยวมาก
งดผักกลิ่นฉุน 5 ชนิด คือ กระเทียม หัวหอม
หลักเกียว กุยช่าย ใบยาสูบ รวมทั้งเครื่องเทศที่มีกลิ่นฉุน
รักษาศีล 5 รักษาจิตใจให้บริสุทธิ์ รักษาอารมณ์ให้คงที่
ทำบุญ ทำทาน บางคนที่เคร่งอาจนุ่งขาว ห่มขาว

สำหรับคนที่กินเจอย่างเคร่งครัด นอกจากจะ "ถือศีล-กินเจ" แล้วยังต้องเลือกผู้ปรุงอาหารเจที่กินเจด้วย เพื่อให้ "อาหารเจ" นั้นบริสุทธิ์จริงๆ บางคนจะมีการคัดแยกภาชนะที่บรรจุอาหารหรือใช้ปรุงอาหาร แยกจากที่ใช้ใส่อาหารที่มีเนื้อสัตว์อย่างเด็ดขาด และในบางแห่งอาจพบว่ามีการจุดตะเกียงเก้าดวง ไว้เป็นเวลา 9 วันตลอดระยะเวลาการกินเจ เพื่อเป็นการรำลึกถึงบุญคุณพ่อแม่ญาติพี่น้อง และเพื่อเป็นพุทธบูชา

รูปภาพ

อาหารเจ

ปัจจุบันมีการยอมรับกันโดยทั่วไปถึงคุณค่าของ "อาหารเจ" เนื่องจากการรับประทานพืชผักในปริมาณที่มากกว่าปกติ งดเว้นเนื้อสัตว์ ทำให้กระเพาะได้พักจากภารกิจการย่อยเนื้อสัตว์ที่ทำประจำอยู่ และได้รับวิตามินเข้าไปเสริมสร้างซ่อมแซมร่างกายส่วนที่สึกหรอ รวมทั้งได้โปรตีนจากถั่วชนิดต่างๆ ซึ่งแตกต่างจากโปรตีนที่เราได้รับจากเนื้อสัตว์ ช่วงเวลานี้จึงถือเป็นช่วงที่ร่างกายได้พักผ่อนจากการรับสารอาหารย่อยยากจากแหล่งอาหารต่างๆ รวมทั้งยังได้รับพลังใจจากการที่ปฏิบัติตัวอยู่ในศีล ทำให้จิตใจอิ่มเอิบ เบาสบาย

หลายคนคิดว่า การรับประทานแต่อาหารเจจะทำให้เกิดโรคขาดอาหาร ทั้งที่สาเหตุสำคัญของการเกิดโรคขาดอาหารนั้น มาจากการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกหลัก ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งกับผู้ที่กินเนื้อสัตว์และกินเจ ซึ่งมีนิสัยการบริโภคที่ไม่คำนึงถึงคุณค่าของสารอาหารที่ได้รับ

คนที่กินเจอย่างถูกหลักก็จะได้รับอาหารที่มีคุณค่า มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ การประกอบอาหารเจเพื่อรับประทานในช่วงนี้ จึงสามารถเลือกอาหารพวกข้าวกล้อง (ใช้แทนข้าวขาว) โปรตีนเกษตร (แทนเนื้อสัตว์) ผักสด เห็ดหอม ถั่วนานาพันธุ์ เต้าหู้ แป้งหมี่กึง ทดแทน และผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำเป็นอาหารชนิดต่างๆ

รูปภาพ

อานิสงส์ของการกินเจ

ประเพณีกินเจของชาวจีน ก่อให้เกิดประโยชน์หลายด้านด้วยกันคือ

1. ด้านศีลธรรม ผุ้กินเจจะปฏิบัตตนอยู่ในศีลธรรมอันดี มีความเมตตาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่เบียดเบียนผู้อื่นนับเป็นบุญกุศลใหญ่หลวง

2. ด้านสุขภาพกาย ผู้กินเจจะมีสุขภาพกายดีเพราะไม่ดื่มของมึนเมา และไม่รับประทานเนื้อสัตว์ รวมทั้งอาหารประเภทไขมันสูง ทำให้ลดภาวะไขมันในเส้นเลือด ซึ่งมีอันตรายต่อชีวิต นอกจากนี้อาหารจากเนื้อสัตว์มักมีเชื้อโรคปะปน เสี่ยงต่อการเป็นโรคภัย ผู้กินเจเป็นประจำจึมีอายุยืนนาน

3. ด้านสุขภาพจิต ผู้กินเจจะมีสุขภาพจิตที่ดี เพราะผลจากการปฏิบัติธรรมที่ไม่คิดเบียดเบียนผู้อื่น ให้อภัยซึ่งกันและกัน และมีความเมตตาต่อกันทำให้จิตบริสุทธิ์แจ่มใสตลอดเวลา

4. ด้านเศรษฐกิจ ผู้กินเจสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เพราะผักมักจะราคาไม่แพงเหมือนเนื้อสัตว์ทั่วๆ ไป

5. ด้านสังคม ผู้กินเจจะมีความสามัคคีกัน เกิดการร่วมมือ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

6. ด้านการเมือง เนื่องจากการกินเจ หรืออาหารจากพืชผัก ไม่มีการกำหนดทางเชื้อชาติศาสนา จึงมีผู้เข้าร่วมพิธีกรรมอย่างมากมาย ประกอบกับปลูกฝังให้ผู้เข้าร่วมพิธีมีควมสามัคคีจึงไม่ก่อห้เกิดความขัดแย้งระหว่างชุมชนบ้านเมืองสงบร่มเย็น ประชาชนอยู่กันอย่างประหยัด ภาวะเศรษฐกิจก็จะดีขึ้นส่งผลให้รัฐบาลมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้นด้วย

:b8: :b8: :b8:

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ต.ค. 2010, 09:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

กิน "เจ" ที่ภูเก็ต

"เจ" ที่ภูเก็ตมาจากรากฐานความเชื่อเดียวกัน คนจีนเรียก "เจเดือนเก้า" แต่ถ้านับตรงกับเดือนไทยก็จะได้ตรงกับเดือน 11 เทศกาลกินเจที่ภูเก็ตจึงมีขึ้นหลังเทศกาลกินเจทั่วๆ ไป บางครั้งเราจึงมักได้ยินเชื่อเรียกของเทศกาลกินเจที่ภูเก็ต ว่าเป็นเทศกาลกินผัก ซึ่งแท้จริงแล้วก็คือการกินเจในรูปแบบและระยะเวลา 9 วันเช่นเดียวกัน

ความเชื่อเกี่ยวกับการกินเจที่ชาวภูเก็ตเล่าสืบต่อกันมาว่า มีคณะงิ้วจากเมืองจีนมาเปิดการแสดงที่กะทู้ แล้วบังเอิญเกิดโรคระบาด คณะงิ้วจึงจัดให้มีพิธีกินเจ และสร้างศาลเจ้าขึ้น ปรากฏว่าโรคระบาดก็หายไปสิ้น ชาวบ้านเกิดความเลื่อมใสจึงปฏิบัติตาม นับเนื่องจากนั้นมีผู้ศรัทธามากขึ้นเรื่อยๆ ชาวกระทู้จึงอยากให้พิธี "กินเจ" ของตนสมบูรณ์แบบตามแบบพิธีในมณฑลกังไส จึงได้ส่งตัวแทนไปนำเอาควันธูปกลับมา โดยการตั้งมั่นที่แรงกล้า เพราะพิธีการนำควันธูปกลับมานั้น ต้องจุดธูปต่อกันมิให้มอดดับได้ ศาลเจ้ากระทู้จึงเป็นศูนย์กลางของเทศกาลการกินเจที่ภูเก็ตเรื่อยมา จนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ

9 วันแห่งพิธีกรรมของการกินเจที่ภูเก็ต

ตอนบ่ายก่อนวันเริ่มกินผัก จะมีพิธียกเสา "โกเด้ง" ขึ้นที่หน้าศาลเจ้า หรืออ๊าม เพื่อใช้เป็นที่แขวนตะเกียงทั้ง 9 ดวง และอัญเชิญดวงวิญญาณของยกอ๋องฮ่องเต้ หรือพระอิศวร และกิวอ๋องไตเต หรือราชาผู้เป็นใหญ่ทั้งเก้า ในตอนกลางคืนเพื่อมาประดิษฐาน ณ ศาลเจ้าหรืออ๊าม

เช้าวันรุ่งขึ้นมีการจุดธูปขนาดใหญ่ ตั้งเครื่องเซ่นและเผาไม้หอม เพื่อบูชาเจ้าประจำอ๊าม

หลังพิธีการกินเจ หรือชาวภูเก็ตเรียก "การกินผัก" ผ่านไป 3 วัน จะถือว่าตัวเองมีความสะอาดแล้ว หรือเรียกว่า "เช้ง" (清) ในตอนค่ำมีพิธีการอันเชิญเทพเจ้าอีก 2 องค์ คือ "ลำเต้า" เจ้าผู้ถือบัญชีคนเกิด และ "ปักเต้า" เจ้าผู้ถือบัญชีคนตาย และทำพิธี "ปั้งกุ้น" หรือพิธีปล่อยพระ หรือการจัดทหารของเจ้าไปรักษาศาลเจ้าทั้ง 5 ทิศ เพื่อป้องกันสิ่งชั่วร้าย และภูตผีมาทำลายพิธี ความสนุกสนานเริ่มขึ้นตรงนี้ เมื่อการเชิญทหารเต็มไปด้วยร่างทรงของตัวละคร อาทิ เห้งเจีย บู๊สง เป็นต้น

ในวันที่เจ็ด เริ่มพิธีบูชาดาวเพื่อขอความเป็นสิริมงคล รักษาโรคภัยไข้เจ็บ

สองวันสุดท้าย เป็นความตื่นเต้นท้าทาย เมื่อมีการจัดขบวนพิธีแห่อย่างมโหฬาร เพื่อนำเกี้ยวไปรับพระจำหลักที่สะพานหิน เป็นการระถึงวันที่ควันธูปจากมณฑลกังไสมาถึงภูเก็ต ในขบวนแห่จะมีการแสดงอิทธิฤทธิ์ของม้าทรง หรือคนทรงเจ้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย จะเห็นภาพของการใช้ของมีคมต่างๆ ทิ่มแทงตามร่างกาย มีทั้งง้าว ลูกตุ้มเหล็กฟาดหน้าฟาดหลัง เอาขวานจามหลัง หรือเอาเหล็กแหลมทิ่มแทงร่างกาย หรือแทงลิ้น จนกระทั่งเฉือนลิ้นตัวเองออกมา โดยท้าทรงเหล่านั้นอ้างว่าไม่มีความเจ็บปวดใดๆ ขณะเป็นร่างทรง ม้าทรงจะเดินเต้นไปทั่วเมือง ชาวบ้านจะตั้งโต๊ะเครื่องเซ่นไหว้เพื่อให้เจ้าไปโปรดและมีการจุดประทัดตลอดเส้นทาง ทั้งเกาะปกคลุมด้วยควันธูปและประทัด

วันที่เก้า จะมีพิธีศักดิ์สิทธิ์ คือ พิธี "โก๊ยโห้ย" หรือพิธีลุยไฟสะเดาะเคราะห์ ม้าทรง หรือเจ้าจะเดินผ่านกองไฟที่มีถ่ายร้อนแดงเป็นระยะทางกว่า 2 ฟุต และตามด้วยผู้ที่ถือศีลกินเจที่มีความมั่นใจว่าตัวเองสะอาดแล้ว ก็สามารถร่วมลุยไฟได้ด้วยเช่นกัน ในตอนกลางคืนจะมีพิธีปีนบันไดมีดสูงประมาณ 12 เมตร และจบลงที่ยามดึกของคืนวันที่ 9 จะมีการแห่พระไปส่งทะเลบริเวณสะพานหิน และนำเสาโกเต้งลงดับโคมไฟทั้ง 9 เป็นเสร็จพิธีกินเจที่ภูเก็ต

กินเจที่ภูเก็ตออกไปในแนวสนุกสนาน ตื่นเต้น ด้วยอิทธิปาฏิหาริย์ซึ่งพิสูจน์ไม่ได้ แต่หลายคนที่ไปดูด้วยตาตนเอง ยังพกความตื่นตาตื่นใจ เป็นประสบการณ์มาถึงปัจจุบัน และเป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมการกินเจอีกรูปแบบหนึ่ง

รูปภาพ

ที่มา : กระทู้ในบอร์ดเก่า โพสต์โดย คุณลูกโป่ง
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=18193

:b8: :b8: :b8:

:b44: รวมกระทู้ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับ “การกินเจ-มังสวิรัติ”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=19&t=39721

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ต.ค. 2010, 20:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 10 ม.ค. 2008, 20:41
โพสต์: 448

ที่อยู่: bangkok, Thailand

 ข้อมูลส่วนตัว


เนื้อสัตว์ อันตราย มหันตภัยร้าย เสี่ยงต่อโรคร้ายนานาชนิด

--------------------------------------------------------------------------------

เนื้อสัตว์ มหันตภัย เสี่ยง ต่อ โรคภัยร้ายนานาชนิด จาก งานศึกษาวิจัย ต่างประเทศ

ข้อมูลที่น่าสนใจในเวปข้างล่าง

http://www.watisan.com/wizContent.as...&txtmMenu_ID=7

http://www.watisan.com/showdetail.asp?boardid=1080


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ต.ค. 2010, 20:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 10 ม.ค. 2008, 20:41
โพสต์: 448

ที่อยู่: bangkok, Thailand

 ข้อมูลส่วนตัว


เวปดี ๆ มีสาระ สัตว์ต่าง ๆ ร่วมเป็นเพื่อนในวฎสงสาร
ต่างรักตัวกลัวตาย เหมือนเรา ๆ ท่าน ๆ
แนะนำให้อ่าน และส่งต่อ ได้กุศล
ชีวิตในวฎสงสาร ต่างเวียนว่าย วัฏฏะชาติ อนาถภพ " แด่ชีวิตเพื่อนร่วมโลก ต่างเวียนว่าย วัฏฏะชาติ อนาถภพ
บ้างประสบ ถูกเขาฆ่า บ้างฆ่าเขา
ยุติธรรม คือกรรม ที่ตามเรา
วิบากเก่า ไม่ลืมชาติ ไม่ขาดอายุความ

ชีวิต ในวฎสงสาร
ต่างเวียนว่าย วัฏฏะชาติ อนาถภพ
บ้างประสบ ถูกเขาฆ่า บ้างฆ่าเขา
ยุติธรรม คือกรรม ที่ตามเรา
วิบากเก่า ไม่ลืมชาติ ไม่ขาดอายุความ อ่านจากเวปข้างล่าง น่าสนใจ

http://www.watsai.net/webb/view.php?No=126&visitOK=1

http://www.watisan.com/showdetail.asp?boardid=1080


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ต.ค. 2010, 00:03 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 7
สมาชิก ระดับ 7
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 ส.ค. 2010, 13:00
โพสต์: 599

งานอดิเรก: ปฏิบัติธรรม พัฒนาวัดร้าง
สิ่งที่ชื่นชอบ: กฎแห่งกรรม
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ความหมายของ เจ

คำว่า เจ ในภาษาจีนทางพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน มีความหมายเดียวกับคำว่า อุโบสถ ดังนั้นการกินเจก็คือการรับประทานอาหารก่อนเที่ยงวัน เหมือนกับที่ชาวพุทธในประเทศไทยที่ถืออุโบสถศีล หรือรักษาศีล 8 โดยไม่รับประทานอาหารหลังจากเที่ยงวันไปแล้วแต่เนื่องจากการ ถืออุโบสถศีลของชาวพุทธฝ่ายมหายานที่ไม่กินเนื้อสัตว์ จึงนิยมนำการไม่กินเนื้อสัตว์ไปรวมกันเข้ากับคำว่ากินเจ กลายเป็นการถือศีลกินเจ ในปัจจุบันผู้ที่รับประทานอาหารทั้ง 3 มื้อแต่ไม่กินเนื้อสัตว์ก็ยังคงเรียกว่ากินเจ ฉะนั้น ความหมายก็คือคนกินเจมิใช่เพียงแต่ไม่กินเนื้อสัตว์ แต่ยังต้องดำรงตนอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม มีความบริสุทธิ์ สะอาด ทั้งกาย วาจา ใจ

แจ มิได้แปลว่า อุโบสถ
ในภาษาจีนมี (กลุ่ม) คำหรือวลีที่ใช้อักษรแจ (เจ, 齋 / 斋 )เป็นตัวประกอบร่วมด้วยหลายคำ แต่คำว่าโป๊ยกวนแจไก่ (八關齋戒 ) ซึ่งเป็นศัพท์ของทางพุทธศาสนา ดูจะเป็นคำที่นิยมหยิบยกมาใช้อธิบายความหมายของอักษรแจเสมอมา

โป๊ยกวนแจไก่ (八關齋戒 ) แปลว่า ศีลบริสุทธิ์แปดประการ ซึ่งก็คือ “ศีลแปด”ที่เรารูจักกันดี

คนไทยในรุ่นปู่ย่าตายายที่เคร่งในศีลวัตรจะไปอาราธนาศีลแปดจากพระสงฆ์ในวันธรรมสวนะภายในพระอุโบสถ ศีลแปดจึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า “ อุโบสถศีล ”

ผู้เขียนเกี่ยวกับเรื่องกินเจที่ไม่เข้าใจภาษาและที่มาของคำจึงแปลอักษรแจผิดว่า “อุโบสถ” ซึ่งคำแปลนี้ก็ฮิตติดตลาดและถูกคัดลอกไปใช้บ่อยอย่างน่ารำคาญใจ เพราะหากจะเอาตามความในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถานแล้ว

อุโบสถ เป็นคำนาม หมายถึง สถานที่ที่พระสงฆ์ประชุมกันทำสังฆกรรมต่างๆ เรียกย่อว่า โบสถ์ การแปลและเข้าใจคลาดเคลื่อนดังกล่าวยังถูกใช้เป็นบรรทัดฐานในการอธิบายวัตรปฏิบัติของการกินเจผิดตามไปด้วยว่า “การกินเจต้องถือศีลข้อวิกาลโภชน์” หรือการงดกินของขบเคี้ยวหลังเที่ยงวันไปแล้ว ซึ่งเป็นศีลข้อหนึ่งในศีลแปด ทั้งๆที่โรงครัวของศาลเจ้าหรือโรงเจที่เปิดเลี้ยงผู้คนในช่วงเทศกาลกินเจ ล้วนแต่มีอาหารมื้อเย็นให้กับผู้เข้าไปกิน ยิ่งวันที่มีการประกอบพิธีกรรมในตอนค่ำยังมีอาหารมื้อค่ำบริการเสริมให้เป็น พิเศษด้วย ที่เป็นเช่นนั้นเพราะในช่วงเทศกาลกินเจนั้นเขาถือเพียงศีลห้าที่เป็นนิจศีล ไม่ได้ครองศีลแปดอย่างที่หลายคนเข้าใจ (เว้นแต่ผู้ตั้งจิตอธิษฐานว่าจะครองศีลแปดเป็นการส่วนตัวเท่านั้น)

ในทางอักษรศาสตร์จีน อักษรตัว “แจ” มีพัฒนาการมาจาก ตัวอักษร ฉี “ 齊 ” ซึ่งแปลว่าบริบูรณ์ , เรียบร้อย อักษรแจเกิดจากการเพิ่มเส้นตั้งและสองจุด ( 小 ) เข้าไปกลางอักษรฉี ทำให้เกิดตัว ซื ( 示 ) ซึ่งแปลว่าการสักการะ อยู่ในแก่นกลางของตัวฉี

แจ ( 齋 ) จึงมีความหมายว่า การรักษาความบริสุทธิ์(ทั้งกายและใจ)เพื่อการสักการะ หรือ การปฏิบัติบูชาถวายเทพยดา

ซึ่งการอธิบายในแนวทางนี้จะสอดคล้องกับ คำว่า “ 齋醮 ” ในลัทธิเต๋า ซึ่งย่อมาจากคำว่า 供齋醮神 ที่แปลว่าการบำเพ็ญกายใจให้บริสุทธิ์เพื่อเป็นสักการะบูชาเทพยดา

ความหมายของแจในศาสนาอิสลาม
ศัพท์ คำว่า ศีลแจ / 齋戒 ในภาษาจีน นอกจากใช้ในลัทธิเต๋าและศาสนาพุทธแล้ว ยังหมายถึง “ศีลอด” ที่ถือปฏิบัติในเดือนถือศีลอดของชาวจีนอิสลาม สาระของศีลก็คือการห้ามรับประทานอาหารใดๆ ในระหว่างเวลาที่พระอาทิตย์ขึ้นจวบ จนลับขอบฟ้า ตลอดเดือนถือศีลอด

แจในวัฒนธรรมดั่งเดิมของจีน
ศัพท์ แจ พบในเอกสารจีนเก่าที่มีอายุกว่าสองพันปีหลายฉบับ เช่น 禮記 , 周易 , 易經 , 孟子 , 逸周書 (เอกสารที่อ้างนี้ปัจจุบันถือว่าเป็นคัมภีร์ในลัทธิหยู) เอกสารเหล่านั้นยังใช้อักษรตัวฉี(齊 )แต่เวลาอ่านออกเสียงกลับต้องอ่านออกเสียงว่า ไจ เช่น คำว่า ไจเจี๋ย / 齊潔 หรือ ไจเจี้ย / 齊戒 ซึ่งก็คือการออกเสียงแจในสำเนียงแต้จิ๋วนั่นเอง อักษรฉีในเอกสารนั้นนักอักษรศาสตร์ตีความว่าแท้จริงแล้วก็คืออักษรตัวแจหรือ ใช้แทนตัวแจ แจที่ว่านี้หาได้หมายถึงการงดกินของสดคาว หรือ การงดรับประทานอาหารหลังเที่ยง หากหมายถึงการชำระล้างร่างกาย สงบจิตใจ และสวมใส่เสื้อผ้าใหม่สะอาด เป็นการเตรียมกายและใจให้บริสุทธิ์เพื่อประกอบพิธีกรรมสักการะบูชา ขอพร หรือแสดงความขอบคุณต่อเทพยดาแห่งสรวงสวรรค์

แจเพื่อการจำแนกความเคร่งครัดของภิกษุฝ่ายมหายาน ศีลของภิกษุฝ่ายมหายาน ในส่วนเกี่ยวกับการฉันของภิกษุแตกต่างจากฝ่ายเถรวาททั้งมีการจำแนกเป็นสองลักษณะตามสำนักศึกษาได้แก่

1. เหล่าที่ถือมั่นในศีลวิกาลโภชน์และฉันอาหารเจ จะไม่ฉันอาหารหลังอาทิตย์เที่ยงวัน เรียก ถี่แจ /持齋

2. เหล่าที่ถือมั่นแต่การฉันอาหารเจ เรียกถี่สู่ /持素

เจียะแจ
ความหมาย เจียะแจ (食齋 ) เป็นการออกเสียงตามสำเนียงถิ่นแต้จิ๋ว ศัพท์คำนี้ใช้และเป็นที่เข้าใจแต่ทางตอนใต้ของจีนโดยเฉพาะแถบลุ่มอารยะธรรม หลิ่งหนาน (領南)ในมณฑลกวางตุ้ง อันเป็นแหล่งอาศัยดั่งเดิมของคนแคะ แต้จิ๋ว กวางตุ้งและไหหนำ ซึ่งเป็นชาวจีนกลุ่มใหญ่ในประเทศไทย เจียะแจตรงกับคำว่า ชือซู ( 吃素 )ในภาษาจีนกลาง (สำเนียงปักกิ่ง)

เจียะ ( 食 ) ในภาษาถิ่นใต้ หากใช้ในความหมายของคำกิริยา แปลว่า กิน

แจ ( 齋 ) แปลว่า บริสุทธิ์ ( 清淨 ) (อ้างตามปทานุกรมพุทธศาสนาฉบับ วัดฝอกวงซัน, ไต้หวัน )

เจียะแจ หรือ ตรงกับคำไทยที่นิยมใช้กันว่า กินเจ จึงแปลว่า การกินอาหารที่บริสุทธิ์ตามความเชื่อ(ในลัทธิกินเจ) ซึ่งหมายความถึงอาหารที่ไม่คาวหรือไม่เจือปนซากผลิตภัณฑ์ของสัตว์ รวมทั้งไม่ปรุงใส่พืชผักต้องห้าม

คำว่า เจียะแจนี้ ชาวจีนฮกเกี้ยนทางปักษ์ใต้แถบจังหวัดภูเก็ตเรียกต่างออกไปว่า เจียะไฉ่ (食菜) ที่แปลตามตัวอักษรได้ว่า “กินผัก” แต่มีนิยามหรือความหมายตรงกับคำว่าเจียะแจที่กล่าวข้างต้น


ขอบคุณบทความจาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

.....................................................
จงมีจิตใจที่ดี รักเพื่อนมนุษย์ เชื่อในความดีของผู้อื่น
และไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใด จงพยายามยิ้มกับตัวเองแล้วบอกว่า
ตนเองมีความสุข สามารถแก้ปัญหาได้
ความคิดแบบนี้จะช่วยทำให้มีสติในการควบคุมสถานการณ์ต่างๆ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ต.ค. 2010, 00:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 7
สมาชิก ระดับ 7
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 ส.ค. 2010, 13:00
โพสต์: 599

งานอดิเรก: ปฏิบัติธรรม พัฒนาวัดร้าง
สิ่งที่ชื่นชอบ: กฎแห่งกรรม
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

10 ข้อห้ามในเทศกาลกินเจ

ประเพณีการกินเจ หรือ เทศกาลกินเจ จะกำหนดเอาวันตามจันทรคติ คือเริ่มต้นตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ ถึง ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีนทุกๆ ปี รวม 9 วัน 9 คืน มีจุดเริ่มต้นจากประเทศจีน โดยผู้ที่กินเจอาจจะมีจุดเริ่มต้นที่แตกต่างกันไป แต่จุดประสงค์หลักสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ กินเพื่อสุขภาพ, กินด้วยจิตเมตตา และกินเพื่อเว้นกรรม

ประเพณีกินเจ ก็คือประเพณีกินผัก หรือที่เรียกว่า มังสวิรัติ ซึ่งเป็นประเพณีเก่าของชาวจีน ที่ถึงจะย้ายถิ่นฐานไปอยู่ในประเทศใด ก็ยังคงยึดถือปฏิบัติตามประเพณีนี้อยู่

สำหรับประเทศไทยที่มีชาวจีนมาตั้งรกรากอยู่จำนวนไม่น้อย ปัจจุบันกลายเป็นคนไทยเชื้อสายจีน ก็ยังยึดถือประเพณีกินเจเช่นกัน ประเพณีกินเจในประเทศไทยที่ผู้คนรู้จักกันดีก็คือ ที่จังหวัดภูเก็ต ที่เกิดขึ้นมากกว่าร้อยปีแล้ว โดยแพร่หลายมาจากคณะงิ้วประเทศจีนที่มาแสดงให้ชาวจีนในภูเก็ตดู การกินเจในปัจจุบันมิได้มีจุดมุ่งหมายเพียงเพื่อจะป้องกันภัยพิบัติเท่านั้น แต่ยังเป็นการชำระจิตใจให้บริสุทธิ์และเป็นการเคารพถึงดวงวิญญาณของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไป

แล้ว.........ในช่วงเทศกาลกินเจมีข้อห้ามที่ยึดถือปฏิบัติกันมานานอยู่หลายข้อ เชื่อกันว่าถ้าปฏิบัติได้ครบทุกข้อจึงจะเข้า ถึงการกินเจที่ถูกต้องและ ได้บุญอย่างแท้จริง จึงขอยกข้อห้ามทั้ง 10 ข้อในเทศกาลกินเจมาเล่าให้ฟังกัน จะว่าเป็น การไขข้อข้องใจกันก็ได้ เพราะเชื่อว่าบางข้อยัง เป็นที่สงสัยกันอยู่ เริ่มที่

ข้อแรก การงดกินผักฉุนหรือผักที่มีกลิ่นแรง ซึ่ง ประกอบไปด้วยพืชผัก 5 ชนิด ได้แก่ กระเทียม (หัวกระเทียม, ต้นกระเทียม) หัวหอม (ต้นหอม, ใบหอม, หอมแดง, หอมขาว, หอมหัวใหญ่) หลักเกียว (ลักษณะคล้าย หัวกระเทียม แต่เล็กกว่า) กุ้ยช่าย (ใบคล้ายใบหอม แต่แบนและเล็กกว่า) ใบยาสูบ (บุหรี่, ยาเส้น, ของเสพติดมึนเมา) ผักเหล่านี้เป็นผักที่มีรสหนัก กลิ่นรุนแรง นอกจากนี้ยัง ให้โทษทำลายพลังธาตุในร่างกาย เป็นเหตุให้อวัยวะหลัก สำคัญภายในทั้ง 5 ทำงานไม่ปกติ สำหรับผู้ปฏิบัติสมาธิกรรมฐานไม่ควรรับประทาน พราะผักดังกล่าวมีฤทธิ์ กระตุ้นจิตใจและอารมณ์ให้เร่าร้อน ใจคอหงุดหงิด โกรธง่าย และยังมีผลทำให้พลังธาตุในร่างกายรวมตัวไม่ติด จิตใจจะไม่บริสุทธิ์ ซึ่งในข้อห้ามนี้มีบางคนยังข้องใจกันมาก คือ กระเทียมซึ่งทางการแพทย์และเภสัชกรพบว่า สามารถรับประทานเป็นยาได้ ทั้งนี้เพราะเป็นสารที่มีประโยชน์สามารถละลายไขมันในเส้นเลือดได้ เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคเส้นโลหิตเลี้ยงหัวใจตีบหรืออุดตัน เป็นต้น แม้ทางการแพทย์แผนโบราณก็ยืนยันตรงกันว่ากระเทียมเป็นสมุนไพรรักษาโรคได้ แต่คนจีนที่ปฏิบัติในการกินเจถือว่าให้โทณกับหัวใจ ซึ่งในข้อนี้ต้องขึ้นอยู่กับความเชื่อของแต่ละคน

ข้อที่สอง การงดกินเนื้อสัตว์ ซึ่งประกอบไปด้วย เนื้อวัว หมู ปลา หรือสัตว์มีชีวิตที่ใช้เป็น อาหารได้ เพราะ คนจีนเชื่อว่าก่อนตายมันจะตกอยู่ในอาหารตกใจกลัวเมื่อเรากินมันเข้าไป อาจจะทำให้เรามีบาปติดตัวไปด้วย เพราะมันคือสิ่งที่มีชีวิตเหมือนกับคน ข้อนี้ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่คนจีนถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด แต่มาถึงปัจจุบัน..........บางคนเริ่มหาข้อคัดค้านว่าสัตว์บางชนิดอย่าง หอยหรือปลาเล็กๆ ก็น่าจะรับประทานได้เพราะมันเป็นสัตว์ไม่มีเลือด ตามความเชื่อแล้วมันขึ้นอยู่กับแต่ละคน แต่ถ้าในความเป็นจริงแล้ว คนจีนเขาเชื่อว่าประเพณีนี้ศักดิ์สิทธิ์ถ้าปฏิบัติ ให่เคร่งครัด ถึงจะมีคนคัดค้านแต่กับข้อนี้คงไม่ได้ผล

ข้อที่สาม ไม่ควรกินอาหารรสจัด ซึ่งไม่ใช่แค่รสเผ็ดอย่างเดียว รวมไปถึงรสเค็มมาก หวานมากหรือเปรี้ยวมาก ด้วย ซึ่งปกติคนจีนจะไม่กินรสจัดอยู่แล้วเพราะถือว่าจะเข้าไปทำลายสุขภาพ อย่างกินเผ็ดจัดก็จะไปทำลาย กระเพาะ กินเค็มมากจะไปทำลายไตได้ และอีกอย่างน้ำปลาก็ทำมาจากสัตว์เหมือนกัน ข้อห้ามนี้ถือว่าถูกหลักของ การแพทย์ แต่บางคนที่ปฏิบัติไม่เคร่งครัดนัก เช่น ชอบรสเค็มจัดก็ใช้เกลือแทนน้ำปลา อันนี้ถือว่าไม่ผิด

ข้อที่สี่ ต้องกินอาหารที่คนกินเจด้วยกันปรุง ซึ่งข้อนี้ถ้าปฏิบัติได้จะถือว่าบริสุทธิ์จริงๆ แต่ถ้าทำให้เกิดความยาก ลำบากก็ไม่จำเป็น จะได้ไม่ต้องเลือกร้านกันจ้าละหวั่น ฉะนั้น คนที่ปรุงอาจจะไม่ได้กินเจก็ได้แต่ขอให้อาหารที่กินเข้า ไปเป็นอาหารเจก็พอ

ข้อที่ห้า ถ้วยชามจะต้องไม่ปนกัน เพราะ เขาถือเคร่งครัดว่าอาหารคาวซึ่งชาวจีนเรียกว่า "ชอ" นั้น ถ้วยชาม จะใช้ปนกันไม่ได้ จะถือว่าล้างสะอาดหมดจดแล้วจึงเอามาใช้ก็ผิดอีก บางคนคิดว่าล้างให้สะอาดมากๆ ก็ไม่จำเป็น ต้องแยก แต่ข้อนี้ถือว่าเป็นธรรมเนียมเหมือนอย่างอิสลามที่ไม่ยอม ใช้ถ้วยชามปนกัน เหมือนของจีนนั่นแหละ

ข้อที่หก ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ข้อนี้ตรงกับการรักษาศีลของชาวพุทธ การฆ่าสัตว์ของชาวจีนตั้งแต่สัตว์เล็กๆ ไป จนถึงสัตว์ใหญ่เป็นข้อเคร่งครัดเช่นกัน บางคนสงสัยอีกว่าอย่างถ้าเป็นยุงหรือมดฆ่าได้ไหมตามความเชื่อแล้วห้าม เด็ดขาดไม่เช่นนั้นจะถือว่า ปฏิบัติไม่ครบ

ข้อที่เจ็ด แต่งกายด้วยชุดขาว ข้อนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคน บางคนก็ใส่ชุดสีขาวตลอดจนถึงออกเจเพราะเชื่อกัน ว่านอกจากงดอาหารต่างๆ ในร่างกายสะอาดแล้วภายนอกแม่จะเป็นเครื่องแต่งกายก็ต้องสะอาดด้วย ข้อนี้ไม่ใคร่เข้มงวดสำหรับบุคคลที่ปฏิบัติอยู่กับบ้าน ไม่ได้ไปที่แจตั๊วหรือสถานที่ทำพิธีกินเจ

ข้อที่แปด พูดจาไพเราะ คนที่ถือศีลกินเจไม่ใช่เพียงแต่กินของสะอาดเท่านั้น แต่คำพูดที่พูดออก จากปากก็ต้อง สะอาดด้วย สิ่งไม่ดีทั้งหลายไมควรพูดหรือที่เรียกว่า "ปากเจ" ซึ่งประกอบไปด้วย ไม่พูดเท็จ ไม่พูดยุแหย่ ไม่พูด เพ้อเจ้อ ถ้าปฏิบัติได้ก็ถือว่าสะอาดทั้งหมด

ข้อที่เก้า งดดื่มสุราและของมึนเมา ตลอดช่วงเวลา 9 วัน..........ข้อนี้สำคัญเพราะการงดอาหารที่เป็นของคาวแล้วสิ่ง ที่สร้างความมึนเมาหรือสิ่งแปลกปลอมในร่างกายก็ห้ามเข้าสู่ร่างกายด้วย

ข้อที่สิบ ห้ามดับตะเกียงทั้ง 9 ดวง คนที่จะไปกินเจมักจะไปชุมนุมกันที่แจตั๊วหรือสถานที่กินเจ ณ ที่นั้น เขาจะประดับดอกไม้ตั้งโต๊ะบูชา วางกระถางธูปและตั้งเครื่องเจต่างๆ นอกจากนี้ ก็จุดโคม 9 ดวงเพื่อสมมติเป็น "เก๊าฮ้วงฮุดโจ้ว" นั่นเอง ซึ่งจะต้องจุดไว้ทั้งกลางวันและ กลางคืนจนตลอดงานทีเดียว ถ้าดับโคมไฟดวงใดดวงหนึ่ง ก็จะถือว่าไม่เป็นสิริมงคลและไม่ครบถ้วนพิธีการกินเจ

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของข้อห้ามในการกินเจใครจะ ปฏิบัติตามหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับความเชื่อของตัวเอง ประเพณีกินเจโดยทั่วไปแล้วมิได้ทำกันตลอดทั้งปี แต่จะเริ่มกินในช่วงวันขึ้น 1 ค่ำ จนถึง 9 ค่ำ เดือน 9 ซึ่งตกในเดือน 11 ข้างไทยเป็นวันกินเจ ซึ่งจะสับเปลี่ยนเวียนไปตามปีนั้นๆ ใครที่ไม่ได้เป็นลูกหลานชาวจีนถ้าต้องการจะ มีร่างกายและจิตใจ ที่บริสุทธิ์และได้ทำบุญกุศลอาจจะอยากเข้าร่วมพิธีนี้ด้วยก็ได้ เป็นการดีเสียอีกที่ปีหนึ่งคนเรา หันมาทำบุญร่วมกัน


ที่มา : nairobroo

.....................................................
จงมีจิตใจที่ดี รักเพื่อนมนุษย์ เชื่อในความดีของผู้อื่น
และไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใด จงพยายามยิ้มกับตัวเองแล้วบอกว่า
ตนเองมีความสุข สามารถแก้ปัญหาได้
ความคิดแบบนี้จะช่วยทำให้มีสติในการควบคุมสถานการณ์ต่างๆ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ต.ค. 2010, 02:15 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 31 พ.ค. 2009, 02:41
โพสต์: 5636

แนวปฏิบัติ: พอง ยุบ
ชื่อเล่น: เจ
อายุ: 0
ที่อยู่: USA

 ข้อมูลส่วนตัว www


อนุโมทนาค่ะ :b8:

.....................................................
"มิควรหวังร่มเงาจากก้อนเมฆ"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ต.ค. 2010, 07:31 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 7
สมาชิก ระดับ 7
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 ส.ค. 2010, 13:00
โพสต์: 599

งานอดิเรก: ปฏิบัติธรรม พัฒนาวัดร้าง
สิ่งที่ชื่นชอบ: กฎแห่งกรรม
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

กินเจให้ถูก

ใครตั้งใจจะถือศีลกินเจและลดน้ำหนักไปในตัว เพราะเป็นช่วงงดเนื้อสัตว์อยู่แล้วอย่าชะล่าใจ เพราะการกินเจอาจทำให้คุณอ้วนกว่าเดิม!

ถึงช่วงเทศกาลกินเจกันอีกแล้ว ปีนี้เชื่อว่าหลายคนคงจะตั้งใจกินเจให้ครบ 9 หรือ 10 วัน ให้สำเร็จเสียที หลังจากปีที่ผ่านๆมาอาจจะมีอาการที่เรียกว่า 'เจแตก' กันไปบ้าง โดยจุดประสงค์หลักของการกินเจ ก็คือ การดำรงตนให้อยู่ในศีลธรรมอันดีงาม มีความบริสุทธิ์ทั้งกาย วาจา ใจ และไม่เบียดเบียนผู้อื่นด้วยการงดเว้นการรับประทานเนื้อสัตว์นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม หลายคนใช้โอกาสในการถือศีลกินเจ ซึ่งไม่ได้บริโภคเนื้อสัตว์อยู่แล้ว เพื่อลดน้ำหนักหรือดูแลสุขภาพไปพร้อมๆกัน ดังนั้นสิ่งที่ต้องระวังก็คือ

ต้องระลึกอยู่เสมอว่า แม้ไม่ได้ทานเนื้อสัตว์ก็ไม่ได้แปลว่า 'อ้วนไม่ได้' เพราะอาหารเจหลายชนิดมีส่วนประกอบของแป้งและไขมันในปริมาณมาก ซึ่ง หากสังเกตตามท้องตลาดช่วงเทศกาลเจ มักมีการนำอาหารที่ปรุงด้วยวิธีทอด ผัดน้ำมัน หรือ รสเค็มหนักมาขายจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น เผือกทอด กุยช่ายทอด มันทอด ผัดหมี่ต่างๆที่ใส่น้ำมันจนเยิ้มแถมยังใส่ผักแค่ให้ดูอาหารมีสีสันเท่านั้น รวมทั้งอาหารที่ทำหน้าตาเลียนแบบเนื้อสัตว์ที่ทำจากแป้งล้วนๆ ไม่ว่าจะเป็นขาหมู เป็ดย่าง ไส้กรอก ลูกชิ้น เป็นต้น นอกจากนี้หลายคนยังเข้าใจผิดว่า น้ำมันที่ใช้ทอดอาหารเจเป็นน้ำมันพืช ไม่มีคอเลสเตอรอล ไม่ทำให้อ้วน ซึ่งแม้จะเป็นน้ำมันพืชแต่ก็จัดอยู่ในกลุ่มไขมัน หากกินมากเกินไปก็ทำให้อ้วนได้เช่นกัน

ดังนั้น การรับประทานอาหารประเภทดังกล่าวตลอดระยะเวลากินเจ หรือรับประทานมากเกินไป แทนที่ช่วงงดเว้นเนื้อสัตว์คุณจะได้สุขภาพที่ดีขึ้น อาจกลับทำให้คุณได้น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นมาอย่างไม่คาดคิด และยังเสี่ยงที่จะอยู่ในภาวะขาดสารอาหารประเภทโปรตีนอีกด้วย

เพราะฉะนั้น หากตั้งใจว่าจะถือศีลกินเจและดูแลสุขภาพ ควบคุมน้ำหนักไปพร้อมๆกัน ควรเลือกรับประทานอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ กินอาหารที่หลากหลาย เน้นอาหารต้ม นึ่ง ย่าง ยำ อาหารทอดที่นิยมกินกันช่วงเทศกาลเจหลากหลายชนิดนั้นกินได้บ้าง แต่ต้องในปริมาณพอเหมาะ ส่วนอีกเรื่องที่ต้องระวังก็คือ อาหารเจมักปรุงด้วยซอส ซีอิ้ว เต้าเจี้ยว และเกลือเพื่อให้รสเค็ม ซึ่งเป็นเครื่องปรุงที่มีโซเดียมสูง หากร่างกายได้รับมากเกินไปอาจก่อให้เสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูงอีกด้วย


:b44: รวมกระทู้ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับ “การกินเจ-มังสวิรัติ”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=19&t=39721

.....................................................
จงมีจิตใจที่ดี รักเพื่อนมนุษย์ เชื่อในความดีของผู้อื่น
และไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใด จงพยายามยิ้มกับตัวเองแล้วบอกว่า
ตนเองมีความสุข สามารถแก้ปัญหาได้
ความคิดแบบนี้จะช่วยทำให้มีสติในการควบคุมสถานการณ์ต่างๆ


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 9 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 3 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร