วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 02:08  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 ต.ค. 2010, 10:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 ก.ย. 2010, 14:07
โพสต์: 27


 ข้อมูลส่วนตัว




คำอธิบาย: หลวงปู่มอบปัจจัยให้คุณยายรอดไว้ใช้จ่ายซื้อข้าวปลาอาหาร 19 ก.ย. 2553
อนีโฆ 19 ก.ย. 53.jpg
อนีโฆ 19 ก.ย. 53.jpg [ 45.9 KiB | เปิดดู 2193 ครั้ง ]
Kiss

นิมิตในการบริกรรมภาวนา
โดย หลวงปู่ทองดี อนีโฆ


ในช่วงเวลาที่จิตเราเริ่มสงบลงเป็นสมาธิ คือ มีความตั้งมั่นแล้วนี้ มีอาการเคลิ้มๆ แล้วจิตมันก็เกิดสงบวูบลงเกิดสว่าง ในขณะจิตที่เกิดสว่างนี้ เรียกว่า จิตอยู่ขั้นอุปาจารสมาธิ บางขณะนั้นจิตมันจะส่งกระแสออกไปข้างนอก บางขณะก็มาจดจ้องอยู่ที่จิต คือ ที่ใจนั่นเอง ไม่ได้ส่งออกไปข้างนอก อันนี้แล้วแต่อุปนิสัยของแต่ละคน ถ้าบางคนที่กระแสจิตไปถึงไหน จิตก็ส่งกระแสไปถึงนั่นแล้วมันจะเกิดภาพนิมิตต่างๆขึ้น บางทีมันก็เกิดเป็นรูปภาพต่างๆ ปรากฏขึ้น ถ้าไม่มีอย่างนั้นก็จะมีภาพคนบ้าง สัตว์บ้าง เทวดาบ้าง แล้วแต่ความเข้าใจของผู้เห็นนิมิตนั้นนึกว่าอะไร ในเรื่องที่จิตเกิดสว่างแล้วส่งกระแสไปข้างนอก ถ้าเราจะนึกให้มันรู้ มันเห็นอะไรขึ้นมา จิตจะแสดง จะปรุงแต่งส่วนนั้นขึ้นมาให้เรารู้เราเห็น ส่วนมากจะเข้าใจว่าเราไปเห็นสิ่งอื่น แต่แท้ที่จริงนั้นจิตมันปรุงแต่งขึ้นมาเอง เพราะความอยากรู้อยากเห็นมันมีอยู่แต่เบื้องต้นแล้ว

เมื่อเป็นเช่นนั้น เราควรกำหนดเข้ามาภายในจิต เอาจิตไว้ที่จิต ถ้าหากรู้สึกว่าจิตมันจะหลงในสิ่งเหล่านั้น ก็พึงนึกว่า นั่นเป็นเพียงภาพนิมิตเท่านั้นไม่ใช่ของจริงจัง แล้วก็กำหนดรู้อยู่ที่จิตเฉยอยู่ ภายหลังภาพนิมิตเหล่านั้นมันจะหายไปเอง อันนี้ก็เป็นอุปสรรค์อย่างหนึ่ง และในบางขณะจิตไม่เฉพาะแต่มองเห็นเท่านั้น ในเมื่อจิตส่งออกไปข้างนอกแล้ว จะมีความรู้สึกคล้ายๆ ว่าตัวของเรานี้เดินออกไปข้างนอก เป็นรูปเป็นร่างต่างๆ ห่างจากตัวเดิมที่มีอยู่ แล้วเมื่อจิตนึกไปถึงไหนรูปร่างอันนั้นก็จะไปถึงนั่น จะไปดูนรกก็ได้ จะไปดูสวรรค์ก็ได้ หรือจะไปติดต่อกับวิญญาณในโลกอื่นก็ใช้จิตในช่วงนี้ เพราะฉะนั้นแล้วนี่ นักปฏิบัติทั้งหลายผู้หวังความเจริญในการปฏิบัติอย่างแท้จริงนั้น ขอได้พึงโปรดอย่าไปได้ยึดถือหรือสำคัญผิดในเรื่องเหล่านี้ ถือว่าเป็นเรื่องหลอกลวงเท่านั้น มีปัญหาที่เราจะต้องทำความเข้าใจกันอยู่ว่า ความรู้กับความเห็น บางทีเราอาจจะเข้าใจผิด รู้สิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วต้องเห็นอะไรอย่างหนึ่งเป็นสักขีพยานขึ้นมา เราอาจเข้าใจอย่างนั้น คือเห็นรูปเห็นนิมิตต่างๆ เป็นต้น แต่ความจริงความรู้เห็นที่ถูกต้องนั้น หมายถึง สิ่งที่จิตมันเกิดขึ้นมา เช่น อย่างรู้ว่าร่างกายทั้งสิ้นนี้มันเป็นของปฏิกูล น่าเกลียด โสโครก เป็นของสกปรกไม่สวยไม่งาม ในเมื่อจิตมันรู้อย่างนี้ ความเห็นมันก็ซึ้งลงไปว่าเป็นอย่างนั้นด้วย โดยไม่มีวิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัย ซึ่งบางครั้งมันอาจจะเกิดนิมิตขึ้นมาประกอบกับความรู้อันนั้นก็ได้ เพราะฉะนั้นแล้วนี่ความเห็นจึงแยกออกเป็นสองอย่างด้วยกัน

ประการที่หนึ่งนั้น เห็นนิมิตเป็นรูปเป็นร่างเกิดขึ้นในสมาธิ

ประการที่สอง เห็นว่าสิ่งนั้นเป็นจริงตามที่รู้ แล้วเกิดความเชื่อมั่นลงไปว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่รู้เป็นอย่างนั้น เช่น เห็นของปฏิกูลก็เป็นของปฏิกูลจริงๆ จิตปลงตกลงไปว่าเป็นของปฏิกูลจริงๆ อันนี้พึงทำความเข้าใจอย่างนี้ ถ้าเรารู้จักหลักแห่งการใช้ปัญญาหาเหตุหาผล รู้จักใช้ความคิดแล้วนี่ สมาธิที่เดินวิปัสสนานี้ ก็ต้องอาศัยอารมณ์แห่งวิตก วิจาร ปิติ สุข เอกัคคตาเหมือนกัน ก็จะขอพูดให้นักปฏิบัติทั้งหลายได้ดูได้ฟัง เราท่านทั้งหลายนี่ให้พึงรีบเร่งพิจารณา รีบเร่งภาวนาเข้าเอาไว้ เวลาจิตเราไม่สงบมีแต่ความคิด บางครั้งเราก็งงว่า ภาวนาแทบเป็นแทบตายแล้วจิตไม่สงบมีแต่ความคิด มีอย่างที่ไหนถ้ามันเอาแต่นิ่ง คนเรานั้นถ้าจิตมันเอาแต่นิ่งแล้วนี่แล้วมันก็ไม่ก้าวหน้า เร่งภาวนาให้ถึงความเป็นเอง เรานั้นย่อมรู้ว่า การกำหนดจิตให้นึกถึงอารมณ์ แล้วบริกรรมภาวนา หรือพิจารณาอะไรก็ตามในตอนแรกๆ เราตั้งใจภาวนาเอา ตั้งใจพิจารณาเอา ถ้าไม่ตั้งใจมันก็ไม่ภาวนา ไม่พิจารณา

เมื่อเราภาวนาไปจนกระทั่งจิตมันสงบ เป็นสมาธิลงมาอ่อนๆแล้ว จิตมันก็เกิดเป็นตัวของตัวมันไปเอง แล้วเกิดภูมิความรู้ขึ้นมาเอง หรือเกิดความสงบเองจนรั้งไม่อยู่ ในลักษณะอย่างนี้เรียกว่า ภาวนาให้ถึงความเป็นเอง หรือความเป็นตัวของตัวเอง เพราะพระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า วิริเยนะ ทุกขมุจเจติ ละความทุกข์ได้เพราะความเพียร ถ้าเราขาดซึ่งความเพียรนี่เราก็จะละทุกข์เหล่านั้นไม่ได้ เราท่านทั้งหลายต้องการที่จะละทุกข์กันแล้วนี่ เราต้องมีความเพียรเป็นที่ตั้ง จึงจะถึงจุดหมายปลายทางที่เราปรารถนากันนั่นเอง และคำว่าเวลาจิตนี่ของข้ามันไม่สงบมีแต่ความคิด เมื่อไปถามว่า จิตฟุ้งซ่านหรือจิตเสื่อมหรืออย่างไร จิตเกิดอารมณ์อะไรขึ้น ถ้ามันเอาแต่นิ่งมันก็ไม่ก้าวหน้า เพราะฉะนั้นถ้าเราสังเกตว่า เมื่อแรกเรานั่งปฏิบัติบริกรรมภาวนานี่ จิตมันสงบนิ่งเป็นสมาธิอย่างดี มีปิติ มีความสุขสบายใจเข้ามา แต่เมื่อสมาธิมีพลังมากขึ้นมาแล้วนี่ มันเกิดปัญญา เกิดความคิด พอจิตเกิดความคิดขึ้นมาเท่านั้น ผู้รู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็เรียกว่า จิตฟุ้งซ่าน แต่แท้ที่จริงมันไม่ใช่อย่างนั้น ศีลอบรมสมาธิ สมาธิก็อบรมซึ่งปัญญา ปัญญาก็อบรมจิต ศีลดีทำสมาธิเกิดง่าย สมาธิที่มีศีลก็เป็นเครื่องประกันความปลอดภัยทำให้เกิดเป็นสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิย่อมเกิดปัญญา หรือเกิดสัมมาทิฐิคือความเห็นชอบ เพราะคนเราพระพุทธเจ้าตรัสว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นตัวพาไปสู่ซึ่งพระนิพพาน เป็นต้น

ถ้าเราดูในคัมภีร์ก็ดี ในพระวิสุทธิมรรคก็ดี คัมภีร์พระอภิธรรมก็ดี และในคัมภีร์พระไตรปิฎกต่างๆก็ดี พระองค์ท่านได้วางหลักแห่งการพิจารณาไว้ในรูปแบบต่างๆ นั้น ในขั้นต้นนั้น ถ้าเราพิจารณากายคตาสติ สอนให้พิจารณาธาตุทั้งสี่ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ สอนให้พิจารณาว่าสิ่งเหล่านี้คือ ร่างกายของเรานั้นมันไม่เที่ยง เป็นทุกข์เป็นอนัตตา สอนให้พิจารณาดูรูป นาม หรือมีการพิจารณามหาสติปัฏฐานสี่เป็นต้น ถ้าเราบอกว่าการพิจารณาให้กรรมฐานนี่ เราจะไปยึดเอาอะไรมาเป็นหลัก เราก็ไม่ต้องยึดอะไรหรอก ยึดอยู่ที่กายกับใจนั่นแหละเป็นหลักใหญ่ เราก็เอาจิตของเรานี่พิจารณาร่างกาย ตั้งแต่เบื้องบนลงมาจนถึงเบื้องล่าง แล้วก็พิจารณาตั้งแต่เบื้องล่างจนไปถึงเบื้องบน โดยแยกเป็นส่วนๆ ซึ่งเรียกว่ากายคตาสติ ซึ่งมีอาการ 32 ของคนเรานั้น พิจารณาตั้งแต่ อุปัชฌาย์ท่านบอกว่า เกศา โลมา นขา ทันตา ตะโจ ตะโจ ทันตา นขา โลมา เกศา ผมของเธอ ขนของเธอ เล็บของเธอ ฟันของเธอ หนังของเธอทั้งหลายเหล่านี้ ให้พิจารณาเห็นสิ่งทั้งห้านี้ให้ได้ ว่าเป็นของปฏิกูลน่าเกลียด โสโครก เพื่อจะเป็นอุบายให้จิตสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ ยอมรับสภาพความเป็นจริงของสิ่งที่เป็นจริงโดยแห่งกฎธรรมชาติ จะเป็นอุบายถ่ายถอนละซึ่งราคะคือ ความกำหนัดยินดี มิให้จิตของเราเกิดขึ้นกลุ้มรุ่มจิตใจ ไม่ให้ไปฝักใฝ่อยู่ในกามราคะทั้งหลายที่เรามีอยู่ในจิตของเราจนมากเกินไป ถ้าเราสมมุติว่า เราเกิดขี้เกียจว่าพิจารณาไปมากๆ การที่เราจะไปนึกถึงจนครบอาการสามสิบสองนั้นมันลำบาก

เราก็มีวิธีปฏิบัติอีกอย่างหนึ่ง คือให้กำหนดเอาสิ่งหนึ่งสิ่งใด เอาแต่อย่างเดียว เราจะแนะนำว่า ถ้าเราดูกระดูกโดยเราจะจ้องมองหรือเพ่งเล็งดูกระดูกส่วนใดส่วนหนึ่งก็ได้ ในขณะที่เรากำหนดพิจารณาในอาการสามสิบสอง ตั้งแต่ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เป็นต้น ถ้าหากในขณะที่เราพิจารณาอยู่นั้น จิตของเราทำท่าทาง เอ๊ะมันจะสงบเป็นสมาธิอยู่ในอาการใด เราก็ปล่อยให้มันสงบนิ่งอยู่ในอาการนั้นๆ อย่าไปฝืน ฝืนเฉพาะที่มันจะส่งจิตออกไปข้างนอก ไปหาเรื่องอื่นที่ไม่ใช่หน้าที่ของมันพิจารณา ในเมื่อเรานึกถึงในอาการใดอาการหนึ่งก็ปล่อยให้มันสงบนิ่งอยู่อย่างนั้น แล้วก็เพ่งเล็งจดจ้องอยู่ที่ตรงนั้น จนกว่ามันจะมองเห็นนิมิตผุดขึ้นมาให้เห็นอย่างแจ่มแจ้งอย่างชัดอย่างเจน ถ้าหากว่าจิตของเรามันจะจดจ้องเพ่งเล็งมองดูอย่างนั้นๆ เราก็ปล่อยให้มันดูอยู่อย่างนั้นๆไปก่อน ในเมื่อจิตมีกำลังพอสมควรแล้ว จิตมันก็จะปรุงแต่งความเปลี่ยนแปลงของสิ่งที่เราจ้องมองดูอยู่นั้น ให้เป็นไปต่างๆ นานา ตามหลักเกณฑ์แห่งผลที่เป็นสิ่งปฏิกูลน่าเกลียดตามที่เราได้พิจารณาไว้แต่เบื้องต้น อันนี้แหละเป็นหลักการเจริญกายคตาสติ แล้วถ้าเรากำหนดรู้อีกว่า ธาตุแท้ในโลกนี้มีอยู่ สี่ ธาตุด้วยกัน คือ หนึ่ง ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ หรือดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ คน สัตว์นั้นเป็นเพียงสมมุติบัญญัติเรียกเอาเท่านั้น ในเมื่อร่างกายสังขารของคนเราทั้งหมดนี้สลายลงแล้ว ก็จะกลายเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ เข้าไปสู่ธาตุแท้ซึ่งมีอยู่ดั้งเดิมแต่ก่อนเก่า แล้วในเมื่อสิ่งเหล่านี้มันยังไปคุมพ้องกันอยู่ เกิดขึ้นเป็นร่างกาย เป็นรูปเกิดขึ้นมานี้ มันยังไม่แตกสลายตราบใดวิญญาณยังเข้ามายึดครอง ซึ่งเราเรียกอีกอย่างว่า จิต เอาจิตมายึดมั่นถือมั่นเป็นตนของตน เป็นเรา เป็นเขาอยู่อย่างนี้ เรายังไปยึดมั่น ด้วยกิเลส ด้วยตัณหา ด้วยอุปทาน มีทิฐิ มีมานะต่างๆ เป็นต้น เราก็รู้สึกว่ามีตัวมีตน เป็นคนเป็นสัตว์ แต่แท้ที่จริงแล้วนี่มันเป็นเพียงสมมุติบัญญัติกันเกิดขึ้นมาเท่านั้นเอง สิ่งที่เป็นคนก็ดี เป็นสัตว์ก็ดี ก็เป็นไปชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น อย่างดีก็ไม่เกินร้อยปีสองร้อยปี ในเมื่อร่างกายทั้งสิ้นได้แตกสลายลงไปแล้ว มันก็จะกลับกลายเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟตามเดิม เพราะคนเรานั้นเกิดมาร้อยก็ต้องตายร้อย เกิดมาพันก็ต้องตายพัน ไม่ว่าสรรพสัตว์ตัวใดก็ดีในโลกนี้ เกิดมาร้อยจะมาตายเก้าสิบเก้าก็ไม่ใช่ เกิดมาพันจะมาตายเก้าร้อยเก้าสิบเก้าก็ไม่ใช่ เกิดเท่าไรต้องตายเท่านั้น ไม่ว่าคนหรือสรรพสัตว์ทั้งหลายเกิดเท่าไรตายเท่ากันหมดทุกสิ่งทุกอย่าง

ถ้าเรารู้จักพิจารณาพระไตรลักษณ์ ถ้าเราดูความเป็นจริงในร่างกายสังขารในแง่แห่งความเป็นจริงว่า ในร่างกายของคนเรานี้ มีแต่ของปฏิกูล ของเน่า ของเหม็นทั้งสิ้น หรือเรามองให้เห็นเป็นจริงว่า คนเรานั้นมีธาตุสี่ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ เราพิจารณาความจริงของวัตถุ คือ กายที่มีอยู่เป็นเพียงดูให้รู้จักสิ่งนี้ คือ อันนี้เท่านั้น

แต่ในภูมิแห่งขั้นวิปัสสนากรรมฐานนั้น ถ้าเราดูความเปลี่ยนแปลง ความยักย้าย ความไม่คงทน ความไม่เป็นไปตามความปรารถนาของร่างกาย เรามีความเข้าใจในการพิจารณาสภาวธรรมในขั้นวิปัสสนากรรมฐานนั้น นักปราชญ์อันมีองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นต้น ท่านสอนให้พิจารณาดูความเปลี่ยนแปลงของสภาวธรรม คือร่างกายอันนี้ ตั้งแต่เราแรกเกิดจนมากระทั่งเติบโตขึ้นแล้ว ก็ค่อยเจริญลงเปลี่ยนเป็นคนแก่ มีความเจ็บความตาย จนกระทั่งแตกสลายไปในที่สุด ไม่มีอะไรเหลือ เพราะคนเรามีเกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงไปในช่วงกลาง แล้วก็ดับสลายไปในที่สุด ส่วนถ้าเราพิจารณาดูเวทนาก็เหมือนกัน เวทนาที่เป็นสุขนั้นทุกๆ คนก็ชอบพอใจ แต่ถ้าเวทนาที่เป็นทุกข์เหลือทนนั้นคนเราก็ไม่ชอบ แต่ทั้งสุขทั้งทุกข์นี้ย่อมเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา คือ อนิจจังทุกขังอนัตตา เช่นอย่างเรามีความเกิด ความสุขเกิดขึ้นแล้ว มันก็เกิดเพียงชั่วครู่ชั่วคราว เรามีความทุกข์เกิดขึ้นมา มันก็เกิดขึ้นชั่วครู่ชั่วคราวในชีวิตหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้ขึ้นเกิดตลอด วันนี้ดีใจ พรุ่งนี้อาจเสียใจ วันนี้ร้องไห้ พรุ่งนี้อาจหัวเราะเอาอะไรกับคนไม่ได้แน่นอน เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านตรัสเอาไว้เลยว่า คนเรานั้นย่อมตกอยู่ในโลกธรรมทั้งแปด คือมีคนนินทา ก็ต้องมีคนสรรเสริญ มีสุขก็ต้องมีทุกข์ มีลาภก็ต้องเสื่อมลาภ มียศก็ต้องเสื่อมยศเป็นของธรรมดาในโลกนี้ จะเอาอะไรไม่แน่ไม่นอน เพราะของสิ่งเหล่านี้มันตกอยู่ในพระไตรลักษณ์ทั้งสิ้น คือความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความเป็นของไม่ใช่ตัวตน หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นสภาวธรรมส่วนหนึ่ง การพิจารณาก็เหมือนกัน ถ้าเราพิจารณาสัญญา สัญญา แปลว่าความจำได้ หมายรู้ในสิ่งต่างๆ จำได้แล้วก็หลงลืมไป ความหลง ความลืมหรือความเปลี่ยนแปลง ความทรงจำนั้นมันก็ตกอยู่ในลักษณะของพระไตรลักษณ์คือ อนิจจังทุกขังอนัตตา ในเมื่อเราจะมาเป็นนักปฏิบัติกันนี้ ถ้าเราพิจารณาดูรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือที่เราเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าขันธ์ทั้งห้า โดยความเป็นของไม่เที่ยง มองให้เห็นโดยหลักแห่งความเป็นจริงแล้วนี่ เราก็จะรู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นของไม่เที่ยง เป็นของเป็นทุกข์ เป็นของไม่ใช่ตัวตนคือ อนัตตา ไม่เป็นไปตามความปรารถนาและไม่เป็นไปตามที่เราต้องการ ไม่มีอะไรอยู่ใต้อำนาจบังคับบัญชา แล้วก็มากำหนดจิตรู้อยู่ที่จิต พยายามกำหนดดูความเกิดดับของอารมณ์ภายในจิต สิ่งใดเกิดขึ้นมาก็กำหนดรู้ว่านี่จิตเราคิดชั่วเราก็รู้ สิ่งใดดับไปก็กำหนดรู้ว่านี่สิ่งที่ชั่วดับไปแล้ว เราก็รู้อารมณ์ที่ชั่วๆ เกิดขึ้นมาเราก็รู้แล้ว เราก็ทำหน้าที่รู้ว่ามันดับลงไปเสียแล้ว พร้อมๆกันนั้นเราก็ยกเอาพระไตรลักษณ์ มาดูตามไป คือสิ่งที่เกิดขึ้น ปรากฏว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับเราแล้ว มันก็ดับสลายไปในที่สุด ล้วนแต่ส่อแสดงลักษณะแห่งความไม่เที่ยงของอารมณ์ต่างๆ และเป็นทุกข์ในอารมณ์นั้นๆ แล้วก็สูญสลายไปทั้งสิ้นทั้งนั้น กำหนดจดจ้องดูอยู่จนกว่าจิตจะสงบ ตั้งมั่นเป็นสมาธิอีกครั้งหนึ่ง

ในเมื่อจิตสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ บางทีอยู่ในระดับแห่งอุปาจาระสมาธิก็ดี จิตก็ปราศจากความน้อมนึกแล้ว แล้วก็จะปฏิวัติไปสู่การรู้การเห็นการรู้จักคิดการพิจารณาโดยจิตของจิตมันเอง โดยที่เราไม่ต้องไปปรุงแต่งหรือไปตั้งใจ ความรู้ ความผุดรู้ ผุดเห็น หรือจิตพิจารณาสภาวธรรม ซึ่งเป็นไปเองโดยจิตของจิตเอง ท่านเรียกว่า ปริยัติบังเกิดขึ้นภายในแล้ว เมื่อปริยัติเกิดขึ้นแล้วนี่ การพิจารณาสภาวธรรมนั้น ถ้าเราไม่เอาสิ่งที่เรากล่าวไว้ในคัมภีร์มาเป็นเครื่องดู เครื่องรู้ หรือถ้าเราไม่มีเวลา ไม่มีภูมิความรู้ที่จะเอาภูมิของมหาสติปัฏฐานสี่ หรือกายคตาสติมาพิจารณา เราจะเอาสิ่งอื่นมาพิจารณา จะขัดกับแนวปฏิบัติที่เรากำลังทำอยู่มั้ย สภาวธรรมนั้นคือสิ่งที่มีอยู่ เป็นอยู่ในโลกนี้ทั้งหมด หรือทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในโลกนี้จะเกาะกลุ่มกันเป็นก้อนใหญ่โตจนหาประมาณมิได้ สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นคือ ธรรมะด้านสภาวธรรม เรามีกายกับใจ กายกับใจก็เป็นสภาวธรรมเช่นเดียวกัน มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจก็เป็นสภาวธรรม สิ่งที่ผ่านเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจนั้นก็เป็นสภาวธรรม โดยที่สุดแม้ว่าใจผู้รู้ก็รู้ว่าเป็นสภาวธรรม สิ่งทั้งหลายที่มันแวดล้อมมีประสบอยู่ทุกลมหายใจ ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม จะเป็นวิชาความรู้ที่เราได้ฟัง ที่เราได้เรียนหรือที่เราจะเป็น สิ่งไหนก็ตามที่เรารู้ สิ่งเหล่านั้นก็คือสภาวธรรม สิ่งที่เป็นสภาวธรรมนั้น หมายถึง สิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่ อย่างที่เรารู้เห็นอยู่นี้ เมื่อสิ่งเหล่านี้เป็นสภาวธรรม สิ่งเหล่านี้ก็เป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ นักปฏิบัติทั้งหลาย ถ้าเราเอาใจมารู้กับสิ่งเหล่านี้ ทำสติกับสิ่งเหล่านี้ตลอด เราก็ได้ชื่อว่ามีการปฏิบัติธรรมอยู่ตลอดเวลา อยากจะบอกให้เข้าใจอีกอย่างหนึ่งว่า สภาวธรรมให้มันกว้างๆออกไป เพื่อพวกเราจะได้มีทางปฏิบัติให้กว้างขวางออกไปยิ่งกว่าที่เราเคยได้ยินได้ฟังมา ตามเข้าใจว่าสิ่งใดที่สามารถรู้ด้วยจิต หรือสิ่งใดที่เราสามารถมองเห็นด้วยตาหรือสัมผัสด้วยตา หู จมูก ลิ้น กายและใจดังที่กล่าวมาแล้วนั้น เราเข้าใจว่าจะเป็นอารมณ์เป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ ในเมื่อเป็นเช่นนั้น เราท่านทั้งหลายก็จะเอามาเป็นอารมณ์ปฏิบัติกรรมฐานก็ได้

ถ้ามีใครสักคนถามว่า เราประกอบอาชีพอะไรอยู่ จะเอาอาชีพเหล่านั้นมาเป็นอารมณ์กรรมฐานจะได้มั้ย โดยที่เราไม่ต้องการที่จะภาวนาพุทโธ ธรรมโม สังโฆ จะทำได้มั้ย เราก็ขอบอกว่าทำได้ ทำได้ ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นไม่ว่าเราจะประกอบอาชีพอะไรก็ตาม มันก็ผ่านเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ในเมื่อความรู้มันผ่านเข้ามาทางหู ทางตา จมูก ลิ้น กาย ใจ กายกับใจเป็นสภาวธรรม สิ่งที่กายรู้ ใจรู้ สัมผัสรู้ มันก็เป็นสภาวธรรม มันเป็นสิ่งที่เราจะต้องวิตกเอามาเป็นอารมณ์ปฏิบัติกรรมฐานได้ แม้เราจะประกอบอาชีพอะไรก็แล้วแต่ ถ้าเรารู้จักเอาอาชีพของเรานั้นมาพิจารณาก่อน ให้เกิดมาเป็นเครื่องพิจารณาของจิต ซึ่งมันก็เป็นวิชา เป็นความรู้ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจรู้มาก่อนแล้ว มันก็คล่องตัวง่ายขึ้น ให้เรามีสติก็แล้วกัน ว่าเราตอนนี้ทำอะไรอยู่ อารมณ์อะไรผ่านเข้ามา อะไรสัมผัสเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งเราจะยกเป็นหัวข้อขึ้นมา ตั้งเป็นปัญหา แล้วก็พลิกคิดขึ้นมาด้วยความมีสติสัมปชัญญะ คิดจนกระทั่งจิตของเรามันสงบ เพราะการคิดอันนั้นจะเป็นเรื่องอะไรก็แล้วแต่ เราบริกรรมภาวนาว่า พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธก็ความคิดเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นอะไร ถ้าเรามีสติอยู่ที่องค์ภาวนาก็ชื่อว่าความคิดเหมือนกัน แต่ความคิดของเรานั้น คิดตามที่เราเรียนมา หรือคิดตามที่เราเห็นมา มันก็เป็นความคิด ในเมื่อสิ่งนั้นเป็นความคิด สิ่งนั้นก็เป็นเครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติ ทำไมเราจะเอามาเป็นอารมณ์กรรมฐานไม่ได้

บางคนอาจจะสงสัยว่า สิ่งเหล่านั้นไม่มีคำว่าธรรมะเจือปนอยู่ด้วยเลยเนี่ย แล้วเราจะเอามาเป็นอารมณ์กรรมฐานได้อย่างไร มีหลักฐานที่จะพึงกล่าวในพระไตรปิฎกว่า คนถากไม้นั่งถากไม้อยู่เนี่ย เอาการถากไม้มาเป็นอารมณ์พิจารณากรรมฐาน พิจารณาได้จนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ คนปั้นหม้อเอาการปั้นหม้อเป็นอารมณ์ พิจารณากรรมฐานเสร็จแล้วปลงปัญญาลงสู่ในพระไตรลักษณ์ ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ คนทอหูกนั่งทอหูกอยู่พิจารณาการทอหูกเทียบกับชีวิตของเราที่หดสั้นลงไปทุกขณะทุกขณะแล้ว ชีวิตเราสั้นเข้าไปทุกทีแล้ว พิจารณาลงปลงเป็นปัญญาลงสู่พระไตรลักษณ์แล้วก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ การถากไม้ก็ดี การปั้นหม้อก็ดี การทอหูกก็ดี ล้วนแล้วเป็นอารมณ์กรรมฐานทำให้ผู้ปฏิบัติพิจารณาได้สำเร็จพระอรหันต์ได้ฉันใด แม้วิชาหรืออาชีพที่เรารู้ เราเอามาเป็นอารมณ์กรรมฐานก็ย่อมสำเร็จเห็นมรรค เห็นผล เห็นนิพพานได้เหมือนกัน เพราะสิ่งนั้นเป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ ว่าเราทำอะไรอยู่ แล้วพิจารณาลงสู่ในพระไตรลักษณ์ ว่าเราทำอยู่ขณะนี้กำลังทำอยู่นี่มันทุกข์มั้ย ผลสุดท้ายเราก็หยุดทำ มันไม่เที่ยงเป็นอนัตตาทั้งสิ้นทั้งปวง ไม่ว่าเราจะคิดอะไรอยู่ ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะให้มันรู้ชัดในสิ่งที่เราคิด ว่าเราคิดนั้นๆ ในเมื่อเราหัดทำฝึกบ่อยๆ ทำให้มากๆ แล้วนี่จิตของเราในทางสติสัมปชัญญะจะเพิ่มมากขึ้นทุกที ในเมื่อจิตมีสติ มีสัมปชัญญะเกิดขึ้นเป็นเจนสติบรรลุอยู่ในจิต จิตก็สามารถตั้งมั่นเป็นสมาธิได้ เป็นสมาธิแบบที่มีวิตก วิจาร มีปิติ สุข เอกัคคตา เราอาจใช้เวลานั่งสมาธิบ้าง เดินจงกรมบ้าง หรือนอนกำหนดจิตพิจารณาบ้าง ตามแต่สภาวะหรือความเป็นไปได้ของตัวเราเอง

การบริกรรมภาวนาก็ดี หรือการพิจารณาสภาวธรรมก็ดี ภาวนาเท่าไรจิตเราไม่สงบได้แต่ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ มีแต่ใจส่งกระแสไปทางอื่น แม้เราจะตั้งใจคิดพิจารณาแต่ความคิดอื่นเข้ามารบกวนเราอยู่ตลอดเวลา ทำให้เราไม่สามารถควบคุมจิตของเราให้ค้นคิดอยู่ในสิ่งๆเดียวนั้นได้ เพราะนิสัยของคนเราย่อมคิดอยู่โดยปกติ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วนี่เราจะทำอย่างไร ก็ให้กำหนดสติลงที่จิต รู้อยู่ที่จิต คอยจ้องดูว่าความคิดอะไรจะเกิดขึ้นกับเรา พอมีความคิดอะไรเกิดขึ้นกับเราแล้วไซร้นี่ เราทำสติตามรู้ รู้ตามไปเรื่อยๆ จิตมันคิดเรื่องดี เรื่องชั่วสารพัดสาระเพก็ช่างมัน อะไรก็แล้วแต่ปล่อยให้มันคิดไป หน้าที่ของเราทำสติตามรู้อย่างเดียว ว่ามันคิดชั่วหรือคิดดี การที่เราจะไปบังคับจิตให้เข้าสู่ความสงบอย่างเคย ยิ่งบังคับเท่าไรจิตมันก็ยิ่งดิ้นรน นอกจากมันจะดิ้นแล้ว ฤทธิ์ของมันยังทำให้เราปวด ทำให้เราเจ็บ ทำให้เราร้อนผ่าวไปทั้งตัว เพราะไปฝืนความจริงของมัน ภายหลังมาคิด แกจะคิดไปถึงไหน มันจะปรุงแต่งไปถึงไหน อ้าวมันอยากจะคิดอยากจะปรุงแต่งให้มันคิดให้มันปรุงแต่งไปเรื่อยๆ แล้วเราก็ใช้สติตามไปพิจารณา ตัวคิดก็คิด คิดไม่อยู่ คิดอยู่ไม่หยุด ตัวสติก็ตามไล่ตามรู้กันไม่หยุด พอคิดๆไปแล้วมันรู้สึกเพลิน เพลินในความคิดของตัวเอง มันคล้ายๆกับว่ามันห่างใจไกลไป ไปเกิดความวิเวกวังเวง กายเบา จิตเบา กายสงบ จิตสงบ และพร้อมๆกันนั้น ทั้งๆที่ความคิดมันยังคิดไว เร็วจนแทบจะตามมันไม่ทันของความคิด ปิติและความสุขมันบังเกิดขึ้น แล้วก็มีความเป็นหนึ่ง คือจิตกำหนดรู้อยู่ที่จิต ความคิดอันใดเกิดขึ้นกับจิต สักแต่ว่าคิด คิดแล้วก็รู้จักปล่อยวางไป มันไม่ได้ยึดเอามาสร้างปัญหาให้ตัวเองเดือดร้อน ในที่สุดเมื่อมันตัดกระแสแห่งความคิดแล้ว มันวูบวาบวูบวาบเข้าไปสู่ความสงบ นิ่งจนตัวหายเหมือนอย่างเคย จึงได้คิดขึ้นมาว่า ธรรมชาติของมันเป็นอย่างนี้ ศีลทำหน้าที่อบรมสมาธิ สมาธิทำหน้าที่อบรมปัญญา ปัญญาทำหน้าที่อบรมจิต ถ้าเรามีปัญญาความคิดอันใดที่สติรู้ทันทุกขณะจิตนั้น ความคิดอันนั้นคือปัญญาในสมาธิ เป็นลักษณะของจิต คือจิตจะเดินเข้าสู่ขั้นวิปัสสนา พร้อมๆ กันนั้น ถ้าจะตามนับลำดับขององค์ฌาน ความคิดเป็นตัววิตก สติรู้พร้อมอยู่ที่ความคิด เมื่อตัววิจาร เมื่อจิตมีวิตก วิจาร ปิติและสุขย่อมเกิดขึ้น ไม่มีปัญหา

ในข้อนี้ถ้าเราทำความเข้าใจว่า การที่เราหาเรื่องให้จิตมาบริกรรมภาวนาอย่างเช่น พุทโธก็ดี หรือจะเป็นบทหนึ่งบทใดก็ดีนี่ เราต้องทำงานอยู่ถึงสองอย่างด้วยกัน อย่างที่หนึ่งนั้น คือหาเรื่องมาให้จิตคิด เรื่องที่สอง ทำสติประคองจิตให้มันนึกอยู่กับคำบริกรรมภาวนาบทใดบทหนึ่งก็ได้ ที่เราว่าเรามีเรื่องสองอย่างพร้อมกันไป แต่ถ้าจิตของเรามีความคิดอยู่โดยปกติ เราเพียงแต่ทำสติกำหนดความรู้ความคิดเท่านั้น เราก็ลองนึกเอาเองดูซิว่า การทำอย่างนี้เราจะมีงานมีหน้าที่อย่างเดียว เพราะพุทโธก็คือความคิด หรือภาวนาบทอื่นบทใดก็คือความคิด แล้วเรายังต้องตั้งใจทำสติควบคุมจิตให้มันนึกถึงแต่องค์ภาวนาบริกรรมอยู่ตลอด แต่ถ้าจิตมันคิดของมันไปเอง เราเพียงแค่ทำสติตามรู้มันเท่านั้น จะไม่ง่ายกว่าหรือที่เราทำหน้าที่อย่างเดียว เท่าที่เราลองดู ดูแล้วดูอีก การที่ปล่อยให้จิตมันคิดไปแล้วทำสติตามรู้นี่เป็นสิ่งที่ทำง่าย ในตอนแรกๆ นั้นอาจจะยาก แต่เมื่อทำได้แล้วมันก็จะง่ายขึ้น เพราะต่อไปจิตมันคิดอะไรขึ้นมาปุ๊บ เราจะเอาสิ่งเหล่านั้นมาเป็นอารมณ์กรรมฐานไปได้หมด สิ่งที่จะเกิดจากการตามความคิด ความรู้ ความคิดอารมณ์เป็นสิ่งรู้ของจิต เป็นสิ่งระลึกของสติ เมื่อสติสัมปชัญญะมีขึ้นเราจะรู้สึกว่าความคิดนี่มันเป็นอาหารของจิต ความคิดเป็นอาหารของจิต ความคิดเป็นการผ่อนคลายความที่เรามีแต่เรื่องปวดหัว ความคิดจะเป็นนิมิตหมายให้เรารู้ว่า อะไรเป็นเรื่องทุกข์ อะไรเป็นของไม่เที่ยง อะไรเป็นของเป็นอนัตตา แล้วความคิดนี่แหละมันจะมายั่วยุให้เราเกิดมีทั้งอารมณ์ที่ดี และอารมณ์ที่ชั่ว มองเห็นอิจถารมณ์กับอนิจถารมณ์ เป็นต้น คือสิ่งที่ก่อเป็นตัวกิเลส ทีนี้เมื่อจิตมีอิจถารมณ์ อนิจถารมณ์ มันก็มีสุขบ้างทุกข์บ้างคละเคล้ากันไปตามแต่ประสา แต่ถ้าเรามองเห็นทุกข์อริยสัจจะ ถ้าจิตมันเกิดทุกข์ขึ้นได้สติรู้พร้อมมองเห็นทุกข์ในอริยสัจ ถ้าจิตมีปัญญารู้สึกมันก็จะบอกว่าอ้อ นี่คือทุกข์อริยสัจที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ แล้วมันก็จะดูทุกข์กันต่อไปว่า สุข ทุกข์ ทั้งสองอย่างเกิดขึ้นสลับกันไปสลับกันมา นี่คือความเป็นจริงเป็นกฎของอริยสัจ แล้วในที่สุดจิตมีสติ มีปัญญาดีขึ้น มันจะกำหนดรู้ว่านอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับ แล้วจะมองเห็นว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นดับไป เกิดขึ้นดับไปอยู่อย่างนั้น ยํ กิญจิ สมุทย ธมมํ สพพนฺตํ นิโรธ ธมฺมนฺติ ท่านอัญญาโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมว่า สิ่งใดเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นดับไปเป็นของธรรมดาคือจุดนี้

การปฏิบัติธรรมสำคัญที่การสำรวมจิตเป็นใหญ่ เพราะพื้นฐานแห่งความดี ความชั่วนั้นย่อมเกิดขึ้นที่จิต ถ้าจิตของเรานี่ปราศจากสติเป็นเครื่องคุ้มครองหรือประคับประคองเมื่อไร เมื่อนั้นจิตดวงนี้ก็จะต้องมีความเผลอไผลเป็นแน่นอน ไปนึกเอาเอง ไปสร้างบาปอกุศลขึ้นใส่ตัว ถ้ามีสติ มีสัมปชัญญะประคับประคองตัวเองอยู่ตลอดเวลา เราก็จะไม่มีโอกาสเผลอไปสร้างบาป สร้างกรรมขึ้นใส่ตัวของตัวเราเอง เพราะคนเรานั้นมีเวรกรรมนำมาเกิด แล้วก็จะเกิดมากรรมเอาเวรไปกันอีกหรือ เพราะฉะนั้นแล้วนี่ถ้าเราฝึกปฏิบัติจิต ฝึกปฏิบัติใจของเราให้มีสติ จึงเป็นสิ่งจำเป็น สำหรับนักปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรมนั้นถ้าพูดถึงหลักแห่งการปฏิบัตินั้นมีหลายแบบหลายอย่างด้วยกัน เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมวิธีแนวปฏิบัตินั้น ย่อมทรงอนุโลมและปฏิโลมตามอุปนิสัยของผู้ฟัง ผู้ปฏิบัติ ถ้าเราท่านทั้งหลายนี่ อย่าไปยึดถือหลักการให้มันมาก ให้เราพยายามกำหนดรู้เหตุ ผลซึ่งจะเกิดขึ้นภายในจิตของเราเอง ในประวัติของพระอสีติมหาสาวกนั้นที่ท่านได้สำเร็จพระอรหันต์มา ก็ไม่เฉพาะจะมาฟังธรรมอย่างเดียว สูตรเดียวกันจึงจะสำเร็จได้ บางท่านก็สำเร็จเพราะบริกรรมภาวนา บางท่านสำเร็จเพราะพิจารณาเบญจขันธ์ทั้งห้า บางท่านสำเร็จก็เพราะพิจารณารู้ บางท่านสำเร็จก็เพราะพิจารณาเวทนา บางท่านเพียงแต่ฟังเทศน์จบ เพียงบาทเดียว เพียงคาถาเดียวเท่านั้น ได้สำเร็จพระอรหันต์แล้ว ได้สำเร็จพระโสดาบันก็มี เพราะฉะนั้นแล้ว นิสัยใจคอของผู้ที่จะรับฟังพระธรรมเทศนานั้นย่อมเป็นไปต่างๆ กัน ไม่เหมือนกัน เพราะต่างคนต่างสร้างบารมีมาคนละแบบคนละอย่าง จะให้เหมือนกันนั้นเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นถ้าท่านนักปฏิบัติทั้งหลาย ถ้าเรารู้ความจริงเห็นจริงในธรรมะตามความเป็นจริงกันจริงๆแล้ว ขอให้ท่านทั้งหลายนี่โปรดสลัดขัดข้อสงสัย ข้อข้องใจในการปฏิบัติกรรมฐานออกให้หมด แล้วพยายามเชื่อตัวเองให้มากๆ แล้วพยายามทำให้จริงๆ โพธิสติสังขาโต สติเป็นองค์ของการตรัสรู้ สติจะเป็นองค์แห่งการตรัสรู้ได้อย่างแท้จริง ต้องอาศัยการอบรมให้มากๆ กระทำให้มากๆ อย่างที่พูดเมื่อสักครู่นี้ว่า วิริเยนะ ทุกขมุจเจติ วิริเยนะ ทุกขมุจเจตินั้นละความทุกข์ได้เพราะความเพียร การทำสมาธิเราอาจจะทำโดยไม่ต้องมีศีลก็ได้ เช่นอย่างสมาธิของพวกไสยศาสตร์ทั้งหลาย อย่างเช่นผู้ทำวิชาอาคมครอบหนังบังฟันทำคุณคน คุณไสย คุณผี เขาก็ต้องใช้สมาธิเหมือนกัน เพราะวิชาอันนี้เป็นสมาธิเพื่อทำร้ายคนอื่น แต่เขาก็ทำสำเร็จได้เพราะอาศัยสมาธิ คือความตั้งใจมั่น แต่ถ้าสมาธิไม่มีศีลจึงย่อมสามารถใช้ไปในทางที่ผิด เพราะฉะนั้นสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ว่า สมาธินั้นมีอยู่สองอย่าง คือ มิจฉาสมาธิ กับ สัมมาสมาธิ

มิจฉาสมาธินั้น คือ สมาธิที่ผิด
สัมมาสมาธิ คือ สมาธิที่ถูกต้อง


สำหรับนักปฏิบัติธรรมเพื่อจะให้บรรลุมรรค ผล หรือจะให้เห็นเป็นแนวทางที่จะนำสมาธิไปก่อประโยชน์ในทางที่ไม่ผิด จึงต้องมีศีลธรรม เราต้องอาศัยศีล สมาธิที่มีศีลเท่านั้น จะนำจิตของนักปฏิบัติให้ดำเนินไปสู่สัมมาสมาธิได้โดยถูกต้อง สมาธิแบบพระพุทธเจ้าของเรานั้น คือการกำหนดรู้เรื่องชีวิตประจำวันเรานี้เอง เป็นเหตุ เป็นปัจจัยสำคัญ สำคัญยิ่งกว่าการมานั่งหลับตาสมาธิ และสมาธิอันใดที่ไม่สนใจกับเรื่องชีวิตของเราเอง หนีไปอยู่อีกส่วนหนึ่งต่างหากของโลกแล้ว สมาธิอันนี้ทำให้โลกเสื่อม และไม่เป็นไปเพื่อตรัสรู้ เพื่อมรรค เพื่อผล เพื่อนิพพาน การบำเพ็ญสมาธิจิตเพื่อให้เกิดสมาธิ สติ ปัญญา เราควรมีหลัก ควรยึดว่าทำจิตให้มีอารมณ์สิ่งที่รู้ มีสติให้มีสิ่งที่ระลึก จิตนึกรู้สิ่งใดให้มีสติ รู้เข้าไปที่ตรงนั้นๆ ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ทำคู่คิดเป็นอารมณ์จิต ฝึกสติให้รู้อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าใครจะทำอะไร มีสติตัวเดียว เพราะธรรมชาติของจิตคนเรานี้ เมื่อจิตมีสิ่งรู้ สติมีสิ่งระลึก เราก็จะมีรู้ จักรู้ว่านี่จิตมันคิด สติก็ตามเข้าไปทันที ถ้าหากเราไปถือว่าสมาธิคือ การนั่งหลับตาภาวนาอย่างเดียว มันก็ถูกกับความเห็นของคนทั้งหลายที่เขาแสดงออก แต่ถ้าเราจะคิดว่าอารมณ์ของสมาธิ คือ การยืน เดิน นั่ง นอน จะกิน จะทำ จะพูด จะคิด ไม่ว่าเราจะทำอะไรทั้งหมดทั้งสิ้น มีสติ มีสัมปชัญญะรู้อยู่กับเรื่องที่เกิดขึ้น อารมณ์ที่เกิดขึ้นกับเราอยู่ตลอดเวลานั้น เราก็จะรู้ว่าหลักการทำสมาธิอย่างกว้างขวาง และสมาธิที่ทำให้เราอยู่นี่ก็รู้สึกว่า นอกจากที่เราจะไปนั่งหลับตาปี๋ หรือเพ่งดวงกสิณต่างๆ แล้วนี่ จิตของเราออกจากที่นั่งเรา ถ้าเรานั่งภาวนาอยู่เราลุกขึ้นมาเผลอไปกับกิเลส เราไม่มีสติตามรู้เท่าทันการยืน เดิน นั่ง นอน กิน ถึงจะพูด จะคิด จะทำอะไรก็แล้วแต่ แม้ว่าเราจะไม่นั่งสมาธิอย่างที่ท่านสอนก็ได้ ถ้าเราฝึกสติของเราอยู่ตลอดเวลา มีอารมณ์รู้อยู่ตลอดเวลาของเราขณะนั้น ขอให้นักปฏิบัติทั้งหลายพึงมีสติกำหนดรู้ มีศีล สมาธิ ปัญญาในการรู้อยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นแล้วขอให้คนที่ได้เอาตำรับตำราหรือเอาหนังสือเล่มนี้ไปอ่าน ก็ขอให้ท่านทั้งหลายเป็นผู้มีปัญญา รอบรู้ในกองสังขาร รอบรู้ในพระไตรลักษณ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอให้ท่านทั้งหลายจงเจริญในธรรมทางปฏิบัติ ขอให้ท่านทั้งหลายจงเจริญทั้งทางโลกและทางธรรมด้วยเทอญ

นิมิตในการบริกรรมภาวนา เป็นบทเทศนาธรรมต่อจากเรื่องการปฏิบัติแบบใช้คำบริกรรมภาวนาของหลวงปู่ทองดี อนีโฆ เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๔๗

= รวมคำสอน “หลวงปู่ทองดี อนีโฆ” (พระพิศาลญาณวงศ์)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=49194

= ประวัติและปฏิปทา “หลวงปู่ทองดี อนีโฆ”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=45116

= ประมวลภาพ “หลวงปู่ทองดี อนีโฆ” วัดใหม่ปลายห้วย
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=49172
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ม.ค. 2011, 11:38 
 
ออฟไลน์
สมาชิกใหม่
สมาชิกใหม่
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 ม.ค. 2011, 10:59
โพสต์: 4


 ข้อมูลส่วนตัว


มีครายช่วยตอบได้ค่ะ

โดนของ มีอาการคลา้ยคนบ้า ได้ยินเสียงคนนั้นคนนี้พูดตลอดเวลา ซึ่งเหมือนคนสั่งให้ได้ยินเสียงทุกคนที่เราคุยด้วย เหมือนจะทำให้เราสับสน บางครั้งสั่งให้เราหายใจไม่ออก ปวดหัว ตัวร้อน มีอาการเจ็บปวดตามที่ที่มันสั่ง ทั้งที่หาสาเหตุไม่ได้ จนนึกว่าตัวเองเป็นบ้ารึป่าว ถึงกับไปพบจิตแพทย์ ไปหาหมอก้หาสาเหตุไม่เจอบางทีเรานอนหลับแต่เหมือนคนอดหลับอดนนอ หน้าตาจากคนที่ผิวขาวแต่เหมือนหน้าเราหมองคล้ำใครเห็นก้ทัก ว่าไปอดหลับอดหนอนที่ไหนมา บางสั่งให้เราคิดตามที่มเสียงที่เราได้ยิน ใครบอกได้ว่าคุณไสย์ประเภทนี้เขาเรียกว่าอะไร คืออาการแบบนี้เป็นตั้งแต่ เดือน มกราคม 2554 จนถึงทุกวันนี้ช่วงเแรกที่เป็นงงมาก คือรู้ว่าเราอยู่ไหน ทำอะไร แล้วลงทุนจ้างคนอื่นมาเล่นละครตบตาเรา โทรไปหาญาติพี่น้องเรา แอบบเปลี่ยนรหัสอีเมลล์ เฟสบุค ทั้งที่ปกติแล้วมันทำได้ที่ไหนล่ะแล้วไม่ใช่เจ้าจัวทำเอง รู้ข้อมูลทุกอย่าง รู้แม้กระทั่งว่าทำอะไร กินอะไร ใส่เสื้อสีไหน อยู่กับคราย แล้วให้คนรู้จักเราโทรหาแกล้วปั่นหัสเรา คนที่อยู่คนล่ะที่แต่รู้เหน เรื่องของเรา สั่งเราได้ อยากรู้ค่ะ ว่าคุณไสย์ประเภทนี้เขาเรียกว่าอะไร เพราะปกติไม่เชื่อเรื่องแบบนี้


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 20 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร