วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 21:56  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 6 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ต.ค. 2010, 19:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ความเพียร (วิริยารัมภกถา)
ท่านอาจารย์วศิน อินทสระ



“บุคคลย่อมล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร
บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยศีล
มีปัญญา มีใจตั้งมั่นคือสมาธิอยู่เสมอ
มีความเพียรเสมอต้นเสมอปลาย
นี่คือวิริยารัมภะ”



ความเพียร

สวัสดีครับ ท่านผู้ฟังที่เคารพทุกท่าน ทุกวันอังคาร
เวลาประมาณ 2 ทุ่มเศษๆ ผม -วศิน อินทสระ
จะมาพบกับท่านผู้ฟังในรายการวิเคราะห์ธรรม
ของมหาวิทยาลัยมหา มกุฎราชวิทยาลัย


ตอนนี้กำลังคุยกันถึงเรื่อง กถาวัตถุ 10
มาถึงข้อที่ 5 ว่าด้วยเรื่องวิริยารัมภกถา


ความหมายของวิริยารัมภะ
วิริยารัมภะ นี่แปลว่า ปรารภความเพียร
แต่ในความหมาย จะหมายถึง ความเพียรสม่ำเสมอ
ความเพียรเสมอต้นเสมอปลาย
ความเพียรไม่ย่อท้อ ความเพียรเป็นไปติดต่อ
อันนี้คือ วิริยารัมภะ
วิริยารัมภกถา ก็คือ ชวนกันสนทนาถึงความเพียร
ชักชวนกันให้มีความเพียรไม่เป็นคนเกียจคร้าน


พระพุทธเจ้าท่านตรัสสอนไว้ว่า
ท่านทั้งหลายเห็นความเกียจคร้านเป็นภัย
เห็นความเพียรเป็นธรรมที่เกษมหรือปลอดภัย
จงเป็นผู้มีความเพียรสม่ำเสมอเถิด
นี่เป็นพุทธานุสาสนี คือ การพร่ำสอนของพระพุทธเจ้า
นี่เป็นข้อความ จากคัมภีร์จริยาปิฎกขุททกนิกาย พระไตรปิฎกเล่ม 33



ท่านจะเห็นว่าความเกียจคร้านเป็นภัยอย่างยิ่งทีเดียว
เพราะว่าเป็นบ่อเกิดแห่งความหายนะหลายประการ
บรรดาสิ่งที่น่ากลัวและควรขับออกไปจากตัวของคนเรา
ก็เห็นจะไม่มีอะไรมากเท่ากับความเกียจคร้าน
สำหรับผู้ที่หวังความเจริญให้แก่ชีวิต


ความเกียจคร้านควรจะเป็นสิ่งแรก
ที่จะต้องขับให้ออกไปโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้


นักเรียนที่เกียจคร้านไม่เป็นที่ต้องการของครู
ครูที่เกียจคร้านไม่เป็นที่ต้องการของนักเรียน
และก็ไม่เป็นที่ต้องการของโรงเรียน
คนงานที่เกียจคร้าน พ่อแม่ที่เกียจคร้าน
ไม่เป็นที่ต้องการของใครๆ ทั้งนั้น
และเป็นโจรปล้นเวลาที่สำคัญที่สุด


รวมความว่าความขี้เกียจเป็นความไม่ดีอย่างยิ่งของตัวคน
เป็นสิ่งที่น่ากลัว เป็นภัย เป็นหายนะที่ควรบออกไปจากตัวบุคคล



เมื่อยอมให้ความเกียจคร้านเข้าครอบงำแล้ว
ความเสื่อมต่างๆก็จะคืบคลานเข้ามาในชีวิตของคนอย่างแน่นอน


ส่วนความเพียร โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเพียรชอบ
คือ สัมมาวายามะ เป็นธรรมที่เกษม
คำว่า เกษม แปลว่า ปลอดภัย
เช่น ปลอดภัยจากการถูกติเตียนจาก บัณฑิต
ปลอดภัยจากความล่มจม ความเสื่อมเสีย ต่ำทราม
ความเพียรเป็นเกราะ เป็นที่พึ่ง
ที่ช่วยส่งเสริมยกฐานะของคนต่ำต้อยให้สูงศักดิ์
ยกคนเลวให้ เป็นคนดี หนุนผู้บกพร่องทางสติปัญญาให้สมบูรณ์ขึ้น


ผมขอยกตัวอย่างสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 10 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
นักปราชญ์ที่สำคัญของเมืองไทย ได้ทรงนิพนธ์ไว้ มีใจความว่า

“ถ้าเขาเป็นคนมีปัญญาใหญ่
ความเพียรจะช่วยให้เขาดีขึ้น
ถ้าเขามีปัญญาพอสถานประมาณ
ความเพียรจะหนุนความบกพร่องของเขา
ถ้ากำลังปัญญาของเขาจำกัดมากนัก
ความต้องการอุตสาหะก็มากขึ้น
ปัญญาแต่พอปานกลาง จำต้องขยายออกโดยความตั้งใจ
กล้าหาญ อุตสาหะไม่หยุดหย่อน
คนต่อยุทธ์ (คือคนที่สู้รบกัน) ร้องว่า กระบี่ของตนสั้นนัก
ควรจะได้คำบอกให้สาวก้าวต่อกระบี่เข้าไป
คือ ย่างเท้าก้าวไป เพื่อจะเป็นการต่อกระบี่ให้ยาวขึ้น
คือ ให้ก้าว กระชั้นเข้าไป
ปัญญาที่มีจำกัด ก็เป็นคุณที่ให้เจริญด้วยอุตสาหะทวีคูณ
และมุ่งกระตือรือร้นมากขึ้น”



พระพุทธเจ้าได้ทรงเตือนให้เป็นผู้มีความเพียรสม่ำเสมอ
ใช้คำเป็นคุณศัพท์ อารัทธวิริโย
เรียกเป็นหัวข้อธรรมว่า วิริยารัม แปลว่า ปรารภความเพียร
คือนึกถึงความเพียรจดจ่ออยู่ในการทำความเพียร
ไม่เปิดโอกาสให้ความเกียจคร้านเข้ามาได้
จะทำอะไรก็ทำอย่างสม่ำเสมอ ไม่จืดจางเร็ว
มีความอดทนในการทำ อดทนรอ คอยผล
อย่างสุภาษิตที่ว่า อปิ อตรมานานํ ผลาสา ว สมิชฺฌติ
ความหวังผล ย่อมสำเร็จแก่ผู้ที่รู้จักรอคอย
มีความมั่นใจว่าเมื่อทำดีแล้ว
จะต้องมี ผลดี ไม่เป็นคนใจร้อนด่วนได้


ความเพียรที่สม่ำเสมอเช่นนี้ ย่อมจะมีผลจริงและมีผลยั่งยืน
งานที่แท้จริงย่อมไม่ไร้ผล


บุคคลล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร

อีกข้อหนึ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ว่า
บุคคลล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร
ให้สังยุตนิกาย สคาถวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 15

พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องนี้เพราะมีผู้มาถามว่า
บุคคลจะล่วงทุกข์ได้อย่างไร ก็ตรัสตอบว่า
บุคคลจะล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร


ตัวอย่างเช่น

ความทุกข์เพราะความยากจน
ก็ล่วงพ้นได้ด้วยความเพียรในการทำงาน
ขยันทำมาหากิน ในทางสุจริต
ความทุกข์เพราะความโง่เขลา
ล่วงพ้นได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร ในการศึกษาเล่าเรียน
แสวงหาวิชาความรู้อยู่เสมอ ให้เพิ่มพูนขึ้น เรื่อยๆ
ไม่รู้จักหยุดในการแสวงหาความรู้นั้น
ผู้มีปัญญาหรือบัณฑิต
รู้สึกตนเสมือนว่าจะไม่แก่ไม่ตาย ในการรีบทำความดี
บัณฑิตจะรู้สึกตนเสมือนว่าจะมีชีวิตอยู่อีกเพียงวันเดียว คือรีบทำ
ตามพระพุทธโอวาทที่ว่า ควรรีบทำความเพียรในวันนี้ทีเดียว
ใครจะรู้ได้ว่าความตายจะมา ถึงในวันพรุ่งนี้หรือไม่
อันนี้จากข้อความในภัทเทกรัตตสูตร



พูดถึงเรื่องความทุกข์เพราะถูกกิเลสเบียดเบียน
เราสามารถจะล่วงพ้นได้
ก็ด้วยรู้จักควบคุมตนเอง และรู้จักอดกลั้น ซึ่งเป็นตบะธรรม
ตบะแปลว่า เผา
เผากิเลส คือ ธรรมดาคนเราถูกกิเลสเผาแทบทุกวัน
ก็เผากิเลสเสียบ้าง คือความเพียรเครื่องเผากิเลสให้เหือดแห้ง
ความทุกข์ในสังสารวัฏบุคคล จะล่วงพ้นเสียได้
ก็ด้วยความเพียรในการปฏิบัติธรรม


บุคคล ผู้มีความเพียร ย่อมจะรู้แจ้งด้วยตนเองว่า
ตนได้ล่วงพ้นความทุกข์นั้นๆ มา ด้วยความเพียรอย่างไร
พระพุทธเจ้ายังตรัสสอนอีกว่า
บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วย ศีล มีปัญญา มีใจตั้งมั่นคือสมาธิอยู่เสมอ
มีความเพียรเสมอต้นเสมอปลาย นี่ก็คือวิริยารัมภะ
บากบั่นอย่างไม่คิดอาลัยในชีวิต
ย่อมจะสามารถ ข้ามโอฆะที่ข้ามได้โดยยากเสียที


คำว่าบากบั่นอย่างไม่คิดอาลัยในชีวิตนี้
แปลมาจากคำบาลีว่า ปหิตัสโต แปลตามตัวว่า มีตนส่งไปแล้ว
นักเรียนบาลีก็แปลอย่างนี้ แต่โดยใจความก็คือ
ทำความเพียรแบบมอบกายมอบชีวิต ไม่เห็นแก่ชีวิต
ถึงจะต้องตายเพราะการทำความเพียร
เพื่อบรรลุจุดประสงค์นั้นๆก็ยอม



อย่างเช่นองค์พระพุทธเจ้าของเรา
เมื่อทรงทำความเพียรเพื่อบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ
ได้ทรงตั้ง จตุรงคมหาปธาน
แปลว่า ความเพียรซึ่งประกอบด้วยองค์ 4 ว่า
เลือดและเนื้อในสรีระของเราจะเหือดแห้งไป
เหลือแต่เอ็นและกระดูกก็ช่างเถิด
ถ้ายังไม่บรรลุผลที่ต้องการ คือ พระสัพพัญญุตญาณ
จะไม่ยอมหยุดความเพียรเป็นอันขาด


อย่างนี้เรียกว่าทรงทำความเพียรแบบมอบกาย มอบชีวิต
ไม่ทรงอาลัยในชีวิต ในที่สุด พระองค์ก็ได้บรรลุผลสมความมุ่งหมาย
คือได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
มีผลแก่โลกมาจนถึงทุกวันนี้



ในกาลต่อมา พระพุทธเจ้าก็ได้ทรงเตือนพุทธบริษัท
ให้มั่นในความเพียรว่า ผู้ใดเกียจคร้าน
มีความเพียรเลว คือความเพียรต่ำ
มีชีวิตอยู่ร้อยปี ชีวิตของผู้นั้นก็ไม่ประเสริฐ
ส่วนผู้ที่มีความเพียรสม่ำเสมอ แม้ชีวิตจะอยู่เพียงวันเดียว ก็ยังประเสริฐกว่า
หมายความว่า ใช้ชีวิตอยู่วันเดียวของผู้มีความเพียรดีกว่า
มีชีวิตอยู่ร้อยปี แต่ยังเกียจคร้าน
ผลาญทรัพยากรของสังคมหมดไปเปล่าๆ
แก่ไปเปล่าๆ ไม่ได้ประโยชน์อะไร



เพราะคนเมื่อมีชีวิตอยู่ ไม่ทำความดี ไม่ทำความเพียร
ไม่ทำประโยชน์ ก็ผลาญทรัพยากรของ สังคมให้สิ้นไป
พวกนี้มักจะกินมากด้วย เพราะขี้เกียจ
เมื่อขี้เกียจก็ใช้ เวลาในการกินการเที่ยว เปลืองมาก


คนที่มีความเพียรมาก ขยันมาก เวลาก็หมดไปกับการงาน
การทำอะไรต่ออะไร ไม่ค่อยจะมีเวลาที่จะผลาญทรัพย์สินอะไรเท่าไหร่


เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้มีความเพียร ก็เรียกว่าเป็นผู้มีชีวิตไม่เสียเปล่า
ส่วนผู้ที่มีชีวิตอย่างเกียจคร้าน ก็ทำตนให้เป็นหมัน
เป็นภาระหนักแก่คนอื่น อยู่เปลืองข้าวสุก เปลืองเสื้อผ้า
ยาแก้โรคของสังคม ผู้สิ้นความเพียรก็ควรจะสิ้นชีิวิตเสียเลย
หรือสิ้นชีวิตเสียยังดีกว่าอยู่อย่างผู้สิ้นความเพียร
รวมความว่า การตายดีกว่าการมีชีวิตอยู่อย่างเกียจคร้าน



บางคนก็มีความเพียรบ้างเหมือนกัน แต่ว่าความเพียรเลวเต็มที
เพียรน้อย เพียร ย่อหย่อน พระพุทธเจ้าทรงเรียกว่า หินวิริโย
คือ มีความเพียรหย่อน ความเพียรต่ำ ความเพียรแบบไฟไหม้ฟาง
ลุกขึ้นวูบหนึ่งแล้วก็ดับไป พบอุปสรรคเข้าก็ ท้อถอยง่าย
เหมือนไฟเชื้ออ่อน ถูกลมพัดนิดหน่อยก็ดับแล้ว


ความเพียรที่ทรงสรรเสริญนั้น ต้องเป็นความเพียรที่มั่นคง
ถึงจะพบอุปสรรคบ้างก็ ไม่ท้อถอย เห็นอุปสรรคเป็นกำลังใจ
อุปสรรคเป็นยากำลัง เป็นเครื่องทดสอบกำลังใจ ทดสอบความเพียรของคน
เมื่อเห็นว่ามีอุปสรรค ไม่ท้อถอย
เมื่อเห็นว่าทิศทางนี้เป็นทางที่ถูกต้องแล้ว ก็บากบั่นอย่างมั่นคง



พระพุทธเจ้าทรงชักชวนพุทธบริษัทให้เห็นคุณ
ของความเพียรไม่ถอยหลัง อย่างที่ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า


ภิกษุทั้งหลาย เราสรรเสริญธรรม 2 อย่าง
ความไม่ท้อถอยในความเพียร 1 อปฺปปฏิวาณิ ตา ปธานสมิ
และความไม่สันโดษในกุศลธรรม 1 อสนฺตุฏฐิตา กุสเลสุ ธมฺเมสุ
เราได้เคยตั้งความเพียรอันไม่ท้อถอยมาแล้วว่า
เลือดเนื้อในร่างกายเราจะเหือดแห้งไป
เหลือแต่เอ็นและกระดูกก็ตามที
ถ้ายังไม่บรรลุสิ่งที่บุคคลพึงบรรลุ ได้ด้วยเรี่ยวแรงกำลังแล้ว
เราจะไม่หยุดความเพียรเป็นอันขาด


ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายก็จงตั้งความเพียรอันไม่ถอยกลับเช่นนั้นเถิด
เพื่อบรรลุธรรมอันประเสริฐ
ที่กุลบุตรผู้ออกบวชเพื่อประพฤติพรหมจรรย์มุ่งหมาย



พระพุทธเจ้าท่านเตือนภิกษุ
แต่ฆราวาสก็ใช้ได้ หมายถึง ฆราวาสด้วย
ผมเคยพูดว่า เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสถึงภิกษุทั้งหลาย
หมายถึง ผู้ปฏิบัติธรรม


ภิกษุผู้คลายความเพียร

ในสมัยพระพุทธเจ้า มีภิกษุสาวกของพระพุทธเจ้ารูปหนึ่ง
เรียนกัมมัฏฐานในสำนักพระพุทธเจ้าแล้ว
ก็ไปทำความเพียรอยู่ในป่าถึง 3 เดือน
ก็ไม่สามารถจะให้บรรลุผลใดๆได้ พอไม่บรรลุผลแล้ว ก็กลับมา
คิดว่าในบรรดาบุคคล 4 จำพวกเราคงเป็นปทปรมะบุคคล
คือเป็นพวกที่อาภัพในศาสนา ไม่อาจจะบรรลุมรรคผลได้
อยู่ป่าต่อไปก็ไม่มีประโยชน์ เราควรจะกลับไปอยู่ในเมือง
ฟังพระธรรมเทศนาที่ไพเราะ ของพระพุทธเจ้าดีกว่า
คิดอย่างนี้แล้วก็กลับมาที่วัดเชตวัน
เล่าเรื่องนั้น ให้ภิกษุพรหมจารี หรือผู้ประพฤติพรหมจรรย์ร่วมกันทราบ


ภิกษุทั้งหลาย ก็ได้นำเธอไปยังสำนักของพระศาสดา
กราบทูลเรื่องราวนั้นให้ทรงทราบว่า
ภิกษุรูปนี้เป็นผู้คลายความเพียรเสียแล้ว


พระพุทธเจ้าตรัสว่า เธอบวชในศาสนาของเราผู้สรรเสริญความเพียร
ไฉนจึงเป็นผู้คลายความเพียรเสียเล่า
เธอไม่ควรทำตนให้คนทั้งหลายรู้จัก ว่าเป็นผู้คลายความเพียร
แต่ควรทำตนให้เขารู้จักในฐานะเป็นผู้มีความเพียรสม่ำเสมอ ไม่ท้อถอย
ครั้งก่อนเธอเป็นผู้มีความเพียรมาอย่างดีแล้ว
คนจำนวนมากได้อาศัยความเพียรของเธอแต่ผู้เดียว
ได้ดื่มน้ำในทะเลทรายที่กันดาร คนเหล่านั้นก็ได้รับความสุข
เพราะความเพียรไม่ท้อถอยของเธอ

พระพุทธเจ้าตรัสอย่างนี้
ตรัสเพื่อจะเร้าใจให้มีความเพียร
และทรงตรัสเล่าเรื่องในอดีตของภิกษุรูปนั้น มีใจความสำคัญดังนี้



ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์ เป็นหัวหน้าพ่อค้าเกวียนในกรุงพาราณสี
เที่ยวค้าขาย ด้วยเกวียน 500 เล่ม
ส่วนมากก็จะเป็นสำนวนคือจำนวนร้อย ท่านก็จะใส่ ว่า 500 ลงไป


มาถึงทะเลทรายกันดารแห่งหนึ่ง ระยะทางกันดารยาวถึง 60 โยชน์
(เท่าที่ทราบ 1 โยชน์ เท่ากับ 16 กิโลเมตร)


ทะเลทรายนี้ ทรายละเอียดอ่อน ขนาดว่ากำแล้วไม่ติดอยู่ในมือเลย
ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นร้อนเหมือนกองเพลิง
เพราะฉะนั้น พวกพ่อค้าเกวียนพวกนี้จึงบรรทุกเสบียงอาหาร
เช่น ฟืน น้ำ น้ำมัน ข้าวสาร เป็นต้น เดินทางเฉพาะกลางคืนเท่านั้น


แม้ในสมัยปัจจุบันนี้ ที่อินเดีย
พ่อค้าเกวียนก็นิยมเดินทางกลางคืนเหมือนกัน กลางวันร้อน


พอรุ่งอรุณก็จะทำปะรำ หยุดพัก พอตกเย็นบริโภคอาหารเย็นแล้ว
แผ่นดินแผ่นทรายค่อยๆ เย็นลง แล้วก็ชวนกันเดินทางต่อไป


พระโพธิสัตว์ ก็คือ พระพุทธเจ้าของเราในอดีต
ขณะที่ทรงบำเพ็ญบารมีอยู่ พระโพธิสัตว์ในเวลานั้น
ก็เป็นหัวหน้าพ่อค้าเกวียน เดินทางผ่านทางกันดารในทะเลทราย
เดินทางไปได้ 59 โยชน์แล้ว
เหลืออีกราตรีเดียวก็จะพ้นทางกันดาร
ถึงได้สั่งให้บริวารเทน้ำหรือสิ่งที่ไม่จำเป็นเสีย เพื่อจะให้เกวียนเบาลง


พ่อค้าเกวียนก็นั่งอยู่ที่เกวียนคันหน้า
คอยดูดวงดาวและบอกทางว่า จะหันเกวียน ไปทางนี้
ขับเกวียนไปทางนั้น ไม่ได้นอนหลับเป็นเวลานาน
รู้สึกเหน็ดเหนื่อย อ่อนเพลีย จึงหลับไป


พอคนคอยบอกทางหลับไปแล้ว
โคที่ลากเกวียนก็ได้เวียนกลับมาทางเดิม
พอรุ่งเช้าก็ถึงที่ที่พวกเขาออกเดินทางมาเมื่อวันวาน
เกวียนได้เวียนกลับมาที่เดิม


ตัวผมเอง-ผู้บรรยาย-ก็เคยเดินทางทางเรือ
และโดนพายุหนักในทะเลสาบ ทั้งคืนเลย
ไม่ทราบว่า เรือไปไหนบ้าง มันมืดมิดไปหมด
พอสว่างขึ้นก็ได้เห็นว่าเรือห่างจากที่ออก เดินทางนิดเดียว


คนนำทางก็ตื่นขึ้นเวลารุ่งเช้า บอกให้ชาวเกวียนกลับเกวียน
แต่ก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรเสียแล้ว พ่อค้าเกวียนเสียใจมาก
เมื่อรู้ว่าพวกตนเดินทางทั้งคืนมาหยุดอยู่ที่เดิม


ก็บ่นกันอู้ไปหมดว่า น้ำของพวกเราก็หมดแล้ว
พวกเราพากันวอดวายในคราวนี้อย่างแน่นอน
แล้วก็พากันนอนอยู่ใต้เกวียนของตนๆ


พระโพธิสัตว์ไม่ยอมงอมืองอเท้า เป็นผู้ที่มีความเพียร
เที่ยวเดินตรวจตรา พื้นที่บริเวณนั้น ได้เห็นกอหญ้าแพรกกอหนึ่ง
ก็เกิดความคิดขึ้นว่า เมื่อมี หญ้าอย่างนี้ น่าจะมีน้ำอยู่ข้างใต้แน่นอน
ให้บริวารช่วยกันขุดลึกลงไป ถึง 60 ศอก ก็ไม่พบน้ำเลย
ได้เจอแต่หินแผ่นหนึ่ง พ่อค้าเกวียนทั้งหมดก็หมด สิ้นความพยายาม
พากันนอนรอความตายอยู่


พระโพธิสัตว์คิดว่า ภายใต้แผ่นหินน่าจะมีน้ำก็ได้
จึงกระโดดลงไป เงี่ยหูฟัง ได้ยินเสียงน้ำไหล
จึงกระโดดขึ้นมาแล้วบอกคนใช้ของตนว่า
เมื่อเจ้าจะละความพยายามเสียแล้ว พวกเราจะพากันฉิบหายหมด
เจ้าจงเอาฆ้อนเหล็กตอกแผ่นหินให้แตก
คนใช้ได้ทำตามคำสั่งของพระโพธิสัตว์ แผ่นหินแตกเป็น 2 ซีก
กันกระแสน้ำไว้สองข้าง เกลียวน้ำพุ่งขึ้นสูงเท่าลำตาล
พ่อค้าทั้งหมดได้ดื่มได้อาบตามประสงค์


นี่เป็นเรื่องในอดีต พระพุทธเจ้าได้ทรงนำเรื่องนี้มาเล่า
จบแล้วตรัสต่อไปว่า คนผู้ไม่เกียจคร้านทั้งหลาย
ช่วยกันขุดแผ่นดินอยู่กลางทะเลทรายได้น้ำ
ในทะเลทรายอันเป็นที่ดอนฉันใด
มุนีคือผู้ที่มีความรู้ มีความสงบ ผู้ไม่ เกียจคร้าน ฉันนั้น
เป็นผู้ประกอบด้วยกำลังแห่งความเพียร
จึงจะได้ประสบความสงบแห่งใจ


พระพุทธเจ้าตรัสอย่างนี้ ทรงประกาศอริยสัจ
คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
เทศน์ต่อให้ภิกษุรูปนั้นได้ฟัง
ภิกษุ รูปนั้นได้รับอุปถัมภ์จากพระพุทธเจ้าแล้ว
ประคองความเพียร เจริญ วิปัสสนา
ปรากฏว่าได้บรรลุอรหัตผล ซึ่งเป็นสิ่งสูงสุดที่มนุษย์ต้องการ


พระพุทธเจ้าตรัสเล่าให้ฟังว่า แม้ท้าวสักกะจอมเทพชั้นดาวดึงส์
ยังได้กล่าวกับ สุวีระเทพบุตร ผู้เป็นลูกน้องว่า
บุคคลเกียจคร้าน ไม่ใช่ความเพียรพยายามเลย
ประสบความสุข ณ ที่ใด เจ้าจงไป ณ ที่นั้น แล้วก็มาพาเราไปด้วย


คำของท้าวสักกะนี้ กล่าวเยาะเย้ยสุวีระเทพบุตร
ผู้เกียจคร้าน ไม่กล้าหาญ ไม่ทำกิจที่ควรทำ


แปล ความตามพระดำรัสของท้าวสักกะว่า
ในโลกนี้จะหาที่ไหนไม่ได้เลย ที่คนที่จะประสบความสุข
โดยการอยู่อย่างเกียจคร้าน ไร้ความพยายาม


พระพุทธเจ้าตรัสเล่าเรื่องนี้ ให้ภิกษุทั้งหลายฟังแล้วทรงสรุปว่า
ภิกษุทั้งหลาย ท้าวสักกะจอมเทพชั้นดาวดึงส์เสวยผลบุญของตน
ครองความเป็นใหญ่กว่าเทพ ทั้งหลายชั้นดาวดึงส์
ยังสรรเสริญความเพียรพยายามถึงขนาดนี้ จะเป็นความงามหาน้อยไม่
ถ้าพวกเธอผู้บวชในธรรมวินัยนี้ หรือพุทธบริษัทก็ตาม
พึงเป็นผู้ขยันลุกขึ้น มีความเพียรพยายามบรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ
เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่แจ้ง หรือเพื่อได้บรรลุสิ่งที่ประสงค์
คือ คนเรานี่ ประสงค์สิ่งใด ก็ต้องใช้ความเพียรพยายามพึ่งตนเอง
ใช้ความเพียรให้มาก



พระมหาชนก

เรื่อง พระมหาชนก ที่ท่านเล่าไว้ในคัมภีร์ชาดก
ก็เป็นตัวอย่างที่ดีของผู้ที่มีความเพียรพยายาม
คือ ท่านถือเอาความเพียรเป็นหน้าที่ที่จะต้องทำ
แม้ว่ายอยู่ท่ามกลางมหาสมุทรไม่เห็นฝั่งเลย
เมื่อยังมีกำลังอยู่ ก็ต้องว่ายต่อไป คนอื่นๆ ก็พากันยอมตาย
โดยมิได้ทันพยายาม เพราะท้อถอยเสียก่อนว่า
พยายามไปก็คงไร้ผล มหาสมุทรกว้างใหญ่ไพศาล จะว่ายพ้นหรือ
แต่ท่านมหาชนกยังคงว่ายต่อไป เท่าที่กำลังของท่านมีอยู่


ท่านถือคติว่า เป็นคนควรพยายามเรื่อยไป
จนกว่าจะสำเร็จผลที่มุ่งหมาย


ในตำนานเล่าว่า นางเมขลา เทพธิดาประจำสมุทร
มาช่วยนำขึ้นฝั่งได้ ต่อมาได้เป็นกษัตริย์ครองเมืองๆ หนึ่ง



ผมคิดอย่างนี้ว่า ถ้าเราเชื่อตามนี้ทั้งหมดก็แล้วไปไม่เป็นไร
ถ้าเราไม่เชื่อตามนี้ แต่เชื่อว่า
ท่านเล่าไว้เพื่อเป็นตัวอย่างของผู้มีความเพียร
ก็อาจจะถอดความได้ว่า
มหาสมุทรนั้น เปรียบด้วยสังสารวัฏ
หรือ เปรียบด้วยทะเลแห่งความหวัง หรืออะไรก็แล้วแต่
พระมหาชนกก็คือบุคคลผู้มี ความเพียร การว่าย คือ ความเพียร
เมขลาคือเทพธิดาแห่งความสำเร็จ
กล่าวให้สั้นลง ก็คือ ความสำเร็จนั่นเอง
การได้ครองราชย์ก็คือการได้บรรลุถึงฝั่งของความสำเร็จ


เมื่อบุคคลมีความพยายามจริง ความสำเร็จก็ย่อมจะปรากฏให้เห็น
เหมือนเมขลาปรากฏให้พระมหาชนกเห็นและช่วยให้สำเร็จ


คนที่ท้อถอยเสียตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มพยายาม
ไม่มีทางประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ได้
เหมือนคนที่ยอมตายในมหาสมุทร ยังไม่ทันได้ลองว่ายน้ำเลย



คุณของความเพียรชอบ

ในหมวดธรรมที่ว่าด้วยบาทแห่งความสำเร็จ เรียกว่าอิทธิบาท
ท่านแสดงวิริยะ ความเพียรไว้ข้อหนึ่งด้วยเป็นข้อที่ขาดไม่ได้

คุณของความพยายามชอบอีกอย่างหนึ่ง
ก็คือ ช่วยทำลายความทุกข์ ความวิตกหมกมุ่นให้หมดไป
ไม่มีเวลาสำหรับทุกข์ เพราะต้องทำความเพียรพยายาม
ทำหน้าที่อยู่ตลอดเวลา จนไม่มีเวลาว่างสำหรับทุกข์


ยอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์ นักแต่งบทละคร
ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังชาวไอริช ได้กล่าวไว้ว่า

“เวลาว่างท่านมักจะปล่อยให้ความคิดมารบกวนใจท่าน
ท่านมีความสุขดีอยู่หรือ นั่นแหละคือสาเหตุแห่งความทุกข์”

ในขณะที่สงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังรุนแรงอยู่ วินสตัน เชอร์ชิล
นายกรัฐมนตรี อังกฤษ
ผู้มีนามอุโฆษ ต้องทำงานวันละ 18 ชั่วโมง
มีคนถามท่านว่า รู้สึกหนักใจไหมในความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่นั้น
ท่านเชอร์ชิลตอบว่า

“ฉันมีภาระมากเลย จนฉันไม่มีเวลาสำหรับทุกข์”
I am too busy, I have no time for worry.


เพราะฉะนั้น คนที่อยู่ว่าง ไม่ทำอะไรให้เป็นประโยชน์
ก็มักจะต้องตกเป็นทาสของความวิตกหมกมุ่น ทุกข์ร้อน
ส่วนนักทำงาน นักค้นคว้า
เวลาต้องหมดไปกับการหาความรู้ และหาความจริงใหม่ๆ
โรควิตกกังวลไม่อาจจะกล้ำกรายมาในชีวิตของท่านได้
เพราะไม่มีเวลาพอจะคิดอะไรอย่างฟุ่มเฟือย
แม้แต่งานของท่านก็ไม่มีเวลา จะจ่ายให้พออยู่แล้ว



ทำไมการทำงาน การทำความเพียรชอบ
อย่างใดอย่างหนึ่งจึงสามารถจะทำลายความวิตกกังวลเสียได้ คำตอบก็คือ


ธรรมชาติ ของจิตใจของคนเรา มีกฎอันแน่นอนตายตัวอยู่อย่างหนึ่ง
ก็คือว่าไม่อาจจะคิด อะไรได้คราวละ 2 อย่าง
ไม่อาจมีอารมณ์ 2 อารมณ์ในขณะเดียวได้
มันต้องเกิด ขึ้นทีละอย่าง จิตไม่อาจจะคิดสิ่ง 2 สิ่งในขณะจิตเดียว
เมื่อเป็นอย่างนี้ ขณะที่เราคิดเรื่องงาน ทำงานอย่างเอาใจใส่จดจ่ออยู่
อารมณ์อย่างอื่นก็ไม่สามารถจะเข้ามาได้ ความทุกข์ความกังวล
หนี้สินต่างๆก็ไม่มารบกวนเรา ขณะที่เราทำงานจิตใจจดจ่อ


การทำงานด้วย วิริยะอุตสาหะจึงมีอุบายที่ดี ที่จะขับไล่อารมณ์ร้ายออกไป
หรือไล่ความทุกข์ ร้อนออกไปจากใจของเราเมื่อนานเข้า
จิตก็ได้พลังเพิ่มมากขึ้นๆ จนบุคคลผู้นั้นเป็นผู้ทุกข์ไม่เป็น
ไม่มีเวลาสำหรับทุกข์
หรือความทุกข์เข้ามาก็สปริง ออกไป
เป็นคนทุกข์ไม่เป็น หรือเป็นคนทุกข์ยาก เป็นสุขง่าย


การงานที่ไม่มีโทษ คือสัมมาวายามะ หรือความเพียรชอบ
จึงเป็นยารักษาโรคชนิดหนึ่ง
ซึ่งเรียกในภาษาทางจิตแพทย์ว่า occupational therapy
การรักษาโรค ด้วยวิธีทำงาน

นายแพทย์ชาวกรีก สมัยก่อนพระเยซูกำเนิด ถึง 500 ปี
ได้เคยใช้วิธีนี้รักษาคนป่วย ซึ่งเป็นโรคทางจิตมาแล้ว และแม้ในสมัยปัจจุบันนี้
วิธีการนี้ก็เป็นที่นิยมของแพทย์ทั่วไป ในการรักษาคนป่วย ที่เป็นโรควิตกกังวล


ตบะ คือความเพียร
มีอีกคำหนึ่งที่ใช้แทนคำว่า ความเพียร
หรือมีความหมายเท่ากับความเพียร คือคำ ว่าตบะ
ตบะคือความเพียร ท่านแปลว่าความเพียรสำหรับเผาบาป
เช่นมักจะพูดถึง ฤาษีว่าเป็นผู้มีตบะกล้า
คือมีความเพียรในการเผาบาปแรงกล้า


ความเพียรคือตบะ ผู้ใดมีมาก มีอยู่อย่างสม่ำเสมอ
ก็ย่อมจะทำให้ท่านผู้นั้น มีเรี่ยวแรงกำลัง
ในการทำกิจต่างๆ ได้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
มีความพอใจที่จะทำ ก่อน คือมีฉันทะแล้วก็ลงมือทำ
เมื่อทำไปๆ ก็เกิดรสในการทำ และทำได้สำเร็จ


การทำสำเร็จจะเป็นกำลังใจ
เป็นแรงบันดาลใจให้ทำยิ่งขึ้นไป และทำสำเร็จมากขึ้น
ความสำเร็จผลตามที่ต้องการนี่เอง เป็นการบรรลุถึงความสามัคคีในสิ่งที่ทำ
และสามารถเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ได้ด้วยปัญญาและความเพียร


ตบะนี้จะเป็นสิ่งที่ทำลายบาป หรือเผาผลาญบาปอกุศลกรรม
กิเลสเมื่อเกิดขึ้นในใจ แล้วก็เผาใจให้เร่าร้อน
เหมือนไฟที่เกิดที่ฟืน หรือหญ้า ก็จะเผาไม้หรือหญ้านั้นให้ร้อน


ตบะสามารถเผากิเลสให้วอดวายไป ธรรมดาใจเรา จะถูกกิเลสเผาอยู่ให้ร้อน
อาศัยตบะคือความเพียรเผากิเลสให้วอดวาย ใจของเรา
ก็จะสงบเยือกเย็น เพราะว่าสิ้นสิ่งที่เผาใจให้ร้อน


ตามความเป็นจริง กุศลธรรมหรือบุญกุศลทั้งปวงเป็นตบะทั้งนั้น
สำหรับผู้ที่มีความเพียรเพื่อการทำงานที่เป็นหน้าที่
หรือมีความเพียรเพื่อเผากิเลสก็ตาม
ขอให้มีความตั้งใจให้มั่นคง บากบั่นพยายามให้เป็นไปติดต่อสม่ำเสมอ
นี่คือความหมายที่แท้ของ วิริยารัมภะ
เป็นเหมือนเข็มทิศที่ชี้ไปทางทิศเหนือเสมอ
พยายามยกจิตให้อยู่เหนือความเกียจคร้าน เหนือความชั่ว
ที่เป็นเหตุนำทุกข์มาให้ภายหลัง ทำการอย่างสงบ หนักแน่น
เหมือนรากไม้งัดภูเขา
อย่ากลัว ความไม่สำเร็จ ขอให้ทำ จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ
เป็นเรื่องที่บัณฑิตจะต้องพิจารณาด้วยใจเป็นธรรมในภายหลัง


ผู้ที่มีคุณสมบัติดังนี้ บ้านเรือนของท่านก็จะเป็นเหมือนป่า
สำหรับบำเพ็ญตบะแม้จะอยู่ในเรือนยัง ครองเรือน
บ้านเรือนก็จะเป็นเสมือนป่าสำหรับบำเพ็ญตบะ
เพราะมีความเพียรที่ จะเผาบาปอยู่เสมอ


สัมมาวายามะ
ผมจะพูดถึงความเพียรอีกอย่างหนึ่ง ที่กล่าวถึงในสัมมาวายามะ
ที่เป็นหนึ่งในมรรคมีองค์ 8 ซึ่งปรากฏในมรรควิภังคสูตร
พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงบทขยายสัมมาวายามะไว้ 4 อย่างคือ

1. สังวรปธาน เพียรระวังบาปอกุศลที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น
2. ปหานปธาน เพียรละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว
3. ภาวนาปธาน เพียรให้กุศลที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น
4. อนุรักขนาปธาน
เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้ดำรงอยู่ และให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป


รวมความว่า พระพุทธเจ้าทรงหนุนให้ระวังไม่ให้ความชั่วเกิดขึ้น
เพียรละความชั่วที่เกิดขึ้นแล้ว เพียรให้ความดีเกิดขึ้น
เพียรรักษาความดีให้คงอยู่ และเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป
ผมขอขยายความแต่ละข้อเพื่อให้เข้าใจยิ่งขึ้น


ประการที่ 1 สังวรปธาน
ขอพูดว่า บาปอกุศลหรือความชั่ว ความทุจริต จะกล่าวถึงส่วนภายใน
คือสิ่งที่ทำ ใจให้เศร้าหมอง เช่นความโลภ
ความโกรธ ความหลง ความริษยา ความพยาบาท เป็นต้น


สิ่งหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นในใจ หรือเกิดขึ้นกับจิต
ก็จะทำให้จิตเศร้าหมอง เสียปกติภาพของตนไป
เพราะปกติภาพของจิตจะสะอาดผ่องแผ้ว เรียกว่าเป็นประภัสสร
กล่าวโดยโทษที่ตามมาภายหลัง บาปอกุศลจะให้ผลเป็นความทุกข์
ความเดือดร้อนแก่ผู้กระทำเอง เป็นสภาพเผาให้ร้อน


นอกจากนั้น ผู้ร่วมในการกระทำ
ก็จะให้ผลเป็นความเศร้าหมองแก่จิตทุกครั้ง ที่บาปอกุศลเกิดขึ้น
เมื่อระลึกถึงบาปอกุศลที่ตนทำในภายหลัง
จิตก็จะเศร้าหมอง อีกทุกครั้งที่ระลึกถึง
เป็นความทุกข์ที่ยืดเยื้อเรื้อรังตลอดชีวิต


ตรงกันข้ามกับบุญกุศล ซึ่งโดยสภาพแล้ว ช่วยชำระดวงจิตให้ผ่องแผ้ว
ต่อมาภายหลัง เมื่อระลึกถึงกุศลกรรมครั้งใด
ก็มีความสุขใจ เป็นความสุขที่ยืดเยื้อไปตลอดชีวิตเหมือนกัน


บาปอกุศล นอกจากจะให้ความเศร้าหมองแก่ดวงจิตแล้ว
ยังทำให้ชื่อเสียงวงศ์สกุลเศร้าหมองอีกด้วย
คนใกล้ชิดเช่นลูกเมียเพื่อนฝูงก็พลอยเศร้าหมองไปด้วย
ว่าเป็นลูกเมียเพื่อนฝูงของคนบาป
ใครยกย่องก็พลอยเศร้าหมองไปถึงผู้ยกย่อง
บาปอกุศลเป็นสิ่งที่ให้ความเศร้าหมองอย่างนี้
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้ระวัง อย่าให้เกิดขึ้น



คัดลอกบางส่วน... หนังสือความสุขที่หาได้ง่าย
(ท่านอาจารย์วศิน อินทสระ)


ที่มา... http://www.ruendham.com/book_detail.php?id=38

:b48: :b8: :b48:

:b44: รวมคำสอน “อาจารย์วศิน อินทสระ”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=45418

:b44: ประวัติและผลงาน “อาจารย์วศิน อินทสระ”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=44346


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ต.ค. 2010, 20:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


:b20:

ความขี้เกียจเป็นโจรปล้นเวลา ชอบมากเลย :b16:

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 เม.ย. 2018, 11:15 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 มี.ค. 2019, 19:41 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


4Aขออนุโมทนาสาธุการค่ะ :b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ก.ค. 2021, 20:00 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b39: :b44: ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ
:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ต.ค. 2021, 22:14 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


onion


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 6 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 13 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร