วันเวลาปัจจุบัน 26 เม.ย. 2024, 05:07  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ต.ค. 2010, 16:43 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ก.พ. 2007, 20:39
โพสต์: 174


 ข้อมูลส่วนตัว


ธรรมะเชิงอุปมาอุปไมย

หลวงพ่อชา สุภัทโท


ใบไม้

ขณะนี้เรานั่งอยู่ในป่าที่สงบ ที่นี่ไม่มีลม ใบไม้จึงนิ่ง เมื่อใดที่มีลมพัด ใบไม้จึงไหวปลิว จิตก็ทำนองเดียวกับใบไม้เมื่อสัมผัสกับอารมณ์ มันก็สะเทือนไปตามธรรมชาติของจิต เรายิ่งรู้ธรรมะน้อยเพียงไร ใจก็จะรับความสะเทือนได้มากเพียงนั้น รู้สึกเป็นสุข ก็ตายด้วยความสุข รู้สึกเป็นทุกข์ก็ตายด้วยความทุกข์อีก มันจะไหลไปเรื่อย ๆ

น้ำเจือสี

ใจของเราขณะที่เป็นปกติอยู่เปรียบเหมือนน้ำฝนเป็นน้ำที่สะอาด มีความใสสะอาดบริสุทธิ์เป็นปกติ ถ้าเราเอาสีเขียวใส่ลงไป เอาสีเหลืองใส่เข้าไป น้ำก็จะกลายเป็นสีเขียว สีเหลืองไป จิตของเรานี้ก็เหมือนกัน เมื่อไปถูกอารมณ์ที่ชอบใจ ใจก็ดี ใจก็สบาย เมื่อถูกอารมณ์ที่ไม่ชอบใจแล้ว ใจนั้นก็ขุ่นมัว ไม่สบายเหมือนกันกับน้ำที่ถูกสีเขียวก็เขียวไป ถูกสีเหลืองก็เหลืองไป เปลี่ยนสีไปเรื่อย

อยู่กับงูเหา

ขอให้โยมจำไว้ในใจ อารมณ์ทั้งหลายนั้น ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ที่พอใจก็ตาม หรืออารมณ์ที่ไม่พอใจก็ตาม อารมณ์ทั้งสองอย่างนี้มันเหมือนงูเห่าซึ่งมีพิษมาก ถ้ามันฉกคนแล้วก็ทำให้ถึงแก่ความตายได้ อารมณ์นี้ก็เหมือนงูเห่าที่มีพิษร้ายนั้น อารมณ์ที่พอใจก็มีพิษมาก อารมณ์ที่ไม่พอใจก็มีพิษมาก มันทำให้จิตใจของเราไม่เสรี ทำให้จิตใจไข้วเขวจากหลักธรรมของพระพุทธเจ้า

ปล่อยพิษงูไป

อารมณ์ทั้งหลายเหมือนกันกับงูเห่าที่มีพิษร้าย ถ้าไม่มีอะไรขวาง มันก็เลื้อยไปตามธรรมชาติของมัน แม้พิษมันจะมีอยู่มันก็ไม่แสดงออกมา ไม่ได้ทำอันตรายเรา เพราะเราไม่ได้เข้าไปใกล้มัน งูเห่าก็เป็นไปตามเรื่องของงูเห่า มันก็อยู่อย่างนั้น ถ้าหากเป็นคนที่ฉลาดแล้ว ก็จะปล่อยหมด สิ่งที่ดีก็ปล่อยมันไป สิ่งที่ชั่วก็ปล่อยมันไป สิ่งที่ชอบใจก็ปล่อยมันไป เหมือนอย่างเราปล่อยงูเห่าตัวที่มีพิษร้ายนั้น ปล่อยให้มันเลื้อยของมันไป มันก็เลื้อยไปทั้งที่มีพิษอยู่ในตัวมันนั่นเอง

เด็กซุกซน

เปรียบกับเด็กที่ซุกซน เล่นสนุก ทำให้รำคาญจนเราต้องดุเอาตีเอา แต่เราก็ต้องเข้าใจว่า ธรรมชาติของเด็กก็เป็นอย่างนี้เอง พอรู้อย่างนี้ เราก็ปล่อยให้เด็กเล่นไปตามเรื่องของเขา ความเดือดร้อนรำคาญของเราก็หมดไป เพราะเรายอมรับธรรมชาติของเด็กความรู้สึกของเราจึงเปลี่ยนไป เรายอมรับธรรมชาติของสิ่งทั้งหลาย เราปล่อยวางได้จิตของเราก็มีความสงบเยือกเย็น นี่เรามีความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว เป็นสัมมาทิฏฐิ ทีนี้ก็หมดปัญหาที่จะต้องแก้

รับแขก

เรามาทำจิตของเราให้เป็นผู้รู้ตื่นอยู่ คอยรักษาจิตของเราอยู่ ถ้าแขกมาเมื่อไรโบกมือห้าม มันจะมานั่งที่ไหนมีที่นั่งเดียวเท่านั้น เราก็พยายามรับแขกอยู่ตรงนี้ตลอดวัน นี่คือพุทโธ ตัวตั้งมั่นอยู่ที่นี่ ทำความรู้นี้ไว้ จะได้รักษาจิต เรานั่งอยู่ตรงนี้ แขกที่เคยมาเยี่ยมเราตั้งแต่เราเกิดตัวเล็ก ๆ โน้นมาทีไรก็มาที่นี่หมด เราจึงรู้จักมันหมดเลย พุทโธอยู่คนเดียว พูดถึงอาคันตุกะ แขกที่จรมาปรุงแต่งต่าง ๆ นานา เราให้เป็นไปตามเรื่องของมัน อาการของจิตที่เป็นไปตามเรื่องของมันนี่แหละ เรียกว่า เจตสิก มันจะเป็นอะไร จะไปไหนก็ช่างมัน ให้เรารู้จักอาคันตุกะที่มาพักที่รับแขกมีเก้าอี้ตัวเดียวเท่านี้เอง เราเอาผู้หนึ่งไปนั่งไว้แล้ว มันก็ไม่มีที่นั่งมันมาที่นี่ มันก็จะมาพูดกับเรา ครั้งนี้ไม่ได้นั่ง ครั้งต่อไปก็จะมาอีก มาเมื่อไรก็พบผู้ที่นั่งอยู่ ไม่หนีสักที มันจะทนมากี่ครั้ง เพียงพูดกันอยู่ที่นั่น เราก็จะรู้จักหมดทุกคน พวกที่ตั้งแต่เรารู้เดียงสาโน้น มันจะมาเยี่ยมเราหมดนั่นแหละ

บุรุษจับเหี้ย

วิธีกำหนดอารมณ์ จับอารมณ์ ให้รู้จักจิตของตนให้รู้จักอารมณ์ของตน เปรียบโดยวิธีที่บุรุษทั้งหลายจับเหี้ย เหี้ยตัวหนึ่งเข้าไปในโพรงจอมปลวกที่มีรูอยู่หกรู ก็ปิดรู้นั้น ๆ เสียห้ารู เหลือรูเดียวให้เหี้ยออกแล้วนั่งจ้องมองที่รูเดียวนั้นเหี้ยออกมาก็จับได้ ฉันใดการกำหนดจิตก็ฉันนั้น ปิดตา ปิดหู ปิดจมูก ปิดลิ้น ปิดกายเหลือแต่จิตอันเดียวเปิดไว้ คือ การสำรวมสังวร กำหนดจิตอย่างเดียว การภาวนาก็เหมือนกับบุรุษจับเหี้ย คือกำหนดจิตให้อยู่ที่ลมหายใจ มีสติ ระมัดระวังรู้อยู่แล้ว กำลังทำอะไรมีสัมปชัญญะ คือรู้ตัวว่ากำลังทำสิ่งนั้นความรู้สึกที่เกิดขึ้นในจิตขณะนั้น ทำให้รู้จัก

แมงมุม

ได้ไปเห็นแมงมุมเป็นตัวอย่าง แมงมุมทำรังของมันเหมือนข่ายมันสายข่ายไปขึงไว้ตามช่องต่าง ๆ เราไปนั่งพิจารณาดูมันทำข่ายขึงไว้เหมือนจอหนัง เสร็จแล้วมันก็เก็บตัวเองเงียบอยู่ตรงกลางข่าย ไม่วิ่งไปไหน พอมีแมลงวันหรือแมลงอื่นบินผ่านข่ายของมัน พอถูกข่ายเท่านั้น ข่ายก็สะเทือน พอข่ายสะเทือนปุ๊บ มันก็วิ่งออกจากรังทันที ไปจับตัวแมลงไว้เป็นอาหาร เสร็จแล้วมันก็เก็บตัวของมันไว้ที่กลางข่ายเหมือนเดิม ไม่ว่าจะมีผึ้งหรือแมลงอื่นใดมาถูกข่ายของมัน พอข่ายสะเทือนมันก็วิ่งออกมาจับแมลงนั้นแล้วก็กลับไปเกาะนิ่งอยู่ที่กลางข่าย ไม่ให้ใครเห็นทุกทีไป เห็นแมงมุมทำอย่างนี้ เราก็มีปัญญาแล้ว อายตนะทั้งหก คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ใจนี้อยู่ตรงกลาง ตา หู จมูก ลิ้น กายแผ่พังพานออกไป อารมณ์นั้น เหมือนแมลงต่าง ๆ พอรูปมาก็ถึงตา เสียงมาก็ถึงหู กลิ่นมาก็ถึงจมูก รสมาก็ถึงลิ้น โผฏฐัพพะมาก็ถึงกาย ใจเป็นผู้รู้จัก มันก็สะเทือนถึงใจ แค่นี้ก็เกิดปัญญาแล้วเราจะอยู่ด้วยการเก็บตัวไว้เหมือนแมงมุมที่เก็บตัวไว้ในข่ายของมันไม่ต้องไปไหน พอแมลงต่าง ๆ มันผ่านข่าย ก็ทำให้สะเทือนถึงตัว รู้สึกได้ก็ออกไปจับแมลงไว้แล้วก็กลับอยู่ที่เดิม ดูแมงมุมแล้วก็น้อมเข้ามาหาจิตของเรามันก็เหมือนกันเท่านั้น ถ้าจิตเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันกว้างไม่เป็นเจ้าของสุข ไม่เป็นเจ้าของทุกข์อีกแล้ว ก็เห็นชัดได้อย่างนี้ มันก็ได้ความเท่านั้นแหละ จะทำอะไรอยู่ก็สบาย ไม่ต้องการอะไรอีกแล้ว มีแต่การภาวนาจะเจริญยิ่งขึ้นเท่านั้น

คลื่นกระทบฝั่ง

เรื่องทุกข์เรื่องไม่สบายใจนี่ มันก็ไม่แน่หรอกนะ มันเป็นของไม่เที่ยง เราจับจุดนี้ไว้ เมื่ออาการเหล่านี้มันเกิดขึ้นมา เรารู้มันเดี๋ยวนี้ เราวาง กำลังอันนี้จะค่อย ๆ เห็นทีละน้อย ๆ เมื่อมันกล้าขึ้นมันข่มกิเลสได้เร็วที่สุด ต่อไปมันเกิดตรงนี้ มันดับตรงนี้เหมือนกับน้ำทะเลที่กระทบฝั่ง เมื่อขึ้นมาถึงฝั่งมันก็ละลายเท่านั้น คลื่นใหม่มาอีก มันก็ละลายต่อไปอีก มันจะเลยฝั่งไปไม่ได้ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือ ฝั่งทะเลอารมณ์ทั้งหลาย ที่ผ่านเข้ามา มันก็เท่านั้นแหละ

เป็ดกับไก่

คนสองคนเห็นเป็ดตัวหนึ่ง ไก่ตัวหนึ่ง คนหนึ่งคิดอยากจะให้ไก่เป็นเป็ด เป็ดเป็นไก่ มันก็เป็นไปไม่ได้ ในชั่วชีวิตหนึ่ง มันก็ไม่เป็นให้ ถ้าคนนี้คิดอย่างนี้ไม่หยุด ก็ต้องทุกข์ คนที่สองเห็นเป็ดก็เป็นเป็ด ไก่ก็เป็นไก่ นั่นแหละ ปัญหาไม่มี เห็นถูกแล้ว ไม่ทุกข์อย่างนี้ ก็เหมือนกับอนิจจังเป็นของไม่เที่ยง อยากให้มันเที่ยง เมื่อมันไม่เที่ยงเมื่อไร ก็เสียใจเมื่อนั้น ถ้าใครเห็นว่าอนิจจังเป็นของไม่เที่ยงอย่างนั้น คนนั้นก็สบาย ไม่มีปัญหา ตั้งแต่วันที่เราเกิดมา เราเดินหนีจากความจริง ไม่อยากจะให้เป็นอย่างนี้ ห้ามมันก็ไม่ได้ มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนี้ จะให้เป็นอย่างอื่นมันก็เป็นไม่ได้ เหมือนกับเป็ดจะให้มันเหมือนไก่ มันก็ไม่เหมือน เพราะมันเป็นเป็ด ไก่จะให้เหมือนเป็ด ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะมันเป็นไก่ ถ้าใครคิดก็ทุกข์ ถ้าคิดว่า "เออ! มันก็เป็นของมันอย่างนั้น" คิดเช่นนี้ เราจะมีกำลัง เพราะสกนธ์ร่างกายนี้จะให้มันยืนนานถาวรไปเท่าไร ๆ ก็ไม่ได้

ถ้วยน้ำสกปรก

ทิฏฐิ คือ ความเห็นและความนึกคิดเกี่ยวกับสิ่งทั้งปวงเกี่ยวกับตัวเขาเอง เกี่ยวกับการปฏิบัติภาวนาเกี่ยวกับคำสอนของพระพุทธเจ้า หลาย ๆ ท่านที่มาที่นี่มีตำแหน่งการงานสูงในสังคม บางคนเป็นพ่อค้าที่มั่งคั่งหรือได้ปริญญาต่าง ๆ ครูและข้าราชการ สมองของเขาเต็มไปด้วยความคิดเห็นต่อสิ่งต่าง ๆ เขาฉลาดเกินกว่าที่จะฟังผู้อื่น เปรียบเหมือนน้ำในถ้วย ถ้าถ้วยมีน้ำสกปรกอยู่เต็มถ้วยนั้น ก็ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ เมื่อได้เทน้ำเก่านั้นทิ้งไปแล้วเท่านั้น ถ้วยนั้นก็จะใช้ประโยชน์ได้ ท่านต้องทำจิตให้ว่างจาก ทิฏฐิ แล้วท่านจึงจะได้เรียนรู้ การปฏิบัติของเรานั้นก้าวเลยความฉลาดหรือความโง่ ถ้าท่านคิดว่า 'ฉันเก่ง ฉันรวย ฉันเป็นคนใหญ่คนโต ฉันเข้าใจพระพุทธศาสนาแจ่มแจ้งทั้งหมด' เช่นนี้แล้วท่านจะไม่เห็นความจริงในเรื่องของอนัตตา หรือความไม่ใช่ตัวตน ท่านจะมีแต่ตัวตน ตัวฉัน ของฉัน แต่พระพุทธศาสนา คือการละตัวตนเป็นความว่าง เป็นความไม่มีทุกข์ เป็นความดับสนิท คือนิพพาน

สุ่มปลา

ยังไม่เห็นโทษพอที่จะละมัน ไม่เห็นอานิสงส์ที่จะเกิดขึ้นมาได้ การงานอันนั้นจึงไม่สำเร็จประโยชน์ เอาเล็บเขี่ยเล่นอยู่เฉย ๆ ถ้าเราเห็นโทษของมันอย่างชัดเจน เออ! เช่นคุณไปสุ่มปลา สุ่มไปเถอะ รู้สึกว่ามีอะไรอยู่ในสุ่มของเรา มันดังคึ่กคั่ก ๆ เรานึกว่าปลาเอามือล้วงลงไป ไปเจอสัตว์อีกชนิดหนึ่ง ที่มันอยู่ในน้ำ ตาไม่เห็น แต่มีความรู้สึกในใจของเรา นึกว่าเป็นปลาไหลบ้าง นึกว่าเป็นงูบ้างนะ จะทิ้งมันก็เสียดายมัน หากว่ามันเป็นปลาไหลแล้วก็เสียดาย จะจับไว้ถ้าหากว่ามันเป็นงู มันก็จะกัดเอา นี่เข้าใจไหมสงสัยอยู่ไม่ชัดเจน ไอ้ความอยากนี่ มันมากอุตสาห์จับไว้เผื่อมันจะเป็นปลาไหลนะ พอโผล่ขึ้นมาพ้นน้ำ เห็นแสกคอมันลาย วางเลยไม่มีใครมาบอกว่า "อันนั้นงู วาง ๆ"ไม่มีใครบอกหรอก มันบอกมันเอง ยิ่งชัดกว่าเราบอกเสียด้วย เพราะอะไร เพราะเห็นโทษว่า งูมันกัดเป็น ใครจะไปบอกมัน จิตนี้ ถ้าเราฝึกมันแล้ว รู้เช่นนั้นแล้ว มันไม่เอาหรอก

แก้วแตก

โยมว่า "อย่ามาทำแก้วฉันแตกนะ" ของมันแตกได้ โยมจะไปห้ามมันไม่ได้ ไม่แตกเวลานี้ ต่อไปมันจะแตก เราไม่ทำแตกคนอื่นจะทำแตก คนอื่นไม่ทำแตก ไก่มันจะทำแตก พระพุทธเจ้าท่านให้ยอมรับ ท่านมองทะลุไปว่า แก้วใบนี้แตกแล้ว แก้วที่ไม่แตกนี้ ท่านให้รู้ว่ามันแตกแล้ว จับทุกทีใส่น้ำดื่มเข้าไปแล้ววางไว้ ท่านก็ให้เห็นว่าแก้วมันแตกแล้วเข้าใจไหม นี่คือความเข้าใจของท่านเป็นอย่างนั้น เห็นแก้วที่แตกอยู่ในแก้วใบที่ไม่แตก เพราะเมื่อมันหมดสภาพแล้วไม่ดีเมื่อไร มันก็จะแตกเมื่อนั้น ทำความรู้สึกอย่างนี้แล้วก็ใช้แก้วใบนี้ไป รักษาไปอีกวันหนึ่ง พอมันหลุดมือแตก "ผัวะ" สบายไปเลย ทำไมสบายเพราะเห็นว่ามันแตกก่อนแตกแล้ว เห็นไหม แต่ถ้าเป็นโยม "แหม ฉันถนอมมันเหลือเกิน อย่าทำให้มันแตกนะ" อีกวันหนึ่งสุนัขทำแก้วแตก เกลียดสุนัข ถ้าลูกทำแตกก็เกลียดลูก เกลียดทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำให้แก้วแตก เพราะเราไปกั้นฝายไว้ ไม่ให้น้ำไหลออกไป กั้นไว้อย่างเดียวไม่มีทางระบายน้ำ ฝายมันก็แตกเท่านั้นแหละใช่ไหม ต้องทำฝายแล้วทำทางระบายน้ำด้วย พอน้ำได้ระดับแค่นี้ ก็ระบายน้ำข้าง ๆ นี่ เมื่อมันเต็มที่ก็ให้มันออกข้างนี้ ท่านเห็นอนิจจัง ความไม่เที่ยงอยู่อย่างนั้น นั่นแหละเป็นทางระบายของท่าน อย่างนี้โยมจะสงบ นี่คือการปฏิบัติธรรมะ

น้ำมันกับน้ำ

น้ำมันกับน้ำท่า มันต่างกัน เหมือนกับคนฉลาดก็ต่างกับคนโง่ พระพุทธเจ้าก็ทรงอยู่กับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ แต่พระองค์ทรงเป็นพระอรหันต์ พระองค์จึงทรงเห็นสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงสิ่งสักว่าเท่านั้น พระองค์ทรงปล่อยวางมันไปเรื่อยตั้งแต่ทรงเข้าพระทัยแล้วว่า ใจก็สักว่าใจ ความคิดก็สักว่าความคิด พระองค์ไม่ทรงเอามันมาปนกันถ้าคิดได้ รู้สึกได้อย่างนี้ เราก็จะแยกมันได้ ความคิดความรู้สึกอยู่ทางหนึ่ง ใจก็อยู่อีกทางหนึ่ง เหมือนกับน้ำมันกับน้ำท่าอยู่ในขวดเดียวกัน แต่มันแยกกันอยู่

ตกต้นไม้

ปฏิจจสมุปบาทธรรมก็เหมือนกัน อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป ฯลฯ เราเคยเล่าเรียนมาศึกษามาก็เป็นจริง คือท่านแยกเป็นส่วน ๆ ไป เพื่อให้นักศึกษารู้ แต่เมื่อมันเกิดมาจริง ๆ แล้วนับไม่ทันหรอก อุปมาเหมือนเราตกจากยอดไม้ก็ตุ๊บถึงดินโน่น ไม่รู้ว่ามันผ่านกิ่งไหนบ้าง จิตเมื่อถูกอารมณ์ปุ๊บขึ้นมา ถ้าชอบใจก็ถึงดีโน่น อันที่ติดต่อกันเราไม่รู้ มันไปตามที่ปริยัติรู้นั่นเอง แต่มันก็ไปนอกปริยัติด้วย มันไม่บอกว่าตรงนี้เป็นอวิชชา ตรงนี้เป็นสังขาร ตรงนี้เป็นวิญญาณ ตรงนี้เป็นนามรูป มันไม่ได้ให้ท่านมหาอ่านอย่างนั้นหรอก เหมือนกับการตกต้นไม้ ท่านพูดถึงขณะจิตอย่างเต็มที่ของมันจริง ๆ อาตมาจึงมีหลักเทียบว่า เหมือนกับการตกจากต้นไม้ เมื่อมันพลาดจากต้นไม้ไปปุ๊บ มิได้คณนาว่ามันกี่นิ้วกี่ฟุต เห็นแต่มันตูมถึงดินเจ็บแล้ว

น้ำไหลนิ่ง

โยมรู้จักน้ำที่มันไหลไหม เคยเห็นไหม น้ำนิ่ง โยมเคยเห็นไหม ถ้าใจเราสงบแล้ว มันจะเป็นคล้าย ๆ กับน้ำมันไหลนิ่งโยมเคยเห็นน้ำไหลนิ่งไหม ตรงนั้นแหละ ตรงที่โยมคิดไม่ถึงหรอกว่า มันเฉยมันก็เกิดปัญญาได้ เรียกว่าดูใจของโยม มันจะคล้ายน้ำไหลแต่ว่านิ่ง ดูเหมือนนิ่ง แต่ว่าดูเหมือนไหล เลยเรียกว่า น้ำไหลนิ่งมันจะเป็นอย่างนั้น ปัญญาเกิดได้

ไก่ป่า

ยกตัวอย่างง่าย ๆ อย่างไก่ป่า เราก็รู้จักทุกคนว่า ไก่ป่านั้นเป็นอย่างไร สัตว์ในโลกนี้ ที่จะกลัวมนุษย์ยิ่งไปกว่าไก่ป่านั้น ไม่มีแล้ว เมื่ออาตมาอยู่ในป่านี้ ครั้งแรก ก็เคยสอนใคร ไก่ป่าเคยเฝ้าดูมันแล้ว ก็ได้ความรู้จากไก่ป่าหลายอย่างครั้งแรก มันมาเพียงตัวเดียว เดินผ่านมา เราก็เดินจงกรมอยู่ในป่า มันจะเข้ามาใกล้ ไม่มองมัน มันจะทำอะไรก็ไม่มองมัน มันจะเข้ามาใกล้ ไม่มองมัน มันจะทำอะไร ก็ไม่มองมัน ไม่ทำกิริยาอันใดกระทบกระทั่งมันเลย ต่อไปก็ลองหยุดมองดูมันพอสายตาเราไปถูกมันเข้า มันวิ่งหนีเลย แต่พอเราไม่มองมันก็คุ้ยเขี่ยอาหารกินตามเรื่องของมัน แต่มองทีไรก็วิ่งหนีเมื่อนั้น นานเข้าสักหน่อย มันคงเคยเห็นความสงบของเรา จิตใจของมันก็เลยว่าง แต่พอหว่านข้าวให้เท่านั้น ไก่มันก็เลยหนีเลย...ช่างมันก็หว่านทิ้งไว้อย่างนั้นแหละ เดี๋ยวมันก็กลับมาที่ตรงนั้นอีกแต่ยังไม่กล้ากินข้าวที่หว่านไว้ให้ มันไม่รู้จัก นึกว่าเราจะไปฆ่าไปแกงมัน เราก็ไม่ว่ากระไร กินก็ช่าง ไม่กินก็ช่างไม่สนใจกับมัน ไม่ช้ามันก็คุ้ยเขี่ยหากินตรงนั้น มันคงเริ่มมีความรู้สึกของมัน แล้ววันต่อมา มันก็มาตรงนั้นอีก มันก็ได้กินข้าวอีก พอข้าวหมด ก็หว่านไว้ให้อีก มันก็วิ่งหนีอีก แต่เมื่อทำซ้ำอยู่อย่างนี้เรื่อย ๆ ตอนหลังมันก็เพียงแต่เดินหนีไปไม่ไกล แล้วก็กลับมากินข้าวที่ให้นั้น นี่ก็ได้เรื่องแล้ว ตอนแรกไก่มันเห็นข้าวสารเป็นข้าศึก เพราะมันไม่รู้จัก เพราะมันดูไม่ชัด มันจึงวิ่งหนีเรื่อยไป ต่อมามันเชื่องเข้า จึงกลับมาดูตามความเป็นจริง ก็เห็นว่า นี่ข้าวสาร นี่ไม่ใช่ข้าศึก ไม่มีอันตราย มันก็มากินจนตลอดทุกวันนี้ นี่เรียกว่าเราก็ได้ความรู้จักมัน เราก็เหมือนกันฉันนั้น รูปเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์นี้ เป็นเครื่องให้เรารู้ธรรมะ เป็นที่ให้ข้อคิดแก่ผู้ปฏิบัติทั้งหลาย ถ้าเราเห็นชัดตามความเป็นจริงแล้ว ก็จะเป็นอย่างนี้ ถ้าเห็นไม่ชัดก็จะเป็นข้าศึกต่อเราตลอดไป แล้วเราก็จะหนีไปอยู่เรื่อย ๆ

.....................................................
เมื่อเจ้าจักเห็น จงเห็นฉับพลัน พอตั้งต้นคิด หนทางปิดตัน


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 56 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron