วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 17:58  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.ย. 2010, 12:16 
 
ออฟไลน์
สมาชิกใหม่
สมาชิกใหม่
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 ก.ย. 2010, 11:47
โพสต์: 4


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

My ten days with S.N.Goenka

“โกเอ็นก้า” ข้าพเจ้าเริ่มได้ยินคำนี้เมื่อหลายปีมาแล้ว แต่คำๆนี้เพิ่งจะมาเริ่มสะกิดต่อมความสนใจของข้าพเจ้าเมื่อสองสามปีมานี้เอง เมื่อข้าพเจ้าเริ่มได้ยินมันบ่อยขึ้นๆ จากเพื่อนของข้าพเจ้าที่พอมีเวลาว่างเมื่อไหร่ก็จะหายตัวไปและขาดการติดต่อ เดิมทีข้าพเจ้าไม่รู้ว่ามันคืออะไรและออกจะคิดว่าเป็นลัทธิอะไรสักอย่างหรือเปล่า แต่เมื่อเห็นความสนใจของเพื่อนผู้นี้ทำให้อดถามเขาไม่ได้

“พี่..มันคืออะไรน่ะ”

“เอ่อ..มันก็นั่งสมาธิอ่ะน้อง.. แต่นั่งอย่างเดียวเลยนะ ไม่มีเดินจงกรม แล้วเขาก็ไม่ให้คุยกัน เฮ้ย..แต่ที่พักสบายมากเลย ห้องส่วนตัว เหมือนรีสอร์ทเลยน้องเอ๊ย..”

ข้าพเจ้าเพียรถามเพื่อหาข้อมูลมากขึ้น แต่คำตอบยังคงเป็นประมาณนี้ตลอด จนถึงวันที่ข้าพเจ้าต้องการจะเข้าปฏิบัติธรรมที่ใดสักแห่ง ที่เข้าถึงได้ง่าย ไม่ต้องรอต่อคิวยาวเป็นหลายเดือน หรือถ้าจะให้ไปปฏิบัติเดี่ยวตามวัดเลย จิตใจข้าพเจ้าก็ยังไม่เข็มแข็งถึงปานนั้น คำว่า “โกเอ็นก้า” จึงผุดขึ้นมาเป็นทางเลือกหนึ่ง ข้าพเจ้าปรึกษากับเพื่อนคนเดิม และเริ่มหนักใจเมื่อได้รับคำบอกเล่าว่า

“ไปลองสิ ดี.. แต่ครั้งแรกที่ไป เขาให้อยู่สิบวันนะ”

แม้ข้าพเจ้าจะมีพื้นฐานการปฏิบัติธรรมมาบ้าง แต่การไปปฏิบัติสิบวัน ไม่ให้คุยกับใคร มีการให้นั่งหนึ่งชั่วโมงไม่ให้ขยับ (แม้ว่าจะให้นั่งท่าไหนก็ได้) ก็ยังเป็นโจทย์ยากสำหรับข้าพเจ้าว่าข้าพเจ้าจะไหวหรือเปล่า

ในโมงยามแห่งความลังเล ข้าพเจ้าบังเอิญได้ทราบว่า รุ่นพี่ที่ข้าพเจ้าเคารพรักก็เคยไปฝึกปฏิบัติกับโกเอ็นก้ามาแล้ว ข้าพเจ้าลองสอบถามกับเขา แล้วเขาก็ให้ความเห็นว่า

“เออ..ไปเถอะ.. อึดๆอย่างเอ็งก็น่าจะอยู่ได้”

ข้าพเจ้าจะอึดจริงอย่างที่พี่เขาเข้าใจหรือเปล่า ข้าพเจ้าก็ยังไม่แน่ใจตัวเอง แต่ในเมื่อรู้จักกันมาเป็นสิบปี ความไว้ใจและมิตรภาพที่มีให้กันก็ทำให้ข้าพเจ้ามีความเชื่อมั่นในตนเองเพิ่มขึ้น

ข้าพเจ้าจึงสมัครไปโกเอ็นก้าโดยเลือกศูนย์ปฏิบัติธรรมที่สวยที่สุดในความเห็นของข้าพเจ้า

ในวันออกเดินทาง เราเดินทางโดยรถตู้สองคัน ข้าพเจ้าอ่านกฎระเบียบมาหลายรอบและไม่แน่ใจว่ากฎการห้ามพูดคุยกันจะเริ่มใช้ตั้งแต่เมื่อไหร่ ดังนั้นข้าพเจ้าจึงตั้งใจที่จะไม่คุยกับใครมากนัก ข้าพเจ้าคิดด้วยว่าการที่ไปแบบไม่รู้จักใครจะเป็นผลดีต่อการปฏิบัติเพื่อที่เราจะมีเวลาดูตัวเองเท่านั้น ไม่ต้องไปพะวงสนใจในเรื่องของคนอื่นหรือของเพื่อนใหม่ของเรา

เมื่อไปถึง เจ้าหน้าที่ธรรมบริกรได้ให้ผู้เข้าปฏิบัติฝากทรัพย์สมบัติ กระเป๋าสตางค์ มือถือ เครื่องเขียน เครื่องราง กล้องถ่ายรูป หนังสือ ฯ ไว้กับเจ้าหน้าที่ แล้วจึงให้นำกระเป๋าและสัมภาระไปเก็บในห้องพักส่วนตัวตามที่ทางเจ้าหน้าที่จัดไว้ให้ เมื่อข้าพเจ้าเปิดประตูเข้าสู่ห้องของข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้านึกถึงเพื่อนของข้าพเจ้าทันที “เหมือนรีสอร์ทเลยน้องเอ๊ย..” ห้องพักนั้นสวยงามแบบเรียบง่าย สะอาด กว้างขวาง มีห้องน้ำในตัว ข้าพเจ้ารู้สึกเหมือนกับว่าห้องนั้นยิ้มรับข้าพเจ้าด้วยความอบอุ่นยิ่ง ข้าพเจ้าเชื่อเพื่อนข้าพเจ้าแล้วถึงความสะดวกสบายที่ได้รับ และในเย็นวันนั้นเองภายหลังการปฐมนิเทศ กฎการรักษาความเงียบก็ได้เริ่มขึ้น

ตารางปฏิบัติประจำวันเริ่มต้นตั้งแต่เวลาตีสี่และจบลงประมาณสามทุ่มครึ่ง แล้ววันที่หนึ่งก็ผ่านพ้นไปอย่างไม่ยากเย็นนัก แต่ด้วยตารางปฏิบัติที่เต็มแน่นทั้งวัน คือปฏิบัติถึงวันละแปดรอบนั้นทำให้ในวันที่สองและสามข้าพเจ้าก็เริ่มคิดกับตัวเองว่า “นี่มันสถานกักกันชัดๆ” ยิ่งเห็นผู้เข้าปฏิบัติต่างไปเดินออกกำลังกายในทางเดินที่เขาจัดไว้ให้ในเวลาที่พอมีเวลาว่างกันนั้น จากสถานกักกันก็ยกระดับกลายเป็นทัณฑสถานที่มีทางเดินและกำหนดเวลาให้นักโทษออกมาเดินเล่นได้ อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าก็คิดด้วยว่า โชคดีที่ข้าพเจ้าปิดทางหนีทีไล่ของตนเองไว้แต่เนิ่นๆแล้ว โดยการเลือกมายังสถานปฏิบัติธรรมที่ไกลบ้านเช่นนี้ และไม่ได้ขับรถยนตร์ส่วนตัวมาเอง เพราะหากขาดสองปัจจัยนี้ ข้าพเจ้าก็ไม่แน่ใจตนเองว่าจะอยู่ครบสิบวันหรือไม่ ข้าพเจ้าคิดถึงคำว่า “ธรรมจัดสรร” ด้วย ข้าพเจ้าคิดว่า “ธรรมจัดสรรให้ข้าพเจ้าแรงเกินไปหรือเปล่า” แล้วในคืนวันที่สามและสี่ จิตใจของข้าพเจ้าก็ฟุ้งซ่านหนัก คิดถึงเรื่องต่างๆไปมากมาย คิดๆๆ คิดจนนอนไม่หลับ ข้าพเจ้าไม่เคยคิดฟุ้งซ่านมากถึงขั้นนี้มาก่อน แม้จะพยายามทำอย่างไรก็นอนไม่หลับ ข้าพเจ้าไม่ได้นอนไปสองคืนติดกัน ดังนั้นในคืนต่อมา ภายหลังการฟังธรรมบรรยายประจำวัน ข้าพเจ้าจึงเข้าไปถามอาจารย์ว่าที่ข้าพเจ้าเป็นเช่นนี้เป็นผลของการปฏิบัติใช่หรือไม่ จะเป็นเพราะได้รับคำตอบจากอาจารย์ หรืออ่อนเพลียจากการอดนอนมาสองคืนก็แล้วแต่ แต่ในคืนนั้นข้าพเจ้าก็หลับไปแทบจะทันทีที่หัวถึงหมอน

เมื่อถึงวันที่สี่ ซึ่งเป็นวันที่เริ่มฝึกวิปัสสนากรรมฐานนั้น ข้าพเจ้าพอใจกับการปฏิบัติของข้าพเจ้ามาก ข้าพเจ้ามีความสุข และคิดว่า “เรามาถูกทางแล้ว” โดยไม่รู้ตัว ตัณหาและความทะยานอยากจะนั่งปฏิบัติให้ได้เช่นนี้อีกในวันต่อๆมาก็เริ่มกัดกินใจของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่ได้รู้ตามจริงอย่างที่วิปัสสนาควรจะเป็นเสียแล้ว เมื่อข้าพเจ้าเข้าพบอาจารย์ในสองสามวันต่อมาเพื่อถามคำถามนี้ คำตอบของอาจารย์ช่างเรียบง่าย ข้าพเจ้าติดอยู่กับปัญหาเส้นผมบังภูเขาแท้ ๆ

ในตอนเย็นของวันที่สี่ ข้าพเจ้าก็ได้พบกับสิ่งที่ท้าทายข้าพเจ้าอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือการนั่งปฏิบัติหนึ่งชั่วโมงโดยไม่เปลี่ยนท่านั่งและไม่ลืมตา ซึ่งเรียกว่าชั่วโมงอธิษฐาน เดิมที จากคำบอกเล่าของเพื่อน ข้าพเจ้าก็คิดว่าการนั่งในชั่วโมงอธิษฐานคงเป็นเรื่องยากสำหรับข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะทนเมื่อยได้อย่างไรตั้งหนึ่งชั่วโมง ข้าพเจ้าจะนั่งอย่างไรให้ถึงหนึ่งชั่วโมงโดยไม่ขยับขาและแขน ข้าพเจ้าจะทำได้อย่างไร แต่เมื่อถึงเวลาเข้าจริงๆ ชั่วโมงอธิษฐานก็ไม่ใช่สิ่งน่ากลัวอย่างที่ข้าพเจ้าคิดไว้ และข้าพเจ้าก็สามารถปฏิบัติผ่านมาได้ด้วยดี เมื่อสามารถนั่งในชั่วโมงอธิษฐานครั้งแรกครบชั่วโมงได้ ชั่วโมงอธิษฐานครั้งต่อๆไปก็กลายเป็นเรื่องสนุก

ในตอนท้ายของชั่วโมงปฏิบัติข้าพเจ้าจะได้ยินเสียงท่านโกเอ็นก้าสวดมนต์ภาษาบาลีสำเนียงแขกอินเดียซึ่งข้าพเจ้าไม่สามารถเข้าใจได้ว่าท่านโกเอ็นก้าสวดมนต์ว่าอะไร บทไหน ดังนั้นเมื่อถึงตอนท้ายของเสียงสวดมนต์ซึ่งมีเสียงสาธุ ๆๆ ข้าพเจ้าก็สาธุเช่นกัน เพียงแต่ข้าพเจ้าไม่ได้สาธุให้กับบทสวดมนต์ที่เพิ่งได้ยินไป แต่เป็นการสาธุให้กับการที่ข้าพเจ้าได้มาถือศีลและปฏิบัติภาวนาอยู่ ณ ที่นั้น

หลังจากที่คนร่วมร้อยอยู่ร่วมกันภายใต้กฎแห่งความเงียบมาประมาณหนึ่งอาทิตย์ ข้าพเจ้าก็สังเกตเห็นว่า ผู้ปฏิบัติซึ่งไม่มีสิ่งอื่นใดให้ปฏิบัติในช่วงหนึ่งอาทิตย์ที่ผ่านมา นอกจาก ปฏิบัติ ปฏิบัติ และ ปฏิบัติกรรมฐานแล้ว ผู้ปฏิบัติก็เริ่มหันมาให้ความสนใจกับสิ่งเล็กๆน้อยๆ ซึ่งถ้าเป็นในชีวิตประจำวันพวกเราอาจมองข้ามไป บางคนเริ่มชื่นชมความงามของดอกหญ้าริมทางเดิน บางคนเฝ้ามองสายหมอกยามเช้าอ้อยอิ่งอยู่เหนือแนวป่า บางคนเฝ้ามองผีเสือสีสวยโบยบิน หรือบางคนก็เริ่มนับแม้กระทั่งเสียงตุ๊กแกร้อง และสำหรับข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าไม่แน่ใจว่าโดนกฏของการรักษาความเงียบเล่นงานเข้าให้ด้วยหรือไม่ ข้าพเจ้ามีคำถามเกี่ยวกับการปฏิบัติแทบทุกวัน ดังนั้นข้าพเจ้าจึงเข้าพบเพื่อพูดคุยไถ่ถามปัญหาจากอาจารย์แทบทุกวันเช่นกัน บางครั้งข้าพเจ้าก็คิดว่า “เป็นเพราะเขาไม่ให้เราคุยกับคนอื่นหรือเปล่า เราจึงต้องหาเรื่องไปคุยกับอาจารย์” เพราะคำถามบางคำถามนั้น แม้กระทั่งตัวข้าพเจ้าเองก็อดคิดไม่ได้ว่าเป็นคำถามที่เล็กน้อยเกินไปหรือไม่ แต่คำตอบของอาจารย์ก็สร้างความพอใจและให้สติกับข้าพเจ้าได้เสมอ กระนั้นก็ตาม วันแต่ละวันก็ยังเริ่มรู้สึกยาวนานขึ้น แล้วข้าพเจ้าก็เริ่มนับจำนวนวันที่คงเหลืออยู่ เหลืออีกสี่วัน เหลืออีกสามวัน เหลืออีกสองวัน ... นับเป็นความรอบคอบของทางศูนย์ที่จัดให้มีป้ายบอกว่าวันนี้เป็นวันที่เท่าไหร่ของการปฏิบัติ ไม่เช่นนั้น ถ้าข้าพเจ้าหลงลืมวันเวลา ว่านี่มันวันที่เท่าไหร่แล้ว ถามก็ไม่ได้ ปฏิทินก็ไม่มี ข้าพเจ้าก็คงกระวนกระวายใจมาก ป้ายบอกวันจึงนับเป็นสิ่งปลอบประโลมจิตใจข้าพเจ้าได้อย่างหนึ่ง

ต้องยอมรับว่า แม้ว่าจะไม่เป็นการง่ายเลยกับการอยู่ปฏิบัติเช่นนี้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าข้าพเจ้าจำยอมอยู่ปฏิบัติไปด้วยความทุกข์ทรมาน เพราะแม้ช่วงเวลาจะยาวนาน แต่ข้าพเจ้าก็รู้สึกสนุกและเฝ้ารอให้ถึงช่วงของการฟังธรรมบรรยายในตอนค่ำของทุกคืนซึ่งเป็นชั่วโมงที่ข้าพเจ้าชอบมากที่สุด แม้ในวันแรก ข้าพเจ้าจะรู้สึกผิดหวังเมื่อทราบว่าขั้นตอนทั้งหมดเป็นการฝึกอบรมตามเทปธรรมบรรยายของท่านโกเอ็นก้าซึ่งคงได้บันทึกไว้นานแล้ว แต่เนื้อหาของธรรมบรรยายในแต่ละวันก็ทำให้ข้าพเจ้าประหลาดใจแทบทุกคืน โดยเริ่มตั้งแต่คืนที่สองทีเดียวที่เมื่อได้ฟังเทปธรรมบรรยายตอนค่ำนี้แล้ว ข้าพเจ้าถึงกับสงสัยกับตนเองว่า “เอ๊ะ..นี่เราคุยกับท่านโกเอ็นก้าสองคนหรือเปล่า” เพราะภายหลังการปฏิบัติมาทั้งวัน ไม่ว่าจะมีความรู้สึกหรือคำถามใดๆที่เกิดขึ้นภายในใจ ในธรรมบรรยายคืนนั้นเอง หรืออย่างช้าก็อีกสองคืน ท่านโกเอ็นก้าก็จะมีคำอธิบายเกี่ยวกับความรู้สึกที่เกิดขึ้น และมีคำตอบให้กับคำถามที่ข้าพเจ้ามีอยู่ในใจเสมอ

ในวันปฏิบัติวันสุดท้ายตอนช่วงสายๆ กฏแห่งการรักษาความเงียบก็สิ้นสุดลง พวกเราผู้เข้าปฏิบัติได้รับอนุญาตให้พูดคุยกันได้เป็นปกติอีกครั้ง แม้ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่สิบวันแห่งการไม่ได้คุยกันกลับทำให้พวกเราทำความรู้จักและสนิทสนมกันได้อย่างรวดเร็ว

คอร์สฝึกอบรมวิปัสสนากรรมฐานของท่านโกเอ็นก้านี้ ทำให้ข้าพเจ้าได้เห็นและเชื่อว่าการฝึกปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานก็มีแบบแผนมีขั้นตอนเป็นระดับๆไปเช่นเดียวกัน ไม่ได้เป็นเรื่องลึกลับเหนือธรรมชาติยากต่อการเข้าถึงแต่อย่างใด เปรียบเสมือนการที่พี่ผู้เรียบจบมหาวิทยาลัยย่อมทราบดีว่ารุ่นน้องนั้นต้องผ่านประถม มัธยม ทำข้อสอบอะไรบ้าง อย่างไร ดังนั้นจึงทำให้พี่ๆ สามารถแนะนำน้องๆ ได้ เทปธรรมบรรยายตอนค่ำของท่านโกเอ็นก้าไม่ได้ตอบคำถามในใจของข้าพเจ้าแต่เพียงผู้เดียว ผู้เข้าปฏิบัติคนอื่นก็มีความรู้สึกเหมือนว่าได้นั่งสนธนากับท่านโกเอ็นก้าอยู่ตามลำพังเช่นเดียวกัน ดังนี้จึงทำให้ข้าพเจ้าคิดได้ว่า “ผู้อื่นก็ไม่ต่างไปจากเรา เราก็ไม่ได้ต่างไปจากผู้อื่น” อีกประการหนึ่งที่ข้าพเจ้าชอบใจเกี่ยวกับคำสอนของท่านโกเอ็นก้า คือการที่ท่านเน้นถึงความเป็นสากลของธรรมะ ความสุข ความทุกข์เป็นของสากลของผู้คนทุกเชื้อชาติ ศาสนาฉันใด วิธีการในการขจัดความทุกข์ก็ย่อมเป็นของสากลด้วยฉันนั้น ท่านโกเอ็นก้าจึงเปิดสอนวิปัสสนาให้กับคนทุกเชื้อชาติ ศาสนา โดยที่ไม่ไปบังคับให้เขาเปลี่ยนความเชื่อหรือศาสนาแต่ประการใด ดังนั้นศูนย์อบรมวิปัสสนาตามแนวทางของท่านโกเอ็นก้าจึงมีศูนย์อบรมกระจายอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกกว่า 120 ศูนย์

บันทึกของข้าพเจ้าเกี่ยวกับประสบการณ์สิบวันกับท่านโกเอ็นก้าครั้งแรกนี้ นอกจากเป็นบันทึกช่วยจำของข้าพเจ้าเองแล้ว ข้าพเจ้าขอบอกตามตรงว่าเขียนขึ้นเพื่อเป็นการถ่ายทอดประสบการณ์ที่ข้าพเจ้าได้รับให้เพื่อนและกัลยาณมิตรของข้าพเจ้า รวมทั้งผู้สนใจทั้งหลายได้ทราบเกี่ยวกับโกเอ็นก้ามากขึ้น บันทึกนี้อาจช่วยพวกเขาให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้นเมื่อพวกเขาเริ่มตั้งคำถามกับตนเองว่า “ไปโกเอ็นก้าดีไหม? ” และ “เราจะอยู่รอดหรือเปล่า?” ข้าพเจ้าขอเล่าให้พวกท่านฟังด้วยว่า ในตอนต้นของบันทึกนี้นั้น ข้าพเจ้าคิดขึ้นมาตั้งแต่วันที่หกของการอบรม ในชั่วโมงของการปฏิบัติ ข้าพเจ้ากลับนั่งคิดถึงพวกท่านทั้งชั่วโมง “ข้าพเจ้าจะเล่าให้พวกท่านฟังอย่างไรดี” “เอ๊ะ..ช่างฟุ้งซ่านอะไรเช่นนี้ กลับมาๆ กลับมาดูลมหายใจนี่” แต่แล้วข้าพเจ้าก็อดคิดถึงพวกท่านอีกไม่ได้ และอย่างที่บอก ข้าพเจ้าก็ไม่ได้แตกต่างจากคนอื่นๆ ในเทปธรรมบรรยายคืนวันที่หกนั้นเอง ท่านโกเอ็นก้าก็ทราบดีว่านี่คือสิ่งที่ข้าพเจ้ากำลังคิดอยู่ และจะทำเมื่อข้าพเจ้ากลับมา

สุดท้ายข้าพเจ้าขอจบด้วยคำของท่านโกเอ็นก้าว่า
“May all beings be happy.
May all beings be peaceful.
May all beings be liberated.” (1)
(1) จาก S.N.Goenka. “Buddha: The Super-Scientist of Peace” Keynote address on the occasion of the Celebration of the International Recognition of Vesakha on 29 May 2002 at the United Nations)

ณัฐมณฑ์ ดีแสวง
กรุงเทพฯ ๓ กันยายน ๒๕๕๓


หวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่ทุกท่านที่สนใจนะคะ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.ย. 2010, 20:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ค. 2008, 21:56
โพสต์: 3925

ชื่อเล่น: เช่นนั้น
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


noon684 เขียน:
หวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่ทุกท่านที่สนใจนะคะ


ดีครับ ได้อ่านแล้ว เป็นประโยชน์ ดีครับ

.....................................................
ธรรมะอันยิ่งใหญ่ ไม่อาจเอื้อนเอ่ย
บัญญัติ เป็นเพียงสิ่งต่ำต้อยแบกรับความยิ่งใหญ่


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 64 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร