วันเวลาปัจจุบัน 24 เม.ย. 2024, 08:28  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.ย. 2010, 12:13 
 
ออฟไลน์
สมาชิกใหม่
สมาชิกใหม่
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 ก.ย. 2010, 11:47
โพสต์: 4


 ข้อมูลส่วนตัว


เมื่อข้าพเจ้าไปเป็นธรรมบริกร
(บันทึกประสบการณ์กับท่านโกเอ็นก้าอีกสิบวัน)


คราวที่แล้ว ข้าพเจ้าเล่าให้ท่านฟังถึงประสบการณ์สิบวันที่ข้าพเจ้าเข้าคอร์สอบรมวิปัสสนาของท่านโกเอ็นก้าครั้งแรก ในคอร์สนั้นข้าพเจ้าได้สัมผัสกับเหล่าธรรมบริกรที่คอยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ปฏิบัติ ในระยะแรกๆ ข้าพเจ้าย่อมต้องเข้าใจว่าธรรมบริกรเหล่านี้คงจะสามารถนั่งสมาธิกันได้ดีแล้วถึงได้สามารถมาเป็นเจ้าหน้าที่ช่วยดูแลการอบรมได้ แต่จากการฟังเทปธรรมบรรยายในภายหลังถึงได้ทราบว่า ธรรมบริกรก็คือศิษย์เก่าที่สมัครใจไปเป็นอาสาสมัครบริการผู้เข้ารับการอบรมในคอร์สใดคอร์สหนึ่งนั่นเอง ดังนั้นไม่ว่าศิษย์เก่าคนใดก็สามารถเป็นธรรมบริการได้ทั้งนั้น

วัตถุประสงค์ของการมาเป็นธรรมบริกรก็ย่อมแตกต่างกันไป บ้างอาจต้องการสะสมบุญบารมีโดยการรับใช้ธรรมะ รับใช้ผู้อื่น บ้างก็เพราะต้องการตอบแทนโอกาสที่ตนเองได้รับจากผู้บริจาคทรัพย์และพละกำลังก่อนหน้านี้ในทำนองเดียวกันกับการ pay it forward เนื่องจากศูนย์อบรมในแนวทางของท่านโกเอ็นก้านี้ดำเนินการอยู่ได้ด้วยการบริจาคกำลังทรัพย์และกำลังกายจากศิษย์เก่าเท่านั้น แต่สำหรับข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าสมัครไปเป็นธรรมบริกรเพราะสาเหตุดังต่อไปนี้คือ

๑. ความอยากรู้อยากเห็น คือ อยากรู้ว่าธรรมบริกรเขาทำหน้าที่อะไรกันบ้าง อย่างไร
๒.ข้าพเจ้ารู้สึกว่าการปฏิบัติภาวนาวันละ 8 เวลานั้นมากมายเกินไปสำหรับข้าพเจ้า ถ้าได้มีเวลาทำงานอย่างอื่นควบคู่ไปด้วยโดยที่เวลาภาวนาน้อยลงสักนิดก็คงจะดี ทั้งนี้ทั้งนั้นเพราะข้าพเจ้าคุ้นเคยกับการเข้าวัดถือศีลแปดที่ทำวัตรสวดมนต์และภาวนาไม่มากนัก และระหว่างวันก็มีกิจที่ต้องปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าครัวในตอนเช้าหรือการทำความสะอาดวัดในตอนบ่าย ดังนั้นข้าพเจ้าจึงคิดว่าคงจะดีถ้าข้าพเจ้าได้ทำงานอะไรบ้างขณะที่อยู่ในคอร์สอบรม
๓.ข้าพเจ้าอยากเข้าอบรมอีกสักครั้งเพื่อที่จะได้ศึกษาแนวทางปฏิบัติวิปัสสนาตามคำสอนของท่านโกเอ็นก้าให้ละเอียดลึกซึ้งขึ้นอีกสักครั้ง และ
๔.การเป็นธรรมบริกรเพื่อสะสมบุญบารมีส่วนตัวนั้นก็อาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่ง แต่ก็ไม่มีน้ำหนักมากเท่ากับสามเหตุผลแรก
นี่คือเหตุผลที่ข้าพเจ้าสมัครไปเป็นธรรมบริกร

ในคอร์สแรกนั้น ภายหลังจากที่ข้าพเจ้าได้เรียนรู้ว่าในชั่วโมงธรรมบรรยายนั้น ผู้เข้าปฏิบัติคนอื่นก็มีความคิดว่าตนเองนั้นก็กำลังนั่งสนธนาอยู่กับท่านโกเอ็นก้าตามลำพังเช่นเดียวกันกับข้าพเจ้า ก็เป็นการกระชากและทำลายอัตตาของข้าพเจ้าลงมาแล้วระดับหนึ่ง ข้าพเจ้าได้สำนึกในครั้งนั้นว่า แท้จริงแล้ว ตัวเราเองก็มิได้วิเศษกว่าผู้ใดเลย ผู้อื่นก็ไม่ต่างไปจากเรา เราก็ไม่ได้ต่างไปจากผู้อื่น อัตตาของข้าพเจ้าตกวูบ และภายหลังจากจบคอร์ส ข้าพเจ้ามานึกพิจารณาตัวเองก็พบว่าในความเป็นข้าพเจ้านั้น แท้จริงแล้วข้าพเจ้าก็ได้แบกภาพลักษณ์ความเป็นตัวตนของข้าพเจ้าไว้มากมายเช่นกัน ดังนั้น ภายหลังจากคอร์สที่แล้ว ข้าพเจ้าจึงได้การบ้านข้อสำคัญสำหรับตัวเองมาข้อหนึ่ง นั่นคือเรื่องของอัตตา ตัวตนและการยึดมั่นถือมั่น และโดยมิได้ตั้งใจ การมาเป็นธรรมบริกรครั้งนี้ก็มีแบบฝึกหัดสำหรับข้าพเจ้ามากมายในระหว่างการปฏิบัติ

แบบฝึกหัดที่ ๑. ห้องใหญ่ หรือ ห้องเล็ก ?
ในครั้งนี้ ข้าพเจ้าได้รับการตอบรับให้ไปเป็นธรรมบริกรของศูนย์ปฏิบัติขนาดเล็กแห่งหนึ่ง แต่ในฐานะคนที่เพิ่งเปลี่ยนสภาพจากศิษย์ใหม่เป็นศิษย์เก่าย่อมไม่อาจรู้ข้อเท็จจริงอะไรมากนักจนกว่าจะไปถึงและได้สัมผัสด้วยตนเอง ข้าพเจ้าเดินทางไปถึงศูนย์เมื่อค่ำแล้วจึงไม่ได้เห็นทิวทัศน์อะไร และเมื่อผู้จัดการศูนย์พาข้าพเจ้าไปส่งที่ห้องพัก แบบฝึกหัดแรกก็เริ่มต้นขึ้นทันที จากเดิมที่คอร์สที่แล้วข้าพเจ้าได้รับห้องพักที่ใหญ่โต กว้างขวาง สะดวกสบายราวรีสอร์ทนั้น มาหนนี้กลับผิดกันดังหน้ามือกับหลังมือ ห้องนอนของข้าพเจ้าครั้งนี้ไม่ใช่ห้องเดี่ยวอย่างคราวที่แล้ว แต่เป็นเรือนนอนรวมที่ใช้ไม้อัดกั้นเป็นฝาไว้สำหรับแต่ละห้อง ขนาดของห้องยิ่งไม่ต้องพูดถึงเพราะผิดกับคราวที่แล้วลิบลับ คราวที่แล้วนั้นห้องกว้างถึงประมาณ 5x6 ม. มาครั้งนี้กลับเหลือเพียงแค่ 1.5 ม. x 2.5 ม. เท่านั้น ลองคิดดูเถอะว่า ตามแนวกว้างของห้องนั้น ข้าพเจ้าเหยียดแขนตัวเองได้ไม่สุดด้วยซ้ำ ในห้องก็มีเพียงแค่เตียงและมีโต๊ะให้หนึ่งตัวเท่านั้น ไม่มีเฟอร์นิเจอร์อื่น ไม่มีพัดลมส่วนตัวเช่นครั้งก่อน พัดลมในเรือนก็เป็นพัดลมเพดานซึ่งมีอยู่สี่ตัวและต้องใช้ร่วมกัน ประตูก็ไม่มี ใช้เพียงแค่ผ้าม่านกั้น เปรียบกับห้องพักคราวที่แล้วก็เหมือนกับข้าพเจ้าเป็นเทวดาตกสวรรค์เลยก็ว่าได้ โชคดีที่ว่า ข้าพเจ้าเคยเห็นห้องพักแบบนี้มาแล้วในครั้งที่แล้ว เพียงแต่ข้าพเจ้าไม่ได้นอนในนั้นก็เท่านั้นเอง และในการไปเป็นธรรมบริกรครั้งนี้ข้าพเจ้าตั้งใจไปแล้วว่าจะเป็นผู้ว่าง่าย กินง่าย อยู่ง่าย ดังนั้นเรื่องที่นอนห้องพักจึงไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพียงแต่มันก็ไม่สะดวกสบายไปบ้างเท่านั้นเอง เพราะเวลานอนพลิกตัว บางครั้งขาของข้าพเจ้าก็พลิกไปโดนฝากั้นห้องทำให้เกิดเสียงดัง ดังนั้นนี่จึงถือเป็นโอกาส (ภาคบังคับ) ที่ทำให้ข้าพเจ้าต้องนอนด้วยความมีสติไปด้วยในตัว และในวันท้ายๆ ข้าพเจ้าก็รู้สึกว่า แท้จริงแล้วคนเราก็ไม่ได้จำเป็นต้องมีพื้นที่ที่ใช้นอนใหญ่โตนักเลย ห้องเล็กๆก็สามารถนอนได้เช่นกัน

แบบฝึกหัดที่ ๒. ห้องน้ำของใคร?
ในวันรุ่งขึ้น นอกจากเตรียมการลงทะเบียนสำหรับผู้ที่จะเข้ามาปฏิบัติซึ่งจะมาถึงในช่วงบ่ายแล้ว ผู้จัดการหลักสูตรก็เรียกประชุมธรรมบริกรและได้มีการแบ่งสรรหน้าที่กัน ข้าพเจ้าได้รับหน้าที่หลักให้ทำความสะอาดห้องน้ำรวมของเรือนพักที่ข้าพเจ้าอยู่นั่นเอง “ไม่มีปัญหา จะให้ข้าพเจ้าทำ อะไรๆ ข้าพเจ้าก็ทำได้ทั้งนั้น” ข้าพเจ้าบอกกับตัวเองเช่นนั้น แล้วก็เป็นเช่นนั้นจริง ข้าพเจ้ามีหน้าที่ตื่นมาตอนตีสี่ รอให้ผู้เข้ารับการอบรมปฏิบัติภารกิจส่วนตัวจนเสร็จและเข้าห้องปฏิบัติไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงจะเริ่มลงมือทำความสะอาดห้องน้ำ สองสามวันแรก ข้าพเจ้าทำความสะอาดห้องน้ำด้วยความปลอดโปร่งใจ ใจหนึ่งก็คิดไปด้วยว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของการลดอัตตา เพราะเวลาอยู่ที่บ้านส่วนใหญ่แล้วข้าพเจ้าก็มิได้ทำเองเพราะมีเด็กรับใช้คอยทำให้ หรือถึงข้าพเจ้าต้องทำห้องน้ำเอง ห้องน้ำนั้นก็ยังเป็นห้องน้ำที่ข้าพเจ้าใช้เองคนเดียว แต่นี่เป็นห้องน้ำห้องส้วมสาธารณะ ถึงกระนั้นข้าพเจ้าก็ทำได้และภูมิใจที่ได้ทำให้ห้องน้ำห้องส้วมนั้นสะอาดสะอ้านน่าใช้

สามสี่วันผ่านไป ข้าพเจ้าเริ่มสังเกตว่า ห้องน้ำที่ข้าพเจ้าทำความสะอาดไว้อย่างดีในตอนเช้านั้น มักจะเปียกเลอะเทอะในตอนสายหรือตอนบ่าย ถ้าว่างและปลอดคนข้าพเจ้าก็จะจัดการเอาผ้าเช็ดรอบอ่างน้ำเสีย และเอาไม้ถูพื้นมาจัดการเช็ดพื้นเสียเพื่อให้พื้นแห้ง เป็นเช่นนี้อยู่สักพัก ความไม่พอใจพฤติกรรมการใช้ห้องน้ำให้เปียกออกมาในส่วนที่ไม่ควรเปียกก็เกิดขึ้น “ใช้ห้องน้ำกันยังไงเนี่ย!!!” ข้าพเจ้าเริ่มคิดในใจ และต้องสารภาพว่า บางครั้งเมื่อข้าพเจ้าไปเข้าห้องน้ำ ข้าพเจ้าก็อดไม่ได้ที่จะจ้องจับผิดว่าใครกันนะที่เป็นคนทำเช่นนี้ ความคิดของข้าพเจ้าเริ่มวกวนอยู่กับห้องน้ำ และความคิดนี้ก็ตามข้าพเจ้าเข้าไปถึงห้องปฏิบัติอยู่ถึงสองวัน แล้วข้าพเจ้าก็ได้คิดว่า “อ๊ะๆ นี่ถ้าตายไปตอนนี้นะ จิตที่ติดอยู่กับห้องน้ำคงทำให้เราต้องไปเกิดเป็นแมลงเล็กๆอยู่แถวห้องน้ำนั้นแน่ๆ” เมื่อคิดได้ดังนี้ ข้าพเจ้าจึงรู้ว่า ข้าพเจ้าเจอแบบฝึกหัดข้อที่สองเข้าให้แล้ว ข้าพเจ้ามาที่นี่เพื่อลดอัตตา ลดตัวกูของกูแท้ๆ แต่ผ่านไปเพียงแค่สามสี่วันเท่านั้นแม้กระทั่งห้องน้ำรวมที่ขัดถูทำความสะอาดอยู่ก็กลายเป็น “ส้วมของกู” เข้าจนได้ ความยึดมั่นถือมั่นช่างทำงานได้รวดเร็วอะไรถึงเพียงนี้!!!

แบบฝึกหัดที่ ๓. ประโยชน์แท้ของผ้า (เช็ดเท้า)
คืนหนึ่งก่อนที่ข้าพเจ้าจะหลับไป ข้าพเจ้านอนมองรอยด่างที่อยู่บนเพดานบริเวณตรงขึ้นไปจากศรีษะของข้าพเจ้าพอดี ข้าพเจ้าได้แต่นึกสงสัยว่า “มันคือรอยอะไรกันนะ?” ในคืนถัดไป ข้าพเจ้าก็ได้รับคำตอบทันที ในเมื่อคืนนั้นเป็นคืนที่ฝนตกหนักจนไฟฟ้าในศูนย์ก็ดับไป ข้าพเจ้านอนพลิกตัวไปมาจนกระทั่งรู้สึกว่าพื้นที่ข้างหมอนด้านขวาของข้าพเจ้านั้นเปียกน้ำ เมื่อข้าพเจ้าใช้ไฟฉายส่องดูจึงรู้ว่า น้ำฝนได้รั่วจากหลังคาลงมาตรงรอยด่างดังกล่าวลงสู่ที่นอนด้านข้างหมอนของข้าพเจ้าพอดี ในเมื่อมันรั่วลงมากลางดึกที่ไฟดับ ข้าพเจ้าก็ต้องจัดการแก้ไขไปตามสภาพ ข้าพเจ้าเดินถือไฟฉายไปยังห้องน้ำและนำขันน้ำที่เหลือใช้มาวางรองน้ำไว้ พร้อมทั้งดึงที่นอนและหมอนเหออกจากบริเวณดังกล่าว โชคดีว่า น้ำฝนนั้นรั่วอยู่ได้อีกไม่นานก็หยุด ในคืนนั้น แค่ต้องนำขันน้ำจากห้องน้ำ และแม้จะเป็นขันน้ำที่เหลือใช้ก็ตาม ข้าพเจ้าก็ยังพยายามเอาหน้าของข้าพเจ้าไว้ให้ห่างขันที่สุดเท่าที่จะทำได้

รุ่งเช้า ข้าพเจ้ารายงานเรื่องนี้ให้ผู้จัดการหลักสูตรทราบ ด้วยความหวังลึกๆว่า เขาอาจจะให้เราเปลี่ยนห้อง แต่เปล่าเลย ผู้จัดการฯเพียงแต่บอกว่า “ให้ใช้ผ้าเช็ดเท้ารองน้ำนะ มันจะไม่กระเด็นและไม่เสียงดัง ดีกว่าใช้ขันเพราะน้ำมันจะกระเด็นและมีเสียงดังด้วย” ไม่ให้ย้ายก็ไม่ย้ายตามประสาคนอยู่ง่าย และว่าอย่างไรก็ทำอย่างนั้น เพราะถึงอย่างไรผู้จัดการฯก็พูดถูกถึงวิธีการดังกล่าว ค่ำวันนั้นก่อนไปนอน ข้าพเจ้าจึงไปเลือกเอาผ้าเช็ดเท้าที่ข้าพเจ้าเห็นว่าสภาพดีที่สุดและสะอาดที่สุดมาจากห้องเก็บของ ม้วนๆและวางไว้ข้างหมอน แม้ข้าพเจ้าจะคิดว่าข้าพเจ้าเลือกผืนที่ดีที่สุดสะอาดที่สุดมาแล้ว แต่ยามนอนตะแคงขวา ข้าพเจ้าก็อดรู้สึกไม่ได้ว่า ข้าพเจ้าได้กลิ่นตุๆมาจากข้างหมอน และข้าพเจ้าก็แน่ใจว่าข้าพเจ้าไม่ได้อุปาทานนึกได้กลิ่นเอาเองแต่อย่างใดเพราะกลิ่นนั้นมีเฉพาะยามตะแคงขวาเท่านั้น ก่อนฝืนใจหลับไปคำสองคำลอยเข้ามาในหัว “ประโยชน์แท้ ประโยชน์เทียม” แปลความได้ว่า “ผ้า(เช็ดเท้า)ก็คือผ้า ซับน้ำได้ก็โอเคแล้ว (สมประโยชน์ของมัน)” ทั้งนี้ข้าพเจ้าอยากบอกท่านเพิ่มเติมว่า ข้าพเจ้าได้พยายามหลีกเลี่ยงการเอาผ้าเช็ดเท้ามาวางไว้หัวนอนข้างหมอนแล้ว แต่ด้วยความที่เสื้อผ้าก็มีอยู่ไม่กี่ชุด ดังนั้นข้าพเจ้าจึงจนปัญญาจริงๆ และจำต้องหลับไปพร้อมกับประโยชน์แท้ของผ้า(เช็ดเท้า)ดังกล่าว นี่คือแบบฝึกหัดข้อที่สามของข้าพเจ้า

แบบฝึกหัดที่ ๔. เขากราบอะไรกัน?
ตลอดระยะเวลาของการอบรม ข้าพเจ้าได้ถูกกำหนดให้นั่งประจำอยู่ที่อาสนะทางด้านหลังของห้อง ตลอดระยะเวลาดังกล่าวรวมถึงตลอดระยะเวลาการอบรมของคอร์สที่แล้วด้วย ข้าพเจ้านึกสงสัยในคนที่ก้มลงกราบก่อนและหลังชั่วโมงปฏิบัติอยู่เสมอว่า “เขากราบอะไรกัน?” ข้าพเจ้าคิดสงสัย เพราะภายในห้องปฏิบัติก็ไม่เห็นมีพระพุทธรูปสักหน่อย ดังนั้น แม้คนอื่นจะกราบกัน แต่ข้าพเจ้าก็ไม่กราบ แม้จะผ่านไปหลายวันแล้ว ข้าพเจ้าก็ไม่กราบตามเขา แต่ข้าพเจ้ามักจะไปลอบสืบข่าวสอบถามเอาจากเจ้าหน้าที่ศูนย์อบรมเสมอว่าในห้องปฏิบัตินั้นมีพระพุทธรูปอยู่หรือ? ข้าพเจ้าคิดเอาว่า บางทีที่ข้าพเจ้าไม่เห็นอาจเป็นเพราะพระพุทธรูปตั้งอยู่ในห้องด้านหลังอาจารย์ก็เป็นได้ อาจเป็นนโยบายของท่านโกเอ็นก้าที่จะไม่ให้เอาพระพุทธรูปมาตั้งไว้ในห้องเพื่อเปิดโอกาสให้คนที่ไม่ได้นับถือศาสนาพุทธเข้ามาเรียนรู้การวิปัสสนาได้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจก็ได้ เพราะท่านโกเอ็นก้าให้ความสำคัญกับเรื่องความเป็นสากลของธรรมะมาก ดังนั้นคนอื่นๆอาจจะรู้ข้อเท็จจริงข้อนี้ก็ได้จึงพากันกราบ แต่จากการสอบถามข้าพเจ้าก็ได้ความว่า ในห้องด้านหลังก็ไม่มีพระพุทธรูปอยู่แต่อย่างใด “แล้วเขากราบอะไรกันล่ะ???” คำถามยังคงวนเวียนอยู่เช่นเดิม ในช่วงวันท้ายๆ ข้าพเจ้าเริ่มนึกขึ้นได้ว่า เขาอาจกำลังกราบระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัยอยู่ก็ได้ เพราะคนเหล่านั้นก้มกราบด้วยความนอบน้อมสวยงามเสมอ “เอ๊ะ..แล้วการกราบระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัยไม่ต้องอย่างน้อยมีพระพุทธรูปหรือพระสงฆ์เป็นประธานในการกราบหรอกหรือ?” จิตใจของข้าพเจ้ายังไม่หายสงสัยและยังคงวนเวียนอยู่กับสัญลักษณ์ทางวัตถุและรูปแบบพิธีกรรมที่เคยชิน และแล้วในวันสุดท้ายของการอบรม ข้าพเจ้าก็ได้สติ ที่ผ่านมาข้าพเจ้าหลงยึดติดอยู่กับวัตถุและรูปแบบทางพิธีกรรมที่เคยชินเข้าเสียแล้ว เมื่อระลึกได้ดังนี้ ในชั่วโมงสุดท้ายของการปฏิบัติข้าพเจ้าจึงยินยอมและเต็มใจยิ่งที่จะก้มกราบกับเขาด้วย

กราบครั้งที่หนึ่ง ระลึกถึงพระพุทธคุณ คือพระปัญญาธิคุณ และพระกรุณาธิคุณ ในการที่ทรงค้นหาทางพ้นทุกข์จนสำเร็จและเมตตาสั่งสอนวิธีนั้นแก่สรรพสัตว์
กราบครั้งที่สอบ ระลึกถึงพระธรรมคุณ คือ พระธรรมคำสั่งสอนที่พระพุทธองค์ทรงเทศนาไว้เพื่อเป็นแนวทางให้สรรพสัตว์ได้เดินตามต่อไป
กราบครั้งที่สาม ระลึกถึงพระสังฆคุณ คือ พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ

ถ้าจะเปรียบว่า ถ้าข้าพเจ้ากำลังอยู่ในห้องสอบ ข้าพเจ้าก็ทำข้อสอบข้อสุดท้ายนี้ได้ก่อนออดหมดเวลาพอดี

ภายหลังจากจบคอร์สอบรม ข้าพเจ้าก็ได้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ข้าพเจ้าตั้งไว้ คือข้าพเจ้าได้รู้ว่าเหล่าธรรมบริกรเขามีหน้าที่อะไรกัน อย่างไร และข้าพเจ้าก็ได้ทำงานไปด้วย ไม่ได้ปฏิบัติภาวนาแต่เพียงอย่างเดียว ผิดกันแต่ว่า ก่อนไปนั้นข้าพเจ้านึกว่า เมื่อมาเป็นธรรมบริกรแล้ว เวลาภาวนาของข้าพเจ้าคงลดลงสักนิด แต่การกลับเป็นตรงกันข้าม เพราะข้าพเจ้าเสมือนถูกสถานภาพธรรมบริกรบังคับให้ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้เข้าปฏิบัติ อีกทั้งความที่เป็นศูนย์อบรมขนาดเล็ก ห้องพักก็มิได้สะดวกสบายและมิดชิด กล่าวคือไม่รู้จะหนีไปอยู่ไหนได้ ว่าอย่างนั้นเถอะ ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงต้องเข้าปฏิบัติภาวนาครบทั้งแปดรอบ โดยมีเพียงรอบเช้าซึ่งข้าพเจ้าต้องไปทำความสะอาดห้องน้ำเท่านั้นที่ข้าพเจ้าได้รับอนุญาตให้เข้าห้องปฏิบัติช้าไปสักหนึ่งชั่วโมงได้ กลายเป็นว่า ข้าพเจ้ามีเวลาได้ปฏิบัติภาวนามากกว่าเวลาที่ข้าพเจ้าไปเข้ารับการอบรมรอบที่แล้วเสียอีก เพราะในรอบแรกนั้น ข้าพเจ้าสารภาพว่าในรอบเช้าสุดและรอบบ่ายซึ่งเขาอนุญาตให้ปฏิบัติในห้องส่วนตัวได้นั้น บางครั้งข้าพเจ้าก็นอน หรือปฏิบัติเพียงแค่ช่วงเวลาสั้นๆ นั่นเป็นเพราะสถานที่เอื้ออำนวยก็ส่วนหนึ่ง มาในครั้งนี้ข้าพเจ้าจึงได้แต่มองโลกในแง่ดีและยิ้มรับโอกาส (ภาคบังคับอีกแล้ว) โดยถือว่า “วิกฤตคือโอกาส โชคดีจริงที่ได้มาศูนย์เล็กๆเช่นนี้ ทำให้ข้าพเจ้ามีเวลาปฏิบัติมากขึ้น โชคดีจริงๆ โชคดีจริงๆ”

ข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งที่ข้าพเจ้าได้เรียนรู้ในการมาเข้าคอร์สสิบวันครั้งที่สองนี้ก็คือ นอกจากข้าพเจ้าจะได้ทำความเข้าใจวิธีการปฏิบัติวิปัสสนามากขึ้นแล้ว ข้าพเจ้ายังได้คำตอบของตัวเองเกี่ยวกับความเป็นพุทธของการปฏิบัติตามแนวทางนี้อีกด้วย เนื่องจากการอบรมตามแนวทางของท่านโกเอ็นก้านี้ สำหรับผู้มาใหม่และบุคคลภายนอกมักมีคำถามเสมอว่า “การปฏิบัติในแนวทางนี้อยู่ในแนวทางของพระพุทธศาสนาหรือไม่?” ซึ่งถ้ามองตามข้อเท็จจริงเบื้องต้น ข้าพเจ้าย่อมต้องบอกว่า ข้าพเจ้าก็คิดเช่นนี้มาก่อน และไม่แปลกใจอะไรเลยที่คนส่วนใหญ่จะคิดเช่นนี้ ก็ในเมื่อการปฏิบัติในแนวทางนี้ แม้กระทั่งในห้องปฏิบัติก็ยังไม่มีพระพุทธรูป อีกทั้งท่านโกเอ็นก้าเองก็เน้นเรื่องความเป็นสากลของทุกข์และทางดับทุกข์ พร้อมทั้งเชิญชวนให้คนทุกชาติทุกศาสนาซึ่งย่อมมีความทุกข์เหมือนๆกัน ได้มาศึกษาทางพ้นทุกข์ซึ่งย่อมต้องเป็นหนทางเดียวกันด้วย โดยกล่าวว่า ทุกคนสามารถมาเรียนรู้ทางพ้นทุกข์ซึ่งพระพุทธองค์ทรงค้นพบนี้ได้โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนศาสนามานับถือศาสนาพุทธแต่อย่างใด และพระพุทธเจ้าทรงเป็นเพียงผู้ค้นพบความจริงในธรรมชาตินี้เท่านั้น ถ้าฟังแต่เพียงเท่านี้ ผู้ที่เป็นชาวพุทธบางท่านก็อาจเกิดความไม่พอใจได้ เพราะดูเหมือนท่านโกเอ็นก้าจะลดความสำคัญของพระศาสดาของเราลงมาเป็นเพียงผู้ค้นพบความจริงตามธรรมชาติเท่านั้น แต่จากการที่ข้าพเจ้าได้ไปสัมผัสมา ท่านโกเอ็นก้ายังได้กล่าวต่อไปถึงความกตัญญูรู้คุณของผู้ที่ได้เข้ามาศึกษาและเดินตามเส้นทางสายนี้ด้วย ในทำนองว่า เมื่อท่านได้มาทดลองศึกษาแล้ว ปฏิบัติแล้ว คิดว่าเป็นหนทางที่ถูกต้องแท้จริง ท่านก็ย่อมเดินทางไปบนเส้นทางสายนี้เพื่อประโยชน์แก่ตัวท่านเอง ทั้งนี้คนส่วนใหญ่เมื่อคิดว่าทางนี้เป็นหนทางที่ถูกต้องแล้ว ย่อมต้องระลึกถึงคุณของพระพุทธองค์ไปด้วยโดยปริยาย ในฐานะที่ทรงเป็นผู้ค้นพบและได้เผยแพร่หนทางนี้ ดังนั้นแม้ท่านเหล่านั้นจะไม่เปลี่ยนศาสนาก็ไม่ใช่สาระสำคัญแต่ประการใด เพราะอย่างน้อยท่านเหล่านั้นย่อมระลึกถึงพระพุทธองค์ในฐานะที่เป็นครูอาจารย์ของเขาท่านหนึ่งเสมอ

นอกจากนี้ เมื่อข้าพเจ้าได้เปรียบเทียบธรรมบรรยายและแนวทางการสอนของท่านโกเอ็นก้ากับพุทธศาสนาเท่าที่ข้าพเจ้าได้ศึกษามาและเท่าที่สติปัญญาของข้าพเจ้าจะพึงมี ข้าพเจ้าก็คิดว่า การปฏิบัติในแนวทางของท่านโกเอ็นก้านี้เป็นไปตามหลักในพระพุทธศาสนาอย่างแน่นอน เพราะท่านสอนอะไร? สิ่งที่ท่านโกเอ็นก้าสอนในแนวทางปฏิบัติสายนี้คือ การปฏิบัติอาณาปาณสติ โดยเป็นแบบการดูลมหายใจล้วนๆ ไม่มีคำภาวนากำกับ และสอนการปฏิบัติวิปัสสนาโดยยึดเวทนานุปัสสนาเป็นหลัก ซึ่งเวทนานุปัสสนาก็เป็นทางหนึ่งในสติปัฎฐานสี่ ดังนั้นเมื่อสิ่งที่ท่านสอนไม่ได้หลุดไปจากสติปัฎฐานสี่แล้ว ข้าพเจ้าจึงมั่นใจว่าสิ่งที่ท่านสอนนั้นอยู่บนหนทางที่ถูกต้อง เพียงแต่ตัวเราผู้เข้าปฏิบัติก็ย่อมต้องมีหน้าที่ค้นหาตัวของตนเองด้วยว่าจะถูกจริตกับการปฏิบัติภาวนาในแนวทางใด

สุดท้าย สำหรับข้าพเจ้าแล้ว การน้อมนำพระพุทธศาสนาเข้ามาใช้ในชีวิตประจำวันทำให้ข้าพเจ้ามีความรู้สึกสนุก สนุกกับการดูตนเอง รู้เท่าทันตนเอง เหมือนมีเพื่อนคู่ใจอยู่กับตนเองตลอดเวลา อาจจะมีแวบๆไปดูคนอื่นบ้าง แต่สุดท้ายก็ต้องกลับมาดูที่ตนเอง พระพุทธศาสนาสอนให้ข้าพเจ้าอุ่นใจว่า ในวันใดวันหนึ่งข้างหน้า (แม้จะไม่ใช่ในระยะเวลาอันใกล้นี้ก็ตาม) คนธรรมดาๆ เช่นข้าพเจ้านี้แหละก็สามารถหลุดพ้นจากความทุกข์ได้เช่นกัน

“พระพุทธเจ้าแท้ ธรรมแท้ อยู่ที่ใจ
การอุปฐากใจตัวเอง คือการอุปฐากพระพุทธเจ้า
การเฝ้าดูใจตัวเองด้วยสติปัญญา
คือการเข้าเฝ้าพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ อย่างแท้จริง”*

( (*)จาก แผ่นรองปกหลัง หนังสือ “ปัญญาอบรมสมาธิ” โดยท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑๓, กรกฎาคม ๒๕๕๓ )


ณัฐมณฑ์ ดีแสวง
กรุงเทพฯ ๒ กันยายน ๒๕๕๓


แก้ไขล่าสุดโดย webmaster เมื่อ 07 ก.ย. 2010, 09:28, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.ย. 2010, 12:15 
 
ออฟไลน์
สมาชิกใหม่
สมาชิกใหม่
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 ก.ย. 2010, 11:47
โพสต์: 4


 ข้อมูลส่วนตัว


หวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่ทุกท่านที่สนใจนะคะ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.ย. 2010, 21:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ค. 2008, 21:56
โพสต์: 3925

ชื่อเล่น: เช่นนั้น
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


noon684 เขียน:
หวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่ทุกท่านที่สนใจนะคะ


ดีครับ อ่านแล้ว มีประโยชน์ ดีครับ

.....................................................
ธรรมะอันยิ่งใหญ่ ไม่อาจเอื้อนเอ่ย
บัญญัติ เป็นเพียงสิ่งต่ำต้อยแบกรับความยิ่งใหญ่


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 64 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร