วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 17:44  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ส.ค. 2010, 08:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 มี.ค. 2005, 04:18
โพสต์: 1877


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
ประตูเซี่ยวกางตามคตินิยมของจีนที่วัดราชประดิษฐ์ฯ


“ทวารบาล”
ศิลปะพิทักษ์ประตูที่ถูกมองข้าม


“วัด” นอกจากจะเป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวทางใจในพระพุทธศาสนาแล้ว วัดยังเป็นแหล่งรวมงานศิลปวัฒนธรรมที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง หลายๆ คนนอกจากจะเข้าวัดไปไหว้พระทำบุญ ฟังเทศน์ ฟังธรรมแล้ว เขาเหล่านั้นยังเข้าวัดไปเพื่อเสพงานศิลป์อีกด้วย

แต่กระนั้นส่วนใหญ่ก็มักจะพุ่งเป้าไปที่พระอุโบสถ พระวิหาร ศาลาการเปรียญ ภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนัง พระเจดีย์ พระพุทธรูป รวมถึงองค์ประกอบเด่นอื่นๆ ภายในวัด โดยมักจะมองข้ามด่านแรกของวัด หรือด่านแรกของพระอุโบสถและพระวิหาร ที่เรียกขานกันว่า “ทวารบาล” ไป

• กำเนิด “ทวารบาล” ผู้พิทักษ์รักษาประตู

หนังสือทวารบาลผู้รักษาศาสนสถาน ที่จัดทำเผยแพร่ขึ้นโดยพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เขียนไว้ว่า “ทวารบาล” มาจากคำว่า “ทวาร” ที่แปลว่า “ประตู” และ “บาล” ซึ่งแปลว่า “รักษา, ปกครอง”

“ทวารบาล” จึงมีความหมายว่า “ผู้รักษาประตู” ซึ่งจากคำแปลก่อให้เกิดการตีความต่อประติมากรรมประเภททวารบาล ว่าคือ รูปของสัตว์ อสูร เทพ เทวดา และมนุษย์ หรือสิ่งมีชีวิตใดๆ ก็ตาม ที่ตั้งอยู่บริเวณบานประตู ช่องทางผ่านเข้าออก ช่องหน้าต่าง หรือราวบันได แต่หากประติมากรรมชนิดเดียวกันนี้ไปตั้งอยู่บริเวณอื่นที่มิใช่ประตู หรือช่องหน้าต่าง หรือทางเข้าออก ก็ไม่สามารถจะกล่าวว่าเป็นทวารบาล

รูปภาพ
เซี่ยวกางท่าทางขึงขังของวัดนางชีโชติการาม


สำหรับกำเนิดของการสร้างทวารบาลนั้น น่าจะเกิดมาจากความเชื่อที่ว่า “ผี” เป็นผู้กระทำให้เกิดสิ่งต่างๆ เหนือธรรมชาติ และได้รับการพัฒนามาเป็นความเชื่อในเรื่องของเทวดาโดยได้รับอิทธิพลจากอินเดีย ทั้งศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ โดยทางศาสนาฮินดูนั้นได้ก่อเกิดเทพเจ้าต่างๆ ขึ้น

โดยกำหนดให้เขาไกรลาส หรือเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางของจักรวาล อันจะรายรอบไปด้วยป่าหิมพานต์ มีพระอิศวรเป็นใหญ่ และมีเทพชั้นรองทำหน้าที่พิทักษ์ผู้รักษาประตู หรือทางเข้าสู่เขาไกรลาสทั้งแปดทิศ ซึ่งเทพเจ้าในศาสนาฮินดูไม่จำกัดรูปร่าง จะเป็นมนุษย์ สัตว์ หรือครึ่งมนุษย์ครึ่งสัตว์ ตามแต่ความเชื่อ ซึ่งสัตว์ที่ไม่มีในโลกมนุษย์เรียกว่า “สัตว์หิมพานต์” ที่อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ เชิงเขาไกรลาสที่ถือเป็นดินแดนแห่งเทพเจ้า

จากคติความเชื่อเทพผู้พิทักษ์รักษาประตูนี้ ได้นำมาใช้กับงานประติมากรรม สถาปัตยกรรม และจิตรกรรม ด้วยเหตุที่ชาวฮินดูต้องการให้มีเทพปกปักรักษาสถานที่สำคัญทางศาสนา เนื่องจากมนุษย์ทั่วไปไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะป้องกันภัยจากสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตา ทั้งนี้ เนื่องจากศาสนสถานเหล่านั้นสร้างขึ้นตามคติว่าเป็นสถานที่อันเทพเจ้าสูงสุดประทับอยู่ จึงได้จำลองเขาไกรลาสมาไว้ยังโลกมนุษย์แล้วเกิดคติการสร้างทวารบาลขึ้นมา

รูปภาพ
ทวารบาลแต่งกายแบบทหารที่วัดราชบพิธฯ


จุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา ประธานชมรมสยามทัศน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ กล่าวถึงทวารบาลตำนานของอินเดีย ว่า “ในยุคบรรพกาล พวกอสูรกับเทวดามักจะรบกันอยู่เสมอๆ แต่ว่าพวกอสูรจะเกรงกลัวพระอินทร์มาก เนื่องจากพระอินทร์ถือสายฟ้า (วชิราวุธ) และพระอินทร์ท่านก็เห็นว่าพวกเทวดาที่เป็นบริวารหวาดกลัวพวกอสูร จึงให้วาดรูปพระอินทร์ไว้ตามประตูสวรรค์”

“ส่วนตามคติความเชื่อของไทยเองก็ถือว่าพระอินทร์เป็นผู้รักษาพระศาสนาด้วยเช่นกัน ด้วยความคิดตรงนี้จึงเกิดมีการผสมผสานขึ้นมา เพราะคนไทยเป็นชาติที่ไม่ลอกเขา แต่เราชอบเลียนเขา คือเราไม่ได้ลอกเขามาทั้งหมด แต่เราจะดูว่าแบบของเขาเป็นอย่างไร ส่วนของเราคิดอย่างไร แล้วค่อยมาผสมกัน ก็เลยเกิดเป็นทวารบาลหลายรูปแบบขึ้นมา มีทั้งเทวดาถือพระขรรค์ เทวดาไทยผสมจีน (เซี่ยวกาง) หรือถือพวกอาวุธต่างๆ ขี่กิเลนบ้าง ขี่สิงห์บ้าง แบบแผนตรงนี้ตามศาสนสถานหลายแห่งต่างก็มีแนวทางที่แตกต่างกันออกไป”

นอกจากจะรับอิทธิพลมาจากอินเดียแล้ว ไทยเรายังรับเอาอิทธิพลของทวารบาลมาจากจีนด้วยเช่นกัน สำหรับตำนานทวารบาลของจีนนั้น สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัย “พระเจ้าถังไท้จงฮ่องเต้” ซึ่งตามตำนานเล่าว่า ในยุคของพระเจ้าถังไท้จงฮ่องเต้ “พญาเล่อ๋อง” เป็นผู้ที่ทำหน้าที่ให้ฝนแก่ชาวโลก แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งเกิดเพลินให้ฝนมากเกินไป ส่งผลทำให้น้ำท่วม ราษฎรได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก

รูปภาพ
ทวารบาลอันสวยงามที่วัดสุทัศน์ฯ


เมื่อ “เง็กเซียนฮ่องเต้” รู้เข้าก็โกรธพร้อมกับสั่งให้ “งุยเต็ง” จัดการประหารพญาเล่อ๋องเสีย ทางฝ่ายพญาเล่อ๋องก็หาทางที่จะรักษาชีวิตของตนเองไว้ โดยได้สืบทราบมาว่า งุยเต็งนั้นมีชีวิตอยู่สองภาค คือ ภาคมนุษย์ รับราชการอยู่กับพระเจ้าถังไท้จงฮ่องเต้ ส่วนภาคสวรรค์ ทำหน้าที่เป็นเพชฌฆาต จึงได้ไปเข้าฝันพระเจ้าถังไท้จงฮ่องเต้ ให้ช่วยบอกกล่าวกับงุยเต็งขออย่าให้ประหารชีวิตตน ซึ่งพระเจ้าถังไท้จงฮ่องเต้ก็รับปาก โดยในคืนประหารก่อนบรรทมจึงให้งุยเต็งเข้าเฝ้า แล้วออกอุบายชวนเล่นหมากรุกกันหลายกระดานเพื่อไม่ให้งุยเต็งหลับ แต่ว่างุยเต็งก็เผลองีบหลับไป โดยช่วงที่งีบนั้นงุยเต็งได้ละเมอคำว่า “ซัว” ที่หมายถึง ฆ่า ขึ้นมาก่อนสะดุ้งตื่นมาเล่นหมากรุกต่อ

พระเจ้าถังไท้จงฮ่องเต้ เมื่อเห็นงุยเต็งตื่น ก็สอบถามว่าช่วงที่งีบไปละเมอเห็นอะไรบ้าง งุยเต็งก็เล่าความฝันเรื่องไปประหารพญาเล่อ๋องบนสวรรค์ให้ฟัง เมื่อพระเจ้าถังไท้จงฯ รู้เรื่องดังนั้น ก็ทรงเสียพระทัยที่ไม่สามารถทำตามที่รับปากกับพญาเล่อ๋องไว้ได้

ทางฝ่ายพญาเล่อ๋องเมื่อตายไป วิญญาณก็โกรธแค้นพระเจ้าถังไท้จงฯ อย่างมาก ในทุกๆ คืนจึงมาคอยรังควานพระเจ้าถังไท้จงฯ ในวังหลวง ทำให้พระองค์พักผ่อนได้ไม่เพียงพอ แล้วเกิดประชวร บรรดาแพทย์พยายามรักษาจนสุดความสามารถก็ไม่หาย ในเวลานั้นทหารเอก 2 คนคือ “อวยซีจง” และ “ซินซกโป้” ซึ่งมีความจงรักภักดีต่อพระเจ้าถังไท้จงฯ เป็นอย่างมาก ได้รับอาสาเฝ้าพระทวารห้องบรรทมมิให้พญาเล่อ๋องมารบกวนได้ แต่นานวันเข้าทหารทั้ง 2 ก็เจ็บป่วยเสียเอง เนื่องจากตอนกลางคืนต้องยืนยาม ส่วนกลางวันก็ต้องทำงาน

รูปภาพ
ทวารบาลนางฟ้าอ่อนช้อยงดงามที่ประตูพระวิหารวัดอัปสรสวรรค์


พระเจ้าถังไท้จงฮ่องเต้ จึงออกอุบายเรียกช่างฝีมือดี มาเขียนภาพทหารทั้งสองขึ้นที่บานประตูห้องพระบรรทมบานละคน โดยให้มีขนาดใหญ่เท่าตัวจริง มือถืออาวุธ หน้าตาถมึงทึง ทำให้เหมือนกับว่าทหารทั้งสองยืนยามเฝ้าประตูอยู่ตลอดเวลา ซึ่งก็ประสบความสำเร็จ เพราะหลังจากนั้นวิญญาณพญาเล่อ๋องก็ไม่มารบกวนพระเจ้าถังไท้จงฮ่องเต้อีกเลย

นับตั้งแต่นั้นมาคติความเชื่อการเขียนทวารบาลก็ได้ถือกำเนิดขึ้นมาในเมืองจีน ก่อนจะแผ่อิทธิพลมาถึงเมืองไทยจนกลายเป็นงานศิลปะไทยที่เป็นเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งสันนิฐานกันว่ามีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้ว โดยตอนแรกๆ ยังคงมีอิทธิพลของจีนอยู่ สำหรับทวารบาลแบบจีนที่ไทยนำมาและนิยมกันก็คือ “เซี่ยวกาง” มีลักษณะเป็นนักรบจีนหนวดยาวหน้าตาขึงขัง คำว่าเซี่ยวกาง สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า “เซ่ากัง” ที่แปลว่า ยืนยาม นั่นเอง

จุลภัสสร อธิบายเพิ่มเติมว่า คติของการมีเทพผู้พิทักษ์ประตูหรือการตั้งสิ่งที่ดูน่าเกรงขามน่ากลัวในการป้องกันศาสนสถานมีมาตั้งแต่โบราณแล้ว ไม่ได้มีแต่เฉพาะที่จีนหรืออินเดียเท่านั้น ทางกรีซ โรมัน ก็มีความเชื่อในเรื่องผู้พิทักษ์เช่นกัน เพราะพวกเขาต่างก็เชื่อว่าสถานที่ต่างๆ บางครั้งจะมีสิ่งที่ชั่วร้ายหรือสิ่งอัปมงคลต่างๆ มารบกวน ด้วยเหตุนี้จึงนิยมสร้างผู้พิทักษ์เป็นรูปปั้นบ้าง ใช้เป็นรูปสลักบ้าง หรือเป็นรูปวาดบ้าง เพื่อใช้ในการป้องกันศาสนสถานนั้นๆ

รูปภาพ
ประตูเซี่ยวกางที่มีปากสีดำอันโดดเด่นของวัดบวรนิเวศ


• สำรวจทวารบาลน่าสนใจตามวัดต่างๆ ในกรุงเทพฯ

หากพูดถึงทวารบาลที่น่าสนใจในเมืองไทยแล้วก็มีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ หลายๆ วัดมีทวารบาลที่สวยงาม แปลก โดดเด่น และมีเรื่องเล่าอยู่ไม่น้อยทีเดียว

วัดบวรนิเวศวิหาร วัดนี้มี “ประตูเซี่ยวกาง” ตรงประตูทางเข้าวัดด้านหน้าพระอุโบสถที่ได้รับอิทธิพลของจีนมาอย่างเด่นชัด โดยประตูเซี่ยวกางแห่งนี้เป็นรูปเทวดาผี ใช้ไม้แกะเป็นรูปเทวดา หนวดเครายาว ปิดทองเหลืองอร่าม ตนหนึ่งมือซ้ายถือสามง่าม มือขวาถือกริช เหยียบบนหลังจระเข้ อีกตนหนึ่งมือขวาถือโล่ มือซ้ายถือดาบ เหยียบบนหลังมังกร มีตำนานอยู่ในลัทธิมหายานว่าเป็นจอมแห่งเทวดาผู้พิทักษ์ประตูวัด ซึ่งสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ วังหน้าในรัชกาลที่ 3 ได้ปฏิสังขรณ์ใหม่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ตามคตินิยมแบบจีน

ส่วนที่แปลกและสะดุดตาของผู้คนที่เดินทางผ่านไป-มา ก็คือ บริเวณปากของเซี่ยวกางวัดบวรนิเวศวิหาร จะมีสีดำ ซึ่งแม่ค้าพวงมาลัยหน้าประตูวัดเล่าว่า สมัยก่อนยุคที่เมืองไทยยังดูดฝิ่น ได้มีชาวจีนคนหนึ่งติดฝิ่นงอมแงม พอต่อมาทางการได้ปราบทำลายโรงงานยาฝิ่นจนหมดสิ้น เมื่อแกหาฝิ่นดูดไม่ได้ สุดท้ายเลยไปลงแดงตายตรงประตูนี้ หลังจากเมื่อทางวัดมาพบจึงได้ทำพิธีกงเต๊กให้ ต่อมาชาวจีนคนนั้นได้ไปเข้าฝันสมเด็จท่านเจ้าอาวาสว่า ให้ทำที่ให้แกอยู่แล้วแกจะเฝ้าวัดให้ ทางวัดจึงได้สร้างกำแพงทำซุ้มประตูแล้วอันเชิญดวงวิญญาณชาวจีนคนนั้นมาสถิตย์อยู่ ณ ประตูแห่งนี้

รูปภาพ
ภาพเขียนสีทวารบาลข้างประตูพระอุโบสถวัดราชนัดดาราม


ต่อมาก็มีเรื่องเล่ากันว่าของในวัดที่เคยถูกขโมยไปหลายครั้ง ล้วนได้คืนกลับมาหมดด้วยความศักดิ์สิทธิของดวงวิญญาณคนจีนที่คอยเฝ้าวัด ทำให้เกิดการสักการบูชาประตูเซี่ยวกางขึ้น ซึ่งหลายๆ คนต่างเชื่อกันว่าถ้าบนอะไรแล้วก็จะได้สิ่งนั้นตามที่ขอหมด โดยนิยมนำฝิ่นมาป้ายปาก และนำถุงโอยัวะกับพวงมาลัยมาแขวนบูชา

“ในช่วงรัชกาลที่ 2 หรือรัชกาลที่ 3 พวกคนจีนเข้ามาในเมืองไทยเยอะเพื่อมาเป็นแรงงาน พวกนี้ส่วนมากจะสูบฝิ่นติดฝิ่น แล้วอาจจะมาขอหวยอะไรทำนองนี้ แล้วปรากฏว่าถูก คิดว่าเราเองชอบฝิ่นเจ้าก็คงชอบเหมือนกัน เลยเอาขี้ฝิ่นดิบมาป้ายปาก ปากก็เลยดำ แต่ปัจจุบันความเชื่อมันก็เริ่มกลาย กลายเป็นว่าท่านโปรดของดำหมดเลย เหมือนพระราหู พอเราผ่านไปก็เลยเห็นเป็นถุงโอเลี้ยงบ้าง ซุปไก่ดำบ้าง ตามความเชื่อของแต่ละบุคคล”

จุลภัสสร อธิบายต่อว่า ส่วน “เซี่ยวกาง” ที่เราได้รับมาจากจีนนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นวัดในสมัยรัชกาลที่ 3 เพราะงานศิลปะจีนได้เข้ามาเมืองไทยในยุคนี้เยอะมาก บางแห่งวาดรูปเป็นทหารจีน ใส่ชุดเกราะป้องกันศัตรูป้องกันสิ่งอัปมงคล อย่างเรื่องพระเจ้าถังไท้จงฮ่องเต้

รูปภาพ
“ลั่นถัน นายทวารบาล” หรือตุ๊กตาสลักหินรูปทหารนักรบจีนขนาดใหญ่
ที่ยืนถือศาสตราวุธเฝ้าซุ้มประตู้เข้าออก บางคนเข้าใจผิดคิดว่าเป็น “ยักษ์วัดโพธิ์”



สำหรับเซี่ยวกางตามคตินิยมของจีนนั้น ดูได้จากประตู วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ซึ่งแม้จะเป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 นั้น แต่ก็เป็นศิลปะที่ยังคงได้รับอิทธิพลจากจีนอยู่ โดยบานประตูจะเป็นไม้สักสลักเป็นรูปเซี่ยวกางกำลังรำง้าวอยู่บนหลังสิงห์โต แต่ถ้าเป็นแบบจีนสวยๆ ก็ต้องที่ วัดนางชีโชติการาม ที่ตรงบานประตูพระอุโบสถแกะสลักไม้เป็นรูปเซี่ยวกางหรือทวารบาลเหยียบสิงห์อย่างสวยงาม ซึ่งเป็นฝีมือช่างชาวจีน

ส่วนที่ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ก็เป็นอีกวัดหนึ่งที่มีทวารบาลที่แปลกและโดดเด่น เพราะบานประตูของวัดราชบพิธฯ จะเป็นรูปทหารต่างๆ แต่งกายไม่เหมือนกันสลักติดไว้ รูปทหารที่สลักตามประตูเหล่านี้เข้าใจว่าเป็นทหารมหาดเล็กซึ่งจัดตั้งมาตั้งแต่ต้นรัชกาล

จุลภัสสร แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า “สำหรับที่วัดราชบพิธฯ ผมคิดว่าความคิดเรื่องทวารบาลมันเริ่มเปลี่ยน คือแทนที่จะเป็นรูปเซี่ยวกาง รูปยักษ์ แต่ทำเป็นรูปทหารฝรั่ง ทหารแต่งเครื่องแบบถือปืน ตรงนี้ก็เป็นภาพสะท้อนของบ้านเมืองได้ว่า ความคิดเรื่องผู้พิทักษ์ทั้งหลายจะเปลี่ยนไปตามสมัยนิยม จะเห็นว่าเดี๋ยวนี้เวลาไปไหนก็จะมี ร.ป.ภ. (พนักงานรักษาความปลอดภัย) เฝ้าประตู ก็คงลักษณะคล้ายๆ ร.ป.ภ. นี่แหละ”

รูปภาพ
ยักษ์วัดอรุณฯ ที่ด้านหน้าประตูซุ้มยอดมงกุฎ
อีกหนึ่งรูปแบบอันโดดเด่นของทวารบาล



หันมาดูทวารบาลแบบไทยๆ กันบ้าง ประธานชมรมสยามทัศน์ กล่าวว่า ทวารบาลแบบไทยจะมีหลายรูปแบบ ทั้งเทวดาขี่พระขรรค์ หรือบางแห่งที่เคยเห็นเขาทำเป็นรูปจักรก็มี เป็นรูประหว่างเทวดากับอสูร หรือลิงกับยักษ์ก็มี หรือเป็นรูปเทพเจ้าก็มี อย่างเช่นที่บานประตูพระวิหารคดของ วัดสุทัศนเทพวราราม ทั้งพระวิหารหลวงทั้งพระอุโบสถจะมีรูปเทพผู้พิทักษ์ หรือที่ วัดอัปสรสวรรค์ จะมีทวารบาลลงรักปิดทองเป็นรูปนางฟ้ากำลังเพลิดเพลินอยู่ในสระบัว ดูอ่อนช้อยงดงามสมกับชื่อวัดอัปสรสวรรค์ ส่วนที่ วัดราชนัดดาราม นี่ก็มีทวารบาลที่ค่อนข้างแปลก คือจะไม่อยู่บนประตูแต่จะเป็นภาพเขียนสีอยู่ที่ข้างประตูพระอุโบสถแทน

ในขณะที่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) ก็จะมีทั้งภาพทวารบาลที่เป็นชาวต่างชาติ หรือเป็นรูปตุ๊กตาฝรั่งถือกระบอง หรือจะเป็นยักษ์วัดแจ้งอันโด่งดังที่ วัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง) ก็เป็นทวารบาลอีกแบบหนึ่งที่พบเห็นอยู่บ่อยครั้ง ส่วนที่ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) นั้นก็มีทวารบาลสวยๆ งามๆ อยู่มากมายหลายแบบ

นอกเหนือจากทวารบาลที่กล่าวมาแล้ว ตามวัดต่างๆ ทั่วไทยยังมีทวารบาลให้ชมอีกมากมาย ที่นอกจากจะมุ่งเน้นความเชื่อเรื่องเทพผู้รักษาประตูแล้ว ทวารบาลบางวัดยังสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตวัฒนธรรมของสังคมนั้นได้เป็นอย่างดี แต่ว่าส่วนใหญ่ผู้ที่เข้าวัดมักจะมองข้ามความงามแห่งศิลปะของผู้พิทักษ์ประตูไปเสียเป็นส่วนใหญ่

รูปภาพ
ยักษ์ทศกัณฐ์-ยักษ์สหัสเดชะ คู่ยักษ์ทวารบาลวัดพระแก้ว


โดย ผู้จัดการออนไลน์ 22 สิงหาคม 2549 16:02 น.

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.ย. 2010, 09:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ก.พ. 2010, 11:04
โพสต์: 1147

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ขอบคุณเว็บมาสเตอร์ค่ะ


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร