วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 05:19  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 35 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2, 3  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ก.ค. 2010, 11:43 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 ก.พ. 2010, 16:34
โพสต์: 1050

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b43: ปุจฉา - วิสัชนา :b43:
:b42: เรื่องการเจริญสมาธิภาวนา :b42:
หลวงปู่ เทสก์ เทสรังสี

.....เป็นคำถามของพระลูกศิษย์ ฆราวาสและสาธุชนทั่วไปที่สงสัยเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม การเจริญสมาธิภาวนาหรือการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งหลวงปู่เทสก์ได้กรุณาตอบให้กระจ่างอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
พี่น้องท่านผู้อ่าน อ่านแล้วก็โปรดตรวจสอบตัวเองดูว่า ตัวเองเคยสงสัยอะไรบ้าง จะได้กระจ่างเสียแต่เดี๋ยวนี้


ถาม ตามหลักพระปริยัติแล้ว เมื่อพูดถึงศีล สมาธิ ปัญญา เอาตัวปัญญาอยู่ข้างหลัง แต่นักปฏิบัติทั้งหลาย ท่านยกเอาตัวปัญญาไว้ข้างหน้า อันนี้ถูกหรือไม่
ตอบ อันนี้ก็ในทำนองเดียวกันกับทาน ศีล ภาวนา ท่านยกเอาศีล สมาธิ ปัญญา มาตั้งไว้เป็นลำดับ ก็เอาปัญญาไว้สุดท้าย ยกเอาศีลไว้เบื้องต้น สมาธิเป็นอันดับ๒ ปัญญาเป็นอันดับ ๓ เพื่อว่าบัญญัติเหล่านี้เป็นของสาธารณะทั่วไป พูดแต่หยาบไปหาละเอียด คนจะได้รู้ง่ายเข้า ถ้าหากนักปฏิบัติแล้วมันตรงกันข้ามอีกเหมือนกัน
....เมื่อเราปฏิบัติธรรมหรืออบรมใจให้เข้าถึงความสงบแล้วนั้น จะเห็นได้ว่าผู้จะรักษาศีลให้บริสุทธิ์หมดจดเรียบร้อยหรือมั่นคงหนักแน่นนั้น เพราะปัญญาเกิดก่อน คือปัญญาเห็นว่าสิ่งนี้ดีสิ่งนี้ถูก สิ่งนี้ไม่ดีสิ่งนี้ชั่ว สิ่งนี้ควรทำสิ่งนี้ไม่ควรทำ ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว จึงค่อยงดเว้นจากความชั่ว คือรักษาศีล นี่จึงว่าปัญญาเกิดขึ้นก่อนศีล สมาธิก็เหมือนกัน ที่เราจะทำสมาธิให้สงบแน่วแน่เป็นเอกัคคตารมณ์ เอกัคคตาจิตได้มันต้องมีปัญญาฉลาด มีแยบคายไหวพริบในตัว มีการชำระจิตตนอยู่รอบด้าน หรือระวังสังวรในอินทรีย์ทั้งหลายไม่ให้ฟุ้งซ่านส่งไปภายนอก เห็นโทษเห็นภัยในอารมณ์นั้นๆ จึงจะสละอารมณ์ทั้งหลายนั้นๆ ทำให้เข้าถึงความสงบได้ เมื่อเราพูดถึงปัญญาเกิดก่อนศีลก่อนสมาธิแล้ว คราวนี้ตัวปัญญาก็ไม่ต้องพูดกันละตอนนี้ เป็นอันว่าหมดไป แต่คราวนี้ถ้าจะพูดกันอีกนัยหนึ่ง ปัญญาในที่นี้ท่านบัญญัติปัญญาไว้สุดท้ายนั้น ท่านพูดถึงปัญญาชั้นสูง (ต่อ..)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ก.ค. 2010, 12:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 ก.พ. 2010, 16:34
โพสต์: 1050

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


(ต่อ...) ปัญญาที่พิจารณาวิปัสสนาคือรู้แจ้งเห็นสัจธรรมตามความเป็นจริง ถ้าไม่มีศีล ไม่มีสมาธิ ปัญญาก็ไม่เกิด ปัญญาที่จะเกิดวิปัสสนา ปัญญาจะต้องมีศีลสมบูรณ์ สมาธิแน่วแน่จนกระทั่งถึงอัปปนาสมาธิ เมื่อออกจากอัปปนาสมาธิแล้ว ปัญญาวิปัสสนาจึงจะเกิดขึ้น เหตุนั้นท่านจึงบัญญัติไว้ตอนท้าย นักปฏิบัติทั้งหลายผู้ที่มองเห็นว่า ปัญญาเกิดก่อน ศีล สมาธิ บางคนอาจจะลบล้างหรือลบหลู่ว่าอันนั้นผิดก็ได้ เมื่อผู้ที่ได้พิจารณาเห็นถึงวิปัสสนาปัญญาตรงนี้แล้ว จะเห็นภูมิฐานชั้นเชิงที่ท่านเทศนาไว้เป็นของจริงทุกสิ่งทุกประการ เพราะธรรมะมันมีหลายขั้นหลายภูมิ เหตุนั้นปัญญาที่ท่านบัญญัติไว้ ท่านหมายเอาปัญญาชั้นสูงที่เรียกว่าปัญญาวิปัสสนาหรือปัญญาที่รู้แจ้งสัจธรรมตามความเป็นจริงจนกระทั่งสละหรือเบื่อหน่ายปล่อยวางอุปาทานทั้งหลายได้

ถาม...การภาวนาบริกรรมพุทโธ ๆ เมื่อจิตอยู่กับพุทโธแล้ว จะเรียกว่าสมาธิหรือสมถะ สมาธิกับฌานต่างกันอย่างไร จิตรู้กี่ครั้งจึงจะเข้าถึงอัปปนาสมาธิ เมื่อจิตอยู่กับสมาธิเต็มที่แล้ว จะย้อนออกมาอยู่ระดับไหนจึงจะเกิดปัญญา เมื่อเกิดปัญญาแล้วเห็นชัดอย่างไรจึงจะเป็นวิปัสสนา
ตอบ...สมาธิกับสมถะอันเดียวกัน เวลาบริกรรมพุทโธ ๆ ๆ จิตเข้าไปจดจ่ออยู่ ณ ที่พุทโธแห่งเดียวนั่นแหละคือสมาธิ (จิตเป็นเอกัคคตารมณ์)ความสงบของจิตที่ไม่ได้ส่งส่ายออกไปที่อื่นแลเรียกว่า สมถะ สมาธิกับฌานโดยมากท่านอธิบายเป็นอันเดียวกัน แต่ในที่นี้ถ้าผมจะอธิบายทั้งต่างกันและเหมือนกันก็กินเวลามาก ในหนังสือประมวลแนวปฏิบัติธรรมของผม ผมก็ได้เขียนอธิบายไว้พิศดารพอสมควรแล้ว ถ้าหากไม่ชัดจะไปเปิดดูในนั้นก็ได้
.......ฉะนั้นในที่นี้ผมจะอธิบายเพียงย่นย่อพอเป็นแนวความคิดว่า สมาธิมีสมาธิสามเป็นเครื่องสังเกต ฌานมีภวังค์เป็นเครื่องสังเกต แต่อารมณ์ที่จะเอามาพิจารณานั้น ใช้อันเดียวกันก็ได้สุดแล้วแต่จริตนิสัยใครจะชอบอย่างไร เมื่อยกเอาอารมณ์อันใดขึ้นมาเพ่ง เช่นเพ่งกายให้เป็นธาตุดินเป็นต้น โดยมิได้ค้นคว้าหาเหตุผลของธาตุดินจนจิตรวมเข้าเป็นภวังค์เรียกว่า ฌาน แล้วพึงเข้าใจด้วยว่าอุคคหะปฏิภาคเกิดจากภวังค์ ถ้าภวังค์ไม่เกิดทั้งสองอย่างนั้นย่อมไม่มี(ภวังค์มีลักษณะทำจิตให้วูบวาบรวมเข้าไปอยู่ ณ ที่แห่งหนึ่งของมันต่างหาก บางทีก็หายเงียบไปเลย)..(ต่อ...)..


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ก.ค. 2010, 12:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 ก.พ. 2010, 16:34
โพสต์: 1050

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


.....ส่วนสาธินั้นเมื่อยกกายนี้ขึ้นมาเพ่งพิจารณาแล้ว จะต้องมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า กายนี้เป็นแต่สักว่าธาตุดิน ส่วนไหนเป็นอะไร มีลักษณะอาการของมันเช่นไร และธาตุดินนี้มันเป็นมาอย่างไร เกิดขึ้นมาได้อย่างไร และตั้งอยู่เพื่อประโยชน์อันใด เป็นต้น เมื่อพิจารณาไปๆ จิตก็จะรวมอยู่ในจุดเดียว (เอกัคคตารมณ์) ไม่มีความฟุ้งซ่านลังเลในเรื่องที่ตนพิจารณาอยู่นั้น และจะเกิดความรู้เห็นชัดแจ้งในเหตุผลที่ตนพิจารณาอยู่นั้น เมื่อเป็นเช่นนี้จิตก็จะไม่เข้าภวังค์เหมือนฌานดังกล่าวแล้ว แต่เมื่อจิตมีพลังเต็มที่เพราะพิจารณาอย่างนั้นอยู่จนละเอียดเต็มที่แล้ว จะเข้าอัปปนาสมาธิได้ (อัปปนาฌานกับอัปปนาสมาธิ มีลักษณะแปลกต่างกัน เมื่อจะอธิบายก็คงยืดยาว แล้วก็ถ้าผู้ไม่เคยเป็นเช่นนั้น จะอธิบายให้ฟังก็ยังเข้าใจยากอยู่นั่นเอง)
....ที่ว่าจิตรู้กี่ครั้งจึงจะเข้าอัปปนา ไม่มีกำหนดอย่างนั้น ถ้ายังมีกำหนดหมายรู้อยู่อย่างนั้นแล้ว จิตจะไม่เข้าถึงอัปปนาเลย อัปปนาไม่เกิดปัญญา เป็นแต่ที่พักของจิตในเมื่อทำงานของมันเสร็จแล้ว (ค้นคว้าเห็นเหตุผลจนพอตัว)
......ส่วนที่ว่าจะถอนจิตออกมาอยู่ในระดับไหนจึงจะเกิดปัญญานั้น มันถอนออกมาเองอยู่ในระดับอุปจารสามธิ
....ปัญญาวิปัสสนา มีลักษณะต่างกันและใช้ในที่ไม่เหมือนกัน คือปัญญาใช้ในที่ทั่วไป ตั้งต้นแต่ฝึกอบรมสมถะ ตลอดถึงธรรมวิจยะทั้งหลาย ถ้าเห็นชัดเห็นแจ้งจนจิตเบื่อหน่ายถอนออกจากความยึดความถือในอารมณ์นั้นแล้ว เข้ามารวมสงบนิ่งอยู่เฉพาะตน เรียกว่า วิปัสสนา


ถาม..การที่เราป่วยเป็นไข้ได้รับเวทนาอย่างแรงแล้ว เราจะรักษาไว้เพียงความสงบดี หรือจะยกเอาเวทนานั้นขึ้นมาต่อสู้ดี
ตอบ...เรื่องนี้มันใช้ได้ทั้ง ๒ อย่าง คือว่าบางองค์บางท่านเมื่อเวทนาหนักๆ เข้า สู้ไม่ได้ ก็ต้องต่อสู้ด้วยความสงบคือปล่อยวางทิ้งหมดเลย เป็นได้เหมือนกัน คือทำความสงบทอดธุระปล่อยวางจิตจนเข้าสู่ความสงบเต็มที่จนไม่รู้สึกตัวเลยอยู่ได้นานๆ บางทีเป็นชั่วโมงสองชั่วโมง พอจิตถอนออกมาไม่ว่าอาการไข้อาการป่วยก็ตาม เกิดหายได้เด็ดขาดก็มีถมเถเหมือนกัน ผู้ที่ทำเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องผจญต่อสู้ เป็นเรื่องหลบภัยคล้ายๆ กับวิ่งลงหลุมหลบภัยทางอากาศ พอเครื่องบินมาก็กลัวลูกระเบิด ลงหลุมเสีย แต่ผู้ที่ทำได้เช่นนี้มันต้องชำนาญ ใจต้องกล้าหาญ จึงจะทำได้ แต่ก็ไม่ได้ตลอดไป...(ต่อ...)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ก.ค. 2010, 13:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 ก.พ. 2010, 16:34
โพสต์: 1050

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


.....ผมเคยได้ยินมีเจ๊กคนหนึ่ง แกชอบทำแบบนี้เหมือนกัน แต่รุ่นเก่าๆ เจ็กยังไว้ผมเปียอยู่ แกทำคนเดียวมีแต่ความสงบถ่ายเดียวอยู่ตลอดเวลา อาหารแกก็ไม่ต้องรับประทาน มีถุงข้าวแห้งไว้สำหรับเวลาหิวก็อมแล้วก็นั่งภาวนาตลอดเวลา พระผู้หลักผู้ใหญ่ไปเห็นเข้าเลยถามแกว่า "ตาแป๊ะเป็นอย่างไรสบายไหม" "สบาย ไม่รับประทานอาหารก็สบาย" แล้วแกก็อยู่กับสัตว์ป่าด้วย พวกเสือพวกอะไรต่างๆ มาออกลูกในถ้ำที่แกอยู่ แกก็อยู่ด้วยกันไม่กลัว
....คนบางคนมีเมตตามาก เมตตาสัตว์ สงสารสัตว์ เห็นสัตว์กับตนเองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ผลที่สุดก่อนที่แกจะสิ้นใจ เขาเล่าหรอก เราไม่เห็นด้วยกับตา ทุรนทุรายดิ้นรนไม่มีสติสตังเลย อีกเรื่องหนึ่ง มีพระองค์หนึ่งก็อย่างที่ว่านี้เหมือนกัน ในที่สุดเวลาจะมรณะภาพในกุฏิ ดิ้นเอาเสียไม่มีดี น้องชายเรียกอย่างไรก็ไม่ได้ยิน ต้องพังประตูเข้าไป ผลที่สุดไม่มีสติสตังเลยมรณะภาพ อย่างนี้เป็นตัวอย่าง คือการทำความสงบนั้นไม่มีปัญญา ถ้าพูดตามหลักก็เข้าฌานอยู่ด้วยฌาน แบบวิธีนี้ก็ใช้ได้อยู่เหมือนกัน แต่เป็นบางครั้งบางคราวเท่านั้น ถ้าจะเอากันจริงๆจังๆไม่ได้
.....การจะละทุกข์-สมุทัยให้เด็ดขาดได้ ต้องชำระด้วยปัญญา มิใช่เพียงสงบเฉยๆ และความสงบเช่นว่านั้นก็ใช้ได้เป็นครั้งคราวเท่านั้น ไม่ตลอดไป ฉะนั้นทางที่ดีเมื่อมีเวทนาเกิดขึ้นแล้ว ควรหยิบยกเอาเวทนานนั้นแล ขึ้นมาพิจารณาตามนัยแห่งสติปัฏฐาน ภาวนาให้เห็นสักแต่ว่ามิใช่ขันธ์ เมื่อเห็นชัดมีเหตุผลถูกต้องตามความเป็นจริงแล้ว มันจะปล่อยวางอุปาทานในขันธ์เอง พร้อมกันนั้นก็จะเป็นเครื่องวัดไปในตัว เมื่อเราปรารภขันธ์อยู่ว่า เราได้เห็นสภาพของขันธ์ตามความเป็นจริงและปล่อยวางได้ขาดไหนแล้วเวลานี้ แบบนี้เป็นการดำเนินตามมรรค จัดเป็นปัญญาวิปัสสนา อย่างนี้ได้ประโยชน์กว้างขวาง เรื่องที่กำหนดต่อสู้แบบนี้ทำให้เกิดปัญญาจนสละปล่อยวางอุปาทานลงได้ เหตุนั้นทางที่ดีที่สุดนั้น เมื่อหัดทำความสงบคือปล่อยสละอย่างเบื้องต้นได้นั้น ให้มันชำนาญก็ใช้ได้ดีเหมือนกัน ใช้ได้เป็นครั้งคราว แต่ว่าอย่าไปติดในเรื่องนั้น ต้องมาหัดต่อสู้ผจญอีกทีหนึ่งให้มันได้ทั้งสองด้านสองทาง จึงจะเป็นการดีมาก


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ก.ค. 2010, 13:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 ก.พ. 2010, 16:34
โพสต์: 1050

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ถาม...ขอโอกาสครับท่านอาจารย์ นักปฏิบัติทั่วๆป ตอนที่ท่านภาวนาอยู่โดยปรารภอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งแล้วพยายามจับอารมณ์นั้นเข้ามาพิจารณาใคร่ครวญก็ดี หรือพยายามปล่อยวางอารมณ์ก็ดี แล้วโดยสภาวะการณ์ที่ท่านปล่อยวางได้แล้วหายวับเข้าไปโดยมีสติอยู่ก็ดีหรือไม่มีสติอยู่ก็ดี ทั้งสองนี้ต่างกันอย่างไรและเรียกว่าอะไร
ตอบ...นักปฏิบัติทั้งหลายเวลาภาวนาอบรมกัมมัฏฐานจะต้องปรารภอารมณ์อันใดอันหนึ่งขึ้นมาเป็นเครื่องกำหนด คือให้จิตจดจ่อเฉพาะอารมณ์อันเดียว แล้วพยายามประคองจิตให้อยู่ในอารมณ์อันเดียวจนได้ จึงจะเรียกว่ากัมมัฏฐาน หรือที่เรียกว่าสมาธิ หรือที่เรียกว่าสมถะ ถ้ายังส่งส่ายอยู่ยังเรียกไม่ได้ว่าสมาธิหรือสมถะ ที่จิตแน่วอยู่ในอารมณ์อันเดียวเช่นนี้ ผมเคยพูดเรื่องเอกัคคตารมณ์อารมณ์อันเดียว ในปริยัติท่านแสดงจึงฌานมีองค์ ๕ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เอกัคคตาคืออันนี้เอง วิตก วิจาร ปีติ สุขเบื้องต้น ไม่ต้องพูดถึง มาตรงนี้มันเหลือแต่เอกัคคตารมณ์อย่างเดียว ตรงนี้ถ้าพลังของจิตแก่กล้า สามารถยืนตัวอยู่ได้นาน ใจจะกล้าหาญแล้วหายวูบไป ยังเหลือแต่ใจ คือสติเข้าไปรวมที่ใจ ใจอันใดสติอันนั้น ยังมีความรู้สึกเฉพาะๆ ตัวของมันอยู่ ในตอนนั้นเราจะพูดอะไรก็ไม่ถูก แต่มันเป็นเรื่องของมันเองต่างหาก สำนวนและความเห็นของผมว่าอันนั้นเป็นเอกัคคตาจิต คือมีจิตอันเดียวจริงๆ ไม่มีอะไรเลย ตรงนั้นบัญญัติสมมติเรียกว่า อัปปนาสมาธิ คือมันมีสติกับจิตสว่างแจ่มจ้ารู้รอบตัวอยู่อันเดียว เหมือนเพชรที่ใสสะอาดเอาไปใส่ไว้ในกระบอกปิดไว้ให้ดี มันก็ยังใสของมันอยู่ เรียกว่าเอกัคคตาจิต จิตอันเดียวแท้ๆ ทีเดียว
.....คราวนี้พูดย้อนกลับมาอีกว่า บางครั้งบางคราวที่ถามว่า จิตของเราแน่วอยู่ในอารมณ์อันเดียว แล้วปล่อยทิ้งเฉยๆ ไม่เอาอะไร ให้จิตมันวางเฉยเสีย ได้เหมือนกัน แต่ตรงนั้นมันไม่สนิท ที่ทำแบบนั้นโดยมากผู้ชำนาญในการเอาเอกัคคตารมณ์ให้แน่วแน่แล้ว จิตมันปล่อยวางเป็นไปเองตามธรรมชาติของมัน แต่ว่าเราชำนาญแล้วคราวนี้ เมื่อถึงเอกัคคตารมณ์แล้ว เราจะปล่อยทิ้งเฉยๆ ให้เหลือแต่เอกัคคตาจิตก็ได้ แต่มันหนักแน่นแน่วแน่ รสชาติมันไม่เหมือนกับที่มันเป็นเอง เหมือนเราไปในสถานที่แห่งหนึ่งที่เป็นสถานรโหฐาน เราไปที่แรกตื่นเต้น เมื่อเห็นเข้าแล้วทีหลังเราไปค่อยจืดๆ ไป แต่มันถึงเหมือนกันไปถึงที่เก่าของมันแหละ อย่างที่ว่านี้เรียกอัปปนาสมาธิได้ หรือเรียกว่าอัปปนาฌานก็ถูก อัปปนาฌานมีรสชาติผิดกันนิดหนึ่ง เมื่อมันวูบเข้าไปถึงตรงนั้นแล้ว บางทีจิตตรงนั้นจะส่ายไปตามสภาพของมันโดยที่เราไม่ตั้งใจจะให้มันส่าย มันไม่ได้ส่ายไปภายนอก แต่ส่ายไปเห็นนั้นเห็นนี้ต่างๆ คล้ายๆกับเรื่องใหญ่โตรโหฐาน แล้วก็เพลินสนุกอยู่ในเรื่องนั้น บางทีมันเกิดภาพในตอนนั้น ภาพนิมิตอะไรต่างๆ เกิดขึ้นในตอนนั้น หรือมิฉะนั้นก็ยินดีเพลิดเพลินในความสุขอันสงบอันนั้นชอบใจติดใจเนเรื่องนั้นอยู่


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ก.ค. 2010, 14:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 ก.พ. 2010, 16:34
โพสต์: 1050

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


...นี้ผมเรียกว่าอัปปนาฌาน ที่ว่ามาในเบื้องต้น ที่ว่าเอกัคคตารมณ์ ฌานมีองค์ ๕ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เอกัคคตาก็คือเอกัคคตารมณ์นั้นเอง เอกัคคตานี้พูดทั่วไปในฌานทั้ง ๔ เรียกว่า รูปฌานทั้ง ๔ มาตอนนี้พูดถึงเรื่องอัปปนาฌานเรียกว่า เอกัคคตาจิต ตอนนี้มันเพลินสนุกพอใจในอารมณ์หรือภาพต่างๆ อันนี้ผมเรียกว่าอัปปนาฌาน อย่าคำที่เรียกว่าฌาน มันไปจดจ้องหรือเพ่งเฉพาะพอใจยินดีในอันใดอันหนึ่ง ในความสุขหรือภาพต่างๆ ถึงเรียกว่าอัปปนาฌาน ส่วนอัปปนาสมาธิไม่อย่างนั้น มันชอบใจก็ไม่ว่า แต่มันมีความเต็มตื้นอิ่ม พึงพอใจตามสภาพของมัน ไม่ใช่ของภายนอก ทั้ง ๒ อย่างนี้ความจริงไม่ได้ประโยชน์อะไรนักหนา นอกจากเราจะไปพักผ่อนเอาพลัง คือให้จิตมีพลังเท่านั้น ในขณะนั้นทำอะไรไม่ได้เลย ไม่รู้อะไรทั้งนั้น ทำอะไรไม่ได้ทั้งนั้น เข้าไปอยู่ในสภาพเดิมของจิต เข้าไปอยู่ตามเรื่องของเรื่อง
....ถ้าหากว่าเป็นฌาน พอถอนออกมาจากอันนั้น มันก็จะส่งส่ายไปตามสภาพเดิม ในสภาพของจิตมันมีอายตนะ ผัสสะ ก็ต้องไปตามรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่จะรู้สึกว่าผิดแผกจากเก่า รสชาติจืดไปหรือถ้ามิฉะนั้นก็จะเห็นอารมณ์ของอายตนะเป็นของแปลกประหลาด น่าขบขันน่าหัวเราะ
.....ถ้าหากว่าเป็นอัปปนาสมาธิ พอถอนออกจากนั้นแล้ว มองสิ่งของวัตถุสารพัดทั้งปวง แม้แต่ของไม่มีวิญญานก็จะเห็นเป็นไตรสักษณ์ เห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ความสลดสังเวชและเบื่อหน่ายในเรื่องนั้นก็จะเกิดขึ้น คลายจากความยึดถือในที่นั้นๆ มีแต่ความสลดสังเวสท่าเดียว
......ผลมันผิดแปลกกันอย่างนี้ อันนี้มันเป็นสำนวนและคำพูดของผมนะ แต่อาจจะไม่ตรงกับตำรับตำราก็ได้ หากผู้ปฏิบัติไม่เป็นไปอย่างนั้นแล้วก็ยากที่จะเข้าใจหรืออาจจะมีเรื่องทักท้วงในคำพูดของผมก็ได้ เรื่องนี้เมื่อจะพูดต่อไปอีก ก็ยังมีเรื่องยืดยาวเหมือนกัน ในตอนนี้ผมขอพูดแต่เพียงเท่านี้ก่อน


ถาม..ท่านอาจารย์ครับ แล้วอย่างสภาพที่มีการใคร่ครวญพิจารณาอารมณ์อะไรสักอย่างหนึ่ง ใคร่ครวญอยู่อย่างนั้น แรกๆ ก็ใคร่ครวญธรรมดา แต่เวลาใคร่ครวญไปเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่จับเอาอารมณ์นั้นอยู่โดยที่เราไม่รู้สึกตัวว่ามันดิ่งลงตั้งแต่เมื่อไหร่ เวลาวกมาอีกทีหนึ่งเหมือนเราไม่ได้คิด เหมือนกับอยู่ภายนอก แต่เวลามันดิ่งลึกลงไปคล้ายกับฝันไปเลยครับ สภาพการณ์นั้นรู้สึกว่าแปลกมาก และสภาพการณ์เช่นนี้เรียกว่าอะไรครับ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ก.ค. 2010, 07:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 ก.พ. 2010, 16:34
โพสต์: 1050

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ตอบ เรื่องก็คล้ายๆกับที่อธิบายมาแล้ว เมื่อจิตดิ่งอยู่อยู่ในอารมณ์อันเดียวอยู่อย่างนั้น ถ้าหากสติของเราเผลอลงไป มันก็จะวูบหายไป วูบหายไปคล้ายๆ กับหลับงีบไปพักหนึ่ง บางทีก็อยู่เป็นครึ่งชั่วโมงหรือชั่วโมงก็ได้ มันจึงจะรู้สึกตัวขึ้นมา อันนี้ก็อยู่ในสภาพของภวังค์เรียกว่าภวังค์จิต ภวังค์นี้ในตำราก็มีหลายอย่าง ถ้าพูดถึงเรื่องฌานแล้ว ท่านเรียกว่า ภวังคบาท ภวังคจรณะ และภวังคุปัจเฉทะ ถ้าวูบหายเดี๋ยวเดียวแล้วรู้สึกตัวเรียกว่าภวังคบาท ภวังคจรณะนั้นพอวูบเข้ามีส่ายๆ ไปมาอยู่ในนั้นแต่ไม่ส่ายออกข้างนอก ส่ายเรื่องของมันเอง ส่วนภวังคุปัจเฉทะนั้น พอรวมวูบเข้าไปแล้วขาดอารมณ์ภายนอกหมดหายเงียบเลย นี้มาเทียบกับสมาธิที่เรียกว่าขณิกสมาธิ คือรวมวูบประเดี๋ยวใจแล้วก็รู้สึกขึ้นมา อุปจารสมาธิ คือรวมเข้าแล้วส่ายคล้ายๆ กันกับภวังคจรณะแต่โดยมากมักส่ายในธรรมารมณ์หรือธัมมวิจัย อัปปนาสมาธิ ก็เคยอธิบายมาแล้ว แน่วเข้าไปหายจากอารมณ์ภายนอก มันไม่มีความรู้สึกอะไรภายใน สว่างจ้าของมันอยู่ต่างหาก
......ภวังค์กับสมาธิใกล้กันเหลือเกิน เหตุนั้นโดยมากที่ท่านแสดงเรื่องธรรมะ ในเรื่องหัดภาวนาสมาธิแล้ว ในที่ต่างๆ มักจะพูดสมาธิกับฌานรวมกัน บางทีก็พูดถึงเรื่องฌาน บางทีก็พูดถึงเรื่องสมาธิ แต่ที่ผมอธิบาย ผมแยกสมาธิส่วนหนึ่ง ฌานอีกส่วนหนึ่ง สมาธิพูดถึงเรื่องอารมณ์เดียวกับฌาน เมื่อมีสติควบคุมจิตแน่วแน่พิจารณาเห็นอสุภปฏิกูลหรือมรณานุสติอะไรก็แล้วแต่ เมื่อจิตรวมเข้าไปแล้วไปเพ่งพิจารณาอารมณ์ของมันอยู่ ไม่หลงไปติดไม่ยินดีในอารมณ์นั้นๆ ดังกล่าวแล้วข้างต้น เรียกว่าสมาธิ มีสติควบคุมจิตอยู่ จิตรวมได้พักหนึ่งแล้วก็หายไปลืมไป แล้วถอนขึ้นมาอย่างที่อธิบายมาแล้วข้างต้น ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิอย่างที่ว่ามาแล้ว ส่วนฌานนั้นจิตแน่วแน่ เพ่งอยู่ในเอกัคคตารมณ์เหมือนกัน แต่เมื่อวูบรวมเข้าไปเป็นเอกัคคตาจิตแล้ว มันกลายเป็นภวังค์จิตไป ในขณะที่มันหายวูบเข้าไปเรียกว่าสภาพของภวังค์ เวลาถอนออกมาแล้วบรรดากิเลสทั้งหลายนั้นที่เคยมีอยู่แล้วก็มีอยู่ตามปกติธรรมดา จึงว่าผลน้อยเหลือเกิน ถ้าหากว่าเป็นสมาธิ พอถอนออกมาจากอัปปนา มาอยู่ในอุปจาระแล้วมันจะได้ความรู้ความฉลาด มองสิ่งสารพัดทั้งปวงเป็นเรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตา มันจะถอนอิสมิมานะความยึดถือในสิ่งต่างๆ มันมีประโยชน์ผิดแผกกันตรงนั้น...


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ก.ค. 2010, 08:52 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 ก.พ. 2010, 16:34
โพสต์: 1050

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


....ฉะนั้นจิตที่วูบเข้าไปในนั้นเรียกว่าฌาน จำพวกฌานโดยมากตอนนี้มักจะพูดกันว่านั่งหลับ คือว่านั่งหลับไม่รู้ตัวเลย ไม่ทราบว่าอะไรต่ออะไร ถ้าจะพูดตามที่เขาพูดกันอยู่โดยมากเรียกว่า พรหมลูกฟัก มีแต่รูปไม่มีจิตก็น่าเข้าทีคือตรงนั้นมันนิ่งได้เฉยๆ ไม่มีอะไรเลย ไม่ทราบว่าจิตหายไปเสียที่ไหน แท้ที่จริงแล้วจิตก็มีอยู่ในนั้นแหละ เมื่อสติหายไปจิตก็ไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน เลยกลายเป็นนั่งหลับไป เกิดเป็นพรหมลูกฟักในมนุษย์ไปเสียทีก็ดีแล้ว (ผมบัญญัติ)แต่เมื่อจิตทอดทิ้งแล้วลูกฟักมันจะอยู่ได้อย่างไร นักปฏิบัติทั้งหลายกลัวจะเป็นพรหมลูกฟักก่อนจะเป็นจริงขึ้นมาอีกเสียซ้ำ

ถาม ท่านอาจารย์ครับ อีกสภาวะหนึ่งสำหรับนักปฏิบัติ เวลาที่เพ่งพิจารณาอะไรสักอย่างหนึ่ง แต่แล้วจิตก็ดิ่งลงไป ดิ่งลงไปคร่ำครวญพิจารณาอะไรของมันก็ไม่ทราบ รู้สึกว่าภายในใจเกิดชัดเจนแจ่มแจ้งอะไรสักอย่างหนึ่ง เกิดความอิ่มอกอิ่มใจอย่างเต็มที่ แต่ไม่รู้ว่าพิจารณาเรื่องอะไรและอิ่มอกอิ่มใจเรื่องอะไรกันแน่ หลังจากสะดุ้งสุดตัวมาอีกครั้งหนึ่ง แต่ไม่รู้เรื่องตัวเองว่านั่นมันเรื่องอะไรกันแน่ อนึ่งพอจิตมันดิ่งลงไปแล้ว มันมีปรุงแต่งโดยทีเราไม่ได้ปรุงแต่ง แต่มันปรุงแต่งของมันเอง ดูคล้ายๆกับกว้างขวางเบิกบาน ดูคล้ายๆกับมากมายเอาเสียจริงๆ จังๆเวลาจิตถอนออกมา ย้อนกำหนดพิจารณาถอยหลังกลับไปถึงสภาพนั้น นิดเดียวไม่มีอะไรหรอก

ตอบ เรื่องแรกจิตเข้าภวังค์ดังได้อธิบายมาแล้วข้างต้น เรื่องหลังนี้ก็เช่นเดียวกัน แต่มันแสดงถึงภพภูมิของจิตล้วนๆ ชัดขึ้น พวกฌานก็เป็นอย่างนี้แหละ ผมจึงอธิบายว่าใจของคนเรานั้นอยู่ในสภาพที่ยังไม่พ้นจากขันธ์ "ขันธ์๕" ยังมีขันธ์ ๔ ท่านว่าอย่างนั้น สภาพอย่างนั้นเรียกว่าสภาพของขันธ์ ๔ คือว่าไม่มีรูปไม่มีกาย ไม่ยึดรูปยึดกาย เรียกว่าขันธ์ ๔ แต่แท้ที่จริงก็มีขันธ์ ๕ ดีๆนี่แหละ แต่เป็นขันธ์ ๕ ของใจอันนั้น ใจมันหลุดออกจากกายแล้ว มันยังเหลือแต่ใจอันเดียว แต่เพราะมันยังชำระใจให้ขาดจากความยึดในกายไม่หมด มันเลยหนีขันธ์ ๕ ไปไม่ได้ ขันธ์ ๕ ตรงนี้แหละมันพาไปเกิด ไปเกิดภพน้อยภพใหญ่ ชาติน้อยชาติใหญ่ก็อันนี้แหละ เราจะเห็นได้ชัดเลยว่าอาการที่มันเป็นอยู่อย่างนั้นเหมือนๆ กับคนเราธรรมดานี้เอง อะไรๆมีเท่าเก่าหรืออาจยิ่งกว่าธรรมดานี้เสียอีก เช่น ดีใจ มากกว่าธรรมดา เสียใจมากกว่าธรรมดา สุขมากกว่าธรรมดา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ก.ค. 2010, 09:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 ก.พ. 2010, 16:34
โพสต์: 1050

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


....ฉะนั้นผู้ที่บำเพ็ญฌานให้เกิดแล้ว ถ้าตายไป ท่านว่าไปเกิดเป็นเทพมีความสุขมากกว่ามนุษย์มีอายุยืนยาวนาน กว่ามนุษย์ เพราะสภาพของฌานมันยังมีขันธ์อยู่ เหตุนั้นที่จะสำเร็จมรรคผลนิพพานนั้น ท่านไม่ได้อยู่เช่นนั้น ท่านมาอยู่นอกๆ อยู่ระหว่างขันธ์นอกกับขันธ์ใน หรือเรียกอีกนัยหนึ่งว่า อยู่ในระหว่างโลกกับธรรม นี่แหละให้เห็นทางโลกให้เห็นทางธรรมไปพร้อมๆกัน ให้ชัดทางโลกทางธรรม ให้เห็นความจริงของทางโลกทางธรรม จนกระทั่งวางทางโลกทางธรรมได้ อันนี้จะพูดอีกนัยหนึ่ง มันเห็นโทษของขันธ์ ๕ ที่หยาบๆ แล้วละทิ้ง แต่ไปยินดีในขันธ์ ๕ ของใจภายใน แล้วก็ติดและยินดีเพลิดเพลินอยู่ในภพของใจ ที่เรียกว่า อะมิสกาย(เทพ) เมื่อละขันธ์ ๕ ที่หยาบๆ นี้แล้ว(ตาย) เมื่อจิตนั้นยังไม่เสื่อมจากสภาพนั้น ก็ยังเหลือแต่ขันธ์ ๕ ของใจ

ถาม การมาปฏิบัติ จิตยังไม่เป็นสมาธิเต็มที่จึงมีสัญญาเกิดดับๆ อยู่เรื่อยๆ บางคร้งก็มีอารมณ์ฟุ้งซ่านปรุงแต่งต่างๆ อีก จึงดุตัวเองว่า ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ พยายามดุว่าต่างๆนาๆ บางครั้งถึงกับลงโทษตัวเองว่า ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ แล้วเกิดการเสียใจร้องไห้มาพักหนึ่ง เมื่อหายเสียใจก็รู้ว่าการกระทำเช่นนี้ผิด เพราะเดิมมีฟุ้งซ่านอย่างเดียว ต่อมาก็เกิดกิเลสโทสะขึ้นมาอีก จึงทำการปลอบใจตัวเอง จิตก็สงบดี การกระทำเช่นนี้เป็นพราะอะไร

ตอบ นั่นเป็นอุบายฝึกฝนอบรมใจ เราทุกคนถ้ายังไม่มีอารมณ์ขนาดหนัก ยังไม่เห็นโทษในเรื่องๆนั้นเสียก่อน มันยังฟุ้งไปส่งส่ายไป มันยังเสียดายอารมณ์นั้นๆ คือไม่ยอมเห็นโทษ ไม่ยอมสละ ไม่ยอมทิ้ง ในที่สุดก็ถึงโทษ ขาดหนักไม่มีทางจะแก้แล้ว ถึงจะเห็นโทษชัด ทุกสิ่งทุกอย่างถ้าไม่เห็นโทษในสิ่งนั้นๆ แล้วละไม่ได้ แต่คราวนี้มันเห็นโทษแล้วถนัดชัดเจนทีเดียว พอเห็นโทษก็เรียกว่าปัญญาเกิด ปัญญาเกิดขึ้นมันก็วาง ก็ปล่อย มันก็สงบได้นี่คือวิธีอบรมจิต เป็นอย่างนี้ทุกๆคนแหละ เหตุนั้นเรื่องอารมณ์ต่างๆนั้น ถ้าหากว่าอารมณ์อะไรเกิดขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์อะไร จะเป็นอารมณ์หนักอารมณ์เบา ก็ตาม ถ้าไม่ถึงอารมณ์หนักๆ เรายังจะพอใจอยู่ ต่อเมื่ออารมณ์ขนาดหนักเกิดขึ้นดังกล่าว นั่นพระธรรมเกิดขึ้นแล้ว เราจะได้จับเอามาเป็นอารมณ์เพ่งพิจารณาได้อย่างดีที่สุด ถ้าหากว่าเรายังไม่เห็นเป็นธรรม มันจะต้องขนาบเราไปถึงที่สุดทีเดียวละ จนกระทั่งถึงกับร้องไห้อย่างที่ว่านี้นั่นแหละ จึงจะเห็นธรรมคือความจริง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ก.ค. 2010, 14:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 ก.พ. 2010, 16:34
โพสต์: 1050

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ถาม ประสบการณ์ภาวนาของผมมีดังนี้ครับ เบื้องต้นผมต้องต่อสู้กับอารมณ์ของผมด้วยการตั้งสติรักษาจิตไม่ให้ส่งส่ายออกไปภายนอกตามอารมณ์อย่างเคร่งครียด จิตก็พอสงบได้บ้างแต่รวมไม่สนิทเต็มที่ แล้วมาพิจารณาเห็นว่าที่จิตเราไม่รวมเต็มที่นี้ เพราะเราตั้งสติเคร่งเครียดเกินไป แล้วค่อยผ่อนคลายสติลง ปล่อยจิตให้เบาๆ เป็นกลางๆ เพียงแต่เอาสติเข้าไปตามรู้ตามดูอาการของจิตเท่านั้น คราวนี้จิตค่อยๆรวมลงจนสนิทไม่มีความรู้สึกตัวเลย แล้วมันเกิดปรากฏการณ์ของมันเองต่างหากมากมาย เช่นไปเห็นจ่า ปรีชา(ซึ่งตายไปแล้วเมื่อไม่กี่วันนี้)เดินเข้ามาหาแล้วได้บอกให้สามเณรวินซ์ดู สามเณรวินซ์เห็นแล้วทำท่ากลัวจะวิ่งหนี แล้วได้เตือนสามเณรวินซ์ว่า จะไปกลัวเขาทำไมเราเองก็ต้องตายไปเป็นผีอย่างเขาวันหนึ่งเข้าข้างหน้า แล้วก็ได้พูดได้คุยกับใครต่อใครเยอะแยะอย่างนี้เป็นต้น พอมารู้สึกตัวขึ้นหยิบนาฬิกามาดู โอ้โฮ เวลาผ่านไปตั้ง ๓-๔ ชั่วโมงแล้ว ผมอยากทราบว่า ทำไมมันจึงเป็นเช่นนั้น

ตอบ ดีมากทีเดียวที่มีอุบายแยบคายต่อสู้ หรือฝึกอบรมใจของตนจนกระทั่งรวมสนิทลงได้ และข้อที่ว่าค่อยผ่อนคลายสติที่ตรึงเครียดอยู่ให้อ่อนลงได้นั้นเป็นของสำคัญมาก ยากที่ผู้จะรู้และทำได้ การตั้งสติตามกำหนดจิต ให้จดจ้องอยู่เฉพาะในอารมณ์อันเดียวนั้น บางทีมันอาจตรึงเครียดเกินไปถึงกับทำให้ปวดศรีษะหรือแน่นหน้าอกหายใจไม่ออกก็ได้ เพราะนักปฏิบัติโดยมากเข้าใจว่า "การมีสติสมบูรณ์นั้น คือการตั้งสติให้แน่วแน่ รักษาอยู่ในอารมณ์อันเดียวจนไม่ให้เผลอได้" แท้จริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ สติถ้ายังต้องรักษาและควบคุมให้อยู่ในอารมณ์อันเดียวแล้วยังไม่ได้ชื่อว่า"มีสติสมบูรณ์" สติที่สมบูรณ์จะไม่ต้องควบคุมและรักษา แต่มันจะมีสติพอดีกับอารมณ์ที่จะมาปรากฏขึ้นที่จิต แล้วรู้เท่าทันกัน อันเนื่องมาจากที่เราได้อบรมไว้ดีแล้ว ไม่มีการส่งส่ายออกนอกไปจากอารมณ์ที่ปรากฏขึ้นที่จิตนั้น รู้แล้ววางเฉย บางทีก็ทำให้เกิดความสลดสังเวชในเรื่องนั้นๆ เราไม่ต้องเอาสติไปควบคุมจิตแต่อย่างไร สติกับจิตมันได้สัดส่วนกันแล้ว หากมันคุมกันเองจึงจะเรียกว่ามีสติสมบูรณ์


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ก.ค. 2010, 14:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 ก.พ. 2010, 16:34
โพสต์: 1050

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


....การที่ทำให้จิตรวมสนิทลงไปได้ขนาดไม่รู้สึกตัวเลย แล้วมีปรากฏการณ์ตามลำพังของมันเองอยู่นั้น นี่แสดงให้เห็นชัดเลยทีเดียวว่า กายกับจิตนี้ถึงแม้จะมีภาระกิจร่วมกัน ทำงานในหน้าที่นั้นๆก็ตาม เมื่อผู้มาฝึกจิตจนสามารถสละกาย แล้วรวมเข้าภวังค์(ภพจิต) ยังเหลือแต่จิตแล้วก็ตาม เมื่อเรายังชำระอุปาทานไม่หมด จิตในตัวนั้นมันก็ยังมีขันธ์ ๕ อยู่เช่นเดิม ถ้าจะพูดให้ง่ายๆ แล้วก็หมายความว่า คนเรานี้มีทั้งขันธ์นอกขันธ์ใน ขันธ์นอกใช้เมื่อยังมีลมหายใจอยู่ ส่วนขันธ์ในนั้นเมื่อเรายังชำระปล่อยวางไม่ได้ต้องนำเอาไปใช้เพื่อก่อภพชาติอีกต่อไป

ถาม ผมอยากจะทราบว่า อัปปนาสมาธิกับอัปปนาฌานมีความแตกต่างกันอย่างไรครับ

ตอบ ดูเหมือนจะเคยอธิบายครั้งหนึ่ง ดูเหมือนจะเป็นคุณชัยชาญก็ไม่ทราบ คราวนี้อธิบายเพิ่มเติมอีกก็ดีเหมือนกัน อัปปนาฌานมีลักษณะคล้ายๆ กันกับอัปปนาสมาธิ เวลาจิตรวมลงไปเป็นเอกัคคตาจิตแน่วแน่เต็มที่แล้ว มันหลุดจากเอกัคคตารมณ์ คือวางเอกัคคตารมณ์ แล้วเหลือแต่เอกัคคตาจิตอันเดียว เอกัคคตาจิตในที่นี้ในที่นี้มีลักษณะอาการหายวับเข้าไป แล้วมันไปมีความรู้สึกอันหนึ่งของมันต่างหาก ความรู้สึกอันนั้นถ้าหากมันเกิดความปลอดภัยโปร่งโล่งไปหมด หรืออาจมีภาพนิมิตปรากฏในขณะนั้น แล้วมีความเพลิดเพลินอยู่ในเรื่องนั้นในความสงบสุขนั้น อันนั้นเป็นลักษณะของอัปปนาฌาน ส่วนอัปปนาสมาธินั้นเบื้องต้นฝึกอบรมในอารมณ์อันเดียวกัน เวลาเข้าถึงเอกัคคตารมณ์และเอกัคคตาจิตก็คล้ายๆกัน เมื่อเข้าถึงเอกัคคตาจิตแล้ว มันจะมีสติและความรู้สึกอันหนึ่งรวมอยู่ในเอกัคคตาจิตนั้นต่างหากเฉพาะของมันเอง ความรู้สึกทั้งหมดจะเอามาพูดเป็นภาษาพูดไม่ถูก จะพูดได้ก็พออนุมานเท่านั้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ก.ค. 2010, 14:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 ก.พ. 2010, 16:34
โพสต์: 1050

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ถาม ผมขอกราบเรียนท่านอาจารย์ ขอท่านอาจารย์อธิบายเรื่องอัปปนาฌานกับอัปปนาสมาธิ เพราะมันเป็นเรื่องที่ยากที่ใครจะอธิบายได้

ตอบ อัปปนาฌานกับอัปปนาสมาธิ เบื้องต้นโดยมากมักใช้อารมณ์เหมือนกัน คือ อานาปานสติ อสุภ หรือธาตุ เหล่านี้แหละเป็นอารมณ์ แต่เวลาเข้าถึงอัปปนาแล้วก็มีลักษณะผิดกัน นี่จะไม่พูดถึงเบื้องต้นนะ พูดถึงอัปปนาเลยที่เดียว ถ้าจะพูดถึงฌานก็ต้องเป็นภวังค์ คือเมื่อจิตเข้าไปเพ่งอารมณ์นั้นๆ แล้วน้อมให้เป็นไปตามต้องการ หากจิตตกวูบเข้าไปเข้าไปเป็นภวังค์ขณะนิดเดียว แต่ยังตั้งตัวไม่ติด นิมิตก็จะยังไม่เกิด ถึงจะเกิดก็จะยังจับอะไรไม่ได้ก่อนเรียก ภวังคบาท ถ้าหากจิตวูบเข้าไปเป็นภวังค์อยู่นานหน่อย บางทีก็จะเกิดภาพนิมิตหรือรู้อะไรต่างๆนาๆ แล้วจิตนั้นจะวิ่งเข้าไปยึดเอาภาพและนิมิตนั้นๆ มาเป็นอารมณ์เครื่องอยู่ แต่บางทีก็จะไม่มีภาพนิมิตดังกล่าว แต่จิตนั้นก็มิได้ถอนออกมา มันจะส่งส่ายภายในของมันเองด้วยความเพลินสนุก เรียกว่า ภวังจรณะ ถ้าจิตน้อมเข้าไปอย่างเต็มที่มีความเชื่อมั่นและเลื่อมใสพอใจยินดีในความสงบสุขในอารมณ์นั้นๆ แล้วจิตจะเข้าภวังค์อย่างเต็มที่ บางทีอาจไม่รู้สึกตัวเลยว่าอะไรเป็นอะไร บางทีก็รู้สึกตัวอยู่ แต่มิใช่ตัวอันนี้หรือโลกอันนี้ แต่มันเป็นตัวหรือเป็นโลกอีกอันหนึ่งต่างหาก แล้วก็เพลินและยินดีมีความสุขมากอยู่ในอารมณ์อันนั้น เรียกว่า อัปปนาฌาน ฌานมีลักษณะอย่างนี้
.....ถ้าพูดถึงสมาธิต้องเป็นสมาธิอีกนัยหนึ่ง มรรคต้องเดินแถวสมาธิ คือเมื่อจิตเข้าไปกำหนดหรือยึดเอาอารมณ์อันใดอันหนึ่ง (ในที่นี้ไม่ได้เรียกว่าเพ่ง แต่เรียกว่า กำหนดหรือยึด) มาเป็นที่ตั้งของจิตแล้ว จิตจะปล่อยวางอารมณ์อื่นๆ แล้วเข้ามารวมจุดเดียวเป็นพักๆ เรียกว่า ขณิกสมาธิ แต่ถ้าจิตนั้นปล่อยวางอารมณ์ภายนอกทั้งหมด แวมากำหนดพิจารณาอาการของอารมณ์ภายในของตัวเองอยู่ต่างหาก หรือบางทีอาจยกเอาธรรมบทใดบทหนึ่งหรือหมวดใดหมวดหนึ่งขึ้นมาพิจารณาอยู่เฉพาะตัวเอง โดยมิได้ส่งออกไปตามอดีตอนาคตก็ได้ อย่างนี้เรียกว่า อุปจารสมาธิ บางทีในขณะนั้นเองจิตอาจรวมเข้าเป็นภวังค์หายวูบไปเลย แล้วเกิดภาพนิมิตหรือความรู้อะไรต่างๆ ก็ได้ นั่นพึงเข้าใจว่าจิตกลับเปลี่ยนเข้าฌานแล้ว พึงเข้าใจว่าภาพนิมิตและความรู้ต่างๆ ในจำพวกอภิญญา๖ นั้นเกิดจาก ฌานทั้งนั้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ก.ค. 2010, 16:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 ก.พ. 2010, 16:34
โพสต์: 1050

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


....เมื่อจิตแน่วแน่เต็มที่แล้ว สติผู้ควบคุมจิตและจิตผู้กำหนดอารมณ์ความรู้ที่มีความรู้สึกว่าเรากำหนดว่าอารมณ์อยู่ก็ดี จะมารวมเข้าเป็นอันเดียวกันแล้วจะปรากฏเป็นเอกเทศของมันเองอยู่ส่วนหนึ่งต่างหาก ในขณะนั้นจะพูดก็ไม่ออกบอกก็ไม่ถูก ถึงแม้เมื่อถอนออกมาจากนั้นแล้ว จะอธิบายอย่างไรๆ ก็ไม่เหมือนความเป็นอยู่ในขณะนั้น อย่างดีก็อุปมาอุปไมยให้คนอื่นฟังพอจะเข้าใจได้บ้าง เรียกว่าอัปปนาสมาธิ
......ฌานไม่ต้องใช้ปัญญา ถึงแม้จะต้องใช้ปัญญาเบื้องต้นในการพิจารณาก็ตาม ในเมื่อฌานเกิดขึ้นแล้วมีอาการให้เพ่งส่งไปในการชอบใจติดความสงบสุขเป็นเครื่องวัด มิได้ละกิเลส เป็นแต่ทำนิวรณ์ให้สงบเท่านั้น
.......ส่วนสมาธิต้องใช้ปัญญา ตั้งแต่เริ่มต้นพิจารณาอารมณ์ เมื่อจิตเป็นอุปจารสมาธิแล้ว ปัญญาพิจารณาธาตุ-ขันธ์-อายตนะยิ่งชัด เป็นการเดินมรรคละสักกายทิฏฐิ-วิจิกิจฉา-สีลัพพตปรามาสได้ ถ้าจะพูดอีกนัยหนึ่ง ฌาน-จิตกล้าหาญปัญญาไม่เกิด ส่วนสมาธิ สติ-สมาธิ-ปัญญา มีความสมดุลย์กัน เดินมรรคสม่ำเสมอ


ถาม ขอกราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่า เวลาหัดสติผมพยายามพิจารณาจิต ผมเห็นคล้ายกับวัตถุอันหนึ่งเกิดขึ้น มีชีวิตอยู่ แล้วมันดับไป เห็นรูปเกิดขึ้น มีชีวิตอยู่แล้วมันก็ดับไป เวทนาก็เหมือนกัน เห็นว่ามันเป็นอนิจจังไม่ใช่เป็นตัวเป็นตน

ตอบ นั่นแหละ ถ้าหากเราหัดสติสมบูรณ์เต็มที่แล้ว พระไตรลักษณญานก็จะเกิดเองเป็นเอง รวมเรียกว่าขันธ์ ๕ จะลงสู่พระไตรลักษณญานโดยอัตโนมัติ นี่เพราะอำนาจสติของเราเพียงพอ มีสติเต็มที่แล้วเกิดขึ้นเอง เราต้องหัดอยู่อย่างนี้อยู่ตลอดไป ทุกสิ่งทุกอย่างถ้าเห็นอย่างนั้นแล้ว อุปาทานก็ไม่มี ปล่อยวางลงไปได้ ตัวของเราก็ไม่มีอุปาทานในตัว เมื่อไม่มีอุปาทานในตัวสิ่งอื่นนอกจากนี้ก็ไม่มีอุปาทาน แล้วทุกข์มันจะมีมาแต่ไหน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ก.ค. 2010, 16:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 ก.พ. 2010, 16:34
โพสต์: 1050

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ถาม ได้ยินบางคนเคยพูดให้ฟังว่า สมถะไต้องหัด หัดแต่วิปัสสนาก็พอแล้ว สมถะสงบเป็นบางครั้งบางคราวเท่านั้น ไม่สามารถทำให้สำเร็จมรรคผลได้ แต่ผมยังเห็นว่า สมถะนี้เป็นรากฐานสำคัญมาก ผมอยากทราบว่าเรื่องนี้อย่างไรกันแน่

ตอบ มีนักปฏิบัติหลายคนในเมืองไทยเราที่คิดเห็นและเข้าใจในแนวนั้น คือว่าสมถะเป็นของไม่จำเป็น จะต้องเจริญวิปัสสนาอย่างเดียว แม้แต่ศีลก็ไม่จำเป็นต้องรักษาเขามีหลักอ้างว่า ผู้ที่สำเร็จมรรคผลนิพพานได้เพราะปัญญา มีหลักอ้างว่า ปญฺญาย ปริสุชฺฌติ คนจะบริสุทธิ์ได้ก็เพราะปัญญา มีหลักอีกนัยหนึ่งซึ่งเขาลืมไป เมื่อเวลาบวชพระเสร็จแล้ว อุปัชฌาย์จะต้องสอนก่อนอื่นว่า สีลปริภาวิโต สมาธิ มหปฺผโล โหติ มหานิสํงโส ผู้เจริญศีลดีแล้ว มีสมาธิเป็นอานิสงส์ใหญ่ สมาธิปริภาวิตา ปญฺญา เป็นอานิสงส์ใหญ่ แล้วท่านอธิบายถึงเรื่องผลเมื่อเจริญปัญญาดีแล้วจะถึงวิมุติหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงได้ มีอยู่อย่างนี้ คนที่อธิบายหรือคนที่เข้าใจว่าสมาธิไม่จำเป็น แท้ที่จริงคนๆนั้นเข้าใจว่ายังไม่ได้สมาธิ จึงไม่เห็นอานิสงส์ของสมาธิ ถ้าผู้ใดได้สมาธิแล้วไม่มีใครปฏิเสธเช่นนั้นกันเลย หรือได้สมาธิแล้วแต่ไม่เกิดปัญญา เป็นอย่างนี้กันโดยมาก เมื่อตนเองทำไม่ได้เลยหาว่าหลักที่ท่านว่าไว้นั้นผิด มันกิเลสเข้าตัว

ถามผมได้มีประสบการณ์มาแล้วคือ เวลาภาวนาตั้งสติให้มั่นคงเต็มที่ แล้วจิตจะไปจดจ่อยึดอยู่ ณ ที่นั้น แล้วทำให้เกิดความสว่างไสวมีปีติเต็มที่ บางทีนอนไม่หลับเป็น ๒-๓ วันก็มี บางครั้งสติไม่เต็มที่ถึงขนาดนั้น แต่มีความรู้สึกต่ออารมณ์ต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาทางอายตนะทั้ง ๖ แต่มันรู้เท่าว่า อันนี้มันไตรลักษณ์ รู้แล้วมันก็วางเฉย ผมไม่ทราบว่าจะให้ทำอย่างไรต่อประสบการณ์นั้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ก.ค. 2010, 14:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 ก.พ. 2010, 16:34
โพสต์: 1050

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ตอบ ประสบการณ์อันนั้นดีแล้วที่รู้ประจักษ์เห็นด้วยตนเอง ไม่ต้องแก้ ปล่อยให้มันเป็นตามเรื่องของมันอย่างนั้นแหละ ขอแต่ทำให้ชำนาญ สังเกตให้ดีในลักษณะที่มันเป็นเช่นนั้น ว่าเราได้กำหนดตั้งสติไว้กล้าแข็งอย่างนี้จึงเกิดอาการอย่างนี้ สติเราอ่อนอย่างนี้จึงมีอาการอย่างนี้ เท่านั้นก็พอ ทีหลังเราต้องการจะให้มันเป็นอย่างนั้นอีกก็ทำได้คล่องเพื่อเป็นเครื่องอยู่ แล้วต่อไปดีหรือชั่วผิดหรือถูก จะรู้ได้ด้วยตัวเอง

ถาม ขอเรียนถามท่านอาจารย์ว่า เวลาภาวนา จิตมันเพ่งอยู่ในอารมณ์ใดแล้ว จะมีความสงบสุขชอบใจอยู่ในอารมณ์นั้น ไม่อยากพิจารณาอะไรเลย เห็นว่านี่ดีพอแล้ว เดี๋ยวเดียวจิตเข้าภวังค์หายเงียบไป เมื่อเวลามันถอนออก มารู้สึกว่าไม่สงบสุขเต็มที่ แต่มองอะไรเห็นอะไรเข้า มันมักให้เกิดความรู้แปลกและเป็นไปเพื่อสลดสังเวชเบื่อหน่ายไปหมด เดี๋ยวเดียวมันก็จะเป็นไปในสภาพเดิมอีก แล้วจะให้ทำอย่างไรหรือปล่อยให้มันเป็นไปอย่างนั้นอยู่ตลอดเวลา

ตอบ ช่างมันเถิดมันจะเป็นอะไรก็ตามเราไม่ต้องไปดัดแปลงแก้ไข ถึงจะดัดแปลงแก้ไขก็ไม่ได้ เมื่อเราฝึกจิตของเราเข้าถึงขั้นนั้นแล้ว หากมันเป็นของมันเอง หน้าที่ของเราขอแต่ให้เราชำนาญรู้เท่าเข้าใจในเรื่องนั้นๆ แล้วอย่าได้ไปหลงยึดคิดเอาเป็นของจริงจังก็แล้วกันดังได้อธิบายมาแล้ว แต่ในที่นี้ขออธิบายเพิ่มเติมอีกว่า เมื่อจิตเข้าภวังค์หายวับไปนั้น ไปเสวยสุขยินดีอยู่กับขันธ์ในจึงเป็นเหตุให้หลงและติดเพราะมีความสุขมาก ถ้าจะพูดให้เข้าหลักก็เรียกว่า จิตไปติดหลงอยู่ในฌาน เมื่อจิตมันถอนออกมาจากภวังค์แล้วมาเห็นขันธ์นอกธรรมดาๆ ซึ่งเคยได้รู้ได้เห็นอยู่ประจำ แต่ด้วยอำนาจจิตเรายังมีสมาธิอยู่จึงมองเห็นธรรม คือพระไตรลักษณญานไปหมด
ถ้าจะพูดให้เข้าหลักก็เรียกว่า ปัญญาเกิดจากสมาธิเป็นองค์มรรค ที่จะนำให้รู้แจ้งเห็นจริงในสรรพกิเลสทั้งปวงจนละได้ในที่สุด ทั้งฌานและสมาธิมันเป็นคู่กันอยู่อย่างนั้น เหมือนคนทำงานไม่มีการพักผ่อนก็ทำงานได้ ถ้าพักผ่อนมากๆ งานก็ไม่เดิน


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 35 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2, 3  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 11 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร