วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 04:21  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 18 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.ค. 2010, 14:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

อริยทรัพย์ ๗ อย่าง
พระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป


นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมา สมฺพุทฺธสฺส (๓ จบ)
การฟังเทศน์ฟังธรรม บุคคล ควรที่จะตั้งใจจดจ่อนำข้อธรรม
ที่ได้ยินได้ฟังนั้น นำไปพินิจพิจารณา
ไตร่ตรองใคร่ครวญหาเหตุ หาผลค้นคว้า
รู้จักเนื้อหาของธรรมะนั้น มีผลมีประโยชน์อย่างไร
จึงจะทำให้เราเข้าใจในกัณฑ์เทศน์อันนั้นได้
ให้เกิดผลเกิดประโยชน์
ท่านพระพุทธองค์ทรงสอนไว้ว่า
จิ ตฺเต จิตฺตา วิปสฺสี วิหรติ สุสฺสูสํ ลภเต ปญฺญํ
การตั้งใจฟังด้วยดี ด้วยความสงบให้จดจำ
ข้อธรรมนั้นได้เกิดปัญญา



เหตุฉะนั้น พวกเราทั้งหลายที่เป็นผู้มีความตั้งใจใฝ่ศึกษา
ตามหลักพระพุทธศาสนา
เรื่องที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระพุทธองค์ทรงสอนเอาไว้มาหลายเรื่องหลายราว
หลายกัณฑ์ หลายบทหลายอย่าง
เรื่อง ขัดเกลาเผากิเลส อันเป็นเหตุทำให้ เกิด ทุกข์
เวียนว่ายตายเกิด ในวัฏฏสงสารไม่มีที่สิ้นสุด
เพื่อจะให้กิเลสนั้นลดน้อยถอยหมดสิ้นไปจากดวงใจของพวกเรา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.ค. 2010, 14:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


การที่เราปรารถนามุ่งหวังตั้งใจไว้ทำอะไรทุกสิ่งทุกอย่าง
ก็ต้องการพ้นทุกข์ เราไม่อยากทุกข์แต่มันก็มีความทุกข์เกิดขึ้น
ทุกข์จากสิ่งแวดล้อมต่างๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ทำให้เกิดทุกข์
ทุกข์ที่จะเกิดขึ้นจริงๆ ก็เกิดขึ้นที่จิตใจของตนเอง
ไม่ได้เกิดจากบุคคลอื่น
แต่คนทั้งหลายก็ว่าคนอื่นทำให้เราเป็นทุกข์
ทุกข์จริงๆ นั้น เป็นหน้าที่จิตใจของพวกเรานั้น
เกิดคิดขึ้นคิดยึดมั่นถือมั่น
ถ้าเราโทษแต่คนอื่นก็จะทำให้ตนเองนั้นเกิดทุกข์
เอาไปเอามาแล้วเราคิดว่า
ทุกข์เกิดมาจากจิตคนอื่นหรือจิตของตนเอง
เหตุฉะนั้น ครูบาอาจารย์ ท่านจึงสั่งสอนว่า
ความทุกข์นั้นเกิดมาจากของที่มีอยู่ ไม่ใช่ทุกข์จากของที่ไม่มี
ทุกข์กับร่างกายของเรา ใจของเรานั้น ทุกข์กับร่างกายของเรา
เมื่อคิดแล้วเราจะทำอย่างไรจึงจะหาวิธีแก้ความทุกข์ได้


การที่จะแก้ไขทุกข์ไม่ให้เกิด
จึงเป็นเหตุที่สำคัญที่สุดเป็นงาน ที่หนักและงานที่ยาก
แต่อย่างไรก็ตามครูบาอาจารย์ทั้งหลายท่านเป็นนักปฏิบัติ
ท่านก็แก้ไขได้
ถ้าเราพูดถึงง่ายๆ เหมือนกับคน มีความโกรธ
โกรธขึ้นมาก็ทุกข์แต่สามารถละความโกรธได้
ดังนั้น ตนเองก็จะหายจากความทุกข์ได้
ก็เป็นอย่างนี้ท่านลองคิดพิจารณา
ดูดีๆ ใจของเราเศร้าหมองอย่างไร
โศกเศร้า แต่ก็แก้ไขใจเศร้าหมอง โศกเศร้าบรรเทาไปได้
ทำให้ใจแช่มชื่นเบิกบานได้
ก็เป็นเรื่องการฝึกฝนอบรมจิตใจที่จะให้มีสติปัญญา
เพราะธรรมทั้งหลายเกิดจากเหตุ
ตามหลักคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนา
จึงถือได้ว่าพุทธศาสนานี้ เป็นศาสนาที่ทันสมัยที่สุด
สามารถแก้ไขความทุกข์ความเดือดร้อน
จากจิตใจของคนให้เกิดความสงบสุขได้


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.ค. 2010, 14:54 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


เหมือนกับธรรมะ เป็นเครื่องกำจัดและทำความสะอาด
ทำความสกปรกให้สะอาดเป็นเหมือนสิ่งที่สกปรก
ก็ต้องทำแฟ้บทำสบู่ ทำสิ่งของมาชำระล้างให้สะอาดฉันใดก็ดี
กิเลสก็เหมือนของที่สกปรก
มีแต่สติปัญญาของคน วิชาความรู้ของคนเท่านั้น
เป็นของที่กำจัดของสกปรก คือ ความมืดมนอนธการ
กิเลสทั้งหลายนอนเนื่องอยู่ในจิตตสันดานของพวกเรา
ให้มันว่างไปจากความกดดัน ความยึดมั่นถือมั่น และความทุกข์

หรือความหลงของจิตใจของบุคคล
ใครหลงมากก็มีความทุกข์มาก ใครหลงน้อยก็มีความทุกข์น้อย
ผู้ที่ท่านไม่หลงเลย ท่านก็ไม่ทุกข์เพราะไม่มี อะไรที่จะหลง


การที่เราศึกษา ธรรมะก็เพื่อให้เราไม่หลง
คือทำให้เราเข้าใจ ไม่หลงทาง

เราทุกคนถ้าทำอะไรที่ไม่หลงแล้วก็ตาม
เป็นเรื่องที่มันทำยากเหลือเกิน
แต่อย่างไรก็ตามพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์
ทรงกำจัดความโลภ ความโกรธ ความหลงได้
และให้เดินทางถูกต้องได้
พระสาวกก็เหมือนกัน จนมาถึงพวกเราๆ นั้น ก็เหมือนกัน
ก็จะเป็นผู้สามารถรู้และเข้าใจ
ขัดเกลากิเลสออกจาก ดวงใจได้ด้วยสติปัญญานั่นเอง
เหตุฉะนั้น พระพุทธองค์ทรงสอนเอาไว้ว่า
มีทรัพย์สมบัติทั้งหลาย ทรัพย์ก็มีอยู่ภายใน และภายนอก

คนทั้งหลายก็ต้องแสวงหาซึ่งทรัพย์ภายนอกแล้ว
และ ก็ต้องแสวงหาทรัพย์ภายในด้วย
แต่ส่วนมากคนที่ไม่ได้ใส่ใจ
ไม่ขวนขวายเข้าวัดฟังธรรมจำศีลและปฏิบัติ
นั่นก็คือ ต้องคิดแสวงหาอยู่แต่ทรัพย์ภายนอก
แต่ทรัพย์ภายในนั้นก็ไม่ได้แสวงหา
เราก็เห็นได้ว่า ทรัพย์ภายนอกก็เป็นสิ่งที่อำนวยความสะดวก
ให้สุขในพักหนึ่งในระยะหนึ่งได้แต่


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.ค. 2010, 14:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ทรัพย์ภายนอก ทั้งหลายนั้นก็ทำให้บุคคลมีความทุกข์ไปด้วยได้
ที่เราสังเกตุดูก็จะเข้าใจในเรื่องนี้มีทั่วโลก
บ้านใดเมืองใดประเทศไหน การแสวงหาทรัพย์ สมบัติภายนอก
ขอให้มีความสุขได้และ ความสะดวกได้
แต่ความทุกข์แอบแฝงอยู่กับความสุขที่อิงอามิส
(อามิสคือวัตถุสมบัติทั่วไป)
ด้วยอามิสต่างๆ นั้น ก็ไม่ได้ปล่อยวาง ก็ไม่ได้เข้าใจ
เพราะไม่มีสติปัญญาที่จะเข้าใจในเรื่องนั้น
ก็ต้องพากันแสวงหาแต่ทรัพย์ภายนอกอย่างเดียว
มันก็มีประโยชน์ทำให้เกิดสุข แต่มันมีความทุกข์ไปด้วยกัน


เหตุฉะนั้น เราเป็นนักปฏิบัติ
ไม่แสวงหาทรัพย์ภายนอกแต่อย่างเดียว มันมีอยู่แล้ว
ให้พากันแสวงหาทรัพย์ภายในเพื่อให้มีในจิตใจของพวกเรา
เราจึงจะมีทรัพย์มรดกที่แท้จริง

ที่สุดทำให้เกิดมีความสุขได้ จึงจะเป็นนิรมิสสุข
คือสุขที่ไม่พึ่งแต่ทรัพย์ภายนอก
ถ้าเรามองดูก็เท่านั้นแหละทรัพย์ภายนอกนี่


แต่ว่าทรัพย์ภายในซึ่งมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด
เขารู้ว่าอะไรคือ ทรัพย์ภายนอกก็เข้าใจ
และจะแก้ไขจิตใจของตนเองได้
ส่วนทรัพย์ภายในนั้น เป็นทรัพย์ที่ไม่ได้ถือติดตัวไป
ไม่ได้ถือไป เหมือนกับทรัพย์ภายนอก
ทรัพย์ภายในมีอยู่ในจิตใจของบุคคล
ที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดมันเกิดขึ้น จึงเรียกว่าเป็นอริยทรัพย์
คือ ทรัพย์ภายในที่มีไว้ในจิตใจนี้เอง
คือ ทรัพย์ที่จะติดสอยห้อยตามบุคคลไปทุกภพทุกชาติ
ที่มีอยู่ที่จิตใจของเรา

จิตใจของคนเราจะเก็บข้อมูลต่างๆ เอาไว้
เหมือนตลับเทปคาสเซ็ท ทั้งความดี และความชั่ว
ถ้าใครทำบาปความชั่วมาก
จิตใจก็จะเกลือกกลั้วความชั่วสกปรกของจิตใจไว้มาก
ถ้าหากบุคคลสะสมแต่คุณงามความดีไว้
เช่น ทำความดีสะสมให้มาก
จิตใจก็จะเก็บข้อมูล คุณงามความดีไว้ได้มาก
ถ้าเราทำคุณงามความดีทางกายวาจาใจ ในสิ่งต่างๆ กัน
อันเกิดขึ้นมาในโลกนี้ก็เป็นเรื่องราวอย่างนี้เอง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.ค. 2010, 14:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


เหตุฉะนั้น พวกเราทั้งหลายให้พิจารณาว่าทรัพย์ภายนอก
แก้ว แหวน เพชรนิลจินดา เงินทองสิ่งของ ไร่นาเรือกสวน
ช้าง ม้า โค กระบือ หมู เห็ดเป็ดไก่
สิ่งทั้งหลายเครื่องใช้ไม้สอยอำนวยความสะดวก
มีวัตถุทั้งหลาย เขาเรียกว่า ทรัพย์ภายนอก
เป็นเครื่องอำนวยความสะดวกให้
บัดนี้ ทรัพย์ภายนอกนั้นเป็นทรัพย์ที่ติดตามเราไปไม่ได้
มันเป็นอนิจจัง เป็นของที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน

สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นจึงเก่าแก่คร่ำคร่าทรุดโทรม
และของนั้นก็เสื่อมไปในโลกนี้ เราเอาติดตัวไปด้วยไม่ได้
ก็เรียกว่า เป็นทรัพย์ภายนอก
แต่คนก็ต้องแสวงหาทรัพย์ภายนอกสะสมเอาไว้
มีบ้านช่องมีรถราก็ดีหรือ สถานที่ต่างๆ ที่ตนเองพักพาอาศัยอยู่
เพื่ออำนวยความสะดวก ในบ้านใดเมืองใด ประเทศไหน
นี่แหละทรัพย์ภายนอกของเรา ก็ ตั้งอยู่ในโลกก็เพียงแค่นี้เอง


บัดนี้ ทรัพย์ภายในที่จะฝังอยู่ในจิตใจคือทรัพย์ที่เราไม่ได้ถือติดตัวไป
แต่เป็นทรัพย์ที่เกิด อยู่ในสติปัญญาและความจำของจิตใจ

ที่จะนำไปใช้อยู่ทั่วโลก ทำให้ตนเองนี้เกิดความสะดวกสบาย
และ มีความสุขได้แบบสมบูรณ์ ก็เรียกว่า เป็นทรัพย์อย่างหนึ่ง
พระพุทธองค์ทรงสอนไว้อย่างนี้ว่า
ทรัพย์ภายนอกเป็นทรัพย์ที่อิงอามิส เจือไปด้วยทุกข์
มีทั้งทุกข์และมีทั้งสุขไปด้วยกัน
แต่ทรัพย์ภายในนั้น มีแต่ความสุข ความทุกข์จะไม่เกิดขึ้น
ก็เพราะอยู่ที่สติปัญญา นั้นเรียกว่า อริยทรัพย์ คือ ทรัพย์อันประเสริฐ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.ค. 2010, 15:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


พระพุทธองค์จึงตรัสสอนไว้ว่า อริยทรัพย์ มี ๗ อย่าง

:b42: ข้อที่หนึ่ง ศรัทธา

เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ นั้นคือ การเชื่อเหตุเชื่อผล
เช่น การที่เราเชื่อว่า หากบุคคลทำบาปความชั่วในทางกายก็ดี
ก็จะได้รับผล คือ ความทุกข์
หากมาคิดดูว่าคนเรามีรูปร่างกาย
ถ้าเขาเอารูปร่างกายไปทำบาปความชั่ว
เช่น ฆ่าเพื่อนมนุษย์ด้วยกันทั้งหลายอย่างนี้
ก็เชื่อว่า เป็นสิ่งที่ไม่ดี ที่เป็นบาป
จะเป็นเวรเป็นกรรมนำความทุกข์มาให้
หากเชื่อว่าคนมีรูปร่างกายนี้ เอาไปเป็นโจรเป็นขโมย
เอาสิ่งของ ของคนอื่นที่เขาหวงแหนอยู่ เอามาเป็นของตน
อย่างนี้เราก็เชื่อว่า เป็นสิ่งที่ไม่ดี
เราเอากายของเรานี้ไปทำบาปความชั่ว
หากเชื่อว่าเรามีรูปร่างกาย
เราไปทำผิดประเวณีสามีภรรยาของบุคคลอื่นอย่างนี้
ก็จะทำให้ไม่มีศีลทำให้แตกสามัคคีกันเป็นสิ่งที่ไม่ดี
เรียกว่า เอากายไปทำสิ่งที่ไม่ดี
ความทุกข์ก็จะเกิดมีขึ้นแก่บุคคลที่ทำบาป ความชั่วทางกายอย่างนี้
บัดนี้ หากเราเชื่อมั่นว่าเรามีรูปร่างกาย เราไปทำคุณงามความดี
เช่น ทำบุญทำทานการกุศล สร้างคุณงามความดี
ให้เกิดให้มีขึ้นแก่ตนและส่วนรวม ก็จะนำความสุขมาให้
เช่น บุคคลทำสิ่งต่างๆ เครื่องอำนวยความสะดวก
หรือสร้างอะไรที่เป็นผลเป็นประโยชน์
มีคุณค่ามีสาระประโยชน์อำนวยความสะดวก
ให้ทั้งตนและบุคคลอื่นทั้งหลาย
จึงเชื่อมั่นว่า เมื่อบุคคลสร้างคุณงามความดี
สร้างบุญ สร้างกุศล สร้างกุฏิ ศาลา ก็ดี โบสถ์ วิหารก็ดี
สร้างถนนหนทางก็ดี สร้างสะพานข้ามน้ำ สร้างรถ สร้างเรือ
สร้างเครื่องบินต่างๆ ทั้งหลายเหล่านี้
ผลนั้น ก็จะมีความสุขเกิดขึ้น
เรียกว่า การเอาร่างกายทำความดี
นี้เป็นสิ่งที่เราควรจะพิจารณาว่า เรามีความเชื่อมั่นในทางที่ถูกต้อง
ถ้าหากบุคคลทำบาปความชั่วไม่ดีไม่งามทางกายของตนเอง
ความทุกข์ก็เกิดขึ้น เราก็เชื่อมั่นว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ไม่ดี
ถ้าหากเราเอาร่างกายของเรานี้ สร้างคุณงามความดีดังได้กล่าวมา
เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ทั้งตน
และบุคคลอื่นทั่วไปทั้งหลายเหล่านั้นเป็นต้น
เราก็เชื่อมั่นว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ดี
ควรเชื่อ ควรกระทำ เป็นสิ่งที่ดี มีประโยชน์
ทั้งส่วนตนและส่วนรวมเกิดขึ้น นั่นก็เรียกว่า ความเชื่อที่ถูกต้อง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.ค. 2010, 15:03 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


:b42: ข้อที่สอง ศีล

คนเรานี้มีรูปร่างกายแล้ว ยังมีวาจา การพูด
และการคิดอ่านภายในจิตใจ
การรักษาศีลแม้จะรักษาศีล ๕ ก็ดี
ศีล ๘ ก็ดี ศีล ๑๐ ของสามเณรก็ดี
ศีล ๒๒๗ ของพระภิกษุนั้นก็ดี
การรักษาศีล ก็คือ รักษากาย
เรามีรูปร่างกายไม่เอารูปร่างกายไปฆ่าเพื่อน
มนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย เรามีรูปร่างกาย เรามีเมตตาต่อกัน
ไม่เบียดเบียนกัน ไม่ทำร้ายกัน ไม่ฆ่าฟันรันแทงและไม่รบราฆ่าฟันกัน
มีเมตตาซึ่งกันและกัน มีเมตตาว่าชีวิตของเขา เขาก็รักชีวิต ของเขา
ชีวิตของเรา เราก็รักชีวิตของเรา บุคคลเรามีเมตตาซึ่งกันและกันแล้ว
ก็ย่อมรักษากายของตนเองเอาไว้ได้
เรารักษากายเอาไว้ ไม่ให้ร่างกายของเราไปเป็นโจรเป็นขโมย
ไปปล้นไปจี้ ไปแย่งชิงวิ่งราวเอาของของบุคคลใด
ไม่ฉ้อราษฎร์บังหลวงไม่คอร์รัปชันอย่างนี้
ก็เรียกว่า เรารักษากายของเราให้ตั้งอยู่ในศีลข้อสอง
ถ้ามีรูปร่างกาย เราก็รักษารูปร่างกายของเรา
ไม่ไปผิดประเวณีสามีภรรยาของบุคคลอื่น
เราเว้นได้ เราก็รักษากายของเราให้เป็นกายที่บริสุทธิ์เกิดขึ้น
เช่นเดียวกันกับเมื่อเรามีรูปร่างกาย ไม่เอารูปร่างกายไปดื่มสุรา
สูบกัญชา ยาฝิ่น แค๊ป เฮโรอีน ผงขาว
ยาเสพติดให้โทษทั้งหลาย
เราควบคุมรูปร่างกายของเราไว้
เรียกว่ารักษากายของตนเอาไว้ เพื่อให้เป็นผู้มีศีล
และเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะควบคุมดูแลเอาไว้
ไม่ให้ล่วงเกินดังที่กล่าวมานี้
ก็เรียกว่าการรักษาศีล
กายก็เป็นกายที่มีศีลธรรมเกิดขึ้น
เรามีวาจา คำพูดจาปราศรัย เราควรที่จะรักษาวาจาของเราไว้
ไม่ให้วาจาของเราพูดโกหกหลอกลวงใคร
ไม่พูดส่อเสียดยุยงส่งเสริมให้คนแตกกัน
รักษาวาจาของเราไว้ ไม่ไปพูดคำหยาบโลนแก่คนเฒ่าคนแก่
แก่พ่อแม่ แก่เพื่อนแก่ฝูง แก่ลูกแก่หลาน
เรารักษาวาจาของเราไว้ รักษาจิตใจของเราเอาไว้
ด้วยไม่ให้คิดในเรื่องอย่างนี้
ควบคุมดูแลจิตของตนเองนั้นให้อยู่ในปกติได้ ก็เรียกว่า รักษาศีล
ท่านว่า รักษาศีลอยากให้เป็นคนที่มีศีลข้อหนึ่ง
ก็เป็นคนมีเมตตาต่อกัน ไม่ทำร้ายกัน
ข้อสองก็มีเมตตาต่อกัน ไม่เอาสมบัติของบุคคลอื่น
คิดเห็นใจบุคคลอื่นที่เขาหามาได้ยาก
ข้อสาม ก็คิดเห็นใจบุคคลอื่นไม่ไปล่วงเกินสามีภรรยาซึ่งกันและกัน
และเห็นว่าถ้ามีรูปร่างกาย ไม่ดื่มสุราสูบกัญชายาฝิ่น แค๊ป เฮโรอีน
ผงขาว ยาเสพติดให้โทษทั้งหลาย
เราเว้นได้ก็แปลว่า เรารักษากาย
กายของเราก็เป็นกายที่มีศีลมีศีลธรรมเกิดขึ้น นี่การรักษาศีล
รักษาศีลอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด เป็นอธิศีล ก็ดี
บัดนี้ ทางวาจาของเราพูดเหล่านี้ก็เหมือนกัน
ถ้าหากเราพากัน รักษาวาจาคำพูดของตนเอง
ไม่ไปพูดโกหกหลอกลวง มีแต่พูดคำซื่อสัตย์สุจริตต่อกัน
อย่าไปพูดให้คนแตกสามัคคีกัน มีแต่พูดให้คนสมานสามัคคี
รักใคร่ปรองดองกัน สนิทสนมกลมเกลียวกัน
เราไม่พูดวาจาที่เป็นคำหยาบ เราพากันพูดวาจาไพเราะเสนาะหู
แก่พ่อแก่แม่ แก่เพื่อนแก่ฝูง แก่คนเฒ่าคนแก่ แก่ลูกแก่หลาน
พูดจาอ่อนหวานนุ่มนวล ชวนให้อยากได้ยินได้ฟัง
บัดนี้เรามีวาจา ไม่พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล
ควบคุมวาจาของเราเอาไว้ให้พูดมีเหตุมีผล
ให้เป็นผลเป็นประโยชน์ ก็เรียกว่า รักษาวาจาของเราไว้ได้
วาจาก็ เป็นวาจาที่เป็นศีล
รักษาจิตใจของเราให้ปกติ ไม่ให้คิดจะล่วงเกิน
ศีลทั้งหลายที่ได้กล่าวมานั้น ทั้งกายและทั้งวาจา
จิตใจของเรานั้น เราควบคุมให้อยู่ในปกติ
ไม่ได้ไปคิดเรื่องที่ทำให้เสียหายอย่างนั้น
เรียกว่า จิตใจของเราเป็นปกติ เรียกว่า การรักษาศีล
คนที่รักษาศีลได้ ก็เป็นคนที่มีศีลทั้งกาย วาจา และจิตใจด้วย
เราควรจะพิจารณาให้ลึกซึ้งเข้าไปถึงจิตใจด้วยเรื่องการรักษาศีล


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.ค. 2010, 15:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


:b42: บัดนี้ข้อที่สาม หิริ

หิริก็คือความละอายต่อบาป ทุจริต คือ ความชั่ว ทางกายก็ดี
ถ้าหากว่าเราเข้าใจว่า เราเป็นผู้มีความละอาย
เราเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ ละอายต่อบาปที่จะเกิดขึ้น
ถ้าเราไปทำความชั่ว โดยทางร่างกายของเราก็ดี
ดังได้กล่าวมาทั้งหลายเหล่านั้น มันไม่ดี ไม่งามเกิดขึ้น
แล้วมันจะเป็นบาป มีความทุกข์เกิดขึ้นแก่ตนและบุคคลอื่น
จะนำมาซึ่งความเดือดร้อน
เราก็ควรที่จะละอายว่า โอ...เราไม่ไปทำบาปความชั่วด้วยกาย
เราไม่ทำบาปความชั่วด้วยการพูดจาปราศรัย
เราไม่คิดทำบาปความชั่วภายในจิตใจ
สิ่งที่ไม่ดีทุจริต ก็เรียกว่า ความชั่วทางกาย
ความชั่วทางวาจา ความชั่วทางจิตใจ
เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต
เหตุ ฉะนั้น เราก็ควรพากันพินิจพิจารณาในเรื่องอย่างนี้
ให้มีความละอายต่อบาปทุจริตทั้งหลายดังได้กล่าวมาแล้ว
ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคน ควรจะยึดปฏิบัติ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.ค. 2010, 15:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


:b42: ข้อที่สี่ โอตตัปปะ

ความสะดุ้งกลัวต่อบาป
ถ้าหากเราไปทำบาป ความชั่วทางกายนั้น
บาปความชั่วทั้งหลายที่คนกระทำอยู่หลายสิ่งหลายอย่าง
ทั้งเบียดเบียนกัน ทุบตีกัน ฆ่าฟันรันแทงยิงกันตายอย่างนี้
หรือเป็นโจรเป็นขโมยก็ดี ฆ่าเจ้าเอาของ
ผิดประเวณีทั้งหลายก็เหมือนกัน เป็นสิ่งที่ไม่ดีไม่ควรกระทำ
เป็นความชั่ว ทั้งหลาย จะทำให้เสียหายและเกิดทุกข์ขึ้น
เราก็เลยสะดุ้งกลัว ต่อบาปความชั่วที่ตนเองทำ
ที่ตนเองพูด ที่ตนเองคิด
อันจะทำให้เรานี้มีความทุกข์เกิดขึ้นในภายหลัง
เราก็ต้องกลัว กลัวแล้วก็ไม่กล้าที่จะไปทำบาปความชั่วทางกาย
กลัวไม่กล้าพูดชั่วทางวาจาก็รักษาวาจาของตนเอาไว้
ไม่ไปพูดจาปราศรัยให้เกิดบาปทางวาจา
เรามีจิตใจเราก็รักษาจิตใจของเรา
ไม่ให้คิดเป็นบาปเกิดขึ้นภายในจิตใจ
อย่างนี้ก็เรียกว่า สะดุ้งกลัวต่อบาปที่จะเกิดขึ้น
และควบคุมดูแลตนเองไว้ให้เป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ
ควบคุมกาย วาจา จิตใจ และความคิดของตนเองเอาไว้
เพราะเรากลัวว่าจะเป็นบาปความทุกข์เกิดขึ้น
ถ้าหากคิดได้อย่างนี้
เราก็ไม่กล้าทำบาปความชั่วทั้งหลาย
ดังได้กล่าวมาแล้วเหล่านั้นเป็นต้น
เราก็จะมุ่งไปทำสิ่งที่เป็นประโยชน์
เช่น สร้างคุณงามความดีให้เกิดให้มีขึ้นแก่ตน นี่ก็เรียกว่าโอตตัปปะ
ความสะดุ้งกลัวต่อบาปทั้งหลายที่จะติดตามตนเองมา
ก็เลยไม่กล้าทำบาปความชั่วทั้งหลายเหล่านั้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.ค. 2010, 15:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


:b42: ข้อที่ห้า พาหุสัจจะ

ความเป็นคนที่ได้ยินได้ฟังมามาก อย่างบุคคลได้ยินได้ฟังมามาก
ฟังเทศน์ฟังธรรมต่างๆก็ดี ฟังเรื่องราวต่างๆ นั้นก็มีประสบการณ์
เหมือนบุคคลเคยศึกษาเล่าเรียนทางโลกก็ดี
เรียนศิลปวิทยาอะไรต่างๆ เทคโนโลยีต่างๆ
จึงมีการสร้างอะไร เกิดขึ้น สร้างบ้าน สร้างช่อง
สร้างรถ สร้างเรือ สร้างเครื่องบิน
สร้างเครื่องอำนวยความสะดวกหลายสิ่งหลายอย่าง
ออกแบบอย่างนั้น อย่างนี้เป็นศิลปะต่างๆ
คนจะสร้างอะไร โบสถ์วิหารอะไร บ้านช่องอะไร
แกะสลักลวดลายอะไรต่างๆ เขาเรียก ศิลปวิทยา
ที่บุคคลมีเทคนิคในการที่จะรู้และเข้าใจในเรื่องราวต่างๆ


บัดนี้การได้ยินได้ฟังต่างๆ ที่เป็นธรรมะ
สอนตั้งแต่เรื่องการทำบุญ ทำทานการกุศลก็ดี
เราได้ยินได้ฟังเรื่องการรักษาศีล ให้เป็นผู้มีศีลเกิดขึ้นอยู่ในตนนั้นก็ดี
เราได้ฟังเรื่องวิปัสสนากรรมฐาน เรื่องพินิจพิจารณาหาวิธีแก้ไขกิเลส
ปลดเปลื้องออกจากดวงใจของตนเองนั้นก็ดี
การที่ฟังเทศน์ ฟังธรรม จดจำคำเทศน์ทั้งหลาย ที่ได้ยินได้ฟังนั้น
ก็เรียกว่าพาหุสัจจะ ความเป็นคนที่ได้ยินได้ฟังมามาก
และจดจำธรรมะที่ได้ยินได้ฟังมามาก
ก็เรียกว่า บุคคลนั้นศึกษาเล่าเรียนได้ยินได้ฟังมาก
จึงเป็นคนเก็บข้อมูลต่างๆ เหมือนกับคอมพิวเตอร์หรือโน๊ตบุก
เก็บไว้ในจิตใจของตนเอง รอบรู้อยู่ในจิตใจของตนเองนั้น
เก็บข้อมูลที่ได้รับมาและจดจำได้เป็นอย่างดี
เรียกว่าบุคคลนั้นเป็นพาหุสัจจะ


ความเป็นคนที่ได้ยินได้ฟังมามาก
และจดจำธรรมะที่ได้ยินได้ฟังมามาก
ก็เรียกว่าบุคคลนั้น ศึกษาเล่าเรียนได้ยินได้ฟังมาก
จึงเป็นคนเก็บข้อมูลต่างๆ เหมือนกับคอมพิวเตอร์ หรือโน๊ตบุก
เก็บไว้ในจิตใจของตนเอง รอบรู้อยู่ในจิตใจของตนเองนั้น
เก็บข้อมูลที่ได้รับมาและจดจำได้เป็นอย่างดี
เรียกว่าบุคคลนั้นเป็นพาหุสัจจะ
เป็นคนได้ยินได้ฟังมาก และจำเก่งมาก แม่นยำด้วย
และรู้ศิลปวิทยาทั้งหลาย ได้พบได้เห็นได้มีประสบการณ์มา
มีความรู้และเข้าใจ เพราะเคยพบเคยเห็นเคยศึกษามาแล้ว
ก็เป็นสิ่งที่อยู่ในตัวของบุคคลที่ประพฤติปฏิบัติได้นั่นเอง
คือเรียกว่า พาหุสัจจะ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.ค. 2010, 15:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


:b42: ข้อที่หก จาคะ

เสียสละให้ปันสิ่งของแก่บุคคลที่ควรให้ปัน
ข้อนี้ พวกเราควรศึกษาให้รู้ให้เข้าใจกันให้ดีๆ
การที่เราเสียสละแบ่งปัน อะไรทุกสิ่งทุกอย่าง
เครื่องอำนวยความสะดวกสิ่งของอะไรต่างๆ
แบ่งปันอาหารการกินก็ดี แบ่งปันเครื่องใช้เครื่องสอย
เครื่องนุ่งห่ม อะไรต่างๆ จิปาถะมันมีมากมาย
จะแบ่งปันให้เขา ต้องดูคนให้เข้าใจ
หรือเราเสียสละแบ่งปันเงินทองสิ่งของก็เหมือนกัน
เราก็ควรที่จะดูคนให้เข้าใจก่อน
บุคคลนี้เราควรจะแบ่งปัน หรือไม่ควรจะแบ่งปันให้
เราต้องดูให้เข้าใจดีๆ เสียก่อน
เมื่อเราให้สิ่งของแบ่งปันให้เขาแล้ว
เขาเอาไปใช้เป็นประโยชน์ไหม
หรือเขาจะเอาไปทิ้งเสียหาย ไม่เป็น ประโยชน์
เงินก็เอาไปซื้อเหล้า ซื้อยากัญชา ยาฝิ่น สูบเฮโรอีน
ไปเที่ยวเล่นไพ่ เล่นไฮโล เข้าคาสิโนอะไร
ซื้อสิ่งของไร้ประโยชน์
เราก็ต้องดูให้ดีว่า เมื่อเราแบ่งปันให้เขา
เขาก็ควรจะเอาไปใช้ให้เป็นผลเป็นประโยชน์ มีคุณค่า
บุคคลนั้นควรจะรู้จักรักษาในสิ่งของที่เราแบ่งปันให้
เช่นเราจะเสียสละบริจาคแก่บุคคลที่ไฟไหม้บ้านวอดวายไปหมด
ทรัพย์สมบัติฉิบหายหมด คนนี้เขาก็ขยันหมั่นเพียรดีอยู่
แต่มันจำเป็นเพราะมีเรื่องวิบัติเกิดขึ้น เป็นภัยเกิดขึ้นแก่เขา
เราจะช่วยเครื่องนุ่งห่ม ช่วยอาหารการกิน
ช่วยเครื่องใช้เครื่องสอย ตามมีตามได้ที่เราแบ่งปันให้
เราควรจะแบ่งปันให้คนชนิดนี้
บัดนี้ เมื่อเกิดน้ำท่วมบ้านท่วมเมืองพัดพาเอาสิ่งของไปหมด
หรือเกิดลมพัดบ้านพัดเมืองทลายไปหมด
หรือแผ่นดินไหวเสียหายไปหมด อย่างนี้ก็เหมือนกัน
เราก็ควรจะช่วยแบ่งปันซึ่งกันและกัน
เวลาตกทุกข์ได้ยากลำบาก
เพราะเขาเป็นคนที่ขยันหมั่นเพียรเป็นคนดีอยู่
แต่มันเป็นภัยธรรมชาติ ภัยวิบัติทำให้เสียหายเกิดขึ้น
ก็ช่วยแบ่งปันตามได้ตามมีเหมือนกัน
จึงจะเรียกว่า แบ่งปันบุคคลที่ควรแบ่งปัน


บัดนี้ แม้ว่าบางครั้งมีคนไม่ดีแต่เขามีความลำบาก
เช่น เขามีความขาดแคลนอาหารหรือเครื่องนุ่งห่ม
เราก็ควรแบ่งปันบางสิ่งบางอย่างให้เขาได้ ด้วยความเมตตา
หรือบางครั้งเราก็ต้องแบ่งปัน ให้แก่เขาก่อน
เราจึงจะมีโอกาสสั่งสอนให้เขาเป็นคนที่ดีขึ้นได้
ในภายหลังถ้าเขาปฏิบัติตนดีขึ้นและยังมีความขาดแคลนขัดสน
เราก็อาจแบ่งปันให้เขาอีกได้
ในอีกเรื่องหนึ่ง เราอาจจะเคยแบ่งปัน ให้บุคคลด้วยความเมตตาสงสาร
แต่เขานำสิ่งของเหล่านั้นไปใช้ในทางไม่ดี ไม่เป็นประโยชน์
เราก็ต้องรู้จักหยุดการแบ่งปันสิ่งของ ของเรานั้นต่อบุคคลเช่นนั้น


คนที่จะแบ่งปันทรัพย์สมบัติให้ลูกให้หลานก็เหมือนกัน
เราก็ควรที่ จะดูให้ดี ว่าเราจะแบ่งปันอะไรให้เขาบ้าง
ถึงแม้คนที่ควรจะแบ่งปันอยู่ เราก็ควรดูว่าบุคคลนั้นๆ
เขาจะใช้สิ่งของนั้นให้เป็นประโยชน์ไหม
แต่ในบางครั้ง บิดามารดาที่มีลูกหลายคน
มีทั้งลูกที่ดีและลูกที่ไม่ดี
พ่อแม่ก็ควรเลี้ยงดูแบ่งปันสิ่งของต่างๆ
ให้ลูกทุกๆ คนเหมือนๆ กันหมด ด้วยความเมตตาเสียก่อน
แล้วจึงหาโอกาสสั่งสอนลูกที่ ประพฤติตนไม่ดีให้เป็นคนดีได้


บัดนี้ พวกบุคคลพิกลพิการทุพพลภาพ
ร่างกายขาดตกบกพร่อง เช่น ตาบอด หูหนวก แขนขาดขาขาด
ปัญญาอ่อน เราก็ควรแบ่งปันให้แก่พวกเขาเหล่านั้นด้วย
ด้วยความสงเคราะห์ด้วย ความเมตตาสงสาร
เพราะเขาเป็นบุคคลที่ทุพพลภาพ ไม่สมบูรณ์
พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้รู้จักว่า
การจำแนกแจกทานเสียสละ จาคะ บริจาคแบ่งปันสิ่งของต่างๆก็ดี
ก็ควรจะพิจารณาดีดๆ ให้ถี่ถ้วน
เพราะบุคคลที่ไม่ควรปันให้นั้น เอาทรัพย์สมบัติสิ่งของ
ที่เราให้ไปทำเสียหาย ไม่รักษา เราก็ไม่ควรที่จะแบ่งปันให้
ถ้าบุคคลใดเป็นคนที่เราควรเสียสละบริจาคแบ่งปันให้แล้ว
บุคคลนั้นก็ใช้สิ่งของนั้นให้เป็นประโยชน์
ไม่ใช่ไปทิ้งเสียเปล่าประโยชน์
จะให้เงิน ให้ทองไป แล้วก็เอาไปใช้ให้มีคุณค่า
ให้ของใช้ สิ่งของเครื่องอำนวยความสะดวกมีมากมายหลายอย่าง
ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
เมื่อเราให้ไปแล้วก็พากันรักษาสิ่งของเหล่านั้นเอาไว้ใช้
ให้มีคุณค่ามีประโยชน์ บุคคลก็ควรมีเมตตาซึ่งกันและกัน
เห็นไหมในปัจจุบันนี้ ไฟไหม้ บ้านไหม้เมืองกันก็ดี
เราก็มีเมตตาช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
เราควร แบ่งปัน น้ำท่วมบ้านท่วมเมืองก็ดี พัดพาสิ่งของไป
เราก็ช่วยเหลือ ซึ่งกันและกัน
ลมพัดบ้านพัดช่องหลังคาพังไป บ้านโค่นล้มไป เสียหายต่างๆ
เราก็ช่วยเหลือซึ่งกันและกันหลายสิ่งหลายอย่าง
ช่วยกันคนละไม้ละมือ อันนี้เป็นบุคคลที่เราควรจะแบ่งปันให้
พระพุทธองค์ทรงสอนเอาไว้อย่างนี้
เราควรไตร่ตรองใคร่ครวญ
ก่อนจะแบ่งปันสิ่งของให้บุคคลอื่น
แก่บุคคลต่างๆ นั้น ควรหรือไม่ควร
ก็ขอให้ใช้สติปัญญาพินิจพิจารณาดูให้รอบคอบก่อน
แล้วจึงแบ่งปันให้ จึงจะถูกหลักการเสียสละบริจาค เรียกว่า จาคะ
การจำแนกแจกทาน เสียสละให้ซึ่งกันและกัน
เพื่อความเหมาะสม ตามกาลเทศะ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.ค. 2010, 15:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


:b42: บัดนี้ข้อเจ็ด นั้นเป็นปัญญา

จะรอบรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์ และไม่เป็นประโยชน์
ข้อนี้เราควรที่จะพินิจพิจารณา การที่เราจะรู้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์
โอ...สิ่งใดมันจะเป็นประโยชน์ สิ่งใดมันจะมีโทษ
ไม่มีประโยชน์ เราควรศึกษา
ด้านปัญญานี้เป็นหลักปฏิบัติที่สำคัญที่สุด
ที่เราจะพากันพินิจพิจารณา ให้รอบรู้กับสิ่งต่างๆ
เพื่อจะให้ เข้าใจเออ...อะไรนี่เป็นประโยชน์ไหม
หรือไม่เป็นประโยชน์
อย่างนี้ จะมีโทษหรือไม่มีโทษ
เราจึงควรไตร่ตรองใคร่ครวญ
หากเราจะทำ อะไรทุกอย่างก็เหมือนกัน
ถ้าจะแสวงหาอะไรทุกอย่าง
เราต้องดูว่า สิ่งนั้นจะเป็นประโยชน์ไหม และมีคุณค่าไหม
อำนวยความสะดวกให้ไหม
เราต้องดูสิ่งของเหล่านี้ ถ้าหากเราดูแล้ว มันจะไร้ประโยชน์
เราจะเข้าใจว่าสิ่งไหนจะไร้ประโยชน์ หรือจะมีโทษเกิดขึ้น
เหตุฉะนั้น การศึกษาเรื่องอย่างนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
ถ้าเรารู้จักว่า เออ...พากันทำบุญทำทานการกุศล
มีประโยชน์สร้างอะไรที่มีคุณค่ามีประโยชน์เกิดขึ้น
อำนวยความสะดวกให้และพากันสร้างบ้าน สร้างช่อง
สร้างรถ สร้างเรือ สร้างเครื่องบิน
เครื่องอำนวยความสะดวกอะไรต่างๆ
เครื่องใช้ไม้สอยหลายสิ่งหลายอย่าง
โอ..สร้างขึ้นมาแล้วนี่ มันเป็นประโยชน์และมีคุณค่า
และเราก็พากันเห็น คุณค่าเห็นประโยชน์เกิดขึ้น
เราก็ทำได้ เห็นหรือเปล่า เราทำบ้าน ก็ได้อยู่
ทำศาลา โบสถ์ วัด วิหารก็ดี ก็ได้ใช้ได้สอย
กุฏิต่างๆ ทำศาลา ทางหลวง มันก็เป็นประโยชน์
อย่างสะพานข้ามแม่น้ำก็ดี
ไม่ต้องนั่งเรือ สร้างเสร็จแล้วก็เป็นประโยชน์กับรถ หรือเดินข้ามไป
ก็สะดวกสบาย การทำไร่ทำสวนหรือปลูกอะไรต่างๆ ก็เป็นประโยชน์
เออ...ได้อยู่ได้กิน ได้ซื้อได้ขายอะไร ก็ต้องมองดูว่า
เออ...สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นเครื่องอำนวยความสะดวกให้เป็นประโยชน์
นั่นเขาเรียกคนมีปัญญา ปัญญารู้ว่าสิ่งที่เป็นประโยชน์
ทำอะไรก็จะอำนวยตวามสะดวกให้เกิดมีความสุขขึ้น
ก็เรียกว่าของนั้นเป็นประโยชน์


เราควรที่จะพิจารณาว่า
ถ้าเราจะทำอะไรแล้ว มันจะเป็นเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์
เช่น ทำบางสิ่งบางอย่าง ทำยาพิษ ยาเบื่อ ยาเมา อะไรต่างๆ
ก็ควรเลิกเสีย ดังนั้นเราควรมาคิดดูว่า
ถ้าทำเรื่องอะไร แล้วจะทำให้มีอันตรายเกิดขึ้น
เห็นไหม เขาทำปืน ทำระเบิด ทำจรวด ทำนิวเคลียร์อะไรต่างๆ
ที่มันไม่เป็นประโยชน์ ต้องไปรบรา ฆ่าฟัน ไปขว้างใส่กัน
ไปทำร้ายซึ่งกันและกัน กับเพื่อนมนุษย์และ สัตว์ทั้งหลาย
เอ...ไม่เป็นประโยชน์เลย จะมีแต่อันตรายเกิดขึ้น นี่มันเป็นอย่างนี้
เราก็จะรู้ว่าเราไม่ควรทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์นั้น
เป็นผู้มีปัญญาจึงจะเป็นผู้รอบรู้ในสิ่งต่างๆ ทั้งดีและไม่ดี
ศึกษาให้รู้ว่าสิ่งที่ดีมีประโยชน์ก็ให้รู้
สิ่งที่ไม่ดีไม่มีประโยชน์ก็ให้รู้
แต่ถ้าเป็นสิ่งที่ดีมีประโยชน์
เราก็จะได้ประกอบเป็นสัมมาอาชีวะได้ปฏิบัติ
ฝึกฝนอบรมในทางที่เป็นประโยชน์ ที่จะนำความผาสุกมาให้
สิ่งใด มันไร้ประโยชน์ ทำแล้วไม่มีความผาสุกเกิดขึ้น
มีแต่ความทุกข์ ความเดือดร้อนวุ่นวาย
ก็เหมือนคนทำผิดศีลธรรมนั่นเอง
คนไม่มีศีลเราจะเห็นเลย ไม่มีศีล ๕ ศีล ๘ ก็ดี
ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ข้อของภิกษุ
เมื่อเป็นสิ่งที่ไม่มีคุณค่า ไม่มีสาระประโยชน์อะไร
เราก็อย่าไปทำในสิ่งนั้น มันไร้ประโยชน์ เสียการเสียเวลาเฉยๆ
สิ่งใดที่มันเป็นผลเป็นประโยชน์ เราก็ควรมีขันติความอดทน
พากันตั้งใจปฏิบัติในสิ่งที่มันมีคุณค่า
เช่น การบริจาคจำแนกแจกทาน เจือจาน ซึ่งกันและกันก็ดี
การรักษาศีลก็มีประโยชน์
คนมีความเมตตา อยู่ด้วยกันด้วยความผาสุก
อยู่บ้านใดเมืองใด ประเทศไหน
ถ้าคนพากันรักษาศีล ให้มีศีลทั้งกายวาจาใจนั้นให้เป็นปกติ
มันก็จะมีความสุขเกิดขึ้น นี่การรักษาศีล
ถ้าบุคคลมีหิริโอตตัปปะ มีความละอายต่อบาป
ความสะดุ้งกลัวต่อบาปที่จะเกิดขึ้นแก่ตน
แล้วก็จะตั้งใจประพฤติปฏิบัติแต่คุณงามความดี
ก็จะได้มีความผาสุกเกิดขึ้น

บัดนี้พาหุสัจจะ ความเป็นผู้ได้ยินมากฟังมาก ศึกษามาก
เพื่อจะได้ มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด
ในการได้ยินได้ฟัง นำมาประพฤติปฏิบัติ ทั้งดีทั้งไม่ดี
สิ่งที่ไม่ดีควรละทิ้ง สิ่งที่ดีจะได้พากันปฏิบัติให้เกิดมีขึ้นแก่ตน
เมื่อเราได้ยินได้ฟังมามาก และจดจำธรรมะก็ดี
ถ้าเป็นสิ่งที่เป็นธรรมะ สิ่งที่เป็นประโยชน์ และนำความผาสุกมาให้
เหมือนกับการรักษาศีลเจริญภาวนาอย่างนี้
ฝึกฝนอบรมจิตใจให้สงบ
เกิดความทรงจำในการประพฤติปฏิบัติในการอบรมตนเองให้เป็นคนมีศีล
เป็นคนมีสมาธิ เป็นคนมีปัญญา และเข้าใจในศิลปวิทยาต่างๆ
ก็มีที่พึ่ง มีความสุข นี่มันเป็นอย่างนี้ เมื่อเราเป็นคนมีปัญญา


บัดนี้ จาคะ เรารู้จักเสียสละให้ปันของแก่บุคคลที่ควรให้ปัน
บัดนี้ เราก็เข้าใจว่า เอ...คนเราทุกคนเมื่อจะจำแนกแจกทานสิ่งของอะไร
ให้แก่กันและกันนี้ อยากให้มีความสุข
เราก็เข้าใจในการแบ่งปัน ซึ่งกันและกัน
เป็นความเมตตาต่อกันและกัน เป็นคนที่มีปัญญา
มีความรู้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์
เราก็ควรที่จะได้ฝึกฝนอบรมตนเอง
ให้ทำในสิ่งนั้น ให้ปฏิบัติในสิ่งนั้น ให้พูดในสิ่งนั้น ให้คิดอ่านในสิ่งนั้น
ที่มีคุณค่ามีประโยชน์เกิดขึ้น
แล้วสิ่งใดที่มันไร้ประโยชน์
ทำให้มีความทุกข์ความเดือดร้อนเกิดขึ้นทั้งตนและบุคคลอื่น
เราควรที่จะได้ลดละปล่อยวาง
เพราะเราเป็นคนมีปัญญาเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี
ควรละปล่อยวางเสีย เพราะมันไร้ประโยชน์
เหมือนของที่ไม่มีคุณค่าอะไร
เราก็ไม่ต้องไปทำไปพูด ไปคิด ให้มันเสียเวลาเปล่าๆ


เหตุฉะนั้น คนทั้งหลาย ถ้าเข้าใจในสิ่งที่ได้กล่าวมานี้
ก็เรียกว่า มีศรัทธา เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ ที่มีผลมีประโยชน์
สอง มีศีล รักษากาย วาจา และรักษาจิตใจของตนเอง
สาม มีหิริ ความละอายต่อบาปทุจริตทั้งหลาย ทั้งทางกาย วาจา ใจ
สี่ โอตตัปปะ ความสะดุ้งกลัวต่อบาป ที่ได้ทำทางกาย
พูดทางวาจา และคิดทางจิตใจ ที่ไม่ดีไม่งามเกิดขึ้น
ห้า พาหุสัจจะ การเป็นคนที่เคยได้ยิน ได้ฟังมามาก
เรียกว่าไปศึกษามามาก ในทางธรรมก็ดี และรู้ศิลปะ
เทคโนโลยีต่างๆ จะทำอะไรต่างๆ
หก จาคะ บริจาคจำแนกแจกทาน
เสียสละสิ่งของควรแก่บุคคลที่ควรให้ปัน
เจ็ด เราเข้าใจในเรื่องอย่างนี้ ด้วยปัญญา
มีปัญญารอบรู้และเข้าใจดีในสิ่งเหล่านี้
เราจะได้ปฏิบัติไปในทางที่ถูกต้อง
เพื่อจะนำผลนำประโยชน์ ให้เกิดมีความสุข
ทั้งตน บุคคลอื่น และส่วนรวม นี่ก็เรียกว่าเป็นอริยทรัพย์


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.ค. 2010, 15:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


อริยทรัพย์ ๗ อย่างนี้ดีกว่าทรัพย์ภายนอก เพราะเป็นสมบัติภายใน
เป็นทางปัญญาที่จะทำให้เรารอบรู้ในสิ่งเหล่านี้
เมื่อบุคคลรอบรู้ในสิ่งเหล่านี้ด้วยปัญญาแล้ว ก็จะพัฒนาตนเอง
ปฏิบัติตนเองไปในทางที่ดี เร่งทำความดี
ก็เรียกว่าเป็นทรัพย์อยู่ภายในจิตใจ เป็นทรัพย์ทางด้านปัญญา
ปัญญารอบรู้ในสิ่งต่างๆ ก็ดีกว่าทรัพย์ภายนอก
ทรัพย์ภายนอกก็มีเงินทองสิ่งของทั้งหลาย


เหตุฉะนั้น เราควรเริ่มแสวงหาอริยทรัพย์เพื่อให้มีในสันดานตน
คำว่าอริยทรัพย์นั้นเป็นทรัพย์ที่ควรจะแสวงหา ควรที่จะปฏิบัติ
ควรที่จะศึกษา ควรจะพัฒนาตนเอง น้อมนำไปประพฤติปฏิบัติ
ฝึกหัดตนเองให้มีทรัพย์ภายในให้เกิดขึ้นแก่ตน
เพื่อจะได้อาศัย ทรัพย์ภายในนี้ให้ตนเองเกิดความร่มเย็นเป็นสุข
เพราะมันมีอยู่ในตนเอง มันก็ดีกว่าทรัพย์ภายนอกทั้งหลาย
ทรัพย์ภายนอกทั้งหลาย ก็อำนวยความสะดวกให้อยู่
แต่มันเจือไปด้วยทุกข์ เหมือนคนเรา มีเงินทองแก้วแหวนเพชรนิลจินดา
ช้าง ม้า โค กระบือ ตึกราม บ้านช่อง สถานที่
ของใช้อำนวยความสะดวกทั้งหลาย ก็เรียกว่า เป็นทรัพย์ภายนอก
แต่ทรัพย์ภายในนี้ก็ตั้งอยู่ในความเป็นผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด
จะทำให้บุคคลนั้นจะไปไหนมาไหนก็ดี
เป็นคนมีทรัพย์อยู่ในใจของตนเอง
แล้วก็จะอำนวยความสะดวกให้ และมีความสุขเกิดขึ้นแก่ตน


เหตุฉะนั้นพวกเราทั้งหลายก็ควรมาขวนขวาย
พินิจพิจารณาเรื่อง อริยทรัพย์ทั้ง ๗ อย่างนี้
เพื่อเป็นคุณงามความดีที่มีในสันดานตนเองอย่างประเสริฐ
พวกเราท่านทั้งหลาย ควรแล้วที่เราจะศึกษาพินิจ
พิจารณาอริยทรัพย์ให้เกิดให้มีขึ้นแก่ตน
ผลก็จะได้รับความสุข ความเจริญ มีที่พึ่งของตนเองได้
ให้เป็นคนที่ไม่หวั่นไหว
เป็นคนที่เข้าใจและมีความหมั่นเพียรในการปฏิบัติ
ฝึกหัดอบรมตนอยู่ในคุณงามความดี
ผลก็จะทำให้มีความสุขแก่ทั้งตนเองและบุคคลอื่นด้วย
นี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ส่วนมากแล้วจะเป็นประโยชน์ของตน
เพราะตนเองมีทรัพย์ ทรัพย์ก็คือปัญญานั่นเอง
มีปัญญารอบรู้ ทั้งทางถูก และทางผิด
และนำไปคิดไปพัฒนาขึ้น จึงเรียกว่า เป็นทรัพย์ทางด้านสติปัญญา
อยู่ในจิตใจของตนเอง เป็นผู้มีความเฉลียวฉลาด
เหตุฉะนั้นพวกเราทั้งหลายที่เป็นผู้ที่มีการศึกษา


เหตุฉะนั้น ผู้มีอริยทรัพย์จึงเปรียบเหมือนนักปราชญ์
ผู้มีความฉลาด ในการพัฒนาตนเอง
ศึกษามาแล้ว ปฏิบัติมาแล้วได้ผลได้ประโยชน์มาแล้ว
นำความสุขมาให้แล้วทั้งแก่ตนและบุคคลอื่น
เข้าใจในสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ จึงเรียกว่า เป็นผู้มีทรัพย์ภายใน
บุคคลใดศึกษาและ เข้าใจในอริยทรัพย์ภายในแล้ว
จะเป็นบุคคลที่มีที่พึ่ง เป็นคนที่มีความอบอุ่น แช่มชื่น เบิกบาน
ไปไหนมาไหนก็ดีก็อาศัยทรัพย์ภายในของเรานี้เป็นเครื่องประกอบ
เป็นที่พึ่งของตนเองได้ เกิดความร่มเย็นเป็นสุขได้
ก็เรียกว่า เป็นคนไปที่ไหนเป็นคนคล่องตัว เฉลียวฉลาด
รู้เรื่องรู้ราว รู้ถูกรู้ผิด มีความคิดความอ่าน สร้างสรรค์
พัฒนาไปในทางที่ดี เราจะได้มีความสุขเกิดขึ้นแก่ตน


เหตุฉะนั้นพวกเราทั้งหลาย
ที่เป็นผู้ที่มีการศึกษาหลักธรรมของพระพุทธเจ้าแล้ว
เราควรศึกษาให้เข้าใจทั้งทรัพย์ภายนอกและทรัพย์ภายใน
ทรัพย์ภายนอกมันมีคุณค่ามีประโยชน์อย่างไร
เราก็ศึกษาให้เข้าใจเพราะเป็นผู้มีปัญญา
ทรัพย์ภายในนั้น เมื่อเราศึกษา ให้เข้าใจแล้ว
ได้รับผลได้รับประโยชน์ มีความสุขสบายภายในใจ ของเราอย่างไร
เราก็ควรที่จะเข้าใจในเรื่องอย่างนั้นด้วย
เมื่อเราเข้าใจแล้ว ก็เรียกว่า บุคคลนั้นมีที่พึ่ง มีทรัพย์สมบัติอยู่ประจำตัว
แล้วก็จะทำให้มีความสุขความสบายเกิดขึ้นแก่ตนได้ตลอดไป



เพราะเหตุฉะนั้นแล การบรรยายธรรมเรื่องอริยทรัพย์ตั้งแต่ต้น
จนอวสานนั้นก็เห็นเวลาพอสมควร
ก็ขอให้ทุกคนเมื่อได้ยินได้ฟัง ควรกำหนดจดจำ
และน้อมนำไปประพฤติปฏิบัติ ฝึกหัดกายวาจาใจของตน
ฝึกฝนอบรมตนให้เป็นคนมีสติปัญญา
รอบรู้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์
ก็จะนำความสุขมาให้ ขออำนวยอวยพรให้ทุกคน
เมื่อได้ยินได้ฟัง และกำหนดจดจำให้ดี
นำไปประพฤติปฏิบัติอบรมตนได้แล้ว
เรามีความปรารถนาประสงค์จำนงค์ใด
ก็ขอให้สำเร็จสมความมุ่งมาดปรารถนา
และก็ขอให้คุณพระศรีรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
จงโปรดประทานพรให้บุคคลทั้งหลายนั้น ได้มีความสุขความเจริญ
และขอให้จงเจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ ได้ดวงตาเห็นธรรม
นำชีวิตของตนให้พ้นจากกองทุกข์ทั้งปวงไป
การบรรยายธรรมมา ก็เห็นเวลาพอสมควร
ก็ขอยุติลงคงไว้เพียงแค่นี้ เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ ขอเจริญพร


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.ค. 2010, 15:43 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


อริยทรัพย์ ๗ ประการคือ

๑) ศรัทธา
๒) ศีล
๓) หิริ
๔) โอตตัปปะ
๕) พาหุสัจจะ
๖) จาคะ และ
๗) ปัญญา



คัดลอกบางส่วนจาก...หนังสืออริยทรัพย์ ๗ อย่าง
พระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป
http://www.panyapatipo.com/


:b48: :b8: :b48:

:b47: รวมคำสอน “พระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=38758

:b47: หลวงปู่ตื้อแนะนำเรื่องนิมิตให้แก่ “พระอาจารย์เปลี่ยน”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=4&t=57719

:b47: อดีตชาติของ “ท่านพระอาจารย์เปลี่ยน” ที่เขาวังเพชรบุรี
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=4&t=58256


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.ค. 2010, 19:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ม.ค. 2010, 02:43
โพสต์: 4467

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

.....................................................
แบ่งปันกันกิน,รักษาศีล คือ กาย วาจา
เจริญสมาธิภาวนา, กาย- วาจา-ใจอ่อนน้อม
ยอมตนรับใช้, แบ่งให้ความดี
มีใจอนุโมทนา, ใฝ่หาฟังธรรม
นำแสดงออกไม่ได้เว้น, ทำความเห็นให้ถูกต้อง


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 18 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 23 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron