วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 16:07  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 9 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.ค. 2010, 11:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ประวัติและปฏิปทา
พระอุดมญาณโมลี
(หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป)


วัดโพธิสมภรณ์ (พระอารามหลวง)
ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี



๏ อัตโนประวัติ

“หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป” หรือ “พระอุดมญาณโมลี” เป็นพระมหาเถระสายพระป่ากรรมฐานศิษย์ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตฺตมหาเถระ แม่ทัพธรรมแห่งอีสานฝ่ายวิปัสสนาธุระ, เป็นพระผู้มากด้วยเมตตาที่ได้รับความเลื่อมใสศรัทธา และเป็นแบบอย่างอันงดงามของพระภิกษุสงฆ์ สามเณร และประชาชนชาวอีสานมาอย่างยาวนาน ด้วยยึดหลักธรรมแห่งองค์สัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่ตั้ง มีพลังเกื้อหนุนจากธรรมะของครูบาอาจารย์ที่คอยสนับสนุนตลอดมา ปฏิปทาอันงดงามของหลวงปู่จึงเป็นครูของชีวิตที่คณะศิษยานุศิษย์ภาคภูมิใจยิ่ง

หลวงปู่จันทร์ศรี มีนามเดิมว่า จันทร์ศรี แสนมงคล เกิดเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ.2454 ตรงกับวันอังคาร แรม 3 ค่ำ เดือน 11 ปีกุน ณ บ้านโนนทัน ต.โนนทัน อ.เมือง จ.ขอนแก่น โยมบิดา-โยมมารดาชื่อ นายบุญสาร และนางหลุน แสนมงคล ก่อนที่โยมมารดาจะตั้งครรภ์ ในคืนวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 3 นั้น ฝันเห็นพระ 9 รูป มายืนอยู่ที่ประตูหน้าบ้าน พอรุ่งขึ้นตรงวันขึ้น 15 ค่ำ เพ็ญเดือน 3 ซึ่งเป็นวันมาฆบูชา ได้เห็นพระกัมมัฏฐาน 9 รูปมาบิณฑบาตยืนอยู่หน้าบ้าน จึงเกิดความเลื่อมใสศรัทธา จึงรีบจัดภัตตาหารใส่ภาชนะ ไปนั่งคุกเข่าประนมมือตรงหน้าพระเถระผู้เป็นหัวหน้า ยกมือไหว้ แล้วใส่บาตรจนครบทั้ง 9 รูป แล้วนั่งพับเพียบประนมมือกล่าวขอพรว่า

“ดิฉันปรารถนาอยากได้ลูกชายสัก 1 คน จะให้บวชเหมือนพระคุณเจ้าเจ้าค่ะ”

พระเถระก็กล่าวอนุโมทนา หลังจากนั้นอีก 1 เดือน นางหลุน แสนมงคล ก็ได้ตั้งครรภ์ และต่อมาก็คลอดบุตรชายรูปงามในวันอังคารที่ 10 ตุลาคม พุทธศักราช 2454

ปัจจุบัน หลวงปู่จันทร์ศรี สิริอายุได้ 98 พรรษา 78 (เมื่อปี พ.ศ.2552) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี, ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 9 (ธรรมยุต) และที่ปรึกษามหาเถรสมาคม (มส.)

รูปภาพ
ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตฺตมหาเถระ

รูปภาพ
พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม

รูปภาพ
พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล


๏ การบรรพชาและอุปสมบท

ด.ช.จันทร์ศรี แสนมงคล มีแววบวชเรียนตั้งแต่เมื่อครั้งเยาว์วัย ด้วยโยมบิดา-โยมมารดาได้พาไปใส่บาตรพระทุกวัน จนเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนา ในบางครั้ง ด.ช.จันทร์ศรี จะนำเด็กรุ่นราวคราวเดียวกันทั้งชายและหญิง 7-8 คน ออกไปเล่นหน้าบ้าน โดยตนเองจะเล่นรับบทเป็นพระภิกษุเป็นประจำ

อายุได้ 8 ขวบ โยมบิดาเสียชีวิตลง จนอายุได้ 10 ปี โยมมารดาจึงนำไปฝากไว้กับเจ้าอธิการเป๊ะ ธัมมเมตติโก เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ศรี, เจ้าคณะตำบลโนนทัน และเป็นครูสอนนักเรียนโรงเรียนประชาบาล โดยรับไว้เป็นลูกศิษย์ใกล้ชิด อยู่รับใช้ได้เพียง 1 เดือน เจ้าอธิการเป๊ะนำเด็กชายเข้าเรียนภาษาไทย ตั้งแต่ชั้น ประถม ก.กา จนจบชั้นประถมบริบูรณ์ เจ้าอธิการเป๊ะเห็นว่ามีความสนใจในทางสมณเพศ จึงได้ให้เข้าพิธีบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2468 ณ วัดโพธิ์ศรี บ้านศิลา ต.ศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น

ระหว่างปี พ.ศ.2468-2470 สามเณรจันทร์ศรี หมั่นท่องทำวัตรเช้า ทำวัตรค่ำ สวดมนต์เจ็ดตำนาน สิบสองตำนาน และพระสูตรต่างๆ จนชำนาญ อีกทั้งได้ศึกษาอักษรธรรม อักษรขอม อักษรเขมร จนอ่านออกเขียนได้คล่องแคล่ว แล้วมาฝึกหัดเทศน์มหาชาติชาดกทำนองภาษาพื้นเมืองของภาคอีสาน แล้วอยู่ปฏิบัติธรรมถึง 3 ปี

จากนั้นได้ร่วมเดินทางกับ พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ และพระอาจารย์ลี สิรินฺธโร ออกไปแสวงหาความสงัดวิเวกตามป่าเขา และพักตามป่าช้าในหมู่บ้านต่างๆ เพื่อเข้ากรรมฐานและศึกษาอสุภสัญญา ปฏิบัติธุดงควัตร 13 ตามแบบพระบูรพาจารย์สายพระป่ากรรมฐานอย่างเคร่งครัด

ครั้นต่อมาได้ขึ้นไปแสวงหาวิโมกขธรรมบนภูเก้า อ.โนนสัง จ.หนองบัวลำภู เลยขึ้นไปที่ถ้ำผาปู่ จ.เลย วัดป่าอรัญญิกาวาส อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี พักที่วัดหินหมากเป้ง และได้เดินทางข้ามแม่น้ำโขงไปนครเวียงจันทน์ ประเทศลาว พักที่โบสถ์วัดจันทน์ 7 วัน แล้วกลับมาหนองคายแล้วเข้าอุดรธานี

ครั้นเมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ณ พัทธสีมาวัดศรีจันทร์ (วัดศรีจันทราวาส) ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ.2474 โดยมี พระครูพิศาลอรัญญเขต (จันทร์ เขมิโย ป.ธ. ๓) เจ้าคณะธรรมยุตจังหวัดขอนแก่น และเจ้าอาวาสวัดศรีจันทร์ (วัดศรีจันทราวาส) ในขณะนั้น เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระอาจารย์มหาปิ่น ปญญาพโล เป็นพระอนุสาวนาจารย์ มีพระอาจารย์กรรมฐานจำนวน 25 รูปนั่งเป็นพระอันดับ ท่านได้รับนามฉายาว่า “จนฺททีโป” อันมีความหมายเป็นมงคลว่า “ผู้มีแสงสว่างเจิดจ้าดั่งจันทร์เพ็ญ”

อุปสมบทได้เพียง 7 วัน ท่านก็ได้ติดตาม พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี พระกรรมฐานผู้เคร่งวัตรปฏิบัติแห่งวัดหินหมากเป้ง ต.พระพุทธบาท อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย และ พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ ศิษย์สายกรรมฐานท่านพระอาจารย์มั่น เจ้าสำนักวัดป่านิโครธาราม ต.หมากหญ้า อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี เดินรุกขมูลคืออยู่โคนต้นไม้เป็นวัตร ซึ่งเป็นหนึ่งในธุดงควัตร 13 ตั้งแต่เดือนมกราคมไปจนกระทั่งถึงเดือนมีนาคม พ.ศ.2475 ก่อนกราบลาหลวงปู่เทสก์เพื่อขอไปศึกษาทางด้านพระปริยัติธรรมต่อในกรุงเทพฯ

รูปภาพ
พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ

รูปภาพ
พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี


(มีต่อ 1)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.ค. 2010, 11:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระอุดมญาณโมลี (หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป)


๏ การศึกษาพระปริยัติธรรมและงานด้านการศึกษา

พ.ศ.2474 สอบได้นักธรรมชั้นตรีได้ในสนามหลวง คณะจังหวัดขอนแก่น

พ.ศ.2475 สอบนักธรรมชั้นโทได้ในสนามหลวง คณะจังหวัดขอนแก่น

พ.ศ.2477 สอบนักธรรมชั้นเอกได้ในสนามหลวง สำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ

พ.ศ.2480 สอบเปรียญธรรม 3 ประโยค สำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ

พ.ศ.2485 สอบเปรียญธรรม 4 ประโยค สำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ

พ.ศ.2484 เจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต) สมเด็จพระสังฆราชเจ้าวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ ทรงมีบัญชาให้ไปเป็นครูสอนพระปริยัติธรรม แผนกธรรมและบาลี ณ สำนักเรียนวัดป่าสุทธาวาส ต.พระธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร

ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2484 ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตฺตมหาเถระ ได้ไปพำนักชั่วคราวที่วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร เป็นเวลา 15 วัน ก่อนเดินทางไปบ้านนามน วัดดอยธรรมเจดีย์ ทำให้หลวงปู่จันทร์ศรีได้มีโอกาสใกล้ชิดและอยู่อบรมธรรมกับท่านพระอาจารย์มั่นชั่วระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งถือเป็นกำไรแห่งชีวิตอันล้ำค่า

พ.ศ.2475 ท่านได้กลับมาอยู่จำพรรษาที่วัดบวรนิเวศวิหาร เพื่อศึกษาเปรียญธรรม 5 ประโยค

พ.ศ.2486 เจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต) ทรงมีบัญชาให้ไปเป็นครูสอนพระปริยัติธรรม แผนกธรรมและบาลี เปรียญธรรม 3-4 ประโยค ณ สำนักเรียนวัดธรรมนิมิตร ต.บางแก้ว อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม เป็นเวลานานถึง 10 ปี

รูปภาพ
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
(ม.ร.ว.ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต) วัดบวรนิเวศวิหาร


รูปภาพ
พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล)


๏ ตำแหน่งงานปกครองคณะสงฆ์

หลังจากจบเปรียญธรรม 4 ประโยคแล้ว ท่านได้ช่วยเหลืองานพระศาสนา โดยเมื่อปี พ.ศ.2486 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดธรรมนิมิตร ต.บางแก้ว อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม

ต่อมาวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2497 เจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต) ก็ทรงมีพระบัญชาให้มาอยู่ที่วัดโพธิสมภรณ์ ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี เพื่อทำศาสนกิจคณะสงฆ์ เนื่องจาก พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) มีอายุเข้าปูนชรา โดยแต่งตั้งให้เป็นรองเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ และในปีเดียวกันก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยเจ้าคณะจังหวัดอุดรธานี (ธรรมยุต) อีกตำแหน่งหนึ่ง

พ.ศ.2498 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ ประเภทวิสามัญ และในปีเดียวกันก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะจังหวัดอุดรธานี (ธรรมยุต) อีกตำแหน่งหนึ่ง

พ.ศ.2505 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ วัดราษฎร์

พ.ศ.2507 โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้วัดโพธิสมภรณ์ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ และในปีเดียวกันท่านก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ พระอารามหลวงชั้นตรี

พ.ศ.2519 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองเจ้าคณะภาค (ธรรมยุต) และรักษาการเจ้าคณะจังหวัดอุดรธานี

พ.ศ.2522 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาการเจ้าคณะจังหวัดหนองคายและจังหวัดสกลนคร

พ.ศ.2531 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาการเจ้าคณะภาค 9 (ธรรมยุต) และเจ้าคณะภาค 9 (ธรรมยุต)

รวมทั้ง ได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษามหาเถรสมาคม (มส.)

รูปภาพ
พระอุดมญาณโมลี (หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป)
ถ่ายภาพอยู่ด้านหน้า “พระบรมธาตุธรรมเจดีย์” วัดโพธิสมภรณ์



(มีต่อ 2)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.ค. 2010, 11:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระอุดมญาณโมลี (หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป)


๏ ลำดับสมณศักดิ์

พ.ศ.2475 เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอกที่ พระครูสิริสารสุธี

พ.ศ.2498 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระสิริสารสุธี

พ.ศ.2505 เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชเมธาจารย์

พ.ศ.2517 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพเมธาจารย์

วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2533 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมบัณฑิต

วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2544 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฏหรือรองสมเด็จพระราชาคณะที่ พระอุดมญาณโมลี นับเป็นพระมหาเถระฝ่ายธรรมยุตรูปแรกที่อยู่ส่วนภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ได้รับการสถาปนาเป็นพระราชาคณะชั้น “รองสมเด็จพระราชาคณะ”

รวมทั้ง ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 9 (ธรรมยุต)


๏ งานด้านสาธารณสงเคราะห์

ท่านได้ให้ทุนการศึกษาแก่เด็กนักเรียนที่มีฐานะยากจน เรียนดี และมีความประพฤติดี ปีละ 40 ทุน ทุนละ 1,000 บาท ให้รางวัลแก่พระภิกษุ-สามเณรที่สามารถสอบไล่ได้บาลีชั้นประโยค 1-2-เปรียญธรรม 3 ประโยค เป็นประจำทุกปี รูปละ 500 บาท ส่วนครูรูปละ 1,000 บาท

นอกจากนี้ยังรับภาระหน้าที่สำคัญๆ ในคณะสงฆ์อีกมากมาย อาทิ เป็นกรรมการชำระพระไตรปิฎก (พระสูตร), เป็นพระอนุกรรมการคณะธรรมยุต, เป็นกรรมการตรวจธรรมสนามหลวง, เป็นพระธรรมทูตประจำจังหวัดอุดรธานี, เป็นประธานมูลนิธิวัดโพธิสมภรณ์, เป็นรองประธานกรรมการบริหารศูนย์บาลีศึกษาอีสาน (ธรรมยุต), เป็นผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพุทธศาสนาวันอาทิตย์ วัดโพธิสมภรณ์

รูปภาพ
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต)
เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระญาณวราภรณ์ เจ้าคณะมณฑลอยุธยา พ.ศ.2467


รูปภาพ
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส)


๏ ปฏิปทาและข้อวัตร

แม้จะมีพรรษายุกาลมากถึง 94 ปีเศษก็ตาม แต่ยังคงปฏิบัติกิจของสงฆ์และปฏิบัติธรรมอย่างคร่ำเคร่ง บิณฑบาตโปรดเวไนยสัตว์อย่างต่อเนื่อง จนศิษยานุศิษย์ขอร้องให้หยุดบิณฑบาต เนื่องจากเคยโดนวัยรุ่นซิ่งรถจักรยานยนต์ชนมาแล้ว ข้อวัตรนี้ชาวอุดรธานีทราบชัดดี และที่สำคัญท่านเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรชาวอุดรธานีอย่างแท้จริง ไม่เคยขาดงานนิมนต์ ไม่ว่าจะไกลหรือใกล้ ไม่เคยทอดธุระ ซึ่งท่านยึดเป็นหลักในการปฏิบัติเสมอที่ว่า

“กยิรา เจ กยิราเถนํ” แปลว่า “ถ้าจะทำการใด ให้ทำการนั้นจริงๆ ทุกสิ่งทุกอย่างถ้ามีความขยันหมั่นเพียร สิ่งนั้นต้องสำเร็จตามความตั้งใจจริง”

นับได้ว่าหลวงปู่เป็นพระมหาเถระที่ประชาชนชาวจังหวัดอุดรธานีและจังหวัดใกล้เคียง ให้ความเคารพศรัทธามาก ไม่น้อยกว่าพระบูรพาจารย์สายพระป่ากรรมฐานแต่เก่าก่อน ทุกวันนี้หลวงปู่จันทร์ศรีท่านยังมีความจำเป็นเลิศ แม้อายุย่างเข้าวัยชรา แต่ยังจำเหตุการณ์ต่างๆ ในอดีตได้อย่างแม่นยำ โดยเฉพาะเมื่อเล่าเรื่องต่างๆ ให้ฟัง หลวงปู่จะบอกชื่อคน วันเวลา ได้อย่างละเอียดเป็นที่น่าอัศจรรย์

สิ่งสำคัญในชีวิตหลวงปู่ คือการมีโอกาสได้ปฏิบัติใกล้ชิดกับพระเถระผู้ใหญ่ อาทิ เจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต) วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ, สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) วัดพระศรีมหาธาตุ เขตบางเขน กรุงเทพฯ, ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตฺตมหาเถระ, พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม และ พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล เป็นต้น

ดังนั้น หลวงปู่จึงมีความรอบรู้ขนบธรรมเนียมประเพณี ทั้งในเมือง ในราชสำนัก ในสำนักพระกรรมฐาน และธรรมเนียมชาวบ้านเป็นอย่างดี หลวงปู่จันทร์ศรีเป็นหลวงปู่ใจดีของลูกหลานญาติโยม โดยไม่เลือกชั้นวรรณะ ไม่ยึดติดลาภสักการะ และไม่ยึดติดในบริวาร ชีวิตของหลวงปู่สมถะเรียบง่าย เป็นอยู่อย่างสามัญ แม้ท่านจะได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบการปกครองคณะสงฆ์ แต่หลวงปู่ก็ไม่ทิ้งการปฏิบัติกัมมัฏฐาน

เมื่อมีเวลาว่าง หลวงปู่จะไปพักผ่อนเยี่ยมเยียนวัดวาอารามต่างๆ แม้อยู่ลึกในหุบเขา เพื่อให้กำลังใจพระกรรมฐาน พระเล็กเณรน้อย อย่างไม่ลดละ ความสุขของหลวงปู่จึงอยู่ที่การได้ทำนุบำรุงบวรพระพุทธศาสนา เยี่ยมเยียนพระภิกษุสงฆ์สามเณร ให้กำลังใจสอนธรรมะแก่คณะศรัทธาญาติโยมประชาชน ให้รู้จักดีชั่ว บาปบุญคุณโทษ ปฏิปทาของหลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป จึงเป็นดั่งดวงประทีป ดวงชีวิต เป็นหลักชัยและหลักใจของลูกหลานชาวเมืองอุดรธานี และผองชาวพุทธตลอดไปตราบนานเท่านาน


(มีต่อ 3)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ก.ค. 2010, 12:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

รูปภาพ
ศาสนวัตถุสำคัญภายใน “วัดโพธิสมภรณ์” อ.เมือง จ.อุดรธานี


๏ ประวัติวัดโพธิสมภรณ์

สถานที่ตั้งวัด

วัดโพธิสมภรณ์ (พระอารามหลวง) ตั้งอยู่บนถนนเพาะนิยม เลขที่ 22 ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี อยู่ทางทิศตะวันตกของหนองประจักษ์ มีเนื้อที่ทั้งหมด 40 ไร่

ความเป็นมา

วัดโพธิสมภรณ์ เริ่มสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อปี พ.ศ.2449 ปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดย มหาอำมาตย์ตรีพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (โพธิ์ เนติโพธิ์) สมุหเทศาภิบาลมณฑลอุดร ได้พิจารณาเห็นว่าในเขตเทศบาลเมืองอุดรธานี มีเพียง “วัดมัชฌิมาวาส” วัดเดียวเท่านั้น สมควรที่จะสร้างวัดขึ้นอีกสักวัดหนึ่ง จึงได้ไปสำรวจดูสถานที่ทางด้านทิศใต้ของ “หนองนาเกลือ” ซึ่งเป็นหนองน้ำกว้างใหญ่อุดมไปด้วยเกลือสินเธาว์ มีปลาและจระเข้ชุกชุม (ต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น “หนองประจักษ์” เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ผู้ก่อตั้งเมืองอุดรธานี) เห็นว่าเป็นทำเลที่เหมาะสมควรแก่การสร้างวัดได้เพราะเป็นที่ราบป่าละเมาะเงียบสงบดี ไม่ใกล้ไม่ไกลจากหมู่บ้านมากนักและอยู่ใกล้แหล่งน้ำ

เมื่อตกลงใจเลือกสถานที่ได้แล้ว มหาอำมาตย์ตรีพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (โพธิ์ เนติโพธิ์) ก็ได้ชักชวนและนำพาราษฎรในหมู่บ้านหมากแข้งมาร่วมกันถากถางป่าจนพอควรแก่การปลูกกุฏิ ศาลาโรงธรรม สำหรับใช้เป็นที่บำเพ็ญบุญ และเป็นที่ประกอบพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาประจำปีของหน่วยราชการ ใช้เวลาสร้างอยู่ประมาณ 1 ปี ในระยะแรกชาวบ้านเรียกว่า “วัดใหม่” เพราะแต่เดิมมีเพียงวัดมัชฌิมาวาสซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “วัดเก่า” ด้วยพบร่องรอยเป็นวัดร้างมาก่อน มีเจดีย์ศิลาแลงเก่าแก่และพระพุทธรูปหินขาวปางนาคปรก และได้กราบอาราธนา พระครูธรรมวินยานุยุต (หนู) เจ้าคณะเมืองอุดรธานี จากวัดมัชฌิมาวาสมาเป็นเจ้าอาวาสวัด

ตั้งชื่อ

มหาอำมาตย์ตรีพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (โพธิ์ เนติโพธิ์) ได้นำความขึ้นกราบทูลขอชื่อต่อ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า (หม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุท สิริวฑฺฒโน) สมเด็จพระสังฆราชเจ้าวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพฯ ได้ทรงประทานนามว่า “วัดโพธิสมภรณ์” เพื่อให้เป็นอนุสรณ์แก่ มหาอำมาตย์ตรีพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (โพธิ์ เนติโพธิ์) ผู้สร้างวัดแห่งนี้

ร่วมใจพัฒนา

ประมาณ 3 ปีต่อมา มหาอำมาตย์ตรีพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (โพธิ์ เนติโพธิ์) กับพระครูธรรมวินยานุยุต (หนู) เจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ ก็ได้เริ่มสร้างโบสถ์ไม้ขึ้นพอเป็นที่อาศัยทำอุโบสถสังฆกรรม ครั้นต่อมาก็ได้เริ่มสร้างโบสถ์ก่อด้วยอิฐถือปูน โดยใช้ผู้ต้องขังในเรือนจำเป็นแรงงาน โดยมหาอำมาตย์ตรีพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร เป็นช่างผู้ควบคุมการก่อสร้างเอง แต่ยังไม่แล้วเสร็จท่านก็ได้ถึงแก่อนิจกรรมเสียก่อนเมื่อปี พ.ศ.2455

สำหรับพระครูธรรมวินยานุยุต (หนู) ท่านมาอยู่ให้เป็นครั้งคราว บางปีก็มาจำพรรษาเพื่อฉลองศรัทธาของมหาอำมาตย์ตรีพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตรบ้าง มีพระรูปอื่นมาจำพรรษาแทนบ้าง ต่อมาเมื่อท่านชราภาพมากแล้ว คณะศิษยานุศิษย์และลูกหลานทางเมืองหนองคายเห็นพ้องกันว่า ควรอาราธนาท่านไปอยู่จำพรรษาที่วัดศรีเมือง ต.ในเมือง อ.เมือง จ.หนองคาย เพื่อสะดวกในการปรนนิบัติและได้มรณภาพ ณ ที่นั้น

รูปภาพ
พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า
(หม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุท สิริวฑฺฒโน)


รูปภาพ
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร)


เสาะหาผู้นำ

ในปี พ.ศ.2465 มหาเสวกโทพระยาราชนุกูลวิบูลยภักดี (อวบ เปาโรหิตย์) ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งอุปราชมณฑลภาคอีสาน และเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลอุดรธานีด้วย (ต่อมาได้รับพระราชทานเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยามุขมนตรี ศรีสมุหพระนครบาล) ได้มาก่อสร้างวัดโพธิสมภรณ์สืบต่อ โดยขอขยายอาณาเขตของวัดให้กว้างออกไป ตลอดถึงก่อสร้างเสนาสนะเพิ่มเติมอีกหลายหลัง พร้อมกับสร้างอุโบสถต่อจนแล้วเสร็จ และจัดการขอพระราชทานวิสุงคามสีมาให้เป็นหลักฐาน ทั้งเห็นว่าภายในเขตเทศบาลของจังหวัดนี้ยังไม่มีวัดในฝ่ายธรรมยุติกนิกายสักวัด สมควรจะตั้งวัดแห่งนี้ให้เป็นวัดของคณะธรรมยุตโดยแท้

เมื่อกิจการพระศาสนาได้เจริญก้าวหน้าขึ้นโดยลำดับเช่นนี้ แต่ว่ายังขาดพระภิกษุผู้เป็นเจ้าอาวาส เจ้าพระยามุขมนตรีฯ จึงได้ปรึกษาหารือกับ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระเทพเมธี เจ้าคณะมณฑลอุบลราชธานี โดยมีความเห็นพ้องต้องกันว่า สมควรจัดพระเปรียญเป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ เพื่อจะได้บริหารกิจการพระศาสนาฝ่ายปริยัติธรรมและฝ่ายวิปัสสนาธุระให้กว้างขว้างยิ่งขึ้น

ดังนั้น เจ้าพระยามุขมนตรีฯ จึงนำความคิดเห็นกราบเรียนต่อ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพฯ ก่อน แล้วจึงนำความขึ้นกราบทูลพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ขอพระเปรียญ 1 รูปจากวัดเทพศิรินทราวาส ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์สืบไป สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ จึงทรงรับสั่งให้เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาสเลือกเฟ้นพระเปรียญ ก็ได้ พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระครูสังฆวุฒิกร นักธรรมโท ป.ธ.3 ฐานานุกรมของท่าน ซึ่งได้ศึกษาเล่าเรียนอยู่ในสำนักวัดเทพศิรินทราวาสเป็นเวลาถึง 15 ปี ว่าเป็นผู้เหมาะสม ทั้งยังเป็นที่ชอบใจของเจ้าพระยามุขมนตรีฯ อีกด้วย เพราะท่านเคยเป็นผู้อุปถัมภ์บำรุงอยู่ก่อนแล้ว พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) จึงได้ย้ายจากวัดเทพศิรินทราวาสไปเป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ ตั้งแต่ปีกุน พ.ศ.2466 “วัดโพธิสมภรณ์” จึงเป็นวัดของคณะธรรมยุตตั้งแต่บัดนั้นมาจนถึงปัจจุบัน

หลักธรรมเจดีย์

วัดโพธิสมภรณ์ ในระยะนั้นยังมีสภาพเป็นป่าละเมาะอยู่ มีเสนาสนะชั่วคราวพอคุ้มแดดคุ้มฝน บริเวณโดยรอบก็ยังเป็นป่า ไม่ค่อยมีบ้านเรือน เงียบสงบ สงัดวิเวก อาหารบิณฑบาตก็ตามมีตามได้ น้ำใช้ก็ได้จากบ่อบาดาลในวัด ซึ่งพระเณรช่วยกันตักหาบมาใส่ตุ่มใส่โอ่ง พระเณรระยะแรกยังมีน้อย ทั้งอัตคัดกันดารในปัจจยสี่ แต่ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะบริหารกิจการพระศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า พระครูสังฆวุฒิกร (จูม พนฺธุโล) ได้ทุ่มเทพัฒนาวัดในทุกๆ ด้าน ส่วนที่เป็นศาสนวัตถุนั้น ท่านได้บูรณะซ่อมแซมและสร้างเสริมเพิ่มเติมให้มั่นคงถาวร อาทิเช่น กุฏิก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น 3 หลัง, กุฏิไม้ชั้นเดียว 17 หลัง, ศาลาการเปรียญไม้ชั้นเดียว 1 หลัง, โรงเรียนพระปริยัติธรรม 1 หลัง และโรงเรียนภาษาไทย 1 หลัง โดยแต่ละหลังสูง 2 ชั้น ผนังก่ออิฐถือปูน พื้นไม้ตะเคียนทอง หลังคามุงกระเบื้องดินเผา สิ้นเงินค่าก่อสร้างหลังละประมาณ 20,000 บาท เป็นต้น

สำหรับอุโบสถได้ก่อสร้างจนแล้วเสร็จ โดยเจ้าพระยามุขมนตรี ศรีสมุหพระนครบาล (อวบ เปาโรหิตย์) เป็นผู้อุปถัมภ์ มีความกว้าง 12.47 เมตร ยาว 27.85 เมตร สูงจากพื้นถึงอกไก่ 22.30 เมตร มีเสาอยู่ภายใน 16 ต้น ไม่มีช่อฟ้าใบระกา ไม่มีมุขหน้ามุขหลัง ผนังก่ออิฐถือปูนหนา 75 เซนติเมตร โครงหลังคาใช้ไม้เนื้อแข็งทั้งหมด มุงด้วยกระเบื้องดินเผา พื้นปูด้วยกระเบื้องดินเผา สิ้นเงินค่าก่อสร้าง 30,000 บาท

ส่วนที่เป็นศาสนทายาทนั้น พระครูสังฆวุฒิกร (จูม พนฺธุโล) ได้เอาใจใส่ทั้งฝ่ายปริยัติและปฏิบัติ โดยได้จัดบริหารการศึกษาพระปริยัติธรรม ได้แก่ นักธรรมชั้นตรี, โท, เอก และแผนกบาลีไวยากรณ์ตั้งแต่เปรียญธรรม 3 ประโยค ถึงเปรียญธรรม 5 ประโยค ซึ่งมีพระภิกษุสามเณรจากจังหวัดต่างๆ ในมณฑลอุดรธานี มาศึกษาเล่าเรียนอยู่ในวัดโพธิสมภรณ์ และสอบไล่ในสนามหลวงได้เป็นจำนวนมาก นับเป็นสำนักเรียนที่มีชื่อเสียงเป็นที่นิยมยกย่อง สำหรับในฝ่ายวิปัสสนาธุระได้จัดให้มีการอบรมกรรมฐานควบคู่กันไปด้วย เพื่อฝึกหัดขัดเกลาบ่มเพาะนิสัยพระภิกษุสามเณรให้มีความประพฤติเรียบร้อยดีงามตามพระธรรมวินัย

เมื่อวันที่ 6-9 เดือนมีนาคม พ.ศ.2467 ได้ประกอบพิธีผูกพัทธสีมาวัดโพธิสมภรณ์ โดยมี สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ เจ้าคณะรองคณะธรรมยุต เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพฯ เป็นประธานในการผูกพัทธสีมา สำหรับในวันที่ 6 เดือนมีนาคม พ.ศ.2467 นั้น ได้มี สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระเทพเมธี เจ้าคณะมณฑลอุบลราชธานี และ พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระครูสังฆวุฒิกร เจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ พร้อมด้วยคณะพระสงฆ์จำนวน 52 รูป ร่วมในพิธีผูกพัทธสีมาอยู่ด้วย

พ.ศ.2497 เจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต) ทรงมีพระบัญชาให้ พระอุดมญาณโมลี (จันทร์ศรี จนฺททีโป) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระครูสิริสารสุธี ไปอยู่วัดโพธิสมภรณ์เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของ พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เนื่องด้วยชราภาพมากแล้ว

ต่อมา พ.ศ.2501-2505 พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) ได้ให้ช่างต่อเติมมุขหน้ามุขหลังของอุโบสถอีกด้านละ 6 เมตร จึงมีความยาว 40 เมตรพอดี ตลอดถึงได้เปลี่ยนแปลงหลังคาเป็นสามลดสามชั้น มุงด้วยกระเบื้องเคลือบดินเผา มีช่อฟ้าใบระกา โดยมอบหมายให้ พระอุดมญาณโมลี (จันทร์ศรี จนฺททีโป) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสิริสารสุธี เป็นผู้ควบคุม นับเป็นอุโบสถที่สวยงามในภาคอีสานอีกหลังหนึ่ง

ครั้นเมื่อปี พ.ศ.2505 พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) อาพาธด้วยโรคนิ่วในถุงน้ำดี และได้ถึงแก่มรณภาพด้วยอาการสงบ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2505 ณ โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพฯ คณะสงฆ์และคณะศิษยานุศิษย์ได้ร่วมกันบริจาคทรัพย์สร้างเมรุถาวร และศาลาบำเพ็ญกุศลศพ 2 หลัง ได้แก่ ศาลาประจงจิตต์ และศาลาสามพระอาจารย์ เพื่อเป็นอนุสรณ์และเป็นที่พระราชทานเพลิงศพพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) ด้วย

รูปภาพ
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ)

รูปภาพ
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)


จันทร์ศรีผ่องเพ็ญ

แต่เดิมนั้น พระอุดมญาณโมลี (จันทร์ศรี จนฺททีโป) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสิริสารสุธี ไม่ได้คิดว่าจะได้มาพักจำพรรษาอยู่ที่วัดโพธิสมภรณ์เป็นเวลานาน ด้วยมาตามพระบัญชาของเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ฯ เมื่อกลับไปเข้าเฝ้าเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ฯ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เพื่อกราบทูลขอกลับมาอยู่สำนักเดิม ด้วยมีความประสงค์จะศึกษาเล่าเรียนให้สูงยิ่งๆ ขึ้นไป พระองค์ทรงรับสั่งว่า “ยังหาตัวแทนไม่ได้” ก็เลยต้องอยู่พักจำพรรษาต่อไปจนกระทั่งเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ฯ สิ้นพระชนม์ ก็ยังไม่ละความตั้งใจเดิม อยู่ต่อมาพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) ก็มาถึงแก่มรณภาพลงอีก ท่านก็ได้ย้อนระลึกถึงพระคุณที่ได้รับความอุปถัมภ์บำรุงด้วยเมตตาธรรมตลอดมา ทั้งจากเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ฯ และพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) ตลอดจนบรรดาพระบูรพาจารย์สายพระป่ากรรมฐานทุกท่านทุกองค์ จึงได้ตั้งใจเสียสละรับเอาภารธุระในกิจการพระศาสนาเพื่อสนองพระเดชพระคุณด้วยความยินดีเต็มความสามารถที่จะทำได้

ในเวลาต่อมา วัดโพธิสมภรณ์ได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปจากยุคแรกๆ เป็นอันมาก มีความเจริญก้าวหน้าไปอย่างดี ด้วยบรรดาคณะศิษย์ยานุศิษย์และสัทธิวิหาริกของพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) โดยเฉพาะบรรดาครูบาอาจารย์กรรมฐานสายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตฺตมหาเถระ ก็มีเป็นจำนวนมาก ต่างเจริญงอกงามเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระศาสนา ในฝ่ายคฤหัสถ์ก็เจริญก้าวหน้า ในทางบ้านเมือง ตลอดถึงประชาชนต่างก็มีความตื่นตัวสนใจในพระศาสนา ก็ได้ช่วยกันทำนุบำรุงวัดโพธิสมภรณ์ให้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อมา

พ.ศ.2506 เป็นศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ โดยมีนักเรียนตามโรงเรียนต่างๆ มาเรียน ตั้งแต่ชั้น ป.5 จนถึงมัธยมต้น เพื่ออบรมให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจในพระพุทธศาสนาให้ถูกต้องลึกซึ้งยิ่งขึ้น

วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2507 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ “วัดโพธิสมภรณ์” เป็น พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ

วันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2507 แต่งตั้งให้พระอุดมญาณโมลี (จันทร์ศรี จนฺททีโป ป.ธ.4) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระราชเมธาจารย์ เป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์

วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ.2516 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ) ทรงประทานพัด ย่าม และใบเกียรติบัตรยกย่องวัดโพธิสมภรณ์ให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างที่มีผลงานดีเด่น

พ.ศ.2517 ได้ตั้งศูนย์ศึกษาบาลีอีสาน (ธรรมยุต) ที่วัดโพธิสมภณ์ โดยความเห็นพ้องต้องกันของพระสังฆาธิการทุกระดับในภาค 8-9-10-11 เป็นต้นมาจนกระทั่งบัดนี้

พ.ศ.2544 ได้ตั้งศูนย์พัฒนาคุณธรรมจริยธรรม จังหวัดอุดรธานี

วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ.2538 สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) ทรงประทานพระบรมสารีริกธาตุจำนวน 9 องค์ ให้กับพระอุดมญาณโมลี (จันทร์ศรี จนฺททีโป) เจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์

วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ.2548 พระอุดมญาณโมลี (จันทร์ศรี จนฺททีโป) วางศิลาฤกษ์ พระบรมธาตุธรรมเจดีย์ วัดโพธิสมภรณ์ ไว้เป็นปูชนียสถานอันศักดิ์สิทธิ์คู่แผ่นดินไทย

วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2552 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมสารีริกธาตุให้แด่พระอุดมญาณโมลี (จันทร์ศรี จนฺททีโป) เจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ เพื่ออัญเชิญไปประดิษฐาน ณ พระบรมธาตุธรรมเจดีย์ วัดโพธิสมภรณ์

วันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2552 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานในงานฉลองสมโภชพระบรมธาตุธรรมเจดีย์ เพื่อน้อมสักการบูชาคุณพระรัตนตรัย และประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ณ พระบรมธาตุธรรมเจดีย์ วัดโพธิสมภรณ์

ลำดับเจ้าอาวาส

รูปที่ 1 พระครูธรรมวินยานุยุต (หนู) พ.ศ.2450-2465
รูปที่ 2 พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) พ.ศ.2466-2505
รูปที่ 3 พระอุดมญาณโมลี (จันทร์ศรี จนฺททีโป) พ.ศ.2505-ปัจจุบัน


(มีต่อ 4)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ก.ค. 2010, 12:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
“พระบรมธาตุธรรมเจดีย์” วัดโพธิสมภรณ์ จ.อุดรธานี


๏ สร้างพระบรมธาตุธรรมเจดีย์

หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป ได้เป็นผู้นำพาในการก่อสร้าง “พระบรมธาตุธรรมเจดีย์” เพื่อบรรจุ

1. พระบรมสารีริกธาตุที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ ทรงพระเมตตาประทานให้กับวัดโพธิสมภรณ์

2. อัฐิธาตุของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตฺตมหาเถระ พระบูรพาจารย์แห่งพระธุดงคกรรมฐาน และ

3. อัฐิธาตุของพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) อดีตเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์


จุดประสงค์สำคัญยิ่งในการก่อสร้าง “พระบรมธาตุธรรมเจดีย์” เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวโรกาสมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา ในปีพุทธศักราช 2550

“พระบรมธาตุธรรมเจดีย์” มีลักษณะเป็นเจดีย์พิพิธภัณฑ์รูปทรง 8 เหลี่ยม มีห้องโถง 3 ชั้น ฐานกว้าง 12x12 เมตร ความสูง 38 เมตร มีลักษณะผสมผสานสัญลักษณ์ของอีสานตอนบนและอารยธรรมลุ่มแม่น้ำโขง, ห้องโถง ชั้นที่ 1 เป็นที่ประดิษฐานรูปเหมือน อัฐบริขาร และชีวประวัติ คติธรรมของพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) และพระอุดมญาณโมลี (หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป) ประวัติวัดโพธิสมภรณ์ และประวัติการสร้างพระเจดีย์

ชั้นที่ 2 เป็นที่ประดิษฐานรูปเหมือน อัฐิธาตุ ชีวประวัติ และคติธรรมของพระบูรพาจารย์พระธุดงคกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต จำนวน 9 รูป คือ (1) หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต (2) หลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม (3) หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี (4) หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ (5) หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร (6) หลวงปู่ขาว อนาลโย (7) หลวงปู่ฝั้น อาจาโร (8) หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน และ (9) หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต และ ชั้นที่ 3 เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุในพระเจดีย์แก้วจำลอง ประวัติสังเวชนียสถานทั้ง 4 ภาพทศบารมี และพุทธการกธรรม 10 ประการ

รูปภาพ
พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล)

รูปภาพ
หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร

รูปภาพ
หลวงปู่ขาว อนาลโย

รูปภาพ
หลวงปู่ฝั้น อาจาโร

รูปภาพ
หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน

รูปภาพ
หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ
“พระบรมธาตุธรรมเจดีย์” วัดโพธิสมภรณ์ จ.อุดรธานี



.............................................................

♥ รวบรวมและเรียบเรียงเนื้อหามาจาก ::
(1) หนังสือพิมพ์ข่าวสด หน้า 1 คอลัมน์ มงคลข่าวสด
วันที่ 06 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 ปีที่ 15 ฉบับที่ 5456
และข่าวประจำวันจากหนังสือพิมพ์ข่าวสด
(2) เว็บไซต์ http://udn.onab.go.th/
♥ ขอขอบพระคุณที่มาของรูปภาพทุกแหล่ง

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ก.ค. 2010, 13:03 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตมหาเถระ


หลวงปู่จันทร์ศรี อบรมภาวนากรรมฐานกับหลวงปู่มั่น


หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป (พระอุดมญาณโมลี) ได้กล่าวถึงท่านพระอาจารย์มั่นว่า

“เมื่อออกพรรษาแล้ว ต้นเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2484 ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตมหาเถระ ไปพักที่วัดป่าสุทธาวาส อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ท่านเจ้าคุณพระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส) ได้ตั้งให้หลวงปู่จันทร์ศรีอยู่ปฏิบัติท่านพระอาจารย์มั่นประจำทุกวัน เวลาบิณฑบาตก็สะพายบาตรให้ท่าน เมื่อมาถึงหอฉันแล้วก็จัดอาหารลงในบาตรถวายท่าน โดยก่อนหน้านี้ได้สังเกตข้อปฏิบัติเกี่ยวกับท่านอยู่ 3 วัน จำได้ว่าท่านเอาอะไรบ้าง เอากับข้าวอะไร เอาข้าวมากเท่าไหร่ อะไรต่ออะไร ก็ตักถวายท่านให้พอดี เหลือก็นิดหน่อย”

“ท่านพระอาจารย์มั่นเป็นผู้ขยันขันแข็งในการทำความเพียร ตามปกติท่านนั่งสมาธิภาวนา นอนประมาณ 4 ทุ่ม ตี 4 ท่านก็ตื่น แล้วก็เดินจงกรม ส่วนมากคนเข้าใจว่าท่านดุ แต่ความจริงท่านเมตตามาก คือท่านทักเพราะจะให้จิตใจของเรานั้นสนใจมาฟังธรรม ตามปกติบางคนไปถามท่านอย่างโน้นอย่างนี้แบบไม่มีสาระ ท่านก็ดุเอา

ตอนนั้นก็มีครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่หลายท่านที่ไปกราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น เช่น ท่านอาจารย์เทสก์ เทสรํสี อาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ อาจารย์อ่อน ญาณสิริ อาจารย์ฝั้น อาจาโร แล้วตอนหลังที่วัดป่าบ้านหนองผือ (วัดป่าภูริทัตตถิราวาส) อำเภอพรรณานิคม โดยเฉพาะ ท่านอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติใกล้ชิดท่านพระอาจารย์มั่นที่สุดจนกระทั่งท่านมรณภาพ ตอนนั้นหลวงปู่จันทร์ศรียังปฏิบัติงานทำหน้าที่ฝ่ายปกครองอยู่ ไม่ค่อยมีเวลาไปกราบท่าน ก็ได้รับโอวาทท่านแต่นั้นก็ไปพิจารณาเอาเอง”

รูปภาพ
พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส)

รูปภาพ
พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ


หลวงปู่จันทร์ศรีอยู่กับหลวงปู่มั่น 15 วัน รู้สึกว่าได้ความอัศจรรย์ พูดอย่างชัดๆ ก็เรียกว่า “ท่านคุมจิตของเราอยู่” ถ้าพูดตามหลักปริยัติก็พูดว่า “เจโตปริยญาณ” ท่านมีญาณรู้จักใจของบุคคลอื่น ในขณะที่ได้รับโอวาทจากท่านพระอาจารย์มั่นนั้น หลวงปู่ก็ได้ตั้งใจปฏิบัติภาวนา พิจารณาเห็นร่างกายของหลวงปู่เองเป็นอสุภะได้ คือมีแต่ร่างกระดูก คือพิจารณาจนกระทั่งเป็นร่างกระดูก ขณะที่อยู่กับท่านทำได้ดีท่านพระอาจารย์มั่นท่านเมตตา หลวงปู่ได้กราบเรียนถามปัญหาธรรมกับท่านพระอาจารย์มั่น ท่านก็ตอบให้เฉพาะจิตที่เรารู้ ส่วนที่สูงขึ้นไปละเอียดไปนั้น ท่านพูดไปแล้วจิตเรามันไม่ถึง ท่านก็บอก “ให้มีฉันทะ มีความพอใจ วิริยะ ให้พากเพียรเดินจงกรมนั่งภาวนา จิตตะ ให้เอาใจฝักใฝ่อยู่เสมอ วิมังสา ใช้ปัญญาพิจารณาในร่างกายของตนอยู่เสมอๆ” ท่านก็สอนเท่านี้แหละ

ส่วนเรื่องอื่นหลวงปู่จันทร์ศรีก็ได้ถามท่านเหมือนกัน แต่จิตเรายังรู้ไม่ถึง ท่านอธิบายให้เราฟังเราก็ปฏิบัติตาม แต่จิตเรายังไม่เป็นโสดา ไม่เป็นสกิทา ไม่เป็นอนาคา ยังเป็นปุถุชนอยู่ บทสุดท้ายท่านได้ให้กำหนดเอาผู้รู้อย่างเดียว นี้เราก็พยายามทำไป หลวงปู่อยู่มาได้ในเพศพรหมจรรย์นี้ก็เพราะได้อาศัยโอวาทของท่านพระอาจารย์มั่น ก็อยู่มาจนกระทั่งบัดนี้ เพราะตอนแรกตั้งใจจะสึกแล้ว ตอนนั้นช่วงอายุ 29-30 ปี เวลานี้หลวงปู่อายุย่าง 98 ปีแล้วนะ (เมื่อปี พ.ศ.2552) หลวงปู่ถือว่าได้กำไรแห่งชีวิต ทำศาสนกิจอยู่ในเพศพรหมจรรย์ ทั้งนี้ก็เพราะได้รับฟังโอวาทธรรมของท่านพระอาจารย์มั่น

ต่อแต่นั้นมาหลวงปู่ก็ได้หลักการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจากท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตมหาเถระ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิปัสสนาจารย์ เป็นบูรพาจารย์ของพระกรรมฐาน ท่านพระอาจารย์มั่นได้อบรมสั่งสอนศิษย์เป็นจำนวนมากที่เป็นครูบาอาจารย์พระผู้หลักผู้ใหญ่ที่สำคัญในภาคอีสาน

การที่หลวงปู่ได้รับการศึกษาอบรมจิตภาวนากับท่านพระอาจารย์มั่นนั้น ผลที่ได้รับคือจิตสงบเยือกเย็นจากสิ่งแวดล้อมภายนอกที่มากระทบทางหู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้รับแสงสว่างอันเกิดจากภาวนาตามสมควรแก่ฐานะ นับว่าเป็นลาภอันประเสริฐ ต่อจากนั้นท่านพระอาจารย์มั่นได้เดินทางไปบ้านนามน วัดดอยธรรมเจดีย์ (อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร) เมื่อท่านไปแล้ว หลวงปู่ก็แยกกับท่านไป อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม เพื่อจะไปกราบไหว้พระธาตุพนม ก็เป็นอันว่าจากนั้นไปหลวงปู่ก็ไม่ได้พบท่านพระอาจารย์มั่นอีก คือหลวงปู่ลงมากรุงเทพฯ จนกระทั่งปี พ.ศ.2493 กำหนดงานถวายพระเพลิงศพท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตมหาเถระ หลวงปู่ติดการสอบนักธรรม ก็เลยไม่ได้ขึ้นมา รู้สึกเสียดายเป็นอันมาก

รูปภาพ
พระอุดมญาณโมลี (หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป)


ที่มา...หนังสือบูรพาจารย์ หน้า 378-382
ดำเนินงานและจัดพิมพ์โดย มูลนิธิหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
549/53 ซ.ยิ่งอำนวย (จรัญสนิทวงศ์ 37) ถ.จรัญสนิทวงศ์
แขวงบางขุนศรี เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร 10700
โทรศัพท์ 02-412-2752, 02-864-4238


:b44: รวมคำสอน “หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=38762

“กาลเวลาให้โอกาสแก่เราเสมอ
ความผิดพลาดบางอย่าง
อาจเป็นโอกาสที่ดีกว่าของชีวิตได้
อย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจ”


= หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป =

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ก.ค. 2010, 16:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ม.ค. 2010, 02:43
โพสต์: 4467

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

:b8: อนุโมทนา..สาธุ..สาธุ..สาธุ..ด้วยนะครับ..ท่านสาวิกาน้อย :b8:

อ่านเรื่องพระอุดมญาณโมลี (หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป) มีเรื่องการสร้าง “พระบรมธาตุธรรมเจดีย์” วัดโพธิสมภรณ์ จ.อุดรธานี ผมยังไม่มีโอกาสไปสักการะ แต่กับวัดโพธิสมภรณ์ จ.อุดรธานี เป็นวัดที่ผูกพันกันมาตั้งแต่เด็กเลยครับ..เพราะผมเรียนวันอาทิตย์ที่วัดโพธิสมภรณ์ ตอนเรียนประถม โรงเรียนเทศบาล ๑ (โพธิศรี) ที่ผมเรียนห่างจากวัดไม่ถึง ๒๐๐ เมตร จึงเข้าออกมาตั้งแต่เด็ก คิดถึงแล้วก็มีแต่ความสุขความร่มเย็น ขอบคุณมากนะครับ (แต่ตอนผมอยู่ที่อุดรยังไม่ได้สร้าง “พระบรมธาตุธรรมเจดีย์” ครับ..ถ้ามีโอกาสอยากกลับไปสักการะครับ)

:b8: :b20: :b8:

.....................................................
แบ่งปันกันกิน,รักษาศีล คือ กาย วาจา
เจริญสมาธิภาวนา, กาย- วาจา-ใจอ่อนน้อม
ยอมตนรับใช้, แบ่งให้ความดี
มีใจอนุโมทนา, ใฝ่หาฟังธรรม
นำแสดงออกไม่ได้เว้น, ทำความเห็นให้ถูกต้อง


แก้ไขล่าสุดโดย ธรรมบุตร เมื่อ 31 ก.ค. 2010, 17:02, แก้ไขแล้ว 2 ครั้ง.

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.พ. 2011, 12:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


น้อมนมัสการพ่อแม่ครูอาจารย์ด้วยเศียรเกล้าเจ้าค่ะ
ขอให้ธาตุขันธ์หลวงปู่ฯแข็งแรง เจริญอายุมากกว่า ๑๐๙ ปีนะเจ้าคะ

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 เม.ย. 2011, 04:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 ก.พ. 2011, 10:52
โพสต์: 256

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b44: :b42: :b8: :b8: :b8: :b42: :b44:

.....................................................
ทำดี ดีแล้ว เป็นพร
ทำดี ดีแล้ว เป็นพร ไม่ต้อง อ้อนวอน ขอพร กะใคร ให้กวน
พรที่ ให้กัน ผันผวน เป็นเหมือน ลมหวน อวลไป อวลมา อย่าหลง
พรทำ ดีเอง มั่นคง วันคืน ยืนยง ซื่อตรง ต่อผู้ รู้ทำ
อยากรวย ด้วยพร เพียรบำ - เพ็ญบุญ กุศลนำ ให้ถูก ให้พอ ต่อตน
ทุกคน เกิดมา เป็นคน ชั่วดี มีจน เป็นผล แห่งกรรม ทำเอง
ถือธรรม เชื่อกรรม ยำเยง บาปชั่ว กลัวเกรง ทำแต่ กรรมดี ทวีพรฯ

ท่านพุทธทาสภิกขุ


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 9 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 8 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร