วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 06:54  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง





กลับไปยังกระทู้  [ 7 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 มิ.ย. 2010, 07:05 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

เกร็ดแก้ว
โดย พระอาจารย์บุญช่วย ฐิตสาโร


วัดถ้ำตับเตา
ต.ศรีดงเย็น อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่



คำนำ

“เกร็ดแก้ว” เป็นเพียงส่วนหนึ่งของข้อธรรมในอีกหลายๆ ส่วน ที่ท่านพระอาจารย์ได้ใช้เวลาว่างจากการบำเพ็ญธรรม ช่วงที่อธิษฐานขึ้นบำเพ็ญธรรม ณ สุสานดำดอยทับเถ้า (๑ มกราคม ๒๕๒๙ ถึง ๑ มกราคม ๒๕๓๒) ดังนั้น เกร็ดแก้วจึงเป็นธรรมอักษรที่กลั่นออกมาจาก ธรรมชาติแท้ของจิต และความรู้สึกแท้ของท่านพระอาจารย์

เกร็ดแก้วเป็นเพียงบทธรรมสั้นๆ ที่เน้นหนักในธรรมชาติเป็นสำคัญ แต่ละหัวข้อธรรมจะแตกต่างกันออกไป มีทั้งเรื่องของ ทาน ศีล ภาวนา และผลกรรม ซึ่งแต่ละหัวข้อธรรมนั้น จะมีบทสรุปอยู่ในตัว จึงง่ายต่อการอ่านและทำความเข้าใจ

ข้อเขียนธรรมที่ย่อสั้นทั้งหมดนี้ เป็นประดุจเกร็ดแก้วน้อยที่หลุดออกจากดวงแก้วใหญ่ (ที่หมายถึงคำสอนของพระศาสดา ซึ่งมีมากมายจนสุดประมาณ) และได้รวมตัวกันอยู่ในเกร็ดแก้วเล่มนี้ แม้จะเป็นเพียงกลุ่มของเศษสะเก็ด แต่นั่นก็คือเกร็ดแก้วมณีที่มีค่าล้ำมิใช่หรือ ?

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 มิ.ย. 2010, 07:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


คำบันทึกบนสุสานดำ

บนดอยว่างสร้างอาศรม ร่มดอยเขา
เย็นร่มเงาคืนวัน บนลานไสว
สร้างอาศรมสีดำ ให้เรียงราย
เป็นจุดหมายในสมอง ของอารมณ์

สุสานดำบนดอย แผ่นดินแดง
ก้อนหินแข็งขุดค้น ขนดินถม
สร้างถนนบนดอย เดินคอยชม
ดอกลั่นทมบนแท่น ร่วงแผ่นดิน

แผ่นดินแดงบนดอย ก็คอยแต่ง
ให้เป็นแปลงระหว่าง ทางเป็นศิลป์
สร้างนิพพานเป็นสุสาน บนลานดิน
แล้วชื่อถิ่นนิพพาน สุสานดำ

พบอาศรมสุสาน อันดำมืด
มืดดำมัวทั่วพื้น เหมือนคืนค่ำ
ค่ำคืนนี้ไม่มีคน บ่นพึมพำ
ฉันจึงทำภาวนา สมาธิ

แก้วมณีฉาย.........
ส่องประกายวาววับ ชวนจับต้อง
แม้แสงสูรย์สาดแสง แดงเรืองรอง
แก้วมิหมองส่องแสง แข่งศักดา

รัตนมณีที่ใจ.........
สีสุกใสดุจมณี ไม่มีหมอง
ธรรมะรังษิฉายส่อง จึงเรืองรอง
ไม่หม่นหมองแม้ต้องแสง แห่งอธรรม

ในโลกนี้มีสิ่งที่น่ากลัวอยู่มากมาย แต่สิ่งที่น่ากลัวยิ่งสิ่งนั้น
คือ “อารมณ์ปรุงแต่ง” เพราะมันสามารถทำให้.........
คนดี เปลี่ยนเป็น คนบ้า
คนกล้า เปลี่ยนเป็น คนขี้ขลาด
และคนเข้มแข็ง เปลี่ยนเป็น คนอ่อนแอได้เสมอ

ความเมตตากรุณา อบอุ่นจิต
ส่องทุกทิศทั่วถิ่น มิสิ้นสูญ
ดั่งสุรีย์สาดแสง แดงเกื้อกูล
มอบไออุ่นถ้วนทั่ว ทุกตัวคน


(มีต่อ ๑)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 มิ.ย. 2010, 07:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


เราสามารถขึ้นไปยืนอยู่บนที่สูงได้ด้วยอาศัย เท้าทั้งสอง ของเรานำพาไป เช่นเดียวกับการก้าวไปสู่ความสำเร็จสูงสุดของชีวิต ทั้งด้านการงาน หรือด้านการศึกษานั้น จำต้องอาศัยความสามารถของตนเองเป็นสำคัญ

และตรงข้าม เราไม่อาจใช้มือทั้งสองของเราที่มีอยู่ อุ้มชูตนเองไว้ที่สูงได้ แต่ต้องอาศัยการอุ้มชูจากผู้อื่นฉันใด ความดี ความสามารถ และความสำเร็จอันเกิดขึ้นจากตัวเราเองนั้นจะเด่นดังขึ้นได้ มิใช่เพราะการโฆษณายกยอตัวตนของเราเอง แต่ต้องเกิดขึ้นจากการยอมรับยกย่องอุ้มชูจากผู้อื่นฉันนั้น

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


การฆ่าตัวตาย เป็นความชั่วร้ายของตนเอง การตายด้วยอุบัติเหตุ นั่นเป็นเพราะเภทภัยพิบัติ การตายเพราะความชรา นั่นเป็นธรรมดาของสังขาร แต่บุคคลผู้ตายเพราะสาเหตุจากพิษร้ายของเหล้า บุหรี่ กัญชา ยาเสพติดนั้น กลับเป็นความตายที่โง่เง่ายิ่งนัก

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


พระอรหันต์มี ๓ ลักษณะ ด้วยกันดังนี้ คือ

(๑) สำเร็จพระอรหันต์ทางกาย วาจา
หมายถึง ผู้ที่มีความเคร่งครัดเฉพาะส่วนของเท่านั้น ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน กิน พูด ล้วนปรุงแต่งให้เป็นไปด้วยความสำรวมระวังน่าเลื่อมใสยิ่งนัก กาย และวาจา จึงเป็นเหมือนผู้อยู่ห่างไกลจากกิเลส แต่จิตกลับมากด้วยความสับสนระคนด้วยตัณหาทุกเพลาเทียว

(๒) สำเร็จพระอรหันต์ทางใจ หมายถึง ผู้ที่ปล่อยให้กาย วาจาเป็นไปอย่างสบายๆ โดยไม่เคร่งเครียดนัก จนดูคล้ายผู้ไร้ความสงบ แต่แฝงไว้ด้วยความบริสุทธิ์ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติ ส่วนจิตใจนั้น สงบ สุขุม เยือกเย็น สมบูรณ์ ด้วยสติ เคร่งครัดกับความคิดชั่วร้าย โดยไม่ปล่อยให้ครอบคลุมจิตใจได้

(๓) สำเร็จพระอรหันต์ทั้งทางกาย วาจา และใจ หมายถึง ผู้ที่มีกาย และวาจาเคร่งครัด มีความดีงามในทุกอิริยาบท มีสติสมบูรณ์คอยควบคุมจิตให้นึกคิด เป็นระเบียบอยู่ในระบบของอริยะ ผู้สำเร็จพระอรหันต์ในลักษณะนี้ จึงเปี่ยมด้วยความสุข สงบ สง่า ทั้งกาย วาจา และใจ โดยพร้อมเพรียงกัน

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


ความจริงแล้วการให้ มิได้กำหนดอยู่ที่ให้แต่ วัตถุ เพียงอย่างเดียวก็หาไม่ แต่รวมไปถึงการให้ทางกาย วาจา และใจด้วย ซึ่งถ้าเรารู้จักใช้กำลังกายให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น กล่าววาจาให้เป็นไป เพื่อสร้างสรรค์ เป็นไปเพื่อธรรม ทำใจให้สุขสงบ ปล่อยละวางต่อความคิดที่จะทำให้เกิดโทษแก่ตนเอง และผู้อื่นแล้ว จะเกิดกุศลอันยิ่งใหญ่กว่าการให้ด้วยวัตถุเสียอีก

ส่วนคำกล่าวที่ว่า การให้ด้วยวัตถุเท่านั้นจึงจะเกิดบุญนั้น เป็นเพียงสิ่งที่มนุษย์กำหนดขึ้นเอง หาใช่ธรรมไม่ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว ผู้ที่ไร้ทรัพย์สมบัติโดยมีแต่กาย วาจา ใจ คงหมดโอกาสที่จะได้สัมผัสกับสวรรค์ นิพพาน แน่เทียว

ฉะนั้น แม้บุคคลไม่มีวัตถุจะให้ ขอเพียงมีใจที่เปี่ยมล้นต่อการให้อยู่เป็นนิตย์ ก็จะเกิดบุญกุศลไม่น้อยไปกว่าการให้ด้วยวัตถุเลยทีเดียว

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


ใน การทำทาน ทั้งทางโลก ทางธรรม หากประกอบด้วยปัญญาและความรู้ ความเข้าใจต่อทานนั้นๆ อย่างแท้จริงแล้ว ย่อมจะเกิดผลดีมากกว่าการกระทำไปด้วยความโง่งมงาย ดังนั้น พึงศึกษาให้รู้ถึงวิธีทำทาน รักษาศีล และการเจริญภาวนาให้ถ่องแท้เสียก่อนจึงค่อยกระทำ เพราะการทำงานโดยขาดปัญญา จะไม่เกิดบุญกุศลแก่ผู้กระทำเลย เหมือนลิงที่หว่านเงินให้คนหิวโหย โดยไม่รู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ ทำเพื่อใคร และทำทำไม

การรักษาศีลโดยขาดปัญญา เหมือนการนำผ้าขาวหรือผ้าเหลืองมาห่อหุ้มตอไม้ไว้ ซึ่งจะไม่เกิดประโยชน์อันใดเลย และการเจริญภาวนาโดยขาดปัญญา ผลที่จะได้รับ คือ มิจฉาทิฐิ และมิจฉาสมาธิ นั่นเอง

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


แมลงเม่าจะยอมพลีชีพในกองไฟ โดยหวังเพียงให้ได้รับแสงสว่างและไออุ่นจากเปลวไฟเพียงชั่วขณะ

มดจะยอมตายจมอยู่ในทะเลแห่งความหวาน เพียงเพื่อให้ได้ดูดรสของน้ำหวาน

และ มนุษย์ ผู้ยอมทน วนเวียนอยู่ในทะเลทุกข์ของวัฏสงสารอันยาวนาน ก็เพียงเพื่อแลกกับความสุขเล็กน้อย อันเกิดจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ เท่านั้น

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


อำนาจใดๆ ล้วนไม่ยั่งยืน เว้นแต่อำนาจอันเกิดจากความอ่อนน้อมถ่อมตน และความเมตตากรุณาเท่านั้น จะจีรังยั่งยืนชั่วกาล

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


อะไรล่ะ จะมีค่ายิ่งไปกว่าความเหน็ดเหนื่อยที่เราได้ทุ่มเทไปกับงานนั้นๆ แม้ผลที่ออกมาจะเป็นความพ่ายแพ้ก็ตาม แต่นั่นคือ ผลลัพธ์จาก ความพยายาม และการอดทน ต่อสู้ของเรามิใช่หรือ

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


ผู้มีเมตตา จะมีเมตตาแม้ต่อผู้ปองร้าย
รอยยิ้มของปุถุชน จะถูกทำลายเมื่อถูกขัดใจ
และจริยวัตรอันงดงามนั้นจะเห็นได้
แต่จำเพาะในยามต้องกระทบแต่อารมณ์ฝ่ายดีเท่านั้น

นักปราชญ์ ผู้อยู่เหนืออารมณ์ เหนือเหตุแล้ว จะยิ้มรับและทรงจริยวัตรอันงดงามไว้ในทุกสถานะ แม้จะกระทบด้วยอารมณ์ที่เลวร้ายก็ตาม ดุจนายท้ายเรือผู้ชำนาญแม้ต้องพายุร้ายคลื่นทะเลแรงอย่างไร เขาจะใช้ความอดทน กอปรด้วย สติ ความสามารถ ประคองนาวานั้น ให้ผ่านคลื่นร้ายไปด้วยดี

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


ดอกไม้หอม จะอยู่ที่ใด แม้อยู่ใกล้กองอุจจาระ ก็ยังคงความหอมไว้มิสร่างซา หากเป็นเพราะ กลิ่นเหม็นของอุจจาระที่มีกำลังแรงกว่านั่นเอง จึงทำให้ดอกไม้ดูคล้ายไร้กลิ่นหอม แม้ในคนเลวจะมีความดีอยู่ด้วยก็ตาม หากว่าความเลวนั้น มีปริมาณมากกว่าแล้ว ใครๆ จะเห็นเขาเป็นเช่นคนเลว ดุจดอกไม้ใกล้กองอุจจาระ ฉะนั้น

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


รอยยิ้มบริสุทธิ์ คำพูดซื่อที่มิได้แฝงด้วยกลโกง กอปรกับกายที่อ่อนน้อมดุจดอกไม้ไหวตามลม อันเป็นไปโดยธรรมชาติแท้ทั้งหมด คือ ส่วนหนึ่งที่จะนำไปสู่ความเป็นปิยะชนของมหาชน

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


ทำบุญตรงนี้ ไม่มีเหรียญตรามอบให้
ทำบุญตรงนี้ ไม่มีใบประกาศเกียรติคุณ
ทำบุญตรงนี้ ไม่ใช่เพื่อคำสรรเสริญเยินยอ
เพราะที่นี่สอนให้ทำบุญด้วยจิตบริสุทธิ์
และมีสุขใจจากการให้เป็นสำคัญ


:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


จงเป็นผู้ให้ด้วยใจบริสุทธิ์ โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนจากการให้

จงให้โดยไม่เจาะจงสัตว์ บุคคล ตัวตน แต่จงให้กับทุกชีวิตที่ยังต้องการความช่วยเหลือ

จงให้ตามฐานะที่ได้รับมาจาก แรงงานและความบริสุทธิ์ แม้สิ่งที่ให้ไปจะดูน้อยค่า หากเต็มไปด้วยเมตตาแล้ว ย่อมมากด้วยกุศล

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


จงเป็น ผู้ให้ดีกว่าผู้รับ เพราะการให้ด้วยใจบริสุทธิ์โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ แต่ผู้รับหากรับแล้ว ประพฤติตนไม่ดีสมค่าที่เขาให้ ย่อมได้รับผลเป็นนรก

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


ปัจจุบันนี้ เรามักอาศัยการทำบุญเป็น การค้า คือ ลงทุนไปแล้วต้องเกิดผลกำไร ทุกครั้งที่เราทำบุญจึงมักตั้งความปรารถนาว่า ให้ได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ อันมี ความร่ำรวย และสวรรค์ เป็นต้น เมื่อมั่นใจว่าจะได้ตามที่ตนปรารถนา จึงพากันทำบุญ

หากเขารู้ว่าบุญที่แท้จริงนั้น คือ การให้ที่เสียสละและบริสุทธิ์ใจ เพียงหวังว่าผู้รับจะมีความสุขจากการให้ของเราเท่านั้น โดยผู้ให้จะไม่ได้รับสิ่งตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น หากเป็นเช่นนี้ มนุษย์คงไม่อยากที่จะทำบุญ ดังนั้น เราจึงไม่ควรเข้าใจว่าการทำบุญ คือ การค้าทางนามธรรม


(มีต่อ ๒)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 มิ.ย. 2010, 07:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


การที่ผู้ต้องการความช่วยเหลือ ไม่เข้าไปขอความช่วยเหลือจาก ผู้ที่ต้องรับผิดชอบและต้องช่วยเหลือคนมาก ในแต่ละวันอยู่แล้ว นับเป็นบุญประการหนึ่ง แต่หากท่านได้มีส่วนช่วยเหลือผู้อื่นอยู่มากเสมอ จะด้วยกาย วาจา และดวงจิตที่อนุโมทนา ท่านจะได้บุญกุศลเป็นกำลังสองทีเดียว

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


ผู้ที่ให้อภัยแก่ผู้อื่นเสมอ คือ “ผู้ชนะ” แต่ผู้ใดชนะแล้ว ยังไม่ยอมให้อภัยแก่ “ผู้แพ้” ผู้นั้นยังไม่ชื่อว่าเป็นผู้ชนะที่แท้จริง เพราะเขายังแพ้มานะทิฐิของตนเองอยู่

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


ทาน และ ศีล เป็นเพียงสิ่งที่คอยควบคุม ให้กายของเราดูสวย เรียบร้อย และน่าเลื่อมใสเท่านั้น แต่ก็ไม่สามารถควบคุมใจให้คิดดีอยู่ในระบบ นอกจากผู้บำเพ็ญ ภาวนา เท่านั้น จึงจะสามารถควบคุมใจให้คิดดีมีระเบียบได้

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


โลกของปุถุชน ความดีจะซ่อนตนอยู่ในความชั่ว ความชังจะซ่อนตนอยู่ในความชอบ และความหวานจะซ่อนตนอยู่ในความขมเสมอ ฉะนั้น ผู้ที่มีไฟรักยังไม่สิ้นไปจากใจ จึงไม่อาจปฏิเสธต่อความโกรธที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่แท้ เมื่อรู้เช่นนี้ เราจะไม่โกรธตอบ ในยามผู้ที่มีใจรัก โกรธ และปล่อยวางในขณะขม เปรี้ยว ของผู้ที่มีใจหวานซึ้ง เพราะใจโกรธจะแอบแฝงอยู่กับใจรักเสมอ อยู่ที่ว่าอารมณ์ใดจะแสดงตนออกมาก่อนเท่านั้น เว้นเฉพาะคนที่รักแต่ไม่รัก จึงจะไม่มีความโกรธซ่อนแฝงอยู่เลย

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


เราได้ยินเสียงของมนูหนึ่งตะโกนก้องว่า “เราไม่กลัวตาย แต่เรากลัวความเจ็บปวดก่อนตาย และความโง่ที่ไม่รู้ว่าตายแล้วไปไหน หากความตายไม่เกิดขึ้น หลังความเจ็บปวดผ่านพ้น หรือตายแล้วได้ไปสู่ที่ที่ตนปรารถนา เราจะไม่กลัวความตายเลย”

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


ความตาย มิใช่หมายถึง ร่างกายหยุดเคลื่อนไหว และไร้ลมหายใจเท่านั้น นั่นเป็นเพียงการย้ายที่อยู่ใหม่ของจิตวิญญาณเท่านั้น เมื่อใดที่วิญญาณตายจากกิเลส ไม่ปรุงแต่งต่ออารมณ์ผัสสะ อันเกิดจากการรับรู้ของวิญญาณจากทวารทั้ง ๖ แล้วนั่นแหละ จึงจะเป็นการตายที่แท้จริง เพราะวิญญาณจะไม่สามารถสร้างภพชาติและเรือนกายใหม่อีกแล้ว

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


การทำความดี หมายถึง สิ่งดีงามที่ไม่ทำให้ผู้กระทำต้องตกต่ำ แต่จะส่งผลให้ได้รับความเจริญฝ่ายเดียว สำหรับผู้ที่ทำดีแล้วยังไม่ได้ดี อาจเป็นเพราะทำดีไม่ถึงดี ไม่รู้ซึ้งถึงเรื่องการทำดี หรือใจร้อนต้องการให้ความดีส่งผลโดยพลัน เป็นต้น เขาจึงทำดีแล้วยังไม่ได้ดี ซึ่งการทำความดี อุปมาเหมือนยาที่กำลังรักษาแผลเน่าให้กลายเป็นเนื้อดี เหมือนน้ำซึมบ่อทราย เหมือนการค้าขาย ทั้งหมดต้องใจเย็นๆ และอาศัยกาลเวลาบ้างจึงจะเห็นผล เว้นเสียแต่ผู้ที่ทำความดี โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนเท่านั้น ที่ไม่ต้องอาศัยเวลาเพื่อรอรับผลของความดี เพราะการทำความดีในลักษณะนี้ ทำเมื่อใดก็จะได้รับผลดีเมื่อนั้นเลยทีเดียว

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


ความดีเป็นนามธรรม มิใช่สมบัติจำเพาะของผู้ใด ผู้มีตาดีจะเห็น ค่าของความดีและทำดี ผู้มีตาเลวจะเห็นค่าของความเลวและทำเลว ฉะนั้นคนดีที่ชอบด่าคนเลว ซึ่งทำดีเหมือนตนไม่ได้ นับว่าเลวมากกว่า อุปมาเหมือนคนไม่รู้จักสี ย่อมมิใช่คนเลว หากเป็นเพราะเขามีนัยน์ตาบอดสีต่างหาก

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


ประโยชน์ ก็คือ ประโยชน์ จะเกิดประโยชน์ต่อเมื่อมีผู้เห็นประโยชน์ จะไร้ประโยชน์เต่อเมื่อไม่มีผู้เห็นประโยชน์

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


ไม่มีการล้มครั้งใด ที่ไม่มีการลุก หากยังมีลมหายใจอยู่

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


ผู้สร้างความดีอยู่เนืองๆ มักตื่นเป็นสุข หลับเป็นสุข จึงพึงสร้างความดีอยู่เสมอ คุณความดีจะยังเป็นเกราะคอยคุ้มกันภัยอันตราย ทั้งจากมนุษย์และอมนุษย์ได้อีกด้วย ฉะนั้น ผู้มีจิตอันมั่นคงตั้งมั่นอยู่บนความดี จึงมิไหวหวั่นหวาดกลัวต่อผีป่าพญามารใดจะมาทำร้ายทั้งสิ้น ขอเพียงแต่ทำความดี อะไรจะเกิดก็ให้เกิดเถิด เพราะ จิต นั้นเปี่ยมสุขอยู่บนฐานของการกระทำดีเสียแล้ว

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


เธอไม่ควรปฏิเสธวิญญาณ หรือเทพ พรหม ว่าไม่มีจริง ซึ่งเธอก็ไม่ควรยึดถือสิ่งเหล่านั้นเป็นสรณะ แต่ควรยึดถือคุณธรรมความดีเป็นสรณะ ผู้ทำความดีอยู่ แม้วิญญาณร้าย เทพ พรหม ก็มิอาจกล้ำกราย เพราะเทพ พรหม จะช่วยเสริมคนทำความดีให้ได้รับผลดียิ่งขึ้น และผลักดันต่อต้านผู้กระทำเลว ดังนั้น เธอจึงไม่ควรเกรงกลัวต่อวิญญาณ เทพ พรหม ในขณะที่เธอกระทำความดีอยู่ เหตุผลคือ เทพ พรหม จุติไปจากมนุษย์ผู้ประพฤติดี กระทำดี ไฉนท่านจะไม่ชอบคนดีเล่า

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


มวลมนุษย์มักชอบความสุข สะดวก สบาย และเกลียดกลัวความทุกข์และปัญหา ฉะนั้น ผู้ใดสามารถให้ความสุข สะดวก สบายแก่มนุษย์ได้ ผู้นั้นคือ เทพเจ้าของมวลมนุษย์ แต่ผู้ที่สร้างความทุกข์และปัญหาให้มวลมนุษย์ ผู้นั้นจักเป็นซาตานของมนุษย์ทันที

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


ผู้ที่จริงใจจริงจังต่อโลกนัก มักจะเป็นผู้หงุดหงิดง่าย เหตุเพราะโลกคือ มายา ฉะนั้นผู้ที่จริงใจจริงจังต่อโลกจนหมดใจ แต่กลับได้รับความไม่จริงใจจากโลก เขาจึงหงุดหงิดที่คิดว่าโลกนี้ช่างหาความยุติธรรมไม่ได้เสียเลย ทำไมโลกจึงเป็นเช่นนี้ ซึ่งทั้งๆ ที่โลกก็เป็นเช่นนั้นมาชั่วกาลนานแล้ว

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


คติโลก ผู้สามารถปกปิดความชั่วร้ายของตน มิให้ผู้อื่นรู้เห็นได้มากเพียงใด เขาจะเป็นคนดีของโลกมากเพียงนั้น หากปกปิดได้น้อย ก็จะเป็นคนดีน้อย และถ้าปกปิดไม่ได้เลย เขาคือคนเลวที่โลกไม่ต้องการ เช่นนี้แหละ คนดีคนเลวทางคติโลก จึงขึ้นอยู่กับว่าใครจะเป็นนักซ่อนความชั่วร้ายได้ดีกว่ากัน

คติธรรม ผู้สามารถทำลายความชั่วร้ายให้หมดสิ้นไปจากใจได้มากเท่าไร จะเป็นคนดีมากเพียงนั้น หากทำลายได้น้อย ก็จะเป็นคนดีน้อย และถ้าทำลายไม่ได้เลย เขาคือผู้พ่ายแพ้ต่อกิเลส เช่นนี้แหละคนดีคนเลวทางคติธรรม จึงขึ้นอยู่กับว่าใครจะเป็นนักฆ่าความชั่วร้ายได้ดีกว่ากัน มิใช่เพียงปกปิดซ่อนเร้นความชั่วร้ายตามคติโลกเท่านั้น

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


เมื่อเธอรู้ตัวดีว่ายังไม่เข้าถึงคนและไม่รู้จักคนพอ ขอเธอจงหนีออกไปให้ไกลจากคน จนกว่าจะรู้จักคนและเข้าถึงคนแล้ว เมื่อนั้นเธอจงกลับมาสู่คน และทำคนเหล่านั้นให้รู้จักคนเถิด

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


ความสุขทางโลก มักเป็นความสุขที่ต้องแย่งชิงมาจากความทุกข์เสมอ และเมื่อเราได้รับความสุขมา ความสุขนั้นก็จะไม่ตั้งมั่นอยู่กับเราได้นาน เพราะสักวันความทุกข์ก็จะแย่งชิงเอาความสุขไปจากเรา และเราก็คงต้องสุขๆ ทุกข์ๆ อยู่เช่นนั้นร่ำไป จิตใจนั้นเล่าก็จะเสื่อมสภาพลงไม่คงที่ เพราะเหตุที่ต้องพองๆ ยุบๆ ไปกับความทุกข์และสุข นั่นเอง

แต่ ความสุขทางธรรม เป็นความสุขที่ได้มาโดยบริสุทธิ์ เป็นความสุขแท้โดยไม่ได้แย่งชิงมาจากความทุกข์เลย ฉะนั้น ความสุขทางธรรมจึงเป็นอมตะที่ทุกข์ก็ไม่สามารถจะแย่งชิงไปได้

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


กลุ่มเมฆหมอก นั้น ไม่มีตัวตน แต่มองดูคล้ายว่า มีตัวตน และยามใดที่กลุ่มเมฆหมอกนั้นลอยไปกระทบกับความเย็นบนพื้นหล้า กลุ่มเมฆหมอกนั้นก็จะกลับกลายเปลี่ยนเป็นสายฝน แม้แต่ความทุกข์ก็ไม่มีตัวตน แต่ดูคล้ายว่ามีตัวตน ยามใดที่ความทุกข์นั้นลอยมากระทบใจ ก็จะกลับกลายเปลี่ยนไปเป็นน้ำตาได้เช่นกัน


(มีต่อ ๓)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 มิ.ย. 2010, 09:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


เราจะไม่มีโอกาสได้เห็นคนโลภ คนขี้ขอ ในหมู่คนมั่งมีที่มีพร้อมทุกอย่าง

มีน้อยนักที่เราจะได้เห็น “ความโกรธ” ในกลุ่มของผู้ที่ถูกตามใจ และมีคนคอยประจบประแจงเอาใจอยู่เสมอ

มีน้อยนักที่เราจะได้เห็น “ความหลง” ในกลุ่มของผู้ที่ยังพร่องอยู่ด้วยลาภ ยศ สุข สรรเสริญ

และจะมีใครล่ะ ที่ไม่แสดงออกซึ่งความโกรธ ในยามที่ต้องถูกขัดใจและถูกด่าว่า

และจะมีใครล่ะ ที่ไม่แสดงออกซึ่งความหลง ในยามที่เขามีพร้อมด้วยกิน กาม เกียรติ

และจะมีใครล่ะ ที่จะเป็นมิตรแท้กับเรา ในยามที่เราขาดแล้วซึ่งลาภ ยศ สุข สรรเสริญ

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


นายช่างผู้เจียระไนเพชร เขาจะใช้ความอ่อนละมุนประกอบกับการทะนุถนอม เพื่อตกแต่งและขัดเกลาเพชรที่มีตำหนิให้ดีขึ้น ดุจเดียวกับ คนดี ที่มีตำหนิเพียงถูกว่ากล่าวตักเตือนเบาๆ เขาก็กลับตัวได้ แต่นายช่างแกะสลักหินที่ต้องการทำให้หินเกิดคุณค่าสูง เขาจะต้องใช้ค้อนและสิ่ว ทั้งตอกและทุบลงบนหินเพื่อทำให้หินนั้นสวยงามและใช้งานได้ ดุจเดียวกับ คนเลว กว่าจะดีได้นั้นจะต้องทั้งทุบและตอกด้วยคำพูดที่รุนแรง เขาจึงจะพบแสงของธรรม

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


ไม่ควรกินดีเกินอยู่ และไม่ควรอยู่ดีเกินกิน แต่ควรกินพอดีกับอยู่ และอยู่พอดีกับกิน

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


หมอจะมีคุณค่าเมื่อได้เข้าไปอยู่ท่ามกลางคนไข้ และสามารถรักษาให้คนเหล่านั้นหายจากไข้ เช่นเดียวกับ ผู้มีธรรม จะมีคุณค่าก็ต่อเมื่อได้เข้าไปอยู่ท่ามกลางผู้ไร้ธรรม และสามารถนำเขาเหล่านั้นเข้าถึงธรรมได้ด้วย แต่บางครั้งธรรมก็ไร้ค่าสำหรับผู้ไม่เห็นคุณค่าของธรรม และคนดีที่เสียสละ อาจจะเป็นศัตรูของคนชั่วมัวเมามักมากก็ได้

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


เราไม่ควรว่ากล่าวหรือตำหนิคนไข้ ที่ยังต้องใช้รถเข็นเป็นพาหนะสำหรับการเดินทาง เพราะเมื่อใดที่เขาหายจากไข้ และเดินได้ด้วยตนเองแล้ว เขาก็คงจะปล่อยวางและละทิ้งต่อรถเข็นไปเอง

เช่นเดียวกัน เราก็ไม่ควรว่ากล่าวหรือตำหนิผู้ที่ยังอาศัยภาพพระพุทธรูป หรือสร้างนิมิตแสงสีดำสวดภาวนา และแม้แต่การใช้ดอกไม้ ธูป เทียน เพื่อเป็นพาหนะสำหรับการเดินทางไปสู่ “พุทธะ” โดยปรมัตถ์ในใจเลย เพราะเมื่อใดที่เขาได้เข้าถึงความเป็น “พุทธะ” โดยปรมัตถ์ในใจแล้ว เขาก็คงจะปล่อยวางและละทิ้งต่อสิ่งที่เป็นสื่อเหล่านั้นไปเอง

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


มนุษย์มักเข้าใจว่า การอยู่รวมกับคนหมู่มากมักมากปัญหา แต่บางครั้งการอยู่ร่วมกับคนเพียงคนเดียว อาจจะมีปัญหามากกว่าการอยู่ร่วมกับคนเป็นร้อย เหตุเพราะปัญหามิได้อยู่ที่คนหมู่มากหรือน้อยเลย แต่ปัญหานั้นอยู่ที่เฉพาะคนมีปัญหาต่างหาก

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


มนุษย์เกิดมาเพื่อแก้ปัญหา ซึ่งส่วนมากมัวแต่มองว่าปัญหาเกิดจากผู้อื่นเป็นผู้กระทำ และก็พยายามตามแก้ปัญหาจากผู้อื่นจนชั่วชีวิต ปัญหาก็ไม่จบสิ้นลงเสียที แต่ถ้าเราสามารถตามแก้ปัญหาที่กาย ใจ ของเราเองได้ ในที่สุดปัญหาที่เกิดจากผู้อื่นก็จะหมดสิ้นลงด้วย

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


จงนินทาด่าว่าตนเองก่อน จึงจะนินทาด่าว่าผู้อื่น

จงตำหนิและตักเตือนตนเองก่อน จึงจะตำหนิและตักเตือนผู้อื่น

จงเพ่งดูความไม่บริสุทธิ์ของตนเองก่อน จึงจะเพ่งดูความไม่บริสุทธิ์ของผู้อื่น


:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


เมื่อมีหน้าที่พูด หากไม่พูดก็เลว เมื่อไม่มีหน้าที่พูด หากพูดก็เลว คนที่ชอบทำเป็นโง่มักเป็นคนฉลาด แต่คนที่ทำอวดฉลาดมักเป็นคนโง่ และคนที่ชอบทำฉลาด มักจะเป็นเหยื่ออันโอชะของคนที่ทำโง่เงอะงะเสมอ

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


มนุษย์มักกลัวต่อสิ่งที่ได้กระทำลงไปแล้ว และสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ว่าสิ่งที่ได้กระทำลงไปแล้วนั้น จะเป็นที่พึงพอใจและทำให้ผู้อื่นรักใคร่หรือเปล่า ความกลัวจึงเป็นอุปสรรคต่อมนุษย์ที่จะรุดเดินไปข้างหน้า เขาจึงก้าวไปด้วยความรู้สึกที่กลัวๆ กล้าๆ เหลียวซ้ายแลขวา หวาดผวาอยู่ตลอด

ฉะนั้น พึงละต่อ ความกลัว เสีย แล้วมุ่งเดินไปบนถนนของ ความดี โดยไม่ต้องพะวงถึงก้าวที่ผ่านมา หรือก้าวข้างหน้า ว่าจะได้พบกับทุกข์หรือสุข และพึง ยอมรับ กับทุกสิ่ง ที่ต้องเกิดขึ้นด้วยใจเป็นธรรม

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


ปัญหา หมายถึง การเข้าไปรู้เห็น หรือการได้สัมผัสต่อสิ่งนั้นด้วยความรู้สึกของตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องคอยระลึกถึง หรือต้องคอยจดจำต่อสิ่งที่ได้สัมผัสมา เพื่อป้องกันมิให้ลืมเลือนอีกด้วย เพราะเมื่อเราได้เข้าถึงปัญญาแล้ว ปัญญาก็จะแนบสนิทกับจิตจนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และปัญญานั้นจะผุดเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ ดุจฟองน้ำที่ผุดขึ้นเองกลางสระน้ำ ฉะนั้น โดยเฉพาะในยามที่เรามีทุกข์หรือปัญหา ปัญญาก็จะผุดเกิดขึ้นเพื่อช่วยแก้ไขให้ทุกข์หรือปัญหานั้น ดับไปในทุกกาลเวลา

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


สัญญา หมายถึง การเข้าไปจับจดกับสิ่งที่สัมผัสมาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ หากเราเว้นการท่องบ่นแม้เพียงวันใด สัญญา (ความจำ) ก็จะเลือนหายไปทันที เราจึงต้องคอยระวังถึงสิ่งที่ได้จับจดและจำมาอยู่เสมอ เพื่อป้องกันมิให้ลืมเลือน ซึ่งอาจเป็นผลทำให้เกิดการสับสนขึ้นได้เพราะสัญญาไม่เที่ยง และในยามที่มีทุกข์หรือปัญหา กว่าจะพลิกตำราหาสูตรเพื่อแก้ไขพบ ชีวิตเราก็อาจจบลงเสียก่อนก็ได้

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


ไม่มีใครหรอกที่จะมีแต่คนรักโดยไม่มีใครเกลียดชัง และก็ไม่เคยมีใครเลย ที่มีแต่เพียงคนเกลียดชังโดยไม่มีคนรัก เมื่อรู้ดังนี้แล้ว เราจะมัวสนใจจริงจังไปกับความรักความเกลียดของผู้อื่นอยู่ใย แต่เราเองต่างหากที่ควรเป็น ผู้ให้ความรักแท้แก่ทุกคน

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


นั่งเป็นอิริยาบถหนึ่งในสี่อิริยาบถ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน บางคนนั่งได้ทั้งวัน คือ นั่งอยู่ในวงการพนัน วงเหล้า และวงสนทนา แต่พอนั่งสมาธิแม้เพียง ๕ นาที ก็ไม่สามารถนั่งอยู่ได้ อาจเป็นเพราะการนั่งในลักษณะแรกเป็นการนั่งตามกิเลส จึงรู้สึกสบายและง่ายกว่าการนั่งในลักษณะหลัง ซึ่งเป็นการนั่งที่สวนทางกับกิเลส

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


จงคิดให้ดีก่อนที่จะก้าวไปข้างหน้า เมื่อก้าวไปแล้ว ก็จงมีสติในทุกๆ ก้าวโดยมิต้องพะวงถึงอดีต อนาคต การก้าวนั้นให้แผ่วเบาเสมือนหนึ่งว่า เรากำลังก้าวอยู่บนผิวโลก และตลอดเวลาของการก้าว จงรำลึกว่าทั่วจักรวาลอันกว้างไพศาลหาประมาณมิได้นั้น ไม่มีสิ่งใดอยู่เลย นอกจากเสียงเท้าทั้งคู่ของเราเท่านั้นที่กำลังก้าวไป…..ก้าวไป ไม่นานนักเราก็จะไปถึงซึ่งปลายทางของถนนสายโลกียะ ในที่สุดก้าวสุดท้ายที่เราจะก้าวผ่านจากถนนโลกียะไปสู่ถนนโลกุตระย่อมจะมาถึงเรา

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


นิพพานจะไม่มีประโยชน์ต่อผู้ที่ชอบกล่าวถึงนิพพาน โดยไม่พยายามทำตนให้ถึงนิพพาน

นิพพานจะไม่มีประโยชน์ต่อผู้ที่ชอบถกเถียงกันเรื่องนิพพาน ทั้งๆ ที่คนทั้งสองยังไม่แจ้งในนิพพาน

นิพพานจะไม่มีประโยชน์ต่อผู้ที่เรียนรู้เรื่องนิพพาน แต่ไม่เพียรปฏิบัติเพื่อนิพพาน


:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


ใครๆ ก็รู้ว่า อนิจจัง คือ ความไม่เที่ยง ทุกขัง คือ ความทุกข์ อนัตตา คือ ความไม่มีตัวตน แต่จะมีใครสักกี่คนที่จะคลายกำหนัด เบื่อหน่ายต่อความทุกข์ ความไม่เที่ยง ความไม่มีตัวตน ดังที่ได้รู้มาแล้วเดินเข้าสู่หนทางเพื่อนำตนให้พ้นไปเสียจากสิ่งไม่เที่ยงเป็นทุกข์ และไม่มีตัวตนเหล่านั้นเล่า เพราะเพียงรู้โดยไม่ปฏิบัติยังไม่จัดว่าเป็นธรรม


(มีต่อ ๔)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 มิ.ย. 2010, 09:41 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


การรู้ใจผู้อื่น ก็คือ การรู้จักกิเลสของตนเอง และเมื่อเราได้รู้จักกิเลสของตนเอง เราย่อมรู้ใจผู้อื่นด้วย เพราะชื่อว่ากิเลสย่อมเหมือนกิเลส ไม่ว่ากิเลสนั้นจะอยู่กับใคร มันก็คือกิเลสอันเดียวกัน ซึ่งจะต้องแสดงออกทางกาย วาจา ใจ ที่เหมือนกันเสมอ

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


ผีจะมีก็แต่จำเพาะผู้ที่ยังเห็นว่า มีผี
ผีจะไม่มีก็แต่จำเพาะผู้ที่เห็นว่า ไม่มีผี

เดรัจฉานวิชาจะให้ผลต่อคนที่ยังเชื่อเดรัจฉานวิชา
แต่เดรัจฉานวิชาจะไม่มีผลต่อคนที่ไม่เชื่อเดรัจฉานวิชา
เหตุเพราะว่าเขาได้ยกจิตให้อยู่เหนือเดรัจฉานวิชา
ด้วยธรรมปัญญาอันยิ่งเสียแล้ว

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


ใจกิเลสมิอาจจะรู้ซึ้งถึงความรู้สึกของใจธรรมได้ แต่ใจธรรมกลับรู้ซึ้งถึงความรู้สึกของใจกิเลส เหตุเพราะใจธรรมได้เคยผ่านใจกิเลสมาก่อนนั่นเอง และก็ไม่มีใจธรรมดวงไหนที่จะเข้าถึงความเป็นธรรมโดยไม่เคยผ่านใจกิเลสมาก่อนด้วย เพราะความโง่เง่าย่อมมาก่อนความฉลาด อวิชชาย่อมมาก่อนวิชชา และกิเลสย่อมมาก่อนธรรมเสมอ

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


มนุษย์จัดเป็นสัตว์โลกที่มีปัญญาสูงกว่าสัตว์โลกทั้งมวล และมนุษย์ก็ได้ศึกษาค้นคว้าจนรู้แจ้งแทงตลอดในสรรพสิ่งที่มีอยู่บนโลก ตลอดถึงจักรวาลอันกว้างไกล แต่เหตุไฉนมนุษย์จึงยังโง่อยู่กับเรื่องที่แคบใกล้ คือ จิตใจ อยู่เล่า ซึ่งความรู้ใกล้จะนำไปสู่ความรู้ไกล และความรู้จักเราก็จะนำไปสู่ความรู้จักเขาด้วย

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


อย่าว่าแต่จะสร้างความทุกข์และความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่นเลย สำหรับผู้ปรารถนาต่อการสร้างบารมีแล้ว แม้แต่ต้องยอมให้ตนทุกข์และเดือดร้อนบ้าง เพื่อความสุขของผู้อื่น เขาก็ย่อมจะยอมได้

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


อันที่จริง ความทุกข์ ความสุข ก็ไม่มี หากเป็นเพราะเราไปยึดมั่นว่าเป็นสุข ความรู้สึกที่เกิดแก่เราจึงสุข เมื่อเราไปยึดมั่นว่าเป็นทุกข์ ความรู้สึกที่เกิดแก่เราจึงทุกข์ ซึ่งทั้งความสุขและความทุกข์นั้น เป็นเพียงธรรมกลางๆ มิใช่เป็นของใครโดยจำเพาะ อยู่ที่ว่าใครจะเป็นผู้ไปเกาะเกี่ยวเอามาเป็นของตนเท่านั้น

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


ปุถุชนคนหนาทำผิดควรให้อภัย หากปุถุชนคนหนาผู้นั้นปรารถนาต่อการตั้งต้นใหม่ แต่เราจะไม่ยอมให้อภัยเด็ดขาด สำหรับอริยชนผู้ผิดพลาดคนนั้น เพราะความผิดพลาดย่อมเป็นธรรมดาของปุถุชน แต่ความถูกต้องย่อมเป็นของอารยะเสมอ

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


เรามิอาจจะรู้ถึงจุดแรกที่ทำให้เกิดวงกลมขึ้นได้ฉันใด เราก็มิอาจจะรู้ว่า การเกิดมาก่อนการดับ หรือการดับมาก่อนการเกิดได้ฉันนั้น

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


การเกิดเป็นความไม่เที่ยง อุปมาเหมือนการเล่นการพนัน ซึ่งย่อมจะมีทั้งได้และเสีย เมื่อใดที่เราเลิก ละ ต่อการเล่นการพนันแล้ว นั่นแหละ การได้และเสียย่อมจะไม่เกิดแก่เราได้ฉันใด การเล่นกับการเกิดก็เช่นกัน ตราบใดที่เรายังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ เราก็จะต้องพบกับการเกิดที่ดีและเลว ตามแต่ผลกรรมที่เราได้ก่อไว้

หากความเกิดเป็นความเที่ยง ซึ่งเมื่อใดที่เราได้เกิดมาดีและต้องพบแต่การเกิดที่ดีทุกๆ ชาติโดยไม่เปลี่ยนแปลงเลย เราก็คงจะต้องไม่ปรารถนาต่อการบำเพ็ญธรรม อันจะนำให้เราพ้นไปเสียจากการเกิดเป็นแน่ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น การเกิดก็น่าจะเป็นสุขนะ

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


คนที่มีศาสนาประจำตน แต่ไม่ประพฤติตนให้ดีตามคำสอนของศาสนา ยังเลวกว่าคนที่ไม่มีศาสนาประจำตน แต่ประพฤติตนดีพร้อมทั้ง กาย วาจา ใจ โดยไม่ทำให้ใครต้องเดือดร้อน

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


พื้นเดิมแท้ของทุกๆ ศาสนา มักปูลาดด้วยอัญมณีที่มีค่ายิ่ง วันเวลาที่หมุนเวียนเปลี่ยนไป จึงทำให้ขยะของความหลงใหลเข้าทับถมโคลนตมแห่งอวิชชาเข้าปิดบัง หนาจนมองไม่เห็นวี่แววเลยว่า ที่แห่งนั้นเคยเป็นพื้นของอัญมณีมาก่อน

ผู้เกิดใหม่ที่ไร้ปัญญา จึงมักกล่าวว่า ศาสนามีแต่ขยะปฏิกูลตามแต่ที่เขาได้เห็นอยู่เฉพาะหน้าเท่านั้น จนกว่าวันใดที่เขาได้มีโอกาสแทงทะลุขยะอันเป็นเปลือกนอก จนเข้าถึงเนื้อในแท้นั้นแล เขาจึงจะกล่าวว่า ศาสนาแท้ คือ อัญมณีที่ล้ำค่า ควรแก่การรักษายิ่ง

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


สัตว์เดรัจฉานจัดว่าเป็นสัตว์โลกชั้นเลว และมักจะมีอาการหวาดระแวงภัยอยู่ทุกๆ ขณะ ไม่ว่าจะเป็นเวลา กิน นอน ยืน หรือเดิน ก็ตาม ดุจเดียวกับคนเลวที่ก่อกรรมทำชั่วไว้มาก หรือชอบสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นอยู่เสมอ ก็จะมีอาการเยี่ยงสัตว์เดรัจฉานเหล่านั้น คือ หวาดระแวงภัยอยู่ทุกๆ ขณะ ไม่ว่าจะเป็นเวลา กิน ยืน เดิน นอน ก็ตาม ดังนั้น ชีวิตของคนเลวจึงเต็มไปด้วยความทุกข์ และลนลานอยู่เนืองนิตย์

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


หวี จะไม่มีประโยชน์เลยสำหรับคนศรีษะล้าน และคนศรีษะล้านก็ไม่ควรกล่าวว่า หวีไม่มีประโยชน์ เพราะอย่างน้อยหวีก็ยังมีประโยชน์สำหรับคนที่มีศรีษะไม่ล้าน เช่นเดียวกับคนเลวที่มองไม่เห็นคุณค่าของ ศาสนา ก็ไม่ควรกล่าวโทษว่า ศาสนาไร้ประโยชน์เพราะอย่างน้อยศาสนาก็ยังมีประโยชน์ต่อคนดีที่ได้รับประโยชน์จากคำสอนของศาสนานั้นอยู่เนืองๆ

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


เธอรู้หรือยังว่า

สูงสุดของโลก ก็ยังจัดว่า.......... ต่ำสุดของธรรม
ดีที่สุดในโลก ก็ยังจัดว่า........... สกปรกที่สุดในธรรม
สะอาดที่สุดในโลก ก็ยังจัดว่า.... สกปรกที่สุดในธรรม
สวยที่สุดของโลก ก็ยังจัดว่า...... ขี้เหร่ที่สุดของธรรม
สุขที่สุดของโลก ก็ยังจัดว่า........ ทุกข์ที่สุดของธรรม
รวยที่สุดของโลก ก็ยังจัดว่า....... จนที่สุดของธรรม

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


มนุษย์ คือ นักสร้างผู้ยิ่งใหญ่ เพราะมนุษย์จะสร้างทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตนเอง ตั้งแต่การสร้างโลกจนถึงการสร้างวิญญาณ เช่น สร้างตัวตน สร้างความทุกข์กับความสุข สร้างสวรรค์กับนรก สร้างความดีกับความชั่ว

และในขณะทำสมาธิ มนุษย์ก็ยังสร้างภาพนิมิตแสงสีต่างๆ ให้เกิดเป็นตัวตนขึ้นมาอีก ซึ่งสิ่งต่างๆ ที่มนุษย์ได้สร้างขึ้นมา ก็ล้วนเกิดจากการนำเอาภาพมายาและสภาวะแห่งอนัตตา มาปะติปะต่อจนเกิดตัวตนขึ้น ทั้งที่มนุษย์ก็เป็นผู้สร้างเองและยังรู้อีกว่า สิ่งสร้างเหล่านั้นเป็นเพียงมายา แต่ไฉนมนุษย์จึงไปยึดมั่นต่อสิ่งนั้นและมองเห็นว่า มันเป็นตัวตนขึ้นมาได้ล่ะ


(มีต่อ ๕)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 มิ.ย. 2010, 09:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


๒ + ๒ = ๔ คือ ผลลัพธ์ที่ชาวโลกยอมรับตามสมมุติบัญญัติ หากเราจะกล่าวว่า ๒ + ๒ = ๓ ก็คงไม่ผิด เพราะชื่อว่าสมมุติแล้วย่อมเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และก็เป็นไปตามบทบัญญัติของมนุษย์ สุดแต่มนุษย์จะเป็นผู้กำหนดให้เป็นไปต่างๆ นานา

แต่ธรรมปรมัตถ์อันได้แก่ เรื่องการ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ทุกข์ สุข กิเลส และนิพพาน นั้น จะเกิดขึ้นโดยธรรมชาติและเป็นไปโดยธรรมชาติ ซึ่งมนุษย์ไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงได้เพราะได้ชื่อว่า ปรมัตถ์ แล้ว ย่อมอยู่เหนือสมมุติและกฎบัญญัติทั้งมวล แม้แต่มนุษย์ก็ไม่อาจดัดแปลงแก้ไขให้เป็นไปตามความพึงพอใจได้ นอกจากผู้ที่เข้าถึงปรมัตถ์สัจจะนั่นแหละ จึงจะอยู่เหนือธรรมชาติเหล่านั้น แต่ก็ยังมิอาจจะเปลี่ยนแปลงธรรมชาติเหล่านั้นได้เลย

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


การเกิดมาเป็นมนุษย์ เปรียบเหมือนดาบสองคม หากเราใช้ร่างมนุษย์ไปในทางที่ดี ผลดีก็จะเกิดแก่เรา แต่ถ้าเราใช้ร่างมนุษย์ไปในทางที่ชั่ว ก็จะเกิดผลชั่วแก่เราเช่นกัน

ฉะนั้น เมื่อเราได้ร่างมนุษย์มาแล้ว และเห็นว่าสิ่งใดที่เป็นบุญบารมีก็ควรรีบสร้างสะสมไว้เพราะผู้ที่จะไปเกิดเป็น เปรต เทวดา อสุรกาย พรหม หรือแม้แต่การได้ตรัสรู้ธรรม ก็ล้วนแต่ต้องสร้างไปจากร่างมนุษย์ก่อนทั้งสิ้น และถ้าตายสูญไปจากร่างมนุษย์เสียแล้ว เราก็หมดโอกาสที่จะสร้างบุญบารมีได้อีกต่อไป

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


เราจะพบว่าสัตว์เดรัจฉานทุกชนิด มักไม่มีเหตุผลต่อการกระทำสิ่งต่างๆ แต่สัตว์เหล่านั้นกลับมากด้วย โทสะ อันเป็นอารมณ์ที่ต้องเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำอีกด้วย ฉะนั้น ถ้ามนุษย์ใดใช้แต่โทสะเป็นอารมณ์ ก็ให้เชื่อเถอะว่ามนุษย์ผู้นั้นกำเนิดมาจากภพภูมิของเดรัจฉานอีก อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


ความรักก็คือความหลง ความหลงก็คือความไม่รู้ ดังนั้น การกระทำอะไรลงไปโดยไม่รู้ จึงมักเต็มไปด้วยความหลอกลวงและไม่มั่นคง ดุจเดียวกับความรักในโลกีย์ที่แฝงไปด้วยความหลอกลวงและไม่มั่นคง

ฉะนั้น เมื่อใดที่เรายังตัดความรักในโลกีย์ไม่ขาด เมื่อนั้นเราจะต้องพบกับความหลอกลวงและไม่มั่นคงเสมอ เนื่องจากสิ่งทั้งสอง คือ ความรักและความหลอกลวง เป็นของคู่ที่ดูจะแยกกันไม่ออกเลย ยกเว้นความรักของอริยะในโลกุตระเท่านั้น จึงจะเต็มไปด้วยความมั่นคงและบริสุทธิ์โดยแท้

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


คนที่มีดวงตากิเลส ก็มักจะมองเห็นสิ่งที่สายตาไปกระทบเป็นกิเลสไปหมด ไม่ว่าสายตาจะไปสัมผัสกับโลกหรือธรรมก็ตาม เขาจะปรุงแต่งให้เป็นเรื่องของกิเลสไปเสียสิ้น เช่น เมื่อได้เห็นคนแก่ ตากิเลสจะบอกว่าไม่ใช่สิ่งเจริญตาเลย เมื่อได้เห็นคนเจ็บ ตากิเลสจะบอกว่าสกปรก และเมื่อได้เห็นคนตาย ตากิเลสจะบอกว่าน่าเกลียด น่ากลัว ขยะแขยง เป็นต้น

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


สำหรับผู้ที่มีดวงตาธรรมก็จะมองเห็นทุกสิ่งอยู่รอบกายเป็นธรรมไปด้วย ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นโลกหรือธรรม เขาก็จะพบเห็นว่าเป็นธรรม เช่น เมื่อได้เห็นคนแก่ คนเจ็บ หรือคนตาย ตาธรรมก็จะกล่าวว่า เราจะประมาทต่อไปอีกไม่ได้แล้วเพราะสักวัน ความแก่ ความเจ็บ และความตาย ก็จักมาถึงเราโดยแท้

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


คนที่ฟังผู้อื่นพูดมาแล้ว เกิดความเชื่อเลย คือ คนโง่

คนที่ฟังผู้อื่นพูดมาแล้ว ไม่เกิดความเชื่อเลย คือ คนมากด้วยมานะทิฐิ

คนที่ฟังผู้อื่นพูดมาแล้ว ทำใจเป็นกลางจนกว่าจะได้พิสูจน์ต่อสิ่งนั้นแล้ว จึงกล่าวว่า ควรเชื่อหรือไม่ควรเชื่อ คือ คนฉลาด

สรรพสิ่งทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ล้วนแต่ตั้งอยู่บนความเปลี่ยนแปลงทั้งนั้น บางสิ่งเปลี่ยนแปลงเร็วจนเห็นได้ชัด แต่บางสิ่งเปลี่ยนแปลงช้าจนไม่สามารถเห็นได้ชัด โดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงทางกายและใจของมนุษย์ ที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว

แต่มนุษย์กลับมองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงนั้น จนทำให้ยึดหลงว่าเป็นตัวกูของกู ซึ่งก็เป็นเพราะมนุษย์ไม่เคยทำจิตให้อยู่กับปัจจุบันเลย และความสืบต่อของอารมณ์จากอดีตสู่ปัจจุบัน จากปัจจุบันสู่อนาคตที่หมุนเวียนกลับไปกลับมาเช่นนี้ ที่ทำให้มนุษย์ไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง (ไม่เที่ยง) ที่เกิดขึ้นจนกว่าความตายได้เข้ามากล้ำกรายนั่นแหละ เขาจึงจะรู้ว่าความเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นแล้ว

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


เมื่อใดที่สัตว์เดรัจฉาน มาขโมยอาหารหรือทำลายข้าวของเราเสียหาย เราไม่พึงโกรธหรือลงโทษสัตว์เหล่านั้น แต่พึงลงโทษตัวเองที่เสียท่าแก่สัตว์โง่ๆ เหล่านั้น และจงรำลึกอยู่เสมอว่า มนุษย์เข้าวัดฟังธรรมรักษาศีลอยู่เป็นประจำ ก็ยังประพฤติผิดศีลอยู่เป็นนิตย์ นับประสาอะไรกับสัตว์เดรัจฉานที่ไม่เคยฟังธรรมรักษาศีลเลย จะไม่ประพฤติผิดศีลเล่า

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


ทางธรรม ยิ่งเอาออกมากเท่าใด ก็จะยิ่งเพิ่มความงามให้แก่ตนมากขึ้นเท่านั้น เช่น เอา ปัจจัย ๔ ที่เกินความจำเป็นออกจนเหลือเพียงพอต่อการใช้ เอาอารมณ์ที่ไม่ดี ออกจนเหลือแต่อารมณ์ที่ดีๆ และในที่สุดให้เหลือแต่ความสว่างอันบริสุทธิ์ที่ไม่มีการปรุงแต่งใดๆ ก็จักได้ชื่อว่าเป็นความงามแท้

ทางโลก ยิ่งเอาเข้ามากเท่าใด ก็ดูเหมือนว่าจะยิ่งเพิ่มความงามให้แก่ตนมากขึ้นเท่านั้น เช่น แสวงหาปัจจัย ๔ ที่มีอยู่มากมายอยู่แล้วให้เพิ่มขึ้นจนกลายเป็นปัจจัย ๑๐๐ และยิ่งประดับตกแต่งกายใจด้วย ลาภ ยศ สุข สรรเสริญ หรือ กิน กาม เกียรติ อันเกิดจากการปรุงแต่งขึ้นมากเท่าใด ก็จะได้ชื่อว่าเป็นผู้งามเลิศในทางโลก แต่คงเป็นเพียงความงามเทียมๆ ในทางธรรมเท่านั้น

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


การใช้อารมณ์หรือคำพูดที่รุนแรง ไม่สามารถจะแก้ไขคนเลวที่มากด้วย “โทสะจริต” ให้ดีได้ ตรงกันข้าม อาจจะทำให้คนเลวเพิ่มความเลวและความโกรธมากขึ้น แต่การใช้คำพูดที่นิ่มนวลประกอบด้วยจิตวิทยาเท่านั้น ที่ทำให้คนเลวที่มากด้วย “โทสะจริต” กลับเป็นคนดี มีเมตตาได้

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


การใช้คำพูดที่ไพเราะนิ่มนวล จะไม่ช่วยแก้ไขคนเลวที่มากด้วย “ราคะจริต” ให้กลับตัวได้ ตรงกันข้าม อาจจะทำให้เขาเลวและเพิ่มราคะมากขึ้น แต่การใช้คำพูดที่รุนแรงประกอบด้วยเหตุผลเท่านั้น จะทำให้คนเลวที่มากด้วย “ราคะจริต” กลับเป็นคนดี มีเมตตาได้

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


เราไม่ควรพูดว่ากล่าวตักเตือน ทั้งคำพูดที่รุนแรงและนิ่มนวลกับคนเลวที่มากด้วย “โมหะจริต” นอกจากจะไม่ทำให้เขาดีขึ้นแล้ว ยังอาจจะทำให้ความหลงที่มีอยู่เพิ่มขึ้นอีก แต่เราควรใช้อาการที่สงบนิ่ง และแสดงออกทางกาย วาจา ให้เป็นไปด้วยเหตุผลในทุกๆ ครั้ง หรืออาจต้องใช้วิธีคว่ำบาตร ซึ่งจะทำให้คนเลวที่มากด้วย “โมหะจริต” กลับเป็นคนดี มีเหตุผลขึ้นได้

:b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52: :b51: :b53: :b52:


ไม่ว่าจะเป็นงานทางโลกหรืองานทางธรรมก็ตาม หากเรามี ความตั้งใจจริงและทำจริง เราย่อมจะได้รับผลจริงตามการกระทำที่จริงทุกครั้ง ตรงกันข้ามหากเราไม่มีความตั้งใจจริงต่องานหรือทำเล่นๆ เราย่อมจะได้รับผลที่ไม่จริงและเป็นความล้มเหลวในที่สุด


(มีต่อ ๖)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 7 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 12 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร